Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - อานามสยามยุทธ -
หน้า: 1 ... 10 11 [12]   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - อานามสยามยุทธ -  (อ่าน 134060 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - อานามสยามยุทธ -
« ตอบ #165 เมื่อ: 05, ธันวาคม, 2564, 10:07:44 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -


<<< ก่อนหน้า                                                             .

- อานามสยามยุทธ ๑๖๕ (ปิดฉากสงครามอานามสยามยุทธ) -

ศึกสงบจบเรื่องเลิกเคืองแค้น
ต่างอยู่แดนดินตนไม่พ้นข้าม
นักองค์ด้วงครองประเทศทั่วเขตคาม
เจ้าสยามสถาปนาอย่างปรานี

เจ้าพระยาบดินทร์สิ้นศึกแล้ว
“ขุนพลแก้ว” พร้อมพรักด้วยศักดิ์ศรี
มีเวลาอยู่บ้านนานสองปี
แล้วชีวีปิดม่าน “อสัญกรรม”


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีมีท้องตราสั่งบังคับมาย้งองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนที่เมืองพนมเปญ  แต่งตั้งให้นักพระองค์ด้วงเป็นเจ้าเมืองเขมรอยู่ก๊กหนึ่ง  ส่งคืนเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามนางพร้อมขุนนางเก่าเขมรและครอบครัว  นักพระองค์ด้วงลงเรือรบขนาดใหญ่ไปรับตราและเครื่องแบบที่พระเจ้าเวียดนามประทานมา ณ ค่ายองต๋าเตียนกุน เมืองพนมเปญ  จากนั้นญวนรื้อเลิกค่ายทั้งหมด  ราชการทัพศึกเขมรกับญวนเลิกแล้วแก่กัน  เป็นอันเสร็จสิ้นตั้งแต่ วันขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนเจ็ด ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐)    จากนั้นมาอีกประมาณ ๑๗ วัน  คือวันแรมสิบสองค่ำ เดือนเจ็ด ปีเดียวกันนั้น  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีก็ถึงแก่ทิวงคตด้วยไข้พิษ  พระญาติและขุนนางผู้ใหญ่พร้อมใจกันยกเจ้าชายยวมราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองราชสมบัติด้วยวัยเพียงเจ็ดปี  ตั้งพระนามยี่ห้อว่า   พระเจ้าเวียดนามตือตึกเดือดว่างเด้   ให้ปู่น้อยคือ  เจ้าเตียนวานอนุชาพระเจ้ามินมาง  เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สืบไปตามเดิม  วันนี้มาอ่านเรื่องกันต่อในตอนจบครับ.....


           “ฝ่ายที่กรุงเทพฯ  พระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล (ชื่อเสือ)  ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยารัตนพิพิธ (สน) ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ  โปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็น  พระยาเพชรพิไชย  จางวางกรมล้อมพระราชวัง


           ครั้น ณ วันเดือนยี่ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ในปีมะแมนพศก  โปรดให้พระยาเพชรพิไชย (เสือ) เป็นข้าหลวงที่หนึ่งต้นรับสั่ง  กับเจ้าพนักงานทุกตำแหน่งคุมเครื่องราชอิสริยยศกับสุพรรณบัฏจารึกพระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาองค์ใหม่  ให้ออกไปเมืองเขมรให้พร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา  จัดการอภิเษกนักพระองค์ด้วงเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา  พระยาเพชรพิไชยเชิญกระแสพระราชดำริออกไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาให้ตั้งการอภิเษกนักพระองค์ด้วง ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่ ขึ้นสี่ค่ำ ปีมะแม นพศก ทรงพระนามว่า      “ สมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี  ศรีสุริโยปพันธุธรรมิกวโรดม  บรมศิรอินทรบวรมหาจักรพรรดิ  ราชพิลาศนารถบพิตร  สถิตยเป็นอินทรกัมพูรัตนราช  วโรภาษชาติวรวงศ์  ดำรงกัมพูชามหาประเทศราช  บวรพิพัฒนาดิเรก  เอกอัครมหาเขมราธิบดินทร  นรินทรวิสุทธิอุตมวโรดม  บรมบพิตรพระเจ้ากรุงกัมพูชา”


           ครั้งนั้น  องค์พระหริรักษ์ก็จัดเครื่องพระราชบรรณาการ  แต่งให้พระยา พระเขมร คุมเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ณ กรุงเทพฯ ตามอย่างตามธรรมเนียมทุกปีมิได้ขาด  บรรณาการที่ส่งเข้ามากรุงเทพฯนั้นคือ  แพรเขมร ๕๐ ผืน  ผ้าขาวเขมร ๒๐๐ ผืน  ขี้ผึ้งหนักหาบหนึ่ง  ผลเร่วหนักหาบหนึ่ง  ผลกระวานหนักหาบหนึ่ง  ครั่งหนักหาบหนึ่ง  รงค์หนักหาบหนึ่ง  น้ำรัก ๕๐ กระออม  เป็นแบบอย่างตามธรรมเนียมสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักพระองค์เอง) บิดา ดังนี้  แล้วองค์พระหริรักษ์คิดถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  จึงได้จัดพะราชบรรณาการเพิ่มเติมขึ้นอีก  ผลกระวานหนักห้าสิบหาบ  น้ำรัก ๑๐๐ กระออม  บางปีถวายของแปลก ๆ บ้าง

           ครั้น ณ เดือนห้า ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ปี  เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร เจ้าพระยาบดินทรเดชาและพระยาเพชรพิไชย จัดการอภิเษกองค์พระหริรักษ์ฯ เสร็จแล้วกลับกรุงเทพฯ


           ครั้งนั้นองค์พระหริรักษ์ฯ ให้นักองค์ราชาวดีราชบุตรผู้ใหญ่เข้ามาทำราชการอยู่ ณ กรุงเทพฯ  ให้เข้ามาด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็กลับเข้ามาถึงเมืองฉะเชิงเทรา ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นสิบสี่ค่ำ ในปีวอกสัมฤทธิศก  พอพบกองทัพกรุงเทพฯ ออกไปต่อรบด้วยจีนตั้วเฮียที่เมืองฉะเชิงเทรา  เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่ทัพ  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ชื่อช่วง) บุตรใหญ่เจ้าพระยาพะคลังนั้นเป็นทัพหน้า  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกเข้าช่วยเจ้าพระยาพระคลังตีพวกตั้วเฮียจีนกบฏแตกหนีหายไปสิ้น เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมห้าค่ำ  กองทัพเจ้าพระยาพระคลังจับได้ตัวนายจีนตั้วเฮีย  คือ จีนหัวเสียวตั้วเฮีย ๑  จีนเฮียงยี่เฮีย ๑  จีนตูยี่เฮีย ๑  จีนโปยี่เฮีย ๑  จีนแสงซาเฮีย ๑  จีนเกา ๑  จีนกีเฉาเฮีย ๑  และจีนโผ ๑  จีนลัก ๑  จีนหลงจู๊อะ ๑  จีนกีเถ้าแก่สวนอ้อยด้วย ๑  ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพฯ


           เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังเสร็จการศึกแล้วก็กลับเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเดือนหก ขึ้นสามค่ำ ในปีวอกสัมฤทธิศก  ทันการฉลองวัดพระเชตุพน  มีการมหรสพเป็นอย่างใหญ่  มีโขนอุโมงค์โรงใหญ่ชักรอกกรมหลวงรักษ์รณเรศร์  โรงใหญ่สนุกเหลือที่จะพรรณนา  แล้วถวายพระไตรแพร  จีวรเมล็ดพริกไทย  สบงแพรเขมร  ผ้ากราบพระแพรเขมรที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดมาทูลเกล้าฯ ถวาย รวมไตรแพร ๕,๐๐๐ ไตร  และเครื่องบริขารต่าง ๆ เป็นอันมากห้าพันสำรับ


           ครั้น ณ ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร  เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่  ป่วยเป็นไข้ป่วงใหญ่  ถึงอสัญกรรม ณ วันเดือนเจ็ด แรมเก้าค่ำ ปีระกา เอกศก  โปรดเกล้าฯ ให้ทำการฌาปนกิจพระราชทานเพลิงเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมรุวัดสระเกศ........

            (ถ้าจะคิดตั้งแต่ไทยได้เป็นศึกกับญวนเมื่อปีมะเส็งเบญจศกเป็นครั้งแรก  มาถึงเลิกการศึกเสร็จกัน เมื่อปีมะแมนพศก  รวมปีระหว่างไทยรบกับญวนนั้น ๑๔ ปี  จึงสำเร็จเสร็จสิ้นการศึกสงครามเป็นไมตรีกัน)


           ** เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้วในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร  ถึงแก่อสัญกรรมลงในปีพุทธศักราช ๒๓๙๒  หลังจากเสร็จศึกสงครามไทย-ญวน ได้ ๒ ปี  และต่อมาอีก ๒ ปี  คือ  พุทธศักราช ๒๓๙๔  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔  หลังจากเสร็จศึกสงครามไทย-ญวน ได้ ๔ ปี  คงเหลือแต่เรื่องวีรกรรม  “อานามสยามยุทธ”  ไว้ให้อนุชนไทยศึกษากันต่อไป........


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, มนชิดา พานิช, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, น้ำหนาว

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

หน้า: 1 ... 10 11 [12]   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.161 วินาที กับ 45 คำสั่ง
กำลังโหลด...