บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 พระราชวังบางปะอิน : ต. บ้านเลน อ. บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา - ชีวิตและงานสุนทรภู ๔๖ -
“ ถึงโพแตงคิดถึงแตงที่แจ้งจัก ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ไม่มีเรือ จะฉีกเนื้อนั่งกลืนให้ชื่นใจ
ถึงเกาะหาดราชครามรำรามรก เห็นนกหคหากินบินไสว เขาถากถางกว้างยาวทั้งลาวไทย ทำนาไร่ร้านผักรั้วฟักแฟง
สุดละเมาะเกาะกว้างสว่างโว่ง แลตะโล่งลิบเนตรทุกเขตแขวง เห็นควันไฟไหม้ป่าจับฟ้าแดง ฝูงนกแร้งร่อนตัวเท่าถั่วดำ
โอ้เช่นนี้มีคู่มาดูด้วย จะชื่นช่วยชมชิมให้อิ่มหนำ มายามเย็นเห็นแต่ของที่น้องทำ เหลือจะรำลึกโฉมประโลมลานฯ”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ .................................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศ ออกจากสามโคกที่เป็นเสมือนเมืองมอญ ขึ้นสู่ทิศเหนือมาจนถึงบ้านงิ้ว เห็นทีว่าท่านสุนทรภู่จะเคยชอบดูการแสดงงิ้ว และติดอกติดใจนางเอกงิ้วอยู่ เมื่อถึงบ้านงิ้วคราวนี้แทนที่จะคิดถึงต้นงิ้วในนรกที่มีไว้สำหรับลงโทษคนทำบาปเรื่องการเล่นชู้กัน ท่านกลับหวนคิดถึงนางงิ้วผิวงามเสียนี่ วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านสุนทรภู่ผ่านเลยบ้านงิ้วมาถึงโพแตงที่มิได้กล่าวถึงใน นิราศภูเขาทอง คลิก โพแตงเป็นแหล่งปลูกแตงโมที่มีรสชาติอร่อยเลิศในสมัยนั้น มีชื่อเสียงเลื่องลือไปไกล ครั้นเลยถึงราชครามเกาะใหญ่ มาคราวนี้ท่านเห็นชาวบ้านไทยลาว มาถากถางป่าพงทำนาทำไร่จนสถานที่ดูโล่งแจ้ง กว้างไกล แลเห็นนกแร้งบินอยู่บนฟากฟ้าสูงไกลลิบลิ่ว จนแลดูว่ามีตัวขนาดเมล็ดถั่วดำเท่านั้นเอง ยามนั้นเป็นเวลาสายัณห์ตะวันรอนแล้ว......
“ ถึงด่านทางบางไทรไขว้เฉลว เห็นไพร่เลวหลายคนอยู่บนด่าน ตุ้งก่าตั้งนั่งชักควักน้ำตาล คอยว่าขานขู่คนลงค้นเรือ
ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ
แต่ลำเราเขาไม่ค้นมาพ้นด่าน ดูภูมิฐานทิวชลาพฤกษาไสว ถึงอารามนามอ้างวัดบางไทร ต้นไทรใหญ่อยู่ที่นั่นต้องวันทา
เทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตพุ่ม เพราะเคยอุ้มอุณรุทสมอุษา ใคร่น่าจูบรูปร่างเหมือนนางฟ้า ช่วยอุ้มพามาให้เถิดจะเชิดชม
ถนอมแนบแอบอุ้มนุ่มนุ่มนิ่ม ได้แย้มยิ้มยวนจิตสนิทสนม นอนเอนหลังนั่งเล่นเย็นเย็นลม ชมพนมแนวไม้รำไรราย
ดูเหย้าเรือนเหมือนหนึ่งเขียนเตียนตลิบ เห็นลิบลิบแลไปจิตใจหาย เขาปลูกผักฟักถั่วจูงวัวควาย ชมสบายบอกแจ้งตำแหน่งนาม
ถึงเกาะเกิดเกิดสวัสดิ์พิพัฒน์ผล อย่าเกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนาม ให้เกิดลาภราบเรียบเงียบเงียบงาม เหมือนหนึ่งนามเกาะเกิดประเสริฐทรงฯ” |
 แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านที่ศูนย์บางไทร : บางไทร อยุธยา (Cr. Photo By thai-tour.com) เลยเกาะใหญ่ราชคราม ลานเท มาถึงด่านบางไทร เป็นด่านตรวจค้นหาของผิดกฎหมาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นด่านถาวร ไม่ใช่ด่านลอย (ชั่วคราว) ทางน้ำที่เป็นทางเดินเรือผ่านไปมามีไม้ปักทำเป็นรูปเฉลว คือไม้ไขว้กั้นกลางลำน้ำเป็นสัญญาณให้เรือจอด เจ้าหน้าที่จะตรวจดูวามีของผิดกฎหมายอะไรในเรือบ้างหรือไม่ ท่านว่าบนที่ทำการด่านมี ตุ้งก่า คือหม้อหรือบ้องสูบกัญชา ตั้งวางอยู่สำหรับเจ้าหน้าที่สูบกัญชากัน เจ้าคนหัวหน้าด่านนั่งกุมบ้องกัญชาคอยพูดจาข่มขู่ชาวเรือ สั่งให้ลูกน้อง (ไพร่เลว) ลงค้นเรือ เมื่อไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ก็หน้าด้านพูดขอสิ่งของนานาเอาดื้อ ๆ ไม่เว้นจะขอแม้กระทั่งพริกเกลือ จนชาวเรือพากันอิดหนาระอาใจ โดยไม่มีใครกล้าพูดจาคัดค้านประการใด ได้แต่พากันก่นด่าอยู่ในใจเท่านั้นเอง
 ชุมชนเกาะเกิด : อยุธยา ส่วนเรือประทุนของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ด่านขี้กัญชาพวกนั้นตรวจค้น เพราะเห็นเป็นเรือพระ ท่านจึงผ่านด่านไปได้โดยสะดวกโยธิน ริมน้ำยามนั้นพฤกษาเขียวชรอุ่มพุ่มไสวเป็นที่น่าทัศนายิ่งนัก เรือของท่านสุนทรภู่ผ่านถึงวัดบางไทร มีต้นไทรใหญ่ยืนต้นอยู่หน้าวัด ท่านจึงทำความเคารพเพราะคิดว่ามีเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ พร้อมกับอธิษฐานจิตขอให้อุ้มนางฟ้ามาให้ท่านบ้างเถิด ในย่านวัดบางไทรนั้นมีบ้านเรือนไร่นาสวนผักมากมาย น่าดูน่าชมเป็นยิ่งนัก เรือลอยลำขึ้นถึงเกาะเกิด ท่านก็อธิษฐานจิตขออย่าให้เกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนามเลย ขอให้เกิดลาภขึ้นอย่างราบเรียบงดงามดั่งนามเกาะเกิดด้วยเถิด
“ ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแฉก ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์ ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อหม่อมอิน จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม
หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อห้าม จะหายศอตส่าห์พยายาม คงจะงามพักตรพร้อมเหมือนหม่อมอิน
อาลัยน้องตรองตรึกรำลึกถึง หวังจะพึ่งผูกจิตคิดถวิล เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน
บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้ เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน บ้างคลอเคล้าเข้าเคียงประเอียงอร เอาปากป้อนปีกปกกกตระกอง
ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวเที่ยวเดี่ยวโดด ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง ลูกน้อยน้อยคอยแม่ชะแง้มอง เหมือนอกน้องตาบน้อยกลอยฤทัย
มาตามติดบิดากำพร้าแม่ สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ ที่ฝากไข้ฝากผีไม่มีเลยฯ” |
 พระราชวังบางปะอิน : บางปะอิน อยุธยา จากเกาะเกิดก็มาถึงเกาะเรียง หรือ เกาะเรียน เกาะเลน เกาะบางนางอิน บางปะอิน เกาะนี้มีหลายนามที่เรียกกัน เป็นเกาะที่มีอดีตที่เป็นเหมือนนิยายปรัมปรา หรือ เรื่องจริงอิงนิยายอะไรทำนองนั้น เป็นนิทานโบราณคดีที่น่าสนใจ กล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถสมัยเป็นมหาอุปราช ปลอมพระองค์เสด็จประพาสมาถึงสถานที่แห่งนี้ เกิดพายุฝนกระหน่ำหนักจนเรือพระที่นั่งล่มลง พระองค์ว่ายน้ำมาขึ้นที่เกาะแห่งนี้ ครอบครัวชาวบ้านบนเกาะนี้มีลูกสาวชื่ออิน ได้ตกเป็นบริจาริกา หลังจากพระองค์เสด็จกลับพระนครแล้ว นางมีครรภ์ พระมหาอุปราชทรงรับอุปการะเลี้ยงดูอยู่ห่าง ๆ จนประสูติพระกุมาร และต่อมาพระกุมารนี้คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เกาะเรียง เกาะเรียน เกาะเลน หรือเกาะบางนางอิน จึงมีนามว่าบางปะอินแต่นั้นมา
 ท่านสุนทรภู่มาถึงเกาะบางปะอินคราวนี้กลับหวนรำลึกไปถึง “อินน้องละอองเอี่ยม” คือแม่ลูกอินเมืองเพชรที่ฝากรอยเล็บให้ ตามที่กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร วันนี้ไม่ขยายความตอนนี้ยาวละนะ เพราะปล่อยกลอนมายาวมากแล้ว ขอแกะรอยตามสุนทรภู่มาแค่เกาะเรียงก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้เช้ามาแกะรอยตามท่านไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, Thammada, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กลอน123, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๗ -
“ ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย เมื่อเรียนกนจนจบถึงกบเกย ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง
แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์ ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรมฯ”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านเดินทางแกะรอยตามสุนทรภู่ไปแสวงหายาอายุวัฒนะในนิราศวัดเจ้าฟ้า ท่านเลยบางไทร ผ่านเกาะเกิด ที่มีไร่แตงโมรสอร่อยชื่อเสียงโด่งดังสมัยนั้น ผ่านเกาะเรียงบางปะอินก็หวนคิดถึง แม่ลูกอินเมืองเพชร ที่ฝากรอยเล็บไว้ให้ในงานตำข้าวเม่าบ้านท่านแพ่ง วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
สะพานรักษ์ริมคลอง เกาะเรียน อยุธยา Cr. Photo By นาย..สี่ตา เพจ Ayutthaya Guide |
กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน และเป็นที่มาของเพลง “ยากยิ่งสิ่งเดียว” ของครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่นำเอากลอน “ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย เมื่อเรียนกนจนจบถึงกบเกย ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง.......” ไปแปลงเป็น “แม่กงแม่กนจวบจนกบเกย เคยเรียนร่ำ บากบั่นหมั่นท่องจำไม่ลำบาก ยากยิ่งอยู่สิ่งเดียว เกี้ยวผู้หญิง........” สรุปได้ว่า การเรียนเรื่องซึ่งยากที่สุดคือการเรียนเรื่องของความรัก ยิ่งเรียนยิ่งยุ่งยากมากปัญหา เรียนกันจนตายไม่รู้กี่ภพกี่ชาติก็เรียนไม่จบ......
“ มาถึงวัดพนังเชิงเทิงถนัด ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้ากลาโหม ผนังก่อย่อมุมเป็นซุ้มโคม ลอยโพยมเยี่ยมฟ้านภาลัย
มีศาลาท่าน้ำดูฉ่ำชื่น ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย บิดาพร่ำร่ำเล่าให้เข้าใจ ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย
ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย แม้นพาราผาสุกสนุกสบาย พระพักตรพรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์
แต่เจ๊กย่านบ้านนั้นก็นับถือ ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปูนเถาก๋ง ด้วยบนบานการได้ดังใจจง ฉลององค์พุทธคุณกรุณัง
แล้วก็ว่าถ้าใครน้ำใจบาป จะเข้ากราบเกรงจะทับต้องกลับหลัง ตรงหน้าท่าสาชลเป็นวนวัง ดูพลั่งพลั่งพลุ่งเชี่ยวน่าเสียวใจ
เข้าจอดเรือเหนือหน้าศาลาวัด โสมนัสน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส ขึ้นเดินเดียวเที่ยวหาสุมาลัย จำเพาะได้ดอกโศกที่โคกนา
กับดอกรักหักเด็ดได้เจ็ดดอก พอใส่จอกจัดแจงแบ่งบุปผา ให้กลั่นมั่งทั้งบุนนากเพื่อนยากมา ท่านบิดาดีใจกระไรเลย......” |
 วัดพนัญเชิงวรวิหาร : บ้านคลองสวนพลู อยุธยา เรือพาหนะคู่ใจลอยลำจากบางปะอินขึ้นถึงวัดพนัญเชิง วัดนี้เรียกผิดเพี้ยนกันไปตามยุคสมัย สุนทรภู่เรียกตามชาวบ้านสมัยนั้นว่า พนังเชิง ก่อนหน้านั้นในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯเรียกว่า วัดพแนงเชิง นิทานโบราณคดีเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมากเรียกว่า วัดพระนางเชิง ตั้งอยู่ริมลำน้ำแม่เจ้าพระยาฟากตะวันออก บ้านคลองสวนพลู ตรงหน้าวัดเป็นวังน้ำวน กระแสน้ำเชี่ยวกรากมาก เรือน้อยใหญ่มักจะล่มจมลงในวังน้ำวนนี้เสมอมา
 หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก (ซำปอกง) วัดพนัญเชิง อยุธยา พระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระประธานในวัดนี้ ผู้คนจำนวนมากนับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะชาวจีนเคารพนับถือกันมาก เรียกกันว่า “ซำปอกง” พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ได้บอกเล่าลูก ๆ และศิษย์ของท่านว่า พระใหญ่ประจำวัดนี้เป็นพระเสี่ยงทาย ยามใดที่บ้านเมืองจะเคืองเข็ญก็มักจะเกิดอาเพศพังทรุดหลุดสลาย ยามที่บ้านเมืองมีความผาสุกสนุกสบาย พระพักตร์องค์พระจะเอิบอิ่มยิ้มพราย พวกเจ๊กจีนเรียกพระใหญ่องค์นี้ว่า “พระเจ้าปูนเถาก๋ง” (ปุงเถ้ากง, ซำปอกง) มีผู้คนพากันมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวขออะไร ๆ กันมากมาย ถ้าใครมีน้ำใจบาปหยาบช้าจะเข้ากราบไหว้ ก็รู้สึกว่าองค์พระจะล้มทับไม่กล้ากราบไหว้ ต้องรีบถอยหนีไป ท่านสั่งให้จอดเรือเหนือศาลาท่าน้ำแล้วพาศิษย์ขึ้นไปนมัสการ .........
“ ว่าโศกรักมักร้ายต้องพรายพลัด ถวายวัดเสียก็ถูกแล้วลูกเอ๋ย แล้วห่มดองครองงามเหมือนตามเคย ลีลาเลยเลียบตะพานขึ้นลานทราย
โอ้รินรินกลิ่นพิกุลมาฉุนชื่น หอมแก้วรื่นเรณูไม่รู้หาย หอมจำปาหน้าโบสถ์สาโรชราย ดอกกระจายแจ่มกลีบดังจีบเจียน
ดูกุฎีวิหารสะอ้านสะอาด รุกขชาติพุ่มไสวเหมือนไม้เขียน ดูภูมิพื้นรื่นราบด้วยปราบเตียน แล้วเดินเวียนทักษิณพระชินวร
ได้สามรอบชอบธรรมท่านนำน้อง เข้าในห้องเห็นพระเจ้าเท่าสิงขร ต่างจุดธูปเทียนถวายขจายจร ท่านบิดรได้ประกาศว่าชาตินี้
ทั้งรูปชั่วตัวดำทั้งต่ำศักดิ์ ถวายรักไว้กับศีลพระชินสีห์ ต่อเมื่อไรใครรักมาภักดี จะอารีรักตอบด้วยขอบคุณ
แต่หนูกลั่นนั้นว่าจะหาสาว ที่เล็บยาวโง้งโง้งเหมือนโก่งกระสุน ทั้งเนื้อหอมกล่อมเกลี้ยงเพียงพิกุล กอดให้อุ่นอ่อนก็ว่าไม่น่าฟัง
ฉันกับน้องมองแลดูแต่พระ สาธุสะสูงกว่าฝาผนัง แต่พระเพลาเท่าป้อมที่ล้อมวัง สำรวมนั่งปลั่งเปล่งเพ่งพินิจ
ตัวของหนูดูจิ๋วเท่านิ้วพระหัตถ์ โตถนัดหนักนักจึงศักดิ์สิทธิ์ ศิโรราบกราบก้มบังคมคิด รำพึงพิษฐานในใจจินดา
ขอเดชะพระกุศลปรนนิบัติ ที่หนูพัดพิศวาสพระศาสนา มาเคารพพบพุทธปฏิมา เป็นมหาอัศจรรย์ในสันดาน
ขอผลาอานิสงส์จงสำเร็จ พระสรรเพชญ์พ้นหลงในสงสาร แม้นยังไม่ถึงที่พระนฤพาน ขอสำราญราคีอย่าบีฑา
จะพากเพียรเรียนวิสัยแต่ไตรเพท ให้วิเศษแสนเอกทั้งเลขผา แม้นรักใครให้คนนั้นกรุณา ชนมายืนเท่าเขาพระเมรุ
ขอรู้ทำคำแปลแก้วิมุติ เหมือนพระพุทธโฆษมหาเถร มีกำลังดังมาฆะสามเณร รู้จัดเจนแจ้งจบทั้งภพไตร.....” |
 ท่านบอกเณรหนูพัดที่ไปเก็บดอกโศก ดอกรัก มาแบ่งปันกันบูชาพระว่า ดอกรัก ดอกโศก มักทำให้พลัดพรากจากกัน นำมาถวายบูชาพระเสียก็ดีแล้ว จากนั้นจึงพาศิษย์เดินเวียนรอบสถานที่ประดิษฐานองค์พระเป็นประทักษิณ ๓ รอบ รอบ ๆ พระวิหารนั้นมีดอกไม้นานาพรรณ ที่หน้าโบสถ์มีจำปา (จำปาลาว = ลั่นทม) ออกดอกบานขาวสะพรั่งสงกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ จากนั้นจึงพาศิษย์เข้ากราบไหว้องค์พระในพระวิหาร แล้วก็นำอธิษฐาน ดังใจความในกลอนข้างบนนี้
** ขออนุญาตไม่ขยายความกลอนอธิษฐานนะครับ เพราะเป็นความยืดยาวมาก วันนี้ขอหยุดพักอยู่ตรงหน้าพระพุทธไตรรัตนนายกวัดพนัญเชิงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้เช้ามาแกะรอยตามท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, Thammada, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 เจดีย์ชัยมงคล (วัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา) - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๘ -
อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน
แล้วลาพระปฏิมาลีลาล่อง เข้าในคลองสวนพลูค่อยชูชื่น ชมแต่ไม้ไผ่พุ่มดูชุ่มชื้น หอมระรื่นลำดวนรัญจวนใจ
โอ้ยามนี้มิได้พบน้ำอบสด มาเชยรสบุปผาน้ำตาไหล ยิ่งเสียวทรวงง่วงเหงาเศร้าฤทัย มาเหงื่อไคลคล่ำตัวต้องมัวมอม
นิจจาเอ๋ยเคยบำรุงผ้านุ่งห่ม เคยอบรมร่ำกลิ่นไม่สิ้นหอม เหมือนหายยศหมดรักมาปลักปลอม จนซูบผอมผิวคล้ำระกำใจ.......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้า ท่านออกเรือจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือตามลำน้ำแม่เจ้าพระยา ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ถึงวัดพนัญเชิง พาลูกและศิษย์ขึ้นจากเรือไปไหว้หลวงพ่อโต พระพุทธไตรรัตนนายก “ซำปอกง” แล้วอธิษฐานขอตามใจปรารถนา วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวานวาน ท่านอธิษฐานขอให้ได้เจ้านายที่ดีเป็นที่พึ่งคนใหม่ จบคำอธิฐานแล้วก็กราบลาพระซำปอกงออกจากพระวิหารลงเรือ และสั่งออกเรือเดินทางต่อไป โดยเข้าในคลองสวนพลูอันร่มรื่นไปด้วยป่าไม้ไผ่ดูชุ่มชื่นรื่นรมย์ หอมดอกลำดวนรัญจวนใจ ทำให้ต้องคร่ำครวญหวนหาความหอมของน้ำอบน้ำปรุงที่เคยได้รับในขณะที่อยู่ในยศตำแหน่ง เมื่อหมดยศศักดิ์แล้วก็ต้องมาร่อนเร่เอกาอนาถา......
“ จึงมาหายาอายุวัฒนะ ตามได้ปะลายแทงแถลงไข เข้าลำคลองล่องเรือมาเหลือไกล ถึงวัดใหญ่ชายทุ่งดูวุ้งเวิ้ง
พระเจดีย์ที่ยังอยู่ดูตระหง่าน เป็นประธานทิวทุ่งดูสูงเทิ่ง ต้นโพธิ์ไทรไม้พุ่มเป็นซุ้มเซิง ขึ้นรอบเชิงชั้นล่างข้างเจดีย์
เสียดายนักหักทรุดชำรุดร้าง ใครจะสร้างสูงเกินจำเริญศรี ท่านบิดาว่าถึงให้ใหญ่กว่านี้ ก็ไม่มีผู้ใดว่าใหญ่โต
ผู้หญิงย่านบ้านเราชาวบางกอก เขาอมกลอกกลืนพระเสียอะโข แต่พระเจ้าเสาชิงช้าที่ท่าโพธิ์ ก็เต็มโตแต่ชาววังเขายังกลืน
ฉันกลัวบาปกราบพระอย่าปะพบ ไม่ขอคบคนโขมดที่โหดหืน พอฟ้าคลุ้มพุ่มพฤกษ์ดูครึกครื้น เงาทะมื่นมืดพยับอับโพยม.......” |
 วัดใหญ่ชัยมงคล : อยุธยา เรือถูกแจวลอยลำแล่นผ่านถึงวัดใหญ่ชายทุ่ง ซึ่งเข้าใจกันได้ว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วที่สถิตของพระพนรัตที่สมเด็จพระนเรศวรทรงเคารพนับถือ และทรงทะนุบำรุงวัดนี้ สร้างพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ และสร้างพระพิมพ์ขุนแผนบรรจุไว้ในพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก (มีทั้งแบบดินเผาเคลือบและไม่เคลือบ) วันที่ท่านผ่านมาถึงวัดนี้ สภาพของวัดที่เสนาสนะปรักหักพัง อยู่ในป่ารกร้าง องค์พระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรม แต่ยังแลเห็นเด่นตระหง่านอยู่ชายทุ่ง กลอนตอนนี้ไม่รู้ว่าพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เขียนกระแนะกระแหนใครในเมืองกรุงว่า พระองค์ใหญ่ ๆ โตก็ยังกลืนกินกันได้ น่าจะหมายถึงการอัญเชิญพระโตจากสุโขทัยลงกรุงเทพฯ เอาไปตั้งกลางแจ้งแถวเสาชิงช้า แล้วจัดสร้างพระวิหารใหญ่อย่างล่าช้า เพราะมีการกินค่าจ้างแรงงานอะไรกันมากมายกระมัง ท่านภู่จึงว่า คนกรุงเทพฯ อมกลืนพระโต ยามนั้นเรือลอยลำมาถึงย่านวัดใหญ่ชัยมงคลแล้วก็พอดีฟ้าคลุ้มมืดครึ้มหมู่เมฆทึบทะมึนลอยมา.....
“ พายุฝนอนธกาลสะท้านทุ่ง เป็นฝุ่นฟุ้งฟ้าฮือกระพือโหม น้ำค้างชะประเปรยเชยชโลม ท่านจุดโคมขึ้นอารามต้องตามไป
เที่ยวหลีกรกวกวนอยู่จนดึก เห็นพุ่มพฤกษ์โพธิ์ทองที่ผ่องใส ตักน้ำผึ้งครึ่งจอกกับดอกไม้ จุดเทียนใหญ่อย่างตำราบูชาเชิญ
หวังจะปะพระปรอทที่ยอดยิ่ง ประนมนิ่งนึกรำพันสรรเสริญ สำรวมเรียนเทียนอร่ามงามจำเริญ จนดึกเกินไก่ขันหวั่นวิญญา
ทั้งเทียนดับศัพท์เสียงสำเนียงเงียบ เย็นยะเยียบน้ำค้างพร่างพฤกษา เห็นแวววับลับลงตรงนัยนา ปรอทมาสูบซึ้งน้ำผึ้งรวง...” |
 พายุฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ท่านแลเห็นโคมไฟในวัดจึงสั่งแจวเรือเข้าไป เรือก็หลีกหลบแมกไม้วกไปวนมาอยู่จนดึก เห็นต้นโพธิ์ใหญ่ใบหนา(โพธิ์ทอง) จึงให้จอดเรือกระทำพิธีสักการบูชา เทน้ำผึ้งจากชวดใส่จอกได้ครึ่งจอก จัดดอกไม้วางเคียงจอกน้ำผึ้ง จุดเทียนเล่มใหญ่บูชาตามตำราอัญเชิญพระปรอท แล้วนั่งภาวนาทำใจให้เป็นสมาธิ เป็นเวลานานสองนานจนเทียนดับไป บรรยากาศสงบเงียบ เสียงไก่ขันแว่วมาเป็นสัญญาณบอกว่าค่อนแจ้งแล้ว บัดนั้นก็เกิดแสงวับลับลงมาจึงเห็นว่า พระปรอทลงมาดูดกินน้ำผึ้งแล้ว !
พระปรอทเป็นสารเหลวชนิดหนึ่ง บางท่านก็ว่าเป็นอย่างเดียวกันกับเหล็กไหล พระปรอท และเหล็กไหลถือเป็นธาตุกายสิทธิ์ ลอยไปมาได้เอง ชอบกินน้ำผึ้ง หากใครได้มาไว้ในครอบครองถ้าบุญไม่มีพอ ปรอท-เหล็กไหลก็จะหนีหายไป คืนนี้พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ทำพิธีเชิญพระปรอทในป่าใหญ่ย่านวัดใหญ่ชัยมงคลตลอดคืน จนมาได้ผลตอนเวลาใกล้รุ่งมีเสียงไก่ขันยามรับอุษาแล้ว จึงปรากฏว่ามีพระปรอทมาลงกินน้ำผึ้งในจอกของท่าน ........
** ขอพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปก็แล้วกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, Thammada, ลายเมฆ, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๙ -
"ครั้นคลำได้ในกลางคืนก็ลื่นหลุด ต้องจัดจุดธูปเทียนเวียนบวงสรวง ประกายพรึกดึกเด่นขึ้นเห็นดวง ดังโคมช่วงโชติกว่าบรรดาดาว
จักจั่นแจ้วแว่วหวีดจังหรีดหริ่ง ปี่แก้วกริ่งตรับเสียงสำเนียงหนาว ยิ่งเย็นฉ่ำน้ำค้างลงพร่างพราว พระพายผ่าวพัดไหวทุกใบโพธิ์
พอรุ่งแรกแปลกกลิ่นระรื่นรื่น โอ้หอมชื่นช่อมะกอกดอกโสน เหมือนอบน้ำร่ำผักประสาโซ สะอื้นโอ้อารมณ์ระทมทวี......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ตามหายาอายุวัฒนะในลายแทง จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่วัดเจ้าฟ้าอากาศที่ระบุไว้ในลายแทงนั้น มาถึงวัดที่เชื่อได้ว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วอันโด่งดังในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาถึงวัดนี้เป็นเวลาเย็นย่ำสนธยาแล้ว ครานั้นเกิดพายุฝนหนัก ท่านเห็นโคมไฟจุดส่องแสงอยู่ในวัด จึงสั่งให้แจวเรือเข้าไป ณ ที่เห็นแสงโคมไฟนั้น ท่ามกลางลมฝนกระหน่ำหนัก เรือถูกแจววกไปวนมาจนดึก แล้วเข้าไปถึงต้นโพธิ์ทองในกลางป่า เข้าใจว่าเป็นโพธิ์ทองที่ศักดิ์สิทธิ์เห็นทีว่าจะมีพระปรอทอยู่ จึงจอดเรือใต้ต้นโพธิ์ เทน้ำผึ้งออกจากขวดใส่จอกได้ครึ่งจอกแล้วจัดดอกไม้วางเคียงจอกน้ำผึ้ง จุดเทียนเล่มใหญ่ปักบูชา ทำพิธีเชิญพระปรอท จนเวลาเลยเที่ยงคืนไปแล้วจึงปรากฏว่ามีพระปรอทลงมาดูดกินน้ำผึ้ง วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านเล่าว่า เมื่อเห็นปรอทลงมาดูดกินน้ำผึ้งจึงรีบเอามือคลำจับปรอทนั้น แต่พระปรอทก็ลื่นหลุดมือไป ต้องจุดธูปเทียนเวียนบวงสรวงกันใหม่ จนกระทั่งดาวประกายพรึก (ดาวประจำเมือง) ลอยเด่นขึ้นกลางฟ้าเบื้องปัจจิมทิศ เสียงจักจั่นจังหรีดขยับปีกกรีดร้องประชันเสียง และสอดแทรกด้วยเสียงกรีดของงูปี่แก้ว เพิ่มความวิเวกวังเวงของบรรยากาศค่อนแจ้งมากขึ้น สายลมเย็นเริ่มผ่าวพัดใบโพธิ์พลิ้วไหวไปทั้งต้น หอบพาเอากลิ่นช่อมะกอกดอกโสนมารวยรื่นให้ชื่นใจ........
“หวังจะปะพระปรอทที่ปลอดปล่ง ทั้งสามองค์เอาไว้ก็ไพล่หนี เชิญพระธาตุราธนาทุกราตรี อาบวารีทิพรสหมดมลทิน
ที่ธุระพระปรอทเป็นปลอดเปล่า ยังดูเลาลายแทงแสวงถวิล ท่านนอนอ่านลานใหญ่ฉันได้ยิน ว่ายากินรูปงามอร่ามเรือง
แม้ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั้นเรื่อเหลือง ตะวันออกบอกแจ้งเป็นแขวงเมือง ท่านจัดเครื่องครบครันทั้งจันทร์จวง
กับหนูกลั่นจันมากบุนนากหนุ่ม สักสิบทุ่มเดินมุ่งออกทุ่งหลวง มาตามลายปลายคลองถึงหนองพลวง แต่ล้วนสวงสาหร่ายเห็นควายนอน
นึกว่าผีตีฆ้องป่องป่องโห่ มันผลุดโผล่พลุ่งโครมถีบโถมถอน เถาสาหร่ายควายกลุ่มตะลุมบอน ว่าผีหลอนหลบพัลวันเวียน...... |
 ผลของการนั่งสมาธิภาวนาเชิญพระปรอทในคืนนั้น พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ผิดหวังหวุดหวิดจะได้พระปรอท ท่านเชิญมาได้ถึง ๓ องค์ แต่จับหลุดมือไปหมดทั้ง ๓ องค์ เมื่อผิดหวังจากพระปรอทแล้ว ท่านก็นำใบลานที่จารึกลายแทงมาอ่านทบทวน อ่านช้า ๆ ออกเสียงดัง ๆ เพื่อย้ำความเข้าใจ ความในใบลานบอกสรรพคุณของยาว่า กินแล้วรูปร่างจะงดงามผิวกายชายเหลืองอร่ามเรือง แม้ฟันหักก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ผมที่หงอกขาวก็จะกลับดำ ความแก่ชราก็จะกลับกลายเป็นหนุ่ม สถานที่ซึ่งซ่อนยาอายุวัฒนะนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของแขวงเมืองอยุธยา จากนั้นท่านก็จัดเครื่องสังเวยบูชาครบครัน ประมาณ ๑๐ ทุ่มคืนนั้น จึงพร้อมด้วยศิษย์ มีหนูกลั่น จัน มาก บุนนาก ขึ้นบกเดินมุ่งออกทุ่งหลวง ตามลายแทงที่ระบุว่าอยู่ทางทิศตะวันออก (เฉียงเหนือ) กรุงเก่านั้น เดินตามปลายคลองถึงหนองพลวง เห็นควายนอนอยู่ในหนองที่เต็มไปด้วยสาหร่าย เข้าใจผิดคิดว่าผี จึงตีฆ้องป่อง ๆๆ พร้อมส่งเสียงโห่ ควายตกใจก็ผลุดขึ้นพลุ่งโครม สาหร่ายคลุมเต็มตัวปิดตามองอะไรไม่เห็น ก็หมุนหุนหันเวียนไปมา......
“ พอเสียงร้องมองดูจึงรู้แจ้ง เดินแสวงหาวัดฉวัดเฉวียน พอเช้าตรู่ดูทางมากลางเตียน ถึงป่าเกรียนเกรียวแซ่จอแจจริง
กระจาบจับนับหมื่นดูดื่นดาษ เหมือนตลาดเหลือหูเพราะผู้หญิง เหมือนโกรธขึ้งหึงหวงด้วยช่วงชิง ชุมจริงจริงจิกโจดกระโดดโจน
จนต้นไม้ใบงอกออกไม่รอด ดูกรองกรอดเกรียมกรอยกรองกรอยโกร๋น ลมกระทั่งรังกระจาบระยาบโยน ตัวมันโหนห่วงคู่คอยดูคน
บ้างคาบแขมแซมรังเหมือนดังสาน สอดชำนาญเหน็บฝอยเหมือนร้อยสน จิกสะบัดจัดแจงสอดแซงซน เปรียบเหมือนคนช่างสะดึงรู้กรึงกรอง
โอ้ว่าอกนกยังมีรังอยู่ ได้เคียงคู่ค่ำเช้าไม่เศร้าหมอง แม้นร่วมเรือนเหมือนหนึ่งนกกกประคอง แต่สักห้องหนึ่งก็เห็นจะเย็นใจ......” |
 กลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าตอนนี้มีฮา เมื่อบรรดาศิษย์พระภิกษุภู่ที่ร่วมเดินทางขึ้นบกกับพระอาจารย์ มุ่งออกท้องทุ่งทางทิศตะวันออกแขวงกรุงเก่าไปถึงหนองพลวง เห็นควายนอนแช่อยู่ในหนองสาหร่ายเข้าใจว่าเป็นผี จึงตีฆ้องโห่ร้องไล่ผี ควายได้ยินเสียงก็ตกใจทะลึ่งพรวดขึ้นจากน้ำ สาหร่ายคลุมเต็มหัวมองไม่เห็นหน ก็มุ่นวนเวียนอยู่ในหนอง กว่าจะรู้ว่าเป็นควาย พวกศิษย์ท่านก็ตกใจจนแทบขวัญหนีดีฝ่อทีเดียว
 ครั้นแสงเงินแสงทองส่องฟ้าเป็นเวลารุ่งอรุณของวันใหม่ก็เดินทางถึงป่าเกรียน ที่เรียกว่าป่าเกรียนก็เพราะว่า ต้นไม่ในป่านั้นใบโกร๋นหมด มีนกกระจาบนับหมื่น ๆ ตัวจับต้นไม้ ทั้งจิกทั้งขี้รดใบไม้จนงอกไม่ขึ้น พวกมันทำรังห้อยโตงเตงตามกิ่งไม้เต็มไปหมด เช้ามืดวันนั้น คณะพระภิกษุภู่เดินทางเข้าไปถึงป่ารังนกกระจาบต่างก็แสบแก้วหู เพราะนกมันส่งเสียงร้องพร้อม ๆ กันเป็นเสียงจากหมื่น ๆ ตัวจนฟังไม่ได้ศัพท์ เหมือนกับเข้าไปในตลาดจอแจที่เต็มไปด้วยผู้หญิงส่งเสียงพูดจากันเจียวจาวเซ็งแซ่ไปหมด ท่านพูดถึงนกกระจาบที่มันเป็นยอดวิศวกรโยธาสามารถไปเที่ยวหาใบแขมใบอ้อใบพง คาบมาถักร้อยทำรวงรังของมัน ในบรรดารังนกทั้งหมด นกกระจาบเป็นนกที่ทำรังอยู่ได้อย่างสวยงามที่สุด ป่านกกระจาบแห่งนั้น แทนที่ต้นไม้จะมีใบเขียวชรอุ่มพุ่มไสว ร่มรื่นชื่นชุ่ม แต่กลับเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยรังนกกระจาบห้อยย้อยระย้าเต็มไปหมด ช่างงดงามเหลือเกินแล้ว
** วันนี้แกะรอยตามสุนทรภูมาถึงป่านกกระจาบริมหนองพลวงนี้ก่อนนะ แล้วค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๐ -
จนพ้นป่ามาถึงโป่งหอยโข่งคุด มันหมกมุดเหมือนเขาแจ้งแถลงไข เห็นตาลโดดโขดคุ่มกับพุ่มไม้ มีทิวไผ่พงรายเหมือนลายแทง
ท่านหลีกลัดตัดทางไปกลางทุ่ง ตั้งแต่รุ่งไปจนแดดก็แผดแสง ได้พักเพลเอนนอนพอผ่อนแรง ต่ออ่อนแสงสุริยาจึงคลาไคล.......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยการเดินทางของสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเสาะหายาอายุวัฒนะตามลายแทง ท่านไปจอดเรือไว้แถว ๆ วัดใหญ่ชัยมงคล แล้วขึ้นบกเดินเท้าไปตามลายปลายคลองถึงหนองพลวง พบควายนอนอยู่ในหนองที่เต็มไปด้วยสาหร่ายเข้าใจว่าเป็นผี ศิษย์จึงตีฆ้องร้องโห่ไล่ ทั้งคนทั้งควายต่างตกใจจนเป็นเรื่องขำขัน จากนั้นก็เดินตัดทุ่งเข้าไปในป่าเกรียน ต้นไม้ใบโกร๋นมีแต่รังนกกระจาบห้อยโตงเตงเต็มต้นไม้ทุกต้น เสียงนกกระจาบร้องเจี๊ยวจ๊าวจอแจ วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านบอกว่า เมื่อเดินพ้นป่านกกระจาบก็มาถึงโป่งหอยโข่งคุด ซึ่งมีหอยโข่งคุดหมกตัวอยู่ในดินเป็นอันมาก เห็นต้นตาลโดดอยู่บนโขดเนิน มีพุ่มไม้พงไผ่รายดูเหมือนลายแทง เดินอยู่ในทุ่งกว้างตั้งแต่รุ่งเช้าของวันนั้นจนถึงเวลาเพลจึงพักฉันอาหาร และเอนกายนอนพักเหนื่อย พอได้แรงแสงแดดอ่อนจึงเริ่มเดินทางต่อไป
“แต่แรกดูครู่หนึ่งจะถึงที่ เหมือนถอยหนีห่างเหินเดินไม่ไหว เหมือนเรื่องรักชักชิดสนิทใน มากลับไกลเกรงกระดากต้องลากจูง
พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง เป็นฝูงฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย
ทำกรีดปีกหลีกเลี่ยงเข้าเคียงคู่ คอยแฝงดูดังระบำรำถวาย กระหวัดวาดยาตรเยื้องชำเลืองกราย เหมือนละม้ายหม่อมละครเมื่อฟ้อนรำ
โอ้เคยเห็นเล่นงานสำราญรื่น ได้แช่มชื่นเชยชมที่คมขำ มาห่างแหแลลับจับระบำ เห็นแต่รำแพนนกน่าอกตรม
ออกกรูไล่ไปสิ้นขึ้นบินว่อน แฉลบร่อนบินตามดูงามสม เห็นเชิงไทรไผ่โพธิ์ตะโกพนม ระรื่นรมย์รุกขชาติดาษเดียร....” |
 ออกเดินทางต่อตามภาพที่เห็นอยู่ไกล ๆ แต่ดูเหมือนยิ่งเดินเข้าหาภาพนั้นก็ยิ่งถอยหนีห่างออกไป จนกระทั่งถึงเวลาเย็นจึงรีบเดินด่วนถึงต้นตาลโดด(ตาลเดี่ยว) บนโคกพูนมูนดินสูง เดินขึ้นไปบนโคกแล้วเลาะเลียบชมทั่วป่าบริเวณนั้น เห็นฝูงนกยูงกำลังแพนหางฟ้อนกันอยู่กลางลานทรายอย่างสวยงาม ดูราวกะนางละครฟ้อนรำระบำถวายกระนั้นเทียว ท่านแอบดูไปใจก็รำพึงถึงนางละครที่เคยชมในราชสำนัก ด้วยความอาลัยอาวรณ์ จึงเดินออกจากที่ซุ่มซ่อน นกยูงเห็นเข้าก็พากันบินหนีไป เมื่อเดินต่อไปในป่าโปร่งอันรื่นรมย์นั้นก็เห็นเป็น ร่มไทร ร่มโพธิ์ ตะโก กอไผ่ใหญ่น้อยขึ้นอยู่เรียงราย
“ พิกุลออกดอกหอมพะยอมย้อย นกน้อยน้อยจิกจับเหมือนกับเขียน ในเขตแคว้นแสนสะอาดดังกวาดเตียน ตลิบเลี่ยนลมพัดอยู่อัตรา
สารภีที่ริมโบสถ์สาโรชร่วง มีผึ้งรวงรังสิงกิ่งพฤกษา รสเร้าเสาวคนธ์สุมณฑา ภุมราร่อนร้องละอองนวล
โอ้บุปผาสารีส่าหรีรื่น เป็นที่ชื่นเชยถนอมด้วยหอมหวน เห็นมาลาอาลัยใจรัญจวน เหมือนจะชวนเชษฐาน้ำตากระเด็น
โอ้ยามนี้ที่ตรงนึกรำลึกถึง มาเหมือนหนึ่งใจจิตที่คิดเห็น จะคลอเคียงเรียงตามเมื่อยามเย็น เที่ยวเลียบเล่นแสนเพลินจำเริญตา
โบสถ์วิหารฐานปัทม์ยังมีมั่ง เชิงผนังหนาแน่นด้วยแผ่นผา สงสารสุดพุทธรัตน์ปัฏิมา พระศิลาแลดูเป็นบูราณ
อุโบสถหมดหลังคาผนัง พระเจ้านั่งอยู่แต่องค์น่าสงสาร ด้วยเรื้อรังสร้างสมมานมนาน แต่บูราณเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง......” |
 คำกลอนช่วงตอนนี้ให้ความไม่ชัดเจนนักเลยครับ คือความตั้งแต่เรือท่านมาถึงวัดใหญ่ชัยมงคล แล้วเรือวกวนพลัดเข้าไปในป่าจนถึงต้นโพธิ์ทองที่ท่านทำพิธีอัญเชิญพระปรอท แล้วขึ้นบกเดินตามคลองไปถึงหนองพลวง เลยหนองพลวงเข้าป่าโกร๋นที่อยู่ของนกกระจาบเป็นหมื่น ๆ ตัว พ้นป่านกกระจาบไปถึงโป่งหอยโข่งคุด จากโป่งหอยโข่งคุดแล้ว เข้าป่าที่มีต้นตาลโดดเดียวอยู่บนโคก แล้วก็เห็นนกยูงเป็นฝูงรำแพนอยู่กลางลานทราย พบซากปรักหักพังของโบสถ์วิหาร และพระพุทธรูปศิลา ความเหล่านี้ดูจะเป็นเหมือนความคิดจินตนาการเอาเอง โดยไม่มีสถานที่จริง
 คลองข้าวเม่า : อยุธยา บอกตรง ๆ ว่าผมแกะรอยตามท่านมาด้วยความมึนงงมากเลย หากจะให้ผมเดาทิศทางตามกลอนที่ท่านแต่งไว้ตอนนี้ ก็พอจะเดาได้ว่า ท่านได้จอดเรือไว้ในคลอง หรือ ลำน้ำป่าสัก แล้วขึ้นบกเดินออกมาทางคลองข้าวเม่า ตามเส้นทางที่พระยาตากหนีพม่าวันกรุงศรีอยุธยาแตก เพราะท่านว่าลายแทงนั้นระบุว่ายาอายุวัฒนะอยู่ทางทิศตะวันออกของแขวงกรุงเก่า ผมคาดเดาเอาว่า วัดในป่าที่มีต้นตาลเดี่ยวเป็นสัญลักษณ์นี้อยู่แถวอำเภออุทัยฯ ในปัจจุบันนี่เอง
** พักไว้ตรงนี้ก่อนนะ นิราศมาถึงจุดหมายปลายทางตามลายแทงใกล้จะจบแล้ว พรุ่งนี้มาแกะรอยตามท่านในตอนท้าย ๆ ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, กลอน123, Thammada, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๑ -
“ มาเที่ยวเล่นเห็นหินบนดินโขด เดี่ยวสันโดษดังสำลีไม่มีหมอง จึงจัดช่างสร้างอารามตามทำนอง ทรงจำลองลายหัตถ์เป็นปัฏิมา
รูปพระเจ้าเท่าองค์แล้วทรงสาป ให้อยู่ตราบศักราชพระศาสนา พระฤๅษีสี่องค์เหาะตรงมา ถวายยาอายุวัฒนะ
เธอไม่อยู่รู้ว่าหลงในสงสาร ซ้ำให้ทานแท่งยาอุตสาหะ ใส่ตุ่มทองรองไว้ที่ใต้พระ ใครพบปะเปิดได้เอาไปกิน
ช่วยสร้างโบสถ์โขดเขื่อนให้เหมือนเก่า นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ที่เดินทางตามลายแทงไปหายาอายุวัฒนะที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ ระยะทางจากวัดใหญ่ชัยมงคล กรุงเก่า ค่อนข้างจะเลอะเลือน ตำแหน่งและเส้นทางคือสถานที่เดินบกผ่านไปนั้นไม่ชัดเจน พอจะเดาสุ่มเอาว่า ท่านเดินทางผ่านป่าตัดทุ่งออกทางทิศตะวันออกเมืองเก่าอยุธยามาทางอำเภออุทัย หรือไม่ก็นครหลวง จนถึงป่าที่มีต้นตาลโดดอยู่บนโขดเนิน พบวัดร้างสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง หลังคาและผนังโบสถ์พังทลายสิ้น เหลือแต่องค์พระพุทธปฏิมาศิลาตั้งกรำแดดกรำฝนอยู่กลางป่านั้น ลักษณะต้องตามที่ระบุไว้ในลายแทง วันนี้มาแกะรอยท่านต่อไปครับ
 บทกลอนข้างบนนี้ ความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านบอกเล่าว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณนานมาแต่สมัยพระเจ้าตะเภาทอง ท่านเสด็จประพาสที่นี่แล้วโปรดให้ช่างแกะสลักแท่งหินที่ขาวปานสำลีเป็นองค์พระพุทธปฏิมา ยามนั้นมีฤๅษีสี่ตนเหาะมาลงตรงหน้าแล้วถวายยาอายุวัฒนะ พระองค์รับแล้วดำริว่าคนกินยาอายุวัฒนะคือคนที่ยังหลงอยู่ในสงสาร พระองค์ปรารถนาพระโพธิญาณจึงไม่เสวยยานี้ โปรดให้ใส่ตุ่มทองประดิษฐานไว้ใต้ฐานองค์พระพุทธปฏิมา ต่อไปเบื้องหน้าหากใครมาพบแล้วกินยานี้ ขอให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ให้มีสภาพสวยงามด้วย จากนั้นทรงให้จารึกนามวัดว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ .......
“เป็นตำรามาแต่เหนือท่านเชื่อถือ ดูหนังสือเสาะหาอุตส่าห์แสวง มาพบปะจะได้ขุดก็สุดแรง ด้วยดินแข็งเขาประมูลด้วยปูนเพชร
ถึงสิ่วขวานผลาญพะเนินไม่เยินยู่ เห็นเหลือรู้ที่จะทำให้สำเร็จ แต่จะต้องลองตำรากาลเม็ด เผื่อจะเสร็จสมถวิลได้กินยา........” |
 ลายแทงหรือตำรานี้ท่านได้มาแต่เมืองเหนือ เห็นจะได้มาแต่คราวขึ้นไปพิษณุโลกตอนเมื่อบวชใหม่ ๆ นั่นเอง ท่านอุตส่าห์ด้นดั้นฟันฝ่าอุปสรรคเสาะหาวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ตามลายแทงจนพบ แต่ไม่สามารถจะขุดเอายาอายุวัฒนะใต้องค์พระได้ เพราะพื้นหินแข็งแกร่งเกินกว่าเครื่องมือที่ท่านนำมาจะขุดเจาะได้ จึงคิดจะลองวิชาเวทย์มนต์คาถาตามตำราที่เรียนรู้มา ด้วยหวังว่าได้สำเร็จสมความปรารถนาบ้าง
“พอเย็นรอนดอนสูงดูทุ่งกว้าง วิเวกวางเวงจิตทุกทิศา ลิงโลดเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา เห็นแต่ฟ้าแฝกแขมขึ้นแซมแซง
ดูกว้างขวางว่างโว่งตะโล่งลิ่ว ไม่เห็นทิวที่สังเกตในเขตแขวง สุริยนสนธยาท้องฟ้าแดง ยิ่งโรยแรงรอนรอนอ่อนกำลัง
โอ้แลดูสุริยงจะลงลับ มิใคร่ดับดวงได้อาลัยหลัง สลดแสงแฝงรถเข้าบดบัง เหมือนจะสั่งโลกาให้อาลัย
แต่คนเราชาววังทั้งทวีป มาเร็วรีบร้างมิตรพิสมัย ไม่รอรั้งสั่งสวาทประหลาดใจ โอ้อาลัยแลลับวับวิญญา
ยิ่งเย็นฉ่ำน้ำค้างว่างวิเวก เป็นหมอกเมฆมืดมิดทุกทิศา แสนแสบท้องต้องเก็บตะโกนา นึกระอาออกนามเมื่อยามโซ
ทั้งหนูกลั่นจันมากบุนนากน้อย ช่วยกันสอยเก็บหักไว้อักโข พอเคี้ยวกวาดชาติชั่วตัวตะโก แต่ยามโซแสบท้องก็ต้องกลืน
พิกุลต้นผลห่ามอร่ามต้น ครั้นกินผลพาเลี่ยนให้เหียนหืน ชั่งฝาดเฝื่อนเหมือนจะตายต้องคายคืน ทั้งขมขื่นแค้นคอไม่ขอกิน...” |
 * * เป็นอันว่าพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ไร้เครื่องมือและแรงจะขุดเจาะพื้นหินเอายาอายุวัฒนะในตุ่มทองใต้ฐานพระพุทธปฏิมาได้ ยามนั้นเป็นเวลาเย็น “สุริยนย่ำสนธยา” พระอาทิตย์ลดดวงลงลับทิวไม้ อำลาหล้าอย่างลังเลอาลัย ท่านเห็นแล้วก็หวนคิดว่า แม้ดวงตาวันอำลาโลกก็ยังรู้สั่งลาอาลัย แต่คนเราชาววังทั้งทวีป ไยอำลาโดยไม่อาลัยเลย
 (ซ้าย): ลูกตะโก / (ขวา) : ลูกพิกุล ยามนั้นเณรหนูพัดและศิษย์ทั้งหมดต่างก็หิวโหย ไม่มีอะไรจะกินแก้หิว ก็เก็บผลตะโกนาอันฝาดเฝื่อนมากลืนกินกัน เห็นลูกพิกุลห่ามเหลืองเต็มต้นก็เก็บมากิน รสชาติขมฝาดเฝื่อนยิ่งกว่าตะโกนาเสียอีก
วันนี้แกะรอยตามท่านมาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาตามดูความเป็นไปของท่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๒ -
“ท่านบิดรสอนสั่งให้ตั้งจิต โปรดประสิทธิ์สิกขารักษาศิล เข้าร่มพระมหาโพธิ์บนโขดดิน ระรื่นกลิ่นกลางคืนค่อยชื่นใจ
เหมือนกลิ่นกลั่นจันทน์เจือในเนื้อหอม แนบถนอมสนิทจิตพิสมัย เสมอหมอนอ่อนอุ่นละมุนละไม มาจำไกลกลอยสวาทอนาถนอน
โอ้ยามนี้มิได้เชยเหมือนเคยชื่น ทุกค่ำคืนขาดประทิ่นกลิ่นเกสร หอมพิกุลฉุนใจอาลัยวอน พิกุลร่อนร่วงหล่นลงบนทรวง
ยิ่งเสียวเสียวเฉียวฉุนพิกุลหอม เคยถนอมเสน่ห์หมายไม่หายหวง โอ้ดอกแก้วแววฟ้าสุดาดวง มิหล่นร่วงมาเลยใคร่เชยชิม
เย็นระเรื่อยเฉื่อยฉ่ำด้วยน้ำค้าง ลงพร่างพร่างพรายพร้อยย้อยหยิมหยิม ยิ่งฟั่นเฟือนเหมือนสมรมานอนริม ให้เหงาหงิมง่วงเงียบเชียบสำเนียง
เสนาะดังจังหรีดวะหวีดแว่ว เสียงแจ้วแจ้วจักจั่นสนั่นเสียง เสียงหริ่งหริ่งกิ่งไทรเรไรเรียง เสียงสำเนียงนอนแลเห็นแต่ดาว......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่เดินทางไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ท่านเดินทางบุกป่าข้ามทุ่งฝ่าดงไปจนถึงวัดร้างกลางป่าบนเนินเขาเตี้ย ๆ ซึ่งมีสภาพตรงตามลายแทงที่ท่านได้มาแต่เมืองเหนือแล้ว แต่ไม่สามารถจะขุดเจาะเอายาอายุวัฒนะใต้ฐานพระประธานได้ เพราะพื้นเป็นหินแข็ง ไม่มีเครื่องมือและเรี่ยวแรงพอที่จะขุดเจาะได้ วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวานนี้ ถึงเวลามืดค่ำแล้ว หลังจากที่เณรหนูพัดและศิษย์หิวโหยอาหารจนตาลาย เก็บผลตะโกนาและพิกุลมากินพอประทังชีวิต พระภิษุภู่ สุนทรโวหาร สั่งสอนเณรหนูพัดและศิษย์ทั้งหลายให้ตั้งจิตสำรวงในศีล แล้วเข้าอาศัยอยู่ในร่มโพธิ์ใหญ่บนเนินดินนั้น ได้กลิ่นเกสรดอกไม้นานาแล้วชื่นใจคลายเหนื่อย หวนรำลึกถึงกลิ่นเครื่องหอมกระแจะจันทน์ที่เคยได้ชมชื่นในกรุง ได้กลิ่นฉุนฉมของพิกุลแล้วยิ่งเพิ่มความอาลัยอาวรณ์เป็นทวีคูณ บรรยากาศบนโขดดินยามนั้นเงียบวังเวง น้ำค้างพร่างพรายปรายโปรยลงมาเพิ่มความเย็นยะเยียบยิ่งขึ้น เสียงจังหรีดหริ่งเรไร ประสานเสียงจักจั่น เป็นดนตรีธรรมชาติกล่อมอารมณ์ให้นอนชมหมู่ดาวที่พรางฟ้า......
“จนดึกดื่นรื่นเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยฉิว หนาวดอกงิ้วงิ้วต้นให้คนหนาว แม้นงิ้วงามหนามงิ้วเล็บนิ้วยาว จะอุ่นราวนวมแนบนั่งแอบอิง
ทั้งสี่นายหมายว่ากินยาแล้ว จะผ่องแผ้วพากันเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง เดชะยาน่ารักประจักษ์จริง ขอให้วิ่งตามฉาวทั้งด้าวแดน
นาคนั้นว่าอายุอยู่ร้อยหมื่น จะได้ชื่นชมสาวสักราวแสน ไม่รู้หมดรสชาติไม่ขาดแคลน ฉันอายแทนที่เธอครวญถึงนวลนาง
ทั้งหนูกลั่นนั้นว่าเมื่อล่องกลับ จะแวะรับนางสิบสองไม่หมองหมาง แม่เอวอ่อนมอญรำล้วนสำอาง จะขวางขวางไปอย่างไรคงได้ดู
สมเพชเพื่อนประหนึ่งบ้าประสาหนุ่ม แต่ล้วนลุ่มหลงเหลือจนเบื่อหู จนพระเมินเดินเวียนถือเทียนชู เที่ยวส่องดูเสมาบรรดามี.........” |
 สายลมโชยอ่อนพัดพาละอองน้ำค้างเย็นมากระทบผิวกาย “หนาวดอกงิ้ว” ยามนั้น ทำให้หวน ”งิ้วคน” คือชู้รัก หากแม้นมาด้วยก็จะได้นั่งชิดกายคลายหนาวได้บ้าง ยามนั้นศิษย์ทั้งสี่นายฝันยามตื่นว่าได้กินยาอายุวัฒนะไปแล้ว แม้นยาประจักษ์ศักดิ์สิทธิ์จริงจะไปเที่ยวเกี้ยวหญิงชื่นชมให้สมใจ บุนนากเพ้อว่าขอให้มีอายุยืนเป็นหมื่นปี จะได้ชมหญิงสาวสักแสนนาง เรี่ยวแรงแข็งขันไม่รู้หมดรสชาติไม่ขาดแคลน หนูกลั่นก็เพ้อว่าครั้นได้กินยาอายุวัฒนะแล้วเวลาล่องกลับเมืองกรุงจะแวะรับนางสาวมอญเมืองสามโคกลงไปอยู่ด้วย เป็นได้ดูให้รู้แจ้งกันละว่า นางมอญจะขวางจริงหรือไม่อย่างไรกันแน่ พระภู่ได้ฟังศิษย์เพ้อฝันกันอย่างนั้นก็รำคาญหู จุดเทียนถือเดินวนเวียนสำรวจดูเสมาโบสถ์ไปทั่วบริเวณนั้น........
“ที่ผุพังยังแต่ตรุบรรจุธาตุ ขาวสะอาดอรหัตจำรัสศรี อาราธามาไว้สิ้นด้วยยินดี อัญชลีแล้วก็นั่งระวังภัย
น้ำค้างพรมลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยฉิว ใบโพธิ์พลิ้วแพลงพลิกริกริกไหว บ้างร่วงหล่นวนว่อนร่อนไรไร ด้วยแสงไฟรางรางสว่างตา
จนดึกดื่นรื่นร่มลมสงัด ดึกกำดัดดาวสว่างพร่างพฤกษา เหมือนเสียงโห่โร่หูข้างบูรพา กฤตยาได้ฤกษ์เบิกพระไพร
สายสิญจน์วงลงยันต์กันปิศาจ ธงกระดาษปักปลิวหวิวหวิวไหว ข้าวสารทรายปรายปราบกำราบไป ปักเทียนชัยฉัตรเฉลิมแล้วเจิมจันทน์
จุดเทียนน้อยร้อยแปดนั้นปักรอบ ล้อมเป็นขอบเขตเหมือนหนี่งเขื่อนขันธ์ มนต์มหาวาหุดีพิธีกรรม์ แก้อาถรรพ์ถอนฤทธิ์ที่ปิดบัง
แล้วโรยรินดินดำคว่ำหอยโข่ง จะเปิดโป่งปูนเพชรเป็นเคล็ดขลัง พอปักธงลงดินได้ยินดัง เสียงตึงตังตูมเปรี้ยงแซ่เสียงคน
ข้างเทียนดับกลับกลัวให้มัวมืด พายุฮืดฮือมาเป็นห่าฝน ถูกลูกเห็บเจ็บแสบแปลบสกนธ์ เหลือจะทนทานลมลงก้มกราน
เสียงเกรียวกราววาววามโพล่งพลามพลุ่ง สะเทือนทุ่งที่บนโขดโบสถ์วิหาร กิ่งโพธิ์โผงโกรงกรางลงกลางลาน สาดข้าวสารกรากกรากไม่อยากฟัง
ทั้งฟ้าร้องก้องกึกพิลึกลั่น อินทรีย์สั่นซบฟุบเหมือนทุบหลัง สติสิ้นวิญญาละล้าละลัง สู่ภวังค์วูบวับเหมือนหลับไป.......” |
 ตอนนี้ปล่อยกลอนให้อ่านกันยาว ๆ เพราะเป็นเรื่องยาว พอจะสรุปได้ว่า ท่านสุนทรภู่จุดเทียนเดินเที่ยวส่องหาเสมา คือเขตโบสถ์ ได้พบว่ามีการขุดเจาะไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว ท่านพบพระสารีริกธาตุพระอรหันต์ขาวบริสุทธิ์ จึงอาราธนามาเก็บไว้ด้วยความยินดียิ่งนัก จากนั้นก็เริ่มทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อจะเปิดกรุเอายาอายุวัฒนะในตุ่มทองคำใต้องค์พระประธาน โยงสายสิญจน์ปิดยันต์กันปิศาจ จุดเทียนชัยและเทียนบริวารครบถ้วน ซัดทรายมนต์ ลงดินดำคว่ำหอยโข่ง ครั้นปกธงลงดิน ก็เกิดมหัศจรยย์ลั่นเลื่อนดังตังตึง เสียงคนแซ่อึง ฝนลมโหมกระหน่ำลงมา เทียนดับหมดจนมืดมนไปทั่ว ลูกเห็บตกลงมาถูกต้องตัวเจ็บแสบไปหมด ควักข้าวสารมนต์สาดซัดไปก็ไร้ผล ครานั้นเหมือนมีคนมาทุบลงบนหลังจนสติดับวูบหลับลงตรงนั้น......
** เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๓ -
“เป็นวิบัติอัศจรรย์มหันตเหตุ ให้อาเพศเพื่อจะห้ามตามวิสัย ทั้งพระพลอยม่อยหลับระงับไป แสงอุทัยรุ่งขึ้นจึงพื้นกาย
เที่ยวหาย่ามตามตำราทั้งผ้าห่ม มันตามลมลอยไปข้างไหนหาย ไม่พบเห็นเป็นน่าระอาอาย จนเบี่ยงบ่ายบิดาจะคลาไคล
ท่านห่มดองครองผ้าอุกาพระ คารวะวันทาอัชฌาศัย ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย พออภัยพุทธรัตน์ปัฏิมา
เหมือนรู้ความยามโศกด้วยโรคร้าย จึงตามลายลัดแลงแสวงหา จะใคร่เห็นเช่นเขาบอกดอกจึงมา มีตำราแล้วก็ต้องทดลองดู
ไม่รื้อร้างง้างงัดไม่คัดขุด เป็นแต่จุดเทียนเบิกฤกษ์ราหู ขอคุณพรตทศธรรมช่วยค้ำชู ไม่เรียนรู้รูปงามไม่ตามลาย
มาเห็นฤทธิ์กฤตยาอานุภาพ ก็เข็ดหลาบลมพาตำราหาย ได้กรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย ให้ภูตพรายไพรโขมดที่โขดดิน
ทั้งเจ้าทุ่งกรุงทวาเทพารักษ์ ซึ่งพิทักษ์ทิพยาคูหาหิน พระเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ซึ่งสร้างถิ่นที่วัดพระปัฏิมา
จงพ้นทุกข์สุโขอโหสิ ไปจุติตามชาติปรารถนา ทั้งเซิงไทรไผ่โพธิ์ตะโกนา ฉันขอลาแล้วเจ้าคะหม่อมตะโก
ถึงแก่งอมหอมกลิ่นยังกินฝาด แต่คราขาดคิดรักเสียอักโข ทั้งพิกุลฉุนกลิ่นจงภิญโญ เสียดายโอ้อางขนางจะห่างไกล.......”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะที่บ่งบอกไว้ในใบลานลายแทงซึ่งได้มาจากเมืองเหนือ ว่ามียาอายุวัฒนะใส่ตุ่มทองฝังไว้ในฐานประประธานในโบสถ์วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ท่านจึงดั้นด้นค้นหาจนพบสถานที่ตามลายแทงนั้น แล้วทำพิธีกรรมตามตำราไสยศาสตร์เพื่อเปิดอุโมงค์ลงไปเอายาอายุวัฒนะ พิธีกรรมสุดท้ายคือการปักธงลงดินดำ ก็ปรากฏวิบัติมหัศจรรย์ เกิดเสียงดังตึงตังแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เกิดลมพายุพัดมาพร้อมฝนลูกเห็บกระหน่ำ เทียนดับเครื่องสังเวยถูกลมพัดกระจัดกระจายไปสิ้น ยามนั้นเหมือนมีใครมาทุบหลังอย่างแรงจนท่านหมดสติวูบหลับไป วันนี้มาดูกันว่าท่านสุนทรภู่ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ
 กลอนยาว ๆ ข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ที่ท่านบอกเล่าว่า... ท่านสลบไสลไปนานเท่าไรไม่รู้ได้เลย มารู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ต่อเมื่ออุทัยไขแสงแจ้งโล่งแล้ว ลุกขึ้นมองหาย่ามและตำราลายแทงไม่เห็น แม้จีวรที่ห่มทำพิธีเมื่อคืนนี้ก็ไม่มี แสดงว่าถูกลมพายุพัดพาหายไปหมดสิ้น ผ้าที่เหลือติดตัวท่านมีเพียงสบงที่นุ่งกับอังศะ (สะไบ) ที่สวมกายอยู่เท่านั้น เห็นภาพของตนเองเช่นนั้นก็นึกละอายแก่ใจยิ่งนัก สำนึกนึกได้ว่าตนผิด จึงกราบกรานขอขมาองค์พระปฏิมา ตัดอาลัยในตำราลายแทงและสิ่งของทั้งหลายที่ลอยตามสายลมหายไป ท่านสำนึกได้ว่า ตนเกิดความโลภและปรารถนาลามกต้องการยาอายุวัฒนะด้วยหมกมุ่นในกิเลสกาม (กามคุณ) และประกอบกับความอยากรู้อยากพิสูจน์ตำรา จึงกระทำการอันมิบังควรลงไป บัดนี้สำนึกผิดแล้ว เห็นฤทธิ์กฤยานุภาพแล้ว เลิกคิดรื้อร้างขุดหาของตามลายแทงแล้ว เข็ดหลาบไปจนตายเลยทีเดียว ขอกรวดน้ำคว่ำขันอุทิศให้แก่ภูตพรายไพรโขมดโขดหิน เจ้าทุ่งเจ้าป่ากรุงทวาราวดีเทพารักษ์ผู้รักษาคูหาหินและเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ผู้สร้างวัด ขอให้ทุกท่านจงจุติไปเกิดในที่อันปรารถนาเถิด จากนั้นก็กล่าวคำอำลาเซิงไทรไผ่โพธิ์ตะโกนา ท่านยังมีอารมณ์ขันในการกล่าวลาตะโกนาว่า แม้จะแก่งอมมีกลิ่นหอมแล้วยังมีรสฝาด แต่ยามขาดแคลนก็คิดรักเสียอักโข ขอให้ตะโกนาและพิกุลอาหารยามยากจงภิญโญเถิด
“ออกจากทุ่งมุ่งหมายพอบ่ายคล้อย ไม่ตามรอยแรกมาหญ้าไสว จนจวนค่ำย่ำเย็นเห็นไรไร สังเกตไม้หมายทางมากลางคืน
ต้องบุกรกวกลงลุยพงแฝก อุตส่าห์แหวกแขมคาสู้ฝ่าฝืน มาตามลายหมายจะลุอายุยืน ผ้าห่มผืนหนึ่งไม่ติดอนิจจัง
เจ้าหนูกลั่นนั้นว่าเคราะห์เสียเพลาะหอม เหมือนทิ้งหม่อมเสียทีเดียวเดินเหลียวหลัง จะรีบไปให้ถึงเรือเหลือกำลัง ครั้นหยุดนั่งหนาวใจจำไคลคลา
จนรุ่งสางทางเฟือนไม่เหมือนเก่า ต้องเดินเดาดั้นดัดจนขัดขา จนเที่ยงจึงถึงเรือเหลือระอา อายตามาตาแก้วที่แจวเรือ
เขาหัวเราะเยาะว่าสาธุสะ เครื่องอัฏฐะที่เอาไปช่างไม่เหลือ พอมืดมนฝนคลุ้มลงคลุมเครือ ให้ออกเรือรีบล่องออกท้องคุ้ง
จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง ไม่มีของขบฉันจังหันหุง ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง ท่านบำรุงรักษาไม่ละเมิน
ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ ทั้งสูงศักดิ์รักใคร่ให้จำเริญ อายุเกินกัปกัลป์พุทธันดร
ให้ครองกรุงฟุ้งเฟื่องเปรื่องปรากฏ เกียรติยศอยู่ตลอดอย่าถอดถอน ท่านอารีมีใจอาลัยวอน ถึงจากจรใจจิตยังคิดคุณ
มาทีไรได้นิมนต์ปรนนิบัติ สารพัดแผ่เผื่อช่วยเกื้อหนุน ต่างชื่นช่วยอวยกุศลผลบุญ สนองคุณคุณพระยารักษากรุง.....” |
 สรุปความจากคำกลอนนิราศท่อนนี้ได้ว่า หลังกล่าวคำอำลาเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขา พิกุลป่า ตะโกนาแล้ว พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ก็พาศิษย์ออกเดินทางกลับ ไม่ได้กลับในทางเดิมที่ไป หากแต่ลัดป่าหญ้าป่าแฝกแหวกพง จนถึงเวลามืดค่ำ กำหนดหมายเอาทิวไม้เป็นแนวทาง แหวกหญ้าฝ่าดงในยามค่ำคืน ด้วยความทุกข์ยากอย่างยิ่ง ท่านรำพึงว่า อนิจจาตัวเรา หมายจะได้ยาอายุวัฒนะตามลายแทงก็ไม่ได้ ซ้ำยังสิ้นเนื้อประดาตัว ผ้าห่มสักผืนหนึ่งก็ไม่มีติดตัว หนูกลั่นก็พ้อว่าหนูก็เสียแพรเพลาะหอมไปหนึ่งผืน เดินทางทั้งคืนแบบ ”มะงุมมะงาหรา” จนรุ่งแจ้งแสงอุทัยเจิดจ้า จึงคำนวณทิศทางได้ เดินวกลงถูกทางมาถึงเรือที่จอดคอยอยู่ในเวลาเที่ยงวัน กลับต้องมาอับอายตามากับตาแก้วคนแจวเรือ ที่เห็นสภาพของพระอาจารย์กลับมาอย่างทุลักทุเลอย่างนั้น ก็ยกมือสาธุสะขึ้นท่วมหัวเหมือนจะเยาะเย้ยด้วยสมน้ำหน้า
ครั้นจะสั่งออกเรือล่องกลับวัดก็เห็นว่ายังขัดข้อง เพราะข้าวของเสบียงหาอาหารแม้จังหันก็ไม่มีจะหุง จึงคิดถึงเพื่อนเก่าที่มาเป็นพระยารักษากรุงเก่าอยู่ เมื่อมาภูเขาทองคราวก่อนไม่กล้าแวะไปหา มาคราวนี้ขัดสนจนยากยิ่งแล้วจึงบากหน้าไปหา (พระยาไชยวิชิต เผือก) ก็ได้รับการต้อนรับบำรุงเป็นอย่างดียิ่ง แถมยังปวารณาตัวไว้ว่า ขึ้นมากรุงเก่าคราวใดขอให้แวะมาเยี่ยมทุกครั้ง เพื่อจะได้ต้อนรับปฏิบัติบำรุงต่อไป ก่อนจากกันก็อวยชัยให้พรดังกลอนข้างบนนี้
วันนี้แกะรอยท่านสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้ามาเพียงนี้ก่อนนะ ใกล้จบแล้วหละ พรุ่งนี้มาแกะรอยกันต่อให้จบก็แล้วกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, กลอน123, เนื้อนาง นิชานาถ, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๔ -
“เมื่อกราบลาคลาเคลื่อนออกเลื่อนล่อง เห็นหน้าน้องนามหุ่นนั่งชุนถุง ทั้งผัดหน้าทาขมิ้นส่งกลิ่นฟุ้ง บำรุบำรุงรูปงามอร่ามเรือง
ที่แพรายหลายนางสำอางโฉม งามประโลมเปล่งปลั่งอลั่งเหลือง ขมิ้นเอ๋ยเคยใช้แต่ในเมือง มาฟุ้งเฟื่องฝ่ายเหนือทั้งเรือแพ
พวกโพงพางนางแม่ค้าขายปลาเต่า จับกระเหม่ามิได้เหลือชั้นเรือแห จะล่องลับกลับไปอาลัยแล มาถึงแพเสียงนกแก้วแจ้วเจรจา
เจ้าของขาวสาวสอนชะอ้อนพลอด แวะมาจอดแพนี้ก่อนพี่จ๋า น่ารับขวัญฉันนี้ร้องว่าน้องลา ก็เลยว่าสาวกอดฉอดฉอดไป
โอ้นกเอ๋ยเคยบ้างหรืออย่างพลอด นางสาวสาวเขาจะกอดให้ที่ไหน แต่น้องมีพี่ป้าที่อาลัย ท่านยังไม่ช่วยกอดแกล้งทอดทิ้ง
นึกก็พลอยน้อยใจที่ไม่กอด หนาวก็ทอดเตาไว้ก่อไฟผิง ไม่เรียกเป็นเช่นนกแก้วแล้วจริงจริง จะสู้นิ่งหนาวทนอยู่คนเดียว....”
.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงถึงวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ทำพิธีทางไสยศาสตร์เปิดกรุยาในตุ่มทองใต้ฐานพระประธานโบสถ์ร้างกลางป่า เกิดอาถรรพ์บันดาลลมฝนลูกเห็นกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ลมพายุพัดข้าวของในพิธีปลิวหายไปสิ้น ตัวพระภิกษุภู่ เจ้าพิธีถูกมือที่มองไม่เห็นทุบหลังอย่างแรงจนสลบไสลไป ฟื้นตื่นขึ้นมาตอนตะวันโด่งของวันรุ่งขึ้น พบว่าข้าวของหายไปหมดสิ้น เหลือเพียงสบงที่นุ่งกับอังสะที่ใส่ติดกายเท่านั้น หลังจากกราบขอขมาเจ้าที่เจ้าทางแล้วพาศิษย์เดินบุกป่าฝ่าดงหญ้าแฝกกลับลงเรือ เสียเวลาไปอีกหนึ่งวันหนึ่งคืนจึงถึงเรือที่จอดอยู่ย่านวัดใหญ่ชัยมงคล จากนั้นก็ไปหาเจ้าเมืองกรุงเก่าซึ่งเคยเป็นเพื่อนกัน ได้รับการรับรองปฏิบัติบำรุงเป็นอย่างดี วันนี้มาแกะรอยตามท่านกลับบางกอกครับ
กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน หลังจากร่ำลาเจ้าเมืองแล้วลงเรือออกจากท่าน้ำ พบเห็นสาวนามว่า “หุ่น” ผัดหน้าทาขมิ้นนั่งชุนผ้าถุงอยู่ดูน่ารัก เลยสาวหุ่นมาก็พบเห็นเรือแพแม่ค้ามากมาย แพสาวผิวขาวนางหนึ่งเลี้ยงนกแก้วไว้ สอนให้พูดเชิญลูกค้าแวะที่แพตน นกแก้วพูดแจ้ว ๆ ว่า “สาวกอด ๆ” ช่างน่ารักเสียกระไร
“ได้เด็ดรักหักใจมาในน้ำ ถึงพบลำสาวแส้ไม่แลเหลียว ประหลาดเหลือเรือวิ่งจริงจริงเจียว มาคืนเดียวก็ได้หยุดอยุธยา
จึงจดหมายรายเรื่องที่เคืองเข็ญ ไปเที่ยวเล่นลายแทงแสวงหา เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา ได้จดมาเหมือนหนึ่งมีแผนที่ไว้
ไม่อ่อนหวานขานเพราะเสนาะโสต ด้วยอายโอษฐ์มิได้อ้างถึงนางไหน ที่เขามีที่จากฝากอาลัย ได้ร่ำไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ
นี่กล่าวแกล้งแต่เล่นเพราะเป็นหม้าย เที่ยวเร่ขายคอนเรือมะเขือเปราะ คิดคะนึงถึงตัวน่าหัวเราะ เกือบกะเทาะหน้าแว่นแสนเสียดาย
นารีใดไร้รักอย่าหนักหน่วง จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย อย่าหมิ่นชายเชิงตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์ ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมลงภู่ชม
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม เสน่หาอาลัยใจนิยม จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา มิได้แก้วแววตาอนาทร
มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร จงทราบความตามใจอาลัยวอน เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังหนึ่งคอยสอยสวาท แม้นเหมือนมาดหมายชิมให้อิ่มหนำ ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ จะต้องคร่ำคร่าเปล่าแล้วเราเอย.....ฯ” |
 * เรือล่องลำเจ้าพระยากลับบางกอก ได้แรงไหลของกระแสน้ำค่อนข้างแรงช่วยให้เรือแล่นเร็วมาก ใช้เวลาเพียงคืนเดียวก็ถึงกรุงเทพฯ แล้ว เมื่อถึงบางกอกท่านก็แต่งคำสั่งลา ออกตัวว่านิราศเรื่องนี้ไม่ได้ร่ำไรถึงหญิงคนใด ทำให้คำกลอนไม่อ่อนหวานนิราศของคนอื่นที่เขามีหญิงคนรักให้ครวญหา อีกประหนึ่งหนึ่งท่านเป็นพระภิกษุ จึงกระดากปากละอายใจที่จะกล่าวคำคร่ำครวญถึงคนรัก ที่กล่าวแกล้งแต่งเล่นมานี่ก็เพราะความเป็นหม้ายเท่านั้น และแล้วท่านก็หยอดคำหวานฝากไว้ในตอนจบของกลอนนิราศ ดังความข้างบนนี้แล นิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ความจบลงแล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า วัดเจ้าฟ้านี้อยู่ ณ แห่งหนตำบลใดกันแน่เล่าหนอ
 ธนิต อยู่โพธิ์ / เปลื้อง ณ นคร / สุจิตต์ วงษ์เทศ อาจารย์มหาธนิต อยู่โพธิ์ กับ อาจารย์มหาเปลื้อง ณ นคร ท่านชี้ไว้ว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ คือวัดเขาดิน ต. ธนู อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา แต่มีอีกหลายท่านไม่เห็นด้วย อย่างเช่นนักประวัติศาสตร์โบราณคดีรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ เขาเชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าน่าจะอยู่เลยวัดเขาดินไปถึงวัดพระพุทธฉาย สระบุรี หรือไม่ก็ต่ำลงมาที่วัดเขาพนมโยง (พนมยงค์) แถวหนองแค สระบุรี เรื่องนี้มีนิทานพื้นบ้านที่สุนทรภู่ท่านก็รู้อยู่ว่า มีเจ้าเมืองท่านหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวอู่ตะเภา พระนามจริงว่าเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ครองเมืองอู่ตะเภา ยุคสมัยทวาราวดี ซึ่งปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในตำบลมะม่วงหวาน อ. หนองแซง สระบุรี เขตติดต่อกับเขาดิน ต. ธนู นั่นเอง
 เมืองโบราณอู่ตะเภา (คูน้ำล้อมรอบ) จึงยังไม่เป็นที่ยุติว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ที่เจ้าเมืองอู่ตะเภาสร้าง และบรรจุยาอายุวัฒนะไว้นั้น ปัจจุบันอยู่ตรงไหนกันแน่ ใครอยากได้ยาอายุวัฒนะกินแล้วแข็งแรงไม่แก่เฒ่า ก็ลองค้นหากันเอาเองนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กลอน123, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, เนื้อนาง นิชานาถ, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๕ -
ตามลายแทงหายาอายุวัฒนะ จนเกือบจะดับดิ้นสิ้นสังขาร เหลือแต่ตัวเปล่าจำเป็นตำนาน ต้องซมซานล่องลัดกลับวัดโพธิ์
อยู่วัดใหญ่ได้สักระยะหนึ่ง มีที่พึ่งบุญหนักอยู่อักโข “พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ”โต ไม่อดโซซุ่มซ่อนเหมือนก่อนมา
ท่านมีวังตั้งใกล้วัดมหาธาตุ ทรงมุ่งมาดบำรุงไร้ปัญหา จึงให้ย้ายจากวัดโพธิ์ที่โสภา อยู่วัดดังวังหน้านิพพานาราม
ยามอยู่วัดมหาธาตุแล้วจัดกิจ คือลิขิตกลอนไทยนิยายสยาม เรื่อง“พระอภัยมณี”ที่งดงาม แต่งต่อความเดิมที่ศรีสุวรรณ
เริ่มเกาะแก้วพิสดารเรื่องพันลึก ล้วนแต่นึกนึกขยายนิยายฝัน “พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ”นั้น ทรงสรวลสันต์อ่านต่อพอพระทัย.....
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่เดินทางไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ซึ่งยังไม่แน่ว่า เป็นวัดเขาดิน ต.ธนู อ.อุทัย พระนครศรีอยุธยา หรือบริเวณวัดพระพุทธฉาย และหรือ วัดเขาพนมโยง (พนมยงค์) อ.หนองแซง สระบุรี หรือไม่ ส่วนเมืองของท้าวอู่ตะเภา หรือเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์นั้น ปัจจุบันมีซากเมืองเก่ายุคทวาราวดีอยู่ ในตำบลม่วงหวาน อ.หนองแซง สระบุรี เมื่อท่านผิดหวังจากการไปหายาอายุวัฒนะแล้ว เรื่องราวของท่านจะดำเนินไปอย่างไร มาตามดูกันครับ
 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พ. ณ ประมวญมารค หรือท่านจันทร์ กล่าวว่า สุนทรภู่กลับจากวัดเจ้าฟ้าอากาศแล้วเข้าอยู่วัดโพธิ์ตามเดิม ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณซึ่งมีวังอยู่ใกล้วัดนิพพานาราม หรืออวัดมหาธาตุ ใคร่ที่จะอุปถัมภ์บำรุงอย่างใกล้ชิด จึงนิมนต์ให้ออกจากวัดโพธิ์ (พระเชตุพนฯ) ไปอยู่สำนักวัดมหาธาตุ เจ้าพระองค์นี้โปรดการเล่นสักวา ว่ากันว่าเวลาที่ไปเล่นสักวาจะนิมนต์พระภิกษุภู่นั่งไปในเรือด้วยเสมอ ท่านจึงมีฐานะเป็นที่ปรึกษาวงสักวาของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปโดยปริยาย
 ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของพระภิกษุภู่ สุทรโวหาร ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ คือการแต่งกลอนนิยายเรื่องพระอภัยมณีต่อจากที่แต่งค้างไว้แต่สมัยรัชกาลที่ ๒ กล่าวคือ ตอนที่ท่านถูก “ขังลืม” อยู่นั้นได้ใช้เวลาว่างแต่งนิยายคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี เรียกว่า “ตับศรีสุวรรณ” หลังจากพ้นโทษแล้วมีงานกวีที่ปรึกษามาก นิยายคำกลอนเรื่องนี้จึงหยุดไว้ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงอ่านแล้วพอพระทัย จึงขอให้ท่านแต่งต่อใน “ตับเกาะแก้วพิสดาร”
นิยายคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีเป็นที่ชื่นชอบของชาววังมาก ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ ท่านจันทร์ว่า พระภิกษุภู่หมดที่พึ่งจึงลาสิกขาในต้นปีนั้น ปีที่ท่านสึกจากพระนั้นอายุย่างเข้า ๕๐ ปีแล้ว ชีวิตฆราวาสของท่านมีสภาพลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนมีผู้เล่ากันว่า นายภู่อาศัยอยู่ในเรือเที่ยวร่อนเร่ไป ขายบทกลอนพอเป็นค่าเลี้ยงชีพ ในช่วงนี้ท่านมีภรรยาเป็นตัวเป็นตนอีกคนหนึ่งชื่อม่วง และมีบุตรด้วยกันอีก ๑ คน
 วัดเทพธิดาราม ในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ หนูพัดมีอายุครบบวช สุนทรภู่จึงเข้ากราบทูลเล่าเรื่องที่เป็นมาของตนถวายสมเด็จฯ กรมหมื่นชิโนรส ณ วัดพระเชตุพนฯ ให้ทรงทราบ จึงได้รับพระอุปการะบวชให้ทั้งบิดาและบุตร ครั้นบวชแล้ว สมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ก็ให้ไปอยู่วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นสำนักเดิม แต่ท่านเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากพวกอันธพาลอีก จึงขอให้สมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ส่งไปอยู่วัดเทพธิดาราม ซี่งสร้างเสร็จและผูกพัทธสีมาในปีนั้น พรรษาแรกในการบวชครั้งที่ ๒ นี้ ท่านจึงจำอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม และวัดนี้ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง พระนางเป็นพระพี่นางของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ได้ทรงอ่านเรื่องพระอภัยมณีมาก่อนแล้วพอพระทัยมาก จึงทรงอุปการะพระภิกษุภู่ และขอให้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อจากเดิมให้อีกด้วย
 ท่านจันทร์ว่า พระภิกษุภู่อยู่วัดเทพธิดารามอย่างมีความสุขสบายได้ ๒ พรรษา ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๘๔ ท่านออกจากวัดเดินทางไปสุพรรณบุรีด้วยธุระอะไรสักอย่างหนึ่ง และแต่ง โคลงนิราศสุพรรณ คลิก ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง นิราศเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ท่านแต่งเป็นโคลง ว่ากันว่ามีนักกวีด้วยกันพูดเชิงดูหมิ่นแคลนว่า สุนทรภู่แต่งเป็นแต่กลอนตลาด ซึ่งเป็นกวีพื้นบ้านที่ใคร ๆ ก็แต่งกันได้ โคลงฉันท์ที่เป็นกวีชั้นสูงนั้นสุนทรภู่หาแต่งเป็นไม่ ด้วยคำสบประมาทนี้เองทำให้ท่านแต่งนิราศเป็นโคลง เพื่อแสดงให้เพื่อนนักกวีเห็นว่า ท่านก็แต่งโคลงเป็นเหมือนกัน แต่ว่าท่านถนัดเชี่ยวชาญ ชำนาญในการแต่งกลอน ดังนั้นเมื่อมาแต่งโคลงที่ท่านไม่ถนัด คำโคลงของท่านจึงใช้ถ้อยคำไม่ลื่นไหลเหมือนกลอน ยังติดเล่นสัมผัสเสียงแบบกลอนเสียมากกว่า
ท่านจันทร์กล่าวถึงโคลงของสุนทรภู่ไว้ว่า
“นิราศที่แต่งเป็นคำโคลงเรื่องนี้ ไม่เหมือนนิราศคำโคลงเรื่องอื่น ๆ ที่แต่งเลียนแบบกันมาตลอด คือเป็นบทครวญที่กล่าวเข้ากับตำบลที่ผ่าน หรือชื่อนก ชื่อไม้ ไม่มีที่จะบันทึกเหตุการณ์อะไรเลย โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เล่าการเดินทางเหมือนอย่างนิราศที่แต่งเป็นกลอน ฉะนั้นในด้าน “รสความ” จึงไม่เหมือนนิราศคำโคลงอื่น ๆ ที่ครวญก็ครวญอย่างเฉ ๆ ดังในสองบทต่อไปนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นวิธีชมโฉมที่ขันเอาการ
บางปลาร้าปลาคล่ำน้ำ ลำคลอง คนเหล่าชาวประมงมอง มุ่งข้า สุ่มซ้อนฉะนางปอง ปิดเรือก เผือกแฮ เหม็นเน่าคาวปลาร้า เรียดคุ้งคลุ้งโขลงฯ
ริมน้ำทำท่าขึ้น ขอดปลา เกล็ดติดตัวตีนตา ตมูกแก้ม โคลนเช่นเป็นแป้งแต้ม ติดเนื้อเหลือหอมฯ” โคลนเช่นเป็นแป้งแต้ม ติดเนื้อเหลือหอมฯ” |
รายละเอียดในเรื่อง โคลงนิราศสุพรรณ คลิก ผมขออนุญาตไม่นำมากล่าวมากไปกว่านี้นะครับ ท่านใดสนใจอยากศึกษาค้นคว้าก็หานิราศสุพรรณคำโคลงของท่านมาอ่านกันตามความพอใจเถิด ท่านไปสุพรรณกลับมาแล้วจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมื่องสุโขทัย ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 รูปหล่อครึ่งตัวของสุนทรภู่ เมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ : วัดเทพธิดาราม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๖ -
ความอยากรวยเงินตรามากอามิส พระภู่คิดแผนการทำงานใหญ่ คือ“เล่นแร่แปรธาตุ” คาดรวยไว เดินทางไปหาแร่แปรเป็นทอง
ถลุงแร่แปรธาตุในวัดเทพฯ ด้วยหวังเสพสุขล้นพ้นเศร้าหมอง แต่ผิดหวังเหมือนเก่าทุกข์เข้าครอง ถูกเพื่อนมองเหยียดหยามสิ้นความดี
.................. เต็ม อภินันท์ |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๗ -
“แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา เหมือนลอยล่องท้องชเลอยู่เอกา เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล
ดูฟากฝั่งหวังจะหยุดก็สุดเนตร แสนเทวษเวียนว่ายสายกระแส เหมือนทรวงเปลี่ยวเที่ยวแสวงทุกขวงแคว ได้เห็นแต่ศิษย์หาพยาบาลฯ”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านติดตามดูชีวิตและงานของสุนทรภู่หลังจากที่ท่านจากวัดโพธิ์ท่าเตียน ไปอยู่วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ ซึ่งท่านจันทร์ว่า เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ พระภู่ก็ลาสิขาออกไปเป็นนายภู่อยู่เรือ เร่ขายบทกลอนเลี้ยงชีพ และมีภรรยาเป็นตัวเป้นตนอีกคนหนึ่งชื่อว่า “ม่วง” ใช้ชีวิตเป็นนายภู่อยู่ ๕ ปี ก็อุปสมบทอีกครั้ง แล้วเข้าอยู่วัดเทพธิดารามในพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาในสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) อยู่วัดเทพธิดารามได้ ๒ พรรษา ก็ไปสุพรรณและแต่งนิราศเป็นโคลงเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่แต่งเป็นคำโคลง
กลับจากสุพรรณเข้าอยู่ในวัดเทพธิดาตามเดิม ก็พบความทุกข์ยากแสนสาหัส จึงคิดจะไปเสียจากวัดเทพธิดาราม ในพรรษาที่ ๓ นั้น ท่านแต่งกลอนทำนองนิราศหรือเพลงยาวขึ้นอีกเรื่องหนึ่งให้ชื่อว่า “รำพันพิลาป” ท่านอ้างว่าฝันเมื่อคืนวันจันทร์แรม ๑๐ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ (เดือนแปดจันทวาเวลานอน) คืนนั้นบรรยากาศเงียบสงัดวังเวง ได้ยินแม้กระทั่งเสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียงนอนท่านแล้วตีอกอยู่ผึง ๆ.... วันนี้มาดูความต่อไปครับ
 ท่านบอกเล่าว่า ในปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคตนั้น คือ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ท่านออกจากราชการแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา (บวชที่ไหนก็ได้กล่าวมาแล้วนะครับ) หลังจากบวชแล้วท่านก็ระเหเร่ร่อนไป “เที่ยวแสวงทุกแขวงแคว” ดังคำกลอนตอนต่อไปว่า...
“ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม
ไปราชพรีมีแต่พาลจัณฑาลพระ เหมือนไปปะบอระเพ้ดเหลือเข็ดขม ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม ทุกข์ระทมเจียนจะตายเสียหลายคราว
ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่อยู่กะเหรี่ยง ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว นอนน้ำค้างพร่างพรมหรอยพรมพราว เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง
ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้ หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ เข้าพรรษามาอยู่ที่สองพี่น้อง ยามขัดของขาดมุ้งริ้นยุงชุม
ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม เสียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนอยู่ร่อนรุม เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกลัดนั่งปัดยุง
โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง จนเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน
คราวไปคิดปริศนาตามตาเถร เขากาเพนพบมหิงส์ริมสิงขร มันตามติดขวิดคร่อมอ้อมอุทร หากมีขอนขวางควายไม่วายชนม์
เดชะบุญคุณพระอานิสงส์ ช่วยธำรงรอดตายมาหลายหน เหตุด้วยเคราะห์เพราะว่าไว้วางใจคน จึงจำจนใจเปล่าเปลืองข้าวเกลือฯ
“ โอ้ยามอยู่สุพรรณกินมันเผือก เคี้ยวแต่เปลือกไม้หมากเปรี้ยวปากเหลือ จนแรงโรยโหยหิวผอมผิวเนื้อ พริกกับเกลือกรักใหญ่ยังไม่พอ
ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลอ เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธา.....” |
 ความในดลอนนี้ว่า บวชแล้วท่านก็ท่องเที่ยวไปตั้งแต่ เพชรบุรี (พริบพรี) ราชบุรี (ราชพรี) ไปขึ้นเขาเข้าถ้ำเที่ยวหาแร่ จนเลยไปถึงที่อยู่ของชนชาวกะเหรี่ยงแถวด่านเมืองกาญจนบุรี ไปถูกกะเหรี่ยงใช้ผีปอบมาเข้าร่างลูกชาย (หนูพัด) จนท่านต้องใช้วิทยาคมที่เรียนรู้มาเข้าแก้ไข ไล่ปอบออกแล้วใช้ให้กลับไปเข้ากินเจ้าของ รอดอันตรายจากแดนกะเหรี่ยงมาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง ล่องเรือตามลำแม่กลองลงมาถึงสมุทรสาคร เลี้ยวเข้าลำแม่น้ำท่าจีนขึ้นถึงวัดสองพี่น้อง เป็นเวลาเข้าพรรษาพอดี ท่านจึงจำพรรษาแรกที่นี่
 อยู่ที่วัดสองพี่น้องได้ด้วยความยากลำบากยิ่ง ท่านจอดเรือกินนอนอยู่ในเรือตรงท่าน้ำหน้าวัด ยุงชุมมากต้องสุมแกลบไฟไล่ยุง เพราะไม่มีมุ้งกางกันยุง ที่นี่ท่านถลุงแร่แปรเป็นทองตามตำราอาจารย์ทองบ้านจุง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีตาเถรบอกว่าที่เขากาเผ่น (กาเพน) แถว ๆ พนมทวนมีแร่แปรเป็นทองได้ ท่านก็ขึ้นไปหาแร่ตามคำตาเถรนั้น ไปถูกควายป่าไล่ขวิดแทบเอาชีวิตไม่รอด มิหนำซ้ำยังถูกขโมยลักเรือไปทั้งลำบาตร จีวร พริกเกลือ เสบียง อาหารก็ติดลำเรือไปไม่เหลือหลอ ดีที่ชาวบ้านมีศรัทธาช่วยกันทอจีวร และหาเรือให้ใหม่.......
** วันนี้อ่านรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๘ -
“คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้หากเทวดา ช่วยรักษาจึงได้รอดไม่วอดวาย
วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื้อยเลื่อมลาย ล้อมรอบกายเกี่ยวตัวกันผัวเมีย
หนีไม่พ้นจนใจได้สติ สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ่อเคล้าคลอเคลีย แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟื้อยยาว
ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว คิดจะตีหนีไปกลัวไม้ท้าว โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตายฯ”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้เล่าเรื่องของสุนทรภู่ตามความในรำพันพิลาป ที่ท่านบอกเล่าว่า เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ท่านออกขาดจากราชกิจ แล้วบวชเป็นภิกษุร่อนเร่ไปในเมืองเพชรบุรี ราชบุรี ไกลถึงด่านที่อยู่กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์ แล้วกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตกทุกข์ได้ยากอย่างยิ่ง ขณะที่ถลุงแร่ให้เป็นทองอยู่นั้น ขโมยมาถอยเอาเรือไปทั้งลำ บาตร จีวร ข้าวของในเรือก็ถูกขโมยไปสิ้น.. วันนี้มาดูทางเดินชีวิตของท่านตามที่บอกเล่าในรำพันพิลาปต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านเล่าว่าเดินทางจากสุพรรณบุรีขึ้นเหนือไปถึงจังหวัดพิษณุโลก (พิศศรีโลก) ลงในหนองน้ำใหญ่งมหาของตามลายแทง ได้ปล้ำกับจระเข้จนเกือบจะกลายเป็นเหยื่อจระเข้แล้ว เคราะห์ดีที่เทวดาช่วยไว้จึงรอดตาย ล่องลงมาพักที่เขาม้าวิ่งก็เผชิญกับผีโป่งที่แปลงกายเป็นงูเหลือม วงรอบกายขู่ฟ่อๆอยู่ ท่านต้องทำสมาธิถอดชีวิตเสีย ผีโป่งจึงพ่ายบุญฤทธิ์หนีไป.......
“เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม เจียนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน
แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น
โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันทร์
จะสึกหาลาพระอธิษฐาน โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น
อยู่มาพระสิงหไกรภพโลก เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก
ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์ ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดังอำมฤค แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบาย
ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย ได้ห่มสีมีหมอนเสื่ออ่อนลาย ค่อยคลายอายอุตส่าห์ครองฉลองคุณ
เหมือนพบปะสิทธาที่ปรารภ ชุบบุตรลพเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน ถนอมพักตรรักษาด้วยการุญ ทรงสร้างบุญคุณศีลเพิ่มภิญโญ
ถึงยากไร้ได้พึ่งเหมือนหนึ่งแก้ว พาผ่องแผ้วผิวพักตรขึ้นอักโข พระฤๅษีที่ท่านช่วยชุบเสือโค ให้เรืองฤทธิ์อิศโรเดโชชัย
แล้วไม่เลี้ยงเพียงชุบอุปถัมภ์ พระคุณล้ำโลกาจะหาไหน ช่วยชี้ทางกลางป่าให้คลาไคล หลวิชัยคารวีจำลีลา
แต่ละองค์ทรงพรตพระยศยิ่ง เป็นยอดยิ่งเมืองมนุษย์นี้สุดหา จงไพบูลย์พูลสวัสดิ์วัฒนา พระชันษาสืบยืนอยู่หมื่นปี
เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน...” |
 วัดเลียบ (วัดราชบูรณะราชวรวิหาร) : กรุงเทพฯ * ให้อ่านกลอนรำพันพิลาปยาว ฟังท่านเล่าเรื่องจากเขาม้าวิ่งแถว ๆ ลพบุรี สระบุรี ลงมา ประสบภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรือชนตอล่มเกือบจมน้ำตายบ้าง ขโมยลักหนูพัดไปบ้าง เมื่อลงมาถึงกรุงเทพก็เข้าอยู่ในวิหารวัดเลียบอย่างอัตคัดขัดสนจนคิดจะสึก ก็พอดี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงนำพระราชโอรสสองพระองค์ คือ เจ้าฟ้าชายกลาง เจ้าฟ้าชายปิ๋ว มาฝากเป็นศิษย์ให้สอนหนังสือ และทรงอุปถัมภ์บำรุง ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเข้าอุปการะต่อดังได้ขยายความไปแล้ว ในช่วงเวลานี้ "ท่านจันนทร์" ว่าสุนทรภู่สึกจากพระหลังจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ สึกแล้วได้ภรรยาชื่อม่วงมีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ หนูตาบ
 วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร) : กรุงเทพฯ หลังจากสึกไปลอยเรือเร่อยู่ห้าปี ก็บวชใหม่ คราวนี้พระอุปัชฌาย์คือกรมหมื่นนุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี) วัดพระเชตุพนฯทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงบวชให้แล้วก็ให้กลับเข้าอยู่วัดเลียบตามเดิม ท่านว่า “พระฤๅษีช่วยชุบเสือโคแล้วไม่เลี้ยง หากแต่ชี้ทางให้ไป..” ท่านไม่อยากอยู่วัดเลียบด้วยเกรงอันธพาล จึงขอให้พระอุปัชฌาย์ส่งไปอยู่วัดเทพธิดาราม........
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อเถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณอาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|
|