บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - มหาธรรมราชาสองแฅว -
นาม"พระยาบาลเมือง"ในเรื่องนี้ พระองค์มีเมืองสำหรับประทับอยู่ คือ"สองแฅว"บ้านเกิดทรงเชิดชู ให้โลกรู้ชนเห็นเป็นกรุงไกร
"มหาธรรมราชา"บิดาท่าน สันนิษฐานเป็นโอรสรอง"ลูกไล่" เกิดจากพระชายา"พรญาลิไท" ณ สมัยที่ครองเมืองสองแฅว
ครั้น"ฦๅไท"สวรรคตพระยศใหญ่ นำมาใช้แทนพ่อต่อกระแส "มหาธรรมราชา"ถึงคราแปร เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสิ้น"ฦๅไท" |
อภิปราย ขยายความ...........
พระมหาธรรมราชธิราชเจ้า ผู้สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๒ เป็นคนละองค์กับมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ ฦๅไท แห่งสุโขไท เพราะว่าพระยาฦๅไท สวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๕๒ ก่อนหน้ามหาธรรมราชาพระองค์นี้เป็นเวลา ๑๐ ปี....ถ้าอย่างนั้น พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าพระองค์นี้ เป็นใคร มาจากไหน ไม่มีในจารึกและตำนานกล่าวถึงมาก่อนเลย
ในทางสันนิษฐานที่เห็นว่าเป็นไปได้คือ พระมหาธรรมราชาธิาชเจ้าพระองค์นี้ คือพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระมหาธรรมราชา ลิไท ในสมัยที่เสด็จจากสุโขไทไปเสวยราชสมบัตินครสรลวงสองแฅว เป็นเวลา ๗ ปี นั้น นอกจากพระองค์จะได้พระราชโอรสประสูติแต่พระนางศรีธรรมราชมาดาแล้ว ยังได้พระโอรสอันประสูติแต่พระชายา (หรือพระสนมเอก) อีกพระองค์หนึ่ง ครั้นเสด็จกลับสุโขไท มิได้นำพระชายาและพระโอรสพระองค์นี้ไปด้วย หากแต่ให้ปกครองดูแลนครสรลวงสองแฅวอยู่ตามเดิม
เมื่อพระยาลิไทสวรรคต ฦๅไท โอรสองค์ใหญ่ก็ชอบที่จะใช้พระนามมหาธรรมราชาสืบแทนพระราชบิดา ส่วนพระโอรสองค์รองก็ยังคงครองนครสรลวงสองแฅวอยู่อย่างสงบเงียบ จนกระทั่ง มหาธรรมราชาฦๅไทสวรรคต จึงขอใช้สิทธิ์ครองสุโขไทในฐานะพระโอรสองค์รอง มีความชอบธรรมที่จะสืบราชบัลลังก์ตามพระราชประเพณี แต่สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์มิทรงยินยอม จะเห็นได้ว่า พระนางได้จารึกนามพระโอรสองค์ใหญ่คือ รามกุมาร ไว้ในจารึกวัดอโสการามว่า มหาธรรมราชา แล้ว
จึงเป็นไปได้ว่า สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ได้เข้ามามีบทบาท ทรงเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ทรงยินยอมมอบพระนามเกียรติยศ "มหาธรรมราชา" นี้ให้แก่ พระราชอนุชาของพระยาฦๅไท ส่วนบัลลังก์สุโขไทนั้นให้ไสลือไท โอรสฦๅไทครอบครองภายใต้การสำเร็จราชการแผ่นดินของสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระนางโปรดให้ทำจารึกอีกหลักหนึ่งไว้ที่วัดบูรพาราม กล่าวถึงพระนามโอรสองค์ใหญ่ว่ามีพระนาม รามกุมาร องค์รองพระนามว่า อโสกกุมาร
พระนามเกียรติยศของราชวงศ์พระร่วง จึงเปลี่ยนจากบัลลังก์สุโขไทไปอยู่บัลลังก์นครสรหลวงสองแฅว เป็นมหาธรรมราชาธิราชสองแฅวแต่นั้นเป็นต้นมา.... ครั้นมหาธรรมราชาสองแฅวสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๖๒ รามกุมาร หรือพระยาราม (ไสลือไท) จึงทวงขอพระนามมหาธรรมราชาคืนจากสองแฅว แต่พระยาบาลเมือง (บรมปาล) โอรสมหาธรรมราชาสองแฅวไม่ทรงยินยอม จนเกิดการจลาจลขึ้นในแคว้นสุโขไท สมเด็จพระนครินทรราชาธิราช (เจ้านครอินทร์) จึงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปประทับ ณ เมืองพระบาง (นครสวรรค์) พระยารามจากสุโขไท กับ พระยาบาลเมืองจากสองแฅว จึงรีบลงมาถวายบังคม ดังความตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่ไดักล่าวมาแล้วนั้น
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 รอยพระพุทธบาทวัดบวรนิเวศวิหาร - มหาธรรมราชาบรมปาล -
"พระยาบาลเมือง"ครอง"สองแฅว"แน่น ครานั้นแคว้นลดนามความยิ่งใหญ่ เป็นสองรัฐชัดเจนต่างเป็นไป เมืองหลวงได้แยกเห็นเป็นสองเมือง
"พระยาราม"ครองเขตประเทศใหญ่ "ไสลือไท"แทนพ่ออยู่ต่อเนื่อง นาม"มหาธรรมราชา"สาเหตุเคือง จำเป็นเปลื้องให้"บรมปาล"ครอง
"พระยาบาล"ครองเขตประเทศน้อย แต่ร่องรอยใหญ่โตน่ายกย่อง นาม"มหาธรรมราชา"มารับรอง เป็น"โคมทองสุโขไท"ให้ชัดเจน |
อภิปราย ขยายความ..........
สมเด็จพระนครินทราชาธิราช ทรงจัดการให้พระยาบาลปกครองนครสรลวงสองแฅวในนามมหาธรรมราชาบรมปาล ให้พระยารามปกครองนครสุโขไทศรีสัชนาลัยในนามพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตร (ไสลือไท) โดยให้เจ้าสามพระยาราชบุตร ซึ่งประทับ ณ ชัยนาทบุรี (ตรงข้ามกับสองแฅว คือตรงวังจันทร์ในปัจจุบัน) เป็นที่ปรึกษาราชการของเจ้าทั้งสองนคร
ความเชื่อเดิมว่า พระมหาธรรมราชาบรมปาล คือพระราชโอรสมหาธรรมราชาไสลือไท เป็นความเชื่อตามความสันนิษฐานโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง ต่อมาถึงปัจจุบัน มีทั้งพงศาวดารและจารึกเป็นยานหลักฐานว่า มหาธรรมราชาบรมปาลมิใช่โอรสไสลือไท หากแต่เป็นบุคคลในยุคเดียวกัน มีวัยใกล้เคียงกัน (เป็นลูกพี่ลูกน้อง) มีความในจารึกรอยพระพุทธบาทยุคล จารึกในปี พ.ศ. ๑๙๗๐ บอกเล่าว่า "พระศรีสุริยวงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราช โปรดให้ช่างหลวงไปจำลองจากสุโขไทในวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๓ รอบ (๓๖ พรรษา) ของพระองค์
จับใจความได้ว่า เมื่อสมเด็จพระนครินทราชาธิราช หรือเจ้านครอินทร์สวรรคต พระโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าอ้าย เจ้ายี่ แย่งราชสมบัติ รบกันถึงขั้นชนช้างสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ เจ้าสามพระยาจึงเสด็จจากชัยนาทบุรีลงไปครองกรุงศรีอยุธยา โดยมอบให้มหาธรรมราชาบรมบาลครองชัยนาทบุรีควบคู่กับสรลวงสองแฅว มหาธรรมราชาบรมบาลครองชัยนาทบุรีได้ ๓ ปี มีพระชนมายุครบ ๓ รอบ (พ.ศ. ๑๙๗๐) โปรดให้ช่าง "ฟันขดารดิน" เป็นหินชวนแผ่นรูปสี่เหลี่ยม แกะสลักรอยพระพุทธบาทขึ้น ๒ รอย เป็นรอยพระบาทคู่ เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุของพระองค์ ความที่จารึกในรอยพระบาทคู่นี้ บอกเรื่องราวของพระองค์ไว้ชัดเจน (ปัจจุบันอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ)
มหาธรรมราชาบรมบาล แม้ครองเขตประเทศน้อยกว่าพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตรไสยลือไท แต่เรื่องราวในทางประวัติศาสตร์จะปรากฏน้อยกว่ามหาธรรมราชาบรมบาล เหตุด้วยว่าพระนามอันกลายเป็นเอกลักษณ์สุโขไท คือ "มหาธรรมราชา" ไปอยู่ในราชสำนักสองแฅว ทำให้เห็นว่า สุโขไทอยู่ใต้การปกครองของสองแฅวแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งคือ สายใยใกล้ชิดระหว่าง มหาธรรมราชาบรมบาล กับ เจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยามีมากกว่าไสยลือไทแห่งสุโขไท นั่นเอง......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวันิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : ลิตเติลเกิร์ล, Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ราชสำนักสุโขไทร่วงโรย -
"สุโขไท"ปลายยุคก่อนแตกหัก ราชสำนักแบ่งสองส่วนรองเด่น ส่วนใหญ่ด้อยรอยร้าวแหว่งเว้าเวน เข้าหลักเกณฑ์ไร้เหิมเริ่มเสื่อมโทรม
"รามราชาธิราช"แม้อาจหาญ แต่ขาดการหนุนหลังแรงถั่งโถม รุกล้านนาการศึกไม่ครึกโครม ถูกต้านโจมตีจนถอยร่นมา
ราชสำนักสองแฅวกระแสใหญ่ "ไสลือไท"ด้อยอำนาจวาสนา ราชสำนักค่อยค่อยถอยโรยรา ใกล้ถึงคราล้มล่มจมดินดอน |
อภิปราย ขยายความ .......
แคว้นสุโขไทใกล้ถึงการล่มสลาย ยามนั้นแบ่งแยกออกเป็นสองราชสำนัก คือราชสำนักสุโขไท มีพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตร (ไสลือไท) เป็นผู้ครองบัลลังก์ เคยแสดงบทบาทยกกำลังขึ้นไปตีลานนา ช่วยเจ้าเมืองน่านผู้เป็นพระญาติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องถอยกลับมาอยู่อย่างสงบ แล้วบทบาทของราชสำนักสุโขไทก็ขาดหายไปจากจารึกและตำนาน
ฝ่ายราชสำนักชัยนาทบุรีสองแฅวนั้น พระศรีสุริยวงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราชทรงครองอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงไม่มีบทบาทอะไร และการที่พระเจ้าสามพระยามิได้เข้าก้าวก่ายราชสำนักสุโขไทนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าทรงเกรงพระทัยสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์พระญาติผู้ใหญ่ของพระองค์ จึงปล่อยให้ราชสำนักสุโขไทอยู่อย่างโดดเดี่ยว จนมีสภาพเป็นดั่งดอกไม้ที่บานเต็มที่แล้วร่วงโรยราไปในที่สุด.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู, เส้นชีวิต ดำเนินไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สุโขทัยกลืนอยุธยา ? -
ความเปลี่ยนแปลงแปรปรับอย่างสับสน สังคมคนปนเปย้ายเร่ร่อน เชื่อผู้นำตามถือซื่อแน่นอน บ้าน,นคร,รัฐ,เมืองเกิดเนื่องกัน
เจ้าเลือดเนื้อเชื้อไขสองสายสนิท ทรงร่วมคิดร่วมสร้างอย่างมุ่งมั่น สุโขไทไขว้สลับกับสุพรรณ แล้วรังสรรค์วงศ์ใหม่ใหญ่กว่าเดิม
สุพรรณภูมิ+สุโขไท"เกรียงไกรภพ เมื่อสยบ"อยุธยา"สิ้นฮึกเหิม "นครอินทร์"ต้นวงศ์ทรงต่อเติม "พ่องั่ว"เริ่มวางไว้ให้สมจินต์ |
อภิปราย ขยายความ........
ความพยายามของสมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือ ขุนหลวงพ่องั่ว ที่ต้องการรวมแคว้นสุโขไทเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา โดยส่งเจ้าหญิงสุพรรณภูมิขึ้นไปเป็นมเหสีพระยาลือไท เพื่อครอบงำราชสำนักสุโขไท ก็แล้วทรงยกกำลังขึ้นไปหมายยึดศรีสัชนาลัย (ชากังราว) ก็แล้ว แต่ไม่สำเร็จ จนครั้งสุดท้าย พระองค์ประชวรระหว่างทางแล้วสิ้นพระชนม์ไป
พระราชโอรสขุนหลวงพ่องั่วอันประสูติแต่พระมหาเทวี ราชธิดาพระยาเลอไทแห่งสุโขไท นามเทพาหูราช จึงทรงรับทอดนโยบายของพระราชบิดา ทรงครองสุโขไทระยะหนึ่งแล้วลงไปครองสุพรรณภูมิ และขึ้นมาทำพิธีราชาภิเษกที่กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ และคุมการบริหารบ้านเมืองของสุโขไท ทรงมีพระชายาองค์หนึ่งเป็นเจ้าหญิงสุโขไท ทรงสร้างเมืองใหม่ให้พระชายาและพระโอรส (เจ้าสามพระยา) ประทับ ณ ชัยนาทบุรี ฝั่งตรงข้ามกับนครสรลวงสองแฅว พระองค์ผนวกกำลังของสุพรรณภูมิสุโขไท ยกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นครองบัลลังก์ เฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระนครินทราชาธิราช (เจ้านครอินทร์) เป็นต้นราชวงศ์ "สุพรรณภูมิ+สุโขไท" จากนั้นทรงวางแผนรวมแคว้นสุโขไทเข้ากับกรุงศรีอยุธยา ตามเจตนารมณ์ของขุนหลวงพ่องั่วพระราชบิดา แต่ยังดำเนินการมิสำเร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
เจ้าสามพระยา ราชโอรสพระองค์ที่ ๓ มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงสุโขไท ยกราชสำนักจากชัยนาทบุรีลงไปครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทนพระราชบิดา และดำเนินการรวมแคว้นสุโขไทเข้ากับกรุงศรีอยุธยาต่อไป
......นักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ตอนนี้ว่า "อยุธยากลืนสุโขไท" ......แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า "สุโขไทกลืนอยุธยา" ต่างหาก
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู, เส้นชีวิต ดำเนินไป, น้ำหนาว, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา - เจ้ายี่พระยา ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ อยุธยา - พระเจ้าสามพระยา -
เมื่อถึงครา"นครอินทร์"สวรรคต สองโอรส"อ้าย-ยี่"ฤดีถวิล ครองราชย์แทนแคว้นใหญ่ในแดนดิน จึงตัดสินด้วยกำลังไม่ยั้งมือ
ชนช้างกันจนสิ้นชีวินทร์คู่ กรุงไร้ผู้รองรับชนนับถือ โอรสนาม"สามพระยา"นามระบือ พระองค์คือจอมกษัตริย์พัฒนา
ครองกรุงศรีอยุธยาสร้างอาวาส คือวัด"ราชบุณ.."มากคุณค่า เป็นอนุสรณ์หอห้อง"สองพี่ยา" น้อมบูชา"นครอินทร์"ผู้สิ้นพระชนม์.... |
อภิปราย ขยายความ........
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้บันทึกเหตุการณ์ถึงตอนนี้ไว้ว่า......" ศักราช ๗๘๖ (พ.ศ.๑๙๖๗) สมเด็จพระอินทราชาทรง (ประ) ชวร นฤพาน ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สะพานป่าถ่าน เถิงพิราลัยทั้ง ๒ พระองค์ที่นั้น จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระยา ได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แลท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพระยาอ้ายและเจ้าพระยายี่ชนช้างด้วยกันเถิง (อนิจ) ภาพตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุณ...."
สรุปเรื่องราวได้ว่า สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (เทพาหูราช) หรือพระอินทราชา ทรงประชวรสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๖๗ (จ.ศ.๗๕๖) พระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา (ประสูติแต่เจ้าหญิงสุพรรณภูมิ) เจ้ายี่พระยา (ประสูติแต่เจ้าหญิงละโว้ อโยธยา) แย่งกันเป็นใหญ่ในบังลังก์กรุงศรีอยุธยา รบกันถึงขั้นชนช้าง ณ สะพานป่าถ่าน จนถึงแก่พิราลัยทั้สองพระองค์ กรุงศรีอยุธยาไร้ผู้สืบราชบัลลังก์ จึงพระราชโอรสพระองค์ที่่ ๓ (ประสูติแต่เจ้าหญิงสุโขไท) จึงยกราชสำนักจากชัยนาทบุรี (วังจันทร์พิษณุโลก) ลงมาครองกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราช" ทรงสร้างพระเจดีย์ครอบลงตรงที่ เจ้าอ้ายพระยา กับ เจ้ายี่พระยา ชนช้างกันถึงสิ้นพระชนม์ ณ สะพานป่าถ่านนั้น จากนั้นจึงโปรดให้สถาปนา (สร้าง) วัดราชบุณ (ราชบูรณะ) ขึ้น น้อมบูชาพระคุณสมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระราชบิดาของพระองค์ในปีเดียวกันนั้นเอง......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เส้นชีวิต ดำเนินไป, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดมเหยงคณ์ : อยุธยา - พระบรมราชาธิบดี -
เอานามปู่มาใช้ให้ปรากฏ ว่าเป็นยศสุพรรณภูมิให้ปูมต้น "บรมราชาธิบดี"มีมงคล แต่ไม่พ้นจากนาม"สามพระยา"
หลังครองราชทรงประจักษ์เป็นนักรบ ไปสยบกัมพุชเดชสุดกล้า นครหลวงของขอมกัมพูชา เป็นอาณาจักรไทยในพระองค์
สร้างวัดใหญ่อรัญญิกพลิกฟื้นพระ วิปัสสนาธุระคณะสงฆ์ ชื่อวัดแบบลังกา"มเหยงคณ์" เด่นดำรงอยู่ใน"ทศธรรม" |
อภิปราย ขยายความ.........
พระเจ้าสามพระยายกจากชัยนาทบุรีลงมาครองกรุงศรีอยุธยา หลังจากทรงดูแลแคว้นสุโขไทได้ ๕ ปี พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต กล่าวว่า "พระบรมราชาธิบดี พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของพระนครอินทร์ สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนม์ได้ ๓๙ พรรษา ทรงพระนามว่า "พระบรมราชาธิบดีพระเจ้าสาม" ทรงเป็นนักรบโดยกำเนิด เฉลียวฉลาด โวหารดี รอบคอบ มีเมตตากรุณา เป็นนักเสรีนิยม ทรงสร้างและบูรณะวัดหลายแห่ง ทรงครองราช์อยู่ ๒๐ ปี..."
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ บันทึกพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสามพระยาในความเป็นนักรบของพระองค์ไว้ว่า " ศักราช ๗๙๓ (พ.ศ.๑๙๗๔) สมเด็จพระบรมราชเจ้า เสด็จไปเอาเมือง (นครหลวง) ได้ และท่านจึงให้พระราชกุมารท่าน พระนครอินทร์เจ้า เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพระนครนั้น ครั้งนั้นท่านให้พระยาแก้ว พระยาไทย และรูปภาพทั้งปวง มายังพระนครศรีอยุธยา"
ความในพระราชพงศาวดารดังกล่าวนี้ คือ หลังจากทรงครองกรุงศรีอยุธยาได้ ๗ ปี ทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชายึดพระนครหลวงได้ กัมพูชายอมอยู่ในพระราชอำนาจ ทรงมอบให้พระราชกุมารนามเจ้านครอินทร์ เสวยราชสมบัติเมิองพระนครหลวงกัมพูชา ครั้นเสด็จกลับ ก็ทรงให้นำรูปปฏิมากรรม รูปภาพต่าง ๆ จากกัมพูชามากรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ในจำนวนนั้นมี "พระยาแก้ว พระยาไทย" ปฏิมากรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของกัมพูชามาด้วย พระราชกุมารนาม พระนครอินทร์ ที่ทรงตั้งให้ครองกัมพูชานั้น เป็นพระนามสัญลักษณ์ของสุพรรณภูมิ (เหมือนมหาธรรมราชา ของสุโขไท) หลังจากทรงครองกัมพูชาแล้วไม่ปราฏบทบาทใด ๆ ในประวัติศาสตร์เลย
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยรบกัมพูชาของสมเด็จพระเจ้าสามพระยานี้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏว่าเขมรรุกรานไทย หรือ ไทยรุกรานเขมร หลังจากที่พระเจ้าสามพระยายกไปยึดครองกัมพูชาแล้ว จากนั้นทั้งสองประเทศนี้กลายเป็นคู่ศึกกันมาเป็นเวลายาวนาน
ในด้านการศาสนานั้น ทรงโปรดให้สร้างวัดถวายพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสนาธุระขึ้นในโบราณสถานร้างของเมืองอโยธยาเดิม ซึ่งกลายเป็นป่าโปร่งไปแล้วนั้น ให้เป็นที่อยู่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ลังกาวงศ์ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร วัดที่สร้างใหม่นี้เป็นไปตามคติของลังกา คือองค์พระมหาเจดีย์มีรูปช้างล้อมรอบ (เหมือนวัดช้างล้อมสุโขทัย) และขนานนามวัดนี้ตามแบบลังกาว่า "มเหยงคณ์" ในความหมายว่าวัดบนเนินสูง หรือบนภู อันเป็นแดนอรัญญิก หรือ "วัดป่า" นั่นเอง
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, เส้นชีวิต ดำเนินไป, น้ำหนาว, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 กำแพงเมืองเขียงใหม่ - ไปตีเชียงใหม่ -
พระเจ้าสามพระยาทรงกล้าหาญ กอปรทุกการมิให้ไทยตกต่ำ ทั้งงานบ้านการเมืองเรื่องประจำ เป็นผู้นำชาติไทยให้เจริญ
หลังได้กรุงกัมพูชามาหมดแล้ว ทรงเปลี่ยนแนวทางใหม่ไม่นานเนิ่น จัดกองทัพฉับพลันพากันเดิน ข้ามเขาเขินขึ้นเหนือเพื่อยึดครอง
เข้าโจมตีเชียงใหม่เกือบได้แล้ว "นครพิงค์"คลาดแคล้วเหตุขัดข้อง "เจ่้าสามพระยา"ประชวรจวนสมปอง จำเป็นต้องถอยทัพกลับลงมา
จากนั้นไปปราบปรามตามถิ่นฐาน ทางอีสานรวบได้ไร้ปัญหา อยุธเยศเดชเด่นเพ็ญจันทรา "สามพระยา"ลือเลื่องกระเดื่องนาม...... |
อภิปราย ขยายความ ..........
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกเหตุการณ์ "ลางร้าย" ในรัชมัยของพระเจ้าสามพระยาไว้ ๓ เรื่อง หลังจากที่ทรยกทัพไปตีและยึดครองเมืองพระนครหลวงกัมพูชาได้แล้ว ลางร้ายนั้นคือ
- "ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๘๑) ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า สร้างวัดมเหยงคณ์ เสวยราชสมบัติ และสมเด็จพระราเมศวร (เจ้าผู้เป็น) พระราชกุมาร ท่านเสด็จไปเมืองพิษณุโลกนั้น เห็นน้ำพระเนตรพระพุทธเจ้าพระชินราช ตกออกมาเป้นโลหิต"
- ศักราช ๘๐๒ วอกศก (พ.ศ.๑๙๘๓) ครั้งนั้นเกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร..... ศักราช ๘๐๓ ระกาศก (พ.ศ.๑๙๘๔) ครั้งนั้นเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข"
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกเหตุการณ์ต่อไปว่า ..." ศักราช ๘๐๔ จอศก (พ.ศ.๑๙๘๕) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และเข้าปล้นเมืองมิได้ พอทรงพระประชวร และทัพหลวงเสด็จกลับคืน..."
นับเป็นครั้งแรกที่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แห่งล้านนาไทย ถูกกองทัพไทยเมืองใต้ยกขึ้นไปรุกราน ครั้งนั้นพระเจ้าสามพระยาทรงปล้นเอาเมืองมิได้ เพราะทรงพระประชวรในขณะบัญชาการรบ จึงเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกไว้อีกว่า "ศักราช ๘๐๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๘๗) เสด็จไปปราบพรรคและตั้งทัพหลวงประทาย ครั้งนั้นได้เชลย ๑๒๐,๐๐๐ ทัพหลวงเสด็จกลับคืน" ....การยกทัพไปครั้งสุดท้ายนี้ นัยว่าไปปราบปรามหัวเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ประสบความสำเร็จทุกประการ
วาระสุดท้ายของพระเจ้าสามพระยานั้น พระราชพงศาวดารกรุงเก่าจดบันทึกไว้ว่า....."ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก (พ.ศ.๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า"
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ -
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นนักปราชญ์นักรบเลิศภพสาม สืบต่อราชย์แทนบิดาสง่างาม สรรค์สร้างความเจริญให้ไทยยืนยง
จากกรุงศรีประทับแดนดินแคว้นเหนือ "สู้ศึกเสือเหนือใต้"ไสเสีกส่ง ครา"ติโลกราช"ผู้อาจองค์ ยกทัพลงมาปะทะยึด"เชลียง"
มีเบื้องหลังบังไว้ไม่เปิดเผย ควรเฉลยหยิบยกมาถกเถียง การ"ชักศึกเข้าบ้าน"รานเรือนเคียง เกิดเพราะเพียงมหามิตร"ผิดสัญญา"..... |
อภิปราย ขยายความ.......
พระราชพงศาวการกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ทำขึ้นนั้น ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า ......"ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก (๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า" ดังกล่าวแล้วนั้น
ความตรงนี้ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต ซึ่งบันทึกเรื่องราวกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๒ หลังสมเด็จพระบรมไตรครองราชย์ ๑๙๑ ปี เขากล่าวว่า "พระบรมไตรโลกนาถพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๙ แห่งสยาม ครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี โดยให้รายละเอียดว่า พระองค์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสามพระยา ได้รับเลือกเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ทรงครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี แล้วสละราชสมบัติออกทรงพระผนวชท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกร ทรงสิ้นพระชนม์ใต้ร่มผ้ากาสาวพัตร์ และไม่มีนักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงผนวชนานเท่าไร......
บันทึกของวันวลิตนี้มีความคลาดเคลื่อนไปหลายประเด็น ข้อเท็จจริงคือ พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้าสามพระยา พระนามว่า ราเมศวร มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิสุโขไท มีพระราชสมภพ ณ วังจันทร์ ชัยนาทบุรี เจริญวัยในพระราชสำนักชัยนาทบุรี เป็นพระสหายเล่นกันมากับพระยุธิษฐิระ โอรสมหาธรรมราชาบรมปาลแต่ทรงพระเยาว์ ก่อนที่จะตามเสด็จพระราชบิดาลงมาประทับกรุงศรีอยุธยา และเสด็จขึ้นเยี่ยมเยือนราชสำนักเดิม พบพระพุทธชินราชมีน้ำพระโลหิตไหลออกจากพระเนตร ดังที่กล่าวในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าแล้วนั้น
สมเด็จพระราเมศวรราชกุมารทรงขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้าสามพระยา ได้ ๓ ปี พระเจ้าติโลกราช มหาราชแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ ก็ยกกองทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และยึดเมือง "ชากังราว" ไว้ได้ ดังความที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า.... "ศักราช ๘๑๓ มะแมศก(๑๙๙๔) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลิกทัพกลับคืน"
มหาราชผู้มาเอาเมืองชากังราวได้พระองค์นี้คือ พระเจ้าติโลกราช เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ เรื่องนี้มีความนัยที่ควรต้องกล่าวถึงรายละเอียดต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระยายุธิษฐิระ กบฏ -
ด้วย"ยุธิษฐิระ"จำกบฏ เกินจะอดทนเท็จพระเชษฐา เมื่อผู้พี่ดีเด่นเป็นราชา สถาปนาผู้น้องครองสองแฅว
สัญญากันมั่นเหมาะไม่เหลาะแหละ ต้องแยกแยะตำแหน่งแต่งตั้งแน่ เมืองเหนือให้ผู้น้องครองดูแล กลายเป็นแค่"ลมปาก"จากพี่ชาย
จึงยกครัวไปพึ่งพา"มหาราช" ขออำนาจหนุนตนเร่งขวนขวาย ยึดครองแคว้นสุโขไทมิให้อาย เป็นชนวนศึก"ยวนพ่าย"อยู่หลายปี... |
อภิปราย ขยายความ...........
เหตุผลที่พระเจ้าติโลกราช หรือ มหาราชแห่งเชียงใหม่ยกทัพลงมาตีแคว้นสุโขไท หัวเมืองฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยานั้น เดิมเข้าใจกันว่า เป็นเพราะในปี พ.ศ.๑๙๘๕ อันเป็นปีที่พระเจ้าติโลกราชขึ้นครองนครพิงค์เชียงใหม่นั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้าสามพระยายกทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเอาเชียงใหม่ แต่ปล้นเอาเมืองไม่ได้ เพราะทรงพระประชวรเสียก่อน จึงถอยทัพกลับคืน เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุให้พระเจ้าติโลกราชผูกใจเจ็บ ครั้งสิ้นพระเจ้าสามพระยาแล้ว พระราเมศวรขึ้นครองราชเฉลิมพระนามว่า พระบรมไตรโลกนาถจึงถือโอกาสแก้แค้นด้วยการยกทัพลงมายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในแคว่้นสุโขไท และยึดครองเมืองชากังราวได้ ดังกล่าวแล้ว
ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะมีตำนานเมืองเหนือและ "พงศาวการกระซิบ" บอกให้รู้เรื่องชัดเจนขึ้นว่า สาเหตุที่มหาราชยกทัพมายึดหัวเมืองในแคว้นสุโขไทนั้น เป็นเพราะพระยายุธิษฐิระ หรือ พระยาอุทิศเจียง เจ้าเมืองสองแคว พาครัวไปสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราช ขอกำลังยกลงมายึดแคว้นสุโขไทคืนจากกรุงศรีอยุธยา
สาเหตุที่พระยายุธิษฐิระ ไปพึ่งพาพระเจ้าติโลกราช เพราะว่า สมัยที่ยังทรงพระเยาว์นั้น พระยุธิษฐิระ โอรสมหาธรรมราชาบรมปาล มีฐานะเป็น "ลูกผู้น้อง" ของ พระราเมศวร โอรสพระเจ้าสามพระยา ทั้งสองพระองค์มีพระชันษาใกล้เคียงกัน นัยว่า พระราชมารดาของพระราเมศวรเป็นพระพี่นางของพระราชมารดาพระยุธิษฐิระ พระราชวังของทั้งสองพระองค์อยู่ตรงข้ามกัน คือ พระยุธิษฐิระอยู่วังสองแฅว ฝั่งตะวันออกแม่น้ำน่าน พระราเมศวรอยู่วังจันทร์ ชัยนาทบุรี ฝั่งตะวันตกแม่น้ำน่าน ทั้งสองกุมารไปมาหาสู่เป็นพระสหายเล่นกันมาแต่เยาว์ มีความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันมาจนเจริญวัย เคยให้สัญญากันว่า ถ้าพระราเมศวรได้ครองราชสมบัติสืบแทนพระราชบิดา เจ้าสามพระยาแล้ว จะต้องสถาปนาให้พระยุธิษฐิระเป็นมหาอุปราช หรืออย่างน้อยให้ครองแคว้นสุโขไทในนามมหาธรรมราชา สืบแทนพระราชบิดาบรมปาล
ครั้นพระราเมศวรได้ครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว กลับไม่ทำตามสัญญา หากแต่ทรงตั้งให้พระยุธิษฐิระเป็นเพียงเจ้าเมืองสองแฅวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะพระองค์ดำเนินตามเจตนารมณ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราช กับสมเด็จพระนครินทราชา เจ้านครอินทร์ และ สมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้าสามพระยา ในการผนวกแคว้นสุโขไทเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงศรีอยุธยา จึงทรงยุบราชสำนักสองแฅว ลงเป็นหัวเมืองเอกฝ่ายเหนือ ตั้งพระยุธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองสองแฅว และที่สำคัญ ทรงยุบพระนามตำแห่งมหาธรรมราชา เอกลักษณ์แห่งสุโขไทเสียด้วย
และนี่จึงเป็นเหตุพระยุธิษฐิระทรงแค้นเคืองจนทนไม่ได้ ต้องไปขอพึ่งอำนาจพระเจ้าติโลกราชมากอบกู้สถานะของพระองค์ เป็นนศึกระหว่างล้านนา - อยุธยา ยืดเยื้ออยู่หลายปี
เรื่องนี้มีนัยที่ควรศึกษาหลายประเด็น พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระยาเชลียงเป็นขบถ -
พระบรมไตรโลกนาถเจ้า แต่งทัพเอา"มะลากาได้มาสิ้น อีกทั้งยังสมทบ"ลิสบทิน" หล่อรูปศิลป์"โพธิสัตว์ห้าร้อย"องค์
"พระยาเชลียง"เลี่ยงเร้นเป็นกบฏ เข้าสู่กลดมหาราชเสริมประสงค์ ยึดแคว้นสุโขไทดั่งใจจง เลิกขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
มหาราชยกมาอีกคราหนึ่ง ลงไปถึง"ปากยม"ปรารถนา ตั้งล้อมตี"กำแพงเพชร"เจ็ดทิวา แล้วยกล่าถอยไปมิได้เมือง |
อภิปราย ขยายความ...............
พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรลกนาถไว้ว่า "ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ.๑๙๙๗) ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก"
....."ศักราช ๘๑๗ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๙๘) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะลากา" ....."ศักราช ๘๑๘ ชวดศก (พ.ศ.๑๙๙๙) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทิน ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน" ....."ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก (พ.ศ.๒๐๐๐) ครั้งนั้นข้าวแพงเป็นทะนานแล ๘๐๐ เบี้ย เมื่อคิดเป็นเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งสิบบาท" ......ศักราช ๘๒๐ ขาลศก (พ.ศ.๒๐๐๑) ครั้งนั้นให้บุณพระศาสนาบริบูรณ์ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ ......ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก(พ.ศ.๒๐๐๓) เล่นการมหรสพฉลองพระ และพระราชทานแก่พระสงฆ์และพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง... ครั้งนั้นพระยาเชลียงเป็นขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช"
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดในกรุงศรีอยุธยา หลังจากเจ้าฟ้าสองแควยุธิษฐิระนำกองทัพมหาราชเชียงใหม่มาตีหัวเมืองในแคว้นสุโขไทและยกกลับไปแล้ว ในกรุงศรีอยุธยาเกิดไข้ทรพิษระบาดหนักผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก จากนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแต่งทัพให้ไปตีเมืองมะลากาได้ ต่อมาแต่งทัพไปเอาเมืองลิสบทิน พระองค์ยกทัพหลวงหนุนไปตั้งทัพหลวงที่ตำบลโคน ต่อมาเกิดสถานการณ์ "ข้าวยากหมากแพง" ขึ้น แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทะนุบำรุงพระศาสนา โปรดให้หล่อพระรูปโพธิสัตว์พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เสร็จแล้วจัดมหากรรมเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ พระราชทานทรัพย์สิ่งของแด่พระสงฆ์ พราหมณ์และวณิพกทั้งปวง.....
ในปีเดียวกันนั้นเอง มีข่าวลงมาแจ้งว่า พระยาเชลียงพาครัวไปเข้าอยู่ในร่มโพธิสมภารพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่
พระยาเชลียง ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและตำนานเมืองเหนือพระองค์นี้ไม่แน่ชัดว่าคือผู้ใด แต่พอจะสันนิษฐานคาดเดาได้ว่า เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตร (ไสยลือไท) พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ ครองสุโขไท -ศรีสัชนาลัย หรือไม่ก็เป็นโอรสในพระยาอโศกอุปราชสุโขไท ผู้เสวยราชย์อยู่ศรีสัชนาลัย พระยาเชลียงพระองค์นี้ มีพระชนมายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระยุธิษฐิระ และพระราเมศวร (บรมไตรโลกนาถ) สาเหตุที่พระยาเชลียงทรงพาครัวไปออกต่อมหาราช น่าจะเป็สาเหตุเดียวกันกับพระยุธิษฐิระ นั่นคิอ เพราะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงรวบอำนาจด้วยการรวมแคว้นสุโขไทเข้าไว้ในกรุงศรีอยุธยา แล้วยกเลิกความเป็น "มหาธรรมราชา" ของเชื้อพระราชวงศ์พระร่วงสุโขไท จึงทนรับไม่ได้ ต้องไปขอพึ่งอำนาจมหาราชเชียงใหม่ เช่นเดียวกันกับพระยุฐิระ "เจ้าฟ้าสองแฅว" ในที่สุด
.....พักยกไว้ตรงนี้ก่อนครับ ยังมีเรื่องราวที่น่าติดตามไว้ให้อ่านต่อใวันพรุ่งนี้ โปรดติดตามต่อไปนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดพระสี่อิริยาบถ : กำแพงเพชร - ปัญหาเมืองชากังราว -
มหาราชเชียงใหม่ได้เมืองหนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงซ้ำซากยังมากเรื่อง "ชากังราว"เป็นกรุงเคยรุ่งเรือง ข้าศึกเปลืองแรงพลังคร้้้งเข้าตี
ที่ตั้งนั้นวันนี้มีปัญหา เชื่อกันมาให้มองสองสามที่ กำแพงเพชร,เชลียงชื่อเสียงมี ถึงวันนี้ยังรอข้อเท็จจริง
พระบรมราชาฯ"เอา"มิได้ มหาเราชเชียงใหม่เหมือนใหญ่ยิ่ง "เอา"เมืองชากังราวไว้แอบอิง แล้วถอดทิ้งชื่อเก่าเอาใหม่แทน
เป็น"เชียงชื่น"รื่นหูให้รู้เห็น เมืองนี้เป็น"เชลียง"หลวงน่าหวงแหน คือ"ศรีสัชนาลัย"ในด้าวแดน เมืองคู่แคว้นสุโขไทในปางบรรพ์.... |
อภิปราย ขยายความ...........
พักเรื่องการสงครามล้านนา-อยุธยาไว้ก่อน ขอใช้ที่ตรงนี้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง คือ "ชากังราว" ซี่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อตามคำวินิจฉัยของพระเจ้าบรมวงเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ได้แก่เมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน
....ข้าพเจ้าเชื่อตามพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงพระราชวินิจฉัยไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" โดยพระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่า เมืองชาวกังราว คือเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) เหตุผลที่พาให้เชื่อตามพระราชวินิจฉัยนี้คือ มีพยานหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษม์) ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ทำขึ้นไว้ กับตำนานเมืองเมืองเหนือ ตอนที่ว่าด้วยศึกล้านนา-กรุงศรีอยุธยา
....พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) ยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาเอาเมืองชากังราวถึง ๓ ครั้ง แต่เอาไม่ได้ เพราะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท) บัญชาการรบอย่างเข้มแข็ง ประกอบกับ "ปู่พระย่า" แห่งเมืองน่านลงมาช่วย "หลานพระยา" ป้องกันเมืองด้วย เมือง "ชากังราว" ในพระราชพงศาดารนี้จึงควรเป็นเมือง "ศรีสัชนาลัย" (สวรรคโลกในกาลต่อมา) มิใช่กำแพงเพชร เพราะในช่วงเวลานั้น "กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์" ยังไม่เกิดทางฝั่งน้ำปิงตะวันออก มีแต่เมืองนครชุมอยู่ทางฝั่งตะวันตกเท่านั้น นี้ประเด็นหนึ่ง
....ในปี พ.ศ. ๑๙๙๔ ที่พระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่โดยการนำของพระยายุธิษฐิระ ยกทัพลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในแคว้นสุโขไท และ "ได้เมืองชากังราว" นั้น ตำนานกล่าวว่าเมื่อได้เมืองชากังราวแล้วลงมาปล้นเมืองเมืองสุโขไท แต่ปล้นไม่ได้จึงยกทัพกลับคืน แสดงให้เห็นว่า ที่ตั้งเมืองชากังราวอยู่เหนือเมืองสุโขไท จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากศรีสัชนาลัย ตามพระราชวินิจฉัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
....มหาราชเชียงใหม่ยึดครองเมืองชากังราวแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง "เชียงชื่น" จนมีคำกล่าวเป็นกลอนว่า "เชลียงเชียงชื่น" ให้หมื่นด้งนคร ซึ่งตั้งเมืองด้งอยู่ไม่ห่างไกลนักเป็นผู้ควบคุมดูแล (เมืองด้งปัจจุบันอยู่ในตำบลบ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย) ...
.....จึงสรุปได้ว่าเมือง "เฉิงเหลียง" ในจดหมายเหตุจีน คือ เมืองเชลียง ต่อมาเปลี่ยนเป็น ศรีสัชนาลัย ครั้งพระเจ้าติโลกราชยึดครองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเชียงชื่น ครั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยึดคืนมาได้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สวรรคโลก และเมืองนี้คือ "เมืองชากังราว" ใ นพระราชพงศาวดารกรุงเก่า และ ตำนานเมืองเหนือ อย่างแน่นอน
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดช้างล้อม : ศรีสัชนาลัย สุโขทัย - ศึกสองแคว้น -
เมื่อหัวเมืองฝ่ายเหนือพากันหนี เจ้ากรุงศรีอยุธยาคราคับขัน มอบสมบัติโอรสยศอนันต์ พระองค์พลันขึ้นเหนือเพื่อสงคราม
เสวยราชสองแฅวแลชัยนาท ติโลกราชกลับไล่ไม่เกรงขาม ศึกสองแคว้นรบรุกจนลุกลาม ฝ่ายสยามตั้งยันฝ่ายล้านนา
สุโขไทไร้เจ้าเป็นเงาร่ม ถูกกดจมดินเลนไม่เห็นค่า อยู่ใต้บาทภิญโญอโยธยา และมหาราชนครพิงค์..... |
อภิปราย ขยายความ..........
มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่ควรอ่านตอนนี้ คือ..." ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก ((พ.ศ.๒๐๐๔) พระยาเชลียงนำมหราชมาเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถ มิได้เมือง และจึงยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง และมหาราชก็เลิกทัพกลับคืนไปเชียงใหม่"
......”ศักราช ๒๘๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) เมืองนครไทยพาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน และให้พระยากลาโหมไปตามได้คืนมา และพระยากลาโหมไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า"
......”ศักราช ๘๒๕ มะแมศก (พ.ศ.๒๐๐๖) สมเด็จพระบรมไตรลกนาถเจ้า ไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก และตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามพระบรมราชา ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย จึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง และสมเด็จพระอินราชาเจ้าตีทัพพระยาเถียรแตก และทัพท่านมาประทัพหมื่นนคร และท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และครั้งนั้นเป็นโกลาหลใหญ่ และข้าเสิกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งเดียวนั้น ครั้งนั้น สมเด็จพระอินทราชาเจ้า ต้องปืน ณ พระพักตร์ และทัพมหาราชนั้น เลิกกลับคืนไป"
ได้ความว่า พระเจ้าติโลกราช เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ มหาราชแคว้นล้านนา ยกทัพโดยการนำของพระยาเชลียงลงมาเอาเมืองชัยนาทสองแฅว แต่ปล้นเอาเมืองไม่ได้ จึงยกเลยไปเอาเมืองกำแพงเพชร โจมตีอยู่ ๗วัน ๗ คืน ก็ปล้นเอาเมืองไม่ได้ จึงเลิกทัพกลับไป บันทึกประวัติศาสตร์ตอนนี้แสดงให้เห็นว่า สมัยนั้น พระเจ้าติกโลกราชได้เมืองชากังราว (ศรีสัชนาลัย) และสุโขทัยไว้ในครอบครองแล้ว จึงยกทัพเข้าปล้นเอาเพียงเมืองชัยนาทสองแฅว และ กำแพงเพชร ๒ เมืองเท่านั้น แต่ปล้นเอามิได้
หลังจากมหาราชเลิกทัพกลับไปแล้ว ทางเมืองนครไทยซึ่งมีผู้ครองเมืองเป็นเชื้อสายขุนบางกลางท่าว (ศรีอินทราทิตย์) ไม่พอใจสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถด้วยความคิดเช่นเดียวกันกับเจ้าฟ้าสองแฅวและพระยาเชลียง จึงพาครัวอพยพไปเมืองน่านซึ่งเป็นเมืองเดิมของขุนบางกลางท่าว ครานั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตรัสให้พระยากลาโหมเร่งตามจับครัวนครไทยกลับคืนมาได้ และพระยากลาโหมยังได้ยกทัพไปเอาเมืองสุโขทัยคืนมาได้อีกด้วย
เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในหัวเมืองฝ่ายเหนือเช่นนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแก้ไขด้วยด้วยการมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งครองกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามว่า พระบรมราชา แล้วพระองค์เสด็จขึ้นประทับเสวยราชย์ ณ ชัยนาทบุรี สองแฅว สยามในยามนั้นจึงแยกออกเป็น ๒ ราชสำนัก
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นมาเสวยราชที่เมืองเหนือแล้ว พระเจ้าติโลกราชก็ยกกองทัพใหญ่ โดยมี พระยุธิษฐิระ (พระยาเถียร) พระยาเชลียง หมื่นนคร (ลำปาง) เป็นกำลังสำคัญ เข้าโจมตีเพื่อยึดเมืองสุโขทัยให้จงได้
การศึกครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก มีการรบกันถึงขั้นชนช้างอย่างน่าตื่นเต้น พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อดีกว่านะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระอินทราชา ? -
"ยุธิษฐิระ"จากพะเยาเข้าสมทบ ออกหน้ารบห้าวหาญปานเสือสิงห์ ทรงช้างพลายใหญ่โตโผช่วงชิง ไล่พลวิ่งเข้าหาข้าศึกพลัน
ฝ่ายพระอินทราชา"ทัพหน้าเล่า ขี่ช้างเข้าตีทัพอย่างคับขัน ถึงกลางทัพพระยาเถียรเปลี่ยนไม่ทัน ปะทะกันกลางสนามโครามครามครืน
กำลังน้อยถอยหนีพร้อมตีสู้ กลางริปูรุมล้อมห้อมข่มขืน "พระอินท"สู้ประจญทนหยัดยืน แม้ต้องปืนที่หน้าไม่รามือ...... |
อภิปราย ขยายความ..........
พระเจ้าติโลกราชยกทัพใหญ่จากเชียงใหม่โดยการนำของพระยาเชลียง สมทบกองกำลังหัวเมืองต่าง ๆ เช่น พระยาเถียร (ยุธิษฐิระ) เมืองพะเยา หมื่นนคร นครลำปาง เป็นต้น บุกลงมาจากเชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย) หมายยึดสุโขไทให้จงได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยกทัพจากชัยนาท สรลวงสองแฅว เข้าป้องกันเมืองสุโขไท ทัพหน้าทั้งสองปะทะกัน และรบกันอย่างดุเดือด แม่ทัพหน้าของเชียงใหม่คือ พระยาเถียร (ไทยใต้เรียกกัน) หรือ พระยายุธิษฐิระ อดีตเจ้าเมืองสองแฅว (เรียกอีกนามหนึ่งว่าเจ้าฟ้าสองแฅว) ที่ยกครัวไปขึ้นกับพระเจ้าติโลกราชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองพะเยา ฝ่ายแม่ทัพหน้ากรุงศรีอยุธยา คือ พระอินทราชา
.... บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าให้รายละเอียดไว้ว่า "ศักราช ๘๒๕ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๖) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก และตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามพระบรมราชา ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย จึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง และสมเด็จพระอินทราชาเจ้า ตีทัพพระยาเถียรแตก และทัพท่านมาประทัพหมื่นนคร และท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และครั้งนั้นเป็นโกลาหลใหญ่ และข้าเศีกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งเดียวนั้น ครั้งนั้นพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์ และทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป"
... อ่านบันทึกนี้แล้วมองเห็นภาพว่า กองทัพพระยาเถียร หรือ ยุธิษฐิระยกลงมา กองทัพพระอินทราชายกเข้าปะทะ โจมตีจนกองทัพพระยาเถียรแตกถอยร่นไป พระอินทราชาทรงช้างพระที่นั่งบุกตลุยไล่ จนไปประกองทัพหมื่นคร เจ้าเมืองนครลำปาง หมื่นนครไสช้างเข้าชนช้างที่นั่งพระอินทราชา ขณะนั้นมีขุนศึกของเชียงใหม่อีก ๓ นาย ไสช้างเข้ารุมรบ ชนช้างพระอินทราชาแบบ "สี่รุมหนึ่ง" พระอินทรราชต่อสู้อย่างห้าวหาญ ยามนั้นทหารจากกองทัพพระอินทราชา และทัพหลวงสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าตามมาทันเข้าช่วยรบกันเป็นโกลาหล มีการยิงปืนใส่กันเป็นระยะ กระสุนปืนลูกหนึ่งต้องพระพักตร์พระอินทราชา แม้กระนั้นพระองค์ก็ไม่สะทกสะท้านการรบ ฝ่ายกองทัพหน้าของมหาราชเห็นท่าไม่ดีจึงล่าถอยกลับไป
...สมเด็จพระอินทราชาพระองค์นี้ เป็นใคร มาจากไหน ไม่พบที่มาที่ไป ในทางสันนิษฐานเชื่อได้ว่าพระองค์เป็นโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระบรมไตรโลก ซึ่งทรงตรัสให้เสวยราชสมบัติ ณ สุพรรณภูมิ เพราะคำว่า "พระอินท" เป็นนามสัญลักษณ์ของเจ้าผู้ครองสุพรรณภูมิ เริ่มแต่สมัยสมเด็จพระเทพาหูราชเป็นต้นมา จนปรากฏว่าพระนาม "อินท" มีอยู่ในราชวงศ์สุพรรภูมิ-สุโขทัยหลายพระองค์ หากจะสันนิษฐานว่า พระอินทราชา คือ "พระนครอินทร์" โอรสพระองค์หนึ่งของพระเจ้าสามพระยา ซึ่งควรจะเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระบรมไตรโลก ผู้ได้เสวยราชสมบัติเมืองพระนคร (กัมพูชา) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๗๔ นั้นก็เป็นไปได้ยาก เพราะมีระยะเวลาห่างไกลกันถึง ๓๒ ปี และอยู่ไกลเกินกว่าที่จะทิ้งเมืองพระนครมาร่วมรบได้ หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว ไม่ปรากฏนามพระอินทราชาพระองค์นี้อีกเลย
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 ปรางค์วัดจุฬามณีวัดจุฬามณี : พิษณุโลก - บรมไตรโลกผนวช -
เศิกสงบแสวงหาความสงัด ทรงสร้างวัดขึ้นตามความเชื่อถือ แต่งคำเทศน์มหาชาติราษฎร์เลื่องลือ เรื่องนั้นคือมหาทาน"เวสสันดร"
พระราชศรัทธาจริงอย่างยิ่งยวด ทรงผนวชเหมือนจักทรงพักผ่อน ปลงภาระบ้านเมืองเรื่องนาคร แผ่คำสอนศาสนาสาธุชน
ส่งพระสงฆ์เป็นสื่อสู่เชียงใหม่ มีความนัยการเมืองเปลื้องสับสน มหาราชรู้แผนแสนแยบยล จึงปัดพ้นทางได้ไม่ยากเย็น
พระบรมไตรโลกนาถเจ้า ผนวชเนานานได้ไม่ยากเข็ญ มีเหตุการณ์เกิดกรายหลายประเด็น ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมดีงาม....... |
อภิปราย ขยายความ......... สงครามชิงเมืองสุโขทัยระหว่างไทยใต้ฝ่ายป้องกันกับไทยเหนือฝ่ายรุกราน มีการรบกันอย่างดุเดือดถึงขั้นชนช้างแบบตะลุมบอนกันผ่านไปแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรง "หันหน้าเข้าวัด" ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกไว้ว่า.....
......."ศักราช ๘๒๖ วอกศก(พ.ศ.๒๐๐๗) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า สร้างพระวิหารวัดจุฬามณี" ......."ศักราช ๘๒๗ ระกาศก(พ.ศ. ๒๐๐๘) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ทรงพระผนวช ณ วัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาพระผนวช"
…....เสร็จศึกป้องกันเมืองสุโขทัยแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างวัดจุฬามณีริมน้ำน่านด้านใต้เมืองสองแฅว พร้อมกันนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวง โดยทรงนำมหาชาติ (ชาดก) เรื่องพระเวสสันดรมาพระราชนิพนธ์เป็นคำร้อยกรองประเภทร่ายยาว มหาชาติเรื่องเวสสันดรนี้ เดิมคือคำประพันธ์เป็นพระคาถาภาษาบาลี แบ่งออกเป็นกัณฑ์ได้ ๑๓ กัณฑ์ รวมเป็น ๑๐๐๐ พระคาถา เรียกว่า "คาถาพัน" พระภิกษุจะนำมาเทศน์เป็นกิริยาบุญต่อจากการเทศน์เรื่องพระมาลัย และมีการแหล่เป็นกลอนในพากย์ภาษาไทยสลับพระคาถาบาลีบ้าง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแปลเรื่องในพระคาถานั้นออกมาเป็นภาษาไทย ด้วยการร้อยกรองถ้อยคำเป็นบทร่ายยาว พระราชทานนามว่า "มหาชาติคำหลวง" ให้พระภิกษุใช้เทศนาให้พุทธศาสนิกชนฟังกันต่อไป
....หลังจากสร้างวัดจุฬามณีแล้ว จึงทรงพระผนวช ตามความในศิลาจารึกวัดจุฬามณีว่า "ลุศักราช ๘๒๗ ปีระกา นักษัตร เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำครุเทพวาร สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเป็นเจ้า เสด็จพระผนวช..........." ความจารึกนี้ระบุว่า ทรงพระผนวชอยู่นานถึง ๘ เดือน ๑๕ วัน พระราชโอรสพร้อมด้วยอำมาตย์พากันถวายบังคมอัญเชิญให้ลาพระผนวช มาครองราชดังเดิม ......ในระหว่างทรงพระผนวชอยู่นั้น ทรงส่งพระสมณะทูตไปยังราชสำนักนครพิงค์เชียงใหม่ ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวการฝ่ายไทยใต้ แต่มีอยู่ในตำนานฝ่ายไทยเหนือ
......ส่งพระสมณะทูตไปทำอะไร พรุ่งนี้ค่อยตามไปดูกันนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช - รบด้วยเล่ห์กลมนต์คาถา -
ชะตาเมืองนครพิงค์แข็งยิ่งนัก เศิกตีหักมิสำเร็จมักเข็ดขาม ฝ่ายกรุงศรีฯสืบดูจนรู้ความ ให้เถระภุกามแอบทำลาย
ลวงติโลกราชงงทรงเลื่อมใส เชื่อตัดไม้มงคลจนเสียหาย ราชสำนักนครพิงค์คนหญิงชาย คนดีดีที่ต้องตายอย่างไม่ควร
เจ้ากรุงศรีฯมีเล่ห์กลเสแสร้ง โดยทรงแต่งทูตที่มีครบถ้วน แฝง"หมอผี"เข้าไปในขบวน แอบก่อกวนรอบวัง"ฝังรูปรอย"
หมอผีถูกจับได้ด้วยไสยศาสตร์ มหาราชสั่งฆ่าทูตล่าถอย กลซ้อนเล่ห์เล่นกัน"มันปนกลอย" ข้อปลีกย่อยอาจใหญ่ได้เหมือนกัน.... |
อภิปราย ขยายความ.............
มีความในตำนานเมืองเหนือ (พงศาวดารโยนก) บันทึกเรื่องราวไว้ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงส่งราชทูตไปยังราชสำนักนครพิงค์เชียงใหม่ แจ้งว่ามีพระราชศรัทธาทรงพระผนวชบำเพ็ญเนกขัมบารมี ทูลขอคณะสงฆ์จากล้านนาไปร่วมในพิธีอุปสมบทกรรมด้วย มหาราชจึงส่งพระเทพกุลเถระพร้อมพระอันดับ ๑๒ รูป ให้หมื่นล่ามแขกเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นพร้อมพระสงฆ์ ถวายพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากทรงพระผนวชแล้ว ทรงส่งคณะสงฆ์ล้านนากลับเชียงใหม่ พร้อมส่งพระโพธิสมภารเถระเป็นพระสมณะทูตขึ้นไปเชียงใหม่ ให้เจรจาความเมือง ทูลขอเมืองศรีสัชนาลัยคืน
....มหาราชทราบเช่นนั้นจึงให้ประชุมสงฆ์เชียงใหม่ มอบเรื่องนี้ให้คณะสงฆ์พิจารณาเรื่องที่พระโพธิสมภารเถระเสนอตามพระราชประสงค์ของพระบรมไตรโลกนาถ พระมหาธรรมรัตนปราสาท ประธานสงฆ์เชียงใหม่เรียกประชุมคณะสงฆ์แล้ว มีมติออกมาเป็นเอกฉันท์ว่า "ไม่ควรแก่กิจสมณะ ไม่อนุญาต" พระโพธิสมภารเถระก็กลับมาด้วยความผิดหวัง
....พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกว่า "ศักราช ๘๓๐ ชวดศก (พ.ศ.๒๐๑๑) ครั้งนั้นมหาราชท้าวบุญ ชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก" เรื่องนี้มีความในตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้อย่างพิสดาร พอสรุปได้ว่า...
....มีพระเถระภุกามรูปหนึ่งเชี่ยวชาญในศิลปะศาสตร์วิทยาคุณ เฉลียวฉลาดในการเจรจา เดินทางไปกรุงศรีอยุธยา รับอาสาสมเด็จพระบรมราชาธิราชไปทำลายต้นไทรไม้ศรีเมืองเชียงใหม่ ให้ชะตาเมืองอ่อนลง พระเถระรูปนี้เดินทางอ้อมจากกรุงศรีอยุธยาไปหงสาวดีแล้วเข้าลำพูน เชียงใหม่ ในฐานะพระภิกษุรามัญ ไปพักอยู่วัดนันทาราม มีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จนข่าวล่วงรู้ไปถึงมหาราช ทรงทดสอบจนเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้บอกวิธีทำให้พระองค์มีพระชนม์ยืนนาน บ้านเมืองประสบความเจริญยิ่งๆขึ้นไป
....พระเถระภุกามได้โอกาส จึงเสนอให้ย้ายพระราชวังที่ประทับใหม่ ให้ตัดโค่นต้นไทร ปรับพื้นที่ถมคลองคูเมืองสร้างพระราชมณเฑียรใหม่ มหาราชจึงเร่งให้เสนาอำมาตย์สิงเมืองดำเนินการด่วน จนแล้วเสร็จในเวลาไม่นาน หลังจากทรงขึ้นประทับบนพระราชมณเฑียรใหม่แล้ว มีเรื่องร้ายเกิดขึ้น โดยแม่ท้าวหอมุกข์พระสนมเอก ทูลยุยงใส่โทษแก่ท้าวบุญเรืองราชโอรส ให้ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อย ต่อมาท้าวแม่หอมุกข์ทูลยุยงซ้ำเติม จนสั่งประหารท้าวบุญเรืองเสีย อีกเรื่องหนึ่งมีบัตรสนเท่ห์ใส่ความหมื่นม้าแก้วหาญจนถูกสั่งประหารชีวิตโดยไม่มีความผิด
....ต่อมาพระบรมราชาส่งคณะทูตมาถวายเครื่องบรรณาการเป็นพระราชไมตรี ในคณะทูตนั้นมีหมอผีร่วมมาด้วย หมอผีร่วมกับพระเถระภุกาม ทำการฝั่งรูปรอยตามมุมเมือง เพื่อทำลายศรีเมืองให้อ่อนกำลังลง มหาราชทรงใช้นักไสยศาสตร์ล้านนาจับหมอผีได้ หมอผีสารภาพว่าร่วมกับพระเถระภุกามทำลายศรีเมืองเชียงใหม่ มหาราชจึงให้เอาหมอผีพร้อมพระเถระภุกามไปประหารด้วยการถ่วงน้ำเสีย......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|