บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๑ -
กองทัพบกยกไปเมืองไซ่ง่อน ถูกญวนซ่อนซุ่มยิงอยู่หลายหน กองเขมรในทัพนั้นหนึ่งพันคน จลาจลจากไปได้เป็นร้อย
รู้แน่ชัดทัพใหญ่ไทยล่าหนี ทัพบกมีเสี้ยนหนามยามล่าถอย ที่ท่าข้ามโขงไม่เหลือคนเรือคอย กองทัพน้อยใหญ่ไทยไร้เรือแพ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. เกิดการกบฏก่อจลาจลในเขมรหลายหัวเมือง เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ไทยจึงยกจากเมืองเชิงกระชุม พร้อมกวาดต้อนครัวเขมรเมืองเชิงกระชุมมาตั้งชุมนุมอยู่ที่เมืองโปริสาด เพื่อสะดวกในการปราบปรามและปกครองเขมรต่อไป พระยาเขมรแจ้งให้แม่ทัพใหญ่ไทยทราบว่า นักองค์จันทร์มีช้างเผือกตัวประเสริฐอยู่เชือกหนึ่ง พวกขุนนางเขมรเคยทูลให้นำช้างเชือกนี้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ แต่นักองจันทร์ไม่ยอมทำตามคำกราบทูลนั้น ตอนที่หนีไทยไปญวนนั้น ได้ให้หมอควาญช้างนำช้างดังกล่าวเข้าไปปล่อยในป่าท้ายเมืองพนมเปญ เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงประกาศให้สินบนเขมรเที่ยวติดตามนำช้างเชือกนี้มาให้ เรื่องจะเป็นไปอย่างไร วันนี้มาอ่านต่อครับ......
 “ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพบก พระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพกับพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งหลาย ซึ่งยกทัพใหญ่ไปทางบก เกือบจะถึงไซ่ง่อนอยู่แล้ว เมื่อกองทัพใหญ่เดินไปกลางทางนั้น เห็นกิริยาอาการพวกไพร่พลเขมรผิดประหลาดกว่าแต่ก่อนเมื่อแรกเดินทัพขึ้นมานั้น บัดนี้นายทัพนายกองไทยจะบังคับบัญชาใช้สอยก็กระด้างกระเดื่องไม่เรียบร้อยราบคาบ เขมรมันแกล้งเดินเลื่อยล้าช้า ๆ ตามพวกมันทั้งพันคน เจ้าพระยานครราชสีมาได้ทราบการดังนั้นแล้ว จึงสั่งหลวงบุรินทรานุรักษ์ขึ้นม้ากลับสวนทางไปเร่งกองทัพพวกเขมรพันคน ให้รีบเดินตามทัพใหญ่มาโดยเร็ว
ครั้งนั้น นายกองนายทัพใหญ่ฝ่ายเขมรแจ้งความว่า พวกไพร่พลป่วยไข้ลำบากมาก จึงได้เดินเลื่อยนล้าช้านัก ครั้นจะเร่งรัดให้เดินเร็วก็กลัวไพร่พลจะล้มตายมาก แต่จะเร่งให้เดินตามทัพใหญ่ให้ทัน
 คราวนั้น พวกญวนชาวป่าดงก็ลอบแอบเข้ามานำปืนยิงกองทัพไทยที่เดินเลื่อยล้าช้าอยู่ข้างหลังตายเนือง ๆ ครั้งนั้นพวกเขมรพันคนมีเครื่องศาสตราวุธ ปืน ดาบ หอกประกั๊กกะแหววครบมือกันทุกคน เพราะเป็นไพร่พลลูกกองทัพไทย พวกเขมรกลับออกห่างจากไทย คุมกันเป็นกบฏขึ้นพลอยซ้ำเติมฆ่าพวกกองทัพไทยตาย ๗๔ คน แล้วพวกเขมรเหล่าร้ายก็คุมกันยกหนีเข้าป่า ๒๘๔ คน ไทยฆ่าตายเสียเมื่อเกิดรบกันหนีไปนั้นเขมรตาย ๑๒๖ คน ที่เหลืออยู่ไม่สู้รบนั้น ๖๐๐ คนเศษ เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้หลวงรองจ่าเมืองกับหลวงบุรินทรานุรักษ์ จับนายทัพนายกองเขมรที่เหลืออยู่มาชำระไล่เรียงก็ไม่บอกความจริงให้หลวงบุรินทรานุรักษ์ หลวงบุรินทรานุรักษ์สั่งให้นำคาสวมคอนายทัพนายกองเขมรแล้วเฆี่ยนสิบทีถาม ถึงสองยกหกสิบที ก็ยังไม่ได้ความจริงกระจ่างแจ่มแจ้งเป็นคำเดียวกัน เห็นว่าพวกเขมรมันยังให้การแตกต่างคำกันอยู่ หาสมควรกับเหตุการณ์ไม่ จึงนำความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมามีบัญชาสั่งหลวงบุรินทรานุรักษ์ว่า “ให้หาเหล็กแดงเผาไฟนาบเท้านาบมือนาบกาย ถ้าไม่ให้การตามความจริงแล้วก็ให้นาบกระหม่อมให้ได้ความจริงจงได้”
 ครั้งนั้น หยุดทัพชำระเขมรอยู่วันหนึ่ง ตระลาการนำเหล็กแดงนาบพวกเขมรที่ไม่บอกความจริงทนตายหลายคนก็มีบ้าง ที่ทนไม่ได้ก็ให้การบอกความจริงต้องคำเดียวกันก็มาก ได้ความว่า
“พวกญวนในป่าดงที่พูดภาษาเขมรได้บอกความจริงว่ากองทัพบกทัพเรือฝ่ายไทย ซึ่งยกมาข้างหลังนั้นแตกหนีล่าถอยไปหมดแล้ว และมีทัพเรือใหญ่ฝ่ายไทยมาตีได้เมืองโจดก แล้วญวนก็ตีเมืองโจดกคืนได้ ฝ่ายญวนยกทัพบกทัพเรือเป็นกองทัพใหญ่ไปตามตีทัพไทยแตกไปทั้งทัพบกทัพเรือ แล้วบัดนี้ญวนแต่งหารกองทัพใหญ่ ยกโอบขึ้นมาตั้งสกัดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางท่าข้ามเมืองบาพนม ญวนคอยจะตีกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาฆ่าเสียให้สิ้น กับญวนแต่ทัพใหญ่ไปตามตีทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาจนถึงเมืองเขมรกอง ๑ ยังทัพญวนจะเพิ่มเติมมาข้างหลัง ตีทัพพระยามณเฑียรบาลอีกทางหนึ่งข้างฝ่ายเหนือ พวกเขมร ๑,๐๐๐ คนในกองทัพไทยได้รู้ความดังนี้มาจากญวนชาวป่าดงแล้ว พวกเขมรจึงได้คิดกลัวอำนาจกองทัพญวนจะมาตีไทยแล้วก็จะฆ่าเขมรเสียด้วย เพราะฉะนั้นเขมรจึงคิดกลับใจออกห่างจากไทย จะหนีไปหาญวนเพื่อได้พ้นภัย แต่เขมรผู้ต้นคิดหัวหน้านั้นชื่อพระนรินทรสุรสงคราม พระนรินทรสุรสงครามก็หนีไปกับเขมร ๒๘๔ คนแล้ว”
สิ้นคำให้การเขมรเท่านี้ หลวงบุรินทรานุรักษ์ หลวงรองจ่าเมืองตุลาการ นำคำให้การเขมร ขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพ แม่ทัพจึงปรึกษาพระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพ และพระยา พระ หลวง ทัพนายกองทั้งหลายว่า
 “เมื่อเราได้ทราบข่าวราชการทัพศึกญวนกับไทย ตามคำให้การพวกเขมรดังนี้แล้ว ก็เห็นจะจริงสมกับคำให้การพวกเขมรนั้นทุกประการ เพราะด้วยเราได้ยกทัพมาก็ช้านานแล้ว ไม่ได้ข่าวคราวทัพเรือทัพบกข้างหลังบ้างเลย อีกประการหนึ่ง เห็นกิริยาพวกเขมรลูกกองนายกอง ผิดแปลกประหลาดตาขึ้นกว่าแต่ก่อนเมื่อแรกมานั้น ก็พึงรู้เข้าใจได้เถิดว่า เขมรคงจะรู้เหตุก่อนเรา มันจึงคิดหนีเราไปหาที่พึ่งของมันบ้าง เราจะขืนยกทัพไปเมืองไซ่ง่อนนั้น ถ้าสมจริงดังพวกเขมรว่าแล้ว พวกเราจะมิเสียราชการหรือ? คิดเห็นอยู่อย่างหนึ่ง ควรจะต้องล่าถอยกลับไปฟังราชการที่แม่ทัพใหญ่ ณ ฝั่งแม่น้ำโขง ก็พอจะรู้แยบคายได้ ซึ่งเราจะล่าทัพกลับไปครั้งนี้ พวกเขมรอยู่ในกองทัพเราก็มากถึง ๖๐๐ คนเศษ เรายกกลับไปครั้งนี้ ถ้าพบทัพญวนมาตั้งสกัดหน้าอยู่ที่ใด ๆ เราคงจะต้องต่อรบสู้กับญวนเป็นสามารถ จึงจะพากองทัพไทยกลับไปบ้านเมืองเราได้ ถ้าเมื่อเรากำลังรบกับญวนอยู่นั้น เขมรที่อยู่ในกองทัพเราจะกำเริบลุกขึ้นเป็นกบฏทำร้ายเราด้วยพร้อมกับญวน พวกเราจะมิต้องเป็นทัพอยู่ระหว่างกลางทัพขนาบหรือ? เราจะพาเขมรหกร้อยคนเศษนี้ไปในกองทัพเราด้วยครั้งนี้ จะเป็นที่ห่วงหน้าห่วงหลังเป็นกังวลนัก ไหนเราจะต่อสู้กับญวนข้างหน้า ไหนจะระวังเขมรข้างหลัง อย่างนี้หาควรไม่ ข้าพเจ้าคิดว่าฆ่าพวกเขมรหกร้อยคนเศษนี้เสียให้หมดแล้วเราจะได้สิ้นห่วงใย จะได้ตั้งหน้าสู้กับญวนฝ่ายเดียว ทำดังนี้จะมิดีหรือ?”
ขณะนั้นพระยาราชนิกูลข้าหลวงตอบว่า “ซึ่งเจ้าคุณคิดนั้นก็ชอบด้วยทำนองศึกสงครามแล้ว แต่กระผมเห็นว่าจะฆ่าพวกเขมรถึงหกร้อยเศษเกือบเจ็ดร้อยคน กลัวมันจะไม่ยอมให้ไทยฆ่าพวกมันง่าย ๆ เหมือนเช่นฆ่านักโทษเก้าคนสิบคนนั้น เพราะคนน้อยฆ่าง่าย นี่พวกเขมรมากถึงหกร้อยเศษ จะลงมือฆ่าคนนี้ คนโน้นก็จะต่อสู้กันต่อ ๆ ไป กลัวจะเกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้นที่นี้บ้าง”
เจ้าพระยานครราชสีมาตอบว่า “ท่านคิดนั้นก็ชอบแล้ว แต่ผมคิดจะนำดินปืนคลอกพวกเขมรหกร้อยเศษเสียครู่หนึ่งก็จะตายหมด แต่ว่าเมื่อจะคลอกมัน อย่าให้มันรู้ตัวก่อนเลย เป็นต้องตายทั้งสิ้น เมื่อท่านกลัวบาปเกรงกรรมไม่อยากจะฆ่าพวกเขมรนั้นก็แล้วไป ตามใจท่านเถิด ตกเป็นพนักงานผมจะฆ่ามันเอง ให้ตายหมดไม่ต้องให้วุ่นวายรบกวนท่านผู้ใด จะให้หลวงรองจ่าเมืองให้ขุดดินเป็นรางวงใหญ่ แล้วน้ำดินดำไว้ในนั้น พอเวลาค่ำให้ไล่ต้อนพวกเขมรหกร้อยเศษพาไปพักนอนในที่นั้น แล้วก็นำไฟจุดชนวนดินดำให้ลุกขึ้นคลอกพวกเขมรเสียให้ตายหมด แต่เมื่อทำนั้นอย่าให้ใครรู้เห็นเลย จะแพร่งพรายต่อไปถึงพวกเขมร เขมรรู้จะเสียการ”
ในทันใดนั้นพระยาราชนิกูลได้ฟังคำสั่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้ฆ่าพวกเขมรเสียทั้งหมดดังนั้น จึงคิดว่า
“พวกเขมรหกร้อยคนเศษนี้ ไม่ใช่พวกข้าศึกเลย เป็นข้าแผ่นดินไทยแท้ ๆ จะฆ่าเสียนั้นหาควรไม่ จะคิดอุบายพามันไปส่งไว้บ้านเมืองไทยให้ทำนาก็จะได้ขาวปีหนึ่งคนละเกวียน ก็จะได้ข้าวถึง ๖๐๐ เกวียนเศษ เพราะเขมรพวกนี้แต่ล้วนเป็นคนฉกรรจ์ทั้งสิ้น จะฆ่าเสียทั้งนั้นหาความผิดมิได้ ก็น่าสังเวชสงสารชีวิตมนุษย์เหมือนกัน”
เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงพูดโต้ตอบเจ้าพระยานครราชสีมาต่อไปอีกว่า
“กระผมคิดว่าเขมรพวกที่มันฆ่าไทยแล้วหนีไป ๒๐๐ เศษนั้น เป็นศัตรูแก่ไทยแน่ ถ้าตามจับมาได้ควรฆ่าเสียให้หมด แต่เขมร ๖๐๐ เศษพวกนี้ถึงเป็นพวกเดียวกันกับเขมรพวกที่หนีไปนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่าเขมร ๖๐๐ เศษนี้ไม่ได้ประทุษร้ายฆ่าไทยเลย หาควรฆ่ามันไม่ มันไม่ใช่ศัตรูข้าศึกอะไรแก่ไทย มันเป็นข้าแผ่นดินไทยแท้ ๆ ขอรับประทานชีวิตเขมรพวก ๖๐๐ เศษไว้ใช้ราชการบ้านเมืองของไทยต่อไปเถิด แต่ข้อที่พวกเขมร ๖๐๐ เศษจะกลับมาเป็นศัตรูแก่ไทยนั้น กระผมจะขอรับประกันได้เป็นแน่ แต่จะขอให้เก็บเครื่องศาสตราวุธสำหรับมือเขมรพวกนี้เสียให้หมด คงเหลือไว้แต่มือเปล่า แล้วก็จะแยกออกเป็นกองละ ๕๐ คน แยกย้ายให้ไปเลี้ยงช้างม้าโคต่าง หรือหาบคอนขนเสบียงอาหารในกองทัพไทย แต่ให้ไทยเป็นนายหมวดนายหมู่ คุมเขมรทุกกอง กองละ ๑๐ คนทุกกองไป กว่าถึงทางเรือจะได้ลงบรรทุกเรือส่งไปกรุงเทพฯ ใช้ราชการบำรุงพระนครเห็นจะดีกว่าฆ่ามันเสีย การที่ผมคิดทั้งนี้ เป็นการคิดเรียนหารือท่านเจ้าคุณก่อน เพราะเจ้าคุณเป็นแม่ทัพใหญ่ ตามแต่เจ้าคุณจะเห็นชอบทางไหน ก็แล้วแต่เจ้าคุณเถิด”
เจ้าพระยานครราชสีมาฟังคำพระยาราชนิกูลพูดโต้ตอบมาดังนั้นแล้ว จึงขัดเคือง แต่ไม่รู้ที่จะว่าประการใด เพราะพระยาราชนิกูลเป็นข้าหลวงกำกับทัพ พูดจาโต้ทานก็ถูกต้องตามทางราชการอยู่ด้วย แต่ขัดเคืองที่ข้อจะฆ่าเขมรไม่ให้ฆ่านี้เป็นเหตุใหญ่นัก จึงพูดตอบไปว่า
“ท่านไม่อยากจะให้ฆ่าเขมรแล้ว ท่านจะรับประกันเขมรไม่ให้เป็นศัตรูต่อไปนั้นเป็นการดีแล้ว แต่ขอหนังสือประทับตรามาว่า ได้รับประกันเขมรไว้ไม่ให้เป็นศัตรูต่อไปจนถึงเมืองพระตะบองด้วย จึงจะยอมตามที่ขอ”
 ฝ่ายพระยาราชนิกูลก็ทำหนังสือประทับตราส่งไปให้ฉบับหนึ่ง เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูล ทั้งสองคุมทัพไทยและเขมรเดินทัพกลับมาถึงฝั่งแม่น้ำโขง ที่ท่าขึ้นไปนั้นไม่เห็นเรือ ๕๐ ลำและคนเฝ้าเรือ ๑๒๐ คนที่จอดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำโขง ท่าขึ้นเมื่อแรกมานั้นได้บรรทุกช้างม้าโคต่างและไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาจอดอยู่ที่นั้น หายไปทั้งเรือทั้งคนหมดสิ้น ก็เข้าใจรู้เป็นแน่ว่า ญวนมาเก็บเรือและคนไปทั้งสิ้น แล้วพักคอยกองทัพหลังอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้ามนั้นครู่หนึ่ง..........”
** มิใช่แต่แม่ทัพใหญ่กับแม่ทัพเรือจะขัดแย้งกันเท่านั้น ในกองทัพบกฝ่ายเหนือเองก็เกิดความขัดแย้งระหว่างแม่ทัพกับข้าหลวงผู้กำกับทัพ ตอนนี้ล่าถอยมาถึงแม่น้ำโขงแล้ว เรือข้ามฝากที่จัดรอไว้หายไปหมด แล้วอะไรจะเกิดขึ้น พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, Paper Flower, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, เฒ่าธุลี, Toom Na
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๒ -
“พระยาพิไชยสงคราม”มากความรู้ เมื่อมองดูแม่น้ำกว้างเห็นทางแก้ ใช้ไม้ไผ่ผูกโยงมั่นไม่ผันแปร ดีไม่แพ้แพเรือกเทือกสะพาน
กองทัพข้ามคนสัตว์สวัสดิภาพ กองหนึ่งบาปกรรมพาน่าสงสาร “พระยานครสวรรค์”นั้นลนลาน พาทหารแดดิ้นสิ้นทั้งกอง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพบกยกไปจนใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว กองทัพเขมรหนึ่งพันคนในกองทัพบกไทยเกิดกบฏก่อการจลาจลหนีไปได้สองร้อยคนเศษ สอบสวนนายทัพนายกองได้ความว่า เขมรทราบจากญวนป่าดงว่ากองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาล่าถอยหนีญวนไปเขมร กำลังถูกญวนยกทัพตามตี กองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ล่าถอยหนีญวนกลับไปอยู่เมืองจันทบุรีแล้ว ญวนกำลังยกมาตีทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและทัพพระยามณเฑียรบาล เขมรกลัวญวนตีทัพไทยแตกแล้วจะฆ่าเขมรเสียด้วย จึงคิดออกหากจากไทยไปอยู่กับญวน เมื่อทราบความดังนั้น เจ้าพระนครราชสีมาจึงตกลงใจล่าทัพถอยไปตั้งอยู่แถบริมฝั่งแม่น้ำโขง รอฟังคำสั่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ต่อไป แต่เป็นกังวลพวกเขมรในกองทัพที่ยังเหลืออยู่ ๖๐๐ คนเศษ จึงคิดจะฆ่าทิ้งด้วยการใช้ดินดำคลอกเสียให้ตายสิ้น แต่พระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพคัดค้านและออกใบค้ำประกันให้ไว้ แล้วพากันยกทัพถอยล่ามาจนถึงริมแม่น้ำโขงที่ท่าข้ามเมืองบาพนม พบว่าเรือและคนสำหรับขนกองทัพข้ามฟากที่จัดให้รออยู่นั้น หายไปสิ้นแล้ว วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.......
“ .....จึงมาถึงพร้อมกัน ณ เวลาเช้าโมงหนึ่ง เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูล จึงพูดกับพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งหลายว่า
“เราจะทำอย่างไร จึงจะพารี้พลช้างม้าโคต่างข้ามแม่น้ำโขงได้เล่า ครั้นจะลุยไปก็ไม่ได้ด้วยตรงนี้น้ำลึกมาก”
ขณะนั้นพระยาพิไชยสงคราม (ชื่อเพชร) เป็นผู้ฉลาดในการช่างต่าง ๆ และเป็นนายทัพปีกหนึ่ง มาในกองทัพใหญ่นั้นด้วย จึงพูดตอบว่า
“เรือก็หายหมดจะลุยน้ำข้าม น้ำก็ลึกนัก ควรจะช่วยกันตัดไม่ไผ่ป่ามาทำแพเรือกข้ามแม่น้ำโขงก็จะได้เป็นแน่”
 นายทัพนายกองทั้งหลายก็เห็นชอบพร้อมกัน เจ้าพระยานครราชสีมาจึงมีบัญชาสั่งพระยาพิไชยสงครามให้คุมไพร่เขมร ๖๐๐ คนเศษ มีไทยเป็นนายคุมไปตัดไม้ไผ่ ให้ช่วยกันลากขนมาทำเป็นแพผูกติด ๆ ดังแพลูกบวบเป็นพืดยาวพอจะขวางเต็มลำแม่น้ำโขง ลำแม่น้ำโขงกว้างกว่าลำแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ หลายเท่า แล้วตีแตะไม้ไผ่เป็นเรือกดาดหลังแพลูกบวบทุก ๆ แพ แล้วตัดหวายและไม่ไผ่สดอ่อน ๆ มาตีเป็นเกลียวเหมือนเชือก ทำเป็นสายสมอผูกขอนไม้แก่สด ๆ ที่หนัก ทำเป็นดังโยทะกาติดกับสายสมอ แล้วก็ทอดลงไปในแม่น้ำโขง แล้วนำแพลูกบวบที่มีเรือกอยู่บนหลังแพนั้นมาผูกเป็นทุ่นติดต่อกันเป็นระยะยาวเรียงเนื่องกันขวางแม่น้ำโขง จนถึงฝั่งท่าเมืองบาพนมข้างโน้น (เหมือนตะพานเรือกที่พม่าทำข้ามข้ามแม่น้ำปากแพรก) พระยาพิไชยสงครามทำแพตะพานเรือกข้ามแม่น้ำโขงเสร็จแล้วในสองวันสองคืน เจ้าพระยานครราชสีมามีความยินดีนัก ถอดสายสร้อยทองคำในบั้นเอวหนักสี่ตำลึงสองสลึงเฟื้อง มีกะตุดสามดอก ให้แก่พระยาพิไชยสงครามผู้ต้นคิดทำแพ และเป็นแม่งานทำแพแล้วเสร็จด้วย แล้วสั่งให้นายทัพนายกองยกรี้พลช้างม้าโคต่างดำเนินทัพ เดินตามแพตะพานเรือกข้ามแม่น้ำโขงมาได้สิ้นทุกทัพทุกกอง ถึงฝั่งฟากเมืองบาพนมพร้อมกันแล้ว สั่งให้พลทหารช่วยกันระดมรื้อแพเรือก ทำลายรื้อแย่งให้แตกกระจายเสียสิ้น หวังไม่ให้เป็นทางญวนข้ามน้ำมาตามได้
 ขณะเมื่อพระยาพิไชยสงครามคุมพวกเขมร ๖๐๐ เศษไปตัดไม้ไผ่ทำแพข้าแม่น้ำโขงนั้น ไทยนายได้จ่ายขวานและพร้ามีดให้พวกเขมร พวกเขมรจึงมีกิริยาหลอกแหลกทำท่วงทีเหมือนจะเป็นกบฏขึ้น พระยาพิไชยสงครามเห็นดังนั้น จึงแต่งให้ไทยถือปืนไปกำกับให้เขมรตัดไม้ไผ่จนเสร็จการ เมื่อข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วนั้น พระยาพิไชยสงครามนำความขึ้นเรียนเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้พระยาราชนิกูลจับเขมรตัวนายทัพนายกองทั้งสิ้นมาชำระได้ความว่า
“เมื่อมีเครื่องมือขวานมีดพร้าไปตัดไม้ไผ่นั้น หมายใจว่ามีช่องจะทำร้ายแก่ไทย แล้วก็จะพากันหนีไปสิ้นทั้งหกร้อยคนเศษ”
 เจ้าพระยานครราชสีมาจึงสั่งหลวงรองจ่าเมืองให้พาเขมรนายทัพนายกอง ๓๖ คน ไปตัดศีรษะเสียบไว้ที่ท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขงในวันที่ข้ามทัพไปนั้น แต่ไพร่พลเขมร ๖๐๐ เศษมอบให้พระยาราชนิกูลผู้ประกันคุมต่อไป พระยาราชนิกูลแบ่งเขมรให้เป็นหมู่เป็นกอง กองละ ๕๐ คน มีไทยเป็นนายคุมกองละ ๒๐-๓๐ ถือปืนและดาบคุมเขมร ให้เขมรหาบคอนเป็นของเสบียงอาหารบ้าง ให้เลี้ยงช้างเลี้ยงม้าโคต่างบ้าง ให้ขับกระบือเกวียนบ้าง แต่ศาสตราวุธไม่ให้ถือเลยทุกคน ๆ
ฝ่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพปีกหนึ่ง คุมไพร่พลทหาร ๑,๐๐๐ เข้าในกองทัพไปกับเจ้าพระยานครราชสีมาด้วย แต่พระยานครสวรรค์ไม่สามัคคีรสธรรมกับเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่ ขณะปรึกษาว่าจะทำแพข้ามแม่น้ำโขงนั้น พระยานครสวรรค์ไม่เห็นด้วยจึงพูดว่า
“ถ้าจะทำแพกว่าจะเสร็จแล้วหลายวัน กลัวญวนจะตามมาทันเข้า จึงไม่ยอมช่วยทำแพข้ามน้ำ แต่ขอจะเดินไปข้ามที่ท่าข้ามหน้าเมืองลาว เห็นจะเร็วกว่าทำแพคอยข้ามที่นี่”
 พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองช่วยกันพูดจาว่ากล่าวน้าวโน้ม ให้พระยานครสวรรค์ช่วยกันทำแพข้ามที่นี่เป็นหลายครั้งหลายหน พระยานครสวรรค์ก็ไม่ยอมอยู่ช่วยทำแพ พูดแต่ว่า “จะไปข้ามที่ท่าหน้าเมืองลาวฝ่ายเดียว” เจ้าพระยานครราชสีมาเห็นพระยานครสวรรค์แตกสามัคคี ไม่สมัครใจเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันแล้ว จึงได้อนุญาตเป็นคำกลางว่า “ท่านเห็นว่าทางไหนจะเร็วก็ตามแต่ใจท่านจะข้ามที่นั้นเถิด”
 เมื่อพระยานครสวรรค์ได้โอกาสอนุญาตแม่ทัพใหญ่ดังนั้นแล้ว จึงพาไพร่พล ๑,๐๐๐ ซึ่งเป็นกองทัพของตน รีบเดินทัพไปแต่ทัพเดียว เดินเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไป หมายใจว่าไปข้ามที่ท่าหน้าเมืองลาว แต่ยังหาทันจะถึงท่าข้ามไม่ พอกองทัพญวนข้างตะวันออกยกตามมาทันทัพพระยานครสวรรค์ ทัพพระยานครสวรรค์ได้สู้รบกับญวนที่หาดทรายในฝั่งแม่น้ำโขง แต่กองทัพญวนตั้งอยู่บนตลิ่งสูง ญวนนำปืนใหญ่น้อยยิงระดมลงไปถูกไพร่พลทหารไทยตายมาก เพราะหาดทรายไม่มีที่จะหลบหลีกบังกระสุนปืนญวนได้ ฝ่ายไทยก็ยิงปืนขึ้นไปบ้าง หาถูกไพร่พลญวนไม่ เพราะบนตลิ่งมีต้นไม้บังได้มาก ญวนจึงแบ่งกองทัพเป็นสองพวก พวกหนึ่งตั้งอยู่บนตลิ่งแอบต้นไม้ใหญ่ ยิงปรำพวกไทยสองพักสามพัก กองทัพไทยจะตั้งรับอยู่ริมตลิ่งไม่ได้ ก็วิ่งล่าถอยลงมาชายหาดทรายทั้งสิ้น ญวนอีกพวกหนึ่งก็ยกลงไปตั้งที่หลังหาดทราย จัดปืนคาบศิลายิงระดมลงไปดังห่าฝน กองทัพไทยทนไม่ได้ก็แตกหนีลงในลำแม่น้ำโขงทั้งสิ้น ที่นั้นน้ำไม่สู้จะลึกนัก พอช้างเดินข้ามได้ น้ำท่วมหลังปริ่ม ๆ
 ขณะนั้นญวนนำทัพช้างลงที่หาดทราย ไสช้างให้ลงลุยไล่ไทยในน้ำเป็นอลหม่าน ญวนจุดปืนหลังช้างยิงไปถูกไทยตายมากกว่ามาก และญวนถือหอกดาบไล่แทงฟันไทยตายก็มาก ญวนบางพวกพาช้างไล่เหยียบย่ำด้วยเท้าช้าง ช้างบางเชือกยกงวงฟาดงาแทงไทยเป็นอลหม่าน ทหารญวนฆ่ากองทัพไทยไพร่พลตาย ๑,๐๐๐ คน ไม่เหลือกลับมาเลยแต่สักคนเดียว กับพระยา พระ หลวง ขุน หมื่นมีชื่อตายหมดครั้งนั้น ๖๐ คน
ฝ่ายญวนเก็บเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อย สรรพาวุธสั้นต่าง ๆ ของไทยไปได้สิ้น ช้างม้าโคต่างกระบือเกวียนของไทยนั้นญวนเก็บไปได้ทั้งหมด ทั้งเสื้อกางเกงไพร่พลที่เป็นเครื่องแต่งกายกองทัพซึ่งเป็นของหลวง ญวนก็แก้ออกจากศพไทยไปหมด ธงตะขาบ ธงมังกร ธงเลขยันต์สำหรับทัพนั้น ญวนก็เก็บรวบรวมไปได้สิ้น..........”
 ** ในหมู่คนไทยมีคนเก่งคนดีอยู่มาก อย่างเช่นพระยาพิไชยสงคราม มีความคิดฉลาดเฉลียวไม่น้อย สามารถคิดทำแพสะพานเรือกให้กองทัพข้ามแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวกสบาย เสียดายก็แต่พระยานครสวรรค์ซึ่งมีดีไม่พอแต่กล้าเอาดีมาอวด พากองทัพของตนไพร่พล ๑,๐๐๐ คนไปให้ญวนฆ่าตายไม่เหลือแม้แต่ชีวิตเดียว ถ้าท่านไม่ดื้อรั้นอวดดี ถือสามัคคีธรรม ช่วยพระยาพิไชยสงครามเร่งทำสะพานเรือกแล้ว สะพานจะแล้วเสร็จเร็วกว่าสองวันเป็นแน่ กองทัพท่านก็จะข้ามน้ำโขงไปได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกันกับกองทัพใหญ่ของเจ้าพระยานครราชสีมา อ่านเรื่องมาถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่เสียดายไพร่พลทหารกล้า ๑,๐๐๐ คน ที่จำต้องตายเพราะพระยานครสวรรค์ดื้อรั้นอวดดีแท้ ๆ กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาข้ามแม่น้ำโขงได้แล้วจะไปไหนต่อ พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายวือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๓ -
“เจ้าพระยานครราชสีมา” รู้“พระยานครสวรรค์”สิ้นผยอง ถูกญวนฆ่าย่อยยับกับลูกน้อง ได้แต่มองศพสมเพชเวทนา
ตั้งค่ายมั่นบาพนมปักหลักสู้ โดยไม่รู้ทิศทางทัพหลังหน้า ฝ่ายพระยามณเฑียรบาลนั้นนำพา ทหารกล้าเข้าไปใกล้เมืองญวน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. ขณะที่พระยาพิไชยสงครามแม่ทัพปีกหนึ่งคุมพลทำแพเรือกข้ามแม่น้ำโขงนั้น พระยานครสวรรค์แม่ทัพอีกปีกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแพสะพานเรือก เมื่อได้คำอนุญาตจากแม่ทัพใหญ่แล้ว ก็ยกพลของตนหนึ่งพันคนเดินเลียบลำน้ำโขงขึ้นไปจะข้ามน้ำตรงท่าหน้าเมืองลาว พระยาพิไชยสงครามทำสะพานเรือกแล้ว แม่ทัพใหญ่ก็ยกกองทัพไพร่พลช้างม้าโคต่างข้ามแม่น้ำโขงไปได้โดยสวัสดิภาพ ฝ่ายพระยานครสวรรค์ยกพลเดินไปยังไม่ทันถึงท่าเมืองลาว ทัพญวนตะวันออกก็ยกมาทัน ยิงปืนใหญ่น้อยระดมลงใส่กองพลทัพไทยในหาดทรายตายลงเป็นอันมาก หนีลงน้ำก็ถูกญวนยกกองช้างลงบดขยี้จนนายและไพร่พล ๑,๐๐๐ คนตายสิ้น วันนี้มาอ่านความต่อไปครับ.....
 “.......ครั้งนั้น ศพไทยไพร่พลและนายทัพนายกองลอยเต็มแม่น้ำโขง กระแสน้ำไหลพัดพาศพไทยมาถึงที่ท่าข้ามแม่น้ำโขงเมืองบาพนม ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาข้ามฟากมาพักอยู่นั้น ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่เห็นศพไทยนายไพร่ก็จำได้ แล้วเข้าใจว่ากองทัพพระยานครสวรรค์เสียแก่ข้าศึกญวนแล้วเป็นแน่ จึงสั่งหลวงพิทักษ์โยธากับหลวงแพ่งให้รีบขึ้นมาเร็วคุมทหารม้า ๕๐ ม้า เดินเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปสืบราชการทัพพระยานครสวรรค์ดูให้รู้เหตุการณ์ สั่งหลวงรามรณรงค์ กับ หลวงพิทักษ์คามะเขตนายด่านเมืองจันทึก ให้เร่งขึ้นมาคุมไพร่พล ๒๐๐ คน ม้า ๕๐ ให้ยกไปสืบราชการทัพพระยานครสวรรค์ แต่ให้เดินทัพลัดป่าไปยังฝั่งแม่น้ำโขงท่าดินแดง ฟังกิตติศัพท์ทัพญวนดูก่อน ถ้าเห็นหนักเบาประการใดให้ใช้ม้าเร็วมาบอก จะได้แต่งทัพเพิ่มเติมไปช่วยอีกทัพหนึ่ง
 ครั้งนั้น ทัพทั้งสองไป หาพบทัพญวนไม่ ด้วยญวนฆ่ากองทัพพระยานครสวรรค์แล้วก็ยกขึ้นไปทางเหนือ เพื่อจะตามตีทัพพระยามณเฑียรบาลทัพวังหน้าอีกต่อไป กองสืบทั้งสองพบศพลอยน้ำอยู่ ๑๙ ศพ คือ พระยานครสวรรค์ ๑ พระยาพิจิตร ๑ พระปลัดเมืองอุทัยธานี ๑ พระปลัดเมืองตาก ๑ พระสิงคบุรี ๑ พระสรรคบุรี ๑ พระบัวชุมไชยบาดาล ๑ พระปลัด พระยกกระบัตรเมืองนครสวรรค์ ๒ หลวงผู้ช่วยเมืองนครสวรรค์ ๑ หลวงมหาดไทยเมืองนครสวรรค์ ๑ หลวงศุภมาตราเมืองนครสวรรค์ ๑ พระพิมาย ๑ พระนางรอง ๑ พระเพชรปราณี ๑ พระเทพผลู ๑ หลวงวิเศษธานี ๑ หลวงงำเมือง ๑ หลวงพัศดีกลาง ๑ รวม ๑๙ ศพ แต่ผู้ใหญ่ที่รู้จักจำหน้าได้ ๑๙ คน แต่ศพไทยไพร่นายครั้งนั้นลอยน้ำอยู่แต่กายเปล่า หาเสื้อผ้ามิได้ เพราะพวกญวนแก้ผ้าถอดเสือไปเสียหมดทั้งอาวุธด้วย
 ครั้งนั้น กองสืบจึงตัดศีรษะนำศพนายทัพทั้ง ๑๙ ศพ พามาให้เจ้าพระยานครราชสีมาดู ดูแล้วจึงรู้แน่ว่าแม่ทัพนายกองตายหมดแล้ว กับไพร่พล ๑,๐๐๐ ก็ตายสิ้นเพราะญวนฆ่าเสีย เห็นญวนจะยกทัพใหญ่ตามมาเป็นสองทางสามทางเป็นแน่ เจ้าพระยานครราชสีมาจึงสั่งนายทัพนายกองให้คุมไพร่ไปตัดไม้มาตั้งค่ายรับญวน ได้ตั้งค่ายใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่ตั้งพ้นตลิ่งเข้าไปห่างท่าน้ำไกลขึ้นไปบนดอน พอพ้นกำลังทางปืนทัพเรือญวน ตั้งค่ายครั้งนี้ด้วยไม้ไผ่กับไม้แก่นปนกันด้านยาว ๑๕ เส้น ด้านกว้าง ๘ เส้น มีป้อม ๘ ป้อม หอรบ ๔ หอ แล้วปลูกโรงศาลาใหญ่ในค่ายเป็นที่พักสองหลังแฝด และตั้งค่ายปีกกาอีก ๒ ค่าย แล้วค่ายละเมาะริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ท่าข้ามอีกค่ายหนึ่ง เป็นค่ายเล็ก ๆ เพื่อจะรักษาต้นทางน้ำที่ทัพเรือญวนจะมาที่ท่าข้ามนั้นด้วย
 ฝ่ายกองทัพวังหน้าซึ่งเป็นแม่ทัพปีกหนึ่งของทัพเจ้าพระยานครราชสีมา พระยามณเฑียรบาลเป็นแม่ทัพใหญ่ ได้บังคับบัญชาพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองฝ่ายพระราชวังบวรฯ ทั้งสิ้น ครั้งนั้นพระยาราชโยธาเป็นแม่ทัพหน้าของพระยามณเฑียรบาล ฝ่ายกองทัพวังหน้าเดินทัพข้ามแม่น้ำโขงไปก่อนทัพเจ้าพระยานครราชสีมา จึงเดินทัพเร็วขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่งในกลางทางป่า พวกเขมรนำทางเรียกชื่อที่ตำบลนี้ว่า “จันเลาะขะจองจันลองตึกใหม่กะแดพนมเขียว” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ห้วยหอยโข่ง) เป็นลำธารน้ำไหลมาแต่เชิงเขาเขียว เป็นทางใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนอยู่แล้ว
ครั้งนั้น ทัพวังหน้ายกขึ้นไปก็ไม่ได้พบกองทัพญวนมาตั้งค่ายรับตามทางที่ไทยไปนั้นไม่มีเลยสักแห่งหนึ่ง จึงเดินทัพเร็วไปได้โดยสะดวก ฝ่ายพระยาราชโยธาแม่ทัพกองหน้าแปลกประหลาดใจ ไม่เห็นญวนมาตั้งค่ายรับตามธรรมเนียมศึก จึงสั่งพระอินทรารักษ์ ๑ กับหลวงพิทักษ์สุเทพ คุมไพร่พล ๓๐๐ ให้เป็นกองเสือป่าแมวเซายกไปสืบราชการในแขวงจังหวัดบ้านเมืองญวน ให้พระชำนาญคชไกรเขมรเมืองพนมเปญเป็นผู้คุมไพร่พลเขมร ๑๐๐ คนนำทางไปในแขวงญวน ถ้าพบปะครัวญวนในบ้านในป่าหรือคนเดินไปมาค้าขายก็ให้จับมา จะได้ไต่ถามเนื้อความเมืองญวน ถ้าพบญวนตั้งรบที่ใดเป็นค่ายใหญ่ก็ให้รีบกลับมาแจ้งราชการโดยเร็ว ถ้าพบกองทัพไทยกองหนึ่งกองใด ก็ให้แจ้งความแล้วถามความมาให้รู้โดยละเอียด ฝ่ายพระอินทรารักษ์ หลวงพิทักษ์สุเทพ ก็ไปสืบราชการ แล้วกลับมาแจ้งความว่า
 “ได้ยกขึ้นไปตรวจตามบ้านเล็กเมืองน้อยทางในป่าดงถึงสี่คืน จนถึงตำบลหนึ่ง เขมรนำทางเรียกชื่อว่า “กำพงกะบือมัดจะรังทะเลตวจ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า บ้านท่าควายริมฝั่งแม่น้ำน้อย) ทางจะไปเมืองไซ่ง่อน ตั้งแต่ยกไปถึงสี่คืน ไม่ได้พบปะผู้คนเลยแต่สักคนหนึ่ง เห็นแต่เรือนร้างเปล่าอยู่ทุกบ้าน ชั้นแต่ยุ้งฉางข้าวก็เปล่า ไม่มีข้าวทุกยุ้ง พวกญวนขนนำไปหมดทุกยุ้ง ตลอดทุกบ้านตามทางขึ้นนั้นทั้งสี่คืน ชั้นแต่ต้นพริกต้นมะเขือต้นกล้วยต้นอ้อย ญวนก็ตัดผลไปด้วยทุกต้น เห็นดอกกล้วยอ้อยพริกมะเขือเหี่ยวแห้ง บ้างผุเน่าก็มี”
 ฝ่ายพระยาราชโยธาได้ทราบดังนั้นแล้วจึงว่า “ชะรอยพวกญวนจะรู้เหตุก่อนว่ากองทัพไทยจะยกมาทางนี้ มันจึงอพยพเทครัวหลบหนีไปทุกบ้านทุกตำบลก่อนกองทัพไทยยกมาช้านานแล้ว จนตอต้นกล้วยอ้อยพริกมะเขือเหี่ยวแห้งดังนั้น เห็นทีญวนจะไปตั้งรับไทยอยู่ที่เมืองหนึ่งในกลางทางใกล้เมืองไซ่ง่อน ญวนเรียกว่า “เมืองว่องโป๋ว” เป็นเมืองหน้าด้านในระยะทางบก พระยาราชโยธาจึงสั่งพระยาณรงค์วิไชย ๑ พระยาอภัยสงคราม ๑ ให้เป็นนายทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกล่วงหน้าไปก่อน ให้ไปสืบทัพญวนว่าจะตั้งอยู่ที่ใดบ้าง ถ้าพบกองทัพญวนตามทางพอจะตีได้ก็ให้ตีให้แตกเสียทีเดียวเถิด ถ้าเห็นว่ากำลังญวนมากแข็งแรง ไทยจะตีมันไม่แตกแล้ว ก็ให้ตั้งมั่นรับรองไว้ก่อน แล้วให้คนเร็วม้าใช้รีบมาแจ้งข้อราชการหนักเบาโดยเร็ว จะได้ยกทัพให้รีบไปช่วยให้ทันท่วงที
 ฝ่ายกองทัพพระยาณรงค์วิไชยและพระยาอภัยสงครามยกไปถึงตำบลหนึ่ง เขมรนำทางเรียกชื่อตำบลนั้นว่า “ผะทะค่อยมัดจะรังทะเลตวจชิดสรกค่อยมุขศึกเฉมาะว่องโป๋ว” (แปลเป็นภาษาไทยว่า บ้านด่านใกล้เมืองว่องโป๋ว คือเมืองด่านหน้าศึก) กองทัพไทยถึงที่นั้น เห็นญวนมาตั้งค่ายรายตามฝั่งแม่น้ำน้อยถึง ๑๔ ค่าย แต่เป็นค่ายเล็ก ๆ กับเห็นญวนผูกแพไม้ไผ่เทียบอยู่หน้าค่ายหลายสิบแพ แพนั้นญวนทำเป็นเรือก สำหรับจะเป็นแพสะพานให้รี้พลช้างม้าเดินข้ามแม่น้ำน้อยมาตามตีกองทัพไทยฝ่ายเรา เห็นญวนตั้งค่ายและจัดการเป็นศึกใหญ่ ซึ่งกองทัพไทยแต่ ๕๐๐ คนจะยกเข้าตีค่ายญวน หรือญวนจะยกมา ก็จะรับทัพญวนไม่ได้.......”
** อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเห็นได้ชัดว่า การสื่อสารเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้กองทัพไทยไร้เอกภาพขาดประสิทธิภาพ กองทัพที่ยกไปเมืองไซ่ง่อนนั้น ให้เจ้าพระยานครราชสีมายกไปทางบก เดินทางไปก่อน ส่วนแม่ทัพใหญ่คือเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น เป็นห่วงกองทัพเรือที่เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพยกไปทางคลองวามะนาว จึงยกทัพบกส่วนหนึ่งไปกับกองทัพเรือ และเจ้าพระยาแม่ทัพทั้งสองนั้นพ่ายญวนล่าทัพถอยกลับไปแล้ว แต่ไม่สามารถจะส่งข่าวให้แม่ทัพบกของเจ้าพระยานครราชสีมาทราบความเคลื่อนไหวได้ เจ้าพระยานครราชสีมาทราบข่าวจากญวนชาวป่าดง จึงล่าถอยทัพกลับ แต่ก็ไม่สามารถส่งข่าวให้กองทัพพระยามณเฑียรบาลวังหน้าที่ยกล่วงหน้าไปก่อนได้ ขณะนี้กองทัพพระยามณเฑียรบาลยกไปเป็นทัพเดี่ยวใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว โดยไม่ทราบว่าทัพไทยกองอื่น ๆ ล่าถอยกลับไปแล้ว และญวนกำลังยกตามตีทัพไทยกองนี้อยู่ เรื่องจะเป็นอย่างไร เอาใจช่วยกองทัพวังหน้านำโดยพระยามณเฑียรบาล รออ่านต่อตอนต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๔ -
“พระยาราชโยธา”ประจักษ์ข่าว จากเรื่องราวพวกเชลยเอ่ยครบถ้วน ทัพอันนัมกำลังตั้งกระบวน เห็นไทยควรล่าทัพถอยกลับพลัน
“พระยามณเฑียรบาล”จัดการทัพ ให้ถอยกลับอย่าวุ่นหวาดหุนหัน เสียเปรียบญวนทุกประตูเมื่อสู้กัน แต่สำคัญที่ใจไทยทุกคน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพบกยกข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งค่ายมั่นรับญวนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงเมืองบาพนม กล่าวฝ่ายพระยามณเฑียรบาล คุมทัพวังหน้าเป็นทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมา เดินทัพไปจนใกล้ถึงเมืองไซ่ง่อน โดยไม่รู้ว่าทัพไทยทุกกองยกล่าถอยกลับหมดแล้ว วันนี้มาอ่านต่อครับ....
 “พระยาณรงค์วิไชย และพระยาอภัยสงคราม ก็ล่าทัพถอยมาตั้งรอดูเชิงศึกที่กลางทางนั้น แล้วจึงสั่งให้หลวงโยธีบริรักษ์วังหน้า ถือหนังสือขึ้นม้าเร็วคุมทหารม้า ๓๐ ม้า รีบเร่งไปแจ้งข้อราชการทัพศึกต่อพระยาราชโยธา พระยาราชโยธาได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงมีหนังสือตอบไปบังคับให้พระยาณรงค์วิไชยและพระยาอภัยสงครามเลิกทัพถอยกลับมาโดยเร็ว เมื่อเดินทัพถอยกลับมานั้น ให้ตีบ้านเล็กบ้านใหญ่ตามรายทาง กวาดต้อนพาครอบครัวญวนตามบ้านป่าดงมาด้วย จะได้ไต่ถามข้อความเมืองและข้อราชการทัพศึกฝ่ายญวนบ้าง มอบหนังสือตอบให้หลวงโยธีบริรักษ์วังหน้า กับหลวงประจัญปัจจามิตรกรมการเขมรรีบไปให้พระยาณรงค์วิไชย พระยาณรงค์วิไชยจึงยกพลทหารเดินกองทัพกลับมาทางตะวันออก พระยาอภัยสงครามยกพลทหารเดินทัพกลับมาทางตะวันตก พระยาอภัยสงครามเดินอ้อมมาข้ามแม่น้ำที่ปลายน้ำน้อย เป็นที่ตื้นข้ามพลได้สบาย เขมรนำทางเรียกท่าข้ามตำบลนั้นว่า “อันลุงถะมอสะพานจุงทะเลตวจ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า แก่งสะพานปลายแม่น้ำน้อย) เดินทัพมาบรรจบกันกับทัพพระยาณรงค์วิไชย ทั้งสองกองนั้นจับได้ครอบครัวญวนตามบ้านป่ากวาดต้อนพามาทั้งสิ้นทุกตำบล รวมเป็นคน ๖๖ คน นำมาส่งยังทัพพระยาราชโยธา พระยาราชโยธาสั่งให้ล่ามถามญวนเชลย ญวนเชลยให้การหาต้องคำกันไม่ พระยาราชโยธาจึงสั่งให้ทหารพาญวนที่ฉกรรจ์จำคาเฆี่ยน ๕ ทีถาม ได้เนื้อความเป็นสัตย์คำต้องกันว่า
 “ได้ทราบข่าวมาแต่พวกพ้องที่ถูกไปทัพกลับมาบอกว่า แม่ทัพญวนที่มา ตั้งค่าย ๑๔ ค่ายอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำน้อยนั้น แม่ทัพใหญ่ชื่อองเต่อ แม่ทัพรองคือปลัดทัพชื่อองเดียโดย เป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์พระเจ้าเวียดนาม แม่ทัพทั้งสองคุมไพร่พล ๘,๐๐๐ คน มาตั้งทัพใหญ่อยู่ที่ค่ายฝั่งแม่น้ำน้อย กำลังจัดกองทัพจะให้องญวนเป็นแม่ทัพนายกอง คุมพลทหารยกข้ามแม่น้ำน้อยมาทางแพที่ผูกไว้นั้น จะให้ยกมาตามตีกองทัพไทยที่ยกมาแต่ฝั่งแม่น้ำโขง แล้วองเต่อแม่ทัพให้องเดโดยเป็นแม่ทัพ ให้องกายโดยเป็นปลัดทัพ คุมไพร่พล ๔,๐๐๐ ยกทัพอ้อมป่าไปคอยสกัดทัพไทยอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำโขง ต้นทางที่กองทัพไทยขึ้นมานั้น แล้วทราบว่ากองทัพญวนยกไปตีกองทัพไทยแตกหมดทั้งทางบกและทางเรือ แล้วทราบว่ากองทัพไทยซึ่งเป็นกองทัพใหญ่ยกมาทางบกด้านตะวันออก แต่ก่อนเมื่อต้นเดือนห้าต่อกับเดือนสี่นั้น ก็เลิกล่าถอยกลับไปเมืองเขมรหมดแล้ว”
ครั้นพระยาราชโยธาได้ทราบคำให้การญวนเชลยดังนั้นแล้วก็เข้าใจว่า “ทัพเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นทัพเรือนั้น เห็นทีจะเสียแก่ญวนแล้ว กับทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและทัพพระยาราชนิกูล ทัพพระยานครสวรรค์ ทัพพระสีหราชเดโช ทัพเหล่านั้นก็เห็นจะล่าไปหมด ยังอยู่แต่ทัพวังหน้ากองเดียวเท่านี้ ไม่มีทัพหนุนทัพช่วยป้องกันบ้าง แต่ลำพังทัพวังหน้ากองเดียวจะต้านทานสู้ญวนได้ที่ไหนเล่า”
คิดดังนี้แล้วจึงนำความทั้งสิ้นที่ทราบมาแต่ญวนเชลยนั้น เขียนเป็นหนังสือไปเรียนแก่พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพใหญ่ตกใจ จึงมีหนังสือสั่งกองทัพพระยาราชโยธากองหน้าให้ล่าถอยกลับมาโดยเร็วเถิด พระยาราชโยธาและพระยาณรงค์วิไชย พระยาอภัยสงคราม ก็เลิกทัพถอยกลับมาในค่ำวันนั้น รีบเร่งเดินทัพมาในเวลากลางคืนเพราะเดือนหงายสว่างดี เดินทัพมายังรุ่งจึงถึงที่ชุมนุมทัพพระยามณเฑียรบาล พระยามณเฑียรบาลจึงพูดกับพระยาราชโยธาว่า
“อ้ายญวนเชลยที่พระยาณรงค์วิไชยจับมาได้ ๖๖ คนนั้น จะพามันไปในกองทัพเราด้วยก็เป็นห่วงหนัก ต้องระวังเป็นกังวลเปล่า ๆ หาประโยชน์ไม่เลย ให้เลือกแต่ผู้ชายที่ฉกรรจ์ไว้สำหรับนำทัพเราไปโดยทางเร็ว ๆ สัก ๙ คน ๑๐ คนเท่านั้น ก็พอใช้อยู่แล้ว นอกนั้นเป็นชายหญิงแก่ชราหรือเด็ก ให้ฆ่าเสียเถิด นายทัพนายกองก็เห็นชอบด้วย พระยาราชโยธาจึงสั่งขุนชนะไพรีเขมร กับหมื่นแกล้วใจหาญทะลวงฟันวังหน้า ให้เลือกแต่ญวนเชลยชายฉกรรจ์ไว้ ๑๐ คน นอกนั้น ๕๖ คน จงนำไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้ แล้วตัดศีรษะญวน ๕๖ คน เสียบไว้ตามรายทางที่กองทัพไทยจะเดินล่าลงไปนั้น ให้เสียบศีรษะญวนห่าง ๆ กันตามทางทุกตำบลตลอดลงไป เพื่อจะให้พวกญวนที่ตามมาข้างหลังเห็นแล้วจะได้กลัวอำนาจไทย”
แล้วพระยามณเฑียรบาลจึงพูดกับพระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง ว่า..
 “เรายกกองทัพกลับลงไปครั้งนี้ คงจะได้ยุทธนาการสู้รบกับญวนเป็นสามารถมั่นคงแน่แล้ว เหมือนเราทำศึกกับญวนเป็นสองทาง ต้องรบทั้งข้างหน้าข้างหลัง โดยกำลังรี้พลและอำนาจศาสตราวุธของเราเห็นจะสู้ญวนไม่ได้ เพราะว่าเรายกทัพเลยถลำมาในแว่นแคว้นแดนญวนมากแล้ว จึงรู้ตัวว่าถลำเลยมาทัพเดียว จะกลับไปยังเมืองเขมรเขตแดนไทย เมื่อเรากลับไปครั้งนี้ ญวนคงจะยกทัพใหญ่มาตั้งค่ายสกัดหน้าเราบ้าง ยกมาตามตีเราข้างหลังบ้าง เราจะต้องเป็นศึกขนาบอยู่ระหว่างกลางทัพญวนเป็นแน่แล้ว ครั้งนี้พวกเรานายไพร่จะพาชีวิตกลับไปกรุงเทพฯ ได้ก็เพราะอำนาจบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง และความสามัคคีอุตสาหะมานะของนายทัพนายกองไพร่พลประการหนึ่ง จึงจะพากองทัพกลับไปหาครอบครัวยังกรุงเทพฯ ได้"
ฝ่ายพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองได้ทราบข้อความตามพระยามณเฑียรบาลบรรยายมาดังนั้นแล้ว ก็ตกใจกลัวข้าศึกญวนเป็นอันยิ่งนัก แต่จำเป็นจำใจจะต้องสู้รบฝ่าฟันตีกองทัพญวนให้แตกเป็นช่องไปพอจะได้กลับไปหาครอบครัวบ้าง
 ครั้นเวลาเช้ารับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ยกพลนิกายเดินทัพกลับมาตามทางเดิมเมื่อขึ้นไปนั้น ครั้นถึงทางสามแยกแล้ว พระยามณเฑียรบาลสั่งให้พระยาราชโยธาคุมไพร่พลทหาร ๒,๐๐๐ คน ยกไปเป็นกองหน้าให้เดินทัพไปทางเก่าที่ขึ้นมา สั่งพระยาศาสตราฤทธิรงค์คุมทัพลาวหัวเมืองกับไพร่พลไทย ๖๐๐ คน ให้ยกแยกทางไปข้างทิศตะวันตก เดินวกอ้อมไปบรรจบที่ท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาในกองทัพหน้าพระยาราชโยธา สั่งให้พระยาสุรินทร์ราชเสนาคุมไพร่พล ๕๐๐ เป็นปีกขวา สั่งให้พระยานรานุกิจมนตรีคุมไพร่พล ๓๐๐ เป็นกองเกียกกาย สั่งให้พระยาบริรักษ์ราชาคุมพล ๒๐๐ เป็นจเรทัพ สั่งให้พระยาอินทรววงศ์รามัญคุมไพร่พลรามัญ ๕๐๐ เป็นกองหนุนและกองคอยเหตุสืบราชการข่าวทัพข้าศึก สั่งให้พระยาณรงค์วิไชยกับพระยาอภัยสงครามคุมไพร่พล ๑๐,๐๐๐ เป็นกองรั้งหลัง........”
** พระยาราชโยธาแม่ทัพหน้าของกองทัพวังหน้าโชคดีที่ได้เชลยญวนมาเค้นจนได้ข่าวกองทัพญวนและไทยอย่างละเอียด รีบกราบเรียนให้พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ของตนได้ทราบโดยด่วน พระยามณเฑียรบาลก็สั่งถอยทัพทันที และท่านเป็นคนรอบคอบ จึงสั่งถอยทัพกลับอย่างรัดกุม ผลการเดินทัพกลับเข้าเมืองเขมรเขตแดนไทยของพระยามณเฑียรบาลจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลายเมฆ, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๕ -
ทัพไทยพบค่ายญวนริมคลองเก่า จึงตัดเอาไม้ไผ่ที่เกลื่อนกล่น เป็นสะพานเรือกทำข้ามสายชล ยกรี้พลข้ามไปได้ง่ายดาย
ปล้นค่ายญวนป่วนไปในยามค่ำ ญวนเพลี่ยงพล้ำเสียทีทั้งสี่ค่าย แตกย่อยยับจับเป็นไว้ได้มากมาย ที่ล้มตายหายจากก็มากมี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่... ทัพวังหน้าซึ่งเป็นทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมา มีพระยามณเฑียรบาลเป็นแม่ทัพนั้น ทราบข่าวจากญวนเชลยว่า ทัพไทยทุกกองล่าถอยกลับไปหมดแล้ว จึงสั่งล่าทัพถอยกลับมุ่งเข้าเมืองเขมรเขตแดนไทย จัดขบวนทัพถอยอย่างเป็นระเบียบ พร้อมที่จะต่อสู้ญวนทุกขณะสถานการณ์ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ครั้นพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่จัดทัพแบ่งปันหน้าที่ใหม่เสร็จแล้ว ก็เดินทัพมาเป็นลำดับกันทุกทัพทุกกอง มาใกล้คลองแห่ง ๑ เป็นลำแม่น้ำเก่า แต่เดียวนี้ตื้นดอนกลายเป็นคลอง แต่กว้างประมาณ ๑๔ วา เขมรนำทางเรียกชื่อแม่น้ำนั้นว่า “ดอกทะเลจัศรักแปรเกิดแพรกรัง” (แปลเป็นภาษาไทยว่า แม่น้ำเก่ากลายเป็นคลองตื้น ๆ ชื่อคลองจิก) ครั้งนั้นกองทัพพระยาราชโยธาเป็นกองหน้า ถึงใกล้ริมฝั่งคลองจิกก่อน เห็นทัพญวนมาตั้งค่ายใกล้ฝั่งคลองจิกฟากข้างโน้นสี่ค่าย ญวนคอยสกัดตีกองทัพไทยเมื่อจะข้ามคลองจิกนั้น ครั้งนั้นพระยาราชโยธาได้ตั้งค่ายสีชุกลงที่ริมฝั่งคลองจิก แต่ห่างจากค่ายญวนประมาณ ๖๐ เส้นหรือ ๗๐ เส้นเศษ พระราชโยธามีหนังสือบอกข้อราชการที่เห็นค่ายญวน แต่ยังไม่ได้รบกัน บอกมายังพระยามณเฑียรบาล พระยามณเฑียรบาลจึงพูดกับนายทัพนายกองว่า
“ญวนยกทัพมาตั้งค่ายสกัดอยู่หน้าทางเราดังนั้น ครั้นเราจะนิ่งช้าไว้ไม่ได้ เกรงว่าทัพญวนจะยกเพิ่มเติมมาข้างหลังเราอีก ถ้าญวนยกมาเป็นทัพขนาบตีท้ายพลเรา เราก็จะได้ความลำบากเป็นอันมากที่สุด จำจะต้องช่วยกันตีค่ายญวนให้แตกไปในสามวันให้จงได้ ถ้าพวกเราตีค่ายหน้าญวนไม่แตกในสามวันแล้ว พวกเราทั้งปวงต้องช่วยกันนำดินปืนคลอกพวกเราให้ตายเสียทุกทัพทุกกองเถิด อย่าให้ญวนกองหลังมาจับเป็นพวกเราไปเป็นเชลยได้เลย เราไม่ขอเป็นข้าญวนแล้ว ตายเสียดีกว่า”
พระยามณเฑียรบาลพูดดังนั้นแล้ว จึงมีหนังสือบังคับสั่งไปถึงพระยาราชโยธากองหน้าใจความว่าดังที่พูดมาแต่ต้นนั้นแล้ว และสั่งให้พระยาราชโยธาเร่งกระทำการปล้นค่ายญวนให้แตกแต่ในสามวันให้ได้ แล้วให้จมื่นเดไชยหัวหมื่นมหาดเล็กเป็นผู้กำกับทัพตำรวจทั้งแปดกอง ซึ่งจะไปช่วยพระยาราชโยธายกเข้าปล้นค่ายทั้งสี่ค่ายที่ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งคลองจิกนั้น สั่งสมิงจัตุรงค์ในกองพระอินทรวงศ์ให้แบ่งไพร่พลรามัญ ๔๐๐ คน ไปตัดไม้ไผ่มาทำสะพานเรือกเตรียมไว้ให้พร้อมแต่ในเวลากลางวันวันนี้ ครั้นเวลาตี ๑๑ ทุ่มค่ำวันนี้ จะยกพลทหารเข้าปล้นค่ายให้แตกสี่ค่ายจงได้
 สมิงจัตุรงค์ทำการสะพานเรือกเสร็จตามสั่งแล้ว ครั้นเวลา ๑๐ ทุ่ม กองรามัญลงไปยืนในลำคลองจิก พวกรามัญยืนสี่แถว แถวละ ๑๐๐ คน ห่างกันคืบหนึ่ง บ่าแบกเสาเป็นไม้คานสี่แถว แล้วนำไม้ตงพาดบนหลังไม้คานเป็นตอน ๆ ห่าง ๒ ศอกเศษ แล้วนำเรือกไม้ไผ่ที่สานม้วนไว้เป็นผืน ๆ ขนมาปูบนหลังตงเต็มไปด้วยเรือกตลอดฝั่งคลองข้างนี้จนกระทั่งคลองข้างโน้น เป็นสะพานเรือกข้ามคลองได้ในชั่วโมงเดียวเสร็จ เพราะคนมากถึง ๔๐๐ คนช่วยกันทำโดยเร็ว แต่ห้ามปากเสียงไม่ให้อึง เพราะกลัวญวนจะยิงปืนมา คนทำการนั้นตายลง การสะพานนั้นก็จะไม่สำเสร็จได้ แต่ลำคลองนั้นตื้นดอนมาก คนลงยืนแช่น้ำเสมอเพียงเอวบ้าง ที่กลางคลองเป็นที่ลึกก็เพียงคอบ้าง แต่ไม่ท่วมปากจมูกก็เป็นใช้ได้
 ครั้นทำสะพานเรือกให้คนทำแทนเป็นเสาตอหม้อเสร็จแล้วแต่ในชั่วโมงเดียว แต่พอถึงเวลา ๑๑ ทุ่ม พระยาราชโยธาสั่งให้กองทัพตำรวจทั้งแปดกอง แบกแตะคนละผืน เดินข้ามตะพานเรือกไปปูทับขวากกระจับรอบค่ายญวน เดินไปปูแถวหน้าพวกหนึ่ง แล้วแถวหลังก็เดินบนแตะไปปูต่อ ๆ เข้าไปทุกทีจนใกล้ค่ายญวน แต่กองอาทมาตและกองรามัญและแขกจามและกองทหารหกเหล่าแปดเหล่า ก็เดินเดินตามหลังกองตำรวจที่แบกนำแตะเข้าไปปูทับขวากนั้น เป็นลำดับเข้าไป หนุนเนื่องกันตามเข้าไปทุกชั้นทุกพวกไม่หยุดย่อท้อเลย พอใกล้ค่ายญวนแล้ว พวกทหารทุก ๆ กองถืออาวุธครบมือกันทุกคน แล้วโห่ร้องขึ้นพร้อมกัน วิ่งกรูกันเข้าไปใกล้ค่ายญวน บ้างนำปืนหามแล่นกับคาบศิลายิงระดมค่ายญวนทั้งสามด้าน กองหลังและกองหนุนก็วิ่งกรูตามข้ามสะพานเรือกไปถึงตลิ่งพร้อมกันหมดทุกกองแล้ว บ้างยิงปืน บ้างปีนค่ายเย่อค่ายฟันค่ายต่าง ๆ กันทุกด้าน นายทัพไทยขึ้นม้าไล่ต้อนไพร่พลเข้าปล้นทุกทัพทุกกองเป็นอลหม่าน หนุนเนื่องกันเข้าไปเป็นชั้น ๆ ไม่หยุดหย่อน ทั้งสี่ค่ายก็หักพังลงบ้าง
 ฝ่ายญวนในค่ายทั้งสี่นั้น ครั้นได้ยินเสียงไทยโห่ร้องยกเข้าปล้นค่ายดังนั้นแล้ว ญวนจึงจุดพลุขึ้นเป็นตับ ๆ รอบค่ายญวน เห็นพลทหารไทยวิ่งกรูกันมาจากฟากข้างโน้น แล้วเดินข้ามคลองมาได้โดยสะดวก ไม่เห็นรี้พลไทยเปียกน้ำและโคลนเลย แล้วญวนไม่เห็นสะพานเรือกของไทยด้วย เพราะตะพานนั้นต่ำอยู่ในลำคลอง ญวนคิดว่าเหตุใดไทยจึงวิ่งข้ามคลองน้ำมาได้ไม่เปียกเปื้อน หรือไทยจะมีวิชาเดินมาบนน้ำได้กระมัง ญวนคิดดังนี้แล้วก็สะดุ้งตกใจกลัว ไม่อาจสามารถเต็มใจจะตั้งต่อสู้กับกองทัพไทยได้ บ้างก็ทิ้งหน้าที่หนีเสียบ้าง
 ครั้งนั้นพอกองทัพไทยปีนค่ายเข้าไปได้ทุกด้านพร้อมกันทั้งสี่ค่าย ไล่ฆ่าฟันแทงยิงญวนล้มตายในค่ายนอกค่ายทั้งสี่ค่ายเป็นอันมาก เหลือที่จะนับประมาณ ที่เหลือตายก็แตกแหกค่ายหนีไปในปาดงได้บ้าง กองทัพไทยจับญวนเป็นมาได้ ๔๐๐ คนเศษ ได้เครื่องสรรพาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นอันมากทั้งสี่ค่าย จับได้ช้างม้าโคกระบือด้วย ในวันนั้นเวลาเช้า ๓ โมงเศษ ญวนแตกหนีไปได้บ้าง ไทยมีชัยชนะแก่ญวนแล้วจึงได้เผาค่ายญวนเสียทั้งสี่ค่าย การที่ตามปราบปรามพวกญวนนั้นยังไม่เรียบร้อยเป็นปรกติดี
ในเวลาเย็นวันที่ตีค่ายญวนได้แล้ว พอหมื่นรุทถือหนังสือพระยาณรงค์วิไชยนายกองทัพหลังมาเรียนพระยามณเฑียรบาลใจความว่า
 “ญวนทัพใหญ่ตั้งค่าย ๑๔ ค่ายอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำน้อยนั้น บัดนี้ญวนยกรี้พลช้างม้าลงแพไม้ไผ่ข้ามแม่น้ำน้อยจะเดินทัพมาตามตีไทยเป็นแน่ เมื่อขุนพิบูลย์ภักดีไปสืบทัพญวนกลับมาแต่แม่น้ำน้อย เห็นญวนกำลังข้ามแม่น้ำอยู่ ได้ส่งตัวขุนพิบูลย์ภักดีผู้ไปเห็นทัพญวนนั้นมาให้พระยามณเฑียรบาล”
 พระยามณเฑียรบาลได้ทราบข่าวศึกญวนยกมาเป็นทัพขนาบข้างหลังดังนั้นแล้ว คิดดูเป็นศึกใหญ่ จะไว้ใจแก่ราชการไม่ได้ จึงสั่งพระยาราชโยธาให้พาญวนเชลย ๔๒๖ คนที่จับได้แต่ค่ายริมคลองจิกนั้น จงพาเดินล่วงหน้าไปก่อน แต่ให้แต่งไทยเป็นนายคุมไปให้แข็งแรง อย่าให้ญวน ๔๒๖ คนมีเครื่องศาสตราวุธถือได้ แล้วพระยาพระหลวงนายทัพนายกองทั้งหลาย ก็คลี่คลายขยายขบวนทัพเดินเป็นลำดับกันล่าถอยไปโดยเร็ว........”
กองทัพวังหน้าของพระยามณเฑียรบาลกล้าแกร่งมากทีเดียว เผชิญหน้าข้าศึกครั้งแรกก็สามารถเอาชนะได้ไม่ยาก เพราะญวนก็ “ขวัญอ่อน” พอ ๆ กันกับไทย เห็นทหารไทยเดินบนสะพานเรือกข้ามน้ำไปโดยตัวไม่เปียกน้ำ ก็คิดว่าทหารไทยมีวิชาดีเดินเหินบนน้ำได้ จึงเกิดความกลัวจน “ดีฝ่อ” ไม่กล้าสู้รบ พระยามณเฑียรบาลตีค่ายญวนข้างหน้าแตกยับเยินไปแล้ว แต่ทัพหลังที่กำลังยกมานั้นเป็นทัพใหญ่มาก ทัพวังหน้าจึงต้องรีบเดินหนีไปให้เร็วที่สุด จะหนีพ้นหรือไม่ ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, มนชิดา พานิช, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, Paper Flower
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๖ -
พาไพร่พลเป็นหมื่นขึ้นภูเขา จะข้ามเข้าเมืองเขมรรีบเผ่นหนี ญวนยกพลล้นหลามไล่ตามตี มาถึงที่ “เขาม้าเผ่น”เป็นสำคัญ
เชลยญวนนำมาปัญหายิ่ง ต้องฆ่าทิ้งยอมรับบาปมหันต์ ไพร่พลป่วยครวญครางกลางอารัญ คืนกับวันอดน้ำระกำกาย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. มีญวนมาตั้งค่ายสกัดรอตีกองทัพไทยอยู่ใกล้แม่น้ำเก่าชื่อคลองจิก สี่ค่าย พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพวังหน้าพูดกับไพร่พลของตนว่าต้องรีบเร่งตีค่ายญวนให้แตกภายในสามวัน ไม่อย่างนั้นจะถูกทัพใหญ่ญวนที่ไล่ตามมาข้างหลังเป็นทัพขนาบ ไทยจะพายแพ้ญวนแน่นอน ดังนั้นจึงต้องรีบเร่งตีค่ายญวนข้างหน้าให้แตกไปแล้วรีบเดินทัพให้พ้นทัพใหญ่ญวน ถ้าตีค่ายญวนไม่แตกทุกคนก็ช่วยกันเอาดินปืนคลอกตัวเองให้ตายหมดทั้งกองทัพเถิด ดีกว่าจะถูกญวนจับไปเป็นข้า จากนั้นก็สั่งให้ตัดไม้ไผ่มาทำสะพานเรือกเตรียกยกพลข้ามคลองเข้าปล้นค่ายญวนให้ได้ในคืนนี้ แล้วกองทัพวังหน้าก็ปล้นค่ายญวนสำเร็จในคืนนั้น และในวันรุ่งขึ้นก็ได้ข่าวญวนยกทัพใหญ่มุ่งมาตามตีทัพไทย พระยามณเฑียรบาลจึงสั่งดำเนินทัพจากคลองจิกไปโดยเร็ว วันนี้มาอ่านกันต่อครับ...
 “ครั้งนั้น กองทัพไทยเดินพลนิกายทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อถึงท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นท่าเดินตรงไปทางเมืองเขมรโดยเร็วนั้นก็จริง แต่ว่าถ้าจะข้ามที่นี้ จะต้องตัดไม้ไผ่ทำแพให้รี้พล ช้าง ม้า โคต่าง เดินข้ามแม่น้ำโขงไปจึงจะได้ การตัดไม้ไผ่ทำแพนั้นก็จะช้าหลายเวลาอยู่ กลัวญวนทัพใหญ่กองหลังจะตามมาทันทัพเรา เราก็จะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกเป็นแน่ จำเป็นจะต้องเดินทัพไปทางอ้อม ไปข้ามที่ท่าข้ามริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้เขตแดนเมืองลาวเห็นจะดี เพราะที่ท่านั้นตื้น ข้ามรี้พลช้างม้าเดินไปในลำแม่น้ำได้สบาย ไม่ต้องทำแพข้ามแม่น้ำเหมือนที่ท่านี้ นายทัพนายกองทั้งหลายก็เห็นชอบด้วย จึงเดินทัพไปทางอ้อมด้านตะวันออกสองวันสองคืน จึงถึงเชิงเขาแห่งหนึ่งเป็นภูเขาใหญ่โตยืดยาว เนื่องมาแต่เมืองลาวจรดถึงแดนเขมร แล้วเลยไปที่แผ่นดินญวน เป็นภูเขาสูงใหญ่ดังกำแพงกั้นขวางป่าอยู่ เขาใหญ่นั้นเขมรนำทางเรียกชื่อว่า “พนมแสะโลด” (แปลเป็นภาษาไทยว่า เขาม้าเผ่น) เขานั้นยืดยาวไกลนัก จะเดินอ้อมเชิงเขาก็จะช้าหลายวัน กลัวญวนจะตามมาทัน นายทัพนายกองจึงพร้อมใจกันจะเดินกองทัพเป็นทางตรง ๆ ข้ามเขาม้าเผ่นไป จะได้ถึงที่ท่าข้ามฝังแม่น้ำโขงแดนลาวโดยเร็ว
จึงกองทัพทั้งปวงพักพลหยุดอยู่ที่เชิงเขาม้าเผ่นคืนหนึ่ง ก็พอเวลาย่ำรุ่ง กองทัพหน้า ทัพใหญ่ ทัพหลังและทัพทั้งปวงก็เดินพลทหารขึ้นเขาม้าเผ่นไปตั้งแต่เช้าจนย่ำค่ำ ถึงไหล่เขาม้าเผ่น เห็นไพร่พลเดินขึ้นเขามาเมื่อยล้าเหนื่อยอ่อนป่วยไข้ต่าง ๆ โดยมาก จึงสั่งให้พักไพร่พลหยุดกองทัพที่บนไหล่เขาม้าเผ่นนั้น เป็นที่เตียนราบก้างขวางดีนัก เมื่อพักพลอยู่บนไหล่เขานั้นเป็นเวลาสองทุ่มเศษ จึงพระยาราชโยธานายทัพหน้ามีหนังสือบอกข้อราชการมายังพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ฉบับหนึ่งใจความว่า
 “ญวนเชลย ๔๒๖ คนที่ตีได้มาแต่ค่ายคลองจิก แล้วพาเดินมาในกองทัพเราด้วยนั้น แต่ก่อนเมื่อไทยเดินทัพอยู่ข้างล่างไม่ได้ขึ้นมาบนภูเขานี้ ไทยจะใช้สอยให้ญวนหาบหามปืนหลักหักไฟ ทั้งเสบียงอาหารหรือใช้ให้เลี้ยงช้างเลี้ยงม้าโคกระบือ ญวนก็ก้มหน้าก้มตาทำโดยเรียบร้อยฐานเข้ากับเจ้าบ่าวกับนาย มันมีความเกรงกลัวไทยมาก ครั้นเมื่อไทยไล่ต้อนพวกญวนมันเดินขึ้นมาพักหยุดอยู่บนยอดเขาแล้วเวลาค่ำ เมื่อพวกญวนมันอยู่ที่ไหล่เขาเป็นที่สูง มันเห็นแสงไฟในกองทัพญวนพวกของมันที่ยกตามมาข้างหลังไทยนั้น แต่กองทัพญวนที่ตามมานั้นยังอยู่ที่พื้นแผ่นดินราบ ไกลจากเชิงเขาม้าเผ่นนี้มากนัก แต่ญวนเชลยที่อยู่บนไหล่เขานั้น มันไม่เป็นอันหลับอันนอนเลยจนดึกดื่น มันพูดจากันไม่หยุดหย่อน ครั้นนายทัพนายกองใช้มันให้ขนหาบของต่าง ๆ มันก็ทำกิริยากระด้างกระเดื่องไปต่าง ๆ นานาไม่เรียบร้อย ใช้ให้ขนก็สักแต่ว่าขน ให้ให้แบกก็สักแต่ว่าแบก กิริยารับใช้หาเหมือนแต่ก่อนไม่ ครั้นใช้ให้ล่ามแอบคอยฟังพวกญวนมันพูดกันในที่ประชุมมันนั้น ก็ได้ความว่า พวกญวนเชลยมันพูดกันว่า ไฟแดง ๆ หลายสิบดวงที่พื้นแผ่นดินในป่านั้น ไม่ใช่ไฟอื่นเลย เป็นไฟสุมในกองทัพญวนพวกเราตามมาตีไทยเป็นแน่ ถ้าแสงไฟแดง ๆ ใกล้ชิดเข้ามายังเชิงเขาม้าเผ่นในเวลาค่ำหรือดึกวันนี้แล้ว พวกเราก็จะได้ช่วยกันแย่งชิงอาวุธที่มือไทยฆ่าพวกไทยเสียบ้าง พวกเราก็จะหนีลงจากภูเขาไปหาพวกญวนเราที่ตามมา ก็จะได้ช่วยกันทำการจลาจลรบสู้กับไทย ไทยก็จะแพ้แก่ญวน พวกเราก็จะจับพวกไทยเป็นเชลยแก้แค้นได้บ้าง การที่ญวนเชลยมันพูดกันดังนี้แล้ว ซึ่งไทยจะคุมญวน ๔๒๖ คนไว้บนภูเขานี้เป็นที่กันดารนัก เห็นจะเสียท่วงทีแก่ญวนเป็นแน่ กับพวกไทยก็แลเห็นไฟที่ตามพื้นดินนั้นก็เดินใกล้เข้ามาเสมอทุกที เห็นสมกับคำที่ญวนเชลยมันพูดกันนั้น จะขอรับประทานฆ่าพวกญวนเชลย ๔๒๖ คนนี้ให้หมด จะได้สิ้นความที่ห่วงใย ไม่เป็นกังวลไปต่าง ๆ ที่กลางทัพไทย จะได้ตั้งหน้าระวังแต่ข้างหน้าและข้างหลังสองฝ่ายเท่านั้น ซึ่งจะคุมญวนเชลยข้าศึกไว้ในกลางกองทัพไทยนี้ เปรียบเหมือนนำเชื้อไฟไว้ใกล้ดินดำ มีแต่จะเกิดอันตรายฝ่ายเดียว ขอเจ้าคุณจงอนุญาตฆ่าพวกญวนเชลยเสียเถิด”
พระยามณเฑียรบาลทราบความตามหนังสือของพระยาราชโยธาดังนั้นแล้ว จึงมีหนังสือตอบไปใจความว่า “ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยความคิดท่านทุกประการแล้ว แต่จะฆ่าญวนนั้น เห็นว่าญวนถึง ๔๒๖ คน ถ้าจะลงมือฆ่าคนนี้ก่อน คนนั้นเห็นก็คิดต่อสู้บ้าง คนโน้นเห็นก็จะเป็นขบถลุกลามเกิดการจลาจล วุ่นวายฆ่าฟันกันขึ้นมากมายดอกกระมัง เห็นว่าจะเป็นการฆ่ามันลำบากแก่เรานัก ให้นำดินดำคลอกมันเสียให้ตายทั้ง ๔๒๖ คน จะมิดีกว่าฆ่าด้วยหอกดาบหรือ”
พระยาราชโยธาได้ทราบหนังสือพระยามณเฑียรบาลดังนั้นแล้วจึงพูดว่า “เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่นั้นท่านคิดอะไรก็เป็นการยืดยาวไปต่าง ๆ นานาหาควรไม่ จะนำดินดำคลอกฆ่าญวนให้ดินดำของหลวงเสียเปล่า ๆ การที่จะจัดแจงฆ่าญวน ๔๒๖ คนนี้ เป็นภารธุระพนักงานของเราเอง”
พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งหลวงบำรุงภูเบศร์ให้พาล่ามบอกแก่พวกญวนเชลยว่า “อย่างธรรมเนียมไทยถ้าจับเชลยได้แล้ว ต้องหาเชือกมัดมือทุกคนเพื่อจะไม่ให้หนี” บอกแก่ญวนเท่านี้แล้ว ก็หาเชือกมัดผูกข้อมือญวนทั้ง ๔๒๖ คน แล้วก็จูงพาเดินไปที่ท้ายเขาม้าเผ่น ถึงปากเหวใหญ่จึงจูงเดินเลียบไปตามปากเหวไป พอได้ทีก็ผลักญวนต้นเชือกลงไปในเหวแล้วญวนต้นเชือกเป็นของหนัก จึงชักดึงญวนกลางเชือกปลาย ๔๒๖ เชือกผูกร้อยเป็นพวกแถวเดียวกันตกลงไปในเหวหมดทั้ง ๔๒๖ คน ตายสิ้นตามคำสั่งพระยาราชโยธา ครั้นรุ่งเช้าขึ้นเวลาย่ำรุ่ง กองทัพไทยทั้งปวงที่พักอยู่บนไหล่เขาม้าเผ่นนั้น ก็ยกทัพเดินพลนิกายข้ามเขาม้าเผ่นจะลงไปทางตะวันออก พอเดินทัพถึงครึ่งเขาก็พอเวลาเที่ยง แดดร้อนเป็นสามารถ เหลือกำลังไพร่พล เพราะไพร่พลไม่ได้รับประทานน้ำคืนหนึ่งกับวันหนึ่งแล้ว จึงละเหี่ยแดดร้อน เดินไม่ไหวสิ้นกำลังก็ล้มนอนอ่อนระทวยไปหลายพันคน......”
** กองทัพวังหน้ายกหนีทัพใหญ่ญวนข้ามน้ำคลองจิกได้แล้ว ตีปล้นค่ายญวนทั้งสีค่าย ก็ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับข้ามเขาม้าเผ่น พระยาราชโยธาแม่ทัพหน้าของทัพนี้ เป็นคนมีไหวพริบปฏิภาณดี จึงรอดจากการประทุษร้ายของเชลยญวนได้ วิธีฆ่าญวนถึงสี่ร้อยคนเศษของท่านก็พิสดารนักเชียว ตอนนี้กองทัพวังหน้าอยู่ในภาวะคับขับมากแล้ว ทัพใหญ่ญวนยกตามมาติด ๆ ไพร่พลยังข้ามเขาม้าเผ่นไม่พ้น ก็เกิดเจ็บป่วยเพราะขาดน้ำจนหมดแรงนอนระเนนเป็นพัน ๆ คน พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่จะพารี้พลผ่านอุปสรรคด่านสำคัญนี้ไปได้ออย่างไร หรือไม่ ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสทอไท เมืองสุโขทัย ๒๙ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, พรานไพร, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก, Paper Flower, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๗ -
ข้ามเขาม้าเผ่นไปได้อย่างยาก แล้วพบซากทัพไทยได้ช้างหลาย ญวนบอกเล่าทัพก่อนนั้นพากันตาย เพราะมุ่งหมายข้ามโขงตรงนี้เอง
ทัพไทยพบญวนต่างเตรียมตั้งสู้ “ทุ่งชมพู”ราบโล่งไม่โหวงเหวง มากรี้พลม้าช้างไม่วังเวง ต่างลั่นเพลงรบกันสนั่นไป |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่กองทัพวังหน้านำพารี้พลขึ้นเขาม้าเผ่นเพื่อจะยกข้ามไปข้ามแม่น้ำโขงตรงท่าเมืองลาว เดินขึ้นถึงลานกว้างกลางเทือกเขาจึงหยุดพักทัพ พระยาราชโยธารายงานว่าเชลยญวน ๔๒๖ คนที่จับได้และพามาด้วยนั้น เห็นแสงไฟจากกองทัพใหญ่ญวนตามมาไกล ๆ จึงมีปฏิกิริยาจะก่อการจลาจลหนีลงเขาไปหาทัพใหญ่ญวน จึงขออนุญาตแม่ทัพใหญ่ฆ่าญวนทิ้งไปเสียทั้งหมด พระยามณเฑียรบาลให้ใช้ดินดำคลอกญวนเสียทั้งหมด แต่พระยาราชโยธาว่าไม่ต้องคลอกให้ตาย เสียดายดินดำของหลวง จึงขอใช้วิธีการของท่านเอง คือใช้เชือกผูกมือล่ามติดกัน แล้วจูงเดินตามกันเป็นแถวเป็นพรวนเลียบเลาะไปตามปากเหว เมื่อถึงที่ทำเลเหมาะแล้ว จึงผลักคนต้นเชือกให้ตกลงเหว ดึงคนกลางเชือกปลายเชือกตกลงไปตายทั้งหมด เมื่อยกพลเดินทางลงไม่ทันถึงตีนเขา ไพร่พลที่ไม่ได้ดื่มน้ำมานานถึงหนึ่งคืนหนึ่งวันจึงหิวกระหายโหยละเหี่ยอ่อนเพลีย พากันล้มลงนอนหมดแรงนับพันคน วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
“ฝายพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ได้ทราบว่า ไพร่พลอดน้ำอ่อนเปลี้ยละเหี่ยเดินไม่ไหวดังนั้นแล้ว จึงให้นายทัพนายกองไปประกาศแก่ไพร่พลทั้งหลายที่กระหายน้ำนั้นว่า
 “เดิมบิดาของเราเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง (คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) นั้น บิดาเราเป็นนายทัพโดยเสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชสงคราม ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทัพหลวงมาทำศึกกับญวนแต่ก่อนนั้น ได้เดินกองทัพมาทางนี้ ถึงที่เขาม้าเผ่นตำบลนี้ ก็ได้ข้ามเขานี้ไปลงยังเชิงเขาด้านตะวันออก เชิงเขาด้านตะวันออกนั้นมีป่าต้นมะเฟืองเต็มไปทั้งเชิงเขา ในฤดูเดือนนี้กำลังมะเฟืองกำลังมีผลแก่ห่ามและอ่อนดกระย้าห้อยเป็นพวง ผลสุกห่ามงามดีพ้นที่จะรำพัน ถ้าท่านทั้งหลายมีความอุตสาหะแข็งใจดำรงกายเดินลงไปถึงเชิงเขาข้างนี้ที่เรามาหยุดพักเสียกลางทางนั้น ถึงเชิงเขาแล้วก็จะได้ประสบพบเห็นป่ามะเฟืองที่มีผลต่าง ๆ อย่างเราพรรณนาว่ามาแล้วนั้น เราท่านทั้งหลายก็จะได้บริโภคผลมะเฟืองที่สุกห่ามตามปรารถนา จะได้ขบเคี้ยวเล่นเป็นการสำราญบันเทิงเริงรื่นยิงนัก”
เมื่อรี้พลกองทัพที่นั่งนอนอ่อนละเหี่ยแดดกระหายน้ำนั้น ครั้นได้ยินเสียงนายทัพมาร้องประกาศอวดอ้างถึงชื่อผลมะเฟือง ซึ่งเป็นของเปรี้ยวดังนั้นแล้ว ก็มิอาจกลั้นน้ำลายไว้ได้ มีเขฬะไหลหลั่งอกมาจากชิวหาประสาท โดยอำนาจที่ออกชื่อส้มมะเฟืองแล้ว ก็มีน้ำลายไหลออกมากลั้วคอพอชุ่มชื่นมีแรงเป็นกำลัง ปะทะปะทังกายเดินลงจากไหลเขามาได้โดยปกติ จนตลอดถึงเชิงเขาข้างล่างด้านตะวันออกได้ในเวลาบ่าย ๕ โมง ก็หาเห็นป่ามะเฟืองไม่ ได้พบแต่น้ำพุและน้ำในลำธารเป็นที่อาศัยแก่ไพร่พลได้รับประทานเป็นสุข รอดจากความตายได้ทั้งสิ้นด้วยกัน
 ครั้งนั้นมิได้หยุดพักพลให้นอนที่เชิงเขาไม่ เดินทัพเป็นลำดับต่อมาในเวลากลางคืน พอสว่างถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เขมรนำทางเรียกว่า ”ไพรธม” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ป่าใหญ่) กำลังผลไม้ในป่าใหญ่นั้นมีผลออกดกอุดมไปต่าง ๆ หลายอย่าง จึงพักพลหยุดกองทัพที่ป่าใหญ่ ให้ไพร่พลเก็บผลไม้รับประทานพักนอนครู่หนึ่ง พอเวลาบ่ายลมตกก็ให้เดินกองทัพต่อไป ออกจากป่าใหญ่เดินมาตามป่าละเมาะต่อมาถึงริมขอบทุ่งชายป่า เป็นทางใกล้จะถึงท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขง ที่นั้นเขมรนำทางเรียกชื่อว่า “ไพรกำพงฉลอง” (แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า ทุ่งชายป่าท่าข้าม) กองทหารพระยาราชโยธาเป็นทัพหน้าเห็นช้างพลายพังติดปลอกบ้างไม่ได้ติดปลอกบ้าง ปล่อยเที่ยวเดินกินหญ้าอยู่ในป่าบ้างตามท้องทุ่งบ้าง ประมาณช้างห้าสิบเศษ ไม่เห็นมีผู้คนพิทักษ์รักษาก็เข้าใจว่า “คงจะเป็นช้างของเขมรหรือญวนข้าศึกเป็นแน่ แต่เจ้าของมันจะแอบซุ่มเสียที่ใดเป็นมั่นคง หรือมันจะทำเป็นกลอุบายดังเช่นปล่อยม้าอุปการ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ก็สู้กันเป็นไรมีกลัวอะไรแก่มัน”
 พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งพระยาศาสตราฤทธิรงค์ให้คุมไพร่พล ๕๐๐ ยกไปตามจับช้างพลายพังมาให้ได้ แต่ให้แต่งกองร้อยคอยเหตุข้าศึกจะตามมาตีเรา และให้ซุ่มซ่อนอยู่ในทิศานุทิศ สุดแท้แต่อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึกได้แล้วเป็นการดี ฝ่ายพระยาศาสตราฤทธิรงค์คุมไพร่พลออกล้อมจับช้างที่ปล่อยอยู่ตามชายป่าและท้องทุ่งนั้นได้ ๔๖ ช้าง ที่เป็นช้างไม่ติดปลอกและเป็นช้างเปลี่ยวก็หนีเข้าไปในป่าสูญเสียบ้างสัก ๘ ช้าง ๙ ช้าง หาได้ไม่ เมื่อจับช้าง ๔๖ เชือกมาได้แล้ว ไพร่พลในกองทัพไทยบางคนก็จำช้างเหล่านั้นได้บ้างว่า พลายนั้นพังนี้เป็นช้างในกองทัพพระยานครสวรรค์ เมื่อยกมาจากเมืองเขมรเดินมาจะข้ามแม่น้ำโขงนั้น พร้อมกันทั้งทัพวังหน้าและทัพพระยานครสวรรค์ เหตุนั้นพวกไพร่พลในกองทัพวังหน้าจึงจำช้างในกองพระยานครสวรรค์ได้ พระยาราชโยธาจึงว่า “ถ้าเช่นนั้น เห็นทัพพระยานครสวรรค์จะเสียแก่ญวนเสียแล้วแน่”
 ครั้งนั้นพอเวลาสายประมาณ ๓ โมงเศษ ญวนผู้เลี้ยงช้างมันก็ถือขอช้างเดินตามกันมาเป็นแถวจากป่าออกมาที่ทุ่ง เพื่อมันจะมาตามช้างของมัน ฝ่ายไทยเห็นดังนั้นจึงยกทัพม้า ๖๐ ม้าออกอ้อมไล่ญวน แล้วไสช้างเข้าโอบหลังไว้ ทั้งม้าช้างเข้าล้อมไล่จับได้ญวนควาญช้าง ๒๖ คน ที่หนีสูญไปได้ประมาณ ๓๐ คนเศษ เพราะมันเห็นแต่ไกลมันก็หนีไปตามซอกห้วยหลืบเขาตามตัวหาได้ไม่ พระยาราชโยธาสั่งให้หลวงประจญปัจจามิตรพาพวกญวน ๒๖ คน ไปมัดมือมัดเท้าโยงกับหลักแยกห่าง ๆ กัน เฆี่ยนถามได้ความว่า
 “กองทัพพระยานครสวรรค์แม่ทัพไทยล่าถอยมาจากเมืองไซ่ง่อน เดินทัพมาจะข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าข้ามตรงนี้ ได้รบกับญวน ญวนฆ่าไทยตายประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ แต่ไพร่พลนายทัพนายกองไทยก็ตายหมดประมาณ ๕๐ คน ญวนฆ่าไทยทั้งนายและไพร่ไม่เหลือเลย แล้วบอกไปยังแม่ทัพใหญ่ที่ตั้งอยู่แม่น้ำน้อย แม่ทัพใหญ่ที่แม่น้ำน้อยโกรธองตานแม่ทัพแม่น้ำโขงว่า ฆ่ากองทัพพระยานครสวรรค์เสียหมดทั้งนายและไพร่ ๑,๐๐๐ เศษ ไม่จับเป็นส่งไป จะได้ไต่ถามข้อราชการบ้าง จึงใช้ให้องเกี้ยวดายขุนนางกรุงเว้มาเป็นแม่ทัพที่แม่น้ำโขงแทนองตาน ส่วนแม่ทัพเก่า ๆ นั้นเรียกให้กลับขึ้นไปเสียยังแม่น้ำน้อยก็ได้ทำโทษเสียแล้ว จะฆ่าเสียหรือส่งไปไว้ในคุกยังเมืองเว้หาทราบไม่ บัดนี้องเกี้ยวดายแม่ทัพใหม่คุมไพร่พลญวน ๘,๐๐๐ ยกไปตั้งรออยู่ที่ฟากฝั่งแม่น้ำโขงข้างเหนือ คอยสกัดกองทัพไทยที่จะล่าทัพเดินมาข้ามตรงนี้ ญวนจะได้ตีให้เหมือนกับทัพพระยานครสวรรค์นั้นอีก แต่ว่าช้างนี้เป็นช้างของไทยที่ตายหมด ญวนตีได้ ๘๔ ช้าง แบ่งไปเลี้ยงฝั่งแม่น้ำโขงฟากตะวันออกโน้นบ้าง แบ่งให้พวกข้าพเจ้ามาเลี้ยงที่นี่บ้าง ๕๔ ช้าง ไทยจับมาได้ ๔๖ ช้าง ที่หนีเข้าป่าไปเสีย ๘ ช้าง พวกที่เลี้ยงช้างหนีไปได้นั้น ๓๘ คน ทั้งนายกองช้าง ๒ คนก็หนีไปได้ แต่พวก ๓๘ คนที่หนีไปได้นั้นเห็นจะไม่กลับบ้านเมือง เพราะอาชญาญวนดุร้ายยิ่งหนัก ตายเสียดีกว่าจะให้นายทำโทษ ทำโทษแล้วลำบากทรมานต่าง ๆ กว่าจะตายแสนเวทนายิ่งนัก ถึงพวกที่เลี้ยงช้างอย่างข้าพเจ้านี้ หรือพวกที่หนีไปได้ ๓๘ คนนั้น บุตรภรรยาบิดามารดาพวกข้าพเจ้าเหล่านี้ ต้องที่ตายหมดไม่เหลือ ขอท่านจงเมตตาอย่าฆ่าพวกข้าเจ้านี้เลย ข้าพเจ้าจะได้นำท่านไปจับช้างอีก ๘ ช้างที่หนีเข้าป่าให้ได้ทั้งหมด”
สิ้นคำให้การญวน ๒๖ คนเท่านี้ พระยาราชโยธาได้ทราบคำให้การญวนดังนั้นแล้วจึงว่า “เราจะไปตามจับช้าง ๘ ช้างนั้น เหมือนจะให้ญวนมาฆ่าพวกเราเสียหมดทั้งกองทัพ เล่ห์กลญวนมากนัก ชั้นแต่คนไพร่เลี้ยงช้างก็ยังมีกลอุบายล่อลวงให้เราไปตามช้างในป่า มันจะให้เราอยู่ที่นี้ช้า ๆ ให้พวกมันมาฆ่าพวกเราเป็นแน่”
 พูดเท่านั้นแล้วสั่งให้ขุนปราบไพรีพาพวกญวน ๒๖ คนไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้ แล้วให้ตัดศีรษะเสียบไว้ตามชายป่านี้ ให้เป็นอำนาจแก่แม่ทัพไทยที่ยกไปจากที่นี่ ฆ่าญวน ๒๖ คนแล้ว จึงสั่งให้เตรียมทัพให้พร้อมทุกกอง จะยกลงไปรบกับญวน แล้วจึงยกทัพออกจากชายป่า ยกลงไปยังท้องทุ่งนี้ สั่งให้ตั้งค่ายไม้ไผ่พอจะได้รับทัพญวนบ้าง ได้ตั้งค่ายไม่ไผ่ที่ท้องทุ่งนั้นเขมรนำทางเรียกชื่อว่า “วาละแสด” (แปลเป็นภาษาไทย ทุ่งชมพู) เพราะดินที่ที่ท้องทุ่งนั้นแดงทั้งสิ้น ถึงท้องทุ่งชมพูแล้วกองทัพไทยกำลังไปตัดไม้ไผ่จะมาทำค่ายบ้าง กำลังทำงานกะที่ทางจะตั้งค่ายบ้าง
 พอหลวงเดชอัศดรนายทัพม้าคุมทหารม้า ๕๐ ม้าไปสืบทัพญวนกลับมาแจ้งความว่า “ได้เห็นญวนตั้งชุมนุมใหญ่อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้าม มีรี้พลช้างม้ามาก” เมื่อหลวงเดชอัศดรกำลังพูดอยู่นั้น ยังไม่ทันจะสิ้นข้อความลง พอหลวงไชยเสนีกับหลวงภักดีโยธาไปลาดตระเวนถึงชายป่ากลับมาแจ้งความว่า
“เห็นญวนยกทัพใหญ่มาเต็มทั้งท้องทุ่งแล้ว รี้พลช้างม้าและพลเดินเท้ามากมายนัก เราจะรับมันที่นี่เห็นจะไม่ได้”
 พระยาราชโยธาว่า “ทำไมจะไม่ได้ เราพบมันที่ไหนก็จะรบมันที่นั่น พวกไทยเราเว้ยอย่ากลัวญวนหนักเลย เลือดเนื้อญวนไม่ใช่เหล็ก มันกับเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน พอสู้กับมันได้ดอกอย่ากลัวมันเลย ให้ตั้งใจคิดถึงคุณพระรัตนตรัยและคุณพระมหากษัตริย์ คุณบิดามารดาครูบาอาจารย์ แล้วจงตั้งหน้าสู้ให้เต็มฝีมือสักพักหนึ่งหรือสองพัก ญวนก็จะแตกหนีไปหมด จะสู้พวกไทยที่ไหนได้เล่า แต่ฝีมือพม่ากล้าหาญแข็งแรงกว่าญวน พม่ายังสู้พวกไทยไม่ได้ ครั้งทัพปากแพรกและลาดหญ้าพม่ายังแตกไปหมดไม่ใช่ฝีมือพวกเราหรือ? ทำไมกับฝีมือญวนอ่อน ๆ เราตีเสียพักเดียวก็จะแตกไปสิ้น”......
 ** พระยามณเฑียรบาลท่านมีวิธีการชาญฉลาด สามารถนำป่ามะเฟืองมาทำให้ไพร่พลกลืนกินน้ำลายจนมีกำลังวังชาเดินลงจากเขาม้าเผ่นได้ นับเป็นกุศโลบายที่ดีมาก ข้ามพ้นเทือกเขาม้าเผ่นมาได้ด้วยความลำบาก แทนที่จะข้ามแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวกสบาย กลับมาพบอุปสรรคสำคัญกีดวางอยู่ คือกองทัพอันมหึมาของญวนที่องเกี้ยวดายเป็นแม่ทัพ คุมไพร่พล ๘,๐๐๐ คน มาตั้งดักรออยู่ ตอนนี้ทัพระยาราชโยธากองหน้า พบกองทัพญวนในกลางทุ่งชมพูแล้ว จะรบกันจนเลือดแดงฉานท่วมท้องทุ่งหรือไม่ รออ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, พัฒนาการ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, Paper Flower, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๘ -
กองหน้าไทยไสช้างเข้ากลางทุ่ง แล้วรบพุ่งญวนผยองมากองใหญ่ ถูกกองซุ่มแปดร้อยตำรวจไทย ยิงปืนไล่ตายเกลื่อนทุ่งชมพู
กองช้างไทยไล่แทงอย่างแข็งขัน ทัพญวนนั้นยับย่อยถอยไม่สู้ ไทยกำลังไล่ฟันแทงพันตู หยุดเมื่อรู้ญวนใหญ่ยกตามมา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยามณเฑียรบาลใช้กุศโลบายนำพาไพร่พลยกลงจากภูเขาม้าเผ่นได้โดยสวัสดิภาพ เดินทางมาใกล้จะถึงท่าข้ามแม่น้ำโขงเมืองลาว พบฝูงช้างในกองทัพพระยานครสวรรค์ที่ญวนจับได้เลี้ยงไว้จำนวนหนึ่ง ทราบจากญวนเลี้ยงช้างที่จับได้ว่า กองทัพพระยานครสวรรค์ยกมาจะข้ามแม่น้ำโขงตรงท่าข้ามนี้ แล้วได้รบกับกองทัพญวน ถูกญวนฆ่าตายสิ้นทั้งกองทัพแล้ว พระยาราชโยธาแม่ทัพกองหน้ายกเดินออกจากชายป่าถึงทุ่งชมพู พบทัพใหญ่ญวนยกมา จึงเตรียมตั้งหลักสู้รบญวนที่กลางทุ่งชมพูนั้น วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ......
 “พระยาราชโยธาพูดกับนายทัพนายกองเท่านั้นแล้ว จึงสั่งพระคชภักดีให้เป็นแม่ทัพช้าง ให้คุมไพร่พล ๕๐๐ ยกกองช้างออกจากป่าไปรับกับญวนที่ท้องทุ่งก่อน แล้วสั่งกองทัพตำรวจสี่กรมเป็นไพร่พลถึง ๘๐๐ ให้กองตำรวจถือปืนคาบศิลายกไปนอนแอบอยู่ตามคันนา คอยยิงกองทัพญวนให้แตกไปให้ได้ แล้วพระยาราชโยธาก็ขึ้นม้านำทหารม้า ๑๐๐ ม้าเศษ ไปยืนม้าไล่ต้อนทัพตำรวจให้เข้ารบกับญวน ญวนก็ยกทัพใหญ่มาถึงท้องทุ่ง ได้ปะทะกันกับกองช้างพระยาวิชิตภักดี พระยาวิชิตภักดีให้พระคชภักดีขี่ช้างไล่ต้อนพลทหารช้างเข้าสู้กับญวนครึ่งวัน ฝายญวนแบ่งกองทัพวกอ้อมเดินมาตามชายทุ่ง จะเข้าตีทัพช้างข้างหลัง กองทัพตำรวจแอบคันนาเห็นทัพญวนกองเดินเท้ายกมาใกล้คันนา กองตำรวจก็ลุกขึ้นยิงปืนระดมไปดังห่าฝน ถูกไพร่พลญวนตายมากที่เหลือตายทนกระสุนไม่ได้ก็แตกถอยล่ากลับไป ญวนและไทยตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายญวนตายมาก พอเวลาเย็น ทัพช้างฝ่ายไทยก็ยกไล่ทัพช้างฝ่ายญวน ญวนจึงเสียที ก็ล่าหนีถอยทัพข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งฟากตะวันตกได้มาก
 ฝ่ายกองทัพพระยาวิชิตภักดีจึงไล่ต้อนพลทหารช้างให้แทงกองทัพญวนล้มตายตามทางท้องทุ่งตลอดไปถึงฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้าม ญวนก็ยกทัพข้ามแม่น้ำโขงไปหมด ทัพช้างกองพระยาวิชิตภักดี ก็แบ่งให้พระวิชิตภักดีข้ามแม่น้ำโขง ไล่ติดตามญวนไปจนฝั่งฟากข้างโน้น ขณะนั้นพอม้าเร็วนำหนังสือบอกของพระยาณรงค์วิไชยนายทัพหลังส่งมาแจ้งความว่า “ญวนที่ค่ายแม่น้ำน้อยยกกองทัพใหญ่ติดตามมาข้างหลังกองทัพไทย” พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ได้ทราบความตามหนังสือบอกดังนั้นแล้ว จึงสั่งขุนเจนใจหาญให้ขึ้นม้าเร็วถือต้นหนังสือบอกข่าวทัพญวนมาข้างหลังนั้นไปให้พระยาราชโยธา พระยาราชโยธาทราบแล้ว จึงให้ขุนเจนใจหาญกับหลวงปราบไพรินทร์ขึ้นม้ารีบไปบอกพระยาวิชิตภักดีกองช้างที่ตามญวนไปนั้น ให้ถอยทัพกลับมาโดยเร็ว เพราะญวนทัพใหญ่มาข้างหลังเรามาก พระยาวิชิตภักดีก็กลับมาที่ประชุมทัพพร้อมกันที่ทุ่งชมพูแล้ว
 ขณะนั้นพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ จึงมีคำสั่งพระยาราชโยธานายทัพกองหน้า และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งปวง ให้เดินกองทัพเลียบริมฝั่งลำแม่น้ำโขงไปข้ามที่ท่าข้ามใกล้เขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์ลาว เห็นจะดีกว่าที่จะข้ามทางเมืองเขมร เมืองเขมรนั้นเป็นทางใกล้ ตรง ก็จริง แต่กองทัพเราจะต้องเป็นศึกกระหนาบ อีกประการหนึ่งเล่าฝ่ายกองเราก็ไม่ทราบว่ากองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจะแตกเสียแก่ญวนแล้ว หรือว่าถอยทัพกลับไปได้ประการใดก็ยังไม่ทราบการตลอดแน่ได้ กลัวทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจะเป็นเหตุร้ายเช่นทัพพระยานครสวรรค์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้วไซร้ ทัพเราไปทางเมืองเขมรก็เห็นจะพลอยเสียลงด้วยกันเป็นสามทัพ
 แล้วพระยามณเฑียรบาลสั่งให้กองทัพตำรวจทั้งแปดกองเป็นทัพแซง ให้กองพระพรหมธิบาลเป็นทัพแซงขวา ให้กองพระอินทร์ธิบาลเป็นทัพแซงซ้าย แล้วสั่งกองทัพตำรวจทุกกองนั้น ให้อยู่ในกองพระพรหมธิบาลและพระอินทร์ธิบาลทั้งสิ้น แล้วสั่งให้พระยาสุรินทร์ราชเสนี กับพระยาสุเรนทร์ราชเสนา คุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปทางเมืองลาว ให้รีบเดินทัพไปสืบข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพหลวงนั้นจะไปตั้งอยู่ที่ใดแน่ จะเสียทัพแก่ญวนหรือจะกลับกรุงเทพฯ แล้ว ถ้าสืบไม่ได้ความให้เดินทัพไปจนถึงเมืองสุรินทร์เมืองสังขะ แล้วจะได้ถ่ายเสบียงบรรทุกโคต่างลำเลียงส่งมาให้กองทัพพระยาราชโยธาให้ได้ในเดือนนี้
ฝ่ายพระยาสุรินทร์ราชเสนี พระยาสุเรนทร์ราชเสนา ทั้งสองทัพไปด้วยกันสักหน่อยก็แตกความสามัคคีร้าวฉาน เกิดการทะเลาวิวาทถกเถียงกันขึ้นในกลางทาง จึงโกรธกันขึ้นแล้วต่างคนต่างแยกย้ายทางไป ไม่ได้เดินทัพไปทางเดียวกัน แบ่งคนไปกองละ ๒๕๐ คน ฝ่ายกองทัพพระยาสุเรนทร์ราชเสนารีบเดินไปจนถึงเมืองอัตปือ สืบถามลาวเขมรชาวเมืองนั้นได้ความว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาดฝ่ายเขมรแล้ว และบัดนี้เกือบจะกลับทัพไปกรุงเทพฯ อยู่แล้ว จึงให้ขุนเพชรพลไชยขึ้นม้าคุมไพร่พล ๕๐ มาแจ้งความยังทัพพระยามณเฑียรบาล
 แต่กองทัพพระยาสุรินทร์ราชเสนีนั้นเดินทัพไปช้า ๆ ถ้าถึงบ้านใดเมืองใดก็ให้พักพลหยุดพัก แล้วเที่ยวหาบุตรหญิงลาวและเขมรตามทางไปทุกเมือง ได้มาเป็นภรรยาพักไปตามทาง พวกเขมรป่าดงขัดใจยิ่งนัก ลอบมานำหน้าไม้ยิงถูกที่อกพระยาสุรินทร์ราชเสนีตกช้างลงมาตาย ที่ตำบลนั้นเขมรเรียกชื่อว่า “สรกกูบดำรีเนากะนงไพรซอง” (แปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า ชื่อบ้านกูบช้างอยู่ในป่าดง) เกือบจะถึงเมืองธานีฝ่ายลาวเขมรป่าดงอยู่แล้ว
ครั้งนั้นหลวงราชเดชาลูกกองจึงปรึกษากับพระยาโยธาสงครามเขมรเก่าอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลูกกองไปด้วยกันนั้นว่า “พระยาสุรินทร์ราชเสนีแม่กองมาตายเสียตามทางอย่างนี้แล้ว เราจะคุมไพร่พลกลับไปหาพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ดี หรือว่าจะไปสืบราชการให้ถึงเมืองสุรินทร์จึงจะดี”
ฝ่ายพระยาโยธาสงครามตอบว่า “แม่ทัพนายกองมาตายเสียกลางทางดังนี้ ชอบที่เราจะคุมไพร่พลไปสืบราชการให้ถึงเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่จึงจะชอบด้วยราชการ”
หลวงราชเดชาตอบว่า “ซึ่งเราจะไปเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะนั้นหาควรไม่ ควรแต่จะต้องกลับไปแจ้งข้อราชการให้แม่ทัพใหญ่ทราบความเสียก่อนจึงจะชอบด้วยราชการ”
 ซึ่งปรึกษาราชการนั้นไม่ตกลงแก่งแย่งกันดังนี้แล้ว ก็เกิดวิวาทแตกร้าวสามัคคีกันอีกชั้นหนึ่ง จึงต้องแบ่งไพร่พลออกเป็นสองกอง กองละ ๑๒๕ คน พระยาโยธาสงครามก็คุม ๑๒๕ คนเดินไปสืบราชการยังเมืองลาวเขมรป่าดงตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่ ฝายหลวงราชเดชาก็คุมไพร่พล ๑๒๕ คนเดินกลับย้อนทางมาหาท่านแม่ทัพใหญ่ แต่ยังไม่ถึงแม่ทัพใหญ่ยังกำลังเดินอยู่กลางป่า ฝ่ายไพร่พล ๑๒๕ คนนั้นกลัวว่าเดินกลับไปจะพบทัพญวน ทัพญวนจะฆ่าตายเปล่า ๆ เพราะคนน้อยนัก ไพร่พลในกองไม่เต็มใจไปด้วยหลวงราชเดชา ไพร่จึงพากันหนีกลับมาตามกองทัพพระยาโยธาสงคราม พระยาราฃสงครามได้พลไพร่มากแล้วก็เดินไปถึงเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ
 ฝ่ายหลวงราชเดชามีคนที่สนิทติดตามไปด้วยนั้น ๔๖ คน ก็อุตสาหะเดินมาตามทางป่า แต่ยังไม่ทันจะข้ามแม่น้ำโขง ขณะนั้นพบเขมรป่าดง เขมรป่าดงพูดว่า “อ้ายไทยพวกนี้แหละมันฉุดบุตรภรรยาของพวกเราไปทำชำเราเนือง ๆ เราอย่าไว้ชีวิตพวกไทยเลย” พวกเขมรป่าดงพูดเท่านั้นแล้ว ก็ขี่กระบือและช้างบ้างยกเข้าล้อมไทย เขมรนำปืนยิงถูกพวกหลวงราชเดชาตาย ๔๐ คน แต่หลวงราชเดชานั้นเขมรจับไปได้ทั้งเป็น นำขวานผ่าอกตายในที่นั้น ไพร่พลในกองหลวงราชเดชาเหลือตายหกคน หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่า แต่พอพวกเขมรเหล่าร้ายไปหมดแล้ว พวกไทยหกคนพากันเดินมาหาพระยาราชโยธาได้ จึงได้แจ้งความตามเหตุที่เกิดขึ้นแต่ต้นจนปลายนั้นแล้ว (หลวงราชเดชาและพวกไพร่ไทย ๔๐ คนที่ตายนั้น ต้องกับคำไทยโบราณว่า “คบคนดีเป็นศรีกับตัว คบคนชั่วอัปราชัย” ความข้อนี้ได้แก่หลวงราชเดชาคนดีไปคบกับพระยาสุรินทร์ราชเสนีคนชั่วเช่นนั้น หลวงราชเดชาจึงพลอยตายไปด้วย)........”
 ** กลยุทธพระยาราชโยธาแม่ทัพหน้าของกองทัพวังหน้าใช้ได้ผลดียิ่ง กองทัพญวนที่ยกมาเต็มท้องทุ่งชมพู ครั้นปะทะกับกองทัพของพระยาราชโยธา ช้างต่อช้างสัประยุทธ์กันในทุ่งกว้างนานเป็นครึ่งวัน พอพลญวนดินเท้ายกอ้อมหมายตีตรลบหลังกองช้างไทย กองกำลังตำรวจแปดร้อยนายที่แอบซุ่มอยู่ตามคันนา ก็ลุกขึ้นยิงปืนระดมใส่ญวนตายเป็นใบไม้ร่วง ต้องรีบถอยหนีกลับไปสิ้น กองช้างไทยเห็นได้ทีก็ไล่แทงทั้งช้างทั้งคนแตกกระเจิงหนีลงน้ำข้ามโขงไป กองช้างก็ข้ามน้ำตามไล่แทงไม่ลดละ พอดีพระยามณเฑียรบาลได้รับหนังสือด่วนบอกมาจากกองระวังหลังว่า ทัพใหญ่ญวนจากแม่น้ำน้อยกำลังยกตามมาแล้ว จึงสั่งให้ทัพไทยกองหน้าถอยกลับมาก่อน แล้วตกลงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพไปข้ามที่นครจำปาศักดิ์ ให้พระยาสุรินทร์ราชเสนี พระยาสุเรนทร์ราชเสนา ยกข้ามไปก่อน แล้วสืบข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ทั้งให้ขนถ่ายเสบียงอาหารจากเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ มาใส่ทัพพระยาราชโยธาด้วย แต่พระยาทั้งสองเกิดแตกคอกันกลางทางจนต้องแยกทางกัน พระยาสุเรนทร์ราชเสนาไปถึงเมืองอัตปือ ได้ข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้วส่งรายงานแม่ทัพวังหน้า ส่วนพระยาสุรินทร์ราชเสนี เดินทางไปสุรินทร์ทำตัวไม่ดี ถูกเขมรป่าดงใช้หน้าไม้ยิงตกหลังช้างตายกลางทาง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ไว้มาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, Paper Flower, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙๙ -
เดินทัพมุ่งจำปาศักดิ์ไม่พักท้อ พบโจรฮ่อนับร้อยเหมือนคอยท่า รอถลักดักปล้นทั้งคนม้า เคยปล้นฆ่ามามากจากเมืองพวน
กองทัพหน้าจับไว้ได้ทั้งสิ้น โจรพลัดถิ่นถูกตัดมือตีนด้วน ปล่อยตามทางกลางไพรไว้ขู่ญวน แล้วขบวนทัพไทยพ้นภัยพาล
|
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. กองทัพญวนยกมาเต็มท้องทุ่งชมพู ปะทะกับกองทัพของพระยาราชโยธา ช้างต่อช้างสัประยุทธ์กันในทุ่งกว้างนานเป็นครึ่งวัน พอพลญวนดินเท้าวกอ้อมหมายตีตรลบหลังกองช้างไทย กองกำลังตำรวจแปดร้อยนายที่แอบซุ่มอยู่ตามคันนา ก็ลุกขึ้นยิงปืนระดมใส่ญวนตายเป็นใบไม้ร่วง ต้องรีบถอยหนีกลับไปสิ้น กองช้างไทยเห็นได้ทีก็ไล่แทงทั้งช้างทั้งคนแตกกระเจิงหนีลงน้ำข้ามโขงไป กองช้างก็ข้ามน้ำตามไล่แทงไม่ลดละ พอดีพระยามณเฑียรบาลได้รับหนังสือด่วนบอกมาจากกองระวังหลังว่า ทัพใหญ่ญวนจากแม่น้ำน้อยกำลังยกตามมาแล้ว จึงสั่งให้ทัพไทยกองหน้าถอยกลับมาก่อน แล้วตกลงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพไปข้ามที่นครจำปาศักดิ์ ให้พระยาสุรินทร์ราชเสนี พระยาสุเรนทร์ราชเสนา ยกข้ามไปก่อนแล้วสืบข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ทั้งให้ขนถ่ายเสบียงอาหารจากเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ มาใส่ทัพพระยาราชโยธาด้วย แต่พระยาทั้งสองเกิดแตกคอกันกลางทางจนต้องแยกทางกัน พระยาสุเรนทร์ราชเสนาไปถึงเมืองอัตปือ ได้ข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้วส่งรายงานแม่ทัพวังหน้า ส่วนพระยาสุรินทร์ราชเสนีเดินทางไปสุรินทร์ทำตัวไม่ดี ถูกเขมรป่าดงใช้หน้าไม้ยิงตกหลังช้างตายกลางทาง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......
ฝ่ายพระยาราชโยธาทัพกองหน้าเดินทัพถอยไปทางป่าตะวันออก แต่กองทัพใหญ่และทัพหนุนทั้งปวงจึงเดินตามทัพหน้าเป็นลำดับไป ครั้งนั้นทัพพระยาราชโยธาเดินรีบรุดไปก่อน จึงพบพวกจีนฮ่อกองโจรป่าตั้งอยู่กลางดงไม้หอม พวกจีนฮ่อเห็นทัพม้ากองหน้าของพระยาราชโยธาเดินมาก่อน ๖๐ ม้า น้อยกว่าพวกจีนฮ่อ พวกจีนฮ่อก็ยกเข้าต่อสู้ ไทยกับจีนฮ่อได้ต่อสู้รบกันตั้งแต่เวลาย่ำรุ่งจนถึงสามโมงเช้ายังไม่แพ้ชนะกัน
ขณะนั้นพอกองหลวงอภัยภักดีคุมไพร่พลกองแก้วจินดาถือปืนหามแล่นร้อยเศษยกลงไปถึง จึงเห็นกองม้าเข้าต่อสู่อยู่กับพวกจีนฮ่อเป็นสามารถ หลวงอภัยภักดีเห็นทหารม้าไทยตายบ้าง จึงไล่ต้อนไพร่พลร้อยเศษ ให้นำปืนหามแล่นวิ่งเข้าไปตั้งเป็นตับยิงพวกจีนฮ่อพักเดียว พวกจีนฮ่อล้มตายลงมาก ที่เหลือก็แตกหนีไป ทหารก็ไล่ล้อมตามจับได้มาก พวกจีนฮ่อหนีไปไม่รอดสักคนเดียว กองทัพม้าและพลเดินเท้าตามจับพวกจีนฮ่อมาได้ ๒๑๒ คน ส่งมาให้พระยาราชโยธา พระยาราชโยธาให้ล่ามถามได้ความว่า
“เป็นพวกจีนฮ่อกองโจรป่ามาแต่เมืองกวางหนำ มาตีบ้านลาวเมืองลาวในแขวงเมืองพวน ได้เงินทองสิ่งของมากแล้วก็ยกมาทางนี้ หมายจะไปปล้นเมืองตังเกี๋ย ก็หาสมความคิดไม่ เพราะที่เมืองตังเกียนั้นมีกองทัพญวนยกไปตั้งอยู่มาก เพื่อจะไปรบไทยที่ยกขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง เมื่อกองญวนที่เมืองตังเกี๋ยไล่ตีพวกจีนฮ่อ พวกจีนฮ่อจึงหนีข้ามเข้าลัดป่ามาทางนี้ หมายใจจะได้ไปทางเมืองกำปอดเขมร ก็พอมาพบกองทัพไทยเข้าที่นี่ จึงได้รบกันดังนี้เป็นสามารถ”
เมื่อพระยาราชโยธาได้ฟังคำให้การพวกจีนฮ่อดังนั้นแล้วก็เข้าใจว่า “เจ้าพระยาธรรมา และพระมหาเทพ พระราชวรินทร์ แม่ทัพทั้งสามกองนั้นยกไปทางเมืองลาวหลวงพระบาง จะไปตีเมืองพวนและเมืองหัวพันสิบสองปันนาลาวที่ขึ้นแก่ญวน ญวนจึงได้ยกทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองตังเกี๋ย เพื่อจะได้ไปต่อรบกับไทยที่เมืองพวนนั้นด้วย ครั้งนี้ไทยกับญวนเป็นศึกกันใหญ่โตแน่”
ครั้งนั้นพระยาราชโยธาได้สิ่งของในกองทัพจีนฮ่อนั้น คือทองคำทรายและทองคำรูปพรรณต่าง ๆ รวมทองคำหนักสิบชั่ง เพชรพลอยต่าง ๆ ถุงหนึ่ง กับเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ พร้อมแล้วตรวจศพจีนฮ่อที่ถูกอาวุธไทยตายเมื่อรบกันนั้น จีนฮ่อตายในที่รบ ๖๔ คน ที่ไทยล้อมจับได้ ๒๑๒ คน จึงทราบว่าพวกจีนฮ่อมีไพร่พล ๒๗๘ คนเท่านี้ ยังกล้าสามารถเป็นโจรกรรมไปตีบ้านเมืองใหญ่ ๆ ที่ไพร่พลตั้งพันตั้งหมื่นให้แตกไป เก็บได้เงินทองมามากนัก เพราะความกล้าหาญของพวกจีนฮ่อที่ขัดสนจนยากไม่มีจะกินและสูบฝิ่นด้วย จึงได้กล้าเป็นโจรผู้ร้ายเที่ยวปล้นสะดม พระยาราชโยธาสั่งให้หลวงอภัยภักดีพาพวกจีนฮ่อ ๒๑๒ ไปตัดเท้าตัดมือทั้งสองข้าง ปล่อยไว้ตามทางในป่าให้เป็นแถวรายห่าง ๆ ไปตามทางเดินตลอดทางในดงไม้หอมนั้น เพื่อจะให้กองทัพญวนที่ตามมาข้างหลังจะได้เห็นเป็นอำนาจของกองทัพไทย
ครั้นตัดเท้าตัดมือพวกจีนฮ่อโจร ๒๑๒ คนนั้นแล้วก็เดินทัพต่อมาถึงตำบลหนึ่ง เขมรนำทางเรียกชื่อว่า “อันลุงถมอส่อ” (แปลเป็นภาษาไทยว่าแก่งหินขาว) สั่งให้หยุดพักพลที่นั้นเป็นเวลาค่ำมืดจะเดินต่อไปเป็นการลำบากนัก จึงให้ไพร่พลหยุดนอนที่นั้นคืนหนึ่ง ในค่ำวันนั้นมีพวกเขมรเหล่าร้ายลอบแอบนำปืนมายิงถูกคนไทยในกองทัพไทยตาย ๔ คน แล้วพวกเขมรเหล่าร้ายก็วิ่งหนีเข้าหุบห้วยเชิงเขาไปเสียสิ้น แต่พวกเขมรลอบยิงแล้วหนีไปเสียเช่นนี้คืนเดียวหกครั้งคอยจับก็ไม่ได้
รุ่งขึ้นพระยาราชโยธาก็ยกทัพเดินต่อไป พอเวลายามเศษถึงที่ตำบลหนึ่ง เขมรนำทางเรียกชื่อว่า “อันลุงถมอตึกโหตึกถลัก” (แปลเป็นภาษาไทยว่าแก่งหินน้ำโจนน้ำตก) สั่งให้พักไพร่พลหยุดนอนที่แก่งน้ำโจนน้ำตกคืนหนึ่ง ได้แต่งให้กองคอยจับพวกเขมรเหล่าร้ายให้ได้ ในคืนวันนั้น พวกเขมรเหล่าร้ายแอบลอบเข้ามาอีก นำปืนยิงถูกองซุ่มคนไทยในกองนั่งยามตาย ๒ คน กองซุ่มก็ตามไล่จับพวกเขมรที่ลงมือยิงปืนนั้นได้ ๔ คน พามาส่งพระยาราชโยธา พระยาราชโยธาให้ล่ามถามพวกเขมร พวกเขมรให้การว่า
“ซึ่งลอบยิงคนไทยตายนั้น เพราะเจ็บอกช้ำใจที่กองทัพไทยยกมาทางตะวันตกแต่ก่อน พากันจับบุตรภรรยาของเขมรป่าดงไปทำชำเราเนือง ๆ ครั้งนั้นพวกเขมรชาวบ้านปาดงช่วยกันล้อมจับนายทัพไทยชื่อพระยาสุรินทร์ราชเสนีฆ่าเสียแล้ว แล้วครั้งหลังพวกเขมรบ้านแม่น้ำโขงตามจับนายทัพไทยอีกคนหนึ่งชื่อหลวงราชเดชา นำขวานผ่าอกตายแล้วฆ่าไพร่ตาย ๔๐ คน แต่พวกข้าพเจ้านี้ยังไม่ได้แก้แค้นแก่ไทยเลย จึงได้ตามมาลอบยิงฆ่าพวกไทยนี้อีกด้วย เพราะเข้าใจว่าไทยพวกเดียวกัน”
พระยาราชโยธาได้ฟังคำให้การพวกเขมรดังนั้นแล้วก็หายโกรธพวกเขมร กลับโกรธพวกไทยมากนักว่า
“พวกไทยเรานี้ข่มเหงทำเขมรก่อน เขมรมันก็ต้องทำตอบแทนแก้แค้นบ้าง”
พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งขุนชำนาญเขมรล่ามให้สักหน้าพวกเขมรเหล่าร้าย ๔ คนนั้นเป็นหนังสือเขมรมีความว่า “โทษฆ่าคนตาย” สักหน้าแล้วปล่อยไปไม่ฆ่าทั้ง ๔ คน ตั้งแต่นั้นต่อมาไทยจะเดินกองทัพเมื่อยล้าหรือจะพักหยุดที่ใดก็มีความสุขสบาย หาอันตรายมิได้ พวกเขมรเหล่าร้ายมิได้ลอบมายิงไทยอีกเลย กองทัพไทยก็เดินทัพกลับมาโดยสวัสดิภาพสะดวกสบาย หาอันตรายมิได้ตลอดทาง มาจนเข้าเขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์พร้อมกันทุกทัพทุกกอง (สมคำโบราณวาไว้บทหนึ่งว่า เรามิตรจิตเขาก็มิตรใจบ้าง)....
จีนฮ่อชาวเมืองกวางหนำจิตใจและร่างกายเข้มแข็งมาก สามารถยกมาตีปล้นเมืองพวนและตังเกี๋ย แล้วล่าหนีญวนเข้ามาตั้งเป็นกองโจรอยู่ทางตอนใต้ของลาวอีกได้ด้วย ถ้าไม่บังอาจโจมตีกองม้าทัพหน้าไทยแล้ว พวกเขาคงจะได้ไปปล้นในเมืองกำปอดสมความคิดเป็นแน่ เคราะห์ร้ายที่พบกองทัพหน้าของไทยเสียก่อน จึงถูกแม่ทัพหน้าไทยสั่งตัดมือตัดเท้าทั้งสองปล่อยไว้ในป่าเพื่อข่มขวัญญวนที่จะยกตามมา..... แล้วผลความชั่วของพระยาสุรินทร์ราชเสนีก็ทำให้เขมรป่าดงที่แค้นเคืองไม่หาย แอบมาใช้ปืนลอบยิงทหารไทยในกองหน้า พระยาราชโยธาสอบถามพวกเขมรเหล่าร้ายแล้วจึงเห็นใจ ไม่ลงโทษให้ถึงชีวิต เพียงแต่สักหน้าประจานเท่านั้น ซึ่งก็เป็นดีที่ทำให้พวกเขมรมีแก่ใจไม่ลอบทำร้ายกองทัพไทยอีก พระยามณเฑียรบาลนำกองทัพวังหน้ารอดพ้นมือข้าศึกญวนมาจนถึงนครจำปาศักดิ์ประเทศราชของสยามได้แล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, Black Sword, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, ลมหนาว ในสายหมอก, ข้าวหอม, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๐ -
แม่ทัพนครราชสีมายังล้าหลัง พักทัพตั้งมั่นแม้ว่าขัดอาหาร ความลังเลเวลา “ช้าเป็นการ” หวังให้“นานเป็นคุณ”กลับวุ่นวาย
ญวนตามมาฆ่าไทย “ตายจนหนาว” มัวสืบข่าวไม่เห็นทางเส้นสาย ความเชื่องช้าล้าละลังอย่างงมงาย เดินเซซังทางตายไม่รู้ตัว |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. กองทัพพระยาราชโยธายกนำหน้าทัพวังหน้าทุกทัพจากสมรภูมิเลือดทุ่งชมพู บุกป่าฝ่าดงมาจนกองทัพม้าปะทะกองโจรจีนฮ่อชาวเมืองกวางหนำในป่าไม้หอม บังอาจโจมตีกองม้าทัพหน้าไทยแล้วถูกฆ่าตายและจับได้ทั้งสิ้น แม่ทัพหน้าไทยสั่งตัดมือตัดเท้าทั้งสองข้างปล่อยไว้ในป่าเพื่อข่มขวัญญวนที่จะยกตามมา..... แล้วผลความชั่วของพระยาสุรินทร์ราชเสนีก็ทำให้เขมรป่าดงที่แค้นเคืองไม่หาย แอบมาใช้ปืนลอบยิงทหารไทยในกองหน้า พระยาราชโยธาสอบถามพวกเขมรเหล่าร้ายที่จับได้แล้วจึงเห็นใจไม่ลงโทษให้ถึงชีวิต เพียงแต่สักหน้าประจานเท่านั้น ซึ่งก็เป็นความดีที่ทำให้พวกเขมรมีแก่ใจไม่ลอบทำร้ายกองทัพไทยอีก พระยามณเฑียรบาลนำกองทัพวังหน้ารอดพ้นมือข้าศึกญวนมาจนถึงนครจำปาศักดิ์ประเทศราชของสยามได้ แล้วทัพไทยอื่น ๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
ฝ่ายกองทัพญวนยกติดตามกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมามานั้น ญวนเดินทัพมาช้าด้วยเหตุอันใดหาทราบไม่ จนกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกล่าถอยมาตั้งค่ายตั้งป้อมพร้อมเสร็จเป็นที่มั่นคงแข็งแรง แต่ขณะนั้นขัดด้วยเสบียงอาหารยิ่งนัก จะตั้งพักอยู่ช้าไม่ได้ กลัวไพร่พลจะอดตาย ถ้าญวนไม่ยกมาตามแน่ ไทยจะต้องล่าถอยไปพักไพร่พลอยู่เมืองเขมรก่อน จะได้อาศัยเสบียงอาหารที่นั้น
ครั้นคิดดังนั้นแล้วจึงสั่งให้หลวงนรินทรานุรักษ์กับหลวงรองสัสดีขึ้นม้าคุมทหารม้า ๕๐ ยกไปสืบราชการทัพญวนว่าจะยกมาตั้งอยู่ทีใดบ้าง
แล้วพระยาราชนิกูลมีคำสั่งขุนพลภักดีคุมเขมรไปตัดไม้งิ้วไม้ยางขุดทำเป็นเรือโกลนดังเช่นเรือชะล่า ๓๐ ลำ มีกรรเชียงและจังกูดพร้อมทุกลำเสร็จแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งพระพิพิธภักดีจางวางกองโคเมืองนครราชสีมา คุมไพร่พลลาวโคราชเป็นกองอาทมาต ๑๐๐ คน พระยานครอินทรรามัญกับสมิงปราบอังวะ ๑ สมิงรัตนารักษ์ ๑ เป็นนายกองคุมไพ่พลรามัญร้อยหนึ่ง
ทั้งลาวและรามัญเป็นสองกอง ลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งฟากข้างโน้น ให้ไปสืบราชการทัพญวนว่ามาตั้งอยู่ที่ใดบ้าง
ครั้งนั้นกองรามัญสมิงปราบอังวะไปสืบกลับมาได้ความว่า “ญวนยกทัพใหญ่มาหลายทิศทาง กองรามัญก็ลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงกลับมา” เมื่อกองรามัญเดินทัพกลับมานั้น จับได้เขมรและญวนซึ่งไปเที่ยวหาของกินในป่าแล้วป่วยไข้เดินเมื่อยล้าไปไม่ทันเพื่อนนั้น กองรามัญจึงจับมาได้ญวน ๔ คน เขมร ๒ คน รวม ๖ คนในป่า จึงพาเชลยข้าศึก ๖ คนมาส่งให้ท่านเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้ล่ามพนักงานถามญวนทั้ง ๔ คน ญวนทั้ง ๔ คนให้การต่าง ๆ กัน ไม่ต้องคำกัน คนหนึ่งให้การว่า
“องกูเลยขุนนางฝ่ายบู๊เป็นข้าหลวงเดิมของพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่ พระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่ใช้ให้องกูเลยเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือคุมพลทหาร ๑๐,๐๐๐ มีช้างม้าโคต่างมาในกองทัพเป็นอันมาก เพื่อจะมาเพิ่มเติมกองทัพองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ ที่ยกมาเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์สำเร็จราชการทัพทั้งสิ้น ซึ่งยกมาตีไทยนั้น องกูเลยแม่ทัพทางเหนือยกมาตามตีกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมา”
ญวนอีกคนหนึ่งเป็นที่สองให้การว่า
“องกูเลยแม่ทัพฝ่ายเหนือมีไพร่พลแต่ ๒,๐๐๐ เท่านั้น ยกมาเป็นทัพหนุนองเตียนกุนเสนาบดีถืออาญาสิทธิ์ จะไปตีเมืองไซ่ง่อนซึ่งเป็นเป็นขบถต่อกรุงเว้”
ญวนอีกคนหนึ่งเป็นที่สามให้การว่า
“องทู้หับถือพลทหาร ๕,๐๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกมาตามตีทัพไทยที่ฝั่งน้ำโขง และมีทัพเรือยกมาด้วยกองหนึ่งเป็นสองทัพไพร่พล ๒,๐๐๐ เรือรบแง่โอแง่ทราย ๑๕๐ ลำ แต่แม่ทัพเรือจะชื่อใดหาทราบไม่ ทั้งทัพบกทัพเรือรวมมาทางเดียวกัน จะมาตามตีไทย”
ญวนอีกคนหนึ่งเป็นที่สี่ให้การว่า
“องกูเลยยกมาแต่ทัพเดียวเท่านั้น จะมีไพร่พลมากน้อยเท่าใดและจะไปตีไซ่ง่อนหรือจะตีไทยหาทราบไม่”
เขมรที่จับมาพ้อมกับญวนนั้นให้การว่า
“ทัพเรือทัพบกที่ยกมานั้นเป็นทัพนิดหน่อย ยกมาเกือบจะถึง แต่ไพร่พลจะมีมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ จะมาตีไทยหรือจะไปตีไซ่ง่อนหาแจ้งไม่”
เขมรอีกคนหนึ่งให้การว่า
“เป็นบุตรเขยญวน พ่อตาถูกเกณฑ์ไปทัพ หนีกลับมาเล่าว่า ญวนจะยกทัพใหญ่ไพร่พลมากเกือบ ๒๐,๐๐๐ แยกเป็นกองทัพ ๔ กอง ให้ยกมาตามตีไทย ๓ กอง กองหนึ่งให้ยกไปหนุนทัพองเตียนกุนเสนบดีกรุงเว้ ให้ไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อน ซึ่งตั้งแข็งเมืองเป็นขบถนั้น”
เจ้าพระยานครราชสีมาได้ฟังคำให้การญวนสี่คนเขมรสองคน เนื้อความหาถูกต้องกันไม่ จึงไม่เชื่อถ้อยคำญวนและคำเขมร เห็นว่าญวนและเขมรเชลยพูดจาอวดอ้างไพร่พลและทัพบกทัพเรือมากมายไม่ถูกต้องเป็นคำเดียวกัน เป็นความคิดพวกญวนเชลยพูดหลอกขู่ไทยให้กลัวพวกมัน จึงสั่งนายทัพนายกองให้พาญวนสี่เขมรสองไปแยกย้ายกันไต่ถาม ก็ยังเป็นอย่างคำเดิมอยู่ จึงให้ปักหลักจำคาติดไม้ เฆี่ยนถามก็ยังได้เนื้อความแตกต่างกันอย่างเดิม เฆี่ยนคนละสองยก ๖๐ ทีบ้าง คนละ ๘๐ ทีบ้าง ก็ไม่ได้ความต้องกัน ญวนคนหนึ่งพูดโลเลยักย้ายมากมายกลับกลอกไปมา จึงสั่งให้ชำระดูที่อ้ายคนนั้น เพราะมันพูดภาษาไทยได้บ้าง ด้วยมันเคยมาค้าขายทางทะเล ได้มาที่เมืองจันทบุรีเนือง ๆ จึงรู้จักภาษาไทย ให้เฆี่ยนถามก็ไม่ออกความกระจ่างเลย เฆี่ยนถึง ๑๘๐ ที ตายอยู่ในคา เจ้าพระยานครราชสีมาไมไว้ใจแก่ราชการ กลัวว่าญวนจะยกทัพใหญ่มาทั้งทางบกและทางเรือ สมจริงดังสี่ญวนพูดนั้นแล้วก็จะเสียท่วงทีแก่ราชการ จึงสั่งให้พระยาพรหมยกกระบัตรและนายทัพนายกองคุมไพร่พลที่ทุพพลภาพป่วยไข้ กับปืนใหญ่ เสบียงอาหาร บรรทุกโคต่างช้างเกวียน ยกล่วงหน้าล่าถอยไปก่อน ให้พระเทพสงครามเขมร ๖๐๐ เศษยกตามไปในกองพระยาพรหมยกกระบัตร จะได้ให้เขมรเป็นผู้หาบหามเสบียงอาหาร และเลี้ยงช้าง ม้า โค กระบือด้วย แล้วให้หลวงสิทธิไชยคุมไพร่พลลาวโคราช ถือปืนคาบศิลา ๒๐๐ คนเดินแซงกำกับเขมรไป
ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา จัดแจงแต่งค่ายคูประตูหอรบไว้รับญวนเสร็จแล้ว รุ่งขึ้น ขุนไชยศักดานายกองด่านคุมพลทหารม้าไปลาดตระเวนตามฝั่งแม่น้ำโขงกลับมาแจ้งความว่า
“ไปสืบถามตามลาวชาวป่าได้ความว่า กองทัพญวนที่ยกมาตีกองทัพพระยานครสวรรค์นั้น บัดนี้ยกทัพเลยเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปทางเมืองลาว ได้ยินข่าวว่าจะยกไปตามตีทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่พักอยู่เมืองเขมร”
ในวันนี้เวลาเที่ยง พระมหาดไทยกับหลวงอภัยบดินทร หลวงนรินทร์ธิเบศร์ คุมไพร่พลลาดตระเวนข้ามแม่น้ำโขงไปถึงฝั่งฟากตะวันออก พบกองทัพญวนนำทัพช้างไล่กองตระเวนไทย กองตระเวนไทยวิ่งหนีลงเรือชะล่าเรือมาดมาได้ ๓๕ คน ช่วยกันตีกรรเชียงจะข้ามลำแม่น้ำโขงมา แต่พวกไทยกองตระเวนที่วิ่งมาลงเรือไม่ทัน ยังเหลืออยู่บนตลิ่งหาดทราย ๓๖ คนญวนฆ่าตายหมด แล้วญวนนำช้างไล่เรือชะล่าที่ไทยหนีมานั้นจนถึงสายน้ำลึก หาทันเรือไทยไม่ ญวนนำปืนหามแล่นปืนหลักบนหลังช้าง ยิงระดมมาถูกเรือชะล่าไทยล่มลงทุกลำ คนในเรือชะล่าถูกปืนตาย ๑๕ คน เหลือตาย ๒๐ คน ก็อุตสาหะว่ายน้ำข้ามฟากแม่น้ำมาถึงฝั่งตะวันตก ขึ้นไปเข้าค่ายได้ ฝ่ายญวนเห็นเรือชะล่าเรือโกลนของไทยยังเหลืออยู่ที่ตลิ่งอีกหลายลำ ญวนก็เก็บนำไปรักษาไว้สิ้น
สักครู่หนึ่งพลกองรามัญสมิงปราบไพรี คุมไพร่ไปสืบราชการทัพกลับมาจะลงเรือชะล่า หาเห็นเรือไม่ จึงตัดไม้ที่แห้ง ๆ เป็นขอน จะได้เกาะว่ายข้ามแม่น้ำโขงมายังค่ายไทย ขณะนั้นพอกองทัพญวนนำช้างไล่แทงฟันยิงพวกรามัญกองตระเวนไทยที่จัดการจะข้ามน้ำนั้นตาย ๖๘ คน จับเป็นไปได้ ๖๐ คน เกาะขอนไม้ว่ายน้ำข้ามฟากแม่น้ำโขง หนีกลับมาได้ ๖๐ คนแต่ไพร่ทั้งนั้น นายใหญ่และนายรองตายหมดไม่เหลือเลย......”
** ญวนมาเก่งกว่าไทยอีกแล้ว กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมามัวโอ้เอ้อยู่ ให้ญวนยกตามมาฆ่ากองตระเวนอย่างสนุกมือเลย ถ้าท่านไม่ตั้งค่ายมั่นรอทัพญวน เมื่อข้ามแม่น้ำโขงได้แล้วรีบเดินทัพเข้าเมืองเขมร ไหนเลยญวนจะยกตามมาทันได้ เมื่อกองทัพใหญ่ญวนยกตามมาทันแล้ว กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาที่กำลังขัดเสบียงอาหาร จะต้านทานทัพใหญ่ญวนได้ไหม ไว้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ข้าวหอม, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๑ -
การฝังดินดำค่ายฆ่าได้ผล ถือเป็นกลอุบายไทยมิใช่ชั่ว ทัพหน้าญวนแปดร้อยไม่รู้กลัว ติดกับทั่วทุกคนหลงกลไทย
“เจ้าพระยานครราชสีมา” สั่งเข่นฆ่าห้ำหั่นขนานใหญ่ แก้แค้นญวนให้รู้อยู่ทั่วไป ตัดหัวใส่เรือลอยปล่อยประจาน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยานครราชสีมาข้ามแม่น้ำโขงตรงเมืองบาพนมได้แล้วตั้งค่ายมั่น ส่งกองตระเวนข้ามฝั่งกลับไปเที่ยวสืบข่าวทัพญวน แทนที่จะรีบยกทัพเดินหน้าเข้าเขมรต่อไป ครั้นกองตระเวนจับได้คนญวนและเขมรมาได้บ้างแล้วสอบสวนได้ความไม่ตรงกัน ไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงให้ส่งไพร่พลทีเจ็บป่วยล่วงหน้าไปเขมรก่อน แล้วส่งพลตระเวนออกสืบข่าวทัพญวนต่อไป พอทัพญวนยกตามมาทัน จึงใช้กองช้างไล่ฆ่าไพร่พลตระเวนไทยล้มตายลงเกือบหมดสิ้น วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
 ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา เห็นญวนยกทัพใหญ่มาไล่ฆ่าไทยกองตระเวนบนตลิ่งและตามหาดทรายในลำแม่น้ำโขงดังนั้น ก็เข้าใจว่าทัพญวนยกมาถึงท่าข้ามแล้ว แต่ญวนตั้งทัพนิ่ง ๆ อยู่บนฝั่งลำแม่น้ำโขง ญวนไม่ได้ตัดไม้ไผ่ทำแพข้ามลำแม่น้ำโขงให้ผู้คนช้างม้ามาตามตีไทยตามทำนองศึกใหญ่ดังนั้น เห็นญวนตั้งทัพอยู่ถึงสามวันแล้วไม่ข้ามทัพมา เจ้าพระยานครราชสีมาจึงคาดคะเนว่า ซึ่งญวนไม่ทำแพข้ามลำน้ำแม่โขงนั้น ชะรอยญวนจะคอยทัพเรือมาเมื่อใด จึงจะลงเรือข้ามมาเมื่อนั้น แต่เห็นทีทัพเรือของญวนจะมาล่าช้าไป ไม่ทันท่วงทีทัพบก ทัพบกจึงตั้งรั้งรอที่ฝั่งท่าข้ามดังนี้ ซึ่งเราจะรับทัพญวนอยู่ที่ในค่ายนี้เห็นจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกญวน เพราะญวนมีทัพมาทั้งบกและทัพเรือมาก เป็นศึกใหญ่เหลือกำลังเรา เราจะต้องทิ้งค่ายที่ริมฝั่งลำน้ำโขงนี้เสียในวันสองวันนี้ แล้วก็จะได้ล่าทัพถอยหนีข้าศึกใหญ่ไปอาศัยเมืองเขมร พอจะได้เสบียงเลี้ยงไพร่พลคราวขัดสนนี้ต่อไป ซึ่งเราจะล่าทัพถอยไปครั้งนี้ ก็จะหนีไปตามบุญตามกรรม เมื่อญวนยกทัพใหญ่ไล่ตามมาทันก็สู้กัน แต่จะหนีไปตรง ๆ ไม่ได้ กลัวจะเดินไปไม่ถึงเมืองเขมร จะต้องทำกลอุบายไว้ในค่ายไม่ให้ญวนตามไปได้โดยเร็ว คิดอุบายนำดินดำลงฝังไว้ใต้แผ่นดินในค่ายและรอบค่ายข้างนอกด้วย แล้วนำปืนใหญ่ที่เหลือกำลังจะขนพาหนีไปได้นั้น บรรจุกระสุนและดินดำให้เกินส่วนสัดหลายเท่า ลงฝังในค่ายหลายสิบกระบอก ล่ามชนวนเชื่อมถึงกันโดยรอบ แล้วล่ามชนวนขึ้นมาถึงใต้เตาไฟเก่าในค่ายทุกเตาไฟ และทิ้งเสบียงอาหารดิบสุกไว้ตามสมควร แล้วก็ล่าทัพถอยไปในค่ำวันนั้น
ขณะนั้นสั่งให้พระยาพิไชยสงครามและพระยาชนะพลแสน ให้คุมไพร่พล ๕๐๐ อยู่รั้งหลัง ถ้าเห็นญวนยกข้ามลำแม่น้ำโขงมาแล้ว ให้ทัพรั้งหลังยกล่าถอยตามไป แต่เจ้าพระยานครราชสีมาเดินกองทัพรีบเร่งมาสองวันสองคืน ถึงลำแม่น้ำเก่าแควหนึ่ง เป็นปลายน้ำแยกมาลำแม่น้ำโขงใหญ่ ที่แม่น้ำเก่านั้นเขมรผู้นำทางเรียกเรียกชื่อว่า “แพรกกำบต” (แปลเป็นภาษาไทยว่า แม่น้ำด้วนหรือคลองตัน) แม่น้ำนั้นเป็นลำน้ำเล็ก ๆ เหมือนคลองใหญ่ ๆ แต่น้ำลึกมาก จะให้ไพร่พลลุยน้ำข้ามคลองไปไม่ได้ จึงเกณฑ์ไพร่พลไปตัดไม้มาปักเสาทำสะพานเรือกข้ามคลองเสร็จในวันเดียว จึงพลช้างม้าโคต่างข้ามสะพานไปแล้ว จึงสั่งทหารเสี้ยมไม้รวกเป็นหลาว ปักจมน้ำไว้ใต้สะพานเรือก เป็นหลาวหลายหมื่นทั้งริมสะพานด้วย แล้วนำเลื่อยชักเสาสะพานให้คอดเกือบจะขาดทุกเสา แล้วก็เดินทัพเป็นลำดับต่อมาถึงวัดร้างวัดหนึ่งเขมรนำทางเรียกชื่อว่า “วัดทูลเดิมมะลิ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ชื่อวัดโคกมะลิ) เป็นวัดใหญ่โต แต่เป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางป่าเป็นที่ชัยภูมิดี จึงสั่งให้พักพลหยุดอยู่ที่โคกวัดร้างนั้นคืนหนึ่ง ถึงมาทว่าญวนจะยกตามมา ก็จะอาศัยโบสถ์เก่าทำเป็นป้อมค่ายต่อรบสู้กับญวนลองดูสักพักหนึ่ง
 ฝ่ายทัพเรือญวนยกมาถึงท่าข้ามฝั่งลำแม่น้ำโขงพร้อมกันแล้ว องกูเลยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายบก สั่งให้องถูเลือกแม่ทัพหน้าฝ่ายบกยกลงเรือคุมไพร่พลแปดร้อยเศษ ข้ามลำแม่น้ำโขงมาถึงฝั่งตะวันตกที่ค่ายไทยตั้งอยู่นั้น ทัพญวนกองหน้าไม่เห็นไทยตั้งต่อสู้อยู่ในค่ายและนอกค่าย มีแต่ค่ายเปล่า ญวนก็เข้าใจแน่ว่าทัพไทยล่าหนีไปสิ้นแล้ว จึงกรูกันยกเข้าค่ายในเวลาบ่ายสองโมงพร้อมกันทุกทัพทุกกอง ในค่ายไทยนั้นไม่มีเครื่องศาสตราวุธเลย มีแต่เครื่องเสบียงอาหารดิบสุกอยู่ในค่ายบ้างเล็กน้อย ญวนก็เข้าใจว่าไทยรู้ตัวก่อนว่ากองทัพญวนยกใหญ่มา ไทยจะตั้งสู้อยู่ไม่ได้ จึงทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อนแล้ว
ครั้งนั้นญวนไม่มีความสังเกตสงสัยในค่ายไทยว่าจะมีอุบาย ญวนจึงยกไพร่พลทหารกองหน้า ๘๐๐ คนเข้าไปตั้งพักอยู่ในค่ายไทย ทั้งองถูเลือกแม่ทัพหน้าก็เข้าไปอยู่ด้วย แล้วองถูเลือกแม่ทัพหน้าแต่งหนังสือเป็นข้อความว่า “ไทยทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อน” ส่งไปให้องกูเลยแม่ทัพใหญ่ ซึ่งตั้งทัพบกอยู่ ณ ฝังลำแม่น้ำโขงฟากตะวันออกให้ทราบความแล้ว จึงตั้งฟังราชการอยู่ ณ ฝั่งลำน้ำโขงฟากตะวันออก หาข้ามฟากมาไม่ เพราะไม่มีการรบกับไทย
 ครั้นเวลาบ่ายเย็นแล้ว ไพร่พลญวนซึ่งตั้งอยู่ในค่ายนั้นจึงนำอาหารดิบของไทยในหม้อขึ้นหุงต้มบนเตาไฟเก่าในค่ายเป็นหลายสิบเตา ครั้นไฟในเตาติดคุร้อนไหม้ลงไปถึงชนวนดินดำที่ฝังล่ามขึ้นมานั้น ไฟไหม้ชนวนแล่นรอบไปติดดินดำขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสียงดังกัมปนาทหวาดหวั่นไหวสะเทือนสะท้านแผ่นดินดังพสุธาจะถล่ม เสียงดังดุจเสียงอสนีบาต ครั้งนั้นถังดินดำและปืนใหญ่ที่บรรจุกระสุนและก้อนศิลาไว้นั้น ก็ระเบิดแตกเป็นภาคน้อยภาคใหญ่ กระเด็นไปถูกต้องไพร่พลญวนตายมาก ที่ป่วยลำบากมีบาดแผลอยู่นั้นก็มาก ที่เหลือตายหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าได้บ้าง ม้าและโคต่างที่ไม่ตายก็หนีเข้าป่าไป
 ครั้งนั้นพระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนยกล่าถอยทัพไปภายหลัง เดินทัพรอฟังเหตุการณ์ ก็ได้ยินเสียงดังขึ้นข้างหลังเหมือนฟ้าร้อง จึงเข้าใจแน่ว่ากองทัพญวนเสียทีต้องด้วยกลอุบายเจ้าพระยานครราชสีมาแล้ว ขณะนั้นพระยาพิไชยสงครามสั่งหลวงวิสุทธาวุทธ์กับพระพรหมาธิบดีนายกองลาวเมืองนครราชสีมา คุมทหารม้าห้าสิบ รีบไปสืบราชการที่ค่ายกลอุบายดูญวนจะเป็นประการใด แล้วพระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนก็ยกพลทหาร ๕๐๐ ตามลงไปด้วย ถึงค่ายกลอุบายเห็นญวนตายประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่เหลือตายมีบาดแผลเจ็บลำบากประมาณร้อยเศษ ถามญวนที่ป่วยลำบากนั้น แจ้งความว่า “ที่มีบาดแผลเล็กน้อยพอเดินได้ก็วิ่งหนีเข้าป่าไปได้บ้างประมาณหกสิบเศษ”
พระยาพิไชยสงครามสั่งให้พระพรหมาธิบดีกับหลวงวิสุทธาวุทธ์ คุมไพร่พลไปตามจับญวนที่หนีไปในป่าใกล้ ๆ จับมาได้ ๖๔คน ครั้งนั้นพระยาพิไชชยสงครามเห็นเป็นที มีเรือรบของญวนจอดอยู่หน้าค่ายไทย มีปืนใหญ่น้อยพร้อมแล้ว พระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนไล่ต้อนทหารไทยลงเรือรบญวนที่ทิ้งไว้หน้าท่า ไม่มีผู้พิทักษ์รักษาทั้ง ๔๐ ลำ ไทยยกทัพเรือข้ามลำแม่น้ำโขงได้ ไปตามตีกองทัพใหญ่ฝ่ายญวนที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก องกูเลยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนตั้งทัพอยู่ที่ฝังลำแม่น้ำโขง เห็นทัพหน้าญวนเสียทีตายด้วยกลอุบายไทยดังนั้นแล้ว และไทยยกทัพเรือของญวนข้ามมาตามตีกองทัพองกูเลย องกูเลยก็ยกทัพใหญ่ล่าถอยหนีไปแต่ก่อนเมื่อไทยกำลังข้ามฟากมานั้น
ครั้นพระยาพิไชยสงครามถึงฝั่งตะวันออก ไม่เห็นทัพใหญ่ฝ่ายญวน ญวนหนีหมดแล้ว จึงปรึกษากันกับพระยาชนะพลแสนว่า
“ทัพญวนองกูเลยเป็นทัพใหญ่ ล่าถอยไปครั้งนี้มิได้แตกพ่ายแพ้แก่เรา จะยกไปตามตีต่อไปอีกหาควรไม่ ควรแต่จะกลับไปฟังราชการรอรั้งอยู่ ณ ฝั่งลำแม่น้ำโขงฟากตะวันตก จึงจะชอบด้วยราชการ”
 คิดดังนั้นแล้ว จึงกลับทัพเรือมายังที่ค่ายเดิม แล้วพระยาพิไชยสงครามสั่งหลวงประสิทธิ์ศาสตราให้ขึ้นม้าเร็ว คุมทหารม้า ๓๐ ม้า ถือหนังสือบอกข่าวราชการที่มีชัยชนะแก่ญวน ญวนตายตามอุบายนั้น ไปส่งให้เจ้าพระยานครราชสีมาตามทางป่า ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาจึงมีหนังสือตอบมอบให้หลวงประสิทธิ์ศาตรานำกลับไปให้พระยาพิไชยสงครามใจความว่า
 ให้พระยาพิไชยสงครามคิดกับพระยาชนะพลแสน เก็บเรือรบญวนสี่สิบลำเผาไฟเสียให้หมด เก็บไว้แต่เรือเล็กน้อยสักสี่ลำ แล้วให้ตัดศีรษะญวนที่ถูกดินดำระเบิดตาย กับญวนที่ป่วยลำบากมีบาดแผลมาก ก็ให้ตัดศีรษะเสียด้วยแล้ว รวมศีรษะญวนทั้งสิ้นลงเรือบรรทุกในเรือญวนสี่ลำ ให้ผูกเรือติดเป็นพวกเดียวกัน แล้วจึงนำญวนที่มีบาดแผลเจ็บป่วยเล็กน้อย ตัดมือตัดเท้าเสียทั้งสองข้าง ให้เป็นนายเรือคุมศีรษะพวกมันไปลำละ ๑๕ คน แล้วให้เขียนหนังสือผูกคอญวนที่ตัดมือตัดเท้านั้นทุกคน เป็นหนังสือจีนภาษาญวนบ้าง เป็นหนังสือขอมภาษาเขมรบ้าง เนื้อความถูกต้องกันว่า
“หนังสือนายทัพนายกองฝ่ายไทย ซึ่งเป็นกองทัพปีกหนึ่งของท่านแม่ทัพใหญ่ แจ้งความมาถึงแม่ทัพบกฝ่ายญวน หรือพลเมืองชาวบ้านและลูกค้าพานิชฝ่ายญวนได้แจ้งว่า เราได้ให้ไพร่พลในกองทัพไทยไปเที่ยวเก็บศีรษะญวน ๕๖๒ ศีรษะบรรทุกเรือ ๔ ลำ ส่งมาเป็นบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงเวียดนาม ซึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกว่องเด้ พระเจ้าแผ่นดินกรุงเว้ ขอจงได้ทรงทราบว่า ซึ่งนายทัพไทยได้ส่งศีรษะญวนเข้ามาถวายทั้งนี้ เพื่อจะขอพระราชทานแลกเปลี่ยนศีรษะไพร่พลในกองทัพพระยานครสวรรค์ ซึ่งแม่ทัพญวนฆ่าเสียที่ริมฝั่งลำน้ำแม่โขงท่าข้ามใกล้เมืองลาว ๑,๐๐๐ คนนั้น ขอท่านนายทัพนายกองฝ่ายญวน และเจ้าบ้านผ่านเมือง หรือด่านขนอนของญวนทุกตำบล ผู้ใดได้พบปะเรือบรรทุกศีรษะญวน ๕๖๒ ศีรษะนี้ ซึ่งส่งมาแลกเปลี่ยนศพไทยพันหนึ่งนั้น แต่บรรดาท่านที่ได้พบเรือ ๔ ลำนี้ ขอจงเห็นแก่ทางไมตรีเพื่อนสนุกในการศึกสงครามมาด้วยกัน ช่วยสงเคราะห์ส่งเรือ ๔ ลำนี้ ไปให้ท่านเสนาบดีกรุงเว้ ท่านเสนาบดีกรุงเว้จะได้นำศีรษะญวนนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าเวียดนามตามความประสงค์ของนายทัพไทยด้วยเถิด”......
ให้อ่านความยาว ๆ เพื่อความสะใจกันนะครับ ไม่มีอะไรจะอภิปรายเพิ่มเติม ยกเรื่องไปให้อ่านต่อกันในครั้งหน้าครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๒ -
พระยาพิไชยสงครามทำตามสั่ง เผาค่ายทั้งเรือทิ้งสิ้นหลักฐาน ยกกลับตามทัพใหญ่เดินไปนาน พบตัวการฆ่าไทยในกลางทาง
ทัพญวนแต่งเป็นไทยไม่สนิท กระชั้นชิดเมื่อได้พบไม่ห่าง ญวนตะลึงไทยตะลานผ่านท่ามกลาง รบกันอย่างอลวนเมื่อฝนพรำ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยานครราชสีมาคิดเห็นว่าญวนยกมาทั้งทัพบกทัพเรือ เหลือกำลังที่ทัพไทยจะต้านทานไหว จึงตกลงใจล่าถอยทัพไปเมืองเขมร แต่ก่อนจากไปก็คิดทำกลอุบายในค่ายไทย เช่นเดียวกันกับที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาเคยทำได้ผลมาแล้ว สั่งให้พระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนคุมพล ๕๐๐ เป็นทัพรั้งหลังคอยฟังผลกลอุบาย ขณะเจ้าพระยานครราชสีมาเดินทัพไปพักอยู่ในวัดร้างกลางป่านั้น ฝ่ายทัพเรือญวนยกมาสมทบทัพบกที่ท่าข้ามบาพนมแล้ว องกูเลยแม่ทัพใหญ่สั่งองถูเลือกแม่ทัพหน้ายกพล ๘๐๐ คน ลงเรือรบข้ามฟากฝั่งขึ้นตีทัพไทย พบว่าไทยยกล่าถอยหนีไปหมดเหลืออยู่แต่ค่ายเปล่า จึงเข้ายึดครองค่ายไทยหุงหาอาหารกินกัน ไฟจากเตาหุงอาหารก็เผาไหม้สายดินชนวน ทำให้ดินดำในถังและปืนใหญ่ที่ฝังไว้ในค่ายระเบิดขึ้น ไพร่พลญวนตาย ๕๐๐ คนเศษ นอกนั้นเจ็บป่วยลำบากบ้างเล็กน้อยบ้าง พระยาพิไชยสงครามได้ยินเสียดินระเบิด จึงยกกลับมาสำรวจความเสียหาย แล้วต้อนพลลงเรือรบญวนที่จอดทิ้งอยู่หน้าค่าย หมายใจจะยกเข้าตีทัพใหญ่ญวน แต่องกูเลยแม่ทัพใหญ่ยกทัพล่าถอยหนีไปหมดแล้ว เมื่อรายงานให้แม่ทัพใหญ่ทราบข้อราชการแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมามีหนังสือสั่งให้พระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสน ดำเนินการประจานญวน เพื่อล้างแค้นที่ญวนทำกับทัพไทยไว้ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
 “เมื่อพระยาพิไชยสงครามและพระยาชนะพลแสนได้ทราบหนังสือบังคับสั่งมาแต่เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่ดังนั้น จึงกระทำตามคำสั่งทุกประการ แล้วจึงเผาค่ายทำลายเรือรบเก่าใหม่เสียสิ้น เก็บแต่ดินดำและเครื่องศาสตราวุธของญวนที่ตายบนค่ายและในเรือรบได้สิ้น แต่ปืนใหญ่ในเรือรบญวนนั้น ครั้นจะบรรทุกช้างมาก็เหลือกำลังช้าง จึงนำตะปูอุดชนวนทิ้งลงในลำแม่น้ำโขงเสียหมด และจับม้าที่เหลือตายได้ร้อยเศษ พระยาพิไชยสงครามสั่งให้พระยาชนะพลแสนคุมทัพหน้าเดินล่วงหน้าไปก่อน แล้วให้พระพรหมาธิบดีลาวคุมกองม้าเชลยร้อยเศษเดินทัพเป็นลำดับต่อไป แล้วพระยาพิไชยสงครามก็เลิกทัพพลนิกายกลับมา แต่เดินทัพมาทางป่าดงห้าวันห้าคืน ถึงหนทางสามแยก เขมรนำทางเรียกชื่อที่ตำบลนั้นว่า “ผลูบิแบ๊ก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า หนทางสามแพรก) ทัพพระยาชนะพลแสนเป็นกองหน้าพบกองญวนตั้งสกัดอยู่ที่หนทางสามแยก จึงมีหนังสือให้ขุนอุดมสมบัติขึ้นม้าเร็วสวนทางลงไปแจ้งแก่พระยาพิไชยสงครามว่า
 “ได้พบกองทัพญวนตั้งอยู่ค่ายหนึ่งที่ตรงทางสามแยก ประมาณไพร่พลญวนพันเศษ ได้เห็นธงของไทยตั้งปักอยู่ตามค่ายญวนเป็นอันมาก คือธงหนุมานและธงสุครีพ และธงต่าง ๆ อย่างไทยที่มีเลขยันต์ด้วย แล้วเห็นไพร่ญวนแต่งกายด้วยเครื่องเสื้อกางเกงหมวกเสนากุฏ เป็นเครื่องอย่างไทยประหลาดนัก”
พระยาพิไชยสงครามได้ทราบแล้วก็เข้าใจว่า กองทัพญวนพวกนี้ที่ทำร้ายพระยานครสวรรค์มาเสร็จแล้ ว จึงมีเครื่องแต่งกายอย่างไทยมาใช้สอยเป็นแน่ คาดคะเนดูน้ำใจญวนที่นำเครื่องไทยมาแต่งกายพวกมัน เพื่อจะคิดให้เป็นเกียรติแก่พวกมัน มันจะให้ไทยเห็นแล้วจะได้กลัวอำนาจญวน พระยาพิไชยสงครามคิดว่าไพร่พลไทยมีมาถึงห้าร้อยเศษ พอจะต่อสู้ญวนพันคนได้ แต่ว่ามีที่ขัดขวางอยู่อย่างหนึ่ง คือมาเจอมันเมื่อจวนตัวเข้าที่ใกล้มัน ฝ่ายมันมีค่ายรับไทยค่ายหนึ่ง ฝ่ายไทยจะตั้งค่ายบ้างก็ไม่ทันท่วงที ครั้นจะยกเข้าโจมตีค่ายญวนลองดูกำลังศึกสักหน่อยก็ได้ แต่เห็นว่าจะเสียเปรียบญวนมาก ด้วยไพร่พลไทยเดินทัพรีบเร่งมากำลังเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จะไล่ให้เข้าสู้ญวน ญวนกำลังรื่นเริงมีกำลังกล้าหาญมาก เพราะญวนตั้งพักอยู่หลายวันแล้ว
 ครั้งนั้นทัพไทยยกมาใกล้ทัพญวน ญวนไม่ยกออกมาต่อรบตามธรรมเนียมข้าศึกมาพบกันในที่ใกล้ เห็นแต่ญวนตั้งค่ายมั่นอยู่เป็นปรกติ จะเป็นเพราะเหตุอะไรหาทราบไม่ ฝ่ายพระยาพิไชยสงครามไม่เห็นญวนยกออกจากค่ายมาตีไทยดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้พระยาชนะพลแสนคุมทัพกองหน้าข้ามน้ำไป ที่นั้นเป็นแม่น้ำตื้นด้วยเป็นปลายน้ำ ไหลมาแต่ลำธารห้วยกรด เขมรนำทางเรียกชื่อว่า “แพรกสะไร” (แปลเป็นภาษาไทยว่า คลองสาหร่าย) แล้วพระยาพิไชยสงครามก็ยกข้ามคลองสาหร่ายไป ญวนเห็นกองทัพไทยข้ามคลองไป ไม่อยู่ต่อสู้กับญวน ญวนจึงยกกองทัพออกจากค่ายโดยเร็ว มาตีไทยเมื่อกำลังข้ามคลองนั้น ฝ่ายพระยาพิไชยสงครามไล่ต้อนไพร่พลให้กลับหน้าไปต่อสู้กับญวน สู้พลางหนีข้ามคลองมาพลาง ขณะนั้นไทยไม่ตายเลยสักคนเดียว เมื่อข้ามคลองสาหร่ายมาได้หมดแล้ว ก็ตั้งรับญวนอยู่ที่ฝั่งคลองนั้น ฝ่ายญวนก็ยกเพิ่มเติมมามาก ตั้งอยู่คนละฟากคลอง คลองนั้นเป็นคูเขตได้ยิงปืนคาบศิลาโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย เป็นศึกรบกันกลางแปลงจนเวลาบ่าย พอเกิดลมพายุใหญ่และฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมามาก จนดินหูหน้าเพลิงปืนเปียก จะสับนกเท่าไรก็ไม่มีไฟติดดินดำในลำกล้อง เสื้อกางเกงพลทหารก็เปียก หนาวสั่นไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายญวนและไทยเห็นว่ายิงปืนไม่อกแล้ว ฝ่ายญวนก็ล่าทัพเข้าค่าย ฝ่ายไทยก็ล่าทัพถอยกลับหนีมาทั้งกลางวันกลางคืน ลัดตัดทางมากลางป่า ญวนก็หาตามมาไม่
 ครั้นฝนหายแล้ว ญวนยกกองทัพออกจากค่ายหนทางสามแพรกตามตีไทยต่อไป กองทัพญวนถึงฝั่งแม่น้ำน้อยคล้าย ๆ กับคลอง ชื่อลำน้ำด้วนคลองตัน ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาทำสะพานเรือกข้ามคลอง แล้วทำกลอุบายไว้ที่สะพานนั้นด้วย ญวนหารู้เหตุการณ์ไม่ แม่ทัพญวนจึงไล่ต้อนไพร่พลและช้างม้าเดินข้ามสะพานเรือกมาเป็นอันมาก สะพานเรือกก็หักโค่นลงในน้ำ ผู้คนช้างม้าตกลงในคลอง ถูกหลาวที่ไทยปักไว้ใต้สะพานตายทั้งคนช้างม้ามากนัก แม่ทัพญวนเห็นดังนั้นแล้ว จึงไล่ให้ไพร่พลช้างม้าลงที่ริมฝั่งคลองข้างแม่น้ำ ไปข้างใต้สะพานแลเหนือสะพาน
ครั้งนั้นคนและช้างม้าก็ถูกหลาวและขวากกระจับในน้ำลำคลอง เจ็บป่วยลำบากล้มตายมาก การที่ญวนรีบเร่งติดตามกองทัพไทยไปก็ช้าลง แต่ไพร่พลญวนตายด้วยอุบายนั้นแล้ว แม่ทัพญวนก็ยังไม่ท้อถอย คงตีกลองศึกสัญญาณเร่งกองทัพให้ยกลงในลำคลอง ข้ามน้ำไปเนือง ๆ ที่ถูกหลาวและขวากกระจับตายก็ตายไป ที่เหลือตายบ้างก็ข้ามน้ำขึ้นบนตลิ่งได้บ้าง เพราะอาญาสิทธิ์แม่ทัพญวนแข็งแรงยิ่งนัก ปราศจากเมตตากรุณาเพื่อนมนุษย์ ถ้าเข้าศึกสงครามแล้ว กลองสัญญาณแม่ทัพยังตีเร่งไพร่พลอยู่แล้วจะถอยไม่ได้ ต้องตายเจ็ดชั่วโคตร เพราะฉะนั้นไพร่พลได้ยินเสียงกลองตีเร่งอยู่เมื่อใด ถึงวิ่งเข้าไปหาความตายก็ต้องเข้าไปตามบุญตามกรรม เมื่อญวนขึ้นตลิ่งได้บ้างแล้ว ก็ประชุมพลได้มาก จึงรีบยกไปติดตามกองทัพไทย ญวนรีบเดินทัพไปจนถึงทางใหญ่ กองทัพญวนถูกฝนห่าใหญ่ตกลงมาอีก จนน้ำนองท่วมป่าและทางเดิน เมื่อแม่ทัพและนายกองญวนเห็นว่าน้ำท่วมทางป่า ไพร่พลเดินลุยน้ำไปไม่ไหวแล้ว ก็กลับทัพมายังค่ายที่ตำบลหนทางสามแยกดังเก่า
 ครั้งนั้นพวกไพร่พลญวนที่เดินเมื่อยล้าป่วยไข้ลำบาก ด้วยเจ็บบาดแผลถูกหลาวถูกขวากกระจับ เดินช้าอยู่ตามทางป่านั้น พวกเขมรจับญวนแปดคนกองหนึ่ง กองหนึ่งจับได้สิบคน รวมสิบแปดคน ส่งไปให้เจ้าพระยานครราชสีมา พระยานครราชสีมาให้ล่ามไต่ถาม จึงได้ทราบกิจการในกองทัพญวนแต่ต้นจนที่สุด เมื่อญวนถูกฝนกลับไปนั้นทุกประการดังที่กล่าวมาแต่ข้างบนนั้นแล้ว.......”
กลอุบายระเบิดค่ายเผาญวน หรือค่ายนรกที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาใช้ทำลายทัพญวนได้ผลมาแล้ว เจ้าพระยานครราชสีมาก็ใช้กลอุบายอย่างเดียวกัน ทำลายกองทัพหน้าญวนได้เช่นกัน ทัพรั้งหลังของเจ้าพระยานครราชสีมาคือพระยาพิไชยสงคราม จัดการตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่ แล้วยกกลับตามทัพใหญ่ พบกองทัพญวนที่ทำลายกองทัพพระยานครสวรรค์สิ้นนั้น ได้รบกันเป็นสามารถ แล้วทัพญวนที่ไล่ตามทัพพระยาพิไชยสงครามไป จนต้องกลอุบายเจ้าพระยานครราชสีมาตรงสะพานเรือกข้ามคลองน้ำด้วน ล้มตายและเจ็บลำบากไม่น้อย แม้ทัพญวนจะฝ่าขวากหลาวข้ามคลองน้ำด้วนไปได้ แต่ก็ติดตามทัพพระยาพิไชยสงครามไม่ทัน เพราะฝนห่าใหญ่ถล่มลงมา น้ำท่วมใหญ่จนญวนต้องล่าทัพกลับคืน ค่อยมาอ่านกันตอนต่อไปดีกว่านะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๓ -
ไทยทุกทัพกลับไทยดังใจหมาย ทัพหนึ่งหายสูญไปไถลถลำ “สีหราชเดโช”ข่าวโม่ห์ดำ เกิดเคราะห์กรรมอย่างไรไร้วี่แวว
ญวนพา“นักองจันทร์”ผกผันเข้า กลับเป็นเจ้ากัมพูชานั่งตาแป๋ว ดูญวนจัดการให้ตามใจ “แกว” ทุกอย่างแล้วแต่ญวนจะชวนไป |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยาพิไชยสงครามจัดการตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่แล้วยกกลับตามทัพใหญ่ พบกองทัพญวนตะวันออก กองที่ทำลายทัพพระยานครสวรรค์เสียสิ้นนั้น ได้รบกันเป็นสามารถ แล้วทัพญวนที่ไล่ตามทัพพระยาพิไชยสงครามไป จนต้องกลอุบายเจ้าพระยานครราชสีมาตรงสะพานเรือกข้ามคลองน้ำด้วน ล้มตายและเจ็บลำบากไม่น้อย แม้ทัพญวนจะฝ่าขวากหลาวข้ามคลองน้ำด้วนไปได้ แต่ก็ติดตามทัพพระยาพิไชยสงครามไม่ทัน เพราะฝนห่าใหญ่ถล่มลงมาน้ำท่วมใหญ่จนญวนต้องล่าทัพกลับคืน วันนี้มาอ่านกันต่อครับ........
 “ครั้งนั้น กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและกองทัพพระยา พระ หลวง ทั้งปวงก็เดินทัพถอยกลับมาถึงพร้อมกัน ได้พักพลอยู่ที่ตำบลหนึ่ง เขมรเรียกชื่อว่า “ทูลกระบือ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า โคกควาย) เมื่อฝนตกห่าใหญ่ครั้งหลังนั้น กองทัพไทยหาถูกไม่ เพราะล่าถอยทัพมาก่อนฝนตก ฝนตกถูกแต่กองทัพฝ่ายญวน ญวนจึงล่าถอยกลับไป ครั้นทัพไทยมาพักอยู่ที่บ้านโคกควายนั้น พวกเขมรที่ตำบลแขวงบ้านโคกควายจึงพากันคุมเป็นกบฏต่อไทย พวกเขมรประมาณสองร้อยเศษ ยกออกตีกองทัพพระยาราชนิกูลกองหน้า กองหน้าไม่ทันรู้ตัว เกือบจะแตกแก่เขมร เขมรฆ่าไทยเสียครั้งนั้นมาก ขณะนั้นพอกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาเดินทัพขึ้นมาทัน ได้ยินเสียปืนยิงหนาหู ก็รู้ว่ากองทัพพระยาราชนิกูลทัพหน้าคงจะได้สู้รบกับเขมรหรือญวนเป็นแน่แล้ว เจ้าพระยานครราชสีมาจึงรีบเร่งเดินทัพมาทัน จึงได้ไล่ต้อนพลหารเข้าช่วยระดมตีเขมรเหล่าร้าย พักเดียวก็แตกไปสิ้น แต่ตายในที่รบศพออกกลาดเกลื่อนมากนัก ที่ไทยจับเป็นได้นั้น ๔๖ คน จึงให้ล่ามไต่ถามได้ความว่า “ชาวบ้านและชาวเมืองเล็กน้อยคุมกันเป็นกองทัพขึ้นเอง ไม่มีเจ้านายขุนนางผู้ใดใช้มารบ” เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งหลวงบุรินทรานุรักษ์ ให้พาเขมรขบถ ๔๖ คนไปตัดใบหูทั้งสองข้าง แล้วสักหน้าผากเป็นอักษรขอมภาษาเขมรว่า “เขมรระบาทว์ไม่มีเจ้านาย” ให้ปล่อยไปทั้งสิ้นหาฆ่าไม่ เพราะจะไว้เกียรติยศแก่บ้านเมืองเขมรบ้าง”
 ครั้งนั้น เจ้าพระยานครราชสีมาจึงได้ยกทัพมาตั้งพักพลอยู่ที่ตำบลหนึ่ง เขมรเรียกชื่อว่า “กำพงวัดพนมมาศ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า ท่าวัดท่าภูเขาทอง ใกล้บ้านอินทรกุมารแขวงเมืองกะพงสวาย) แต่ทัพพระยามณเฑียรบาลและพระยาราชโยธากองทัพวังหน้าเป็นกองใหญ่ได้ยกล่าถอยกลับมา แล้วเดินทัพไปข้างเมืองลาว จึงใช้ให้คนถือหนังสือมาแจ้งความกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองโปริสาด (แต่ทัพพระยาสีหราชเดโชนั้นไม่ได้ยินข่าวว่าข้ามแม่น้ำโขงมาเลย เพราะเดินทัพล้าหลังหนัก เห็นทีญวนจะจับเป็นไปได้ทั้งกองทัพดอกกระมัง ด้วยกองทัพนั้นมีไพร่พลไทย ๕๐๐ คน รามัญ ๓๐๐ คน รวมเป็นไพร่พลถึง ๘๐๐ คน ครั้นสืบถามญวนเขมรที่จับมาได้เนือง ๆ นั้น ก็หาได้ความไม่ หายสูญไปทั้งกองทัพทีเดียวเป็นการอัศจรรย์นัก ครั้นภายหลังเมื่อหยุดทัพศึกแก่กันแล้ว ได้สืบถามตามจีนและแขก ซึ่งเป็นพวกพานิชที่ไปค้าขายทางเรือทะเลจนถึงเมืองญวน ก็ไม่ได้ความว่าญวนตีทัพพระยาสีหราชเดโชได้แล้วฆ่าตายเสียหมด หรือจับเป็นไปไว้เป็นเชลยประการใดหาได้ทราบไม่ สงบเงียบสูญหายไปทั้งสิ้นจนทุกวันนี้)
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งพักพลอยู่ที่เมืองโปริสาด คอยกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาก็หายไปช้านาน จึงแต่งกองทัพไพร่พลไทยร้อยหนึ่ง เขมรสามร้อย รวมสี่ร้อย ให้พระยาณรงค์ฤทธิเดชเขมรเป็นนายทัพ ให้พระยาอร่ามมณเฑียรข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ เป็นผู้กำกับทัพ ยกไปสืบทัพเจ้าพระยานครราชสีมาว่า “จะยกมาพักอยู่ที่ใด ถ้าไม่พบก็ให้พระยาณรงค์ฤทธิเดชเกณฑ์ไพร่พลเขมรตามหัวเมืองรายทางเพิ่มเติมอีกสามร้อยคนหรือห้าร้อยคน ให้เกณฑ์พระยาเขมรหัวเมืองเป็นนายทัพนายกอง คุมไพร่พลยกไปสืบข่าวทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจนถึงฝั่งลำน้ำโขงให้ได้ความ”
พระยาอร่ามมณเฑียรกับพระยาณรงค์ฤทธิเดชเดินทัพมาห้าวันเศษ จึงพบกองทัพหน้าซึ่งพระยาราชนิกูลตั้งอยู่ที่ตำบลท่าทราย แขวงเมืองกะพงสวาย ซึ่งเข้าไปหาพระยาราชนิกูล พระยาราชนิกูลแจ้งความว่า “ได้ข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วได้สู้รบกับญวน ญวนถูกกลอุบายไทยในค่ายตายมาก แล้วได้ตัดศีรษะญวนส่งไปถวายพระเจ้าเวียดนามตามการที่เป็นมาแล้วนั้นเล่าให้ฟังทุกประการ” พระยาอร่ามมณเฑียรกลับมาแจ้งความให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบ เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบจึงว่ากองทัพเราจะตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาดนี้ช้านานไม่ได้ เพราะขัดสนด้วยเสบียงอาหารไม่พอจะเลี้ยงไพร่พล แล้วสั่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองกวาดต้อนครอบครัวเมืองโปริสาดอพยพมาตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง
 เมื่อเดินครัวเมืองโปริสาดมาตามทางป่านั้น ครัวหนีเข้าป่าระนามไปมากสักสามส่วน ที่ไทยติดตามครัวเขมรกลับคืนมาได้สักสองส่วน จึงพักครัวและกองทัพไทยอยู่ที่เมืองพระตะบองแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีหนังสือมอบให้หลวงสุริยามาตย์ ข้าหลวงกรุงกับพระนเรนทรารักษ์เขมร ถือไปให้เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพและพระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพให้ทราบใจความว่า
“ให้เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูลเร่งคิดอ่านกวาดต้อนครอบครัวเขมรและลาวข่าแขวงเมืองสะโทง และเมืองกะพงสวาย กับเมืองพนมมาศให้สิ้นเชิง แล้วให้แต่งพระยา พระ หลวง หัวเมืองเป็นนายทัพนายกอง ไปกวาดต้อนครอบครัวเขมรและลาวข่าตามหัวเมืองรายทาง ขึ้นไปไว้ที่เมืองนครราชสีมาให้ได้ครัวโดยมาก จะได้เป็นการใช้ทุนหนุนทุนที่เราพาพวกเรามาตายเสียนั้นก็มากนัก ให้ท่านพระยาทั้งสองคิดอ่านหากำไร ให้ได้ครอบครัวเชลยขึ้นไปไว้บ้านเมืองฝ่ายไทย ตั้งแต่เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์บุรี เมืองอัตปือ และเมืองอื่น ๆ ซึ่งขึ้นกับเมืองนครราชสีมานั้น ให้ได้ครัวมาก ๆ ทุกเมือง ให้รีบเร่งกวาดต้อนครอบครัวขึ้นไปให้ในฤดูฝนนี้ให้ได้ ถ้ากวาดต้อนครัวได้มากน้อยเท่าใด ให้ท่านพระยาทั้งสองแต่งกรมการผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้คุมครัวขึ้นไปก่อน ให้ผ่อนครัวขึ้นไปไว้ในบ้านเมืองฝ่ายไทยเนือง ๆ”
 จุลศักราช ๑๑๙๖ ปีมะเมียศก เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ครั้งนั้นองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ ซึ่งถืออาญาสิทธิ์มาเป็นแม่ทัพหลวง ได้สำเร็จราชการบังคับบัญชาแม่ทัพทุกกองอยู่ ณ เมืองล่องโห้นั้น ครั้นองเตียนกุนได้ทราบข่าวว่า กองทัพไทยบกเรือล่าถอยทัพกลับไปยังเมืองพระตะบองหมดแล้ว จึงสั่งองจันเบียขุนนางผู้ใหญ่ในกองทัพ ให้คุมไพร่พล ๑,๕๐๐ เป็นแม่ทัพใหญ่พานักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชา และครอบครัวพระยาพระเขมรที่หนีไทยไปพึ่งญวน ญวนก็พาเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพนมเปญ เมืองพนมเปญนั้นไทยรื้อทำลายบ้านเมืองเสียสิ้นแล้ว ญวนว่าให้เขมรตั้งพักอยู่ที่นี่ก่อนเถิด แล้วญวนจึงจะช่วยจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยปรกติดังเก่า แต่องจันเบียแม่ทัพญวนนั้นก็ตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญด้วย เพื่อจะได้อยู่เป็นเพื่อนป้องกันนักองจันทร์เขมร
แต่องเตียนกุนแม่ทัพหลวงนั้นก็ยกทัพใหญ่ขึ้นไปตั้งล้อมเมืองไซ่ง่อน ซึ่งองภอเบโคยลันเบียเป็นขบถ แต่องเตียนกุนแม่ทัพหลวงตั้งล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่หลายเดือนก็ยังไม่ได้เมืองไซ่ง่อนอยู่ในอำนาจกรุงเว้.....”
** สงครามไทย-ญวน แม้ยังไม่จบสิ้น แต่ผลก็ปรากฏว่าไทยเสียกองทัพพระยานครสวรรค์ไปหนึ่งทัพ ไพร่พลหนึ่งพันคน กองทัพพระยาสีหราชเดโชไพร่พลแปดร้อยสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ญวนเสียกองทัพหน้าสังเวยค่ายกลนรกที่โคกสะแกให้แก่เจ้าพระยาบดิทรเดชาหนึ่งทัพ ไพร่พล ๒,๒๐๐ คน ตายคาค่ายนรก ๑,๔๑๕ คน จับเป็นได้ ๑๖๔ ป่วยทุพพลภาพ ๔๑๖ หนีไปได้ ๓๖ คน กองทัพหน้าญวนหลงเข้าค่ายกลเจ้าพระยานครราชสีมาที่บาพนม ไพร่พล ๘๐๐ คนตายคาค่าย ๕๐๐ คนเศษ เจ็บป่วยลำบากอีกมาก ถูกจับได้ทั้งหมดแล้วถูกตัดศีรษะใส่เรือส่งไปถวายพระเจ้าเวียดนาม และยังมีสูญเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งสองฝ่ายอีกมาก ตอนนี้ไทยล่าถอยทัพมาปักหลักอยู่ ณ เมืองพระตะบอง ทัพองเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน สั่งให้องจันเบียพานักองจันทร์พระเจ้ากรุงกัมพูชากลับมาประทับที่พนมเปญแล้ว เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร ค่อยมาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, Paper Flower
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๔ -
องเตียนกุนส่งสารมาสอบถาม ว่าสยามที่ทำสงครามใหญ่ ย่ำยีญวนป่วนเขตเพราะเหตุใด ญวนมิได้คุกคามสยามเลย
ไทยชี้แจงว่าญวนควรรู้ชัด วาอาสัตย์ขาดศีลหมิ่นคำเอ่ย ไร้สำนึกบุญคุณที่คุ้นเคย ทั้งเชือนเฉยเมินหมางทางไมตรี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. กองทัพไทยเลิกทัพล่าถอยจากญวนทุกกอง โดยกองทัพวังหน้าของพระยามณเฑียรบาลเดินกลับไปทางลาว กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมากลับมาพักทัพอยู่แขวงเมืองกะพงสวาย ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชายกย้ายจากเมืองโปริสาดไปพักอยู่เมืองพระตะบอง ส่วนทัพของพระยาสีหราชเดโชนั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอย ฝ่ายญวนนั้น องเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้แม่ทัพใหญ่เห็นว่าไทยล่าถอยทัพไปดังกล่าวแล้วนั้น จึงสั่งให้องจันเบียขุนนางผู้ใหญ่ญวน จัดกองทัพมีกำลังพล ๑,๕๐๐ นาย นำพานักองจันทร์พระเจ้ากรุงกัมพูชาที่หนีไทยไปพึ่งญวนนั้น กลับมาประทับที่พนมเปญที่มีสภาพเป็นเมืองร้างแล้ว เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......
 “เดือนห้าปีมะเมียศกนั้น ฝ่ายองเย้อโดยดาวคุมไพร่ญวน ๔๒ คน ถือหนังสือองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่เข้ามาทางเขมร แจ้งความกับขุนรักษานิคมเขตนายด่านเมืองพระตะบองว่า “จะมาหาท่านแม่ทัพไทยผู้เป็นใหญ่” นายด่านเขมรก็ส่งองเย้อโดยดาวผู้ถือนั้นเข้ามายังเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพระตะบอง ให้ล่ามแปลหนังสือญวนออกเป็นภาษาไทยใจความว่า
“หนังสือของท่านองเป็นใหญ่ฝ่ายทหารแม่ทัพบกทั้งสิ้นในกรุงเว้ แจ้งความมาถึงท่านองเป็นใหญ่ฝ่ายแม่ทัพไทยได้ทราบว่า เดิมเมืองญวนกับเมืองไทยเป็นทางไมตรีกันมาช้านาน บัดนี้ไม่มีเหตุไม่มีวิวาทะอะไรกัน เหตุผลประการใดไทยจึงยกกองทัพมากระทำย่ำยีกับญวนก่อน และไทยก่อการศึกสงครามกับญวน ญวนก็ต้องยกทัพมาป้องกันเขตแดนและไพร่บ้านพลเมืองญวนบ้าง”
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้จัดสิ่งของมาเลี้ยงพวกญวน แล้วจึงให้ญวนคอยอยู่ก่อน แล้วจึงจะตอบหนังสือไปให้ถึงแม่ทัพญวนต่อภายหลัง แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้หลวงจินดารักษ์นำต้นหนังสือญวนและสำเนาแปลนั้นส่งไปยังกรุงเทพฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาโปรดให้มีท้องตราตอบออกไป ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบญวนตามกระแสพระราชดำริที่ทรงร่างส่งออกไปดังนี้
“สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก ดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์อัครมหาเสนาบดีจอมพิริยพาหล พยุหพลพิไชยสงคราม ซึ่งเป็นรัตนทวยหาญ ดุจจักรแก้วประดิษฐานอยู่ใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทบงกชเรณูมาศ ยุคลพระบาสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา มาถึงท่านองเป็นใหญ่ฝ่ายแม่ทัพญวนได้ทราบ ซึ่งญวนมีหนังสือมานั้นได้แจ้งแล้วทุกประการ ฝ่ายเราได้พิเคราะห์ดูเห็นว่า “ญวนหยิบยกแต่ความดีเล็กน้อยของญวนขึ้นมาว่ากล่าวฝ่ายเดียว แต่ความดีของไทยที่อดออมถนอมรักษาทางไมตรีกับญวนไม่ให้มัวหมองนั้น ญวนไม่เห็นบ้างว่าความดีของไทยมีอยู่กับญวนโดยมากญวนก็ลืมเสียหมด ถ้าญวนจะรักษาทางไมตรีให้เหมือนไทยรักษาไมตรีกับญวนนั้น ก็จะไม่เกิดวิวาทเป็นที่ร้าวฉานซึ่งกันแลกัน ถ้าญวนไม่ล่วงเกินพูดจาหมิ่นประมาทต่อกรุงเทพฯ แล้ว ท่านผู้ครองแผ่นดินไทยก็จะรักษาทางไมตรีซึ่งกันและกันไว้โดยสุจริต ไทยก็จะไม่คิดก่อการศึกสงครามย่ำยีเขตแดนญวน ถ้าญวนทำได้ดังนั้นแล้วทางไมตรีทั้งสองพระนครก็คงจะถาวรวัฒนาการไปชั่วกัลปาวสาน เกียรติยศทั้งสองพระนครจะเป็นที่สรรเสริญแก่นานาประเทศทั้งปวง ไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาในแผ่นดินไทยญวนก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย บัดนี้ทางไมตรีไทยกับญวนเสื่อมเสียไปครั้งนี้ด้วยเหตุผลประการใดนั้น ก็รู้อยู่กับใจญวนสิ้นทุกประการ และนานาประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตแดนไทยและญวนนั้น เขาก็จะย่อมรู้เป็นพยานอยู่ด้วยมาก หรือญวนจะเห็นว่าไทยทำให้เสียทางไมตรีไปก่อนเล่า ซึ่งญวนทำลายล้างทางไมตรีให้เสียไปก่อนนั้นไม่คิดดูบ้างเลย เนื้อความสองข้อนี้ให้ญวนคิดดูเถิด”"
 แล้วส่งหนังสือให้องเย้อโดยดาวผู้ถือหนังสือญวนมานั้นรับไปให้แม่ทัพญวน
อนึ่ง แต่ก่อนเสนาบดีญวนมีหนังสือเตือนสติไทยเข้ามาฉบับหนึ่งใจความว่า พม่ากรุงอังวะกับไทยเป็นข้าศึกแก่กันมาช้านาน จนถึงคราวนี้การศึกสงครามพม่ากับไทยก็ยังไม่เว้นวายเลิกกัน ถ้ามีช่องมีเวลาเมื่อใด พม่าก็ยกกองทัพทำแก่ไทยไม่ใคร่จะเว้นว่าง บัดนี้พม่าเห็นว่าไทยญวนทำศึกสงครามติดพันกันอยู่ ฝ่ายพม่าได้ช่องโอกาสอย่างดี จะยกทัพใหญ่มาตีไทย ไทยก็จะได้ความลำบากยากแค้นแสนสาหัส เพราะพม่าจะยกทัพใหญ่มาพลอยซ้ำเติมกับญวน เหมือนหนึ่งเป็นทัพบกทัพเรือเข้ามาตีเมืองไทยพร้อมกับทัพพม่า ทัพพม่าก็จะได้เมืองไทยไปแบ่งปันกับญวน แต่ญวนยังมีเมตตาแก่ไทยอยู่จึงไม่ยกทัพมาพร้อมกับพม่า พม่าก็เป็นแต่เตรียมการไว้ จะยกเข้ามาเมื่อใดก็ยังไม่ เนื้อความดังนี้มีแจ้งอยู่หนังสือของญวนฉบับก่อนนั้นแล้ว ท่านเสนาบดีไทยได้แปลหนังสือญวนฉบับก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา ได้ทรงทราบใต้ฝาละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสแก่ท่านเสนาบดี ให้มีท้องตราตอบออกมายังเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพที่เมืองพระตะบองว่า ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเขียนหนังสืออีกฉบับหนึ่ง ให้ตอบญวนตามพระกระแสพระราชดำริที่โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ที่ทรงร่างพระราชทานออกไป แต่ให้เขียนดำเนินเนื้อความเป็นหนังสือเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพไทย ประทับตราพระราชสีห์น้อยแม่ทัพตอบญวนไปอีกฉบับหนึ่ง ใจความว่า
“สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก ดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์อัครมหาเสนาบดีจอมพิริยพาหล พยุหพลพิไชยสงคราม ซึ่งเป็นรัตนทวยหาญดุจจักรแก้วประดิษฐานอยู่ใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทบงกชเรณูมาศ ยุคลพระบาสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา อันทรงพระมหาอนันตานุภาพ โปรดให้เรามาปราบปรามอินทรราชดัสกรนครกัมพุชประเทศและมาลาวประเทศ ได้ขอบเขตขัณฑเสมา อาณาจักรโดยกว้างขวางในบุรพทิศ มาถึงองเลโปเสนาบดีผู้สำเร็จราชการฝ่ายนานาประเทศในกรุงเว้ และองทงเจอัครมหาเสนาบดีผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือของอาณาจักรญวนทั้งสิ้น และเป็นผู้สำเร็จราชการในกรุงเว้ด้วยจงทราบ ซึ่งแต่ก่อนท่านเสนาบดีและแม่ทัพฝ่ายญวนมีหนังสือเข้ามายังกรุงพระมหานคร เป็นเนื้อความตักเตือนสติไทยนั้น ด้วยเรื่องเมืองพม่ากับไทย ไทยได้แจ้งแล้ว แต่ท่านเสนาบดีไทยหลายท่านคิดเห็นว่า ครั้นจะนำหนังสือญวนที่เตือนสติผู้ครองฝ่ายไทยนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครศรีอยุธยาไม่ได้ เพราะเกรงพระราชอาญา จะปรับไหมให้นายทัพนายกองและเสนาบดีถึงที่ตาย เพราะกฎหมายเมืองไทยมีว่า เขาด่าเจ้านายห้ามไม่ให้บ่าวไพร่นำความด่าบอกแก่เจ้านาย ถ้าผู้ใดบอกโทษถึงตาย เพราะฉะนั้นซึ่งญวนมีหนังสือเข้ามาบริภาษตัดพ้อถึงพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นหลายปะการ ฝ่ายท่านเสนาบดีไทยจะนำหนังสือของญวนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้เลยเป็นอันขาด เพราะกฎหมายห้ามตามธรรมเนียมไทย แต่ท่านเสนาบดีไทยได้พิเคราะห์ตรวจดูหนังสือของญวนแล้ว และเราก็ได้ตรวจด้วย เห็นข้อความสำคัญในหนังสือของญวนนั้นมีอยู่หนึ่ง ซึ่งญวนออกชื่อพม่าข้าศึกมาข่มขู่ไทยนั้น เหมือนเขียนรูปเสือหลอกให้วัวกลัว ฝ่ายนายทัพนายกองของไทยได้ประชุมปรึกษาพร้อมกันจึงลงเนื้อเห็นว่า ข้อความในหนังสือของเสนาบดีญวนกล่าวถ้อยคำเหมือนปัญญาเด็กเลี้ยงโค เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดินไทยให้ขุ่นเคืองใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาท กับข้อความซึ่งญวนเตือนสติให้ระวังระไวพม่าเมืองอังวะ จะยกกองทัพมาซ้ำเติมตีไทยนั้น ฝ่ายเราและท่านเสนาบดีไทยมีความขอบใจแก่เสนาบดีญวนที่เตือนสติมานั้นเป็นอันมากแล้ว......”
** ท่านผู้อ่านครับ ตอนนี้พักการรบกันด้วยปืนผาหน้าไม้และสรรพาวุธนานาชนิดไว้ก่อน มาทำสงครามน้ำหมึกกันอีกครา หนังสือตอบจากแม่ทัพใหญ่ไทยฉบับที่สอง ความยังไม่จบ มีประเด็นที่ตอบโต้ญวนที่ว่า พม่าจะฉวยโอกาสยกทัพใหญ่มาโจมตีไทย แล้วไทยจะถูกญวนกับพม่าระดมตีทั้งสองทางจนต้องเสียประเทศให้ญวนกับพม่าแบ่งกันครอบครอง เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ไทยจะตอบประเด็นนี้ว่าอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไ เมืองสุโขทัย ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, , ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, Paper Flower, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๕ -
หนังสือไทยตอบญวนสำนวนกร้าว กำแหงห้าวคารมสมศักดิ์ศรี ขุนทหารองครักษ์จอมจักรี ล้วนพร้อมพลีชีวาตม์เพื่อชาติไทย
ไม่เกรงกลัวพม่าญวนชวนร่วมรบ จะสยบย่อท้อก็หาไม่ ขอท้าญวนชวนพม่ามาเร็วไว สยามไม่หวาดหวั่นอันตราย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ ... เจ้าพระยาบดินทรเดชาพักไพร่พลกองทัพใหญ่อยู่ ณ เมืองพระตะบองนั้น องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนให้องเย้อโดยดาวถือหนังสือมาให้เจ้าพระยาแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย ถามเหตุผลที่ไทยยกทัพใหญ่มาตีญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชานำหนังสือญวนขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเป็นแนวทางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบญวนไป และยังมีกระแสพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบสารญวนอีกฉบับหนึ่ง ที่ญวนเตือนสติไทยเรื่องพม่าจะฉวยโอกาสที่ไทยกำลังรบกับญวน ยกมาตีไทยเป็นทัพกระหนาบ ความที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบญวนตามพระกระแสพระราชดำรินั้นยังไม่จบ วันนี้มาอ่านต่อครับ....
“........แต่ความคิดแม่ทัพนายกองฝ่ายไทยทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย พร้อมใจกันเห็นว่าเมืองไทยกับเมืองพม่า ได้เคยทำศึกสงครามเคี่ยวเข็ญแรมปีแรมเดือนกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว จนแม่ทัพพม่าออกระอาฝีมือไทย พม่าได้แต่งทูตมาชวนแม่ทัพไทยให้งดการศึกสงครามกันเสีย แล้วผันผ่อนตัดรอนเขตแดนแบ่งปันบ้านเมืองที่พรมแดนซึ่งกันและกันเด็ดขาดโดยมั่นคงลงเป็นการเสร็จแล้ว ข้างฝ่ายเหนือลำแม่น้ำโขงเป็นของไทยตลอดถึงเมืองลาวพุงดำ ไปจดถึงเมืองเชียงแสนตลอดขึ้นไปจนถึงเขาคั่นเขาเย้าแม่น้ำงึม และแม่น้ำเถินและแม่น้ำภาน แม่น้ำตะพังหรือแก่งสะพานหินขาว ต่อติดกับเขตแดนพม่าเชียงตุงเชียงรุ้งด้วย แม่ทัพไทยกับแม่ทัพพม่าได้ตกลงแบ่งปันเขตแดนกันเด็ดขาดออกไปแล้ว ดังที่ชี้แจงตำบลตำบลเหล่านี้มาให้ญวนรู้ด้วย เขตแดนฝ่ายใต้นั้นเล่า กองทัพอังกฤษก็ตีได้มาก ฝ่ายอังกฤษได้เป็นสัมพันธมิตรไมตรีกับไทยแล้ว และอังกฤษยกบ้านเมืองฝ่ายพม่าที่อังกฤษตีไว้ได้นั้น มายกให้แก่ไทยหลายเมือง ฝ่ายไทยไม่รับส่วนแบ่งปันเมืองพม่าที่อังกฤษให้ไว้นั้น เพราะไทยเห็นว่าเขาหลวงคั่นอยู่รักษาเมืองเหล่านั้นยาก จึงไม่รับไว้สักเมืองหนึ่ง ไทยกับอังกฤษได้เป็นมหามิตรไมตรีกัน เนื้อความข้อนี้ใช่ไทยจะอวดอ้างก็หาไม่ แจ้งอยู่แก่ใจญวนและพม่านั้นแล้ว
อนึ่ง รี้พลทแกล้วทหารแม่ทัพนายกองไทย ก็ได้รู้จักชั้นเชิงศึกสงครามกับพม่ามาช้านานแล้ว ได้เคยทำศึกกันมาจนพม่าระอาเลิกไปเอง บัดนี้แม่ทัพนายกองฝ่ายไทยทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็ได้ตรึกตรองจัดการบ้านเมืองอาณาเขตของไทยฝ่ายเหนือ ที่พรมแดนกับพม่าโดยมั่นคงแข็งแรงทุกทิศทุกทาง หรือที่ใดเป็นช่องเป็นทางที่พม่าจะมาได้โดยง่ายนั้น ก็ได้จัดสรรเจ้าเมืองกรมการที่มีสติปัญญากล้าหาญและฝีมือทัพศึกเข้มแข็ง ให้ไปพิทักษ์รักษาบ้านเมืองด่านทางที่พม่าจะเข้ามานั้นโดยรอบคอบตลอดขอบขัณฑเสมาอาณาจักรแล้ว
อนึ่ง แม่ทัพนายกองฝ่ายไทยมิได้กริ่งเกรงฝีมือพม่าข้าศึกเลย อนึ่งเมืองไทยมิได้ไม่มีความสะดุ้งตกใจกลัวว่าพม่าจะยกกองทัพมาเป็นศึกขนาบกับญวน ถึงมาทว่าญวนจะไปบอกพม่าให้ยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทยอีก ไทยก็ไม่หวาดหวั่นตกใจกลัวพม่า ขอให้ญวนเร่งรีบโดยเร็วไปบอกแก่พม่าให้ยกทัพมาเถิด ไทยจะได้สู้รบทำศึกกับพม่าต่อไปอีก เพราะว่าแม่ทัพไทยไม่ได้เล่นสนุกกับพม่ามานานแล้ว
อนึ่ง แม่ทัพนายกองไทยก็ได้เคยเห็นฝีมือทหารพม่าและทหารญวนมามากพอจะสู้รบกันได้ไม่เป็นไรนัก พม่าและญวนก็ไม่ได้เหาะเหินเดินบนน้ำดำดินมาทำศึกกันเมื่อไรเล่า ญวนและพม่าก็ย่อมมีช้าง ม้า โค กระบือ และเรือเป็นพาหนะด้วยกันเหมือนกับไทย ถึงเมื่อรบกันนั้นก็ย่อมตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย ใช่จะตายแต่ไทยเมื่อไรเล่า พม่าและญวนก็ไม่ได้กินเหล็ก ย่อมจะมีเลือดเนื้อ ถูกคมอาวุธก็บาดเจ็บตายอย่างไทย หาควรจะดูถูกไทยไม่ ถ้าท่านเสนาบดีญวนได้รับหนังสือฉบับนี้แล้ว ขอให้นำข้อความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามให้ทรงทราบด้วยเถิด หนังสือฉบับนี้ส่งมาแต่ท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่แม่ทัพที่เมืองพระตะบอง แต่ ณ วันเดือนหกแรมสิบสองค่ำ ปีมะเมียฉศกจุลศักราช ๑๑๙๖ ผ่านพิภพได้ ๑๑ ปี เขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวนฉบับ ๑ เป็นอักษรขอมภาษาเขมรฉบับ ๑ แล้วประทับตราพระราชสีห์น้อย ม้วนไว้ในกลักแดงมีถุงกำมะหยี่สีม่วงหุ้มนอกกลัก ตราจักรประจำครั่งที่ปากถุง มอบให้ญวนที่ยังอยู่คอยรับหนังสือตอบนั้น ให้ถือหนังสือฉบับนี้ไปส่งให้องเตียนกุนที่เมืองไซ่ง่อน แต่หนังสือข้างนอกถุงนั้นมีความว่า “ถึงองทงเจอัครมหาเสนาบดีและองเลโปเสนาบดีกรุงเว้”
ในปีมะเมียศกนั้น ครั้นถึง ณ เดือนแปดขึ้นสี่ค่ำ นายทัพญวนชื่อองโดยดายคุมญวน ๒๘ คน ถือหนังสือเดินมาทางเมืองเขมร องโดยดายแจ้งความกับขุนพิทักษ์ปัตถะพีเขมรนายด่านเมืองพระตะบองว่า
“แม่ทัพญวนฝ่ายเรือชื่อองต๋าเตืองเซิง ใช้ให้ถือหนังสือมาให้ท่านองเป็นใหญ่บดินทร์แม่ทัพไทยที่เมืองพระตะบอง”
เขมรนายด่านนำองโดยดายผู้ถือหนังสือญวนไปส่งเมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งล่ามให้ถามองโดยดายว่า
“หนังสือฉบับนี้ส่งมาแต่เมืองหลวงกรุงเว้หรือมาแต่เมืองไซ่ง่อน?”
องโดยดายแจ้งความว่า “เป็นหนังสือขององต๋าเตืองเซิงแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเรือ ซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ ที่ปากคลองสี่แยกโดยภาษาญวนเรียกว่า “เจียนทราย” (แปลเป็นภาษาไทยว่า เกาะแตง) แม่ทัพเรือมีหนังสือใช้ให้ถือมาส่งองเป็นใหญ่บดินทร์แม่ทัพไทยที่เมืองพระตะบอง แล้วองต๋าเตืองเซิงมีหนังสือใช้ให้จีนพ่อค้ารังนกชื่อจีนไลหู ลงเรือปากปลาใหญ่ใช้ใบแล่นไปส่งหนังสือที่กองด่านทะเลไทย ซึ่งตั้งอยู่ ณ เกาะกงกลางทะเล ให้ส่งหนังสือนั้นไปยังเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพเรือที่เมืองจันทบุรี”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงให้ล่ามแปลหนังสือออกได้ความเสร็จสิ้น จึงสั่งพระยากำจรใจราชกับขุนศรีสังหารคุมไพร่พล ๓๐ คน ถือต้นหนังสือญวนกับสำเนาแปลส่งเข้าไปยังกรุงเทพฯ แล้วจัดการเลี้ยงดูญวนพอสมควร....”
** ใจความในหนังสือญวนที่ส่งมาคราวนี้ยาวเยิ่นเย้อพอสมควร ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาแปลทราบความแล้วสั่งให้พระยากำจรใจราชนำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทูลเกล้าฯต่อไป ใจความว่าอย่างไร ยกไปให้อ่านกันในคราวหน้านะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, Paper Flower, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, นายใบชา, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|