บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) (ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๓๑ -
เจ้าอนุกลับมาญวนพากลับ ขอคำนับขมาไทยเคยได้หมิ่น “พระยาพิชัยสงคราม”เชื้อตามลิ้น คำปล้อนปลิ้นอนุอ้างจนวางใจ
ปล่อยทหารจากค่ายไปเที่ยวเล่น ผิดหลักเกณฑ์ข้อห้ามสงครามใหญ่ จึงถูกเจ้าอนุกลับปล้นฉับไว ฆ่าฟันไทยคาค่ายตายเป็นเบือ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยาราชสภาวดีกราบถวายบังคมทูลลายกทัพกลับไปเวียงจันทน์ เพื่อทำลายล้างเมืองให้เป็นป่าตามพระราชดำรัส พักทัพเกณฑ์ไพร่พลที่เมืองนครราชสีมา แล้วยกขึ้นไปภูเขียว หนองบัวลำภู พักทัพ แล้วสั่งให้พระยาราชรองเมืองเป็นแม่ทัพหน้า ยกไปตั้งที่ค่ายพรานพร้าว พระยาราชรองเมืองให้ทหารข้ามฟากไปสืบข่าวราชการ ถูกเพี้ยเมืองจันทน์จับตัวไปแปดคน พระยาราชรองเมืองจึงสั่งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพ นำกำลังพล ๕๐๐ ข้ามไปตั้งค่ายในวัดกลางเมืองเวียงจันทน์ เพี้ยเมืองจันทน์ให้การต้อนรับเป็นอันดี วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 “ครั้น ณ เดือนแปดทุติยาสาธแรมค่ำหนึ่ง ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ บุตรเจ้าอนุ ซึ่งหนีไปอยู่เขตแดนญวนนั้น ก็ใช้ให้ลาวถือหนังสือมาส่งให้เพี้ยเมืองจันทน์ เพี้ยเมืองซ้ายฉบับหนึ่ง เป็นอักษรลาวใจความว่า “บัดนี้ พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งใช้ให้ขุนนางญวนคุมพลทหารเป็นกองทัพ พาเจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์และครอบครัว บุตรหลานเจ้าอนุ มาส่ง ณ เมืองเวียงจันทน์ เดี๋ยวนี้มาถึงที่ท่าข้ามข้างยังหนทางอีกสี่คืนก็จะมาถึงเมืองเวียงจันทน์ ขอให้เพี้ยเมืองจันทน์ เพี้ยเมืองซ้าย ท้าวเพี้ยน่า ผู้อยู่รักษาบ้านเมืองเวียงจันทน์นั้น จัดที่ทางเรือนเหย้าร่มเงาให้สมควรเป็นที่พักอาศัยของเจ้านาย ที่จะมาอยู่บ้านเมืองเดิม”
 ฝ่ายเพี้ยเมืองจันทน์ เพี้ยเมืองซ้าย ท้าวเพี้ยน่า ได้นำต้นหนังสือของเจ้าราชวงศ์มาส่งให้พระยาพิชัยสงคราม พระยาพิชัยสงครามจึงส่งต้นหนังสือเจ้าราชวงศ์ให้หมื่นเทพภักดีกับไพร่ ๗ คนลงเรือข้ามฟากไปค่ายพรานพร้าว ให้แก่พระยาราชรองเมือง พระยาราชรองเมืองมอบส่งต้นฉบับหนังสือนั้นให้หมื่นเทพภักดีกับไพร่ ๒๕ คน ขึ้นม้าเร็วข้ามเขาสารไปยังทำเนียบในป่าชมภู ส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้แจ้งความตามในหนังสือบอกพระยาราชรองเมือง และต้นหนังสือเจ้าราชวงศ์ส่งมานั้นแล้ว เข้าใจที่จะไปไม่ทันท่วงทีลาว จึงสั่งให้เดินทัพรีบไปทั้งกลางวันและกลางคืนแต่ ณ เดือนแปดทุติยาสาธแรมห้าค่ำ
 ครั้นเดือนแปดทุติยาสาธแรมหกค่ำ เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ยกมาถึงเมืองเวียงจันทน์ ไพร่พลลาวมากับเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ครั้งนั้น ๒,๖๐๐ คน แต่ไพร่ญวนมาด้วย ๘๒ คน นายทัพญวน ๒ คน เจ้าลาวหัวเมืองขึ้นแก่ญวนมาด้วยญวน ๔ คน คือเจ้าเมืองปง ๑ อุปราช ๑ ราชวงศ์ ๑ มหาวงศ์ ๑ มีไพร่พลลาวชาวเมืองปงมาด้วย ๒๐๐ สำหรับรักษาญวนมาตามทาง ลาวเมืองเวียงจันทน์และพวกญวนมาตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์บ้าง นอกเมืองเวียงจันทน์บ้าง แยกย้ายที่กันอยู่ ในวันมาถึงเมืองเวียงจันทน์นั้น ญวนล่าม ๒ คนมาหาพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ทั้งสาม ญวนล่าม ๒ คนแจ้งความว่า
“เวลาพรุ่งนี้เช้าขุนนางแม่ทัพญวนจะพาเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์และเจ้าบุตรหลานญาติมาหาคำนับท่านแม่ทัพไทย จะขอพูดจาโดยดีประนีประนอม ตามรับสั่งพระเจ้าเวียดนาม ให้ขอโทษลาวต่อไทย แต่ในวันนี้เป็นเวลาเย็นจวนค่ำอยู่แล้ว จะพูดจาข้อราชการก็หาหมดจดไม่ ต่อพรุ่งนี้ข้าจึงจะพาเจ้าลาวมาหาคำนับท่านแม่ทัพไทย” ญวนล่ามพูดเท่านั้นก็ลากลับไปที่ชุมนุม
ฝ่ายพระยาพิชัยสงครามไม่ไว้ใจแก่ลาว ญวน จึงให้ทหารไทยตั้งการรักษาแข็งแรงมั่นคงในเวลากลางคืนวันนั้น ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนแปดทุติยาสาธแรมเจ็ดค่ำเวลาเช้า ขุนนางญวน ๒ คน ล่ามญวน ๒ คน เจ้าลาวที่ขึ้นแก่ญวนมาด้วย ๓ คน พร้อมกับพาเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ มาหาพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ณ ที่ศาลาลูกขุนเก่าของเจ้าอนุ ขณะนั้นญวนพูดว่า
 “เจ้าอนุมีความผิดต่อไทยแล้วหนีไปหาญวน ฝ่ายญวนเหมือนมารดาเจ้าอนุ ฝ่ายไทยเหมือนบิดาเจ้าอนุ เจ้าอนุเหมือนบุตร ครั้นบิดามีความโกรธแก่บุตรแล้ว ฝ่ายมารดาก็ต้องพาบุตรมาขอโทษต่อบิดา ด้วยความเมตตากรุณาแก่เจ้าอนุ ดุจดังบุตรโง่เขลาเบาความคิด เพราะหลงเชื่อขุนนางหัวเมืองยุยง จึงได้ทำการศึกซึ่งเป็นความผิดล่วงเกินไปมากแล้วเท่าใด เจ้าอนุรับสารภาพผิดทั้งสิ้น ตามแต่ไทยจะลงโทษให้เข็ดหลาบ ถ้าท่านแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยมาถึงเมืองเวียงจันทน์เมื่อใดแล้ว แม่ทัพญวนจะพาเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์มาหาท่านแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย จะอ้อนวอนขอให้พาเจ้าอนุลงไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ เพื่อจะให้ขอโทษตนที่มีความผิดสักครั้งหนึ่ง
แล้วญวนล่ามแจ้งความอีกว่า พระเจ้ากรุงเวียดนามโปรดแต่งราชทูตานุทูตญวน ให้เชิญพระราชสาส์นลงเรือทะเลเข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อจะขอรับพระราชทานโทษเจ้าอนุผู้ผิดสักครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าอนุเคยขึ้นแก่กรุงเทพฯ มาแต่ก่อนอย่างไร พระเจ้าเวียดนามก็ไม่ห้ามปรามขัดขวางอย่างธรรมเนียม ซึ่งญวนต้องเป็นธุระพาลาวมาขอโทษแก่ไทย เพราะด้วยเมืองเวียงจันทน์เคยแต่งขุนนางลาวเป็นทูตนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปจิ้มก้องถึงกรุงเว้ ถวายแก่พระเจ้าเวียดนามสามปีครั้งหนึ่ง ด้วยเจ้าอนุเคยพึ่งพระบารมีพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามจึงได้ทรงพระเมตตากรุณาแก่เจ้าอนุและลาว ซึ่งเคยไปมาค้าขาย จะเสื่อมเสียประโยชน์ในการพาณิชยกรรมค้าขายของพลเมืองทั้งสองฝ่าย”
ญวนล่ามพูดชี้แจงข้อความตามถ้อยคำแม่ทัพญวนสิ้นลงแล้ว ฝ่ายเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ พูดจากันกับพระยาพิชัยสงคราม และพระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต เป็นปรกติเรียบร้อย โดยสุภาพรับผิดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วโอภาปราศรัยไต่ถามถึงการขัดเสบียงอาหารที่มาค้างอยู่กลางป่า เป็นการอารีอารอบเหมือนดังคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน แล้วเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์สั่งให้พวกลาวน้ำข้าวสาร เกลือ เนื้อเค็ม ปลาแห้ง หมากแห้ง พลูแห้ง ยา บุหรี่ กับหม้อทองแดงสำหรับหุงข้าว จัดมาส่งให้แม่ทัพไทยทุกกองที่มาค้างอยู่ในทางกันดาร
 ก็พอเวลาบ่ายโมงเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ลาแม่ทัพไทยกลับไปตั้งชุมนุมพักที่วัดพระแก้วมรกต ญวนลาไปพักอยู่ที่วัดจันทน์ ฝ่ายพระยาพิชัยสงครามพระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ทั้งสามนายนั้นก็เชื่อถือถ้อยคำเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์และญวนทุกประการ จึงมีความประมาท ไม่สงสัยว่าเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์จะกลับเป็นศัตรูอีก จึงไม่ได้ตั้งการรักษาตน ปล่อยให้ไพร่พลในกองทัพไทยไปเที่ยวหาอาหารกินในที่ต่าง ๆ ห่างไกลจากที่ชุมนุมแม่ทัพอยู่ ด้วยเวลานั้นก็กันดารอาหารอยู่มาก ไพร่พลจึงหาอยู่พรักพร้อมกันกับแม่ทัพไทยไม่
 ในวันเดือนแปดทุติยาสาธ แรมเจ็ดค่ำ เวลาบ่ายสามโมง เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ยกกองทัพขึ้นมาถึงค่ายพรานพร้าวที่พระยาราชรองเมืองพักอยู่นั้น ถึงทีหลังเจ้าอนุกลับไปแล้วสองชั่วโมง ครั้นต่อเวลาเจ้าพระยาราชสุภาวดีมาถึงนั้นอีกชั่วโมงหนึ่ง จึงพอถึงเวลาบ่ายสี่โมงในวันแรมเจ็ดค่ำนั้น เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์คุมไพร่พลทหารประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ ก็ยกจู่โจมโถมเข้าล้อมรอบวัดกลาง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมอยู่ของพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ทั้งสามคนนั้นไม่ทันรู้ตัว จะตระเตรียมการต่อสู้ก็ไม่ทันท่วงที ฝ่ายพวกทหารลาวยกเข้าล้อมไว้รอบแล้ว ลาวจึงยกปืนยิงระดมไปดังห่าฝน กระสุนปืนลาวถูกไพร่พลไทยอยู่ในที่ล้อมล้มตายทั้งสิ้น พระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ถูกปืนตายทั้งสามคน ฝ่ายขุนหมื่นนายกองทัพไทยและไพร่พลที่ไปหากินอยู่นอกที่ล้อม เห็นลาวกระทำการจลาจลขึ้นดังนั้นก็ตกใจกลัว จะมาช่วยนายไม่ทัน จึงพากันวิ่งหนีออกจากเมืองหมายใจจะลงเรือข้ามฟากหนีไปยังพรานพร้าว ครั้นมาถึงตีนท่าจะหาเรือของตนสักลำหนึ่งหามีไม่ เพราะพวกลาวมาลักเก็บพาเรือไปเสียหมด พวกไทยเสียทีไม่มีเรือแล้ว จึงพากันโดดลงในแม่น้ำโขง ว่ายน้ำข้ามมากลางแม่น้ำได้ พวกลาวพากันลงเรือของไทยถ่อพายมาไล่ยิง แทง ฟันไทยที่ว่ายน้ำอยู่นั้นตายมากกว่า ๔๐๐ คน ที่เหลือตายว่ายน้ำเกาะขอนไม้ข้ามแม่น้ำโขงมาถึงฝั่งพรานพร้าวได้นั้นคือ หมื่นรักษนาเวศ ๑ กับไพร่ ๔๕ คน ที่รอดตายมาแจ้งความกับแม่ทัพไทย
 ขณะนั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีพอมาถึงค่ายพรานพร้าวสัก ๒ ชั่วโมง แลเห็นลาวไล่ฆ่าฟันไทยในแม่น้ำโขงและที่หาดหน้าเมืองเวียงจันทน์เป็นอลหม่าน ก็แจ้งว่าทัพไทยเป็นอันตรายแน่แล้ว ครั้นจะคิดยกพลทหารข้ามแม่น้ำโขงไปช่วย เรือก็ไม่มีจะข้ามไปช่วยได้ กับไพร่พลก็ยังมีน้อย ไม่พอจะต่อสู้รบกับข้าศึกลาว เพราะไพร่พลกองหลังยังมาไม่ถึงพรานพร้าว แต่พอเวลาพลบค่ำหมื่นรักษนาเวศกับไพร่ที่หนีมาได้ถึง ณ ฝั่งแล้ว จึงได้ไปแจ้งความให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีฟังทุกประการ ขณะนั้นพลลาวชาวเมืองนครราชสีมาซึ่งต้องเกณฑ์มาสมทบกับไทยนั้น ได้ทราบเหตุดังนั้นก็พากันหลบหลีกหนีกลับไปเมืองนครราชสีมาเสียมากนัก....”
* อ่านความมาถึงตรงนี้แล้วเห็นว่าลาวฆ่าทหารไทยตายยกค่าย เรียกได้ว่า “ตายเป็นเบือ” ตั้งแต่พระยาแม่ทัพลงมาถึงพลทหารเกณฑ์ ประมาณ ๕๐๐ คน เจ้าพระยาราชสุภาวดียืนมองดูภาพเหตุการณ์อยู่ริมฝั่งโขงที่ค่ายพรานพร้าว โดยที่ช่วยอะไรไม่ได้เลย
เครียดไหม ? งั้นพักอารมณ์ไว้อ่านกันต่อวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กลอน123, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๒ -
แม่ทัพใหญ่ไทยช้ำจำหนีก่อน ยโสธรเป็นหลักให้ “ถือไพ่เหนือ” มีอาหารสมบูรณ์พอจุนเจือ คนช่วยเหลือรบก็ยังพอมี
ญวนรายงานข่าวลาวกล่าวตรงข้าม ว่าเป็นความผิดไทยได้กดขี่ ลาวจึงสู้ห้ำหั่นผลาญชีวี เรื่องต่างที่ไทยประสบพบเห็นมา |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รับต้นฉบับหนังสือเจ้าราชวงศ์ที่มีไปถึงเพี้ยเมืองจันทน์แล้ว คาดเดาเรื่องได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่กองทัพไทยในเวียงจันทน์ จึงรีบเดินทางข้ามเขาสารรีบดินด่วนสู่ค่ายพรานพร้าว แต่ก็ช้าไป ๒ ชั่วโมง ไม่ทันการปฏิบัติการสายฟ้าแลบของเจ้าอนุ ที่ยกกำลังทั้งหมดเข้าล้อมถล่มค่ายไทยในวัดกลางเมืองเวียงจันทน์ตายหมดทั้งค่าย ที่หนีโดดลงน้ำโขงว่ายกลับค่ายพรานพร้าวก็ถูกลาวเอาเรือไล่ยิงบ้าง แทงบ้าง ฟันบ้าง ตายกลางลำน้ำโขงเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดียืนดูลาวฆ่าไทยอยู่หน้าค่ายริมแม่น้ำโขงด้วยความเคียดแค้น โดยไม่อาจช่วยอะไรลูกน้องของท่านได้เลย คราวนั้นลาวฆ่าไทยตายเกลี้ยงค่ายประมาณ ๕๐๐ คน วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 “ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) จึงปรึกษาด้วยพระยา, พระ, หลวง, นายทัพ, นายกองทั้งหลายว่า
“เราจะคิดอ่านยกกองทัพลงไปตั้งรับรบสู้กับกับเจ้าอนุที่เมืองนครราชสีมาจะดี เพราะเป็นที่มั่นคงแข็งแรงมาก แต่เป็นทางจะลงไปไกลมากนัก ครั้นจะตั้งอยู่สู้รบกับเจ้าอนุที่ค่ายพรานพร้าวนี้ไม่ได้ เพราะคนเรามีน้อยนัก จะต้านทานกองทัพลาวไม่ไหว เราจะคิดอ่านทำฉันใดดี?”
ฝ่ายพระยาเชียงสาลาวชาวเวียงจันทน์ซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์แต่ก่อนนั้น จึงพูดขึ้นว่า “เห็นที่ดีมีอยู่พอจะตั้งมั่นต่อสู้รบรับกับทัพลาวเจ้าอนุได้ คือที่เมืองยโสธรนั้นมีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ทั้งมีผู้คนพลเมืองก็มั่งคั่งพรั่งพร้อม พอจะเป็นกำลังของกองทัพไทยได้ ขอให้ใต้เท้าพระกรุณาเจ้ายกทัพไทยไปตั้งมั่นที่นั้น เห็นจะพอสู้รบกับเจ้าอนุได้”
พระยาเชียงสากราบเรียนขอรับอาสาว่า “ข้าเจ้าจะนำทางพาลัดป่าไปเมืองยโสธรในเวลากลางคืนวันนี้ ให้ถึงเมืองยโสธรในเวลาพรุ่งนี้เช้าให้ได้”
 เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงได้มีบัญชาสั่งให้นายทัพนายกองไทย จัดแจงตระเตรียมการที่จะล่าทัพกลับไปเมืองยโสธร แล้วสั่งขุนรองจ่าเมืองนครราชสีมาขึ้นม้าเร็วรีบไปเร่งกองทัพพระยาณรงค์สงคราม ให้รีบยกตัดทางลัดป่าไปยังเมืองยโสธรโดยเร็ว อย่าให้เดินทัพมาทางพรานพร้าวเลย เพราะที่นี้เกิดจลาจลวุ่นวายขึ้นแล้ว กับให้ขุนรองจ่าเมืองกลับลงไปเมืองนครราชสีมา ติดตามจับตัวพวกไพร่ที่หนีตาทัพกลับไปนั้น ให้จับจำตรวนไว้ที่เมืองนครราชสีมาทั้งสิ้น แล้วให้หลวงพิชัยเสนากับขุนวิสุทธิเสนี เป็นข้าหลวงกำกับขุนรองจ่าเมืองลงไปตามจับชำระเลขไพร่หลวงที่หนีทัพให้ได้ตามท้องตราที่เกณฑ์ขึ้นมาให้ครบคน ให้เร่งตามบัญชีตารางเกณฑ์นั้น เพื่อจะมิให้ไพร่หมิ่นประมาทต่อราชการทัพศึกต่อไปภายหน้า
 ฝ่ายขุนนางญวนที่พาเจ้าอนุมาส่งนั้น ครั้นได้ทราบเหตุว่า เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ทำการวุ่นวายฆ่าผู้ฟันคนไทยทั้งนายและไพร่ตายหมดดังนั้นแล้ว ญวนเห็นว่าเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ กระทำการละเมิดผิดกระแสรับสั่งพระเจ้าเวียดนามไปดังนั้น ขุนนางญวนก็ใช้ให้เจ้าลาวที่ขึ้นแก่ญวนมาหาเจ้าอนุให้ไปหา เพื่อจะได้ว่ากล่าวห้ามปรามตามการที่เป็นผู้พามานั้น เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ก็ไม่ไปหาญวน กลับจะฆ่าฟันเจ้าลาวทีมาตามนั้นเสียด้วย เจ้าลาวกลัวก็ต้องหนีไปแจ้งความแก่ญวน ญวนเห็นว่าเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ดื้อดึงบึงบันไปฝ่ายเดียว จะหาตัวมาว่ากล่าวโดยดีก็ไม่มา ครั้นญวนจะติดตามไปว่ากล่าวก็กลัวเจ้าอนุจะสู้รบ เพราะญวนมีไพร่พลมาน้อยนัก ญวนจึงได้ทิ้งเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ พาไพร่พลญวน ๘๐ คน กับลาวเมืองขึ้นนั้น กลับขึ้นไปเมืองล่าน้ำ (ญวนเรียกเมืองแง่อาน) ดังเก่า แล้วชักชวนให้เจ้าลาวหัวเมืองขึ้นเข้าชื่อพร้อมกันลงในใบบอก บอกขึ้นไปยังกรุงเว้ (เมืองหลวงญวน) ตามความที่เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ ทำผิดต่อรับสั่งพระเจ้าเวียดนามกรุงเว้
 จักรพรรดิเวียดนาม พระเจ้ามินหม่าง ฝ่ายที่กรุงเทพมหานครนั้น มีเรือรบทะเลญวนมาถึงกรุงเทพฯ ลำหนึ่ง ณ วัน อาทิตย์เดือนสิบขึ้นสิบสามค่ำ มีทูตญวนเข้ามาแจ้งความต่อเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีฝ่ายราชการต่างประเทศว่า ราชทูตญวนชื่อองเลวันฮือ อุปทูตชื่อองโดยลำเยียง กับขุนนางนายทหาร ๔ คน ไพร่ญวน ๖๐ คน คุมเรือรบทะเลมาแต่เมืองไซ่ง่อน โดยคำสั่งองเลโป เสนาบดีฝ่ายราชการต่างประเทศที่กรุงเว้ ให้องเลวันฮือราชทูต, องโดยลำเยียงอุปทูต เชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินเวียดนามฉบับหนึ่ง เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ เจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามพนักงานแปลสำเนาพระราชสาส์นญวนออกเป็นภาษาไทยใจความว่า
“พระราชสาส์นในสำนักพระเจ้าเวียดนาม ทรงคำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้ทรงทราบว่า เมื่อปีกลายนั้น เจ้าเมืองแง่อานมีใบบอกขึ้นไปถึงกรุงเว้ฉบับ ๑ องทงเจอัครมหาเสนาบดี นำใบบอกเมืองแง่อานขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามว่า เจ้าอนุอพยพครอบครัวเล็กน้อยหนีกองทัพไทยเข้าไปพักอาศัยอยู่ในเขตแดนหัวเมืองลาวที่ขึ้นกับญวน แล้วเจ้าอนุ เจ้าบุตรหลาน แจ้งความทุกข์ร้อนให้เจ้าเมืองแง่อานฟังว่า เดิมเจ้าอนุลงไปเฝ้าเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา เจ้าอนุก็ได้ถูกขุนนางไทยดูถูกดูหมิ่นมากมาย เจ้าอนุก็สู้อดกลั้นเสียเพราะเป็นเมืองขึ้นแก่ไทย ไทยจึงดูถูกด้วยกิริยาวาจาต่าง ๆ แล้วเจ้าอนุก็ทูลลากลับขึ้นมาบ้านเมือง
ไม่ทันล่วงปีก็มีกองทัพไทยยกไปขับไล่ครอบครัวเจ้าอนุเสียจากเมืองเวียงจันทน์ เจ้าอนุไม่ทราบว่าลาวทำความผิดสิ่งไรกับไทย เห็นจะเป็นเพราะขุนนางไทยยุยงพระเจ้าแผ่นดินไทยให้กริ้วกราดเจ้าอนุ ว่าเจ้าอนุไม่ดี ให้ไล่เสียจากเมืองเวียงจันทน์ ด้วยขุนนางไทยจะรับสินบนเจ้าเมืองหลวงพระบางให้ไล่เจ้าอนุเสีย จะได้ยกเมืองเวียงจันทน์ให้แก่ลูกเจ้าเมืองหลวงพระบางนั้น เหตุเป็นดั่งนั้นมา พระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุธยาไม่ทรงทราบความจริงก็ต้องเชื่อถ้อยคำขุนนางที่เก็บความเท็จกราบทูลนั้น จึงได้มีรับสั่งให้กองทัพไทยขึ้นไปไล่เจ้าอนุเสีย ตามคำขุนนางไทยกราบทูลเป็นความเท็จริษยาเจ้าอนุ ถ้าการเป็นดังเจ้าอนุพูดจริงแล้ว ขอให้พระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุธยาทรงพระราชดำริให้รอบคอบ โดยทางที่ยุติธรรมราชประเพณีพระมหากษัตริย์ทรงธรรมอันประเสริฐยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นที่พึ่งของเมืองประเทศราชเล็กน้อยด้วยเทอญ
การที่ว่ามานี้ตามคำที่เจ้าอนุพูด พระเจ้าเวียดนามยังมิทรงเชื่อทั้งหมดแน่ลงได้ จึงมีพระราชสาส์นเข้ามาแจ้งและถามอาการดูก่อน แต่การทั้งนั้นจะจริงเท็จประการใดก็ทำเนาเถิด แต่พระเจ้าเวียดนามทรงพระราชดำริเห็นว่า เจ้าอนุก็เป็นเชื้อสายเจ้านายวงศ์กษัตริย์ลาวสืบมาแต่โบราณช้านานหนักหนา แล้วก็ครั้งนี้เจ้าอนุมีความทุกข์ร้อนพลัดบ้านเมืองมาหาที่พึ่งมิได้ เหมือนพระยาหงส์ปีกหัก พระเจ้ากรุงเวียดนามมีความเมตตากรุณาแก่เจ้าอนุ จึงได้โปรดเกล้าให้องทงเจ อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ มีท้องตราบังคับสั่งเจ้าเมืองแง่อาน ให้รับครอบครัวเจ้าอนุไว้ให้อาศัยอยู่ในเมืองแง่อานได้ปีหนึ่ง แล้วเจ้าเมืองแง่อานส่งใบบอกขึ้นไปถึงกรุงเว้ฉบับหนึ่ง จึงองทงเจอัครมหาเสนาบดีนำขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามมีใจความว่า
 ที่เมืองเวียงจันทน์นั้นยังไม่มีเจ้าบ้านผ่านเมืองครอบบ้านครองเมืองเป็นป่าอยู่ มีแต่พลไพร่ได้รับความเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะไม่มีอธิบดีเมืองจะตัดสินถ้อยความ เจ้าอนุขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาจะกลับไปบ้านเมืองเวียงจันทน์ เพราะบ้านเมืองยังรกร้างว่างเปล่าอยู่เป็นป่า จะกลับลงไปขอพระราชทานโทษแก่กรุงไทยด้วย เมื่อพระเจ้าเวียดนามได้ทรงทราบในใบบอกครั้งหลังนี้แล้ว จึงโปรดให้องทงเจอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ มีท้องตราบังคับสั่งให้ขุนนางญวน ๒ นาย กับเจ้าลาวหัวเมืองขึ้นกับญวน ๓ นาย ให้คุมไพร่ญวนลาวพอสมควร มาส่งเจ้าอนุให้พ้นเขตแดนญวน หรือว่าถ้าเจ้าอนุจะไม่กล้าหาญลงไปถึงเวียงจันทน์ได้แต่พวกลาว ก็ให้ขุนนางญวนขอต่อนายด่านไทยว่า จะพาเจ้าอนุไปส่งถึงเมืองเวียงจันทน์โดยดี ถ้านายด่านไทยยอมให้ญวนเข้าไปในเขตแดนไทยได้จึงให้ญวนเข้าไป ถ้านายด่านไทยไม่ยอมให้ญวนเข้าไป ก็อย่าให้ญวนดื้อดึงเข้าไปเป็นอันขาด
ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไรเล่า ได้มีหนังสือเตือนสติสั่งกำชับเจ้าอนุอีกฉบับหนึ่งว่า ถ้าเจ้าอนุมาถึงบ้านเมืองเวียงจันทน์เมื่อใด ให้เร่งคิดถึงตนให้มาก อย่าคิดว่าตนไม่ผิด ให้เกรงกลัวพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้มาก เพราะตนเป็นผู้น้อย ให้แต่งเจ้านายบุตรหลานญาติผู้ใหญ่ คุมเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ตามธรรมเนียมเมืองประเทศราชที่พึ่งพระบารมี แล้วให้จัดธูปเทียนดอกไม้ทองเงินอีกสำรับ ๑ ลงไปทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานขมาโทษตน ตนจะได้พ้นผิด ได้สั่งสอนดังนี้แล้วจึงได้พระราชทานข้าวสารเกลือปลาอาหารให้พร้อมทั้งเจ้านายขุนนางไพร่พลลาวด้วย เพราะทรงเห็นว่าเป็นเวลาคราวกันดารอยู่มาก ได้โปรดให้ขุนนางญวนคุมเจ้าอนุไปส่งทางบกแล้ว
ใช่แต่เท่านั้น ยังไม่ไว้พระทัย จึงได้มีพระราชสาส์นมาทางเรือเพื่อจะขอให้พระเจ้ากรุงมพระหานครศรีอยุธยา ทรงพระเมตตาแก่เจ้าอนุผู้เป็นเชื้อสายสืบกษัตริย์ลาวมา ให้ได้คงคืนอยู่บ้านเมืองของเขาอย่างเดิม เมืองเวียงจันทน์จะได้ไม่เป็นป่าดงพงไพร ได้เป็นเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑเสมามณฑลทั้งสองพระนคร คือกรุงพระมหานครศรีอยุธยา และกรุงเว้ อานาม ตามพระราชประเพณีโบราณเหมือนแต่กาลก่อนมา”
(สิ้นข้อความในพระราชสาส์นแต่เท่านี้)
* อ่านพระราชสาส์นจากพระเจ้าเวียดนามแล้ว เห็นนิสัยใจคอของเจ้าอนุอีกมุมหนึ่งชัดเจน พระเจ้าเวียดนามทรงฉลาดในการเขียนพระราชสาส์นมากทีเดียว ราชสาส์นจากญวนยังมีอีกฉบับหนึ่ง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, นายใบชา, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 จักรพรรดิเวียดนาม พระเจ้ามินมาง - อานามสยามยุทธ ๓๓ -
เจ้าญวนนั้นฟั่นเฝือเชื่อลาวหลอก อนุบอกลาวอดอยากจึงบากหน้า เข้าค่ายไทยหมายกล่าวขอข้าวปลา ไทยกลับฆ่าลาวตายไร้ปรานี
ลาวฮึดสู้ด้วยโซโมโหหิว ไทยวิ่งฉิวแหกค่ายแตกพ่ายหนี โดดแม่โขงว่ายตายในวารี ลาวไม่มีความผิดแม้นิดเดียว |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ความในหนังสือนั้นเป็นคำให้การเท็จของเจ้าอนุ ทำให้พระเจ้าเวียดนามหลงเชื่อว่าเขาถูกไทยรังแกกดขี่ พระเจ้าเวียดนามจึงทูลขอความเมตตาจากไทยให้แก่เจ้าอนุ ยังมีหนังสือจากเวียดนามอีกฉบับหนึ่งที่เจ้าอนุหลอกให้ญวนเชื่อ วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันนะครับ
 “เจ้าพระยาพระคลังได้นำราชทูตญวนเข้าเฝ้า แล้วทูตต้องรอฟังราชการอยู่ที่กรุงเทพฯได้ ๘ วัน พอมีพระราชสาส์นญวนส่งมาทางเขมรอีกฉบับหนึ่ง ซ้ำเข้ามาเป็นสองฉบับ
ฝ่ายพระยารามณรงค์ข้าหลวงกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระยา, พระ เขมรเมืองพระตะบองบอกส่งญวนนายไพร่ ๑๘ คน ซึ่งถือหนังสือองเลโปเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศที่กรุงเว้ เดินมาทางเมืองเขมร สักหลังผนึกว่า “ถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา”
ล่ามพนักงานแปลหนังสือญวนออกมาเป็นภาษาไทย ใจความว่า
“หนังสือองเลโปเสนาบดีผู้สำเร็จราชการฝ่ายนานาประเทศกรุงเว้อานาม ได้รับรับสั่งพระเจ้าเวียดนามให้แจ้งความตามทางราชการมาถึงเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีฝ่ายนานาประเทศกรุงพระมหานครศรีอยุธยาสยาม ได้ทราบด้วยพระเจ้าเวียดนามทรงพระเมตตาให้ขุนนางพาเจ้าอนุไปส่งแล้วนั้น กับได้แต่ทูตญวนเชิญพระราชสาส์นเข้ามากรุงพระมหานครศรีอยุธยาด้วยแล้ว เนื้อความสองข้อนี้มีแจ้งอยู่ในพระราชสาส์นที่ส่งมากับราชทูตทางเรือนั้นแล้ว
บัดนี้กีนเลียกเบียนบู๊ขุนนางหัวเมืองแง่อาน มีหนังสือบอกขึ้นมาถึงองทงเจอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือฉบับหนึ่งใจความว่า
“ขุนนางญวนพาเจ้าอนุไปส่งถึงเมืองเวียงจันทน์แล้ว ได้พูดจาหารือกับแม่ทัพไทยที่รักษาเมืองเวียงจันทน์เป็นปรกติ ตกลงจะแต่งบุตรหลาน ให้ลงไปหาเสนาบดีฝ่ายไทย เพื่อจะได้ขอโทษตนที่ผิดนั้น เจ้าอนุได้พักอยู่ในเมืองเวียงจันทน์คืนกับวันหนึ่ง เสบียงอาหารหมดลง เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ก็ใช้ให้พวกลาวไปขอข้าวเปลือกในยุ้งฉางที่ไทยรักษาอยู่ แม่ทัพนายกองไทยที่รักษาฉางข้าวนั้น ไม่จ่ายข้าวให้ไพร่พลลาวของเจ้าอนุกินพอเป็นกำลังราชการต่อไป
 ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ได้ไปหาแม่ทัพไทย ได้อ้อนวอนขอข้าวให้ไพร่พลลาวกินบ้าง เพราะคราวกันดารอดอยาก ไทยก็ไม่ให้ข้าวกลับนำปืนยิงพวกลาวที่ไปขอข้าวกินนั้นล้มตายหลายคน ไทยก่อเหตุก่อน ลาวก็กำเริบขึ้นบ้าง เกิดรบราฆ่าฟันกับกองทัพไทย กองทัพไทยสู้ไม่ได้ ทิ้งเครื่องศาสตราวุธเสียหมดหนีไปสิ้น ฝ่ายเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ก็ไม่ได้ยกกองทัพไล่ติดตามไทยไป ไทยก็หนีลงน้ำว่ายข้ามฟาก จมน้ำตายมากกว่ามากเอง ดังนั้น”
เมื่อองทงเจอัครมหาเสนาบดี นำข้อความตามหนังสือบอกของกินเลียกเบียนบู๊ขุนนางหัวเมือง ขึ้นทูลพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้เสนาบดีจัดขุนนางญวนขึ้นม้าเร็วรีบขึ้นไป ได้ว่ากล่าวกำชับเจ้าอนุว่า “ให้เจ้าอนุเก็บเครื่องศาสตาวุธยุทธภัณฑ์ที่กองทัพไทยทิ้งไว้แล้วหนีไป รวบรวมไว้แล้วแต่งขุนนางลาวเจ้านายบุตรหลาน มีเครื่องราชบรรณาการและเครื่องศาสตราวุธของไทยลงมาส่งให้เสนาบดีไทยฝ่ายเหนือ จะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา
แล้วให้มีศุภอักษรลงไปกราบบังคมทูลชี้แจง การที่ไทยไม่จ่ายข้าวให้แล้วกลับนำปืนยิงลาวก่อน แล้วไทยหนีไป ลาวไม่ได้ทำก่อนเลย ถ้าเจ้าอนุทำได้ดังนี้แล้วเห็นพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทรงพระมหากรุณาโปรดยกโทษให้เจ้าอนุตามงอนง้อขอโทษรับผิด และชี้แจงความสัตย์สุจริตที่ไม่ได้เป็นขบถทำแก่ไทยก่อน ไทยทำแก่ลาวก่อน”
“พระเจ้าเวียดนามมีความหวังพระราชหฤทัยว่า พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาคงจะทรงพระมหากรุณายกโทษเจ้าอนุ ให้คงคืนบ้านเมืองสักครั้งหนึ่งเป็นแน่ ถ้าเป็นดังนั้นแล้ว พระเกียรติยศกรุงพระมหานครศรีอยุธยาก็จะปรากฏเจริญยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าร้อยเท่าพันทวี จะเป็นที่สรรเสริญแก่นานาประเทศใหญ่น้อยทุกทิศานุทิศ”
 เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความตามหนังสือองเลโปขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม โปรดให้เจ้าพระพระคลังกับพระศรีภูริปรีชาอาลักษณ์ แต่งพระราชสาส์นตอบฉบับหนึ่ง กับของทรงยินดีตอบแทนออกไปถวายพระเจ้าเวียดนามด้วย จะฝากราชทูตญวนอกไป
ครั้น ณ วันพุธเดือนสิบแรมห้าค่ำ ทูตานุทูตญวนได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา ก็ได้พระราชทานรางวัลแก่ทูตานุทูตพอสมควรตามพระราชประเพณี ครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลังจะขอฝากพระราชสาส์นไทยออกไปกรุงเว้ด้วย ราชทูตญวนไม่ยอมรับนำไป ราชทูตพูดตอบโต้ว่า “ทูตมาถวายพระราชสาส์นไปไม่ได้ ผิดด้วยขนบธรรมเนียมกรุงเว้ฝ่ายญวน ควรที่จะแต่งทูตกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา ออกไปตอบแทนกรุงเว้บ้างจึงจะชอบด้วยราชการ”
ครั้งนั้นราชทูตญวนไม่รับพระราชสาส์นตอบของไทยไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือประทับตราบัวแก้ว ตอบออกไปถึงองเลโปฉบับหนึ่งใจความว่า “ด้วยเรื่องเจ้าอนุเป็นขบถจนมาฆ่าพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ กับหลวงสุเรนทรวิชิต นายทัพนายกองแลไพร่พลไทยตายมาก การงานที่เจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์คิด ประทุษร้ายต่อกรุงเทพฯ ทุกอย่าง”
ฝ่ายราชทูตญวนจึงรับหนังสือตอบของเจ้าพระยาพระคลังไป แล้วก็ลงเรือทะเลออกจากกรุงเทพฯ ไปเมื่อ ณ วันศุกร์เดือนสิบสองขึ้นสองค่ำ
อนึ่งพระยาเชียงสาลาว กราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า “จะรับอาสานำทางลัดป่าไปให้ถึงเมืองยโสธรโดยเร็ว”
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีความยินดีเห็นขอบด้วยแล้ว จึงมีบัญชาสั่งให้พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกอง จัดการตรวจตรารี้พลช้างม้าไว้ให้พร้อม เวลาค่ำวันนี้เราช่วยกันรื้อค่ายที่พรานพร้าวทิ้งน้ำเสีย จึงจะล่าทัพถอยลงไปยับยั้งตั้งค่ายมั่นรับข้าศึกลาวอยู่ที่เมืองยโสธร แต่พอจะได้พักผ่อนรี้พลเพิ่มขึ้นให้มาก จะได้มาจับเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ที่เมืองเวียงจันทน์ให้จงได้ ในวันนี้มีบัญชาสั่งให้เสมียนตราแต่งหนังสือฉบับหนึ่ง ถึงพระวิชิตสงครามแม่กองทัพเรือซึ่งรักษาทางเข้าเมืองนครพนมใจความว่าดังนี้คือ
 “หนังสือจอมจตุรงค์มหาปรินายกดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์ อัครมหาเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ มาถึงพระวิชิตสงครามขุนนางในพระราชวังบวรฯ ด้วยเป็นแม่ทัพฝ่ายหนึ่งซึ่งคุมพลทหารเรือรบและทหารบก รักษาด่านทางข้างเมืองนครพนมได้ทราบ
ด้วยบัดนี้เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพกลับมาแต่เมืองญวนแล้ว มาแต่งกองทัพลาวเข้าล้อมกองทัพไทยที่ตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์นั้น พลทหารลาวมีปืนยิงทหารพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต นายทัพรักษาเมืองเวียงจันทน์นั้นตายสิ้นทั้งสามคน กับไพร่พลไทยตายเกือบ ๖๐๐ คน ที่หนีรอดมาได้แต่หมื่นรักษนาเวศ ไพร่ ๔๕ คนเท่านั้น เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ตีเมืองเวียงจันทน์คืนได้ ลาวจัดการบ้านเมืองแข็งแรงนัก จะมาตีกองทัพไทยพรานพร้าวด้วย
 บัดนี้เจ้าคุณแม่ทัพก็จะล่าทัพถอยลงไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองยโสธรในเวลาค่ำวันนี้ จึงมีบัญชาสั่งให้พระวิชิตสงครามตรึกตรองดูราชการดังนี้ ถ้าเห็นว่าพอที่จะตั้งรับต้านทานข้าศึกลาวอยู่ที่เมืองนครพนมได้ กว่าเจ้าคุณแม่ทัพจะยกกลับคืนขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์นั้นเมื่อใดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจะให้พระวิชิตสงครามเป็นแม่ทัพหน้า ยกเข้าจับเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ต่อไป ถ้าพระวิชิตสงครามเห็นว่าผู้คนในกองด่านมีน้อย จะตั้งรับทัพลาวเหลือกำลัง ให้พระวิชิตสงครามเผาค่ายที่ด่านเสียให้หมด แล้วให้ถ่ายเสบียงอาหารบรรทุกโคต่าง ช้าง ม้า และเกวียนเรือ กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองนครพนม ถอยทัพตามเจ้าคุณแม่ทัพลงไป ณ เมืองยโสธร ก็ตามใจพระวิชิตสงครามจะคิดเถิด”
* อ่านความแล้วคิดจินตนากันเอาเองนะครับ วันนี้เป็นเรื่องการเมืองฝ่ายบุ๋น ยังไม่มีฉากรบของฝ่ายบู๊มาให้อ่านกันอย่างตื่นเต้น ฝ่ายบุ๋นกำลังวางแผนเตรียมการที่จะให้ฝ่ายบู๊ใช้กำลังห้ำหั่นกันต่อไป จนกว่าจะรู้ดำรู้แดงในการศึกสงคราม
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, กลอน123, นายใบชา, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๔ -
ไทยถอยทัพเงียบงันจากพรานพร้าว เดินผ่านราวป่าใหญ่แมกไม้เขียว พลไม่ต้องร้องฉาวโห่กราวเกรียว พ้นป่าเปลี่ยวถึงบุรียโสธร
เห็นเมืองโทรมเกินซ่อมไว้พร้อมสู้ จึงพาหมู่พลไกรไปพักผ่อน สุวรรณภูมิเมืองที่มีลุ่มดอน เป็นนครอุดมสมบูรณ์ดี |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระราชสาส์นจากญวนฉบับที่ ๒ กล่าวถึงเรื่องที่เจ้าอนุฆ่าทหารไทยในค่ายวัดกลางเมืองเวียงจันทน์ตายไปเกือบหมดนั้นว่า เรื่องนี้เจ้าอนุ เจ้าราชราชวงศ์ ไปขอแบ่งข้าวเปลือกในยุ้งฉางไทย แทนที่ไทยจะแบ่งข้าวให้กลับใช้ปืนยิงพลลาวตาย ลาวจึงลุกฮือขึ้นสู้รบ ไทยสู้ลาวไม่ได้ก็พากันทิ้งอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ในค่าย แล้วพากันวิ่งหนีลงแม่น้ำโขงว่ายน้ำกลับไปค่ายพรานพร้าว และจมน้ำตายเป็นอันมาก ญวนเชื่อลาวในเรื่องดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ตอบพระราชสาส์นชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จะฝากพระราชสาส์นราชทูตญวนไป ราชทูตญวนไม่ยอมรับฝาก อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ตามธรรมเนียมราชทูต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือประทับตราบัวแก้วถึงเสนาบดีนานาประเทศญวน ฝากราชทูตไป ทางฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีเตรียมการยกทัพจากค่ายพรานพร้าวไปยโสธร จึงมีหนังสือแจ้งให้แม่ทัพเรือที่นครพนมทราบ วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
“ครั้นเสมียนตราแต่งหนังสือนี้เสร็จแล้ว จึงนำอ่านเสนอประทับตราพระราชสีห์น้อยมอบให้หลวงชาติสุรินทรขึ้นม้าเร็วคุมพลทหาร ๒๐ ม้า เดินล่วงหน้าลัดทางป่าไปส่งให้พระวิชิตสงครามนายด่านที่เมืองนครพนม
พระวิชิตสงครามได้ทราบความตามหนังสือนั้นแล้ว จึงมีหนังสือตอบมอบให้หลวงชาติสุรินทร หลวงชาติสุรินทรก็รับหนังสือมาส่งให้เจ้าคุณแม่ทัพที่กลางทางในเวลาค่ำวันนั้น ในหนังสือนั้นมีใจความว่า
 “พระวิชิตสงครามจะขอตั้งรับข้าศึกลาวอยู่ที่เมืองนครพนมก่อน ด้วยได้เกลี้ยกล่อมครัวลาวและเขมรป่าดงมาไว้ในค่ายไทยเป็นอันมาก ได้ฉกรรจ์เป็นกำลังเกือบพันเศษ กับคนเก่าที่เมืองนครพนมมีอยู่ ๕๐๐ แล้ว เห็นพอจะต้านทานกองทัพลาวได้ เพราะปืนใหญ่ของเรามีมากพอยิงตอบโต้สู้ลาวได้ ด้วยลาวมาคราวนี้ไม่มีปืนใหญ่มาเลย จะมาสู้กับเรามีอาวุธทางยาวก็ยากอยู่ แต่จะระวังตัวให้มาก ไม่มีความประมาทเหมือนพระยาพิไชยสงคราม อนึ่ง ถ้าลาวยกใหญ่มามากเห็นเหลือกำลังรี้พล จะต้านทานสู้รบไม่ได้แล้ว จึงจะล่าทัพถอยหลังไปเมืองยโสธร ตามบัญชาสั่งเจ้าคุณแม่ทัพทุกประการ”
เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีจะล่าทัพทิ้งค่ายที่พรานพร้าวนั้น จึงมีบัญชาสั่งนายทัพนายกองว่า เวลาค่ำวันนี้ให้คุมพลทหารรื้อค่ายที่ตำบลพรานพร้าวทิ้งลงในลำแม่น้ำโขงเสียทุกค่ายทั้งสิ้น อย่าให้เหลือไว้เป็นกำลังแก่ลาวข้าศึกได้เป็นอันขาด แล้วสั่งหลวงเทพเสนีให้หามปืนใหญ่ขึ้นบรรทุกหลังช้างขนไป ถ้าปืนใหญ่เหลือจากหลังช้าง ช้างไม่พอกับปืนใหญ่ ปืนใหญ่ที่เหลือนั้น ให้หาเหล็กตะปูมาอุดชนวนปืนใหญ่เสียทุกกระบอก แล้วจึงให้คัดปืนใหญ่กลิ้งลงไปในแม่น้ำโขงทั้งสิ้น กับเสบียงอาหารที่บรรทุกโคต่างไปไม่หมด เหลืออยู่มากน้อยเท่าใด ให้พระมหาดไทย หลวงนา จัดแจงขนลงทิ้งน้ำเสียทั้งสิ้น อย่าให้เหลือเป็นกำลังแก่ข้าศึกลาวได้ ค่ายและเสบียงอาหารครั้นจะเผาเสียตามธรรมเนียมทัพศึกที่ล่าก็ไม่ได้ เพราะกลัวว่าข้าศึกลาวที่อยู่ใกล้จะรู้ว่าไทยล่าทัพหนีไป ลาวจะยกทัพออกก้าวสกัดตามตีท้ายพลเรา เราจะได้ความลำบาก เราจะล่าทัพเดินกองทัพไปไม่สะดวก
 แล้วสั่งให้พระยาราชรองเมืองคุมทหารเป็นทัพหน้า เดินทัพล่วงหน้าไปก่อน ในเวลาพลบค่ำ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสิบเอ็ดขึ้นสองค่ำ แล้วสั่งให้พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา คุมทหารหัวเมืองเป็นกองหลัง ให้พระศุภมาตรากับพระนรินทรารักษ์กรมการ คุมคนที่ป่วยไข้เดินทัพตามทัพหน้าไปเป็นลำดับ แต่กองช้างพระยาประสิทธิ์คชลักษณ์เมืองนครราชสีมา กับกองพระยาณรงค์สงคราม ยังมาไม่ถึงพรานพร้าว
 ครั้นเวลาสองทุ่มเศษในวันขึ้นสองค่ำนั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นคอช้างพลายคิรีบัญชรสูงหกศอกคืบสองนิ้ว พระคชสิทธิ์เป็นควาญท้ายช้าง หลวงภูวนารถภักดีถือปืนกลางช้าง มีทหารถือปืนเดินเป็นคู่เคียงสี่เท้าช้างตามอย่างประเพณีทัพใหญ่ และตำรวจภูธรเดินแซงหน้าช้างริ้วใน มีทหารถือปืนคาบศิลาเดินหน้าหลังพร้อมทั้งพลทหารกองนอกถือศาตราวุธครบมือ เดินเป็นกระบวนทัพสรรพเสร็จแล้ว ขณะนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้อุปฮาดเมืองอุบลราชธานีผู้สวามิภักดิ์มาแต่เดิม ให้เป็นผู้กำกับช้างพระยาเชียงสาซึ่งเป็นผู้นำทาง
 ครั้นจัดพลทหารพร้อมแล้ว จึงเร่งรีบเดินกองทัพออกจากค่ายพรานพร้าว ล่าถอยทัพเดินลัดทางป่าไปไม่ได้ ต้องหยุดหย่อนจนสว่างรุ่งเช้าขึ้นเดินต่อไป จนเวลาสี่โมงเช้าเข้าถึงเมืองยโสธร ได้พักพลทหารที่นั่น หุงอาหารรับประทานกันเสร็จแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้หลวงเทเพนทร์กับอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี ไปตรวจเสบียงอาหารในเมืองยโสธร ก็ขัดสนไม่พอจะจับจ่ายใช้เลี้ยงกองทัพไทย หาสมกับความคิดไว้ไม่ จึงได้เกณฑ์ไพร่พลที่ฉกรรจ์ในเมืองยโสธร ๖๐๐ คน แล้วให้อุปฮาดเมืองอุบลราชธานีเป็นแม่กองคุมไพร่พล ๖๐๐ คนขนเสบียงอาหารถ่ายลงไปไว้ในเมืองสุวรรณภูมิ
แล้วให้พระอินทรอาสา ลาวเก่าเมืองพนัสนิคม กับพระพลสงครามเมืองนครราชสีมา รวม ๓ นายเป็นนายทัพนายกองคุมพลทหารไทยไปกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองยโสธรอพยพลงไปไว้เมืองสุวรรณภูมิ
 เจ้าพระยาราชสุภาวดีหยุดทัพพักพลอยู่ที่เมืองยโสธรสองวัน พอถ่ายเสบียงลำเลียงลงไปหมดแล้วจึงต้อนครัวพลเมืองไปสิ้นด้วย จึงสั่งให้พระยาพรหมยกกระบัตรกองหลัง นำไฟเผาเรือนในเมืองยโสธรเสียสิ้น ทั้งหวังจะมิให้เป็นที่พักอาศัยของลาวข้าศึกจะตามมาภายหลังได้ แล้วสั่งพระคเชนทรานุรักษ์นายกองช้างกองนอก ให้นำช้างพลายใหญ่ ๕๐ เชือก ไปแทงทลายป้อมเก่าและโบสถ์ที่เป็นวัดใหญ่ ๆ ในเมืองเสียสิ้น ไม่ให้เป็นที่ข้าศึกมาพักอาศัยทำป้อมค่ายได้
 ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าจึงยกกองทัพเดินเป็นลำดับไป ถึงเมืองสุวรรณภูมริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้วยเมืองสุวรรณภูมินี้เป็นชัยภูมิดีควรที่จะตั้งค่ายรับกับลาว เพราะบริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารไพร่พลเมืองมากไม่บอบช้ำ ด้วยเจ้าศรีวอผู้ครองเมืองเป็นคนแข็งแรงในการศึกสงคราม จึงรักษาเมืองสุวรรณภูมิไว้ได้ ไม่เสียเมืองแก่เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ข้าศึกลาว
ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ยกทัพมาใกล้เมืองสุวรรณภูมิแล้ว จึงใช้ให้หลวงสวัสดิ์นัคเรศร์คุมทหารม้า ๕ ม้า เข้าไปแจ้งข้อความล่วงหน้าให้เจ้าศรีวอทราบว่า กองทัพไทยยกมาจะพักพลเพื่อจะอยู่ต่อสู้กับเจ้าอนุอีก
ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี เดินทัพมาใกล้เมืองสุวรรณภูมิ ห่างเมืองสามสิบเส้น จึงใช้ให้หลวงวาสุเทพไปสั่งพระยาราชรองเมืองแม่ทัพหน้า ให้หยุดทัพตั้งค่ายเป็นวงพาดตามลำแม่น้ำโขงโดยนาคนามตามตำราพิชัยสงคราม แต่พอพักพลตั้งมั่นที่นี้เห็นเป็นที่ชัยภูมิดีแล้ว”
 * อ่านยุทธวิธีการล่าถอยทัพของท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิง) แล้ว เห็นได้ว่าท่านเป็นคนละเอียดรอบคอบ มีเชิงศึกสูงมาก การทำลายค่ายแล้วหนีข้าศึกนั้น ท่านเป็นว่าใช้กับที่พรานพร้าวไม่ได้ เพราะลาวข้าศึกจะรู้ว่าท่านหนี ลาวจะตามไล่ตีให้เดือดร้อน จึงใช้วิธีทำลายสิ่งของสำคัญในค่ายที่ขนไปด้วยไม่ได้ แล้วล่าหนีไปเงียบ ๆ เหลือแต่ค่ายเปล่าทิ้งไว้ให้เจ้าอนุดูต่างหน้า และในที่สุดกองทัพไทยก็หนีไปปักหลักที่เมืองสุวรรณภูมิแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้เช้ามาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กลอน123, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๕ -
เจ้าอนุ,ราชวงศ์สององค์คิด เที่ยวตามติดตีไทยหลายวิถี ทางโคราชมุ่งไปหมายย่ำยี เพราะเคยตีแตกง่ายจึงได้ใจ
ทางหล่มเลยเพชรบูรณ์ศูนย์ทางเหนือ ได้แล้วเงื้อง่าตรงลงทางใต้ เจ้าราชวงศ์ลงตามจับแม่ทัพไทย เป็นทัพใหญ่สองทัพขับเคี่ยวกัน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพล่าถอยจากค่ายพรานพร้าวในเวลากลางคืน ถึงเมืองยโสธรตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ให้สำรวจเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงกองทัพแล้วเห็นว่าขาดแคลน จึงเก็บรวบรวมเสบียงอาหารและกวาดต้อนครัวในเมืองยโสธรไปยั้งทัพตั้งค่ายอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 “ฝ่ายพระราชรองเมืองแม่ทัพหน้า กับทั้งพระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมาแม่ทัพหลัง พระยาราชสงครามปีกซ้าย พระยานครสวรรค์ปีกขวา และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพ, นายกอง พร้อมกันเข้าชื่อขออาสาคุมทหารไทยและลาวเมืองสุวรรณภูมิ ยกขึ้นไปตามตีเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ที่เมืองเวียงจันทน์ให้ได้ชัยชนะและได้ตัวด้วย ถ้าไม่สมดังนี้ขอรับพระราชทานลงโทษตามอัยการศึก ขณะนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาว่า
 “ซึ่งท่านทั้งหลายมีใจร้อนรนด้วยราชการดังนี้ เราก็มีความขอบใจยิ่งนัก แต่เราเห็นว่าพวกท่านไม่ต้องจะยกขึ้นไปตามตีเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์คงจะรีบยกลงมาตามตีพวกท่าน พวกท่านคอยรับที่นี่จะดีกว่า จะได้สู้ให้เต็มกำลังความคิดและฝีมือก็พอเป็นราชการแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่พักจะต้องคิดออกไปตีลาว ลาวคงลงมาตีไทยอยู่เอง ให้ช่วยกันคิดตั้งค่ายคูประตูหอรบไว้รับลาวให้แข็งแรงเถิด ดีกว่าจะขึ้นไปต่อสู้รบกับลาว”
ครั้งนั้น เจ้าศรีวอจัดเสบียงอาหารให้กรมการลาวนำออกมาจ่ายให้ไพร่พลในกองทัพไทยโดยบริบูรณ์ทุกทัพทุกกอง ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าศรีวอขี่ม้าออกมาคำนับเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายนอกเมือง
 ฝ่ายที่เมืองเวียงจันทน์นั้น เจ้าราชวงศ์ยิงพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิตตายทั้งสามคนแล้ว เจ้าราชวงศ์ว่าฤกษ์ดีมีชัยชนะแก่ไทยในวันนี้ ให้ตัดศีรษะพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนวิชิต ทั้งสามศีรษะนำไปเสียบไว้ที่หาดทรายหน้าเมืองเวียงจันทน์ นำลูกประคำทองเครื่องยศของไทยไปแขวนคอทั้งสามศีรษะ ให้ลาวเห็นเป็นอำนาจ แต่พลทหารไทยที่หนีอยู่ในที่กำบังตามวัดและบ้านต่าง ๆ นั้น ลาวจับได้ทั้งสิ้น เจ้าราชวงศ์ว่าจะเอาไทยไว้หาประโยชน์มิได้ จึงสั่งให้ทหารลาวพาไทยที่จับเป็นมาได้นั้นไปฆ่าเสียให้สิ้น ไทยตายครั้งนั้น ๖๐๐ คนเศษ เจ้าราชวงศ์สั่งให้พระยาสุโภ พระยาเชียงขวา ให้ไปต้อนพลลาวที่หลบลี้หนีอยู่ตามในป่าดง รวบรวมมาได้ ๑๐,๐๐๐ เศษ คัดเลือกแต่คนผู้ชายที่ฉกรรจ์ได้สี่ห้าพันคนให้เข้าในกองทัพลาว แต่ครัวที่ชรา เด็ก หรือหญิงนั้น ให้อยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ให้เพี้ยกว้านขุนนางผู้ใหญ่คุมครัวอยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์
เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ แลเห็นขุนนางญวนที่มาส่งนั้นกลับไปหมดแล้ว ไม่มีที่กีดขวางราชการ จึงสั่งให้เพี้ยมณี ท้าวมหาไชย คุมพลทหาร ๓๐๐ ข้ามฟากไปที่พรานพร้าว ให้รื้อพระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์ ที่กรมพระราชวังบวรฯ สร้างขึ้นไว้นั้น พวกลาวก็รื้อลงเสียสิ้นตั้งแต่ยอดตรีจนถึงฐานชั้นสิงห์ เชิญพระพุทธรูปที่กรมพระราชวังบวรฯ นำมาแต่เมืองเวียงจันทน์ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ๔ องค์ คือ ทรงพระนามว่า พระเสิม พระแสง พระศุข พระไสย์ ทั้ง ๔ องค์นี้รับเชิญกลับไปไว้ในเมืองเวียงจันทน์ดังเก่า แล้วเจ้าราชวงศ์ให้พลทหารไปขุดที่ค่ายพรานพร้าว สงสัยว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีจะนำปืนใหญ่ฝังไว้เมื่อล่าทัพไป ก็หาได้ปืนดังที่ลาวคิดไม่ เพราะลาวไม่รู้ว่าไทยนำปืนใหญ่กลิ้งทิ้งลงแม่น้ำโขงเสียแล้ว จึงมิได้ดำน้ำหาปืนขึ้นมาต่อสู่กับไทยได้
 ปืนหามแล่นขานกยาง ครั้งนั้น เจ้าราชวงศ์เก็บได้ปืนเล็กนกสับคาบศิลาในกองทัพพระยาพิชัยสงคราม มี ๕๐๐ กระบอก ปืนหามแล่นขานกยาง มี ๒๐ กระบอก ทั้งกระสุนดินดำ เสื้อกางเกงหมวกเสนากุฎ ๔๐๐ สำรับ ธงตะขาบ ๔๐ คัน กับธงมังกร ๓๐ คัน เสบียงอาหารพร้อมด้วย เจ้าอนุสั่งให้เจ้าสุทธิสารคุมพลหารลาวเก่า ๒,๐๐๐ ลาว และใหม่ ๒,๐๐๐ ยกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมหัวเมืองตามลำแม่น้ำโขง ได้มากน้อยเท่าใดเห็นพอจะทำการใหญ่ได้ ก็ให้เลยลงไปโจมตีเมืองนครราชสีมาทีเดียว ถ้าได้ทีก็ให้นัดหมายเจ้าราชวงศ์รีบเร่งรุดเลยลงไปตีกรุงเทพฯ ทางสระบุรีหรือนครนายก เจ้าอนุจึงจัดให้เจ้าราชวงศ์เป็นแม่ทัพใหญ่ มีแสนท้าวพระยาลาว นายทัพนายกองเป็นปีกขวาและปีกซ้าย มีไพร่พล ๖,๐๐๐ ให้ยกข้ามฟากแม่น้ำโขงไปฝั่งตะวันตกที่พรานพร้าว เพื่อจะไปติดตามจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี ถ้าตีทัพไทยกองเจ้าพระยาราชสุภาวดีแตกหมดแล้ว ถ้าได้ช่องดีมีท่าทางอันสมควร ให้เลยยกลงไปทางเมืองกบินทรบุรี ตีตลอดลงไปจนกรุงเทพฯ บรรจบกับทัพเจ้าสุทธิสารพร้อมกันทีเดียว แล้วเจ้าอนุให้เจ้าหน่อคำกับแสนท้าวพระยาลาว คุมทัพหัวเมืองซึ่งเกลี้ยกล่อมมาได้ ๓,๐๐๐ เศษนี้ ให้เจ้าหน่อคำยกไปตีเมืองหล่มเมืองเลย เมืองเพชรบูรณ์ เมืองบัวชุมชัยบาดาล ถ้าแตกหมดแล้ว ได้ท่วงทีก็ให้เลยรีบรุดไปตีเมืองรายทางลงไปทางเมืองลพบุรี ตีเมืองอ่างทอง กรุงเก่า ลงไปจนถึงกรุงเทพฯ เป็นทัพกระหนาบด้วยอีกทัพหนึ่ง
 ฝ่ายเจ้าอนุจัดกองทัพยกไปเป็นหลายทางหลายสายดังนั้นแล้ว เจ้าอนุจึงเป็นผู้อยู่จัดพลทหารแต่งการรักษาเมืองเวียงจันทน์โดยแข็งแรง แล้วจึงตั้งค่ายนอกเมืองสี่มุมเมือง ชักปีกกาถึงกันมีประตูหอรบรอบเมือง ตามกำแพงเมืองที่ไทยรื้อเสียนั้น ลาวนำไม้ไผ่มากปักเป็นเสาระเนียดรอบเมือง พูนดินที่กลางเมืองให้สูงขึ้นเป็นป้อม ทำการรักษาบ้านเมืองให้มั่นคง แล้วแต่งให้พระยาลือกับเพี้ยมหาไชย ไปขอกองทัพเมืองลื้อเมืองขอน ซึ่งเป็นลาวสิบสองปันนาขึ้นกับจีนฮกโหล ให้ยกมาช่วยด้วย (ก็ไม่สมดังที่ลาวขอจีน จีนก็ไม่ให้กองทัพมา) ฝ่ายเจ้าอนุคิดจะแต่งทูตลาวพาเจ้าหญิงหลาน ไปถวายพระเจ้าอังวะ เพื่อขอกองทัพพม่ามาช่วยก็ไม่สมที่คิด เพราะไปไม่ถึงพม่า ด้วยทางนั้นเชียงใหม่ลาดตระเวนรักษาด่านทางอยู่ทุกทิศ ลาวเวียงจันทน์จึงไปไม่ถึงเมืองพม่าหรือหัวเมืองขึ้นของพม่าก็ไม่ถึง
 ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ก็ยกทัพใหญ่ลงไปตามฝั่งแม่น้ำโขงถึงเมืองยโสธร เห็นเมืองร้างเปล่าอยู่ไม่มีผู้คน จึงเข้าใจว่าทัพไทยกวาดต้อนพลเมืองเสบียงอาหารไปหมดแล้ว จึงเหลืออยู่แต่เปลือกเมืองเปล่า นำไฟจุดเผาเหย้าเรือนไหม้หมด เจ้าราชวงศ์ใช้ให้ทหารเที่ยวติดตามพลเมืองยโสธรในป่าได้มาบ้าง ๒-๓ คน จึงไต่ถามได้ความว่า เจ้าพระยาราชสุภาวดียกมากวาดต้อนครัวไปหมด แล้วถ่ายเสบียงลำเลียงอาหารลงไปไว้ที่เมืองสุวรรณภูมิ เจ้าราชวงศ์ได้ฟังข่าวศึกดังนั้นจึงว่า
“เราจะรอช้าอยู่ที่นี่ไม่ได้ ฝ่ายทัพไทยจะตั้งค่ายมั่นเราจะตีแตกโดยยาก จำเป็นจะต้องรีบยกลงไปตีเสียทีเดียวเมื่อกำลังยังอ่อนอยู่ จึงจะได้ชัยชนะง่ายเบามือทหารเรา”
คิดแล้วดังนั้นจึงได้ยกพลทหารรีบรุดลงไปถึงบ้านตะกุดใกล้เขตแดนเมืองสุวรรณภูมิ จึงใช้ให้พลทหารเที่ยวซุ่มซ่อนคอยจับไทยและพลเมืองสุวรรณภูมิมาได้ ๔ คน ถามได้ความว่า “กองทัพไทยยกมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิแล้ว” เจ้าราชวงศ์ได้ความดังนั้นจึงให้ขังลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิ ๔ คนไว้ จะได้ถามความให้กองทัพไทยต่อไป อย่าได้ฆ่าฟันมันเสียเลย
 แล้วสั่งให้แสนท้าวพระยาลาวนายทัพนายกองตั้งค่ายใหญ่ ๓ ค่าย ที่ตำบลทุ่งบกหวาน เพื่อจะได้รับกองทัพไทย แล้วสั่งให้พระยาคำเกิดกับกองแก้วและกองทองสามนาย คุมพลทหารไปกวาดต้อนครอบครัวและเสบียงอาหารตามบ้านบ้านเล็กเมืองน้อย บรรทุกโคต่าง, ช้าง, ม้า, เกวียน ถ่ายลำเลียงมาสะสมไว้ในค่ายทุ่งบกหวาน หมายใจจะทำศึกแรมปี แล้วแต่งทัพไปให้ลาดตระเวนทุกด่านทุกทางในกลางป่าไม่ให้มีข้าศึกไทยหลังค่ายได้ เจ้าราชวงศ์คิดกลัวกองทัพเขมรจะยกมาช่วยไทย จึงให้เพี้ยสาครกับท้าวแสนใจหาญ คุมทหารไปสะทางที่เขาลีผี อย่าให้เขมรมาได้โดยสะดวก ให้มีกองซุ่มซ่อนคอยตีเขมรและไทยจะยกมาช่วยทางใดบ้าง แล้วเจ้าราชวงศ์แต่งให้ท้าวเพชรเดชะถือหนังสือไปกับทองคำและพลอยทับทิม ไปถวายกับนักพระองค์จันทร์เจ้ากรุงกัมพูชา ขอกองทัพเขมรมาช่วยตีไทย ได้แล้วจะแบ่งแผ่นดินให้กึ่งหนึ่ง เพราะเวลานั้นเขมรโกรธกับไทย....”
 * คราวนี้เจ้าอนุจัดทัพได้รัดกุมมาก กระจายกองทัพออกไปตีไทย ๓ ทาง ปลายทางมุ่งลงกรุงเทพฯ โดยพระองค์เองไม่ไปในกองทัพ หากแต่อยู่ตกแต่งเมืองเวียงจันทน์ไว้รอรับศึก กองทัพใหญ่โดยการนำของเจ้าราชวงศ์ยกติดตามไล่ล่าเจ้าพระยาราชสุภาวดี จนถึงเขตแดนเมืองสุวรรณภูมิ แล้วตั้งค่ายมั่นคงเตรียมการจะรบแรมปี ยุทธการที่ทุ่งบกหวาน ค่ายใหญ่ลาวเจ้าราชวงศ์ เป็นการรบที่ดุเดือดมาก ติดตามอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๖ -
เจ้าราชวงศ์ตั้งก๊กทุ่งบกหวาน ไทยรู้การเคลื่อนไหวจึงไม่หวั่น เคลื่อนพลเข้าไปใกล้หมายประจัน ตั้งค่ายมั่นรอโถมเข้าโจมตี
รู้จุดอ่อนลาวหยามความยิ่งใหญ่ พระยาสงครามเวียงไชยไร้ศักดิ์ศรี ลาวพุงดำอาสานำมาดี เพื่อไทยมีคนเพิ่มเติมพลัง |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพติดตามตีทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดียกจากยโสธรไปตั้งค่ายมั่นรอรับทัพลาวอยู่ที่นอกเมืองสุวรรณภูมิ เจ้าราชวงศ์ก็ยกทัพไปถึงเมืองยโสธร พบแต่ “เปลือกเมือง” เพราะเจ้าพระยาราชสุภาวดีกวาดต้อนครัวและเสบียงลำเลียงไปไว้ที่เมืองสุวรรณภูมิหมดแล้ว เจ้าราชวงศ์จึงรีบยกทัพตามไปถึงทุ่งบกหวาน แล้วตั้งค่ายมั่น มีหนังสือให้คนของตนถือไปชักชวนนักพระองค์จันทร์เจ้าแผ่นดินเขมร ให้ยกทัพมาช่วยตีไทย ถ้าการสำเร็จจะแบ่งแผ่นดินที่ตีได้ให้เขมรครึ่งหนึ่ง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีอยู่ในค่ายเมืองสุวรรณภูมินั้น จึงได้ปรึกษาราชการศึกกับเจ้าศรีวอเสมอมิได้ขาด อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งเจ้าศรีวอให้จัดหาคนลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิที่มีสติปัญญาคมสันสัก ๓ คน จะให้ไปสืบราชการที่เมืองเวียงจันทน์ ว่าจะกำเริบขึ้นหรือสงบลงประการใด ด้วยไทยอยู่ไกลไม่สามารถจะรู้ข่าวราชการหนักเบาในเมืองเวียงจันทน์ได้
ครั้งนั้น เจ้าศรีวอพาลาว ๓ คนมามอบให้แม่ทัพไทยแล้วแจ้งความว่า “คนหนึ่งชื่อหมอโพนไพร คนหนึ่งชื่อน้อยป่านฟ้า คนหนึ่งชื่อหนานเมืองมา ลาวทั้งสามคนนี้มีสติปัญญาพอที่จะได้ราชการบ้าง แต่หนานเมืองมาคนนั้นเป็นบุตรท้าวสุริยมหาวงศ์เมืองเชียงราย เป็นลาวพุงดำ แต่มาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิช้านานหลายปีแล้ว เพราะเหตุด้วยอริวิวาทกับอุปฮาดเมืองเขียงราย”
ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็มีความยินดีนัก จึงมีบัญชาสั่งลาวทั้งสามคนให้ไปสืบราชการศึกตามทางป่าว่า “ทัพเวียงจันทน์จะยกมาตั้งรับอยู่ที่ตำบลใดบ้าง ถ้าไม่พบก็ให้ไปสืบถึงเมืองเวียงจันทน์ทีเดียว”
ลาวทั้ง ๓ คนรับคำบัญชาแล้วต่างคนต่างไป คุมไพร่กองละ ๑๕๐ คน แยกย้ายกันไปทั้ง ๓ กอง
 แต่นั้นมาหลายวัน หมอโพนไพรกลับมาแจ้งความว่า “ได้เห็นกองทัพลาวยกมาเผาบ้านเล็กเมืองน้อยตามลำแม่น้ำโขงหลายตำบล แล้วลาวกำลังเดินทัพบกมาบ้าง และถึงเมืองนครพนมในเวลาเช้าวันนั้น ได้ยินเสียงปืนยิงโต้ตอบกันหลายสิบนัด คะเนเห็นทีลาวกับไทยในกองทัพพระวิชิตสงครามเมืองนครพนมจะได้รบกันเป็นแน่ ได้ฟังอยู่จนบ่ายก็เงียบเสียงปืนลง ครั้นจะเข้าไปใกล้เมืองนครพนมไม่ได้ ด้วยลาวตั้งทัพอยู่มาก”
 ฝ่ายน้อยป่านฟ้ากลับมาแจ้งความว่า “ได้เห็นค่ายลาวเวียงจันทน์ตั้งอยู่ที่ทุ่งบกหวานหลายค่าย ค่ายกลางเล็ก แต่ค่ายริมสองข้างนั้นโต กว้างใหญ่กว่าค่ายกลาง ผิดประหลาดกับธรรมเนียมพิชัยสงคราม ไม่มีค่ายปีกกาตามตำราทัพ ถ้าจะแลดูทางหน้าค่ายนั้นเห็นเป็น ๓ ค่าย ถ้าจะแลดูทางข้างค่ายนั้นเห็นเป็นค่ายเดียว เพราะตั้งค่ายริมสูงใหญ่โตกว้างขวางกว่าค่ายกลาง ตั้งชิดติดเนื่องกันทั้ง ๓ ค่าย ลาวเวียงจันทน์ตั้งค่ายอย่างนี้ดูท่วงทีเป็นรูปพรรณแม่ไก่กกลูก ถ้าใต้เท้ากรุณาเจ้ายกกองทัพไทยไปตั้งเป็นกระบวนกากางปีกให้เป็นนามกรอริกันกับรูปค่าย ยกออกไปสู้รบกับข้าศึกก็จะได้ชัยชนะแก่ลาวเป็นมั่นคง กับได้พิเคราะห์ดูรี้พลลาวในค่ายและนอกค่ายนั้น ประมาณดูราวสัก ๗,๐๐๐ เศษ แต่แม่ทัพลาวนั้นเป็นเจ้าอนุหรือเจ้าราชวงศ์ยังสงสัยอยู่ หารู้แน่ไม่”
 ฝ่ายหนานเมืองมาลาวพุงดำกลับมาแจ้งความว่า “ได้ไปสืบข่าวราชการศึกได้ใจความมาแต่เขมรป่าดงว่า เจ้าสุทธิสาร กับเจ้าราชวงศ์ เจ้าโอ ทั้งสามนี้ ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมครอบครัวลาวที่ซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง ได้มาเข้าเป็นกำลังหลายพันเกือบหมื่น กำลังจัดกองทัพมาตีเมืองตามลำแม่น้ำโขง เดี๋ยวนี้เจ้าราชวงศ์ยกลงมาตั้งอยู่ที่เมืองศรีษะเกศ เจ้าสุทธิสารมาตั้งอยู่เมืองเดชอุดม เป็นสองทัพใหญ่ ๆ กำลังจัดแจงช้างม้าโคต่างกระบือเกวียน จะถ่ายลำเลียงขนเสบียงอาหารไปไว้ที่เมืองภูเขียว แล้วจะยกไปตีเมืองนครราชสีมาอีก คราวนี้ราษฎรพลเมืองลาวมีความนิยมนับถือเข้าเป็นกำลังเจ้าราชวงศ์มาก เพราะสงสารเจ้านายเก่าแก่ของตน ได้ความตกยากลำบากนัก จึงเข้าช่วยกู้บ้านกู้เมืองให้เจ้านายของตนเป็นใหญ่ เจ้าเมืองกรมการเพี้ยท้าวพระยาลูกลาวผู้ใหญ่ไม่สู้จะเข้าด้วย หลีกเลี่ยงเข้าป่าเข้าดงไปเสียมากหลายบ้านหลายเมือง เพราะเห็นว่าเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์เป็นคนพาลคนโกง ก่อการให้บ้านเมืองได้ความเดือดร้อนเปล่า ๆ หาประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียว ผลประโยชน์ของพลเมืองราษฎรจะเสียไม่ว่า หาแต่การงานของตนตามใจพาล เพราะฉะนั้นเจ้าบ้านผ่านเมืองขุนนางลาวท้าวผู้ใหญ่ไม่เข้าด้วย หนีไปอยู่ป่าดงเสียมาก ได้ยินข่าวเล่าลือกันที่ในป่าดงว่า เจ้าราชวงศ์จับเจ้าเมืองเขมราชเขมร และกรมการเมืองเขมร เมืองเขมราชเขมรฆ่าตายหมด และครอบครัวเขมรชาวเมืองเขมราช ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์รวม ๒๕๐ คนนั้น ลาวนำไฟคลอกตายหมดทั้ง ๒๕๐ คน ที่หนีไปได้บ้างก็มีมาก ที่เจ้าราชวงศ์ฆ่าเจ้าเมือง กรมการ และราษฎรเมืองเขมรราชเขมรนั้น เห็นจะเป็นเพราะไม่ยอมเข้าด้วยจึงฆ่าเสีย กับทราบว่าพระยาสงครามเวียงไชย ขุนนางผู้ใหญ่ในค่ายเจ้าอนุนั้น หนีมาอยู่กับเจ้าราชวงศ์ เพราะเหตุเดิมนั้นเจ้าอนุใช้ให้พระยาสงครามเวียงไชยเป็นแม่ทัพรักษาค่ายทุ่งส้มป่อยและค่ายเขาสาร ก็แตกแก่ไทยทั้งสองตำบล เจ้าอนุสงสัยว่า พระยาสงครามเวียงไชยเป็นไส้ศึกแก่ไทย จึงปล่อยให้ค่ายทั้งสองตำบลนั้นแตกโดยง่าย เจ้าอนุโกรธพิฆาตโทษพระยาสงครามเวียงไชยไว้ว่า ถ้าพบจะนำดาบสับให้ละเอียดมิให้กากลืนแค้นคอ พระยาสงครามเวียงไชยรู้ตัวกลัวเจ้าอนุยิ่งนัก จะหนีไปทางไหนก็ไม่ได้ เมื่อมาพบเจ้าราชวงศ์ตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งบกหวาน พระยาสงครามเวียงไชยจึงเข้ามาหาขอช่วยราชการต่อไปโดยการจวนตัว แต่ไม่สู้จะได้ไว้วางใจทีเดียว กลัวเจ้าราชวงศ์จะจับตัวส่งไปให้แก่เจ้าอนุบิดาฆ่าเสีย”
 เหตุการณ์ทั้งนี้ หนานเมืองมาได้ทราบมาแต่ปากลาวชาวเวียงจันทน์ในค่ายเจ้าราชวงศ์ที่ทุ่งบกหวาน ออกจากค่ายมาหาเผือกมันในป่ากิน หนานเมืองมาเห็นดังนั้นจึงชักม้าไล่โอบหลังจับได้ ๑๕ คน ส่งมายังค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี แต่นำปืนยิงตายเสีย ๓ คน เพราะมันต่อสู้จึงฆ่าตาย
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบความตามลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิทั้ง ๓ คนมาชี้แจงข่าวศึกดังนั้นแล้ว ก็มีความยินดีเป็นอันมาก จึงได้พูดกับนายทัพนายกองว่า
“อันพระยาสงครามเวียงไชยอยู่ในค่ายเจ้าราชวงศ์ครั้งนี้ เหมือนหนีเสือมาปะจระเข้ เปรียบอีกอย่างหนึ่งเหมือนปลาขังอยู่ในข้อง นับวันแต่จะตาย อนึ่งพระยาสงครามเวียงไชยผู้นี้ก็เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในเมืองเวียงจันทน์ ไม่ใช่คนโง่เง่า ดีร้ายคงจะหาโอกาสช่องหนีลาวมาหาที่พึ่งให้พ้นภัย ถ้าเราหาช่องบอกเข้าไปว่าจะรับธุระอุปถัมภ์ดังนั้นแล้ว คงจะหนีออกมาหาเราเป็นมั่นคง ถ้าเราได้ตัวพระยาสงครามเวียงไชยมาไว้ในค่ายเราแล้ว การที่จะทำศึกสงครามกับลาวเมืองเวียงจันทน์นั้น เปรียบเหมือนลูกไก่อยู่ในเงื้อมมือของเรา”
เจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดดังนั้นแล้ว จึงมีบัญชาสั่งนายทัพนายกองทั้งหลาย ให้ตระเตรียมช้างม้าโยธาหาญไว้ให้พร้อม รุ่งขึ้นจะยกกองทัพไปตั้งค่ายใหญ่ที่ทุ่งบกหวาน จะได้ดูท่วงทีข้าศึกลาวจะหนักเบาประการใด
 ครั้นวันเสาร์ เดือนสิบ ขึ้นสองค่ำ ได้มหาพิชัยฤกษ์ เจ้าพระยาราชสุภาวดีกรีธาทัพขึ้นไปตั้งค่ายที่ตำบลทุ่งบกหวาน ห่างค่ายเจ้าราชวงศ์ประมาณ ๖๐ เส้นเศษ ครั้งนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้นายทัพนายกองตั้งค่ายใหญ่เป็นรูปกากางปีกตามความคิดของลาวชาวสุวรรณภูมิ ซึ่งจะได้เป็นนามค่ายอริกันกับค่ายศัตรู แล้วขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามตำราพิชัยสงคราม และตั้งค่ายชักปีกกาถึงกันทั้ง ๗ ค่าย เป็นค่ายมั่นคงแข็งแรงด้วย
 ตั้งค่ายเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้รบกัน ขณะนั้นหนานเมืองมาลาวพุงดำต้องเกณฑ์เข้ากระบวนทัพด้วย จึงกราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีขออาสาจะไปเจรจาแทะโลมพระยาสงครามเวียงไชยในค่ายข้าศึกมาให้จงได้ จะขอไปพูดด้วยอุบายซึ่งได้เรียนไว้แล้วนั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ประคำทองคำสายหนึ่งเป็นรางวัล แล้วเขียนหนังสือประทับตราให้ฉบับหนึ่งความว่า “แม่ทัพไทยได้ตั้งให้หนานเมืองมาเป็นนายทัพนายกองปีกหนึ่ง เพื่อจะได้นำหนังสือสำคัญนั้นไปสำแดงให้พระยาสงครามเวียงไชยเห็น แล้วจะได้ไว้ใจว่า หนานเมืองมาเป็นนายทัพมียศบรรดาศักดิ์จริง”....
 * ทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีเคลื่อนเข้าไปตั้งค่ายใกล้ค่ายทัพเจ้าราชวงศ์แล้ว นับเป็นความโชคดีของเจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่ได้ลาวชาวสุวรรณภูมิมาช่วยงานถึง ๓ นาย ลาวน้อยป่านฟ้าอ่านลักษณะค่ายของเจ้าราชวงศ์ได้ชัดเจนว่าเหมือนแม่ไก่กกลูก จึงเสนอแนะให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกเข้าไปตั้งค่ายเป็นรูปนกใหญ่กางปีกข่มแม่ไก่ ฝ่ายหนานเมืองมา ลาวพุงดำบุตรข้าราชการผู้ใหญ่เมืองเชียงรายมารับใช้ในกองทัพ คนผู้นี้เป็นคนรอบคอบ ไปสืบราชการข่าวลาวมาได้อย่างละเอียด และยังอาสาจะ “เข้าถ้ำเสือไปเอาลูกเสือ” อีกด้วย หนานเมืองมาจะเข้าไปเกลี้ยกล่อมเอาตัวพระยาสงครามเวียงไชยออกมาอยู่กับทัพไทยได้หรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๗ -
พระยาสงครามเวียงไชยได้เพื่อนรัก พากันหักค่ายหนีสมที่หวัง ท่านเจ้าคุณแม่ทัพรับประทัง แล้วแต่งตั้งหนานเมืองมาเป็นทางการ
ให้เป็นแสนท้าวโยนะกะราช มีอำนาจควบคุมขุมทหาร ให้ตั้งค่ายหน้าทัพน้อมรับงาน ประจัญบานทัพลาวเจ้าราชวงศ์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้คนของเมืองสุวรรณภูมิที่เจ้าศรีวอคัดเลือกมาให้ ๓ นาย จึงส่งออกไปสืบข่าวราชการศึกได้ความมาชัดเจนแล้ว จึงสั่งให้กำลังพลเคลื่อนทัพจากที่เดิมเข้าไปทุ่งบกหวาน แล้วตั้งค่ายเป็นรูปนกกางปีก ข่มค่ายเจ้าราชวงศ์ที่ตั้งแบบแม่ไก่กกลูก รอเวลาได้ฤกษ์ที่จะเข้าโจมตี หนานเมืองมาชาวสุวรรณภูมิที่ได้รับคำสั่งให้ไปสืบข่าวราชการศึกนั้น ขอรับอาสาเข้าไปในค่ายเจ้าราชวงศ์ เพื่อเกลี้ยกล่อมพระยาสงครามเวียงไชยให้ออกมาสวามิภักดิ์ทัพไทยให้จงได้ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ฝ่ายหนานเมืองมาแต่งตัวปลอมเป็นชาวป่า หาบผักหักฟืนเดินหลงทางไปใกล้ค่ายเจ้าราชวงศ์ ขณะนั้นกองตระเวนข้างลาวเวียงจันทน์เห็นดังนั้นก็จับหนานเมืองมาได้ แล้วเลิกผ้าที่นุ่งออกดูก็รู้ว่าเป็นลาวพุงดำ เพราะมีรอยสักน้ำหมึกที่ท้องและขาเป็นสำคัญสังเกตได้ กองลาดตระเวนด่านจับหนานเมืองมาส่งเจ้าราชวงศ์ หนานเมืองมาให้การว่า เป็นชาวป่ามาหาผักหักฟืน เดิมบิดาเป็นข้าส่วยขึ้นแก่พระยาสงครามเวียงไชย บิดาตายเสียหลายปีแล้ว”
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์จึงมีกระทู้ถามว่า “กองทัพใหญ่ของเจ้านายยกมาตั้งอยู่ดังนี้ ควรหรือเอ็งเป็นแต่ชาวชนบทบ้านป่า บังอาจมาสอดแนมด้อมมองกองทัพกูผู้เป็นเจ้านาย โทษมึงถึงตาย มึงจะว่าอะไรให้ว่าไป”
ฝ่ายหนานเมืองมามิได้พรั่นพรึงกลัวเลย จึงตอบว่า “ตัวข้านี้เป็นชาวป่าเปรียบเหมือนหญ้าแพรก ซึ่งช้างสารจะชนกันนั้น หาใช่การงานของข้าพเจ้าไม่ การของข้าพเจ้ามีแต่จะเก็บผักหักฟืนไปเลี้ยงบุตรภรรยาเท่านั้น หยุดไม่ได้ ต้องจำไปในระหว่างศึกสงคราม ตามเพศข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนยากจนเข็ญใจ จะหยุดรอกองทัพท่านไปแล้วจึงจะมาหากินนั้น กลัวจะอดตาย จึงได้กล้าหาญมาดังนี้”
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็มีความสงสารจึงมิได้ฆ่า สั่งให้ส่งตัวอ้ายลาวพุงดำไปให้พระยาสงครามเวียงไชยนายมัน แต่ว่าอย่าปล่อยให้กลับออกไปจากค่าย จะเป็นกลอุบายอย่างใดก็ไม่แจ้ง ครั้นหนานเมืองมาได้พบกับพระยาสงครามเวียงไชย พระยาเวียงไชยไม่อาจที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ ด้วยเป็นมิตรสหายที่รักร่วมใจกันมาช้านานแล้ว
ฝ่ายหนานเมืองมาจึงได้แจ้งความลับให้พระยาสงครามเวียงไชยได้ฟังว่า “บัดนี้เราได้เป็นนายทัพนายกองของไทย เรามียศใหญ่ได้พระราชทานประคำทองสายหนึ่ง และมีหนังสือคู่มือสำหรับตัวเราด้วยว่าเราเป็นนายทัพแล้ว ครั้นเราได้รู้ว่าสหายมาตกอยู่ในค่ายเจ้าราชวงศ์ เปรียบเหมือนปลาอยู่ในข้อง คงจะตายไม่ช้าก็เร็ว เพราะฉะนั้นเราจึงอุตส่าห์แปลงกายปลอมเข้ามาในค่าย ด้วยหวังใจมารับสหายไปให้พ้นข้าศึกศัตรูดังนี้ เราเข้ามาทั้งนี้เหมือนหนึ่งนำชีวิตมารอกับคมดาบ อย่าชักช้าเลยจงรีบไปกับเราเถิด เราจะพาสหายไปถวายตัวกับแม่ทัพไทย ท่านแม่ทัพคงจะชุบเลี้ยงให้ท่านคงยศบรรดาศักดิ์ และมีความสุขดุจดังเก่า”
ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชย ครั้นได้ฟังคำสหายที่เชื่อถือกันมาแต่ก่อนมาชี้แจงให้ฟังดังนั้นแล้ว ก็มีความยินดีที่จะตามหนานเมืองมาไปหาแม่ทัพไทย จะได้พ้นจากศัตรูที่ใกล้ ถึงมาทแม้นจะตายก็ยอมตายที่ไกล ห่างจากชาติเดียวกัน จึงจะไม่อัปยศ แล้วพระยาสงครามเวียงไชยจึงประกาศแก่เทพยดาว่า
“ตัวเราหาความผิดมิได้ เหตุใดเจ้าอนุจึงได้อาฆาตพยาบาท มุ่งหมายจะทำลายล้างชีวิตเราผู้ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต สู้อุตสาหะรับอาสาทำการศึกสงคราม โดยกตัญญูหาผู้เสมอเรามิได้ ตั้งแต่วันนี้สืบไปวันหน้า ข้าพเจ้ากับเจ้าอนุเป็นขาดข้าขาดเจ้าขาดเหล่าขาดตระกูลกันแต่วันนี้เถิด”
ครั้นประกาศเทพยดาอารักษ์ดังนี้แล้ว จึงว่า “ถ้าเราขืนอยู่ในค่ายเจ้าราชวงศ์ดังนี้ เห็นทีจะไม่พ้นอันตรายแก่ตัวเรา จำเป็นจำจะต้องไปตามสหาย ถึงว่าจะตายก็จะสู้ตายด้วยดาบหน้า” พระยาสงครามเวียงไชยพูดจาดังนั้นแล้ว ครั้นเวลาค่ำจึงผูกม้าที่มีฝีเท้าอันรวดเร็วสองม้า ครั้นเวลาสามยามสงัดคน พระยาสงครามเวียงไชยจึงขึ้นม้าดำถือดาบสองมือสะพายปืนกระบอกหนึ่ง หนานเมืองมาขึ้นม้าแดงถือดาบสองมือสะพายปืนกระบอกหนึ่ง พร้อมกันทั้งสองคนจึงชักม้าเป็นสะบัดย่างสะเทิ้นทั้งสองม้า ตรงเข้าไปที่ประตูค่ายเจ้าราชวงศ์
ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชยชักดาบฟันลาวที่รักษาประตูค่ายข้างซ้าย ตายพร้อมกันทีเดียว ๖ คน ฝ่ายหนานเมืองมาชักดาบฟันทหารลาวที่รักษาประตูค่ายข้างขวา ตายทีเดียวพร้อมกัน ๖ คนเหมือนกัน ในค่ายลาวเอิกเกริกอื้ออึงเป็นโกลาหล ผู้คนแตกตื่นกันเป็นอลหม่าน ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชยกับหนานเมืองมาทั้งสองคนนั้น ชักม้าเป็นบาทย่องผยองใหญ่ควบไปหากองทัพไทย ขณะควบม้าไปนั้นพบกองตระเวนลาว ๘ คน นั่งเป็นกองอยู่ ลาวเวียงจันทน์กองตระเวนเห็นดังนั้น ลุกขึ้นสกัดม้าพระยาสงครามเวียงไชยกับหนานเมืองมา หนานเมืองมานำปืนยิงออกไปสองนัด ถูกลาวกองตระเวนตายบ้างเจ็บบ้างลำบากบ้าง จึงได้ควบม้าเลยไปถึงที่หน้าค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี
ฝ่ายหนานเมืองมาพาพระยาสงครามเวียงไชยเข้าไปหาท่านแม่ทัพใหญ่ในค่าย แล้วกราบเรียนกิจการที่ได้ไปพูดจาแทะโลมพระยาสงครามเวียงไชยได้มานั้น แต่ต้นจนปลายให้ทราบเสร็จสิ้นทุกประการ
ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงปราศรัยกับพระยาสงครามเวียงไชยว่า “ท่านจงอุตส่าห์อาสาราชการจนเสร็จศึกแล้ว เราจะกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ท่านมีความชอบถึงขนาด” แล้วได้ไต่ถามการบ้านเมืองเวียงจันทน์ และข่าวศึก ณ ค่ายเจ้าราชวงศ์ต่อไป ได้ข้อความสิ้นเสร็จแล้ว จึงให้พระยาสงครามเวียงไชยถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อหน้านายทัพนายกอง เสร็จแล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ตั้งหนานเมืองมาเป็น "แสนท้าวโยนะกะราช" ให้มีเครื่องยศเจียดหมากเต้าน้ำเงินกะไหล่ทอง ประคำกะไหล่ทองสาย ๑ สับปะทนแดงคัน ๑ ตามที่พระราชทานขึ้นมาสำหรับเครื่องยศนายทัพนายกองที่มีความชอบต่อกิจราชการทัพศึก
ให้แสนท้าวโยนะกะราช เป็นแม่กองคุมพลทหารลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิ ๑,๐๐๐ คน ให้หมอโพนไพรกับน้อยป่านฟ้า ทั้งสองนั้นเป็นปลัดซ้ายขวา ชื่อท้าวอินทร ๑ ท้าวพรหม ๑ คุมทหารกองละ ๕๐๐ รวมเป็น ๒,๐๐๐ คน ยกไปตั้งค่ายอยู่หน้าค่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้าทุ่งบกหวาน
ครั้นวันศุกร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบค่ำ เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาสงครามเวียงไชยแต่งกายนุ่งผ้าเกี้ยวสอดสนับเพลาคาดเจียระบาด สวมเสื้อสนอบอัตลัดดอกใหญ่พื้นชมพู โพกศีรษะแพรสีทับทิมขลิบทองเป็นหูกระต่าย สะพายดาบฝักแดงบั้งทองมือถือทวนพู่จามรี ขึ้นขี่ม้านำหน้าทหารม้า ๓๐ ม้า ควบม้าไปรำล่ออยู่หน้าค่ายเจ้าราชวงศ์ ร้องเพลงเย้ยเป็นสามารถ เพื่อจะเย้ายั่วโทโสเจ้าราชวงศ์ให้ไล่ติดตามมาถึงหน้าค่ายกองทัพไทย...........”
* หนานเมืองมา ลาวพุงดำเชื้อสายขุนนางเมืองเชียงรายคนนี้ มีทั้งใจและฝีมือกล้าแข็งมากทีเดียว สามารถบุกเข้าไปในถ้ำเสือเอาลูกเสือออกมาได้ ก็สมแล้วที่ได้รับการแต่งตั้งกลางทัพให้เป็นแสนท้าวโยนะกะราช “แสนท้าว” เป็นยศของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของลาวล้านนาล้านช้าง น่าจะเทียบได้กับ พระ หรือ พระยา ทีเดียว “โยนะกะราช” จะแปลว่า “เจ้าแคว้นเหนือ” ก็ได้ หรือ “ผู้เป็นใหญ่แคว้นเหนือ” ก็ได้ โยนะกะ คือ “โยนก” หมายถึง เชียงแสน
ตอนนี้เข้มข้นแล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาสงครามเวียงไชยแต่งกายในตำแหน่งแม่ทัพนายกองไทย พาทหารม้าไปรำ ร้องเพลง หน้าค่ายลาว จะล่อให้เจ้าราชวงศ์โมโหแล้วไล่ตามมา จะสำเร็จหรือไม่ พรุ่งนี้ก็มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๘ -
เจ้าราชวงศ์ไล่ล่าพระยาเก่า จนเลยเข้าปีกกาล่าจนหลง ถูกไทยล้อมรุกรบฝุ่นกลบดง ลมสงบซบผง เห็นองค์กัน
เจ้าราชวงศ์ทะยานม้าหาแม่ทัพ ได้รบรับกลางวงบ่ทรงยั่น แม่ทัพไทยเสียท่าเพราะม้านั้น ล้มคับขันจวนสิ้นแรงถูกแทงตาย |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ หนานเมืองมาปลอมตัวเข้าไปในค่ายเจ้าราชวงศ์ แล้วพาพระยาสงครามเวียงไชยหนีออกจากค่าย มาหาเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้โดยสวัสดิภาพ
เจ้าคุณแม่ทัพแต่งตั้งให้หนานเมืองมาเป็น แสนท้าวโยนะกะราช ให้หมอโพนไพร เป็น ท้าวอินทร ให้น้อยป่านฟ้า เป็นท้าวพรหม
 แสนท้าวโยนะกะราช คุมทหาร ๑,๐๐๐ ท้าวอินทร ท้าวพรหม คุมทหารคนละ ๕๐๐ รวมกันเป็นทหาร ๒,๐๐๐ ยกไปตั้งค่ายอยู่หน้าค่ายพระยานครสวรรค์ วันรุ่งขึ้นสั่งให้พระยาสงครามเวียงไชยแต่งตัวแบบนายทัพนายกองทหารไทย ขี่ม้านำหน้าทหารม้า ๓๐ ม้า ไปรำดาบร้องเพลงยั่วเย้าเจ้าราชวงศ์อยู่หน้าค่ายลาว วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งพระยาพิชัยรณฤทธิ์ พระยาวิชิตณรงค์ ให้คุมพลทหารกองละ ๕๐๐ ยกไปซุ่มซ่อนพลเรี่ยรายอยู่ตามป่าสองข้างทางสนามรบ สั่งให้ จ้าวอ้น, จ้าวปาน บุตรเจ้าศรีวอเมืองสุวรรณภูมิ เป็นนายทัพม้าเร็ว ๑๐๐ ม้า เป็นกองหนุนทัพซุ่มซ่อน สั่งให้พระยามหาสงครามกับพระพิชัย คุมไพร่พลกองละ ๓๐๐ เป็นปีกซ้ายปีกขวาของทัพหนุน สั่งให้หลวงวิสูตรโยธามาตย์, หลวงราชโยธาเทพ คุมพลกองละ ๓๐๐ เป็นทัพกระหนาบ สั่งให้พระยารามกำแหง คุมพลทหาร ๕๐๐ เป็นกองโจรก้าวสกัดตัดกำลังศึก แล้วแต่งกองซุ่มซ่อนเสือป่าแมวเซาไว้สรรพ ตามตำราพิชัยสงครามรวมเสร็จ เผื่อเจ้าราชวงศ์จะเป็นบ้าสงครามยกกองทัพไล่ติดตามพระยาสงครามเวียงไชยมาในครั้งนี้ ก็เป็นที่สมความคิดเราแล้ว ถ้ามิสมดั่งคิดไว้ก็จะได้รู้กำลังศึกด้วย
 เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพหลวง มีบัญชาสั่งให้พระยาราชสงคราม คุมทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งซุ่มพลอยู่ในที่ป่าละเมาะข้างตะวันออก ถ้าเห็นม้าใช้ในกองทัพไทยไปบอกว่า เจ้าราชวงศ์ไล่พระยาสงครามเวียงไชยเข้ามาในวงพาดที่ล้อมปีกกาไทยแล้วเมื่อใด ให้พระยาราชสงครามต้อนพลทหารโห่ร้องทะลวงยกเข้าตีค่าย และปล้นค่ายเจ้าราชวงศ์ข้างหลัง อย่าให้ลาวทันตั้งตัวได้ จงเร่งตีให้แตกแต่ในเวลาเดียวให้จงได้ แล้วให้นำไฟจุดคบเผาค่ายลาวเสียให้สิ้น ลาวจะได้หย่อนกำลังลง ถ้าพระยาราชสงครามมิทำได้ดังสั่งนั้น ก็อย่าให้พระยาราชสงครามกลับมาหาทัพหลวงเลย ให้คิดพาตนรอดไปหาที่พึ่งให้พ้นภัยเถิด ฝ่ายพระยาราชสงครามยกพลทหารไปซุ่มอยู่ ห่างค่ายเจ้าราชวงศ์ประมาณ ๖๐ เส้น
 เจ้าพระยาราชสุภาวดี สั่งให้พระยาราชรองเมืองแม่ทัพหน้าให้อยู่รักษาค่ายหน้าให้มั่นคง ให้พระยาวิเศษสงครามคุมพลทหาร ๕๐๐ เป็นทัพแซงตามชายป่า ให้พระสินธพคุมพลทหารม้ากองนอก ๑๐๐ ม้า เป็นกองร้อยคอยเหตุ สำหรับแจ้งข้อราชการศึกหนักเบาทุกทัพทุกกอง สั่งให้เจ้าอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ กับพระเทพภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองนครราชสีมาเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา คุมทหารลาวเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐ ยกไปตั้งเป็นปีกกาโอบทางข้าศึกจะมานั้น
 ครั้งนั้นพอพระยาณรงค์สงครามจางวางส่วยทอง กับพระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกรมช้างกองนอกเมืองนครราชสีมา ยกพลช้างม้ามาถึง จึงให้เข้าในกระบวนทัพใหญ่ ยกไปตั้งรักษาทางฝั่งแม่น้ำโขงด้านหน้าค่ายพระยาราชรองเมือง เพราะช้างม้าจะได้อาศัยน้ำท่าด้วย แต่ให้แบ่งทหารกองพระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา กับทหารกองพระพลสงครามเมืองนครราชสีมา ออกมาเป็นสองกอง กองละ ๒๐๐ คน ให้ไปรักษาด่านทางข้างเขมรไว้ด้วย
ครั้นจัดทัพพร้อมเสร็จแล้ว พระยาสงครามเวียงไชยขึ้นม้าพร้อมด้วยทหารม้า ๓๐ ม้า ไปรำทวนเยาะเย้ยอยู่หน้าค่ายเจ้าราชวงศ์ เพื่อจะล่อให้โกรธ
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งเจ้าพนักงานให้ผูกม้าสีจันทน์เป็นม้าสำคัญชื่อว่า "เหลืองป่อง" ที่กีบเท้าทั้งสี่มีสีเหมือนทอง สูงศอกคืบ ๑๑ นิ้ว กำลังกลางตัวม้านั้น ๑๔ กำ ม้าเหลืองป่องม้านี้มีฝีเท้าม้าว่องไว ทั้งย่างน้อยย่างใหญ่ได้คล่องแคล่ว และเคยศึกสงครามมามาก ไม่ย่อท้อต่อเสียงปืน เจ้าพนักงานผูกเบาะอานเครื่องมั่นพร้อมแล้วจูงมาเทียบเกยหน้าค่าย ฝ่ายเจ้าพระยาราชสภาวดีแต่งกายพร้อมด้วยเครื่องสรรพยุทธพร้อมเสร็จ จึงสวมเสื้อหมวกทรงประพาส คาดรัดประคตหนามขนุน สวมแหวนนพเก้าแล้วขึ้นม้าเหลืองป่อง ดำเนินทัพออกจากค่าย ครั้งนั้นประดุงดังจอมพยุหโยธาของบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีขี่ม้ามาถึงท้องสนามรบหน้าค่ายพระยาราชรองเมือง จึงตรวจพลทหารทุกทัพทุกกอง เห็นพอจะทำการยุทธสงครามใหญ่ได้
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์อยู่ในค่ายใหญ่ ได้เห็นพระยาสงครามเวียงไชยขี่ม้ารำล่อยู่หน้าค่ายดังนั้นก็โกรธ จึงร้องไปด้วยสุรเสียงอันดังว่า
“อ้ายพระยาสงครามเวียงไชย อ้ายทรยศต่อเจ้านายแล้วหนีไปหาไทย ได้กลับมาพูดจาหยาบหยามเยาะเย้ยอยู่หน้าค่าย ให้กูได้ความอัปยศอดสูแก่ไพร่พล ถ้ากูจับมึงได้เมื่อใดกูจะแล่เนื้อเอาเกลือทา จะสับมิให้กากลืนแค้นคอเลย”
 เจ้าราชวงศ์พูดดังนี้แล้วจึงจัดพลทหารเป็นหมวดเป็นกอง เพื่อจะยกเป็นกระบวนทัพใหญ่ออกไปจับพระยาสงครามเวียงไชยให้ได้ในวันนี้ ถ้าเป็นท่วงทีจะยกเลยลงไปตีค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีให้แตกเสียด้วยในคราวนี้ทีเดียว ครั้นจัดกองทัพพร้อมแล้ว จึงเจ้าราชวงศ์แต่งกายนุ่งผ้าแดง สวมเสื้อแพรสีแดงปักทอง โพกศีรษะแพรสีแดงมีครุย ขี่ม้าแดงเป็นสง่า ดำเนินทัพออกจากค่าย ไล่พระยาสงครามเวียงไชยไปเป็นอลหม่าน ไม่เป็นกระบวนศึกสงครามได้ ครั้งนั้นผงคลีเป็นละอองฟุ้งตลบไปทั่วทั้งท้องทุ่งเป็นควันมัวมืดไปหมด
ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชยควบม้าวางใหญ่ ล่อให้เจ้าราชวงศ์ไล่ติดตามตามไปโดยคำสั่งท่านแม่ทัพไทย
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กับทหารสนิทที่ติดตามไปทัน ก็ไล่เลยหลงเข้าไปในปีกกากองทัพไทย ซึ่งตั้งซุ่มไว้ตามชายป่าหาเห็นไม่ เพราะด้วยผงคลีฟุ้งตลบกลุ้มไปทั้งป่าและท้องทุ่ง
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยืนม้าอยู่กลางทุ่งบกหวาน ได้เห็นเจ้าราชวงศ์ขี่ม้าไล่พระยาสงครามเวียงไชยเข้ามาในที่ล้อมปีกกาไทยดังนั้นแล้ว จึงสั่งทหารม้าใช้ให้ไปบอกนายทัพนายกองปีกกา ให้โอบหลังล้อมพลลาวไว้ อย่าให้ลาวฟันฝ่าปีกกาออกไปได้ นายทัพนายกองปีกกาได้ทราบดังนั้นก็ทำตามคำสั่งของท่านแม่ทัพทุกประการ
 ครั้นลมสงบละอองผงคลีสว่างแล้ว ลาวกับไทยได้เห็นกายกันถนัดชัดเจน เจ้าราชวงศ์รู้ว่าไล่เลยเข้ามาในปีกกาที่ล้อม เป็นการเสียท่วงทีจะถอยหนีก็ไม่ทัน จำเป็นจำใจสู้รบด้วยจวนตัว จึงต้อนพลทหารเข้ายิงแย่งแท่งฟันประจัญบานด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอน พลลาวไทยตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่พลลาวอยู่ในที่ล้อมตายมาก พลทหารไทยทุกทัพทุกกองก็หนุนเนื่องกันเข้าล้อมลาวและต่อรบด้วยลาว ดุงดั่งคลื่นในมหาสมุทร
ขณะนั้นฝ่ายเจ้าราชวงศ์อยู่ในที่ล้อม จึงหาช่องทางที่จะฟันฝ่าแหวกกองทัพไทยออกไปฝ่ายเดียว จึงแลไปข้างประจิมทิศ ก็เห็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีสวมมาลาขี่ม้ายืนอยู่ท่ามกลางพลทหารทั้งหลาย เจ้าราชวงศ์จึงเข้าใจว่าแม่ทัพใหญ่เข้าใกล้กันวันนี้ คงจะได้กระทำยุทธหัตถ์กันเป็นมั่นคง
 เจ้าราชวงศ์จึงชักม้าตรงเข้าไปที่หน้าม้าเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นดังนั้น จึงกระทืบโกลนแผงข้างม้า ม้าก็วิ่งโผนทะยานเข้าไปใกล้เจ้าราชวงศ์ เจ้าพระยาราชสุภาวดีจะชักม้าไว้เท่าใดม้าก็ไม่หยุด จึงเสียท่วงทีแก่เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์ชักม้าหยุดยืนตั้งกายเป็นหลักมั่นคงแล้ว จึงถือหอกแทงถูกที่ข้างคอไหล่ขวาม้าเหลืองป่อง ม้าเหลืองป่องล้มทับขาซ้ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีล้มนอนอยู่กับดินดิ้นไม่ไหว ขณะนั้นเห็นเจ้าราชวงศ์มือถือหอกยกขึ้นจะแทงที่ท้อง เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงกระเบ่งท้องให้พองออกรับหอกลาว แต่ตาเขม้นจับอยู่ที่ตรงข้อมือเจ้าราชวงศ์ซึ่งกุมหอกเงื้ออยู่นั้น ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กุมด้ามหอกแทงลงไปที่ท้องเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงแขม่วท้องที่พองอยู่นั้นให้เหี่ยวแห้งเล็กลงไปในทันใดนั้นได้ หอกก็ปักดินลงไปแต่เฉียดท้อง ท้องเจ้าพระยาราชสุภาวดีหาได้ทะลุไม่ เสื้อขาดสองชั้น เนื้อเป็นริ้ว ลึกกึ่งกระเบียด โลหิตไหลซับ ขณะนั้นมือซ้ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีกุมด้ามหอกเจ้าราชวงศ์กดลงกับดินไม่ให้ถอนขึ้นได้.....”
 * อ่านบันทึกตอนนี้แล้วตื่นเต้นมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง)คาดการณ์วางแผนการรบรัดกุมมาก ท่านคาดการณ์ว่าเจ้าราชวงศ์จะต้องโกรธพระยาสงครามเวียงไชยจนคลั่งคุมสติไม่อยู่ ไล่ตามมาจนติดกับกองทัพไทยเป็นแน่ แล้วก็จริงดังที่ท่านคาดการณ์ไว้ เจ้าราชวงศ์โกรธพระยาสงครามเวียงไชยสุดขีด พาพลทหารไล่ล่าไปแบบไม่เป็นกระบวน ม้าวิ่งเป็นฝูงสับสนจนฝุ่นฟุ้งเป็นตะวันมืดมัวไปทั้งป่า พระยาสงครามเวียงไชยล่อให้ไล่ตามเข้าไปในค่ายปีกกาไทยได้สำเร็จ เจ้าราชวงศ์โผนม้าเข้าหาแม่ทัพไทยแล้วตั้งหลักได้ ในขณะที่เจ้าเหลืองป่องของท่านเจ้าคุณแม่ทัพไทยเกิดพยศอะไรก็ไม่รู้ วิ่งทะยานเข้าหาข้าศึกแบบรั้งไม่อยู่ จนถูกเจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทงใส่เข้าที่ซอกคอจนล้มลง และไม่ล้มเปล่า ล้มทับขาข้างซ้ายเจ้าคุณแม่ทัพจนลุกขึ้นไม่ได้ เป็นเหตุให้เจ้าราชวงศ์ได้ท่วงทีใช้หอกพุ่งแทง กะว่าจะแทงท้องแม่ทัพไทยให้ทะลุทีเดียว แต่เจ้าคุณแม่ทัพมีไหวพริบแก้ไข้เอาตัวรอดได้ในวินาทีสุดท้ายที่ปลายหอกปักลง ตอนนี้ท่านจับหอกช่วงปลายของเจ้าราชวงศ์ปักพื้นไว้แน่น เจ้าราชวงศ์ดึงหอกกลับไม่ได้ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร หยุดพักความตื่นเต้นหวาดเสียวไว้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓๙ -
เจ้าราชวงศ์ชักดาบอย่างเร่งด่วน “น้องม่วง”จวนตัวพลันรีบผันผาย โผเข้าช่วยทันทีป้องพี่ชาย ถูกดาบป่ายฟันปาดคอขาดกระเด็น
พระยาสิงห์ได้คิดชักมีดหมอ แทงมิรอท่าไปทั้งไม่เห็น ถูกโคนขาเจ้าลาวพลาดเส้นเอ็น ล้มลงเป็นเป้าจนพลปืนยิง |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีเผชิญหน้ากันกลางแปลง เจ้าราชวงศ์ชักม้าเข้าหาแม่ทัพไทย ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็กระตุ้นม้าเข้าหา เจ้าเหลืองป่องวิ่งถลันเข้าไป เจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทงสวนถูกซอกคอ ม้าแม้ทัพไทยล้มลงนอนนิ่ง ร่างทับขาซ้ายเจ้าคุณแม่ทัพจนดิ้นไม่หลุด เจ้าราชวงศ์จ้วงแทงด้วยหอกหมายถูกตรงท้องให้ทะลุ เจ้าพระยาสิงห์แขม่วท้องหลบคมหอกได้ แล้วจับปลายหอกปักพื้นดินไว้แน่นจนเจ้าราชวงศ์ดึงหอกกลับไม่ได้ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เห็นว่าแทงด้วยหอกก็หาถูกไม่ จึงโดดลงจากหลังม้า มือซ้ายกุมด้ามหอกไว้ มือขวาเอื้อมไปชักดาบสะพายแล่งข้างหลังออกมา เงื้อจะตัดศีรษะเจ้าพระยาราชสุภาวดี ขณะนั้นหลวงพิพิธ (ม่วง) น้องต่างมารดากันกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีนั้น ถือดาบสองมือวิ่งเข้าไปหมายจะช่วยแก้ไขพี่ชาย พอเจ้าราชวงศ์ชักดาบสะพายแล่งข้างหลังออกมา ฟันถูกคอหลวงพิพิธขาดกระเด็นไป
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีนึกขึ้นได้ว่า มีดหมอมีอยู่ในสนับเพลาเล่มหนี่งพอจะสู้ตามบุญตามกรรมลองดูที แต่มือซ้ายกุมด้ามหอกลาวกดไว้ มือขวาชักมีดหมอออกจากสนับเพลา แล้วเอื้อมแทงชุ่ยส่งขึ้นไปถูกโคนขาอ่อนเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์จึงล้มลง ดาบหลุดจากมือ ขณะนั้นนายเทิดกับนายทิมสองคนพี่น้อง ถือปืนอยู่คนละกระบอกจึงยิงออกไป กระสุนปืนถูกเจ้าราชวงศ์ที่ริมกระดูกสันหลังแห่งหนึ่ง ถูกที่ตะโพกแห่งหนึ่ง หาเข้าทั้งสองแห่งไม่ เป็นแต่หนังเกรียม ๆ
ขณะนั้นทหารลาวที่ติดตามเจ้าราชวงศ์มานั้น มันสำคัญเข้าใจว่าเจ้าราชวงศ์นายมันตาย มันจึงได้ช่วยกันยกหามนายมันขึ้นวางบนแคร่ แล้วหามพาหนีออกไปทางด้านพระรามพินาศ พระพิเดชสงคราม นายกองทั้งสองนั้นมีความประมาท หาสู้ตั้งกองล้อมโดยแข็งแรงไม่ เข้าใจเสียว่าเจ้าราชวงศ์ตายแล้ว ที่ไหนจะหนีไปได้ เพราะฉะนั้น จึงมีความเลินเล่อไม่ล้อมเป็นวงพาด
 ครั้นลาวหามแคร่เจ้าราชวงศ์ไปสักครู่หนึ่ง พอเจ้าราชวงศ์ได้สติจึงลุกขึ้นจากแคร่ มือคว้าดาบได้เล่มหนึ่งที่บ่าวถือนั้น โดดขึ้นหลังม้าฟันฝ่ากองทัพไทย หนีแหกออกไปได้ทางด้านพระรามพิชัยและพระเขื่อนเพชรซึ่งเป็นกองวงสายนอก หาทันระวังรักษาด้านทางไป ด้วยตกตะลึงไปขณะที่รบกัน
 ขณะเจ้าราชวงศ์ฟันฝ่าหนีออกไปนั้น เสียนายทัพนายกองและไพร่พลไทยในที่รบคือหลวงจัตุรงค์โยธี ถูกหอกซัดลาวตายในที่รบ ๑ หลวงพินิจโยธา ถูกปืนลาวตายในที่รบ ๑ พระพรหมบุรี ผู้รักษาเมืองพรหมบุรี ถูกลูกปืนหลังม้าลาวยิงตาย ๑ แต่เสียขุนหมื่นพันทนายไพร่พลตายในที่รบ ๒๙ คน ที่เจ็บป่วยลำบาก ๓๔ คน ไพร่ลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิถูกอาวุธลาวเวียงจันทน์ตาย ๖๘ คน แต่ลาวเวียงจันทน์ตายในที่รบเก็บศพได้นายม้าผู้ดี ๘ คน ไพร่ ๑๘๗ คน ไพร่พลเวียงจันทน์ที่ตายตามทางประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน
ครั้งนั้นพลทหารไทยมีความประมาทว่าล้อมลาวไว้แล้วจึงพากันยืนดูเล่นเช่นดูตีกระบี่กระบอง ไม่ใคร่ระวังรักษาหน้าที่ด้านทางโดยกวดขัน เพราะสำคัญเข้าใจว่าลาวน้อยตัวแล้ว ทั้งอยู่ในที่ล้อมจะหนีไปข้างไหนให้พ้นฝีมือไทยได้
 ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ขึ้นม้าฟันฝ่ากองทัพไทย ตีแหกเป็นช่องหนีออกจากที่ล้อมได้ ตรงไปจะเข้าค่ายใหญ่ของตนก็มิได้ ด้วยค่ายของตนเสียแก่พระยาราชสงครามนายทัพไทย ไทยได้รักษาไว้ทั้งสามค่ายแล้ว พลทหารลาวในค่ายทั้งสามนั้น ไทยฆ่าตายมากแล้วจับเป็นได้มาก ที่เหลือตายก็แตกระส่ำระสายหนีเข้าป่าเข้าดงไปได้บ้างแต่น้อย ครั้งนั้นพระยาราชสงครามมีชัยชนะได้ค่ายเจ้าราชวงศ์แล้ว ได้เครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ และกระสุนดินดำ เสบียงอาหารบริบูรณ์ทุกสิ่ง ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เห็นค่ายของตนเสียแก่ไทยแล้ว จึงชักม้ากลับลัดเข้าป่าหนีรุดไปกับทหารที่ร่วมใจ ๔๐ คน หนีไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง พอพบเรือพวกลาวชาวบ้านป่าไปเที่ยวหาปลา เจ้าราชวงศ์ก็ทิ้งม้าเสียที่ฝั่งแม่น้ำโขง พาทหารร่วมใจลงเรือ ๓ ลำ รีบเร่งช่วยกันถ่อพายขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง หมายจะไปถึงเวียงจันทน์โดยเร็ว
 เมื่อเจ้าราชวงศ์ฟันฝ่ากองทัพหนีไปแล้วนั้น ทหารไทยก็กรูกันเข้าไปยกหามม้าที่ตายทับขาเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีลุกขึ้นได้แล้วยกมือแยงเข้าไปในแผล จึงรู้ว่าแผลตื้น หนังฉีกเป็นรอยยาวโอบท้อง ไม่ทะลุเข้าไปข้างใน จึงเรียกน้ำมันว่านมาหยอดแผล แล้วแก้รัดประคตหนามขนุนที่เอวออกมา พันแผลที่ท้องไว้ให้มั่นคงดี จึงเรียกเสื้อที่ทนายมาเปลี่ยนใหม่ เสร็จแล้วโดดขึ้นแคร่ เร่งคนหามแคร่ไปติดตามเจ้าราชวงศ์ในเวลาวันที่หนีไปนั้น พร้อมด้วยทหารนำตาม ๓๐๐ เศษ รีบเร่งติดตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง แลเห็นเจ้าราชวงศ์กับบ่าวไพร่ลงเรือ ๓ ลำข้ามแม่น้ำโขงไปไกลลิบ ๆ เกือบจะถึงฝั่งฟากข้างโน้นอยู่แล้ว
 เจ้าราชวงศ์กับบ่าวไพร่ช่วยกันถ่อพายเร่งรีบจะขึ้นไป ถึงเมืองเวียงจันทน์แล้วจึงแจ้งความตามที่ยุทธหัตถ์กับเจ้าพระยาราชสุภาวดีแต่ต้นจนปลายให้เจ้าอนุบิดาฟังสิ้นทุกประการ แล้วจึงบอกว่า
“กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีฝีมือเข้มแข็งนัก ไม่ย่อท้อถอยสักคนหนึ่ง และไทยได้เมืองยโสธรและเสบียงอาหารกวาดต้อนไปเป็นกำลังมาก แล้วไปตั้งค่ายใหญ่อยู่เมืองสุวรรณภูมิ ก็ได้พลเมืองเป็นกำลังเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก แล้วก็ได้อ้ายพระยาเชียงสากับอ้ายพระยาสงครามเวียงไชยทั้งสองคนไปไว้เป็นกำลังไทย ไทยจึงได้รู้การตื้นลึกหนักเบาของเราทั้งสิ้น ข้าพเจ้าก็ได้รบกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีตัวต่อตัว จนถึงตะลุมบอน และถูกแทง ถูกปืนสองนัดหาเข้าไม่ เป็นแต่เจ็บช้ำ เห็นเหลือกำลังจะตั้งต่อสู้ไม่ได้ ต้องล่าหนีมา อีกประการหนึ่งพลทหารในกองทัพเราก็ล้มตายลงมาก บ้างก็หนีเข้าป่าดงไปมาก เพราะฉะนั้นจึงเสียค่ายทั้งสามที่ตำบลทุ่งบกหวานแก่ไทย ไทยได้พลลาวจับเป็นได้มาก”
(เจ้าราชวงศ์บอกกับเจ้าอนุว่า) “ครั้งนี้เราเหมือนนกปีกหัก ถึงมาทว่าเราจะเกณฑ์ผู้คนไปรบอีกเล่า เห็นจะไม่มีใครเต็มใจไปสู้รบ เพราะว่าไพร่พลขยาดฝีมือไทยมาหลายครั้งหลายหนแล้ว และอำนาจเราน้อยถอยลงมากด้วย ทั้งเสบียงอาหารตามหัวเมืองรายทางแม่น้ำโขงนั้นขัดสน มันเข้าตาจนไปทุกอย่าง คิดอย่างหนึ่งแต่จะอพยพหนีไปพึ่งญวนอย่างเดียว จึงจะพ้นความตาย ไทยไม่ทำอันตรายแก่เราได้”
เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ เจ้าสุทธิสาร เจ้าบุตรหลาน ปรึกษาเห็นพร้อมกันแต่ทางที่จะหนีไปพึ่งญวนฝ่ายเดียว ดังนั้นแล้ว เจ้าอนุสั่งท้าวโสให้จัดการบ้านเมืองที่จะล่าหนีไปนั้นให้เป็นแม่กองใหญ่
 ครั้นวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เวลาตีสิบเอ็ดทุ่มเศษ เจ้าอนุพาครัวอพยพหนีออกจากเมืองเวียงจันทน์ ขึ้นช้างพร้อมทั้งราชบุตรราชธิดาวงศานุวงศ์และสนมกำนัล ชาวแม่พนักงานทั้งราชเทพีพาหนีขึ้นไปด้วย แต่สิ่งของทองเงินเครื่องอุปโภคบริโภค ทั้งเสบียงอาหารนั้น บรรทุกโคต่างและช้างบ้าง เดินครัวไปทางข้างทิศตะวันออก ตรงไปเมืองพวน ซึ่งเป็นหัวเมืองลาวขึ้นแก่ญวน
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี ขึ้นแคร่ติดตามเจ้าราชวงศ์ไปถึงฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ทันเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์หนีไปใกล้ฝั่งแล้ว จึงสั่งให้ทหารไปเที่ยวหาเรือจะคิดติดตามไป เรือก็ไม่มี จึงกลับมายังค่ายทุ่งบกหวาน สั่งให้พระยาเชียงสา พระยาสงครามเวียงไชย คุมไพร่พลเมืองสุวรรณภูมิ ๑,๐๐๐ เศษเข้าสมทบทัพพระยานครสวรรค์ พระยานครสวรรค์คุมพลไทย ๑,๐๐๐ รวมทั้งลาวเป็น ๒,๐๐๐ เป็นทัพหน้า ให้พระยาราชรองเมืองเป็นทัพหลังคุมพล ๑,๐๐๐ ให้พระยาราชสงครามเป็นเกียกกาย คุมพล ๕๐๐ คน ยกไปรักษาค่ายเก่าที่ทุ่งบกหวาน เพื่อจะรักษาต้นทางไว้ ให้พระยา, พระ,หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลายเป็นปีกซ้ายขวา กองหน้ากองหนุนพร้อมเสร็จ
เจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพหลวง ก็ยกกองทัพใหญ่เร่งรีบมาตั้งค่ายอยู่ที่ค่ายเก่าพรานพร้าว ๔ ค่าย
 * ในที่สุดเจ้าพระยาสิงห์ก็รอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์ เจ้าราชวงศ์หนังเหนียวด้วยเครื่องรางของขลัง หรือเพราะว่าลูกปืนทหารไทยไม่คมพอที่จะชำแรกเนื้อหนังเข้าไปในองค์ท่านได้ก็ไม่รู้นะ ถูกยิงสองนัดไม่เข้าสักนัดเดียว เพียงเป็นรอยไหม้เกรียมตรงถูกลูกปืนเท่านั้น แล้วท่านก็แหวกวงล้อมหนีไปได้ในที่สุด
และแล้วเจ้าอนุก็ทิ้งลาว ทิ้งเวียงจันทน์ หนีไปพึ่งญวนอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพหลวงกลับไปตั้งค่ายที่บ้านพรานพร้าวอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๔๐ -
เวียงจันทน์ร้างว่างเจ้าไร้เหล่าทัพ อนุกับราชวงศ์ไม่คงนิ่ง กลัวทัพไทยยกล่วงมาช่วงชิง จึงทอดทิ้งเมืองไปก่อนไทยมา
พระยานครสวรรค์นั้นตามติด จับคนชิดเจ้าอนุได้มากหน้า เจ้าสุทธิสาร,เต้,ปาน,ปั้น,พันธนา เจ้าพระยาแม่ทัพรับสอบความ |
อภิปราย ขยายความ.....
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยาสิงห์รอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์ ขณะที่เจ้าราชวงศ์ชักดาบเงื้อขึ้นจะตัดคอท่านเจ้าคุณแม่ทัพนั้น น้องชายต่างมารดาท่านก็โผเข้าไปช่วยแก้ไข จนถูกดาบของเจ้าลาวฟันคอขาดกระเด็น เจ้าคุณแม่ทัพนึกถึงมีดหมอที่ซ่อนไว้ในสนับเพลาได้ จึงชักออกมาแทงไปถูกโคนขาอ่อนเจ้าลาวล้มลง พลทหารไทยใช้ปืนยิงใส่ร่างเจ้าลาวสองนัด เจ้าราชวงศ์หนังเหนียว ถูกยิงสองนัดไม่เข้าเนื้อสักนัดเดียว เพียงเป็นรอยไหม้เกรียมที่ผิวหนังตรงถูกลูกปืนเท่านั้น แล้วท่านก็แหวกวงล้อมหนีไปได้ในที่สุด และแล้วเจ้าอนุก็ทิ้งลาว ทิ้งเวียงจันทน์หนีไปหมายพึ่งญวนอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพหลวงจากเมืองสุวรรณภูมิ กลับไปตั้งค่ายที่บ้านพรานพร้าวอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านกันต่อครับ
 “ในวันที่มาถึงพรานพร้าวนั้น แต่ยังตั้งค่ายไม่แล้ว เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้าให้คุมพล ๑,๕๐๐ ยกข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าซ่ม หาดทรายตื้น ๆ ข้ามพลไปในเมืองเวียงจันทน์ให้ทันท่วงทีลาวให้จงได้ สั่งพระยาราชสงคราม พระยาพิชัยรณฤทธิ์ พระยาพิชิตณรงค์ คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ยกไปเป็นกองหนุน แต่ให้ยกไปข้ามที่ท่าช้างข้ามท้ายเมืองเวียงจันทน์ ให้ยกเข้าพร้อมกันทุกทัพทุกกอง สั่งให้พระยาราชรองเมืองอยู่รักษาค่ายที่พรานพร้าว และให้เร่งคนทำค่ายให้แล้วโดยเร็ว สั่งให้กองพระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา ยกพลทหาร ๕๐๐ ไปรักษาด่านทางข้างตะวันตก ให้พระยาเชียงสา พระยาสงครามเวียงไชย คุมคน ๑๐๐ ไปเที่ยวหาเรือใหญ่น้อยตามชาวบ้านเก่า ๆ เก็บมาไว้เพื่อจะได้ข้ามผู้คนไปในเมืองเวียงจันทน์ ให้พระพลสงครามกับหลวงบุรินทร นายด่านเมืองนครราชสีมา คุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปรักษาทางข้างเมืองหนองคายท่าข้าม
ครั้งนั้น พระยานครสวรรค์ก็ยกพลข้ามเข้าไปในเมืองเวียงจันทน์ ได้เห็นแต่เมืองเปล่า หาได้พบกองทัพลาวตั้งต่อรบไม่ มีแต่ผู้คนที่ป่วยไข้แก่ชราทุพลภาพอยู่ประมาณ ๓๐๐ เศษ กับครอบครัวฉกรรจ์ที่ไม่ยอมไปกับเจ้าอนุและไม่หนีด้วย คงอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ประมาณ ๔๐๐ คนเศษ มีนายหมวดนายกองควบคุมอยู่เป็นหมู่ ๆ
ฝ่ายพระยานครสวรรค์สั่งให้พานายหมวดนายกองครัวมาไต่ถามได้ความว่า
 “เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ พาครัวหนีไปจากเมืองเวียงจันทน์ได้สี่วันแล้ว เจ้าอนุอพยพครอบครัวขึ้นช้าง โคต่าง ไปทางทิศตะวันออก พาครอบครัวไปมาก แต่พวกครอบครัวข้าพเจ้า ๔๐๐ คนเศษนี้ ไม่ยอมไปด้วยเจ้าอนุ เพราะเห็นว่าเป็นการลำบากพลัดพรากครอบครัว แล้วก็จะไปไม่ตลอดได้ และเมื่อเจ้าอนุจะหนีไปนั้น เจ้าอนุก็สั่งให้ทหารเก็บปืนใหญ่น้อยที่เหลือจากบรรทุกช้างและโคต่างไปไม่หมด ให้ขนลงทิ้งในแม่น้ำโขงเสียสิ้น ชั้นแต่พระพุทธรูปงาม ๆ ดี ๆ ก็หาบหามมาทิ้งแม่น้ำโขงเสียด้วย ทั้งทรัพย์สินเงินทองของใช้สอยของครอบครัวพลเมืองลาวที่เหลือพาไปไม่ได้ เจ้าอนุสั่งให้ทหารขนทิ้งน้ำเสียหมด แต่เสบียงอาหารในยุ้งฉางนั้น เจ้าอนุสั่งให้ทหารนำไฟจุดเผาให้สิ้นเชิง ไม่ให้ไว้เป็นกำลังแก่ไทยต่อไป แต่พวกครอบครัวที่ไม่ยอมไปด้วยเจ้าอนุนั้น พากันร่วมใจคิดเกียดกันไว้ไม่ยอมให้เผายุ้งฉาง จวนจะเกิดเป็นกบฏขึ้นอยู่แล้ว เจ้าอนุเห็นพวกครัวพร้อมใจกันจะเป็นกบฏ ไม่ยอมให้เผายุ้งฉางดังนั้น เจ้าอนุก็พาครอบครัวอพยพหนีไปในเวลาเช้าตรู่”
 ขณะนั้นพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้า ได้ทราบข้อความตามพวกครัวบอกดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้หลวงยกกระบัตรเมืองนครสวรรค์กับหลวงสุระเสนี คุมพลทหารที่แบ่งให้ไว้ ๕๐๐ ให้อยู่รักษาครัวลาวในเมืองเวียงจันทน์ไว้ แล้วพระยานครสวรรค์ก็รีบยกกองทัพออกจากเมืองเวียงจันทน์ในวันนั้น รีบไปติดตามเจ้าอนุไปได้ ๕ วัน ถึงบ้านไผ่ใกล้เมืองเพ็ญก็ไม่ได้พบเจ้าอนุ พบแต่ครอบครัวลาวเจ้านายชายหญิงต่าง ๆ ตั้งชุมนุมอยู่ที่ป่าห้วยบ้านไผ่ กำลังกินเข้าเช้าอยู่พร้อมกัน
 หลวงนราธิราชเห็นก่อนดังนั้นจึงใช้ให้ม้าเร็วมาบอกแก่พระยานครสวรรค์ พระยานครสวรรค์ต้อนพลช้างเข้าล้อมไว้โดยรอบ หมื่นสิทธิกรรม์กรมช้างยกปืนหามแล่นหลังช้างยิง ๒ นัด กระสุนปืนไปตกใกล้ชุมชนเจ้าหญิง ถูกเด็กอายุ ๑๑ ปี ตายคนหนึ่ง ถูกช้างที่บรรทุกของเตรียมจะไปล้มลงตายเชือกหนึ่ง พวกลาวลุกขึ้นหันหน้ามายกปืนจะยิงต่อสู้บ้าง เจ้าสุทธิสารเห็นช้างรบไทยมากยกมาล้อมรอบแล้ว ถ้าจะขืนต่อสู้ก็เห็นจะพากันตายเสียสิ้นเป็นแน่ จึงวิ่งไปห้ามปรามทหารไว้ไม่ให้ยกปืนยิงโต้ตอบไป ให้เก็บเครื่องศาสตราวุธมาให้หลวงนราธิราช นายทหารไทยกองหน้า ทหารไทยกองหน้าจึงจับได้เจ้านายชายหญิงลาวทั้งไพร่ได้ทั้งสิ้น ที่ปากห้วยบ้านไผ่ใกล้เมืองเพ็ญ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ เวลาเช้าประมาณสามโมงเศษ
จับได้เจ้าชาย ๕ หญิง ๑ คือชาย เจ้าสุทธิสาร ๑ เจ้าเต้ ๑ เจ้าปาน ๑ เจ้าปั้น ๑ เจ้าดวงจันทร์ ๑ เจ้าหญิงคำวรรณ ๑ เป็น ๖ คนนี้ บุตรเจ้าอนุกับเจ้ารอดหลานเจ้าอนุคนหนึ่ง เจ้ารูปงามบุตรเจ้าสุทธิสารหนึ่ง กับนางสนมเจ้าอนุอีก ๓ คนชื่อ มาลัยหนึ่ง ชื่อวอนหนึ่ง ชื่อวันดีหนึ่ง จับได้ญาติวงศานุวงศ์เจ้าอนุอีก ๓ คน ชื่อ พรหมา ๑ เปรมปรีดา ๑ พระยาเกรียงดี ๑ กับจับได้หญิงสาวใช้อีก ๑๖ คนแต่ล้วนรูปร่างงาม ๆ ดี ๆ กับไพร่พลได้ ๔๓ คน
พระยานครสวรรค์สั่งให้ทหารทำตะโหงกจำพวกลาวเหล่านี้ไว้ทั้งสิ้น แล้วจึงสั่งให้หลวงทรงวิไชยกับหลวงไกรสงครามคุมไพร่ ๑๕๐ คน คุมเจ้านายชายหญิงลาวมาส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายพรานพร้าว แต่พระยานครสวรรค์จึงยกพลทหารติดตามเจ้าอนุต่อไป สั่งให้พระยาเชียงสากับพระยาสงครามเวียงไชยนำทางตามไปในป่า ให้หลวงนราธิราชกำกับไปด้วย
ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระภักดีนุชิต กับหลวงโยธาบริบาล ขุนวิสุทธิเสนี เป็นตุลาการถามปากคำเจ้าสุทธิสาร เจ้าสุทธิสารให้การว่า
 “เมื่อเจ้าอนุหนีไปนั้น เจ้าสุทธิสาร เจ้าปาน เจ้าปั้น เจ้าเต้ เจ้าดวงจันทร์ หารู้ไม่ ครั้นรุ่งขึ้นจึงรู้ ก็ได้ตามเจ้าอนุไปไม่พบ ครั้นถึงบ้านดอน ขอช้างที่นั้นจะได้ขี่ไปตามเจ้าอนุ ก็ไม่ได้ช้างสักเชือกหนึ่ง ผู้เลี้ยงช้างบอกว่าเจ้าอนุพาช้างไปเสียหมดแต่เวลาเช้านี้แล้ว เจ้าสุทธิสารกับญาติพวกพ้องบ่าวไพร่ก็ต้องเดินไปกลางป่า พอเวลาบ่ายก็ได้พบอ้ายฉิมบ่าวเก่าขี่ช้างนำมา ๔ เชือก อ้ายฉิมแจ้งความว่า เจ้าอนุใช้ให้นำช้างมารับพวกเจ้านายบุตรหลานตามไป เมื่อเจ้าสุทธิสารพบอ้ายฉิมนั้น ณ วันเดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ อ้ายฉิมบอกว่าเจ้าอนุเดินครัวรอคอยท่าเจ้าสุทธิสารอยู่ แต่ไพร่พลในกองเจ้าอนุนั้นหลบลี้หนีเข้าป่าดงเสียเป็นอันมาก เหลืออยู่แต่บ่าวไพร่ที่สนิทติดตามไปบ้างเล็กน้อย หาพอใช้สอยไม่ บุตรหลานญาติที่ตามไปนั้น คือ เจ้าราชวงศ์หนึ่ง เจ้าเหมนหนึ่ง เจ้าขัตติยะหนึ่ง เจ้าหญิงเชียงคำหนึ่ง ทั้ง ๔ เป็นบุตรเจ้าอนุ กับเจ้าคำปล้องอัครราชเทพีเจ้าอนุหนึ่ง กับสนมกำนัลนาง ๖ คน และไพร่พลที่สนิทตามไป ๓๐ คน ช้าง ๕ เชือก กับม้า ๕ ตัว แต่ไพร่พลช้างม้าในกองราชวงศ์นั้น จะมีไปมากน้อยสักเท่าใด อ้ายฉิมหาทันสังเกตไม่ เจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์จะแยกย้ายทางกันไป เพราะเจ้าราชวงศ์ป่วยจะไปทางเรือ แต่เรือยังหาไม่ได้ เจ้าอนุนั้นไปทางบก จะไปทางท่าข้ามช้างแล้วจะไปอาศัยอยู่ที่เมืองพวนเขตแดนญวนก่อน”
(สิ้นคำให้การเจ้าสุทธิสารเท่านี้)
 * เมืองเวียงจันทน์กลายเป็นเมืองร้างอีกครา เมื่อเจ้าอนุพาครัวหนีกองทัพไทยไปญวน หนีไปคราวนี้เริ่มต้นไปทางบก มุ่งสู่เมืองพวน ซึ่งเป็นลาวเมืองขึ้นแก่ญวน คราวนี้มีสภาพ “บ้านแตกสาแหรกขาด” รีบไปอย่าง “ตาลีตาลาน” เพราะกลัวจะถูกครัวลาวชาวเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ ไม่ทันได้ชักชวนบอกเล่าเจ้าสุทธิสาร โอรสระดับแม่ทัพคนสำคัญ และโอรสอีกหลายองค์ ไปจนไกลแล้วจึงนึกได้ ส่งคนนำช้างมารับ แต่ก็สายไปแล้ว เจ้าสุทธิสารและคณะถูกกองทัพพระยานครสวรรค์ตามจับมาได้ ส่วนตัวเจ้าอนุนั้น ไพร่พลก็หลบลี้เข้าป่าดงไปเกือบหมด มุ่งเดินบกไปเมืองพวน ส่วนเจ้าราชวงศ์ที่ยังอยู่ในอาการบาดเจ็บจากการรบตะลุมบอนกับเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ที่ทุ่งบกหวาน อาการยังไม่ดีขึ้น จึงขอแยกทางเดินคนละทางกับบิดา โดยขอไปทางเรือ ขณะที่เจ้าสุทธิสารให้การอยู่นั้น เจ้าอนุยังไปไม่ถึงเมืองพวน เจ้าราชวงศ์ยังหาเรือโดยสารไปเมืองพวนยังไม่ได้ กองทัพพระยานครสวรรค์จะติดตามจับตัวเจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์ได้หรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๔๑ -
ครั้นญวนรู้เรื่องราว “ถูกลาวหลอก” หนังสือบอกหนึ่งฉบับแม่ทัพสยาม เจ้าอนุฉบับหนึ่งซึ่งหมายปราม ส่งในนามเจ้าแผ่นดินธานินทร์ญวน
เสียดายว่าฝ่ายไทยเข้าใจผิด ผลาญชีวิตขุนนางเวียดนามห้วน เหตุเกิดนครพนมไม่สมควร เป็นชนวนสงครามใหญ่รบหลายปี |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เมืองเวียงจันทน์กลับกลายเป็นเมืองร้างอีกครา เมื่อเจ้าอนุพาครัวหนีกองทัพไทยไปญวน ไปคราวนี้เดินทางบก มุ่งสู่เมืองลาวพวนซึ่งเป็นเมืองขึ้นแก่ญวน ไปแบบมีสภาพ “บ้านแตกสาแหรกขาด” รีบร้อน ไม่ทันได้ชักชวนบอกเล่าเจ้าสุทธิสาร โอรสระดับแม่ทัพคนสำคัญ และโอรสอีกหลายองค์ เดินทางไปจนไกลแล้วจึงนึกได้ ส่งคนนำช้างมารับ แต่ก็สายไปแล้ว เจ้าสุทธิสารและคณะถูกกองทัพพระยานครสวรรค์ตามจับมาได้ ส่วนตัวเจ้าอนุนั้นไพร่พลก็หลบลี้เข้าป่าดงไปเกือบหมด มุ่งเดินบกไปเมืองพวน ส่วนเจ้าราชวงศ์ที่ยังอยู่ในอาการบาดเจ็บจากการรบขั้นตะลุมบอนกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ทุ่งบกหวาน อาการยังไม่ดีขึ้น จึงขอแยกทางเดินคนละทางกับบิดา โดยขอไปทางเรือ ขณะที่เจ้าสุทธิสารให้การแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดียู่นั้น เจ้าอนุยังไปไม่ถึงเมืองพวน เจ้าราชวงศ์ก็ยังหาเรือโดยสารไปเมืองพวนยังไม่ได้ กองทัพพระยานครสวรรค์จะติดตามจับตัวเจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์ได้หรือไม่ มาอ่านกันต่อครับ
 “เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ฟังคำให้การเจ้าสุทธิสารดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้เกณฑ์คนเพิ่มเติมอีก ๕๐๐ คน ให้พระยารามกำแหงคุมพลทหารไปสมทบเข้าในกองพระยานครสวรรค์ ให้ชวยกันติดตามเจ้าอนุให้ได้ แล้วให้พระยาอภัยสงครามคุมพลไพร่ในพระราชวังบวรฯ ๕๐๐ คน ยกไปตามเจ้าราชวงศ์ทางเมืองมหาชัยกองแก้ว ให้ยกเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปจึงจะทัน ให้หลวงภักดีสงครามเมืองนครราชสีมา นำทัพพระยาอภัยสงครามตามเจ้าราชวงศ์ แล้วสั่งให้พระยาประกฤษณุรักษ์กับพระศุภมาตราเมืองนครราชสีมา กับพระพิพิธเดชะ หลวงวิเศษธานี หลวงงำเมือง หลวงไกรนารายณ์ คุมไพร่พล ๑๕๐ คน คุมตัวเจ้าสุทธิสารและเจ้าชายหญิงบุตรหลานญาติเจ้าอนุ ลงมาส่ง ณ กรุงเทพฯ ให้ลงไปทางเมืองนครราชสีมา
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกกองทัพไปตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ที่วัดจันทน์ ให้ตั้งค่ายใหญ่ แล้วแบ่งคนให้พระยาราชรองเมืองไปตั้งรักษาอยู่ที่นอกเมืองตามชายหาด ให้พระยาราชสงครามแบ่งคน ๕๐๐ อยู่รักษาค่ายที่พรานพร้าว ครั้งนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พลทหารไปรื้อทำลายบ้านเมืองเวียงจันทน์เสียสิ้น เว้นไว้แต่ศาลเจ้าและวัดเท่านั้น ฝ่ายเพี้ยเมืองจันทน์และเพี้ยเมืองซ้ายก็พากันเข้ามาหาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีมิได้ถือโทษ โปรดให้เพี้ยทั้งสองคนไปติดตามเกลี้ยกล่อมต้อนครอบครัวเมืองเวียงจันทน์ที่หนีไปป่าดง ได้มามากน้อยเท่าใดจึงให้ส่งข้ามฟากไปให้พระยาราชสงครามและพระยาราชรองเมืองรวบรวมไว้ที่ค่ายพรานพร้าว กำหนดจะได้กวาดต้อนครอบครัวลาวส่งไปกรุงเทพฯ ณ เดือนสิบสอง
เจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดอ่านตัดรอนผ่อนกำลังรี้พลลาวให้น้อยลงสิ้นหวงใย เจ้าอนุจะได้ไม่มาคิดตั้งบ้านเมืองต่อไป จะให้เมืองเวียงจันทน์ยังอยู่แต่แผ่นดินเปล่า เป็นป่าดงไปตามพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัว
 พระยาราชสุภาวดีสั่งให้คนลงดำน้ำหาปืนใหญ่น้อย ที่เจ้าอนุเก็บของพระยาพิชัยสงครามไว้ได้ ๕๐๐ กระบอก แล้วเจ้าอนุทิ้งน้ำเสียสิ้นเมื่อจะหนีไปนั้น ฝ่ายกองทัพไทยดำปืนใหญ่น้อยได้สิ้นทุกกระบอก และได้เงินทองของต่าง ๆ เป็นอันมาก เงินทองที่ดำได้ในแม่น้ำโขงนั้น ให้แบ่งเป็นสิบส่วน ยกให้ผู้ดำได้ ๒ ส่วน เป็นหลวง ๘ ส่วน เว้นปืนและอาวุธหรือพระพุทธรูปไม่มีสิบลดสอง ครั้งนั้นได้พระพุทธรูปนาคปรกทองคำองค์หนึ่ง ทองคำหนักห้าชั่งเจ็ดตำลึงสองบาท พระเนตรฝังพลอยนิลข้างหนึ่ง แต่ข้างหนึ่งหลุดหายหาไม่ได้ ได้ปืนปากแตรรูปคล้ายดอกลำโพงยาวสิบเอ็ดคืบ มีรูชนวนเต้าดินคร่ำทองคำ เป็นลายลดน้ำทั้งกระบอก (เห็นจะเป็นปืนหลังช้างของลาว)
 * ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามทรงทราบว่า เจ้าอนุทำการวุ่นวาย ฆ่าฟันผู้คนในกองทัพไทยตายมาก หาเหตุที่ไทยไม่ได้ข่มเหงลาวเลย เจ้าอนุไม่ตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริต ดังที่เจ้าอนุกราบทูลพระเจ้าเวียดนามนั้นไม่ พระเจ้าเวียดนามจึงรับสั่งให้องทงเจอัครมหาเสนาบดี มีหนังสือมาถึงแม่ทัพไทยฉบับหนึ่ง ถึงเจ้าอนุฉบับหนึ่ง มีท้องตราบังคับสั่งให้เจ้าเมืองล่าน้ำ (แง่อาน) จัดขุนนางกรมการญวนกับไพร่ญวนลาว ถือหนังสือมาถึงเจ้าอนุและแม่ทัพไทยให้ได้ตามรับสั่งพระเจ้าเวียดนาม
 ครั้นเจ้าเมืองแง่อานทราบท้องตราบังคับสั่งมาเสนาบดีดังนั้นแล้ว จึงจัดให้กายโดยทุงเป็นหัวหน้า ให้ดินยุดเวียหูคน ๑ เป็นล่ามพูดภาษาลาวได้ กับไพร่ญวนลาวหัวเมืองขึ้นรวม ๕๐ คน ขึ้นช้างดินบกมาลงเรือที่ท่าหน้าเมืองมหาชัยกองแก้ว ครั้นล่องเรือมาถึงเมืองนครพนม ญวนทราบว่าเจ้าอนุหนีไปอยู่ในเมืองพวนเขตแดนญวนแล้ว ขุนนางญวนจึงได้ใช้ให้ล่ามไปหาแม่ทัพไทยที่เมืองนครพนม ล่ามก็แจ้งความว่าญวนนำหนังสือมาให้แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย แล้วจะขอพบพูดจากับท่านแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยด้วย ฝ่ายพระวิชิตสงครามวังหน้า ๑ หลวงนรารณรงค์ ๑ หลวงจงใจยุทธ ๑ ซึ่งตั้งทัพเป็นด่านอยู่ที่เมืองนครพนม ทราบความตามที่ญวนล่ามมาบอกดังนั้นแล้ว จึงบอกกับญวนว่า
“แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยอยู่ไกลถึงค่ายพรานพร้าว จะมีหนังสือขึ้นแจ้งข้อราชการก่อน เมื่อมีบัญชาโปรดมาประการใดจึงจะให้ญวนรู้ต่อภายหลัง บัดนี้ให้ญวนพักอยู่ที่นี่ก่อน จะจ่ายเสบียงอาหารให้กินทั่วทุกคนที่มา มิให้อดอยาก ขุนนางญวนได้ทราบดังนั้นก็ต้องคอยอยู่ที่เมืองนครพนม”
 ฝ่ายพระวิชิตสงครามมีหนังสือบอกข้อราชการญวนใช้ให้ขุนหาญฤทธิ์รณรงค์ถือหนังสือขึ้นไปให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาให้มีหนังสือตอบว่า
“ครั้งก่อนนั้นพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต กับไพร่ไทยห้าร้อยหกร้อยมีความประมาท เพราะหลงเชื่อถือถ้อยคำญวนที่มาส่งเจ้าอนุลาว ไทยจึงได้ตายเกือบ ๗๐๐ คนครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้อ้ายญวนมันจะมาล่อหลอกไทยให้ตายอย่างครั้งก่อนอีก จะคบหามันไม่ได้ ให้กำจัดญวนเหล่านั้นเสียจากเขตแดนไทยให้สิ้นเชิง”
ฝ่ายพระวิชิตสงคราม หลวงนรารณรงค์ หลวงจงใจยุทธ ได้แจ้งหนังสือท่านแม่ทัพใหญ่พูดมาเป็นนัยในสองทางดังนี้นั้น จึงสำคัญผิดคิดไปว่าจะให้ฆ่าญวนเสียให้สิ้น จึงสั่งคนใช้ให้ไปล่อลวงขุนนางญวนและไพร่ให้ขึ้นมาพูดว่า “จะเลี้ยงโต๊ะเป็นการรับรองทางไมตรี”
ขุนนางญวนไม่รู้กลอุบายไทย สำคัญใจว่าไทยเชิญให้ไปนั่งโต๊ะจริง ๆ จึงให้ไพร่อยู่เฝ้าเรือแต่ ๒ คนเท่านั้น นอกนั้นพากันเข้ามาในค่ายไทยทั้งสิ้น
 ครั้นขุนนางญวนและไพร่ญวน ลาว ไปนั่งลงในที่ค่ายไทยพร้อมกันแล้ว นายทัพใหญ่ทั้งสองจึงร้องขึ้นว่า “พวกเราเร่งลงมือเถิด” พวกพลทหารไทยที่นัดหมายกันแล้ว จึงกรูกันเข้าฆ่าญวนตายทั้งนายและไพร่ ๔๘ คน เหลืออยู่ญวนหนึ่งชื่อเลดินยุดกับไพร่ลาว ๒ คนถูกอาวุธป่วยลำบากอยู่มาก ยังไม่ตาย ส่งขึ้นไปให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นแล้วว่า “นายทหารไทยทำการผิดกับคำสั่งแล้ว ภายหน้าคงจะเกิดเหตุใหญ่โตกับญวนเป็นแม่นมั่น ถึงเช่นนั้นไม่เป็นอะไร เพราะว่าได้ทำการล่วงเกินไปแล้ว จะทำอย่างไรแก้ไขไม่ได้ในครั้งนี้ จำต้องแก้ฝีมือเมื่อปลายมือ ตามบุญตามกรรม”
 * เป็นอันว่า พระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้วว่า เจ้าอนุหลอกลวงญวนเพียงเพื่อเอาตัวรอด ใส่ร้ายไทยด้วย “ขอไปที” คิดว่าญวนคงจับโกหกตนไม่ได้ แต่ญวนก็เป็นญวนซึ่งเป็นคนฉลาดเฉลียวมากกว่า เมื่อพระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะช่วยแก้ปัญหาความชัดแย้งระหว่างไทยลาว จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนุและแม่ทัพใหญ่ของไทย เสียดายว่าแม่ทัพใหญ่ไทยยังมิได้อ่านหนังสือของพระเจ้าเวียดนาม ก็เกิดปัญหาเข้าใจผิดในคำสั่งขึ้นมา นายทัพไทยที่นครพนมอ่านคำสั่งแม่ทัพใหญ่ผิด จึงฆ่าขุนนางญวนและไพร่ที่ถือหนังสือมานั้นตายเกือบไม่เหลือ เจ้าคุณแม่ทัพทราบทันทีว่าจะต้องเกิดเรื่องใหญ่โตระหว่างญวนกับไทยขึ้นอย่างแน่นอน และเหตุการณ์ฆ่าขุนนางญวนที่ค่ายนครพนมนี่เองคือสาเหตุแห่ง “อานามสยามยุทธ” ที่ไทยกับญวนทำสงครามกันยืดเยื่อ โปรดติดตามอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 ภาพวาด เจ้าอนุวงศ์ขณะถูกควบคุมตัวกลับไปที่กรุงเทพมหานคร - อานามสยามยุทธ ๔๒ -
เจ้าอนุเมียลูกถูกจับได้ ณ เขาไก่ด่านพวนสุดด่วนหนี เจ้าพระยาราชสุภาวดี ส่งลงที่กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสเอาตัวใส่กรงเหล็กขังไว้ก่อน ทำประจานขายหน้าประชากร ให้สังหรณ์เครื่องสังหารวางลานตา |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้วว่า เจ้าอนุหลอกลวงญวน ใส่ร้ายไทยด้วย “ขอไปที” คิดว่าญวนคงจับโกหกตนไม่ได้ แต่ญวนก็เป็นญวนซึ่งเป็นคนฉลาดเฉลียวมากกว่า เมื่อพระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะช่วยแก้ปัญหาความชัดแย้งระหว่างไทยลาว จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนุและแม่ทัพใหญ่ของไทย เสียดายว่าแม่ทัพใหญ่ไทยยังมิได้อ่านหนังสือของพระเจ้าเวียดนาม ก็เกิดปัญหาเข้าใจผิดในคำสั่งขึ้นมา นายทัพไทยที่นครพนมอ่านคำสั่งแม่ทัพใหญ่ผิด จึงฆ่าขุนนางญวนและไพร่ที่ถือหนังสือมานั้นตายเกือบไม่เหลือ และเหตุการณ์ฆ่าขุนนางญวนที่ค่ายนครพนมนี่เองคือสาเหตุแห่ง “อานามสยามยุทธ” ที่ไทยกับญวนทำสงครามกันยืดเยื้อ โปรดติดตามอ่านกันต่อไปครับ
 “ครั้นเดือนสิบสองขึ้นสิบสองค่ำ เจ้าน้อยเมืองพวนใช้ให้เพี้ยเมืองกลางกับเพี้ยหัวไชยถือหนังสือมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่ในค่ายเมืองเวียงจันทน์ว่า
“เจ้าน้อยเมืองพวนซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นกับญวน แต่ว่าเขตแดนเมืองพวนติดต่อกับเมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพขึ้นมาใกล้เขตแดนเมืองพวน เมืองพวนจะได้ความเดือดร้อนเพราะเจ้าอนุนั้น เจ้าน้อยเมืองพวนได้ห้ามปรามเจ้าอนุ เจ้าอนุไม่เชื่อ กลับทำการก่อเหตุร้ายต่าง ๆ ให้มาใกล้บ้านเมืองพวน บัดนี้ เจ้าน้อยเมืองพวนก็ได้แต่งให้แสนท้าวคุมกองทัพออกลาดตระเวนที่ด่านทางถึงกันทุกตำบล เพื่อรักษาเขตแดนเมืองพวนด้วย บัดนี้เจ้าอนุหนีขึ้นไปอาศัยอยู่ใกล้เมืองพวน เมืองพวนจะจับเจ้าอนุและครอบครัวเจ้าอนุส่งให้กองทัพไทย มิให้เจ้าอนุหนีไปได้เป็นอันขาด แต่ขออย่าให้กองทัพไทยยกติดตามเจ้าอนุเข้าไปในเขตแดนเมืองพวนเลย กลัวว่าไพร่พลเมืองจะสะดุ้งตกใจไปทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง”
เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้มีหนังสือตอบขอบใจเจ้าน้อยเมืองพวนและสัญญาว่า “จะไม่ให้กองทัพไทยล่วงเข้าไปในเขตแดนเมืองพวนเลยเป็นอันขาด เว้นเสียแต่เจ้าน้อยเมืองพวนจะมีอุบายให้เจ้าอนุรอดพ้นไปจากเมืองพวนนั้น กองทัพไทยจำเป็นจะต้องยกติดตามเข้าไป จนกว่าจะได้ตัวเจ้าอนุได้เมื่อใดจึงจะกลับเมื่อนั้น” ครั้นแต่งหนังสือแล้วส่งให้เพี้ยเมืองกลางกับเพี้ยหัวไชย ถือกลับไปให้เจ้าน้อยเมืองพวน
ครั้น ณ เดือนสิบสอง แรมสิบค่ำ เพี้ยนามโกฏกับเพี้ยอุดมศักดิ์ ก็มาหาเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายเมืองเวียงจันทน์ แจ้งความจริงว่า
“เจ้าน้อยเมืองพวนใช้ให้ออกเที่ยวลาดตระเวนด่านทาง บัดนี้พบเจ้าอนุและครอบครัว เจ้าอนุตั้งพักอยู่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่ ได้ให้กองทัพเมืองพวนพิทักษ์รักษาอยู่ ๑๕๐ คน ล้อมไว้รอบหนีไปไม่ได้ ครั้นจะจับส่งให้ไทย ดูไม่ดีไม่งามใจ ขอให้ไทยแต่งกองทัพขึ้นไปจับตัวเจ้าอนุโดยเร็วเทอญ”
 ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงสั่งให้ พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ๑ พระอินทรเดชใหม่ ๑ พระหฤทัย ๑ หลวงชาติสุเรนทร ๑ คุมไพร่พล ๕๐๐ ไปตามจับเจ้าอนุ ให้พระยาเชียงสาเป็นผู้นำทัพไป ครั้นถึงตำบลหาดเดือย พบพระลับแลกับนายหนานขัตติยะเมืองน่าน กับท้าวมหาพรหมเมืองหลวงพระบาง สามนายคุมพลเมืองของตนกองละ ๓๐๐ บ้าง ๔๐๐ บ้าง ทั้งสามกองช่วยกันจับเจ้าอนุและครอบครัวมาได้สิ้น จำตะโหงกเดินมาทางนั้น ได้พบกันกับพระยาสุพรรณเวลาจวนค่ำ พระยาสุพรรณสำคัญว่าเจ้าอนุยกมาจะต่อสู้ จึงสั่งทหารแยกออกเป็นปีกการับทัพลาว พระหฤทัยกับหลวงชาติสุเรนทรไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงขึ้นม้าสวนทางไปดูข้าศึกว่าจะยกมามากน้อย จึงเห็นกองทัพแต่งกายสวมเสื้อหมวกกางเกงเป็นเครื่องไทย พระหฤทัยจำหน้าพระลับแลขี่ม้านำหน้าทหารนั้นได้ถนัด จึงทราบว่าหาใช่ข้าศึกลาวไม่ เป็นทัพพระลับแลเมืองเหนือกับทัพลาวเมืองน่านเมืองหลวงพระบาง นายทัพทั้งสามกองมาแจ้งความให้พระยาสุพรรณบุรีฟังว่า
 “พระยาพิชัยใช้ให้พระลับแล เมืองหลวงพระบางใช้ให้พระมหาสงครามและท้าวมหาพรหม เมืองน่านใช้ให้นายหนานขัตติยะ ทั้งสามทัพมาพร้อมกันเข้าตามจับเจ้าอนุและครัวได้สิ้น ที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่โป่ง หน้าด่านเมืองพวน ขุนด่านนายด่านเมืองพวนมานำทัพไปตามจับเจ้าอนุ ๑ กับเจ้าบุตรเจ้าอนุ ๓ คน เจ้าหญิงชื่อคำแพง ๑ เจ้าหญิงชื่อหนู ๑ เจ้าชายชื่อหนูแดง ๑ กับหลานเจ้าอนุคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อเจ้าคำผา กับภรรยาเจ้าอนุอีก ๖ คน ชื่อคำปล้องซึ่งเป็นอัครราชเทพี ๑ (ภรรยาหลวง) และนางสนมอีก ๕ คนชื่อทองดี ๑ คำไส้ ๑ บุษบา ๑ คำเกิด ๑ บุปผา ๑ รวม ๑๑ คน แต่ตัวนายสาวใช้และไพร่ชายได้ ๔๐ เศษ
พระยาสุพรรณ พระอินทรเดช พระหฤทัย หลวงชาติสุเรนทร พระยาเชียงสา พร้อมกันคุมเจ้าอนุและบุตรภรรยาและญาติครอบครัว นำมาส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายเมืองเวียงจันทน์ เมื่อเดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ แต่เจ้าราชวงศ์นั้นหาได้ตัวมาไม่ และจะหนีไปแห่งได้ยังไม่ได้ความ
เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาสุนทรสงครามซักถามเจ้าอนุ เจ้าคำแพงบิดาและพี่สาวเจ้าราชวงศ์ เจ้าคำแพงให้การต้องคำเจ้าอนุว่า
“เจ้าราชวงศ์ถูกแทงและถูกปืนป่วยมา จะขึ้นช้างเดินบกไปกับเจ้าอนุบิดาไม่ได้ ครั้นถึงท่าช้างข้าม เจ้าราชวงศ์ใช้บ่าวไปเที่ยวหาเรือเล็กได้สองสามลำ จึงลงเรือพร้อมด้วยบุตรภรรยาบ่าวไพร่ชายหญิงช่วยกันพายถ่อไป กว่าจะขึ้นไปถึงบกที่ท่าเมืองมหาชัยกองแก้ว แล้วจะเดินไปเมืองญวนพร้อมด้วยเจ้าอนุ เจ้าอนุก็ไม่พบปะกัน คอยท่าเจ้าราชวงศ์อยู่หลายวันก็ไม่พบปะกัน คอยเจ้าสุทธิสารก็ไม่พบ จึงได้พักคอยบุตรหลานอยู่ที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่หน้าด่านเมืองพวน พวกกองทัพไทยก็ไปจับมาได้ดังนี้”
(สิ้นคำให้การเจ้าอนุ เจ้าคำแพง เท่านี้)
เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบความตามคำให้การเจ้าอนุดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้พระยาณรงค์สงครามคุมพลเมืองนครราชสีมา กับพระยาพิชัยรณฤทธิ์คุมทัพกรุง ยกไปติดตามเจ้าราชวงศ์ทางบก ให้พระยาสงครามเวียงไชยนำทางไป สั่งให้พระยาวิชิตณรงค์กับพระยาสุพรรณ คุมพลทหารยกทัพเรือไปตามเจ้าราชวงศ์ ให้พระยาเชียงสาเป็นทัพนำทางไป ให้พระมหาสงคราม กับพระอินทรเดช ยกไปดักทางเมืองเขมร เผื่อเจ้าราชวงศ์จะไปทางนั้นบ้าง ให้พระหฤทัยกับพระรามพิไชย คุมกองทัพเรือยกไปทางเมืองพง
ทัพลาวทัพไทยได้แยกย้ายกันไปตามจับเจ้าราชวงศ์หาได้ไม่ สืบถามตามชาวป่าก็ไม่ได้ความว่าไปทางใดทิศใด
ครั้น ณ วันเดือนอ้ายแรมสิบสามค่ำ เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้พระอนุรักษ์โยธา ๑ พระโยธาสงคราม ๑ หลวงเทเพนทร ๑ หลวงพิไชยเสนา ๑ พระนครเจ้าเมืองขอนแก่น ๑ ราชวงศ์เมืองชนบท ๑ พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑ รวมเป็นนายทัพนายกอง ๘ นาย คุมไพร่พล ๘๐๐ คุมตัวเจ้าอนุและครอบครัวลงมาส่งให้ถึงที่เมืองสระบุรี ซึ่งพระยาพิไชยวารี (โต) ขึ้นไปตั้งรับครอบครัวส่งเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองสระบุรีนั้นแล้ว พระยาพิไชยวารีจึงสั่งให้ทำกรงขังเจ้าอนุตั้งประจานไปกลางเรือ จึงพระอนุรักษ์โยธา พระโยธาสงคราม คุมเรือเจ้าอนุตีฆ้องตระเวนลงมาตามลำน้ำเมืองสระบุรีถึงกรุงเก่า
 จนถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเดือนยี่ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เจ้าพนักงานนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้จำตรวนเจ้าอนุไว้ที่ทิมแปดตำรวจ แต่บุตรหลานผู้หญิงกับภรรยาน้อย ๆ ให้ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น
 แล้วมีพระราชโองการ ดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานทำที่ประจานเจ้าอนุ ลงที่ตรงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับไว้เจ้าอนุ แล้วมีรั้วตาตารางล้อมรอบทั้งสี่ด้าน และทำกรงเหล็กน้อยสำหรับไว้เจ้าบุตรหลานภรรยาญาติเจ้าอนุอีก ๑๓ กรง ตั้งเรียงต่อ ๆ กันไปเป็นแถว มีเครื่องกรรมกรณ์สำหรับลงทัณฑ์พวกนักโทษนั้นพร้อม คือครกสากสำหรับโขลกตาย เบ็ดสำหรับเกี่ยวปากแขวนให้ตาย มีกระทะสำหรับทอดต้มให้ตาย มีขวานสำหรับผ่าอกให้ตาย มีเลื่อยสำหรับเลื่อยคนนักโทษให้ตาย มีเชื้อน้ำมันชุบน้ำมันยางคลุมตัวนักโทษ และจะได้นำไฟจุดไฟให้ไหม้ลุกลามตาย มีเครื่องทำโทษไว้ครบทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วตั้งไม้ขาอย่าง มีไม้รวกแหลมเป็นหลาวสำหรับเสียบนักโทษทั้งเป็นครบทุกคน ตั้งเรียงเป็นแถวกันไปตามท้องสนามหน้าจักรพรรดิคือท้องสนามชัย.......”
* ในที่สุดเจ้าอนุก็หนีไปไม่รอดเงื้อมมือเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ที่สั่งการให้แม่ทัพนายกองออกติดตามจับทุกทิศทุกทาง กองของพระลับแล หนานขัตติยะเมืองน่าน และหลวงพระบาง ตามจับได้ก่อนทัพพระยานครสวรรค์ที่ไปถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน จับได้ในเขตเมืองพวน โดยเจ้าน้อยเมืองพวนให้คนมาแจ้งข่าวว่าพบคณะของเจ้าอนุที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่โป่ง
เจ้าอนุถูกใส่กรงนั่งกลางเรือแห่ประจาน ตั้งแต่เมืองสระบุรีจนถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โปรดให้ทำกรงเหล็กขังประจานไว้ นำเครื่องประหารนักโทษนานาชนิดมาเป็นเครื่องประดับกรงเหล็ก ทำนองว่าเจ้าอนุควรจะถูกเครื่องประหารชนิดใดประหารชีวิต จึงจะสาสมกับโทษที่เขาทำลงไป พรุ่งนี้มาอ่านดูความกันต่อดีกว่าครับ
เต็ม อภินันท์ วันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ / ๐๕.๓๐ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๔๓ -
เจ้าอนุถูกประจานไม่นานนัก เกิดกระอักเลือดตายไปต่อหน้า ลูกหลานตนพ้นราชอาชญา หมดปัญหาลาวเนื่องต่อเรื่องญวน
เจ้าเวียดนามสั่งให้จับนายทัพส่ง โดยเจาะจงตัวมาจะสอบสวน ค้านว่าไทยล้างเวียงจันทน์นั้นไม่ควร ก่อชนวนสงครามลามยาวไกล |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ”ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าอนุหนีไปไม่รอดเงื้อมมือเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ที่สั่งการให้แม่ทัพนายกองออกติดตามจับทุกทิศทุกทาง กองของพระลับแล หนานขัตติยะเมืองน่าน และหลวงพระบาง ตามจับได้ก่อนทัพพระยานครสวรรค์ที่ไปถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน จับได้ในเขตเมืองพวน โดยเจ้าน้อยเมืองพวนให้คนมาแจ้งข่าว ว่าพบคณะของเจ้าอนุที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่โป่ง แล้วถูกใส่กรงนั่งกลางเรือแห่ประจานตั้งแต่เมืองสระบุรีจนถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โปรดให้ทำกรงเหล็กขังประจานไว้ นำเครื่องประหารนักโทษนานาชนิดมาเป็นเครื่องประดับกรงเหล็ก ทำนองว่าเจ้าอนุควรจะถูกเครื่องประหารชนิดใดประหารชีวิต จึงจะสาสมกับโทษที่เขาทำลงไป วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
 “ครั้นเวลาเช้า ๆ โปรดเกล้าฯ ให้นำนักโทษออกประจานที่กลางสนามหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท คืออ้ายอนุ ๑ อ้ายโป่สุทธิสาร ๑ อ้ายเต้ ๑ อ้ายปั้น ๑ อ้ายดวงจันทน์ ๑ อ้ายสุวรรณจักร ๑ รวมบุตรอ้ายอนุ ๗ คน กับหลานอ้ายอนุอีก ๕ คนคือ อ้ายสุริยะ ๑ อ้ายง่อนคำใหญ่ ๑ อ้ายคำบุ ๑ อ้ายทองดี ๑ อีคำปล้องอัครราชเทพีมเหสี ๑ รวม ๑๔ คน ออกมาขังไว้ในกรงเหล็ก จำครบทุกคน คนละกรงเรียงกันไป อีคำปล้องอัครราชเทพีอ้ายอนุนั้น ให้ถือพัดกาบหมากเข้าไปนั่งพัดอ้ายอนุสามีอยู่ในกรงเหล็ก ให้ปฏิบัติสามีด้วย แล้วให้อีเมียน้อย ๆ สาว ๆ แต่งกายนุ่งผ้าซิ่นห่มสีแดง ถือกะบายมีข้าวปลาอาหาร ออกไปเลี้ยงผัวที่ในกรงทุกกรง ทำประจานให้ราษฎรชายหญิงพลเมืองดู ทั้งในกรุงและนอกกรุงพากันตื่นแตกมาดูแน่นอัดไปทุกเวลาเช้าเย็นมิได้ขาด ที่ลูกผัวญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้น ชวนกันมานั่งบ่นรำพันต่าง ๆ นานา ทุกเวลาทุกวัน เพราะโกรธว่าพวกอ้ายลาวนี้ก่อเหตุให้พ่อลูกพี่น้องไปทัพตาย ครั้นเวลาบ่ายแดดร่มท้องสนาม พาบุตรหลานอ้ายอนุที่จับมาได้นั้น ขึ้นขาอย่างเป็นแถวกันไปให้ร้องประจานโทษตนต่าง ๆ ครั้นเพลาพลบค่ำก็พาลงจากขาอย่างเข้ามาจำตรวนดังเก่า กระทำดังนี้ประจานอยู่ประมาณ ๗ วัน ๘ วัน ก็พอเจ้าอนุป่วยลงเป็นโรคลงโลหิตไหลได้ ๓ วันก็ตาย โปรดเกล้าฯ ให้นำศพอ้ายอนุไปเสียบประจานไว้ ณ ที่สำเหร่ อย่าให้ข้าราชการดูเยี่ยงอย่างอ้ายอนุต่อไป อ้ายอนุเกิดเมื่อปีกุนนพศก เมื่อกรุงเก่าแตกเสียแก่พม่า เมื่ออ้ายอนุตายอายุได้ ๖๐ ปี การที่ทรงพระราชดำริจะประหารชีวิตบุตรหลานของอ้ายอนุที่ร่วมคิดเป็นขบถนั้น ก็สงบเงียบไป ไม่ได้ฆ่าเลย
 ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามได้ทรงทราบว่า ที่เจ้าน้อยเมืองพวนคิดอ่านเป็นใจ ใช้คนไปบอกทัพไทยให้ยกกองทัพมาจับเจ้าอนุในเขตเมืองพวน ซึ่งเป็นราชอาณาจักรของกรุงเวียดนามนั้น ก็ทรงขัดเคืองพระราชหฤทัยแก่เจ้าน้อยเมืองพวน ซึ่งเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงเวียดนาม กรุงเวียดนามจึงโปรดให้องทงเจอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ มีท้องตราบังคับหาเจ้าน้อยเมืองพวนขึ้นเฝ้า แล้วดำรัสสั่งให้เสนาบดีกรุงเวียดนามปรึกษาโทษเจ้าน้อยเมืองพวนจะผิดประการใด ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยปรึกษาพร้อมกันลงเนื้อเห็นว่า
“เจ้าน้อยเมืองพวนเป็นเจ้าประเทศราช ข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเวียดนามแล้ว และไม่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตภักดีแต่พระเจ้ากรุงเวียดนามตามที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงมานั้น กลับใจไปนัดหมายให้ไทย ซึ่งเป็นเมืองนอกพระราชอาณาจักร ให้ยกทัพเข้ามาจับเจ้าอนุในเขตแดนเมืองพวน ซึ่งเป็นอาณาจักรกรุงเวียดนาม ก่อการให้นานาประเทศล่วงมาดูหมิ่นดูถูกพระเกียรติยศกรุงเวียดนาม ให้เสื่อมเสียอำนาจพระบารมีกรุงเวียดนามไปชั่วฟ้าและดิน กับเจ้าน้อยเมืองพวนก็ขาดความเมตตาจิต คิดจับเจ้าอนุลาวชาติเดียวกัน ส่งให้แก่ไทยชาติ อันผิดด้วยการล่วงพระราชอาชญากรุงเวียดนามอย่าง ๑ ผิดด้วยขาดเมตตาจิตแก่เจ้าบ้านผ่านเมืองประเทศลาวชาติเดียวกันอย่าง ๑ หาควรที่จะทรงชุบเลี้ยงไว้ไม่ ขอให้ประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวนเสียตามกฎหมายในแผ่นดินกรุงเวียดนาม ให้เป็นตัวอย่างแก่เจ้าประเทศราชลาวและญวนในพระราชอาจักรกรุงเวียดนามต่อไป อย่าให้ใครทำตามเยี่ยงนี้”
ฝ่ายพระเจ้ากรุงเวียดนามได้ทราบคำปรึกษาเสนาบดีผู้ใหญ่ดังนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานนำเจ้าน้อยเมืองพวนไปฆ่าเสียที่กรุงเว้ (เมืองหลวงญวน)
พระเจ้าเวียดนามทรงแต่งให้บันชุนเวียนขุนนางฝ่ายทหารรักษาพระองค์ เป็นราชทูต ๑ มาลาถูดิน เป็นอุปทูต ๑ กับขุนนางล่ามพนักงาน ๔ นาย และไพร่ญวน ๘๐ คน ลงเรือรบทะเลเชิญพระราชสาส์นกรุงเวียดนามเข้ามากรุงเทพฯ ราชทูตานุทูตญวนเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ วันเดือนสี่ขึ้นสิบค่ำ
 เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) รับบทโดย วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ในละคร “ข้าบดินทร์” เจ้าพระยาพระคลังจัดการรับรองราชทูตญวนตามธรรมเนียมฝ่ายสยามแต่ก่อนมา ได้ให้ขุนทรงพานิชกับหมื่นพาทีไพเราะล่ามญวน แปลพระราชสาส์นญวนเป็นภาษาไทยมีใจความว่า
“พระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ทรงพระปรารภถึงการสงครามครั้งเวียงจันทน์นั้น ขุนนางนายทัพไทยชื่อทุงวิไชยฆ่าญวนตายเสีย ๔๘ คนที่เมืองนครพนมฝ่ายลาว กับขุนนางไทยนายทัพอีกพวกหนึ่ง ชื่อชิดชุมซุงกิมดอง ๑ ชื่อลงนะรา ๑ พวกนี้ยกทัพล่วงเข้าไปเก็บส่วยในเมืองถู ตือเขตแดนญวน ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเมืองเป็นไมตรีกัน กรุงเวียดนามเห็นว่าขุนนางไทยซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองซึ่งชื่อว่า “ทุงวิไชย ๑” ชื่อ “ชิดชุม ๑” ชื่อ “ซุงกิมดอง ๑” ชื่อ “ลงนะรา ๑” สี่คนนี้มีความผิดมาก ทำการล่วงเกินอำนาจตนและดูถูกดูหมิ่นอำนาจกรุงเวียดนามด้วย ข้อที่ดำเนินกองทัพไทยเข้าไปในเขตญวน เก็บส่วยสาอากรที่เมืองขึ้นแก่ญวน แล้วก็ฆ่าญวนตาย ๔๘ คนในระหว่างทางราชการต่อกันนั้น หาชอบด้วยทางยุติธรรมไมตรีกันดีไม่ บัดนี้ ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาส่งตัว “ทุงวิไชย ๑ ชิดชุม ๑ ซุงกิมดอง ๑ ลงนะรา ๑” สี่คนผู้มีความผิดนี้ออกไปกรุงเวียดนาม จะได้ให้ขุนนางผู้ใหญ่ไล่เลียงไต่ถามชำระดูว่า จะผิดชอบประการใด จะได้บอกเข้ามาให้ไทยทราบ
อนึ่ง เมืองเวียงจันทน์นั้นเล่าก็เป็นเมืองประเทศราช ถวายดอกไม้เงินทองสิ่งของบรรณาการอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือญวนและไทย ไม่ควรที่จะให้เมืองเวียงจันทน์สาบสูญเสียเลย พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงเสียดายเมืองเวียงจันทน์ยิ่งนัก ด้วยเป็นเมืองสืบเชื้อสายกษัตริย์ลาวมากว่า ๒,๐๐๐ ปี ก่อนกรุงไทยและญวน บัดนี้ก็ขอให้กรุงศรีอยุธยาทรงตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ขึ้นดังเก่า จะได้มีเกียรติยศด้วยกันทั้งไทยและญวน ซึ่งเป็นพระมหานครใหญ่อุปถัมภ์เมืองน้อยไว้ ให้สืบราชประเพณีโบราณ นานาประเทศน้อยใหญ่จะได้พูดสรรเสริญกรุงพระมหานครศรีอยุธยาและกรุงเวียดนาม ซึ่งไทยจะไม่ตั้งเมืองเวียงจันทน์ให้กลับคืนขึ้นเป็นเมืองประเทศราชดังเก่า จะให้ทิ้งเสียเป็นป่าดงดังนั้นหาประโยชน์ไม่เลย ประดุจทารกที่ไม่รู้จักเดียงสาหยิบก้อนดินและศิลาโยนขึ้นไปบนกลางอากาศ แล้วตั้งตาแลดูอยู่ที่ตรงก้อนศิลานั้นก็จะพลัดตกลงมาถูกหน้าเด็กคนนั้นเองฉันใด ก็ได้แก่ไทยทำกับเวียงจันทน์ฉันนั้น หาบังควรไม่”
(มีข้อความญวนพูดบริภาษตัดพ้อต่าง ๆ นานามากมายหลายประการ แจ้งอยู่ในพระราชสาส์นต้นฉบับเดิมนั้นแล้ว ไม่ได้นำมาไว้ในฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นความซ้ำซาก ยืดยาว ป่วยการกล่าวรกโสตผู้ฟัง).........”
* เจ้าอนุวีรบุรุษลาวสิ้นพระชนม์โดยที่ยังมิได้ถูกประหาร เพียงแต่ใส่กรงเหล็กประจานให้ประชาชนด่าทอสาปแช่งให้สาใจ ในฐานะที่เป็นต้นเหตุให้สามีลูกหลาน ญาติพี่น้องเขา ถูกเกณฑ์ไปรบลาวแล้วล้มตายไป เห็นทีว่าเจ้าอนุจะทนถูกประชาชนแช่งด่าไม่ไหวจึงกระอักเลือดตายไปเอง ส่วนบุตรหลานที่พระเจ้าอยู่หัวตั้งพระทัยจะสั่งประหารชีวิตนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าทรงตรัสสั่งให้ประหารเลยแม้แต่คนเดียว
 หมดเรื่องเจ้าอนุไปแล้ว ญวนก็เริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์ มีพระราชสาส์นมาเชิงบีบบังคับให้ส่งนายทัพนายกองไทย ที่ฆ่าญวนและยกกองกำลังเข้าไปในเขตญวน เจาะจงชื่อมา ๔ คน ชื่อที่ระบุมาให้ส่งไปชำระคดีที่ญวนนั้น ออกสำเนียงญวนปนไทยว่า ทุงวิไชย น่าจะเป็นพระวิชิตสงคราม นายทัพค่ายนครพนม ส่วนลงนะรานั้น แน่นอนว่าคือหลวงนรารณรงค์ และญวนยังได้คัดค้านมิให้ไทยทำเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองร้าง พระราชสาส์นญวนฉบับนี้ใช้ถ้อยคำหยาบคาย จนผู้จัดพิมพ์หนังสือนี้ไม่ยอมนำมาลงพิมพ์ให้อ่านกัน ในเมื่อญวนมีหนังสือมาดังกล่าวแล้ว ฝ่ายไทยเราจะดำเนินการเรื่องไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระเจ้าเวียดนาม จักรพรรดิ์มิญมาง (1791-1841) - อานามสยามยุทธ ๔๔ -
หนังสือญวนลามปามคุกคามอีก ไทยรู้หลีกหลบเมินเผชิญหน้า พระนั่งเกล้าประจัญด้วยปัญญา แก้ปัญหาเขาเคืองเรื่องฆ่าญวน
เจ้าเวียดนามสั่งให้จับนายทัพส่ง โดยเจาะจงตัวมาจะสอบสวน ทรงแยกแยะเห็นจริงสิ่งที่ควร ผิดทั้งมวลญวนอนุในเวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าอนุสิ้นพระชนม์โดยที่ยังมิได้ถูกประหาร เพียงแต่ใส่กรงเหล็กประจานให้ประชาชนด่าทอสาปแช่งให้สาใจ ในฐานะที่เป็นต้นเหตุให้สามี ลูกหลาน ญาติพี่น้องเขาถูกเกณฑ์ไปรบลาวแล้วล้มตายไป เจ้าอนุอาจจะทนถูกประชาชนแช่งด่าไม่ไหว จึงแค้นและเครียดหนักจนกระอักเลือดตายไปเอง ส่วนบุตรหลานที่พระเจ้าอยู่หัวตั้งพระทัยจะสั่งประหารชีวิตนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าทรงตรัสสั่งให้ประหารเลยแม้แต่คนเดียว หมดเรื่องเจ้าอนุไปแล้ว ญวนก็เริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์ มีพระราชสาส์นมาเชิงบีบบังคับให้ส่งนายทัพนายกองไทยที่ฆ่าญวนและยกกองกำลังเข้าไปในเขตญวน เจาะจงชื่อมา ๔ คน และญวนยังได้คัดค้านมิให้ไทยทำเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองร้าง ฝ่ายไทยเราจะดำเนินการเรื่องไปอย่างไร มาอ่านกันต่อครับ
 “เจ้าพระยาพระคลังนำความตามพระราชสาส์นญวนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งพระราชสาส์นตอบญวน แต่ราชทูตญวนไม่รับพระราชสาส์นไทยไป ราชทูตญวนอ้างว่า “ให้แต่งราชทูตไทยเชิญพระราชสาส์นออกไปตอบแทนเอง จึงจะชอบด้วยราชการ”
ครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังมีท้องตราไปถึงองเลโป เสนาบดีว่าราชการต่างประเทศฝ่ายญวนฉบับ ๑ ใจความว่า
“สาส์นตราเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการนานาประเทศกรุงพระนครศรีอยุธยา ปฏิบัติมายังองเลโป เสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศฝ่ายญวนได้ทราบว่า ซึ่งจะให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยา จัดการแต่งตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ขึ้นใหม่นั้น เห็นว่าจะยังช้าอยู่ เพราะบ้านเมืองกำลังระส่ำระสายอยู่ ผู้คนเสบียงอาหารยังไม่บริบูรณ์ จึงยังตั้งไม่ได้ ข้อที่ว่านายทัพนายกองฝ่ายไทยทำผิดต่อญวนนั้น ไทยก็จะชำระให้เห็นผิดและชอบตามทางยุติธรรมและทางพระราชไมตรีกันกับญวน แต่ว่าบัดนี้กองทัพไทยยังไม่กลับลงมาหมด ผู้ใดจะทำผิดอย่างไรยังไม่รู้แน่ เป็นแต่ได้ทราบในพระราชสาส์นญวนก่อนเท่านั้น และชื่อเสียงคนที่มีความดังกล่าวมาในพระราชสาส์นนั้น คือ ทุงวิไชย ชิดชุม ซุงกิมดอง ลงนะรา ทั้งสี่คนนี้ฟังดูก็ผิดเพี้ยนชื่อไทยอยู่ ไม่รู้ว่าผู้ใดจะกระทำผิดแน่ลงได้ ถ้ากองทัพไทยกลับมาพร้อมเพรียงกันเมื่อใดแล้ว จึงจะชำระไล่เลียงดูให้ได้ความตามที่ผู้ใดกระทำผิด แล้วก็จะทำโทษตามกฎหมายสยามให้ แล้วจึงจะบอกออกไปให้องเลโปเสนาบดีญวนทราบ”
หนังสือเจ้าพระยาพระคลังประทับตราบัวแก้วแล้วเข้าผนึก ส่งให้ราชทูตญวน ราชทูตญวนรับหนังสือแล้วก็ลงเรือรบทะเลของญวน ใช้ใบออกจากกรุงเทพฯ ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้กองอาสาจามนำเรือรบไทยทางทะเล ออกไปส่งราชทูตญวนจนถึงเมืองสมุทรปราการ เพื่อเป็นการระวังพระนครด้วย
 ครั้นราชทูตญวนออกไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ พร้อมด้วยความคิดเห็นท่านเสนาบดีว่า
“เราได้ทราบข้อความในพระราชสาส์นญวนดังนี้ ฝ่ายเราจะไม่แต่งราชทูตไทยออกไปแจ้งข้อราชการให้เจ้าเวียดนามทราบความตามที่มีเหตุใหญ่น้อย ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างศึกสงครามนั้น หาสมควรกับเมืองเป็นทางไมตรีกันไม่”
โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุรักษ์ภูธรเป็นราชทูต ๑ ให้หลวงพิทักษ์นทีเป็นอุปทูต ๑ ให้ขุนพินิจโภคาเป็นตรีทูต ๑ หมื่นเทพจนานามล่ามญวน ๑ ขุนทิพย์วาจาท่องสื่อใหญ่ล่ามจีนญวน ๑ เป็นผู้รู้อักษรจีนญวนด้วย ราชทูตานุทูตพร้อมกันจัดดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายบังคมลา แล้วเชิญพระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการออกไป โดยทรงยินดีตอบแทนพระเจ้าเวียดนามตามทางพระราชไมตรี ราชทูตานุทูตลงเรือใบออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนสี่ปีชวดนั้น ข้อความในพระราชสาส์นครั้งนี้ก็คล้ายกับหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ที่ส่งให้ราชทูตญวนออกไปในเดือนอ้ายปีชวดนี้เอง
 ฝ่ายราชทูตานุทูตไทยได้ไปถึงกรุงเว้ ญวนจัดการรับรองตามธรรมเนียมแล้ว ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นตอบมาฉบับหนึ่ง พระอนุรักษ์ภูธรราชทูตไทยได้เชิญพระราชสาส์นญวนส่งให้ขุนวิเศษวาทีล่ามจีน ส่งมาเมืองจันทบุรี แล้วกรมการส่งเข้ามากรุงเทพฯ ในความในพระราชสาส์นญวนนั้น ว่าโดยสังเขป คือญวนซ้ำกล่าวโทษชิดชุม ซึ่งฆ่าญวนตายในระหว่างศึกเวียงจันทน์นั้น ขอให้ผู้ครองฝ่ายไทยส่งตัวชิดชุมออกไปกรุงเว้ ทางพระราชไมตรีญวนกับไทยจึงจะถาวร อย่าให้ผู้ครองฝ่ายไทยเห็นแก่หน้าตาชิดชุม ขุนนางผู้ทำผิดคิดมิชอบ ให้เห็นแก่ทางไมตรีญวนเทอญ
 ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามแปลพระราชสาส์นญวน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชดำริตามทางพระราชไมตรีโดยสุริตทรงเห็นว่า
“โทษเจ้าอนุที่คิดขบถต่อกรุงเทพฯ แล้วหนีไปพึ่งญวน ญวนกลับเห็นแก่เจ้าอนุผู้ขบถ ให้ขุนนางญวนพาเจ้าอนุมาส่งยังบ้านเมือง ญวนเป็นสื่อลาวกับไทยจะให้ดีกัน เพราะฉะนั้น ไทยจึงหลงเชื่อญวนที่พาลาวมาเวียงจันทน์ เจ้าอนุลาวกลับใจเป็นขบถขึ้นอีก ยกกองทัพเข้าล้อมฆ่าแม่ทัพไทย ไพร่พลที่รักษาเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น ตายทั้งนายและไพร่ถึง ๗๐๐ คนเศษ เพราะเหตุที่ไทยหลงเชื่อถ้อยคำญวนไม่ใช่หรือ?
อนึ่งซึ่ง (ชิดชุม) คือพระวิชิตสงคราม ขุนนางวังหน้า เป็นแม่ทัพกองด่านเมืองนครพนม ฆ่าญวนตาย ๔๘ คน ซึ่งมาในระหว่างศึกสงคราม ไทยกับลาวกำลังรบกันอยู่นั้น พระวิชิตสงครามมีความสงสัยเคลือบแคลงไม่ไว้ใจญวน ๔๘ คนที่มานั้น เกลือกว่าจะเป็นเช่นคราวญวนมาส่งเจ้าอนุ เจ้าอนุคิดกันกับญวน ลอบฆ่าไทยที่รักษาเมืองเวียงจันทน์ตาย ๗๐๐ คนเศษครั้งก่อนนั้นแล้ว ครั้งนี้พระวิชิตสงครามคิดดังนั้นเหมือนครั้งก่อน จึงได้ฆ่าญวน ๔๘ คนเสีย เพราะความเข้าใจต่างกัน ซึ่ง (ชิดชุม) พระวิชิตสงครามทำการฆ่าญวนตายดังนั้น ก็เป็นธรรมเนียมของแม่ทัพนายกองด่าน รักษาราชการศึกสงครามตามกฎหมายฝ่ายสยาม พระวิชิตสงครามมีความชอบต่อราชการแผ่นดินฝ่ายสยามมาก จึงไม่เสียราชการแก่ข้าศึกเหมือนเช่นพระยาพิไชยสงครามนั้น ซึ่งว่า (ชิดชุม) พระวิชิตสงครามมีความผิดต่อกรุงเวียดนามนั้น เห็นว่าพระวิชิตสงครามมีความผิดน้อยกว่าเจ้าอนุ เจ้าอนุมีความผิดต่อกรุงเทพฯ มากกว่าพระวิชิตสงครามเสียอีก เห็นว่าโทษญวนที่มาลวงให้ไทยตายครั้งก่อน มากกว่าโทษของพระวิชิตสงครามฆ่าญวนครั้งนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชี้แจงความผิดลาวและญวนหรือไทยมาให้ทรงทราบด้วย ขอให้ทรงเห็นตามทางยุติธรรม ขอยกโทษพระวิชิตสงครามเสียครั้งหนึ่ง เพราะโทษน้อยนัก”
 แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลัง ให้แต่งพระราชสาส์นตอบญวนเป็นข้อความตามที่ทรงพระราชดำริดังที่กล่าวมาแล้วข้างบนนั้น แต่งพระราชสาส์นเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนด่านเมืองเขมร ส่งต่อไปถึงองเป็นใหญ่ที่เมืองไซ่ง่อน จะได้ส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนาม ณ กรุงเว้ (ญวน)....”
* ตอนนี้ควรจะถือได้ว่า ญวนกับไทยกำลังทำ “สงครามน้ำหมึก” กันอยู่ พระราชสาส์นจากพระเจ้าเวียดนาม ดุเดือดเผ็ดร้อน มิได้มีความเคารพยำเกรงไทยผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อญวนเลย
 พระราชสาส์นจากไทยสุภาพ หนักแน่นในเหตุผล โดยเฉพาะฉบับล่าสุดนี้ พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวินิจฉัยคดีของชิดชุม หรือ พระวิชิตสงคราม ที่ฆ่าญวนตายนั้น เปี่ยมด้วยเหตุผลหนักแน่น แม้พระวิชิตสงครามจะผิด ก็ยังมีความผิดน้อยกว่าที่ญวนเข้าข้างเจ้าอนุ พาเจ้าอนุมาส่งที่เมืองเวียงจันทน์ พูดจาให้ไทยเชื่อถือญวนและลาว จนไทยถูกลาวฆ่าตายไป ๗๐๐ คนเศษ ความผิดของเจ้าอนุและญวนเป็นโทษมหันต์นัก ดังนั้นจึงทรงเห็นควรอภัยโทษพระวิชิตสงครามที่ฆ่าญวนตามกฎของสงคราม
พระราชสาส์นจากไทยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินญวนแล้ว พระเจ้าเวียดนามจะโต้ตอบประการใด พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) - อานามสยามยุทธ ๔๕ -
แล้วญวนก็บ้าเบ่งมาเร่งเร้า ให้ตั้งเจ้าลาวใหม่ด้วยหมายมั่น จะเข้าร่วมตั้งแต่งตำแหน่งกัน เฝ้าคาดคั้นราวกับบังคับไทย
ถูกโต้กลับหน้าหงายญวนคลายเขื่อง ว่าเป็นเรื่องของสยามความน้อยใหญ่ ลาวเป็นของเราแท้มาแต่ไร แล้วญวนไยเสือกมาหาเรื่องเรา |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ ญวนกับไทยกำลังทำ “สงครามน้ำหมึก” กันอยู่ พระราชสาส์นจากพระเจ้าเวียดนามดุเดือดเผ็ดร้อน มิได้มีความเคารพยำเกรงไทยผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อญวนเลย พระราชสาส์นจากไทยสุภาพ หนักแน่นในเหตุผล โดยเฉพาะฉบับล่าสุดนี้ พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยคดีของชิดชุม หรือ พระวิชิตสงคราม ที่ฆ่าญวนตายนั้น เปี่ยมด้วยเหตุผลหนักแน่น แม้พระวิชิตสงครามจะผิด ก็ยังมีความผิดน้อยกว่าที่ญวนเข้าข้างเจ้าอนุ พาเจ้าอนุมาส่งที่เมืองเวียงจันทน์ พูดจาให้ไทยเชื่อถือญวนและลาว จนไทยถูกลาวฆ่าตายไป ๗๐๐ คนเศษ ความผิดของเจ้าอนุและญวนเป็นโทษมหันต์นัก ดังนั้นจึงทรงเห็นควรอภัยโทษพระวิชิตสงครามที่ฆ่าญวนตามกฎของสงคราม พระราชสาส์นจากไทยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินญวนแล้ว พระเจ้าเวียดนามจะโต้ตอบประการใด อ่านกันต่อไปครับ.................
 “ฝ่ายพระเจ้าเวียดนาม ได้ทราบความในลักษณพระราชสาส์นกรุงเทพฯดังนั้นแล้ว ก็ยิ่งทรงขัดเคืองทวีขึ้นเป็นอันมาก จึงมีพระราชสาส์นเข้ากรุงเทพฯ อีกฉบับหนึ่ง จึงโปรดให้องเป็นใหญ่ชื่อ จ๋งเต๊ก (เจ้าพระยา) เมืองไซ่ง่อน แต่งขุนนางญวนฝ่ายทหาร ให้เชิญพระราชสาส์นมาส่งที่เมืองจันทบุรี ทูตญวนไซ่ง่อนถึงเมืองจันทบุรี ณ เดือนหกปีฉลู พระยาจันทบุรีให้หลวงมหาดไทยถือราชสาส์นญวนเข้ามาส่งกรุงเทพฯ
เจ้าพระยาพระคลังให้หมื่นทิพย์พจนาล่ามญวน กับขุนท่องสื่อวังหน้าล่ามจีนและญวน แปลพระราชสาส์นออกมาเป็นภาษาไทยได้ใจความว่า
“พระเจ้าเวียดนามขอให้พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา เห็นแก่ทางพระราชไมตรีด้วย ให้ช่วยลงโทษ (ชิดชุม) พระวิชิตสงคราม ที่ทำผิดต่อกรุงเวียดนาม”
เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า
“ครั้นจะทำโทษพระวิชิตสงครามนี้ ตามมีพระประสงค์ของพระเจ้าเวียดนาม ให้หายคลายที่คับแค้นนั้นก็ได้ แต่ว่าทรงคิดละอายพระราชหฤทัยแก่เสวกามาตย์ราชบริพาร ด้วยพระวิชิตสงครามหาความผิดมิได้ ครั้นจะไม่ทำโทษพระวิชิตสงครามเสียบ้าง ทางพระราชไมตรีญวนกับไทยคงจะมัวหมองไปภายหน้า”
(แล้วทรงพระราชดำริว่า) “พระวิชิตสงครามนั้นเป็นคนเบาความ ไม่พิจารณาญวน ๔๘ คนนั้นมาดีหรือมาร้าย หาไต่สวนสืบถามความจริงให้แน่นอนเสียก่อนไม่ นำญวน ๔๘ คนไปฆ่าเสียก่อน เป็นการละเมิดต่อคำสั่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่”
(จึงโปรดให้ประชุมเสนาบดีว่า) “ถ้าทำโทษพระวิชิตสงครามเสียบ้างเล็กน้อยโดยสังเขปคือ จะลดฐานานุศักดิ์ลงจากพระ ให้เป็นหลวงเป็นขุนต่อ พอมีเหตุที่จะได้มีพระราชสาส์นตอบออกไปกรุงเว้ ตามความที่จะต้องพระราชประสงค์ของพระเจ้าเวียดนามนั้น เห็นจะพอแล้วเลิกกันไปได้”
 ครั้นทรงพระราชดำริดังนั้นแล้ว จึงโปรดให้เสนาบดีแต่งท้องตราตอบออกไปฉบับ ๑ ใจความว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา ทรงเห็นแก่ทางพระราชไมตรีกรุงเวียดนาม จึงได้ให้ทำโทษพระวิชิตสงคราม ถอดออกจากที่ขุนนางผู้ใหญ่ไม่ให้เป็นแม่ทัพนายกองแล้ว” ราชทูตญวนได้รับหนังสือเจ้าพระยาพระคลังแล้วก็ลากลับไป
ไม่ช้า ในปีนั้นองเลโปเสนาบดีมีหนังสือส่งให้ขุนนางญวนที่เมืองไซ่ง่อนถือเข้ามากรุงเทพฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า
“เมืองเวียงจันทน์นั้น ผู้ครองฝ่ายไทยจะจัดแจงแต่งตั้งเจ้าเมืองเมื่อใดเล่า ? ขอให้มีหนังสือกำหนดออกไป พระเจ้าเวียดนามจะได้แต่งขุนนางญวนเข้ามาตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์พร้อมด้วยขุนนางไทย”
แล้วเจ้าพระยาพระคลังนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราตอบญวนฉบับหนึ่ง ใจความว่า
“บัดนี้ที่เมืองเวียงจันทน์นั้น ยังหามีเสบียงอาหารไม่ อีกประการหนึ่งไพร่พลยังระส่ำระสาย จะควบคุมกันเข้านั้นยาก การที่จะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นยังตั้งไม่ได้ (ข้อความนี้เจ้าพระยาพระคลังตอบให้ขุนนางญวนรับไป)
ไม่ช้าองญวนเมืองไซ่ง่อน ถือหนังสือองเลโปเสนาบดีกรุงเว้เข้ามากรุงเทพฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับ ๑ ใจความว่า
“เมืองเวียงจันทน์นั้นผู้ครองฝ่ายไทยได้ตั้งแต่งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ถึงสามเจ้าเมืองมาแล้ว ก็มิได้บอกไปให้ผู้ครองฝ่ายญวนแต่งขุนนางมาตั้งเจ้าเมืองด้วยสักครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จะตั้งเมื่อใดให้บอกไปยังกรุงเว้โดยเร็ว จะได้ใช้ให้ขุนนางญวนมาตั้งด้วยพร้อมกับขุนนางไทย”
เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลทราบแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชดำริ ให้มีท้องตราตอบญวนว่าดังนี้
 “เมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองประเทศราช ขึ้นเป็นสิทธิ์ขาดของผู้ครองฝ่ายไทย โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอนุมีอำนาจมากใหญ่โต เพราะจะระงับปราบปรามบ้านเมืองลาวปลายแดนไทยกับญวนที่ใกล้เคียงติดต่อกัน ไม่ให้ล้ำเหลือกัน เพราะฉะนั้น เมืองเวียงจันทน์จึงได้เป็นธุระของผู้ครองฝ่ายไทย ไทยได้บำรุงมาแต่เดิม ๆ หลายชั่วอายุคนมาช้านานแล้ว เมืองเวียงจันทน์ตกอยู่ในใต้อำนาจไทยแท้ ๆ เมืองเวียงจันทน์ไม่เคยมีการอันใดเกี่ยวข้องกับญวน ญวนจะมาถือเป็นธุระตั้งแต่งเจ้าบ้านผ่านเมืองด้วยดังนั้น ผิดอย่างธรรมเนียมไป
การเดิมก็ดี หรือการครั้งเจ้าอนุนี้ก็ดี มีอยู่ดังนี้ คือเดิมนั้น ความคิดเจ้าอนุเห็นว่า บ้านเมืองเวียงจันทน์นั้นติดต่อกันกับเขตแดนญวน ญวนกับลาวไปมาค้าขายกันอยู่เนือง ๆ เจ้าอนุจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
 “จะขอให้ไทยได้อนุญาตให้เจ้าอนุแต่งทูตลาว ให้ทูตลาวคุมสิ่งของคล้ายบรรณาการไปคำนับพระเจ้าเวียดนามสามปีครั้งหนึ่ง แต่พอจะได้เป็นท่าทางของลาวไปมาค้าขายกับไพร่บ้านพลเมืองญวน ผู้ครองฝ่ายไทยทรงพระราชดำริเห็นว่าความคิดเจ้าอนุนั้น เป็นการทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎรลาว ซึ่งเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่ในปลายพระราชอาณาเขต จึงทรงเห็นด้วยความคิดเจ้าอนุนั้น จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามใจเจ้าอนุเถิด จะแต่งขุนนางลาวคุมเครื่องบรรณาการไปจิ้มก้องกรุงเว้เวียดนามนั้น ไม่ทรงรังเกียจว่ากรุงเวียดนามจะเกียจกันเอาปลายเขตแดนลาวเสียบ้าง เพราะด้วยทางพระราชไมตรีกรุงเทพฯ กับกรุงเวียดนามมีมาช้านานแล้ว เป็นที่ไว้พระราชหฤทัยดุจดังพระญาติพระวงศ์อันสนิท เพราะญวนกับไทยคุ้นเคยกันมาช้านานแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงอนุญาตให้เจ้าอนุแต่งขุนนางลาวขึ้นไปจิ้มก้องกับญวน ญวนจะมาพาโลทึกเอาเมืองเวียงจันทน์ว่า เป็นเมืองขึ้นของญวน หรือเมืองส่วยของญวนนั้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด
ถึงแต่ก่อนญวนก็ไม่เคยช่วยจัดแจงแต่งตั้งเจ้าบ้านผ่านเมืองเวียงจันทน์สักครั้งหนึ่งก็ไม่มีเลย แต่ครั้งนี้ผู้ครองฝ่ายญวนมีหนังสือมาบังคับบัญชาเข้ามาถึงผู้ครองฝ่ายไทยว่า ให้เร่งบอกกำหนดการซึ่งจะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่ออกไปโดยเร็วนั้น เนื้อความข้อนี้ผู้ครองฝ่ายไทยเห็นว่า ญวนประพฤติผิดทางพระราชไมตรีกัน
อนึ่ง หัวเมืองลาวที่เป็นเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ แต่ว่าอยู่ในอาณาจักรสยามนั้น บัดนี้ผู้ครองฝ่ายญวนก็เกียดกันปกครองไว้ในอำนาจญวน ญวนก็ถือว่าเป็นเขตแดนของญวนหลายบ้านหลายเมืองแล้ว ผู้ครองฝ่ายไทยมีความอาลัยระลึกถึงทางพระราชไมตรีซึ่งมีมาแต่กาลก่อน ๆ จึงสู้อดออมถนอมทางพระราชไมตรีอันสนิทกันมาช้านาน มิให้เสื่อมเสียมัวหมองไป ปรารถนาจะให้มีไมตรีอยู่ถาวรวัฒนาไปชั่วกัลปาวสาน แต่ผู้ครองฝ่ายญวนก่อเหตุกับไทยก่อน ให้ญวนคิดดูเถิดในการหลัง ๆ มานั้น ให้ตรองให้ดี ๆ ก็จะเห็นคุณและโทษบ้าง”
(ข้อความตามท้องตรานี้ได้มอบให้ขุนนางญวน ขุนนางญวนรับไปแล้ว)
 * ความในราชสาส์น ญวนเป็นฝ่ายบุกไทยหนักมามากแล้ว ฝ่ายไทยเราเพิ่งโต้กลับรุกไปแรง ๆ ในฉบับนี้เอง ความจริงแล้ว เจ้าอนุเพิ่งไปจิ้มก้องญวนแค่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ญวนกลับมาทึกทักเอาว่าลาวเป็นประเทศราชของญวนไปเสียนี่ ก่อนหน้านั้น ญวนก็แอบมาฮุบเอาหัวเมืองลาวของไทยที่อยู่ตามชายแดนญวนไปเป็นของญวนเสียหลายเมือง เช่น เมืองพวน (ลาวพวน) เมืองล่าน้ำ (แง่อาน) เป็นต้น เมื่อถูกไทยโต้กลับไปแรง ๆ อย่างนี้ญวนจะว่าอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|