บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๖ -
แม่ทัพใหญ่กำชับยกทัพด่วน ไปตีญวนโดยหมาย “ตายดาบหน้า” แม่ทัพเรือรีบทำตามบัญชา กองทัพหน้าตีทะลวงทัพเรือญวน
ระดมยิงปืนใหญ่ใส่ไม่ยั้ง ญวนถอยหลังหนีซุกหมดทุกส่วน ทิ้งค่ายบกยกเผ่นเป็นกระบวน ไทยกลับรวนลังเลไม่รีบตี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังปรึกษาราชการทัพกับเจ้าพระยาพระคลังอยู่นั้น เป็นเวลาบ่ายประมาณสองโมงเศษ หลวงโยธาสงครามกับหลวงยุทธกำแหงสงคราม นายกองอาทมาตวังหน้าไปลาดตระเวนสืบทัพญวนกลับมาแจ้งข้อราชการว่า ได้ไปลาดตระเวนถึงเกาะน้ำเต้าใกล้สามแยกคลองวามะนาว เห็นญวนตั้งค่ายใหญ่อยู่ ๒ ค่าย มีทหารบกยกมาหนุนเสริมยู่หลังค่ายเป็นจำนวนมาก กองลาดตระเวนถอยกลับมาพบกองทัพพระยาเกียรติพระยารามในป่าดงตะเคียน ได้แจ้งเรื่องให้นายทัพทั้งสองทราบเรื่องแล้วจากมา ถึงชายป่าพบกองทัพเขมรที่พระยาเพชรรัตน์คุมไป เกิดความเข้าใจผิดจนถึงขั้นยิงกันเองบาดเจ็บล้มตาย รายงานนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบแล้วจะทำประการใด วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
“เมื่อกำลังเจ้าพระยาบดินทรเดชาพูดอยู่กับเจ้าพระยาพระคลัง ในขณะนั้นพอหลวงนรารณรงค์กับหลวงอนุชิตพิทักษ์ คุมเรือรบอย่างเล็ก ๖ ลำ พลทหาร ๖๐ คน ไปลาดตระเวนสืบราชการศึกญวนทางน้ำ กลับมาถึงทีหลังกองตระเวนฝ่ายบกหน่อยหนึ่งจึงกราบเรียนว่า
 “ได้ลงไปลาดตระเวนถึงคลองตำบลหนึ่ง เขมรนำทางเรียกชื่อคลองนั้นว่า “แพรกกระพอ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า คลองจระเข้) ถึงที่นั้นได้เห็นทัพเรือญวนมาทอดทุ่นอยู่ตามฝั่งน้ำในลำคลองวามะนาวทั้งสองฟากคลอง แล้วเห็นเรือรบของญวนเป็นเรือศีรษะป้อมและเรือค่ายทอดสมอขวางลำคลองเป็น ๔ ชั้น ชั้นในเห็นเป็นเรือเล็กมากนัก ตรวจดูครู่หนึ่งแล้วจะแจวลงไปดูให้ใกล้ก็ไม่ได้ เพราะเห็นเรือป้อมทอดสมออยู่กลางคลองนั้นมีปืนใหญ่ทุกลำ เกรงว่าจะยิงมาถูกเรือตระเวนที่เป็นเรือเล็กล่มลง ก็จะเสียปืนหลักหักไฟของหลวง จึงมิได้ลงไปให้ใกล้เรือรบญวน แล้วเขมรผู้นำทางบอกว่าที่ปากคลอง “แพรกกระพอ” คือคลองจระเข้นี้ มีทางมาแต่เมืองล่องโห้สมิถ่อได้ เกรงว่าญวนจะนำเรือเล็กแจวมาจับเรือลาดตระเวนไทยไป ก็จะเสียราชการ จึงไม่กล้าอยู่ช้าได้ ก็รีบกลับมาโดยเร็ว”
ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวศึกญวนทั้งทางบกและทางน้ำดังนั้นแล้ว จึงพูดกับพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองฝ่ายบกว่า ครั้งก่อนก็ไม่สมคิด ครั้งนี้ก็จะไม่สมคิดอีกเล่า เพราะครั้งก่อนนั้น ทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังไม่ยกหนุนทัพบกลงไปให้ทันท่วงที จึงเสียรี้พลทัพบกและทัพเรือกองหน้า พากันล้มตายเสียครั้งก่อนนั้นก็มาก และครั้งนี้ก็น่าที่กลัวจะเป็นเช่นครั้งก่อนอีกเล่า เพราะว่าทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังยกมาช้าไป ๑๑ วัน ๑๒ วัน ไม่ทันท่วงทีแก่ญวน ญวนรีบยกทัพบกทัพเรือมาตั้งค่ายสังกัดหน้าอยู่ตามรายทางที่เราจะลงไปไซ่ง่อนนั้นก่อนได้ ก็เพราะมีน้ำหลากมามาก เรือใหญ่ของญวนมาสบาย เราจะทำศึกกับญวนอย่างนี้เป็นที่หนักใจหนักแรงแก่ไพร่พลทหารของเรานัก เพราะเจ้าพระยาพระคลังมาช้าไปไม่ทันญวน ญวนมาตั้งรับเสียก่อน ถ้าและว่าทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังจะยกมาถึงในเดือนสี่ข้างแรมแก่ ๆ หรือเดือนห้าข้างขึ้น อ่อนเพียงขึ้นสามค่ำสี่ค่ำตามที่เรากำหนดสั่งไปนั้น ก็จะได้ยกลงไปทันท่วงทีโดยสะดวก และทัพเรือจะไม่พบค่ายบกและทัพเรือของญวนตามรายทางที่จะลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้น ถึงมาทว่าจะพบค่ายบกและทัพเรือของญวนตามรายทางบ้าง ก็จะได้พบกองทัพญวนในที่ใกล้เมืองไซ่ง่อน กองทัพไทยทั้งทางบกและทางเรือก็จะได้รบกับญวนบ้าง แต่จะเบาแรงทหารลงมาก ถ้าว่าทัพไทยไปใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว ก็จะได้เห็นกองทัพองภอเบโดยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อนนั้น คงจะยกออกมาตีทัพญวนเมืองเว้เป็นทัพขนาบกับทัพไทยด้วย ไทยจะได้ช่วยกันกับทัพองภอโดยลันเบียเป็นสองแรงขึ้น ก็จะได้ตีทัพญวนเมืองเว้ให้แตกไป คงจะทนอยู่สู้ไม่ได้เป็นแน่ แต่เห็นว่าครั้งนี้คงจะไม่สมดังคิดแล้ว เพราะทัพเรือยกมาช้าไปสิบสองสิบสามวัน ญวนจึงยกทัพเรือทัพบกมาตั้งสังกัดรับทัพไทยอยู่ที่ต้นทางเป็นหลายแห่ง ฝ่ายเราทำการศึกกับญวนครั้งนี้เหมือนถางทางรกและป่าดงลงลงไปเมืองไซ่ง่อน หรือจะว่าอย่างคำโบราณก็ว่า ดั่งกลิ้งครกขึ้นภุเขา เหมือนกับทัพเราจะไปไซ่ง่อนครั้งนี้ กว่าจะถึงเมืองไซ่ง่อนก็คงจะต้องลำบากยากแก่ไพร่พล และหนักใจนายทัพนายกอง หรือเปลืองสติปัญญาแม่ทัพด้วย เจ้าพระยาบดินเดชาพูดดังนี้ต่อหน้าเจ้าพระยาพระคลังดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังยกทัพเรือไปในค่ำวันนั้น
 ครั้งนั้นทัพเรือกองหน้ายกไปถึงที่ปากคลองสามแยกในคลองวามะนาวใกล้ค่ายญวน ญวนทัพเรือที่จอดสมอขวางอยู่กลางน้ำนั้น ก็ยิงปืนใหญ่หน้าเรือป้อมมาเป็นสามารถ ทัพเรือไทยตั้งเป็นหน้ากระดาน แจวลงไปใกล้ค่ายญวน ญวนก็ยิงปืนใหญ่หน้าเรือโต้ตอบกันไปมา ครั้งนั้นเรือรบพระยาระยองและพระยาชลบุรีเป็นเรือเร็วและเป็นผู้กล้าหาญ จึงไล่ให้คนแจวรีบไปถึงหน้าค่ายญวน พระยาระยองสั่งให้ทหารนำปืนรายแคมมาประดาที่หน้าเรือ แล้วยิงวางปืนใหญ่ไปถูกเรือรบญวนและค่ายบกญวนแตกหักเสียหายเป็นอันมาก พระยาชลบุรีก็แจวเรือรบขวางลำเป็นแถว ๆ ๔ ลำ จุดปืนรายแคมขึ้นพร้อมกันเป็นปืนตับ ตับละ ๔๐ นัด ยิงติด ๆ กันไปเสมอสักครู่หนึ่ง เรือรบญวนก็ถอยหลังลงไป กระสุนปืนใหญ่ไปตกถูกเรือบ้าง ถูกคนญวนล้มตายในเรือและบนบกก็มาก
 ครั้งนั้นญวนต่อรบรักษาเรือจนผู้คนล้มตายมากหนัก ด้วยที่ค่ายบกและเรือป้อมญวนนั้น ยังไม่มีปืนใหญ่ทางไกลมากเหมือนอย่างทัพไทย ไทยก็วางปืนใหญ่ไปเสมอไม่หยุด ฝ่ายญวนในเรือค่ายและเรือป้อมก็ถอยล่าไปบังศีรษะแหลมเสียหลายสิบลำ แต่ญวนในค่ายบกฝั่งตะวันตกนั้น เห็นว่าทัพไทยมีปืนใหญ่ยิงมาได้โดยทางไกล กระสุนปืนมาตกถึงค่ายญวน ญวนเห็นจะตั้งอยู่ในค่ายสู้ไม่ได้ ญวนจึงเก็บเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหาร แล้วต้อนในค่ายบกยกลงเรือรบที่หลังค่ายคอแหลมนั้น พร้อมกันแล้วก็ถอยทัพเรือหนีไป ทิ้งค่ายบกปากคลองสามแยกในคลองวามะนาวเสียทั้ง ๒ ค่าย ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก แต่ญวนไม่ทันจะเผาค่ายทั้งสองนั้นเสีย เพราะเป็นการจวนตัวรีบจะล่าถอยหนีไปโดยเร็ว
 ฝ่ายทัพเรือไทยกองหน้าที่กล้าหาญยกล่วงลงไปก่อน ๒ กองนั้น คือ พระยาระยอง ๑ พระยาชลบุรี ๑ เป็นสองกอง เรือรบถึง ๖ ลำยกลงไปถึงหน้าค่ายญวนที่หนีนั้นก่อนกองอื่น แต่ว่าไม่ยกขึ้นบกเข้าในค่าย เดิมเป็นคนกล้า ครั้นมาถึงหน้าค่ายญวนกลับใจเป็นคนขลาดไปเสีย เพราะพระยาทั้งสองคิดเห็นไปว่า ญวนแกล้งทำอุบายทิ้งค่ายเสีย แล้วก็จะแอบซุ่มอยู่ในค่าย แต่พอไทยขึ้นบกเข้าค่าย ญวนก็จะไล่ฆ่าฟันแทงไทยตาย เหมือนเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาเหล็ก ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์กรุงเก่า ยกไปทำศึกกับพม่า แกล้งทำมารยาทิ้งค่ายหนีเช่นญวนนี้ แล้วพม่าออกมาเข้าค่ายไทย ไทยฆ่าพม่าตายจะนับประมาณไม่ได้ เป็นเยี่ยงอย่างมาแต่โบราณแล้ว ครั้งนี้เห็นญวนจะทำกลอุบายอย่างเช่นเจ้าพระยาโกษาเหล็กบ้างเป็นแน่ เพราะฉะนั้น พระยาระยองและพระยาชลบุรีคิดดังนั้นแล้ว จึงมิได้ขึ้นบกยกเข้าค่ายญวน พากันจอดแอบที่ฝั่งท้ายหน้าหน้าค่ายญวน รอดูชั้นเชิงศึกญวนก่อน แล้วก็จะรอคอยเรือรบกองพระยาเดโชท้ายน้ำมาถึงเมื่อใด จะได้ขึ้นพร้อมกันเป็นคนมากจะได้ขึ้นด้วยกันเมื่อนั้น จึงจอดนิ่งเฉยเสีย.........”
 * อ่านเรื่องมาถึงตรงนี้แล้ว ก็รู้สึกเหนื่อยแทนแม่ทัพใหญ่และแม่ทัพนายกองที่จะต้องรบกับญวน แม้จะเห็นว่าเสียเปรียบญวนอย่างไรก็ต้องรบ เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้แม่ทัพเรือยกทัพเรือลงไปตีค่ายบกทัพเรือญวนทันที ศึกไทย-ญวนครั้งที่ ๒ ยกแรก ทหารเรือไทยโดยการนำของพระยาระยองกับพระยาชลบุรีบุกเข้าโจมตีจนทัพเรือญวนถอยร่นไป ทหารในค่ายบนบกก็ทิ้งค่ายหนีไป แต่ทหารกล้าทั้งสองของไทยไม่กล้าขึ้นบกเข้ายึดค่าย ด้วยเกรงกลอุบายญวน จึงจอดเรือรอคอยให้เพื่อนมา ๆ มาถึง แล้วจึงค่อยยกขึ้นบกเข้ายึดค่ายญวน เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๗ -
สองพระยากล้าเก่งไม่เร่งรบ ถึงจุดจบตัวกลายตายเป็นผี ถูกตัวบทอัยการผลาญชีวี ฆ่าคนดีไปบ้างทั้งเสียดาย
แล้วทัพเรือเดินหน้าอย่างกล้าแกร่ง ถึงเกาะแตงค่ายเก่าญวนเป้าหมาย ญวนตั้งทัพรับสู้อยู่มากมาย บกมีค่ายน้ำมีเรือเหลือคณนา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้แม่ทัพเรือยกทัพเรือลงไปตีค่ายบกทัพเรือญวนทันที ทหารเรือไทยกองหน้าโดยการนำของพระยาระยองกับพระยาชลบุรี บุกเข้าโจมตีด้วยปืนใหญ่ทัพเรือญวนจนถอยร่นไป เรือรบญวนล่มเสียหายหลายลำ กระสุนปืนใหญ่นอกจากทำลายเรือรบได้แล้ว ยังทำลายค่ายบนบกอีกด้วย ทหารญวนทั้งในเรือและในค่ายบนบกล้มตายบาดเจ็บ จึงถอยทัพเรือหนีไป และทหารในค่ายบนบกก็ทิ้งค่ายหนีไปด้วย ทหารกล้าทั้งสองของไทยไม่กล้าขึ้นบกเข้ายึดค่าย ด้วยเกรงกลอุบายญวน จึงจอดเรือรอคอยให้เพื่อนมาถึง แล้วจึงค่อยยกขึ้นบกเข้ายึดค่ายญวน เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......
 “.....ฝ่ายญวนในค่ายทิ้งค่ายหนีออกทางหลังค่าย ไปแอบอยู่ที่ริมฝั่งน้ำจะลงเรือรบหนีไป ครั้นเห็นว่าทัพเรือไทยยกมาถึงหน้าค่าย ยิงปืนมาในค่ายจนต้องหนี แล้วไทยในเรือรบก็ไม่ขึ้นบนบกมาในค่ายนั้น เห็นทีกระสุนปืนจะหมดจึงจอดแอบตลิ่งนิ่งอยู่ไม่ขึ้นมา พวกญวนที่แตกหนีไปหลังค่ายเห็นไทยไม่ขึ้นบกแล้ว ญวนก็ยกพากันกลับมาเข้าหลังค่ายอย่างเดิม เก็บเครื่องศาสตราวุธกระสุนดินดำที่เหลืออยู่ในค่ายนั้น พากันแบกหามนำไปลงเรือรบจนหมดค่าย ทำดังนั้นทั้งค่ายฝั่งตะวันออกและค่ายฝั่งตะวันตก แล้วญวนก็เผาค่ายที่อยู่ฝั่งตะวันตกเสียทุกค่าย เพราะล่าถอยหนีไปไม่ให้ไทยเข้าอาศัยในค่ายเป็นกำลังได้ แต่ค่ายฝั่งตะวันออกนั้นญวนเผาไม่ทัน เพราะเรือพระยาระยอง พระยาชลบุรี อยู่ที่นั่น เมื่อขณะไฟไหม้ค่ายญวนฝั่งตะวันตกนั้น แสงไฟสว่างมาถึงท้องทุ่งฟากฝั่งตะวันออกคลองวามะนาว ขณะนั้นพอกองทัพบกฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายกมาถึงท้องทุ่งวามะนาวแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ยินเสียงปืนใหญ่ไทยกับญวนยิงโต้ตอบกันอยู่ช้านาน ประมาณสามสี่ชั่วโมงแล้วก็เงียบเสียงปืนสงบลงครู่หนึ่ง แล้วได้เห็นแสงไฟสว่างขึ้นที่ข้างทิศตะวันตก เป็นควันพลุ่ง ๆ ขึ้นไปจับท้องฟ้า อากาศเป็นขอบควันมืดไป ก็เข้าใจว่าญวนเผาค่ายของมันเป็นแน่ ธรรมดาว่าทำศึกกันแล้วถ้าข้างไหนเผาค่ายของตัวแล้ว ก็ย่อมจะเสียทีล่าหนีไปเป็นมั่นคง
ครั้งนี้ญวนเผาค่ายเสียแล้วเห็นทีจะหนีไปเป็นแน่ จึงมีบัญชาสั่งให้หลวงเสนีพิทักษ์ขึ้นม้าเร็วสวนทางลงไปสั่งทัพหน้ากองพระยาราชสงคราม ให้เร่งต้อนพลทหารเข้าโจมตีค่ายญวนให้แตกโดยเร็วในประเดี๋ยวนี้ให้ได้ ฝ่ายพระยาราชสงครามแม่ทัพหน้ากองบก ยกลงไปยังไกลกับค่ายญวน จึงสั่งให้หลวงภูเบศร์ขึ้นม้าเร็ว นำม้าหลวงเสนีพิทักษ์ไปสั่งกองทัพช้างพระยาเพธราชา คุมทัพช้างเข้าล้อมค่ายญวนไว้ก่อน กว่าทัพพระยาราชสงครามจะยกลงไปถึง จะได้ช่วยกันตีค่ายญวนให้แตกไปทั้งสิ้น
 ขณะนั้นกองทัพช้างพระยาเพธราชาก็ยกเข้าล้อมค่ายญวนไว้รอบทุกค่ายตามฝั่งตะวันออก แต่พระยาเพชรรัตน์กับพระวิชิตสงคราม ข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ กำกับทัพพระไชยสงครามคุมพลเขมร ๕๐๐ นั้น ไปถึงก่อนทัพช้างพระยาเพธราชา ทัพเขมรเห็นว่าทัพช้างยกเข้าล้อมอยู่แต่ห่างไกลนัก แลไม่เห็นญวนออกต่อสู้นอกค่าย พระไชยสงครามเขมรก็เข้าใจว่าญวนทิ้งค่ายหนีเสียแล้ว พระไชยสงครามเขมรพร้อมด้วยพระยาเพชรรัตน์ พระวิชิตสงครามข้าหลวงไล่ต้อนไพร่พลเขมร ๕๐๐ ยกเข้าไปในค่ายญวน ก็ไม่เห็นผู้คนญวนมีรักษาค่ายอยู่ทุกค่าย ณ ที่ค่ายตะวันออก เพราะฉะนั้น กองทัพจึงเก็บได้เครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารของญวนในค่ายทั้งสิ้นก่อนทัพช้างและทัพไทยทุกกอง
 ฝ่ายกองทัพพระยาเกียรติพระยาราม คุมทัพรามัญ ๒,๐๐๐ คนยกลงไปก่อนทัพเขมร ได้ยกแยกลงไปทางศีรษะแหลมใต้ค่ายญวน ก็พอเรือรบญวนกำลังมาเทียบท่าหลังค่ายญวน ญวนขนสรรพาวุธลงเรือรบนั้น ทัพรามัญก็ยกจู่โจมโถมเข้าตีทัพเรือญวน ญวนก็หนีไปได้มาก ที่หนีไม่ทันพวกรามัญยิงแทงฟันฆ่าญวนตายเป็นกอง ๆ ตามตลิ่ง แล้วเก็บได้เครื่องศาสตราวุธที่ขนลงเรือไปไม่ทันนั้นได้มาก และจับเรือรบญวนได้ ๘ ลำ จับได้ญวนเชลยเป็นมา ๒๕ คน จึงพระยาเกียรติ พระยาราม ก็ให้สมิงรามัญคุมไพร่พลไปส่งญวนเชลยมายังกองทัพใหญ่เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หลวงสุริยามาตย์นำญวน ๒๕ คนไปติดไม้เฆี่ยนถามให้ได้ข้อความศึกญวน ญวนให้การว่า เมื่อทัพเรือไทยยกลงมาก่อน ๖ ลำนั้น นำปืนใหญ่ยิงลงไปในค่ายญวน ญวนไม่มีปืนใหญ่ทางไกลจะยิงโต้ตอบบ้าง จึงได้ล่าถอยออกจากค่ายหนีไปหลังค่าย หมายจะลงเรือรบหนีไปแต่ตัวรอด ขณะนั้นญวนเห็นว่าทัพเรือรบไทย ๖ ลำจอดเสียที่ท้ายค่าย ไม่ขึ้นมาบนบกเข้าในค่ายญวน ญวนก็พากันเก็บเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารในค่ายขนลงเรือรบหนีไปได้บ้างหลายสิบลำ ยังแต่พวกข้าพเจ้านี้ยังหนีไม่ทัน กองทัพรามัญจึงจับมาได้ ๒๕ คน สิ้นคำให้การญวนแต่เท่านี้ ครั้งนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้พระมหาสงครามขึ้นม้าเร็วไปสั่งให้กองทัพรามัญยกเข้ารักษาค่ายญวนไว้ทุกตำบลตามฝั่งตะวันออก
 ขณะนั้นกองทัพเรือพระยาเดโชท้ายน้ำยกลงมาถึงค่ายญวนวามะนาว เห็นเรือพระยาระยองกับเรือพระยาชลบุรี กองหน้าที่ยกล่วงหน้าลงมาก่อนนั้นจอดเรือนิ่งอยู่กับฝั่ง ไม่ขึ้นบกยกเข้าค่ายญวน จนญวนกลับมาขนของในค่ายไปหมด แล้วก็เผาค่ายที่ฝั่งตะวันตกเสียสิ้น พระยาเดโชท้ายน้ำเห็นดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้หลวงโจมจัตุรงค์ลงเรือเล็กแปดแจวไปหาตัวพระยาระยองกับพระยาชลบุรี มาถามได้ความตามคำให้การสารภาพผิดว่า กลัวญวนจะแต่งกลอุบายแอบอยู่ในค่าย ให้ไทยขึ้นบก แล้วญวนก็จะยกออกมาฆ่าไทยเสียดังเช่นทัพเจ้าพระยาโกษาเหล็กครั้งกรุงเก่าทำแก่พม่านั้น พระยาเดโชท้ายน้ำนายกองทัพหน้าได้แจ้งความตามคำให้การดังนั้นแล้วจึงว่า พระยาทั้งสองนี้เจ้าความคิดต่าง ๆ รู้มากยากนาน จะเลี้ยงไว้เป็นลูกกองไม่ได้ จะพาให้เสียราชการ พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งขุนศรีรณรงค์ให้พาตัวพระยาทั้งสองคน มัดใส่กระสอบถ่วงน้ำเสียที่ในลำคลองวามะนาว ก็ถึงแก่ความตายทั้งสองคน แล้วพระยาเดโชท้ายน้ำมีหนังสือบอกข้อราชการที่ฆ่าพระยาทั้งสองนั้น ให้ขุนอินทรสังหารคุมเรือเล็กถือหนังสือบอก มาส่งให้เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ฝ่ายทัพเรือ
 ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำเห็นค่ายญวนที่ฝั่งตะวันตกไฟไหม้หมดแล้ว และค่ายญวนที่ฝั่งตะวันออกปากคลองสามแยกในคลองใหญ่วามะนาวนั้น มีทัพบกรามัญ เขมร และทัพช้างในกองเจ้าพระยาบดินทรเดชายกมารักษาอยู่แล้ว จึงมิได้แต่งกองทัพเรือขึ้นรักษาค่ายบกนั้น พระยาเดโชท้ายน้ำรีบจะยกไปติดตามตีทัพเรือญวน พระยาเดโชท้ายน้ำพร้อมด้วยกองพระยาราชวังสันแขกและกองพระยาวิเศษสงครามฝรั่งเศส และพระยานายทัพนายกองอื่นอีกมาก ก็รีบยกทัพเรือลงไปไล่ติดตามญวนโดยเร็ว จนถึงเกาะแตงญวนเรียกว่า “เกาะเจียนซาย” นั้น กองทัพเรือไทยเห็นค่ายญวนตั้งรายริมฝังน้ำทั้งสองฟากทาง แลเห็นเรือรบญวนทอดสมอขวางลำน้ำอยู่เต็มทาง ไม่มีช่องจะลงไปได้ เห็นญวนจัดการรับรองทัพไทยที่เกาะแตงนี้ทั้งค่ายบกและเรือค่ายเป็นศึกใหญ่เข้มแข็งยิ่ง หนักกว่าทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ทัพเรือไทยกองหน้าจึงไม่แจวไล่เลยลงไป รอทัพแซงและทัพปีกซ้ายปีกขวาทัพหนุนทั้งหลายอยู่ดูกำลังเชิงศึกก่อน.........”
** น่าเสียดายพระยาระยองกับพระยาชลบุรี เป็นคนกล้าที่สามารถรุกไล่กองทัพเรือญวนให้ถอยร่นไปได้พร้อมทั้งทหารญวนในค่ายก็ทิ้งค่ายหนีไป แต่เพราะพระยาทั้งสอง “รู้มากยากนาน” อย่างที่พระยาเดโชท้ายน้ำท่านว่า รุกไล่จนข้าศึกหนีไปแล้ว แทนที่จะเข้ายึดพื้นที่กลับรี ๆ รอ ๆ อยู่จนเสียราชการ จึงต้องถูกถ่วงน้ำฆ่าเสียในที่สุด ตอนนี้กองหน้าของทัพเรือไทยเดินทางถึงเกาะแตง ปราการสำคัญที่สุดของญวนแล้ว ไทย-ญวนจะรบกันอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๘ -
ยุทธนาวีเกาะแตงร้อนแรงนัก ไทยโหมหักบุกทางอย่างผู้กล้า ญวนวางหมากหลายชั้นด้วยปัญญา แล้วเข่นฆ่าทหารไทยสบายมือ
เรือกองหน้าทัพไทยไม่ฉลาด ถูกญวนกราดปืนใส่ในความดื้อ ปืนยิงไกลไทยมีที่ญวนลือ ยังไม่ถือนำหน้าออกมายิง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้นำเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยาเกียรติพระยารามนายกองหน้าพากำลังพล ๒,๐๐๐ คนไปถึงค่ายญวน เห็นญวนกำลังขนสรรพาวุธและเสบียงอาหารลงเรือหนี จึงโจมตี ยิงแทงฟันญวนตายที่ริมตลิ่งมาก จับเป็นได้ ๒๕ คน เรือรบ ๘ ลำ นำส่งเจ้าคุณแม่ทัพบก เจ้าพระยาบดินทรเดชาสอบถามเชลยญวนทราบความแล้ว สั่งให้กองหน้าเข้ารักษาค่ายญวนไว้ ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำนายกองหน้าทัพเรือยกลงไปถึงค่ายญวน พบเรือพระยาระยองกับพระยาชลบุรีจอดนิ่งอยู่ สอบถามได้ความแล้ว จึงสั่งให้นำพระยาทั้งสองใส่ถุงแล้วมัดปากถุงถ่วงน้ำให้ตายเสียในคลองวามะนาว แล้วเร่งยกทัพเรือกองหน้าลงไปถึงเกาะแตงปราการสำคัญที่สุดของญวน แล้วยั้งรอให้ทัพหนุนและปีกขวา-ซ้ายมาถึงพร้อมกัน ทั้งยังเป็นการรอดูเชิงศึกญวนก่อน ไทย-ญวนจะรบกันอย่างไร วันนี้มาอ่านความต่อครับ..“
 “ครั้นพอเวลาเพล ทัพกองหนุนและทัพเรือแซง ทัพเรือปีกซ้ายปีกขวายกลงมาถึงพร้อมกัน รวมเรือรบไทยครั้งนั้นถึงร้อยกับแปดลำ แต่กองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังยังมาไม่ถึง แต่กำลังรีบแจวลงมาข้างหลังจวนจะถึงอยู่แล้ว พระยาเดโชท้ายน้ำเป็นคนใจรีบร้อนต่อราชการศึกโดยมาก จึงไม่ได้รอเรือทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังให้มาถึงพร้อมกัน เห็นว่าแต่ทัพหน้า ทัพหนุน ทัพแซง ปีกขวาปีกซ้ายร้อยกับแปดลำเท่านี้ ก็พอจะยกลงไปตีทัพเรือญวนให้แตกไปได้แน่ จึงสั่งให้หลวงรักษาจตุรงค์วังหน้าลงเรือเล็กไปบอกนายทัพนายกองเรือทุกกอง ให้ยกลงไปตีเรือรบญวนเดี๋ยวนี้ กองทัพเรือไทยก็ยกลงไปถึงท้ายเกาะแตง ยิงปืนหน้าเรือรบลงไปถูกเรือรบญวน ญวนมิได้ยิงปืนโต้ตอบมา ญวนพากันถอนสมอเรือรบทำทีจะล่าถอยหนี แต่เรือรบไทยกองหน้าเห็นว่าญวนถอนสมอจะล่าหนีอยู่แล้ว เห็นว่าได้ที จึงรีบแจวเรือรบ ๑๘ ลำลงไปก่อน จุดปืนหน้าเรือระดมยิงเรือญวน ญวนก็วางปืนใหญ่กระสุนแตกขึ้นมาถูกเรือรบข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๒ ลำ คนในเรือรบทั้งสองลำคือ หลวงรามรณรงค์ กับเรือพระวิสูตรวารี แตกจมลงในลำน้ำทั้งสองลำ คนในเรือรบทั้งสองลำนั้นถูกกระสุนปืนเป็นกระสุนแตกตายบ้าง บ้างว่ายน้ำหนีมาขึ้นเรือรบลำอื่นได้บ้าง
 แล้วญวนนำเรือรบเล็ก ๆ ๒๕ ลำ แจวขึ้นมาหน้าเรือป้อมของญวน ญวนรับปืนใหญ่ในเรือป้อมที่ถอนสมอยังไม่ขึ้นนั้น รับแต่ปืนใหญ่ลงเรือเล็ก ๒๐ แจว ๒๕ ลำ แจวขึ้นมาใกล้เรือรบไทย ญวนก็วางปืนใหญ่มาพร้อมกันเป็นตับ ยิงมาคราวละ ๒๕ นัดพร้อม ๆ กัน กระสุนปืนตับญวนปลิวมาตกถูกเรือรบไทยอีกครั้งนี้ คือเรือหลวงศรีเยาวภาษกับเรือพระนรินทร์ เรือพระวิชิตมนตรี เรือหลวงนิกรโยธา รวม ๔ ลำแตกจมน้ำข้างตลิ่ง ผู้คนในเรือรบทั้ง ๔ ลำนั้นล้มตายหายจากกันเป็นอันมาก บ้างก็ว่ายน้ำขึ้นบกไปได้บ้าง ญวนค่ายบกก็ยิงปืนใหญ่น้อยในค่ายบกมาถูกคนไทยที่ขึ้นบกนั้นล้มตายลงมาก กลับหน้าวิ่งหนีลงน้ำว่ายขึ้นเกาะเรือรบไทยลำอื่นที่ไม่ล่มบ้าง ญวนค่ายบกเห็นดังนั้นแล้ว ก็นำม้า ๕๐ ม้าออกจากค่ายบก ยกมาไล่ล้อมจับไทยไปได้บ้าง ที่เรือรบพระศิริสมบัติกับเรือรบหลวงสุนทรวารีแขก ก็ยิงปืนรายราบเรือขึ้นไปบนบก ถูกทหารม้าญวนตายลง ๖ คน ญวนก็ถอยม้าเข้าค่ายไปสิ้น ไทยก็หนีมาลงน้ำว่ายขึ้นเรือพระศิริสมบัติและเรือหลวงสุนทรวารีแขกที่แจวอยู่ริมฝั่งนั้นได้บ้าง ที่ตายมากกว่าที่รอดหนีมาได้ ขณะนั้นญวนค่ายบกที่บนฝั่งข้างตะวันตกตรงเกาะแตงก็ยิงปืนใหญ่มาตกถูกผู้คนในเรือรบไทยตายมาก เรือรบไทยจะถอยล่าออกมาก็ไม่ได้ ด้วยพระยาเดโชท้ายน้ำไล่ต้อนเรือรบให้แจวลงไปต่อรบกับญวนอยู่เสมอไม่ให้รอไม่ให้หยุด แต่งให้พระวิชิตโกษาลงเรือรบเล็กลงไปเร่งเรือรบใหญ่ให้แจวลงไปเสมออยู่ไม่ให้ถอยเลย
 ครั้นนั้นญวนเห็นว่าทัพไทยยกทัพเรือหนุนเนื่องกันมาเสมอไม่หยุดหย่อน ญวนก็ถอนสมอนำเรือป้อมใหญ่ที่มีปืนทางไกล แจวขึ้นมาประดาหน้ากระดานเต็มทั้งลำน้ำถึงสี่แถวห้าแถว แถวหน้าเป็นเรือป้อมใหญ่ แถวหลังเป็นเรือรบเล็ก แถวในเป็นเรือค่ายใหญ่ แล้วมีเรือรบต่าง ๆ ตั้งเป็นแถวสับกันเป็นฟันปลาเต็มทั้งลำน้ำใหญ่ ขณะนั้นญวนก็ยิงปืนที่ศีรษะเรือป้อมมาได้โดยทางไกล กระสุนปืนญวนตกมาถูกเรือรบพระศิริสมบัติลำ ๑ ถูกเรือรบพระยาสุนทรานุรักษ์เขตลำ ๑ ลำหนึ่งกราบแตกแยกออกไปจนน้ำเข้าได้ครึ่งระวางเรือ ลำหนึ่งหางเสือจังกูดหักท้ายเรือแตกน้ำไหลเข้าได้ครึ่งลำ เรือรบที่ถูกกระสุนปืนชำรุดทั้งสองลำนั้น ก็เร่งพลทหารให้รีบแจวกลับมาจะเข้าฝังฟากข้างตะวันออกก็ยังไม่ทันจะถึงฝั่ง พอญวนนำเรือรบเล็ก คือ เรือแหวว มีพลแจวลำละ ๒๐ แจวพร้อมกัน ๑๕ ลำแจวไล่ตามมาทัน เรือพระศิริสมบัติแจวอยู่ในลำน้ำเกือบจะจมอยู่แล้ว ญวนนำปืนขานกยางบนเรือแหววยิงไปถูกศีรษะเรือรบพระศิริสมบัติทะลุที่ข้างเรือ ศีรษะเรือก็จมน้ำลงไปก่อน แต่ท้ายบาหลีเรือรบนั้นยังพ้นน้ำอยู่ หลวงสุนทรโกษานายทัพรองพระศิริสมบัตินั้น ก็ปีนขึ้นไปบนท้ายบาหลีเรือเพื่อจะหนีไม่ให้เปียกน้ำเพราะความตกใจตกตะลึงกลัวภัย ญวนเห็นได้ทีก็นำปืนคาบศิลายิงไปถูกหลวงสุนทรโกษาตายอยู่บนท้ายบาหลีเรือนั้น
ครั้นเรือจมลงไปทั้งลำหมดแล้ว ผู้คนในเรือก็ว่ายน้ำระส่ำระสายไปมาอยู่ในลำน้ำวามะนาวนั้น ว่ายวนเวียนไปมาอยู่ไม่รู้ที่จะหนีไปทางใดได้ เพราะเรือรบญวนมาล้อมรอบแล้ว แต่เป็นความรักษาชีวิตอยู่ ก็สู้ว่ายไปเวียนมาอยู่ในที่ล้อม ญวนเห็นดังนั้นแล้วก็นำเรือแหววแจวไปไล่ตามยิงแทงฟันพวกไทยที่ว่ายน้ำอยู่นั้นตายมาก แต่พระศิริสมบัติกับขุนหมื่น ๒ คนว่ายน้ำไปเกาะกระดานเรือได้แผ่นหนึ่ง ก็ช่วยกันว่ายเสือกสนจะเข้าตลิ่ง พอญวนเห็นเข้าว่าคนที่ว่ายน้ำเกาะกระดานนั้นสวมเสื้อเข้มขาบริ้ว ญวนก็เข้าใจแน่ว่าเป็นนายเรือรบไทย ญวนจึงไม่ฆ่า สั่งให้จับเป็นไปทั้ง ๓ คนบ่าวนาย แต่ไพร่พลในเรือรบลำพระศิริสมบัตินั้น ที่เหลือตายก็ว่ายน้ำหนีมาขึ้นฝั่งตะวันตก แล้วเดินมาลงเรือรบไทยลำอื่นได้บ้าง จึงได้มาแจ้งความตามเหตุที่เป็นมานั้นให้แม่ทัพนายกองทราบ
 ครั้งนั้น เรือรบพระยาสุนทรานุรักษ์หางเสือจังกูดหัก เรือก็รั่วน้ำเข้าได้บ้างแล้ว แจวตุหรัดตุเหร่หมุนไปหมุนมาอยู่กลางน้ำ ญวนเห็นแล้วก็นำเรือแหวว ๑๐ ลำแจวเข้าล้อม แล้วนำปืนคาบศิลายิงระดมไปถูกคนในเรือรบไทยตายมาก พลแจวในเรือรบไทยเห็นดังนั้นก็วางแจวเสียหมด หนีลงไปซ่อนตัวอยู่ใต้ดาดฟ้า เรือก็ลอยอยู่กลางน้ำเข้าฝั่งไม่ได้ ญวนที่ล้อมเห็นดังนั้นแล้วก็พากันปีนขึ้นบนเรือรบไทย ญวนไล่ฆ่าไทยในเรือใต้ดาดฟ้าบนดาดฟ้าตายทั้งสิ้น
 ครั้งนั้น ญวนเห็นพระยาสุนทรานุรักษ์ ๑ หลวงมหาศักดิราช ๑ หลวงวิเศษโยธา ๑ วังหน้าทั้ง ๓ คนสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัด ก็เข้าใจว่าเป็นนายทัพเรือ จึงไม่ฆ่า จับเป็นไปทั้ง ๓ คน จำขื่อมือแล้วพาลงเรือส่งไปให้แม่ทัพใหญ่ของญวน แล้วญวนกระทุ้งท้องเรือใหญ่ให้จมลงน้ำเสียหมด.......”
 * อ่านมาถึง “ยุทธนาวีที่เกาะแตง” แล้วก็เหนื่อยใจจังเลย แต่อดนึกชื่นชมญวนไม่ได้ ว่าเขาช่างมีระเบียบวินัยและสามัคคีกันดีเหลือเกิน แล้วก็แปลกใจว่า เมื่อเรือรบไทยถูกกระสุนปืนเสียหาย เรือรบลำอื่นหรือแม้เรือเล็กทำไมไม่เข้าช่วยประคับประคอง ปล่อยให้เรือแหววซึ่งเป็นเรือเล็กของญวนแจวเข้าล้อมยิงอย่างสบายมือได้อย่างไร และปืนเล็กปืนใหญ่ในเรือรบไทยที่ถูกยิงนั้นก็มีอยู่ ทำไมทหารเรือไทยไม่ยิงใส่ญวนบ้าง ปล่อยให้ญวนยิงอยู่ฝ่ายเดียวได้ไง แล้วก็เรือลำล่าสุดที่หางเสือหักนั้นน่ะ เมื่อทหารญวนพากันปีนขึ้นมาบนเรือ ทหารไทยทำไมจึงงอมืองอเท้าให้ญวนไล่ฆ่าฟันตายหมดทั้งลำเรือได้ เสียศักดิ์ศรีชายชาติทหารหมดเลย ก็แล้วกันไปเถิด ! เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗๙ -
ทัพเรือไทยไร้ระเบียบเสียเปรียบมาก เรือญวนกรากเข้าหาพากันวิ่ง “พระยาเดโชท้ายน้ำ”ไม่แน่จริง พาพลทิ้งเรือยกขึ้นบกไป
ญวนยึดเรือพร้อมปืนเสบียงด้วย ทัพช้างช่วยแก้จนพ้นตายได้ แม่ทัพเรือนำทัพมิฉับไว ทั้งมีใจอ่อนแอจึงแพ้ริปู |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันวานนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยาเดโชท้ายน้ำแม่ทัพเรือกองหน้าไล่ต้อนพลเรือแจวลงไป หมายโจมตีกองทัพเรือญวนที่ตั้งรับอยู่ ณ เกาะแตง หลังจากจอดรอเรือหนุนเรือแซงเรือปีกซ้ายปีกขวาจนมาถึงพร้อมกันแล้ว เห็นว่ามีเรือรวมกันถึง ๑๐๘ ลำ มากพอที่จะยกลงไปโจมตีกองเรือญวนให้แตกพ่ายไปได้ โดยไม่ต้องรอให้กองทัพใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลังยกมาถึง จึงเร่งไล่ต้อนพลแจวเรือยิงปืนใส่กองเรือญวน เรือรบญวนถอนสมอทำทีว่าจะล่าถอยหนีไป แล้วก็จัดรูปแปรกระบวนยกกลับมายิงปืนใหญ่ระยะไกลถูกเรือรบไทยเสียหายล่มจม ไพร่พลล้มตายลงเป็นอันมาก เรือรบใหญ่ไทย ๒ ลำถูกยิงแตกจมน้ำ นายเรือถูกจับเป็นไปหลายนาย สถานการณ์กองเรือไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่แล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.
 “...ครั้งนั้น หมื่นทิพยสมบัติกับไพร่ ๒ คนหนีลงในถังน้ำก่อน ญวนยังไม่ได้ขึ้นเรือพระยาสุนทรานุรักษ์ เมื่อญวนกระทุ้งเรือจมแล้วถังก็ลอยไป ญวนไม่ได้สังเกตจึงไม่ได้ดูในถังน้ำ ถังน้ำก็ลอยมาปะทะเรือรบพระอนุรักษ์โยธา พระอนุรักษ์โยธาจึงพาคนในถังน้ำส่งขึ้นไปให้เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ทราบความตามที่บรรยายมานั้นแล้ว เมื่อขณะญวนมาไล่จับพระศิริสมบัติและพระยาสุนทรานุรักษ์นั้น กองเรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญและกองพระยานครเขื่อนขันธ์ทั้ง ๒ กองแจวลงไปถึง จึงเห็นทัพเรือเสียแก่ญวน ญวนมาล้อมจับอยู่ดังนั้นแล้ว ทัพเรือทั้งสองก็วางปืนใหญ่หน้าเรือรบลงไป ฝ่ายญวนเรือป้อมก็แทรกขึ้นมากั้นเรือแหววที่ญวนล้อมจับแม่ทัพไทยอยู่นั้น เรือป้อมนำปืนใหญ่ยิงโต้ตอบขึ้นมาบ้าง ทางปืนใหญ่ญวนในเรือป้อมเป็นปืนทางไกลมาก กระสุนปืนมาตกใกล้เรือกองพระยาพิทักษ์ทวยหาญแตกชำรุดบ้าง แต่ไม่ล่มจม พระยาพิทักษ์ทวยหาญ พระยานครเขื่อนขันธ์ สั่งให้กองรามัญล่าถอยกลับขึ้นไปให้พ้นทางปืนใหญ่ญวน
 ขณะนั้น พอทัพเรือกองแซงและกองหนุนปีกซ้ายขวายกลงไปทันเรือกองหน้าเมื่อเสียแก่ญวนแล้วนั้น พอกองทัพเรือรามัญยกกลับมาก็เข้าใจว่าทัพเรือกองหน้าเสียหมด ญวนคงจะยกทัพขึ้นมาไล่ทัพหนุนต่อขึ้นมา เพราะดังนั้น ทัพแซงและทัพหนุนจึงได้แจวล่าถอยกลับขึ้นมาหมด ฝ่ายญวนเห็นดังนั้นก็ยกทัพเรือรบเล็กใหญ่ไล่ขึ้นมายิงปืนใหญ่หน้าเรือรุกไล่ตามมามาก ฝ่ายทัพเรือไทยกองแซงและกองหนุนกองปีกซ้ายขวาก็พากันตื่นตกใจกลัวญวน พากันล่าถอยกลับมาเป็นอลหม่านไม่เป็นกระบวน จนเรือรบทุกกองมาปะทะเรือรบกองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจะห้ามปรามเท่าไรก็ไม่ฟัง เรือรบทุกทัพทุกกองแจวถอยหนีมาบ้าง แล่นใบมาบ้าง ตีกระเชียงมาบ้าง แจวมาบ้าง ล่าถอยหนีญวนมาเป็นอลหม่าน บ้างแข่งบ้างแย่งมาก่อน จนโดนกันเองแตกหักเสียหายหลายลำบ้าง หางเสือจังกูดหักบ้าง ศีรษะเรือไปโดนกราบเรือกันเองแตกไปกราบหนึ่งบ้าง บางลำศีรษะเรือชักบ้าง สับสนกันหนัก ครั้งนั้นเรือรบไทยหลายสิบลำล่าถอยหนีญวนมาปะทะอัดแอกันอยู่ในคลองวามะนาวใหญ่ ใกล้จะถึงปากคลองสามแยก พวกเรือรบไทยครั้งนั้นมาปะทะพร้อมกันอยู่ ไม่รู้ที่จะหลีกกันไปทางไหนได้ เพราะเรือรบมามากพร้อมคั่งกันอยู่ปากคลองสามแยก
 ครั้งนั้น ญวนเห็นเป็นที จึงนำเรือรบใหญ่ ๑๕๐ ลำ แล่นใบบ้าง แจวบ้าง ไล่ติดตามตีกองทัพเรือไทยมาข้างหลังบ้าง แล้วนำปืนที่ศีรษะเรือป้อมยิงขึ้นมาไล่เรือรบไทย เรือรบไทยก็ถอยหนีรุดมาพร้อมกัน ปะทะกันอัดแออยู่ที่ปากคลองสามแยก ยังไม่ทันจะหลีกกันไปข้างไหนได้ ขณะนั้นญวนแต่งกองทัพเรือรบเล็ก ๆ ไว้ถึง ๑๐๐ ลำเศษ ญวนยกทัพเรือรบเล็กวกอ้อมมาในคลองลัดต่าง ๆ แจวก้าวสกัดมาออกลำน้ำใหญ่ได้หลายทาง ญวนจึงนำเรือรบเล็กๆ เป็นทัพขนาบตีตัดหลังกองทัพเรือไทยลงไป เรือรบใหญ่ของญวนก็ยิงปืนระดมมาพร้อม ๆ กัน เรือรบเล็ก ๆ ของญวนก็ยิงปืนระดมลงไปพร้อม ๆ กัน ทั้งสองทัพหน้าหลังของญวนตีรุกเข้ามาทุกที ฝ่ายทัพเรือไทยทั้งหลายอยู่ที่กลาง ต้องเข้าช่องแคบสู้ทั้งข้างหน้าข้างหลังระวังยาก ญวนยกทัพเรือใหญ่มาข้างหลัง ยกเรือรบเล็กมาข้างหน้าเป็นศึกขนาบไทย ไทยเกือบจะเสียทัพเรือแก่ญวนอยู่แล้ว
 ขณะนั้นพระยาเดโชท้ายน้ำแม่ทัพเรือรบกองหน้าฝ่ายไทยทิ้งเรือเสียหมด พาพลทหารยกขึ้นจากเรือมาขึ้นบกที่ริมฝั่งตะวันออก คิดจะฝ่าเรือรบออกเป็นซีก ๆ ขึ้นตั้งเป็นค่ายมั่นบนบก พอจะได้บังกระสุนปืนรับทัพญวน ยังหาทันจะทำการสำเร็จดังที่คิดไม่ ในทันใดนั้น ญวนยกทัพเรือรบเล็กมาถึงเร็วหนัก ญวนนำปืนใหญ่น้อยยิงระดมขึ้นไปบนตลิ่ง กระสุนปืนญวนยิงถึงกองทัพพระยาเดโชท้ายน้ำ พระยาเดโชท้ายน้ำต้องขุดคูพากันลงแอบบังกระสุนปืนแทบทุกคน ฝ่ายญวนเห็นว่าไทยกองทัพเรือพระยาเดโชท้ายน้ำทิ้งเรือรบ ๑๐๒ ลำเสียแล้วหนีขึ้นบกดังนั้น ญวนก็จัดการจะนำเชือกมาจูงเรือรบใหญ่ ๆ ของไทยไปให้หมดทั้ง ๑๐๒ ลำ
 ขณะนั้น พอกองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชารีบยกมาถึงท้องทุ่งใกล้ปากคลองสามแยกแล้ว จึงได้ยินเสียงปืนทางน้ำยิงโต้ตอบกันหนาหูทุกที ก็รู้ว่าทัพเรือไทยได้รบกับทัพเรือญวนเป็นสามารถแน่แล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล ให้เป็นแม่ทัพคุมกองช้างพระยาเพชราชาในพระราชวังหลวง ๑๐๐ ช้าง ให้รีบเร่งยกลงไปช่วยแก้ทัพเรือที่ริมฝั่งน้ำวามะนาวข้างตะวันออกทางหนึ่ง แล้วสั่งให้พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นแม่กองทัพช้างคุมกองช้างพระยาประกฤษณุรักษ์ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๗๐ ช้าง ให้รีบยกลงไปทัพเรือที่ริมฝั่งตะวันออกอีกทัพหนึ่ง แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็รีบดำเนินกองทัพบกยกเป็นลำดับมาถึงเชิงตลิ่งใกล้ปากคลองสามแยก เห็นญวนนำเรือรบเล็ก ๆ แจวไล่ยิงเรือรบไทย ไทยทิ้งเรือรบหนีขึ้นบกดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้หลวงเสนาภักดีขึ้นม้าเร็ว รีบสวนทางลงไปบอกแก่พระยาจ่าแสนบดีนายกองช้าง ให้นำปืนบาเหรี่ยมขานกยางจังก้าบนหลังช้างยิงระดมลงไปให้พร้อม ๆ กัน คราวละ ๒๐ ช้าง ให้ติด ๆ กันสักพักสองพัก ทัพเรือญวนก็จะถอยไป อย่ากลัวมันเลย
 พระยาจ่าแสนบดีทำได้ตามบัญชา สั่งตั้งปืนจังก้าบนหลังช้างเป็นแถว แถวละ ๒๐ ช้าง วางปืนตับบนหลังช้างลงไปถูกเรือรบญวนที่เข้ามาใกล้ตลิ่งแตกบ้าง ล่มจมบ้าง ๔๓ ลำ ญวนตายในน้ำครั้งนั้นประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่เหลือตายก็ว่ายน้ำไปขึ้นเรือรบที่ไม่จมนั้นได้บ้าง รอดตายไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ เรือรบที่ถูกกระสุนปืนหลังช้างชำรุดศีรษะหักกราบแตกไม่จมนั้น ก็หนีออกไปให้ห่างตลิ่งพอพ้นปืนไทย แต่เรือรบญวนที่มาประดาแจวอยู่หน้าตลิ่งและอยู่ห่างไกลทางกระสุนปืน ประมาณเรือรบทั้งใหญ่และเล็ก ๒๗๐ ลำ ก็หนุนเนื่องกันแจวเข้ามามาก แต่ล้วนเรือค่ายเรือป้อมใหญ่ ๆ พอรับกระสุนปืนไทยไม่แตกจมลงได้ แจวหนุนเนื่องกันเข้ามา ช่วยกันเก็บจูงเรือรบของไทยที่พระยาเดโชท้ายน้ำทิ้งไว้ในลำน้ำนั้น ๖๔ ลำ เก็บได้พร้อมทั้งปืนใหญ่และกระสุนดินดำเสบียงอาหารสำหรับเรือญวนนั้นได้ไปพร้อมกับเรือสิ้นทุกลำ ญวนได้เรือรบใหญ่ ๆ ของไทยไป ๖๔ ลำครั้งนั้น เพราะว่ากองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังไม่ยกหนุนไปช่วยแก้ไข กลับถอยทัพหนีไปไกล ละทิ้งให้แต่พระยาเดโชท้ายน้ำอยู่กองเดียว จึงเสียเรือรบของหลวงไปแก่ญวนมาก แต่กองทัพข้างฝ่ายพระราชวังบวรฯ นั้น ยกลงไปถึงช้าอยู่หน่อย ไม่ทันรบกับญวน ญวนก็พากันเก็บเรือรบไทยไปได้ แล้วญวนก็ล่าทัพถอยหนีกลับไปค่ายเกาะแตงหมด เพราะทัพช้างมาต้านทานปะทะญวนไว้ได้ ญวนจึงไม่ได้ไล่ทัพเรือกองเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังก็ถอยหนีไปได้สะดวก ไปพักอยู่ในคลองวามะนาวใกล้เมืองโจดก.......”
 *** เป็นอันว่า “เรียบร้อยโรงเรียนญวน” ไปแล้ว สำหรับกองทัพเรือไทยของเจ้าพระยาพระคลัง ถ้ากองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปช้ากว่าอีกสักหน่อย กองทัพใหญ่เรือไทยเห็นทีจะไม่พ้นมือญวน เพราะนายทัพนายกองและไพร่พลพากันกลัวญวนจน “อุจจาระขึ้นสมอง” มีปืนก็ไม่ยิงโต้ตอบญวน กลับทิ้งปืนไว้ในเรือ โดดน้ำว่ายหนีขึ้นบกแต่ตัว กองเรือหนีอย่างไร้ระเบียบวินัย ชนกันเองจนเสียหาย ผิดกับญวนที่เวลาล่าถอยก็ไปเป็นระเบียบ เวลายกรุกก็มาเป็นระเบียบ อย่างนี้รบกับญวนอีกกี่ครั้งก็แพ้ญวนอย่างไม่มีลุ้นกันเลยทีเดียว เจ้าพระยาพระคลังถอยกลับไปเมืองโจดกแล้ว ญวนจะตามตีอีกหรือไม่อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทย ๑๒ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๐ -
แม่ทัพบกยกรบไม่ครบถ้วน ตีค่ายญวนเกาะแตงทุ่มแรงสู้ แต่พ่ายญวนเลิกรุกทุกประตู จึงไม่อยู่รอท่าญวนฆ่าตาย
จะถอยกลับเนาเขตประเทศเขมร พักทัพเค้นคิดทางวางเป้าหมาย รบตีญวนอีกครั้งเพื่อล้างอาย เอาไว้ลายเสือสยามญวนยำเกรง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ได้เล่าถึงตอนเรือรบทัพหน้าสองลำ คือเรือพระศิริสมบัติและพระยาสุนทรานุรักษ์ถูกญวนยิงล่มลง แล้วเรือรบเล็กญวนเข้าล้อมจับ เรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญและพระยานครเขื่อนขันธ์เห็นเช่นนั้นก็เข้าไปช่วย แต่ถูกเรือป้อมปืนใหญ่ญวนยิงปืนระยะไกลตกใส่ใกล้ เรือรบพระยาทั้งสองเสียหายเล็กน้อย ล่าถอยให้พ้นทางกระสุนปืน กองหนุนและเรือแซง เรือปีกซ้ายขวา เห็นเรือพระยาทั้งสองล่าถอยมา ก็เข้าใจว่าเรือกองหน้าเสียแก่ญวนสิ้นแล้ว และญวนกำลังไล่ตามมา เกิดความกลัวญวน จึงพากันถอยหนีกลับอย่างชุลมุนวุ่นวายมาปะทะชนกันเองเป็นอลหม่านจนเรือเสียหาย แออัดยัดเยียดกันอยู่ที่สามแยก เจ้าพระยาพระคลังจะห้ามปรามสั่งการอย่างไรก็ไม่ฟัง พระยาเดโชท้ายน้ำนั้นทิ้งเรือในกองของตนเสียสิ้น พาไพร่พลขึ้นบกเตรียมจะผ่าเรือเป็นซีก ตั้งเป็นค่ายกำบังลูกปืนญวน ญวนได้ทีก็พาเรือน้อยใหญ่รุกไล่ยิงฆ่าฟันพลไทยล้มตาย และกำลังจะลากจูงเรือรบไทยร้อยกว่าลำที่พระยาเดโชทิ้งเสียนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกทัพบกมาถึงขณะที่ญวนกำลังจะลากจูงเรือรบไทย จึงสั่งให้เอาปืนหลังช้างระดมยิงไล่ญวน กระสุนปืนหลังช้างถูกเรือรบญวนแตกล่มหลายลำ พลญวนตายประมาณ ๕๐๐ คนเศษ หนีไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ แต่ญวนก็ดื้อรั้นฟันฝ่าห่ากระสุนปืน ลากจูงเรือรบไทยพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์เสบียงอาหารประจำเรือไปได้เกือบทั้งสิ้น แล้วถอยทัพกลับไปตั้งรับอยู่เกาะแตงตามเดิม เจ้าพระยาพระคลังก็ยกกองทัพเรือกลับเมืองโจดก การรบยกสองนี้ ไทยพ่ายแพ้ อย่างสิ้นเชิง ผลจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ครั้งนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชายกไปถึงที่ปากคลองสามแยก พอทัพเรือญวนยกเลิกกลับไปหมด จึงให้พระยาราชสงครามแม่ทัพกองหน้าเร่งยกไปตีค่ายญวนที่เกาะแตงลองดูตามบุญตามกรรม ทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ล่าถอยไปเสียแล้ว จึงสั่งให้พระยาเดโชท้ายน้ำกลับลงเรือที่เหลือจากพวกญวนพาไปไม่หมด ๓๘ ลำ ให้ยกลงไปช่วยหนุนทัพบกด้วย แต่ไพร่พลทัพเรือที่เหลือตายและเหลือจากเรือรบ ๓๘ ลำนั้น ก็ให้เดินไปในทัพบกบ้าง แล้วให้หลวงสุรณรงค์วังหน้า คุมเรือเร็วรีบไปเร่งทัพเรือเจ้าพระยาพระคลัง ให้กลับลงมาช่วยทัพบกยกเข้าตีค่ายญวนที่เกาะแตงอีกสักครั้งหนึ่ง
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรดชายกทัพบกลงไปใกล้เกาะแตง รอเดินทัพคอยทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็หายกลงมาไม่ ครั้นจะรอคอยทัพเรืออยู่ช้าก็ไม่ได้ ญวนจะยกทัพบกทัพเรือมาตีทัพบกแตกเสียเหมือนทัพเรืออีกเล่า จำเป็นจะรอคอยไม่ได้ จึงสั่งพระยาจ่าแสนบดีและพระยาพิไชยชาญฤทธิ์นายทัพช้าง ๒ กอง ให้นำปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนที่บรรทุกหลังช้างมานั้น ยกลงตั้งกับตลิ่ง ยิงไปต้องค่ายญวนกองหน้าของทัพเกาะแตง ค่ายญวนที่นั้นตั้งใกล้เกาะแตง ถูกกระสุนปืนใหญ่ไทยค่ายญวนพังทลายลง ไฟก็ไหม้หอรบหน้าค่ายญวน ญวนต้อนพลทหารขึ้นดับไฟบนหอรบ ฝ่ายทัพไทยก็ยิงปืนใหญ่ออกไปอีกคราวหนึ่ง จึงกระสุนปืนถูกพลทหารที่ขึ้นดับไฟนั้นตกหอรบลงมาตายบ้าง ถูกกระสุนปืนตายบ้าง รวมญวนตายครั้งนั้นประมาณ ๕๐ คน
 ฝ่ายญวนซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ฟากฝั่งตะวันออกเยื้องเกาะแตงนั้น ก็ยิงปืนใหญ่ออกมาจากค่ายตะวันออกนั้นเป็นสามารถ กองทัพบกฝ่ายไทยจะยกไปตีปล้นค่ายฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้ ต้องถอยทัพกลับออกมา แต่เมื่อทัพบกยกเข้าตีปล้นค่ายญวนฝั่งตะวันตกนั้น ค่ายญวนฝั่งตะวันตกเป็นที่ท้องคุ้ง ค่ายญวนฝั่งตะวันออกเป็นที่ศีรษะแหลมยื่นออกมามาก เพราะฉะนั้นค่ายญวนฝั่งตะวันออกจึงนำปืนใหญ่น้อยยิงระดมมาแต่ศีรษะแหลมฝั่งตะวันออก กระสุนปืนมาตกที่คุ้งฝั่งตะวันตกได้ถนัด ถูกผู้คนนายทัพนายกองและไพร่พลไทยล้มตายลงมากเมื่อยกเข้าปล้นนั้น
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้ทัพหน้าและทัพของท่านถอยออกมาเลิกการปล้นเสีย ให้ตั้งมั่นกันแต่ไกล ๆ ดูเชิงศึกก่อน ขณะยกเข้าปล้นค่ายใต้เกาะแตงฝั่งตะวันตกนั้น เสียนายทัพนายกอง ๔ คนคือ พระยาวิเศษไชยชาญผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ถูกปืนญวนกระสุนเท่าผลมะกรูดที่หลังตายในที่รบ พระราชเสนาถูกปืนหามแล่นญวนกระสุนเท่าผลหมากสงข้างในมาถูกศีรษะแตกตายในที่รบ พระเขื่อนเพชรเสนากับหลวงยุทธกำแหงสงครามข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ ทั้งสองนี้ถูกกระสุนแตกของญวนยิงมาต้องที่กายก็ตกลงน้ำตายในที่รบ ศพก็ไม่ได้เห็นทั้งสองคน แต่ขุนหมื่นไพร่พลไทยรามัญเขมรตายประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เศษ
 แต่กองช้างนั้น ช้างถูกกระสุนปืนใหญ่ของญวนตาย ๔๖ เชือกทั้งสองกอง หลวงวิเศษคชลักษณ์กรมช้างในพระราชวังหลวงถูกกระสุนปืนตาย ๑ หลวงอินทรคชลักษณ์กรมช้างในพระราชวังบวร ฯ ตายบนหลังช้าง ๑ หลวงภักดีพลแสนกรมช้างนอกในพระราชวังบวรฯ ถูกกระสุนปืนตายพร้อมกับช้างที่ล้มตายด้วย ๑ ไพร่พลในกรมช้างสองกองตายประมาณ ๑๐๐ เศษ การประมาณไพร่พลตายในการรบมาเรียบเรียง เป็นแต่การประมาณมาแต่ในใบบอกในคราวล่าทัพนั้น ก็เก็บมาเรียงไว้ในนี้ตามใบบอกของกองทัพบกและเรือ
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบก ล่าทัพจากที่ปล้นดังนั้นแล้ว รอคอยทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ไม่ยกมาช่วย มีแต่ทัพเรือพระยาเดโชท้ายน้ำ ก็มีเรือรบแต่ ๓๘ ลำเท่านี้จะสู้อะไรกับญวนได้เล่า จึงปรึกษากับพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองว่า
 “แต่เรายกกองทัพมาตีปล้นค่ายญวนที่เกาะแตงนี้ก็หลายเวลาแล้ว ไม่ได้ท่วงทีมีชัยชนะแก่ญวนเลย เพราะว่าทัพเรือมาไม่ทัน ถ้าทัพเรือมาทันทีก็จะยิงระดมกับค่ายฝั่งตะวันออกได้ ฝ่ายเราก็จะเข้าปล้นค่ายฝั่งตะวันตก คงจะได้ชัยชนะแก่ญวนสักทางหนึ่งไม่ทัพบกก็ทัพเรือ คงจะได้ค่ายญวนสักค่ายหนึ่งเป็นแน่ นี่ทัพเรือไม่ยกมาเราจึงต้องล่า เพราะด้วยทัพเรือมาไม่พร้อมกับทัพบกสองครั้งแล้ว จึงเสียไพร่พลและช้างม้าเรือรบกับพวกญวนมาก ครั้งก่อนคนน้อยก็ว่าคนน้อย ครั้งนี้คนมาก ก็ต้องล่าทั้งมาก ๆ เราจะตั้งรบรับกับญวนอยู่ที่นี่ไม่ได้ ถ้าพวกญวนยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมมาอีก ฝ่ายเราก็จะอยู่สู้มันไม่ได้ เพราะว่าเรือรบของเรามีน้อยนัก เห็นอยู่แต่ทางที่จะล่าถอยกองทัพกลับฝ่ายเดียวเท่านั้น ทำศึกกับพวกญวนเช่นนี้จะได้เมืองญวนที่ไหนเล่า ครั้นจะบอกกล่าวโทษทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังเข้าไปยังกรุงเทพฯ บ้าง ดูเหมือนเราจะก่อการให้ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นหลายอย่างหลายประการ ทั้งเสียรี้พลทวยหาญ ช้างม้า ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็พากันมาล้มตาย พลัดพรายหายจากไปก็มีบ้างต่าง ๆ นานา ทั้งเสียพระราชทรัพย์ที่ทรงทำนุบำรุงในการศึกสงครามนี้ก็มากมายหลายพันชั่ง ก็ยังหาได้เมืองญวนสมดังพระราชประสงค์ไม่
ครั้นจะคิดยักย้ายถ่ายเทศึกสงครามต่อไป คิดแก้ไขตีเมืองญวนมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้ตามพระราชประสงค์นั้นเล่า จะต้องให้เจ้าพระยาพระคลังกลับก่อน ให้สิ้นคนขลาดและคนที่ไม่ประพฤติตามคำสั่งของผู้ถืออาชญาสิทธิ์ในการทัพศึก โดยที่เจ้าพระยาพระคลังทำความผิดต่อกฎหมายพระอัยการศึกหลายครั้งแล้ว ฝ่ายเราก็จะตั้งแต่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองที่กล้าหาญ เป็นแม่ทัพฝ่ายเรือแทนเจ้าพระยาพระคลังต่อไปตามในบทพระอัยการศึก แล้วจะได้นัดหมายนายทัพบกทัพเรือให้ยกพร้อมกัน ระดมเข้าตีค่ายญวนที่เกาะแตงอีกสักครั้งหนึ่ง ก็คงจะได้ชัยชนะแก่ญวนที่เกาะแตงเป็นอันแน่
แต่มาทว่าจะชนะญวนได้ค่ายที่เกาะแตงแล้ว เราจะลงไปทำศึกสงครามตีทัพญวนที่มาล้อมเมืองไซ่ง่อนให้แตกไปในครั้งนี้ไม่ได้ เพราะเรือรบของเรามีน้อย ไม่พอกับจะเป็นทัพหนุนที่จะยกไปช่วยทัพบกทำการข้างหน้าเห็นจะตลอดไปไม่ได้ อีกประการหนึ่งเล่า ระยะนี้ก็เป็นเดือนห้าต่อเดือนหก เข้าในฤดูฝนบ้างแล้ว จะยกทัพบกไปในป่าดง กว่าจะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น ไพร่พลก็จะได้ความลำบากมาก เจ็บไข้ล้มตายด้วยไข้ป่าในฤดูฝนนี้มากนัก เห็นการที่คิดใหม่นี้ก็ไม่เป็นที่มั่นคงแก่ราชการศึกต่อไปได้เลย คิดไปคิดมาก็ไม่ได้ แต่จะต้องล่าทัพไปพักพลอยู่ที่เมืองเขมรก่อน จะได้บำรุงพลทหารและหาเสบียงอาหารสะสมไว้ทำการปีกับญวนต่อไปอีกใหม่ในฤดูแล้งหน้า จึงจะได้คิดราชกาต่อไปอีก ครั้งนี้ก็ได้แต่ล่าถอยไปทั้งทัพบกทัพเรือถ่ายเดียวเท่านั้น”
 ฝ่ายเจ้าพระยาและพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งหลาย ก็เห็นชอบพร้อมกันตามความคิดเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาเดโชท้ายน้ำ ให้คุมเรือรบ ๓๘ ลำที่เหลืออยู่นั้น ให้ยกกลับไปหาเจ้าพระยาพระคลังที่ปากคลองวามะนาวเถิด จะได้ล่าทัพเรือไปอยู่เมืองบันทายมาศทีเดียว.......”
* เรียกได้ว่า “แพ้ญวนทุกประตู” แม่ทัพเรือยามนั้นหากมิใช่เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเป็นราชนิกูล เห็นทีว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาคงจะดำเนินการตามกฎหมายพระอัยการศึกเป็นแน่ ความคิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่จะตีเอาเมืองญวนให้ได้ยังติดค้างอยู่ในใจ จึงมีแผนที่จะเปลี่ยนแม่ทัพเรือคนใหม่ หลังจากล่าถอยไปพักพลที่เมืองเขมรแล้ว จะต้องยกไปตีเอาเมืองญวนมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้จงได้ คิดดังนั้นแล้วก็จึงสั่งล่าถอยทัพทั้งหมด เรื่องจะเป็นอย่างที่เจ้าคุณแม่ทัพบกคิดไว้หรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, ข้าวหอม, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๑ -
จะถอยกลับเนาเขตประเทศเขมร พักทัพเค้นคิดทางวางเป้าหมาย รบตีญวนอีกครั้งเพื่อล้างอาย เอาไว้ลายเสือสยามญวนยำเกรง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพบกมาถึงสามแยก พบว่ากองเรือญวนยกกลับไปเกาะแตงแล้ว และกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ล่าถอยกลับไปหมดแล้วเช่นกัน จึงสั่งพระยาราชสงครามกองหน้าทัพบกเดินหน้าต่อไปตีค่ายญวนที่เกาะแตง และให้พระยาเดโชท้ายน้ำยกพลลงเรือรบที่เหลืออยู่ ๓๘ ลำ ยกลงไปเกาะแตงช่วยทัพบกตีญวน พร้อมกับให้หลวงสุรณรงค์วังหน้า คุมเรือเร็วลงไปเร่งทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังให้ยกกลับลงไปช่วยทัพบกตีค่ายญวนที่เกาะแตงอีกครา เจ้าพระยาบดินทรเดชายกเข้าปล้นค่ายญวนฟากฝั่งตะวันตกจนใกล้จะแตกแล้ว ปรากฏว่าญวนในค่ายฟากฝั่งตะวันอกยิงปืนใหญ่น้อยช่วยค่ายตะวันตก กองทัพไทยอยู่ในชัยภูมิที่เสียเปรียบ ถูกญวนค่ายตะวันออกยิงปืนมาถูกไพร่พลช้างม้าล้มตายมากจนต้องถอยออกมา ครั้นรอคอยทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังอยู่นาน จนรู้แน่ว่าทัพเรือไม่ยอมยกลงไปช่วยแน่แล้ว จึงปรึกษานายทัพนายกอง เห็นพ้องกันว่าควรล่าถอยทัพกลับไปตั้งหลักบำรุงกองทัพที่เขมร แล้วค่อยยกมาตีญวนภายหลัง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
ขณะนั้นจึงแต่งหนังสือคำสั่งถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า
“ทัพบกจะยกเลิกล่าไปในครั้งนี้แล้ว ให้ทัพเรือยกล่าถอยไปพักพลอยู่ที่เมืองบันทายมาศทีเดียวเถิด อย่าให้ทัพเรือพักที่เมืองโจดกเลย”
 ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำได้รับหนังสือคำสั่งแล้ว จึงเลิกทัพเรือล่าถอยไปในวันนั้น ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบก จึงสั่งพระยา พระ หลวง นายทัพทั้งปวงให้ยกเลิก ล่าถอยทัพไปเมืองโจดกทุกทัพทุกกอง ฝ่ายทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังและทัพเรือทั้งหลายก็ยกเลิกมาอยู่ที่เมืองบันทายมาศทั้งสิ้น แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชามาถึงเมืองโจดกแล้ว จึงมีหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า
“ทัพบกได้มาพักอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว ขัดสนด้วยเสบียงอาหารและกระสุนดินดำด้วย ครั้นจะอยู่ที่นี้เห็นทีญวนจะยกทัพบกทัพเรือมาตีเมืองโจดกคืนครั้งนี้โดยสามารถ เพราะญวนได้เรือรบไทยไปไว้มากแล้ว กับประการหนึ่งเล่า ญวนกำลังเป็นบ้าสงคราม คงจะยกทัพใหญ่มาตีไทยอีกเป็นแน่ ครั้นทัพบกจะตั้งรับทัพญวนอยู่ที่เมืองโจดกนี้ เห็นว่าป่วยการแรงทหารไพร่พลหนัก เพราะรี้พลก็บอบช้ำอิดโรยลงมาก จำเป็นจะต้องชิงทิ้งเมืองโจดกเสียในครั้งนี้เป็นแน่ แต่ว่าจะต้องรื้อกำแพงเมืองทลายลงน้ำเสียให้สิ้น กับจะนำปืนใหญ่สำหรับเมืองโจดกนั้นหาตะปูอุดชนวนเสียทุกกระบอก แล้วกลิ้งลงทิ้งน้ำเสียให้หมด อย่าเหลือไว้ให้เป็นกำลังแก่ญวนต่อไป ปืนใหญ่นั้นครั้นจะพาไปด้วยก็ไม่ได้ เพราะเป็นปืนใหญ่เหลือกำลังช้างจะบรรทุกไปได้ แต่กระสุนดินดำของญวนนั้นจะบรรทุกช้างไปให้หมด กับข้าวเปลือกที่มีอยู่ในเมืองโจดกมากน้อยเท่าใด ครั้นจะบรรทุกช้างไปเมืองเขมรก็เห็นจะเป็นทางไกลหนัก จึงจำเป็นต้องเผายุ้งฉางเสียหมดทั้งเมือง และจะทำลายล้างบ้านเมืองโจดกเสียให้สิ้นเชิงจนชั้นแต่ต้นไม้มีผลก็จะฟันเสียให้หมด แล้วจะนำไฟจุดเผาเหย้าเรือนในเมืองโจดกเสียให้สิ้น แล้วก็จะล่าทัพถอยไปพักอยู่ที่เมืองเขมรในวันสองวันนี้
อนึ่งให้เจ้าพระยาพระคลังทำลายล้างเมืองบันทายมาศเสียให้สิ้นเชิงดังที่เมืองโจดกนี้เหมือนกัน ให้นายทัพนายกองเรือขนเครื่องศาตราวุธเสบียงอาหารในเมืองบันทายมาศและเมืองกำปอด เมืองกะพงโสม ลงบรรทุกเรือรบใหญ่ผ่อนไปไว้เมืองจันทบุรีให้สิ้นเชิง ที่ไหนเป็นปืนใหญ่โตเหลือกำลัง พาไปไม่ได้ ก็ให้หาตะปูอุดชนวน กลิ้งลงทิ้งน้ำเสียให้หมด อย่าเหลือไว้ให้เป็นกำลังแก่ข้าศึกญวนต่อไป แล้วให้กวาดต้อนครอบครัวญวนพลเมืองบันทายมาศและเมืองกำปอด เมืองกะพงโสม และบ้านเล็กเมืองน้อยตามรายทางทั้งญวนทั้งเขมร ให้กวาดต้อนพาไปไว้เมืองจันทบุรีให้สิ้นเชิง อย่าให้ผู้คนพลเมืองเหล่านั้นเหลืออยู่แจ้งความของไทยให้พวกญวนเหตุการณ์หนักเบาได้ ชั้นแต่พระสงฆ์เขมรและหลวงญวนก็ให้พาไปเสียด้วยเถิด กับให้ทำลายล้างพังกำแพงและป้อมหอรบหรือวัดวาอารามที่เป็นตึกใหญ่ ๆ ซึ่งพวกญวนจะอาศัยเป็นที่พักที่มั่นของมันได้แล้ว ก็ให้ทลายเสียให้หมด ทุกบ้านทุกเมืองตลอดตามรายทางที่จะไปเมืองจันทบุรีอย่าให้เหลือไว้ แล้วให้นำไฟจุดเผาเหย้าเรือนในบ้านเมืองเหล่านั้นทุก ๆ เมืองให้สิ้นเชิงด้วย ให้ทำลายล้างเมืองต่าง ๆ นั้นให้เหลือแต่แผ่นดินดังป่าและแม่น้ำเท่านั้น”
 เจ้าพระยาพระคลังได้รับทราบความตามหนังสือคำสั่งบังคับราชการมาดังนั้นแล้ว ก็สั่งให้พระยาพลเทพและพระยาจันทบุรี เป็นแม่กองกวาดต้อนครอบครัวญวนและเขมรทุกเมืองลงเรือรบไปสิ้น แล้วสั่งให้พระยาราชวังสันแขกจามและพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษาแขกจาม คุมพวกแขกไปทำลายล้างบ้านเมืองเสียทุกเมือง พวกแขกทำลายจนชั้นพระพุทธรูปและวัดใหญ่ ๆ นำไปเผาเสียทุกบ้านทุกวัดไม่ให้เหลือเป็นกำลังแก่ญวนต่อไป
ครั้งนั้นเมืองบันทายมาศและเมืองโจดก เมืองกำปอด เมืองกะพงโสม เป็นดังป่าหาบ้านเรียนและวัดไม่มีเลย เจ้าพระยาพระคลังและพระยา พระ หลวง นายทัพเรือก็มาพักอยู่ที่เมืองจันทบุรี แต่ทัพเรือกองพระยาพิทักษ์ทวยหาญคุมครอบครัวญวนเมืองบันทายมาศเข้ามาถึงเมืองจันทบุรีก่อนทัพเจ้าพระยาพระคลัง แล้วกองทัพเรือพระยานครเขื่อนขันธ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์คุมครอบครัวญวนและเขมรพลเมืองกำปอดตามเข้ามาเมืองจันทบุรีภายหลัง แล้วทัพเรือพระยาไกรโกษา หลวงสวัสดิโกษากำกับมาด้วย คุมครอบครัวพลเมืองกะพงโสมตามเข้ามาเป็นลำดับกัน ฝ่ายญวนเข้ารีตฝรั่งเศสที่มีอยู่ตามบ้านเล็กเมืองน้อยในแขวงจังหวัดเมืองโจดกและเมืองตึกเขมา เมืองบันทายมาศ เมืองกำปอด เมืองกะพงโสม ทุกแห่งทุกตำบลนั้น ครั้นรู้ว่าพวกญวนที่เข้ารีตฝรั่งเศสที่อยู่ในคลองโองเจียงแขวงเมืองโจดกนั้น ยอมสมัครเข้าในการเกลี้ยกล่อมของบาทหลวงเปโรชวนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นแล้ว พวกญวนเข้ารีตฝรั่งเศสในที่ต่าง ๆ นั้นก็ชวนกันมาสมัครเข้าไปกรุงเทพฯ ด้วย รวมญวนเข้ารีตที่สมัครมาครั้งนั้นสองพันเศษทั้งครอบครัว
พระวิเศษสงครามฝรั่งเศสกับบาทหลวงเปโรก็รับพาพวกญวนเข้ารีตต่าง ๆ ลงบรรทุกเรือแง่โอแง่ทรายที่เก็บได้เป็นเรือเชลยเขมรบ้าง เรือเชลยญวนบ้าง ส่งญวนพวกเข้ารีตเข้ามายังเมืองจันทบุรี เจ้าพระยาพระคลังสั่งพระยานครเขื่อนขันธ์ ๑ พระยาไกรโกษา ๑ พระพิพิธภักดีจางวางส่วยพริกไทยเมืองจันทบุรี ๑ หลวงนทีสิงขรนายด่านเมืองจันทบุรี ๑ รวม ๔ คน ให้คุมเรือบรรทุกครอบครัวญวนเข้ารีตฝรั่งเข้าไปส่งยังกรุงเทพฯ
 วัดส้มเกลี้ยง(วัดราชผาติการามฯ) ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกครัวญวนเข้ารีตฝรั่ง ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดส้มเกลี้ยง เหนือบ้านเขมรเข้ารีตฝรั่งเศสที่เหนือวัดสมอราย โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเศษสงครามฝรั่งเศสนำพวกญวนเข้ารีตชายฉกรรจ์ไปสักท้องมือว่า ญวนสวามิภักดิ์ ให้มีนายกองปลัดนายหมวดนายหมู่กำกับดูแล ให้ตั้งทำมาหากินตามภูมิลำเนา แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาของพระวิเศษสงคราม เพราะเป็นคนเข้ารีตด้วยกัน.....”
** การยกทัพไปตีญวนคราวนี้ จะเรียกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็ไม่ได้ เพราะแม้ไม่ได้เมืองญวน แต่ก็ได้เมืองบริวารของญวนหลายเมือง ก่อนล่าทัพถอยกลับมาก็ได้ทำลายล้างเมืองเหล่านั้นให้กลายเป็นแผ่นดินว่างเปล่า กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองมาเป็นไพร่พลเมืองไทยได้มิใช่น้อย เฉพาะญวนเขมรที่เข้ารีตฝรั่งเศสนั้น ต่อมากลายเป็นคนไทยมีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองไม่น้อย ในย่านวัดส้มเกลี้ยง (ราชผาติการาม) ใต้วังสุโขทัย ย่านโรงพยาบาลวชิรพยาบาลนั้นคือญวนเข้ารีตฝรั่งเศส ย่านวัดสมอราย (ราชาธิวาส) คือเขมรเข้ารีตฝรั่งเศส อันเป็นผลของสงครามอานามสยามยุทธ เจ้าพระยาพระคลังล่าถอยทัพเรือจากเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) มาตั้งที่เมืองจันทบุรี คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนเจ้าพระยาบดินเดชา ล่าทัพถอยจากเมืองโจดกกลับเข้าเมืองเขมร น่าจะเกิดปัญหาเดินทางไม่ราบรื่นแน่ เพราะต้องเดินบกบุกป่าฝ่าดง การเดินทัพเข้าเขมรจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาดูกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๒ -
จัดทัพบกยกเนืองเข้าเมืองเขมร วางหลักเกณฑ์การเดินไม่รีบเร่ง มีลำดับหน้าหลังไม่วังเวง ทุกกองเคร่งครัดเฉียบระเบียบวินัย
คิดแบบกลปนอุบายรายทางล้วน กับดักญวนที่เห็นว่าเป็นได้ เพื่อพวกญวนรู้ฤทธิ์พิษสงไทย สั่งสอนให้ยำเกรงไม่เร่งตาม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชาเลิกปล้นค่ายญวนที่เกาะแตง เพราะแม่ทัพเรือไม่ยกลงมาช่วย จึงปรึกษานายทัพนายกองว่าควรจะยกทัพกลับไปตั้งหลักพักฟื้นกำลังพลที่เขมร และสะสมเสบียงอาหารเตรียมไว้ ถึงยามแล้งปีหน้าจะยกกลับมาตีญวนใหม่ร่วมกับแม่ทัพเรือคนใหม่ เมื่อนายทัพนายกองทั้งปวงเห็นชอบด้วย จึงสั่งทำลายล้างเมืองโจดกให้เหลือแต่แผ่นดินว่างเปล่า พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือสั่งการให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งกำลังพลทำลายล้างเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) เมืองกำปอด เมืองกะพงโสม และบ้านเล็กเมืองน้อยในภูมิภาคนั้นเสียให้สิ้น จนเหลือเพียงแผ่นดินว่างเปล่าเช่นเดียวกันกับเมืองโจดก แล้วกวาดต้อนครอบครัวญวนเขมรไปไว้ที่เมืองจันทบุรีและกรุงเทพฯ ให้กองทัพเรือเลิกทัพกลับไปก่อน วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายังตั้งอยู่ที่เมืองโจดกนั้น ผู้คนในกองทัพไทยป่วยไข้ล้มตายด้วยอดอยากอาหารบ้าง และตายด้วยไข้ป่วงบ้าง ครั้งนั้นหลวงจินดารักษ์ไปลาดตระเวนถึงตำบลในคลองวามะนาวที่คุ้งไผ่เหลือง จับพวกญวนชาวป่ามาได้สองคน นำมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามให้การว่า “ได้ยินข่าวเขาเล่ากันต่อมาว่า ญวนที่ค่ายเกาะแตงจะยกทัพบกทัพเรือมาตีไทยที่เมืองโจดกอีก การนี้จะเท็จจริงฉันใดหาแจ้งไม่ เพราะได้ยินต่อมาจากปากพวกญวนชาวป่าหาปลาด้วยกัน” เจ้าพระยาบดินทรเดชว่า คิดไปน่าสงสารอ้ายญวนชาวป่าสองคนนี้ ครั้นจะปล่อยให้ไปบ้านมัน ก็กลัวว่ามันจะเก็บเอาความของเราที่มันได้มาเห็นว่าพวกเราป่วยไข้ล้มตายมากดังนี้ ก็จะเป็นทีให้มันไปบอกแก่พวกมันมาทำแก่เรา หาควรปล่อยไปไม่ ครั้นจะฆ่าเสียก็สงสารสังเวชหนัก เพราะไม่มีความผิด และหาใช่ข้าศึกไม่ เป็นคนยากจนชาวป่าจริง ๆ ไม่ควรจะฆ่าเลย แต่จำเป็นต้องเอามันไปด้วย
 ครั้นได้ข่าวศึกญวนว่าจะยกมาตีเราอีกดังนั้นแล้ว ซึ่งเราจะอยู่ที่เมืองโจดกนี้ เห็นจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกญวนเป็นแน่ จึงได้มีบัญชาแก่พระยา พระ หลวง นายทัพ นายกองว่า พวกเราจะตั้งรับทัพญวนอยู่ที่เมืองโจดกนี้ไม่ได้ จำเป็นจะต้องล่าทัพถอยไปพักอยู่ที่เมืองเขมรก่อน จะได้บำรุงรี้พลช้างม้าโยธาหาญให้บริบูรณ์แล้ว จะได้กำลังพวกเขมรนักองอิ่ม นักองด้วง ให้เกณฑ์เขมรหัวเมืองมาสมทบทัพไทยอีก ได้พลมากแล้วเมื่อใด จะได้นัดหมายทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองจันทบุรี ให้ต่อเรือรบขึ้นสักร้อยลำเศษ จะได้ยกมาพร้อมกันทำศึกกับญวนอีก แก้มือกับญวนลองดูอีกคราวหนึ่ง จะคิดตีเมืองไซ่ง่อนกรุงเว้ญวน ทูลเกล้าฯ ถวายให้ได้ตามพระราชประสงค์ จึงจะชอบด้วยราชการที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเราให้เป็นแม่ทัพใหญ่ หาควรจะคิดท้อถอยไม่ แต่ครั้งนี้ต้องจำเป็นจะทิ้งเมืองโจดกเสียก่อน คิดผ่อนล่าทัพไปเมืองเขมรก่อน แต่ว่าถ้าเราล่าทัพถอยไปจากเมืองโจดกนี้ ญวนคงจะยกทัพบกออกก้าวสกัดตามตีกองทัพเราที่ล่าไปนั้นเป็นมั่นคง แต่เราจะล่าไปตรง ๆ ไม่ได้ จำต้องคิดอุบายไว้ข้างหลัง เป็นการระวังรักษาตัวเรา เมื่อว่าถ้าญวนตามมาข้างหลังคงจะต้องถูกกลอุบายเราทุกแห่ง ถ้าญวนตามมาถูกอุบายเราแล้ว พวกญวนคงจะตายไปเองไม่พักต้องฆ่ามัน ทัพญวนพวกหลังจะตามมาอีกจะได้เข็ดขยาดความคิดกลอุบายไทยบ้าง ญวนจะไม่อาจสามารถยกมาตามตีกองทัพไทย ไทยจะได้เดินทัพล่าถอยไปได้สะดวก ฝ่ายพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยความคิด เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงได้มีบัญชาสั่งพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรใหญ่ ให้คุมไพร่พล ๑,๐๐๐ ยกไปทำอุบายไว้ตามทางซึ่งจะเดินกองทัพล่าถอยไปยังเมืองเขมรนั้น เป็นกลอุบายไว้สี่ตำบล และกลอุบายนั้นก็ต่าง ๆ กันทั้งสี่ตำบล
 แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งพระยาวิชิตณรงค์กับพระพลสงครามเมืองกำแพงเพชร ให้คุมกองทัพที่คนทุพพลภาพป่วยไข้นั้น บรรทุกช้างเกวียนกับโคต่าง ยกจากเมืองโจดกเดินล่วงหน้าไปก่อนแปดวัน
แล้วให้พระปลัดเมืองนครนายกกับพระพิเดชข้าหลวงในกรุง ๑ หลวงพิพิธภักดี ๑ หลวงศรีณรงค์ ๑ คุมกองทัพเมืองนครนายก ๔๐๐ คน เดินแซงป้องกันรักษาคนที่ทุพพลภาพป่วยไข้ไปให้ถึงเมืองเชิงกระชุมเขมร อย่าให้เป็นอันตรายกลางทางได้ ในวันนั้นสั่งพระมหาสงครามกับหลวงวิสุทธิ์โยธามาตย์คุมพลทหาร ๓๐๐ คน ให้ขนข้าวเปลือกและข้าวสารในเมืองโจดก บรรทุกโคต่างสี่พัน ให้ไล่ต้อนเดินไปก่อนให้ถึงเมืองเขมรที่ชื่อเมืองเชิงกระชุม ให้ตั้งพักอยู่ที่นั้น จะได้ใช้ราชการต่อไป
ให้พระยาเพชรรัตน์กับพระพิชิตสงครามข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ คุมทัพเขมรเมืองพนมเปญ ๕๐๐ คน หาบคอนเสบียงอาหารไปจากเมืองโจดก ให้ยกไปยังเมืองเชิงกระชุม กองทัพที่ว่ามานี้ ทุกกองให้ออกเดินทัพไปเป็นลำดับกันไปก่อนแปดวันแล้ว
 พอกองทัพญวนยกเรือรบมาทอดอยู่ห่างเมืองโจดกทางประมาณห้าหกสิบเส้น แต่เป็นทัพเรือเล็ก มีมาน้อยลำ จึงไม่กล้ายกเข้ามาตั้งใกล้เมืองโจดก เห็นทีจะคอยทัพเรือใหญ่เป็นมั่นคง ครั้งนั้นที่เมืองโจดกได้ทำลายล้างกำแพงและป้อมหอรบเสียก่อนเมื่อทัพเรือญวนมาถึงนั้นหลายวันแล้ว ครั้นกองทัพเรือญวนมาแต่ห่างไกล ก็ให้นำไฟจุดเผาเหย้าเรือนยุ้งฉางที่ขนข้าวปลาอาหารไปหมดนั้นเผาเสียสิ้น คัดลากกลิ้งปืนใหญ่ทิ้งลงน้ำเสียหมดแล้ว
 ในวันนั้น ๑๑ ทุ่ม ดาวกัลปพฤกษ์ขึ้นสว่างเห็นหนทางป่าบ้างแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งพระยาราชสงครามนำพลทหารกองหน้าออกจากเมืองโจดกก่อนทุกทัพ แล้วสั่งพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลให้คุมทัพช้างกองพระยาเพธราชาช้าง ๑๐๐ เศษ มีไพร่พลเดินเท้า ๕๐๐ คนอยู่รั้งหลัง สั่งให้พระยาเกียรติพระยาพระรามคุมกองรามัญ ๒,๐๐๐ ยกไปทางฝั่งตะวันออก ให้ไปรักษาต้นทางที่ญวนจะยกทัพบกมาก้าวสกัดตามตีทัพใหญ่เมื่อยกล่าถอยไปนั้น ให้กองช้างวังหน้าพระยาประกฤษณุรักษ์บรรทุกปืนบ้าเหรี่ยม ปืนหามแล่นขานกยางของญวนในเมืองโจดก ขนบรรทุกหลังช้างยกเดินไปก่อนทัพใหญ่
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทำลายล้างเมืองโจดกยกออกไปตามทางป่า ถึงที่ริมหนองน้ำตำบลหนึ่งเขมรนำทางเรียกชื่อว่า “ตระพังสระกวย” (แปลเป็นภาษาไทยว่า หนองปรือ) เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หยุดกองทัพที่ริมหนองปรือครู่หนึ่ง เพื่อจะตรวจดูกลอุบายซึ่งพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรทำไว้ที่กลางทางริมหนองปรือนั้นตำบล ๑ คือทำเป็นกลอุบายขุดหลุมตามทางใหญ่หลายสิบหลุม หลุมหนึ่งลึกสามศอกสี่ศอก นำแหลนหลาวหอกปักไว้ในหลุมเต็มทุกหลุม แล้วนำใบไผ่ขัดแตะปิดปากหลุม เสร็จแล้วจึงให้คนไปแซะดินที่มีหญ้าติดอยู่นั้นมาปิดปากหลุม ทำการให้เรียบร้อยสนิทสนมเป็นพื้นแผ่นดินดีอย่างเดิมโดยปรกติ
 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นกลอุบายที่บุตรกระทำถูกต้องตามคำสั่งไปทุกประการแล้ว ก็มีความยินดียิ่งนัก จึงสั่งให้พักทหารที่นั้น ให้รี้พลหุงอาหารรับประทาน เสร็จแล้วก็พอเวลาบ่าย ให้กองหน้าเดินทัพยกยกเป็นลำดับต่อไป ยกจากหนองปรือเดินทัพไปในเวลากลางคืนจนเวลาสามยามเศษ ถึงที่ป่าเตียนแห่งหนึ่ง เขมรนำทางเรียกชื่อตำบลนั้นว่า “ตำนาบไพรดะกู” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ลำลาดป่าตะโก) เป็นคลองเก่าโบราณกว้างขวาง แต่เดี๋ยวนี้ตื้นดอนแห้งไม่มีน้ำเลย เป็นลำลาบกว้างมีต้นตะโกขึ้นมาก จึงเรียกชื่อว่าลำลาดป่าตะโก เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้กองทัพที่ตำบลลำลาดป่าตะโกเพื่อจะพักผ่อนให้พลทหารนอน แล้วจะได้ตรวจดูกลอุบายซึ่งบุตรชายมาทำไว้ในตำบลที่สองนี้เป็นอย่างไรบ้าง จะถูกตามคำสั่งหรือไม่ถูก.......”
** ทัพไทยแม้จะพ่ายญวนก็แพ้แบบไม่หมดรูป เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ยังมีพิษสงอยู่เต็มตัว พร้อมที่จะพ่นพิษใส่ญวนได้เสมอ การล่าถอยทัพบกกลับเข้าเขมรก็ถอยอย่างมีชั้นเชิง ให้นำทหารที่ทุพพลภาพเจ็บป่วยเดินทางล่วงหน้าไปก่อน แล้วให้ขนลำเลียงเสบียงอาหารตามไป จากนั้นก็ให้ขนปืนใหญ่ญวน และกระสุนดินดำไปด้วย บอกอุบายให้พระพรหมบริรักษ์บุตรคนโตของท่านยกพลล่วงหน้าไปทำกลอุบายรายทางไว้สี่ตำบล เพื่อทำลายทัพบกญวนที่จะยกตามตีทัพบกไทย กลอุบายสี่ตำบลที่ทำเป็นกับดักญวนไว้นั้นจะประสบผลสมปรารถนาหรือ พรุ่งนี้มาตามดูกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๓ -
กับดักแรกญวนตายไปร้อยเศษ ด้วยสังเกตไม่ดีจึงผลีผลาม แต่อุบายตื้นอยู่จนรู้ความ จะซุ่มซ่ามต่อไปอย่างไรกัน
ใช้ไม้ค้ำนำหน้าไม่ประมาท อวดฉลาดเกินไปหรือไม่นั่น ยังมิถึงด่านอำที่สำคัญ เกิดห้ำหั่นล้มตายไปหลายคน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งรื้อเผาทำลายล้างเมืองโจดก เมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) เมืองกำปอด เมืองกะพงโสม และบ้านเล็กเมืองน้อยในภูมิภาคนั้น กวาดต้อนครอบครัวญวน เขมร ไปไว้เมืองจันทบุรีและกรุงเทพฯ ให้ทัพเรือล่าถอยไปตั้งพักฟื้นกำลังพลอยู่ที่เมืองจันทบุรี ส่วนกองทัพบกของตนจะล่าถอยกลับไปตั้งพักฟื้นสั่งสมกำลังพลอยู่ที่เขมร เมื่อจัดระเบียบวางกำลังล่าถอยทัพและรื้อล้างเมืองโจดกเสร็จแล้ว กองทัพเรือญวนก็ยกไปเมืองโจดก เป็นเรือเล็กจอดอยู่ห่าง ๆ ดูจะรอคอยทัพเรือใหญ่ที่กำลังยกมา เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็สั่งเผาเหย้าเรือนยุ้งฉางในเมืองโจดกทั้งหมด แล้วเดินทัพล่าถอยเข้าป่าในเวลากลางคืน แวะตรวจตรากลอุบายตามรายทางที่สั่งให้พระพรหมบริรักษ์ล่วงหน้ามาจัดทำตามแผนนั้นด้วยความพอใจ วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ......
 “ในเมื่อกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ยกทัพออกมาจากเมืองโจดกไปได้สิบสองวันแล้ว องผอแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนยกทัพมาถึงเมืองโจดก เห็นไฟไหม้บ้านยับเยินหมดแล้วก็เข้าใจว่าทัพไทยเผาเสียแล้วหนีไป จึงสั่งให้องทุลำแม่ทัพเรืออยู่รักษาเมืองโจดก แล้วองผอแม่ทัพใหญ่ให้องกวงโดย ๑ องลำโดย ๑ เป็นแม่ทัพทั้งสองคน จะได้ช่วยกันคิดราชการ ให้คุมพลทหารญวนกองละ ๘๐๐ ทั้งสองทัพ ให้รีบไปติดตามตีกองทัพไทยที่ล่าหนีจากเมืองโจดกนั้น ให้ตามไปจนถึงเมืองเขมรทีเดียว แต่องผอนั้นหยุดอยู่จัดการแบ่งกองทัพจะยกไปตีเมืองบันทายมาศด้วย และคอยกองทัพทางบกจะยกมาเพิ่มเติมอีก จะได้ให้ไปตามตีทัพไทยต่าง ๆ ที่ยังเดินทัพอยู่กลางป่าจะไปเมืองไซ่ง่อนนั้น จะตามตีให้แตกเสียหมดทุกกอง กำลังไทยจะได้น้อยลง แล้วจะได้ยกทัพใหญ่ไปตีเมืองเขมรคืนให้นักองจันทร์ นักองด้วง ตามท้องตราซึ่งพระเจ้าเวียดนามโปรดมาอย่างนั้น
 ครั้งองผอตั้งทัพใหญ่อยู่ที่เมืองโจดกดังนั้นแล้ว ฝ่ายองกวางโดยและองลำโดยแม่ทัพทั้งสองนั้น คุมพลหาร ๑,๖๐๐ คน เดินทัพมาถึงหนองปรือ กองทัพหน้านั้นก็ตกลงในหลุมทุก ๆ หลุม พลญวนถูกหลาวแหลนหอกเสียบตายและลำบากเป็นอันมาก ญวนตายครั้งนั้น ๑๐๐ เศษ นายทัพนายกองนำความนั้นไปแจ้งแต่องลำโดยแลองกวางโดยแม่ทัพ แม่ทัพได้ทราบดังนั้นแล้วก็ไม่โกรธเลย กลับหัวเราะเยาะกลอุบายไทยที่ทำไว้นั้นแล้วพูดจาว่า
 “ไทยทำกลอุบายดังนี้ เหมือนความคิดเด็กทารกที่ไม่รู้จักเดียงสา มีแต่จะกินนมมารดาอิ่มแล้วก็จะวิ่งเล่นเท่านั้น หารู้จักการประมาณได้เสียแพ้ชนะไม่ เหมือนเช่นไทยทำกลอุบายดังนี้ ถึงตายร้อยคน ญวนก็ไม่เสียใจเลย เหมือนธรรมดาตกเบ็ดเสียสัตว์ที่เกี่ยวเบ็ดไปเป็นเหยื่อหนึ่ง แล้วได้ปลาถึงร้อยพันฉันใด ญวนตาย ๑๐๐ คนจะได้คนไทยใช้ ๑,๐๐๐ และเรารู้จักน้ำใจแม่ทัพไทยแล้วในครั้งนี้ ต่อไปข้างหน้าญวนจะไม่ตายด้วยกลอุบายไทยอย่างนี้เลย”
องกวางโดย องลำโดย พูดเท่านั้นแล้ว จึงสั่งนายทหารกองหน้าให้ตัดไม้ในป่าที่มีง่ามให้ค้ำ ยาว ๑๐ ศอกสัก ๑๐๐-๒๐๐ อัน ให้ทหารกองหน้าถือไม้สักค้ำไปตามทางข้างหน้า เพื่อว่ามีหลุมอีกจะได้รู้โดยง่าย เราทำดังนี้แล้วอุบายไทยที่ทำไว้นั้นจะทำอะไรแก่เราได้อีกเล่า ให้เดินกองทัพต่อไปเถิด ญวนก็เดินทัพต่อไป
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาหยุดพักพลอยู่ที่ตำบลลาดป่าตะโกนั้น ครั้นรุ่งเช้าขึ้นจึงตรวจดูกลกลอุบายซึ่งบุตรชายทำไว้ในตำบลที่สอง ณ ลำลาดป่าตะโกนี้ คือขุดหลุมตามทางซึ่งญวนจะเดินมาดังเช่นทำแล้วแต่หนองปรือนั้น แต่ที่ลำลาดป่าตะโกนี้ ในหลุมไม่มีหลาวแลหอกปักไว้ดังแต่ก่อนนั้นเลย มีแต่รังแตนรังผึ้งเต็มไปทุกหลุม ที่นี้ก็ปิดดังเช่นทำมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกัน เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นกลอุบายซึ่งบุตรชายทำไว้ในที่คำรบสองนี้ ถูกต้องตามคำสั่งไปนั้นทุกประการแล้ว จึงสั่งพลทหารกองหน้าเดินทัพออกจากตำบลลำลาดป่าตะโกในเวลาเช้า เมื่อรี้พลหุงอาหารรับประทานเสร็จแล้วก็เดินทัพเป็นลำดับต่อไป แต่ระยะทางนี้กว่าจะถึงที่พักซึ่งทำกลอุบายไว้ในที่คำรบสามนั้น ทางไกลหลายคืน จึงสั่งพระอัษฎาเรืองเดชจางวางกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ คุมพลทหารม้าอยู่ข้างหลัง ให้คอยฟังข่าวทัพญวนจะยกมามากน้อยใกล้ไกลประการใด ก็ให้แต่งม้าเร็วรีบเร่งสวนทางขึ้นมาบอกให้แจ้งด้วย
 ครั้งนั้นเป็นการล่าทัพหนีญวนโดยเร็ว จึงสั่งให้ทัพช้างกองพระยาเพธราชาซึ่งพระยาจ่าเสนาบดีคุมกำกับมานั้น ให้รีบเร่งเดินช้างบรรทุกปืนใหญ่ไปเมืองเขมรเสียก่อนทัพใหญ่ ทัพใหญ่จะต้องเดินรอ ๆ ไป เพราะเป็นทัพลำลองเดินเท้ามาก ถึงช้างก็มีแต่ช้างใช้สอย หาใช่ช้างบรรทุกปืนไม่
ครั้งนั้นพระยาจ่าแสนบดีกับพระยาเพธราชาคุมทัพช้างมีปืนใหญ่เดินไปทางดง ตัดตรงไปเมืองพนมเปญทีเดียว แบ่งช้าง ๓๐ เชือกให้หลวงนรินทรคชกรรม์วังหน้าคุมมาพร้อมกับช้าง ๕๐ เชือก ให้หลวงคชศักดิ์คุมมาในกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา รวมทั้งวังหลวงวังหน้า ๘๐ เชือก พอเป็นกำลังพาหนะดินทัพล่าหนีมา
 ครั้นกองทัพญวนองลำโดย องกวางโดย เดินทัพรุกมาใกล้ที่ตำบลลำลาดป่าตะโก พอทันกองทัพพระยาอัษฎาเรืองเดชเดินทัพล้าหลังอยู่นั้น พระยาอัษฎาเรืองเดชไล่ต้อนพลทหารให้กลับหน้าไปต่อสู้กับญวน ญวนก็ยิงปืนระดมขึ้นไป ไทยกับญวนได้สู้รบกันที่นั้นตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ฝ่ายไทยก็เป็นทัพม้าทั้งสิ้น ฝ่ายญวนก็เป็นทัพม้าด้วย ต่อสู่กันอยู่ช้านาน ญวนนำปืนหลังม้ากระสุนหนักห้าสลึงยิงไปถูกพระยาอัษฎาตกม้าตายในที่รบ
 ขณะนั้นหมื่นหาญหัวหมื่นพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ฉวยปืนและดาบที่มือพระยาอัษฎาเรืองเดชซึ่งตายอยู่นั้น โดดขึ้นหลังม้าแทนพระยาอัษฎาเรืองเดช ชักม้าเป็นบาทย่างสะเทินเข้าต่อสู้กับนายทัพญวนจนถึงขั้นตะลุมบอนด้วยอาวุธสั้น ฝ่ายนายทหารม้าญวนขึ้นม้าถอดดาบออกจากฝักแล้วชักม้าตรงเข้ามาใกล้ไล่ฟันพลทหารม้าไทยล้มตายลงเป็นอันมาก ที่ชักมาหนีเข้าป่าไปเสียก็มีบ้าง หมื่นหาญเห็นดังนั้นแล้วจึงควบม้าไล่ต้อนพลทหารที่หนีนั้นฟันตายเสีย ๔ คน พลทหารม้าไทยเห็นหมื่นหาญทำอำนาจดังนั้นแล้วก็กลัว จึงชักม้ากลับมาต่อกับทหารม้าญวน ญวนกับทหารม้าไทยรบกันที่นั้นจนถึงอาวุธสั้น จะยิงปืนหลังม้าไม่ทันจึงชักดาบเข้าฟันกันเป็นสามารถ แต่ทหารม้าญวนครั้งนั้นใช้กั้นหยั่นสั้น ๆ ทหารม้าไทยใช้ดาบยาว ดาบยาวจึงฟันถูกญวนก่อน ญวนตายมากประมาณ ๖๐ คนเศษ ขณะนั้นหมื่นหาญชักม้ามาแอบต้นไม้ใหญ่ริมทางที่รบนั้น เพื่อจะคอยป้องกันไล่ต้อนทหารฝ่ายไทยให้เข้าต่อสู้ฆ่าญวนให้แพ้แตกหนีให้ได้
 ครั้งนั้นนายทัพญวนขึ้นม้า ชักม้าตรงเข้ามาที่ต้นไม้ใหญ่ ญวนไล่ฟันหมื่นหาญ หมื่นหาญชักม้าหนีหลบหลีกญวนอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ฝ่ายญวนชักม้าไล่ไทยวนอยู่ที่ต้นไม้สามสี่รอบ ฝ่ายหมื่นหาญชักม้าทำท่าจะหนี ญวนเห็นดังนั้นชักม้าโจมไล่ฟันหมื่นหาญ หมื่นหาญทำเป็นทีไม่สู้ แล้วก็ชักม้าควบหนีญวน ญวนชักม้าไล่ตามไปในป่า หามีทหารเลวตามไปไม่ หมื่นหาญจึงชักม้าหยุดหันหน้ามารับญวน ญวนจะชักม้าให้หยุดก็ไม่ทัน ม้าญวนเลยไปถึงหน้าหมื่นหาญ หมื่นหาญชักดาบฟันฟาดนายทัพม้าญวนลงไปเต็มแรง ถูกบ่าซ้ายขาดตลอดลงไปถึงราวนมก็ตายอยู่บนหลังม้า แล้วศพญวนก็ตกลงมาถึงดิน หมื่นหาญโดดลงจากหลังม้าตัดศีรษะนายทหารม้าญวนได้แล้ว แก้ผ้าแพรสีน้ำเงินที่โพกศีรษะนายทหารม้านั้นห่อศีรษะศพผูกอานม้า ควบกลับมาหาพวกทหารม้าไทย แล้วสั่งให้พลทหารไปไล่ตามจับม้าของนายทหารญวนมาได้ เป็นม้าเทศสูงใหญ่สีขาวสะอาดงามนัก ขณะนั้นพวกทหารม้าญวนเห็นนายทัพเสียทีตายแล้ว ที่หนีก็มีบ้างที่ยิงปืนไล่ฟันไทยก็มีบ้าง หมื่นหาญเห็นพวกญวนยกเพิ่มเติมมาอีกทั้งทหารเดินเท้าก็มาก จึงได้รวบรวมทหารม้าไทยในกองพระยาอัษฎาเรืองเดชนั้นได้บ้าง ก็รีบยกล่าหนีมาสู้พลางหนีถอยมาพลาง จนพ้นที่รบกันนั้นแล้ว ก็เร่งรีบไปทั้งกลางวันกลางคืนจนถึงกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา เข้าไปแจ้งข้อราชการกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งหมื่นหาญให้เป็นที่พระกำจรใจราช เจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ แล้วมีบอกความชอบหมื่นหาญที่ได้ราชการ แล้วตั้งให้เป็นพระกำจรใจราชนั้น เข้ามากราบทูลยังกรุงเทพฯ.......”
 ** ญวนยกตามมาถึงกลอุบายแรก ตกหลุมขวากตายไปร้อยเศษ แม่ทัพหัวเราะเยาะว่าแม่ทัพไทยมีความคิดแค่เด็กยังไม่หย่านมแม่ เขาไม่เสียใจที่เสียทหารไปร้อยเศษ คิดเสียว่าเป็นเพียงเหยื่อเล็กน้อยเกี่ยวเบ็ดล่อปลาใหญ่มากินเบ็ดอีกมากมาย ต่อไปนี้เขาจะได้ตัวปลาใหญ่ ๆ แล้ว สั่งทหารตัดไม้เป็นง่ามสำหรับทิ่มแทงสำรวจพื้นดินยามเดินทัพจะได้ไม่ตกหลุมพรางอีก แต่กองทัพเขายังไม่ถึงที่วางกลอุบายที่ ๒ ก็ พบกับกองทัพม้าไทยเสียก่อน แล้วทหารม้าไทยญวนก็รบกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน แม่ทัพไทยถูกกระสุนปืนฝ่ายญวนตายก่อน แต่หมื่นหาญนายกองไทยไหวพริบดี คว้าปืนและดาบแม่ทัพที่ตายได้แล้วโดดขึ้นม้าทำหน้าที่แทนแม่ทัพ ในที่สุดก็ใช้ไหวพริบเล่ห์เหลี่ยมล่อนายทัพม้าญวนออกไปฆ่าในป่า แล้วตัดหัวมาข่มขวัญทหารญวน เป็นการแก้แค้นให้แก่แม่ทัพไทยได้ เมื่อเห็นญวนยกหนุนมามากเกินกำลัง หมื่นหาญก็พาพลทหารไทยล่าถอยหนีกลับมาถึงค่ายใหญ่ไทย หลังจากรายงานข้อราชการแก่แม่ทัพใหญ่แล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งให้หมื่นหาญเป็นที่พระกำจรใจราช เจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ เป็นความชอบของทหารกล้าอีกคนหนึ่ง ญวนจะติดกับกลอุบายที่ ๒ อย่างไรหรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๔ -
กลหลุมบ่อต่อแตนผึ้งแสนป่วน ทำพวกญวนเจ็บป่วยแทบปี้ป่น แม่ทัพญวนกลับหาว่าอ่อนกล อันเป็นผลให้ประมาทขาดระวัง
ถูกไทยล่อตามเต้าเข้าค่ายนรก ญวนก็ยกตามมาอย่าบ้าคลั่ง พบไทยป่วยญวนฆ่าอย่างน่าชัง กรรมจะสั่งสอนพลันผลทันตา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชาพักทัพที่ตำบลลำลาดป่าตะโกคืนหนึ่ง ตรวจดูกลอุบายที่ให้ลูกชายทำตามคำสั่งถูกต้องแล้วเดินทัพต่อไป โดยสั่งให้กองทัพม้าของพระยาอัษฎาเรืองเดชเดินระวังหลัง วันนั้นกองทัพญวนยกตามมาทันกองทัพม้าไทย จึงเกิดการสู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน ญวนยิงปืนมาถูกพระยาอัษฎาเรืองเดชตายกลางสนามรบ หมื่นหาญเห็นเช่นนั้นจึงรีบคว้าปืนและดาบในมือแม่ทัพ แล้วโดดขึ้นหลังม้าไล่ต้อนพลทหารสู้รบกับทหารม้าญวนต่อไป เมื่อได้โอกาสจึงทำทีหลอกล่อให้นายทัพม้าญวนละทิ้งพลทหารไล่เพียงลำพังติดตามไปในป่า แล้วใช้ดาบฟันนายทัพม้าญวนขาดสะพายแล่งตาย ตัดหัวนายทัพญวนผูกหลังม้ากลับเข้าสนามรบ ให้ไพร่พลได้เห็นว่านายทัพม้าญวนถูกฆ่าตายแล้ว ครั้นเห็นทหารญวนยกเพิ่มเติมมามาก จึงพาไพร่พลทหารม้าเท่าที่เหลืออยู่ล่าถอยหนีกลับมาแจ้งข้อราชการแก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งให้หมื่นหาญเป็นพระกำจรใจราช เจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.......
 “ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาถอยทัพมาจากตำบลลำลาดป่าตะโก เดินทัพมาทั้งกลางวันกลางคืนไม่หยุดหย่อน สามคืนสี่วันก็บรรลุถึงที่ตำบลหนึ่งซึ่งเขมรเรียกชื่อว่า ”ทูนเดิมสะแก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า โคกต้นสะแก) เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หยุดทัพพักพลที่ตำบลโคกต้นสะแกเพื่อจะตรวจค่ายไม้ไผ่ที่สั่งให้พระยาราชสงครามกองหน้าทำไว้ที่นี่ แล้วจะตรวจดูกลอุบายซึ่งบุตรชายทำไว้ที่ตำบลนี้เป็นคำรบสาม คือขุดใต้ค่ายไม้ไผ่เป็นรางรอบค่าย แล้วนำถังดินปืนลงฝังรอบค่าย และนำปืนใหญ่ที่บรรทุกหลังช้างมานั้น ลงฝังไว้ใต้แผ่นดินรอบค่าย แต่บรรจุลูกดินเกินกับสัดส่วนจนเหลือกำลังปืนจะทนไม่ได้ ถ้าถูกไฟเมื่อใด ปืนใหญ่นั้นจะแตกทำลายออกเป็นภาคน้อยภาคใหญ่ จะกระเด็นออกไปโดยไกลทำลายล้างของใหญ่ให้หักพังได้มาก แล้วล่ามชนวนตามถังดินปืนและปืนใหญ่ที่ฝังไว้ใต้ค่ายนั้น ให้ชนวนขึ้นมาบนพื้นค่าย ขึ้นตามเตาไฟหุงข้าวเก่า ๆ ในค่ายนั้นทุกแห่ง และขึ้นตามหลุมที่นำรังแตนรังต่อซุ่มซ่อนไว้ในหลุมนั้นทุกหลุม ถ้าญวนเข้าไปในค่ายคงจะหุงข้าวกินที่เตาเก่าทุกเตา เพราะมีชนวนอยู่ใต้เตาไฟ เตาไฟก็จะติดดินปืนขึ้น เพื่อจะให้ญวนนำไฟเผารังต่อรังแตน ไฟจะได้ติดขนวนในหลุมนั้น ไฟชนวนจะแล่นไปติดตามปืนใหญ่และถังดินปืนด้วย จะได้เกิดการกัมปนาทแตกระเบิดขึ้นมา ทำลายล้างผลาญสังหารชีวิตญวนให้ตายสิ้นทั้งในค่ายและนอกค่ายต้องตายทั้งหมด และจัดการทำกลอุบายอย่างอื่นอีกมากมายหลายอย่าง ที่ตรงนี้เป็นที่สำคัญที่จะเอาชัยชนะแก่ข้าศึกญวนทีนี้โดยความคิดนั้น ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นบุตรชายทำกลอุบายไว้สมดังที่สั่งนั้นทุกประการแล้ว ก็เป็นที่ยินดีเป็นที่สุดตามประสงค์ เจ้าพระยาบดินทรเดชาหยุดพักอยู่ในค่ายไม้ไผ่นั้นถึงสามวัน แล้วจัดการเพิ่มเติมลงอีกใหม่คือ ทำจังหันเกราะและประตูค่ายนั้นผูกหุ่นเป็นทหารรักษาประตูรอบค่าย แล้วเสร็จก็เดินทัพออกจากค่ายนั้นต่อไป ให้พระยารามกำแหงอยู่รักษาค่าย
 ฝ่ายญวนเห็นหมื่นหาญทัพม้าไทยหนีไปแล้ว พวกญวนกองหน้านั้นก็เดินทัพต่อไป เอาไม้ง่ามสักแผ่นดินเป็นแถว ๆ ไปข้างหน้าเสมอไม่หยุดหย่อน จนถึงตำบลลำลาดป่าตะโกที่ไทยทำอุบายไว้นั้น ญวนกองหน้านำไม้ง่ามสักแทงไปพบหลุมที่ไทยทำอุบายไว้นั้นแล้ว จึงมาแจ้งความแก่แม่ทัพญวนทั้งสอง แม่ทัพญวนทั้งสองจึงพูดว่า สติปัญญาแม่ทัพไทยทำกลอุบาย ๒ ครั้งแล้ว เหมือนปัญญาเด็กอมมือ แต่อุบายเช่นนี้ญวนไม่ต้องที่จะตายเลย จะตายก็แต่ญวนที่หูหนวกตาบอด พูดเท่านั้นแล้วสั่งให้พลทหารไปตรวจดูให้ทั่วว่าจะมีสักกี่หลุม ถ้าพบแล้วให้เปิดขึ้นเก็บเอาหอกและหลาวในหลุมขึ้นให้หมด จะได้นำไปตามฆ่าฟันแทงพวกมันที่ทำอุบายนั้นเอง
ครั้งนั้นทหารญวนพบหลุมแล้วก็เปิดขึ้นดูทุกหลุม ก็ไม่พบเห็นหลาวและหอกแต่สักอันหนึ่ง พบแต่รังต่อรังแตนรังผึ้งอยู่ในหลุม ซึ่งไทยหักรังต่อรังแตนมาทิ้งสะสมไว้ในหลุมเป็นอันมาก เมื่อเปิดหลุมขึ้นดูนั้นก็เห็นแต่ตัวต่อแตนผึ้ง ก็บินออกจากหลุมไปต่อยกัดพลกองทัพญวนเจ็บป่วยกว่า ๑๐๐ คน เพราะฉะนั้นกองทัพญวนจึงช้าไปนาน ไม่ได้ยกติดตามกองทัพไทยไปให้ทันท่วงทีโดยเร็ว ทหารนำข้อความที่ในหลุมไม่มีหอกหลาวแหลน มีแต่ตัวต่อแตนไปแจ้งแก่องกวางโดย องลำโดย แม่ทัพญวนได้ทราบดังนั้นแล้วจึงพูดว่า
 “ความคิดกลอุบายแม่ทัพไทยที่ทำไว้ ณ ตำบลหนองปรือครั้งแรกนั้นเราเห็นว่ามีหอกหลาวอยู่ในหลุม ทำให้คนตายได้บ้าง จึงว่าความคิดแม่ทัพไทยครั้งนั้นเหมือนอย่างเด็กอมมือนั้น เราว่าสูงไปสักหน่อย แต่ความคิดแม่ทัพทำกลอุบายไว้ ณ ตำบลลำลาดป่าตะโกนี้ เราเห็นว่าเหมือนความคิดเด็กในครรภ์ดูดสายรกดุจกันฉะนั้น ไทยไม่มีที่จะกะเกณฑ์ขอแรงมนุษย์มาช่วยรบได้ จึงไปขอแรงพวกแตนต่อผึ้งมาช่วยรบกับญวน”
พูดดังนั้นแล้วก็สั่งให้เดินทัพเป็นลำดับต่อไปตามไทยให้ได้
 ครั้งนั้นกองทัพหน้าฝ่ายญวนพบพวกไทยกองพระยาอัษฎาเรืองเดชป่วยไข้เดินเรื่อยล่าช้าอยู่ตามชายป่านั้น พวกญวนเอาดาบฟันไทยตายตามทางเป็นกอง ๆ บ้างก็ผ่าอกและตัดแขนตัดขาทำสาหัสด้วยความแค้นเคืองแก่ไทยยิ่งนัก บางทีญวนพบศพไทยตายด้วยป่วยไข้อยู่ตามทางป่านั้น ญวนก็นำหอกดาบแทงฟันทุกศพ ญวนทำดังนั้นเป็นสองนัย นัยหนึ่งเป็นความโกรธแค้นเคืองไทย นัยหนึ่งอย่างธรรมเนียมญวน ถ้ายกทัพไปพบศพข้าศึกที่ตายอยู่ด้วยไม่มีบาดแผลคมอาวุธแล้ว จำเป็นที่ทหารต้องนำอาวุธแทงฟันศพให้มีรอยบาดแผล เพื่อจะแสดงอำนาจของกองทัพว่าได้ฆ่าข้าศึกตายมาก เป็นแบบอย่างของกองทัพญวนแต่โบราณมา ครั้งนั้นญวนฝ่ายหน้าเดินกองทัพมาถึงกลางท้องทุ่งเป็นที่เตียนโล่งแห่งหนึ่ง ที่ทุ่งนั้นเขมรเรียกชื่อว่า “วาลธมแวงฉงาย” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ทุ่งใหญ่กว้างขวางไกลสุดตาคน เป็นทุ่งเตียน)
 ครั้งนั้นกองทัพญวนเดินทัพมาพบทันกองทัพพระยารามกำแหง ซึ่งเจ้าพระยาบดินเดชาแต่งไว้ให้เป็นกองทัพรั้งหลัง ๆ ได้กลับหน้ามาสู้รบกับญวนที่กลางท้องทุ่งใหญ่ในเวลาเช้าจนเที่ยง พลทหารไทยน้อยกว่าญวน ญวนก็ยิงแทงฟันฆ่าทหารไทยตายเป็นอันมาก ฝ่ายพระยารามกำแหงนายทัพหลังเห็นว่าพลไทยน้อย จะต่อสู้รับรองกับญวนไม่ได้แล้ว จึงสั่งพลไทยถอยทัพมาเข้าค่ายไม้ไผ่ที่ตำบลโคกสะแก ซึ่งพระยาราชสงครามกองทัพหน้าทำขึ้นไว้นั้น แล้วพระพรหมบริรักษ์บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทำอุบายไว้ที่ใต้ค่ายนั้นด้วย ครั้งนั้นแม่ทัพญวนกองหน้าก็ขับพลทหารให้ยกไล่ตามกองทัพพระยารามกำแหงติดหลังท้ายพลไทยไปทีเดียว พระยารามกำแหงพาไพร่พลเข้าในค่ายได้แล้ว ก็ปิดค่ายรักษามั่นยิงปืนโต้ตอบกับญวนอยู่ตามธรรมเนียมศึกสู้รบกัน ทำให้ญวนเห็นจริงว่าเป็นค่ายมั่นจริง ๆ มิใช่ค่ายกลอุบายล่อลวงหลอกหลอนฆ่าญวน ทำการรักษาค่ายประหนึ่งว่าจะตั้งอยู่สู้รบกับญวนช้านาน เพื่อจะมิให้ญวนมีความสงสัย จะได้เข้าในค่ายให้หมดทุกทัพทุกกอง
 ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพออกจากค่ายไม้ไผ่ที่ตำบลโคกสะแกมาไกลแล้ว จึงสั่งให้หลวงคะเชนทรามาตย์กับหลวงเทเพนทรขึ้นม้าเร็ว คุมพลทหารม้า ๖๐ ม้าไปสืบราชการทัพญวนที่ใกล้ค่ายโคกสะแกกลับมาแจ้งความว่า ได้เห็นญวนกองทัพหน้ายกมาเต็มท้องทุ่งใหญ่โคกสะแก แต่ตัวนายทหารม้าญวนขี่ม้ากั้นร่มระย้าแดงเดินกำกับทหารเลวมานั้น แลดูร่มญวนแดงไปทั้งท้องทุ่ง แล้วขับพลไพร่ไล่กองทัพพระยารามกำแหงจนถึงหน้าค่ายโคกสะแก แต่พระยารามกำแหงล่าถอยมาเข้าค่ายได้ เมื่อเห็นการดังนี้แล้วจึงกลับมากราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบความว่าญวนยกทัพใหญ่เพิ่มเติมอุดหนุนมาไล่ตีทัพไทยนั้น ญวนจวนจะเข้าค่ายไทยดังนั้นแล้ว ก็มีความยินดีที่สุด เพราะว่าจะสมความคิดซึ่งจะฆ่าญวนที่ตามมาให้ตายทั้งสิ้น แล้วญวนพวกหลังจะได้เข็ดขยาดยำเกรงความคิดไทยบ้าง ถึงมาทว่าญวนจะยกเพิ่มเติมมาติดตามตีกองทัพไทยที่ล่ามายังเมืองเขมรนั้น เห็นว่าญวนจะไม่กล้าสามารถตามมาอีกเป็นแน่แล้ว.........”
 ** กลอุบายตื่น ๆ ของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ญวนเห็นว่าเป็นความคิดของเด็กอมมือและเด็กในครรภ์นั้น เป็นการหลอกล่อให้ญวนประมาทจนเดินเข้าสู้ความตายอันโหดร้ายที่เจ้าคุณแม่ทัพไทยวางเป็นกับดักไว้เพื่อเผด็จศึก ตอนนี้ทัพญวนยกตามพระยารามกำแหงมาถึงหน้าค่ายไม้ไผ่อันเป็นขุมนรกสำหรับญวนแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้เช้ามาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๕ -
ทำทำนบข้ามน้ำลำคลองใหญ่ ขุดกอไผ่ถมทับกันแน่นหนา ยกทัพข้ามหมดพลันทันเวลา ภูมิปัญญาเลิศแท้แม่ทัพไทย
พระยารามกำแหงแสร้งพ่ายแพ้ ทอดทิ้งแต่ค่ายกลหาคนไม่ องตุนแล้พาพลญวนเข้าไป แม่ทัพใหญ่ยกทัพขยับตาม..... |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชาตรวจตราความเรียบร้อยของกลอุบายที่ค่ายไม้ไผ่ แล้วสั่งให้พระยารามกำแหงเป็นกองหลังอยู่รักษาค่าย ทำตามกลอุบายที่วางไว้ เมื่อทัพไทยเดินทางจากไปแล้วกองหน้าทัพญวนก็ยกมาถึง พระยารามกำแหงที่ทำทีว่าเป็นทัพหลังยกตามทัพใหญ่ไปนั้น ก็หันมาสู้รบกับทัพหน้าญวน แล้วแกล้งพ่ายล่าถอยกลับเข้าไปในค่ายกล ปิดประตูค่ายยิงปืนใส่ญวน ให้ญวนเห็นว่าค่ายไม้ไผ่นั้นเป็นค่ายจริง ๆ ที่ไทยตั้งมั่นสู้รบญวน ทัพหน้าของญวนจึงยกเข้าประชิดถึงหน้าค่ายแล้ว วันนี้มาอ่านความต่อครับ...
 “ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พลทหารช้างม้าพลนิกายทวยหาญเดินทัพเป็นลำดับไปหลายวัน ถึงคลองเก่าแห่งหนึ่งเป็นลำคลองกว้างใหญ่ ลึก คดเคี้ยว ขวางทางที่จะเดินทัพไปนั้นด้วย เขมรนำทางแจ้งความว่าคลองนี้ชื่อว่า “แพรกอังคะดีกระหอม” (แปลเป็นภาษาไทยว่า คลองแคแดง) เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระพิทักษ์บดินทรเขมรเมืองพระตะบองไปตรวจคลองนั้นว่า จะมีที่ข้ามที่ใดบ้าง พระพิทักษ์บดินทรกราบเรียนว่า มีที่ตื้นเป็นท่าข้ามอยู่แห่งหนึ่ง เขมรเรียกชื่อว่า “ตระพังโพน” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ท่าหน้าวัดมะกอก) ท่าหน้าวัดมะกอกนั้นอยู่ห่างไกล ทางจะไปเป็นทางอ้อมเลียบตามลำคลองโค้งคดวงไปเวียนมา ช้านานนักจึงจะถึงท่าหน้าวัดมะกอกที่ตื้นจึงจะข้ามได้ เห็นว่าจะหนีญวนไม่ทันเป็นแน่ เพราะที่ท่าวัดมะกอกจะข้ามนั้น โค้งลงไปหาทางที่ญวนจะตามมาด้วย ขอพระราชทานให้ทำสะพานเรือกข้ามคลองที่ตรงนี้จึงจะดี จะได้ให้ช้างม้าและพลเดินเท้าข้ามสะพานไปยังฝั่งใต้
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่เห็นด้วยจึงว่า
“ถ้าจะทำสะพานเรือกข้ามคลองนั้นก็จะช้าป่วยการเวลาอยู่สักสองสามวัน ครั้นจะเดินไปข้ามที่ท่าวัดมะกอกก็จะเดินไปไกลสักห้าวันหกวัน เห็นว่าจะหนีญวนไม่ทันทั้งสองทาง เราเห็นอยู่แต่จะพาช้างไปงัดคัดกอไผ่ที่ริมคลอง ลากมาสะสมเป็นดังทำนบขวางคลองแต่พอคนเดิน ถึงจะลุยน้ำบนทำนบบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะน้ำตื้น ๆ ไม่เปียกผ้าแลเปียกเสบียงอาหารแล้วเป็นการดี ถ้าทำได้ดังนี้เราเห็นจะเร็วกว่าอย่างอื่น ใครจะเห็นอย่างไรบ้างให้ว่าไป จะช้าอยู่ไม่ได้ ภัยจะมาถึงตัวอยู่แล้ว”
 นายทัพนายกองก็เห็นชอบตามความคิดเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา ให้คุมกองช้างในพระราชวังบวรฯ ไปโค่นงัดคัดพากอไผ่ตามริมคลองมาทำเป็นทำนบ แล้วสั่งพระยาสุนทรสงครามเมืองสุพรรณบุรี ให้คุมช้างกองนอกในพระราชวังหลวงไปโค่นงัดตัดกอไผ่มาทำเป็นทำนบ แล้วสั่งหลวงคชสิทธิ์ให้คุมกองช้างในกรุง ให้ไปงัดคัดกอไผ่ลากมาผูกสะสมต่อติดกันทุกกอง ทำเป็นเช่นทำนบคลองแคแดงได้แล้ว ตัดต้นไม้มาปักกันกอไผ่ในคลองไม่ให้น้ำพัดพานำกอไผ่กระจัดกระจายไปได้ พอเป็นทำนองทางคนเดินแล้วเสร็จในครึ่งวันไม่ทันบ่ายเย็น จึงไล่ต้อนพลช้างม้าแลพลเดินเท้าให้เดินมาตามทำนบกอไผ่ที่ขวางคลองนั้น ข้ามรี้พลนิกายมาได้สิ้น
 ครั้งนั้น โคต่างมิได้ผูกลูกกระดึงเพราะกลัวจะดังไปถึงญวน ญวนจะรู้ว่ากองทัพไทยเดินถึงนั่นแล้ว แต่โคต่างตีได้มาจากเมืองโจดกและแขวงจังหวัดญวนนั้น ไล่ต้อนมาถึง ๔,๖๐๐ แต่แบ่งให้พระยากระบินทร์บุรีและพระยาสมบัติติบาลคุมโค ๔,๐๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน พร้อมกับกองป่วยไข้ซึ่งพระยาวิชิตณรงค์คุมไปก่อนแล้ว ครั้งนี้มีแต่โคต่างมาด้วยทัพใหญ่แต่ ๖๐๐ โคเท่านั้น พอบรรทุกเสบียงอาหารมาบ้าง โคต่าง ๖๐๐ นี้ให้พระยาอุทัยธานีคุมเดินไปยังเมืองเชิงกระชุม ครั้นกองทัพข้ามคลองแคแดงมาได้สิ้นแล้ว จึงสั่งให้พระยา พระ หลวง นายกองคุมช้าง ทำลายทำนบนั้น ให้นำช้างงัดคัดกอไผ่ทำนบให้แตกออกไปเป็นส่วน ๆ น้ำจะได้ไล่พัดพาไปในที่ต่าง ๆ ไม่ให้ประชุมอยู่เป็นทำนบดังเก่า เกรงว่าญวนจะข้ามที่ทำนบนั้นมาโดยเร็ว
 แล้วสั่งพระยากำแพงเพชร ให้คุมพลทหารหัวเมือง ๕๐๐ คนอยู่รั้งหลังคอยระวังญวนจะไล่พระยารามกำแหงมา จะได้ออกปะทะช่วยป้องกันบ้าง ถ้าพระยากำแพงเพชรพบกับพระยารามกำแหงแล้ว จะรับพระยารามกำแหงไว้ในกองทัพเป็นข้าหลวงกำกับทัพ พอเป็นพยานทางราชการทัพศึกก็ตามใจ หรือจะให้พระยารามกำแหงยกมาตามกองทัพใหญ่ก็ตามใจ แล้วแต่พระยากำแพงเพชรเถิด แต่ให้พระยากำแพงเพชรรั้งทัพอยู่ที่คลองแคแดงนี้ เดินทัพมาช้า ๆ ให้คอยฟังเสียงดินปืนที่ฝังไว้ในใต้ค่ายไม้ไผ่ที่ตำบลโคกสะแกนั้นด้วย ถ้าเสียงดินปืนดังขึ้นสมดังที่เราคิดทำกลอุบายไว้เมื่อใด ก็ให้พระยากำแพงเพชรยกทัพกลับไปตรวจดูว่า ญวนจะตายหมดหรือหรือจะเหลืออยู่บ้าง ที่เหลือตายนั้นพอจะจับเป็นมาได้ก็ให้จับมา จะได้ไต่ถามเอาข้อราชการบ้านเมืองญวนบ้าง ถ้าและว่าญวนไม่ตายมาก ยังเหลืออยู่จะแต่งการสู้รบต่อไป ให้พระยากำแพงเพชรคิดดู เห็นว่าญวนมากกว่าไทย ถ้าเห็นพอจะสู้ได้ก็ให้ฆ่าให้สิ้น ถ้าสมดังที่คิดไว้นั้นแล้ว ก็ให้ใช้ขุนนางกรมการขึ้นม้าเร็วมาบอกให้เรารู้ความบ้าง เราจะเดินทัพรอ ๆ ฟังข่าวด้วย ถ้าสมดังคิดแล้ว เราจะได้มีหนังสือโต้ตอบสั่งไปให้พระยากำแพงเพชรจัดการต่อไปให้เป็นเกียรติยศมีชื่อเสียงแก่พระยากำแพงเพชรบ้างตามสมควร ที่มาเหนื่อยมาเหน็ดด้วยกันคราวนี้ จะได้มีชื่อไปภายหน้าด้วยกัน
อนึ่ง เมื่อพระยารามคำแหงแกล้งทำอาการประหนึ่งขลาด แล้วก็ล่าถอยหลังหนีญวนมาเข้าค่ายไม้ไผ่ที่ทำกลอุบายไว้ที่โคกสะแกได้แล้วปิดประตูหน้าค่ายเสียสิ้น ในค่ายนั้นมีจังหันเกราะปักอยู่แปดมุมค่าย (กังหันหมุนไปเคาะไม้) เมื่อลมพัดมากระทบจังหัน จังหันก็ดังเหมือนคนตีเกราะนั่งยาม แล้วนำฟืนสุมไฟไว้ในค่ายสี่ห้าหกกอง ให้มีควันไฟขึ้นพลุ่งไปบนอากาศ ปรารถนาจะให้ญวนเห็นว่ามีควันไฟอยู่นั้น แล้วก็คงจะมีคนไทยรักษาค่ายอยู่แน่ พระยารามกำแหงจัดการตามบัญชาสั่งเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นทุกประการแล้ว ก็ปิดประตูหน้าค่ายหลังค่ายเสร็จ จึงพากองทัพออกหลังค่าย เดินล่าถอยหนีรีบรุดมาพบกองทัพพระยากำแพงเพชรตั้งอยู่ที่ริมฝั่งคลองแคแดง ก็ไปแจ้งความที่ทำไว้ในค่าย และญวนยกไล่มา ทำทีเป็นหนีออกมาดังนี้ให้พระยากำแพงเพชรฟังทุกประการ พระยากำแพงเพชรเห็นว่าพระยารามกำแหงเป็นขุนนางในกรุง ควรจะรับเข้าไว้ในกองทัพด้วย จะได้ช่วยกันคิดราชการและเป็นพยานด้วยกัน แล้วนำหนังสือเจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ ใบอนุญาตให้ดูอยู่ช่วยกำกับทัพหัวเมือง พระยารามกำแหงก็ต้องอยู่เป็นผู้ช่วยกำกับทัพพระยากำแพงเพชรต่อไปตามทางราชการ
 ครั้นญวนกองหน้ายกทัพไล่ติดตามทัพพระยารามกำแหงมาถึงหน้าค่ายไม้ไผ่ที่โคกสะแกนั้น ญวนไม่เห็นทหารไทยรักษาค่ายตามหอรบ ได้ยินแต่เสียงเกราะตีอยู่ในค่าย ก็สำคัญว่าไทยแกล้งปิดประตูค่ายทำอุบายไว้ จะให้ญวนกรูกันเข้าไปในค่ายไทย ไทยที่แอบอยู่ในสนามเพลาะในค่ายนอกค่ายจะได้กรูกันขึ้นมาไล่ยิงแทงฆ่าญวน ญวนคิดดังนี้จึงมิได้เข้าไปในค่ายไทย ญวนตั้งรั้งรอกองทัพอยู่ห่างค่ายไทย ณ ที่ป่ารกแห่งหนึ่ง เพื่อจะคอยดูเชิงศึกไทยก่อน
ขณะนั้น พอกองทัพองกวางโดย องลำโดย แม่ทัพใหญ่ยกมาทันกองหน้า องกวางโดยแม่ทัพใหญ่จึงถามองตุนแล้แม่ทัพหน้าว่า เหตุใดจึงมาตั้งรอรั้งอยู่ที่นี่ มิได้ยกเข้าไปในค่ายไทย องตุนแล้ตอบว่าเห็นประตูค่ายปิดอยู่ ไม่มีผู้คนรักษานอกค่ายแลหอรบ แต่ในค่ายนั้นมีควันไฟปลิวขึ้นมาบนอากาศเสมอ และมีเสียงเกราะเคาะตีตรวจตรากันอยู่ ดูจะมีคนแอบกองบซุ่มอยู่ในค่าย ล่อให้พวกญวนเข้าไป จะได้ระดมกันฆ่าญวน
 องกวางโดย องลำโดย จึงตอบว่า อ้ายขี้ขลาดตาขาว มึงเป็นแม่ทัพหน้าเสียเปล่า ๆ ไม่มีพิจารณาด้วยปัญญาอันละเอียด ควรจะพิเคราะห์ดูว่าไทยจะทิ้งค่ายจริง ๆ หรือทำเป็นทิ้งหลอกแอบซุ่มอยู่ในค่าย มึงจงแลดูบนค่ายไทยก่อนเป็นไร อีกาและนกบินขึ้นลงในค่าย กินอาหารเสบียงที่ไทยทิ้งไว้เอาไปไม่หมดนั้น เสียงอีการ้องอยู่ในค่ายออกแซ่เซ็ง มึงไม่ได้ยินหรือ ถ้ามีคนอยู่ในค่ายเหมือนอย่างเอ็งพูดนั้น อีกาก็จะไม่บินขึ้นลงในค่ายได้ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนพูดเท่านั้นแล้ว จึงสั่งให้องตุนแล้ยกกองทัพหน้าเข้าไปในค่ายไทยก่อนในเวลาบ่าย กองทัพหน้าเข้าค่ายได้แล้วก็หาเห็นมีคนไทยไม่ สมดังแม่ทัพใหญ่ว่า
 “ซึ่งความคิดเจ้าพระยาบดินทรเดชาทำอุบายด้วยจังหันเกราะและสุมไฟไว้ในค่ายนั้น เพราะจะให้กองทัพหน้าของญวนสงสัยว่ามีคนอยู่ จะได้ไม่เข้าค่ายก่อนกองทัพใหญ่ ปรารถนาจะให้ทัพหน้าญวนอยู่รอกองทัพใหญ่ฝ่ายญวนเข้าไปพร้อมกันทีเดียว จะได้ถูกกลอุบายที่ท่านทำไว้นั้น ญวนจะได้ตายพร้อมกันมาก ๆ ไม่ให้เสียทีที่คิดทำการใหญ่ไว้ จะให้ตายแต่กองหน้าก่อนโดยคนน้อย ๆ หาควรไม่ กองหลังคนมามากก็จะไม่ตายพร้อมกัน ความปรารถนาของท่านทำกลอุบายคิดจะให้ญวนตายเสียทีเดียวทั้ง ๒ กองคนกว่า ๒,๐๐๐ คน ฝ่ายญวนกองหน้าก็ทำกิริยาสมกับความคิดของท่านทุกประการ ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไรเล่า ญวนกองใหญ่ก็ยกมาทันเข้าไปพร้อมกัน ตายด้วยกันหมดตามที่ท่านคิดไว้ทุกอย่าง ซึ่งแม่ทัพญวนพูดจาดูถูกดูหมิ่นท่านต่าง ๆ แต่ก่อนนั้นก็ตายด้วย”
** อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวาดเสียวมาก กองทัพญวนเข้าค่ายกลซึ่งเป็นเหมือนค่ายนรกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว ค่ายไม้ไผ่จะเป็น “ค่ายนรกแตก” หรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๖ -
ญวนทุกทัพเข้าค่ายไทยทั้งสิ้น หุงข้าวกินลืมกลจนมองข้าม ประมาทแม่ทัพไทยอุบายทราม พูดหยันหยามค่ายกลก่อนตนตาย
ชนวนระเบิดทำงานไม่ด้านดื้อ เพลิงลุกฮือใต้ดินดิ้นตามสาย ถังดินดำปืนใหญ่มีที่เรียงราย ระเบิดค่ายแหลกลงเป็นผงคลี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. กองทัพไทยเดินทางล่าหนีทัพญวนไปถึงคลองแคแดง เป็นคลองกว้างและลึก พระยาเขมรเสนอให้ทำสะพานเรือกพากองทัพข้ามไป เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการล่าช้าให้ญวนตามมาทัน ท่านเห็นว่าควรทำทำนบไม้ไผ่กั้นลำคลองจะเร็วว่า เมื่อทุกคนเห็นพ้องแล้ว จึงสั่งให้กองช้างพาช้างไปงัดกอไผ่ริมคลองที่มีอยู่มากมายนั้น ลากมาผูกมัดทำเป็นทำนบเสร็จภายในเวลาครึ่งวัน แล้วพาช้างม้าโคต่างไพร่พลข้ามน้ำไปได้สิ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้กองทัพพระยากำแพงเพชรเป็นทัพรั้งหลัง คอยฟังผลการทำค่ายกลที่โคกสะแก และคอยช่วยพระยารามกำแหงด้วย วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......
 “ฝ่ายองกวางโดยและองลำโดยแม่ทัพใหญ่ เห็นองตุนแล้ทัพหน้าเข้าค่ายไทยได้แล้ว จึงไล่ต้อนไพร่พลญวนเกือบ ๒,๐๐๐ คนเข้าไปในค่ายบ้าง ตั้งล้อมอยู่ริมค่ายข้างนอกบ้าง องแม่ทัพใหญ่ทั้งสองก็เข้าไปพักอยู่ในศาลาใหญ่กลางค่ายไทย แล้วจึงสั่งให้นายทัพนายกองให้จับตัวองตุนแล้แม่ทัพหน้าผู้ขลาดไปฆ่าเสียในวันนั้น แล้วสั่งนายทัพนายกองไปเที่ยวหาเก็บเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารตามในค่ายและนอกค่าย ได้มาหลายอย่างต่าง ๆ คือ ปืนขานกยางบ้าง ปืนคาบศิลาบ้าง ดาบ มีด พร้า เสียมบ้าง (ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาแกล้งทิ้งไวในค่าย ทำทีเป็นหลงลืมเก็บไปไม่หมด ดูเหมือนไทยตะลีตะลานรีบหนีไป เพราะจะให้ญวนเชื่อว่าไทยทิ้งค่ายหนีจริง ๆ จึงมีของหลงลืมทิ้งไว้ทั้งเสบียงอาหารศาสตราวุธอย่างละเล็กละน้อย ทำไว้ให้สนิทไม่ให้ญวนคิดว่าไทยแกล้งล่าไปเป็นกลอุบาย แล้วทำลืมไว้จนชั้นแต่หม้อข้าวหม้อแกง ข้าวสารข้าวสุกบ้างเล็กน้อย และเครื่องเสื้อผ้าซึ่งเป็นที่หายากในกลางป่าก็ทำลืมทิ้งไว้ด้วย ปรารถนาจะให้ญวนสิ้นความสงสัยและไม่ให้มีความรังเกียจในค่ายเลย ญวนจะได้เข้ามาพักรี้พลในค่ายให้มาก จะได้ตายให้มากพร้อมกัน อย่างเช่นที่คิดทำอุบายไว้ในที่นี้สำคัญยิ่งนัก)
ครั้งนั้น ญวนเข้าในค่ายได้เป็นเวลาบ่ายสี่โมง พลญวนจึงนำหม้อข้าวดินของไทยบ้าง และหม้อข้าวทองแดงของญวนบ้าง นำข้าวสารมาตั้งบนเตาไฟเก่าในค่ายไทยเพื่อจะหุงอาหารกิน หลายสิบหลายร้อยเตา บางพวกได้ยินเสียงแตนเสียงต่อร้องกระหึ่มครึมไปในใต้แผ่นดินที่ค่ายนั้น จึงนำไม้และเหล็กสักแทงลงไปตามพื้นค่ายก็พบหลุม จึงเปิดหลุมนั้นขึ้นดู พบตัวต่อแตนบินขึ้นกัดต่อยรี้พลญวนเหมือนเช่นไทยทำไว้ที่ตำบลลำลาดป่าตะโกนั้น ญวนนายทัพนายกองจึงนำข้อความนี้มาแจ้งแก่องกวางโดย องกวางโดยหัวเราะจนกล้องหลุดจากปากแล้วพูดว่า
“มาพบอุบายไทยทำไว้อีกเช่นนี้แล้ว เห็นว่าแม่ทัพไทยเป็นบ้า เอาตัวต่อแตนผึ้งมาไว้ในค่ายเพื่อจะแทนเสียงรี้พล และทำจังหันสุมควันไฟไว้ต่าง ๆ นานา ไม่เห็นเข้าท่าเข้าทางถูกแบบถูกอย่างพิไชยสงครามเลย เห็นแต่จะเป็นความคิดของจำพวกคนเสียจริตอย่างเดียวเท่านั้นเป็นแน่”
แม่ทัพญวนพูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งนายทัพนายกองให้นำเหล็กไปเที่ยวสักหาดู ถ้าพบหลุมที่ไหนมีตัวต่อแตนผึ้งซึ่งจะร้องหนวกหูนั้น ก็ให้นำไฟทิ้งลงไปในหลุมเผาต่อแตนให้ตายเสีย อย่าให้ร้องหนวกหูและบินขึ้นมากัดต่อยทำร้ายแก่ไพร่ญวนได้เลยเป็นอันขาด
 ขณะนั้นนายทัพนายกองฝ่ายญวนจึงไปทำตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่ทุกประการ พบหลุมไหนมีต่อแตนแล้วก็นำไฟทิ้งลงไปเผาเสียบ้าง เชื้อไฟนั้นก็คุลงไปถึงก้นหลุม ติดชนวนดินปืนใต้หลุมบ้าง กับพวกไพร่พลญวนหุงข้าวกินที่เตาไฟเก่านั้นหลายร้อยเตา ไฟที่เตาร้อนลงไปติดชนวนดินปืนใต้เตาบ้าง ไฟจึงไหม้ชนวนนั้น ติดเนื่องแล่นเร็วรอบค่ายใต้พื้นดิน ไปถูกถังดินปืนหลายร้อยถัง แล้วไปติดชนวนปืนใหญ่ที่บรรจุกระสุนดินเกินส่วน ซึ่งฝังไว้ใต้แผ่นดินหลายสิบกระบอก ชนวนไปติดดินปืนที่เรี่ยรายฝังไว้ใต้แผ่นดินล้อมรอบค่าย และตามถนนหน้าค่ายหลังค่ายตลอดไปตามทางที่ญวนยกมานั้นด้วย เกิดเป็นไฟติดดินปืนลุกขึ้นพร้อมกัน เสียงดังประหนึ่งเสียงฟ้าผ่าเป็นเสียงมหาโกลาหล กึกก้องกัมปนาทหวาดหวั่นไหวสะท้านสะเทือนไปหลายร้อยเส้น ครั้งนั้นเป็นมหามหัศจรรย์ประจักษ์พระบรมราชกฤษฎาเดชานุภาพพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ จะมีชัยชนะแก่ญวนอานามปัจจามิตร เผอิญให้ญวนคิดเข้ามาในใต้อุบายแม่ทัพไทยทุกอย่างทุกประการ อำนาจกลอุบายไทยจึงได้สังหารผลาญล้างชีวิตญวน ซึ่งเป็นข้าศึกต่อกรุงเทพฯ ให้พินาศฉิบหายตายเกือบ ๒,๐๐๐ คนเห็นประจักษ์พระบารมี ดังนี้
ครั้งนั้น ดินปืนระเบิดขึ้นรอบค่ายในเวลาย่ำค่ำ ณ วันพุธ เดือนหก แรมสองค่ำ ดินระเบิดถูกเสาค่ายและเครื่องค่ายหักพังกระเด็นไปตกทั่วทิศานุทิศ ไฟลวกถูกไพร่พลญวนล้มตายประมาณ ๑,๖๐๐ คน ที่เจ็บป่วยลำบากประมาณ ๔๐๐ คน แต่พวกญวนตระเวนด่านทางอยู่ห่างค่าย ไม่ถูกดินปืนระเบิดนั้นประมาณ ๒๐๐ คน ทั้งสองร้อยคนตกใจกลัวแตกหนีกระจัดกระจายไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดงบ้างต่าง ๆ กัน ครั้งนั้นม้าช้างโคต่างของญวนถูกดินปืนระเบิดตายมากเหลือน้อย
 ขณะเมื่อดินปืนระเบิดลุกขึ้นที่ค่ายโคกสะแกเป็นเวลาย่ำค่ำ พระยากำแพงเพชรชื่อทองพูนผู้นี้ เขาลือกันว่าดำน้ำวันหนึ่งไม่ผุดก็ได้ เป็นนายทัพรั้งหลังตั้งอยู่ริมฝั่งคลองแคแดง กำลังเดินทัพรั้งรอมาช้า ๆ ได้ยินเสียงดังข้างทิศตะวันออก ดังเหมือนเสียงฟ้าร้องและเสียงพลุดังติด ๆ กันเป็นหลายสิบที ก็เข้าใจว่าญวนเข้าค่ายไทย และญวนต้องกลอุบายไทยเป็นแน่แล้ว จึงสั่งหลวงนาให้ขึ้นม้าควบสวนทางขึ้นไปสั่งพระยกกระบัตรนายทัพหน้าให้กลับกระบวนทัพลงมา แล้วให้เดินตรงไปถึงคลองแคแดงฝั่งใต้แล้ว ให้หลวงสิทธิเดชกับหลวงแพ่งสองนายขึ้นม้าคุมทหารม้า ๕๐ ม้า ข้ามคลองแคแดงไปสืบราชการที่ค่ายโคกสะแก
 กองม้ากลับมาแจ้งความว่า ได้ลงไปในเวลานั้นเป็นเวลากลางคืนเดือนหงาย สว่างเห็นหนทางดี ยกไปถึงตำบลโคกสะแกใกล้ค่ายไม้ไผ่ แต่ไม่เห็นค่ายเลย ได้เห็นแต่แผ่นดินว่างเปล่า และได้ยินเสียงญวนร้องไห้และร้องครางเป็นเสียงเซ็งแซ่ไปหลายร้อยคน กับได้พบศพแขนขาดขาขาดตัวขาดครึ่งซีกครึ่งท่อน กระเด็นมาตกตามทางหลายร้อยชิ้นหลายร้อยท่อนตามทางที่ลงไป ที่ได้พบศพนั้นทางไกลค่ายประมาณ ๑๕-๑๖ เส้น บางชิ้นก็กระเด็นมาตกไกลถึง ๒๐ เส้นก็มีบ้าง เครื่องค่ายไทยนั้นกระเด็นมาตกเรี่ยรายไปตามทาง ห่างและชิดต่าง ๆ หลายแห่ง ขุนรามภักดีนายม้ากองหน้าของหลวงแพ่งนั้น พบญวนป่วยเจ็บเล็กน้อยก็รับขึ้นหลังม้ามาคนหนึ่ง ให้ทหารม้าเลวรับญวนที่ป่วยบ้างเล็กน้อยขึ้นหลังม้ามาอีก ๔ คน พากันกลับมายังกองทัพพระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรให้ล่ามถามญวน ๕ คนนั้น ได้เนื้อความตั้งแต่ต้นจนปลายดังบรรยายแสดงมาแต่ก่อนนั้นแล้ว......
(อนึ่ง ถ้าจะมีคำกลางขวางถามเข้ามาว่า ญวนพูดจาดูหมิ่นดูถูกไทยว่าทำกลอุบายดังเด็กทารกต่าง ๆ ดังที่ว่ามาแต่ข้างบนนั้น และกิจการอันใดที่ญวนทำในกองทัพญวนนั้น ทำไมไทยจึงได้ล่วงรู้ล่วงเห็นได้เล่า เขาทำเขาพูดแต่พวกเขาต่างหาก พวกเราไม่ได้ยินไม่ได้เห็นญวนพูดญวนทำการงานเลย เหตุใดจึงรู้การต่าง ๆ เก็บนำที่ไหนมาจดมาจำเรียบเรียงเป็นเรื่องเป็นราวโดยละเอียด
คำแก้ตอบว่า ได้ทราบความตามที่จับญวนมาได้เมื่อภายหลังทั้งไพร่พลและนายทัพญวน และแม่ทัพญวนก็จับมาได้ จึงรู้ความตามเหตุน้อยใหญ่ จึงได้เรียบเรียงเป็นลำดับมาตามการ).....”
 ** ค่ายนรกแตกแล้ว ! เป็นอันสมปรารถนาของท่านแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา สะใจนายทัพนายกองไพร่พลไทย เมื่อแม่ทัพญวนพาไพร่พลเข้าค่ายนรก อันเป็นอุบายอันแยบยลของแม่ทัพใหญ่ไทย แล้วทำตามที่เจ้าคุณแม่ทัพวางแนวทางไว้จนถึงจุดสุดท้าย ดินปืนระเบิดค่ายแตกถล่มทลาย แม่ทัพ นายทัพ นายกอง ไพร่พลญวนตายเกือบสิ้นทั้งกองทัพ ผลความเสียหายจากค่ายนรกแตกครั้งนี้ จะมีเป็นเช่นไรบ้าง วันพรุ่งนี้มาอ่านรายงานการสำรวจของพระยากำแพงเพชรกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๗ -
ญวนสี่ทัพรวมพลสองพันสอง ตายสยองรวมกันกว่าพันสี่ “องกวางโดย”เจ็บใกล้วายชีวี คนเป็นผีศพช้ำ “องลำโดย”
ที่เจ็บป่วยลำบากยากรักษา แม่ทัพใหญ่ให้ฆ่าอย่าหวนโหย สี่ร้อยสิบหกคนก่นโอดโอย เมื่อเพลิงโปรยเปลวเผาเป็นเถ้าไป |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยารามกำแหงหลอกล่อให้กองทัพญวนติดตามถึงหน้าค่ายไม้ไผ่ ปิดค่ายแล้วทำตามบัญชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา พาไพร่พลออกทางหลังค่าย เดินทางไปพบกับกองทัพพระยากำแพงเพชร ที่แม่ทัพใหญ่สั่งให้รั้งหลังคอยฟังเสียงดินปืนระเบิด ถ้าสมดังคิดแล้ว ให้ยกกองหลังกลับไปสำรวจตรวจตราผลของกลอุบายที่วางไว้ ฝ่ายแม่ทัพญวนยกมาถึงค่ายกลแล้ว สั่งให้ทัพหน้ายกเข้าไปในค่าย จากนั้นจึงยกทัพใหญ่เข้าไปในค่าย สั่งให้จับตัวแม่ทัพหน้าที่เห็นว่าขี้ขลาดนั้นฆ่าเสีย แล้วให้ไพร่พลหุงข้าวกินยามเย็น และให้เอาไฟใส่ลงไปในหลุมต่อแตน ไม่นานไฟในหลุมต่อแตนก็คุติดสายชนวนในหลุมนั้นพร้อม ๆ กับไฟที่เตาไฟก็คุติดสายชนวน แล่นไปรอบค่ายติดถังดินปืนและปืนใหญ่ที่ฝั่งไว้รอบค่ายนั้นเกิดการระเบิดขึ้น สมดังกลอุบายของแม่ทัพใหญ่ไทยทุกประการ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 * ฝ่ายพระยากำแพงเพชร ได้ทราบความตามญวนข้าศึก ๕ คนให้การแจ้งดังนั้นแล้ว ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงสั่งให้พระรามพิไชยกับพระมหาดไทย ให้คุมทหาร ๑๐๐ ยกไปปิดต้นทางหว่างค่ายโคกสะแกไว้ อย่าให้ญวนหนีไปได้ สั่งให้พระเทพโยธากับหลวงศุภมาตราคุมทหาร ๑๐๐ ถือคบเพลิงมีเครื่องศาสตราวุธครบมือทุกคน ให้ยกไปตามญวนที่เหลือตายแตกหนีกระจัดกระ จายไปในป่า ให้จับมารวบรวมไว้ ถ้าสู้ให้ยิงให้ตายเสียให้หมด ถ้าไม่สู้ให้จับเป็นมาให้มาก จะได้ใช้ราชการเป็นคนเชลยเลี้ยงช้างม้า
ครั้นรุ่ง ณ วันพฤหัสบดี เดือนหกแรมสามค่ำ พระยากำแพงเพชรก็เดินกองทัพกลับมาข้ามที่ท่าหน้าวัดมะกอก ริมฝั่งคลองแคแดง เดินทัพรุดเร่งไปทั้งกลางวันและกลางคืน สองวันก็ถึงค่ายโคกสะแก เห็นศพญวนตายด้วยถูกดินปืนระเบิดนั้นประมาณศพ ๑,๔๐๐ ที่ป่วยเจ็บมีบาดแผลยังไม่ตายนั้น ประมาณ ๔๐๐ คน จึงสั่งให้ขุนรองจ่าเมืองคุมไพร่พลไปจับคนญวนที่ป่วยเจ็บทุพพลภาพลำบาก ต้องหามและจูง พยุงรวบรวมมาไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นหลายกอง ให้ขุนรองจ่าเมืองคุมพลทหารรักษาญวนป่วยเจ็บ ๔๐๐ คน อย่าให้หนีไปได้
ครั้งนั้น พระรามพิไชยกับพระมหาดไทยไปตั้งกองสกัดจุกช่องปิดทางไว้ จับได้ญวนที่หนีไป ส่งให้พระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรให้หลวงเมืองทำตะโหงกสวมคอญวนทุกคน พอรุ่งขึ้น พระเทพโยธา หลวงศุภมาตรา ไปตามจับญวนที่เหลือตายหนีไปในป่า จับมาได้เวลากลางคืนวันนั้นบ้าง ตามไปจับในป่าเมื่อเวลารุ่งเช้าได้บ้าง รวบรวมได้ ๑๐๔ คน พามาส่งให้พระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรสั่งให้จำตะโหงกไว้ทั้งสิ้น รวมกับญวนที่พระมหาดไทยจับมาส่งแต่ก่อน ๖๐ คน เป็นญวนเชลย ๑๖๔ คน ถามญวน ๑๖๔ คนให้การว่า ที่หนีไปรอดได้บ้างคือที่มีม้าขี่ จึงหนีไปพ้นได้ประมาณ ๓๐ เศษ
ครั้งนั้น พระยากำแพงเพชรจับญวนนายทหารรอง เป็นเสมียนของแม่ทัพใหญ่ได้สองคน ชื่อหลับ ๑ ชื่อเย้อ ๑ ถามข้อราชการในกองทัพตั้งแต่ยกมา จนเมื่อถูกดินปืนระเบิดนั้นได้ความมาก แล้วได้บัญชีรี้พลที่ยกมาครั้งนี้โดยชัดเจน ให้ล่ามแปลบัญชีออกได้ความว่า
 องกวางโดยยกมามีไพร่พล ๘๐๐ องลำโดยยกมามีไพร่พล ๘๐๐ แล้วองตุนแล้ยกมาอีกมีไพร่พล ๔๐๐ แล้วองเผอแม่ทัพใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโจดกนั้น ให้องดีเลือกคุมคนหัวเมืองตึกเขมายกเพิ่มมาอีก ๑ ทัพ มีไพร่พล ๒๐๐
รวมไพร่พลทั้ง ๔ ทัพ ๒,๒๐๐ เป็นแน่ พระยากำแพงเพชรได้ทราบดังนั้นแล้ว สั่งให้พระมหาดไทยตรวจศพญวน และตรวจญวนเป็นและญวนป่วย ดูจะมีมากน้อยเท่าใด จะได้รู้ว่าญวนหนีไปเท่าใดแน่ จะถูกต้องในบัญชีญวนหรือไม่ พระมหาดไทยตรวจศพญวนมี ๑,๔๑๔ ญวนป่วยมี ๔๑๖ คน ญวนเป็นมี ๑๖๔ คน รวมญวนตาย ๑,๔๑๔ ป่วย ๔๑๖ เป็น ๑๖๔ รวม ๑,๙๙๔ นายทัพญวนให้การต่อไปว่า ตกหลุมถูกหลาวของไทยทำไว้กลางทางนั้น ญวนตายไปเสียครั้งนั้น ๑๐๔ และรบกับทัพม้าพระยาอัษฎาเรืองเดชนั้นญวนตาย ๓๖ คน ป่วยไข้ตายตามทาง ๓๐ คน คงหนีกลับไปรอดได้ ๓๖ คน
พระมหาดไทย หลวงศุภมาตรา ทำบัญชีญวนตาย หนี ป่วย จับเป็นมาได้ ขึ้นยื่นแก่พระยากำแพงเพชรต่อไปตามขุนนางญวนให้การดังนี้
 เดิมไพร่พลญวน ๒,๒๐๐ ตั้งจำหน่ายป่วยไข้ตาย ๓๐ ถูกหลาวตาย ๑๐๔ ทัพม้าไทยฆ่าตาย ๓๖ ถูกดินปืนระเบิดตาย ๑,๔๑๕ จับเป็นมาได้ ๑๖๔ หนีไปได้ ๓๖ ถูกดินปืนระเบิดป่วยอยู่ ๔๑๖ รวม ๒,๒๐๐ คน ครั้งนี้ทัพไทยจับช้าง ม้า โคต่าง ที่เหลือตายในกองทัพญวนนั้นได้บ้าง ช้าง ๕๖ ม้า ๑๐๔ โคต่าง ๒๔๖ ที่ถูกดินปืนระเบิดตายก็มาก ที่แตกตื่นเข้าป่าไปตามจับไม่ได้ก็มีบ้าง แต่ช้างม้าโคต่างตายอยู่ที่ค่ายโคกสะแกคราวนี้ มากกว่าที่จับมาได้หลายส่วน แต่เครื่องสรรพาวุธของญวนได้ไว้สิ้นทุกอย่างต่าง ๆ แต่ดินปืนของญวนหาได้ไม่ ด้วยพลอยติดไฟลุกขึ้นซ้ำเติมฆ่าพวกญวนนั้นเอง พระยากำแพงเพชรแต่งหนังสือบอกฉบับ ๑ ให้พระยารามกำแหงข้าหลวงกำกับทัพเข้าชื่อในใบบอกด้วย แล้วมอบให้หลวงนาขึ้นม้าเร็วคุมทหารม้า ๒๖ ม้ารีบไปแจ้งความเจ้าพระยาบดินทรเดชา ซึ่งกำลังเดินทัพไปเมืองเขมร
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพเกือบจะถึงเมืองเชิงกระชุมอยู่แล้ว เมื่อได้รับหนังสือบอกนั้นที่กลางทาง จึงมีหนังสือตอบมายังพระยากำแพงเพชรใจความว่า ญวนที่ถูกดินปืนระเบิดป่วยเจ็บมีอยู่ ๔๑๖ คนก็เป็นคนลำบากอยู่แล้ว ครั้นจะพารักษาพยาบาลไว้ใช้ในราชการต่อไป ก็เห็นว่าญวน ๔๑๖ นั้นจะเดินมายังเมืองเขมรก็ไม่ได้ ครั้นจะให้ช้าง โคต่าง บรรทุกมารักษาก็หามีช้างพอไม่ กับจะพามาตามทางก็ไม่มียาจะรักษา เห็นว่าเป็นการรุงรังห่วงแก่เรานัก หาประโยชน์ไม่ได้เลย ให้พระยากำแพงเพชรนำดินปืนคลอกญวนที่เจ็บป่วยลำบาก ๔๑๖ คนนั้นให้ตายเสียหมดเถิด แต่นายทัพนายกองญวนที่ป่วยอยู่หรือลำบากอย่างใดก็อย่าให้ฆ่าเลย ให้นำบรรทุกโคต่างมาส่งยังเมืองเชิงกระชุม จะได้ไต่ถามข้อราชการบ้านเมืองญวนต่อไป อนึ่งเครื่องศาสตราวุธและช้างม้าโคต่างนั้น ก็ให้พระยารามกำแหงคุมส่งยังเมืองเชิงกระชุมก่อน แต่พระยากำแพงเพชรนั้น ให้เดินทัพมาข้างหลังพระยารามกำแหง เพื่อจะได้ระวังรักษาเชลยญวนที่พระยารามกำแหงไล่ต้อนมานั้นอย่าให้หนีไปได้
 ครั้งนั้น พบศพองลำโดยแม่ทัพญวน ถูกดินปืนตายเสียแต่ในการเกิดการโกลาหลนั้นแล้ว พระยากำแพงเพชรสั่งให้ทหารตัดศีรษะองลำโดยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน ใส่ชะลอมมอบให้หลวงนาขึ้นม้าเร็วนำไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่ในวันก่อนนั้นแล้ว และเก็บได้เข็มขัดขององลำโดยสายหนึ่ง ทอด้วยไหม ศีรษะเป็นพลอยทับทิมหลังเบี้ย ยาวห้ากระเบียด กว้างสามกระเบียด หนาสองกระเบียดกึ่ง สัณฐานรูปเหมือนเมล็ดมะขาม กับได้กำไลหยกสวมอยู่ในข้อมือองลำโดยขอนหนึ่ง กับได้กั้นหยั่นที่องลำโดยตะพายติดอยู่บั้นเอวเล่มหนึ่ง ด้ามเป็นเขี้ยวปลาพะยูน เนื้อเหล็กสีเขียวดังปีกแมลงทับ หาสนิมมิได้เลย ฝักนั้นทำด้วยเงินก้าไหล่ทอง ญวนเสมียนสองคนที่จับมาได้แจ้งความว่า พลอยทับทิมศีรษะเข็มขัดนั้น องลำโดยซื้อมาแต่กรุงจีนราคา ๕,๐๐๐ ตำลึงจีน กั้นหยั่นเป็นของพระเจ้าเวียดนาม พระราชทานให้ถือเป็นสง่าขององลำโดย ทั้งสามสิ่งนี้ได้มอบให้พระยารามกำแหงนำไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย
ครั้งนั้น ไทยได้พบองกวางโดยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนป่วยลำบากเดินไม่ได้อยู่ในค่ายโคกสะแกนั้น เพราะดินปืนลวกถูกที่หลังพังพองไปหลายแห่ง กับไม้เสาค่ายกระเด็นมาถูกที่น่องหักเดินไม่ได้ แต่ยังหาตายไม่ ทหารไทยหามมาขึ้นช้างแล้วตรวจดูมีของ ๔ อย่าง คือแหวนเพชรวงหนึ่งราคา ๔๐๐ ตำลึงจีน เข็มขัดไหมสายหนึ่งศีรษะ เป็นนากสวาดิ์ราคา ๓๐ ตำลึงจีน กั้นหยั่นเล่มหนึ่งฝักเงินก้าไหล่ทองคำด้ามงาช้าง ปืนหลังม้าบอกหนึ่งคร่ำทอง ของ ๔ อย่างขององกวางโดยนี้ ก็ส่งไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย
 ฝ่ายพระยากำแพงเพชรจัดการที่โคกสะแกเสร็จแล้ว จึงสั่งให้ทหารไทยหามองกวางโดยขึ้นช้างเดินมาในกองทัพพระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรก็ยกทัพกลับมายังเมืองเชิงกระชุม ตามท้ายทัพพระยารามกำแหง ซึ่งคุมญวนเชลย ๑๖๔ คน กับช้าง ม้า โคต่าง เดินมาเป็นลำดับกัน หาพบเจ้าพระยาบดินทรเดชากลางทางไม่ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพไปถึงเมืองเชิงกระชุมก่อนแล้ว.........”
* “เรียบร้อยโรงเรียนบดินทร์เดชา” ไปแล้ว ! แม่ทัพญวนที่อวดฉลาด ประมาทความคิดแม่ทัพใหญ่ไทย แล้วฆ่าแม่ทัพหน้าของตนคนที่มีความเฉลียวเสียก่อนที่ค่ายนรกจะแตก ผลก็คือ ญวนที่ยกทัพตามตีกองทัพไทยครั้งนี้ ๔ ทัพ รวมไพร่พล ๒,๒๐๐ คน เหลือหนีรอดกลับญวนไปได้ ๓๖ คน ถูกจับเป็นเชลย ๑๖๔ คน นอกนั้นตายเรียบ! แม่ทัพที่คุมทัพมาตาย ๑ ป่วยลำบากทุพพลภาพ ๑ องกวางโดยแม่ทัพที่ ๑ ดวงยังไม่ถึงฆาต ยังไม่ตายแต่ “คางเหลือง” ถูกหามขึ้นหลังช้างไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไม่รู้ว่าแม่ทัพเดนตายคนนี้ไปพบหน้าเจ้าพระยาบดินทรเดชา คนที่เขาหมิ่นประมาทว่ามีความคิดแค่เด็กอมมือแล้ว เขาจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากัน จะทันได้พบกันหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ พรุ่งนี้เช้ามาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๘ -
องกวางโดย“เดนตาย”ไม่มอดม้วย หายเจ็บป่วยแล้วยัง“วางก้ามใหญ่” มิเคารพนบกราบแม่ทัพไทย บอกอยู่ในตำแหน่งเท่าเทียมกัน
เรียกร้องให้รีบฆ่าอย่าเลี้ยงไว้ อยากกลับไปบ้านเก่าของเรานั่น ผู้คุมใช้ทำกิจคิดดื้อรั้น บอก “ฆ่าฟันดีกว่าอย่าใช้เลย” |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยากำแพงเพชรยกทัพกลับไปโคกสะแก ติดตามสำรวจผลกลอุบายของเจ้าพระยาบดินทรเดชา พบว่าค่ายไม้ไผ่ถูกดินปืนระเบิดพังพินาศมิมีชิ้นดี พวกญวนตายอย่างอเนจอนาถกลาดเกลื่อน ที่รอดตายเจ็บป่วยลำบากร้องครวญครางอยู่มีจำนวนน้อย จับได้ญวนที่เป็นระดับรองนายทัพสองคน เป็นเสมียนแม่ทัพ ได้บัญชีจำนวนกำลังพลชัดเจนว่า ญวนยกมาครั้งนี้ ๔ ทัพรวมไพร่พลทั้งหมด ๒,๒๐๐ คน ตกหลุมขวากหลาวตาย ๑๐๔ คน รบกับทหารม้าไทยตาย ๓๖ คน ป่วยไข้ตายตามทาง ๓๐ คน ถูกดินปืนในค่ายระเบิดตาย ๑,๔๑๕ คน เจ็บป่วยลำบากจากดินปืนระเบิด ๔๑๖ คน หนีรอดไปได้ ๓๖ คน พบศพองลำโดยตายอยู่ในค่าย และพบร่าง องกวางโดย แม่ทัพใหญ่ถูกไฟลวกร่างกายพอง เสาค่ายหักฟาดขาทั้งสองข้างหักเดินไม่ได้ จึงนำร่างอันทุพพลภาพขึ้นหลังช้างไปเมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยากำแพงเพชรเอาดินปืนคลอกญวนเจ็บป่วยลำบากทั้งหมด ๔๑๖ ให้ตายเสียสิ้น วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “....ขณะเมื่อกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินบกมากลางป่านั้น พวกเขมรป่าดงคุมกันเป็นพวกผู้ร้ายลอบมาแอบยิงกองทัพไทยที่ดินเลื่อยล้าป่วยไข้อยู่ข้างหลังในกลางป่านั้น ตายมากประมาณ๒๐-๓๐ เศษ นายทัพนายกองไทยนำความกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบเหตุการณ์นั้นแล้วโกรธนัก จึงพูดว่า
“ญวนมาเบียดเบียนบ้านเมืองเขมร เขมรจึงขอกองทัพไทยมาปราบปรามญวน ญวนก็พ่ายแพ้ไปบ้างแล้ว บัดนี้เขมรกลับใจมาเป็นขบถทรยศทำร้ายฆ่าไทยอีกเล่าดังนี้ จะละไว้ให้เนิ่นช้ากว่าการศึกญวนจะสำเร็จนั้นไม่ได้ เขมรจะกำเริบมากขึ้นทุกวัน จำจะต้องปราบปรามเขมรเหล่าร้ายให้เข็ดหลาบเสียก่อน จึงจะเดินทัพต่อไปได้”
พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งหลวงคลังกรมการเมืองปราจีนบุรี ให้ขึ้นม้าเร็วไปสั่งทัพหน้ากองพระยาราชสงครามให้หยุดทัพแรมที่นี่ก่อน กว่าจะจับเขมรเหล่าร้ายได้บ้างจึงจะไปได้ แล้วสั่งหลวงไกรนารายณ์ ๑ หลวงโจมจัตุรงค์ ๑ หลวงนรารณรงค์ ๑ หลวงจงใจยุทธ ๑ พระโยธาธิราช ๑ พระกำจรใจราช ๑ พระชาติสุเรนทร์ ๑ พระโยธาสงคราม ๑ ให้เป็นนายกองคุมไพร่พลแบ่งอกไปจากกองทัพใหญ่ให้ได้กองละ ๕๐ คน ทั้ง ๘ กองให้แยกย้ายกันไปเที่ยวค้นตามเขมรเหล่าร้ายในป่าให้ได้มาบ้าง
ครั้งนั้น กองทัพทั้งแปดไปพบเขมรในป่าดง ได้ตัวมาถามได้ความว่าพวกเหล่าร้ายที่ฆ่าไทยนั้น ตั้งบ้านอยู่ในดงใหญ่ กองทัพไทยให้เขมรที่ให้การนั้นนำทางไป จับได้ทั้งครอบครัวเขมรเหล่าร้ายชายหญิงลูกวิ่งลูกจูงกวาดต้อนมาสิ้น จนชั้นแต่หญิงมีครรภ์และคนแก่ชราก็ไล่มาด้วย รวม ๑๒๖ คนทั้งแปดกอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้พระพิทักษ์บดินทรเขมรเมืองพระตะบองถาม ได้ความรับเป็นสัตย์ว่า
“เดิมเห็นไทยมาตีญวนก็ยินดี บัดนี้ไทยถอยทัพหนีญวนมา กลัวญวนจะยกทัพใหญ่มาตามไทย แล้วญวนก็จะว่าเขมรเข้ากับคนไทย แล้วจะฆ่าพวกเขมรเสีย เพราะฉะนั้นพวกเขมรจึงร่วมคิดกันจะจับไทยไว้ให้แก่ญวนสักเก้าคนสิบคน พอเป็นทางที่จะแก้ตัวให้ญวนเห็นว่า เขมรยังรักนับถือญวนอยู่ จึงได้จับคนไทยมาให้ญวน แต่จะจับไทยไทยก็ต้องสู้แข็งแรงจึงได้ฆ่าเสียบ้าง จับไทยไปได้แต่ ๘ คน ป่วยตายเสีย ๔ คน ยังเหลืออยู่ที่บ้านบึงอีก ๔ คน ก็ส่งมาให้แก่นายทัพไทยทั้งแปดกองแล้ว”
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงให้พระยาอินทราธิราชเขมรเก่า นำทัพไทยทั้งแปดกองไปตีปล้นบ้านบึงในดง ซึ่งเขมรเรียกชื่อว่า “ตระพังธมไพรสรอง” (แปลเป็นภาษาไทยว่า บ้านบึงหนองใหญ่ในป่าดง) ทัพไทยทั้งแปดกอง ระดมตีล้อมบ้านหมู่นั้น ได้พวกครอบครัวเขมรเหล่าร้ายมาอีก ๖๔ คน รวมเข้ากันเป็น ๑๙๐ คน เจ้าพระยาบดิทรเดชาสั่งให้เลือกแต่เขมรชายฉกรรจ์ ๑๐๔ คน แล้วปลูกร้านสูงสองศอกคืบ พาพวกเขมรชายฉกรรจ์ ๑๐๔ คนขึ้นบนร้านแล้ว จึงจุดดินปืนใต้ร้านคลอกตายสิ้นทั้ง ๑๐๔ คน แต่ชายแก่ชรากับหญิงและเด็กนั้นรวม ๘๖ คน ให้ปล่อยไปสิ้น หยุดตามจับเขมรอยู่สองวัน ปราบปรามเสร็จแล้วก็เดินทัพต่อไป หามีเหตุร้ายดังเช่นแต่ก่อนไม่ จนถึงเมืองเชิงกระชุม พักพลอยู่ที่นั่นเป็นการแรมให้รี้พลรื่นเริงมีกำลัง หาอาหารการกินตามสบายบ้าง
 ครั้นพระยากำแพงเพชรพาตัวองกวางโดยเดินทัพมาถึงเมืองเชิงกระชุมแล้ว จึงทราบว่าองกวางโดยทัพญวนนั้นหายป่วยแล้ว ได้พาไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามว่า “อายุเท่าไร?” องกวางโดยบอกว่า “อายุ ๖๘ ปี” แล้วให้ล่ามถามต่อไปเป็นคำให้การ องกวางโดยให้การว่า “อายุ ๖๘ ปี เป็นขุนนางฝ่ายบู๊ มีตำแหน่งยศเป็นนายทหารรักษาป้อมใหญ่หน้าศึก ได้เข้าเรียนหนังสือ เป็นขุนนางแต่อายุ ๑๘ อยู่ในเมืองหลวงมาช้านาน ครั้งหนึ่งได้เป็นทูตที่สองไปจิ้มก้องกรุงปักกิ่ง เว้นมาแปดปี ได้เป็นราชทูตใหญ่ไปจิ้มก้องกรุงปักกิ่งอีก แล้วนั้นมาก็ได้เคยไปจิ้มก้องกรุงปักกิ่งอีก ๔ ครั้ง เป็นหกครั้ง ครั้งที่หกได้ไปถวายบรรณาการพระทันตะธาตุพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกาครั้งหนึ่ง แล้วเมื่อฝรั่งเศสยกทัพเรือกำปั่นใหญ่มาขอพวกบาดหลวงต่อพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามหาให้ไม่ กองทัพเรือฝรั่งเศสยิงปืนถูกเรือรบและป้อมของญวนแตกเสียหายเป็นอันมาก ครั้นภายหลังฝรั่งเศสยกมาอีก พระเจ้าเวียดนามใช้ให้ไปรบกับฝรั่งเศส จึงได้นำปืนขึ้นภูเขายิงไปถูกเรือรบกำปั่นฝรั่งเศส จะเสียหรือไม่เสียก็ไม่ทราบ แต่ทัพเรือฝรั่งเศสกลับไปหมด เพราะฉะนั้นพระเจ้าเวียดนามจึงได้เลือนยศตำแหน่งขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่ชั้นที่สี่ ให้เป็นแม่ทัพไปรบเมืองต่าง ๆ ถ้ามีการศึกสงครามที่กรุงเว้ครั้งใด ก็เป็นหน้าที่พนักงานขององกวางโดยทุกครั้ง ครั้งนี้จึงได้มาพร้อมกับองลำโดย องลำโดยเป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์ของพระเจ้าเวียดนาม ให้มาเป็นคู่คิดกับองกวางโดยด้วย”
สิ้นคำให้การแต่เท่านี้ รูปพรรณขององกวางโดยนั้น ขาวสะอาดอ้วนล่ำ ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย สะดือจุ่น ผมขาวทั่วทั้งศีรษะ ไม่มีดำแซมเลยสักเส้นเดียว หนวดหงอกขาวยาวประลงมาถึงสะดือ ตาพอง ๆ คล้ายตาแขก รูปพรรณล่ำสันสมเป็นขุนนางแม่ทัพใหญ่ฝ่ายบู๊ กิริยาแสดงว่าน้ำใจเป็นคนองอาจดังตงฉิน เมื่อองกวางโดยแม่ทัพญวนเดินเข้าไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น จะได้มีกิริยาสะทกสะท้านเกรงกลัวความตายก็หาไม่ เดินไปถึงที่หน้าทำเนียบนั้น ล่ามบอกให้นั่งลง ก็นั่งขัดสมาธิสองชั้นกระดิกเท้าอยู่เสมอ ล่ามบอกว่าให้กราบไหว้เจ้าคุณแม่ทัพเสียก่อนจึงนั่งให้สบาย องกวางโดยตอบว่า
“เราก็เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน เขาก็เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย ตำแหน่งวาสนาเสมอกัน จะกราบไหว้กันอย่างไรได้ พาเราไปฆ่าเสียก็ไม่ไหว้แล้ว”
พูดเท่านั้นก็กระดิกเท้าอยู่เสมอ ดูเหมือนน้ำใจไม่ไม่ย่อท้อกลัวเกรงเลย แต่หน้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่แลดู จะเป็นเพราะความอายหรือความมานะถือตัวอย่างไรก็ไม่แจ้งในใจเขา ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบถ้อยคำองกวางโดยพูดดังนั้นแล้ว จึงว่า
“แม่ทัพญวนคนนี้กิริยาองอาจ น้ำใจก็กล้าหาญ สมควรจะเป็นชายนายทหารไว้ชื่อรักษาเกียรติยิ่งกว่ารักชีวิต ไม่คิดกลัวตาย ชายอย่างนี้หายาก”
พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งให้ล่ามบอกองกวางโดยว่า เราไม่ฆ่า จะเลี้ยงให้เป็นขุนนางนายทหารต่อไป องกวางโดยตอบว่า
“ไม่สมัครอยู่เป็นข้าไทย อยากแต่จะกลับไปบ้านเมืองซึ่งเป็นชาติภูมิเดิมอย่างเดียว ถ้าไม่ให้กลับไปแล้วก็ให้ฆ่าเสียเถิด”
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้วก็หัวเราะชอบใจ แล้วพูดสรรเสริญต่าง ๆ ต่อไป จึงสั่งให้พระยารามกำแหงนำสิ่งขององกวางโดยมาคืนให้สิ้นทุกสิ่ง แล้วสั่งให้พระยากำแพงเพชรพาตัวองกวางโดยไปจำตรวนไว้ก่อนจะส่งไปยังกรุงเทพฯ ให้ทำนุบำรุงไว้ให้ดีอย่าให้ตาย ด้วยเป็นคนสำคัญอยู่ เรายังจะทำศึกสงครามกับญวนต่อไปข้างหน้าอีกมาก
เมื่อองกวางโดยจำตรวนอยู่ในค่ายนั้น ผู้คุมจะจับจ่ายใช้การงานก็ไม่ทำเลย ครั้นผู้คุมเร่งรัดตักเตือนให้ช่วยทำการงานบ้าง กลับเอาไม้ตีศีรษะผู้คุมแตก แล้วเอามือชี้ไปที่ดาบให้มาฟันคอฆ่าตัวเสีย โดยน้ำใจกล้าสามารถไม่กลัวตาย ผู้คุมก็ไม่อาจเฆี่ยนตีได้ เพราะเป็นสำคัญจะส่งไปยังกรุงเทพฯ เมื่อเดินทัพมาจากโคกสะแกนั้น หยุดช้างที่ไหน ผู้คุมจะต้องให้องกวางโดยเดินขึ้นลงหลังช้าง องกวางโดยก็ไม่เดินทุก ๆ คราว ผู้คุมต้องหามขึ้นส่งลงทุกครั้ง ชั้นแต่จะหยุดช้างพักนอน จะให้เดินไปถึงที่ชุมนุมก็ไม่เดิน ต้องอุ้มต้องหามทุกครั้ง ๆ ไป ครั้นนายทัพนายกองไทยให้ล่ามมาว่ากล่าวบอกให้เดินขึ้นลงจากหลังช้างบ้าง กลับตอบกับล่ามว่าให้เอาดาบมาฆ่าเสียก็ไม่เดิน ไทยอยากพาเราไปก็ให้อุ้มหามเราไปเถิด เมื่อไทยไม่อยากอุ้มหามเราแล้ว ก็ให้ฆ่าเสียเถิด ดีกว่าอุ้มหามไปอีกเล่า องกวางโดยพูดดังนี้เสมอทุกคราวปลงช้าง เป็นคนใจอย่างยอดทหารหาผู้เสมอมิได้ ผู้คุมไทยกลัวอำนาจใหญ่ก็ต้องอุ้มหามไปจนถึงเมืองเชิงกระชุม จนจำตรวนเสียเมื่อไรจึงไม่ให้อุ้มหามมัน เมื่อจำตรวนอยู่ในค่ายนั้นก็เหมือนอย่างเจ้านาย เพราะจะใช้อะไรก็ไม่ได้ทุกอย่าง........”
* องกวางโดย “แม่ทัพเดนตาย” คนนี้นอกจากกระดูกเหล็กแล้วยังใจเพชรอีกด้วย ทระนงองอาจ กล้าหาญ ไม่กลัวตายเลยแม้แต่น้อย ลักษณะนิสัยอย่างนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชานิยมชมชอบมาก ยังไม่รู้ว่าผู้คุมจะทนทานนิสัยกระด้างดื้อของเขาไปนานแค่ไหน ตอนนี้กองทัพไทยไม่มีทัพญวนตามตีติด ๆ มาเหมือนก่อนแล้ว เขมรเหล่าร้ายที่ถูกเจ้าพระยาสิงห์เผาทั้งเป็นเสียร้อยกว่าศพ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีก๊กอื่นก่อการอีก ทัพไทยจึงเดินทางในดินแดนเขมรอย่างสะดวกสบาย จากเมืองเชิงกระชุมแล้ว ทัพไทยจะไปไหน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘๙ -
พวกเขมรก่อกบฏกันยกใหญ่ เมื่อเห็นไทยหนีเตลิดญวนเปิดเผย ไม่ยอมอยู่ร่วมทางอย่างคุ้นเคย แถมยังเย้ยไทยแย่พ่ายแพ้ญวน
แม่ทัพไทยวางหมากถลักเขมร พนมเปญรื้อร้างถางทุกส่วน กวาดต้อนครัวไพร่เจ้าเข้าขบวน มาเป็นพรวนมุ่งสู่พระตะบอง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. ขณะที่ทัพไทยเดินทางไปเมืองเชิงกระชุมนั้น มีเขมรเหล่าร้ายแอบยิงและจับพลไทยที่ป่วยเดินล้าหลัง เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งหยุดทัพ ตั้งกองปราบปรามเขมรเหล่าร้าย จับมาได้แล้วสั่งลงโทษเฉพาะที่เป็นชายฉกรรจ์ร้อยคนเศษ โดยการปลูกร้านสูงแล้วเอานักโทษขึ้นไว้บนร้าน เอาดินปืนกองไว้ใต้ร้านแล้วจุดไฟครอกเหล่าร้ายเสียสิ้น แล้วเดินทัพถึงเมืองเชิงกระชุมอย่างสะดวกสบาย พระยากำแพงเพชรนำตัวองกวางโดยแม่ทัพญวน ซึ่งหายจากการเจ็บป่วยแล้วเข้ามอบให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาสอบสวนได้ความเป็นที่พอใจแล้วส่งให้จำตรวนไว้ในค่าย และให้ดูแลจงดี อย่าให้ตายเสียก่อนนำเข้าถึงกรุงเทพฯ วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ......
 “ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาหยุดพักบำรุงรี้พลช้างม้าอยู่ที่เมืองเชิงกระชุมนั้น ได้ทราบข่าวว่าเขมรคุมกันเป็นกบฏขึ้นทุกบ้านทุกเมือง เพราะเดิมเขมรเอาใจออกจากญวนมาพึ่งไทย เขมรหมายใจว่าไทยจะช่วยปราบปรามญวนให้สิ้นการเบียดเบียนข่มขี่เขมร เพราะฉะนั้นเขมรจึงได้เข้าในกองทัพไทยไปช่วยรบญวนโดยสามารถ บัดนี้ไทยก็ล่าทัพถอยหนีญวนมายังเมืองเขมร พวกเขมรเห็นพร้อมกันว่า ไทยสู้ญวนไม่ได้เป็นแน่ เขมรจึงกลัวญวนจะยกกองทัพมาตีทัพไทยให้แตกไปจากเมืองเขมรแล้ว ญวนก็จะได้มาครอบงำทำอำนาจให้เมืองเขมรอยู่ในใต้บังคับญวนอีก พวกเขมรก็จะต้องเป็นข้าญวน ญวนก็ตั้งข่มขี่เขมรยิ่งกว่าก่อน เหตุดังนี้เขมรจึงได้คิดการเป็นกบฏขึ้นพร้อมกัน เข้าล้อมจับนายทัพนายกองไทยที่ตั้งรักษาเมืองต่าง ๆ หลายเมืองนั้น ฆ่าทั้งนายและไพร่ตายมาก
 ฝ่ายนายทัพนายกองไทยที่อยู่ตามหัวเมืองเขมรต่าง ๆ นั้น ที่รู้ตัวก็จัดการต่อสู้กับเขมรเป็นสามารถ จึงเกิดการฆ่าฟันกันขึ้น หลายเมืองเหล่านั้นก็แต่งหนังสือบอกมาแจ้งข้อราชการต่าง ๆ ตามที่เขมรกลับใจทำแก่ไทยดังที่กล่าวมานั้นให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบ เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบแล้ว จึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่งให้พระพิทักษ์พลขันธ์ ผู้ช่วยราชการเมืองตากกับหลวงเสนีพิทักษ์ข้าหลวง ถือหนังสือบอกและคุมไพร่พล ๕๐ คนไปถึงเมืองพนมเปญ แจ้งราชการแก่นักองอิ่ม นักองด้วงเขมร และพระยามหาอำมาตย์ พระยาราชสุระโยธา พระพรหมบริรักษ์ หลวงราชเสนาข้าหลวงทั้งสี่นาย กับพระยาอภัยภูเบศร์เขมรข้าหลวงดัวยนายหนึ่ง เป็นข้าหลวง ๕ นายอยู่กำกับนักองด้วง นักองอิ่ม ที่เมืองพนมเปญนั้นใจความว่า
“บัดนี้หัวเมืองเขมรเกิดการจลาจลเป็นกบฏขึ้นหลายบ้านหลายเมืองดังนั้น เห็นว่าไทยจะรักษาเมืองเขมรในคราวนี้ยากนัก จำจะต้องคิดการปีต่อภายหน้าไปจึงจะรักษาเมืองเขมรได้ บัดนี้ให้พระยา พระ หลวง นายทัพ นายกอง ข้าหลวงที่เมืองพนมเปญนั้น จัดไพร่พลรื้อกำแพงเมืองพนมเปญลงน้ำเสียให้สิ้นเชิง แล้วให้ทำลายล้างเมืองพนมเปญให้เป็นดังป่าช้า อย่าให้พวกเขมรกบฏอาศัยเป็นกำลังต่อไปได้ กับให้กวาดต้อนครอบครัวเขมรและแขกจีนและคนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในเมืองพนมเปญนั้น ให้อพยพครอบครัวเมืองพนมเปญมาไว้ยังเมืองพระตะบองเถิด”
 ครั้นข้าหลวงแจ้งหนังสือคำสั่งดังนั้นแล้ว จึงเกณฑ์คนให้รื้อกำแพงเมืองพนมเปญทลายลงน้ำเสียสิ้น ป้อมค่ายหอรบก็ทำลายล้างเสียหมด ปืนใหญ่ที่พาไปไม่ได้นั้น ก็นำตาปูอุดชนวนกลิ้งทิ้งลงน้ำเสียทั้งสิ้น แต่ข้าวปลาอาหารในเมืองนอกเมืองก็นำโคต่างช้างบรรทุกไปมาก เป็นโคต่างที่ได้มาแต่ญวนนั้น ๒,๐๐๐ โค แต่อย่างนั้นข้าวในยุ้งฉางราษฎรยังหาหมดไม่ จึงได้นำไฟเผายุ้งฉางข้าวราษฎรเสียทั้งสิ้น แล้วกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเขมรและแขกจามกับจีนชาติต่าง ๆ จนชั้นแต่พระสงฆ์สามเณรก็กวาดต้อนเทเมืองมาถึงค่ายกะพงหลวง พักอยู่ที่ค่ายกะพงหลวง ๖ คืน เพราะครัวป่วยไข้เมื่อยล้า
 ครั้งเมื่ออพยพครัวเมืองพนมเปญมานั้น พระยาอภัยภูเบศร์เขมรข้าหลวงได้เห็นช้างพลายสีประหลาดเชือกหนึ่งอยู่ในเมืองพนมเปญ ซึ่งราษฎรเขมรไปคล้องมาได้แต่ป่านำมาไว้ในเมืองห้าเดือนแล้ว ได้ฝึกเชื่องราบใช้การงานได้บ้าง ช้างนั้นสีตัวแลขนหางขนทั่วสรรพางค์เหมือนสีหม้อทองแดง จักษุขาวเจือเหลืองอ่อน เป็นช้างตระกูลสีประหลาด พระยาอภัยภูเบศร์เขมรจึงให้พระสุริยโยธาเขมรกับหลวงฤทธามาตย์ ข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ คุมไพร่พลไทย ๓๐ คน นำช้างสีประหลาดมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาดูที่เมืองเชิงกระชุม
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา เห็นว่าเป็นช้างสีประหลาดต้องอย่างงามดีนัก จะพักไว้ที่เมืองเขมรไม่ได้ กลัวเขมรจะลักพาไปให้ญวนเสีย จึงแต่งหนังสือบอกฉบับหนึ่ง แล้วสั่งหลวงจัตุรงค์โยธีข้าหลวงในพระราชวังหลวงกับหลวงฤทธามาตย์ หลวงรักษาเสนา ๒ นาย เป็นข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ ๒ หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์เมืองสระบุรี ๑ หลวงนาเมืองนครนายก ๑ พระสุริโยธาเขมร ๑ พระพิทักษ์บดินทรเขมร ๑ เป็นนายทัพคุมไพร่พลไทย ๑๐๐ คน นำช้างสีประหลาดเดินบกลงไปทางเมืองนครนายก แล้วให้ตัดทางไปลงเมืองสระบุรี ให้พักช้างนี้ที่ตำบลบ่อโพงแขวงกรุงเก่า ครั้งนั้นไม่ไว้ใจแก่ราชการกลัวจะเป็นเหตุกลางทาง เพราะเขมรกำลังกำเริบจะกลับใจไปพึ่งญวน กลัวเขมรจะแต่งกองทัพมาแย่งชิงพาช้างไปให้ญวน จึงสั่งให้พระยาไชวิชิตสิทธิศาสตราผู้รักษากรุงเก่า คุมไพร่พล ๑๕๐ ลงไปตามช่วยรักษาช้างสำคัญไปให้ถึงกรุงเทพฯ อีกกองหนึ่ง ข้าหลวงนำช้างมาถึงบ่อโพงแล้ว พระศรีสหเทพนำหนังสือบอกเรื่องช้างสีประหลาดขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับช้างสีประหลาดลงมากรุงเทพฯ แล้วโปรดให้ตั้งพระราชพิธีพราหมณ์ มีมหรสพสมโภชสามวันแล้วขึ้นระวางพระราชทานนามกรว่า “พระยาทองแดงพนมเปญ” แล้วพระราชทานพานหมากทองคำคนโททองคำ ออกไปให้พระยาอภัยภูเบศร์เขมรด้วย
 ฝ่ายนายทัพนายกองไทยกวาดต้อนพาเขมรเมืองพนมเปญมาพักอยู่ที่ค่ายกะพงหลวงแล้ว ๖ วัน ครั้งนั้นครัวเขมร แขกจาม และจีนร่วมคิดกันเป็นการกบฏกำเริบขึ้นทำจลาจล ยกพวกเข้าต่อสู้กบกองทัพไทย พวกครัวพร้อมใจกันแข็งแรง จึงต่อสู้รบพาครอบครัวพวกพ้องของตนหนีกลับไปเมืองเขมรได้บ้าง เพราะพวกครัวเขมรและแขกจามกับพวกจีนมีเครื่องอาวุธ ทุกคนจึงต่อสู้แข็งแรงพาครัวหนีไปได้บ้าง
ครั้งนั้นพระยามหาอำมาตย์ทัพป่วยมากจัดการไม่ได้ จึงให้พระยาราชสุริโยข้าหลวงในกองทัพนั้น เป็นแม่ทัพใหญ่ได้บังคับการสิทธิ์ขาด พระยาราชสุริโยไม่สู้ฉลาดรอบคอบในการศึกสงคราม จึงมิได้ใช้นายทัพนายกองไปเก็บรวมอาวุธของสำหรับครอบครัวมาไว้ ปล่อยให้พวกครัวมีอาวุธติดตัวอยู่ครบมือทุกคน พวกครัวจึงได้ต่อสู้โดยแข็งแรงหนีไปได้บ้าง ขณะนั้นพระพรหมบริรักษ์จัดกองทัพไทยไปต่อสู้ ตีพาครัวเขมรและแขกจามกับจีนคืนมา ได้ ๑,๒๔๒ คน แต่ครัวที่หนีไปได้นั้น ๒,๐๐๐ เศษ........”
** คนไทยมักกล่าวประณามคนเขมรว่า “พวกลิ้นสองแฉก” พูดจาอะไรเชื่อถือไม่ได้ หรือ เป็นคนเชื่อถือไว้วางใจไม่ได้อะไรทำนองนั้น ซึ่งความจริงก็หาได้เป็นจริงตามคำกล่าวประณามนั้นไม่ แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ เขมรกับไทยเป็นเหมือน “ขมิ้นกับปูน” เสมอมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงเทพมหานคร ไทยได้ช่วยเหลือเจอจุนพระราชวงศ์เขมรมาตลอด แล้วเขมรก็แปรภักดิ์(หรือแปรพักตร์) มาตลอด มิใช่ชนชั้นราชวงศ์เท่านั้น แม้ชนชั้นราษฎรก็เป็นเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์บำรุงพระราชวงศ์เขมร สถาปนานักองจันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา แต่แล้วพระองค์กลับแปรไปอยู่กับญวน เมื่อญวนเข้ามามีบทบาทปกรองกดขี่ข่มเหงชาวเขมร พวกเขมรก็ขอให้ไทยช่วยปราบปรามญวน และเข้าอยู่กับฝ่ายไทย ครั้นเห็นทัพไทยถอยหนีญวนมา พวกเขมรกลับตีจากไทยจะไปอยู่กับญวนอีก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะจัดการกับเขมรอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสิอไท เมืองสุโขทัย ๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๐ -
ครัวเขมรจามจีนลุกดิ้นหนี ทุกคนมีมีดพร้ามาปกป้อง จึ่งพาตนพ้นค่ายไปเป็นกอง เคราะห์ซ้ำสองโจรเขมรเข่นฆ่าไทย
ตั้งกองซุ่มจับได้ใช้ความโหด บทลงโทษป่าเถื่อนเชือดเฉือนใหญ่ ตัดมือแขนจมูกปากหูถากไป แล้วปล่อยให้ทรมานประจานตน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาพักทัพอยู่ที่เมืองเชิงกระชุมนั้นทราบว่า พวกเขมรเกิดกบฏก่อการจลาจลขึ้นเป็นหลายเมือง จึงมีหนังสือสั่งการให้รื้อกำแพงเมืองแล้วเผาล้างเมืองพนมเปญ กวาดต้อนครอบครัวเขมร แขกจาม จีน และชาวต่างชาติทั้งหมดจากพนมเปญ ไปไว้เมืองพระตะบองเสียให้สิ้น พระยาอภัยบูเบศร์ไปกวาดต้อนครัวเขมรเมืองพนมเปญ พบเห็นช้างพลายสีประหลาดที่ราษฎรจับมาจากป่า จึงนำส่งให้เจ้าพระยาบดิทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชารีบให้นำส่งลงกรุงเทพฯ ทันที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า “พระยาทองแดงพนมเปญ” แล้วพระราชทานพานหมากทองคำ คนโททองคำ ออกไปให้พระยาอภัยภูเบศร์เขมรด้วย และขณะที่ครัวเขมร แขกจาม และจีนที่ถูกกวาดต้อนมาพักอยู่ค่ายกะพงหลวงได้หกวันนั้น เกิดกบฏก่อการจลาจลขึ้นพากันหนีไป พระพรหมบริรักษ์ยกกองตามกวาดต้นกลับมาได้ส่วนน้อย หนีไปได้เป็นส่วนมาก เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะทำฉันใด วันนี้มาอ่านกันต่อครับ........
** “(เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีมากอยู่ จึงคุ้มชีวิตพระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง ที่คุมครัวเขมรมานั้นหาตายไม่ ถ้าหากว่าพวกครัวเขมร แขกจาม และจีนเมืองพนมเปญที่ไทยกวาดต้อนมาคราวนั้นเกือบ ๔,๐๐๐ คน ถ้าคิดจะฆ่าพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองไทยที่คุมมานั้นเสียก่อนจึงหนีไป เหมือนเช่นครัวเมืองนครราชสีมาที่เจ้าอนุเวียงจันทน์กวาดต้อนไปถึงท้องทุ่งสัมฤทธิ์นั้น พวกครัวเมืองนครราชสีมาก็เกิดการลุกขึ้นฆ่านายทัพนายกองลาวที่คุมไปนั้นตายมาก จึงหนีกลับมาเมืองนครราชสีมานั้นแล้ว พระยามหาอำมาตย์ พระยาสุรโยธา พระพรหมบริรักษ์ หลวงราชเสนา นักองอิ่ม นักองด้วง พระยาอภัยภูเบศร์เขมร และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองไทยเหล่านั้นก็คงจะตายหมด แต่หาตายไม่นั้นเพราะบารมีเผอิญดลใจให้พวกครัวเมืองพนมเปญคิดแต่จะหนีอย่างเดียวเท่านั้น จึงได้เห็นความอัศจรรย์ประจักษ์พระบารมีอภินิหารเป็นการพิสดารโดยเที่ยงแล้ว)
 ครั้นนายทัพนายกองไทยที่ตามครัวกลับคืนมาได้ ให้เดินครัวมาถึงเมืองโปริสาดแล้ว จึงแต่งหนังสือบอกที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นกลางทางให้หลวงภักดีชุมพลถือไปกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือตอบมาว่า
“ได้ให้พระอรรคเนศร ๑ พระสุนทรภักดี ๑ หลวงนรารณรงค์ ๑ หลวงไกรนารายณ์ ๑ พระยกกระบัตรเมืองกำแพงเพชร ๑ พระมหาดไทยเมืองตาก ๑ เป็นข้าหลวงหกนาย คุมไพร่พลไทยมีเครื่องศาสตราวุธครบมือกัน ๕๐๐ คน คุมครัวเขมรและแขกจามกับจีนเขมร ๑,๒๔๒ เดินไปส่งยังกรุงเทพฯ”
 ครั้นครัวถึงกรุงเทพฯ แล้วแต่ ณ เดือนเจ็ด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครัวเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่บางกุ้ง แขวงเมืองราชบุรี โปรดให้ครัวจีนเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ แขวงเมืองนครไชยศรี โปรดให้ครัวแขกจามเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่ในคลองบางกะปิ แขวงกรุงเทพฯ (คือที่บ้านแขกครัวริมสระปทุมวันทุกวันนี้) แล้วโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระสุรัสวดีสักท้องมือชายฉกรรจ์พวกครัวเขมรและแขกจามและจีนเขมรทั้งหมดพวกนั้นว่า “ไพร่หลวงรักษาเรือรบ” (ครั้นนานมาภายหลังพวกบุตรหลานครัวทั้งสามพวกนั้น ก็กลายเป็นไพร่หลวงกรมต่าง ๆ ไป ที่ทำราชการก็ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางก็มีบ้าง แต่พวกจีนเขมรเมืองนครไชยศรีนั้น บุตรหลานก็กลายเป็นจีนผูกปี้ไปหมด แต่ยังพูดภาษาเขมรได้ต่อมา)
 ฝ่ายพระยาราชสุรโยธา พระพรหมบริรักษ์ พระยาอภัยภูเบศร์เขมร หลวงราชเสนา นายทัพนายกองซึ่งถอยทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาดครั้งนั้น พวกเขมรบ้านเล็กบ้านน้อยคบคิดกันเป็นผู้ร้าย ตั้งกองซ่องสุมพวกเป็นโจรกรรม คอยด้อมมองแอบลอบฆ่ากองทัพไทยที่ไปเที่ยวหาอาหารกินตามป่าและทุ่งนาที่ใด ๆ พวกเขมรเหล่าร้ายฆ่าไทยตายเนือง ๆ พระยาราชสุรโยธาทราบการดังนั้นแล้ว จึงแต่งกองทัพไทยไปซุ่มซ่อนคอยจับพวกเขมรซึ่งเคยมาทำร้ายฆ่าไทยนั้น จับมาได้หลายตำบล เป็นเขมร ๗๔ คน สั่งให้ทหารตัดมือบ้าง ตัดแขนบ้าง ตัดหูทั้งสองข้างและเจาะนัยน์ตาเสียข้าง ๑ บ้าง และตัดจมูก ตัดปาก เจาะแก้มบ้าง ตัดลิ้นบ้าง ผ่าปากบ้าง เชือดเนื้อตามแขนขาแบ่งออกบ้าง ปล่อยให้กลับไปบ้าน แต่ทำดังนี้ครั้งหนึ่ง ๓๖ คน ครั้งหนึ่ง ๖๒ คน อีกครั้งหนึ่งจับได้มาร้อยเศษ ให้ตัดแขนเสียข้างหนึ่งบ้าง ตัดมือทั้งสองข้างบ้าง ปล่อยไปบ้าน ๔๒ คน เหลือนั้นเป็นคนลงมือฆ่าไทย ให้ไสช้างแทงตายบ้าง มัดมือถ่วงน้ำตายบ้าง จับเขมรมาทำโทษดังนี้อยู่เดือนหนึ่ง จนพวกเขมรเหล่าร้ายเข็ดหลาบ ไม่อาจสามารถมาทำร้ายแก่ไทยในกองทัพ ก็พากันไปขุดกลอยเผือกมันหากินในป่าได้ไกล ๆ ไม่มีอันตราย กองทัพไทยค่อยมีความสบายมาก
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าที่เมืองโปริสาดเกิดการจลาจลขึ้น คือพวกเขมรในแขวงจังหวัดเมืองโปริสาดตั้งสุมเป็นผู้ร้ายลอบมาฆ่ากองทัพไทยตายเนือง ๆ เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาพิษณุโลกและพระยามหาธิราชเขมรเจ้าเมืองเชิงกระชุม ให้กวาดต้อนครอบครัวตามไปเมืองโปริสาดให้สิ้นเชิง แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงถอยทัพกลับมาจากเมืองเชิงกระชุม เดินทัพมาพักอยู่ที่เมืองโปริสาด
ขณะนั้น ฝ่ายพระยาราชสุรโยธา พระพรหมบริรักษ์ หลวงราชเสนา พระยาอภัยภูเบศร์ พร้อมด้วยกันมาแจ้งข้อราชการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฟังทุกประการ พอรุ่งขึ้นอีกสี่วัน พระยาพิษณุโลกแลพระยามหาธิราชเขมรเจ้าเมืองเชิงกระชุม กวาดต้อนครอบครัวเขมรเมืองเชิงกระชุม ๒,๖๖๙ คนตามมาส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว พระยาเขมรทั้งสองกราบเรียนว่า
 “ช้างพลายสีประหลาดอันประเสริฐดุจดังช้างเผือก เป็นช้างของนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชา เลี้ยงไว้เป็นศรีบ้านศรีเมืองม้าช้านานแล้ว แต่ก่อนนั้นเจ้านายขุนนางฝ่ายเขมรทูลเตือนนักองจันทร์ว่า ให้นำช้างตัวประเสริฐนั้นให้ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ นักองจันทร์ก็ไม่ถวาย เลี้ยงไว้ในเมืองพนมเปญ ครั้นเมื่อนักองจันทร์จะหนีไทยไปเมืองญวนนั้น เดิมนักองจันทร์คิดปรึกษาขุนนางว่า จะนำช้างตัวประเสริฐนี้ไปด้วย จะได้พาไปถวายพระเจ้าเวียดนาม ทำเป็นของกำนัลแก่ญวน ญวนคงจะชอบ แล้วนักองจันทร์กลับใจคิดว่า จะเป็นห่วงรุงรังนักลำบาก กลัวจะหนีไทยไปไม่พ้น เพราะฉะนั้นนักองจันทร์จึงสั่งให้หมอควาญนำช้างตัวประเสริฐนั้น ไปปล่อยเสียในป่าหลังเมืองพนมเปญ แล้วก็ยกหนีไปเมืองญวน”
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงเขียนหนังสือประกาศบนพวกเขมรให้ไปตามจบช้างนั้นมาให้ได้ แล้วจะให้เงินรางวัล ๕๐๐ แถบ และเสื้อผ้าสิ่งของอีกมาก ราคาสักสามชั่งเศษ แล้วให้ตราภูมิคุ้มห้ามไม่ต้องถูกกะเกณฑ์ส่วยสาอากร และไม่ต้องเกณฑ์เข้ากองทัพไปจนตาย ปล่อยให้ไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม.......”
** บทลงโทษของแม่ทัพนายกองไทยนี่โหดร้ายทารุณมากเหลือเกินนะ แต่ก็น่าเห็นใจทหารไทย หากไม่ลงโทษเหล่าเขมรร้ายอย่างเหี้ยมโหดทารุณแล้ว พวกเขาคงไม่กลัวเกรง (เมืองโปริสาดที่กองทัพไทยพาครัวเขมรไปพักอยู่นั้น คือ เมืองโปริสาท หรือ เมืองโพธิสัตว์ เป็นหนึ่งในเมืองเขมรส่วนในซึ่งประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ (เสียมเรียบ) ศรีโสภณ (บันเตียเมียนเจย) โปริสาด และ อุดงมีไชย อยู่ในปกครองของสยามมาจนถูกฝรั่งเศสเข้ามาถือครอง) เมื่อเกิดการจลาจลขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้กวาดครัวเขมรต้อนมาไว้เมืองโปริสาด โดยท่านจะเป็นผู้ควบคุมดูแลเอง เมื่อทราบว่ามีช้างเผือกนักองจันทร์สั่งให้ควาญช้างนำไปปล่อยไว้ในป่าท้ายเมืองพนมเปญ ก่อนหนีไปเมืองญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงประกาศให้สินบนตามจับช้างเผือกเชือกนี้ เรื่องราวกองทัพไทยในเขมรจะเป็นไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|