บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๑ -
“แม้นรู้เหาะก็จะเหาะตามไปด้วย สู้มอดม้วยมิได้ทิ้งมิ่งสมร เสมอเนตรเชษฐาเวลานอน จะกล่าวกลอนกล่อมประทับไว้กับทรวง
สายสุดใจไม่หลับจะรับขวัญ ร้องโอดพันพัดชาช้าลูกหลวง ประโลมแก้วแววตาสุดาดวง ให้อุ่นทรวงไสยาสน์ไม่คลาดคลาย
ยามกลางวันบรรทมจะชมโฉม ขับประโลมข้างที่พัดวีถวาย แม้นไม่ยิ้มหงิมเหงาจะเล่านิยาย เรื่องกระต่ายตื่นตูมเหลือมูมมาม
ไม่รู้เหาะก็มิได้ขึ้นไปเห็น แม้นเหมือนเช่นเขาสุธาภาษาสยาม ถ้ารับรักจักอุตส่าห์พยายาม ไปตามความคิดคงไม่ปลงปลอง
นี่จนใจไม่รู้จักที่หลักแหล่ง สุดแสวงสวาทหมายไม่วายหมอง เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมฆขลา ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์ รัศมีเปล่งปลั่งดังเพ็งจันทร์ พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้ เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียงฯ”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามความในกลอนรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่ ถึงตอนที่ท่านฝันว่าขณะว่ายอยู่ในทะเลกำลังจะจมน้ำนั้น มีนางฟ้าเหาะลงมาช่วยนำขึ้นบก แล้วจูงมือพาไปปล่อยไว้ในวัดที่มีพระพุทธรูปศิลาขาวและพระทองทรงเครื่อง แล้วมีนางเทพธิดาพร้อมด้วยนางสวรรค์กำนัลเข้ามาเที่ยวชมวัด นางเด็ดดอกไม้ถวายแล้วบอกให้ไปเสวยสุขอยู่ในวิมานบนสวรรค์เถิด วันนี้มาดูความในรำพันพิลาปต่อไปครับ
 กลอนยาว ๆ ข้างบนนี้เป็นความคะนึงรำพึงรำพันของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ว่า แม้นท่านเหาะได้ก็จะเหาะตามขึ้นไปบนสวรรค์ ยินดีตายเพื่อยอดหญิงที่รักนางนั้น เวลานอนก็จะกล่าวกลอนกล่อมให้หลับนอน ถ้าไม่หลับก็จะร้องเพลงโอดพัดชาช้าลูกหลวงเห่กลอม หากนางเหงาเซาซึมไม่ยิ้มหวัว ก็จะเล่านิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูมให้ฟัง นี่จนใจที่ไม่รู้การเหาะ แต่ถ้านางรับรักก็จะพยายามดั้นด้นค้นหา จนใจที่ไม่รู้จักหลักแหล่ง จึงจนปัญญาที่จะเสาะแสวงหา ในยามนั้นท่านว่ามีนางเมฆขลาชูดวงจินดามีแสงสว่างมากลางสวรรค์ รัศมีเปล่งปลั่งดังจันเพ็ญ ลงมาบอกว่า นางองค์นั้นอยู่ชั้นฟ้ามีนามว่า “เทพธิดา” วิมานอยู่ใกล้เคียงกับนางเมฆขลานั้น รักใคร่กันดุจพี่น้องสนิท จะให้แก้วแล้วไปหาเถิด มีปัญหาขัดข้องใดก็จะได้ปรึกษาหารือกันแก้ไขได้........
“สดับคำฉ่ำชื่นจะยื่นแก้ว แล้วคลาดแคล้วคลับคล้ายเคลิ้มหายเสียง ทรงปักษาการเวกแฝงเมฆเมียง จึงหมายเสี่ยงวาสนาอุตส่าห์คอย
เหมือนบุปผาปาริกชาติชื่น สุดจะยื่นหยิบได้มีไม้สอย ด้วยเดชะพระกุศลให้หล่นลอย ลงมาหน่อยหนึ่งเถิดนะจะประคอง
มิให้เคืองเปลื้องปลดด้วยยศศักดิ์ ถนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง หล่อจำลองรูปวางไว้ข้างเตียงฯ” |
 อ่านคำรำพันตอนนี้แล้วเห็นภาพ “เมฆขลาล่อแก้ว” ชัดแจ๋วเลยไหมครับ นางบอกว่าจะให้แก้ว ยื่นมาแล้วก็ชักมือกลับไม่ให้แก้ว แล้วขี่นกการเวกบินไปแฝงเมฆเมียงมองอย่างยั่วเย้า อุแม่เจ้า ! คำอ้อนวอนตอนท้ายของสุนทรภู่ ช่างหยาดเยิ้มเสียเหลือเกิน “ให้หล่นลอยลงมาหน่อยเถิดนะจะประคอง.....ถนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง หล่อจำลองรูปแม่นางวางไว้ข้างเตียง” ฟังคำพร่ำวอนอย่างนี้ สาวใดหรือจะใจแข็งอยู่ได้ หรือยังมีครับ
“คิดจนตื่นฟื้นฟังระฆังฆ้อง กลองหอกลองทึ้มทึ้มกระหึ่มเสียง โกกิลากาแกแซ่สำเนียง โอ้นึกเพียงขวัญหายไม่วายวัน
วิสัยเราเล่าก็ไม่สู้ใฝ่สูง นางฟ้าฝูงไหนเล่ามาเข้าฝัน ให้เฟือนจิตกิจกรมพรหมจรรย์ หรือสวรรค์นั้นจะใคร่ลองใจเรา
ให้รักรูปซูบผอมตรอมตรมจิต เสียจริตคิดขยิ่มง่วงหงิมเหงา จะได้หัวเราะเยาะเล่นทุกเย็นเช้า จึงแกล้งเข้าฝันเห็นเหมือนเช่นนี้
แม้นนางอื่นหมื่นแสนแดนมนุษย์ นึกกลัวสุดแสนกลัวเอาตัวหนี สู้นิ่งนั่งตั้งมั่นถือขันตี อยู่กะฎีดังสันดานนิพพานพรหม
รักษาพรตปลดปละสละรัก เพราะน้ำผักต้มหวานน้ำตาลขม คิดรังเกียจเกลียดรักหักอารมณ์ ไม่นิยมสมสวาทเป็นขาดรอน....” |
 พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ตื่นฝันเมื่อใกล้รุ่งสาง เสียงระฆังฆ้องกลองดังปลุกพระภิกษุในวัดตื่นลุกขึ้นครองผ้าไตรเตรียมทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนารออรุณขึ้นแล้วออกเดินหนโปรดสัตว์ รับอาหารบิณฑบาตจากญาติโยม ท่านรำพึงว่านิสัยตนก็มิใช่คนใฝ่สูง ไฉนจึงมีนางฟ้ามาเข้าฝัน ทำให้ฟั่นเฟือนในพรตพรหมจรรย์อย่างนี้ หรือว่าสวรรค์แสร้งลองใจเรา.......
* วันนี้ตามความในรำพันพิลาปมาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาติดตามกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๒ -
“แต่ครั้งนี้วิปริตนิมิตฝัน เฝ้าผูกพันมั่นหมายสายสมร สาวสวรรค์ชั้นฟ้าจงถาวร เจริญพรพูลสวัสดิ์กำจัดภัย
ซึ่งผูกจิตพิศวาสหมายมาดมุ่ง มักนอนสะดุ้งด้วยพระขวัญจะหวั่นไหว เสวยสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย ช่วยเลื่อมใสโสมนัสสวัสดี
ขอเดชะพระอุมารักษาสวาท ให้ผุดผาดเพียงพักตรพระลักษมี วิมานแก้วแววฟ้าฝูงนารี คอยพัดวีแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง
ขอเดชะพระอินทร์ดีดพิณแก้ว ให้เจื้อยแจ้วจับใจแจ่มใสเสียง สาวสุรางค์นางรำระบำเรียง คอยขับกล่อมพร้อมเพรียงเคียงประคอง
ขอพระจันทร์กรุณารักษาศรี ให้เหมือนมณีนพเก้าอย่าเศร้าหมอง เหมือนหุ่นเชิดเลิศล้วนนวลละออง ให้ผุดผ่องผิวพรรณเพียงจันทรา
ขอพระพายชายเชยรำเพยพัด ให้ศรีสวัสดิ์สว่างจิตขนิษฐา หอมดอกไม้ในทวีปกลีบผกา ให้หอมชื่นรื่นวิญญานิทรารมณ์
ขอเดชะพระคงคารักษาถนอม อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม กล่อมประทมโสมนัสสวัสดี....”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุก ๆ ท่านอ่านความฝันในกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ถึงตอนที่ท่านเล่าว่าในฝันคืนนั้น นางฟ้าองค์หนึ่งพาท่านขึ้นจากท้องทะเลเอามาปล่อยไว้วัดที่มีพระพุทธรูปศิลาขาวและพระทองทรงเครื่อง (ก็คือวัดเทพธิดาราม) จากนั้นมีนางเทพธิดาพร้อมด้วยนางบริวารเข้ามาเดินชมวัด ท่านปราศรัยไต่ถามนาม นางไม่บอก เพียงแต่ยิ้มเมียงชม้ายเดินหลีกไป แล้วเก็บดอกไม้มาถวายพร้อมบอกว่าอย่าอยู่ชมพูทวีปเลย ขึ้นไปเสวยสุขในวิมานบนสวรรค์เถิด แล้วก็จากไป ต่อมามีนางเมฆขลาถือดวงแก้วสว่างไสวมายื่นให้ แล้วบอกว่านางสวรรค์องค์นั้นชื่อว่า เทพธิดา มีวิมานอยู่ใกล้กัน นางจะให้แก้วแล้วขอให้ขึ้นไปเถิด มีปัญหาอะไรก็จะช่วยแก้ไขให้ แล้วนางก็จากไปโดยมิได้ให้แก้ว ท่านสะดุ้งตื่นตอนพระตีฆ้องกลองระฆังย่ำรุ่ง คิดประหลาดใจว่าทำไม่จึงฝันเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ตนก็มิใช่คนใฝ่สูงเกินศักดิ์ เห็นทีว่าเทวดามาแกล้งลองใจ เพื่อจะให้ละทิ้งเพศพรหมจรรย์กระมัง
 กลอนข้างบนนี้เป็นความที่ต่อจากเมื่อวันวาน ในที่นี้เป็นที่รู้แล้วว่านางเทพธิดาที่ท่านฝันเห็นนั้น ได้แก่ พระนางผู้เป็นเจ้าของหรือผู้สร้างวัดเทพธิดารามนี้เอง จึงได้อวยชัยให้พร ขอพระอุมาช่วยรักษาบำรุงพระรูปพระโฉมเทพธิดาให้งดงามผุดผาดอยู่ในท่ามกลางนางฟ้าบริพาร ขอให้พระอินทร์ช่วยดีดพิณแก้ว บรรเลงเพลงขับกล่อมถนอมขวัญ สาวสุรางค์นางสวรรค์จับระบำรำฟ้อนบำเรอ ขอพระจันทร์ช่วยรักษาศรีฉวีวรรณให้ปเล่งปลั่งดั่งแก้วนพเก้า ขอพระพายช่วยรำเพยพัดกลิ่นหอมของบุปผาจากทั่วทวีปมาอบร่ำอารมณ์ให้ชมชื่น ขอพระแม่คงคาช่วยชำระล้างละอองธุลีให้ผิวพรรณทั้งสกนธกายปราศจากละอองธุลี มีผิวเนื้อนวลนุ่มชุ่มชื่นตลอดกาลนาน....
“ด้วยเดิมฉันฝันได้ยลวิมลพักตร สุดแสนรักลักประโลมโฉมฉวี ถวิลหวังตั้งแต่นั้นจนวันนี้ ขออย่ามีโทษโปรดยกโทษกรณ์
ด้วยเกิดเป็นเช่นมนุษย์บุรุษราช มาหมายมาดนางสวรรค์ร่วมบรรจถรณ์ ขอษมาการรุญพระสุนทร ให้ถาพรภิญโญเดโชชัย
อนึ่งโยมโฉมยงค์พระองค์เอก มณีเมฆขลามาโปรดปราศรัย จะให้แก้วแล้วอย่าลืมที่ปลื้มใจ ขอให้ได้ดังประโยชน์โพธิญาณ
จะพ้นทุกข์สุขสิ้นมลทินโทษ เพราะพระโปรดโปรยปรายสายสนาน ให้หน้าชื่นรื่นรสพจมาน เหมือนนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขสบาย
บวชตะบึงถึงตะบันน้ำฉันชื่น ยามดึกดื่นได้สังวรอวยพรถวาย เหมือนพระจันทร์กรุณาให้ตายาย กับกระต่ายแต้มสว่างอยู่กลางวง
เหมือนวอนเจ้าสาวสวรรค์กระสันสวาท ให้ผุดผาดเพิ่มผลาอานิสงส์ ได้สมบูรณ์พูนเกิดประเสริฐทรง ศีลดำรงร่วมสร้างพุทธางกูร
อันโลกียวิสัยที่ในโลก ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์ ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย
ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป ช่วยชูชีพเชิดชูให้เฉิดฉาย ไม่มีเพื่อนเหมือนมนุษย์ก็สุดอาย สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนิน......” |
 กลอนรำพันพิลาปในช่วงตอนนี้ อ่านทบทวนดูแล้ว ดูเหมือนว่าจะมีเจ้านางอีกพระองค์หนึ่ง อยู่ใกล้ชิดพระนางเทพธิดาพระองค์นั้น ซึ่งสุนทรภู่เรียกว่า นางเมฆขลา นัยว่าพระนางทำตัวเป็นดัง “แม่สื่อ” ให้พระภิกษุภู่ หรืออย่างไร ดูความในกลอนตอนนี้มีความนัยลับ ๆ ล่อ ๆ ชอบกลอยู่ ชอบคำที่ท่านว่า “บวชตะบึงถึงตะบันน้ำฉันชื่น” หมายถึงว่า จะบวชไปจนแก่ฟันหลุดหมดปากต้องตะบันน้ำกินนั่นเทียว ท่านได้สอดแทรกนิทานพื้นบ้านเข้ามาว่า เหมือนพระจันทร์กรุณาให้ตายายและกระต่ายที่รับขึ้นไปอยู่กลางดวงจันทร์ (นิทานตานั่งสานพ้อม ยายซ้อมข้าว ที่เห็นภาพกลางดวงจันทร์ และรูปกระต่ายกลางดวงจันทร์) สรุปกลอนตอนนี้ก็คือ ท่านแต่งว่าได้ “ลักโลมโฉมศรีแม่เทพธิดามาแต่แรกพบ เป็นการล่วงเกินตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน จึงขอประทานอภัย
วันนี้ตามคำรำพันพิลาปมาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๓ -
“โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งความตามฝันรำพันพิลาป ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาศรัย จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา
จึงเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา รักแต่เทพธิดาสุราลัย.......”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพาทุก ๆ ท่านอ่านกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ถึงตอนที่ท่านอ้างว่านอนหลับแล้วฝันไป ดังที่ทราบกันแล้วนั้น วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านรำพึงว่า ปีนี้ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ ได้ฝันไปดังนั้น จึงแต่งความฝันเป็นกลอนรำพันพิลาป ให้ศิษย์ทราบกันไว้ ครั้นจะสั่งความเหล่านางข้าหลวงก็เกรงพระราชอาชญา จึงบังอาจเอื้อมอ้างนางสวรรค์ที่ฝันเห็นนั้น มาแต่งเป็นกลอนให้อ่านกันเพื่อรู้ความเป็นนัยๆว่า “ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา รักแต่เทพธิดาสุราลัย” เพียงนางเดียวเท่านั้น
“ได้ครวญคร่ำร่ำเรื่องเป็นเบื้องสูง พอพยูงยกย่องให้ผ่องใส ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน
พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง
จะฝากดีฝีปากจะฝากรัก ด้วยจวนจักจากถิ่นถวิลหวัง ไว้อาลัยให้ละห้อยจงคอยฟัง จะร่ำสั่งสิ้นสุดอยุธยาฯ” |
 ท่านว่า ที่ครวญคร่ำรำพึงถึงเบื้องสูง ก็เพราะเพื่อพยุงยกย่อง (แม่เทพธิดา) ให้ผ่องใสเท่านั้น ใจจริงมิได้คิดอาจเอื้อมเลย แล้วท่านก็ออกตัวว่า ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทยทั้งหลาย อย่าได้คิดเฉลียวใจว่าพระภู่เขียนกลอนเกี้ยวพาน กลอนทั้งหมดนี้พระภู่แกล้งกล่าวดอกนะ ขออย่าได้ถือสาหาความกันเลย สาว ๆ ชาววังและชาวบ้านทั้งหลายที่เคยคุ้นกันมานั้น หลวงน้าถือว่าเป็นหลานเหลนทั้งนั้น ที่แต่งกลอนนี้ก็เพราะว่า “นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง” เท่านั้นเอง ไหน ๆ ก็จะจากวัดเทพธิดาไปแล้ว จะขอเขียนกลอนฝากไว้ เป็นการฝากฝีปากและฝากรัก ไว้อาลัยให้ละห้อย จงคอยฟังด็แล้วกัน จะร่ำสั่งสิ้นสุดอยุธยา กันเลยทีเดียว
“โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา สิ้นกุศลผลบุญกรุณา จำอำลาเลยลับไปนับนาน
เคยเดินเล่นเย็นลมเลียบชมรอบ ที่แขวงขอบเขตที่เจดีย์ฐาน พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง
ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเรียบรับรอง ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง
สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง ที่ตึกก่อช่อฟ้าใบระกาแดง ริมกำแพงตะพานขวางเคียงข้างคลอง
เป็นพลับพลาพาไลข้างในเสด็จ เดือนสิบเอ็ดเคยประทานงานฉลอง เล่นโขนหนังฟังปี่พาทย์ระนาดฆ้อง ละครร้องเรื่องแขกฟังแปลกไทย
ประทานรางวัลนั้นไม่ขาดคนดาษดื่น ทั้งวันคืนครื้นครั่นสนั่นไหว จะวายเห็นเย็นเยียบเหงาเงียบใจ ให้อาลัยแลเหลียวเปลี่ยววิญญา
เคยอยู่กินถิ่นที่กะฎีก่อ เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน
เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฏิ์ มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์ มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง
ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวง
หอระฆังดังทำนองหอกลองใหญ่ ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน......” |
 พระปรางค์สี่ทิศวัดเทพธิดาราม คำกลอนตอนนี้เป็นการพาเที่ยวชม ศาสนวัตถุสถานภายในวัดเทพธิดาราม เช่นพระปรางค์มีหน้ามุขสี่ทิศ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หน้าบันปั้นแบบศิลปะกวางตุ้ง (เมืองจีน) เป็นรูปนกบิน มีสิงโตจีนตั้งตั้งอยู่หลายตัว ริมกำแพงมีสะพานขวางเรียงข้างคลองโอ่งอ่าง มีพลับพลาที่ประทับสำหรับเสด็จมาฉลองในงานเดือน ๑๑ ทุกปีที่มีงานฉลองจะมีโขนหนังละครร้องเรื่องแขก (อิเหนา) วัดเทธิดารามแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายคันถธุระอยู่ฝ่ายกลางและเหนือ ฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ทางใต้ท้ายวัด ข้างทางเดินระหว่างกุฎี มีสระน้ำ (บ่อ) ขุดไว้สำหรับพระสงฆ์ใช้อุปโภคบริโภค มีหอระฆัง หอกลอง หอไตร ริมทางเดินขอบนอกปลูกไม้ดอกไม้ประดับรายเรียง ผลิดอกสลับสีสวยงาม ส่งกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจยิ่งนัก
วันนี้อ่านรำพันพิลาปมาถึงตรงนี้แล้วควรหยุดพักไว้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : เฒ่าธุลี, Black Sword, ลายเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 กุฎิสุนทรภู่ วัดเทพธิดารามฯ : กรุงเทพฯ - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๔ -
“ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก ดูดังผูกพวงระย้านึกน่าฉัน ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย
เห็นทับทิมริมกะฎีดอกยี่โถ สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส ด้วยยามอดอัตคัดแสนชัดสน จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน จะจากต้นชาให้อาลัยชา....”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพาทุกๆท่านอ่านบทกลอนรำพันพิลาป ของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาถึงตอนที่ท่านกล่าวถึงวัตถุและสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดเทพธิดารามแล้วยังไม่จบ วันนี้มาตามอ่านกันต่อไปครับ
 หน้ากุฎิสุนทรภู่ วัดเทพธิดารามฯ กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านกล่าวถึงต้นชมพู่ภายในวัด ที่หน้ากุฎีและในคณะของท่าน แต่ละต้นมีผลดกเป็นพวงระย้า (เดี๋ยวนี้เห็นมีอยู่ข้างศาลารายหน้ากุฏิท่านต้นหนึ่ง) ต้นทรงบาดาลมีดอกออกให้ทันเก็บทั้งเช้าทั้งเย็นทุกวัน ต้นทับทิม ยี่โถริมกุฏิ เห็นแล้วก็อาลัยใจหายที่จะต้องจากไป เห็นต้นชาริมกระไดกุฏิแล้วก็นึกเสียดาย เพราะเคยเด็ดใบชาต้นนี้ชงน้ำร้อนเป็นประจำ จะซื้อชาจีนมาชงน้ำร้อนดื่มเหมือนเขาอื่นก็ไม่มีเงินจะซื้อ เพราะยามนี้แสนอัตคัดขัดสนจนยากอย่างยิ่ง
“โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว
เคยเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าเมื่อเราอยู่ มาหาสู่ดูแลทั้งแก่สาว ยืมหนังสือลือเลื่องถามเรื่องราว โอ้เป็นคราวเคราะห์แล้วจำแคล้วกัน...” |
 กุฎิสุนทรภู่ วัดเทพธิดารามฯ ที่หน้ากุฏิพระภิกษุภู่ มีศาลาที่เราเรียกกันว่าศาลาลอย ไว้สำหรับเป็นที่รับรองแขก และยังเป็นที่เรียนหนังสือและเรียนการแต่งกลอน ทุกวันจะมีผู้คนมายังศาลาหลังนี้ มาเพื่อพบปะเพื่อนเก่า มารู้จักเพื่อนใหม่ มาต่อตอบกลอนกันบ้าง หัดแต่งกลอนกันบ้าง มาฟังพระภู่ว่ากล่าวเพลงยาวให้ฟัง และบอกให้จดกันบ้าง มายืมหนังสือสำคัญ ๆ ที่ท่านสุนทรภู่แต่งไว้บ้าง ในช่วงเวลานั้นนิยายคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพขอให้ท่านแต่งต่อกำลังสนุกมาก นางข้าหลวงชาววังทั้งหลายต่างก็มาติดตามเรื่อง และขอคัดลอกกันไป ศาลาลอยหลังนี้ (ยังอยู่) จึงเป็นที่นัดพบของชาววังและชาวบ้านทั่วไป
“ฤดูร้อนก่อนเก่าทำข้าวแช่ น่าชมแต่เครื่องกับสำหรับฉัน ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์ งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา
มะม่วงดิบหยิบดูจึงรู้จัก ทำน่ารักรูปสัตว์เหมือนมัจฉา จะแลลับกลับกลายสุดสายตา เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวาย
ตรุษสงกรานต์ท่านแต่งเครื่องแป้งสด ระรื่นรสราเชนทร์พุมเสนกระสาย น้ำกุหลาบอาบอุระแสนสบาย ถึงเคราะห์ร้ายหายหอมให้ตรอมทรวง
เหมือนแสนโง่โอ้เสียแรงแต่งหนังสือ จนมีชื่อลือเลื่องทั้งเมืองหลวง มามืดเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มดวง ต้องเหงาง่วงทรวงเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ
จำจากเพื่อนเหมือนจะพาน้ำตาตก ต้องระหกระเหินหาที่อาศัย โอ้แสนอายปลายอ้อยเลื่อนลอยไป เจ็บเจ็บใจไม่หายซังตายทน
ที่อารีมีคุณการุณรัก ได้เห็นพักตรพบปะปีละหน เข้าวษามาทั่วทุกตัวคน ถวายต้นไม้กระถางต่างต่างกัน
ดูกิ่งใบไม้แซมติดแต้มแต่ง ลูกดอกแฝงแกล้งประดิษฐ์ความคิดขยัน พุ่มสีผึ้งถึงดีลิ้นจี่จันทน์ ต้นกล้วยกรรณิกามีสารพัด
ทำรูปพราหมณ์งามพริ้มแย้มยิ้มเยื้อน กินนรเหมือนนางกินนรแขนอ่อนหยัด ดูนางนั่งปลั่งเปล่งดูเคร่งครัด หน้าเหมือนผัดผ่องผิวกรีดนิ้วนาง
รูปนกหกผกผินกินลูกไม้ บ้างจับไซ้ขนพลิกพลิ้วปีกหาง นกยางเจ่าเซาจกเหมือนนกยาง รูปเสือกวางกบกระต่ายมีหลายพรรณ
ทำแปลกแปลกแขกฝรั่งทั้งเจ้าเงาะ น่าหัวเราะรูปร่างคิ้วคางขัน สุกรแกะแพะโผนเผ่นโดนกัน ล้วนรูปปั้นต่างต่างเหมือนอย่างเป็น
จะแลลับนับปีแต่นี้หนอ ที่ชอบพอเพื่อนสำราญจะนานเห็น ด้วยโศกสุมรุมร้อนไม่หย่อนเย็น จงอยู่เป็นสุขสุขทุกทุกคน
ขอแบ่งบุญสุนทรถาวรสวัสดิ์ ให้บริบูรณ์พูนสมบัติพิพัฒน์ผล เกิดกองทองกองนากอย่ายากจน เจริญพ้นภัยพาลสำราญเริง.....” |
 * ผมปล่อยคำกลอน “ลากยาว” มาถึงตรงนี้ ให้ทุกท่านอ่านกันอย่างจุใจ เอิบอิ่มดื่มด่ำในกวีรสที่ท่านสุนทรภู่รินมาให้ซดกัน ท่านพรรณนาถึงเรื่องราวในกาลที่เป็นฤดูร้อน ได้ฉันข้าวแช่ในช่วงตรุษสงกรานต์ เข้าวษาฤดูฝนได้รับพุ่มผ้าจำนำพรรษา อาหารที่ชาววังแต่งมาถวายนั้น เขาประดิดประดอยอย่างสวยงาม อ่านกลอนท่านแล้วเห็นภาพโดยไม่ต้องอธิบายขยายความเลย มาถึงการถวายเครื่องไทยทานในวันเข้าพรรษาอีกเล่า ของถวายนั้นตกแต่งสวยงามสุดพรรณนาเลยทีเดียว
วันนี้อ่านมาหยุดพักตรงนี้ก่อนก็แล้วกันนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโทัย ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ลายเมฆ, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๕ -
“โอ้สงสารหลานสาวเหล่าข้าหลวง เคยมาลวงหลงเชื่อจนเหลือเหลิง ไม่รู้เท่าเจ้าทั้งนั้นเสียชั้นเชิง เชิญบันเทิงเถิดนะหลานปากหวานดี
ได้ฉันลมชมลิ้นเสียสิ้นแล้ว ล้วนหลานแก้วหลอกน้าต้องล่าหนี จะนับเดือนเลื่อนลับไปนับปี อยู่จงดีได้เป็นหม่อมให้พร้อมเพรียง....”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ................................................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของสุนทรภู่มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร รำพันรำพึงถึงความสุขสบายที่ได้ในวัดเทพธิดาราม ทั้งในฤดูร้อน ตรุษสงกรานต์ และเข้าฤดูฝน วันเข้าพรรษา ได้รับผ้าอาบน้ำฝนพร้อมเครื่องไทยทานอันประณีต วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 คำกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านกล่าวถึงเหล่านางข้าหลวงในวังของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพและวังอื่น ๆ ที่ไปมาหาสู่ท่านอยู่ทุกเมื่อเชื้อวัน มีหลายคนมาลวงหลอกให้ท่านแต่งกลอนเพลงยาวโต้ตอบกัน นัยว่าเธอนำกลอนเพลงยาวที่ท่านแต่งเกี้ยวสาวให้ใครไปนานจนจำไม่ได้แล้ว เอามาให้ท่านแต่งกลอนเพลงยาวตอบ โดยอ้างว่ามีชายส่งกลอนเพลงยาวนั้นมาให้เธอแล้วเธอตอบไม่ได้ จึงขอให้ “หลวงน้า” ช่วยเขียนตอบให้ที เมื่อเธอได้ไปแล้วก็เอาไปคัดลอกเวียนอ่านกัน แล้วก็มาลวงให้ท่านเขียนเพลงยาวตอบโต้อีก เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหน จนระยะหลัง ๆ ท่านจึงค่อยรู้ตัวว่าถูกนางข้าหลวงหลอกให้เขียนกลอนเพลงยาว แบบ “ถามเองตอบเอง” มาถึงยามที่จะต้องจากเหล่านางข้าหลวงนั้น ท่านจึงรำพันว่า สงสารพวกนางปากหวานเหล่านั้น ขอให้หลานแก้วทั้งหลายนั้นอยู่กันอย่างบันเทิงเถิด หลวงน้าได้ “ฉันลมชมลิ้น” พวกเจ้าจนสิ้นแล้ว ให้ได้เป็นหม่อมกันทุกคนเถิดนะ หลวงน้าจำต้องล่าหนีไปแล้ว
“โอ้เดือนอ้ายไม่ขาดกระจาดหลวง ใส่เรือพ่วงพวกแห่เซ็งแซ่เสียง อึกทึกครึกโครมคบโคมเคียง เรือรายเรียงร้องขับตีทับโทน
บ้างเขียนหน้าทาดำยืนรำเต้น ลางลำเล่นงิ้วหนังมีทั้งโขน พวกขี้เมาเหล่าประสกตลกโลน ร้องโย้นโหยนโย้นฉับรับชาตรี
ล้วนเรือใหญ่ใส่กระจาดย่ามบาตรพร้อม ของคุณหม่อมจอมมารดาเจ้าภาษี ทั้งขุนนางต่างมาด้วยบารมี ปี่พาทย์ตีเต้นรำทุกลำเรือ
ของขนมส้มสูกทั้งลูกไม้ หมูเป็ดไก่กุ้งแห้งแตงมะเขือ พร้าวอ่อนด้วยกล้วยอ้อยนับร้อยเครือ จนล้นเหลือเกลือปลาร้าสารพัน
แล้วเราได้ไตรดีแพรสีแสด สบงแปดคืบจัดเป็นสัตตขันธ์ โอ้แต่นี้มิได้เห็นเหมือนเช่นนั้น นับคืนวันปีเดือนจะเลื่อนลอย.....” |
 * ท่านรำพึงถึงสิ่งที่เคยได้รับเมื่อเดือนอ้ายของปีที่ผ่านมา สมัยก่อนนี้ในเดือนอ้ายของทุกปีมีประเพณีบุญพิธีอย่างหนึ่ง คือการทอดผ้าป่าต่อจากการทอดกฐิน พิธีการทอดผ้าป่าทางน้ำสมัยนั้นสนุกสนานมาก ชาวบ้านจะจัดกระจาด ชะลอม ใส่เครื่องครัว ผลไม้นานา ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม มีผ้าสบงบ้าง จีวรบ้าง ผ้าไตรบ้างพาดบนกระจาด ชะลอมนั้น ใส่เรือแจวเรือพาย แห่เป็นขบวนเล็กบ้างใหญ่บ้าง มีการร้องรำทำเพลงกันไปในเรืออึกทึกครึกโครม ผ่านวัดใดก็จอดเรือนำกระจาด ชะลอม ขึ้นไปตั้งไว้บนศาลาท่าน้ำ แล้วขบวนแห่ก็เลยไปโดยไม่ต้องรอดูว่าจะมีพระรูปใดมาชักผ้าป่าหรือไม่ ในขบวนแห่ผ้าป่าจะมีผ้าป่ากี่กองก็ได้ บางขบวนแห่ก็ทอดผ้าป่าได้หลาย ๆ วัด
 ขบวนแห่ผ้าป่าของชาววังตามที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในรำพันพิลาปนี้ ดูเป็นขบวนใหญ่มาก โดยเฉพาะขบวนผ้าป่าของ “หม่อมจอมมารดาเจ้าภาษี” คือเจ้าจอมมารดาบาง พระมารดากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ท่านบอกว่าปีนั้นได้ชักผ้าป่ากระจาดของเจ้าจอมมารดาบาง ได้ไตรแพรสีแสด ซึ่งเป็นผ้าไตรชั้นดีที่สุดในยุคนั้น สบงกว้างยาวแปดคืบ ๗ กระทง (สัตตขันธ์) ท่านหวนคิดถึงเรื่องนี้ที่ผ่านมาแล้วให้แสนจะอาลัย นับแต่นี้จะไม่ได้เห็นเป็นเช่นนั้นแล้ว
“เหลืออาลัยใจเอ๋ยจะเลยลับ เหลืออาภัพพูดยากเหมือนปากหอย ให้เขินขวยด้วยว่าวาสนาน้อย ต้องหน้าจ๋อยน้อยหน้าระอาอาย
ออกวัสสาผ้าสบงกระทงเข้า พระองค์เจ้าจบพระหัตถ์จัดถวาย ไม่แหงนเงยเลยกลัวเจ้าขรัวนาย สำรวมกายก้มหน้าเกรงบารมี
สวดมนต์จบหลบออกข้างนอกเล่า ปะแต่เหล่าสาวแส้ห่มแพรสี สู้หลับตามาจนสุดถึงกุฎี เหมือนไม่มีตาตัวด้วยกลัวตาย
ตั้งแต่นี้มิได้หลบไม่พบแล้ว จงผ่องแพ้วพักตรเหมือนดังเดือนหงาย จะเงียบเหงาเช้าเย็นจะเว้นวาย โอ้ใจหายหมายมาดเคลื่อนคลาดคลา
เหมือนบายศรีมางานท่านถนอม เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา ต้องลอยมาลอยไปเหมือนใบตอง
เหมือนตัวเราเล่าก็พลอยเลื่อนลอยลับ มิได้รับไทยทานดูงานฉลอง โอ้ทองหยิบลิบลอยทั้งฝอยทอง มิได้ครองไตรแพรเหมือนแต่เดิม....” |
 ถึงวันออกพรรษาในปีขาลนั้น พระองค์เจ้า (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) นำผ้าสบง (มักเรียกกันว่า ผ้าจำนำพรรษา) มาถวายพระบนอาสน์สงฆ์ในศาลาการเปรียญ ขณะที่ยกพระหัตถ์จบแล้วประเคนผ้าสบงนั้น พระภิกษุภู่ นั่งสำรวมกายก้มหน้าไม่กล้าแลดูพระพักตร ด้วยเกรงกลัวพระบารมี ครั้นคณะสงฆ์สวดอนุโมทนา (ยะถา สัพพี..) จบ ท่านกราบพระแล้วรีบเดินก้มหน้าลงจากศาลาการเปรียญ (ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากุฏิท่านมากนัก) สองข้างทางจากศาลามากุฏิมีผู้คนพลุกพล่าน ท่านเห็นเหล่านางข้าหลวงนุ่งห่มผ้าแพรสีมากหน้าหลายตา แต่ไม่กล้าเงยหน้ามองทักทาย แม้แต่จะแย้มยิ้ม หากแต่ก้มหน้าเดินหงุด ๆ กลับกุฏิ “เหมือนไม่มีตาตัวด้วยกลัวตาย” แล้วก็มารำพึงรำพันดังคำกลอนข้างบนนี้แล
วันนี้อ่านรำพันพิลาปมาถึงตรงนี้แล้วก็สมควรพักไว้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๖ -
“พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด ไม่ยาวยืดยกยอชะลอเฉลิม เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม
ครั้นเหินห่างร้างเริดก็เกิดทุกข์ ไพรีรุกบุกเบียนเป็นเสี้ยนหนาม สู้ต่ำต้อยน้อยตัวเกรงกลัวความ ด้วยเป็นยามยากจนจำทนทาน
ขอเดชะพระสยมบรมนาถ เจ้าไกรลาศโลกามหาสถาน ทรงวัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์
ประกาศิตอิทธิเวทวิเศษประเสริฐ ให้ตายเกิดสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์ ตรัสอย่างไรไปเป็นเหมือนเช่นนั้น พระโปรดฉันเชิญช่วยอำนวยพร
เผื่อว่าจักรักใคร่ที่ไหนมั่ง ให้สมหวังดังจำนงประสงค์สมร ทรงเวทย์มนต์ดลประสิทธิ์ฤทธิรอน เจริญพรภิญโญเดโชชัย
ที่หวังชื่นกลืนกลั้นกระสันสวาท อย่าแคล้วคลาดเคลือบแคลงแหนงไฉน มิตรจิตขอให้มิตรใจไป ที่มืดไม่เห็นห้องช่วยส่องเทียน......”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่มีงานบุญพิธีทอดผ้าป่าในเดือนอ้าย เจ้ามารดาบางจัดผ้าป่ากระจาดใหญ่ใส่เรือแห่มาทอดที่วัดเทพธิดาราม ท่านเป็นผู้ชักผ้าป่ากระจาดนั้น ได้ผ้าเป็นไตรแพรสีแสด แล้วเล่าถึงวันออกพรรษาว่า พระองค์เจ้า (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) นำผ้าจำนำพรรษามาถวาย ท่านไม่กล้าเงยหน้ามองด้วยเกรงพระบารมี ครั้นพระสงฆ์อนุโมทนาแล้ว ท่านก็รีบเดินลงจากศาลาก้มหน้าเดินหงุด ๆ กลับกุฏิ โดยไม่ยอมแลมองใคร วันนี้มาอ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ
 คำกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านรำพึงรำพันว่า จะพึ่งพาอาศัยพระสิงหะไตรภพ (พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ) และพระอภัยมณี (เจ้าฟ้าชายกลาง) เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว จำต้องทนบากบั่นฟันฝ่าทุกข์ยากไปด้วยตนเอง วอนขอพรจากพระสยมบรมนาถ (สยมภู=ผู้เป็นเอง,เกิดเอง) คือพระพรหมโปรดช่วยอำนวยพร หากตนจะรักใครที่ไหนบ้าง ขอได้โปรดดลบันดาลให้สมหวังด้วยเถิด ขอพรจากพระพรหมเท่านั้นยังไม่พอ ท่านยังรำพันขอต่อไปอีกว่า...
“ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร มังกรกอดสอดประสานสังวาลเวียน สถิตเสถียรแท่นมหาวาสุกรี
ทรงจักรสังข์ทั้งคทาเทพาวุธ เหยียบบ่าครุฑเที่ยวทวาทศราศี ขอมหาอานุภาพปราบไพรี อย่าให้มีมารขวางระคางระคาย
ที่คนคิดริษยานินทาโทษ พระเปลื้องโปรดปราบประยูรให้สูญหาย ศัตรูเงียบเรียบร้อยจะลอยชาย ไปเชยสายสุดสวาทไม่ขาดวัน...” |
 ท่านยังได้วอนขอให้พระนารายณ์ผู้รักษาโลก ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ใต้มหาสมุทร โปรดได้ใช้มหาอานุภาพปราบไพรี อย่าให้มีมารมาขวางกั้นทางชีวิต หากพระนารายณ์ช่วยปราบศัตรูหมู่มารพินาศไปเรียบร้อยแล้ว จะเดินลอยชายไปเชยชมสมสมรไม่เว้นแต่ละวัน
“ขอเดชะมหาวายุพัต พิมานอัศวราชเผ่นผาดผัน ทรงสีเหลืองเครื่องไฟประลัยกัลป์ กุมพระขันธ์กรดกระหวัดพัดโพยม
ขอเดชาวายุเวกจะเสกเวท พอหลับเนตรพริบหนึ่งไปถึงโฉม จะสอพลอฉอเลาะปะเหลาะประโลม เหมือนกินโสมโศกสร่างสว่างทรวง
สุมามาลย์บานแบ่งแมลงภู่ ขอสิงสู่สมสงวนไม่ควรหวง จะเหือดสิ้นกลิ่นอายเสียดายดวง จะหล่นร่วงโรยรสต้องอดออม
โอ้อกเอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นแช่ม เชยที่แย้มยิ้มพรายไม่หายหอม แต่หัสนัย์ไตรตรึงส์ท่านถึงจอม ยังแปลงปลอมเปลื้องปลิดไพจิตรา
ได้บุตรีที่รักยักษ์อสูร สืบประยูรอยู่ถึงดาวดึงสา เราเป็นมนุษย์สุดรักต้องลักพา เหมือนอินทราตรึงไตรเป็นไรมี.......” |
 อ่านรำพันพิลาปมาถึงตอนนี้ ก็เห็นว่าท่านสุนทรภู่มีความนึกคิดแสนละเอียดละเมียดละไม อ่อนไหวในเรื่องของความรักเป็นอย่างยิ่ง ขอให้พระพายช่วยสั่งให้สายลมหอบพัดพาท่านไปหานางอันเป็นที่รักเพียงชั่วพริบตาเดียวก็ให้ถึงนางแล้ว และเมื่อไปถึงแล้วจะสอพลอฉอเลาะปะเหลาะประโลมโฉมสมรเฉกภมรภู่ผึ้งเคล้าคลึงเกสรสุมามาลย์ แล้วท่านก็คิดพาดพิงไปถึงพระอินทร์ (สหัสนัยน์) เป็นถึงจอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยังแปลงองค์ลงไปลักพาไพจิตราธิดาท้าวไพจิตรอสูรจอมยักษ์ ตัวท่านเองเป็นเพียงมนุษย์ ไยจะลอบลักพานางอันเป็นที่รักดุจพระอินทร์ลักพาธิดายักษ์มิได้เล่า .....
วันนี้อ่านรำพันพิลาปมาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ลายเมฆ, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๗ -
“อย่าประมาทชาติหนุ่มแมงภู่ผึ้ง ประสงค์ซึ่งเสน่หาสร้อยส่าหรี ดูดอกไม้ในจังหวัดทั่วปัฐพี ดวงใดดีมีกลิ่นรวยรินรส
พอบานกลีบรีบถึงลงคลึงเคล้า ฟุบแฝงเฝ้าเฟ้นฟอนเกสรสด สัจจังจริงมิ่งขวัญอย่ารันทด ถ้ากลิ่นใกล้ได้รสเหลืออดออม
อันโกสุมพุ่มพวงดอกดวงนี้ สร้อยสาหรีรำเพยระเหยหอม ภมรมาดปรารถนาจึงมาตอม ต้องอดออมอกตรมระทมทวี
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ ท่านรำพึงรำพันถึงความรักในใจซึ่งมีต่อเทพธิดาในฝัน และว่า แม้พระอินทร์จอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยังลอบรักไพจิตราธิดาท้าวไพจิตรอสูร ณ พิภพใต้สวรรค์ แปลงกายลงมาแล้วพานางขึ้นไปเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง (นางสุชาดา) ตนเองเป็นมนุษย์บุรุษชาติไยจะบังอาจลักรักนางเทพธิดามิได้เล่า วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าอย่าประมาทชาติชายหนุ่มที่เป็นเช่นภู่ผึ้ง เมื่อมีความรักความปรารถนาในสตรีใดแล้ว ก็จะพยายามตามติดเชยชมเอาจนได้ แม้จะลำบากยากเข็ญเพียงใดก็ตามทีเถิด อันดอกไม้โกสุมพุ่มพวงดวงดอกนี้มีสีสวยกลิ่นหอม เราผู้เหมือนภมรภู่ผึ้งจึงมาเฝ้าเคล้าคลึง ปรารถนาจนตรอมตรมระทมทวี ก็ยินยอมแล้ว
“แม้นรับรักหักว่าเมตตาตอบ เมื่อผิดชอบภายหน้าจะพาหนี เหมือนอิเหนาเขาก็รู้ไม่สู้ดี แต่เพียงพี่นี้ก็ได้ด้วยง่ายดาย
อย่าลบหลู่ดูถูกแต่ลูกยักษ์ เขายังลักไปเสียได้ดังใจหมาย เหมือนตัวพี่นี้ก็ลือว่าชื่อชาย รู้จักฝ่ายฟ้าดินชินชำนาญ
ถึงนทีสีขเรศขอบเขตแขวง ป้อมกำแพงแหล่งล้อมป้อมทหาร เดชะฤทธิ์วิทยาปรีชาชาญ ช่วยบันดาลให้สมอารมณ์ปอง
จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม ลงนั่งร่วมเรือกลพยนต์ผยอง อยู่ท้ายพระจะได้เรียงเคียงประคอง ครรไลล่องลอยชเลเหมือนเภตรา |
พอลมดีพี่จะให้ใช้ใบแล่น ไปตามแผนที่ประเทศเขตภาษา แสนสบายสายสมุทรสุดสายตา เห็นแต่ฟ้าน้ำเขียวเปล่าเปลี่ยวทรวง
ในสายชลวนลึกโครมครึกคลื่น สุดจะฝืนคลื่นฝ่าชเลหลวง เห็นฝูงปลานาคินสิ้นทั้งปวง เกิดในห้วงห้องมหาคงคาเค็ม
แขกฝรั่งมังค่าพวกวาณิช สังเกตทิศถิ่นทางต้องวางเข็ม เข้าประเทศเขตแดนเลียบแล่นเล็ม เขาไปเต็มตามทางกลางนที
ถ้าแม้นว่าปลาวาฬผุดผ่านหน้า เรือไม่กล้าใกล้เคียงหลีกเลี่ยงหนี แนวชลาน่าชมแม้นลมดี ดูเร็วรี่เรือเรื่อยไม่เหนื่อยแรง |
เย็นระรื่นคลื่นเรียบเงียบสงบ มหรรณพพริบเนตรในเขตแขวง แม้นควันคลุ้มกลุ่มกลมเป็นลมแดง เป็นสายแสงเสียงลั่นสนั่นดัง
บัดเดี๋ยวคลื่นครื้นครึกสะทึกโถม ขึ้นสาดโซมดาดฟ้าคงคาขัง เสียงฮือฮืออื้ออึงตูมตึงตัง ด้วยกำลังลมกล้าสลาตัน
แต่เรือเราเบาฟ่องถึงต้องคลื่น ก็ฝ่าฝืนฟูสบายแล่นผายผัน แม่เห็นคลื่นครื้นเครงจะเกรงครัน จะรับขวัญอุ้มน้องประคองเคียง
จะเขียนธงลงยันต์ปักกันคลื่น ให้หายรื่นราบเรียบเงียบเชียบเสียง จะแย้มสรวลชวนนั่งที่ตั่งเตียง ให้เอนเอียงแอบอุ่นละมุนทรวง
จะแสนชื่นรื่นรสแป้งสดหอม เห็นจะยอมหย่อนตามไม่ห้ามหวง เหมือนได้แก้วแววฟ้าจินดาดวง ไว้แนบทรวงสมคะเนทุกเวลา......” |
 ปล่อยกลอนให้อ่านกันยาว ๆ อีกตอน เพราะว่ากลอนตอนนี้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนัก เป็นจินตนาการ หรือฝันยามตื่นของท่าน ท่านว่าถ้าแม่นางเทพธิดาเมตตาตอบรักแล้วอย่างไรก็ต้องพยายามเข้าอยู่ร่วมหอห้องจนได้ แม้จะต้องลักพาก็ยอมกันละ มีตัวอย่างอยู่แล้ว อย่างเช่นอิเหนา และพระอินทร์นั่นอย่างไร ท่านยกตัวอย่างแล้วแล้วจินตนาการไปว่า ได้ลักพาแม่นางเทพธิดาอุ้มลงเรีอกลพยนต์ออกสู่ท้องทะเลมหาสมุทร แม้จะมีลมสลาตันพัดพานเรือนานาระเหเร่ร่อนและล่มจมไป แต่เรือของท่านเบาฟ่องล่องลอยฝ่าคลื่นลมไปได้อย่างสบาย
เพื่อน ๆ นักกลอนอ่านกลอนตอนนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ท่านสุนทรภู่เล่นคำสำนวนได้ยอดเยี่ยมมาก ใช้คำยาก เช่น “เค็ม เต็ม เข็ม เล็ม” มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวได้ชัดเจนและไพเราะเพราะพริ้ง เป็นแบบอย่างที่ดีในการเล่นกลอนกัน
วันนี้อ่านมาพักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ลายเมฆ, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๘ -
“ออกลึกซึ้งถึงที่ชื่อสะดือสมุทร เห็นน้ำสุดสูงฟูมดังภูมผา ดูพลุ่งพลุ่งรุ้งวงหว่างคงคา สูดนาวาเวียนวนเป็นพ้นไป
เรือพ่อค้าวาณิชไม่คิดเฉียด แล่นก้าวเสียดหลีกลำตามน้ำไหล แลชเลเภตราบ้างมาไป เห็นเรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ
แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป สว่างวูบวงแดงดังแสงกระสือ ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน
แต่ตัวพี่มีอุบายแก้พรายผุด เสกเพลิงชุดเช่นกับไฟประลัยผลาญ ทิ้งพรายน้ำทำลายวอดวายปราณ มิให้พานพักตรน้องอย่าหมองมัว..”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...............
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ ท่านสุนทรภู่ว่าหากนางรับรักแล้วจะอุ้มลงเรือพยนต์หนีออกสู่ท้องทะเลมหาสมุทร และพรรณนาถึงคลื่นลมในทะเลมหาสมุทรนั้นอย่างน่ากลัว วันนี้มาอ่านกันต่อจากเมื่อวันวานครับ
 คำกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าเรือพยนต์ของท่านแล่นออกไปถึงสะดือสมุทรตรงนั้นเป็นวังน้ำวนมีพรายน้ำผุดพลุ่ง ๆ คอยดูดสิ่งของต่าง ๆ ที่เข้าไปใกล้ให้จมลงไปในสะดือทะเล เรือของพวกพ่อค้าวาณิชไม่มีใครกล้ากรายเข้าไปใกล้ มีบ้างที่แก้อาถรรพณ์พรายน้ำด้วยการจุดไฟเผาหนังไล่ แต่ท่านว่าไม่กลัวเพราะมีคาถาอาคมดี สามารถเสกเพลิงชุดเป็นไฟประลัยผลาญ ทิ้งลงไปในวังน้ำวนนั้น พรายน้ำก็จะถูกทำลายวายปราณ มิให้พบหน้าน้องจนหมองมัว
“ดูปลาใหญ่ในสมุทรผุดพ่นน้ำ มืดเหมือนคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว พุ่งทะลึ่งถึงฟ้าดูน่ากลัว แต่ละตัวตะละโขดนับโยชน์ยาว
จะหยอกเย้าเฝ้ายั่วให้หัวเราะ ชวนชมเกาะกะเปาะกลมชื่อนมสาว สาคเรศเขตแคว้นทุกแดนดาว ดูเรือชาวเมืองใช้ใบเที่ยวไปมา |
เรือสลัดตัดระกำร้อยลำหวาย ทำเรือค่ายรายแล่นล้วนแน่นหนา น้าวกระเชียงเสียงเฮสุเรสุรา ใส่เสื้อผ้าโพกนั้นลงยันต์ราย
เหมือนเรือเปล่าเสากระโดงลดลงซ่อน ปลอมเรือจรจับบรรดาลูกค้าขาย จับคนได้ไม่ล้างให้วางวาย เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไป
โดยหากว่าถ้าไปปะเรือสลัด ศรีสวัสดิ์แววจะพรั่นประหวั่นไหว จะอุ้มนางวางตักสะพักไว้ โบกธงชัยให้จังงังกำบังตา....” |
 เกาะนมสาว : ประจวบคีรีขันธ์ ท่านว่าเมื่อพ้นจากสะดือทะเลมาแล้วจะให้ดูปลาใหญ่ว่ายมาเป็นฝูงคลาคล่ำดำมืด แล้วก็ผุดโผนจากน้ำทะยานขึ้นฟ้า ดูแต่ละตัวยาวเป็นโยชน์ ดูน่ากลัวมาก หากครานั้นน้องหน้าเครียดเพราะความหวาดกลัว ก็จะพูดยั่วให้หัวเราะ โดยชี้ให้ชมเกาะกะเปาะกลมที่ชื่อว่า เกาะนมสาว ชี้ชวนให้ชมเรือของชาวเมืองที่แล่นไปเทียวไปมาบริเวณเกาะนมสาวนั้น น่าเพลินตาคราได้ยล แล้วก็เล่าให้ฟังว่า ในทะเลนี้มีโจรสลัดโหดร้าย พวกมันตัดระกำร้อยเป็นลำหวาย ทำเรือค่ายแน่นหนา ให้เหล่าสลัดลูกเรือโพกผ้าลงยันต์ ช่วยกันกรรเชียงเรือส่งเสียงร้องเฮฮุย สุเรสุรา ครั้นมีเรือใครไปมาในน่านน้ำนี้ เมื่อพวกมันจับได้จะไม่ฆ่าให้ตาย หากแต่จะเจาะตรงเอ็นต้อยบริเวณข้อเท้า เอาหวายร้อย (เรียกตรงนั้นว่าร้อยหวาย) ถ้าหากเราไปพบเรือสลัดพวกนี้พี่จะเอาน้องวางบนตัก เอาธงยันต์โบกกำบังตาพวกมันไว้
“แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี
ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตรถือสัจศิล ใส่เพชรนิลแนมประดับสลับสี แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี ชาวบุรีขี่รถบทจร
จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร ให้สร่างทรวงดวงสุดาสถาวร สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน
จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน ให้แช่มชื่นชมชเลทุกเวลา.......” |
 ท่านคิดจะใช้ใบให้เรือแล่นเยื้องไปต่างประเทศ ชมพวกแขกที่แต่งตัวแปลก ๆ ทั้งหญิงชายไว้ผมยาวเกล้ามวย แต่งกายอย่างพราหมณ์ ผ้านุ่งห่มล้วนแต่ “โขมพัสตร” คือผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ ทุกคนถือสัจศีล ประดับร่างกายด้วยเพชรนิลจินดาสลับสีพรายพราว บ้านเรือนเป็นตึกรามงามนักหนา การไปมาก็ขี่รถหรูหราราคาแพง ดังนั้นจึงจะเชิญน้องนางขึ้นเที่ยวชมเมืองและซื้อแหวนเพชรงามให้สวมใส่จนเป็นที่พอใจ คำกลอนที่หวานหยดย้อยสุด ๆ ในรำพันพิลาป ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีบทไหนหวานเกินบทนี้ คือ
“จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน ให้แช่มชื่นชมชเลทุกเวลา” |
เรียกว่า “รักปานจะกลืน” กระนั่นเทียวครับ
เอาละพักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ลายเมฆ, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๙ -
“แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม
ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมะละกา...”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาให้ทุกท่านอ่านกัน ถึงตอนที่ท่านกล่าวว่าจะพานางเทพธิดาออกทะเลไปจนถึงสะดือทะเล ฝ่าอันตรายไป หากพบโจรสลัดก็จะใช้ธงชัยโบกบังตาเหล่าโจรร้ายมิให้เห็น วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าจะตระกองอุ้มพาแม่นางไปสู่เกาะชวา เมืองอิเหนาที่หาคนงามมิได้ แล้วจะพาข้ามเข้าเกาะมะละกา....
“เดิมของแขกแตกฝรั่งไปตั้งตึก แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวิยะดา ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร
แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่ จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน ร้องละครอิเหนาเข้ามะละกา
แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง ไปชมละเมาะเกาะวังกัลปังหา เกิดในน้ำดำนิลดังศิลา เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน
ชเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน เห็นหุบห้องปล่องชลาฝูงนาคิน ขึ้นมากินเกยนอนชะง่อนเนิน
ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึงรอบ เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล
จริงนะจ๊ะจะเก็บทั้งกัลปังหา เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน เบี้ยอีแก้แลรอบขอบคีริน ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง
สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา
จะปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น ก้านแผ่ผิ่นสินธุต้นบุหงา ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กราย.....” |
 ท่านว่าเกาะมะละกาเดิมเป็นของแขก ถูกฝรั่งตีแตกยึดไว้เป็นเมืองขึ้น เป็นที่ขายปืนผาอาวุธร้ายแรง หากน้องนางไปด้วยจะอุ้มพาไปนอนเอกเขนก ร้องละครอิเหนาเข้ามะละกา ชมปลานานาชนิด แล้วใช้ใบแล่นเรือออกจากฝั่งไปชมภูเขานิลกลางทะเล ภูเขานี้กว้างใหญ่ ใช้เรือแล่นรอบหนึ่งวันจึงครบรอบ เป็นเกาะเต็มไปด้วยกัลปังหาสีดำเหมือนนิล และมุกดา (ไข่หอยมุก) และหอยเบี้ย (เบี้ยอีแก้) ที่ถูกคลื่นทะเลซัดขึ้นมากองกลาดเกลื่อนอยู่บนพื้นทรายรอบเกาะ บนเกาะนิลนี้มีไม้เทศไม้หอมนานา เป็นที่อยู่ของเทวดา นกทุกชนิดก็ไม่กล้าบินกรายเข้าไปใกล้.........
“แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด ท่าข้ามซัดซึ้งวนชลสาย ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์
พื้นม่วงตองทองช้ำย่ำมะหวาด ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา
จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร ชมประเภทพรหามณ์แขกแปลกภาษา ให้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา ไปมังกล่าฝาหรั่งระวังกะเวน
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว ตลบเลี้ยวแลวิ่งดังจิ้งเหลน ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน เวียนตระเวนไปมาทั้งตาปี....... |
จากเกาะเขานิลไปเมืองสุหรัด แล้วเลยไปมังกล่า (บังกลาเทศ) ภาพคนละเมืองต่าง ๆ ในกลอนนี้เป็นเพียงจินตนาการของท่าน ตามการได้ยินได้ฟังจากชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามในสมัยนั้น ภาพจริงอาจผิดเพี้ยนไป เช่น ชาวเกาะชวา เป็นต้น
วันนี้พักไว้ตรงมังกล่าก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๐ -
เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี แลพิลึกตึกรามงามงามดี ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ คนซื้อร้องเรียกหาจึงมาขาย ด้วยไม่มีตีโพยขโมยขมาย ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ...”
.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่ท่านกล่าวถึงเกาะ เมืองต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน มีเกาะสำคัญเกาะหนึ่งมีกัลปังหาสีดำที่ทำให้เกาะนั้นสีดำเป็นนิล ท่านเรียกว่าเกาะเทวดา จากเกาะนี้แล้วไปเมืองสุหรัด มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะได้แก่สุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะจากเมืองสุหรัดแล้ว เลยไปบังกลาเทศ (มังกล่า) ซึ่งอยู่คนละทะเลกับสุราษฎร์ธานี วันนี้มาอ่านกันต่อในตอนจบรำพันพิลาปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่า เมืองมังกล่ามีคนแขก ฝรั่ง ปะปนกัน มีเจ๊กแทรกเข้ามาด้วย คนในเมืองนี้มีฐานะร่ำรวย สร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่โต ประดับประดาด้วยแก้วกระจกสีแวววาว ที่แปลกมากก็คือ มีการค้าขายเพชรเจ็ดสี แทนที่จะใส่ตู้กระจกตั้งวางขายในร้าน เขากลับเอาเพชรใส่จานวางไว้หน้าตึก และเจ้าของไม่นั่งเฝ้า วางจานเพชรทิ้งไว้อย่างนั้น เมื่อมีคนสนใจจะซื้อ ก็มายืนร้องเรียกเจ้าของให้ออกมาขาย เขาไม่กลัวขโมยจะลักเพชร เพราะคนเมืองนี้ไม่มีใครเป็นขโมยเลย ถ้าเป็นบ้านอื่นเมืองอื่น (เช่นสยาม) คงไม่มีเหลือ
“นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น เป็นสวนอินทผาลัมทับน้ำหวาน รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล ต้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง
ถึงขวบปีมีจั่นทำขวัญต้น แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย
บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย ไปชมเล่นเช่นว่าประสาสบาย บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์...” |
 * เมืองมังกล่าของท่านสุนทรภู่ช่างสวยงามน่าอยู่เสียนี่กระไร เราได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่า น้ำตาลของคนเมืองนี้ทำจากผลอินทผาลัม เมื่อผลอินทผาลัมสุกแล้วก็เอากองสุมบนพื้นไม้ที่มีรู ร่อง แล้วเอาของหนัก ๆ ทับข้างบน เอาอ่างรองไว้ข้างใต้ น้ำอินทผาลัมจะไหลลงอ่างทำเป็นน้ำตาล มีการปลูกอินทผาลัมอย่างทะนุถนอม จัดการแต่งงานต้นผู้ต้นเมียของอินทผาลัม ประเพณีสู่ขอ แต่งงานเหมือนคนเลย จะทำพิธีแต่งกันตอนที่อินทผาลัมแตกจั่นครับ
“จะพาไปให้สร้างทางกุศล ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์ ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิงคุดร์
คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสุด เหมือนหมายทางต่างประทวีปเรือรีบรุด พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ
เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน
เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก ปักตรึงอกอานุภาพซ้ำสาปสรร อยู่ลพบุรีที่ตรงหว่างเขานางประจัน เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ
แสนวิตกอกพระยาอุณาราช สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์ ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ ต้องตีซ้ำช้ำในฤทัยระทม
ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม พอชื่นใจได้สว่างสร่างอารมณ์ เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ
ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน
เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์ สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์ เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอย......ฯ |
 * จึงเป็นอันว่ากลอน “รำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอนของท่านสุนทรภู่ก็จบลงบริบูรณ์แล้วครับ ผมขออนุญาต ไม่อภิปราย ขยายความของกลอนในตอนนี้นะ เพราะความชัดเจนดีแล้ว ขอพักเหนื่อยไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน ชีวิตของกวีเอกของโลกท่านนี้จะเป็นไปอย่างไร หลังจากออกจากวัดเทพธิดารามไปแล้ว พรุ่งนี้มาดูกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ วันพฤหัสบดีที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๘/ ๐๕.๓๐ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 พระปฐมเจดีย์ (พระธมเจดีย์) : จ. นครปฐม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๑ -
ณ ปีขาลพอศอสองสามแปดห้า ลาสิกขาอีกหนเป็นคนบ้าน ออกจากวัดเทพธิดาฯมิช้านาน “พระยามณเฑียรบาล”ให้งานทำ
เข้าอยู่บ้านในวังเดิมเริ่มงานหลัก ในสำนักเจ้าฟ้าน้อยมิต้อยต่ำ เป็นอาลักษณ์วังหน้าอยู่ประจำ เป็นผู้นำหมู่เหล่าที่...เจ้ากรม
บรรดาศักดิ์ “พระศรีสุนทรโวหาร” คนเรียกขาน “สุนทรภู่” อยู่เสียงขรม อยู่สบายปลายชีวิตลอยติดลม ครองสุขสมตามประสาชราชน.....
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร มาให้ทุกท่านอ่านกันถึงตอนจบบริบูรณ์ไปแล้ว แต่เรื่องของท่านยังไม่จบ วันนี้มาดูความเป็นไปในชีวิตของท่านต่อครับ
ณ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ นั้น สุนทรภู่ออกจากวัดเทธิดารามแล้ว ท่านมิได้ไปแสวงหาแร่มาถลุงทองดังที่หลายท่านคาดเดากัน ท่านจันทร์ พ. ณ ประมวญมารค กล่าวว่า ท่านได้ลาสิกขาออกจากการเป็นพระภิกษุ แล้วไปอยู่กับพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) กรมวังของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) ในพระราชวังเดิม โดยพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ผู้นี้เคยเป็นเพื่อนกันมาแต่เยาว์ ในขณะที่สุนทรภู่รับราชการในกรมพระอาลักษณ์และเป็นกวีคนโปรดนั้น พระยามณเฑียรบาลได้เป็นพระอภิบาล (พี่เลี้ยง) เจ้าฟ้าน้อย กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งประทับอยู่ในพระราชวังเดิม
 เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สุนทรภู่ลาสิกขาออกจากวัดเทพธิดารามแล้ว มีพระยามณเฑียรบาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย ในปีที่สึกออกจากผ้าเหลืองมานั้นอายุสุนทรภู่ได้ ๕๗ ปี พระยามณเฑียรบาลในฐานะกรมวังเจ้าฟ้าน้อย ได้นำเข้าฝากตัวเป็นข้ารับใช้ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) ให้รับราชการในกรมพระอาลักษณ์วังหน้า นัยว่าการเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์วังหน้านี้ ได้รับการสนับสนุนจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกแรงหนึ่งด้วย
 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เสด็จสวรรคต พระสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ลาพระผนวชขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงตรัสสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) เป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเร็จราชการในพระราชวังหน้า แม้จะมีตำแหน่งเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แต่พระองค์ก็ยังคงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม และโปรดตั้งสุนทรภู่เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ในพระราชวังบวรสถานมงคล มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ด้วยวัย ๖๖ ปี
 พระปฐมเจดีย์ : นครปฐม พระสุนทรโวหาร (ภู่) อาศัยอยู่ในบ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม ได้นำภรรยาคนที่ชื่อม่วงและบุตรมาอยู่ด้วย ในช่วงปลายชีวิตนี้ท่านได้แต่งนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้าย ชื่อ นิราศพระประธม คลิก ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นจึงขอนำคำนิราศพระประธม เล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ นิราศเรื่องนี้ระบุว่าแต่งเมื่อ “ ถวิลวันจันทิวาขึ้นห้าค่ำ” ซึ่งในวันดังกล่าวนักวิชาการกรมศิลปากรตรวจชำระแล้ว พบว่าเป็น วันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๒ ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๘๕ ก็แสดงว่า ท่านออกจากวัดเทพธิดา และลาสิกขาแล้วเดินทางไปไหว้พระประธม แต่ง นิราศพระประธม ต่อจาก รำพันพิลาป กันเลยทีเดียว และกลับจากไหว้พระประธมจึงเข้าอยู่ในบ้านพระยามณเฑียรบาลในพระราชวังเดิม และเข้ารับใช้เป็นข้าในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ในที่สุด
ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากหากทุกท่านมิได้อ่านความในนิราศพระประธม คลิก ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นจึงขอนำคำนิราศพระประธม นิราศเรื่องสุดท้ายของท่านสุนทรโวหารมาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันตั้งต้นจนจบดังต่อไปนี้
“นิราศพระประธม”
ถวิลวันจันทิวาขึ้นห้าค่ำ ลงนาวาคราเคลื่อนออกเลื่อนลำ พอฆ้องย่ำยามสองกลองประโคม
น้ำค้างย้อยพร้อยพรมเป็นลมว่าว อนาถหนาวนึกเคยได้เชยโฉม มาลับเหมือนเดือนดับพยับโพยม ให้ทุกโทมนัสในฤทัยครวญ
โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด จะจากนุชแนบข้างไปห่างหวน นิราศร้างห่างเหให้เรรวน มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน
ที่ปลูกรักจักได้ชื่นทุกคืนค่ำ ก็เตี้ยต่ำตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น ที่ชื่นเชยเคยรักเหมือนหลักประโคน ก็หักโค่นขาดสูญประยูรวงศ์
ยังเหลือแต่มีศรีสาครอยู่ ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์ จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง ให้คนทรงเสียใจมิได้เชยฯ” |
วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ วันที่สุนทรภู่เริ่มออกเดินทางไปไหว้พระประธมนั้น บางท่านเข้าใจว่า ท่านไปในขณะเป็นพระภิกษุ ออกจากวัดเทพธิดารามแล้วก็เดินทางไปพระประธมเลย แต่ก็น่าเชื่อตามที่หลายท่านเข้าใจว่าท่านลาสิกขาแล้ว เพราะดูสำนวนกลอนเป็นฆราวาสมากกว่าเป็นพระภิกษุ พอเริ่มต้นท่านก็ครวญถึงหญิงคนรักแล้ว บอกว่าคนที่ปลูกรักหวังได้เชยทุกเช้าค่ำก็ไม่สมหวัง คนที่เคยเชยชมก็เป็นเสาหินที่หักโค่นไปแล้ว ยังเหลือคนเดียว คำว่า “ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่ ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์ จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง ให้คนทรงเสียใจมิได้เชยฯ” แม่ศรีสาครผู้นี้เป็นใคร ก็ลองคิดเดากันเอาเองเถิด
วันนี้พักไว้ตรงนี้นะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๒ -
“วัดระฆังตั้งแต่เสร็จสำเร็จศพ ไม่พานพบภัคินีเจ้าพี่เอ๋ย โอ้แลเหลียวเปลี่ยวใจกระไรเลย มาชวดเชยโฉมหอมถนอมนวล
จนนาวาคลาล่องเข้าคลองขวาง ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน แต่แลล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว
ทุกเรือนแพแลหลับระงับเงียบ ยิ่งเย็นเยียบยามดึกให้นึกหนาว ในอากาศกลาดเกลื่อนด้วยเดือนดาว เป็นลมว่าวเฉื่อยฉิวหวิวหัวใจ
โอ้บางกอกกอกเลือดให้เหือดโรค อันความโศกนี้จะกอกออกที่ไหน แม้นได้แก้วแววตามายาใจ ก็จะไม่พักกอกดอกจริงจริง
ดูวังหลังยังไม่ลืมที่ปลื้มจิต เคยมีมิตรมากมายทั้งชายหญิง เมื่อยามดึกนึกถึงที่พึ่งพิง อนาถนิ่งนึกน่าน้ำตานอง
บางหว้าน้อยน้อยจิตด้วยพิสมัย น้อยหรือใจจืดจางให้หมางหมอง หมายว่ารักจักได้พึ่งเหมือนหนึ่งน้อง ให้เจ้าของขายหน้าทั้งตาปี ฯ..”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่ เริ่มตอนแรกที่ท่านบอกว่าออกเดินทางไปไหว้พระประธม หรือพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๘๕ โดยออกเดินทางเมื่อเวลาประมาณยามสองแล้ว ไม่ได้บอกว่าออกจากสถานที่ใด พอจะเดาเอาได้ว่าน่าจะออกจากพระราชวังเดิม เรือแจวทวนน้ำในลำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือ
 วัดอมรินทรารามวรวิหาร (วัดบางหว้าน้อย) กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือท่านแจวผ่านหน้าวัดระฆังโฆสิตารามหรือวัดบางหว้าใหญ่ ท่านหวนรำลึกว่า ตั้งแต่เสร็จงานศพเจ้าครอกทองอยู่ผู้มีพระคุณของท่าน ซึ่งปลงศพที่วัดนี้แล้ว มิได้พบภัคินี คือแม่จันภรรยาคนแรกของท่านอีกเลย ก็ได้คร่ำครวญหวนหาอาลัยอาวรณ์เท่านั้นเอง จนกระทั่งเรือถูกแจวผ่านไปถึงคลองบางกอกน้อย เห็นเรือนแพริมคลองสงบเงียบ ทุกคนในเรือนแพพากันหลับ เพราะดึกมากแล้ว ท่านหวนรำลึกถึงพระราชวังหลังอันเป็นที่เกิดและเติบโตของท่าน รวมทั้งมีรักแรกกับแม่จันที่นี่ ภาพอดีตตั้งแต่เกิดจนโตที่วังหลังเกิดขึ้นในสำนึกเป็นฉาก ๆ เป็นความรักความหลังที่ยากจะลืมเลือน เห็นวัดบางหว้าน้อย (อัมรินทร์) แล้วยิ่งสะท้อนอ่อนอกใจ.....
“ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ให้ปัฏิสนธิ์ ศิวาลัยไตรภพจบสากล ประจวบจนจะได้พบประสบกัน
ทั้งแก้วเนตรเกศรามณฑาทิพย์ จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์ จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน อย่ามีอันรายเป็นเหมือนเช่นนี้
วัดปะขาวขาวเหลือเชื่อไม่ได้ ด้วยดวงใจเจ้านั้นคล้ำดำมิดหมี แม้นแม่หม้ายขาวโศกโฉลกมี เหมือนแม่ศรีสาครฉะอ้อนเอว
โอ้เคราะห์กรรมจำคลาดนิราศร้าง เพราะขัดขวางความในเหมือนไขว่เฉลว ทั้งเกลียดสิ้นนินทาพาลาเลว เหมือนต้องเปลวปลิวต้องให้หมองมอม
เสียดายแต่แม่ศรีเจ้าพี่เอ๋ย จะชวดเชยชวดชมภิรมย์ถนอม เหมือนดอกไม้ไกลแดนเพราะแตนตอม ใครแปลงปลอมปลิดสอยมันต่อยตายฯ” |
 วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร (วัดทอง) วัดทอง คือวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย วัดนี้มีป่าช้าใหญ่และเป็นที่ประหารนักโทษ เขาลือกันว่าผีดุนักเชียว น้องสาวต่างบิดาของสุนทรภู่ชื่อ ฉิม กับ นิ่ม ภายหลังได้เป็นแม่นมในวังหลังแทนแม่ เสียดายที่อายุไม่ยืนยาวนัก สองนางนั้นเสียชีวิตไปก่อนสุนทรภู่ วันที่ท่านผ่านวัดนี้ก็หวนรำลึกถึงนางที่เขานำศพมาเผาที่เมรุวัดทองทั้งสองคน จึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้นางจงไปบังเกิดในสวรรค์ด้วยเถิด
 วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว) เลยวัดทองไปก็ถึงวัดปะขาวหรือชีปะขาว (ศรีสุดาราม) อันเป็นวัดที่ท่านเรียนหนังสือในสำนักวัดนี้จนจบการศึกษาในยุคสมัยนั้น วัดนี้ท่านมีความหลังฝังใจอยู่เยอะมาก วิชาการด้านอักษรศาสตร์ของท่านได้อาจารย์ที่วัดนี้ประสิทธิ์ประสาทให้ทั้งหมด นอกจากจะได้วิชาความรู้จากวัดปะขาวแล้ว ท่านยังมีความหลังกับหญิงคนหนึ่งที่ท่านเรียกว่า “แม่ศรีสาคร” ความหลังกับหญิงคนนี้แหละที่ท่านกล่าวในกลอนนี้ว่า “วัดปะขาวขาวเหลือเชื่อไม่ได้ ด้วยดวงใจเจ้านั้นคล้ำดำมิดหมี” นัย ๆ ว่าแม่ศรีสาครผู้นี้มีคนรักคนหวงกันมาก กีดกันไม่ให้ท่านมีความใกล้ชิดด้วย ดังกลอนที่ท่านเขียนว่า “เหมือนดอกไม้ไกลแดนเพราะแตนตอม ใครแปลงปลอมปลิดสอยมันต่อยตาย..” เรื่องทำนองนี้เราคุ้น ๆ กับคำว่า “มดแดงแฝงพวงมะม่วง” แต่นี่ท่านสุนทรภู่กลับคิดใช้คำใหม่ว่า “แตนตอมดอกไม้มิให้ใครเด็ดดมชมเลย....."
วันนี้อ่านนิราศพระประธม คลิก มาถึงวัดปะชาว หรือ วัดศรีสุดารามท้ายวังหลังก่อนก็แล้วกัน ดูเรื่องท่าจะสนุกแล้วนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 คลองบางขุนนนท์ : กรุงเทพฯ - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๓ -
"บางบำหรุเหมือนบำหรุบำรุงรัก จะพึ่งพักพิศวาสเหมือนมาดหมาย ไม่เหมือนนึกตรึกตรองเพราะสองราย เห็นฝักฝ่ายเฟือนหลงด้วยทรงโลม
พอสิ้นแพแลล้วนสวนสงัด พยุพัดฮือฮือกระพือโหม ยิ่งดึกดาววาววามดังตามโคม น้ำค้างโซมแสนหนาวให้เปล่าใจ
บางขุนนนท์ต้นลำพูดูหิ่งห้อย เหมือนเพชรพลอยพรายพร่างสว่างไสว จังหรีดร้องซ้องเสียงเรียงเรไร จะแลไหนเงียบเหงาทุกเหย้าเรือน
บางระมาดมาดหมายสายสวาท ว่าสมมาดเหมือนใจแล้วไม่เหมือน แสนสวาทมาดหมายมาหลายเดือน มีแต่เคลื่อนแคล้วคลาดประหลาดใจ....”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันก่อนนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ซึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่ท่านเดินทางออกจากที่พักซึ่งน่าจะเป็นพระราชวังเดิม ผ่านวัดระฆังฯ พระราชวังหลังเลี้ยวเรือเข้าคลองบางกอกน้อย ผ่านวัดบางหว้าน้อย (อัมรินทร์) วัดทอง (สุวรรณาราม) วัดปะขาวหรือชีปะขาว (ศรีสุดาราม) ท่านคร่ำครวญถึงคนรักและความรักในอดีตทุกแห่งที่เรือผ่านไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 คลองบางระมาด Cr. Photo By คุณประภพ เบญจกุล บทกลอนข้างบนนี้กล่าวเมื่อเรือของท่านถูกแจวเลยวัดชีปะขาวไปถึง บางบำหรุ ท่านก็หวนนึกถึงรักที่หวังไว้ไม่สมหมาย เพราะรักเกิดขึ้นเป็นสองรายพร้อมกันเป็นฝักฝ่าย คือ “รักซ้อนซ่อนรัก” อะไรทำนองนั้น ถึงบางขุนนนท์พ้นจากเรือนแพก็เป็นเรือกสวน เวลาดึกบรรยากาศจึงเงียบสงัด สายลมพัดมาอย่างแรง ทำให้หนาวยะเยือกทรวง แหงนมองท้องฟ้าเห็นดวงดาวสุกสว่างดังโคมส่องจากฟากฟ้า ข้างทางมีต้นลำพูเรียงราย เห็นหิ่งห้อยฝูงใหญ่จับอยู่ตามใบลำพู เปล่งแสงพราวพรายราวแสงเพชรพลอยแวววามงามระยิบระยับจับตา จังหรีดกรีดเสียงร้องประสานเสียงเรไร จนเรือลอยเลยล่วงถึงบางระมาด ท่านก็หวนคำนึงถึงสานสวาทที่ไม่สมมาดปรารถนา หวังสมมาดเหมือนใจแล้วไม่เหมือน ปองหมายมาหลายเดือนแล้วไม่สมมาดประหลาดใจ......
“วัดไก่เตี้ยไม่เห็นไก่เห็นไทรต่ำ กอระกำแกมสละขึ้นไสว หอมระกำยิ่งช้ำระกำใจ ระกำไม่เหมือนระกำที่ช้ำทรวง
ถึงสวนหลวงหวงห้ามเหมือนความรัก เหลือจักหักจับต้องเป็นของหลวง แต่รวยรินกลิ่นผกาบุปผาพวง จะรื่นร่วงเรณูพู่ขจร
โอ้ไม้ต้นคนเฝ้าแต่เสาวรส ยังปรากฏกลิ่นกล่อมหอมเกสร แต่โกสุมภูมรินมาบินวอน ไม่ดับร้อนร่วงกลิ่นให้ดิ้นโดย
ดึกกำดัดสัตว์อื่นไม่ตื่นหมด แต่นกกดร้องเร้ากระเหว่าโหวย ระรวยรินกลิ่นโศกมาโบกโบย โอ้โศกโรยแรมร้างมาห่างจรฯ” |
 วัดไก่เตี้ย : ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ลายเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๔ -
“วัดชะลอใครหนอชะลอฉลาด เอาอาวาสมาไว้ให้อาศัยสงฆ์ ช่วยชะลอวรลักษณ์ที่รักทรง ให้มาลงเรือร่วมรวมที่นอน
ถนอมแนบแอบอุ้มประทุมน้อย แขนจะคอยเคียงวางไว้ต่างหมอน เมื่อปลื้มใจไสยาอนาทร จะกล่าวกลอนกล่อมขนิษฐ์ให้นิทรา
เห็นคลองขวางบางกรวยระทวยจิต ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี
แต่ก่อนกรรมนำสัตว์ให้พลัดพราก จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี เคยไปมาหาน้องในคลองนี้ เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา
สงสารบุตรสุดเศร้าทั้งเช้าค่ำ ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา เช็ดน้ำตาโซมซาบลงกราบกราน
ยิ่งตรองตรึกดึกดื่นสะอื้นอั้น จนไก่ขันเจื้อยเจ้กวิเวกหวาน เหมือนนิ่มน้องร้องเรียกสำเหนียกนาน เจียนจะขานหลงแลชะแง้คอยฯ”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ......................................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่เรือพาหนะของท่านถูกแจวผ่านสถานที่ต่าง ๆ ในคลองบางกอกน้อยมาถึงวัดเกด วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ
 คลองบางกรวย : นนทบุรี กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือท่านเลยวัดเกดมาถึงวัดชะลอ (วัดชลอ บางกรวย) ท่านก็คิดครวญว่า ใครหนอช่างชะลออาวาส (ที่อยู่) มาตั้งไว้ให้เป็นที่อาศัยของพระสงฆ์ อยากจะขอให้ช่วยชะลอนางผู้เลอโฉมอันเป็นที่รักลงมาไว้ในเรือรวมอยู่ในนวมที่นอนด้วยเถิด หากชะลอลงมาให้ได้จริงจะขอ “ถนอมแอบอุ้มประทุมน้อย” ให้นอนหนุนแขนแทนหมอนแล้วกล่าวกลอนกล่อมให้นิทรา ท่านเพ้อฝันฟุ้งซ่านจนเรือเลยมาถึงปากคลองบางกรวยจึงหวาดจิตคิดถึง “นิ่ม” ภรรยาเก่าซึ่งเป็นเป็นแม่ของตาบ นิ่มเป็นคนชาวบางกรวย สิ้นชีวิตไป นับแต่วันตายถึงวันที่สุนทรภู่แต่งนิราศพระประธมนี้เป็นเวลานานได้ ๙ ปีแล้ว ดูท่าว่าท่านจะรักแม่นิ่มคนนี้มาก จึงคร่ำครวญหวนหาดังในคำกลอนข้างบนนี้....
“บางสีทองคลองบ้านน้ำตาลสด อร่อยรสซาบซ่านหวานคอหอย เหมือนปากพี่สีทองของน้องน้อย เป็นคู่บอกดอกสร้อยสักวา
ทุกวันนี้พี่ก็เฒ่าเราก็หง่อม เธอเป็นจอมเราเป็นจนต้องบ่นหา โอ้จอมพี่สีทองของน้องยา เมื่อไรจะพาพิมพ์น้อยมากลอยใจฯ |
 บางอ้อยช้าง : บางกรวย นนทบุรี บางอ้อช้างโอ้ช้างที่ร้างโขลง มาอยู่โรงรักป่าน้ำตาไหล พี่คลาดแคล้วแก้วตาให้อาลัย เหมือนอกไอยราร้างฝูงนางพัง
พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง ประสานซ้องเซ็งแซ่ดังแตรสังข์ กระเหว่าหวานขานเสียงสำเนียงดัง เหมือนชาววังหวีดเสียงสำเนียงนวล
อโณทัยไตรตรัสจำรัสแสง กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาสวน หอมดอกไม้หลายพรรณให้รัญจวน เหมือนกลิ่นนวลน้ำกุหลาบซึ่งซาบทรวง
โอ้บุปผาสารพัดที่กลัดกลีบ ครั้นรุ่งรีบบานงามไม่ห้ามหวง ให้ชื่นชุ่มภุมรินสิ้นทั้งปวง ได้ทราบทรวงเสารสไม่อดออม
แต่ดอกฟ้าส่าหรี่เจ้าพี่เอ๋ย ไม่หล่นเลยละให้หมู่แมงภู่หอม จะกลัดกลิ่นสิ้นรสเพราะมดตอม จนหายหอมแห้งกรอกเหมือนดอกกลอยฯ
ถึงวัดสักเหมือนหนึ่งรักที่ศักดิ์สูง ยิ่งกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อนลอย จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง |
 วัดบางขนุน : บางกรวย นนทบุรี บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม
สุดาใดได้เป็นเพื่อนอย่าเหมือนพี่ เหมือนมณีนพรัตน์ฉัตรเฉลิม อันน้ำในใจรักช่วยตักเติม ให้พูนเพิ่มพิศวาสอย่าคลาดคลายฯ” |
 วัดบางอ้อยช้าง : บางกรวย นนทบุรี ถึงบางสีทองท่านก็คิดถึงน้ำตาลสดที่บางนี้ว่ารสหวานคอมาก แล้วคิดเลยไปถึงพี่สาวคนหนึ่งที่เป็นลูกคู่บอกดอกสร้อยสักวา ถูกคอกันมาก ดูเหมือนพี่สาวคนนี้จะชื่อว่า “สีทอง” เหมือนชื่อบางเสียด้วย วันที่เดินทางผ่านบ้านนี้ท่านบอกว่า พี่สีทองเธอเฒ่ามาก พอ ๆ กับที่สุนทรภู่ก็หง่อมลงไม่น้อยเลย เลยบางสีทองก็ถึง “บางอ้อช้าง" ชื่อบางนี้ปัจจุบันดูเหมือนจะเรียกชื่อว่า “บางอ้อยช้าง” แล้วนะครับ เดิมอาจจะชื่อบางอ้อช้างอย่างที่ท่านสุนทรภู่เรียกนี่แหละ ท่านจะต้องรู้จากชื่อนี้ดี เพราะว่า บ้านภรรยาคนที่ชื่อนิ่ม แม่น้องตาบ อยู่ในคลองบางกรวยไม่ไกลจากบางอ้อช้างมากนัก วันนั้นท่านไปถึงวัดบางอ้อช้างเป็นเวลาอุษาสาง นกกาตื่นแล้วส่งเสียงร้องขานประสานเสียงกันเซ็งแซ่ ดอกไม้ในเรือกสวนเริ่มคลี่กลีบเบ่งบานรับแสงอรุณ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ บทครวญของท่านตอนนี้ไพเราะเพราะพริ้งมาก เกินที่ผมจะอภิปราย ขยายความครับ
 วัดสักใหญ่ : บางกรวย นนทบุรี เรือเลยบางอ้อช้างมาถึงวัดสัก ท่านก็คิดเปรียบเทียบความคิดของตัวเองว่า เหมือนคนที่รักผู้ที่มีศักดิ์สูงจนเกินสอย ซึ่งนักอ่านกลอนส่วนมากก็ตีความกันว่า หมายถึงสุนทรภู่หลงรักพระราชธิดา ร. ๓ นั่นเอง เรือเลยวัดสักถึงบางขนุนขุนกอง (ต.ขุนกองปัจจุบัน) ท่านก็ให้ความรู้ว่าเดิมบางนี้ชื่อบางถนนเป็นที่ขนของในสมัยท้าวอู่ทอง เรียกกันสืบมานานเข้าก็เพี้ยนเป็นขนุนขุนกองไปไม่เหมือนเดิม
วันนี้อ่านมาพักอยู่ตรงบางขนุนขุนกองก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อเถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๕ -
บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้ ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย เป็นเลิศชายเชี่ยวชาญการวิชา
ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร สมสนิทนางจระเข้เสน่หา เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องยา จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครันฯ
ถึงคลองขวางบางระนกโอ้อกพี่ แม้นปีกมีเหมือนหนึ่งนกจะผกผัน ไปอุ้มแก้วแววตาพาจรัล มาด้วยกันนั้นทั้งคู่ที่อยู่ริม
คงร่วมเรือเมื่อว่าตื่นสะอื้นอ้อน จะคอยช้อนโฉมอุ้มไม่หยุมหยิม ให้แย้มสรวลชวนเสบยเฝ้าชยชิม กว่าจะอิ่มอกแอบแนบนิทราฯ”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกัน ท่านผ่านมาถึงบางขนุนขุนกอง คือบางขนุนในปัจจุบัน ก็ได้ให้ความรู้ว่า อดีตบางนี้ชื่อถนนเป็นที่กองขนถ่ายสิ่งของในสมัยท้าวอู่ทอง ชื่อเรียกกันนานเข้าก็ผิดเพี้ยนไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 วัดบางไกรใน (วัดบางนายไกร) ต. บางขุนกอง อ. บางกรวย จ. นนทบุรี กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน เรือแจวของทานสุนทรภู่ลอยลำมาถึงบางนายไกร อันเป็นที่อยู่บ้านเดิมของนายไกรทองตามนิทานพื้นบ้านที่ว่ามีวิชาอาคมขลัง อาสาปราบชาละวัน จระเข้ตัวเก่งแห่งเมืองพิจิตร เมื่อปราบชาละวันจนสิ้นชีพแล้ว เจ้าเมืองพิจิตรได้มอบธิดาทั้งสองคือ ตะเภาทอง ตะเภาแก้ว ให้เป็นภรรยา มิหนำยังได้นางจระเข้ทั้งสองของชาละวัน คือ เลื่อมลายวรรณ วิมาลา มาเคียงครองอีกด้วย ท่านสุนทรภู่ครวญว่า หากพี่ได้ครองแม้น้องเพียงนางเดียวก็จะเป็นการเอื้อให้หน้าดูงามขึ้นแล้ว ครั้นเรือลอยลำถึงคลองบางระนก ก็ครวญว่า หากมีปีกบินได้เหมือนนก จะบินไปอุ้มน้องนางแก้วแววตาพาจรมาลงเรือ เมื่อเธอตื่นสะอื้นอ้อนก็จะช้อนร่างกางแขนอุ้มไม่หยุมหยิม ให้แย้มสรวลชวนเชยชิมจนอิ่มอกแล้วนอนอิงแอบแนบนิทรา....
 คลองบางคูเวียง : บางกรวย นนทบุรี “บางคูเวียงเสียงเงียบเชียบสงัด เป็นจังหวัดเวียงสวนล้วนพฤกษา ดูรูปนางบางคูเวียงเหมือนเนียงนา ไม่เหมือนหน้านางนั่งในวังเวียง
เห็นโรงหีบหนีบอ้อยเขาคอยป้อน มีคนต้อนควายตวาดไม่ขาดเสียง เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่วางเรียง โอ้พิศเพียงชลนาที่จาบัลย์
อันลำอ้อยย่อยยับเหมือนกับอก น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาพี่กว่าขัน เขาโหมไฟในโรงโขมงควัน ให้อัดอั้นอกกลุ้มรุมระกำ
อันน้ำในใจคนเหมือนต้นอ้อย ข้างปลายกร่อยชืดชิมไม่อิ่มหนำ ต้องหันหีบหนีบแตกให้แหลกลำ นั่นแหละน้ำจึงจะหวานเพราะจานเจือฯ” |
* เรือแจวมาถึงบางคูเวียงเป็นดินแดนของเรือกสวน ท่านสุนทรภู่ตาไวมองเห็นหญิงชาวบางคูเวียงแต่ละนางว่า ตัวเหมือนเนียงนา คือดำเหมือนตัวเหนี่ยงในท้องนา ไม่เหมือนนางในวังเวียง เห็นเขากำลังหีบอ้อยทำน้ำตาลอ้อยกัน และได้ยินเสียงคนร้องตวาดควายด้วย ท่านเปรียบเทียบเรื่องอ้อยไว้น่าฟังมาก ว่าน้ำอ้อยที่ไหลย้อยลงในรางที่วางเรียงนั้นเหมือนน้ำตาที่ท่านร่ำไห้ ลำอ้อยที่ถูกหีบบดแตกยับเหมือนอกท่านแตกเพราะถูกทุกข์โศกถมทับ น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาท่านที่ตกลงเต็มขัน แล้วท่านก็คิดเปรียบเทียบน้ำใจคนว่าเหมือนน้ำในลำอ้อย ตอนที่จากโคนถึงกลางลำ น้ำจะหวาน ตอนปลายลำจะจืดจางความหวานไป เหมือนน้ำใจคน เมื่อคบและรักกันใหม่ ๆ ก็จะหวาน พอนานไปก็จืดจาง ดังนั้นคนหีบอ้อยที่ฉลาดจึงเอาต้นอ้อยมาหีบตั้งแต่ต้นจนสุดปลาย เพื่อให้น้ำหวานข้นกับน้ำหวานจืดจางปนกันให้เหลือความหวานเพียงรสเดียว...
 วัดอัมพวัน (วัดบางม่วง) ต. บางม่วง อ. บางใหญ่ จ. นนทบุรี “ถึงบางม่วงง่วงจิตคิดถึงม่วง แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ
เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วนะแก้วตาฯ |
 คลองบางใหญ่ : ต. บางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี Cr. Photo By พี่หนุ่ม-สุทน ถึงบางใหญ่ให้จอดทอดประทับ เข้าเทียบกับกิ่งรักไม่พักหา เมื่อกินเข้าเขาก็หักใบรักมา จิ้มปลาร้าลองดูด้วยอยู่ริม
อร่อยนักรักอ่อนปลาช่อนย่าง เปรียบเหมือนอย่างเนื้อนุ่มที่หยุมหยิม อยากรู้จักรักใคร่พึงได้ชิม ชอบแต่จิ้มปลาร้าจึงพารวย
โอ้รักต้นคนรักเขาหักให้ ไม่พักได้เด็ดรักไม่พักฉวย แต่รักน้องต้องประสงค์ถึงงงงวย ใครไม่ช่วยชักนำให้กล้ำกลืน
เสพอาหารหวานคาวเมื่อคราวอยาก ล้วนของฝากเฟื่องฟูค่อยชูชื่น แต่มะแป้นแกนในจะไปคืน ของอื่นอื่นอักโขล้วนโอชา |
ตามสิ่งของน้องรักฟักจันอับ แช่อิ่มพลับผลชิดเป็นปริศนา พี่จะจากฝากชิดสนิทมา เหมือนแก้วตาตามติดมาชิดเชื้อ
แผ่นขนุนวุ้นแท่งของแห้งสิ้น แต่ละชิ้นชูใจสงสัยเหลือ ได้ชื่นชิมอิ่มหนำทั้งลำเรือ เพราะน้องเนื้อนพคุณกรุณา
แล้วเข้าทางบางใหญ่ครรไลล่อง ไปตามคลองเคลื่อนคล้อยละห้อยหา เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา สะอื้นอาลัยถึงคะนึงนวล
แม้นแก้วตามาเห็นเหมือนเช่นนี้ จะยินดีด้วยดอกไม้ที่ในสวน ไม่แจ้งนามถามพี่จะชี้ชวน ชมลำดวนดอกส้มต้นนมนาง
ที่ริมน้ำง้ำเงื้อมจะเอื้อมหัก เอายอดรักให้น้องเมื่อหมองหมาง ไม่เหมือนหมายสายสวาทจะขาดกลาง โอ้อ้างว้างวิญญาในสาครฯ” |
ปล่อยกลอนยาวมาถึงตรงนี้เพื่อให้อ่านกันอย่างจุใจ ใจความในคำกลอนชัดเจนดีแล้ว ผมขออนุญาตไม่อภิปราย ขยายความกลอนตอนนี้นะครับ พักไว้ตรงย่านบางใหญ่นี้ก็แล้วกัน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ วันอังคารที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ / ๐๕.๔๒ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|