บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๑ -
เชลยญวนวัยฉกรรจ์นั้นปัญหา เจ้าพระยาพระคลังสั่งมิง่าย จึง “เจ้าคุณสิงห์” ไม่นิ่งดาย สั่งให้ตายโดยฆ่าร้อยกว่าคน
ทหารบกลงเรือเพื่อเสริมทัพ เดินทางกับกองเรือไม่ตกหล่น ถึงคลองวามะนาวทางกว้างสายชล เห็นญวนบนฝั่งคลองสองค่ายมี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับรายงานว่า เจ้าพระยาพระคลังนำทัพเรือเข้าตีเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกได้แล้ว ตั้งมั่นรอที่จะยกไปตีไซ่ง่อนพร้อมกันกับกองทัพบก และขณะนี้มีญวนยกมาตั้งค่ายเรี่ยรายอยู่ตามลำน้ำในแดนญวนหลายแห่ง เกิดวิตกว่าทัพเรือที่ยังไม่เคยทำศึกใหญ่จะเสียท่วงทีญวน จึงรีบยกจากเมืองพนมเปญรีบลงไปเมืองโจดก เพื่อปรึกษาวางแผนการศึกกับเจ้าพระยาพระคลัง โดยนำเส้นทางน้ำต่าง ๆ ที่จะเดินทัพซึ่งได้มาจากพระยาเขมรผู้ใหญ่ที่ชำนาญเส้นทางน้ำในญวน มาอธิบายให้เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบ ตั้งแต่ลำน้ำแม่โขงที่ซึ่งแยกเป็นสองแควจากเมืองบาพนมในเขมรลงไป แล้วมีคลองเล็กคลองใหญ่เชื่อมโยงเป็นไยแมงมุม คลองสำคัญที่เป็นเส้นทางสำคัญคือ คลองวามะนาว มีเกาะใหญ่ตั้งอยู่ในคลองนี้ ไทยเรียกว่า “เกาะแตง” เป็นศูนย์รวมยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด ขอให้แม่ทัพเรือระมัดระวังให้มาก วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ด้วยที่เกาะแตงนี้ เคยมีเหตุร้ายแต่ก่อนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ครั้งโน้นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยหริรักษ์ เป็นแม่ทัพมารบกับญวนที่เกาะแตงนี้ก็แตกทัพหนีญวน เสียทีแก่ญวนที่เกาะแตงนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว จนต้องรับพระราชอาชญาจำอยู่ในระหว่างโทษช้านานครั้งโน้นนั้น ที่เกาะแตงนี้เป็นที่ชัยภูมิดีของอ้ายญวน อ้ายญวนเคยได้ชัยชนะที่นี้มาแล้ว ญวนมันจะแต่งกลล่อลวงพวกไทยที่นี่อีก เจ้าคุณต้องระมัดระวังรักษาตัวและรักษาเกียรติยศที่เกาะแตงนี้ไว้ให้ดี จะได้มีชื่อเสียงปรากฏไปช้านาน กับกระผมได้ใช้เขมรไปสืบได้ความมา ต้องกับคำให้การของหลวงชาติฤทธิรอนราญ แขกจามกองตระเวนเรือของเจ้าคุณพระคลัง ที่อ้ายญวนจับไปได้ปล่อยให้กลับมานั้น เขมรแจ้งความว่าที่เกาะแตงนั้น ยังมีค่ายเก่าไม้จริงแต่ครั้งตั้งรับเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยหริรักษ์นั้นอยู่อย่างดีปรกติ อ้ายญวนซ่อมแซมเสมอไว้เป็นค่ายหน้าด่านรักษาทางน้ำลำคลองของอ้ายญวน จึงว่าที่เกาะแตงนี้เป็นที่สำคัญมาก มีค่ายคูพร้อมมูลอยู่แล้ว เจ้าคุณจะยกไปทำกับมันที่นี่นั้น ให้ตรึกตรองให้มากให้ลึกซึ้ง ถึงที่เกาะแตงนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าคุณพระคลังแม่ทัพเรือจำจะต้องไปทางนั้นเป็นแน่ แต่หน้าที่ของผมแม่ทัพบกนั้นจะต้องไปทางบก ยกทัพเดินลัดตัดทางป่าไปข้ามที่ท่าข้ามเมืองบาพะนม แล้วจะได้เดินทางบกไปบรรจบกับทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและกองทัพพวกวังหน้าที่ยกล่วงหน้าไปก่อน พร้อมกันที่ไหนผมก็จะได้ยกเข้าตีทัพญวนกรุงเว้ที่ยกมาล้อมเมืองไซ่ง่อนทีเดียว ที่เกาะแตงนั้นไม่ใช่หน้าที่ของแม่ทัพบกจะได้ไปทางนั้นเลย บัดนี้มาพบเจ้าคุณพระคลังเข้าแล้ว ครั้นผมจะละทิ้งให้เจ้าคุณไปแต่ผู้เดียวก็ไม่ได้ ดูเหมือนไม่รักใคร่ในเจ้าคุณ ด้วยเจ้าคุณพระคลังยังไม่เคยทัพศึกใหญ่โตเหมือนครั้งนี้ ครั้งนี้ผมจำเป็นจะต้องไปทางเรือด้วย จะได้ช่วยเจ้าคุณพระคลังคิดอ่านแก้ไขในทางทัพเรือ แต่ทางทัพบกนั้น ผมจะมีตราบังคับสั่งให้แม่ทัพนายกองทัพบกหลายนายรีบยกไปก่อนก็ได้ เพราะกองทัพบกมีผู้คนมากมายอยู่แล้ว และนายทัพนายกองก็ล้วนแต่แข็งแรงแทบทุกกองก็ว่าได้ คือเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ๑ พระยาราชนิกูล (เสือ) ๑ พระยาสีหราชเดโช (แย้ม) ๑ พระยาพิชัยสงคราม (เพชร) ๑ พระยาวิชิตณรงค์ ๑ พระยาจ่าแสนยากรวังหน้า ๑ พระยานครสวรรค์ ๑ พระยาพิชัย ๑ พระยาพิจิตร ๑ พระยารามกำแหง ๑ พระยาราชสงครามเป็นผู้กำกับทัพฝ่ายเหนือด้วย ทั้งทัพวังหน้าก็มีมาก พระยามณเฑียรบาล ๑ พระยาราชโยธา ๑ พระยาเสนาภูเบศร์ ๑ พระยาสุรินทร์ราชเสนี ๑ พระยาสุเรนทร์ราชเสนา ๑ ที่ออกชื่อมานี้แต่ล้วนเป็นพนักงานมีหน้าที่จำเพาะตำแหน่งทัพทั้งสิ้น ยังพระยา พระ หลวง และพระราชวังบวรฯ ที่เป็นนายทัพนายกองด้านนั้นยังมีอีกมากด้วยกัน กับพระยา พระ หลวง หัวเมืองฝ่ายไทยและเมืองลาวเขมร ที่เกณฑ์มาสมทบเข้าเป็นลูกกองของทัพทั้งปวงนั้นก็มากมายอยู่แล้ว ทัพบกนั้นพอจะไปก่อนได้ เห็นจะไม่เสียราชการได้เป็นแน่”
 ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงเรียนตอบเจ้าพระยาบดินเดชาว่า
“ถ้าใต้เท้าโปรดได้ดังนั้นแล้ว กระผมก็เย็นใจหนักหนา แต่ว่าใต้เท้ากับกระผมจะยกทัพเรือไปด้วยกันจากเมืองโจดกนี้ ที่เมืองโจดกนั้นจะให้แต่พระยาภักดีนุชิตกับผู้ช่วยเมืองจันทบุรี คุมพลทหารพอสมควรอยู่รักษาเมืองโจดกนั้น กระผมมีความวิตกที่ครัวญวนเมืองโจดกจับไว้ได้มาก แต่ชายฉกรรจ์ ๑๘๔ คน ยังครอบครัวชายหญิงลูกวิ่งลูกจูงก็มากกว่า ๓๐๐ เศษ ด้วยจะต้องไปข้างหน้ายังช้านานอย่างไรก็ยังไม่รู้แน่ อ้ายพวกญวนเหล่านี้ก็ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร จะจำตรวนไว้ที่เมืองโจดกนี้ก็ไม่ไว้ใจ เพราะพวกไทยมีน้อยตัว กลัวมันจะทำการกำเริบเป็นจลาจลขึ้นข้างหลังเรา แล้วพวกที่อยู่รักษาเมืองจะระงับก็ยาก ครั้นจะคิดส่งเข้าไปในกรุงเทพฯ เรือใหญ่ที่บรรทุกครอบครัวอ้ายญวนส่งเข้าไปในกรุงเทพฯ นั้นก็ไม่มี มีแต่เรือใหญ่ที่เป็นเรือรบสำหรับจะไปเท่านั้น การที่กระผมเรียนใต้เท้ามาทั้งนี้ จะทำฉันใดดี ขอบารมีใต้เท้าเป็นที่พึ่งด้วยในครั้งนี้”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา เมื่อได้ฟังถ้อยคำเจ้าพระยาพระคลังพูดดังนั้นแล้วก็หัวเราะ จึงตอบว่า
“เมื่อเจ้าคุณมีความวิตกวิจารณ์การเล็กน้อยเท่านี้เป็นไรมี ผมจะรับธุระช่วยเจ้าคุณให้สำเร็จได้ เมื่อเจ้าคุณพระคลังกลัวบาปเกรงกรรมอยู่ก็แล้วไปเถิด ตกพนักงานไว้ธุระผมเอง”
เจ้าพระยาบดินเดชาพูดเท่านั้นแล้ว จึงมีบัญชาสั่งให้คนไปเรียกตัวพระสุรินทรามาตย์มาแล้ว จึงมีบัญชาสั่งว่า อ้ายญวนเชลยที่เป็นผู้ชายฉกรรจ์มีอยู่มากน้อยเท่าไร ให้แจกพวกลาวคุมไปคนต่อคน ให้เอาไปฆ่าเสียให้หมดในวันนี้ แล้วมีบัญชาสั่งพระภักดีนุชิตให้กวาดต้อนครอบครัวญวนที่เป็นผู้หญิง และชายแก่ชรา หรือเด็กทั้งนั้น ให้บรรทุกเรือเล็กใหญ่สำหรับเมือง ให้มีคนไทยคุมไปส่งให้ถึงเมืองบันทายมาศให้สิ้นเชิงแต่ในวันนี้
แต่พระยาสุรินทรามาตย์สั่งลาวให้ฆ่าญวนชายฉกรรจ์ ๑๘๔ คนแล้ว พระภักดีนุชิตก็ส่งครัวญวนเสร็จไปในวันนั้นด้วย เจ้าพระยาบดินเดชาจึงให้พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ถือหนังสือตราบังคับสั่งแม่ทัพบกไปให้พระยานครราชสีมา (ทองอิน) แม่ทัพใหญ่ และพระยาราชนิกูล (เสือ) ข้าหลวงกำกับทัพ ให้คุมทัพในกรุงและหัวเมืองฝ่ายเหนือ และหัวเมืองลาวเขมร และเมือนครราชสีมาด้วยรวมเข้ากันเป็นพล ๒,๗๐๐๐ ให้เดินทัพบกไปทางบกไปข้ามแม่น้ำน้อย ตรงไปช่วยเมืองไซ่ง่อน เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมาได้ทราบหนังสือบังคับสั่งดังนั้นแล้ว จึงให้ยกกองทัพข้ามที่ท่าข้ามเมืองบาพะนม เดินตรงไปหมายจะข้ามแม่น้ำน้อยใกล้เขตแดนเมืองไซ่ง่อน
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเก็บได้เรือเชลยเมืองเขมรมามาก จึงบรรทุกกองทัพยกลงเรือ เดินทัพเรือไปด้วยกันกับเจ้าพระยาพระคลัง รวมเป็นทัพเรือไปทางเดียวกัน สั่งให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิมโจโฉ) เสนาบดีกรมเกษตรา เป็นแม่ทัพหน้า คุมทัพเรือกองหน้าล่องลงไปก่อน ทัพเรือกองหน้าไปตามลำแม่น้ำเมืองโจดก แล้วเลี้ยวล่องลงทางคลองวามะนาว กองทัพเรือไทยยกลงไปถึงที่ปากคลองวามะนาว พบกองทัพญวนมาตั้งค่ายรับอยู่ที่ปากคลองวามะนาว ข้างใต้ค่ายหนึ่ง องทำตานเป็นแม่ทัพใหญ่ในที่นั้น และข้างปากคลองด้านเหนือมีค่ายลูกหนึ่ง องจันเปียเป็นแม่ทัพในที่นั้น....”
 * ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เหมาะที่จะเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋นมากกว่าฝ่ายบู๊ เพราะใจท่านไม่เหี้ยมโหดพอที่จะฆ่าฟันข้าศึกศัตรู ครั้นเจอปัญหาการควบคุมเชลยก็ไม่กล้าฆ่าตี ละล้าละลังอยู่ จนเจ้าพระยาบดินทรเดชาขุนนางฝ่ายบู๊ต้องจัดการให้เรียบร้อยโดยพลัน กองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยานครราชสีมา ยกเข้าใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว ส่วนหนึ่งของกองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ก็แปลงเป็นกองทัพเรือเข้าร่วมกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง ยกเข้าไปถึงจุดยุทธศาสตร์คือคลองวามะนาว พบค่ายญวนตั้งรอรับอยู่แล้ว พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อว่าไทยกับญวนจะรบกันอย่างไรนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ข้าวหอม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๒ -
แม่ทัพใหญ่สั่งขนพลขึ้นบก เป็นการยกกำลังอย่างเร็วรี่ ญวนไม่อาจทนทานต้านต่อตี จึงแตกหนีถูกฆ่าตายเป็นก่ายกอง
แม่ทัพหนีซ่อนกายค่ายสะแดก จะตีแตกยากเย็นไม่เป็นสอง เจ้าคุณแม่ทัพไทยร่วมไตร่ตรอง คิดหาช่องทางตีที่ดีงาม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้ฆ่าเชลยญวนชาวเมืองโจดกที่เป็นชายฉกรรจ์เสียร้อยคนเศษ ที่เหลือเป็นชายชราและผู้หญิงกับเด็ก ๆ นั้น ให้ต้อนลงเรืออพยพไปไว้เมืองบันทายมาศ แล้วมอบหมายให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพบกยกไปตีญวนชาวเว้ที่มาล้อมเมืองไซ่ง่อน ส่วนตัวท่านคุมพลทัพบกอีกส่วนหนึ่งลงเรือ ยกร่วมทางไปกับกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังถึงปากคลองวามะนาว เห็นค่ายญวนตั้งอยู่สองค่าย วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ
 “เมื่อ ณ วันเดือนสามขึ้นสิบสองค่ำ เจ้าพระยาพลเทพแม่ทัพกองหน้าสั่งให้พระยาพิพิธโกษาคุมเรือป้อมกองหน้า แจวไปพลางยิงไปพลาง จนถึงหน้าค่ายญวน ญวนก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกับเรือป้อมเป็นสามารถ เจ้าพระยาพลเทพจึงต้อนไล่เรือรบมีชื่อลงไปช่วยระดมตีค่ายญวน ญวนกับไทยได้สูรบกันอยู่เต็มทั้งวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ยังไม่แพ้ชนะแก่กัน พอกองทัพไทยเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังยกลงไปทันท่วงทีในขณะนั้น ก็ได้ช่วยกันระดมยิงค่ายญวน ญวนก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบออกมาจากค่ายเป็นสามารถ
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าญวนมัวยิงโต้ตอบอยู่หน้าค่ายกับทัพเรือไทยไม่หยุดหย่อน จึงสั่งพระยาภักดีภูบาลให้คุมกองทัพบก ซึ่งมาเรือเล็กมาแต่เมืองเขมรนั้น ให้ยกพลทหาร ๑,๐๐๐ เศษขึ้นบนฝั่งตลิ่ง ตัดไม้ไผ่ตั้งค่ายบนบกและมีค่ายแตะตั้งประชิดติดเนื่องกันเป็นวงพาดทั้งสองฟากคลองวามะนาว ให้พระยาภักดีภูบาลเป็นนายกองค่ายฝั่งใต้ ให้พระยาสุนทรสงครามเป็นนายค่ายฝ่ายเหนือ มีพลทหารกองละ ๕๐๐ คน ตั้งค่ายประชิดรุกเข้าไปใกล้ทัพญวนทุกที รบกันแล้วให้กองพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลนำเรือเล็ก ๆ ลากขึ้นบนบก หามไปข้างหน้าเป็นที่บังลูกปืนญวนได้บ้างเหมือนค่ายสีชุก กองหลังก็ตั้งค่ายประชิดใกล้ค่ายญวนได้ถนัด นำปืนหามแล่นและขานกยางยิงไปดังห่าฝน ญวนทนไม่ได้ก็ทิ้งค่ายแตกถอยหนีไปทางบกบ้าง ไทยไล่ตามฆ่าฟันตายเป็นกอง ๆ เกลื่อนตามทางทุ่งนั้นเต็มไปด้วยศพญวน บางพวกก็หนีลงเรือหน้าค่ายแจวหนีไป ฝ่ายทัพเรือไทยได้ทีพาเรือแจวเข้าไป ติดตามรุกไล่ ยิงแทงฟันญวน ล้มตายในน้ำและบนเรือเป็นอันมาก ที่จับเรือได้มาทั้งคนญวนเป็น ๆ ก็มาก กองหลวงชาติฤทธิรอนราญแขกจามจับได้เรือญวนสองลำ ลำหนึ่งมีดินดำบรรทุกมาไว้สำหรับใช้สอย ๑๖ ถัง ลำหนึ่งบรรทุกกระสุนปืนเล็กใหญ่หลายพันกระสุน เก็บได้มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้รางวัลเป็นเงินตรา ๕ ชั่ง แล้วตั้งให้เป็นพระพหลหาญศึก แล้วให้คุมเรือรบยกลงไปรักษาค่ายญวนที่ไทยตีได้ไว้ อย่าให้รื้อ
 ครั้นเวลาบ่ายสี่โมง หลวงสุริยามาตย์ไปลาดตระเวนกลับมาแจ้งความว่า ได้เห็นญวนยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมมาอีกหลายทัพ แจวมาตามลำคลองวามะนาว เห็นธงสีต่าง ๆ ยกมาทางท่าข้ามต้นไทร ได้ยินเสียงกลองทัพตีเร่งรัวอยู่เสมอมิได้หยุดเลย คะเนคาดการดูเห็นว่า ญวนจะรีบเร่งเดินกองทัพมาโดยเร็ว
 เมื่อเจ้าพระยาบดินเดชาได้ทราบกิจการข่าวศึกยกมาเพิ่มเติมดังนั้นแล้ว จึงปรึกษาด้วยเจ้าพระยาพระคลังว่า ญวนยกมาอีกดังนี้ เห็นเราจะรักษาค่ายของญวนไว้ไม่ได้ ควรจะเผาเสียดีกว่ารักษาไว้ เจ้าพระยาพระคลังก็เห็นชอบด้วยแล้ว จึงให้หลวงธรเนนทร์ลงเรือเล็กข้ามฟากไปบอกแก่พระพลหาญศึกผู้อยู่รักษาค่ายญวนนั้น ให้ขุดดินในค่ายและนอกค่าย ตรวจดูว่าญวนจะฝังดินปืนและเครื่องศาสตราวุธไว้บ้างหรือไม่ ถ้าไม่ได้ฝังแล้วก็ให้เผาค่ายเสียทุกค่าย ยกพลลงเรือรบรักษาอยู่ที่ท่าค่ายนั้นก่อน ครั้งนั้นพระพลหาญศึกกับหลวงธรเนนทร์สั่งให้ไพร่พลขุดมูลดินในพื้นค่ายและนอกค่าย ได้ปืนใหญ่รวม ๒๖ กระบอก กระสุนดินดำไม่ได้ ขนปืนใหญ่ลงเรือแล้วก็เผาค่ายอ้ายญวนเสียสิ้นทุกค่าย
 ฝ่ายแม่ทัพญวนชื่อองทำตานและองจันเบีย เสียค่ายแก่ไทยทั้งสองค่ายแล้ว ก็พารี้พลยกล่าถอยหนีไปตั้งค่ายรับกองทัพไทยอยู่ที่ปากคลองวามะนาวข้างเหนือ ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกจะลงไปทางเมืองสะแดก ที่ตรงนี้มีค่ายไม้จริง เป็นค่ายเก่าของญวน ตั้งมาช้านานกว่า ๒๘ ปีแล้ว เดิมญวนตั้งไว้รับกองทัพสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ครั้งแผ่นดินต้นแต่ก่อนนั้นแล้ว และญวนซ่อมแซมอยู่เสมอไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม เพื่อจะตั้งไว้เป็นค่ายด่านทางรักษาเขตแดนนี้ของญวนต่อ ๆ มาถึงทุกวันนี้ การครั้งนี้ที่องทำตานและองจันเบียแม่ทัพญวนแตกล่าถอยหนีไปเข้าค่ายเก่าที่ตำบลสามแยกคลองวามะนาวสะแดก ญวนจึงได้อาศัยค่ายเก่านั้นตั้งมั่นสู้รบเต็มกำลังทันท่วงทีที่หนีไป ได้ที่มั่นสำคัญดังนี้ แล้วญวนจึงมีกำลังกล้าขึ้น
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา ปรึกษาเจ้าพระยาพระคลังว่า
“อ้ายญวนค่ายปากคลองวามะนาวก็แตกหนีล่าถอยไปหมดแล้ว บัดนี้เจ้าคุณพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ เป็นหน้าที่ของเจ้าคุณ เจ้าคุณจะคิดเป็นประการใด?”
เจ้าพระยาพระคลังตอบว่า “ควรจะยกทัพเรือลงไปตามตีค่ายญวนที่ปากคลองสะแดกให้แตกเสียโดยเร็ว จะได้ยกไปเมืองไซ่ง่อนโดยง่าย”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่า
“ซึ่งเจ้าคุณพระคลังคิดดังนั้นก็ถูกต้องตามทำนองศึกสงครามอยู่แล้ว เพราะญวนหนีไป ฝ่ายไทยก็จะไล่รบต่อไป นั้นถูกต้องตามพิชัยสงครามแล้ว แต่ความคิดของผมนั้นเห็นว่า ถ้ารีบยกทัพเรือลงไปตามตีญวน ญวนก็คงจะต่อสู้แข็งแรง เพราะที่นั้นเป็นค่ายเก่าทำด้วยไม้จริงเสาโต ๆ ถึงมาทว่าญวนจะแพ้จริง ๆ ก็คงจะช้าหลายวันอยู่ ญวนเห็นว่าทัพเรือไทยยกลงไประดมตีค่ายญวนที่ปากคลองสะแดกนั้นพร้อมกันแล้ว ญวนก็จะยกทัพเรืออ้อมมาทางคลององเจืองได้ แล้วญวนก็จะนำทัพเรือตีโอบหลังตัดท้ายพลกองทัพเรือเรา กองทัพเรือเราก็จะถูกเป็นศึกขนาบอยู่ท่ามกลางระหว่างสงคราม เหมือนหมากรุกต้องรุกฆาด เสียเม็ด ม้า เรือ โคน แลเบี้ยด้วย และขุนจะต้องถูกรุกจนมุมกระดาน ถ้าเป็นอย่างนี้จะว่ากระไร? จะมิมีภัยมาถึงเราทั้งหมดดอกกระมัง
อีกประการหนึ่งเล่า ทางที่เราจะยกลงไปตีค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดกนั้น ในกึ่งทางมีเกาะใหญ่ ๆ อยู่หลายเกาะ ดังเช่นเกาะเกิด, เกาะพระ, เกาะบางอออิน, เกาะเรียน ซึ่งทางจะไปกรุงเก่านั้นคล้าย ๆ กันกับทางจะไปทางปากคลองสะแดกเหมือนกันก็ตาม เกาะทั้งหลายในแม่น้ำลำคลองที่เราจะไปนั้น มีที่สำคัญของญวนจะตั้งตีสกัดหน้าก็มาก หรือมันจะตั้งตีตัดท้ายพลเราก็มากมายหลายตำบล ขอให้เจ้าคุณคิดตรึกตรองให้ละเอียด จงระวังทั้งข้างหน้าและข้างหลัง และตามทางที่จะไปให้รอบคอบทุกทิศทุกทาง ถ้าเห็นรู้ว่าที่ใดมีช่องเป็นทางจะเป็นภัยแก่เราแล้วนั้น ก็ควรจะคิดปิดทางนั้นหรือจะป้องกันทางนั้นเสียก่อน จึงจะไปรบกับพวกญวนได้”
 ครั้งนั้น เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบเห็นควรตามความคิดท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาทุกประการ จึงได้เขียนหนังสือเป็นข้อความปฏิญาณตนว่า
“กระผมยอมนับถือเจ้าคุณแม่ทัพสามประการ คือนับถือเป็นผู้มีอายุมาก ๑ นับถือเป็นผู้มีชาติตระกูลสูงศักดิ์ ๑ นับถือเป็นผู้มีสติปัญญากล้าหาญรอบรู้ในการศึกสงคราม หาผู้ใดจะเสมอเหมือนไม่ได้ ๑ สาเหตุสามประการนี้จึงยอมฝากตนและฝากอำนาจในราชการศึกแก่เจ้าคุณแม่ทัพบกครั้งนี้ ให้เจ้าคุณแม่ทัพบกช่วยคิดอ่าน และจัดการให้เป็นเกียรติยศภายหน้าด้วย แล้วมอบอาญาสิทธิ์ให้ช่วยจัดการทัพเรือ โดยหาความรังเกียจมิได้” ประทับตราในหนังสือปฏิญาณแล้ว นำมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มีความรักนับถือเจ้าพระยาพระคลังตั้งแต่นั้นต่อมา.........”
 * ศึกยกแรก ญวนแพ้ยับเยินด้วยฝีมือทัพบกที่ไปในกองทัพเรือ แม่ทัพญวนหนีไปตั้งหลักอยู่ในค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดก ความเห็นของเจ้าคุณพระคลังแม่ทัพเรือว่า ควรจะยกทัพเรือตามไปตีค่ายนี้ให้แตกโดยเร็ว แต่เจ้าคุณแม่ทัพบกติงว่า หากผลีผลามตามไปก็อาจจะถูกญวนยกทัพที่ซ่อนไว้มาอ้อมตีตลบหลังเป็นศึกขนาบได้ ทางที่จะไปตีค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดกนั้น มีเกาะน้อยใหญ่อยู่ในคลองวามะนาวหลายเกาะ ล้วนแต่เป็นที่ซุ่มซ่อนกองกำลังโจมตีเราได้ทั้งนั้น ต้องวางแผนให้รอบคอบรัดกุมในการเดินทัพไป เจ้าคุณพระคลังได้ฟังคำท้วงติง อธิบายดังกล่าวแล้วเห็นด้วยทุกประการ จึงได้ทำหนังสือปฏิญาณตน แสดงความนับถือและมอบอำนาจให้บังคับบัญชากองทัพเรือด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันพรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๓ -
กองโจรญวนซุ่มกายตีท้ายทัพ ไทยโต้กลับถูกฆ่าสมซุ่มซ่าม เป็นบทเรียนให้รู้การวู่วาม เป็นไปตามท่านแม่ทัพกำชับมา
นายกองไทยใจขลาดหวั่นหวาดไหว ทอดทิ้งไพร่พลอยู่รบสู้หน้า ซึ่งเจ้าคุณแม่ทัพเห็นกับตา สอบแล้วฆ่าทันใดไม่ปรานี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ เจ้าพระยาบดินเดชาสั่งให้ทหารบกที่ยกร่วมไปในกองทัพเรือ ยกพลขึ้นบกบุกเข้าโจมตีค่ายญวนจนแตกสิ้น แม่ทัพญวนหนีไปตั้งหลักอยู่ในค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดก เจ้าคุณพระคลังแม่ทัพเรือเห็นว่าควรจะยกทัพเรือตามไปตีค่ายนี้ให้แตกโดยเร็ว แต่เจ้าคุณแม่ทัพบกติงว่า หากผลีผลามตามไป ก็อาจจะถูกญวนยกทัพที่ซ่อนไว้มาอ้อมตีตลบหลังเป็นศึกขนาบได้ ทางที่จะไปตีค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดกนั้น มีเกาะน้อยใหญ่อยู่ในคลองวามะนาวหลายเกาะ ล้วนแต่เป็นที่ซุ่มซ่อนกองกำลังโจมตีเราได้ทั้งนั้น ต้องวางแผนให้รอบคอบรัดกุมในการเดินทัพไป เจ้าคุณพระคลังได้ฟังคำท้วงติง อธิบายดังกล่าวแล้วเห็นด้วยทุกประการ จึงได้ทำหนังสือปฏิญาณตน แสดงความนับถือและมอบอำนาจให้บังคับบัญชากองทัพเรือด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 “ครั้งนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดให้พระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา ปลัดจางวางแขกจามวังหน้า คุมพลแขกจาม ๓๐๐ ลงเรือรบมีชื่อ แล้วจัดให้พระยาวิเศษสงครามรามภักดีฝรั่งเศส คุมพลทหารฝรั่งเข้ารีต ๕๐๐ ลงเรือรบมีชื่อ ทั้งสองกองเป็นคน ๘๐๐ ยกไปตัดไม้ทำเขื่อนทำนบปิดปากคลององเจืองไว้ มิให้ญวนนำเรือรบเล็ก ๆ ลัดตัดมาในคลององเจืองออกแม่น้ำใหญ่มาตีตัดหลังท้ายพลกองทัพเรือไทยไม่ได้ แล้วพระยาวิเศษสงครามนำเรือรบไทยตั้งรักษาปากคลององเจืองไว้ให้มั่นคง อย่าให้ญวนรื้อถอนทำนบที่ปิดไว้นั้นได้เลยเป็นอันขาด
ครั้งนั้น ให้บาทหลวงฝรั่งเศสขื่อเปโรที่ไปในกองทัพพระยาวิเศษสงครามนั้น ให้บาทหลวงเปโรไปเกลี้ยกล่อมพวกญวนเข้ารีดฝรั่งเศส ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในแนวคลององเจืองนั้น พวกญวนเข้ารีดยอมสมัครเข้าในการเกลี้ยกล่อมมากับบาทหลวงเปโรด้วยประมาณ ๓๐๐ เศษ แต่ที่ชายฉกรรจ์และครอบครัวต่างหากมากประมาณ ๔๐๐ เศษ บาทหลวงเปโรและพระยาวิเศษสงครามตั้งการเกลี้ยกล่อม และรักษาปากคลองอยู่ที่นั้นช้านาน
แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญผู้ว่าราชการเมืองปทุมธานี คุมกองทัพรามัญ ๔๐๐ ลงเรือรบมีชื่อยกล่วงหน้าไปก่อน ถ้าเห็นอ้ายญวนตั้งรับอยู่ที่ตามเกาะกลางน้ำเหล่านั้น ควรจะตีให้แตกได้ก็ให้ตีเสียโดยเร็ว ถ้าเห็นอ้ายญวนมีกำลังมากแล้ว ควรจะต่อสู่อยู่กว่ากองทัพเรือฝ่ายหน้าเจ้าพระยาพลเทพจะลงไปถึง ก็จะได้ช่วยกันระดมตีต่อไป ถ้าเห็นว่าอ้ายญวนไม่ได้มาตั้งตามเกาะเหล่านั้น ก็ให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญนำเรือรามัญยกเข้าไป นำไฟจุดเผาบ้านเรือนเล็กน้อยตามเกาะเสียให้หมด อย่าให้เป็นที่กำบังซุ่มซ่อนของกองทัพญวนได้ แล้วให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญยกทัพเรือเข้าไปปิดทางคลองลัดตรงเกาะใหญ่ไว้ อย่าให้ญวนยกลัดมาออกแม่น้ำใหญ่ได้
สั่งให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์ คุมเรือกองรามัญ ๓๐๐ ยกไปเข้าสมทบในกองพระยาพิทักษ์ทวยหาญด้วย จะได้ช่วยกันทำการแบ่งหน้าที่ตัดต้นไม้บ้าง ปิดคลองเล็กน้อยบ้าง
 ครั้งนั้นพระยาพิทักษ์ทวยหาญและพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ สองกองคุมพลรามัญ ๗๐๐ ยกลงไปตามลำน้ำใหญ่ ถึงเกาะไหนได้ทำตามคำสั่งทุกเกาะ ๆ มิได้เห็นญวนมาตั้งค่ายรับอยู่ตามเกาะต่าง ๆ พอถึงเกาะใหญ่มีคลองเล็ก ๆ ผ่านมากลางเกาะ ๆ นั้นเนื่องอยู่ใกล้ฝั่งตะวันตก คลองนั้นคดโค้งไปมา วกเวียนหลายเลี้ยวจึงจะออกแม่น้ำใหญ่ ทัพเรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญตัดต้นไม้บนเกาะแล้วก็ยกเลยไป ขณะนั้นญวนนำเรือเล็ก ๆ ต่างเรือชะล่าหลายสิบลำ เป็นเรือมาดยาวมาก จุคนได้ ๕๐ บ้าง ๗๐ บ้าง มีเครื่องศาสตราวุธพร้อมมาซุ่มอยู่ในคลองเล็กที่ฝั่งเกาะนาก แต่พอทัพเรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญเดินไปพ้นเกาะนั้นแล้ว พวกญวนเรือเล็กก็ออกมายิงบ้าง ไล่พุ่งหลาวแหลนบ้าง ตามตีท้ายพลกองทัพเรือที่ประมาทไม่ได้บรรจุปืนไว้พร้อม จึงถูกกระสุนปืนญวนตกลงน้ำตายบ้าง ตายอยู่บนเรือบ้างมากกว่า ๓๐ คน พระยาพิทัพทวยหาญตกใจ สำคัญว่าทัพเรือญวนยกมาด้วยเรือใหญ่ สั่งให้สมิงพิทักษ์โยธาลงเรือเล็กไปบอกกองสมิงปราบอังวะ พระชนะพุกามกองรามัญฝ่ายพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นกองหน้า ให้หยุดเรือเข้าจอดที่ฝั่งตั้งต่อสู้กับญวน เพราะขณะนั้นเป็นเวลาจวนจะพลบค่ำ เห็นเรือญวนไม่ถนัดว่าเรือใหญ่หรือเล็ก ญวนเห็นเรือพวกกองรามัญแจวรีบเข้าฝั่งทุกลำ ญวนสำคัญว่าพวกรามัญหนี ญวนได้ทีก็แจวพายไล่ติดตามเข้าไปใกล้ฝั่งด้วย
 ขณะนั้นกองรามัญเห็นเรือญวนถนัดว่าเป็นเรืองเล็กดังเรือชะล่าดังนั้นแล้ว รามัญก็กลับหน้าเรือรบใหญ่มาต่อสู้โดยเต็มกำลัง บ้างนำปืนหน้าเรือยิงออกไป กระสุนไปถูกญวนล้มตายมาก เรือญวนก็หนีเข้าในคลองเล็กในเกาะเสียสิ้น ขณะนั้นพอกองทัพเรือพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ ยกสวนขึ้นมาทันที่เกาะนาก ก็ช่วยกันปิดปากคลองเสียทั้งสองด้าน เรือญวนเล็ก ๆ นั้นติดอยู่ในลำคลองในเกาะนากทั้งสิ้น จะออกไปมิได้ทั้งสองทาง พวกรามัญยกขึ้นบนเกาะเป็นที่แจ้งเตียนแล้ว เพราะได้ตัดต้นไม้เสียหมด เห็นตัวอ้ายญวนซุ่มแอบอยู่ที่ใดเห็นถนัดทุกแห่งทุกหน กองรามัญก็ไล่ยิงแทงฟันพวกญวนตายครั้งนั้น ๑๐๐ เศษ ที่จับเป็นได้ก็มากส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ทั้งเรือเล็ก ๆ ๔๖ ลำ คนด้วย ๑๕๖ คน เพราะฉะนั้นจึงได้เรือเพิ่มเติมใช้สอยราชการทางน้ำคล่องแคล่วมาก
เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามญวนได้เนื้อความแล้ว สั่งให้หลวงคะเชนทรามาตย์นำญวน ๕๖ คนที่กองรามัญจับส่งมานั้นไปฆ่า ๕๖ คน เหลือไว้ ๑๐๐ คน แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั้งให้นำตัวพระปลัด กับหลวงยกกระบัตรเมืองสระบุรี สองนาย กับหัวหมื่นในกรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑ นาย ซึ่งเป็นเชื้อสายญาติของเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วยคนหนึ่ง รวมเป็น ๓ คน แล้วถามว่า
 “เมื่อกำลังรบกับญวนที่ค่ายปากคลองวามะนาวนั้น หัวหมื่นตำรวจนั้นลงเรือช่วงไปแอบเอาหางเสืออยู่ท้ายเรือรบใหญ่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านเห็นดังนั้นแล้วจริงหรือไม่จริง?” หัวหมื่นตำรวจผู้นั้นรับว่า “จริง” จึงมีบัญชาสั่งให้พาตัวไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้
แล้วถามว่า “พระปลัดหลวงยกกบัตรเมืองสระบุรีนั้น ให้เป็นนายทัพนายกองขึ้นไปตั้งค่ายประชิดล้อมญวน ญวนยิงปืนออกมามากก็ทิ้งค่ายให้แต่บ่าวไพร่อยู่รักษาค่าย ตัวนายทั้งสองนั้นหนีออกนอกค่ายไปแอบเสาหลังค่ายทำไม? ไม่ใช่การของนายทัพจะออกจากค่ายได้เลย จริงหรือไม่จริง? ให้ว่ามา”
พระปลัดยกกบัตรรับสารภาพว่า “ผิดจริง เพราะไปแอบบังกระสุนปืนญวน แต่ขอรับพระราชทานโทษเสียสักครั้งหนึ่ง จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัวต่อไปภายหน้า”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตอบว่า “เจ้าทั้งสองจะอยู่ทำราชการแก้ตัว หรือจะอยู่ทำราชการให้เป็นตัวอย่างความขลาดต่อไปกับนายทัพนายกองหาควรไม่ อย่าอยู่เลย หนักแผ่นดิน”
 พูดเท่านั้นแล้วก็สั่งให้พระรามพิไชยพาตัวพระปลัดกับหลวงยกกบัตรไปฆ่าเสียเดี๋ยวนั้น แล้วเรียกรัดปะคตหนามขนุนอย่างดีสองสาย มีแหวนนพเก้าวงใหญ่สวมสอดรัดประคตสายละวง มอบส่งให้สมิงพิทักษ์ราชา กับ หลวงนราฤทธิวารี ซึ่งคุมพวกญวนกับเรือเล็กของญวนมาส่งนั้น ให้กลับนำรัดประคตนี้ไปให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญ ๑ สาย ให้พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ ๑ สาย แล้วสั่งให้พระยารามัญทั้งสองยกไปตั้งปิดช่องทางที่ญวนจะลัดมาได้ ให้ปิดให้หยุด ถ้าไม่หยุดให้รีบบอกมาจะได้จัดให้กองอาสาจามวังหน้ายกไปช่วยอีก
ครั้งนั้นกรมแขกอาสาจามในพระราชวังบวรฯ สมทบมาเข้าในกองทัพเจ้าพระยาพระคลังทั้งสิ้น เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้หลวงฤทธิรณแรง หลวงกำแหงรณยุทธ ในกรมอาสาจามที่ทรงตั้งขึ้นใหม่ในแผ่นดินนั้น ให้เป็นแม่ทัพเรือคุมพลอาสาจามกองละ ๑๕๐ คน ยกไปปิดคลองจอแค ที่ปลายคลองจอแค มาออกใต้ปากคลองสะแดก เป็นทางลัดอีกแห่งหนึ่ง แต่ที่นั้นเป็นคลองเล็กที่สุด.......”
 * ฉายา “เจ้าคุณเสือ” ของท่านเจ้าพระยาบดินเดชาได้มาอย่างนี้เอง ในการรบลาวเวียงจันทน์ท่านยังฆ่าคนไม่มากจนน่ากลัวนัก ครั้นมารบญวนนี่ ท่านเริ่มสั่งฆ่าเชลยญวนเมืองโจดกเป็นประเดิมไปร้อยกว่าคน เมื่อเดินทัพมาถึงคลองวามะนาวก็สั่งฆ่าญวนแล้วยังไม่พอ ท่านสั่งฆ่าทหารไทยที่ทำผิดวินัยทัพระดับนายกองไปสองคน และที่สำคัญคือ สั่งฆ่าหัวหมื่นที่เป็นญาติของท่านเองไปอีก ๑ คน แสดงความเด็ดขาดเข้มแข็งให้ปรากฏเป็นที่คร้ามเกรงไปทั่ว ตอนนี้กองทัพเรือไทยในการบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา กำลังดำเนินการปิด อุด เส้นทางเดินเรือรบของญวนในคลองวามะนาว ทหารเรือไทยได้บทเรียนจากการถูกเรือเล็กญวนตีท้ายขบวนที่เกาะนาก จึงเดินทางด้วยความระมัดระวังรัดกุมมากยิ่งขึ้น พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, หนูหนุงหนิง, เฒ่าธุลี, ข้าวหอม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๔ -
จับเชลยญวนได้ไต่สวนสิ้น จึงได้ยินข่าวญวนอย่างถ้วนถี่ ยกทัพใหญ่เพิ่มมาเข้าราวี คิดวิธีรับรุกทุกกระบวน
ฝ่ายญวนปล่อยแพไฟหมายเผาทัพ ผิดตำรับการรบไม่ครบถ้วน ไทยแคล้วคลาดโปร่งปลอดรอดมือญวน วางแผนสวนเผด็จศึกไว้ลึกซึ้ง |
อภิปราย ขยายความ .......................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ ญวนจัดกองกำลังเป็นเรือเล็กซุ่มซ่อนคอยโจมตีกองทัพเรือไทยไว้ในคลองเล็กบริเวณเกาะนาก แล้วโจมตีท้ายกระบวนทัพไทยตายไป ๓๐ กว่าคน เมื่อไทยตั้งหลักได้ก็ปิดล้อมคลองเข่นฆ่าและจับเป็นญวนได้ทั้งหมด นำเรือเล็กและเชลยมอบให้แม่ทัพใหญ่ ท่านแม่ทัพสั่งฆ่าญวนเลยเสียส่วนหนึ่งแล้ว สั่งให้ปิด อุด เส้นทางเดินเรือรบของญวนในคลองวามะนาว ทหารเรือไทยได้บทเรียนจากการถูกเรือเล็กญวนตีท้ายขบวนที่เกาะนาก จึงเดินทางด้วยความระมัดระวังรัดกุมมากยิ่งขึ้น วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดกองทัพเรือให้ไปจุกช่องปิดทางแล้ว ก็จัดกองทัพที่จะลงไปตีค่ายญวนที่ตั้งปากคลองวามะนาวที่แยกไปเมืองสะแดกนั้น ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้ายกลงไปก่อน แล้วให้พระยาเดโชท้ายน้ำยกลงไปเป็นลำดับ และพระยานายทัพนายกองทั้งหลายแต่ล้วนทัพเรือทั้งสิ้น ก็ยกลงไปเป็นพวก ๆ เป็นกอง ๆ พระยาเดโชท้ายน้ำยกลงไปถึงที่ตำบลวัวท่าข้าม ใกล้กันกับค่ายญวนที่ปากคลองวามะนาวและสะแดก พบเรือญวนเล็กแจว ๘ คน มีนายนั่งมา ๒ คน พบกันที่หัวแหลม แต่พอเรือรบไทยเลี้ยวแหลมก็พอถึงเรือแปดแจวญวน ญวนจะหนีก็ไม่ทัน จะสู้ก็ไม่ได้ ด้วยเป็นเรือเล็ก คนก็น้อย ญวนจึงแวะเข้าตลิ่งจะทิ้งเรือเสียจะหนีขึ้นบก แต่เมื่อจะแวะเข้าตลิ่งนั้น อ้ายพวกข้างศีรษะเรือ ๔ คนโดดขึ้นไปก่อนเต็มแรงก็ถีบเรือออกมาถึงสายน้ำ สายน้ำก็ไหลพัดพาเรือและคนในเรือบ่าวสี่นายสองมาด้วย อ้ายญวน ๖ คนก็ช่วยกันแจวจะเข้าฝั่งอีก พอเรือพระยาเดโชท้ายน้ำมาทัน ก็แจวเข้าจับอ้ายญวนไพร่สี่นายสองคน จำตรวนส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาให้ล่ามพนักงานไต่ถามและตัดไม้เฆี่ยน ถามได้ความว่า
 “เจ้าเวียดนามใช้ให้องเตียนกุนขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงเว้เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ ยกมาตีเมืองไซ่ง่อนเป็นกบฏนั้น ยังกำลังล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่ ครั้นรู้ว่ากองทัพไทยยกมาแล้ว องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่จึงให้องทำตาน ๑ องจันเบีย ๑ เป็นแม่ทัพ แบ่งไพร่พลในกองทัพใหญ่ออกมา ๓,๐๐๐ คน ให้ยกมาปะทะทัพไทยไว้ก่อน แล้วองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่มีหนังสือไปเกณฑ์ไพร่พลตามหัวเมืองใหญ่น้อยอีก จะเกณฑ์ไพร่พลให้ได้ถึง ๑๐,๐๐๐ เศษแล้วเมื่อใด จึงจะให้องกวางดกกับองพอโดยเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกลงมาเพิ่มเติมรับกองทัพไทยอีก เดี๋ยวนี้กองทัพใหญ่ ๑๐,๐๐๐ เศษได้ยกมาแล้วตามทาง ยังเดินทัพมาไม่ถึง และบัดนี้ องเตียนกุนแบ่งกองทัพเรือ ๔๐๐ ลำ ให้องลำบินเป็นแม่ทัพเรือยกมาตั้งอยู่ช้านานแล้ว แต่จะมีไพร่พลมากน้อยเท่าไรหาทราบไม่ แล้วญวนบอกว่าทัพช้างกรุงเว้ก็จะยกเพิ่มเติมมาอีก มีผู้คนราว ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ม้าสัก ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ จะมาในเดือนสี่หรือเตือนห้าเต็ม ช้าก็เดือนห้า ข้างแรมคงถึงเป็นแน่ แต่ทัพเหล่านั้นจะมาตีทัพไทยหรือจะไปตีญวนกบฏไซ่ง่อนก็ยังไม่ทราบแน่ได้”
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบกิจการข่าวศึกดังนั้น จึงปรึกษาเจ้าพระยาพระคลังว่า
“อ้ายญวนให้การนี้จริงบ้างเท็จบ้างระคนปนกัน เพราะมันยกพวกมันขู่พวกเราบ้าง ถึงเช่นนั้นก็ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จะมีมากน้อยหนักและเบาอย่างไร ข้างหน้าก็ยังไม่รู้แน่ลงได้ จำจะต้องตระเตรียมการไว้ให้พร้อมทั้งทางบกและทางเรือ จึงจะชอบด้วยราชการ”
 คิดแล้วสั่งให้หลวงเทเพนทรขึ้นจากเรือที่ปากคลองวามะนาวนอก แล้วให้ขึ้นม้ารีบไปเร่งกองช้างพระยากำแพงและพระยาเพทราชาที่คุมกองช้างมานั้น ให้รีบเร่งยกมาให้ทันราชการช่วยทัพเรือด้วย แล้วสั่งให้หลวงจินดารักษ์กับหลวงพลกรมการเมืองสระบุรีลงเรือไปกับหลวงเทเพนทร์ แล้วให้ขึ้นจากเรือไปด้วยม้า ให้แยกย้ายกันไปตามกองช้างพระยาประสิทธิ์คชกรรม์ จางวางกรมช้างเมืองนครราชสีมา ให้เร่งไปตามเจ้าพระยานครราชสีมาโดยเร็ว ด้วยช้างเป็นกำลังแก่ทัพบกมาก แล้วส่งให้หลวงศรีเสนาลงเรือเร็วไปเมืองพนมเปญ ขอกองทัพช้างที่นักองอิ่ม นักองด้วง อยู่นั้น ให้เขมรคุมช้างมาตามจะได้มากน้อยเท่าใดไม่กำหนด ให้หลวงศรีเสนาคุมกองช้างเขมรมาด้วยพร้อมกัน ให้ถึงเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกในเดือนสามข้างแรมนี้ให้จงได้ แต่ให้พระยาเพชรปาณีไปด้วย จะได้ช่วยกองช้างเขมรมาพร้อมกัน ด้วยไม่ไว้ใจแก่เขมรกลัวจะแปรไปปรวนมา
แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังก็ไล่ทัพเรือใหญ่น้อยให้ยกลงไปตั้งใกล้ประชิดค่ายญวนที่ปากคลองสะแดก ตั้งลอยอู่ดูกำลังข้าศึกยังไม่ได้รบกัน
 ครั้น ณ วันเดือนสามขึ้นสิบห้าค่ำ กลางเดือน เวลากลางคืนเดือนหงายสว่างดึกประมาณแปดทุ่มเศษ ญวนก็ปล่อยแพไม้ไผ่มีเชื้อไฟติดอยู่บนหลังแพ ไฟไหม้แพไม้ไผ่ ปล่อยแพไฟลอยลงมาเป็นอันมากจะนับประมาณมิได้ ญวนปล่อยแพไฟให้ลอยลงมา ปรารถนาจะให้แพไฟมาติดเรือรบไทย ไฟก็จะได้ไหม้เรือรบไทยที่ทอดสมออยู่นั้น ถึงจะถอนสมอก็คงไม่ทัน แต่ว่าแพไฟที่ญวนปล่อยลงมาไม่ได้ถูกเรือรบไทย เรือรบไทยไม่ได้ไหม้เป็นอันตรายเลยแต่สักลำหนึ่ง แสงไฟแดงสว่างไปทั้งแม่น้ำจนรุ่งเช้า อ้ายญวนปล่อยแพไฟมาไม่ไหม้เรือรบไทยเลยนั้น เพราะว่าอ้ายญวนทำการแพไฟไม่ถูกต้องธรรมเนียมศึก จะไหม้ที่ไหนได้เล่า ญวนผูกแพไฟให้ติดกันทุกแพ แล้วปล่อยให้ลอยลงเหมือนอย่างเช่นลอยกระทงเล่น แพไฟก็ลอยลงมาเป็นทิวไปตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวไปตามเกลียวสายน้ำ ไม่ได้ถูกเรือรบไทยเลยสักลำเดียว เพราะเรือรบไทยรู้จักการพิชัยสงครามว่า “ถ้าจอดเรือรบหรือทอดสมอเรือรบนั้น ห้ามไม่ให้จอดและทอดสมอที่กระแสน้ำเชี่ยวเลยเป็นอันขาด เพราะกลัวจะถูกแพไฟของข้าศึกที่จะปล่อยตามน้ำมาไหม้เสีย”
ฝ่ายญวนปล่อยแพไฟมาครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งกองทัพพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า ยกทัพขึ้นไปจอดทัพเรืออยู่แม่น้ำใหญ่คุ้งวัดจุฬามณีเหนือปากน้ำพิง ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาพระมหาอุปราชอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ปล่อยแพไปลงมาเป็นตอน ๆ เป็นแพระยะกันตามน้ำไหลบ้าง ตามริมตลิ่งบ้าง เต็มทั้งแม่น้ำ แพไฟครั้งนั้นไหม้เรือรบสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า เสียหายยับเยินแทบจะทั้งหมด อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าทำถูก อย่างญวนนี้ เรียกว่าทำไม่ถูก จึงไม่ได้ไหม้เรือรบไทยเลย
 ครั้น ณ วันเดือนสาม แรมสี่ค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาปรึกษากับเจ้าพระยาพระคลังว่า
“เดี๋ยวนี้ญวนยกทัพใหญ่มาตั้งค่ายบกอยู่ที่ค่ายเก่า ณ สามแยกปากคลองสะแดกเป็นค่ายมั่นแห่งหนึ่ง แล้วญวนนำทัพเรือรบใหญ่ ๆ มาทอดทุ่นขวางแม่น้ำวามะนาวไว้เต็มทั้งสองฟากแม่น้ำ เนื้อความข้อนี้เจ้าพระยาพลเทพแม่ทัพหน้ามีใบบอกข่าวศึกมาว่า ได้ใช้ให้พระพิพิธสาลีกับหลวงโภชนารักษ์ลงเรือเล็กไปสืบราชการศึกญวน ได้ข้อความมาว่าดังนั้น เจ้าคุณพระคลังจะว่าประการใด”
เจ้าพระยาพระคลังตอบว่า “ซึ่งเจ้าพระยาพลเทพบอกมาก็เป็นแต่ใจความตามที่ผู้ไปสืบมานั้น หาเป็นการละเอียดถ้วนถี่ไม่ ควรจะให้หาพระพิพิธสาลี หรือหลวงโภชนารักษ์ มาไต่ถามกิจการที่ญวนมาตั้งค่ายบกและค่ายเรือ เป็นอุบายแยบคายอย่างไรบ้าง เราจะได้จัดการลงไปตีให้ถูกต้องกับที่ญวนตั้งค่ายรับเรานั้น ให้ทันท่วงทีที่จะได้ชัยชนะโดยง่าย”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้ขุนท่องนทีวังหน้า นำเรือเร็วรีบลงไปรับพระพิพิธสาลีกับหลวงโภชนารักษ์มาโดยเร็ว ครั้งนั้นพระพิพิธสาลีป่วยเป็นไข้พิษมาไม่ได้ ได้แต่หลวงโภชนารักษ์มาให้การว่า
 “ได้ลงไปตรวจดูค่ายญวนบนบกเห็นเป็นค่ายเก่าไม้จริง ทำมั่นคงแข็งแรง มีทั้งป้อมหอรบครบบริบูรณ์ แต่ว่าแลดูแต่ไกล ไม่ได้เข้าใกล้ จึงไม่ได้เห็นอาการค่ายถ้วนถี่หมดจด แต่เรือค่ายที่ทอดสมอขวางอยู่กลางแม่น้ำได้เห็นถนัด ญวนนำเรือป้อมใหญ่มาทอดสมอห่างกันประมาณ ๔๕ วา เต็มทั้งลำแม่น้ำ ในระหว่างเรือป้อมมีเรือรบเล็กประมาณ ๒๐ ลำ แจวมาทอดสมออยู่ระหว่างกลางเรือเป็นระยะกันไป เรือป้อมและเรือรบทั้งสิ้นนั้น เห็นปืนใหญ่และทหารประจำอยู่มาก ๆ ทุกลำ ฝ่ายในชั้นหลังเรือป้อมนั้นมีเรือรบต่าง ๆ ทอดสมอเป็นฟันปลาอยู่แถวอีก ๔ แถว ประมาณเรือรบญวนทั้งใหญ่ทั้งเล็กราวสัก ๒๐๐ลำเศษที่ทอดสมออยู่นั้น และเรือรบที่จอดอยู่ตามฝั่งหน้าค่ายและจอดเรียงรายนั้นประมาณสัก ๑๐๐ ลำเศษ”
 แล้วหลวงโภชนารักษ์แจ้งความต่อไปอีกว่า “ในวันที่ไปสืบราชการทัพญวนนั้น ได้ใช้ให้หมื่นศรีสมบัติกับหมื่นอินทรานุรักษ์ และนายช่วง นายทัด นายมา นายขุนเณร รวม ๖ คนนั้น นำกล้องแก้วอย่างใหญ่ชักได้สามชั้น ที่เจ้าพระยาพลเทพให้ไปนั้น คนทั้งหกได้เดินบกขึ้นที่ป่าระนามใกล้ค่ายญวนแล้ว จึงได้ขึ้นต้นไม้ใหญ่สูง นำกล้องแก้วใหญ่ส่องไปดูเห็นว่า ญวนกำลังปักเสาตั้งค่ายปีกกาต่อเนื่องค่ายเก่าออกมาข้างหน้าค่ายหลายค่าย ที่หลังค่ายใหญ่นั้นมีคลองเล็กมาแต่แผ่นดินฝั่งข้างเหนือ เห็นญวนทำสะพานเรือกข้ามคลองเล็กนั้นด้วย และเห็นญวนกำลังขุดมูลดินอยู่ และถมขึ้นเป็นกองสูงจะพูนขึ้น เป็นป้อม หรือเชิงเทินอย่างไรหาทราบไม่ ดูพอเวลาเย็นก็กลับลงมาเรือ ได้ความดังนี้แล้ว บัดนี้ก็พาตัวคนทั้งหกมาด้วย.....”
 * ข่าวญวนยกทัพใหญ่มา ทำให้เจ้าพระยาทั้งสองแม่ทัพบกเรือต้องปรึกษาวางแผนกันอย่างหนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเปลี่ยนแผนการยกทัพบกบุกไซ่ง่อน หันมาระดมสรรพกำลังช่วยทัพเรือตีญวนที่ค่ายใหญ่ปากทางไปไซ่ง่อน คือคลองวามะนาว กำลังวางแผนหาทางเผด็จศึกอยู่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, หนูหนุงหนิง, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๕ -
แม่ทัพให้ทหารบกยกขึ้นฝั่ง เร่งเข้าพังค่ายญวนอย่าอ้ำอึ้ง แต่ถูกญวนสวนใส่ล้มหงายตึง เข้าไม่ถึงสั่งทัพถอยกลับมา
ฝ่ายทัพเรือถูกล้อมในอ้อมน้ำ ใกล้เพลี่ยงพล้ำญวนขยี้ตีกองหน้า เสาเรือหักพลไทยวายชีวา แต่ยังกล้าสู้ตายกลางสายชล..... |
อภิปราย ขยายความ ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงตอนที่ ญวนใช้เรือรบเล็กมาซุ่มอยู่ในคลองเล็ก แล้วโจมตีท้ายกระบวนกองทัพหน้าไทย จึงถูกไทยปิดล้อมฆ่าตาย และที่รอดตายก็จับตัวได้ทั้งหมด เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้สอบสวนแล้วได้ความว่า ญวนยกทัพใหญ่มา ทำให้เจ้าพระยาทั้งสองต้องปรึกษาวางแผนกันอย่างหนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเปลี่ยนแผนการยกทัพบกบุกไซ่ง่อน หันมาระดมสรรพกำลังช่วยทัพเรือตีญวนที่ค่ายใหญ่ปากทางไปไซ่ง่อน คือคลองวามะนาว กำลังวางแผนหาทางเผด็จศึกอยู่ วันนี้มาอ่านกันต่อรับ......
 “ฝายเจ้าพระยาทั้งสองถามปากคำคนทั้งหกให้การต้องกับหลวงโภชนารักษ์ทุกประการ เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงมีบัญชาว่า
“ญวนเข้าอาศัยค่ายเก่าแล้วยังไม่ไว้ใจแก่ไทย จึงได้ทำค่ายปีกกาเพิ่มเติมขึ้นหน้าค่ายเก่าอีกนั้น ก็เพราะค่ายเก่าไม่แน่นหนาแข็งแรง เราเห็นว่าควรเราจะยกทัพใหญ่เป็นทัพบกบ้าง เร่งไปตีค่ายบกเก่าใหม่ของญวนเสียโดยเร็ว อย่าให้ญวนทันตั้งมั่นรับเราถนัดได้ และจะต้องแต่งทัพเรือลงไปตีค่ายเรือป้อมญวนเสียด้วย ยกไปทั้งทัพบกและทัพเรือให้พร้อมกันทีเดียว ญวนจะได้พะว้าพะวังทั้งบกและเรือ ญวนจึงจะไม่มาช่วยกันได้ กำลังญวนก็จะอ่อนลงมาก เราคิดตีญวนให้พร้อมกันทั้งบกทัพเรือนั้น ก็เพื่อจะย้ายกำลังญวนไม่ให้ประชุมพร้อมกันได้” แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดว่า “คราวนี้ทัพเรือเป็นหน้าที่ของเจ้าคุณพระคลังแน่แล้ว ทัพบกเป็นหน้าที่ของผมเองเป็นแน่ ต่างคนต่างมีหน้าที่เต็มการจะช่วยกันไม่ได้แล้ว ให้เจ้าคุณเร่งถกขะเหมนโจงกระเบนให้แข็งแรงเถิด”
 ครั้นปรึกษากันแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้นายทัพบกที่มากับเรือเล็ก ให้ขึ้นบกจัดการตระเตรียมเป็นทัพบกพร้อมเสร็จ ขณะนั้นพอกองทัพช้างเขมรที่พระยาเพชรปาณีคุมมาถึง จึงให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลคุมทัพช้างยกไปช่วยด้วยกอง ๑ แล้วให้พระยาเกียรติ พระยาราม คุมกองทัพรามัญ ๑,๖๐๐ คนเป็นกองหน้า ให้พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีกำกับทัพรามัญ ให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองบกทั้งหลายเตรียมการไว้พร้อมเสร็จแล้ว
 ฝ่ายทัพเรือนั้น เจ้าพระยาพระคลังจัดให้พระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้า ให้พระยาราชวังสันเป็นทัพนำหน้าพระยาพลเทพ ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์ พระยาเพชรบุรี พระยาราชบุรี พระยาระยอง พระยาตราด พระยานครไชยศรี พระยาสมุทรสงคราม ทั้งนี้เป็นปีกซ้ายปีกขวาของทัพหน้า ให้พระยาเดโชท้ายน้ำเป็นนายกองหนุนทัพหน้า มีลูกกองอีก คือ พระยาเทพวรชุน พระยาพิพิธโกษา พระยานเรนทร์ฤทธิ์โกษาแขกจามฝ่ายพราชวังบวรฯ พระอนุรักษ์โยธา พระโยธาสงคราม พระวิสูตรวารี พระภิรมย์ภักดี พระกัลยาภักดี หลวงท่องสาคร หลวงสุนทรวารี หลวงทิพยธารา พระสุนทรพิทักษ์ พระสุนทรภักดี หลวงลักษมานา หลวงมหาพิชัย หลวงรุทฤทธิรงค์ ขุนท่องสื่อญวน
(ที่บอกชื่อมานี้แต่ล้วนมีหน้าที่ประจำการในเรือรบทุกคน ยังพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น นายทัพนายกองผู้ช่วยและสมทบในกองทัพเรือและทัพบก ยังมีอีกมากกว่าที่ออกชื่อมานี้ เหลือที่จะออกชื่อให้ทั่วได้ จะเป็นการยืดยาวไป เพราะยังไม่ต้องการ ชื่อท่านแหล่านั้น ๆ มีแจ้งอยู่ในตารางเกณฑ์แล้ว)
ครั้นเกณฑ์ทัพบกทัพเรือจัดการไว้พร้อมแล้วทั้งสองทัพ ถึง ณ วันเดือนสาม แรมห้าค่ำ เวลาสามยาม เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็คุมกองทัพบกยกโจมตีเข้าปล้นค่ายญวนทางบกเป็นอลหม่าน ขณะนั้นกองทัพบกแบกแตะไม้ไผ่ไปเป็นผืน ๆ พอถึงชานค่ายญวน กองทัพไทยวางแตะทับทาบขวากหนามที่แผ่นดินเป็นช่องทางเดินเข้าไปจนถึงเชิงค่ายญวนทั้งสี่ด้าน บ้างก็ยิงปืนโต้ตอบกับญวนบ้าง บ้างก็ถอนขวากฟันเสาค่ายญวน บางก็นำบันไดหกไปพาดค่ายญวน
 ขณะนั้นเป็นเวลาขมุกขมัวมืดหมอกลงเต็มทั้งอากาศ ญวนไม่เห็นกองทัพไทยถนัด ญวนจึงจุดพลุตับขึ้นรอบค่ายญวน แสงพลุสว่างดังกลางวัน ญวนเห็นตัวพลทหารไทยถนัด ญวนก็วางปืนใหญ่แล้ววางปืนคาบศิลาตับระดมออกมาจากค่ายดังห่าฝน กระสุนปืนต้องรี้พลทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายทนกระสุนไม่ได้ต้องล่าถอยออกมาจากที่ล้อมค่ายญวน นายทัพนายกองจะกดไว้ให้เข้าปล้นค่ายในขณะนั้น มีแต่แตกออกมาสิ้น ที่พวกรามัญและแขกจามถึงค่ายก่อน ฟันค่ายบ้าง ปีนค่ายบ้าง ญวนก็นำไฟพะเนียงจุดสาดพวกกองรามัญแขกจาม แขกจามทนไม่ได้ ไฟไหม้เสื้อหนังลงไปถึงเนื้อ ก็ต้องล่าถอยลงจากค่ายญวน ญวนก็นำปืนยิงตายมาก กลับมาน้อยตัว ครั้งนั้นไทยจะหักปล้นค่ายญวนมิได้ด้วยรี้พลล้มตายลงมากมายนัก
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยาจ่าแสนบดีนายกองทัพช้าง คุมทหารช้างยกเข้าปล้นลองดูอีกสักครั้งหนึ่ง พระยาจ่าแสนบดีต้อนพลเขมรขับช้างเข้าไปทลายค่ายญวน ญวนก็ยิงปืนใหญ่จากค่าย ถูกช้างล้มตายลง ๑๓ เชือก เพราะสว่างแล้วเป็นเวลาย่ำรุ่ง ญวนเห็นตัวช้างวางปืนใหญ่มาได้ถนัดแม่นยำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นดังนั้นแล้วจึงสั่งให้พระยาราชเสนาขึ้นม้าไปสั่งให้ทัพหน้าล่าถอยเลิกมา ทัพหน้าทั้งปวงก็ล่าทัพถอยมาสิ้น ครั้งนั้นให้ทัพช้างเป็นทัพหลังระวังไพร่พลที่ล่าถอยมา หาเป็นอันตรายไม่ ญวนก็ไม่ออกตามตีท้ายพลไทย
ครั้งนั้น เสียนายทัพนายกองหน้าตายในที่รบ ๑๐ คน คือ พระยานครอินทรรามัญ ๑ พระชนะภุกามรามัญ ๑ พระชนะไพรินทร ๑ หลวงสุระเสนี ๑ หลวงชนะสงคราม ๑ หลวงเดชาธิกรณ์ ๑ พระยาเดชาสงครามเขมร ๑ พระนรินทรคชลักษณ์เขมร ๑ หลวงพิทักษ์คชกรรม์เขมร ๑ หลวงอนันต์คชไกรเขมร ๑ รวมนายทัพที่ตายนั้นไทย ๔ รามัญ ๒ เขมร ๔ รวม ๑๐ คน แต่ขุนหมื่นพันทนายเลขไพร่หลวงนั้นตายเท่าใด แจ้งอยู่ในรายงานการรบนั้นแล้ว ครั้นจะประมาณไปว่าเท่านั้นเท่านี้ ก็กลัวจะผิด ๆ ถูก ๆ หาควรไม่
 ฝ่ายทัพเรือนั้น เจ้าพระยาพระคลังก็ต้อนให้ทัพเรือทั้งปวงยกเข้าตีทัพเรือญวนที่ตั้งขวางแม่น้ำนั้นพร้อมกับทัพบกวันเดียวกัน แต่ครั้งนั้นญวนเห็นว่าไทยยกลงมามาก ญวนก็แยกทัพเรือออก แล้วแจวเลียบฝั่งแม่น้ำขึ้นมาเป็นทำนองดังปีกกา เมื่อทัพเรือไทยยกลงไปใกล้ทัพเรือญวน ญวนก็ยิงปืนไฟใหญ่น้อยมาจากเรือรบญวน ญวนตั้งสู้รบเป็นสามารถเต็มทั้งแม่น้ำ ตั้งทัพเรือเป็นหน้ากระดาน แล้วตั้งโอบขึ้นมาตามฝั่งน้ำทั้งสองฟาก ไม่มีช่องทางน้ำที่เรือรบไทยจะลงไป ยิงปืนโต้ตอบได้บ้าง ครั้งนั้นเรือรบไทยกองหน้าก็รออยู่กลางน้ำ เห็นเรือญวนขวางหน้าเต็มแม้น้ำไม่มีช่องเลย จึงได้ทอดสมอรออยู่กลางน้ำ
ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำแม่กองหนุนแจวลงไปเห็นเรือพระยาอภัยโนฤทธิ์ ๑ พระยาวิสูตรโกษา ๑ พระยาทิพยโกษา ๑ พระยาเพชรบุรี ๑ พระอนุรักษ์โยธา ๑ พระโยธาสงคราม ๑ หลวงลักษมานา ๑ หลวงมหาพิไชย ๑ แปดลำเหล่านี้แต่ล้วนเป็นนายทัพกำกับเรือรบมีชื่อ ที่พระยา พระ หลวง อื่นอีกที่ไม่ได้ออกชื่อมานั้นเป็นอันมาก ท่านทั้ง ๘ ลำนี้ทอดสมอเสียทั้งหมด ไม่ยกลงไป
 พระยาเดโชทายน้ำจึงบังคับสั่งให้เร่งถอนสมอขึ้น รีบยกลงไปในเดี๋ยวนี้ ขณะนั้นเรือรบแต่ที่เป็นนายกองหน้าที่ใหญ่ ๘ ลำ และเรือลูกกองอีกมากก็ถอนสมอเรือรบเร่งยกลงไปใกล้เรือค่ายญวน ญวนก็ยิงปืนโต้ตอบมา แต่กระสุนปืนยังไม่ถึงเรือรบไทยเหล่านั้น เรือรบไทยเหล่านั้นแจวลงไปเสมอไม่หยุด แต่พอใกล้กระสุนปืนญวนตกมาถึงถูกเสาหักบ้าง ถูกกราบเรือแตกบ้าง ถูกคนตกลงน้ำตาย ๔ คน ถึงเช่นนั้นพระยาอภัยโนฤทธิ์ก็ให้รีบแจวลงไปเสมอไม่ให้หยุด........”
* กองทัพบกยกเข้าปล้นค่ายญวนไม่สำเร็จ ฝ่ายไทยสูญเสียนายทัพนายกองไป ๑๐ คน ไพร่พลอีกเป็นอันมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งถอยมาตั้งหลักใหม่ ส่วนกองทัพเรือก็ยกลงไปเผชิญหน้ากับทัพญวน กองหน้ากำลังอยู่ในอ้อมปีกกาของกองเรือญวน พระยาเดโชท้ายน้ำเร่งให้กองหน้ายกบุกลงไป พระยาอภัยโนฤทธิ์กำลังนำเรือรบฝ่าดงกระสุนปืนญวน ที่ระดมยิงมาถูกเสาเรือหัก กราบเรือแตก ถูกไพร่พลตกน้ำตายไป ๔ คนแล้ว ผลการรบของทัพเรือจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, หนูหนุงหนิง, ก้าง ปลาทู, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๖ -
เจ้าพระยาพระคลังสั่งทหาร ล้วนดื้อด้านเคี่ยวเข็ญไม่เป็นผล ทอดสมอลอยลำเหมือนจำนน แม่ทัพจนปัญญาบัญชาการ
ทหารเรือญวนยกขึ้นบกด้วย แล้วเข้าช่วยตีไทยให้แตกฉาน ทัพบกไทยถอยลู่มิอยู่ทาน เลี้ยงทหารคอยรอรุกต่อไป |
อภิปราย ขยายความ ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชายกพลขึ้นบกเข้าปล้นค่ายญวนไม่สำเร็จ ต้องสูญเสียนายทัพนายกองไป ๑๐ คนไพร่พลอีกเป็นอันมาก จึงสั่งถอยทัพมาตั้งหลักใหม่ ส่วนกองทัพเรือก็ยกลงไปตีค่ายเรือญวน กองหน้ากำลังอยู่ในอ้อมปีกกาของกองเรือญวน พระยาเดโชท้ายน้ำเร่งให้ยกบุกลงไป พระยาอภัยโนฤทธิ์นำเรือรบฝ่าดงกระสุนปืนญวน ที่ระดมยิงมาถูกเสาเรือหัก กราบเรือแตก ถูกไพร่พลตกน้ำตายไปสี่คนแล้ว ผลการรบของทัพเรือจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ........
 “.......ครั้นใกล้เรือรบญวนและเห็นกันถนัด ญวนก็นำเรือรบเล็ก ๆ แจวขึ้นมาสัก ๒๐๐ ลำเศษ ยิงปืนขึ้นมาด้วยดังห่าฝน พระยา พระ หลวง นายทัพเรือกองหน้านั้น ครั้นเห็นเรือเล็ก ๆ ของญวนแจวขึ้นมามาก แล้วเหลียวหลังดูเรือรบไทย กองหนุนนั้นก็ไม่เห็นตามมาช่วยบ้าง จึงสั่งให้หลวงมหาพิไชยนำเรือช่วงกลับคืนไปตามเร่งกองทัพเรือหนุนนั้น ให้ยกลงมาช่วยกันโดยเร็ว หลวงมหาพิไชยกลับมาแจ้งความว่า
“เห็นกองทัพเรือรบพระยาเดโชท้ายน้ำนั้น ถอนสมอขึ้นแล้วแจวเข้าไปแอบตลิ่งอยู่ทั้งกอง ได้บอกว่าให้รีบยกลงมาช่วยกันก็ไม่มา จอดนิ่งเสีย”
ฝ่ายพระยาอภัยโนฤทธิ์ (บุญนาก) ได้ทราบข่าวว่าทัพหนุนไม่ลงมาช่วยนั้น แต่ทัพพวกเรานี้เห็นจะรับทัพเรือญวนไม่หยุดเป็นแน่แล้ว พูดกันยังไม่ทันจะขาดคำลง ญวนยกมาทางเรือแล้วแบ่งคนขึ้นบนบก นำปืนหามแล่นขึ้นบกยิงมาตกลงในกลางเรือไทยหลายนัด แล้วทัพเรือญวนก็โห่ร้องตีฆ้องกลอง เร่งรีบแจวขึ้นมามากพร้อมกันกว่า ๑๐๐ ลำเศษ พระยาอภัยโนฤทธิ์เห็นด้งนั้นแล้วจึงสั่งให้พระอนุรักษ์โยธาตีฆ้องสัญญาณล่าทัพเรือทั้งปวงถอยหลังกลับมาเสียทั้งสิ้น
พระยาเดโชท้ายน้ำและพระยาจันทบุรีก็ถอยทัพเรือมาเสียบ้าง ถอยขึ้นมาทอดสมอเสียที่แหลม ปรารถนาจะให้แหลมใหญ่บังกระสุนปืนญวน ญวนก็รีบเร่งแจวขึ้นมาเสมอ แต่ยังอยู่ห่างไกลกันมาก เพราะเรือญวนทวนน้ำ จึงช้า เรือไทยตามน้ำมาโดยเร็ว
 ขณะนั้นพระศิริสมบัติเป็นผู้ตรวจการรายงานทัพเรือ เห็นทัพเรือถอยกลับมา หาทราบเหตุการณ์ประการใดไม่ จึงรีบไปเรียนเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงลงเรือแง่ทรายพลแจว ๒๐ คน นั่งกลางเรือมือถือดาบถอดฝักพาดตักอยู่ สั่งให้พลแจวแจวเรือเที่ยวไล่เรือรบทั้งหลายให้เร่งถอนสมอยกลงไปต่อสู้กับญวนโดยเร็ว ให้ทันท่วงทีแก่ข้าศึก เมื่อเห็นคนในเรือนี้ถอนสมอขึ้นแล้ว ก็สั่งให้ออกเรือแจวไปไล่เรือลำอื่นต่อไปอีก ให้ถอนสมอรีบเร่งไปโดยเร็ว ครั้นเจ้าพระยาพระคลังถอยเรือออกห่างจากเรือรบลำนี้แล้วก็ไปไล่ลำโน้นนั้น ที่ลำนี้ก็ปล่อยสมอลงน้ำเสียดังเก่า เรือรบทุกลำทำตามกันดังนั้นต่อ ๆ ไป แต่เจ้าพระยาพระคลังเที่ยวไล่เรือลำนี้ลำโน้นหลายหนหลายเที่ยวกลับไปกลับมา ก็ไม่เห็นเรือลำใดถอนสมอขึ้นได้สักลำหนึ่ง
* (เดชะบุญ เผอิญเรือรบญวนจอดรออยู่ที่ท้ายแหลมใต้ ไม่ได้ยกขึ้นมาใกล้ทัพเรือไทย ครั้งนั้นนายทัพนายกองเรือรบไทยดื้อดึงนัก เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นบกไป ไม่ได้อยู่บังคับการเรือรบด้วย ถ้าท่านอยู่ ที่ไหนคงจะตายลงบ้างไม่มากก็น้อย พระยาพานทองหรือพระยาอะไรก็คงจะตายบ้าง คงจะฟันเสียบ้างพอเป็นตัวอย่างให้กลัวอำนาจ ราชการทัพศึกจึงจะไม่ท้อถอย แต่เจ้าพระยาพระคลังท่านไม่ใช่คนดุร้าย เป็นคนใจดีโอบอ้อมอารีมีเมตตาแก่เพื่อนราชการด้วยกันมา แต่เพื่อนราชการหาได้มีใจรักท่านไม่ เพราะเช่นนั้นภัยเกือบจะมาถึงท่าน
การที่เรือรบไทยถอนสมอไม่ขึ้นนั้น เป็นเพราะขุนนางผู้ใหญ่ก่อการก่อน จะขอออกชื่อไว้ให้ปรากฏ ที่เป็นคนมียศใหญ่หัวหน้าก่อการขลาดนั้น คือ เจ้าพระยาพลเทพชื่อฉิมโจโฉ ๑ พระยาเดโชท้ายน้ำ ๑ พระยาราชวังสัน ๑ พระยาเพชรบุรี ๑ พระยาราชบุรี ๑ พระยาเทพวรชุน ๑ พระยาอภัยโนฤทธิ์ ชื่อบุญนาก ๑ พระยาจันทบุรี ๑ พระยาตราด ๑ พระยาระยอง ๑ พระยานครไชยศรี ๑ พระยาสมุทรสงคราม ๑ พระยาทิพโกษา ๑ พระยาวิสูตรโกษา ๑ พระยานเรนทรฤทธิ์โกษาแขกจาม ๑ พระยาไตรโกษา ๑ ออกชื่อแต่ ๑๖ คนนี้ที่ เป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งนั้น ยังพระยา พระ หลวงหัวเมืองและในกรุงทั้งพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรฯ ที่เป็นนายเรือรบ ลูกกองยังมีอีกหลายลำหลายชื่อ แต่ไม่เป็นใหญ่สำคัญ จึงไม่ได้ออกชื่อไว้ในนี้ เมื่อเรือรบลูกกองเห็นท่านผู้ใหญ่ทุกคนถอนสมอไม่ขึ้นทั้ง ๑๖ ลำ เรือรบลูกกองทั้งปวงนั้นก็ถอนสมอไม่ขึ้นบ้างเหมือนกัน ก็ปล่อยหย่อนลงไปเสียทีหนึ่งทำดังนั้นเสมอทุกลำ ถ้าลำใดเห็นเจ้าพระยาพระคลังหรือพระศิริสมบัติเรือตรวจแจวมาใกล้ มาเร่งรัดให้ถอนสมอก็รีบยกลงไปเร็ว ๆ เรือรบเหล่านั้นก็ทำเป็นถอนสมอไม่ขึ้นบ้าง บางลำทำเป็นถอนจวนจะขึ้นพ้นน้ำแล้ว ถ้าเรือตรวจถอยไปเร่งรัดลำอื่นต่อไปอีก เรือที่ถอนสมอพ้นน้ำนั้นก็ปล่อยสมอลงน้ำเสียอีกเล่า ทำดังนี้เหมือนกันทุก ๆ ลำ จึงมิได้มีเรือรบไทยลงไปต่อรบกับญวนสักลำเดียว เพราะนายทัพนายกองเรือเห็นใจว่าเจ้าพระยาพระคลังไม่ดุร้าย จึงกล้าสามารถทำดังนั้นได้ แต่คราวนั้นก็เป็นเคราะห์ดีไม่มีเหตุร้าย)
 ฝ่ายกองทัพเรือญวนแจวขึ้นมาถึงท้ายแหลมวามะนาว ไม่เห็นเรือรบไทยยกลงไปต่อสู้ ก็รู้ว่าเรือไทยถอยหนีไปแล้ว ทัพเรือญวนก็แบ่งกันอยู่รักษาทางน้ำที่แหลมวามะนาวบ้าง ยกขึ้นบกบ้าง พวกที่ขึ้นบกนั้นก็ช่วยกันระดมตีทัพพระยาเกียรติ์พระยารามกองหน้าทัพบก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นญวนทัพเรือยกขึ้นมาช่วยทัพบกดังนั้น ก็เข้าใจว่าทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังเสียแก่ญวนแล้วเป็นมั่นคง ญวนจึงได้เลิกทัพเรือยกขึ้นบกมาช่วยตีทัพไทยเป็นหลายกอง ผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก ทั้งนายทัพผู้ดีและไพร่พลตายมากนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาพูดว่า
 “เชิงศึกญวนแหลมกล้าหาญนัก ทั้งทัพบกทัพเรือ ญวนองอาจสามารถทิ้งเรือเสีย ขึ้นมาช่วยทัพบกตีไทยแตกไปหลายกองแล้ว เห็นเหลือกำลัง จะต่อสู้ญวนไม่ได้ ทัพเรือไทยไม่มีจะหนุนทัพบก ทัพบกทัพเดียวเสียเปรียบญวนมาก ถ้าหากว่าญวนจะให้ทัพเรือเข้าโอบอ้อมขึ้นมาทางเหนือปากคลองวามะนาว แล้วยกวกหลังตลบมาตีทัพบกเราที่ปากคลองสะแดกนี้ เราก็จะเป็นที่ขัดสนจนปัญญา จะหนีก็ไม่มีทางจะไปพ้นได้ จะอยู่สู้ก็สู้ไม่ไหว เพราะผู้คนก็น้อย ไม่มีทัพหนุนอีก ถ้าขืนจะอยู่สู้กับญวนที่นี้เห็นทีจะต้องเป็นศึกขนาบ ถ้าชนะก็ไม่ได้อะไร ญวนก็จะหนีไปเท่านั้น ถ้าแพ้ก็จะแพ้ราบคาบ จนจะพาชีวิตกลับบ้านแต่สักคนก็เห็นจะไม่ได้ เพราะทัพเรือไม่ยกหนุนมาทันท่วงทีศึก คิดดังนี้แล้วจึงสั่งให้ถอยทัพ ล่าลงไปฟังข่าวราชการทัพเรือดูก่อน”
 *** ผลการรบยกนี้ กองทัพไทยพ่ายญวนหมดทั้งสองทัพ ค่ายไม้ของญวนที่ปากคลองสะแดกแห่งนี้เหมือนมีอาถรรพณ์ ญวนตั้งขึ้นรับศึกทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ที่ยกมาตีญวน แล้วทัพไทยโดยการนำของกรมหลวงเทพหริรักษ์ก็พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ตัวแม่ทัพต้องจับควายเป็นพาหนะขี่ลุยน้ำหนีกลับไปอย่างสะบักสะบอม มาคราวนี้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาคุมกองทัพบกเข้าปล้น ก็ถูกญวนใช้ยุทธวิธีจุดพลุเพลิงส่องสว่างจนมองเห็นตัวฝ่ายไทย แล้วยิงปืนใส่อย่างแม่นยำ ไพร่พลที่ปีนค่ายก็ถูกไฟพะเนียงสาดใส่ไหม้เนื้อตัวจนต้องล่าหนี ขณะตั้งหลักรอทัพเรือหนุนอยู่นั้น พลเรือญวนก็ยกขึ้นบกมาช่วยทัพบกในค่ายไล่ตีทัพไทยจนต้องถอยร่นกลับมา ฝ่ายทัพเรือไทยนั้น แม่ทัพเรือหมดสภาพ เพราะนายทัพนายกองไม่เชื่อฟังยำเกรง สั่งให้ถอนสมอเรือยกลงไปรบก็ไม่ยอมรบ จนแผนการของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่จะได้กำลังหนุนจากทัพเรือก็หมดไป เป็นดังนี้ กองทัพไทยจะทำประการใดต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ข้าวหอม, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๗ -
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา จะสั่งฆ่าคนขลาดตั้งนายใหม่ เจ้าพระยาพระคลังเหนี่ยวรั้งไว้ เกรงโพยภัยหมู่ญาติอาฆาตแค้น
ไทยจึงต้องถอยทัพกลับโจดก ทั้งพลบกนาวายังหนาแน่น โดยคนขลาดยังอยู่ให้ดูแคลน ด้านกลับแดนดินไทยไม่อายคน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ถึงตอนที่... ผลการรบยกนี้ กองทัพไทยพ่ายญวนหมดทั้งสองทัพ ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งหลักรอทัพเรือหนุนอยู่นั้น พลเรือญวนก็ยกขึ้นบกมาช่วยทัพบกในค่าย ไล่ตีทัพไทยจนต้องถอยร่นกลับมา ฝ่ายทัพเรือไทยนั้น แม่ทัพเรือหมดสภาพ เพราะนายทัพนายกองไม่เชื่อฟังยำเกรง สั่งให้ถอนสมอเรือยกลงไปรบก็ไม่ยอมรบ จนแผนการของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่จะได้กำลังหนุนจากทัพเรือก็หมดไป เป็นดังนี้ กองทัพไทยจะทำประการใดต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ....
 “เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาล่าทัพบกถอยมาถึงฝั่งน้ำคลองวามะนาวนั้นแล้ว ได้พบกับเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังเล่าความให้ฟังทุกประการแต่ต้นจนที่สุด ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตอบว่า
“นายทัพนายกองทัพเรือไม่ยำเยงเกรงกลัวแม่ทัพใหญ่นายเรือดังนี้ จะทำราชการศึกสงครามต่อไปที่ไหนได้เล่า ให้หาตัวผู้ที่เป็นนายทัพนายกองเรือผู้ขลาดเขลามาฆ่าเสียให้สิ้น อย่าเลือกหน้าว่าผู้ใหญ่และผู้น้อย ฆ่าเสียแล้วให้ตั้งผู้น้อยที่กล้าหาญแข็งแรงแทนที่ผู้ใหญ่ที่ฆ่าเสีย คืนเครื่องยศเจียดกระบี่คนทีน้ำพานหมากทองคำผู้ขลาด มาให้แก่ผู้กล้าต่อไปเห็นจะดี แล้วจะได้ยกเข้าตีญวนอีกครั้งหนึ่ง ลองดูเห็นว่าจะได้ชัยชนะเป็นมั่นคง เพราะพวกที่ขี้ขลาดเราก็ฆ่ามันเสียแล้ว เหลือแต่ผู้ที่กล้าแข็ง ก็ตั้งแต่งให้เป็นเจ้าพระยาและพระยา พระ หลวง คุมทัพเรือต่อไป พวกใหม่มันคงจะมีใจแข็งแรงต่อราชการจริง ๆ ดอกกระมัง”
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงตอบว่า
“ซึ่งใต้เท้ากรุณามีบัญชาโปรดมาดังนี้ ก็เป็นทางยุติธรรม ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว แต่ท่านนายทัพเรือเหล่านี้แต่ล้วนมีชาติตระกูลเป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งนั้น ที่กินพานทองขี่แคร่ก็หลายคน ไม่ได้มีผู้น้อยเลย มีแต่ศักดินาหมื่นหรือห้าพันเป็นพื้นทุกคน จะฆ่าเสียอย่างไรได้ เห็นว่ากีดนี่กีดนั่นกีดโน่นต่าง ๆ นานา ถ้าฆ่าฟันเสียก็คงจะมีผู้อาฆาตต่อไปภายหน้าเป็นมั่นคง”
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ฟังคำเจ้าพระยาพระคลังห้ามปรามทัดทานดังนั้นแล้ว ท่านจึงตอบว่า
“ธรรมดาแม่ทัพอาสาศึกพระเจ้าแผ่นดินมาทำสงคราม ก็หมายใจจะหาความชอบให้มีชื่อเสียงไว้ในแผ่นดินชั่วฟ้าและดินไม่สิ้นสูญ การฆ่าผู้ฟันคนเป็นธรรมเนียมของแม่ทัพอยู่เอง ใครดีก็แต่งตั้งให้ปันรางวัลยศศักดิ์แก่มัน ใครชั่วก็ต้องฆ่าฟันเฆี่ยนตีตามโทษหนักและเบาตามการ ก็เมื่อเราฆ่าเจ้าพระยาและพระยา พระ หลวง คราวนี้ นานไปข้างหน้าใครจะผูกไพรีอำนาจแก่เราก็ตามอัธยาศัย แล้วแต่การจะเป็นไปเถิด ไม่ฆ่า ทำการศึกต่อไปไม่ได้แน่ เว้นแต่จะไม่รบกับญวน จะกลับหรือจะชวนดีกันนั้น และจะพาตัวรอดได้”
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงตอบว่า
“เดียวนี้เสบียงอาหารกระสุนดินดำก็มีน้อยอยู่แล้ว กับเดือนสามข้างแรมและเดือนสี่ข้างขึ้นในระหว่างฤดูนี้ ก็เป็นเทศกาลน้ำน้อย เรือรบไทยก็เป็นเรือใหญ่ ๆ มาก จะเดินไปในคลองเหล่านั้นก็ไม่สะดวก เกรงว่าแม่ทัพเรือจะทำการไปไม่ตลอดสำเร็จได้ แล้วโทษก็จะมีแก่แม่ทัพเรือ ถ้าจะขืนไปก็จะเสียทัพ เพราะน้ำน้อย ครั้นจะกลับเสียกลางทางก็ไม่ได้ ภัยก็จะมีแก่แม่ทัพ เพราะไม่มีตราให้หากลับ กลับมาทำไมเล่า ครั้นจะข่มขืนใจไปก็จะเสียรี้พลและเรือด้วย ถ้าเป็นดังนี้จะมีรับสั่งลงโทษเราแม่ทัพตามบทอัยการศึก อย่างเช่นเราทำแก่ลูกกองเหล่านั้น จนถึงต้องฆ่าฟันกันตายหมด ท่านจะทำแก่เราดังนั้นบ้างตามกฎหมายเรามิตายเปล่าหรือ? ถ้าเราตายต้องฆ่านั้น วงศ์ตระกูลของเราจะได้รับความอัปยศยิ่งกว่าตระกูลที่พวกเราฆ่าเขาเหล่านั้นอีก เพราะวงศ์ตระกูลเราเป็นวงศ์แม่ทัพ ต้องอับอายมาก กระผมกราบเรียนใต้เท้ามาทั้งนี้โดยความภักดีสุจริต รักใต้เท้าเหมือนพี่น้องร่วมอุทร ขอให้ใต้เท้าดำริให้รอบคอบเทอญ”
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ฟังคำเจ้าพระยาพระคลังบรรยายชี้แจงแสดงเหตุผลต้นปลายที่จะเกิดภัยอันตรายดังนั้นแล้วจึงตอบว่า
“ถ้าเจ้าคุณพระคลังคิดดังนั้นแล้ว ฝ่ายผมก็ได้ช่วยคิดที่จะล่าถอยหนีญวนอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีประตูอื่นที่จะพูดต่อไปอีกได้ แต่ว่าเมื่อจะล่าถอยนั้น ขอให้เจ้าคุณทำหนังสือประกาศพิฆาตโทษภาคทัณฑ์เจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองที่มีความผิดเหล่านั้น ให้รู้คุณและโทษตัวเสียก่อนจึงจะล่าไป พวกนั้นจะได้ไม่ดูหมิ่นประมาทอำนาจแม่ทัพได้”
 เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย จึงสั่งให้พระศิริสมบัติเขียนหนังสือประกาศพิฆาตโทษภาคทัณฑ์นายทัพนายกอง นำไปอ่านประกาศทุกทัพทุกกอง แล้วสั่งให้ตระเตรียมไว้ให้พร้อมจะล่าถอยไปในในวันเดือนสามแรมเจ็ดค่ำนั้น ให้พระยาพระรามพระยาเกียรติรื้อค่ายบกเสียสิ้น ถอนคนทัพบกยกลงเรือเชลยเขมรและเรือแง่ทรายที่เก็บของญวนมาได้มากน้อยเท่าใด ก็บรรทุกพลรบยกล่วงหน้าไปยังเมืองโจดกก่อนทัพเรือ แล้วเจ้าพระยาพระคลังสั่งให้เจ้าพระยาและพระยา พระ หลวง นายทัพเรือรบมีชื่อ ล่าถอยตามออกมาภายหลัง ครั้นเมื่อเรือรบมีชื่อทั้งหลายล่าทัพนั้น ก็ช่วยกันถอนสมอขึ้นโดยเร็วทุกลำ ๆ ไม่มีใครทำดังแต่ก่อนนั้นเลย กองทัพเรือก็รีบเร่งแข่งกันล่าถอยออก ชิงกันแย่งกันมาก่อนมาหน้า หาเป็นกระบวนไม่
ฝ่ายพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษาแขกจามและพระยาวิเศษสงครามรามภักดีฝรั่งเข้ารีตทั้งสองกอง ไปตั้งปิดช่องปากคลององเจืองไว้ ครั้นทราบคำสั่งให้ถอยทัพ จึงให้บาทหลวงฝรั่งเศสชื่อเปโร ไปเกลี้ยกล่อมพวกญวนที่เข้ารีตที่อยู่ในคลององเจือง ซึ่งสมัครมากับไทยนั้นทั้งครอบครัวประมาณ ๕๐๐ เศษ บาทหลวงเปโรพาญวนลงเรือแง่บันแง่เลย อพยพครอบครัวลงเรือใหญ่น้อยล่องตามกองทัพไทยมาทั้งสิ้น
 กองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกขึ้นพักอยู่ที่เมืองโจดก รักษาเมืองไว้โดยกวดขั้น แต่ทัพเรือทั้งสิ้นก็ผ่อนกันเข้ามาในคลองขุดใหม่ต่อท้ายเมืองโจดก มาพักอยู่ที่เมืองบันทายมาศ ซึ่งไทยตีได้แต่ก่อนนั้น แต่เรือเจ้าพระยาพระคลังแวะเข้าจอดพักอยู่ที่ในเมืองโจดก เพื่อจะได้ปรึกษาราชการศึกกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา ช่วยกันจัดการรักษาป้องกันเมืองโจดก เพราะเข้าใจว่าญวนคงจะยกทัพเรือมาตีเมืองโจดกคืนเป็นแน่
 ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา สั่งให้พระยาสุนทรารักษ์พาไพร่พลเขมรและลาวไปขุดมูลดินพูนโคก ทำป้อมที่หน้าเมืองป้อมหนึ่ง แล้วให้จัดการรักษาหน้าที่เชิงเทิน รักษาเมืองโดยสามารถ แต่เรือใช้สอยเล็กน้อยให้มีไว้พร้อม แล้วแต่งกองลาดตะเวนทั้งทางบกและทางเรือ สำหรับสืบข่าวญวนเป็นหลายพวก.........”
* อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านคงรู้แล้วนะว่า กองทัพไทยทำไมจึงพ่ายแพ้แก่ญวน จุดอ่อนของทัพไทย ก็เห็นจะเป็นไปตามคำอภิปรายขยายความของเจ้าพระยาพระคลัง ที่ไม่ฆ่านายทัพนายกองผู้ทำผิดบทอัยการศึก ก็สมเหตุสมผลในด้านคุณธรรม แม้จะไม่สมเหตุสมผลด้านการศึกสงคราม เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็จำยอม ต้องล่าถอยทัพไทยทั้งหมดกลับมาตั้งหลักใหม่อยู่ที่เมืองโจดก ญวนได้ทีแล้วจะยกมาบดขยี้ไทยอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ข้าวหอม, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, หนูหนุงหนิง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๘ -
ญวนยกตามตีไทยไม่ลดละ มุมานะเร่งทัพไม่สับสน รุกราวีตีทางกลางสายชล ฝ่าห่าฝนทนหนุนกระสุนปืน
ไทยยิงตายเป็นเบือเมื่อดื้อบุก ครั้นยิ่งรุกยิ่งตายไม่อาจฝืน คราวนี้ญวนพ่ายยับไร้ที่ยืน ถอยทัพคืนไปยังกลางเกาะแตง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาถอยทัพบกมายังฐานทัพเรือ ทราบจากเจ้าพระยาพระคลังว่า นายทัพนายกองเรือขัดคำสั่ง ไม่ยอมถอนสมอเรือยกลงไปรบญวน จึงกล่าวว่าควรจะต้องฆ่านายทัพนายกองเรือขี้ขลาดขัดคำสั่งแม่ทัพนั้นเสียตามบทอัยการศึก แล้วตั้งคนที่มีความกล้าหาญชาญชัยขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่เจ้าพระยาพระคลังท้วงติง พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบจนเจ้าคุณแม่ทัพบกยอมตามความคิดของเจ้าคุณแม่ทัพเรือ แล้วตกลงถอนทัพกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองโจดกในที่สุด วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
 “ครั้น ณ เดือนสามแรมเก้าค่ำ หลวงฤทธิ์ณรงค์กองตระเวนเรือฝ่ายเหนือมาแจ้งความว่า ได้ไปลาดตระเวนถึงคุ้งไผ่เหลืองในคลองวามะนาว เห็นเรือรบญวนยกมามาก เป็นเรือป้อม ๓๐ ลำ เรือค่ายใหญ่ ๑๕ ลำ แต่ล้วนมีทหารมามากสำหรับเพิ่มเติม เรือรบเล็ก ๆ และเรือแง่โอ ๓๐ ลำ ยกมาถึงแหลมวามะนาวแล้ว เจ้าพระยาบดินเดชาจึงว่ากับเจ้าพระยาพระคลังว่า
 “เราล่าทัพเรือมาถึงเมืองโจดกได้สองวัน อ้ายญวนก็ยกทัพเรือตามเรามา หมายจะตีเราที่ปากคลองขุดใหม่ เมื่อเรือรบใหญ่ของเราเข้าคลองแน่นอัดกันนั้น แต่อ้ายญวนมาไม่ทันท่วงทีเรา เรือเราเข้าในคลองขุดใหม่ได้เสียก่อนเป็นการดี ตัวเราอยู่ที่นี่มีกำแพงป้อมพอต่อสู้กับมันได้ช้านาน แต่วิตกอยู่ที่ทัพเรือที่เข้าไปในคลอง กลัวว่าถ้าน้ำจะน้อยแล้วด้วยเป็นเรือรบใหญ่โตอยู่มาก เกลือกว่าถ้าอ้ายญวนยกทัพเรือมาทำกับเราที่โจดกนี้ ได้รบกันศึกยังติดพันกันไปช้านานอย่างไรก็ยังไม่รู้เลย แล้วญวนจะใช้ให้ทัพเรือเล็ก ๆ เข้ามาในคลองขุดใหม่ ไล่รบยิงเรือรบของเราที่ใหญ่ยังไปไม่ถึงเมืองบันทายมาศ หรืออยู่กลางทางจะมิเสียราชการและเสียเรือเสียคนแก่ญวนหรือ? อย่าช้าเลยไม่ได้ ให้เจ้าคุณพระคลังรีบเข้าไปเร่งเรือรบให้ไปโดยเร็ว หรือจะจัดการป้องกันอย่างไรได้ไม่ให้เป็นอันตรายแก่คนแลเรือรบนั้นก็สุดแล้วแต่ท่านเถิด”
เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบดังนั้นแล้วก็เห็นด้วย จึงลงเรือแง่ทราย ๒๐ แจว และมีเรือแง่ทรายลำละ ๒๐ แจวอีก ๔ ลำ นำตามท่านเข้าไปในคลองขุดใหม่ เพื่อจะได้เป็นเรือป้องกันท่านแม่ทัพไปในคลองขุดใหม่ด้วย
 ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนสามแรมสิบค่ำ ทหารไทยที่รักษาอยู่บนหอรบหน้าเมืองโจดกนั้น เห็นทัพเรือรบญวนยกตามมาทอดอยู่ใต้เมืองโจดก เรือศีรษะป้อม ๓๐ ลำ ทอดสมอเรียงตามน้ำ ต่อนั้นไปก็เป็นเรือค่ายใหญ่ ๑๕ ลำ ทอดอยู่หลังเรือป้อมเป็นแถวหลัง แล้วมีเรือแง่โอแง่ทราย ๕๐ ลำ มาทอดสมอสลับฟันปลากันกับเรือป้อม และมีเรือช่วงเล็ก ๆ อีก ๒๐ ลำ สำหรับใช้สอยไปมาถึงกันตามเรือรบทั้งปวง เรือรบญวนทั้งสิ้นนั้น มาทอดสมออยู่ห่างจากเมืองโจดกนั้นประมาณ ๒๘ เส้น ครั้นเวลาค่ำ ญวนตีกลองฝึกหัดทหารจนเวลาดึกสามยามเศษจึงเลิก (ญวนทำดังนั้นเพื่อจะไว้เป็นอำนาจให้ไทยกลัว อีกอย่างจะได้ไม่ให้ทหารนอนหลับ เผลอหลับมากมีเหตุการณ์มาจะปลุกยาก)
 ครั้นรุ่งขึ้นเดือนสามแรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาเช้าโมงหนึ่งเศษ ญวนก็ขับทัพเรือแจวติดเนื่อง ๆ กันมาเป็นทิว ยกเข้าตีเมืองโจดก ญวนเอาเรือศีรษะป้อมแจวเรียงขนานหน้าเป็นตับต่อ ๆ มาที่หน้าเมืองโจดก แล้วยิงปืนใหญ่หน้าเรือ มีลูกปืนมาตกถึงชานเมืองบ้างหลายลูก ขณะนั้นทหารไทยที่รักษาหน้าที่บนเชิงเทินเมือง ก็วางปืนใหญ่บนป้อมลงไปถูกเรือรบญวนที่เข้ามาใกล้ชานเมืองนั้นล่มลง ๒ ลำ พลทหารญวนว่ายน้ำขึ้นบนตลิ่ง ขณะนั้นพลทหารไทยที่รักษาประตูเมืองนอกกำแพง กรูกันลงไปฟันแทงญวนที่ตลิ่งล้มตายมาก เรือรบญวนลำอื่นก็หนุนเนื่องกันเข้ามายิงปืนใหญ่โต้ตอบกับไทยอยู่เสมอ มิได้หยุดหย่อน ฝ่ายไทยซึ่งประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินบนกำแพงนั้น จึงวางปืนใหญ่จ่ารงค์มณฑกนกสับคาบศิลายิงระดมลงไปเป็นห่าฝน เรือรบญวนก็มิได้ท้อถอยหลัง แม่ทัพนายกองฝ่ายญวนก็เร่งตีกลองศึก เร่งให้เรือรบแจวผ่านหน้าเมืองขึ้นมาเสมอทุกลำติดเนื่องกันมิได้หยุดยั้ง บ้างตกน้ำตาย บ้างตายอยู่ในเรือทุกลำ ถึงอย่างนั้นแม่ทัพญวนก็ยิ่งตีกลองเร่งเรือรบให้รีบแจวเข้าไปต่อรบยิงปืนโต้ตอบกับไทยอยู่เสมอ เพราะด้วยกลองศึกยังตีเร่งอยู่เสมอ ทัพเรือจะถอยก็ไม่ได้ ต้องทนแจวดื้อเข้าไปตามเสียงกลองอาญาสิทธิ์แม่ทัพญวน ขณะนั้นพลทหารในเรือรบญวนถูกปืนตายมากนัก ที่ตายก็ตายไป ที่เป็นอยู่ก็ต้องเร่งแจวเรือรบเข้าไปเสมอ ถอยไม่ได้ หยุดไม่ได้ ด้วยเกรงอำนาจแม่ทัพญวนยิ่งนัก เรือรบอุตสาหะแจวฝ่ากระสุนปืนไทยขึ้นมาถึงตลิ่งข้างเหนือเมืองโจดก แม่ทัพเรือญวนจึงสั่งให้นำเรือรบทุกลำจอดเข้าที่ตลิ่ง หมายใจว่าจะขับพลทหารเรือให้ขึ้นบก ยกเข้าตีหักปล้นเมืองโจดกในเวลากลางวัน โดยความกล้าสามารถของญวนเป็นกำลังยิ่งนัก
 ฝ่ายพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล นายทัพรักษากำแพงด้านเหนือ เห็นญวนกล้าฝ่ากระสุนปืน ดื้อให้เรือรบแจวเข้ามาจอดถึงตลิ่งแล้ว เตรียมทหารจะยกขึ้นบกมาตีเมืองโจดกดังนั้น จึงสั่งให้พลทหารไทยยกออกนอกเมือง ๖๐๐ คน ถือสีชุกแตะบังกระสุนปืน แล้ววิ่งกรูกันลงไปที่ตลิ่ง นั่งแอบกองมูลดินที่พูนยกไว้ดังคันนาที่ตลิ่งหน้าเมืองโจดกนั้น ทหารทั้ง ๖๐๐ คนนำปืนคาบศิลานั่งยิงที่คันดินริมตลิ่ง ถูกญวนในเรือรบโดยใกล้ ๆ จึงตายมาก ญวนยังไม่ทันจะขึ้นบกได้เลยแต่สักคนหนึ่ง ขณะนั้นแม่ทัพญวนเห็นดังนั้นจึงตีกลองสัญญาให้ล่าทัพ ถอยเรือรบออกจากตลิ่ง แล้วพวกทหารญวนจึงได้นำไม้ขอนลูกกลิ้งใหญ่กลิ้งไปที่แคมเรือข้างนอก ให้เรือเอียงตะแคงไปข้างนอก ให้กราบเรือข้างในขึ้นรับกระสุนปืนไทย ทำดังนั้นทุกลำ ปรารถนาจะให้กราบเรือข้างในบังกระสุนปืนกันภัยพลทหาร แต่พอล่าถอยเรือออกไปจากตลิ่งได้ห่างทางปืนไทยแล้ว ก็ลอยลงไปบ้างนั่งแจวตามกราบเรือข้างนอกที่เอียงนั้นบ้าง พอเรือรบญวนถอยออกห่างจากตลิ่งหน้าเมืองโจดกได้แล้ว ญวนก็เห็นว่าพ้นทางปืนแล้ว จึงลุกขึ้นยืนแจวพร้อมกัน ล่าถอยเรือรบลงไป ไม่ได้อยู่สู้รบกับไทย ครั้งนั้นที่เมืองโจดกมีปืนใหญ่มากอยู่ก็จริง แต่ว่ากระสุนปืนที่ใหญ่แท้นั้นหามีไม่ จึงมิได้ยิงเรือรบญวนที่ล่าถอยไปให้เสียโดยมาก ฝ่ายญวนตีเมืองโจดกไม่ได้แล้วก็ล่าถอยเลิกทัพกลับไปยังค่ายเก่าที่เกาะแตง (ญวนเรียกว่าเกาะเจียนซาย)
 ฝ่ายกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังที่ยกเข้าคลองขุดใหม่ไปนั้น ครั้นไปถึงกลางย่าน ได้ยินเสียงปืนที่เมืองโจดกยิงโต้ตอบกันกับญวนนั้น พวกทัพเรือก็สำคัญคิดเข้าใจว่าญวนยกทัพบกทัพเรือมาตีเมืองโจดกแล้ว คงจะยกเลยมาตามตีพวกทัพเรือเราด้วยเป็นแน่ เมื่อพลทัพเรือไทยคิดดังนั้นแล้ว ก็รีบเร่งรีบแจวมาถึงกลางย่านบ้าง ถึงต้นคลองบ้าง ที่นั้นเป็นที่ตื้นดอน น้ำก็น้อย ครืดท้องเรือรบใหญ่ ๆ ไปทุกลำ พวกเรือรบไทยทั้งหลายเหล่านั้น บ้างแย่งชิงกันจะไปก่อน บางพวกก็แจวถ่อค้ำแข่งแย่งชิงกันขึ้นหน้า ปรารถนาจะไปให้พ้นภัยญวนที่จะตามมา ครั้งนั้นเรือรบรีบเร่งแข่งแย่งกันขึ้นหน้าไปก่อน จนโดนกระทบกระทั่งศีรษะแตก กราบพัง หางเสือหัก เป็นอันตรายหลายลำเพราะชิงแย่งกันไป จนเรือทั้งปวงนั้นมาถึงย่านกลางพร้อมกัน ก็อัดแอกันเข้าเต็มคลอง ไปไม่ได้ ติดตื้นอยู่พร้อมกันทุกลำ จนได้เกิดทะเลาะวิวาทบาดหมางกันขึ้นหลายพวก เกือบจะฆ่าฟันกันขึ้นเอ ง ด้วยต่างคนต่างมีอำนาจใหญ่โตด้วยกันทุกพวก เพราะแตกร้าวความสามัคคีซึ่งกันและกันมาแต่ก่อน..........”
 * * น่าชื่นชมกองทัพเรือญวนที่ยกติดตามตีไทยมาอย่างมีระเบียบวินัย ขบวนเรือจัดได้สวยงามรัดกุมมาก ในการยกเข้าโจมตีหมายหักเอาเมืองโจดกนั้น เขาโถมกำลังเข้าโจมตีอย่างไม่กลัวตาย เพราะเขากลัวแม่ทัพมากกว่ากลัวความตายจากลูกปืนทหารไทย จิตใจทหารญวนเด็ดเดี่ยวมาก ที่ตายก็ตายไป ที่อยู่ก็แจวจ้ำเรือบุกเข้าไป จนสามารถฝ่ากระสุนปืนเข้าถึงตลิ่งจะยกขึ้นบกปีนกำแพงเมืองแล้ว ดีที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดคาดการณ์ได้ถูกต้อง จึงให้ทหารทำคันดินไว้ป้องกันศัตรูจะจู่โจม ญวนถูกทหารไทยใช้คันดินเป็นที่กำบังแอบยิงญวนตายเป็นเบือ ขึ้นจากเรือไม่ได้เลยสักคนเดียว จึงล่าทัพถอยไปตั้งอยู่ในค่ายเก่าที่เกาะแตง กลางคลองวามะนาว ฝ่ายทัพเรือไทยที่ถอยหนีญวนอย่างไร้ระเบียบวินัย ทหารระดับนายทัพนายกองส่วนมากขี้ขลาดตาขาว เร่งหนีเอาตัวรอด จนเรือชนกันเองพังเสียหายไปหลายลำ อย่างนี้เรียกกันว่าหนีอย่าง “หางจุกตูด” กำลังทะเลาะวิวาทกันเองอยู่กลางน้ำแล้ว ผลจะลงเอยกันอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, หนูหนุงหนิง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖๙ -
เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ยังไม่ท้อ จะรบต่อตีศึกฮึกกำแหง สั่งทัพเรือเร่งรัดรีบจัดแจง ซ่อมแซมแต่งเรือรบให้ครบครัน
จะตีค่ายรายทางเช่นครั้งก่อน มีไซ่ง่อนเป็นเป้าเข้าตั้งมั่น แม่ทัพเรือรับทำตามสั่งนั้น เตรียมให้ทันตามนัดอย่างรัดกุม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่... กองทัพเรือญวนยกตามมาหมายปล้นชิงเมืองโจดกคืน แม่ทัพญวนตีกลองศึกเร่งให้ญวนแจวเรือฝ่ากระสุนปืนไทย พร้อมยิงปืนโต้ตอบ ทหารไทยบนเชิงเทินป้อมกำแพงเมืองโจดกระดมยิงปืนลงมาถูกพลทหารเรือญวนตายเป็นอันมาก แต่ญวนไม่ย่อท้อ ที่ตายก็ตายไป ที่อยู่ก็แจวเรือฝ่ากระสุนปืนที่ระดมยิงลงมาเป็นห่าฝน จนเรือเข้าถึงตลิ่งเตรียมจะขึ้นบก แต่ถูกทหารไทยที่แอบซ่อนอยู่หลังคันดินริมตลิ่งระดมยิงล้มตายเป็นเบือ ไม่สามารถจะขึ้นจากเรือได้เลยสักคนเดียว แม่ทัพเรือญวนเห็นเช่นนั้น จึงตีกลองสัญญาล่าทัพกลับไปเกาะแตง ฝ่ายทัพเรือไทยที่ล่าถอยเข้าคลองขุดใหม่หมายไปเมืองบันทายมาศ เมื่อได้ยินเสียงปืนยิงโต้ตอบกันดังมาจากเมืองโจดก ก็รู้ว่าญวนตามมาแล้ว จึงเร่งแจวหนีญวนอย่างไร้ระเบียบ แย่งชิงกันขึ้นหน้า จนเรือเกิดการกระทบกระทั่งชนกันเสียหายไปหลายลำ และเกิดการทะเลาะวิวาทถึงกับจะฆ่าฟันกันเองแล้ว วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ........
 “ ....ครั้นเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเรือตามเข้าไปทันในคลอง ได้ทราบการดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้กองช้างเขมรเมืองนครพนมเปญที่มาช่วยทัพบกคราวตีค่ายปากคลองวามะนาวสะแดกนั้น ให้แบ่งคนและช้างมาช่วยชักรากเรือมีชื่อทั้งหลายที่ติดตื้นนั้น ให้ตกลึกไปเมืองบันทายมาศโดยเร็ว แล้วกองช้างนั้นให้เดินบกไปทางเมืองกำปอด ฝ่ายพระคชินทรานุรักษ์เขมรแม่กองช้างเมืองพนมเปญ ได้ทราบคำสั่งเจ้าพระยาพระคลังแล้ว จึงแบ่งช้าง ๒๐ เชือก ให้หลวงพิทักษ์คชินทร์เขมรปลัดกองช้าง คุมช้าง ๒๐ เชือกแยกลงไปช่วยชักรากเรือรบทั้งปวงให้ตกน้ำลึกแล้วทุกลำ หลวงพิทักษ์คชินทร์ก็คุมกองช้าง ๒๐ เชือกเดินทางบกมาทางป่าแขวงเมืองกำปอด
 ขณะนั้นฝ่ายเขมรป่าดงที่แขวงเมืองกำปอดคิดการกำเริบเป็นกบฏขึ้น จึงพาพรรคพวกที่ร่วมคิดเป็นโจรกรรมได้มากแล้ว ยกมาพาปืนลอบยิงถูกหลวงพิทักษ์คชินทร์เขมรปลัดกองตายอยู่บนหลังช้าง แล้วยิงพวกเขมรไพร่ในกรมช้างนั้นตายมาก จึงยกเข้าตีชิงปล้นช้างไปได้สิ้น จับพวกเขมรเมืองพนมเปญที่คุมช้างมานั้น ฆ่าตายเสียทั้งหมด ๕๐ คน ฝ่ายเขมรป่าดงที่กำปอดกวาดต้อนพาช้างไปสิ้นทั้ง ๒๐ เชือก
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลัง และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองเรือ ได้พักอยู่ที่เมืองบันทายมาศแล้ว เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้ขุนอุดมภักดีกับหมื่นพิทักษ์นที คุมเรือแหวดสิบแจวเป็นเรือเร็วมีปืนขานกยางหน้าเรือลำละกระบอก มีพลทหารแจวครบทั้งสิบแจว ให้คุมไปคนละลำ ให้รีบไปคอยสืบราชการอยู่ที่บ้านตลิ่งชันใกล้เมืองโจดก คอยฟังเหตุการณ์ทัพญวนจะยกมาอีกหรือจะแปรเป็นประการใด ให้ผลัดเปลี่ยนกันทั้ง ๓ ลำมาแจ้งข้อราชการข่าวทัพญวนให้แม่ทัพที่เมืองบันทายมาศทราบเหตุการณ์อยู่เนือง ๆ
ภายหลังเจ้าพระยาบดินเดชาอยู่ที่เมืองโจดก จึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่ง มอบให้หมื่นพิทักษ์นทีลงเรือเร็วมาส่งให้เจ้าพระยาพระคลังที่เมืองบันทายมาศ ในหนังสือนั้นมีใจความว่า
 “หนังสือแม่ทัพบกแจ้งข้อราชการมายังท่านแม่ทัพเรือได้ทราบ ด้วยเมื่อ ณ วันศุกร์เดือนสามแรมสิบสามค่ำนั้น อ้ายญวนยกทัพเรือมาตีเมืองโจดกอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพบกได้แต่งการรักษาป้องกันบ้านเมืองไว้ได้โดยมั่นคงแล้ว ได้แต่งนายทัพนายกองออกสู้รบกับญวนเป็นสามารถ พลทหารไทยได้ยิงปืนโต้ตอบกับญวนตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เรือรบญวนถูกกระสุนปืนยับเยินแตกหักเสียหายหลายลำ เวลาบ่ายอ้ายญวนก็ล่าทัพถอยกลับไปหมดแล้ว แต่การต่อไปข้างหน้านั้น ท่านแม่ทัพบกคาดคะเนเห็นว่า อ้ายญวนคงจะยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมมาตีเมืองโจดกอีกเป็นมั่นคง ถ้าอ้ายญวนยกมาอีก คราวนี้คงจะเป็นศึกใหญ่ เห็นว่าจะได้ทำยุทธนาการกับญวนเป็นสามารถ เพราะว่าเดือนสี่ข้างแรมต่อกับเดือนห้าข้างขึ้นนั้น มีน้ำหลากมาแต่แม่น้ำโขงและทะเลสาบมากหลายแควอยู่ เพราะเดือนสี่เดือนห้าต่อกันนี้มีฝนตกมากชุกชุมอยู่แล้ว คงจะมีน้ำเหนือหลากมาทุกแคว เพราะฉะนั้นจึงคิดเห็นว่า ถ้ามีน้ำเหนือหลากมาเมื่อใด เรือใหญ่จะเดินในคลองได้ทั่วทุกคลอง อ้ายญวนคงจะยกทัพเรือใหญ่มาได้ตามคลองทุกทิศทุกทาง คงจะได้ทำมหายุทธนาการศึกใหญ่กับอ้ายญวนในคราวฤดูน้ำนี้เป็นแน่ ขอให้ท่านแม่ทัพเรือบำรุงทแกล้วทหารไว้ให้รื่นเริง กับให้นายทัพนายกองไปจัดแจงตั้งสิ่งซ่อมแซมเรือรบใหญ่น้อยที่ชำรุดทรุดโทรมให้แล้วเสร็จแต่ในเดือนสี่ข้างขึ้นนี้ให้ได้ กับขอให้ท่านแม่ทัพเรือใช้ให้พระยาตราดคุมพลเมืองตราดทั้งสิ้น ไปตั้วสิวซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมรที่นักองจันทร์สร้างขึ้นไว้ ตกค้างอยู่ที่เมืองกำปอด และเมืองกะพงโสมนั้นมีอยู่หลายสิบลำ ถ้าจะเลือกแต่พอใช้ได้คงจะได้เรือเกือบร้อยลำ ถ้าพระยาตราดทำการซ่อมแซมเรือรบลำเก่าเขมรเสร็จแล้ว ได้มากน้อยเท่าใดให้คุมมาส่งไว้ที่เมืองบันทายมาศ แล้วให้เจ้าคุณจัดกระสุนดินดำ เครื่องศาสตราวุธและเชือกเสาเพลาใบ เสบียงอาหาร ไพร่พล ลงบรรทุกเรือรบเก่าใหม่ให้พร้อมกันเสร็จ ให้รีบยกทัพเรือมาทางคลองขุดใหม่โดยน้ำมีมากแล้ว ให้รีบยกมาให้ถึงเมืองโจดกในเดือนสี่ข้างแรม หรือเดือนห้าข้างขึ้นอ่อน ๆ ให้จงได้ ถ้าทัพเรือยกมาพร้อมกันเมื่อใด ทัพบกก็จะได้ยกไปพร้อมกันเมื่อนั้น จะได้ช่วยกันยกลงไปตีค่ายตามหัวเมืองรายทาง ตลอดไปถึงเมืองไซ่ง่อนอีกสักครั้งหนึ่ง
ครั้นทัพบกทัพเรือจะไม่ยกขึ้นไปตีญวนให้ถึงเมืองไซ่ง่อนอีกก็ไม่ได้ เพราะกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมากอง ๑ ทัพพระยามณเฑียรบาลกอง ๑ ทัพพระยาราชโยธากอง ๑ ทัพพระยานครสวรรค์กอง ๑ ทัพเหล่านี้มีรี้พลถึงสองหมื่นสามหมื่น เป็นทัพบกได้ยกขึ้นไปช่วยเมืองไซ่ง่อน แต่จะถึงหรือยังก็ไม่รู้ หรือจะมีเหตุการณ์กลางทางประการใดก็ยังไม่ทราบข่าวคราวเลย ไม่เห็นใช้ใครมาแจ้งข้อราชการให้ทราบบ้าง เป็นการยกทัพขึ้นไปแล้วก็เงียบ ๆ ไปทุกทัพทุกกอง เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นทัพผมและทัพเจ้าคุณ จะต้องยกขึ้นไปตีค่ายตามรายทางให้ตลอดถึงเมืองไซ่ง่อนให้จงได้ จะได้ฟังกิตติศัพท์กองทัพพวกที่ยกล่วงหน้าไปก่อนนั้น จะเป็นประการใดบ้าง เมื่อเจ้าคุณพระคลังได้ทราบหนังสือผมดังนี้แล้ว จะประพฤติตามหรือจะคิดยักย้ายอย่างใด ขอให้ตอบมาให้แจ้งโดยเร็วเทอญ”
 เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบหนังสือบังคับสั่งราชการทัพของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาดังนั้นแล้ว จึงเขียนหนังสือตอบเป็นใจความว่า
“กระผมจะกระทำตามหนังสือบังคับสั่งของใต้เท้ามีบัญชามานั้นทุกประการ”
ได้มอบหนังสือให้หมื่นพิทักษ์นทีนำไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่เมืองโจดกในคราวนั้นแล้ว
 ครั้งนั้น พระยาจันทรบุรีอยู่ในกองทัพเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองบันทายมาศ จึงมีหนังสือให้หลวงนราภักดีไปสั่งให้หลวงยกกระบัตรที่รักษาเมืองจันทบุรีนั้น ให้ถ่ายเสบียงอาหารบรรทุกเรือแง่ซาย ๒๓ ลำ มาส่งยังกองทัพใหญ่ที่เมืองบันทายมาศ ครั้งนั้น หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีเป็นแม่กองคุมเรือลำเลียงข้าวสาร ๒๓ ลำมาถึงเมืองกำปอด อ้ายเขมรที่เมืองกำปอดคบคิดกันเป็นศัตรูขึ้นมาก จึงพาสมัครพรรคพวกโจรมาแอบลอบเอาปืนยิงถูกไพร่พลที่คุมเรือลำเลียงข้าวสารมานั้น เจ็บลำบากมาก และตายก็มาก ไพร่พลในกองเรือลำเลียงที่เหลือจากเจ็บตาย เห็นอ้ายเขมรทำการเป็นจลาจลที่กลางทางดังนั้นแล้ว ก็พากันตกใจกลัวอ้ายเขมรเหล่าร้ายเป็นกำลังยิ่งนัก ชวนกันทิ้งเรือขึ้นบกหนีไปเอาชีวิตรอดได้บ้าง ๒๒ คน บางคนที่ขึ้นบกไม่ทันเพราะเป็นการจวนตัว ก็พากันโดดลงน้ำในคลองว่ายหนีไปโดยทิศทางต่าง ๆ บ้าง ไพร่พลในกองทัพลำเลียงแตกกระจัดกระจายระส่ำระสาย ไม่เป็นอันจะต่อสู้กับพวกเขมร ......”
 *** เป็นอันว่า ญวนยกทัพเรือมาโจมตีเมืองโจดกอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วก็พ่ายกลับไปอีกครา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเตรียมการวางแผนยกทัพบกทัพเรือตีค่ายญวนตามรายทางดะไปจนถึงเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง จึงมีหนังสือนัดหมายกับเจ้าพระยาพระคลัง ให้จัดแต่งกองทัพเรือให้พร้อมเพื่อจะยกขึ้นไปพร้อมกันในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงข้างหน้า เจ้าพระยาพระคลังรับดำเนินการตามคำสั่งแม่ทัพบกทันที พระยาจันทบุรีสั่งให้หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีจัดลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพใหญ่ที่เมืองบันทายมาศ เมื่อกองลำเลียงเสบียงอาหารมาถึงเมืองกำปอด ก็ถูกโจรเขมรดักปล้น ไพร่พลที่คุมเสบียงอาหารมานั้นพากันตกใจกลัวโจรเขมร ขึ้นบกหนีไปบ้าง โดดลงน้ำหนีบ้าง ไม่มีใครคิดจะต่อสู้ป้องกันเสบียงอาหารเลย เรื่องจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ..
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, หนูหนุงหนิง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๐ -
โจรเขมรขี่ควายลุยไม่เลี้ยง ปล้นเสบียงเรือไทยในที่ลุ่ม เรือลำเลียงเสียหายไร้คนคุม ทหารหนุ่มไทยต่างยังอ่อนแอ
จัดทัพตามเสบียงคืนไม่ชื่นชอบ เขมรลอบยิงให้ไทยร่อแร่ ทหารมากโจรน้อยยังซุ่มรังแก เพราะไทยแพ้ชั้นเชิงความเชี่ยวชาญ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่.. หลังจากที่ญวนยกทัพเรือมาโจมตีเมืองโจดกอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วก็พ่ายกลับไปอีกครา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเตรียมการวางแผนยกทัพบกทัพเรือตีค่ายญวนตามรายทางดะไปจนถึงเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง จึงมีหนังสือนัดหมายกับเจ้าพระยาพระคลัง ให้จัดแต่งกองทัพเรือให้พร้อมเพื่อจะยกขึ้นไปพร้อมกันในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงข้างหน้า เจ้าพระยาพระคลังรับดำเนินการตามคำสั่งแม่ทัพบกทันที พระยาจันทบุรีสั่งให้หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีจัดลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพใหญ่ที่เมืองบันทายมาศ เมื่อกองลำเลียงเสบียงอาหารมาถึงเมืองกำปอด ก็ถูกโจรเขมรดักปล้น ไพร่พลที่คุมเสบียงอาหารมานั้นพากันตกใจกลัวโจรเขมร ขึ้นบกหนีไปบ้าง โดดลงน้ำหนีบ้าง ไม่มีใครคิดจะต่อสู้ป้องกันเสบียงอาหารเลย เรื่องจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
 “ ......เขมรเห็นได้ทีมีช่องโอกาสดังนั้นแล้ว จึงขี่กระบือ ๓๘ กระบือ ลงลุยในลำคลอง ไล่ยิง แทง ฟัน พวกกองลำเลียงเรือข้าวสารแตกกระจัดกระจายไปต่าง ๆ หนีลงน้ำและแอบแฝงอยู่ในเรือบ้าง ฝ่ายเขมรอีกพวกหนึ่งนำช้างพลายพัง ๑๖ เชือกลงลุยในคลอง ไล่ยิง แทง ฟัน พวกไทยกองลำเลียงตายในน้ำ ๕๖ คน เขมรที่ขี่กระบือนั้นก็นำกระบือลุยไล่ตามจับเรือลำเลียงได้ทั้งสิ้น พบคนที่แอบอยู่ในเรือนั้นเจ็บลำบากมีบาดแผล ๓๐ คน ก็ไม่ฆ่า พาพวกป่วยไข้ ๓๐ คนมารวบรวมไว้ในเรือลำหนึ่งสองลำ แต่คนไทยที่ไม่มีบาดแผลเจ็บป่วยแอบอยู่ในเรือต่าง ๆ นั้น ๒๔ คน แต่ล้วนถืออาวุธครบมือทุกคน พวกเขมรเห็นดังนั้นก็จับคนไทย ๒๔ คนมาฟันแทงฆ่าตายเสียหมด ฝ่ายพวกเขมรเก็บริบข้าวปลาอาหารในเรือลำเลียงไปทั้งสิ้น แต่เรือลำเลียง ๒๓ ลำนั้น เขมรบรรทุกข้าวไปบ้าง กระทุ้งท้องเรือทะลุให้จมเสียบ้าง พวกในไทยเรือลำเลียงนั้นหนีขึ้นบกไป จึงได้รอดชีวิตกลับมาเมืองบันทายมาศบ้าง กลับมาเมืองจันทบุรีบ้าง
 ขณะเมื่อเขมรมาทำการจลาจลยิงแทงฟันพวกกองลำเลียงนั้น หลวงยกกระบัตรบุตรพระยาจันทบุรีเป็นนายกองคุมเรือลำเลียงมา เห็นว่าพวกเขมรทำแก่ไทย ไทยตายมากดังนั้นแล้ว ก็ตกใจกลัวรีบลงเรือเล็กแปดแจวหนีมาก่อนแต่แรกรบกัน ทิ้งให้แต่ไพร่พลอยู่ต่อสู้กับพวกศัตรูเขมร เขมรก็ฆ่าไพร่ไทยพาเรือลำเลียงไปได้สิ้น หลวงยกกระบัตรหนีมาถึงเมืองบันทายมาศได้แล้ว ไปแจ้งข้อราชการแก่เจ้าพระยาพระคลัง
 เจ้าพระยาพระคลังมีบัญชาสั่งให้พระปลัดเมืองตราด บุตรผู้ใหญ่พระยาจันทบุรีและเป็นพี่ชายต่างมารดากับหลวงยกกระบัตร ให้พระปลัดเมืองตราดคุมไพร่พล ๓๐๐ กองหนึ่ง แล้วให้เป็นนายทัพบกไปติดตามตีเรือลำเลียงอาหารที่เขมรตีไว้นั้นคืนมาให้จงได้ ถ้าไม่ได้เสบียงคืนมาก็ให้ตามไปจับพวกเขมรเหล่าร้ายที่เมืองกำปอดให้ได้มาบ้าง ให้พระปลัดรีบยกไปทางบกก่อนโดยเร็ว
 แล้วสั่งให้หมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราดคุมไพ่พล ๒๐๐ คน เป็นนายทัพบกยกเพิ่มเติมไปติดตามเรือลำเลียงอีกกองหนึ่ง แต่ให้ไปทางด้านตะวันตก ให้ยกไปร่วมกันกับพระปลัดที่เมืองกำปอดด้านเหนือ จะได้ช่วยกันค้นหาพวกเขมรผู้ร้ายให้ได้มาให้จงได้
 ฝ่ายพระปลัดเมืองตราดชำนิชำนาญทางเดินป่าเขมร จึงเดินไปถึงเมืองเขมรเมืองกำปอดก่อนกองหลัง กองพระปลัดยกเดินไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง เป็นแม่น้ำเก่าตื้นมาก อยู่ในป่าแขวงเมืองกำปอด และพระปลัดถึงฝั่งแม่น้ำเก่าเขมรเรียกชื่อว่า “กำแพงดำริฉลอง” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ท่าช้างข้าม” เป็นเวลาพลบค่ำ พระปลัดสั่งให้ไพร่พลหยุดกองทัพพักอยู่ที่หาดทรายคืนหนึ่ง ในคืนวันนั้น เขมรป่าดงในแขวงเมืองกำปอด ลอบนำปืนคาบศิลามาแอบต้นไม้ใหญ่ที่บนตลิ่ง ยิงลงมาถูกผู้คนในกองทัพพระปลัดตาย ๓ คน ขณะนั้นไพร่พลในกองทัพตกใจระส่ำระสายเรไปรวนมาอยู่ตามหาดทราย ในเวลากลางคืนวันนั้น เขมรนำปืนยิงสาดลงมายังรุ่ง พระปลัดเห็นดังนั้นแล้ว จึงแต่งให้หลวงอภัยภักดีกับหลวงศรีสงคราม คุมไพร่พลถือปืนนกสับคาบศิลาครบมือกัน ยกขึ้นไปบนตลิ่งเวลาสองยาม เพื่อจะได้ต่อสู้กับศัตรูเขมรในที่นั้น แต่หลวงอภัยภักดีกับหลวงศรีสงครามคุมกองทหารยกขึ้นไปถึงกึ่งตลิ่ง เขมรนำปืนยิงสาดลงมามาก กองทัพไทยทั้งสองกลัวปืนเขมร ก็ยกขึ้นไปแอบซุ่มอยู่ที่ใต้กอตะไคร่น้ำ ไม่อาจสามารถจะยกขึ้นไปต่อสู่กับเขมรบนตลิ่งได้ เพราะความขลาดกลัวพวกเขมร เขมรก็ยิ่งมีน้ำใจกำเริบ นำปืนยิงปรักปรำสาดลงมาจากบนตลิ่งยังรุ่งจนสว่าง ครั้งนี้รี้พลในกองทัพพระปลัดตายมาก
(คำกลางขวางถามเข้ามาว่า ครั้งนั้นกองทัพไทยพระปลัดเข้าที่อับจนแล้ว และไม่ต่อสู้ด้วย ก็เหตุใดเล่าพวกเขมรจึงนำปืนยิงอยู่บนตลิ่งยังรุ่งจนสว่างแล้วก็หนีไปหมดนั้นเพราะเหตุใดฤๅ? ขอถามอีกว่า ทำไมพวกเขมรจึงไม่ยกลงไปยิงแทงฟันฆ่ากองทัพไทยที่ไม่ต่อสู้ ตั้งอยู่ที่หาดทรายในลำแม่น้ำเก่านั้นให้ตายเสียหมดจะมิดีหรือ ? เขมรตั้งยิงอยู่บนตลิ่งยังรุ่งให้เปลืองลูกดินและอดนอนด้วยเหล่านั้นเหตุใด? มีคำแก้ตอบว่า เห็นทีพวกเขมรที่มาแอบลอบยิงไทยนั้นจะมีพวกเขมรมาน้อยกว่าไทยมากนัก เพราะฉะนั้นพวกเขมรจึงไม่กล้าสามารถลงไปต่อรบสู้หน้าสู้ตากับไทย เป็นแต่ลอบยิงอยู่บนตลิ่งไกล ๆ ทำอำนาจขู่ให้ไทยกลัว จะได้กลับทัพไปเสียหมด เขมรคิดจะไม่ให้ไทยตามไปพาเรือลำเลียงของไทยกลับคืนมาได้ จึงทำอำนาจต่าง ๆ นานา)
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า เขมรที่ลอบยิงก็หายไปหมดทุกทิศทุกทาง ฝ่ายพระปลัดเมืองตราดก็คุมไพร่พลยกข้ามแม่น้ำเก่าท่าช้างข้าม เดินทัพไปตามทางป่าระนาม ปรารถนาจะไปตามเรือเสบียงอาหารที่เขมรตีไปนั้น ครั้นเดินกองทัพไปถึงห้วยลำละหานแห่งหนึ่ง ที่นั้นเป็นลำห้วยลำธารที่น้ำไหลมาแต่ภูเขาทิศตะวันออก ที่ลำธารนั้นกว้างประมาณ ๑๗ วาเศษ ฝั่งลำธารนั้นสูงประมาณ ๑๐ วาบ้าง ๕ วาบ้าง เป็นศิลากองตามฝั่งบ้าง เป็นดินปนกรวดบ้าง ตามฝั่งนั้นตลอดไปในลำธาร ในลำธารนั้นมีน้ำเป็นลำห้วยเป็นห้วง ๆ ลึก ๑ ศอกบ้าง ลึก ๒ ศอกบ้าง เป็นอย่างตื้นเป็นแห่ง ๆ เป็นตอน ๆ ไปในลำธารนั้น ๆ ที่อย่างลึก ๘ ศอก ๑๐ ศอกมีตลอดเป็นพืดเนื่องกันมากกว่าที่ตื้น ๆ มีน้อยแห่งที่ แต่ที่ข้ามครั้งนั้นพระปลัดต้อนไพร่พล ๓๐๐ คนลงในลำธาร เพื่อจะข้ามลำห้วยไปขึ้นที่ฟากข้ามเหนือป่ากำปอดในดงตะเคียน ขณะข้ามลำห้วยนั้น ไม่ได้พิจารณาทางที่ข้ามตามฝั่งนั้น ว่าจะมีทางหนีทีไล่ที่ไหนบ้าง มีความเคลิ้มเขลาไปมาก จึงได้ต้อนไล่ไพร่พลลงในลำธาร ให้เดินเลียบไปในลำห้วย หมายใจว่าจะหาที่ตื้น จะได้ข้ามลำห้วยลัดขึ้นบนตลิ่งเดินไปตามฝั่งลำธารนั้นต่อไป
 ขณะเมื่อไพร่พลทหารไทยกำลังเดินเลียบอยูริมห้วยนั้น ฝ่ายเขมรเหล่าร้ายพวกที่ยิงไทยเมื่อวันก่อนนั้น เขมรพวกนั้นพากันมาแอบซุ่มอยู่ในป่า เห็นไทยลงมาในลำห้วยหมดทั้ง ๓๐๐ คนแล้ว เขมรก็กรูกันออกมาจากวอกเขาในป่า วิ่งมาตัดต้นไม้ใหญ่และต้นยาง โค่นล้มลงให้ปิดซอกทางที่บนริมฝั่งลำห้วยเสียหลายแห่งตามที่ทางท่าไทยลงไปนั้นทุกช่องทุกท่า และพวกเขมรอีกพวกหนึ่งก็ไปตัดต้นไม้ใหญ่ ปิดช่องทางตามฝั่งลำห้วยข้างเหนือเสียหลายท่าหลายทางทุกช่อง เขมรทำการตัดต้นไม้ปิดช่องปิดท่าตามฝั่งเหนือและฝั่งใต้ ไม่ให้ไทยขึ้นจากลำห้วยลำธารได้นั้น ก็เพราะจะคิดทำร้ายแก่ไทยให้ตาย ขณะกองทัพไทย ๓๐๐ คนเดินอยู่ในลำห้วยนั้น เขมรเห็นได้ทีก็พากันมาประมาณ ๗๐ คนเศษ ช่วยกันกลิ้งก้อนศิลาบนฝั่งลำห้วยให้ตกลงมาทับไพร่พลไทย ซึ่งเดินอยู่ในพื้นลำห้วยนั้นเจ็บป่วยตายก็มีเป็นอันมาก เขมรบางพวกประมาณ ๓๐-๔๐ คน นำปืนคาบศิลาและหน้าไม้มายิงระดมลงมาแต่บนฝั่งลำห้วยเป็นอันมาก กระสุนปืนและลูกหน้าไม้ถูกพวกไทยที่กำลังเดินอยู่ในลำห้วยไม่รู้ตัวนั้น ตายมากกว่า ๕๐ คนเศษ พวกกองทัพไทยที่เหลือตายเดินอยู่ในลำห้วยนั้น ก็นำปืนคาบศิลายิงขึ้นไปบ้าง แต่หาถูกพวกเขมรไม่ เพราะมีต้นไม้และก้อนศิลาบนฝั่งบังกระสุนปืนไทยไม่ถูกเขมรเลย.........”
 *** เห็นสถานภาพทหารไทยในกองทัพเรือแล้ว ไม่น่าจะไปรบญวนได้ เพียงกองโจรเขมรขี่ควายลุยโคลนลงมาปล้นเรือลำเลียงเสบียงอาหารไทย ก็ยังสู้ไม่ได้ ถูกโจรเขมรขี่ควายปล้นเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปหมด มาถึงกองทัพไทยเดินบกไปติดตามเอาเรือเสบียงคืนนั่นเล่า นายกองทัพไทยก็มีความฉลาดน้อยกว่าเขมรป่าดง ถูกลอบยิงตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า นายทัพนำไพร่พลเข้าสู่จุดอับตั้งแต่ลงไปนอนพักแรมในหาดทรายโล่งแจ้ง ให้โจรเขมรแอบซุ่มยิงเล่นทั้งคืน กลางวันก็พาไพร่พลเดินเลียบตามลำธาร เป็นเป้าให้เขมรแอบซุ่มยิงได้อีก ยังไม่รู้ว่ากองทัพของพระปลัดเมืองตราดรอดพ้นมือโจรเขมรไปได้อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ......
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ มีนาคม ๒๕๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, หนูหนุงหนิง, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๑ -
ทหารไทยอ่อนแอแพ้โจรเขมร จึงถูกเข่นถูกฆ่าน่าสงสาร ตายเกือบครบสามร้อยย่อยแหลกลาญ นายทัพซานซมตนซ่อนพ้นตาย
ทัพที่สองนายเด่นยศเป็น “หมื่น” สามารถคืนแค้นเขมรประเคนถวาย เฉลียวฉลาดคาดการณ์บั้นต้นปลาย กำลังคลายปมของกลุ่มกองโจร |
อภิปราย ขยายความ .....................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่.. หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี คุมกองเรือลำเลียงเสบียงไปส่งเข้ากองทัพเรือที่เมืองบันทายมาศ ถูกกองโจรเขมรป่าดงเมืองกำปอดดักปล้นชิงไปได้ทั้งหมด เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้พระปลัดเมืองตราดยกกองกำลัง ๓๐๐ คนไปติดตามเอาเรือลำเลียงเสบียงอาหารคืน พระปลัดพากองทัพไปถึงเมืองกำปอด พักแรมคืนกลางหาดทรายริมแม่น้ำเก่า ถูกเขมรแอบซุ่มยิงตลอดคืน พลล้มตายไปหลายคน รุ่งขึ้นก็พากองกำลังเดินเลียบริมลำธารไปหาแหล่งที่เดินข้ามลำธาร ก็ถูกเขมรตามซุ่มยิงอีก วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “........ครั้งนั้น เขมรบางพวกตัดไม้รวกเสี้ยมเป็นหลาวพุ่งลงมาแต่บนฝั่งลำห้วย ตกถูกกองทัพไทยล้มตายลำบากมากนัก ที่เหลือตายนั้นน้อย ก็คุมกันยิงโต้ตอบขึ้นไปพลาง เพื่อจะหาทางหนี ขึ้นจากลำห้วยมิได้แล้วรีบเดินหนีรุดวนเวียนอยู่ในลำห้วยต่อไป ถึงที่น้ำลึก ๑๐ ศอก ๓ วาในลำห้วยแห่งหนึ่ง จะเดินข้ามที่น้ำลึกก็ไม่ได้ ต้องกลับมาทางเก่า พวกเขมรเห็นดังนั้นได้ทีมีโอกาสดังนั้นแล้ว จึงนำปืนไฟและหน้าไม้ยิงระดมสาดลงไปสกัดหลังไว้ ไม่ให้พวกไทยกลับมาทางเก่าที่ตื้น ขณะนั้นพวกไทยถูกกระสุนปืนและลูกหน้าไม้เจ็บลำบากมากด้วยกัน ก็พากันตกใจกลัวสิ้นสติไม่รู้ที่จะหนีไปทางใดได้ เป็นการจวนตัวเต็มที จึงพากันหนีโดดลงที่น้ำลึกในห้วยทุกคน บ้างว่ายน้ำวนเวียนไปมาอยู่ในน้ำที่ลึกด้วยกันทั้งสิ้น เขมรเห็นไทยเข้าที่จนดังนั้นแล้ว จึงนำปืนและหน้าไม้ยิงลงไป ถูกไทยที่ว่ายน้ำอยู่ในน้ำนั้นตายมาก บางพวกก็นำหลาวไม้รวกพุ่งลงไปถูกไทยตายบ้าง เขมรบางพวกก็นำก้อนศิลาทิ้งขว้างลงไปถูกไทยที่ว่ายน้ำอยู่นั้นจมตายบ้าง ไพร่พลกองทัพไทยตายในห้วยครั้งนั้น ๒๖๖ คน ที่เหลือรอดตายอยู่นั้น ๓๔ คนทั้งพระปลัดเมืองตราดคนหนึ่งเป็น ๓๕ คน ทั้ง ๓๕ คนนั้นเที่ยวแอบแฝงซุ่มซ่อนอยู่ตามห้วยกลีบเขา ที่ไหนมีภูเขาเป็นที่กำบังก็เข้าซ่อนตัวอยู่ต่าง ๆ กันหลายแห่งในลำห้วย ฝ่ายเขมรเห็นศพไทยตายกลาดเกลื่อนไปในลำห้วยลำธารดังนั้นแล้ว เขมรก็สำคัญเข้าใจว่าไทยตายหมดไม่เหลือเลย เพราะพวกไทยที่เหลือตาย ๓๕ คนแอบซุ่มซ่อนอยู่ตามซอกห้วยเหลืบเขานั้น เขมรหาเห็นไม่ พวกเขมรเหล่าร้ายนั้นประมาณ ๗๐ คนเศษหรือ ๘๐ ราวนั้น ก็พากันลงไปในลำห้วย ช่วยกันเก็บปืนคาบศิลาและดาบที่กองทัพไทยตาย ทิ้งเรี่ยรายอยู่ในลำห้วยเก็บนำมาทั้งสิ้น บางพวกก็เก็บเสื้อกางเกงเครื่องแต่งในกองทัพไทยมาด้วยก็มาก บางพวกก็ดำลงน้ำหาปืนและดาบที่ไทยทำตกน้ำจมเสียเมื่อวิ่งหนีบ้างเมื่อว่ายน้ำหนีบ้าง
 ในวันนั้นเวลาบ่ายประมาณสามโมงเศษ พอกองทัพไทยอีกกองหนึ่ง ซึ่งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราดคุมพลทหาร ๒๐๐ คน เดินทัพยกตามมาภายหลัง ก็พอถึงฝั่งลำธารชื่อว่าลำห้วยละหานซึ่งเขมรเรียกว่า “จันเลาะ” (แปลเป็นภาษาไทยว่าลำห้วย) เป็นเวลาบ่ายแล้ว หมื่นสิทธิสงครามไล่ต้อนพลขึ้นบนลำฝั่งห้วย จะข้ามลำธารน้ำไปขึ้นฟากข้างเหนือตามทางตรงไปในป่าดงตะเคียน ขณะจะข้ามนั้นแลเห็นพวกเขมรเหล่าร้ายประมาณ ๗๐-๘๐ คนลงเก็บเครื่องอาวุธอยู่ในลำห้วย แล้วเห็นศพพวกคนไทยตายเกลื่อนอยู่ตามลำห้วยเป็นอันมาก ก็เข้าใจว่าทัพพระปลัดเมืองตราดเสียรี้พลกับเขมรหมดแล้ว หมื่นสิทธิสงครามนายทัพก็สั่งให้พลทหาร ๒๐๐ คนแยกออกเป็นปีกกา แล้วให้โห่ร้องกระหน่ำสำทับเป็นเสียงไทยพวกหนึ่ง ให้โห่ร้องเป็นเสียงญวนพวกหนึ่ง เพื่อจะให้เขมรตกใจกลัวว่าทั้งไทยทั้งญวนมาพร้อมกัน จะให้เขมรสิ้นความอาลัยห่วงใยที่จะไปพึ่งญวนนั้น จะได้สิ้นความหวังใจของเขมร เขมรจะได้อ่อนน้อมยอมแพ้แก่ไทยโดยง่าย แล้วสั่งให้พลทหารยิงปืนคาบศิลายิงระดมลงไปแต่บนตลิ่งลำห้วย กระสุนปืนไทยตกลงไปถูกเขมรล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายเขมรไม่ทันจะรู้ตัวจึงมิได้ยิงปืนโต้ตอบขึ้นมาบ้าง เป็นแต่วิ่งหนีไปในลำห้วย
ขณะนั้นพวกคนไทย ๓๔ คนเป็น ๓๕ ทั้งพระปลัดด้วยที่เหลือตายแอบซุ่มซ่อนอยู่ตามซอกห้วยหลืบเขา ได้ยินเสียงโห่ร้องเป็นเสียงไทยบ้าง เสียงญวนบ้าง แล้วก็ออกมาดู เห็นเป็นพวกเดียวกัน แลเห็นพวกเขมรศัตรูเท่านั้นถูกกระสุนปืนไทยล้มลงตายลงเป็นอันมาก เขมรที่เหลือตายก็วิ่งหนีไปแอบซ่อนซุ่มอยู่ในลำห้วย พวกไทย ๓๕ คนเห็นการเป็นดังนั้นแล้ว และมีอาวุธพร้อมมือกันทั้ง ๓๕ คน ก็ออกจากที่ซุ่มซ่อน ช่วยกันไล่ฆ่า ฟัน ยิง แทง พวกเขมรเหล่าร้ายนั้นตายสิ้น ไม่เหลือเลยแต่สักคนหนึ่ง เขมรตายในลำห้วยครั้งนั้นนับศพได้ ๗๗ คน
(เขมรตายครั้งนี้เหมือนคำสุภาษิตว่าไว้บทหนึ่งว่า ทุกขะโต ทุกขะถานัง ผู้ใดให้ทุกข์แก่ท่านฉันใดทุกข์นั้นก็จะมาถึงตัวเหมือนกัน ความข้อนี้ได้แก่เขมร เขมรให้ทุกข์แก่ไทยแล้วไม่ช้าล่วงเวลาเลย ก็เห็นในทิฏฐะเวทะนียะกรรมให้ผลมาตามทัน ไทยก็มาล้างผลาญสังหารชีวิตตอบแทนแก้แค้นบ้าง)
 หมื่นสิทธิสงครามปราบปรามพวกเขมรเหล่าร้ายตายหมดแล้ว จึงรับพระปลัดเมืองตราดและไทยที่เหลือตาย ๓๕ คนนั้นเข้าไว้ในกองทัพแล้ว ก็ยกพลทหารข้ามลำห้วยเดินทัพไปข้างเหนือ รุ่งขึ้นถึงป่าตำบลหนึ่ง เขมรเรียกชื่อว่า “ไพรพุกฉมา” (แปลเป็นภาษาไทยว่าป่าพุงดอ) หมื่นสิทธิสงครามพิจารณาดูตามภูมิลำเนาป่านั้น เห็นหญ้าตามพื้นแผ่นดินเป็นรอยทางคนเดิน หญ้าราบซ้ำเป็นแถวไป หมื่นสิทธิสงครามเป็นผู้มีวิริยะปัญญาฉลาดในการพิชัยสงคราม เมื่อเห็นหญ้าราบเป็นรอยเท้าคนเดินไปในป่าดังนั้นแล้ว ก็อาจสามารถเข้าใจว่าพวกเขมรเหล่าร้ายแอบซุ่มซ่อนด้อมมองคอยทำร้ายกองทัพไทยอยู่ที่นี้อีกเป็นมั่นคง ชะรอยพวกเขมรเหล่าร้ายเห็นกองทัพไทยเดินมาทางนี้โดยมาก มันจึงพากันหนีไปซ่อนตนอยู่ในป่าละเมาะดงพุงดอ เพื่อมันจะคอยลอบนำปืนยิงตัดท้ายพลกองทัพเรา ฝ่ายเราก็จะคิดกลอุบายซ้อนกลพวกเขมรบ้าง จึงจะจับเป็นเขมรได้บ้างแล้ว จะได้พาจำคาติดไม้ เฆี่ยนถามให้ได้ข้อความ ที่พวกมันตีปล้นพาเรือลำเลียงเสบียงอาหารของไทยไปไว้ที่ใดบ้าง แล้วจะได้ให้มันนำกองทัพไทยไปจับพวกมัน
 คิดดังนี้แล้ว จึงสั่งหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา คุมไพร่พล ๖๐ คนไปซุ่มอยู่ในป่าระนามท้ายทางที่กองทัพใหญ่เดินไปนั้น แล้วหมื่นสิทธิสงครามนายด่านแม่กองใหญ่สั่งให้เดินกองทัพเป็นลำดับไปตามทางป่าพุงดอ ฝ่ายพวกเขมรเหล่าร้ายที่แอบซุ่มอยู่ในป่าพุงดอนั้น ครั้นเห็นกองทัพใหญ่ของไทยเดินไปเป็นลำดับ พวกเขมรเหล่าร้าย ๔๐ คนที่ซุ่มอยู่ในป่ารกก็ออกมาสกัดทาง นำปืนยิงตัดท้ายพลกองทัพไทยตายลง ๒ คน เพราะพวกนั้นเดินล่าช้าอยู่สุดท้ายจึงตาย หมื่นสิทธิสงครามทราบดังนั้นแล้ว จึงสั่งขุนศรีสังหารขึ้นม้าไปสั่งพลทหารกองหลังให้กลับหน้าลงไปทางข้างใต้ แล้วให้แยกทัพออกเป็นปีกกา ตีระดมลงไปไม่รอรั้ง ฝ่ายหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา ที่คุมพลทหาร ๖๐ คนไปซุ่มอยู่ในป่านั้น ครั้นได้ยินเสียงกองทัพไทยโห่ร้องยิงปืนต่อรบกับข้าศึกเขมรดังนั้น ก็ยกพล ๖๐ คนออกจากป่า โห่ร้องยิงปืนกระหน่ำสำทับตีหนุนหลังเป็นทัพขนาบสกัดทางไว้ แล้วตีรุกขึ้นมาทุกทีจนใกล้ทัพใหญ่ พวกเขมรเหล่าร้าย ๔๔ คนอยู่ในระหว่างกลางศึกขนาบ ต้องต่อสู้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เขมรพวกนั้นต่อสู้จนตายในกลางที่รบบ้าง ๒๐ คน เขมรเหลือตาย ๑๔ คนหนีไปไม่พ้น ก็วางอาวุธลงกราบไหว้ไม่ต่อสู้ กองทัพไทยก็จับเป็นมาได้ ๑๔ คน หมื่นสิทธิสงครามนายทัพใหญ่ สั่งให้ทหารตัดไม้ทำเป็นคาจำคอพวกเขมร ๑๔ คน แล้วปักหลักผูกเท้า ผูกเอวติดไม้ขมับเฆี่ยนหลัง ๑๕ ที ถามทั้ง ๑๔ คน ทั้ง ๑๔ คนทนเจ็บไม่ได้ ต้องให้การบ้างเล็กน้อย แต่หากระจ่างแจ่มแจ้งไม่ จึงสั่งให้เฆี่ยนอีกคนละสองยกเป็น ๖๐ ก็ยังไม่ได้ความจริงก็มี .....”
 *** ความเก่ง ความกล้า ความฉลาดรอบรู้ของคนไทย มิใช่ว่าคนเป็นคุณพระ คุณหลวง จะมีมากว่าพวก ขุน หมื่น พันทนายไพร่พล ดังในเรื่องจริงที่เรากำลังอ่านอยู่นี้ คุณหลวงพาคนไปตายและของหลวงเสียหาย คุณพระก็พาคนไปตายหมดเกือบทั้งกองทัพ ครั้งหลังสุดนี้คุณพระมีไพร่พลมากถึง ๓๐๐ คน ปืนดาบมีครบมือ กลับพ่ายแพ้เขมรที่มีเพียง ๗๐ คนเศษ มีปืนบ้างหน้าไม้บ้าง หลาวไม้ไผ่บ้าง ยังสามารถฆ่าไทยตายเกือบ ๔๐๐ คน เป็นเพราะอะไรหรือ? ขออนุญาตไม่อภิปรายในที่นี้ก็แล้วกัน ส่วนหมื่นสิทธิสงครามมีพลเพียง ๒๐๐ เดินทัพด้วยความรอบคอบรัดกุมจนสามารถฆ่าโจรเขมร ๗๐ คนเศษนั้นตายเรียบ และยังใช้อุบายหลอกฆ่าและจับโจรอีกกลุ่มหนึ่งได้แล้วกำลังสอบปากคำ เพื่อนำไปสู่การตามจับกองโจรที่ขี่ควายมาปล้นเรือลำเลียงเสบียงอาหารนั้น ผลการสอบปากคำจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ...
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๒ -
หมื่นสิทธิสงครามใช้ความโหด สั่งลงโทษเค้นขู่ดูโลดโผน เอาเพลิงรุมเผาลนขนผมโล้น จึ่งยอมโยนดื้อแพ้แก่ทัณฑกรรม
บอกหัวหน้าชุมชนโจรเขมร “พระคะเชนทรพิทักษ์”ไซร้มิใช่ต่ำ นายกองช้างนักองจันทร์ชั้นผู้นำ ไทยจึงทำการล้างทั้งบางเลย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่.. พระปลัดเมืองตราดพาไพร่พล ๓๐๐ คนลงไปติดกับโจรเขมรในลำธาร ถูกเขมรฆ่าตายเกือบหมดสิ้นทั้งกอง พระปลัดและไพร่อีก ๑๔ คนหนีไปแอบซุ่มอยู่ เขมรคิดว่าไทยตายหมดแล้วจึงลงไปเก็บปืน มีด และเสื้อผ้าทหารไทย ขณะเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ไทยเพลินอยู่นั้น กองกำลังของหมื่นสิทธิสงครามก็เดินทางไปถึง พบเห็นเช่นนั้นจึงสั่งกองกำลังขยายปีกการะดมยิงลงไป เขมรไม่ทันรู้ตัวก็ถูกปืนตายเกลื่อน ที่วิ่งหนีไปได้ก็ไม่รอด เพราะพระปลัดกับไพร่ที่หลบซ่อนอยู่เห็นเช่นนั้นก็กรูกันออกมาเข่นฆ่าเสียจนสิ้นทุกคน หมื่นศรีสงครามรับพระปลัดและพวกเข้าในกองของตนแล้วยกข้ามลำธารไปถึงป่าดงพุงดอ ทำอุบายเข่นฆ่าเขมรที่ซุ่มอยู่คอยโจมตีไทยนั้นตายเกือบหมด จับเป็นได้ ๑๔ คน นำมาเฆี่ยนตีเค้นถามความจริงว่าโจรเขมรปล้นเรือลำเลียงไปไว้ที่ใด แต่ยังไม่ได้ความจริง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 “หมื่นสิทธิสงครามมีความโกรธหนัก จึงสั่งพันจงใจหาญลาวเก่า ให้มัดมือพวกเขมร ๑๔ คนโยงไว้บนราวไม้ไผ่เป็นแถวห่าง ๆ กัน แล้วให้ทำคบจุดเพลิงเข้าลนตามตัวพวกเขมรทุกคน จนผมและขนไหม้ หนังเกรียมเป็นแผลพอง ๆ ขึ้นทุกคน เขมรทนร้อนไฟไม่ได้จึงต้องให้การต้องคำกันว่า
“พระคะเชนทรพิทักษ์เขมรนายกองช้างนักองจันทร์ ตั้งให้คุมคนเลี้ยงช้างอยู่ที่เมืองกำปอดนั้น พระคะเชนทรพิทักษ์ทราบว่ากองทัพไทยแตกพ่ายญวนมาแล้ว และกองลำเลียงไทยบรรทุกข้าวปลาอาหารมาถึงเมืองกำปอด ติดน้ำยังกำลังเข็นเรืออยู่ที่ในคลอง พระคะเชนทรพิทักษ์เห็นว่าได้ทีมีช่อง จึงได้ชักชวนไพร่พลชาวบ้านป่าที่อดอยากขัดสนเสบียงนั้นได้ ๗๐-๘๐ คนแล้ว ก็พากันมาตีปล้นเรือเสบียงไทยไปได้เรือ ๒๓ ลำ แบ่งปันเสบียงอาหารให้ชาวบ้านป่าดงที่ป่าวร้องมาช่วยกันตีปล้นนั้นไปเป็นส่วน ๆ แต่เรือ ๒๓ ลำนั้น กระทุ้งท้องเรือให้จมเสียบ้าง ยังอยู่ที่บ้านพระคะเชทรพิทักษ์ที่ริมหนองบัวบ้าง แล้วพระคะเชนทรพิทักษ์คิดกลัวกองทัพไทยจะยกมาติดตามเรือเสบียงที่ตีมาไว้นั้น จึงแต่งให้ขุนกำแหงเดชไกรผู้บุตร คุมคนชาวบ้านป่า ๑๐๐ เศษ มาสังกัดคอยตีกองทัพไทยให้แตก จะได้ไม่ไปตามถึงบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ พระคะเชนทรพิทักษ์ปล้นได้ช้างพลายพังของไทยเมื่อกำลังชักลากเรือเดินมาในป่านั้น ฆ่าไทยตายหมดแล้วจึงจับช้างไปได้ ๒๐ เชือกเศษ คิดว่าจะนำไปขายให้ญวน แต่เดี๋ยวนี้ช้างที่ตีปล้นของไทยไปได้ ยังอยู่ที่บ้านพระคะเชนทรพิทักษ์บ้าง แจกจ่ายให้ไปตามชาวบ้านป่าดงบ้าง และช้างเก่าของนักองจันทร์ก้ยังมีอยู่มากหลายเชือก แต่อยู่ที่บ้านพระคะเชนทรพิทักษ์บ้าง อยู่ที่ในป่าดงพระเพลิงบ้าง ให้พวกเขมรกองช้างเลี้ยงไว้บ้าง”
สิ้นคำให้การพวกเขมร ๑๔ คนเท่านี้แล้ว
 หมื่นสิทธิสงครามได้ทราบคำให้การเขมรดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้พันจงใจหาญลาวเก่าตัดไม้ทำตะโหงกจำคอพวกเขมร ๑๔ คน พาไปในกองทัพด้วย เพื่อจะให้มันนำกองทัพไทยไปยังบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ ณ หนองบัวในป่าแขวงเมืองกำปอด เมื่อกองทัพไทยไปถึงบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์นั้น เป็นเวลาสามยาม หมื่นสิทธิสงครามสั่งให้หมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา คุมไพร่พล ๑๐๐ ยกเข้าล้อมบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ด้านเหนือ ให้พันจงใจหาญคุมนักโทษเขมร ๑๔ คนอยู่รักษาที่ชุมนุม มีคนอยู่ด้วย ๑๖ คน หมื่นสิทธิสงครามคุมไพร่พล ๑๐๐ ยกเข้าล้อมบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ด้านใต้ พอได้เวลาสัญญาแก่กันแล้ว จึงให้โห่ร้องเป็นเสียงไทยกองหนึ่ง โห่ร้องเป็นเสียงเขมรกองหนึ่ง ต้อนไพร่พลเข้าล้อมบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ แล้วนำปืนคาบศิลายิงระดมกระหน่ำสำทับเข้าไปทั้งสองด้าน ด้านเหนือต้องลุยเลนในหนองบัวเข้าไปจนถึงหมู่บ้านเขมรพวกพระคะเชนทรพิทักษ์ ไทยจึงได้ยกเข้าปล้นบ้านเขมรด้านใต้เข้าทางถนนท้ายหนองบัว ตรงเข้าไปถึงเรือนพระคะเชนทรพิทักษ์ก่อนทุกกอง
 หมื่นสิทธิสงครามจับได้ตัวพระคะเชนทรพิทักษ์ทั้งบุตรชายหญิงและภรรยาครอบครัวเขมรจับเป็นมาได้ ๔๖ คน กองหมื่นอินทราวุธ หมื่นนรินทรโยธาจับเขมรเป็นมาได้ ๒๐ คน รวมได้เขมรเชลยมา ๖๐ คนทั้งชายทั้งหญิง แต่เขมรที่สู้รบต้องปืนตาย ๕๔ คน ที่แตกหนีเข้าป่าดงไปก็มาก เขมรที่จับเป็นมาได้นั้นจำตะโหงกคอไว้ทั้ง ๖๖ คน ใช้ให้หาบคอนและเลี้ยงม้า แล้วหมื่นสิทธิสงครามแต่งให้พันจงใจหาญคุมไพร่ไทย ๑๐๐ คน กับให้เขมร ๑๔ คนเป็นผู้นำทางไปในป่า ให้เที่ยวค้นหาจับช้างของพระคะเชนทรพิทักษ์ ซึ่งไปเลี้ยงไว้ในป่าให้ไล่ต้อนมาให้สิ้นเชิง ครั้งนั้นพันจงใจหาญได้ช้างพลายพังในป่ามาได้ พลาย ๑๒ เชือก พัง ๘ เชือก รวมเป็น ๒๐ เชือก ที่พวกเขมรขี่พาหนีสูญไปในป่าก็มีมากกว่า ๒๐ เชือก แต่หมื่นสิทธิสงครามจับช้างได้ในบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ พลาย ๖ เชือก พัง ๑๒ เชือก รวมเป็น ๑๘ เชือก รวมช้างทั้งสองราย ๓๘ เชือก รวบรวมช้างมาไว้ในกองทัพไทยทั้งสิ้น แล้วเก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินต่าง ๆ ของพระคะเชนทรพิทักษ์ และของพวกครอบครัวเขมรที่บ้านหนองบัวนั้นเป็นอันมาก
 แล้วให้พวกเชลยเขมรขนข้าวปลาอาหารที่เขมรตีพาของไทยไปไว้นั้น ขนลงบรรทุกเรือของไทย ๑๘ ลำ เรือสูญเสีย ๕ ลำ เพราะเขมรกระทุ้งท้องเรือจมเสีย ๕ ลำแล้ว ขณะนั้นให้เผาบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์และหมู่บ้านเขมรที่หมู่นั้นเสียสิ้น บ้านหมู่นั้นเขมรเรียกชื่อว่า “สะรกตระพังซุก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า บ้านหนองบัว) เมื่อนำไฟไปเผาเหย้าเรือนพวกเขมรหมู่บ้านนั้นไหม้หมดแล้ว หมื่นสิทธิสงครามจึงสั่งให้หมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธาคุมไพร่พลไทย ๖๐ คน นำเรือลำเลียงบรรทุกเสบียงอาหาร ๑๘ ลำ มาส่งยังเมืองบันทายมาศ แล้วหมื่นสิทธิสงครามคุมพลทหารไทย ๑๒๐ คนกับครอบครัวเขมรพระคะเชนทรพิทักษ์จำตะโหงกคอมาในกองทัพ แล้วให้พันจงใจหาญคุมช้างที่ตีปล้นได้มา ๓๘ เชือกนั้นด้วย ไทยเดินกองทัพมาในครั้งนั้นถึงเมืองบันทายมาศก่อนกองเรือลำเลียง ๖ วัน จึงเรือลำเลียงก็มาถึงเมืองขนเสบียงขึ้นไว้ในเมืองแล้ว
ครั้งนั้น เจ้าพระยาพระคลังตั้งอยู่ที่เมืองบันทายมาศ จึงแต่งหนังสือบอกฉบับหนึ่งให้ขุนทรงพานิชจีนที่เมืองบันทายมาศ ถือลงเรือเร็วรีบไปแจ้งราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา อยู่ ณ เมืองโจดกทราบโดยเร็ว ในหนังสือบอกข้อราชการนั้นว่า
 “หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีคุมเรือลำเลียงมาถึงกลางทางลำน้ำนั้น เขมรเหล่าร้ายยกมาตีเรือเสบียงอาหารไปได้ หลวงยกกระบัตรกลัว ไม่สู้รบเขมรแล้วลงเรือเล็กหนีมาเสียก่อน ปล่อยให้แต่พลอยู่สู้รบกับเขมร เขมรก็ตีปล้นพาเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปได้หมดทั้ง ๒๓ ลำ และคนที่คุมเรือนั้นก็ตายเกือบหมด แล้วให้พระปลัดเมืองตราดพี่ชายหลวงยกกระบัตร คุมคน ๓๐๐ ยกไปติดตามเรือเสบียงอาหาร ๒๓ ลำ ยังหาทันจะถึงเรือเสบียงไม่ ไปเสียทีเขมรในลำธารซึ่งพวกเขมรเรียกชื่อว่า “จันเลาะ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ลำห้วยละหาน) ในป่าแขวงเมืองกำปอด เขมรฆ่าไพร่พลไทยในกองพระปลัดตายครั้งนั้นถึง ๒๖๖ คน ที่เหลือตายกลับมาได้ ๓๔ คน แล้วจึงได้แต่ให้หมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด คุมไพร่พลเมืองตราด ๒๐๐ คน ยกไปติดตามตีคืนเรือลำเลียงเสบียงอาหารกลับคืนมาได้หมดแล้ว กลับได้ช้างที่เขมรตีปล้นพาไปเมื่อชักลากเรือรบในคลองขุดใหม่กลับคืนมาได้ทั้งหมด ๒๐ เชือก และได้ช้างเชลยเขมรมาอีก ๑๘ เชือก เป็นช้างใหญ่ได้ขนาดดีทุกช้าง พอใช้ราชการศึกได้ ด้วยเป็นช้างอ้วนพีล่ำสันโตน่าใช้สอย แล้วได้ครอบครัวพระคะเชนทรพิทักษ์นายกองช้างที่เป็นต้นคิดนายโจรมาตีปล้นช้างไทยไปครั้ง ๑ และได้จับเขมรครอบครัวมามาก ได้จำไว้ในเมืองบันทายมาศทุกคนแล้ว ใต้เท้าพระกรุณาเจ้าจะโปรดประการใดจะได้ปฏิบัติตามบัญชา”.......
 *** ที่แท้หัวหน้ากองโจรเขมรก็เป็นอดีตนายกองช้างของนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมร มียศเป็นถึงคุณพระที่ พระคะเชนทรพิทักษ์ มิน่าเล่าโจรเขมรจึงมีฝีมือเก่งกล้าสามารถมาก มีเพียงแค่ ๗๘ คนก็ฆ่าทหารไทย ๓๐๐ คนตายเกือบหมดทั้งกองทัพเลย กองทัพไทยยังโชคดีที่มีนายทหารเก่งอย่างหมื่นสิทธิสงคราม จึงสามารถตามกวาดล้างโจรเขมรได้หมดสิ้น และได้เรือลำเลียงเสบียงอาหารคืนพร้อมทั้งของไทยและของเชลยอีกด้วย ท่านเจ้าพระยาพระคลังได้มีหนังสือด่วนบอกไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ เพื่อฟังคำบัญชาว่าจะให้ทำประการใดต่อไป เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ทราบความแล้วจะว่าประการใด พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ....
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๓ -
บทอัยการศึกประกาศิต ผลาญชีวิตคนขลาดทิ้งไพร่เฉย นายทัพโง่ถอดยศออกไม่งอกเงย กลับลงเอยรับกรรมโดดน้ำตาย
ทัพบกมีปัญหาขาดอาหาร ออกทำการปล้นเสบียงมาเลี้ยงค่าย ทัพเรือช่วยส่งเสบียงพอเลี้ยงกาย เพียงคลี่คลายปัญหาไม่ถาวร |
อภิปราย ขยายความ ......................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่.. โจรเขมรที่ถูกจับตัวเป็น ๆ ได้ ถูกหมื่นสิทธิสงครามลงทัณฑ์ทรมานอย่างเหี้ยมโหดทนไม่ได้ยอมรับสารภาพสิ้น กองทัพไทยจึงให้พาไปบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์หัวหน้ากองโจร ณ บ้านหนองบัว หมื่นสิทธิสงครามยกกองกำลังเข้าล้อมบ้าน จับตัวพระคะเชนทรพิทักษ์และครอบครัวพร้อมโจรเขมรได้ และได้เรือลำเลียงเสบียงอาหารคืนพร้อมทั้งช้างของไทยและของเชลยอีกด้วย ท่านเจ้าพระยาพระคลังได้มีหนังสือด่วนบอกไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ เพื่อฟังคำบัญชาว่าจะให้ทำประการใดต่อไป เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ทราบความแล้วจะว่าประการใด วันนี้มาอ่านกันต่อครับ....
“ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบหนังสือบอกข่าวราชการดังนี้แล้ว จึงมีบัญชาสั่งให้หลวงอักษรสุนทรเสมียนตรามีหนังสือตอบเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งเป็นใจความว่า
 “หนังสือแม่ทัพบกตั้งพักอยู่ที่เมืองโจดกมาถึงแม่ทัพเรือได้ทราบ ด้วยได้รับหนังสือของท่านแม่ทัพเรือซึ่งตั้งพักอยู่ที่เมืองบันทายมาศมีมาว่า ด้วยเรื่องนายกองทัพไทยคุมเรือลำเลียงไปทำการไม่ดีให้เรือเสียแก่เขมร แล้วนายทัพเรือได้ไปตีกลับคืนมา ได้ทั้งเสบียงอาหารและช้างครอบครัวเขมรนั้นด้วย ได้ทราบตลอดทุกประการแล้ว การทั้งนี้ใครผิดใครชอบต่อราชการครั้งนี้ เจ้าคุณพระคลังก็ย่อมทราบสิ้นทุกประการแล้ว ขอให้เจ้าคุณตัดสินตามบทพระอัยการศึก แต่หลวงยกกระบัตรผู้มีความผิดต่อราชการทัพศึกมาก ถ้าเจ้าคุณเห็นว่าผิดต่อข้ออัยการศึกจริงแล้ว ให้ประหารชีวิตหลวงยกกระบัตรแก้วเสียที่เมืองบันทายมาศ ให้เป็นตัวอย่างแก่นายทัพนายกองที่จะทำราชการต่อไปภายหน้า แต่พระปลัดนั้นมีความผิดน้อย ควรที่เจ้าคุณพระคลังจะเฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีหรือ ๓๐ ทีแล้วตระเวนรอบค่ายสามวัน แต่จะถอดเสียจากฐานาศักดิ์หรือจะให้คงตำแหน่งยศเดิม หรือจะลดลงเสียบ้างก็ตามแต่เจ้าคุณพระคลังจะเห็นดีเห็นชอบโดยราชการศึกสงครามเถิด แต่ขอเสียอย่าให้เจ้าคุณพระคลังเห็นว่าเป็นญาติเป็นพวกพ้อง ๆ ในแม่ทัพระหว่างการศึกสงครามเช่นนี้ไม่มีเลย มีแต่แต่ตัวแม่ทัพผู้เดียว หามีญาติไม่
อนึ่งที่เมืองโจดกนี้เล่า ก็ขัดสนเสบียงอาหารลงบ้างแล้ว ขอให้เจ้าคุณพระคลังสั่งให้นายทัพนายกองคุมเสบียงอาหารมาส่งให้ถึงเมืองโจดกในกลางเดือนสี่ให้จงได้ ถ้าข้างแรมเดือนสี่แล้วเสบียงที่เมืองโจดกเป็นอันขาดมือไม่มีจะรับประทานเลย
อนึ่งเมื่อเดือนสี่ข้างขึ้นสามค่ำสี่ค่ำนั้น ผมได้แต่งให้พระพิไชยกับพระอภัยพลรบ คุมไพร่พล ๓๐๐ ยกไปลาดตระเวนหาเสบียงถึงเกาะตำบลแห่งหนึ่ง เขมรเรียกชื่อว่าเกาะ “ตึกโคลกแพรกบีแบก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า เกาะน้ำเต้า) อยู่ตรงปากคลองสามแยกทางจะลงไปเมืองล่องโห้และเมืองสมิถ่อ แม่ทัพไทยทั้งสองนายตีปล้นได้เสบียงอาหารตามชาวบ้านเหล่าเกาะน้ำเต้านั้นแห่งละเล็กละน้อย เพราะไม่ได้พบยุ้งฉางใหญ่ ๆ จึงไม่ได้ข้าวมามาก เพราะฉะนั้น เสบียงอาหารจึงไม่พอจับจ่ายเลี้ยงผู้คนในกองทัพบก กับได้ให้หลวงไตรนารายณ์กับหลวงโจมจัตุรงค์ คุมเรือเล็ก ๆ ที่ได้เชลยมาแต่ญวนเขมร ไปกับไพร่พลไทยไปตีปล้นเสบียงอาหารในลำคลองแห่งหนึ่ง เขมรเรียกชื่อว่า “แพรกสะแก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า คลองลูกสุนัข) ตีได้ข้าวปลาที่ในคลองลูกสุนัขนั้น ได้มาน้อยหาพอใช้สอยจับจ่ายเลี้ยงกองทัพไทยไม่ ขัดเสบียงมากอยู่แล้ว ขอให้เจ้าคุณมีความกรุณาแก่ไพร่พลไทยให้มาก ถ้าไม่ส่งมาในข้างขึ้นหรือกลางเดือนสี่นี้ เห็นจะต้องทิ้งเมืองโจดก ล่าถอยไปตามป่าหาหัวกลอย เผือก มัน กินพอกันตาย หนังสือมา ณ วันจันทร์เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำ”
 เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบหนังสือเจ้าพระยาบดินเดชาดังนั้นแล้ว จึงรีบร้อนไม่นอนใจ สั่งให้พระพิพิธภักดีจางวางส่วยพริกไทยเมืองจันทบุรี กับหลวงมหาดไทยเมืองตราด คุมเรือลำเลียงเสบียงอาหาร ๓๐ ลำ รีบมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองโจดกแต่ ณ วันเดือนสี่ขึ้นสิบสองค่ำ ถึงเดือนสี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ พวกหนึ่งเป็นเรือ ๓๐ ลำ ได้ข้าวปลาอาหารพอจับจ่ายใช้ในกองทัพบกบ้างเมื่อคราวขัด
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้ทราบหนังสือเจ้าพระยาบดินทรเดชา ว่าด้วยเรื่องให้ฆ่าหลวงยกกระบัตรนั้น ท่านจึงพูดว่า ครั้นจะฆ่าก็กลัวบาปเกรงกรรมจะตามไปชาติหน้า ครั้นจะไม่ฆ่าก็กลัวเขาจะว่ารักญาติพวกพ้อง กับจะเสียขนบธรรมเนียมเป็นเยี่ยงอย่างในทางราชการทัพศึกต่อไป ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ คิดแล้วจึงสั่งหลวงชาติสุริยงกับหลวงสุนทรโกษา ให้คุมตัวพระปลัดเมืองตราดกับหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีจำตรวนลงเรือเร็ว ไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองโจดก แล้วมีหนังสือไปด้วยฉบับหนึ่งใจความว่า
“กระผมได้จำตรวนพระปลัด หลวงยกกระบัตร ส่งมาให้เจ้าคุณผู้ใหญ่ ตามแต่เจ้าคุณผู้ใหญ่จำทำโทษตามบทกฎหมายเถิด”
 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบความตามหนังสือเจ้าพระยาพระคลังดังนั้นแล้ว จึงว่าเมื่อท่านเจ้าพระยาพระคลังกลัวบาปเกรงกรรมไม่ฆ่าฟันผู้คน ส่งคนผิดมาให้เราฆ่าที่เมืองโจดกนี้ เราก็จะต้องฆ่าตามอาญาศึกทั้งสิ้น ไม่เว้นไว้หน้าว่าผู้ใดเลย ผิดตามผิด ชอบตามชอบ พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งหลวงอนุชิตพิทักษ์ให้นำตัวหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีผู้มีความผิดต่อราชการไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้ ตัดศีรษะเสียบไว้หน้าเมืองโจดก อย่าให้ขุนนางนายทัพนายกองจำเยี่ยงอย่างนี้ต่อไป แล้วสั่งให้หลวงจำนงอักษรพาตัวพระปลัดเมืองตราดไปเฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีที่หน้าค่ายในเมืองโจดก แล้วให้ลดฐานาศักดิ์ลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี ให้ไปอยู่กับพระยาจันทบุรีผู้บิดา จะได้ทำราชการแก้ตัว ต่อไปจะได้เลื่อนที่ตามความชอบเมื่อภายหลัง แล้วส่งตัวพระปลัดเมืองตราดที่ลดลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีนั้น ให้หลวงชาติสุริยงและหลวงสุนทรโกษาคุมตัวไปให้เจ้าพระยาพระคลังใช้ในราชการทัพเรืออย่างเดิม และมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า
 “ให้เจ้าคุณพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด ให้มอบถาดหมากโคนโทน้ำทองให้แก่เขาเป็นเครื่องยศ แล้วให้มีใบบอกไปในกรุงเทพฯด้วย แต่พระปลัดเมืองตราดคนเก่าที่มีความผิดเฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีนั้น ให้ลดฐานานุศักดิ์ลงคงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี แทนที่หลวงยกกระบัตรชื่อแก้วที่มีความผิดฆ่าเสียนั้นแล้ว กับให้เจ้าคุณพระคลังสั่งกรมช้าง ให้นำช้างพลายแทงพระคะเชนทรพิทักษ์เขมร กับพรรคพวกเขมรชายฉกรรจ์ที่เป็นโจรยกมาตีพาช้างและเรือเสบียง ไปให้นำช้างแทงเสียให้ตายทั้งสิ้นอย่าให้เหลือไว้ ไม่เป็นประโยชน์ ให้เหลือพวกเขมรไว้แต่ผู้หญิงและเด็กหรือชายแก่ชราไม่ได้ลงมือฆ่าไทยเท่านั้น นอกนั้นฆ่าเสียให้หมด”
หลวงชาติสุริยงกับหลวงสุนทรโกษา คุมตัวพระปลัดคนเก่าลงเรือกลับไปเมืองบันทายมาศทั้งเครื่องจำ พอเรือถึงกลางทางในลำคลองใหญ่ พระปลัดคนเก่าบอกผู้คุมว่าจะขอส่งทุกข์ที่กราบเรือ ผู้คุมก็ยอมให้พระปลัดคนเก่าออกจากประทุนเรือ ไปข้างท้ายเรือที่นั่งถ่ายทุกข์อยู่ครู่หนึ่ง พระปลัดก็โดดลงไปในน้ำทั้งเครื่องจองจำ ก็จมน้ำตายในที่นั้น หลวงสุนทรโกษาให้คนลงดำได้ศพขึ้นมาแล้ว จึงปรึกษากับหลวงชาติสุริยงว่า
“จะพาศพไปให้ท่านผู้ใหญ่ดู ก็เห็นว่าเมืองบันทายมาศทางยังอีกหลายคืน ศพจะเน่าเปื่อยเสียหมดจะไม่ให้เห็นหน้าตาจำไม่ได้ จะทำฉันใดดี”
หลวงชาติสุริยงตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นเราตัดศีรษะแช่น้ำเกลือไปให้เจ้าคุณทราบเป็นพยานว่าไม่ได้หนีไปไหนเป็นการตายจริง ๆ”
หลวงสุนทรโกษาว่าอย่างนั้นไม่ได้ เพราะพระปลัดเก่าคนนี้เป็นบุตรพระยาจันทบุรี และเป็นเชื้อสายญาติของเจ้าพระยาพระคลังด้วย ท่านจะว่าเราทำประจานพวกพ้องของท่าน โทษอะไรมาตัวหัวตัดหูกัน ถึงตายแล้วก็จริง ดูเหมือนทำโทษแก่ศพพวกของท่านหาควรไม่ เราจะได้ผิดมากไป”
หลวงชาติสุริยงตอบว่า ถ้าเช่นนั้นก็นำศพไปฝังเสียที่บนตลิ่งเถิด เมื่อท่านว่าเราปล่อยคนโทษให้หนีไปก็ให้ท่านใช้คนมาขุดดูศพเถิด เรานำเครื่องแต่งกายของพระปลัดคนเก่าฝังลงไปไว้ด้วย เผื่อว่าจะมาขุดศพจะได้เห็นเป็นพยาน คิดแล้วก็ทำตามที่คิดนั้นทุกประการ......”
 ** คำว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” เป็นความจริงที่สุดในโลก กองทัพบกอันเกรียงไกรของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ยังไม่พ่ายแพ้แก่ญวน แต่กำลังจะพ่ายแพ้แก่ท้องที่ขาดอาหารให้ร่างกายโหยหิวอ่อนแรง เจ้าพระยาบดินทรเดชาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแต่งทหารเป็นกองโจร ออกปล้นเสบียงอาหารจากชาวบ้าน ท่านบอกว่าถ้าไม่ได้เสบียงอาหารจากเมืองบันทายมาศในเร็ววันนี้ เห็นทีจะต้องทิ้งเมืองโจดก พาทหารล่าทัพเข้าป่าขุดหาหัวกลอย หัวเผือกหัวมันกินพอประทังชีวิตเป็นแน่ เจ้าพระยาพระคลังรีบจัดส่งเสบียงอาหารไปให้แล้ว ก็เป็นคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนปัญหาด้วยบริหารจัดการกำลังพลนั้น เจ้าคุณแม่ทัพบกเสนอแนะให้เจ้าคุณแม่ทัพเรือลงโทษพระปลัดเมืองตราดด้วยการเฆี่ยนและลดฐานะ และฆ่าหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีเสีย เจ้าคุณแม่ทัพเรือไม่กล้าลงโทษลูกน้องจึงส่งตัวไปให้เจ้าคุณแม่ทัพบก เจ้าพระบดินทรเดชาสั่งประหารหลวงยกกระบัตร แล้วเฆี่ยนพระปลัดและถอดยศคุณพระออกเสีย ให้ลงมาเป็นคุณหลวงที่หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีแทนน้องชายที่ถูกประหาร ขณะที่หลวงชาติสุริยง หลวงสุนทรโกษา คุมตัวกลับลงมาเมืองบันทายมาศนั้น พระปลัดออกอุบายถ่ายทุกข์ท้ายเรือแล้วโดดน้ำตาย แล้วเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๔ -
เจ้าพระยาพระคลังสั่งจัดทัพ เรือพร้อมสรรพแล้วพายถ่อสมอถอน รบญวนใหม่ไม่แพ้หวังแน่นอน เมื่อครั้งก่อนนั้นจดจำบทเรียน
แม่ทัพบกเตือนว่าอย่าประมาท ใจอย่าขลาดต้องกล้าเข่นฆ่าเฆี่ยน อริรุกทุกทางถางให้เตียน ควรพากเพียรเอาชนะเหล่าศัตรู |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่.. กองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังขัดเสบียงอาหาร เจ้าคุณแม่ทัพแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแต่งทหารเป็นกองโจร ออกปล้นเสบียงอาหารจากชาวบ้าน ท่านบอกว่าถ้าไม่ได้เสบียงอาหารจากเมืองบันทายมาศในเร็ววันนี้ เห็นทีจะต้องทิ้งเมืองโจดก พาทหารล่าทัพเข้าป่าขุดหาหัวกลอย หัวเผือก หัวมัน กินพอประทังชีวิตเป็นแน่ เจ้าพระยาพระคลังรีบจัดส่งเสบียงอาหารไปให้แล้ว เป็นคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนปัญหาด้วยบริหารจัดการกำลังพลนั้น เจ้าคุณแม่ทัพบกเสนอแนะให้เจ้าคุณแม่ทัพเรือลงโทษพระปลัดเมืองตราดด้วยการเฆี่ยนและลดฐานะ และฆ่าหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีเสีย เจ้าคุณแม่ทัพเรือไม่กล้าลงโทษลูกน้องจึงส่งตัวไปให้เจ้าคุณแม่ทัพบก เจ้าพระบดินทรเดชาสั่งประหารหลวงยกกระบัตร แล้วเฆี่ยนพระปลัดและถอดยศคุณพระออกเสียให้ลงมาเป็นคุณหลวง ที่หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีแทนน้องชายที่ถูกประหาร ขณะที่หลวงชาติสุริยง หลวงสุนทรโกษา คุมตัวกลับลงมาเมืองบันทายมาศนั้น พระปลัดออกอุบายถ่ายทุกข์ท้ายเรือแล้วโดดน้ำตาย เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 “..... จึงออกเรือไปแจ้งข้อราชการแก่เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งราชมัลให้พาตัวพระคะเชนทรพิทักษ์เขมรกับพวกชายฉกรรจ์ ๓๖ คน นำช้างพลายแทงตายทั้งสิ้นที่นอกเมืองบันทายมาศ ณ วันเดือนสี่แรมค่ำหนึ่ง
 แล้วเจ้าพระยาพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามเป็นพระปลัดเมืองตราด ตั้งพันจงใจหาญลาวเก่ามีความชอบในการศึก เป็นหลวงปราบไพรินทร์ ตั้งหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา เลื่อนขึ้นเป็นหลวงทั้งสองคน
แล้วเจ้าพระยาพระคลังสั่งให้พระปลัดเมืองตราดคนใหม่ ให้คุมไพร่พลไปรับเรือรบที่พระยาตราดไปตั้งซ่อมแซมอยู่ ณ เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสม ๗๐ ลำ พร้อมด้วยเชือกเสาเพลาใบจังกูดแจว ให้คุมเรือรบมาส่งเมืองบันทายมาศ
เจ้าพระยาพระคลังสั่งพระศิริสมบัติให้จัดเสบียงอาหาร กระสุนดินดำ ศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยลงบรรทุกเรือรบเก่าที่นำมาแต่เมืองจันทบุรีและกรุงเทพฯ นั้น ๑๐๒ ลำ เรือรบเก่าใหม่ ๑๗๒ ลำ ให้พระยาพิพัฒน์โกษากับพระยาสุนทรานุรักษ์เขต พระยาราชวังสัน สามคน เป็นผู้แต่งเรือรบเก่าใหม่ทั้ง ๑๗๒ ลำ บรรทุกพลทหารแจวและทหารปืนพร้อมแล้ว ให้พระยาเดโชท้ายน้ำเป็นนายทัพหน้าที่หนึ่ง ให้พระยาราชวังสันเป็นนายทัพหน้าที่สองกองซ้าย ให้พระยาณรงค์ฤทธิ์โกษาแขกจามเป็นนายทัพหน้าที่สองกองขวา ให้พระยาวิเศษสงครามภักดีฝรั่งเศสเข้ารีตเป็นแม่ทัพกองหนุนทัพหน้าทั้งสาม ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์เป็นนายทัพกองเกียกกายซ้าย ให้พระยานุชิตราชาเป็นกองเกียกกายขวา ให้พระยาสุรเสนาเป็นนายทัพกองจเรทัพ ให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญคุมกองรามัญเป็นทัพแซงขวา ให้พระยานครเขื่อนขันธ์คุมกองรามัญเป็นทัพแซงซ้าย ให้พระยาทิพโกษาเป็นทัพหนุน ให้พระยาจันทบุรีเป็นแม่ทัพหลัง ให้เจ้าพระยาพลเทพถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่กองหน้า ได้บังคับบัญชาทุกทั พทุกกองทั้งฝ่ายหน้านั้นสิ้น
แล้วให้พระยาวิสูตรโกษาเป็นทัพแซงซ้ายของกองทัพเจ้าพระยาพระคลัง ให้พระยาตราดเป็นเป็นทัพแซงขวาของเจ้าพระยาพระคลัง ให้พระยาพิบูลย์สมบัติเป็นปีกซ้ายทัพใหญ่ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นปีกขวาทัพใหญ่ ให้พระยาราชบุรีเป็นนายทัพปีกกาขวา ให้พระยาสมุทรสงครามเป็นนายทัพปีกกาซ้าย ให้พระศิริสมบัติเป็นนายตรวจทัพฝ่ายซ้าย ให้พระราชธนพิทักษ์เป็นนายตรวจทัพฝ่ายขวา ให้พระยาศาสตราฤทธิรงค์เป็นกองป้องปีกขวา ให้พระยาอร่ามมณเฑียรเป็นกองป้องปีกซ้าย ให้พระยาไกรโกษาเป็นทัพหลังของเจ้าพระยาพระคลัง
ที่ออกชื่อมานี้แต่ล้วนมีหน้าที่โดยตำแหน่งคุมเรือรบมีชื่อทุกลำทุกคน ยังพระยา พระ หลวง ในกรุงและหัวเมืองที่เป็นลูกกองคุมเรือรบมีชื่อต่าง ๆ ไปในกองทัพหน้าและกองทัพหลังและกองทัพใหญ่เจ้าพระพระคลังก็มีมาก
 ครั้งนั้น กองทัพเรือพระปราบอังวะ สมิงรามัญนายทัพฝ่ายในพระราชวังบวรฯ ยกทัพเรือมาแต่เมืองจันทบุรีเพิ่มเติมมาอีกถึงเมื่อวันจะยกทัพไปนั้น จึงสั่งให้เป็นทัพหน้าของทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลัง ทัพเรือพร้อมกันแล้วก็ยกทัพเรือออกจากเมืองบันทายมาศ มาตามแม่น้ำใหญ่ถึงที่ตำบลแห่งหนึ่งเขมรเรียกว่า “กำพงคะคี” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ท่าตะเคียน) เมื่อเรือเจ้าพระยาพระคลังถึงท่าตะเคียนนั้น เกิดลมพายุใหญ่มาแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลมพัดมาถูกผ้าม่านบังแดดในเก๋งท้ายเรือรบลำที่เจ้าพระยาพระคลังนั่งมานั้น ผ้าม่านปลิวสะบัดไปคล้องถูกดาบอาญาสิทธิ์ฝักนากด้ามหุ้มทองคำ พลัดตกลงจากบันไดแก้ว แล้วกระเด็นลงน้ำจมหายสูญ ที่หน้าท่าตะเคียนนั้นน้ำลึก ๓ วาบ้าง ๔ วาบ้าง ให้ประดาน้ำลงดำเป็นหลายพวกก็หาได้ไม่ จึงสั่งให้หยุดทัพเรือที่ตรงท่าตะเคียนครู่หนึ่ง ให้รี้พลในกองทัพเรือลงดำน้ำหาดาบอาญาสิทธิ์ ถ้าใครดำได้จะให้รางวัลถึง ๑๐ ชั่ง ก็ไม่มีผู้ใดดำได้ ดำลงไปหลายสิบหลายร้อยคนก็ไม่ได้ จึงสั่งให้หลวงสุนทรโกษาอยู่ดูพวกประดาน้ำดำดาบต่อไป
 ครั้นพายุซาแล้วจึงสั่งให้เดินทัพเรือต่อไปเป็นลำดับ ลัดเข้าคลองขุดใหม่ไปถึงเมืองโจดกเมื่อ ณ วันเดือนห้าขึ้นสิบสองค่ำ ขณะนั้นมีน้ำเหนือไหลหลากมาท่วมหาดทรายแล้ว เจ้าพระยาพระคลังขึ้นไปบนเมืองโจดก คำนับเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดว่า
“เจ้าคุณพระคลังยกทัพมาล่าช้าไปสักหน่อย ถ้ามาถึงข้างขึ้นอ่อน ๆ สามค่ำสองก็จะดี จะได้ไปโดยสะดวก แต่เดี๋ยวนี้น้ำเหนือหลากมามาก แล้วไหลเชี่ยวหนัก แจวไปจะช้าอยู่ แต่ว่าไม่เป็นไร เรือใหญ่ไปได้สบายเพราะน้ำลึกมากแล้ว”
เจ้าพระยาพระคลังก็ตอบว่า “อยากจะรีบมาแต่ข้างแรมเดือนสี่หรือข้างขึ้นอ่อน ๆ เดือนห้านั้นตามคำสั่งบัญชาใต้เท้ากรุณา แต่ว่ามาไม่ทันตามบัญชานั้น เพราะเรือรบที่ชำรุดและเรือเก่าที่เมืองกำปอดนั้น ซ่อมแซมไม่ใคร่จะเสร็จได้ จึงช้าไป พอเรือแล้วก็รีบมา ไม่ได้ช้าเลย น้ำมันที่ทาเรือยังเปียก ๆ อยู่ทุกลำ ใต้เท้าจงดูเถิด”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่ากับเจ้าพระยาพระคลังว่า
“เจ้าคุณรีบยกทัพเรือไปก่อนเถิด ผมจะยกทัพบกตามไปต่อภายหลัง คงทันเจ้าคุณที่เกาะแตง เพื่อจะได้รบญวนที่นั่น ครั้งนี้น้ำมากเรือรบใหญ่ไปได้สะดวกแล้ว แต่เจ้าคุณอย่าไว้ใจแก่ราชการ เกลือกว่าญวนจะนำเรือเล็ก ๆ แจวมาซุ่มซ่อนไล่เรือรบไทยที่ใหญ่ ๆ เหมือนครั้งก่อนอีกเล่า เจ้าคุณต้องระวังให้มาก ๆ และผมขอให้เจ้าคุณต้องทำอำนาจฆ่าผู้ฟันคนที่แตกล่าถอยออกมา หรือที่ย่นย่อท้อถอยกลัวกระสุนปืนญวน และเกรงข้าศึกญวนมากกว่าแม่ทัพไทย ดังนั้นเจ้าคุณต้องก็ต้องฆ่าเสียบ้างให้เป็นตัวอย่าง นายทัพนายกองเห็นอำนาจเจ้าคุณทำดังนั้นจะได้กลัวเกรง แล้วจะได้เร่งไล่ต้อนรี้พลทำการพร้อมกันให้เต็มมือสักพักสองพัก พวกญวนจะทนได้หรือก็จะแตกไปสิ้นทุกทัพทุกกอง เมื่อเจ้าคุณพระคลังจะลงไปครั้งนี้ ผมจะให้พระภักดีโยธากับหลวงนรานุรักษ์เขตทั้งสองคนนี้ลงไปเป็นคู่คิดกับเจ้าคุณด้วย เพราะคนทั้งสองนี้ชำนิชำนาญด่านทางเมืองญวนมาก รู้จักทำนิทำนองกองทัพญวนจะยกมาหนักเบาประการใด เขารู้อยู่มาก เพราะเขาได้เคยเป็นนายทัพนายกองเรือมารบกับญวนที่เกาะแตง ซึ่งที่เกาะนั้นญวนเรียกว่า “เจียนซาย” เขาได้เคยมารบกับญวนที่นั้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ในแผ่นดินต้นพระพุทธเจ้าหลวงครั้งก่อนนั้นครั้งหนึ่งแล้ว (แผ่นดินต้นนั้นคือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า) ถ้าเจ้าคุณพระคลังสงสัยในข้อราชการอะไรที่จะไปรบญวนครั้งนี้ ขอให้เจ้าคุณไต่ถามปรึกษาหารือกับพระภักดีโยธา หลวงนรานุรักษ์เขต เถิด อาจเป็นคนแก่ชรางุ่มง่ามไม่ประเปรียวว่องไว ถ้าจะใช้เข้ารบพุ่งนั้นไม่ได้ ได้ให้อยู่ในเรือรบกองเจ้าคุณ เจ้าคุณจะได้ถามการงานต่าง ๆ ตามทางเมืองญวนได้เท่านั้น......”
 ** เป็นอันว่าคนเก่งคนกล้าได้เลื่อนยศตำแหน่งเป็นรางวัล คือ หมื่นสิทธิสงครามเป็นพระปลัดเมืองตราด หมื่นอินทราวุธเป็นหลวงอินทราวุธ หมื่นนรินทรโยธาเป็นหลวงนรินทรโยธา พันจงใจหาญเป็นหลวงปราบไพรินทร์ รับราชการในกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลังต่อไป การซ่อมแซมเรือรบเสร็จเรียบร้อยแล้วเจ้าพระยาพระคลังก็รีบเร่งจัดกองทัพเรือเดินทางไปเมืองโจดก เพื่อสมทบกับกองทัพบกยกไปตีญวนพร้อมกัน เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้คำแนะนำเจ้าพระยาพระคลังในการยกไปรบญวนคราวนี้ อย่าให้ซ้ำรอยเดิม ต้องไม่ประมาทและมีใจเหี้ยมหาญ กล้ารบกล้าฆ่าฟันผู้คน และด้วยความห่วงใยในแม่ทัพเรือ จึงได้มอบทหารเก่าสองนายผู้เคยรบญวนที่เกาะแตงมาแล้ว มีความรู้เรื่องญวนดีพอสมควร ให้ไปเป็นที่ปรึกษาแม่ทัพเรือด้วย การยกไปตีญวนคราวนี้ผลจะเป็นอย่างไร อ่านกันต่อไปนะครับ.....
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๕ -
กองลาดตระเวนไทยแต่งกายล้วน เหมือนคนญวนเหลือเกินเดินเป็นหมู่ กองเขมรไทยคุมกลับมิรับรู้ จึงทั้งคู่เมื่อพบแล้วรบกัน
กว่าจะรู้จะเห็นว่าเป็นพวก มองลวกลวกลางลางอย่างหุนหัน ต่างยิงโต้ตอบตีวายชีวัน เสมือนพลันโง่เขลาเบาปัญญา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาพระคลังจัดกองทัพเรือเสร็จแล้วก็รีบยกไปเมืองโจดก เพื่อสมทบกับกองทัพบกยกไปตีญวนอีกครั้งหนึ่ง กองเรือยังไม่ทันเข้าคลองขุดใหม่ ก็เกิดลมพายุพัดแรง ม่านบังแดดเรือเจ้าพระพระคลังปลิวสะพัดตามแรงลม ฟาดพันเอาดาบอาญาสิทธิ์เจ้าพระยาพระคลังตกลงทะเล ยังงมหาไม่พบ เจ้าคุณพระคลังก็รีบยกไปถึงเมืองโจดก ทั้งสองแม่ทัพได้ปรึกษาหารือกันในการยกทัพไปตีญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวเตือนเจ้าพระยาพระคลังให้ระวังเรือเล็กญวนที่จะคอยซุ่มโจมตี และขอให้เจ้าคุณพระคลังทำใจให้เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวในการควบคุมบังคับบัญชา เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันครับ
.... “อนึ่งผมขอแบ่งเรือรบที่เก่า ๆ ไม่สู้แน่นหนาแข็งแรงนั้นไว้สัก ๓๐-๔๐ ลำ แต่พอจะได้บรรทุกปืนใหญ่กระสุนดินดำกับคนลงไปตามเจ้าคุณข้างหน้าข้างหลังบ้าง
 แล้วผมจะให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลกำกับทัพช้างพระยาเพธราชา และ ทัพช้างพระยาประกฤษณุรักษ์ ทั้งกองช้างวังหลวงและวังหน้า ให้ยกเดินบกลงไปช่วยราชการทัพบกและป้องกันทัพเรือด้วย แล้วผมได้สั่งให้พระยาเกียรติพระยารามคุมพลทหารกองรามัญ ๒,๐๐๐ เดินทัพบกยกลงไปเป็นทัพขนาบด้วย กับได้ใช้ให้พระยาไชยสงครามแขกจามเขมรที่เมืองพนมเปญเกณฑ์มาเข้ากองทัพบกนั้น ให้ยกทัพเขมร ๕๐๐ คนเดินไปในป่า ให้คอยตีตัดกำลังกองสอดแนมญวนให้แตกไป อย่าให้มาดูทัพไทยได้เลยเป็นอันขาด ได้ให้พระยาเพชรรัตน์กับพระวิชิตสงคราม ข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นผู้กำกับทัพเขมรไปด้วย ได้สั่งว่า ถ้าไม่พบกองสอดแนมญวนก็ให้เลยไปช่วยในกองรามัญเป็นทัพหน้าของทัพบก ยกเข้าตีค่ายญวน ณ ที่ตำบลสามแยกปากคลองสะแดกให้แตกไปเสียให้ได้ ทัพเรือจะได้เดินลงไปสะดวก ผมได้จัดการทัพบกไว้หลายย่างหลายประการแล้ว ที่บอกชี้จงให้ท่าเจ้าคุณทราบเดี๋ยวนี้นั้น เป็นแต่ออกชื่อพระยานายทัพนายกองบางพวกที่สำคัญ ๆ พวกที่ยังไม่ได้บอกชื่อมานี้ยังมีอีกมากหลายร้อยกอง ขอเจ้าคุณอย่าวิตกฝ่ายทัพบกเลย เจ้าคุณจงเร่งรีบยกทัพเรือลงไปในค่ำวันนี้เถิด เป็นวันดีฤกษ์ดีแล้ว เดือนก็หงายสว่างเห็นทางไปได้ง่าย”
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังพูดสนทนากันกับเจ้าพระยาพระคลังนั้น จนเวลาบ่ายสองโมงเศษ ขณะนั้นพอหลวงโยธาสงครามกับหลวงยุทธกำแหงสงคราม นายกองอาทมาตวังหน้าไปลาดตระเวนสืบทัพญวนกลับมาแจ้งข้อราชการว่า
 “ได้ลงไปลาดตระเวนถึงที่ตำบลหนึ่ง เขมรนำทางไปนั้นเรียกชื่อว่า “เกาะโคลกแพรกบีแบก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า เกาะน้ำเต้า) ใกล้คลองสามแยกในคลองวามะนาว กองลาดตระเวนไปที่ตำบลนั้น ได้เห็นญวนมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ริมฝั่งคลองวามะนาวตรงปากคลองสามแยก ที่จะลงไปทางเมืองสะแดก ค่ายญวนตั้งครั้งนี้ที่ริมฝั่งคลองวามะนาวฟากตะวันออกค่ายหนึ่ง ฟากตะวันตกค่ายหนึ่ง มีค่ายปีกกาโอบมาตามลำคลองทั้งสองฝั่ง ญวนตั้งค่ายเยื้องกันเป็นฟันปลา มีหอรบป้อมสูงค่ายละ ๔ ป้อม แล้วได้เห็นกองทัพบกญวน หนุนหลังเดินมาหลังค่าย ยังไม่ถึงที่ตั้งค่ายนั้นเป็นอันมาก เมื่อเห็นกองทัพญวนยกเพิ่มเติมมามากดังนั้น ครั้นจะอยู่คอยดูตรวจรี้พลกำหนดว่ามากน้อยเท่าใดก็อยู่ไม่ได้ ด้วยเกรงว่าญวนจะยกมาใกล้ จะจับไปไต่ถามข้อราชการ ก็จะเสียทีแก่ญวน จึงล่าถอยยกกลับมาตามทางบก พวกเขมรผู้นำทางนั้นพาเดินลัดป่าตัดทางมาถึงตำบลกลางป่า เขมรเรียกชื่อที่ป่านั้นว่า “ไพรซองคะคี” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ป่าดงไม้ตะเคียน) เป็นทางเปลี่ยว กองลาดตระเวนได้พบกองทัพรามัญที่พระยาเกียรติพระยารามคุมไปถึงที่กลางดงตะเคียนนั้น ได้ชี้แจงการงานที่เห็นมานั้นให้กองรามัญทราบทุกประการแล้ว ก็กลับมาถึงปลายดงตะเคียน จะออกป่าและทุ่งใหญ่ ได้เห็นเขมรยกทัพมามาก เสียงลูกพรวนที่ผูกคอม้าดังสนั่นก้องไปทั้งทุ่ง พวกเขมรที่นำทางในกองตระเวนนั้นตกใจกลัว สำคัญว่าเป็นกองทัพเขมรพวกญวนจะยกมาสังกัดหลังตีกองตระเวนจะจับไปไต่ถามกิจการ พวกเขมรที่นำทางนั้นก็พากับหลบลี้หนีไปซ่อนตัวเสียในป่าหมด“
หลวงโยธาสงคราม หลวงยุทธกำแหงสงคราม เห็นดังนั้นครั้นจะตั้งต่อสู้ก็ไม่ได้เพราะมีคนน้อย ครั้นจะหนีก็ไม่รู้จักทาง เพราะผู้นำทางก็หนีเสียหมด เป็นการจวนตัวจึงสั่งให้ทหารบรรจุปืนคาบศิลาครบมือกันแล้ว จึงเข้าไปแอบซุ่มในป่ารกพอกำบังกายได้หมด ครั้นกองทัพเขมรนั้นมาถึง จึงได้เห็นตัวพระยาเพชรรัตน์วังหน้าที่ขี้ม้าคุมทัพเขมรมา ก็เข้าใจว่าเป็นเขมรในกองทัพไทย จึงได้ออกมาจากที่ซุ่ม เข้าไปหาพระยาเพชรรัตน์
 แต่ครั้งนั้นกองลาดตระเวนไทย ๖๐ คนแต่งกายเป็นอย่างญวน เพื่อจะให้มีอำนาจที่ไปในเขตแดนญวนนั้น ครั้นกองทัพเขมรที่พระยาเพชรรัตน์คุมไปได้เห็นดังนั้นแล้ว ทหารเขมรกองหน้ามิได้รอฟังคำสั่งพระยาเพชรรัตน์นายทัพใหญ่ไม่ เขมรเห็นกองตระเวนไทยสำคัญว่าญวนมาสอดแนมในป่า จึงนำปืนยิงไปตับหนึ่งถูกไทย กองตระเวนก็สำคัญว่าเขมรพวกญวนมายิงไทย ไทยก็นำปืนยิงไปบ้างถูกเขมรตายลง ๒๐ คน นายทัพไทยทั้งสองฝ่ายจะห้ามปรามเท่าไรก็ไม่หยุด เพราะกำลังตกใจทั้งสองฝ่ายด้วยกันดังนั้น จึงเกิดฆ่าฟันขึ้นมากมายไป พวกไทยน้อยตัวก็จริง แต่ได้กอไผ่และต้นไม่ใหญ่ในดงริมดงบังกระสุนปืนและเป็นที่มั่นต่อสู้ได้แข็งแรงยิ่งนัก พวกเขมรอยู่ที่แจ้งนอกป่าขอบทุ่งกลางนาจึงถูกกระสุนปืนไทยตายมาก นายทัพไทยจะออกไปบอกกันให้รู้เหตุว่าเป็นพวกเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะทหารไทยกับทหารเขมรกำลังรบกันอยู่ เพราะฉะนั้นหลวงโยธาสงคราม กับหลวงยุทธกำแหงสงครามจึงคิดว่า ถ้าขืนสู้กันอยู่ดังนี้เห็นพวกเราจะตายหมดเพราะน้อยตัว อีกประเดี๋ยวเขมรก็จะนำทัพม้ามาไล่ล้อมฆ่าพวกเราตายหมด ราชการของนายก็จะเสียลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย คิดดังนั้นแล้วจึงสั่งให้ไพร่พลถอดเสื้อกางเกงเครื่องแต่งกายอย่างญวนออกเสียหมดแล้ว จึงคุมไพรพลให้ออกไปที่กลางทุ่ง เพื่อจะสำแดงการแต่งกายว่าเป็นไทยพวกเดียวกันมิใช่ญวน เพราะฉะนั้นเขมรเห็นว่าเป็นไทยมิใช่ญวนแล้ว จึงได้หยุดการรบกัน แต่เช่นนั้นก็ตายกันทั้งสองข้าง เขมรมีไพร่พล ๕๐๐ คน ตาย ๒๘ คน ไทยกองตระเวนมีไพร่พล ๖๐ คน ตาย ๘ คน เมื่อพระยาเพชรรัตน์พบกับหลวงโยธาสงครามแล้ว จึงเล่าความให้กันฟังตั้งแต่ต้นจนปลายสิ้น แล้วต่างคนก็ต่างไปราชการแห่งตน มิได้โกรธอาฆาตกัน เพราะไม่ได้แกล้งรบกัน แล้วพระยาเพชรรัตน์ พระยาวิชิตสงคราม ข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ กำกับทัพเขมร ๕๐๐ และพระไชยสงครามเขมรเมืองพนมเปญ ที่เป็นนายทัพเขมรมาด้วยพร้อมกันทั้ง ๓ คน เข้าชื่อกันทำหนังสือบอกสารภาพรับผิดฝากให้หลวงโยธาสงครามมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฉบับ ๑
(นี่และถูกกับคำโบราณที่ว่าไว้สองข้อคือ ตื่นช้างตื่นม้าปราบปรามไว้หยุด ตื่นผู้คนห้ามไว้ไม่หยุด กับอีกข้อหนึ่งว่า กล้าอะไรจะกล้าเท่าที่ไม่รู้ไม่มีแล้ว กลัวอะไรจะกลัวเท่าที่รู้แล้วไม่มีเลย เหมือนไทยกองตระเวนกับเขมรพวกไทยที่ให้ไปปราบพวกข้าศึกญวนนั้นรบกันครั้งนี้เหมือนกัน)”
 * ไทยยังไม่ทันได้รบกับญวนเลย เกิดความเข้าใจผิดเพราะความกลัว จนถึงกับรบกันเองเสียแล้ว พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับว่าเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบเรื่องนี้แล้ว ท่านจะว่าและทำประการใดต่อไป.....
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|