บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ไทยได้แล้วเสียเมืองทวาย -
พม่ายกทัพหมายบุกไทยอีก ไทยมิหลีกหลบระย่อตั้งต่อต้าน พม่าพ่ายย่อยยับอัประมาณ เลิกรุกรานรบไทยไว้ชั่วคราว
สยามรับแคว้นทวายไว้ในเขต เป็นประเทศราชไทยหลายร้อนหนาว แล้วกลับเสียคืนไปอยู่ไม่ยาว เป็นเรื่องราวถูกครองสองแผ่นดิน |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอล จากพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน ถึงตอนที่เจ้าเมืองเบงคอลเล่าเรื่องของพระเจ้าอลองพญายกทัพพม่ารุกรานไทยได้กรุงศรีอยุธยา และได้เมืองยะไข่ แต่พ่ายแพ้แก่จีนฮ่อที่ยกลงมาตีพม่าทางด้านเหนือ ทรงให้แม่ทัพใหญ่ทำสัญญาสงบศึก โดยยินยอมส่งราชบรรณาการสิบปีต่อหนึ่งครั้ง แต่พระเจ้าอลองพญากลัวจะเสียหน้าจึงแกล้งโกรธแม่ทัพ หาว่าทำสัญญาสงบศึกโดยลำพัง พระเจ้าแผ่นดินมิได้รู้เรื่องด้วย และลงโทษแม่ทัพด้วยการให้นุ่งผ้าถุงสตรี เป็นการประจานให้อับอายไปทั้งประเทศ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านจดหมายเหตุจากเจ้าเมืองเบงคอลต่อกันไปครับ
* “ ค.ศ. ๑๗๘๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๔๗ ปีมะเส็ง สัปตศก (๒๓๒๘) เจ้าอังวะคิดจะยกทัพไปตีเมืองไทยอีก ก็ตระเตรียมกองทัพเป็นอันมาก แล้วก็ยกไปจากเมืองเมาะตะมะเป็นทัพใหญ่ มายังไม่ทันถึงแดนไทย กองทัพไทยไปตั้งรับ ได้สู้รบกันเป็นสามารถ กองทัพพม่าก็แตกยับเยินหนีไปทั้งสิ้น แต่เจ้าอังวะนั้นเล็ดลอดหนีไปได้
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๙๐ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๒ (๒๓๓๓) ปีจอ โทศก พม่ายอมยกเมืองทวายให้แก่ไทยด้วยกลัวไทยจะรบเลยไป
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๑๙๑ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๓ ปีกุน ตรีศก พม่าคิดอุบายเอาเมืองทวายคืนได้
ครั้นถึง ค.ศ.๑๗๙๓ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๕ (๒๓๓๖) ปีฉลู เบญจศก ไทยไปขอให้พม่าเลิกการรบกันเสีย ทำสัญญาให้เป็นผลประโยชน์แก่พม่าเป็นอันมาก ในหนังสือสัญญานั้น ไทยยอมยกเมืองข้างตะวันตกริมชายทะเล จนถึงเมืองมะริดข้างใต้นั้น ทั้งเมืองตะนาวก็เป็นของพม่าด้วย
อนึ่งมีความว่า เมืองอาระกันเมื่อเป็นของพม่านั้น พวกพม่าเบียดเบียฬคุมเหงชาวเมืองอาระกันหนัก ชาวเมืองอาระกันก็หลีกหนีเข้าไปอยู่ในป่า แลไปอยู่ตามเกาะข้างทิศใต้แว่นแคว้นอังกฤษบ้าง แล้วมาประชุมพร้อมกันยกมารบแก้แค้นพม่าเนือง ๆ แล้วก็กลับไปซุ่มซ่อนอยู่ในเมืองจิตตะกองของอังกฤษ อังกฤษหารู้ไม่
ครั้งนั้นพม่ารู้ว่าชาวเมืองอาระกันสามคนเป็นตัวนายคุมพวกชาวเมืองอาระกันให้มาทำร้ายพม่า ไปซุ่มซ่อนอยู่ในเขตแดนอังกฤษ พม่าก็ยกทัพล่วงเข้าไปในเขตแดนอังกฤษ จะจับชาวอาระกัน มิได้บอกให้อังกฤษรู้ก่อน ทัพหน้าล่วงเข้าไปในแดนอังกฤษ ทัพหลวงมีคนประมาณสองหมื่นตั้งอยู่ในเมืองอาระกัน เพื่อจะได้หนุนกองหน้า
อังกฤษรู้ข่าวดังนั้นจึงสั่งให้อาระสะกินอังกฤษเป็นแม่ทัพ ยกทัพไปตั้งอยู่ริมเมืองจิตตะกอง จะได้ป้องกันทัพพม่า ครั้นพม่ารู้ว่าอังกฤษยกทัพมาตั้งรับ จึงใช้ให้ทูตพม่าไปหาอังกฤษ ว่ากล่าวกันโดยดี ภายหลังแม่ทัพพม่าก็ไปหาแม่ทัพอังกฤษเอง แม่ทัพอังกฤษมิได้ว่าประการใด ให้แต่แม่ทัพพม่ายกกลับไปเสียให้พ้นเขตแดน แล้วอังกฤษจึงจะพูดเนื้อความต่อไป พม่าก็ทำตามอังกฤษ อังกฤษแม่ทัพจึ่งจับคนชาวเมืองอาระกันซึ่งเป็นนายสามคนนั้น มาซักไซ้ไถ่ถามดู เห็นว่าเป็นคนผิด ก็มอบคนสามคนให้แก่พม่าไป
อนึ่งว่า ขุนนางผู้ใหญ่อังกฤษชื่อ เซอร์ยอนช้อ มาเป็นผู้สำเร็จราชการในเมืองเบงคอล ครั้นรู้ว่าพวกฝรั่งเศสไปอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นเมืองพม่าแลเมืองที่อยู่ริมเขตแดนพม่าเป็นอันมาก ก็คิดเห็นว่า ถ้าอังกฤษได้ทำไมตรีแก่พม่าให้สนิทยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าแต่ก่อน ก็จะเป็นผลประโยชน์กับอังกฤษเป็นอันมาก
ใน ค.ศ.๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ (๒๓๓๘) ปีเถาะ สัปตศก จึ่งให้กัปตันไมแกลซิน เป็นทูตถือหนังสือแลคุมสิ่งของเครื่องบรรณาการไปเมืองพม่า ครั้นทูตมาถึงเมืองย่างกุ้ง ก็คอยอยู่ช้านานตามธรรมเนียมของพม่าที่เคยดูถูกมาแต่ก่อนนั้น ทูตอังกฤษทนพม่าดูถูกในเมืองย่างกุ้งอยู่นานแล้ว จึ่งไปว่ากับเจ้าเมืองย่างกุ้งว่า ถ้าไม่ต้อนรับตามธรรมเนียมทูตแลส่งขึ้นไปให้ถึงเมืองอังวะโดยเร็วแล้ว ทูตจะพาหนังสือแลสิ่งของเครื่องบรรณาการกลับไปคืนให้แก่เจ้าเมืองเบงคอลเสีย
เมื่อทูตว่ากล่าวขึ้นดั่งนี้ เจ้าเมืองย่างกุ้งก็จัดเรืออันสมควรส่งทูตกับสิ่งของเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองอังวะ ทูตอังกฤษได้สำเร็จความปรารถนา แล้วพม่ายอมให้ตั้งกงสุลอยู่ในเมืองย่างกุ้ง สำหรับดูผิดชอบแลรักษาลูกค้าอังกฤษทั้งปวงแต่บรรดาที่อยู่ในแว่นแคว้นพม่านั้น แล้วเจ้าอังวะให้ป่าวร้องประกาศพวกพม่า ให้เก็บภาษีอากรแก่พวกลูกค้าอังกฤษแต่ตามธรรมเนียมบ้านเมือง ครั้นทูตอังกฤษจัดการสำเร็จแล้ว ก็กลับเมืองเบงคอล…..”
* * ท่านผู้อ่านครับ จดหมายเหตุของอังกฤษที่เกี่ยวกับพม่าดังให้อ่านแล้ว มีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นความร้ายกาจของพม่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคือความไม่ซื่อตรงต่อต่างชาติไม่ว่าแต่กับไทย แม้อังกฤษมหาอำนาจในยุคสมัยนั้น พม่าก็ไม่เว้นที่จะ “หักหลัง” บิดพลิ้วและยกเลิกสัญญา และเข่นฆ่าชาวอังกฤษอย่างเลือดเย็น จดหมายเหตุของอังกฤษฉบับนี้ยังไม่จบ ที่เหลืออยู่จะยกมาให้อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๑ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่าหยามทรมานทูตอังกฤษ -
อังกฤษส่งทูตเฝ้าเจ้าอังวะ ทูตพบกะการหลู่หยามดูหมิ่น ทรมานเดือดร้อนการนอนกิน ขุนนางปลิ้นปล้อนปอกหลอนหลอกลวง
ถูกกีดกันรังแกตั้งแต่ต้น สุดทานทนอยู่ได้ในบ่อบ่วง หาทางถอยยอมทิ้งสิ่งทั้งปวง แม้ถูกหน่วงเหนี่ยวไว้ก็ไม่ยอม |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้อ่านถึงเรื่องราวระหว่างอังกฤษกับพม่า ที่อังกฤษพยามสร้างไมตรีต่อพม่า เพื่อผลประโยชน์ที่ปรารถนา ล่าสุดพม่ายอมให้อังกฤษตั้งกงสุลอยู่ในเมืองย่างกุ้ง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านจดหมายเหตุอังกฤษที่บันทึกไว้ต่อจากเมื่อวานนี้ครับ
* “มีความว่า อังกฤษประพฤติตามหนังสือของเจ้าอังวะที่ตอบให้กัปตันไมแกลซินซึ่งเป็นทูตมานั้น แลหนังสือนั้นจะเรียกว่าเป็นหนังสือสัญญาก็ไม่ถูก แล้วเจ้าเมืองเบงคอลจึ่งตั้งกัปตันกอกเปนเรสิเดนของเจ้าเมืองเบงคอลให้ไปอยู่เมืองย่างกุ้ง การที่ใช้ให้กัปตันกอกไป มีกิจการที่จะทำสามข้อ
ข้อ ๑ จะให้ทำการที่อังกฤษกับพม่าเป็นไมตรีกันให้สนิทยิ่งขึ้นไป เป็นทองแผ่นเดียวกันตามหนังสือสัญญา ซึ่งได้ทำไว้ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. ๒๓๕๖)
ข้อ ๒ ให้เรสิเดนรักษาพวกลูกค้า แลแว่นแคว้นของอังกฤษนั้น อย่าให้พวกพม่าเบียดเบียนได้ กับให้ระวังการงานของอังกฤษอย่าให้พม่าทำลายเสีย
ข้อ ๓ ถ้าจะมีศัตรูคิดประทุษร้ายต่ออังกฤษ ให้เรสิเดนคิดทำลายเสียด้วยการลูบไล้เกลี่ยไกล่ให้ดี แล้วอย่าให้เรสิเดนถือตัว แล้วให้คิดอ่านชักชวนเจ้าเมืองอังวะให้มีทูตไปถึงเจัาเมืองเบงคอลให้ได้
ครั้นเดือนออกโตเบอร์ ตรงกับเดือนสิบเอ็ด กัปตันกอกก็ไปถึงเมืองย่างกุ้ง พวกพม่าก็ต้อนรับด้วยธรรมเนียมอันดี แล้วเจ้าอังวะก็มีตราลงมาถึงเจ้าเมืองย่างกุ้ง ให้ส่งกัปตันกอกขึ้นไปเฝ้าเจ้าเมืองย่างกุ้ง จึ่งเรี่ยไรชาวเมืองได้เงินสามหมื่นรูเปีย จะเอามาใช้ในการที่จะส่งกัปตันกอกขึ้นไปเฝ้า ถึงว่าเรี่ยไรได้เงินมากก็ดี กัปตันกอกทูตก็ไม่ได้ขี่เรือดีขึ้นไป เงินนั้นเป็นผลประโยชน์ของพม่าเอง
เดือนยันนุวารี ค.ศ. ๑๗๙๙ ตรงกับเดือนยี่ จ.ศ. ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก ( พ.ศ. ๒๓๔๐) กัปตันกอกไปถึงเมืองอำมะระโปรา(อมรปุระ) ที่เจ้าอังวะไปพักอยู่นั้น กัปตันกอกก็ต้องทรมานทนความดูถูกของพม่า ที่พม่าคิดไว้จะทำอยู่หลายวัน คราวนั้นเจ้าอังวะเคยออกขุนนางที่เมืองมังวน ที่อยู่เหนืออำมะระโปราหน่อยหนึ่ง ด้วยเจ้าอังวะไปสร้างวังใหญ่อยู่ที่นั้น กัปตันกอกก็ตามไปอยู่ที่เมืองมังวนหลายวัน หามีขุนนางพม่ามาถามข่าวคราวไม่
ครั้นถึงเดือนเฟบรุวารี ตรงกับเดือนสาม มีขุนนางมาบอกว่า เจ้าอังวะจะให้ไปเฝ้า แลการที่จะได้เฝ้าเร็ว ๆ นั้น เห็นว่าเจ้าอังวะจะใคร่ได้รถฝรั่งแลพิมพ์หล่อเงิน แลสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งได้สั่งทูตอังกฤษคนก่อนออกไป กับสิ่งของซึ่งเป็นเครื่องบรรณาการของกัปตันกอกเอามานั้น เพราะสิ่งเหล่านี้จึ่งได้เฝ้าง่ายโดยสบาย ครั้นเฝ้าแล้วออกมาพักอยู่ที่อาศัยก็หามีขุนนางไปมาหาสู่ไม่
ครั้งนั้นในเมืองอะซำเกิดชิงสมบัติกัน วงศ์ของเจ้าเมืองอะซำคนหนึ่งชิงเอาสมบัติได้ อังกฤษเห็นว่า วงศ์ของเจ้าอะซำคนนั้นไม่สมควรแก่สมบัตินั้น จึ่งไปขอกองทัพพม่า กองทัพพม่าก็เตรียมกองทัพจะยกไปช่วย กัปตันกอกก็ห้ามปรามพม่าว่าเมืองอะซำนี้อยู่ในบำรุงของอังกฤษ อังกฤษได้เอาธุระอยู่แล้ว ก็ห้ามปรามหลายครั้ง พม่าก็ไม่ฟัง กัปตันกอกจึ่งขอเรือให้ส่งตัวกลับไป
ครั้นถึงเดือนมาศตรงกับเดือนสี่ พม่าก็แกล้งทำนับถือกัปตันกอกมากขึ้น แล้วทำนุบำรุงไว้ด้วยธรรมเนียมอันสมควร เพราะด้วยเจ้าอังวะจะใคร่ได้ฟันซีกหนึ่งของพระสมณโคดม ที่อยู่เมืองกันดีในเกาะลังกา คือพระทันตธาตุ จะต้องอาศัยอังกฤษให้ช่วยเอามาให้
อยู่ไม่ช้าไม่นานพม่าก็ทำดูถูกดูหมิ่นอีก กัปตันกอกอยู่ในเมืองมังวนสองเดือน ก็ไปเมืองอำมระโปราในเดือนยุน ตรงกับเดือนเจ็ด กัปตันกอกได้ความทรมานอยู่ในเมืองอำมระโปราเพราะพม่าดูถูกดูหมิ่น จึ่งว่ากับขุนนางผู้ใหญ่ว่าตัวจะไม่อยู่ในเมืองอำมระโปราแล้ว ขุนนางได้ฟังดังนั้น จึ่งคิดอ่านกันจะเกาะตัวกัปตันกอกไว้เป็นจำนำกว่าจะได้พวกเมืองอาระกันเจ็ดพันคน ที่หนีไปอาศัยอยู่ในเมืองจิตตะกอง เมื่อครั้งพม่ายกกองทัพไปตีเมืองอาระกันได้นั้น อีกอย่างหนึ่งจะเกาะตัวกัปตันกอกไว้กว่าเมืองจิตตะกอง เมืองดากา เมืองลูบกิโป เมืองโคสิมปะษา สี่เมือง ซึ่งเคยขึ้นแก่เมืองอาระกันแต่ก่อน ที่ไปอาศัยพึ่งอังกฤษอยู่ เดี๋ยวนี้จะให้กลับมาขึ้นแก่พม่า อีกอย่างหนึ่ง พม่าจะคิดเอาอากรกับเมืองสี่เมืองตั้งแต่ไปขึ้นแก่อังกฤษ จนอังกฤษส่งมานั้นครั้งหนึ่ง กัปตันกอกกลัวพวกพม่าจะทำอันตรายแก่ตัว แต่ทนทรมานอยู่ในเมืองอำมระโปรานั้นเก้าเดือน
เดือนออกโตเบอร์ ค.ศ.๑๗๙๗ ตรงกับเดือนสิบเอ็ด จ.ศ. ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก (พ.ศ. ๒๓๔๐) กัปตันกอกก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปจากเมืองอำมระโปรา ทางประมาณสองร้อยเส้น มีคนพม่ารับใช้มาแต่บุตรองค์ใหญ่ของเจ้าอังวะมาพูดจาปราศรัยด้วยธรรมเนียมอันดี กัปตันกอกก็กลับไปหาบุตรองค์ใหญ่ของเจ้าอังวะถึงที่อยู่ พูดจาปราศรัยกันอยู่หน่อยหนึ่งก็เห็นว่าเป็นกลอุบายของพม่า กัปตันกอกคิดอายหนัก จึ่งออกจากที่อยู่ไปเมืองย่างกุ้ง
ถึงในเดือนนอแวมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบสอง อยู่ที่นั้นได้สองสามวัน เจ้าเมืองย่างกุ้งตามมาจากเมืองอำมระโปราถึงเมืองย่างกุ้ง แล้วก็บอกแก่กัปตันกอกว่า มีรับสั่งห้ามไม่ให้ไปจากพม่า แล้วสั่งคนนำร่องน้ำว่า ถ้าเรือจะเข้ามามีเครื่องสาสตราวุธแล้ว ให้คนนำร่องน้ำแกล้งนำไปติดอยู่ อย่าให้เข้ามาได้ ครั้งนั้นเจ้าอังวะผูกพันธ์จะใคร่ได้ปืนคาบสิลา มีความปรารถนาจะให้กัปตันกอกช่วยสั่งให้เอาเข้ามาให้ จึ่งใช้ขุนนางไปบอกกัปตันกอกว่า เจ้าอังวะยอมรับตัวไว้เป็นเรสิเดนในเมืองย่างกุ้งแล้ว แลยอมยกที่ให้ตั้งห้างแลทำสวน แต่ข้อรับสั่งนี้ขุนนางนำมาหาทันไม่ ด้วยกัปตันกอกกับพรรคพวกพากันไปอยู่ในกำปั่น กำปั่นก็อยู่ปากน้ำ แล้วกัปตันกอกก็ออกจากเมืองย่างกุ้งในเดือนมาศตรงกับเดือนสี่”
** อ่านจดหมายเหตุถึงตอนนี้แล้ว เห็นความร้ายกาจของพม่ามากมายเลยนะครับ จดหมายเหตุนี้ยังไม่จบ ขอพักไว้ก่อน พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๒ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, กลอน123, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่าแข็งกร้าวอังกฤษผิดหวัง -
อังกฤษแต่งทูตใหม่ไปพม่า เจรจาความเมืองหมายตะล่อม ให้พม่าไมตรีไม่มีปลอม ทั้งสองพร้อมค้าขายไม่กีดกัน
แต่พม่าแข็งกร้าวไม่เอาด้วย ทูตเห็นป่วยการกล่าวเห็นคับขัน กลับมือเปล่าอีกครั้งอย่างงกงัน ความสัมพันธ์ปีนเกลียวอย่างน่ากลัว |
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯที่นำจดหมายเหตุอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล ซึ่งบันทึกเป็นประวัติศาสตร์พม่ารบกับมอญและไทย เกี่ยวข้องกับอังกฤษมาให้ท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่พม่ายกมาตีสยามได้กรุงศรีอยุธยา แล้วพ่ายแพ้แก่จีนฮ่อ หลังจากไทยตั้งตัว ตั้งกรุงธนบุรี กู้ชาติได้สำเร็จแล้ว พม่ายกทัพมาจะรุกรานอีก แต่ถูกกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีตีแตกพ่ายยับเยินกลับไป ไทยได้เมืองทวายไว้ในปกครอง หลังจากสิ้นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พม่าได้เมืองทวายคืนไป และในช่วงเวลานั้น อังกฤษส่งทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะ เพื่อดำเนินการจัดตั้งกงสุลฯ ตามสัญญา แต่ทูตอังกฤษถูกพม่าเหยียดหยามรังแกนานาประการ ทนรับไม่ได้จึงหลบหนีกลับเมืองเบงคอล เรื่องราวในจดหมายเหตุฉบับนี้จะเป็นอย่างไรอีกบ้าง วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
* “ ครั้นมาถึงเดือนนอแวมเบอร์ ค.ศ. ๑๗๙๘ ตรงกับเดือนสิบสอง ปีมะเมีย สัมฤทธิศก เจ้าเมืองอาระกันซึ่งเป็นพม่าเขียนหนังสือฝากไปถึงเจ้าเมืองเบงคอล ในหนังสือนั้นว่าเป็นคำหยาบช้าหนัก ว่าให้เจ้าเมืองเบงคอลส่งตัวพวก มุก คือโจรที่หนีพม่ามาอาศัยอยู่ในเมืองจิตตะกองนั้น ให้ส่งมาโดยเร็ว เจ้าเมืองเบงคอลชื่อมาควิสเวนแลสลีรู้ความในหนังสือนั้นแล้วก็คิดว่าการอังกฤษกับพม่าก็ยังไม่สำเร็จ จะต้องใช้อังกฤษไปเมืองพม่า จะได้ทำการนั้นสำเร็จ
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๘๐๒ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๖๔ ปีจอ จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๔๕) กัปตันซิม ซึ่งได้เลื่อนที่เป็น ลุดแตนแนน กลับมาแต่เมืองลอนดอน เจ้าเมืองเบงคอลจึ่งให้ไปเมืองอังวะ ว่าด้วยความ ๕ ข้อ
ข้อ ๑ ว่าให้ทูตไปจัดแจงหนังสือสัญญาที่ว่าเป็นไมตรีกันนั้นให้ละเอียดเข้า ข้อ ๒ ว่าให้รักษาการค้าขายอย่าให้พม่าเบียดเบียนได้ ตามที่พม่าเคยทำ ข้อ ๓ ว่าให้ถามเจ้าอังวะดูถึงเรื่องที่เจ้าเมืองอาระกันมีหนังสือไปว่าหยาบช้าต่อเจ้าเมืองเบงคอลนั้น จะรับหรือจะปฏิเสธ แล้วให้บอกเจ้าอังวะให้รู้ว่า การที่จะทำตามกฎหมายบ้านเมืองที่มีธรรมเนียมอันดีอันสูง แลพวกมุกที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น ส่งให้ไปไม่ควร เพราะเจ้าเมืองเบงคอลคิดสงสัยหนังสืออยู่ว่า เป็นหนังสือปลอมมิใช่เจ้าเมืองสั่งให้ทำ จึ่งมิได้ยกกองทัพมารบพม่า ถ้าครั้งนั้นอังกฤษได้ยกมารบพม่าแล้ว ก็จะให้พม่ารู้ตัวว่า อังกฤษอดทนดูถูกดูหมิ่นของพม่า ด้วยอังกฤษไม่มีความผิด ข้อ ๔ ให้ทูตว่ากับเจ้าอังวะขอตั้งเรสิเดนคนหนึ่งไว้ในเมืองอังวะ เพื่อจะให้เจ้าเมืองอังวะทำให้ถูกตามหนังสือสัญญาที่ทำไว้ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก กับให้ตั้งกงสุลคนหนึ่งที่เมืองย่างกุ้ง เพื่อจะได้ตัดสินความแลรักษาการค้าขายของพวกลูกค้าอังกฤษ ข้อ ๕ อังกฤษจะเอาเกาะนิกะเรสอันเป็นของค้างอยู่ก่อนเป็นสิทธิ ถ้าเจ้าอังวะไม่ให้เกาะนิกะเรสก็ต้องยอมให้ให้อังกฤษมีผลประโยชน์อย่างอื่นเท่ากับเกาะนิกะเรส
ครั้นทูตอังกฤษมาถึงเมืองย่างกุ้ง เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ต้อนรับเลี้ยงดู รักษาไว้ด้วยธรรมเนียมอันดี ครั้นเดือนเสบเตมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบ ก็ไปถึงเมืองที่เจ้าอังวะอยู่ แล้วทูตอังกฤษก็ต้องทนทรมานดูถูกดูหมิ่นของพม่าเหมือนกัปตันกอกคนก่อน ทูตคอยจะเฝ้าอยู่หลายวัน ได้ความลำบากหนัก ในเดือนนอแวมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบสอง เจ้าอังวะก็ให้มารับทูตเข้าไปเฝ้า ครั้นมาถึงเดือนดิแซมเบอร์ตรงกับเดือนอ้าย ทูตก็ลากลับไป
แลความที่พม่าตอบหนังสือเจ้าเมืองเบงคอลนั้นใจความว่า ภายหน้าพม่าจะไม่ขอพวกชาวเมืองอาระกันที่เรียกว่ามุก ซึ่งหนีไปอาศัยอยู่ในแดนอังกฤษนั้นต่อไปอีก
อนึ่ง เจ้าอังวะไม่ได้สั่งให้เจ้าเมืองอาระกันซึ่งเป็นพม่า มีหนังสือไปว่ากล่าวหยาบช้าต่อเจ้าเมืองเบงคอล เจ้าอังวะไม่ยอมสารภาพ
อนึ่ง เจ้าอังวะไม่ยอมให้ทำหนังสือสัญญาใหม่ แล้วไม่ยอมให้ตั้งเรสิเดนในเมืองอังวะ แลไม่ยอมทำตามหนังสือสัญญาที่กัปตันกอกทำไว้นั้นด้วย แต่การค้าขายคงอยู่ตามเดิม ตามที่ได้สัญญาไว้ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก กับเจ้าอังวะไม่ยอมให้ที่แผ่นดินแก่อังกฤษทั้งปวงอยู่ในเมืองพม่าต่อไป
ครั้นลุดแตนแนนซิมทูต กลับมาเมืองย่างกุ้งพม่าก็ทำดูถูกดูหมิ่นมาก ทูตก็คิดจะเขียนหนังสือกล่าวโทษเจ้าเมืองย่างกุ้งฝากไปฟ้องแก่เจ้าอังวะ”
** ก็เป็นอันว่าอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล ผิดหวังอีกครั้ง เมื่อทูตที่ส่งเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะทำงานไม่สำเร็จ พระเจ้าอังวะไม่ยอมให้ทำหนังสือสัญญาใหม่ตามที่อังกฤษต้องการ ไม่ยอมให้ตั้งกงสุลในเมืองอังวะ ทั้งไม่ยอมทำตามหนังสือสัญญาที่กัปตันกอกทำไว้ก่อนหน้านั้นด้วย ซ้ำยังไม่ให้ที่แผ่นดินทุกตารางนิ้วในเมืองพม่าแก่อังกฤษอีกต่อไป ส่วนการค้าขายนั้นให้คงอยู่ได้ตามเดิม
ลุตแตนแนนซิม ทูตอังกฤษคนล่าสุด กลับจากการเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะมาอยู่เมืองย่างกุ้ง ทนรับการดูถูกดูหมิ่นจากขุนนางพม่า แล้วเขาจะทำอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านจดหมายเหตุฉบับนี้กันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- อังกฤษเริ่มคุกคามข่มขวัญพม่า -
อังกฤษเริ่มคุกคามพม่ามาก เนื่องมาจากพม่าแสนมากแผนชั่ว ทำโอนอ่อนซ่อนเร้นเห็นแก่ตัว เล่น“ตบหัวลูบหลัง”อย่างชำนาญ
อังกฤษจึงจับพลันกำปั่นพม่า ที่ขายค้าฝรั่งเศสในทุกด้าน ปิดเส้นทางกลางทะเลเป็นปราการ เพื่อต่อต้านศัตรูตนทุกหนทาง |
อภิปราย ขายความ................................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำพระราชพงศาวดารฯ ที่เผยแผ่จดหมายเหตุอังกฤษผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอล ถึงเรื่องราวระหว่างอังกฤษกับพม่า ซึ่งทางอังกฤษพยายามผูกมิตร ขอตั้งกงสุลในพม่า จนแล้วจนรอดก็ยังตั้งไม่ได้ ครั้งล่าสุด เจ้าเมืองเบงคอลมอบหมายให้ ลุดแตนแนซิม เป็นทูตนำหนังสือสัญญาเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะ แต่ก็ถูกปฏิเสธจากพระเจ้าอังวะโดยสิ้นเชิง ทูตอังกฤษต้องถอยไปตั้งหลักที่เมืองย่างกุ้ง ดังความที่ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้วนั้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไรอีกบ้าง วันนี้มาอ่านจดหมายเหตุนั้นกันต่อไปครับ
“ครั้นมาถึงเดือนยันนุวารี ค.ศ.๑๗๐๓ ตรงกับเดือนยี่ จ.ศ. ๑๑๖๕ ปีกุน เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๔๖) ลุดแตนแนซิมทูตก็ออกจากเมืองย่างกุ้งกลับไปเมืองเบงคอล ลุดแตนแนนซิมเข็ดพม่า จะไม่ไปเมืองพม่าต่อไป จึ่งตั้งให้ลุดแตนแนนแกนนึงเป็นทูต ไปอยู่สำหรับเมืองย่างกุ้งแทนตัว
แล้วลุดแตนแนนแกนนึง ซึ่งเป็นทูตแทนตัวลุดแตนแนนซิม ก็ไปเมืองย่างกุ้ง ด้วยการที่จะทำ ๒ ข้อ
ข้อ ๑ ให้พม่ามีช่องมีโอกาสที่จะสารภาพโทษที่พม่าได้ทำผิดไว้กับกับทูตอังกฤษทั้งสองซึ่งมาครั้งก่อนนั้น ข้อ ๒ ให้สืบดูว่า พวกฝรั่งเศสจะชอบพอกลมเกลียวกับพม่าอย่างไรบ้าง แล้วคอยดูกิริยาแลใจของพม่าจะคิดดีคิดร้ายประการใดแก่อังกฤษบ้าง ถ้าได้ความประการใดก็ให้บอกหนังสือไปให้รู้โดยเร็ว
ครั้นลุดแตนแนนแกนนึงมาถึงเมืองย่างกุ้ง เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ต้อนรับด้วยธรรมเนียมอันดี แล้วส่งหนังสือลุดแตนนแนนซิมที่เป็นทูตมาก่อนนั้นให้ไปถึงเจ้าอังวะ จึ่งมีรับสั่งเจ้าอังวะให้เจ้าเมืองย่างกุ้งตอบทูตอังกฤษว่า เจ้าอังวะยอมทำตามหนังสือลุดแตนแนนซิมผู้เป็นทูตซึ่งมาขอนั้นทุกประการ แลการที่จะให้ทูตพม่าไปเมืองเบงคอล อังกฤษปรารถนาจะพึ่งเรา เราก็จะยอมให้พึ่ง
มีความว่า ซึ่งเจ้าอังวะมีใจอารีกว้างขวาง แลเจ้าเมืองย่างกุ้งได้ต้อนรับลุดแตนแนนแกนนึงด้วยธรรมเนียมอันดีนั้น เพราะด้วยสะดุ้งตกใจกลัวแก่พวกไทย ด้วยกองทัพไทยแทบจะถึงกำแพงเมืองอยู่แล้ว
ความว่า ไทยได้ชำนะพม่าแล้วก็ขับไล่พม่าเสียจากเมืองเชียงใหม่ แล้วกองทัพไทยก็กลับมาพักอยู่ริมแม่น้ำสาระอิน (สาละวิน) ฟากข้างตะวันออก แลการที่พม่าต้อนรับลุดแตนแนนแกนนึงด้วยอัชฌาศัยดีนัก หาดีตลอดไม่
ด้วยในเดือนนอแวมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบสอง เจ้าเมืองย่างกุ้งลงมาจากเมืองหลวง ก็สั่งให้เรียกเอาหนังสือฝากของอังกฤษบรรดาที่ได้รับไว้นั้นมาฉีกผนึกออกดูทั้งหมด ลุดแตนแนนแกนนึงเห็นผิดธรรมเนียม ก็ห้ามปรามเจ้าเมืองย่างกุ้ง เจ้าเมืองย่างกุ้งไม่รู้ผิดชอบประการใด ก็หาฟังไม่ ลุดแตนแนนแกนนึงโกรธก็ออกจากเมืองย่างกุ้งไปเมืองเบงคอล
ครั้น ค.ศ. ๑๘๐๘ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๕๑) เจ้าอังวะให้เจ้าเมืองอาระกันแต่งทูตพม่าไปเมืองเบงคอลตามสัญญา
อนึ่ง มีความว่าเกาะที่ขึ้นกับฝรั่งเศสหลายเกาะ อังกฤษยกไปล้อมไว้แล้ว เจ้าเมืองเบงคอลจึ่งให้กัปตันแกนนึงเป็นทูตไปเมืองย่างกุ้งอีก ว่าด้วยการ ๔ อย่าง
ข้อ ๑ ไปบอกให้พม่ารู้ว่าอังกฤษยกไปล้อมเกาะที่ขึ้นกับฝรั่งเศสไว้ กับให้พม่ารู้ในธรรมเนียมที่พม่าควรจะประพฤติ ตามอังกฤษได้ทำไว้กับฝรั่งเศสนั้น ข้อ ๒ ให้ไปพูดจาว่ากล่าวให้พม่าสบายใจ อย่าให้มีความสงสัยแก่อังกฤษ ด้วยอังกฤษยกไปรบฝรั่งเศสอยู่ที่แผ่นดินยุโรปใหญ่โต ฝรั่งเศสจึ่งมาค้าขายที่เมืองมรแมนไม่ได้ แล้วบอกให้พม่ารู้ธรรมเนียมที่อังกฤษจะรบแลล้อมบ้านเมืองนั้นด้วย ข้อ ๓ บอกให้พม่ารู้ว่าอังกฤษจับเอากำปั่นสองเสาที่มีชื่อพม่าได้ลำหนึ่ง ชำระไต่ถามได้ความว่า ของที่บรรทุกมาในลำกำปั่นเป็นของฝรั่งเศส ด้วยธรรมเนียมเป็นศึกกันแล้วต้องจับเรือลูกค้า ข้อ ๔ ให้กัปตันแกนนึงพิทักษ์รักษาสิ่งของแลพวกอังกฤษซึ่งอยู่ในเมืองพม่านั้น แลตรึกตรองระวังกลอุบายแห่งศัตรูด้วย”
** ท่านผู้อ่านที่อ่านมาทั้งหมดนี้ เป็นบันทึกจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอล เกี่ยวกับพม่า ที่ การะฝัดรัสติน เจ้าเมืองสิงคโปร์คัดลอกให้ขุนสิริยภาษา ต้นหนกำปั่นเหราข้ามสมุทร นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีความยึดยาวมาก เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับไทยในบางช่วงบางตอนด้วย จึงนำมาให้อ่านกันโดยไม่รวบรัดตัดตอน เพื่อให้คนไทยได้รู้เบื้องหลังของพม่าอีกด้านหนึ่ง
ตอนที่อ่านจบลงไปนี้ เป็นตอนที่เห็นชัดขึ้นว่าอังกฤษเริ่มรุกพม่าในทางการทูตหนักขึ้น โดยมอบหมายให้ ลุดแตนแนนแกนนึงผู้รับหน้าที่เป็นทูตแทนลุดแตแนซิม ทำเรื่องสำคัญ ๔ ข้อ เป็นการข่มขู่คุกคามพม่ามากขึ้น ข่าวการที่อังกฤษนำแสนยานุภาพทางกองทัพเรือเข้าปิดล้อมเกาะทุกเกาะที่ฝรั่งเศสเข้าไปอยู่นั้น จะให้พม่าเกรงกลัวอังกฤษหรือไม่อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านความในจดหมายเหตุฉบับนี้กันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, ลมหนาว ในสายหมอก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ศึกอาระกันในพม่า -
สงครามอังกฤษพม่าเค้าปรากฏ เมื่อกบฏอาระกันปั่นบาดหมาง อังกฤษรีบแจงไม่เกี่ยวขอเป็นกลาง พม่าหมางระแวงมากแคลงใจ |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ซึ่งได้แปลหนังสือจดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลที่กล่าวถึง เรื่องราวของอังกฤษที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพม่า และมีเรื่องราวของพม่ากับไทยในจดหมายเหตุนั้นด้วย ทุกท่านได้อ่านจดหมายเหตุนั้นมามากแล้วแต่ยังไม่จบ เป็นจดหมายเหตุอีกแง่มุมหนึ่งที่น่ารับรู้นะครับ ใจความเป็นเรื่องที่อังกฤษบันทึกไว้ แต่ถ้อยคำสำนวนเป็นของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ที่เขียนตามคำแปลในสมัยนั้น บางคำอาจจะแปร่งหูไปบ้าง เช่นชื่อคน ชื่อเมือง และชื่อเดือนในภาษาอังกฤษ อย่างเมืองอมรปุระ ก็ออกเสียงว่า อำมะระโปรา เป็นต้น วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
* “กัปตันแกนนึงมาถึงเมืองย่างกุ้งในเดือนออกโตเบอร์ ตรงกับเดือนสิบเอ็ด แล้วได้ไปเฝ้าเจ้าอังวะถึงที่อยู่เจ้าอังวะ ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๗๒ ปีมะเมีย โทศก (พ.ศ.๒๓๕๓) พม่าก็รับเลี้ยงดูด้วยธรรมเนียมอันดี
พวกขุนนางพม่าก็จัดแจงหนังสือตอบให้กัปตันแกนนึงเอาไปให้เจ้าเมืองเบงคอล ในหนังสือนั้นยกตัวเป็นสูงสุด อวดสติปัญญา ว่าเป็นนัย ๆ จะให้อังกฤษคืนเมืองจิตตะกอง เมืองดากา เมืองลุบกิโป เมืองโคสิมปะษา รวม ๔ เมืองให้แก่พม่า
แล้วกัปตันแกนนึงจึงบอกให้เจ้าอังวะรู้อย่างธรรมเนียม ที่อังกฤษจะต้องรบตามกฏหมายอังกฤษ แล้วก็ห้ามเจ้าอังวะว่า กำปั่นทั้งปวงที่อยู่ในเมืองพม่า ถ้ามาขอเบิกล่องจะไปที่เกาะอันขึ้นกับฝรั่งเศสอย่าให้ไปเลย ด้วยอังกฤษกับฝรั่งเศสยังทำศึกกันอยู่ ครั้นกัปตันแกนนึงจัดแจงการสำเร็จแล้ว ก็กลับไปเมืองกะละกะตาในเดือนเมล์ ค.ศ. ๑๘๑๐ ตรงกับเดือนหก จ.ศ. ๑๑๗๒ ปีมะเมีย โทศก
รุ่งขึ้นปีใหม่ ต้นปี ชาวอาระกันคนหนึ่งชื่อเคียนเบียน เป็นใหญ่ในพวกมุก เมื่อครั้งก่อนได้พาพรรคพวกหนีไปอยู่เมืองจิตตะกอง เดี๋ยวนี้คุมสมัครพรรคพวกกลับไปปล้นตีเมืองอาระกัน กับมีพวกมุกอีกเป็นอันมากทั้งชาวเมืองอาระกันที่อยู่ในแว่นแคว้นเมืองอาระกัน ก็พร้อมกันเข้าปล้นชิงเอาหัวเมืองอาระกันได้สิ้น เว้นไว้แต่เมืองหลวงที่พม่าเป็นเจ้าเมืองอยู่นั้น
ครั้งนั้น เจ้าเมืองเบงคอลรู้ว่าเจ้าเมืองอาระกันซึ่งเป็นพม่า สงสัยว่าอังกฤษไปตีเมืองอาระกัน ก็คิดกลัวพม่าจะแก้แค้นทำอันตรายแก่พวกอังกฤษแลสิ่งของ ๆ อังกฤษที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง จึ่งให้กัปตันแกนนึงเป็นทูตไปเมืองพม่าเป็นคำรบสาม แลการที่ทูตจะว่ากล่าวแก่พม่านั้นมี ๓ ข้อ
ข้อ ๑ ให้ชี้แจงแก่เจ้าอังวะแลขุนนางพม่าทั้งปวงหายสงสัยว่า อังกฤษหาได้คบคิดให้ชาวเมืองอาระกันมาตีเมืองอาระกันของพม่าไม่ ข้อ ๒ ให้ชี้แจงแก่เจ้าอังวะให้เห็นการว่า ซึ่งพม่าที่เป็นเจ้าเมืองมอญทำกับพวกอังกฤษแลกำปั่นอังกฤษนั้นไม่ควร แลซึ่งเจ้าเมืองมอญให้เก็บเอากำปั่นลำหนึ่งแล้วถอดกัปตันเสีย แล้วตั้งคนอื่นเป็นกัปตัน ให้บรรทุกทหารพม่าไปเมืองทวาย แล้วมิได้คิดค่าจ้างให้นั้นมิชอบ ข้อ ๓ ให้ชี้แจงให้เจ้าอังวะเข้าใจในข้อความต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งสองฝ่ายนั้น ว่าด้วยอังกฤษจับกำปั่นพม่าไว้ เพราะมีเหตุร้ายต่าง ๆ กับว่าด้วยคนที่ในกำปั่นอีกลำหนึ่งอังกฤษได้จับไว้แล้วทำโทษคนเหล่านั้น ว่าเป็นสลัดฆ่าฟันผู้คน กับว่าด้วยเครื่องสาสตราวุธในกำปั่นสองเสาลำหนึ่ง ที่นายกำปั่นรบจับได้ เมื่อกำปั่นนั้นใช้ใบมาจากเมืองฉลางจะไปเมืองทวายนั้นด้วย
ครั้นกัปตันแกนนึงมาถึงเมืองย่างกุ้ง เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ต้อนรับอัชฌาศัยอันดี กัปตันแกนนึงก็บอกชี้แจงข้อความที่เมืองอาระกันนั้นให้เจ้าเมืองย่างกุ้งฟัง เจ้าเมืองย่างกุ้งมีความชื่นชมยินดี ด้วยว่าอังกฤษไม่ได้เป็นใจด้วยชาวเมืองอาระกัน ให้ไปตีเมืองอาระกัน กัปตันแกนนึงอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง มีรับสั่งเจ้าอังวะให้ไปเฝ้า”
** ท่านผู้อ่านครับ เมืองอาระกันในจดหมายเหตุนี้ คือเมืองยะไข่ในประวัติศาสตร์ไทย อยู่ทางตอนเหนือของพม่า ติดแดนบังกลาเทศ (เบงคอล) ชนชาวเมืองนี้เป็นเชื้อชาติเดียวกันกับพม่า (เมียนมาร์) แต่ชาวพม่ามองชาวยะไข่ว่าเป็นชนชาวบังกลา-อินเดีย ไม่ใช่ชาวพม่า ก็คงจะเหมือน ๆ กับคนไทยภาคกลาง ที่มองคนไทยทางล้านนา อีสาน ว่า ลาว มองชาวภาคใต้หลายเมืองว่า แขก ไม่ใช่ไทย ซึ่งความรู้สึกการแบ่งเชื้อชาติชนดังกล่าว มีอยู่ในชนชาติทุกประเทศชาติเลยก็ว่าได้
เมืองอาระกัน หรือ ยะไข่ เป็นเมืองใหญ่ที่เคยยกทัพลงมาตีเมืองหงสาวดี กวาดทรัพย์สินผู้คนและเผาเมืองไปก่อนหน้าที่สมเด็จพระนเรศวรจะยกทัพไทยไปตีหงสาวดี ภายหลังพระเจ้าปดุงก็ยกทัพไปเหยียบเมืองยะไข่เสียเรียบราบเป็นหน้ากลอง ว่ากันว่านักรบยะไข่มีความเก่งกล้าสามารถมากที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคนี้
เมืองอาระกันอยู่ในสายตาของอังกฤษที่จ้องจะยึดครองต่อจากจิตตะกอง ดังนั้นจึงหนุนหลังพวกกบฏอาระกันอยู่ห่าง ๆ ครั้นพวกมุกชนอีกกลุ่มหนึ่งของอาระกันยกพวกเข้าปล้นเมือง โดยมีชาวเมืองอาระกันอีกหลายกลุ่มร่วมก่อการด้วย อังกฤษก็ร้อนตัวกลัวว่าพม่าจะหาว่าอังกฤษหนุนหลังพวกกบฏ จึงรีบแต่งให้กัปตันแกนนึงเป็นทูตเข้าไปเจรจาชี้แจงแก่พระเจ้าอังวะ ดังความที่ทุกท่านอ่านกันแล้วนั้น
เริ่มมองเห็นเค้าสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าทะมึนขึ้นมาแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, กลอน123, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่ากับอังกฤษรบกันแล้ว -
พม่ารุกอังกฤษที่จิตตะกอง อังกฤษต้องตีรุกบุกยะไข่ ต่างคนต่างรุกรับรบฉับไว สงครามใหญ่ลุกลามเกิดตามมา |
อภิปราย ขยายความ ..............................
เมื่อวันวานนี้ผมนำจดหมายเหตุอังกฤษผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอล จากพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน ยังไม่จบสิ้นกระบวนความ วันนี้มาอ่านต่อกันให้จบไปเลยนะครับ
* “ในเดือนยันนุวารี ค.ศ. ๑๘๑๑ ตรงกับเดือนยี่ จ.ศ. ๑๑๗๓ ปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๔๕) พระยาบริง ชื่อ เพียนยา เป็นเจ้าเมืองอาระกัน กับสมัครพรรคพวก เมื่อแตกพม่าก็พาสมัครพรรคพวกหนีไปอาศัยอยู่ในป่าริมเมืองจิตตะกอง พม่ารู้ก็ยกกองทัพรุกไล่เข้าไปในเขตแดนอังกฤษ แล้วว่าให้อังกฤษส่งตัวพวกเหล่านั้นด้วยคำดุดันว่า ถ้าอังกฤษไม่ส่งตัวพวกอาระกันให้แล้ว กองทัพพม่าได้ตระเตรียมไว้ถึงแปดหมื่นคน จะมาล้อมเมืองรบอังกฤษ ทั้งฝรั่งเศสก็จะมาช่วยพม่ารบด้วย แล้วก็ว่ากล่าวตอบโต้กับอังกฤษ ผู้เป็นตระลาการในเมืองจิตตะกอง แล้วพม่าจึงถอยทัพกลับไป แล้วแม่ทัพพม่าก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ยกกองทัพเข้าไปในเขตแดนอังกฤษ
เพราะเหตุนี้ เจ้าเมืองเบงคอลจึ่งสั่งให้กัปตันแกนนึงไปฟ้องต่อเจ้าอังวะว่า แม่ทัพพม่าทำลายไมตรีเสีย แล้วบังอาจยกกองทัพล่วงเข้ามาเหยียบเขตแดนอังกฤษมิได้บอกให้รู้ แล้วแม่ทัพพม่าที่เป็นเจ้าเมืองอาระกันให้หนังสือมาว่ากล่าวเป็นข้อหยาบช้าต่อเจ้าเมืองเบงคอล บอกให้เจ้าอังวะรู้ว่าการทั้งนี้เป็นเหตุที่เจ้าเมืองเบงคอลจะยกทัพมารบพม่า แต่ทว่าเจ้าเมืองเบงคอลนั้นมีใจรักใคร่ในทางไมตรี จึ่งมิได้ยกกองทัพมา แลการเป็นดังนี้ เดี๋ยวนี้อังกฤษกับพม่าจะพูดจากันต่อไปนั้นไม่ได้ กว่ากองทัพพม่าจะยกกองทัพกลับไปพ้นแดนต่อแดนจึ่งจะพูดจากันต่อไปได้ แลซึ่งอังกฤษตั้งค่ายไว้ที่เมืองจิตตะกองนั้น จะป้องกันรักษาเมืองไว้ดอก ใจเจ้าเมืองเบงคอลนั้น จะใคร่ให้เป็นไมตรีอยู่สุขสบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ทว่าอังกฤษก็ได้จัดตระเตรียมการไว้พร้อมอยู่เป็นนิจ ถ้าผู้ใดทำดูถูกยกทัพรุกล่วงเข้ามาในแดนแล้ว ก็คงจะต้านทานรับไว้ไม่ให้ข้าศึกดูหมิ่นได้ แต่ผู้ใดจะมาพูดจาตามธรรมเนียมโดยสุภาพ อังกฤษก็คงจะยอมตามบ้าง อันการที่จะคืนพวกมุกให้นั้น ถ้ามาสู่ขอว่ากล่าวกันโดยธรรมเนียมอันดี เห็นสมควรแล้วคงจะคืนให้
มีความว่า ข้อความซึ่งพม่ากับอังกฤษจะผิดกันนั้น อังกฤษได้คิดจัดแจงทำไว้พร้อมอยู่แล้ว ทูตอังกฤษจัดแจงเตรียมตัวไว้คอยจะไปเฝ้าเจ้าอังวะ แลมีข่าวบอกมาแต่เมืองเบงคอลในเดือนมาร์ชตรงกับเดือนสี่ว่า กองทัพพม่ายกไปล้อมเมืองจิตตะกองอีกครั้งหนึ่ง เพราะเหตุนี้ กัปตันแกนนึงจึ่งยังมิได้ขึ้นไปเฝ้าเจ้าอังวะ เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ได้ชักชวนด้วยอุบายหลายอย่าง กัปตันแกนนึงก็ไม่ไป เจ้าเมืองย่างกุ้งก็คิดจัดแจงจะให้คนเป็นอันมากช่วยกันฉุดเอาไปให้ได้ แต่ว่ากัปตันแกนนึงกับพรรคพวกหลบหนีขึ้นกำปั่นได้ก่อน เจ้าเมืองย่างกุ้งครั้นคิดเห็นความที่ตัวทำแก่กัปตันแกนนึงนั้น ก็รู้ว่าตัวมีผิดจะแก้ตัวให้พ้นผิด กัปตันแกนนึงลงเรือกำปั่นได้แล้วก็กลับมาแจ้งความแก่เจ้าเมืองเบงคอลต่าง ๆ เจ้าเมืองเบงคอลก็สู้อดทนไว้
อนึ่ง เมื่อทูตอังกฤษไปเฝ้าเจ้าอังวะที่กล่าวมาแล้วว่า พม่าทำดูถูกดูหมิ่นนั้น คือทูตไปถึงเมืองอังวะแล้ว มีขุนนางพม่ามาห้ามว่า เจ้าอังวะไม่อยู่ มีที่เสด็จไปในที่ต่าง ๆ ให้ทูตพักอยู่นอกเมืองก่อน ประมาณเดือนหนึ่งบ้างสองเดือนบ้าง แล้วก็มีขุนนางมาบอกทูตว่า เจ้าอังวะเสด็จกลับมาแล้ว ให้รับทูตเข้าไปในเมือง ทูตต้องทนความลำบากอยู่ช้านาน
ครั้นเข้าไปถึงในเมืองแล้วเดินไปตามทาง ถ้าเห็นยอดปราสาทราชมณเฑียรที่ใดก็ให้ทูตกราบถวายบังคมเสียครั้งหนึ่ง ทูตก็ตอบว่าไม่มีธรรมเนียมที่จะกราบไหว้บ้านเรือนที่อยู่ดั่งนี้ ไม่คำนับ ขุนนางพม่าก็โกรธ ครั้นพาไปถึงเรือนรับแขกเมืองแล้ว ก็ให้ทูตอาศัยอยู่ ไม่มีขุนนางพนักงานมาเยี่ยมเยียนไต่ถามประการใด ทูตต้องทนความดูถูกดูหมิ่นอยู่หลายวัน
ทูตจึงคิดว่า เหตุไรพม่าจึ่งไม่รับเข้าไปในเมืองโดยเร็ว เห็นพม่าจัดแจงตกแต่งบ้านเมืองยังไม่แล้ว จึ่งยังไม่ให้เข้าไป ครั้นเข้าไปในเมืองแล้ว ดูถนนหนทางก็เรียบร้อยหมดจด สองข้างถนนก็มีร้านขายของต่าง ๆ ที่วังแลบ้านขุนนางนั้น ก็ตกแต่งฉาบปูนใหม่ให้สะอาด ทูตจึ่งคะเนการว่า ที่บอกว่าเจ้าอังวะไม่อยู่นั้น คือจัดการบ้านเมืองอวดแขกเมืองเท่านั้น ต้องเอาความเท็จมาบอก
ครั้นเมื่อเวลาทูตจะได้เฝ้า มีขุนนางมาพาไปอยู่ที่ศาลาใหญ่ริมทางที่ขุนนางจะเข้าไปเฝ้า ต้องคอยอยู่หลายชั่วโมง จึ่งเห็นกระบวนแห่ตัวนายขี่ช้าง แลมีคนแต่งตัวสวมเสื้อกำมะหยี เสื้อสักหลาด ถือเครื่องอาวุธแลเครื่องยศ แห่มาข้างหน้าข้างหลังเป็นอันมาก ตามเข้าไปเข้าไปถึงประตูวังก็ถาม บอกว่าอินแซะมหาอุปราช ครั้นสิ้นกระบวนอินแซะแล้ว ก็ถึงกระบวนเจ้าขี่ช้างบ้างขี่ม้าบ้าง มีคนแห่มามาก ๆ กระบวนหนึ่งก็หลายร้อย ครั้นสิ้นเจ้าแล้วถึงขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ตบแต่งไปเหมือน ๆ กัน ทูตได้ถามล่ามไปทุก ๆ กระบวน ล่ามก็บอกว่าเป็นกระบวนเจ้าน้องบ้าง เจ้าลูกบ้าง เจ้าหลานบ้าง ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยบ้าง
ทูตถามว่า เจ้าแลขุนนางมาเฝ้า ตกแต่งมาอย่างนี้ทุกวันฤๅ ฤๅเป็นแต่ตกแต่งออกรับแขกเมืองครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ขุนนางพนักงานให้ล่ามบอกว่าเป็นธรรมเนียมดั่งนี้เสมอทุกวัน ทูตว่าไม่จริง ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน เสื้อแลเครื่องแห่ก็จะเก่าไปบ้าง นี่เป็นของใหม่ทั้งนั้น เห็นจะเย็บในเร็ว ๆ นี้เอง ประการหนึ่ง เอาคนมาไว้มาก ๆ สำหรับทำยศ จะเอาเข้าปลาอะไรมาเลี้ยงได้ทุกวัน ๆ ล่ามตอบว่าคนในเมืองพม่ามากนัก ผลัดเปลี่ยนกันมารับราชการ มันหาของมันกินเอง ทูตถามว่า ผ้ากำมะหยี่ผ้าสักหลาดเอามาทำเสื้อให้บ่าวใส่ พม่าทำได้เองที่นี่ฤๅซื้อมาแต่ไหน ล่ามบอกว่าทำได้ที่เมืองพม่าเอง ทูตว่าพม่าพูดไม่จริง ของนี้มาแต่เมืองอังกฤษ ปีหนึ่งพม่าใช้สิ้นมากน้อยเท่าใด เขาก็รู้บาญชี
พอได้ยินเสียงประโคมขึ้นข้างในวัง แลมีคนมาเชิญทูตเข้าไปเฝ้า ทูตเข้าไปในที่เฝ้าแล้วก็มองไม่เห็นเจ้าอังวะ เห็นแต่ประตูแย้มออกหน่อยหนึ่ง พวกขุนนางก็กราบถวายบังคม แล้วบอกให้ทูตกราบถวายบังคมด้วย ทูตก็ถามว่าเจ้าอังวะอยู่ที่ไหนจะได้คำนับ ขุนนางบอกว่าเสด็จออกอยู่ที่พระทวาร ทูตว่าไม่เห็นตัวเจ้าคำนับไม่ได้ ให้เจ้าออกมาให้ข้าเห็นตัวก่อน จึ่งจะคำนับ
ในเวลานั้นก็เกิดทุ่มเถียงกันไม่ได้เฝ้า พวกทูตก็กลับออกมาเสียอยู่หลายวัน ขุนนางพม่าจึ่งมานัดใหม่ บอกว่าเจ้าอังวะจะออกมาให้เห็นตัว แล้วทูตก็ยอมเข้าไป พม่าก็ตั้งกระบวนแห่ตกแต่งเหมือนเฝ้าครั้งก่อน ครั้นทูตเข้าไปเฝ้าในที่ประชุม เจ้าอังวะก็เสด็จออกมาให้เห็นตัว ทูตจึ่งได้คำนับตามอย่างธรรมเนียมอังกฤษ ทูตแลขึ้นไปเห็นเจ้าอังวะดำนัก คล้ายกับพวกแขกดำ จึ่งนึกว่า เพราะมันดำอย่างนี้ มันอายอยู่จึ่งไม่ออกมาให้เห็นตัวมัน ออกมาให้เห็นตัวก็เพราะอยากได้ของถวาย ครั้นเฝ้าพูดจากันแล้วทูตก็กลับมาที่อยู่ จึ่งคิดว่า พม่านี้เหมือนกับคนป่าไม่รู้จักอะไร จะพูดจาการงานอะไรให้แขงแรงไปก็ไม่ได้ กลัวมันจะทำร้ายต้องเอาใจดีต่อ ทนความลำบากเอาแต่พอได้ราชการบ้างเล็กน้อย”
** จดหมายเหตุอังกฤษโดยเจ้าเมืองเบงคอล ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ จบลงเพียงนี้ จะมีเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯอะไรอีกบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๖ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- อังกฤษยึดครองพม่าได้ทั้งหมด -
อังกฤษค่อยคืบคลานในการรบ เข้าสยบกลืนกินถิ่นพม่า ยึดยะไข่ย่างกุ้งได้ด้วยปัญญา แล้วควานคว้าประเทศไว้ครอบครอง |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้นำจดหมายเหตุชาวอังกฤษผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอล จากพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบ วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กันต่อไปครับ
“ สิ้นความในจดหมายเหตุแต่เท่านี้ แล้วการะฝัดก็เล่าความนอกจดหมายเหตุให้ขุนศิริยภาษาเข้ามากราบเรียนเสนาบดีให้ทราบว่า เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๒๒ ตรงกับเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ อังกฤษกับพม่าเกิดการวิวาทกันขึ้น ทางเหนือเมืองพม่าต่อเขตแดนอังกฤษ เจ้าเมืองมณีปูเสียชีวิตลง พม่าตั้งคนอื่นมาเป็นเจ้าเมืองสืบแทน บุตรเจ้าเมืองมณีปูคนเก่าไม่ได้รับการแต่งตั้งจึงหนีไปอยู่กับอังกฤษที่เมืองจิตตะกอง แล้วขอกองทัพจากอังกฤษยกไปตีเอาเมืองคืน ได้รบกันกับเจ้าเมืองมณีปูคนใหม่ กองทัพอังกฤษแตก ทหารอังกฤษตายหลายคน พม่าจึงมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองจิตตะกองให้ส่งบุตรเจ้าเมืองมณีปูคนเก่าคืนไป เจ้าเมืองจิตตะกองไม่ยอมให้
เจ้าเมืองระแคงที่เรียกว่ายะไข่ กับเจ้าเมืองมณีปูจึงยกทัพไปตั้งอยู่เมืองอาซำและแม่น้ำเมืองศรีลัด ทางใกล้กับเมืองจิตตะกองประมาณวันหนึ่ง เจ้าเมืองจิตตะกองเกณฑ์กองทัพอังกฤษประมาณ ๒,๐๐๐ ยกไปตีทัพเมืองยะไข่ เมืองยะไข่แตกไปจากเมืองอาซำ โดยเสียกำลังพลตายในการรบประมาณ ๕๐๐ เศษ
พม่าจึงเกณฑ์กองทัพหลายหัวเมืองยกขึ้นไปทางบกตามลำน้ำศรีลัดถึงเมืองดากาของอังกฤษ แล้วข้ามน้ำไปตั้งค่ายฟากเมืองดากาทางประมาณครึ่งวัน เจ้าเมืองดากาให้คนออกไปนัดกองทัพพม่าว่าอีกสองวันจะยกออกไปรบกับพม่า
พม่าได้รับฟังคำบอกนัดรบดังนั้น จึงขุดสนามเพลาะไว้ห้าค่ายยาวประมาณ ๕๐ เส้น แล้วพากันลงไปซุ่มอยู่ในสนามเพลาะนั้น อังกฤษไม่รู้กลพม่า เมื่อยกไปถึงสนามเพลาะโดยไม่ระแวงระวัง พม่าจึงขึ้นจากสนามเพลาะและระดมยิงกองทัพอังกฤษแตก ทหารทั้งนายและไพร่ของอังกฤษตายลงเป็นอันมาก เจ้าเมืองดากาเกณฑ์กำลังพลเพิ่มเติมเข้ามาอีกก็ไม่ทันการณ์
ยามนั้นพม่าก็พากันลอบเข้าไปเผาบ้านนอกกำแพงเมืองดากา กองทัพอังกฤษประสบความพ่ายแพ้แล้วก็พากันยกกลับไป แล้วเจ้าเมืองจิตตะกอง เจ้าเมืองดากาก็มีหนังสือบอกมายังเจ้าเมืองเบงคอล
เจ้าเมืองเบงคอลจึงมีหนังสือให้คนถือขึ้นไปถึงเจ้าเมืองอังวะ หนังสือนั้นมีความว่า “เจ้าเมืองยะไข่ เจ้าเมืองมณีปู ยกกองทัพลงมารบหัวเมืองขึ้นกับเมืองเบงคอลนั้น เจ้าอังวะให้เกณฑ์กองทัพลงมารบฤๅ ฤๅเป็นแต่เจ้าเมืองยะไข่ เจ้าเมืองมณีปูเณฑ์ทัพมารบเอง”
ผู้ถือหนังสือขึ้นไปถึงเจ้าเมืองอังวะยังมิทันกลับลงมา เจ้าเมืองเบงคอลก็ให้เกณฑ์กองทัพเมืองเบงคอลและเมืองมัทราชไว้ ด้วยคิดว่าถ้าพม่าตอบหนังสือมาประการใด จะให้กองทัพอังกฤษยกไปตีเขตแดนพม่าให้รบต่อเนื่องมิให้หยุดจนกว่าจะได้เมืองอังวะ การให้ยกกองทัพไปตีครั้งนี้ จะปรารถนาเอาบ้านเมืองก็หามิได้ แต่จะทำให้เข็ดหลาบ พม่าจะมิได้ฉ้อลูกค้าวานิชนานาประเทศต่อไป”
* * ท่านผู้อ่านครับ จดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลที่บันทึกเรื่องราวความขัดแย้งกับอังกฤษ และข่าวการรบระหว่างอังกฤษกับพม่าที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้มา ก็มีเพียงแค่อังกฤษเกณฑ์กองทัพใหญ่เข้าตีพม่ามีเป้าหมายเพื่อจะยึดเมืองอังวะให้ได้ โดยอังกฤษบอกว่าไม่ปรารถนาจะเอาบ้านเมือง แต่ต้องการจะทำให้พม่าเข็ดหลาบ ไม่ข่มเหงรังแกลูกค้าวานิชและนานาประเทศเท่านั้น จดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลดังกล่าว บอกให้เรารู้ถึงนิสัยใจคอของคนชาวพม่ากับคนชาวอังกฤษว่าเแตกต่างกันอย่างไร
คนอังกฤษแสดงภาพความเป็นผู้ดีให้เป็นที่ประจักษ์ ส่วนคนพม่าก็แสดงภาพความเป็นไพร่ผู้ร้ายให้ประจักษ์ตามความในจดหมายเหตุดังกล่าว ความสัมพันธ์ของอังกฤษกับพม่าไม่ราบรื่น เพราะอังกฤษหวังผลประโยชน์จากพม่า ฝ่ายพม่าก็ไม่มีความจริงใจต่ออังกฤษ ผลสุดท้ายก็เกิดการรบกันขึ้นและแล้วอังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ในที่สุด ก่อนที่อังกฤษจะเข้ายึดครองพม่าได้นั้น เริ่มมีการรบกันขึ้นทางทางตอนเหนือของพม่า กล่าวคือ
ปีพ.ศ. ๓๒๗-๘ อังกฤษรบชนะยะไข่หรืออาระกันแล้วยึดครองไว้ได้ทั้งหมด ปี พ.ศ.๒๓๗๖ อังกฤษยกกองเรือเข้ายึดครองย่างกุ้งไว้ได้ ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง อังกฤษปิดหูปิดตาพม่า ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ปี พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นยุคมืดของพม่า เมื่อพระเจ้าธีบอโอรสพระเจ้ามินดงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดาที่สวรรคต ว่ากันว่ากษัตริย์พระองค์นี้ของพม่ามัวเมาในสุรานารี(เหมือนใครหนอ) ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ อังกฤษยึดครองพม่าหมดสิ้นเชิง ประเทศพม่ากลายเป็นอาณานิคมในเครือจักรภพอังกฤษในที่สุด.
เรื่องของพม่ากับอังฤกษ มีรายละเอียดมากมาย จนไม่อาจนำมากล่าวในที่นี้ได้หมดสิ้น จึงขอพักไว้เพียงแค่นี้ พรุ่งนี้จะให้ทุกท่านได้อ่านเรื่องของไทยจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๗ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขุนนางใหญ่เกิดทะเลาะกัน -
ไร้ข้าศึกติดพันจัดงานพระศพ พระน้องนางอย่างครบเครื่องทั้งผอง การสมโภชสี่คืนครื้นทำนอง ละครร้องและรำตามนิยม
ดอกไม้เพลิงเริงโรจน์โชติช่วงเสร็จ พระเสด็จกลับวังอย่างสุขสม เสนาบดีที่กลับการรับชม เกิดการข่มขู่เคาะเบาะแว้งกัน |
อภิปราย ขยายความ.................................
เมื่อวันวานนี้ได้นำจดหมายเหตุอังกฤษที่บันทึกเรื่องราวของอังกฤษกับพม่า ที่ขัดแย้งกันก่อนที่อังกฤษจะยึดครองประเทศพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จบความในจดหมายเหตุไปแล้ว วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กันต่อไปครับ
* “ ล่วงมาถึงปี จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก (พ.ศ. ๒๓๖๗) อันเป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเดือน ๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งกองอาทมาตออกไปสืบราชการที่เมืองพม่า กองอาทมาตกลับมาแจ้งความว่า พม่ากับอังกฤษได้รบกันเข้าแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า การศึกนี้ก็ใหญ่อยู่ ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จะต้องให้มีกองทัพไปตั้งขัดตาทัพฟังราชการอยู่”
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มิได้ให้รายละเอียดว่า โปรดให้ใครผู้ใดเป็นแม่ทัพยกกองทัพไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ใด หรือไม่อย่างไร ความเรื่องนี้จึงหายไป แต่ข้ามเรื่องไปกล่าวถึงเหตุการณ์ในสยามประเทศไปว่า
“ในเดือนห้านั้น เกิดธุมเพลิงขึ้นทางทิศอีสาน ท้องฟ้าดูประหนึ่งเพลิงไหม้ ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาทุ่มเศษ เห็นดาวพฤหัสบดีเข้าในวงพระจันทร์”
การเกิดธุมเพลิง และดาวพฤหัสบดีเข้าในวงจันทร์นั้น นัยว่าเป็นลางไม่ดี แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็มิได้บอกว่ามีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง”
ท่านผู้อ่านคงยังจำได้นะครับว่า เมื่อเดือน ๙ ปีมะแม เบญจศก นั้น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพยวะดี ประชวรจนถึงสิ้นพระชนม์ แล้วยังมิได้จัดการพระศพ ล่วงมาได้ ๑ ปี คือ จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้กล่าวถึงเรื่องไว้ว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพนักงานทำพระเมรุสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพยวะดี ครั้นพระเมรุเสร็จแล้ว ในเดือนหกขึ้นสิบค่ำ ได้ชักพระศพออกสู่พระเมรุ ได้มีการมหรสพสี่วันสี่คืน ถวายไตรปริขารแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมสงฆ์อันดับเป็นอันมาก
ครั้น ณ วันเดือนหกขึ้นสิบสามค่ำ ก็ได้พระราชทานเพลิง แลเมื่อทำการพระศพนั้น เจ้าพระยามหาเสนา บุญสังข์ กับเจ้าพระยาอภัยภูธร เกิดวิวาทกันขึ้น ด้วยเจ้าพระยามหาเสนาพาภรรยาน้อยไปดูงานที่พลับพลามวย ครั้นเวลาค่ำ เลิกดอกไม้แล้วเสด็จกลับเข้าพระราชวัง เจ้านายแลขุนนางก็พากันกลับ เจ้าพระยามหาเสนาก็พาภรรยาน้อยตามหลังแคร่มา แล้วจึ่งถึงทนายถือเครื่องยศตามหลังหม่อม หม่อมมาถึงมุมวังกรมหมื่นเทพพลภักดี จะเข้าประตูวิเศษไชยศรี มาออกประตูรัตนพิศาล มาลงเรือที่ท่า ขุนนางที่ประตูวิเศษไชยศรีนั้นคั่งกันอยู่ แคร่เจ้าพระยามหาเสนาจะเข้าไปยังไม่ได้ พอแคร่เจ้าพระยาอภัยภูธรตามมาข้างหลังก็บุกรุกเข้าไป พวกทนายห้ามก็ไม่ฟัง เกิดตีกันขึ้น พวกทนายเจ้าพระยามหาเสนาแย่งเอากระบี่เครื่องยศฝักทองของเจ้าพระยาอภัยภูธรไว้ได้ แต่พวกภรรยาน้อยเจ้าพระยามหาเสนานั้นยับเยินเต็มที ครั้นรวบรวมกันเข้าได้แล้วก็พากันไปลงเรือ
ฝ่ายบุตรหลานเจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นเจ้ากรมปลัด กรมพระตำรวจ อยู่หลายนาย ครั้นส่งเสด็จขึ้นพระมหามนเฑียรแล้ว ก็พากันกลับออกมาพบเจ้าพระยาอภัยภูธรที่จะเลี้ยวไปหน้าศาลาลูกขุน เจ้าพระยาอภัยภูธรก็เล่าความซึ่งเกิดวิวาทนั้นให้ฟัง พวกบุตรหลานญาติพี่น้องเจ้าพระยาอภัยภูธรแจ้งดั่งนั้น ก็พากันวิ่งตามเจ้าพระยามหาเสนาลงมาทันที่ท่าเรือ ก็แย่งชิงเอากระบี่คืนไปได้ เวลานั้นก็ได้วิวาทกันอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยามหาเสนาก็ลงเรือข้ามไปบ้าน เจ้าพระยาอภัยภูธร บุตรหลานก็พากันข้ามไปบ้าน
ครั้นงานพระศพแล้ว เจ้าพระยามหาเสนาก็กราบบังคมทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูธร จึ่งโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ เป็นตระลาการชำระ การที่ตระลาการชำระนั้นก็เป็นล้อเจ้าพระยามหาเสนาเล่น ด้วยท่านทำผิดทำเนียม หลงไปด้วยมาตุคาม ความยังไม่ทันแล้วก็บังเกิดช้างเผือกล้ม แลสิ้นแผ่นดิน ต้องด้วยคำโบราณว่า ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่วิวาทกันเป็นอุบาทว์ มักเกิดเหตุใหญ่ต่าง ๆ”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผลการชำระคดีที่เจ้าพระยามหาเสนากับเจ้าพระยาอภัยภูธรวิวาทกันนั้น ยังมิทันได้ตัดสินคดีก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่า “ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่วิวาทกันเป็นอุบาทว์” เป็นเรื่องที่โบราณท่านถือกันมาก ประเทศใดที่เสนาบดีผู้ใหญ่ แม่ทัพนายกองเกิดการวิวาทกันแล้ว ประเทศนั้นย่อมหาความสงบสุขมิได้”
* * ขุนนางไทยสมัยโบราณดูเหมือนจะไม่มีใครเลยที่จะไม่มีอนุภรรยา เพราะการมีอนุภรรยาถือว่าเป็นบุญญาบารมีอย่างหนึ่ง อนุภรรยาเรียกรวมเป็นทรัพย์ว่า “ทรัพย์ศฤงคารบริวารยศ” ท่านเจ้าพระยามหาเสนา บุญสังข์ ผู้นี้ นัยว่ามีอนุภรรยามากกว่าขุนนางคนอื่น ๆ และท่านเอาอกเอาใจอนุภรรยามากเกินงาม จนเป็นที่สนุกปากในการพูดคุยถึงท่านของบรรดาขุนนางในราชสำนักนี้
เหตุเกิดการวิวาทกันกับเจ้าพระยาอภัยภูธร ก็เพราะท่านเอาใจอนุภรรยาที่อยากชมงาน จึงพาขึ้นแคร่ไปด้วยหลายนาง เวลาเดินทางจึงดูเป็นขบวนใหญ่กว่าเสนาบดีคนอื่น ๆ น่าจะเป็นที่หมั่นไส้ของใคร ๆ พอสมควร จึงเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น
เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯ จะมีอย่างไรอีกบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จออกผนวช -
กาลภายหลังช้างเผือกสองเชือกล้ม ทรงเห็นสมควรปลูกพระลูกขวัญ ผนวชตามประเพณีที่สำคัญ โดยลดขั้นตอนย่องามพอดี
เป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ บริสุทธิ์ศักดิ์ศีลศิษย์ชินสีห์ สังฆมณฑลไทยเสื่อมหลายปี เจ้าองค์นี้ปรับปรุงให้รุ่งเรือง |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านอ่านกัน ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้จัดงานพระศพพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพยะวดี มีการมหรสพสมโภชตลอดงาน ในการนี้เจ้าพระยามหาเสนา บุญสังข์ กับ เจ้าพระยาอภัยภูธร เกิดวิวาทกัน ดังที่ท่านได้อ่านไปแล้วนั้น วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับเดิมกันต่อไปครับ
ท่านผู้อ่านคงยังจำความที่ผมได้นำมาให้อ่านไปแล้วได้นะครับว่า ในปีจุลศักราช ๑๑๘๕ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๖๖ นั้น การะฝัดเจ้าเมืองสิงคโปร์ยึดราชสาส์นของพระเจ้าอังวะ ที่มีไปถึงพระเจ้าเวียดนามได้ที่เกาะหมาก แล้วส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความในราชสาส์นพระเจ้าอังวะนั้น ชักชวนให้พระเจ้าเวียดนามร่วมกับพม่ารบไทย แล้วเรื่องก็เงียบหายไป ตกมาถึงปีนี้ คือ ปี พ.ศ. ๒๓๖๗ อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระทิพากรวงศ์ได้นำเรื่องนี้กลับมากล่าวถึงอีกว่า
“ในเดือนหกนั้น เจ้าเมืองไซ่ง่อนแต่งให้ญวนถือหนังสือเลโบเสนาบดีเข้ามาส่งฉบับหนึ่ง ได้แปลหนังสือเลโบเมื่อวันเดือนหกแรมสิบสองค่ำใจความว่า เมื่อ ณ ปีมะแม เบญจศก มีพม่าถือราชสาส์นแลคุมเครื่องบรรณาการมาถึงเมืองไซ่ง่อน นายไพร่ ๔๗ นาย แจ้งว่า เรือที่ขี่มาแต่เมืองพม่าไฟไหม้เสียที่เกาะหมาก ต้องจ้างกำปั่นอังกฤษมาส่ง ในราชสาสนพม่าว่าหยาบคายเป็นอันมาก ตัดเอาแต่ใจความออกมากราบทูลเจ้าเวียดนาม ว่าครั้งพระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง ได้จัดให้ทูตมาหลายครั้งแล้วหาถึงไม่ ครั้งนี้ได้ยินว่าพระเจ้ากรุงเวียดนามขึ้นครองราชสมบัติใหม่ เมืองพม่ายินดีหาที่สุดมิได้ จึ่งขุนนางใหญ่ให้เชิญราชสาสนมาขอให้กรุงเวียดนามตัดทางไมตรี เมืองพม่าจะได้ทำศึกกับกรุงมหานครศรีอยุธยา แล้วมีรับสั่งเจ้าเวียดนามว่า จะคบค้าด้วยพม่าก็จะเสียทางไมตรีกับกรุงไป จึ่งมิให้ทูตขึ้นไปเฝ้าให้กลับไปเสีย แล้วทูตพม่าอ้อนวอนให้รับเครื่องบรรณาการไว้ ขุนนางญวนพร้อมกันรับแหวนทับทิมไว้วงหนึ่ง แลของทั้งปวงนั้นคืนให้ทูตไปสิ้น ณ เดือนสามปีมะแมเบญจศก จึ่งมีรับสั่งให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดเรือพระราชทานให้ทูตพม่ากลับไป แลจัดอีแปะเสบียงอาหารพร้อมจ่ายให้ทูตกลับไปเมืองพม่าแล้ว พระเจ้ากรุงเวียดนามเห็นแก่ทางพระราชไมตรีจึ่งให้บอกข้อความเข้ามาให้แจ้ง ราชสาสนพม่าหาได้ส่งมาไม่”
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่าในปีเดียวกันนั้น ในเดือน ๗ ช้างเผือกคู่พระบารมี ๒ ช้างคือ พระยาเศวตอัยรากับพระยาเสวตคชลักษณ์ เจ็บจนไม่จับหญ้าน้ำ ถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ พระยาเสวตอัยราล้มลง ต่อมาวันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ พระยาเสวตคชลักษณ์ก็ล้มตามไปด้วย
ต่อมาถึงเดือน ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสต่อพระราชวงศานุวงศ์ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงศ์มีพระชนม์ควรจะอุปสมบทแล้ว แต่เป็นคราวเคราะห์ร้าย ช้างสำคัญของสีบ้านสีเมืองเป็นเหตุลงอย่างนี้ ให้จัดการโดยควร อย่าให้เสียปีเสียเดือนเลย”
ครั้นมาถึง ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพนักงานสมโภชเวียนเทียน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
รุ่งขึ้น ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ เสด็จทรงพระเสลี่ยงตามธรรมเนียม ได้ตั้งกระบวนแห่ออกประตูวิเศษไชยศรี มีกระบวนช้าง กระบวนม้า พลเดินเท้า ถือธนูเกาทัณฑ์ สรรพาวุธทุกภาษา มีเครื่องสูงชุมสายพัดโบก จามรทานตะวัน บังแทรกบังสูรย์ กลองชนะ แตร สังข์ ประโคมมาหน้าพระที่นั่ง พร้อมพรั่งด้วยกระบวนหลังแลกระบวนหน้า เลี้ยวเข้าประตูสวัสดิโสภามาประทับหน้าเกยมาศ เสด็จยุรยาตรขึ้นเกยหน้าพลับพลาเปลื้องเครื่อง เสด็จโดยพระราชยานจนถึงอัฒจันทร์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงโปรยเงินเสร็จเสด็จมาสู่พลับพลาเปลื้องเครื่องต้นแล้วสรงอุทกธารา ทรงพระภูษาจีบเขียนทอง ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง รัดพระองค์ธำมรงค์เพชร เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชาคณะเป็นอันดับ ครั้นอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลสมเด็จพระพรรษา พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในก็ได้ถวายเครื่องบริขารแลไตรจีวรเป็นอันมาก
ครั้นเสร็จการผนวชแล้วก็ประทับอยู่ในพระอุโบสถ เวลาบ่ายพระสงฆ์ราชาคณะได้สวดพระพุทธมนต์ ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระสงฆ์ฉันเป็นการฉลองเสร็จแล้ว เสด็จไปสถิตอยู่วัดมหาธาตุในวันนั้น”
** ท่านผู้อ่านครับ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงษ์ ทรงผนวชแล้วไม่นานก็สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์มิได้ลาผนวชออกมาขึ้นครองราชย์ หากแต่ทรงอยู่ในสมณะเพศเป็นเวลานาน และพระองค์ทรงมีบทบาททางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่สำคัญประการหนึ่งคือ ทรงทำทัฬหีกรรม คือการบวชซ้ำในสงฆ์นิกายรามัญ และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายขึ้นมา สงฆ์นิกายนี้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่ในวงการคณะสงฆ์ไทย ซึ่งเรื่องราวของพระองค์จะได้นำมาแสดงกันให้ทราบเมื่อถึงเวลาอันควร
เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับนี้ยังไม่หมดสิ้นกระแสความ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒) - รัชกาลที่ ๒ สวรรคต -
รัชกาลที่สองทรงครองราชย์ เป็นหลักชาติสืบสร้างอย่างต่อเนื่อง สิบหกปีที่สยามงามประเทือง มวลชาวเมืองสุขใจไร้สงคราม
เป็นยุคทองวรรณกรรมศิลป์ล้ำเลิศ ละครเกิดฟูเฟื่องกระเดื่องสยาม กวีรัตน์ปรากฏงอกงดงาม สมพระนาม“เลิศหล้านภารลัย” |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ โดยเก็บความมาบอกเล่าถึงตอนที่ พระเจ้ามินมางแห่งเวียดนามส่งทูตและหนังสือเลโบเสนาบดีญวนมากราบทูลถึงเรื่องที่พระเจ้าจักกายแมงแห่งอังวะมีหนังสือไปชักชวนให้เวียดนามประทุษร้ายประเทศไทย เป็นพระราชสาสนพม่าข้อความเดียวกันกับที่การะฝัด หรือครอว์ฟอร์ด เคยส่งมาถวายครั้งก่อน จากนั้นก็เป็นเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทรงผนวช วันนี้มาดูความในตอนท้ายพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าจะจบลงอย่างไร เจ้าพระยาทิพากรวงศ์สรุปในตอนสุดท้ายพงศาดารฉบับของท่านว่า......
“แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่มีการรณรงค์สงครามสิ่งไร เวลาเช้าเสด็จออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์ แล้วว่าราชการแผ่นดินเหมือนอย่างแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เวลาบ่ายห้าโมงเสด็จออกฟังรายงานบ้าง ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บ้าง อีเหนาบ้าง แล้วก็ทรงธรรม ครั้นจบธรรมเทศนาแล้ว พระสงฆ์ถวายพระพรลา แล้วเสด็จออกประทับที่พระที่นั่งสนามจัณฑ์ เจ้านายแลขุนนางเข้าเฝ้าทุกเวลาว่าราชการบ้างเล็กน้อย พอย่ำยามก็เสด็จขึ้นทอดพระเนตรละคร
แลความฎีกานั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ไปร้องที่ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นผู้รับฎีกาของราษฎร ท่านได้ว่ากรมพระตำรวจด้วย ก็แจกให้เจ้ากรมปลัดกรมตำรวจชำระทุก ๆ กรม เอาพระทัยใส่ความก็แล้วไปไม่ได้สะสมอยู่ แลการภาษีอากรก็ยังไม่มีมาก มีอยู่ก็แต่อากรสวน ค่าน้ำ เตาสุรา บ่อนเบี้ย สมพักศร (สมพัตสร=อากรที่เก็บจากผลของไม้ยืนต้นเป็นรายปี) ขนอนตลาด (=ที่เก็บเงินค่าสิ่งของหรือสินค้าผ่านตลาดเข้าหลวง) ภาษีสินค้าขาออก นอกจากนั้นก็ไม่มีสิ่งไรทรงทะนุบำรุงพระนครด้วยการแต่งสำเภาไปค้าขาย ได้เงินมาใช้สอยราชการแผ่นดินบ้างก็ไม่พอใช้จ่ายเบี้ยหวัด ลางปีก็ได้เต็ม ลางปีก็สามส่วน ลดส่วนหนึ่งบ้าง ลางปีก็ลดกึ่งบ้าง ลางปีก็เติมผ้าลายให้บ้าง
ในครั้งนั้นมีเรือกำปั่นหลวงสองลำ ชื่อมาลาพระนครหนึ่ง ชื่อเหราข้ามสมุทรหนึ่ง ก็แต่งไปค้าขายเมืองเบงคอล แลเมืองเกาะหมาก สิงคโปร์ เมืองมาเกาบ้าง โปรดให้ช่างกระทำเรือกิ่ง เรือเอกชัย เรือประกอบ เรือกราบ
ครั้งนั้นพระยาไชยาถวายมาดเข้ามาลำหนึ่ง ยาวสิบเจ็ดวาสามศอกคืบ กำลังห้าศอกคืบแปดนิ้ว ทรงเห็นว่าเป็นมาดยาวใหญ่ แต่ก่อนยังไม่เคยมี ให้เหลาเป็นพระที่นั่งกราบมาดนั้นงอนข้างท้ายไม่ต้องใช้ไม้ทับติดแต่ไม้โขน เหลาขึ้นแล้วประทานชื่อพระที่นั่งประจำทวีป แลช้างเผือกเอกสามเล็บครบกระเนียมหกช้าง ได้มรดกพระเทพกุญชรเผือกหนึ่ง พระบรมฉัททันต์ทองแดงหนึ่ง เป็นพระราชพาหนะช้างต้น ม้าต้น ม้าเทศ ม้าไทย ขึ้นระวางตามชื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสที่ใดตำบลใด ได้เสด็จพระราชดำเนินไปก็แต่พระราชทานผ้าไตรพระกฐินเท่านั้น ในแผ่นดินนั้นเจ้าแลขุนนางแต่งข้าไปเที่ยวซ่องสุมผู้คนอยู่ในป่า สำหรับหาของป่าต่าง ๆ มาส่งส่วย ทาสลูกหนี้ผู้ใดหนีเข้าซ่องแล้วก็เอาตัวไม่ได้ เพราะนายซ่องมีเจ้านายมีอำนาจแข็งแรง
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรงราชสมบัติมาตั้งแต่ปีมะเส็ง เอกศก มาถึงวันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีวอก ฉศก ทรงพระประชวรให้มึนพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจรไนเพชรข้างที่ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วก็ให้ร้อนเป็นกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอย ให้เซื่องซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสั่งสิ่งไรมาจนถึงวันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาท เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ พรรษา พระองค์ประสูติวันพุธ เดือนสี่ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีกุน นพศก ศักราช ๑๑๒๙ ปี พระชนม์ได้ ๕๘ พรรษา คิดอายุโหราได้ ๕๖ ปี ๔ เดือน ๑๙ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสแลพระราชธิดา สมเด็จเจ้าฟ้าแลเจ้าฟ้า พระเจ้าลูกยาเธอแลพระเจ้าลูกเธอ ฝ่ายหน้าฝ่ายใน พระราชบุตร ๔๐ พระราชบุตรี ๓๓ รวม ๗๓ พระองค์”
ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จบเพียงแค่นี้ ในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ ในเอกสารของครอว์ฟอร์ด (การะฝัด) ได้เขียนจดหมายถึง เจ สวินตัน วันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๒๔ แจ้งเรื่องพระเจ้ากรุงสยามสวรรคต และผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ ซึ่งก็ปรากฏความในฉบับพิมพ์ดีดของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ในเรื่องเดียวกันนั้นว่าไว้ดังนี้
“พระวงศานุวงศ์เสนาบดีพร้อมกันเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นราชโอรสผู้ใหญ่ขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน เสด็จประทับอยู่ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ฝ่ายพระเฉลียงด้านตะวันออก ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสด็จเข้าไปสรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพ เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระโกศลองเงิน แล้วตำรวจแห่ออกมาทางประตูสนามราชกิจ เชิญพระโกศขึ้นพระยานณุมาศสามคาน ประกอบด้วย พระโกศทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน ตั้งกระบวนแห่ไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขข้างประจิมทิศ ประดับด้วยเครื่องสูงมีพระมหาเศวตรฉัตรครบเครื่องบูชา เฉลิมพระเกียรติยศตามราชประเพณีบรมศพพระมหากษัตริย์ ครั้นเวลาเช้าเย็นก็เสด็จไปจุดธูปเทียนเครื่องสักการบูชา กราบถวายบังคมบรมศพ ถวายไทยธรรมอังคาสแก่พระสงฆ์ มีพระธรรมเทศนา แลสดัปกรณ์ บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิตย์มิได้ขาด”
 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)) ** ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จบลงแต่เพียงว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เมื่อเสวยรราชสมบัติได้ ๑๖ พรรษา ด้วยพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา มีพระราชบุตร ๔๐ พระราชบุตรี ๓๓ รวม ๗๓ พระองค์ บรมวงศานุวงศ์เสนาบดีพร้อมกันเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ราชโอรสผู้ใหญ่ขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน
แต่เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัยนอกจากพระราชพงศาวดารนี้ ยังมีให้กล่าวถึงอีกหลายประการ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๐ กันยายน ๒๕๖๓ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สรุปพระราชประวัติ ร.๒ -
พระเลิศหล้าเลิศลักษณ์อนรรฆค่า ทรงปัญญาคุณเด่นไม่เร้นหาย ปราชญ์กวีบรมสมชาติชาย เกินบรรยายปัญญาสาธุการ |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเจพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ จบลงโดยที่เรื่องราวในรัชกาลของพระองค์ยังมิได้กล่าวถึงอีกมาก ดังนั้นผมจึงใคร่ขอนำเรื่องราวในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๒ จากเอกสารต่าง ๆ มากล่าวเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะค้นหามาได้เพื่อให้เรื่องในรัชกาลนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนะครับ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นทั้งนักรบ นักปราชญ์ นักกวี นักดนตรี ในรัชสมัยของพระองค์มีนักกวีคนสำคัญในระดับรัตนกวีอยู่หลายท่าน เช่น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ขุนสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) พระยาตรัง นายนรินทร์ธิเบศ (อิน) เป็นต้น ยุคสมัยของพระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ยุคทองแห่งวรรณคดี” เลยทีเดียว ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มิได้กล่าวถึงพระราชประวัติในพระองค์ตั้งแต่ต้นไว้ ดังนั้นในที่นี้จึงใคร่ขอย้อนกลับไปดูพระราชประวัติของพระองค์โดยสรุปดังต่อไปนี้
“พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามเดิมว่า ฉิม ทรงกำเนิดขึ้นในแผ่นดินสยามก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า โดยประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ ณ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา บิดามียศตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ทรงลืมตาดูโลกได้เพียงเดือนเศษ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ พุทธศักราช ๒๓๑๐
ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้ชาติได้แล้วตั้งกรุงธนบุรีขึ้น บิดาได้เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงพาบุตรภรรยาเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี ขณะนั้น เด็กชายฉิมมีอายุได้ ๒ ขวบปี เมื่อเจริญวัยแล้วได้เข้าเล่าเรียนอักษรสมัยในสำนักพระวันรัตน (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม)
ลุถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก บิดาได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา ได้ทรงออกราชการสงครามรบทัพจับศึกร่วมกับพระราชบิดามาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ จนได้ดำรงตำแหน่งยกกระบัตรทัพในคราวที่สยามกรีธาทัพไปตีเมืองทวาย
ต่อเมื่อพระชนม์ได้ ๔๐ พรรษา จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช สืบต่อจาก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น ทรงอภิเศกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (เจ้าฟ้าแก้ว) ซึ่งต่อคือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา พระบรมราชินี มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ (ไม่มีพระราชธิดา) คือ
เจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงศ์ (ร. ๔) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี (สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)
และ กับ สมเด็จพระศรีสุลาลัย มีพระราชโอรส พระราชธิดา รวม ๓ พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าชายทับ ( ร.๓) พระองค์เจ้าหญิงป้อม สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์ พระองค์เจ้าชายดำ สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์ เช่นกัน
นอกจากมีสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี และ สมเด็จพระศรีสุลาลัย แล้ว พระองค์ยังมีเจ้าจอมมารดาอีก ๓๕ พระองค์ คือ.........
เจ้าจอมมารดาสี, เจ้าจอมมารดาสวน, เจ้าจอมมารดาแจ่มใหญ่, เจ้าจอมมารดาเหมใหญ่, เจ้าจอมมารดาศิลา, เจ้าจอมมารดาสั้น, เจ้าจอมมารดากุด, เจ้าจอมมารดานิ่ม, เจ้าจอมมารดาเกด, เจ้าจอมมารดาอิน, เจ้าจอมมารดาทรัพย์, เจ้าจอมมารดาเหมเล็ก, เจ้าจอมมารดาบุนนาค, เจ้าจอมมารดาทองอยู่, เจ้าจอมมารดาม่องซอ, เจ้าจอมมารดาน้อย, เจ้าจอมมารดาทิม, เจ้าจอมมารดาเลี้ยง, เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด, เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่, เจ้าจอมมารดาทองดี, เจ้าจอมมารดาพะวา, เจ้าจอมมารดากล่ำ, เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ใหญ่, เจ้าจอมมารดาพิม, เจ้าจอมมารดาเอม, เจ้าจอมมารดาอัมพา, เจ้าจอมมารดานวล, เจ้าจอมมารดาพุ่ม, เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์, เจ้าจอมมารดาแย้ม, เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก, เจ้าจอมมารดาม่วงใหญ่, เจ้าจอมมารดาอัน, เจ้าจอมมารดาเลิ้ง และยังมีท่านท้าวอีก ๒ ท่าน คือ ท่านท้าววรจันทร์ กับท่านท้าวทรงกันดาล จึงไม่เป็นการแปลกเลยที่ทรงมีเจ้าจอมมากมายดังกล่าวจะทรงมีพระโอรสพระธิดามากถึง ๗๓ พระองค์ พระโอรสพระธิดามีพระนามอะไร และทรงเป็นต้นสกุลอะไรบ้าง มีครบอยู่ในเอกสารแล้ว แต่จะยังไม่ขอนำมาเปิดเผยในที่นี้นะครับ
นอกจากนี้ ยังมีพระราชชายาอีกพระองค์หนึ่ง คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี ในเจ้าจอมทองสุข พระธิดาเจ้าอินทรวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งถวายเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว จนพระนางมีพระชนม์ได้ ๑๗-๑๘ พรรษา ทรงมีพระรูปพระโฉมงดงาม จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนำไปกล่าวในบทละครเรื่องอิเหนา เปรียบเทียบพระนางเป็นนางบุษบา และพระนางก็ได้ทรงเป็นพระราชชายาแต่นั้นมา
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นศิลปินครบทุกแขนง คือ การประพันธ์ การดนตรี การแกะสลัก การปั้น ในด้านการประพันธ์นั้นมีผลงานการร้อยกรองที่ทรงไว้หลายเรื่อง เช่นบทละครเรื่องอิเหนา, รามเกียรติ์, ไชยเชษฐ์, คาวี, มณีพิชัย, สังข์ทอง, ไกรทอง, กาพย์เห่เรือ, บทพากย์โขนตอนนางลอย, และตอนนาคบาศ เป็นต้น เฉพาะอิเหนานั้น ถ้อยคำสำนวนมีความไพเราะเพราะพริ้ง กระทัดรัดเข้ากับจังหวะท่ารำและจังหวะดนตรีได้เป็นอย่างดียิ่ง จนวรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของกลอนบทละครรำ
 ในด้านการดนตรีนั้น ทรงมีความชำนาญและโปรดการเล่นซอสามสายมาก ทรงมีซอคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่ง พระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “บุหลั่นลอยเลื่อน” หรือ “บุหลันเลื่อนลอยฟ้า” บางทีก็เรียกว่า “สรรเสริญพระจันทร์” นับเป็นเพลงที่มีความไพเราะมากเพลงหนึ่งของเพลงไทยเดิม
ศิลปะการปั้นนั้น ทรงปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม เป็นแบบที่ทรงคิดขึ้นใหม่ ด้านการแกะสลักนั้น ทรงแกะหน้าหุ่นคู่หนึ่งด้วยไม้รัก คือหน้าพระใหญ่กับหน้าพระน้อย และทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามร่วมกับช่างฝีมือชั้นเยี่ยมในสมัยนั้น เป็นรูปป่าเขาลำเนาไพรและสิงห์สาราสัตว์นานาชนิดวิจิตรบรรจง ประณีตงดงามยิ่ง
พระราชประวัติและผลงานรวมทั้งประวัติการกวีในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังมีอีกมาก พรุ่งนี้จะนำมาบอกเล่ากันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๑ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีวิสาขบูชา -
ทรงฟื้นฟูวิสาขบูชาขึ้น ไทยเคยมึนเมาปลื้มลืมรากฐาน ประเพณีเก่าแก่แต่เบาราณ หายไปนานแล้วพระองค์ทรงฟื้นฟู |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบสิ้นกระแสความไปแล้ว แต่เรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ที่ไม่ได้เก็บไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าว ยังมีปรากฏในเอกสารอื่น ๆ อีกมาก หากไม่นำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นจึงใคร่ขอรวบรวมเรื่องราวของพระองค์จากเอกสารต่าง ๆ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันดังต่อไปนี้
* ในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับฟังการถวายพระพรจากสมเด็จพระสังฆราช (มี) ว่าในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ได้มีพระราชพิธีบูชาพระรตนตรัยในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี เรียกว่า “วิสาขบูชา” พระราชพิธีนี้ได้รับการสืบทอดมาถึงกรุงศรีอยุธยา ต่อเมื่อมีศึกสงครามเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ความวุ่นวายเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า พระราชพิธีวิสาขบูชาจึงถูกละเลยจากราชสำนักจนเลือนหายไป
ทรงทราบดังนั้นแล้วมีพระราชดำริฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาให้เหมือนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ นั้น ดังความที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในพระราชพงศาดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ว่า
“ ศุภมัศดุ ๑๑๗๙ ศก...พระบาทสมเด็จบรมธรรมมิกมหาราชารามาธิราช บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว....ทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหายัญพิธีอันขาดประเพณีมานั้น ให้กลับคืนเจียรฐิติกาลปรากฏสำหรับแผ่นดินสืบไป จะให้เป็นอัคอัตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์ ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลก ข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวงจำเริญอายุแลอยู่เป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้แลชั่วหน้า จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า
แต่นี้สืบไปเถิง ณ วัน เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ เป็นวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะทรงรักษาอุโบสถศีล ปรนนิบัติพระสงฆ์ ๓ วัน ปล่อยสัตว์ ๓ วัน ห้ามมิให้ผู้ใดข้าสัตว์ตัดชีวิตเสพสุราเมรัยใน ๓ วัน ถวายประทีปตั้งโคมแขวนเครื่องสักการบูชาดอกไม้เพลิง ๓ วัน ให้เกณฑ์ประโคมเวียนเทียนพระพุทธเจ้า ๓ วัน ให้มีพระธรรมเทศนาในพระอารามหลวง ถวายชัยนาท ๓ วัน
ส่วนพระบรมราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลละอองธุลีพระบาท ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ลูกค้าวาณิช สมณะชีพราหมณ์ทั้งปวงจงมีศรัทธา ปลงใจลงในกุศล อุตส่าห์กระทำวิสาขบูชาให้เป็นประเพณียั่งยืนไปทุกปีอย่าได้ขาด ฝ่ายฆราวาสนั้นจงรักษาอุโบสถศีล ถวายบิณฑบาตทาน ปล่อยสัตว์ตามศรัทธาทั้ง ๓ วัน ดุจวันตรุษสงกรานต์ เพลาเพลแล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอาราม ครั้นเพลาบ่ายให้ตกแต่งเครื่องสักการบูชาพวกดอกไม้มาลา กระทำให้วิจิตรต่าง ๆ ธูปเทียนชวาลาทั้ง (ธง) ผ้า กระดาษ ออกไปยังพระอาราม บูชาพระรัตนตรัย ตั้งพนมดอกไม้ แขวนพวงดอกไม้ ธูปเทียน ธงใหญ่ธงน้อยในพระอุบสถพระวิหารที่ลานพระเจดีย์ และพระศรีมหาโพธิ แ ละผู้ใดจะมีเครื่องดุริยดนตรีมโหรีพิณพาทย์ เครื่องเล่นสมโภชประการใด ๆ ก็ตามแต่ใจศรัทธา
ครั้นเพลาค่ำให้บูชาพระรัตนตรัยด้วยเครื่องบูชา ประทีปโคมตั้ง โคมแขวน จงทุกหน้าร้านโรงเรือน และเรือแพทุกแห่งทุกตำบล ให้ฆราวาสทำดังกล่าวนี้จงถ้วนครบ ๓ วัน”
** จากพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีวิสาขบูชาข้างต้นนี้ เห็นภาพชัดเจนว่า เ มื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ เป็นต้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำในการรักษาอุโบสถศีลตลอดเวลา ๓ วัน ๓ คืนทุกอาคารบ้านเรือนประดับธงทิว ไม่เว้นแม้ในเรือแพ ดูเป็นพระราชพิธีบูชาที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นที่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันนี้ความประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนย่อหย่อนลงแล้ว โดยไม่มีการรักษาอุโบสถศีล ประดับบ้านเรือนด้วยธงใหญ่น้อย จัดพิธีบูชากันเพียงวันเดียว คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เท่านั้น
ตามสมเด็จพระสังฆราชมีถวายพระพรว่า พิธีวิสาขบูชามีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว แต่ในศิลาจารึกสุโขทัย ผมยังไม่พบความบรรยายถึงพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่นี้ แม้กระนั้นก็มีความพาดพิง ให้เชื่อถือได้ว่าวันวิสาขบูชามีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจริง
ที่กล่าวมานี้เป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบำเพ็ญ ยังมีอีกหลายพระราชกรณียกิจนะครับ ผมจะค่อย ๆ เก็บมานำเสนอให้ทราบกันต่อไป พบกันใหม่วันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๒ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ออกกฎหมายห้ามสูบฝิ่น -
ฝิ่นเป็นยามากฤทธิ์พิษแรงร้าย จึ่งทรงตรากฎหมายมิให้อยู่ ห้ามซื้อขายสูบกินสิ้นเลี้ยงดู หากมีผู้ฝ่าฝืนยื่นโทษทัณฑ์ |
อภิปราย ขายายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าความถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้น ตามคำถวายพระพรของสมเด็จพระสังฆราช (มี) ดังที่ทุกท่านได้อ่านกันมาแล้ว วันนี้จะขอนำพระราชกรณีกิจอีกเรื่องหนึ่งมาให้ทุกท่านได้ทราบกัน เรื่องอะไรเชิญอ่านดูครับ
* ฝิ่น เป็นยาเสพติดมีพิษร้ายแรงชนิดหนึ่ง เดิมทีนั้นไม่มีในแผ่นดินไทยมาก่อน หากแต่มีอยู่ในแผ่นดินประเทศจีนโพ้นทะเล เข้ามาสู่สยามประเทศตั้งแต่เมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เป็นแต่สันนิษฐานกันว่า ฝิ่นเข้าสู่แผ่นดินไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยสำเภาจีนนำสินค้าเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ลูกเรือสำเภาที่เสพฝิ่นจนติดงอมแงม นำเข้ามาเสพกันเอง แล้วแพร่หลายสู่คนไทยที่คบค้าสมาคมกับลูกเรือสำเภาจีน จนต่อมาชาวจีนก็นำมาเป็นสินค้าขายให้คนไทยเสพกันอย่างแพร่หลายไปด้วย
คนไทยจำนวนมากนิยมชมชอบในการเสพฝิ่น โดยหาซื้อได้จากชาวจีนที่นำมาจากเมืองจีน ต่อเมื่อชาวจีนเข้ามาค้า ขายอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น มีบางคนตั้งโรงยาฝิ่นให้เป็นที่สูบ-เสพยาฝิ่นขึ้นเป็นสถานการค้าชนิดหนึ่ง ทางรัฐจัดเก็บภาษีรายได้จากโรงยาฝิ่นได้ปีละไม่น้อย
ร้านหรือโรงสถานที่เสพยาฝิ่นนี้ คนไทยสมัยก่อนเรียกกันว่า “โรงยา” คนที่สูบหรือเสพยาฝิ่นประจำ เรียกว่า “คนขี้ยา” ก่อนที่ฝิ่นจะเข้ามาเป็น “ยา” ในเมืองไทยนั้น คนไทยมีสิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่ายาสูบอยู่ชนิดหนึ่งคือ “กัญชา” คนไทยจำนวนไม่น้อยสูบ-เสพกัญชากันจนถึงกับตั้งเป็นก๊วน นั่ง-นอนล้อมวงกันสูบกัญชา โดยใช้ปล้องไม้ไผ่ทำเป็น “บ้องกัญชา”
นักเลงกัญชา หรือ คนขี้กัญชา ผู้มีฐานะการเงินดีก็หันมาสูบฝิ่นแทนกัญชา ส่วนคนผู้มีฐานะที่เรียกว่า “เบี้ยน้อยหอยน้อย” ก็ยังคงเฝ้าบ้องกัญชาอยู่เหมือนเดิม นาน ๆ จึงจะได้สูบฝิ่นสักครั้ง เพราะฝิ่นมีราคาแพงมาก
เพราะฝิ่นมีราคาแพงมาก เจ้าของโรงยาฝิ่นจึงหาวิธีเพิ่มลูกค้าด้วยการ แปรฝิ่นให้เป็น “ขี้ฝิ่น” ผสมกับใบพลูที่หั่นเป็นฝอยสำหรับให้ผู้ที่มีเงินน้อยซื้อสูบกัน แล้วก็ได้ผลคือ คนไทยพากันสูบฝิ่นที่ผสมใบพลูมากขึ้นเรื่อย ๆ
คำว่า “ขี้ยา” น่าจะเกิดมีขึ้นเพราะการนี้เอง โรงยาฝิ่น เป็นบ่อเกิดหรือที่มาของอาชญากรรม โดยพวกขี้ยาที่ไม่มีเงินซื้อยาฝิ่นสูบ ก็ทำตัวเป็นผู้ลักเล็กขโมยน้อย หาเงินไปซื้อยาฝิ่นสูบกัน มิหนำซ้ำยาฝิ่นยังทำลายสุขภาพร่างกายผู้เสพอีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตระหนักพิษภัยของยาฝิ่นว่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้เสพ และบั่นทอนกำลังปัญญาของผู้สูบ ทั้งยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมอีกด้วย มีพระราชประสงค์ให้คนไทยเลิกเสพฝิ่นเสีย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติห้ามสูบฝิ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ตราขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ มีความดังรายละเอียดต่อไปนี้.....
“ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้ตราพระราชบัญญัติไว้เพื่อจะให้เป็นหิตตานุหิตประโยชน์
หนึ่ง จะทรงพระราชสงเคราะห์ช่วยระงับดับทุกข์โทษแห่งคนร้ายในอนาคตปัจจุบัน แลให้พระราชบริหารบัญญัตินั้นว่า แต่บรรดาผู้สูบฝิ่น กินฝิ่น ที่เคยสูบมาแต่ก่อนวันละมากน้อยเท่าใด ก็ให้ลดหย่อนผ่อนสูบให้น้อยลง มากกว่าแต่ก่อนจงทกวัน กว่าจะอดได้ให้เด็ดขาดแต่ในกำหนดเดือน ๔ ปี เถาะ เอกศกนี้ (พ.ศ. ๒๓๖๒) ถ้าถึงขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง โทศก (พ.ศ. ๒๓๖๓) ผู้ใดยังฝืนสูบฝิ่นกินฝิ่นอยู่อีก จับได้พิจารณาเป็นสัจ ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยน ๓ ยก ริบราชบาตรเอาทรัพย์สิ่งของเป็นของหลวงให้สิ้นเชิง ทะเวนบก ๓ วัน ทเวนเรือ ๓ วัน ส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง แลบุตรภรรยาผู้สูบฝิ่นกินฝิ่นนั้น ให้ส่งไปสีข้าวฉางหลวงใช้การที่อันหนัก
อนึ่ง เจสัวแลลูกค้าวาณิช ซึ่งแต่งเรือไปค้าขายฝ่ายตะวันตก ให้เจสัวกำชับนายเรือแลลูกเรือ ห้ามอย่าให้ซื้อฝิ่นนานาเข้ามาขาย ณ กรุงเทพพระมหานคร แลแว่นแคว้นกรุงฯ เป็นอันขาดทีเดียว...... แลเจสัวนายเรือลูกเรือขืนลักลอบซื้อฝิ่นก้อนเข้ามา ลูกค้ารับซื้อไว้ต้มขาย ตั้งแต่เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง โทศก (พ.ศ. ๒๓๖๓) ให้มีผู้จับ ถ้าจับได้พิจารณาเป็นสัจ ให้......(กำหนดโทษที่จะได้รับ)......
กฎให้ไว้ ณ วันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๘๓ ปีเถาะ นักษัตร เอกศก”
* * ความในพระราชบัญญัติทั้งหมดข้างต้นนี้ เสถียร ลายลักษณ์ คัดลอกมาจากประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม ๔. ๒๕๔๗ ปรากฏในหนังสือชื่อ “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)" ซึ่ง อุดม เชยกีวงศ์ เป็นผู้เรียบเรียง
การเลิกฝิ่นเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เราก็ได้ทราบกันแล้วนะครับ ยังมีพระราชกรณียกิจอื่น ๆ อีก พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : เนิน จำราย, Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ยุคทองของวรรณกรรม -
ถึงยุคทองวรรณกรรมล้ำสมัย กวีไทยเฟื่องฟูสู้สวรรค์ ราชสำนักคักคึกนึกประชัน แข่งสร้างสรรค์งานกวีที่งดงาม
บทละครบทเห่เสภาสนุก สร้างความสุขด้วยศิลป์อักษรสยาม กวีแก้วแพราวพราววาววับวาม สืบสานนามความไม่แล้งแหล่งกวี
พระราชนิพนธ์ยอดเยี่ยมเรื่องอิเหนา จากบทเก่าเกลาแต่งแปลงเสริมศรี เป็นเรื่องยาวขยายความงดงามดี ทรงแต่งลีลาคำและรำฟ้อน
อีกสังข์ทองก้องเมืองเรื่องเงาะป่า รจนานนารีศรีสมร บทเสภาขุนช้างขุนแผนตอน- ขุนแผนนอนกอดแก้วกิริยา
พระราชนิพนธ์ล้นค่าภาษาสวรรค์ ทรงสร้างสรรค์แบบรำนำภาษา ละครในละครนอกฟ้อนออกมา ร่อนถลารำร้องงามต้องใจ |
อภิปราย ยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาแสดงให้ทุกท่านได้อ่านกัน คือเรื่องการออกพระราชบัญญัติห้ามสูบและกินฝิ่น กับห้ามการค้าขายฝิ่น ดังเป็นที่ทราบไปแล้วนั้น วันนี้มาดูพระราชกรณียกิจทางด้านวัฒนธรรม ทางด้านภาษา และวรรณกรรมของพระองค์บ้างครับ
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็น “ยุคทองของวรรณกรรม” เนื่องด้วยพระองค์เองทรงเป็น “รัตนกวี” พระราชนิพนธ์บทร้อยกรองเป็นบทละครไว้หลายเรื่อง คือ บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ ไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง มณีพิไชย กาพย์เห่เรือ บทพากย์โขนตอนนาคบาศและนางลอย.....
นัยว่า บทละครนั้น ทรงปรารภถึงบทละครที่ พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงนิพนธ์คำร้องเรื่องอิเหนา สำหรับงานฉลองกองการกุศลตั้งแต่สมัยปี พ.ศ. ๒๒๗๕ –๒๓๐๓ แล้วเลือนหายไป เนื่องจากสยามประเทศเผชิญกับภาวะสงครามจน “บ้านแตกสาแหรกขาด” ตกมาถึงกาลสมัยพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์จึงทรงสืบสานงานวรรณกรรมนี้อย่างจริงจัง โดยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา สำหรับร้องรำในราชสำนัก เป็นที่นิยมชมชอบในเหล่าข้าราชบริพารและประชาราษฎรมาก
ในราชสำนักของพระองค์ มีการประชุมนักกวีแต่งบทร้อยกรองทุกวัน นักกวีคนสำคัญ ๆ ในราชสำนัก เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๓) สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขุนสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) พระยาตรัง นายนรินทร์ธิเบศร์ (อินทร์) เป็นต้น
ว่ากันว่า บทละครในละครนอกที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลายเรื่อง ทรงนำมาแต่งแปลงใหม่เพื่อใช้ในการแสดง ให้ถ้อยคำขับร้องได้ลื่นไหลไพเราะไม่ติดขัด เข้ากันได้กับท่ารำทุกลีลา โดย
ใช้กับละครใน ๓ เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อุณรุท และ อิเหนา ใช้กับละครนอก ๕ เรื่อง คือ ไกรทอง สังข์ทอง คาวี มณีพิไชย และ ไชยเชษฐ์ ใช้กับเสภา ๑ เรื่อง คือ ขุนช้างขุนแผน
เฉพาะบทละครเรื่องอิเหนา เป็นพระราชนิพนธ์ยาวที่สุดของพระองค์ ต่อมาได้รับรับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดบทละครรำที่ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอน และกระบวนการเล่น (ทั้งร้องและรำ) รวมทั้งเป็นประโยชน์ด้านให้ความรู้เรื่องโบราณราชประเพณี และพระราชพิธี ความเป็นอยู่ของคนชั้นสูงถึงสามัญชนทั่วไป
สำหรับบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นนิทานพื้นบ้านที่มีการนำไปร้องเป็นบทเสภาซึ่งเรียกกันว่า “ขับเสภา” มีถ้อยคำสำนวนหลากหลาย ตามแต่ศิลปินผู้ขับเสภาจะร้องกัน ในราชสำนักก็มีกวีแต่งบทขับเสภากันหลายสำนวน มีนักขับเสภาฝีปากเอกหลายคน เช่น “ครูแจ้ง” เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปรารภที่จะให้มีบทขับเสภาเป็นมาตรฐานแน่นอนตลอดไป จึงประชุมกวีราชสำนัก แล้วแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนเลือกที่จะแต่งบทเสภาตอนใดตอนหนึ่ง เมื่อแต่ละคนแต่งแล้วให้นำมาช่วยกันตรวจรับรองในที่ประชุมกวี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นประธานวินิจฉัย โดยพระองค์ทรงเป็นผู้รับหน้าที่พระราชนิพนธ์ตอนพลายแก้วได้นางพิมพิลาไลย ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง เข้าห้องนางแก้วกิริยา และขุนแผนพานางวันทองหนี
กวีในราชสำนัก ต่างแต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกันอย่างสุดฝีมือ เพราะถือว่าเป็นการประกวดประชันกันครั้งสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงปรากฏว่าบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงอ่านกันได้ไม่รู้เบื่อหน่ายในทุกยุคทุกสมัย เฉพาะขุนสุนทรโวหาร กวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระองค์ซึ่งแต่งเสภาเรื่องนี้ตอนกำเนิดพลายงาม ท่านแต่งได้ไพเราะเพราะพริ้งที่สุด และจะได้กล่าวถึงท่านผู้นี้โดยละเอียดต่อไป
พรุ่งนี้จะเริ่มเล่าเรื่องชีวิตและงานของขุนสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ให้ทราบกันทุกแง่ทุกมุม อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ
(..................... มีต่อพรุ่งนี้ .....................) เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๔ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กวีเอกพระพุทธเลิศหล้า - (ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑)
พระสุนทรโวหารนามหวานหู เดิมชื่อภู่งานกวีมิล้าสมัย เป็น“อาลักษณ์ขี้เมา”แต่เชาว์ไว ซึ่งชาวไทยรู้ดีกลอนมีมนต์
ยี่สิบหกมิถุนาฟ้าสลัว ทราบกันทั่วว่าสู่ฤดูฝน เด็กชายหนึ่งตาแป๋วแววซุกซน ปรากฏตนดูโลกด้วยโชคพา
เป็นมหาดเล็กวังหลังครั้ง”รอหนึ่ง” “รอสอง”จึงปรากฏมียศฐาน์ “ขุนสุนทรโวหาร”เปรื่องปัญญา พระราชายกเด่นเป็นอาลักษณ์
ครั้ง “รอสาม”ความซนส่งผลให้ ท่านยากไร้ที่พึ่งถึงทุกข์หนัก บวชเป็นสงฆ์วัดมีเป็นที่พัก แล้วโยกยักย้ายเหร่อนเร่ไป
ครั้ง “รอสี่”พ้นทุกข์สบสุขสม เป็น “เจ้ากรมอาลักษณ์”วังหน้าได้ “พระสุนทรโวหาร”สราญใจ ทิ้งงานไว้ทั้งหมดเป็นบทกลอน
นิยายนิราศภาษิตไม่ผิดหลัก ล้วนประจักษ์จริงอยู่เป็นครูสอน ไม่มีใครกล้าขัดค้านตัดทอน ทุกวรรคตอนสูงค่าไร้ราคี |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องที่ทรงเป็นนักกวี ทรงตั้งนักกวีเป็นที่ปรึกษาในการพระราชนิพนธ์บทละคร จนเรียกได้ว่ายุคของพระองค์เป็น “ยุคทองของวรรณกรรม” มีนักกวีในราชสำนักมากมาย ในบรรดานักกวีที่ปรึกษานั้น “ขุนสุนทรโวหาร” เป็นกวีคนโปรดของพระองค์ ท่านผู้นี้คนไทยรู้จักและเรียกกันว่า “สุนทรภู่” ชีวิตและงานของท่านน่าศึกษามาก ดังนั้น จึงใคร่นำประวัติชีวิตละงานของท่านมาให้ทราบกันดังต่อไปนี้
สำหรับ “ชีวิตและงานท่านสุนทรภู่” ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ คลิก >> ที่นี่ << เข้าอ่านต่อได้ หรือจะข้ามไปอ่านเหตุการณ์ต่อไป ก็คลิกอ่านหน้า ต่อไป ด้านล่างนี้ได้ครับ / (หมายเหตุโดยผู้โพสต์)
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|