บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) (ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๑๖ -
ห้าทัพไทยรุมตีลาวที่อยู่ ค่ายหนองบัวลำภูสู้ขังขึง แล้วแตกดับยับเยินเกินปักตรึง นับเป็นหนึ่งค่ายลาวถูกทำลาย
ให้ “นเรศร์โยธี,เสนีบริรักษ์” ยกทัพพรักพร้อมเข้าตีเป้าหมาย “ทุ่งส้มป่อย”ขุมเคียงตั้งเรียงราย ทั้งไพร่นายลาวแกร่งแรงพลัง |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เ รียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ ห้ากองทัพน้อยของไทยเข้ารุมตีค่ายหนองบัวลำภูแตก จับตัวแม่ทัพลาวคนเก่งที่ชื่อพระยานรินทร์ได้ กรมพระราชวังบวรฯ ชื่นชอบฝีมือใคร่จะชุบเลี้ยง แต่เขาไม่ยอมสวามิภักดิ์สมัครใจที่จะตาย กรมพระราชวังบวรฯจึงตรัสให้ประหารเสีย วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ครั้นแม่ทัพนายกองฝ่ายไทยตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูแตกหมดแล้ว จึ่งเดินทัพขึ้นไปหมายจะยกเข้าตีค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย ห่างกับค่ายเขาสารประมาณ ๑๕๐ เส้นเศษ

ขณะนั้นกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ๑ สองพระองค์นี้เป็นแม่ทัพหลวงกองหน้า คุมพลทหาร ๓,๐๐๐ คน
โปรดให้พระยาเสน่หาภูธร กับ พระยาวิสูตรโกษา คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ เป็นแม่ทัพหน้าของกรมหมื่นทั้งสอง ยกขึ้นไปตีค่ายลาวที่ค่ายส้มป่อย
แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าขุนเณร คงคุมพลพม่าทวายเป็นแม่ทัพนายกองโจรอย่างเดิม
แต่โปรดให้พระณรงค์สงครามจางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมา คุมกรมการและพลทหารเมืองนครราชสีมา ๕๐๐ เข้าสมทบกับทัพพม่าทวายด้วย รวมเป็นคน ๑,๐๐๐ เศษ เป็นกองโจรเดินก้าวสกัดเล็ดลอดไปตามชายป่า คอยตีกองลำเลียงลาวเวียงจันทน์ซึ่งจะยกมาส่งเสบียงอาหารกันที่ค่ายส้มป่อย อย่าให้ส่งถึงกันได้เลยเป็นอันขาด
 ครั้นได้พระฤกษ์แล้ว ฝ่ายกรมหมื่นแม่ทัพหน้าทั้งสองพระองค์ และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลายพร้อมกัน กราบถวายบังคมลายกกองทัพรอนแรมไปใกล้ค่ายลาวซึ่งตั้งอยู่ ณ ทุ่งส้มป่อย ครั้นกองทัพทั้งหลายถึงค่ายลาวพร้อมกันแล้ว กรมหมื่นแม่ทัพทั้งสองพระองค์จึงมีรับสั่งให้กองทัพหน้า ๕ กอง ซึ่งยกล่วงหน้าขึ้นมาก่อน ให้ยกเข้าตั้งค่ายประชิดไว้หลายด้าน และให้มีค่ายสีขุกรุกเผือก ค่ายทุบทู ค่ายปิหลั่น และทำบันไดหกพาดดอกไม้เพลิง ไฟพะเนียงดวงพลุ ไว้จะได้ปล้นค่ายพร้อมเสร็จ
 ฝ่ายเชียงขวากับเจ้าหน่อคำ ซึ่งเป็นแม่ทัพรักษาค่ายทุ่งส้มป่อยนั้น ได้ทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นมามาก จึงให้พลทหารลาวยกออกจากค่ายเป็นกระบวนใหญ่ไปตีค่ายที่ประชิด ไทยกับลาวได้สู้รบกันเป็นสามารถ พลลาวจะตีค่ายไทยก็ไม่ได้ จึงล่าถอยทัพกลับเข้าค่าย แต่ไทยกับลาวรบกันอยู่หลายเวลาก็ไม่แพ้ชนะแก่กัน
ฝ่ายเจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ที่ค่ายทุ่งส้มป่อย จึงคิดกับเชียงขวาว่า จะต้องจัดทัพใหญ่ไปตีค่ายประชิดไทยให้แตกเสียโดยเร็ว กำลังศึกไทยจึงจะหย่อนลง แต่จะต้องจัดทัพลาวแยกออกเป็น ๕ กอง จึงจะได้ชัยชนะแก่ไทย
คิดแล้วดังนั้น ก็จัดให้กองแก้วเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๔,๐๐๐ ให้กองคำเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๔,๐๐๐ รวมสองกองเป็น ๘,๐๐๐ ให้ยกออกไปตีค่ายประชิดไทยให้แตกแต่ในสามเวลา ให้พระยาแสนหาญเป็นแม่กองคุมพลทหารฉกรรจ์ ๔,๐๐๐ คน ให้พระยาน่านมือเหล็กเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๔,๐๐๐ รวมสองกองนี้เป็นพล ๘,๐๐๐ ให้ยกไปเป็นกองอาทมาต ซุ่มทัพอยู่ในป่าสองฟากทาง ให้คอยสกัดตีกองทัพไทยที่จะยกมาช่วยกันอย่าให้มาถึงกันได้ แล้วให้พระยาเสือหาญเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๒,๐๐๐ ยกไปรักษาหนองน้ำตามทางไว้ อย่าให้กองทัพไทยยกมาอาศัยน้ำที่ในหนองและในบึง สระลำธารที่ใดได้เป็นอันขาด ให้ท้าวมหาวงศ์กับท้าวพรหมพักตร์ เป็นแม่กองคุมทหาร ๑,๐๐๐ ให้ยกไปตัดต้นไม้สะทางที่ไทยจะมาให้ช้าลง ตัดเถาไม้เบื่อเมาไปไว้ในบึงบ่อห้วยหนองคลองบาง ตามทางกองทัพใหญ่ของไทยจะยกขึ้นมาคราวหลัง อย่าให้อาศัยน้ำตามทางได้เลย กับให้เก็บเอาศพโคกระบือแลคนที่ตาย บรรทุกเกวียนบรรทุกต่างไปไว้ในบึงบ่อหนองห้วยคลองทุกตำบล ตลอดทางที่ไทยจะขึ้นมาทางทุ่งส้มป่อยนั้นจงทุกทาง เป็นท่าทางกีดกั้นนั้นไว้ด้วย อนึ่ง ใช้ให้พระยาไชยสงครามกับเพี้ยสุวรรณและท้าวหมี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่คุมพลทหาร ๒,๐๐๐ รักษาค่ายทุ่งส้มป่อย แต่เจ้าหน่อคำกับเชียงขวาจะยกกองทัพใหญ่ออกไปตีค่ายประชิดไทยให้แตกเสียให้จงได้ จะได้ตัดกำลังข้าศึกไทยให้เบาบางหย่อนลงมากหากสู้ไม่ได้
ครั้นได้ฤกษ์แล้วเจ้าหน่อคำขึ้นม้าสีจันทน์ผูกเบาะอานเครื่องทองคำพร้อม มือถือหอกเบาบางใหญ่ ยกออกจกค่ายใหญ่นำหน้าทหารตรงไปตีค่ายประชิดไทย
 ฝ่ายกองทัพไทยนั้น พระยาเสน่หาภูธรและพระยาวิสูตรโกษา แม่ทัพหน้าทั้งสองจึงยกพลทหารออกต้านทาน ต่อรบสัปะยุทธยิงแทงฟันกันเป็นสามารถ ยังไม่แพ้ชนะแก่กันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยมีไพร่พลน้อยกว่าลาวมาก แต่อุตส่าห์รับรองป้องกันค่ายประชิดไว้ได้ แต่เหลือกำลังที่จะต่อสู้กลางแปลง เพราะรี้พลน้อยกลัวจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึก จึงล่าทัพถอยเข้าค่ายปีกกาปิดประตูค่ายรักษามั่นไว้ แต่ได้ยิงปืนใหญ่โต้ตอบกับลาวอยู่ในค่ายไม่หยุดหย่อน
ฝ่ายลาวเห็นได้ทีที่ไทยหนีเข้าค่าย ลาวจึงยกกองทัพไล่ติดตามเข้าไปใกล้ค่ายไทย ลาวไล่พลทหารตั้งเป็นปีกกาล้อมค่ายไทยไว้ทั้งสี่ด้าน แต่พอพ้นทางปืนใหญ่ยิงไม่ถึง ฝ่ายไทยยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่ายไม่ถึงข้าศึกลาว ลาวเร่งจัดการขุดอุโมงค์ดินบังปืนใหญ่ จะเข้าตีค่ายไทยที่ล้อมไว้ให้แตกจงได้ ฝ่ายไทยในค่ายก็รักษาค่ายมั่นอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเป็นการจวนตัวไม่รู้ที่จะทำประการใดได้
ครั้งนั้น ค่ายพระยาเสน่หาภูธร พระยาวิสูตรโกษาเกือบจะแตกเสียแก่ข้าศึกลาวอยู่แล้ว พอกรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ แม่ทัพใหญ่ได้ทราบข่าวที่กองม้าเร็วคอยเหตุมากราบทูลนั้นแล้วก็ทรงพระวิตก เกรงเกลือกว่าไทยจะทำการรักษาค่ายไว้ไม่ได้ ก็จะเสียค่ายหน้าแก่ข้าศึกลาวครั้งนี้ เหมือนเสียค่ายหลวงด้วย เพราะค่ายหลวงนั้นอยู่ใกล้ชิดค่ายหน้า
 เพราะฉะนั้นกรมหมื่นทั้งสองพระองค์จึงรีบเร่งยกกองทัพขึ้นไปโดยเร็ว ปรารถนาจะช่วยทัพหน้าให้ทันท่วงทีที่ข้าศึกมาล้อมนั้น จึงไม่ทันได้ทรงระวังข้างทางที่เสด็จขึ้นไป แต่พอทัพกรมหมื่นทั้งสองพระองค์เสด็จถึงกลางทางในป่าดงตะเคียน ฝ่ายกองทัพพระยาแสนหาญกับพระยาน่านมือเหล็ก แม่ทัพนายกองซุ่มของลาว ซึ่งคุมพลทหาร ๘,๐๐๐ มาตั้งซุ่มอยู่ในทางดงตะเคียนนั้น ครั้นเห็นได้ทีก็ยกพลเข้าโจมตีกองทัพกรมหมื่นทั้งสองพระองค์ ทั้งสองพระองค์ได้ต่อสู้รบกับลาวที่กลางทางป่าเป็นสามารถ ถึงตลุมบอนฟันแทงกันด้วยอาวุธสั้น ทั้งสองฝ่ายจะยิงปืนใหญ่น้อยก็หาทันไม่ เพราะเป็นเวลาจวนตัว แต่พลทหารไทยน้อยกว่าพลทหารลาว พลทหารลาวจึงได้ไสทัพช้างพรายยกเข้าล้อมกองทัพไทยไว้ได้โดยรอบ พลทหารลาวไสช้างงาเข้าบุกบั่นฟันแทงพลทหารไทยล้มตายมาก ขณะนั้นลาวจะทำอันตรายแก่กรมหมื่นทั้งสองพระองค์ไม่ได้ เป็นแต่ล้อมไว้ที่กลางแปลง........”
* อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกหวาดเสียวมากนะครับ ฝ่ายไทยทำลังเสียเปรียบ เพราะมีกำลังรบน้อยกว่าลาว ค่ายประชิดถูกล้อมโจมตีใกล้จะแตกแล้ว กรมหมื่นสองพี่น้องผู้เป็นแม่ทัพรีบเร่งยกไปช่วย ก็ถูกกองทัพซุ่มของพระยาแสนหาญกับพระยาน่านมือเหล็ก ที่มีกำลังมากกว่าล้อมรุมโจมตีพลทหารล้มตายลงมาก แม่ทัพถูกช้างล้อมอยู่กลางแปลง เห็นทีว่าจะไม่รอด จะมีปาฏิหาริย์อันใดมาช่วยหรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๗ -
กำลังพลลาวมากกว่าไทยพร้อม ยกเข้าล้อมค่ายไทยถอยหงายหลัง รุมแม่ทัพหน้าไทยที่ไม่ระวัง จึงเหมือนถูกกักขังอยู่กลางทัพ
“กรมหมื่นนเรศร์โยธี”นิ่ง ไม่เกรงกริ่งไพรีที่พร้อมสรรพ ทรงขี่ช้างนั่งภาวนานับ “คาบ”สำหรับคาถาอาคมดี
“ตวาดป่าหิมพานต์”สามคาบครบ ทรงสยบการบุกทุกหน้าที่ ปืนธนูยิงมาเหมือนวารี ไหลหลีกหนีห่างหายไกลพระองค์
ช้างพัง,พลายไสชนก็ย่นย่อ หอกดาบขออึ้งคิดพิศวง ไม่ตีรันฟันแทงแรงลดลง กลางป่าดงเงียบซบสงบงัน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ แม่ทัพหน้าสองพี่น้องทราบว่าค่ายประชิดของพระองค์ถูกกองทัพลาวโจมตีจนถอยร่นเข้าตั้งรับอยู่ในค่าย กำลังจะถูกเจ้าหน่อคำตีแตกอยู่รอมล่อแล้ว ก็ร้อนพระทัยรีบยกพลจากกองทัพหลวงไปหมายช่วย ไม่ทันระวังสองข้างทาง จึงถูกทัพซุ่มของลาวที่มีกำลังพลมากกว่ายกเข้าโจมตี พลไทยถูกทัพช้างของลาวบุกบั่นฆ่าฟันล้มตายลงเป็นอันมาก แล้วทัพช้างของลาวก็เข้ารุมล้อมแม่ทัพสองพี่น้องอยู่กลางป่า วันนี้อ่านต่อครับ
“กรมหมื่นทั้งสองนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นลาวไสช้างเข้ามาล้อมรอบพระองค์ พระองค์ท่านจะได้ครั่นคร้ามขามกลัวข้าศึกลาวนั้นหามิได้เลย ทรงนั่งอยู่บนเก้าอี้หนังพับในที่ล้อมกลางแปลงข้าศึก ตรัสว่าเกลียดแต่น้ำลายที่ปลายงวงช้างเท่านั้น ขณะนั้นลาวได้ไสช้างงาเข้ามาล้อมจนใกล้ จึงตรัสตวาดให้ช้างถอยหลังออกไปห่างพระองค์ ช้างข้าศึกเหล่านั้นก็ถอยหลังออกไปห่างพระองค์ท่านตามรับสั่ง
(แต่ลาวหาได้ยิงปืนไฟหน้าไม้มาไม่เลย จะเป็นด้วยเหตุอะไรหาทราบไม่ เห็นจะเป็นด้วยพระองค์ท่านมีศิลปาคมอุดมพระเวท เห็นเป็นที่ประจักษ์มหัศจรรย์แก่ตามหาชนในกองทัพไทยลาวครั้งนั้นเป็นอันมากยิ่งนัก)
 ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองโจร ยกกองทัพพม่าทวายไปซุ่มคอยตีกองลำเลียงลาวอยู่ในป่าหลังค่ายทุ่งส้มป่อย ขณะนั้นพลลาวในค่ายทุ่งส้มป่อยออกเที่ยวหาเผือกมันกิน ๗ คน กองทัพไทยม้าเร็วเข้าล้อมจับได้ทั้ง ๗ คนมาถามได้ความว่า
“เจ้าหน่อคำเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพลทหาร ๑,๘๐๐ ยกไปตีกองทัพไทย และให้ท้าวเพี้ยคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ อยู่รักษาค่าย แล้วเจ้าหน่อคำจัดการระวังรักษาทางป่าและหนองน้ำลำธารเป็นสามารถ”
ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรได้ทราบดังนั้นก็ตกพระทัย เกรงว่าพลลาวมากมายนักจะยกไปตีไทย ไทยมีพลน้อยจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกลาว พระองค์เจ้าขุนเณรมีความวิตกนัก จึงดำริหาอุบายที่จะไปช่วยแก้กองทัพไทย ฝ่ายกองหน้าที่ถูกล้อมนั้นจะทำเป็นประการใดดี แต่ทรงพระดำริอยู่ช้านานจึงคิดขึ้นได้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง จึงเรียกลาว ๗ คนที่จับมาได้นั้นมาตรัสว่า
 “กูจับมึงทั้ง ๗ คนนี้ได้ โทษมึงถึงตายทั้งสิ้น แต่กูจะไม่ฆ่า จะยกโทษให้พ้นความตายทั้ง ๗ คน แต่จะยึดพวกมึงไว้ ๖ คนก่อน แล้วจะให้พวกไทยแต่งตัวเหมือนลาวปลอมหาบคอนแทนพวกมึงทั้ง ๖ คน รวมเป็น ๗ คนทั้งพวกมึงคนหนึ่ง จะให้พวกมึงพาพวกคนไทย ๖ คนเข้าไปในค่ายลาวในเวลาวันนี้ อย่าให้ลาวในค่ายรู้เหตุการณ์ได้ ถ้าสำเร็จการประสงค์ของกูแล้ว กูจะปูนบำเหน็จให้มึงถึงขนาดกับความชอบของมึง มึงจะรับอาสาทำการตามกูสั่งนี้ได้หรือไม่ได้ให้ว่ามา”
ฝ่ายลาว ๗ คนต่างคนก็กราบลงแล้วทูลว่า “ซึ่งท่านให้ชีวิตพวกข้าพเจ้า ๗ คนไว้ครั้งนี้นั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดที่แล้วมิได้ พวกข้าพเจ้าทั้ง ๗ คนพร้อมใจกัน จะขอรับอาสาปฏิบัติทำตามถ้อยคำท่านนั้นทุกประการ”
 พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสกับพระณรงค์สงคราม ให้เป็นแม่กองอาทมาตทะลวงฟันคุมพลทหาร ๕๐๐ ถืออาวุธสั้นและมีคบเพลิงสำหรับตัวทุกคนจะได้เผาค่ายลาว ให้ยกไปซุ่มอยู่ตามชายป่า ห่างค่ายลาวประมาณ ๔๐ เส้น หรือ ๕๐ เส้นพอควรแก่การให้ทันท่วงที ถ้าเห็นลาวพาไทย ๖ คนเข้าไปในค่าย เผาค่ายเจ้าหน่อคำได้แล้ว ให้พระณรงค์สงครามยกกองทัพอาทมาตรีบเร่งต้อนพลโห่ร้องกระหน่ำสำทับหนุนเนื่องเข้าไปหักค่ายให้พังลง แล้วไฟเผาค่ายลาวให้ไหม้สว่างขึ้น พลทหารลาวเจ้าหน่อคำก็จะตกใจพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง ก็จะถอยทัพล่าไปเอง ไทยที่อยู่ในที่ล้อมก็จะออกได้แล้วจะได้เป็นทัพกระหนาบด้วย พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสสั่งไทย ๖ คนที่แต่งตัวเป็นลาวนั้นว่า “ถ้าเข้าในค่ายลาวได้ ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัว หาอาวุธไว้ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”
ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรคุมพลทหารอาทมาต ๕๐๐ คนถืออาวุธสั้นยาวครบทุกคน ยกไปซุ่มแอบอยู่ตามชายป่าข้างทิศใต้ ห่างค่ายลาวข้าศึกทุ่งส้มป่อยประมาณ ๕๐ เส้น
 ฝ่ายไทย ๖ คนกับลาว ๑ คน เป็น ๗ คน แต่งเป็นลาวหาบคอนพากันเดินไปถึงประตูค่ายเจ้าหน่อคำ เป็นเวลาเย็นจวนจะค่ำเห็นนายประตูค่ายกำลังรับประทานอาหารอยู่ จึงชักดาบออกฟันนายประตูตายพร้อมกัน ๔ คน แล้วจึงวิ่งเข้าค่ายได้ก็ไล่ฟันลาวไปจนถึงกลางค่าย บ้างก็นำคบเพลิงเผาค่ายขึ้นเป็นหลายแห่ง พลทหารลาวในค่ายจะจับไม่ถนัดเพราะแต่งกายเป็นลาวเหมือนกัน ต่างคนต่างตกใจหารู้ว่าเหตุมาแต่ทางไหนไม่ บ้างเข้าดับไฟ บ้างไล่ติดตามค้นหาผู้ร้ายภายในค่ายเป็นอลหม่าน
 ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรและพระณรงค์สงครามทั้งสองกองที่ซุ่มอยู่นั้น ครั้นเห็นแสงเพลิงสว่างขึ้นที่ค่ายลาว จึงยกพลทหารโห่ร้องเดินตามกันหนุนเนื่องเข้าไปตีค่ายลาวพร้อมกัน พลทหารไทยพังค่ายเข้าไปในค่ายได้ไล่ฆ่าฟันลาวตายเป็นกอง ๆ ช้างงาในค่ายลาวซึ่งตกมันอยู่นั้น ครั้นเห็นแสงไฟสว่างก็ตกใจแตกปลอกออกไล่แทงผู้คนล้มตาย แล้วแล่นเข้าป่าไปในค่ำวันนั้น
พระยาไชยสงคราม, ท้าวสุวรรณ, ท้าวหมี, สามนายคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ อยู่รักษาค่ายที่ทุ่งส้มป่อย เห็นเชิงศึกไทยกระชั้นตีเข้ามาในค่ายได้โดยเร็วดังนั้นก็ตกใจ จะรวบรวมทหารให้เป็นหมวดเป็นกองออกต่อสู้ก็ไม่ได้ ด้วยรี้พลแตกตื่นตกใจมากจะกดไว้ไม่อยู่ จึงปล่อยให้แตกแหกค่ายหนีไปซ่อนกายในป่าทั้งนายไพร่ได้บ้าง ที่ตายก็มาก ที่เหลือตายก็มี
 ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรตีค่ายทุ่งส้มป่อยแตกแล้ว ได้ช้างพลายพังระวางเพรียว ๒๐ ช้าง ม้า ๑๐๐ ม้า โคต่างเกวียนกระบือเป็นอันมาก กับเครื่องสรรพาวุธใหญ่น้อยกระสุนดินดำพร้อมด้วย ได้ลาวเชลยฉกรรจ์ ๒๐๐ ทั้งที่ทุพลภาพป่วยไข้ด้วย ๑๐๐ เศษ พระองค์เจ้าขุนเณรมีรับสั่งให้พระณรงค์สงครามคุมพลไทย ๘๐๐ อยู่รักษาค่ายเดิม ให้รักษาลาวเชลยไว้ด้วย แล้วพระองค์เจ้าขุนเณรคุมพลทหารอาทมาต ๕๐๐ รีบรุดเร่งยกลงมาช่วยทัพไทยกองหน้าซึ่งถูกลาวล้อมไว้
ฝ่ายเจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาว เห็นแสงไฟไหม้ค่ายของตนขึ้นข้างหลังก็ตกใจ รู้ว่าค่ายของตนเป็นอันตรายเสียแก่ข้าศึกไทยแล้ว ด้วยว่ามาหลงล้อมไทยอยู่ทางนี้ จึงเสียค่ายข้างโน้น เจ้าหน่อคำก็เลิกการล้อมไทย ถอยหนีล่าทัพกลับมาตั้งรั้งทัพอยู่”.........
* ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วนะครับท่านานผู้อ่าน เสด็จในกรม กรมหมื่นนเรศร์โยธี ประทับนั่งนิ่งกลางวงล้อมของข้าศึก เหมือนบริกรรมภาวนาคาถาอาคม นัยว่าภาวนาคาถาชื่อ “ตวาดป่าหิมพานต์” สะกดทัพช้างและพลปืนธนูให้นิ่งงันอยู่ ไม่เข้าทำอันตรายพระองค์ จนกระทั้งเกิด “ปาฏิหาริย์” ขึ้นในที่สุด
 ปาฏิหาริย์เกิดจาก พระองค์เจ้าขุนเณร แม่ทัพกองโจรนี้เอง ท่านผู้นี้เคยมีผลงานยอดเยี่ยมในสงคราม ๙ ทัพ คลิก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพกองโจร ปล้นพม่า ทำให้พม่าพ่ายแพ้มาแล้ว ครั้งนี้พระองค์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นแม่ทัพกองโจรอีกครั้ง ประวัติของพระองค์ไม่ค่อยชัดแจ้งนัก นัยว่าทรงเป็นโอรสของพระอินทรรักษา(เสม) ภัสดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระยาเทพสุดาวดี ประสูติแต่มารดาสามัญชนที่เป็นอนุภรรยาของพระอินทรรักษา (เสม) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีที่ “พระองค์เจ้า” ศึกเจ้าอนุเวียงจันทน์ครั้งนี้ พระองค์เจ้าขุนเณรแสดงความสามารถในการเป็นกองโจรได้ยอดเยี่ยมยิ่ง
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๘ -
เจ้าหน่อคำรู้แน่ว่าแพ้แล้ว จึงเลือกแนวหนีตายไปผลุนผลัน ไทยไล่ตามต้อนตรลบรบติดพัน กลางอารัญลาวตายศพก่ายกอง
เจ้าอนุรู้แน่แพ้ทุกค่าย รีบหนีตายทิ้งลาวไม่ปกป้อง ปล่อยเวียงจันทน์ว่างผู้อยู่ปกครอง พาครัวล่องลงใต้ไปพึ่งญวน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระองค์เจ้าขุนเณรนายทัพกองโจรคิดอุบายลอบโจมตี แล้วเผาค่ายลาวทุ่งส้มป่อยพินาศไปในพริบตา เจ้าหน่อคำรู้ว่าค่ายใหญ่ลาวเสียแก่ข้าศึกแล้วก็เลิกล้อมค่ายไทยล่าถอยไป วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 “ขณะนั้นกรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ทั้งสองพระองค์ที่อยู่ในที่ล้อมลาว ทอดพระเนตรเห็นกองทัพลาวที่ล้อมนั้นล่าถอยไป จึงเข้าพระทัยชัดว่า ชะรอยจะมีกองทัพไทยผู้ใดไปจุดไฟเผาค่ายลาว ลาวจึงได้ล่าถอยไป จึงตรัสสั่งให้นายทัพนายกองไทย เร่งรีบยกติดตามตีทัพลาวเจ้าหน่อคำที่ล่าถอยหนีไปนั้นให้เต็มมือ
 ฝ่ายเจ้าหน่อคำล่าถอยหนีมาพลาง เดินทัพรุดหนีมาทางในป่า ก็พอมาปะทะกองทัพพระองค์เจาขุนเณรยกมาเป็นทัพกระหนาบหลังเจ้าหน่อคำ เจ้าหน่อคำกระทำศึกดุจดังฟองสกุณปักษาชาติอันถูกพายุพัด มาประดิษฐานตั้งกลิ้งกลอกอยู่ริมก้อนศิลาที่เป็นแง่อันแหลม
 ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรต้อนพลทหาร ให้โห่ร้องทะลวงฟันยิงแย่งแทงด้วยหอกและหลาว พลหนุนเนื่องกันเข้าโจมตีเป็นทัพกระหนาบ สะกัดหลังทัพลาวไว้ และฆ่าฟันลาวตายเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้าหน่อคำเห็นเชิงศึกไทยหลักแหลมนักเหลือกำลัง จะตั้งสู้ต่อหาได้ไม่ จึงพาทหารที่ร่วมใจ ๒๐๐ คนเศษฝ่าออกจากที่ล้อมได้ หนีไปในป่าดงหลายวัน ถึงค่ายช่องเขาสาร แต่ว่าต้องถูกอาวุธมีบาดแผลเจ็บป่วยไปด้วยหาตายไม่ ขณะนั้นไพร่พลลาวแตกฉานซ่านเซ็นหนีเร้นไปทั่วป่า จะควบคุมกันเข้าก็ไม่ได้ ด้วยนายทัพนายกองจะบังคับปกครองมิได้แล้ว
ฝ่ายกองทัพไทยทั้งหลายไล่พิฆาตฆ่าฟันแทงลาวล้มตายเป็นอันมาก ศพลาวตายซ้อนซับกันเต็มทั้งป่า (ดุจดังป่าช้าในคราวอหิวาตกโรค ชวนที่จะสังเวชยิ่งหนัก ที่จับลาวเป็น ๆ มาได้ก็มาก แต่หาปรากฏว่าเท่าไรไม่ เพราะไม่ได้รับรายงานรบกันในเวลานั้น)
นายทัพนายกองไทยเก็บได้เครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ไว้ได้ทุกอย่าง จับได้ช้างใหญ่ได้ขนาดพลาย ๔๙ เชือก ช้างพัง ๔๑ เชือก ช้างเล็กไม่ถึงขนาดรวมทั้งพลายพังด้วยเป็น ๑๗๔ เชือก ม้า ๓๔๖ ม้า โคกระบือ ๖๐๐ เสบียงอาหารพร้อมบริบูรณ์ เจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่หนีไปกับทหารร่วมใจ ๒๐๐ เศษ ไปถึงค่ายเขาสาร ทหารไทยหาจับได้ไม่
 ฝ่ายกรมหมื่นแม่ทัพทั้งสองพระองค์ จึงตรัสสั่งนายทัพนายกองให้เก็บรวบรวมเครื่องสรรพาวุธ เสบียงอาหารบำรุงช้างม้าไพร่พลทั้งปวงไว้ให้บริบูรณ์เป็นปรกติที่ค่ายทุ่งส้มป่อยเสร็จแล้ว จึงมีรับสั่งให้นายทัพนายกองจัดแจงตั้งค่ายใหญ่ ไว้รับเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงแต่งหนังสือบอกข้อราชการศึก ซึ่งมีชัยชนะแก่ลาวฉบับหนึ่ง โปรดให้หลวงเดชอัศดรกับหลวงไกรสินธพ สองนายคุมทหารม้า ๔๐ ม้า ถือหนังสือบอกลงมาทูลเกล้าฯ ถวายกรมพระราชวังบวรฯ ที่ค่ายหลวงตำบลที่น้ำเขิน
 ขุนนางผู้ใหญ่นำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลกรมพระราชวังบวร กรมพระราชวังบวรได้ทรงทราบสิ้นข้อความแล้ว จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสรรเสริญสติปัญญา และความคิดกล้าหาญของพระองค์เจ้าขุนเณรว่า
“เขาได้เคยกระทำการศึกสงครามชำนิชำนาญมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ครั้งท่านเสด็จไปตีพม่าที่เขาชะงุ้มราชบุรี ครั้งนั้นเจ้าขุนเณรเขาได้เป็นนายทัพกองโจรไปตีกองลำเลียงพม่า เขาเคยมีชัยชนะมาแล้ว”
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรานุกิจมนตรี จัดแจงตระเตรียมกองทัพให้พร้อมเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา จะยกทัพหลวงขึ้นไปยังค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย
ครั้นได้พระฤกษ์ดีแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระคชาธารพังโกสุม ผูกเครื่องมั่นกระโจมทองสี่หน้า พร้อมด้วยราชบริวารแห่นำตามเสด็จโดยสถลมารค เสด็จพระราชดำเนินประทับรอนแรมขึ้นไปถึงค่ายทุ่งส้มป่อย ประทับที่พลับพลาชัยในค่ายหลวงซึ่งกองหน้าแต่งไว้รับเสด็จ
 ขณะนั้น กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ พระองค์เจ้าขุนเณร และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลายพร้อมกัน ไปเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการศึกเสร็จสิ้นทุกประการ และทูลถวายศาสตราวุธช้างม้า กับลาวเชลยที่เหลือตายจับเป็นมาได้นั้น
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสเรียกพระองค์ขุนเณรให้เข้ามาเฝ้าในที่ใกล้ จึงพระราชทานพระแสงดาบฝักทองคำองค์หนึ่ง แก่พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นรางวัล
 ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกแม่ทัพฝ่ายเหนือยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหล่มสัก พอกองทัพพระยาเพชรพิชัย พระยาไกรโกษา ก็มาถึงเมืองหล่มสักพร้อมกัน จึงช่วยกันระดมตีทัพเจ้าราชวงศ์แตกหนีไป เจ้าราชวงศ์พาพระสุริยวงศาธิบดีเมืองหล่มสักหนีไปด้วย เดินไปหาเจ้าอนุผู้เป็นประธานาธิบดีที่ค่ายเขาสาร
 ฝ่ายเจ้าอนุตั้งอยู่ที่ช่องเขาสารทราบการว่า ค่ายหนองบัวลำภู และค่ายทุ่งส้มป่อย และค่ายทุ่งล้ำพี้ แตกเสียแก่ทัพไทยทัพไทยแล้วทั้งสามตำบล จึงคิดว่า
“เห็นจะสู้รบแก่กองทัพไทยไม่ได้ จะต้องทิ้งค่ายที่ช่องเขาสารที่สำคัญนี้เสียจึงจะได้ จำเป็นต้องคิดพาชีวิตรอดดีกว่าอยู่สู้รบกับไทย”
คิดดังนั้นแล้วจึงทำเป็นกลอุบายว่า เราจะไปจัดการบ้านเมืองต่อไป จึงให้พระยาสุโภกับชานนท์ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่รักษาค่ายที่ช่องเขาสาร
 เจ้าอนุแกล้งพูดปดกับนายทัพนายกองว่า จะขึ้นไปจัดการที่เมืองเวียงจันทน์รับทัพไทย เจ้าอนุก็รีบขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์ แล้วเก็บทรัพย์สิ่งของที่สำคัญควรจะเก็บไปได้ กับพาบุตรภรรยาญาติวงศ์ลงบรรทุกเรือใหญ่ จะหนีไปเขตแดนเมืองญวนให้พ้นภัย บุตรที่ไปด้วยนั้นคือ เจ้าราชวงศ์ ๑ เจ้าสุทธิสาร ๑ เจ้าไชยสาร ๑ เจ้าเสือ ๑ เจ้าเถื่อน ๑ เจ้าเหม็น ๑ เจ้าช้าง ๑ เจ้าอึ่งคำ ๑ เจ้าขัติยะ ๑ เจ้าพุทธชาด ๑ เจ้าอิศรพงศ์ ๑ เจ้าเต้ ๑ เจ้าหนูจีน ๑ เจ้าสุวรรณ ๑ รวมบุตรใหญ่ ๑๔ คน และบุตรหญิงอีกมากไม่ปรากฏชื่อ กับบุตรน้อย ๆ อีกหลายคน กับหม่อมห้ามแหนแสนกำนัลที่สำคัญก็พาไปมาก กับบุตรเจ้าอุปราชอีก ๕ คน ชื่อเจ้าเอย ๑ เจ้าอาย ๑ เจ้าอัง ๑ เจ้าปาน ๑ เจ้าพรหม ๑ กับมารดาเจ้าอุปราชด้วยคน ๑ และญาติที่ชิดสนิทพาไปบ้าง กับขุนนางที่ไว้ใจพาไปบ้าง
 และเจ้าอนุสั่งให้จับทหารและขุนนางไทยชื่อ พระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) ซึ่งเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ กับพวกไทยที่เป็นมหาดเล็กและนายงานนายช่างหลายคน กับพระสงฆ์ไทยหลายรูป ให้พาไปฆ่าเสียสิ้นทั้งนั้นบรรดาไทย
 เมื่อเดือนหก แรมหกค่ำ เจ้าอนุลงเรือล่องตามลำน้ำไปขึ้นที่ท่าเมืองมหาไชยกองแก้ว แล้วเดินบกขึ้นช้างบ้าง ม้าบ้าง เดินเท้าบ้าง ไปอาศัยอยู่ที่เมืองล่าน้ำ ญวนเรียกว่าเมืองแง่อาน ซึ่งเป็นเขตแดนหัวเมืองขึ้นของญวน.....”
* เป็นอันว่ากองทัพไทยตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูแตกยับไป ๓ ค่ายแล้ว ยังเหลือค่ายใหญ่ที่ช่องเขาสาร อันเป็นเสมือนประตูสู่เมืองเวียงจันทน์อีกค่ายเดียว แต่เจ้าอนุเจ้าของค่ายหลวงช่องเขาสารออกอุบายหนี โดยตั้งให้พระยาสุโภกับชานนท์อยู่รักษาค่าย ตนเองกลับไปเวียงจันทน์แล้วขนทรัพย์สมบัติ เมีย ลูก และญาติสนิทหนีไปอยู่เมืองแง่อานของญวน
 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว / เจ้าอนุเวียงจันทน์ / จักรพรรดิมินห์ มาง นี่เป็นการหนีไปพึ่งญวนครั้งที่ ๑ ของเจ้าอนุ และก็เป็นชนวนเหตุให้ไทยรบลาวติดพันไปถึงรบกับญวนต่อไป...
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๙ -
พระยาสุโภแม่ทัพลาวช่องเขาสาร สมัครมานทัพใหญ่ได้ครบถ้วน ยกจากเขาสารเฮไม่เรรวน สั่งทุกส่วนทัพลาวเข้าตีไทย
ค่ายส้มป่อยใกล้แตกตายน้ำตื้น กรมหมื่นสองพี่น้องช่วยแก้ได้ กรมพระราชวังบวรฯไว สั่งยกไปช่องเขาสารในทันที |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าอนุแอบพาครัวหนีกองทัพลาว ทิ้งเวียงจันทน์ไปอาศัยอยู่เมืองล่าน้ำ หรือ แง่อาน หมายพึ่งบารมีญวน วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
“ฝ่ายพระยาสุโภกับชานนท์หาทราบว่าเจ้านายของตนหนีไปแล้วไม่ ได้ทราบแต่ว่ากองทัพไทยยกมาตีค่ายหนองบัวลำภู และทุ่งล้ำพี้ และทุ่งส้มป่อย แตกทั้งสามตำบลแล้ว บัดนี้ไทยมาตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งส้มป่อย จึงมีหนังสือไปถึงพระยาเชียงสาและกองคำ และเพี้ยสุรินทร์ ให้ยกทัพใหญ่มาสมทบกันช่วยตีค่ายไทยที่ทุ่งส้มป่อยให้แตกให้จงได้
ฝ่ายพระยาเชียงสาได้ทราบหนังสือดังนั้นแล้ว ก็นัดหมายกองทัพทั้งสามทัพพร้อมกันแล้ว จึงยกทัพใหญ่มาล้อมค่ายไทยที่ทุ่งส้มป่อยทั้งสามทัพ ตามสัญญาพระยาสุโภ พระยาสุโภก็ยกกองทัพใหญ่ไปช่วยระดมตีกองทัพไทยด้วย
 กองทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ที่นั้น เห็นทัพลาวยกมามากก็ไม่อาจจะออกรบกลางแปลง รักษาค่ายมั่นไว้ ทัพลาวจะเข้าตีหักค่ายไทยก็ไม่ได้ ลาวจึงตั้งล้อมไทยไว้ถึง ๗ วันจนเสบียงอาหารหมด กองทัพไทยอยู่ในที่ล้อมครั้งนี้ ๗ วันเกือบจะเสียทีแก่ลาวอยู่แล้ว พอกองทัพกรมหมื่นนเรศร์โยธีขึ้นไปทันท่วงที เมื่อวันศุกร์ เดือนหก แรมค่ำหนึ่ง มีพลทหารติดตามท่านไปแต่ ๑๐๐ คนเศษเท่านั้น เพราะรีบเร่งด่วนขึ้นไปโดยเร็ว เมื่อได้ทรงทราบว่าทัพลาวยกมาล้อมพระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา เจ้าพระยามหาโยธารามัญ ล้อมไว้โดยแน่นหนา ท่านมิได้รอท่าคอยกองทัพหนุน รับสั่งให้ยกเข้าโจมตีแต่ลำพังคนร้อยหนึ่งเท่านั้นก็จะได้
ลาวเห็นว่าไทยมีพลทหารน้อยนัก ลาวก็หันหน้าเข้าล้อมไว้ทั้งสี่ด้าน ลาวกับไทยได้รบกันถึงอาวุธสั้นเป็นตะลุมบอน แต่กรมหมื่นนเรศร์โยธีมีอาจารย์ไปด้วยสี่คน อาจารย์ทั้งสี่กระทำวิชาให้พวกลาวข้าศึกเห็นว่าเป็นคนอยู่บนต้นไม้มากนักทุกต้น ต้นไม้ก็เห็นเป็นหอรบไปหมด มีคนอยู่บนหอรบหลายหมื่นหลายพัน พวกลาวตั้งใจยิงปืนขึ้นไปบนต้นไม้ดั่งห่าฝนอย่างเดียว ไม่ได้ยิงปืนไฟต่ำลงมาข้างล่างเลย แล้วอาจารย์ทั้งสี่นำใบมะขามมาเสก แล้วโปรยไปเป็นตัวต่อแตนต่อยพวกลาวเจ็บปวดสาหัสยิ่งนักหนา
(เพราะฉะนั้น หม่อมเจ้าบุตรหลาน และพวกข้าไทในกรมของท่านที่ได้ตามเสด็จไปอยู่ในที่ล้อมนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายเลยแต่สักคนหนึ่ง ความข้อนี้ผู้ที่ได้ไปทัพครั้งนั้น ได้รู้เห็นเป็นพยานด้วยมากมาย แต่บัดนี้คนเหล่านั้นล้มตายหายจากไปมากเกือบหมดแล้ว หาพยานยาก แต่ว่ายังมีบุตรหลานของพวกกองทัพคราวนั้น ได้รับความเล่าต่อ ๆ มาก็มีบ้าง ท่านผู้ได้อ่านได้ฟังต่อภายหลังจะเชื่อก็ตาม จะไม่เชื่อก็ตามเถิด เหมือนพงศาวดารครั้งกรุงเก่าแผ่นดินพระนารายณ์ มีพระยารามเดโชหายตัวได้ พม่าจับตัวได้แล้วแก้ตัวออกมาได้ เพราะมีวิชาทางยกเมฆกระฉายหรืออื่น ๆ ด้วย การนี้เมื่อไม่เชื่อครั้งนี้ การครั้งโน้นก็ไม่เชื่อเหมือนกัน เพราะการมหัศจรรย์มีน้อยนัก จึงไม่ใคร่มีผู้เชื่อลงเนื้อเห็นด้วย)
 ขณะลาวล้อมกรมหมื่นนเรศร์โยธีอยู่นั้น พอกองทัพกรมหมื่นเสนีบริรักษ์พระอนุชาคุมกองทัพใหญ่ขึ้นไปทัน จึงได้ขับพลทหารให้เข้าช่วยกันรบตีลาวแตกเป็นช่องออกไปได้ แต่พอให้กรมหมื่นนเรศร์โยธีออกจากที่ล้อมได้
ฝ่ายกองทัพพระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา เจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งอยู่ในค่ายที่ทุ่งส้มป่อย ได้ยินสียงปืนยิงรบกันแน่นหนาอื้ออึงดังนั้น แลเห็นลาวซึ่งล้อมอยู่ทำกิริยาป่วนปั่นระส่ำระสาย ก็เข้าใจว่ามีกองทัพไทยยกมาช่วยเป็นมั่นคง พวกทหารเหล่านั้นก็มีน้ำใจกล้าหาญองอาจ พร้อมใจกันช่วยตีลาวหักออกมาจากที่ล้อมได้ แล้วก็เข้าบรรจบกันกับกองทัพข้างนอกได้ เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนหกแรมสามค่ำ ขณะนั้นกองทัพลาวจะต้านทานมิได้ แตกกระจัดกระจายจะคุมกันเข้าไม่ได้ ก็แพ้พ่ายเปิดช่องให้ทัพไทยที่ล้อมไว้นั้นออกได้สิ้น ฝ่ายกองทัพกรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ และทัพพระย่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระณรงค์วิชัย เจ้าพระยามหาโยธา พร้อมกันทุกทัพทุกกองยกเข้าช่วยระดมตี ไล่ฆ่าฟันกองทัพลาวล้มตายลงเป็นอันมาก พวกลาวเห็นเหลือกำลังที่จะตั้งต่อสู้กับไทยไม่ได้ ลาวทั้งนายไพร่ก็ล่าทัพทิ้งค่ายที่ทุ่งส้มป่อยเสียทั้งสิ้น ถอยทัพล่าหนีไปเข้าค่ายเขาสารได้บ้าง ที่ตายก็มาก ที่ไทยจับได้เป็นไปก็มาก
 ฝ่ายแม่ทัพนายกองไทย ได้มีชัยชนะแก่ข้าศึกลาวที่ตำบลทุ่งส้มป่อยอีกครั้งหนึ่ง เป็นสองครั้งทั้งครั้งก่อนนั้น
ครั้งนี้ กรมหมื่นทั้งสองกรมรับสั่งให้เจ้าพระยามหาโยธาคุมกองรามัญอยู่รักษาค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อยไว้ให้ดี แล้วโปรดให้พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา คุมพลทหาร ๔๐๐ เป็นนายทัพนายกองลาดตระเวนที่หนึ่ง ให้พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกรมช้าง กองนอกเมืองนครราชสีมา คุมพลทหาร ๕๐๐ มีช้างสำหรับในกอง ๒๐๐ ช้าง เป็นแม่กองตระเวนที่สอง รวมพลทหารทั้งสองกองพลพันหนึ่ง จึงโปรดให้ลาดตระเวนรักษาด่านทางข้างทุ่งนาคราช ป้องกันรักษาทางไม่ให้ลาวเวียงจันทน์และทางอื่นยกมาบรรจบกับค่ายที่เขาสารได้เลยเป็นอันขาด
 ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระองค์เจ้าขุนเณรคงเป็นกองโจร รีบยกไปซุ่มพลอยู่ต้นทางเวียงจันทน์ที่จะเข้ามาเขาสาร ให้คอยสกัดตีกองลำเลียงลาวเวียงจันทน์อย่าให้มาส่งถึงกันได้
แล้วโปรดให้ทัพพระยาเสนาภูเบศร์กองหนึ่ง โปรดให้ทัพพระยาพิชัยบุรินทรากองหนึ่ง โปรดให้ทัพพระยาณรงค์วิชัยกองหนึ่ง โปรดให้ทัพพระยาวิสูตรโกษากองหนึ่ง ทั้ง ๔ กองนี้คุมพลทหารกองละ ๑,๐๐๐ เป็นทัพหน้าที่หนึ่งยกไปตีค่ายเขาสารช่องแคบด้านตะวันตก โปรดให้ทัพพระยากลาโหมราชเสนากองหนึ่ง โปรดให้ทัพพระยาจ่าแสนยากรกองหนึ่ง โปรดให้ทัพพระวิเศษสงครามฝรั่งแม่นปืนใหญ่กองหนึ่ง คุมทหาปืนใหญ่ ยกไปเข้ากองทัพพระยาจ่าแสนยากร เป็นทัพทำลายค่าย รวม ๓ ทัพพลทหาร ๓,๐๐๐ ยกเข้าตีค่ายเขาสารด้านตะวันออกเฉียงเหนือ โปรดให้กองทัพพระยาศาสตราฤทธิรงค์กองหนึ่ง ให้ทัพหลวงดำเกิงรณภพกองหนึ่ง หลวงวุธทธสาระชาญกองหนึ่ง โปรดให้พระยาอภัยศรเพลิงกองหนึ่ง พระจินดาจักรรัตน์กองหนึ่ง ทั้ง ๔ กองนี้คุมพลกองละ ๕๐๐ ยกเข้าตีค่ายลาวที่เขาสารทางด้านใต้ โปรดให้พระยาสุริรทราชเสนี กับพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ทั้งสองกองนี้คุมพลทหารกองละ ๓๐๐ ยกไปคอยตีกองทัพลาวซึ่งจะมาอาศัยตักน้ำกินในลำธารป่าดงทึบ ให้รักษาลำธารทั้งปวงไว้ให้มั่นคง อย่าให้เสียลำธารน้ำแก่ลาวได้เลยสักแห่งหนึ่ง

ฝ่ายแม่ทัพนายกองทั้งหลายพร้อมกันกราบถวายบังคมลายกกองทัพไปตามรับสั่งในวันนั้น ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันที่สอง กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้กรมหมื่นทั้งสองพระองค์ คุมพลทหาร ๓,๐๐๐ เป็นแม่ทัพใหญ่ถืออาญาสิทธิ์แทนพระองค์ โปรดให้บังคับบัญชากองทัพทั้งสิ้น ให้ยกหนุนกองทัพทั้งหลายขึ้นไปตีค่ายเขาสารตามราชการ
แล้วโปรดให้พระยาราชโยธา กับพระยามหาอำมาตย์ คุมพลทหารกองละ ๑,๕๐๐ เป็นกองผู้ช่วยทัพทั้งหลาย ถ้าเห็นทัพผู้ใดหย่อนกำลังรี้พลลงเมื่อใด ให้ช่วยอุดหนุนกองนั้นให้ทันท่วงทีแก่ราชการ.......”
* เสด็จในกรม กรมหมื่นนเรศร์โยธีพระองค์นี้ทรง “เล่นของขึ้น” ครั้งก่อนเห็นท่านใช้วิชาอาคมตวาดฝูงช้างในกองทัพลาวถอยไป พลทหารปืนธนูยืนจังงังไปครั้งหนึ่งแล้ว มาครั้งนี้ทรงนำทหาร ๑๐๐ สู้กับทหารลาวเป็นหมื่นคน ตรัสให้อาจารย์ทั้ง ๔ ใช้วิชาอาคมลวงตาทหารลาวให้ใช้ปืนยิงต้นไม้ แทนที่ตจะยิงพระองค์ท่านกับพลทหาร มิหนำยังเสกใบมะขามเป็นตัวต่อแตน บินไล่ต่อยทหารลาวในกองทัพเจ็บป่วยไปตาม ๆ กันอีก ไม่เชื่อได้หรือครับ
แม้เจ้าอนุจะทิ้งกองทัพหนีจากเวียงจันทน์ไปแล้ว แต่กองทัพลาวยังไม่รู้เรื่องเลย จึงยกเข้ารบกับไทยจนแพ้พ่ายล้มตายเป็นอันมาก ตอนนี้เหลือค่ายหลวงที่ถูกเจ้าอนุทิ้งไว้ตรงช่องแคบเขาสารเพียงค่ายเดียว กรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพใหญ่ของไทยทรงดำริเผด็จศึกให้เสร็จสิ้นไป จึงโปรดให้นายทัพนายกองยกกำลังเข้าตีค่ายเขาสารทุกทิศทุกทาง ค่ายใหญ่ของลาวจะรอดเงื้อมมือกองทัพไทยหรือไม่ พรุ่งนี้ตื่นมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๐ -
กองทัพใหญ่ไทยเคลื่อนสะเทือนป่า ทั้งทัพหน้าทัพหลวงล่วงวิถี ถึงค่ายลาวเขาสารไร้ต้านตี ด้วยลาวมีกังวลกลอุบาย
ไทยตั้งทัพมั่นลงแล้วสงสัย ลาวทำไมนิ่งงันไม่สั่นส่าย จึงปรึกษาหาทางทั้งไพร่นาย แล้วกระจายกำลังรบสยบลาว |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งกองทัพต่าง ๆ ยกเข้าล้อมตีค่ายลาวที่ช่องเขาสาร โดยทรงวางกำลังเข้าตีและกำลังสกัดทางเดินทัพลาวทุกทางอย่างรัดกุม วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ครั้นรุ่งขึ้นวันที่สาม กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชดำรัสสั่งพระยาเสน่หาภูธร ให้คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ รักษาค่ายหลวงที่ทุ่งส้มป่อย ถ้ามีราชการแปลกประหลาดจรมาประการใด ให้คิดราชการกับเจ้าพระยามหาโยธา แล้วโปรดให้พระยาประสิทธิศาสตรา กับหลวงฤทธิรงค์ หลวงทรงศักดาวุธ สามนาย คุมพลทหารเกณฑ์หัดอย่างใหม่ ๘๐๐ เป็นกองเสือป่าแมวเซายกไปช่วยทัพหน้า แล้วโปรดให้หลวงฤทธิ์สำแดง คุมพลทหารฝรั่งปืนใหญ่ ๓๐๐ เป็นกองอาทมาตไปกับทัพหลวง แล้วโปรดให้หลวงผ่านพิภพกับหลวงจักรวาลเป็นทัพม้า คุมทหารม้ากองละ ๑๐๐ มีพลม้าประจำหลังม้าทั้งสองกองร้อย เป็นกองคอยเหตุ และจะได้เดินหนังสือบอกข้อราชการศึกหนักเบาให้ทราบทั่วทุกทัพทุกกอง โปรดให้พระยาประกฤษณุรักษ์คุมพลทหารช้าง ๑๕๐ กับพระยาเพธราชาคุมพลทหารช้าง ๑๕๐ รวมช้างสองกอง ๓๐๐ ยกไปตีค่ายเขาสาร พร้อมด้วยทัพกรมหมื่นทั้งสองพระองค์
 ครั้นได้มหาพิชัยฤกษ์ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จทรงพระคชาธารพลายปราบไตรจักร เสด็จพระราชดำเนินยกพยุหแสนยากรทัพหลวง พร้อมพลช้างม้าพลเดินเท้าเป็นกระบวนพยุหยาตราตามรัฐยาสถลมารค ประทับร้อนแล้วยกหนุนทัพหน้าทั้งปวงขึ้นไป ตั้งค่ายหลวงใกล้ค่ายลาวเขาสาร ห่างประมาณ ๒๕๐ เส้น บรรดานายทัพนายกองหน้าทั้งหลายตั้งค่ายประชิดห่างค่ายลาวที่เขาสารประมาณ ๕๐ เส้นบ้าง ๗๐ เส้นบ้าง ๑๐๐ เส้นบ้าง อย่างที่ใกล้ ๓๐ เส้น
 แต่ค่ายกรมหมื่นทั้งสองพระองค์นั้น ทรงตั้งค่ายอย่างกวางเหลียวหลัง ตั้งหนุนค่ายกองหน้าห่างประมาณ ๓๐ เส้น แล้วโปรดให้ตั้งค่ายหลวงลงใหม่ ห่างค่ายกรมหมื่นทั้งสอง ออกมา ๗๐ เส้น เป็นค่ายชัย แต่ทัพหลวงค่ายเดิมที่ตั้งแต่ก่อนห่างมากประมาณ ๒๕๐ เส้นนั้น โปรดให้เจ้าพระยาพระพิษณุโลกซึ่งมาล่าช้า พอมาถึงจึงโปรดให้คุมพลทหารเมืองพระพิษณุโลกอยู่รักษาค่ายหลวงเดิม เพราะค่ายหลวงที่ตั้งที่ตั้งแต่เดิมนั้น มีหนองน้ำอยู่ในค่าย จึงต้องรักษาไว้ให้มั่นคง เป็นที่พักพลทหารเจ็บป่วย (โรงพยาบาลทหาร)
 ฝ่ายแม่ทัพนายกองลาวที่ค่ายเขาสารนั้น จัดการตกแต่งหอรบค่ายคูขวากหนาม ป้องกันรักษาค่ายให้มั่นคง แล้วเกณฑ์กองทัพลาวหัวเมืองขึ้นมาสมทบมากมายหลายพัน ให้พลทหารลาวเหล่านั้น ขึ้นประจำรักษาหน้าทุกค่ายใหญ่น้อยโดยสามารถแข็งแรงนัก ฝ่ายพระยาสุโภและชานนท์แม่ทัพใหญ่ได้ปรึกษาขุนนางลาวท้าวเพี้ย นายทัพนายกองทั้งหลายว่า
“บัดนี้กองทัพฝ่ายไทยยกมาตั้งค่ายประชิดคราวนี้ เห็นเชิงศึกเข้มแข็งกล้าหาญนัก ตั้งค่ายเป็นวงพาดีถึงสามชั้น ทั้งทัพหลวงก็ยกมาตั้งค่ายหนุนทัพหน้าทั้งปวงอยู่ด้วย อาการเชิงศึกไทยครั้งนี้ดูท่วงทีชอบกล เราจะคิดเป็นประการใด? จึงจะได้ชัยชนะแก่ไทยได้”
แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยจึงพูดตอบว่า “การทั้งนี้ก็สุดแท้ความคิดท่านผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ จะบัญชามาประการใดพวกนายทัพนายกองทั้งหลายนี้ ก็จะปฏิบัติตามสั่งโดยสมควรแก่การศึก”
ฝ่ายพระยาสุโภและชานนท์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บัญชาการทัพนั้นจึงพูดขึ้นในท่ามกลางประชุมว่า
“เราคิดว่าไทยยกทัพมาคราวนี้ เป็นการเร่งรุดรีบด่วนมาโดยเร็ว อีกประการหนึ่งเล่า ไทยยกขึ้นมาทางนี้ก็เป็นทางลำบากแก่ไพร่พลมาก เพราะเป็นทางข้ามเขาและทางป่าไกลนัก จะได้เสบียงอาหารบรรทุกโคต่างและช้างม้าขึ้นมามากน้อยสักเท่าใด ก็พอจะคิดได้ไม่ผิดมากนัก เราประมาณดูรี้พลในกองทัพไทย กับเสบียงอาหารที่บรรทุกช้างและโคต่างมานั้น จะทำการสักสามเดือนก็ไม่พอเลี้ยงกันเต็ม ว่าช้าเดือนเศษจะหมดสิ้นเสบียงอาหารลง กำลังกองทัพไทยก็จะหย่อนลงมาก จะทำอะไรแก่เราได้เล่า เพราะหมดเสบียงแล้ว กับที่ไทยจะขึ้นมาส่งเสบียงอีกนั้นก็ไม่ได้ ด้วยเราแต่งกองทัพอันสำคัญไปตั้งจุกช่องกักด่าน คอยตีกองลำเลียงไทยที่จะมาเพิ่มเติมกันนั้นก็ไม่ได้ อีกประการหนึ่งเวลานี้เล่า กำลังไทยรื่นเริงหน้าทัพเพราะมีชัยชนะแก่ลาวมาหลายครั้ง กำลังศึกยังกล้าหาญอยู่นักหนา เราจะเข้าต่อสู้เวลานี้ยังไม่ได้ เราคิดว่าช่วยกันให้แข็งแรง รักษาค่ายตั้งมั่นไว้สักเดือนเศษหรือครึ่งเดือน แต่พอให้กองทัพไทยขาดเสบียงอาหารลงเมื่อใด เราจึงจะได้ยกกองทัพออกโจมตี จะมีชัยชนะแก่ไทยโดยง่าย”
ฝ่ายแสนท้าวพระยาลาวก็เห็นชอบพร้อมกัน ตามถ้อยคำและความคิดพระยาสุโภและชานนท์ทุกประการ จึงได้ช่วยกันรักษาค่ายโดยมั่นคง
 ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีรับสั่งให้มหาดเล็กขึ้นไปเชิญกรมหมื่นทั้งสองพระองค์ลงมาเฝ้าที่พลับพลาชัยในค่ายหลวง แล้วทรงตรัสปรึกษาว่า
“แต่กองทัพไทยยกขึ้นมาตั้งค่ายประชิดที่เขาสารช่องแคบช้านานถึงหกเจ็ดวันแล้ว ไม่เห็นลาวจัดกองทัพออกมาตีเรา ตามธรรมเนียมศึกใหญ่ ลาวนิ่งอยู่แต่ในค่ายหลายวันแล้ว ดีร้ายลาวจะคิดกลอุบายสักอย่างหนึ่งเป็นแม่นมั่น”
กรมหมื่นทั้งสองพระองค์จึงกราบทูลว่า “ถ้าจะนิ่งช้าอยู่ เห็นจะต้องด้วยอุบายลาวตามพระราชกระแสรับสั่ง ขอพระราชทานพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเข้าปล้นค่ายลาวให้แตกในสามวัน ถ้าเนิ่นช้าพ้นไปสามวันก็เห็นว่าจะต้องถูกกลอุบายลาวเป็นแน่แท้ ไม่ควรจะนิ่งไว้ให้ช้าจนลาวคิดกลอุบายได้สำเร็จ”
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเห็นชอบด้วยความคิดกรมหมื่นทั้งสองพระองค์แล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้หาเจ้าพระยา และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งปวง ให้มาเฝ้าพร้อมกันในค่ายหลวง จึงทรงจัดการทัพซึ่งจะยกเข้าปล้นค่ายลาวเจ้าอนุที่เขาสารนั้น
 - พร้อมโปรดให้กองทัพพระยาจ่าแสนยากร กับพระยามหาอำมาตย์ คุมพลทหาร ๑๕,๐๐ กองหนึ่ง ให้พระยากลาโหมราชเสนา กับพระยาศรีสรราช คุมทหาร ๑,๕๐๐ กองหนึ่ง ทั้งสองกองนี้ เป็นทัพเอกยกเข้าปล้นค่ายพระยาสุโภ - โปรดให้พระยาราชโยธา กับพระยาเสนาภูเบศร์ คุมพลทหาร ๑,๕๐๐ กองหนึ่ง ให้พระยาบริรักษ์ราชา กับพระยาอัษฎาเรืองเดช คุมพลทหาร ๑,๕๐๐ กองหนึ่ง ทัพสองกองนี้เป็นทัพโทเข้าปล้นค่ายชานนท์ - โปรดให้กองพระยาณรงค์วิชัย กับพระยาสุนทรสงครามสุพรรณบุรี คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ เป็นกองหนุนทัพเอก - โปรดให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาพิชิตสงคราม คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ เป็นกองหนุนทัพโท - โปรดให้พระพิชัยสุรินทรา กับพระยานครา พระยาพิพิธภักดี คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ เป็นกองเสริม ถ้าเห็นว่าทัพใดล่าหย่อน ก็จะได้ช่วยหนุนทัพนั้นบ้าง - โปรดให้พระยาสุรินทรราชเสนีคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ โปรดให้พระยาสุเรนทรราชเสนาคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ โปรดให้พระยาพิบูลย์สมบัติคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ โปรดให้พระยาอร่ามมณเฑียรคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ โปรดให้พระยาพิจิตรคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ โปรดให้พระยานครสวรรค์คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ ทั้ง ๖ กองนี้ โปรดให้ยกเข้าปล้นค่ายพระยามือไฟและพระยามือเหล็กและค่ายเชียงใต้และค่ายเชียงเหนือ หรือค่ายเพี้ยท้าวพระยาลาว ซึ่งได้ตั้งเป็นค่ายละเมาะติด ๆ ต่อ ๆ กันตามชายป่าเชิงเขาสารทุก ๆ ค่ายให้แตกพร้อมกัน
 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพอีก ๘ กองคือ กรมอาสาญี่ปุ่น และกรมอาสาวิเศษ กรมอาสาใหม่ กรมอาสาหกเหล่า และกรมกองแก้วจินดา กรมพันทนายเลือก รวม ๘ กอง มีพระยา, พระ, หลวง เป็นนายทัพนายกอง คุมพลทหารกองละ ๓๐๐ บ้าง ๔๐๐ บ้าง ยกระดมเข้าตีค่ายปีกกาลาวทุก ๆ ค่าย โปรดให้พระยาประกฤษณุรักษ์ กับพระยาพุทธราชาแม่กองข้างในกรุง พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์แม่กองข้างกองนอกเมืองนครราชสีมา รวม ๓ นายคุมพลช้าง ๒๐๐ ยกไปทลายค่ายลาวที่เขาสาร แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาพระยาจ่าแสนยากรและพระยากลาโหมราชเสนา แล้วโปรดให้หม่อมเจ้ากำภูฉัตรในเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา เป็นแม่ทัพม้าคุมพลทหารม้า ๕๐๐ เป็นจเรทัพกองตราตราทัพทั้งหลาย แล้วโปรดให้พระวิชิตรณรงค์ข้าหลวงเดิมคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายสกัดปิดต้นทางข้างเมืองเวียงจันทน์ไว้ อย่าให้ลาวไปมาหากันได้ ให้ตั้งค่ายปิดทางที่ตำบลทุ่งแค ลาวชาวเวียงจันทน์เรียกว่า ทุ่งคับแค......”
* เฮ้อ....อ่านการจัดกองทัพกว่าจะเสร็จก็เหนื่อยเลย ยกไปอ่านต่อกันวันพรุ่งนี้เถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๑ -
ดำรัสสั่งวางแผนรบแน่นหนา ได้เวลายกฮือโห่อื้อฉาว เข้าตีค่ายเขาสารกันเกรียวกราว พลไทยห้าวหาญฮึกข้าศึกกระเจิง
ค่ายเขาสารแตกยับแม่ทัพหนี ไทยตามตีถึงเวียงจันทน์ถลันเหลิง ยึดเมืองหลวงลาวไว้ได้สิ้นเชิง อนุเริดเปิดเปิงไปก่อนแล้ว |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตรัสปรึกษากรมหมื่นสองพี่น้อง เมื่อเห็นลาวไม่ยกออกรบ ทุกพระองค์ทรงเห็นพ้องกันว่าลาวคงกำลังคิดวางกลอุบายอะไรอยู่ ควรเร่งยกเข้าตีค่ายเขาสารทันทีอย่าให้ลาวตั้งตัวได้ กรมพระราชวังบวรฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพนายกองยกพลเข้าตีค่ายลาวทุกทิศทุกทางโดยพร้อมเพรียงกัน...... วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ครั้นทรงจัดแจงแบ่งกองทัพปันหน้าที่ให้นายทัพนายกองทั้งหลายพร้อมเสร็จแล้ว จึงมีพระราชกำหนดว่า
 “วันพรุ่งนี้เป็นวันอาทิตย์ ฤกษ์ดีในเวลาสิบนาฬิกา ให้พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งปวง พร้อมใจกันยกทัพจู่โจมโถมเข้าหักค่ายปล้นค่ายลาว ซึ่งตั้งอยู่ตามเขาสารช่องแคบให้แตกจงได้แต่ในวันเดียว ผู้ใดล่าทัพถอยออกมา จะลงพระราชอาชญานายทัพนายกองที่ล่าออกมานั้น โดยอย่างฉกรรจ์ตามบทกฎหมายพระอัยการศึก”
 ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งหลาย กราบถวายบังคมลาออกมาจากค่ายหลวง และตระเตรียมการยุทธนาไว้พร้อมเสร็จตามตำราพิชัยสงคราม ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ ได้ฤกษ์ดีตีฆ้องยามสิบนาฬิกา ฝ่ายนายทัพทั้งปวงยกพลทหารโห่ร้องยกกองทัพเข้าปล้นค่ายลาวที่เขาสารทุก ๆ ค่าย
ฝ่ายพระยาสุโภแลชานนท์แม่ทัพใหญ่เร่งให้พลทหารรับรองป้องกันเป็นสามารถ ยิงปืนไฟ ปืนยา หน้าไม้ ออกมาดังห่าฝน ไพร่พลกองทัพไทยตายลงมาก ขณะนั้นทัพช้างฝ่ายลาวยกมาช่วยป้องกันค่ายหาทันท่วงทีไม่
 ฝ่ายทัพช้างยกเข้าทลายค่าย พลทหารไทยมิได้ย่อท้อถอย ยกหนุนเนื่องกันเข้าไป ได้ทำลายล้างค่ายฟันค่ายปีนค่ายเย่อค่าย บ้างก็ถอนขวากหนามทิ้ง วิ่งเข้าค่ายได้ไล่แทงฟันลาวล้มตายเป็นอันมาก
ฝ่ายพลลาวตกใจวิ่งแตกตื่นปะทะกันเป็นอลหม่าน บ้างเหยียบกันตายก็มีที่ไม่ตายก็มาก ที่แหกค่ายหนีไปได้บ้าง แต่พระยาสุโภ แลชานนท์ เชียงใต้ นายทัพทั้งสามนั้น พาพลทหารที่ร่วมใจกัน ๒๐๐ เศษ ถืออาวุธสั้นสองมือฟันฝ่ากองทัพไทยแหกค่ายหนีไปได้ทั้งสามคน
 กองทัพไทยตีปล้นค่ายเขาสารได้ครั้งนั้น พลลาวตายประมาณสองส่วน ที่หนีเล็ดลอดไปได้ประมาณส่วนหนึ่ง ที่กองทัพไทยจับเป็นได้ประมาณส่วนหนึ่ง จับได้ช้างพลายพังระวางเพรียว ๒๖๗ ช้าง ม้า ๕๔๘ ม้า โคต่าง ๑,๔๐๐ เก็บได้เครื่องสรรพาวุธยุทธภัณฑ์ กระสุนดินดำ และเสบียงอาหารพร้อมบริบูรณ์ ได้พระพุทธรูปทองคำในค่ายองค์หนึ่ง ทองหนักเจ็ดตำลึงสองบาท เป็นทองคำเนื้อเจ็ด สองขาพระเนตรฝังพลอยนิลทั้งสองข้าง ระหว่างพระอุณาโลมฝังพลอยทับทิมหลังเบี้ย เท่าเมล็ดข้าวโพด นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักสามนิ้วสามกระเบียด (เห็นจะเป็นพระชัยวัฒนะพระชนมพรรษาของเจ้าอนุ)
 ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงกรำศึกกับลาวมีชัยชนะแก่ข้าศึกลาว ตีได้ค่ายเขาสารแล้ว จึงทรงแต่งหนังสือบอกข้อราชการซึ่งมีชัยชนะแก่ข้าศึกลาวและกิจราชการทั้งปวงในความที่ทรงดำรินั้นด้วยรวมลงในฉบับหนึ่ง โปรดให้หลวงนายมหาใจภักดิ์ถือพลม้า ๑๕๐ ม้า เชิญพระอักษรและหนังสือบอกลงมากราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพฯ
ครั้นรุ่งขึ้นอีกแปดวัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานคราคุมพลทหารไทยห้าร้อย ไล่ต้อนคุมครัวลาวเชลยที่ฉกรรจ์กับช้างดีม้าดีด้วย ลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นพระราชบรรณาการล่วงหน้ามาพลางก่อน
 ครั้นทรงจัดการที่ค่ายเขาสารเรียบร้อยเป็นปรกติแล้ว โปรดให้เจ้าพระยาพระพิษณุโลกเป็นผู้คุมกองทัพหลังอยู่รักษาค่ายที่เขาสาร ด้วยจะเสด็จพระราชดำเนินข้ามเขาสารต่อไปให้ถึงเมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายนายทัพนายกองจึงจัดกระบวนทัพเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค เหมือนอย่างที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาจากค่ายทุ่งส้มป่อยนั้นทุกประการ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเครื่องสำหรับขัตติยราชรณยุทธเสร็จ เสด็จขึ้นประทับอยู่บนเกยชัยคอยพระฤกษ์
ฝ่ายกองทัพไทยซึ่งยกไปเป็นทัพหน้า ตีค่ายเขาสารแตกแล้วทุกตำบล ทัพหน้ายกไปตามตีลาวที่แตกหนีไปบนเขาสารนั้น กวาดต้อนจับได้ลาวมาเป็นอันมาก บ้างก็ข้ามเขาสารลงไปตามที่เชิงเขาด้านตะวันออก ถึงพื้นดินราบที่ตำบลนั้นชื่อพรานพร้าว อยู่ริมฝั่งโขงตรงหน้าเมืองเวียงจันทน์ตรงข้ามกองทัพหน้า ฝ่ายไทยไม่เห็นลาวตั้งค่ายรับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโขง จึงได้มากราบทูลกรมหมื่นทั้งสองพระองค์
 กรมหมื่นทั้งสองพระองค์รับสั่งให้นายทัพนายกองไปเที่ยวเก็บเรือใหญ่น้อยของลาวที่ทิ้งไว้ตามฝั่งและบ้านร้างได้มาหลายสิบลำ จึงให้พลทหารไทยลงเรือ แล้วเสด็จลงเรือข้ามไปยังเมืองเวียงจันทน์ เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ก่อนทัพทั้งปวง จึงทรงเก็บได้สรรพสิ่งของทองเงินเพชรพลอย และเครื่องอัญมณีต่าง ๆ เป็นอันมาก ซึ่งเป็นวัตถุของเจ้าอนุและญาติวงศานุวงศ์และแสนท้าว, พระยาลาว, ท้าวเพี้ย ที่หนีไป เก็บไม่ทันเหลืออยู่นั้นเป็นอันมาก แล้วรับสั่งให้พลทหารไปตามจับช้างดีม้าดี ๆ ที่แตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในเมืองแลนอกเมืองเวียงจันทน์ จับได้ช้างพลายพังระวางเพรียว ๑๔๖ ช้าง ม้า ๔๔๐ ม้า และโคกระบือพันเศษ เครื่องสรรพาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมาก พร้อมทั้งกระสุนดินดำด้วย แล้วมีรับสั่งพระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ให้คุมไพร่พล ๑,๐๐๐ เศษ ยกไปตั้งค่ายหลวงรับเสด็จพระพระราชวังบวรฯ ที่ตำบลพรานพร้าว ริมฝั่งแม่น้ำโขง แปดค่าย เพราะรี้พลที่ตามเสด็จพระราชดำเนินมานั้น มากมายหลายพันคน
ครั้งนั้น พระณรงค์สงครามขึ้นม้าข้ามเขาสารกลับมายังค่ายหลวง จึงเข้าเฝ้าหน้าเกยชัยเมื่อกำลังเสด็จประทับอยู่ที่นั้น พระณรงค์สงครามกราบทูลว่า
 “กองทัพกรมหมื่นทั้งสองยกข้ามเขาสารลงไปถึงฝั่งพรานพร้าว ไม่เห็นมีทัพลาวตั้งรับที่นั้น จึงเสด็จลงเรือข้ามแม่น้ำโขงเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้โดยสะดวก ในเมืองก็ไม่มีทัพลาวตั้งรับรบสู้รักษาเมืองเลย พบแต่ครอบครัวลาวที่ชราแก่เฒ่าและป่วยไข้ กับที่ไม่สมัครใจไปด้วยเจ้าอนุก็มี ได้ไต่ถามได้ความว่า เจ้าอนุพาครอบครัวบุตรภรรยาญาติอพยพหนีไปอยู่เมืองญวนสองวันแล้ว ไทยกองหน้าจึงเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้”
* ก็เป็นอันว่าสงครามไทย-ลาว ยกแรกนี้ ทัพไทยสยบทัพลาวได้อย่างง่ายดาย เพราะแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาว (เจ้าอนุ) ไม่คิดสู้ ตอนนี้ยึดกรุงเวียงจันทน์ได้โดยละม่อมแล้ว ต่อไปจะจัดการกับลาวอย่างไร อ่านต่อวันพรุ่งนี้เถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๒ -
กรมพะราชวังบวรเจ้า ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู
ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่ มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่ ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมหมื่นสองพี่น้องแม่ทัพหน้าไล่ตามตีทัพลาวข้ามเขาสารไปถึงพรานพร้าว แล้วข้ามโขงไปในเมืองเวียงจันทน์ที่ว่างกองทัพลาว เพราะเจ้าอนุพาครัวหนีไปแล้ว จึงเก็บสรรพสิ่งของมีค่านานาที่พวกเจ้าอนุนำไปไม่หมด เหลืออยู่จำนวนไม่น้อย ให้พลเที่ยวตามจับช้างม้าวัวควาย และอาวุธยุทธภัณฑ์ได้เป็นอันมาก พระณรงค์สงครามขึ้นขี่ม้าจากพรานพร้าว ข้ามเขาสารกลับเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ทูลความทุกสิ่งทุกประการให้ทรงทราบ..... วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๓ -
กรมพะราชวังบวรเจ้า ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู
ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่ มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่ ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกสงครามกับลาว มีรายละเอียดดังที่ได้อ่านกันไปตอนหนึ่งแล้ว ความยังไม่จบ วันนี้มาอ่านความในใบบอก หรือหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้นกันต่ออีกตอนหนึ่งครับ
“อนึ่ง พระยานครลำปางคนนี้มีอัธยาศัยซื่อสัตย์สุจริตดีมาก สมควรที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมชุบเลี้ยงให้ใหญ่โตได้ ด้วยเห็นจะเป็นราชการยืดยาวต่อไปในพระราชอาณาเขมร
 อนึ่ง จดหมายข้อราชการที่ทรงพระราชดำริ ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้พระยาพิไชยวารี (โต) เชิญขึ้นมาส่งให้ที่ค่ายตำบลมองสองแต่ครั้งก่อนนั้น ก็ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมทุกประการแล้ว แต่จะตั้งใจอุตส่าห์ทำให้ได้อย่างพระราชดำริบ้าง คงจะไม่ได้เต็มดังพระราชดำริบ้าง พระราชอาชญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม การซึ่งจะจัดการบ้านเมืองลาวหัวเมืองประเทศราชฝ่ายทางตะวันออกในครั้งนี้ให้เต็มดังพระราชดำรินั้น เป็นการเปี่ยมสติปัญญาเต็มที เป็นที่ยากเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่แล้ว ถ้าจะคิดรบคิดตีบ้านเมืองอื่น ๆ อย่างเช่นเมืองเวียงจันทน์นี้ มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสักสองเมืองสามเมือง เห็นจะง่ายกว่าที่จะจัดการบ้านเมืองเวียงจันทน์ครั้งนี้ ไม่ให้เป็นที่ขาดทุนรอนพระราชทรัพย์ของหลวงนั้นเป็นการยากสุดสติปัญญาแล้ว ทำได้แต่จะต้องผ่อนปรนไปตามกาลตามสมัย ถึงจะตีบ้านเมืองเปล่านี้ได้ จะได้ครอบครัวมากสักเท่าใด ๆ ก็คงไม่มีกำไรหรือเสมอตัวก็ไม่ได้ เพราะมารบมาตีแก่บ้านเมืองไพร่พลในอาณาเขตของเราเองทั้งสิ้น หัวเมืองเหล่านี้ก็เป็นที่กันดารขัดสนยากจนทั้งนั้น ตีได้ก็ไม่พอกับโสหุ้ยทัพ ทำได้แค่เพียงรักษาเกียรติยศเขตแดนไว้ ไม่ให้นานาประเทศล่วงมาหมิ่นประมาทดูถูกดูแคลนได้ก็พอดีอยู่แล้ ว กับจะคิดได้อีกอย่างหนึ่ง ถ่ายครอบเทครัวพาคนลงไปไว้ตามหัวเมืองที่ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ให้มากพอเป็นกำลังแก่พระนคร จะได้ให้รับใช้รับเกณฑ์ราชการกรุงบ้าง คิดได้แต่เพียงเท่านี้เป็นอย่างเอกอยู่แล้ว พ้นกว่านี้จะคิดไม่ได้คิดไปไม่ถึง พระราชอาชญาเป็นล้นกล้าล้นกระหม่อม
อนึ่ง หัวเมืองลาวฝ่ายริมหัวเมืองเขมรป่าดงนั้น ๆ เล่า เจ้าเมืองและบุตรหลานญาติเชื้อสายเจ้านาย ก็ล้มตายขาดสูญเชื้อสายไปมาก ท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ผู้น้อยก็หนีหายล้มตายเป็นอันมากเหมือนกัน แต่ไพร่พลเมืองตามหัวเมืองเหล่านั้นเล่า ถ้าจะคิดศิริดูเมืองหนึ่งก็จะได้ไพร่พลกึ่งหนึ่งบ้าง ไม่ถึงกึ่งบ้าง เพราะถูกรบล้มตายหนีหายไปในทิศต่าง ๆ บ้าง ถ้ามีราชการเกี่ยวข้องในหัวเมืองเหล่านั้นแล้ว จะใช้คนไปมาถึงกันและกัน ระยะทางก็ห่างไกล กว่าจะได้รู้ราชการก็ช้านานนัก เกือบจะเสียการ บางทีเสียการไปแล้วจึงรู้การเมื่อกาลล่วงไปแล้ว ถ้าเป็นฤดูฝนจะใช้คนเดินไปมาหากันก็ไม่ใคร่จะได้ ขัดด้วยการหลายอย่าง เป็นการที่มีความขัดข้องดังนี้ ซึ่งจะทำให้ราชการเร็วตามความประสงค์ไม่ใคร่จะได้
 อนึ่ง ได้มีท้องตราพระราชสีห์วังหน้าบังคับบัญชาทอดธุระมอบราชการไปให้พระยาราชสุภาวดีประจำอยู่แรมปี ให้จัดการบ้านเมืองให้ได้ราชการบ้าง ให้จัดแจงบ้านเมืองจำปาศักดิ์และเมืองลาวต่าง ๆ เมืองเขมรป่าดงให้ราบคาบเรียบร้อย ตามท้องตราพระราชสีห์วังหลวงที่โปรดเกล้าฯ มานั้นบ้าง
อนึ่ง ทางเมืองหล่มสัก ทางเมืองหล่มเลยเหล่านั้นเล่า จะให้พระยาเพชรพิชัยและพระยาสมบัติธิบาลสองนายเป็นผู้ไปจัดการบ้านเมืองลาวแถวเหล่านั้นให้เรียบร้อยดี แต่จะให้กลับไปเมืองหล่มเลยในฤดูฝนนี้ ก็เห็นว่าทางกลางป่ามีความเจ็บไข้ร้ายแรงนัก จึงให้รอไว้ต่อตกแล้งสักหน่อยจึงจะให้ไปจัดการบ้านเมืองหล่มเลย ก็พอจะทันการได้ เห็นจะหาเป็นไรไม่
 แต่ราชการข้างเมืองเวียงจันทน์นั้นเล่า เมื่อเจ้าอนุหนีออกไปจากเมืองเวียงจันทน์นั้น วันเดียวกันกับกองทัพไทยฝ่ายหน้าตีค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อยแตก กว่ากองทัพไทยจะยกขึ้นไปถึงค่ายลาวเขาสาร ยกเข้าปล้นตีลาวแตกก็หลายวัน จึงได้ยกข้ามเขาสารต่อไปถึงเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์กับเขาสารระยะทางห่างกันห้าวัน ถ้าคิดแต่วันที่เจ้าอนุหนีไปจากเมืองเวียงจันทน์ในวันพร้อมกับกองทัพไทยตีค่ายทุ่งส้มป่อยได้ เป็นหลายวันสักเจ็ดวันแปดวัน เจ้าอนุจึงหนีห่างไกลไปจากเมืองเวียงจันทน์ได้ถนัด เหตุนี้นายทัพนายกองไทยจึงตามจับเจ้าอนุไม่ทันท่วงที ซึ่งเจ้าอนุข้าศึกตัวสำคัญหนีไปได้ พระราชอาชญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมตกอยู่กับแม่ทัพหลวงและนายทัพนายกองทั้งสิ้น แล้วแต่จะทรงกระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ถึงได้เมืองเวียงจันทน์ครั้งนี้นับว่าได้แต่เปลือกเมืองเปล่า สิ่งของครอบครัวไปเมืองเวียงจันทน์เจ้าอนุเก็บไปทั้งสิ้น เพราะไปเรือ จึงบรรทุกของดีไปได้มาก เครื่องศาสตราวุธที่ในเมืองนั้น สืบทราบว่าเจ้าอนุทิ้งน้ำเสียหมด ทั้งพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ ก็ทิ้งน้ำเสียบ้าง แต่กำลังสืบเสาะตามค้นหาอยู่ทุกแห่งทั้งในน้ำและบนบกด้วย ยังหาอยู่ ถ้าได้เมื่อใดจึงจะมีใบบอกมาครั้งหลัง
 บัดนี้ครอบครัวลาวก็ยังกำลังปะปนกันอยู่กับครอบครัวเมืองนครราชสีมา เมืองสระบุรี เมืองหล่มสัก และหัวเมืองลาวตามลำแม่น้ำโขง และเมืองเขมรป่าดงตะวันออกด้วย ซึ่งจะเลือกคัดแต่ครัวเวียงจันทน์โดยเร็วนั้นหาได้ไม่ เพราะปะปนอยู่กับเมืองเหล่านั้นหาความผิดมิได้ จะต้องเลือกแต่ครัวเวียงจันทน์แท้ ๆ
อีกประการหนึ่งครัวเวียงจันทน์ที่หนีไปอยู่ในป่า ถ้ากองทัพกรุงยกไปติดตามน้อยตัว ครัวมากกว่าก็จะต่อสู้แข็งแรง ถ้าทัพกรุงยกไปติดตามโดยมาก พวกครัวน้อยก็จะหนีเข้าป่าไปเสีย บางทีได้มาบ้างแต่คนแก่ชราหนีไปไม่พ้น บางทีนายทัพนายกองไทยที่เข้มแข็ง ไปกวาดต้อนครัวลาวมาได้ ๓๐๐ คนบ้าง ๒๐๐ คนบ้าง จะเลือกคนที่ฉกรรจ์แต่สักเก้าคนสิบคนก็ไม่ใคร่จะได้ ถ้าพวกกองทัพลาวพุงดำยกไปเกลี้ยกล่อมในป่า ถึงไปน้อยก็ได้ครอบครัวเวียงจันทน์มามาก ด้วยเป็นลาวเหมือนกันครัวหาต่อสู้รบไม่ มาเลือกคนฉกรรจ์ก็ได้มาก
ครั้นจะคิดให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ไว้ให้เป็นที่เกลี้ยกล่อมครอบครัวก่อน ก็หาผู้ใดที่จะอยู่ดูแลรักษาบ้านเมืองเป็นที่ไว้ใจได้ก็ไม่มีเลย ครั้นจะให้พวกเมืองหลวงพระบางอยู่รักษา แต่กำลังหลวงพระบางเมืองเดียวก็ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ตัวเจ้าอนุ เจ้าปาสัก เจ้าราชวงศ์ เจ้าสุทธิสาร เจ้าโถง ซึ่งเป็นคนแข็งแรงในการศึกมาก เห็นว่าแต่กำลังหลวงพระบางเมืองเดียวจะรับพวกอ้ายเหล่าร้ายไม่ได้
 ครั้นจะให้กองทัพไทยอยู่ช่วยเกลี้ยกล่อมครัวลาว ครัวลาวก็ไม่ไว้ใจแก่ไทยเลย เพราะเหตุนี้จึงมีคำสั่งให้ทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์ให้สิ้นเชิง จะได้เป็นการสิ้นอาลัยของอ้ายพวกเหล่าร้าย ที่จะหมายมาตั้งบ้านเมืองนครลำปางบ้าง เมืองนครเชียงใหม่บ้าง เมืองนครลำพูนบ้าง เมืองแพร่บ้าง แต่ไปทางเมืองหลวงพระบางนั้นเป็นอันมาก ไปถึงบ้านเมืองเหล่านั้นแล้ว ก็มีบ้างที่ตกเรี่ยเสียหายอยู่ตามทางเมืองนั้น ๆ ก็มีบ้าง ที่ไปไกลถึงเขตแดนเมืองญวนนั้นก็มีเห็นจะสูญ แต่ที่ตกไปถึงลาวพุงดำที่ว่ามาข้างบนนั้น ครั้นจะชำระเรียกครอบครัวเวียงจันทน์คืนกลับมา ก็เห็นจะต้องกดขี่หัวเมืองลาวพุงดำเหล่านั้นให้ถึงขนาดจงหนัก จึงจะได้ครัวคืนมา ถ้าทำดังนั้นหัวเมืองลาวพุงดำซึ่งเป็นเขตแดนพระราชอาณาจักรกรุงเทพฯ ก็จะช้ำชอก ได้รับความเดือดร้อนเสียใจมากนัก แต่จะต้องคิดผันผ่อนปลอบโยนโดยดี ควรได้คืนมาบ้างก็จะได้ ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป นึกว่าฝากไว้บ้านเมืองของเราเอง ดีกว่าจะไปทางเมืองญวนและทางเมืองจีนฮ่อนั้นจะสูญเสียเปล่า ๆ ไม่มีประโยชน์อันใด....”
* ให้อ่านใบบอกหนังสือกราบบังคมทูลข้อราชการศึกสงครามเวียงจันทน์จบไปอีกตอนหนึ่ง พรุ่งนี้อ่านตอนที่ยังเหลืออยู่ต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กลอน123, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๔ -
กรมพะราชวังบวรเจ้า ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู
ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่ มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่ ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกสงครามกับลาว มีรายละเอียดดังที่ได้อ่านกันไปสองตอนแล้ว แต่ความยังไม่จบ วันนี้มาอ่านความในใบบอก หรือหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้นกันต่ออีกตอนหนึ่งดังต่อไปนี้ครับ
 “อนึ่ง คิดประมาณพลเมืองเวียงจันทน์ และหัวเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ คิดแต่ที่ฉกรรจ์สักแปดหมื่นเศษหรือแสนเศษเหล่านั้น ถ้าบ้านเมืองเวียงจันทน์เป็นปรกติดีอยู่ ถ้าจะกะเกณฑ์รี้พลลาวเป็นกองทัพใหญ่ให้ลงไปกรุงเทพฯ หรือจะเกณฑ์ไปที่ไหน ๆ คงจะได้รี้พลแต่เพียงแปดพันเก้าพัน หรือหมื่นหนึ่ง ถ้าจะกดขี่ให้ได้มากก็เพียงสองสามสี่หมื่นเท่านั้นเป็นเต็มว่าได้มากเต็มที่ เพราะคนจากบ้านจากเมืองไปไกล เจ้าอุปราชเป็นคนเกียดกันหวงแหนไพร่พลอยู่ด้วย แต่กำลังกองทัพไทยจะเร่งรัดกวาดต้อนครอบครัวเวียงจันทน์ คนลาวที่ฉกรรจ์ให้ได้หมื่นหนึ่ง จนถึงเดือนห้าปีหน้าก็ไม่สำเร็จ ถึงมาทว่าจะได้ครัวเวียงจันทน์ในระหว่างปีนี้ จะต้อนครัวลงไปกรุงเทพฯ ก็ยังไม่สะดวก เพราะด้วยจะไปทางเมืองนครราชสีมา เมืองนครราชสีมายังยับเยินป่นปี้มาก ขัดเสบียงอาหารมาแต่ปีกลายแล้ว ปีนี้ก็ไม่ได้ทำไร่ทำนา จะหาอะไรมาเลี้ยงครัวเล่า จะรีบเดินครัวเวียงจันทน์ลงไปให้สิ้นเชิงในฤดูนี้ไม่ได้ ขัดสนด้วยเสบียงอาหารจะไม่พอเลี้ยงครัวลาว ครั้นจะรออยู่แรมปีจนฤดูแล้งหน้า จึงจะต้อนครัวลาวลงไป ก็เห็นว่าข้าวเปลือกตามหัวเมืองรายทางก็จวนจะหมดอยู๋แล้ว จะไม่พอเลี้ยงครัวลาว แต่กองทัพไทยที่จะยกลงไปกรุงเทพฯ จะรับพระราชทานก็จะไม่พอจ่ายทั่วทุกทัพทุกกอง กำลังราชการก็จะหย่อนลงมาก เพราะเกียติยศแผนดินก็จะเสียไป หัวเมืองประเทศราชก็จะเห็นกำลังกรุงเทพฯ เสียด้วย ก็จะหมิ่นประมาทพระราชอำนาจแผ่นดินไทยได้ต่าง ๆ นานา เพราะข้าวปลาอาหารไม่พอเพียงเลี้ยงผู้คนในกองทัพไทย
 อนึ่ง ทุกวันนี้ที่กองทัพกรุงและหัวเมืองซึ่งมารับราชการอยู่พร้อมกันนั้น อดอยากเจ็บไข้ล้มตายก็มาก ถึงเช่นนั้นกองทัพไทยเราเห็นใจกันครั้งนี้ ว่ารักใคร่กันมากตามความอดอยาก ก็มานะสะทะ คิดการที่จะให้เป็นพระเกียรติยศแก่บ้านเมืองไทย และคิดที่จะฉลองพระเดชพระคุณกวาดต้อนคนฉกรรจ์เวียงจันทน์ลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายให้ได้สักหมื่นเศษก่อนในต้นฤดูฝนนี้ให้จงได้ แต่ครัวที่ตกอยู่ตามหัวเมืองเขมรป่าดงนั้น เสมือนหนึ่งฝากไว้ให้เลี้ยงไปก่อน ต่อฤดูแล้งหน้าจึงจะคิดคืนมาให้ได้บ้าง นอกจากจำนวนหมื่นที่ส่งลงไปครั้งนี้ เหตุทั้งนี้จึงได้พูดกับหัวเมืองลาวพุงดำและพระบางที่ยกทัพมาล่าไม่ทันราชการทั้ง ๖ เมืองนั้น ปรับโทษหัวเมืองทั้งหกว่า มาตีเวียงจันทน์ไม่ทันทัพหลวง มีความผิดมาก ตกอยู่ในระหว่างเป็นกองทัพ มีโทษตามบทกฎหมายพระอัยการศึก
 ฝ่ายพระยานครลำปาง, พระยาน่าน, พระยาแพร่, พระยาอุปราชเชียงใหม่, พระยาอุปราชลำพูน, เจ้าอุปราชหลวงพระบาง และแสนท้าวพระยาลาวนายทัพนายกองทั้ง ๖ เมือง เข้าชื่อกันทำเรื่องราวสารภาพรับผิดถวายแม่ทัพหลวง ขอพระราชทานทำการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัวต่อไป รับอาสาจะติดตามจับตัวเจ้าอนุ และเจ้าปาศักดิ์ เจ้าราชวงศ์ เจ้าสุทธิสาร เจ้าโถง เจ้าหน่อคำ และบุตรภรรยาญาติเจ้าอนุ มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้ ถึงมาทว่าจะมิได้ตัวกบฏเหล่าร้ายเหล่านี้กลับมาตั้งที่บ้านเมืองให้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไปได้ หัวเมืองทั้งหกจะคิดกวาดต้อนครอบครัวลาวเวียงจันทน์ส่งลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จะให้ได้สักสองสามหมื่นแต่พื้นที่เป็นคนฉกรรจ์ รวมทั้งครอบครัวเข้าด้วย คงให้สักเจ็ดหมื่นแปดหมื่นเหล่านั้น จะทูลขอแต่กองทัพไทยและและข้าราชการผู้ใหญ่ไว้สัก ๒ คน พลทหารสักพันหนึ่งหรือห้าร้อยคน พอจะได้ตัดสินว่ากล่าวหัวเมืองอย่าให้วิวาทกันได้ แต่กองทัพพระยานครลำปาง พระยาน่าน พระยาแพร่ พระยาอุปราชลำพูน พระยาอุปราชเชียงใหม่ เจ้าอุปราชหลวงพระบาง รวมไพร่พลทั้ง ๖ หัวเมือง เป็นคน ๑๔,๐๑๑ คน ที่จะอยู่แรมปีจัดครัวเวียงจันทน์ส่งไปกรุงเทพฯ กว่าจะสำเร็จราชการ ขอเชิญเสด็จทัพหลวงกลับกรุงเทพฯ แต่จะขอส่งครัวเวียงจันทน์ให้ทันทัพหลวงกลับนี้สักสวนหนึ่ง จะขอค้างไว้ส่งต่อฤดูแล้งหน้าสองส่วน (หมดข้อความสารภาพหัวเมืองลาวพุงดำ ๕ เมือง ลาวพุงขาว ๑ เมือง รวมเป็น ๖ หัวเมืองด้วยกันเท่านี้)
อนึ่ง ทัพหลวงขึ้นมาพร้อมด้วยญาติวงศานุวงศ์พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งปวงนั้น พร้อมกันตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณครั้งนี้มิได้คิดแก่เหนื่อยยากลำบากเลย คิดจะอยู่ค้างปีต่อไปอีกให้สำเร็จการงานที่เมืองลาวนี้ให้สิ้นเชิง แต่ว่าหัวเมืองลาวทั้งหกเขาขอให้กลับ จึงได้บอกลงมายังกรุงเทพฯ
อนึ่ง ครัวและฉกรรจ์ที่นายทัพนายกองจับได้บ้าง และครัวฉกรรจ์ที่หัวเมืองทั้งหกจะส่งลงไปบ้าง รวมกันเป็นครัวมากอยู่เกือบหมื่นคน แต่เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า เสบียงอาหารตามหัวเมืองไทยรายทางที่จะเดินครัวลาวลงไปนั้น พาลอยู่ข้างจะหวุดหวิดไม่พอเลี้ยงครัว กองทัพกรุงที่จะลงไปครั้งนี้ก็จะไม่ได้รับพระราชทานเป็นกำลังราชการลงไป
 บัดนี้ขอพระราชทานได้ทรงมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีข้าหลวงผู้ใหญ่อีกสักสี่ห้านาย มาถ่ายเสบียงอาหารที่กรุงเทพฯ จ่ายเสบียงเลี้ยงครัวตามรายทาง ตั้งแต่เมืองสระบุรี ตลอดขึ้นไปถึงเมืองชัยบาดาล เมืองเพชรบูรณ์และเมืองนครราชสีมาด้วย แต่ทางเหนือนั้นได้มีตราสั่งไปถึงเมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองสวรรคโลก และเมืองเหนือนั้น ให้ส่งเสบียงมาเลี้ยงหัวเมืองทั้งหกที่อยู่รับราชการที่เมืองเวียงจันทน์ด้วย แต่ทางเมืองเหนือนั้นเห็นทีจะส่งขึ้นไปยาก เพราะทางไกล ที่ทางใกล้ก็ข้าวปลาอาหารหมดสิ้น เพราะรับราชการมาช้านานแล้ว และไม่ได้ทำไร่นา จึงขัดสนข้าวปลาอาหาร
อนึ่ง ถ้าราชการตีอ้ายพระยาเชียงสา และเมืองสกลนครเป็นประการใด เป็นที่ไว้วางใจแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ได้แล้ว เห็นว่าข้าศึกเบาบางลงบ้าง ควรทัพหลวงจะกลับได้ก็จะกลับลงมาจากเมืองเวียงจันทน์ จะได้ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ แต่ ณ เดือนแปดกลางเดือน อยู่ที่เมืองเวียงจันทน์เป็นการห่างไกลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาชี้แจงให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ กรมหมื่นรักษ์รณเรศร์ อยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นการใกล้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอให้ท่านทั้งสองกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้ทรงทราบการที่ห่างไกลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้โดยอย่างที่ชี้แจงมานี้
อนึ่ง ได้ทำราชการครั้งนี้คงคิดไม่ให้เสียราชการ เมื่อไรได้ลงไปเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระโอษฐ์ด้วยข้อราชการที่สำคัญให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ
อนึ่ง บาญชีรายครอบครัวกับสิ่งของซึ่งได้ไว้ในคราวศึกเวียงจันทน์ ในใบบอกและหางว่าวที่ลงมาในท้ายใบบอกครั้งนี้ จะถือเป็นแน่ยังไม่ได้ ด้วยเป็นการประมาณ ยังไม่ได้ตรวจตราสอบสวนลงเป็นแน่ได้ เพราะยังกำลังให้ชำระสืบสวนเก็บรวบรวมต่อไปยังมีมาก ถ้าได้ครอบครัวและคนฉกรรจ์ หรือสิ่งของอีกภายหลังมากน้อยเท่าใด จึงจะทำบาญชีเป็นแน่ทั้งเก่าใหม่ ส่งลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้สิ้นเชิง จะไม่ปิดบังแบ่งไว้เป็นของในพระราชวังบวรฯ เลย ถ้าลงมาถึงกรุงเทพฯ จึงจะกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานเป็นส่วนแบ่งปันบ้าง แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานให้ได้เท่าใดก็จะได้แต่เท่านั้น......”
* อ่านความในใบบอกตอนนี้แล้วรู้สึกอย่างไรครับ ดูเหมือนจะได้ความรู้เพิ่มเติมเข้ามาอีกว่า เมืองเลยหรือจังหวัดเลยในปัจจุบันนี้ สมัยก่อนมาถึงรัชกาลที่ ๓ มีนามว่า “หล่มเลย” เป็นคู่กับเมือง หล่มสัก เรียกกันสั้น ๆ ว่า “เมืองหล่มเมืองเลย”
การกวาดต้อนครัวเชลยก็นับว่ายากแล้ว แต่การนำครัวเชลยเดินทางเข้ากรุงนี้ยุ่งยากมากกว่านักเชียว ที่ สำคัญคือเสบียงอาหารที่จะเลี้ยงดูเชลยเหล่านั้น กรมพระราชวังบวรฯ ทรงคิดได้รอบคอบมาก
ความในใบบอก ยังไม่จบ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่ออีกตอนหนึ่งนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๕ -
กรมพะราชวังบวรเจ้า ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู
ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่ มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่ ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกสงครามกับลาว มีรายละเอียดดังที่ได้อ่านกันไปสองตอนแล้ว แต่ความยังไม่จบ วันนี้มาอ่านความในใบบอก หรือหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้นกันต่อจนจบ แล้วอ่านเรื่องราวต่อไปครับ
 “อนึ่ง ช้างพลายพังที่ตีได้ตามค่ายรายทางของลาวนั้น เลือกแบ่งแต่ที่รูปร่างงามดี ๑๑๐ ช้าง บรรทุกดินดำ ให้หลวงนายศักดิ์ นายเวรมหาดเล็ก กับจมื่นทิพเสนา คุมลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทั้งคนทั้งช้างก่อน ให้กรมหมื่นรักษ์รณเรศร์รับช้างและคนปรนปรือไว้ใช้ราชการไปพลางก่อน ถ้าได้ลงไปครั้งนี้จะหาช้างพลายพัง ลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีก จะได้ไว้ใช้ราชการสำหรับแผ่นดินด้วย คงจะให้ได้ลงไปครั้งนี้อีก ๑,๒๐๐ ช้าง หรือ ๑,๓๐๐ ช้างเป็นแน่ แต่ม้านั้นยังเที่ยวเก็บหาได้น้อยนัก เพราะจะหาม้าที่ดีที่งามให้ได้มากด้วย หายังไม่ได้มาก แต่คงจะหาม้าลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไว้ใช้ราชการสำหรับแผ่นดินให้ได้สัก ๕,๐๐๐ ม้า คงจะหาทั้งช้างทั้งม้าให้ได้สิ่งละหลายร้อยหลายพัน แต่เดี๋ยวนี้จะกำหนดว่ามากแลน้อยยังไม่ได้ เพราะกำลังตามหาอยู่ เพราะไพร่พลเมืองลาวพาช้างและม้าที่ดี ๆ ไปซ่อนเสียที่ในบ้านป่า ที่ไกลตามหายาก
อนึ่ง ปืนใหญ่ที่ได้มาตามค่ายลาวที่ในเวียงจันทน์นั้น ครั้นจะบรรทุกลงมากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ เพราะช้างทนไม่ไหวด้วยทางไกล ครั้นคิดจะทำตะเข้ไม้ชักลากลงมา ก็เป็นฤดูฝนตก ทางลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นโคลนลากมาไม่ได้ ครั้นจะค้างไว้ตามหัวเมืองลาวก็ไม่ไว้ใจแก่ราชการ เพราะเป็นเครื่องอาวุธใหญ่อยู่ด้วย ปืนใหญ่เหล่านั้นรูปร่างจะหางามสักกระบอกเดียวก็ไม่มี รูปร่างคล้ายกับเทียนเข้าพรรษา เป็นปืนหลักทุกบอกไม่มีล้อที่จะลากได้ ดูเร่อร่าน่าเกลียดนัก พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ย่อยเนื้อทองสัมฤทธิ์บ้าง ทองเหลืองบ้าง บรรทุกช้างลงไปกรุงเทพฯ แล้วจึงจะคิดหล่อปืนใหญ่ใช้เป็นรูปงาม ๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใช้แทนที่ทำลายเสียนั้น กำหนดจะได้เดินครอบครัวลงมาอีกตามหลังหลวงนายศักดิ์ลงมา จะจัดให้เดินเนื่อง ๆ กันจนสิ้นฤดูฝนนี้
 อนึ่ง นายทัพนายกองไทยที่ทำราชการศึกครั้งนี้ ที่ดีก็มีบ้างแต่น้อยตัว ที่ชั่วก็มีบ้าง ถ้าแม้นจะลงโทษนายทัพนายกองของเรามีตามอาชญาศึกแล้ว ก็เห็นว่าจะเปลืองคนนัก จะไม่มีคนใช้สอยพอกับราชการทางไกล ต้องอดเอาเบาสู้ไปตามทางกันดาร การนั้นก็หากสำเร็จไปได้คราวหนึ่ง ไม่เสื่อมเสียพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวของเรา ก็เพราะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมนายทัพนายกองอยู่ทุกคน จึงทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ได้ชัยชนะแก่ข้าศึกลาว มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายได้
จดหมายข้อราชการฉบับนี้ ขอให้ท่านกรมหมื่นสุรินทรรักษ์และกรมหมื่นรักษ์รณเรศร์ ทั้งสองพระองค์นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายที่ลับ ๆ ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ควรมิควร พระราชอาชญาเป็นล้นกระหม่อม สุดแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะ”
(จดหมายใบบอกกรมพระราชวังบวรฯ ฉบับนี้ไม่ได้ตัดรอน กล่าวไว้เต็มตามต้นฉบับเดิม เพราะจะให้ท่านทั้งหลายฟังสำนวนท่านโบราณ เป็นขนบธรรมเนียมราชการต่อไปภายหน้า)
 พระแทรกคำ (พระแซ่คำ) : วัดคฤหบดี * บัญชีหางว่าว ในหางว่าวท้ายรับสั่งมีความว่าดังนี้
“พระพุทธรูปสำหรับบ้านเมืองเวียงจันทน์นั้นคือพระบาง หายไป สืบได้ข่าวแต่เพียงว่า พวกข้าพระโยมสงฆ์หามพาไปจากวัด จะพาไปทิ้งน้ำหรือฝังดินก็สืบถามยังหาได้ความแน่นอนลงไป ถ้าจะว่าเจ้าอนุพาไป ก็เห็นจะพาไปไม่ได้แน่ แต่จะอยู่ไหนยังสืบไม่ได้ความเลย ได้แต่พระเสิม ๑ พระใส ๑ พระสุก ๑ พระแซ่คำ ๑ พระแก่นจันทน์ ๑ กับได้พระเงินหล่อบ้าง พระเงินบุบ้าง ๔ องค์ แต่เป็นองค์ใหญ่ ๆ รวมกันเป็น ๙ องค์ พระใน ๙ องค์นี้จะนำลงไปกรุงเทพฯ ได้แต่พระแซ่คำพระองค์เดียว เพราะย่อมพอแก่จะบรรทุกช้างไปได้ แต่พระอีกแปดองค์นั้นใหญ่นักหนารับไปไม่ได้ จะต้องบรรจุพระเจดีย์เสียดีกว่าไว้ให้เป็นเหยื่อแก่พวกอันธพาล
 พระพุทธรูปปางฉันสมอ : วัดอัปสรสวรรค์ ได้พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระแซ่คำร้อยพระองค์ กับได้พระพุทธรูปทองคำ เป็นพระพุทธเจ้าฉันผลสมอ หน้าตักยี่สิบนิ้วพระองค์หนึ่ง เป็นพระบุทองคำหาใช้พระหล่อไม่ ได้พระนากสวาดิ์หน้าตักสิบนิ้วพระองค์ ๑ เนื้อนากหนักสิบเจ็ดชั่ง ได้พระนากสวาดิ์หน้าตักแปดนิ้วพระองค์หนึ่ง เนื้อนากหนักสิบสามชั่งสิบตำลึง แต่พระพุทธรูปนากสวาดิ์ทั้งสองพระองค์นั้น เห็นจะแก้ไขพระรูปพระพักตร์ให้ดีได้ จึงจะส่งลงไปกรุงเทพฯ กับได้พระพุทธรูปนาคปรกทำด้วยศิลาดีกระบือ หน้าตักห้านิ้วพระองค์หนึ่ง ก็จะส่งลงไปกรุงเทพฯ ด้วย
 พระเจดีย์ธาตุดำ (พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์) ต. พานพร้าว อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย แต่พระพุทธรูปที่ใหญ่โตและชำรุดหนัก จะส่งลงไปกรุงเทพฯ มิได้นั้น จะให้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ ซึ่งจะก่อใหม่ที่ค่ายหลวงพรานพร้าว ที่เหนือวัดซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างไว้เมื่อเสด็จขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้น ครั้งนี้ได้ก่อพระเจดีย์ฐานไว้ให้ต่อเนื่องพระเกียรติยศสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงต่อไป (คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) พระเจดีย์ครั้งนี้ฐานกว้างห้าวา พระองค์พระเจดีย์สูงตลอดยอดแปดวาสองศอก ที่ได้ทรงบรรจุพระพุทธรูปไว้ให้เป็นที่สักการบูชาแก่เทพามนุษย์ อิฐซึ่งจะได้ก่อพระเจดีย์นั้น ให้เกณฑ์ไพร่พลในกองทัพไทย ทำอิฐเสมอคนละสองแผ่น ก่อแล้วโปรดให้นำแผ่นศิลามาจารึกพระนามพระเจดีย์ว่า “พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์” และจดหมายเรื่องราวที่เจ้าอนุกระทำความชั่วต่อแผ่นดินนั้น จารึกไว้ในแผ่นศิลาให้ปรากฏแก่ประเทศราชลาวอยู่ชั่วฟ้าดิน อย่าให้หัวเมืองประเทศราชทั้งปวงดูเยี่ยงอย่างเจ้าอนุผู้เป็นต้นคิดประทุษร้ายเป็นขบถต่อไป”
 ครั้นทรงจดหมายใบบอกนี้แล้ว จึงโปรดให้จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็ก กับพระอินทราธิบาลที่เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้า ทั้งสองนายนี้เชิญจดหมายใบบอกลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ
ครั้งนั้นโปรดให้พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ซึ่งเชิญสิ่งของเครื่องเสวยมาแต่เมืองจีนขึ้นไปพระราชทานนั้น โปรดให้กลับลงมากับตำรวจในวังหน้าที่เชิญใบบอกมานั้นพร้อมกัน”
* ความในจดหมายใบบอก ทำให้เราได้รู้เบื้องหลัง รายละเอียดในการศึกสงครามระหว่างไทยกับลาวเวียงจันทน์ได้มากขึ้นทุกแง่ทุกมุมเลยนะครับ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงยกแรกของการรบ ฝ่ายเจ้าอนุถูกตีทัพแตกกระจาย แต่ยังไม่พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ถ้าเป็นนักมวย ยกนี้เจ้าอนุถูกเตะถูกต่อยล้มลงไปให้กรรมการนับ แต่นับยังไม่ถึง ๑๐ เขาลุกขึ้นพร้อมที่จะสู้ต่อไปอีก พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อให้รู้ว่าเจ้าอนุจะกลับมาสู้รบกับไทยอย่างไรต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) (ก่อนเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๒๖ -
ตรัสกำชับทัพไทยเที่ยวไล่ล่า “อ้ายเชียงสา”หนีตายไปคับขัน สวามิภักดิ์“พระยาสิงห์”เมื่อทางตัน ในยามนั้นแผ่นดินสิ้นค่ายลาว
เหลือเจ้าราชบุตรจำปาศักดิ์ ไม่นานนักพลเมืองแค้นเคืองฉาว ก่อกบฏลดเลี้ยวไล่เกรียวกราว จึงเป็นคราว“พระยาสิงห์”ชิงความดี |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ มีหนังสือเป็นใบบอกกราบบังคมทูลฯ ข้อราชการทัพตั้งแต่ต้นจนจบ ที่ยึดได้เวียงจันทน์ และแสดงบัญชีหางว่าวเป็นทรัพย์สินสิ่งของที่ยึดได้ ส่งลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย วันนี้มาอ่านบันทึกของท่านพระยาบดินทรเดชา (สิง) กันต่อไปครับ
 “ครั้งหนึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบว่า อ้ายพระยาเชียงสาแม่ทัพลาวนั้น ยังตั้งค่ายแข็งแรงอยู่ที่ตำบลบ้านโพ้นเชียงทอง ยังหามาสวามิภักดิ์ไม่ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยาไกรโกษาเป็นแม่ทัพคุมพลทหารสำหรับทัพที่ยกมาแต่เมืองหล่มสักนั้น ให้ยกไปตีอ้ายพระยาเชียงสา พระยาเชียงสาสู้รบกันกับพระยาไกรโกษา พระยาไกรโกษาแตกหนีมา เสียรี้พลมาก เสียนายทัพนายกองไทยก็มาก
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงขัดเคืองพระยาไกรโกษา จึงโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่นายทัพนายกองปรึกษาโทษพระยาไกรโกษา พระยา, พระ, หลวง ที่นายทัพนายกองพร้อมกันปรึกษาด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ตามพระราชกฤษฎีกาอัยการศึก เห็นว่าพระยาไกรโกษามีความผิดมาก ขอพระราชทานให้ประหารชีวิตเสีย อย่าให้นายทัพนายกองดูเยี่ยงอย่างต่อไป
ครั้นทรงทราบคำปรึกษาดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า “พระยาไกรโกษานี้เป็นคนเก่า มีความชอบมาแต่ครั้งไปตีเจ้าราชวงศ์ที่เมืองหล่มสักครั้งหนึ่ง ขอให้ยกโทษประหารชีวิตเสียเถิด ให้แต่จำตรวนถอดออกจากที่พระยาไกรโกษา ไม่ให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพ ให้จำตรวนไว้ในทัพหลวง” (พระยาไกรโกษาต้องรับพระราชอาชญาจำตรวนแล้วถอดออกจากที่ฐานานุศักดิ์แล้ว จะได้เป็นอีกหรือไม่ได้เป็นฉันใด หาปรากฏในจดหมายเหตุไม่)
 แล้วโปรดให้พระยาเพชรพิไชย กับพระยาเกษตรรักษา พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช เป็นแม่ทัพนายกองคุมพลทหารพันหนึ่งยกไปตีอ้ายพระยาเชียงสาให้แตกให้จงได้ พระยาทั้ง ๔ ยกทัพไปพบค่ายอ้ายพระยาเชียงสาตั้งอยู่ที่บ้านโพ้นเชียงทอง
 กองทัพพระยาเกษตรรักษาเป็นกองหน้า ตีกองทัพหน้าของอ้ายพระยาเชียงสาแตกกระจัดกระจายไป นายแผลงไพรินทร์นายเวรตำรวจวังหน้าเป็นนายม้า ถือปืนสั้นหลังม้ายิงไปถูกอ้ายท้าวโสมนายทัพหน้าของอ้ายพระยาเชียงสานั้นถูกปืนตายในที่รบ แม่ทัพไทยให้ตัดศีรษะอ้ายท้าวโสมมาเสียบหอก ออกเดินนำหน้าทัพตีเข้าไปอีก อ้ายลาวนายทัพและไพร่พลเห็นศีรษะท้าวโสมดังนั้นก็ตกใจกลัว พากันแตกตื่นย่นถอยหลังไปหมด พระยาเกษตรก็ขับพลทหารไล่ตีพักเดียว ทัพอ้ายพระยาเชียงสาก็แตกถอยไปทางเมืองพงข้างเหนือ
 ฝ่ายกองทัพไทยพระยาเพชรพิไชย และพระยาอัษฎาเรืองเดช พระยาบริรักษ์ราชา ก็ตามตีอ้ายพระยาเชียงสาเข้าไปถึงชายป่าเมืองพง ครั้งนั้นอ้ายพระยากองคำคุมทหารมาตั้งอยู่ที่เมืองพง จึงยกทัพมาช่วยแก้อ้ายพระยาเชียงสา อ้ายกองคำยกพลทหารมาสกัดหลังทัพพระยาเพชรพิไชยเข้าไปตามชายป่า พวกไทยไม่ทันรู้ตัวว่าลาวยกมาข้างหลัง ครั้นเห็นเข้ามาใกล้ก็ระส่ำระสายหันหน้าจะหนี จวนจะเสียทีเกือบจะแตกอยู่แล้ว
ฝ่ายพระยาเพชรพิไชยเห็นดังนั้น จึงสั่งให้บุตรหลานญาติช่วยกันต้อนคนให้กลับหน้ามารบกับลาวจนถึงอาวุธสั้นเป็นการตะลุมบอน พออ้ายกองคำแม่ทัพลาวตายในที่รบศพก็ได้มาด้วย ทัพอ้ายลาวทั้งสิ้นก็แตกเข้าป่าไปหมดทุกทัพทุกกอง พอเป็นเวลาจวนค่ำ ทัพไทยจึงมิได้ไล่ติดตามไป กลัวจะเสียทีอ้ายลาว สงสัยว่าอ้ายลาวทำกลอุบายแตกหนีล่อใจไทยให้ตามตีไปในเวลาค่ำ เพราะฉะนั้นทัพไทยจึงมิได้ตามตีไปในป่าเมื่อเวลาค่ำ
 ทัพไทยตั้งมั่นอยู่ที่นั้นคืนหนึ่ง พอรุ่งเช้าขึ้น ทัพไทยได้ยกติดตามอ้ายพระยาเชียงสาไป แต่พอเวลาสองโมงทันอ้ายพระยาเชียงสาที่ห้วยหลวงในป่า กองทัพไทยได้รบกันกับพวกลาวอีกครั้งหนึ่งถึงตะลุมบอน ก็เสียพระอินทรเดช น้องพระยาเพชรพิไชย ถูกปืนลาวตายในที่รบ กับพระยากำแพงเพชร และพระหฤทัย ถูกปืนในที่รบแต่หาตายไม่ ทัพไทยตีทัพอ้ายพระยาเชียงสาแตกกระจัดกระจายหนีไปในป่าอีกครั้งหนึ่ง แต่ทัพลาวรีบหนีไปโดยเร็ว ทัพไทยตามไปไม่ทันก็ตั้งทัพอยู่ที่ริมห้วยหนองหลวง เพื่อจะรวบรวมรี้พลที่ระส่ำระสาย
 ครั้งนั้นอ้ายพระยาเชียงสาแตกหนีกองทัพไทยไปในป่า พระยาเชียงสาพาทหารที่ติดตามไปด้วยนั้นเดินเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ลงไปถึงเมืองยโสธร พอพบกองทัพใหญ่พระยาราชสุภาวดี (สิง) ที่ตั้งสังกัดขวางทางอยู่ อ้ายพระยาเชียงสาไม่รู้ที่จะหนีไปข้างไหนได้ ครั้นจะต่อสู้รบก็มีทหารน้อยตัวนักสู้ไม่ได้ อ้ายพระยาเชียงสาก็ทิ้งเครื่องศาสตราวุธ ยอมยกให้ทหารพระยาราชสุภาวดีเสียหมด แล้วก็เข้าหาพระยาราชสุภาวดีโดยดี ขอสวามิภักดิ์พอให้รอดชีวิต
ฝ่ายพระยาเพชรพิไชยรวบรวมไพร่พลได้หมดแล้ว ก็ให้พระยาเกษตรรักษายกเป็นทัพหน้า ติดตามพระยาเชียงสาต่อไป พระยาเกษตรรักษานายทัพหน้ายกไปถึงฝั่งแม่น้ำโขงใกล้เมืองยโสธร จึงได้ทราบข่าวมาจากกองตระเวนด่านพระยาราชสุภาวดีว่า พระยาเชียงสาเข้าหาพระยาราชสุภาวดีโดยดีแล้ว พระยาเกษตรรักษา และพระยาเพชรพิไชย และพระยานายทัพนายกองทั้งหลายยกทัพกลับมายังค่ายหลวงที่พรานพร้าว กราบทูลข้อราชการที่ได้ไปตีอ้ายพระยาเสียงสานั้นทุกประการแล้ว
 ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี (สิง) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองยโสธร คิดจะยกทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ แต่พอเดินทัพมากลางทางได้ข่าวตามชาวป่าว่า เจ้าราชบุตรเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองศรีษะเกษ ครั้นพระยาราชสุภาวดีแจ้งเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว จึงยกทัพมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ใกล้เมืองอุบลราชธานี
ฝ่ายเจ้าราชบุตรได้ทราบข่าวได้ศึก พระยาราชสุภาวดียกทัพใหญ่มาตั้งอยู่ที่ใกล้เมืองอุบล เจ้าราชบุตรจึงยกทัพมาตั้งค่ายรับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี จึงให้เจ้าปาน เจ้าสุวรรณ ผู้น้อง คุมกองทัพตั้งค่ายสังกัดหลังอยู่ที่เมืองยโสธร พระยาราชสุภาวดียกทัพกลับไปตีค่ายเจ้าปาน เจ้าสุวรรณ ที่เมืองยโสธรเวลาเดียว ทัพเจ้าปานเจ้าสุวรรณก็แตกกระจัดกระจาย หนีไปได้บ้างนายทัพนายกองไทยจับเป็นนายทัพนายกองลาวหลายสิบคนไพร่พลได้มาก ที่ต่อสู้ตายเสียก็มาก แล้วพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพขึ้นไปตีเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายลาวในเมืองอุบลรราชธานีพร้อมใจกันเป็นขบถคุมกันหลายพวก ได้ไล่ฆ่าฟันกองทัพเจ้าราชบุตรเป็นอลหม่านขึ้นในเมืองอุบลราชธานี
 ฝ่ายเจ้าราชบุตรเห็นชาวเมืองอุบลราชธานีกลับเป็นขบถขึ้นพร้อมกันทั้งเมืองดังนั้น จึงพากองทัพของตนหนีออกจากเมืองอุบลราชธานี ตรงไปเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นบ้านเมืองเดิมของตนเคยอยู่ ฝ่ายครอบครัวเมืองต่าง ๆ ที่เจ้าราชบุตรกวาดต้อนพาไปไว้ในเมืองจำปาศักดิ์นั้น ก็กำเริบเป็นศัตรูขึ้นด้วย ชวนกันนำไฟจุดเผาบ้านเรือนราษฎรในเมือง ไฟไหม้ขึ้นเป็นหลายสิบหลัง และไหม้ต่อ ๆ ไปเป็นอันมาก แล้วพวกครัวต่าง ๆ ก็พากันออกนอกเมืองจำปาศักดิ์ หมายจะต่อสู้กับเจ้าราชบุตรก็มีบ้าง ที่หนีไปก็มีบ้าง
 ฝ่ายเจ้าราชบุตรเห็นชาวเมืองคุมกันเป็นขบถเกิดจลาจลขึ้นดังนั้น จะเข้าเมืองก็ไม่ได้ จึงรวบรวมบ่าวไพร่คนใช้ที่สนิทได้ประมาณสามสิบสี่สิบคน แล้วพากันลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขง หมายใจว่าจะเดินบกหนีไปแดนเมืองญวนให้รอดชีวิต
 ฝ่ายทัพพระยาราชสุภาวดี (สิง) เข้าตั้งอยู่ในเมืองนครจำปาศักดิ์ได้แล้ว จึงมีคำประกาศแก่ไพร่พลเมืองลาวว่า “ถ้าใครตามจับตัวเจ้าราชบุตรได้ จะให้รางวัลคนละห้าชั่ง” พวกลาวที่ถูกความเดือดร้อนข่มขี่ของเจ้าราชบุตรนั้น ก็พากันข้ามฟากไปตามจับตัวเจ้าราชบุตร, เจ้าปาน, เจ้าสุวรรณ และพรรคพวกมาส่งให้พระยาราชสุภาวดี พระยาราชสุภาวดีให้เงินเป็นรางวัลคนละห้าชั่ง เป็นเงินยี่สิบห้าชั่ง แล้วจำเจ้าราชบุตร ๑ เจ้าปาน ๑ เจ้าสุวรรณ ๑ ไว้ทั้งสามคน แล้วพระยาราชสุภาวดีได้ทราบว่า ทัพหลวงเสด็จมาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลพรานพร้าว จวนจะเสด็จกลับลงไปกรุงเทพฯ ในเร็ว ๆ นี้
 พระยาราชสุภาวดีให้พระจักราคุมกองทัพ ๑,๕๐๐ อยู่รักษาค่ายที่เมืองจำปาศักดิ์ จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม เพื่อจะจัดการบ้านเมืองบำรุงไพร่พลเมืองให้สมบูรณ์ จะได้เป็นกำลังแก่ราชการศึกต่อไป.....”
* วันนี้ปล่อยให้อ่านเรื่องราวยาวสะใจ เพราะกำลังสนุกเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว พระยาสิงห์ ราชสุภาวดี เริ่มแสดงศักยภาพของตนเองให้ปรากฏแล้ว เรื่องราวของท่านจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๒๗ -
แม่ทัพญวนโอหังทั้งสามหาว อ้างว่าลาวเป็นของญวนล้วนบัดสี สั่งไทยถอยทัพไปในทันที เลิกไล่ตีลาวผองคนของญวน
“พระยาราชสุภาวดี”นิ่ง อ่านแล้วทิ้งจดหมายไม่ไต่สวน สั่งคนเฝ้านครพนมตามสมควร ตนเองด่วนเดินไกลไปพรานพร้าว |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระยาราชสุภาวดียกกำลังเข้ายึดเมืองยโสธร อุบลราชธานี และนครจำปาศักดิ์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะชาวบ้านชาวเมืองก่อการขบถต่อเจ้าราชบุตรผู้ปกครองนครจำปาศักดิ์ แล้วประกาศให้ประชาชนตามจับเจ้าราชบุตรและพวก หากใครจับได้จะให้รางวัลคนละห้าชั่ง
ชาวลาวพากันออกเที่ยวค้นหาและจับตัวเจ้าราชบุตร เจ้าปาน เจ้าสุวรรณ และพวกมาได้ทั้งหมด พระยาราชสุภาวดีตั้งผู้รักษานครจำปาศักดิ์แล้วยกไปตั้งทัพที่เมืองนครพนม วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 “ขณะนั้นแม่ทัพญวนชื่อ องสัดตะคุมเตียนยิม ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าขององกีนเลือก แม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนทางบกนั้น องสัดตะคุมเตียนยิมถือหนังสือของแม่ทัพญวนมาฉบับหนึ่ง บอกแก่ขุนประสิทธิ์นายด่านทางบกฝ่ายไทยว่า “เราถือหนังสือนี้จะไปให้พระยาราชสุภาวดีแม่ทัพไทย” ขุนประสิทธิ์นายด่านกับลาวชาวด่านจึงพาองสัดตะคุมเตียนยิมถือหนังสือมาให้พระยาราชสุภาวดีที่ค่ายเมืองนครพนม ได้สั่งให้ล่ามแปลหนังสือญวนออกใจความว่า
 “เมืองเวียงจันทน์กับกรุงศรีอยุธยาไทย ก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันสนิทสนมมาช้านาน เปรียบเหมือนริมฝีปากกับฟัน ไม่มีเหตุอันใดที่ได้มัวหมองกันเลย เหตุไฉนไทยจึงยกกองทัพขึ้นมาทำลายรื้อบ้านเมืองเวียงจันทน์เสีย ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือดร้อนแตกหนีไป จากบ้านเมืองที่เคยอยู่อาศัยเป็นสุขมาช้านาน
อนึ่ง เมืองเวียงจันทน์ก็เป็นเขตแดนของกรุงเวียดนามด้วย บัดนี้แม่ทัพไทยได้เข้ามาในเขตแดนญวนแล้ว หาควรกับเมืองไมตรีกันไม่ บัดนี้องกีนเลือกแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน ให้ข้าพเจ้าชื่อ องสัดตะคุมเตียนยิม แม่ทัพหน้าคุมกองทัพบกมา ๒๐,๐๐๐ เศษ มาตั้งอยู่ที่เมืองตำกอง ใช้ให้ข้าพเจ้าถือหนังสือมาให้ท่านแจ้งความว่า ให้ท่านยกกองทัพไทยกลับไปอยู่ในเขตแดนของไทย ไทยกวาดต้อนพาครอบครัวพลเมืองในเขตแดนญวนไปไว้มากน้อยเท่าใด ขอให้ท่านส่งกลับคืนมายังเขตแดนญวนให้สิ้นเชิง ทางไมตรีไทยกับญวนจะรอบคอบยืนยาวเสมอต้นเสมอปลายต่อไป ถ้าท่านไม่ฟังคำของข้าพเจ้าแล้ว ฝ่ายข้าพเจ้าก็ไม่ละกันคงได้เห็นฝีมือกันเป็นแน่ ถ้าองกีนเลือกแม่ทัพใหญ่ยกลงมาถึงเมื่อใดแล้ว ก็จะไม่ฟังกันเป็นแน่ แต่หญ้าต้นหนึ่งก็จะไม่ให้เหลือไว้ในแผ่นดิน บอกมาทั้งนี้เป็นความเมตตาแก่แม่ทัพด้วยกัน ให้ทำตามที่บอกมานี้จึงจะชอบด้วยราชการ” (หนังสือญวนฉบับนี้กล่าวไว้หมดจด ไม่ได้ตัดรอน เพราะจะให้ท่านผู้อ่านฟังสำนวนญวน)
 ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีได้ทราบความตามในหนังสือญวนดังนั้นแล้ว หาได้มีหนังสือโต้ประการใดไม่ เพราะจะรีบเดินทางไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่ค่ายหลวงพรานพร้าว ด้วยจวนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เป็นแต่สั่งให้ขุนประสิทธิ์นายด่านพาตัวญวนที่ถือหนังสือมานั้น กลับไปส่งให้พ้นเขตแดนของไทย บอกญวนให้รีบไปในเขตแดนของญวน ไทยไม่รับรอง และไม่ให้ญวนอยู่ด้วย
 พระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาราชรองเมืองคุมพลทหาร ๕๐๐ อยู่รักษาค่ายที่เมืองนครพนมและค่ายเมืองยโสธรด้วย ให้พระยาอินทรสงครามรามัญจางวางกองนอก คุมพลทหารรามัญ ๓๐๐ เป็นกองลาดตระเวนบก รักษาด่านทางเมืองยโสธรและเมืองนครพนม ให้พระยาวิเศษสงครามภักดี จางวางทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่คุมพลทหาร ๒๐๐ ยกล่วงหน้าไปทำทางตั้งทำเนียบรับที่พรานพร้าว แล้วสั่งพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองให้ตระเตรียมจัดพลทหารไว้ให้พร้อม รุ่งขึ้นจะยกไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่พรานพร้าว
 ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าสามโมง พระยาราชสุภาวดีขึ้นช้างพังเกษรผูกกูบกระโจมสองหน้าหลังคาคาดผ้าดาวกระจาย มีทหารสี่เท้าช้างอย่างแม่ทัพใหญ่ พร้อมด้วยช้างนำตามเป็นอันมาก ดำเนินทัพโดยทางสถลมารค หยุดร้อนแรมไปหลายวัน ก็บรรลุถึงท่าซ่มริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้บ้านพรานพร้าว พระยาราชสุภาวดีหยุดพักในค่ายรั้วทึบที่ท่าซ่ม ซี่งพระยาวิเศษสงครามทำไว้รับนั้น แล้วพระยาวิเศษสงครามมาแจ้งความแก่พระยาราชสุภาวดีว่า “ได้สร้างทำเนียบ ๙ หลังตีรั้วทึบท่าซ่มห่างค่ายหลวง ๖๐ เส้น ครั้นจะตั้งใกล้ก็กลัวว่ารี้พลที่มากจะไปละเล้าละลุมในค่ายหลวงหาบังควรไม่”
พระยาราชสุภาวดีพักอยู่ที่ทำเนียบคืน ๑ ครั้งรุ่งเช้าจึงขึ้นแคร่คานหามมีทหารสะพายดาบเดินนำหน้า ๒๐๐ ทหารถือปืนเดินตามทางป่าไปทาง ๖๐ เส้นเศษถึงค่ายหลวง สั่งให้ทหารหน้าหลังหยุดพักห่างค่ายหลวงทั้งสิ้น พระยาราชสุภาวดีลงจากแคร่เดินเข้าไปเฝ้าหน้าพลับพลาชัยในค่ายหลวง กราบทูลข้อราชการศึกเสร็จสิ้นทุกประการ แล้วก็นำต้นหนังสือของญวนและคำแปลจากหนังสือญวนที่มาให้ในระหว่างศึกนั้น ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วพาพระยาเชียงสาลาวซึ่งแตกหนีทัพพระยาเพชรพิไชยเข้ามาสวามิภักดิ์นั้น เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่หน้าพลับพลาชัยในค่ายหลวง
 พระยาราชสุภาวดีกราบบังคมทูลว่า “เจ้าราชบุตรสู้รบกับกองทัพข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจับเจ้าราชบุตรขังกรงลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย” กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระพรหมสุรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจ กับหลวงนายเสน่ห์รักษานายเวรมหาดเล็ก ได้ให้คุมพลทหารกรุงเทพฯ ๑๖๐ คน คุมตัวเจ้าราชบุตร ๑ เจ้าปาน ๑ เจ้าสุวรรณ ๑ กับเจ้าหญิงซึ่งเป็นภรรยาเจ้าราชบุตร ๑ คน ชื่อเจ้าบัณฐร และครอบครัวเจ้าราชบุตรที่จับได้นี้ ๔๖ คนนั้น ให้คุมลงไปส่งยังกรุงเทพฯ แต่พระยาเชียงสานั้นโปรดให้อยู่รับราชการในกองทัพพระยาราชสุภาวดี ช่วยคิดราชการทางหัวเมืองลาว ถ้าเสร็จราชการจะชุบเลี้ยงให้ถึงขนาดแก่ความชอบ แล้วมีรับสั่งให้พระยาราชสุภาวดีอยู่จัดการบ้านเมืองลาว และเมืองเขมรป่าดงให้เรียบร้อย และกวาดต้อนครอบครัวส่งลงไปกรุงเทพฯ สิ้นราชการแล้วเมื่อใดก็ให้กลับลงไป แจ้งข้อราชการศึกสงครามยังกรุงเทพฯ
 ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสตรัสสรรเสริญสติปัญญาความคิดและฝีมือพระยาราชสุภาวดีว่า “มิเสียทีที่เกิดมาในวงศ์ตระกูลเสนาบดี เป็นชายนายทหาร ทำราชการการสงครามครั้งนี้มีชื่อเสียงดีโด่งดังปรากฏไปในนานาประเทศทั่วทิศานุทิศ ความดีความเจริญของท่านจะปรากฏในจดหมายเหตุของพวกนักปราชญ์ราชบัณฑิต อยู่ชั่วกัลปาวสานไม่เสื่อมทราม” แล้วตรัสเล่าการศึกสงครามให้พระยาราชสุภาวดีฟัง ตั้งแต่ตีค่ายทุ่งล้ำพี้ และทุ่งหนองบัวลำภู ทุ่งส้มป่อย และที่เขาสารช่องแคบทั้งสี่ตำบล ทรงเล่าจนเจ้าอุปราชเวียงจันทน์เข้ามาสวามิภักดิ์เสร็จสิ้นทุกประการ.....”
* คิดว่าทุกท่านที่อ่านจดหมายข้อความยะโสโอหังข่มขู่คุกคาม จากแม่ทัพญวนมาถึงแม่ทัพไทยแล้ว คงเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันกับผมแหละนะครับ เก็บความรู้สึกอันไม่ดีไม่งามนั้นไว้ในใจก็แล้วกัน วันนี้ให้อ่านแค่นี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ปิ่นมุก, Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, กลอน123
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๘ -
กรมพระราชวังบวรฯ ประทับ ปรึกษากับบรรดาทหารห้าว ปรารภเรื่องเวียงจันทน์นั้นยืดยาว หลายเจ้าลาวแปรพักตร์สิ้นภักดี
เจ้าอนุจิ้มก้องญวนร้องสิทธิ์ สำแดงฤทธิ์ข่มขู่หลู่ศักดิ์ศรี สยามต้องตรึกตราหาวิธี ศึกจะมียืดยาวทั้งลาวญวน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระยาราชสุภาวดี (สิง) แม่ทัพไทยฝ่ายตะวันออกเข้าเฝ้ากรมกระราชวังบวรฯ ณ ค่ายหลวงพรานพร้าว กราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกแล้ว เบิกตัวพระเชียงสาเข้าเฝ้าถวายบังคม และนำตัวเจ้าราชบุตรแห่งนครจำปาศักดิ์ พร้อมพวกที่พ่ายสงครามถูกจับตัวมาได้นั้นน้อมเกล้าฯ ถวาย กรมพระราชวังบวรฯ ตรัสให้พระพรหมสุรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจและคณะคุมตัวเจ้าราชบุตรและพวกลงกรุงเทพฯ ส่วนพระยาเชียงสานั้นโปรดให้อยู่กับพระยาราชสุภาวดี ช่วยคิดราชการทางหัวเมืองลาวต่อไป วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
“ขณะนั้นมีพระราชดำรัสปรึกษาราชการเมืองเวียงจันทน์แก่พระยาราชสุภาวดี ว่า
“อันแผ่นดินมาลาว์ประเทศขอบเขตลาวเวียงจันทน์นั้น ถ้าผู้ใดได้เป็นอธิบดีใหญ่ในเมืองเวียงจันทน์แล้ว จิตก็มักจะเป็นพาลสันดานทุจริตคิดประทุษ ร้ายเป็นขบถต่อกรุงเทพฯ มาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าตากกรุงธนบุรีครั้งหนึ่ง และในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงสองครั้ง (พระพุทธเจ้าหลวงนั้นคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า) และในแผ่นดินพระบรมโกศนั้น เว้นว่างการศึกกับเวียงจันทน์ เพราะเหตุว่าเมืองหลวงพระบางมีอริร้าวฉานกับเวียงจันทน์ เวียงจันทน์ไม่อาจทำการกำเริบเป็นขบถได้ เพราะเวลานั้น เจ้าเวียงจันทน์ยังไม่มีอำนาจใหญ่โตเหมือนอนุเดี๋ยวนี้ (แผ่นดินในพระบรมโกศนั้น คือแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า)
 ครั้นกาลเป็นลำดับมาถึงแผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมในปัจจุบันนี้ (คือแผ่นดินพระนั่งเกล้า) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าอนุเป็นอธิบดีครอบบ้านครองเมืองเวียงจันทน์ ทรงมอบพระราชดำริพระราชประสงค์ให้เจ้าอนุบังคับบัญชาว่ากล่าวหัวเมืองลาวฝ่ายทางตะวันออกทั้งสิ้นตลอดถึงเขตแดนญวน เจ้าอนุได้เป็นผู้ต่างพระเนตรพระกรรณสิทธิ์ขาดในราชการเมืองลาวทางตะวันออก เจ้าอนุจึงมีศักดาอานุภาพอำนาจเฟื่องฟุ้ง เป็นที่ยำเยงเกรงกลัวของหัวเมืองลาวต่าง ๆ ที่ใกล้และไกลในทิศตะวันออก เพราะพระบารมีล้นเกล้าล้นกระหม่อม ปกเกล้าปกกระหม่อมเจ้าอนุ เจ้าอนุจึงมีศุภอักษรลงมากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เมืองเวียงจันทน์กับหัวเมืองขึ้น ราษฎรพลเมืองต้องอาศัยไปมาค้าขายที่เมืองญวน จึงได้เกลือและของใช้ของรับประทานมาเป็นกำลังแก่พลเมืองลาว เพราะว่าญวนอยู่ใกล้กับลาว จะไปมาค้าขายง่ายกว่าทางกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเจ้าอนุจะขอรับพระราชทานแต่งขุนนางลาว ให้เป็นทูตขึ้นไปจิ้มก้องส่งเครื่องบรรณาการที่เมืองเว้ (คือเมืองหลวงของญวน) สามปีครั้งหนึ่ง เพื่อจะให้พลเมืองลาวไปมาค้าขายกับญวนได้สะดวก
 ฝ่ายล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยเสนาบดี เห็นว่าเป็นการค้าขายเจริญแก่ราษฎรพลเมืองลาวนั้นจริงอยู่ จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยอมให้เจ้าอนุแต่งทูตลาวไปจิ้มก้องญวนสามปีครั้งหนึ่งตามความคิดเจ้าอนุเถิด เหตุดังนี้ญวนจึงถือว่าเวียงจันทน์เป็นเขตแดนของญวนด้วย ญวนจึงได้มีหนังสือพูดจาหมิ่นประมาทไทย เพราะเจ้าอนุก่อเหตุทำให้เกียรติยศไทยเสียไป ภายหลังเจ้าอนุมีจิตคิดกำเริบเติบใหญ่ ตั้งใจเป็นขบถต่อกรุงเทพฯโดยความทรยศของมันดังนี้ พวกเราทั้งหลายจึงต้องมาทำศึกสงครามเคี่ยวเข็ญแรมเดือนแรมปีกับลาวนี้ จนอ้ายลาวพ่ายแพ้ราบคาบไปสิ้น ฝ่ายไทยก็มีชัยชนะครั้งนี้ ควรที่นายทัพนายกองจะต้องช่วยกันคิดอ่านการงานให้รอบคอบ ที่จะรักษาขอบขัณฑเสมาอาณาจักรสยามให้มั่นคงถาวรชั่วบุตรหลาน
 แต่การข้างหน้าต่อไปนั้น เราก็คิดไม่ให้มีผู้ครอบครองบ้านเมืองเวียงจันทน์อีกต่อไป คิดจะทำลายล้างบ้านเมืองเสียให้หมด ให้เป็นดังป่า ไม่ให้กลับเป็นราชธานีใหญ่สืบไปได้ แต่จะต้องนำความเห็นที่เราคิดดังนี้ลงไป มีชี้แจงกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้ทรงทราบได้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสียก่อน เราจึงจะทำการนี้ได้โดยถนัดดี ด้วยแผ่นดินเป็นที่ของท่าน ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ เราเป็นแต่ผู้ช่วยราชการ ไม่อาจหาญจะทำการใหญ่โตให้เกินแก่อำนาจผู้ใหญ่ได้”
ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาอภัยภูธร เจ้าพระยาพระพิษณุโลก และเจ้าพระยานครราชสีมา และเจ้าพระยามหาโยธา และพระยาเพชรบูรณ์ ขุนนางผู้ใหญ่เฝ้าอยู่ที่นั้น พร้อมอยู่ด้วยกัน พระยา, พระ, หลวง, นายทัพ, นายกอง, ทั้งหลายกราบบังทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นชอบด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมพร้อมกัน ตามพระราชกระแสรับสั่งนั้นทุกอย่างทุกประการแล้ว”
 กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชดำรัสสั่งให้พระยาเพชรบูรณ์เข้ากองทัพพระยาราชสุภาวดี ให้อยู่จัดการบ้านเมืองลาวส่งเสบียงอาหารให้พระยาราชสุภาวดี เพราะเมืองเพชรบูรณ์บริบูรณ์ด้วยอาหาร โปรดให้พระยาเพชรพิไชยกับพระยาสมบัติธิบาล ยกไปจัดการบ้านเมืองหล่มเลย ให้กลับไปเมืองหล่มเลยในฤดูฝนนี้ พระยาเพชรพิไชยกราบถวายบังคมลายกไปเมืองหล่มสัก พระยาสมบัติธิบาลยกไปเมืองเลย โปรดให้พระยาเกษตรรักษายกพลทหารไปถ่ายเสบียงอาหาร ไปส่งพระยาราชสุภาวดีให้ใช้ราชการตลอดปี พระยาเกษตรรักษาได้ถ่ายเสบียงอาหารที่ค่ายหลวงลำเลียงลงเรือรบลาวเก่า ๆ บรรทุกไปส่งที่ค่ายพระยาราชสุภาวดี
 ครั้งนั้นพระธัญญาภิบาล หลวงโภชนารักษ์คุมเรือข้าวเปลือกนำไปส่งที่เมืองนครพนม เรือกระทบตอไม้ใหญ่ล่มแตกเสียสี่ลำเป็นข้าวหลายร้อยเกวียน ทรงทราบแล้วจึงโปรดให้จมื่นอินทรเสนาปลัดกรมพระตำรวจ นำเรือเร็วลงไปลงพระราชอาชญาเฆี่ยนหลังพระธัญญาภิบาลกับหลวงโภชนารักษ์ คนละห้าสิบที ให้คงราชการถ่ายลำเลียงต่อไป
โปรดให้พระยาเพชรบูรณ์ขนปืนนกสับคาบศิลา ๑,๕๐๐ กระบอกกับกระสุนดินดำ ส่งไปพระราชทานเพิ่มเติมให้อีกในกองทัพพระยาราชสุภาวดี พระยาเพชรบูรณ์กราบทูลว่า “ช้างที่จะบรรทุกปืนไปส่งนั้นยังไม่มาถึงพรานพร้าว” รับสั่งว่า “บรรทุกเรือก็ได้” พระยาเพชรบูรณ์กราบทูลว่า “ทางเรือหลักตอมากในแม่น้ำโขง เกรงเรือจะล่มลงจะเสียของหลวง ด้วยเป็นเครื่องอาวุธหาใช้ยาก ไม่เหมือนข้าวเปลือกพอหาเพิ่มเติมในราชการได้” รับสั่งว่า “พระยาเพชรบูรณ์ขัดคำสั่งจะให้ลงพระราชอาชญาก็ได้ แต่เห็นว่าเป็นคนเก่าผู้เฒ่าจึงให้ภาคทัณฑ์ไว้ครั้ง ๑”
แล้วโปรดให้หลวงชาติเสนีคุมปืนคาบศิลาบรรทุกลงเรือไปส่งให้พระยาราชสุภาวดี ครั้งนั้นเรือใหญ่พระธัญญาภิบาลนำไปบรรทุกข้าวเปลือกเสียหมด มีแต่เรือเล็กอยู่หลายลำ แต่รั่วมาก เลือกได้เรือเล็กสองลำบรรทุกปืนไปลำละ ๑๐๐ กระบอก ลงไปตามลำแม่น้ำโขง ก็ถูกตอล่มลงลำหนึ่ง ลำหนึ่งลงไปถึงเมืองนครพนม คราวนี้ทรงทราบว่าเรือล่มสมกับคำพระยาเพชรบูรณ์กราบทูลทุกประการ จึงหายกริ้วพระยาเพชรบูรณ์และพลอยไม่โกรธหลวงชาติเสนีที่นำเรือบรรทุกปืนไปล่มเสียลำหนึ่ง เสียปืน ๑๐๐ กระบอกและดินดำด้วยหลายสิบถังจมน้ำเสีย ดำได้แต่ปืน
 ครั้งนี้โปรดเกล้าให้พระยาประกฤษณุรักษ์ไปตามช้างที่ค่ายเขาสารมายังพรานพร้าว ให้พระยาเพชรบูรณ์บรรทุกปืน ๑,๓๐๐ กระบอก กับดินดำและกระสุนปืนไปสั่งที่ค่ายพระยาราชสุภาวดี ปืนและกระสุนดินดำก็ถึงค่ายพระยาราชสุภาวดีโดยสะดวกไม่เสียหาย (เพราะพระยาเพชรบูรณ์ที่ชำนิชำนาญทางแม่น้ำโขงและทางป่าด้วย)
ครั้งนั้น เจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกแม่ทัพไปตีหล่มสักได้แล้วยกมาตั้งค่ายอยู่ที่พรานพร้าว ป่วยหลายวันก็ถึงอสัญกรรม กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้บุตรหลานญาติที่ตามขึ้นไป ให้นำศพลงมากรุงเทพฯ พระราชทานช้างและโคต่างให้เป็นพาหนะพอสมควรกับพวกพ้องบ่าวข้าที่จะนำศพกลับลงไปกรุงเทพฯ
กองทัพไทยที่ขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น ไพร่พลตายด้วยศาสตราวุธข้าศึกนั้นน้อย ตายด้วยไข้โรคป่วง และตายด้วยไข้ป่าไข้พิษ ไทยตายด้วยอดอยาก สามอย่างนั้นมากกว่ารบกันตายด้วยเครื่องศาสตราวุธ...”
พักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกันนะ วันพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๒๙ -
กรมพระราชวังบวรฯกลับ ทรงพักทัพโคราชไม่รีบด่วน สั่งซ่อมแซมคูกำแพงแต่งที่ควร ให้ทุกส่วนที่ถูกเผาเข้ารูปรอย
แล้วกลับกรุงเข้าเฝ้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลทั่วที่ทรงทำไม่ท้อถอย จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนยศทั้งใหญ่น้อย “พระยาสิงห์”สวมสร้อย “เจ้าพระยา” |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน“อานามสยามยุทธ”ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดการบ้านเมืองเวียงจันทน์และเมืองบริวาร มอบหน้าที่พระยาราชสุภาวดี (สิง) อยู่จัดการบ้านเมืองแทนพระองค์ ให้กองทัพพระยาเพชรบูรณ์เข้ารวมกับพระยาราชสุภาวดี และให้ขนเสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์จากทัพหลวงไปใส่ไว้ในกองทัพพระยาราชสุภาวดี วันนี้มาดูความต่อไปครับ
 “อนึ่ง ทัพพระยาราชนิกูลและพระยารามคำแหง พระยาราชวังเมือง พระยาจันทบุรี ซึ่งยกขึ้นไปทางเมืองเขมรป่าดงละทางตะวันออกนั้น ไม่ได้ต่อสู้รบด้วยข้าศึกลาวเลย เพราะไม่ได้มีใบบอกข่าวราชการมายังแม่ทัพหลวงให้ทราบบ้าง (กับไม่ได้ยินข่าวลือว่าแม่ทัพทั้ง ๔ คนนั้น จะได้ราชการสิ่งใดในการศึกสงครามนั้นก็ไม่มี มีแต่ไปตั้งทัพยับยั้งอยู่ที่ปลายเขตแดน เขมร, ญวน กับลาวต่อกันทางเขาหลวงลีผีเป็นที่พรมแดนญวน, เขมร กับไทยต่อกันเท่านั้น ตั้งอยู่ตำบลนี้เป็นที่ห่างเหินเกินกับที่จะต่อรบกับข้าศึกลาว ต้องกับคำโบราณว่า “อยู่สุดเสียงปืนอายุยืนกว่าพัน” เป็นจะเป็นเช่นนั้นบ้างดอกกระมัง)
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งพระยาเสน่หาภูธรให้มีบัตรหมายบอก พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทัพทั้งหลาย ให้ตระเตรียมพลทหารไว้ให้สรรพ อีกแปดวันจะเสด็จพระราชดำเนินยกกองทัพหลวงกลับลงไปยังกรุงเทพฯ ตามท้องตราซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรีเชิญขึ้นมาหากองทัพกลับนั้น
 ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนแปดขึ้นเก้าค่ำ เวลาประจุสมัยจวนจะใกล้ ๆ อรุณรุ่งสว่าง ได้มหาศุภมงคลนักขัตฤกษ์แล้ว ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเครื่องศิริราชปิลันทนาอะลังการสรรพาภรณ์บวรวิภูษิต วิจิตรด้วยเครื่องอนันตะราโชปโภคสำหรับพระขัติยะราชรณยุทธพร้อมเสร็จ เสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งพังเทพยลิลา สูงห้าศอกคืบหกนิ้ว ผูกเครื่องมั่นมีพระที่นั่งกระโจมทองสี่หน้าหลังคาหักทองขวางยอดเกี้ยว เป็นพระคชาธาร และพังมณีนพรัตน์สูงห้าศอกคืบสี่นิ้ว เป็นพระคชาธารพระที่นั่งรอง ผูกเครื่องมั่นมีพระที่นั่งวอช่อฟ้าหลังคาสี พระที่นั่งทรงนั้นหลวงอินทรคชลักษณ์เป็นหมอ ขุนคชศักดิ์บริบาลเป็นควาญ เป็นข้าหลวงเดิมทั้งสองนาย พร้อมด้วยจัตุรงค์คชบาท ราชบริพารทวยหาญแห่นำตามเสด็จพร้อมพรั่ง ทั้งช้างดั้งช้างกันอนันตะคชพยุหยาตรา สรรพด้วยพหลพลพยุหโยธาหาญ ราชบริพารตามกระบวนบวรมหาพิชัยสงครามพร้อมเสร็จ เสด็จพระราชดำเนินเป็นทัพหลวง ล่วงมัคทุเรศนิคมเขตมาลาว์มหาสถลมารค ประทับร้อนแรมมาจากค่ายพรานพร้าวยี่สิบสองเวน บรรลุถึงเมืองนครราชสีมาในเวลาบ่ายสองโมง ณ วันพุธเดือนแปดแรมสิบสี่ค่ำ จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับแรม อยู่บนพลับพลาไชยในค่ายเก่าคืนหนึ่ง
 รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนแปดแรมสิบห้าค่ำ โปรดเกล้าฯ พระราชทานอาหาร สิ่งของเงินตรา เสื้อผ้าแก่ไพร่บ้านพลเมืองนครราชสีมาที่อดอยากเป็นอันมาก แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นายทัพนายกองทั้งหลายคุมพลทหาร แบ่งหน้าที่กันไปซ่อมแซม ก่อกำแพงเมืองนครราชสีมาที่ปรักหักพัง ที่เจ้าอนุสั่งให้ทำลายรื้อเสียด้านหนึ่งนั้น โปรดให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมือนดังเก่า แต่คูเก่ารอบนอกกำแพงเมืองนครราชสีมานั้นตื้นดอนมากแล้ว จึงโปรดให้กองทัพแบ่งหน้าที่กันขุดมูลดินเก่าขึ้น ให้ลึกกว้างกว่าเก่ารอบกำแพงแล้ว จึงดำรัสสั่งพระยาอร่ามมณเฑียรให้อยู่ที่เมืองนครราชสีมา เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอารามพระอุโบสถวิหารการบุญเปรียญเสนาสนะ ที่ปรักหักพังทั้งสองพระอารามในกำแพงเมืองนครราชสีมา ที่ชำรุดมาช้านานให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้งดงามบริบูรณ์ไว้ในพระศาสนา จะได้เป็นพระเกียรติยศแผ่นดินสยามต่อไปภายหน้าด้วย
พระยาอร่ามมณเฑียรเลือกนายช่างไว้ ๓๐ คน กับไพร่พลในกองทัพกรุงขอไว้ ๕๐ คน รวมเป็น ๘๐ คน แล้วเกณฑ์คนที่เมืองนครราชสีมาอีก ๒๐๐ คน ให้ทำอิฐเผาปูนและตัดไม้ทำการงานในพระอารามทั้งสองตามรับสั่งนั้น
 กรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ในค่ายนอกเมืองนครราชสีมานั้นหกวัน จึงเจ้าพระยานครราชสีมามากราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ให้เข้าไปทอดพระเนตรในเมืองนครราชสีมา จึงเสด็จพระราชดำเนินทรงพระราชยานผูกแปด มีกระบวนแห่นำตามเสด็จไปเป็นอันมาก เสด็จไปทอดพระเนตรในเมืองนครราชสีมาหลายแห่ง ทอดพระเนตรพระอารามทั้งสองที่ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย ทอดพระเนตรทั่วแล้ววันหนึ่ง จึงเสด็จกลับออกมาประทับอยู่ในค่ายอีกวันหนึ่ง จึงเสด็จกรีธาทัพหลวงจากเมืองนครราชสีมา ลงมาทางดงพระยาไฟ ตัดทางมาลงยังท่าราบแขวงเมืองสระบุรี ประทับที่พลับพลาท่าราบสี่วัน แต่พอนายทัพนายกองที่ตามเสด็จพระราชดำเนินมาพร้อมกันแล้ว จึงเสด็จประทับในเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีชื่อกาพย์สุวรรณมาลา พร้อมด้วยเรือขบวนดั้งกันแห่นำตามเสด็จมาถึงกรุงเทพฯ ณ วันจันทร์เดือนเก้า แรมสามค่ำ เวลาบ่ายสามโมง ในเวลาวันนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินลงไปเฝ้าในพระราชวังหลวง กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยข้อราชการศึกเสร็จทุกประการ แล้วกราบทูลสรรเสริญยกย่องความชอบพระยาราชสุภาวดี (สิง)ว่า “ใจกล้าหาญในการศึกสงครามและฝีมือก็เข้มแข็งองอาจสามารถ ทั้งสติปัญญาก็หลักแหลมพร้อมด้วย จะหาผู้ใดเสมอมิได้ในทุกวันนี้”
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระศรีสหเทพ ให้มีท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปยังกองทัพเมืองเวียงจันทน์ ให้ประกาศความชอบในพระยาราชสุภาวดี ให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ พระราชทานพานหมากทองคำ คนโทน้ำทองคำ และเครื่องยศอย่างเสนาบดีผู้ใหญ่ส่งขึ้นไปพระราชทาน โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระสุริยะภักดี (ป้อม) เป็น พระราชวรินทร์ แล้วพระราชทานสิ่งของดี ๆ หลายอย่างขึ้นไปให้พระราชวรินทร์ (ป้อม) สำหรับให้เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ เป็นการแทนคุณเจ้าอุปราช ที่เขาช่วยแก้ไขมีหนังสือมาถึงเจ้าอนุให้ลงไปกรุงเทพฯ ได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระณรงค์สงครามจางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมา เป็นพระยาณรงค์สงคราม พระราชทานถาดหมากทองคำ คนโทน้ำทองคำ เป็นเครื่องยศ
 โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจ ๑ หลวงศรีเสนากรมมหาดไทย ๑ ขุนมหาสิทธิโวหารกรมพระอาลักษณ์ ๑ เชิญท้องตราตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) และพระราชวรินทร์ (ป้อม) พระยาณรงค์สงคราม (มี) กับเครื่องยศขึ้นไปพระราชทานที่ค่ายเมืองเวียงจันทน์ ที่ตำบลพรานพร้าวนั้นพร้อมกันทั้ง ๓ คนตามบรรดาศักดิ์...”
* อย่างนี้คำสมัยใหม่เรียกว่า “กรรมติดจรวด” นะครับ พระยาราชสุภาวดี (สิง) พระสุริยะภักดี (ป้อม) พระณรงค์สงคราม (มี) ใช้ความรู้ความสามารถทำกรรมดี เป็นความดีความชอบแก่ราชการศึกสงคราม กรรมดีที่ทำได้ผลทันที โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศตำแหน่งให้ พระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี พระสุริยะภักดี (ป้อม) เลื่อนขึ้นเป็นพระราชวรินทร์ และ พระณรงค์สงคราม เสนาธิการกองทัพเมืองนครราชสีมา (ตำแหน่งที่ผมคิดตั้งเอง) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาที่ พระยาณรงค์สงคราม เป็นการแต่งตั้งยศศักดิ์กันในกลางสนามรบเลยทีเดียว
เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 (ซ้าย) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ภายหลังคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ รับบทโดย วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ในละคร “ข้าบดินทร์” (ขวา) ภาพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) - อานามสยามยุทธ ๓๐ -
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าสยาม ตอบเวียดนามรวบรัดตัดปัญหา เจ้าอนุเป็นขบถหมดเมตตา จึงไล่ล่าทั่วลาวหนีเข้าญวน
“เจ้าพระยาราชสุภาวดี” ไม่รอรีอยู่ลาวเร่งกลับด่วน นำพระบาง,อุปราชร่วมขบวน ทุกสิ่งล้วนทูนเกล้าฯ เจ้าแผ่นดิน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน“ อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพกลับคืนพระนคร เข้าเฝ้าถวายบังคมกราบทูลข้อราชการศึกสงครามกับลาวจนได้ชัยชนะทุกประการ แล้วตรัสสรรเสริญพระยาราชสุภาวดีว่าเป็นคนดีมีฝีมือและสติปัญญา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบทุกประการแล้ว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนให้พระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี ให้พระสุริยะภักดี (ป้อม) ขึ้นเป็นพระราชวรินทร และ ให้พระณรงค์สงคราม (มี) จางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมา เป็นพระยาณรงค์สงคราม วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือบอกเรื่องเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ บอกไปถึงองเล่โปเสนาบดีที่กรุงเว้ฝ่ายญวนฉบับหนึ่ง ให้ส่งทางเมืองเขมร เขมรส่งต่อ ๆ ไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของญวน
ใจความในหนังสือนั้นตัดเนื้อความแต่สั้น ๆ พอรู้การว่า เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ กรุงเทพฯต้องยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปปราบปราม การจลาจลสงบราบคาบไปสิ้นแล้ว แต่บัดนี้เจ้าอนุผู้ทำความผิดคิดมิชอบ สู้กองทัพไทยไม่ได้ ก็หนีไปอาศัยอยู่ในหัวเมืองซึ่งเป็นเขตแดนของญวน ผู้ครองฝ่ายไทยจะให้กองทัพยกเข้าไปติดตามจับเจ้าอนุในเขตแดนญวนนั้น ก็เกรงว่าจะเสียทางพระราชไมตรี จึงได้สั่งให้กองทัพไทยรั้งรอไว้แต่ที่เขตแดนของไทยซึ่งติดต่อที่พรมแดนกับญวนก่อน จึงได้บอกให้องเล่โปเสนาบดีฝ่ายญวนทราบ เสนาบดีฝ่ายญวนทราบแล้ว ขอให้นำข้อความในหนังสือฉบับนี้ขึ้นกราบทูลเจ้าเวียดนามให้ทรงทราบด้วยเทอญ (ตัดเนื้อความยาวว่าแต่สั้น ๆ เป็นแต่ใจความ)
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ว่าที่สมุหนายกนั้น ได้ตั้งพักพลทหารอยู่ที่ค่ายท่าซ่ม ใกล้พรานพร้าว ก็จัดการบ้านเมืองลาวเรียบร้อยปกติ จึงสั่งให้พระราชวรินทร (ป้อม) ไปกวาดต้อนครอบครัวมาไว้ที่บ้านพรานพร้าวได้มากแล้ว จึงได้แบ่งลาวไว้ให้อยู่เป็นพลเมืองเวียงจันทน์บ้างพอสมควร ให้เพี้ยเมืองเวียงจันทน์อยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์ต่อไป ครอบครัวที่เหลือนั้นเป็นอันมาก จึงให้นายทัพนายกองกวาดต้อนลงมากรุงเทพฯ ให้เดินครัวเป็นลำดับเนื่อง ๆ ลงมาหลายทางหลายสาย
 พระบาง เจ้าพระยาราชสุภาวดีสืบติดตามหาพระบางได้ที่ในถ้ำเขาแก้ว ซึ่งข้าพระพาไปซ่อนไว้นั้น ตามมาได้แล้ว จึงเชิญพระบางขึ้นช้าง พาเจ้าอุปราชเวียงจันทน์กับพระยาเชียงสาลงมากรุงเทพฯ ให้พระราชวรินทร (ป้อม) เป็นแม่ทัพหน้ายกลงมาทางดงพระยาไฟ ให้พระยาเพชรบูรณ์ต้อนครัวลงไปทางเมืองเพชรบูรณ์ส่งยังกรุงเทพฯ ให้พระยาณรงค์สงครามเป็นนายทัพหลวง ต้อนครัวมาพร้อมกัน
ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสามปีกุน นพศกจุลศักราช ๑๑๘๙ ปี เข้าเฝ้าพระกรุณาในท้องพระโรง จึงมีพระบรมราชโองการตรัสว่า
 “เจ้าอนุก็ยังจับตัวหาได้ไม่ มันจะกลับมาตั้งบ้านเมืองอีกต่อไปประการใดก็ไม่แจ้ง เมืองเวียงจันทน์นี้เคยเป็นขบถมาสองครั้งแล้ว ครั้งนี้ไม่ควรที่จะเอาไว้ให้เป็นบ้านเมืองอยู่สืบต่อพืชพันธุ์ขบถเลย ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดนั้น หาถูกกับความดำริเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไม่ ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดจัดแจงแต่งบ้านเมืองเวียงจันทน์เสียให้สิ้นเชิง และกวาดต้อนครอบครัวลงมาในบ้านเมืองเราให้หมด จงทำเมืองเวียงจันทน์เป็นป่าไป ไม่ให้เป็นบ้านเมือง”
 วัดจักรวรรดิราชาวาส แต่พระบางนั้นให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) นำไปทำพระวิหารไว้ที่ในวัดจักรวรรดิ (คือวัดสามปลื้ม) เป็นวัดของพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยาราชสุภาวดี
แต่เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์นั้น โปรดเกล้าฯ ให้ยกครอบครัวไปอยู่ที่บ้านเจ้าอนุที่บางยี่ขัน กรุงเทพฯ
ทรงขัดเคืองเจ้าพระยาราชสุภาวดีมากนัก ที่ไม่ทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์ให้สาบสูญเสียสิ้น กลับมาคิดตั้งแต่งขึ้นให้เป็นบ้านเมืองต่อไป ไม่โปรดเพราะเหตุฉะนั้น จึงไม่โปรดตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรี ให้เป็นแต่เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกอยู่ก่อน
 ครั้น ณ เดือนเจ็ดปีชวด สัมฤทธิศกนั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีกราบถวายบังคมลายกทัพไปเมืองเวียงจันทน์อีก ตามพระราชดำริให้ทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์เป็นป่า ได้เดินกองทัพขึ้นทางดงพระยาไฟ พักพลที่เมืองนครราชสีมา ขอช้างม้าไปเป็นพาหนะ และนำท้องตราให้เจ้าพระยานครราชสีมาดู จะได้รู้ว่าเกณฑ์ผู้คนช้างม้าโคต่างเท่าใดตามหัวเมืองรายทางด้วย ให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นผู้ช่วยในข้อราชการที่จะต้องการต่อไปภายหน้า
ครั้งนั้น เจ้าพระยานครราชสีมาป่วย จึงให้พระยาทุกขราษฎร์ ๑ พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกรมช้างกองนอก ๑ พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ๑ พระณรงค์สงครามจางวางส่วยทอง ๑ พระมหาดไทย ๑ พระศุภมาตรา ๑ กับพระนรินทรารักษ์ ๑ กับพระ,หลวง, ขุน, หมื่น กรมการเมืองนครราชสีมา คุมพลทหารเดินเท้าและช้างม้าตามท้องตราที่เกณฑ์ขึ้นมานั้น ให้ยกไปในกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีครั้งนี้ด้วย แต่เจ้าพระยานครราชสีมานั้นก็พูดว่า “ถ้าหายป่วยจึงจะยกตามขึ้นไปต่อภายหลัง จึงให้พระยาพรหมยกกระบัตรคุมพลถ่ายเสบียงอาหารไปส่งนั้นด้วย”
 ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี และทัพพระยานายทัพนายกองทั้งหลาย พร้อมกันยกออกจากเมืองนครราชสีมา ขึ้นไปถึงภูเขียวเมื่อเดือนแปดบูรพาสาธ พักทัพที่นั้น เกณฑ์พลทหารทั้งเสบียงอาหารได้พร้อมแล้ว จึงยกขึ้นไปถึงหนองบัวลำภู ตั้งค่ายพักพลอยู่ที่นั้นพอสมควร เจ้าพระยาราชสุภาวดี แต่งให้พระยาราชรองเมือง ๑ พระยาพิชัยสงคราม ๑ พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา ๑ หลวงสุเรนทรวิชิต ๑ สี่นายนี้เป็นแม่ทัพนายกองคุมไพร่พล ๑,๐๐๐ เป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตั้งค่ายอยู่ที่พรานพร้าวที่ค่ายหลวงเก่า เพื่อจะได้ตรวจตราราชการเมืองเวียงจันทน์
ฝ่ายพระยาราชรองเมือง พระยาพิชัยสงคราม สั่งให้หมื่นเทพภักดีคุมไพร่ ๑๐ คนลงเรือเล็กข้ามฟากไปในเมืองเวียงจันทน์ ให้ไปหาตัวเพี้ยเมืองจันทน์กับท้าวเพี้ยน่า มาปรึกษาราชการที่ ณ ค่ายพรานพร้าว
สักครู่หนึ่งไพร่ที่ไปด้วยกับหมื่นเทพภักดีกลับมาสามคนแจ้งความว่า “ลาวในเมืองเวียงจันทน์จับหมื่นเทพภักดีกับไพร่ไว้ ๗ คน อีก ๓ คนนี้ยังมีอยู่ที่ในเรือ เห็นพวกลาวในเมืองเวียงจันทน์เป็นอันมากถือเครื่องศาสตราวุธครบมือกัน บ้างเดินบ้างวิ่งสับสนวุนวายป่วนปั่นกันอยู่มาก เมื่ออาการประหลาดดังนั้นแล้ว จึงถอยเรือข้ามฟากกลับมาทั้งสามคน”
 ฝ่ายท่านพระยาราชรองเมืองแม่ทัพได้ทราบเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว จึงแบ่งไพร่พลทหารในกองทัพ ๕๐๐ คน ให้พระยาพิชัยสงครามกับพระยาทุกขราษฎร์ และหลวงสุเรนทรวิชิต เป็นนายทัพนายกองคุมไพร่ลงเรือเก่าที่หน้าค่ายหลวง ข้ามฟากไปสืบข่าวราชการในเมืองเวียงจันทน์ ครั้นพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ข้ามฟากถึงฝั่ง ยกเข้าไปตั้งอยู่ที่วัดกลางในเมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายเพี้ยเมืองจันทน์ผู้รักษาเมืองเวียงจันทน์นั้น จึงนำข้าวปลาอาหารมาต้อนรับคำนับพระยาพิชัยสงคราม แล้วแจ้งความว่า หมื่นเทพภักดีกับไพร่ไทย ๗ คนมาถึงในบ้านเมือง เป็นความยินดีต้อนรับจับมือถือแขนพาไปเลี้ยงดูตามธรรมเนียม ข้าหลวงมาถึงบ้านเมือง หาได้จับกุมทำอะไรไม่ แต่คนที่อยู่ในเรือหาขึ้นไม่ กลับไปเสียโดยเร็ว แล้วจึงพาหมื่นเทพภักดีกับไพร่ไทย ๗ คนมาหาพระยาพิชัยสงคราม พระยาพิชัยสงครามถามหมื่นเทพภักดี หมื่นเทพภักดีก็รับว่า “จริงดุจคำเพี้ยเมืองจันทน์ว่านั้นทุกประการ แต่ข้อที่พวกลาวในเมืองเวียงจันทน์ถือเครื่องศาสตาวุธมากวิ่งวุ่นวายนั้น หมื่นเทพภักดีรับว่ามีจริง” ถามลาว ลาวแก้ว่า “เมื่อเห็นคนมากับเรือแต่ไกล ไม่รู้ว่าไทยหรือพวกใด จึงได้ตระเตรียมอาวุธไว้เพื่อเป็นการรักษาบ้านเมือง ตามคำสั่งเจ้าพระยาราชสุภาวดี”
(เมื่อพิเคราะห์การนี้ดูก็เห็นว่า แต่เดิมนั้นลาวเห็นไทยมาน้อย ก็จะคิดทำร้ายจริง ครั้นเห็นกองทัพไทยที่อยู่ฝั่งพรานพร้าวมา จึงไม่ทำร้ายแก่ไทยเจ็ดคน แปดทั้งนายนั้น ลาวกลับประจบประแจงนำความดีมากลบความร้ายเสีย)
* ศึกไทย-ลาวยกสองเริ่มขึ้นแล้ว เรื่องราวจะทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น เพราะมีญวนเข้ามาร่วมวงยุทธนาการด้วย พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|