บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๑ -
นักองอิ่มถึงคราชะตาอับ ถูกญวนจับขังคุกผิดคาดหมาย “นกสองหัว,ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย” รอวันตายตามญาติ “กษัตรี”
เกิดขบถต่อเนื่องเมืองเขมร เพราะญวนเล่นไม่ซื่อย่ำศักดิ์ศรี “พระยาสังขโลก”ไวไม่รอรี พาครัวหนีพึ่งไทยพระตะบอง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... นักองอิ่มจับตัวพระยาปลัด พระยายกกระบัตร และพระหลวงขุนนางเขมร กวาดต้อนครัวเขมรเมืองพระตะบองลงไปพนมเปญ ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากใบบอกเมืองพระตะบองแล้ว ตรัสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเร่งรีบยกทัพไปเมืองพระตะบองทันที เรื่องราวจะเป็นจะเป้นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ....
“ลุจุลศักราช ๑๒๐๒ ปีชวด โทศก (พ.ศ. ๒๓๘๓) เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ ครั้งนั้นพระยา, พระ เขมรที่ตกอยู่ในค่ายญวน ณ เมืองพนมเปญนั้น หนีญวนกลับมายังเมืองพระตะบอง แจ้งความต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า
 “ณ เดือนแปดขึ้นหกค่ำ พระเจ้าเวียดนามมินมางมีหนังสือรับสั่งมาถึงองเตียนกุนขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นแม่ทัพสิทธิขาดอยู่ ณ เมืองพนมเปญใจความว่า นักองแก้วปิตุจฉาองแป้นนั้นเป็นคนไม่ดี จะเลี้ยงไว้ไม่ได้ เพราะนักองแก้วใช้ให้หลวงเมืองใจไปหานักองแป้นเจ้าหญิง จะพาพวกเจ้านายฝ่ายเขมรหนีไปยังเมืองไทย นักองแป้นก็จัดการตระเตรียมการจะหนีญวนตามหลวงเมืองใจไปกับนักองแก้ว ญวนใช้คนสืบรู้ความลับของเขมรแล้ว จึงมาแจ้งแก่องเตียนกุน องเตียนกุนได้มีใบบอกขึ้นไปยังกรุงเว้กราบทูลพระเจ้าเวียดนาม โปรดให้องเตียนกุนจับนักองแป้นเจ้าหญิงกับนักองแก้วเจ้าขายปิตุจฉา และหลวงเมืองใจทั้งสามคนนั้นจำตรวนไว้ที่ค่ายเมืองพนมเปญก่อน แต่เจ้าหญิงน้องอีกสามองค์นั้นคือนักองมี นักองเภา นักองสงวน ให้ส่งไปไว้ในเมืองไซ่ง่อน กับนักเทศมารดานักองจันทร์ ๑ นักรดมารดานักองอิ่ม ๑ กับครอบครัวนักองอิ่มด้วย ก็ให้ส่งลงไปไว้เมืองไซ่ง่อนเหมือนกัน”
ครั้น ณ เดือนแปดขึ้นเก้าค่ำ องเตียนกุนให้องโหดึกคุมเจ้าชายเจ้าหญิงเขมรและครัวเจ้านายฝ่ายเขมรลงไปส่งยังองภูเทยที่เมืองไซ่ง่อนทั้งสิ้น ครั้งนั้นนักนางรศมารดานักองด้วงและหม่อมกลีบภรรยานักองด้วงก็ติดลงไปเมืองไซ่ง่อนด้วย แต่นักองแป้นนั้นจำตรวนไว้ในค่ายเมืองพนมเปญช้านาน ก็หายสูญเงียบไปไม่รู้ว่าไปข้างไหน ครั้นภายหลังสืบได้ความว่าองเตียนกุนใช้ให้พวกพาตัวนักองแป้นเจ้าหญิงลงเรือไปในเวลากลางคืน ล่องเรือไปถึงเมืองล่องโห้ ก็จับนักองแป้นลงกระสอบถ่วงน้ำเสียที่กลางแม่น้ำใหญ่ ความที่ญวนฆ่านักองแป้นนั้นเป็นการฆ่าลับ ๆ พวกเขมรจึงไม่รู้ (ได้รู้ความนี้ต่อภายหลัง)
 ครั้น ณ เดือนเก้าขึ้นค่ำ องเตียนกุนแจ้งความกับพระยาพระเขมรว่า “พระเจ้าเวียดนามมีหนังสือรับสั่งมาว่าจะทรงจัดการบ้านเมืองเขมรให้เป็นปรกติเรียบร้อยเสียให้สิ้นพระธุระ เพราะฉะนั้นจึงมีรับสั่งให้หาพระยา,พระเขมรผู้ใหญ่น้อยขึ้นไปเฝ้า ณ กรุงเว้ให้หมด จะทรงปรึกษาราชการและจะให้ขุนนางทำบัญชีเมืองถวายด้วย”
ครั้งนั้นองเตียนกุนได้เรียกพระยาพระเขมรมาพร้อมกันฟังหนังสือรับสั่งพระเจ้าเวียดนาม ที่รับสั่งให้หาพระยา,พระเขมรที่ยอมไปเฝ้าหกนายคือ ฟ้าทละหะ ๑ สมเด็จเจ้าพระยา ๑ พระยาจักรี ๑ พระยากลาโหม ๑ พระยาสุภาธิราช ๑ เจ้าพระยาราชไมตรี ๑ องเตียนกุนก็ส่งพระยา,พระเขมรผู้ใหญ่หกคนไปเฝ้าพระเจ้ากรุงเว้ แต่พระยาพระเขมรทั้งหลายนอกจากหกคนนั้น มีความสงสัยไม่ไว้ใจแก่ญวน กลัวญวนจะพูดล่อลวงให้ลงไปถึงกรุงเว้แล้วก็จะทำอันตรายต่าง ๆ จะสู้ก็ไม่ได้ จะหนีก็ไม่พ้นเป็นแน่ ขุนนางเขมรคงตายหมดในคราวนี้ แผ่นดินเขมรก็คงจะเป็นสิทธิ์แก่ญวน เพราะฉะนั้นพระยา,พระเขมรทั้งหลายจึงไม่ยอมลงไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนาม ณ กรุงเว้ แกล้งพูดจาบิดพลิ้วต่าง ๆ ที่จะไม่ลงไปกรุงเว้อย่างเดียว
ครั้นองเตียนกุนได้ฟังเสียงพระยา,พระเขมรทั้งหลายพูดขัดขืนแข็งแรงไม่เฝ้าเป็นแน่แล้ว ครั้นจะข่มขืนจับกุมส่งไปก็กลัวจะเกิดการจลาจลรบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้น เป็นศึกกลางเมืองจะระงับก็ยาก องเตียนกุนก็นิ่งไว้ ฝ่ายพระยา,พระเขมรทั้งหลายต่างคนต่างก็ลาองเตียนกุนออกจากที่ประชุมใหญ่ องเตียนกุนว่า
“ขอให้พระยา,พระเขมรรออยู่อีกสักหกชั่วโมง จะทำโต๊ะเลี้ยงให้เป็นการรื่นเริงชื่นบาน เพราะนาน ๆ มาพบกันครั้งหนึ่ง”
ฝ่ายพระยา,พระเขมรยิ่งตกใจกลัวมากไป เพราะรู้แน่เข้าใจว่า “ถ้าจะอยู่กินโต๊ะเมื่อใดก็เหมือนจะอยู่รอหาความตาย พาชีวิตมาแลกกับของกินของญวนเป็นแน่ พระยา,พระเขมรทั้งหลายมิได้ตอบองเตียนกุนประการใด รีบเดินกลับไปบ้านเมืองแห่งตนทุกคน” ฝ่ายองเตียนกุนก็รู้อัชฌาสัยเขมรว่า เขารู้ตัวแล้วคงจะคิดต่อสู้เป็นแน่ แต่ยังไม่มีเหตุก่อนจะลงมือทำการยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นองเตียนกุนจึงได้นิ่งสงบรอไว้ก่อน แต่พอรุ่งขึ้นอีกสองวันถึง ณ เดือนเก้าแรมสามค่ำ พระยา,พระเขมรทั้งหลายคิดพร้อมใจกันทำการกำเริบเป็นขบถต่อญวนขึ้นพร้อมกันทุกบ้านทุกเมือง เขมรจับญวนเป็นที่กองทัพรักษาบ้านเมืองฆ่าเสียบ้าง และจับญวนลูกค้าพานิชฆ่าเสียบ้าง และจับญวนเป็นจำตะโหงกและจำขื่อจำตรวน ส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบองบ้าง จับส่งไปให้พระยาราชนิกูลที่เมืองระสือบ้าง ครั้งนั้นเขมรกำเริบลุกขึ้นทุกบ้านทุกเมืองฆ่าญวนตายเสียมากนัก ญวนแม่ทัพจะปราบปรามก็ไม่หยุด เพราะเป็นการไม่รู้ตัว
 ครั้น ณ เดือนสิบขึ้นห้าค่ำ พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดพาครอบครัวอพยพเดินบกเข้ามาหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาให้ล่ามถามพระยาสังขโลกว่า
“ได้รับความเดือดร้อนประการใด จึงพาครอบครัวอพยพทิ้งเมืองเสียเข้ามายังเมืองพระตะบอง”
 พระยาสังขโลกกราบเรียนว่า “นักองอิ่มพาครอบครัวหนีออกจากเมืองพระตะบองไปถึงเมืองโปริสาด องอันภู่เป็นแม่ทัพอยู่ที่เมืองโปริสาดนั้น จัดให้องญวนนายทัพคุมไพร่ญวนห้าร้อยคน คุมครอบครัวนักองอิ่มลงไปส่งยังเมืองพนมเปญ แล้วองอันภู่แม่ทัพเมืองโปริสาดนั้นไม่ไว้ใจพระยาสังขโลกและพระยา,พระเขมรในเมืองโปริสาดเลย แต่งให้นายทัพนายกองญวนคุมไพร่ญวนเที่ยวจุกช่องล้อมวงทุกด้านทุกทาง คุมเชิงพวกเขมรอยู่เสมอ แล้วองอันภู่กะเกณฑ์เขมรนายไพร่ใช้ราชการทั้งกลางวันกลางคืน และกดขี่ข่มเหงเฆี่ยนตีไพร่ได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ชั้นแต่เกลือก็ชั่งขายให้กินเสมอ ไพร่พลได้ความอดอยากซูบผอมลงมาก จึงได้หนีมาหาความร่มเย็นเป็นที่พึ่งพอพ้นภัย
 แล้วพระยาสังขโลกให้การต่อไปว่า “นักองอิ่มลงไปเมืองพนมเปญนั้น องเตียนกุนก็หาได้ยกยองนักองอิ่มขึ้นเป็นเจ้านายไม่ ญวนเรียกนักองอิ่มว่าอ้ายอิ่มและอ้ายนกสองหัวบ้าง แล้วองเตียนกุนส่งนักองอิ่มและครัวนักองอิ่มไปไว้เมืองไซ่ง่อนพร้อมกับกรมการผู้ใหญ่เมืองพระตะบองแล้ว องเตียนกุนก็ฆ่าขุนนางกรมการผู้น้อยเมืองพระตะบองเสียที่เมืองพนมเปญถึงสิบคน เพราะเหตุที่ดึงดื้อขัดขืนไม่ตามใจองญวน ก็ฆ่าเสียสิบคนพร้อมกับนักองแป้นเจ้าผู้หญิงด้วยแล้ว เขมรคนใช้ของนักองอิ่มหนีมาจากเมืองไซ่ง่อนมาหาพระยาสังขโลก แจ้งความว่า พระเจ้าเวียดนามมีหนังสือรับสั่งมาถึงแม่ทัพใหญ่ที่เมืองไซ่ง่อนให้ส่งนักองอิ่ม ๑ พระยาปลัด ๑ พระยายกกระบัตร ๑ ฟ้าทลหะ ๑ สมเด็จเจ้าพระยา ๑ พระยาจักรี ๑ พระยากลาโหม ๑ พระยาสุภาธิราช ๑ เจ้าพระยาราชไมตรี ๑ พระยาราชเดชะ ๑ พระยามหามนตรี ๑ พระศาสตราฤทธิรงค์ ๑ พระมนตรีเสน่หา ๑ พระมหาเดชา ๑ พระนราธิราชเรืองฤทธิ ๑ รวม ๑๕ คนนี้ให้ส่งขึ้นไปจำคุกไว้ ณ กรุงเว้ ฝ่ายพระยาสังขโลกเห็นว่าไม่มีเจ้านายฝ่ายเขมรแล้วหาที่พึ่งมิได้ จึงอพยพครัวเข้ามาขอพระบารมีเป็นที่พึ่งต่อไป เมื่อพระยาสังขโลกจะมานั้นได้พูดจาชักชวนพระยา,พระเขมร และราษฎรพร้อมใจกันคิดอ่านจะอพยพเข้ามาเป็นอันมาก แต่จะมาพร้อมกับพระยาสังขโลกก็หาทันไม่ จะตามเข้ามาภายหลังเนือง ๆ กัน”....
การแปรภักดิ์ของนักองอิ่มให้ผลเป็นลบ แทนที่ญวนจะยกย่องกลับถูกประณามหยามหมิ่นเป็น “อ้ายนกสองหัว” สุดท้ายถูกส่งไปขังคุกไว้ที่กรุงเว้ ญวนฆ่านักองแป้นเจ้าแผ่นดินหญิงที่ตนเชิดเป็นหุ่นนั้น นัยว่าพระนางไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดของญวน พระยาสังขโลกเป็นหัวหอกในการอพยพชาวเขมรเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม การจลาจลเกิดขึ้นทุกบ้านทุกเมืองในเขมรแล้ว เรื่องจะเป็นไปอย่างไร ไว้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฟื่องฟ้า, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๒ -
พระยาเขมรชักชวนฆ่าญวนบ้าง เป็นการล้างแค้นญวนผู้ผยอง ยกเข้าตีโปริสาดคาดคืนครอง ญวนกลับป้องกันได้ไม่เสียเมือง
เขมรขอไทยส่งนักองด้วง จากเมืองหลวงเป็นเจ้าไม่เอาเรื่อง ให้เขมรมีหลักยึดไม่ฝืดเคือง เพื่อปลดเปลื้องอำนาจอุบาทว์ญวน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดพาครัวหนีเข้าเมืองพระตะบอง ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยาม บอกเล่าเรื่องราวในกัมพูชาที่ญวนกดขี่ข่มเหงรังแกเขมร ฆ่านักองแป้นกษัตรีกัมพูชาและขุนนางเขมรจำนวนมาก สำหรับนักองอิ่มนั้นญวนมิได้ยกย่องให้เป็นเจ้าเขมรตามความใฝ่ฝันของนักองอิ่ม องเตียนกุนเรียกอ้ายอิ่มนกสองหัว และล่าสุดพระเจ้าเวียดนามมินมางสั่งให้องเตียนกุนส่งตัวนักองอิ่มพร้อมพวกไปขังไว้ในคุกที่กรุงเว้ ขุนนางเขมรตามหัวเมืองต่าง ๆ พากันเป็นขบถก่อการจลาจลขึ้นทุกบ้านทุกเมืองแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร มาอ่านต่อไปพร้อม ๆ กันครับ
 “ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ถามพระยาสังขโลกต่อไปว่า “หัวเมืองขึ้นกับเมืองเขมรมีกี่เมือง เจ้าเมืองชื่อใดบ้าง อยากรู้”
พระยาสังขโลกราบเรียนว่า “ข้างตะวันออก ๑๔ เมือง เมืองนครวัดพระยานครราชาเป็นเจ้าเมือง เมืองกำพงสวายเจ้าเมืองชื่อพระยาเดโช เมืองไพรกระดีเจ้าเมืองชื่อพระยามนตรีเสน่หา พระยาแสนทองฟ้าเจ้าเมืองโคกแสะ พระยาเพชรเดโชเป็นเจ้าเมืองเชิงไพร พระยาราชาธิราชเป็นเจ้าเมืองสะตึงตรอง พระยาราชเสน่หาเป็นเจ้าเมืองสมบุก พระยาเทพวรชุนเป็นเจ้าเมืองขาโขงขมุม พระยามนตรีสงครามเป็นเจ้าเมืองไพรระแวง พระยาธรรมาเดโชเป็นเจ้าเมืองบาพนม พระยาสงครามธิบดีเป็นเจ้าเมืองสวายทราบ พระยาจักราธิราชเป็นเจ้าเมืองลำดวน รวมหัวเมืองข้างตะวันออก ๑๔ หัวเมืองเท่านี้ แต่เมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นกับเมืองทั้ง ๑๔ นี้มีอีกมากมายหลายสิบเมือง หัวเมืองใหญ่ฝ่ายตะวันตกนั้นมี ๑๖ เมืองคือ พระยามโนไมตรีเป็นเจ้าเมืองอุดงคฤๅไชย พระยาสังขโลกเป็นเจ้าเมืองโปริสาด พระยาชำนิสงครามเป็นเจ้าเมืองตะครัว พระยาเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองตรอง พระยายศเดชาเป็นเจ้าเมืองขลุง พระยาเสนาธิบดีเป็นเจ้าเมืองบริบูรณ์ พระยาเสน่หาเสนาเป็นเจ้าเมืองละแวก พระยาอุทัยธิราชเป็นเจ้าเมืองสำโรงทอง พระยาราชาไมตรีเป็นเจ้าเมืองพนมเปญ พระยาวงศานุชิตเป็นเจ้าเมืองบาที พระยาไชยโยคเป็นเจ้าเมืองไพรกระบาท พระยาราชเสน่หาเป็นเจ้าเมืองกำพงโสม พระยาเสนานุชิตเป็นเจ้าเมืองกำปอด พระยาโยธาธิบดีเป็นเจ้าเมืองบันทยามาศ พระยาพิษณุโลกเป็นเจ้าเมืองเชิงกระชุม พระยาวดีวงศาเป็นเจ้าเมืองปาศักดิ์ รวมหัวเมืองใหญ่ฝ่ายตะวันตก ๑๖ เมืองเท่านี้ แล้วมีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นแก่เมืองทั้ง ๑๖ หัวเมืองนี้มีอีกหลายสิบเมือง รวมทั้งข้างตะวันตกและข้างตะวันออกเป็นหัวเมืองใหญ่สามสิบเมือง เจ้าเมืองเขมรทั้งสามสิบเมืองนี้มีส่วยสาอากรขึ้นเป็นกำลังราชการแผ่นดินทุกเมืองด้วยกัน”
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยาสังขโลก กับพระมหาดไทย หลวงราชมานู สามนายออกไปเมืองระสือ ช่วยคิดราชการกับพระยาณรงค์วิไชย พระอัครเนศร พระนเรนทรโยธาข้าหลวงซึ่งตั้งรักษาเมืองระสืออยู่นั้น ให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมพวกครอบครัวเขมรที่จะสวามิภักดิ์เข้ามาให้รับไว้ทำนุบำรุงเป็นกำลังต่อไป
 ฝ่ายองอันภู่แม่ทัพญวน ซึ่งรักษาเมืองโปริสาดนั้น เห็นว่าพระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดอพยพครอบครัวหนีไปแล้ว จึงตั้งพระยาพิบูลยราชมาเป็นเจ้าเมืองโปริสาดตอไป พระยาวิบูลยราชไม่สมัครอยู่กับญวน จึงพาครอบครัวเขมรหนีออกจากเมืองโปริสาดไปอยู่ในป่า ครั้งนั้นองอันภู่จึงบอกข่าวไปยังเมืองพนมเปญ ให้องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ทราบ องเตียนกุนทราบแล้วจึงตั้งพระยาสุริยวงศาธิราชเขมรเก่ามาแต่เมืองพนมเปญให้มาเป็นเจ้าเมืองโปริสาดอีก พระยาสุริยวงศาธิราชเจ้าเมืองโปริสาดใหม่ไม่เต็มใจอยู่กับญวนอีก จึงพาครอบครัวหนีออกจากเมืองโปริสาดเข้าป่าไปอยู่กับพระยาวิบูลยราชเจ้าเมืองโปริสาดคนก่อน พระยาสุริยวงศาธิราชกับพระยาวิบูลยราชคิดกันไปชักชวนพระยากุเชนทรานายกเขมร ซึ่งมีไพร่พลพาหนะมาตั้งอยู่ในป่าช้านาน จะยกกองทัพใหญ่มาจับญวนที่ในเมืองโปริสาดฆ่าเสียให้หมด เป็นการตอบแทนแก้แค้นญวนบ้าง ที่ญวนทำแก่เขมรให้ได้ความเดือดร้อน เมื่อพระยากุเชนทรานายก พระยาสุริยวงศาธิราช พระยาวิบูลยราช ยกทัพใหญ่มาตีเมืองโปริสาดนั้น เขมรชาวเมืองหนีออกหากองทัพเสมอเนือง ๆ ญวนก็จัดให้ขุนนางญวนคุมกำกับทัพเขมรออกต่อสู้กับทัพพระยากุเชนทรราชนายก ยังรบกันอยู่ทุกวัน เพราะญวนมีกระสุนดินดำบริบูรณ์ ฝ่ายเขมรขัดลูกกระสุนดินดำ จึงตีเมืองโปริสาดหาได้ไม่ องอันภู่ก็แต่งหนังสือไปแจ้งความให้องเตียนกุนแม่ทัพญวนทราบว่า “เมืองโปริสาดนั้นเขมรกลับใจเป็นขบถลุกลามรบกัน” องเตียนกุนจึงแต่งให้องเดดกเป็นแม่ทัพคุมไพร่ญวน ๕,๐๐๐ ยกมาช่วยป้องกันเมืองโปริสาดไว้ได้ หาแตกแก่เขมรไม่
ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกให้หลวงเทเพนทร์ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “บัดนี้บ้านเมืองเขมรเกิดการจลาจลขึ้นทุกแห่งทุกตำบล ไพร่พลเมืองเขมรฆ่าญวนตายเนือง ๆ และพระยาพระเขมรก็ยกทัพมาสู้รบกับญวนเนือง ๆ ฝ่ายญวนมีใจโกรธเขมรยิ่งนัก จะยกทัพใหญ่มาล้างผลาญเขมรอีกต่อไป กับสืบข่าวราชการฝ่ายญวนได้ความว่า ญวนตระเตรียมการรบโดยเป็นปี ตั้งต่อเรือรบใหญ่น้อยไว้มากหลายร้อยลำ แล้วถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารมาไว้ตามหัวเมืองรายทางมากแล้ว และสะสมได้ข้าวเกลือมาไว้ในยุ้งฉางทุกเมือง องเตียนกุนแจ้งความต่อพระยาพระเขมรว่าจะยกกอทัพใหญ่มาตีเมืองระสือ เมืองนครเสียมราฐ เมืองพระตะบอง ในต้นฤดูน้ำมากเดือน ๑๑ หรือเดือน ๑๒ พระพระยาเขมรเก่าที่ตกไปอยู่กับญวนก็กลับมาหาไทยมากหลายนานแล้ว บัดนี้พระยาพระเขมรเก่าใหม่พร้อมใจกันทำเรื่องราวมายื่นขอให้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอนักพระองด้วงออกไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร ที่เมืองเขมรไม่มีเจ้านายแล้ว นักพระองอิ่มต้องถูกจำตรวนอยู่ที่เมืองเว้ จะตายเป็นฉันใดก็ไม่แจ้ง จึงได้ขอนักพระองด้วงออกไปปกครองบ้านเมืองเป็นที่นับถือของพวกเขมรต่อไป แล้วพระยาพระเขมรที่ตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่ามีกำลังวังชามากบ้างน้อยบ้าง ก็แต่งคนมาแจ้งความว่า ถ้านักพระองค์ด้วงมาเป็นเจ้านายฝ่ายเขมรเมื่อใดแล้ว พระยาพระเขมรที่หนีญวนมาซุ่มอยู่ในป่าดงมีไพร่พลมากทุก ๆ กอง กองละหลายพันรวมทั้งสิ้นสักสี่หมื่น ก็จะเข้ามาขออาสาทำราชการกับนักพระองด้วงตอไป แล้วจะขออาสาไปรบญวนแก้ฝีมือญวนด้วย........”
 เป็นอันรู้ได้ว่า ยามนั้นหัวเมืองเขมรฝ่ายนอกที่เป็นเมืองใหญ่ๆทั้งหมดมี ๓๐ หัวเมือง และยังมีเมืองเล็กเมืองน้อยซึ่งเป็นกิ่งก้านของเมืองใหญ่อีกหลายสิบเมือง ล้วนอยู่ในความครอบงำของญวนทั้งสิ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาสืบข่าวจนได้ราชการแน่ชัดแล้วว่า ญวนกำลังเตรียมทำศึกใหญ่เป็นแรมปีในเขมร แยกเข้าตีเมืองระสือ นครเสียมราฐ และพระตะบองในราวเดือน ๑๑-๑๒ ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ชลนา ทิชากร, Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปิ่นมุก, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๓ -
เขมรลุกฮือแพร่แผ่ขยาย ตีเผาค่ายเวียดนามลามหลายส่วน ฆ่าผ่าอกตกตายมิให้กวน ตั้งกระบวนการขับฆ่าจับตาย
แม่ทัพญวนบุ่มบ่ามยกสามทัพ ถูกตียับเยินแย่ยันแพ้พ่าย โกรธเขมรเกินเก็บความเจ็บอาย สั่งทำลายทัพหลักพรรคพวกตน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระยาสังขโลกกราบเรียนให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่า ยามนั้นหัวเมืองเขมรฝ่ายนอกที่เป็นเมืองใหญ่ ๆ ทั้งหมดมี ๓๐ หัวเมือง และยังมีเมืองเล็กเมืองน้อยซึ่งเป็นกิ่งก้านของเมืองใหญ่อีกหลายสิบเมือง ล้วนอยู่ในความครอบงำของญวนทั้งสิ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาสืบข่าวจนได้ราชการแน่ชัดแล้วว่า ญวนกำลังเตรียมทำศึกใหญ่เป็นแรมปีในเขมร แยกเข้าตีเมืองระสือ นครเสียมราฐ และพระตะบอง ในราวเดือน ๑๑-๑๒ ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ความในใบบอกนั้นยังให้อ่านไม่จบ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 “เพราะเขมรโกรธญวนที่ฆ่าเจ้าหญิงและเจ้าชายที่หาความผิดมิได้นั้น จึงจะแก้แค้นญวนให้ได้ เพราะฉะนั้นเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ราชการทัพศึกซึ่งจะทำแก่ญวนครั้งนี้เห็นมีโอกาสเป็นท่วงทีอยู่มาก ควรจะรีบร้อนทำการตีบ้านเมืองญวนมาทูลเกล้าฯถวาย ถึงมาทว่าไม่ได้เมืองญวน ก็คงจะได้เมืองเขมรคืนมาขึ้นไทยทั้งสิ้น คงจะไม่ให้ญวนทำอำนาจครอบงำเมืองเขมรต่อไปได้อีกเป็นแน่ แต่ยังไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงได้มีตราเกณฑ์กองทัพหัวเมืองลาวทางตะวันออกเพิ่มเติมมาอีก จะได้เป็นกำลังแก่ราชการครั้งนี้ด้วย
 เกณฑ์เมืองสุรินทร์นายไพร่ ๒,๙๐๐ คน เมืองสังขบุรีนายไพร่ ๑,๕๐๐ คน ทั้งสองเมืองนั้นให้ยกมาช่วยพระยาราชนิกูลรักษาเมืองนครเสียมราฐ
เกณฑ์ไพร่พลเมืองสุวรรณภูมินายไพร่ ๒,๖๐๐ คน เมืองยโสธรนายไพร่ ๑,๕๐๐ คน เมืองร้อยเอ็ดนายไพร่ ๒,๐๐๐ คน เมืองขอนแก่นนายไพร่ ๔๕๐ คน ทั้งสี่เมืองนี้ให้ยกไปช่วยพระยาราชฤทธิรณรงค์แขกจามปาเมืองปักยองปากน้ำตึกโชเมืองมงคลบุรี
เกณฑ์ไพร่พลเมืองภูเขียว ๑,๐๐๐ คน เมืองพิมายนางรอง ๑,๐๐๐ คน ทั้งสามเมืองนี้ให้ยกไปช่วยหลวงคชลักษณ์รักษาเมืองพัชโลงแขวงเมืองโปริสาด
เกณฑ์ไพร่พลเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นเมืองนครราชสีมาเป็นคน ๕,๐๐๐ ให้ยกไปช่วยพระพรหมบริรักษ์รักษาเมืองระสือบ้าง ให้แบ่งคนในกองทัพเมืองนครราชสีมาออกครึ่งหนึ่งไปช่วยพระพิเรนทรเทพรักษาค่ายกะพงปรักบ้าง
แล้วได้เกณฑ์เขมรป่าดงเมืองขุขันบุรี ๔,๐๐๐ คน เมืองศีรษะเกษ ๓,๓๐๐ คน เมืองนครจำปาศักดิ์ ๕,๐๐๐ คนเมืองศรีทันดร ๑,๕๐๐ คน เมืองแสนปาง ๘๐๐ คน เมืองเชียงแตง ๖๐๐ คน เมืองเดชอุดม ๑,๕๐๐ คน เมืองไชยบุรี ๑,๓๐๐ คน เมืองเขมาท่าตอ ๑,๔๐๐ คน เมืองอัตปือ ๓๐๐ คน เมืองลาวด้วย คือ เมืองอุบลราชธานี ๔,๓๐๐ คน เมืองเขมราฐ ๑,๗๐๐ คน เมืองมุกดาหาร ๑,๓๐๐ คน เมืองนครพนม ๑,๐๐๐ คน เมืองขึ้นเมืองนครพนม ๑,๕๐๐ คน เมืองสกลนคร ๑,๓๐๐ คน เมืองกาฬสินธุ์ ๙๐๐ คน เมืองหนองละหาร ๑,๖๐๐ คน เมืองหนองคาย ๒,๐๐๐ คน เมืองปากเหียง ๕๐๐ คน รวมเมืองเขมรป่าดงและลาวตะวันออกเข้ากันเป็น ๒๐ เมือง เกณฑ์ตระเตรียมไว้อีกพวกหนึ่ง ถ้ามีราชการศึกกับญวนหนักแน่นประการใดจะได้เรียกไพร่พลมาเข้ากองทัพเพิ่มเติมเป็นกำลังราชการสงครามต่อไป รวมไพร่พลหัวเมืองทางตะวันออก ๓๐ เมืองเป็นคน ๕๓,๗๕๐ คน”
(ซึ่งกล่าวจำนวนผู้คนไว้ถ้วนถี่ตามบัญชีตารางเกณฑ์นั้นด้วยเหตุใด? ขอตอบว่ากล่าวให้แน่นอนทั้งนี้ เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านผู้ฟังทราบกำหนดไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงสยาม แต่ทางตะวันออกทางเดียวยังมีผู้คนถึงเพียงนี้ จะได้เห็นพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ปรากฏเป็นมหัศจรรย์ประจักษ์พระเดชานุภาพด้วย กับจะได้รู้กำลังเมืองไทยมีผู้คนเท่าไร พอเป็นทางราชการแด่ท่านผู้จะทำราชการภายหน้าต่อไปได้)
 แต่กองทัพหัวเมืองไทยฝ่ายเมืองที่โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ครั้งนี้นั้น รามัญ ๕,๐๐๐ ไทยในกรุง ๕,๐๐๐ ไทยหัวเมืองหมื่นเศษ รวม ๒๑,๖๐๐ คน คือเมืองกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองพรหม เมืองอินทร เมืองชัยนาท เมืองนครสวรรค์ เมืองสิงหบุรี เมืองสรรคบุรี เมืองอุทัยธานี เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองสระบุรี เมืองลพบุรี เมืองเพชรบูรณ์ เมืองวิเชียร เมืองฉะเชิงเทรา เมืองกบินทร์บุรี เมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก เมืองพนัสนิคม รวม ๒๐ เมือง กับขอพระราชทานเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (ปาน) บุตรเขยข้าพระพุทธเจ้า ออกมาช่วยคิดราชการทำศึกกับญวน กับขอพระยา,พระ,หลวง ในกรุงและหัวเมืองที่ได้เคยเป็นนายทัพนายกองมาด้วยกันแต่ชั้นก่อน ๆ ออกมาใช้สอยจึงจะได้ราชการคล่องแคล่ว กับข้าราชการในพระราชวังบวรฯ นั้นมาใช้สอยกล้าหาญยิ่งนัก เพราะเคยทัพเคยศึกมามากแล้ว ตลอดจนมหาดเล็กหุ้มแพรก็เข้าใจเคยการทัพศึกมาก ขอพระราชทานให้ออกมาถึงเมืองพระตะบองในข้างขึ้นเดือนสิบเอ็ดอ่อน ๆ ถ้ามาถึงในข้างแรมเดือนสิบยิ่งดีนัก จะได้ตระเตรียมการแต่เนิ่น ๆ และขอรับพระราชทานปืนจ่ารงค์ ๒๐๐ บอก ปืนหามแล่น ๒,๐๐๐ บอก ปืนเล็กคาบศิลา ๒๐,๐๐๐ บอก ปืนเล็กอย่างใหม่หมื่นบอก ปืนหลักหลังช้างทำลายค่าย ๒,๐๐๐ บอก ปืนสันหลังม้า ๕,๐๐๐ บอก กับกระสุนดินดำศิลาปากนกสำหรับหน้าเพลิงปืนด้วย แต่หอกดาบง้าวนั้นได้สร้างขึ้นที่เมืองเขมรมีพอใช้ราชการแล้ว ๖๐,๐๐๐ เล่ม ราชการครั้งนี้เป็นท่วงทีหนักหนา เป็นช่องทางที่จะทำแก่ญวนได้ถนัด ขอพระราชทานเครื่องเสื้อผ้าพลรบออกมาด้วย เพราะไพร่พลหัวเมืองมีเครื่องใช้แต่งกายเร่อ ๆ ร่า ๆ น่าเกลียด เ ป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพฯ และพวกญวนจะหมิ่นประมาทว่าไทยไม่มีเครื่องแต่งกายทหาร ขอพระราชทานเครื่องเสื้อผ้าแต่งกายทหารนั้นให้สีต่าง ๆ กันเป็นพวก ๆ จะได้เป็นที่หมายสังเกตไพร่พลได้ง่ายเป็นกอง ๆ
อนึ่งพระยาเดโชเขมรก็ได้นำเรือรบมาให้มากพอราชการแล้ว ราชการจะทำแก่ญวนคราวนี้เห็นมีช่องทางเมืองโปริสาด ๑ เมืองสะโตง ๑ ทางเมืองกำพงสวาย ๑ เป็นทางที่ญวนมาตั้งอยู่ก่อน
 ครั้นเมื่อเดือนเก้าเดือนสิบนั้น พวกเขมรคิดการพร้อมกันเป็นจลาจลกำเริบขึ้นทุกบ้านทุกเมือง เขมรยกเข้าจับญวนฆ่าตายและแตกหนีไปหลายบ้านหลายเมือง อนึ่ง เขมรเจ้าเมืองกำแพงขมุม ๑ เมืองไพรระแวง ๑ เมืองลำดวน ๑ เมืองสวายพาบ ๑ กับพวกแขกเขมรบ้านดงดำรีพร้อมกันกับเมืองทั้งสี่นั้น ยกกองทัพจู่โจมเข้าตีค่ายญวนที่ดงดำรีแตกหมด เขมรฆ่าญวนตายในค่ายและนอกค่ายดงดำรีครั้งนั้นประมาณห้าร้อยเศษ เขมรยกเลยไปรบญวนที่ตั้งอยู่ ณ เกาะใหญ่ นำไฟเผาที่อยู่อาศัยของญวนไหม้ขึ้นหมด ญวนตกใจไฟหนีออกจากที่โรงอาศัย เขมรก็พาช้างและกระบือไล่ญวน ญวนก็ลงน้ำว่ายวนเวียนอยู่มาก เขมรจึงไล่ยิงฟันแทงญวนตายในน้ำและบนบกที่เกาะนั้น ญวนตายสิ้นไม่เหลือเลยถึง ๓๖๐ คน แล้วเขมรก็ตีต่อไปตลอดถึงบ้านเปียมจอ แต่ที่บ้านเปียมจอนี้ญวนรู้ตัวก่อน จึงแตกหนีรอดไปได้มาก ที่หนีไมทันนั้นเขมรก็ฆ่าตาย ๔๖ คน แล้วเผายุ้งข้าวเกลือเสีย เก็บเครื่องอาวุธมาได้มาก จับได้ผู้หญิงญวนมากก็พามาใช้สอยที่บ้านเขมร แต่ชายที่จับเป็นได้ถ้าเป็นญวนแก่ชรา เขมรก็ฆ่าเสียหมด รับแต่ญวนชายฉกรรจ์ไว้ ๑๖๔ คน ส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาบ้าง เขมรคุมไว้ใช้ให้เลี้ยงช้างม้าโคกระบือบ้าง แต่ตัดหูเสียทั้งสองข้างทุกคน เป็นการสัญญาว่า เชลยจับมาได้ใช้การงานหนักที่สุด แต่พวกแขกเขมรนั้นจับญวนเป็นได้พามาไว้แต่ผู้หญิงนั้น ถ้าเป็นชายฆ่าเสียหมด
 ครั้งนั้นองอันภู่แม่ทัพญวนใช้ให้พระยา,พระเขมรสามนายเป็นแม่ทัพ คือ พระยาวังภูมิ ๑ พระยาราชาเดชะ ๑ พระยาราชาไมตรี ๑ คุมไพร่พลเขมรที่อยู่ในอำนาจญวน ญวนกำกับมาด้วย แล้วญวนให้แขกจามชื่อแขกนอก ๑ แขกอินทรวิชัย ๑ คุมแขกจาม ๕๐๐ พระยา,พระเขมรคุมเขมร ๕๐๐ องหับเป็นผู้บังคับทั้งเขมรและแขกจามมีไพร่พลญวนมาด้วย ๕๐๐ รวมญวน ๕๐๐ เขมร ๕๐๐ แขกจาม ๕๐๐ รวมทั้งสิ้น ๑,๕๐๐ คน ยกมารบเมืองสำโรงทอง
 ฝ่ายพระยาอุไทยธิราชเจ้าเมืองสำโรงทองฝีมือทัพศึกแกล้วกล้าสามารถหนัก จึงยกไพร่พลออกต่อสู้ญวนตั้งแต่เช้าจนเพลาเพล ตีญวนแตกหนีไปหมด ฆ่าญวนตาย ๑๑๐ คน ฆ่าเขมรแขกจามที่มาด้วยญวนนั้นตาย ๒๖๐ คน จับเป็นได้แต่แขกจามและเขมรในกองญวน ๑๔๐ คน ผ่าอกตายทั้งสิ้น จับตัวพระยาวังภูมิไว้ แต่พระยาราชาเดชะถูกปืนตายในที่รบ แต่พระยาราชาไมตรีหนีกลับไปหาญวน ญวนโกรธว่านำทัพไปแตกมา ให้ฆ่าพระยาราชาไมตรีเสียทั้งไพร่พลที่แตกทัพมาเท่าใด ญวนสั่งให้ฆ่าเสียสิ้น พระยาราชาไมตรีพร้อมกับไพร่พลเขมรเห็นว่า ญวนไม่เลี้ยงแล้วจะฆ่าเสียดังนั้น จึงพากันกำเริบลุกลามยกเข้าฆ่าญวนเสียบ้าง แล้วก็หนีมาหาพระยาอุไทยธิราช พระยาอุไทยธิราชสำคัญว่าพระยาราชาไมตรียกมาตีเมืองสำโรงทองอีก เพราะมีเครื่องอาวุธมาครบมือกัน ไม่ทันรู้เหตุการณ์นัก เมื่อพระยาราชาไมตรีมาใกล้เมืองสำโรงทองนั้น พระยาอุไทยธิราชก็สั่งให้นำปืนตับยิงไปถูกพระยาราชาไมตรีตาย ไพร่พลก็วางอาวุธเข้าหาโดยดี จึงรู้เหตุการณ์ว่าหนีญวนมา........
 ** เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบบังคมทูลถึงการเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อจะทำศึกใหญ่กับญวนอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่ทันจะยกทัพใหญ่เข้าเขมร ภายในเมืองเขมรก็เกิดการจลาจล เขมรกำเริบรวมตัวกันยกเข้าโจมตีค่ายญวนและเข่นฆ่าญวนตายเป็นเบือ แม่ทัพญวนเมืองโปริสาดจัดทัพยกไปตีเมืองสำโรงทองก็พ่ายแพ้ยับเยิน แม่ทัพญวนสั่งฆ่าแม่ทัพและไพร่พลเขมรที่รบแพ้มา เป็นเหตุให้เขมรกำเริบลุกลามใหญ่ สงครามในเขมรเริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว ติดตามอ่านต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๔ -
องเตียนกุนจัดทัพแบบสมทบ ยกเข้ารบเขมรบ้างอย่างไร้ผล ถูกเขมรตีตายเสียไพร่พล ทัพปี้ป่นถูกหมิ่นญวนสิ้นเชิง
พระยาเขมรหลายเมืองแค้นเคืองหนัก ญวนมาพักพลมุ่งทำยุ่งเหยิง จึงตีญวนให้เตลิดไล่เปิดเปิง ไม่ปล่อยเหลิงลอยนวลกวนขะแมร์ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าเมืองเขมรสี่เมืองประกอบด้วยเมืองกำแพงขมุม เมืองไพรระแวง เมืองลำดวน เมืองสวายพาบ นำชาวเขมรยกเป็นกองทัพเข้าตีค่ายญวนที่ดงดำรี เข่นฆ่าเขมรตายไป ๕๐๐ คน แล้วยกเลยเข้าตี เผาค่ายญวนที่เกาะใหญ่ ฆ่าญวนตายเป็นอันมาก ที่จับเป็นได้ก็เลือกชายฉกรรจ์ไว้ใช้บ้าง ส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาบ้าง ที่เป็นชายชราก็ฆ่าเสียสิ้น ส่วนพวกแขกเขมรที่จับญวนผู้ชายได้นั้น ไม่เก็บไว้ใช้ แต่ฆ่าผ่าอกทิ้งเสียสิ้น ฝ่ายองอันภู่แม่ทัพญวนที่รักษาเมืองโปริสาดจัดทัพมีไพร่พล ๑,๕๐๐ เป็นญวน ๕๐๐ เขมร ๕๐๐ แขกจาม ๕๐๐ ญวนเป็นนายทัพใหญ่ยกไปตีเมืองสำโรงทอง พระยาอุไทยธิราชเจ้าเมืองนี้มีฝีมือเข้มแข็ง ยกทัพออกต่อสู้ ทัพญวนพ่ายแพ้ยับเยินแตกหนีไป แม่ทัพญวนเมืองโปริสาดโกรธแม่ทัพเขมรที่พ่ายแพ้กลับมา จึงสั่งฆ่าแม่ทัพและไพร่พลเสีย แต่พระยาราชาไมตรีและไพร่พลไม่ยอมให้ฆ่า จึงต่อสู้เข่นฆ่าญวนแล้วยกกลับไปหาพะยาอุไทยธิราช พะยาอุไทยธิราชเข้าใจผิดคิดว่า พระยาราชาไมตรียกมาตีเมืองสำโรงทองอีก จึงสั่งให้ทหารใช้ปืนยิงใส่ทัพพระยาราชาไมตรี พระยาราชาไมตรีถูกกระสุนปืนตาย..... วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
 “..........แล้วองเตียนกุนใช้ให้นายทัพญวนชื่อองเดโดยกวางคุมทัพญวนแขกจาม นายทัพญวนแขกจามชื่อว้ายเทียบดเป็นน้ององญวนชื่อเวียนไว้ คุมไพร่แขก ๘๐๐ ญวน ๕๐๐ รวม ๑,๓๐๐ คน ลงเรือรบแง่โอแง่ทราย ๒๐ ลำ เรือรบอย่างเล็ก ๓๐ ลำ รวม ๕๐ ลำ ยกมารบกับพระยาทิพยสงครามเขมร ณ บ้านฉนวน บ้านฉนวนได้แต่งกองทัพเขมรออกต่อสู้กับญวน ญวนแตกหนีบ้างตายในที่รบประมาณ ๘๐ เศษ จับเป็นได้ทั้งแขกจามและญวน ๔๖ คน ฆ่าเสียบ้าง พามาไว้บ้าง แล้วพระยาทิพยสงครามกับพระภักดีสงครามผู้บุตรชายใหญ่ ยกทัพเรือที่เก็บของญวนไว้ได้ ๒๖ ลำนั้น ไล่ติดตามทัพแขกและญวนไปจนถึงบ้านแขกชวาคลองหลวง พระยาทิพยสงครามสั่งให้พระภักดีสงครามผู้บุตรยกขึ้นบก นำไฟเผาบ้านเรือนพวกแขกชวาตามริมคลองทั้งสองฟากไหม้สิ้นไม่เหลือเลย แล้วตามไปตีแขกจามยวน แขกจามญวนกลัวกระโดดจากเรือหนีขึ้นบกบุกป่าไปทิ้งเรือเสียหมด พระยาทิพยสงรามก็เก็บเรือรบญวนเรือไล่ของญวนได้ทั้ง ๕๐ ลำ กลับมาจัดการรักษาบ้านฉนวนไว้รับญวนอีก ครั้งนั้นพระยาทิพยสงครามจับญวนแขกเชลยเป็นได้รวม ญวน ๑๖๘ คน แขกจาม ๓๘๖ คน รวม ๕๕๔ คน คุมไว้ในค่ายแล้วจะส่งไปให้แม่ทัพไทยทั้งสิ้น
 ฝ่ายพระยาราชเดชะเขมรกับพระอนุรักษ์เสนีผู้น้องภรรยา คุมกองทัพใหญ่ยกไปตีค่ายพนมเปญแตก ได้กวาดต้อนครอบครัวเมืองพนมเปญที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก เลือกคัดแต่เขมรที่เป็นชายฉกรรจ์ได้ ๓,๓๒๖ คน แขกเขมรชายฉกรรจ์ ๑,๑๔๔ คน รวมเขมรและแขก ๔,๔๗๐ คน แต่ชายฉกรรจ์ ยังหญิงและลูกวิ่งลูกจูงและชายหญิงแก่ชรา รวม ๑๐๐,๐๐๐ คนเศษ ให้พระอุทัยวงศาธิราชคุมครอบครัวอยู่ก่อน แล้วให้ผ่อนเดินครัวมาตอภายหลัง แต่พระยาราชเดชะนั้นกวาดต้อนได้ไพร่พลเขมรแขกฉกรรจ์ ๔,๔๗๐ คน แล้วยกไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ ริมฝั่งตำบลเจียนสวายเป็นที่มั่น แล้วยกทัพใหญ่ไปตีค่ายญวนที่ตำบลดำรี (คือที่โรงช้างแถว) ญวนต่อสู้อยู่ครู่หนึ่งก็แตกทุกค่าย เขมรฆ่าญวนประมาณ ๔๐๐ คน แล้วเก็บได้เรือรบญวนอย่างเรือแง่โอ ๗๐ ลำ ปืนใหญ่ ๕๐ บอก ปืนคาบศิลา ๑,๓๗๐ บอก ได้ดาบง้าวแป๊ะกั๊ก ๔,๒๖๐ เล่ม กระสุนดินดำพร้อมทั้งเสบียงอาหารด้วย จับญวนเชลยได้ ๑๘๙ คน แต่ญวนแม่ทัพชื่อองตือถูกปืนที่ท้องตลอดไปข้างหลังตายอยู่ในที่รบ ได้ศพมาผ่าอกเสียบไว้หน้าค่าย ญวนนอกนั้นก็แตกหนีไปสิ้น ๒,๐๐๐ เศษ ฝ่ายพระยาทิพยสงครามเขมรได้เรือรบของญวน ๕๐ ลำ แล้วให้พระภักดีสงครามผู้บุตรใหญ่ พระหฤทัยธิราชผู้บุตรรองทั้งสองคนคุมทัพเรือยกเป็นกองหน้า พระยาทิพยสงครามเป็นกองหนุน ยกลงไปตีค่ายญวนที่เมืองปาศักดิ์แตก ญวนตายประมาณ ๘๐ เศษ ที่เหลือก็ทิ้งค่ายหนีไปหมด พระยาทิพยสงครามได้เรือรบแง่โอของญวนจอดไว้หน้าค่าย ๗๐ ลำ มีปืนใหญ่ ๒๐๐ บอก ปืนเล็กคาบศิลา ๑,๔๐๐ บอ ก เก็บมาไว้ที่ค่ายบ้านฉนวน แล้วเผาเมืองปาศักดิ์เสียหมด
 ฝ่ายพระยาโยธาเสนาเขมรแม่กองอยู่ที่เมืองกำปอด คิดพร้อมใจด้วยพระยาภิมุขวงศา และ พระยาวิเศษโยธาธิราช และพระยาพระเขมรทั้งหลาย คุมไพร่พลเขมร ๒,๐๐๐ คน ยกกองทัพไปตีค่ายญวนที่ตำบลตำหนักจังเจอ ฆ่าญวนตายในที่รบ ๑๘๖ คน ญวนที่เหลือตายสู้รบอยู่วันกับคืนหนึ่งก็ทิ้งค่ายแตกหนีไปสิ้น พระยาโยธาเสนาเก็บได้เครื่องศาสตราวุธของญวนเป็นอันมาก
 แล้วพระยาโยธาเสนาแบ่งไพร่พล ๕๐๐ ให้พระยาภิมุขวงศาคุมเชลยญวนที่จับเป็นได้และเครื่องอาวุธไว้ให้ดี ส่วนพระยาโยธาเสนาแบ่งไพร่พล ๑,๕๐๐ คน ให้พระเมืองซ้ายเป็นนายทัพหน้า พระยาโยธาเสนาเป็นทัพหนุน ยกมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลริมฝั่งคลองลำภูราย หมายจะรบญวนอีก ไม่เห็นญวนยกมา พระยาโยธาว่ากับพระเมืองซ้ายว่า “อ้ายญวนมันไม่มารบเรา เราก็ต้องยกไปรบมันให้แตกไปให้หมดจงได้” พอพูดไม่ทันขาดคำลงได้ยินเสียงกลองศึกญวนตีเดินทัพมาข้างหลังค่าย พระยาโยธาเสนาก็ยกพลทหารแยกออกเป็นปีกกาโอบตีทัพญวนไปตั้งแต่เที่ยงจนพลบค่ำ ทัพญวนก็แตกถอยหนีไปหมด ญวนตายในขณะรบประมาณแต่ที่ได้เห็นศพ ๑๕๐ คน จับได้ช้าง ๑๘ ช้าง ม้า ๓๖ ม้า ปืนใหญ่หลังช้าง ๑๓ บอก ปืนเล็กคาบศิลา ๑๖๗ บอก ดาบง้าวสามร้อยแปดสิบหกเล่ม กลองศึก ๒ ใบ ม้าล่อ ๕ ใบ ธงรูปเสือและมังกร ๑๖ คัน ส่งมาให้แม่ทัพไทยเป็นของสำแดงฝีมือว่า เขมรกลับใจมาเข้ากับไทย ไม่ยอมเป็นข้าญวน จึงได้รบญวนแข็งแรงได้สิ่งของสำคัญมาเป็นกำนัลก็มาก
 ครั้น ณ เดือนสิบ แรมสิบค่ำ ปีชวด โทศก พระยามโนสงคราม (ชื่อสุก) กับพระยามนตรีเสน่หา (ชื่อหนู) พระยามโนราชา (ชื่อสา) พร้อมกันกับกะลาภา ๑ คุมไพร่พลเขมรแขกจาม ๓,๐๐๐ คนเศษ ยกไปตีค่ายพระยาสุริยวงศ์เขมร (ชื่อเมียด) และพระยาพิษณุโลก (ชื่อเนือก) พระยาเขมรทั้งสองนี้อาสาญวน ญวนใช้ให้มาเป็นแม่ทัพตั้งรับค่ายพวกเขมรฝ่ายใต้และค่ายญวนอีกสามค่าย กองทัพพระยามโนสงคราม, พระยามโนราชา, พระยามนตรีเสน่หา เขมรสามพระยายกเข้าตีค่ายญวนและค่ายเขมรที่เมืองครั้งนั้นแตกทุกค่ายหนีไปหมด แล้วพระยาทั้งสามก็ตามลงไปตีญวนไล่ติดตามไปถึงค่ายกะพงปรักใหญ่จับได้ตัวพระพิษณุโลกเขมร (ชื่อเนือก) นายทัพของญวนมาได้ แล้วสั่งให้ตัดหูทั้งสองข้างส่งตัวไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาถามการ แต่พระยาสุริยวงศ์ (ชื่อเมียด) นั้นถูกปืนตายอยู่กับหลังช้าง องฮือแม่ทัพญวน ณ ค่ายเมืองครั้งนั้นก็ถูกกระสุนปืนลำบากหนีไปไม่ได้ เขมรจับตัวมาได้แต่ถูกเข่าถูกศอกมาตามทางยอก ๆ ถึงที่พักได้สองวันก็อาเจียนเป็นโลหิตออกมาสามครั้งก็ตาย จึงนำศพไปผ่าอกเสียบไว้หน้าค่าย
ครั้งรบค่ายที่เมืองครั้งนั้นญวนตายประมาณ ๕๐๐ คน ที่หนีไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ บางคนว่าตายกับหนีไปคนละครึ่ง แล้วพระยาเขมรทั้งสามคน ก็ยกทัพตามญวนลงไปตีค่ายกะพงเกษแตกอีก ฆ่าญวนตายประมาณ ๒๐๐ คนเศษ จับเป็นมาได้ ๑๒๐ คน แล้วยกเลยไปตีค่ายญวนที่กะพงบายอีกตำบลหนึ่ง ฆ่าญวนตาย ๑๕ คน ที่หนีไปได้มากเพราะรู้ตัว.......”
 ** อ่านเรื่องมาถึงตอนนี้หลายท่านคงจะคิดสงสัยนะว่า ไพร่พลกองทัพญวนในเขมรทำไมอ่อนแอนัก รบกับเขมรทีไร ตรงไหน ก็แพ้ทีนั้น ตรงนั้น ถูกเขมรฆ่าตายจนเบื่อจะนับศพแล้ว ฝ่ายเขมรนั้นเข้มแข็งจนผิดหูผิดตา ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะเขมรรบญวนด้วยแรงแค้นอาฆาตที่ญวนกดขี่ข่มเหงรังแกเขมรมากเกินไป จนถึงกับจับนักองแป้น กษัตรีกัมพูชา เอาแอบไปฆ่าถ่วงน้ำเสีย ทั้งยังพานักองทั้งหลายของเขมรไปกักขังไว้ที่เว้และไซ่ง่อนอีกด้วย ญวนพยายามทำลายล้างชาติเขมรอย่างเลือดเย็น เป็นเหตุให้เขมรเคียดแค้นชิงชังญวนเป็นที่สุด ยามรบญวนจึงรบด้วยแรงอาฆาตแค้น ญวนถูกเข่นฆ่าอย่างไร้ความปรานี ไทยยังไม่ทันได้กรีธาทัพเข้าเขมรเพื่อรบญวน แต่เขมรก็ลุกขึ้นไล่ตีญวนไปทุกบ้านทุกเมืองแล้ว ตอนต่อไปมาอ่านต่อว่า เขมรยกไปฆ่าญวนที่ใดอีกบ้างครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๔ -
เขมรเดือดเชือดญวนอยู่ป่วนปั่น จ้องฆ่าฟันกลุ้มรุมทั้งหนุ่มแก่ เพราะศรัทธาในญวนนั้นปรวนแปร ลางพ่ายแพ้ญวนเห็นเป็นแน่นอน
กองทัพไทยกรีธาเข้าเขมร ด้วยกรรมเวรแต่หลังสืบปางก่อน ให้เกิดมารบกันไม่หวั่นมรณ์ มิยอมอ่อนข้อข้นรณรงค์ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ..พระยาเจ้าเมืองเขมรทุกเมืองลุกฮือขึ้น พาไพร่พลเข้าตีค่ายญวนหลายค่ายหลายเมืองแตกยับเยิน ฆ่าญวนล้มตายเป็นอันมาก พระยาเจ้าเมืองคนสำคัญ ๆ เช่น พระยาทิพยสงครามและบุตร สามารถทำลายกองทัพขององเตียนกุนพ่ายแพ้ยับเยิน แล้วตามตีญวนแตกทำลายไปหลายค่าย พระยาโยธาเสนา พระยาภิมุขวงศา พระยาวิเศษโยธาธิราช แห่งเมืองกำปอด คบคิดกันตีค่ายญวนแตกทลาย ตามไล่ฆ่าญวนตายเป็นว่าเล่น พระยามโนสงคราม (สุก) พระยามนตรีเสน่หา (หนู) พระยามโนราชา(สา) ยกเข้าตีค่ายเขมรอาสาญวนสามค่ายแตก ทำลายฆ่าญวนและเขมรอาสาญวนเสียมาก ยังมีพระยาเจ้าเมืองเขมรคนสำคัญที่พาไพร่พลขับไล่เข่นฆ่าญวนอีกหลายท่าน เป็นใครบ้างมาอ่านกันต่อครับ...
 “ ฝ่ายพระยาโยธาเกรียงไกร ยกไพร่พล ๑,๒๐๐ คนไปรบญวนที่ตำหนักจังเจอ ฆ่าญวนตาย ๔๐ คน ที่เหลือนั้นแตกหนีไปหม ด จับได้ช้าง ๑๖ ช้าง ม้า ๓๖ ม้า และเครื่องศาสตราวุธมากทุกสิ่ง
ฝ่ายพระยาเชษฐาธิราชคุมไพร่พลเขมร ๖๐๐ คน ยกมาล้อมจับเจ้าเมืองกะพงเสียมที่ญวนให้มาตั้งอยู่นั้น ได้ตัวพระยานราธิบดีศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองกะพงเสียมไป แล้วก็ฆ่าเสียไม่เลี้ยงไว้ เพราะเป็นเขมรไปเข้ากับญวน แล้วล้อมจับญวนรักษาเมืองกะพงเสียมได้ ๑๓๐ คน ญวนไม่ทันรู้ตัว ไม่มีอาวุธ จึงไม่สู้รบ ยอมให้เขมรจับโดยดีทั้งร้อยสามสิบ พระยาเชษฐาธิราชสั่งให้พระนรินทราธิราช เลือกดูญวนที่แก่ชรา ๓๐ คน ตัดลิ้น ตัดหู ตัดมือ แล้วปล่อยให้ไปหาเจ้านายที่เมืองญวน ยังเหลืออยู่อีก ๑๐๐ คน ให้จำตรวนส่งไปยังค่ายใหญ่ใช้งานหนักที่สุด
ฝ่ายพระยาบรรพสรรพเจ้าเมืองเชิงป่า ยกเข้าล้อมญวนที่รักษาเมืองเชิงป่าในเวลากลางคืน จับญวนได้ ๓๐ คน ที่รู้ตัวก็ต่อสู้ตายในที่รบ นับศพญวนได้ ๕๐ ศพ ที่เหลือตาย ๒๖ คนก็หนีไป เขมรก็ตามจับได้ในเวลาเช้าทั้ง ๒๖ คน รวมญวน ๕๐ คน เลือกไว้ใช้ ๑๖ คน อีก ๓๔ คนตัดมือทั้งสองข้างและตัดหูตัดปากปล่อยไปหาเจ้านายมัน
 ครั้งนั้นพวกเขมรพร้อมใจกันรบกับญวนและจับญวนฆ่าเสียทุกบ้านทุกเมืองที่มีญวนอยู่ก็ฆ่าเสียสิ้น ชั้นแต่ไพร่บ้านพลเมืองราษฎรเขมรก็โกรธญวน จึงคุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นกอง กองละ ๓๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง พากันเที่ยวไล่ฆ่าญวน ถ้าเห็นพวกญวนเดินมามาก เขมรชาวบ้านราษฎรน้อย ก็หลบหนีเสียหมด ครั้นเห็นพวกญวนเดินมาน้อยตัวกว่าเขมร เขมรก็พากันช่วยกลุ้มรุมฆ่าญวนตายเนือง ๆ ดังนี้เสมอมิได้ขาดสักวันหนึ่ง จนญวนหมดความคิดที่จะต่อสู้เขมร ญวนก็คับแค้นเข้าทุกที ต้องรักษาตัวอยู่แต่ในค่ายจนจะอดอาหารตายก็มีบ้าง ฝ่ายองอันภู่แลองเดดก แม่ทัพนายกองรักษาเมืองโปริสาดนั้น ก็สั่งให้นายทัพนายกองไปถอนไพร่พลญวนที่รักษาอยู่ตามค่ายด่านทางนั้น ให้เลิกกลับมาเข้ารวมอยู่ในเมืองโปริสาดให้หมด และองชุดดายยกทานแม่ทัพค่ายตะโลก็เลิกทัพกลับมาอยู่เมืองโปริสาดด้วย ญวนค่ายตะโลถึง ๑,๑๗๐ คน ก็มารวมอยู่กับญวนในเมืองโปริสาดด้วย รวมทั้งสิ้น ๒๓,๖๐๐ คนอยู่ในเมืองโปริสาด และครัวเขมรที่นักองอิ่มกวาดต้อนพาไปไว้เมืองพนมเปญและเมืองตะครองหรือเมืองต่าง ๆ นั้น ก็หนีญวนกลับมาเมืองพระตะบองเนือง ๆ ครั้งนั้นญวนรักษาตัวยากเต็มที
(เนื้อความเขมรทำแก่ญวนดังนี้กล่าวไว้โดยพิสดารนั้น เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายผู้อ่านผู้ฟังเห็นและทราบว่าเขมรเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองกำเริบขึ้นเมื่อใด การเป็นเช่นนี้ก็เหลือสติปัญญาและอำนาจนายทัพนายกองญวนจะปราบปรามให้สงบลงได้โดยเร็วยากเป็นอย่างยิ่งแล้ว อย่าว่าแต่คราวนี้ญวนปราบปรามเขมรกบฏกำเริบไม่หยุดนั้น ถึงกองทัพไทยยกไปรบกับญวน เมื่อปีมะเส็งเบญจศกคราวก่อนนั้น ก็ถูกพวกเขมรกลับใจไปเข้ากับญวน เขมรก็กำเริบขึ้นยกมาซ้ำเติมฆ่าฟันกองทัพไทยตายคราวก่อนนั้น ก็เหมือนเขมรทำแก่ญวนคราวนี้ เป็นการเช่นนี้ขึ้นครั้งใดคราวใด แม่ทัพไทยและแม่ทัพญวนจะรักษาตัวและรักษาอำนาจก็ยากนัก ได้แต่ล่าหนีอย่างเดียว เพราะเขมรเป็นพื้นเมือง)
ครั้น ณ เดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ ปีชวด นพศกนั้น นายทัพนายกองไทยก็ยกมาถึงเมืองพระตะบองพร้อมกันแล้ว
 ครั้น ณ เดือนสิบสอง ขึ้นสิบสามค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกระบวนทัพที่จะไปรบญวนนั้น ให้พระยาราชนิกูล (ชื่อเสือ) ๑ พระยาอภัยสงครามเจ้ากรมอาสาหกเหล่าในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงรักษาเทพเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ จมื่นชัยภูษาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑ จมื่นศักดิ์บริบาลปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ หลวงนเรนทร์โยธีในพระราชวังหลวง ๑ เป็นข้าหลวง ๖ นาย กำกับทัพหัวเมืองคุมไพร่พลไทยลาว ๒,๐๐๐ คน ไพร่เขมรป่าดง ๑๑,๐๐๐ คน รวมไพร่ ๑๓,๐๐๐ คน
 พระยาราชนิกูลเป็นแม่ทัพยกไปพระยาเดโชเขมรเจ้าเมืองกำพงสวาย ตีค่ายญวนที่ตั้งอยู่ ณ กำปงธม แต่ให้แยกทัพไทยลาวไปตีค่ายญวน ณ เมืองชิแครงด้วย แล้วให้แต่งเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจพระราชวังบวรฯ คุมไพร่พลไปตีค่ายญวน ณ เมืองสะโทงอีกแห่งหนึ่ง พระยาเดโชเขมรมีไพร่พล ๒,๐๐๙ คน เข้าสมทบกับพระยาราชนิกูลเป็นพล ๑๕,๐๐๙ คน ยกไปตีทัพญวนเข้าล้อมค่ายญวนที่เมืองชิแครงสี่วัน ค่ายญวนก็แตกหนีไปได้มาก ฆ่าตายเสียประมาณ ๔๐๐ คน ได้ค่ายและเครื่องศาสตราวุธมาก พระยาราชนิกูลและนายทัพนายกองไทย ก็ยกเข้าตั้งอยู่ในค่ายชิแครง ได้อาศัยเสบียงอาหารพร้อม
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้จัดทัพอีกกองหนึ่ง ไพร่พลไทยกรุงเทพฯ ๑,๗๐๐ คน เขมรป่าดงลาวหัวเมือง ๒,๖๑๒ คน รวม ๔,๓๑๒ คน ให้พระพิเรนทรเทพเจ้ากรมพระตำในพระราชวังหลวงเป็นแม่ทัพ ๑ พระฤทธิเดชะเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ พระอภัยบริบาลเจ้ากรมพระคลังในขวาในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงรักษาจัตุรงค์ ๑ หลวงภักดีโยธา ๑ หลวงอภัยเสนา ๑ รวมหกคนคุมไพร่พล ๔,๓๑๒ คน ยกไปตีค่ายญวน ณ เมืองโปริสาด ยกไปแต่ ณ เดือนสิบสอง แรมเจ็ดค่ำ
 แล้วจัดทัพอีกกองหนึ่งไพร่พลกรุงเทพฯ ๑,๒๐๕ คน ลาวหัวเมืองและไทยโคราช ๑,๔๔๕ คน ให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพ ๑ พระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา ๑ พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ๑ พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา ๑ พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑ เป็นนายทัพหัวเมืองห้าคน ให้พระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวร ๑ จมื่นศักดิ์เสนารักษ์ ปลัดกรมพระตำรวจพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงราชเสวกเจ้ากรมรักษาพระองค์ในพระราชวังหลวง ๑ หลวงศรีสงครามเจ้ากรมอาสาใหม่ในพระราชวังหลวง ๑ รวมสี่คนเป็นข้าหลวงกำกับทัพหัวเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาพรหมสุรินทร์ยกทัพไปตีค่ายญวนที่กำพงปรัก แต่ ณ เดือนสิบสอง แรมสิบเอ็ดค่ำ
 แล้วจัดทัพอีกกองหนึ่ง ไพร่ไทยในกรุงและหัวเมือง ๑,๕๒๐ คน ให้พระยาเพชรบูรณ์เป็นแม่ทัพหน้าคุมไพร่พลลาวหัวเมือง ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่ทัพหน้าคุมไพร่ไทยหัวเมือง เจ้าพระยาบดินเดชาคุมไพร่พลไทยในกรุงเป็นแม่ทัพหลวง ให้พระยาเพธราชากับพระยาประกฤศณุรักษ์เป็นแม่กองช้าง ให้พระสินธพอมเรศร์คุมทหารม้าในพระราชวังบวรฯ ๘๐๐ เป็นทัพม้าใช้ราชการ ให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลคุมไทยลาวเป็นทัพหลัง ทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกไปวันแรมสิบเอ็ดค่ำ
รุ่งขึ้น ณ เดือนสิบสองแรมสิบสองค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกทัพใหญ่ตามลงไป ให้สนองจอกเขมรเป็นผู้นำทัพ
(ยกทัพครั้งนี้ ๔ ทัพ รวมไพร่พลไทยในกรุงและหัวเมือง ๖,๔๒๕ รวมไพร่พลเขมรป่าดงหัวเมืองตะวันออกและไพร่ลาวหัวเมืองตะวันออกด้วย เป็นเขมรลาว ๒๘,๐๖๖ คน สิริรวมทั้งไทยลาวเขมรป่าดงทั้งสิ้นด้วยกัน ๔ ทัพเป็นคน ๓๔,๔๙๑ คน ว่ามานี้แต่ไพร่ทั้งสิ้น ยังขุนหมื่นพันทนายกำนันเสมียนคนใช้การผู้ดีมีอีกต่างหาก)......”
 ** สถานการณ์ญวนในเขมรตอนนี้อยู่ในภาวะคับขันมาก เขมรลุกฮือขึ้น ไม่ใช่ขับไล่ญวน หากแต่จ้องจะเข่นฆ่าให้ตายถ่ายเดียว แม่ทัพญวนต้องสั่งถอนกำลังจากด่านทางต่างเข้าอยู่รวมในเมืองใหญ่ เพราะถูกเขมรฆ่าตายไม่เว้นแต่ละวัน และไม่ทันที่จะหาวิธีรับมือเขมรให้ได้นั้น กองทัพไทยโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกจากเมืองพระตะบองเข้าช่วยเขมรโจมตี เข่นฆ่าญวนแล้ว ผลการรบในเขมรจะเป็นเช่นไร ตามอ่านกันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๕ -
ไทยยกทัพล้อมญวน “โปริสาด” หมายพิฆาตญวนยุ่ยเป็นผุยผง ทั้งสองฝ่ายไม่ย่อทระนง ต่างตายลงกลางสนามรบตามกัน
ผู้ตายมากกว่าไทยเป็นหลายส่วน คือฝ่ายญวนที่สู้อยู่คับขัน ไทยเขมรพรั่งพร้อมล้อมฆ่าฟัน ใกล้ถึงวันแตกดับพ่ายยับเยิน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ขณะที่เขมรทุกบ้านทุกเมืองลุกขึ้นขับไล่ข้าฟันญวนทั่วประเทศนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งรอทัพหัวเมืองต่าง ๆ ของไทยยกไปสมทบที่เมืองพระตะบอง กองกำลังเขมรที่ตีค่ายญวนแตกจับญวนเป็นเชลยได้บ้าง ก็ส่งชายฉกรรจ์เชลยพร้อมสรรพาวุธไปให้เสมอ ๆ ครั้นกองทัพไทยเดินทางไปถึงเมืองพระตะบองพร้อมกันแล้ว เจ้าพระยาบดินเดชาจึงจัดทัพยกไปตีค่ายญวนตามเมืองต่าง ๆ ทันที โดยจัดทัพเป็นสี่ทัพ จัดให้พระยาราชนิกูล (เสือ) เป็นแม่ทัพ ทัพหนึ่ง จัดให้พระพิเรนทรเทพเป็นแม่ทัพ ทัพหนึ่ง จัดให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพ ทัพหนึ่ง และเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพหลวงอีกทัพหนึ่ง ยกเข้าร่วมกับกองกำลังเขมรเข้าตีค่ายญวนทุกหนทุกแห่ง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายกไปถึงเมืองโปริสาด ณ เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง ตั้งค่ายพักอยู่ตำบลบ้าน (ตึกโขลก) เป็นภาษาเขมรเรียกกันแปลเป็นภาษาไทยว่าบ้าน “น้ำเต้า” ครั้งนั้น พระยา,พระ เขมรหัวเมืองที่ต่อสู้กับญวนนั้น มีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ๑๘ ฉบับ เป็นใจความคล้าย ๆ กัน บอกแจ้งความว่า “ที่ได้รบกับญวนมีชัยชนะบ้าง ได้ญวนเชลยและช้างม้าเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ก็ส่งมาให้บ้างไว้ใช้บ้าง แล้วบอกข้อราชการทัพศึกต่าง ๆ และจะขอเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทยบ้างต่าง ๆ แต่ในหนังสือทุกฉบับมีความต้องกันนั้นคือ อ้อนวอนขอนักพระองด้วงออกไปเป็นเจ้านายปกครองบ้านเมืองเขมรต่อไป และมีข้อความอื่นเป็นอันมาก พรรณนาด้วยความแค้นเคืองญวน ที่ข่มเหงจองจำทำโทษเจ้านายฝ่ายเขมร แล้วกล่าวการขันแข่งรับอาสาจะตีญวนกู้แผ่นดินเขมรคืนมาให้นักพระองด้วงให้ได้ และพระยา พระ เขมรทั้งปวงวิงวอนงอนง้อขอนักพระองด้วงเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรนั้นมากกว่า ความเรื่องอื่น ๆ มีบ้างประปรายแจ้งอยู่ในต้นฉบับทั้ง ๑๘ ฉบับนั้นแล้ว”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบความตามเหตุนั้นแล้ว จึงมีหนังสือบอกฉบับหนึ่ง กับส่งต้นหนังสือของพระยา พระ เขมร ๑๘ ฉบับ มอบให้จมื่นอินทรเสนาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ กับนายนรินทรธิเบศร์มหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงอนุชิตพิทักษ์กรมมหาดไทยในพระราชวังหลวง ๑ หลวงสวัสดิ์นคเรศร์กรมพระนครบาลในพระราชวังหลวง ๑ ขุนสวัสดิ์นครินทร ๑ ขุนบดินทร์ธานี ๑ กรมพระนครบาลในพระราชวังบวรฯ ขุนนราเรืองเดช ๑ ขุนวิเศษจัตุรงค์ ๑ ปลัดกรมทนายเลือกในพระราชวังบวรฯ รวมแปดคน ถือหนังสือบอกและคุมญวนเชลยที่พระยา พระ เขมรจับส่งมาทุกเมืองนั้นเป็นญวนเชลย ๔๖๔ คน และไพร่ไทย ๒๐๐ คน คุมญวนเข้าไปส่งกรุงเทพฯ
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งนายทัพนายกองให้เร่งรีบตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายญวนเข้าไปทั้งสี่ด้าน เป็นการกวดขันมั่นคงโดยสามารถ ค่ายประชิดไทยตั้งล้อมค่ายญวนห่างประมาณ ๓๐ เส้นบ้าง ๒๐ เส้นเศษบ้าง ด้วยแผ่นดินยังเปียกแฉะเป็นน้ำเป็นโคลนอยู่ จะรุกเข้าไปใกล้ไม่ถนัด จึงตั้งอยู่ห่างทางปืนใหญ่ญวน เมื่อกำลังไทยยกเข้าตั้งค่ายประชิดนั้น ญวนก็ยิงปืนออกมาจากค่ายเสมอทุกชั่วโมง แต่หลวงยอดอาวุธเจ้ากรมกองแก้วจินดาในพระราชวังบวรฯ คุมทหารปืนใหญ่ล้อรางเกวียนอย่างใหม่ ลากไปตั้งหน้าค่ายประชิด ไทยจึงยิงปืนใหญ่ตอบญวนไปเสมอเหมือนกัน แต่ปืนใหญ่ฝ่ายไทยทางยาวถึงค่ายญวนทุกที ปืนใหญ่ฝ่ายญวนทางสั้นถึงหน้าค่ายไทยน้อยนัดนัก ตกเสียกลางทางมากกว่ามาก เพราะฉะนั้นไทยจึงตั้งค่ายประชิดได้ถนัดทั้งสี่ด้านโดยเร็ว
 ครั้นญวนเห็นไทยตั้งค่ายประชิดล้อมเข้ามาได้ทั้งสี่ด้านดังนั้นแล้ว ญวนจึงตั้งกองอาสาขี่ม้า ๑๕๐ ม้าออกมานอกค่าย ไล่ต้อนม้าเข้ายิงไทยที่ทำการอยู่หน้าค่าย ไทยเห็นญวนขี่ม้ามาเร็วใกล้จะถึงอยู่แล้ว พวกไทยที่ทำการขุดสนามเพลาะไม่มีอาวุธ มีแต่พลั่วขุดดิน จึงกลัวญวน ก็ขึ้นจากหลุมวิ่งหนีจะเข้าค่าย ฝ่ายญวนเห็นดังนั้นก็กำเริบยิ่งควบม้าวิ่งเข้ามาใกล้ ก็ยิงปืนหลังม้ามาถูกคนไทยที่ทำการเจ็บป่วยหลายคน แต่ไม่เป็นอันตราย ขณะนั้นไทยก็หนีเข้าค่ายได้บ้าง ที่หนีไม่ทันก็ลงอยู่ในคูสนามเพลาะแอบบังกระสุนปืนญวน ญวนก็ไล่เข้ามาใกล้มากเกือบจะถึงสนามเพลาะอยู่แล้ว ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาร้องสั่งไทยที่อยู่ในคูสนามเพลาะให้ขึ้นจากคู วิ่งหนีมาเข้าค่ายเสียโดยเร็ว แต่พอไทย ๒๘ คน ขึ้นจากคูสนามเพลาะแล้ว ญวนก็ไล่ติดหลังมาทีเดียว ในทันใดนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้ทหารในค่ายวางปืนหามแล่นที่ตั้งไว้เป็นตับยิงออกไปตับแรก ถูกทหารม้าญวนตายทั้งคนและม้า ๔๖ ถูกไทย ๒๘ คนที่วิ่งหนีนำหน้าญวนมานั้นตายหมด แล้วยิงปืนตับออกไปอีกคราวหนึ่ง ถูกทหารม้าญวนตายอีก ๒๑ คนทั้งม้าด้วย ที่ถูกกระสุนปืนป่วยลำบากล้มนอนอยู ๒๐ คน แต่ม้าไม่ตายก็มีบ้าง ที่อยู่ห่างค่ายไทยไม่ถูกกระสุนปืนนั้นก็หนีกลับไปได้ประมาณ ๔๐ ม้า แล้วหลวงยอดอาวุธวางปืนใหญ่ล้อออกไปอีกตับหนึ่ง ก็ถูกทหารม้าญวนตกม้าตายไปตามทางบ้างหลายคน ที่หนีรอดไปเข้าค่ายได้ประมาณ ๒๗ ม้า หรือ ๒๘ ม้าได้ จนญวนเข็ดขยาดไม่อาจสามารถเข้ามาใกล้ค่ายไทยเลย
ครั้นรุ่งขึ้น ณ เดือนอ้าย ขึ้นห้าค่ำ ญวนทำท่วงทีจะออกมารบกับไทยก็ไม่ออก เป็นแต่เลาะอยู่ในค่ายวันยังค่ำ ต่อรุ่งขึ้นแปดค่ำเป็นวันอัฐมี เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้จัดการรบไว้ให้พร้อม และแต่งกองทัพอาทมาตไว้พร้อมสรรพ แล้วแกล้งแต่งหนังสือฉบับหนึ่งเป็นใจความว่า
“วันนี้เป็นวันพระแปดค่ำไทยถือไม่ฆ่าชีวิตสัตว์และมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงขอหยุดการรบในวันนี้ไว้ก่อน เพื่อจะปล่อยทหารให้นอนพักผ่อนกำลังและรักษาศีลภาวนาบ้าง”
 แล้วนำหนังสือผูกคอญวนเชลยแล้วมัดมือไพล่หลังปล่อยให้ไปในค่ายญวน ญวนก็สำคัญว่าไทยจะหยุดการรบและจะปล่อยทหารจริง ๆ ญวนเห็นว่าถ้าเช่นนั้นก็เป็นท่วงทีมีช่องดีหนักหนาที่จะทำร้ายแก่ไทยได้ถนัด ญวนจึงแต่กองทัพเป็นกองอาสา ถือปืนคาบศิลาอยู่แถวหน้า ๕๐๐ ถือง้าวอยู่แถวหลัง ๓๐๐ คน ถือดาบสองมืออยู่แถวหลัง ๒๐๐ คน รวมทหารพันหนึ่งพร้อมแล้ว ญวนก็ตีกลองและม้าล่อเป็นสัญญายกพลโห่ร้องวิ่งกรูออกมาจากค่าย ตรงมายังค่ายไทยหมายจะปล้นค่ายหน้าที่พระยาณรงค์สงครามอยู่นั้น แต่พอญวนเข้ามาใกล้หน้าค่าย เจ้าพระยานครราชสีมาก็ขับต้อนพลทหารออกนอกค่ายให้วิ่งอ้อมโอบไปไล่ฆ่าฟันยิงญวนเป็นสามารถ ฝ่ายที่หน้าค่ายนั้น พระยาณรงค์สงครามก็วางปืนใหญ่ที่ตั้งไว้เป็นตับออกไปสองสามตับ ถูกไพร่พลญวนล้มตายลงมาก แล้วก็แต่งกองอาสาออกทะลวงไล่ยิงแทงฟันญวน ญวนก็สู้รบยิงฟันแทงไทยตายบ้าง แต่ไทยตายน้อย เพราะรู้ตัวได้ที่ทำแก่ญวนก่อนถนัด ญวนจึงตายมากครั้งนั้นสัก ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ คน ที่เหลือตายก็หนีกลับเข้าค่ายตั้งมั่นอยู่ในค่ายได้สองสามวัน ญวนก็แต่งกองทัพใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ออกตั้งกระบวนรบนอกค่ายตามธรรมเนียมศึกใหญ่ ฝ่ายพระพิเรนทรเทพแม่ทัพหน้าออกต่อสู้กับญวนตามที่ญวนออกรบด้านพระพิเรนทรเทพ พระพิเรนทรเทพก็สู้รบโดยสามารถวันยังค่ำ ไม่แพ้และชนะแก่กันและกัน
 รุ่งขึ้นวันเดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ ญวนออกรบอีกเป็นทัพใหญ่ถึงสี่ด้านสี่ทัพพร้อมกัน ไพร่พลญวนประมาณหมื่นเศษ มีทหารม้ามาก ช้างหามีไม่ เจ้าพระยานครราชสีมาออกรบด้านหนึ่ง พระยาณรงค์สงครามออกรบด้านหนึ่ง พระพิเรนทรเทพออกรบด้านหนึ่ง พระฤทธิเดชะออกรบด้านหนึ่ง พระพรหมสุรินทร์ออกรบด้านหนึ่ง แต่เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นกองหนุนทั้งสี่ทัพๆนั้น ได้สู้รบกับญวนเป็นสามารถ
เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาให้พระพรหมบริรักษ์ (ชื่อแก้ว) ผู้บุตรเป็นนายทัพปีกหนึ่ง มีผู้ช่วยสองคนคือพระยาปราจีนบุรี ๑ พระยาณรงค์วิชิตเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ คุมไพร่พล ๑,๕๐๐ คน ยกไประดมตีทัพญวนด้วย
ให้หลวงนายสิทธิ์ผู้หลานเป็นนายทัพปีกหนึ่ง มีผู้ช่วยสามคนคือ พระอินทราธิบาลเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ พระอินทรรักษาเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงศรีภะวังในพระราชวังบวรฯ ๑ คุมไพร่พล ๑,๕๐๐ คน ยกไปช่วยระดมตีทัพญวน
 ครั้งนี้ไทยกับญวนได้สู้รบกันเต็มมือ ตั้งแต่เวลาเพลจนเวลาบ่ายห้าโมงเศษใกล้ค่ำ ไทยตายในที่รบ นาย ๖ ไพร่ ๖๐ คน นายนั้นคือ หลวงภักดีชุมพล ๑ หลวงวิเศษโยธา ๑ ขุนนรินทรรักษา ๑ ขุนนราภักดี ๑ นายเวรตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๒ คน คือ นายแผลงไพรินทรกับนายยงภักดี รวม ๖ คนแต่ในวังหน้า ฝ่ายญวนนายทัพศีรษะโพกผ้าสีน้ำเงินสะพายกั้นหยั่นตาย ๑๑ คน ไพร่ตาย ๑๖๐ คน ป่วยเจ็บลำบากหามเข้าไปในค่ายประมาณร้อยเศษ เวลาค่ำญวนตีกลองเรียกทหารกลับเข้าค่าย ฝ่ายไทยก็ไล่ตดตามไปใกล้ค่ายญวน ญวนก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบออกจากค่ายจนเวลาสี่ทุ่มเศษ ไทยจะหักพังค่ายญวนมิได้ จึงกลับเข้าค่ายตั้งมั่นรักษาค่ายอยู่จนสว่าง ........”
** การรบระหว่างไทยญวนที่เมืองโปริสาดเริ่มดุเดือดเลือดพล่านแล้ว ค่อยนี้มาอ่านต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๖ -
ไทยตีญวนจวนจะชนะแล้ว ฝ่ายญวนแผ่วทนสู้อยู่งกเงิ่น ค่ายประชิดตั้งใกล้มิไกลเกิน ไทยจะเดินเข้าปล้นมิพ้นมือ
พลันข่าวร้ายไทยแพ้แก่ญวนแจ้ง เมืองชิแครงแตกไปไพร่ซื่อบื้อ เขมรป่าดงขลาดหวาดเสียงฮือ จึงแหกรื้อค่ายประตูกรูเข้าดง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกองทัพสี่กองยกไปตีค่ายญวน เข้าล้อมญวนที่เมืองโปริสาดทั้งสี่ทิศ ญวนไม่ยกออกรบ เจ้าพระยานครราชสีมาก็ทำอุบายล่อให้ญวนออกรบ แล้วยิงญวนตายเป็นจำนวนมาก ล่าสุดญวนยกทัพใหญ่ออกโจมตีค่ายไทย ทั้งสองฝ่ายรบกันอย่างดุเดือดตั้งแต่เช้าจนใกล้ค่ำ ไพร่พลล้มตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ญวนตายมากกว่าไทย เมื่อญวนถอยกลับเข้าค่าย ไทยก็ตามตีหมายปล้นค่ายให้ได้ แต่ญวนก็ต่อต้านอย่างแข็งแรง ไทยจึงถอยกลับเข้าตั้งมั่นในค่าย เฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่จนรุ่งแจ้งของวันใหม่ วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
“............รุ่งขึ้นไม่ได้รบกัน เพราะญวนมีหนังสือมาขอหยุดการรบ ฝ่ายไทยเห็นว่าญวนมานัดหมายหยุดการรบเช่นนี้ เห็นทีญวนจะคิดกลอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ไทยจึงได้ตระเตรียมการป้องกันรักษาค่ายโดยมั่นคงหลายวัน ไม่มีการสู้รบกัน
 ครั้นแผ่นดินแห้งน้ำแห้งโคลนแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่กองบังคับบัญชานายด้านตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายญวน ให้พระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรเป็นผู้ตรวจการตั้งค่ายประชิดทุกด้าน จึงสั่งพระพิเรนทรเทพ ๑ พระพรหมสุรินทร์ ๑ พระอินทร์รักษา ๑ พระยาพรหมยกกระบัตร ๑ พระยาณรงค์สงคราม ๑ พระยาปราจีนบุรี ๑ พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า ๑ รวมแปดนายด้านนายงาน แม่กองคุมพระยา, พระ, หลวง ในกรุงและหัวเมือง ให้ไพร่ทำค่ายไม้ไผ่ เสาไม้แก่นพร้อมกันทั้งแปดกอง จึงยกเข้าไปตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายญวนไว้ทั้งแปดด้าน ค่ายประชิดไทยตั้งใกล้ค่ายญวน ๑๒ เส้น ให้พูลดินเป็นป้อมสูงห้าศอกขึ้นพ้นเสาค่ายทั้งแปดป้อมแปดมุมค่ายญวน แล้วตั้งค่ายปิหลั่นปีกกา โอบมาถึงกันทั้งแปดค่าย แล้วทำหอคอยกลางค่ายหอหนึ่งสูงสามวา ไว้เพื่อจะได้ขึ้นดูการในค่ายญวน เมื่อไทยยกกองทัพเข้าไปตั้งค่ายประชิดดังนั้น ได้แต่งกองอาทมาตและกองอาสาแปดเหล่า ออกด้านหน้ารักษาคนทำการค่ายทั้งแปดด้านนั้นโดยกวดขันกันข้าศึก
 ฝ่ายญวนก็แต่งกองอาสาออกมาฝ่าฟันรบกันเสมอทุกวัน พระพรหมบริรักษ์ให้หลวงดำเกิงรณภพเจ้ากรม ขุนรุทอัคนี คุมทหารกองแก้วจินดาในพระราชวังหลวง ๒๐๐ คน นำปืนจ่ารงค์และปืนหามแล่น ปืนใหญ่รางแท่นใหม่ออกไปตั้งหน้าค่ายล้อมคนทำการงานรอบ ณ สี่ด้าน ยิงปืนใหญ่ไปยังค่ายญวนเสมอทั้งกลางวันและกลางคืนจนทำค่ายเสร็จ
ฝ่ายพระพรหมสุรินทร์สั่งให้หลวงยอดอาวุธเจ้ากรม ขุนศึกพินาศปลัดกรม คุมทหารกองแก้วจินดาในพระราชวังบวรฯ ๒๐๐ คน นำปืนจ่ารงค์ท้ายสังข์คร่ำเงิน และปืนใหญ่รางแดงหัวทั้งแท่ง และปืนขานกยางหามแล่น ออกไปตั้งหน้าค่ายล้อมไพร่พลคนที่ทำงานการปลูกค่ายนั้นทั้งสี่ด้าน ได้ยิงปืนใหญ่ออกไปยังค่ายญวนเสมอจนทำการเสร็จ
ครั้งนั้นญวนก็แต่งกองเกียกกายออกมาจะทำลายค่ายไทย แต่ทำลายไม่ได้ เพราะปืนใหญ่ไทยมีแรงทางยาวกว่าปืนใหญ่ของญวน เพราะฉะนั้นไทยจึงทำการได้โดยถนัดแล้วเร็วด้วย
 แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หลวงฤทธิ์สำแดงคุมทหารฝรั่งเศสเข้ารีตนำปืนใหญ่รางแท่นอย่างใหม่ กระสุนสามนิ้วบ้าง กระสุนห้านิ้วบ้าง ขันฉ้อกว้านขึ้นไปบนป้อมดิน ป้อมละสามกระบอก แปดป้อม เป็นปืนสิบสี่กระบอก มีทหารปืนใหญ่เป็นคนบุตรหลานฝรั่งเก่าเข้ารีตฝรั่งเศสนั้น อยู่ประจำทั้งแปดป้อม ป้อมละ ๑๒ คน ให้หลวงฤทธิ์สำแดงเจ้ากรมทหารฝรั่งเป็นผู้บังคับการทั้งแปดป้อม ทั้งแปดป้อมได้ยิงปืนใหญ่ปรำลงไปในค่ายญวนเสมอทั้งกลางวันกลางคืนสามวัน กระสุนปืนใหญ่ไปตกถูกค่ายญวนพังทลายบ้าง ถูกไพร่พลญวนในค่ายและค่ายปีกกา ญวนตายประมาณ ๒๕๐ คนเศษ ที่เจ็บป่วยลำบากประมาณ ๓๐๐ เศษ ฝ่ายแม่ทัพญวนก็นำปืนใหญ่หามแล่นและปืนใหญ่ปากลำโพงยิงโต้ตอบมาบ้าง กระสุนปืนถึงค่ายไทยนั้นน้อยนัก ตกเสียกลางทางมาก เพราะทางปืนสั้น เพราะฉะนั้นญวนเห็นเสียเปรียบ จึงได้ขุดหลุมเป็นอุโมงค์ในค่าย แล้วลงอาศัยอยู่ในหลุมบังกระสุนปืนใหญ่ไทยได้ พระพรหมบริรักษ์เห็นว่าญวนยิงปืนโต้น้อยลง จึงสั่งทหารขึ้นบนหอคอยสูงสามวาเศษ แลดูไปในค่ายญวน เห็นญวนขุดหลุมอยู่เป็นอันมาก จึงสั่งให้กองแก้วจินดานำปืนกระสุนแตกกระสุนหกนิ้วบ้าง กระสุนสี่นิ้วบ้าง ยิงไปให้โด่งแล้วให้ตกลงในค่ายญวน ญวนเกือบจะแตกอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่แตกง่ายนั้น เพราะทหารญวนได้อาศัยเชิงเทินดินบังกระสุนปืนได้บ้าง จึงยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบสู้รบอยู่ได้เสมอหลายวัน
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้เจ้าพระยานครราชสีมาและพระพรหมบริรักษ์ ให้ต้อนไพร่พลแบกหามนำค่ายตับและค่ายรุกเผือกเข้าไปตั้งเป็นปิหลั่น ล้อมค่ายญวนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งทั้งสี่ด้าน ห่างค่ายญวนสามเส้นบ้าง สองเส้นบ้าง เส้นเศษบ้าง แล้วให้ชักปีกกาโอบอ้อมมาถึงค่ายตับปิหลั่นทุกค่าย เป็นวงพาดอีกชั้นหนึ่ง ล้อมรอบค่ายญวนเข้าไว้ ฝ่ายญวนก็ยิงปืนตับใหญ่น้อยออกมาเสมอ แต่สู้รบกันอยู่ดังนี้ถึงห้าวันหกวัน ญวนก็แต่งการป้องกันรักษาตัวรักษาค่ายโดยแข็งแรงเป็นสามารถ
ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาจึงเข้าชื่อกันกับขุนนางวังหน้าหลายคน คิดการจะเข้าปล้นค่ายญวนในวันสองวันนี้ให้ได้เป็นแน่ แต่พระพรหมบริรักษ์ไม่เห็นด้วย เห็นว่ายังไม่ควรจะปล้นได้ เพราะญวนยังไม่ถอยกำลังเลย เปรียบเหมือนผลไม้ยังไม่สุกจะกินได้หรือ คงจะไม่หวานเป็นแน่ ถ้าและว่าชิงสุกก่อนห่ามก็คงจะเสียที การแก่งแย่งไม่ตกลงกันดังนี้ จึงมิได้ยกเข้าปล้นค่ายญวน เป็นแต่รอไว้ตั้งการล้อมยิงปืนสู้รบกันเสมอทุกวัน
 ขณะนั้นพอพระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดเก่า และพระยาอุทัยธิราชเจ้าเมืองสำโรงทอง พระยา, พระ เขมรทั้งสองมีหนังสือบอกมาว่า ได้ใช้ให้พระมงคลสุนทรกับหลวงบวรพจนาเขมร คุมไพร่เขมร ๒๐๐ ไปลาดตระเวนถึงปากง่ามทางแยกลงไปเมืองพนมเปญ พบญวนในกองทัพเมืองพนมเปญอกมาเที่ยวลาดตระเวนเหมือนกัน แต่ญวนร้อยเศษน้อยตัวกว่าเขมร เขมรมากถึงสองร้อยเศษ พระมงคลสุนทรเขมร และหลวงบวรพจนาจีนบุตรเขยเขมรเป็นนายกอง จึงสั่งให้ไพร่เขมรไล่โอบล้อมจับได้ญวนเป็นมา ๓๔ คน ที่สู้รบกับเขมร เขมรฆ่าญวนตาย ๒๖ คน เหลือนั้นก็แตกหนีไปหมด ให้ขุนนรารักษ์เขมรคุมญวน ๓๔ คน มาส่งยังค่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามญวน ๓๔ คน ญวน ๓๔ คนให้การว่า
“องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพไปรบไทยซึ่งรักษาเมืองชิแครง วันเดียวเมืองชิแครงก็แตกทั้งสิ้นหมดเมือง พระยาราชนิกูลแม่ทัพไทยซึ่งรักษาเมืองชิแครงอยู่นั้น ก็แตกหนีเข้าป่าดงไปบ้างแล้ว ที่ญวนจับไทยมาเป็นเชลยก็ได้บ้าง ที่ฆ่าเสียก็มาก จนญวนขี้เกียจฆ่าไทยในเมืองชิแครงนั้น”
 เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า “สำนวนถ้อยคำอ้ายญวนว่าตีทัพพระยาราชกูลที่เมืองชิแครงแตกไปหมดจนขี้เกียจฆ่าไทยนั้น เห็นว่าเป็นถ้อยคำพูดจาอวดอ้างเกินตัวไปมากนัก เป็นการมันพูดยกย่องอำนาจเจ้านายของมัน มาข่มขู่เราให้กลัวมัน เพราะฉะนั้นจะไว้ใจเชื่อถ้อยคำมันไม่ได้ ด้วยมันให้การเป็นสำนวนหน้าชื่น ๆ จะฟังคำมันมิได้”
จึงสั่งให้หลวงวิเศษธานี และหลวงสวัสดิ์นคเรศร์ กรมพระนครบาลในพระราชวังหลวงสองคน กับหลวงรองจ่าเมือง ณ เมืองนครราชสีมาและพระบุรินทรานุรักษ์เมืองนครราชสีมา รวมหกคน เป็นแกองชำระให้ได้ความจริง แต่ให้แยกย้ายกันถามปากคำ และต้องติดไม้จำคาเฆี่ยนถามจึงจะได้ความจริง ครั้งนั้นตุลาการทั้งหกนายได้เฆี่ยนถามญวน ญวนให้การต่อไปว่า
“เมื่อกองทัพองเตียนกุนยกไปถึงเมืองชิแครงนั้น กองทัพพระยาราชนิกูลเป็นลาวและเขมรป่าดงมาก เห็นญวนยกทัพมาเป็นการใหญ่ พวกเขมรป่าดงและลาวไม่เคยได้ยินเสียงฆ้องกลองม้าล่อและปืนใหญ่ และเสียงรี้พลโห่ร้องผิดภาษากันเป็นอำนาจน่ากลัวยิ่งนัก พวกเขมรป่าดงและลาวก็ตกใจแตกตื่นแหกค่ายทลายประตูหนีเข้าป่าไปสิ้น เหลือแต่คนไทยก็น้อยตัว ก็ต้องแตกหนีเข้าป่าไปบ้าง หาทันได้สู้รบกับญวนไม่ ที่เหลืออยู่ในเมืองหนีไม่ทันนั้นเป็นคนไทยบ้างเป็นลาวบ้าง ญวนก็เข้าไปไล่จับนำมาเป็นเชลยเป็นอันมาก ที่ต่อสู้กับญวน ญวนก็ฆ่าเสียบ้าง......”
 ** คำให้การของเชลยญวนยังไม่จบ แต่ได้ความว่าขณะที่ไทยกำลังล้อมตีญวนเมืองโปริสาดใกล้จะได้ชัยชนะอยู่แล้วนั้น ก็ได้ข่าวจากเชลยญวนที่พระยาเขมรจับได้ให้การว่า องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน ยกทัพใหญ่ไปตีเมืองชิแครงที่พระยาราชนิกูลไปตั้งรักษาเมืองอยู่ เขมรป่าดงในกองทัพไทยเห็นกองทัพญวนยกไปอย่างอึกทึกคึกโครมก็ตกใจกลัว พากันแหกค่ายหนีเข้าป่าดงไปสิ้น กองทัพไทยหมดกำลังจะสู้รบญวน จึงพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย ค่อยมาอ่านเร่องราวกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๗ -
ข่าวเสียเมืองชิแครงแสลงจิต ไทยเร่งคิดแก้ด่วนหลอกญวนหลง ผ่อนการรบรุกเร้าให้เบาลง เหมือนเปิดกรงขังบอกญวนออกไป
เพราะฝ่ายไทยขาดน้ำเลี้ยงเสบียงทัพ จำถอยกลับแนวหลังตั้งหลักใหม่ “ตุน”เสบียงอาหารเหลือมากเมื่อไร ก็จะไม่รอช้าท้ารบพลัน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระยาสังขโลกอดีตเจ้าเมืองโปริสาด กับ พระยาอุทัยธิราชเจ้าเมืองสำโรงทองง ส่งตัวญวนเชลยที่กองลาดตระเวนจับได้มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้สอบปากคำได้ความว่า องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนยกทัพใหญ่ไปตีเมืองชิแครงที่พระยาราชนิกูลรักษาอยู่ ไพร่พลกองทัพพระยาราชนิกูลส่วนใหญ่เป็นเขมรป่าดง เมื่อเห็นกองทัพญวนยกมามากมายอึกทึกคึกโครมก็ตกใจกลัว พากันแหกค่ายเปิดประตูเมืองวิ่งหนีเข้าป่าไปสิ้น พระยาราชนิกูลจึงเหลือไพร่พลที่เป็นไทยลาว มีกำลังไม่พอจะต่อสู้ญวนได้ จึงเสียเมืองแก่องเตียนกุลอย่างง่ายดาย คำให้การเชลยญวนยังไม่หมดสิ้น วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 “.......... เมื่อองเตียนกุนมีชัยชนะแก่ไทยได้เมืองชิแครงแล้วนั้น ได้รับหนังสือใบบอกของญวนกองลาดตระเวนฉบับหนึ่งใจความว่า ไทยยกทัพใหญ่มาล้อมค่ายญวนที่เมืองโปริสาดเกือบจะเสียอยู่แล้ว องเตียนกุนจึงให้องไล่ฮื่อคุมไพร่พลอยู่ กวาดต้อนครอบครัวเมืองชิแครง แต่องเตียนกุนนั้นตระเตรียมการจะรีบเร่งยกทัพกลับมาช่วยแก้องเดดกออกจากที่ล้อมในค่ายที่เมืองโปริสาด ซึ่งกองทัพไทยล้อมไว้นั้น แล้วองเตียนกุนว่ากับนายทัพนายกองว่า การนิดเท่านี้ไม่เป็นไรดอก เราจะยกไปเป็นทัพขนาบตีวกหลังลงไป ประเดี๋ยวไทยก็จะแตกไปหมด จะตั้งล้อมอยู่ได้เท่าใดเล่า เราจะยกทัพแยกออกเป็นสามสาย จะให้องลันฮูยกไปตีฟากตะวันตก จะให้องเปียวลันบิลยกไปตีค่ายไทยที่ตั้งหนุนค่ายล้อมอยู่นั้นให้แตกก่อน แล้วจะยกไปปิดต้นทางเมืองเขมรไว้ ไม่ให้ไทยค่ายล้อมแตกล่าถอยไปได้ แต่องเตียนกุนจะยกลงไปตีทางหลังเมืองโปริสาดทีเดียว จะได้แก้ไขให้ไพร่พลในค่ายองเดดก องอันภู่ออกสู้รบเต็มมือพร้อมกันดังนี้สักคราวเดียว ไทยจะทนได้หรือ คงจะแตกพินาศฉิบหายล้มตายแตกหนีไปสิ้น จะตั้งล้อมตั้งรบอยู่ไดที่ไหนเล่า แล้วองเตียนกุนมีหนังสือแจ้งความดังให้การนี้มายังองยุงยางผู้รักษาค่ายเมืองพนมเปญ เพราะดังนั้นพวกข้าพเจ้าทั้งปวงจึงรู้การ" สิ้นคำให้การญวน ๓๔ คนเท่านี้
 หลวงวิเศษธานี พระนรินทรานุรักษ์ ตุลาการคัดคำให้การญวน ๓๔ คน ที่พูดจาถูกต้องรวมคำกันนั้นขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงปรึกษาราชการศึกด้วยเจ้าพระยานครราชสีมาและพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตร กับจมิ่นสรรพเพธภักดีผู้บุตร เคยช่วยราชการทัพกับพระยาราชสงครามนายทัพหน้า และพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลนายทัพหลัง พระยาราชโยธา พระยาบำเรอบริรักษ์ พระยาวิสูตรโกษา พระยานรานุกิจมนตรี พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระยาณรงค์วิไชย พระยาทิพยสงครามแขกจาม นายทัพผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯ แปดคน และ พระยาปราจีนบุรี พระยาสุพรรณบุรี พระยาเพชรบูรณ์ พระยาไชยวิชิตกรุงเก่า พระยานครนายก พระยานครสวรรค์ พระยาอ่างทอง รวมนายทัพนายกองผู้ใหญ่ฝ่ายหัวเมืองแปดคน เจ้าพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองพร้อมกันอยู่ ณ ที่ประชุมปรึกษาราชการศึกในค่ายเมืองเขมรนั้น
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรดชาจึงมีบัญชาขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมว่า การซึ่งเมื่อพวกเราทั้งหลายได้มีความอุตสาหะตั้งใจมาทำศึกสงครามครั้งนี้ ก็หมายจะตีบ้านเมืองฝ่ายญวนมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้เป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเทพฯ เพื่อจะให้แผ่พระราชอำนาจปกครองตลอดมาถึงบุรพทิศ จะปราบปรามญวนให้อยู่ในใต้อำนาจเห็นจะไม่สมความคิดที่หมาย เป็นอันจะไม่สำเร็จตามความประสงค์เป็นแน่ ขัดข้องอยู่ ๕ ประการดังจะชี้ต่อไปคือ:-
 ข้อ ๑ เสบียงอาหารกระสุนดินดำรี้พลในค่ายญวนก็ยังบริบูรณ์อยู่มาก จึงได้สู้รบกับเราได้แข็งแรงช้าวันไปยืดยาว กว่ากองทัพพวกมันจะมาช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที
ข้อ ๒ เสบียงอาหารฝ่ายไทยก็ขัดสนลง ด้วยในคราวนี้แต่จะแบ่งเฉลี่ยเลี้ยงไพร่พลไปได้สักเก้าวันสิบวันเป็นอย่างช้าเต็มที ถ้าข้าศึกยังติดพันกันต่อไปอักสักเจ็ดวันแปดวัน ก็เป็นอันไม่มีเรี่ยวแรงจะสู้รบกับข้าศึก เพราะไม่มีข้าวกิน คงตายด้วยอดอาหาร และตายด้วยข้าศึกทำอันตรายบ้าง
ข้อ ๓ ได้ข่าวว่าองเตียนกุนก็ยกไปตีกองทัพพระยาราชนิกูลที่เมืองชิแครงแตกไปหมดแล้ว กับได้ทราบว่าองเตียนกุนมีกองทัพมาถึงสามกอง ให้แยกย้ายกันมาสกัดตีหน้าหลังพวกเรา ให้พะว้าพะวังไปห่วงรบหน้าและหลัง เป็นกังวลไปหลายทางนั้น เพื่อจะมาแก้ให้องเดดก องลันเบีย ซึ่งตั้งอยู่ในที่ล้อมนี้ ให้มีน้ำใจกล้าหาญสู้รบออกจากที่ล้อมด้วยฝ่ายเรา ตรึกตรองไปดูตามทำนองศึกสงคราม ก็เห็นทัพข้างญวนจะยกมาจริง เพราะควรที่องเตียนกุนจะยกทัพแยกย้ายมาช่วยแก้ไขญวนที่เมืองโปริสาดนี้ ให้พ้นอำนาจซึ่งเกือบอยู่ในเงื้อมมือไทย ถ้าและว่าองเตียนกุนยกทัพใหญ่มาจริงดังคำให้การพวกญวนเชลยไพร่พูดนั้น ฝายเราก็จะต้องเป็นศึกขนาบ จะต่อสู้ก็ไม่ได้ จะหนีก็ไม่พ้น เห็นจะเข้าที่จนดุจดังหมากรุกถูกรุกฆาต เสียทั้งเบี้ยเม็ดม้าเรือ แล้วมิหนำซ้ำเสียโคนคู่คิดไปแล้ว ขุนก็จะต้องจนอยู่มุมกระดาน ถ้าเป็นการดังนั้น ชื่อเสียงพวกเราก็จะเสียอยู่ในแผ่นดินชั่วฟ้าและดิน ไม่สิ้นสูญความโง่เขลาเลย
ข้อ ๔ ถึงมาทว่าเรารู้เหตุการณ์ก่อนแล้วว่า องเตียนกุนจะยกมาตีเราและจะมาช่วยแก้ไขค่ายญวนที่เราล้อมไว้นี้นั้น ก็ให้พวกเราช่วยตีปล้นค่ายญวนให้แตกเสียก่อนทัพองเตียนกุนจะยกมานั้นจะมิดีหรือ? ขอตอบคำนี้ว่า การรบทัพจับศึกเป็นการยากอันสุขุมยิ่งนัก จะทำให้แพ้และชนะได้ให้ทันใจคนที่ไม่สู้ชำนาญการพิไชยสงครามนั้นไม่ได้เป็นแน่แล้ว ด้วยการงานศึกเสือเหนือใต้ไม่เหมือนการงานในบ้านในเรือน จะได้ช่วยกันแบกหามคนละไม้คนละมือก็จะแล้วสำเร็จได้ โดยอำนาจที่ช่วยกันทำการช้า ๆ ค่อย ๆ ทำไปขนไปหมดเมื่อไรก็แล้วเมื่อนั้น การศึกสงครามไม่อย่างนั้นเลย ผิดกันมากทีเดียว ต้องจำเป็นทำให้เสร็จแล้วได้นั้น โดยการตรึกตรองช่องโอกาสเป็นต้นจึงจะชนะศึก ซึ่งบัดนี้ เราจะเข้าปล้นค่ายญวนหักโหมโดยอำนาจทหารเห็นจะตายเปล่า ไม่ได้ค่ายญวนเป็นแน่ ถ้าลงมือทำการลงไปดังนั้นบ้างแล้ว ก็จะติดพันกันไปช้านานอย่างไรก็ยังไม่รู้ได้แน่ ถ้าเป็นดังนั้นแล้ว ฝ่ายเราจะได้ข้าวเกลือที่ไหนมากินเล่า ครั้นจะล่าทัพเมื่อขณะกำลังรบติดพันกันนั้น ก็จะพลอยแตกยับเยินป่นปี้ทีเดียว
ข้อ ๕ เห็นช่องอย่างเดียวที่จะพาตัวรอด และไม่ให้เสียชื่อเสียงได้ คือจำเป็นจะต้องผ่อนปรนทำไมตรีกับญวนไว้สักครั้งหนึ่ง เหมือนรดน้ำเย็นญวนตายใจ แต่พอเป็นทางที่เราจะแก้ไขพาตัวรอดให้ได้ราชการคราวหนึ่งก่อน ต้องผ่อนปรนตามการหนักและเบา เห็นจะไม่เสียราชการ คือจะให้ญวนเลิกทัพกลับไปหาเจ้านายเขาโดยปรกติดี ๆ ไม่ให้มีการรบกัน ฝ่ายเราก็จะต้องล่าทัพกลับไปหาเสบียงอาหารเลี้ยงไพร่พลเรา ให้มีกำลังวังชาแล้วเมื่อใด จึงค่อยคิดเริ่มรบกับญวนต่อไปอีกก็ได้เป็นไรเล่า ก็ท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใดบ้าง ให้พูดจาโต้ตอบคัดค้านมา จะได้ปรึกษาหารือกันต่อไป ถ้าใครเห็นอย่างไรดีก็ให้พูดมาโดยเร็ว การศึกสงครามจะรอช้าไม่ได้ ข้าศึกไม่รอการรบ ให้คิดอ่านการเลย”...........
 ** ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา น่าจะเป็นนักเล่นหมากรุกมือฉกาจมากคนหนึ่งทีเดียว ฟังท่านเปรียบเทียบการรบกับการเดินหมากรุกแล้ว เห็นภาพชัดเจนเลย คนเล่นหมากรุกเก่งระดับ “เซียนหมากรุก” ท่านคิดหมากหลายชั้น มีลูกล่อลูกชน วางกลให้คูแข่งหลงจนพ่ายแพ้ การรบศึกสงครามก็เช่นกัน แม่ทัพที่เก่งการศึกย่อมคิดการศึกหลายชั้น มีลูกล่อลูกชนเพื่อเอาชัยชนะ ตอนนี้ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังใช้ลูกล่อลูกชนรบกับญวน ผลจะเป็นอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, ลายเมฆ, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๘ -
ทั้งแม่ทัพนายกองผองขุนศึก เห็นตามตรึกตรองสรรพแม่ทัพนั่น เป็นวิธีดีนักพักรบกัน ผ่าทางตันเพื่อชนะอริชน
จึงจดหมายเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ เสแสร้งแผ่เมตตามหากุศล ขู่ให้กลัวยั่วให้ยอมออมไพร่พล เป็น“หมากกล”ที่วางกลางกระดาน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบจากคำให้การญวนเชลยว่า พระยาราชนิกูลเสียทัพเสียเมืองชิแครงให้แก่องเตียนกุนแล้ว แม่ทัพใหญ่ญวนกำลังยกมาช่วยแก้ไขค่ายญวนเมืองโปริสาด เห็นว่าทัพไทยเสียเปรียบ ที่สำคัญคือการขัดเสบียงอาหาร จึงประชุมปรึกษานายทัพนายกองพร้อมกับเสนอว่า เห็นว่าควรผ่อนให้ญวนยกออกจากค่ายถอยไป พร้อมกับไทยล่าถอยกลับไปตั้งหลักสะสมเสบียงอาหารให้พร้อมสรรพ แล้วจึงยกกลับมารบญวนใหม่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันครับ......
 ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา และ พระยาเพชรบูรณ์ เป็นผู้ใหญ่กับพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตร และพระยา พระ หลวง พร้อมใจกันเห็นชอบด้วยความคิดใต้เท้า พระกรุณาเจ้าทุกประการแล้ว ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาสั่งพระพิทักษ์บดินทรเขมรกับพระนริทร์โยธาเขมรสองนาย ให้ทำหนังสือไปเกลี้ยกล่อมญวนในค่าย ชักชวนเป็นทางไมตรีโดยทางใน ๆ ไม่ออกหน้า ใจความว่า
 “หนังสือเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่ และพระพรหมบริรักษ์ปลัดทัพ แจ้งความมาถึงองเดดกและองอันภู่ องญวนผู้ใหญ่แม่ทัพ ณ ค่ายเมืองโปริสาด ได้ทราบว่าฝ่ายท่านก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยารับอำนาจมาแต่ท่านองเตียนกุนแม่ทัพหลวง ให้ท่านมาเป็นแม่ทัพ ณ ค่ายเมืองโปริสาดนี้ ก็หมายใจจะทำสงครามแก่เราให้เราแพ้พ่ายพินาศฉิบหายล้มตาย ฝ่ายท่านก็จะได้มีชื่อเสียง และเกียรติยศสืบตระกูลต่อไปในกรุงเว้ ฝ่ายเราก็เหมือนกัน เราก็ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยารับอำนาจมาแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ แม่ทัพหลวงอำนวยให้เราถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ มาตั้งการล้อมค่ายท่านครั้งนี้ เราก็ตั้งใจจะตีค่ายญวนให้ได้เป็นการสามารถยิ่งนัก ญวนและไทยก็ได้รบกันมาหลายเวลาแล้ว จนญวนล้มตายมากน้อยเท่าใดก็ย่อมแจ้งอยู่กับใจแม่ทัพญวนนั้นแล้ว และสู้รบกันมาถึงแปดวัน ข้างไหนจะเสียเปรียบ ข้างไหนจะได้เปรียบ ฝ่ายญวนก็ย่อมรู้อยู่สิ้นแล้ว เมื่อวานซืนนี้ฝายไทยได้ยิงปืนใหญ่กระสุนแตกไปตกในค่ายญวน ญวนก็คงรู้อยู่ว่าฤทธิ์ปืนกระสุนแตกได้เป็นอย่างไร ทำร้ายแก่ค่ายและคนเป็นหนักเบาอย่างไรก็คงทราบสิ้น ฝ่ายไทยรู้ชัดว่าญวนไม่มีอาวุธวิเศษดังปืนกระสุนแตกนั้นใช้เลย ถ้ามีในค่ายก็คงจะยิงโต้ตอบออกมาบ้าง หรือจะอ้างว่ามีอยู่ที่บ้านเมือง ถ้ามีจริงก็ทำไมไม่นำมาใช้สอยเล่า หรือจะไปนำมาใช้บ้างก็คงจะไม่ทันท่วงที เพราะเมืองเว้เป็นทางไกล ไปมายาก ไม่เหมือนกรุงเทพฯ มีทางน้ำใหญ่ที่จะนำเรือบรรทุกปืนใหญ่และเสบียงอาหารมาส่งกองทัพได้โดยง่าย ซึ่งกล่าวเรื่องปืนกระสุนแตกมาให้ญวนรู้ทั้งนี้ ก็เพราะจะให้ญวนรู้สึกตัวว่า ธรรมดาการศึกสงครามข้างไหนมีอาวุธวิเศษแล้วก็ย่อมจะได้เปรียบแก่ข้าศึกเป็นแน่ แต่ว่ากระสุนปืนแตกที่ยิงเข้าไปในค่ายญวนนั้น เป็นกระสุนโตแต่เพียงห้านิ้วหกนิ้วยิงลองดูก่อน ถ้าทีหลังจะยิงเข้าไปอีกถึงกระสุนโตเท่าผลมะพร้าวทั้งเปลือก หรือเท่าบาตรพระสงฆ์ก็มี และครั้งนี้ก็ได้ส่งตัวอย่างกระสุนปืนแตกโตเท่าผลมะพร้าวทั้งเปลือกมาให้ญวนดูด้วย จะได้เห็นว่าไทยไม่พูดหลอกลวงข่มขู่
 แต่ว่านายทัพนายกองไทยลงเนื้อเห็นแยกแตกกันออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งเห็นว่าควรจะนำปืนกระสุนแตกใหญ่เท่าผลมะพร้าวหรือเท่าบาตรพระยิงเข้าไปทำลายล้างให้ญวนตายหมดทั้งค่ายได้ในชั่วโมงเดียวเป็นอย่างช้า พวกหนึ่งเห็นว่าถ้าทำดังนั้นพวกญวนในค่ายเมืองโปริสาดนี้ ก็จะตายหมดสิ้นไม่เหลือเลยนั้นจริงอยู่ แต่การสงครามญวนกับไทยจะเป็นอันสุดสิ้นสุดแต่ครั้งนี้หรือก็หามิได้ เพราะพระเจ้าเวียดนามคงจะแต่งองญวนอื่นคุมไพร่พลมาทำศึกกับไทยอีกต่อไป เพราะฉะนั้น พวกไทยที่เห็นดังนี้ จึงร้องขอต่อท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพหลวงว่า ซึ่งจะนำกระสุนแตกยิงไปล้างผลาญญวนให้ตายหมดค่ายก็เป็นบาปเป็นกรรมอย่างหนึ่ง กับนานาประเทศจะติเตียนได้ว่า มีอาวุธวิเศษแล้วก็ไปทำศึกแก่ญวนโดยขมขี่ หาเป็นธรรมยุทธไม่ ถึงจะฆ่าญวนคราวนี้ตายหมดก็ยังไม่สิ้นราชการทัพศึกแก่ญวน เห็นว่าหาควรล้างผลาญญวนครั้งนี้ไม่ ควรจะชี้แจ้งให้ญวนรู้สึกตัวก่อนว่า ไทยก็ยังมีเมตตาจิตแก่ข้าศึกโดยธรรมยุทธบ้าง เมื่อญวนไม่ออกมาสู้รบนอกค่าย หรือไม่มีอาวุธวิเศษจะต่อรบกับไทยแล้ว ก็อย่าให้ญวนนิ่งตายอยูในค่ายทั้งหมด หาต้องตามครองประเพณีธรรมไม่ ด้วยชีวิตมนุษย์ก็เป็นสิ่งของอันประเสริฐ หายากที่สุดไม่มีที่จะหาได้อีก ตั้งแต่เกิดมากว่าจะโตมารบกันได้นี้ ก็แสนยากแสนลำบากแก่บิดามารดาที่เลี้ยงมนุษย์มานั้น ไม่ควรญวนจะถือทิฐิมานะเลย เมื่อญวนเห็นว่าจะสู้ไทยไม่ได้ หรือจะสู้ก็ได้แต่จะไม่ได้ชัยชนะแก่ไทยเป็นแน่แล้ว คงตายพร้อมกันครั้งเดียวดังล้างน้ำ โดยอำนาจอาวุธวิเศษหรืออำนาจสติปัญญาแม่ทัพไทย และฝีมือทแกล้วทหารไทย เหมือนฟ้าผ่าลงมาถูกฝูงสัตว์ฉันใดก็เหมือนกัน ถ้าญวนคิดเห็นดังนี้แล้วจะไม่ต่อสู้ ก็ให้องญวนผู้ใหญ่แม่ทัพออกมาทำคำนับอ่อนน้อมยอมสารภาพรับผิดรับชอบโดยดี ขอแต่ชีวิตไว้กลับไปบ้านเมืองหาบุตรภรรยาญาติ และบิดามารดาจึงจะควร ถ้าองญวนผู้ใหญ่ออกมาทำดังนี้แล้ว ก็ควรที่จะปล่อยให้ไปบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง ญวนก็คงจะมีทางเสียอยู่ทางหนึ่งว่า ยอมแพ้แต่ชื่อ แต่ร่างกายกับชีวิตไม่แพ้ พากลับไปฝากบ้านเมืองของตัวได้ ถ้าญวนไม่ทำดังที่ชี้แจงกล่าวมานี้ โดยทางเมตตากรุณาแก่ชีวิตมนุษย์ด้วยกันแล้ว ก็จึงให้นำปืนกระสุนแตกยิงเข้าไปทำลายล้างผลาญสังหารชีวิตญวนให้ตายทั้งสิ้น เพราะเป็นเวรานุเวรถือทิฐิมานะดื้อดึง ก็ควรตายตามกรรมนิยมของญวน ฝ่ายท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ฟังความคิดเห็นของพวกแม่ทัพนายกองไทยพวกที่ไม่อยากล้างผลาญฆ่าญวนตายทั้งหมดนั้น ท่านก็เห็นชอบด้วยเพราะมีจิตคิดสังเวชแกชีวิตมนุษย์ที่หาควรจะตายไม่ ท่านจึงมีบัญชาว่า ให้รอการรบไว้ ผ่อนให้นายทัพนายกองมีหนังสือมาชี้แจงความดีและร้ายให้ญวนทราบก่อน ฝ่ายเราได้มีโอกาสดังนี้แล้ว จึงได้กราบเรียนขอรับอาสามีหนังสือมาชี้แจงให้องเดดกและองญวนผู้ใหญ่ทราบ องญวนผู้ใหญ่ทราบแล้วก็ให้รีบเร่งออกมาโดยเร็ว ถ้าช้าไปพวกนายทัพนายกองที่ใจบาปหยาบช้าแค้นเคืองญวนอยู่นั้น จะวิงวอนกราบเรียนขอยิงปืนกระสุนแตกอย่างใหญ่ไปล้างผลาญญวน หรือจะจัดการปล้นค่ายจับญวนไปฝากบุตรภรรยาใช้สอยเป็นทาสเชลย ถ้าช้าไปจะเป็นดังนี้ เราก็จะคัดค้านคำสั่งท่านอธิบดีใหญ่ไม่ได้ ก็จะจำใจทำตามราชการทัพศึก ความที่พวกเราคิดจะให้เป็นบุญก็จะไม่ได้ จะต้องไปทำบาปล้างผลาญข้าศึกด้วยพวกใจบาปเพราะอาชญาทัพศึกไม่ได้ ซึ่งเราพูดมาทั้งนี้โดยความกรุณาทุกอย่าง ให้องอันภู่ องเดดก แม่ทัพคิดตรึกตรองให้มาก แต่อย่าช้าให้เสียการทั้งสองฝ่าย หนังสือมา ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมสิบค่ำ ปีชวด โทศกจุลศักราช ๑๒๐๒ ผ่านพิภพได้ ๑๗ ปี”
เขียนเป็นอักษรเขมรฉบับ ๑ อักษรจีนภาษาญวนฉบับ ๑ ประทับตรารูปเทวดานั่งบนสัปคับหลังช้างพลายทรงเครื่องยืนแท่น เป็นตราของเจ้าพระยานครราชสีมาทั้งสองฉบับ บรรจุกลักหุ้มแพรต่วนแดงมีถุงแพรปังสีหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ประทับตราครั่งปากถุงรูปขอช้าง มอบให้ญวนเชลยถือไปแปดคน แต่ให้เขมรที่รู้จักภาษาญวนไปด้วยสี่นาย แต่งตัวตามธรรมเนียมพลเรือนโดยสุภาพเพราะว่าไม่ใช่ราชทูต (หนังสือฉบับนี้กล่าวไว้หมดจดตามต้นร่างเดิม ไม่ได้ตัดรอนทอนให้สั้นและไม่ได้แต้มต่อเติม ว่าไปตามเนื้อความเก่านั้น เพราะจะให้ท่านทั้งหลายฟังสำนวนเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และเจ้าคุณแม่ทัพแต่งร่างเดิมด้วย)
 ** แล้วแม่ทัพไทยก็วางกลอุบายกลางศึก ให้มีจดหมายไปถึงแม่ทัพญวน เกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ สำนวนลีลาการเขียนหนังสือถึงแม่ทัพญวนของท่านเจ้าพระยานครราชสีมาและท่านเจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ มีทั้งข่มขู่ มีทั้งปลอบประโลมโน้มน้าวให้เห็นคล้อยตาม อย่างนี้แม่ทัพญวนอ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไร ค่อยตามไปอ่านความกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ลายเมฆ, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๙ -
หนังสือไทยให้ญวนใคร่ครวญศึก ความตื้นลึกต่างรู้ดูหลักฐาน ญวนเสียเปรียบเรื่องอาวุธยุทธการ ไทยพร้อมผลาญญวนป่นด้วยลูกปืน
ญวนอ่านแล้วปลงตกยกธงขาว เห็นถึงคราวแพ้ไทยไม่อาจฝืน ขอชีวิตไพร่พลทุกคนคืน กลับไปยืนบ้านญวนที่ควรเป็น |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าเมืองชิแครงและทัพพระยาราชนิกูลเสียแก่ญวน และองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนกำลังจะยกมาแก้ไขช่วยทัพญวนในค่ายเมืองโปริสาด ได้ปรึกษานายทัพนายกองแล้วตกลงว่า จะถอยทัพกลับไปพักฟื้นกำลังและสะสมเสบียงอาหารแล้วยกกลับมารบญวนใหม่ พร้อมกันนั้น ก็จะให้ญวนเลิกทัพกลับไปด้วยเช่นกัน จึงให้มีหนังสือในนามเจ้าพระยานครราชสีมาไปเกลี้ยกล่อมแม่ทัพญวน ฝ่ายญวนได้รับหนังสือจากแม่ทัพไทยแล้ว จะดำเนินการต่อไปอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
“ครั้นเขมรญวนถือหนังสือเข้าไปในค่ายญวน ญวนก็ต้อนรับโดยดี คลี่ออกอ่านได้ความแล้วจึงปรึกษากันตามผู้ใหญ่ผู้น้อยสักครู่หนึ่ง องอันภู่ องเดดก แม่ทัพลงเนื้อเห็นชอบด้วยตามหนังสือนั้นแล้วจึงว่า
 “ถ้าเราขืนสู้กับไทย ไทยก็คงจะล้างผลาญฆ่าญวนตายหมดทุกค่ายเป็นคนถึงสองหมื่นเศษใกล้สามหมื่น เราก็เห็นดีที่จะยอมแพ้แก่ไทยในครั้งนี้แล้ว ขอแต่ชีวิตไพร่พลไว้ไม่ให้ตายทั้ง ๒๐,๐๐๐ ถึงตัวเราจะตายก็ตายเถิด นึกว่าเราชีวิตเดียวแลกเปลี่ยนชีวิต ๒๐,๐๐๐ เศษไว้ให้สืบต่อไปภายหน้าเถิด”
องอันภู่แม่ทัพพูดเท่านั้นแล้ว จึงสั่งให้ทหารนำธงผ้าขาวมีอักษรจีนว่า “ยอมแพ้ไม่สู้แล้ว” นำธงผ้าขาวนั้นไปปักไว้บนหอรบหน้าค่ายสี่ธง แล้วสั่งให้ทหารตีกลองและม้าล่อขึ้นสามลา ตีกลองเป็นเพลงยอมแพ้แก่ข้าศึก เป็นธรรมเนียมของญวนดังนี้ ในทันใดนั้นองอันภู่แลองเดดกใช้ให้ญวนคนใช้ไปแบกเข่งส้มจีน และพลับแห้งมาอย่างละสามเข่ง มอบให้ญวนเชลยแปดคนแบกไปให้เจ้าพระยานครราชสีมาก่อน อีกสักครู่องอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่จะจะใช้ให้องฮูย่านายทหารเอกนำธงคันใหญ่ ทำด้วยแพรสีแดงริมรอบเป็นลายมังกรปักทอง กลางมีอักษรจีนเป็นภาษาญวนว่า “อาญาสิทธิ์การศึก” ให้องฮูย่านายทหารเอกถือธงอาญาสิทธิ์นั้นมากับเขมรสี่คนที่ถือหนังสือไปนั้น ให้กลับมาหาแม่ทัพไทย
ครั้งนั้นองฮูย่าได้นำธงอาญาสิทธิ์ทัพมามอบให้เจ้าพระยานครราชสีมาแล้วแจ้งความว่า
“องอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่ทั้งสองคนนั้น มีความยินดียิ่งหนัก ที่ท่านช่วยชี้แจงไปในหนังสือนั้น จะปฏิบัติตามทุกอย่างไม่ขัดขวางเลย อีกประการหนึ่ง จะใช้ให้ขุนนางนายทหารที่มียศออกมาเจรจาการทัพศึกกับท่านแม่ทัพไทย แต่ตัวข้าเจ้านี้จะขอลาท่านกลับเข้าไปในค่าย แจ้งข้อราชการกับองเดดกและองอันภู่ให้รู้ก่อน” พูดเท่านั้นแล้วก็ทำคำนับลากลับไปยังค่ายญวน
 พอสัครู่นานๆ องเดดกและองอันภู่ใช้ให้ขุนนางนายทัพสองนายชื่อองถอไลบีน ๑ องกวานยาเรอ ๑ ขี่ม้าเทศใหญ่ทั้งสองม้า มีคนถือร่มแพรระย้ากั้นให้คนละอัน มีบ่าวไพร่ตามหลังมาด้วย ๑๒ คน ถือเครื่องยศและอาวุธตามออกมา ครั้นเดินม้ามาถึงประตูค่ายไทยแล้ว ขุนนางญวนทั้งสองก็ลงจากหลังม้าเดินเข้ามาในค่ายไทย แต่บ่าวไพร่ญวนนั้นให้หยุดอยู่นอกค่าย ฝ่ายพระนรินทรโยธาเขมรพูดภาษาญวนได้ จึงได้ต้อนรับเชื้อเชิญให้ขุนนางญวนทั้งสองคนมานั่งที่หน้าทำเนียบคอยอยู่สักครู่หนึ่ง เจ้าพระยานครราชสีมาก็ออกรับขุนนางญวนสองนาย แล้วปราศรัยไต่ถามเป็นความไมตรีในที่ประชุมใหญ่ พร้อมไปด้วยพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองในกรุงและหัวเมือง แต่ล้วนสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัดและแพรดวงต่าง ๆ ทั้งสิ้น ศีรษะโพกผ้าแพรสีทับทิมติดขลิบทอง ทุกคนนั่งเป็นลำดับตามบรรดาศักดิ์ องถอไลบีนและองกวานยาเรอแจ้งความว่า
“เดิมแม่ทัพญวนหาทราบว่าองบดินทรเดชาแม่ทัพหลวงยกทัพใหญ่ออกมาไม่ ญวนสำคัญว่าเป็นทัพหัวเมืองเขมรและลาวยกมารบกับญวน ญวนจึงได้ต่อสู้โดยสามารถ ครั้งนี้ญวนอยู่ในที่ล้อม จึงรู้ว่ากองทัพองบดินทรเดชายกมาเป็นทัพหลวงบังคับบัญชาการศึกทัพ ฝ่ายญวนก็เกรงกลัวสติปัญญาและฝีมือองบดินทร์ จึงไม่ได้สู้รบ และได้ชักธงขาวยอมแพ้แล้วมอบธงอาญาสิทธิ์ทัพศึกให้หมด ขอแต่ชีวิตไพร่พลไว้ไม่ให้ตายเท่านั้น ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งหนัก”
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแอบฟังอยู่ในม่านข้างหลังเจ้าพระยานครราชสีมา จึงกระซิบสั่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้ตอบกับขุนนางญวนไปว่า
“ซึ่งท่านทั้งสองนี้มาพูดก็เหมือนพูดเล่นเสียเวลาเปล่า ๆ เพราะตัวท่านเป็นแต่ขุนนางนายทัพ หาใช่แม่ทัพไม่ จะมาเจรจาการทัพศึกแทนแม่ทัพไม่ได้ ให้กลับเข้าค่ายไปบอกองอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่ให้ออกมาเจรจาการศึกสงครามกัน ให้ตกลงกันเป็นการรับผิดเสียก่อน จึงจะยอมให้กลับไปหาครอบครัวบ้านเมืองของญวนได้”
องถอไลบีนและองกวานยาเรอทั้งสองคนก็กระทำคำนับลาเจ้าพระยานครราชสีมา กลับไปแจ้งความให้องอันภู่และองเดดกทัพใหญ่ทราบ
 ครั้งรุ่งขึ้นเวลาเช้า องอันภูแม่ทัพที่ ๑ องเดดกแม่ทัพที่ ๒ องลับบินแยแม่ทัพที่ ๓ ขี่ม้าเทศมีคนถือร่มแพรระย้าคันยาวกางกั้นให้ทั้งสามคน ทั้งสามคนแต่งกายเต็มยศอย่างขุนนางนายทหารแม่ทัพญวน (คล้ายทหารงิ้วจีน) มีทหารญวนถืออาวุธสั้น มีง้าวและมีดพร้าด้ามยาวชื่อแป๊ะกั๊ก ตะพายและถือเดินแห่หน้ามาสองแถว แถวละ ๒๕ คน รวมทหารม้า ๕๐ คน มีบ่าวไพร่ถือม้าล่อตีมาหน้าทหารหน้าม้าล่อ ๑ และมีบ่าวไพร่ถือเครื่องยศแม่ทัพตามมาข้างหลังนั้น ๓๐ คน แต่ล้วนแต่งกายงาม ๆ อย่างทหารญวนทุกคน แห่มาแต่พอเป็นเกียรติยศแม่ทัพญวน แม่ทัพมาถึงหน้าค่ายไทย ก็ให้ทหารญวนเก็บอาวุธรวบรวมส่งให้แก่ทหารไทยที่ตั้งกองออยู่หน้าค่ายทั้งสิ้น ขณะนั้นพระพรหมบริรักษ์กับพระยาพรหมยกกระบัตรขึ้นม้าแต่งกายสวมเสื้อเข้มขาบ คาดรัดประคดหนามขนุน ยืนม้านำหน้าทหารไทย ๑๖๐ คน อยู่หน้าค่ายคอยรับแม่ทัพญวน แม่ทัพญวนคำนับพระพรหมบริรักษ์เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวงและพระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ท่านทั้งสองจึงร้องห้ามไม่ให้รับอาวุธของญวนไว้ แล้วบอกให้ล่ามแจ้งความแก่แม่ทัพญวนว่า
“เรื่องศาสตราวุธเป็นของเครื่องประดับสำหรับเกียรติยศแม่ทัพ ซึ่งญวนจะมอบอาวุธที่แห่มานั้นให้แก่ไทย โดยความที่แม่ทัพญวนแสดงความบริสุทธิ์ภายในใจให้แก่ไทยเห็นว่า ยอมแพ้โยราบคาบก็จริงอยู่ แต่ไทยไม่มีความรังเกียจอะไรในอาวุธสั้นร้อยเล่มเท่านี้เลย ขอให้ญวนถือและตะพายไว้สำหรับตัวให้เป็นเกียรติยศสง่างามแก่แม่ทัพเถิด”.......
 ** หนังสือแม่ทัพไทยมีไปถึงแม่ทัพญวนได้ผลดียิ่ง แม่ทัพญวนอ่านแล้วเห็นด้วยจึงยอม “ยกธงขาว” แพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ส่งนายกองออกมาเจรจาความศึกสงครามในค่ายไทย แม่ทัพไทยเห็นว่าหมากมีแต้มเหนือกว่าแล้ว จึงสำทับให้นายกองญวนกลับไปบอกให้แม่ทัพญวนออกมาเจรจาความเอง แม่ทัพญวน ๓ ทัพ ๓ นายก็ออกมาเจรจาแล้ว เรื่องราวจะตกลงในรายละเอียดอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๐ -
ญวนสามค่ายสามแม่ทัพยอมรับผิด ต่างเลิกคิดรบไทยให้ขุกเข็ญ ทำสัญญายอมละทุกประเด็น ขออยู่เย็นร่มเงาไทยอุ่นไมตรี
“องบดินทร์”ไม่หยามย่ำข่มเหง ญวนยำเกรงยอบตัวกลัวศักดิ์ศรี ทำตามสั่งตั้งแง่แต่โดยดี โดยมิมีเงื่อนไขให้รำคาญ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... แม่ทัพญวนส่งนายทหารเข้าพบแม่ทัพไทยในค่ายเพื่อเจรจา ฝ่ายไทยให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นายทหารญวนกล่าวว่าไม่ทราบว่า “องบดินทร์” คุมทัพมารบด้วยตนเอง คิดว่าเป็นเพียงทัพลาวเขมรเท่านั้น ญวนจึงทำการรบเป็นสามารถ ครั้นทราบว่า “องบดินทร์” มาบัญชาการรบด้วยตนเอง ก็เกิดความกลัวจึงยอมยกธงขาวยอมแพ้แล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาแอบม่านฟังอยู่ข้างหลังเจ้าพระยานครราชสีมา จึงกระซิบสั่งให้แม่ทัพไทยบอกทหารญวนให้กลับไปบอกให้แม่ทัพญวนมาเจรจาเอง รุ่งขึ้นแม่ทัพญวน ๓ ค่าย ๓ นายก็พากันออกมาเข้าพบแม่ทัพไทยในค่าย เมื่อขบวนเกียรติยศแม่ทัพญวนเดินทางถึงหน้าค่าย ทหารญวนเก็บอาวุธทั้งหมดมอบให้ทหารไทย พระพรหมบริรักษ์ปลัดทัพไทยซึ่งยืนม้าต้อนรับอยู่ร้องห้ามไม่ให้ทหารไทยรับอาวุธญวน แล้วให้ล่ามบอกแม่ทัพญวนว่า ศาสตราวุธเป็นเครื่องประดับเกียรติยศแม่ทัพ ขอให้ทหารถือไว้ตามเดิม อย่าได้ถอดออกให้เสียเกียรติยศเลย ตรงนี้ไทยได้ใจแม่ทัพญวนมาก วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....
ฝ่ายแม่ทัพญวนทั้งสามบอกแก่ล่ามว่า “เรามีความชื่นชมยินดีในถ้อยคำพระพรหมบริรักษ์และพระยาพรหมยกกระบัตรยิ่งนัก” พูดกันเท่านั้นแล้วแม่ทัพญวนทั้งสามก็ลงจากหลังม้าเดินไปหาพระพรหมบริรักษ์และพระยาพรหมยกกระบัตร พระยาพรหมยกกระบัตรก็ลงจากหลังม้าพาแม่ทัพทั้งสามเดินตามเข้าไปในค่าย ได้พาไปกระทำคำนับเจ้าพระยานครราชสีมา พระยานครราชสีมาได้ปราศรัยไต่ถามกันตามทางไมตรีเล็กน้อยตามสมควรแก่เวลาเป็นทัพใหญ่ด้วยกัน เจ้าพระยานครราชสีมาให้ล่ามบอกแก่แม่ทัพญวนทั้งสามคนว่า
“ท่านทั้งสามนี้ก็เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน จะมาพูดราชการทัพศึกให้ตกลงสิทธิ์ขาดกับเราไม่ได้ ด้วยเป็นแต่แม่ทัพใหญ่ฝ่ายหน้า หามีอาญาสิทธิ์ที่จะชี้ขาดในราชการสงครามนี้ไม่ แต่เราจะพาท่านทั้งสามไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ซึ่งเป็นแม่ทัพหลวงผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการสงครามนี้”
แม่ทัพญวนทั้งสามจึงตอบว่า
“แต่แม่ทัพฝ่ายหน้านี้ก็มีสติปัญญาพูดจาเฉลียวฉลาดองอาจมากอยูแล้ว ถ้าไปถึงองบดินทร์แม่ทัพหลวงจะมิดียิ่งขึ้นกว่านี้อีกหรือ?”
ล่ามตอบว่า “แม่ทัพหลวงนี้พูดจาฉลาดกว่าแม่ทัพหน้านี้มากหลายเท่า”
แม่ทัพญวนได้ฟังล่ามบอกดังนั้นแล้ว ก็มีสีหน้าเผือดผิดปรกติเดิม มีเหงื่อไหลย้อยออกมาจากหน้า เป็นการสำแดงอาการกิริยาว่าตกใจเกรงกลัวอำนาจเจ้าพระยาบดินทรเดชายิ่งนัก แล้วแม่ทัพทั้งสามบอกว่า
“อยากจะใคร่ไปพบเห็นหน้าตารูปพรรณองบดินทร์แม่ทัพไทยยิ่งนัก เพราะได้ทราบแต่ข่าวเล่าลือมาช้านานแล้วว่ารูปก็งามนามก็เพราะ ทั้งสติปัญญาวาจาก็หลักแหลม ฝีมือทัพศึกก็เข้มแข็งกล้าหาญยิ่งนัก ได้ยินแต่กิตติศัพท์ดังนี้มานานสิบห้าปี แต่ครั้งไปทัพเวียงจันทน์ตีเจ้าลาว ลูกเจ้าเวียงจันทน์ และแตกหนีไปได้ โดยฝีมือท่านองนี้มิใช่หรือ?”
ล่ามรับว่า “จริงดังนั้น” แล้วเจ้าพระยานครราชสีมา ใช้ให้พระยาพระยาณรงค์สงครามนำความไปกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา
 เจ้าพระยาบดินทร์เดชามีบัญชาสั่งให้พาแม่ทัพญวนมาหา จะออกรับรองพูดจาด้วย แล้วสั่งให้พระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรและหลวงนายสิทธิ์ผู้หลานแต่งการรับรองญวน ประชุมท้าว พระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง แต่งกายนุ่งผ้าลายมีเกี้ยวกรวยเชิง สวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบอัตลัดและแพรจีนเจาแพรลายกระบวนจีนสีต่าง ๆ โพกแพรสีทับทิมติดขลิบทองเป็นหูกระต่ายบ้าง สวมมาลาเลื้อยบ้าง ทรงประพาสบ้าง ตามบรรดาศักดิ์ใหญ่และน้อย มานั่งหน้าทำเนียบในค่ายเป็นหลักอันดับกันตามฐานานุศักดิ์ ให้แต่งช้างเขนมายืนหน้าทำเนียบ พลาย ๒๕ พัง ๒๕ ม้าร้อยหนึ่ง แต่งทหารถืออาวุธต่าง ๆ มานั่งกาลาบาทนอกทำเนียบค่ายเป็นกอง ๆ แล้วขนมูลดินมากองไว้ในค่ายหลายสิบกอง แต่ละกองสูงสี่ศอกบ้าง สูงหกศอกบ้าง แล้วนำกระสุนปืนมาประดับบนกองดิน ตั้งแต่ฐานถึงยอดกองดินทุกกอง เพื่อจะสำแดงให้ญวนเห็นว่ามีกระสุนปืนมากดังนั้นแล้ว ก็ย่อมจะมีตัวปืนใหญ่มากเหมือนกระสุนปืนด้วย กับหาดินมาปั้นเป็นกระสุนปืนกระสุนแตกโตเท่าผลมะพร้าวบ้าง เท่าบาตรพระสงฆ์บ้าง หลายร้อยกระสุนทาน้ำมันดำ ๆ วางทิ้งกลิ้งไว้ในค่าย ให้ญวนเห็นว่ามีกระสุนปืนใหญ่เหลือดังนี้แล้ว ก็คงจะมีตัวปืนกระสุนแตกใหญ่ ๆ เป็นแน่ ทำเป็นอำนาจให้ญวนกลัว (เพราะเวลานั้นปืนกระสุนแตกมีแต่ในประเทศฝรั่งเท่านั้น ยังไม่ได้มีแพร่หลายไปในประเทศอินเดีย คือมอญ พม่า จีน ญวน เขมร ลาว ยังไม่มีใครเคยใช้ ที่ไทยนี้ได้เป็นไมตรีกันกับอังกฤษ อังกฤษเมืองบั้งกะหล่าได้ถวายแก่กรุงเทพฯ บ้าง และกรุงเทพฯ ได้ซื้อมาแต่เจ้าเมืองบั้งกะหล่าบ้างเล็กน้อย เพราะฉะนั้นอำนาจปืนกระสุนแตกจึงเป็นที่ยำเยงเกรงกลัวในประเทศญวนโดยมาก อันที่จริงไทยก็มีใช้แต่เล็กน้อย)
ในวันนั้นเวลาบ่ายโมงเศษ เจ้าพระยานครราชสีมาพาแม่ทัพญวนทั้งสามคนเข้าไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็แต่งกายเต็มยศแม่ทัพหลวง คือนุ่งผ้ายกทองคาดเข็มขัดสายทองประจำยาม และคาดรัดประคดหนามขนุน สวมสอดแหวนนพเก้าวงใหญ่ และสวมเสื้อเยียรบับชั้นใน สวมเสื้อครุยสำรดทองชั้นนอก สวมมาลาเซ่าสะเทิน สวมแหวนเพชรและพลอยต่างสีอันมีค่าทั้งสิบนิ้ว มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ฝักทองคำด้ามทองคำศีรษะนาคราช ออกมานั่งอยู่บนเตียงจมูกสิงห์ พิงพนักอยู่บนทำเนียบในค่าย หน้าทำเนียบดาดปะรำให้ ท้าว พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น นายทัพนายกองนั่ง เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมานำแม่ทัพญวนทั้งสามคนเข้าไปนั่งในปะรำกลางหมูนายทัพนายกองฝ่ายไทยแล้ว องอันภู่ ๑ องเดดก ๑ องลันบิน ๑ ทั้งสามคนก็กระทำคำนับเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงพูดกับเจ้าพระยานครราชสีมาว่า
“ท่านจงบอกแก่ล่ามให้บอกแก่แม่ทัพญวนว่า ซึ่งแม่ทัพญวนคุมกองทัพมาทำศึกสงครามแก่ไทย ได้รบกันก็หลายเวลาแล้ว ย่อมจะรู้เห็นฝีมือและอาวุธกันทั้งสามฝ่าย ฝ่ายไหนจะได้เปรียบและเสียเปรียบก็ย่อมแจ้งอยู่แก่ใจด้วยกันทั้งไทยและญวนจริงหรือไม่จริง?”
ล่ามบอกแก่แม่ทัพญวน แม่ทัพญวนตอบว่า
“รู้เห็นแล้วว่าฝีมือไทยและอาวุธเข้มแข็งดีกว่าญวน ญวนคงจะสู้ไทยไม่ได้เป็นแน่”
ล่ามแจ้งความตามคำแม่ทัพญวนให้เจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมานำข้อความที่ล่ามบอกนั้นขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงพูดกับเจ้าพระยานครราชสีมาว่า
“ท่านจงบอกแก่ล่ามให้ล่ามบอกแก่แม่ทัพญวนว่า ซึ่งแม่ทัพญวนมาทำศึกแก่ไทย แล้วญวนปราชัยพ่ายแพ้แก่ไทยในครั้งนี้ ก็อย่าเสียใจ เป็นวิสัยประเพณีการรณรงค์สงคราม มีเวลาแพ้แล้วก็จะมีเวลาชนะบ้าง เว้นแต่ตายเสียเมื่อใดก็เป็นหมดเวลาแพ้และชนะเมื่อนั้น”
ล่ามก็ชี้แจงให้แม่ทัพญวนฟัง แม่ทัพญวนฟังแล้วจึงว่า
“ซึ่งแม่ทัพญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยได้มาสู้รบกับกองทัพไทยจนไทยล้มตายไปบ้างนั้น เพราะไม่รู้ว่าท่านองบดินทร์ออกมา ด้วยสำคัญว่าเป็นแต่แม่ทัพหัวเมืองลาวเขมรเท่านั้น ถ้ารู้เสียแต่แรกแล้วว่าทัพองบดินทร์ออกมาเอง ญวนก็จะไม่สู้รบเลย ที่ได้สู้รบเกินเลยไปแต่ก่อนนั้น องญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพมีความผิดหนักหนาแล้ว ขอรับปรานีโทษเสียสักครั้งหนึ่งเถิด ขอรับประทานชีวิตไพร่พลญวนไว้ให้รอดตาย อย่าฆ่าฟันญวนเลย ถึงมาทว่าท่านจะฆ่าก็ฆ่าแต่ข้าพเจ้าแม่ทัพใหญ่ทั้งสามคนนี้เถิด อย่าฆ่าไพร่พลเลย ขอให้รอดชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น”
ล่ามก็แจ้งความตามคำญวนนั้นให้เจ้าพระยานครราชสีมาฟัง เจ้าพระยานครราชสีมาฟังแล้ว จึงนำข้อความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงว่ากับเจ้าพระยานครราชสีมาให้บอกล่ามว่า
 “ซึ่งองญวนแม่ทัพรับผิดขอชีวิตรอดตายด้วยกันทั้งนายและไพร่ไม่ฆ่าทั้งสิ้น แต่ว่าที่องญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพและนายทัพนายกอง เข้าชื่อกันทำหนังสือสัญญาประทับตรามาให้แก่ไทย เป็นใจความว่าองญวนแม่ทัพรู้สึกตัวกลัวกองทัพไทย ขอสารภาพยอมแพ้แก่แม่ทัพไทย จะไม่สู้รบกับไทยต่อไปแล้ว จะห้ามปรามพวกญวนไม่ให้มายำยีเบียดเบียนบ้านเมืองเขมรต่อไป หรือองญวนจะว่าอะไร พูดอะไรมาในหนังสือสัญญาให้เป็นที่เชื่อถือได้มั่นคงเป็นหลักฐานทางราชการได้ ก็ให้ว่ามาในนั้นเถิด ถ้าทำหนังสือสัญญาตามตกลงกันเสียก่อนแล้ว จึงจะปล่อยให้ไปบ้านเมืองทั้งไพร่นายไม่ฆ่าฟันเลยแต่สักคนเดียว”
ล่ามก็บอกแก่แม่ทัพญวน แม่ทัพญวนจึงว่า
“ซึ่งท่านองบดินทร์โปรดให้ทานชีวิตไว้ทั้งไพร่นาย ไม่ฆ่าฟันให้ตายในครั้งนี้ แล้วปล่อยให้กลับไปบ้านเมืองนั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้แล้ว”
ล่ามก็กราบเรียนตามคำแม่ทัพญวนว่านั้นให้เจ้าพระยานครราชสีมาฟัง เจ้าพระยานครราชสีมาฟังแล้วนำความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทร์เดชา เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงว่ากับเจ้าพระยานครราชสีมาบอกล่ามว่า
“ถ้าองญวนแม่ทัพคิดดังนั้นแล้ว ก็เป็นตกลงจะไม่ฆ่าเป็นแน่ และคงจะปล่อยด้วยกันทั้งหมด ให้องญวนแม่ทัพกลับเข้าไปในค่ายทำหนังสือสัญญาประทับตราออกมาให้ก่อน จึงจะสั่งเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่แต่งนายทัพนายกองพาญวนไปปล่อยให้พ้นเขตแดนเขมร”
 ล่ามก็ชี้แจงแจ้งความให้ญวนฟัง แม่ทัพญวนฟังแล้วก็กระทำคำนับเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วก็ลาออกจากที่ประชุม แล้วพระยา พระ เขมรก็พาแม่ทัพญวนทั้งสามออกมาเลี้ยงอาหารและน้ำชาที่ศาลาในค่ายเจ้าพระยานครราชสีมา แม่ทัพญวนก็ลาขึ้นม้ากลับไปในค่าย รีบทำหนังสือสัญญาเป็นอักษรจีนภาษาญวน แล้วประทับตรายี่ห้อแม่ทัพและนายกอง ๑๒ ดวง เสร็จแล้วจึงใช้ให้องลันบินแม่ทัพที่สามนำออกมาส่งให้เจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมารับไว้แล้วนำขึ้นเสนอเจ้าพระยาบดินทรเดชา..........”
** หนังสือสัญญาขอยอมแพ้ของแม่ทัพญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับแล้ว กำลังให้ล่ามแปลว่าแม่ทัพญวนเขียนว่าอย่างไร ค่อยมาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๑ -
อ่านสัญญาญวนจบพบพิรุธ มีหลายจุดเหลวไหลไร้แก่นสาร ประจบเอาตัวรอดไม่วอดปราณ ไม่ประจานจับผิดแสร้งปิดบัง
สั่งเสมียนตราแต่งหนังสือด่วน ส่งกรุงญวนเล่าเรื่องเนื่องหน้าหลัง มหาเสนาญวนสมควรฟัง เรื่องจริงทั้งหมดมีตามชี้แจง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องอันภู่ องเดดก องลันบิน ๓ แม่ทัพญวนออกจากค่ายเข้าเจรจาราชการสงครามกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาในค่ายไทย สารภาพผิดที่ได้รบกับไทยจนทำให้ไพร่พลไทยล้มตายลงไปบ้าง ยอมรับความพ่ายแพ้ ขอให้แม่ทัพไทยไว้ชีวิตไพร่พลญวน หากจะฆ่าก็ขอให้ฆ่าแม่ทัพญวนทั้ง ๓ เสียเถิด เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวว่า เมื่อแม่ทัพญวนมายอมรับผิดและขอยอมแพ้อย่างนี้จะไม่ฆ่าญวนเลยสักคนเดียว จะปล่อยให้กลับไปบ้านเมืองญวนทั้งหมด เมื่อทัพญวนทำหนังสือสัญญาจะไม่มากดขี่ข่มเหงรังแก่ชาวเขมรอีก ทัพญวนทั้ง ๓ ดีใจที่แม่ทัพไทยปล่อยให้กลับบ้านเมืองตนได้ทั้งหมด จึงกระทำคำนับแล้วรีบกลับเข้าค่ายญวน ทำหนังสือสัญญายินยอมพ่ายแพ้ ประทับตราแม่ทัพนายกอง ๑๒ ดวง แล้วให้องลันบินแม่ทัพที่ ๓ รีบนำมามอบให้เจ้าพระยานครราชสีมา เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับหนังสือนั้นแล้ว จึงให้ล่ามแปลเป็นภาษาไทยได้ความดังต่อไปนี้......
 “.....หนังสือสัญญาพวกองญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพนายกองที่มีชื่อ และมียี่ห้อในดวงตราทั้ง ๑๒ ดวงนี้ พร้อมใจกันขอทำข้อสัญญาให้ไว้แก่องเป็นใหญ่แม่ทัพไทยว่า พวกข้าพเจ้ารู้สึกตัวกลัวตายขอสารภาพยอมแพ้ ยกมอบธงอาญาสิทธิ์ให้แก่แม่ทัพไทยแล้ว เป็นการที่ญวนจะไม่สู้รบกับไทยต่อไปจนตราบเท่าสิ้นชีวิต ไม่คิดที่จะมาทำย่ำยีเบียดเบียนบ้านเมืองเขมรให้ได้ความเดือดร้อนอีกต่อไปในภายหน้า และบัดนี้พวกข้าพเจ้าที่ค่ายเมืองโปริสาดจะขอเลิกทัพกลับไปรวบรวมไพร่พลอยู่ ณ เมืองใจดกซึ่งเป็นเขตแดนญวน แล้วจึงจะมีหนังสือไปถึงองญวนนายทัพนายกองทั้งปวงที่ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองเขมรต่าง ๆ กำลังรบพุ่งอยู่กับ พระยา พระ เขมรตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น จะให้แม่ทัพญวนทั้งหลายเลิกทัพกลับคืนไปเมืองญวนให้สิ้นเชิง แล้วจะทำหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้มินมาง ขอให้พระองค์ท่านมีพระราชสาส์นแต่งทูตานุทูตเข้าไปจำทูลถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการแก่พระเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครศรีอยุธยา เพื่อจะได้เจริญทางพระราชไมตรีสืบติดต่อไปอีกเหมือนแต่ก่อน เพราะว่าแม่ทัพทำไมตรีให้ทานชีวิตแม่ทัพนายกองและไพร่พลญวนสองหมื่นเศษ เหตุนี้พระเจ้าเวียดนามและท่านเสนาบดีกรุงเว้ก็คงจะเห็นความดีของไทยมาก คงจะแต่งทูตเข้าไปแสดงขอบพระเดชพระคุณกรุงไทยเป็นแน่”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ตรวจดูข้อความและถ้อยคำแม่ทัพญวนในหนังสือสัญญานั้นตลอดแล้ว ก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นวาจาแม่ทัพญวนกล่าวเท็จไม่จริงทั้งสิ้น ด้วยองเดดกและองอันภู่เป็นแต่ขุนนางผู้น้อย หาใช่เสนาบดีไม่ พูดจาอวดอ้างเกินอำนาจตัวหนัก ที่ไหนเสนาบดีญวนและพระเจ้าแผ่นดินญวนจะประพฤติตามถ้อยคำในหนังสือนี้เล่า ซึ่งแม่ทัพนายกองญวนยอมทำหนังสือสัญญาอ่อนน้อมให้เราคราวนี้ ก็เป็นการจวนตัวจะตาย ต้องพูดจาตะเกียกตะกายไปต่าง ๆ นานา เป็นการประจบประแจงไทย แต่พอให้รอดตายภายเดียวเท่านั้นเอง ไม่ใช่อย่างอื่นเลย ถึงมาทว่าเรารู้เท่ารู้ทันในชั้นเชิงถ้อยคำญวนครั้งนี้แล้วก็ทำเนาเถิด ต้องนิ่ง ๆ ไว้ในใจ เพราะเราคิดจะปล่อยมันไปครั้งนี้ ก็เพราะจะทำไมตรีตลอดไปถึงองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ ไม่ให้มันมาตามตีทัพเรา ทัพเราจะได้ล่าถอยไปหาเสบียงอาหารได้โดยสะดวก อีกประการหนึ่ง ได้ออกปากว่าจะปล่อยให้ไป ก็ต้องปล่อยไปตามที่พูดไว้ในที่ประชุมใหญ่ เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศไว้สักครั้งหนึ่ง เพราะจำทำราชการต่อไปกับญวนอีกมากอยู่ ญวนจะหมิ่นประมาทได้ว่าแม่ทัพไทยพูดจาไม่อยู่ในทางยุติธรรม ว่าจะปล่อยแล้วก็ไม่ปล่อยเล่า ดูเหมือนเด็กพูดเล่น เจ้าพระยาบดินทรเดชาพูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งเสมียนตราให้ทำหนังสือแจ้งข้อราชการไปถึงเสนาบดีญวนกรุงเว้ฉบับหนึ่ง ใจความว่า
 “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองรักษ์สมุหนายก ดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์เอกอัครมหาเสนาบดี จอมพิริยพาหลพลพยุหจตุรงค์รัตนามาตย์ ราชปรินายกดุจจักรแก้วอันประดิษฐานอยู่ใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทบงกชเรณุมาศยุคล พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงพระอนันตคุณธรรมมหาประเสริฐ ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา เราขอแจ้งข้อราชการมาถึงท่านมหาเสนาบดีกรุงเว้ได้ทราบ ด้วยกรุงกัมพูชาและแว่นแคว้นแผ่นดินเขมรเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงพระมหานครศรีอยุธยามาช้านาน ครั้งหนึ่งเจ้านายฝ่ายเขมรวิวาทกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เราออกมาปราบปรามพวกเขมรที่ยุยงเจ้านายเขมรให้ก่อเกิดการวิวาทนั้นก็สงบเรียบร้อยไปแล้ว เราก็กลับเข้าไปในกรุงเทพฯ ภายหลังแม่ทัพญวนมีหนังสือหลอกล่อให้เจ้านายฝ่ายเขมรหนีไทยไปหาญวน ญวนก็หาเลี้ยงดูตามสมัครไม่ ญวนกลับจับเจ้านายฝ่ายเขมรทั้งหญิงทั้งชายไปฆ่าเสียบ้าง ไปจองจำทำโทษโดยหาความผิดมิได้บ้าง และจับพวกขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายเขมรไปจองจำโดยใช่เหตุหาความผิดไม่ก็มากกว่ามาก แล้วนายทัพนายกองฝ่ายญวนยกมาครอบบ้านครองเมืองฝ่ายเขมรเสียทั้งสิ้น และญวนรอบงำทำอำนาจข่มขี่ข่มเหงพวกราษฎร์เขมรได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ฝ่ายพระยา พระ เขมรที่เหลืออยู่บ้าง จึงได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา เป็นการร้องทุกข์ขอให้มีกองทัพกรุงเทพฯ ออกมาช่วยระงับดับความเดือดร้อนของพวกเขมรในคราวเกิดการจลาจลขึ้นทุกบ้านทุกเมือง เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวของเรา จึงทรงพระราชดำริโดยทางยุติธรรมว่า เมืองเขมรก็เป็นเมืองข้าขอบขัณฑเสมามาแต่โบราณ เมื่อเกิดการยุคเข็ญแก่ราษฎรเขมรเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะต้องช่วยดับร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาญาสิทธิ์ให้เราเป็นผู้บังคับบัญชาการศึกสิทธิ์ขาดทุกทัพทุกกอง เราจึงได้คุมไพร่พลเป็นกองทัพออกมาช่วยระงับดับร้อนของพวกราษฎรเขมร ราษฎรเขมรก็ได้มีความร่มเย็นเป็นสุขไปหลายบ้านหลายเมืองแล้ว แต่เขมรบางพวกมาร้องแก่เราว่า พวกญวนที่เมืองโปริสาดยังตั้งทำการข่มเหงเขมรอยู่มาก เขมรขอให้ยกทัพไประงับที่เมืองโปริสาดด้วย เราก็ยกกองทัพลงไปถึงเมืองโปริสาด แต่ว่ายังห่างไกลกับค่ายญวนมากนัก เราจึงได้ใช้ให้เจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งเป็นกองทัพหน้าของเรานั้น ยกไปทำศึกกับญวนที่เมืองโปริสาด แต่รบกันอยู่ได้ ๔ ถึง ๕ วัน กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมากล้าหาญนัก ยกเข้าล้อมค่ายญวนไว้ได้รอบทั้งแปดทิศ ได้นำปืนใหญ่กระสุนแตกกระสุนเท่าผลส้มเกลี้ยงบ้าง เท่าผลมะพร้าวห้าวบ้าง ยิงเข้าไปในค่ายญวน ญวนเกือบจะตายอยู่แล้ว ขณะนั้นองอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่ในค่ายโปริสาดกลัวฝีมือและอาวุธไทยยิ่งนัก ไม่อาจจะสู้รบกับกองทัพไทย เพราะฉะนั้น องอันภู่และองเดดกแม่ทัพจึงแต่งให้ญวนนายทัพนายกองถือธงใหญ่ ซึ่งเป็นธงอาญาสิทธิ์แม่ทัพญวนมามอบให้แก่แม่ทัพไทย แล้วญวนผู้นั้นแจ้งความว่า แม่ทัพญวนไม่ต่อสู้รบกับไทยแล้ว และขอยอมแพ้โดยดี จะขอแต่ชีวิตไพร่พลไว้ไม่ให้ไทยฆ่าฟันเลย และจะขอกลับไปเยี่ยมเยือนบ้านเมืองซึ่งเป็นชาติภูมิเดิมของญวน แล้วองเดดกและองอันภู่แม่ทัพทำหนังสือสัญญาสัญญาไว้ให้เราแจ้งอยู่คู่ร่างสำเนา หนังสือสัญญาของญวนที่เราได้ส่งมาบัดนี้ด้วยแล้ว แล้วองญวนทั้งสองได้ออกมาหาเราที่ค่ายเรา แล้วแจ้งความกับเราว่าไม่อยากจะสู้รบ เพราะเกรงอาวุธและฝีมือไทย จึงได้ยอมแพ้เสียโดยดี แล้วว่าจะขอแต่งไพร่พลกลับไปอยู่เมืองโจดก แล้วจะมีหนังสือไปถึงองญวนผู้ใหญ่แม่ทัพที่รักษาเมืองพนมเปญ ให้เลิกทัพกลับไปให้หมด แล้วว่าจะมีหนังสือบอกขึ้นไปกรุงเว้ แจ้งความแก่ท่านเสนาบดีให้กราบทูลพระเจ้าเวียดนามให้ทรงทราบประพฤติเหตุว่าไทยมีเมตตาจิตไม่ฆ่าญวน ญวนจะขอให้พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นแต่งเครื่องมงคลราชบรรณาการให้ทูตานุทูตคุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา เพื่อจะให้เป็นทางพระราชไมตรีเหมือนแต่กาลก่อนนั้น ฝ่ายเราผู้เป็นแม่ทัพคิดเห็นว่า แต่ก่อนนั้นญวนกับไทยเคยเป็นทางพระราชไมตรีกันมานาน เพิ่งมาเสื่อมเสียเศร้าหมองไปได้หลายปีแล้ว เพราะเขมรและลาวก่อการให้เสียทางพระราชไมตรีกันครั้งหนึ่ง และบัดนี้เราเห็นว่า ทางพระราชไมตรีจะติดต่อกันกับไทยอีกแล้ว ก็ควรจะเป็นการมงคลแก่สองพระนคร ราษฎรจะได้ไปมาค้าขายและทำมาหากินให้เป็นสุข ปราศจากการรบพุ่งฆ่าฟันกัน ซึ่งเป็นที่ลำบากยากแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นเราจึงได้ปล่อยพวกญวนที่เมืองโปริสาดเป็นจำนวนญวนทั้งชายและหญิงสองหมื่นสามพันหกร้อยเศษ ให้กลับไปบ้านเมืองตามความในหนังสือสัญญากัน และความเห็นของเราที่ทางพระราชไมตรีจะสนิทกันเข้าอีกแล้ว จึงยอมให้ญวนที่แพ้กลับไป” .........
 ** อ่านมาถึงตรงนี้ก็ได้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดหลักแหลมของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา รู้ทันแม่ทัพญวนแต่แสร้งทำเป็นไม่รู้ กลับมีหนังสือถึงมหาเสนาบดีญวนที่กรุงเว้ด้วยสำนวนลีลาอันงดงามยิ่ง หนังสือฉบับนี้เขียนเสร็จแล้วท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ค่อยมาอ่านกันครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, เฟื่องฟ้า, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ลายเมฆ, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๒ -
“องอันภู่,เดดก,ลันบิน”สาม กลับไปตามสัญญาไม่เสแสร้ง ยอมรับโทษองเตียนกุนที่รุนแรง ไม่แสดงรักตัวหวาดกลัวตาย
เจ้าเวียดนามโกรธจัดสั่งคาดโทษ ใช้ความโหดเข่นฆ่าดับกระหาย องเตียนกุนแม่ทัพเก่าเอาไว้ลาย กบดานค่ายมั่งคง “กำปงธม” |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เสมียนตราแต่งหนังสือไปถึงมหาเสนาบดีญวนกรุงเว้ บอกเล่าท้าวความไปตั้งแต่เจ้าเขมรวิวาทกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพมาปราบปรามจนสงบแล้วกลับกรุงเทพฯ ต่อมาเจ้าเขมรถูกญวนหลอกให้หนีไทยไปเข้ากับญวน แต่ญวนกลับไม่ยกย่องเชิดชู มิหนำซ้ำยังฆ่าเจ้าเขมรหญิงชายเสียบ้าง พาตัวไปขังคุกเสียบ้าง ญวนขมเหงรังแกเขมรมากจนเขมรส่วนหนึ่งมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ ให้ช่วยปราบปรามญวน จึงทำสงครามกันดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....
 เนื้อความในหนังสือนี้เขียนเป็นอักษรไทยฉบับ ๑ อักษรเขมรภาษาเขมรฉบับ ๑ อักษรจีนภาษาญวนฉบับ ๑ ประทับตราพระราชสีห์น้อยทั้งสามฉบับ แล้วบรรจุในกลักไม้จันทน์ มีถุงกำมะหยี่แดงหุ้มที่ปากถุงประทับตราจักรประจำครั่ง มีฉลากนอกถุงว่าถึงเสนาบดีกรุงเว้ แต่สำเนาหนังสือที่ในห่อผนึกไปถึงแม่ทัพญวนผู้ใหญ่คือองเตียนกุนที่เมืองพนมเปญด้วย แล้วนำหนังสือนั้นมอบให้องอันภู่และองเดดก องอันภู่และองเดดกก็รับไป ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาสั่งให้พระนรินทร์โยธาเขมรกับพระยาราชนายกเขมรเป็นแม่กองคุมไพร่พลเขมร ๑,๕๐๐ คน กับช้างพลายช้างพัง ๕๐ ช้าง บรรทุกของไปส่งองเดดกและองลันบินกับญวนนายไพร่ ๕,๐๐๐ คนให้ไปทางบก แล้วสั่งให้พระยากุเชนทรสนองโส ๑ กับหลวงวงศากุเชนทรเขมร ๑ เป็นแม่กองคุมไพร่พลเขมร ๑,๕๐๐ พาองอันภู่กับญวนไพร่นาย ๕,๐๐๐ เศษ ให้ไปทางเรือบ้างทางบกบ้าง ไปบรรจบกันที่ท่ากำพงฉนัง ญวนนอกนั้นก็ให้เดินไปตามใจ เมื่อครอบครัวญวน ๒๓,๖๐๐ ไปจากเมืองโปริสาดหมดแล้ว พวกเขมรที่คุมเชิงไปส่งนั้นก็กลับมายังเมืองโปริสาด พวกญวนออกจากเมืองโปริสาดนั้นแต่ ณ เดือนยี่ ขึ้นแปดค่ำ ปีชวด โทศก
 ฝายเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ที่เมืองโปริสาดนั้น ก็ขัดสนด้วยเสบียงอาหารกันดารที่สุด จึงสั่งให้พระยาสังขโลกเขมรคนเก่า คุมไพร่พลเขมรห้าพันอยู่รักษาเมืองโปริสาด แต่เจ้าพระยานครราชสีมานั้นเลิกทัพกลับมายังเมืองพระตะบองก่อน แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชา และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งปวง ก็ถอยทัพเข้ามาตั้งพักไพร่พลรอฟังราชการอยู่ที่เมืองพระตะบอง
 ฝ่ายองอันภู่แลองเดดกและองลันบิน แม่ทัพกลับไปถึงเมืองพนมเปญแล้ว จึงเข้าหาองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ แล้วเล่าความให้องเตียนกุนฟังตั้งแต่ต้นจนที่สุดว่า
“ไทยปล่อยให้มาเพราะทำหนังสือสัญญาให้ไว้แก่ไทยฉบับหนึ่ง”
ฝ่ายองเตียนกุนก็โกรธยิ่งนักตวาดด้วยเสียงอันดังว่า
“มึงนี้น้ำใจองอาจสามารถไปทำหนังสือสัญญายอมแพ้แก่ไทย เหมือนมึงเอาแผ่นดินของพระเจ้าเวียดนามไปยกให้แก่ไทย ตัวมึงทำเกินอำนาจของมึงนัก คงไม่พ้นความผิดเป็นแน่”
แล้วองเดดกและองอันภู่จึงว่า
“การทั้งนี้ก็แจ้งอยู่แล้ว แต่ได้ปรึกษาหารือนายทัพนายกองทุกคนก็เห็นพร้อมกันว่า ถ้าขืนต่อสู้ไปไพร่พลก็ตายหมด เพราะไทยมีอาวุธวิเศษคือปืนกระสุนแตก ยิงมาคราวใดก็อาจจะทำลายค่ายและชีวิตคนได้มากเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะฉะนั้นจึงได้ยอมแพ้แก่ไทย หมายว่าถ้าจะมีความผิดมาถึงตนก็คงจะต้องตายแต่ตัวนายทัพผู้ใหญ่สองคนเท่านั้น คิดว่าจะยอมตายสองคนนี้เพราะว่าจะแลกชีวิตไพร่พลญวนของเจ้านายไว้สักครั้งหนึ่ง แต่ข้าพเจ้านั้นมีความผิดเป็นโทษใหญ่โตรู้แล้ว แล้วแต่จะโปรดเทอญ”
 องเตียนกุนได้ฟังดังนั้นแล้วจึงสั่งให้คนใช้คุมองอันภู่และองเดดกและองลันบินทั้งสามคนไปจำตรวนไว้ก่อน แล้วจึงทำหนังสือบอกข้อราชการ และส่งต้นหนังสือของเจ้าพระยาบดินทรเดชา และคู่ร่างหนังสือสัญญาขององอันภู่และองเดดกขึ้นไปยังเสนาบดีกรุงเว้ เสนาบดีกรุงเว้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามทราบความว่าเขมรกำเริบขึ้นทุกเมือง จับญวนฆ่าเสียโดยมาก และองอันภู่องเดดกก็ไปยอมแพ้ไทยเสียง่าย ๆ แล้วกลับไปทำสัญญาให้ไทย หาถูกต้องตามทางราชการไม่ จึงโปรดให้องต๋าเตียนกุนเสนบดีเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลญวน ๕,๕๐๐ คน ยกกองทัพลงมายังเมืองพนมเปญ แล้วองต๋าเตียนกุนเกณฑ์ญวนไพร่พลตามหัวเมืองเพิ่มเติมอีก ๕,๐๐๐ คน รวมไพร่พล ๑๐,๕๐๐ และองต๋าเตียนกุนให้พระสงฆ์เขมรถือหนังสือไปให้พระยา พระ เขมรทุกบ้านทุกเมืองใจความว่า พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้เรามาถามพระยา พระ เขมรว่า “โกรธแค้นญวนอย่างไรจึงพวกเขมรพากันเป็นขบถขึ้นทุกบ้านทุกเมือง หรือว่านายทัพนายกองของญวนทำการข่มขี่ข่มเหงเบียดเบียนให้เขมรได้ความเดือดร้อนยากแค้นอย่างไรหรือ? ขอให้พระยา พระเขมรมาหาองต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ จะได้เล่าความทุกข์และสุขให้เราฟัง เราฟังได้ความก็จะได้ทรงทำนุบำรุงต่อไปให้เขมรอยู่เย็นเป็นสุข”
 ฝ่ายพระยา พระเขมรทั้งปวงก็ไม่มีผู้ใดไปหาองต๋าเตียนกุนแต่สักคนหนึ่ง องต๋าเตียนกุนมาถึงเมืองพนมเปญเมื่อ ณ เดือนเก้าขึ้นค่ำหนึ่ง ก็เข้าพักในเมืองพนมเปญแล้ว จึงนำองอันภู่ องเดดก องลันบิน ทั้งสามคนไปฆ่าเสียตามรับสั่ง ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพเก่ารู้ว่าองต๋าเตียนกุนขุนนางผู้ใหญ่ยกลงมาแต่กรุงเว้ มาตั้งอยู่ในเมืองพนมเปญ องเตียนกุนก็ยกไปตั้งค่ายพักอยู่ที่เมืองกำปงธม ฝ่ายองต๋าเตียนกุนอยู่ ณ เมืองพนมเปญ จึงมีหนังสือบังคับถึงองเตียนกุนให้มาหาที่เมืองพนมเปญ ด้วยว่าพระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้มาคาดโทษองเตียนกุนที่มีผิด ด้วยรักษาเมืองเขมรไม่เรียบร้อยนั้น ฝ่ายองเตียนกุนตอบองต๋าเตียนกุนว่า
“ไม่มีหนังสือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามมาถึงองเตียนกุน องเตียนกุนไม่ไปเมืองพนมเปญ”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งหนังสือบอกข้อราชการเมืองโปริสาดให้นายจำเนตรมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามากรุงเทพฯ ใจความว่า
“องอันภู่และองเดดกแม่ทัพที่ค่ายโปริสาด ขอทำหนังสือสัญญายอมแพ้ไม่สู้รบ แต่จะขอไพร่พลญวนกลับไปบ้านเมือง ได้ปรึกษาหารือเจ้าพระยา พระยา และพระ หลวง ทัพนายกองเห็นพร้อมกันว่า ควรจะปล่อยให้ญวนไป เพราะฝ่ายไทยก็มีการขัดข้องด้วยเสบียงอาหาร และได้ข่าวว่าทัพใหญ่ฝ่ายญวนก็จะยกมาเป็นศึกขนาบจึงจำเป็นต้องปล่อยญวนไป เพราะจะทำไมตรีไว้สักครั้งหนึ่งก่อน แต่พอจะผ่อนปรนล่าทัพมาโดยสะดวก ซึ่งปล่อยญวนข้าศึกไปถึง ๒๓,๖๐๐ ก่อนใบบอกนี้ หาได้มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนไม่ พระราชอาญาไม้พ้นเกล้าฯ แล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”
และมีข้อความตามเหตุผลที่มีที่เกิดขึ้นในเมืองโปริสาดและเมืองเขมรอย่างไรก็เก็บลงไปในใบบอกมาทุกประการ และส่งต้นหนังสือสัญญาของญวน และธงอาญาสิทธิ์ที่ญวนมามอบให้เข้ามาถวายทุกอย่าง......”
 ** เป็นจริงด้งที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวว่า ความในหนังสือสัญญาของแม่ทัพญวนค่ายเมืองโปริสาดนั้นเป็นความเท็จ เพราะแม่ทัพนายกองญวนไม่มีสิทธิอำนาจทำหนังสือสัญญานั้น ด้วยแม่ทัพใหญ่ และพระเจ้าเวียดนามจะไม่ยอมรับ ผลก็เป็นตามที่ท่านเจ้าคุณแม่ทัพใหญ่กล่าวนั้น องต๋าเตียนกุนซึ่งเป็นใหญ่กว่าองเตียนกุนยกทัพลงมาพนมเปญ และให้ประหารแม่ทัพเมืองโปริสาดทั้ง ๓ นายเสีย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ค่อยนี้มาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๓ -
ทรงพระราชดำริก่อนดำรัส เรื่องราวชัดแจ้งเห็นเขมรล่ม ขาดเจ้านายยึดเหนี่ยวหลักเกลียวกลม ญวนจึงข่มเหงได้ไม่เว้นวาร
จึ่งดำรัสจัดส่ง “นักองด้วง” กลับไปช่วงชิงอำนาจอย่างอาจหาญ ขับไล่ญวนพ้นเขมรเลิกเป็นพาล ฟื้นตำนานชาติชูกัมพูชา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องอันภู่ องเดดก องลันบิน สามแม่ทัพญวนถูกส่งตัวจากเมืองโปริสาดไปพนมเปญ เข้าหาองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน เล่าความที่ยอมแพ้แก่ไทยทุกประการ องเตียนกุนโกรธมากแล้วสั่งจำตรวนไว้ พร้อมกับมีหนังสือขึ้นไปบอกเล่าเรื่องแก่มหาเสนาบดีญวน มหาเสนาบดีนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางให้ทรงทราบ พระเจ้าเวียดนามทรงพิโรธยิ่งนัก สั่งให้องต๋าเตียนกุนมหาเสนายกทัพลงมาพนมเปญเพื่อชำระความ องต๋าเตียนกุนมาถึงพนมเปญแล้วมีหนังสือให้พระสงฆ์ไปยื่นแก่พระยา พระ ทุกเมือง ถามว่าโกรธเคืองญวนเรื่องอะไรให้มาบอกเล่าให้รู้กันบ้าง จะได้แก้ปัญหา แต่ไม่มีใครเข้าหาเลยสักคนเดียว องต๋าเตียนกุนมีหนังสือสั่งบังคับให้องเตียนกุนที่ไปตั้งค่ายมั่นอยู่เมืองกำปงธม ให้เข้ามาพบที่พนมเปญ แต่องเตียนกุนไม่ยอมลงมาพบ อ้างว่าไม่ใช่หนังสือสั่งของพระเจ้าเวียดนาม องต๋าเตียนกุนสั่งให้นำตัวแม่ทัพทั้งสามที่ยอมแพ้ไทยนั้นไปฆ่าเสียทั้งสิ้น ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเมื่อถอยทัพกลับไปตั้งมั่นที่เมืองพระตะบองแล้ว จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบเรื่องราชการสงครามในเขมรทุกประการ วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....
 ฝ่ายพระยาราชนิกูลตั้งค่ายรับญวนอยู่ที่เมืองชิแครง กับจะได้ป้องกันรักษาราษฎรในเมืองและนอกเมืองด้วย แต่ไพร่พลในกองทัพพระยาราชนิกูลนั้นเป็นแต่ลาวหัวเมืองและเขมรป่าดงข้างตะวันออกเป็นอันมากแทบจะทั้งหมด มีไพร่พลไทยน้อยคนนัก พอได้ยินเสียงกลองศึกญวนนั้นกระชั้นใกล้ค่ายเข้ามา พวกไพร่พลลาวเขมรมันก็ทิ้งค่ายเสียพากันหนีเข้าป่าไปหมด มันตื่นกลัวญวนเหมือนไก่เถื่อนได้ยินเสียงเสือก็ตื่นบินเข้าป่าไปฉันนั้น นายทัพนายกองไทยจะห้ามปรามกดขี่ไว้มันก็ไม่อยู่ด้วย ฉวยอาวุธปืนดาบวิ่งเข้าป่าไป จนถึงหลวงรักษาเทพฟันด้วยดาบตายเสียสองคน พอให้พวกมันเห็นเป็นตัวอย่าง จะได้กลัวไม่หนีเข้าป่าไป มันก็ไม่ฟังวิ่งหนีไปจนหมด ฝ่ายพระยาราชนิกูล พระยาอภัยสงคราม หลวงเทพรักษานั้น น้อยตัวนักจะอยู่ต่อสู้รบกับญวนไม่ได้ ก็จะเสียท่วงทีแก่ราชการ และชีวิตก็จะเป็นอันตรายด้วย นายทัพไทยก็พาไพร่พลไทยออกจากเมืองชิแครงทิ้งค่ายเสีย แล้าหนีเข้าป่าไปบ้างอย่างพวกลาวนั้น ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพญวนยกมาถึงค่ายไทยก็แตกแหกค่ายหนีเข้าป่าไปสิ้น ญวนก็เข้าค่ายเก็บอาวุธและเสบียงอาหารเป็นอันมาก แล้วก็กวาดต้อนครอบครัวเขมรเมืองชิแครงอพยพไปไว้เมืองพนมเปญ แล้วแต่งให้องญวนนายทัพคุมไพร่ญวนอยู่รักษาเมืองชิแครง และจัดการบ้านเมืองชิแครงให้เรียบร้อยเป็นปกติ เมื่อองเตียนกุนมีชัยชนะแก่ไทยตีได้เมืองชิแครงแล้ว องเตียนกุนก็ยกมาช่วยองเดดกและองอันภู่ ซึ่งอยู่ในที่ล้อม ณ เมืองโปริสาด องเตียนกุนยกทัพมากลางทางได้ข่าวว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาปล่อยองเดดกและองอันภู่แม่ทัพและไพร่พลครอบครัวญวนในเมืองโปริสาด ๒๓.๖๐๐ คน ได้เดินทางจากเมืองโปริสาดไปยังเมืองพนมเปญแล้ว เพราะฉะนั้นองเตียนกุนจึงมิได้ยกขึ้นมาตีค่ายไทยที่เมืองโปริสาดไม่ เลยยกกองทัพไปเมืองพนมเปญทีเดียว เพื่ออยากจะรู้เหตุผลต้นปลายประการใดไทยจึงได้ปล่อยให้ญวนมาง่าย ๆ
 ฝ่ายที่กรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทราบใบบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชา และต้นหนังสือของพระยาพระเขมรมีมาอ้อนวอนงอนง้อขอนักองด้วงเจ้าเขมรออกไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรนั้น จึงทรงพระราชดำริโดยทางยุติธรรมราชประเพณี ทรงเห็นว่าธรรมดาบ้านเมืองใหญ่โตเช่นนั้น ถ้าไม่มีเจ้านายผู้หลักผู้ใหญ่จะครอบครองบ้านเมืองแล้ว ราษฎรพลเมืองที่ไหนจะมีความสุขสบายได้เล่า ควรจะยอมตามความคิดที่พระยาพระเขมรขอนั้นจึงจะชอบด้วยทางทศพิธราชธรรม อนึ่ง บัดนี้เล่าพระยาพระเขมรหัวเมืองผู้ใหญ่ก็ได้แต่งให้พระยาพระเขมรหลายนาย เข้ามาพูดจาชี้แจงข้อราชการที่เมืองเขมรต่อท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ว่าราษฎรได้ความเดือดร้อนเพราะไม่มีเจ้านายเป็นใหญ่เป็นประธานแก่บ้านเมือง อยากจะขอนักพระองค์ด้วงออกไป เนื้อความข้อนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพ (ทองเพ็ง) เชิญพระกระแสพระราชดำริออกไปปรึกษาท่านเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่ เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมพร้อมกันตามพระกระแสพระราชดำรินั้นทุกประการ จึงมีพระราชดำรัสให้พระยาสีหราชเดโช ๑ พระยาประสิทธิสงคราม ๑ พระยาราชรองเมือง ๑ หลวงเทเพนทร์ ๑ เป็นข้าหลวงในพระราชวังหลวง ๔ นาย พระยาสุเรนทรราชเสนา ๑ พระยาเพชรรัตน์ ๑ พระเขื่อนเพชรเสนา ๑ หลวงชาญภูเบศ ๑ เป็นข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ ๔ นาย รวมข้าหลวง ๘ นาย คุมไพร่พลในกรุงสองร้อย พานักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพระตะบอง
 ครั้งนั้นทรงพระกรุณาให้ใช้ใบบอกและบัตรหมายว่า “นักพระองค์ด้วง” แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคและบริโภคแก่นักพระองค์ด้วงตามเกียรติยศเจ้านายประเทศราชเขมรผู้ใหญ่ คือ มาลาเซ่าสะเทิน ๑ เสื้อทรงประพาส ๑ เสื้อจีบเอง ๑ เสื้ออย่างน้อย ๑ แต่ล้วนเข้มขาบทั้งสามเสื้อ แล้วเสื้อญี่ปุ่น ๒ เสื้ออย่างน้อย ๓ รวม ๕ เสื้อ เสื้อทำด้วยแพรกระบวนจีนดวงต่าง ๆ สีต่าง ๆ กับพานทองคำกลมรองล่วมหมาก ๑ เต้าน้ำมีพานรองทำด้วยทองคำสำรับ ๑ กระโถนทองคำบ้วนน้ำหมาก ๑ พานทองคำรองขันทองคำเล็กสำรับ ๑ โต๊ะเงินคาวหวานคู่หนึ่ง พระกลดคันยาวมีระบายสองชั้นยอดปิดทองคำเปลว ทำด้วยแพรหักทองขวางคัน ๑ โหมดเทศคัน ๑ แพรจีนคัน ๑ พระกลดคันสั้นทำด้วยแพรคัน ๑ ผ้าชุบขี้ผึ้งคัน ๑ เป็นเครื่องสำหรับเกียรติยศและเครื่องอัญมณี เครื่องนุ่งห่ม กับพระพุทธรูปแก้วผลึกหน้าตักห้านิ้วทรงเครื่องทองคำองค์หนึ่ง กับผ้าไตรบริขารพร้อมสำหรับไปทำบุญสิบสำรับ กับผ้าลายกุศราดและย่ำมะหวาดอย่างละสิบกุลี รวมยี่สิบกุลีเป็นของนักพระองค์ด้วง แล้วพระราชทานสิ่งของออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา สำหรับที่จะแจกจ่ายให้รางวัลแก่พระยาพระเขมรที่เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อนักพระองค์ด้วง และพระยาพระเขมรเก่าที่ได้รับราชการมีความชอบแก่ทัพศึกนั้นด้วย คือ คนโทบั้งกะหรี่สิบคนโท ถาดหมากเงินกาไหล่ทองสิบถาด โต๊ะหมากถมตะทองยี่สิบโต๊ะ เสื้อเข้มขาบอัตลัดเป็นเสื้ออย่างน้อยสามสิบเสื้อ เสื้ออย่างน้อยแพรกระบวนจีนดวงและสีต่าง ๆ ร้อยเสื้อ ผ้าลายกุศราดและย่ำมะหวาดและลายอย่างรวมร้อยกุลี กับเงินตราร้อยชั่ง สิ่งของและเงินทั้งนี้ตามแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะเห็นว่าใครได้ราชการก็ให้ไปเถิด
 พระยาศรีสิงหเทพ ได้พานักพระองค์ด้วงและพระยาพระหลวงข้าหลวงแปดนาย กับพระยาพระเขมรที่เข้ามารับนักพระองค์ด้วงอีกแปดนายพร้อมกันเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา จึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่พระยาพระเขมรทั้งแปดคนด้วย แล้วข้าหลวงแปดนายพานักพระองค์ด้วงออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ เดือนยี่ แรมเจ็ดค่ำ ปีชวด โทศก ไปถึงเมืองพระตะบอง ณ เดือนสาม ขึ้นสิบสามค่ำ.........
 ** การเกณฑ์ไพร่พลเข้าเป็นกองทัพยกไปรบกับข้าศึกสมัยโบราณไม่ใช่เรื่องง่าย ได้เห็นตัวอย่างกองทัพพระยาราชนิกูลนี้ชัดเจนแล้ว ลาวและเขมรป่าดงเป็นชาวบ้านธรรมดา เมื่อถูกเกณฑ์เข้ากองทัพก็จำต้องไปโดยไม่รู้เรื่องยุทธวิธีเลย ครั้นเห็นข้าศึกยกมา ตีฆ้องกลองม้าล่อโห่ร้องกึกก้องก็เกิดความกลัวจนวิ่งเตลิดเปิดเปิงหนีเข้าป่าเข้าดงไป นายทัพนายกองข่มไม่อยู่ กองทัพก็ต้องแตกพ่ายในที่สุด เขมรถึงจุดหักเหเปลี่ยนแปลงอีกที เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระราชทานคืนนักองด้วงเจ้าชายเขมรให้กลับไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรตามความต้องการของพระยา พระเขมร เดินทางถึงเมืองพระตะบองแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ค่อยมาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, แก้วชมพู, เนิน จำราย, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๔ -
“เจ้าพระยาบดินทรเดชา”ชื่น ได้รับคืน“นักองด้วง”ล่วงปัญหา ส่งใบบอกข่าวเขมรหมู่พระยา ให้เข้ามาบังคมชมบารมี
ปวงพระยาพระเขมรตื่นเต้นแสน ต่างโลดแล่นเฝ้ากันขมันขมี ถือพิพัฒน์สัตยาสามัคคี ด้วยภักดีแนบแน่นเจ้าแผ่นดิน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... มีข่าวเรื่องพระยาราชนิกูลที่ยกไปป้องกันรักษาเมืองชิแครงนั้น เมื่อองเตียนกุนยกทัพใหญ่ไปตีเป็นเรื่องดังที่เชลยศึกญวนให้การนั้น ต่างกันที่รายละเอียดว่าองเตียนกุนมิได้ฆ่าฟันไพร่พลไทยล้มตายมากมายดังที่เชลยญวนบอกเล่า เพราะเมื่อองเตียนกุนยกไปถึงค่ายไทยที่เมืองชิแครงนั้น ไม่มีไพร่พลเหลืออยู่ในค่ายแล้ว โดยเมื่อลาวและเขมรป่าดงพากันกลัวทัพญวนจนหนีเข้าป่าดงนั้น นายทัพนายกองสะกดไม่อยู่ ครั้นไพร่พลส่วนใหญ่พากันหนีเข้าป่าดงหมดแล้ว พระยาราชนิกูลก็จำต้องพาไพร่พลไทยที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นหนีเข้าป่าดงตามพวกลาวเขมรป่าดงไปด้วย องเตียนกุนจึงเก็บอาวุธและเสบียงอาหารพร้อมกวาดต้อนครัวชาวเมืองชิแครงไปพนมเปญ ทางฝ่ายกรุงเทพฯ นั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริหลังจากได้รับใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาและต้นหนังสืออ้อนวอนของพระยา พระเขมรที่ขอนักองด้วงออกไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศกัมพูชาจะต้องมีพระเจ้าแผ่นปกครองไพร่ฟ้าประชาชน จึงดำรัสสั่งให้พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) ดำเนินการพานักองด้วงออกไปเมืองพระตะบอง ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ดำเนินการให้นักพระองค์ด้วงปกครองกัมพูชาต่อไป วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบในท้องตราว่า โปรดพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าและสิ่งของออกมามาก และพระยา พระ หลวง แปดนายที่ออกมาส่งนักพระองค์ด้วงนั้น ก็โปรดให้เข้าสมทบเป็นนายทัพนายกองช่วยราชการศึกต่อไป จึงให้นักพระองด้วงพักอยู่ที่เมืองพระตะบองก่อน ให้พระยาสีหราชเดโชอยู่กับนักพระองค์ด้วงทั้งข้าหลวงแปดนายด้วย แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งหนังสือประกาศหลายฉบับไปแจกให้พระยาพระเขมรทั้งปวงรู้ทั่วกันว่า
 “ซึ่งพระยาพระเขมรมาวิงวอนขอนักพระองค์ด้วง จะให้ออกมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรนั้นก็สมความคิดแล้ว บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งนักพระองค์ด้วงออกมาเป็นนายปกครองบ้านเมืองเขมร และพระราชทานยศสมยศสมศักดิ์ที่จะเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร นักพระองค์ด้วงได้ออกมาพักอยู่ที่เมืองพระตะบองแต่ ณ เดือนสามขึ้นสิบสามค่ำนั้นแล้ว ให้พระยาพระเขมรทั้งปวงมาชมเชยบารมียศศักดิ์ และพระรูปพระโฉมนักพระองค์ด้วง แล้วจะได้มารับพระพิพัฒน์สัตยาต่อพระพักตร์นักพระองค์ด้วงเสียก่อน จึงจะควรไปทำราชการสู้รบกับญวน จะได้เป็นมงคลแก่พระยาพระเขมรทุกคน และจะได้ถูกต้องตามราชประเพณีโบราณ ข้าต้องรู้จักเจ้า บ่าวต้องรู้จักนาย จึงจะสมควร ถ้าผู้ใดติดการรบพุ่งกับญวนอยู่จะมาไม่ได้ ก็ให้แต่งขุนนางรองหรือบุตรหลานญาติ นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาถวายนักพระองค์ด้วงเป็นการแทนผู้ที่เข้ามาไม่ได้”
 เมื่อพระยาพระเขมรทั้งปวงได้หนังสือประกาศดังนั้นก็ดีใจ ต่างทราบตื่นแตกกันมาเฝ้านักพระองค์ด้วงเป็นอันมาก ที่มาไม่ได้ก็แต่งให้ผู้มาแทน เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าพระยาพระเขมรผู้ได้ราชการ ก็นำสิ่งของเงินตราแจกให้ทั่วกัน
ฝ่ายพระยาราชนิกูลซึ่งแตกทัพหนีญวนไปตั้งอยู่ ณ เมืองกะพงสวาย รวมไพร่พลไทยได้พร้อมแล้ว จึงให้พระยาโยธาเขื่อนขันธ์ ๑ พระชนะรณชิต ๑ เป็นข้าหลวงกับพระยาอ่างทอง ๑ หลวงศุภมาตราเมืองนครสวรรค์ ๑ รวมสี่คน คุมไพร่ไทยยกไปติดตามมาได้หมด หาได้ลงโทษไม่ เพราะเป็นการจวนตัว เป็นแต่ภาคทัณฑ์ไว้ครั้งหนึ่งก่อน แล้วพระยาราชนิกูลสั่งให้พระยาเสนาราชกุเชนทรเขมรคุมไพร่พลเขมรอยู่รักษาเมืองสะโทง สั่งให้พระยาวงศาปาเทศเขมรคุมไพร่พลเขมรอยู่รักษาเมืองกะพงสวาย ให้พระพิพิธสงครามเขมรเก่าอยู่ช่วยพระยาวงศาปาเทศจัดการบ้านเมืองกะพงสวาย แล้วพระยาราชนิกูล ๑ พระยาอภัยสงคราม ๑ หลวงรักษาเทพ ๑ จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ๑ หลวงชาติเสนี ๑ หลวงศรีภิรมย์ ๑ พระยาอุทัยธานี ๑ พระปลัดเมืองนครสวรรค์ ๑ รวมแปดคนคุมไพร่พลไทยลาวเขมรล่าถอยลงมาตั้งอยู่ ณ ด่านพรหมศก แขวงเมืองนครเสียมราฐ
 แล้วใช้ให้ขุนวิสุทธิภักดีถือใบบอกมาแจ้งข้อราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงให้พระพรหมบริรักษ์ พระยาณรงค์วิไชย พระยารัษฎาเรืองเดช พระอินทรธิบาล หลวงศรีพิทักษ์ จมื่นรักษ์พิมาน หลวงวิเศษธานี รวมแปดคน ไปเปลี่ยนพระยาราชนิกูล แล้วให้จัดกองทัพใหม่ ให้แบ่งไพร่พลในกองทัพพระยาราชนิกูลสามพัน ให้พระยาอานุภาพไตรภพเจ้าเมืองนครเสียมราฐคุมไปรักษาเมืองสะโทงอีกด้วย แต่พระยาราชนิกูล พระยาอภัยสงคราม หลวงรักษาเทพ จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ พระยาอุทัยธานี พระปลัดเมืองนครสวรรค์ รวมแปดคนให้หากลับมาเมืองพระตะบอง จะได้ไต่ถามข้อราชการ
ครั้งนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ป่วยเป็นไข้พิษแล้วกลายเป็นไข้สันนิบาตลูกนก มีอาการให้กายสั่นสะท้านงกเงิ่นไป จึงให้พระสุนทรภักดีผู้บุตรมาขอลาต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าจะไปรักษาตัวยังบ้านเมือง ถ้าหายแล้วเมื่อใดจะมารับราชการอย่างเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าป่วยมาก ถ้าจะข่มขืนให้อยู่รักษาที่เมืองเขมรนี้แล้วเห็นว่าจะตาย เสียดายนายทัพหารเอกอย่างนี้ สุดที่จะหาไม่มีผู้ใดเสมอแล้ว จึงได้อนุญาตยอมให้เจ้าพระยานครราชสีมากลับไปรักษายังบ้านเมือง ให้พานายทัพนายกองซึ่งเป็นบุตรหลานและญาติไปด้วย จะได้ช่วยรักษาพยาบาลให้หาย ให้ไพร่พลไปส่งสองร้อยคน แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้นายนเรศสุทธิรักษ์มหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวรฯถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “เจ้าพระยานครราชสีมาป่วยอาการเป็นไข้พิษแล้วกลายเป็นไข้สันนิบาต ขอลาไปรักษาตัวที่เมืองนครราชสีมาแล้ว บัดนี้ไม่มีขุนนางผู้ใหญ่อยู่ช่วยคิดราชการ ขอรับพระราชทานเจ้าพระยายมราช (ชื่อบุนนาก) ออกมาช่วยคิดราชการ อนึ่งซึ่งแต่ก่อนนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นประธานมณเฑียรเชิญท้องตราออกมาว่า จะโปรดให้ตั้งเมืองโปริสาดเป็นเมืองใหญ่ ให้ทำวังให้นักพระองค์ด้วงอยู่นั้น เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าเมืองโปริสาดนั้นเป็นที่ชัยภูมิไม่สู้ดี ฤดูหน้าน้ำแล้วน้ำก็ท่วม หาสมควรเป็นเมืองใหญ่ให้เจ้านายอยู่ไม่ อีกประการหนึ่งเล่า ค่ายคูประตูหอรบก็ชำรุดทรุดโรมมากหนัก ถ้าจะโปรดให้ทำที่นั้นให้ได้ ก็จะต้องทำการซ่อมแซมเหมือนทำเมืองใหม่ใหญ่ ๆ อีกเมืองหนึ่ง สองสามปีก็ไม่แล้ว ขอพระราชทานให้งดรอไว้ก่อน ถ้ามีช่องโอกาสได้เมืองพนมเปญเมื่อใด จึงจะทำให้เป็นเมืองใหญ่ให้นักพระองค์ด้วงอยู่ต่อไป กับในเดือนยี่เดือนสามนั้น เสบียงอาหารขัดสนนัก ไม่มีที่จะซื้อหารับพระราชทานเลย ได้แต่งนายทัพนายกองไทยไปกับนายทัพนายกองเขมร เที่ยวสืบเสาะหาข้าวที่ไหนจะมียุ้งฉางใด ๆ บ้าง ก็จะให้ซื้อข้าวขนมาจับจ่ายในกองทัพ ก็หาพบยุ้งฉางไม่ มีแต่ยุ้งข้าวของราษฎรบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ จะข่มขืนซื้อมาก็เหมือนจะทำให้เขมรเจ็บใจกำเริบขึ้นเหมือนเมื่อปีมะเส็งเบญจศก
ขอพระราชทานให้ส่งเสบียงอาหารมาด้วย อนึ่งทางเมืองลาวข้าวปลาก็พอมีชุกชุมอยู่บ้าง แต่ว่าหนทางจะไปมาขนคว้าไกลเป็นทางกันดาร ได้ครึ่งเสียครึ่ง ไม่ทันใช้ในราชการด้วย”
 ** นักพระองค์ด้วงเจ้าแผ่นดินเขมรพระองค์ใหม่เสด็จถึงเมืองพระตะบองแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดวังชั่วคราวให้ประทับ มีใบบอกส่งไปยังเจ้าพระยา พระยา พระเขมรให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้นักพระองค์ด้วงออกมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรตามที่ทูลขอแล้ว บัดนี้ประทับอยู่ ณ เมืองพระตะบอง ขอให้เจ้าพระยา พระยา พระเขมรมาถวายบังคมและถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามพระราชประเพณีโบราณ แล้วจะได้รบไล่ญวนกอบกู้เอกราชชาติเขมรต่อไป ตอนหน้าค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลมหนาว ในสายหมอก, Black Sword, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|