บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๕ -
เจ้ามินมางเมาสุราน่าเป็นห่วง จนบาทหลวงสังฆราชประมาทหมิ่น ทรงโกรธคำกล่าวร้ายที่ได้ยิน จึงตัดสินโทษฝรั่งอย่างรุนแรง
ไม่ทันรบฝรั่งเศสเหตุปรากฏ สวรรคตไปตามกรรมปรุงแต่ง อันนัมก๊กวกเวียนหมุนเปลี่ยนแปลง ยังไม่รู้ดำแดงแห่งสงคราม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ส่งนักพระองค์ด้วงไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร โดยให้พระยาข้าหลวงพาไปเมืองพระตะบอง ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาดำเนินการให้เป็นไปโดยเรียบร้อยถูกต้องด้วยธรรมเนียมประเพณี เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดวังให้ประทับชั่วคราวในเมืองพระตะบอง แล้วมีหนังสือประกาศให้พระยา พระเขมรทั้งหลายทราบและเข้าเฝ้าถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระยาพระเขมรทั้งหลายตื่นเต้นดีใจพากันเข้าเฝ้าถวายบังคมโดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นพระยาราชนิกูลได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองทัพดังเดิม แล้วยกลงมาตั้งอยู่ที่แขวงนครเสียมราฐ มีหนังสือขี้แจงข้อราชการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบ เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้จัดทัพใหม่ ให้พระพรหมบริรักษ์ยกขึ้นไปเปลี่ยนพระยาราชกูล โดยให้พระยาราชนิกูลและพวกลงมาเมืองตะบอง วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ....
ฝ่ายนายเสา เขมรคนรับใช้ของนักองอิ่มนั้น นายเสาได้ติดตามนักพระองค์อิ่มไปจนถึงกรุงเว้ ได้เห็นพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายคนกับนักพระองค์อิ่มด้วย ต้องถูกจำตรวนอยู่ในคุกญวนที่กรุงเว้ นายเสาเห็นดังนั้นก็ตกใจจึงรีบหนีมาจากกรุงเว้ ลัดป่ามาหานักพระองค์ด้วงที่เมืองพระตะบอง นายเสาแจ้งความว่า
 “เมื่อนายเสายังอยู่ในกรุงเว้นั้น ได้สืบทราบว่าเมื่อ ณ เดือนห้าขึ้นปีใหม่ในปีชวดโทศก มีกำปั่นรบฝรั่งเศสสามลำ ตัวนายแม่ทัพเรือชื่อ (กำมะโดละเบีย) คุมเรือกำปั่นรบสามลำมีทหารพันเศษ เข้ามาที่เมืองตูรนปากน้ำญวน ญวนไม่ให้เข้ามา ฝรั่งเศสว่าจะเข้ามาพูดจาราชการบ้านเมือง ญวนเจ้าเมืองตูรนปากน้ำไล่ขับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ถอยเรือกำปั่นออกไปห่างอ่าวทะเล แล้วก็ยิงปืนใหญ่ถูกป้อมปากน้ำและเรือรบทะเลของญวนแตกหักเสียหายเป็นหลายลำหลายป้อม แล้วฝรั่งเศสก็กลับไป
 นายเสาได้สืบถามพวกญวนที่รู้จักชอบพอกันว่า เหตุผลอย่างไรฝรั่งเศสจึงได้นำกำปั่นเรือรบมายิงป้อมปากน้ำและเรือรบญวน ญวนที่พูดภาษาเขมรได้เล่าความเดิมให้นายเสาฟังว่า แต่ก่อนพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์นี้ทรงขัดเคืองพวกบาทหลวงฝรั่งเศสว่ามาตั้งสั่งสอนศาสนา แล้วกล่าวถ้อยคำติเตียนธรรมเนียมบ้านเมืองญวน ญวนก็จับพวกบาทหลวงไปขังคุกเสียบ้าง พวกสังฆราชบาทหลวงฝรั่งเศสมาต่อว่าท้าทายกับเสนาบดีญวนว่า ถ้าไม่ถอดบาทหลวงออกให้แล้ว จะเรียกเรือมาต่อว่าให้ได้ พระเจ้าเวียดนามทรงขัดเคืองสังฆราชบาทหลวงฝรั่งเศสว่าพูดจาจองหอง ดูหมิ่นดูถูกอำนาจพระเจ้าแผ่นดินญวน จึงรับสั่งให้เสนาบดีญวนจับพระสังฆราช ๑ พระบาทหลวงหก รวม ๗ คน ไปฆ่าเสียนอกเมือง พวกพระบาทหลวงอีกห้าคนที่ต้องจำคุกนั้นก็ให้จำโซ่คอเข้าให้มั่นคง พวกฝรั่งเศสเมืองนอกรู้ก็เข้ามาต่อว่าขอโทษพวกบาทหลวงออกจากคุกแล้ว จะขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีต่อกรุงเว้สืบไป พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งว่า แต่ก่อนก็เป็นทางไมตรีกันมาช้านาน ก็ไมเคยทำหนังสือสัญยิงสัญญาอะไรต่อกัน และพวกบาทหลวงที่อยู่ในแผ่นดินญวนแต่ก่อนก็ไม่ได้พูดจาดูถูกดูหมิ่นประมาทอะไรแก่ญวนเหมือนบาทหลวงพวกนี้ บาทหลวงพวกนี้มีความผิดโทษหนัก ก็ฆ่าเสียบ้าง ที่โทษเบาก็จำคุกไว้บ้างตามความผิด ซึ่งบัดนี้ฝรั่งเศสจะมาขอพวกบาทหลวงผู้ผิดออกจากโทษจากคุก ยังไม่พ้นกำหนดเวลาพ้นโทษนั้นจะให้ไม่ได้ จะเป็นเยี่ยงอย่างเสียทางราชการไป กับจะทำหนังสือสัญญากันนั้น ญวนไม่เคยทำกับประเทศใดเลย จะทำแก่ฝรั่งเศสนี้ไม่ได้ ถ้าฝรั่งเศสจะไปมาค้าขายที่แผ่นดินญวนต่ออีกก็ได้ ไม่ห้ามปรามฝรั่งเศส พวกเรือรบมาต่อว่าญวน ญวนไม่ยอมให้พวกบาทหลวงและไม่ยอมทำสัญญาต่อฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ขัดใจ ลากลับออกจากบ้านเมือง แล้วก็ยิงเรือรบญวนและป้อมปากน้ำเสียไปมาก”
 "สมเด็จพระศรีสวัสดิ์" พระบรมฉายาลักษณ์ในปี 2465 ในปีชวดโทศกนั้น นักพระองค์ด้วงเกิดบุตรด้วยแม่นางหนึ่งชื่อนักนางเภาเป็นบุตรีพระยามนตรีธิราช สมภพเป็นกุมาร นักพระองค์ด้วงให้ชื่อว่า นักองศรีสวัสดิ์ เป็นบุตรคนที่สองรองนักองราชาวดี (คือวังหน้ากรุงกัมพูชาเดี๋ยวนี้)
 อนึ่ง พระเจ้าแผนดินญวนทรงพระนามว่าพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกว่างเด้นั้น เสวยน้ำจัณฑ์ (สุรา) มากเกินปรกติก็ทิวงคตเมื่อ ณ เดือนสาม แรมค่ำหนึ่ง ปีชวด โทศก จุลศักกราช ๑๒๐๒ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๓) พระเจ้ามินมางดึกว่างเด้ประสูติ ณ ปีกุน ตรีศก ได้เสวยราชสมบัติในกรุงเว้ในปีมะโรงโทศก มีพระชนมายุได้ ๓๐ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี ขณะเมื่อทิวงคตนั้นพระชนมายุได้ ๕๘ ปี มีพระราชบุตรพระราชธิดารวมทั้งมีพระชนม์และสิ้นพระชนม์ ๒๖ องค์ พระสันดานเป็นพาลทุจริต มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมตามโบราณราชประเพณีเหมือนพระเจ้าเวียดนามยาลวง (องเชียงสือ) พระราชบิดานั้นหามิได้ พระเจ้าเวียดนามมินมางนั้นพระองค์กอปรไปด้วยโมหะจริต คิดราชการผันแปรไปต่าง ๆ เพราะพระองค์เสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจกาล มิได้เว้นทุกทุกเวลาเช้าเย็น เสนาบดีจัดการพระศพแห่ไปฝังตามเยี่ยงอย่างพระมหากษัตริย์แผ่นดินญวนแต่ก่อนมา
 ครั้น ณ เดือนสามแรมห้าค่ำเป็นฤกษ์ดี พระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกันประชุมยกย่องพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าเวียดนามมินมางที่ทรงพระนามว่า “เจ้าเตืองคันลือมินคง” พระชนมายุ ๑๖ ปี ขึ้นผ่านพิภพเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินญวน เสนาบดีตั้งยี่ห้อว่า “พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี” แต่เจ้าเกียนอานพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกันกับพระเจ้าเวียดนามมินมาง และเป็นพระเจ้าอาว์ของพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี เจ้าเกียนอานพระเจ้าอาว์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินช่วยประคับประคองว่าราชการดูแลผิดและชอบแทนพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี พระเจ้าเวียดนามเทียวตรียังทรงพระเยาว์นัก
ในเดือนสามนั้น ที่ค่ายองเตียนกุน ณ เมืองกะพงธมเกิดไข้ป่วงอหิวาตกโรค พวกไพร่พลญวนในเมืองกะพงธมตายลงเป็นอันมากทุกวัน และพวกญวนในค่ายเมืองกะพงธมก็พากันหนีออกมาจากเมืองกะพงธม ๑๓๔ คน ญวน ๑๓๔ คนหนีมาหาพวกเขมร นักองแก้วเจ้าเขมรให้พระพิทักษ์บัญชาเขมรคุมญวน ๑๓๔ คนส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หลวงนายมหาใจภักดิ์กับหลวงสุเทพ คุมญวน ๑๓๔ คนส่งเข้ามากรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระสุรัสวดีสักขอมือญวน ๑๓๔ คนว่า “กองสาอาญวน” แล้วพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ไปควบคุมไว้ใช้สอยเป็นกำลังราชการ (คือญวนวัดโสมนัส)”
 ** ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทคุกคามญวนแล้ว เหตุเกิดเพราะพวกบาทหลวง “ปากมาก” ตำนิติเตียนธรรมเนียมบ้านเมืองญวน และคงจะพาดพิงไปถึงพระเจ้ามินมางที่ดื่มน้ำจัณฑ์เมาเช้าเมาเย็น พระเจ้าเวียดนามจึงโกรธมาก สั่งจับสังฆราชบาทหลวงไปฆ่าเสียบ้าง จับขังคุกเสียบ้าง จนฝรั่งเศสโกรธเคือง มาเจรจากันแล้วไม่ได้ผลดี ฝรั่งจึงใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเรือรบและป้อมปากน้ำญวนก่อนแล่นกำปั่นรบจากไปด้วยความโกรธ ฝ่ายนักพระองค์ด้วงนั้น ได้ราชบุตรที่เมืองพระตะบองพระองค์หนึ่งให้ชื่อว่า นักองศรีสวัสดิ์ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในญวน เมื่อพระเจ้าเวียดนามมินมางสวรรคตลง พระราชโอรสองค์ใหญ่พระชนมายุ ๑๖ พรรษาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทน โดยมีพระเจ้าอาว์เป็นผู้สำเร็จราชการแทน สงครามไทยญวนในเขมรยังไม่สิ้น เกิดอหิวาตกโรคที่เมืองกะพงธม ไพร่พลญวนในค่ายขององเตียนกุนเป็นโรคอหิวาตกโรคตายมาก ทหารญวนหนีออกจากค่ายมาพึ่งเขมรและไทยจำนวนมาก เรื่องจะเป็นอย่างไร ค่อยมาอ่านต่อครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปิ่นมุก, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๖ -
“ต๋าเตียนกุน”ญวนใหญ่ในเขมร จดหมายเน้นความเก่าไม่ก้าวข้าม ก่อนญวนไทยไมตรีเคยดีงาม เกิดเสื่อมทรามเรื้อรังครั้งเวียงจันทน์
ลามมาถึงศึกใหญ่เมืองไซ่ง่อน จนตัดรอนไมตรีมิสร้างสรรค์ เจ้าเขมรน้องพี่ที่เกี่ยวพัน เบื้องหลังอันยืดยาวสาวให้ฟัง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... นายเสาคนรับใช้ใกล้ชิดนักองอิ่มที่ถูกญวนนำตัวไปกรุงเว้พร้อมคณะนักองอิ่ม ได้หลบหนีมาหานักพระองค์ด้วงที่เมืองพระตะบอง บอกเล่าว่าเห็นนักองอิ่มและขุนนางเขมรถูกใส่ตรวนจองจำไว้ในคุกญวนกรุงเว้ เมื่อตนหลบหนีออกมาเห็นเรือกำปั่นรบฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเรือรบญวนและป้อมที่ปากน้ำพังพินาศแล้วจากไป สอบถามญวนได้ความว่า ฝรั่งเศสโกรธที่พระเจ้าเวียดนามลงโทษพระสังฆราชและบาทหลวงฝรั่งเศส โดยฆ่าเสียบ้าง จำตรวนขังคุกไว้บ้าง ฝรั่งเศสมาเจรจาขอ ญวนไม่ยอม จึงยิงเรือรบและป้อมญวนพินาศก่อนจากไป ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๑๒๐๒ พระเจ้าเวียดนามมินมางสวรรคตลงด้วยพระชนม์ ๕๘ พรรษา ขุนนางญวนยกให้พระราชบุตรองค์ใหญ่พระชนมายุ ๑๖ พรรษา นามเจ้าเตืองคันลือมินดง ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเวียดสาม ตั้งยี่ห้อถวายว่า “พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี” ตั้งให้เจ้าเกียนอาน พระอนุชาพระเจ้ามินมาง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทางฝ่ายกองทัพญวนในเขมรนั้น ปรากฏว่าเกิดอหิวาตกโรคที่เมืองกะพงธม ไพร่พลในกองทัพองเตียนกุนล้มตายลงมาก มีส่วนหนึ่งหนีออกจากค่ายมาพึ่งเขมร และเขมรส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงส่งต่อมายังกรุงเทพฯ วันนี้มาอ่านเรื่องกันต่อไปครับ.......
 ในเดือนสามข้างแรม ญวน ณ ค่ายองต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญหนีออกมาหาเขมร ๒๒๒ คน พระรัตนะมนตรีเขมรก็ส่งญวน ๒๒๒ คนมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพระตะบอง ครั้งนั้นพระสุเรนทราธิบดีเขมรมีในบอกมาว่า
“ขุนแกล้วคชสารเขมรไปแทรกโพนช้าง ณ ป่าดงพงไพรแขวงเมืองสำโรงทอง คล้องได้ช้างพังสีประหลาดสูงสี่ศอก เล็บเป็นเสี้ยนตะโหนด สีตัวเหมือนเปลือกปะโลงและสีน้ำลูกพลับ ตามัว ๆ” ฝึกเชื่องราบแล้วส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑ จ่านิจมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงคชสิทธิ์ ๑ สามคนคุมช้างสีประหลาดกับญวนพนมเปญ ๒๒๒ คน เข้ามาส่ง ณ กรุงเทพฯ ช้างถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนสี่แรมแปดค่ำ โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นระวางแล้วพระราชทานชื่อว่า “พังหงษาสวรรค์อนันตะคุณวิบุลยลักษณเลิศฟ้า” แต่ญวน ๒๒๒ คนนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สักข้อมือว่า “กองอาสาญวน” ให้ไปอยู่กับพวกก่อน มอบพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (คือญวนปากแพรก)
 ฝ่ายองต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงฝ่ายญวน ตั้งทัพอยู่ที่เมืองพนมเปญนั้น มีหนังสือตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชามาฉบับหนึ่ง มอบให้องอันย่าง ๑ องอันเบียน ๑ คุมไพร่ญวน ๑๒๐ ถือหนังสือมาถึงเมืองพระตะบองเมื่อ ณ เดือนสี่ขึ้นหกค่ำ แจ้งความกับขุนบดีไพรวันนายด่านพระตะบองว่า “จะนำหนังสือแม่ทัพญวนมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ ค่าย” ขุนบดีไพรวันเขมรนายด่านนำญวนผู้ถือหนังสือมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามแปลหนังสือออกเป็นภาษาไทยใจความว่า
 “หนังสือเกริ่นองต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ ซึ่งพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกว่างเด้ โปรดให้ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพใหญ่มาสำเร็จราชการสิทธิ์ขาด ได้บังคับบัญชาญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพทุกทัพทุกกองในแว่นแคว้นแผ่นดินเขมร และมาตั้งเป็นจอมพลอยู่ ณ เมืองพนมเปญ และมือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ และมือขวาถือธงอาญาสิทธิ์ และมีฤทธิ์เดชสืบวงศ์ตระกูลขุนนางผู้ใหญ่มาหลายชั่วแล้ว ก็เป็นผู้เจรจาไม่มีคำสองเลย ขอแจ้งความมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ ขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้แจ้ง เดิมกรุงเว้กับกรุงเทพฯ แต่ก่อนนั้น ก็ได้เป็นทางพระราชไมตรีสัมพันธมิตรสนิทเสน่หากันมาช้านาน ได้ใช้ราชทูตจำทูลพระราชสาส์นซึ่งกันและกันเนือง ๆ หามีเหตุที่จะร้าวฉานกันด้วยสิ่งใดไม่ เหตุผลประการใดจึงได้แตกร้าวการสามัคคี ทิ้งความดีไปหาความร้าย เหตุผลที่จะก่อการให้เสื่อมเสียทางพระราชไมตรีนั้น เพราะแต่ก่อนหลายปีมาแล้ว เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ ก็ใช้ให้แม่ทัพไทยชื่อราชสุภาวดียกทัพใหญ่ขึ้นไปปราบปรามพวกลาวขบถเวียงจันทน์ ฝ่ายพระเจ้ากรุงเวียดนามใช้ให้ขุนนางญวนองเลวันฮือถือหนังสือไปจะขอพูดจาเป็นท่ามกลางโดยดี โดยสงเคราะห์แก่ลาวเมืองน้อย และจะเกลี่ยไกล่ให้ไทยดีกับลาวเท่านั้นไม่ใช่อื่นเลย ขุนนางไทยนายด่านชื่อทุงวิไชย ชิดชุม ก็จับขุนนางญวนที่ถือหนังสือมานั้นฆ่าเสีย กรุงเวียดนามก็มีพระราชสาส์นมาต่อว่ากรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ก็มีพระราสาส์นใช้ราชทูตไทยชื่ออนุรักษ์โยธาไปถวายพระเจ้าเวียดนามถึงกรุงเว้ เพื่อจะขอโทษขุนนางนายด่านที่ฆ่าญวนในเมืองเวียงจันทน์ ๔๘ คน ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามทรงระลึกถึงบุญคุณพระเจ้าหลวงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระอัยกาธิราชของพระเจ้ากรุงเทพฯ ทุกวันนี้ว่า มีพระเดชพระคุณแก่พระเจ้ายาลวงกรุงเว้ ซึ่งเป็นพระราชบิดาพระเจ้ามินมางนั้นยิ่งนัก จึงได้ยกโทษโปรดประทานให้แก่พระเจ้ากรุงเทพฯ มิให้ฆ่าฟันเฆี่ยนตีขุนนางไทยนายด่านผู้ฆ่าญวนนั้น ทรงงดไว้ก็เพราะจะให้ทางพระราชไมตรีสืบติดต่อเสมอต้นเสมอปลาย
 ครั้งหนึ่งเมื่ออ้ายภอเบโคยลันเบียในเมืองไซ่ง่อนเป็นขบถต่อกรุงเว้ ได้ใช้ให้แม่ทัพญวนยกมาล้อมเมืองไซ่ง่อนเพื่อจะจับอ้ายภอเบโคยลันเบียผู้ร้าย ผู้ร้ายก็ได้ขอกองทัพไทยให้ออกมาช่วยป้องกันเมืองไซ่ง่อนให้เป็นศึกกระหนาบญวนกรุงเว้ ฝ่ายขุนนางไทยหูเบาก็นำถ้อยคำอ้ายภอเบโคยลันเบียขึ้นกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไทย พระเจ้าแผ่นดินไทยจึงได้ให้แม่ทัพไทยยกกองทัพใหญ่ออกมาตีเมืองพนมเปญ จนเจ้าเขมรนักองจันทร์อยู่ไม่ได้ เพราะถูกกองทัพไทยข่มเหง ต้องหนีไปพึ่งญวน ญวนก็ต้องเลี้ยงไว้เพราะด้วยความกรุณาแก่เจ้าเขมรที่ถูกข่มขี่ของกองทัพไทย กองทัพไทยได้ที่มีช่องโอกาสแล้วก็ยกทัพเรือล่วงเข้าไปในเขตแดนญวน คือเมืองโจดก เมืองบันทายมาศ เมืองย่างพาน และคลองน้ำวามะนาว จนถึงเกาะแตง พระเจ้าเวียดนามทรงทราบว่ากองทัพไทยล่วงเขตแดนญวนเข้ามาแล้ว จึงโปรดให้ขุนนางญวนเป็นแม่ทัพคุมกองทัพออกมาป้องกันรักษาเขตแดนของญวนไว้ ได้รบกันเป็นสามารถ กองทัพไทยก็มีไพร่พลช้างม้าเรือรบอยู่มากพอจะสู้ญวนได้ แต่ไม่อยากอยู่สู้รบ รีบด่วนถอยล่ากองทัพกลับไปเสียทั้งทัพบกและเรือ ฝ่ายทัพญวนเวลานั้นก็มีไพร่พลอยู่มากเกือบแสนคน ก็หาได้ไล่ติดามตีกองทัพไทยไปไม่ เป็นแต่ตั้งรักษาเขตแดนไว้ หาได้ยกกองทัพลวงเกินเข้าไปในเขตแดนไทยไม่ เกรงจะเสียความสัตย์ที่ปฏิญาณไว้ ว่าจะไม่เป็นคนเนรคุณไทยเลย แต่ไทยทำแก่ญวนบ่อย ๆ
 อนึ่งเมื่อปีวอกอัฐศกนั้น อ้ายด้วงเขมรมันมีหนังสือลับออกมาถึงแม่ทัพญวนใจความว่า “อ้ายด้วงมันจะกลับใจคิดออกห่างจากไทยแล้วมันจะเป็นขบถต่อไทย จะจับไทยแม่ทัพฆ่าเสีย แล้วมันก็จะหนีมาหาญวน ญวนก็ไม่ได้แต่งกองทัพเข้าไปรับอ้ายด้วงเขมร อ้ายด้วงเขมรจึงไม่ได้หนีมาได้ กับเมื่อปีกุนเอกศกนั้น อ้ายอิ่มเขมรพี่ชายอ้ายด้วงนั้นมันก็คิดเหมือนอ้ายด้วงน้องชายมัน ญวนก็ไม่ได้ไปรับอ้ายอิ่ม อ้ายอิ่มมันก็กวาดต้อนครอบครัวเขมรในเขตแดนของกรุงเทพฯ พาหนีมาหาแม่ทัพญวนที่ในเขตญวน ญวนก็ต้องสงเคราะห์เลี้ยงดูมัน เพราะเห็นว่ามันหนีร้อนมาพึ่งเย็น ก็จำเป็นเมตตากรุณาให้ทานข้าวปลาเกลือและกะแปะแก่มันมากมาย เพราะเห็นว่าเป็นคนพลัดบ้านเมืองมา หาที่พึ่งมิได้ ก็ต้องอนุเคราะห์แก่มันด้วย แล้วอ้ายอิ่มมันยุยงแม่ทัพญวนว่าบัดนี้ที่เมืองพระตะบองและเมืองนครเสียมราฐในเขตแดนไทยนั้น ทุกวันนี้ไม่มีแม่ทัพใหญ่ มีไพร่พลไทยเล็กน้อยเบาบาง ถ้าแม่ทัพญวนมีความปรารถนาจะยกไปตีเมืองพระตะบอง อ้ายอิ่มมันจะนำทัพไปตีเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ ให้ได้โดยง่าย อ้ายอิ่มเขมรพูดอย่างนี้เป็นความสัตย์จริง.........”
 ** ความในหนังสือองต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ญวนที่มีถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นความยืดยาวยังไม่จบ ตอนนี้กำลังบอกถึงเรื่องราวของนักองอิ่มที่ไทยยังไม่รู้ให้ได้รู้ไว้บ้าง ตอนหน้ามาอ่านหนังสือเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ของญวนกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปิ่นมุก, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๗ -
ญวนประณามหยามเขมรเป็นพาลไพร่ ล้วนสิ้นไร้กตัญญูผู้หนุนหลัง ญวนชุบเลี้ยงกลับทิ้งคุณชิงชัง รวมหัวตั้งกลุ่มกบฏคนคดงอ
ยุญวนชิงแดนดินถิ่นสยาม ญวนไม่ตามคำร้ายอ้ายอิ่มล่อ จึงจับไปใส่คุกตรวนผูกคอ เป็นเหตุก่อเกลียดชังญวนทั้งปวง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้แม่ทัพใหญ่ญวนเมืองพนมเปญ มีหนังสือตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพใหญ่ไทย ณ เมืองพระตะบอง ใจความตอนต้นก็กล่าวฟื้นความหลังเหมือนพระราชสาส์นและหนังสือแม่ทัพญวนฉบับก่อน ๆ แต่กล่าวมาถึงตอนหลัง องต๋าเตียนกุนได้แฉเรื่องที่นักองด้วง นักองอิ่ม มีหนังสือไปถึงญวน เป็นความที่ไทยไม่ทราบมาก่อน วันนี้มาอ่านหนังสือตอบของเสนาบดีญวนกันต่อครับ.....
 “......ฝ่ายแม่ทัพญวนก็พาอ้ายพระยา,พระ เขมรหลายคนกับคำให้การอ้ายอิ่มส่งขึ้นไปกรุงเว้ พระเจ้าเวียดนามมินมางได้ทรงทราบความตามคำให้การอ้ายอิ่ม และถ้อยคำพระยา, พระ เขมรผู้ใหญ่แล้วก็ไม่โปรดเลย ทรงพระราชดำริเห็นว่า ถ้าจะเชื่อถ้อยฟังคำอ้ายอิ่มแล้วก็จะเป็นการขุนเคืองข้อบาดหมางกันกับไทยต่อไปอีก หาต้องการไม่ เพราะพระเจ้าเวียดนามทรงระลึกถึงทางพระราชไมตรีที่สนิทกันมากับไทยแต่ก่อนก็มาก จึงหาเชื่อคำอ้ายอิ่มยุยงไม่ เพราะฉะนั้นทรงพระราชดำริเห็นว่า ถ้าไม่ทำตามคำอ้ายอิ่มยุยงแล้ว อ้ายอิ่มก็จะกลับหนีไปหาไทย ก่อเหตุการณ์วิวาทร้าวฉานกันขึ้นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นจึงมีรับสั่งให้องเตียนกุนแม่ทัพ ส่งอ้ายอิ่มไปไว้เสียที่เมืองไซ่ง่อน ให้ห่างไกลเขตแดนไทย แล้วอ้ายอิ่มก็คิดจะหนีลงสำเภาไปอีก จึงได้ให้ส่งอ้ายอิ่มไปจำคุกไว้ในกรุงเว้ตามความผิดของมัน แต่พวกพระยา,พระเขมรและครอบครัวเขมรที่ไม่ใช่พวกพ้องอ้ายอิ่มนั้น มันก็ได้พึ่งพระบารมีอาศัยทำมาหากินอยู่ในแว่นแคว้นแผ่นดินของญวนมาช้านาน พระเจ้าเวียดนามทรงพระมหากรุณาเมตตาปรานีแก่เขมรให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบมา และมีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์โอบอ้อมแก่ท้าวพระยาพระเขมร ได้พระราชทานเสื้อผ้าและกะแปะยศศักดิ์
 อนึ่งเมื่อนักพระองค์จันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาถึงแก่พิราลัยนั้น นักพระองค์จันทร์ไม่มีราชบุตรชาย มีแต่พระบุตรีสี่องค์ พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระราชดำริเห็นว่า ราชบุตรชายนักพระองค์จันทร์ไม่มีจะสืบเชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินเขมรต่อไป จึงทรงตั้งงอกแป้นบุตรีใหญ่ของนักพระองค์จันทร์ให้เป็นเจ้าเมืองเขมรแทนบิดา แล้วให้งอกมี, งอกเภา, งอกสงวน บุตรีนักพระองค์จันทร์ผู้น้อย ๆ นั้นเป็นเจ้าเวียนกุน คือเจ้ารองกันลงมาเป็นลำดับยศต่อจากงอกแป้นเจ้าแผ่นดินใหญ่ กับได้ชุบเลี้ยงขุนนางเขมรให้มีเต็มตามที่ตำแหน่งเดิมของเขมร ได้จ่ายเงินกะแปะเบี้ยเลี้ยงให้เจ้านายฝ่ายเขมรและขุนนางเขมรกินเสมอทุกคน อยู่มาครั้งหนึ่งงอกแป้นเจ้าแผ่นดินเขมรมีหนังสือลักลอบใช้ให้คนไปให้อ้ายหมาแก้วผู้น้า นัดหมายให้อ้ายหมาแก้วเป็นผู้ร้ายคุมไพร่พลเขมรคิดกบฏต่อญวน ให้ยกมารบญวนที่เมืองพนมเปญ แล้วจะให้อ้ายหมาแก้วน้าชายพางอกแป้นหนีญวนไปเมืองไทย เพื่อจะไปหาแม่งอกแป้นที่อยู่เมืองไทยแต่ก่อนแล้ว ขุนนางญวนจับหนังสือลับงอกแป้นได้ จึงรู้ว่างอกแป้นเป็นคนใจร้าย แล้วได้คุมเชิงงอกแป้นไว้โดยมั่นคงยิ่งนัก จึงได้มีใบบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามทรงตอบท้องตรามาถึงองเตียนกุนแม่ทัพที่เมืองพนมเปญใจความว่า งอกแป้นคิดการดังนั้น ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมที่ทรงชุบเลี้ยงให้ใหญ่โต หาควรจะเป็นดังนั้นไม่ จึงให้องเตียนกุนจัดจำทำโทษแต่งอกแป้นส่งไปกรุงเว้ แต่ไม่ถึงกรุงเว้ พอเรือที่พางอกแป้นไปถึงเมืองล่องโห้สมิถ่อ งอกแป้นก็ป่วยลงแดงตายในเรือ จึงได้นำศพงอกแป้นคนโทษทิ้งน้ำเสีย หาได้ฆ่างอกแป้นเหมือนคำไทยว่าไม่ แต่งอกมี งอกเภา งอกสงวน น้องสาวงอกแป้นทั้งสามคนนั้นไม่มีความผิดสิ่งไร ก็หาได้ทำโทษไม่ แต่ว่าถ้าจะให้เจ้าหญิงทั้งสามคนนี้อยู่ที่เมืองพนมเปญเขมรต่อไป ก็จะมีพวกพ้องเขมรมายุยงให้เป็นเสี้ยนแผ่นดินเหมือนงอกแป้นพี่สาวอีก จึงโปรดให้องเตียนกุนส่งเจ้าผู้หญิงทั้งสามย้ายไปอยู่เสียที่เมืองไซ่ง่อน เพราะจะให้ไกลกับพวกเขมรที่จะมาก่อการยุยงอีก การที่ยักย้ายเจ้านายผู้หญิงเขมรไปให้พ้นจากเมืองเขมรนั้น ก็เพื่อจะให้เจ้าหญิงทั้งสามมีความสุข บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเมืองเขมรนั้น พระเจ้าเวียดนามก็ทรงพระเมตตาตั้งแต่งให้มียศตามความชอบมากและน้อยเหมือนขุนนางญวนเหมือนกัน มิได้ลำเอียงว่าญวนและเขมร สุดแล้วแต่ผู้ใดได้ราชการบ้านเมืองก็จะพระราชทานบำเหน็จรางวัลเนือง ๆ ทั้งไพร่พลเขมรก็ทรงพระเมตตา ปกครองโอบอ้อมอารีให้มีความสุขสำราญ พระเจ้าเวียดนามทรงพระมหากรุณาแก่เจ้านายขุนนางและราษฎรเขมรเสมอทั่วหน้า หาได้ทรงคิดว่าเขมรจะเป็นผู้คิดคดทรยศต่อญวนไม่
 บัดนี้พวกพระยา,พระเขมรพากันเที่ยวเกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองเขมรให้เข้าร่วมคิดเป็นกบฏต่อญวน พวกเขมรที่เป็นพวกอกตัญญูก็ยอมเข้าเป็นพวกกบฏก็มีบ้าง พวกเขมรที่มีความกตัญญูรู้จักบุญคุณญวนก็ไม่ยอมเข้าเป็นพวกกบฏด้วยก็มีบ้าง พวกที่ไม่ยอมเข้าด้วยก็ต้องถูกกดขี่ข่มเหง ให้ไปเข้าด้วยพวกเหล่าร้าย การเป็นดังนี้หาถูกที่ทางยุติธรรมไม่ พระเจ้าเวียดนามจะทรงนิ่งเฉยเสียก็มิบังควร จึงมีรับสั่งแก่ท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ให้เกณฑ์กองทัพไพร่พลสี่หมื่นเศษ โปรดให้เราชื่อ องต๋าเตียนกุนเสนาบดี มีตำแหน่งรักษาทหารในกรุงเว้ เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์มาเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเพิ่มเติมอีกตามชอบใจเรา จะใช้ราชการศึกสงครามจนพอการที่ควร โปรดให้เรายกมาปราบปรามพวกเขมรเหล่าร้ายที่เป็นกบฏต่อแผนดินญวน ให้ราบคาบเรียบร้อยลงด้วยอำนาจเราให้จงได้ ถ้าพวกเขมรรู้สึกตัวกลัวความผิดจะกลับใจมาสวามิภักดิ์ลุแก่โทษรับผิดเสียโดยดีแล้ว เราก็จะยกโทษให้ ไม่ยกไปลงโทษ ทำให้บ้านเมืองได้ความพินาศฉิบหายเดือดร้อนแก่ไพร่ฟ้าข้อขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเว้หาควรไม่ ถ้าไพร่บ้านพลเมืองเขมรเรียบร้อยเป็นปรกติดีอยู่แล้ว ไม่เป็นกบฏ เราก็จะให้ราษฎรอยู่ทำมาหากินตามภูมิลำเนาเดิมสืบต่อไป เราหาใช่ใจยักษ์อยากจะฆ่าฟันกินเลือดเนื้อพวกเขมรไม่ ยกมาทั้งนี้ก็เพราะเป็นประเพณีราชการแผ่นดินจึงต้องมา การงานทั้งนี้โดยจึกก็ย่อมรู้อยู่สิ้นแล้ว เมื่อโดยจึกยกกองทัพไทยไปตีค่ายอ้ายอันภู่และอ้ายเดดกที่เมืองโปริสาดนั้น โดยจึกก็ได้มีหนังสือมาว่ากล่าวจะใคร่เป็นทางไมตรีกันนั้น ฝ่ายโปนจึกก็ได้รับหนังสือบอกขององเตียนกุน บอกข้อราชการขึ้นไป ณ กรุงเว้ โปนจึกได้นำขึ้นทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางได้ทราบ ทราบแล้วมีรับสั่งว่า ทั้งสองพระนครจะเป็นทางพระราชไมตรีกันนั้นก็เป็นประโยชน์นานาประเทศซึ่งจะได้ไปมาค้าขาย และเป็นคุณประโยชน์แก่ราษฎรทั้งสองพระนครด้วยกันทั้งสิ้น ......”
** ความในหนังสือตอบจากองต๋าเตียนกุนยังไม่จบ ขอยกไปให้อ่านกันต่อในตอนต่อไปนะครับ.
(ขออธิบายข้อความในหนังสือญวนบ้าง คำที่ว่างอกแป้น งอกมี งอกเภา งอกสงวน คือเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่องค์ คำที่ว่าโดยจึกคือเจ้าพระยาบดินทรเดชาอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพไทย คำที่ว่าโปนจึกคือองต๋าเตียนกุนอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพญวน คำที่ว่าอ้ายหมาแก้วคือนักองแก้วน้านักพระองค์แป้น คำที่ว่าอ้ายอิ่มนั้นคือนักพระองค์อิ่ม คำที่ว่าอ้ายด้วงนั้นคือนักพระองค์ด้วง )
¤ เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๘ -
แผ่นดินญวนเปลี่ยนเจ้ามีเค้าวุ่น สั่งเตียนกุนคุมเขมรไม่เป็นห่วง ต๋าเตียนกุนกลับเว้ไว้ทั้งปวง ศึกบาทหลวงจากฝรั่งกำลังมา
ไทยรบญวนในเขมรที่เว้นว่าง ยังไม่ร้างเลิกผ่านการเข่นฆ่า กองทัพย่อยน้อยกำลังที่ค้างคา คอยตั้งท่ารบกันทั้งวันคืน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ความในหนังสือตอบขององต๋าเตียนกุนพูดถึงนักองอิ่มยุยงให้ญวนตีเอาเมืองพระตะบอง นครเสียมราฐ เพราะไม่มีแม่ทัพใหญ่อยู่รักษาเมืองแล้ว แต่ญวนไม่ทำตามยุยง เพราะมีความกตัญญูต่อกระเจ้ากรุงสยาม แล้วแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าญวนฆ่าเจ้าหญิงเจ้าชายเขมร โดยว่านักนางแป้นคบคิดกับชายแก้วผู้เป็นน้าทำร้ายญวน พระเจ้าเวียดนามให้องเตียนกุนส่งตัวไปกรุงเว้ แต่ไปถึงเมืองล่องโห้สมิถ่อเกิดลงแดงตาย จึงทิ้งศพลงน้ำไป ญวนหาได้ฆ่านักนางแป้นตามคำกล่าวของไทยไม่ ความในหนังสือญวนยังนำลงในที่นี้ไม่จบ วันนี้นำมาลงให้อ่านกันต่อครับ......
 (พระเจ้าเวียดนาม)“.......ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นการมงคลใหญ่แก่พระนครทั้งสองโดยมาก บัดนี้ท่านอัครมหาเสนาบดีกรุงเว้เห็นพร้อมใจกันว่าฝ่ายไทยคิดจะใคร่เป็นไมตรีกับญวนก่อน ก็ให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยามีพระราชสาส์นแต่งราชทูตไทยมาเจริญทางพระราชไมตรีกับญวนก่อน หรือไม่ฉะนั้นเป็นแต่ไม่รบราฆ่าฟันกัน เขตแดนของผู้ใดต่างคนต่างก็รักษาในเขตแดนนั้นไว้ อย่าล่วงเกินเข้ามาย่ำยีปลายเขตแดนซึ่งกันและกันให้เกิดความวิวาทบาดหมางต่อไป ก็เป็นการเรียบร้อยปรกติดีอยู่ด้วยกันทั้งสองพระนครก็ได้ พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งดังนี้ว่า พระราชหฤทัยของพระเจ้าเวียดนามก็จะคิดเป็นทางพระราชไมตรีกับไทยอยู่บ้าง โปนจึกจึงได้มีหนังสือมาแจ้งความให้โดยจึกทราบ เห็นว่าโดยจึกจะได้กราบทูลเสียมลาดึกพัทเวียงแล้ว เสียมลาดึกพัทเวียงคงจะมีพระราชสาส์นแต่งราชทูตมากทูลพระราชสาส์น ณ กรุงเว้ก่อน โปนจึกจะได้กราบทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกวองเด้ ให้มีพระราชสาส์นแต่งราชทูตญวนมาตอบแทนทางพระราชไมตรีกรุงพระมหานครศรีอยุธยาบ้าง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสองพระนครจะได้อยู่เย็นเป็นสุขยืดยาวทั่วหน้ากัน ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะมีพระราชสาส์นให้ทูตานุทูตไทยมาเจริญทางพระราชไมตรีต่อกรุงเว้เมื่อใด ราชทูตไทยจะไปทางบกทางเรือประการใด ก็ขอให้โดยจึกมีหนังสือบอกมาให้โปนจึกทราบก่อน โปนจึกจะได้จัดการรับรองทูตานุทูตไทยให้สมควรแก่เกียรติยศ บ้านเมืองเป็นทางพระราชไมตรีกันโดยอย่างธรรมเนียมโบราณราชประเพณี
 อนึ่งเมื่อก่อนนั้นองโดยจึกมีหนังสือมาถึงเสนาบดีญวนกรุงเว้ว่าด้วย อ้ายองอันภู่ อ้ายองเดดก อ้ายองลันบิน อ้ายองเกวียนยา อ้ายองเตียงเบียน อ้ายองทุงยุงย่าง หกคนกับนายทัพนายกองญวนอีกสี่คน เข้าชื่อกันทำหนังสือสัญญายอมแพ้แก่โดยจึกนั้น แล้วสัญญาว่าจะให้นายทัพนายกองญวนบรรดาที่ตั้งค่ายอยูที่เมืองเขมรทุกทัพทุกกองนั้น จะให้ยกทัพกลับไปรวบรวมอยู่ ณ เมืองโจดกเขตแดนญวนนั้น เนื้อความข้อนี้อ้ายพวกนายทัพนายกองที่มันทำหนังสือสัญญาให้ไว้เป็นการมันหลอกลวงแม่ทัพไทยเล่นเท่านั้น เพราะว่าอ้ายพวกนายทัพนายกองที่มันทำสัญญานั้น มันเป็นแต่ขุนนางผู้น้อย มันไม่มีอาญาสิทธิ์ทำสัญญาการทัพศึกได้ไม่ ราชการทัพศึกเมืองเขมรนี้เป็นหน้าที่ราชการสิทธิ์ขาดของโปนจึกได้ว่ากล่าวสิทธิ์ขาดสำเร็จราชการแต่ผู้เดียวเท่านั้น หามีผู้อื่นมาแทรกแซงเป็นคู่เคียงเสมอโปนจึกไม่ได้ ซึ่งข้อความในหนังสือสัญญาอ้ายพวกนายทัพนายกองที่ทำให้ไว้แก่โดยจึก โดยจึกจะฟังถ้อยคำอ้ายพวกเหล่านั้นเป็นสิทธิ์ขาดไม่ได้ ด้วยอ้ายพวกนายทัพเหล่านั้นทำการองอาจเกินอำนาจวาสนาตัวมันมาก จึงว่าอ้ายพวกนั้นมีความผิดต่อราชการและกฎหมายกรุงเว้ประเทศญวน บัดนี้พระเจ้าเวียดนามมินมางก็ได้โปรดให้โปนจึกจับอ้ายองอันภู่ อ้ายองเดดก อ้ายองลันบิน สามคนฆ่าเสียแล้ว แต่อ้ายองเทียงเบียน อ้ายองเกวียนเบียว อ้ายองเกวียนยา อ้ายองเตียงเบียน อ้ายองทุงยุงย่าง อ้ายองอูยาบิน อ้ายองฮือถ่อย่า อ้ายองถ่อยาบิน อ้ายองมินโดย รวมเก้าคนที่มันเข้าชื่อทำสัญญานั้น ก็ได้ส่งอ้ายองทั้งเก้าคนนี้ไปจำคุกไว้ ณ กรุงเว้แล้ว ข้อความในหนังสือสัญญาของอ้ายองญวนทั้ง ๑๒ คนนั้น อย่าให้โดยจึกเชื่อถือ ถ้อยคำนั้นไม่เป็นแก่นสารหาชอบด้วยราชการทางยุติธรรมไม่ โปนจึกขอให้โดยจึกตรึกตรองดูตามทางตรง ๆ โดยยุติธรรมเที่ยงแท้ ก็คงจะเห็นจริงด้วย หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสาม แรมห้าค่ำ ปีชวด โทศก ศักราชมินมางปีที่ ๒๘ ในรัชกาลแผ่นดินกรุงเว้ที่สอง”
(หนังสือญวนฉบับนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดรอน กล่าวข้อความเต็มตามฉบับเดิมในต้นหนังสือของญวนนั้นไว้ เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านผู้ฟังทราบสำนวนองต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพญวนพูดจากับแม่ทัพไทยตามโวหารของญวนในเวลาโน้น ขออธิบายข้อความในหนังสือญวนบ้าง คำที่ว่าเสียมลาดึกพัทเวียงนั้นคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรงเทพฯ คำที่ว่าเวียดนามดึกว่างเด้นั้นคือพระเจ้าเวียดนามมินมาง คำที่ว่าโปนจึกคือองต๋าเตียนกุนอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพญวน คำที่ว่าโดยจึกคือเจ้าพระยาบดินทรเดชาอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพไทย คำที่ว่าอ้ายหมาแก้วคือนักองแก้วน้านักพระองค์แป้น คำที่ว่าอ้ายอิ่มนั้นคือนักพระองค์อิ่ม คำที่ว่าอ้ายด้วงนั้นคือนักพระองค์ด้วง คำที่ว่างอกแป้น งอกมี งอกเภา งอกสงวน แต่ล้วนเป็นเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่องค์ = ก.ศ.ร. กุหลาบ)
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข้อความตามหนังสือองต๋าเตียนกุนด้งนั้นแล้ว ก็มิได้มีหนังสือตอบไป สั่งให้องอันย่างญวนผู้ถือหนังสือกลับไปเสียก่อนเถิด แล้วจึงจะตอบ ญวนก็กลับไปเมืองพนมเปญ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้หลวงชาติสรสิทธิ์กับหลวงอภัยคงคา คุมไพร่ไทย ๓๔ คนถือใบบอกและต้นหนังสือขององต๋าเตียนกุนเข้ามา ณ กรุงเทพฯ
 ฝ่ายที่กรุงเว้นั้น เมื่อพระเจ้าเวียดนามมินมางทิวงคตแล้ว พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีได้ขึ้นผ่านพิภพเสวยราชสมบัติ แล้วมีรับสั่งให้เสนาบดีมีท้องตราบังคับลงมา ณ เมืองพนมเปญ ให้องเตียนกุนอยู่ราชการสิทธิ์ขาดในการทัพศึกที่เมืองเขมรตามเดิม แล้วรับสั่งให้หาองต๋าเตียนกุนเสนาบดีกลับขึ้นไปรับราชการ ณ กรุงเว้ เพราะทราบข่าวว่าจะมีทัพเรือกำปั่นฝรั่งเศสมารบกรุงเว้ ให้มอบไพร่พลไว้ให้องเตียนกุนต่อไป
 ฝ่ายพระยาเสนาภูเบศร์ พระยามหานุภาพ จมื่นเทพศิรินทร จมื่นอินทรประภาษ หลวงเสนาพิทักษ์ หลวงกำจัดศักดา หลวงยุทธศักดิ์ หลวงนา หลวงพล เมืองนครสวรรค์ รวมเป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พลไปตั้งค่ายรักษาอยู่ ณ เมืองบาลิ เมื่อ ณ เดือนสี่ ขึ้นสามค่ำ ในปีชวด โทศก นั้น ญวนยกทัพมาประมาณ ๓,๐๐๐ คนกองหนึ่ง แล้วญวนยกมาอีก ๒,๐๐๐ กองหนึ่ง พร้อมกัน ๕,๐๐๐ คน ญวนก็ยกเข้าระดมตีค่ายพระยานรินทราธิบดีเขมร แม่ทัพและพระยา,พระเขมรนายทัพนายกองทั้งหลาย นายทัพนายกองทั้งหลายเห็นทัพญวนมีไพร่พลมากกว่าเขมร เขมรก็ยกกันหนีเข้าป่าไปหมด พระยาเสนาภูเบศร์แม่ทัพไทยให้พระยามหานุภาพ จมื่นอินทรประภาษ คุมไพร่พลไทยลาวยกออกต่อสู้กับญวนพักหนึ่ง ญวนมากกว่าไทย ไทยก็ถอยทัพล่ามาเข้าค่ายพระยาเสนาภูเบศร์ พระยาเสนาภูเบศร์เห็นว่าจะรับญวนไม่หยุด จึงได้เผาค่ายเสียแล้วก็ถอยทัพเข้ามาตั้งรับอยู่ในเมืองโปริสาด ญวนก็ยกทัพติดตามเข้ามาตีค่ายปีกกาพระอนุรักษ์พลขันธ์เขมรริมเมืองโปริสาด พวกเขมรได้สู้รบกับญวนอยู่เป็นสามารถ
 ขณะนั้นพระยาเสนาภูเบศร์ให้หลวงเสนาพิทักษ์ หลวงยุทธศักดิ์ หลวงกำจัดศักดา หลวงนา หลวงพล ห้านายคุมไพร่ลาวหัวเมืองออกไปช่วยป้องกันค่ายปีกกาพระอนุรักษ์พลขันธ์เขมร รับรองกองทัพญวนไว้ได้ หาเสียค่ายปีกกาไม่ แล้วพระยาเสนาภูเบศร์ พระยามหานุภาพคุมไพร่พลไทยอยูรักษาค่ายในเมืองโปริสาด แต่พระยาเสนาภูเบศร์กับจมื่นอินทรประภาษ จมื่นเทพศิรินทร และพระหลวงหัวเมืองคุมไพร่พลไทยลาวออกไปตั้งค่ายรับญวนหลังเมืองโปริสาด ได้รบกันกับญวนที่ยกมาข้างหลังเมืองเป็นสามารถ ญวนก็ล่าเลิกถอยไปทั้งหน้าเมืองและหลังเมือง แล้วพระยาเสนาภูเบศร์สืบได้ข่าวว่ากองทัพองเตียนกุนจะยกกองทัพใหญ่ลงมาจากค่ายเมืองกะพงธม จะมาตีทัพไทยหรือจะไปข้างไหนยังไม่รู้แน่ พระยาเสนาภูเบศร์จึงให้จมื่นอินทรประภาษกับหลวงนา พลวงพล คุมไพร่ลาวไทย ๓๖๐ คน ไปสืบข่าวองเตียนกุนได้ข่าวว่า องเตียนกุนมาจากค่ายกะพงธม แล้วยกไปอยู่ ณ เมืองพนมเปญแล้วแต่ ณ เดือนสาม ขึ้นสิบสี่ค่ำ.........”
 ** เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวไม่ผิดว่า หนังสือสัญญาของแม่ทัพญวนค่ายเมืองโปริสาดนั้นเป็นเท็จ องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ญวนก็มากล่าวยืนยันแล้วว่าสัญญานั้นเป็นเท็จ เพราะพวกองญวนเหล่านั้นไม่มีอำนาจทำสัญญาใด ๆ ได้เลย เจ้าพระยาบดินทรเดชาอ่านหนังสือตอบจากองต๋าเตียนกุนจบแล้วก็นิ่งเสียไม่ตอบ และพอดีกับที่กรุงเว้เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระเจ้าเทียวตรีมีท้องตราให้องเตียนกุนเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ในเขมรต่อไป ให้หาองต๋าเตียนกุนกลับกรุงเว้ เพราะได้ข่าวว่าเรือกำปั่นรบฝรั่งเศสจะยกมารบกรุงเว้ กองทัพไทย ญวน ในเขมรเริ่มเคลื่อนไหว องเตียนกุนยกทัพจากกะพงธมไปตั้งอยู่พนมเปญ ทัพไทยถูกญวนรุกไล่จนถอยร่นมาอยู่เมืองโปริสาดทัพหนึ่ง สงครามไทย-ญวน กำลังจะดำเนินต่อไป ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปิ่นมุก, ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๓๙ -
ไทยเคลื่อนทัพเข้าเขมรเป็นหนสาม การสงครามเริ่มใหม่ไม่อาจขืน โปริสาดค่ายเก่าเข้าหยุดยืน เพื่อหยั่งตื้นลึกญวนก่อนชวนตี
สร้างเมืองใหม่ให้องค์ด้วงสำแดงเดช “บันทายเพชร”เป็นหลักสมศักดิ์ศรี ให้เขมรเห็นมาสามัคคี แล้วยินดีกู้ชาติปราศเวียดนาม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เวียดนามผลัดแผ่นดิน สิ้นพระเจ้ามินมาง เทียวตรีราชโอรสขึ้นครองแผ่นดินแทน มีหนังสือสั่งให้องเตียนกุนอยู่คุมกองทัพญวนในเขมรต่อไป ให้องต๋าเตียนกุนกลับกรุงเว้เพื่อเตรียมรับมือฝรั่งเศสที่ทราบว่าจะยกกองทัพเรือกำปั่นมารบกรุงเว้ ส่วนในเขมรนั้น พระยาเสนาภูเบศร์ที่ยกไปตั้งค่ายรักษาเมืองบาลิอยู่ ถูกกองทัพญวนสองกอง ๕,๐๐๐ คนยกเข้าโจมตี เพราะมีกำลังพลน้อยกว่าญวน จึงเผาค่ายทิ้งแล้วล่าถอยมาตั้งอยู่เมืองโปริสาด ญวนยกตามมาตีแต่ก็ไม่สามารถตีค่ายไทยที่เมืองโปริสาดแตกได้ จึงล่าถอยกลับไปสิ้น ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนนั้นได้ยกทัพจากเมืองกะพงธมลงมาอยู่เมืองพนมเปญ เมื่อเดือนสามขึ้นสิบสี่ค่ำแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
องเตียนกุนตระเตรียมทัพใหญ่ไพร่พลถึงสามหมื่น เป็นสามทัพ จะยกมาตีทัพไทย จึงมีใบบอกข้อราชการดังนี้ ให้พันทิพภักดีกับนายพิศาลสรพลนายเวรถือไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวทัพใหญ่ดังนั้นแล้ว จึงปรึกษาหารือด้วยพระยาราชสงคราม และพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล และนักพระองค์ด้วงว่า
 “ซึ่งเราได้ข่าวว่าองเตียนกุนจะยกทัพใหญ่มาอีก และบัดนี้จัดทัพอยู่ ณ เมืองพนมเปญแล้ว เห็นจะคิดการใหญ่อย่างไรก็ยังไม่แจ้ง จะไว้ใจแก่ราชการไม่ได้ จะให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลกับพระยาอร่ามอยู่รักษาเมืองพระตะบอง จะให้พระยาเพชรบูรณ์เป็นแม่ทัพใหญ่ผู้บัญชาการแทนเจ้าพระยานครราชสีมา จะให้จมื่นสรรพเพธภักดี (บุตรเขย) เป็นผู้ช่วยกองทัพพระยาเพชรบูรณ์ด้วย จะให้หลวงนายสิทธิ์ (หลาน) เป็นยกกระบัตรทัพ จะให้พระยาราชสงครามเป็นแม่ทัพหน้า ให้พระราชรองเมืองเป็นผู้ช่วยทัพหน้าคุมกองรามัญพระยาเกียรติด้วย จะให้พระพิเรนทร์เทพเป็นเกียกกาย จะให้พระพรหมบริรักษ์(บุตร) กับพระยาสีหราชเดโชและพระยาบำเรอบริรักษ์ เป็นทัพข้าหลวงกำกับทัพหัวเมืองไทยช่วยหนุนทุกทัพทุกกอง และถือคำสั่งแทนแม่ทัพหลวงด้วย จะให้เจ้ากรมพระตำรวจและปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ เป็นนายทัพปีกซ้ายปีกขวา จะให้พระยาเพทราชากับพระยาประกฤษณุรักษ์ เ ป็นนายทัพช้างกองใหญ่ แต่ให้แยกออกเป็นสี่กอง จะให้พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์แม่กองช้างเมืองนครราชสีมา คุมกองช้างเป็นทัพช้างกองหน้า จะให้พระยาพิบูลย์สมบัติเป็นผู้ตรวจทัพทุกกอง ให้ถือพลเป็นกองหนุนด้วย จะได้ช่วยทุกทัพทุกกองเป็นทัพแซง จะให้พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่าเป็นจเรทัพ”
 ครั้นจัดการทัพพร้อมแล้ว ณ เดือนสี่ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ในปีชวดโทศกนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็พานักพระองค์ด้วงยกลงไปตั้งค่ายที่ตำบลบ้านตึกโขลกที่เคยตั้งค่ายเดิมแต่ก่อนใกล้เมืองโปริสาด ให้พระบุรินทรานุรักษ์กับพระมหาดไทย พระโยธาธิราช กรมการเมืองนครราชสีมา ยกไพร่พลไปลาดตระเวนใกล้เมืองพนมเปญทางเหนือ ให้พระยาปลัดกับพระยายกกระบัตรเมืองเพชรบูรณ์ คุมไพร่พลยกลงไปลาดตระเวนใกล้เมืองพนมเปญข้างใต้ แล้วให้พระยา,พระเขมรคุมไพร่พลเขมรเป็นแปดกอง กองละสองร้อย ให้แยกย้ายกันไปคอยตีกองตระเวนญวน แล้วคอยจับญวนมาสืบถามราชการให้ได้บ้างตามสมควร กิตติศัพท์นั้นก็จะแพร่หลายไปถึงญวน ญวนก็ไม่ก็ไม่อาจยกทัพใหญ่เข้ามาตีอีกเหมือนครั้งก่อน ๆ
ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเกณฑ์ไพร่พลให้ตัดไม้แก่นมาทำเสาค่ายเป็นเมืองใหม่ ให้นักพระองค์ด้วงพักอาศัยอยู่ก่อน ตั้งเมืองใหม่ที่ปะทัยเลือกเหนือเมืองโปริสาดขึ้นไปหน่อยเป็นที่ดอนดี ได้ลงมือปักเสาค่าย ณ เดือนสี่ แรมสิบสามค่ำ ในปีชวดโทศก ยาวไปตามน้ำ ๑๒ เส้น กว้าง ๑๐ เส้น สูง ๕ ศอกคืบ
 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสี่ในปลายปีชวดโทศกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมืองลาวทางตะวันออกฟากแม่น้ำโขงนั้น พระมหาเทพ (ชื่อป้อม) พระราชวรินทร์ (ชื่อขำ) เป็นแม่ทัพไปกวาดต้อนครอบครัวหัวเมืองลาว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองเวียงจันทน์นั้น ก็ยังค้างอยู่ หาสิ้นเชิงไม่ บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งพระยาศรีสหเทพ ให้มีท้องตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าอุปราชและเจ้าราชบุตรเมืองนครหลวงพระบางเป็นแม่ทัพ คุมเจ้าบุตรหลานและไพร่พล ขึ้นไปตีหรือเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวฟากแม่น้ำโขงตะวันออกให้สิ้นเชิง
โปรดเกล้าฯให้พระมหาสงคราม พระหฤทัย พระอภัยสุรินทร์ หลวงนางเสน่ห์รักษา นายฉลองนัยนารถ นายราชาภักดิ์ รวมหกคนเป็นข้าหลวงกำกับทัพเมืองหลวงพระบาง แล้วมีท้องตราให้ข้าหลวงหกนายขึ้นไปถึงพระสุนทรวงศาเจ้าเมืองยโสธรและท้าวพระยาลาว และเกณฑ์ไพร่พลลาวตามหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ให้พระสุนทรวงศาเป็นแม่ทัพ ให้หลวงสง่ากับหลวงราชเสนาและนายสุริยาวุธหุ้มแพรวังหน้ารวมสามนายเป็นข้าหลวงกำกับทัพพระสุนทรวงศาลาว ยกขึ้นไปเกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนลาวตามหัวเมืองฝ่ายฟากฝั่งแม่น้ำโขงทางตะวันออกมาให้สิ้นเชิง ข้าหลวงแปดนายได้กราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพฯ แล้ว แต่ ณ เดือนห้าขึ้นเก้าค่ำ ปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๖๐๓ ปี เป็นปีที่ ๑๘ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งทำเมืองโปริสาดใหม่อยู่นั้น จึงแต่งให้หลวงสุนทรภักดีเขมรลงไปสืบข้อราชการที่ค่ายญวนเมืองพนมเปญ ได้ความว่า องเตียนกุนคิดกับองญวนผู้ใหญ่นายทัพเข้าชื่อกันทำใบบอกไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่ ขอเจ้าหญิงเขมรสามองค์กับนักเทศมารดานักองค์จันทร์ซึ่งอยู่เมืองไซ่ง่อน ขอให้มาอยู่เมืองพนมเปญ เพื่อจะขอเจ้านายฝ่ายเขมรมาล่อพวกเขมรให้เข้าด้วย แล้วขอนักองค์อิ่มและฟ้าทลหะสมเด็จเจ้าพระยาและพระยาสุภาธิราช กับพระยา, พระเขมรผู้ใหญ่ซึ่งต้องจำคุกอยู่ในกรุงเว้นั้น ขอให้ส่งมายังเมืองพนมเปญ จะได้เป็นเชื้อสายล่อน้ำใจพระยา.พระเขมรให้มาเข้าด้วยจะได้คิดการใหญ่ต่อไป
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้แจ้งดังนั้นแล้วจึงคิดว่า
 “ถ้าญวนขอเจ้าหญิงเขมรกับนักพระองค์อิ่มมาได้แล้ว องเตียนกุนก็คงจะนำเจ้านายชายหญิงฝ่ายเขมรมาเชิดชู ตั้งแต่งให้เป็นเจ้าแผ่นดินเขมร แข่งแย่งกันกับนักพระองค์ด้วงขึ้นดั่งนี้แล้ว พระยา,พระเขมรที่ยังรักใคร่นับถือนักพระองค์อิ่มและเจ้าหญิงก็มีบ้าง คงจะไปเข้าข้างฝ่ายญวนบ้าง เหมือนญวนมาแบ่งพระยา,พระเขมรและไพร่พลเขมรไปได้บ้างไม่มากก็น้อย การงานทีเราคิดไว้ก็จะไม่สำเร็จ แต่นักพระองค์ด้วงนี้จะให้อยู่ที่เมืองโปริสาดนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเมืองลึกเข้ามานัก ที่ไหนราษฎรเขมรจะเห็นนักพระองค์ด้วงถนัด จะพากันไปเข้านับถือนักพระองค์อิ่มเสียหมด ฝ่ายไทยก็จะเสียเปรียบญวน”
คิดดังนี้แล้วจึงได้ปรึกษากับนักพระองค์ด้วงว่า
“จะให้นักพระองค์ด้วงไปตั้งวังอยู่ที่เมืองบันทายเพชร พระยา,พระเขมรจะได้เห็นนักพระองค์ด้วงถนัด พวกเขมรจะได้เชื่อว่าเป็นนักพระองค์ด้วงแน่ ๆ มิใช่ผู้อื่นปลอมออกมา ก็จะได้มีความยินดีนิยมนับถือ แล้วก็จะพากันเข้ามาเป็นพาหนะรับอาสาทำราชการกับนักพระองค์ด้วงต่อไป”
 นักพระองค์ด้วงก็เห็นชอบด้วยความคิดท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้พระพรหมบริรักษ์แม่กอง ๑ พระยาสีหราชเดโช ๑ พระยาราชโยธา ๑ พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระรักษ์เสนา ๑ พระโยธาธิราช ๑ พระชนะรณชิต ๑ พระนเรนทรราชา ๑ หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ ๑ หลวงราชโยธาเทพ ๑ พระพิทักษ์เทพธานีปลัดกรุงเก่า ๑ พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑ หลวงศรีรณรงค์เมืองนครราชสีมา ๑ รวมนายทัพนายกอง ๑๓ นาย คุมพระยา พระ หลวง หัวเมืองไทยลาวและไพร่พลลาวเขมรป่าดง ๕,๐๐๐ คน กับให้พระยา, พระเขมรที่รักษานักพระองค์ด้วง ๑๘ คน ไพร่พลเขมรที่รับอาสาในนักพระองค์ด้วงมี ๕,๐๐๐ คน รวมไพร่พล ๑๐,๐๐๐ ให้พระพรหมบริรักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้พระยาสีหราชเดโชเป็นแม่ทัพหน้า ให้พระยาราชโยธาเป็นผู้ช่วยทัพหน้า ให้พระยาบำเรอบริรักษ์เป็นนายทัพหลัง คุมไพร่พลรวมหมื่นหนึ่ง ยกจากเมืองโปริสาด แต่ ณ เดือนหกขึ้นเก้าค่ำ ปีฉลู ตรีศก เดินกองทัพใหญ่ไปแปดวันก็ถึงเมืองบันทายเพชร ณ เดือนหก แรมค่ำหนึ่ง พระพรหมบริรักษ์สั่งให้พระยาสีหราชเดโชเป็นแม่กอง คุมนายทัพนายกองและไพร่เขมรตัดไม้ถางที่ ทำการตั้งเมืองให้นักพระองค์ด้วงพักอยู่ แต่ให้ทำเป็นทำเนียบอยู่ก่อน ได้ตั้งทำเนียบและค่ายที่เมืองอุดงคฦๅไชย ซึ่งเป็นที่อยู่เก่าของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมรแต่ครั้งก่อน ครั้งนี้ได้ตั้งทำเนียบกระดานจะทำบ้านเมืองใหม่ ห่างกับเมืองบันทายเพชรห้าสิบเส้น......”
 จะว่า “เป็นสงครามจิตวิทยาชิงประชาชน” ก็ดูเหมือนจะว่าได้นะ องเตียนกุนจะขอเจ้าเขมรจากเว้ ไซ่ง่อน มาอยู่พนมเปญ เพื่อให้ชาวเขมรไปเข้ากับฝ่ายญวน เจ้าพระบดินทรเดชาก็รีบชิงความได้เปรียบไปสร้างเมืองให้นักพระองค์ด้วงประทับ ณ เมืองบันทายเพชร เพื่อให้ชาวเขมรรู้เห็นกันมาก ๆ จะได้พากันเขามาเป็นพวก จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ข้าวหอม, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๐ -
ญวนตั้ง“นักองมี”สตรีเขมร เพื่อโดดเด่นกัมพุชนุชสยาม เจ้าแผ่นดินหญิงเขมรให้เห็นงาม เรียกร้องความศรัทธาประชาชน
แต่เขมรมากหน้าพากันเฉย เพราะญวนเคยคิดระยำทำปี้ป่น ฆ่าองแป้นเจ้าหญิงทิ้งหนึ่งคน ยังคิดปล้นชาติเขมรไว้เว้นวาย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้จัดกองทัพไทยพร้อมแล้ว จึงนำพานักพระองค์ด้วงยกจากเมืองพระตะบอง เดินทัพมาตั้งที่ค่ายเดิมเมืองโปริสาด ดำเนินการสร้างวังที่ประทับให้นักพระองค์ด้วงพร้อมกับให้ขุนนางเขมรไปสืบข่าวองเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ ได้ข่าวมาว่าแม่ทัพใหญ่ญวนทำหนังสือขอตัวเจ้าหญิงเขมรจากไซ่ง่อนและนักพระองค์อิ่มพร้อมขุนนางเก่าเขมรจากกรุงเว้มาอยู่เมืองพนมเปญ เพื่อเป็นการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้ชาวเขมรเข้าร่วมกับฝ่ายญวนมากขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงปรึกษากับนักพระองค์ด้วงว่าควรให้พระองค์ไปประทับ ณ เมืองบันทายเพชร อันเป็นจุดเด่นให้ชาวเขมรเห็นพระองค์เป็นเจ้าแผ่นดินเขมรตัวจริงที่พระเจ้ากรุงสยามทรงแต่งตั้งมาปกครองประเทศกัมพูชา เมื่อนักพระองค์ด้วงเห็นชอบด้วย จึงจัดกองทัพยกไปพร้อมกับนักพระองค์ด้วง ถึงบันทายเพชรแล้วเร่งจัดสร้างพระราชวังที่ประทับนักพระองค์ด้วงทันที พร้อมกับกระจายข่าวให้แพร่ไปในสังคมชาวเขมรได้ทราบโดยทั่วกัน วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......
 ฝ่ายเจ้าเมืองไซ่ง่อนได้รับท้องตราบังคับมาแต่กรุงเว้ว่าให้ส่งเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์ กับนักมารดาพระองค์ด้วง มายังเมืองพนมเปญ เมื่อเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์มาถึงเมืองพนมเปญแล้ว องเตียนกุนก็สั่งให้ญวนและเขมรปลูกตำหนักให้เจ้าหญิงอยู่หมู่หนึ่งหลายหลัง แล้วองเตียนกุนจึงตั้งนักองมีเจ้าผู้หญิงเขมรเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร แล้วนำดวงตราของนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชามามอบให้นักองมี ทั้งพระขรรค์ไชยศรีสำหรับกรุงกัมพูชามาให้นักพระองค์มีเจ้าแผนดิน นักพระองค์มีเจ้าแผ่นดินจึงตั้งขุนนางผู้ใหญ่ที่อัครมหาเสนาบดีครบที่ คือ ตั้งเจ้าฟ้าทลหะ ๑ สมเด็จเจ้าพระยา ๑ เจ้าพระยาราชไมตรี ๑ พระยาจักรี ๑ พระยากลาโหม ๑ แล้วตั้งพระยา,พระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยขึ้นครบตามตำแหน่ง แล้วองเตียนกุนแต่งหนังสือเขมร ทำเป็นหนังสือประกาศของเจ้าแผนดินเขมรผู้หญิงหลายฉบับ ให้ขุนนางเขมรใหม่ ๆ ไปเที่ยวแจกจ่ายให้พระยา,พระเขมรเก่า ๆ ทุกบ้านทุกเมือง เป็นการเกลี้ยกล่อมให้เข้ามาอาสาเจ้าแผ่นดินผู้หญิง ช่วยรบกับไทย ให้ได้บ้านเมืองเป็นสิทธิ์แก่เจ้าหญิง เพื่อจะแย่งชิงแผ่นดินเขมรกับนักพระองค์ด้วงผู้เป็นอา ฝายพระยา, พระเขมรเก่า ๆ ก็ไม่มีผู้ใดเข้ามาสวามิภักดิ์กับเจ้าหญิงสักคนเดียว เพราะรู้เท่ารู้ทันว่าญวนล่อลวง
 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่า องเตียนกุนแม่ทัพญวนตั้งเจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิง เจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิงก็ตั้งแต่งเสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยขึ้นเต็มตามตำแหน่งแล้ว จึงสั่งให้นักพระองค์ด้วงตั้งแต่งขุนนางผู้น้อยผู้ใหญ่ที่สมัครมาเข้าด้วยเท่าใดก็ตั้งให้เต็มตามตำแหน่งบ้าง เป็นการแข่งแย่งแผ่นดินเขมรกันขึ้นทั้งอาและหลาน ครั้งนั้นแผ่นดินเขมรแยกออกเป็นสองแห่ง มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ มีข้าราชการเต็มตามตำแหน่งทั้งสองฝ่าย เรียกว่าแผ่นดินเขมรฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ พวกนักพระองค์มีเจ้าหญิงเป็นฝ่ายใต้ พวกนักพระองค์ด้วงเป็นฝ่ายเหนือ
 ฝ่ายพระพรหมบริรักษ์จึงปรึกษากับนักพระองค์ด้วงว่า “คราวนี้ญวนจัดการล่อลวง เกลี้ยกล่อมเขมรหัวเมืองทุกเมืองนั้น เราจะไว้ใจแก่ข้าศึกไม่ได้ ควรจะต้องจัดทัพให้พระยา,พระ,หลวง ฝ่ายไทย กับพระยา,พระเขมร เป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พลไปป้องกันรักษาเขตแดนด่านทางไว้ให้มั่นคงก่อน กว่าเราจะคิดการใหญ่ได้” นักพระองค์ด้วงก็เห็นชอบด้วย แล้วรับสั่งให้พระยา, พระเขมรตระเตรียมการให้เสร็จโดยเร็ว จึงให้พระยามโนราชาสุนทรคุมไพร่เขมรไปรักษาด่านปากทางประตูป่า ให้พระยาเสน่หาไมตรีคุมไพร่เขมรไปรักษาทางดงโสน ให้พระสุนทราธิราชวงศา หลวงพิพิธเสนา คุมไพร่พลไปรักษาทางด่านปราจีนไพรแวง ให้พระนรินทรานุรักษ์กับหลวงพิทักษ์ภูธร คุมไพร่เขมรไปรักษาด่านจีนทางพนมศก ให้พระศรีเสนาราชมนตรีกับหลวงภักดีสุนทร คุมไพร่เขมรอยู่รักษาปากคลองสะโดงสามแยก ให้ตั้งค่ายมั่นเป็นสามารถรับญวน
 ฝ่ายพระพรหมบริรักษ์จัดพระยา,พระ,หลวงฝ่ายไทยไปกำกับพระยา,พระเขมรคุมไพร่พลเขมรไปรักษาด่านทางและหัวเมืองเขมรทุกแห่งแต่ที่เป็นช่องของเขมรฝ่ายใต้จะเข้ามาได้นั้นหลายแห่ง ให้หลวงนราโยธีกำกับพระยาเสนานุชิตเขมร ไปรักษาทางด่านพระกำแพง ให้หลวงอนุรักษ์ภักดีกำกับพระยาเสน่หาสุนทรเขมร ไปรักษาด่านจะเรามุกพระกำแพง ให้หลวงพินิจโยธากำกับพระยานราธิราชวงศาเขมร ไปรักษาด่านดงโสฬศ ให้พระเสนาภิมุขกำกับพระยาราชสุนทราธิบดีเขมร ไปรักษาทางจิกวงด่านใหญ่ ให้พระยามหาบุรีรมย์กำกับพระยามโนสุนทรเขมร ไปรักษาทางไพรพนม ให้หลวงราชเสวกกำกับพระยาเสนาราชกุเชนทร์เขมรกับพระภักดีสุนทรเขมร ไปรักษาเมืองกำพงเสียม ให้หลวงฤทธานนท์กำกับพระยาประสิทธิ์สงครามเขมร ไปรักษาเมืองเชิงไพร ให้พระยาอร่ามกำกับพระเยาเดโชภักดีเขมรกับพระยามนตรีเสน่หาเขมร ไปรักษาเมืองบาราย ให้พระยาอภัยสงครามกำกับพระยาเดโชชัยสุนทรเขมร ไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บ้านอินทรกุมาร ให้พระยาเพชรปาณีกับพระอินทรรักษาตำรวจวังหน้า กำกับพระยาราชมานุเทพเขมร ไปรักษาเมืองสะโทง ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีกับพระพรหมธิบาล กำกับพระยาอนุภาพไตรภพเขมรและพระสงครามฤทธิรงค์เขมร ไปรักษาเมืองชิแครง ให้พระยาณรงค์ฤทธิโกษาแขกจามกับหลวงทวยหาญ กำกับพระยาพิมุขวงศาเขมรและพระนเรนทรโยธาเขมร หลวงราชนรินทรเขมร ไปช่วยป้องกันรักษาเมืองกำปอด ให้พระภิรมย์ราชากับหลวงสุนทรวังหน้า กำกับพระยาฤทธิสำแดงเขมรไปรักษาเมืองกำพงโสม ให้พระยาทิพมณเฑียรวังหน้ากับพระยาพระรามรามัญและหลวงอินทรสมบัติวังหน้า หลวงพิพิธสมบัติวังหน้า หลวงยกกระบัตรเมืองฉะเชิงเทรา หลวงมหาดไทยเมืองนครนายก รวมข้าหลวงหกนายกำกับพระยาวิบูลยราชเขมร และพระอนุรักษ์วงศาธิราชเขมร หลวงสุนทรนุกิจเขมร หลวงราชพิทักษ์เขมร หลวงมหาสงครามเขมร ขุนสุนทรสงครามแขกจามเขมร รวมขุนนางเขมรหกนาย รวมนายทัพไทยและเขมร ๑๒ นาย คุมไพร่พลเขมรและลาว ๕,๐๐๐ ยกไปปักทำนบปิดคลองขุดใหม่ของญวน ปรารถนาจะไม่ให้ทัพญวนนำเรือรบบรรทุกเสบียงอาหารและกระสุนดินดำมาส่งยังเมืองพนมเปญได้ เพื่อจะได้ตัดกำลังการศึกของญวน
 ฝ่ายองโปโหแม่ทัพญวนที่เมืองโจดก ก็ยกกองทัพญวนห้าพันกับเขมรด้วยสามพัน รวมเป็นไพร่พล ๘,๐๐๐ คน ก็ยกมาตีกองทัพไทยและเขมรฝ่ายเหนือซึ่งปิดทำนบคลองขุดใหม่อยู่นั้น ได้รบกันเป็นสามารถสี่วัน กองทัพไทยและเขมรที่ตั้งปิดทำนบนั้นก็แตกไปสิ้น เพราะญวนมีเรือรบเรือป้อมมาก ก็นำปืนใหญ่มายิงไทย ไทยก็แตกหนีไปหมด ญวนก็ทำลายล้างรื้อทำนบเสียทั้งสี่แห่ง ไม่ให้เป็นที่กีดขวางหนทางเรือรบญวน ญวนก็ตั้งค่ายใหญ่ที่ปากคลองขุดใหม่ถึงแปดค่าย เพื่อจะรักษาทางน้ำไว้ไม่ให้ไทยยกมาปิดคลองต่อไปได้ และองโปโหก็ให้องตือคุมไพร่พลมาลาดตระเวนจับเขมรฝ่ายเหนือไปได้ ๓๖ คน และจับได้หลวงภักดีสงครามเขมรกับขุนหมื่นไทยสี่คนไปด้วย เพราะญวนนำทัพมาเข้าไล่จับ จึงได้จับไปได้ทั้งนายเวรกรมตำรวจวังหน้า ๒ นาย........
 ** ถึงตอนนี้เขมรมีพระเจ้าแผ่นดินสององค์ แยกแผ่นดินเป็นเขมรฝ่ายเหนือมีนักพระองค์ด้วงเป็นเจ้าแผ่นดิน เขมรฝ่ายใต้มีนักพระองค์มีเป็นเจ้าแผ่นดินหญิง แผ่นดินเขมรดังกล่าวนี้ไม่เกี่ยวกันกับเขมรฝ่ายในคือเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองศรีโสภณ และพิหาร ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของสยาม การรบยกแรกเริ่มขึ้นที่คลองขุดใหม่ ไทยคุมเขมรไปทำการปิดคลองไม่ให้เรือรบญวนบรรทุกเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์มาส่งเมืองพนมเปญ องญวนแม่ทัพที่เมืองโจดกยกทัพมารบไล่ไทยเขมรแตกหนีกระเจิง เพราะมีพลมากว่า มีอาวุธดีกว่า คือปืนใหญ่จากเรือรบขนาดใหญ่ แม่ทัพญวนคนนี้ชื่อน่ากลัวว่า “องโปโห” ยกแรกไทย-เขมรพ่าย ญวน-เขมรเป็นฝ่ายชนะ ยกต่อไปรออ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๑ -
องค์อิ่มมาพนมเปญเชิดเป็นเจ้า หวังคนเข้ารองบาทไม่ขาดสาย แต่เขมรขุนนางทั้งไพร่นาย พากันบ่ายหน้าหนีไม่มีมอง
พนมเปญเกิดโรคไข้โขกช้ำ ของกินเล่าข้าวน้ำขาดซ้ำสอง เขมรญวนป่วนปั่นพากันร้อง ด้วยปากท้องอดยากมากเหลือทน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... องเตียนกุนตั้งแต่งนักองค์มีเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิงครองพนมเปญ เจ้าระยาบดินเดชาตั้งแต่งให้นักพระองค์ด้วงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรผู้ชายครองเมืองบันทายเพชร พระพรหมบริรักษ์ปรึกษากับนักพระองค์ด้วงตั้งแต่งนายทัพนายกองรักษาด่านทางและหัวเมืองเขมรฝ่ายเหนือรับมือเขมรฝ่ายใต้ที่จะยกมาตีแย่งแผ่นดิน สั่งให้ไทยร่วมกับเขมรไปทำการลงเขื่อนปิดคลองที่ญวนขุดใหม่ ป้องกันไม่ให้ญวนใช้เรือรบบรรทุกเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งยังเมืองพนมเปญได้ องโปโหแม่ทัพญวนเมืองโจดกยกทัพเรือมาไล่ตีกองกำลังไทย-เขมรที่ปิดกั้นคลองนั้นแตกพ่ายไปสิ้น แล้วตั้งค่ายมั่นรักษาลำคลองไว้ วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ....
ครั้งนั้นเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์กับนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงและนักพระองค์จันทร์ด้วย ก็มีหนังสือใช้ให้อ้ายมีกับอ้ายสาเขมรบ่าวคนสนิท ถือเล็ดลอดมาให้นักพระองค์ด้วงใจความว่า
 “เจ้าหญิงทั้งสามกับนักมารดาอยู่ในบังคับญวนหามีความสุขไม่ อยากจะใคร่หนีญวนมาอยู่กับนักพระองค์ด้วงผู้เป็นบุตรและอาว์ ขอให้นักพระองค์ด้วงแต่งขุนนางพระยา,พระเขมรไปรับเจ้าหญิง เจ้าหญิงจะหนีมาอยู่ด้วยในเมืองบันทายเพชร”
นักพระองค์ด้วงจึงได้ปรึกษากับพระพรหมบริรักษ์ และพระยา,พระเขมรเห็นว่า ไม่ใช่กลอุบายญวนใช้ให้เจ้าหญิงมีหนังสือมา เห็นว่าเจ้าหญิงเขมรจะอยากหนีมาจริง เพราะอยู่กับญวนญวนก็บังคับกดขี่ทุกอย่าง ครั้งนั้นพระยา,พระเขมรฝ่ายเหนือก็ขันแข่งเข้ารับอาสาจะไปพาเจ้าหญิงมาให้ได้
ครั้งนั้นพอพระยาวังภูมิเขมรกับพระศรีสุนทรเขมรซึ่งเข้าประจบประแจงญวนอยู่นั้น ได้รู้ความว่าเจ้าหญิงทั้งสามองค์จะหนีไปหาไทย พระยาวังภูมิกับพระศรีสุนทรก็เข้าไปกระซิบบอกกับองเตียนกุนแม่ทัพญวน แม่ทัพญวนรู้แล้วก็ให้ขุนนางญวนระวังพิทักษ์รักษาเจ้าหญิงไว้โดยสามารถแข็งแรงยิ่งกว่าเก่า แล้วองเตียนกุนว่ากับเจ้าหญิงทั้งสามองค์ว่า
“ถ้าครั้งนี้มีเหตุขึ้นว่าจะหนีไปหาไทยหรือใช้หนังสือไปหาไทย ญวนจับได้ชำระเป็นสัจแล้วจะไม่พูดจาอะไรต่อไปเลย เป็นอันจะต้องฆ่ากันเท่านั้นเอง ไม่มีการปรานีแล้ว เพราะชุบเลี้ยงตั้งแต่ใหญ่โตถึงขาดนี้แล้ว”
 ฝ่ายพวกพระยา,พระเขมรข้างฝ่ายนักพระองค์ด้วงนั้นก็ตั้งกองทัพอยู่ในที่ต่าง ๆ ๑๑ กอง กองละ ๑,๐๐๐ บ้าง กองละ ๘๐๐ บ้าง กองละ ๖๐๐ บ้าง กองละ ๕๐๐ บ้าง กองละ ๓๐๐ บ้าง ตั้งทัพเหมือนกองโจรเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง และทางด่านทางทุ่งป่าทุกช่องทุกทางคอยตีทัพญวน และคอยจับญวนกองตระเวนและเขมรฝ่ายใต้พวกญวนด้วย ถ้าเขมรเห็นญวนยกมาน้อยคนแล้ว เขมรก็ยกเข้าสู้รบกับญวน ฆ่าญวนเสียบ้าง จับญวนมาเป็นเชลยบ้าง ถ้าญวนยกมามากกว่าเขมร เขมรก็หลบหลีกหนีเข้าป่าไป ถ้าญวนยกมาติดตามเขมร เขมรก็ยิงด้วยหน้าไม้และปืนไฟ ยิงไปถูกญวนล้มตายดังนี้เนือง ๆ เสมอไป แล้วเขมรก็จับญวนเป็นเชลยมาส่งกับนักพระองค์ด้วง นักพระองค์ด้วงก็ให้รางวัลแก่พระยา,พระเขมรและไพร่เขมรที่จับญวนส่งมานั้น ถ้าเขมรจับญวนมาได้มากก็ให้รางวัลผู้จับญวนมานั้นถึงคนละตำลึง ถ้าจับญวนมาได้น้อยก็ให้รางวัลผู้จับมานั้นคนละบาท พวกเขมรจับญวนชายหญิงมาส่งให้นักพระองค์ด้วงได้ญวนชายหญิงถึง ๓,๐๐๐ เศษ นักพระองค์ด้วงก็แต่งขุนนางไทยและขุนนางเขมรคุมญวนเชลยเข้ามาส่งกรุงเทพมหานครเนือง ๆ เป็นจำนวนญวนเชลย ๓,๐๐๐ เศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีจัดญวนเชลยส่งไปไว้ที่เมืองกาญจนบุรีบ้าง เมืองพระพิษณุโลกบ้าง เมืองนครสวรรค์บ้าง และหัวเมืองฝ่ายเหนือต่าง ๆ บ้าง ถ้าเป็นญวนเข้ารีตฝรั่งเศสก็ให้ไปอยู่กับญวนเข้ารีตฝรั่งเศสที่เข้ามาครั้งปีมะเส็งนั้น ให้รวมกันอยู่ที่บ้านญวนเข้ารีต ณ ริมวัดส้มเกลี้ยงเหนือวัดสมอราย ให้อยู่ในกรมพระวิเศษสงครามฝรั่งเข้ารีตได้ว่ากล่าวใช้งาน
ฝ่ายพระยา,พระเขมรหัวเมืองที่มีไพร่พลมากเป็นกองทัพใหญ่ ก็ยกไปเที่ยวตีหัวเมืองใหญ่น้อยซึ่งญวนตั้งรักษาอยู่นั้น เขมรกับญวนได้สู้รบกันเนือง ๆ จนญวนหย่อนกำลังลงทุกที จะต่อสู้เขมรไม่ได้ ญวนก็ต้องรวบรวมไพร่พลอยู่เป็นหมู่เป็นกองพวกมาก ๆ
ครั้น ณ เดือนสิบสองขึ้นหกค่ำในปีฉลูตรีศกนั้น จ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนมีหนังสือมาถึงองเตียนกุนแม่ทัพเมืองพนมเปญใจความว่า
 “เสนาบดีกรุงเว้มีตราบังคับส่งนักองอิ่มเขมรกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายคนให้ส่งไปให้องเตียนกุน องเตียนกุนก็ให้พระยาพระเขมรปลูกเรือนหลังหนึ่งให้นักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรผู้ชายอยู่ ให้อยู่หมู่เดียวกันกับเจ้าหญิงเขมรผู้หลาน ที่หมู่เรือนเจ้าเขมรชายหญิงอยู่นั้นเรียกชื่อว่า “สามตำแก้ว” แล้วองเตียนกุนจึงให้นักพระองค์อิ่มทำหนังสือเขมรเป็นการบอกว่านักพระองค์อิ่มกลับมาเป็นเจ้านายอยู่ ณ เมืองพนมเปญแล้ว ใช้ให้พระ,หลวง,ขุนหมื่น คุมไพร่พลเขมรแยกย้ายกันไปหลายกอง ให้ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมพระยา,พระเขมรหัวเมืองทุกแห่งทุกตำบล พระหลวงขุนหมื่นเขมรผู้ถือหนังสือไปนั้น ครั้นไปแล้วก็ไม่มีผู้ใดกลับมาหานักพระองค์อิ่มเลยแต่สักคนหนึ่ง กลับไปเข้ากับนักพระองค์ด้วงเสียทั้งสิ้น พระพรหมบริรักษ์และนักพระองค์ด้วงจึงได้ทราบกิจการบ้านเมืองพนมเปญฝ่ายญวนได้ทั้งสิ้นโดยละเอียด”
 เมื่อ ณ เดือนสิบเอ็ดปีฉลูตรีศกนั้น เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเขมรครั้งหนึ่ง แต่ไหวนิดหน่อยหาสู้จะรู้สึกทั่วกันไม่ ในเดือนสิบเอ็ดนั้นเกิดความไข้ต่าง ๆ ขึ้นที่เมืองพนมเปญ ไพร่พลญวนและเขมรในเมืองพนมเปญเป็นโรคบิดบ้าง โรคไข้จับสั่นบ้าง โรคลมพิษให้ฟกบวมแล้วเปื่อยพังทั่วทั้งกายกลายเป็นพิษ รวมเป็นโรคภัยไข้เจ็บสี่อย่างนั้นชุกชุมมาก เบียดเบียนไพร่พลญวนตายมากหลายร้อยคน ในเมืองพนมเปญครั้งนั้นขัดสนเสบียงอาหารข้าว,ปลา,เกลือ ยิ่งนัก ราคาข้าวสารถังหนึ่งคิดเป็นเงินไทยถังละห้าบาท เกลือถังละสองบาท ปลาสวายตัวละบาท ปลาใบไม้ตัวละสลึง กล้วย,ส้ม ผลละเฟื้อง อดอยากทั้งญวนทั้งเขมรฝ่ายใต้ ญวนจะออกจากเมืองพนมเปญไปเที่ยวหาหน่อไม้ไผ่ป่าและหัวกลอย เผือก มัน ในป่ากินแทนข้าวบ้าง เขมรฝ่ายเหนือก็คอยจับเป็นบ้างฆ่าตายเสียบ้างเนือง ๆ จนญวนเข็ดขยาด ไม่อาจจะออกนอกเมืองได้ พวกเขมรในเมืองพนมเปญที่เป็นพวกเข้ากับญวนนั้นก็อดอาหารอยู่ไม่ได้ ต้องหนีญวนออกมาหาพวกเขมรฝ่ายเหนือพวกนักพระองค์ด้วงเนือง ๆ ทุกวัน ฝ่ายญวนก็ตั้งกองจับ ถ้าจับได้ก็ฆ่าเสียบ้าง เฆี่ยนเสียบ้าง เขมรก็ไม่เข็ดหลาบ หนีออกมาเสมอ เพราะความอดอยากอาหารจะอยู่ในเมืองไม่ได้ ครั้งนั้นเขมรพวกนักพระองค์ด้วงก็ขัดสนเสบียงอาหารเหมือนกัน เพราะไม่ได้ทำนามาหลายปี ด้วยบ้านเมืองมีแต่การทัพศึกกันเสมอ ราษฎรทำนาปรังบ้างก็ไม่พอกิน แต่ว่าพวกนักพระองค์ด้วงอยู่ที่กว้าง เป็นทำเลป่าดงมีมาก ก็เที่ยวหาหน่อไม้และหัวกลอย เผือก มัน รากไม้กินได้เสมอ พอมีกำลังเป็นยาวะชีวังกันตายไปได้ทั้งไทยและเขมรคราวนั้น.......”
 ** ญวนส่งนักองค์อิ่มจากกรุงเว้กลับมาให้องเตียนกุนตั้งเป็นเจ้าเขมรช้าไปหรืออย่างไร จึงปรากฏว่า พระ,หลวง,ขุนหมื่นเขมรที่องเตียนกุนให้ถือหนังสือที่ให้นักองค์อิ่มเขียนชักชวนพระยา พระเขมรหัวเมืองต่าง ๆ มาเข้ากับตนนั้น พระหลวงขุนหมื่นเหล่านั้นถือหนังสือออกจากเมืองพนมเปญไปแล้วหาย(เข้ากลีบเมฆฟ้าองค์ด้วง) ไปหมดสิ้น ไม่มีใครกลับมาหานักองค์อิ่มเลยสักคนเดียว แสดงว่าเขมรฝ่ายใต้นั้นส่วนใหญ่ไม่ชอบญวน ไม่สมัครใจจะอยู่กับญวนแล้ว พวกเขาเชื่อถือไว้วางใจไทยมากกว่าญวน ยามนี้ญวนพนมเปญกำลังเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บและขาดเสบียงอาหาร ที่สำคัญคือขาดศรัทธาเชื่อถือจากชาวเขมร ค่อยมาอ่านเรื่องนี้กันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 องเตียนกุนดื่มยาฆ่าตัวตาย : ละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๑๔๒ -
ญวนยอมถอยปล่อยละแดนเขมร พนมเปญดินว่างร้างอีกหน องเตียนกุนแม่ทัพอายอับจน จึงกินยาฆ่าตนพ้นเวรกรรม
แม่ทัพไทยได้ท่าพาองค์ด้วง เดินเลยล่วงแดนดินถิ่นสูงต่ำ พนมเปญเป็นอู่อยู่ประจำ ตั้งหลักทำศึกญวนไม่รวนเร |
อภิปราย ขยายความ ................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... กองทัพขนาดย่อม ๆ ของเขมรฝ่ายเหนือจับญวนเป็นเชลยส่งให้นักพระองค์ด้วงได้ไม่เว้นแต่ละวัน พระองค์ด้วงก็ให้คนนำส่งกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปไว้ที่เมืองกาญจนบุรีบ้าง เมืองพิษณุโลกบ้าง เมืองนครสวรรค์บ้าง หัวเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายเหนือบ้าง ส่วนญวนที่เข้ารีตฝรั่งเศสก็ให้อยู่รวมกันที่ญวนเก่าวัดส้มเกลี้ยง (ราชผาติการาม) ต่อมาญวนได้ส่งนักองค์อิ่มมาให้องเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ องเตียนกุนให้ปลูกตำหนักอยู่รวมกันกับองค์มี องค์เภา องค์สงวน เรียกหมู่เรือนนี้ว่า “สามตำแก้ว” แล้วให้นักองค์อิ่มเขียนหนังสือประกาศให้พระยาพระเขมรทุกบ้านทุกเมืองรู้ว่า ตนได้กลับมาเป็นเจ้านายเขมรอยู่ที่พนมเปญแล้ว และมอบหนังสือประกาศนั้นให้พระ หลวง ขุนหมื่นเขมรถือไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมรหัวเมือง ปรากฏว่าไม่มีพระยาพระเขมรคนใดสนใจมาเข้าด้วยนักองค์อิ่ม ซ้ำพวกพระ หลวง ขุนหมื่นที่ถือหนังสือประกาศไปนั้น ก็ไม่มีใครกลับมาหานักองค์อิ่มเลยสักคนเดียว เพราะพวกเขาไปเข้ากับนักพระองค์ด้วงหมดทั้งสิ้น ได้เกิดแผ่นดินไหวในเมืองพนมเปญเล็กน้อยแล้วเกิดความไข้ต่าง ๆ ขึ้นในเมือง ไพร่พลญวนป่วยตายหลายร้อยคน แล้วตามด้วยเกิดข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองอดอยากพากันหนีออกจากเมืองพนมเปญมาก วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
 “ฝ่ายองเตียนกุนจึงมีใบบอกข้อราชการที่อดอยาก และรี้พลเป็นไข้ล้มตายมากเนือง ๆ ขึ้นไปยังกรุงเว้ พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีองค์ใหม่จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีมีท้องตราบังคับสั่งองเตียนกุนให้ทิ้งเมืองเขมรเสีย แล้วให้กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเขมร และให้พาพระองค์อิ่มและเจ้าผู้หญิงเขมรอพยพไปตั้งอยู่เมืองโจดก ครั้นองเตียนกุนได้รับท้องตรามาถึง ณ เดือนสิบสองแรมค่ำหนึ่ง องเตียนกุนจึงสั่งให้นายทัพนายกองญวนรื้อค่ายที่จะโรยจังวา คือแหลมปลาสร้อย และรื้อค่ายที่กะพงธม คือค่ายท่าน้ำอันใหญ่ และรื้อค่ายเมืองพนมเปญด้วยทุกค่าย ให้กวาดต้อนครอบครัวแขกจามพันสี่ร้อย แขกชวาสี่ร้อย เขมรเข้ารีตฝรั่งเศสหกร้อย เขมรพื้นบ้านพื้นเมืองสี่พันเศษ แล้วให้ทำแพบรรทุกช้างไปแพละสี่เชือกบ้าง หกเชือกบ้าง รวมเป็นช้าง ๖๘ เชือก ม้า ๒๐๐ เศษ โคกระบือพันเศษ ก็บรรทุกแพไป กับปืนใหญ่สำหรับเมืองก็บรรทุกแพไปเหมือนกัน แล้วให้องลำบิน และองทำตานเป็นแม่ทัพเรือทั้งสองกอง ให้เรือรบทั้งสองกองป้องกันครอบครัวและแพช้างม้าโคกระบือลงไปส่งจนถึงเมืองโจดกแต่ ณ เดือนสิบสองแรมเก้าค่ำ
 ครั้น ณ เดือนสิบสองแรมสิบเอ็ดค่ำ องเตียนกุนก็พานักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรผู้ชายกับเจ้าหญิงสามองลงไปยังเมืองโจดก ครั้นองเตียนกุนถึงเมืองโจดกแล้วก็มีความเสียใจยิ่งนัก ด้วยว่าได้รับอาสาต่อพระเจ้าเวียดนามมินมางองค์ก่อนว่า จะคิดรบตีเมืองเขมรให้เป็นสิทธิ์แก่ญวน ให้ได้ตลอดทั้งแผ่นดินเขมรมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเว้ ครั้นการไม่สมคิดสมหมายดังที่กราบทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ก่อนไว้นั้น ครั้นพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่ก็ทรงติเตียนองเตียนกุน องเตียนกุนต้องตำหนิ และต้องถูกคาดโทษภาคทัณฑ์ องเตียนกุนเป็นขุนนางผู้ใหญ่แล้วก็มีอายุมากถึงห้าสิบแปดปี เมื่อถูกตำหนิติเตียนดังนั้นแล้ว ก็ได้ความอายแก่เพื่อนข้าราชการขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยด้วยกันมาก เมื่อองเตียนกุนถึงเมืองโจดกได้สองวันก็กินยาตายเสียในเมืองโจดก องย่าลันบินผู้บุตรได้จัดการฝังศพบิดาที่เมืองเว้ ตามธรรมเนียมขุนนางผู้ใหญ่ที่เมืองหลวง
 ครั้งนั้นมีท้องตรามาแต่กรุงเว้ ให้องทำตานที่สององเตียนกุน เป็นแม่ทัพใหญ่แทนองเตียนกุน ให้องตาโดเป็นที่สององทำตาน องทำตานจึงให้องเดดกโปกับนักพระองค์อิ่มเขมรเป็นนายทัพคุมไพร่ญวนห้าพัน ไพร่เขมรห้าพัน รวมคนหมื่นหนึ่ง ยกลงไปตีเมืองป่าสักปากน้ำพระตะพัง ฝ่ายพระยาพระตะพังกับพระยาทิศวงศาธิราชเจ้าเมืองป่าสักเห็นญวนมาล้อมเมืองมาก คิดจะต่อสู้ญวนก็ไม่ได้ เพราะไพร่พลน้อยและปืนใหญ่ก็ไม่มีด้วย จึงเห็นว่าจะสู้รบญวนไม่ได้แล้ว จึงให้พระสุนทรวิบูลย์ไปบอกกับนักพระองค์อิ่มว่า
“พระยาเขมรเจ้าเมืองป่าสักไม่สู้รบ จะขอเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้านักพระองค์อิ่มสืบต่อไป”
นักพระองค์อิ่มกับองเดดกโปก็จัดให้องหาตีนายทัพญวนคุมไพร่พลญวนพันหนึ่งเข้ารักษาเมืองป่าสัก แล้วนักพระองค์อิ่มและองเดดกโปก็คุมไพร่พลญวนและเขมรกลับมาอยู่ ณ เมืองโจดกพร้อมด้วยเจ้าหญิงหลานทั้งสามองค์ อยู่วังเดียวกันในเมืองโจดก ครั้งนั้นแผ่นดินเขมรฝ่ายใต้เป็นของนักพระองค์อิ่มสิบเมืองคือ เมืองกรังเกรียกกราด ๑ เมืองตึกเขมา ๑ เมืองมวนสอ ๑ เมืองอุบล ๑ เมืองมัดจะรุก ๑ เมืองป่าสัก ๑ เมือพระตะพัง ๑ เมืองอุทัย ๑ เมืองไพรธม ๑ เมืองกำพงตึก ๑ เป็นเมืองเขมรทั้ง ๑๐ หัวเมือง ทั้ง ๑๐ หัวเมืองมีพระยา พระเขมรและไพร่พลเมืองเขมรมากทุกเมือง แต่เมืองเขมรฝ่ายเหนือของนักพระองค์ด้วงมากกว่า ๕๕ เมืองใหญ่ ๆ มีไพร่พลก็มาก
 ครั้งนั้นพระเจ้าเวียดนามองค์ใหม่ มีรับสั่งโปรดให้ถอดฟ้าทลหะเขมร ๑ สมเด็จเจ้าพระยา ๑ เจ้าพระยาราชไมตรี ๑ พระยาจักรี ๑ พระยากลาโหม ๑ พระยาสุภาธิราช ๑ พระยามหาธิราช ๑ พระยามหาเทพ ๑ รวมแปดคน ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่เก่าที่พระเจ้าเวียดนามมินมางพระราชบิดาให้จำคุกไว้ในกรุงเว้แต่ก่อนนั้น โปรดให้พ้นโทษ แล้วพระราชทานเครื่องราโชปโภคสำหรับยศพระยาเขมรผู้ใหญ่ทั้งแปดคนเป็นอันมาก แล้วให้ลงมาอยู่ ณ เมืองโจดกช่วยราชการนักพระองค์อิ่ม คิดจัดการบ้านเมืองเขมรให้นักพระองค์อิ่มได้เป็นเจ้าแผนดินเขมรให้ได้ ฝ่ายพระยาพระเขมรคนเก่าที่ออกจากเวรจำแล้วทั้งแปดคนนั้น ก็กราบทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีองค์ใหม่ว่า
“จะคิดอ่านคืนแผ่นดินเขมรทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระเจ้าเวียดนามให้ได้โดยอุบายสติปัญญาทั้งแปดคน”
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบว่า องเตียนกุนแม่ทัพญวนพานักพระองค์อิ่มและครอบครัวเขมรกับพวกญวนยกเลิกไปจากเมืองพนมเปญหมดแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกทัพใหญ่พร้อมด้วยพระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองเดินทัพลงไปถึงเมืองอุดงคฦๅไชย ณ เดือนอ้ายแรมสี่ค่ำ เจ้าพระยาบดินเดชาเห็นว่า ที่ทำเนียบนักพระองค์ด้วงตั้งอยู่ที่เมืองอุดงคฦๅไชยจะตั้งเป็นบ้านเมืองไม่ชอบกล เพราะเป็นที่ดอนนัก จึงมีบัญชาสั่งให้พระยาณรงคเสนีเขมรคุมไพร่เขมรพันคนไปถางที่ตำบลพระยาฦๅ ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ข้างตะวันออก ทางจะไปเมืองบันทายเพชรห้าสิบเส้น ห่างจากเมืองพนมเปญประมาณห้าร้อยเส้น ที่ตำบลพระยาฦๅไชยเป็นที่ชัยภูมิดี ควรจะเป็นเมืองใหม่ได้ ครั้นภายหลังเจ้าพระยาบดินทรเดชาลงเรือรบไปตรวจตามลำน้ำพนมเปญตลอดแล้ว จึงเห็นว่าที่ตำบลฦๅไชยจะสู้ที่เมืองพนมเปญไม่ได้ ที่เมืองพนมเปญเป็นแผ่นดินอุดมด้วยต้นไม้ผลไม้ดังสวน แล้วก็เป็นชัยภูมิดียิ่งนัก เพราะทางรวมมีทางน้ำใหญ่เป็นแม่น้ำหลายแควมาบรรจบที่เมืองพนมเปญ ถ้าตั้งเมืองให้นักพระองค์ด้วงที่นั้น เห็นว่าพอจะฟังราชการทัพศึกได้รอบตัวทั้งข้างตะวันออกตะวันตกและข้างเหนือข้างใต้ได้โดยเร็ว เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดดังนั้นแล้ว จึงพานักพระองค์ด้วงยกลงไปเมืองพนมเปญ ตั้งอยู่ในเมืองพนมเปญโดยผาสุกสวัสดิภาพ เพราะว่าญวนทิ้งเมืองพนมเปญไปนั้น ญวนไม่ได้รื้อบ้านเผาเมือง เมืองจึงยังปรกติดีอยู่........”
 ** ไม่น่าเชื่อว่าขุนศึกผู้ฮึกหาญอย่างองเตียนกุนจะใจน้อย ถูกตำหนิติเตียนจากเบื้องบนแล้วน้อยใจจนถึงกับกินยาฆ่าตัวตาย ตอนนี้ญวนปลดปล่อยนักองค์อิ่มจากเครื่องจองจำทีกรุงเว้ให้กลับมาเป็นเจ้านายเขมรฝ่ายใต้แล้วยังไม่พอ ได้ถอดเครื่องจองจำพระยาเขมรผู้ใหญ่ที่พระเจ้ามินมางจำไว้ในคุกกรุงเว้นั้น ให้ออกมาช่วยนักพระองค์อิ่มอีกด้วย ญวนใช้เมืองโจดกเป็นที่พักพิงของนักองค์อิ่ม เป็นเขมรพลัดถิ่นกอบกู้แผ่นดินญวน เจ้าพระยาบดินเดชาจึงนำพานักพระองค์ด้วงยกลงมายึดเมืองพนมเปญเป็นหลักกอบกู้แผ่นดินเขมร ฝ่ายนักพระองค์ด้วงจึงได้เปรียบนักองค์อิ่มทุกประตู ไว้ค่อยมาอ่านเรื่องกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, ชลนา ทิชากร, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๓ -
พระราชดำริดำรัสจัดการทัพ ทรงกำชับเจ้าพระยาฯอย่าหันเห เห็นแล้วฝ่ายญวนเริ่มซวนเซ จงทุ่มเทแรงคิดพิชิตพลัน
จะเกณฑ์พลคนใต้ก็ได้นะ ทุกทัพกะเกณฑ์แต่งอย่างแข็งขัน พนมเปญเป็นศูนย์กลางทางสำคัญ ไปตั้งมั่นรบญวนจนมีชัย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีได้รับใบบอกที่องเตียนกุนกราบทูลเรื่องราวในเมืองเขมร เฉพาะที่พนมเปญว่าเกิดโรคภัยร้ายแรง ขัดเสบียงอาหาร ไพร่พลอดอยากล้มตาย ดังนั้น จึงมีท้องตราบังคับให้องเตียนกุนทิ้งเมืองเขมรเสีย ให้พานักองค์อิ่มกับเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์ และกวาดต้อนครอบครัวเขมรไปไว้ ณ เมืองโจดก องเตียนกุนดำเนินการตามท้องตราบังคับนั้น ครั้นไปถึงเมืองโจดกได้สองวันก็ตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย เพราะน้อยใจ อับอายขุนนางใหญ่น้อย หลังจากถูกพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีตำหนิติเตียน ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นเมื่อทราบว่าองเตียนกุนยกออกจากพนมเปญไปพ้นเขตแดนเขมรแล้ว จึงยกจากค่ายเมืองโปริสาดไปบันทายเพชร เห็นว่าอุดงคฦๅไชยไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองใหม่ของนักพระองค์ด้วง จึงให้ไพร่พลช่วยกันถางที่บริเวณบ้านฦๅไชยเพื่อสร้างเมืองใหม่ ครั้นได้ลงเรือสำรวจไปทั่วบริเวณแล้ว เห็นว่าเมืองพนมเปญมีชัยภูมิดีที่สุด จึงตกลงใจให้นักพระองค์ด้วงไปประทับ ณ เมืองพนมเปญ วันนี้มาอ่านเรื่องราวต่อไปครับ....
“ครั้นยกไปอยู่เมืองพนมเปญแต่ ณ เดือนยี่ขึ้นหกค่ำแล้ว ก็มีใบบอกข้อราชการที่เมืองเขมรว่า
“ญวนทิ้งเมืองพนมเปญไปแล้ว และได้ให้นักพระองค์ด้วงลงไปตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ กับให้พระยาราชสงครามและพระยาเสนาภูเบศพระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา ลงไปช่วยจัดการบ้านเมืองพนมเปญให้นักพระองค์ด้วงรักษาบ้านเมืองด้วย”
ใบบอกนี้ให้หลวงเสนาภักดีกับหลวงนาเมืองปราจีนบุรีถือเข้ามายังกรุงเทพฯ เจ้าพนักงานนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบออกไปว่า
 “บัดนี้องเตียนกุนแม่ทัพก็เลิกทัพไปจากเมืองพนมเปญหมดแล้ว เมืองพนมเปญนั้นก็เป็นสิทธิ์อยู่กับนักพระองค์ด้วงแล้ว ถ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะคิดอ่านกับนักพระองค์ด้วงใช้ให้นายทัพนายกองไปปักทำนบปิดคลองขุดใหม่ของญวนเสียให้เป็นตอน ๆ แล้วคิดถมคลองขุดใหม่เสียก่อนให้ตื้น อย่าให้เรือรบญวนไปมาทางในคลองได้ กับเมื่อทำการถมคลองขุดใหม่นั้นคิดจัดการป้องกันให้ดี อย่าให้ญวนกลับมารื้อทำนบเลิกถอนขุดขนมูลดินให้เป็นคลองต่อไปได้ ญวนก็จะสิ้นกำลังไปมาทางเรือไม่ได้ กับพวกญวนซึ่งตั้งรักษาเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกเมืองใหม่ทาเสา ก็จะขาดกระเด็นอกเป็นสองท่อน หาต่อติดกับเมืองล่องโห้และเมืองสะมิถ่อและเนื่องมาแต่เมืองไซ่ง่อนได้ไม่ ฝ่ายเราก็จะได้ให้กองทัพเขมรไปทำการก่อการบกับญวนที่เมืองโจดกได้ถนัด ถ้าทัพเรือไทยตีเมืองบันทายมาศคราวนี้ เห็นว่าเมืองบันทายมาศจะตั้งอยู่สู้รบมิได้ ถ้าและว่าทัพเรือไทยทำแก่เมืองบันทายมาศยับเยินอีกครั้งนี้ ญวนที่ในเมืองโจดกก็จะหวั่นหวาดนัก ทัพบกทัพเรือไทยจะได้ระดมกันตีเมืองโจดกอีกครั้งหนึ่งลองดู เห็นว่าถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเขมรเห็นเป็นที่ได้เปรียบก็จะมีน้ำใจกล้าหาญแข็งแรงขึ้นพร้อมกัน ก็จะมาช่วยไทยรบตีญวนคืนบ้านเมืองให้เจ้านายมัน หรือไม่เช่นนั้น เขมรก็จะคิดทำศึกกับญวนโดยการแก้แค้นทดแทนเจ้านายมันด้วย ถ้าการรวมพร้อมกันดังนี้แล้ว ที่ไหนญวนจะตั้งอยู่สู้ไทยได้เล่า ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตรึกตรองคิดทำศึกให้ได้ตามที่ทรงพระราชดำริมานี้
อนึ่งซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาขอให้ทรงพระกรุณาแต่เรือรบเรือรบเรือกำปั่น ออกไปลาดตระเวนทางทะเลให้ถึงที่เกาะด่านใกล้เมืองบันทายมาศและเมืองปากน้ำญวน เพื่อจะให้เป็นการถ่วงหลังทัพญวน ให้ญวนพะว้าพะวังเป็นห่วงหน้าหลังกังวลหลายทาง ไทยจะได้ทำแก่ญวนถนัดนั้น ข้อนี้ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุรักษ์โยธาเจ้ากรมหกเหล่าเป็นแม่กองคุมเรือกำปั่นแกล้วกลางสมุทรลำหนึ่ง บรรทุกข้าวสารกล้องห้าสิบเอ็ดเกวียน เกลือแปดเกวียนกับหกสิบถัง แลละกับข้าวปลาเค็มของดองของแห้งมีมาพร้อมให้มาส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา จะให้พระอนุรักษ์โยธาส่งที่เมืองไหน ที่ตำบลใด เท่าใด ก็ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือไปนัดหมายพระอนุรักษ์โยธาเถิด กับได้เกณฑ์เจ้ากรมปลัดกรมอาสาจาม ให้คุมไพร่พลแขกจาม ลงเรือรบศีรษะป้อมหกลำ เรือกำปั่นไล่สลัดสี่ลำรวมสิบลำ รวมนายไพร่แขกจามห้าร้อยห้าสิบสองคน มีสรรพเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำพร้อม ให้พระอนุรักษ์โยธาแม่กองคุมออกมาบรรจบกับเรือรบ กองลาดตระเวนเก่าที่เมืองจันทบุรีและเมืองตราดซึงหลวงเดชะกองอาสาจามในพระราชวังบวรฯ ออกมาลาดตระเวนอยู่ ๗ ลำแล้ว รวมเป็นเรือรบเล็กลาดตระเวนอยู่ที่เกาะกงหน้าเมืองตราด ๑๗ ลำด้วย แล้วได้มีตราบัวแก้วบังคับกรมการเมืองจันทบุรีและเมืองตราดให้จัดเรือรบอย่างญวนที่มีอยู่ ณ เมืองจันทบุรีและเมืองตราด ๑๒ ลำนั้น ให้ออกมาสมทบกับเรือลาดตระเวนใหญ่ ๑๗ ลำ รวมเป็น ๒๙ ลำ แต่ขอให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาส่งพระยาณรงค์ฤทธิโกษาแขกจามในพระราชวังบวรฯ ๑ กับพระนเรนทร์ฤทธิสำแดงแขกจามในพระราชวังบวรฯ ๑ คนทั้งสองนี้อยู่ในกองทัพเมืองเขมรแล้ว ให้ส่งออกมาเป็นแม่กองเรือรบเล็ก ๆ ลาดตระเวนให้ถึงเมืองญวนตามชายทะเล ด้วยพระยาราชวังสันแม่กองอาสาจามนั้นจะให้ออกใปลาดตระเวนไม่ได้ เพราะจะให้จัดเรือรบเป็นทัพเรือออกไปครั้งหลัง ได้ให้พระอนุรักษ์โยธายกออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ เดือนสิบเอ็ดแรมสิบเอ็ดค่ำ ในปีฉลูตรีศกนั้นแล้ว แต่พระอนุรักษ์โยธาได้ออกไปก่อนหนังสือบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามานี้แล้วหลายวัน
เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นวาควรจะจัดทัพเรือออกไปอีกทัพหนึ่งก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพรพลหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ยังไม่ได้รับราชการศึกญวนนั้น ให้เป็นทัพหญ่ออกช่วยกันระดมตีญวนให้สำเร็จเสียสักคราวหนึ่ง ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งใจพากเพียรตีญวนให้สำเร็จเสร็จเสียในปีนี้เถิด บัดนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยูหัวทรงระมหากรุณาพระราชทายพระบรมราชวโรกาส พระบรมราชานุญาตให้เจ้าพระยาบดินทรเดชามีช่องโอกาสใหญ่หาที่สุดมิได้ว่า ถ้าท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะเกิดความคิดใหม่ หรือจะเห็นการทัพศึกที่จะมีชัยชนะแก่ญวนอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ก็อย่าให้ระแวงระวังกลัวจะมีความผิดเหลือเกินเลย หรือจะเป็นที่พระราชตำหนิและเป็นการติเตียนของข้าราชการบางจำพวกนั้น ขออย่าให้คิดอย่างนี้เลย เพราะการบำรุงบ้านเมืองและข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรแผ่นดินสยามนี้ เป็นพระราชธุระของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยูหัว จึงทรงมอบพระราชประสงค์ให้สิทธิ์ขาดแต่ในเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดเห็นการงานอย่างไรดีแล้วก็ให้รีบมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาโดยเร็ว จะไม่ทรงรังเกียจเลย แล้วพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทุกพนักงานจัดการให้ถูกต้องตามใจเจ้าพระยาบดินทรเดชาทุกประการ”
 จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่อเกษ) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น ถือท้องตราออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา แล้วพระราชทานผ้าแพรจีนสีต่าง ๆ สามสิบม้วน ผ้าสักหลาดสีต่าง ๆ ๒๐ พับ กับผลไม้แห้งมาแต่เมืองจีน และขนมแห้งต่าง ๆ ออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย......”
** สงคราม “อานามสยามยุทธ” ยกสุดท้ายกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว คราวนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ทรงมีพระราชดำริและดำรัสแผนการรบ เสมือนทรงออกสู่สนามรบด้วยพระองค์เอง ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ทำการรบแทนพระองค์ และทรงพระราชดำรัสให้เผด็จศึกญวนให้เสร็จสิ้นเสียโดยเร็ว เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับท้องตราพระราชโองการมีความดังแสดงข้างต้นแล้ว ท่านแม่ทัพใหญ่จะทำประการใดต่อไป ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ตุ้ม ครองบุญ, ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๔ -
ทรงขัดเคืองทัพลาวตะวันออก อาสาบอกจะตีลาวเอามาให้ ทุกบ้านเมืองลาวต้องเป็นของไทย แต่แล้วได้ลาวมาพันกว่าคน
จึ่งภาคทัณฑ์ทำโทษให้งดกลับ อยู่โยงจับลาวให้ได้หลายหน ป้องกันญวนรุกล้ำทุกตำบล ให้อยู่จนประจวบครบขวบปี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดการทัพเพื่อรบญวนอีกครั้งตามความในพระราชดำริที่มีท้องตรามานั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับทราบท้องตราแล้วจะดำเนินการอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราดังนี้แล้ว จึงมีใบบอกตอบมอบให้จมื่นประธานมณเฑียร ที่ไปกับเจ้าหมื่นเสมอใจราชนั้นถือกลับเข้ามากรุงเทพฯ ใจความว่า
 “ซึ่งโปรดเกล้าฯพระราชทานบรมราชานุญาตออกไปนั้น เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ซึ่งโปรดเกล้าฯ จะให้ถมคลองขุดใหม่ของญวนนั้น คงจะต้องทำตามพระราชกระแสรับสั่งทุกประการ แต่บัดนี้ญวนยังตั้งค่ายรายอยู่ตามริมฝั่งคลองขุดถึง ๑๙ ค่าย มีไพร่พลญวนรักษาค่ายอยู่ถึงค่ายละสองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง สี่ร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง รวมไพร่พลญวนประมาณสองสามหมื่นเศษ แต่กองลาดตระเวนญวนมาเที่ยวลาดตระเวนระวังด่านทางกองหนึ่งถึงร้อยคนบ้าง หกสิบคนบ้าง อนึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาก็ป่วย กลับไปรักษาตัวยังบ้านเมืองยังไม่หาย จึงได้แต่งให้พระยาเพชรบูรณ์นาหมื่นเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการต่อไป สติปัญญาฝีมือพระยาเพชรบูรณ์ก็มีบ้าง พอจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณไปได้ แต่เป็นคนแก่ชรา หาสู้จะมีอำนาจข่มขี่นายทัพนายกองไม่ กับวาสนาก็เป็นแค่พระยานาหมื่นหัวเมือง จึงต้องเจียมตัวว่าไม่ใช่เสนาบดี กับมีชนมายุศม์มากอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นพระยา,พระ,หลวง,นายทัพนายกองกรุงเทพฯ จึงไม่สู้จะยำเยงเกรงกลัวเหมือนเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นคนไม่รู้จักเกรงกลัวผู้ใดเลย ที่สุดจนชั้นเจ้านายเสนาบดีในกรุงเทพฯ ก็ไม่เกรงใจ ไม่อ่อนน้อมยอมฝากตัวกลัวใครเลย ถือแต่ว่าทำราชการโดยตรง ๆ และแกล้วกล้าฝ่าข้าศึกป้องกันพระราชอาณาเขตให้เรียบร้อยดีอยู่ แล้วก็กินอิ่มนอนหลับหาความวิตกแก่พระราชอาชญาไม่ คนชนิดนี้หายากที่สุด เสียดายนักที่ป่วยอยู่ มารับราชการฉลองพระเดชพระคุณไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า เจ้าพระยานครราชสีมาป่วยนั้น เหมือนจักษุขวาและแขนขวาของข้าพระพุทธเจ้าพิการไปฉันนั้น บัดนี้ไม่มีแม่ทัพผู้ใหญ่เต็มอำนาจที่จะคุมทัพลงไปทำราชการทัพศึกแก่ญวน จึงได้ขอพระราชทานท่านเสนาบดีผู้หนึ่งผู้ใดออกมาเป็นแม่ทัพบกคุมทัพยกลงไป แต่พอเป็นคนมีวาสนามากสักคนหนึ่ง
อนึ่งซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้มีทัพเรือเป็นเป็นกองทัพใหญ่ลงไปตีทางทะเล เข้าทางเมืองบันทายมาศนั้น ถ้าตีเมืองบันทายมาศได้แล้ว ทัพเรือจะได้ยกเข้าบรรจบกับทัพบก ช่วยกันตีค่ายญวน ๑๙ ค่ายตามริมคลองขุดใหม่ให้แตกไปโดยเร็ว แล้วจะได้ช่วยกันระวังป้องกันทัพญวนไม่ให้ยกมาอีก กองทัพไทยจะได้ถมคลองขุดได้โดยสะดวก แต่เจ้าหมื่นเสมอใจราชบุตรข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานไว้ใช้สอยเป็นนายทัพนายกองช่วยพระพรหมบริรักษ์ด้วย ถ้าการศึกสงครามเบาบางลงเมื่อใด จึงจะให้พระพรหมบริรักษ์หารือเจ้าหมื่นเสมอใจราชกลับเข้าไปรับราชการ ณ กรุงเทพฯ สักคนหนึ่ง จะขอไว้เป็นเพื่อนบิดาคนหนึ่ง
อนึ่งที่เมืองเขมรเดี๋ยวนี้ข้าวเกลือเสบียงอาหารกันดารขัดสนยิ่งนัก ถ้ากองทัพเรือกองใหญ่จะออกไปอีกนั้น ขอพระราชทานให้บรรทุกข้าวเกลือเสบียงอาหารออกไปส่งที่เมืองกำปอดด้วย จะได้ให้พระยา,พระเขมรรับเสบียงอาหารขึ้นไปจำหน่ายจ่ายแจกให้ไพร่พลไทย,ลาว,เขมรที่อดอยาก จะได้รับพระราชทานเป็นกำลังราชการทำศึกแก่ญวนต่อไป จะให้พระยา,พระเขมรตั้งรับอยู่ที่ท่าตะเคียนแขวงเมืองกำปอด ขอให้ทัพเรือนำเรือเล็ก ๆ ลำเลียงเสบียงอาหารไปส่งให้พระยาอุทัยธิราชเขมร แม่กองโคต่างมาคอยรับอยู่นั้นแล้ว”
พระบาทสมเด็จพรพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้จมื่นสมุหพิมานถือออกไปใจความว่า
 “ซึ่งจะให้ทรงจัดท่านเสนาบดีผู้ใดออกไปเป็นแม่ทัพบกนั้น ทรงพระราชดำริเห็นไม่มีตัวที่จะเป็นแม่ทัพไปต่อรบกับญวนได้ นอกจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยานครราชสีมาแล้ว ก็ไม่มีใครจะเป็นแม่ทัพบกได้ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฝึกหัดพระพรหมบริรักษ์ และเจ้าหมื่นเสมอใจราช ผู้บุตรทั้งสองให้เป็นแม่ทัพไปรบกับญวนให้ได้แล้ว ก็จะได้เป็นวิชาชำนิชำนาญการทัพศึกติดตัวต่อไปภายหน้า เมื่อจะถึงที่มียศศักดิ์ใหญ่จะได้รอบรู้วิชาแทนบิดาต่อไป กับให้ว่ากล่าวพระยาเพชรบูรณ์ว่าอย่าท้อแท้เป็นใจหญิงหาควรไม่ ให้ตั้งใจทำราชการทัพศึกให้องอาจแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า จึงจะสมควรที่เป็นเชื้อสายสืบตระกูลมาจากเจ้าพระยาพระคลังประตูจีนกรุงเก่า จะได้มีชื่อเสียงปรากฏในจดหมายเหตุตามวงศ์ตระกูลของพระยาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นวงศ์สืบมาแต่เสนาบดีกรุงเก่าโน้น ข้อที่ว่าแก่ชรานั้นก็ได้ประมาณอายุดูเห็นว่าไม่สู้แก่กว่าเจ้าพระยานครราชสีมาสักกี่ปีนัก เต็มมากก็เพียงหกปีเจ็ดปี หรืออย่างเอกก็ราวสักสิบปีเป็นที่สุด พอจะทำการแทนเจ้าพระยานครราชสีมาได้ ให้ตั้งใจทำการให้ดีจะพระราชทานยศให้เป็นเจ้าพระยาเพชรบูรณ์คู่กันกับเมืองโคราชเพราะเป็นพระยานาหมื่นอยู่แล้ว จึงพระราชทานพานทองคำกลมอย่างเจ้ารองล่วมหมวกออกไปให้พระยาเพชรบูรณ์ ๑ พาน เพื่อเป็นการกะหมายหรือปักกรุยไว้ให้รู้ตัวว่าแล้วจะพระราชทานเลื่อนยศให้เป็นเจ้าพระยาเหมือนกัน”
 ฝ่ายที่กรุงเทพฯนั้น เมื่อ ณ เดือนอ้าย ปีฉลู ตรีศกนั้น ได้รับหนังสือบอกของเจ้าอุปราชราชบุตรเมืองนครหลวงพระบาง และข้าหลวง ๘ นายกรุงเทพฯ คือ พระมหาสงคราม ๑ พระหฤทัย ๑ พระอภัยสุรินทร์ ๑ หลวงนายเสน่ห์รักษา ๑ นายฉลองนัยนารถ ๑ นายราชาภักดิ์ ๑ หลวงงำเมือง ๑ หลวงราชเสนา ๑ บอกลงมาว่า
“ได้เกณฑ์กองทัพไพร่พลเมืองนครพนม เมืองกาฬสินธุ์ เมืองสกลนคร เมืองหนองหาน เมืองชัยภูมิ รวมห้าเมือง ได้ไพร่พล ๓,๓๐๐ คน ให้พระหฤทัยกับนายฉลองนัยนารถเป็นข้าหลวงกำกับทัพเจ้าอุปราชหลวงพระบาง และเจ้านายบุตรหลานหกคน แสนท้าวพระยาลาว ท้ายเพี้ยเป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พล ๓,๓๐๐ คน ยกไปทางเมือเสงกะทางหนึ่ง
แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองท่าอุเทน ๑ เมืองไชยบุรี ๑ เมืองสกลนคร ๑ เมืองแสนปาง ๑ รวม ๔ เมืองเป็นไพร่พลลาว ๓,๓๐๐ คน ให้พระอภัยสุรินทร์กับนายราชาภักดิ์เป็นข้าหลวงกำกับท้าวเถื่อนบุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์ กับท้าวไข่หลานเจ้าอุปราชหลวงพระบาง และท้ายเพี้ยแปดนายคุมไพร่พลลาว ๓,๓๐๐ คน ยกไปทางกระปองทางหนึ่ง
แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองหนองคาย เมืองภูเวียง เมืองมุกดาหาร เมืองบุรินทร์ รวมสี่เมืองเป็นไพร่พล ๓,๓๐๐ คน ให้หลวงแพ่งเมืองพิชัยกับขุนทิพยสมบัติในกรุงเทพฯ เป็นข้าหลวงกำกับพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายและท้าวเพี้ยหกนาย คุมไพร่พลลาว ๓,๓๐๐ คน ยกไปทางเมืองชีรายทางหนึ่ง
 แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองเขมราฐ เมืองอุบลราชธานี เมืองขึ้นกับเมืองนครพนม รวมไพร่พลลาว ๓,๕๐๐ คน ให้พระยายกกระบัตรเมืองพิชัยกับขุนอักษรในกรุงเทพฯ เป็นข้าหลวงกำกับท้ายเขม ท้าวแรดบุตรอุปราชหลวงพระบางและท้ายเพี้ยแปดนาย คุมไพร่พล ๓,๕๐๐ คน ไปทางเมืองสาดด้านตะวันออกทางหนึ่ง ศิริรวมไพร่พลลาวทั้งสี่ทัพเป็นคน ๑๐๐ คน มีไพร่พลไทยกับข้าหลวงกองละร้อยบ้าง สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง รวมไพร่พลไทยทั้งสี่กองแปดร้อยคน รวมทั้งลาวและไทย ๑๔,๓๐๐ คน แต่พระมหาสงครามกับหลวงนายเสน่ห์รักษาข้าหลวงผู้ใหญ่ทั้งสองคน คุมไพร่ไทยเมืองพิชัยและในกรุงเทพฯ สี่ร้อยคนตั้งค่ายอยู่ที่เมืองนครพนมเพื่อจะคอยรับครอบครัวลาว และจะได้ป้องกันรักษาเมืองด้วย แม่ทัพนายกองทั้งสี่ทัพได้ยกข้ามแม่น้ำโขงไปฟากตะวันออก แต่ ณ เดือนห้า ปีฉลู ตรีศกนั้นแล้ว กองทัพทั้งสี่ได้ยกเข้าตีเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองพืน เมืองระนอง เมืองเชียงร่ม เมืองเชียงปราน เมืองบุง เมืองพระบาง เมืองเหล่านี้ไม่ต่อสู้อยู่รบเลย พาครอบครัวอพยพหนีเข้าป่าไปสิ้นทุกเมือง แม่ทัพนายกองได้แต่งให้นายทัพนายกองลาวไปเที่ยวกวาดต้อนครอบครัว ครัวก็นำปืนยาหน้าไม้และปืนไฟยิงพวกที่ไปติดตามล้มตายเนือง ๆ ถ้าผู้ที่ไปติดตามพากันไปมาก พวกครัวก็หลบหนีเข้าซอกห้วยหุบเขาเสียหมด ครั้นไปน้อยคน ครัวก็ออกมาต่อสู้โดยเข้มแข็ง ครั้นแต่งลาวท้าวเพี้ยที่รู้จักภาษาพวกลาวตะวันออกนั้นให้ไปเกลี้ยกล่อมก็ได้ครอบครัวมาบ้าง ที่นายทัพนายกองตามไปจับมาได้บ้าง รวมครัว ๑,๑๗๗ คน ได้ช้างพลาย ๒๖ เชือก ช้างพัง ๔๖ เชือก รวมช้าง ๗๒ เชือก ได้ม้า ๓๖๗ ม้า ได้โคกระบือ ๑,๖๕๐ แต่ตายเสียบ้าง แต่เงินทองของใช้สอยและเครื่องศาสตราวุธหาได้ไม่ เพราะเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยยากจน ตั้งอยู่ในป่าดงเหมือนบ้านชาวไร่ ครั้นจะแต่งให้นายทัพนายกองยกไปตีต้อนกวาดครัวลาวต่อไปอีก ก็เห็นพร้อมกันว่าครอบครัวลาวพวกนี้ก็จะพากันหนีไปอยู่ในเขตแดนหัวเมืองญวนที่ญวนเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองเสียทั้งสิ้น ได้ครัวแต่ ๑,๑๗๗ คน เท่านี้นั้น พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ นายทัพนายกองไทยลาว แต่บ้านเล็กเมืองน้อยที่ตีได้นั้น ก็ได้นำไฟจุดเผาบ้านเรือนเสียหมดทุกตำบล เพื่อจะมิให้ญวนมาอาศัยต่อไปได้”
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความตามหนังสือบอกเจ้าอุปราชราชบุตรและข้าหลวงดังนั้นแล้วก็ทรงขัดเคืองยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราราชสีห์ตอบขึ้นไปใจความว่า
“เจ้าอุปราชราชบุตรรับอาสาว่าจะไปตีบ้านเมืองลาวฟากแม่น้ำโขงข้างตะวันออก และว่าจะตั้งเกลี้ยกล่อมพวกลาวพวน ลาวลื้อ ลาวตะวันออกแม่น้ำโขงแม่น้ำงึมต่อแดนญวนมาให้สิ้นเชิงนั้น จึงได้มีท้องตราขึ้นไปกะเกณฑ์ผู้คน ๑๓,๕๐๐ คนให้ไปตีกวาดต้อนครอบครัวลาว ก็ได้มาแต่ ๑,๑๗๗ คนเท่านี้ ไม่สมแก่เป็นทัพใหญ่มีไพร่พลมากถึงหมื่นเศษ เจ้าอุปราชราชบุตรต้องพิพาทอยู่ในโทษศึก แต่จะภาคทัณฑ์ไว้ไว้ครั้งหนึ่งก่อน ทั้งแม่ทัพนายกองหลวงพระบางและกรุงเทพฯ แปดนายที่ขึ้นไปด้วยนั้น ยกโทษให้คราวหนึ่งก่อนด้วยกันทั้งไทยและลาว ให้ทำราชการแก้ตัวต่อไปให้ได้ลาวฟากแม่น้ำโขงมาให้ได้อีกมาก ๆ จึงจะพ้นโทษ ให้เจ้านายหลวงพระบางและข้าหลวงแปดนายไทย ตั้งรั้งรออยู่ฟากแม่น้ำโขง ทำเป็นการปี ให้แต่งนายทัพนายกองเที่ยวลอบจับครัวให้เสมออย่าหยุดได้ ถ้าเห็นว่าครัวลาวออกจากป่ามาทำไร่นาที่ทุ่งที่ป่า ก็ให้กองทัพหลวงพระบางคอยจับครัวส่งมาให้สิ้นเชิง อย่าให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายญวนได้เลย และอย่าให้เป็นทางท่าส่งเสบียงอาหารแก่พวกญวนต่อไปได้ ให้คิดตัดกำลังญวนให้หยุดเพราะจับพวกลาวนี้”
โปรดให้พระยานรานุกิจมนตรีจางวางกรมพระสุรัสวดีในพะราชวังบวรฯ ขึ้นไปกำกับข้าหลวงแปดนายจัดการเก็บครัวลาวฝั่งแม่น้ำโขง......
วันนี้ปล่อยเรื่องยาวให้อ่านกันจนเบื่อเลยนะครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ตุ้ม ครองบุญ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) - อานามสยามยุทธ ๑๔๕ -
แม่ทัพใหญ่ไทยป่วยด้วย “ไข้จับ” ขอแม่ทัพช่วยด่วนคิดถ้วนถี่ “เจ้าพระยายมราช”เสนาบดี เป็นคนที่ควรแทนพระยาบดินทร์
จึงโปรดเกล้าฯสนองคำร้องขอ จัดทัพต่อเรือควรปราบญวนสิ้น “เจ้าฟ้าน้อย”นำพาทัพนาวิน เข้าเหยียบดินแดนญวนที่ควรทำ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... กองทัพเจ้าอุปาชราชบุตรนครหลวงพระบางมีใบบอกรายงานข้อราชการทัพศึกที่ได้ยกทัพไปเที่ยวตีกวาดต้อนลาวตามหัวเมืองตะวันออก พบว่ามีแต่บ้านเล็กเมืองน้อยเป็นลาวยากจน กวาดค้นผู้คนมาได้เพียงพันเศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคือง เพราะมีท้องตราไปให้เกณฑ์กองทัพเป็นไพร่พลถึงหมื่นเศษ แต่ได้เชลยลาวมาพันเศษ ไม่คุ้มค่าการลงทุน จึงสั่งภาคทัณฑ์ลงโทษให้ตั้งกองทัพทำการเป็นแรมปี คอยจับลาวที่ออกจากป่ามาทำไร่ทำนา ป้องกันมิให้เป็นกำลังแก่ญวนต่อไปได้ วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
“ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ ณ เมืองเขมร จึงมีหนังสือบอกให้หลวงฤทธานนท์ถือเข้ามากรุงเทพฯ ใจความว่า
 “ซึ่งจะโปรดส่งเสบียงอาหารที่เมืองกำปอดนั้น ก็ได้แต่งให้พระยา,พระเขมรคุมโคต่างและช้างมาคอยรับอยู่แล้ว กับที่ทรงพระกรุณาโปรดฯจะให้ถมคลองขุดใหม่ของญวนนั้น ได้ตระเตรียมการไว้พร้อมแล้ว แต่ยังไม่มีแม่ทัพใหญ่ที่จะบัญชาการทัพศึก เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ป่วยเป็นไข้จับสั่น ให้คลื่นเหียนอาเจียนแน่นหน้าอกเป็นกำลัง รับพระราชทานอาหารได้มื้อละช้อนหนึ่งบ้างสองช้อนบ้าง พระยาเพชรบูรณ์ก็ป่วยตา พระพรหมบริรักษ์ก็เป็นเด็กจะไว้ใจแก่ราชการทัพศึกก็ไม่ได้ ขอพระราชทานเจ้าพระยายมราช (ชื่อบุญนาก) ออกมา จะได้ช่วยกันคุมพระยา,พระ,หลวง เป็นแม่ทัพใหญ่ไปทำการถมคลองขุดใหม่ ถ้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจ้าพระยายมราชเสนาบดีออกมาแล้ว จะได้ให้เป็นผู้บัญชาการแล้วจะให้นักพระองค์ด้วง ๑ พระพรหมบริรักษ์ ๑ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี ๑ พระยาราชโยธา ๑ พระพรหมธิบาล ๑ พระอินทราธิบาล ๑ เป็นหกคนด้วยกัน ยกลงไปเป็นทัพหนุนเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพใหญ่ แล้วจะให้พระยาราชสงคราม ๑ พระยาเพชรปราณี ๑ พระราชรองเมือง ๑ พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระยาอัษฎาเรืองเดช ๑ พระยาบริรักษ์ราชา ๑ รวมหกคน เป็นทัพหน้าของเจ้าพระยายมราช กับได้ข่าวว่าเจ้าพระยานครราชสีมาเป็นโรคกำเริบมากขึ้น เห็นว่าในปีนี้จะมารับราชการฉลองพระเดชพระคุณไม่ได้ ได้ไพร่พลเมืองโคราชไว้ใช้สอยกล้าหาญดีนักทั้งกรมการก็กล้าหาญแข็งแรงด้วย”
 ครั้นได้ทรงทราบว่าเจ้าพระยาบดินทร์เดชาป่วยหนักก็ทรงพระปริวิตกมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชออกไปเมืองพนมเปญ เจ้าพระยายมราชกราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ถึงเมืองพนมเปญ ณ เดือนสาม ขึ้นเก้าค่ำ เจ้าพระยายมราชจึงไปเยี่ยมเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้วก็นำท้องตราออกให้ และสิ่งของซึ่งพระราชทานออกมาเยี่ยมไข้หลายอย่างเป็นต้นว่า พิมเสนและเครื่องยาเครื่องเทศ แล้วพระราชทานพระโอสถซึ่งเป็นพระโอสถข้างที่เคยเสวย เคยทรงนับถือ ชื่อว่าทิพยโอสถขนาน ๑ อะมะฤตธาราขนาน ๑ กับพระราชทานหลวงศรีศักดิ์หมอยา ๑ หลวงชำนาญวาโยหมอนวด ๑ ให้เพิ่มเติมออกมารักษาพยาบาลอีกพวก ๑ และมีหนังสือประกาศปฏิญญาออกมาด้วยฉบับหนึ่งว่า
“ถ้าใครรักษาโรคเจ้าพระยาบดินทรเดชาหายใน ๑๐ วัน จะพระราชทานเงิน ๓๐ ชั่ง ถ้าหายภายใน ๒๐ วัน พระราชทานเงินรางวัล ๒๐ ชั่ง ถ้าหายภายใน ๓๐ วัน จะพระราชทานเงินรางวัล ๑๐ ชั่ง ถ้าหมอเชลยศักดิ์จะให้เป็นขุนนาง ถ้าหมอเป็นขุนนางแล้วจะให้เลื่อนยศด้วย”
 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในท้องตราใบใหญ่ว่า กองทัพเรือนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพหลวง จะให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ชื่อช่วง) บุตรเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นั้นเป็นแม่ทัพหน้า คุมเรือกำปั่นรบออกไปตีเมืองบันทายมาศ ญวนจะได้พะว้าพะวังทั้งหน้าทั้งหลัง ทัพเรือทัพบกจะได้ถมคลองขุดใหม่ถนัด แม่ทัพนายกองจะได้ทำการถมคลองโดยสะดวก กำหนดทัพเรือจะออกจากกรุงเทพฯ ณ วันจันทร์ เดือนสาม ขึ้นสิบสามคำ ปีฉลู
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงจัดให้เจ้าพระยายมราชคุมพระยา,พระ,หลวงในกรุงและหัวเมือง กับไพร่พลไทยลาวหมื่นเศษเป็นแม่ทัพใหญ่
ให้พระยาราชสงคราม ๑ พระยาเพชรปราณี ๑ พระราชรองเมือง ๑ พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระยาบริรักษ์ราชา ๑ พระยาอัษฎาเรืองเดช ๑ รวมหกคน เป็นนายทัพหน้า
ให้นักพระองค์ด้วง ๑ พระพรหมบริรักษ์ ๑ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี ๑ พระยาราชโยธา ๑ พระพรหมธิบาล ๑ พระอินทราธิบาล ๑ รวมหกคน เป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พลเป็นทัพหนุนกองหนึ่ง
ทั้งสามทัพเป็นไพร่พลไทยลาว ๒๑,๙๐๐ คน ให้ยกลงไปที่คลองขุดใหม่ ให้ตั้งค่ายที่เขาเชือกซุ้มเรียงต่อ ๆ ไปสิบค่าย ห่างค่ายญวนประมาณ ๒๑ เส้น ๒๒ เส้น
แล้วเจ้าพระยายมราชสั่งให้ทำค่ายตับตั้งประชิดเข้าไปเป็นค่ายปิหลั่นอีกชั้นหนึ่ง ชักปีกกามาถึงค่ายพระยาอภัยสงคราม ๑ พระยาพิไชยสงคราม ๑ ระยาอร่ามมณเฑียร ๑ พระยาพิบูลย์สมบัติ ๑ พระยาเสนาภูเบศร์ ๑ พระยาทิพยมณเฑียร ๑ พระพรหมสุรินทร์ ๑ พระอินทรรักษา ๑ พระณรงค์วิชิต ๑ พระฤทธิเดชะ ๑ หลวงศรีพิทักษ์ ๑ หลวงรักษาเทพ ๑ จมื่นอินทรเสนา ๑ จมิ่นศักดิ์แสนยารักษ์ ๑ จมื่นศักดิ์บริบาล ๑ จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ๑ จมื่นรักษ์พิมาน ๑ จมื่นอินทามาตย์ ๑ จมื่นศรีบริรักษ์ ๑ จมื่นศักดิ์แสนยากร ๑ หลวงอนุรักษ์ภักดี ๑ หลวงภักดีอนุรักษ์ ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ หลวงเพชราลัย ๑ หลวงอภัยคงคา ๑ หลวงเทพาวุธ ๑ หลวงรุทรักษา ๑ รวม ๒๗ กอง แต่นายทัพฝ่ายกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ก่อนแล้วมีไพร่พลมากทุกกอง ทั้ง ๒๗ กองนี้พระยาพิไชยบุรินทราได้ว่ากล่าวบังบัญชาทั้งสิ้น
ยังทัพเขมรอีก ๒๕ กอง คือ พระยาราชเสนานุชิต ๑ พระยาเสนาอันชิต ๑ พระยาสงครามสุนทราธิบดี ๑ พระยาอุทัยธิราช ๑ พระยาพิไชยสุนทร ๑ พระยาอนุภาพไตรภพเจ้าเมืองนครเสียมราฐ ๑ พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดเก่า ๑ พระยาเสนากุเชนทร ๑ พระยานราธิราช ๑ พระยามโนราชา ๑ พระพิทักษ์บดินทร ๑ พระนรินทรโยธา พระเสนาราชภักดี ๑ พระมหาเสนา ๑ พระสุนทรานุรักษ์ ๑ พระกำแหงสงคราม ๑ พระกำจัดไพรี ๑ พระศรีภวังค์ราชนายก ๑ หลวงสุรเสนี ๑ หลวงมณีพิทักษ์ ๑ หลวงดำรงศักดิเดช ๑ หลวงกำจัดไพรี ๑ หลวงทิพาวุธ ๑ รวมพระยา,พระ, หลวงเขมร นายทัพนายกอง ๒๕ ทัพ ตั้งล้อมค่ายญวนอีกชั้นหนึ่ง นักพระองค์แก้วเขมรเป็นผู้บัญชาการทัพเขมรทั้ง ๒๕ กอง
พระพรหมบริรักษ์สั่งให้พระยายกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ๑ กับพระยากำแหงมหิมาเมืองกบินทร์บุรี ๑ กับหลวงมหาพิไชย ๑ หลวงไกรกรีธา ๑ สี่นายนี้เป็นข้าหลวงกำกับกองทัพเขมรและตรวจตราทัพเขมรทุกทัพทุกกองด้วย พระพรหมบริรักษ์สั่งให้พระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองไทยและเขมรตั้งค่ายขุดคูทำประตูหอรบ แล้วให้ขุดสนามเพลาะขนมูลดินขึ้นถมเป็นป้อมขึ้นทุกค่าย ป้อมหนึ่งสูงห้าศอกบ้างหกศอกบ้างทุกค่ายน้อยใหญ่
 เมื่อกองทัพไทยเขมรกำลังตั้งค่ายขุดสนามเพลาะพูนมูลดินทำป้อมนั้น ฝ่ายญวนก็แต่งกองทัพเป็นกองอาทมาตย์ออกทะลวงฟันรบกับไทย ไทยได้ต่อรบสู้กับญวนเป็นสามารถ ญวนก็ยิงปืนใหญ่กราดออกไปจากค่ายเสมอทุกวัน ไทยก็ต้องระวังตัวด้วยยากเป็นที่สุด เจ้าพระยายมราชปรึกษาด้วยพระพรหมบริรักษ์ว่า
“เราจะตั้งค่ายเข้าใกล้ค่ายญวนไม่ได้ เพราะทางปืนใหญ่ของญวนยิงมาเสมอทุกวันมิได้หยุด”
พระพรหมบริรักษ์ตอบว่า “กลัวอะไรกับปืนญวน ผมจะแก้เองให้ญวนหยุดยิงปืนใหญ่”
 พูดเท่านั้นแล้วก็สั่งให้กรมกองแก้วจินดา ให้พระราชวังหลวงพระราชวังบวรฯ ๔๐๐ คน ให้ตัดสายโซ่ออกเป็นท่อน ๆ ยาวสิบศอกสามวา บรรจุแทนกระสุนปืนใหญ่ แล้วยิงออกไปปะทะหน้าค่ายไทยทุกทัพทุกกองเสมอทุกวัน กับตัดไม้แก่นยาวสองศอกคืบบรรจุแทนกระสุนปืนยิงออกไป ถูกค่ายญวนบ้าง ถูกกองอาสาหน้าค่ายญวนบ้าง ญวนก็สงบยิงปืนใหญ่ออกมา ไทยจึงตั้งค่ายได้สะดวก ถึงเช่นนั้นญวนก็ยังยิงปืนโต้ตอบออกมาบ้าง แต่ซาลงไปมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า
นายทัพนายกองของไทยและเขมร ได้ทำการตั้งค่ายแต่ ณ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำจนถึง ณ เดือนห้า ขึ้นสิบห้าค่ำจึงแล้วเสร็จ เมื่อ ณ เดือนห้า แรมค่ำหนึ่งนั้น เจ้าพระยายมราชสั่งให้ทหารปืนใหญ่นำกระสุนปืนสามนิ้วขึ้นไปตั้งบนป้อมดินทุกป้อม ป้อมละสามบอก ยิงปรำลงไปในค่ายญวน ญวนก็ปลูกหอคอยทำบันไดเวียนวงรอบหอคอย แล้วลากปืนใหญ่กระสุนสามนิ้วสี่นิ้วขึ้นไปตั้งไว้บนหอคอย ยิงโต้ตอบไทยมาเสมอทุกวัน ต่างคนต่างรักษาค่ายกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ญวนก็ตั้งค่ายประชิดออกมาบ้าง ใกล้ค่ายไทยสิบห้าเส้น ต่างกันก็แต่งกองอาทมาตย์และกองอาสาหาญออกรบทะลวงฟันกันทั้งสองฝ่ายเสมอยู่.......”
 เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ** แม่ทัพคนสำคัญคือเจ้าพระยานครราชสีมาเจ็บป่วยไปหนึ่งท่านแล้วยังไม่พอ พระยาเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นแม่ทัพแทนก็ป่วยด้วยโรคตาอีกคน ร้ายที่สุดคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ก็ป่วยหนักขึ้นมาอีก จึงได้กราบทูลขอเจ้าพระยายมราช (บุญนาก) มาเป็นไม่ทัพช่วยเจ้าพระบดินทรเดชารบญวนต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบทูลขอไป พร้อมกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) เป็นแม่ทัพเรือยกไปตีญวนทางชายทะเลอีกด้วย ตอนนี้กองทัพไทยโดยการนำของเจ้าพระยายมราชเริ่มรบกับญวนที่คลองขุดใหม่ ความหวังของกองทัพบกไทยอยู่ที่กองทัพเรือ ซึ่งจะยกไปตีเมืองบันทายมาศแล้วยกเลยไปเป็นทัพกระหนาบตีค่ายญวนที่คลองขุดใหม่
ต่อไปนี้เราจะได้เห็นบทบาทการรบของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในตำแหน่งแม่ทัพเรือ ว่าจะทรงแสดงความสามารถในการรบให้ปรากฏอย่างไรบ้าง
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสอไท เมืองสุโขัย ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 คุณชายช่วง บุนนาค ขณะบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ - อานามสยามยุทธ ๑๔๖ -
กองทัพเรือบุกทลาย “บันทายมาศ” “เจ้าหมื่นไวยวรนารถ”กราดขย้ำ บุกโจมตีไม่ยั้งทั้งบกน้ำ ญวนเพลี่ยงพล้ำแข็งใจไม่ยอมแพ้
จับเชลยญวนถามได้ความลับ ญวนจัดทัพใหญ่กล้ามาช่วยแก้ ถ้าเชลยเอ่ยเขื่องเป็นเรื่องแท้ สนุกแน่สนามรบยากจบลง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาป่วยเป็นไข้จับสั่น ไม่สะดวกในการบัญชาการศึกได้ ทั้งพระยาเพชรบูรณ์แม่ทัพหน้าก็ป่วยด้วยโรคตา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้จัดส่งเจ้าพระยายมราช (บุญนาก) เสนาบดีออกไปช่วยบัญชาการทัพรบญวนต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่ทูลขอ ทรงพระปริวิตกถึงอาการป่วยของเจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงจัดยาและหมอยาหมอนวดฝากให้เจ้าพระยายมราชนำไปมอบแก่เจ้าพระยาบดินเดชา พร้อมกับมีท้องตราแจ้งให้ทราบว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) ทรงเป็นแม่ทัพเรือ ให้ยกกองทัพเรือไปตีเมืองบันทายมาศและหัวเมืองญวนชายทะเลไปบรรจบกับกองทัพบกด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชามอบอำนาจการบัญชาทัพในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ให้เจ้าพระยายมราช ดำเนินการยกไปตีค่ายญวนที่คลองขุดใหม่ตามพระกระแสพระราชดำริ เจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ นักพระองค์ด้วง จัดแต่งทัพร่วมกันเสร็จแล้วยกไปตีค่ายญวนที่คลองขุดใหม่ตามแผนการทันที กองทัพไทยญวนกำลังรบกันเป็นสามารถยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ แล้วมีเหตุให้ต้องเว้นวรรคไว้ วันนี้กลับมาอ่านกันต่อไปนะครับ....
 คุณชายช่วง บุนนาค ในละคร “ข้าบดินทร์” (รับบทโดย การิน ศตายุ) “ฝ่ายที่กรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่ทัพหน้า แม่ทัพหน้าไปด้วยกำปั่นใบชื่อเทพโกสินทร สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงกำปั่นใบชื่อพุทธอำนาจ พระยาราชวังสันคุมกำปั่นใบชื่อราชฤทธิ์ พระยาสุรเสนาคุมกำปันใบชื่อวิทยาคม พระยาเทพวรชุนคุมกำปันใบชื่ออุดมเดช พระยาสุนทรคุมกำปั่นใบชื่อประเวศจังหวัด พระยาไกรโกษากับพระยาพิพัฒน์โกษาคุมกำปั่นใบชื่อจรจัดโจมจับโจร พระยา,พระ,หลวง นายทัพนายกองคุมเรือรบป้อมปักหลังมัจฉาณุและเรือป้อมศีรษะญวน และเรือปากปลาต่าง ๆ หลายสิบลำ พร้อมด้วยไพร่พลไทยและแขกจามเป็นพล ๑๕,๐๐๐ คน แล้วให้ไปเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเลอีก เรือกำปั่นใบที่นายทัพนายกองคุมไปนั้นได้บรรทุกข้าวสาร ๘๘๓ เกวียน ๕๕ ถัง กับข้าวสุกตากแห้ง ๑๖๗ เกวียน กับเกลือ ๑๖๐ เกวียน ๕๐ ถัง และยาสูบเพชรบูรณ์และเกาะกร่าง ๕๐๐ ลัง และปลาทูปลาเค็มน้ำจืดน้ำเค็มรวมสองร้อยกระสอบ กับผ้าเขียวครามผ้าตาเมล็ดงา ๕,๓๘๐ ผืน เสื้อผ้าแดงเหนือ ๕,๐๐๐ เสื้อ กางเกงผ้าริ้ว ๕,๐๐๐ หมวกตุ้มปี่ผ้าแดงเทศ ๕,๐๐๐ หมวก หวายถักเป็นตะขาบคาดเอว ๕,๐๐๐ สาย ให้ไปส่งให้พระยา,พระเขมรที่มาตั้งกองรับอยู่ ณ เมืองกำปอดนั้น จะให้ขนขึ้นไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแจกจ่ายให้พวกไพร่พลในกองทัพบก แล้วโปรดให้พระยาอภัยพิพิธเป็นแม่กองคุมทัพหัวเมืองชายทะเลข้างทางตะวันออกห้าหัวเมืองเป็นไพร่พล ๕,๐๐๐ เศษ ให้เข้าไปในกระบวนทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ยกออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือนสามขึ้นสิบสามค่ำ ในปีฉลูตรีศก
 ฝ่ายทัพเรือเสด็จออกไปถึงเมืองจันทบุรีแล้ว จึงโปรดจัดให้พระยาพิพิธโกษา พระยาราชวังสัน พระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระอนุรักษ์โยธา พระนรินทรราชเสนี หลวงศรีราชาแขกจาม หลวงรักษมะนาแขกจาม พระพาหลแขกจาม หลวงเดชแขกจาม คุมเรือรบกองละลำบ้างกองละสองลำบ้าง ยกล่วงหน้าลงไปก่อน เรือรบทั้งหกลำถึงช่องเกาะกระ ณ เดือนสี่ แรมสี่ค่ำ ได้พบเรือลาดตระเวนญวนเจ็ดลำ ไทยกับญวนได้สู้รบกันต่างก็ยิงปืนหน้าเรือโต้ตอบกันเป็นสามารถ เรือลาดตระเวนญวนแตกชำรุดไปสองลำ ญวนก็แล่นใบถอยหนีเข้าไปในเมืองบันทายมาศทั้งเจ็ดลำ ฝ่ายพระยาพิไชยรณฤทธิ์กับพระยาราชวังสัน พระอนุรักษ์โยธา หลวงศรีราชา เห็นญวนตั้งค่ายอยู่ที่เกาะโดด จึงยกทัพเรือลงไปใกล้ยิงปืนใหญ่หน้าเรือ ช่วยกันระดมยิงค่ายญวนที่เกาะโดดพักหนึ่งก็ไม่เห็นญวนยิงปืนโต้ตอบมาบ้าง แลดูอยู่แต่ไกลเห็นแต่คนยืนนิ่งอยู่กับหน้าค่ายและบนหอรบไม่กระดุกกระดิก พระยาราชวังสันสงสัยว่าจะไม่ใช่คนเป็นแน่ จึงไม่หนีกระสุนปืน พระยาราชวังสันจึงแจวเรือเข้าไปใกล้ ไม่เห็นผู้คนแต่สักคนเดียว มีแต่รูปหุ่นยืนอยู่ตามหน้าค่ายและบนหอรบ ๓๓๓ หุ่น พระยาราชวังสันก็เก็บขนรูปหุ่นลงบรรทุกเรือหลวงศรีราชา ให้ส่งมาถวายแม่ทัพหลวงทอดพระเนตร แล้วพระยาพิไชยรณฤทธิ์ก็ลงไปถึง จึงให้พระยาราชวังสันจุดไฟเผาค่ายญวนเสีย แล้วมีรับสั่งให้พระยาอภัยพิพิธ พระราชวรินทร หลวงนาวาพิทักษ์ คุมเรือปักหลังมัจฉาณุบรรทุกข้าวสาร,ข้าวตาก,เกลือ,ปลาเค็ม, ไปส่งพระยา พระเขมรและไทย ที่มาคอยรับอยู่ ณ เมืองกำปอดท่าตะเคียน ทัพหลวงก็เสด็จตามลงไปทอดกำปั่นอยู่ที่เกาะกระทะคว่ำ กำปันรบทั้งหลายก็ตามเสด็จลงไปทอดเป็นลำดับกัน
 ฝ่ายเรือกองลาดตระเวนญวนเจ็ดลำที่ถอยไปจากเกาะโดดหนีไปยังเมืองบันทายมาศ จึงแจ้งความกับองตุนภู่แม่ทัพที่เมืองบันทายมาศ แม่ทัพเมืองบันทายมาศมีใบบอกไปถึงองตาโดแม่ทัพที่เมืองโจดก แม่ทัพเมืองโจดกก็แต่งให้องกายโดยคุมทัพมารักษาปากน้ำเมืองบันทายมาศ ให้องดาวกือคุมไพร่พลมารักษาเมืองบันทายมาศ แล้วองทำตาลแม่ทัพใหญ่ญวนก็แต่งองญวนนายทัพนายกองคุมไพร่พลหกกอง ไพร่พลถึง ๖,๐๐๐ ยกมารักษาค่ายตามริมฝั่งคลองขุดใหม่ ญวนรู้ว่าทัพเรือไทยยกมาคราวนี้ด้วยกำปั่นใหญ่ ๆ มาก เป็นศึกใหญ่ จึงได้เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเพิ่มเติมมาอีก แล้วบอกไปถึงจ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนขอแม่ทัพเพิ่มเติมมาอีกหลายทัพด้วย
(เนื้อความทั้งนี้ไทยรู้เพราะเมื่อกองทัพจับญวนกองตระเวนบกได้ จึงถามความได้ทราบการดังกล่าวมานั้นทุกประการ)
 ฝ่ายทัพหลวงจึงมีรับสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพหน้า กับพระยาเทพวรชุน พระยาสุรเสนา พระยาวิชิตณรงค์ พระยาไกรโกษา พระสุรินทรามาตย์ หลวงชาติสุรินทร์ นายจ่าเรศมหาดเล็ก กับพระยา,พระ,หลวงหัวเมืองนายทัพนายกอง ยกเข้าตีเมืองบันทายมาศ รับสั่งให้พระยาอภัยพิพิธ พระยาสุรินทร์ราชเสนี พระราชวรินทร พระศิริสมบัติ พระเทพสงครามปลัดเมืองจันทบุรี หลวงกระบัตรเมืองตราด พระปลัดเมืองระยอง คุมกองทัพเมืองจันทบุรี เมืองตราด เมืองระยอง เมืองชลบุรี รวม ๖๐๐ คน กับให้พระยาโสรัชเขมร และออกญาเสนาอันชิตเขมรเมืองกำปอด คุมไพร่พลเขมร ๒,๔๐๐ คน เข้าสมทบทัพพระยาอภัยพิพิธ ยกเข้าตีค่ายญวนที่ตั้งอยู่ ณ เขาโกนถม ได้รบกันสองวัน ค่ายญวนก็แตกเมื่อ ณ เดือนสี่แรมสิบสี่ค่ำ ไทยได้เผาค่ายญวนเสียสิ้น ญวนตายบ้าง หนีไปได้บ้าง แล้วพระยาอภัยพิพิธสั่งให้นำปืนใหญ่หามขึ้นบนยอดเขา แล้วก็ยิงปรำลงไปในเมืองบันทายมาศ
ฝ่ายทัพเรือกองหน้าเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพหน้า จัดให้พระยาราชวังสัน ๑ พระยาสุรเสนา ๑ พระนรินทรราชเสนีหลวงศรีราชาแขก ๑ หลวงภักดีอาษา ๑ หลวงศุภมาตราเมืองจันทบุรีเป็นแขกจาม ๑ คุมทัพเรือเข้าประชิดยิงป้อมปากน้ำเมืองบันทายมาศ ได้นำปืนใหญ่รายแคมกำปั่นยิงป้อมบันทายมาศทลายลงด้านหนึ่ง ญวนก็ยิงปืนใหญ่โต้ตอบบ้างพักหนึ่ง แล้วก็หนีทิ้งป้อมเสียลงไปตั้งค่ายรับที่แผ่นดินราบไกลทางปืนกำปั่นยิงไปไม่ถึง แล้วเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพจัดให้พระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระยาเทพวรชุน พระอนุรักษ์โยธา หลวงวุธอัคนี หลวงศรีสงคราม คุมทัพเรือยกขึ้นไปตั้งประชิดค่ายค่ายปีกกาญวนที่ตำบลห่างหอลำผีแต่ ณ เดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ ไทยกับญวนได้ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันอยู่ถึงหกวัน ไทยก็ยกเข้าประชิดทั้งทัพบกและทัพเรือ ได้รบกับญวนเป็นสามารถ
 ฝ่ายเจ้าหมื่นไวยวรนารถเห็นว่ากองทัพบกทัพเรือไทยได้เข้ารบประจัญบานกับญวนถึงหกวันแล้ว ญวนก็ยังไม่หย่อนกำลังเลย มีแต่ยิงปืนโต้ตอบกันเสมออยู่ จะไว้ใจแก่ราชการทัพศึกไม่ได้ จึงให้พระยานราธิราชเขมรเจ้าเมืองเขียมคุมไพร่พลเขมร ๒,๐๐๐ คน ให้พระยาไกรโกษา พระยาวิชิตณรงค์ พระสุนทรพิมล พระกัลยาสุนทร หลวงสวัสดิโกษา หลวงพิบูลย์สมบัติ ข้าหลวงไทย ๖ นาย กำกับทัพเขมรยกข้ามแม่น้ำไปขึ้นบก แล้วให้ยกไปปิดทางเขากรายโดงอีกทางหนึ่ง ครั้งนั้นเรือรบญวนจอดเรียงรายอยู่ในลำคลองประมาณ ๔๐๐ ลำเศษทั้งใหญ่และเล็ก เมื่อทัพเรือไทยยกแยกย้ายขึ้นบกบ้าง ตั้งรบอยู่ในเรือบ้าง เรือรบญวน ๔๐๐ ลำนั้นก็ถอยหายไปมาก ยังจอดอยู่ประมาณ ๕๐ ลำแต่เรือเล็กทั้งสิ้น เป็นเรือเร็วเรื่อไล่ใช้การงานฟังข่าวทัพ
 ขณะนั้นกองทัพพระยาอุไทยธรรมราชชาติเสนานราบดีเขมรเก่าจับได้ญวนเชลย ๑๐ คน ได้ไต่ถามญวน ญวนให้การต้องคำเดียวกันว่า
“บัดนี้แม่ทัพเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกมีหนังสือถึงจ๋งต๊กเมืองไซ่ง่อน ขอกองทัพบกให้ยกมาช่วยป้องกันรักษาเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกให้ทันท่วงทีแก่ข้าศึกไทย ได้ยินเป็นแน่ว่าเร็ว ๆ นี้เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดทัพใหญ่ให้องโปโฮอึงเป็นแม่ทัพ รีบเร่งยกมาทั้งกลางวันและกลางคืน เกือบจะถึงเมืองบันทายมาศอยู่แล้ว และกองทัพเรือสำเภาใหญ่ที่เมืองตูรนปากน้ำฝ่ายเหนือก็จะยกมาช่วยอีกกองหนึ่ง ไพร่พลทั้งทัพบกและทัพเรือที่จะมาคราวนี้ได้ยินว่าประมาณสัก ๕๐,๐๐๐ คน”
พระยาอุไทยธรรมราชเขมรจึงนำคำให้การญวนทั้ง ๑๐ คนไปกราบเรียนเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ทราบแล้วจึงนำคำให้การข่าวทัพญวน แล้วพาตัวพระยาอุไทยธรรมราชเขมรกับญวนเชลย ๑๐ คนลงเรือกำปั่นรบไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ กราบทูลประพฤติเหตุให้ทรงทราบ.....”
 กองทัพเรือไทยนำโดย “เจ้าฟ้าน้อย” เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ยกเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) ของญวนแล้ว แม่ทัพหน้าคนสำคัญของทัพเรือคือ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค) บุตรคนโตของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) แม่ทัพเรือคนก่อน เจ้าหมื่นไวยวรนารถผู้นี้มีความรู้ความสามารถมาก รับราชการเจริญรุ่งเรืองมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยาเช่นเดียวกันกับบิดาของท่าน ในช่วงตอนนี้ท่านกำลังบัญชาการรบกับญวนเป็นสามารถ ญวนกำลังจะพ่ายแพ้แล้ว แต่ได้ข่าวว่า จ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนกำลังส่งทัพใหญ่ทั้งบกทั้งเรือมาช่วยเมืองบันทายมาศและเมืองโจดก การรบกันระหว่างไทยญวนจะดุเดือดและจบลงอย่างไร ติดตามอ่านตอนต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, กร กรวิชญ์, มนชิดา พานิช, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๗ -
ทัพเรือล่าถอยหลังกระทันหัน สลาตันลมแรงฤทธิ์มากพิษสง พัดมาแต่ตะวันตกไม่วกวง เดินทางตรงแถวถ่องกองทัพเรือ
จำต้องถอยหนีลมก่อนจมคลื่น ทะเลตื่นด้วยลมพัดแรงเหลือ กองทัพญวนเกือบพ่ายตายเป็นเบือ ไม่น่าเชื่อรอดตายเพราะสายลม |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกทัพเรือไปถึงเมืองจันทบุรีแล้วทรงจัดกองเรือลาดตระเวนล่วงหน้าลงไปเมืองบันทายมาศ พร้อมกับมีรับสั่งให้พระยาอภัยพิพิธเป็นหัวหน้านำเสบียงอาหารพระราชทานกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปส่งที่เมืองกำปอด แล้วยกกองทัพเรือตามลงไปจอดทอดที่เกาะกะทะคว่ำ กองเรือลาดตระเวนไทยไปปะทะกับกองลาดตระเวนญวนที่เกาะโดด เรือรบลาดตระเวนญวนเจ็ดลำยิงปืนต่อสู้เรือรบลาดตระเวนไทย ถูกไทยยิงเสียหายสองลำ จึงพากันล่าถอยเข้าเมืองบันทายมาศ ไปแจ้งความให้แม่ทัพญวนทราบ องตุนภู่แม่ทัพญวนผู้รักษาเมืองบันทายมาศจัดการเตรียมสู้รบไว้เต็มที่ พร้อมกับมีหนังสือบอกไปยังเมืองโจดก ทางเมืองโจดกก็รีบมีใบบอกไปยังจ๋งต๊กเมืองไซ่ง่อนให้ส่งกำลังมาช่วยด่วน “เจ้าฟ้าน้อย” แม่ทัพเรือไทยสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาก)แม่ทัพหน้ายกพลเข้าตีเมืองบันทายมาศทันที ค่ายญวนนอกเมืองบันทายมาศถูกทหารเรือไทยตีแตกในเวลาไม่นานนัก แล้วกองเรือรบทัพหน้าไทยก็เข้าโจมตีเมืองบันทายมาศอย่างไม่ยั้งมือ เรือรบไทยยิงถล่มป้อมญวนที่ปากน้ำพังทลายลง พลญวนยกหนีลงไปตั้งค่ายในที่ราบ ไทยก็ยกกำลังเข้าตั้งค่ายประชิด รบกันอยู่หกวันหกคืนยังไม่รู้แพ้ชนะ วันนี้มาอ่านกันต่อไป ความยาวหน่อยนะครับ....
“ในปีฉลูตรีศกนั้น นักนางขำบุตรีพระยาธรรมาเดโชไชยเขมร ซึ่งเป็นหม่อมห้ามนักพระองค์ด้วงนั้น นักนางขำสมภพบุตรชายคนหนึ่งที่เมืองพนมเปญ นักพระองค์ด้วงบิดาประทานชื่อว่า นักองวัตถา
 ลุจุลศักราช ๑๒๐๔ ปีขาลจัตวาศก เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลแผ่นดินที่สามกรุงเทพฯ ณ เดือนห้า เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาก) แม่ทัพหน้ากลับเข้ามาที่เกาะกะทะคว่ำ กราบทูลข้อราชการต่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์มีรับสั่งว่า ให้มีใบบอกเข้าไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารู้ความเสียก่อนว่า “ทัพเรือจะต้องล่าถอยไปจากเมืองบันทายมาศแต่ ณ วันจันทร์เดือนห้าแรมสองค่ำในปีขาลจัตวาศก เพราะด้วยลมที่จะใช้ใบเรือรบไม่ถนัด” เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้รับรับสั่งแม่ทัพหลวงแล้ว ก็มาแต่งหนังสือฉบับหนึ่งถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาใจความว่า
 “ข้าพเจ้าเจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นเวรมหาดเล็กเวรขวาแม่ทัพหน้าฝ่ายเรือ ขอรับประทานทำหนังสือบอกส่งเข้ามายังนายทัพนายกองทัพบกฉบับหนึ่ง ขอท่านได้ช่วยนำหนังสือบอกของข้าพเจ้าขึ้นกราบเรียน ฯพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหนายกแม่ทัพหลวงฝ่ายทัพบกได้ทราบ เดิมข้าพเจ้าได้มีใบบอกเข้ามากราบเรียนแต่ก่อนครั้งหนึ่งว่า ได้ให้กองทัพเรือพระยาพิไชยรณฤทธิ์ พระยาวิชิตณรงค์ พระยาเทพวรชุน พระยาไกรโกษา พระอนุรักษ์โยธา พระนเรนทรโยธา พระสุนทรพิมล พระกัลยาสุนทร หลวงวุทธอัคนี หลวงศรีสงคราม หลวงอัคนีวุทธ์ หลวงพิบูลสมบัติ หลวงสวัสดิโกษา หลวงนราภักดี รวม ๑๔ คน ขึ้นบกไปตีค่ายญวนทางหอประจำและทางทางหอหลำภีนั้น ตีค่ายญวนแตกหนีไปตั้งอยู่ที่แผ่นดินราบหลังศีรษะแหลมประจำหลังหลำภี แล้วกองทัพ ๑๔ กองนั้นก็ได้ตั้งค่ายอยู่ที่เชิงเขา อาศัยเขาเป็นป้อมสูงได้ถนัด ได้สั่งให้ตั้งมั่นรักษาค่ายเชิงเขาอยู่แต่แปดกอง ให้แบ่งถอนคนและปืนใหญ่น้อยลงมาประจำเรือรบอย่างเดิมแต่หกกอง แล้วให้นำเรือรบหกกองไปหนุนทัพพระยาราชวังสันช่วยกันปิดปากน้ำเมืองบันทายมาศให้แน่นหนาขึ้น เมื่อทัพญวนจะไปมาทางทะเลและจะออกมาทางแม่น้ำใหญ่ที่ปากน้ำนั้น ทัพเรือจะได้ช่วยกันระดมตีให้เต็มมือ แจ้งอยู่ในหนังสือบอกฉบับก่อนนั้นแล้ว บัดนี้พระยาราชวังสันแขก ๑ พระยาณรงค์ฤทธิโกษาแขก ๑ พระนเรนทรฤทธิเดชะแขกในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงศรีราชาแขก ๑ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ ๑ พระยาไกรโกษา ๑ พระอนุรักษ์โยธา ๑ พระนเรนทรโยธา ๑ พระพรหมานุรักษ์ ๑ พระอินทรโกษา ๑ พระอินทรอาสาลาวปลัดเมืองสมุทรปราการ ๑ พระศรีสมบัติ ๑ รวม ๑๒ กอง คุมเรือรบทอดอยู่ที่แหลมหอหลำภี ก็มีใบบอกมาว่า คลื่นลมพัดจัดหนักเรือรบจะเข้าทอดใกล้ปากน้ำไม่ได้ ด้วยลมพัดกระแทกเรือเข้าฝั่งเสมอ กลัวเรือจะกระทบหินแตกเสียหมด เพราะฉะนั้นจึงได้ถอยเรือรบออกไปจากปากน้ำบันทายมาศ เข้าทอดสมออยู่ที่หน้าแหลมหลำภีพอบังลมตะวันตกได้บ้าง
 ข้าพเจ้าก็กลับเข้ามาถึงเกาะกะทะคว่ำที่กำปั่นพระที่นั่งประทับอยู่นั้นแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้า ขึ้นสิบสามค่ำ เวลาสองยาม ได้เข้าเฝ้ากราบทูลปรึกษาราชการทัพต่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มีรับสั่งว่า การงานที่กองทัพเรือจะรบตีเมืองบันทายมาศคราวนี้เห็นจะไม่เป็นท่วงทีดี มีช่องที่จะขัดขวางอยู่สองประการคือ ยกมาจะทำแก่เมืองบันทายมาศ เมืองบันทายมาศก็แน่ เวลาน้ำน้อยเรือรบไทยใหญ่จะเข้าไปใกล้ฝั่งไม่ถนัด ด้วยเป็นกำปั่นโต ๆ แล้วพวกญวนก็จัดกองทัพบกเรือเพิ่มเติมมารักษาบ้านเมืองมั่นคงโดยสามารถ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นปลายมรสุมฤดูลมสลาตันอยู่ด้วย เดี๋ยวนี้ลมสลาตันตะวันตกก็พัดกล้าแรงขึ้นทุกวัน ครั้นจะให้เรือรบตั้งรั้งรอคอยลมสลาตันสงบเมื่อใดจะได้ยกเข้าตีเมืองบันทายมาศเมื่อนั้น ถ้าลมยังไม่สงบและยังพัดกล้าเสมออยู่ช้านานสักเท่าใดก็ยังไม่รู้แน่ได้ กลัวว่าในระหว่างนั้นเรือรบเรือไล่ของหลวงที่ออกมามากหลายสิบลำเกือบร้อยลำ จะพลอยแตกหักเสียหายยับเยินป่นปี้ไปด้วยคลื่นลมแต่ยังไม่ได้ถูกรบถูกตีของข้าศึกญวนเลยแต่สักนิด จะให้เรือหลวงมาเป็นอันตรายเสียดังนั้น ก็เกรงพระราชอาชญาจะมีแก่แม่ทัพเรือเป็นแน่ เพราะฉะนั้นจึงจะได้ล่าถอยทัพเรือเข้าไปเมืองกะพงโสมคอยบังคลื่นลม แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ จะเสด็จถอยกำปั่นพระที่นั่งกลับเข้าประทับทอดกำปั่นอยู่หน้าเมืองกะพงโสม คอยเรือรบนายทัพนายกองอยู่ที่หน้าเมืองกว่าจะพร้อม รับสั่งให้ข้าพเจ้าแต่งนายทัพนายกองจัดส่งเสบียงอาหารข้าวเกลือเสื้อผ้าที่เมืองกำปอด ตามที่ได้นัดหมายให้นายทัพนายกองบกมาคอยรับอยู่ที่ท่าตะเคียนนั้นแล้ว เรือรบเรือไล่เรือใช้สอยจะทอดอยู่ที่แหลมหลำภีช้าไม่ได้ รับสั่งให้เรือรบทั้งปวงเลิกถอนถอยตามเสด็จเข้าไปทอดอยู่หน้าเมืองกะพงโสมด้วยกันทั้งสิ้น
อนึ่งเมื่อวันก่อนที่ยังไม่ได้มาเฝ้าแม่ทัพหลวงนั้นแต่ ณ วันพุธ เดือนห้าขึ้นสิบสองค่ำ ข้าพเจ้าได้ใช้ให้ขุนอักษรสมบัติ เสมียนตรากรมท่าในพระราชวังบวรฯ กับขุนรัตนสมบัติกรมท่าในพระราชวังหลวง คุมเรือรบเข้าไปในลำแม่น้ำเมืองกำปอด ให้ไปสืบทัพพระยาอภัยพิพิธแม่กองทัพหัวเมืองทะเลทั้งหกเมืองว่า จะได้ทำแก่ญวนไปถึงไหนบ้าง ขุนอักษรสมบัติกับขุนรัตนสมบัติเข้าไปได้สี่ห้าวัน ก็ใช้หมื่นเทพนิพนธ์ออกมาแจ้งความว่า ได้ยกเข้าไปพบกองทัพพระยาอภัยพิพิธตั้งค่ายอยู่ตำบลลำพูน แล้วพระยาอภัยพิพิธบอกว่า
ได้ให้พระเทพสงครามปลัดเมืองจันทบุรี พระทุกขราษฎร์เมืองจันทบุรี คุมไพร่พล ๕๐๐ ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลทะเลกะสอ ให้พระปลัดเมืองตราดกับหลวงพลเมืองตราด คุมไพร่พล ๕๐๐ คนตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลที่บ้านฉะนัง ให้พระปลัดกับหลวงยกกระบัตรเมืองชลบุรี คุมไพร่พล ๕๐๐ คน ตั้งค่ายอยู่ตำบลทะมอสอเชิงเขาโดด ได้เขาเป็นป้อมไว้ในค่าย ให้พระยาโสรัช ออกญาเสนานุชิตเขมรเจ้าเมืองกำปอด กับพระยาราชเสนาอันชิตปลัดเมืองกำปอด คุมไพร่พลเขมร ๑,๒๐๐ คน ตั้งค่ายอยู่ริมเขาเมรี เป็นค่ายใหญ่ถึงสามค่าย ชักปีกกาเป็นวงพาดอ้อมเขาเมรี แล้วพระยาโสรัขคุมไพร่พลเขมร ๑,๒๐๐ คน ยกเข้าต่อรบกับญวนที่ค่ายโกนขาน เขมรฆ่าญวนตายมากแล้วญวนก็แตกหนีไปหมด พระยาโสรัชก็เผาค่ายญวนที่ตำบลโกนขานเสียแล้ว
 ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้าขึ้นสิบสามค่ำ ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าที่เกาะกระทะคว่ำ กลับออกมาที่กองเรือพระยาราชวังสัน พระยาสุรเสน า พระยาเทพวรชุน พระยาไกรโกษาขุนนางผู้ใหญ่ทัพเรือปิดปากน้ำเมืองบันทายมาศ แต่ทอดอยู่ห่างปากน้ำใกล้ศีรษะแหลมหลำภีนั้น เห็นว่าลมสลาตันตะวันตกยังพัดกล้าขึ้นทุกที คลื่นใหญ่สูงเสมอราโทจนสายสมอขาดบ้าง เรือรบใหญ่น้อยจะทอดสู้คลื่นลมอยู่ไม่ได้ จะเป็นอันตรายสิ้น จึงได้สั่งให้พระสุรินทรามาตย์ลงเรือช่วงใช้ใบไปบอกให้เรือรบข้างใต้แหลมหลำภี ใช้ใบแล่นก้าวอกมาบังลมอยู่ตามเกาะ แล้วใช้ให้หลวงชาติสุรินทร์ลงเรือช่วงใช้ใบไปบอกเรือรบข้างตะวันออกที่ปากน้ำบันทายมาศ ให้ใช้ใบแล่นก้าวออกมาบังลมตามเกาะเหมือนกัน เรือรบทั้งนั้นได้ออกมาแล่นก้าวอยู่ในทะเลสี่วัน ลมสลาตันก็ยิ่งพัดกล้าเป็นพายุบ้าง พายุแกมบ้าง เสมอทุกวัน จนมาถึง ณ วันเสาร์ เดือนขึ้นสิบห้าค่ำ ที่เกาะเล็กน้อยใกล้ศีรษะแหลมหลำภีเหล่านั้นก็ไม่มีบ่อน้ำจืดและลำธารน้ำพุ ไม่มีที่จะอาศัยตักมารับประทาน รี้พลกองทัพเรือจะอดน้ำตายเสียหมด จึงได้ถอยเรือรบมาทอดสมออยู่ที่เกาะโดดตรงหน้าเมืองบันทายมาศ เพื่อจะได้บังลมบ้าง และที่เกาะโดดนั้นมีบอน้ำจืดและน้ำพุจืดสนิทได้อาศัยรับประทานทั่วกองทัพ
 อนึ่งการซึ่งถอยกองทัพเรือออกมาจากปากน้ำเมืองบันทามาศ และให้เรือรบถอยออกห่างเมืองบันทายมาศนั้น เพราะเหตุด้วยหนีคลื่นลมมาบังลมที่เกาะโดด ทั้งนี้มิได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อนนั้น พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ แต่เดี๋ยวนี้ยังเป็นฤดูต้นมรสุมลมสลาตันตะวันตกพัดอยู่ ถ้าลมสลาตันพัดผันแปรเยื้องไปไม่พัดยืนประตูอยู่ เมื่อแปรเป็นลมสำเภาเมื่อใด ก็คงจะยกทัพเรือรบใหญ่น้อยเข้าไปรบญวนเมืองบันทายมาศต่อไปอีกตามพระราชกระแสที่โปรดมานั้น นายทัพนายกองฝ่ายเรือก็อยากจะทำการฉลองพระเดชพระคุณให้เต็มฝีมือ และตั้งใจคอยท่าลมสำเภามาเมื่อใดก็จะรีบยกเข้าไปตีเมืองบันทายมาศเมื่อนั้น จะทำให้ญวนพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าและข้างหลัง กองทัพเรือจะได้เข้าไปช่วยรักษาทัพบกให้ถมคลองขุดใหม่ได้โดยสะดวก แล้วทัพเรือคงจะแบ่งกองทัพให้ขึ้นบกยกเข้าตีค่ายญวนตามริมฝั่งคลองขุดใหม่ให้แตกไปโดยเร็ว คงจะจัดทัพบกยกไปให้ถึงเจ้าพระยายมราชและพระพรหมบริรักษ์แม่ทัพบกให้ได้ จะได้ช่วยกันระดมตีต่อสู้ญวนให้พ่ายแพ้ถอยไปจากฝั่งคลองขุดใหม่ ฝ่ายพวกทัพไทยทั้งบกและเรือจะได้ทำการถมคลองขุดได้ถนัด ไม่มีที่กีดขวางขัดข้อง เมื่อลมสลาตันยังพัดยืนประตูอยู่ที่ตะวันตกเสมอดังนี้แล้ว เรือรบทนคลื่นลมมิได้ ครั้นจะถอยเข้ามาพักอยู่ในลำคลองใหญ่เมืองกำปอด ที่ปากคลองนั้นน้ำก็ตื้นเรือรบจะเข้าไปอาศัยจอดบังลมก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรือรบทั้งปวงจึงต้องทอดสมอแอบบังลมอยู่ที่เกาะโดด ครั้นจะทอดสมอรอช้าอยู่ที่เกาะโดดก็ไม่ได้ กลัวเรือรบจะชำรุดลงมาก ก็จะเสียท่วงทีแก่ราชการ ที่ทางจะอาศัยซ่อมแซมตั้วสิ่วเรือก็ไม่มี ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหารือพระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า กองทัพเรือยกออกมาครั้งนี้ ไม่เข้าไปให้ทันเจ้าพระยายมราช และพระพรหมบริรักษ์แม่ทัพบก แม่ทัพบกจึงจะทำการถมคลองไม่ถนัดอย่างหนึ่ง กับพวกกองทัพเรือทำการที่เมืองบันทายมาศไม่สำเร็จอีกอย่างหนึ่ง แล้วกลับเลิกถอนกองทัพเรือเข้ามาด้วยอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็นอาการสามอย่างดังนี้ แม่ทัพนายกองเรือมีความผิดพระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ ถ้าทำการไม่สำเร็จในคราวแรกนี้เพราะลมสลาตันตะวันตกยังกำลังพัดกล้าอยู่เสมอ ในเวลาลมสำเภายังไม่พัดแปรแปลกมาแล้วก็เป็นอันจะทำการต่อไปในฤดูสลาตันไม่ได้ จึงได้ขอรับประทานกราบเรียนใต้เท้าพระกรุณาเจ้าไว้เป็นพยาน และจะขอประทานถอยกองทัพเรือมาพักอยู่ที่เมืองจันทบุรีก่อน เพื่อจะได้ซ่อมแซมเรือรบเรือไล่ที่ชำรุดนั้นให้เป็นปรกติ เมื่อสิ้นเทศกาลลมสลาตันตะวันตกแล้ว จะนัดหมายนายทัพนายกองทัพบกให้รู้ก่อน แล้วทัพเรือจะได้ออกไปตีญวนพร้อมกับทัพบกอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพนายกองเรือคิดจะกลับออกมาทำการฉลองพระเดชพระคุณให้สำเร็จให้จงได้”
** ต้องขออภัยทุกท่านที่ทนอ่านจนจบตอน วันนี้ปล่อยเรื่องยาวเพราะจดหมายยาวมาก ยากที่จะตัดทอนจริง ๆ ครับ อย่าเพิ่งท้อและเบื่อนะ ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทย ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ข้าวหอม, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, เฟื่องฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๘ -
ค่ายไทยแตกย่อยยับรับไม่อยู่ ญวนโจมจู่ใกล้รุ่งมุ่งขย่ม ไทยประมาทถูกขยี้ตีระบม นายกองล้มลงตายเป็นหลายคน
เจ้าพระยายมราชเกือบพลาดท่า บุญรักษารอดตายไม่ปี้ป่น ดีที่ญวนมิไล่ยามไทยจน จึงรอดพ้นวายป่วงเหมือนดวงดี |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... กองทัพเรือไทยที่ยกเข้าปิดปากน้ำแล้วโจมตีเมืองบันทายมาศจนญวนเพลี่ยงพล้ำ ไทยไม่สามารถรุกล้ำซ้ำเติมได้ เพราะยามนั้นได้เกิดลมสลาตันตะวันตกพัดกระพือฮือโหมมาอย่างแรง จนเรือรบใหญ่น้อยของไทยไม่สามารถจะทนสู้คลื่นลมแรงได้ จึงต้องถอยกลับ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์แม่ทัพหลวงทรงถอยเรือกำปั่นที่ประทับไปจอดทอดที่หน้าเมืองกะพงโสม รับสั่งให้เรือทั้งหมดล่าถอยตามพระองค์ไปจอดทอด ณ เมืองกะพงโสม เจ้าหมื่นไวยวรนาถมีใบบอกรายงานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารับทราบถึงความจำเป็นที่ต้องถอยทัพออกจากเมืองบันทายมาศ แล้วสุดท้ายในใบบอก ได้ขออนุญาตนำทัพเรือกลับไปทอดซ่อมแซมลำที่ชำรุด ณ เมืองจันทบุรี ต่อเมื่อลมสลาตันตะวันตกสงบลงและซ่อมแซมเรือเสร็จแล้วจะรีบยกกลับลงไปตีญวนที่เมืองบันทายมาศทันที วันนี้มาอ่านกันต่อครับ....
”ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนห้าแรมค่ำหนึ่ง จึงให้เรือที่ชำรุดล่วงหน้าเข้ามาก่อน ให้พระยาราชวังสัน พระยาเทพวรชุน คุมเรือเล็กใหญ่ตามเข้ามาด้วยแบ่งไว้รักษาเรือกำปั่นหลายลำ ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนห้าแรมสิบสองค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงกำปั่นวิทยาคมเสด็จกลับเข้าไปทอดอยู่หน้าเมืองจันทบุรี เรือรบเรือไล่ในกรมและนายทัพนายกองก็ตามเสด็จเข้าไปสิ้นรอฟังราชการอยู่ กราบเรียนมา ณ วันพฤหัสบดีเดือนห้าแรมสิบสองค่ำปีขาลจัตวาศก”
ครั้นแต่งหนังสือบอกเสร็จแล้ว ให้พระสุรินทรามาตย์กับหลวงศรีราชาคุมเรือรบเล็กไปส่งให้พระยาโสรัชเจ้าเมืองกำปอด เจ้าเมืองกำปอดก็ส่งให้พระยา,พระเขมรต่อไปจนถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพนมเปญโดยทางบก (หนังสือบอกฉบับนี้ไม่ได้ตัดรอน กล่าวไว้เต็มตามต้นฉบับเดิม เพื่อให้ท่านทั้งหลายผู้อ่านผู้ฟังทราบสำนวนเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ชื่อช่วง)
 ฝ่ายที่เมืองบันทายมาศนั้น องตุนภู่แม่ทัพญวนเห็นว่ากองทัพเรือไทยถอยเลิกไปหมดแล้ว จึงแบ่งกองทัพญวนไปรักษาเมืองบันทายมาศส่วนหนึ่ง แบ่งไปสมทบช่วยเมืองโจดกสามส่วน กองทัพญวนเมืองโจดกและเมืองบันทายมาศก็สมทบกันช่วยระดมตีกองทัพเจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ นักพระองค์ด้วง ทั้งสามเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการให้นายทัพนายกองไทยทั้งหลายตั้งค่ายประชิดค่ายญวน กองทัพญวนก็ยกเข้าตีไทย เมื่อ ณ วันศุกร์เดือนห้าแรมสิบสามค่ำเวลาย่ำรุ่ง ญวนกับไทยได้ต่อสู้กันอยู่พักหนึ่ง พอสว่างเห็นกันถนัด กองทัพไทยก็แตกกระจัดกระจายทุกทัพทุกกองป่นปี้
 กองทัพไทยแตกครั้งนั้นเสียนายทัพไทยผู้ใหญ่ ๑๗ คน เสียนายทัพเขมรผู้ใหญ่ ๘ คน ไพร่ไทยตาย ๑,๒๐๐ คน ไพร่เขมรตาย ๒,๐๐๐ คน รวมไพร่พลไทยและไพร่เขมร ๓,๒๐๐ คน แต่ที่หายไปเห็นจะตายบ้าง ญวนจะจับเป็นไปบ้าง หาทราบแน่ไม่ จำหน่ายชื่อนายทัพตาย ๑๗ คนนั้น ขุนนางในพระราชวังหลวงนั้นคือ พระตะบะรามัญ ๑ พระชนะสงครามรามัญ ๑ สมิงนรเทวะรามัญ ๑ หลวงพัศดีกลาง ๑ ขุนนครเขตเกษมศรี ๑ ขุนวิถีธรรมสัญจร ๑ ยังขุนนางในพระราชวังบวรฯอีกคือ พระยาอภัยสงคราม ๑ พระยานครานุรักษ์ ๑ พระมหาบุรีรมย์ ๑ หลวงเทพพนาไลย ๑ หลวงพิทักษ์โยธา ๑ ยังขุนนางหัวเมืองอีกคือ พระปลัดเมืองนครนายก ๑ หลวงศุภมาตราเมืองปราจีนบุรี ๑ หลวงมหาดไทยเมืองนครสวรรค์ ๑ หลวงนาเมืองอ่างทอง ๑ หลวงแพ่งกรุงเก่า ๑ แต่นายทัพเขมรนั้นตาย ๘ คือ พระยานราธิราช ๑ พระยาสุนทรสงคราม ๑ พระยาวิสุทธิสงคราม ๑ พระยาพิทักษ์โยธา ๑ พระนรินทรพิทักษ์ ๑ พระเสนาราช ๑ พระอาจารย์สนองจิก ๑ พระภักดีสงคราม ๑ กับนักพระองค์แก้วเจ้าเขมรแม่ทัพนั้นถูกปืนญวนตายในที่รบ ศพเจ้าเขมรญวนก็นำไปให้นักพระองค์อิ่มดูเล่น
 ขณะเมื่อรบกันนั้น ญวนยิงปืนมาตรงที่เจ้าพระยายมราชยืนอยู่นั้นหลายนัด กระสุนปืนถูกนายแสงมหาดเล็กบุตรเจ้าพระยายมราชล้มลงตายอยู่ข้างเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยายมราชก็ถูกปืนที่หน้าอกนัดหนึ่ง แต่หารู้สึกกายไม่ ด้วยกระสุนปืนเป็นตะกั่วยิงมาถูกดุมเสื้อ กระสุนปืนนั้นหุ้มดุมเสื้อไว้ ห้อยติดอยู่กับหน้าอกเสื้อ ต่อเลิกการรบแล้วจึงรู้ว่าถูกปืน แต่หลวงศรีพิทักษ์เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารขวาในพระราชวังบวรฯ ถูกกระสุนปืนญวนนัดหนึ่งที่แขนซ้าย แขนหัก ขาตายไม่กลับมาได้ แต่หลวงคชศักดิ์กรมช้างถูกกระสุนปืนหามแล่นเฉียดศีรษะไปจนผมไหม้เกรียม หาเข้าไม่ แล้วญวนก็ยิงอีกนัดหนึ่งถูกช้างล้มลงตาย หลวงคชศักดิ์โดดลงจากหลังช้างหนีมาได้ แต่พระอินทราธิบาลเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯนั้น ยืนเร่งให้ไพร่เข้าต่อสู้ญวนก็ยิงปืนใหญ่มากระสุนปืนลอดหว่างขาไปจนขนหน้าแข้งเกรียม จึงขึ้นม้าไล่ต้อนไพร่ให้ต่อสู้ ต่อสู้พักหนึ่งก็แตกหนีมา แต่หลวงรักษาเทพเจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารซ้ายในพระราชวังบวรฯ เป็นแม่กองด้านหนึ่งเข้าต่อสู้ญวนก็แตกมาแต่ไพร่ แต่หลวงรักษาเทพตัวนายหายไปตั้งแต่เช้าจนเที่ยงจึงกลับมาได้ แต่หูขาดทั้งสองข้างเลือดไหลโซมหน้ามา ลูกประคำทองของเครื่องยศที่คล้องคอก็หายสูญไปเสียด้วย นายทัพนายกองหลวงรักษาเทพนั้นพูดแก้ตัวว่า
“เมื่อทัพแตกจะสู้ก็ไม่ได้ จะหนีก็ไม่พ้น จึงแกล้งทำเป็นตายลงนอนปนอยู่กับหมู่ศพ นอนคว่ำหน้าอั้นหายใจเสียเป็นพัก ๆ เมื่อญวนมาดู ๆ ก็คิดว่าตายเป็นศพเหมือนกัน ญวนก็ถอดแต่ประคำที่คล้องคอไป แล้วก็ตัดแต่ใบหูทั้งสองข้างไปให้เจ้านายมัน พอญวนไปแล้วก็หนีมาได้”
(คำที่หลวงรักษาเทพพูดแก้ตัวนั้น มีผู้ถามเข้ามาว่า ทำไมญวนจึงไม่ตัดศีรษะหลวงรักษาเทพนายทัพไทยไปให้แก่แม่ทัพญวน จะได้รับบำเหน็จรางวัลและความชอบด้วยเล่า มีผู้ตอบแก้แทนว่า เห็นทีญวนเห็นศีรษะหลวงรักษาเทพล้านเกลี้ยงไม่มีผม จะถือหิ้วศีรษะไปไม่ได้ มันจึงตัดแต่ใบหูสองข้างกับประคำทองที่คล้องคอไปให้ให้แม่ทัพญวนดูพอรู้ว่าฆ่านายทัพไทยตายคนหนึ่ง / มีผู้ถามเข้ามาอีกว่า ถ้าญวนมันเห็นศีรษะเกลี้ยงเกลาไม่มีผมจะถือหิ้วไปดังคำแก้นั้นก็จริงอยู่ แต่ทว่าญวนมันไม่โง่หนักหนาหูตามันไม่บอด ถ้ามันจะแก้รัดประคดหนามขนุนที่เอวและผ้าที่นุ่งหรือเสื้อเข้มขาบที่สวมอยู่กับกายหลวงรักษาเทพออกสักอย่างหนึ่ง แล้วหอศีรษะหลวงรักษาเทพไปไม่ได้หรือ / มีผู้หนึ่งตอบแก้ว่า ดวงชะตากุศลของหลวงรักษาเทพยังไม่ถึงที่ตาย ญวนจึงไม่ฆ่า แล้วมีผู้หนึ่งตอบแก้อีกว่า หรือญวนจะจับหลวงรักษาเทพไปได้ทั้งเป็น แต่มันเห็นว่าศีรษะล้านเกลี้ยงเลี่ยนโล่งไม่มีผมผิดกว่าคนปรกติ ญวนมันก็นึกปรานีที่ศีรษะมันจึงไม่ฆ่า ตัดแต่ใบหูทั้งสองข้างไว้ทำพันธุ์ แล้วมันก็ปล่อยมากระมัง ความที่พูดว่าแกล้งทำตายนอนปนอยู่กับศพนั้นเห็นจะไม่จริง เป็นการเท็จพูดแก้ตัวกลัวอายเท่านั้น หลวงเทพรักษาก็โกรธจึงตอบว่า คนที่พูดเช่นนี้ทำไมญวนไม่ฆ่าเสียให้หมดเล่า ปล่อยให้มันมาพูดถากถางเพื่อนกันเล่นเปล่า ๆ หาประโยชน์ไม่ เมื่อทัพแตกก็วิ่งมุดหัวหนีญวนมาเหมือนกัน)
อนึ่งเมื่อกองทัพไทยแตกครั้งนั้น ญวนก็ไม่ติดตามเหมือนทัพอื่น ๆ ถ้าญวนติดตามซ้ำเติมแล้ว เห็นทีว่าจะล้มตายหายจากมากกว่าหมื่นเศษเป็นแน่ ฝ่ายองเกียนเลือกแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโจดก มีชัยชนะตีกองทัพไทยเขมรแตกไปสิ้นแล้ว จับไทยและเขมรไปเป็นเชลยมากกว่า ๓๐๐ คน จับช้างได้ ๓๐ ม้า ๘๐ และเครื่องสรรพศาสตราวุธเป็นอันมาก ตรวจดูได้ปืนใหญ่กระสุน ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว ๑๘ บอก ได้ปืนหามแล่นขานกยาง ๓๐ บอก ได้ปืนเล็กคาบศิลา ๑๕๐ บอก ดาบสั้น ๔๐๐ เล่ม ได้ดาบยาว ๑๐๐ เล่ม ได้พร้าปะกักด้ามยาว ๑๐๐ เล่ม กับได้ธง,ฆ้อง,กลอง,เครื่องช้าง,เครื่องม้า ก็มาก ขนของเครื่องทัพไทยทั้งปวงไปอวดกับนักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรที่เมืองโจดก แล้วองเกียนเลือกแม่ทัพญวนพูดอวดกับนักพระองค์อิ่มว่า
 “ญวนฆ่าขุนนางไทยตาย ๑๗ คน ขุนนางเขมรตาย ๘ คน เก็บได้เสื้อเข้มขาบและผ้าสีทับทิมโพกศีรษะของนายทัพนายกองไทยและเขมรมาได้ ๒๕ สำรับ แล้วองเกียนเลือกนำศีรษะนักพระองค์แก้วเจ้าเขมร ญาตินักพระองค์อิ่มมาให้นักพระองค์อิ่มดู แล้วบอกว่าไพร่ไทยตายสองพัน ไพร่เขมรตายสองพัน เห็นไทยจะเข็ดหลาบบ้างอยู่แล้ว แล้วบอกว่าเมื่อสู้รบกันนั้น นายทัพญวนตายสองคน เป็นขุนนางผู้น้อย ไพร่ญวนตาย ๑๗๐ คน ช้างถูกปืนตายเชือกหนึ่ง ม้าตาย ๒๐ แล้วบอกกับนักพระองค์อิ่มว่า เมื่อเวลาหัวค่ำให้ตีกลองเรียกไพร่พลเข้าค่าย ทำอาการประหนึ่งจะทิ้งค่ายหนี ไทยก็มีความประมาทว่าญวนไม่สู้จะหนีไป ไทยหาสู้จะระวังรักษาค่ายไม่ ครั้นเวลาดึกใกล้รุ่ง เสียงเกราะและเสียงฆ้องกระแตที่ค่ายไทยเงียบซาลงบ้าง พอจวนสว่างญวนก็ยกเข้าปล้นตีค่ายไทยทุกค่าย ที่อยู่สู้รบนั้นน้อยตัว ที่ตื่นตกใจแตกหนีไปนั้นมากนัก ญวนฆ่าไทยเขมรครั้งนี้จนขี้เกียจฆ่า นึกสมเพชเวทนาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงไม่ได้ไล่ติดตามฆ่าฟันต่อไปอีก ไทยแตกไปแล้วก็แล้วกันไปเท่านั้น”
(องเกียนเลือกพูดจาอวดอ้างกับนักพระองค์อิ่มเช่นนี้ นายมานายแสงเขมรคนรับใช้ของนักพระองค์อิ่มนั่งอยู่ที่นั้น จึงได้ยินองเกียนเลือกพูดกับนักพระองค์อิ่มเป็นภาษาเขมร เมื่อนักพระองค์อิ่มตายแล้ว นายมานายแสงหนีญวนมาหานักพระองค์ด้วง เพราะฉะนั้นไทยจึงรู้เนื้อความที่องเกียนเลือกแม่ทัพญวนพูด)”
ค่ายไทยถูกญวนตีแตกเพราะความประมาทเลินเล่อของนายทัพนายกองไทยจริง ๆ อย่างที่แม่ทัพญวนพูดจริงหรือไม่ คิดกันเอาเองก็แล้วกัน ค่อยมาอ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ตุ้ม ครองบุญ, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, Black Sword, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, กร กรวิชญ์, เฟื่องฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๔๙ -
เกิดทุพภิกขภัยในเขมร ทหารเกณฑ์อดตายไร้ศักดิ์ศรี ราษฎรทิ้งเหย้าเข้าพงพี ประชาชีเข้าป่าหาเผือกมัน
ถึงยามขาดเครื่องเสบียงเลี้ยงกองทัพ ก็เท่ากับขาดแรงรบแข็งขัน เดินมิได้รอตายไปวันวัน ทั้งขาดขวัญสิ้นหวังกำลังใจ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... ญวนในค่ายริมคลองขุดใหม่ทำอุบายหลอกไทย โดยตอนหัวค่ำตีกลองเรียกไพร่พลเข้าค่ายแสดงอาการว่าจะไม่สู้รบไทย เตรียมละทิ้งค่ายแล้วเพื่อให้ไทยตายใจไม่ระวังรักษาค่าย ครั้นเวลาค่อนรุ่งเสียงฆ้องสัญญาณในค่ายไทยเงียบเสียงลง ญวนจึงพาไพร่พลบุกจู่โจมเข้าปล้นค่าย ไพร่พลไทยไม่ระวังตัวจึงพากันตื่นตกใจทำอะไรไม่ถูก แตกหนีญวนโดยไม่เป็นอันสู้รบ ครั้นรุ่งแจ้งแลเห็นตัวกันถนัดตา ค่ายไทยก็แตกยับเยิน นายทัพนายกองไทยตายไป ๑๗ คน นายทัพนายกองเขมรตาย ๘ คน ไพร่พลไทยเขมรตายรวมแล้วเกือบ ๔,๐๐๐ คน เจ้าพระยายมราชถูกกระสุนปีนที่หน้าอก ๑ นัด เดชะบุญลูกกระสุนปืนนั้นเป็นลูกตะกั่วถูกตรงดุมเสื้อแล้วหุ้มดุมเสื้อห้อยอยู่ รู้ตัวว่าถูกกระสุนปืนเมื่อเลิกรบกันแล้ว วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.....
ฝ่ายเจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ นักพระองค์ด้วง แม่ทัพและ พระยา,พระ,หลวงไทย เขมร นายทัพนายกองทั้งปวงที่แตกหนีกลับมาถึงเมืองพนมเปญ เมื่อ ณ เดือนหกแรมหกค่ำปีขาลจัตวาศก รวบรวมไพร่พลพักอยู่ที่นั้น ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกข้อราชการทัพศึกเมืองเขมร ให้พระพินิจโยธาในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “เจ้าหมื่นไวยวรนาถแม่ทัพหน้าฝ่ายเรืออยู่กำกับให้พระยาอภัยพิพิธ พระราชวรินทร พระสุรินทรามาตย์ หลวงชาติสุรินทร์ หลวงสุนทรพิมล หลวงภักดีโยธา หกคนเป็นแม่กองลำเลียงข้าวสาร ข้าวตาก เกลือ เสบียงอาหาร ขนลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปในลำคลองเมืองกำปอด ส่งที่ท่าตอตะเคียน ให้นายทัพนายกองบก นายทัพนายกองบกได้นำโคต่างช้างบรรทุกขึ้นไปส่งที่พนมเปญ ตามมีในบัญชีหางว่าวนี้ ได้รับพระราชทานข้าวสาร ๒๘๘ เกวียน ๒๗ ถัง ข้าวตาก ๑๖๗ เกวียน เกลือ ๓๗ เกวียนกับ ๒ ถัง ปลาทูเค็มและปลาเค็มน้ำจืด ๑๐๐ กระสอบ ยาสูบ ๒๐๐ ลัง ผ้าครามเมล็ดงา ผ้าเขียวคราม ๕,๗๘๐ ผืน เสื้อและกางเกง, หมวก, หวายคาดเอวด้วย ๕,๐๐๐ สำรับ ได้รับแต่เท่านี้ หาครบตามท้องตราไม่ จึงมีหนังสือไปต่อว่าเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เจ้าหมื่นไวยวรนาถตอบว่า ครั้นจะส่งข้าว ,เกลือ ,ปลาเค็ม, ยาสูบ ต่อไปอีกให้สิ้นเชิงครบตามจำนวนบัญชีท้องตรานั้นไม่ได้ เห็นว่าจะหนักหลายสิบเที่ยว เพราะเรือเล็กที่ลำเลียงมาส่งนั้น มีน้อยลำ กลัวจะช้าเวลาไป น้ำก็จะแห้งคลองลงทุกวัน เรือก็จะติดอยู่ในคลองออกไม่ได้ ถ้าญวนรู้ว่าเรือลำเลียงเล็ก ๆ น้อยลำไปติดตื้นอยู่กลางทางดังนั้นแล้ว ญวนก็จะแต่งกองทัพโจรมาตีเรือลำเลียง เรือลำเลียงก็จะเสียแก่ญวน พระราชอาชญาก็จะตกอยู่กับแม่ทัพเรือ เพราะฉะนั้นจึงได้เลิกการส่งเสบียงแต่เท่านั้น เพราะจะรีบหนีน้ำแห้งแล้วก็จะได้ไปซ่อมแซมเรือรบในเมืองจันทบุรีด้วย กับข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ใช้ให้พระยาสุรเสนีเขมรไปสืบได้ข่าวว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และเจ้าหมื่นไวยวรนาถก็กลับไปกรุงเทพฯ หมดแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า การที่จะถมคลองขุดใหม่ญวนนั้น เห็นจะไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นแน่ พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อมข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบกด้วย”
ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ ขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก คิดจะกลับเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองอุดงคฦๅไชย แต่เห็นว่าที่เมืองพนมเปญจะทิ้งเสียมิได้ กลัวญวนจะยกกองทัพเรือขึ้นมาตั้งรักษาเมืองพนมเปญอยู่อีก จึงให้พระยา,พระเขมรคุมไพร่พลไปรื้อตึกเก๋งของญวนเสีย และรื้อโรงปืนโรงเรือของญวนเสียด้วย
 แล้วสั่งให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองคุมพระยา,พระเขมรและไพร่พลเขมรไปทำการตั้งค่ายใหม่สี่ค่าย หันหน้าค่ายทั้งสี่ลงไปข้างแม่น้ำใหญ่ที่ตำบลโพธิ์พระบาทบ้านนักพระองจันทร์เก่านั้นเป็นศีรษะแหลมชัยภูมิดีอยู่ จึงให้พระยาเสนาภูเบศร์วังหน้าเป็นแม่กองคุมไพร่เขมรไปทำการตั้งค่ายมั่นที่วังเก่านักพระองค์จันทร์สองค่าย ทำเป็นค่ายไม้แก่น
แล้วให้พระยายกกระบัตร พระยาณรงค์สงคราม พระยาทุกขราษฎร์ พระยาทั้งสามคน ณ เมืองนครราชสีมา คุมไพร่พลคนลาวโคราชห้าพัน ให้พระยานเรนทราธิราชเขมร พระยามโนราชาเขมร พระยาราชเดชเขมร พระยาเขมรสามคนคุมพลเขมรห้าพัน รวมลาวโคราชเขมรหนึ่งหมื่นให้อยู่รักษาค่ายพนมเปญ
ครั้นถึง ณ เดือนเจ็ด เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่กองคุมพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองที่แตกทัพหนีญวนมานั้น ให้คุมไพร่พลที่แตกทัพมาห้าพัน ไปทำเมืองใหม่ที่ตำบลคลองพระยาลือในแขวงเมืองอุดงคฦๅไชยให้นักพระองค์ด้วงอยู่ ให้ตั้งเสาระเนียดไม้แก่นเป็นค่ายยาว ๑๕ เส้น มีประตูหอรบรอบค่าย ให้พูนมูลดินขึ้นเป็นป้อมหกป้อม สูงแปดศอกสี่ป้อมตามมุมค่าย สูงสามวาสองป้อมอยู่หน้าค่ายและหลังค่าย แล้วให้ขุดสนามเพลาะเป็นคูรอบค่ายทั้งสี่ด้านเป็นชานเมือง
ครั้น ณ เดือนแปด เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้หลวงนรารณรงค์ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่ง ใจความว่า
 “ที่เมืองเขมรไม่ได้ทำไร่ทำนามาถึงสามปีเศษแล้ว ด้วยบ้านเมืองเป็นทัพศึก เพราะฉะนั้นที่เมืองเขมรจึงขัดสนเสบียงอย่างยิ่งที่สุด ไม่มีที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ราษฎรและภิกษุสามเณรพากันอดอยากล้มตายมาก ไพร่บ้านพลเมืองเขมรพากันไปตั้งอยู่ในป่าหาหน่อไม้ เผือก มัน กลอย และรากไม้รับประทานต่างข้าว ไพร่พลไทยลาวที่เกณฑ์มาเข้ากองทัพนั้นก็อดอยากซูบผอมซวดโซล้มตายถึงพันเศษ ข้าวในกองทัพจ่ายให้ไพร่พลรับพระราชทานมื้อละถ้วยตะไล ให้ปนใบไม้รากไม้รับพระราชทานก็หาทนกำลังอยู่ได้ไม่ บ้างล้มตายบ้าง หนีหายเข้าป่าไปหากินก็มีบ้าง แต่ก่อนเมื่อจวนข้าวจะหมดนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าเสบียงอาหารน้อยลง คงจะไม่พอตลอดสามเดือนหรือเดือนหนึ่ง จึงให้พระยาธัญญาธิบาลวังหน้าเป็นเชื้อลาวเก่า กับหลวงวิจารณ์สาลีหลวงศรีโภคา หลวงเมืองนครราชสีมา คุมไพร่พลลาวหัวเมืองห้าร้อยกับโคต่างพันเศษ และคุมเงินขึ้นไปจัดการซื้อข้าวแขวงเมืองลาวทางตะวันออกก็ยังไม่กลับมา กับได้ให้จมื่นศักดิ์แสนยารักษ์ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ กับนายนรินทรคชกรรม์ กรมช้างในพระราชวังหลวง และนายอินทรคชลักษณ์ กรมช้างในพระราชวังบวรฯ เป็นข้าหลวงสามนายคุมช้างขึ้นไปซื้อข้าวที่บ้านทุ่งพระพุทธในป่าดง เขมรบ้านป่าดงทุ่งพระพุทธก็ขายข้าวให้บ้าง นำเกลือแลกข้าวได้บ้าง ก็หาพอจับจ่ายใช้ราชการไม่”
 คำกล่าวที่ว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” ไม่ผิดไปได้เลยจริง ๆ อ่านใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาเรื่องเมืองเขมรขาดเสบียงอาหารแล้ว แสนสงสารประชาชีชาวเขมรเป็นยิ่งนัก เพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวการณ์ศึกสงคราม ชาวนาชาวไร่ไม่มีโอกาสทำนาทำไร่เป็นเวลานานถึงสามปี ข้าวปลาอาหารจึงขาดแคลน คิดถึงชาวนาชาวไร่ไทยในช่วงปี ๒๔๘๕ ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ นาไร่ล่มจมน้ำเสียหาย ครั้นน้ำลดก็เกิดสงครามใหญ่ และฉาตภัย (ความแห้งแล้ง) ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง) ก็ตามมา ชาวชนบทต้องเข้าป่าหากลอย เผือก มัน ขุยไผ่ มากินแทนข้าว อย่างดีก็นำมาผสมข้าวสารหุงกินกัน สภาพของคนเขมรตามใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ดูจะเลวร้ายกว่าคนไทยดังกล่าวมากนัก ที่น่าเห็นใจและซาบซึ้งคุณงามความดีที่สุดคือเหล่าทหารหาญในกองทัพไทยและเขมรที่ยกไปรบกับญวน ทุกท่านต้องต่อสู้กับลูกปืน คมหอก คมดาบของศัตรู เสี่ยงตายในสนามรบยังไม่พอ ต้องมาต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยจนถึงกับล้มตายไปบ้างก็มี เมื่อขัดเสบียงอาหารแล้วกองทัพก็เดินไปไม่ได้ กองทัพไทยจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, น้ำหนาว, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ข้าวหอม, เฟื่องฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|