บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๔๖ -
ญวนบ้ายศบ้าศักดิ์อยากยิ่งใหญ่ ขอให้ไทยใช้คำนำหน้าเจ้า “ดึกว่องเด้”เวียดนามเลี่ยมลำเพา “พระนั่งเกล้า”ขันขำแสร้งทำตาม
แล้วโปรดเกล้าฯ เลื่อนล้ำยศตำแหน่ง ขุนศึกแห่งสงครามลาวชาวสยาม “เจ้าพระยาราชสุภาวดี”งาม ให้มีนามเป็น “บดินทรเดชา” |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ หลังจากปล่อยให้ฝ่ายญวนเป็นฝ่ายบุกไทยหนักใน “สงครามน้ำหมึก” มามากแล้ว ฝ่ายไทยเราจึงได้โต้กลับรุกไปแรง ๆ บ้าง ความจริงแล้ว เจ้าอนุเพิ่งไปจิ้มก้องญวนแค่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ญวนกลับมาทึกทักเอาว่าลาวเป็นประเทศราชของญวนไป ก่อนหน้านั้น ญวนก็แอบมาฮุบเอาหัวเมืองลาวของไทยที่อยู่ตามชายแดนญวนไปเป็นของญวนเสียหลายเมือง เช่น เมืองพวน(ลาวพวน) เมืองล่าน้ำ (แง่อาน) เป็นต้น เมื่อถูกไทยโต้กลับไปแรง ๆ อย่างนี้ญวนจะว่าอย่างไร วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ
 เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) รับบทโดย วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ในละคร “ข้าบดินทร์” “ครั้นอยู่มาไม่ช้า ขุนนางญวนเมืองไซ่ง่อนถือหนังสือองเลโปเสนาบดีกรุงเว้ มาถึงเมืองจันทบุรี ส่งให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่ง หมื่นเทพย์วาจาแปลออกได้ความว่า
“ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าพระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นเข้ามากรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยาเมื่อใด จะใช้อักษรออกพระนามพระเจ้าเวียดนามว่าดังนี้ “สมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้” เป็นต้นพระนาม แล้วจึงจะมีข้อความตามทางราชการต่อไป ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา จะใช้ทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปกรุงเว้ ขอให้มีลักษณะพระราชสาส์นดังนี้ “พระราชสาส์นเสียมหล้าดึกพัตธะเวียง ถวายคำนับมายังสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้” เป็นต้นพระราชสาส์นไทยดังนี้”
เมื่อได้ทราบไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า
“องเลโปเสนาบดีญวนมีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาพระคลังนั้น เป็นการยกย่องพระเกียรติยศพระนามเป็นภาษาญวนลงในพระราชสาส์น ตามที่หนังสือองเลโปเสนาบดีส่งเข้ามา เพราะความประสงค์ของญวนจะให้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดินญวนฝ่ายเดียว อีกประการหนึ่ง เมืองญวนก็เป็นเมืองน้อยกว่าเมืองจีน เมืองจีนเป็นเมืองใหญ่โต ยังไม่ได้บังคับไทยให้ใช้พระราชสาส์นเป็นภาษาจีน โดยข้อความตามประสงค์ของผู้ปกครองฝ่ายจีนเลยสักครั้งเดียว นี่ญวนถือตัวโตกว่าจีนนัก คิดดูก็เหมือนญวนเป็นบ้ายศบ้าศักดิ์อัครฐาน”
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ล่ามเขียนสำเนาพระราชสาส์นเป็นอักษรจีนว่าดังนี้ “เสียมหล้าดึกพัตธะเวียง” คำนับมายังสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ ตามที่เป็นการชอบพระทัยในพระเจ้าเวียดนามเถิด
แต่พระราชสาส์นที่เป็นอักษรไทยคู่พระราชลัญจกรนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระอาลักษณ์เขียนเป็นอักษรสยาม มีเนื้อความเป็นสำนวนไทยตามเดิมที่เคยใช้ไปมาแต่ก่อน ๆ นั้น นำลงในกล่องงาช้าง แล้วนำลงในถุงหักทองขวางมีพู่ไหมทองผูกรัดปากถุง แต่สำนวนพระราชสาส์นนั้น เขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวนให้เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าเวียดนามด้วย บรรจุลงในกล่องไม้จันทน์มีถุงกำมะหยี่แดง มีพู่ไหมแดงผูกรัดปากถุง รวมเป็นสองฉบับด้วยกัน เชิญขึ้นตั้งบนพานทองคำสองชั้น แล้วตั้งบนบุษบกน้อยมีเครื่องสูงพร้อมสำรับหนึ่ง มีแห่ลงเรือใบไปถวายพระเจ้าเวียดนามตามประเพณี ราชทูตานุทูตไทยแต่งกายนุ่งผ้ายกทอง ห้อยผ้าเจียระบาดสอดสนับเพลา สวมเสื้อเข้มขาบสวมหมวกทรงประพาส สวมเสื้อครุยชั้นนอก แล้วสวมสายสร้อยทองคำ มีสร้อยอ่อน สร้อยมะยม สร้อยดอกหมาก และลูกประคำทองคำ ศีรษะสวมเชิดคือชฎาทองคำท้ายเชิด สวมแหวนครบทั้งสิบนิ้วมือ และคาดรัดประคตหนามขนุน คล้องแหวนนพเก้าเป็นเครื่องยศ แต่งกายดังนี้ทุกคนทั้งราชทูต อุปทูต ตรีทูต ที่ไปเมืองญวนนั้น ว่าไว้ให้ทราบการแต่งกาย
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่ กับพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลาย ที่ไปตั้งทัพกวาดต้อนครอบครัวลาวเวียงจันทน์ และปราบปรามข้าศึกราบคาบเสร็จราชการแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำใบบอกให้หลวงอำนาจสุระเสนี ถือลงมายังกรุงเทพฯ
เจ้าพนักงานจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชเสนา มีท้องตราหากองทัพกลับมายังกรุงเทพฯ ให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมตำรวจในพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ถือท้องตราขึ้นไปให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับ และเกณฑ์กองทัพเมืองนครราชสีมาไปขัดตาทัพรักษาด่านทางไว้ก่อน เพราะบ้านเมืองลาวยังไม่ราบคาบ
 เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบท้องตราให้หาทัพกลับดังนั้นแล้ว จึงยกกองทัพกลับลงมาถึงเมืองนครราชสีมา พร้อมด้วยจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ข้าหลวง วางตราให้เจ้าพระยานครราชสีมาทราบราชการ แล้วก็พากันยกลงมาทางดงพระยาไฟ
 ถึงเมืองสระบุรี สั่งให้จับหลวงมหาพิไชยซึ่งเป็นกองหน้าลงมาก่อนแล้ว เดินทัพลงมาตามบ้านป่าดง เก็บโคต่างช้างม้ากระบือตามชาวบ้านป่ามาเป็นกำลังราชการ และให้บรรทุกของของกองทัพส่งมายังท่าราบปากเพรียว แล้วนำโคต่างช้างม้ากระบือของราษฎรที่เกณฑ์ขอแรงมานั้น ไปจำหน่ายขายเสียมาก เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องต่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ขุนไชยเสนีเป็นตุลาการชำระหลวงมหาพิไชย หลวงมหาพิชัยซัดทอดถึงพระรัตนากาศ พระพิมลสงคราม ว่า เป็นผู้ร่วมคิดกันฉ้อราษฎร ได้ความเป็นสัตย์ดังนั้นแล้ว สั่งให้พระยาสระบุรีกับขุนไชยเสนีข้าหลวง อยู่ช่วยชำระให้ได้โคต่างช้างม้ากระบือคืนให้ราษฎรจนครบทุกรายอย่าให้ขาดได้ ถ้าสืบไม่ได้ตัวของกลางช้างม้าโคกระบือแล้ว ก็ให้นำช้างม้าโคต่างกระบือในกองทัพหลวงออกใช้ให้ราษฎรจงครบ
 ครั้นชำระเป็นสัตย์แล้ว สั่งให้หลวงรองจ่าเมืองเมืองนครราชสีมา นำพระรัตนากาศ ๑ พระพิมลสงคราม ๑ หลวงมหาพิไชย ๑ รวมสามคนนี้ขึ้นไปให้เจ้าพระยานครราชสีมาประหารชีวิต ตัดศีรษะเสียบไว้หน้าเมือง อย่าให้แม่ทัพนายกองที่ยกตามลงมาครั้งนี้ทำตามเยี่ยงอย่างสืบไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้ประหารชีวิตอ้ายเหล่าร้าย ๓ คนแล้ว ก็ลงเรือล่องลงมากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์
พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลนำเจ้าพระยาราชสุภาวดีเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระกรุณา ณ วันเดือนสิบขึ้นสามค่ำปีฉลู เอกศกจุลศักราช ๑๑๙๑ ปี
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีถือศักดินาหมื่นหนึ่ง เอกอุพระราชสีห์ พระราชทานเครื่องยศอย่างอัครมหาเสนาบดีพร้อมมีพานหมาก ๑ น้ำเต้า ๑ กระบี่ ๑ กระโถน ๑ เป็นต้น แต่ล้วนเป็นทองคำทั้งสิ้น
โปรดตั้งพระราชชวรินทร์ (ป้อม) เป็นพระมหาเทพเจ้ากรมพระตำรวจในซ้ายต้นเชือก พระราชทานคนโทบังกะหรี่ โต๊ะหมากทองคำ กับเปลญวนไหมสีเขียวสำหรับนั่งเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททุกวันตลอดไป โปรดเกล้าฯ ตั้งพระวิชิตสงครามในพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นนายทัพนายกองด่านเมืองนครพนมฆ่าญวนตายนั้น ให้เป็นพระยาณรงค์วิชัยในพระราชวังบวรฯ แล้วพระราชทานพานหมากทองคำ เต้าน้ำทองคำ และแคร่คานหามแก่พระยาราชรองเมือง เพิ่มยศขึ้นอย่างเจ้าพระยา
 ครั้งนั้นฝ่ายในกรมพระราชวังบวรฯ โปรดตั้งจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา ให้เป็นพระยาบริรักษ์ราชา แต่พระณรงค์วิชิตข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรฯ นั้น ได้เป็นนายทัพด่านกองด่านเมืองนครพนม มีไหวพริบชั้นเชิงดี รู้ท่วงทีกลศึกกลอุบายญวนและลาวที่มาในระหว่างการทัพศึกนั้น ได้ราชการดีมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาไกรโกษาธิบดีกรมท่าฝ่ายในพระราชวังบวรฯ ได้รับพระราชทานพานหมากทองน้ำเต้าทองเป็นเครื่องยศ แทนที่พระยาไกรโกษาที่ลงพระราชอาชญา จำตรวนถอดออกจากฐานานุศักดิ์เมื่อแตกทัพลาวเวียงจันทน์มานั้น
ฝ่ายในพระราชวังหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลื่อนยศพระยา, พระ, หลวง, ขุน, หมื่น, นายทัพนายกองที่มีความชอบในราชการทัพศึกลาวครั้งนี้ถ้วนทุกคน แล้วพระราชทานปูนบำเหน็จเงินตรา เสื้อผ้า เพิ่มเติมเบี้ยหวัดผ้าปีให้แก่นายทัพนายกอง ตามคุณานุคุณที่มีความดีความชอบทุกคน
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิไชยวารี (โต) เป็นข้าหลวงเดิม ให้เป็นพระยาราชสุภาวดีจางวางกรมพระสุรัสวดี พระราชทานเครื่องยศมีพานหมาก, เต้าน้ำ, กระบี่ ทองคำทั้งสิ้น เหมือนอย่างเสนาบดี และมีแคร่คานหามด้วย แต่ครอบครัวลาวชาวเมืองเวียงจันทน์นั้น โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ที่เมืองสระบุรีบ้าง เมืองลพบุรีบ้าง เมืองสุพรรณบุรีบ้าง เมืองนครไชยศรีบ้าง ให้แยกย้ายกันอยู่ในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ บ้าง พระอินทรอาสาลาวเก่าที่เมืองพนัสนิคม ได้เป็นลูกกองขึ้นไปกวาดต้อนครอบครัวลาวเมืองนครพนม มาไว้ที่เมืองพนัสนิคม ที่เมืองพนมสารคาม พร้อมกับลาวอาสาปากน้ำซึ่งตั้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้ว แต่เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์นั้น ไม่ได้เป็นพวกขบถด้วยเจ้าอนุ จึงโปรดให้อยู่ที่บางยี่ขันบ้านเจ้าอนุเก่า ให้ทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปีตามสมควร........”
 * น่าจะถือได้ว่า เป็น “พระอารมณ์ขัน” ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงรับหนังสือจากเสนาบดีญวนส่งมาให้ทางไทยใช้ถ้อยคำในพระราชสาส์นถึงพระเจ้าเวียดนาม ทรงพระราชดำริว่า เจ้าเวียดนามกลายเป็นคนบ้ายศบ้าศักดิ์ไปแล้ว จึงสนองตัณหาความบ้ายศแบบประชดประชัน แต่งพระราชสาส์นตามที่ญวนต้องการ เท่านั้นยังไม่พอ ซ้ำให้แต่งเครื่องเชิญพระราชสาส์นอย่างสวยงาม แถมด้วยให้ราชทูตานุทูตแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนลิเกละคร
เสร็จศึกสงครามลาวแล้วมีการปูนบำเหน็จรางวัล โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศตำแหน่งตามโบราณราชประเพณี เช่น เจ้าพระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นต้น ส่วนครอบครัวลาวที่กวาดต้นมานั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และกรุงเทพฯ ความใน “อานามสยามยุทธ” ยังมีต่ออย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระเจ้าเวียดนาม จักรพรรดิ์มิญมาง (1791-1841) - อานามสยามยุทธ ๔๗ -
ญวนตัดพ้อต่อว่ามาเยิ่นเย้อ เหมือนเพ้อเจ้อพูดซ้ำบ่นเช่นคนบ้า อวดความดีเวียดนามงามเมตตา เป็นมหาจักรพรรดิที่อาจอง
กล่าวโทษไทยไม่มีไมตรีแท้ ย้ำรอยแผลนครพนมไม่ลืมหลง ไทยฆ่าญวนอย่างเลือดเย็นเว้นซื่อตรง แล้วยังคงไมตรีได้อย่างไรกัน ? |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ น่าจะถือได้ว่า เป็น “พระอารมณ์ขัน” ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงรับหนังสือจากเสนาบดีญวนส่งมาให้ทางไทยใช้ถ้อยคำในพระราชสาส์นถึงพระเจ้าเวียดนาม ทรงพระราชดำริว่า เจ้าเวียดนามกลายเป็นคนบ้ายศบ้าศักดิ์ไปแล้ว จึงสนองตัณหาความบ้ายศแบบประชดประชัน แต่งพระราชสาส์นตามที่ญวนต้องการ เท่านั้นยังไม่พอ ซ้ำให้แต่งเครื่องเชิญพระราชสาส์นอย่างสวยงาม แถมด้วยให้ราชทูตานุทูตแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนลิเกละคร เสร็จศึกสงครามลาวแล้วมีการปูนบำเหน็จรางวัล โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศตำแหน่งตามโบราณราชประเพณี เช่น เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นต้น ส่วนครอบครัวลาวที่กวาดต้นมานั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี และกรุงเทพฯ ความใน “อานามสยามยุทธ” ยังมีต่ออย่างไร วันนี้มาอ่านกันครับ
 “ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนสิบสองขึ้นหกค่ำ พระอนุรักษ์ภูธร ราชทูต ๑ หลวงพิทักษ์นที อุปทูต ๑ ขุนพิพิธโภคา ตรีทูต ๑ ราชทูตานุทูตมีชื่อ กลับมาจากกรุงเว้ถึงกรุงเทพฯ แล้ว นำพระราชสาส์นของพระเจ้าเวียดนามซึ่งตอบเข้ามานั้น ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้อคามในพระราชสาส์นญวนมีว่าดังนี้
“พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ฯ ทรงบำรุงพระพุทธศาสนา อาณาประชาราษฎร โดยทางธรรมิกมหาราชาธิราชสุจริตเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้ากรุงเว้ อานัมชาติราชตระกูลอิสริยยศปรากฏพระนามตามยี่ห้อว่า “มินมาง” ขอเจริญทางพระราชไมตรีคำนับมาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมราชาธิราช เสียมหล้าดึกพัตธะเวียง พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา (บางกอก) ได้ทรงทราบ ด้วยผู้ครองฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาแต่งให้พระอนุรักษ์ภูธรราชทูต ๑ หลวงพิทักษ์นทีอุปทูต ๑ ขุนพิพิธโภคาตรีทูต ๑ ราชทูตานุทูตมีชื่อจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการออกมา ทรงยินดีตามทางพระราชไมตรีนั้นเป็นข้อต้น
กับว่าด้วยข้อความเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์เป็นขบถมีโทษมากนัก ได้แจ้งความในพระราชสาส์นดังนี้แล้ว ด้วยคิดจะให้กรุงเวียดนามกับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาเป็นทางพระราชไมตรีกัน สนิทติดต่อไปชั่วชั้นอายุยิ่งนานยิ่งให้สนิทเนื่องสืบสัมพันธมิตรแก่กันนั้น จำเป็นทั้งสองพระมหานครจะให้โอกาสอำนาจแต่บรรดาหัวเมืองขึ้นทั้งสองฝ่าย จัดการระวังรักษาเขตแดนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดเขตแดน อย่าให้มีเหตุการณ์ร้าวฉานขึ้นได้แต่สักสิ่งหนึ่ง หัวเมืองออกเมืองขึ้นขอบขัณฑเสมาอาณาจักรทั้งสองฝ่าย จะได้พึ่งบุญพระบารมีอำนาจพระมหานครทั้งสองปกครอง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินไปมาค้าขายบริบูรณ์ทั่วกัน ถ้าเป็นไปได้ดังนั้นทางพระราชไมตรีจึงจะดีไม่สิ้นสุด
 แต่ก่อนเมืองเขมรและเมืองลาวเวียงจันทน์เป็นหัวเมืองประเทศราชใหญ่ ได้แต่งขุนนางคุมเครื่องบรรณาการไปจิ้มก้องถวายทั้งสองพระมหานครทุกคราว ตามอานุภาพหามีความผิดสิ่งใดไม่ เพราะเมืองเขมรและเมืองลาวเวียงจันทน์ ได้พึ่งพระบารมีอำนาจของกรุงเวียดนาม และกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ทั้งสองพระมหานครทรงพระมหากรุณาเมตตา โอบอ้อมทำนุบำรุงแก่หัวเมืองเขมรและลาว ที่เป็นเมืองสืบกษัตริย์มาช้านาน แต่ว่ามีอำนาจน้อย นานาประเทศทั้งปวงก็ย่อมรู้อยู่สิ้นด้วยกัน เป็นพยานว่าเขมรและลาวขึ้นกับทั้งสองพระมหานคร กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะว่าเมืองเขมรและลาวไม่ได้ขึ้นแก่กรุงเวียดนาม กรุงเวียดนามจะมาเป็นธุระด้วยเมืองเขมรและลาวนั้นไม่ได้ พูดอย่างนี้จะถูกต้องตามประเพณีธรรมแล้วหรือ ?
 เมื่อปีก่อนนั้น เจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์มีทุกข์หนีร้อนมาพึ่งเย็นในเขตแดนญวน ญวนจะนิ่งดูก็ไม่ควรแก่ทางยุติธรรมราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้า กอปรไปด้วยพระมหากรุณาดุจดังป่าและทะเล เป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์บกและสัตว์น้ำ เพราะฉะนั้น พระเจ้ากรุงเวียดนามจึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองแง่อานรับเจ้าอนุและครอบครัวลาวเข้าไว้ในเขตแดนญวน เพื่อจะได้อาศัยหยุดพักกว่าจะทรงจัดการระงับเหตุให้เป็นปรกติ ครั้นภายหลังมาเจ้าอนุมีคำให้การปรับทุกข์อ้อนวอนอ่อนน้อมขอกลับขึ้นไปอยู่บ้านเมืองดังเก่า เพราะว่าไทยไม่รักษาเมือง ละทิ้งเมืองเวียงจันทน์เสียดังป่าดง พระเจ้ากรุงเวียดนามจึงมีรับสั่งกับองทงเจอัครมหาเสนาบดี ให้มีท้องตราบังคับสั่งเจ้าเมืองแง่อาน ให้เกณฑ์ไพร่ญวนลาวในเมืองแง่อาน ๒๐๐ เศษ มีขุนนางญวน กรมการเมืองแง่อาน คุมไพร่ไปส่งเจ้าอนุให้พ้นเขตแดนญวน แล้วได้สั่งกำชับขุนนางญวนเมืองแง่อานว่า ไปถึงด่านที่ไทยตั้งอยู่นั้น ให้บอกกล่าวคำนับเสียก่อน จึงเข้าไปในเขตแดนไทย ถ้าไทยไม่ให้เข้าไป ก็ให้กลับมาแต่เพียงเขตแดนญวนเท่านั้น
กับได้มีหนังสือถึงเจ้าอนุ เป็นการตักเตือนกำชับสั่งไปว่า ถ้าถึงบ้านเมืองเวียงจันทน์แล้วให้คิดถึงตัวมาก ๆ ว่าตัวได้กระทำความผิดต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ล่วงเกินมาดังนี้มีความผิดมาก ให้รีบแต่งเจ้าบุตรหลานญาติคุมเครื่องบรรณาการ ดอกไม้ทองเงินลงไปให้ท่านเสนาบดีไทยนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษรับผิด จะได้เป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรของไทยต่อไป ได้สั่งกำชับเจ้าอนุให้ทำดังนี้
ฝ่ายกรุงเวียดนามก็ได้ให้ขุนนางญวนชื่อ “เลงอันฮือ” เป็นราชทูตกับขุนนางญวนมีชื่ออีกหลายนาย เป็นทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นมาด้วยเรือรบที่เมืองไซ่ง่อน เข้ามาแจ้งข้อราชการในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ในความพระราชประสงค์ในพระเจ้าเวียดนามนั้น จะทรงจัดการบ้านเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นปกติดังกล่าว ทรงเห็นสมควรที่จะทำคุณเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินลาว ชาวเมืองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นบ้านเมืองเล็กน้อย ควรเมืองใหญ่ควรจะมีเมตตากรุณาแก่เมืองมีอำนาจน้อยเช่นนั้นด้วย จึงจะชอบด้วยทางพระราชไมตรี ซึ่งจัดการทั้งนี้ เห็นว่าเป็นทางธรรมราชประเพณีดีแล้ว ถ้าผู้ครองฝ่ายไทยมีพระราชหฤทัยคิดถึงทางพระราชไมตรีแล้ว ให้ลงพระราชหฤทัยกับผู้ครองฝ่ายญวน เป็นพระราชหฤทัยผู้ครองฝ่ายไทยเถิด
 เมื่อเจ้าอนุมีความผิด โทษจะมีประการใด ควรจะรบตีบ้านเมืองเวียงจันทน์ให้แตกทำลาย หรือว่าควรจะริบทรัพย์สมบัติในเมืองลาว ถ่ายครอบครัวผู้คนไปไว้ในบ้านเมืองไทยประการใดตามโทษผิดของเจ้าอนุนั้นไซร้ ไทยก็ไม่บอกให้ญวนทราบเหตุการณ์ก่อน อย่างนี้จะว่ารักษาพระราชไมตรีอันสนิทอย่างไรเล่า ต่อเมื่อกรุงเวียดนามทราบก่อนแล้ว จึงให้ขุนนางญวนชื่อเลงอันฮือเป็นราชทูตเข้ามาต่อว่าที่ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา จนราชทูตญวนกลับมาช้านานก็ยังเงียบ ไม่เห็นมีราชทูตานุทูตกรุงพระมหานครศรีอยุธยาออกมาแจ้งข้อราชการเมืองเวียงจันทน์ตามทางพระราชไมตรีเหมือนแต่ก่อน จะว่าตั้งในพระราชไมตรีที่ไหนได้เล่า
มิใช่แต่เท่านี้ เมื่อฤดูร้อนปีกลาย ได้สั่งเจ้าเมืองแง่อานให้จัดขุนนางญวนผู้น้อย ถือหนังสือรับสั่งและคุมไพร่ ๕๐ คน เดินบกขึ้นไปลงเรือที่ท่าเมืองมหาชัยกองแก้ว แล้วก็ให้ไปส่งหนังสือให้แม่ทัพไทยฉบับหนึ่ง ให้เจ้าอนุฉบับหนึ่ง เป็นการสั่งกำชับให้เจ้าอนุรีบลงไปขอโทษตัวต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ครั้งนั้นขุนนางญวนถือหนังสือไปถึงเมืองนครพนมลาวนั้น ญวนไปหานายด่านไทยโดยความสุภาพสุจริต ไม่มีเหตุการณ์สิ่งใดเลยแต่สักนิดหนึ่ง นายทัพไทยชื่อทุงวิไชย ชิดชุม จับขุนนางญวน ๒ คน ไพร่ญวน ๔๘ คนฆ่าเสีย โดยหาเหตุผิดร้ายมิได้เลย
 ทุงวิไชย ชิดชุม ข่มเหงฆ่าญวนทั้งนี้ ถ้าผู้ครองฝ่ายไทยเห็นดีแล้วหรือ? หรือจะว่าประการใดต่อไปอีกเล่า ผู้ครองฝ่ายญวนไม่อยากจะฟังเสียงไทยอีกแล้ว เมื่อญวนนายไพร่ตาย ๕๐ คนนั้น ยังเหลืออยู่แต่ญวนที่ชื่อเลดินคนหนึ่ง กับลาวที่ไปด้วยสองคน เป็นสามคนด้วยกันที่เฝ้าเรือ ทุงวิไชย, ชิดชุม ฆ่าญวนตายแล้วเก็บหนังสือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามอยู่ในกล่องนั้น ไปส่งให้ขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพไทยชื่อราชสุภาวดี ราชสุภาวดีก็ฉีกหนังสือเสียด้วย กระทำการบังอาจดูหมิ่นดูถูกพระเจ้าเวียดนามดังนี้ สมควรเป็นเมืองไมตรีกันแล้วหรือ?.....”
* พระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามต่อว่าต่อขานไทยว่ามาเป็นฉาก ๆ ยืดยาว อ่านจนเหนื่อยแล้วยังไม่จบ ขอพักไว้ก่อน ยกไปลงให้อ่านกันต่อในวันพรุงนี้ก็แล้วกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, นายใบชา, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 เมืองเว้ (Hue) อดีตเมืองหลวงเวียดนาม - อานามสยามยุทธ ๔๘ -
น้ำลายญวนฟูมฟายร้ายไหลถ่ม ถุยถ่อยถมทับไทยร้ายมหันต์ “สุนัขขี้ยกหาง”ญวนอย่างนั้น ด้วยสำคัญตัวมีดีเลิศเลอ
พูดแย่งยื้อเวียงจันทน์ปันประโยชน์ จะเอาโทษขุนนางไทยให้ได้เสมอ อ้างญวนถูกทุกอย่างไปผิดไม่เจอ วนพูดเพ้อพล่อยพร่ำบ้านน้ำลาย |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระเจ้ามินมางแห่งเวียดนามมีพระราชสาส์จากแผ่นดินญวนต่อว่าต่อขานไทย ว่ามาเป็นฉาก ๆ ยืดยาวยังไม่จบ วันนี้เอามาลงให้อ่านกันต่อดังนี้ครับ
 “อนึ่ง ทุงวิไชย, ชิดชุม, ลงนะรา ขุนนางนายทัพนายกองฝ่ายไทยที่ออกชื่อมาทั้งนี้ ยกกองทัพเดินล่วงเกินเข้าไปในเมืองกำโล, และเมืองถูตือ, เมืองบ่อลา, ซึ่งเป็นหัวเมืองในเขตแดนญวนทั้งสิ้น แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยที่ชื่อราชสุภาวดีนั้น ยุยงเป็นใจให้ท้าย ปล่อยให้ขุนนางนายทัพนายกองไทยชื่อทุงวิไชย, ชิดชม, ลงนะรา ยกกองทัพเดินเข้าไปเก็บส่วยสาอากรในเขตแดนเมืองญวน เป็นการซ้ำเติมให้ไพร่บ้านพลเมืองญวนได้รับความเดือดร้อนดังนี้ เห็นผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเมืองเป็นทางไมตรีกัน การเป็นทั้งนี้ยังจะเป็นไมตรีกันอย่างไรได้ เห็นว่ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาไม่รักษาทางพระราชไมตรี แต่เจ้าอนุนั้นเป็นผู้มีความผิด มีโทษ ก็ได้จับเจ้าอนุไปฆ่าแล้ว แต่เมืองเวียงจันทน์นั้นทิ้งให้ว่างเปล่าเป็นป่าช้ามานานจนทุกวันนี้ กรุงพระมหานครศรีอยุธยาก็ยังหาได้บอกไปถึงกรุงเวียดนามว่า จะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่เมื่อใดไม่ กรุงเวียดนามจะได้ให้ขุนนางญวนผู้ใหญ่มาพร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์เมื่อนั้นด้วย ซึ่งเจ้าอนุทำผิดทำความผิดต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา กรุงพระนครศรีอยุธยาทำโทษฆ่าเสียนั้นก็ควรอยู่แล้ว แต่เมืองเวียงจันทน์หาควรจะให้เป็นแผ่นดินว่างเปล่าอยู่ไม่ เพราะหาประโยชน์มิได้เลย
ความต้นสามข้อยังหาดูดีไม่ ฝ่ายกรุงเวียดนามยังคิดถึงความดีของกรุงพระมหานครศรีอยุธยามีแก่กรุงเวียดนามมาแต่ก่อนกว่าสี่สิบปีห้าสิบปีแล้ว เพราะฉะนั้น ไทยทำกับญวนหนักเบาประการใด ๆ ญวนก็หาได้ขัดเคืองแก่ไทยไม่ เมื่อต้นปีนี้ พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งโปรดให้ขุนนางฝ่ายทหารชื่อบันชุนเวียนเป็นทูต กับขุนนางญวนมีชื่ออีกหลายนายเป็นราชทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นเข้าไปกรุงพระมหานครศรีอยุธยา แจ้งราชการโดยสัตย์ เพื่อจะให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาคิดอ่านทำนุบำรุงทางพระราชไมตรีให้รอบคอบโดยสุจริต
ครั้นอยู่มาเมื่อปลายปีนี้ จ๋งต๊ก (เจ้าพระยา) เจ้าเมืองไซ่ง่อน มีใบบอกส่งสำเนาพระราชสาส์นกรุงพระมหานครศรีอยุธยาขึ้นฉบับหนึ่ง เสนาบดีกรุงเว้ได้ประชุมตรวจพิเคราะห์ดูในสำเนาพระราชส์นนั้น เห็นข้อความเลื่อนลอยอยู่มาก แต่ข้อที่สำคัญนั้นหามีมาไม่ จึงได้แคลงอยู่ คิดว่ากรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น เห็นทีผ่อนผันทางพระราชไมตรีไม่ให้เหมือนแต่ก่อน จึงพูดจาแต่สั้น ๆ ไม่เป็นหลักฐานทางราชการ
ครั้นอยู่มาไม่ช้า มีราชทูตานุทูตไทยออกมาครั้งนี้ชื่อ พระอนุรักษ์ภูธร ราชทูตานุทูตหลายนายมาถึงกรุงเว้แล้ว พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้องเลโปเสนาบดีต่างประเทศ ถามราชทูตไทยด้วยมีข้อราชการถึงทุงวิไชย, ชิดชุม, ซุงกิมดอง, ลงนะรา ราชทูตไทยชื่อพระอนุรักษ์ภูธรแจ้งว่า ความสองเรื่องนี้เมื่อพระอนุรักษ์ภูธรราชทูตไทยยังอยู่ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา หาได้ยินข่าวประการใดไม่ เพราะกองทัพใหญ่ยังไม่กลับจากเมืองลาว เนื้อความข้อนี้ถ้าจริงเหมือนคำพูดพระอนุรักษ์ภูธรราชทูตว่านั้นจริงแล้ว เห็นว่าขุนนางนายทัพนายกองไทยไม่พ้นความผิด ถ้ากฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงพระมหานครศรีอยุธยาตั้งอยู่ในทางยุติธรรมตรง ๆ อยู่แล้ว ก็จะไม่ละโทษทุงวิไชย, ชิดชุม, ซุงกิมดอง, ลงนะรา ผู้มีความผิด
อีกข้อหนึ่ง ซึ่งจะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่นั้น ชอบแต่กรุงพระมหานครศรีอยุธยาพร้อมด้วยกรุงเวียดนาม คิดอ่านตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่ขึ้น จึงจะถูกด้วยอย่างธรรมเนียมแต่โบราณมา
อนึ่ง พระอนุรักษ์ภูธรราชทูตไทยได้แจ้งความอีกว่า เมื่อทูตไทยจะออกจากกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่ยังไม่กลับลงมาถึงกรุงไทย ข้อความทั้งปวงนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทรงคิดอ่านจัดการเป็นประการใดนั้น พระอนุรักษ์ราชทูตไทยหาแจ้งในพระทัยไม่
(สิ้นคำให้การพระอนุรักภูธรราชทูตไทยแต่เท่านี้)
 องเลโปเสนาบดีให้ล่ามพนักงาน จดหมายถ้อยคำราชทูตไทยลงในกระดาษแผ่นหนึ่ง นำขึ้นถวายพระเจ้าเวียดนามแต่ก่อนเมื่อราชทูตยังไม่ได้เข้าเฝ้านั้น ครั้นราชทูตไทยได้เข้าเฝ้า กราบถวายบังคมทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาส์นในท้องพระโรงที่ชุมนุมขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระราชปฏิสันถารปราศรัยแก่ราชทูตานุทูตไทยตามธรรมเนียมราชทูตต่างประเทศเสร็จแล้ว จึงได้ตรัสถามราชทูตไทยต่อไปในที่เฝ้า ด้วยเรื่องทุงวิไชย ชิดชุม ซุงกิมดอง ลงนะรา เมืองเวียงจันทน์ ราชทูตไทยกราบทูลเฉพาะหน้าพระที่นั่งเนื้อความต้องกัน กับที่ให้การซึ่งองเลโปจดหมายไปกราบทูลแต่ก่อนแล้ว พระเจ้าเวียดนามทรงคาดคะเนเห็นความในพระทัยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรอยุธยานั้น เห็นจะเหมือนกับคำราชทูตกราบทูล ถ้าเป็นจริงดังนั้นแล้ว ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระมหานครคงจะวัฒนาถาวรเจริญยิ่งขึ้นไป จะไม่ร้าวฉานสามัคคี
ครั้นโปรดให้องเลโปเสนาบดีตกแต่งเลี้ยงดูทูตานุทูตไทย แล้วโปรดให้องเลโปเสนาบดีแต่งพระราชสาส์นตอบไทย และจัดเครื่องราชบรรณาการทรงยินดีมอบให้ราชทูตานุทูตไทยคุมเข้าไปเจริญทางพระราชไมตรีกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ขอให้ผู้ครองฝ่ายพระมหานครศรีอยุธยาทั้งสองฝ่ายรักษาทางพระราชไมตรีให้ยืดยาว อย่าให้เสื่อมทรามลงได้ ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า เมืองประเทศราชและหัวเมืองขึ้นเมืองออกและนานาประเทศทั้งปวง จะได้สรรเสริญว่า สองพระมหานครมีทางพระราชไมตรีเสมอตันเสมอปลาย
อนึ่ง ครั้งนี้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจัดสิ่งของราชบรรณาการเกินมากออกมากกว่าอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน กรุงเวียดนามเห็นว่าทางพระราชไมตรีตั้งอยู่ให้เสมอต้นเสมอปลายเป็นการเจริญนั้น อาศัยด้วยอย่างธรรมเนียมความยุติธรรมไมตรี ไม่ได้อาศัยสิ่งของราชบรรณาการมากเกินขนาดกว่าอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา ๗ สิ่งเท่านั้น สิ่งของเหลือจากอย่างธรรมเนียมนั้น ขอมอบให้ทูตานุทูตไทยคุมคืนกลับเข้ามายังกรุงพระมหานครศรีอยุธยา
อนึ่ง กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยา เป็นทางพระราชไมตรีรักใคร่สนิทกันมาแต่ก่อนฉันใด ขอให้ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนครนี้ จงเสมอต้นเสมอปลายเหมือนแต่ก่อน กรุงเวียดนามจัดการทางพระราชไมตรีมาทั้งนี้ ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาคิดดูให้รอบคอบ จะชอบมิชอบ และสิ่งของเครื่องราชบรรณาการที่ตอบแทนไปมาถึงกันและกันนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนหรือการสำแดงความยินดีต่อกัน ถึงจะน้อยและมากไม่เป็นการประมาณหมาย เหตุให้ดีและเสียไปด้วยสิ่งของนั้นได้ ถึงของน้อยแต่ต้องทำความดียุติธรรมถูกต้องด้วยอย่างธรรมเนียมแล้ว ทางไมตรีก็จะยืดยาวสืบไปชั่วฟ้าและดิน ถ้าไม่ประพฤติการดีทางยุติธรรมต้องด้วยแบบอย่างธรรมเนียมดีแล้ว ก็เหมือนทิ้งที่ดีหาที่ร้าย ที่กรุงเวียดนามกล่าวมาทั้งนี้ เห็นเป็นการดีถูกต้องเป็นแบบอย่างประเพณี ซึ่งอยู่ในทางยุติธรรมทุกประการแล้ว แต่แบบอย่างธรรมเนียมกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น จะประพฤติเหมือนอย่างกรุงเวียดนามหรือไม่เหมือนก็ยังหาทราบไม่ ถ้าพระนครใดไม่ตั้งอยู่ในทางยุติธรรมแล้ว เบื้องบนมีเทวดา เบื้องล่างมีนานาประเทศ คงจะเห็นความคดและความตรงเป็นแน่ ตามกระแสกรุงเวียดนาม กรุงเวียดนามไม่ต้องว่ามากไปอีกแล้ว พระราชสาส์นกรุงเวียดนามมา ณ วันเดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปี ศักราชมินมางปีที่สิบ ประทับตราแผ่นดินหลายดวงและตราเสนาบดีด้วย
(เนื้อความในพระราชสาส์นกรุงเวียดนามที่กล่าวมานี้ คัดข้อความมาแต่ต้นฉบับสำเนาพระราชสาส์นญวน ที่ส่งมาแต่เดิมตกอยู่ที่เวรกรมท่ากลาง คัดลงจนสิ้นเนื้อความเดิมหมดฉบับไม่มีตัดเลย เพราะจะให้ท่านผู้ได้อ่านได้ฟังข้างหน้าต่อไป จะได้ฟังดูรู้จักสำนวนญวนพูดจายกตนข่มท่านและพูดจาเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านบ้าน้ำลายมากมายนัก)........”
 * จบพระราชสาส์นเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านบ้าน้ำลายของญวนไปอีกตอนหนึ่ง จบฉบับนี้แล้วยังมีส่งมาอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงประชุมเสนาบดีโต้ตอบพระราชสาส์น ไทยจะโต้ตอบอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, นายใบชา, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๔๙ -
ญวนรบเร้าซ้ำซากอยากให้ตอบ ไทยจึงมอบคำแถลงแจงเสียหาย ญวนกับลาวร่วมกันสรรค์อุบาย ฆ่าไทยตายกลางเวียงจันทน์เกือบพันคน
“ทุงวิไชยชิดชุม”ผู้คุมด่าน เกรงญวนพาลพาลาวลวงอีกหน จึงฆ่าญวนลาวนั้นป้องกันตน เป็นเหตุผลราชการงานสงคราม |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ จบพระราชสาส์นเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านบ้าน้ำลายของญวนไปอีกตอนหนึ่ง จบฉบับนี้แล้วไทยยังไม่ตอบ จึงมีส่งมาอีกเป็นข้อความเซ้าซี้ซ้ำซากเหมือนเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงประชุมเสนาบดีโต้ตอบพระราชสาส์น ไทยจะโต้ตอบอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ครั้นอยู่มาญวนส่งพระราชสาส์นเข้ามาอีกฉบับหนึ่ง ได้แปลออกแล้ว ตัดแต่ใจความบ้างเล็กน้อยพอสังเขป ใจความที่ญวนวิงวอนต่อไทยว่า ญวนขอตัว (ทุงวิไชยชิดชุม) คือพระวิชิตสงครามที่เลื่อนขึ้นเป็นพระยาณรงค์วิไชยออกไปเมืองญวนอย่างเดียว ไทยก็ไม่ให้ตามที่ญวนขอ ญวนโกรธจึงได้ลำเลิกเบิกเผยประจานเข้ามาว่าฝ่ายญวนได้ซื่อตรงต่อไทยมาก
 “ครั้งหนึ่ง พม่ามีพระราชสาส์นไปชักชวนญวน ให้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงไทยเป็นศึกกระหนาบ ถ้าได้เมืองไทยแล้วพม่าจะแบ่งเขตแดนไทยทางตะวันออกให้แก่ญวนกึ่งหนึ่ง พระเจ้าเวียดนามไม่รับตามพม่าขอ เพราะทรงตั้งอยู่ในทางทศพิธราชธรรมยุติธรรม
อีกประการหนึ่ง สำเภาหลวงของไทยที่ออกไปจิ้มก้องแลค้าขายที่เมืองจีนกวางตุ้งนั้น สำเภาไทยถูกพายุซัดเข้ามาในอ่าวเมืองญวน พระเจ้ากรุงเวียดนามเป็นพระธุระเหมือนกับของพระเจ้ากรุงเวียดนามเอง
 อีกประการหนึ่ง พวกไพร่พลเขมรป่าดงพลเมืองเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์บุรี เมืองลาว เมืองเขมรริมลำแม่น้ำโขง บ้านป่าบ้านดอนนั้นหลายบ้านหลายเมือง แตกตื่นพวกเจ้าอนุกบฏ พวกเขมรและลาวเหล่านี้หนีเข้ามาในเขตแดนกรุงเวียดนาม กรุงเวียดนามได้ทราบแล้ว จึงสั่งให้เจ้าเมืองกรมการญวนจ่ายเสบียงอาหารเลี้ยงพวกนั้น เมื่อสงครามสงบกบฏเจ้าอนุแล้ว ญวนได้สั่งพวกขุนนางญวนให้ไล่พวกเขมรและลาวของไทยที่มาอาศัยอยู่นั้น ให้กลับคืนไปอยู่บ้านเมืองเดิมตามที่เป็นหัวเมืองขึ้นแก่ไทย ญวนไม่ได้เกียดกันครอบครัวตามหัวเมืองขึ้นของไทยไว้ในเขตแดนญวนเลย เพราะญวนรักษาทางพระราชไมตรีโดยแบบอย่างธรรมเนียมยุติธรรม ไม่ให้เสียคลองเจริญไมตรีเลย แต่ไทยหาเห็นว่าญวนรักใคร่ไทยไม่”
ครั้งนี้มีหนังสือองเลโปเสนาบดีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่ง ตัดแต่ใจความว่า
“หนังสือองเลโปเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการนานาประเทศ และเป็นแม่ทัพใหญ่สำหรับรักษากรุงเว้ แจ้งความมาถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีว่าราชการต่างประเทศกรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้ทราบ ด้วยเมื่อครั้งต้นฤดูหนาวปีกลายนั้น ขุนนางไทย แม่ทัพนายกองฝ่ายเมืองลาวชื่อซุงกิมดอง คุมกองทัพไทยล่วงเกินเดินกองทัพเข้าไปในเมืองกำโล เมืองถูตือ เมืองคำบ่อ กองทัพไทยซุงกิมดองยกเข้าไปเก็บเอาสิ่งของของพลเมืองทั้งสามตำบลที่ออกชื่อมาแล้วนั้น เมืองทั้งสามนี้เป็นพระราชอาณาเขตของกรุงเวียดนาม กรุงเวียดนามก็ไม่ได้ให้ออกมาตามจับหามิได้ ซึ่งซุงกิมดองแม่ทัพไทยทำดังนี้เห็นผิดเหลือเกินหนัก ทำดังโจรป่าหาควรไม่ การเป็นดังนี้หาชอบที่ผู้สัจธรรมจะฟังไม่
อนึ่ง เจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์แต่ก่อนเป็นข้าทั้งสองพระนคร แล้วเจ้าอนุทำผิด ไทยจับไปฆ่าเสียแล้ว แต่เมืองเวียงจันทน์จะทิ้งไว้ให้เป็นป่าว่างเปล่าอยู่นั้นเห็นชอบแล้วหรือ? ไทยจะคิดตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์หรือไม่ตั้ง? ไม่เห็นบอกออกไปให้ญวนรู้บ้าง แต่คอย ๆ อยู่ช้านานแล้ว หรือไทยจะใคร่ได้แผ่นดินไพร่บ้านพลเมืองเวียงจันทน์แต่ฝ่ายเดียว จึงมิได้บอกออกไปให้ญวนรู้กำหนดบ้าง ข้อความทั้งนี้ฝ่ายญวนก็ยังมีความสงสัยคลางแคลงอยู่มากนัก ขอให้เสนาบดีฝ่ายไทยแจ้งไปให้เสนาบดีฝ่ายญวนทราบโดยจะแจ้ง
แจ้งความมา ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปีศักราชพระเจ้ามินมาง ปีที่ ๑๐”
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความตามในพระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนาม และหนังสือองเลโปเสนาบดีฝ่ายญวนทั้งสองฉบับแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า
“เจ้าเวียดนามขัดเคืองพระทัยนัก จนถึงลำเลิกเบิกเผยเข้ามามากมาย แล้วญวนจะคิดใช้สติปัญญาบ้าบ้าขึ้นมายังไรก็ไม่รู้ จำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องแต่งขุนนางเป็นทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นไปเกลี้ยกล่อมประเล้าประโลมน้ำใจญวนให้อ่อนโยนลงเสียบ้าง หาไม่ทางพระราชไมตรีจะมัวหมองไป นานาประเทศจะติฉินนินทาไทยได้ต่าง ๆ”
 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมเสนาบดี แต่งพระราชสาส์นไปถึงญวนในครั้งนี้ให้เข้าท่วงเข้าทีชอบด้วยราชการ แต่งถวายด้วยกันหลายฉบับหาโปรดไม่ โปรดฉบับพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด) แต่ให้พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) แก้ไขหลายบท แล้วโปรดให้เขียนเป็นพระราชสาส์นและสำเนาเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระจักราเป็นราชทูต และขุนนางมีชื่อราชทูตานุทูต พร้อมกันเชิญพระราชสาส์นไปเจริญทางพระราชไมตรีแก่กรุงเวียดนาม พระราชสาส์นนั้นตัดแต่ใจความมาว่าไว้พอเป็นสังเขปว่า
“พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา เสียมหล้าเดืองพัตธะเวียง ขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสำนักสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ ได้ทรงทราบ ฯลฯ ใจความว่า ซึ่งองเลโปเสนาบดีกรุงเว้ มีหนังสือกล่าวโทษขุนนางนายทัพนายกองฝ่ายไทยเข้ามาว่า ซึ่งทุงวิไชย และชิดชุม ซุงกิมดอง ลงนะรา ขุนนางนายทัพนายกองฝ่ายไทยได้ยกทัพล่วงเข้าไปในเขตแดนหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวนนั้น ข้อความสองข้อนี้ได้ทรงไต่ถามขุนนางผู้ใหญ่ แม่ทัพ และนายทัพนายกองไทยที่ขึ้นไปเมืองลาวกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ กันแล้ว จึงโปรดให้เสนาบดีไล่เลียงชำระ (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงคราม ซึ่งคุมกองทัพเรือรักษาด่านทางอยู่ที่เมืองนครพนมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น แล้วได้ไล่เลียงชำระ (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ (ลงนะรา) คือหลวงนรารณรงค์ ทั้งสามคนที่มีชื่อฟ้องมาในหนังสือกรุงเวียดนาม ตามที่เรียกชื่อผิดเพี้ยนนั้น ได้ไล่เลียงถูกชื่อดังนี้แล้วทั้งสามคน แล้วให้ชำระไต่ถามตามเรื่องความที่ฟ้องกล่าวโทษมาแต่ต้นแล้วนั้น”
 (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงครามให้การว่า ซึ่งได้ฆ่าญวนลาว ๔๘ คนที่ถือหนังสือมาถึงเมืองนครพนม ในระหว่างศึกสงครามกับลาวนั้น เพราะเดิมมีเหตุเกิดขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ก่อน ด้วยญวนพาเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ มาส่งที่เวียงจันทน์ แล้วญวนพูดล่อลวงไทยว่าเจ้าอนุมาโดยดี ไทยก็หลงเชื่อถ้อยคำญวนที่พามาส่งนั้นว่า จะไม่เป็นศัตรูแก่ไทย ไทยจึงไม่ได้ระวังตัว เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ จึงยกพลเข้ามาล้อมฆ่าแม่ทัพนายกองตาย ๓ คน ไพร่ตาย ๗๐๐ คน
เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ชิงเมืองเวียงจันทน์ได้ ได้ก่อการศึกมาช้านาน พวกไทยเสียทีเสียรู้แก่เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ครั้งนั้น ก็เพราะไว้ใจเชื่อถือญวน จึงพากันตายมากเกือบหมดทั้งกองทัพ แม่ทัพนายกองไทยที่เหลือตายอยู่บ้างที่ฝั่งพรานพร้าวนั้น มีความน้อยใจแก่ญวนว่า ญวนเข้าข้างคนผิด หาคิดถึงทางพระราชไมตรีกับไทยไม่ แม่ทัพนายกองไทยได้ปรึกษากันลงเนื้อเห็นว่า ญวนรู้เห็นเป็นใจกับเจ้าอนุคิดพร้อมใจกันแล้ว จึงพาลาวมาล่อหลอกไทยให้หลงเชื่อ แล้วจึงฆ่าไทยตายครั้งก่อนนั้น ไพร่ ๗๐๐ นายทัพ ๓ คน จะออกชื่อไว้ให้ญวนรู้ไว้ด้วย คือพระยาพิไชยสงคราม ๑ พระยาทุกขราษฎร์ ๑ หลวงสุเรนทรวิชิต ๑
การเป็นดังนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว นายทัพนายกองไทยที่เหลือตายอยู่ เคยเข็ดขยาดกลอุบายญวนที่เมืองเวียงจันทน์มาแล้ว ครั้งนี้จึงไม่มีความไว้ใจญวน ๕๐ เหมือนครั้งก่อน เมื่อแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยได้ยกทัพขึ้นไป รบกับเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์แตกหนีไปนั้น ก็ให้ (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงครามเป็นแม่ทัพ แม่ทัพเรือคอยรักษาด่านทางข้างแม่น้ำโขงเมืองนครพนม เป็นหน้าที่สิทธิ์ขาดของ (ทุงวิไชยชิดชุม) พระวิชิตสงคราม พระวิชิตสงครามต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียว เพราะฉะนั้น พระวิชิตสงครามจึงมีอำนาจฆ่าผู้ฟันคนทั้งในกองทัพหรือข้าศึกก็ได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ถ้าพระวิชิตสงครามรักษาทางด่านไม่ดีให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น พระวิชิตสงครามหรือตระกูลวงศ์พระวิชิตสงคราม ก็ต้องตายด้วยพระราชอาญาศึก ตามกฎหมายบ้านเมืองกรุงพระมหานครศรีอยุธยา
 ครั้งนั้นญวนและลาวได้ถือหนังสือมาในระหว่างศึกไทยกับเจ้าราชวงศ์ เจ้าอนุ กำลังติดพันกันอยู่ พระวิชิตสงครามเห็นผิดประหลาดคิดว่าญวนกับลาวที่มาคราวหลังนี้ จะมาร้ายหรือดีไม่แจ้ง จึงสำคัญคิดเข้าใจว่าญวนพวกนี้เป็นญวนมากับลาว คงจะเป็นพวกเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ใช้ให้มาเป็นไส้ศึกอีกแล้ว เพราะพวกญวนลาวเคยมาฆ่าคนไทยครั้งก่อนครั้งหนึ่งแล้ว เพราะเหตุทั้งนี้พระวิชิตสงครามไม่ไว้ใจแก่ญวน ๕๐ คน ที่เหลือตายญวน ๑ ลาว ๒ คน ต้องอาวุธป่วยลำบาก พระวิชิตสงครามส่งตัวญวน ๑ คน ลาว ๒ คน มาให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยได้ ๔-๕ วันก็ป่วยหนักลง จึงตายที่ในกองทัพทั้ง ๓ คนแล้ว แต่หนังสือญวนนั้น (ทุงวิไชยชิดชุม) คือพระวิชิตสงครามให้การว่า ได้ใช้คนลงไปค้นหาที่ในเรือญวนนั้นก็ไม่พบ พบแต่เครื่องอาวุธและเสื้อผ้าเล็กน้อย ซึ่งเป็นสิ่งของไม่มีราคาก็ทิ้งเสียแล้ว.....”
* ปล่อยให้ญวนกล่าวหาขุนนางแม่ทัพนายกองไทยซ้ำ ๆ ซาก ๆ มานาน ไทยเพิ่งจะตอบแก้ข้อกล่าวหาในพระราชสาส์นฉบับนี้เอง วันนี้ให้อ่านแต่คำแก้ข้อกล่าวหาที่ทุงวิไชยชิดชุม หรือ พระวิชิตสงครามฆ่าญวนเพียงข้อหาเดียวก่อน อ่านคำแก้ข้อกล่าวหาข้อแรกนี้ก็เห็นว่าฝ่ายไทยเราแก้ได้อย่างสมเหตุสมผล เป็นยุติธรรมยิ่งแล้ว พรุ่งมาอ่านการแก้ข้อกล่าวหาอื่น ๆ ต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, นายใบชา, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 เมืองเว้ (Hue) อดีตเมืองหลวงเวียดนาม - อานามสยามยุทธ ๕๐ -
ญวนรบเร้าร่ำไรขอให้ตอบ ไทยจึงมอบคำแถลงแจงเสียหาย ญวนกับลาวร่วมกันสรรค์อุบาย ฆ่าไทยตายกลางเวียงจันทน์เกือบพันคน
“ทุงวิไชยชิดชุม”ผู้คุมด่าน เกรงญวนพาลพาลาวลวงอีกหน จึงฆ่าญวนลาวนั้นป้องกันตน เป็นเหตุผลราชการงานสงคราม |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ ฝ่ายไทยปล่อยให้ญวนกล่าวหาขุนนางแม่ทัพนายกองไทยซ้ำ ๆซาก ๆ มานาน ไทยเพิ่งจะตอบแก้ข้อกล่าวหาในพระราชสาส์นล่าสุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประชุมขุนนางเสนาบดีให้แต่ละคนแต่งพระราชสาส์นตอบญวน แล้วเลือกฉบับที่มีสำนวนดีที่สุดเป็นพระราชสาส์นสำเนาส่งให้เวียดนาม ในตอนแรกให้อ่านแต่คำแก้ข้อกล่าวหาที่ทุงวิไชยชิดชุม หรือ พระวิชิตสงคราม ฆ่าญวนเพียงข้อหาเดียวก่อน วันนี้มาอ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ
 “การซึ่งเกิดเหตุฆ่าฟันกันล้มตายทั้งไทยและญวนนั้น เป็นท่าทางในระหว่างทางพะราชไมตรีมัวหมองไปดังนี้ เพราะเหตุด้วยเจ้าอนุผู้ผิดคิดกบฏก่อการลุกลามไปต่าง ๆ เจ้าอนุผู้เดียวพาให้สองพระนครเดือดร้อนร้าวฉานกัน เสียไพร่พลตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่กรุงพระมหานครศรียุธยานี้มีความวิตกถึงพระราชไมตรียิ่งนัก แต่ทรงคาดคะเนว่า น้ำพระทัยพระเจ้ากรุงเวียดนามคงจะทรงระลึกเห็นได้ ว่าไทยตายที่เมืองเวียงจันทน์ ๗๐๐ คนเศษ เพราะเหตุญวนพาเจ้าอนุมาฆ่าไทย และไทยฆ่าญวนตายที่เมืองนครพนม ๔๘ คนนั้น ยังน้อยกว่าไทยตายที่เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งพระเจ้าเวียดนามจะทรงถือความผิดแก่ไทยฝ่ายเดียวนั้น ทรงเห็นว่าจะยังเป็นยุติธรรมเที่ยงตรงได้ ด้วยญวนมาก่อเหตุให้เกิดอันตรายที่เมืองเวียงจันทน์ก่อนเป็นความสัตย์จริง ไทยจึงก่อเหตุฆ่าญวนตอบแทนบ้าง เนื้อความเป็นดังนี้ แล้วแต่พระเจ้ากรุงเวียดนามจะทรงพระวินิจฉัยให้ถ่องแท้โดยทางยุติธรรมพระราชประเพณีทศพิธราชธรรมิกะวโรดมบรมกษัตริย์
 ข้อที่ว่า (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ และ (ลงนะรา) คือหลวงนรารณรงค์ นายกองทัพทั้งสองนั้น ยกกองทัพล่วงเข้าไปในเขตแดนเมืองถูตือ เมืองกำโล เมืองคำบ่อ ทั้งสามหัวเมืองซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงเวียดนามนั้น ซึ่งกองทัพไทยได้เดินกองทัพล่วงเกินเข้าไปในเขตแดนญวนทั้งสามหัวเมืองแต่เพียงเท่านี้ ก็หาพอที่ญวนจะถือว่าไทยเป็นผิดได้ไม่ เพราะไทยคิดเห็นว่าเมือง (กำโล) ซึ่งภาษาไทยเรียกว่าเมืองพวง (เมืองถูตือ) ไทยเรียกว่าเมืองพลาน (เมืองคำบ่อ) ไทยเรียกว่าเมืองชุมพร เมืองทั้งสามนี้เป็นหัวเมืองปลายแดนในป่าดง พรมแดนต่อกันกับปลายแดนเมืองลาวที่ขึ้นแก่ไทย กับอีกข้อหนึ่งไทยเห็นว่าเมืองพวง เมืองพลาน เมืองชุมพร ทั้งสามเมืองแต่ก่อนมาสองปีสามปีก็เคยเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ภายหลังมาเจ้าอนุทูลขอเมืองทั้งสามนี้ไปขึ้นแก่เมืองเวียงจันทน์ แล้วเจ้าอนุนำเมืองพวง เมืองพลาน เมืองชุมพร ทั้งสามเมืองนี้ไปยกให้ขึ้นแก่ญวนด้วยเหตุใดหาทราบไม่ แม่ทัพนายกองเข้าใจว่าเมืองทั้งนี้เคยเป็นหัวเมืองขึ้นอยู่ในเขตแดนไทยแต่ก่อนมา แต่เจ้าอนุนำเมืองทั้งสามนี้ให้แก่ญวนนั้น ไทยเข้าใจว่าเมืองทั้งสามนี้ไม่เป็นสิทธิ์แก่ญวน ญวนไม่ควรถือเป็นอาณาเขตของญวนได้ เพราะเจ้าอนุไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินปกครองตลอดอาณาจักรเหนือใต้ฝ่ายไทย เมืองทั้งสามนั้นเป็นอาณาจักรของไทย เจ้าอนุจะนำเมืองในอาณาจักรไทยไปยกให้แก่ญวนไม่ได้ แม่ทัพนายกองไทยคิดเห็นดังนี้ จึงยกกองทัพเข้าไปในเขตแดนเมืองทั้งสาม ตามที่ภาษาญวนเรียกว่า เมืองกำโล ๑ เมืองถูตือ ๑ เมืองคำบ่อ ๑ และภาษาไทยเรียกว่า เมืองพวง ๑ เมืองพลาน ๑ เมืองชุมพร ๑ บางทีแม่ทัพนายกองไทยหนุ่ม ๆ ใหม่ ๆ ยังไม่รู้การโบราณ ๆ ก็พากันเข้าใจว่า เมืองทั้งสามนี้เป็นหัวเมืองขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือญวนและไทย ดังเมืองลาวที่เคยมีแต่ก่อนก็มาก เมื่อนายทัพนายกองคิดอย่างนี้ ก็ถูกบ้าง แต่หาสู้ตรงไม่
ซึ่ง (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงครามคิดเห็นแลเข้าใจว่า เมืองทั้งสามนั้นคงเป็นหัวเมืองขึ้นอยู่ในอาณาจักรฝ่ายไทยแน่แล้ว เพราะฉะนั้นพระวิชิตสงครามแม่ทัพจึงใช้ให้ขุนนางนายทัพนายกองไทยสองคน ที่ชื่อโดยภาษาไทยว่า หลวงนรารณรงค์ ๑ หลวงจงใจยุทธ ๑ ซึ่งภาษาญวนเรียกว่า ซุงกิมดอง ๑ ลงนะรา ๑ ทั้งสองคนนี้เป็นนายกองคุมไพร่พลยกกองทัพเข้าไปในเมืองทั้งสาม เพราะเข้าใจและความมุ่งหมายจะติดตามพวกเจ้าอนุ ผู้เป็นกบฏต่อแผ่นดินไทยให้ได้ตัวหมด หลวงนรารณรงค์กับหลวงจงใจยุทธทั้งสอง ได้ยกกองทัพเลยไปในเขตแดนเมืองทั้งสามโดยทั่วนั้น เพราะความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง เพื่อจะเที่ยวค้นหาครอบครัวหัวเมืองที่ขึ้นแก่ไทย ตกใจเจ้าอนุเป็นกบฏ แล้วก็ระส่ำระสายแตกหนีไปอาศัยอยู่ในเมืองพวง เมืองพลาน เมืองชุมพร ถ้าพบคนครอบครัวก็จะได้ต้อนรับให้กลับคืนมา ให้ตั้งทำมาหากิน อยู่ตามภูมิลำเนาเดิมทุกบ้านทุกเมืองในเขตแดนฝ่ายไทย ไม่ให้เสียทางเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
 ครั้งนั้น หลวงนรารณรงค์ หลวงจงใจยุทธ ได้พบครัวลาวได้หนีเจ้าอนุไปอยู่ในเมืองทั้งสามนั้นมากกว่ามาก ก็ได้เลือกต้อนพามาแต่ครัวที่เป็นลาวในบังคับไทยแท้ ๆ แต่คนลาวอยู่ในบังคับญวนที่ในเมืองทั้งสาม นายทัพไทยหาได้ไล่ต้อนพามาไม่ ถึงหากว่าไทยจะเป็นคนใจพาลสันดานโลภอยากได้ครัวลาวชาวเมืองทั้งสามที่อยู่ในอำนาจบังบัญชาของญวนมาบ้าง พวกเมืองทั้งสามนั้นคงไม่มา หรือมากลางทางก็คงจะหนีกลับไป เพราะไม่อยากจะมาอยู่ในบ้านเมืองข้างฝ่ายไทย เพราะผิดพื้นที่ทำเลทำมาหากินต่างกัน ข้อความที่ชี้แจงมาทั้งนี้ ก็พอเป็นพยานได้บ้างว่า ไทยไม่ได้เบียดเบียนพาครับครัวเมืองทั้งสามมาไว้ในบ้านเมืองฝ่ายไทยเลย
กับข้อที่ญวนว่า (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ ๑ (ลงนะรา) คือหลวงนรารณรงค์ ๑ ยกกองทัพเข้าไปเก็บเงินส่วยสาอากรแก่พลเมืองทั้งสามเมืองนั้น ความข้อนี้ได้ไล่เลียงสอบสวนชำระถามตั้งแต่แม่ทัพผู้ใหญ่และผู้น้อยตลอดลงไป จนไพร่พลก็หาได้ความจริงดังญวนฟ้องมานั้นไม่ และได้สืบถามตามพวกลาวเชลยที่กวาดต้อนครัวมา ไม่ได้ความจริงเลย เนื้อความข้อนี้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาเข้าใจว่า กรุงเวียดนามเข้าพระทัยผิดไป ตามที่พวกหัวเมืองขึ้นนำความเท็จมากราบทูล จึงทรงขัดเคืองไปตามเหตุการณ์ที่ได้ทรงทราบความนั้น
 อนึ่ง ถึงว่าเมืองทั้งสามนั้น ไทยถือว่าเป็นหัวเมืองขึ้นของไทย ไทยยังมีความเมตตาปรานีแก่หัวเมืองเล็กน้อยเช่นนี้ ไม่เคยเรียกส่วยสาอากรเลย อย่าว่าแต่เล็กน้อยทั้งสามนี้เลย ถึงเมืองใหญ่ดังเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง หรือเมืองตามลำแม่น้ำโขง ซึ่งขึ้นอยู่ในอำนาจกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ก็ไม่ได้เคยเรียกส่วยสาอากร หรือกะเกณฑ์สิ่งของทองเงินแก่เจ้าบ้านผ่านเมืองให้ได้ความเดือดร้อนแก่ไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งเป็นเมืองพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นไม่มีเลย กรุงพระมหานครศรีอยุธยาทรงรักษาเมืองประเทศราชต่าง ๆ ห่างและชิดชั้นในชั้นนอกทั้งปวงไว้ เพื่อทรงพระมหากรุณาภาพทำนุบำรุงแก่สมณะพราหมณาจารย์ ไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักร ให้อยู่เย็นเป็นสุขพร้อมมูลทั่วหน้ากัน โดยทางทศพิธราชธรรมอันมหาประเสริฐ ซึ่ง (ทุงวิไชยชิดชุม) คือพระวิชิตสงคราม แม่ทัพไทยจับญวนฆ่าเสียนั้น ก็เพราะเหตุที่ญวนพาเจ้าอนุฆ่าไทยก่อนแล้ว (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ กับ(ลงนะรา)คือหลวงนรารณรงค์ ทั้งสองนี้เป็นนายทัพนายกองฝ่ายไทย คุมพลทหารเข้าไปตามพวกกบฏในเมืองทั้งสามนั้น ก็เพราะเข้าใจว่าเมืองทั้งสามเป็นเมืองขึ้นแก่ไทยก่อน ญวนมาตัดตอนไปจากเจ้าอนุ หาถูกต้องตามอย่างยุติธรรมไม่
เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวมานี้มีข้อความสำคัญอยู่ ๒ ข้อเท่านั้น ขอให้พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระราชวินิจฉัยให้ถ่องแท้ตามทางธรรมสุจริต ด้วยพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระสติและปัญญาสามารถ เป็นสุขุมคัมภีรภาพลึกซึ้งดุจดังพระมหาสมุทร ขอให้ทรงตรึกตรองโดยทางทศพิธราชธรรมอันอุดมพระบรมราชปรีชาอันมหาประเสริฐ องอาจสามารถที่จะทรงทราบเหตุการณ์ที่เป็นไป โดยทางเท็จและจริงย่อมจะทรงทราบการตลอดได้สิ้น ด้วยพระปัญญาดังพระขรรค์แก้ว (แล้วมีข้อความอื่นอีกหลายประการแจ้งอยู่ในต้นฉบับเดิม)
ครั้นแต่งพระราชสาส์นเสร็จแล้ว พร้อมด้วยสิ่งของบรรณาการทรงยินดีตอบแทน ส่งออกไปให้พระเจ้าเวียดนามตามธรรมเนียม พระจักราราชทูตและทูตานุทูตมีชื่อพร้อมกันจัดดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย และกราบถวายบังคมลาเชิญพระราชสาส์นออกไปจำทูลถวายพระเจ้าเวียดนาม ราชทูตานุทูตพร้อมกันลงเรือทะเลใช้ใบออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ในปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปี เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ”
* พระราชสาส์น ความแก้ข้อกล่าวหาของญวน ชี้แจงได้อย่างละเอียดรอบคอบ สมเหตุสมผล และยังให้เราได้รู้ว่าญวนแอบมาเบียดบังเอาหัวเมืองของไทยตามชายแดนลาว-ญวน ไปเสียหลายเมือง ตัวการสำคัญที่ไทยเสียแผ่นดินให้ญวนไปหลายหัวเมือง ทั้งยัง “ชักศึกเข้าบ้าน” ด้วยการออกไปจิ้มก้อง ให้ญวนทึกทักทั้งเอาว่าลาวเป็นประเทศราชของตน จนรบเร้าขอมีส่วนได้ในแผ่นดินเวียงจันทน์นั้น ล้วนเกิดจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์นั่นเอง พระราชสาส์นไทยตอบญวนไปแล้ว ญวนจะว่าประการใด พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, นายใบชา, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระราชวังเมืองเว้ (Hue) อดีตเมืองหลวงเวียดนาม - อานามสยามยุทธ ๕๑ -
ญวนโมโหไทยมากสำรากนิสัย ด่าทูตไทยเสียงดังอย่างเหยียดหยาม ไม่รับเครื่องบรรณาการอันดีงาม แสดงความกักขฬะอันธพาล
ไล่ทูตไทยกลับสยามอย่างลำบาก พร้อมกับฝากผรุสวาทราชสาส์น ให้ลงโทษขุนนางอย่างประจาน ไทยยืนกรานมิบุ่มบ่ามบ้าตามญวน |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามมีพระราชสาส์นตอบแก้ข้อกล่าวหาของญวน ซึ่งก็ได้ชี้แจงอย่างละเอียดรอบคอบ สมเหตุสมผล และยังให้เราได้รู้ว่า ญวนแอบมาเบียดบังเอาหัวเมืองของไทยตามชายแดนลาว-ญวนไปเสียหลายเมือง ตัวการสำคัญที่ไทยเสียแผ่นดินให้ญวนไปหลายหัวเมือง ทั้งยัง “ชักศึกเข้าบ้าน” ด้วยการออกไปจิ้มก้อง ให้ญวนทึกทักเอาว่า ลาวเป็นประเทศราชของตน จนมารบเร้าขอมีส่วนได้ในแผ่นดินเวียงจันทน์นั้น ล้วนเกิดจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์นั่นเอง พระราชสาส์นไทยตอบญวนไปแล้ว ญวนจะว่าประการใด วันนี้มาอ่านต่อครับ
 “พระจักราราชทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปกรุงเว้ได้เจ็ดเดือนสี่วัน ได้กลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๙๒ ปี เจ้าพระยาพระคลังนำพระจักราราชทูตเข้าเฝ้าพระกรุณา พระจักรากราบบังคมทูลว่า เมื่อไปถึงเมืองตามรายทางของญวน ญวนรับรองเรียบร้อยตามอย่างธรรมเนียมที่ราชทูตไทยเคยไปมาแต่ก่อนทุกอย่าง
 ครั้นถึงกรุงเว้เมืองหลวงของญวนแล้ว ได้นำสำเนาพระราชสาส์นที่เป็นอักษรจีนภาษาญวนนั้น ไปมอบให้แก่องเลโปเสนาบดี เสนบดีนัดวันให้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามในที่ประชุมใหญ่ในพระราชวัง พระเจ้าเวียดนามหาได้ทรงตรัสพระราชทานพระราชปฏิสันถารปราศรัยกับราชทูตไทยตามอย่างธรรมเนียมทูตเข้าเฝ้าเหมือนทุกครั้งไม่ ตรัสเป็นการบริภาษตัดพ้อต่าง ๆ นานา ด้วยเรื่องเมืองเวียงจันทน์และไทยฆ่าญวนนั้นสิ่งเดียว ตรัสพระสุระเสียงดังทีกริ้วมากนัก เสด็จออกรับราชทูตไทยอยู่ประเดี๋ยวเสด็จขึ้น ราชทูตไทยก็ออกจากที่เฝ้า กลับมาที่กงก๊วนที่พักของราชทูตไทยไปทุกครั้งอย่างอย่างธรรมเนียมญวน เมื่อราชทูตไทยไปเฝ้าแต่ก่อนนั้น เคยมีการเลี้ยงโต๊ะใหญ่พร้อมเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่กับราชทูตไทยด้วยกัน เป็นการแสดงความต้อนรับนับถือ แต่ครั้งนี้ไม่มีการเลี้ยงโต๊ะใหญ่กับราชทูตไทย ราชทูตไทยไม่ได้รับพระราชทานสิ่งของรางวัลเลย
 อยู่มาสองสามวัน องเลโปเสนาบดีว่าการต่างประเทศใช้ให้ขุนนางมาเรียกราชทูตไทยไปหาที่ตึกองเลโป องเลโปพูดว่า มีรับสั่งพระเจ้าเวียดนามไม่ให้เจ้าพนักงานรับเครื่องราชบรรณาการสิ่งของที่ไทยจัดมาถวายนั้นแต่สักสิ่งหนึ่งเลย ให้ราชทูตไทยนำราชบรรณาการกลับคืนไปเมืองไทยให้หมดเถิด แล้วองเลโปนำกล่องพระราชสาส์นญวนตอบไทยมาส่งให้ในมือราชทูตไทย ราชทูตไทยก็ลากลับมาที่พัก
รุ่งขึ้นเวลาเช้า มีขุนนางญวนผู้รับใช้องเลโปมาแจ้งความว่า “ราชทูตไทยจะกลับไปเมืองไทยก็ให้รีบไปเถิด อย่าอยู่ที่นี่เลย ญวนจะไม่รับรองเลี้ยงดูแล้ว” ราชทูตไทยพากันไปหาองเลโปเมื่อจะลา ก็ไม่พบ คอยอยู่ครู่หนึ่งมีเด็กคนใช้ออกมาบอกว่า
“องเลโปว่าราชทูตไทยจะกลับไปเมืองไทยก็ไปเถิด ไม่ต้องกราบถวายบังคมลาพระเจ้าเวียดนาม แล้วไม่ต้องลาองเลโปเสนาบดี ไม่ต้องไปหาไปลาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย เขาไม่รับรองราชทูตไทยครั้งนี้เหมือนครั้งก่อนแล้ว ให้ราชทูตรีบตรงไปบ้านเมืองของตนเถิด”
เมื่อราชทูตไทยได้ถูกความดูหมิ่นดูถูกของญวน ญวนขับไล่ไทยดังนั้นแล้ว ไทยก็พากันออกจากรุงเว้ (เมืองหลวงของญวน) เจ้าพนักงานญวนที่เคยรับส่งต่อ ๆ มาตามรายทางบกนั้น ก็ไม่มีผู้ใดมารับมาส่งราชทูตไทย ราชทูตไทยก็ต้องจ้างเกวียนจ้างโคต่างราษฎรญวน บรรทุกสิ่งของใช้สอยมาตามทางบกจนถึงท่าเรือ ราชทูตลงเรือทะเลของไทยใช้ใบแล่นมากรุงเทพฯ ครั้งนั้นราชทูตไทยได้ความลำบากและความอัปยศอดสูแก่หมู่นานาประเทศทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินญวนเป็นอันมากกว่ามากนัก
 พระราชสาส์นที่ญวนตอบมานั้น ขอตัดแต่ใจความว่าดังนี้
“ถ้าพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยายังรักทางพระราชไมตรีอยู่บ้างแล้ว ขอให้นำคนผู้ผิดทั้งสามคนคือ ทุงวิไชยชิดชุม ซุงกิมดอง ลงนะรา มาลงพระราชอาชญา เฆี่ยนหลังประจานที่กลางตลาดในพระนคร ให้นานาประเทศเห็นพร้อมกัน อย่างนี้ทางพระราชไมตรีจึงจะไม่มัวหมอง และจะได้ยืดยาวเสมอต้นเสมอปลายต่อไปภายหน้า” (มีข้อความอื่นอีกมากมาย ครั้นจะนำมาบรรยายกล่าวไว้ในที่นี้ ก็จะเป็นที่ซ้ำซากยืดยาวเหลิงเจิ้งไป ป่วยการฟังสำนวนญวนพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ หาประโยชน์ไม่ (ทุงวิไชชิดชุม) นั้นคือพระวิชิตสงคราม ที่ได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยาณรงค์วิไชยในกรมพระราชวังบวรฯ (ซุงกิมดอง) นั้นคือหลวงจงใจยุทธ (ลงนะรา) นั้นคือ หลวงนรารณรงค์ แต่ญวนไม่รู้จักชื่อเสียงขุนนางไทยก็เรียกผิดเพี้ยนไป)
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความในพระราชสาส์นญวน และถ้อยคำพระจักราราชทูตกราบบังคมทูลพรรณนาความที่ญวนดูหมิ่นดูถูกนั้น และคืนสิ่งของที่ทรงยินดีกลับคืนมาทั้งหมดด้วย เมื่อได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทฉะนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า
“ทางไมตรีไทยกับญวนจะขาดกันก็ได้เป็นไรมี ไทยก็ไม่ได้พึ่งบุญพึ่งพาสนาญวน ญวนจะทำอะไรแก่ไทยก็ไม่ได้ ไทยก็ไม่กลัวญวน เพราะรี้พลหรือเสบียงอาหารบ้านเมืองเขตแดนก็พอเสมอ ๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เมื่อญวนก่อเหตุก่อนแล้ว ไทยก็จะต้องสานตามญวนไปก่อเหตุการณ์ให้ทางไมตรีมัวหมองไปเช่นนี้”
 ตั้งแต่พระจักราไปเป็นราชทูตกลับมาได้ ๓ ปี ถึง ณ เดือนแปด ปีมะโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๙๔ ปี เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ ครั้งนั้นองเลโปเสนาบดีกรุงเวียดนาม มีหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่ง ใจความว่า
“ตั้งแต่นี้สืบไปภายหน้า ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะมีพระราชสาส์นออกไปยังกรุงเวียดนามแล้ว แต่สำเนาพระราชสาส์นที่เคยเขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวนนั้น ขอให้ประทับตราประจำแผ่นดินไทย แล้วขอให้บรรจุลงในกล่องงาช้าง ประทับตรามังกรห้าเล็บรวมกันกับพระราชสาส์นคู่พระราชลัญจกรที่เป็นอักษรไทยภาษาไทย ให้ลงในกล่องงาช้างกล่องเดียวกันเถิด อย่าให้แยกย้ายเป็นสองฉบับสองกล่องเลย”
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงนำข้อความตามหนังสือองเลโปขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า
“ผู้ครองฝ่ายญวนเห็นว่า สำเนาพระราชสาส์นที่เขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวน มีปรากฏว่าเสียมหล้าเดืองพัตธะเวียงคำนับมาถึงสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ ดังนี้แล้วยังไม่พอกับความที่ต้องการยกยศศักดิ์ให้สูงเกินประมาณ บัดนี้ยังมีหนังสือเสนาบดีบังคับสั่งซ้ำเข้ามาอีกเล่า จะให้ไทยสำเนาพะราชสาส์นรวมกับพระราชสาส์นนี้ด้วยในกล่องเดียวกันนั้น ญวนมีความประสงค์จะให้เป็นพระราชสาส์นด้วยกันทั้งสองฉบับ จะได้เป็นเกียรติยศแก่ญวนฝ่ายเดียว
 อนึ่ง ความคิดของฝ่ายปกครองญวนนั้น เห็นจะคิดเข้าใจว่าเมืองญวนเป็นบ้านใหญ่เมืองโตกว่าเมืองไทย จึงได้สั่งเข้ามาให้ไทยประทับตราประจำแผ่นดินไทยลงในสำเนาพระราชสาส์นที่เป็นอักษรจีนภาษาญวน ญวนจะได้นำสำเนาที่ออกพระนามยศเจ้าแผ่นดินญวน ญวนจะได้นำออกตีแผ่ให้นานาประเทศที่รู้จักอ่านหนังสือจีนได้ จะได้เข้าใจว่าไทยยำเยงเกรงกลัวอำนาจญวน ญวนจะได้เป็นที่แสดงเกียรติยศของญวนฝ่ายเดียว ญวนคิดจะกดขี่ไทยให้เป็นดังเมืองตังเกี๋ย ที่เป็นเมืองขึ้นอยู่ในใต้บังคับบัญชาญวน ญวนทำได้ก็แต่เมืองตังเกี๋ยเถิด จะมาล่วงหลู่ไทยให้กลัวดังตังเกี๋ยและเมืองลาวสิบสองปันนานั้นไม่ได้ ไทยไม่ยอมตามใจญวนแล้ว........”
* เป็นอันว่า ญวนได้รับพระราชสาส์นตอบโต้กลับไปแรง ๆ บ้างดังนั้นก็โกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมรับเครื่องบรรณาการจากไทย ไล่ส่งราชทูตไทยเดินทางกลับอย่างทุลักทุเล พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือฝากราชทูตไทยมากล่าวความซ้ำซากเหมือนเดิม และยังได้ยื่นเงื่อนไขให้ไทยลงโทษทุงวิไชยชิดชุม ซุงกิมดอง ลงนะรา ด้วยการเฆี่ยนหลังประจานกลางตลาดชุมชน ให้นานาประเทศรับรู้และเพื่อรักษาพระราชไมตรีให้ยืนยาวต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในสาส์นญวนและคำกราบบังคมทูลของพระจักราราชทูตแล้ว มีพระราชดำรัสว่า เมื่อญวนจะขาดไมตรีกับไทยก็ได้ จะเป็นไรไป ไทยไม่ง้อ เพราะไม่เคยพึ่งพาญวน ตรัสดังนั้นแล้วไทยก็นิ่งอยู่ ไม่ตอบโต้และดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับญวนเลย จากนั้นมาอีก ๓ ปี ญวนก็มีหนังสือมาถึงไทยอีก ความในหนังสือก็เป็นเชิงบังคับบัญชาไทยให้ทำตามที่ญวนต้องการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้ทันญวน จึงมีพระราชดำริและดำรัสในเบื้องต้น ดังข้อความข้างบนนี้ และยังมีพระราชดำรัสต่อหนังสือญวนอีกมาก วันพรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, นายใบชา, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๒ -
ทรงติเตียนเจ้าญวนป่วนจารีต ทิ้งอดีต“ญาลอง”หมดทุกส่วน บ้าอำนาจขาดสติควรมิควร มิทบทวนตนเองเอาแต่ใจ
จึ่งเตรียมการรบญวนไว้ถ้วนทั่ว ระวังตัวมิอาจประมาทได้ สั่งพระเจ้าหลวงพระบางระวังไว้ ญวนคือภัยอักษะอันธพาล |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ ญวนได้รับพระราชสาส์นตอบโต้กลับไปแรง ๆ บ้างดังนั้นก็โกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมรับเครื่องบรรณาการจากไทย ไล่ส่งราชทูตไทยเดินทางกลับอย่างทุลักทุเล พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือฝากราชทูตไทยมากล่าวความซ้ำซากเหมือนเดิม และยังได้ยื่นเงื่อนไขให้ไทยลงโทษทุงวิไชยชิดชุม ซุงกิมดอง ลงนะรา ด้วยการเฆี่ยนหลังประจานกลางตลาดชุมชน ให้นานาประเทศรับรู้และเพื่อรักษาพระราชไมตรีให้ยืนยาวต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในสาส์นญวนและคำกราบบังคมทูลของพระจักราราชทูตแล้ว มีพระราชดำรัสว่า เมื่อญวนจะขาดไมตรีกับไทยก็ได้ จะเป็นไรไป ไทยไม่ง้อ เพราะไม่เคยพึ่งพาญวน ตรัสดังนั้นแล้ว ไทยก็นิ่งอยู่ไม่ตอบโต้และดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับญวนเลย จากนั้นมาอีก ๓ ปี ญวนก็มีหนังสือมาถึงไทยอีก ความในหนังสือก็เป็นเชิงบังคับบัญชาไทยให้ทำตามที่ญวนต้องการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้ทันญวน จึงมีพระราชดำริและดำรัสในเบื้องต้น ดังข้อความที่อ่านกันไปแล้วนั้น วันนี้มาอ่านต่อกันอีกนะครับ
 “อนึ่ง เมื่อราชทูตไทยไปถวายพระราชสาส์นที่ญวน ญวนพอใจฝากราชสาส์นตอบมาเสมอทุกครั้งทุกคราว ไทยก็ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ รับพระราชสาส์นญวนมาทุกที ครั้นราชทูตญวนเชิญพระราชสาส์นญวนเข้ามากรุงเทพฯ ไทยจะฝากพระราชสาส์นตอบออกไปบ้าง บางทีชอบใจก็รับไป บางทีไม่ชอบใจก็ไม่รับไป อย่าว่าถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินญวน แต่ชั้นราชทูตญวนที่เข้ามานี้ ก็เป็นแต่ขุนนางเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ก็ยังทำอำนาจโตใหญ่ตามชอบใจญวนอย่างเดียว
 บัดนี้เจ้าเวียดนามมินมางองค์นี้ ทำฝ่ายสูงเกินศักดิ์นักหนา บังคับบัญชาเข้ามาตามความชอบใจ ถ้าญวนชอบใจอย่างธรรมเนียมแบบแผนต่าง ๆ นานา จัดแจงแต่งตั้งเองตามความชอบใจญวน ญวนไม่ถูกอย่างแบบแผนนานาประเทศที่เป็นกษัตริย์บ้าง ไม่เคยพบไม่เคยเห็นอย่างกษัตริย์เช่นเจ้ามินมางองค์นี้ เจ้ามินมางองค์นี้ก่อเหตุขึ้นก่อนให้เสื่อมเสียทางพระราชไมตรีกันและกัน ถึงว่าผู้ปกครองฝ่ายญวนจะติเตียนผู้ปกครองฝ่ายไทยว่า ไม่รักใคร่อาลัยในทางไมตรีต่อกันฉันใดก็ดี ข้อความเหล่านี้ว่ากล่าวตามเหตุการณ์ซึ่งเป็นมาแต่ต้นจนปลาย ความก็แจ้งอยู่ในพระราชสาส์นที่ราชทูตญวนถือเข้ามากรุงเทพฯ
 อนึ่ง ไทยกับญวนก็ได้เป็นทางไมตรีกันมาช้านานหนักหนาแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าญาลอง (คือ องเชียงสือ) ซึ่งเป็นต้นวงศ์ในกรุงเว้แผ่นดินญวนปัจจุบันนี้ แต่ก่อนนั้นพระเจ้าญาลองผู้ครองแผ่นดินญวนจะธุระอะไรก็ได้มีพระราชสาส์นบ้าง หรือมีหนังสือเสนาบดีเข้ามาบ้างในกรุงไทย พูดจาด้วยข้อความประการใด ๆ ได้ว่ากล่าวเข้ามาโดยดี ตามฉันเมืองกษัตราธิราชด้วยกัน โดยทางพระราชไมตรีซึ่งกันและกันโดยฉันเรียบร้อย ไม่ได้หมิ่นประมาทองอาจบังคับบัญชาเหลือเกินเข้ามาในกรุงไทย ถึงว่าราชทูตไทยหรือราชทูตญวนแต่ครั้งก่อนจะไปมาหากันด้วยธุระราชการใด ๆ ราชทูตต้องรับพระราชส์นหรือหนังสือเสนาที่ตอบกันและกันทั้งสองฝ่าย ไม่เหมือนผู้ครองฝ่ายญวนแผ่นดินใหม่นี้เลย มีแต่ความหมิ่นประมาทดูถูกต่อกรุงเทพฯ จนเหลือที่จะพรรณนา
 อย่าว่าแต่เมืองไทยกับเมืองญวนเป็นทางไมตรีกันเลย ถึงเมืองแขกเมืองฝรั่งก็ได้เคยเป็นทางพระราชไมตรีกันกับไทยมาแต่ครั้งกรุงเก่าได้มีบ้าง เมืองในยุโรปเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาเป็นไมตรีกันกับไทย เขาได้ใช้ราชทูตถือพระราชสาส์นเข้ามากรุงเก่าเนือง ๆ ราชทูตต่างประเทศในยุโรปเขาได้รับพระราชสาส์นตอบกลับ ไปแจ้งข้อราชการแก่กันทั้งสองฝ่าย เขาไม่มีความรังเกียจอะไรในการที่รับหนังสือตอบต่อกัน
 อย่าว่าถึงเมืองอื่นเลย คือเมืองแขก, ฝรั่ง, เขมร, ลาว, เมื่อเวลาเป็นใหญ่เป็นเอกราช ได้เป็นทางพระราชไมตรีกันกับไทยมีบ้าง แต่ทางเมืองพม่าที่เป็นข้าศึกแก่กันกับไทยนั้น ถ้าพม่ามีธุระอะไร เขาก็ได้ใช้ให้คนพม่าถือหนังสือมาเจรจาการบ้านเมืองหรือราชการแผ่นดินอะไร ๆ มีหลายครั้ง ฝ่ายไทยก็ได้มีหนังสือตอบฝากพม่าที่เข้ามานั้น ๆ เขาก็รับหนังสือตอบของไทยเนือง ๆ พม่าและไทยจึงได้รู้ความกันทั้งสองฝ่าย ไม่เหมือนผู้ครองแผ่นดินญวนใหม่นี้ คิดดัดแปลงเปลี่ยนอย่างธรรมเนียมกฎหมายสำหรับเมืองต่อเมือง ซึ่งเป็นทางพระราชไมตรีกัน ญวนทำให้ผิดแบบแผนกว่าทุกประเทศ ได้ตรวจตราถ้อยคำญวนทุกครั้งแล้วเห็นว่า ประพฤติเกินธรรมสุจริตราชประเพณีบรมธรรมิกราชของพระมหากษัตราธิราชทุกประเทศทั้งปวง ไทยไม่ควรจะเป็นไมตรีกับญวนได้ต่อไป”
(สิ้นข้อความตามกระแสพระราชดำรัสเท่านี้)
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยทรงขัดเคืองญวนยิ่งนัก จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลังให้มีหนังสือตอบญวนไปในครั้งนี้ ให้เก็บเนื้อความตามพระราชกระแสที่ตรัสข้างต้นนี้ตอบญวน ญวนไม่รับหนังสือตอบเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ที่สมุหนายก ให้รับหนังสือตอบของเจ้าพระยาพระคลังนั้น มอบให้กรมการเมืองเขมรพระตะบอง ถือท้องตรานั้นเดินบกไปทางตะวันออก ไปส่งให้ถึงเขตญวนให้จงได้ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชามอบท้องตราบัวแก้วให้นักสุรายเขมรเมืองพระตะบองเดินบกไป ส่งให้ญวนนายด่านที่เมืองไทยเขมรเขตแดนญวน ติดต่อกันกับเขตเขมรแดนฝ่ายไทย เมื่อเดือนห้าปีมะเส็งเบญจศก จุลศักราช ๑๑๙๕ ปี เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ
 ครั้นเมื่อการพระเมรุพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ ที่ท้องสนามหลวงนั้น พระเจ้านครหลวงพระบาง และพระเจ้าเชียงใหม่ ลงมาช่วยในการพระบรมศพ ครั้นเมื่อการพระบรมศพเสร็จแล้ว พระบาทสมเจพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับพระเจ้านครหลวงพระบางว่า
“ไทยได้ทำศึกกับเจ้าอนุเวียงจันทน์ครั้งก่อนแล้ว ครั้งนี้เห็นทีจะได้ทำศึกกับญวนอีกต่อเนื่องศึกเวียงจันทน์ไป เพราะญวนดูถูกดูหมิ่นต่อกรุงเทพฯ มากนัก บัดนี้ญวนเบียดเบียนปลายเขตแดนไทย ตามบ้านเล็กเมืองน้อยทางตะวันออกอยู่เนือง ๆ บ้าง เป็นเหตุที่ญวนก่อศึกกับไทยก่อน ให้เจ้านครหลวงพระบางรีบกลับไปรักษาเขตแดนบ้านเมืองโดยเร็วเถิด”
เมื่อพระเจ้านครหลวงพระบางกราบถวายบังคมลา จึงพระราชทานเครื่องมโหรีสำรับใหญ่ของกรมพระราชวังบวรฯ ให้ไปทั้งพวกมโหรีผู้หญิงด้วยวงหนึ่ง แล้วพระราชทานเสลี่ยงปิดทองพนักงา พระกลดหักทองขวางด้ามหุ้มทองคำ ให้เป็นเกียรติยศแก่พระเจ้านครหลวงพระบาง ที่สวามิภักดิ์สุจริตมิได้คิดไปเข้าด้วยเจ้าอนุเวียงจันทน์ และลงใจด้วยราชการศึกแต่งทัพตามจับเจ้าอนุได้ จึงมีความชอบ
แต่พระเจ้าเชียงใหม่นั้น ไม่ได้พระราชทานสิ่งใด เพราะทรงขัดเคืองที่กองทัพมาไม่ทันช่วยรบตีเมืองเวียงจันทน์ ทรงแคลงใจว่าเป็นใน ๆ กับเจ้าอนุอยู่บ้าง........”
 * เป็นอันว่าฝ่ายไทยไม่ยอมให้ญวนดูถูกดูหมิ่นอีกต่อไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสตำหนิพระเจ้ามินมาง กษัตริย์ญวนที่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเอาตามใจชอบของตน โดยไม่ดูแบบอย่างนานาประเทศ ตรัสให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงฝ่ายญวนตามกระแสพระราชดำรัส แต่ญวนไม่ยอมรับ จึงตรัสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) นำหนังสือของเจ้าพระยาพระคลังส่งไปให้ญวนทางเมืองเขมรต่อไป
หลังการพระราชทานเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ (ซึ่งทรงพระประชวรด้วยพระโรคท้องมาน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่พระเจ้าเมืองหลวงพระบางว่า เสร็จศึกเวียงจันทน์แล้วเห็นทีว่าจะต้องทำศึกกับญวนต่อ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, นายใบชา, ก้าง ปลาทู, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๓ -
ในการพระบรมศพวังหน้า ญวนส่งราชทูตมาอย่างหน้าด้าน พระเจ้าอยู่หัวทรงโกรธมิโปรดปราน ตรัสประจานเจ้าแผ่นดินนาม“มินมาง”
ส่งเครื่องราชบรรณาการนั้นคืนกลับ มิทรงรับไมตรีที่ญวนอ้าง ตัดสัมพันธไมตรีทุกที่ทาง เตรียมทัพย่างเหยียบเขมรกากเดนญวน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ญวนดูถูกดูหมิ่นต่อไปอีกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสตำหนิพระเจ้ามินมาง กษัตริย์ญวนที่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเอาตามใจชอบของตน โดยไม่ดูแบบอย่างนานาประเทศ ตรัสให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงฝ่ายญวนตามกระแสพระราชดำรัส แต่ญวนไม่ยอมรับหนังสือ จึงตรัสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานำหนังสือของเจ้าพระยาพระคลังส่งไปให้ญวนทางเมืองเขมรต่อไป หลังการพระราชทานเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯมหาศักดิพลเสพ (ซึ่งทรงพระประชวรด้วยพระโรคท้องมาน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่พระเจ้าเมืองหลวงพระบางว่า เสร็จศึกเวียงจันทน์แล้วเห็นทีว่าจะต้องทำศึกกับญวนต่อ ขอให้รีบกลับไปดูแลรักษาบ้านเมืองและเขตแดนไว้จงดี เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
“ในเดือนห้าปีมะเส็งเบญจศก ราชทูตญวนคุมเรือทะเลมาถึงกรุงเทพฯ ก่อนวันชักพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ ๘ วัน ราชทูตญวนใช้ให้ล่ามไปแจ้งความต่อเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีว่า
 “บัดนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงทราบข่าวคราวมาแต่จีนเขมรบอกว่า ที่กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทำการพระศพกรมพระราชวังบวรฯ พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงระลึกถึงพระราชไมตรีซึ่งเคยมีมาแต่โบราณ จึงโปรดให้ขุนนางญวนเป็นทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาช่วยในการพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ องเตียงเจอเป็นราชทูต องลำเภ้ยโดยลำเป็นอุปทูต และองญวนมีชื่ออีก ๔ นายเป็นพนักงานคุมเครื่องราชบรรณาการมาครั้งนั้น ๘๐ คน เป็นเรือใบทะเลใหญ่คล้ายกำปั่นปากปลา แล่นเข้ามาทอดสมออยู่ที่ท่าหน้าวัดคอกกระบือ (คือวัดยานนาวา)”
แล้วเจ้าพนักงานไทยได้ปลูกเรือนรับราชทูตญวนให้อาศัยอยู่เย็นเป็นสุขสบาย เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้ล่ามไปแจ้งความกับราชทูตญวนว่า
“ราชทูตมาจวนงานพระเมรุพระบรมศพ จึงไม่ได้เฝ้าในท้องพระโรงเหมือนอย่างราชทูตเคยมาแต่ก่อน ครั้งนี้โปรดให้เฝ้าที่พระเมรุตามธรรมเนียมที่ราชทูตนานาประเทศมาในคราวพระเมรุก็ได้เฝ้าที่พระเมรุทุกทุกราชทูต”
องเตียงเจอราชทูตญวนจึงตอบว่า “ตามแต่อย่างธรรมเนียมไทย ซึ่งจะให้เฝ้าที่ไหน ราชทูตก็จะเฝ้าที่นั้น สุดแล้วแต่ท่านเสนาบดีไทยเถิด”
 เมื่อการพระเมรุนั้น โปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์แอสแมนโรเบิต ราชทูตอเมริกันเข้าเฝ้าหน้าพลับพลามวย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนพลับพลาทอดพระเนตรการมโหรสพ แล้วได้พระราชทานผลกัลปพฤกษ์และฉลากแหวนทองนากและสิ่งของต่าง ๆ ในผลฉลากนั้นทุกวัน วันหนึ่งราชทูตานุทูตได้คนละหกสิบผลบ้าง ห้าสิบผลบ้าง สามสิบผลบ้างตามบรรดาศักดิ์ เป็นอย่างธรรมเนียมมีมาดังนี้ที่ราชทูตเฝ้าหน้าพลับพลา ได้ทรงตรัสพระราชทานปฏิสันถารปราศรัยด้วยทุกคนไปกว่าจะเสร็จการพระเมรุ
ครั้งนี้ไม่โปรดให้ราชทูตานุทูตญวนเข้าเฝ้าหน้าพลับพลาตามแบบอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา เพราะทรงขัดเคืองเจ้าเวียดนามและองเลโปเสนาบดี ที่มีหนังสือเข้ามาบังคับบัญชาและดูหมิ่นดูถูกกรุงเทพฯ เป็นเนื้อความหลายข้อแจ้งอยู่ในหนังสือองเลโปนั้นแล้ว เป็นแต่เจ้าพนักงานกรมท่าจัดการรับราชทูตานุทูต ดูการแห่พระบรมศพดูการมโหรสพที่ศาลาคู่ เมื่อราชทูตญวนไม่ได้เฝ้าในท้องพระโรงและหน้าพลับพลาที่พระเมรุนั้น ราชทูตจึงได้ไปลาเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงตอบราชทูตญวนว่า “ให้ราชทูตคอยรอฟังพระราชกระแสรับสั่งก่อนจึงจะไปได้”
ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำรัสว่า
 “ที่ไม่ให้ราชทูตญวนเข้าเฝ้านั้น เพราะว่าถ้าขืนคบค้าสมาคมกับญวนแล้ว ก็จะได้ความอัปยศแก่นานาประเทศซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งการค้าขายสรรพสินค้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร ด้วยผู้ครองฝ่ายญวนก็ยังเบียดเบียนบ้านเมืองปลายเขตแดนไปหลายตำบลแล้ว ไทยก็ไม่ได้ต่อว่าขอคืนให้เป็นที่ขุ่นเคืองน้ำใจญวน เพราะไทยเห็นว่าบ้านเล็กเมืองน้อยตามปลายแดนเช่นนั้น เมื่อเขาสมัครไปพึ่งพาอาศัยขึ้นอยู่กับญวน ญวนจะชอบใจรับเมืองเหล่านั้นไปในใต้อำนาจญวน ก็ตามใจญวนและตามใจหัวเมืองเหล่านั้นเถิด ไทยมิได้มีความรังเกียจอะไรเลย เพราะว่าไทยยังมีความอาลัยระลึกถึงทางไมตรี ซึ่งมีมาแก่ญวนแต่ก่อน ๆ
เพราะฉะนั้นไทยจึงได้สู้อดออมถนอมน้ำใจญวน ญวนก็หาเห็นว่าไทยรักญวนไม่ ญวนเข้าใจว่าไทยกลัวอำนาจราชศักดิ์ญวน ญวนจึงยกย่องเจ้านายของญวนให้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งปวง เพื่อจะได้กล่าวถ้อยคำข่มขี่ไทยให้ต่ำเตี้ยกว่าญวนฝ่ายเดียว
 อนึ่ง อำนาจไทยและอำนาจญวนก็เสมอกัน บ้านเมืองเขตแดน สติปัญญาความคิด และเสบียงอาหารหรือทแกล้วทหารก็มีฝีมือเสมอกัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ถึงมาทว่าจะเป็นศึกสงครามกันฉันใด ญวนก็ไม่ได้เหาะเหินเดินมาบนอากาศและดำดินได้ ย่อมจะต้องหาบขนเสบียงอาหารและเครื่องสรรพาวุธมาเป็นกำลังแก่การศึกสงครามด้วยกันทั้งสองฝ่าย แม้ว่าได้รบราฆ่าฟันกันในที่สัประยุทธ์ใด ๆ เล่าไซร้ ก็จะได้ความเจ็บปวดล้มตายด้วยกันทั้งสอง ฝ่ายไหนได้ทีก็จะมีชัยชนะเป็นประเพณี การศึกสงครามเช่นนี้มีมาแต่โบราณแล้ว ใช่ว่าถ้าเกิดการยุทธนาฆ่าฟันกันกับญวน ญวนจะอยู่คงกระพันชาตรีหรือมีวิชาทรหดอดทนล่องหนหายตัวได้เมื่อไรเล่า เนื้อหนังถูกอาวุธเข้าก็จะเป็นบาดแผลและตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่อาศัยความเพียรและความคิดเป็นประมาณ จึงจะได้ชัยชนะแก่กันตามการหนักเบา การที่ว่ามาทั้งนี้ฝ่ายญวนและฝ่ายไทยมีเสมอกัน ไม่ควรที่ญวนจะมาล่วงเกินหมิ่นประมาทดูถูกดูแคลนต่อกรุงเทพฯ ให้เสื่อมเสียทางพระราชไมตรีไทยกับญวนที่รักใคร่กันมาช้านานหาควรไม่ ฝ่ายญวนไม่คิดถึงบุญคุณของไทย ที่ไทยได้ปกครองอุปถัมภ์บำรุงช่วยอุดหนุนพระราชบิดาของญวนให้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินญวน สืบเชื้อพระวงศ์ศานุวงศ์กษัตริย์ญวนตลอดมาจนถึงคุมเท่าบัดนี้ ก็เพราะอำนาจไทยในต้นวงศ์กรุงเทพฯ ทรงทำนุบำรุงญวนให้ได้เป็นใหญ่มิใช่หรือ? ญวนไม่คิดถึงการอย่างที่ว่ามานี้บ้างเลย
 ครั้งนี้ญวนพระเจ้าแผ่นดินใหม่อยากจะได้อะไร และจะปรารถนาอย่างใดให้เป็นเกียรติยศกับญวน ญวนก็มีคำสั่งบังคับบัญชาเข้ามา ให้ไทยทำตามใจญวนปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากเยี่ยงอย่างแบบแผนประเพณี เมืองที่เป็นทางพระราชไมตรีกันในนานาประเทศ เจ้าเวียดนามมินมางพระเจ้าแผ่นดินญวนใหม่นี้ ทำท่วงทีตีเสมอเป็นเจ้าเป็นนายเมืองไทย พูดจาข่มขี่เมืองไทยเหมือนเมืองออกเมืองขึ้นอยู่ใต้บังคับบัญชาญวน ผู้ครองญวนทำเช่นนี้นั้น ผู้ครองฝ่ายไทยเหลือที่จะอดออมถนอมน้ำใจญวน และบำรุงทางพระราชไมตรีกับญวนไว้ได้ จำเป็นจำต้องตัดขาดทางพระราชไมตรีกันกับญวนในครั้งนี้แน่แล้ว ถ้าเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ แล้วเมื่อใด จึงจะให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพหลวงคุมกองทัพรี้พลช้างม้าโยธาหาญยกไปตีเมืองเขมร ซึ่งเจ้านักพระองค์จันทร์ไปขึ้นแก่ญวน และจะได้เลยยกไปตีเมืองญวนด้วยเป็นการตอบแทนแก้แค้นญวนให้จงได้”
(สิ้นพระราชกระแสรับสั่งบริภาษตอบญวนเท่านี้)
 แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีมีท้องตราตอบญวนตามพระราชกระแสรับสั่งนั้นทุกประการ ครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลังได้มอบท้องตราให้ราชทูตญวน ญวนไม่รับไป ราชทูตญวนพูดว่าให้ไทยแต่งราชทูตออกไปเมืองญวนจึงจะควร เมื่อราชทูตานุทูตญวนไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น ราชทูตญวนก็โกรธ จึงไปลาเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังไม่ออกมารับการลาราชทูตญวน ญวนไปลาพระยาโชฎึกเศรษฐี ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งเจ้าพนักงานไทย ให้จัดเครื่องราชบรรณาการของญวนที่ราชทูตญวนนำเข้ามาครั้งนี้นั้น ส่งคืนให้ราชทูตญวนรับไปเมืองญวนเสียเถิด ไม่โปรดให้เจ้าพนักงานไทยรับราชบรรณาการญวนไว้แต่สักสิ่งหนึ่ง เพื่อจะมิให้เป็นเยื่อใยไมตรีต่อกัน โปรดเกล้าฯ ให้คืนราชบรรณาการญวนกลับไปครั้งนี้ เป็นการตอบแทนแก่ญวน เมื่อญวนไม่รับราชบรรณาการไทยไว้ คืนให้พระจักราราชทูตไทยเข้ามาครั้งก่อน เป็นเหตุที่ญวนทำแก่ไทยก่อน ไทยต้องทำตอบแทนญวนบ้าง........”
 * งานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ นั้น ฝ่ายไทยได้เชิญทูตานุทูต ผู้แทนนานาประเทศที่เป็นพระราชไมตรีกับไทยมาร่วมงานจำนวนมาก ยกเว้นญวนที่ไทยไม่เชิญมา แต่ญวนทราบข่าวจากจีนและเขมรจึงส่งราชทูตพร้อมเรื่องบรรณาการเข้ามา เป็น “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ” ในงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวงนั้น บรรดาทูตานุทูตนานาประเทศได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พลับพลาชมการแสดงและรับพระราทานกัลปพฤกษ์ แต่ทูตญวนมิได้เข้าเฝ้า ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ซ้ำยังตรัสบริภาษญวนต่าง ๆ นานา แล้วให้เจ้าพระยาพระคลังมีท้องตราพระราชดำรัสนั้นส่งไปให้เจ้าแผ่นดินญวน แต่ทูตญวนไม่ยอมรับ เกี่ยงให้แต่งราชทูตออกไป จึงตรัสสั่งให้คืนเครื่องราชบรรณาการญวนให้ทูตรับกลับไปทั้งหมดด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, นายใบชา, ก้าง ปลาทู, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) - อานามสยามยุทธ ๕๔ -
ทูตญวนหยิ่งจองหองทำพองขน เหมือนนายตนคุยโตโม้ทุกส่วน ทิ้งเครื่องบรรณาการทุกจำนวน แล้วรีบด่วนหนีไปในทะเล
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเตรียมตัวรบ ตรัสเลิกคบค้าเหล่าญวนเจ้าเล่ห์ เตรียมโยธีตีญวนให้ซวนเซ แล้วทุ่มเทเข้าถิ่นยึดดินแดน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ ในการจัดงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ นั้น ฝ่ายไทยได้เชิญทูตานุทูต ผู้แทนนานาประเทศที่เป็นพระราชไมตรีกับไทยมาร่วมงานจำนวนมาก ยกเว้นญวนที่ไทยไม่ได้เชิญมา แต่ญวนทราบข่าวจากจีนและเขมร จึงส่งราชทูตพร้อมเครื่องบรรณาการเข้ามา เป็น “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ” บรรดาทูตานุทูตนานาประเทศได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พลับพลาชมการแสดงและรับพระราทานกัลปพฤกษ์ แต่ทูตญวนมิได้เข้าเฝ้า ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ซ้ำยังตรัสบริภาษญวนต่าง ๆ นานา แล้วให้เจ้าพระยาพระคลังมีท้องตราตามความในพระราชดำรัสนั้นส่งไปให้เจ้าแผ่นดินญวน แต่ทูตญวนไม่ยอมรับ เกี่ยงให้แต่งราชทูตออกไป จึงตรัสสั่งให้คืนเครื่องราชบรรณาการญวนให้ทูตรับกลับไปทั้งหมดด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ครั้งนั้น เจ้าพนักงานกรมท่าซ้ายได้นำสิ่งของราชบรรณาการของญวนไปส่งคืนให้แก่ราชทูตญวน ราชทูตญวนรับไว้ทุกสิ่ง เว้นแต่น้ำตาลกรวดน้ำตาลทรายเท่านั้น ยังไม่ได้ส่งคืน เพราะว่าเจ้าพนักงานไทยรับมารักษาไว้ไม่ดี ฝนตกถูกเปียกชื้นเสียหมดแล้ว เป็นน้ำตาลกรวด ๓๐ หาบ น้ำตาลทราย ๓๐ หาบ ซึ่งเป็นของญวนมาช่วยสดับปกรณ์พระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ ครั้นทรงทราบความดังนั้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังจัดซื้อน้ำตาลกรวดน้ำตาลทรายอย่างละ ๓๐ หาบไปใช้ให้ญวน ครั้งนั้นราชทูตญวนไม่รับน้ำตาบกรวดน้ำตาลทรายที่ไทยใช้ให้ ราชทูตญวนว่า น้ำตาลที่ไทยใช้ให้นั้นดำ ไม่เหมือนน้ำตาลญวน ญวนจึงไม่รับไป
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงได้คิดเงินเป็นราคาค่าน้ำตาลใช้ให้ญวน ญวนก็ไม่รับเงินไป ฝ่ายเจ้าพนักงานไทยก็ไม่รับขนน้ำตาลของไทยที่ใช้ให้นั้นขึ้นจากเรือญวน ราชทูตญวนสั่งให้ไพร่ญวนขนน้ำตาลของไทยทิ้งน้ำเสียหมด ที่กลางแม่น้ำหน้าวัดคอกกระบือ (วัดยานนาวา) แล้วพวกญวนก็ช่วยกันโล้เรือใหญ่ลงไปถึงคุ้งบางกะบัว หน้าเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเวลาบ่ายน้ำลงเชี่ยว ราชทูตญวนขนราชบรรณาการของญวนทิ้งน้ำอย่างละเล็กละน้อย ที่จมน้ำเสียก็มีมาก ที่ลอยนั้นคือ กระลำพัก, เนื้อไม้จันทนา, และแพรญวน, ผ้าขาวตังเกี๋ยหลายม้วนหลายพับ พวกมอญชาวเมืองนครเขื่อนขันธ์หารู้อะไรไม่ พายเรือออกเก็บสิ่งของที่ญวนทิ้งน้ำลอยอยู่นั้น พวกราชทูตญวนเห็นก็พากันหัวเราะ แล้วจึงโล้เรือเร่งรีบออกไปนอกสันดอนหลังเต่าปากอ่าวเมืองสมุทรปราการได้ในเวลาเย็น
 ค่ำวันนั้น เมื่อทรงทราบใต้ผ่าละอองธุลีพระบาทว่า ราชทูตญวนทิ้งน้ำตาลของไทยที่ใช้ให้นั้นหมด จึงตรัสว่า อ้ายญวนขี้ข้าที่เข้ามาในครั้งนี้ก็จองหองเหมือนเจ้านายมัน ทำองอาจทิ้งน้ำตาลประชดไทยให้ได้ความอัปยศอดสูแก่ไพร่บ้านพลเมืองและชาวต่างประเทศที่อยู่ในกรุง จะว่าไทยกลัวอำนาจอ้ายญวน ญวนชวนวิวาทก่อเหตุแล้ว จำเราจะทำตามที่มันก่อเหตุก่อนจึงจะชอบด้วยการวิวาทนั้น จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังจัดเรือรบปากปลาท้ายกำปั่นแปลงที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชต่อไว้สำหรับรักษาบ้านเมือง เข็นออกจากโรงตรงหน้าวัดสังขจาย ๑๐ ลำ พลทหารแจวครบทุกลำสวมเสื้อแดงกางเกงแดงมีอาวุธครบมือทุกคน ลากปืนใหญ่ลงหน้าเรือศีรษะละ ๖ บอกทุกลำ ให้ทหารฝรั่งแม่นปืน พวกบ้านกระดีจีนลงประจำปืนใหญ่ทุกกระบอก พร้อมแล้วโปรดให้พระยาราชวังสันเป็นแม่กองคุมเรือรบ ๑๐ ลำ พลแจวพลทหารในเรือรบ ๑๐ ลำ รวมเป็น ๑๐๐ คน ให้รีบลงไปติดตามเรือราชทูตญวน ถ้าพบที่ไหนให้จับตัวนายมาที่นั่น ถ้าต่อสู้ให้ฆ่าเสียให้หมดอย่าไว้ชีวิตมัน
 ให้หลวงสุระเสนีคุมเรือรบกองหน้า ๕ ลำ ให้พระยาราชวังสันคุมเรือรบกองหลัง ๕ ลำ ให้ยกลงไปตามญวนจนถึงริมสันดอนปากอ่าวเมืองสมุทรปราการ ก็หาทันเรือราชทูตญวนไม่ เรือราชทูตญวนได้ลมดี ใช้ใบแล่นหนีออกไปตกลึกก่อนหน้าเรือพระยาราชวังสัน พระยาราชวังสันตามไปไม่ทันแล้วก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ
ครั้งนั้น ทรงจะให้จัดเรือกำปั่นใบไล่จับสลัดออก ไปตามเรือราชทูตญวนจนสิ้นเขตแดนเมืองกำปอด ประสงค์จะจับเรือราชทูตญวนให้ได้มาลงโทษ
ครั้งนั้น ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) กราบบังคมทูลพระกรุณาขัดขวางเสียว่า “เห็นจะไม่ทันเรือราชทูตญวน เรืองราชทูตญวนเป็นเรือเล็กจะแล่นหนีลัดไปในซอกเกาะได้ คงจะหนีไปถึงบ้านเมืองของญวนก่อนเรือกำปั่นจะตามไปไม่ทัน”
เพราะฉะนั้นการที่จะจัดเรือกำปั่นใบไปติดตามญวนนั้นก็สงบเลิกหมด
 แต่หนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเรียบเรียงเป็นเนื้อความตามพระบรมราชกระแสรับสั่งแต่ข้างต้นนี้นั้นแล้วจะตอบญวน ญวนไม่รับไป จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก มีท้องตราบังคับสั่งให้พระยาอนุภาพไตรภพ เจ้าเมืองนครเสียมราฐ แต่งกรมการเขมรผู้ฉลาดถือท้องตราบัวแก้วหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ไปสั่งให้เจ้าเมืองกรมการฝ่ายญวนที่พรมแดนต่อกันกับเขมรฝ่ายไทย ครั้งนั้นทรงพระราชดำริที่จะไปทำศึกสงครามแก่ญวน ให้เป็นพระเกียรติยศไว้ในแผ่นดินสยามตามขัติยราชประเพณี..
(จบอานามสยามยุทธเล่ม ๑ เรื่องศึกสงครามลาวกับไทยเท่านี้ ต่อนี้ไปเป็นศึกสงครามกับญวน มีแจ้งในอานามสยามยุทธเล่ม ๒ เล่ม ๓ นั้นแล้ว โดยพิสดารวิตถาร)
* เห็นจริงดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “จองหองเหมือนเจ้านายมัน” พฤติกรรมของราชทูตญวนตามท้องเรื่องนี้เหลือที่จะรับได้จริง ๆ หนังสือเจ้าพระยาพระคลังตามกระแสพระราชดำรัสข้างต้น คือการประกาศสงครามกับญวนโดยปริยาย
จบความในอานามสยามยุทธ เล่มที่ ๑ ว่าด้วยการรบกับลาวเวียงจันทน์ ที่ได้ซอยออกเป็นตอน ๆ ได้ ๕๔ ตอนนี้ ให้สาระความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทย-ลาวในแง่มุมหนึ่ง จากการจดบันทึกของขุนพลฝ่ายไทยที่ประสบมาด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนในมุมมองของลาวที่เห็นว่าเจ้าอนุเป็นวีรบุรุษผู้กู้เอกราชชาติลาว หรือปลดแอกไทยออกจากลาวก็ตามทีเถิด คนลาวมีสิทธิ์ที่จะมีมุมมองของตนเองได้ ผิดถูกอย่างไรก็แล้วแต่เหตุผลของแต่ละคน ส่วนที่ว่าประวัติศาสตร์ที่นำเสนอนี้นั้นจะเป็นสิ่งสร้างความบาดหมางของชนในแต่ละชาติยุคปัจจุบัน นี่ก็เป็นมุมมองของคนที่มีโลกสวยในสำนึก เหมือนนักเพ้อฝันที่ลืมความจริง
“อานามสยามยุทธ เล่มที่ ๒ จะว่าด้วยมหายุทธนาการศึกใหญ่ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ไทยรบกับญวน (เรื่องนี้คัดออกมาจากรายงานการทัพญวน ๕๕ เล่มสมุดไทย ของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เรียบเรียงไว้แต่เดิม)”
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๕ -
จะกล่าวถึงเวียดนาม “อันนัมก๊ก” “ญาลอง”ยก“สากุน”ไว้สูงแสน เป็น “จ๋งต๊ก”เจ้าพระยาทำการแทน ครองแว่นแคว้นไซ่ง่อนมิคลอนคลาย
“เจ้ามินมาง”เคืองใจไม่ชื่นชอบ เคยคิดลอบฆ่ายังไม่ดังหมาย ครั้น“สากุน”มีอันป่วยพลันตาย ความวุ่นวายเวียดนามเกิดตามมา... |
อภิปราย ขยายความ ............
อานามสยามยุทธตอนที่แล้ว ( ๕๔ ) ได้จบความในเล่มที่ ๑ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาวไปพร้อมกับไทย-ญวน เริ่มมีเรื่องระหองระแหงกัน จนถึงวาระสุดท้ายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ประกาศตัดสัมพันธไมตรี และเตรียมทำศึกสงครามกับเวียดนามต่อไป วันนี้มาเริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย มาให้อ่านกันเป็นลำดับไปดังนี้
“ดำเนินความตามเหตุที่ไทยจะได้ก่อการศึกกับญวนนั้น ในปีมะเส็งเบญจศกจุลศักราช ๑๑๙๕
ครั้งนั้น กรมการเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างกันแต่งขุนหมื่นกับไพร่ไปสืบราชการที่เมืองเขมรและเมืองญวนต่าง ๆ นั้น สืบได้ข้อราชการบ้านเมืองญวนมาทั้งสี่เมือง ทั้งสี่เมืองจึงมีใบบอกกิจการบ้านเมืองญวนเข้ามายังกรุงเทพฯ ข้อความในใบบอกทั้งสี่หัวเมืองนั้นต้องกัน
ครั้งนั้น มีพวกจีนลูกค้าที่อยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน และเมืองล่องโห้ ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวน พวกจีนในเมืองทั้งสองตำบลหนีข้าศึกที่เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองไซ่ง่อนนั้น หนีเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตราดบ้าง เมืองจันทบุรีบ้าง กรมการทั้งสองเมืองบอกส่งพวกจีนที่หนีมาแต่เมืองญวนนั้นเข้ามาในกรุงเทพฯ เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีให้ล่ามพนักงานไต่ถามพวกจีนเหล่านั้น พวกจีนเหล่านั้นให้การต้องคำกันทุกคน และคำให้การพวกจีนและหนังสือบอกเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองตราด เมืองจันทบุรี ทั้งสี่เมืองต้องกันกับคำให้การ มีเนื้อความว่าดังนี้
 บัดนี้ที่เมืองไซ่ง่อนนั้น เกิดการจลาจลรบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้นทั้งในเมืองและนอกเมือง และตามแขวงจังหวัดหัวเมืองเล็กน้อย ฝ่ายญวนนั้นก็กำเริบเกิดขบถรบกันเองบ้าง ยกไปรบเมืองต่าง ๆ บ้าง บ้านเมืองปราศจากความสุขหาที่พึ่งมิได้ จึงได้หนีความเดือดร้อนมาพึ่งบ้านเมืองที่มีความร่มเย็น เดิมทีจะเกิดการรบพุ่งกันนั้นด้วยเหตุเดิมดังนี้
 พระเจ้าญาลองเจ้าแผ่นดินญวนองค์ต้นวงศ์ โปรดให้สากุนขุนนางฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมนั้น มาเป็นจ๋งต๊ก (คือเจ้าพระยา) ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองไซ่ง่อน ครั้นเมื่อพระเจ้าญาลองเจ้าแผ่นดินกรุงเว้ (คือ องเชียงสือ) สวรรคตแล้ว เสนาบดีเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้ามินมางพระบรมราชโอรสขึ้นครองราชย์สมบัติสืบวงศ์กษัตริย์ในกรุงเว้ต่อไป
 ครั้งนั้นขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายหัวเมือง จัดดอกไม้ทองและธูปเทียนเข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคม กระทำการเคารพคำนับต่อพระเจ้าเวียดนามมินมางพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ แต่องสากุนจ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนนั้น ถือตัวว่าเป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์และเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ด้วย จึงมีกิริยากระด้างกระเดื่องไม่สู่ราบคาบ เมื่อกลับไปอยู่บ้านเมืองไซ่ง่อนนั้น ถ้ามีราชการอันใดที่มีข้าหลวงเชิญท้องตราลงไปบังคับบัญชาสั่งราชการอันใดแก่องสากุน องสากุนก็พอใจพูดกับพวกข้าหลวงว่า “เจ้าแผ่นดินใหม่นี้ขี้เมา มาสั่งการเลอะเทอะนัก”
 เพราะเหตุฉะนี้พระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่ จึงได้ขัดเคืองสากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนมาช้านานแล้ว ไม่รู้ที่จะทำประการใดได้ ด้วยเป็นขุนนางผู้ใหญ่เชื้อพระวงศ์ และเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระราชบิดาด้วย และสากุนผู้นี้มีฝีมือทัพศึกกล้าหาญแข็งแรง ทั้งสติปัญญาคิดอ่านในการศึกก็ว่องไวหาผู้ในจะเสมอมิได้ และเป็นผู้มีความชอบต่อแผ่นดินมากที่สุดในการกู้บ้านเมืองตั้งวงศ์ตระกูลของพระเจ้าแผ่นดินญวนใหม่นี้ด้วย เพราะฉะนั้นพระเจ้าเวียดนามมินมางองค์ใหม่นี้ คิดจะจับสากุนฆ่าเสียหลายครั้งแล้ว แต่เกรงว่าจะเกิดขบถขึ้น เพราะสากุนนี้มีผู้คนพลเมืองนับถือรักใคร่มาก จึงมีกำลังกล้าสามารถนัก เหตุดังนี้พระเจ้ามินมางจึงได้อดทนมาจนองสากุนป่วยหนักตายลงในเมืองไซ่ง่อน อายุองสากุนได้ ๖๗ ปี บุตรทั้งหลายทำการฝังศพสากุนแล้วจึงมีใบบอกข่าวตายไปยังกรุงเว้
พระเจ้าเวียดนามมินมางรู้ว่าองสากุนตายแล้วก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดให้องเผอลันกุน ขุนนางนายทหารรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมในพระเจ้าแผ่นดินใหม่ เป็นข้าหลวงถือรับสั่งลงมาเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อนใหม่ และมีรับสั่งให้เจ้าเมืองใหม่ขุดศพสากุนเจ้าเมืองเก่าขึ้นมาทำโทษประจานต่าง ๆ เหมือนกับทำโทษคนเป็น ๆ ฝ่ายขุนนางเก่าขององสากุนที่เป็นคนสนิทคุ้นเคยรักใคร่ในสากุน และมีกตัญญูรู้จักบุญคุณองสากุนนั้น มีหัวหน้าสามคน ซึ่งองภอเบโคยลันเบีย ๑ องกองาย ๑ องบงบาง ๑ รวมสามคนเป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่ในเมืองไซ่ง่อน เห็นข้าหลวงที่มาเป็นเจ้าเมืองใหม่ทำแก่ศพสากุนดังคนโทษเป็น ๆ ดังนั้นแล้ว ก็มีความสังเวชและบังเกิดความกตัญญูต่อองสากุนโดยมาก
 จึงองทั้งสามได้ชักชวนพลเมืองและสมัครพรรคพวกร่วมคิดกันได้คนหลายพัน แล้วจึงจับองเผอลันกุนเจ้าเมืองใหม่ และองเภอโดยปลัดเมืองเก่า กับพวกข้าหลวงที่มาใหม่นั้น ฆ่าเสียสิ้นรวมเป็นคนร้อยเศษ ตัดเอาศีรษะคนร้อยเศษเสียบตามถนน แล้วจึงนำศพของสากุนเจ้าเมืองเก่าไปฝังเสียตามที่เดิมดังเก่า จึงทำการเซ่นศพตามธรรมเนียมศพเจ้าเมืองผู้ใหญ่ เสร็จแล้วองทั้งสามเข้านั่งเมืองไซ่ง่อน จัดการป้องกันรักษาบ้านเมืองโดยแข็งแรง และตระเตรียมกองทัพเป็นขบถต่อแผ่นดินญวนพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อ ณ เดือนแปดแรมสามค่ำปีมะเส็งเบญจศกนั้น องภอเบโคยหัวหน้าที่หนึ่งเข้านั่งเมืองไซ่ง่อน จึงตั้งตัวขึ้นเป็นงุยโซย (คล้ายเจ้าแผ่นดิน) ครั้งนั้นองภอเบโคยจึงตั้งองบงบางให้เป็นที่เซียนฮอง (ที่สองรักษาแผ่นดิน) ตั้งองโกบาให้เป็นที่ลันบิล (ที่สามรักษาแผ่นดิน) ตั้งองภองายให้เป็นที่องทงเจอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ แล้วตั้งขุนนางเก่าเมืองไซ่ง่อนที่เข้าร่วมคิดด้วยกันอีก ๖ คนให้เป็น องตงกุน ๑ เป็นองเตียนกุน ๑ เป็นองโฮกุน ๑ เป็นองเฮากุน ๑ เป็นองสากุน ๑ เป็นเสนาบดีทั้ง ๖ คน เหมือนอย่างธรรมเนียมกรุงเว้ที่เมืองหลวงของญวนดังนี้ แล้วตั้งบุตรชายผู้ใหญ่ให้เป็นองจันเบียที่แม่ทัพเรือ และตั้งขุนนางผู้น้อยเต็มตามตำแหน่งในกรุงเว้แล้ว
 ฝ่ายองภอเบโคยลันเบียซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินญวนนั้น มีคำบังคับใช้ให้องบงบางที่ตั้งเป็นที่สอง ๑ องโกบาที่ตั้งเป็นที่สาม ๑ องภองายที่ตั้งเป็นองทงเจ ๑ องตงกุน ๑ องต๋ากุน ๑ องเตียนกุน ๑ องโฮกุน ๑ องเฮากุน ๑ องสากุน ๑ ซึ่งตั้งแต่งกันเป็นเสนาบดีทั้ง ๖ คนนั้น ให้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพแยกย้ายกันไปตีบ้านเมืองญวนที่เป็นเมืองขึ้นแก่กรุงเว้ แต่องภอเบโคยลันเบียซึ่งยกตัวขึ้นเป็นงุยโซยเจ้าแผ่นดินนั้นอยู่รักษาเมืองไซง่อน จัดการบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง แต่แม่ทัพนายกองทั้งหลายเหล่านั้นก็ยกกองทัพไปตีเมืองสะมิถ่อ ๑ เมืองล่องโห้ ๑ เมืองสะแดก ๑ เมืองโจดก ๑ เมืองบันทายมาศ ๑
แม่ทัพตีเมืองทั้ง ๕ ได้แล้ว จึงจับเจ้าเมืองบันทายมาศ กับเจ้าเมืองล่องโห้ และเจ้าเมืองสะมิถ่อทั้งสามคนนั้น ส่งขึ้นไปเมืองไซ่ง่อน องภอเบโคยลันเบียสั่งให้ฆ่าเจ้าเมืองทั้งสามนั้นเสียสิ้น แต่เจ้าเมืองสะแดกนั้นหนีไปได้ และเจ้าเมืองโจดกนั้นหนีไปอยู่แดนเมืองเขมร รอดชีวิตได้
 แต่เมืองบันทายมาศนั้น มีพวกจีนอยู่มาก พวกจีนเห็นว่าบ้านเมืองเกิดการจลาจลวุ่นวาย รบราฆ่าฟันกันขึ้นดังนั้นแล้ว พวกจีนก็คุมกันเป็นตั้วเฮียขึ้นมาก แล้วจึงเข้าซ้ำเติมเอาทรัพย์พวกราษฎรญวนในเมืองบันทายมาศ ขณะนั้นกองทัพองตงกุน องต๋ากุน องเตียนกุน ต่อรบจีนตั้วเฮียไม่ไหว ก็ล่าทัพกลับขึ้นไปพักอยู่ ณ เมืองโจดก.........”
 * ก่อนที่ไทยจะยกกองทัพเข้าถล่มญวนในปีจุลซักราช ๑๑๙๕ (พ.ศ. ๒๓๗๖) นั้น ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในญวน ด้วยพระเจ้ามินมางดำเนินนโยบายผิดพลาด เมื่อสากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนที่พระองค์ไม่ชอบหน้านั้นถึงแก่กรรมลง ทรงตั้งทหารราชองครักษ์ไปเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน พร้อมกับให้ขุดศพสากุนเจ้าเมืองคนเก่าขึ้นมาประจานลงโทษเหมือนคนเป็น ๆ ทำให้ขุนนางเก่าของสากุนทนไม่ไหว จึงรวมกำลังก่อการขบถ จับเจ้าเมืองคนใหม่และพรรคพวกฆ่าหมด ๑๐๐ คนเศษ และตัดหัวเสียบประจานเสียสิ้น แล้วคณะก่อการก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ส่งแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองขึ้นต่าง ๆ ของกรุงเว้ จนผู้คนหนีการจลาจลเข้ามาพึ่งไทย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๖ -
ญวนไซ่ง่อนง่อนแง่นไม่แน่นหนัก แตกความรักสามัคคีหมายมีหน้า เปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูคู่ปัจจา ริษยาอาฆาตเข้าฟาดฟัน
กรุงเว้ยกทัพใหญ่หมายมาปราบ ให้สงบราบคาบสิ้นคับขัน ทั้งสองฝ่ายแรงฤทธิ์รบติดพัน มิรู้วันแพ้ชนะประการใด |
อภิปราย ขยายความ .......................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่พระเจ้ามินมางดำเนินนโยบายผิดพลาด เมื่อสากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนที่พระองค์ไม่ชอบหน้านั้นถึงแก่กรรมลง ทรงตั้งทหารราชองครักษ์ไปเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน พร้อมกับให้ขุดศพสากุนเจ้าเมืองคนเก่าขึ้นมาประจานลงโทษเหมือนคนเป็น ๆ ทำให้ขุนนางเก่าของสากุนทนไม่ไหว จึงรวมกำลังก่อการขบถ จับเจ้าเมืองคนใหม่และพรรคพวกฆ่าหมด ๑๐๐ คนเศษ และตัดหัวเสียบประจานเสียสิ้น แล้วคณะก่อการก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ส่งแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองขึ้นต่าง ๆ ของกรุงเว้ จนผู้คนหนีการจลาจลเข้ามาพึ่งไทย แล้วบอกเล่าเรื่องการรบราฆ่าฟันกันในญวนให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อไปพร้อม ๆ กันครับ
 “....ขณะนั้นองโกบา องโฮกุน และองเฮากุน ที่ยกไปตีเมืองเหล่านั้นได้แล้ว ก็ยกมาพร้อมกันอยู่ที่เมืองโจดก องโกบาเป็นต้นคิดกลับใจปรึกษากันกับแม่ทัพผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า องภอเบโคยลันเบียซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินญวนนั้น เป็นชาติต่ำตระกูลต่ำ หาควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินญวนใหม่ไม่ ซึ่งพวกเราพากันเป็นขบถด้วยองภอเบโดยลันเบียนั้น หาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ควรเราทั้งหลายจะกลับใจช่วยกันคิดเอาเมืองไซ่ง่อนคืนได้แล้ว จับองภอเบโคยลันเบียและองบงบางที่อยู่รักษาเมืองนั้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามใหม่นี้ จึงจะได้เป็นความชอบและความดีของพวกเราอยู่ชั่วฟ้าและดิน จึงจะสมควรที่พวกเราเป็นตระกูลขุนนางตงฉิน สัตย์ซื่อต่อราชการแผ่นดินญวนตามความกตัญญูกตเวทีของเรา เราจะได้มีชื่อเสียงและยี่ห้อปรากฏไปในตระกูลบุตรหลานพวกเรา ๆ คิดดังนี้แล้ว ท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใดบ้าง
เมื่อองโกบา และองตงกุน องต๋ากุน องเตียนกุน องโฮกุน ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึงสั่งให้องเทียนบิน หลานเจ้าเมืองโจดกยกพลไปติดตามเจ้าเมืองโจดกเก่าที่หนีไปนั้น ให้กลับมาคิดราชการกลับใจใหม่ด้วยกัน
 เมื่อเจ้าเมืองโจดกเก่ากลับมาถึงในเมืองโจดกแล้ว เจ้าเมืองโจดกกับองโกบา และองตงกุน องต๋ากุน องเตียนกุน องโฮกุน พร้อมกันเที่ยวเกลี้ยกล่อมพลเมืองญวนตามเมืองบันทายมาศและเมืองโจดก ได้คนฉกรรจ์ ๗,๐๐๐ เศษ เตรียมการจัดเป็นกองทัพจะยกไปตีเมืองไซ่ง่อนจับองภอเบโคยลันเบีย
 ฝ่ายองภอเบโคยลันเบียได้ทราบความว่าขุนนางของตนที่ใช้ไปตีเมืองนั้น กลับเป็นข้าศึกจะยกเข้ามาตีเมืองไซ่ง่อน เพราะฉะนั้นองภอเบโคยลันเบียและองบงบางที่ร่วมใจกันรักษาเมืองนั้น สั่งให้ทหารกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเข้ามาไว้ในเมืองไซ่ง่อนทั้งสิ้น และกวาดเสบียงอาหารและเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำเข้าไว้ในเมืองสิ้น แล้วสั่งให้ชำระพวกญาติองโกบา องตงกุน องต๋ากุน องเตียนกุน องโฮกุน ซึ่งยังตกค้างอยู่ในเมืองไซ่ง่อนนั้น ได้มาทั้งหมดเป็น ๖๗๖ คน ให้ฆ่าเสียทั้งสิ้น แล้วให้ฆ่ามารดาองตงกุน ผ่าศีรษะศพนั้นออกเป็น ๔ ซีก แล้วอาขี้ผึ้งมาปั้นหุ้มห่อศีรษะศพมารดาองตงกุนเข้าไว้ให้ดี แล้วจึงเขียนหนังสือเป็นฉลากปิดไว้ที่ศีรษะศพนั้นเป็นใจความว่า
“เมื่อองตงกุนยังเป็นทารกเล็ก ๆ อยู่นั้น องตงกุนต้องกินน้ำนมแม่จนโตมีอายุถึงบัดนี้ บัดนี้องตงกุนใหญ่ขึ้นแล้วจะต้องกินเนื้อแม่ เพราะฉะนั้นจึงได้ให้คนนำเอาศีรษะแม่มาส่งให้กิน”
ครั้นเขียนสลากปิดแล้ว ให้เชลยนำศีรษะศพนั้นไปให้องตงกุน องตงกุนเปิดห่อขี้ผึ้งออกดูเห็นมารดาก็จำได้ จึงมีความอาลัยเศร้าโศกถึงมารดา แล้วมีความขัดเคืององภอเบโคยลันเบียเป็นอันมาก จึงสั่งให้ทหารพาญวนที่ถือเอาศีรษะมารดามาส่งไปฆ่าเสียในวันนั้น แล้วตงกุนยิ่งทวีความโกรธอาฆาตองภอเบโคยลันเบียยิ่งขึ้นไป
 ขณะนั้น องตงกุนคิดพร้อมใจกับเจ้าเมืองโจดก ๑ องโกบา ๑ องต๋ากุน ๑ องโฮกุน ๑ องสากุน ๑ จึงได้เกลี้ยกล่อมพวกญวนที่เมืองโจดกและเมืองบันทายมาศได้พลถึง ๗,๐๐๐ คนแต่ล้วนฉกรรจ์ทั้งสิ้น จัดเป็นกระบวนทัพใหญ่จะยกไปตีเมืองไซ่ง่อนจับองภอเบโคยลันเบียไปถวายพระเจ้าเวียดนามให้จงได้
 ครั้งนั้น องภอเบโคยลันเบียกับองบงบาซึ่งอยู่ในเมืองไซ่ง่อนนั้น ทราบความว่าจะมีข้าศึกมาตีบ้านเมือง จึงจัดการป้องกันรักษาเมืองโดยสามารถ ครั้น ณ วันเดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบเอ็ดค่ำ องตงกุนพร้อมกับเจ้าเมืองโจดกคุมทหาร ๗,๐๐๐ ยกขึ้นไปใกล้เมืองไซ่ง่อนหมายจะยกเข้าโจมตีปล้นทีเดียว ครั้งนั้นองภอเบโคยลันเบียรู้กิตติศัพท์ว่ามีทัพยกมาตีเมืองไซ่ง่อน จึงสั่งให้องบงบางผู้เป็นที่สองรองเจ้าเมืองนั้น คุมพลทหารประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ ยกออกไปตั้งค่ายใหญ่นอกเมืองไซ่ง่อนเพื่อจะได้รับกองทัพข้าศึก แล้วองภอเบโคยลันเบียจัดพลทหารรักษาเมืองไซ่ง่อน และส่งกระสุนดินดำเสบียงอาหารออกไปให้องบงบางเสมอ
 ครั้งนั้น กองทัพองบงบางกับกองทัพองตงกุนได้ต่อรบกันเป็นสามารถ ณ ที่กลางแปลงนอกเมืองไซ่ง่อน ผู้คนตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย และกองทัพเมืองโจดกยกไปตั้งค่ายใหญ่ที่ริมน้ำ หมายจะได้เอาทัพเรือมาช่วยตัดกำลังที่เมืองไซ่ง่อน กองทัพเมืองไซ่ง่อนก็ยกตามไปต่อรบกัน เว้นวันหนึ่งหรือสองวันรบกันครั้งหนึ่งเสมอทุกคราวไปมิได้หยุดจนถึงห้าวัน ตั้งกองรบกันดังนี้แต่ ณ เดือนแปดแรมสามค่ำ มาจนถึงเดือนสิบเอ็ดข้างแรม แต่รบกันอยู่ถึงสี่เดือนก็ยังไม่แพ้ชนะซึ่งกันและกัน ในระหว่างรบกันสี่เดือนนั้น พวกจีนและญวนที่เป็นพลรบทั้งสองฝ่ายตายลงด้วยกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ แต่พวกข้างเมืองโจดกตายมาก เพราะอดอาหารไม่สู้บริบูรณ์ด้วยมาทางไกล จะไปมาส่งลำเลียงกันก็ลำบาก แต่ที่ไซ่ง่อนนั้นบริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารจึงตายน้อย
 ขณะองบงบางกับองตงกุนรบกันนั้น ความทราบถึงพระเจ้าเวียดนามตามหนังสือบอกของเมืองโจดกแลเมืองต่าง ๆ ที่ถูกตีถูกรบนั้นแล้ว พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งใช้ให้องเตียนกุนเสนาบดีที่กรุงเว้เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้องทำตานดายดานเป็นปลัดทัพคุมพลทหาร ๑๕,๐๐๐ ยกลงมาปราบปรามพวกขบถที่เมืองไซ่ง่อน
 ครั้นกองทัพเสนาบดีกรุงเว้ยกลงมาใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น แม่ทัพนายกองทั้ง ๖ คน ที่เดิมเป็นพรรคพวกองภอเบโคยลันเบียเมืองไซ่ง่อนนั้น ก็กลับใจเข้ากับกรุงเว้ มารบกับเมืองไซ่ง่อนอยู่ถึงสี่เดือนนั้น ครั้นทราบว่ากองทัพเสนาบดีกรุงเว้ยกลงมาถึงแล้ว พวกแม่ทัพทั้ง ๖ จึงได้เข้าหาองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ เสนาบดีกรุงเว้พร้อมกันกับกองทัพพวกทั้ง ๖ ช่วยระดมกันยกทัพเข้าตีค่ายองบงบาง องบงบางต้านทานมิได้ก็แตกหนีทิ้งค่ายเสีย ยกล่าเข้าเมืองไซ่ง่อนช่วยกันตั้งการรักษาป้องกันเมืองไว้ได้ เพราะที่เมืองไซ่ง่อนมีปืนใหญ่มากและกระสุนดินดำมีบริบูรณ์ และองภอเบโคยลันเบียและองบงบางทั้งสองนั้นมีฝีมือทัพศึกเข้มแข็งนัก จึงรักษาเมืองไซ่ง่อนไว้ได้ ไม่เสียแก่ทัพกรุงเว้ บางทีกองทัพเมืองไซ่ง่อนยกออกตีกองทัพเมืองเว้แตกหนีไปก็มีบ้าง แล้วกองทัพกรุงเว้ก็คุมกันเข้ามารบกันกับเมืองไซ่ง่อนต่อไปอีก แลกเปลี่ยนกันหนีทีไล่กันอยู่ดังนี้เนือง ๆ แต่ทัพกรุงเว้จะตีหักปล้นเอาเมืองไซ่ง่อนมิได้ เพราะเมืองไซ่ง่อนมีรี้พลเต็มใจที่จะสู้รบ แต่เห็นจะสู้รบไปไม่นาน เพราะเสบียงอาหารหมดลงก็จะแพ้แก่ทัพกรุงเว้โดยความอดตาย แต่เดี๋ยวนี้กำลังติดพันรบสู้กันอยู่ทุกวัน เมืองไซ่ง่อนยังมีเสบียงอาหารบริบูรณ์อยู่มาก เห็นจะสู้อยู่ได้นานประมาณ ๓ เดือนเศษ พอสู้อยู่ได้ไม่แพ้ แต่พ้น ๓ เดือนไปแล้ว เห็นว่าเมืองไซ่ง่อนจะหมดเสบียงอาหารเป็นแน่ เพราะเมืองไซ่ง่อนอยู่ในที่ล้อมรอบออกหาอาหารกินและเพิ่มเติมมิได้ อาหารหมดลงเมื่อใดเมืองไซ่ง่อนก็จะแตกเมื่อนั้น”
 สิ้นคำให้การพวกจีนที่เมืองญวนหนีเข้ามาในกรุงเทพฯ เท่านี้ และคำให้การพวกจีนนั้นก็ถูกต้องกันกับข่าวหนังสือบอกเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองจันทบุรี เมืองตราด นั้นทุกเมืองถูกต้องกันแล้ว เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีนำคำให้การจีนและข้อความตามหนังสือบอกทั้ง ๔ เมืองนั้น ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว...”
* เรื่องราวของญวนรบกันเองอ่านจากคำบอกเล่าของชาวจีนชาวญวนที่หนีมาเมืองไทยแล้วก็สนุกตื่นเต้นไปด้วย ขณะที่พระเจ้ามิงมางสั่งให้กองทัพกรุงเว้ ยกลงมาตีเมืองไซ่ง่อนที่ฝ่ายขบถครอบครองอยู่นั้น ยังไม่มีใครแพ้ชนะ แต่ฝ่ายไซ่ง่อนกำลังเสียเปรียบเพราะเสบียงอาหารเหลือน้อยลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามทรงทราบความโดยตลอดแล้ว จะทรงมีพระราชดำริ พระราชดำรัสประการใด พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๗ -
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบทั่วเหตุการณ์ประมาณได้ จึงจัดทัพเป็นมหาโยธาไทย สั่งยกไปตีเขมรเป็นทางเดิน
“เจ้าพระยาบดินทรเดชา”รับ เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไม่งกเงิ่น กำลังรบแสนสองหมื่นมีเศษเกิน พร้อมเผชิญหน้าญวนป่วนเวียดนาม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ให้อ่านถึงตอนที่ ญวนผู้ร่วมเป็นขบถที่เมืองไซ่ง่อน หลังจากยกไปตีเมืองต่าง ๆ แล้ว เกิดคิดกลับใจจะยกพลเข้ายึดเมืองไซ่ง่อน จับตัวหัวหน้าขบถส่งให้พระเจ้าแผ่นดินญวน จึงยกพลจากเมืองโจดกเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อน องภอเบโคยลันเบียหัวหน้าขบถก็ตั้งสู้รบอย่างมั่นคง ทั้งสองฝ่ายรบกันนานกว่าสี่เดือน ไพร่พลล้มตายลง ๑๐,๐๐๐ คนเศษ พระเจ้ามินมางทราบเรื่องก็สั่งให้กองทัพกรุงเว้ ยกลงมาตีเมืองไซ่ง่อนที่ฝ่ายขบถครอบครองอยู่นั้น ยังไม่มีใครแพ้ชนะ แต่ฝ่ายไซ่ง่อนกำลังเสียเปรียบเพราะเสบียงอาหารเหลือน้อยลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามทรงทราบความโดยตลอดแล้ว จะทรงมีพระราชดำริ พระราชดำรัสสั่งประการใด วันนี้มาอ่านกันต่อไปดังนี้ครับ
 “จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า ได้รู้เหตุการณ์บ้านเมืองญวนคราวนี้ดีแล้ว เห็นว่าเป็นท่วงทีนักหนา ควรจะยกกองทัพกรุงเทพฯ เป็นทัพใหญ่ออกไปตีเมืองเขมรเสียทีเดียวในคราวนี้ ถ้าเป็นทีตีเมืองเขมรได้แล้ว ควรจะยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมออกไปอีกให้มากมาย หมายจะเลยไปช่วยเมืองไซ่ง่อนตีกองทัพเมืองเว้ด้วย แต่จะต้องมีหนังสือแต่งพวกจีนที่หนีเข้ามานี้ให้ไปบอกองภอเบโคยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อนให้รู้ตัวก่อน ว่ากองทัพกรุงเทพพระมหานครจะยกมาช่วยเป็นศึกขนาบตีกองทัพพวกเมืองเว้ให้แตกไป แล้วจะได้ให้แม่ทัพไทยไปคิดราชการกับองภอเบโคยลันเบีย พร้อมกันยกทัพใหญ่ไปตีเมืองญวนด้วย แล้วมีพระราชดำรัสว่า ด้วยอ้ายญวนจองหองนักหนา คราวนี้เป็นทีแล้วจะต้องตีเสียให้เข็ดฝีมือไทยบ้าง อ้ายญวนจะไม่ได้หมิ่นอำนาจไทยต่อไปอีก จำเป็นจะต้องยกทัพไปทำศึกสงครามกับญวน เป็นการตอบแทนแก้แค้นกับอ้ายญวนบ้าง จึงจะชอบด้วยธรรมเนียมพระมหากษัตราธิราชเจ้าเหมือนกัน ถ้าไม่ทำดังนั้นนานาประเทศก็จะดูหมิ่นว่าไทยกลัวญวน
 แล้วมีพระราชบริหารต่อไปว่า ครั้งนั้นนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาเขมร ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชขึ้นอยู่ในอำนาจไทย นักองจันทร์คิดกลับใจเป็นกบฏทรยศต่อกรุงเทพฯ แล้วหนีไปหาญวน ฝ่ายญวนก็รับเอาเจ้าเขมรไว้ใช้ธุระของญวน ญวนก็รับนักองจันทร์ไว้หาควรไม่ แล้วกลับจัดแจงให้นักองจันทร์มาอยู่บ้านเมืองเขมรครั้งหนึ่ง
 อีกครั้งหนึ่งเจ้าอนุลาวเวียงจันทน์เป็นกบฏ แล้วยกกองทัพมาตีเขตแดนไทย ไทยยกขึ้นไปปราบปรามเจ้าอนุ เจ้าอนุก็หนีไปหาญวน ญวนก็รับเจ้าลาวไว้ดังเช่นเจ้าเขมรนั้นเล่า ไม่ใช่ธุระปะติของญวน ญวนก็เอาเป็นธุระรับรองป้องกันเจ้าอนุไว้ แล้วยังมิหนำซ้ำ แต่งให้ขุนนางญวนพาเจ้าอนุมาตั้งบ้านสร้างเมืองดังเก่า ญวนทำให้เจ้าอนุได้ดีมีที่อยู่คล้าย ๆ เหมือนที่ญวนทำให้เจ้านักองจันทร์เขมรกลับมาเมืองเขมรอย่างเดียวกัน
 ฝ่ายเจ้าเวียดนามมินมางเจ้าแผ่นดินใหม่ฝ่ายญวนองค์นี้ ทำท่วงทีตีเสมอเหมือนเป็นนายไทย แล้วคิดอะไรก็มีแต่คิดเอารัดเอาเปรียบไทย และเกียดกันเอาเขตแดนบ้านเล็กเมืองน้อยของไทยไปหลายบ้านหลายเมืองแล้ว ฝ่ายญวนจะพูดจาอะไรมาในหนังสือเสนาบดีหรือพระราชสาส์นนั้นเล่า ก็มีแต่ญวนยกศักดิ์ฝ่ายญวนให้เป็นใหญ่เป็นโตกว่าไทยทุกครั้งทุกที พูดจากดขี่เหมือนไทยเป็นเมืองขึ้นเมืองออกของญวน ญวนยกตัวขึ้นเป็นดึกว่องเด้ แลองเลโปเสนาบดีญวนนั้นเล่าจะพูดจามาในหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังครั้งใด ก็พูดจาข่มขี่ไทยหลายอย่างหลายประการ และซ้ำมีคำสั่งบังคับบัญชาเข้ามาในกรุงเทพฯ ลงชื่อเจ้าแผ่นดินญวนในราชสาส์นไทยนั้นว่า สมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ ฝ่ายไทยก็เห็นแก่ทางไมตรีญวนที่มีมาช้านานแล้ว จึงได้ให้เขียนราชสาส์นไทยลงชื่อเจ้าแผ่นดินญวนตามชอบใจของญวนที่เมายศ แต่ไทยตามใจญวนดังนั้นแล้ว ยังไม่สาแก่ใจญวน ญวนเสนาบดีมีคำสั่งเข้ามาอีกว่า ให้ไทยเอาตราหลวงสำหรับราชการแผ่นดินไทยประทับสำเนาพระราชสาส์นที่เป็นอักษรจีนออกไปด้วย ดังนี้ไม่เคยมีธรรมเนียมมาทุกบ้านทุกเมือง เพราะฉะนี้ไทยจึงได้เห็นใจญวนว่ายกตัวขึ้นเป็นใหญ่กว่าไทย หมายจะข่มขี่อำนาจไทยให้ต่ำเตี้ยตกไปทุกที การที่ญวนเสนาบดีและเจ้าแผ่นดินดูหมิ่นดูถูกแก่พระเจ้าแผ่นดินไทยมากนักหนา ไทยจะเป็นทางไมตรีกันกับญวนไปอย่างไรได้เล่า จำเป็นจะต้องขาดทางไมตรีกันแต่ครั้งนี้เป็นแน่แล้ว
 ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเป็นฉินทพากย์ดังนี้แล้ว จึงมีพระราชโองการมานบัณฑูรสุระสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพบก โปรดให้เป็นผู้บัญชาการทัพ เจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น นายทัพนายกองบกทั้งสิ้น คุมพลทหารบกทั้งในกรุงและหัวเมืองรวมทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ และให้เป็นเกณฑ์เลขเขมรป่าดงเติมอีก ๑๐,๐๐๐ เลขหัวเมืองลาวเพิ่มเติมอีก ๑๐,๐๐๐ รวมไพร่พลไทยลาวเขมรเป็น ๗๐,๐๐๐ เป็นทัพบกยกไปตีเมืองเขมร ถ้าจับนักองจันทร์ได้แล้ว ให้ตั้งนักองอิ่ม นักองด้วง อนุชาเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาสืบราชสุริยวงศ์กษัตริย์กัมพูชาต่อไป
ครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้นักองอิ่ม นักองด้วงเขมรไปด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา จะได้เป็นที่ปรึกษาราชการทัพศึกในเมืองเขมรด้วย ถ้าตีเมืองเขมรได้แล้ว ให้ทัพบกทัพเรือไปช่วยองภอเบโคยลันเบียที่เมืองไซ่ง่อนด้วย ช่วยกำจัดทัพกรุงเว้
 โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้น ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพเรือคุมไพร่พล ๑๕,๐๐๐ บรรทุกเรือรบมีชื่อในกรุงออกไปเกณฑ์เลขไทยเมืองตราด เมืองจันทบุรี และเลขเมืองเขมรที่เมืองกำปอดและเมืองเขมรป่ายางรวมอีก ๕,๐๐๐ รวมเป็น ๒๐,๐๐๐ ในทัพเรือนั้น ให้ยกไปตีเมืองบันทายมาศฝ่ายญวนให้แตกให้จงได้ แล้วให้กองทัพเรือยกเข้าไปทางคลองขุดใหม่ของญวน จะได้เดินทัพเรือเข้าไปตีหัวเมืองญวนตามลำน้ำให้ได้ตลอดไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน จะได้บรรจบกันกับทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ใกล้เมืองไซ่ง่อน แล้วทัพเรือและทัพบกจะได้ช่วยระดมตีกองทัพญวนกรุงเว้ ที่มาตั้งล้อมเมืองไซ่ง่อนนั้น ให้แตกไปให้สิ้นเชิงตามทางบกเรือ แต่ให้เจ้าพระยาพระคลังแต่งจีนที่ฉลาดลงไปแจ้งข้อราชการแก่องภอเบโคยลันเบียที่เมืองไซ่ง่อนให้รู้ตัวก่อนให้จงได้ ไทยจะได้ทำการถนัด เมื่อทัพเรือถึงพร้อมกับทัพบกแล้ว ให้ทัพเรือปรึกษาหารือกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้เจ้าพระยาพระคลังฟังบังคับบัญชาเจ้าพระยาบดินเดชาแม่ทัพบกด้วย ในข้อราชการศึกที่จะยกเข้าตีญวนนั้น
 ครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาเทพเจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อป้อม) ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพบกฝ่ายตะวันออก ให้พระราชวรินทรเจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อขำ) เป็นปลัดทัพ ให้พระมหาเทพและพระราชวรินทรไปเกณฑ์เลขหัวเมืองลาวฝ่ายทางตะวันออกไปด้วยกันเป็นไพร่พลหมื่นหนึ่ง ให้เกณฑ์เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางไปเป็นผู้นำทัพบก ยกเข้าตีเมืองล่าน้ำหัวเมืองขึ้นแก่ญวน ญวนเรียกว่า(เมืองแง่อาน)
 ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชามีไพร่พล ๗๐,๐๐๐ กองหนึ่ง กองทัพเจ้าพระยาพระคลังมีไพร่พล ๒๐,๐๐๐ กองหนึ่ง กองทัพพระมหาเทพมีไพร่พล ๑๔,๐๐๐ กองหนึ่ง สามกองมีไพร่พลถึง ๑๐๔,๐๐๐ แล้วภายหลังเมื่อตีเมืองเขมรได้แล้ว เกณฑ์เขมรกรุงกัมพูชาอีก ๒๐,๐๐๐ เข้าช่วยในกองทัพไทยตามลำดับเวลานั้น ๆ รวมรี้พลในกองทัพไทยคราวนั้นถึง ๑๒๔,๐๐๐ คนแต่ที่ฉกรรจ์ (บอกกำหนดรี้พลไว้นี้ เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายทราบว่า บ้านเมืองไทยก็มีอำนาจเรียกทหารแต่ล้วนฉกรรจ์ได้ถึงแสนสองหมื่นสี่พัน แต่ในครั้งหนึ่งคราวหนึ่งเท่านั้น รี้พลยังมิได้เต็มตามเกณฑ์ ยังเหลือมีคนสำหรับจ่ายใช้ราชการประจำเดือนเสมอทุกเดือนไม่น้อยเลย)......”
 * ดูการจัดกำลังและดำเนินทัพตามพระราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว เห็นว่าทรงรอบคอบรัดกุมมาก อำนาจบังคับบัญชาการรบครั้งนี้ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบก ทรงให้เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพเรือเชื่อฟังการบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย ทรงจัดกำลังทัพไทยเป็นแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ผลการรบจะเป็นเช่นไร วันพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๘ -
กองทัพเรือตีได้บันทายมาศ ญวนไม่อาจต่อสู้ริปูสยาม หนีไปเมืองโจดกไทยยกตาม พยายามต่อสู้อยู่เหมือนกัน
ทหารไทยใจกล้าเดินหน้าบุก ถนัดรุกรบไปไม่ย่อยั่น เมืองโจดกถูกตีไม่กี่วัน ก็มีอันพ่ายยับแก่ทัพไทย |
อภิปราย ขยายความ .......................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบเรื่องราวที่เกิดสงครามกลางเมืองญวนแล้ว ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไทยควรยกกองทัพไปแก้แค้นญวน โดยเริ่มตีกรุงกัมพูชาก่อน เมื่อได้กัมพูชาแล้วก็ยกเลยไปช่วยองภอเบโคยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อน ตีกองทัพกรุงเว้ให้แตกไป จึงทรงจัดกระบวนทัพบกทัพเรือ โดยตั้งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคุมกองทัพบก และเป็นแม่ทัพใหญ่ ให้เจ้าพระยาพระคลังคุมกองทัพเรือ ยกไปตีเมืองบันทายมาศและหัวเมืองทางทะเลไปบรรจบกับกองทัพบก ให้เชื่อฟังการบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบดินเดชาด้วย วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา และกองทัพเจ้าพระยาพระคลัง และกองทัพพระยามหาเทพ ทั้งสามกองนั้นได้กราบถวายบังคมลา ยกออกจากกรุงเทพพระมหานครพร้อมกันทั้งสามทัพในวันเดียวกันนั้นแต่ ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้นสิบสองค่ำ เวลาเช้าสามโมงเก้าบาท จุลศักราช ๑๑๙๕ ปีมะเส็ง เบญศก เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ ก็ขาดทางพระราชไมตรีกันกับญวนแต่ครั้งนั้นมา
เมื่อกองทัพไทยทั้งสามยกออกจากกรุงเทพฯ แล้วได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์เดือนอ้ายขึ้นสิบสามค่ำ บังเกิดแผ่นดินไหวสะเทือนมากอยู่สองชั่วโมง จึงเป็นปรกติดังเก่า ครั้งนั้นกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาพอเข้าคลองสำโรง ออกแม่น้ำฉะเชิงเทรา ก็พอแผ่นดินไหวกองทัพทราบทั่วกัน
 เมื่อกองทัพทั้งสามยกไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมืองหัวพันทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเมืองลาวขึ้นแก่ญวนนั้นมี ผู้คนมากมายอยู่ แต่หัวเมืองทั้ง ๕ นั้นอยู่ใกล้กันกับเมืองหลวงพระบาง ยังไม่มีกองทัพไทยขึ้นไปตีให้มาขึ้นอยู่ในอำนาจไทย หรือไทยจะรักษายาก จะได้กวาดต้อนเอาครอบครัวเข้าเมืองมาไว้ในบ้านเมืองเราเสียดีกว่า จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งพระยาสีหเทพ (ชื่อทองเพ็ง) กรมมหาดไทย ให้มีท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปบังคับเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ คือ เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองหล่มสัก ให้ได้ไพร่พล ๔,๐๐๐ คน แล้วให้เกณฑ์หัวเมืองไทยฝ่ายเหนือด้วย จะได้เป็นนายทัพกำกับกองทัพลาวไปด้วยอีกให้ได้คนพันหนึ่ง โปรดให้เจ้าพระยาธรรมา (ชื่อสมบุญ) ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพคุมรี้พลลาวและไทยหัวเมืองรวม ๕,๐๐๐ คน ให้ยกขึ้นไปพร้อมกับเจ้านครหลวงพระบาง จะได้ยกไปตีเมืองหัวพันทั้งห้าให้แตก กวาดต้อนครอบครัวมา หรือจะยอมขึ้นก็ตามใจเจ้าบ้านผ่านเมืองเหล่านั้น
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกรมวังกราบถวายบังคมลายกออกจากกรุงเทพฯ ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย แรมสามค่ำ ปีมะเส็ง ถึงเมืองหลวงพระบาง ณ วันเดือนสาม แรมเก้าค่ำ ปีมะเส็ง เบญจศก จุลซักราช ๑๑๙๕ พักรอคอยกองทัพหัวเมืองที่เกณฑ์นั้นยังมาไม่ถึงพร้อมกัน
 ฝ่ายกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลัง ยกไปตีเมืองบันทายมาศได้สู้รบกับญวนวันหนึ่ง พวกญวนพลเมืองบันทายมาศทิ้งเมืองเสีย ลงเรือหนีไปเมืองโจดก กองทัพเรือไทยบ้างเข้าไปรักษาเมืองบันทายมาศ บ้างก็ยกติดตามญวนลงไปทางคลองขุดใหม่ ถึงเมืองโจดก ยกเข้าตีเมืองโจดก ทัพเรือไทยนำเรือใหญ่ขนาบเข้าไปเป็นตับ นำปืนใหญ่ตั้งหน้าเรือเป็นตับ ๔ แถว แล้วยิงไปบนเมือง บนเมืองก็ยิงปืนใหญ่ออกมา แต่ยิงโต้ตอบกันอยู่ทั้งสองฝ่ายได้สองวันกับคืนหนึ่ง
ขณะนั้นกองพระสุรินทรามาตย์กับหลวงชาติสุรินทร์และพระยาสุนทรารักษ์สามกอง ยกพลทหารทะลวงฟันอาทมาตพล ๘๐๐ ยกขึ้นจากเรือ โดยห้ามปากเสียง เดินบกยกอ้อมไปทางหลังเมืองโจดก ซึ่งมีบึงใหญ่กั้นเป็นคูหลังเมืองอยู่ พลไทยลงบึงบ้าง ว่ายน้ำบ้าง ด้ำในบึงบ้าง จนถึงเชิงกำแพงเมืองโจดก บ้างก็ลงลุยเลนในบึงที่ตื้น บุกรุกเข้าไปยังกำแพงหลังเมืองพร้อมกัน พอถึงกำแพงเมืองก็โห่ร้องนำบันไดขอเกี่ยวพาดกำแพงเมือง ปีนขึ้นไปได้ไล่ฆ่าฟันพลญวนที่รักษาหน้าที่กำแพงเชิงเทินนั้นล้มตายลงเป็นอันมาก ขณะนั้นกองทัพพระยาสุรเสนายกไปทีหลัง ได้ยกเข้าช่วยระดมเจ้าหน้าที่เชิงเทินแตกหนีถอยลงหมด
พระยาสุรเสนาต้อนพลทหารให้ยกบันไดพาดกำแพงเมือง และถือขวานฟันบานประตูเมืองบ้าง บ้างถือไม้ค้อนกระทุ้งบานประตูเมืองแตกหักทลาย เปิดประตูเข้าเมืองได้พร้อมกันกับกองหลังเมืองในเวลาสองโมงเช้า
 ขณะนั้นพวกพลเมืองโจดกเป็นญวนมาก เป็นจีนน้อย ที่เป็นจีนก็วางเครื่องสรรพาวุธเสียหมด เข้าหาอ่อนน้อมยอมแพ้แก่ไทยทั้งสิ้น ฝ่ายพวกญวนเห็นดังนั้นก็พากันอพยพครอบครัวลงเรือแจวหนีไปในทิศต่าง ๆ กองทัพเรือตามไปยิงแทงฟันตายเสียหลายร้อยคน ที่จับเป็นได้ก็มีบ้างหลายสิบคน กองทัพไทยเข้าเมืองโจดกได้ไล่พิฆาตฆ่าพวกพลเมืองญวน เก็บพัสดุเงินทองเครื่องอัญมณีได้มาก และแม่ทัพหน้านั้นคือพระยาราชวังสัน ยกเข้าเมืองโจดกรักษาเครื่องศาสตราและกระสุนดินดำไว้ได้ทั้งสิ้น
 เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้พระยาราชวังสัน กับพระยาสุรเสนา พระยาสุนทรารักษ์ ทั้งสามอยู่รักษาเมือง จัดถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารนอกเมืองมาไว้ในเมืองเต็มทุกยุ้งฉาง และจัดทหารรักษากำแพงเมืองช่องเชิงเทินทุกหน้าที่มิได้ประมาท กองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังก็พักอยู่ที่ค่ายใหญ่ของญวนหน้าเมืองโจดก แล้วแต่งให้หลวงสรรพาวุธกับหลวงวุทธอัคคีสองนาย คุมเรือรบอย่างเล็กมีพลทหารแจว ๖๐ คน ให้ไปสืบราชการศึกญวนว่า ญวนล่าหนีไปตั้งทัพตั้งค่ายรับอยู่ที่ใดบ้าง ถ้าไม่เห็นญวนตั้งค่ายรับอยู่ที่ใด ก็ให้ไปสืบทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าจะยกมาถึงที่ใดแล้ว
แล้วให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญผู้ว่าราชการเมืองปทุมธานี คุมกองรามัญ ๓๐๐ ยกขึ้นบก ไปลาดตระเวนรักษาทางด้านเหนือที่ญวนจะยกมาตีเมืองโจดกคืนนั้นให้มั่นคง ให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์ คุมกองรามัญ ๓๐๐ ยกไปรักษาทางคลองขุดใหม่ที่จะแยกมาจากเมืองด่านญวน ให้นำเรือป้อมใหญ่ลงไปด้วย ครั้งนั้นกองรามัญร้องว่ายิงปืนใหญ่ไม่เป็น เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้แบ่งทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศสในกองหลวงศักดาวุธ ๑๕ คน ลงเรือป้อมกองรามัญไปจุกช่องรักษาทางน้ำลำคลอง ให้ขุนสท้านธรณีปลัดกรมทหารฝรั่งเศส คุมเรือป้อมไปในกองรามัญด้วย รวมขุนหมื่นทหารแม่นปืนใหญ่ฝรั่งเศสไปด้วย ๓๐ คน.......”
 * เป็นอันว่า อานามสยามยุทธ คือการรบระหว่างไทย-ญวน ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ นั้น หัวเมืองญวนทางเขตแดนไทย เขมร หัวเมืองแรกที่กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกเข้าตีและยึดได้คือ เมืองบันทายมาศ หรือ พุทไธมาศ เขมรเรียกเมืองนี้ว่า เมืองเปี่ยม ญวนเรียกว่า ฮาเตียน ไทยเคยปกครองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วถูกญวนยึดไป เจ้าพระยาพระคลังตีเมืองบันทายมาศได้โดยง่ายดาย แล้วยกเข้าตีเมืองโจดกซึ่งเป็นเมืองค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เมื่อยึดเมืองโจดกได้แล้วก็ปักหลักรอทีว่าจะรุกคืบต่อไป โดยคอยฟังข่าวว่ากองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) แม่ทัพใหญ่ที่ยกเข้าตีเขมรในทางบกนั้น ได้มาถึงไหนแล้ว พรุ่งนี้มาอ่านกันดูต่อไปว่า ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชายกเข้าตีเขมรได้กี่เมืองแล้ว.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕๙ -
กองทัพบกยกเพียบเหยียบดินเขมร องจันทร์เผ่นหาอยู่สู้รบไม่ พนมเปญว่างเปล่าเจ้าหนีไป จึงตั้งให้ “องอิ่ม,ด้วง”ควงคู่ครอง
“เจ้าคุณสิงห์”เร่งรัดจัดทัพใหญ่ เพื่อยกไปเหยียบดินญวนจองหอง จะเหยียบขยี้ตีย้ำลบลำพอง ปราบผยองให้สงบสยบยอม |
อภิปราย ขยายความ .......................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ หัวเมืองญวนทางเขตแดนไทย เขมร หัวเมืองแรกที่กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกเข้าตีและยึดได้คือ เมืองบันทายมาศ หรือ พุทไธมาศ เขมรเรียกเมืองนี้ว่า เมืองเปี่ยม ญวนเรียกว่า ฮาเตียน ไทยเคยปกครองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วถูกญวนยึดไป เจ้าพระยาพระคลังตีเมืองบันทายมาศได้โดยง่ายดาย แล้วยกเข้าตีเมืองโจดกซึ่งเป็นเมืองค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เมื่อยึดเมืองโจดกได้แล้วก็ปักหลักรอทีว่าจะรุกคืบต่อไป โดยคอยฟังข่าวว่ากองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) แม่ทัพใหญ่ที่ยกเข้าตีเขมรในทางบกนั้น ได้มาถึงไหนแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบกจึงยกไปถึงเมืองพระตะบอง พระยาอนุภาพไตรภพเจ้าเมืองนครเสียมราฐมาคอยกองทัพไทยอยู่ที่เมืองพระตะบอง จึงกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า นักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาทราบว่ากองทัพไทยจะยกมาตีบ้านเมืองเขมร จึงให้สมเด็จเจ้าพระยา และเจ้าพระยาราชไมตรีคุมกองทัพเขมรกองละ ๓,๐๐๐ คน ยกมาตั้งฟังข่าวราชการอยู่ที่ตำบลบ่อกะเนียงทัพหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลดำไรพะเนียงทัพหนึ่ง ครั้นกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกมาถึงทะเลสาบ มีกำลังช้างม้ารี้พลมากกว่า ๑๐,๐๐๐ เศษ ฝ่ายกองทัพสมเด็จเจ้าพระยา และเจ้าพระยาราชไมตรีเขมรทั้งสองทัพนั้น มีพลแต่เพียง ๖,๐๐๐ คน จึงเห็นว่าทัพโคราชมามาก เขมรจะตั้งรับมิหยุด เขมรทั้งสองทัพก็ล่าเลิกหนีไปได้แปดวัน ก็พอทัพใหญ่กรุงเทพฯ ยกมาถึงเมืองพระตะบองในวันนี้
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวดังนั้นแล้ว ก็มีความเสียใจพูดว่า
“เจ้านักองจันทร์เห็นจะไม่สู้รบตบมือแก่เราเป็นแน่ จึงเรียกทัพใหญ่ฝ่ายเขมรกลับเสียทั้งสองทัพ ชะรอยนักองจันทร์จะคิดหนีเราไปหาญวนเป็นมั่นคง ถ้าเป็นดังที่เราคิดเราทายแล้ว ก็เสียทีที่ไม่ได้รบกับเจ้านักองจันทร์เลย ถึงมาทว่าได้เมืองเขมร ก็คงจะได้แต่เปลือกเมืองเปล่าเหมือนเมื่อตีเมืองเวียงจันทน์ได้เหมือนกัน หามีประโยชน์และเกียรติยศไม่”
 ว่าแล้วจึงสั่งให้พระยาเกียรติ์ พระยาราม คุมกองรามัญ ๑,๐๐๐ ให้พระยาอนุภาพไตรภพเขมรเจ้าเมืองนครเสียมราฐคุมพลเขมร ๑,๐๐๐ สั่งกองทัพทั้งสองกองมีพลทหารรวม ๒,๐๐๐ เป็นกองหน้า
ให้พระพรหมบริรักษ์เจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อแก้ว) ซึ่งเป็นบุตรใหญ่ในเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น เป็นข้าหลวงกำกับทัพรามัญและทัพเขมร มีพลทหารไทยทั้งขุนหมื่นนายไพร่ ๑๐๐ คน
สำหรับตัวพระพรหมบริรักษ์ คุมพลทหารรวม ๒,๑๐๐ รีบเร่งยกลงไปหมายจะได้ต่อรบกับนักองจันทร์ นักองจันทร์ก็หนีไปเมืองญวนเสียก่อนสิบเอ็ดสิบสองวันแล้ว พระพรหมบริรักษ์จึงใช้ให้สมิงรามเดชะขึ้นม้าเร็ว ๓๐ ม้า ถือหนังสือมาแจ้งข้อราชการกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า นักองจันทร์เขมรหนีเสียแล้วได้ ๑๒ วัน
 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาพักจัดรี้พลอยู่ที่เมืองพระตะบอง คอยกองทัพหัวเมืองมาพร้อมกันแล้ว จึงได้ทราบหนังสือบอกพระพรหมบริรักษ์ว่า นักองจันทร์เขมรไม่ตั้งอยู่สู้รบ และอพยพครอบครัวลงเรือใหญ่ได้แล้วจึงหนีลงไปอาศัยอยู่ในเขตแดนเมืองญวน พระพรหมบริรักษ์ได้แต่เมืองเปล่า
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงได้ยกกองทัพไปถึงเมืองพนมเปญ พักทัพอยู่ที่นั้นสองวัน แบ่งพลทหารไทยให้อยู่เป็นเพื่อนนักองอิ่มและนักองด้วงที่เมืองพนมเปญ จะได้ตั้งเกลี้ยกล่อมพระยา พระ เขมรที่เหลือยู่ตามหัวเมืองเขมรและป่าดง ให้เข้ามาอาสาจะได้เป็นกำลังต่อไปภายหน้า
ครั้งนั้นให้พระยาสุระโยธา พระยามหาอำมาตย์ หลวงราชเสนา เป็นข้าหลวงคุมพลทหารไทยลาวอยู่รักษาเมืองพนมเปญ ด้วยจะได้เป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงชี้แจงราชการให้นักองอิ่มและนักองด้วงจัดการบ้านเมือง ให้เป็นที่พักเสบียงอาหารและเป็นที่ตั้งมั่นของทัพไทยด้วย
 แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกองทัพที่จะยกไปเมืองไซ่ง่อนนั้น เป็นหลายทัพหลายกอง
ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาราชนิกูล (เสือ) เป็นข้าหลวงกำกับทัพ ให้พระยาสีหราชเดโช (แย้ม) เป็นปีกขวา ให้พระยามณเฑียรบาลเป็นปีกซ้าย ให้พระยานครสวรรค์เป็นทัพหน้า และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งนี้ ไปกับเจ้าพระยานครราชสีมา ยกไปทางบก ข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองไซ่ง่อน แล้วแต่งกองทัพหัวเมือง ทัพกรุงสยามยกไปเป็นกองต่าง ๆ ตามเจ้าพระยานครราชสีมาไปตีกองทัพญวนนั้นเป็นอันมาก........”
 * กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เข้ายึดครองกัมพูชาของเขมรได้โดยละม่อม ไม่ต้องเสียกำลังและเลือดเนื้อเลยแม้แต่น้อย เพราะนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินเขมร ภายหลังกลับแปรภักดิ์ไปนิยมชมชอบญวน เป็นขบถต่อกรุงสยามในที่สุด ครั้นกองทัพไทยยกเข้าเหยียบแผ่นดินเขมร นักองจันทร์กลับไม่ยอมตั้งอยู่ต่อสู้ พาครอบครัวลงเรือใหญ่อพยพไปอาศัยแผ่นดินญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งแม่ทัพนายกองไทยอยู่รักษากรุงพนมเปญ ช่วยจัดการบ้านเมืองอุปถัมภ์บำรุงเจ้าเขมร คือนักองอิ่มและนักองด้วง แล้วจัดกองทัพใหญ่ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพ ยกทัพบกมุ่งสู่เมืองไซ่ง่อนของญวนทันที คราวนี้คงได้รบญวนสมใจเป็นแน่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๐ -
ครั้นทราบว่าทัพเรือนั้นยั้งอยู่ เพื่อรอดูทัพบกยกแห่ห้อม เจ้าคุณสิงห์กริ่งเกรงความไม่พร้อม จึงตะล่อมมรรคาเจ้าคุณพระคลัง
ให้เรียนรู้ทางน้ำนำเรือรบ เข้าสยบญวนให้ได้ดังหวัง บอกแม่น้ำลำคลองต้องระวัง บ้านเรือนทั้งสองฟากมากอันตราย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เข้ายึดครองกัมพูชาของเขมรได้โดยละม่อม ไม่ต้องเสียกำลังและเลือดเนื้อเลยแม้แต่น้อย เพราะนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมรไม่ยอมตั้งอยู่ต่อสู้ แต่ได้พาครอบครัวลงเรือใหญ่อพยพไปอาศัยแผ่นดินญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งแม่ทัพนายกองไทยอยู่รักษากรุงพนมเปญ ช่วยจัดการบ้านเมืองอุปถัมภ์บำรุงเจ้าเขมร คือนักองอิ่มและนักองด้วง แล้วจัดกองทัพใหญ่ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพ ยกทัพบกข้ามแม่น้ำโขงมุ่งสู่เมืองไซ่ง่อนเหยียบแผ่นดินญวนทันที วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ........
“ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น เดินกองทัพเป็นลำดับลงไปต่อภายหลังถึงเมืองบาพะนมริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นท่าข้ามฟากจะไปเมืองไซ่ง่อน สั่งให้กองทัพหน้าหาเรือเก่าของเขมรมาได้หลายสิบลำ สำหรับจะได้ข้ามฟากฝั่งแม่น้ำโขงไป
 ขณะนั้นกองพระยาพิทักษ์ภูบาลซึ่งเป็นกองลาดตระเวนตรวจทางไปถึงท่าข้ามแก่งหลวง ก็พบเรือลาดตระเวนกองทัพเจ้าพระยาพระคลังสองพวก หลวงสรรพาวุธกับหลวงวุทธอัคคีเป็นนายเรือตระเวน แจ้งความว่าเจ้าพระยาพระคลังตีเมืองบันทายมาศแตกได้เมืองแล้ว บัดนี้ยกมาตีรบเมืองโจดก ก็ได้เมืองด้วย ยกเข้าตั้งอยู่ในเมืองโจดกแล้ว จึงให้มาสืบทัพว่าจะยกข้ามแม่น้ำโขงเมื่อใด กองทัพเรือก็จะยกขึ้นไปพร้อมกันเมื่อนั้น
แล้วหลวงวุทธอัคคีจึงแจ้งความว่ากองทัพญวนยกมาทั้งทางบกและทางเรือเป็นอันมาก แต่ยังตั้งเรี่ยรายอยู่ตามทางไกล ยังไม่มาถึงกองทัพไทยเลย กับได้บอกข่าวว่าญวนค่ายเจียนชายจับได้พระรามพินาศ, กับหลวงชาติฤทธิรอนราญ แม่กองเรือตระเวนของทัพเรือไปได้ทั้ง ๒ คนหลายวันแล้ว แต่หลวงชาติฤทธิรอนราญหนีกลับมาได้ เล่าความว่าอ้ายญวนเอาเรือเล็กสิบหกแจว แจวมาไล่ล้อมจับพวกเรือตระเวนไทยไปได้สองลำ แล้วญวนเห็นว่าหลวงชาติฤทธิรอนราญเป็นแขกจามไม่ใช่ไทย ญวนไม่ยึดไว้ สั่งให้ปล่อยเสียแต่แขก ๖ คนกลับมาได้ แต่พระรามพินาศกับไพร่ไทยอ้ายญวนคุมตัวไว้สิ้น เพราะเหตุทั้งนี้หลวงชาติฤทธิรอนราญกลับมาจึงได้เห็นว่าญวนยกมาตั้งค่ายรับอยู่ตามรายทางบกและทางเรือเป็นอันมาก
 ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวญวน และข่าวเจ้าพระยาพระคลังอยู่เมืองโจดกดังพระยาพิทักษ์ภูบาลนายกองตระเวนบอกดังนั้นแล้ว จึงมีความวิตกถึงทัพเรือว่า ยังไม่เคยการรณรงค์สงครามใหญ่โตเลย จะเสียท่วงทีแก่อ้ายญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงรีบยกพลทหารลงไปเมืองโจดก แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงปรึกษาราชการศึกกันกับเจ้าพระยาพระคลังว่าดังนี้.......
 “ผมได้สืบถามเขมรถึงหนทางบกและทางเรือที่จะไปเมืองไซ่ง่อนนั้น พระยาเขมรผู้ใหญ่ได้ทำแผนที่ชี้แจง ทางลำน้ำและทางป่าดงห้วยเขาได้ทราบสิ้นแล้ว ทางลำแม่น้ำใหญ่จะลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้น มีแม่น้ำแยกเป็นสองแควอยู่ เจ้าคุณพระคลังยังไม่รู้จักหนทางนี้ จึงจะได้เล่าชี้แจงให้เจ้าคุณฟัง ว่าลำแม่น้ำโขงที่ไหลมาแต่เมืองลาวสิบสองปันนานั้น ไหลลงมาถึงทะเลสาบเมืองเขมร แล้วไหลผ่านเมืองเขมรมาแยกออกเป็นสองแควที่เมืองบาพะนมเป็นสองแยก เรียกว่าปากน้ำบาพะนม แควข้างซ้ายมือลงไปเมืองสะแดกก่อน แล้วจึงถึงเมืองล่องโห้ ต่อนั้นลงไปอีกถึงตำบลท่าสะตือ เป็นที่ชัยภูมิดีมีตลิ่งเสมอราบคาบ และที่ดินดอนน้ำไม่ท่วมที่นั้นด้วย ญวนจึงตั้งค่ายใหญ่ไม้แก่นเป็นที่มั่นคงไว้เหมือนด่านบก มีทหารอยู่พิทักษ์รักษาเสมอ ๆ และที่ค่ายใหญ่ตำบลท่าสะตือนั้น เป็นทางบกมาได้หลายทิศหลายทาง เป็นทางร่วมกันที่นั้นเป็นท่าเรือ, ท่าเกวียน, ท่าช้าง, โคต่าง มาแต่เมืองต่าง ๆ ที่นั้นมาก ทีนั้นเป็นสำคัญหนักหนา ถ้าเราลงไปถึงท่าสะตือแล้ว จะต้องแต่งกองทัพบกให้ยกขึ้นไปรักษาด่านทางช่องท่าสะตือด้วย ทัพเรือจึงจะเดินลงไปสะดวกได้ หรือบางทีจะได้รบกับอ้ายญวนที่ค่ายไม้แก่นท่าสะตือเป็นสามารถอย่างหนึ่งอย่างไรก็ยังไม่รู้แน่ แต่ลำน้ำทางท่าสะตือต่อไปนั้น เป็นลำแม่น้ำใหญ่กว้างขวาง แต่ฤดูแล้งนี้เรือใหญ่เดินลงไปทางนั้นไม่สู้จะสะดวก เป็นการฝืดเคืองเพราะน้ำตื้น และกระแสน้ำก็เชี่ยว ไหลแรงลงไปออกบรรจบปากน้ำเมืองไซ่ง่อน
 อนึ่ง แม่น้ำที่แยกมาจากปากน้ำเมืองบาพะนมนั้นเป็นสองแคว แควข้างซ้ายเมืองลงไปเมืองสะแดกและเมืองล่องโห้ดังว่ามาแล้ว แต่แควข้างขวามือลงไปนั้น ก็เป็นลำแม่น้ำใหญ่ ไหลมาแต่ทางเหนือแยกที่เมืองบาพะนมลงไปข้างขวามือถึงเมืองโจดกก่อน แล้วไหลเลยลงไปถึงบ้านเล็กเมืองน้อยหลายตำบล แล้วไปแยกออกเป็นสองแคว แยกกันที่ตำบลปากง่าม ชื่องิ้วราย แยกขวามือลงไปออกที่ปากน้ำเมืองป่าสัก เป็นทางลำแม่น้ำใหญ่ไปออกอ่าวทะเลได้ เรียกว่าปากอ่าวป่าสักทางหนึ่ง แต่ทางที่แยกตั้งแต่งิ้วรายต่อลงไปข้างซ้ายมือนั้น ลงไปออกที่ปากน้ำท่าตอในแขวงเมืองสมิถ่อเลยออกทะเลได้ ที่ท่าตอทางนี้เป็นที่ลำแม่น้ำเล็กน้อย ก็ในลำแม่น้ำทางที่ว่ามาทั้งสองแควตอนต้น และสองแควตอนปลายรวมทุกแควนั้น เรือนราษฎรญวนและไพร่พลอยู่ตามฝั่งแม่น้ำนั้นทุกแคว แต่ล้วนจะตั้งต่อสู้รบกับไทยทั้งสิ้น
อนึ่ง แผ่นดินญวนมีแม่น้ำแยกย้ายเป็นหลายแคว กึ่งในระหว่างทางแม่น้ำทุกแควที่แยกย้ายกระหนาบแผ่นดินญวนอยู่นั้น ก็มีลำคลองเล็กน้อยและใหญ่ลัดไปได้ ถึงแม่น้ำที่ย้ายแยกกันนั้นได้ทุก ๆ แคว มีคลองเป็นหลายสิบตำบล จนไม่รู้จักชื่อตำบลคลองทั้งหลายเหล่านั้น แต่คลองทั้งหลายเหล่านั้นเป็นคลองตื้น ๆ ทุกคลอง เรือใหญ่ดังเรือรบของไทยนี้เดินไม่ได้ แต่เรือรบของพวกญวนชอบใช้หลายชนิด เป็นเรือเล็ก ๆ ท้องตื้น แจวมาได้ตามคลองที่ตื้น ๆ ก็ได้ เจ้าคุณอย่าไว้ใจว่าคลองตื้นญวนจะมาไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนั้นก็จะเสียราชการ ญวนมีเรือเล็กเรือใหญ่หลายชนิดมากนัก เพราะว่าบ้านเมืองเขาเอง ไม่เหมือนเรามาทางไกล มีเรือเล็กเอามาไม่ได้ ด้วยเป็นทางทะเลมายาก เพราะฉะนั้นจึงว่าทางเรือเสียเปรียบญวนอยู่หน่อยหนึ่ง ขอให้เจ้าคุณพระคลังต้องระวังทางคลองลัดต่าง ๆ ให้มาก
 อนึ่ง ในระหว่างแม่น้ำทั้งสองแควนั้น มีคลองใหญ่คลองหนึ่งเป็นคลองสำคัญหนักหนา ชื่อว่าคลองวามะนาว โตกว้างเท่าลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ คลองวามะนาวนั้นทั้งกว้างทั้งลึกด้วย เรือใหญ่โตดังเรือรบเราหรือกำปั่นสำเภาก็เดินได้ทั้งฤดูแล้งและฤดูน้ำ ในระหว่างคลองวามะนาวนั้น มีเกาะขึ้นเองในกลางคลองเป็นเกาะใหญ่โตกว่าเกาะใหญ่ราชครามที่ท้ายลานเทกรุงเก่า เป็นเกาะดินสูงเสมอและมีภูเขาอยู่บนเกาะนั้นด้วย ญวนอาศัยภูเขาในเกาะนั้นเป็นป้อม เกาะนั้นญวนเรียกชื่อว่า ”เกาะเจียนซ่าย” (ไทยเรียกชื่อว่าเกาะแตง) แต่ที่เกาะแตงนี้เป็นที่มั่นสำคัญมากของญวน เพราะมีคลองเล็ก ๆ หลายคลองลัดมาแต่แม่น้ำอื่นอีกหลายทาง มารวมกันที่เกาะแตงนี้ เป็นทางร่วมเป็นที่ชัยภูมิดีของญวน และมีทางจะหนีทีจะไล่ เป็นที่แอบซ่อนล่อลวงหลอกหลอนแก่ข้าศึกมากหลายอย่างต่าง ๆ เพราะท่าทางที่เกาะแตงนั้นเป็นที่ดีเอง มีทางซุ่มซ่อนมาก ขอให้เจ้าคุณพระคลังระวังที่เกาะแตงนี้ให้มากอย่าประมาทเลย.........”
 * “ท่านเจ้าคุณสิงห์” เจ้าพระยาบดินเดชา สมกับที่ได้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ในการทำสงครามกับลาว เขมร ญวน เพราะท่านรอบรู้ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ลาว เขมร ญวนเป็นอย่างดี แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำลำคลองในภูมิภาคที่จะเดินทัพไปทำศึกสงครามนั้น ๆ มีอย่างไรบ้าง ท่านได้เรียนรู้อย่างถ่องแท้ ด้วยความเป็นห่วงเจ้าพระยาพระคลังที่จะยกทัพเรือเข้าโจมตีไซ่ง่อน เกรงว่าจะไปอย่างเดาสุ่มจนเสียทีแก่ข้าศึก จึงมารีบเดินทางมาให้คำปรึกษา เพื่อให้ “รู้เรารู้เขาแล้วรบชนะทุกครั้ง” จากการชี้แนะเส้นทางแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อยในเขมรญวนแล้วเห็นว่าท่านรู้จริง โดยคลองวามะนาวซึ่งเป็นหัวใจในการเดินทัพเรือไปรบญวน เป็นเส้นทางที่ญวนได้เปรียบ เฉพาะเกาะเจียนซ่าย หรือ เกาะแตงนั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ท่านเจ้าคุณสิงห์จึงย้ำนักหนาให้เจ้าคุณพระคลังระวัง ท่านยังมีคำแนะนำอีกมาก วันนี้ไม่นำมาลงให้หมด เพราะเห็นว่าความยังยืดยาว ควรพักไว้ให้อ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|