บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พิธีอุปราชาภิเษกวังหน้า -
อุปราชาภิเษกราชโอรส ให้ปรากฏประจักษ์เกียรติศักดิ์ศรี เป็นอุปราชสืบองค์วงศ์จักรี สถิตที่วังหน้ารองราชัน |
อภิปราย ขยายความ..............
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนานักองค์จันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรครองกรุงกัมพูชา คราวนี้หันกลับมาดูเรื่องราวในกรุงรัตนโกสินทร์ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันบ้าง จะนำความมาให้อ่านกันทุกตัวอักษร จนจบตอน เพื่อให้ทราบรายละเอียดในการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่ามีขั้นตอนเป็นอย่างไร จะตัดตอนยกมาสั้น ๆ ก็ไม่ได้ เพราะอ่านไม่รู้เรื่องชัดเจน ขออภัยท่านที่ใช้มือถือต้องใช้สายตาอ่านยาวกว่าทุกวันที่ผ่านมา เริ่มอ่านกันเลยนะครับ
* ครั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๖๘ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งพลับพลาที่ประทับแรมที่โรงหล่อท้ายพระราชวังภายในกำแพง ซึ่งเป็นที่สวนกุหลาบในภายหลัง ตั้งเกยที่ข้างหลังข้างหลังพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พลับพลาเปลื้องเครื่องตั้งนอกกำแพงแก้วที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมณฑปที่สรงสนานตั้งที่ชาลาในกำแพงแก้วด้านตะวันออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โรงพิธีพราหมณ์ตั้งหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในการพระราชพิธีนั้น พระสงฆ์ราชาคณะคามวาสี ๓๒ อรัญวาสี ๒ พระองค์เจ้า ๑ ฐานานุกรม ๑๒ อาจารย์ในกรุง ๓ อาจารย์นอกกรุง ๓ รวม ๕๓ รูป เจริญพระพุทธมนต์ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ไป ๓ วัน เวลาบ่าย ๒ โมง ๕ บาท ตั้งกระบวนแห่ มีข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนและมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรฯ และตำรวจซึ่งต้องเกณฑ์ในกระบวนแห่นั้น นุ่งถมปักลายสวมเสื้อครุยขาว ขัดดาบขัดกระบี่สะพายแล่งตามกระบวน บรรดาศักดิ์เป็นคู่ ๆ ทั้งหน้าหลัง แห่เป็น ๔ สาย แล้วถึงข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ทหารพลเรือนในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรฯ นุ่งถมปักลายสวมเสื้อครุยขาวตามเสด็จท้ายกระบวนหลังอีก ๑๓๔ คู่ รวม ๒๖๘ คน แห่ตั้งแต่เกยที่ประทับมาโดยราชวิถี มีราชวัติฉัตรเบญจรงค์รายเป็นระยะตลอดมา เข้าประตูสุวรรณบริบาลหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้ววงมาตามแนวกำแพงแก้ว เสด็จขึ้นพลับพลาเปลื้องพระวิภูษิตาภรณ์เครื่องที่ทรงมานั้นแล้ว ทรงพระภูษาลายพื้นขาว โจงหางหงส์ รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร ทรงพระธำมรงค์เพชรครบนิ้วพระหัตถ์ขวาพระหัตถ์ซ้าย ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทองแล้ว ทรงพระเสลี่ยงน้อยไปถึงที่เสด็จขึ้นทางมุขหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จอยู่ข้างในพระฉาก ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนจบทั้ง ๓ วัน แล้วเสด็จลงทางมุขหลังมาประทับที่พลับพลาเปลื้องเครื่องทรง ผลัดเครื่องแต่งพระองค์ ทรงพระมาลาเส้าสูง ตั้งกระบวนแห่เสด็จกลับทางประตูพิมานชัยศรีทั้ง ๓ วัน
เวลาเช้าวันที่ ๑ วันที่ ๒ นั้นทรงพระเสลี่ยงน้อยเสด็จมาทรงปฏิบัติพระสงฆ์ฉัน แล้วเสด็จทางประตูพิมานชัยศรีกับพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง ไปประทับ ณ ทิมสงฆ์ ดำรัสให้ทิ้งทาน ณ ต้นกัลปพฤกษ์ทั้ง ๔ ต้น ซึ่งตั้งอยู่หว่างโรงละคร นอกพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฟื้องทองเฟื้องเงิน ไว้ในผลมะกรูดในผลมะนาว รวมทั้ง ๓ วัน เป็นทอง ๑๘ ตำลึง เงิน ๒๔ ชั่ง
ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล อัฐศก เวลาเช้า ทรงเครื่องต้น ทรงมหากฐินน้อย เสด็จโดยกระบวนแห่ล้วนสวมพอกขาวมีเกี้ยวมาตามทาง เข้าประตูสุวรรณบริบาล ประทับพลับพลาเปลื้องเครื่อง แล้วทรงพระภูษาลายพื้นขาวโจงหางหงส์ รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร ทรงพระธำมรงค์ครบนิ้วพระหัตถ์ขวาพระหัตถ์ซ้าย ทรงฉลองพระองค์ครุย เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยมุขหลัง ถวายนมัสการพระศรีรัตนตรัย จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงศีลและทรงพระราชอุทิศถวายสังฆภัตตานิสงส์ครบตติยวาร แล้วทรงประเคนสำรับพระสงฆ์ราชาคณะรับพระราชทานฉัน
ครั้นได้เวลามหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร จึงเสด็จลงมาที่สรงสนานริมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก พระราชโกษาถวายพระภูษาขาวเครื่องถอด เสด็จประทับเหนือตั่ง ตั้งบนถาดทองแดงบ่ายพระพักตร์ต่อบุรพทิศแล้ว หลวงพิพิธภูษาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องมุรธาภิเษกสรงสนานเสร็จแล้ว พระราชาคณะคามวาสี ๙ พระราชาคณะอรัญวาสี ๒ พระอาจารย์วัดบางช้าง ๓ รวม ๑๔ รูป ถวายน้ำพระพุทธมนต์ จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเต้าเบญจคัพย์ และพระมหาสังขทักษิณาวัฏ พระสังข์ทองคำ พระสังข์เงิน อันเต็มด้วยน้ำปัญจสุทธินที ทรงรดพระราชทานเสร็จ และพระครูพราหมณ์ผู้ใหญ่ถวายน้ำสังข์น้ำกลดต่อพระหัตถ์แล้ว ถวายใบเวฬุทรงรับ พราหมณ์ผู้ใหญ่จึงร่ายพระเวทอิศวรมนต์ พระพิษณุมนต์ พระพรหมมนต์ ถวายชัยมงคล เสร็จแล้วผลัดพระภูษาขาว ทรงพระภูษาลายเทศพื้นแดงเขียนทอง ทรงสะพักกรองขาว เสด็จขึ้นพลับพลาเปลื้องพระเครื่องคอยพระฤกษ์
ครั้นได้ศุภวารมหุรดิฤกษ์แล้ว เสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อย จมื่นมหาดเล็กจึงเชิญธูปเทียนดอกไม้ตามเสด็จไปพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จลงจากพระเสลี่ยงเข้าไปประทับอยู่ท้องพระโรง ขุนมหาสิทธิโวหารอาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไว้ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานข้างใน จึงมีพระราชโองการดำรัสใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ให้ออกมาเชิญเสด็จ ๆ เข้าไปในพระที่นั่งข้างใน พระเจ้าลูกเธอพระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์ ทรงเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนตามเสด็จเข้าไป จึงทูลเกล้าถวายดอกไม้ธูปเทียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วมีพระราชโองการดำรัสใช้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ให้ออกมาเชิญพานพระสุพรรณบัฏเข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ครั้นเวลาเช้า ๔ โมง ๕ บาท ได้พระสิริราชาฤกษ์ หลวงโลกทีป ขุนโชติพรหมา ขุนเทพากร โหรทั้ง ๓ สั่งให้ประโคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว พระราชทานพระแสงดาบญี่ปุ่นฝักมะขามสีแดง จึงดำรัสฝากพระบวรพุทธศาสนา และพระราชทานพระราชโชวาท ให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรมโดยพระราชประเพณีแล้ว พระราชทานพระพรชัยให้ทรงเจริญพระสิริสวัสดิ์วัฒนาอายุยืนสืบไป เสร็จการพระราชพิธีแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา พลพาย ๓๓ ซึ่งประทับ ณ ฉนวนประจำท่าเหนือตำหนักแพ มีเรือดั้งคู่ชก ๓ คู่ เรือนำและเรือกลองแขก เรือตำรวจ เรือข้าราชการตามเสด็จ ๒๓ ลำ เสด็จข้ามไปพระราชวังเดิม มิได้โปรดให้เสด็จไปสถิตในพระราชวังบวรฯ”
* นอกจากจะทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใหม่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์รับพระบัณฑูรด้วย ซึ่งครั้งนั้นข้าราชการกราบบังคมทูลพระกรุณาออกพระนามว่า “พระบัณฑูรใหญ่พระบัณฑูรน้อย”
พร้อมกันนั้นก็โปรดตั้งสมเด็จพระราชธิดา เจ้าฟ้าประภาวดี เป็นกรมขุนเทพยวดี เลื่อนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษ์มนตรี ขึ้นเป็นกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ตั้งพระราชนัดดา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์นี้ ครั้งกรุงธนบุรีมีพระนามว่า เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ เมื่อสิ้นกรุงธนบุรี ก็ทรงพระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ แต่ข้าราชการขานพระนามย่อว่า “เจ้าฟ้าอภัย” ได้ทรงสดับแล้วรับสั่งว่าพ้องกับพระนามเจ้าฟ้าอภัยทศครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และเจ้าฟ้าอภัยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น จึงทรงเปลี่ยนใหม่ว่า “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” นอกจากนี้ยังโปรดให้ตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าเกศ ในกรมขุนศรีสุดารักษ์ เป็นกรมขุนอิศรานุรักษ์ ตั้งพระราชธิดาในสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า เจ้าฟ้าพิกุลทอง เป็นกรมขุนศรีสุนทร ตั้งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต เป็นกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ตั้งพระองค์เจ้าอสนีในสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า เป็นกรมหมื่นเสนีเทพ
ตั้งพระองค์เจ้าในกรมพระราชวังหลัง ๓ พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าปาน เป็นกรมหมื่นนราเทเวศร์ พระองค์เจ้าบัว เป็นกรมหมื่นนเรศร์โยธี พระองค์เจ้าแดง เป็นกรมหมื่นเสนีบริรักษ์
เมื่อเสร็จพิธีแล้วสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯมิได้เสด็จออกจากวังหลวงไปประทับ ณ วังหน้า แต่เสด็จลงเรือข้ามฟากไปประทับ ณ วังเดิม ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อใกล้จะถึงแก่พิราลัยนั้นทรงแสดงความห่วงใยหรือหวงในสมบัติที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ไม่ปรารถนาจะให้ใครนอกจากลูกหลานของพระองค์เข้าครอบครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่เสด็จไปประทับ ณ วังหน้า
รุ่งขึ้นปี จุลศักราช ๑๑๖๙ ปีเถาะ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ โปรดให้เชิญพระศพกรมพระราชวังหลังเข้าสู่พระเมรุ ท้องสนามหลวง มีการมหรสพสมโภช ๓ วัน แล้วพระราชทานเพลิงพระศพ และมีการสมโภชพระอัฐิอีก ๑ วัน ในการนี้พระเจ้าเวียดนามได้จัดสิ่งของส่งมาเข้าร่วมสดับปกรณ์ด้วย
วันรุ่งพรุ่งนี้ หายตาลายแล้วมาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบะนกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุนขี่ผึ้งไทย ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 นักองค์มี (นักองค์เม็ญ) จากละคร ข้าบดินทร์ - นักองจันทร์ทูลขอพระญาติ -
นักองค์จันทร์ทูลขอพระญาติกลับ เป็นความสับสนอยู่ดูน่าขัน พงศาวดารอ้างความต่างกัน นักองจันทร์ถือทุนมูลขัดเคือง |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้อานกันยาวเหยียด ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลและพระเจ้าลูกยาเธอพระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์ทรงกรมต่าง ๆ เป็นไปตามพระราชประเพณี วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ
* “ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๐ อันเป็นปีที่ ๒๖ แห่งรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ากรุงสยามนั้น ยาลอง หรือ องเชียงสือ พระเจ้าเวียดนามให้ทูตถือพระราชสาส์นเข้ามาถวาย แสดงความยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อุปราชาภิเษกให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นพระราชวังบวรสถานมงคล อาณาประชาราษฎรได้พึ่งพระบารมีอยู่เย็นเป็นสุข
พร้อมพระราชสาส์นนั้นพระเจ้าเวียดนามได้แต่งให้คำซายกาย เกอทินลกเหา ราชทูตคุมสิ่งของเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นจำนวนมาก เมื่อทูตเวียดนามถวายบังคมลากลับ ก็ทรงจัดสิ่งของถวายพระเจ้าเวียดนามเป็นการตอบแทน พร้อมกับมีพระราชสาส์นตอบขอบพระทัยที่พระเจ้าเวียดนามมีพระทัยรักใคร่กรุงเทพมหานครเสมอต้นเสมอปลาย หาได้รังเกียจประการใดไม่ ขอให้พระเจ้าเวียดนามเจริญอยู่ในราชสมบัติสืบพระญาติวงศ์ครอบครองอาณาจักรไพร่ฟ้าประชากรข้าขอบขัณฑสีมายืนยาวไปชั่วฟ้าดิน
ในเดือน ๗ ปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ประชวรสิ้นพระชนม์ ต่อมาในเดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ ได้ช้างสีทองแดง ๒ ช้าง พระยานครราชสีมาถวายช้าง ๑ เจ้าทุ่งถวายช้าง ๑ ช้างงาเดียวใหญ่ช้าง ๑ โปรดให้ทำโรงพักไว้ ณ วัดสระเกศ เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชแล้ว พระราชทานชื่อ ช้างนครราชสีมาขึ้นระวางเป็นพระยาบรมนาเคนทร์คเชนทรชาติตามพหัตถี ศรีสุวรรณเลิศฟ้า พระราชทานช้างเจ้าทุ่งขึ้นระวางเป็นพระบรมคชลักษณ์ อัครชาติตามพหัตถีศรีคชพงศ์ รณรงค์เลิศฟ้า พระราชทานชื่อขึ้นระวางช้างงาเดียวเป็นพระบรมเมฆ เอกทนต์ วิมลสุประดิษฐ์ สิทธิสนธยา มหาศุภมงคล วิมลเลิศฟ้า แล้วให้แห่ช้างทั้งหมดเข้ามายืนไว้ในพระบรมมหาราชวัง
ณ เดือน ๔ ปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระอุทัยราชาแห่งกรุงกัมพูชา มีศุภอักษรให้พระองค์แก้วกับพระยาจักรีเข้ามากราบทูลขอนักองค์อี นักองค์เภา ซึ่งเป็นปิตุฉาของพระองค์ และเป็นพระสนมเอกในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดพระราชทานให้ โดยมีพระราชดำรัสว่า “มีพระองค์เจ้าอยู่ จะให้ออกไปมิได้ มารดากับบุตรจะพลัดกัน” แต่ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองค์นพรัตน์ มีความต่างออกไปว่าดังนี้
“ ลุเดือน ๓ ปีเถาะ ๑๑๖๙ (พ.ศ.๒๓๕๐) พระบาทผู้เปนเจ้าตรัสใช้ให้พระองค์แก้ว (ด้วง) กับออกญาจักรี (แกบ) ให้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ และขอรับพระราชทานสมเด็จพระมาตุจฉาที่อยู่ ณ กรุงเทพฯ กลับคืนกรุงกัมพูชาด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาอนุญาตให้กลับ คือ :-
(๑) สมเด็จพระมาตุจฉา ซึ่งเปนสมเด็จพระท้าว พระนามเดิม นักองค์เม็ญ ๑ (๒) พระภัควดี พระเอกกระษัตรีที่แต่ก่อนเปนพระแม่นางบุบผาวดี เดิมชื่อ วง แลเปนพระมารดานักองค์เม็ญ ๑ (๓) สมเด็จพระมาตุจฉา ทรงพระนามนักองค์เภา ๑ อันนักองค์เภานี้ได้เปนพระเทพีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังน่า มีพระราชบุตรีองค์หนึ่งทรงนามพระองค์เจ้ากัมพูช์ฉัตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหลวงทรงอนุญาตให้แต่นักองค์เภากลับได้ แต่ส่วนพระองค์เจ้ากัมพูช์ฉัตรนั้นโปรดเกล้าฯ ให้คงอยู่กรุงเทพฯ
อนึ่ง สมเด็จพระมาตุจฉาองค์หนึ่งทรงพระนามเปนสมเด็จพระศรีราชธิดา เดิมทรงพระนาม นักองค์อี ที่นักนางแป้น ซึ่งเปนน้องออกญาบวรนายกโสร์เป็นพระมารดานั้น ก็เปนพระเทพีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังน่าเหมือนกัน มีพระราชบุตร ๒ พระองค์ ทรงพระนาม พระองค์เจ้าปุก ๑ พระองค์เจ้าวง ๑ เหตุดังนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวงจึงทรงห้ามไว้ให้คงอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งพระมารดาและพระราชบุตร
แต่ที่กลับคืนเมืองเขมรคราวนั้น ก็มีแต่สมเด็จพระมาตุจฉา ๒ พระองค์ กับพระภัควดี พระเอกกระษัตรีอีกองค์หนึ่งเท่านั้น”
* * ท่านผู้อ่านครับ ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า นักองค์เม็ญนั้นมิได้กลับไปกัมพูชา เพราะว่าท่านถึงแก่อนิจกรรมเสียในกรุงเทพฯแล้ว และแม้นักองค์เภาก็มิได้ทรงอนุญาตให้กลับไปกรุงกัมพูชาด้วยข้ออ้างเช่นเดียวกันกับที่ไม่อนุญาตให้นักองค์อีกลับไป คือว่า “แม่ลูกจะพลัดกัน” นั่นเอง และเรื่องนี้เป็นสาเหตุให้สมเด็จพระอุทัยราชาทรงพระโทมนัสแล้วกระด้างกระเดื่องในกาลต่อไป
เรื่องระหว่างไทยกับเขมรนี่เป็น “รามเกียรติ์” คือ เ รื่องยาวที่จบยาก เอาไว้นำมาบอกเล่าสลับกับเรื่องอื่น ๆ เป็นระยะ ๆไป พรุ่งมีเรื่องอื่นมาคั่นไว้ เป็นเรื่องอะไรนั้น มาเปิดอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เชิญพระพุทธรูปใหญ่เข้ากรุง -
มีพระพุทธรูปใหญ่ในเมืองเก่า อัญเชิญเข้ากรุงฉาวข่าวลือเลื่อง เป็นพระใหญ่โด่งดังไปทั้งเมือง ชักลากเปลืองแรงงานบานตะไท
เข้าวิหารไม่ได้เพราะใหญ่อยู่ ทุบประตูทิ้งจึงเข้าถึงได้ วัดสุทัศน์ที่อยู่ชื่นชูใจ มีนามใหม่ “ศรีศากยมุนี” |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองนพรัตน์มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน เรื่องที่สมเด็จพระอุทัยราชาฯ นักองจันทร์ มีหนังสือเข้ามากราบทูลขอพระญาติผู้ใหญ่ เช่น นักองอี นักองเภา กลับคืนสู่กัมพูชา วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ มีความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า
 “ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก ๓ วา คืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้าง ไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูนั้นก็เรียกว่าประตูท่าพระมาจนทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตูจึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปพระองค์นี้ ภายหลังได้ถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี”
* พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้ มีความปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยวัดป่ามะม่วงหลักที่ ๑ (ภาษาไทย) บอกเล่าเรื่องราวที่พระยาลิไท ทรงอาราธนาพระอุทุมพรบุปผมหาสามีสังฆราช ประมุขพระภิกษุคณะลังการวงศ์ นิกายมหาวิหาร จากนครพัน (เมาะตะมะ) มาสู่กรุงสุโขไท แล้วพระองค์ทรงพระผนวช โดยสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๔ ณ วัดป่ามะม่วง แล้วทรงให้หล่อพระพุทธรูปด้วยเนื้อทองสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองสุโขไท (คือหน้าตัก ๓ วาคืบ = ๑๒ ศอก ๑ คืบ) ประดิษฐานในพระวิหารทางด้านทิศตะวันออกแห่งองค์พระมหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขไท เมื่อออกพรรษาแล้วทรงกระทำมหาทานฉลองพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่นั้น มีการแสดงและสดับธรรมทุกวันจนครบ ๑๐๐ วัน แล้วทรงถวายกระยาทานอันมี ทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน หมากสิบล้าน ผ้าจีวรสี่ร้อย บาตรสี่ร้อย หมอนนั่งสี่ร้อย หมอนนอนสี่ร้อย เป็นต้น
พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้เดิมไม่ปรากฏนาม เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้อัญเชิญจากวัด(มหาธาตุ)ร้างกลางป่าเมืองเก่าสุโขทัย ลงไปกรุงเทพมหานครนั้น เห็นจะทุลักทุเลในการขนย้ายมากทีเดียว ดีที่ในช่วงเวลานั้นแม่น้ำสำพายหรือแม่ลำพันยังมีสภาพเป็นแม่น้ำที่ลึกและกว้าง จึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลงแพไม้ขนาดใหญ่ ล่องจากเมืองเก่าสุโขทัยตามลำน้ำแม่ลำพัน ออกสู่แม่น้ำยมที่บ้านธานี แล้วล่องตามลำน้ำยมอันคดเคี้ยวจากธานี ผ่านบ้านกง บ้านลาด บางแก้ว บางระกำ และหลายตำบลในเขตจังหวัดพิจิตร ออกลำน้ำน่าน ที่บ้านเกยชัย ลงบรรจบแม่น้ำปิงตรงเมืองปากบาง (นครสวรรค์) หรือปากน้ำโพ แ ล้วสู่แม่น้ำเจ้าพระยาล่องลงเข้ากรุงเทพมหานคร
 ความในพระราชพงศาวดารมิได้ให้รายละเอียดมากไปกว่าที่อ่านให้ฟังข้างต้น แต่ก็ได้เห็นความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ กล่าวคือ เมื่อพระพุทธรูปล่องลงถึงกรุงเทพฯแล้ว โปรดให้จอดแพไว้ตรงหน้าพระตำหนักแพ จัดให้มีการสมโภชนานถึง ๓ วัน แล้วจึงอัญเชิญขึ้นจากแพสู่วัดสุทัศน์เทพวราราม ครั้นถึงแล้วก็อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระวิหารมิได้ เพราะองค์พระใหญ่กว่าประตูพระวิหาร จึงตั้งไว้ริมถนนเสาชิงช้าทำร่มบังแสงแดดไว้ ต่อมาจึงทำการรื้อประตูพระวิหาร แล้วอัญเชิญองค์พระใหญ่เข้าไปประดิษฐาน นัยว่า พระพุทธรูปใหญ่เนื้อทองสำริดองค์นี้ ขณะที่อัญเชิญมากรุงเทพมหานครนั้น มีสภาพชำรุดไม่สมบูรณ์นัก ภายหลังจึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์จนสมบูรณ์ดี แล้วถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ แต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงกาลปัจจุบัน
 มีพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ที่อัญเชิญจากสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลายองค์ เช่น พระพุทธรูปเนื้อนากหน้าตัก ๓ ศอกคืบ จากวัดเขาอินทร์ ศรีสัชนาลัย ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศตะวันออก วัดพระเชตุพนฯ
 พระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิปางลีลา ซึ่งมีพุทธศิลป์งดงามที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรฯ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์แก่บรรดาสถาปนิกชาวโลกตะวันตกมาก เพราะองค์พระประทับยืนในลักษณะก้าวเท้าเดิน ตั้งอยู่ได้โดยไม่ล้ม ซึ่งช่างศิลป์ชาวตะวันตกปัจจุบันทำไม่ได้ ในการพิจารณาเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการเห็นเป็นเอกฉันท์ให้สุโขทัยเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพราะพุทธรูปปางลีลาองค์นี้เป็นแรงจูงใจคณะกรรมการฯ เสียดายว่าในพระราชพงศาวดารมิได้บันทึก วัน เดือน ปี ที่อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ลงไปกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกันกับพระศรีศากยมุนีองค์นี้ แม้พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร ก็ยังมีประวัติการขนย้ายลงมาอย่างมืดมนจนถึงวันนี้ ยังมีพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัย ซึ่งมาเป็นพระพุทธรูปสำคัญอยู่ในวัดต่างทั่วกรุงเทพฯ อีกหลายองค์ที่ยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- มหาชาติกระจาดใหญ่ -
มีพระราชพิธีโสกันต์เป็นงานใหญ่ ปรากฏในราชสำนักทรงศักดิ์ศรี อีกงานมหาชาติกึ่งราชพิธี เป็นเรื่องที่ควรรู้เล่าสู่ฟัง |
เมื่อวันเมื่อวันก่อนนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ มาบเอกเล่าถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่จากวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย ใส่แพล่องลงไปกรุงเทพฯแล้วเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้นามพระราชทานว่า พระศรีศากยมุนี วันนี้มาดูเรื่องราวในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ต่อไปครับ]
ในปีเดียวกันกับที่เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่จากวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัยเข้ากรุงเทพฯนั้น เจ้าพระยาสงขลาบอกเข้ามาว่า พระยาตรังกานูกับดาตูปักลันเมืองยิริง คบคิดกันไปเชิญแขกเมืองเซียะ เมืองลานน ซึ่งเป็นสลัดในท้องทะเล จะยกมาตีเมืองสงขลาในเดือน ๕ เดือน ๖ ทางสงขลาได้เกณฑ์คนไว้คอยสู้รบ แต่มีคนน้อยเกรงว่าจะสู้ไม่ได้ ขอได้โปรดให้กองทัพจากกรุงเทพฯออกไปช่วยด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ(บุนนาค) บ้านแม่ลา ซึ่งเป็นผู้รักษากรุงเก่าแต่ก่อน เป็นแม่ทัพเกณฑ์คนหัวเมืองฝ่ายใต้เข้ากองทัพไปช่วยเจ้าพระยาสงขลาตีเมืองยิริง เจ้าพระยาพลเทพยกทัพจากกรุงเทพฯ ไปเมื่อเดือน ๗ แล้วปราบปรามเมืองยิริงได้เรียบร้อยในปีเดียวกัน
ณ วันอาทิตย์แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เวลาเช้า เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ถึงวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ เชิญพระศพแห่ไปสู่พระเมรุซึ่งสร้างเสร็จแต่เดือนยี่ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จแล้ว วันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ จึงพระราชทานเพลิง ในการพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพนั้น ทรงพระภูษาลายพื้นขาวทุกวัน ดำรัสว่า “ลูกคนนี้รักมากต้องนุ่งขาวให้” ครั้นเสร็จการพระศพแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอัฐิขึ้นเป็นกรมหลวงเทพยวดี
ในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา ถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่า “ตั้งแต่ตั้งแผ่นดิน ยังหาได้ทำพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราไม่ และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างกรุงเก่านั้น เจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงแนะสอนไว้ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า ๓ พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว” ทรงพระดำริดังนี้แล้วจึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง ตั้งการพระราชพิธี มีเตียงพระมณฑลบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และตั้งราชวัติฉัตรรายทางนั่งกลาบาต และมีการเล่นต่าง ๆ ตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา
ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ เวลาบ่าย ให้ตั้งกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เสด็จทรงยานุมาศตั้งแต่เกยในพระราชวังมาออกประตูราชสำราญ แล้วมาตามถนนริมกำแพงพระราชวัง เข้าประตูพิมานไชยศรี จากนั้นประทับเกยกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จลงจากพระยานุมาศ แล้วเสด็จทางผ้าขาวลาดขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ๓ วัน ถึงวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายท้ายที่ทรงบาตร ที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน
จากนั้นทรงพระเสลี่ยงน้อย ขับไม้พราหมณ์นำเสด็จ พระยาศรีธรรมาธิราช พระยาธรรมา พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาอนุรักษ์มนเทียร คู่เคียง ๒ คู่ เคียงพระเสลี่ยงมาสรงน้ำที่สระอโนดาด ณ เชิงเขาไกรลาส สรงแล้วเสร็จประทับพลับพลาทรงเครื่องเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาส จึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาส ทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณเขาไกรลาส ๓ รอบ แล้วแห่กลับมาตามทางออกประตูพิมานไชยศรี ไปเข้าในพระราชวังทางประตูราชสำราญ ครั้นเพลาบ่ายตั้งกระบวนแห่เครื่องแดงมาสมโภชวันนั้น แล้วตั้งกระบวนแห่มาสมโภชต่อไปอีก ๒ วัน วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ อันเป็นวันที่ ๗ จึงแห่พระเกศาไปลอย เป็นเสร็จพิธีโสกันต์
พิธีโสกันต์ คือการโกนจุกพระกุมาร - กุมารี เป็นพิธีที่กระทำกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ย้อนไปดูในสมัยกรุงสุโขไทแล้ว ไม่พบพิธีกรรมนี้ จึงเชื่อได้ว่าคงไม่มี และประเพณีการไว้ผมจุก ผมแกละ ผมเปีย ของเด็กชายหญิง เห็นทีว่าจะมีขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง “ประเพณีไทย” ไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์ มีความตอนหนึ่งว่า
“………..การศึกษาโลกเขาแบ่งเป็น ๔ ประเภท เรียกว่า ขนาดอุ้ม ขนาดจูง ขนาดเล่น ขนาดรุ่น ฉันเอาหลักนี้มาสันนิษฐานประกอบเข้ากับการศึกษา เด็กที่เรียกว่าอุ้มนั้น สันนิษฐานว่าตั้งแต่เกิดมาจนมีอายุ ๓ ขวบ ขนาดจูงนั้นตั้งแต่ ๔ ขวบถึง ๗ ขวบ ซึ่งจะไปไหนยังไปตามลำพังไม่ได้ ต้องมีคนคอยจูง ต่อนั้นขึ้นไปถึงขั้นเล่น เด็กที่เป็นขนาดเล่น ผู้ชายอายุ ๘ ปีจนถึง ๑๓ ปี ผู้หญิงตั้งแต่ ๘ ปี จนถึง ๑๑ ปี คนโบราณเมื่อโกนผมไฟแล้วมักจะเอาไว้จุก และเคยกระทำพิธีกันใหญ่โต คนหลัง ๆ ก็ประพฤติตามกันมาจนบัดนี้ จึงได้เกิดความสงสัยขึ้นด้วยเรื่องไว้จุก ต้นเดิมมาจากไหน ฉันสันนิษฐานได้ ทำไมจึงไว้จุก คือว่าจะได้เป็นเครื่องหมายแสดงให้ปรากฏในที่ประชุมชนทั้งหลายว่าเป็นเด็กเท่านั้น เมื่อเข้าที่ชุมนุมผู้ใหญ่จะได้มีความเมตตาอุปการะ ให้ความเสมอภาคตามสมควรแก่เด็ก ต่อเมื่ออายุย่างเข้าเขตเดียงสา พ่อ,แม่,ปู่,ย่า,ตา,ยายของเราก็จัดการโกนจุก มีพิธีรีตองกันอีก เพื่อให้พ้นจากเขตเดียงสา…….”
กรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงบอกว่าการไว้ผมจุกมีตั้งแต่สมัยใด แต่ก็ให้ความรู้ว่าเริ่มไว้กันตั้งแต่วันโกนผมไฟ ในวันโกนผมไฟนั้นมักจะทำพิธีกันใหญ่โต เหตุผลของการไว้จุกนั้นท่านว่า เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นเด็กในที่ชุมชนทั่วไปว่า ยังเป็นเด็กไร้เดียงสา ต่อเมื่ออายุเข้าเขตเดียงสาแล้วจึงทำพิธีโกนจุก เด็กชายจะเข้าเขตเดียงสาเมื่อมีอายุได้ ๑๓ ปี เด็กหญิงจะเข้าเขตเดียงสาเมื่ออายุ ๑๑ ปี นั่นหมายถึงเด็กหญิงจะได้เดียงสาก่อนเด็กชาย ๒ ปี
คำว่า เดียงสา แปลว่า “ความรู้ผิดรู้ชอบตามปรกติสามัญ” ผู้หญิงที่ไร้เดียงสาจึงอยู่ในเขตอายุ ๑–๑๑ ขวบปี ผู้ชายไร้เดียงสามีอายุอยู่ในเขต ๑-๑๓ ขวบปีครับ
ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ เป็นการบุญทานอันยิ่งใหญ่ คือ แห่สระสนานใหญ่ แห่พระกฐิน และมีกระจาดใหญ่กัณฑ์เทศมหาชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดตั้งทำเนียบระวางช้าง ม้า และโปรดให้มีสระสนานอย่างใหญ่ ขุนนางผู้ใหญ่ต้องแห่เป็นกระบวน ๆ กันครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นเครื่องอาวุธที่แห่ใช้ทำด้วยไม้จริงทั้งหมด
ได้ทรงสร้างเรือพระที่นั่ง มี เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชยเป็นต้น และเรือกระบวนเป็นอันมาก ครั้งหนึ่งโปรดให้มีการแห่พระกฐินเป็นการใหญ่ ผ้าไตรพระกฐินที่จะพระราชทานและผ้าไตรปีอันเป็นบริพารผ้าพระกฐินลงเรือกิ่ง เรือเอกไชย กระบวนแห่พยุหเรือแล้ว เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์ และขุนนางข้าราชการทำเรือแห่ต่าง ๆ ตามแต่ปัญญา ทำเป็นจรเข้บ้าง เป็นหอยบ้าง เป็นปลาบ้าง เป็นสัตว์น้ำต่าง ๆ และมีเครื่องเล่นไปในเรือนั้นด้วย แห่รอบพระนครแล้วจึงได้เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินตามธรรมเนียมเป็นการเอิกเกริกมาก
กระบวนแห่ผ้าพระกฐินตามที่พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ดังกล่าว แลเห็นภาพได้ชัดเจนว่า เป็นกระบวนนาวาพยุหะอันสวยงาม คลาคล่ำเต็มลำคลองจากคลองที่ขุดรอบพระนคร ผ้าพระกฐินนั้นทรงถอดถวาย ณ วัดพระเชตุพนฯ บ้าง วัดอรุณราชวรารามบ้าง วัดมหาธาตุฯ บ้าง ซึ่งวัดดังกล่าวล้วนเป็นพระอารามหลวงชั้นพิเศษ เป็นที่สำหรับทอดผ้าพระกฐินหลวงเป็นประจำทุกปี นอกจากจะจัดกระบวนเรือแห่ผ้าพระกฐินทอดถวายตามพระอารามหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ยังทรงจัดให้มีเทศน์มหาชาติ โดยตั้งกัณฑ์เทศน์เป็นกระจาดใหญ่อีกด้วย ซึ่งพระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า
“อีกครั้งหนึ่ง มีเทศนามหาชาติแผ่พระราชกุศลถึงพระองค์เจ้าต่างกรมและข้าราชการผู้ใหญ่ ๆ ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และเจ้าจอมพระสนมเอกที่มีกำลังพอจะทำได้ กระทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์มหาชาติ ๑๓ กระจาด ตั้งกระจาดหน้ากำแพงพระมหาปราสาทรายตลอดมาถึงหน้าโรงทอง และโรงนาฬิกา และข้างลานชาลาด้วย ประกวดประขันกันนัก กระจาดคุณแว่นพระสนมเอกที่เขาเรียกว่า คุณเสือ แต่งเด็กศีรษะจุกเครื่องแต่งหมดจด ถวายพระเป็นสิทธิ์ขาดทีเดียว ก็เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นปีใดหาจดหมายเหตุไม่ได้”
เด็กหัวจุกที่พระสนมเอกจัดเป็นกระจาดกัณฑ์เทศน์ถวายพระเทศน์นั้น เป็นทาสที่พระนางซื้อมาให้เป็นไทแล้วถวายพระเทศน์ ควรจะเรียกว่าบริจาคทาสให้เป็นทานก็ได้นะครับ
อ่านพระราชพงศาวดารกรุงรันโกสินทร์มาถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ความรู้หลายเรื่องแล้ว วันนี้ยุติไว้แค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาต่อกันใหม่ครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ร.๑ เสด็จสวรรคต -
ทรงสมโภชพระแก้วมรกต เสมือนหมดภาระที่ทรงหวัง ประชวรด้วยพระชราอ่อนพลัง ลาเวียงวังประเทศประชาสวรรคต |
เมื่อวันวานได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาให้อ่านกัน ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทำบำเพ็ญพระราชกุศลยิ่งใหญ่ นอกจากจัดพยุหนาวากระบวนแห่ผ้าพระกฐินรอบพระนครไปทอดถวายในพระอารามหลวงแล้ว ทรงจัดให้มีเทศน์มหาชาติ แผ่พระราชกุศลให้พระบรมวงศานุวงศ์จัดกัณฑ์เทศน์กระจาดใหญ่ตามกำลัง ในกัณฑ์เทศน์นั้นพระสนมเอกนาม “คุณเสือ” ได้ไถ่ลูกทาสชายให้เป็นไท ไว้ผมจุกแล้วนำมาแต่งตัวสะอาดสะอ้าน จัดเข้าในกัณฑ์เทศน์ถวายพระเทศน์ประจำกัณฑ์ด้วย วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมในตอนสุดท้ายของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกันต่อครับ
“ในรัชกาลที่ ๑ เริ่มตั้งกรุง และราชวงศ์ใหม่ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย จำต้องหาผลประโยชน์จากภาษีอากรทุกทางมาใช้จ่าย ผลประโยชน์ที่ได้มานั้นคือ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรขนอนตลาด ค่าน้ำเก็บตามเครื่องมือ อากรสมพัดสร อากรสวน ส่วนค่าทำนานั้นเก็บเป็นหางข้าว นอกนั้นก็เก็บของส่วยสินค้าต่าง ๆ เงินจากภาษีอากรดังกล่าวนั้นได้ปีละไม่มากนัก ผลประโยชน์ที่ได้มากในครั้งนั้นได้จากการค้าสำเภา มีสำเภาเป็นรูปเรือตั้วกั๋งอย่างจีนหน้าราหู ศีรษะเขียวบ้าง แดงบ้าง ปากกว้าง ๕ วา ถึง ๗ วา มีทั้งของหลวงและของเจ้านายข้าราชการพ่อค้าเป็นอันมาก เรือเหล่านี้ต่อในกรุงเทพฯ บ้าง ตามหัวเมืองบ้าง บรรทุกสินค้าต่าง ๆ ออกไปขายที่เมืองจีนทุก ๆ ปี บางลำก็ขายแต่สินค้า บางทีก็ขายทั้งสินค้าและเรือด้วยกัน ได้กำไรในการค้าสำเภาเป็นอันมาก เงินตราในรัชกาลที่ ๑ เป็นเงินพดด้วงอย่างเดิมแต่แรกใช้ ตีตรารูปจักรดวง ๑ รูปกรีดวง ๑ เมื่อภายหลังบรมราชาภิเษกครั้งหลังโปรดให้เปลี่ยนตรารูปกรีเป็นตรารูปบัวผัน ส่วนตราจักรนั้นให้คงไว้ตามเดิม
วัดที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์ ในด้านศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัด คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศราชวรวิหาร และทรงปฏิสังขรณ์พระอารามอื่น ๆ อีกหลายพระอาราม เช่น
วัดเลียบ ซึ่งเดิมพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ได้ทรงปฏิสังขรณ์ไว้เพียงพระอุโบสถ และกุฎีสงฆ์ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วพระราชทานนามเปลี่ยนเป็นว่า วัดราชบุรณะ ๑ วัดบางหว้าใหญ่ ทรงปฏิสังขรณ์แล้ว พระราชทานนามเปลี่ยนเป็นว่า วัดระฆัง ให้เหมือนวัดระฆังครั้งกรุงเก่า ๑ วัดศาลาสี่หน้า ในคลองบางจาก ซึ่งโปรดให้เชิญพระประธานมาเป็นพระประธานวัดพระเชตุพนฯนั้น ทรงปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามเปลี่ยนใหม่เป็นว่า วัดคูหาสวรรค์ ๑ วัดพลับ ในคลองบางกอกใหญ่ ๑ วัดทองคลองบางกอกน้อย ๑ วัดสมอราย ๑ วัดแจ้ง ๑ วัดท้ายตลาด ๑ วัดคอกกระบือ ๑ วัดสุวรรณที่กรุงเก่ า ซึ่งเป็นวัดเดิมของสมเด็จพระชนกาธิบดี ก็ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย
พระราชานุกิจตั้งแต่ดำรงสิริราชสมบัติมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอิริยาบทในพระราชานุกิจโดยปกติ กล่าวคือ
เวลาเช้าเสด็จทรงบาตรแล้วเสด็จออกท้องพระโรงถวายภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวร พระสงฆ์กลับแล้วทรงฟังรายงานชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลการจ่ายเงินพระคลัง แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นที่ออกขุนนาง พระราชวงศานุวงศ์และตำรวจเฝ้าก่อน ในเวลานี้ข้าราชการมีจางวางและเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจเป็นต้น ที่ได้ว่าความรับสั่ง นำรายงานการคดีขึ้นกราบบังคมทูล ทรงพระราชวินิจฉัยด้วยอรรถคดีของราษฎรตามสมควร แล้วจึงให้เบิกข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนกรมอื่นเข้าเฝ้า ทรงประภาษด้วยราชการแผ่นดินในเวลาเช้าแต่เล็กน้อย แล้วเสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร แล้วเสด็จออกข้างใน ข้าราชการฝ่ายในเฝ้า ทรงประภาษด้วยราชการภายในพระบรมมหาราชวังพอสมควรแล้วเสด็จขึ้นในที่
เวลาค่ำเสวยพระกระยาหารแล้วเสด็จออกท้องพระโรง ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วทรงฟังรายงานชาวพระคลังในซ้ายคลังในขวา และคลังวิเศษกราบบังคมทูลรายจ่ายของพระคลัง และรายงานมหาดเล็กกราบบังคมทูลพระอาการประชวรของพระราชวงศานุวงศ์ หรืออาการป่วยของข้าราชการผู้ใหญ่ บรรดาที่ได้โปรดให้มีรายงานอาการกราบบังคมทูลนั้น ถ้ามีการก่อสร้างซึ่งโปรดให้มหาดเล็กตรวจ ก็รายงานกราบบังคมทูลในเวลานั้นด้วย เมื่อหมดรายงานแล้วจึงเสด็จขึ้นพระแท่นที่ออกขุนนาง เบิกข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน มหาดไทย กลาโหม กรมท่า นำใบบอกราชการหัวเมืองกราบบังคมทูล และทรงพระราชวินิจฉัยด้วยราชการแผ่นดินจนเวลาประมาณยามเศษ ๔ ทุ่มจึงเสด็จขึ้น ถ้าคราวปรึกษาการทัพศึกหรือเวลามีราชการสำคัญก็เสด็จขึ้นถึง ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม
ทรงปฏิบัติพระราชานุกิจดังนี้เสมอมา จนพระชราลง มีพระโรคชราเบียดเบียน ไม่สามารถจะเสด็จออกท้องพระโรงได้ จึงเสด็จลงมาประทับอยู่ในพระที่นั่งหลัง ๑๑ ห้อง ซึ่งมีนามภายหลังว่า พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ครั้นเวลาเช้า ๆ โปรดให้ข้าราชการเข้าเฝ้าที่ชาลาข้างท้องพระโรงด้านตะวันตก ทรงพระอุตสาหะเสด็จออกขุนนางที่พระบัญชรพระที่นั่งไพศาลทักษิณมิได้ขาด
จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็ง เอกศก พุทธศักราช ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาโปรดให้มีการสมโภชพระแก้วมรกตอีกครั้งหนึ่ง ตั้งสวดพระพุทธมนต์ตั้งแต่ วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ไปจนถึง วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๖ อาราธนาพระสงฆ์ทั้งในกรุงนอกกรุงและหัวเมืองสวดวันละ ๒,๐๐๐ รูป ทั้ง ๓ วัน สำรับเลี้ยงพระสงฆ์ของหลวง ๑,๐๐๐ รูป เป็นของพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการ ๑,๐๐๐ รูป แบ่งเลี้ยงวันละ ๖๖๗ รูป ฉัน ๓ วัน ครบพระสงฆ์ ๒,๐๐๐ รูป
เวลาเพลเลี้ยงพระสงฆ์ทำดอกไม้เพลิงด้วย ๑๐๐ รูป ทั้ง ๓ วัน พระราชทานเงินผู้ที่ทำสำรับเลี้ยงพระสงฆ์สำรับละบาท แล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ บอกอานิสงส์วันละกัณฑ์ ๑ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบ่ายตั้งบายศรีแก้ว บายศรีเงิน บายศรีทอง ในพระอุโบสถ เครื่องบายศรีมีกระทงดอกไม้ เวียนเทียนวันหนึ่ง แล้วตั้งบูชาไว้
เวลาค่ำมีหนัง มีดอกไม้เพลิง สมโภชเป็นคำรบ ๗ คืน มีละครผู้หญิงข้างในที่โรงละครใหญ่ และการเล่นต่าง ๆ สมโภชเวลากลางวันพร้อมกันตั้งแต่วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ จนถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ เป็นคำรบ ๗ วัน มีต้นกัลปพฤกษ์วันละ ๖ ต้น รุ่งขึ้นวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ เวลาเช้าตั้งบายศรีแก้ว บายศรีเงิน บายศรีทอง ในพระอุโบสถ เครื่องบายศรีของกระยาบวชตามอย่างแบบธรรมเนียมบายศรี เวียนเทียนอีกครั้งหนึ่ง
การครั้งนี้โปรดให้ตั้งโรงฉ้อทาน ที่หน้าวัดมหาธาตุ เจ้าครอกใหญ่อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง ตั้งโรง ๑ ที่ท่าพระ พระเจ้าน้องยาเธอซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่า กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ตั้งโรง ๑ ที่โรงรองาน พระยาศรีธรรมาธิราช ตั้งโรง ๑ ที่สะพานช้างโรงสี เจ้าพระยามหาเสนาตั้งโรง ๑ ที่สะพานตรงวังหน้า พระยาธรรมาตั้งโรง ๑ ที่หอกลอง เจ้าพระยาพระคลัง ตั้งโรง ๑ รวมเป็น ๖ โรงด้วยกัน
ท่านข้างในทำโรงน้ำยาโรง ๑ เลี้ยงพระสงฆ์สามเณร ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และราษฎรชายหญิง ตั้งแต่วันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เวลาเช้าไปจนถึง ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ ครบ ๑๐ วันเวลาบ่ายจึงเลิก”
* ท่านผู้อ่านครับ งานสมโภชพระแก้วมรกตครั้งหลังนี้ยิ่งใหญ่มากทีเดียว การตั้งโรงฉ้อทาน คือ โรงทาน ๖ โรง (ฉ้อ= ๖) ดูเหมือนจะเป็นประเพณีของงานสมโภชใหญ่ ๆ ทุกงาน เพื่อให้คนที่ไปร่วมงานนั้นได้บริโภคอาหารหวานคาวกันอย่างอิ่มหนำ โดยไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนไปรับประทานกัน ประเพณีตั้งโรงทานนี้แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่บ้างนะครับ งานสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนี้ และงานสมโภชพระนครที่แล้วมา ได้เห็นความสนุกสานอย่างหนึ่งคือ การเล่นดอกไม้เพลิง และผู้ที่ทำดอกไม้เพลิงนั้นคือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถูกนิมนต์ให้มาร่วมกันทำดอกไม้เพลิงจำนวนมากถึง ๑๐๐ องค์ทีเดียว แสดงว่าดอกไม้เพลิง หรือ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้เพลิงต่าง ๆ นั้น มีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทำชำนิชำนาญ หรือเชี่ยวชาญ ทำได้ดีกว่าฆราวาสนะครับ
ในการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนี้ เป็นงานสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพราะหลังจากเสร็จงานนี้แล้วไม่นานักพระองค์ก็เสด็จสวรรคต ดังความในพระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่าดังนี้
“ตั้งแต่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ก็ทรงพระประชวรพระโรคชรา พระอาการทรุดลงโดยลำดับ จึงทรงมอบสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ปี เวลา ๓ ยาม ๗ บาท ก็เสด็จสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระชนมายุ ๗๔ พรรษา เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ได้ ๒๘ ปี”
*พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์เสด็จสวรรคตแล้ว แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่จบนะครับ พรุ่งนี้จะนำความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งสรุปเรื่องตอนท้ายมาแสดงต่อ และเมื่อจบพระราชพงศาวดารรัชการที่ ๑ แล้วก็ยังมีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ มาแสดงต่อไปอีกยืดยาวทีเดียว พรุ่งนี้มาพบกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- รัชกาลที่ ๑ องค์พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ - (กว่าได้จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน)
พระราชานุกิจเจ้าอยู่หัว ทรงทำทั่วทุกอย่างทุกสถาน มิว่างเว้นทั้งทิวาราตรีกาล พระทรงงานเพื่อประเทศชาติประชา
ทรงกรากกรำทำงานสานสร้างชาติ สร้างอำนาจความเป็นไทยให้แกร่งกล้า กรำการศึกฮึกหาญรบนานมา ขยายอาณาเขตประเทศไกล
ตั้งราชวงศ์ทรงเดชวิเศษศักดิ์ ให้เป็นหลักชาติงามสยามสมัย ศาสนาวัฒนธรรมคู่อำไพ สมเป็นไทยพัฒนาก้าวหน้าเดิน
ทั้งวัดวังรังรองงามฟ่องฟ้า ให้นานาประเทศนั้นสรรเสริญ สยามราษฎร์ร่วมรัฐจรัสเจริญ แสนงามเกินมนุษย์เฟื่องปานเมืองอินทร์
กว่าจะเป็นเจ้าแผ่นดินปิ่นพิภพ พระทรงรบข้าศึกทั่วฐานถิ่น เป็นขุนศึกขุนพลเดชล้นดิน ทั่วธานินทร์ไร้ผู้เยี่ยมเทียมพระองค์ |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต สิ้นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ของไทยไปอีกพระองค์อนึ่ง วันนี้มาดูพระราชประวัติของพระองค์ท่านซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ได้บันทึกไว้ตรงกันดังต่อไปนี้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นปฐมในพระราชวงศ์พระองค์นี้ มีพระนามปรากฏต่อมาในภายหลังว่า "พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรีบรมนาถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราช รามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนาถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" พระองค์ประสูติ ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘ (พ.ศ.๒๒๗๙) ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มีนิวาสสถานอยู่ภายในกำแพงพระนคร เหนือป้อมเพชร
ครั้นปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๑๙ (พ.ศ. ๒๓๐๐) พระชนมายุครบ ๒๑ ปี เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลายพรรษา ๑ แล้วลาผนวช เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓ ซึ่งปรากฏนามเรียกเป็นสามัญว่า ขุนหลวงดอกมะเดื่อ นั้น ครั้นต่อมาพระองค์ได้วิวาหมงคลกับธิดาในตระกูลเศรษฐีที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม อยู่ต่อพรมแดนเมืองราชบุรี จึงเสด็จออกไปรับราชการอยู่ในเมืองราชบุรี ได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตร เมื่อพระชนมพรรษา ๒๕ ปี
ครั้นเมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว เจ้าตาก (สิน) ตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี จึงเสด็จเข้ารับราชการในกรุงธนบุรี เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ (พ.ศ. ๒๓๑๑) พระชนม์ได้ ๓๒ พรรษา ได้เป็นตำแหน่งที่ พระราชรินทร ในกรมพระตำรวจ ได้รับราชการเป็นกำลังของเจ้ากรุงธนบุรีทำการศึกสงครามต่อมา คือ
ครั้งที่ ๑ ในปีชวด สัมฤทธิศกนั้น ได้เสด็จคุมกองทัพกอง ๑ ไปตีด่านขุนทดแขวงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเจ้าพิมายให้พระยาวรวงศาธิราชมาตั้งรับทัพกรุงธนบุรีอยู่ ตีด่านขุนทดแตกแล้ว ยกตามพระยาวรวงศาธิราชลงไปตีได้เมืองนครเสียมราฐอีกเมือง ๑ เมื่อเสร็จศึกเมืองนครราชสีมาครั้งนั้น ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ จางวางกรมพระตำรวจโดยความชอบ
ครั้งที่ ๒ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ได้เป็นแม่ทัพเสด็จไปตีเมืองเขมร ตีได้เมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ แล้วกำลังทำการศึกค้างอยู่ พอได้ข่าวลือว่าเจ้ากรุงธนบุรีทิวงคตจึงยกกองทัพกลับมา
ครั้งที่ ๓ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ โดยเสด็จเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบปรามเจ้าพระฝาง มีชัยชนะ ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็น พระยายมราช ว่าที่สมุหนายกเมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา
ครั้งที่ ๔ ปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ พระชนมพรรษา ๓๕ ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็น เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพยกลงไปตีเมืองเขมรพร้อมกับเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเสด็จไปทางทะเล ตีได้เมืองบันทายเพชรและเมืองบาพนม
ครั้งที่ ๕ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๗) เป็นแม่ทัพหน้าของเจ้ากรุงธนบุรี ยกไปตีเมืองนครเชียงใหม่ ตีได้เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน แล้วเสด็จอยู่จัดการบ้านเมือง ได้เมืองน่านมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอีกเมือง ๑
ครั้งที่ ๖ พม่ายกทัพมาตีเมืองราชบุรี ในปีนั้นเสด็จยกกองทัพจากเมืองนครเชียงใหม่ลงมาช่วยทัพหลวงรบพม่าได้ชัยชนะ
ครั้งที่ ๗ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ พม่ายกมาตีนครเชียงใหม่ เสด็จเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปช่วย แต่พม่าทราบข่าวถอยทัพไปเสียก่อนหาได้รบไม่
พออะแซหวุ่นกี้ยกทัพพม่าเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงเสด็จลงมาตั้งรับกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก นับเป็นครั้งที่ ๘ ศึกพม่าครั้งนั้นเป็นศึกใหญ่ยกมาหลายทัพหลายทาง ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ทุกด้าน แต่กองทัพไทยต่อรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่าเข้าตีหักเอาหลายครั้งก็ไม่ได้เมืองพิษณุโลก จนอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าขอดูพระองค์และสรรเสริญพระปรีชาสามารถที่ทรงต่อรบรักษาเมืองในครั้งนั้น ต่อมาพม่าตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ และคอยตัดลำเลียงจากกองทัพหลวง มิให้ส่งเสบียงเข้าไปในเมืองพิษณุโลกได้ แต่รักษาเมืองมาถึง ๓ เดือนเศษ จนเสบียงอาหารในเมืองหมดลง ผู้คนอดอยากระส่ำระสาย จึงจำเป็นต้องทิ้งเมืองพิษณุโลก ตีหักค่ายพม่าออกไปได้ทางด้านตะวันออก ไปชุมนุมทัพอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์
ครั้งที่ ๙ ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดร เมืองอัตปือ และได้เมืองเขมรดงหลายเมือง คือ เมืองตลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เป็นต้น ได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ องค์บาทมุลิกากร บวรรัตนปรินายก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ในปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๑๓๙ พระชนม์ได้ ๔๑ พรรษา
ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐ เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองล้านช้าง ตีได้เมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้น และได้เมืองหลวงพระบางมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาด้วย ในครั้งนี้ได้ทรงเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และพระบาง ลงมากรุงธนบุรี
ครั้งที่ ๑๑ เสด็จเป็นแม่ทัพออกไปปราบปรามจลาจลในเมืองเขมร ทำการยังไม่ทันตลอด พอได้ทราบข่าวว่าเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ด้วยเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระสติ กระทำการกดขี่สมณะและข้าราชการอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนร้ายแรง ราชการผันแปรป่วนปั่นไปทั้งพระนคร ก็เสด็จยกกองทัพกลับจากเมืองเขมร เข้าถึงกรุงธนบุรีเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี (พ.ศ. ๒๓๒๕) มุขมนตรีและประชาราษฎรเป็นอันมากพร้อมกันกราบทูลอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีนั้น พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา”
* * ยกมาให้อ่านเพียงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ว่าด้วยเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑ -
เหล่าเสนาบดีที่คบคุ้น เป็นคู่บุญบารมีเสริมสูงส่ง งานเวียงวังคลังนากรมท่าธง ทำให้ทรงงานได้ไม่ยากเย็น |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ ว่าด้วยพระราชประวัติโดยย่อของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาให้ทุกท่านได้อ่านกันแล้ว วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) กันต่อไปครับ
* “ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ทรงพระอุตสาหะครอบครองแผ่นดิน โดยขัตติยานุวัตร ต่อสู้ข้าศึกซึ่งบังอาจมาย่ำยีให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปทุกครั้ง ทั้งปราบปรามศัตรูหมู่ร้ายทั้งภายในและภายนอกราบคาบ แผ่พระราชอาณาจักรกว้างขวางยิ่งกว่าแผ่นดินใด ๆ ในครั้งกรุงเก่าแต่ก่อนมา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและประชาชนทั่วพระราชอาณาจักรเป็นอเนกประการ ดังข้อความพิสดารที่ได้กล่าวมาในพระราชพงศาวดารนี้”
นอกจากกล่าวพระราชประวัติย่อในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อย้ำความทรงจำแล้ว ยังได้กล่าวถึงเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่คนไทยรุ่นหลังควรรู้ไว้ด้วย คือ
“ มหาดไทย - เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ข้าหลวงเดิม เป็นที่พระอักขระสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทยครั้งกรุงธนบุรี ตามเสด็จการสงครามมีความดีความชอบหลายครั้ง รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณโดยมิได้มีความผิด เมื่อปราบดาภิเษกแล้วจึงโปรดให้เป็นที่สมุหนายก ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑
กลาโหม - เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) บุตรพระยากลาโหมครั้งกรุงเก่า เป็นพระยาเพชรบูรณ์ครั้งกรุงธนบุรี ตามเสด็จการสงครามมีความชอบด้วยกล้าหาญในการศึก เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว โปรดให้เป็นสมุหกลาโหม อสัญกรรมในกลางศึกเมืองทวายในรัชกาลที่ ๑
- เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) ข้าหลวงเดิม เป็นกำลังสำคัญช่วยกรมพระราชวังหลังปราบปรามจลาจลในกรุงธนบุรี มีความชอบได้เป็นพระยาพลเทพ เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ทรงเลื่อนให้เป็นที่สมุหกลาโหม แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒
- เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก) บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า ตามเสด็จราชการสงครามหลายครั้ง มีความชอบได้เป็นพระยาอุทัยธรรม เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว โปรดตั้งให้เป็นพระยายมราช และเป็นสมุหกลาโหม อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑
กรมท่า - เจ้าพระยาพระคลัง (สน) เป็นพระยาพิพัฒน์โกษาครั้งกรุงธนบุรี และได้เป็นเจ้าพระยาพระคลังก่อนปราบดาภิเษก ต่อมาเกิดมีสติฟั่นเฟือนไป จึงโปรดให้ถอดเสีย ภายหลังได้เป็นพระยาศรีอัครราช ช่วยราชการในกรมท่า
- เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ครั้งกรุงธนบุรีเป็นหลวงสรวิชิต เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว โปรดตั้งให้เป็นพระยาพระคลัง ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เป็นจินตกวีแต่งหนังสือหลายเรื่อง อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑
- พระยาพระคลัง (กุน) เป็นพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อปราบดาภิเษกแล้วได้เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาพระคลัง ท่านผู้นี้เป็นเศรษฐีค้าเรือสำเภา และได้เป็นสมุหนายกในรัชกาลที่ ๒
กรมเมือง - พระยายมราช ไม่ปรากฏนามเดิม ครั้งกรุงธนบุรีเป็นหลวงอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมกรมพระนครบาลมาก มีความชอบเมื่อตามเสด็จในการสงคราม เมื่อปราบดาภิเษกแล้วได้เป็นพระยายมราช ครั้นศึกพม่าครั้งที่ ๑ ได้เป็นแม่ทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ในราชการจึงถูกถอดออก ภายหลังได้เป็นพระยามหาธิราช ช่วยราชการในกรมพระนครบาล
- พระยายมราช (บุนนาก) คือเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก)
- พระยายมราช (บุญมา) บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า เป็นพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก) เดิมรับราชการในพระองค์ได้เป็นพระยาตะเกิง เมื่อปราบดาภิเษกแล้วจึงได้เลื่อนเป็นพระยายมราช และเป็นที่สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒
กรมวัง - เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) เ ชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ เป็นบุตรพระยามนเทียรบาลกรุงเก่า เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ครั้งกรุงธนบุรี และเป็นผู้คุ้นเคยรักใคร่ในพระองค์ มีความชอบเมื่อตามเสด็จราชการสงคราม เป็นผู้รู้แบบแผนกรมวังมาก จะย้ายไปกรมอื่นมิได้ จึงเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว เมื่อศึกพม่าครั้งที่ ๑ ได้เป็นแม่ทัพออกไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ในราชการสงคราม มีความผิดจึงถูกถอดออก ภายหลังได้เป็นพระยาศรีธรรมาธิราช ช่วยราชการในกรมวัง ในรัชกาลที่ ๒ ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒
- พระยาธรรมาธิการณ์ (ทองดี) ข้าราชการในพระองค์ เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์เมื่อปราบดาภิเษกแล้วได้เลื่อนเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วเป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑
พระยาธรรมาธิกรณ์ (สด) ข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ได้เป็นพระยามนเทียรบาลเมื่อปราบดาภิเษกแล้ว และเลื่อนเป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒
กรมนา - พระยาพลเทพ (ปิ่น) คือเจ้าพระยามหาเสนาที่เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา
- เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) เดิมอยู่บ้านแม่ลากรุงเก่า ต้นคิดตีกรุงธนบุรี ได้เป็นเจ้าพระยาไชยวิชิต ผู้รักษากรุงเก่า แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ เป็นโทษต้องประหารชีวิตในรัชกาลที่ ๒
ตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑ อัครมหาเสนาบดีมหาดไทยและกลาโหมเป็นเจ้าพระยา แต่เสนาบดีตำแหน่งจตุสดมภ์ เมือง วัง คลัง นา นั้น ในหนังสือรัชกาลที่ ๑ ที่ได้พบเห็นปรากฏเป็นแต่พระยาโดยมาก ที่ได้พบหลักฐานแน่นอนว่าเป็นเจ้าพระยานั้น คือ เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) ๑ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ๑ เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ๑ นอกนั้นยังไม่พบหลักฐาน นอกจากที่กล่าวในพงศาวดาร ซึ่งเรียบเรียงขึ้นภายหลัง”
** พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บอกกล่าวให้เรารู้จักเสนาบดีบุคคลสำคัญ ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย ทุกท่านที่ปรากฏนามในพระราชพงศาวดารฯนี้ ล้วนเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และมีบุญคุณต่ออนุชนชาวไทยเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีพวกท่านดังกล่าว ลำพังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๑ คงไม่สามารถปกป้องรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้พวกเราได้เป็นแน่ เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯยังไม่จบนะ พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สิ้นพระเจ้ากาวิละ -
กาวิละเจ้าประเทศเขตเชียงใหม่ ทรงเป็นใหญ่ดับทุกข์กู้ขุกเข็ญ ปลายชีวิตเรียวลงทรงบำเพ็ญ สิ่งที่เป็นบุญกุศลคนชื่นชม
หลังจากสิ้นพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เพียงห้าปีเวียงพิงค์ยิ่งขื่นขม กาวิละพิราลัยร่างไร้ลม นาครซมโศกซ้ำสุดรำพัน
|
อภิปราย ขขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงเรื่องราวของเสนาบดีในพระบาทเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ก็ได้ทราบกันแล้วนะครับว่ามีใครเป็นใครบ้าง วันนี้มาอ่านเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ
“ คราวนี้กลับไปดูเรื่องราวทางล้านนาตามความในพงศาวดารโยนกบ้าง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าบุรีรัตนเป็นเจ้าครองเมืองนครลำพูนแล้ว เจ้ากาวิละพระเจ้านครเชียงใหม่ จึงพร้อมด้วยประยูรญาติและบริพารพร้อมพระสงฆ์จึงแห่แหนเจ้าบุรีรัตน และเจ้าเจ้าศรีบุญมาอุปราชเข้าตั้งยังเมืองหริภุญไชยนครลำพูน ณ วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๖๗
รุ่งขึ้นปี จุลศักราช ๑๑๖๘ พระเจ้ากาวิละให้ตั้งพิธีสังฆราชาภิเษก พระมหาสวาธุเจ้าปัญญวชิระมหาบาเจ้า ขึ้นเป็นมหาราชครู ต่อมาอีก ๑๔ วัน ยกสวาธุเจ้านันทาวัดศรีเกิดขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชา และ ยกพระมหาคัมภีระวัดพันเท่าขึ้นเป็นสวามิสังฆราชา ตั้งการอภิเษกในวัดพระสิงห์ทั้งสามรูป จากนั้นได้สร้างพระวิหารหลวงเบื้องทิศตะวันออกแห่งพระธาตุเจดีย์สุเทพ และสร้างศาลาลูกขุน (สนามหลวง) เมืองเชียงใหม่ในเวลาเดียวกัน ถัดนั้นมาได้ ๑๒ วัน เจ้ามหาอุปราชเชียงใหม่ก็ได้สร้างอุโบสถหลวงวัดพระสิงห์ จากนั้นบ้านเมืองก็ได้วัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ว่างเว้นศึกสงคราม คืนคงเป็นมหานครดังแต่ก่อน
พระเจ้ากาวิละและพี่น้องได้ร่วมกันบำเพ็ญบุญกุศลเป็นอเนกประการ เช่น พากันนำเครื่องสักการบูชาไปยังเมืองนครไชยสุภวดี คือพระธาตุลำปาง กระทำการสมโภชสักการบูชาพระมหาชินธาตุลำปาง แล้วจำแนกแจกทาน ตั้งฉัตรหลวงสี่มุมและยกฉัตรยอดพระมหาชินธาตุเมืองหริภุญไชยนครลำพูน ตั้งรั้วเหล็กรั้วทองเหลืองล้อมองค์พระมหาธาตุนั้น
ในปีจุลศักราช ๑๑๗๑ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนนั้น พระเจ้ากาวิละแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ได้แต่งให้เจ้าอุปราชออกไปตรวจด่านทางเมืองยวมฝ่ายตะวันตกเมืองเชียงใหม่ ฝั่งฟากแม่น้ำคง(สาลวิน) เห็นว่าเมืองยางแดงซึ่งอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำคงนั้น เป็นอิสระมิได้ขึ้นต่อกรุงอังวะ เจ้ามหาอุปราชจึงเกลี้ยกล่อมฟ้าฝ่อ (พระพ่อ) เจ้าเมืองยางแดงเป็นมิตรไมตรีกัน ได้ตั้งพิธีทำสัตย์สาบานตามจารีตกะเหรี่ยงยางแดงที่ตำบลท่าสะยา อันเป็นท่าข้ามน้ำแม่คง พิธีกรรมนั้นคือให้ฆ่ากระบือตัวหนึ่ง เอาเลือดกระบือผสมกับสุราเป็นน้ำสัจจบาน เขากระบือที่ฆ่านั้น ผ่าออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งฝ่ายเมืองยางแดงรักษาไว้ อีกซีกหนึ่งฝ่ายเมืองเชียงใหม่รักษาไว้ ตั้งคำสัตย์ปฏิญาณต่อกันไว้ว่า “ตราบใดน้ำแม่คงบ่หาย เขาควายบ่ซื่อ ถ้ำช้างเผือกบ่ยุบ เมืองเชียงใหม่กับเมืองยางแดงคงเป็นไมตรีกันอยู่ตราบนั้น” แต่นั้นเมืองยางแดงกับเมืองเชียงใหม่ก็เป็นมิตรไมตรีกันสืบมา
ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าเชียงใหม่แต่งให้นายจันทราชา นายกาวิละน้อย นายขนานมหาวงศ์ นายน้อยมหาเทพ นายขนานมหายศ นายขนานศรีวิไชย เมืองลำพูน คุมกองทัพไปตีบ้านกะเตนกองหนึ่ง
ให้นายคำมูล นายนันทเสน นายขนานไชยวงศ์ คุมกำลังเมืองลำพูน นายน้อยมหาพรหม คุมกำลังเมืองนครลำปาง นายคำลือ คุมกำลังเมืองเชียงใหม่ ยกไปตีเมืองสอกพร้อมกันทั้งสามทัพ ตีได้เมืองสอกกวาดครัวเชลยสิ่งของเครื่องสรรพาวุธเป็นอันมาก จากนั้นให้นายคำมูลเป็นแม่ทัพถือพลไปตีเมืองเชียงคำ ได้ครอบครัวเจ้าฟ้าเชียงคำและพลเมืองเป็นอันมาก ให้อินทศิริคุมไพร่พลไปตีบ้านสายเมือง กวาดครัวเงี้ยวมาเป็นเชลยศึกก็มาก
ในปีนั้นพม่ายกมาตีมหาขนานเมืองยาง มหาขนานแตกหนีข้ามน้ำแม่โขงไปอยู่เมืองสิงห์ แล้วมีหนังสือบอกมาถึง พระเจ้าเชียงใหม่จึงให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองยกขึ้นไปก่อน แล้วให้เจ้าอุปราชคุมรี้พลเป็นกองทัพยกไปรบพม่า ฝ่ายเมืองลำพูนก็จัดทัพหนุนขึ้นไปอีกทัพหนึ่ง กองทัพทั้งสองยกไปถึงเมืองยาง ได้รบกับพม่าข้าศึกเป็นสามารถ พม่ายกหนุนกันมามากกว่ามาก กองทัพเชียงใหม่ต้านทานมิได้ก็ถอยลงมาอยู่เมืองยอง แล้วเทครัวเมืองยองอพยพลงมาอยู่เมืองเชียงแสน
ครั้งนั้นมหาขนานกลับใจหนีไปเข้าหากองทัพพม่า แต่กองทัพพม่าหาได้ยกตามมาเมืองเชียงแสนไม่ เจ้ามหาอุปราชส่งครัวเมืองยองลงมาเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่จึงนำครัวเชลยลงมาทูลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานครัวเชลยนั้นไว้เป็นพลเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ก็กราบถวายบังคมลาพาครัวเชลยกลับไปเชียงใหม่
ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๗๕ ปีระกา เบญจศก พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยราช ชาติราชาไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมา พระนครเชียงใหม่ราชธานี ก็ป่วยหนักจนถึงแก่พิราลัยด้วยชนมายุ ๗๔ ปี ตั้งแต่ได้เป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าช้างได้ ๑๔ ปี แล้วยกมาตั้งอยู่นครเชียงใหม่ได้ ๑๙ ปี รวมเวลาที่ได้เป็นเจ้าเมือง ๓๓ ปี พระยาอุปราชน้อยธรรมผู้น้องรักษาราชการเมืองต่อมา และในปีนั้นทางเชียงใหม่ได้ช้างเผือกเอก ๑ ช้าง จึงนำลงมาทูลเกล้าฯถวาย ครั้นมาถึงกรุงเก่า พระยาราชวงศ์หมู่ล่าป่วยจนถึงแก่กรรม ญาติพี่น้องจึงฝังศพไว้ ณ กรุงเก่า แล้วน้ำช้างเผือกใส่แพล่องลงกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับช้างเผือกแห่ขึ้นระวางสมโภชพระราชทานนามว่า พระยาเศวตอัยรา คชาชาติสมพงศ์ ฯลฯ มงคลเลิศฟ้า
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยาอุปราชน้อยธรรมขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่ ให้พระยาลำพูนคำฟั่นเป็นพระยาอุปราชเชียงใหม่ เลื่อนพระยาอุปราชบุญมาเมืองลำพูนขึ้นเป็นพระยาลำพูน”
* * พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตได้ ๕ ปี พระเจ้ากาวิละก็ถึงแก่พิราลัย ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุเท่ากัน คือ ๗๔ พรรษา เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระยาเชียงใหม่ชัางเผือก -
อุปราชน้อยธรรมนำช้างเผือก งามหนึ่งเชือกเข้ากรุงพร้อมคำฟั่น พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้เลื่อนชั้น เป็นสำคัญแทนพี่ผู้พิราลัย
ชาวล้านนาเรียกนามตามท้องเรื่อง เป็นขวัญเมืองนครพิงค์ที่ยิ่งใหญ่ คือ“พระยาช้างเผือก”ผู้อำไพ ปรากฏในตำนานแตนั้นมา |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงเรื่องราวทางลานนาเชียงใหม่ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ว่าได้ทำบุญกุศลเป็นการใหญ่ และในปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตนั้น ได้ให้พระยาอปุราชยกกำลังไปตีเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายเหนือได้มาอีกจำนวนหนึ่ง แล้วพาครัวเชลยชาวเมืองยองลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒) ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานครัวเชลยเหล่านั้นให้ไว้เป็นพลเมืองเชียงใหม่ ต่อมาอีก ๕ ปี คือ จุลศักราช ๑๑๗๕ พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละก็ป่วยจนถึงแก่พิราลัย พระยาอุปราชน้อยธรรมผู้น้องรักษาราชการเมืองต่อมา ครั้นได้ช้างเผือก ๑ ช้าง จึงนำลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศให้พระยาอุปราชเป็นพระยาเชียงใหม่ ให้พระยาลำพูนเป็นพระยาอุปราชเชียงใหม่ ให้พระยาอุปราชบุญมาเป็นพระยาลำพูน เรื่องราวทางล้านนาจะเป็นอย่างไรตอไป วันนี้มาดูกันต่อครับ
* “เมื่อพระยาอุปราชน้อยธรรมได้รับยศเป็นพระยาเชียงใหม่แล้ว ก็พาพระยาอุปราชคำฟั่นและพระยาลำพูนกราบบังคมลากลับเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงให้ขึ้นไปปลงศพพระยาราชวงศ์หมูล่าที่กรุงเก่าด้วย พระยาเชียงใหม่ พระยาลำพูน ไปพักจัดการศพพระยาราชวงศ์หมูล่าที่กรุงเก่าเสร็จแล้วกลับขึ้นไปเชียงใหม่ ลำพูน เพื่ออยู่รักษาราชการบริหารบ้านเมืองต่อไป ด้วยเหตุที่พระยาเชียงใหม่น้อยธรรมนำช้างเผือกลงไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ คนทั้งหลายจึงพากันเรียกพระยาเชียงใหม่น้อยธรรมว่า พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก ตั้งแต่นั้นมา
อยู่ต่อมาพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก แต่งพระยาพานกับท้าวศรี คุมไพร่พล ๑๐๐ เศษ ยกข้ามแม่น้ำคงไปตีบ้านเชียงเกือ เงี้ยวฝ่ายตะวันตก ได้เชลยมาจำนวนหนึ่ง
ถัดนั้นมาก็แต่งให้นายคำมูลกับนายแก้วเมืองมา คุมพล ๒๐๐ คน ยกไปตีพม่าซึ่งมาตั้งอยู่ปากน้ำแม่ปุ พม่ายกถอยหนีไป จับได้เชลยพม่า ๔ คน ส่งมาเชียงใหม่ แล้วยกข้ามฟากน้ำแม่คงไปฝั่งตะวันตก เข้าตีเมืองตองกาย บ้านวัวลาย แขวงเมืองปั่น กวาดครัวเชลยมาข้ามน้ำแม่คงที่ท่าผาแดง จับพม่าที่นั้นได้อีก ๕ คน จากนั้นก็แต่งให้นายน้อยกาวิละ นายน้อยมหาพรหม คุมกำลัง ๑๐๐ เศษยกไปตีกวาดกะเหรี่ยงยางซอยกระบาง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้เชลยมาเป็นอันมาก
ลุศักราช ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔) พระยาเชียงใหม่ช้างเผือกป่วยหนักจนถึงแก่อสัญกรรม หลังจากครองเมืองได้ ๘ ปี อายุได้ ๗๖ ปี พระยาอุปราชคำฟั่นผู้น้องรักษาราชการเมืองแทน
ปีจุลศักราช ๑๑๘๔ มหาขนานเมืองเชียงตุง แต่งให้พระสมณโคบุตรสวามิ กับสามเณรด้วง และคฤหัสถ์มีชื่อ กับพม่าชื่อมองเมียดโย ลงมา ณ เมืองเชียงใหม่ พระยาอุปราชคำฟั่นผู้รักษาราชการเมืองจึงส่งต่อลงไปยังกรุงเทพมหานคร
ในปีเดียวกันนั้น พระยาอุปราชคำฟั่นได้แต่งให้พระยาหัวเมืองแก้ว นายแก้วเมืองมา นายพรหม นายอุ่นเรือน คุมกำลัง ๓๐๐ คนเศษ ยกไปเข้ากองทัพพระยามหาโยธาซึ่งไปตั้งขัดตาทัพรับครัวรามัญยังน้ำแม่สมิ เสร็จราชการแล้วยกลับมาทางน้ำแม่มะเลิง
ครั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๘๕ (พ.ศ. ๒๓๖๖) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีตราโปรดเกล้าฯ ให้หาพระยาอุปราชคำฟั่นเมืองเชียงใหม่ พระยาลำปางดวงทิพ นายพุทธวงศ์ นายคำมูล นายน้อยกาวิละ ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระ บาท ณ กรุงเทพมหานคร
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยานครลำปางดวงทิพ ขึ้นเป็นเจ้านครลำปาง ให้พระยาราชวงศ์ไชยวงศ์บุตรพระยานครลำปางคำโสม เป็นพระยาอุปราชเมืองนครลำปาง พระยาอุปราชคำฟั่น เป็นพระยาเชียงใหม่ ให้นายพุทธวงศ์บุตรนายพ่อเรือน เป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ ให้นายคำมูลบุตรนายพ่อเรือน เป็นพระยาราชวงศ์ ให้นายน้อยกาวิละบุตรนายพ่อเรือน เป็นพระยาเมืองแก้ว
พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่ฐานาศักดิ์ เสร็จแล้วพระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง พร้อมคณะกราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมืองของตน”
* หลังจากพระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัยแล้ว เชียงใหม่ยังคงความเข้มแข็งอยู่ดังเดิม เพราะว่าผู้ปกครองดูแลเชียงใหม่สืบมาเป็นน้อง ๆ ผู้กรำศึกกันมากับพระเจ้ากาวิละ จึงมีบารมีมากพอที่จะปกครองดูแลล้านนาประเทศได้ พระยาอุปราชน้อยธรรมเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่แล้ว ได้รับการเรียกขานนามใหม่จากชาวล้านนาว่า พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก เหตุเพราะขณะรักษาเมืองเชียงใหม่อยู่นั้นได้ช้างเผือกช้างหนึ่ง นำลงกรุงเทพฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเชียงใหม่ อยูในตำแหนงได้ ๘ ปี ก็ถึงอสัญกรรม
พระยาอุปราชคำฟั่นผู้น้องได้สืบทอดอำนาจต่อ และส่งกำลังคนไปตีบ้านเล็กเมืองน้อยนอกราชอาณาจักรได้หลายเมืองเช่นเดียวกันกับที่พระยาเชียงใหม่ช้างเผือกได้ทำมาแล้ว จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พระยาอุปราชคำฟั่นเป็นพระยาเชียงใหม่สืบไป เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จะบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กลอน123, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ความรู้เรื่องพระโกศ -
กลับเข้าเรื่องเมืองหลวงยุครอสอง ทรงขึ้นครองบัลลังก์สิ้นกังขา ทรงจัดการพระศพราชบิดา ตามมรรคาสืบกระแสแต่โบราณ |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพงศาวดารโยนกฉบับของพระยาประชากิจกรจักร มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวในล้านนาประเทศในยุคหลังจากที่พระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัยแล้ว พระอนุชาคือพระยาอุปราชน้อยธรรมได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเชียงใหม่ ชาวล้านนาเรียกท่านว่าพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก หรือเจ้าหลวงธรรมลังกา เมื่อสิ้นพระยาเชียงใหม่ช้างเผือกแล้ว พระยาอุปราชคำฟั่น อนุชาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเชียงใหม่ ซึ่งชาวล้านนาเรียกท่านว่า เจ้าหลวงเสฎฐีคำฟั่น วันนี้มาดูเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์กันต่อไปครับ
* ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ฉบับตัวเขียน ซึ่ง นฤมล ธีรวัฒน์ ชำระต้นฉบับ และ ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เป็นบรรณาธิการ สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๘ เริ่มด้วยประวัติย่อของผู้เขียนว่า
“เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) เป็นบุตรของเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับหม่อมรอด เป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกันกับ ช่วง บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์) เริ่มรับราชการในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญในหน้าที่ราชการอยู่มาจนถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๑๓ สิริอายุได้ ๕๗ ปี
ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ๒ ฉบับ คือ ฉบับรัชกาลที่ ๑ ตามที่ได้นำมาให้อ่านสลับกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแล้ว อีกฉบับหนึ่ง คือ ฉบับรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรียบเรียงจากจดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้โดยรับสนองพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๒ ท่านทำต้นฉบับเป็นตัวเขียนไว้ ๗ เล่มสมุดไทย ดังต่อไปนี้
“ ความในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้นว่า ครั้นรุ่งขึ้นวันศุกรแรมสิบสี่ค่ำเวลาเช้า สมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบัณฑูรใหญ่ กับสมเดจพระอนุชาธิราชเจ้า เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ ซึ่งดำรงที่พระบัณฑูรน้อย พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ ฝ่ายน่าฝ่ายใน เสดจเข้าไปสรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพสำหรับกษัตรเสรจแล้ว เชิญพระบรมศพลงพระลองเงิน กรมพระตำรวจแห่แต่พระมหามณเฑียรออกประตูสนามราชกิจ เชิญขึ้นพระยานมาศประกอบพระโกฎ ชั้นนอกทำด้วยทองคำจำหลักประดับพลอยเนาวรัตน* พระโกฎนั้นรับสั่งให้ช่างทองทำไว้แต่ยังไม่ทรงพระประชวร”
* ความที่กล่าวถึงพระโกศว่า “ชั้นนอกทำด้วยทองคำจำหลักประดับพลอยเนาวรัตน” มีปัญหาขึ้น เพราะมีความใน “จดหมายเหตุพระราชพงษาวดารแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย” ซึ่งคัดจากฉบับของเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดีฯ ฉบับพิมพ์ดีด มีความต่างออกไปว่า “ชั้นนอกทำด้วยทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน์” และที่องค์การค้าคุรุ สภาพิมพ์จำหน่ายก็มีความเหมือนกันกับฉบับพิมพ์ดีดดังกล่าว พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯนั้นเรียก “พระโกศทอง” และมีเชิงอรรถอธิบายว่า
“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๔) พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์หน้า ๓๕๘ ดังนี้ “ในพงศาวดารพยายามที่จะกล่าวเรื่องพระโกศอย่างหลง ๆ ว่า (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด) ให้รื้อทองหุ้มพระโกศ พระโกศอะไรก็ไม่รู้ มาเติมทองขึ้นอีก ทำเป็นพระโกศทองกุดั่นแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎขึ้นไว้องค์ ๑ สำหรับพระองค์ดังนี้ ความที่ถูกต้องนั้นคือ รับสั่งให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นทรงพระศพพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์นั้น มารวมกันทำพระโกศทองใหญ่ ไม่ใช่มาทำโกศกุดั่น ผู้เขียนพงศาวดารหมายว่ากุดั่น แปลว่า ลวดลาย ลวดลายอย่างเช่นพระโกศทองใหญ่นั้น ควรจะเรียกว่ากุดั่น แต่ภาษาในราชการเขาเรียกพระโกศสมเด็จพระพี่นางนั้นว่า กุดั่นน้อยกุดั่นใหญ่ พระโกศแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ เขาเรียกพระโกศทองใหญ่”
ส่วนความที่ว่า “พระโกฎนั้นรับสั่งให้ช่างทองทำไว้แต่ยังไม่ทรงพระประชวร” ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันว่า “พระโกศทองใหญ่นี้ทำแล้วเสร็จในปีมะโรง(สัมฤทธิศก พ.ศ.๒๓๕๑) นั้น ทั้งพระลองเงินด้วย มีรับสั่งให้เชิญมาถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเสด็จประทับอยู่ คุณเสือสนมเอกทูลห้ามปรามว่าทรงอะไรเช่นนั้น น่ากลัวเป็นลาง เห็นพระโกศเข้าก็ร้องไห้ล่วงหน้าเสียก่อน รับสั่งว่า กูไม่ถือ ไม่เอามาตั้งดูทำไมกูจะได้เห็น ตั้งถวายทอดพระเนตรอยู่เป็นหลายวัน”
*ในการพระศพนั้น พระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวให้รายละเอียดไว้ว่า
“….ตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านมุขประจิมทิศ ประดับด้วยพระมหาเศวตรฉัตรแลเครื่องสูง ตั้งเครื่องต้นเครื่องราชูประโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามบุรพราชประเพณีพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า สมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ได้สำเรจราชการแผ่นดินเสดจประทับ ณ พระที่นั่งจักรพัตรพิมาน* เวลาเช้าเยนเสดจไปถวายบังคมพระบรมศพ ถวายไทยธรรมพระสงฆสดัปกรณ*
ครั้นเดือนสิบขึ้นสองค่ำ มีกาคาบหนังสือมาทิ้งที่ต้นแจงน่าพระมหาปราสาท* พระยาอนุชิตราชาเปนผู้เกบได้* อ่านดูใจความว่า พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งเปนกรมขุนกระษัตรานุชิต เปนบุตรเจ้ากรุงธนบุรี* กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคน คือนายหนูดำหนึ่ง จอมมารดาสำลีในพระบัณฑูรน้อยหนึ่ง คบคิดกับขุนนางเปนหลายนายจะแย่งชิงเอาราชสมบัติ จึ่งนำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่สมเดจพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดให้ไต่สวนได้ความจริงแล้ว
รุ่งขึ้น ณ วันจันทร เดือนสิบ ขึ้นสามค่ำ จึ่งให้นายเวรกรมพระตำรวจวังไปหากรมขุนกษัตรานุชิตเข้ามาทางประตูพิมานไชยศรีสองชั้น จับแล้ว*โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองคใหญ่ชำระ ซัดถึงเจ้าพระยาพลเทพบุนนาก* พระยาเพชรปราณีกล่อม พระอินทรเดชกระต่าย* จมื่นประธานมณเฑียรอ่อน* พระยาพระรามทอง นายขุนเนนหลานเจ้าพระยาพลเทพ สมิงรอดสองราม* สมิงสิริบุนโดดบุตร เจ้าพระยามหาโยธา สมิงพัตเบิดม่วง สมิงปอนทะละ รวม ๑๐ คน กับข้าในกรมทั้งชายทั้งหญิงอีก ๓๐ คน ได้ตัวมาชำระเปนสัตย์แล้ว จึ่งมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้ถอดกรมขุนกระษัตรานุชิตออกจากตำแหน่งที่ เรียกตามชื่อเดิมว่าหม่อมเหมน ลงพระราชอาชญาแล้วชำระอยู่สองวัน
ครั้นรุ่งขึ้นวันพุฒ เดือนสิบ ขึ้นห้าค่ำ ก็ให้เอานักโทษ ๔๐ ทั้งตัวนายไปประหารชีวิตเสีย พร้อมด้วยหม่อมเหมนแลนายหนูดำ เจ้าจอมมารดาสำลี แต่หม่อมเหมนนั้นให้เอาไปสำเรจโทษด้วยท่อนจันท์นที่วัดประทุมคงคา ฝ่ายบุตรชายนั้นให้ถ่วงน้ำเสียที่ปากอ่าวทั้งสิ้น บุตรภรรยาพวกอ้ายกระบถที่เปนแต่ปลายเหตุนั้น โปรดให้ยกโทษประหารชีวิต พระราชทานให้ส่งไปเปนโทษระบาทว์ ดำรัสว่ากามีความชอบโปรดให้พระราชทานข้าวกาตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้* แต่ที่วังแลทรัพย์สิ่งของผู้คนข้าไทยของหม่อมเหมน พระราชทานให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ทั้งสิ้น”
* * อ่านพระบรมราชาธิบายแล้วก็ได้ความรู้เรื่องพระโกศดีขึ้นมากทีเดียว เรื่องจัดการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ราชาภิกเษกรัชกาลที่ ๒ -
ชำระคดีกบฏหมดเสี้ยนหนาม ประชาสยามพร้อมเพรียงเสียงประสาน เทิดทูนอุปราชเจ้าไม่นิ่งนาน ทรงรับการอภิเษกเป็นราชา |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ หลังจากการแห่พระศพสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งในพระที่เรียบร้อยแล้ว มีผู้นำหนังสือที่กาคาบมาทิ้งไว้ เข้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราวังบวรฯ เป็นหนังสือกล่าวโทษเจ้าฟ้าเหม็นและพวกก่อการเป็นกบฏ จึงทรงชำระคดีจนได้ความจริงแล้ว ให้ถอดยศปลดตำแหน่ง และสำเร็จโทษเจ้าฟ้าเหม็นด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดปทุมคงคา เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป มาอ่านความพระราชพงศาวดารฯ กันต่อครับ
* มีบุคคลสำคัญของเรื่องในตอนนี้ที่ควรขยายความให้รู้จักมากขึ้นอีกคือ พระยาอนุชิตราชา ผู้เก็บหนังสือร้องกล่าวโทษกรมขุนกระษัตรานุชิตและพวกได้นั้น มีเดิมชื่อน้อย ตำแหน่งเป็นจางวางพระตำรวจ ต่อมาภายหลังได้เป็นพระยาอภัยภูธร สมุหนายก
พระเจ้าหลานเธอกรมขุนกระษัตรานุชิต มีนามเดิมว่า เหม็น พระมารดาคือ ฉิมใหญ่ พระธิดาองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นชายาพระเจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงไว้ และเปลี่ยนพระนามเป็นหลายครั้ง จนที่สุดตั้งให้ทรงกรมที่ กรมขุนกระษัตรานุชิต
ความในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า “ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ เจ้าพระยาอภัยภูธรจับกรมขุนกษัตราธิราช” พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ผู้รับพระราชบัณฑูรให้ชำระคดีคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
พระยาพลเทพบุนนาก ชื่อเดิมว่าบุนนาก อยู่บ้านแม่ลากรุงเก่า เคยดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาไชยวิชิต ผู้รักษากรุงเก่า
พระอินทรเดชกระต่าย ท่านผู้นี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายไว้ในเชิงอรรถ หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ว่า “เหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตนี้ ตามเนื้อความที่ปรากฏในหนังสือโคลงยอพระเกียรติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แต่ยังเสด็จดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทำนองว่าพระอินทรเดช (กระต่าย) เป็นต้นเหตุตัวการยุยงเจ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต แลเป็นสื่อสายเที่ยวชักชวนผู้อื่น”
จมื่นประธานมณเฑียรอ่อน มีชื่อเดิมว่าอ่อน ในฉบับพิมพ์ดีด และ ฉบับคุรุสภา เรียกว่า จะหมื่นประท้านมณเฑียรอ่อน ฉบับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯเรียกว่า จมื่นสท้านมณเฑียร (อ่อน)
สมิงรอดสองราม ในฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เรียก สมิงรอดสงคราม แต่ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทร์เทวี เรียกว่า รอดทรงราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชวินิจฉัยในพระราชวิจารณ์ว่า “รอดทรงรามในที่นี้เห็นจะเป็นรอดสงคราม” จากนี้ดูความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับตัวเขียนต่อไปครับ
“ครั้นชำระพวกกระบถแล้ว พระราชวงษานุวงษเสนาบดีแลสมเดจพระสังราช ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันเชิญเสดจสมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกเปนพระองคเอกอรรคมหาราชาธิราช ดำรงพิภพสยามประเทศ จึ่งตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก พิธีสงฆพิธีพราหมณ์เจริญพระปริตพุทธมนต์ ณ วันพฤหัศบดี เดือนสิบ ขึ้นหกค่ำ ขึ้นเจดค่ำ ขึ้นแปดค่ำ
ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบ ขึ้นเก้าค่ำ เวลาได้พระฤกษจะได้สรงสหัศธาราปัญจสุทธิมหานทีมุรธาภิเศก ทรงผลัดเครื่องขาวเสดจยังที่สรง เสรจแล้วเสดจขึ้นบนพระที่นั่งอัฐทิศ รับน้ำกรดน้ำสังข์ทั้งแปดทิศ แล้วเสดจไปประทับพระที่นั่งภัทธบิฐ พระมหาราชครูพราหมณ์โหรตาจาริย์ถวายพระราชสุพรรณบัตรจาฤกพระนามแลเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้งพระแสงขรรค์พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องสรรพยุทธทั้งปวง ตามเยี่ยงอย่างพระราชพิธีสมเดจพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติใหม่ ทรงพระนามว่า สมเดจพระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุทธยา อย่างพระนามในพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสดจสวรรคตแล้วไม่ยักเยื้องอไร พระนามวิเสศนั้นแจ้งอยู่ในพระสุพรรณบัตรนั้นแล้ว
รุ่งขึ้นพระราชวงษานุวงษ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนก็ได้ถือน้ำพระพิพัฒสัตยา แล้วถวายดอกไม้ธูปเทียน ขอยอมกายถวายตัวเปนข้าพระเจ้าแผ่นดินไปจนกราบเท่าสิ้นชีวิตร* แล้วมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานส่งหมายกระบวนเสดจพระราชดำเนินเลียบพระนครให้ราษฎรถวายบังคมทั่วกันโดยเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณี
เจ้าพนักงานได้จัดการแต่งทางสถลมารคเกลี่ยทรายรื่นราบทั่วไป ปักฉัตรเบญจรงคเจดชั้น ราชวัดรายไปสองฟากทาง ตั้งร้านน้ำปักต้นกล้วยต้นอ้อยแลธงกระดาษตามราชวัด แลมีปี่พาทย์กลองแขกประจำตามระยะ ๆ กรมอาษาหกเหล่าซ้ายขวาตั้งกองจุกช่องรักษาพระองคกำกับประจำทุกกองทุกทาง กระบวนแห่พยุห ๘ แถว กระบวนน่าขุนหมื่นกรมมหาดไทย แต่งตัวนุ่งสนับเพลาสรวมเสื้อต่างศีโพกผ้าขลิบ ขัดดาบขึ้นม้าถือธงฉานนำน่ากระบวนคู่หนึ่ง ขุนหมื่นกรมม้าแต่งตัวนุ่งสนับเพลาสรวมเสื้ออัตตลัดโพกผ้าขลิบ ขัดดาบขึ้นหลังม้าผูกแพนหางนกยูงมีหอกซัดทุกม้า กรมอาษาเกณฑ์หัด เจ้ากรมปลัตกรม สรวมเสื้อทรงประภาสหมวกตุ้มปี่ ขัดกระบี่บั้งทอง กระบี่บั้งเงิน ขุนหมื่นพันนายเวรแลไพร่นุ่งกางเกงสรวมเสื้อเสนากุฎหมวกหนั ง ถือปืนคาบสิลาปลายหอกรางแดงหมู่หนึ่ง กรมทำลุถือธนูหมู่หนึ่ง กรมทวนทองถือทวนหมู่หนึ่ง กรมทหารในถือง้าวหมู่หนึ่ง กรมดาบสองมือถือดาบสองมือหมู่หนึ่ง กรมล้อมพระราชวังถือโลหแบกดาบหมู่หนึ่ง กรมดั้งทองถือดั้งทองหมู่หนึ่ง กรมเขนทองถือเขนทองหมู่หนึ่ง กรมอาษาใหญ่ถือดาบชะเลยหมู่หนึ่ง กรมอาษารองถือตรีหมู่หนึ่ง กรมเรือกันถือกระบองทองหมู่หนึ่ง กรมอาษาญี่ปุ่นถือขวานจีนหมู่หนึ่ง เกณฑ์หัดอย่างฝรั่งถือปืนหลังม้าหมู่หนึ่ง กรมอาษาจามถือหอกคู่ กรมแขกมุหงิดสรวมเสื้อวิลาศโพกผ้าตบิดริ้วทองเหน็บกฤชหมู่หนึ่ง กรมคู่ชักกรมรักษาพระองคสรวมเสื้อตามบันดาศักดิ์ โพกผ้าศีถือหอกเดินกระบวน ๔ ริ้ว แต่กระบวนนั้น ๆ มีธงยันต์นำริ้วซ้าย-ขวา ทุกกระบวน…..”
* * ท่านผู้อ่านครับ พระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ควรจะถือได้ว่ามีเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มิได้มีพิธีกรรมอย่างยิ่งใหญ่เช่นพิธีขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๒ ดูกระบวนแห่ตามหมายกระบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพื่อให้ราษฎรถวายบังคมแล้วได้เห็นกองเกียรติยศอันยิ่งใหญ่โดยกำลังไพร่พลในกรมกองต่าง ๆ แต่งกายเต็มยศเป็นกระบวนแห่พยุหะ ๘ แถว เริ่มตั้งแต่ขุนหมื่นกรมมหาดไทยนำหน้า ไปจนถึงกรมรักษาพระองค์โพกผ้าถือหอกเดินกระบวน ๔ ริ้ว อันเป็นตอนสุดท้ายของกระบวนหน้า คำบรรยายสั้น ๆ แต่ได้แลเห็นภาพละลานตายิ่งนักทีเดียว สำนวนภาษาอักขวิธีที่นำมาให้อ่านกันนี้ ท่านคงแปลกใจนะครับว่าทำไมเขียนสะกดการันต์ไม่เหมือนปัจจุบัน และนี่ก็เป็นอีกความรู้หนึ่งให้นักภาษาได้ทราบว่า สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นท่านเขียนหนังสือกันอย่างไร กระบวนตอนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลชั้นนาย ที่สูงกว่าไพร่พล จะมีภาพยิ่งใหญ่ละลานตาเพียงใด วันนี้ยังไม่เอามาให้อ่านนะครับ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อก็แล้วกัน.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒) - พระราชพิธีเถลิงราชสมบัติ -
เสร็จพิธีราชาภิเษกสั่ง เลื่อนวังหลังโดดเด่นเป็นวังหน้า จัดพิธีต่อเนื่องสถาปนา ยังมิเคยมีมาแต่ครั้งใด |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ไดันำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านอ่านกัน ถึงตอนเริ่มต้นความตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ในฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้กล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และบรรยายถึงกระบวนแห่เลียบพระนคร ยังไม่จบกระบวนแห่ เพราะเป็นกระบวนที่ยิ่งใหญ่มาก ยังเหลือกระบวนสำคัญในระดับผู้ใหญ่ ซึ่งท่านบรรยายภาพไว้ ดังต่อไปนี้ครับ
“….แล้วจึ่งถึงหมู่ขุนตำรวจทั้ง ๘ กรม แต่งตัวตามยศโพกผ้าขลิบขัดดาบเดิน ๔ ริ้ว ถัดมาริ้วในกรมมหาดเลกหัวหมื่นจ่านายเวรหุ้มแพร นุ่งสมปักลาย สรวมเสื้อครุยโพกผ้าขลิบมีครุยขัดดาบบั้งทอง ริ้วนอกเจ้ากรมปลัตกรมพระตำรวจ นุ่งสม ปักลายเกี้ยวสนับเพลาเจียรบาด สรวมเสื้อเข้มขาบอัตตลัดเสื้อครุยโพกผ้าขลิบมีครุย ขัดกระบี่บั้งทองสรวมประคำทอง หมู่แตรสังข์ แตรฝรั่งแตรงอน กลองชนะ กลองเงิน กลองทอง จ่าปี่ จ่ากลอง นุ่งกางเกงสรวมเสื้อปสะตุแดงหมวกแดง เดินในกลางริ้ว กรมอภิรมย์เชิญเครื่องสูงห้าชั้น เจดชั้น บังแทรกบังสูริย์พระกลดพัดโบก นุ่งกางเกงยก สรวมเสื้อมันรู่มีเจียรบาด สรวมพอกแดงดูสลับสลอน แลมหาดเลกเชิญพระแสงวาง เครื่องนุ่งสมปักลาย สรวมเสื้อเข้มขาบ สรวมเสื้ออัตตลัด เสื้อครุยโพกผ้าขลิบมีครุย อินทรพรหมนุ่งสนับเพลา สรวมเสื้อศีเขียวศีแดง สรวมเซิด แห่ข้างละ ๔ คู่ ออกญาปลัตทูลฉลองนุ่งสมปักลายเกี้ยว สนับเพลาเจียรบาด สรวมเสื้อเข้มขาบเสื้อครุย โพกผ้าขลิบกรองทองหกคู่ ขัดดาบบั้งทองเคียงสองข้างพระราชยานกระบวนหลังเดิน ๔ แถว
กรมทหารในกรมพระตำรวจพลพันกรมทนายเลือก กรมรักษาพระองค์ล้วนนุ่งสมปักลายสนับเพลา สรวมเสื้อเข้มขาบเสื้ออัตตลัดเสื้อครุย โพกผ้าขลิบกรองทองขัดดาบบั้งทอง เครื่องสูงห้าชั้นเจดชั้นบังแทรก มหาดเลกเชิญพระแสงวางเครื่องพระแสงง้าว พระแสงหอกง่าม เชิญเครื่องพานพระขันหมาก พระเต้าสุพรรณศรี กรมแสงปืนเชิญพระแสงปืน กรมแสงหอกดาบเชิญพระแสงทวน กรมม้าผูกม้าเทศพระที่นั่งเครื่องกุดั่นเบาะผ้าลาดจูงตามสองม้า พวกขุนหมื่นพันทนายละหมู่ละกรมล้วนนุ่งกางเกงสรวมเสื้อเสนากุฎหมวกหนัง ถือสรรพาวุธต่าง ๆ สล้างสลอนพร้อมสพรั่งสิ้นสุดริ้วแล้ว กรมฝรั่งทหารแม่นปืนลากปืนจ่ารงตามท้ายกระบวนคู่หนึ่งดูสง่า สิ้นกระบวนข้าราชการแล้ว จึ่งพระบรมราชวงษานุวงษ ทรงพระภูษาลายเขียนทองฉลองพระองค์กรองทองรัดพระองค์ ทรงพระมาลาขึ้นทรงม้าแต่งเครื่องกุดั่นกั้นกลดหักทองขวาง ตามท้ายระบวนเปนคู่ ๆ หมู่มหาดเลกเชิญเครื่องยศตามสพรั่งพร้อมแล้ว เจ้าพระยาสมุหนายกขึ้นแคร่ พวกขุนหมื่นพันทนายถือเครื่องยศตามสกัดกระบวนเปนที่สุด
ครั้นได้เวลาเช้านาฬิกาสองโมงเสศ พระบาทสมเดจพระบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสดจ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วทรงราชวิภูษนาภรณ์ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาลายสุวรรณกนกแย่ง รัดพระองค์เนาวรัตน์ ฉลองพระองค์อย่างต่างประเทศ เจียรบาดเกี้ยวชายกระหวัด ทรงพระสังวาลย์พระนพรัตน์เพชร พระธรรมรงค์เพชรมีราคาครบนิ้วพระหัถ ทรงพระมาลาเพชร ทรงเหน็บพระแสงกั้นหยั่นแลพระแสงเวียดสำหรับพระองค์ แล้วเสดจประทับเกยน่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระราชยานประทับรับเสดจ แตรสังข์ประนังเสียงอุโฆษนฤนาท พระยาพระหลวงขุนหมื่นกราบถวายบังคมสามลา กระบวนน่าก็คลี่คลายขยายกระบวนพยุหยาตรา หลวงอินท์เภรีก็ตีประนังศับทสำเนียงคฤ้านคฤกพิฦกลั่น( คร้านครึกพิลึกลั่น) นี่สนั่นด้วยเสียงกาหฬดนตรี พิณพาทย์ฆ้องกลอง ออกทางประตูวิเสศไชยศรีมาตามสถลรัฐยา ทรงโปรยหิรัญแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร ซึ่งมาแซ่ซ้องเชยชมพระบรมเดชาภินิหารอยู่สองคราบข้างสถลวิถี บ้างก็ยกอัญชะลีถวายไชยพรพร้อมสพรั่ง บางพวกที่มั่งคั่งผู้ดีมีทรัพย์สมบัติ ก็จัดเครื่องสักการบูชาเทียนธูปบุปผามาลาวิกัติต่าง ๆ ตามระยะทางเสดจพระราชดำเนินไปโดยรอบพระราชวัง ครั้นเสดจถึงเกยที่ประทับแล้วเสดจเข้าสุ๋พระมหามณเฑียร มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานพระคลังแจกเงินให้ถ้วนทั่วกระบวนแห่เสดจพระราชดำเนิน ทั้งซ้ายขวา รวมเปนคน ๘,๐๐๒+ แลเมื่อได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้ ๔๓ พรรษา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเดจพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษพระบัณฑูรน้อย ขึ้นดำรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเศกเฉลิมพระราชมณเฑียร วันอังคาร เดือนสิบ แรมสามค่ำ พระราชาคณะ ๖๐ รูปสวดพระปริตพุทธมนต์ร ณ พระที่นั่งพรหมภักต์พุทไธสวรรย์ สวดมนต์สามวัน ตั้งพลับพลาที่เสดจประทับ ณ โรงลครข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก ตั้งกระบวนแห่เปนพยุหยาตราเวลาบ่ายทั้งสามวัน
ครั้น ณ วันศุกร เดือนสิบ แรมหกค่ำ ได้ศุภวารมหามงคลฤกษ เสดจเข้าสู่ที่สรงน้ำพระมุรธาภิเศกทรงเครื่องเสรจแล้ว พระสงฆฉัน ถวายไทยธรรมพระสงฆราชาคณะ แล้วเสดจลงมารับพระสุพรรณบัตรต่อพระหัถพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ครั้นได้อุดมฤกษพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานพระสุพรรณบัตร จาฤกพระนามตามโบราณราชประเพณี ในเวลานั้นพระชนม์ ๓๖ พรรษาได้ดำรงที่พระมหาอุปราช”
* เสร็จพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (พระราชวังหลัง) หรือพระบัณฑูรน้อย ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล( พระราชวังหน้า) ที่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ โดยจัดพระราชพิธีอุปราชาภิเษกต่อเนื่องจากพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างมิเคยมีมาก่อนเลย กรมพระราชวังบวรมหาเสนารักษ์พระองค์นี้มีพระนามเดิมว่า จุ้ย ราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระองค์ที่ ๗ หลังจากรับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ทรงช่วยบริหารงานประเทศพระเชษฐาธิราชได้ไม่นานนักก็ทิวงคตด้วยพระชนมายุเพียง ๔๕ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมิตั้งผู้ใดครองตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาลของพระองค์ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย ๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส - การสถาปนาพระราชวงศ์ -
สถาปนาราชวงศ์ดำรงยศ เกียรติปรากฏรูปนามความยิ่งใหญ่ โอรสพรองค์โตโก้กว่าใคร รับตั้งให้เป็น“เจษฎาบดินทร์” |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงความตอนการสถาปนาพระมหาอุปราช และมีพระราชพิธียิ่งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระพุทธเลิศหลานภาลัยมีขึ้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ส่วนพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคลมีขึ้น ณ วันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ กรุงเทพมหานครในยามนั้นจึงอยู่ในช่วงมหามงคลสมัยตลอดทั้งเดือนเลยทีเดียว เมื่อพระราชพิธีอุปราชาภิเศกจบลงแล้ว ข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้บันทึกต่อไปว่า
“ครั้นการอุปราชาภิเศกเสรจแล้ว พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งเสนาบดีให้ทำบาญชีคนนักโทษนอกจากพม่าข้าศึกที่ต้องเวรจำอยู่ ณ คุก เปนคน ๔๔๓ คน ทรงพระกรุณาโปรดให้พ้นโทษ อนึ่ง ราษฎรซึ่งฟ้องร้องกล่าวหาแก่กันค้างอยู่ในโรงศาลใดยังมิได้สำเรจนั้น ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ใ ห้ลูกขุนแลเสนาบดีชำรว่ากล่าวเสียให้แล้วโดยเรว ห้ามมิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมแต่ฝ่ายโจทฝ่ายจำเลย ซึ่งโทษหลวงแลเงินพิไนยนั้นยกพระราชทานให้
แล้วจึ่งตั้งแต่งพระราชาคณเปนฤกษก่อน แล้วตั้งพิธีเฉลิมพระนามเปนการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี สฐาปนาขึ้นเป็น กรมสมเดจพระอัมรินทรามาตย์ แล้วจึ่งพระราชทานตำแหน่งที่พระราชวงษานุวงษแลเสนาบดี ให้มีอิศริยยศโดยสมควรแก่ความชอบในเวลานั้น
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทับทิม โปรดให้เปนกรมหมื่นอินทรพิพิธหนึ่ง พระองค์เจ้าทับ เป็นกรมหมื่นจิตรภักดีหนึ่ง พระองค์เจ้าคันธรส เปนกรมหมื่นศรีสุเรนท์รหนึ่ง พระองค์เจ้าสุริย เปนกรมหมื่นอิศเรศร์หนึ่ง พระองค์เจ้าฉัตร เปนกรมหมื่นศรีสุรินทรรักษหนึ่ง พระองค์เจ้าไกรสร เปนกรมหมื่นรักษ์รณเรศหนึ่ง พระองค์เจ้าวาศุกรีซึ่งทรงผนวชอยู่ เปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัติยวงษหนึ่ง
จึ่งโปรดให้สฐาปนาพระเจ้าลูกเธอให้มีราชอิศริยยศ พระองค์เจ้าสี่พระองค์
พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ เปนกรมหมื่นเจษฎาบดินท์รหนึ่ง พระองค์เจ้ากล้วยไม้ เปนกรมหมื่นสุนทรธิบดีหนึ่ง พระองค์เจ้ามั่ง เปนกรมหมื่นเดชอดิศรหนึ่ง พระองค์เจ้าวัณ* เปนกรมหมื่นพิพิธภูเบนท์รหนึ่ง
จึ่งโปรดให้พระเจ้าหลานเธอในกรมพระราชวังหลัง พระองค์เจ้ายงเปนกรมหมื่นธิเบศบวรหนึ่ง* พระองค์เจ้าฉิมในกรมหมื่นนรินท์รพิทักษ์ เปนกรมหมื่นนรินทรเทพหนึ่ง”
“…..แล้วจึ่งพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีมุขมนตรีซึ่งตำแหน่งว่างอยู่
โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาพระคลังกุน เปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก เลื่อนเจ้าพระยายมราชบุญมา ขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม เลื่อนพระยาอนุชิตราชาน้อย ซึ่งเกบกาคาบได้นั้นเปนเจ้าพระยายมราช
ครั้นภายหลังมา เจ้าพระยารัตนาธิเบศรถึงอนิจกรรมลง โปรดให้เจ้าพระยายมราชน้อยเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก จึ่งโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยพาหน้อยเปนเจ้าพระยายมราช ท่านทั้งสองนี้อยู่มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
แล้วโปรดให้พระยาไกรโกษาข้าหลวงเดิมมาเปนพระยาพระคลัง ภายหลังมาพระยาพระคลังถึงอนิจกรรมแล้ว จึงโปรดให้พระยาศรีสุริยวงษ เชื้อพระวงษจางวางมหาดเลกเปนเจ้าพระยาพระคลัง เขาเรียกว่าเจ้าคุณโกษาสัง
ครั้นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบุญมาถึงอนิจกรรมแล้ว โปรดให้พระยาราชบูรีแสงมาเปนเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ที่สมุหพระกลาโหม ครั้นถึงอนิจกรรมแล้ว จึ่งโปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาพระคลังขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา อยู่ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่โกษานั้นว่างมาจนถึงปลายแผ่นดิน จึ่งได้ตั้งพระยาสุรวงษมนตรีเปนที่โกษา เขาเรียกว่าเจ้าคุณพระคลัง อยู่ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่กรมวังนั้นเจ้าพระยาธรรมาสดถึงแก่อนิจกรรมแล้วที่ว่างอยู่ จึ่งโปรดให้พระยาเพชรบูรีเทดเปนเชื้อพระวงษฝ่ายกรมสมเดจพระอัมรินทรามาตย์มาเปนเจ้าพระยาธรรมาธิบดี แล้วโปรดให้พระยาสันทมิตรสาเปนเจ้าพระยาพลเทพ ครั้นถึงอนิจกรรมแล้ว จึ่งโปรดให้พระยาราชภักดีทองอินเปนเจ้าพระยาพลเทพ ท่านทั้งสองนี้อยู่จนแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นโปรดเกล้าฯ ตั้งข้าหลวงใหญ่-เดิมขึ้นเตมตามตำแหน่งที่ทุกพนักงานแล้ว ถึงเดือนสิบเอดแต่งให้พระยาเพชรปราณีเปนทูตออกไปกรุงเวียดนาม บอกการสวรรคตแลการบรมราชาภิเศก สืบพระวงษใหม่ด้วย”
* การเลื่อนและตั้งตำแหน่งเสนาบดีมีข้อปลีกย่อยที่ควรรู้คือ
เจ้าพระยาศรีสุริยพาห นามเดิมว่าน้อยนั้น พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ว่า มียศเป็นพระยามิใช่เจ้าพระยา แต่ ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ระบุว่ามียศเป็นเพียง พระ เท่านั้น
พระยาไกรโกษา ข้าหลวงเดิมที่ได้เป็นพระยาพระคลังนั้น มีนามเดิมว่า กร พระยาสุริยวงษมนตรีที่ได้เป็นที่โกษานั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “โปรดให้พระยาสุริยวงษ์มนตรี (ดิศ) จางวางมหาดเล็กมาบัญชาการกรมท่าเป็นพระยาสุริยวงษ์โกษาที่พระคลัง แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เป็นเจ้าพระยาพระคลังต่อมาตลอดรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นี้ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมหมาประยุรวงษ์) เป็นบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เจ้าคุณนวล น้องสาวสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นมารดา”
* * ท่านผู้อ่านครับ เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณแล้วว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจะต้องมีการสถาปนาพระราชเทวีเป็นพระมเหสี และวงศานุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม กับแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามพระราชอัธยาศัย รวมทั้งทรงตั้งพระภิกษุให้ดำรงสมณะศักดิ์ต่าง ๆ อีกด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาเจ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นดำรงตำแหน่งพระอุปราชแล้ว ทรงตั้งพระภิกษุเป็นพระราชาคณะก่อนแล้วจึงตั้งตำแหน่งยศให้พระบรมวงศ์และราชวงศานุวงศ์เป็นลำดับมา จนสิ้นแล้วจึงจะทรงตั้งข้าราชการต่อไป สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ซึ่งตั้งให้ทรงกรมเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นั้น ภายหลังได้เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓
สำหรับพระองค์เจ้าวาสุกรีซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธารามนั้น ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมด้วย คือให้เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสฯ ท่านผู้นี้มิได้ลาผนวช ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสถาปนาขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ ทรงเป็นนักกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในระดับ “รัตนกวี” ทีเดียว
พระองค์เจ้าวัณ ที่ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิพิธภูเบท์ร นั้น บางแห่งว่าพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจำรัสบ้าง พระองค์เจ้าวันบ้าง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ออกพระนาว่า พระองค์เจ้าพนมวัน และ พระองค์เจ้ายงที่ทรงกรมเป็นกรมหมื่นธิเบศบวรนั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ออกพระนามว่า พระองค์เจ้าประยงค์ จบเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งตามพระราชประเพณีแล้ว เรื่องาวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่ามาตีชุมพร-ถลาง -
พม่ายกทัพมาตีภาคใต้ แล้วยึดได้หลายเมืองเกือบหมดสิ้น เมืองถลางร่อแร่น้ำตาริน ทั้งของกินของใช้เกือบไม่มี |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้นี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันโดยละเอียด ถึงเรื่องราวพระราชพิธีราชาภิเษกและอุปราชาภิเษกจบสิ้นไปแล้ว วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บันนาค) ซึ่งจะขอเก็บความมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้
* “ในปีเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต และ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลราชโอรสทำพิธีบรมราชาภิเศกเถลิงราชสมบัติ ในพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ถึง ณ เดือนยี่ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ พระเจ้ากรุงอังวะแห่งพม่า ให้อเติงวุ่นแม่ทัพ ลงมาเกณฑ์คนหัวเมืองร่างกุ้ง (แรงกูน=ย่างกุ้ง) เมืองพม่า เมืองมอญ ตลอดถึงเมืองทวาย รวมพลได้ ๔ หมื่น เตรียมจะลองยกเข้าตีกรุงเทพฯ ดูอีกสักครั้งหนึ่ง
ครั้นอเติงวุ่นยกลงมาตั้งอยู่เมืองเมาะตะมะ พลในกองทัพพม่าก็หนีทัพคราวละพันหนึ่ง สองพัน สามพันบ้าง สี่ร้อยห้าร้อยบ้าง อเติงวุ่นสั่งให้กองทัพเที่ยวตามจับได้ทีละร้อยหนึ่งบ้าง ห้าสิบหกสิบบ้าง แล้วก็ใช้วิธีโหดร้ายทารุณ สั่งให้ตัดศีรษะบ้าง ผ่าอกเสียบ้าง เพื่อเป็นการข่มขู่มิให้พลในกองทัพพากันหลบหนีอีกต่อไป แล้วก็ยกข้ามฟากมาตั้งอยู่เมาะลำเลิง แต่งเรือออกลาดตระเวนไม่ให้พลในกองทัพหนีข้ามฟากไป ยามนั้นขุนนางเมืองอังวะพากันกราบทูลทัดทานพระเจ้ากรุงอังวะว่า ในเมื่อพระองค์ได้แต่งพระราชสาส์นไปขอเจริญทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแล้ว จะมาเกณฑ์กองทัพให้ไปตีบ้านเมืองไทยอีกจะไม่เสียพระเกียรติยศหรือ ? พระเจ้ากรุงอังวะทรงเห็นชอบด้วยก็โปรดให้มีตราให้หาอเติงวุ่นเลิกทัพกลับไป
อเติงวุ่นทราบความตามท้องตราเรียกหาให้กลับแล้วตอบไปว่า “ได้ลงทุนเสบียงอาหารเกณฑ์ไพร่พลมาได้มากแล้ว ไม่โปรดให้ไปตีกรุงศรีอยุธยา ก็จะขอไปตีเมืองชุมพร เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เกาะถลาง กวาดต้อนครอบครัวใช้ทุนรอนเสียก่อนจึงจะกลับไป” แล้วอเติงวุ่นก็ยกกองทัพไปตั้งอยู่เมืองทวาย กะเกณฑ์ให้ต่อเรือรบใหญ่น้อยขึ้นเป็นอันมาก ครั้งนั้นไพร่พลในกองทัพอเติงวุ่นเกิดโรคลงท้อง (ท้องร่วง) ตายวันละห้าสิบหกสิบคนทุกวัน
เมื่อต่อเรือรบเสร็จแล้ว ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็ง เอกศก ศักราช ๑๑๗๑ อเติงวุ่นก็ให้แย้ฆอง คุมนายทัพนายกองและไพร่พล ๔,๐๐๐ คน ลงเรือรบไปตีเกาะถลางกองหนึ่ง ให้ดุเรียง สาละกะยอ คุมพล ๓,๐๐๐ คน ขึ้นไปที่เมืองระนอง เมืองกระ ตีเมืองชุมพร พระยาเคางะธราธิบดีผู้รักษาเมืองชุมพรบอกเข้ามา ณ กรุงเทพฯว่า “อ้ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ปากจั่นยกเข้ามาตีเมืองชุมพร เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว โปรดให้พระยาจ่าแสนยากรคุมพล ๕,๐๐๐ คน เดินบกยกลงไปก่อน ให้เจ้าพระยาพลเทพไปรักษาเมืองเพชรบุรี โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี ไปจัดการคอยส่งกองทัพอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ถ้าการหนักแน่นมาประการใด ก็ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นทัพหน้า กรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นทัพหลวงยกหนุนไปอีกทัพหนึ่ง แล้วจะโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นจอมพยุหะพล ยกออกไปทางบกอีกทัพหนึ่ง รวม ๒ ทัพ เป็นพล ๒๐,๐๐๐ คน
ฝ่ายแย้ฆองพม่าที่ยกมาตามคำสั่งอเติงวุ่นนั้น เข้าตีเมืองตะกั่วป่าได้เมื่อวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ แล้วยกลงไปตีตะกั่วทุ่งได้โดยไม่ต้องรบ เพราะผู้คนหนีเข้าป่าไปหมดแล้ว จึงยกเลยไปเกาะถลาง คือ ภูเก็ต เจ้าเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ก็บอกมายังกรุงเทพมหานคร
พม่ายกทัพไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ปากพระ พระยาถลางได้บอกข้าราชการมายังกรุงเทพฯ พร้อมกับเกณฑ์พลไพร่เข้ารักษาเมืองอยู่พรักพร้อม พม่ายกเข้าตีค่ายบ้านดอนเมืองถลาง ตั้งค่ายล้อมอยู่ ๑๕ ค่าย พวกชาวเมืองถลางก็ต่อสู้กับพม่าเป็นสามารถ พม่าหักเอามิได้ก็คิดอุบายถอยทัพกลับลงเรือแล่นไปเมื่อเดือน ๑๒ ข้างแรม พระยาถลางแต่งให้คนสอดแนมสืบดูก็ได้ความว่า พม่ายกกองทัพไปหมดแล้ว จึงปล่อยคนออกจากค่ายไปเที่ยวหากิน เพราะในเวลานั้นอดเสบียงอาหารหนักอยู่แล้ว พม่าคาดคะเนการณ์เห็นว่า ไทยปล่อยคนออกจากค่ายแล้ว ก็กลับยกกองทัพมาขึ้นเดินที่ปากพระบ้าง มาขึ้นที่ท่ายามูแขวงเมืองภูเก็ตบ้าง เข้าล้อมเมืองถลางไว้ อีกเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ พระยาถลางทราบดังนั้นก็ตกใจรีบเรียกคนกลับเข้าค่าย แต่ก็ไม่อาจเรียกได้เต็มหน้าที่
ฝ่ายทางกรุงเทพฯ นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับทราบหนังสือบอกจากพระยาถลางแล้ว จึงโปรดให้เกณฑ์พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ คุมทัพเมืองไชยาขึ้นทางปากพนมเดินไปช่วยเมืองถลางทางหนึ่ง
โปรดให้เจ้าพระยายมราช น้อย เป็นแม่ทัพ พระยาท้ายน้ำเป็นกองหน้า ให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้เกณฑ์ทัพไปกับเจ้าพระยายมราช ช่วยราชการเมืองถลางให้ได้
เจ้าพระยายมราช พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ ได้ยกออกจากปากน้ำเจ้าพระยา ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ ได้ยกออกไปเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑ ขึ้นที่เมืองเพชรบุรี
เจ้าพระยายมราชไปถึงนครศรีธรรมราชแล้ว จึงพร้อมด้วยเจ้าพระนครศรีธรรมราชยกไปตั้งอยู่เมืองตรัง เรือที่จะบรรทุกคนข้ามไปนั้นมีน้อยจึงให้ต่อเรืออยู่ที่นั้น จัดเรือที่เมืองตรังให้พระยาท้ายน้ำยกข้ามทะเลไปก่อน
พระยาท้ายน้ำไปถึงเกาะฉนักพบเรือพม่าที่มาขึ้นท่ายามู พม่าออกรบต้านทานไว้ พระยาท้ายน้ำและกองทัพไทยเข้ายิงเรือพม่าแตกแล่นหนีกระจัดกระจายไป เพราะพม่าเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นบกไปล้อมเมืองภูเก็นจนหมดจึงไม่มียิงต่อสู้ทัพไทย
ในขณะรบนั้น พระยาท้ายน้ำประมาทมิได้ปิดระวังถังดินปืนให้ดี เมื่อยิงปืนไฟนั้นละอองไปปลิวตกในถังดินปืน ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นจนเรือแตก พระยาท้ายน้ำและคนในเรือนั้นตายเกือบหมด เหลืออยู่เพียง ๑๕ คนเท่านั้น เรือหลวงสุนทรกับเรือหลวงกำแหงช่วยกันเก็บศพพระยาท้ายน้ำและพวกมาส่งขึ้นที่คลองปากลาวแขวงเมืองนคร จัดให้คนคุมศพระยาท้ายน้ำเข้ากรุงเทพฯ”
* * ท่านผู้อ่านครับ เรื่องการรบพม่าที่เกาะถลางหรือภูเก็ต ตามความในพระราชพงศาวดารที่จับความมาบอกเล่าข้างต้นนี้ รู้สึกว่า พม่าฝีมือไม่เก่งกล้าเท่าไหร่ แต่สติปัญญาในกลศึกลึกล้ำรอบคอบกว่าไทยนะครับ ผลจะลงเอยอย่างไร อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่าปล้นเมืองถลางได้สำเร็จ -
พม่ากองกำลังมีสี่พันเศษ ยกเข้าเขตไทยพลันขมันขมี ปล้นถลางอย่างสบายได้ง่ายดี ทัพไทยมีมากกว่าละล้าละลัง
เสียภูเก็ตแก่พม่าไม่น่าเสีย เพราะไทยเรี่ยราดรบอย่างล้าหลัง มัวโอ้เอ้เลินเล่อจนเผลอพลั้ง เป็นละมั่งกวางทรายเหยื่อนายพราน
กำลังมากไร้ปัญญาเป็น“บ้าบิ่น” เสียทรัพย์สินมากมายหลายสถาน ผู้นำโง่ขลาดซ้ำไม่ชำนาญ มีทหารมากยากรักษาเมือง
รบศึกแรก“รอสอง”ต้องพ่ายพม่า ทหารกล้าไม่ฉลาดขาดรู้เรื่อง เป็นบทเรียนให้พระองค์ทรงขัดเคือง ขุนพลเชื่องช้าอยู่ดูอ่อนแอ |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้อ่านกัน ถึงตอนที่พม่ายกมาตีเกาะถลาง พระยาท้ายน้ำนำเรือรบจากเมืองตรังไปช่วย ขณะยิงพม่าแตกกระจายนั้น เกิดความปะมาทมิได้ปิดถังดินปืนในเรือ ประกายไฟจากกระบอกปืนปลิวไปลงถังดินปืนจนเกิดระเบิดขึ้น เรือแตก พระยาท้ายน้ำตาย นายทัพนายกองกระจัดกระจาย วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ
ความในพระราชพงศาวดารกล่าวต่อไปว่า เมื่อจัดเรือให้พระยาท้ายน้ำยกไปเกาะถลางแล้ว พระยายศโยธายกไปตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพังงา หาได้ข้ามไปเกาะถลางไม่ แย้ฆองนายทัพของอเติงวุ่นพอรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพฯ ยกลงไปช่วยเกาะถลาง จึงรีบเร่งระดมตีค่ายเมืองภูเก็ตจนแตก แล้วสมทบกันตีค่ายเมืองถลาง ตั้งล้อมเมืองอยู่ ๒๗ วัน ก็ตีเมืองถลางแตกได้เมือง แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองถลาง เก็บทรัพย์สินต่าง ๆ ได้มากแล้วยกลงเรือกลับไป
สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ นำทัพเสด็จถึงเมืองชุมพรก็สั่งให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) จัดทัพเข้าตีพม่าเมืองชุมพรแตกพ่ายไป จับพม่าที่ตกค้างในเมืองชุมพรได้บ้าง เมืองตะกั่วป่าบ้าง เอาเข้ามากรุงบ้าง ฆ่าเสียบ้าง ครั้นสืบได้ความว่า พม่าที่ยกไปตีเกาะถลางแตกแล้วเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว จึงให้พระยาจ่าแสนยากรอยู่รั้งเมืองชุมพร แล้วยกทัพหลวงเสด็จกลับกรุงเทพมหานครโดยเรือพระที่นั่งทางชลมารค ส่วนที่เหลือลงเรือไม่หมดก็ให้เดินกลับทางบก
เมื่อมาถึงเมืองสมุทรปราการแล้วพักอยู่ บอกขึ้นมากราบังคมทูลตามพระราชกำหนดกองทัพกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีตราเชิญเสด็จขึ้นมา ณ กรุงเทพฯ จึ่งเสด็จขึ้นมาเฝ้ากราบทูลข้อราชการสงครามให้ทรงทราบทุกประการ
กล่าวทางฝ่ายเมืองนครพนม เมื่อเดือนอ้าย ปีนั้น พระบรมราชาเจ้าเมือง อุปฮาดชื่อท้าวไชย เกิดวิวาทกันขึ้นด้วยบ่าวไพร่อุปฮาดไม่ยอมเป็นผู้น้อย จึงพาสมัครพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ เศษมากรุงเทพมหานคร เข้าขอสวามิภักดิ์เมื่อเดือนยี่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาหงส์เมืองสมุทรปราการ ครั้นทำบาญชีตรวจดูได้ชายฉกรรจ์ ๘๖๐ คน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งท้าวอินพิสาร บุตรผู้ใหญ่ของอุปฮาด เป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ เพื่อจะได้ดูแลไม่ให้กรมการไทยคุมเหงลาว
ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยายมราช ใจความว่า “พม่ามาตีเมืองถลางถึงสองกลับ ถ้าทัพเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช รีบยกไปช่วยเมืองถลางให้ทันเวลาก็คงจะไม่เสียแก่ฆ่าศึก ด้วยพม่าขัดสนเสบียงอาหารลงแล้ว ก็บอกว่าตั้งต่อเรือรบอยู่ยังไม่แล้ว จนพม่าข้าศึกเลิกทับกลับไปเรือรบจึ่งแล้ว พม่าไปครั้งนี้แล้วมันจะกลับมาตีเมืองตรังเมืองนครศรีธรรมราชอีกดอกกระมัง เมืองตรังเปนเมืองที่ไว้เรือรบเปนอันมาก ให้เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช คิดอ่านจัดการรักษาบ้านเมืองไว้ให้จงดี ถ้าการหนักแน่นมาประการใด จะโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกพยุหทัพเรือไปช่วยอีก*”
** ท่านผู้อ่านครับ อเติงวุ่นแม่ทัพพม่าส่งเพียงนายทัพชื่อแย้ฆองนำพลเพียง ๔,๐๐๐ คน ยกเป็นกองเรือเข้าตีเมืองถลาง กองทัพจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพ ร่วมด้วยกองทัพเมืองไชยยา เมืองนครศรีธรรมราช แม้พระราชพงศาวดารฯ มิได้บอกจำนวนกำลังพล ก็พอจะประมาณได้ว่าไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ทางเมืองถลางแม้จะมีกำลังพลไม่มากนักแต่ชาวเมืองถลางก็สู้กับพม่าได้อย่างเข้มแข็ง ถ้าเจ้าพระยายมราชไม่มัวโอ้เอ้กับการต่อเรือรบอยู่ที่เมืองตรัง จนพม่าตีเมืองถลางแตกแล้ว ก็คงไม่เสียเมืองถลางให้แก่แย้ฆอง หรืออย่างน้อยถ้าพระยายศโธยาที่ยกไปตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพังงานั้น ยกข้ามไปภูเก็ตก็คงจะช่วยป้องกันเมืองไว้ได้ แต่ท่านกลับไม่ยกข้ามไป นี่คือความไม่เอาใจใส่ในราชการสงครามของแม่ทัพนายกองในบังคับบัญชาของเจ้าพระยายมราช ดูข้อความจากหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีไปถึงเจ้าพระยายมราช ข้างต้นนั้นก็จะเห็นว่า ทรง “เหน็บแนม” หรือ “ตัดพ้อต่อว่า” เจ้าพระยายมราชอย่างชัดเจน นี่หากเป็นสมเด็พระเจ้าตากสินแล้ว ไม่แคล้วที่เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยานคร พระยายศโยธา จะต้องถูกตัดศีรษะเสียบประจานเป็นแน่ หรือแม้หากเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าพระยายมราชกับพวกต้องถูกถอดยศปลดตำแหน่งอย่างแน่นอน เรื่องกองทัพไทยปล่อยให้กองกำลังเล็ก ๆ ของพม่าปล้นเกาะถลางได้นี้ ควรถือได้ว่าเป็นความอัปยศของกองทัพไทยในอดีต
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|