บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดคุ้งตำหนัก : ต. บางตะบูน อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี เล่ากันว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณนี้เคยมีพลับพลาหรือตำหนักพระเจ้าเสือ ซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๑ -
ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ มาทรงเบ็ดกะโห้ไม่สังหาร ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน และโบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา
แต่เดี๋ยวนี้ที่วังก็รั้งร้าง เป็นรอยทางทุกปราบราบรุกขา ยังแลเลี่ยนเตียนดีที่พลับพลา นึกระอาอนิจจังไม่ยั่งยืน
เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ แล้วก็กลับไปเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน นึกสะอื้นอายใจมาในเรือฯ”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.............
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยเดินทางของสุนทรภู่ไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร ผ่านเหตุการณ์อันระทึกขวัญจากลมสลาตันไปแล้ว ออกจากป่าโกงกางได้ก็เลียบเลาะริมทะเลมุ่งไปเมืองเพชร เห็นฝูงลิงจับปู จับแมงดา หาหอยกินกันเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ จากคลองช่อง ผ่านย่านเขายี่สานเข้าปากตะบูน เป็นลำดับ วันนี้มาแกะรอยกันต่อไปครับ
 วัดคุ้งตำหนัก : ต. บางตะบูน อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี เล่ากันว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณนี้เคยมีพลับพลาหรือตำหนักพระเจ้าเสือ ซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด กลอนข้างบนนี้เป็นบทและความต่อจากกลอนเมื่อวันวาน ถึงที่ตั้งวังประทับรับเสด็จทรงเบ็ดตกปลากะโห้ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในระหว่างทางก่อนถึงเมืองเพชร เป็นที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งเคยเสด็จมาประทับทรงเบ็ด ตกปลากะโห้ได้แล้วก็ปล่อยไป ประหนึ่งว่าทรงถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง นัยว่าพระเจ้าแผ่นดินสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งทรงโปรดฯ การตกปลาและเคยมาประทับที่นี่
วันที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ไปถึงสถานที่ตั้งวังประทับทรงเบ็ดนั้น เป็นป่ารกร้าง ยังเป็นที่เลี่ยนโล่งเฉพาะที่ตั้งพลับพลาเท่านั้น ท่านเห็นสภาพวังร้างแล้วสลดใจ รำพึงถึงความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งที่ล้วนเป็นอนิจจัง อย่าว่าแต่สถานที่สิ่งของเลย แม้แต่ศักดินาฐานะเกียรติยศ เมื่อมีขึ้นแล้วก็ย่อมลดลงหายไป........
“ ถึงบางหอหอใครที่ไหนหนอ มาปลูกหอเสน่หาในป่าเสือ อันย่านนี้ที่บนบกก็รกเรื้อ ทั้งทางเรือจระเข้ก็เฉโก
ถึงเจ้าสาวชาวสวรรค์ฉันไม่อยู่ จะโศกสู้เอกาอนาโถ ด้วยหวั่นตัวกลัวเสือก็เหลือโซ เห็นแต่โพทะเลจระเข้ลอย
ทั้งเหลืองดำคร่ำคร่าล้วนกล้าแกล้ว จนเรือแจวจวนใกล้มิใคร่ถอย ดูน่ากลัวตัวใหญ่มิใช่น้อย ต่างคนคอยภาวนาอุตส่าห์สำรวม
เห็นนกบินกินปลาล้วนน่ารัก นกปักหลักลงน้ำเสียงป้ำป๋วม นกกระเต็นเต้นตามนกกามกวม กับเหี้ยต้วมเตี้ยมต่ายตามชายเลนฯ” |
 ชุมชนบางหอ : เพชรบุรี ถึงบางหอท่านสุนทรภู่ก็คิดฉงนว่า ใครนะช่างกล้ามาสร้างเรือนหอเสน่หาอยู่ในป่าในดงที่เต็มไปด้วยเสือ ทั้งทางเรือก็เต็มไปด้วยจระเข้จอมเกเร (ที่ชอบขวางคลอง) อย่างนี้ต่อให้เจ้าสาวเป็นนางสวรรค์ท่านก็ไม่ขอมาอยู่ด้วย แม้จะโศกอนาถาก็ขอทนอยู่เดียวดายดีกว่า เพราะกลัวเจ้าเสือโซมากมายในป่านี้ และกลัวจระเข้ที่ลอยเป็นแพอยู่น้ำ มีทั้งตัวเหลืองตัวดำล้วนแต่แกล้วกล้าไม่กลัวใคร เรือแจวลำใหญ่ผ่านฝูงพวกมัน มันก็ยอมถอยลอยคอคอยจะกินเหยื่อ คนในเรือที่ไม่ได้แจวก็ได้แต่นั่งภาวนาให้รอดพ้นจากคมปากของพวกมัน เรือพ้นฝูงจระเข้มาได้ก็เห็นฝูงนกกินปลาน่ารัก มันบินขึ้นสูงแล้วปักหัวพุ่งลงในน้ำจับปลากินเป็นอาหาร เสียงน้ำดังป้ำป๋วม (ท่านได้ยินเสียงอย่างนั้นนะ) “นกกระเต็นก็เต้นตามนกกามกวม ตัวเหี้ยก็ต่ายต้วมเตี้ยมตามชายเลน“ หาอาหารกินไปตามธรรมชาติของพวกมัน
“ ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท มีอาวาสวัดวามหาเถร มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้ จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน เขานับถือลืออยู่แต่บุราณ ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน
ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส ศิลาลาดเลียบเดินเนินสิงขร พฤกษาออกดอกช่ออรชร หอมขจรจำปาสารภี
ต้นโพธิ์ไทรใบงอกตามซอกหิน อินทนิลนางแย้มสอดแซมสี เหล่าลั่นทมร่มรอบขอบคีรี สุมาลีหล่นกลาดดูดาษดิน
ได้ชมเพลินเดินมาถึงหน้าโบสถ์ ษมาโทษถือเทียนเวียนทักษิณ เคารพสามตามกำหนดหมดมลทิน กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ
ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ์ ถวายธูปเทียนอุทิศพิษฐาน ขอเดชะพระสัมฤทธิ์พิสดาร ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง.......” |
 วัดเขาตะเครา และ หลวงพ่อทอง แห่งวัดเขาตะเครา : เพชรบุรี ถึงเขาตะเครา ในกลอนนี้พิมพ์ผิด ตะเครา เป็น ตะคริว มีต้นฉบับเดิมที่ อ.ล้อม เพ็งแก้ว พบในหอสมุดแห่งชาติ ท่านสุนทรภู่เขียนว่า เขาตะเครา ตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ท่านไปถึงวัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม เป็นเวลาเพลพอดี จึงสั่งให้จอดเรือหน้าวัดแล้วจัดธูปเทียนขึ้นไปนมัสการหลวงพ่อสัมฤทธิ์ พระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือกันมาก หลวงพ่อสัมทธิ์ที่สุนทรภู่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันเรียกว่าพลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ศิลปะเชียงแสน (สิงห์สาม) พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เข้ากราบไหว้และสรงน้ำ แล้วอธิษฐานขอ....ว่าอย่างไร เอาไว้อ่านกันพรุ่งนี้ดีกว่าครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, Thammada, กลอน123, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา : เพชรบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๒ -
“...ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง จะแต่งตั้งบายศรีมีละคร
ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร สาธุสะพระสัมฤทธิ์ประสิทธิพร ให้ได้นอนฟูกฟูเหมือนชูชก.....”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...............
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่เดินทางไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร มาถึงวัดเขาตะเครา บ้านแหลม ใกล้เมืองเพชรเข้าไปแล้ว พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เดินทางไปถึงวัดเขาตะเคราได้เวลาเพลพอดี ท่านให้จอดเรือแล้วขึ้นไปเดินดูบริเวณวัดที่ร่มรื่น หอมตรลบไปด้วยกลิ่นดอกไม้นานา ครั้นชมไปทั่วบริเวณวัดแล้วก็เข้านมัสการพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ (หลวงพ่อทอง) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน (สิงห์ ๓) แล้วขอพร........
 กลอนที่ยกมาวางไว้ข้างบนนี้เป็นความต่อจากบทเมื่อวานนี้ ซึ่งสุนทรภู่ขอพระพระสัมฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ว่า ขอ “ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ท่านต้องการแหวนกับผ้าแพรหอม เอาไปทำไม หรือว่าจะเอาไปให้หญิงสาวที่หมายตาไว้ หากได้ดังขอจะแก้บนด้วยจัดตั้งบายศรี มีละคร ตั้งเทียนเงินเทียนทอง ของเสวย ดังที่เขาเคยทำกัน แล้วท่านก็ใส่อารมณ์ขันแทรกลงไว้ว่า “ให้ได้นอนฟูกฟูเหมือนชูชก”
“ แล้ววันทาลาเลียบลงเหลี่ยมเขา พอบังเงาแดดร่มทั้งลมตก ออกนาวามาทางบ้านบางครก มะพร้าวดกดูสล้างสองข้างคลอง
มีส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน ตลอดล้วนเรียงรายเรียกขายของ เขาเลียนล้อต่อถามตามทำนอง ได้ยินย่องนิดหน่อยอร่อยใจ
จนเรือออกนอกชะวากปากบางครก ต้องเลี้ยววกไปตามลำแม่น้ำไหล เป็นถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร เขาทำไร่ถั่วผักปลูกฟักแฟง
แต่ฟักทองร้องเรียกว่าน้ำเต้า ฟักเขียวเล่าเรียกว่าขี้ฟ้าแถลง ล้วนเลี้ยงวัวทั่วถิ่นได้กินแรง แต่เสียงแปร่งเปรี้ยวหูไม่รู้กลัว
เจ้าสำนวนชวนตีแต่ฝีปาก พูดด้วยยากชาวบางกอกจนกลอกหัว แสนแสนงอนค้อนว่าค่อนด่าวัว เขาตัดหัวแขวนห้อยร้อยประการ
ล้วนแช่งซ้ำล้ำเหลือไอ้เสือขบ ลำเลิกทบทวนชาติเสียงฉาดฉาน อ้ายวัวเฒ่าเขาล้มคือสมภาร มันขี้คร้านทดข้าวเขาจึงแทงฯ” |
 คลองบางครก ตัดตรงจากวัดปากคลองไปสู่วัดเขาตะเครา อธิษฐานขอพรเสร็จแล้วก็กราบลาหลวงพ่อทอง ลงเรือออกจากท่าหน้าวัด เลาะเลียบเหลี่ยมเขามาทางบ้านบางครก เห็นมะพร้าวสองข้างคลองดกดื่นตา ส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน ชาวบ้านนำออกมาวางเรียงรายร้องขายด้วยสำเนียงเสียงแปร่งหู ท่านบอกว่า “เสียงแปร่งเปรี้ยวหู” ก็จึงได้พูดเลียนล้อกันสนุก “อร่อยใจ” จากบางครกเรือก็เลี้ยววกไปตามลำน้ำไหล เป็นถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร เขาปลูกถั่วปลูกผัก ฟักแฟง ฟักทอง มากมาย แต่ฟักทองนั้น เขาเรียกว่า “น้ำเต้า” ส่วนฟักเขียวเรียกว่า “ขี้ฟ้า” … เป็นงั้นไป
 ภาษาถิ่นเพชรบุรีไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ใครไม่เคยได้ยินได้ฟัง เมื่อไปได้ยินได้ฟังแล้วจะงง สับสนไม่น้อยเลย เขาวางคำพูดแบบบาลีไวยากรณ์ เอาคำปฏิเสธวางไว้หลังเสมอ เช่น “ไม่ได้” เขาจะพูดว่า “ได้ไม่” และ “ไม่ถูก-ถูกไม่, ไม่ดี-ดีไม่, ไม่รู้-รู้ไม่, ไ ม่เอา-เอาไม่” อย่างนี้เป็นต้น
สำเนียงหรือน้ำเสียงก็อย่างที่สุนทรภู่ท่านว่า “แปร่งเปรี้ยวหู” นั่นแล
มีคำด่ากระทบที่ให้ความหมายแสบซึ้งอยู่หนึ่งคำคือ "อ้ายวัวเฒ่าเขาล้มคือสมภาร" คำว่าวัวเฒ่าเขาล้ม นั่นแหละ เขาเปรียบชายแก่ที่หมดน้ำยา ล้มไม่รู้ลุก แล้ว เหมือนพระสมภารเฒ่าชรานั่นแล
“ ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นคำแคลง จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
พายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดมฯ” |
ไหมล่ะ ...ท่านสุนทรภู่เจอสำนวนเด็ดของชาวเพชรเข้าแล้ว ถามชาวบ้านใหม่ว่า บ้านท่านขุนแขวง (น่าจะเป็นตำแหน่งนายอำเภอ) ระยะทางยังอยู่อีกไกลไหม แทนที่เขาจะตอบ กลับถามย้อน (ปฏิปุจฉา) ว่า “ท่านจะพายแรงหรือพายค่อยครับ” แล้วให้คำตอบว่า “ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก” เจออย่างนี้ สุนทรภู่ก็ได้แต่ส่ายหัวแหละนะ
วันนี้ที่บ้านใหม่น่าจะมีการ “ลงแขก” เกี่ยวข้าวนาข้าวเบากัน จึงมีผู้คนร่วมงานเกี่ยวข้าวมากมาย ส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราว และหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน พอเลยทุ่งนามาก็เห็นมีการตั้งเตาเคี่ยวน้ำตาล อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเพชรบุรี
** หยุดพักไว้ตรงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยแกะรอยตามท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, Thammada, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, เนิน จำราย, กลอน123, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดบันไดทอง ต. บ้านกุ่ม อ. เมืองเพชรบุรี จ. เพชรบุรี Cr. Photo By เอื้อยนาง - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๓ -
“ถึงบางกุ่มหนุ่มแก่สาวแซ่ซ้อง มีบ้านสองฟากข้ามนามประถม ข้างซ้ายมือชื่อบ้านสะพานยายนม น่าใคร่ชมชื่นจิตคิดรำพึง
อย่างไรหรือชื่อเช่นนั้นขันนักหนอ หรือแกล้งล้อจะให้นึกรำลึกถึง ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่ สถิตที่ทับนาพออาศัย เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองน้องท่านแพ่ง เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน
โอ้สงสารท่านรองคนครองรัก เมื่อมาพักบ้านโพธิ์สโมสร เคยร่วมใจไหนจะร่วมนวมที่นอน ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย
แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย แสนเสียดายดูหน้านึกอาลัยฯ”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรี ตามความในนิราศเมืองเพชร จากวัดเขาตะเครา บ้านแหลม แล้วเลี้ยวเข้ามาทางบางครก ถึงบ้านใหม่ใกล้เมืองเพชรเข้าไปแล้ว วันนี้มาแกะรอยตามกันต่อไปครับ
กลอนข้างบนนี้เป็นความและเรื่องต่อจากเมื่อวันวาน เรือท่านถูกแจวมาถึงบ้านบางกุ่มซึ่งเป็นย่านชุมชนใหญ่ มีชื่อบ้านหนึ่งที่สุนทรภู่รู้สึกฉงนในนามที่แปลกเรียกกันว่า “บ้านสะพานยายนม” เป็นชื่อที่น่าขันนัก เขาตั้งชื่อนี้ขึ้นไว้ล้อเล่นกันหรืออย่างไร พอได้ยินชื่อบ้าน บางคนก็นึกไปถึงคุณยายนมยานโตงเตงที่เดินไปเดินมาอยู่บนสะพาน อะไรทำนองนั้น เลยบ้านสะพานยายนม ก็ถึงบ้านโพธิ์ แล้วย้อนสำนึกไปลึกซึ้งถึงอดีตที่เคยมาพักพาอาศัยอยู่ที่นี่
ย้อนกลับไปสู่อดีตในวัยหนุ่ม เมื่อกลับจากไปหาหลวงพ่อพระครูอารัญธรรมรังสี ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง แขวงระยอง แล้วแวะหามารดาในวังหลัง ทราบว่าหม่อมบุนนากในกรมพระราชวังหลังได้ออกจากวังกลับไปอยู่บ้านเดิมที่เพชรบุรีแล้ว แมลงภู่หนุ่มก็คิดจะไปหาญาติพี่น้องทางฝ่ายมารดาที่เพชรบุรี โดยจะอาศัยหม่อมบุนนากเป็นหลัก (นัยว่าหม่อนบุนนากเป็นญาติสนิทกับมารดาท่าน การที่มารดาท่านมาเป็นแม่นมอยู่ในวังหลัง ก็เพราะหม่อมบุนนากพามาสนับสนุนให้เป็นแม่นม) จึงออกจากวังหลัง ทิ้งบางกอกมาปักหลักอยู่ที่บ้านโพธิ์ อาศัยท่านขุนรองน้องท่านแพ่ง อยู่ในทับ (กระท่อม) นา ซึ่งต่อมาขุนรองแปลงทับนาเป็นเรือนหอ จนความทราบถึงเจ้าเมือง ก็ถูกโกรธจนถึงตัดรอน สุนทรภู่ก็จำต้องจากจร เหตุเพราะนางนวลคือหญิงคนหนึ่งที่ขุนรองพึงพอใจ สุนทรภู่จึงไม่อยู่เป็นก้างขวางคอ ท่านรำพึงถึงอดีตมากมายที่สร้างไว้ ณ บ้านโพธิ์ก่อนจะกลับบางกอก เมื่อเดือนสี่ปีระกาโน้น
“ ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาก เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาจะหาคู่ จะขอสู่ให้เป็นเนื้อช่วยเกื้อหนุน ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวคน
ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก เป็นแต่นึกลับหลังหลายครั้งหน ขอษมาอย่าได้มีราคีปน เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป
แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต แนบสนิทน้บเชื้อว่าเนื้อไข จะแวะหาสารพัดยังขัดใน ต้องอายใจจำลากลัวช้าการฯ” |
แล้วก็ถึงบ้านหม่อมบุนนาก บุคคลสำคัญในชีวิตของท่านอีกคนหนึ่ง สมัยที่ท่านมาอยู่กับขุนรองบ้านโพธิ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหม่อมบุนนากนักนั้น หม่อมบุนนากก็ได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงแมลงภู่หนุ่มด้วย และเมื่อจากทับขุนรองแล้วก็ได้มาอยู่กับหม่อมบุนนาก โดยได้ช่วยหม่อมทำไร่ทำนา หม่อมก็เมตตาจะหาคู่ให้ จัดการแต่งงานให้ร่วมอยู่กินกันอย่างเป็นฝั่งเป็นฝา แต่ท่านยังรักและรำลึกถึงแม่จันคนรักแรกแห่งวังหลังอยู่ จึงไม่คิดจะอยู่กินกับสาวเมืองเพชรคนใด และที่สุดแล้ว หม่อมบุนนากก็ได้เป็นคนเจรจาให้เจ้าครอกทองอยู่ในพระราชวังหลังยินยอมยกนางจันให้แก่สุนทรภู่ แล้วแมลงภู่หนุ่มก็ได้กลับมาเชยชมแม่จัน ณ วังหลังสมใจในที่สุด
วันที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร อาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณมาทำธุระสำคัญที่เมืองเพชรคราวนี้ เมื่อผ่านถึงบ้านหม่อมบุนนาก ท่านก็ได้ย้อนรำลึกถึงอดีตอันยาวนานที่ผ่านมาเกือบ ๒๐ ปีของท่าน โดยคิดถึงใครต่อใครอีกหลายคนที่เคยรู้จักมักคุ้น โดยเฉพาะน้องหญิงที่ชื่อปรางทอง คิดจะแวะหาแต่ก็ไม่กล้า ยังตะขิดตะขวงใจอะไรอยู่ จึงผ่านเลยไป.......
* วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนก็แล้วกันนะ พรุ่งนี้ค่อยติดตามกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, Thammada, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 อนุเสาวรีย์สุนทรภู่ริมท่าน้ำวัดพลับพลาชัย : เพชรบุรี Cr. Photo By banbantour.com - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๔ -
“ถึงอารามนามที่กุฎีทอง ดูเรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร ริมอารามข้ามน้ำทำตะพาน นมัสการเดินมาในวารี
ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี ประทับที่หน้าท่าพลับพลาชัย
ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน นรินทรท้าวพระยามาอาศัย ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบภัย ให้มีชัยเหมือนเช่นนามอารามเมือง....”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร เข้าไปถึงชานเมืองเพชรบุรี เลยบ้านขุนรอง บ้านหม่อมบุนนากมาแล้ว วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 วัดบันไดทอง : เพชรบุรี / คุ้งคดอ้อยวัดบันไดทอง : เพชรบุรี (Cr. Photo By คนบ้านใหม่) กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน ท่านบอกเล่าถึงการเดินทางผ่านวัดกุฎีทองที่แลเห็นโบสถ์วิหารเรืองรอง วัดนี้ปัจจุบันนี้เรียกชื่อว่าวัดบันไดทอง อยู่ในกลุ่มวัดกุฎีดาว วัดกำแพงแลง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒ กม. แม่น้ำตรงเลยวัดคดโค้งเป็นวังน้ำวนซึ่งสุนทรภู่กล่าวว่าชื่อ “คดอ้อย”
 ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย (Cr. Photo By คนบ้านใหม่) / พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย Cr. Photo By ploenmuangpetch.com ครั้นพ้นจากคดอ้อยแล้วก็แจวเรือได้คล่องขึ้น เป็นเวลาเย็นแล้ว แจวแรง ๆ ก็ถึงเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) ในเวลาย่ำค่ำพอดี จึงให้จอดเรือพักอยู่ที่หน้าวัดพลับพลาชัย วัดนี้ปัจจุบันยังชื่อวัดพลับพลาชัย เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องศาสนาและวัฒนธรรมสำคัญของเพชรบุรี มีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ให้ศึกษากันด้วย.......
“ดูเรือแพแซ่ซ้องทั้งสองฟาก บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไป
ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว
แสนสงสารท่านหญิงมิ่งเมียหลวง เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม....” |
 พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร จอดเรือพักค้างแรมคืนอยู่หน้าวัดพลับหลาชัย ตื่นเช้าขึ้นก็เห็นเรือแพถ่อพายอยู่แซ่ซ้อง ขายหมากพลูข้าวของนานา ดูเนืองนองเต็มลำน้ำ เมื่อเสร็จกิจของตนแล้วท่านก็ออกเรือจากวัดพลับพลาไปเรือนขุนแพ่งเพื่อเยี่ยมเยือน ไปเห็นก็แปลกตา เพราะบ้านเรือนมีสภาพไม่เหมือนที่ท่านเคยมาอาศัยเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน และที่ร้ายไปกว่านั้น วันที่ท่านไปถึงนั้นปรากฏว่า เมียหลวง เมียน้อย และญาติพี่น้องในบ้านขุนแพ่งอยู่ในอาการไว้ทุกข์ เนื่องด้วยขุนแพ่งได้เสียชีวิตลงในศึกลาวปีนั้น คือศึกเจ้าอนุเวียงจันทน์ (ปี พ.ศ. ๒๓๖๙) นัยว่าขุนแพ่งไปรบแล้วเสียทีแก่ข้าศึกจนถึงแก่กรรมลง......
“ เมื่อมาเรือนเยือนศพไม่พบพักตร ไม่ผอมนักเดี๋ยวนี้รูปช่างซูบผอม เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม เหมือนแก่หง่อมหงิมเงียบเชียบสำเนียง
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้ ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ
โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก ไม่พบพักตรพลอยพาน้ำตาไหล ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป ให้ท่านได้สู้สวรรค์ชั้นวิมาน
แล้วอำลาอาลัยใจจะขาด จำนิราศแรมร้างห่างสถาน ลงเรือจอดทอดท่าหน้าตะพาน แสนสงสารศิษย์หาออกมาอึง
เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง ด้วยเคยเห็นเป็นฝีมือมักดื้อดึง จะตูมตึงแตกช้ำระยำเยิน
ทั้งที่ปรางค์นางใหญ่ได้ให้ผ้า เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ ยังเชื้อเชิญชวนชักรักอารมณ์ฯ” |
ช่วงตอนนี้เป็นเรื่องเศร้าและผิดหวังอย่างแรงสำหรับสุนทรภู่ ตั้งใจมาเยี่ยมเพื่อนเก่า แต่กลับมาพบแต่ศพเพื่อน จึงได้สวดและบังสุกุลศพเพื่อนอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ตามยถากรรม ศึกลาวคราวนั้น เกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต ปี พ.ศ. ๒๓๖๗ เจ้าอนุเวียงจันทน์เข้ามาเคารพระศพ แล้วบังอาจทูลขอคนจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไม่ได้ตามต้องการ กลับไปเวียงจันทน์แล้วก็เตรียมการยกกองทัพมุ่งมาตีกรุงเทพฯ เข้ายึดเมืองนครราชสีมาได้ ในปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๓๖๙ ขุนแพ่งไปรบเจ้าอนุวงศ์แล้วเสียชีวิตในที่สุด
 ตอนเดินออกจากเรือนขุนแพ่งตามสะพานจะลงเรือที่จอดอยู่หัวสะพานท่าน้ำ ปรากฏว่ามีลูกศิษย์ของท่านจำนวนมากมารอรับส่ง ศิษย์เหล่านี้ท่านเคยสอนหนังสือสมัยที่มาพักอยู่กับขุนรอง ขุนแพ่ง และหม่อมบุนนาก มีชาวบ้านนำลูกหลานมาฝากเป็นศิษย์ให้เสมียนภู่ช่วยสอนหนังสือให้ ในบรรดาศิษย์นั้นมีหญิงคนหนึ่งชื่อ ทองมี น่าจะมีอะไรมากไปกว่าความเป็นศิษย์กับอาจารย์ ท่านว่าเมื่อเห็นหน้าน้องทองมีแล้วอยากจะทัก แต่ไม่กล้า เพราะกลัวผัวของทองมีจะหึง เพราะเคยเห็นฤทธิ์ความดื้อดึง ตูมตาม ของเจ้าคนนี้มาแล้ว......
** พักการแกะรอยตามสุนทรภู่ไว้แค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาแกะรอยตามกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย วันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ / ๐๕.๒๗ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดเกาะ (วัดเกาะแก้วสุทธาราม) ต. ท่าราบ อ. เมือง จ. เพชรบุรี Cr. Photo By ploenmuangpetch.com - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๕ -
“แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่ ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์
จะกลับหลังยังมิได้ดั่งใจชั่ว ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก เมื่อเป็นบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก เขารับรักรู้คุณกรุณา
ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น เว้นแต่อินโปรดเกศของเชษฐา ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้น.......”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามทางสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร ถึงบ้านขุนแพ่ง เพื่อนเก่าที่เคยมาพึ่งพาอาศัยสมัยที่ยังหนุ่ม ต้องพบกับความเศร้าและผิดหวังเมื่อทราบว่า ขุนแพ่งเสียชีวิตในการไปรบลาวเวียงจันทน์ จึงเดินทางต่อไปบ้านท่านแพ่งคนใหม่ที่มารับตำแหน่งใหม่....
กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน สุนทรภู่จากบ้านขุนแพ่งผู้ล่วงลับแล้วไปหาท่านแพ่งคนใหม่ ซึ่งก็เป็นคนคุ้นเคยกันมาก่อนเหมือนกัน นำเรื่องที่อาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณมาเข้าเจรจากับท่านแพ่ง ผลการเจรจาสำเร็จเสร็จสมความความปรารถนา
 ครั้นเสร็จธุระแล้ว หะแรกคิดจะกลับบางกอกทันทีด้วยความดีใจที่ทำธุระสำเร็จ แต่แล้วก็กลับฉุกคิดว่าหาควรรีบกลับไม่ เพราะยังไม่ได้เยี่ยมเยือนคนรู้จักมักคุ้นอีกหลายคน ไหน ๆ ก็เดินทางมาด้วยความลำบากยากเข็ญแล้ว ก็ควรแวะเยี่ยมญาติพี่น้องทางฝ่ายมารดาและบรรดาศิษย์เก่าเสียหน่อยเถิด คิดดังนั้นแล้ว จึงไปเยี่ยมยามถามสารทุกข์สุกดิบของผู้ที่เคยรู้จักกันมาก่อน ทุกคนล้วนยินดีต้อนรับปราศรัยด้วยไมตรีอันดียิ่ง เว้นเพียงคนผู้เดียว คือ น้องอิน คนโปรดในอดีต (อินโปรดเกศของเชษฐา) เธอเห็นแล้วก็เมินไม่ยอมมองเหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน แสดงว่าผู้หญิงชื่ออินคนนี้ น่าจะมีความหลังล้ำลึกอะไรอยู่กับหนุ่มแมลงภู่ที่เคยมาอยู่เมืองเพชรคราวก่อนโน้น เห็นทีว่าแมลงภู่หนุ่มเชยชมกลิ่นเกสรบุปผางามดอกนี้แล้วบินจรจากไป ครั้นเป็นแมลงภู่เฒ่าบินหวนกลับมาครานี้ เธอจึงมิได้สนใจใยดี ทั้งนี้ก็เพราะว่า “รักตายกลายตอเป็นกอเตย” ไปเสียแล้ว
“ โอ้คิดถึงพึ่งบุญท่านขุนแพ่ง ไปหน้าแล้งรับแขกแรกวสันต์ ตำข้าวเม่าเคล้าน้ำตาลทั้งหวานมัน ได้ช่วยกันคั้นขยำน้ำกะทิ
เขาไปเที่ยวเกี่ยวข้าวอยู่เฝ้าห้อง เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโหสิ เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ ยังปริบปริปริ่มพร้อยเป็นรอยราย.....” |
 อ้อ ...เป็นอย่างนี้นี่เอง วันนั้นเมื่อปีโน้น ไปเยี่ยมบ้านขุนแพ่ง มีการตำข้าวเม่ากัน แมลงภู่หนุ่มก็ไปกุลีกุจอช่วยคั้นกะทิ นัยว่า สาวอินเป็นคนขูดมะพร้าว ยามนั้นทุกคนพากันไปเกี่ยวข้าวในนาจะเอามาคั่วตำข้าวเม่า หนุ่มแมลงภู่กับสาวอินอยู่บ้าน หนึ่งขูดมะพร้าวหนึ่งคั้นน้ำกะทิ แล้วก็มีการหยอกเอินกันตามประสาหนุ่มสาว สาวอินหยิกข่วนแมลงภู่หนุ่มอย่างแรงจนเล็บหัก ผิวหนังแมลงภู่หนุ่มที่แขนเป็นรอยลายพร้อยด้วยรอยเล็บ ทำอะไรกับน้องนางอินคนโปรดเข้าไว้ในอดีตอย่างนี้ รอยเล็บนางยังไม่จางหาย และรอยแค้นใจนางน้องอินจึงยังมิคลายเช่นกัน
“ครั้นไปเยือนเรือนหลานบ้านวัดเกาะ ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย ต้องใช้สีทับทิมจึงยิ้มพราย วิลาสลายลอยทองสนองคุณ
แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่ ที่นับในน้องเนื้อช่วยเกื้อหนุน พอวันนัดซัดน้ำเขาทำบุญ เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ
จะแทนคุณบุญมาประสายาก ต้องกระดากดังหนึ่งครกกระดอนกลับ ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์ ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง
ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก จะมาผูกมือบ้างอย่างหมางหมอง แล้วมาเรือเหลือรำลึกเฝ้าตรึกตรอง เที่ยวฉลองคุณท่านทุกบ้านเรือนฯ” |
 จากบ้านน้องอินคนโปรด แล้วก็เลยไปบ้านหลานสาวที่วัดเกาะ แล้วเลยไปบ้านตาลเรียงไม่ไกลจากวัดเกาะนัก ตั้งใจเอาผ้าแพรไปมอบให้ ก็พอดีวันนี้เป็นวันงานมงคลสมรสของน้องอีกหนึ่งนาง อุตส่าห์เดินจากเรือขึ้นไปจนถึงบ้าน พอรู้ว่าเขากำลังทำพิธี “ซัดน้ำ” คือหลั่งน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาว ก็ไม่กล้าเข้าไป ต้องหักใจจากลา ก่อนจากก็เอาผ้าแพรที่นำมาให้นั้น มอบไว้กับ “ป้าทรัพย์” ให้มอบแทนหลังจากเสร็จพิธีแล้ว พร้อมฝากบอกว่าอีกสักปีหรือปีครึ่ง เมื่อมีลูกแล้วจะมาผูกข้อมือบ้าง ขออย่าได้ระคางหมางหมองเลย จากนั้นก็เดินกลับมาลงไปเที่ยวฉลองคุณท่านทุกบ้านเรือน........
** วันนี้แกะรอยท่านสุนทรภู่มาแค่บ้านตาลเรียง ย่านวัดเกาะกลางเมืองเพชรก่อนนะครับ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปก็แล้วกัน.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, Thammada, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) :ต. คลองกระแชง อ. เมือง จ. เพชรบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๖ -
แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง เฝ้าท้องท้องทุกปีไม่มีเหมือน ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย พอวันพระศรัทธาพากันไป เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
สาธุสะพระนอนสิงขรเขา พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์ ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย
พระเนตรหลับทับพระบาทไสยาสน์เหยียด อ่อนละเอียดอาสนะพระเขนย พระเจ้างามยามประทมน่าชมเชย ช่วยรำเพยพัชนีนั่งวีลม.........”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่เตินทางไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร ท่านไปย่านวัดเกาะแก้วสุทธาราม เยี่ยมเยือนหลานสาวอีกคนหนึ่ง เอาผ้าแพรไปมอบให้ แล้วเลยไปบ้านตาลเรียง ด้วยตั้งใจเอาผ้าแพรไปมอบให้อีกเช่นกัน พอไปถึงก็เห็นผู้คนเต็มไปหมด ทราบว่าเขากำลังทำพิธีรดน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาว และเจ้าสาวก็คือน้องคนที่จะเอาผ้าแพรไปให้นั่นเอง จึงถึงกับยืนเซ่ออยู่เป็นนาน ไม่กล้าเข้าไปในบ้าน พอดีป้าทรัพย์คนรู้จักกันอีกคนหนึ่งโผล่ออกมาจากบ้านงาน เห็นเข้าก็ทักทาย ท่านจึงมอบผ้าสำรับหนึ่งให้ป้าทรัพย์นำไปมอบให้แทน แล้วเดินกลับมาลงเรือ........
 พระพุทธไสยาสน์(วัดพระพุทธไสยาสน์: เพชรบุรี) กลอนข้างบนนี้ เป็นตอนต่อจากเมื่อวันวาน เดินจากบ้านตาลเรียงที่เขากำลังมีงานมงคลสมรส แล้วลงเรือแจวต่อไปวัดพระนอน ท่านเล่าว่าไปไหว้พระนอน (พุทธไสยาสน์) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก ท่านไปนั่งถือพัดโบกวีพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ด้วย ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้อยู่วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) ถนนคีรีรัถยา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เขาวัง ในตำบลกระแชง สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทย
“ แล้วนึกว่าหน้าหนาวมาคราวนี้ ถึงแท่นที่พระสถิตสนิทสนม ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม ได้คลี่ห่มหุ้มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน มาห่มพระจะให้ผลดลบันดาล ได้พบพานภายหน้าสถาพร
ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม
อนึ่งผ้าข้าได้ห่มประทมพระ ขอทิฏฐะจงเห็นเป็นปัจฉิม ให้มีใหม่ได้ดีสีทับทิม ทั้งขลิบริมหอมฟุ้งปรุงสุคนธ์
ทั้งศิษย์หาผ้ามีต่างคลี่ห่ม คลุมประทมพิษฐานการกุศล ทั้งเนื้อหอมพร้อมกันเหมือนจันทน์ปน ได้เยาะคนขอจูบรักรูปเรา......” |
 จากนั้นท่านก็คิดขึ้นได้ว่า มาคราวนี้เป็นหน้าหนาว จึงควรหาผ้ามาห่มองค์พระพุทธไสยาสน์ และก็นึกได้ว่ายังมีผ้าแพรหอมที่ตั้งใจเอามาฝากน้องสาวหลายคน แต่ไม่ได้มอบให้ เพราะว่าน้องสาวนั้น ๆ ไม่สนใจใยดี อย่างเช่นน้องอินคนโปรดเป็นต้น จึงตกลงใจนำผ้าแพรเหล่านั้นมาคลี่ห่มตรงอกพระนอน แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขออานิสงส์ของการถวายผ้าห่มแพรหอมนี้ เป็นพลวปัจจัยในภายหน้า ขอให้ตนได้เป็นคนรูปงาม สองแก้มหอมปานเกสรดอกไม้ เนื้อกายหอมขจรไกล ให้คนที่แสนงอนมาง้อขอชิมกลิ่นหอม ผ้าใหม่ขอให้ได้สีทับทิมขลิบริมอบกลิ่นสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงใจ ครั้นท่านอธิษฐานดังนี้แล้ว บรรดาศิษย์ที่ติดตามไปได้ยินเข้าก็เกิดศรัทธา คนที่มีผ้าห่มก็เอามาห่มองค์พระนอนแล้วอธิษฐานว่า ขอให้ตนมีเนื้อหอมเหมือนกลิ่นกระแจะจันทน์ เพื่อจะได้เยาะคนขอจูบรักรูปเรา.....
“ แล้วลดเลี้ยวเที่ยวไปบันไดอิฐ ต่างเพลินพิศเพิงผารุกขาเขา จิกจันทน์แจงแทงทวยกรวยกันเกรา โมกแมงเม่าไม้งอกซอกศิลา
เหล่าลั่นทมยมโดยร่วงโรยกลิ่น ระรวยรินรื่นรื่นชื่นนาสา โบสถ์วิหารลานวัดทัศนา ล้วนศิลาแลสะอาดด้วยกวาดเตียน
มีกุฏิพระสงฆ์ที่ทรงสถิต พฤกษาชิดชั้นไผ่เหมือนไม้เขียน น่าสนุกรุกขชาติดาษเดียร เที่ยวเดินเวียนวงรอบขอบคีรี
พอแดดร่มลมชายสบายจิต เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์ มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร พะองยาวก้าวตีนปีนทะยาน กระบอกตาลแขวนกันคนละพวง
แต่ใจดีที่ว่าใครเข้าไปขอ ให้กินพออิ่มอุทรบห่อนหวง ได้ชื่นฉ่ำน้ำตาลหวานหวานทรวง ขึ้นเขาหลวงเลียบเดินเนินบันได
ดูเย็นชื่นรื่นรมย์พนมมาศ รุกขชาติช่อดอกออกไสว บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ” |
 บันไดอิฐเขาวัง / เขาวัง หรือ พระนครคีรี ออกจากวัดพระนอนแล้วเลี้ยวเที่ยวไปทางบันไดอิฐ เดินชมแมกไม้นานาพรรณ หินผาคณานกไปอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ กลอนชมไม้ของท่านตอนนี้ไพเราะมาก
หลังจากเดินเวียนรอบเขาวังแล้ว พอแดดร่มลมตกก็ออกกลางทุ่ง ชมทุ่งนาป่าตาล ชื่นชมว่าคนทำตาลโตนดล้วนแต่มีน้ำใจดีงาม มีมีดปาดตาลขัดเอว แบกพะองยาวไปพาดต้นโตนด ปีนขึ้นไปใช้มีดปาดงวงโตนดแล้วใช้กระบอกรองน้ำหวานจากงวงโตนด เอาลงมาทำน้ำตาลโตนด เมื่อมีใครไปขอดื่มน้ำตาลเขาก็ยินดีให้ดื่มกินจนอิ่ม ไม่หวงเลย
 บันได้ขึ้นเขาหลวงเพชรบุรี (Cr. Photo By นางสาวอนัญญา อิสโร) จากนั้นท่านก็ไปขึ้นเขาหลวง เดินไปตามเนินบันไดที่สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยดอกไม้นานามากมาย มีหมู่ภุมรินบินว่อนเชยชมกลิ่นและดูดรสเกสรดอกไม้ และที่สำคัญก็คือมีผึ้งหลวงฝูงใหญ่บินมาเสียงหึ่ง ๆ เหมือนเสียงฆ้องมุย เข้าเกาะกุมดอกไม้แล้วดูดรสหวานจากเกสรกลับไปสู่รวงรัง........
** วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาแค่เขาหลวงก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปใหม่ครับ
เต็ม อภินันท์ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย วันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘/ ๕.๓๐ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, Thammada, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 ถ้ำเขาหลวง : ต. ธงชัย อ. เมืองเพชรบุรี จ. เพชรบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๗ -
“ โอ้อกน้องท่องเที่ยวมาเปลี่ยวจิต ไม่มีมิตรที่จะชมสมประสงค์ กับหนูน้อยพลอยเพลินเที่ยวเดินวง ขึ้นถึงองค์พระเจดีย์บนคีริน
ต่างเหนื่อยหอบนอบน้อมอยู่พร้อมพรั่ง บ้างหยุดนั่งเอนนอนกับก้อนหิน เห็นประเทศเขตแคว้นในแดนดิน มีบ้านถิ่นทิวไม้ไรไรราย
คีรีรอบขอบเขื่อนดูเหมือนเมฆ แลวิเวกหวาดหวั่นยิ่งขวัญหาย เห็นทะเลเคหาหน้าหาดทราย ดูเรียงรายเรี่ยเรี่ยเตี้ยติดดิน
ได้ชมเพลินเมินมุ่งดูทุ่งกว้าง มีแถวทางเถื่อนท่าชลาสินธุ์ ฝูงวิหคนกกาเที่ยวหากิน บ้างโบยบินว้าว่อนบ้างร่อนเรียง
ที่ไร้คู่อยู่เดียวก็เที่ยวร้อง ประสานซ้องสกุณาภาษาเสียง กินปลีเปล้าเขาไฟจับไม้เรียง กรอดเคียงคู่กรอดแล้วพลอดเพลิน
รอกกระแตแลโลดกระโดดเล่น กระต่ายเต้นตามลำเนาภูเขาเขิน ที่ทุ่งกว้างกลางหนเห็นคนเดิน หาบน้ำตาลคานเยิ่นหยอกเอินกัน......”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..............
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร ท่านไปไหว้พระนอนซึ่งเป็นพระไสยาสน์องค์ใหญ่ อายุเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรึอยุธยา แล้วเดินดูรอบ ๆ เขาวัง จากเขาวังออกท้องทุ่งผ่านดงโตนดที่เขาทำน้ำตาลแล้วไปขึ้นเขาหลวง ชมนกชมไม้นานา.... วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 ทิวทัศน์เมืองเพชรจากยอดเขาหลวง กลอนข้างบนนี้ พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร กำลังเพลิดเพลินเดินชมนกชมไม้บนเขาหลวง ชื่นชมความงามธรรมชาติบนภูลูกนี้ ท่านว่าเดินกันจนถึงยอดที่ตั้งพระเจดีย์ด้วยความเหนื่อยอ่อน และไม่นานก็หายเหนื่อย แลดูรอบ ๆ ยอดภูหลวง มีหมู่เมฆลอยล้อมยอดคีรี ประหนึ่งขึ้นไปอยู่บนวิมานเมฆ มองลงเบื้องล่างแลเห็นทุ่งนาป่าตาลโตนด เลยไปเป็นหาดทรายชายทะเลหลวง เห็นนกโผบินว่อนร่อนไปมาหาเหยื่อ บางตัวที่ไม่มีคู่บินเดี่ยวมาเดียวดาย ก็ส่งเสียงกู้ร้องหาคู่อยู่แซ่ซ้อง ที่ทุ่งกว้างเบื้องล่างนั้นเห็นคนเดินเป็นหมู่ บ้างก็หาบกระบอกน้ำตาลหนักจนคานอ่อนลู่ บ้างก็พูดล้อหยอกเอินกันเป็นที่สนุกสนานตามประสาชาวบ้าน......
“ ทั้งล้อเกวียนเดียรดาษดูกลาดเกลื่อน ทุกถิ่นเถื่อนทุ่งแถวแพ้วจังหัน โสมนัสทัศนาจนสายัณห์ แล้วพากันเข้าในถ้ำน่าสำราญ
มีพระใหญ่ไสยาสน์พระบาทเหยียด คนมันเบียดเบียนขุดสุดสงสาร พระทรวงพังทั้งพระเพลาก็ร้าวราน โอ้ชาวบ้านช่างไม่สร้างขึ้นบ้างเลย
ทั้งผนังพังทับอยู่กับถ้ำ โอ้นึกน้ำตาตกเจียวอกเอ๋ย ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา
เป็นลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ แลสลับเลื่อมคล้ายลายเลขา กลางคีรินหินย้อยห้องระย้า ดาษดาดูดูดังพู่พวง
ฉะเช่นนี้มีฤทธิ์จะคิดช้อน เอาสิงขรเข้าไปตั้งริมวังหลวง เห็นหนุ่มสาวชาวบุรินสิ้นทั้งปวง จะแหนหวงห้องหับถึงจับกุม
เขาตั้งอ่างกลางถ้ำมีน้ำย้อย ดูผอยผอยเผาะลงที่ตรงหลุม เป็นไคลคล้ำน้ำแท่งกลับแข็งคลุม เป็นหินหุ้มอ่างอิฐสนิทดี
แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม บ้างงอกเงื้อมงามระยับสลับสี เป็นห้องน้อยรอยหนังสือลายมือดี คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน......” |
 พระพุทธรูปปางไสยาสน์ : ถ้ำเขาหลวง เพชรบุรี มองลงมาจากยอดเขาหลวง เห็นล้อเกวียนเคลื่อนไหวไปมาเต็มท้องทุ่งจังหัน (นาข้าว) อยู่บนยอดเขาหลวงจนเพลาเย็น จึงเดินลงมาเข้าชมถ้ำที่มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่ในนั้น เห็นสภาพในถ้ำแล้วก็สลดใจ องค์พระถูกคนใจบาปเจาะทุบทำลายตรงทรงอกและข้อเข่าจนเสียหายมาก
 ถ้ำเขาหลวง : เพชรบุรี ชะรอยว่าคนบาปคงจะขุดเจาะหาของที่ต้องประสงค์ ผนังพังทับยับเยินอยู่กับถ้ำ ภายในถ้ำพระนอนนั้น เป็นโถงใหญ่ มีหินงอกหินย้อยลดหลั่นเป็นชั้นช่องแลสลับเลื่อมลายงดงามมาก ท่านคิดว่าหากมีฤทธิ์เดชมากพอแล้วจะช้อนยกภูเขาลูกนี้ไปตั้งไว้ริมกรุงเทพมหานคร ให้ชาวเมืองได้ชื่นชมกันบ้าง ถ้ายกเขาลูกนี้ไปไว้ริมเมืองหลวงได้จริง เห็นทีว่าหนุ่มสาวชาวกรุงคงจะแย่งกันจับจองห้องหับในถ้ำอันสวยงามนี้เป็นแน่ ท่านคิดพลางเดินชมถ้ำเรื่อยไปจนถึงห้องน้อยที่มีรอยหนังสือลายมือสวยดี แล้วหวนรำลึกถึงอดีตที่ท่านบอกว่า “เมื่อเป็นบ้าเคยมานอน”
อ้าว ! ถ้ำนี้มีความหลังของสุนทรภู่ฝังอยู่ มันยังไงกันแน่หนอ ?
** วันนี้แกะรอยตามดูท่านมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาดูกันต่อว่า ถ้ำพระนอนบนเขาหลวงเมืองเพชรนี้ สุนทรภู่ท่านมีอดีตชีวิตอะไรของท่านฝังไว้บ้าง พบกันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณอาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, Thammada, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๘ -
ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน เห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์ เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี
พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี คิดคะนึงถึงตัวกลัวต้องตี แต่ช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา
โอ้ยามยากจากบุรินมาถิ่นเถื่อน ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา เดือนสว่างต่างใต้เมื่อไสยา แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น
ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทน์กระแจะ เหมือนจะแนะนำจิตให้คิดเห็น เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น โอ้จำเป็นเป็นกรรมจำจึงไกล
มาเห็นถ้ำน้ำตาลงพร่าพราก แต่เพื่อนยากยังไม่เห็นว่าเป็นไฉน จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง
อันถ้ำนี้ที่มนุษย์หยุดกินน้ำ มิใช่ถ้ำของอิเหนาถ้ำเขาหลวง เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง แต่เขาหวงเขาห้ามจึงขามใจ
จึงเขียนกลอนนอนค้างไว้ต่างพักตร หวังประจักษ์มิ่งมิตรพิสมัย จงภิญโญโมทนาให้อาภัย อย่าน้อยใจเลยถ้ำขออำลา
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร ท่านเที่ยวชมเขาวัง เขาหลวง ด้วยการเดินเท้าอย่างทรหดอดทน ขึ้นไปถึงพระเจดีย์บนยอดเขาหลวงแล้ว ลงมาเข้าถ้ำพระนอน ครั้นเข้าไปในถ้ำถึงห้องหินห้องหนึ่ง ก็หวนรำลึกถึงอดีตที่ท่านเคยเข้ามานอนพักหลบภัยอยู่ในถ้ำ จนมีอดีตฝังไว้ในถ้ำแห่งนี้ วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวานนี้ ท่านภิกษุภู่ สุนทรโวหาร รำลึกถึงความหลังว่า เคยมาอาศัยหลับนอนโดยมีหญิงชื่อ จัน มาอยู่เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก นอนเรียงเคียงกันบนฟื้นหินกระด้างเย็น ท่านกล่าวกลอนกล่อมเป็นทำนองช้าชาตรี จนแขนซ้ายที่ใช้แทนหมอนให้น้องจันหนุนนั้นชาดิกเลย หญิงชื่อจัน ในกลอนนี้เดิมเข้าใจกันว่า คือ แม่จันนางในวังหลัง คนรักแรกของสุนทรภู่ ซึ่งเชื่อกันว่าหลังจากที่ท่านไปหาหลวงพ่อที่เมืองแกลงกลับมาแล้วเลยไปเมืองเพชร ร่อนเร่อยู่กับท่านรอง ขุนแพ่ง อาศัยบารมีหม่อมบุนนากอยู่ระยะหนึ่ง หม่อมบุนนากเจรจาให้เจ้าครอกทองอยู่ยินยอมยกแม่จันให้เป็นคู่ผัวตัวเมียกับหนุ่มแมลงภู่ แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดเรื่องในราชสำนัก มีการทอดบัตรสนเท่ห์ขึ้น เสมียนภู่แห่งวังหลังต้องสงสัยด้วย เมื่อมีคนมีกระซิบบอกว่าต้องสงสัยก็กลัวภัย จึงพาแม่จันหนีไปเมืองเพชร แต่ไม่กล้าอาศัยอยู่กับ ท่านรอง ขุนแพ่ง และหม่อมบุนนาก จึงเข้าไปหลบอยู่ในพระนอนบนเขาหลวงแห่งนี้
แต่อ่านกลอนตอนท้ายแล้ว ความเชื่อเดิมนั้นน่าจะผิดไปแล้ว เพราะคำกลอนที่ว่า “ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน” และ “ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทน์กระแจะ” ในถ้ำนี้ ไม่น่าจะเป็นกลิ่นแม่จันจากวังหลัง จึงควรเป็นไปได้ว่าสุนทรภู่หนีภัยบัตรสนเท่ห์มาเพชรบุรีเพียงลำพัง พึ่งท่านรอง ขุนแพ่ง ในระยะสั้น ๆ เห็นไม่ปลอดภัยจึงหลบเข้าอยู่ในถ้ำแห่งนี้ หญิงชื่อจันทน์ที่มานอนอยู่กับท่านในน้ำนี้ น่าจะเป็นจันทน์เมืองเพชร ที่ท่านจากไปบางกอกแล้วเข้ารับราชการจนขาดการติดต่อกับจันทน์คนนี้ ครั้นกลับมาคราวนี้ เห็นถ้ำที่เคยนอนคู่กับจันทน์แล้วน้ำตาไหลพรากไม่รู้ว่า “เพื่อนยากยังไม่เห็นเป็นไฉน จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง”
 วันที่ท่านกลับมาเมืองเพชรอีกที จันทน์เพื่อนยากก็ยังอยู่ในเมืองเพชร และเห็นทีว่าเธอมีครอบครัวไปแล้ว จึงไม่กล้าไปเยี่ยม ได้แต่สั่งความฝากถ้ำไว้ คำฝากความตรงนี้ ออเซาะหวานนักเชียวว่า “....เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง แต่เขาหวงเขาห้ามต้องขามใจ” กลอนสั่งถ้ำเขาหลวงตรงนี้คือหลักฐานพยานว่า สุนทรภู่เคยมีภรรยาเป็นชาวเมืองเพชรอีกคนหนึ่งเธอชื่อ จันทน์ และคงเป็นด้วยเหตุนี้ “น้องอิน” คนโปรดที่เคยฝากรอยเล็บไว้ให้คราวอยู่บ้านขุนแพ่ง จึงได้โกรธถึงขั้นเกลียดไม่ยอมมองหน้า ด้วยตอนที่หนีภัยมาอยู่ในถ้ำแทนที่จะมาชวน “ลูกอิน” ไปนอนเป็นเพื่อนด้วยแต่กลับไปชวน “ลูกจัน” ไปนอนเป็นเพื่อนแทนเสียนี่ อย่างนี้ก็ควรต้องโกรธไปจนตายแหละนะ
“แล้วลัดออกนอกลำเนาภูเขาหลวง ดูเด่นดวงเดือนสว่างกลางเวหา โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างที่กลางนา เสียงปักษาเพรียกพลอดบนยอดตาล
มาตามทางหว่างโตนดลิงโลดจิต แต่พวกศิษย์แสนสุขสนุกสนาน เห็นกระต่ายไล่โลดโดดทะยาน เสียงลูกตาลกรากตึงตะลึงแล
ต่างชิมชมดมเดินเจริญรื่น เที่ยวชมชื่นเขตแขวงด้วยแสงแข ต่างลดเลี้ยวเที่ยวเด็ดดอกแคแตร ได้เห็นแต่นกน้อยต้อยตีวิด
สักสองยามตามทักด้วยปักษา เสียงแจ้วจ้าจ้อยเจี๋ยวเตี๋ยวเตี๋ยวติด โอ้ฟังฟังหวังสวาทไม่ขาดคิด ช่างไม่ผิดเสียงสาวชาวพริบพรีฯ” |
 Cr. Photo By dinsawb2 เขียนความสั่งนางน้องจันทน์ฝากถ้ำเขาหลวงแล้ว ก็ออกจากถ้ำลงเขาเมื่อเวลาใกล้สองยามแล้ว เดินลงพ้นดงเขาเข้าท้องทุ่งนา ในคืนพระจันทร์เพ็ญเด่นดวง ท้องฟ้าโปร่งใส แสงเดือนจึงสว่างราวกะกลางวัน ตามดงหญ้าสองข้างทาง มีกระต่ายป่าออกมากระโดดโลดเต้นเล่นแสงจันทร์กันอยู่ พวกศิษย์ท่านสุนทรภู่ก็วิ่งไล่จับกระต่ายกันอย่างสนุกสนาน ขณะเดินผ่านระหว่างดงตาลโตนด ลูกโตนดสุกงอมร่วงหล่นเสียงกรากตึง พวกศิษย์ก็พากันตกตะลึง พอรู้ว่าลูกตาลตกลงมาก็พากันขบขันในความเป็นคนขวัญอ่อนของพวกตน เสียงนกกลางคืนร้องทักกันเจียวจาว ท่านกลับคิดไปว่าเสียงนกเหล่านั้นช่างเหมือนเสียงสาวชาวพริบพรีเสียเหลือเกิน......
** วันนี้แกะรอยตามสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชรมาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, Thammada, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 พระปรางค์ 5 ยอดวัดมหาธาตุวรวิหาร จ. เพชรบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๙ -
แล้วเลี้ยวลงตรงหน้าวัดพระธาตุ พอเดือนคลาดคล้อยจำรัสรัศมี ดูพระปรางค์กลางอารามก็งามดี แต่ไม่มีเงาบ้างเป็นอย่างไร
สาธุสะพระมหาตถาคต ยังปรากฏมิได้เสื่อมที่เลื่อมใส พอไก่ขันวันทาลาครรไล ลงเรือใหญ่ล่องมาถึงธานี
จึงจดหมายรายความตามสังเกต ถึงประเทศแถวทางกลางวิถี ให้อ่านเล่นเป็นเรื่องเมืองพริบพรี ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ
ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม พระประทมที่ลำเนาภูเขาขุน กุศลนั้นบรรดาที่การุญ รับส่วนบุญเอาถิดท่านที่อ่านเอย......ฯ”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามท่านสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร แหล่งสุดท้ายที่ท่านไปคือ ถ้ำเขาหลวง ไปรำลึกถึงอดีตที่เคยหลบหนีภัยไปยู่ในถ้ำแห่งนี้ มีผู้หญิงชื่อจัน หรือ ลูกจันทน์ไปอยู่ด้วยเป็นเวลานานพอสมควร พอเห็นว่าเรื่องราวทางพระราชวังสงบแล้วจึงลาจากจันกลับเข้าบางกอก และเข้ารับราชการในที่สุด ท่านมาคราวนี้ไม่กล้าที่จะไปเยี่ยมเยือนที่เรือนจัน เพราะเธอมีครอบครัวเป็นฝั่งฝาไปแล้ว จึงเขียนความสั่งฝากถ้ำไว้ก่อนอำลาลงจากเขาหลวง ผ่านท้องทุ่งนาป่าตาลกลับมาเรือที่จอดไว้...
 วัดพระธาตุ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) : จังหวัดเพชรบุรี กลอนข้างบนนี้ ต่อจากเมื่อวันวานนี้เป็นความตอนอาวสาน ท่านว่าเดินตรงมาถึงหน้าวัดพระธาตุ (มหาธาตุ) แลดูพระปรางค์ไม่เห็นมีเงาก็แปลกใจ แต่ไม่คิดอะไรมาก ยามนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งสางสว่างแจ้ง ไก่โต้ง ไก่อู ไก่แจ้ ก็พากันขันยามรับอรุณแห่งวันใหม่แล้ว จึงลงเรือที่จอดรออยู่และสั่งออกเรือกลับเข้ากรุงเทพมหานครทันที ความในนิราศเมืองเพชรฉบับกระทรวงศึกษาธิการก็จบลงด้วยเนื้อหาสาระใจความเพียงเท่านี้
แต่ทว่านิราศเมืองเพชรอีกฉบับหนึ่งที่ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์ (ชาวบ้าน) แห่งเมืองเพชรค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ มีความบางช่วงบางตอนและบางถ้อยคำต่างไปจากนิราศเมืองเพชรฉบับ (หลวง) นี้ อย่างเช่นตอนที่ท่านจะกลับกรุงเทพมหานคร ได้เขียนไว้ว่า
“ มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ ต้องไปล่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายพงศา เทวสถานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ
แต่ตัวเราเข้าใจได้ไต่ถาม จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน
จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์ สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ...” |
คำกลอนตอนนี้บ่งบอกว่า ก่อนจะเดินทางกลับบางกอก ท่านไปลาเหล่าญาติที่เป็นชนเชื้อพราหมณ์รามราช โดยขอร้องให้ยายคำพาไปบ้านเก่าของต้นตระกูลฝ่ายมารดาซึ่งเป็นบ้านประตูไม้ไผ่ ที่นั้นยังปรากฏหลักฐานสำคัญเช่นเทวสถานที่สถิตพระอิศวร เสาชิงช้า เป็นต้น ท่านรำพึงรำพันถึงโคตรญาติที่ล่วงลับแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้
นิราศเมืองเพชรที่ อ.ล้อม เพ็งแก้ว อ้างว่าค้นพบต้นฉบับในหอสมุดแห่งชาติจึงนำออกมาเผยแผ่ แต่มีนักวิชาการหลายท่านไม่เชื่อถือ บางท่านถึงกับกล่าวหาว่า อ.ล้อม แต่งขึ้นเองเสียอีก แต่เรื่องนี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะหอสมุดแห่งชาติไม่ได้หนีหายไปไหน ใครไม่เชื่อ สงสัยใด ๆ ก็น่าจะไปค้นหาดู พิสูจน์ความจริงได้เสมอ
 วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ) : กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามเถิด เป็นอันยุติได้ว่าสุนทรภู่เดินทางไปเพชรบุรี ด้วยอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปทำธุระให้เรื่องหนึ่ง ท่านแพ่งคนใหม่รับทำธุระให้ตามที่ไปเจรจา แล้วก็เดินทางกลับมาบางกอก ท่านจันทร์ว่าในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงออกผนวชประทับ ณ วัดพระเชตุพนฯ และได้ชวนให้พระภิกษุภู่เข้ามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ด้วยกัน
 รูปหล่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในตำหนักวาสุกรี วัดโพธิ์ ครั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวชแล้ว พระภิกษุภู่ก็ยังคงอยู่ในสำนักวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งมีพระกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นผู้ปกครอง ในช่วงนี้ภรรยาคนที่ชื่อ นิ่ม ซึ่งเป็นคนบางกรวยถึงแก่กรรมลง ท่านจึงต้องรับบุตรชายชื่อ ตาบ พยานรักของท่านกับนิ่มมาเลี้ยงดู หนูตาบ มาอยู่คู่กับหนูพัดที่วัดพระเชตุพนฯ ตั้งแต่นั้นมา ในขณะที่อยู่วัดพระเชตุพนฯ นี้ท่านได้เดินทางไปแถว ๆ อยุธยาอีกครั้ง คราวนี้ไปแสวงหายาอายุวัฒนะ ซึ่งมีลายแทงระบุว่าอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ ได้แต่งนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ นิราศวัดเจ้าฟ้า โดยใช้ชื่อผู้แต่งว่า “เณรหนูพัด”
จะลองเสียเวลาแกะรอยตามท่านไปวัดเจ้าฟ้ากันสักคราวดีไหมเอ่ย ?
ขอนอนคิดสักคืนหนึ่งนะว่า จะแกะรอยตามสุนทรภูกับเณรหนูพัดไปอยุธยาในนิราศวัดเจ้าฟ้าดีไหม พรุ่งลองมาเปิดอ่านดูก็แล้วกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรลายสือไทเมืองสุโขทัย วันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ / ๐๕.๓๖ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, Thammada, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) : กรุงเทพฯ - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๐ -
เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพน
พอออกเรือเมื่อตะวันสายัณห์ย่ำ ละอองน้ำค้างย้อยเป็นฝอยฝน ตะลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าเมื่อคราวจน ไม่มีคนเกื้อหนุนกรุณา
โอ้ธานีศรีอยุธย์มนุษย์แน่น นับโกฏิแสนสาวแก่แซ่ภาษา จะหารักสักคนพอปนยา ไม่เห็นหน้านึกสะอื้นฝืนฤทัย
เสียแรงมีพี่ป้าหม่อมน้าสาว ล้วนขาวขาวคำหวานน้ำตาลใส มายามยืดจืดเปรี้ยวไปเจียวใจ เหลืออาลัยลมปากจะจากจรฯ”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรายตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร จบเรื่องนิราศเมืองเพชรซึ่งเป็น “มาตุภูมิ” ของสุนทรภู่ไปแล้ว ความในนิราศเมืองเพชรนี้แหละ ที่เป็นพยานหลักฐานยืนยันว่า สุนทรภู่มีมารดาเป็นคนเมืองเพชรแน่นอน และไม่จำเป็นต้องกล่าวย้ำในที่นี้อีกแล้ว วันนี้ผมตกลงใจว่าจะลองแกะรอยตามสุนทรภู่ไปตามหายาอายุวัฒนะ ซึ่งปรากฏอยู่ในลายแทงว่ามีอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ วัดนี้เป็นวัดอยู่ในนิราศแต่ในทางภูมิศาสตร์ประวัตศาสตร์ยังหาไม่พบว่าตั้งอยู่ในแห่งหนตำบลใด มีคนเที่ยวค้นหากันมาไม่น้อยแล้วก็ยังไม่พบตำแหน่งพิกัดที่แน่นอน ด้วยคิดว่าหากจะแกะรอยตามสุนทรภู่ไปในนิราศวัดเจ้าฟ้า อาจจะพบที่ตั้งของวัดนี้ก็ได้ จึงตกลงใจเริ่มแกะรอยตามสุนทรภู่ต่อไป
 ท่าเตียน วัดพระเชตุพนฯ : Cr. Photo By กิตติพงศ์ นิยมสูตร กลอนข้างบนนี้คือ ความขึ้นต้นของนิราศวัดเจ้าฟ้า ที่ท่านสุนทรภู่แต่งในนามของ “เณรหนูพัด” บุตรชายคนโตของท่านที่เกิดกับแม่จัน ณ วังหลัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล ว่าตรงกันว่า พระภิกษุภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ตามคำชักชวนของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณซึ่งผนวชอยู่ที่วัดนี้ และตอนนั้นหนูพัดก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ปฏิบัติรับใช้พระภิกษุพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนลาผนวชไป นัยว่าพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ได้ลายแทงมาแผ่นหนึ่ง ลายแทงนั้นระบุว่ามียาอายุวัฒนะศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่พระเจดีย์วัดเจ้าฟ้าอากาศทางเหนือกรุงศรีอยุธยา จึงปรารถนาจะได้ยาวิเศษขนานนี้ เมื่อได้โอกาสจึงใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางไปแสวงหายาตามลายแทงนั้น ท่านลงเรือออกจากท่าน้ำวัดพระเชตุพนฯ (ท่าเตียน) แล้วเริ่มแต่งนิราศในนามเณรหนูพัดดังปรากฏข้างบนนี้........
“ ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล
ละสมบัติขัติยาทั้งข้าบาท โอ้อนาถนึกน่าน้ำตาไหล เป็นสูญลับนับปีแต่นี้ไป เหลืออาลัยแล้วที่พระมีคุณ
ถึงจนยากบากมาเป็นข้าบาท ไม่ขัดขาดข้าวเกลือช่วยเกื้อหนุน ทรงศรัทธากล้าหาญในการบุญ โอ้พระคุณขาดยศทั้งงดงาม
แม้นตกยากพรากพลัดไม่ขัดข้อง พัดกับน้องหนูตาบจะหาบหาม นี่จนใจไปป่าช้าพนาราม สุดจะตามเสด็จได้ดังใจจง
ขออยู่บวชกรวดน้ำสุรามฤต อวยอุทิศผลผลาอานิสงส์ สนองคุณพูลสวัสดิ์ขัติยวงศ์ เป็นรถทรงสู่สถานพิมานแมน
มีสุรางค์นางขับสำหรับกล่อม ล้วนเนื้อหอมห้อมเกล้าอยู่เฝ้าแหน เสวยรมย์โสมนัสไม่ขัดแคลน เป็นของแทนทานาฝ่าละออง
พระคุณเอ๋ยเคยทำนุอุปถัมภ์ ได้อิ่มหนำค่ำเช้าไม่เศร้าหมอง แม้นทูลลามากระนี้ทั้งพี่น้อง ไหนจะต้องตกยากลำบากกาย
นี่สิ้นบุญทูลกระหม่อมจึงตรอมอก ต้องระหกระเหินไปน่าใจหาย เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูลทราย แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน
ทั้งหนูตาบกราบไหว้ร้องไห้ว่า จะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์ เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน สารพันพึ่งพาไม่อนาทรฯ” |
 วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) / วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เรือประทุนลำใหญ่แจวจากท่าเตียนทวนสายน้ำในลำเจ้าพระยา ผ่านวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ถึงวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ก็ยกมือบังคมบรมธาตุ ที่บรรจุพระอัฐิธาตุเจ้าครอกทองอยู่พระชายาในกรมพระราชวังหลัง แล้วหวนรำลึกถึงพระเดชพระคุณที่ท่านมีต่อตนจนสุดพรรณนา
ท่านนึกเสียดายว่า เจ้าครอกทองอยู่ผู้งามทั้งรูปโฉมและจิตใจ “โอ้พระคุณขาดยศทั้งงดงาม” ไม่ได้รับการสถาปนาอิสริยยศใด ๆ จนกระทั้งสู่สวรรค์ครรไล......
* วันนี้แกะรอยตามสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้ามาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยแกะรอยกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, Thammada, ฟองเมฆ, กลอน123, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๑ -
ถึงปากง่ามนามบอกบางกอกน้อย ยิ่งเศร้าสร้อยทรวงน้องดังต้องศร เหมือนน้อยทรัพย์ลับหน้านิราจร ไปแรมรอนราวไพรใจรัญจวน
เคยชมเมืองเรืองระยับจะลับแล้ว ไปชมแถวทุ่งนาล้วนป่าสวน เคยดูดีพี่ป้าหน้านวลนวล จะว่างเว้นเห็นล้วนแต่มอมแมม
เคยชมชื่นรื่นรสแป้งสดสะอาด จะชมหาดเห็นแต่จอกกับดอกแขม โอ้ใจจืดมืดเหมือนเมื่อเดือนแรม ไม่เยื้อนแย้มกลีบกลิ่นให้ดิ้นโดย
เสียดายดวงพวงผกามณฑาทิพย์ เห็นลิบลิบแลชวนให้หวนโหย เพราะหวงพุ่มภุมรินไม่บินโบย จะร่วงโรยรสสิ้นกลิ่นผกาฯ”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านเริ่มแกะรอยตามสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า เรือประทุนขนาดสี่แจวของท่านออกจากท่าเตียนผ่านวัดอรุณฯ วัดระฆัง ท่านก็รำพึงรำพันถึงเจ้าครอกทองอยู่ พระชายาในกรมพระราชวังหลังผู้มีพระคุณ จนเรือเลยวังหลังไป วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 คลองบางกอกน้อย : กรุงเทพฯ กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือไปถึงปากคลองบางกอกน้อยซึ่งท่านเรียกว่า “ปากง่าม” เพราะตรงนั้น (บริเวณวัดดุสิตาราม) ดูลักษณะเหมือนปากง่าม มีปลายแหลมดุจลูกศร ท่านก็รำพึงรำพันว่าทรวงท่านเศร้าเหมือนต้องศร จำจากจรเมืองหลวงรอนแรมไปราวไพร เคยชมเมืองเรืองระยับด้วยแสงสี ต้องไปชมห้วยหนองคลองบึงที่เต็มไปด้วยแพจอกดอกแขม เคยชมหน้าขาว ๆ นวลก็ต้องไปชมหน้าตามอมแมม เสียดายดวงพวงผกามณฑาทิพย์ที่หวงพุ่มจนภุมรินไม่บินเข้ากรายใกล้ ต้องร่วงโรยกลีบเกสรสิ้นกลิ่นไปในที่สุด (ดุจดังสาวสวยรวยทรัพย์สูงยศศักดิ์ที่เป็น “สาวบนคานทอง” ในยุคปัจจุบันนี้แล)
" ถึงบางพรมพรหมมีอยู่สี่พักตร์ คนรู้จักแจ้งจิตทุกทิศา ทุกวันนี้มนุษย์อยุธยา เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม
โอ้คิดไปใจหายเสียดายรัก เหมือนเกรียกจักเจ็ดซีกกระผีกผม จึงเจ็บอกฟกช้ำระกำตรม เพราะลิ้นลมล่อลวงจะช่วงใช้ฯ” |
 ชุมชนคลองบางพรม : กรุงเทพฯ ถึงบางพรม ท่านไม่ได้คิดถึงเรื่องการประพรมน้ำ หากแต่คิดถึงพระพรหมที่มีสี่หน้า เหมือนจงใจจะกระทบกระเทียบเปรียบเปรยใคร ๆ มีหน้าเป็นร้อยหน้าพันหน้ามากกว่าพระพรหม กลอนบทนี้เป็นปรัชญาคติที่ดีเยี่ยมมาก แล้วท่านก็แถมว่า เสียดายรักภักดีที่ให้แก่คนที่ใช้เล่ห์ลิ้นลมลวงหลอกใช้ จนต้องเจ็บอกฟกช้ำระกำตรม.....
“ ถึงบางจากน้องไม่มีที่จะจาก โอ้วิบากกรรมสร้างแต่ปางไหน เผอิญหญิงชิงชังน่าคลั่งใจ จะรักใครเขาไม่มีปรานีเลย
ถึงบางพลูพลูใบใส่กระบะ ถวายพระเพราะกำพร้านิจจาเอ๋ย แม้นมีใครใจบุญที่คุ้นเคย จะได้เชยพลูจีบหมากดิบเจียน
นี่จนใจได้แต่ลมมาชมเล่น เปรียบเหมือนเช่นฉากฉายพอหายเหียน แม้นเห็นรักจักได้ตามด้วยความเพียร ฉีกทุเรียนหนามหนักดูสักคราวฯ” |
 คลองบางจาก: กรุงเทพฯ Cr. Photo By คุณสร้อยฟ้ามาลา ครั้นถึงบางจากท่านก็ครวญว่า ไม่รู้เป็นกรรมที่สร้างแต่ปางไหน เกิดมาชาตินี้มีแต่หญิงชิงชังรังเกียจ จะรักใคร ๆ เขาก็ไม่ปรานี วันนี้จึงไม่ไม่มีนางใดจะให้จากเลย เรือเลยบางจากถึงบางพลู ก็คิดถึงใบพลูที่กินกับหมาก ชาวบ้านสามัญทั่วไปก็เอาใบพลูใส่กระบะให้หยิบมาบ้ายปูนกินเอง แต่คนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ก็จะมีคนเอาใบพลูบ้ายปูนจีบเป็นมวน เจียนหมากดิบวางเคียงใส่พาน ให้หยิบกินอย่างสะดวกสบาย แล้วก็คิดว่ายามนี้หากรู้ว่าใครรัก ก็จะตามไปด้วยความเพียร และจะฉีกทุเรียนที่มีหนามแหลมคมดูสักครา......
“ ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ได้มีอ้อ ทำแพนซอเสียงแจ้วเที่ยวแอ่วสาว แต่ไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว สุดจะกล่าวกล่อมปลอบให้ชอบใจ
ถึงบางซ่อนซ่อนเงื่อนไม่เยื้อนแย้ม ถึงหนามแหลมเหลือจะบ่งที่ตรงไหน โอ้บางเขนเวรสร้างแต่ปางใด จึงเข็ญใจจนไม่มีที่จะรัก
เมื่อชาติหน้ามาเกิดให้เลิศโลก ประสิทธิโชคชอบฤทัยทั้งไตรจักร กระจ้อยร่อยกลอยใจวิไลลักษณ์ ให้สาวรักสาวกอดตลอดไป
ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย แม้นขายแก้วแววฟ้าที่อาลัย จะซื้อใส่บนสำลีประชีรอง
ประดับเรือนเหมือนหนึ่งเพชรสำเร็จแล้ว ถนอมแก้วกลอยใจมิให้หมอง ไม่เหมือนนึกตรึกตราน้ำตานอง เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุราฯ” |
 สายน้ำเจ้าพระยาหน้าตลาดแก้ว : นนทบุรี ชื่อบ้านย่านตำบลต่าง ๆ ที่สุนทรภู่ผ่านไปตามลายแทงหายาอายุวัฒนะ ตอนต้น ๆ นี้ เดินทางตามรอยเดิมที่ไปนมัสการพระพุทธบาท และภูเขาทอง ท่านบอกชื่อบ้านที่ผ่าน แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับชื่อบ้าน ต่างไปจากในนิราศสองเรื่องก่อนนั้น อย่างเช่นตอนที่ถึงบางอ้อ ท่านคิดอยากได้ลำต้นอ้อเอามาทำแพนแคนแล้วเที่ยวเป่าแคนเกี้ยวสาว แต่ก็จนใจที่ว่า ไม่เคยเล้าโลมชมเชยสาวลาวมาก่อนเลย ก็จึงไม่รู้ว่าจะเกี้ยวสาวลาวอย่างไรดี
*** วันนี้แกะรอยตามท่านมาถึงตลาดแก้วย่านเมืองนนท์ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยแกะรอยตามท่านไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมือสุโขทัย ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดเขียน : นนทบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๒ -
ถึงวัดตั้งฝั่งสมุทรพระพุทธสร้าง ว่าท่านวางไว้ให้คิดปริศนา แม้นแก้ไขไม่ออกเอาที่ตอกตา ก็นึกน่าใคร่หัวเราะจำเพาะเป็น
ครั้นคิดบ้างอย่างคำที่ร่ำบอก จะไปตอกที่ตรงไหนก็ไม่เห็น ดูลึกซึ้งถึงจะคิดก็มิดเม้น พอยามเย็นยอแสงแฝงโพยม
ถึงวัดเขียนเหมือนหนึ่งเพียรเขียนอักษร (เป็น)กลกลอนกล่าวกล่อมถนอมโฉม เดชะรักลักลอบปลอบประโลม ขอให้โน้มน้อมจิตสนิทในฯ”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะในนิราศวัดเจ้าฟ้า จากปากคลองบางกอกน้อยผ่านบางพรม บางพลู บางจาก เรื่อยมาจนถึงตลาดแก้ว ย่านนทบุรีแล้ว การเดินทางเที่ยวนี้เป็นเส้นทางเดียวกันกับไปไหว้พระบาท และภูเขาทอง แต่ความคิดของท่านเกี่ยวกับนามบ้านต่าง ๆ ที่ผ่านถึงนั้น ต่างจากความคิดในการผ่านถึงครั้งก่อน ๆ จ ากตลาดแก้วแล้วไปไหน มาแกะรอยตามท่านกันต่อไปครับ
 ท่าน้ำวัดเขียน : นนทบุรี กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวานนี้ จากตลาดแก้วมาถึงวัดที่ท่านเรียกว่า “วัดตั้งฝั่งสมุทรพระพุทธสร้าง” ผมค้นหาหลักฐานที่ตั้งของวัดนี้แล้วไม่พบ จึงอยากเดาเอาเป็นว่าวัดนี้คือวัดเขมาภิรตาราม ใน นิราศภูเขาทอง คลิก ท่านได้กล่าวถึงรายละเอียดไปแล้ว แต่มาคราวนี้ท่านว่า ใครแก้ปัญหาคิดปริศนาอะไรไม่ออก ก็ให้ไปตอกที่ตาพระ ซึ่งท่านเห็นเป็นเรื่องขำขัน ลองไปนึกบ้างแล้ว ก็หาที่ตอกไม่พบ จึงเลยไปถึงวัดเขียน ก็คิดจะเขียนกลอนกล่อมส่งไปถนอมโฉมนางในดวงใจ ขอให้รักที่เป็น (รักคุด) หรือรักลัก (แอบรัก) ได้สมปรารถนา
“ ถึงคลองขวางบางสีทองมองเขม้น ไม่แลเห็นสีทองที่ผ่องใส แม้นทองคำธรรมดาจะพาไป นี่มิใช่สีทองเป็นคลองบาง
พอลมโบกโศกสวนมาหวนหอม เหมือนโศกตรอมตรึกตรองมาหมองหมาง ถึงบางแวกแยกคลองเป็นสองทาง เหมือนจืดจางใจแยกไปแตกกัน
ตลาดขวัญขวัญฉันนี้เป็นขวัญหาย ใครเขาขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ แม้นขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์ จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวางฯ” |
 วัดบางอ้อยช้าง : บางสีทอง นนทบุรี จากวัดเขียนเรือถูกแจวทวนสายน้ำขึ้นถึงคลองขวาง บางสีทอง บางแวก ที่มีคลองแยกเป็นสองทาง แล้วก็ถึงตลาดขวัญ รู้สึกว่าเดินทางมาเที่ยวนี้ท่านบอกชื่อบ้านย่านที่ผ่านมาค่อนข้างละเอียดกว่านิราศภูเขาทอง แม้การคร่ำครวญตามความหมายของชื่อบ้านนั้น ๆ ก็ต่างไปจากนิราศเรื่องก่อน ๆ ในช่วงตอนบางสีทองนั้น ท่านว่าลมโบกพัดพากลิ่นดอกโศกสวนหวนมาให้หอมตรลบอบอวล เป็นกลิ่นหอมแบบโศก ๆ กลิ่นอย่างไรลองจินตนาการเอาเองนะครับ
“ ถึงบางขวางขวางอื่นสักหมื่นแสน ถึงต่างแดนดงดอนสิงขรขวาง จะตามไปให้ถึงน้องประคองคาง แต่ขัดขวางขวัญความขามระคาย
เห็นสวาทขาดทิ้งกิ่งสนัด เป็นรอยตัดต้นสวาทให้ขาดสาย สวาทพี่นี้ก็ตัดสวาทวาย แสนเสียดายสายสวาทที่ขาดลอย
เห็นรักน้ำพร่ำออกทั้งดอกผล ไม่มีคนรักรักมาหักสอย เป็นรักเปล่าเศร้าหมองเหมือนน้องน้อย เที่ยวล่องลอยเรือรักจนหนักเรือฯ
ถึงบ้านบางธรณีแล้วพี่จ๋า แผ่นสุธาก็ไม่ไร้ไม้มะเขือ เขากินหมูหนูพัดจะกัดเกลือ ไม่ถ่อเรือแหหาปลาตำแบ
ถึงปากเกร็ดเตร็ดเตร่มาเร่ร่อน เที่ยวสัญจรตามระลอกเหมือจอกแหน มาถึงเกร็ดเขตมอญสลอนแล ลูกอ่อนแออุ้มจูงพะรุงพะรัง
ดูเรือนไหนไม่เว้นเห็นลูกอ่อน ไม่หยุดหย่อนอยู่ไฟจนไหม้หลัง ไม่ยิ่งยอดปลอดเปล่าเหมือนชาววัง ล้วนเปล่งปลั่งปลื้มใจมาไกลตา
พอออกคลองล่องลำแม่น้ำวก เห็นนกหกเหินร่อนว่อนเวหา กระทุงทองล่องเลื่อนค่อยเคลื่อนคลา ดาษดาดอกบัวเข้าคลัวเคลีย
นกกาน้ำดำปลากระสาสูง เป็นฝูงฝูงเข้าใกล้มันไปเสีย นกยางขาวเหล่านกยางมีหางเปีย ล้วนตัวเมียหมดสิ้นทั้งดินแดน
ถึงเดือนไข่ไปลับแลเมืองแม่หม้าย ขึ้นไข่ชายเขาโขดนับโกฏิแสน พอบินได้ไปประเทศทุกเขตแคว้น คนทั้งแผ่นดินมิได้ไข่นกยาง
โอ้นึกหวังสังเวชประเภทสัตว์ ต้องขาดขัดคู่ครองจึ่งหมองหมาง เหมือนอกชายหมายมิตรคิดระคาง มาอ้างว้างอาทวาเอกากายฯ” |
 คลองน้ำอ้อม นนทบุรี (Cr. Phot By คุณมาสบาย) จากตลาดขวัญผ่านบางขวาง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเรือนจำใหญ่และเป็นแดนประหารนักโทษ) เลยไปถึงบางธรณี คราวนี้ท่านคิดครวญต่างไปจาก นิราศภูเขาทอง คลิก เช่นเดียวกันกับเมื่อถึงปากเกร็ดย่านชุมชนชาวมอญ คราวนี้ท่านกล่าวถึงทุกบ้านเรือนชาวมอญเห็นแต่หญิงอุ้มเด็กอ่อน ดูเหมือนว่านางคงจะคลอดลูกแบบหัวปีท้ายปี อยู่ไฟกันจนหลังไหม้ทีเดียว ไม่สบายเหมือนหญิงชาววังที่ไม่ต้องทนย่างตัวบนกระดานอยู่ไฟนานนัก เมื่อเรือเลยปากเกร็ดเข้าคลองน้ำอ้อม (น้ำวก) แลเห็นนกบินร่อนว่อนเวหา นกกระทุงทองบินจับกลุ่มลงย่านดงบัวแล้วคลัวเคลียกันเป็นคู่ ๆ ดูน่ารัก นกกาน้ำดำหาปลาแข่งกับนกกระสาเป็นฝูง ๆ พอเรือแจวเข้าไปใกล้มันก็พากันบินหนีไปเสีย
 นกยางขาวเป็นนกที่แปลก ท่านให้ความรู้เรื่องนกยางขาวว่า ในฤดูผสมพันธุ์นกยางขาวตัวผู้จะมีหางเปียออกมา หลังผสมพันธุ์แล้วหางเปียก็หลุดหายไป เวลาจะวางไข่นกยางทั้งหมดจะพากันไปวางไข่ตามโขดเขาเมืองลับแลแม่หม้าย (ไม่ใช่เมืองลับแลที่อุตรดิตถ์กระมัง) ไม่ยอมให้ผู้คนรู้เห็นไข่ของมัน เมื่อลูกมันออกจากไข่และมีปีกกล้าขาแข็งแล้วก็พากันบินออกจากเมืองลับแลไปทั่วบ้านทั่วเมือง....
** วันนี้แกะรอยตามสุนทรภู่มาแค่คลองอ้อมปากเกร็ดก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยกันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กลอน123, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๓ -
ถึงบางลาวเห็นแต่ลาวพวกชาวบ้าน ล้วนหูยานอย่างบ่วงเหมือนห่วงหวาย ไม่เหมือนลาวชาวกรุงที่นุ่งลาย วนกรีดกรายหยิบหย่งทรงสำอาง
ถึงบางพูดพูดมากคนปากมด มีแต่ปดเป็นอันมากเขาถากถาง ที่พูดน้อยค่อยประทิ่นลิ้นลูกคาง เหมือนหญิงช่างฉอเลาะปะเหลาะชายฯ”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้า เรือประทุนสี่แจวของท่านแล่นทวนกระแสน้ำขึ้นเหนือ จากปากเกร็ดออกคอลงอ้อม เห็นนกนานาพันธุ์ เช่นนกกระทุง นกกระสา นกยางขาวหางเปีย ท่านก็เพลินชมนก วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 วัดกู้ : บางพูด นนทบุรี กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าเรือมาถึงบางลาวเห็นแต่ลาวหูยานเป็นบ่วงเหมือนห่วงหวาย คนลาวลักษณะนี้ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน และบ้านบางลาวนี่ก็เพิ่งเคยได้ยิน น่าจะเป็นบ้านชุมชนชาวลาวเล็ก ๆ อยู่ระหว่างปากเกร็ดกับบางพูด ในนิราศภูเขาทองท่านมิได้กล่าวถึงบ้านบางลาวนี้เลย เมื่อผ่านพ้นบางลาวแล้วก็ถึงบางพูด ใน นิราศภูเขาทอง คลิก ท่านแต่งกลอนเมื่อถึงบางพูดว่า “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์....” เป็นวรรคทองที่ติดปากติดคำคนไทยมายาวนาน แต่คราวนี้ท่านมาถึงบางพูดก็แต่งกลอนออกมาอีกแนวหนึ่งดังที่ยกมาไว้ข้างบนนี้
“ ถึงบางกงกระไนได้เห็นหน้าบรรดาพี่ พวกนารีเรืออ้อยเที่ยวลอยขาย ดูจริตติดจะงอนเป็นมอญกลาย ล้วนแต่งกายกันไรเหมือนไทยทำ
แต่ไม่มีกิริยาด้วยผ้าห่ม กระพือลมแล้วไม่ป้องปิดของขำ ฉันเตือนว่าผ้าแพรลงแช่น้ำ อ้อยสองลำนั้นจะเอาสักเท่าไร
เขารู้ตัวหัวร่อว่าพ่อน้อย มากินอ้อยแอบแฝงแถลงไข กระนี้มิอยากบอกมิออกไย น่าเจ็บใจจะต้องจำเป็นตำราฯ” |
 ชุมชนชาวมอญย่านบางตะไนย์ (บางกงกระไน) : ปากเกร็ด นนทบุรี ถึงบางกงกระไน ได้เห็นหญิงหลากหลายวัยพายเรือบรรทุกอ้อยขายในน่านน้ำหลายลำเรือ ท่านว่าผู้หญิงที่พายเรือขายอ้อยเหล่านี้เป็นมอญกลาย ตัดผมกันไรเหมือนคนไทย ดูจริตกิริยาเห็นว่าติดจะเจ้าแง่แสนงอนอยู่สักหน่อย ผ้าห่ม (สไบ) ก็ห่มแบบลวก ๆ เมื่อถูกลมกระพือพัดแรงหน่อยก็เวิกไม่ป้องปิดของขำ ท่านเห็นแล้วก็แกล้งพูดเตือนให้รู้ตัวว่า “แพรลงแช่น้ำ อ้อยสองลำนั้นจะเอาสักเท่าไร” แม่ค้าอ้อยนั้นรู้ตัวก็หัวเราะ แล้วก็ต่อว่าแบบงอน ๆ ว่า “พ่อมากินอ้อยแบบแอบแฝง อย่างนี้ไม่อยากพูดด้วยแล้ว เจ็บอายครั้งนี้ชั้นจะจำไปจนวันตายเลย” คำว่าอ้อยสองลำในกลอนนี้หมายถึง ปทุมถันสองเต้าที่ผ้าสไบถูกลมพัดเปิดให้เห็นนั่นเอง
“ ถึงไผ่รอบรอบเขื่อนดูเหมือนเขียน ชื่อวัดเทียนถวายอยู่ฝ่ายขวา ข้างซ้ายมือชื่อบ้านใหม่ทำไร่นา นางแม่ค้าขายเต่าสาวทึมทึก
ปิดขมับจับเขม่าเข้ามินหม้อ ดูมอซอสีสันเป็นมันหมึก ไม่เหมือนเหล่าชาวสวนหวนรำลึก เมื่อไม่นึกแล้วก็ใจมิใคร่ฟัง
พอฟ้าคล้ำค่ำพลบเสียงกบเขียด ร้องกรีดเกรียดเกรียวแซ่ดังแตรสังข์ เหมือนเสียงฆ้องกลองโหมประโคมดัง ไม่เห็นฝั่งฟั่นเฟือนด้วยเดือนแรม
ลำพูรายชายตลิ่งล้วนหิ่งห้อย สว่างพรอยแพร่งพรายขึ้นปลายแขม อร่ามเรืองเหลืองงามวามวามแวม กระจ่างแจ่มจับน้ำเห็นลำเรือฯ” |
 วัดเทียนถวาย ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี / ภาพบรรยากาศท่าน้ำหน้าวัดเทียนถวาย จากบางกงกระไนเลยมาถึงบ้านไผ่รอบ ทางขวามือคือริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกมีวัดชื่อเทียนถวาย ทางซ้ายมือเป็นหมู่บ้านชื่อบ้านใหม่ ท่านแลเห็นแม่ค้าขายเต่าเป็นสาวทึมทึก (ไม่รู่เหมือนกันว่าท่านรู้ได้ไง) ปิดขมับจับเขม่าด้วยมินหม้อดูดำเป็นหมึก สาวทึมทึกเป็นคำเรียกหญิงที่เป็นสาวแก่ไม่มีสามี ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า “ขึ้นคาน” หรือ “คานทอง” อะไรทำนองนั้น ท่านเห็นสาวทึมทึกที่มอมแมมแล้วก็หวนนึกไปถึงสาวชาววังชาวสวนที่ท่านคุ้นเคย ดูต่างกันราวฟ้ากะดิน ยามนั้นก็พอดีเป็นเวลาพลบค่ำ เสียงกบเขียดร้องกรีดเกรียวเซ็งแซ่เหมือนแตรสังข์ ฆ้องกลองโหมประโคมดัง สองฟากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาราตรีนั้นมืดมัวมองไม่เห็นอะไร เพราะเป็นคืนเดือนแรม เห็นแต่แสงหิ่งห้อยพรอยพราวแพรวจากต้นลำพูและปลายแขมที่เรียงรายอยู่ริมตลิ่ง เป็นแสงสว่างอร่ามเรืองลงกระทบผิวน้ำทำให้กระจ่างแจ่มพอเห็นลำเรือ.........
“ ถึงย่านขวางบางแขยงเป็นแขวงทุ่ง ดูเวิ้งวุ้งหว่างละแวกล้วนแฝกเฝือ เห็นไรไรไม้พุ่มคลุมครุมเครือ เหมือนรูปเสือสิงโตรูปโคควาย
ท่านบิดรสอนหนูให้รู้ว่า มันผินหน้าออกนั้นกันฉิบหาย แม้นปากมันผันเข้าข้างเจ้านาย จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน
จารึกไว้ให้เป็นทานทุกบ้านช่อง ฉันกับน้องนี้ได้จำเอาคำสอน ดึกกำดัดสัตว์หลับประทับนอน ที่วัดมอญเชิงรากริมปากคลอง
ต้นไทรครึ้มงึ้มเงียบเชียบสงัด พระพายพัดแผ่วผ่าวหนาวสยอง เป็นป่าช้าอาวาสปิศาจคะนอง ฉันพี่น้องมิได้คลาดบาทบิดา
ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ เย็นยะเยียบเยือกสยองพองเกศา เสียงผีผิวหวิวโหวยโหยวิญญา ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย
บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก ผีมันหลอกลากปล้ำพลิกคว่ำหวาย ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว
ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสวบสาบ เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว หมายว่าสาวผมผีร้อยนี่แน้
พอพระตื่นฟื้นกายค่อยคลายจิต บรรดาศิษย์ล้อมข้างไม่ห่างแห ท่านห่มดองครองเคร่งไม่เล็งแล ขึ้นบกแต่องค์เดียวดูปลี่ยวใจ
สำรวมเรียบเลียบรอบขอบป่าช้า ภาวนาตามสงฆ์ไม่หลงใหล เห็นศพฝังบังสุกุลส่งบุญไป เห็นแสงไฟรางรางสว่างเวียน.....” |
 วัดมะขาม (วัดมอญเชิงราก) : ปทุมธานี (Cr. Photo By Fah T. Krittiyaporn) เลยวัดเทียนถวายไปถึงบางแขยงที่เป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ แลเห็นพุ่มเงาไม้ตะคุ่ม ๆ เป็นรูปเสือสิงโตวัวควาย ท่านสอนลูก ๆ ว่าพุ่มไม้ที่เป็นรูปสัตว์เหล่านี้ ถ้ามันหันหน้าออกนอกบ้านเรือนแล้วจะป้อนกันภยันตรายนานา แต่หากหันหน้าเข้าหาเจ้าของเรือน จะทำให้ผู้คนล้มตายพลัดพรากจากกัน ถ้ามันหันหน้าเข้าบ้านเรือนเมื่อใดให้รีบตัดมันเสีย เรือลอยลำผ่านบางแขยงไปถึงเชิงรากวัดมอญเป็นเวลาดึกแล้ว ท่านจึงสั่งพักการเดินทางจอดเรืออาศัยนอนอยู่ใต้ต้นไทรริมน้ำข้างป่าช้าวัดมอญนั่นเอง
 และแล้วในเวลาดึกดื่นคืนนั้น ขณะที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร หลับสนิท ผีในป่าช้าวัดก็ออกอาละวาดเข้าปลุกปล้ำศิษย์ของท่านที่นอนอยู่ภายนอก ศิษย์ของท่านก็ลุกขึ้นคว้าทรายกรวดที่ท่านเสกให้ไว้นั้นสาดซัดใส่ผี มันกลัวทรายมนต์ก็โดดหนีขึ้นไปบนต้นไทร เขย่าขย่มกิ่งไทรโครม ๆ ห้อยหัวลงแลบลิ้นปลิ้นตาเห็นอกขาว หนูกลั่นใจกล้าคว้าจับรากไทรที่ห้อยยาวด้วยนึกว่าผมผีสาว แล้วกระชากพร้อมร้องว่า นี่แน่ ๆๆ พอพระภิกษุภู่ตื่นขึ้นผีก็หนีไป ท่านจึงขึ้นไปบนบกเดินสำรวจดูป่าช้า เห็นหลุมฝังศพก็สวดบังสุกุลอุทิศส่วนบุญไปให้...........
** เรื่องการเผชิญกับผีป่าช้าวัดมอญเชิงรากยังไม่จบ แต่ขอพักไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาดูกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณอาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๔ -
“ ระงับเงียบเชียบเสียงสำเนียงสงัด ประดิพัทธ์พุทธคุณค่อยอุ่นเศียร บรรดาศิษย์คิดกล้าต่างหาเทียน จำเริญเรียนรุกมูลพูนศรัทธา
อสุภกรรมฐานประหารเหตุ หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์ อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา ที่ป่าช้านี้แลเหมือนกับเรือนตาย
กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง
ค่อยคิดเห็นเย็นเยียบไม่เกรียบกริบ ประสานสิบนิ้วนั่งดังประสงค์ พยายามตามจริตท่านบิตุรงค์ สำรวมทรงศีลธรรรมที่จำเจน
ประจงจดบทบาทค่อยยาตรย่าง ประพฤติอย่างโยคามหาเถร ประทับทุกรุกข์รอบขอบพระเมรุ จนพระเณรในอารามตื่นจามไอ
ออกจงกรมสมณาษมาโทษ ร่มนิโครธน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส แผ่กุศลจนจบทั้งภพไตร จากพระไทรแสงทองผ่องโพยม.....”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้า ผ่านวัดเทียนถวาย บ้านใหม่เขตเมืองปทุมธานี ผ่านบางแขยงถึงวัดมอญเชิงราก เป็นเวลาค่ำค่อนข้างดึก ท่านสั่งจอดเรือนอนพักผ่อนใต้ร่มไทรริมน้ำเจ้าพระยาข้างป่าช้าวัดมอญนั้น
 ขณะพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร นอนหลับสนิท เณรหนูพัดกับหนูตาบนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายอยู่ปลายเท้าหลวงพ่อ บรรดาศิษย์นอนอยู่ข้างนอกประทุนเรือนั้น ปรากฏเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้น โดยมีผีผู้หญิงผมยาวเข้ามากอดปล้ำศิษย์หลวงพ่อภู่อยู่ขลุกขลัก พวกศิษย์ตื่นเอะอะโวยวาย บ้างก็คว้าเอาทรายกรวดที่พระอาจารย์ปลุกเสกไว้นั้น สาดซัดเข้าใส่ผีผู้หญิงนั้น นางผีกลัวทรายมนต์จึงโดดขึ้นไปอยู่บนต้นไทรแล้วขย่มกิ่งไทรกราวๆ เอาขาเกี่ยวกิ่งไทรห้อยหัวลงเห็นอกขาว แล้วแลบลิ้นปลิ้นตาหลอก หนูกลั่นใจกล้าเห็นรากไทรห้อยย้อยอยู่ สำคัญผิดคิดว่าเป็นผมผีสาวตัวนั้น จึงรีบคว้ารากไทรกระชากอย่างแรงพร้อมส่งเสียงว่า “นี่แน่ ๆๆๆ” พระภิกษุภู่ตื่นขึ้นมารู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็รีบครองจีวรห่มดองเดินขึ้นจากเรือไปในป่าช้า ท่านไปทำไมหรือ วันนี้มาดูกันต่อครับ
 กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวานบอกเล่าความว่า พระภิกษุภู่ขึ้นจากเรือเดินไปในป่าช้า สำรวจดูทั่ว ๆ ไป เห็นหลุมฝังศพอยู่ท่านก็สวดบังสุกุลอุทิศบุญกุศลไปให้ พวกศิษย์ในเรือพากันได้สติหายกลัวแล้วก็หาเทียนมาจุด เณรหนูพัดห่มจีวรดองเรียบร้อยแล้วก็นั่งเจริญกรรมฐานตามอย่างหลวงพ่อภู่ บรรยากาศในบริเวณนั้นเงียบสงบอยู่จนกระทั่งอุษาสาง พระเณรในวัดพากันตื่นส่งเสียงกระแอมกระไอ พระภิกษุภู่กลับลงเรือเมื่อเวลารุ่งอรุณวันใหม่ แล้วสั่งออกเรือเดินทางต่อไป
“ เลยบางหลวงล่วงทางมากลางแจ้ง ถึงบ้านกระแชงหุงจังหันฉันผักโหม ยังถือมั่นขันตีหนีประโลม ถึงรูปโฉมพาหลงไม่งงงวย
พอเสียงฆ้องกลองแซ่เขาแห่นาค ผู้หญิงมากมอญเก่าสาวสาวสวย ร้องลำนำรำฟ้อนอ่อนระทวย พากันช่วยเขาแห่ได้แลดู
ถือขันตีที่นั้นก็ขันแตก ทั้งศีลแทรกเสียดออกกระบอกหู ฉันนี้เคราะห์เพราะนางห่มสีชมพู พาความรู้แพ้รักประจักษ์จริง
แค้นด้วยใจนัยนานิจจาเอ๋ย กระไรเลยแล่นไปอยู่กับผู้หญิง ท่านบิดาว่ามันติดกว่าปลิดปลิง ถูกจิตจริงเจียวจึงจดเป็นบทกลอน
ถึงต้องง้าวหลาวแหลนสักแสนเล่ม ให้ติดเต็มตัวฉุดพอหลุดถอน แต่ต้องตาพาใจอาลัยวรณ์ สุดจะถอนทิ้งขว้างเสียงกลางคัน
ทั้งหนูกลั่นนั้นคะนองจะลองทิ้ง บอกให้หญิงระรับขยับหัน ถ้าทิ้งถูกลูกละบาทประกาศกัน เขารับทันเราก็ให้ใบละเฟื้อง
นางน้อยน้อยพลอยสนุกลุกขึ้นพร้อม งามละม่อมมีแต่สาวล้วนขาวเหลือง ใส่จริตกรีดกรายชายชำเรือง ขยับเยื้องยิ้มแย้มแฉล้มลอย
ต่างหมายมุ่งตุ้งติ้งทิ้งหมากดิบ เขาฉวยฉิบเฉยหน้าไม่ราถอย ไม่มีถูกลูกดิ่งที่ทิ้งทอย
พวกเพื่อนพลอยทิ้งบ้างห่างเป็นวา ฉันลอบลองสองลูกถูกจำหนับ เสียงปุปับปุ่มสูญที่ปูนหมาย ลงม้วนต้วนม้วนหน้าน้ำตาพราย พร้อมผู้ชายสรวลเสเสียงเฮฮา
แต่หนูกลั่นนั้นหล่อนเควี่ยงดังเสียงขวับ ถูกปุบปับปากกรีดหวีดผวา ร้องอยู่แล้วแก้วพี่มานี่มา พวกมอญฮาโห่แห่ออกแซ่ไป......” |
 บ้านกระแชง : ปทุมธานี เรือลอยลำผ่านบางหลวงถึงบ้านกระแชง ก็จัดแจงหุงข้าว (จังหัน) เช้านั้นฉันข้าวกับผักโหม พอฉันข้าวเสร็จก็พอดีมีขบวนแห่นาคมาถึงบริเวณนั้น แลเห็นขบวนแห่นาค โดยมีสาว ๆ ชาวมอญล้วนสวยงามรำฟ้อนมาหน้านาค ท่านบอกว่า ขันติที่ถือมาแต่วัดมอญเชิงรากนั้น พลันกลายเป็นขันแตกด้วยอำนาจความสวยของสาวมอญเนื้อเหลือง ณ ตรงนี้เอง ท่านเข้าร่วมในขบวนแห่นาคกะเขาด้วย สาวสวยในชุดสีชมพูนั้นต้องตาติดใจมาก มีการเล่นในขบวนแห่นาคที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน คือ การโยนลูกหมากดิบ เขาเล่นกันอย่างไร ใครสนใจลองอ่านกลอนข้างบนนี้หลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจเอาเองนะครับ
** วันนี้ขอแกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาแค่บ้านกระแชงนี่ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาแกะรอยตามท่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย วันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘/ ๐๕.๔๕ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 พิพิธภัณฑ์บัว จังหวัดปทุมธานี - ชีวิตและงานสุตทรภู่ ๔๕ -
"พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านเล่าไว้ ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง
จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง ครั้นพระโกศโปรดปรานประทานแปลง ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดิ์
ชื่อปทุมธานีที่เสด็จ เดือนสิบเอ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา.......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยการเดินทางของสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศ มาถึงบ้านกระแชง หุงข้าวฉันเช้าแล้วก็พอดีมีการแห่นาคมาเป็นขบวนใหญ่ สาวชาวมอญรำฟ้อนอ่อนช้อยมาหน้าขบวน มีการโยนลูกหมากดิบกันสนุกสนาน ท่านได้เข้าร่วมขบวนแห่นาคกับเขาด้วย วันนี้มาแกะรอยกันต่อไปนะครับ
 สามโคก : ปทุมธานี กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน ท่านออกจากงานแห่งนาคเลยมาถึงสามโคก ซึ่งเป็นเมืองเก่าของปทุมธานี ใน นิราศภูเขาทอง คลิก นั้นเมื่อท่านมาถึงสามโคกก็ “โศกถวิลถึงปิ่นเกล้า” บอกเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานนามใหม่ว่าปทุมธานีเพราะมีบัว แต่มาคราวนี้ท่านพูดถึงสามโคกว่า ชื่อสามโคกเพราะท้าวอู่ทองเอาเงินมากองไว้ ๓ กอง เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่ประชาชนที่ช่วยกันสร้างบ้านแปงเมือง ครั้นเกิดโรคห่าลงทำให้ท้าวอู่ทองสูญหายไป เงิน ๓ กองนี้ก็กลับกลายเป็นดินแดงกองอยู่เป็นโคกสามโคก
 ชุมชนชาวมอญสามโคก: ปทุมธานี - สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวมอญที่อพยพหลบหนีพม่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร - สมัยกรุงธนบุรีมีการตั้งตำแหน่งให้ผู้นำชาวมอญสามโคกมียศตำแหน่งใหญ่ เป็นที่พระยาจักรีมอญ - และต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยกฐานสามโคกขึ้นเป็นเมืองตรี นามว่าปทุมธานี บัวที่ปทุมธานีจะออกดอกออกฝักในเดือน ๑๑ ของทุกปี
“ ได้รู้เรื่องเมืองปทุมค่อยชุ่มชื่น ดูภูมิพื้นวัดบ้านขนานหน้า เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง
ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง ทั้งห่มผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน
เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง
ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ
เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดเจ้า จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร คารมมอญมิใช่เบาเหมือนสาวเมืองฯ” |
(ซ้าย) ลักษณะการนุ่งผ้าแหวกหน้าของหญิงชาวมอญ (ขวา) หญิงมอญนุ่งผ้าแหวก ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม |
ชาวมอญเมืองสามโคกสมัยนั้น พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร บอกผ่านปากเณรหนูพัดว่า ผู้ชายชาวมอญล้วนสักขาด้วยหมึกสีดำเป็นพืดไปถึงพุง (มอญพุงดำ) ฝ่ายหญิงสาวเกล้าผมมวยนุ่งผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง เป็นผ้าถุงนุ่งยาวกรอมลงถึงตีน เวลาเดินก้าวเท้าทุกครั้ง “สว่างแวบ” ตรงหว่างขาเห็นขาอ่อนขาว ๆ เห็นแล้วศีลเกือบขาดเลยทีเดียว ถ้าหากท่านเคยอ่านเพจนี้มาแต่ต้น ตอนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์พม่าสมัยพระเจ้าปดุง (ยุค ร. ๒) คงจำได้ว่า พระเคียนอูชาวพม่าหนึเข้ามาเมืองไทยแล้วบอกเล่าว่า พระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งมีดำริจะให้ออกกฎหมาย กฎหมายบังคับพระให้สึกมาเป็นทหาร คลิก เพราะยามนั้นชายพม่าพากันเข้าไปบวชเรียนกันมาก จนกำลังพลในกองทัพมีไม่พอใช้ในการศึกสงคราม พวกอำมาตย์เสนาบดีพากันทัดทานพระราชดำรินี้ แล้วเสนอแนะให้ออกกฎหมายบังคับให้สตรีชาวพม่านุ่งผ้าถุงแหวกหน้า ให้เห็นขาอ่อนแว้บ ๆ แวม ๆ เพื่อพระทั้งหลายเห็นแล้วเกิดกำหนัดลาสิกขาออกมาเอง นี่เป็นวิธีการสึกพระโดยทางอ้อมของทางการพม่า หญิงมอญสามโคกที่ท่านสุนทรภู่เห็นและบรรยายไว้ในกลอนนิราศนี้ คงเป็นผลจากกฎหมายพม่าดังที่พระเคียนอู่บอกเล่านั่นเอง
 “ตุ่มอีเลิ้ง”หรือ “ตุ่มสามโคก” เอกลักษณ์ปากและก้นแคบ ป่องกลาง เนื้อดินสีแดงอิฐ อย่างไรก็ตามทีเถิด กลอนวรรคนี้ท่านสุนทรภู่โชว์ฝีปากฝากฝีมือให้เห็นว่า ท่านหาคำยากมาร้อยเป็นกลอนได้อย่างงดงาม คือคำที่ว่า “ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน” ส่งด้วยคำหาสัมผัสยาก แล้วท่านก็หาคำมารับสัมผัสได้อย่างเหมาะเจาะว่า “ เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง” ท่านหาคำยากมาเล่นในกลอนบทเดียว (สี่วรรค) ถือได้ว่าเป็นกลอนวรรคทอง ให้ความไพเราะและภาพพจน์ (หรือภาพลักษณ์) อย่างชัดเจน เกินคำบรรยายเป็นร้อยแก้ว จากนั้นท่านก็เห็นชาวบ้านปั้นอีเลิ้ง คือโอ่งหรือตุ่มใส่น้ำ เครื่องปั้นดินเผานานาชนิดในเพิงตามริมน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ช่างฝีมือเป็นหญิงชาวมอญตั้งแต่สาวรุ่นขึ้นไปถึงเฒ่าชรา ท่านสุนทรภู่นึกสนุกก็บอกให้ศิษย์ร้องถามหญิงชาวมอญเหล่านั้นว่า “เขาว่ามอญขวางนั้นขวางจริงหรือเปล่าจ๊ะแม่นาง” แล้วท่านก็ถูกคารมนางมอญยอกย้อนให้ว่า “ไม่รู้ซี อยากรู้ก็ถามคนที่นั่งสอนอยู่ข้างหลังนั่นเถิด” โดนยันกลับมาแบบ “มอญยันหลัก” อย่างนี้ท่านก็ถึงกับ “อึ้งทึ่ง” ไปเลย
“ ถึงบ้านงิ้วงิ้วต้นแต่พ้นหนาม ไม่งอนงามเหมือนแม่งิ้วที่ผิวเหลือง เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
มาลับนวลหวนให้เห็นไม้งิ้ว เสียดายผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม เพราะเสียรักหนักหน่วงน่าทรวงโทรม ใครจะโลมเลียมรสช่วยชดเจือฯ” |
** ใน นิราศภูเขาทอง คลิก เมื่อมาถึงบ้านงิ้ว ท่านพูดถึงต้นงิ้วหนามแหลมคมในนรก คนเป็นชู้กันตายไปจะตกนรกขุมนี้ แต่มาคราวนี้ท่านไม่คิดกลัวงิ้วนรกแล้ว หากแต่ไปหวนคำนึงถึงนางเอกงิ้วที่เนื้อเหลืองสวยงามไปโน่น....
 วัดป่างิ้ว ต. บ้านงิ้ว อ. สามโคก จ. ปทุมธานี วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศมาถึงบ้านงิ้วก่อนนะ พรุ่งนี้มาแกะรอยตามกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|