บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- มินมางประกาศแผ่นดินใหม่ -
องเชียงสือสิ้นไปเจ้าไม่ว่าง องมินมางสืบต่อเป็นปึกแผ่น จักรพรรดิยาลองครองดินแดน ไม่ขาดแคลนข้าวปลาประชาชน
ไมตรีก่อต่อไทยไว้ดังเก่า แม้มีเค้าบาดหมางอย่างสับสน ทั้งเขมรลาวญวนล้วนพิกล ไทยต้องทนคบค้ามาเรื่อยมานาน |
อภิปราย ขยายความ...............
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านความถึงตอนที่ พระวันรัตน์วัดมหาธาตุว่าที่สมเด็จพระสังฆราชต้องคดีอนาจารศิษย์ จนถูกถอดถอนและเนรเทศ แล้วแห่พระญาณสังวร สุก วัดพลับมาครองวัดมหาธาตุ เตรียมสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบไป
วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับเดิมกันต่อนะครับ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกเรื่องต่อไปว่า เมื่อความไข้สงบลงแล้ว ถึงเดือน ๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เสนาบดีประชุมตรวจดูข้อสัญญาที่พระเจ้าโปรตุเกสมอบให้กาลลดถือมาให้นั้น ดูว่าข้อใดไม่ชอบใจก็แก้ไขเสียบ้าง แล้วจึงเขียนเป็นอักษรไทยฉบับหนึ่ง อักษรโปรตุเกสฉบับหนึ่ง มีเนื้อความตรงกัน ประทับตราแผ่นดินแล้วให้ส่งออกไปเมื่อวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ การทำสัญญากันแต่ก่อนไม่เหมือนทุกวันนี้ เป็นแต่เขียนข้อสัญญายอมกัน ประทับตราส่งออกไปแล้วเป็นอันใช้ได้
ครั้น ณ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ คณะทูตไทยที่เดินทางไปญวน คือ พระยาทิพโกษา พระจิตรเสน่ห์ หลวงสำแดงฤทธิรง เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร พระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระราชสาส์นตอบเข้ามาฉบับหนึ่งใจความว่า
“กรุงพระมหานครศรีอยุธยาให้ทูตานุทูตคุมสิ่งของออกไปทรงยินดี แลช่วยในการพระศพนั้น กรุงพระมหานครศรีอยุธยามีพระทัยไมตรีเสมอต้นเสมอปลาย ขอบพระทัยยิ่งนัก บัดนี้ได้จัดทองคำห้าสิบตำลึงจีน เงินหกร้อยตำลึงจีน มอบให้ทูตคุมเข้ามาทรงยินดี ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาอยู่เย็นเป็นสุข จะได้เป็นทางพระราชไมตรีสืบไป” ทูตกลับมาครั้งนั้น ได้จดหมายประกาศแผ่นดินใหม่เข้ามาด้วยมีความว่า
“หนังสือประกาศด้วยเรามีกตัญญูรู้คุณแก่บิดามารดา จึงได้เป็นเจ้าของสำหรับได้เซ่นในที่ไว้อักษรจากฤกชื่อปู่แลบิดาญาติทั้งปวงในหอท้ายเหมี้ยว ได้เป็นใหญ่แก่อาณาประชาราษฎรในแว่นแคว้นแดนเมืองญวน เดชะที่เราถือกตัญญูจึ่งได้สมบัติซึ่งเป็นสินมรดกตามบิดาเราสั่งโดยง่าย มิได้เหน็ดเหนื่อยสิ่งใด อุปมาเหมือนหนึ่งสรวมเสื้อแต่งตัวเดินสบายเข้ามาครองราชสมบัติ ทั้งนี้ด้วยเทพยุดาเอ็นดูเรา อันราชสมบัติแล้วก็คงจะได้แต่แก่คนมีบุญ ซึ่งท่านแต่ก่อนได้รักษาแผ่นดินมาหลายชั่วคน กำหนดถึงสองร้อยเศษปี ครั้นตั้งแต่สองร้อยเศษปีมาแล้ว สมบัติ ณ เมืองญวนกระจัดกระจายไป อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน ว้างข่าวบิดาเราทรงพระอุส่าห์ไม่คิดเหน็ดเหนื่อย ออกน้ำพักน้ำแรงปราบข้าศึกศัตรูเมืองญวนจึงได้กลมกล่อมปรกติราบคาบ เหมือนหนึ่งสร้างแผ่นดินใหม่ อันพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ซึ่งได้บำรุงเมืองมาแต่ก่อนเป็นอันมาก หามีเกียรติยศเหมือนหนึ่งว้างข่าวบิดาเราไม่ อันว้างข่าวบิดาเรานั้นมีบุญดุจหนึ่งลงมาแต่ฟ้า ครั้นได้เสวยราชแล้วก็ตั้งอยู่ในสัจจเมตตาแก่อาณาประชาราษฎร ตั้งพระทัยแต่ที่จะบำรุงบ้านเมือง จะเหน็ดเหนื่อยก็มิได้คิดแก่พระองค์ ทุกข์ร้อนแทนขุนนางแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาได้สิบแปดปี บัดนี้ท่านสิ้นทุกข์ไปหาที่สบายแล้ว เหตุทั้งนี้ก็เพราะเทพยุดาให้เป็นไป อุปมาเหมือนหนึ่งภูเขาใหญ่พังลงถ้ำเหว แลต้นไม้ใหญ่เล็กทั้งปวงก็หวาดไหวสะเทือนสะท้านทั่วกัน ……..”
ข้อความในประกาศนี้ยังมีอีกยืดยาวซึ่งก็พอสรุปความต่อได้ว่า เมื่อกล่าวยกย่องสรรเสริญพระราชบิดาแล้ว กษัตริย์เวียดนามพระองค์ใหม่ (มินมาง) กล่าวว่า ได้รับพระเมตตาจากพระราชบิดามอบราชสมบัติให้ครองต่อจากพระองค์ แต่พระองค์ก็วิตกนัก ด้วยเห็นว่าทรงใหม่ต่อพระราชอำนาจ ขอให้ขุนนางข้าราชการช่วยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องระเบียบกฎหมาย แบบแผนธรรมเนียมประเพณี การบริหารบ้านเมืองสำหรับกษัตริย์ ที่จะรักษาแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข ในส่วนพระศพพระราชบิดานั้น ทรงประกาศว่าได้จัดแจงไว้ที่พระศพ การทั้งปวงเสร็จในเดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ได้จารึกพระนามว้างข่าวเชิญเข้าไว้ในหอท้ายเหมี้ยวสำหรับเซ่น และคำนับพระศพเซ่นสี่ทิศตามธรรมเนียม กษัตริย์พระองค์ใหม่ของเวียดนามได้ทำพิธีรับราชสมบัติ ณ พระที่นั่งท้ายว้าเดี้ยน ตั้งศักราชมินมางปีต้น ทรงยกส่วยสาอากรแก่ราษฎรปีหนึ่ง พระราชทานเพิ่มเบี้ยแก่เจ้าน้องเจ้าหลานขึ้นเป็นปีละห้าร้อยพวง เข้าสารปีละห้าร้อยถัง แล้วให้เลโบนำรายชื่อเชื้อพระวงศ์ที่ยังไม่มียศมาทูลเพื่อตั้งยศต่อไป จากนั้นก็ทรงตั้งยศเลื่อนยศ ขุนนางข้าราชการ ในเมืองและหัวเมืองทั้งปวงตามธรรมเนียม
พระยาทิพโกษา กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อไปอยู่ที่เมืองเว้นั้นได้ทราบว่า เกิดไข้ป่วง (อหิวาตกโรค) มีคนตายที่เมืองกวางนาม ๑๐,๐๐๐ เศษ เมืองกวางงาย ๓,๐๐๐ เศษ เมืองกุยเยิน ๔,๐๐๐ เมืองภูเวียน ๒,๐๐๐ เศษ เมืองยะตราง ๑,๕๐๐ เศษ เมืองบิ้นถุ่น ๑,๕๐๐ เศษ เมืองไซ่ง่อน ๓๐,๐๐๐ เศษ เมืองสะมิถ่อ ๑,๐๐๐ เศษ เมืองล่องโห้ ๒,๐๐๐ เศษ เมืองแตกเซีย ๓๐๐ เมืองบันทายมาศ ๗๐๐ เมืองเว้ก็ตายถึง ๓๐,๐๐๐ ทรงสดับเหตุโรคระบาดที่เมืองญวนคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย
* * อ่านพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ มาถึงตรงนี้ ได้ทราบนามขององเชียงสืออีกนามหนึ่งว่า “ว้างข่าว” ตามประกาศสรรเสริญของราชโอรสองค์ที่ ๔ นามว่า “มินมาง” ซึ่งขึ้นครองแผ่นดินญวน เป็นพระจักรพรรดิยาลองที่ ๒ พระยาทิพโกษาราชทูตไทย นำความกราบบังคมทูลด้วยว่า ในขณะที่อหิวาตกโรคระบาดในเมืองไทยคนตายเป็นเบือนั้น ในแผ่นดินญวนก็มีโรคนี้ระบาดคนตายมากมาย หลังจากองเชียงสือวรรคตแล้ว พระราชโอรสนั่งบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินญวนสืบแทน บทบาทพระเจ้ามินมางแห่งราชวงศ์ "เหงียน" จะมีอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เสียงสวดมนต์ในพระราชวัง -
เสียงมโหรีปี่พาทย์ระนาดฆ้อง เคยกึกก้องกล่อมวังกังวานหวาน กลับสงบซบเซาเบาเบิกบาน เกิดเสียงขานคำพระพุทธมนต์
ให้ชาววังซ้อมซักคำนักบวช แล้วร่วมสวดวันคืนชื่นกุศล ทรงสดับตรับฟังทั้งเยี่ยมยล และทุกคนนั้นต่างได้รางวัล |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระยาทิพโกษาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นราชทูตไปเวียดนาม ปฏิบัติภาระตามพระราชประสงค์แล้วกลับมาพร้อมกับนำประกาศสรรเสริญพระเจ้ายาลอง องเชียงสือมาถวาย และกราบทูลว่า ในประเทศเวียดนามเกิดโรคระบาดเช่นเดียวกันกับกรุงสยาม มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทรงทราบแล้วมีความสลดพระราชหฤทัยมาก เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ
* “ มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าศศิธร กับเจ้าจอมมารดาแมว หัดเจ้าจอมคนรำสวดมนต์ ด้วยเห็นว่าเคยฝึกหัดสวดมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้ราชบัณฑิตเข้ามาหัดที่พระทวาร เจ้าจอมสวดอยู่ในลับแลบนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ หัดซ้อมจนชำนาญทั้งอักษรแลสังโยค ครุ ละหุชัดเจนดีกว่าพระสงฆ์ จัดคนเสียงดีขัดตำนาน แลสวดได้ทุกสูตรตลอดถึงภาณยักษ์ทั้งสี่ภาณวาร จนมหาชัยมหาสาร ก็หัดสวดได้ ที่ไล่เดี่ยวได้ทุกสูตร กับคนเสียงดังจัดเป็นภาณยักษ์ ๓๐ คน
ครั้งนั้นสวดได้มากด้วยกัน จึงโปรดให้แบ่งสวดเป็นพวก พวกละสูตร เวลากลางวันทรงซ้อมบนท้องพระโรง เวลาค่ำเสด็จลงฟังสวดที่โรงละคร มีการสวดถวายคืนละ ๑ จบบ้าง ๒ จบบ้าง สวดจบแล้วพระราชทานคนละสลึงทุกคน ถ้าสวดดีเรียบร้อยไม่ผิดพลั้งก็พระราชทานรางวัลเพิ่มเงินบ้าง เป็นสิ่งของบ้าง
การฟังซ้อมสวดมนต์นั้น ทรงฟังเสมอทุกวันทุกคืน ซึ่งในภายหลังการเล่นอื่น ๆ ค่อยเสื่อมลง ถึงคราวพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท เดือน ๔ ข้างในก็สวดที่โรงละคร สวดบทพระธรรมจักกัปวัตนสูตร พระมหาสมัยสูตร พระอาฏานาฏิยสูตรเหมือนกัน
* * ท่านผู้อ่านครับ ในพระราชวังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากโรคร้ายสงบลงแล้วนั้น กึกก้องไปด้วยเสียงสวดพระพุทธมนต์ทั้งกลางวันกลางคืน แต่แทนที่จะเป็นเสียงพระภิกษุสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ กลับเป็นเสียงของคฤหัสถ์ ซึ่งมีทั้งเจ้าจอม ราชบัณฑิต คนรำ โดยมีพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าศศิธร เป็นองค์นำสวด ด้วยพระนางกับเจ้าจอมมารดาแมว เคยฝึกหัดสวดมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว และบทสวดนั้นก็เป็นสูตรใหญ่ ๆ เช่น พระธรรมจักกัปวัตนสูตร มหาสมยสูตร อาฏานาฏิยสูตร เป็นต้น
มีการเลือกคนเสียงดี “ขัดตำนาน” ด้วย การขัดตำนาน คือการสวดเดี่ยวในบทนำของพระปริต พระสูตรต่าง ๆ เช่น บทขัดเจ็ดตำตาน ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “สมันตา จักกวาเลสุ” หรือ ผริตตวา.. …สัคเค กาเม.. เป็นต้น แต่ละสูตรหรือแต่ละตำนานมีบทขัดไม่เหมือนกัน ผู้สวดบทขัดต้องคัดเลือกเอาคนเสียงดีมาสวดขัด เพื่อความน่าฟัง และฟังแล้วรู้สึกขลัง ศักดิ์สิทธิ์
ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้เลือกคนเสียงดีสวดภาณยักษ์ อันนี้น่าฟังมาก เพราะการสวดภาณยักษ์นั้นยาก พระภิกษุที่สวดภาณยักษ์ต้องหัด-ซ้อมให้เสียงเข้ากันและเสียงอยู่ตัว คนฟังจะรู้สึกว่าได้ยินเสียงยักโข คือยักษ์ตัวพ่อ ยักขี คือยักษ์ตัวแม่ และยักษ์ตัวลูก ยักษ์ตัวเสนาบริพาร (ยักโข วา ยักขิณี วา ยักขโปตโก วา ยักขเสนาย วา...) สารพัดยักษ์ที่มาร่วมร้อง (กล่าวขาน) อยู่ในสมาคมนั้น นักสวดภาณยักษ์ที่เป็นยักษ์ตัวพ่อ ต้องเลือกคนเสียงทุ้มกังวาน ออกเสียงคำรามจากลำคอฟังแล้วน่าเกรงขาม
ว่ากันว่านอกจากจะมีการสวดภาณยักษ์ สวดพระธรรมจักรและสูตรอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีการสวดที่ต่างออกไปอีก คือ “ลำสวด” หรือสวดคฤหัสถ์ และ สวด “โอ้เอ้วิหารลอย” เป็นต้น
ยังจำได้ไหมครับว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้แห่พระญาณสังวรเถร สุก จากวัดพลับมาอยู่วัดมหาธาตุ เมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ นั้น ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกถึงตรงนี้ว่า “ครั้นมาถึงวันพฤหัสบดีเดือนอ้ายขึ้นสองค่ำ ได้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรเถรเป็นสมเด็จพระสังฆราชอธิบดีสงฆ์”
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ขณะมีสมณะศักดิ์เป็นที่พระญาณสังวรเถร อยู่วัดพลับได้สร้างพระพิมพ์เนื้อผงแจกให้ผู้เคารพนับถือเป็นหลายแบบพิมพ์ เช่นพิมพ์ตุ๊กตา เป็นต้น ครั้นเข้าอยู่วัดมหาธาตุฯ และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ทรงสร้างพระพิมพ์ (พระเครื่อง) เนื้อผงแบบรูปสี่เหลี่ยม ด้านหลังองค์พระประทับอักขระขอมว่า “อรหัง” แจกจ่ายแก่ผู้เคารพนับถือ คนทั่วไปเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “สมเด็จอรหัง” และพระพิมพ์นี้เองที่เป็นรูปแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้นแจกจ่ายแก่ผู้เคารพนับถือ จนกลายเป็นพระเครื่องยอดนิยมแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เตรียมการรับพม่าข้าศึก -
พม่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ไม่นานนัก เริ่มฟูมฟักสงครามรุกคามขวัญ ฝ่ายสยามตามดูแล้วรู้ทัน เตรียมป้องกันด้านทางไว้อย่างดี |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวานที่แล้วได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพมหานคร ผู้คนล้มตายลงเป็นเบือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแก้ด้วยการจัดพิธีอาฏานาฏิยสูตร และทรงศีล จนโรคร้ายนั้นสงบระงับไป ในขณะเดียวกันนั้น โรคร้ายอย่างเดียวกันนี้ก็ได้ระบาดในเวียดนาม คนญวนล้มตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระทัย จึงโปรดให้มีการสวดพระสูตร พระปริตต่าง ๆ ในพระราชวังทั้งกลางวันกลางคืนแล้วนั้น วันนี้มาดูเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไป ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกความต่อไปอีกว่า.........
* “เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น พระยาภักดีสงคราม สมิงอาทมาทกองลาดตระเวนกรุงเทพมหานคร ได้ออกไปลาดตระเวน จับได้นายด่านโบ้ง (นายด่านโป่ง) ชื่อ มะเยละ พร้อมด้วยลูกน้องชื่อ งะจันตน กับ งะโค โดยเจ้าเมืองเมาะตะมะให้คุมไพร่เข้ามาจับคนไป เพื่อสืบราชการที่ตำบลด่านล่มช้าง เมื่อส่งตัวนายด่านโบ่งเข้ามาสอบถามแล้ว พม่าให้การว่า เจ้าอังวะองค์เก่า (ปะดุง) ทิวงคตแล้ว อินแซะผู้หลาน (จักไกแมง) ได้ราชสมบัติเป็นเจ้าอังวะ แล้วให้หาเจ้าเมืองมะริด เจ้าเมืองทวาย เมืองเชียง เมืองเกาะละเงิ่ง (เมาะลำเลิง) ขึ้นไปประชุมปรึกษาราชการจะเข้าตีกรุงเทพมหานคร
และเมื่อเดือน ๙ สมิงหาญหักค่าย ซึ่งเป็นรามัญใหม่ หนีความไข้ออกไปเมืองมะริดแล้วบอกแก่พม่าว่า กรุงเทพมหานครเกิดความไข้ผู้คนล้มตายระส่ำระสายเป็นอันมาก เจ้าเมืองเมาะตะมะจึงแต่งให้ มะส่วยคา เจ้าเมืองพังคาน พร้อมนายไพร่ ๘๓ คน เข้ามาจับคนทางท่าดินแดงไปสืบ ถ้าได้ความดังคำสมิงหาญหักค่ายแล้ว เจ้าเมืองเมาะตะมะ เจ้าเมืองมะริด จะขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะ ให้ยกกองทัพลงมาทางเมืองเมาะตะมะ เพื่อเข้าตีกรุงเทพมหานครต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความดังนั้น จึงทรงปรึกษาพระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดี ทุกคนเห็นพร้อมกันกราบทูลว่า เมื่อข่าวพม่าข้าศึกมีมาแล้วจะนิ่งประมาทอยู่มิได้ ควรยกกองทัพไปตั้งขัดทัพอยู่ เมื่อพม่ารู้ว่ามีกองทัพตั้งสกัดอยู่ก็จะเลิกไป ลางทีถ้าพม่ายกทัพมาจริง กองทัพฝ่ายเราก็จะได้ปะทะปะทังอยู่จนถึงกะเกณฑ์กองทัพไปช่วยกันได้ เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันดังนั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ คุมนายทัพนายกองไปขัดทัพอยู่เมืองเพชรบุรี ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่ทัพคุมคน ๑๐,๐๐๐ ออกไปขัดทัพด่านเมืองราชบุรี กาญจนบุรีทางหนึ่ง โดยให้ยกออกจากกรุงเทพมหานครพร้อมกัน ณ วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ไปตั้งทัพหลวงอยู่ที่แม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี แต่งให้พระยารัตนาจักรไปสืบราชการ จับพม่าได้ที่ด่านมองละ แขวงเมืองทวาย เป็นชาย ๖ คน หญิง ๒ คน พม่าที่ถูกจับได้นั้นให้การว่า เจ้าเมืองทวายจะให้ปลูกฉางเข้าขึ้น ๓ ฉาง จะขนข้าวเมืองยะไข่มาใส่ฉางไว้ ในเดือน ๖-๗ จะให้ตั้งกองทำนาที่เมืองทวาย และในปีมะเส็งตรีศก กองทัพพม่าก็จะยกเข้าตีกรุงเทพมหานคร ครั้นทราบความดังนั้น กองทัพกรุงเทพมหานครก็ตั้งรั้งรออยู่ พร้อมที่จะรับรบกับพม่าทุกเวลา
* ในระหว่างที่รอรับทัพพม่าอยู่นั้น ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็บันทึกตัดความเข้าสู่เรื่องจากเมืองจีนว่า เมื่อเดือน ๓ มีสำเภาจีนเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้ากรุงปักกิ่งมีพระราชสาส์นเข้ามาฉบับหนึ่ง ใจความว่า
“เจ้าปักกิ่งองค์ใหม่ยังใช้ยี่ห้อเกียเข้งอยู่ มีราชสาสนประกาศไปตามเมืองที่เป็นไมตรีกันว่า สมเด็จพระเจ้าเกียเข้งพระราชบิดา เสวยราชสมบัติได้ยี่สิบห้าปีสวรรคต เมื่อยังมีพระชนม์อยู่ได้ทรงพระอักษรไว้ว่า ตั้งแต่ได้ราชสมบัติก็ทรงพระอุตสาหทำนุบำรุงแผ่นดิน ข้าศึกศัตรูมีมาได้จัดกองทัพไปปราบปรามจนราบคาบ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข
เมื่อปีมะโรงโทศกนี้พระชนม์ได้ ๖๑ ปี ศักราชเกียเข้ง ๒๕ ปี ทำบั้นซื่อใหญ่ แต่บรรดาเมืองขึ้นใหญ่น้อยมาบั้นซื่อ จึงโปรดให้ยกส่วยแลอากรเงินติดค้างพระราชทานให้ เป็นเงิน ๒๐ ล้านตำลึงจีน คิดเป็นเงินไทย ๖๒๕,๐๐๐ ชั่ง ซึ่งยกส่วยแลอากรให้ขุนนางแลราษฎรทั้งนี้เพื่อจะให้ความสุขทั่วกัน ณ ปีมะโรง โทศก ขุนนางแลเมืองขึ้นมาแจ้งว่าฤดูฝนนี้บริบูรณ์ อาณาประชาราษฎรทำไร่นาได้ผลมาก ก็มีความยินดีนัก
เมื่อวันเดือนเก้าขึ้นสิบห้าค่ำเป็นฤดูร้อน เสด็จไปประพาสสวนเยียนโห เป็นที่เย็นสบายยังหามีพระโรคสิ่งใดมาเบียดเบียนไม่ ยังมีพระกำลังอยู่ ขึ้นเขาลงเขาก็แข็งแรง แลสวนนี้เป็นที่เย็นมาแต่ก่อน ครั้งนี้เสด็จมากลางทางเป็นฤดูร้อน จึงเกิดโรค วานนี้ข้ามเนินมาถึงสวนเยียนโห ให้บังเกิดเสมหะประทะขึ้นมา ครั้นเวลาค่ำพระโรคกำเริบมากขึ้น ทรงพระดำริเห็นว่าจะไม่คงพระชนมชีพแล้ว ทรงคิดถึงความหลังอย่างพระไอยกาไอยกีทรงประพฤติมา จึงสั่งขุนนางผู้ใหญ่ให้เอาหนังสือที่จดหมายเหตุยกความชอบไถจื้อ มาตรัสบอกกับขุนนางผู้ใหญ่ว่าจดหมายนี้ เมื่อ ณ วันเดือนหกขึ้นสิบค่ำเวลารุ่ง ศักราชเกียเข้งได้ ๑๘ ปี มีอ้ายเหล่าร้ายลอบเข้าไปในวัง ขึ้นบนหลังคาไถจื้อเบียนเหลง พระราชบุตรยิงอ้ายเหล่าร้ายตายสองคน พวกเพื่อนพลัดตกลงมา จับได้อ้ายเหล่าร้ายหลายคน มีความชอบ ได้ตั้งให้เป็นเจ้าติชินอ๋อง แล้วบุตรคนนี้รู้จักคุณบิดามารดากล้าแข็ง มีสติปัญญามาก ควรจะครองสมบัติกรุงปักกิ่งได้ แล้วตรัสสั่งสอนติชินอ๋องว่า ธรรมดาเป็นกษัตริย์ให้รู้จักคนดีแลคนชั่ว แลให้รักใคร่อาณาประชาราษฎร ความทั้งนี้ได้สั่งสอนอยู่เนือง ๆ ให้จำไว้จะได้รักษาบ้านเมือง เราเป็นกษัตริย์อายุได้ ๖๑ ปี ก็เป็นบุญมากอยู่แล้ว อยู่ภายหลังถ้าตั้งอยู่ในคำสั่งสอน ถึงจะตายไปก็ไม่เป็นห่วง แลพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนออกไปสวรรคตนอกพระราชวังก็มีอยู่ แลที่สวนนี้เคยเสด็จไปมามิได้ขาดเหมือนพระราชวัง เมื่อสวรรคตแล้วให้นุ่งห่มขาวแต่ ๒๗ วัน แล้วให้แจกกฎหมายประกาศป่าวร้องไปทุกหัวเมืองให้จงทั่ว พระเจ้าเกียเข้งสิ้นพระชนม์วันเดือนเก้าแรมสิบค่ำ ศักราชเกียเข้งยี่สิบห้า ปีมะโรง โทศก”
* * ขณะที่เตรียมการรับศึกจากพม่า และพม่ายังไม่ยกมานั้น ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้นำเรื่องทางประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มาบอกเล่าว่า พระเจ้าเกียเข้งเจ้ากรุงจีนเสด็จประพาสราชอุทยานแล้วเกิดประชวรกะทันหัน จึงประกาศตั้งให้ราชบุตรผู้เป็นเจ้าติซินอ๋อง ขึ้นครองบัลลังก์จีนสืบแทนพระองค์ จบเรื่องทางเมืองจีนแล้วจะมีเรื่องอะไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หะนขี้ผึ้งไทย ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พิธีโสกันต์เจ้าฟ้าพระองค์น้อย -
มาเก๊าขอต่อเรือเพื่อการค้า ทรงเมตตาโดยตลอดปลอดภาษี ต่อเรือเสร็จแล้ววุ่นทุนไม่มี ทรงปรานีน่าปลื้มให้ยืมทุน
จากนั้นทรงจัดพิธีที่ย่อย่อย “เจ้าฟ้าน้อย”โสกันต์พลันเรื่องวุ่น ทรงอาเจียนเป็นลมล้มกลางบุญ ชุลมุนแก้ไขได้เป็นนาน
เหตุเพราะเครื่องที่ทรงองค์หนักหนา “แต่งคนเล่นเป็นตุ๊กตา”ทรงว่าขาน วันต่อมาไม่แต่งตลอดงาน เป็นนิทานสอนใจให้คิดกัน |
อภิปราย ขยายความ...............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน ถึงตอนที่พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีพระราชสาส์นเข้ามาฉบับหนึ่ง แจ้งเรื่องราวที่พระเจ้าเกียเข้งประพาสราชอุทยานแล้วประชวรกระทันหัน ทรงมองราชสมบัติให้แก่เจ้าติซินอ๋องราชโอรสก่อนสวรรคต วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไป ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกต่อไปอีกว่า........
“ครั้นมาถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง โทศกนั้น เจ้าเมืองมาเก๊ามีหนังสือให้มิสเตอรแงนเดรันโยยิกา บิดามัสลินโน เข้ามาขอต่อกำปั่น ก็โปรดให้ต่อขึ้นที่หน้าบ้านกงศุลเยเนราล ปากกว้าง ๔ วา ๓ ศอก ครั้นต่อเรือกำปั่นเสร็จแล้วไม่มีทุนที่จะซื้อสินค้าบรรทุกออกไป จึงถวายระวางให้บรรทุกของหลวงออกไป แล้วยืมเงินหลวง ๑๒๐ ชั่ง เพื่อใช้ในการเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาพระราชทานให้ ซ้ำยังยกค่าธรรมเนียมต่อเรือปากเรือให้อีกด้วย”
จบเรื่องการขออนุญาตเข้ามาต่อเรือของมาเก๊าแล้ว เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็กล่าวถึงเรื่องการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าพระองค์น้อย มีรายละเอียดน่ารู้ดังต่อไปนี้
“ในเดือนสี่นั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย (คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔) มีพระราชดำรัสแก่พระราชวงศานุวงศ์แลเสนาบดีว่า ในปีนี้ความไข้เป็นทุกข์ร้อนมาก แลมีการทัพศึก ต้องจัดกองทัพไปรักษาด่านทาง ป้องกันข้าศึก ไม่ได้อยู่พรักพร้อมแล้วทำแต่เล็กน้อยเถิด จึงโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงพิทักษมนตรี กรมขุนอิศรานุรักษ เป็นผู้บังคับบัญชา จับการทำเขาไกรลาศ เขาไกรลาศนั้นย่อมกว่าครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ เครื่องจักรเครื่องกลการทั้งปวงก็ไม่มีอะไรนัก มีแต่รูปสัตว์บ้าง ไม่ครบครัน ในพระมณฑปบนยอดเขาไกรลาศนั้น ตั้งระย้าที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นของในพระบวรราชวัง
ถึง ณ วันเดือนสี่ แรมค่ำหนึ่ง แรมสองค่ำ แรมสามค่ำ พระสงฆ์ราชาคณะสวดพระปริตพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันสวดมนต์ที่หนึ่งยังมิทันจบ เกิดเพลิงไหม้หน้าวัดมหาธาตุริมแม่น้ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปให้ข้าราชการช่วยกันดับเพลิง
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนสี่ แรมสี่ค่ำ เป็นวันพระฤกษ์โสกันต์ ครั้นโสกันต์แล้วเวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่มาสมโภชทรงเครื่องต้น เสด็จนั่งในที่มณฑล กำลังสมโภชอยู่ให้ทรงพระอาเจียรประชวรพระวาโย ดำรงพระองค์อยู่มิได้ ล้มลงมาจากพระแท่นทั้งเครื่องทรง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้แพทยหมอแก้ไขอยู่จนเวลาย่ำค่ำ พระอาการปกติแล้วจึ่งได้ตั้งกระบวนแห่กลับถึงข้างในพระราชวังเวลาทุ่มเศษ ในวันสมโภชที่สองที่สามต่อมา ก็ไม่ทรงเครื่องต้นอีกเลย ทรงแต่พระภูษาทรงหางหงส์ พระมาลาแลฉลองพระองค์อย่างเทศ พระองค์ท่านไม่ยอมทรงเครื่องต้น ตรัสว่า จะเอาคนมาปั้นแต่งเล่นอย่างตุ๊กตาจะได้ฤๅ สมโภชครบกำหนดสามวันเป็นเสร็จการพระราชพิธี”
** ท่านผู้อ่านครับ ในปีจุลศักราช ๑๑๘๒ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๖๓นั้น มีเรื่องราวเกิดขึ้นในกรุงสยามมากมาย ความไข้คืออหิวาตกโรคระบาดหนัก ผู้คนล้มตายลงมากมาย ครั้นความไข้สงบแล้ว เจ้าเมืองมาเก๊าก็ขอส่งคนของตนเข้ามาต่อเรือสินค้าที่บางกอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตให้ดำเนินการได้ ครั้นต่อเรือเสร็จก็หมดทุน ไม่มีเงินซื้อสินค้ากลับเมือง ก็ทรงเมตตาให้ยืมเงินไปใช้ในการเรือนั้น ส่วนข่าวพม่าที่เตรียมการจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ อีกนั้น ทางกรุงเทพฯ จัดกองกำลังไปขัดตาทัพแล้วก็ไม่มีทัพพม่ายกมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงถือโอกาสว่างศึกนั้น จัดพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งมีพระชนมายุครบวาระที่จะทรงโสกันต์แล้ว ในพระราชพิธีโสกันต์นั้นท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้บันทึกรายละเอียดไว้มาก มีประเด็นสำคัญที่แปลกออกไปก็คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าน้อยทรงเครื่องต้นประทับนั่งในพิธีแล้วทรงอาเจียร เป็นลมตกจากพระแท่น ต้องพยาบาลกันเป็นเวลานาน ครั้นรุ่งขึ้นต้องเข้าพิธีต่อ พระองค์ไม่ยอมทรงเครื่องต้นอีก ตรัสว่า “จะเอาคนมาปั้นแต่งเล่นอย่างตุ๊กตาจะได้หรือ” พระชันษาเพียงแค่ ๑๐ กว่าปี ทรงมีความคิดอย่างที่เรียกว่า “โตเกินวัย” อย่างน่าทึ่งทีเดียว
เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯจะมีอะไรต่อไป อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- จิ้มก้องพระเจ้าเตากวาง -
กองทัพทางเพชรบุรีไม่ดีนัก ใช้ยศศักดิ์หาประโยชน์โหดมหันต์ เก็บภาษ๊ราษฎรไม่วันวัน ข่าวโษจันดังไกลถึงในกรุง
พระเจ้าอยู่หัวเลิกคอยสั่งถอยทัพ มาตั้งรับเมืองหลวงไร้เรื่องยุ่ง ทุกสิ่งอย่างสร้างสรรพ์รู้ปรับปรุง เร่งบำรุงบ้านเมืองเรืองรำไร
กับกรุงจีนรุ่งเรืองเมืองมิตรเก่า ส่งทูตเข้า“จิ้มกล้อง”ฮ่องเต้ใหม่ สานสัมพันธไมตรีมีต่อไป ถือจีนไทยเกี่ยวข้องพี่น้องกัน |
อภิปราย ขยายความ...............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมา ใ ห้ทุกท่านอ่านกันถึงเรื่องราวในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี หรือเจ้าฟ้าน้อย (ต่อมาคือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) ได้ทราบรายละเอียดกันไปแล้ว วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไป ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกถึงเรื่องกองทัพที่ยกไปขัดตาทัพพม่า เป็นเรื่องไม่สู้ดีนักว่า......
“ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๘๓ กองทัพไทยซึ่งไปตั้งฟังราชการอยู่ที่แม่น้ำน้อย กาญจนบุรีนั้น เห็นว่าไม่มีศึกสงครามแน่แล้ว จึงให้กำลังพลตัดไม้ทำแพขนเอาศิลาก้อนใหญ่ ๆ ลงแพ บรรทุกเข้ามาถวายเพื่อใช้ในการก่อภูเขาในพระราชวังอีก ฝ่ายกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ ซึ่งไปตั้งอยู่เมืองเพชรบุรีนั้น ปรากฏข่าวออกมาว่านายทัพนายกองเบียดเบียนราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อนหนัก กรมหลวงพิทักษ์มนตรีทราบความแล้ว มีจดหมายไปถึงพระยาโกษาธิบดี พระยาเสนาธิเบศร ให้กราบทูลกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ ใจความว่า
“จะมีหนังสือห้ามปรามเตือนสติออกมา เกลือกจะไม่เห็นด้วย จะว่าอิจฉา แกล้งใส่ความด้วยไม่มีตัวว่า เป็นแต่คำเล่าลือ บัดนี้ได้ความชัดรู้ด้วยกันมากแล้วว่า กักเรือราษฎร เก็บเรือลำเลียงเข้า เ จ้าของเรือก็เป็นบ่าวนายทัพนายกอง ต่างมีอาญาสิทธิคุ้มครองเสียสิ้น เวียนแต่ลากไปลากมา เกือบจะวิวาทชกต่อยกันขึ้น ที่ใครโฉดเขลาเก็บได้ก็สั่งไปลำเลียง ที่มีสติปัญญาช่ำชองถึงใจก็รอดตัว โดยแต่เรือจะเข้าออกก็ต้องเสียเบิกล่องน้ำตาลหม้อหนึ่งจึ่งได้เข้ามา แล้วราษฎรมีข้าวอยู่เกวียนหนึ่งก็ต้องจัดซื้อเสียบั้นหนึ่ง น้ำตาลราษฎรซื้อขายกันหกหม้อเป็นเงินบาทเฟื้อง ก็จัดซื้อว่าเป็นของหลวงเจ็ดหม้อบาท จะปรึกษาราชการก็เป็นพวก ๆ กัน ถ้อยความเก่าใหม่ก็เอามากล่าวสับสน บรรดาสิ่งของในเมืองเพชรบุรี หาพอความนายทัพนายกองแต่ที่ประโยชน์ไม่ ละเอียดลงไปจนไม้ไผ่และเขาโคก็เป็นของต้องการไปเสียสิ้น ในข่าวเล่าลือว่าดังนั้น ก็พลอยวิตกกลัวจะเสียรางวัดด้วย ด้วยเป็นผู้กราบทูลพระกรุณาให้ออกมาสำเร็จราชการแล้ว เห็นว่ามิใช่ผู้อื่น ตั้งพระทัยจะให้มีความดีไปภายหน้า จะได้ช่วยราชการแผ่นดินเบาแรง ครั้นความเป็นดังนี้ทรงพระวิตกอยู่ ด้วยทางปากแพรกเมืองราชบุรีนั้น มีแต่คำไพร่บ้านพลเมืองซ้องสาธุการสรรเสริญ ไม่เหมือนทางเมืองเพชรบุรี มีแต่ต่างคิดต่างทำ ด้วยเหตุที่ว่าหามีผู้เตือนสติไม่ จึ่งเกิดความฟุ้งเฟื่องเข้าไปถึงกรุงดังนี้ไม่ควร จะเกิดความเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ละอายแก่ชาวเมืองเพชรบุรี ด้วยการข้างหน้ายังมีอยู่เป็นอันมาก ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้มิใช่จะเอาความผิดนายทัพนายกองฤๅก็หาไม่ ด้วยเห็นว่าเพิ่งแรกออกโรงใหม่อยู่ ได้พลั้งเกินไปคนละเล็กละน้อยแล้ว ให้พระเจ้าน้องยาเธอหาตัวมาพร้อมกันสะสางผ่อนปรนเสียโดยควรโดยชอบราชการ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พม่าปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงมาไว้ แล้วให้ทำไร่นา เห็นจะมีราชการศึกเป็นแน่ แต่เดี๋ยวนี้เข้าฤดูฝนแล้วคงจะยังไม่ยกทัพมา จึงควรให้เลิกทัพกลับมาเสียคราวหนึ่งก่อน จึงโปรดให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ พระยากลาโหมราชเสนา พระยามหาโยธา คุมคน ๘,๒๐๐ ไปตั้งขัดทัพอยู่เมืองราชบุรี แล้วมีตราให้หากองทัพกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ กลับเข้ากรุงเทพมหานคร
ในปีเดียวกันคือปี พ.ศ. ๒๓๖๔ นั้น หลังจากที่ได้รับหนังสือประกาศของไถจื๊อติชินอ๋อง ราชบุตรพระเจ้าเกียเข้ง พระเจ้าแผ่นดินจีนแจ้งว่า พระราชบิดาสวรรคต และพระองค์ได้สืบราชสมบัติกรุงปักกิ่ง โดยตั้งยี่ห้อว่า เตากวางที่ ๑ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงแต่งทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปคำนับศพฉบับหนึ่ง จิ้มก้องพระเจ้าเตากวางแผ่นดินใหม่ฉบับหนึ่ง ให้พระสวัสดิสุนทรอภัยเป็นราชทูต หลวงบวรเสนาเป็นอุปทูต หลวงพจนาพิมลเป็นตรีทูต ขุนพินิจวาจาเป็นบั้นสื่อ ขุนพจนาพิจิตรเป็นท่องสื่อใหญ่ เชิญพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ และราชสาส์นคำหับ นำเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไปทรงยินดีเป็นจำนวนมาก
ถึงเดือน ๙ ในปีนั้น เกิดข้าวมีราคาแพงถึงเกวียนละ ๑ ชั่ง ถึงเดือน ๑๐ ลูกค้าชาวอเมริกันชื่อ กปิตันแฮน เข้ามาค้าขาย มีปืนคาบสิลาเข้ามาจำหน่ายด้วย จำนวนมากน้อยเท่าใดไม่ปรากฏ เจ้าพนักงานขอแลกน้ำตาลทราย โดยตกลงกันในจำนวนน้ำตาลทราย ๑ หาบ แลกปืนได้ ๑ บอก และกปิตันแฮนขอเข้าเฝ้าถวายปืนคาบสิลา ๕๐๐ บอก จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตรัสว่า กปิตันแฮนเอาปืนเข้ามาขายให้เป็นกำลังแผ่นดินถึงสองครั้ง มีความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้กปิตันแฮน เป็น หลวงภักดีราชกปิตัน พระราชทานหมากคนโทกะหลั่ยเป็นเครื่องยศ ส่วนปืนที่ถวายนั้นก็พระราชทานน้ำตาล น้ำตาลทราย ให้ตอบแทนตามราคา และยกภาษีพระราชทานให้เป็นเงิน สามสิบชั่งสิบสี่ตำลึง”
* อ่านพระราชพงศาวดารฯถึงตรงนี้แล้วพบอีกว่า กองทัพไทยยามว่างศึกนั้น ทหารขาดระเบียบวินัยมาก มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง โดยมิได้คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี หนังสือกรมหลวงพิทักษ์มนตรีที่มีไปถึงพระยาโกษาธิบดี และ พระยาเสนาธิเบศร ให้กราบทูลกรมหมื่นเจษฏาบดินทร ถึงเรื่องราวทางกองทัพเพชรบุรีข่มเหงรังแกราษฎรนั้น เป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณี “ความเกรงใจ” แบบอย่างไทยแท้แต่โบราณ
วัฒนธรรมประเพณีไทยที่ยังรักษาไว้อีกประการหนึ่งคือ “จิ้มก้อง” กับพระเจ้ากรุงจีน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงได้รับพระราชสาส์นประกาศจากกรุงจีนว่าฮ่องเต้องค์เก่าสิ้นพระชนม์แล้ว ไท้จื่อติซินอ๋องราชโอรสขึ้นครองแผ่นดินสืบแทนเป็นพระเจ้าเตากวางที่ ๑ จึงทรงส่งราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแสดงความยินดีตามธรรมเนียม ในเวลานั้นพ่อค้าชาวอเมริกัน ชื่อกปิตันแฮน เข้ามาทำการค้า นำปืนคาบสิลา ๕๐๐ บอกมาถวาย ทรงยินดียิ่งนัก โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นภักดีราชกปิตัน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ได้เมืองไทรเป็นประเทศราช -
พม่าชวนญวนฝรั่งทั้งแขกให้- รุมตีไทยเข้าอับจนคับขัน เห็นควรปราบเมืองไทรให้เร็ววัน ก่อนจะผันแปรไปเป็นศัตรู
เจ้าพระยานครน้อยคอยทีท่า เมื่อเห็นว่าเมืองไทรหมายต่อสู้ จึงยกทัพลงไปเข่นมิเอ็นดู ปราบหมดหมู่เมืองทั้งลังกาวี
ยึดเมืองไทรได้หมดกำหนดเขต เป็นประเทศราชสยามงามศักดิ์ศรี หัวเมืองใต้ไทยพบสงบดี บารมีพระเลิศหล้าสง่างาม |
อภิปราย ขยายความ...............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงเรื่องราวที่พระเจ้ากรุงสยามส่งราชทูตนำเครื่องบรรณาการไป “จิ้มก้อง” พระเจ้ากรุงจีน และมีพ่อค้าชาวอเมริกันเข้ามาค้าขายในกรุงสยาม นำปืนคาบสิลาขึ้นทูนเกล้าฯถวาย ๕๐๐ บอก โปรดเกล้าฯตั้งให้นายกปิตันแฮนชาวอเมริกันนั้น เป็น หลวงภักดีราชกปิตัน วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ
* “และต่อมาในปีเดียวกันนั้นก็สืบได้ความว่า ทางพม่าได้มีหนังสือไปชวนฝรั่งบ้าง ญวนบ้าง พระยาไทรบุรีบ้าง ให้เข้ามาตีกรุงเทพมหานคร ภายหลังจีนลิ่มหอยมะเกาชาวเมืองถลางซึ่งไปค้าขายยังเมืองเกาะหมากกลับมา เห็นเรือพม่ามีลักษณะผิดไปจากเรือลูกค้าน่าสงสัย จึงเข้าตีเอาเรือพม่านั้นได้ เมื่อค้นเรือแล้วจึงพบราชสาส์นพม่าที่มีไปถึงพระยาไทรบุรี จึงจับคนพม่าและยึดเรือนั้นส่งให้ผู้รักษาเมืองถลาง พระยาถลางจึงบอกส่งพม่าและหนังสือพม่ากับจีนลิ่มหอยเข้ากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้แปลหนังสือพม่าฉบับนั้นก็ได้ความว่า พม่าไปชวนให้พระยาไทรบุรีเป็นขบถ จึงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลจีนลิ่มหอย ตั้งให้เป็นหลวงราชกปิตัน ทำอากรดีบุกอยู่ ที่เกาะถลาง
จากการที่ได้หนังสือพม่าชวนพระยาไทรบุรีให้เป็นขบถนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่า เมืองไทรบุรีร่วมคิดด้วยพม่าจะปล่อยไว้มิได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช หาตัวตนกูปะแง่รัน ซึ่งเป็นเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ามา เจ้าพระยาไทรบุรีก็มิได้เข้ามาตามท้องตรา ดังนั้นจึงมีพระราชบัญชาให้ยกกองทัพไปตีเอาเมืองไทรบุรีไว้เป็นเมืองขึ้น มิให้เป็นเมืองประเทศราชเหมือนแต่ก่อน
ครั้งนั้นโปรดให้เจ้าพระยานคร พัด เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจางวาง ตั้งพระยาเสน่หามนตรี น้อย บุตรคนโตของท่านขึ้นเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
ครั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช น้อย ได้ทราบท้องตราแล้ว ก็คิดอุบายโดยมีหนังสือไปถึงเจ้าพระยาไทรบุรีว่า “ที่กรุงจับได้พม่ามาถามได้ความว่า อวุ่นกีแม่ทัพพม่าตั้งอยู่เมืองหมัดหมะ จะยกทัพมาตีเมืองฝ่ายตะวันตกตลอดมาถึงเมืองไทร ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึ่งโปรดให้เจ้าพระยานครยกทัพมาตั้งต่อเรือรบอยู่เมืองตรัง คอยสู้รบพม่า ป้องกันเมืองไทรแลเมืองตะวันตกไว้ ให้เจ้าพระยาไทรเอาเงินส่วยรังนกของหลวงจัดซื้อข้าวขึ้นฉางไว้ให้มาก จะได้จ่ายกองทัพ”
 พระยาไทรบุรีได้มีหนังสือตอบมาว่า “จัดซื้อข้าวไว้ได้มากแล้ว” ถึงวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ เจ้าพระยานครยกทัพลงไปตั้งต่อเรือรบอยู่เมืองตรัง เมื่อต่อเรือเสร็จแล้ว จึงให้เรือลงไปรับบรรทุกข้าว ก็ไม่ได้ จึงทราบว่าเจ้าพระยาไทรบุรีพูดปดว่าได้จัดซื้อข้าวไว้มากแล้ว เจ้าพระนครนคร “น้อย” เห็นเป็นทีแล้วก็ยกทัพลงไปทางบก ให้นายทัพนายกองยกทัพเรือลงไปเข้าปากน้ำ และยกเข้าตีเมืองไทรบุรีพร้อมกัน ได้สู้รบกันอย่างดุเดือด ไพร่พลไทยแขกล้มตายลงเป็นอันมาก
 ณ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ เจ้าพระยาไทรบุรีเห็นทีจะสู้มิได้ก็หลบหนีไปอยู่เกาะหมาก (ปีนัง) ส่วนบุตรหลานศรีตวันกรมการนั้นหนีไปอยู่เกาะนางกาวี (ลังกาวี) เมื่อยึดเมืองไทรบุรีได้แล้ว เจ้าพระยานคร “น้อย” จึงจัดให้นายฉิม นายปาน น้อง ๆ หลายคนคุมเรือรบ ๗๐ ลำ ไปตีเกาะนางกาวี พวกแขกหนีกระจัดกระจายไป นายฉิมกับพวกจึงยึดเกาะนางกาวีได้ในที่สุด
ในการรบครั้งนั้นปรากฏว่า ได้สูญเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงตั้งพระยาเสนานุชิตผู้บุตร อยู่รักษาเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนครอบครัวแขกเข้ามาไว้ใช้ก็มาก ส่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ให้ขุนนางที่ชอบพอกันเป็นหลายแห่ง
ความที่ว่า “จึงตั้งพระยาเสนานุชิตผู้บุตรอยู่รักษาเมืองไทร” นั้น ความในฉบับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ได้ให้และรายละเอียดไว้ว่า “จึงให้พระภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรพระยานครฯ เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี แลให้นายนุชมหาดเล็กบุตรอีกคน ๑ เป็นปลัดอยู่รักษาราชการที่เมืองไทรบุรี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอศวรรย์ ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงคราม รามภักดี พิริยพาหะพระยาไทรบุรี แลตั้งนายนุชมหาดเล็ก เป็นพระเสนานุชิต ตำแหน่งปลัด เมืองไทรบุรีจึงอยู่ในอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช สิทธิขาดแต่นั้นมา”
** ท่านผู้อ่านเห็นความร้ายกาจของพม่าไหมครับ สู้รบกับไทยตัวต่อตัวไม่ได้ ก็เที่ยวไปชักชวนให้ฝรั่ง ญวน แขกเมืองไทร (บุรี) เข้าเป็นพันธมิตรร่วมรบล้อมตีเมืองไทย เมืองไทรเริ่มมีใจออกห่างไทยตามคำชักชวนพม่าแล้ว ดีที่เจ้าพระยานครน้อยวางอุบายเข้าโจมตีเมืองไทรได้เสียก่อน แล้วยึดครองเมืองไทรไว้ในอำนาจได้อย่างเด็ดขาด เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฯฉบับนี้ต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ทูตไมตรีอังกฤษผิดหลักการ -
อังกฤษส่งทูตมาทำหน้าที่ ผูกไมตรีเป็นมิตรชิดสยาม ทูตยโสโอหังอย่างคุกคาม กล่าวติความล้าหลังทหารไทย
ไปเที่ยวหยั่งน่านน้ำวัดความลึก เป็นเชิงศึกษาทางวางแผนใหญ่ มองเห็นชัดว่าอังกฤษคิดพาภัย เลวร้ายให้สยามมากกว่ามาดี |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน ถึงเรื่องราวที่พม่ามีหนังสือไปเที่ยวชักชวนฝรั่ง ญวน และไทรบุรี ร่วมตีสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงทราบ จึงตรัสให้เจ้าพระยานครฯยกทัพไปปราบปรามเมืองไทรบุรีได้สำเร็จ แล้วตั้งบุตรเจ้าพระยานครเป็นเจ้าประเทศราชปกครองไทรบุรี ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เด็ดขาดแต่นั้นมา วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 จอห์น ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด) * “ ในเดือน ๔ ปีเดียวกันนั้น เจ้าเมืองแบงคอลได้มีหนังสือบอกมาว่า จะให้การะฝัดเข้ามาทำหนังสือสัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาสุรวงศ์มนตรีขึ้นเป็นที่เจ้าพระยาพระคลัง เพื่อจะได้รับรองทูตอังกฤษ
ครั้นถึงปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๘๔ (พ.ศ. ๒๓๖๕) อันเป็นปีที่ ๑๔ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าเมืองมังกลาแต่งให้การะฝัดเป็นราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ราชทูตอังกฤษเดินทางเข้ามาด้วยเรือกำปันสองเสาครึ่ง ได้เข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ จึงโปรดให้ถอยเรือขึ้นมาทอดอยู่หน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าเมืองมังกลามีอักษรสาส์นมาถึงเจ้าพระยาพระคลังใจความว่า
“แต่งให้การะฝัดขุนนางถืออักษรสาส์นคุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยความยินดี จะขอให้เมืองมังกลากับกรุงเป็นทางพระราชไมตรียิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน แลว่าที่เมืองรอบนั้น รบพุ่งกับฝรั่งเศสมาหลายปีแล้ว บัดนี้ฝรั่งเศสกับอังกฤษแลเมืองฮินดูสะตานก็ราบคาบปรกติกัน เพราะอังกฤษมีกำลังมากกว่าชาติฝรั่งทั้งปวง ทางทะเลตั้งแต่เกาะลังกาไปจนถึงแดนเมืองจีน แต่แดนอังวะไปถึงทวีปอินเดีย คนประมาณเก้าโกฏิสิบโกฏิอยู่ในบังคับอังกฤษ อังกฤษหาต้องการที่จะคิดรบพุ่งเอาบ้านเมืองต่อไปไม่ แลเมืองอื่นนอกจากที่ขึ้นอังกฤษก็เป็นไมตรีรักใคร่กันทั้งสิ้น แลลูกค้าอังกฤษไปมาค้าขายถึงกัน เป็นไมตรีกันทั้งสองฝ่าย แลเมืองรอบนั้นเมืองขึ้นก็มากเหลือที่จะบังคับบัญชา จึ่งอาญาสิทธิ์ให้แก่เจ้าเมืองมังกลาเป็นใหญ่ในทวีปอินเดีย ถ้าเมืองอังกฤษกับกรุงเทพฯ เป็นไมตรีกันแล้ว ลูกค้าวานิชจะไปมาค้าขายเห็นจะเกิดผลประโยชน์มาก ขอให้ลูกค้ากรุงออกไปค้าขาย ณ เมืองอังกฤษ ถ้าลูกค้าเมืองอังกฤษเข้ามาค้าขายขอให้ทรงพระเมตตาด้วย แล้วจะได้คิดตั้งตึกป้อมกำแพงกรุงเทพฯ แลเมืองซึ่งขึ้นกับกรุงเทพฯหามิได้ แลมิให้ลูกค้าอังกฤษอย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ แต่อย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯนั้นยากนัก ลูกค้าจึ่งไม่อาจจะเข้ามาค้าขาย ถ้าทรงพระเมตตาลดค่าธรรมเนียมลงบ้าง ลูกค้าทั้งปวงก็ก็จะได้มีน้ำใจเข้ามา แลว่าการะฝัดเข้ามาครั้งนี้เหมือนแทนตัวเจ้าเมืองมังกลา ถ้าการะฝัดจะคิดการงานกับเจ้าพนักงานกรุงเทพฯ ตกลงกันประการใด เจ้าเมืองมังกลาจะทำตามแลขอให้ช่วยทำนุบำรุงการะฝัดด้วย “
ครั้งนั้นโปรดให้การะฝัดขึ้นพักอาศัยอยู่ที่ตึกสูงหน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง พระราชทานเงินให้เป็นเบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๓ ชั่ง เมื่อพนักงานพาเข้าเฝ้าในวันแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกรับแขกเมืองเป็นการใหญ่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เครื่องราชบรรณาการที่นำมาถวายนั้นประกอบด้วย ปืนคาบสิลาปลายหอก ๓๐๐ บอก ปืนคาบสิลาแฝด ๑ บอก ผ้าขาวส่าน ๔ ผืน พรมเทศ ๒ ผืน เครื่องแต่งตัวหญิงอย่างฝรั่ง ๒ สำรับ เครื่องโต๊ะแก้วเจียรไน ๑ สำรับ ฉากอย่างดี ๕ แผ่น พรมอย่างดี ๒ ผืน หนังสือเรืองราวพงศาวดารอังกฤษ ๑ เล่ม รถมีเครื่องพร้อม ๑ คัน ม้าเทศสำหรับรถม้า ๑ ม้า ฉากเขียนด้วยหนัง ๔ บาน ฉากกระจก ๓ บาน รวม ๗ บาน และยังมีสิ่งของไปถวายพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์บ้าง”
 จอห์น ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด) ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวอีกว่า ในคราวนั้นไม่มีการทำสัญญากับอังกฤษ เพราะเหตุว่า การะฝัดราชทูตได้ให้ขุนนางไปเที่ยวหยั่งน้ำทำแผนที่ตามลำแม่น้ำและคลองใหญ่น้อยทุกแห่ง แล้วการะฝัดก็พูดว่า
“เมืองไทยเล็กนิดเดียว จีนมากกว่าไทยสิบส่วน ถ้าจะตีเอาเมือง กำปั่นรบสักสองลำสามลำก็จะได้ เอากระสุนเผาบ้านเรือนยิงเข้าไปก็จะไหม้หมด ครั้นการะฝัดเข้าไปเห็นทหารที่นั่งกาลบาทอยู่เป็นกอง ๆ เด็กบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง คนแก่บ้าง นั่งบ้างนอนบ้าง ปืนที่ถือสิลาปากนกก็ไม่มี สนิมกินไม่ได้ขัดสี เสื้อขาดกางเกงขาด เมืองไทยเหมือนคนเปลือยผ้าอยู่ มีป้อมก็ไม่มีปืน คนรักษาก็ไม่มี ปืนที่มีอยู่ก็มีสนิม จะใช้สู้รบใครได้”
พฤติกรรมและคำพูดของการะฝัดดังกล่าว เจ้าพนักงานได้กราบทูลขึ้นทรงทราบ ก็ทรงขัดเคืองมีพระราชดำรัสว่า “มันจะไม่มาทำหนังสือสัญญาโดยสุจริต จึ่งว่ากล่าวติเตียนบ้านเมือง หยั่งน้ำ ทำแผนที่ จะเป็นไมตรีด้วยกันอย่างไรได้” ดังนั้นการสัญญาจึงมิได้ทำกัน
* * นายการะฝัดราชทูตปากเสียของอังกฤษผู้นี้ มีชื่อที่ถูกต้องคือ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด และคำว่า “ครอว์ฟอร์ด” คนไทยฟังเสียงเป็น “การะฝัด” ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จึงบันทึกลงไปว่า นายการะฝัด
บุคคลผู้นี้ มาร์ควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกว่าเจ้าเมืองมังกลา ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด แห่งหน่วยบริการแพทย์ให้เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักแห่งกรุงสยามและญวน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสัมพันธภาพทางการค้าด้วย
เรื่องนี้ ครอว์ฟอร์ดได้บันทึกไว้เป็นเอกสารจำนวนมาก ซึ่งกรมศิลปากรได้ให้มีการแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แล้ว ในที่นี้จะไม่ขอนำรายละเอียดมาแสดงให้เยิ่นเย้อนะครับ
เอาเป็นว่าการทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทย-อังกฤษครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทางอังกฤษส่งเจ้าหน้าที่หน่วยบริการแพทย์ให้เป็นทูตเข้ามาเจรจาดังได้กล่าวแล้ว เรื่องนี้ยังจบไม่ลงนะครับ วันพรุ่งนี้จะได้นำมาแสดงให้ทราบต่อไป.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระพุทธศรีศากยมุนี (พระโต) - สร้างวัดและบูรณะพระโต -
องค์พระโตสุโขทัยอยู่ไร้วัด ธ ทรงจัดสร้างแจงสร้างกลางกรุงศรี เป็นวัดใหญ่ไว้พระศากยมุนี ให้นามที่ “สุทัศน์เทพวราราม” |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้อ่านกันถึงเรื่องอังกฤษขอมีสัมพันธไมตรี โดย มาร์ควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษแห่งอินเดีย ได้แต่งตั้งให้ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับสำนักแห่งกรุงสยามและญวน แต่นายครอว์ฟอร์ดทำงานไม่สำเร็จ วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไป ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า แม้การสัญญาไม่ได้ทำกัน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้พระยาจุฬาราชมนตรีทำสัญญาให้ฉบับหนึ่ง ใจความว่าดังนี้........
“ถ้ามีลูกค้าอังกฤษเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพฯ แลสลุบกำปั่นเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ให้เจ้าเมืองกรมการตรวจดูผู้คน แล้วให้เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นไว้ที่เมืองสมุทรปราการ ให้กรมการกำกับขึ้นมาส่ง ถ้าสลุบกำปั่นทอดท่าแล้ว ให้พระยาจุฬาทำนุบำรุงซื้อขายแก่ลูกค้า แล้วให้เจ้าพนักงานเรียกจังกอบภาษีตามอย่างธรรมเนียมอย่าให้เหลือเกิน”
ความแจ้งอยู่ในหนังสือพระยาจุฬานั้นแล้ว แล้วโปรดให้มีหนังสือลงชื่อเจ้าพระยาพระคลังตอบไปถึงเจ้าเมืองเบงคอลกล่าวโทษการะฝัดว่า
“การะฝัดจะทำสัญญาจะให้อังกฤษเข้าไปตั้งกงสุล ณ กรุงเทพฯ ข้อความนี้ผิดกับหนังสือเจ้าเมืองเบงคอลที่ว่า อังกฤษจะไม่คิดตั้งป้อมแลตั้งตึกในเมืองไทยแลหัวเมืองไทยตามหนังสือเจ้าเมืองเบงคอล การะฝัดเข้าไปอยู่ ณ กรุงเทพฯสามเดือนเศษ จะพูดจาการสิ่งใดมีแต่เหลือเกิน แล้วให้เสมียนทำบาญชีเรือขึ้นล่อง ประมาณภูมผู้คน ทำแผนที่ห้วยคลอง หยั่งร่องน้ำตื้นลึก วัดเกาะใหญ่น้อยนอกปากน้ำเป็นหลายตำบล ความแจ้งอยู่ในหนังสือนั้นแล้ว”
 จอห์น ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด) การะฝัดรู้ความเข้าว่ากล่าวโทษตัว ไม่ยอมให้มีเป็นหนังสือเจ้าพระยาพระคลังออกไป จะให้เป็นพระราชสาส์นออกไปให้ได้ ความเรื่องนี้ได้โต้ตอบกัน การะฝัดก็บึงบันทำแข็งแรง จึ่งว่าถ้าดังนั้น ให้เจ้าพระยาพระคลังเซ็นชื่อไปถึงที่สองเจ้าเมืองเบงคอลจึ่งจะยอม หนังสือเจ้าพระยาพระคลังก็ค้างอยู่ จึงโปรดให้พระยาพิพัฒนราชปลัตมีหนังสือไปถึงที่สองเจ้าเมืองเบงคอลว่า ท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ได้ช่วยทำนุบำรุงการะฝัดเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมถวายสิ่งของ แลข้อความในหนังสือเจ้าเมืองเบงคอลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบทุกประการแล้ว ได้ให้เจ้าพนักงานจัดของตอบแทน งาช้างสิบกิ่งหนักสองหาบ เนื้อไม้หนักสองหาบ กำยานหนักสองหาบ กระวานหนักหาบหนึ่ง เร่วหนักสามหาบ ดีบุกบริสุทธิหนักสิบห้าหาบ พริกไทยหนักร้อยห้าสิบหาบ น้ำตาลทรายหนักร้อยห้าสิบหาบ รงหนักห้าหาบ มอบให้การะฝัดคุมออกมา และในการนี้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็จัดของตอบแทนให้เจ้าเมืองเบงคอลด้วย การะฝัดได้รับหนังสือแต่ ณ วันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗
มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่อังกฤษส่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดบันทึกไว้ ๒-๓ เรื่อง คือ กรมหลวงพิทักษมนตรีซึ่งประชวรพระยอดในพระศอ (เป็นฝีที่คอ) ตั้งแต่ปีมะเส็ง ตรีศก มาถึงวันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๕ โมงเศษ ก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระชนม์เพียง ๕๐ พรรษา เสด็จในกรมพระองค์นี้มีผลงานที่สำคัญคือ ได้ทรงสร้างวัดเกาะขึ้นแล้วมีงานฉลองด้วยอีเหนาโรงใหญ่ พระราชทานชื่อวัดที่ทรงสร้างว่า วัดเกาะแก้วลังการาม
เกี่ยวกับเจ้าต่างกรมพระองค์นี้ ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี มีข้อความว่า “ ณ ปีมะเมีย จัตวาศก กรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก พระชนมพรรษา ๕๒ ปี” ส่วนวัดเกาะแก้วลังการามที่ทรงสถาปนานั้น สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯกล่าวว่า “วัดนี้เปลี่ยนนามเป็น วัดสัมพันธวงศ์ ในรัชกาลที่ ๔”
 นายหันแตร (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter)) เวลาต่อมาถึงเดือน ๘ การะฝัดได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปเมืองญวน เพื่อทำสัญญาตามภาระที่ได้รับมอบหมายมา แต่ก็ปรากฏว่าทางเมืองญวนไม่ยอมทำสัญญาด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ การะฝัดจึงเดินทางไปสิงคโปร์ และเจ้าเมืองเบงคอลได้ตั้งให้การะฝัดเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์ จึงเป็นอันว่าสิงคโปร์ก็ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองแต่นั้นมา เมื่อการะฝัดเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว ก็มีลูกค้าชาวอังกฤษเข้ามากรุงเทพฯ และตั้งห้างซื้อขายขึ้น ชาวอังกฤษผู้นั้นชื่อ มิสเตอร์หันแตร (กรมพระยาดำรงฯ ว่าชื่อ ฮันเตอร์) โดยเช่าตึกสูงอยู่หน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง ๒ หลัง เป็นที่อยู่อาศัยหลังหนึ่ง เป็นที่ไว้สินค้าหลังหนึ่ง ห้างหันแตรจึงเป็นห้างแรกที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
 พระพุทธศรีศากยมุนี (พระโต) ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า “พระโตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เสาชิงช้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเชิญลงมาไว้ ทรงพระราชดำริจะทำวัดขึ้นในกลางพระนครเป็นวัดใหญ่อีกวัดหนึ่ง การก็ยังหาได้ทำไม่ จะต้องทำฉลองพระเดชพระคุณเสียให้แล้ว” เมื่อทรงพระราชดำริดังนั้นแล้ว จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานจับการทำวิหารใหญ่ขึ้น ส่วนองค์พระพุทธรูปนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นว่าพระเศียรย่อมไปกว่าองค์ ไม่สมกัน จึงให้ช่างถอดออก หล่อพอกพระเศียรพระพักตร์ให้ใหญ่ขึ้น และนิ้วพระหัตถ์ของเดิมสั้น ๆ ยาว ๆ อยู่ ก็โปรดให้ต่อนิ้วพระหัตถ์ให้เสมอกันเหมือนอย่างพระพุทธรูปทุกวันนี้ เมื่อการเสร็จแล้วจึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปนั้นขึ้นประดิษฐานบนพระวิหาร ซึ่งพระวิหารนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ คือยังค้างคาอยู่แต่ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ และอื่น ๆ อีก
และจากนั้นก็เกิดความสูญเสียพระมหาเถระองค์สำคัญขึ้น คือ สมเด็จพระญาณสังวรที่อาราธนามาแต่วัดพลับ ประทับเป็นสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุนั้น ได้เกิดอาพาธหนักและสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ต่อมาถึงเดือน ๑๒ ปีเดียวกัน ก็โปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง เมื่อเสร็จแล้วก็ชักศพสมเด็จพระญาณสังวรสังฆราชเข้าสู่พระเมรุ มีการสมโภชเป็นเวลา ๓ คืน แล้วก็ได้พระราชทานเพลิง”
 จอห์น ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด) ** นายการะฝัด หรือ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด ทูตจอมโอหังของอังกฤษนี่ฤทธิ์เดชไม่เบานะครับ แม้จะผิดหวังจากไทยและญวนแล้ว เขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์ เกาะปลายแหลมมลายูที่อังกฤษยึดครองแล้วตั้งขึ้นเป็นเมือง โดยนายการะฝัดเป็นเจ้าเมืองคนแรก ในช่วงเลานั้น กรุงสยามมีเรื่องสำคัญ ๆ คือ กรมหลวงพิทักษมนตรีสวรรคต สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรสิ้นพระชนม์ และทรงสร้างวัดใหญ่ขึ้นกลางกรุง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่อัญเชิญจากสุโขทัยมาตั้งอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พ่อค้าอังกฤษฆ่าม้าประชด -
ชาวอังกฤษลูกค้ามาค้าขาย นำถวายม้าเทศเจ้ากรุงสยาม ครั้นพินิจเห็นว่าม้าไม่งาม จึงทรงห้ามรับไว้ไม่ดูแล
พ่อค้าชาวอังกฤษคิดแปลกยิ่ง ฆ่าม้าทิ้งน้ำไปไม่แยแส ทรงขัดเคืองเสือกไสไล่ลอยแพ เพราะต่างแง่คิดอย่างเห็นต่างมุม |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างวัดใหญ่ขึ้นกลางกรุง พร้อมสร้างพระวิหารใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระโตที่รัชกาลที่ ๑ อัญเชิญจากเมืองเก่าสุโขทัยมาตั้งไว้กลางแจ้ง ทรงเห็นว่าพระพุทธรูปชำรุด ไม่สมส่วนจึงโปรดให้บูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์ ภายหลังพระพุทธรูปองค์นี้ได้นามพระราชทานว่า พระศรีศากยมุนี ส่วนวัดที่สร้างใหม่นั้นพระราชทานนามว่า สุทัศน์เทพวราราม วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
* “ในปีมะเมียจัตวาศกนั้น มีลูกค้าชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ อีก คือมีกำปั่นลำหนึ่ง นายกำปั่นชื่อ มิสเตอร์สมิส ล้าต้าชื่อมิสเตอร์ตัม (ในเอกสารครอว์ฟอร์ดว่า มร.เอส.อี.สมิธ มร.ดับบลิว สตอร์ม เรือที่เข้ามาชื่อ โฟนิกซ์) มีม้าเทศขาวสูงสามศอกสี่นิ้ว เข้ามาถวายม้าหนึ่ง เจ้าพนักงานได้รับนำขึ้นถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วไม่โปรด ด้วยทรงเห็นว่า “เป็นม้าขาวแซมเลือด จะรับไว้ก็เป็นม้าโทษ” จึงให้เอาไปคืนเจ้าของเสีย เมื่อเจ้าพนักงานนำม้ากลับไปส่งถึงเรือ มร.สมิธ พูดแก่หลวงสุรสาครผู้เป็นล่ามว่า “ของตั้งใจจะเอาเข้ามาถวาย เมื่อไม่โปรด ว่าไม่ดีแล้ว จะเอากลับไปทำไมเล่า อายแก่เพื่อนฝูงเขา” ว่าดังนั้นแล้ว มร.สมิธ ก็ควักเอาผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋าเสื้อของตนออกมาคลี่คลุมหน้าม้าตัวนั้น แล้วเอาฆ้อนเหล็กตีหน้าม้าล้มลงขาดใจตาย และให้กลาสียกร่างอันไร้วิญญาณของม้านั้นทิ้งลงน้ำ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒
พนักงานก็นำความมากราบทูลพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเจ้าลูกยาเธอฯ ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นทรงทราบแล้วก็ทรงขัดเคือง ดำรัสว่า “ดูถูก ทำเย้ยหยันประชดให้” ตรัสดังนั้นแล้วก็ให้ไล่ มร.สมิธเสีย อย่าให้ค้าขายในบ้านเมืองต่อไป
มีพระราชดำรัสสั่งให้หลวงสุรสาครไปหาตัว มร.สมิธ กับ มร.สตอร์ม ขึ้นมาที่วัง แล้วรับสั่งให้หลวงสุรสาครแปลคำบอกว่า “ตัวทำดังนี้ผิดกฎหมายเมืองไทยเป็นข้อใหญ่ ต้องลงโทษจำใส่คุกไว้ แลตัวเป็นแขกเมืองมาก็ไม่ให้ค้าขาย ให้ไปเสียให้พ้นบ้านเมือง” นายกำปั่นทั้งสองก็ลากลับลงกำปั่น แต่ยังไม่ยอมถอยกำปั่นออกไป จึงโปรดให้กรมอาสาจามและกรมแปดเหล่า ลงเรือพิฆาต เรือเหรา ทหารสวมเสื้อแดงหมวกแดงไปล้อมเรือกำปั่นอยู่ทั้งสองฟากน้ำ จนกำปั่นล่องไปโดยไม่แวะมารับเอาปืนสำหรับลำเรือ หากแต่รีบแล่นเลยไปทีเดียว ปืนนั้นเจ้าพนักงานต้องฝากเรือลูกค้านำไปส่งการะฝัดเจ้าเมืองสิงคโปร์
* เรื่องลูกค้าชาวอังกฤษฆ่าม้าทิ้งและถูกนำตัวขึ้นเฝ้าดังกล่าวนี้ ดับบลิว สตอร์ม เขียนไว้ในเอกสารของครอว์ฟอร์ด (การะฝัด) ว่า “เราได้ถูกซักถามถึงเรื่องม้า ซึ่งได้ข่าวมาว่าพระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานคืนมาให้เรา หลังจากได้ทรงรับไว้เป็นเวลา ๖ เดือน เนื่องจากเราไม่มีที่จะเก็บม้าตัวนี้ หรือแม้แต่เสบียงอาหารสำหรับจะเลี้ยงม้าก็ไม่มี เราจึงจำเป็นต้องฆ่าเสีย และเนื่องจากขณะนี้ก็กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอีกครั้งหนึ่ง เราจึงควรมีสิทธิที่จะทำอะไรกับมันก็ได้” และมีคำอธิบายเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นในวังของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕) โดย มร.สตอร์ม เล่าเหตุการณ์ไว้ในเอกสารครอว์ฟอร์ดว่า
“กัปตันสมิธและตัวเขาถูกทำร้ายร่างกายในวังกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และถูกตีตรวน ได้รับการแจ้งข้อหาว่า เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมายของสยาม และได้รับอนุญาตให้ออกเดินทางไปได้ หลังจากที่ถูกคุมตัวไว้เป็นเวลาถึง ๔ วัน”
ในเรื่องอาวุธปืนประจำเรือนั้น มร.สตอร์ม เล่าเรื่องในคำอธิบายเหตุการณ์รุนแรงไว้ในเอกสารของครอว์ฟอร์ดว่า
“ข้อที่เจ็ด ให้สำเภาของเราออกเรือถอยลงไปที่ปากน้ำทันที…. ข้อที่แปด จะไม่คืนอาวุธปืนให้แก่เรา เพราะเกรงว่าเราจะเอาไปทำการประทุษร้ายแก่เรือสยามนอกอ่าว แต่ว่าจะได้ส่งกองเรือติดตามเราไปด้วย และจะส่งตัวเราไปที่ปากน้ำโดยเรือของพระเจ้าอยู่หัว และล่ามของเรามาขอลาจากเราไปเมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี เมื่อตอนเราจะออกเรือ สัญญากับเราว่าจะกลับมาพร้อมด้วยผู้นำร่อง แต่ไม่ปรากฏว่าเขาได้กลับมาหาเราอีก ล่ามผู้นี้ได้ไปบอกแก่ผู้คอยดูแลปืนของเราที่บางกอกว่า ไม่ต้องจัดส่งทั้งปืนและผู้นำร่องไปให้เรา ฉะนั้นจึงดูประหนึ่งว่า พวกสยามนั้นไม่ใช่อยากจะได้ปืนของเราเท่านั้น แต่ยังอยากจะยึดเอาเรือเราไว้เสียด้วย เรารู้สึกอึดอัดใจเป็นล้นพ้น เพราะยังอยู่ในระยะที่ไม่สู้ปลอดภัย พวกสยามอาจจะคิดทรยศหักหลังไล่กวดตามเรามาอีกเมื่อไรก็ได้ เราจึงได้แต่พยายามเร่งฝีจักรออกไป”
จบเรื่อง มร.สมิธ กับ สตอร์ม ลูกค้าชาวอังกฤษแล้ว ท่านพระยาทิพากรวงศ์บันทึกต่อไปว่า “ครั้นมาถึงเดือนสาม โปรดให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ครั้นพระเมรุเสร็จแล้วได้ชักพระศพกรมหลวงพิทักษมนตรี ออกสู่พระเมรุ ทำการสมโภชสามวันสามคืน ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก ครั้น ณ วันเดือนสามขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ก็ได้พระราชทานเพลิง”
** ท่านผู้อ่านครับ เรื่องของเรื่องก็เห็นจะเป็นเพราะว่าการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายไม่ชัดเจน การที่ มร.สมิธ ฆ่าม้าทิ้งนั้นดูเพียงผิวเผินแล้วก็น่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นการ “ดูถูกทำเย้ยหยันประชดให้” แต่ถ้าเจ้าพนักงานสอบถามขอฟังคำอธิบายถึงเหตุผลของการฆ่าม้าทิ้ง และ มร.สมิธ อธิบายให้ทราบเหตุผล ดังที่ มร.สตอร์ม กล่าวไว้ในเอกสารของ ครอว์ฟอร์ด แล้วนำความกราบบังคมทูลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คงไม่ทรงขัดเคืองจนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้นเป็นแน่ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ไม่ชัดเจน ด้วยอาจจะเป็นเพราะไม่ทราบข้อเท็จจริง เพียงแต่ฟังเขาเล่าต่อ ๆ กันมาอย่างนั้นก็บันทึกไว้ตามที่ได้ยินได้ฟัง ความจึงขัดแย้งกับคำกล่าวของ มร.สตอร์ม ดังกล่าวแล้ว
ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับไทยมากขึ้น เริ่มจากพ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกที่เข้ามาตั้งห้างในกรุงเทพฯ คือ มร.ฮันเตอร์ ซึ่งคนไทยเรียกชื่อเขา “หันแตร” ห้างของเขาก็พลอยมีชื่อว่า “ห้างหันแตร” ไปด้วย (ความจริง มร.ฮันเตอร์ หรือหันแตร เป็นชาวสก๊อต) ในเวลานั้นอังกฤษได้เข้าครองอินเดีย พม่า มาเลเซีย และได้แยกเกาะทางตอนใต้ของมาเลเซียออกไปเป็นเอกเทศ ตั้งขึ้นเป็นเมือง โดยให้ ครอว์ฟอร์ด เป็นเจ้าเมืองคนแรก ไทยกำลังจะถูกมหาอำนาจในยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เข้ามายึดครองดินแดนบางส่วนไป เหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นแต่เพียงการเริ่มต้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส เท่านั้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ต้องติดตามดูนะครับ.
(..................... มีต่อพรุ่งนี้ .....................) เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๔ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขุดคลองสร้างป้อมเมืองปากน้ำ -
ญวนเขมรกัมพุชขุดคลองใหญ่ สร้างเมืองใหม่เพิ่มถิ่นดินน้ำชุ่ม จากญวนถึงบันมายมาศทางชุมนุม อยู่ในกลุ่มญวนยกการปกครอง
ฝ่ายสยามจับจุดขุดคลองลัด และสร้างวัดสร้างป้อมในเมืองสอง คือนครเขื่อนขันธ์ปากน้ำนอง และเมืองร่องน้ำสุดสมุทรปราการ
สร้างหลายป้อมปราการอันต่อเนื่อง ทำเสาเมืองลงปักเป็นหลักฐาน สร้างเจดีย์เกาะกลางน้ำเป็นตำนาน ให้ชาวบ้านชาววัดปลูกศรัทธา |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่มีลูกค้าชาวอังกฤษ นำม้าเทศมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์มิโปรดจึงส่งคืน ลูกค้านายกำปั่นนั้นจึงฆ่าม้าทิ้ง จนเป็นเหตุให้ถูกลงโทษเป็นการสยบความโอหังของชาวอังกฤษ หลังจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง เสร็จแล้วชักพระศพกรมหลวงพิทักษมนตรีออกสู่พระเมรุ ทำการสมโภชสามวันสามคืน แล้วพระราชทานเพลิง เรื่องราวจะมีอะไรอย่างไรอีกบ้าง วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวถึงเรื่องทางเมืองญวนว่า “องต๋ากุนให้เกณฑ์ญวนและเขมรผลัดเปลี่ยนกันผลัดละหมื่นคนให้ขุดคลอง โดยลงมือขุดเมื่อปีเถาะ เอกศก ตั้งแต่เมืองมัจรุกตัดผ่านเมืองตรัง มาทะลุคลองเอียมซิวออกทะเลสาบบันทายมาศ ความกว้างของคลองนั้น ๑๒ วา ลึก ๗ ศอก เป็นระยะทางเดินเรือวันหนึ่งกับคืนหนึ่งถึงเมืองบันทายมาศ ที่ปากคลองขุดนั้นก็สร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งให้ชื่อว่าเมืองโจฎก แล้วองต๋ากุนก็แจกเบี้ยแปะให้ญวนและเขมรที่เกณฑ์มาขุดคลองนั้นเป็นบำเหน็จรางวัล ให้นายคนละ ๑๐๐ พวง ให้ไพร่คนละ ๒๐ พวง แต่คนที่ถูกเกณฑ์มาขุดคลองนั้นเกิดเป็นโรคบิดและไข้ป่วงล้มตายลงเป็นอันมาก”
ทางกรุงเทพมหานครในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ที่เมืองสมุทรปราการนั้น การที่จะรับรองข้าศึกศัตรูก็ยังไม่ได้ทำ เมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ทำไว้แล้วนั้นก็ยังไม่มั่นคง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ ไปทำเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ทำค้างอยู่ ให้ทำป้อมขึ้นป้อมหนึ่งพระราชทานชื่อป้อมเพชหึง แล้วจ้างจีนขุดคลองลัดหลังเมืองทะลุออกคลองตาลาว คลองนั้นกว้างหกวายาวสิบห้าเส้น ลึกห้าศอก แล้วทำการซ่อมแซมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ให้มั่นคงดีขึ้น
กรมหมื่นศักดิ์พลเสพทรงสร้างวัดขึ้นในคลองวัดหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อให้ว่า วัดไพชยนต์พลเสพ พระยาเพชรพิไชยเดิมชื่อเกดซึ่งเป็นนายงานทำเมืองนครเขื่อนขันธ์นั้น ได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อวัด โปรดเกษเชษฐาราม
ส่วนที่เมืองสมุทรปราการนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองไปทำเมืองสมุทรปราการ ให้เจ้าพระยาพระคลังลงไปประจำอยู่ที่นั้น ให้รื้อบ้านเจ้าเมืองกรมการและราษฎรฟากตะวันออก แล้วสร้างเป็นเมืองขึ้น ทำป้อมขึ้นสี่ป้อม ชื่อป้อมประโคนชัยหนึ่ง ป้อมนารายณ์ปราบศึกหนึ่ง อยู่ข้างหน้า ป้อมปราการหนึ่ง ป้อมกายสิทธิ์หนึ่ง อยู่ข้างหลัง ชักกำแพงถึงกัน มีตึกดิน ฉางเข้า และที่ไว้เครื่องสาตราวุธอยู่ในกำแพงเมืองนั้นด้วย ที่เกาะกลางน้ำก็ได้สร้างป้อมขึ้นอีกป้อมหนึ่ง มีพื้นสองชั้น ชื่อป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมฟากตะวันตกอีกป้อมหนึ่ง ชื่อป้อมนาคราช มีทรายเกิดเป็นเกาะขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ทรงพระราชดำริไว้ว่าจะให้สร้างพระเจดีย์กลางน้ำ
ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ได้ตั้งพิธีฝังหลักเมืองและฝังอาถรรพณ์ พระสงฆ์สวดมนต์ไปจนถึงวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ย่ำรุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๖ บาท พระฤกษ์ เอาแผ่นยันต์ทองคำ แผ่นยันต์เงิน แผ่นยันต์ทองแดง แผ่นยันต์ดีบุก แผ่นยันต์ศิลา ลงสู่ภูมิบาท พระสงฆ์สวดชัยมงคล แล้วยกเสาหลักเมืองด้วย วันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๖ บาท พระสงฆ์สวดชัยมงคล เชิญแผ่นยันต์องครักษ์อาถรรพณ์ลงสู่ภูมิบาทอีกครั้งหนึ่ง เป็นเสร็จพิธี
และในเดือนเดียวกันนั้น ทรงตั้งพระวันรัตนด่อนวัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช มหาจีเปรีญเอกวัดเลียบ เป็นพระอมรโมฬี มหาถึกเปรียญเอกวัดพระเชตุพนเป็นพระศรีวิสุทธิวงศ์ พร้อมกันที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มีการสมโภชเวียนเทียน มีมโหรีข้างใน ตั้งแล้วโปรดให้แห่สมเด็จพระสังฆราชด่อนไปสถิตย์อยู่วัดมหาธาตุ
ลุถึงศักราช ๑๑๘๕ (พ.ศ. ๒๓๖๖) ปีมะแมเบญจศก ในเดือน ๕ นั้น กำปั่นเหราข้ามสมุทร ซึ่งไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์นั้น เมื่อจะกลับมา การะฝัดเจ้าเมืองสิงคโปร์ฝากสำเนาราชสาส์นพม่าซึ่งมีไปถึงญวน เรือพม่าที่นำสาส์นไปนั้นเกิดไหม้เสียที่เกาะหมาก อังกฤษขอคัดสำเนาไว้ เจ้าเมืองเบงคอลว่าที่กรุงอังกฤษไม่มี มีแต่บาทหลวงฝรั่งเศส จึงให้แปลเป็นอักษรฝรั่งเศสส่งเข้ามา แล้วว่าญวนซื่อตรงต่อไทย หาเข้าด้วยพม่าไม่ พม่าเป็นคนโกง อังกฤษจะต้องรบกับพม่าเสียให้เข็ดหลาบ ราชสาส์นพม่านั้น เจ้าพนักงานได้ให้บาทหลวงแปลออกมามีข้อความยืดยาว รายละเอียดของพระเจ้าจักไกแมงแห่งอังวะที่มีไปถึงพระเจ้ายาลองมินมางแห่งเวียดนาม มีข้อความที่น่าศึกษาไม่น้อย เป็นเพราะมีข้อความยาวมาก ยังนำมาให้อ่านวันนี้ทั้งหมดไม่ได้ จึงต้องขอยกไปวางให้อ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๕ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ความในสาส์นพม่าถึงญวน -
สาส์นพม่าว่าร้ายไทยหลายส่วน ยุยงญวนเกลียดไทยเลื่อมใสพม่า ก่อสงครรามข้ามชาติรวมปัจจา เคราะห์ดีว่าข่าวไหลไทยรู้ความ |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกันถึงตอนที่ การะฝัด เจ้าเมืองสิงคโปร์ได้สาส์นของพม่าที่มีไปถึงญวนจากเรือพม่าที่พลัดไปถึงสิงคโปร์ เขาได้ส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม ความในสาส์นพม่าถึงญวนนั้น บาทหลวงฝรั่งเศสอ่านแล้วแปลเป็นภาษาไทยได้ความดังต่อไปนี้
* “ราชสาส์นมาแต่เมืองใหญ่ถือศาสนาพระเที่ยงแท้ เป็นเจ้าที่สูง เป็นผู้ทำนุบำรุงเมือง มีเมืองหลวงขึ้นถึงร้อยเมือง มีช้างเผือกชื่อเสหะดันเจนเมน แลช้างเผือกอื่น ๆ ที่มีอยู่ที่เมือง มีอยู่ที่ป่า เป็นเจ้าขุมเงินขุมทองแลของประเสริฐอื่น ๆ เป็นเจ้าแผ่นดินแลเป็นเจ้าทะเล เป็นผู้ทำนุบำรุงศาสนา เป็นจักรพรรดิทรงธรรมแลมีฤทธิ์ทุกประการ ครอบครองบ้านเมืองทั่วทั้งปวงด้วยพระบาทอันศักดิ์สิทธิ์ ทำราชสาส์นนี้พร้อมด้วยเสนาบดีแม่ทัพแลผู้ใหญ่ทั้งปวง มาถึงมหาจักรพรรดิเมืองญวน
เมื่อแรกตั้งแผ่นดินพระอาทิตย์พระจันทร์ ราษฎรทั้งปวงประชุมกันเลือกขุนนาง เลือกเอาคนตรงแน่นอน ถือศีลสิบเป็นลูกพระอาทิตย์ แลลูกเทวดา ชื่อว่า มูกาซามากา แปลว่ามีขุนหลวงที่สูง เป็นจักรพรรดิต่อ ๆ มาจนถึงองค์นี้ บังคับบัญชาแผ่นดินทุกวันนี้ ด้วยบุญของมูกาซามากา จักรพรรดิพระองค์นี้ เมื่อได้ครอบครองอาณาประชาราษฎร เหมือนหนึ่งบิดารักษาบุตร แล้วลดส่วยสาอากรไพร่บ้านพลเมืองก็มีความยินดี เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัตินั้นสว่างสุกใส เหมือนพระจันทร์ทรงกลด แล้วให้มีพระธรรมเทศนาสั่งสอนไพร่บ้านพลเมือง ให้พรว่าให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ครอบครองบ้านเมืองให้ยืนยาวไป แล้วได้เมืองขึ้นอีกชื่อเมืองปรันดาหนึ่ง เมืองชาปูเดปาหนึ่ง เมืองดุรักกาหนึ่ง เมืองยะมินฮาหนึ่ง เมืองศิริยกินเดรามาหนึ่ง เมืองรายาวุดดานาหนึ่ง เมืองกำปุราหนึ่ง เมืองโยดีหนึ่ง เมืองนการาหนึ่ง เมืองเกมายาทาหนึ่ง เมืองมหานักราหนึ่ง เมืองศรีวิเจือนหนึ่ง เมืองวลาอิปุราหนึ่ง เมืองงาเซงงาลาหนึ่ง เมืองลารายาทาหนึ่ง เมืองท่าอุโมอุนชาฮาหนึ่ง แลเมืองอื่น ๆ ที่ส่งส่วย ชื่อมหาวิหิกากาเยกปุรา ที่พระมหามุนีออก มีเมืองขึ้นชื่อเดนหาวรตีหนึ่ง เมืองดุราวดีหนึ่ง เมืองมิกาวดีหนึ่ง เมืองรามาวดีหนึ่ง แลเมืองขึ้นทั้งนี้ส่งส่วยหญิงสาวที่ยังไม่มีผัว แลส่งส่วยเครื่องสาตราวุธช้างม้าแลของทั้งปวง ตามระยะเมืองใกล้แลเมืองไกลทุกปี
แลเมื่อครั้งขุนหลวงชื่อเจกาวะดีที่เหาะได้ขึ้นครองราชสมบัตินั้น ยกย่องพระศาสนาแลทำนุบำรุงพระสงฆ์ วัดวาอาราม ทำบุญให้ทาน จำศีลภาวนาจนลืมตัว ทรงธรรมเมตตา แก่อาณาประชาราษฎร ไพร่บ้านพลเมือง ถ้าราษฎรผู้ใดกระทำความผิดกับตัวเธอ ก็หาเอาโทษไม่ แลเจ้าอังวะได้ครองราชสมบัติครั้งนี้ ถืออย่างเหมือนเมื่อขุนหลวงเจกาวะดี เมื่อครั้งมหาสมณโคดม กว่าแผ่นดินจะสิ้นทั้งสี่ทิศ แต่ครั้งตาเจ้าอังวะองค์นี้ เมื่อครองราชสมบัติส่งทูตไปเมืองญวน ไปทางบกทางเรือก็หลายครั้งแล้วหาถึงไม่ ครั้นเจ้าอังวะตายแล้ว เจ้าอังวะผู้หลานได้ครองราชสมบัติ จึ่งคิดฟื้นทางไมตรีกับเมืองญวน พอองโดยลำ องทูหับตรึง มาถึงเกาะหมาก แจ้งความแก่จีนส่วยรังนกแขวงพม่า จีนส่วยรังนกรู้ความแล้วจึงนำองโดยลำ องทูหับตรึง ขึ้นที่เมืองทวาย ไปหาเมืองมาหัยเสนาบดีเป็นแม่ทัพเมืองเมาะตะมะ ขุนนางผู้ใหญ่สองคน จึ่งเอาญวนลงเรือแห่ไปส่งถึงเมืองอิน แลหัวเมืองส่งต่อขึ้นไปจนถึงเมืองหลวง ปลูกเรือนให้อยู่ใหญ่โตงามดี ให้เลี้ยงดู แต่สงสัยอยู่ว่ามิใช่ทูตจริงจึ่งไม่สู้นับถือ ครั้นไต่ถามไล่เลียงดู เป็นทูตมาแต่เมืองอาเมราปุราค้างลมสำเภา จึ่งนับถือทูตญวนมากขึ้น
องโดยลำ องทูหับตรึง ก็ได้เฝ้าแล้ว ได้ไต่ถามทูตญวนหลายข้อ ทูตญวนทูลว่ามหาจักรพรรดิยาลองคิดนานแล้วจะให้ทูตมา พอยาลองตายลง แลมินมางขึ้นเสวยราชได้สองปีจึงให้มาเฝ้า องโดยลำทูลต่อไปว่า ญวนกับไทยมีสาเหตุกันหน่อยหนึ่งด้วยเมืองเขมร ถ้าญวนกับพม่าเข้าตีเมืองไทยก็จะได้โดยง่าย แต่ครั้งเจ้าอังวะเสวยราชสมบัติเมื่อศักราชพม่าได้ ๙๐๐ ปี กรุงไทยเป็นเมืองขึ้นอังวะอยู่นั้น เจ้ากรุงไทยไปอาศัยอยู่ที่เมืองขึ้นกับเมืองอังวะ ได้นับถือทำตึกให้อยู่ คิดมาจนทุกวันนี้ได้ ๒๐๐ ปี ได้ยกที่แผ่นดินเมืองไทยให้แก่บุตรเจ้าเมืองไทย ให้เสียส่วยปีหนึ่งช้างสามสิบช้าง เงินสามหมื่นบาท แล้วก็หาเสียให้ไม่ บิดาของตาเราให้กองทัพมาตีเมืองไทยคืน เมืองไทยต่อสู้ลอบลักทำเหมือนอย่างผู้ร้าย เราก็ทนมาจนทุกวันนี้
องโดยลำ องทูหับตรึง ทูลว่า เมื่อจะกลับไปจะทำเหมือนเรือลูกค้า เจ้าอังวะเห็นว่าทูตญวนจะไปแต่ลำพังเห็นไม่ควร จึ่งจัดให้เนมโยนรทาหนึ่ง เนมโยเสาวนีหนึ่ง เนมโยกังนรัดหนึ่ง เนมโยเสนรักหนึ่ง เสสะลินนรธาหนึ่ง เนมโยเสริกอยาหนึ่ง เสริกจุนดานรธาหนึ่ง รวม ๗ นาย ให้ดวงตราทองสำหรับเมืองหลวงไปดวงหนึ่ง แหวนทับทิมสิบวง แหวนไข่มุกยี่สิบวง แหวนนิลยี่สิบวง พลอยทับทิมยังมิได้เจียรไนสามกระสอบ ผ้าห่มนอนทอเมืองหม่าผืนหนึ่ง แพรสี่ไม้ ลูกประคำศิลาเหลืองหนึ่ง เขียวหนึ่ง สองสาย ตะบะลายสี่ใบ หีบมีท้าวใบหนึ่ง โคมมีท้าวสี่ใบ โต๊ะไม้ทาแดงใบหนึ่ง ถ้วยชาฝาใบหนึ่ง น้ำมันดินสามสิบหม้อ มีความไว้ใจจึงให้ขุนนางออกมาแจ้งความคิดทำลายเมืองไทย ซึ่งเป็นศัตรูเราทั้งสองเมือง ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนนางทั้ง ๗ นายนี้ ซึ่งจะว่ากล่าวคิดอ่านทำกับกรุงไทย เสร็จอยู่กับขุนนาง ๗ นายนี้ แล้วให้จักรพรรดิเมืองญวนมีราชสาส์นตอบด้วย ข้อความเรื่องนี้ ให้ขุนนางทั้ง ๗ นายถือไปโดยเร็ว แล้วให้แต่งขุนนางญวนที่ไว้ใจกำกับไปด้วย สิ้นความราชสาสนแต่เท่านี้ กล่าวไว้เพื่อที่จะให้รู้สำนวนพม่า ได้ทราบแล้วก็คอยฟังเหตุผลที่เมืองญวนอยู่”
* * ท่านผู้อ่านครับ พระเจ้ากรุงอังวะที่มีพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามตามเอกสารที่ ครอว์ฟอร์ด(การะฝัด) เจ้าเมืองสิงคโปร์ คัดสำเนาส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม มีข้อความดังแสดงแล้วนั้น พระเจ้ากรุงเวียดนามคือ พระเจ้ามินมาง ผู้บุตรองเชียงสือหรือยาลอง ส่วนพระเจ้ากรุงอังวะนั้น คือ จักไกแมง ผู้หลานพระเจ้าปะดุง
ยังจำได้ไหมครับ เมื่อปีจุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๖๒ อันเป็นปีที่ ๑๑ แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น มีพระภิกษุชาวพม่าเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ พระภิกษุรูปนั้นชื่อ สมีเคียนอู่ หรือ เคียนอู่ มีเชื้อชาติเป็นพม่าหรือทวายไม่แน่ชัด ท่านได้ให้การว่า พระเจ้าปะดุงตั้งให้จันกาสุริยะเป็นอินแซะอุปราช แต่อยู่ได้ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าปะดุงจึงตั้งจักไกแมง บุตรจันกาสุริยะ ซึ่งเป็นหลานของพระองค์ให้เป็นอินแซะอุปราชแทนบิดา จากนั้นพระเจ้าปะดุงก็สิ้นพระชนม์ จักไกแมงได้เป็นพระเจ้ากรุงอังวะสืบแทนพระเจ้าปะดุง แต่เมื่อได้ราชสมบัติแล้ว พระเคียนอูบอกว่า พระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่นี้ “ได้ราชสมบัติก็เสีย อารมณ์คลุ้มดีคลุ้มร้ายอยู่” อ่านความในพระราชสาสนที่พระเจ้าจักไกแมงมีไปถึงพระเจ้ามินมางแห่งเวียดนามแล้วก็น่าเชื่อได้ว่า พระสมีเคียนอูให้การไว้นั้นมีความจริงอยู่มากทีเดียว
ความที่พระเจ้าจักไกแมงกล่าวว่า “เมื่อศักราชพม่าได้ ๙๐๐ ปี กรุงไทยเป็นเมืองขึ้นอังวะอยู่นั้น เจ้ากรุงไทยไปอาศัยอยู่ที่เมืองขึ้น…” นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบุเรงนองโดย เจ้ากรุงไทยที่ไปอาศัยอยู่ในพม่านั้น คือสมเด็จพระนเรศวรครั้งทรงพระเยาว์ เป็นเรื่องที่คนไทยในปัจจุบันรับรู้กันดีอยู่แล้ว แต่พระเจ้าจักไกแมงท่านบิดเบือนเรื่องว่า ”ได้ยกที่แผ่นดินไทยให้แก่บุตรเจ้าเมืองไทย…” ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วพม่าหาได้ยกแผ่นดินให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรไม่ หากแต่ไทยได้แผ่นดินคืนมาด้วยการกอบกู้เอกราช ใช้ชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยช่วงชิงคืนมาได้ พระเจ้าจักไกแมงยังใส่ร้ายไทยอีกว่า “บิดาของตาเราให้กองทัพมาตีเมืองไทยคืน เมืองไทยต่อสู้ลอบลักทำเหมือนอย่างผู้ร้าย” ที่จริงแล้ว พม่านั่นแหละคือผู้ร้ายที่ยกมาแย่งชิงแผ่นดินไทย ไทยเป็นฝ่ายทวงคืนมาได้แล้วป้องกันรักษาไว้ ฝ่ายพม่ากลับมารุกรานแย่งชิงของไทยอีกเป็นหลายครั้ง และล่าสุดก็ยังไปชักชวนญวนมาร่วมตีเมืองไทยอีก โดยเกลี้ยกล่อมญวนว่า “มีความไว้ใจจึ่งให้ขุนนางออกมาแจ้งความคิดทำลายเมืองไทย ซึ่งเป็นศัตรูเราทั้งสองเมือง ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนนางทั้งเจ็ดนายนี้ ซึ่งจะว่ากล่าวคิดอ่านทำกับกรุงไทย เสร็จอยู่กับขุนนางเจ็ดนายนี้…” ก็น่าแปลกนะครับว่า พม่ามองเห็นไทยว่าเป็นศัตรูมาตลอด ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ดูกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๖ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- อังกฤษเริ่มบุกรุกพม่าแล้ว -
ยุคฝรั่งมังค่าตะวันตก พากันยกพวกครอบรอบสยาม หลายประเทศชาติถูกภัยคุกคาม ทั้งสงครามการค้าล่าดินแดน
อังกฤษเริ่มเข้าคลุกรุกพม่า จากการค้าเข้าชิงสิ่งหวงแหน พม่าแข็งต้านศัตรูที่ดูแคลน เริ่มโกรธแค้นสมทบถึงรบกัน |
อภิปราย ขายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงพระเจ้าจักไกแมงแห่งอังวะมีราชสาสนไปถึงพระเจ้ามินมางแห่งเวียดนาม ชักชวนให้ร่วมกันทำลายเมืองไทย ราชสาสนนั้นอังกฤษยึดได้ที่ปีนัง
ครอว์ฟอร์ด ส่งสารเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงสยาม แล้วยังพูดกับนายเรือกำปั่นเหราข้ามสมุทรของไทยด้วยว่า “พม่าเป็นคนโกง อังกฤษจะต้องรบกับพม่าเสียให้เข็ดหลาบ” เรื่องราวระหว่างพม่ากับอังกฤษจะเป็นอย่างไร ก่อนจะไปดูรายละเอียดในเรื่องนั้น มาดูเรื่องสั้น ๆ ที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้ ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องอังกฤษกับพม่าต่อไปก่อนวา
* “ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ตั้งแต่ได้ผ่านพิภพถวัลยราชสมบัติมา ยังมิได้สถาปนาพระอารามใดอารามหนึ่งขึ้นเป็นคุณแก่พระศาสนา เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ เป็นเหตุที่จะให้ผลไปในปรโลก ทรงเห็นว่าวัดแจ้งก็ยังชำรุดทรุดโทรมอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงสร้างกุฎีสงฆ์ขึ้นไว้ พอได้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เท่านั้น การอื่น ๆ ยังมิได้กระทำ จึงดำรัสสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองทำ ขอแรงพระวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีกำลังพอจะทำได้ พระราชทานเงินให้เป็นค่าจ้าง ทำตามราคาพอสมควร กุฎีนั้นจะทำเป็นตึกเห็นว่าจะช้านักจึงทำเป็นฝาขัดแตะถือปูน และทำพระอุโบสถพิหารการเปรียญขึ้นใหม่ทั้งสิ้น พระอุโบสถเดิมอยู่ริมน้ำก็ให้ปฏิสังขรณ์อุทิศถวายเป็นพระวิหาร การครั้งนั้นทรงอุสาหะเสด็จทุกวัน ครั้นทำการเสร็จแล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชธาราม ณ เดือน ๙ ปีมะแม เบญจศก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพวะดี ประชวรพระโรคโบราณกรรมสิ้นพระชนม์ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ พระองค์ได้สถาปนาวัดบางจากขึ้นจนแล้ว ประทานชื่อว่า วัดภักคินีนาฏ”
จากนั้นท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้บันทึกเรื่องราวที่อังกฤษกับพม่ามีความบาดหมางกัน จนเกิดการรบกันขึ้นในที่สุด รายละเอียดของเรื่องได้มาจากจดหมายเหตุของสิเกรตตารี เจ้าเมืองเบงคอล โดย ขุนศิริยภาษา ต้นหนกำปั่นเหราข้ามสมุทรซึ่งเดินทางกลับมาจากเมืองสิงคโปร์เมื่อปลายปีมะแมนั้น นำมาแจ้งว่า การะฝัดรัศดิน เจ้าเมืองสิงคโปร์บอกว่า พม่ากับอังกฤษเห็นจะได้รบกันในครั้งนี้แล้ว ด้วยพม่าดูถูกดูหมิ่นลูกค้าอังกฤษมาช้านานหลายปีมาแล้ว อังกฤษได้อดทนความดูถูกของพม่า พม่าก็ยิ่งกำเริบขึ้นทุกที ครอว์ฟอร์ด (การะฝัด) พูดดังนั้นแล้วก็ได้คัดจดหมายเหตุของสิเกรตตารีเจ้าเมืองเบงคอล ซึ่งจดหมายไว้แต่ก่อนนั้น แล้วมอบให้ขุนศิริยภาษานำเข้ามาด้วย ความในจดหมายเหตุนั้น แปลออกมีความว่าดังต่อไปนี้
“เมื่อ ค.ศ. ๑๖๐๐ ตรงกับ จ.ศ. ๙๖๒ (พ.ศ.๒๑๔๓) ปีชวด โทศก พม่าได้เป็นใหญ่แก่มอญทั้งปวง เมื่อแรกอังกฤษไปอยู่ในเมืองพม่านั้น จะเป็นปีเดือนใดไม่รู้แน่ แต่หลายปีมาแล้วมีลูกค้าอังกฤษเข้าไปตั้งห้างค้าขายอยู่ ณ เมืองปรอน เมืองอังวะ แลเมืองปามอ ซึ่งอยู่ใกล้แดนจีน ครั้นอยู่มาพวกฮอลันดาที่ตั้งห้างอยู่ในเมืองพม่านั้นทำผิด พม่าโกรธพวกฮอลันดา สำคัญว่าอังกฤษกับฮอลันดาเป็นพวกเดียวกัน ก็ขับไล่พวกฮอลันดา พวกอังกฤษ ฝรั่งทั้งปวงบรรดาที่ตั้งห้างอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นพม่านั้นเสีย มิให้ตั้งห้างค้าขายอยู่ได้
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๖๘๗ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๔๙ (พ.ศ. ๒๒๓๐) ปีเถาะ นพศก อังกฤษชื่อกัปตันเวลดัน ได้รับใช้อังกฤษที่เป็นผู้สำเร็จราชการ ให้มาตีเอาเกาะนิกะเรส ซึ่งอยู่หน้าเมืองมะริดแต่ก่อนเป็นของไทย ครั้นตีได้เกาะนิกะเรสแล้ว กัปตันเวลดันก็กลับไปแจ้งความแก่อังกฤษที่เป็นผู้สำเร็จราชการ แล้วพวกอังกฤษจึงได้ไปตั้งห้างค้าขายแลต่อเรืออยู่ในเกาะนิกะเรส แล้วอังกฤษได้ส่งทูตไปเมืองพม่าสองครั้ง จะขอตั้งห้างค้าขายอยู่ที่เมืองปามอของพม่า ที่พม่าขับไล่เสีย พม่าก็ไม่ยอม หนังสือสัญญาก็ไม่ทำ แต่พวกอังกฤษที่ไปอาศัยทำมาหากินอยู่นั้นก็มีบ้าง แต่ได้ไปอยู่ก่อน ค.ศ. ๑๖๙๐ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๕๒ (พ.ศ. ๒๒๓๓) ปีมะเมีย โทศก
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๖๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๕๗ ปีกุน สัปตศก อังกฤษจึงใช้ให้ มร.ฝลิดวุส กับ มร.เกลี สองคนเป็นทูตไปเมืองพม่าว่าด้วยทางไมตรี ทำหนังสือสัญญาให้เป็นผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๖๙๗ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๕๙ ปีฉลู นพศก เจ้าเมืองมัทราชใช้ให้ มร.เบาเยีย เป็นราชทูตไปเมืองพม่าอีกครั้งหนึ่ง แต่ความว่าทูตไปทำไมตรีสัญญากับพม่าให้แน่นหนาขึ้น เพื่อจะให้พวกลูกค้าอังกฤษค้าขายสบาย ก็หาได้ทำไม่ เพราะไปไม่ถึงเมืองอังวะ แต่พวกลูกค้าอังกฤษก็ยังค้าขายอยู่ในเมืองพม่าตามเคย
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๐๙ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๗๑ (๒๒๕๒) ปีฉลู เอกศก มร.บัด เจ้าเมืองมัทราช ใช้ให้ มร.อาลันซัน เป็นทูตไปเมืองอังวะ ทูตคนนี้ได้ไปถึงเมืองอังวะสองครั้ง ทำหนังสือสัญญาไว้ได้ พวกอังกฤษกับพม่าจึ่งค้าขายกันอยู่ในเมืองสิริยำคือเซียงนั้นหลายปี ตั้งแต่นั้นมาพวกอังกฤษที่เป็นลูกค้ากับบรรดาอังกฤษที่อยู่ในเมืองเซียงนั้น ก็คุ้มครองรักษากันเอง กุมปันนีมิได้คุ้มครองรักษาให้ ตั้งแต่กุมปันนีเป็นอริกับพม่า พม่าขับไล่พวกลูกค้าอังกฤษเสียนั้น พวกลูกค้าของกุมปันนีไม่มีในเมืองพม่าตั้งแต่นั้นมา”
** อ่านจดหมายเหตุของสิเกรตตารี เจ้าเมืองเบงคอล ที่การะฝัดฝากขุนศิริยภาษามาแล้วก็เห็นความขัดแย้งระหว่างพม่ากับอังกฤษชัดเจน อันที่จริงอังกฤษเป็นฝ่ายรุกราน เริ่มจากการส่งพ่อค้าเข้าไปตั้งห้างทำการค้าในพม่า ยังไม่พอ ซ้ำให้กัปตันเวลดันยกกองเรือไปตีเอาเกาะนิกะเรสของพม่า ที่ตั้งอยู่หน้าเมืองมะริดของไทยเป็นขุมกำลังตั้งมั่นอีกด้วย พม่าเป็นฝ่ายถูกรุกรานจึงยอมมิได้ ได้หาวิธีต่อต้านอังกฤษในทุกวิถีทาง เมื่อพม่าขับไล่พ่อค้าชาวอังกฤษและฝรั่งทุกชาติ อังกฤษก็โกรธแค้น เขาพยายามส่งทูตไมตรีเข้าไปขอตั้งกงสุล แต่พม่าแข็งกร้าวใส่อังกฤษไม่ยอมรับไมตรี และนี่คืออังกฤษอ้างเป็นเหตุให้ยกกำลังเข้ารุกราน ยึดครองพม่าต่อในที่สุด
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านจดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๗ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- อังกฤษช่วยพม่ารบมอญ -
อังกฤษช่วยพม่ารบมอญมั่ว โดยซ่อนตัวเบื้องหลังหวังห้ำหั่น ฝรั่งเศสช่วยมอญซ่อนตัวครัน สองชาตินั้นแย่งประโยชน์อย่างไม่อาย |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ ที่นำความในจดหมายเหตุของอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล มาเปิดเผยถึงเบื้องหลังที่อังกฤษจะกรีธาเข้ายึดครองพม่า จดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวยาวมาก เมื่อวานนี้ยังให้อ่านไม่จบ วันนี้มาอ่านกันต่อไปเลยครับ
“ครั้นมาถึง ค.ศ.๑๗๔๐ ตรงกับ จ.ศ.๑๑๐๒ (๒๒๘๓) ปีวอก โทศก ครั้งนั้นพวกมอญเมืองทละ เมืองเมาะตะมะ เมืองตองอู เมืองปรอน คิดขบถต่อพม่า เกิดรบพุ่งฆ่าฟันกันเป็นสามารถทั้งสองฝ่าย ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๔๔ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๐๖ ( ๒๒๘๗) ปีชวด ฉศก อังกฤษที่ตั้งห้างค้าขายอยู่ในเมืองเซียงนั้น มอญกับพม่าทำลายเสียสิ้น อังกฤษกับพม่ามอญก็มิได้ค้าขายกันต่อไป ด้วยพม่ากับมอญยังรบพุ่งกันอยู่ อังกฤษพวกลูกค้าคิดกลัวก็รักษาตัวอยู่ แต่พม่ากับมอญรบพุ่งกันอยู่ช้านานหลายปี หารู้ว่าข้างไหนจะมีชัยชำนะไม่
ครั้นมาถึง ค.ศ.๑๗๕๑ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๓ (๒๒๙๔) ปีมะแม ตรีศก มอญก็ซื้อเครื่องอาวุธจากลูกค้าฝรั่ง กับพวกฮอลันดา พวกโปรตุเกตที่ทำความชั่วหนีมาจากเมืองฮอลันดา เมืองโปรตุเกต มาอาศัยอยู่ในเมืองมอญนั้น เข้าช่วยมอญทำศึกกับพม่า มอญจึ่งได้ชัยชนะแก่พม่า เพราะเหตุนั้นมอญจึงได้มีใจกำเริบ ยกทัพไปล้อมเมืองอังวะ ค.ศ. ๑๗๕๒ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๔ ปีวอก จัตวาศก พม่ากลัวฝีมือมอญ มอญล้อมเมืองอังวะอยู่ไม่ช้านานก็ได้เมืองอังวะ
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๕๔ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๖ ปีจอ ฉศก พวกอังกฤษพวกฝรั่งเศสก็กลับตั้งห้างค้าขายในเมืองเซียงอีก พวกอังกฤษ พวกฝรั่งเศส ที่อาศัยอยู่ในเมืองเซียงนั้น ก็ผิดใจกัน ฝ่ายข้างฝรั่งเศสก็เข้ากับมอญ ฝ่ายข้างอังกฤษก็เข้ากับพม่า แต่เป็นในหน้ากันอยู่ ทั้งสองข้างยังไม่ออกตัว จนมอญกับพม่ารบกันขึ้นในเมืองเซียงนั้น ฝรั่งเศสช่วยมอญรบ อังกฤษช่วยพม่ารบ
ครั้งนั้นเจ้าพม่าชื่อ อะลัมพรา คือมังลอง เป็นเจ้าเมืองบุกโชโบ คิดเห็นว่า พม่ากับมอญจะรบกันมากที่แม่น้ำใหญ่ฝ่ายข้างทะเล มีความปรารถนาจะเป็นไมตรีกับเมืองที่ชำนาญการทะเล จึงให้ขุนนางพม่าเป็นทูตไปที่เกาะนิกะเรส ไปหาอังกฤษชื่อ มร.เบอร์ก ผู้เป็นนายห้างใหญ่อยู่ที่นั้น ไปด้วยกำปั่นของกัปตันชื่อ เบกกา เบกกาก็พาไปถึงเกาะนิกะเรส ไปหา มร.เบอร์ก ในเดือน มารช (มีนาคม) ค.ศ.๑๗๕๕ ตรงกับ เดือน ๔ จ.ศ.๑๑๑๗ ปีกุน สัปตศก มร.เบอร์กก็เขียนหนังสือฉบับหนึ่งให้แก่ทูตพม่า ทูตพม่าก็กลับมาเมืองย่างกุ้ง ด้วยคราวนั้นเจ้ามังลองมาอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง
ฝ่ายพวกฝรั่งเศสที่เข้ากับมอญ พวกอังกฤษที่เข้าด้วยพม่านั้น เกิดอิจฉาขัดเคืองกันมากขึ้น ถึงคราวอังกฤษจะออกตัว อังกฤษก็เข้าช่วยพม่ารบ แล้วกุมปันนีก็ให้กำปั่นหลายลำที่อยู่ในเมืองเซียงนั้น ไปเมืองย่างกุ้งช่วยพม่ารบมอญ มีความว่ากุมปันนีให้กำปั่นไปที่เกาะนิกะเรสสองลำ กับให้อังกฤษชื่อ มร.เวเทน ที่ให้มาเป็นใหญ่ที่เกาะนิกะเรสนั้นมาในลำกำปั่นด้วย กำปั่นสองลำถูกพายุใหญ่ต้องแวะเข้าเมืองย่างกุ้ง เจ้ามังลองรู้ว่าอังกฤษชื่อ มร.เวเทนจะมาเป็นใหญ่ในเกาะนิกะเรส ก็ต้อนรับเลี้ยงดูด้วยธรรมเนียมอันดี มิให้พวกอังกฤษติเตียนได้ ขณะเมื่อพม่ากับมอญรบกันอยู่นั้น มร. เบอร์กกับเจ้ามังลองยังจัดแจงทำหนังสือสัญญากันอยู่ ยังหาแล้วไม่
มร.เบอร์กจึงใช้ให้อังกฤษสองคน เป็นทูตถือหนังสือแลสิ่งของมาให้กับเจ้ามังลอง ด้วยคิดว่าจะเป็นไมตรีกันให้ได้ ทูตนั้นมาตามลำแม่น้ำ เดือนแสบเตมเบอร์ (พฤศจิกายน) ตรงกับเดือน ๑๐ มาถึงเมืองอังวะก็ไม่พบกับเจ้ามังลอง เจ้ามังลองไปอยู่เมืองบุกโชโบ ด้วยเมื่อเมืองอังวะแตกแล้วก็ตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นที่เมืองบุกโชโบ
ครั้นทูตมาถึงเมืองคะยกมะยงอยู่ที่ริมแม่น้ำเอราวะดี ฝั่งตะวันตก เจ้ามังลองก็ใช้ให้ขุนนางไปรับทูตอังกฤษสองคนนั้นมาเมืองบุกโชโบเข้ามาในที่เฝ้า เจ้ามังลองจึงปราศรัยแก่ทูตอังกฤษแล้วอวดว่า เมื่อรบกับมอญนั้นได้มีชัยชำนะมาก แล้วก็อวดว่าบ้านเมืองแลแว่นแคว้นของพม่านั้นใหญ่โตนัก แล้วยกโทษว่าเมื่ออยู่เมืองย่างกุ้งนั้น เราได้รักใคร่อังกฤษและทำนุบำรุงไว้ อังกฤษหารู้จักคุณไม่ กลับเอาปืนยิงเอาพวกพม่าเสียอีก ทูตอังกฤษได้ฟังดังนั้นไม่รู้ที่จะตอบประการใด ด้วยหารู้ในการอันนั้นไม่ จึ่งขอทุเลาในการอันนี้ไว้ จะตรึกตรองดูก่อนแล้วตอบว่า มร.เบอร์กซึ่งเป็นใหญ่ในเกาะนิกะเรส ไม่ได้สั่งให้พวกอังกฤษทำร้ายแก่พม่า แลพวกอังกฤษจะทำร้ายแก่พม่าประการใดนั้น มร.เบอร์กหารู้ไม่
ครั้นหลายวันมา ทูตอังกฤษเข้าเฝ้าทูลลาอีกครั้งหนึ่ง เจ้ามังลองจึ่งให้เขียนหนังสือตอบ มอบให้ทูตเอาไปให้แก่ มร.เบอร์ก ใจความหนังสือนั้นว่า ยอมให้พวกอังกฤษเข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในเมืองย่างกุ้งกับเมืองปะสิม (พะสิม) ด้วยคิดว่าจะทำลายเมืองเซียงนั้นเสีย ทูตอังกฤษก็ขอเกาะนิกะเรสต่อเจ้ามังลองให้เป็นของอังกฤษ เจ้ามังลองจะให้ก็ไม่ว่า จะไม่ให้ก็ไม่ว่า แล้วเจ้ามังลองว่าแก่ทูตอังกฤษว่า จะใคร่ไปเมืองย่างกุ้งจัดแจงเตรียมการรบกับพวกมอญ การที่ขอเกาะนิกะเรสนั้นให้งดไว้ก่อน แล้วทูตก็ลามาเมืองคะยกมะยง เดือนแสบเตมเบอร์ (พฤศจิกายน) ตรงกับเดือนสิบ ทูตก็ลงกำปั่นกลับไปเกาะนิกะเรส
อนึ่งความว่า เมื่อพม่ากับมอญรบพุ่งกันวุ่นวายอยู่ ขณะนั้นแผ่นดินฮินดูของอังกฤษนั้นยังไม่ราบคาบ เพราะเหตุดังนั้น การที่อังกฤษจะมาขอเกาะนิกะเรสกับพม่าจึงงดอยู่ เมื่อไรอังกฤษปราบแผ่นดินฮินดูได้ราบคาบเรียบร้อยแล้ว จะมาขอเกาะนิกะเรสกับพม่าต่อไปอีก
อนึ่งความว่า มอญกับพม่ารบกันนั้น มอญแพ้พม่าแล้ว พม่าได้เป็นใหญ่แก่มอญ พวกอังกฤษฝรั่งทั้งปวงก็เข้าพึ่งอยู่ในเจ้ามังลองนั้นสิ้น เจ้ามังลองก็ให้ไปเชิญอังกฤษชื่อ มร.นูตัน ซึ่งกุมปันนีตั้งให้เป็นใหญ่อยู่ที่เกาะนิกะเรส จะให้มาพบกันที่เมืองปรอน
ขณะเมื่อให้ไปเชิญ มร.นูตันนั้น เจ้ามังลองได้เขียนหนังสือราชสาสนใส่แผ่นทองฉบับหนึ่ง แผ่นทองนั้นประดับพลอยทับทิม แล้วมอบให้อังกฤษชื่อ มร.ยอนใดยา กับพวกอังกฤษหลายคนให้ส่งออกไปถึงเจ้าแผ่นดินอังกฤษ แล มร.นูตันรู้ว่าเจ้ามังลองให้เชิญตัว มร.นูตันไป แต่ มร.นูตันไม่ได้ไป จึ่งใช้ให้อังกฤษนายทหารชื่อ มร.ลิดตา คุมสิ่งของถือหนังสือไปถวายเจ้ามังลอง แล้วสั่งให้ขอเกาะนิกะเรส แลขอให้ลูกค้าอังกฤษได้ค้าขายในเมืองพม่าโดยสะดวก มร.ลิดตาได้ออกจากเกาะนิกะเรสไปเมื่อเดือนยุน ค.ศ. ๑๗๕๗ ตรงกันเดือน ๗ จ.ศ. ๑๑๑๙ (๒๓๐๐) ปีฉลู นพศก แต่ความว่า เมื่อ มร.ลิดตามาถึงอยู่หลายวัน จึ่งได้เข้าเฝ้า แล้วทำสัญญากันไว้เป็นเนื้อความ ๕ ข้อ คือ
ข้อ ๑ พม่ายกเกาะนิกะเรสให้เป็นสิทธิแก่กุมปันนี ข้อ ๒ ยกที่ตำบลหนึ่งตรงเมืองปะสิมให้อังกฤษตั้งห้างได้ ข้อ ๓ กุมปันนีต้องจัดแจงเครื่องสาสตราวุธกับสิ่งของที่สำหรับรบข้าศึกนั้น ให้พม่าทุก ๆ ปี ข้อ ๔ ว่าถ้าเจ้าอังวะมีการศึกกับเมืองใด ๆ ก็ดี กุมปันนีต้องยกมาช่วย แต่เจ้าอังวะต้องเสียค่าจ้างให้พวกทหารกุมปันนี ตามแต่ที่เจ้าอังวะจะเอาไว้ใช้นั้น ข้อ ๕ ถ้าพม่ากับทวายเป็นศึกรบพุ่งติดพันกันแล้ว กุมปันนีต้องเร่งรีบมาช่วยให้ได้
มีความว่าถ้าพม่าประพฤติตามความสัญญาทั้ง ๕ ข้อแล้ว ก็จะเป็นผลประโยชน์กับพวกอังกฤษมาก แต่พม่าหาประพฤติตามไม่ คำเลื่องลือนั้นว่า เจ้ามังลองหาได้รู้เนื้อความในสัญญาห้าข้อนี้ไม่”
* * ท่านผู้อ่านครับ ความในจดหมายเหตุของอังกฤษที่ครอว์ฟอร์ดคัดมาให้สยามดังกล่าวนี้ บอกให้เรารู้เบื้องหลังของอังกฤษกับพม่า นอกจากจะช่วยพม่ารบมอญแล้ว เป็นไปได้ว่าเขายังช่วยพม่ารบไทยด้วย จดหมายเหตุดังกล่าวยังไม่จบ วันพรุ่งนี้จะนำมาแสดงต่อ เพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อนครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๘ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่ายึดเกาะนิกะเรสได้คืน -
แล้วพม่าก็แผลงสำแดงฤทธิ์ หักอังกฤษนิกะเรสเผด็จง่าย อังกฤษซื่อถือมิตรมิคิดคลาย ถูกฆ่าตายหมดเกาะเพราะไว้ใจ |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้อ่านกันถึงเรื่องที่มีความในจดหมายเหตุของอังกฤษ ที่เกี่ยวกับความร้ายกาจของพม่าอีก ซึ่งทุกท่านก็ได้อ่านกันไปแล้วแต่ยังไม่จบ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไทยควรรู้ เพราะมีบางเรื่องบางตอนเกี่ยวข้องกับไทยด้วย วันนี้จึงขอนำมาให้อ่านกันต่อดังนี้ครับ
“ในเดือนออกัสต์ ตรงกับเดือนเก้า มร.ลิดตาไปวัดดูที่พม่ายกให้หน้าเมืองปะสิมนั้น แล้วก็ยกธงอังกฤษขึ้น ยิงปืนสามคราวเป็นสำคัญ บอกว่าที่นั้นเป็นสิทธิ์ของอังกฤษ คราวนั้นแผ่นดินฮินดูอันเป็นของอังกฤษยังไม่ราบคาบ ยังวุ่นวายอยู่ เพราะเหตุนี้การจัดแจงส่งสิ่งของทั้งปวงซึ่งจะเลี้ยงดูผู้คนที่เกาะนิกะเรส แลเครื่องสาสตราวุธสำหรับรักษาป้องกันเกาะนิกะเรสให้มั่นคงยังไม่ได้ จึ่งมิได้ให้พวกอังกฤษไปอยู่ที่เกาะนิกะเรส แล มร.นูตันซึ่งอยู่ที่เกาะนิกะเรสนั้นกลับมาเสีย
ค.ศ. ๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๒๑ ( ๒๓๐๒ ) ปีเถาะ เอกศก มร.นูตันมาถึงเมืองเบงคอล ที่เกาะนิกะเรสเหลือคนอังกฤษอยู่เล็กน้อย พอรักษาไม้แลเครื่องมือสำหรับต่อกำปั่นต่าง ๆ ที่เอาไปจากเมืองเบงคอลยังไม่ได้เอากลับคืนมานั้น เจ้าเมืองเบงคอลจึงให้ มร.โซบีอังกฤษไปเฝ้าของที่ยังตกค้างอยู่ในเกาะนิกะเรส แล้วให้รักษาเกาะนั้นไว้ด้วย
แลเหตุด้วยเกาะนี้เจ้าเมืองเบงคอลให้กำปั่นสองลำมาทอดอยู่ที่หน้าเกาะนิกะเรส ในเดือนออกโตเบอร์ ตรงกับเดือนสิบเอ็ด เวลาค่ำกำปั่นมาถึงที่นั่น มร.โซบีขึ้นไปบนเกาะ ฝรั่งดำชื่ออันโตเนียเป็นล่ามของพม่ามาที่เกาะนิกะเรส พบกับ มร.โซบีแล้วเอาหนังสือฉบับหนึ่งให้กับ มร.โซบี แล้วบอกว่าหนังสือนี้ของเจ้าอังวะ มร.โซบีก็เรียกให้อันโตเนียกินโต๊ะด้วยกัน เพื่อจะให้พร้อมหน้ากันกับอังกฤษทั้งปวงที่อยู่เกาะนั้น
ขณะเมื่อกินโต๊ะอยู่นั้น อันโตเนียก็ลุกขึ้นลาออกไปข้างนอก ประเดี๋ยวหนึ่งพวกพม่ามาเป็นอันมาก ถือเครื่องสาสตราวุธวิ่งตรูกันเข้ามาล้อม ฆ่าอังกฤษเสียเหลือสี่คน ก็สู้พลางถอยหลังเข้าในห้องไว้ของแล้วสู้รบอยู่ ครั้นพม่าสัญญาว่าจะไม่ฆ่าอังกฤษสี่คน ก็หยุดการที่สู้รบวางอาวุธเสีย ขณะเมื่อพม่าฆ่าอังกฤษวุ่นวายกันอยู่นั้น อังกฤษที่เป็นนายร่องในกำปั่นรบขึ้นมาจะกินโต๊ะด้วย ครั้นเห็นพม่าฆ่าอังกฤษก็หนีไปที่ริมชายทะเลลงเรือไปกำปั่น
เมื่อพม่าฆ่าพวกอังกฤษที่กินโต๊ะแล้ว ก็ไล่ฆ่าฟันบรรดาคนที่อยู่ในเกาะเสียสิ้น คนชาวเกาะหนีลงเรือไปอาศัยอยู่ในกำปั่น ชายหกสิบคน หญิงสี่คน เด็กหนึ่ง รวมหกสิบห้าคน แล้วพม่าก็เอาปืนของอังกฤษที่สำหรับเกาะนั้นยิงกำปั่น กำปั่นนั้นก็ยับเยินไปบ้าง
ความว่า ฝรั่งเศสชื่อละแวน เป็นผู้ช่วยคิดการให้พม่าทำแก่อังกฤษ แต่กัปตันอาละวิตนายกำปั่นรบนั้น เมื่อพม่าฆ่าฟันอังกฤษวุ่นวายกันอยู่นั้น อยู่ที่กำปั่น หาได้อยู่บนบกไม่ ก็ใช้ใบกำปั่นกลับไปเมืองเบงคอล แจ้งความตามเรื่องราวซึ่งเกิดเหตุที่เกาะนิกะเรสนั้นแก่เจ้าเมืองเบงคอลทุกประการ
เจ้าเมืองเบงคอลเห็นว่าพม่าทำผิดมากควรจะไปลงโทษได้แล้ว แต่การบ้านเมืองข้างฮินดูยังไม่เรียบร้อย จะต้องทำการรบเป็นสองกังวลขึ้น จึ่งได้เอาใจดีต่อพม่าไว้ก่อน
แล้ว มร.ฮอละแวน ผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอลกับ มร.ปิด เจ้าเมืองมัทราช จึ่งตั้งให้กัปตันอาละวิสซึ่งได้พา มร.โซบีไปส่งที่เกาะนิกะเรสปีก่อนนั้น เป็นทูตถือหนังสือกับสิ่งของไปเมืองพม่าเดือนยุน ตรงกับเดือนเจ็ด กัปตันอาละวิสก็ไปถึงเมืองปะสิม การที่เมืองปะสิมก็ต้อนรับด้วยธรรมเนียมอันดี ขณะนั้นเจ้าเมืองปะสิมหาอยู่ไม่ ไปเมืองย่างกุ้ง ก็ใช้คนมารับสิ่งของที่กัปตันอาละวิส กัปตันอาละวิสก็ไม่ให้ จะเอาไปถวายพระเจ้าอังวะเอง ด้วยพม่าไม่เอาเรืออันสมควรมารับทูตไป แล้วพม่าก็ลักเอาสิ่งของเล็กน้อยกับปืนคาบศิลาไป
ครั้นกัปตันอาละวิสทูตได้เรือแล้ว เดือนยุไลย ตรงกับเดือนแปด ก็ไปจากเมืองปะสิม ถึงเมืองย่างกุ้งแล้ว เจ้าเมืองปะสิมที่ไปอยู่เมืองย่างกุ้งก็เรียกเอาสิ่งของเครื่องบรรณาการไว้ จะส่งขึ้นไปเอง กัปตันอาละวิสก็ไม่ยอมให้ เจ้าเมืองปะสิมก็ไม่ฟัง ทำดูถูกดูหมิ่นทูตต่าง ๆ กัปตันอาละวิสจะขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะให้ได้ พม่าก็ห้ามเสีย กัปตันอาละวิสก็ไม่ฟัง จะไปให้ได้
เดือนออกเกิด ตรงกับเดือนเก้า กัปตันอาละวิสก็ไปถึงเมืองสาใด อันเป็นเมืองที่อาศัยของเจ้าอังวะ ในครั้งนั้นก็ได้เฝ้าถวายหนังสือ ทูตก็ว่าขึ้นถึงเรื่องฆ่าฟันกันในเกาะนิกะเรส เจ้าอังวะก็ไม่ตอบว่ากะไร ว่าแต่สิ่งของ ๆ กุมปันนีที่พม่าเก็บไว้นั้นจะคืนให้ กับพวกอังกฤษที่ติดอยู่ในเรือนจำในแว่นแคว้นของพม่านั้น จะปล่อยไปให้ด้วย จะยกที่แห่งหนึ่งที่เมืองปะสิมให้พวกอังกฤษตั้งห้างค้าขาย แต่ให้พวกอังกฤษมาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ไม่ให้อยู่ในที่เกาะนิกะเรสต่อไปอีก
มีความว่า ซึ่งเจ้าอังวะจัดแจงทำดังนี้เหมือนทำลายความสัญญาที่ทำไว้กับ มร.ลิดตานายทหารแต่ก่อนนั้นเสียสิ้น แล้วเจ้าอังวะจึ่งถอดพวกฮอลันดาสามคน ซึ่งอยู่ในเรือนจำที่เจ้ามังลองจำไว้แต่ครั้งเมื่อยกกองทัพไปตีเมืองไทยนั้น มอบให้ตามคำของกัปตันอาละวิส แล้วกัปตันอาละวิสก็ลาออกจากเมืองสาใด กลับไปในเดือนออกโตเบอร์ ตรงกับเดือนสิบเอ็ด ถึงเมืองปะสิม จึ่งมอบสิ่งของของกุมปันนีไว้กับ มร.โรเบ็ดเซน มร.ทีเลด แล้วก็กลับไปเมืองกะละกะตาในปลายปีนั้น”
** ท่านผู้อ่านครับ อ่านจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอลซึ่งเป็นชาวอังกฤษแล้วเหนื่อยมั้ย ถ้อยคำสำนวน อังกฤษ ที่บาดหลวงฝรั่งเศสแปลเป็นไทย ชื่อบุคคลและชื่อเมืองไม่คุ้นหูคนไทยเลยนะ เช่นเมืองปะสิมในจดหมายเหตุนี้ คือเมืองพะสิมที่เรารู้จักกัน เจ้าเมืองนี้เคยเป็นแม่ทัพน้อย ยกมารบกับไทยที่สุพรรณบุรีในสมัยสงครามยุทธหัตถี พระเจ้ามังลองแห่งชเวโบนั้น ไทยรู้จักในนามว่า พระเจ้าอลองพญา เป็นต้น
การะฝัดพูดว่าพม่าร้ายกาจคดโกงนั้น เห็นทีว่าจะมาจากเรื่องที่พม่าเข่นฆ่าชาวอังกฤษที่เกาะนิกะเรสนี่เอง นับเป็นแค้นแรกที่อังกฤษต้องจดจำไว้ชำระในกาลต่อมา ตอนนี้เรื่องทางอินเดียที่อังกฤษเข้าครอบครองยังไม่สงบเรียบร้อย ต่อเมื่อจัดการอินเดียเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าจัดการกับพม่าต่อไป ความในจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอลตอนนี้เป็นตอนที่สยามยังมีเมืองหลวงอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุนี้จึงบอกให้เรารู้เบื้องหลังของพม่าในการรุกรานกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดีทีเดียว พรุ่งนี้มาอ่านจดหมายเหตุนี้ต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๙ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่าชนะไทยแล้วพ่ายจีนฮ่อ -
อลองพญาชนะไทยได้กรุงศรี ทั้งยังตีจนชนะเมืองยะไข่ แต่แพ้ฮ่อขอสงบพักรบไว้ ยินยอมให้บรรณาการทุกสิบปี
แล้วมารยาว่าแพ้เพียงแม่ทัพ ไม่ยอมรับปราชัยไร้ศักดิ์ศรี สั่งลงโทษแม่ทัพในทันที ผ้าสตรีให้นุ่งเน้นประจาน |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ ซึ่งนำจดหมายเหตุอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล มาบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของพม่ากับอังกฤษในอดีตอันยาวนาน ชี้ให้เห็นว่าพม่าเป็นคนคดโกงคบค้าสมาคมไม่ได้ เรื่องที่เจ้าเมืองเบงคอลบันทึกเป็นจดหมายเหตุที่ให้อ่านมาแล้วนั้น เป็นเรื่องราวสมัยเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา จึงมีความพาดพิงถึงพม่ายกทัพมาตีเมืองไทยหลายครั้ง จดหมายเหตุนี้มีความยาวมาก ยังไม่จบกระแสความ วันนี้มาอ่านกันต่อไปอีกนะครับ
“ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๖๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๒๗ ปีระกา สัปตศก (๒๓๐๘) พม่าแต่งกองทัพมาตีเมืองไทยทัพหนึ่ง ไปตีเมืองกะแซทัพหนึ่ง
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๖๗ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก (๒๓๑๐) กรุงไทยก็เสียแก่พม่า แลทัพพม่าซึ่งยกไปที่เมืองมะนีบุระคือเมืองกะแซนั้น ตีได้แล้วก็เที่ยวเก็บทรัพย์สิ่งของทั้งปวงในเมืองนั้นได้เป็นอันมาก แล้วก็พักกองทัพอยู่เดือนหนึ่ง
ฝ่ายจีนฮ่อโกรธว่าพม่าฆ่าพวกจีนฮ่อเสีย จีนฮ่อขอให้ส่งตัวผู้ฆ่าให้กับจีนฮ่อ พม่าก็ไม่ส่ง จึ่งยกกองทัพมาตีเมืองพม่า
ครั้นกองทัพพม่ามาตีเมืองไทย เมืองกะแซ ได้แล้ว ก็ยกกลับไปเมืองพม่า ช่วยกันสู้รบจีนฮ่อ จีนฮ่อสู้ไม่ได้ก็ยกทัพกลับไป
ครั้นมาถึง ค.ศ.๑๗๖๘ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก จีนฮ่อยกมารบพม่าอีก จีนฮ่อสู้พม่าไม่ได้ก็ยกกลับไป
ครั้นมาถึงเดือนดีแซมเบอร์ ค.ศ. ๑๗๖๙ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๓๑ ปีฉลู เอกศก จีนฮ่อยกมารบกับพม่าอีก พม่าเสียทีกับจีนฮ่อ ก็ยอมทำหนังสือสัญญาขอเลิกการรบ แลขอส่งราชสาสนเครื่องราชบรรณาการ ๑๐ ปีครั้งหนึ่ง แม่ทัพจีนฮ่อก็ยอมเลิกทัพกลับไป
เจ้าอังวะทำโกรธแม่ทัพว่า ไปทำสัญญากับจีนฮ่อจะให้เครื่องบรรณาการ ๑๐ ปีครั้งหนึ่ง เป็นความคิดของแม่ทัพต่างหาก เจ้าอังวะไม่ได้รู้เห็นด้วย ทำทั้งนี้เป็นการแก้อาย แต่คนมีปัญญาเขาคิดเห็นว่า จีนฮ่อยกมาถึงสามคราว เจ้าอังวะจึงคิดอ่านยอมถวายราชสาสนเครื่องบรรณาการ เพื่อจะระงับการศึกจีนฮ่อเสียฝ่ายหนึ่ง แต่ทำท่าทีเป็นขัดเคืองแม่ทัพหนัก ปรารถนาสำแดงความโกรธให้ปรากฏ จึ่งเอาโทษแม่ทัพพม่า ให้เอาผ้าผู้หญิงให้แม่ทัพนุ่งให้ได้อายแก่คนทั้งปวง
เพราะเหตุนั้น เมื่อครั้งอังกฤษกับพม่าทำหนังสือสัญญากันที่เมืองยันตะบู พม่าจึ่งชักเอาเรื่องจีนฮ่อนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบให้อังกฤษฟัง จะให้อังกฤษประพฤติตามธรรมเนียมที่พม่ากับจีนฮ่อได้ทำกันนั้น แม่ทัพพม่าจึ่งว่าแก่แม่ทัพอังกฤษว่า ครั้งพม่ารบกับจีนฮ่อแล้วเป็นไมตรีกัน ต่างคนต่างเลิกทัพกลับไป จีนฮ่อก็ไม่ออกตัวว่าชนะพม่าเหมือนอย่างอังกฤษ แล้วจีนฮ่อก็มิได้ขอที่บ้านเมือง แลขอเชิญให้ค่าจ้างทหารเหมือนอย่างอังกฤษ
ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๗๔ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๓๖ (๒๓๑๗) ปีมะแม ฉศก พม่ายกทัพไปตีเมืองนุนิคุระ ซึ่งเป็นเมืองกะแซอีกครั้งหนึ่ง กับไปตีเมืองกะซาด้วย แล้วคิดไปตีเมืองอาระกัน คือเมืองยะไข่ จึ่งยกทัพออกจากเมืองพม่าไปในเดือน แสบเตมเบอร์ ค.ศ. ๑๗๘๓ ตรงกับเดือนสิบ จ.ศ. ๑๑๔๕ (๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก พม่าก็ตีเมืองอาระกันแตก จับตัวเจ้าเมืองได้เอาไปไว้ที่เมืองอำมะระโปรา (อมรปุระ)
ไม่ช้าไม่นานเจ้าเมืองอาระกันก็ตายในเมืองอำมะระโปรานั้น ครั้นพม่าได้เมืองอาระกันแล้ว อยู่มาเกาะจักวา เกาะนาวารี เกาะกับปะกา หลายเกาะซึ่งอยู่หน้าเมืองอาระกันนั้น ก็มาขึ้นกับพม่าทั้งสิ้น พม่าก็ตั้งให้คนของพม่าเป็นเจ้าเมืองอาระกัน เป็นหัวเมืองอันหนึ่งมาขึ้นกับเมืองอังวะ”
** จดหมายเหตุฉบับนี้ยังไม่จบครับ อ่านยากหน่อยก็เลยตัดตอนเป็นบันทึกย่อย ๆ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น ความที่เจ้าเมืองเบงคอลบันทึกย่อ ๆ ว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ที่ไทยเสียเมืองแก่พม่า และมณีปุระ ลาวกะแชก็เสียเมืองแก่พม่าด้วยนั้น จีนฮ่อได้ยกมาตีพม่าทางด้านเหนือ อลองพญาให้ทัพที่กลับจากไทยยกขึ้นไปช่วยรบจีนฮ่อ ทัพฮ่อถอยกลับไป ตั้งตัวได้แล้วก็ยกลงมาอีก ถอยกลับแล้วยกมาอีกเป็นหลายครา ครั้งล่าสุดทัพฮ่อมีกำลังมาก แม่ทัพพม่าสู่ไม่ได้จึงยอมแพ้ ทำสัญญาสงบศึกยอมส่งเครื่องราชบรรณาการ ๑๐ ปี ต่อครั้ง
ความตรงนี้เจ้าเมืองเบงคอลบันทึกว่า เรื่องการรบกับฮ่อนั้น เจ้าอลองพญายอมแพ้ฮ่อ แต่กลัวเสียหน้า ให้แม่ทัพทำสัญญาสงบศึกยอมส่งบรรณาการ แล้วก็แสร้งโกรธแม่ทัพหาว่ายอมทำสัญญาเองโดยพระเจ้าแผ่นดินมิได้เห็นดีด้วย สั่งลงโทษแม่ทัพด้วยการเอาผ้าถุงผู้หญิงให้แม่ทัพนุ่งประจานความอ่อนแอ เจ้าเมืองเบงคอลรู้ทันเล่ห์พม่าในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากอลองพญายกทัพมารุกรานไทย ตีกรุงศรีอยุธยาแตกราบไปแล้ว ก็ได้ยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ได้จนหมดสิ้น ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระยาตากสินรวบรวมกำลังปราบปรามก๊กต่าง ๆ ในเมืองไทยแล้วตั้งกรุงธนบุรี กู้ชาติไทยขึ้นมาใหม่
เรื่องราวในจดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลจะมีอะไรให้เรารู้อีกบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๐ กันยายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|