บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๐ -
ตอบท้องตรามาเหน็บอย่างเจ็บแสบ ติเตียนแบบผู้ดีมิใช่ไพร่ ขุนทหารผ่านศึกพม่าไทย มาเป็นใหญ่นายทัพกลับหย่อนยาน
ล้วนประมาทขาดระวังนั่งนอนเล่น ปล่อยญวนเข่นฆ่าได้ไม่ต่อต้าน จึง“ฉิบหายตายโหง”ลงซมซาน เสียราชการเสียศรีวีรชน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้คนถือเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลถึงเรื่องเสบียงอาหารที่ไม่ได้รับครบจำนวนตามท้องตรา ในยามนี้เมืองพนมเปญขัดเสบียงอาหารอย่างหนัก จนเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดจะยกจากพนมเปญไปตั้งอยู่ที่เมืองอุดงฦๅไชย แต่เกรงญวนจะยกมายึดเมืองพนมเปญอยู่อีก จึงให้แม่ทัพนายกองตั้งค่ายใหญ่ไม้แก่นในที่วังเก่าของนักพระองค์จันทร์ จัดให้แม่ทัพนายกองเมืองนครราชสีมาร่วมกับเขมรคุมไพร่พลหมื่นหนึ่งอยู่รักษาค่าย แล้วสั่งให้เจ้าพระยายมราชนำไพร่พลที่แตกหนีญวนมานั้น ไปสร้างเมืองใหม่ ณ ตำบลคลองพระยาลือ แขวงอุดงคฦๅไชย ให้เป็นที่ประทับนักพระองค์ด้วง แล้วมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลเรื่องขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก จนถึงขนาดไพร่เกณฑ์จากหัวเมืองอดอยากผอมโซล้มตายล ง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป เชิญอ่านข้อความดังต่อไปนี้ครับ......
พนักงานนำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบออกไปว่า
 “ราชการที่เมืองเขมรนั้น ได้ทรงพระราชดำริคาดคะเนการงานในกองทัพนั้น ก็ทรงคะเนทราบอยู่บ้างแล้วว่า ไพร่พลไทย,ลาว,เขมร คงจะอดอยากด้วยมากรากกรำทำศึกกับญวนอยู่หลายปี เห็นจะขัดสนเสบียงอาหารข้าว,ปลา,เกลือ,เสื้อผ้าเป็นแน่ เพราะฉะนั้นเมื่อกองทัพเรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จออกไปตีเมืองบันทายมาศนั้น ก็ได้พระราชทาน้าวสาร ๘๘๓ เกวียน ๕๕ ถัง ข้าวตาก ๑๖๗ เกวียน เกลือ ๑๖๐ เกวียน ๕๐ ถัง ยาสูบเพชรบูรณ์เกาะกร่าง ๕๐๐ ลัง ปลาเค็มน้ำจืดน้ำเค็ม ๒๐๐ กระสอบ ผ้าตาเมล็ดงาผ้าเขียวคราม ๕,๗๘๐ ผืน เสื้อ, กางเกง, หมวก, หวายคาดเอว ๕,๐๐๐ สำรับ สิ่งของทั้งนี้ให้ออกไปส่งที่เมืองกำปอด กองทัพเรือก็ได้นำสิ่งของข้าวปลาเกลือเหล่านี้ส่งส่งที่เมืองกำปอดแต่อย่างละเล็กละน้อย หาได้ครึ่งไม่ เป็นแต่ส่งเสื้อกางเกงหมวกนั้นและหมดจำนวน แล้วก็พาข้าวปลา เกลือ ยาสูบ กลับเข้ามาในกรุงเทพฯอย่างละมาก ๆ เมื่อขนขึ้นขนลงถ่ายไปเทมาหลายเที่ยวดังนั้นแล้ว จนของเหล่านั้นป่นปี้เสียหายไปมาก หาประโยชน์ไม่ เสียเงินเปล่า ๆ แล้ว กลับมาพูดจายักเยื้องเป็นการแก้ตัวว่า มีเรือเล็กลำเลียงน้อยลำนัก ครั้นจะลำเลียงหลายสิบเที่ยวก็กลัวน้ำในคลองเมืองกำปอดจะแห้งหมด เรือลำเลียงและไพร่พลที่ขนข้าวเกลือจะออกก็ไม่ได้ เพราะที่ปากน้ำเมืองกำปอดตื้นหนัก พูดยักเยื้องไปต่าง ๆ อย่างนี้ เห็นว่าไม่เป็นใจแก่ราชการบ้านเมือง ดูเหมือนทำโดยเสียไม่ได้ ทำการงานอย่างมักง่ายใจด่วน รีบจะกลับมาบ้านหาความสุขสบายเท่านั้นเอง ครั้นรู้เท่ารู้ทันบ้างจะให้ชำระสะสางให้ได้ความจริงลงเป็นตัวอย่างบ้าง ก็จะเป็นความความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้ราชการไปด้วยก็มีมาก เพราะฉะนั้นจึงได้อดกลั้นข่มขืนกลืนความที่เสียหายเหล่านี้เสียหมด ไม่อยากจะออกปากพูดต่อไป
อนึ่ง กองทัพเรือเมื่อยกลงไปรบไปตีญวน ไม่ได้นัดหมายให้ทัพบกมาพรักพร้อมกันระดมตีญวน ไปทำตามกำลังทัพเรือพวกเดียว ทำก็ไม่สำเร็จโดยอำนาจทัพเรือ จึงต้องกลับมาไม่เป็นราชการสักอย่างเดียว แต่คราวนั้นได้ยินว่ากองทัพเรือรีบกลับมาเสียโดยเร็ว เพราะตื่นข่าวคราวว่าทัพญวนเมืองไซ่ง่อนจะยกเพิ่มเติมมาทั้งทัพเรือและบก จึงตกใจกลัวญวน รีบเลิกถอนกลับมาเสียก่อนเมื่อยังไม่ได้เห็นว่าทัพญวนจะมาจริงหรือไม่จริง สุดแต่อ้ายญวนเชลยมันพูดจาหลอกลวงอย่างไรก็เชื่อถ้อยคำมัน มันจะขู่หรืออย่างไรก็ไม่รู้ กองทัพฝ่ายหนึ่งยังกำลังยกเข้าประชิดติดพันสู้รบกับญวนอยู่โดยสามารถ ฝ่ายหนึ่งก็ทิ้งพวกกันเสีย ถอยกลับมาไม่ได้บอกกล่าวให้รู้ตัวก่อน เดชะบุญเผอิญญวนก็ล่าทัพไป พวกที่ติดพันกันนั้นจึงได้ถอยหลังตามกันออกมาบ้าง ถ้าญวนยังไม่หนีแล้วที่ไหนเล่าคงตายกันเกือบหมด เพราะทัพหนุนล่ามาก่อนไม่บอกทัพหน้าให้รู้ตัวบ้าง
ฝ่ายทัพบกเล่าไพร่พลก็มีมากทั้งไทย, ลาว, เขมร หลายหมื่นคน นายทัพนายกองข้างวังหน้าก็มีมาก แต่ล้วนเคยทัพเคยศึกลาวเวียงจันทน์และพม่าทวายมาแทบจะทุกคน ก็ไปตั้งล้อมญวนคราวนี้ก็พากันนิ่งดูใจญวนเสียหมด ไม่คิดอ่านหาชัยชำนะแก่ญวนบ้าง ไปตั้งอยู่สู้รบกับลมเฉย ๆ ก็แต่พวกวังหน้านั้นเขาเป็นแต่ลูกกองเหมือนช้างตีนหลัง ผู้ใหญ่ไม่ใช่สอยคิดอ่านก่อน เขาจะทำก่อนก็จะพาลหาผิดแก่เขา ฝ่ายท่านแม่ทัพนายกองพวกวังหลวงเก่าถึงน้อยตัวก็จริง แต่ว่าเป็นผู้ใหญ่มีบรรดาศักดิ์มาก กินถึงพานทองก็หลายคน แต่ไม่คิดอ่านรีบรัดรบตีญวนประการหนึ่งประการใดก็ไม่ทำ ไปตั้งค่ายล้อมญวนอยู่เก้อ ๆ ไม่เป็นราชการ ดูเหมือนจะคอยแตกคอยวิ่งหนีญวนเล่นอย่างเช่นเด็ก ๆ มันเล่นรบกัน ท่านเจ้าคุณ พระยา,พระ,หลวง,ขุน,หมื่น,นายเวร ทั้งวังหลวงวังหน้าและหัวเมืองด้วย ไม่ช่วยกันคิดอ่านระวังตัวรักษาชีวิตพวกไทย,ลาว,เขมร พวกเดียวกัน พากันเลินเล่อหมิ่นประมาทต่อการศึกสงคราม ถือว่ามีพวกมาก ๆ ไม่เป็นไร และล้อมญวนไว้รอบแล้วมันจะหนีแหกออกไปไหนได้ เพราะคิดเช่นนี้ ญวนข้าศึกจึงได้ไล่แตกมาทั้งสิ้น เกือบจะไม่รอดตัวได้ทั้งหมด นี่หากว่าญวนไม่ไล่ติดตามซ้ำเติมอีกจึงได้รอดมาได้มาก ถ้าเป็นเช่นทัพศึกพม่าและทวายหรือลาวดังนี้ มันก็จะไล่ไม่ให้หนีรอดมาได้เลยแต่สักคน
ฝ่ายท่านเจ้าคุณเจ้าพระยายมราช เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งอายุก็มากและยศอำนาจวาสนาก็มากกว่านายทัพทุกคน ใคร ๆ เขาก็รู้อยู่ว่าเป็นตระกูลสุริยวงศ์ข้าหลวงเดิมทั้งฝีมือก็เคยเข้มแข็ง แต่ว่าคราวนี้ไม่รู้เท่ารู้ทันกลอุบายญวน มันคิดหลอกลวงให้ตายใจจนจะไม่ถืออาวุธ เพราะความที่เลินเล่อหมิ่นประมาทจนกองทัพญวนยกมาก็ไม่รู้ตัว ต่อมันมาใกล้ถึงตัวเสียแล้วจึงได้คิดจะต่อสู้ก็สู้ไม่ทัน เพราะมันเผาค่ายได้ก่อน ไทยก็เสียทีเสียรู้ญวน ญวนไล่ฆ่าฟันยิงแทงเล่นดังเขาว่าลูกไก่อยู่ในมือ ครั้งนั้นทัพไทยก็แตกยับเยินป่นปี้มาเหมือนเขาว่าฉิบหายตายโหง เพราะฝ่ายไทยตายด้วยถูกอาวุธจึงว่าตายโหง ที่ไม่ตายวิ่งตะเกียกตะกายหนีรอดมาได้ ก็เสียประคำทองที่คล้องคอและเครื่องอาวุธและของใช้สอยมาก จึงว่าฉิบหาย ถ้าไม่มีความหมิ่นประมาทแก่ข้าศึกแล้ว และตั้งใจอุตสาหะระวังให้รู้เท่ารู้ทันชั้นเชิงศึกสงครามกลอุบายญวนก่อน ถึงมาทว่าญวนจะยกรี้พลมามากสักเท่าใดก็ดี มันก็คงเดินดินมาก่อนกว่าจะถึงค่ายไทย ไทยก็จะได้ยิงโต้ตอบไปบ้าง ญวนคงจะตายลงไม่มากก็น้อย เพราะกองทัพอยู่ในค่ายได้เปรียบญวนมาก ปืนใหญ่น้อยในค่ายก็มีพร้อม ช่างทิ้งเสียได้ ไม่ยิงมันไปบ้าง ปล่อยให้ญวนมาทำเล่นถึงค่ายได้ง่าย ๆ ไม่รู้สึกบ้างหรือ ถึงว่าญวนจะมีฤทธิ์รี้พลเหมือนขุนแผนก็ดี ถ้าไทยไม่ประมาทรู้ตัวก่อนญวนยกมาได้เต็มใจสู้รบจริง ๆ แต่เมื่อแรกญวนมานั้น ญวนก็จะล้มตายลงด้วยเครื่องศาสตราวุธของไทยพอ ๆ ดูอยู่หนา นี่พากันนิ่งเฉยเสียหมด จนญวนมาถึงค่ายไทย ไทยก็แตกหนีเท่านั้นเอง ช่างกลัวญวนราวกับมันเหาะได้ เมื่อแตกหนีไปก็เสียเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารมากมายอยู่ จนต้องถึงกับอดอยากต้องกินข้าวปนผัก ครั้งนี้จะให้ทัพเรือบรรทุกข้าวเกลือที่เหลือกลับมา และจะจัดเสบียงอาหารเพิ่มเติมให้ไปส่งที่เมืองกำปอดอีกก็เห็นจะไปมายาก เกลือกจะไม่เป็นการงาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ เข็ดสติปัญญาเจ้าประคุณพระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองทั้งบกและเรือเสียแล้ว ถ้าจะบังคับให้ไปส่งเสบียงแต่เพียงที่เมืองกะพงโสมเห็นจะส่งได้ง่าย เพราะว่าไกลกลิ่นอุจจาระปัสสาวะญวนข้าศึกสักหน่อย เพราะใกล้ทางเมืองจันทบุรีเข้ามา พอจะหลบหลีกหนีกลิ่นมูตรคูถญวนเข้ามาเมืองจันทบุรีได้โดยเร็ว ถ้าจะให้ไปส่งดังที่ว่านี้ เห็นทีพอจะกดขี่ข่มขืนให้นำข้าว,เกลือ,ปลา,ยาสูบ ออกไปส่งกองทัพบก ลองดูตามบุญตามกรรมอีกสักครั้งหนึ่ง เห็นหน้าอยู่ก็แต่พวกแขกอาสาจาม ทั้งวังหลวงและวังหน้าพอจะใช้ให้ไปส่งเสบียงอาหารครั้งนี้ได้บ้าง พวกไหนเขาไม่สู้จะเต็มใจก็ไม่อยากจะใช้สอยเขา เพราะเข็ดความคิดเขาแล้ว บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสำเนาหนังสือบอกพระยาพิพิธวิจิตรพันธุวงศาปัญญาโกงโหงพรายกระทายพรูด แม่กองทัพเรือหัวเมืองออกมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาสอบตรวจดูสติปัญญาในใบบอกหลอกลวง แก้ตัวกลโกงของพวกนายทัพนายกองเรือครั้งนั้นดูเล่นด้วย”
 ** อ่านเนื้อความในท้องตราที่มีไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาจนจบแล้ว ทุกท่านรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงสิ้นหวังในการจะพึ่งพาอาศัยใช้สอยข้าราชการแม่ทัพนายกองของพระองค์เสียแล้ว สงครามไทยญวนในเขมรพระองค์ไม่เห็นชัยชนะตามพระราชประสงค์ พระราชดำรัสเหน็บแนมทัพนายกองเจ็บแสบมาก ไม่รู้ว่าแม่ทัพนายกองไทยได้ยินแล้วจะรู้สึกกันอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, มนชิดา พานิช, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ข้าวหอม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลายเมฆ, เนิน จำราย, ตุ้ม ครองบุญ, เฒ่าธุลี, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๑ -
นักองค์อิ่มพิราลัยด้วยไข้บิด ญวนหมดสิทธิ์เชิดหุ่นหายเหตุผล ส่วนหนึ่งถอยกลับเว้ด้วยกังวล ขบถปล้นตังเกี๋ยสูญเสียเมือง
ทัพญวนอ่อนผ่อนคลายไทยควรรุก แค่เตรียมบุกก็ต้อง “ท้องเป็นเรื่อง” ขาดเสบียงเลี้ยงทหารพาลฝืดเคือง รอการเปลื้องปัญหาจากนาวี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าให้มีท้องตราถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา มีพระราชดำรัสถึงเรื่องการส่งเสบียงอาหาร และการรบญวนที่คลองขุดใหม่ ความในท้องตรายาวมากตามที่ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้ว วันนี้มาอ่านเรื่องต่อครับ......
 ฝ่ายฟ้าทลหะ สมเด็จเจ้าพระยา พระยาราชไมตรี พระยาจักรี พระยากลาโหม พระยาสุภาธิราช พระยา พระเขมรผู้ใหญ่ทั้งหกนี้ออกจากเวรจำแล้ว จึงกราบทูลอาสาพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีว่า จะคิดอ่านคืนเมืองเขมรถวายขึ้นแก่แผ่นดินญวนให้ได้ พระยา พระเขมรผู้ใหญ่ที่รับอาสามานั้นจึงพานักพระองค์อิ่มลงมาตั้งที่พักอยู่ ณ ค่ายกะพงกะสัง แล้วพระยา พระเขมรผู้ใหญ่ก็ทำหนังสือมาเกลี้ยกล่อมพระยา พระเขมรเก่า ๆ ที่เป็นพวกพ้องนั้นถึง ๑๒ ฉบับ พระยา พระเขมรเหล่านั้นก็เก็บหนังสือเกลี้ยกล่อม ๑๒ ฉบับนั้นมาให้นักพระองค์ด้วงทั้งสิ้น หามีผู้ใดไปเข้าด้วยนักพระองค์อิ่มไม่ พระยา พระเขมรฝ่ายใต้เมื่อมาตั้งเกลี้ยกล่อมพระยา พระเขมรฝ่ายเหนือไม่สมคิดแล้ว จึงพานักพระองค์อิ่มกลับลงไปอยู่เมืองโจดกดังเก่า แม่ทัพญวนก็ตั้งทัพใหญ่คุมเชิงอยู่ ณ เมืองโจดก
 ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนสิบเอ็ดแรมสี่ค่ำ ในปีขาลจัตวาศกนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกให้จ่าจิตรนุกูลมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งใจความว่า ได้แต่งพระอนุรักษ์ภูธรกับหลวงเสน่หาภักดีเขมรสองนาย คุมไพร่เขมรลงไปลาดตระเวนสืบข้อราชการทัพญวน กองตระเวนไปถึงเมืองไพรกะบากเป็นแดนเขมรต่อแดนญวนเมืองโจดก กองตระเวนพบนายโสม นายมา นายหง เขมรเก่าเมืองพนมเปญลูกค้าไปเมืองโจดกกลับมา กองตระเวนก็พาเขมรลูกค้าทั้งสามคนมาถึงเมืองอุดงคฦๅไชย นักพระองค์ด้วงถามนายโสม นายมา นายหง ให้การว่า ได้ไปค้าขายในเมืองเขมรฝ่ายญวน ญวนก็ไม่ว่า เป็นแต่ว่าเขมรพวกฝ่ายเหนือมาค้าขายก็อย่าให้จับกุมห้ามปราม ปล่อยให้ไปมาค้าขายตามสบายใจ ไม่ให้ตั้งด่านจับเหมือนเมื่อครั้งองเตียนกุนแม่ทัพคนเก่าที่ถึงแก่กรรม เพราะฉะนั้นลูกค้าฝ่ายเขมรเหนือพวกนักพระองค์ด้วงซึ่งอดอยากจึงต้องไปค้าขายแลกเปลี่ยนเสมอ องเกียนเลือกแม่ทัพญวนคนใหม่นี้จัดการให้เย็น เพื่อจะเกลี้ยกล่อมเขมรฝ่ายเหนือที่อดอยาก เมื่อนายโสม นายมา นายหง ลงไปค้าขายนั้น ไปถึงคลองปากบึงแล้ว ไปถึงค่ายกะพงกะสังฝั่งตะวันออกใกล้เมืองโจดก เห็นญวนสองคนพายเรือเล็กออกมาจากตลาดหน้าเมืองโจดก พอจะเลี้ยวเข้าในคลองปากบึงก็พอนายโสม นายมา นายหง พายเรือลงไปถึงแม่น้ำใหญ่ใกล้ปากคลองปากบึง จึงรู้จักหน้ารู้จักชื่อญวนทั้งสอง ญวนทั้งสองชื่อนายหุ่งคนหนึ่ง ชื่อนายเก่อคนหนึ่ง นายโสม นายมา นายหง เคยไปมาค้าขาย จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับนายหุ่งนายเก่อ นายเก่อก็ทักนายโสม นายมา นายหง นายหงจึงเรียกญวนทั้งสองให้แวะเข้ามาพูดจากันตามภาษาญวน แล้วนายโสมเขมรถามญวนสองคนว่า ได้ยินข่าวเขาพูดกันว่านักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรป่วยหนักจริงหรือ?
นายหุ่งนายเก่อตอบว่า ป่วยหนักเกือบจะตายจริง แต่เดี๋ยวนี้หายเป็นปกติแล้ว
นายโสมเขมรถามนายหุ่งนายเก่อว่า เดี๋ยวนี้นักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรอยู่ที่ไหน?
ญวนชี้มือว่า อยู่ที่ในค่ายกะพงกะสังตรงหน้าเรือเราจอดนี้
นายโสมถามต่อไปว่า นักพระองค์อิ่มนั้นมาอยู่ในค่ายนี้ทำไม?
ญวนตอบว่า องทำตานแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนให้พระยา พระเขมรผู้ใหญ่คือ ฟ้าทลหะ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยาราชไมตรี พระยาจักรี พระยากลาโหม พระยาสุภาธิราช ขุนนางเก่าที่ถอดตรวนมาแต่กรุงเว้นั้น พานักพระองค์อิ่มมาตั้งเกลี้ยกล่อมพวกเขมรอยู่ที่นี้
นายโสมเขมรถามว่า เราทั้งสามคนนี้เป็นเขมรข้าแผ่นดินนักพระองค์อิ่ม นักพระองค์อิ่มก็เป็นเจ้านายฝ่ายเรา เราจะไปเยี่ยมเยือนบ้างจะได้หรือไม่ ?
ญวนตอบว่า ถ้าเองไป เองก็กลับมาค้าขายไม่ได้ เพราะทหารญวนเห็นแปลกใจก็จะจับเองไปฆ่าเสีย หรือจะส่งไปจำตรวนขังคุกก็ไม่รู้ จะไปหาเขาทำไม ไปค้าขายหากินของเราตามภาษาราษฎรดีกว่า ไปเกี่ยวข้องกับราชการทัพศึกไม่ดีเลย
แล้วนายโสมถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นเราก็ไม่ไป แต่ว่าเราอยากรู้ว่า เดี๋ยวนี้ญวนกับเขมรคิดอย่างไรบ้างในการบ้านเมืองเขมรนี้
นายหุ่งนายเก่อตอบว่า เดี๋ยวนี้พระยา พระเขมรผู้ใหญ่เก่า ๆ ที่ออกจากคุกนั้น ได้จัดกองทัพใหญ่ฝ่ายเขมรหลายพัน แขกจามด้วย ไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ค่ายจะโรยจังวา นักพระองค์อิ่มก็ไปดูแลอยู่ด้วย เห็นจะคิดอ่านคืนแผ่นดินเขมรให้ได้เป็นแน่ กับนักพระองค์อิ่มพูดอยู่เสมอว่า จะแย่งชิงแผ่นดินพระองค์ด้วงน้องชายให้ได้
นายโสม นายมา นายหง เขมรถามญวนต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้นใครจะแพ้ใครจะชนะเล่า
นายหุ่งนายเก่อตอบว่า ที่ไหนไทยจะสู้ญวนได้เล่า เดี๋ยวนี้จ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนเกณฑ์ไพร่พลญวนห้าพัน ให้องจันลันบินเป็นแม่ทัพคุมทหารญวนห้าพัน แต่ล้วนเป็นทหารได้ฝึกหัดซักซ้อมทั้งสิ้น ยกมาเกณฑ์ทหารเมืองเตราอีกสามพัน แล้วมาบรรจบกับไพร่พลเมืองมะซางอีกสองพัน รวมเป็นหมื่นหนึ่ง ยกมาถึงเมืองโจดกแล้วแต่ ณ เดือนสาม จะยกลงมาตีกองทัพไทยให้แตกกลับไปให้สิ้น จะตีเมืองเขมรคืนให้นักพระองค์อิ่มให้ได้ แต่ว่าองจันลันบินแม่ทัพเมืองไซ่ง่อนนั้น คอยกองทัพเจ้าเมืองแถบ ชื่อองกวานฮือ เป็นแม่ทัพคุมไพร่พลญวนเมืองแถบเจ็ดพันมาสมทบอีกกองหนึ่ง ได้ยินว่าเจ้าเมืองแถบยกมาถึงเมืองล่องโห้สะมิถ่อแล้ว เต็มช้าอีกสักสิบวันก็จะถึงเมืองโจดก
แล้วนายหุ่งนายเก่อเล่าต่อไปอีกว่า เราได้ยินญวนพี่เขยเรามาแต่กรุงเว้เมืองหลวงบอกแก่เราว่า พระเจ้าเวียดนามองค์ใหม่นี้มีรับสั่งให้องเฮากุนเสนาบดีกรุงเว้ คุมทหารญวนในกรุงเว้หกพันคนยก ลงมาเกณฑ์ทหารตามหัวเมืองอีกสี่พันเป็นหมื่นหนึ่ง ยกมาเพิ่มเติมตีเมืองเขมรให้พระองค์อิ่มให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้กองทัพองเฮากุนยกลงมาถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว จะยกมาเมืองเขมรก็พอเกิดความไข้ป่วงใหญ่ขึ้นที่เมืองไซ่ง่อนก่อน แต่เดี๋ยวนี้ความไข้ป่วงใหญ่ก็เดินมาถึงเมืองบันทามาศเมืองโจดกแล้ว นายทัพนายกองญวนและไพร่พลญวนในเมืองไซ่ง่อนและเมืองโจดกก็ล้มตายมาก เพราะฉะนั้นแม่ทัพญวนจึงได้ตั้งรั้งรออยู่ยังไม่ยกมาเมืองเขมร คอยให้ความไข้ซาลงเมื่อไรเห็นจะยกมาทั้งสามทัพไพ่พลสักสามหมื่นเศษ กับนายหุ่งนายเก่อเล่าต่อไปว่า พี่เขยเราที่มาแต่กรุงเว้บอกแก่เราว่า เดี๋ยวนี้ที่เมืองตังเกี๋ยหัวเมืองใหญ่ขึ้นแก่กรุงงเว้นั้น เป็นขบถขึ้นแล้ว พระเจ้าเวียดนามมีท้องตาลงมาว่า ให้ถอนทัพองเฮากุนหมื่นหนึ่งกลับขึ้นไปรักษากรุงเว้ แล้วให้เกณฑ์กองทัพเมืองใหญ่น้อยไปรบตีเมืองตังเกี๋ยในเร็ว ๆ นี้ด้วย เพราะฉะนั้นการศึกญวนที่จะมาตีเมืองเขมรให้นักพระองค์อิ่มนั้น จึงเงียบสงบไปก่อน ผ่อนกองทัพไปรักษากรุงเว้บ้าง ไปตีเมืองตังเกี๋ยบ้าง อยู่รักษาเมืองเขมรบ้าง
 ครั้น ณ เดือนเจ็ดในปีเถาะเบญจศกจุลศักราช ๑๒๐๕ ปี เป็นปีที่ ๒๐ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ นั้น เจ้าพระยาบดินเดชามีหนังสือบอกให้หลวงพินิจโยธาในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ มีใจความว่า
“นักเทศมารดานักพระองค์ด้วงมีหนังสือลับมาถึงนักพระองค์ด้วงฉบับหนึ่งใจความว่า ณ เดือนสี่แรมสิบค่ำปีขาลจัตวาศก นักพระองค์อิ่มป่วยเป็นโรคบิดแล้วกลายเป็นลงแดงถึงแก่พิราลัย วันศุกร์ เดือนสี่ แรมสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ มีชนมายุได้ ๔๘ ปี องทำตานแม่ทัพญวนให้พระยา พระเขมรจัดการศพโกศ แล้วแต่งการฌาปนกิจเผาศพนักพระองค์อิ่มที่วัดใหญ่เมืองกะพงกะสัง แต่นักเทศมารดาหามีที่พึ่งไม่ ทำฉันใดมารดากับบุตรและญาติพี่น้องจะได้พบปะเห็นหน้ากัน บัดนี้นักเทศมารดากับเจ้าหญิงผู้หลานทั้งสามก็มีความเศร้าโศกถึงบ้านเมือง อยากจะใคร่พบปะกับนักพระองค์ด้วงผู้อาว์ด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งให้เจ้ากรมพระตำรวจและปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ เป็นนายทัพนายกองถึง ๑๖ กอง ให้คุมไพร่พลไทยลาวเขมรไปลาดตระเวนตามแดนต่อแดนเขมรกับญวน ให้คอยจับญวน,เขมร,จีน ในเขตแดนญวนมาได้ถึง ๔๕ คน ได้ไต่ถามข้อราชการบ้านเมืองญวน ก็ได้ความว่า ทัพญวนก็สงบอยู่ ยังไม่ยกมาตีเมืองเขมร เพราะบ้านเมืองฝ่ายญวนเกิดไข้เจ็บมาก กับได้ข่าวว่า ฟ้าทลหะ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยาราชไมตรี พระยาจักรี พระยากลาโหม พระยาสุภาธิราช พระยา พระเขมรผู้ใหญ่ทั้งหกนี้รับอาสาพระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่มาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพระยา พระเขมรพวกพ้องเก่า ๆ ให้เข้าด้วย จะได้ยกมาตีนักพระองค์ด้วง ตีเมืองเขมรถวายแก่พระเจ้าเวียดนาม เดี๋ยวนี้พระยา พระเขมรทั้งหกนั้นยังกำลังตั้งอยู่ที่เมืองบาพะนมแต่ล้วนเขมรทั้งนั้นน้อยตัวประมาณสักสามสี่ร้อยคน ข้าพระพุทธเจ้ากับนักพระองค์ด้วงได้ปรึกษาหารือกับเจ้าพระยายมราช พระยาเพชรบูรณ์ พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาราชสงคราม พระพรหมบริรักษ์ พระพิเรนทรเทพ พระพรหมาภิบาล พระอินทราธิบาล เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เจ้าหมื่นเสมอใจราช หลวงนายสิทธิ์ หลวงนายชิตภูบาล หลวงนายชาญภูเบศร์ และพระยา พระ หลวงนายทัพนายกองผู้น้อยลูกกองอีกมาก เห็นด้วยเกล้ากระหม่อมพร้อมกันว่า บัดนี้กองทัพญวนก็มีไพร่พลรักษาค่ายอยู่นั้นเบาบางน้อยตัวนัก เห็นว่าเป็นท่วงทีมีช่องควรจะตีค่ายญวนได้ถนัด ครั้นจะยกกองทัพไทย,ลาว,เขมร เข้าจู่โจมตีทัพญวนในคราวนี้น่าที่จะมีชัยชนะ แต่ว่าในเดือนเจ็ดข้างแรมต่อกับเดือนแปดข้างขึ้นนั้น ในกองทัพไทยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก ไม่มีกำลังจะต่อสู้กับญวนได้ เพราะไพร่พลบอบช้ำมานาน ไม่มีอาหารจะปรนปรือให้มีกำลัง”
 ครั้นทรงทราบว่ากองทัพไทยที่เมืองเขมรอดอยากอาหารหนัก จึงโปรดเกล้าให้กองเรือพระยาราชวังสันบรรทุกนำเสบียงอาหารเก่าใหม่ รีบไปส่งที่เมืองกำปอดหรือเมืองกะพงโสมก็ตามใจ...
ขณะที่ญวนเกิดขบถในเมืองตังเกี๋ยพร้อม ๆ กับไข้ป่วงใหญ่ระบาดในกองทัพญวน ทำให้ญวนอ่อนกำลังลง ทัพไทยมีช่องทางดีที่จะบุกตีญวนที่อ่อนกำลังลงแล้ว ก็ยังทำไม่ได้ เหตุเพราะทัพไทยเกิดขัดเสบียงอาหาร กองทัพจึงไม่มีท้องจะเดิน พระยาราชวังสันจะส่งเสบียงอาหารบำรุงกำลังไพร่พลในกองทัพไทยให้ตีญวนได้ทันการณ์ไหม ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๒ -
เมืองญวนเกิดแร้นแค้นขาดแคลนมาก ความอดอยากเข็ญขุกเกิดทุกที่ ทั้งไข้ป่วงเกิดซ้ำเข้าย่ำยี่ อีกทั้งมีขบถด้วยเหมือนช่วยไทย
ญวนสงบเงียบไปไม่เอะอะ ดูเหมือนจะเลิกรบจบศึกใหญ่ ทัพสยามยังตั้งระวังระไว มิวางใจราชการอ่านบทเรียน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ญวนประสบปัญหาไข้ป่วงใหญ่ระบาดในกองทัพที่เมืองไซ่ง่อนและเมืองโจดก และเกิดขบถที่เมืองตังเกี๋ย พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีสั่งให้ถอนทัพกลับไปรักษากรุงเว้ส่วนหนึ่ง ยกไปปราบขบถตังเกี๋ยส่วนหนึ่ง อยู่รักษาเมืองเขมรส่วนหนึ่ง เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นท่วงทีมีช่องที่จะเอาชนะญวนแล้ว แต่ยังยกเข้าโจมตีญวนไม่ได้ เพราะไพร่พลอดอยาก ไม่มีกำลังพอที่จะรบข้าศึก จึงมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงทราบฯ แล้วจึงโปรดให้พระยาราชวังสันขนเสบียงอาหารส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......
 “ ครั้น ณ วันเสาร์เดือนสิบสองแรมสองค่ำในปีเถาะเบญจศกนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจับช้างเล็บครบได้ที่ป่าพระพุทธแขวงเมืองอุดงคฦๅไชย ให้หลวงคชศักดิ์กับหลวงศรีคชรินทรวังหน้า นายจ่าสรวิชิตมหาเล็กในพระราชวังบวรฯ คุมช้างพลายเล็บครบสูงสามศอกสิบเอ็ดนิ้วเข้ามาถวาย โปรดให้ขึ้นระวางแล้วพระราชทานชื่อว่า “พระบรมนัขนาเคนทรนเรนทรดุรงคสวรรค์ อนันตคุณ พระรุณสาครลักษณวิลาศเลิศฟ้า”
ครั้น ณ เดือนสามปีเถาะเบญจศกนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้หลวงศรีโภคาถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “ได้แต่งให้จมื่นเทพสุรินทร์ จมื่นอินทรประภาษ เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้า ไปสืบราชการทัพญวนได้ความว่า ที่เมืองญวนเกิดความไข้ป่วงใหญ่ตั้งแต่ปีขาลจัตวาศก มาจนถึงปีเถาะเบญจศกผู้คนตายมาก เดี๋ยวนี้ไข้ยังไม่สงบเรียบร้อยดี ที่เมืองญวนนั้นราษฎรก็ไม่ได้ทำไร่ทำนา ข้าวปลาอาหารก็แพง คิดเป็นถังไทยถังหนึ่งราคาถึงถังละสองสลึงเฟื้อง ถ้าข้าวงามเหมือนข้าวนาสวนในกรุงเทพฯ แล้วก็ถึงถังละบาทบ้าง ราษฎรญวนอดอยากมาก เพราะฉะนั้นราชการบ้านเมืองญวนจึงได้สงบเงียบ มิได้ยกกองทัพมารบกวนเขมร ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ให้พระยา พระเขมรคุมไพร่เขมรไปตั้งค่ายที่เมืองกะพงขมุมสามค่าย
 ให้จมื่นศักดิแสนยารักษ์ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ กับพระวิชิตสงคราม พระรามณรงค์ ในพระราชวังบวรฯ กับหลวงกันธ์พยุหบาท หลวงราชเสวก หลวงอภัยเสนา ในพระราชวังหลวง และพระยาณรงค์สงครามเขมร พระณรงค์วิไชยเขมร รวมแปดคน คุมไพร่พลลาวเขมร ๖,๔๐๐ ไปรักษาค่ายเมืองกะพงขมุมสามค่าย
แล้วให้พระยา พระเขมร คุมไพร่พลเขมรไปตั้งค่ายที่ตำบลบ้านโรงดำรีสองค่าย ให้จมื่นอินทรเสนาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ หลวงภักดีชุมพลในพระราชวังบวรฯ กับหลวงจงใจยุทธในพระราชวังหลวง กับพระยานราธิบดีเขมร พระพิทักษ์เสนาเขมร รวม ๕ คน คุมไพร่พลลาวเขมร ๕,๐๐๐ ไปรักษาค่ายโรงดำรีทั้งสองค่าย
แล้วให้พระยา พระเขมรคุมไพร่พลเขมรไปตั้งค่ายที่ตำบลโพธิ์พระอินทรศีรษะแหลมค่ายหนึ่ง ให้หลวงสวัสดิ์นัคเรศ หลวงพิพิธเสนา สองนายในพระราชวังหลวง กับขุนสวัสดิ์นัครินทร์ในพระราชวังบวรฯ รวมสามนาย คุมไพร่พลลาวเขมรไปรักษาค่ายโพธิ์พระอินทรค่ายหนึ่ง
ได้แต่งขุนนางในพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรฯ กับพระยา พระเขมรให้ไปรักษาค่ายทั้งหกตำบล เพื่อจะป้องกันพิทักษ์รักษาเขตแดนบ้านเมืองเขมรให้เป็นไปโดยปรกติ ก็เรียบร้อยอยู่แล้ว
 บัดนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะขอรับพระราชทานโอกาสเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลข้อราชการบ้านเมืองเขมรสักครั้งหนึ่ง แล้วจะให้พระพรหมบริรักษ์ พระยาพิไชยบุรินทรา เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี และพระยา พระ หลวง นายทัพ นายกองในพระราชวังบวรฯ ก็มีมาก จะให้อยู่เป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วงที่เมืองอุดงคฦๅไชย แต่เจ้าพระยายมราชก็ป่วยจะขอกลับมารักษาตัวในกรุงเทพฯ ด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”
ในเดือนสี่ปีเถาะเบญจศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบออกไปเมืองเขมรใจความว่า
“ซึ่งราชการข้างฝ่ายญวนสงบอยู่นั้น แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ไว้แก่ราชการทัพศึก จึงได้แต่งให้ขุนนางวังหลวงและวังหน้าไปพิทักษ์รักษาค่ายตามด่านทางนั้นก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว อนึ่งซึ่งเจ้าพระยาบดินเดชาเห็นว่าการทัพศึกว่างเปล่าอยู่ จึงอยากจะเข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงระลึกถึงจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่เสมอ แต่ว่าให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตรึกตรองดูให้ให้มาก ๆ ถ้าเห็นเป็นแน่ว่าญวนจะไม่ยกทัพมาตีบ้านเมืองเขมรแน่แล้ว ก็ให้เข้ามาเฝ้าเถิด ถ้ายังมีความสงสัยว่าญวนจะมารบมาตีบ้านเมืองอีกบ้างอย่างไร ก็ให้รั้งรอฟังราชการอยู่ที่เมืองเขมรก่อน แต่เจ้าพระยายมราชนั้นว่าป่วย จะอยากเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ ให้ใกล้มดใกล้หมอที่ดีดี หรือให้ใกล้คนพยาบาลที่ชอบใจ ไข้จะได้หายเร็วนั้น ก็ตามใจเจ้าพระยายมราช จะเข้ามาก็มาเถิด ไม่มีใครเขาขัดขวาง”
เมื่อท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราดังนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เข้ามาเฝ้า ตั้งรักษาราชการอยู่ ณ เมืองเขมร แต่เจ้าพระยายมราชนั้นยังคิดสองจิตสองใจ หาแน่ลงข้างไหนไม่ พอใกล้ตรุษแล้วเจ้าพระยายมราชก็ลาเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ
 ครั้งนั้นกองตระเวนไทย หลวงชาติเสนี หลวงศรีภิรมย์ นายกองในพระราชวังบวรฯ สองนาย ไปลาดตระเวนถึงเกาะยาว ได้เห็นญวนมาเที่ยวหาผลไม้กินหกคน จึงยกเข้าไล่ล้อมจับได้ ส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามไต่ถามได้ความว่า
“เป็นญวนมาแต่กรุงเว้กองทัพก่อนเมื่อองเฮากุนมานั้นแล้ว แจ้งความว่า เมื่อ ณ เดือนสี่ปลายปีเถาะเบญจศกนั้น แม่ทัพเรือฝรั่งเศสชื่อกำมะโดเลเวก คุมเรือกำปั่นรบชื่อเฮอวะอิน มาทอดสมออยู่ที่ปากอ่าวเมืองตูรน ปากน้ำกรุเว้ แล้วแม่ทัพเรือฝรั่งเศสชื่อกำมะโดเลเวกไปหาท่านเสนาบดีกรุงเว้ พวกบาทหลวงฝรั่งเศสห้าคนที่พระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ก่อนรับสั่งให้จำคุกไว้สองปีเศษ เสนาบดีฝ่ายต่างประเทศชื่อองเลโปนั้น นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่ พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่โปรดให้พวกบาทหลวงฝรั่งเศสพ้นจากเวรจำ แล้วพระราชทานให้กำมะโดเลเวก กำมะโดเลเวกก็พาบาทหลวงฝรั่งเศสห้าคนลงเรือกลับไปเมืองฝรั่งเศส”
ครั้น ณ เดือนอ้ายขึ้นเจ็ดค่ำในปีมะโรงฉศกจุลศักราช ๑๒๐๖ เป็นปีที่ ๒๑ ในแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ นั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกให้พระรามณรงค์ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งใจความว่า
 “พระชนะรณชิต พระฤทธิ์รณไชย หลวงยุทธกำแหง หลวงแผลงไพรินทร ข้าหลวงสี่นายในวังหน้า กำกับพระยาทุกขราษฎรเมืองนครราชสีมา ๑ พระยาพลสงครามเมืองพระตะบอง ๑ พระยาวิบูลยราชเขมร ๑ พระสิงหไตรภพเขมร ๑ แปดนายนี้เป็นผู้รักษาด่านทาง ณ ตำบลมะโรม นายทัพทั้งแปดคนนี้ได้แต่งให้หลวงเสนีพิทักษ์เขมรคุมไพร่ไปลาดตระเวน จับญวนมาถามได้ความว่าที่เมืองโจดกนั้นตระเตรียมกองทัพพร้อม ครั้น ณ เดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบห้าค่ำในปีมะโรงศกนั้น องทำตานแม่ทัพใหญ่ให้องโป๋จั่นแม่ทัพคนใหม่ คุมไพร่ญวนพันห้าร้อยคน เรือแง่โอแปดสิบลำออกจากเมืองโจดก เพิ่มเติมมายังค่ายเมืองเปียม คือเมืองปากอ่าวนั้น องฮือยกแม่ทัพที่ค่ายเมืองเปียมเกณฑ์ไพร่พลญวนพันหนึ่ง ไพร่เขมรสองพันห้าร้อย กับปืนใหญ่กระสุนสามนิ้วสี่นิ้วห้านิ้ว ๓๑ บอก ปืนเล็กคาบศิลาพันสามร้อยบอก บรรทุกเรือรบ ๘๐ ลำไว้พร้อม รวมไพร่พลญวนกับเขมรเป็นห้าพันคน จะยกมาตีเมืองกำปอด เป็นแต่ตระเตรียมไว้ยังหาได้ยกไปตีเมืองกำปอดไม่”
 ครั้น ณ เดือนสามขึ้นสิบสองค่ำในปีมะโรงฉศกนั้น จมื่นอินทรเสนาในพระราชวังบวรฯ ให้นายเร็วภักดีและนายรวดภักดี นายเวรทั้งสองคน กับขุนวิเศษไปลาดตระเวนทางด่านกะพงตรา นายเวรทั้งสองกับขุนวิเศษจับนายพรม นายทัน เขมรสองคนได้ ซึ่งถือหนังสือญวนคือองตงภู องโก้จัน องอันสาด แม่ทัพญวนทั้งสาม ณ เมืองโจดกมาถึงพระยา พระเขมร จีน แขกจาม แขกชวา ทั้งปวงในเมืองเขมรให้รู้ทั่วกันว่า
“องญวนทั้งสามได้รับรับสั่งพระเจ้าเวียดนามองค์ใหม่ ให้เราพาเจ้าหญิงเขมรทั้งสามขึ้นมาตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเปญต่อไปอีก ถ้าครั้งนี้พระยา พระเขมรและราษฎรเขมร แขกจาม แขกชวา จีน ทั้งปวงไม่มานับถือเจ้าหญิงเขมร หรือไม่เข้าช่วยรบพุ่งไทย ฝ่ายญวนจะยกกองทัพมาจับพวกพระยา พระเขมรและราษฎรในเมืองเขมรฆ่าเสียให้สิ้นทุกบ้านทุกเมือง จะให้เหลืออยู่แต่น้ำกับฟ้าป่ากับดินเท่านั้น และกองทัพเรือองโก้จันก็มาตั้งอยู่ที่หัวแหลมโคมแขวงเมืองเปียม เป็นเรือแง่โอแง่ทราย ๑๓๙ ลำ ไพร่พลประมาณแปดพัน ยังทัพบกก็จะยกมาอีกภายหลัง”
 ฝ่ายพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวศึกดังนั้นแล้ว ก็ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงแต่งให้พระยาบำเรอบริรักษ์จางวางมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯแม่กองใหญ่ กับพระวิชิตสงคราม ๑ พระรามณรงค์ ๑ ในพระราชวังบวรฯ และ หลวงโจมจัตุรงค์ หลวงเสนาภักดี หลวงจงพยุห หลวงเพชรฉลู ในพระราชวังหลวง รวม ๗ คน เป็นข้าหลวงกำกับพระยาเสนาสงครามเขมร พระเมืองเขมร พระวันสาเขมร พระพิมลอาญาสุริยวงศ์เขมร คุมไพร่ลาวและเขมร ๑,๕๐๐ คน ไปช่วยพระยาโสรัช ออกญาเสนานุชิตรักษาเมืองกำปอด พระยาโสรัชออกญาเสนานุชิตเจ้าเมืองบอกมาว่า
“ได้แต่งป้อมค่ายเก่าไว้รับญวน และได้ลงทำนบปิดปากคลองน้ำกำปอดไว้ ไม่ให้เรือญวนเข้าทางทะเลได้ และลากปืนใหญ่ขึ้นบนเขาด้วย”
** ให้อ่านกันยาว ๆ อีกวันหนึ่ง เพราะเรื่องราวกำลังข้นและใกล้จะจบแล้วด้วย ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองมุโขทัย ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เนิน จำราย, เฟื่องฟ้า, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๓ -
พระยาจักรีเขมรเป็นขบถ ทรยศนักองค์ด้วงด้วยแอบเขียน หนังสือลับตีไทยล้างให้เตียน จะช่วยเปลี่ยนแผ่นดินอย่างยินดี
นักองค์ด้วงรู้ลับจับได้หมด ขังขบถจำไว้มิให้หนี รอคำสั่งให้ประหารในทันที ญวนรอรีตั้งค่ายเรียงรายกัน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... กองลาดตระเวนไทยจับญวนมาสอบถามได้ความว่า ญวนกำลังเตรียมจัดทัพใหญ่ที่เมืองโจดกจะยกเข้าตีเมืองกำปอด แม่ทัพญวนสามนายให้คนเขมรถือหนังสือเข้ามาแจกจ่ายพระยา พระเขมรและราษฎรว่า พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้พาเจ้าหญิงเขมรทั้งสามมาตั้งที่พนมเปญ ขอให้พระยา พระเขมรและราษฎรยอมรับเคารพนับถือ หาไม่แล้วจะยกทัพเข้ามาไล่จับพระยา พระเขมรและราษฎรฆ่าเสียให้สิ้น จะล้างชาติเขมรให้เหลือแต่แผ่นดินว่างเปล่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ไว้วางใจแก่ราชการ จึงจัดกองทัพเพิ่มเติมเข้าสมทบกองทัพพระยาโสรัชออกญาเสนานุชิตเจ้าเมืองกำปอดไว้รอรับศึกญวน วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
 แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดให้พระยาอร่ามมณเฑียรจางวางกรมทหารในในพระราชวังบวรฯ ๑ พระกำจรใจราชเจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงเสนีพิทักษ์ ๑ หลวงคะเชนทรามาตย์ ๑ ในพระราชวังหลวง หลวงกบินทร์บุรี ๑ หลวงแพ่งกรุงเก่า ๑ รวมหกนายเป็นข้าหลวงกำกับพระยานฤเบศเขมร ๑ พระชนะสงครามเขมร ๑ หลวงศรีรณรงค์เขมร ๑ ออกญาเสนาบดีเขมร ๑ ขุนกำแหงสงครามเขมร ๑ หมื่นนำนิวัทธกีเขมร ๑ คุมไพร่พลลาวเขมร ๑,๕๐๐ คน ไปรักษาเมืองเปียมช่วยพระยาเสนานนท์คนเก่ารักษาอยู่ก่อนด้วย ที่ปากอ่าวเมืองเปียม
 แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้มีหนังสือไปถึงพระยาพระยาราชโยธาวังหน้าให้เร่งจัดทัพที่กลับมาแต่เมืองปราจีนบุรี เมืองกบินทร์บุรี เมืองประจันตคาม เมืองวัฒนานคร กับไพร่พลลาวไทยที่มีอยู่เก่าให้รวมกันเข้าให้ได้สี่พัน ถ้าไม่พอให้ขอคนกรุงเก่าที่เตรียมไว้แล้วเพิ่มเติมให้ครบสี่พัน แล้วให้พระชาติสุเรนทรเป็นแม่กองพระยาสิทธาวุทธ์ ๑ หลวงพิฦกโยธา ๑ หลวงมหิมาโยธี ๑ ขุนนราเรืองเดช ๑ ขุนวิเศษจัตุรงค์ ๑ รวมข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ ๖ นาย ให้คุมคนสี่พันนี้ ยกล่วงหน้าไปช่วยข้าหลวงวังหลวงที่รักษาเมืองพนมเปญอยู่แต่ก่อนนั้น รักษาเมืองอย่าให้เสียท่วงทีได้ แล้วสั่งให้พระยาเสนาภูเบศรวังหน้าตั้งรักษาค่ายถนนหลวงไว้ให้ดี ที่นั้นเป็นทางบกแยกย้ายมาหลายสายหลายทางต้องระวังแข็งแรง แล้วให้พระยาราชโยธาวังหน้า เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังหลวง กับพระอัคฆเนศรวังหลวง สามนายกลับออกไปบังคับบัญชารักษาเมืองพนมเปญด้วย กับยังเกณฑ์พระยา พระ หลวง ในพระราชวังบวรฯ อีกหลายนาย ให้ยกเพิ่มเติมไปรักษาด่านทางทุกทิศทุกทาง
เจ้าพนักงานได้นำหนังสือฉบับนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาราชเสนามีท้องตราตอบออกไปใจความว่า
“ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกเข้ามาว่า ญวนจะส่งเจ้าเขมรผู้หญิงมาไว้ที่เมืองพนมเปญนั้น ได้ตรึกตรองคาดคะเนน้ำใจญวนดู เห็นว่าญวนจะไม่ส่งเจ้าเขมรผู้หญิงมาเป็นแน่ เว้นเสียแต่ญวนจะเบื่อหน่ายชิงชังเมืองเขมรเมื่อใดแล้ว ญวนก็จะส่งเจ้าหญิงเขมรมาเมื่อนั้น แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่ากำลังรักใคร่บ้านเมืองเขมรอยู่มาก ญวนจะยึดเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามไว้ในเมืองญวน ญวนจะได้เอาไว้เชิดชูเป็นหุ่น แล้วจะได้เกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมรถนัด ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชารู้ข่าวทัพศึกจะมาทำย่ำยีแก่บ้านเมืองเขมรดังนั้นแล้ว ก็ได้รีบร้อนไม่นอนใจ แต่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง คุมไพร่พลรีบเร่งไปรักษาเมีองเปียม เมืองกำปอด เมืองบาราย เมืองพนมเปญ และรักษาด่านทางทุกตำบลทันท่วงทีแก่ข้าศึกญวนนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะเห็นอย่างไรจะทำอย่างไรที่จะได้ปราบปรามญวนให้ราบคาบก็ให้บอกเข้ามาเถิด จะได้ปฏิบัติตามความคิดทุกประการ”
ในปีมะโรงฉศกจุลศักราช ๑๒๐๖ ปี นักพระองค์ด้วงเกิดบุตรชายด้วยแม่นางหนึ่งชื่อนักนางเขียวบุตรีพระยาจักรีใหม่ นักพระองค์ด้วงให้ชื่อว่า นักองสุริยวงศ์ เป็นที่สี่
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว ใช้คนไปสืบก็ไม่ได้ข่าวว่าญวนจะยกมาตีบ้านเมืองเขมรต่อไปอีก เห็นทัพญวนกลับไปเมืองโจดกหมดด้วยเหตุใดหาทราบไม่ เห็นราชการทัพศึกเป็นไปโดยปรกติแล้วก็คิดว่า แต่ออกไปทำศึกสงครามค้างแรมอยู่ ณ เมืองเขมรถึง ๗ ปี ๘ ปีแล้ว แต่ประจำกรำกรากอยู่เป็นนิจถึง ๖ ปีเศษ ไม่ได้เฝ้าเลย ครั้งนี้มีโอกาสที่จะเข้ามาเฝ้าได้ เพราะการศึกสงบเงียบลงบ้างแล้ว จึงให้พระยาเพชรบูรณ์กับพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตร และพระยาพระหลวงนายทัพนายกอง คุมไพร่พลอยู่เป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วง แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็กลับเข้ามาเฝ้าพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานคร เจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนหกขึ้นห้าค่ำปีมะเส็งสัปตศกจุลศักราช ๑๒๐๗ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓
 ในเดือนหกปีมะเส็งนั้น ข้างฝ่ายที่เมืองเขมรเกิดเหตุขึ้น คือพระยาจักรีเขมรเป็นต้นคิดประทุษร้ายต่อนักพระองค์ด้วงเป็นขบถขึ้น พระยาจักรีเขมรชื่อมี คบคิดกับพระยา พระเขมร ๑๗ คน รวม ๑๘ คน เข้าชื่อกันมีหนังสือลับใช้ให้นายเภา นายจอก เขมรถือไปให้แม่ทัพญวนเป็นหลายฉบับหลายครั้ง พระราไชยเขมรรู้ความแล้ว จึงได้มากระซิบบอกนักพระองค์ด้วง นักพระองค์ด้วงสั่งให้คนคอยจับนายเภาผู้ถือหนังสือ จนจับได้ทั้งหนังสือลับของพระยาพระเขมร และหนังสือญวนตอบมาด้วย นำมาให้พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ พระยาเสนาภูเบศ พระยาณรงค์วิไชย พระยาวิชิตสงคราม พระนรินทรโยธา ข้าหลวงหกคนซึ่งอยู่รักษาเมืองเขมรเป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วง ข้าหลวงหกคนได้ตรวจหนังสือของพระยาพระเขมรที่คิดขบถมีใจความว่า
“พระยาพระเขมรทั้ง ๑๘ คนเห็นว่าไทยหย่อนกำลังลงแล้ว ขอให้องญวนผู้ใหญ่ทัพนายกอง พาเจ้าหญิงขึ้นมาเมืองเขมรเถิด พระยาพระเขมร ๑๘ คนจะพากันกำเริบขึ้น จับนักพระองค์ด้วงและพระยาพระหลวงนายทัพนายกองไทยส่งไปให้องญวนผู้ใหญ่ แล้วจะได้ช่วยกันกำจัดกองทัพไทยเสียให้สิ้น แล้วจะได้ยกแผ่นดินให้แก่เจ้าผู้หญิงทั้งสามองค์ ในหนังสือลับนั้นมีรายชื่อพระยาพระเขมรทั้ง ๑๘ คน”
พระพรหมบริรักษ์จึงให้นักพระองค์ด้วงจับพระยาพระเขมร ๑๘ คนมาชำระคือ พระยาจักรีชื่อมี ๑ พระยาเสนากุเชนทรชื่อนบ ๑ พระยาโกษาสงครามชื่อมุน ๑ พระยาเสนาพิทักษ์ชื่อโสม ๑ พระยาโสรอุไทยชื่อโสม ๑ พระยานครธรรมราชชื่อนก ๑ พระยาวงศาธิบดีชื่อศิริ ๑ พระยากุเชนทรเสนาชื่อโบก ๑ พระยามนตรีนุชิตโตดมชื่อโนสุก ๑ พระยามะโนเสน่หาชื่อเมือง ๑ พระนฤบดีชื่อโสชะ ๑ พระนเรนทรพิทักษ์ชื่อหมัง ๑ พระพิพิธชื่อนุ ๑ พระพฤฒาธิบดีชื่ออาจารย์คง ๑ พระเสนาพลไชยชื่อบุญเมือง ๑ หลวงมหาสวรรค์ชื่อทองสุก ๑ หลวงพิทักษ์อาภรณ์ชื่อปอวัง ๑ หลวงพิไชยอาสาชื่อนกแก้ว ๑ รวม ๑๘ คน กับกาลาภาษเสา ๑๑ คน คือเจ้าพนักงานกรมการผู้น้อย ๑๑ คน รวม ๒๙ คน มาชำระไต่ถามให้การสารภาพรับเป็นความสัตย์เสร็จสิ้นทุกประการ
นักพระองค์ด้วงสั่งให้สนองกำบอคุมตัวพระยาพระหลวงเขมรทั้ง ๑๘ คนกับกาลาภาษเจ้าพนักงานเขมรอีก ๑๑ คน ไปจำตรวนขังตะรางไว้ก่อน แต่นายศรีสุคนธ์เตียง ๑ นอกศรีทัพวัง ๑ นายกลาภาศรีมงคล ๑ สามคนนี้เป็นขุนนางเล็กน้อย รู้ตัวก่อนก็หนีไปอยู่ป่าดง แต่นายยอรารศ ๑ นายหนองพิงไชย ๑ นายแสนไชยมัน ๑ นายพระคลังสุก ๑ รวมขุนนางกรมการเขมรเล็กน้อยสี่คนรู้ตัวก่อน ก็รีบหนีไปหาญวน ญวนรับไว้ในค่ายเมืองกะพงกะสัง
 รุ่งขึ้นแปดวันกองทัพญวนก็ยกขึ้นมาตั้งทัพอยู่ ณ เปียมปะเตียงที่หัวแหลมปากง่ามสามแยกแม่น้ำใหญ่ มีไพร่พลถึง ๒,๐๐๐ คน นายทัพชื่อองดายุง แล้วญวนก็ยกกองทัพมาตั้งที่ค่ายยายไทยท้องคุ้งอีกตำบลหนึ่ง ไพร่พลพัน ๕๐๐ นายทัพชื่อองฮูกายโดย แล้วองเฮากุนแม่ทัพใหญ่ยกไพร่พลญวน ๓,๐๐๐ เขมร ๒,๐๐๐ รวม ๕,๐๐๐ ขึ้นมาตั้งทัพพักอยู่ค่ายเก่าท่ากะพงกะสังใต้ปากคลองบึง
แล้วองเฮากุนแต่งให้องญวนนายทัพนายกองลาดตระเวนจับเขมรฝ่ายเหนือพวกนักพระองค์ด้วงไปได้ ๑๖ คน ไต่ถามได้ความว่า แม่ทัพไทยรู้ตัวแล้วว่าเขมรจะเป็นไส้ศึกคิดประทุษร้ายต่อไทย ไทยก็จับพระยาพระเขมร ๑๘ คนไปจำไว้สิ้น แล้วกองทัพไทยได้ตระเตรียมการที่จะต่อสู้รบกับญวนพรักพร้อมแข็งแรงโดยสามารถ แล้วพวกขุนนางเขมรเล็กน้อยก็ร่วมคิดขบถนั้นก็หนีรอดไปได้หกคน ไปหาญวนแล้วแจ้งความแก่ญวนว่า ไทยรู้ความลับของเขมรและญวนแล้ว ฝ่ายญวนก็สงบทัพอยู่ตามที่ตั้งค่ายทุกตำบล มิได้ยกขึ้นมาถึงเมืองพนมเปญไม่
 ฝ่ายนักพระองค์ด้วง พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ พระยาเสนาภูเบศ พระยาณรงค์วิไชย พระวิชิตสงคราม พระนรินทรโยธ า พระคชรัตน์ภักดี ข้าหลวงหกนายซึ่งรู้เหตุการณ์ดังนั้นแล้ว จึงเข้าชื่อกันลงหนังสือบอกข้อราชการทัพศึกญวนและเขมรเป็นขบถ ให้หลวงพินิจอักษรเสมียนตรากรมมหาดไทยในพระราชวังบวรฯ ถือมายังกรุงเทพฯ แล้วมีหนังสือลับมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฉบับหนึ่งใจความว่า
“ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตฆ่าพระยา พระ เขมรที่เป็นขบถเสียทั้งหมด”
** คนใช้บรรดาศักดิ์ว่า พระยาจักรี ส่วนมากเป็นคนเก่งคนดี และคนขบถก็มักจะใช้ชื่อนี้ทั้งไทยทั้งเขมรเลยนะครับ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าศึกสงครามญวนสงบจึงกลับเข้ากรุงเทพฯ ทางเขมรก็เกิดขบถพระยาจักรี “ชักญวนเข้าเขมร” ดีที่ฝ่ายนักพระองค์ด้วงรู้เสียก่อน แม้จะจับพวกขบถตัวการได้ทั้งหมดแล้ว ญวนก็ยกทัพมาตามคำชักชวนของพระยาจักรี มาตั้งค่ายรอจะบุกเข้าพนมเปญแล้ว ค่อยมาอ่านความกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ข้าวหอม, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เนิน จำราย, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๔ -
ญวนหลอกล่อไทยเขมรออกเข่นฆ่า ทำเหมือนว่าปืนไร้ลูกเหล็กห้ำหั่น มีแต่ดินท่าน้ำไม่สำคัญ จึงไม่หวั่นปืนญวนชวนกันเฮ
ออกจากค่ายหมายฆ่าญวนอาสัญ ญวนก็พลันฆ่าไทยได้ด้วยเล่ห์ กระสุนจริงยิงเป็นตับยับทั้งเพ สมคะเนญวนฉลาดที่คาดการณ์ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เมื่อศึกสงครามสงบเงียบอยู่ เจ้าพระยาบดินทรเห็นเป็นโอกาสที่จะได้กลับเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ จึงให้พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ และพรรคพวกอยู่เป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วง ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ากรุงเทพฯ แล้ว นักพระองค์ด้วงทราบว่า พระยาจักรีเขมรและพรรคพวกร่วมคิดทำการเป็นขบถ ลอบมีหนังสือลับส่งไปให้องญวน ให้พาเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์มาตั้งเป็นเจ้าที่พนมเปญ พวกตนจะกำเริบจับนักพระองค์ด้วงและนายทัพไทยส่งให้องญวน พระพรหมบริรักษ์และพวกได้ทราบแล้วจึงให้นักพระองค์ด้วงจับพระยาจักรีและพวกที่มีรายชื่อในหนังสือลับนั้น ๑๘ คน เมื่อจับได้แล้วจึงจำตรวนขังไว้รอพระบรมราชานุญาตให้ประหารเสียทั้งสิ้น ขณะนั้นญวนได้ยกกองทัพมาสามกองใหญ่ ได้ทราบว่าไส้ศึกเขมรถูกจับตัวได้สิ้น และไทยรู้ตัวแล้ว จึงตั้งค่ายรอโอกาสอยู่ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
ครั้งนั้น นักพระองค์ด้วง พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า พระยาเสนาภูเบศ พระยาณรงค์วิไชย พระยาอภัยสงครามใหม่ พระยาวิชิตสงคราม พระอินทรโยธา ข้าหลวงแปดนายเข้าชื่อพร้อมด้วยกันพระองค์ด้วงมีหนังสือบอก ให้หลวงทิพอักษรเสมียนตรากรมพระกลาโหมในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ากรุงเทพมหานครใจความว่า
 “เมื่อ ณ เดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่ง ได้มีหนังสือบอกข้อราชการเรื่องเขมรเป็นขบถให้เสมียนตรากรมมหาดไทยในพระราชวังบวรฯ ถือเข้าไปแต่ครั้งก่อนนั้นฉบับหนึ่งแล้ว บัดนี้เสมียนตรากรมพระกลาโหมกับหลวงพล ขุนวิสุทธิรัฐยารักษ์มรคา กรมการเมืองกบินทร์ ถือใบบอกฉบับนี้ขึ้นม้าเร็วรีบเร่งเข้ามาอีกฉบับหนึ่งโดยราชการร้อนเป็นใจความว่า เมื่อ ณ เดือนแปดขึ้นค่ำหนึ่ง เวลาเช้าสองโมงเศษ กองทัพเรือญวนใหญ่น้อยแปดสิบลำแจวมาถึงปากคลองลัด ญวนแจวเรือตรงหน้าค่ายเขมร แล้วญวนยิงปืนหน้าเรือออกไปสักยี่สิบนัด ถูกค่ายปีกกาเขมรหักพังลงด้านหนึ่ง ไทยและเขมรในค่ายก็ยิงปืนโต้ตอบออกมาบ้าง ญวนก็แจวเรือเข้าล้อมหน้าค่ายและข้างค่าย ญวนกับเขมรได้สู้รบกันเป็นสามารถ แล้วญวนก็ให้เรือรบเพิ่มเติมมาสู้กับกองเขมร ที่ค่ายแพรกสบนใจปากคลองลัดบ้าง ญวนนำเรือรบเล็ก ๆ เข้าในคลองสบนใจบ้าง ในคลองโพลัดบ้าง เป็นลำคลองติดต่อกัน เขมรได้สู้รบกับญวนทั้งสองตำบลนั้นแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพเขมรก็แตกไปทั้งสองตำบล ไพร่พลไทยเขมรมากตายลงด้วยกันบ้าง หนีไปรอดได้บ้างทั้งเขมรและไทย”
 ครั้น ณ เดือนแปดขึ้นแปดค่ำ ญวนยกกองทัพเรือใหญ่น้อยเพิ่มเติมมาอีก ๑๒๐ ลำ มีไพร่พล ๕,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตีค่ายเขมรที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลท่ากะพงตะแบก เขมรได้สู้รบกับญวนอยู่ได้วันกับคืนหนึ่ง ญวนแกล้งนำดินท่ามาปั้นเป็นกระสุนปืนใหญ่ ยิงไปก็ไม่ได้ทำลายค่ายเขมรได้ และถูกคนก็ไม่สู้เป็นอันตรายมาก ฝ่ายเขมรก็กำเริบ เข้าใจว่าญวนไม่มีกระสุนเหล็กหล่อ จึงนำดินท่ามาปั้นเป็นกระสุนปืน เขมรก็พากันออกมานอกค่ายหมายจะนำปืนขานกยางมาตั้งหน้าค่ายยิงให้ญวนแตกหนีไป ฝ่ายญวนก็นำเรือรบแจวรีบเข้าไปจอดหน้าค่ายเขมรแล้วยกขึ้นบก นำกรวดและดินท่าบรรจุแทนกระสุนปืนเล็กคาบศิลายิงไปแถวหน้าร้อยเศษ เขมรเห็นดังนั้นก็ยิ่งกำเริบขึ้นมาก พากันถือหอกดาบและปืนคาบศิลาออกนอกค่ายเป็นอันมาก หมายใจว่าญวนไม่มีกระสุนปืนเหล็กอันคมกล้า ก็จะพากันกรูเกรียวออกมาไล่ฟันแทงยิงญวนให้ตายด้วยอาวุธยาวสั้นของตน ขณะนั้นญวนเห็นพวกกองทัพพากันเทค่ายออกมากแล้ว ญวนจึงนำกระสุนปืนซึ่งเป็นเหล็กและตะกั่วบรรจุยิงไปเป็นตับ ๆ ตับหนึ่งถึงสี่ร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง พร้อม ๆ กันสองสามพัก กระสุนปืนเหล็กและตะกั่วของญวนก็ถูกพวกเขมรที่ใกล้ ๆ ล้มตายโดยมากเกือบพันคน พอเวลาเพล เขมรที่เหลือตายอยู่ในค่ายที่ท่าน้ำกะพงตะแบกนั้นก็แตกหนีไปสิ้น เสียนายทัพ ขุน หมื่น ไพร่ไทยก็มาก เขมรตายเหลือน้อยก็แตกหนีมาหมดทั้งค่ายเสีย เมื่อญวนมีชัยชนะแก่ไทยและเขมรครั้งนี้แล้ว ก็เข้ารักษาค่ายกะพงตะแบกไว้ ได้เสบียงอาหารสรรพศาสตราวุธพร้อม
 องต๋าเตียนกุนเสนาบดีผู้ใหญ่ลงมาแต่กรุงเว้อีก เป็นแม่ทัพหลวงถืออาญาสิทธิ์คุมทัพเรือเป็นทัพหลวง ให้องต๋าโคเป็นแม่ทัพหน้า ให้องทำตานแม่ทัพเก่าเป็นทัพหลัง ทั้งสามทัพมีเรือรบใหญ่ ๑๗๐ ลำ เรือรบเล็ก ๒๐๐ ลำ มีไพร่พลหมื่นหกพันคน ยกกองทัพเรือมาครั้งนั้นเต็มลำน้ำ ตีบ้านเล็กเมืองน้อยตามรายทางตลอดมา จนใกล้เมืองพนมเปญแล้ว ให้ตั้งค่ายใหญ่น้อยเรียงรายไปหลายสิบค่ายตลอดลำแม่น้ำ แต่กองทัพใหญ่องต๋าเตียนกุนนั้นตั้งค่ายที่ตำบลโพธิพระบาท เป็นวังเก่านักพระองค์จันทร์ เจ้ากรุงกัมพูชาที่ถึงพิราลัยแล้ว
 องต๋าเตียนกุนมีหนังสือบังคับให้องเกียนเลือกแม่ทัพเก่าที่เมืองโจดก ให้ยกทัพมาตั้งที่ปากคลองวามะนาวแห่ง ๑ ให้องเฮากุนขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ทัพอยู่ ณ เมืองมะซางนั้น ให้ยกทัพบกไปตั้งค่ายที่ท่าตือ ท่าจะเรียกให้มาตีกองทัพไทย,เขมร เมื่อใดให้ยกกองช้างมาทางป่าบาพนม ให้อ้อมมาช่วยระดมตีพร้อมกัน แล้วองต๋าเตียนกุนแต่งให้องหุ่งยาโปบุตรจีนเป็นนายทัพม้า คุมทหารม้าสามร้อยลงไปลาดตระเวนสืบราชการทัพเขมรและไทย ให้กาซาแขกจามอาสานำเรือรบลงไปลาดตระเวนถึงแดนเขมรที่ไทยตั้งอยู่นั้น ให้จับไทย,ลาว,เขมร มาสืบไปราชการด้วย ให้สนองมโนราชาเขมรคุมไพร่เขมรขี่ม้าสามร้อย ไปคอยจับไทย,เขมรข้าศึกมาถามกิจการให้ได้สักคนสองคน
แล้วองต๋าเตียนกุนทำล้อสาลี่สำหรับจากลากปืนใหญ่กว่าพัน.......”
 ** ฝ่ายไทยเขมรโง่กว่าฝ่ายญวนอึกแล้ว ถูกญวนหลอกตีค่ายแตกยับเยินจนได้ ถึงตอนนี้องต๋าเตียนกุนเสนาบดีใหญ่ญวนออกศึกด้วยตนเอง ยกทัพเรือใหญ่มาจากกรุงเว้ กองเรือมาเต็มลำแม่น้ำ มุ่งมั่นว่าจะยึดกัมพูชาเป็นกรรมสิทธิ์ญวนให้จงได้ แล้วในที่สุดญวนจะยึดแผ่นดินกัมพูชาเป็นของญวนได้หมดหรือไม่ ติดตามอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, มนชิดา พานิช, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๕ -
“เจ้าพระยาบดินทรเดชา”ไม่อยู่ ญวนมิจู่ตีค่ายไทยแตกฉาน รอแม่ทัพใหญ่มามิช้านาน จะทำการรบใหญ่ไม่รอรี
แม่ทัพใหญ่ไทยญวนที่ควรรบ โคจรพบกันในเขมรนี่ “ต๋าเตียนกุน”ในส่วนญวนผู้ดี ยกเข้าตีพนมเปญเป็นประเดิม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ญวนหลอกล่อให้ไทยเขมรออกจากค่ายไล่ฆ่าญวนด้วยการใช้ดินเหนียวปั้นเป็นกระสุนปืนยิงใส่ค่ายไทยเขมร ฝ่ายไทยเขมรคิดว่าญวนไม่มีลูกปืนจริงแล้ว จึงพากันกรูออกจากค่าย ญวนจึงใช้กระสุนจริงยิงไทยเขมรตายเป็นอันมาก ที่เหลือส่วนน้อยก็พากันทิ้งค่ายหนี ญวนยึดค่ายได้โดยละม่อม องต๋าเตียนกุนเสนาบดีใหญ่ญวนยกไพร่พลจากกรุงเว้มาบัญชาการรบด้วยตนเอง หมายจะยึดดินแดนเขมรเป็นของญวนให้จงได้ วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......
 “องต๋าเตียนกุนใช้ให้องเดกชากำกับพระยา พระเขมรให้มาทำแผนที่เมืองเขมรแต่ส่วนแม่น้ำใหญ่น้อยทุกแคว และทำแผนที่ลำคลองเก่าใหม่ใหญ่น้อยทุกตำบลตลอดมาจนถึงเมืองอุดงคฦๅไชย กองหนึ่งเป็นส่วนแผนที่แม่น้ำลำคลอง แล้วให้องตันเบียวกำกับพระยา พระเขมรให้ทำแผนที่บกในเขตแดนเมืองเขมรแต่ส่วนทางป่าดงภูเขาห้วยหนองคลองลำธารบึงบางทางบก ในป่าดงพงไพรไร่นาทุ่งใหญ่น้อย ให้ตรวจต้นไม้ที่จะเป็นยาพิษ และต้นผลไม้ที่จะเป็นกำลังแก่รี้พล และบึงหนองคลองเขินที่จะอาศัยน้ำได้มีอยู่ตามทางหรือพ้นทาง และทางป่าทุ่งที่จะเป็นที่แอบแฝงแก่ข้าศึกได้มีกี่แห่ง จะได้แต่งกองเสือป่าแมวเซาไปพิทักษ์รักษา ให้ดูทางจะหนีทีจะไล่ให้ตลอดไปมาด้วย
ครั้นองญวนและพระยา พระเขมรไปตรวจทางน้ำและทางบกเสร็จแล้ว ได้ทำแผนที่น้ำและบกมาทั้งสองกองเสร็จแล้ว จึงนำมาให้แก่องต๋าเตียนกุน องต๋าเตียนกุนตรวจดูใจตลอดแล้วจึงว่า
“เราจะยกทัพบกทัพเรือระดมไปตีค่ายไทย,เขมรเดี๋ยวนี้ก็จะแตกหมด แต่ว่ายังจะตีไม่ได้ เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ไม่อยู่ กลับไปเมืองไทยเสียแล้ว มีแต่พระพรหมบริรักษ์บุตรขององบดินทร์อยู่กับพระองค์ด้วงเท่านั้น เราจะยกไปตีค่ายไทยก็ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ข่มเหงเด็ก เด็กจะสู้รบผู้ใหญ่ได้หรือ”
องญวนและพระยา พระเขมร นายทัพ นายกองจึงตอบว่า
“เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่อยู่อย่างนี้ ที่ค่ายไทยก็มีไพร่พลน้อยเห็นเป็นท่วงทีดีแล้ว ขอให้ยกไปตีจะได้เมืองเขมรโดยง่าย”
องต๋าเตียนกุนหัวเราะแล้วจึงพูดว่า
 “เราทำการศึกอย่างท่านคิดนั้นไม่ได้ เพราะผิดด้วยธรรมเนียม แม่ทัพเสนาบดีจะมารบดีทัพเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างโจรปล้นของกินนั้น หาชอบด้วยยุติธรรมไม่ ถึงมาทว่าเราจะตีกองทัพเมืองพนมเปญที่พระพรหมบริรักษ์ บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชารักษาอยู่ให้แตกพ่ายแพ้ไปแต่ในพริบตาเดียวก็ได้ แต่ไม่เป็นเกียรติยศอะไรแก่ตัวเราเลยสักอย่างหนึ่ง กลับจะเสียเกียรติยศเราไปเสียอีก เพราะว่าเรามีอำนาจวาสนาเป็นเสนาบดีกรุงเว้อย่าง ๑ และมีอายุมากอย่าง ๑ กับมีเรือรบไพร่พลมากอย่าง ๑ ทั้งสามประการนี้มีมากกว่าพระพรหมบริรักษ์ พระพรหมบริรักษ์มีอายุน้อยอย่าง ๑ มีอำนาจวาสนาน้อยอย่าง ๑ มีไพร่พลน้อยอย่าง ๑ ทั้งสามประการนี้มีน้อยกว่าเราจึงได้พ่ายแพ้เรา เรามีชัยก็เหมือนข่มเหงลูกเล็กเด็กน้อยซึ่งพ่อเชื้อเขาไม่อยู่ ควรเราจะรออยู่จนเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับออกมาเมื่อไร จึงจะได้ยกเข้าต่อสู้กันพอเป็นคู่รบกันได้ตามอายุและบรรดาศักดิ์ไพร่พลคล้าย ๆ กัน ถึงว่าข้างไหนจะแพ้และชนะ ก็จะมีเกียรติยศแก่ผู้ชนะให้มีชื่อเสียงปรากฏไว้ในแผ่นดินบ้างจึงจะสมควร”
องต๋าเตียนกุนพูดเท่านี้แล้ว จึงให้เสมียนเขียนถ้อยคำที่พูดนี้ส่งให้เขมรเชลยนำไปให้พระพรหมบริรักษ์ พระพรหมบริรักษ์จึงได้ทราบความตามหนังสือองต๋าเตียนกุนบ้าง แล้วได้แต่งกองทัพเขมรไปเที่ยวจับญวนได้มา ถามทราบข้อความดังที่กล่าวมานี้บ้าง จึงเขียนลงในใบบอกและส่งต้นหนังสือขององต๋าเตียนกุนมาด้วย เจ้าพนักงานได้นำใบบอกและหนังสือองต๋าเตียนกุนขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำริแล้วทรงมีพระราชดำรัสว่า
 “เขมรเป็นขบถครั้งนี้หากว่าจับไส้ศึกได้เสียก่อนเป็นบุญหนักหนา ถ้าจับเขมรไส้ศึกไม่ได้ ไทยก็จะรักษาตัวยากเต็มที พอดีพอร้ายแทบจะไม่เป็นการงาน ที่เมืองเขมรนั้นถ้าเกิดการจลาจลขึ้นครั้งใด ก็ได้ให้พี่บดินทร์ออกไประงับดับยุคเข็ญลงได้ทุกครั้ง ถ้าพี่บดินทร์กลับเข้ามาเยี่ยมเยือนบ้างเมืองไทยครั้งใด ที่เมืองเขมรก็กลับลุกลามเป็นขบถขึ้นทุกครั้ง แต่ว่าเดชะบุญเผอิญจับได้ก่อน รู้ตัวก่อนทุกที จึงไม่เสียเกียรติยศไทย เห็นว่าการบ้านเมืองเขมรแล้วปราบปรามยากมาแต่โบราณครั้งกรุงเก่าแล้ว ถึงคราวนี้ก็เหมือนกัน นอกจากพี่บดินทร์แล้ว ก็เต็มกินเต็มฟัดเขมรทีเดียว คราวนี้ญวนคิดการใหญ่โต มาตั้งท่าตั้งทางดูถูกไทยในระหว่างกลางทัพศึก แล้วมีหนังสือมาพูดจาท้าทายหมิ่นประมาทฝีมือไทย เพราะว่าชะรอยมันจะเห็นช่องที่เขมรจะรับเป็นไส้ศึกของไทยจะล้มไทยให้ญวนขึ้นข่มขี่ เพราะฉะนั้นมันจึงรอจะคอยรบกับพี่บดินทร์เอง จะได้มีเกียรติยศแก่มัน หรือว่ามันจะคิดเห็นทางอย่างไรอีกก็ไม่รู้ จะไว้ใจแก่ราชการทัพศึกและกลอุบายข้าศึกไม่ได้ แต่กำลังสติปัญญาฝีมือพระพรหมบริรักษ์และพระยาเพชรบูรณ์หรือนักพระองค์ด้วงที่อยู่นั้น จะสู้รบองต๋าเตียนกุนเสนาบดีผู้ใหญ่ญวนนั้น เห็นจะต้านทานญวนไม่ได้ ฉันขอให้พี่บดินทร์รีบออกไปเองเห็นจะดี”
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับพระราชโองการดำรัสดังนั้นแล้ว จึงกราบถวายบังคมลา ยกออกจากกรุงเทพฯ ณ เดือนแปด แรมเจ็ดค่ำ ในปีมะเส็งสัปตศก
 ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ในพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เคยทัพเคยศึกและคุ้นเคยกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่ก่อนนั้น ให้คุมไพร่พลเลขไพร่หลวงสมกำลังในพระราชวังบวรฯ ตามออกไปโดยเร็ว แต่เจ้ากรมปลัดกรมตำรวจ และมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯนั้นให้ไปทั้งนายใหญ่และน้อยให้สิ้นเชิง ด้วยเป็นคนมีฝีมืออยู่แล้ว แล้วโปรดเกล้าฯให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือชั้นในและทางตะวันออกด้วย ทั้งเจ้าเมืองกรมการที่คุ้นเคยรับใช้ชอบใจเจ้าพระยาบดินทรเดชาเท่าใด ก็ให้คุมไพร่พลสำหรับเมืองของตนให้เร่งรีบตามออกไปเมืองเขมรโดยเร็ว ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดี (ชื่อโต) เป็นแม่กองใหญ่คุมไพร่พลในกรุงเทพฯ ออกไปตั้งส่งเสบียงอาหารและกระสุนดินดำศาสตราวุธอยู่ที่ท่าเก่าเมืองกบินทร์ โปรดให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เป็นแม่กองคุมไพร่พลในกรุงเทพฯและหัวเมืองตะวันอก ขึ้นไปตั้งอยู่ที่ท่าสวาย ให้คอยรับเสบียงอาหารกระสุนดินดำที่พระยาราชสุภาวดีส่งขึ้นไป ก็ให้รับต่อ ๆ ส่งขึ้นไปให้พระยาจ่าเสนบดีศรีบริบาล และพระอัคเนศรที่ตั้งรับอยู่ ณ เมืองพระตะบอง จะได้ส่งขึ้นไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองอุดงคฦๅไชย โปรดเกล้าฯให้จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ เชิญท้องตราบัวแก้วออกไปจัดกองทัพเรือเมืองจันทบุรี เมืองตราด ออกไปลาดตระเวนตามเกาะชายทะเลตะวันออก เพื่อจะระวังทัพเรือญวน โปรดให้เจ้ากรมปลัดกรมแขกอาสาจามในพระราชวังบวรฯ จัดเรือทะเลไปลาดตระเวนด้วย
 ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นช้างไปถึงอรัญ แต่ดินดำอาหรอบบรรจุไว้ในแอบสานด้วยไม้ไผ่ แล้วหุ้มถุงกำหยี่แดงวางไว้บนสัปคับช้างข้างกายท่าน ท่านก็สูบกล้องราชวังสั้น ๆ แล้วก็เคาะมูลกล้องที่ยาแดงกำลังติดไฟอยู่นั้นตกลงที่หลังแอบ แอบไหม้ทะลุลงไปติดดินดำในแอบลุกขึ้น ลวกแขนเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งแต่ไหล่ตลอดลงไปถึงข้อศอก หนังปอกถลอกออกไปเป็นแผลปวดแสบปวดร้อนเป็นกำลังจนนั่งไม่ได้ ได้แต่นอนอยู่ในสัปคับช้าง แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านเป็นผู้อดทนกลั้นความเจ็บปวดไว้ได้ ท่านก็แข็งใจให้ช้างไปส่งท่านจนถึงเมืองอุดงคฦๅไชย จึงได้ให้หมอรักษาพยาบาลอยู่ช้านาน.......”
 ** องต๋าเตียนกุนเสนาบดีญวนเป็นคนรอบคอบละเอียดลออมาก ก่อนที่จะยกกำลังเข้า โจมตีไทยเขมร ก็ให้สำรวจเส้นทางทั้งบกและน้ำจนรู้ตื่นลึกหนาบาง ทางหนีทีไล่ ไม่บุ่มบ่ามเอาแต่กำลังเข้าสู้ ทำการรบมิใช่เพื่อเอาแต่ชนะอย่างเดียว หากแต่หวังเอาเกียรติยศชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลและฝากไว้แก่แผ่นดินด้วย ตอนนี้เตรียมการรบไว้พร้อมสรรพ รอแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจากกรุงเทพฯ คืนสู่สนามรบในกัมพูชาเมื่อไรแล้ว จึงจะยกเข้าโจมตีไทยเขมรทุกค่ายทุกเมืองต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่ไม่ทรงเห็นว่าใครจะมีความสามารถพอที่จะต่อกรกับเสนาบดีญวนได้ จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพกลับเขมรรับมือองต๋าเตียนกุนต่อไป การรบระหว่างไทย ,เขมร กับญวนครั้งใหญ่ กำลังจะเริ่มขึ้น ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลสยสือไท เมืองสุโขทัย ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, มนชิดา พานิช, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ข้าวหอม, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๖ -
“ต๋าเตียนกุน”เห็นช่องน้ำนองทุ่ง ควรรบพุ่งข้าศึกอย่างฮึกเหิม สั่งบังคับทัพญวนด่วนยกเติม กองเรือเพิ่มล้อมรายตีค่ายไทย
น้ำท่วมค่ายไทยแย่จึงแพ้สิ้น มิมีดินแห้งยืนยิงปืนใหญ่ ถูกพลญวนยกขย้ำจนหนำใจ กลับ“อุดงคฦๅไชย”ได้ยากเย็น |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ยกกองทัพเรือเป็นทัพหลวง เมื่อมาถึงเมืองโจดกแล้วจึงสั่งจัดกองทัพใหม่เป็นสามทัพ และสั่งให้สำรวจเส้นทางน้ำและทางบก เขียนเป็นแผนที่ไว้อย่างละเอียด เมื่อดูแผนที่แล้วพูดว่าจะยกเข้าตีค่ายไทยเดี๋ยวนี้ก็ต้องแตกหมดทุกค่าย แต่ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะองบดินทร์แม่ทัพใหญ่ไม่อยู่ เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ไม่ควรรังแกเด็ก รอให้แม่ทัพใหญ่เขามาจากกรุงเทพฯก่อนจึงค่อยยกเข้าตีพนมเปญและทุกค่ายทุกเมืองของไทยและเขมร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเกณฑ์กองทัพรีบยกกลับเขมร เพื่อช่วยป้องกันรักษาแผ่นดินเขมรไว้ต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 “ ครั้น ณ เดือนสิบ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ในปีมะเส็งสัปตศกนั้น องต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่รู้ข่าวว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกมาแล้ว เห็นว่าน้ำก็ท่วมเมืองพนมเปญ แล้วผู้คนที่กองทัพเขมรและไทยในเมืองไม่มีที่แผ่นดินแห้งจะอาศัยดินต่อสู้กับข้าศึกได้ เป็นช่องอันดีพอที่จะตีทัพไทยให้แตกได้ในครั้งนี้ องต๋าเตียนกุนจึงบังคับสั่งให้เรียกกองทัพองเฮากุนและองโปโฮมาทั้งสองทัพ เป็นไพร่พลหมื่นหนึ่ง เรือรบใหญ่น้อยร้อยหกสิบลำ ให้ยกไปตีค่ายไทยที่เมืองพนมเปญให้แตกไปแต่ในกำหนดสามวัน ถ้าพ้นจากกำหนดนี้ โทษของแม่ทัพทั้งสองถึงที่ตายทั้งสิ้น
 องโปโฮยกทัพเรือแง่โอแง่ทรายแยกทางมาถึงหัวแหลมจะโรยจังธมใต้เมืองพนมเปญ พอกองทัพเรือญวนเลี้ยวแหลมจะโรยจังธมพร้อมกัน ก็แจวเรือเรียงเข้าใกล้ตลิ่งเป็นสี่แถว แถวละสามสิบลำ ผลัดกันยิงปืนใหญ่ไปได้สองครั้ง ถูกค่ายพระยาอภัยสงครามใหม่หักพังลงสองด้าน พระยาอภัยสงครามให้นำปืนหามแล่นยิงโต้ตอบญวนไปบ้าง แต่ช้า เพราะทหารปืนใหญ่ทำการไม่ถนัด ด้วยน้ำท่วมแผ่นดินพื้นค่าย ญวนก็นำเรือรบเล็กแจวอ้อมไปจอดที่คอแหลมบังตาไทยไม่เห็นได้ ญวนไล่ไพร่พลขึ้นบกยกไปแอบป่าระกำป่าพงแล้วนำปืนคาบศิลายิงไปได้โดยใกล้ ถูกไพร่พลไทยเขมรล้มตายลงมาก ที่เรือรบใหญ่ศีรษะป้อมก็ยิงปืนใหญ่โต้อยู่เสมอ แล้วญวนเห็นว่าไทยไม่ยิงปืนตอบมา จะหนีเป็นแน่ ญวนก็แต่งกองอาสานำเรือรบเล็ก ๆ เข้าไปปล้นค่ายพระยาอภัยสงคราม ๑ พระรามณรงค์ ๑ พระวิชิตสงคราม ๑ หลวงนรินทรโยธา ๑ หลวงแผลงไพรินทร์ ๑ นายกองทั้งสี่ก็พาทหารลงเรือเล็กหนีมาได้ ที่ตายก็มากทั้งไพร่นาย องโปโฮแม่ทัพญวนก็รักษาค่ายแหลมจะโรยจังธมไว้ทั้งสิ้น
 ฝ่ายองเฮากุนก็ยกทัพเรือขึ้นมาแยกไปตีทัพไทยที่ค่ายหน้าเมืองพนมเปญ แต่องเฮากุนฉลาดนัก แบ่งทัพเป็นแปดกอง กองใหญ่ก็แจวแยกออกเป็นปีกกา ไม่โห่ร้อง และไม่กระทืบเท้าให้ดังกึกก้อง แจวเงียบ ๆ เข้ามาแต่พอสว่างก็ถึงหน้าเมืองพนมเปญพร้อมกันทุกทัพทุกกอง องเฮากุนเห็นค่ายไทยตั้งชิดกันอยู่หมู่เดียวหลายค่าย จึงสั่งทัพเรือเล็กให้เข้าล้อมชั้นใน เรือใหญ่เข้าล้อมชั้นนอก แล้วก็ยิงปืนใหญ่ที่บนป้อมศีรษะเรือออกไปทำลายค่ายไทยหักพังลงทุกด้าน เรือเล็กก็แจวเข้าไปจนถึงค่าย ก็ปีนเข้าค่ายไล่ยิงแทงฟันไพร่พลไทยเป็นอลหม่าน ฝ่ายพระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่ากับพระยาเสนาภูเบศร์ พระชาติสุนทร สามคนเป็นนายทัพรักษาค่ายปีกกาพนมเปญอยู่นั้น เห็นญวนยกเข้ามาใกล้ค่าย ได้จัดปืนคาบศิลาออกยิงโต้ตอบอยู่ครู่หนึ่ง ก็หนีร่นเข้ามาในค่ายกลาง เพราะทนกระสุนปืนใหญ่ญวนไม่ได้ ครั้นจะนำปืนใหญ่ยิงไปโต้ตอบกับญวนบ้าง ก็จะวางตั้งปืนใหญ่ก็ไม่มีที่แห้ง เพราะน้ำท่วมหมด พระยาเสนาภูเบศร์ให้นำปืนขานกยางขึ้นขันชะเนาะกับเสาค่ายสักสิบบอก ยิงปืนนั้นไปบ้างก็ไม่ทันท่วงที เพราะช้าการนัก ญวนยิงปืนในเรือมาได้มากกว่าปืนไทยที่ยิงไป ต่อสู้กันอยู่พักหนึ่ง ค่ายไทยก็แตก พระยาชัยวิชิต พระยาเสนาภูเบศร์ พระชาติสุเรนทร์ กับไพร่พลก็ทิ้งค่ายปีกกาหนีไปเข้าค่ายใหญ่ พระยาเพชรบูรณ์ พระพรหมบริรักษ์ๆ ก็จัดการต่อสู้ปลูกร้านสูงพ้นน้ำ ๒๕ ร้าน นำปืนหามแล่นขึ้นบนร้านจะยิงโต้ตอบกับญวน เพื่อจะป้องกันรักษาตัวบ้าง แต่ไม่ทันการ ร้านก็ยังไม่แล้ว ญวนก็แจวเรือเข้ามาล้อมรอบยิงด้วยปืนใหญ่บ้าง ปืนคาบศิลาบ้าง ที่เป็นเรือเล็กก็แจวไปใกล้ค่ายไทย ถึงว่าไทยในค่ายยิงปืนคาบศิลาออกมามากน้อยสักเท่าใด ถูกญวนล้มตายลงบ้าง ญวนก็ไม่ย่อท้อถอยหลัง เพราะเสียงกลองศึกเป็นสำคัญยังตีเร่งอยู่เสมอ ถอยหลังไม่ได้ ญวนต้องเร่งรุกเข้ารบอยู่เสมอทุกด้านทุกทาง พบทหารญวนหนุนเนื่องกันเข้าไปทั้งเรือใหญ่เรือเล็กเป็นตับ ๆ แต่ใกล้ค่ายไทยสัก ๙ วา ๑๐ วา ก็โดดลงน้ำบุกรุกเข้าไปฟันค่าย ปีนค่ายเข้าไปไล่ฆ่าฟันยิงแทงไทยล้มตายเป็นอันมากทุกค่าย ญวนรบตีค่ายพระยาเพชรบูรณ์อยู่ครู่หนึ่งก็แตกทุกค่าย พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ พระยาอร่ามมณเฑียร เห็นว่าเชิงศึกญวนแหลมเข้ามาใกล้จนเข้าค่ายได้บ้างแล้ว กระบวนทัพศึกเสียทีแก่ญวนมาก เห็นจะสู้ไม่ได้เป็นแน่ ถ้าขืนอยู่สู้ก็คงตายด้วยกันหมด พระพรหมบริรักษ์พูดกับพระยาเพชรบูรณ์ยังไม่ทันจะขาดคำ หลวงสนิทสุนทรรักษาประตูค่ายหน้าร้องบอกเข้ามาว่า
“ญวนลุยน้ำเข้ามาเต็มค่ายปีกกาและค่ายหน้าหมดแล้ว เห็นจะอยู่ในค่ายหลังไม่ได้แน่”
 ในทันใดนั้นญวนก็โห่ร้องรุกไล่เข้ามาฆ่าฟันเขมร,ไทยติด ๆ มาถึงค่ายกลาง พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ พระยาอร่ามมณเฑียร ก็คุมนายทัพนายกองกับไพร่ห้าร้อยคน ถอยออกนอกค่ายหลัง ล่าหนีไปด้วยเรือเล็กใหญ่มีอยู่บ้าง บ้างก็ขี่กระบือและโคท่องน้ำหนีไปเป็นพวก ๆ ญวนเห็นค่ายด้านหลังไทยแตกไปดังนั้นแล้ว ก็ยกพลญวนลุยน้ำไล่ติดตามยิงแทงฟันล้มตายตลอดไปตามทาง บ้างก็ตกกระบือจมน้ำตายโดยมาก
 ครั้งนั้นกองทัพไทยและเขมรรวมห้าร้อยคน แตกหนีมายับเยินป่นปี้ ที่ตายตามทางก็มาก ที่หนีรอดมาได้ก็มีบ้าง นายทัพนายกองไทยที่ลงเรือทันก็หนีมาเมืองอุดงคฦๅไชยได้ ที่ไม่มีเรือก็ต้องขี่โคกระบือและม้าหนีมาได้บ้าง ไพร่พลนั้นหนีมากับเรือบ้าง มากับโคกระบือบ้าง แต่ที่เดินท่องน้ำลุยน้ำมานั้นมาก ฝ่ายญวนได้ทีมีเรือเล็กมากลำ ก็แจวไล่ติดตามยิงแทงฟันฆ่ากองทัพไทยที่เดินท่องน้ำลุยน้ำเลื่อยล้านั้นล้มตายตามทางเป็นอันมาก
 ครั้งนั้นกองทัพไทยแตกเสียค่ายเมืองพนมเปญนั้น เสียไพร่พลไทย,ลาว,เขมร พันเศษ และเสียเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่ กระสุนดินดำ เสบียงอาหารแก่ญวนทั้งหมด เมื่อแตกหนีมาก็ได้ปืนคาบศิลาและหอกดาบมาบ้าง ครั้งนั้นเสียนายทัพแต่ ๕ คน เขมร ๘ คน ไทยนั้นคือ พระชนะสงครามรามัญวังหน้า ๑ หลงอนุรักษ์ภูเบศร์วังหน้า ๑ หลวงวิเศษสงครามวังหน้า ๑ ขุนอุดมภักดีกรมการเมืองเพชรบูรณ์ ๑ ขุนรองจ่าเมืองเมืองเพชรบูรณ์ ๑ เขมรนั้นคือ พระยาอินทราวุธ ๑ พระยาณรงค์บริรักษ์ ๑ พระพิทักษ์พลขันธ์ ๑ กับกาลาภาษ กรรมการเขมร ๕ คน รวม ๘ คน รวมทั้งไทยเป็น ๑๓ คน ไพร่พลเขมรตาย ๑,๔๐๐ คน ไพร่ไทยตาย ๖๐๐ คน ที่ว่ามานี้ทั้งนายไพร่ในทัพพระพรหมบริรักษ์ และทัพพระยาเสนาภูเบศร์ด้วยเป็นสองแห่ง ตายทั้งนายไพร่ดังกล่าวไว้นั้น แต่กองทัพพระสุนทรพิมลกับหลวงชาติสรสิทธิ์ หลวงพินิจโยธา ข้าหลวงวังหน้าคุมพระยา พระเขมรและไพร่เขมรอยู่รักษาค่ายที่ตำบลจะโรยจังวานั้น เห็นทัพเรือญวนยกมามากเหลือที่จะต่อสู้ จึงได้ขนเครื่องศาสตราวุธ กระสุนดินดำ และเสบียงอาหารลงเรือรบได้ทั้งสิ้นก็ทิ้งค่ายเสีย รีบเร่งยกทัพหนีมาเมืองอุดงฦๅไชยได้ก่อน เพราะฉะนั้นกองทัพพระสุนทรพิมลจึงไม่เสียไพร่พลและศาสตราวุธแก่ข้าศึกญวนเลย
 ฝ่ายกองทัพเรือองโปโฮก็ตั้งอยู่ในค่ายพระยาเสนาภูเบศร์ที่ตำบลจะโรยจังธม และกองทัพองเฮากุนนั้นก็เข้าตั้งอยู่ในค่ายพระยาเพชรบูรณ์ที่เมืองพนมเปญบ้าง แยกย้ายกันไปตั้งอยู่ที่ตำบลกะพงหลวงบ้าง แล้วองเฮากุนก็ให้องเบโคยแบ่งกองทัพปีกหนึ่ง แยกยกไปตั้งรักษาค่ายพระสุนทรพิมลที่ตำบลจะโรยจังวาบ้าง ให้รักษาค่ายหลวงอภัยเสนา หลวงราชเสวกวังหลวง หลวงภักดีโยธา หลวงรักษาจตุรงค์วังหน้า แม่กองสี่นายนี้ทิ้งค่ายที่เกาะจีนหนีไป ญวนก็รักษาไว้ได้ แล้วแม่ทัพญวนทั้งสองแต่งหนังสือบอกข่าวที่มีชัยชนะแก่ไทย ไทยหนีแตกไปหมดและได้ค่ายไทยไว้ทั้งสี่ตำบล ได้เสบียงอาหารศาสตราวุธพร้อมด้วย บอกไปให้องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงทราบทุกประการ...”
 ** กองทัพไทยเสียค่ายให้แก่กองทัพญวนหมดสี่ค่ายสี่ตำบล เป็นเพราะความฉลาดในเชิงรบของแม่ทัพญวนประการหนึ่ง และเพราะค่ายไทยตั้งอยู่บนบกที่ถูกน้ำท่วมพื้นดินในค่ายจนตั้งปืนใหญ่ยิงสู้ญวนไม่ได้อีกประการหนึ่ง กับความฮึกหาญโหดเหี้ยมของทหารญวนอีกประการหนึ่ง ไทยเสียเปรียบญวนที่เขามีความชำนาญในทางน้ำมากกว่าไทยหลายเท่าตัวเลยทีเดียว เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกจากกรุงเทพฯ ไปถึงอุดงคฦๅไชยไม่ทันหายเหนื่อย องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงญวนก็สั่งทัพญวนลุยทัพไทยเสียแล้ว ไทยจะตั้งหลักสู้ญวนอย่างไร ค่อยนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), มนชิดา พานิช, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๗ -
“ต๋าเตียนกุน”กำกับกองทัพใหญ่ แล้วยกไปหมายชนะจะจะเห็น ถึงกลางทางป่วยพลันฝันกระเด็น ต้องกลายเป็นจอมพลคนพิการ
แม่ทัพไทยวางแผนแก้แค้นบ้าง ใช้ทัพช้างรุกไล่ไร้สงสาร ทัพญวนแตกปี้ป่นหนีลนลาน ตายประมาณพันเศษทั้งไพร่นาย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงญวนฉวยโอกาสยามที่น้ำท่วมเมืองพนมเปญและเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกจากกรุงเทพฯ เดินทางถึงเมืองอุดงคฦๅไชยยังไม่ทันหายเหนื่อย ก็สั่งบังคับให้องโปโฮทัพหนึ่ง องเฮากุนทัพหนึ่ง ยกเข้าโจมตีค่ายไทยสี่แห่งสี่ตำบลให้แตกภายในสามวัน ถ้าตีค่ายไทยไม่แตก แม่ทัพทั้งสองต้องรับผิดชอบด้วยความตาย ทัพญวนทั้งสองปฏิบัติตามคำสั่งเสนาบดีแม่ทัพหลวงญวน ตีค่ายไทยแตกได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะญวนใช้เรือใหญ่น้อยเข้ารุมล้อมระดมตี กองทัพไทยไม่อาจตั้งปืนใหญ่ยิงตอบโต้ญวนได้ ด้วยน้ำท่วมพื้นที่ในค่ายจนไม่มีดินแห้งให้ตั้งปืนใหญ่ได้ สี่ค่ายสี่ตำบลของไทยแตกยับเยินไพร่พลพากันหนีตายกลับเมืองอุดงคฦๅไชยได้ส่วนหนึ่ง ล้มตายไปจำนวนมาก แม่ทัพญวนก็ยึดค่ายเป็นที่ตั้งของกองทัพญวนทั้งหมด วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.......
 “ ฝ่ายองต๋าเตียนกุนรู้ว่ากองทัพเรือญวนยกไปตีทัพไทยแตก ณ วันอาทิตย์เดือนสิบขึ้นสิบเอ็ดค่ำ กองทัพไทยแตกไปหมดทั้งสี่ตำบล เมื่อ ณ พฤหัสบดีเดือนสิบขึ้นสิบห้าค่ำ จนถึงวันอาทิตย์เดือนสิบแรมสิบค่ำนี้ได้สิบวันแล้ว เห็นทีว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะจัดการศึก แต่งกองทัพใหญ่ไว้ต่อสู้กับญวนเป็นสามารถมั่นคงแน่แล้ว แต่กองทัพองเฮากุนและองโปโฮสองกองนั้น เห็นจะต้านทานกำลังทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ได้ องต๋าเตียนกุนจึงให้กองทัพองต๋าโคกอง ๑ ให้จ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกกอง ๑ ให้องยาลือกอง ๑ ทั้งสามกองคุมไพร่พลกองละ ๖,๐๐๐ คน ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองอุคงคฦๅไชยให้แตกแต่ในกำหนด ๗ วัน ให้เรียกกองทัพองเฮากุนและองโฮโปไปช่วยระดมตีเมืองอุดงคฦๅไชยด้วย ให้จ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเป็นผู้บังคับการศึกทุกทัพทุกกอง แต่องต๋าเตียนกุนก็ยกทัพใหญ่ขึ้นไปพักตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเปญ เพื่อจะได้หนุนทัพทั้งปวง
 กองทัพญวนทั้งหลายได้ยกขึ้นไป ณ วันอาทิตย์เดือนสิบแรมสิบค่ำ ครั้นถึงที่ใกล้เมืองอุดงคฦๅไชยแล้ว จ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกจึงบังคับให้องลันบินคุมกองทัพ ๑,๖๐๐ คน ยกไปตั้งเป็นกองด่านอยู่ ณ ท่ากะพงหลวง แล้วบังคับให้องเฮากุนคุมเรือรบอ้อมไปทางท่าพระยาลือ แล้วจะได้ยกทัพขึ้นบกไปตีเมืองอุดงคฦๅไชยให้พร้อมกันทุกกอง แล้วบังคับให้องโฮโปคุมกองทัพเรือแยกไปทางตะวันออกให้ขึ้นบกที่คอแหลมอุดงค์ แล้วจะได้เดินตรงไปตีค่ายไทยที่เมืองอุดงคฦๅไชย ให้พร้อมกันทุกทัพทุกกอง ระดมตีให้แตกแต่ในสามวันอย่าให้พ้นกำหนดได้ แล้วจ๋งต๊กสั่งให้องตันภู องเดกลันบิน เป็นแม่ทัพเรือกองหน้าคุมไพร่พล ๓,๐๐๐ ลงเรือแง่ทรายเรือแง่โอเรือเล็กรวม ๑๗๐ ลำ ยกขึ้นไปตามคลองอุดงคฦๅไชย ในเวลากลางคืนสองยามเศษ พอรุ่งเช้าตรู่ ๆ ก็ถึงวัดโบสถ์พิหารราย แล้วจึงพาทหารขึ้นบกเดินไปตามชายป่าดงกองหนึ่ง แต่จ๋งต๊กนั้นเดินบกไปแต่ต้นทางตั้งแต่เวลาพลบค่ำ มีไพร่พลมากถึง ๕,๐๐๐ คน เป็นทัพใหญ่เดินไปหมายจะยกเข้าตีค่ายไทยที่เมืองอุดงคฦๅไชยให้พร้อมกันทั้งแปดกอง แล้วที่ไหนไทยจะต้านทานสู้ได้เล่า
 ครั้งนั้นองต๋าเตียนกุนแม่ทัพหลวงยกทัพเรือตามขึ้นมาถึงท่ากะพงหลวง มีเรือรบใหญ่น้อยถึง ๑,๐๐๐ ลำเศษ ไพร่พลมีถึง ๑๐,๐๐๐ คน จึงสั่งให้รีบแจวเรือรบเข้าเข้าไปในคลองอุดงคฦๅไชย หมายจะขึ้นบกไปบังคับการให้องญวนแม่ทัพทั้งปวงทำการจัดกระบวนทัพ ยกเข้าตีเมืองอุดงค์ให้แตกแต่ในวันเดียวโดยอำนาจและฝีมือความคิดขององต๋าเตียนกุน องต๋าเตียนกุนก็ป่วยหนักลงที่กลางทางในเรือรบนั้น เพราะเป็นโรคปัจจุบัน เป็นลมจับแน่นิ่งไปวันยังค่ำ เมื่อหมอแก้ฟื้นแล้วก็มีสติวิปลาสคลุ้มคลั่งเพ้อพึมไป เพราะฉะนั้นนายทัพนายกองผู้น้อยที่รองลงมา จึงได้สั่งให้ถอยทัพเรือ ๑,๐๐๐ ลำ พาองต๋าเตียนกุนกับไพร่พล ๑๐,๐๐๐ คนกลับมาตั้งรักษาพยาบาลอยู่ที่เมืองพนมเปญ
 ฝ่ายนายทัพนายกองญวนทั้งหลายที่ยกขึ้นบกไปบ้าง ยกทัพเรือไปบ้างเหล่านั้น แต่ล้วนเป็นขุนนางมีอำนาจเสมอคล้าย ๆ กัน ก็หาเกรงกลัวกันและกันไม่ ต่างคนก็ต่างเห็นและคิดแปลกกันไปต่าง ๆ หาถูกต้องปรองดองเป็นสามัคคีกันไม่ เพราะองต๋าเตียนกุนป่วยมีสัญญาวิปลาสไป ไม่มีผู้ใหญ่จะบังคับการศึก ศึกหย่อนอำนาจเสียกระบวนลงทุกที ชั้นแต่เดินไปในป่าก็หยุดไปช้า ๆ นาน ๆ ตามสบาย จึงไม่ถึงเมืองอุดงคฦๅไชยพร้อมกันทันท่วงทีกระบวนทัพศึก ซึ่งจะตีไทยเอาชัยชนะแก่ไทยได้ยาก ฝ่ายจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเห็นว่าองต๋าเตียนกุนไม่ยกหนุนมา ก็ย่อท้อเดินทัพรอ ๆ เสียในป่า การจึงช้าไม่พร้อมกัน
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบว่ากองทัพพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรและพระยาเพชรบูรณ์ พระยาเสนาภูเบศร์ ก็แตกทัพหนีญวนมาสิ้นทุกทัพทุกกองแล้ว เห็นญวนจะยกทัพใหญ่ติดตามมาเป็นแน่ จึงแต่งแม่ทัพนายกองเขมรไปให้ลาดตระเวนคอยจับญวนมาถามให้ได้ข้อความบ้าง ครั้งนั้นกองอาจารย์พฤฒิบาศเขมรจับญวนได้ ๖ คน และกองหลวงแสนพลพ่ายเขมรจับญวนได้ ๑๔ คน กองขุนชาติพาชีไทยจับญวนได้ ๘ คน รวม ๓ กองเป็นญวนเชลย ๒๘ คนนี้เที่ยวมาหาปลาหาเนื้อหาผลไม้ในป่าและหนอง จึงจับมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามไต่ถามญวนเชลย ญวนเชลยให้การว่า
“แม่ทัพญวนทั้งเรือและบกชื่อนั้น ๆ มีเรือรบเท่านั้น ๆ มีไพร่พลกองละเท่านั้น ๆ ยกมาเมื่อ ณ วันนั้น ๆ มาทางนั้น ๆ และพูดจาปรึกษากันอย่างนั้น ๆ”
(ดังที่กล่าวพรรณนามาแล้วนั้นทุกประการ ไม่ต้องกล่าวคำให้การญวนซ้ำอีก)
 ฝ่ายจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าญวนยกทัพใหญ่มาทางและบกเป็นอันมาก เห็นว่าทางเรือจะมาช้า เพราะทางอ้อม ทัพบกญวนที่ขึ้นจากเรือเดินบกลัดป่ามานั้นเห็นว่าจะมาถึงเมืองอุดงคฦๅไชยก่อนเป็นแน่ จึงสั่งให้พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกองช้างเมืองนครราชสีมา จัดทัพช้างและไพร่พลเมืองนครราชสีมาไว้ให้พร้อม ช้างพลายทลายค่าย ๑๐๐ เชือก ช้างพังเขน ๕๐ เชือก ให้พระยาประกฤษณุรักษ์ พระคชภักดี พระศรีภะวัง กรมช้างในพระราชวังบวรฯ คุมไพร่พลและทัพช้างในพระราชวังบวรฯ ๑๐๐ เชือก ทั้งพังพลาย แต่งเป็นช้างชนช้างแพนช้างแล่นช้างโจมช้างปืนใหญ่ด้วย ให้พระกำแพง หลวงคชศักดิ์ หลวงคชสิทธิ์ คุมไพร่พลและทัพช้างในพระราชวังหลวง ๑๐๐ เชือก ทั้งพังพลาย แต่งเป็นช้างค่ายค้ำและช้างเขน มีปืนหลักตั้งบนสัปคับหลังช้างทุกเชือก รวมทัพช้างสามกอง ๓๕๐ เชือก ให้พระยาเพทราชาจางวางกรมพระคชบาลในพระราชวังหลวงเป็นแม่ทัพช้างทั้งสามกอง ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเป็นผู้บัญชาการทัพช้างทั้งสิ้น เป็นใหญ่กว่าพระยาเพทราชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งว่า
 “ถ้ากองทัพญวนยกมาถึงเมืองอุดงคฦๅไชยเมื่อใด ก็ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีนำทัพช้าง ๓๕๐ นี้ ยกเข้าลุยไล่ทัพญวนเถิด ญวนคงไม่มีช้างมา เพราะว่าญวนมากับเรือ แล้วก็ขึ้นบกยกมาเท่านั้นเอง จะสู้ช้างได้สักกี่ครู่ก็ให้ญวนต่อสู้กับช้างไป แต่ให้ตระเตรียมช้างยกไปซ่อนอยู่ในป่าพระยาลือให้พร้อมไว้จะได้ทันท่วงทีกับญวน”
 พอรุ่งขึ้นได้สองวัน ขุนภักดีณรงค์รอน ขุนสวัสดิ์อาชา ปลัดกรมม้าในพระราชวังบวรฯ เป็นแม่กองตระเวนด่านทางข้างใต้ ใช้คนขึ้นม้าเร็วมาบอกว่า
“ทัพบกญวนยกมาเป็นหลายสายหลายทางเต็มทั้งป่า ตรงเข้ามาทางเมืองอุดงคฦๅไชย กองตระเวนได้ขึ้นต้นไม้สูงดูเห็นแต่ไกล ก็กลับลงมาขึ้นม้ารีบมาบอกเดี๋ยวนี้”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้วจึงว่า “ที่เราคิดตระเตรียมช้างไว้พร้อมแล้วนั้นก็สมคิดแล้วเป็นไรเล่า”
จึงสั่งให้หลวงเดชอัศดรเจ้ากรมม้าแซงในพระราชวังบวรฯ ขึ้นม้าเร็วให้รีบไปบอกเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี ให้ไล่ต้อนกองทัพช้างมาต่อรบกับญวนเถิด
 พอกองทัพญวนยกมาถึงชานเมืองอุดงคฦๅไชย กองทัพช้างไทยก็ยกมาทันเข้าที่นั้น ทัพช้างพลายเมืองนครราชสีมาเป็นช้างตกน้ำมันมาก เป็นกองหน้าก็บุกบั่นตะลุยไล่แทงถีบฟาด ไพร่พลญวนกองหน้าล้มตายลงเป็นอันมาก ทัพญวนกำลังเดินมาไม่ทันจะตั้งตัวได้ถนัด และกองแบกค่ายตับของญวนก็ยังยกมาไม่ถึง จึงไม่ทันจะตั้งค่ายขุดสนามเพลาะรับรองไทย แม่ทัพญวนเห็นทัพช้างไทยมากดังนั้นแล้ว จึงสั่งไพร่พลแยกออกเป็นปีกกา หมายจะล้อมยิงช้าง แต่ยังไม่ทันจะแยกทัพออกได้ ก็พอทัพช้างทุกกองยกมาถึงใกล้พวกญวน พวกญวนก็กลัวช้าง แตกหนีไปบ้าง
 ทัพช้างเห็นได้ทีก็ขับช้างไสช้างให้เข้าไล่แทงญวนเป็นอลหม่าน เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเห็นดังนั้นจึงสั่งทหารเดินเท้าให้หนุนเนื่องกันเข้าไป ไล่ยิงแทงฟันข้าศึกญวนเป็นอุตลุดตะลุมบอน ทั้งช้างทั้งคนเดินเท้าก็เข้าต่อรบกับญวน ญวนตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายนั้นค้านทานไม่ไหวก็แตกหนีกลับไปลงเรือได้บ้าง ก็แจวเรือไปเมืองพนมเปญ ที่ลงเรือไม่ทันนั้นก็หนีลงในน้ำ ว่ายน้ำวนเวียนอยู่ในคลอง ไทยก็ไสช้างลงไล่ยิงแทงตายในน้ำกว่า ๒๐๐ คน เก็บได้สรรพศาสตราวุธของญวนไว้มาก ครั้งนั้นองญวนแม่ทัพนายกองโพกผ้าสีน้ำเงินนั้นตาย ๑๖ คน ไพร่ตายประมาณพันเศษ เรือรบไม่เสีย”
** ให้อ่านเรื่องตื่นเต้นเร้าใจมายาวไกลแล้วนะครับ พักเหนื่อยไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน แล้วค่อยมาอ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๘ -
ญวนพ่ายยับทัพช้างไทยสร้างชื่อ ช้างไทยคือนักสู้ศัตรูพ่าย ครั้นขับญวนพ้นวันอันตราย ไทยตั้งค่ายป้องกันทุกด่านทาง
ทางเดินทัพญวนเด่นเป็นทางน้ำ เรือแจวจ้ำชำนาญไม่เก้งก้าง จึงคอยดักกักตีมิเว้นวาง ทุกค่ายกางปีกกาท่าจีกตี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... แม่ทัพหลวงญวนยกกองเรือจากพนมเปญด้วยเรือรบใหญ่น้อย ๑,๐๐๐ เศษ มีไพร่พล ๑๐,๐๐๐ คน กองทัพเรือมหึมาแจวพายเข้าไปในคลองสู่เมืองอุดงคฦๅไชย หมายจะถล่มเมืองอุดงคฦๅไชยให้ยับลงในพริบตา แต่ไปไม่ทันถึงที่หมาย องญวนแม่ทัพหลวงก็เกิดเป็นโรคปัจจุบันสลบไปในเรือ เมื่อหมอแก้ไขฟื้นขึ้นแล้วก็กลายเป็นคนสติป้ำ ๆ เป๋อ ๆ สัญญาวิปลาสไป นายทัพรองก็พากลับไปพักรักษาตัวที่เมืองพนมเปญ กองทัพญวนขาดผู้บัญชาการใหญ่ก็เรรวน เดินทัพเข้าโจมตีไทยไม่พรักพร้อมกัน ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นเมื่อจับเชลยญวนมาได้บ้างแล้วสอบสวนได้ข่าวการยกทัพมาของญวน เชื่อว่าทัพบกญวนจะมาถึงอุดงคฦๅไชยก่อนทัพเรือ จึงจัดกองทัพช้าง ๓ กองซุ่มซ่อนคอยโจมตีทัพบกญวนอยู่ในป่าพระยาลือ โดยให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเป็นผู้บัญชาการทัพ ครั้นญวนยกทัพบกเข้าถึงชานเมืองอุดงคฦๅไชย กองทัพช้างของไทยก็ยกออกจากป่าเข้าโจมตีพลเดินเท้าของญวนทันที ทัพช้างไล่แทงถีบฟาดและเหยียบไพร่พลญวนล้มตายลงมาก ผู้บัญชาการทัพไทยสั่งพลเดินเท่าเข้าร่วมกองช้างเข้าไล่ฟันแทงยิงญวนล้มตายและแตกหนีกระเจิดกระเจิง โดดลงเรือรีบแจวหนีไปได้บ้าง โดดลงคลองว่ายน้ำวนเวียนไปมาถูกไทยไล่แทงไล่ยิงตายกลางน้ำในคลองอีก ๒๐๐ กว่าคน กองทัพญวนแตกพ่ายไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......
 (คำอธิบายว่าญวนแตกครั้งนี้ ก็เพราะองต๋าเตียนกุนแม่ทัพหลวงผู้จัดการทัพนั้นป่วยหนัก ไม่มีใครบังคับการสิทธิ์ขาดอย่าง ๑ และแม่ทัพนายกองทั้งปวงก็แตกร้าวสามัคคีแก่กัน ไม่รวมคิดเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน ถือทิฐิแก่งแย่งกัน แล้วมาไม่พร้อมกันด้วย ความสองข้อนี้ญวนจึงแตกเสียทัพแก่ไทย ถ้าว่าองต๋าเตียนกุนไม่ป่วย เห็นว่าค่ายเมืองอุดงคฦๅไชยคงจะไม่พ้นเงื้อมมือองต๋าเตียนกุนเป็นแน่ เพราะคราวนี้รี้พลไทยก็น้อย ไพร่พลญวนมากถึงแสน ทั้งสติปัญญาความคิดฝีมือองต๋าเตียนกุนก็ยอดยิ่ง ทำศึกกล้าหาญแยบคายดีกว่าองเตียนกุนที่กินยาตายนั้นมาก เหตุที่ญวนจะต่อสู้ไทยไม่ได้ ต้องพ่ายแพ้ทั้งสองคราวนั้น ก็เพราะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯเป็นอัศจรรย์ เผอิญให้องเตียนกุนแม่ทัพเก่าที่มีความอุตสาหะพากเพียรจะตีเมืองเขมรให้ได้นั้น ก็กินยาตายเสียคน ๑ จึงองต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้มาเป็นแม่ทัพแทนต่อไป เมื่อองต๋าเตียนกุนยกทัพใหญ่มานั้น ก็เป็นช่องโอกาสอันดียิ่งนัก เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่อยู่ที่เมืองเขมร เขมรมีแต่นายทัพนายกองเล็กน้อยและไพร่พลนิดหน่อย ควรที่องต๋าเตียนกุนจะตีเมืองเขมรได้โดยง่ายเหมือนเขาว่า “ลอยชายเข้าเมืองชุบมือเปิบ” แต่เผอิญให้องต๋าเตียนกุนถือทิฐิมานะว่า เมืองเขมรมีแต่ขุนนางผู้น้อยเป็นแม่ทัพอยู่ จึงไม่อยากจะสู้รบกับผู้น้อย จะคอยสู้กับเจ้าพระยาบดินทรเดชาเสนาผู้ใหญ่ ซึ่งมีวาสนาเสมอกัน เมื่อญวนคิดดังนั้นก็เห็นได้ว่าพระบารมีกรุงเทพฯ ไปดลใจญวนเป็นแน่ กับเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปถึงเมืองเขมรแล้ว แต่ไพร่พลมีน้อย เพราะยังมาจากหัวเมืองไทยยังไม่ถึงเมืองเขมร องต๋าเตียนกุนรู้ดังนี้ก็รีบยกทัพใหญ่มามีไพร่พลเกือบแสน เรือรบเกือบพันลำ เป็นศึกใหญ่กว่าทุกครั้งแต่ก่อนมา น่าที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะสู้ไม่ได้เป็นแน่ เพราะพึ่งมาถึงใหม่ ๆ ไพร่พลยังไม่พร้อมเพรียงกัน ถ้าจะว่าตามทำนองศึกแล้ว ใคร ๆ ที่ได้ไปทัพญวนครั้งนั้น ก็คงจะเข้าใจร่วมกันหมดว่า กองทัพไทยในเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้งนั้นเป็นอันจะต้องอยู่ในเงื้อมมืออำนาจองต๋าเตียนกุนเป็นแน่ไม่สงสัยเลย แต่การที่สู้รบกับญวนนั้นก็เพราะความจำเป็นอยู่ในบังคับอาชญาศึก แม้ว่าเหาะได้หรือดำดินได้ก็จะไม่สู้รบกับญวน คงจะเหาะและดำดินหนีไป เพราะเห็นและรู้ว่าในครั้งนี้ ไทยมีอำนาจน้อยกว่าญวน ญวนมีอำนาจใหญ่ไพร่พลเหลือล้นยิ่งหนัก การก็ไม่เป็นเช่นคิดเช่นหมายดังว่านั้น ด้วยพระบารมีแก่กล้าสามารถ เผอิญให้องต๋าเตียนกุนป่วยเป็นโรคปัจจุบัน แล้วยังมิหนำซ้ำกลายเป็นลมบาทจิตเสียจริตไป เมื่อองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ผู้มีใจฉลาดกล้าหาญในการศึกป่วยเสียจริตแล้ว ก็ไม่มีใครบังคับการทัพศึก ศึกญวนก็หย่อนกำลังอำนาจเสื่อมไป ญวนจึงได้พ่ายแพ้แก่ไทยเพราะพระบารมีพระบรมโพธิสมภารพระกฤษฎาเดชานุภาพอภินิหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานคร เห็นประจักษ์เป็นมหามหัศจรรย์อันพระบารมียิ่งหนัก)
 ครั้นญวนแตกหนีไปแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองคุมไพร่พลไทย,ลาว,เขมร ไปตั้งค่ายรักษาด่านทางทุกตำบลที่ญวนจะขึ้นมาอีกนั้น หลายค่ายหลายทาง
ให้พระยาอร่าม พระยาศาสตรา ในพระราชวังบวรฯ กำกับพระยารัตนวิเศษเขมรเจ้าเมืองสวายจิตร ไปตั้งค่ายด่านรักษาปากคลองเมืองอุดงคฦๅไชย ๑ ให้พระจันทรรักษากับพระมนตรีบวร ในพระราชวังบวรฯ กำกับหลวงสัปบาลเขมรไปตั้งค่ายรักษาที่ปากคลองกะพงหลวง ๑ ให้พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระยาพินาศอัคนี ๑ พระยาสิทธิราวุทธ์ ๑ พระวิชิตมนตรี ๑ วังหน้าสี่คน หลวงกันธ์พยุงหะบาท ๑ หลวงราชเสวก ๑ วังหลวงสองรวมหกคน เป็นข้าหลวงกำกับทัพหัวเมือง แล้วให้พระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา ๑ พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา ๑ พระพิมาย ๑ คุมไพร่พลลาวโคราช ๑,๐๐๐ คน ให้หลวงอินทรคชลักษณ์เขมร ๑ หลวงณรงค์สุนทรเขมร ๑ คุมไพร่เขมรเมืองเสียมราฐ ๒,๐๐๐ รวมไพร่ ๓,๐๐๐ คน กับไทยอีก ๖๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๓,๖๐๐ คน นายทัพไทย,ลาว,เขมร ยกไปตั้งค่ายใหญ่ที่ปากคลองพระยาลือ ทำป้อมพูนดินสามป้อมชักปีกกาถึงกัน ขุดสนามเพลาะมีหอรบด้วย ให้หลวงแพ่งกรมการเมืองนครนายก กำกับพระยาพลเขมรเมืองพระตะบอง คุมไพร่พลเขมรเมืองพระตะบองไปตั้งรักษาเมืองบาทิ ริมฝั่งน้ำทางจะลงไปเมืองโจดกญวนตำบล ๑ ให้หลวงบุรินทรานุรักษ์เมืองนครราชสีมา กำกับพระยาดุรงคฦๅไชย คุมกองทัพเมืองขุขันธ์บุรี เมืองสาด เมืองปะเวีย ไปตั้งรักษาเมืองไพรกระบากริมฝั่งแม่น้ำทางจะลงไปเมืองโจดก ๑ แล้วสั่งให้พระยาเดโชเจ้าเมืองกะพงสวายกับไพร่พลเมืองที่มารับราชการช่วยรักษาเมืองอุดงคฦๅไชยนั้น ให้กลับไปตั้งค่ายสะโทงแขวงเมืองกะพงสวาย ให้รักษาบ้านเมืองให้มั่นคง แต่ให้พระยาศาสตราฤทธิรงค์วังหน้าไปกำกับเมืองกะพงสวายที่ค่ายสะโทงด้วย แล้วจัดกองทัพลาวหัวเมืองฝ่ายข้างตะวันอกหลายเมือง คือเมืองหนองหาร เมืองนครพนม เมืองสุนทร เมืองสังขะ ให้เจ้าเมืองกรมการใครก็ให้คุมไพร่พลเมืองของตนไปเข้าสมทบกับทัพเขมร ให้พระยากลาโหมเขมร ๑ พระยาธรรมาเดโชเขมร ๑ พระยามโนเสน่หาเขมร ๑ คุมพระยา พระเขมรเป็นนายทัพนายกองและไพร่เขมร ๔,๐๐๐ เข้ากับไพร่พลลาว ๒,๖๐๐ รวมได้ไพร่พลเขมร,ลาว ๔,๖๐๐ คน ให้พระยาพิไชยบุรินทราวังหน้าเป็นแม่กองใหญ่ แต่ให้แยกย้ายออกเป็นแปดกองใหญ่บ้างเล็กบ้าง ให้ยกลงไปตั้งตามลำน้ำวามะนาวจนถึงลำน้ำเกาะน้ำเต้าและปากน้ำเกาะแตง และคลองสามแยกสะมิถ่อ ให้คอยรบคอยตีเรือรบญวนซึ่งจะไปมาทางนั้น อย่าให้ญวนนำเรือรบไปมาได้เป็นอันขาด แล้วให้ตีตัดตอบเรือลำเลียงญวน ซึ่งจะส่งเสบียงกันนั้นอย่าให้ถึงเมืองโจดกได้ ให้เป็นทัพบกบ้างทัพเรือบ้าง
 ครั้งนั้นพอขุนนางวังหลวงวังหน้าในกรุงเทพฯ ออกไปถึงเมืองเขมรอีกพวกหนึ่ง เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า
“มาถึงช้าล่านัก ไม่ทันต่อรบกับญวน มีโทษอยู่บ้างตามอัยการศึก”
ขุนนางพวกนั้นกราบเรียนว่า
“ออกมานานแล้ว ต้องคอยช้างคอยกระบือเกวียนอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี และเมืองกบินทร์บุรี เพราะกรมการบอกว่าช้างโคต่างกระบือเกวียนไม่มี เกณฑ์ไปส่งเสบียงอาหารกระสุนดินดำยังเมืองพระตะบองเสียหมด ยังไม่กลับมา พวกข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อพระยาราชสุภาวดี พระยาราชสุภาวดีใช้ให้หลวงพิไชยเสนาขี่ม้าไปเกณฑ์ช้าง โคต่าง ที่เมืองจันทึกด่านเมืองนครราชสีมา หลวงพิไชยเสนากลับมาบอกว่ากรมการเมืองจันทึกว่า ช้างและโคต่างที่แขวงเมืองโคราชจะหาจ้างหรือเกณฑ์สักสองสามช้างก็ไม่มีเลย เพราะเจ้าพระยานครราชสีมาเกณฑ์ช้างกองหลวงและจ้างช้างราษฎรไปทัพเขมรหมดทุกบ้านทุกเมือง พระยาราชสุภาวดีจึงใบบอกเข้าไปในกรุงเทพฯ ขอให้พระราชเสนามีตราขึ้นไปเกณฑ์ช้างกรุงเก่ เมืองสุพรรณบุรี มาบรรทุกเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารของพวกนี้ด้วย แต่พวกข้าพเจ้าเห็นว่าจะอยู่คอยข้างกรุงเก่าและสุพรรณ หรือช้างที่กบินทร์และปราจีนจะกลับมาจากเมืองเขมร ก็จะช้าไม่ทันราชการ เพราะฉะนั้นพวกข้าพเจ้าแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนี่งจะอยู่ที่ปราจีนและกบินทร์ คอยช้างมาเมื่อใดก็จะได้บรรทุกของมา แต่พวกวังหน้าทั้งสิ้นไม่ยอมอยู่คอยช้าง จะช่วยกันขนแบกปืนคาบศิลาและดาบกับเสบียงบ้างเล็กน้อยเดินมา แต่ปืนใหญ่และกระสุนดินดำนั้นได้ฝากมอบไว้กับพระยาราชสุภาวดีข้าหลวงสิ้นแล้ว ก็เดินมาด้วยกันทั้งสิ้นแต่พวกนายไพร่ฝ่ายวังหน้า พวกขุนนางวังหลวงก็ได้พลอยตามมาบ้างเล็กน้อย ที่คอยช้างอยู่ก็มาก เพราะฉะนั้นจึงช้า”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่า
 “ถ้าเช่นนั้นก็มีโทษน้อยลงบ้าง แต่ยังไม่พ้นโทษหมดความผิด แต่ให้เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจหน้าและหลัง ฝ่ายพระราชวังบวรฯทั้งสิ้นด้วยกัน ทั้งนายและไพร่ ยกไปช่วยพระยาพิไชยบุรินทรารักษาลำน้ำวามะนาวเกาะแตง อย่าให้ญวนนำเรือรบไปมาได้ในทางนั้น หรือญวนมาทางนั้นก็ให้คอยตีให้แตกกลับไป หรือจับญวนมาให้บ้าง อย่างนี้แล้ว จึงจะพ้นความผิดหมดโทษ”
แล้วสั่งให้เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจหน้าและหลังในวังหน้ายกไปในวันนั้น มีไพร่พลกองทัพวังหน้ารวมทุกกอง ๒,๐๐๐ คน
** ปล่อยเรื่องยาวให้อ่านกันอีกวัน วันนี้ยังไม่มีการรบ มีแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ไทยจัดวางกำลังป้องกันกองทัพญวนที่จะยกมาอีก ซึ่งยังไม่รู้ว่าญวนจะยกมาทางไหนอย่างไรบ้าง ค่อยมาอ่านกันต่อก็แล้วกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, มนชิดา พานิช, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๕๙ -
ญวนเปลี่ยนแผนใช้กำลังอย่างดุเดือด เลิกบ้าเลือดรบพร้อมยอมเป็นผี ส่งองญวนเข้าหาชวนพาที เป็นไมตรีต่อกันต่างวันทา
แม่ทัพไทยนิ่งฟังยังไม่เชื่อ คิดกลัวเหลือญวนหลอกเล่นหลายหน้า ญวนไม่ละพยายามจำนรรจา อ่อนเข้าหาหวังให้ไทยยอมตาม
|
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... หลังจากกองทัพช้างไทยทำลายกองทัพญวนแตกกระจายไปแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงจัดการป้องกันรักษาบ้านเมืองเขมร โดยสั่งให้แม่ทัพนายกองไทยเขมรยกไปตั้งค่ายรักษาด่านเมืองต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นทางที่เขมรจะยกทัพมาอีก เมื่อจัดวางกำลังเป็นด่านกันและกับดักญวนเสร็จแล้ว ขุนนางวังหน้าวังหลวงก็ยกมาถึงอีกพวกหนึ่ง เจ้าพระยาแม่ทัพใหญ่กล่าวตำหนิว่ามาล่าช้า มีความผิดตามอัยการศึก ขุนนางวังหน้ากราบเรียนว่ามาตกค้างอยู่เมืองปราจีนเป็นเวลานาน เพราะคอยช้างโคต่างที่จะบรรทุกเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหาร จึงได้ทราบว่ายามนั้นช้างโคกระบือถูกกวาดมาใช้งานในกองทัพมาก แม้กระนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ทำโทษขุนนางวังหน้าโดยให้ยกไปเข้าร่วมกองทัพพระยาพิไชยบุรินทรารักษาทางน้ำวามะนาว วันนี้มาอ่านความต่อไปครับ......
 “ฝ่ายพระยานรานุกิจมนตรีข้าหลวงใหญ่ ๑ พระมหาสงคราม ๑ พระหฤทัย ๑ พระอภัยสุรินทร์ ๑ หลวงนายเสน่หา ๑ นายฉลองนัยนารถหุ้มแพร ๑ นายราชภักดีหุ้มแพร ๑ หลวงงำเมือง ๑ หลงราชเสนา ๑ ข้าหลวงแปดนาย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปกำกับทัพหัวเมืองลาวหลวงพระบาง ยกขึ้นไปกวาดต้อนครอบครัวลาวฟากแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออกแต่ ณ เดือนอ้ายปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๒๐๓ ปีนั้น จนถึงปีมะเส็งสัปตศกนี้ คิดได้สี่ปีเศษจึงเสร็จราชการทัพ จึงพาเจ้าอุปราชหลวงพระบางแม่ทัพลงมาเฝ้าพระกรุณาแล้วกราบบังคมทูลว่า
“ได้ไปกวาดต้อนครอบครัวลาวเก่าใหม่รวมเป็นจำนวนครัวเมืองวัง ๘๕๒ คน เมืองตะโปน ๕๗๕ คน เมืองระนอง ๑๐๓ คน เมืองทิน ๑๒๒ คน เมืองคำม่วน ๘๐๖ คน รวมครัว ๕ เมืองเป็นคน ๒,๔๕๘ คน อนึ่งพระยาสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร กับพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายได้บอกส่งท้าวสิงหะนามเจ้าเมืองคำวอ กับท้าวเพี้ยมหาไชยเจ้าเมืองวัง พระคำก้อนเจ้าเมืองคำเกิด ท้าวเพี้ยสุรินทร์เจ้าเมืองพระบางอุปฮาดเมืองคำน้อย และท้าวเพี้ยนายครัวฟากฝั่งแม่น้ำโขงลงมากรุงเทพฯ”
โปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานกรมมหาดไทยพาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง มีพระราชดำรัสให้ล่ามพนักงานถามแสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยว่า
 “ให้ปรึกษาหารือตามท้าวเพี้ยและนายครัวให้พร้อมมูลกัน จะชอบตั้งบ้านเมืองอยู่ที่บ้านใดตำบลใด จะสมัครใจทำราชการขึ้นกับเมืองใด จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อยู่ให้ขึ้นตามใจสมัคร”
ฝ่ายนายครัวให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
“ราชวงศ์เมืองคำเกิดวังปอกับพวกพ้องท้าวเพี้ยครอบครัวสมัครอยู่บ้านกุดขินราย จะขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ ท้าวโรงกลางเมืองวังกับพวกพ้องท้าวเพี้ยครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่ ณ บ้านปะขาวพะงา ขอขึ้นกับเมืองสกลนคร ท้าวลำดวนเจ้าเมืองคำเกิดกับท้าวเพี้ยครอบครัวจะสมัครตั้งอยู่บ้านญวนยางขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ อุปฮาดราชวงศ์เมืองคำม่วนกับท้าวเพี้ยครอบครัวจะสมัครตั้งอยู่บ้านแซงบาดาลขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ ท้าวเพี้ยเมืองสูงกับพวกพ้องครอบครัวจะสมัครตั้งอยู่ ณ บ้านบางหวายพระธาตุพนม ขอขึ้นเมืองพนม เจ้าเมืองเชียงร่มกับอุปฮาดราชวงศ์และท้าวเพี้ยครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่บ้านศีรษะบัว ขอขึ้นกับเมืองนครพนม พระไชยเชษฐาเมืองตะโปน กับขุนป้องพลขันธ์และท้าวเพี้ยครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่ ณ บ้านเขมรเก่า ขอขึ้นกับเมืองเขมราฐ”
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านที่ครัวตั้งอยู่นั้นยกขึ้นเป็นเมือง แล้วโปรดให้ตั้งหัวหน้านายครัวเป็นเจ้าเมืองใหม่นั้นทุกเมือง จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ตามผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกเมือง
 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้กรมมหาดไทยมีตราขึ้นไปให้เจ้าเมืองกรมการเก่า ตั้งด่านไว้ฟากแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออกหลายด่านทุกช่องทุกทาง ให้คอยลาดตระเวนระวังรักษาครอบครัวลาวที่กวาดต้อนมาแต่ปลายแดนนั้น ให้แต่งคนไปสืบสวนดูว่า ญวนจะยกทัพข้ามฟากแม่น้ำแม่น้ำโขงมากวาดต้อนครอบครัวลาวของไทยนั้นกลับคืนไปหรือไม่ ถ้ารู้ข่าวดังนี้แล้วก็ให้กรมการจัดกองทัพตระเตรียมไว้ให้พร้อม ถ้าญวนยกมาติดตามครัวลาว จะได้ให้กองทัพออกสู้รบป้องกันให้ทันท่วงทีแก่ข้าศึกญวน แล้วให้เจ้าเมืองนครพนมจัดคนข้ามฟากแม่น้ำโขงไปตั้งค่ายที่บ้านบึงแขวงเมืองนครพนมต่อเขตแดนเมืองมหาไชยตำบลหนึ่ง ให้ท้าวสายมาตั้งด่านที่บ้านโพธิ์เขตแดนเมืองวังตำบลหนึ่ง ให้เจ้าเมืองเชียงร่มตั้งด่านใหญ่อยู่บ้านศรีธาตุเขตแดนเมืองเชียงร่มตำบลหนึ่ง ให้พระสุวรรณภักดีเจ้าเมืองท่าขอนยางแต่งคนไปตั้งด่านที่บ้านหน้าหินแขวงเมืองคำเกิดตำบลหนึ่ง ให้พระศรีสุวรรณเจ้าเมืองแซงบาดาลจัดคนไปตั้งด่านที่บ้านหน้าตอแขวงเมืองคำป้อมตำบลหนึ่ง ให้พระธิเบศร์ราชวงศาเจ้าเมืองกุฉินารายแต่งคนข้ามฟากแม่น้ำโขงไปตั้งด่านที่บ้านนาใต้เมืองวังตาตำบลหนึ่ง ให้พระยาประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนคร จัดคนข้ามฟากแม่น้ำโขงไปตั้งด่านที่บ้านหน้าผาแขวงเมืองมหาไชยกองแก้วตำบลหนึ่ง ให้พระสุรินทร์สงคราม เจ้าเมืองคำป้อมแต่งคนไปตั้งด่านที่ช่องทางนาบ่อต่อแดนเมืองกวางตำบลหนึ่ง ให้พระไชยเชษฐาแต่งคนไปตั้งด่านที่บ้านโขมด แขวงเมืองตะโปตำบลหนึ่ง
ให้พวกด่านมาลาดตระเวนบรรจบกันทุกด่านทุกทาง คอยระวังรักษาญวนอย่าให้เข้ามาในแดนด่านไทยได้ ให้แต่งกองม้าไว้ใช้ให้ครบทุกกองทุกด่าน”
ฝ่ายราชการข้างเมืองเขมรนั้นการทัพศึกก็สงบอยู่ ญวนก็มิได้กำเริบยกกองทัพมาย่ำยีแก่บ้านเมืองเขมร เขมรก็เป็นสุขสบาย ฝ่ายองต๋าเตียนกุนก็ยังป่วยคลุ้มดีคลุ้มร้ายอยู่ไม่หายเป็นปรกติ แต่ยังรักษาตัวอยู่ที่เมืองพนมเปญ แต่องเฮากุนขุนนางผู้ใหญ่รององต๋าเตียนกุนนั้น ได้บังคับบัญชาการทัพศึกแทนองต๋าเตียนกุน องเฮากุนก็ตั้งทัพอยู่ ณ ค่ายฟากตะวันตกเฉียงใต้ที่ท่ากะพงหลวง องเฮากุนใช้ให้องเกียวดายนายทัพคุมไพร่ญวน ๓๖ คน เดินม้ามาหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมร องเกียวดายพูดว่า
 “องเฮากุนใช้ให้มาพูดจาเป็นทางไมตรีแก่ไทยว่า ให้นักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรมีหนังสือแต่งทูตเขมรไปขอนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงและเจ้าหญิงเขมรผู้หลานนักพระองค์ด้วง กับญาติพวกพ้องเขมรต่อองต๋าเตียนกุน องต๋าเตียนกุนก็จะส่งมารดาและญาติพี่น้องมาให้อยู่พร้อมมูลกัน การทัพศึกญวนกับไทยก็จะได้เลิกการศึกสงครามสงบเป็นทางไมตรีไปมาค้าขายกัน”
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดเห็นว่า ญวนแกล้งแต่งกลอุบายมาพูดล่อลวงไทยให้ตายใจ มีความประมาท แล้วญวนก็จะได้ช่องโอกาสยกทัพใหญ่มาตีไทยอีกเป็นแน่ เพราะคิดฉะนั้นจึงมิได้พูดจาโต้ตอบกับองเกียวดายญวน ญวนก็ลากลับไป
แล้วภายหลังองเฮากุนก็แต่งนายทัพนายกองมาหาไทย พูดรบกวนไทยว่า ให้บังคับนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมร ให้มีพระราชสาสน์แต่งราชทูตเขมรไปหาท่านเสนาบดีกรุงเว้ ขอให้กราบทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีว่า นักพระองค์ด้วงจะขอยอมเป็นเมืองขึ้นตามเดิม ดังนักพระองค์เองบิดาและนักพระองค์จันทร์เชษฐานั้น ถ้านักพระองค์ด้วงจัดราชทูตไปดังนี้แล้ว พระเจ้าเวียดนามก็จะมีรับสั่งให้แม่ทัพญวนส่งนักมารดานักพระองค์ด้วงกับเจ้าหญิงหลานทั้งสามองค์และญาติพี่น้องให้มาอยู่พร้อมมูลกันเป็นปรกติตามภูมิลำเนาเมืองเขมร องญวนพูดเท่านั้นแล้วก็ลากลับไปค่ายกะพงหลวง
อยู่มาไม่ช้าองเฮากุนแม่ทัพซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายกะพงหลวงนั้น ก็ใช้องญวนนายทัพนายกองมาหานักพระองค์ด้วงอีกหลายครั้ง ญวนวิงวอนเตือนให้นักพระองค์ด้วงมีพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามก็จะทรงกระกรุณาเมตตาแก่บ้านเมืองเขมรเป็นแน่
อีกครั้งหนึ่งองเฮากุนใช้ให้องยุงยานญวนนายทัพนายกองมาบอกกับนักพระองค์ด้วงว่า
“บัดนี้พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีมีรับสั่งให้องเลโปเสนาบดีผู้ใหญ่มีท้องตรามาถึงองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่และองเฮากุนแม่ทัพรองใจความว่า พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่นี้ มีพระราชหฤทัยกว้างขวาง ทรงพระกรุณาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินญวน และมีพระราชหฤทัยโอบอ้อมอารีแก่พระยา,พระเขมรหาที่สุดมิได้ ซึ่งพระยา,พระเขมรทำการจลาจลแก่กองทัพญวนมาแต่ก่อนนั้น จะยกโทษโปรดพระราชทานให้นักพระองค์ด้วงทั้งสิ้น แล้วจะพระราชทานเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามองค์กับนักเทศ มารดานักพระองค์ด้วงให้มาอยู่พร้อมมูลกันกับนักพระองค์ด้วง นักพระองค์ด้วงจะได้ครอบครองบ้านเมืองเขมรให้อยู่เย็นเป็นสุขสำราญ ไพร่บ้านพลเมืองเขมรและญวนจะได้ไปมาค้าขายทำมาหากินเป็นปรกติตามภูมิลำเนา แต่ให้นักพระองค์ด้วงรีบแต่งราชทูตขึ้นไปกรุงเว้โดยเร็ว”
ญวนพูดจาชี้แจงดังนี้แล้วก็ลากลับไปค่ายกะพงหลวงโดยทางเรือรบที่มานั้นลำหนึ่ง.......”
 ** ญวนเห็นท่าว่าหากใช้ไม้แข็งยกกำลังเข้าข่มขืนเขมรจะไม่ชนะได้ง่ายแน่ ๆ เพราะมีไทยเป็นกำลังหลักของเขมรอยู่อย่างมั่นคง จึงเปลี่ยนวิธีเป็นการเจรจาทางไมตรี พยายามขอร้องอ้อนวอนให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตแต่งราชสาส์นไปหาพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี ความพยายามขององเฮากุนจะสำเร็จหรือไม่ ไว้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ข้าวหอม, ปลายฝน คนงาม, มนชิดา พานิช, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๖๐ -
นักองค์ด้วงส่งศุภอักษร ขอญวนถอนทัพกล้าน่าเกรงขาม เขมรญวนควรสุขเลิกคุกคาม เจ้าเวียดนามอภัยโทษโปรดปรานี
ญวนจึงสั่งผันผ่อนรื้อถอนค่าย พาไพร่นายล่าถอยกลับทุกที่ พานักเทศแม่องค์ด้วงมอบโดยดี สานไมตรีมิตรหมายให้เหมือนเดิม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องต๋าเตียนกุนแม้จะมีร่างกายแข็งแรงดีแล้วแต่ก็มีสติวิปลาสคลุ้มดีคลุ้มร้าย รักษาตัวอยู่ในค่ายที่เมืองพนมเปญสงบอยู่ ไม่ได้สั่งการรบแต่อย่างใด ฝ่ายองเฮากุนแม่ทัพรองนั้นตั้งค่ายอยู่ ณ กะพงหลวง ทำการแทนองต๋าเตียนกุนอยู่ ก็มิได้จัดทัพญวนเข้าโจมตีย่ำยีเขมรแม้แต่ประการใด หากแต่ส่งองญวนนายทัพเข้าพบเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ ค่ายเมืองอุดงคฦๅไชย ขอให้สั่งนักพระองค์ด้วงมีราชสาส์นไปถึงองต๋าเตียนกุนขอให้กราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระราชทานเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์พร้อมนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงพร้อมญาติพี่น้องให้แก่นักพระองค์ด้วง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฟังคำกล่าวของญวนแล้วนิ่งเสีย ไม่อยู่เชื่อถือด้วยเกรงญวนจะมาหลอกลวงให้หลงเชื่อแล้วประทุษร้ายไทยอีก ญวนพยายามส่งนายทัพนายกองมารบเร้าแม่ทัพใหญ่ไทยและนักพระองค์ด้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม่ทัพใหญ่ไทยก็ยังคงนิ่งอยู่ จนครั้งล่าสุดให้องยุงยานมาหานักพระองค์ด้วง แจ้งว่าบัดนี้พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีมีรับสั่งให้องเลโปเสนาผู้ใหญ่มีท้องตรามาถึงองต๋าเตียนกุนและองเฮากุน ความว่า ทรงพระราชทานอภัยโทษให้แก่พระยาพระเขมรนายกองที่ก่อการจลาจลแก่กองญวนแต่ก่อนนั้น และจะประทานยกโทษให้นักพระองค์ด้วงทั้งสิ้น แล้วจะพระราชทานเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์กับนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงให้มาอยู่พร้อมมูลกับนักพระองค์ด้วง จึงขอให้นักพระองค์ด้วงรีบแต่งราชทูตขึ้นไปกรุงเว้โดยเร็ว วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....
 ฝ่ายนักพระองค์ด้วงจึงนำถ้อยคำญวนมาแจ้งต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้นักพระองค์ด้วงมีหนังสือเป็นศุภอักษรเขมร ใช้ให้พระยามโนเสน่หา พระพิทักษ์โยธา หลวงสุจริตภักดี เป็นทูตถือศุภอักษรไปให้องคำซายกายท่านและองกำทันท่าน ขุนนางข้าหลวงกรุงเว้ซึ่งมาสำเร็จราชการอยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน เป็นใจความในศุภอักษรนั้นว่า
“อักษรสาส์นราชไมตรีในนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองเขมร มาถึงองญวนผู้ใหญ่ทั้งสอง ณ เมืองไซ่ง่อน ได้ทราบด้วย เดิมพระยา,พระเขมรทั้งปวงเกิดอริวิวาทแก่แม่ทัพญวนแต่ในปีก่อนนั้น พวกพระยา,พระเขมรทั้งปวง จึงได้มีใบบอกเข้าไปในกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตัวเราออกมาเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เราออกมาเป็นเจ้าเป็นนายบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองเขมร และทำนุบำรุงพระยา,พระเขมรและอาณาประชาราษฎรเขมรทั้งปวงให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากความเดือดร้อนด้วยยุคเข็ญแก่พวกเขมร ฝ่ายเราก็ตั้งใจจะบำรุงราษฎรเขมรและญวนให้ไปมาค้าขายทำมาหากินโดยสะดวกก็ไม่สมที่คิดไว้ เพราะเกิดการทัพศึกกันเนือง ๆ มาไม่เว้นว่าง บัดนี้เราเห็นมีช่องโอกาสอันดี จึงได้มีหนังสือมาขอสติปัญญาญวนผู้ใหญ่ทั้งสอง ซึ่งมาสำเร็จราชการอยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน ช่วยทำนุบำรุงเรา ขอให้ท่านกราบทูลพระเจ้าเวียดนามให้หยุดเลิกการทัพศึกเสียเถิด เราจะได้พึ่งพระบารมีกรุงเวียดนามและกรุงเทพฯ ทั้งสองพระมหานคร ราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเขมรจะได้อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้า แต่พระยา,พระเขมรหัวเมืองทั้งปวงที่ประพฤติพาลทุจริตต่อรบกับญวนนั้น เพราะเป็นคนโฉดเขลาหารู้ความผิดและชอบไม่ ขอรับพระราชทานโทษพระยา,พระเขมรหัวเมืองเสียสักครั้งหนึ่ง ศุภอักษรมา ณ วันพุธเดือนสามขึ้นสิบค่ำปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ ปี“
องญวนผู้ใหญ่ ณ เมืองไซ่ง่อนมีหนังสือตอบมาว่า
“ถ้าเช่นนั้นแล้วจะมีหนังสือบังคับให้องเฮากุนแม่ทัพที่ค่ายกะพงหลวงรื้อถอนค่ายที่ท่ากะพงหลวงและค่ายปากคลองพระยาลือกับค่ายที่เกาะจีน ทั้งสามตำบลให้รื้อถอนถอยเลิกลงไปตั้งยับยั้งฟังราชการอยู่ ณ เมืองพนมเปญ”
ครั้น ณ วันเดือนสามแรมสิบสามค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งพระยานรินทรสงครามเขมร กับพระสุระเดชะเขมร คุมไพร่พลเขมร ๒๐๐ คน ลงไปตรวจว่าญวนจะรื้อค่ายทั้งสามตำบลจริงดังหนังสือหรือไม่จริง พระยา,พระเขมรกลับมากราบเรียนว่า
 “เห็นญวนรื้อค่ายกะพงหลวง ค่ายเกาะจีน ค่ายปากคลองพระยาลือ ทั้งสามตำบลนั้นสิ้นแล้ว ข้าวในยุ้งฉางนั้นญวนขนไปจนหมด”
ครั้น ณ วันอังคารเดือนสิบเอ็ดแรมแปดค่ำปีมะเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๒๐๘ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นองโดยองกายนายทัพนายกองญวน พานักเทศมารดานักพระองค์ด้วง กับหม่อมกลีบภรรยานักพระองค์ด้วง และนักเทพบุตรหญิงนักพระองค์ด้วง รวมสามคน กับเขมรบ่าวข้าคนใช้รวม ๓๔ คน กลับคืนมาส่งให้นักพระองค์ด้วงที่เมืองอุดงคฦๅไชย แล้วองโดยองกายแจ้งความต่อนักพระองค์ด้วงว่า
“เจ้าหญิงทั้งสามนั้นยังอยู่ที่เมืองพนมเปญ ยังไม่มีคำสั่งเสนาบดีกรุงเว้ให้ส่งมา ถ้านักพระองค์ด้วงอยากได้เจ้าหญิงผู้หลานทั้งสามองค์ หรือญาติพี่น้องพวกพ้องฝ่ายเขมรทั้งหมดแล้ว ก็ให้นักพระองค์ด้วงมีพระราชสาส์นแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตขึ้นไปกรุงเว้ ขอให้องเลโปเสนาบดีกราบทูลขอเจ้าหญิงเขมรต่อพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามก็จะพระราชทานให้เป็นแน่”
ฝ่ายนักพระองค์ด้วงเกรงพระราชอาชญากรุงเทพฯ จึงมิได้รับคำตอบญวนว่าจะแต่งทูตไป เป็นแต่พูดตอบญวนว่า
“ขอปรึกษาหารือพระยา,พระ เขมร ให้เห็นตกลงพร้อมเพรียงกันก่อน ถ้าพระเจ้าเวียดนามจะโปรดให้เมืองเขมรเป็นข้าขอบขัณฑเสมา เหมือนครั้งสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชาเก่าซึ่งเป็นบิดาเราดังครั้งนั้น ก็เห็นทีพอจะมีราชสาส์นแต่งทูตไปได้บ้าง”
แล้วองโดยองกายญวนพูดกับนักพระองค์ด้วงว่า
“ญวนจะขอครัวแขกครัวญวนรวม ๔๔ คน ที่เขมรจับมาแต่เมืองพระตะพัง เมืองประมวญสอ เมืองป่าสัก”
นักพระองค์ด้วงตอบญวนว่า
“ครัว ๔๔ คนนั้นหาได้อยู่ที่เมืองเขมรไม่ ได้ส่งเข้าไปในกรุงเทพมหานครแต่ก่อนนานแล้ว จะต้องมีหนังสือเข้าไปถึงท่านเสนาบดีไทยให้กราบบังคมทูลขอต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถ้าโปรดพระราชทานออกมาก็จะส่งไปให้แก่ญวน”
ญวนถามว่า “เมื่อไรจะรู้ความจะได้ไม่ได้” นักพระองค์ด้วงตอบว่า “ขอผลัดสามเดือนจะให้รู้ความ”
แล้วองโดยองกายก็ลากลับไป........
 ** ความพยายามขององเฮากุนประสบความสำเร็จ เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกให้นักพระองค์ด้วงทำหนังสือเป็นศุภอักษรถึงญวน แต่แทนที่จะส่งหนังสือไปถึงองต๋าเตียนกุน กลับมีไปถึงผู้สำเร็จราชการญวนที่เมืองไซ่ง่อน ผู้สำเร็จราชการจึงมีท้องตราบังคับให้องเฮากุนรื้อถอนค่ายทั้งหมดกลับไปตั้งรอฟังราชการอยู่ที่เมืองพนมเปญ ต่อมาก็ได้ได้ส่งนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงพร้อมหม่อมภรยาและบุตรีนักพระองค์ด้วงมาให้ที่เมืองอุดงคฦๅไชย ส่วนเจ้าหญิงทั้งสามองค์อยู่ที่เมืองพนมเปญ ญวนยังไม่ยอมส่งมา แต่เล่นแง่ให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปกรุงเว้ ทูลขอเจ้าหญิงเขมรทั้งสามต่อพระเจ้าเวียดนาม เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ าศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, มนชิดา พานิช, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๖๑ -
เศรษฐกิจตกสะเก็ดคือเหตุใหญ่ เขมรใต้เฟื่องฟูญวนชูเสริม เขมรเหนือไร้สุขได้ทุกข์เติม จึงได้เริ่มชื่นชมนิยมญวน
แม่ทัพไทยเห็นเลศนัยเหตุแพ้ จึ่งรีบแก้แนวทางอย่างเร่งด่วน สั่งองค์ด้วงมิต้องตรองใคร่ครวญ แต่งทูตทวนความคิดเปลี่ยนทิศทาง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกให้นักพระองค์ด้วงมีศุภอักษรไปถึงผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองไซ่ง่อน จากนั้นผู้สำเร็จราชการก็มีท้องตราบังคับให้องเฮากุนรื้อค่ายสามค่ายจากท่ากะพงหลวง ปากคลองพระยาลือ และเกาะจีน ลงไปตั้งคอยฟังข่าวราชการอยู่ที่เมืองพนมเปญ ต่อมาองญวนก็พานักเทศมารดานักพระองค์ด้วง หม่อมกลีบภรรยานักพระองค์ด้วง นักเทพบุตรีนักพระองค์ด้วง พร้อมบ่าวไพร่จากพนมเปญมาบอบให้นักพระองค์ด้วงที่เมืองอุดงคฦๅไชย ส่วนเจ้าหญิงเขมรสามองค์ยังอยู่เมืองพนมเปญ ฝ่ายญวนบอกให้นักพระองค์ด้วงมีพระราชสาส์นแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ทูตนำขึ้นถวายพระเจ้าเวียดนามแล้วทูลขอต่อไป วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....
 ครั้นถึงเดือนยี่ องโดยกายก็มาเตือนนักพระองค์ด้วงอีกว่า
“บัดนี้ถึงกำหนดครบสามเดือนแล้ว เมื่อไรจะได้คน ๔๔ คน”
นักพระองค์ด้วงว่า
“ยังใช้ให้ขุนนางเขมรถือหนังสือเข้าไปนานแล้วยังไม่กลับออกมา จะได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้เป็นแน่ลงได้ บัดนี้จะต้องให้พระยายมราชเขมร พระยาราชมนตรีเขมรเข้าไปวิงวอนท่านเสนาบดีไทยให้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ขอพระราชทานคน ๔๔ คน ออกมาให้จงได้”
องโดยกายจึงพูดว่า
“ถ้าเช่นนั้นแล้ว ในเดือนสามข้างไทย เป็นปีใหม่ฝ่ายญวน ให้นักพระองค์ด้วงแต่งราชทูตเชิญพระราชสาส์น กับเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่ แล้วให้ราชทูตเขมรที่ขึ้นไปเฝ้านั้น กราบทูลขอพระราชทานโทษพระยา พระเขมรที่ทำผิดต่อญวนแต่ก่อนนั้น กับให้เขมรเป็นเมืองขึ้นแก่ญวนตามอย่างธรรมเนียมเดิมสืบต่อไป พระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่นี้ก็จะทรงพระเมตตาโปรดยกโทษให้ ถ้าถึงเดือนสามนักพระองค์ด้วงไม่แต่งทูตขึ้นไปกรุงเว้แล้ว องต๋าเตียนกุนและองเฮากุนให้ตระเตรียมกองทัพบกและเรือไว้ให้พร้อม จะยกมาตีเมืองเขมรอีกคราวหนึ่งให้ได้ คราวนี้ญวนได้จัดทัพไว้ถึงอย่างคือ ทัพบกเดินเท้า ๑ ทัพบกช้าง ๑ ทัพเรือใหญ่น้อย ๑ ถ้านักพระองค์ด้วงไม่เชื่อให้ถามเขมรที่ถือหนังสือลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้นเถิด”
นักพระองค์ด้วงก็ถามเขมรผู้ถือหนังสือ เขมรผู้ถือหนังสือตอบว่า
“เมื่อลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้น ได้เห็นญวนจัดเรือรบไว้มากจริง กับได้เห็นญวนฝึกหัดช้างรบอยู่ประมาณร้อยเศษ เมื่อกลับมาแต่เมืองไซ่ง่อนได้เห็นช้างเพิ่มเติมเดินมาตามทางเนือง ๆ จะเป็นช้างมากน้อยเท่าใดหาทราบไม่”
นักพระองค์ด้วงจึงนำข้อความทั้งนี้ไปแจ้งท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดว่า
 “ทัพญวนมาคราวนี้องต๋าเตียนกุนเป็นแม่ทัพใหญ่ องเฮากุนเป็นแม่ทัพรอง จะตั้งค่ายคูก็ดูชอบมาพากลแหลมหลักนัก หรือจะตั้งด่านทางทุกด้านทุกตำบลก็มั่นคงแข็งแรงดีกว่าครั้งองเตียนกุนแม่ทัพเก่า ชั้นแต่เขมรพวกเราจะไปลาดตระเวน จับกุมผู้คนญวนมาไต่ถามสืบราการทัพศึกบ้างก็ไม่ได้ เพราะนายทัพนายกองญวนรักษาด่านทางช่องคูโดยสามารถดียิ่งนัก คิดดูว่าถ้าองต๋าเตียนกุนหายป่วยแล้วเมื่อไร คงจะได้ทำศึกใหญ่กันอีกเมื่อนั้น”
แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งให้ขุนสวัสดิ์นครินทร์กับหลวงอภัยคงคาเป็นข้าหลวงกำกับพระยา พระเขมร คุมไพร่เขมรลอบไปดูกองทัพเรือญวนตามลำแม่น้ำใหญ่ กลับมาแจ้งความว่า
 “ได้เห็นเรือรบญวนศีรษะป้อมทอดขวางแม่น้ำใหญ่อยู่ประมาณ ๑๐๐ ลำ เห็นกำลังตั้งฝึกหัดทหารยิงปืนใหญ่อยู่ทุกลำ กับเรือเล็ก ๆ ก็หัดแจวและซ้อมทำการรบเพลงอาวุธอยู่พร้อมกัน ประมาณเรือรบเล็ก ๒๐๐ ลำ และได้เห็นญวนนำเรือลำเลียงบรรทุกข้าวสารและเกลือ ขึ้นมาส่งยังกองทัพเมืองพนมเปญถึงสี่เที่ยว เที่ยวละ ๑๙๘ ลำ แต่เรือใหญ่ทั้งสิ้น จะเป็นข้าวเกลือเสบียงอาหารเท่าไรหาทราบไม่”
กองอาทมาตไปสืบราชการทัพญวนกลับมาแจ้งความว่า
“ได้ไปลอบดูอยู่ในป่า เห็นญวนนำช้างมาทอดเลี้ยงในป่ากะพงกะสังและป่าพนมเปญ ต่อกับเขตป่ากะพงหลวงนั้น มีช้างเต็มทุกป่าประมาณ ๓๐๐ เศษ มีกองทัพรักษาแข็งแรง”
แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดกับนักพระ
องค์ด้วงว่า
 “เดี๋ยวนี้คาดคะเนใจและดูกิริยา พระยา พระ เขมรฝ่ายเราก็ย่นย่อครั่นคร้ามกลัวญวนไปหมดแล้ว หากล้าหาญเข้มแข็งเหมือนแต่ก่อนไม่ ครั้นจะกดขี่ข่มขืนให้ไปรบกับญวน ก็พากันกำเริบเป็นขบถขึ้น เหมือนเมื่อครั้งปีมะเส็งเบญจศกครั้งแรกนั้น ครั้นเราจะไม่เห็นไมตรีกับญวนในคราวนี้ ก็เห็นทีว่า พระยา พระ เขมรและไพร่บ้านพลเมืองเขมร จะกลับใจไปเข้าด้วยญวนเสียหมด เพราะว่าที่บ้านเมืองเขมรมีความอดอยากข้าว เกลือ มาหลายปี ไม่มีที่ซื้อหาแลกเปลี่ยนกันกิน ฝ่ายเมืองเขมรข้างญวนอยู่นั้นอุดมไปด้วยเสบียงอาหารทุกอย่าง เพราะญวนยอมให้ลูกค้าชาวทะเลมาค้าขายที่เมืองพนมเปญ เมืองพนมเปญใกล้เมืองญวน ญวนก็จัดการให้บริบูรณ์ด้วยเสบียงพอซื้อหาแลกเปลี่ยนกันกินได้ถูก ๆ ไม่แพงเหมือนที่เมืองเขมรฝ่ายเรา เพราะฉะนั้นเขมรฝ่ายเราก็จะนิยมไปอยู่กับญวนและเข้าไปอยู่กับญวนเสียหมด เราก็จะเสียทีเป็นที่อัปยศแก่นานาประเทศไปชั่วฟ้าและดิน อีกประการหนึ่งเล่าพวกเขมรฝ่ายเราก็ได้อาศัยลูกค้าญวนและเขมรข้างญวนนำเกลือและสิ่งของต่าง ๆ อย่างทะเลขึ้นมาขายให้พวกเขมรฝ่ายเรา เราจะได้รับประทานเกลือและของใช้สอยมาแต่พวกลูกค้าฝ่ายใต้ ดังนี้ก็เป็นที่ให้เขมรพวกเราจะอยากให้ญวนมาครอบงำบ้านเมืองฝ่ายเราด้วย ทุกวันนี้ที่เมืองพนมเปญและเมืองกะพงหลวงทั้งสองตำบลนั้น ญวนก็ตั้งตลาดซื้อขายสินค้าสดคาวและของแห้งทุกอย่างสนุกสานบริบูรณ์มาก เขมรฝ่ายข้างญวนก็เบิกบานสบายใจ เพราะมีที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกินกันได้ ไม่อดอยากเหมือนเขมรฝ่ายเรา เราจะไปมาค้าขายซื้อของกินที่ตลาดเมืองพนมเปญและที่ท่ากะพงหลวงนั้น ก็ได้ทั้งสองตำบล ญวนก็ไม่ห้ามปรามขัดขวางจับกุมเขมรพวกเรา พวกเราก็ได้อาศัยซื้อขายในตลาดญวนด้วย ญวนทำอาการทอดเทตีสนิทเหมือนพวกเดียวกัน เพื่อญวนจะเกลี้ยกล่อมล่อน้ำใจเขมรฝ่ายเราด้วย การเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่าเขมรข้างเราก็จะมีใจแปรปรวนผันแปรเป็นอื่นไปเสีย ก็จะเสียท่วงทีและเสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพมหานครไปด้วย”
 เพราะฉะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงบังคับให้นักพระองค์ด้วงรับปากกับญวนว่า จะมีหนังสือตอบลงไปให้องต๋าเตียนกุนแม่ทัพรู้ แล้วนักพระองค์ด้วงก็มีหนังสือตอบไปใจความว่า
“จะมีศุภอักษรให้ทูตานุทูตคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่ ให้ถึงกรุงเว้ ณ เดือนสามขึ้นหกค่ำปีใหม่ฝ่ายญวนให้ได้เป็นแน่”
ญวนก็ตอบมาว่า “ถ้าเช่นนั้นให้รีบมา จะให้ขุนนางญวนพาไปให้ถึงกรุงเว้โดยความผาสุกมีการรับรองเป็นเกียรติยศ“
 ** ความคิดเห็นของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาถูกต้อง เขมรฝ่ายเหนือกำลังถูกญวนแย่งชิง พระยา พระ ไพร่พล ประชาราษฎร์ไปครอบครอง เขมรฝ่ายเหนือเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจที่มีแต่ทรุดโทรมลง เขมรฝ่ายใต้เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีญวนเป็นผู้ค้ำจุน จึงเป็นวิธีการแก้ไขดีที่สุดคือ นักพระองค์ด้วงยอมมีพระราชสาส์นแต่งราชทูตนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี เขมรฝ่ายนักพระองค์ด้วงและไทยจะได้ไม่เสียท่วงทีแก่ญวน จึงถือได้ว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว ไว้ค่อยมาอ่านเรื่องต่อครับ อีกเพียง 5 ตอนก็จะจบแล้ว.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ข้าวหอม, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๖๒ -
พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ทรงมีความดำริที่เห็นต่าง ญวนมากมีพฤติกรรมเล่ห์อำพราง เป็นการวางกลงำกัมพูชา
ทรงแนะให้ตอบญวนแบบชวนแลก ต่างปลดแอกอำนาจวาสนา ให้เขมรเป็นสุขทุกเวลา สองมหานครรุมช่วยอุ้มชู |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ญวนมาเร่งเร้าให้นักพระองค์ด้วงติดต่อขอญวน ๔๔ คนจากรุงเทพฯ ส่งคืนให้ญวน และให้แต่งทูต มีพระราชสาส์นพร้อมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี หากพ้นปีใหม่ญวนแล้ว นักพระองค์ด้วงยังนิ่งเฉยอยู่ องต๋าเทียนกุน องเฮากุน จะยกทัพใหญ่สามทัพตีเอาเมืองเขมรให้จงได้ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้พิจารณาสถานการณ์และไตร่ตรองดูอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าฝ่ายไทยเขมรมีความเสียเปรียบญวนทุกอย่าง จึงให้นักพระองค์ด้วงมีศุภอักษรญวนไปว่า จะมีศุภอักษรให้ทูตานุทูตคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนาม ณ กรุงเว้ ทันปีใหม่ญวนเป็นแน่ ฝ่ายญวนก็ดีใจบอกว่าจะจัดการรับรองอย่างเต็มที่ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ ครั้งนั้น พอหลวงสวัสดิ์นคเรศร์เชิญท้องตราตอบหนังสือบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไป มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาใจความว่า
 “แม่ทัพญวนยกกองทัพใหญ่ขึ้นมาครั้งนี้ มาตั้งฝึกหัดซ่อมทหารเรือ ทหารช้าง และทหารเดินเท้า ก็มากอยู่ที่เมืองพนมเปญ และองญวนแม่ทัพที่มาใหม่ใช้ให้ญวนมาบอกกับนักพระองค์ด้วงว่า ให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตขึ้นไปกรุงเว้ แล้วให้มีศุภอักษรไปสารภาพผิด และยอมขอขึ้นกับพระเจ้าเวียดนามใหม่ต่อไป แล้วพระเจ้าเวียดนามจะยอมส่งเจ้าหญิงญาติพี่น้องมาให้พร้อมมูลกัน แล้วในใบบอกก่อนนั้นว่า การนี้เป็นการใหญ่ เหลือสติปัญญาเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงได้บอกขอพระราชทานกระแสพระราชดำริ จะโปรดเกล้าฯ ให้ประนีประนอมไปตามทางไมตรีกับญวนนั้น หรือจะโปรดเกล้าฯ เป็นประการใดก็แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดแจ้งอยู่ในใบบอกฉบับก่อนนั้นแล้ว”
บัดนี้ทรงพระราชดำริแล้วโปรดให้ตอบว่า
“ถ้าจะให้คิดติดตามไปตามการที่เป็นไปแล้ว ทรงเห็นว่า นิสัยน้ำใจญวนไม่มีความสุจริตต่อมิตรไมตรี เป็นคนยกตนข่มท่าน มีแต่จะเอารัดเอาเปรียบเลียบเลียมรู้มากทุกครั้งทุกที ถ้าจะคิดไปถึงการเก่า ๆ แต่ครั้งแผ่นดินต้นพระพุทธเจ้าหลวง ( คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)นั้น เจ้าเวียดนามยาลวงต้นราชวงศ์นี้ ก็ขอเมืองบันทายมาศของไทยไปครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งแผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมในพระโกษฐ์ (คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพรพุทธเลิศหล้านภาลัย) นั้น เจ้าเวียดนามมินมางบิดาเจ้าเวียดนามเทียวตรีทุกวันนี้ ก็เกียดกันบ้านเมืองเขมรฝ่ายไทยไปเป็นสิทธิ์ของญวนเสียครั้งหนึ่งไม่ใช่หรือ ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เมื่อเราได้ผ่านพิภพใหม่ ๆ (คือ ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) นั้น เจ้าเวียดนามมินมางก็เกียดกันเมืองลาว ปลายเขตแดนเมืองเวียงจันทน์ไปเป็นเขตแดนของญวนเสียก็มาก ๆ ครั้งนี้ญวนแม่ทัพใหญ่ใช้ให้คนมาพูดแทะโลมไทยและเขมร ชักชวนเป็นทางไมตรีนั้นด้วยเหตุอันใดเล่า คิดยังไม่เห็นสมกับการต้นที่รบราฆ่าฟันกันมาก จนได้ความอับอายล้มตายลงเป็นสาหัสสากันดังนั้น แล้วก็จะหันหน้ากลับมาเป็นไมตรีดีกันโดยเร็วฉะนี้ เมื่อกำลังรบพุ่งกันอยู่ก็จะดีกันเฉย ๆ จะอย่างไรอยู่กระมัง ให้คิดโดยรอบคอบเสียก่อน อย่าเพิ่งด่วนได้ใจเร็ว หรือจะเป็นกลอุบายญวนมาพูดจาหลอกลวงล่อให้หลงลม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเสียทั้งคมทั้งสันไปหลายชั่วอายุ หรือว่าญวนสู้รบฝีมือทแกล้วทหารไทยไม่ได้ ญวนจึงได้มาชักชวนเป็นไมตรีก่อน ให้คิดให้เห็นตกลงตลอดข้อความเหล่านั้นทั้งสิ้นเสียก่อนจึงทำทางไมตรีตามเหตุที่ควรจะทำเพราะการจำเป็น ข้อที่แม่ทัพหรือเจ้าแผ่นดินญวนส่งนักมารดา บุตร ภรรยาเจ้าองค์ด้วงให้มานั้น คาดคะเนดูใจญวนเห็นว่า ถ้าญวนจะยึดมารดา บุตร ภรรยาเจ้าองค์ด้วงไว้ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไร กลับจะต้องเสียข้าวปลาผ้าเกลือให้เสมอ ทั้งจะต้องจ่ายแปะเป็นเบี้ยเลี้ยงด้วย เปลืองเปล่า ๆ หาต้องการไม่ ญวนจึงส่งมาให้เจ้าองค์ด้วงเสียดีกว่า ญวนส่งมารดาญาติมาให้เจ้าองค์ด้วงทั้งนี้ ก็เพราะญวนจะผูกพันน้ำใจให้เจ้าองค์ด้วงรักใคร่นับถือญวน ญวนจะได้ชักชวนไปขึ้นไปออกแก่บ้านเมืองญวน ทั้งญวนจะได้มีบุญคุณต่อเขมร แล้วจะได้เป็นทางพูดจาทวงบุญคุณกับเขมรต่อไปภายหน้า การเป็นไปดังนี้แล้ว เขมรก็จะได้เห็นความดีของญวนว่า เจ้าเวียดนามเทียวตรีองค์ใหม่นี้ น้ำใจในคอไม่มีความพยาบาทอาฆาตต่อเขมรเลย การทั้งนี้เห็นว่าเป็นความคิดขึ้นใหม่ของเสนาบดีฝ่ายญวน ญวนจะนำความดีใหม่นี้มาล้างความชั่วเก่าของญวน ซึ่งเจ้าเวียดนามมินมางองค์ก่อนทำแก่เขมรยับเยินป่นปี้มากหนัก จนเขมรแตกร้าวกับญวนไปเสียครั้งหนึ่งนั้นไม่ใช่หรือ ข้อซึ่งแม่ทัพญวนใช้ให้คนมาบอกกับเจ้าองค์ด้วง ให้มีศุภอักษรแต่งทูตขึ้นไปกรุงเว้ ขอเจ้าหลานหญิงต่อเจ้าเวียดนามองค์ใหม่ เจ้าเวียดนามองค์ใหม่ก็จะให้มานั้น ความข้อนี้ทรงพระราชดำริไม่เห็นด้วยเลย ว่าญวนจะให้เจ้าหญิงมายังเมืองเขมรง่าย ๆ อย่านึกเลย ทรงเห็นแต่ว่าเจ้าเวียดนามและเสนาบดีจะยึดเจ้าหญิงทั้งสามองค์ไว้ในเขตแดนญวน ญวนจะได้เอาไว้เป็นหุ่นแย่งชิงแผ่นดินเขมรเล่นไม่ดีหรือ ถ้าญวนส่งเจ้าหญิงทั้งสามองค์มาให้เจ้าองค์ด้วงแล้ว ก็เหมือนญวนยกมอบแผ่นดินเขมรให้แก่เจ้าองค์ด้วงเสียเหมือนกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เห็นได้ว่าญวนจะคิดปลอบโยนเกลี้ยกล่อมเจ้าองค์ด้วงต่อภายหลังอีกกระมัง แต่เห็นว่าญวนเป็นอันไม่ให้เจ้าหญิงมาแน่ เพราะญวนได้ผลประโยชน์ในบ้านเมืองเขมรเสมอเป็นอันมากทุกปี ด้วยญวนรักเมืองเขมรจึงสู้ลงทุนลงรอนทดลองเสบียงอาหารกระสุนดินดำ ให้ไพร่พลขึ้นมารักษาเขตแดนติดตามสู้รบกับไทย ก็เพราะจะอยากได้แผ่นดินเขมรคืนไปให้อยู่ในอำนาจญวนเหมือนแต่ก่อน เพราะฉะนั้น ญวนจึงสู้เสียกระสุนดินดำและเรือรบเรือไล่มาแตกแตนเสียมาก และไพร่พลก็มาล้มตายหายจากเป็นอันมากหนักหนาแล้ว ญวนจึงมีทิฐิมานะเสียทุนรอนมาก เพราะจะต้องการเมืองเขมรให้ได้คุ้มค่าโสหุ้ยที่เสียไปแต่ก่อนโดยมากนั้น ญวนจะให้เจ้าหญิงมาง่าย ๆ ที่ไหนเล่า ข้อซึ่งเจ้าองค์ด้วงพูดไปกับญวนว่าจะมีหนังสือเข้ามาขอญวนแขกเชลย ๔๔ คนนั้น ยังถามท่านเสนาบดีไทยดูก่อน ถ้าโปรดให้ก็จะได้อกมา ถ้าไม่โปรดให้ก็จะให้รู้ในสามเดือนนั้น ถ้าถึงกำหนดครบสามเดือนแล้ว ญวนคงจะมาฟังความอีก ถ้าเจ้าองค์ด้วงจะพูดจากับญวนต่อไปอีกก็ให้พูดว่า เจ้าองค์ด้วงได้มีศุอักษรเข้าไปยังท่านเสนาบดีไทยแล้ว ท่านเสนาบดีมีท้องตราตอบอกมาว่า ถ้าญวนส่งเจ้าผู้หญิงมาให้อยู่พร้อมเพรียงญาติกันกับเจ้าองค์ด้วงแล้ว และเจ้าองค์ด้วงได้จัดการบ้านเมืองเขมรให้ไพร่พลอยู่เย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อครั้งนักพระองค์เอง สมเด็จพระนารายณ์รามาเจ้ากรุงกัมพูชาซึ่งเป็นบิดาเจ้าองค์ด้วงนั้นแล้ว อย่าว่าแต่ญวนแขกเชลย ๔๔ คนเลย ถึงญวนเชลยที่ได้มาแล้วส่งเข้าไปไว้ในกรุงเทพฯ มากน้อยเท่าใด ท่านเสนาบดีไทยก็จะคืนให้ทั้งสิ้น ประการหนึ่งกองทัพไทยอยู่ที่เมืองเขมรนั้น ขัดสนเสบียงอาหารลงแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่มีใบบอกเข้ามา ณ กรุงเทพฯ กลับไปบอกขอเสบียงอาหารที่เมืองจันทบุรี เมืองสาคราธ หัวเมืองเหล่านั้นจะมีข้าวเกลือมาเลี้ยงกองทัพไทยได้หรือ บัดนี้ได้โปรดให้พระยาเกษตรรักษา คุมไพร่ถ่ายลำเลียงอกไปส่งที่ท่าเมืองกบินทร์บุรีแล้ว ให้มีท้องตราบังคับเจ้าเมืองกรมการทางตะวันออก ส่งต่อ ๆ ไปจนถึงเมืองอุดงคฦๅไชยให้ทันราชการ”
(ท้องตราฉบับนี้ไม่ได้ตัดรอน กล่าวไว้ตามต้นร่างฉบับเดิม เพราะจะให้ท่านผู้อ่าน ผู้ฟัง ทราบกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตลอดจนจบท้องตรา มิใช่สำนวนถ้อยคำพระยาศรีสิงหเทพ (ทองเพง) พระยาศรีสิงหเทพ เป็นแต่ผู้เขียนเท่านั้น)
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราดังนั้นแล้ว จึงให้นักพระองค์ด้วงแต่งพระยามหาเทพ ๑ พระยาสุภาธิราช ๑ พระยาวงศาธิราช ๑ หลวงไชยสงครามล่ามญวน ๑ ขุนสนิทเสน่หาล่ามญวน ๑ รวมห้าคน ให้เป็นพระยาพระเขมรคนรับใช้ของนักพระองค์ด้วง ไปหาองต๋าเตียนกุนที่ค่ายเมืองพนมเปญ โดยเป็นการไปเยี่ยมเยือนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนตามทางไมตรี แล้วมีหนังสือฝากไปฉบับหนึ่งใจความว่า
 “ศุภอักษรบวรศรีสวัสดิ์พิพัฒนไมตรีศรีสุนทรหัทยาศรัย ในนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรผู้สำเร็จราชการ ณ กรุงกัมพูชา แจ้งความมาถึงท่านองเป็นใหญ่แม่ทัพญวน ณ เมืองพนมเปญได้ทราบ ด้วยเราได้มีศุภอักษรเข้าไปในกรุงเทพฯ ถึงท่านเสนาบดีไทย ใจความว่า ขอญวนแขกเชลย ๔๔ คนออกมา ท่านเสนาบดีก็มีท้องตราตอบอกมาว่า ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบแล้ว มีรับสั่งว่า ถ้าแม่ทัพญวนทำนุบำรุงเมืองเขมรซึ่งเป็นเมืองน้อย ให้ได้พึ่งเมืองใหญ่ฝ่ายไทยและญวนทั้งสองพระมหานคร ทั้งสองพระมหานครปกครองเมืองเขมรให้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อครั้งนักพระองค์เองบิดานั้นแล้ว อย่าว่าแต่ญวนแขกเชลย ๔๔ คนเท่านี้เลย ถึงญวนเชลยที่เขมรจับได้ส่งเข้าไปถวายไว้ในกรุงเทพฯ มีมากน้อยเท่าใด จะพระราชทานคืนกลับอกมาให้ทั้งสิ้นก็จะได้เป็นไรมี แต่ญวนแขก ๔๔ คนรายนี้ ยังไม่มีรับสั่งให้ส่งออกมาเพราะเหตุประการใดหาทราบไม่ แล้วให้พระยายมราช พระยาราชไมตรี เขมรทั้งสองคนเข้าไปเฝ้า ณ กรุงเทพฯ ทูลขอญวนแขก ๔๔ คนอีก ถ้าพระยาพระเขมรทั้งสองคนได้ญวนแขก ๔๔ คนออกมาเมื่อใด ก็จะให้คนมาบอกองเป็นใหญ่ ณ เมืองพนมเปญให้แจ้ง”
 ** อ่านความในท้องตราที่ตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว ซึ้งในพระราชดำริอันลึกซึ้งกว้างไกลไปรอบด้าน พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเปี่ยมไปด้วยเหตุผล ข้อเสนอต่อรองกับญวนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนพระองค์ ต่างจากญวนมาก ทางฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชากับนักพระองค์ด้วง เมื่อได้ทราบความในท้องตราดังกล่าวแล้ว จะนำมาปรับปรุงพลิกแพลงใช้กับญวนอย่างไรต่อไป ค่อยมาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), มนชิดา พานิช, ก้าง ปลาทู, ข้าวหอม, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๖๓ -
เหมือนไม่เต็มใจรับทูตเขมร จึงละเว้นปฏิบัติเคยทำอยู่ เลี้ยงโต๊ะจีนจัดแสดงงิ้วให้ดู กลับไม่รู้ไม่ชี้ที่เคยวาง
เล่ห์กลญวนล้วนร้ายอุบายมาก คนคบยากอย่างญวนควรไกลห่าง ทูตเขมรถูกเมินจึงเดินทาง กลับมาอย่างมือเปล่าหงอยเหงาใจ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯโปรดฯให้มีท้องตราตอบใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงเรื่องที่ญวนส่งนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงพร้อมภรรยาบุตรีนักพระองค์ด้วงมาให้ และขอเชลยแขกญวน ๔๔ คนจากไทยคืนไป กับขอให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี ทูลขอเจ้าหญิงเขมรสามองค์คืนมา ถ้าพ้นปีใหม่ญวนแล้วนักพระองค์ด้วงไม่ทำตามที่ญวนกล่าวมานั้น ญวนก็จะยกทัพใหญ่สามทัพมาตีเขมรยึดครองแผ่นดินกัมพูชาให้จงได้ พระบาทสมเด็จพร้ะจ้าอยู่หัวทรงแนะแนวทางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาโต้ตอบญวน ดังเป็นที่ทราบแล้วนั้น วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....
 “ ครั้นถึง ณ เดือนสามขึ้นหกค่ำ นักพระองค์ด้วงแต่งทูตไปกรุงเว้ ให้พระยาราชเดชะเป็นราชทูต ๑ พระยาบวรนายกเป็นอุปทูต ๑ พระยาธนาธิบดีเป็นตรีทูต ๑ พระนเรนทรไมตรีล่ามญวน ๑ หลวงภักดีพจนะสุนทรล่ามญวน ๑ ขุนสนิทเน่หาล่ามญวนและจีนพูดได้สองภาษา ๑ ทูตานุทูตเขมรหกคน เชิญศุภอักษร กับเครื่องบรรณาการขึ้นไปเจริญทางพระราชไมตรีกรุงเว้ แต่เครื่องบรรณาการนั้นคือ ช้างพลายสูง ๔ ศอกคืบสองเชือก งาช้างสองกิ่งหนัก ๕๐ ชั่ง ขี้ผึ้งหนัก ๕๐ ชั่ง ผลเร่วหนัก ๕๐ ชั่ง นอระมาดสองยอดหนัก ๒ ชั่ง ๑๕ ตำลึง บรรณาการตามธรรมเนียมแบบอย่างนักพระองเองสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีผู้เป็นบิดานักพระองค์ด้วงจัดแจงตกแต่งทำมาแต่ก่อนอย่างไร นักพระองค์ด้วงก็ทำตามอย่างบิดาต่อไป ทูตานุทูตเขมรไปถึงเมืองโจดกแล้วแม่ทัพญวนก็ส่งทูตเขมรขึ้นไปถึงกรุงเว้
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา แต่งหนังสือบอกข้อราชการบ้านเมืองเขมรให้พระยาไชยวิชิต (ขำ) ผู้รักษากรุงเก่าถือเข้ากรุงเทพฯ ครั้งนั้นให้พระยายมราชเขมร ๑ พระยาราชไมตรีเขมร ๑ เข้าไปด้วย หนังสือบอกนั้นใจความว่า
 ซึ่งมีหนังสือบอกไปขอข้าวเกลือที่เมืองจันทบุรี และเมืองสาคราธนั้นก็เพราะมีกระแสรับสั่งไว้แต่เดิม ครั้นจะบอกขอข้าวเกลือเข้าไปในกรุงเทพฯ นั้น ก็เห็นว่าเป็นระยะทางห่างไกลกับเมืองจันทบุรี อนึ่งซึ่งราชการทัพศึกญวนเขมรครั้งนี้เป็นปลายมรสุมศึกสงคราม นายทัพเก่าก็ไม่มีแล้ว มีแต่คนใหม่ ไม่สู้ชำนาญการทัพศึก ครั้นจะให้คนใหม่ ๆ เข้าสู้รบกับญวน จะหักโหมด้วยกำลังนายทัพนายกอง ทแกล้วทหารใหม่ ๆ นั้นเล่า ก็เห็นว่าจะสู้คนเก่าไม่ได้ คนเก่าที่เคยทัพเคยศึกมาด้วยกัน ก็ล้มหายตายจากไปเสียมากแล้ว มีแต่คนใหม่ ๆ ไม่สู้เคยทัพศึก ก็จะเสียราชการไปเหมือนเมื่อครั้งที่เมืองพนมเปญ เพราะคนใหม่จึงแตกยับเยินมาหมด อีกประการหนึ่งเล่าเสบียงอาหารเป็นกำลังสำคัญแก่การณรงค์สงคราม ก็ไม่พอจะแจกจ่ายเลี้ยงไพร่พลที่กะเกณฑ์มามาก กับพวกพระยา พระ เขมรและราษฎร ไพร่พลเขมร รู้ว่าองต๋าเตียนกุนแม่ทัพญวนมาใหม่ ยกกองทัพขึ้นมาคราวนี้ รี้พลช้างม้าเรือรบเรือไล่ก็มากมายเหลือล้นกว่าครั้งก่อนหลายเท่า พวกเขมรนายไพร่ก็ตื่นตกใจกลัวญวน พากันอพยพครอบครัวลงเรือบ้าง เดินบ้าง หนีเข้าป่าดงเป็นอันมากแล้ว บ้างก็หนีเข้าไปหาญวน ขอข้าวรับประทานเพราะความอดอยากก็มี เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่ากำลังศึกเขมรหย่อนลงกว่าญวน
อนึ่งพระยาเขมรผู้ใหญ่ในเมืองและหัวเมืองหลายสิบคนเข้าชื่อกันทำเรื่องราวร้องทุกข์ว่า “ไพร่บ้านพลเมืองไม่ได้ทำไร่นาหากินมาช้านาน เพราะมีการทัพศึกกับญวน เดี๋ยวนี้เขมรอดโซยากแค้นยิ่งนัก ขอให้นักพระองค์ด้วงเป็นทางไมตรีกับญวนเถิด ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะได้ทำไร่นาไปมาค้าขายหากินบ้าง พอจะได้เป็นสุขปราศจากความทุกข์เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อน”
ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรึกษาหารือกับนักพระองค์ด้วงและพระยาเพชรบูรณ์เห็นว่า
“ถ้าจะไม่รับเป็นทางไมตรีกับญวนแล้ว ก็คงจะได้ทำมหายุทธนาการรบพุ่งกับญวนเป็นศึกใหญ่ยิ่งกว่าเก่าหลายเท่า เพราะว่าแม่ทัพญวนใหม่คนนี้ ท่วงทีดีกว่าแม่ทัพเก่า แต่ไพร่พลเขมรที่จะเป็นกำลังอุดหนุนในการทัพศึกนั้นก็ย่อท้อไปเสียมากแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อน ๆ ถ้าจะข่มขืนให้สู้กับญวนต่อไปอีก หากว่าเสียท่วงทีแก่ญวนลงก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพฯอยู่ชั่วฟ้าและดิน ทั้งพระยา พระเขมรและราษฎรเขมรและนานาประเทศก็จะหมิ่นประมาทอำนาจไทยได้ ถ้านักพระองค์ด้วงแต่งราชสาส์นให้ทูตถือไปอ่อนน้อมแก่ญวนโดยดี ตามที่ญวนมาชักชวนเป็นทางไมตรีนั้น ถ้าว่าพระเจ้าเวียดนามไม่ตั้งอยู่ในความสุจริต โดยทศพิธราชธรรมตามธรรมเนียมพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ไม่ส่งเจ้าผู้หญิงมาให้นักพระองค์ด้วงตามที่ญวนพูดสัญญาไว้นั้น พระเจ้าแผ่นดินและเสนาบดีญวนก็ตกเป็นผู้อสัจธรรม เสียความสัตย์สัญญาลงแล้วเมื่อใด พระยา พระเขมรและไพร่พลเมืองเขมรก็จะโกรธญวน ว่าญวนพูดไม่จริง เขมรก็จะมีใจกำเริบกล้าหาญเข้ารับอาสาต่อสู้กับญวนแข็งแรงต่อไปอีก เพราะจะอยากได้เจ้านายผู้หญิงกลับมาบ้านเมืองเขมรของตน กำลังศึกสงครามก็จะกล้าแข็งขึ้นยิ่งกว่าเก่าหลายเท่า ข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัยไพร่พลเขมรเป็นกำลังศึกทำราชการฉลองพระเดชพระคุณได้เต็มมือโดยถนัด เดี๋ยวนี้ญวนก็แต่งคนมาพูดจาชักโยงเป็นทางไมตรี เกลี่ยไกล่เป็นการแต่พอให้แล้วไปได้ครั้งหนึ่ง ก็ต้องคิดผันแปรไปตามกาลตามสมัย เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ให้นักพระองค์ด้วงมีศุภอักษรแต่งทูตเขมรขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามใหม่ ณ กรุงเว้
อนึ่ง ญวนแขกเชลย ๔๔ คนนั้นได้รับปากว่าจะให้แก่ญวนแม่ทัพแล้ว ขอพระราชทานให้ออกมาด้วย อย่าให้เสียวาจาที่พูดไปแก่ญวนเลย”
ลุจุลศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแมนพศก เป็นปีที่ ๒๔ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า ถือใบบอกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เจ้าพนักงานนำเข้าเฝ้าถวายหนังสือบอก ได้ทรงทราบแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชเสนามีตราตอบออกไปใจความว่า
 “ทรงพะราชดำริว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ใกล้ญวนใกล้เขมร เมื่อเห็นการจะทำอย่างไรดีเป็นที่เย็นแก่ราษฎรไม่เดือดร้อนแก่บ้านเมืองเขมรแล้ว ก็ให้ผันผ่อนปรนไปตามกาลตามสมัยเถิด กับได้พระราชทานญวนแขกเชลย ๔๔ คน ให้พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า และพระยายมราชเขมร พระยาราชมนตรีเขมรคุมออกมาแล้ว”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงให้นักพระองค์ด้วงแต่งพระยานรามนตรีเขมร คุมญวนแขกเชลย ๔๔ คน ลงเรือไปส่งให้องต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ องโปโฮขุนนางนายทัพผู้ใหญ่รับญวนแขก ๔๔ คนไว้ แล้วมีใบประทับตราให้มาด้วย แต่องโปโฮบอกพระยานรามนตรีเขมรว่า องต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่หายแล้ว แต่ยังไม่ปกติอย่างเดิม เพราะฉะนั้นพระยานรามนตรีเขมรจึงมิได้พบองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ แล้วพระยานรามนตรีถามองโปโฮว่า
“เมื่อทูตเขมรมาทางนี้ ได้พบกับองต๋าเตียนกุนหรือเปล่า?” องโปโฮตอบว่า “ได้พบกันแล้ว”
 ฝ่ายพระยาราชเดชะ พระยาธนาธิบดี พระยาบวรนายกทูตเขมรเชิญศุภอักษรคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปกรุงเว้ครั้งนั้น เจ้าพนักงานญวนให้พาทูตานุทูตเขมรเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีในท้องพระโรงหลวง พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าอยู่ในที่ประชุมใหญ่ประมาณพันเศษ พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ญวน เสด็จออกมานั่งบนพระแท่นทองคำประดับพลอยสูงสามศอกเศษ ทูตานุทูตเขมรเฝ้าอยู่ห่างพระแท่นสิบศอก ไม่ได้ยินตรัสปราศรัยไต่ถามด้วยทูตแต่สักคำหนึ่ง เสด็จออกอยู่ครู่หนึ่งก็เสด็จขึ้นเข้าไปข้างในพระมณเฑียร ทูตานุทูตออกมารับพระราชทานของลี้ยง เลี้ยงที่เก๋งจีนในสวนในพระราชวัง เจ้าพนักงานกรุงเว้รับรองทูตเขมรครั้งนี้ตามธรรมเนียมเสมออย่างเล็กน้อย ไม่เหมือนทูตเขมรไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามมินมางแต่ก่อน ๆ เคยมีงิ้วให้ทูตดู แล้วขุนนางผู้ใหญ่เชิญทูตไปเลี้ยงโต๊ะหลายแห่ง รับรองทูตเขมรครั้งก่อนแข็งแรงยิ่งนัก แต่ครั้งนี้รับรองไม่แข็งแรง งิ้วก็ไม่มีให้ดู การเลี้ยงโต๊ะที่บ้านขุนนางก็ไม่มี
ครั้น ณ วันจันทร์เดือนห้าขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีมะแมนพศก องเลโปเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศกรุงเว้ ใช้ให้คนรับใช้มาเรียกทูตเขมรไปที่บ้านองเลโป องเลโปว่า
“สิ้นราชการทูตแล้วทูตจะกลับไปบ้านเมืองเขมรก็ได้ จะให้คนไปส่งให้ถึงเมืองไซ่ง่อน”
ทูตก็ลาองเลโป องเลโปก็ใช้ให้ขุนนางพนักงานพาทูตมาส่งถึงไซ่ง่อน แล้วองเลโปมีหนังสือมาถึงนักพระองค์ด้วงฉบับหนึ่งใจความว่า
“ถ้าถึงกำหนดสามปี ทูตเขมรจะขึ้นไปจิ้มก้องกรุงเว้นั้นอย่าให้ขึ้นไปเลย ให้ไปส่งเครื่องบรรณาการและราชสาส์นกับจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเถิด”
ทูตก็มาถึงเมืองอุดงคฦๅไชย ณ วันเดือนหก ขึ้นสามค่ำ.......”
** แล้วญวนก็แสดงเล่ห์เหลี่ยมลวดลายเลวร้ายออกมาให้เห็น ทูตานุทูตเขมรไม่ได้รับเกียรติจากญวนกรุงเว้ดังนี้ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาและนักพระองค์ด้วงจะดำเนินการต่ออย่างไร ไว้มาอ่านกันต่อ อีก ๒ ตอนก็จะจบแล้วครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, มนชิดา พานิช, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๖๔ -
ญวนเปลี่ยนไปในทางที่สร้างสรรค์ เลิกรบราฆ่าฟันกันเสียได้ สั่งตั้งนักองค์ด้วงเลิกลวงไทย ยอมเขมรเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
มอบเจ้าหญิงคืนเรือนสิ้นเงื่อนไข มิทันไรเจ้าเวียดนามนั้นชนม์สิ้น โอรสเยาว์เจ้ายวมญวนยลยิน ยกเป็นปิ่นประเทศเขตเวียดนาม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ทูตานุทูตเขมรซึ่งมีพระยาราชเดชะเป็นหัวหน้าคณะเชิญศุภอักษรคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี ณ กรุงเว้ เมื่อไปถึงแล้วพนักงานญวนได้พาเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามในท้องพระโรงท่ามกลางขุนนางใหญ่น้อยจำนวนมากถึงพันเศษ พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ญวน เสด็จออกนั่งบนพระแท่นทองคำประดับพลอย ทูตานุทูตไม่ได้ยินว่าตรัสว่าอย่างไรบ้าง เพราะให้เข้าเฝ้าอยู่ห่างไกลพระแท่นประมาณสิบศอก ไม่ได้ตรัสปราศรัยทูตานุทูตเลยสักคำเดียว ประทับอยู่ครู่หนึ่งก็เสด็จขึ้นเข้าไปในพระราชมณเฑียร คณะทูตออกมารับพระราชทานของเลี้ยงที่เก๋งจีนในสวนดอกไม้ในพระราชวัง พนักงานกรุงเว้รับรองทูตเขมรตามธรรมเนียมอย่างเล็กน้อย ไม่เหมือนทูตเขมรที่ไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามมินมาง ครั้งนั้นมีการรับรองใหญ่โต จัดแสดงงิ้วให้ทูตชม และขุนนางพาไปเลี้ยงโต๊ะจีนรับรองตามบ้านด้วยหลายแห่ง แต่ครั้งนี้ไม่มีงิ้วให้ดู ไม่มีโต๊ะจีนเลี้ยงตามบ้านขุนนาง องเลโปเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศให้คนรับใช้เรียกคณะทูตไปพบที่บ้านแล้วบอกว่า สิ้นราชการทูตแล้วจะกลับไปบ้านเมืองเขมรก็ได้ จะให้คนไปส่งถึงไซ่ง่อน ทูตเขมรจึงลากลับ นำหนังสือองเลโปมามอบให้นักพระองค์ด้วงฉบับหนึ่งใจความว่า “ถ้าถึงกำหนดสามปี ทูตเขมรจะขึ้นไปจิ้มก้องกรุงเว้นั้น อย่าให้ขึ้นไปเลย ให้ไปส่งเครื่องบรรณาการและราชสาส์นกับจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเถิด” วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ....
 “ ครั้น ณ วันเดือนหกขึ้นสิบค่ำ ขุนนางญวนมาแต่ค่ายเมืองพนมเปญ มาหานักพระองค์ด้วงแล้วแจ้งความว่า
“องต๋าเตียนกุนให้มาบอกนักพระองค์ด้วงว่า บัดนี้พระเจ้าเวียดนามใช้ให้องเภอขุนนางนายทหารรักษาพระองค์ถือท้องตราลงมาให้องต๋าเตียนกุน ซึ่งพักอยู่ที่ค่ายเมืองพนมเปญ ในท้องตรานั้นโปรดตั้งนักพระองค์ด้วงให้เป็น “เกามันก๊วกเวียง” (แปลเป็นภาษาไทยว่า เจ้าเมืองเขมรอยู่ก๊กหนึ่ง) กับให้ส่งเจ้าผู้หญิงทั้งสามองค์และครอบครัวเขมรของเจ้านายให้นักพระองค์ด้วงด้วย ให้นักพระองค์ด้วงไปรับตราตั้งและเครื่องยศเสื้อหมวกกางเกงสำรับหนึ่ง เป็นยศอย่างญวน และดวงตราสำหรับประทับพระราชสาส์นขึ้นไปจิ้มก้อง ณ กรุงเว้สองดวง”
นักพระองค์ด้วงให้รางวัลแก่ขุนนางญวนที่มาบอกพอสมควร แล้วญวนก็ลากลับไป
แล้วนักพระองค์ด้วงก็ไปด้วยเรือรบใหญ่ มีขุนนางเขมรแห่ห้อมล้อมไปเป็นยศบริวารโดยมาก ถึงเมืองพนมเปญ ณ เดือนหกแรมสามค่ำ นักพระองค์ด้วงได้ไปรับตราและเครื่องยศฝ่ายญวนต่อองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ในค่ายที่เมืองพนมเปญ องต๋าเตียนกุนพูดจาปราศรัยไต่ถามทุกข์สุขกับนักพระองค์ด้วงสี่ห้าคำ ก็ลุกเข้านอนเสียในห้อง นักพระองค์ด้วงก็ลาองเฮากุนและองญวนนายทัพผู้ใหญ่ นายทัพผู้ใหญ่ก็ทำคำนับรับรองนักพระองค์ด้วงตามธรรมเนียม เจ้านายที่มีบรรดาศักดิ์สูงตีม้าล่อและจุดประทัดรับส่งจนลงเรือ นักพระองค์ด้วงก็พาเจ้าผู้หญิงหลานสามองค์กับพระยา พระเขมรเก่า และครัวเขมรในค่ายญวนพนมเปญ ลงเรือกลับเมืองอุดงคฦๅไชย นักพระองค์ด้วงเห็นรูปพรรณองต๋าเตียนกุนผิดปรกติมนุษย์ นัยน์ก็ยังขวางไม่หายสนิทดี พูดจายังเลื่อน ๆ ลอย ๆ และรูปก็ซูบผอมไปมาก พวกเขมรบอกว่า “คุ้มดึคุ้มร้ายยังไม่หายบ้าสนิท ยังบอ ๆ อยู่”
 ครั้น ณ วันเดือนเจ็ดขึ้นสิบเอ็ดค่ำ นายทัพนายกองและไพร่พลญวนซึ่งตั้งอยู่ในค่ายองต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ และท่ากะพงหลวงกับท่าเมืองกะพงกะสัง ก็ยกเลิกถอนไปหมดสิ้นทุกตำบล ญวนเลิกไปครั้งนั้น ขนข้าวในยุ้งฉางในค่ายไปหมด ราชการทัพศึกเขมรกับญวนก็เป็นอันเลิกแล้วแก่กัน เป็นอันสำเร็จเด็ดขาดเรียบร้อยปรกติ ปราศจากการศึกสงครามเสร็จสิ้น ตั้งแต่ ณ วันเดือนเจ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ ปี
(เสร็จศึกสงครามญวนกับไทยแต่เพียงนี้)
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ตั้งชื่อเมืองอุดงคฦๅไชย เปลี่ยนเป็นชื่อเมืองอุดงค์มีไชย แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชากับนักพระองค์ด้วงก็ส่งพระยาราชเดชะ พระยาธนาธิบดี พระยาบวรนายก ทูตเขมรทั้งสามที่ไปกรุงเว้กลับมานั้น ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพฯ เพื่อจะได้แจ้งข้อราชการบ้านเมืองญวนถวายให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย
ครั้นภายหลังจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดก ส่งหนังสือองเลโปเสนาบดีกรุงเว้มาถึงนักพระองค์ด้วงใจความว่า
 “พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีทรงพระประชวรเป็นไข้พิษ ทิวงคตเมื่อ ณ วันเดือนสิบเอ็ด แรมสิบสองค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ ปี เมื่อได้ผ่านพิภพครองราชย์สมบัติพระชนมายุได้ ๑๖ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๗ ปี เมื่อทิวงคตนั้นพระชนม์ได้ ๒๓ ปี มีพระราชบุตราบุตรีรวม ๑๔ พระองค์ เสนาบดีผู้ใหญ่และขุนนางนายทัพผู้ใหญ่ได้เชิญพระราชโอรสผู้ใหญ่ทรงพระนามว่า เจ้ายวม มีพระชนมายุได้เจ็ดปี ขึ้นผ่านพิภพครองราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งการอภิเษกในกรุงเว้เมื่อ ณ วันเดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ เสนาบดีถวายพระนามตั้งยี่ห้อว่า “พระเจ้าเวียดนามตือตึกเดือดว่างเด้” เจ้าเตียนวานพระเจ้าปู่น้อยซึ่งเป็นพระอนุชาพระเจ้ามินมาง และเป็นผู้ช่วยประคับประคองว่าราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีนั้น บัดนี้เจ้าเตียนวานพระเจ้าปู่น้อย พระเจ้าตือตึกพระองค์ใหม่นี้ ได้ช่วยประคับประคองว่าราชการแผ่นดินแทนต่อไปอย่างแต่ก่อน ราชการบ้านเมืองก็เป็นปรกติเรียบร้อย ให้นักพระองค์ด้วงแต่งราชทูตสองสำรับไปเยี่ยมพระศพสำรับหนึ่ง ไปถวายคำนับพระเจ้าเวียดนามตือตึกพระเจ้าแผ่นดินใหม่สำรับหนึ่งตามธรรมเนียม”
นักพระองค์ด้วงก็แต่งพระยา พระเขมรเป็นทูตไปกรุงเว้สองสำรับ ตามอย่างธรรมเนียมไม่ให้เสียทางพระราชไมตรี....”
 ** ในที่สุดการศึกสงครามระหว่างไทย-ญวน ที่ดำเนินมายาวนานนั้นก็สิ้นสุดลง ณ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ ปี พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี มีท้องตราประกาศตั้งให้นักพระองค์ด้วงเป็น “เกามันก๊วกเวียง” คือเจ้าเมืองเขมรอยู่ก๊กหนึ่ง ให้ส่งคืนเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์ และเลิกทัพทั้งหมด ครั้นถึงวันแรมสิบสอง ในเดือนปีเดียวกันนั้น ก็ประชวรหนักจนทิวงคต ด้วยพระชนมายุเพียง ๒๓ พรรษา ปีจุลศักราช ๑๒๐๙ อันเป็นปีสิ้นสุดศึกสงครามไทย-ญวนนั้น คือปี พุทธศักราช ๒๓๙๐ เรื่องจะจบลงในตอนต่อไปแล้ว จบอย่างไร อย่าลืมอ่านตอนอาวสานของเรื่องต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|