บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร และสวรรค์ ~
- ว่าด้วยเทวดา -
“เทวดา”นามสัตว์อุบัติสวรรค์ ท่านจัดสรรชั้นอยู่เป็นหมู่เหล่า นับจากชั้นต่ำสุดมนุษย์เนา มีขุนเขาไกรลาสเป็นแกนกลาง
เรียกชั้น“จาตุมหาราชิกา” เทวดาเสพกามติดตามอย่าง- เยี่ยงมนุษย์จุดเน้นเป็นนายนาง มีข้อต่างมนุษย์ในหลายประการ
เช่นกายทิพย์ทิพย์ภิรมย์สุขสมบัติ เนาเร้นลัดไม่เห็นเป็นหลักฐาน ทุกหนแห่งแฝงอยู่ที่ทิพย์พิมาน มักบันดาลฤทธิ์ดลให้คนดู
“ท้าวจาตุมหาราช”โลกบาล จัดแบ่งการปกครองความเป็นอยู่ “ธตรฐ”บูรพาเฝ้าประตู ปกครองหมู่คนธรรพ์เทพบรรเลง
“วิรุฬหก”ทักษิณถิ่นกุมภัณฑ์ คอยกวดขันอสูรไม่ให้อวดเก่ง “วิรูปักษ์”ปัจฉิมทิศพิษน่าเกรง ครองนาคเคร่งข่มพิษฤทธิรณ
“เวสสุวัณ,กุเวร”อุดรรักษ์ ปกครองยักษ์อยู่ดีมีเหตุผล ทั้งสี่ท้าวสี่ทิศพิศดูคน ประพฤติตนชั่วดีประการใด.. ...
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพสวย ๆ จาก CR. Photo By KaiZtudio คลิก |
ท้าวธตรฐ (ทิศตะวันออก) และ ท้าววิรุฬหก (ทิศใต้)

ท้าววิรูปักษ์ (ทิศตะวันตก) และ ท้าวเวสสุวรรณ (ทิศเหนือ)

รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, น้ำหนาว, ตุ้ม ครองบุญ, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กรกันต์, ฟองเมฆ, ชลนา ทิชากร, กรกช, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- เทวดาชั้นต่ำ -
ทั้งสี่ท้าวโลกบาลมีงานหนึ่ง ตรวจตราถึงพฤติกรรมคนน้อยใหญ่ เห็นทำชั่วทำดีมีอย่างไร จดจารใส่พานถวายแด่องค์อินทร์
เทพเบื้องต่ำชั้นนี้มีสี่เหล่า “คนธรรพ์”เผ่าธตรฐงดงามศิลป์ ระเริงรำบรรเลงร่ายเพลงพิณ “กุมภัณฑ์”ถิ่นวิรุฬหกคุมปกครอง
กุมภัณฑ์คือ“เทพอสูร”ตระกูลยักษ์ ต่างที่ลักษณ์กุมภัณฑ์นั้นยืนหย่อง ย่อขากางอัณฑะใหญ่คล้ายหม้อทอง “รากษส”อีกนามของกุมภัณฑ์มาร
เทพนาคานาคีมากมีพิษ แสดงฤทธิ์เดชามหาศาล วิรูปักษ์ปกครองบริวาร รักษาด้านตะวันตกเขาสุเมรุ
เทพยักโขยักขีที่ดุร้าย มักก่อความวุ่นวายมิใช่เล่น ล้วนเกรงกลัวระนาวท้าวกุเวร รับกฎเกณฑ์เทินหัวกลัวเจ้านาย
เทวดาสี่เหล่าดังกล่าวนี้ อยู่ตามที่ลุ่มดอนร่อนเร่หลาย ยึดพฤกษาภูเขาแฝงเนากาย กินอยู่ง่ายไม่เปื้อนเปรอะเหมือนคน....
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, มนชิดา พานิช, My Little Sodium, ข้าวหอม, Paper Flower, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, คิดถึงเสมอ, ชลนา ทิชากร, น้ำหนาว, กรกช, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- คันธัพพเทวดา -
“คนธรรพ์”เป็นเทวดาเรื่องน่ารู้ เกิดสิงอยู่ ณ ไม้หอมทุกแห่งหน มวลพฤกษาหลายสีมีสุคนธ์ ล้วนเป็นแหล่งแฝงตนเทพคนธรรพ์
เมื่อไม้นั้นพลันพิบัติถูกตัดโค่น เทพอื่นโผนผละหนีขมีขมัน แต่คนธรรพกลับอยู่คู่ไม้นั้น คนเรียกกันว่า“นางไม้”ให้สมญา
อยู่ในแก่นในเนื้อเยื่อกะพี้ และอยู่ที่เปลือกรากมากนักหนา อยู่กิ่งก้านดอกใบพลิ้วไปมา มวลพฤกษาไร้หอมมิยอมเนา
เทวดาหมู่นี้มากมีศิลป์ ร่ายเพลงพิณเลิศโลกล้างโศกเหงา “ปัญจสิงขร”ดีดพิณเบาเบา เสียงดังเข้าโสตผู้“หูพิการ”
เทพคนธรรพ์นั้นเก่งบรรเลงคีต ทั้งประณีตจิตรกรรมภาพงามหวาน ปรุงยาทิพย์หยิบทำอย่างชำนาญ ทั้งเชี่ยวชาญปลูกตุนสมุนไพร
เป็นหมอดูรู้วิชาสารพัด เกียรติประวัติเทพคนธรรพ์นั้นยิ่งใหญ่ เวลาน้อยร้อยคำเล่าเรื่องเท่าไร ก็กล่าวไม่หมดพันเรื่องคนธรรพ์...
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล |
คนธรรพ์ เป็นเทพที่อยู่กึ่งกลางมนุษย์กับสวรรค์ อาศัยอยู่ในต้นไม้มีกลิ่นหอม โดยอยู่ในแก่นบ้าง ในกะพี้บ้าง ในเยื่อบ้าง ในเปลือกบ้าง ในกิ่งก้านสาขาต่าง ๆ บ้าง ในใบบ้าง ในดอกบ้าง รวมอยู่กับพวกรุขเทวดา เมื่อต้นไม้นั้นถูกทำลายโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ รุกขเทวดาก็จะพากันไปหาที่อยู่ใหม่ แต่พวกคนธรรพ์ไม่ไป ยังคงเกาะติดอยู่กับไม้นั้นไปจนกว่าจะหมดอายุ จึงเรียกพวกเทวดานี้อีกอย่างหนึ่งว่า นางไม้ เช่นนางตะเคียนเป็นต้น
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของเทพคนธรรพ์ คือ ปลูกโสม สมุนไพร แล้วปรุงเป็นโอสถทิพย์ให้แก่ทวยเทพ
เป็นพวกที่เก่งในทางบรรเลงดนตรี ทำหน้าที่บรรเลงเพลงขับกล่อมทวยเทพ ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระอินทร์บัญชาให้ ปัญจสิงขรเทพบุตร หัวหน้าวงดนตรีคนธรรพ์บรรเลงเพลงส่งเสด็จ
เป็นพวกที่เก่งในทางพยากรณ์ (หมอดู) รอบรู้วิชาการนานา พระนารทฤๅษี ผู้นำคนธรรพ์ท่านหนึ่ง สามารถในการทำฝนเทียม เชี่ยวชาญในพิรุณศาสตร์ และ... เทพคนธรรพ์มีเสน่ห์ (เจ้าชู้) 
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), My Little Sodium, คิดถึงเสมอ, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, น้ำหนาว, กรกช, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- กุมภัณฑ์ รากษส อสูร -
เทพกุมภัณฑ์นั้นร่างพ่างกับยักษ์ ต่างรูปลักษณ์เห็นอยู่ดูน่าขัน ผิวกายดำท้องโตพุงโรโย้ยัน ปากมีฟันอย่างเดียวไร้เขี้ยวยาว
ผมหยิกฝอยตาพองมองถลน คอยกินคนล้ำเขตแม้เพียงก้าว เป็นรากษสซดเลือดเชือดเนื้อคาว หยาบกร้านกร้าวเป็นอสูรไร้คุณธรรม
ยักษ์ปักหลั่นหาญเถื่อนทนเหมือนแรด ภูตเถื่อนแทตย์หยาบช้าบ้าระห่ำ รับใช้เทพเบื้องบนด้วยขนน้ำ ที่อยู่ต่ำเป็นเทวะยมบาล...... |
กุมภัณฑ์เป็นเทวดาทางทิศใต้เขาพระสุเมรุ มีรูปลักษณ์คล้ายยักษ์ จนทำให้คนเห็นแล้วเข้าใจว่าเป็นยักษ์ ลักษณะที่กุมภัณฑ์ต่างจากยักษ์คือ ผิวกายดำคล้ำ ผมหยิก ตาพองโต ท้องโต พุงโร ไม่มีเขี้ยวยาวโง้งเหมือนยักษ์ ชื่อกุมภัณฑ์ แปลว่าหม้อ มิใช่เพราะท้องโต พุงโร เหมือนหม้อเท่านั้น ที่สำคัญคือเขามีลูกอัณฑะโต เวลาเดินและยืนจะถ่างขา เทวดาพวกนี้นอกจากเรียกนามว่ากุมภัณฑ์แล้ว ยังมีนามว่า อสูร รากษส แทตย์ อีกด้วย
กุมภัณฑ์แบ่งเป็น ๒ พวก คือ กุมภัณฑ์ชั้นสูง อาศัยในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาและบนโลก ทำหน้าที่รักษาสถานที่ต่าง ๆ หากมีผู้ล่วงล้ำเข้าไป ก็จะจับผู้นั้นกินเสีย กุมภัณฑ์กลุ่มนี้เรียกว่ารากษส ส่วนกุมภัณฑ์ชั้นต่ำคือยมบาล อาศัยในนรกภูมิ มีหน้าที่ลงโทษสัตว์นรกต่าง ๆ ตามกรรมที่สัตว์นั้นได้ทำไว้
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ฟองเมฆ, My Little Sodium, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, น้ำหนาว, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, กรกช, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- ว่าด้วยนาคเทวดา -
นาคนับเป็นเทวดาสัตว์ประเสริฐ มีกำเนิดจากที่สี่สถาน คือ“โอปปปาติกะ”หนึ่งประการ สองจากฐาน“สังเสทชะ”หรือเถ้าไคล
สาม“ชลาพุชะ”จากครรภ์แม่ สี่เกิดแต่“อัณฑชะ”กะเทาะไข่ สี่ตระกูลมีพิษฤทธิ์เกรียงไกร “วิรูปักษ์”นาคใหญ่กายสีทอง
“เอราปถ”ตระกูลนี้กายสีเขียว เลื้อยปราดเปรียวเป็นหนึ่งไม่มีสอง “ฉัพพยาปุตตะ”คึกคะนอง สีกายของตระกูลนี้เป็นสีรุ้ง
“กัณหาโคตมะ”ตระกูลต่ำ กายสีดำดุร้ายใครอย่ายุ่ง วิรูปักษ์ปกครองเลี้ยงบำรุง มีเมืองกรุงยิ่งใหญ่ใต้บาดาล |
นาคา เป็นหนึ่งพวกเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา รักษาเขาพระสุเมรุอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตก ท้าววิรูปักษ์เป็นใหญ่ในเทพหมู่นี้ พวกเขามีกำเนิดผิดแผกไปจากเทพเหล่าอื่น กล่าวคือ เป็นโอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นบ้าง เกิดจากเถ้าไคลบ้าง เกิดจากครรภ์บ้าง เกิดจากไข่บ้าง แยกออกเป็นตระกูลใหญ่ได้ ๔ ตระกูล คือ วิรูปปักข์ มีกายสีทอง เอราปถะ มีกายสีเขียว ฉัพพยาปุตตะ มีกายสีรุ้ง และ กัณหาโคตมะ มีกายสีดำ (พวกงูเห่า)
ลัทธิพราหมณ์เชื่อถือว่า นาคคือเทพเจ้าแห่งน้ำ สามารถบันดาลให้ฝนตกได้ทั่วจักรวาล เจ้าลัทธิต่าง ๆ ในชมพูทวีปนิยมบูชาพระยานาค (งูใหญ่) กันมาก เมืองหลวงของนาคเทวดาคือ นาคพิภพใต้บาดาล ...
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, น้ำหนาว, My Little Sodium, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, ฟองเมฆ, คิดถึงเสมอ, กรกช, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- ยักษเทวดา -
“ยักษ์” เป็นเทวดาน่ากลัวเหลือ ยึดทิศเหนือเขาสุเมรุเป็นถิ่นฐาน มีเรือนร่างใหญ่โตมโหฬาร จับช้างสารกินได้สบายมือ
มีหน้าตาดุร้ายใจหาญห้าว เขี้ยวงอกยาวโง้งเป็นของอไม่ซื่อ แสยะหน้าตาถลนคนร่ำลือ ว่ามันคือมารร้ายมิใช่เทวา
ท้าวกุเวรเป็นเทพปกครองอยู่ ยักษ์ทุกหมู่เชื่อฟังหมดหลังหน้า สงบเสงี่ยมเจียมฤทธิ์อิสรา ร่วมรักษาอุดรทิศปิดทุกทาง
“โลกบาล”เทพมีทั้งสี่ทิศ ล้วนทรงฤทธิ์เดชแปลกเห็นแตกต่าง เทพคนธรรพ์นั้นอ่อนโยนโอนสำอาง แต่เสกสร้างโลกสวยด้วยมนต์เพลง
เทพกุมภัณฑ์,นาคา,ยักษาเล่า ร้ายดีเคล้าคละผสมสิ้นข่มเหง ทำสวรรค์ชั้นแรกให้ไม่วังเวง เทพครื้นเครงสมนามกามาพจร
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
เขาพระสุเมรุกลางสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง เป็นที่ซึ่งเทพยดาอยู่สลอน มีคนธรรพ์,กุมภัณฑ์นาคมากอมร ทิศอุดรยักษ์อยู่อย่างรู้กัน
แบ่งทวีปเวียงวังทั้งสี่ทิศ เนรมิตบ้านเมืองเรืองลดหลั่น มีนครใหญ่น้อยหลายร้อยพัน เฉกประชันเมืองมนุษย์มโนรมย์
เช่นอุดรแดนทิพย์ทวีปยักษ์ ที่ประจักษ์เทพนครไร้ผู้ข่ม “วิสาณะ,กุสินาฏา”น่าชม “ชโนฆะ”งามสมเทพธานี
อีกหลายเมืองเรืองโรจน์วิลาสลักษณ์ ทั้งเมืองยักษ์,คนธรรพ์,กุมภัณฑ์ผี นาคทวีปเมืองงามกามโภคี ทั้งเทวาเทวีมีพิมาน
สิเนรุหรือสุเมรุเป็นแกนโลก มิเอนโยกคลอนเคลื่อนเขยื้อนฐาน มีป่าทิพย์นามว่า“หิมพานต์” พิสดารดึงใจให้ติดตาม..... ......... ฯลฯ ......... |
สำหรับเนื้อหาช่วงเข้าสู่ “เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ” ว่ามีสิ่งใดอาศัยอยู่ในแดนหิมพานต์บ้าง ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ คลิก >> ที่นี่ << เข้าอ่านต่อได้ หรือจะข้ามไปอ่านเรื่อง เทวดา - อสูร ต่อไป ก็เลื่อนอ่านต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ /
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- เทวดาในมนุษย์ “ผี” -
“จาตุมหาราชิกา”สวรรค์ มีเทพชั้นต่ำสุดมนุษย์อยู่ เป็นกายทิพย์บางหนให้คนดู บางครั้งขู่หลอกหลอนคนอ่อนแอ
“ภุมมเทวา”อาศัยในหลายที่ ตามเจดีย์,ศาลา,บ้านไม่แน่ ตามจอมปลวก,เนินดิน,ใต้ดินแปร ภูเขา,แม่น้ำตามความพอใจ
“รุกขเทวา”เทพารักษ์ ดูมีศักดิ์สูงกว่า“ภุมม์”พอเห็นได้ อยู่ทั่วพฤกษ์ดอกผลยอดต้นใบ วิมานไม้นานาอาศัยเนา
“อากาสเทวา”สูงกว่า“รุกข์” ล่องลอยทุกแห่งหนพ้นป่าเขา สูงจากดินหนึ่งโยชน์ลอยไร้เงา เสมือนเจ้าไร้ศาลปานภูตพราย
เทวดาที่รู้สามหมู่นี้ คือภูตผีทั่วไปในความหมาย มีอยู่บ้างบางคราปรากฏกาย แล้วก็หายไร้หนให้คนงง.... |
ยังมีเทวดาชั้นต่ำที่ถือว่าเป็นชาวสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา อยู่วิมานบนพื้นดินถิ่นมนุษย์ เรียกชื่อตามที่อยู่อาศัย ดังนี้
“ภุมมเทวา” เป็นเทวดาที่อาศัยบนพื้นมนุษย์ อยู่ตามจอมปลวก เนินดิน ใต้ดิน ภูเขา แม่น้ำ บ้าน เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตู เป็นต้น บางองค์มีวิมานเป็นของตน บางองค์ก็ไม่มี ต้องอาศัยวิมานองค์อื่น หรือมนุษย์สร้างให้ เช่นศาลเจ้า ศาลพระภูมิ เป็นต้น
“รุกขเทวา” เป็นเทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ กิ่งไม้หรือยอดไม้ต่างๆ ซึ่งสูงขึ้นไปกว่าพวกภุมมเทวา มีทั้งที่มีวิมานและไม่มีวิมานเป็นของตน
“อากาสเทวา” เป็นเทวดาที่มีวิมานอยู่กลางอากาศ สูงขึ้นไปจากพื้นดินประมาณ 1 โยชน์ ไม่ไกลนักจากภูมิมนุษย์
เทวดาเหล่านี้อยู่ในปกครองของท้าวจาตุมหาราช ซึ่งที่อยู่อาศัยของเทวดาเหล่านี้ จะอยู่ซ้อนกับภูมิของมนุษย์ ทำให้บางคราวมนุษย์สามารถมองเห็นพวกภุมมเทวา รุกขเทวา และอากาสเทวา ได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งก็จะมีทุกเผ่าพันธุ์ ที่เราเรียกกายละเอียด (กายทิพย์) หรือวิญญาณที่อยู่ปนกับภูมิมนุษย์เหล่านี้ว่า “ผี” มีความหมายกว้างมาก หมายถึง กายละเอียดที่เรามองไม่เห็น ที่อยู่รวมกับมนุษย์แต่สภาพที่ละเอียดกว่า เช่น สัมภเวสี (ผีเร่ร่อน) ภุมมเทวา สายยักษ์ สายวิทยาธร สายคนธรรพ์ เป็นต้น อย่างผีปอบที่เราเคยได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ๆ จะเป็นภุมมเทวาสายยักษ์ อยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ ที่เข้าสิงร่างมนุษย์เพื่ออาศัยกินอาหาร แต่ไม่สามารถจะเข้าสิงได้ทุกคน จะเข้าสิงได้เฉพาะคนที่เคยสร้างกรรมประเภทฆ่าสัตว์ไหว้เจ้ามาในอดีต.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- การเกิดขึ้นในสวรรค์ชั้น ๑ -
การบังเกิดในสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง บุญมากจึงได้วิมานอันสูงส่ง เป็นที่อยู่แห่งตนตามจำนง เด่นดำรงอิสระบารมี
ถ้าบุญน้อยไร้สถานพิมานพัก เกิดในตักเทวดาสง่าศรี ถือเป็นบุตรธิดาท่านในทันที รูปลักษณ์ดีร่างเรือนทิพย์เหมือนกัน
ว่าสตรีบุญน้อยตายลอยแล่น เกิดบนแท่นบรรทมเทพที่สวรรค์ ได้เป็นบาทบริจาริกาพลัน เทพองค์นั้นปกครองเป็นของตน
ผู้บุญมีแต่น้อยไม่ลอยเด่น เกิดอยู่เวรรับใช้ไม่สับสน มีเจ้านายในเรือนเหมือนอย่างคน ตามแต่ผลบุญแบ่งตำแหน่งงาน... |
สัตว์ทั้งหลายที่สร้างบุญกุศลไว้จะได้ไปเกิดในโลกสวรรค์เป็นอุบัติเทพ มีรูปร่างเป็นทิพย์ ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาว เป็นเทพบุตรเทพธิดาเลยทีเดียว จะตั้งอยู่ในฐานะอะไรก็แล้วแต่สถานที่ซึ่งตนอุบัติขึ้น คือ
- ถัามีบุญน้อยไม่พอที่มีวิมานของตนเองได้ ครั้นไปอุบัติขึ้นที่ตักของเทวดาองค์ใด ก็มีฐานะเป็นบุตรเป็นธิดาของเทวดาองค์นั้น
- ถ้าเป็นสตรีทำบุญไว้ ตายแล้วไปอุบัติบังขึ้นเหนือแท่นที่บรรทมของเทพองค์ใด ก็ต้องเป็นบาทบริจาริกาของเทพองค์นั้น
- ถ้ามีบุญกุศลสร้างไว้น้อย จะได้เป็นเพียงพนักงานตกแต่งประดับประดาอาภรณ์วิภูษิต เครื่องต้นเครื่องทรงของเทพองค์ใด ย่อมอุบัติ ณ ใกล้ ๆ ที่บรรทมของเทพผู้จะเป็นนาย
- ถ้ามีวาสนาจะได้เป็นเพียงเทวดาประเภทรับใช้ เป็นบริวารของเทพผู้มีเทพผู้มีบุญองค์ใด ก็ย่อมไปอุบัติเกิดภายในบริเวณปราลาทวิมานของเทพผู้จะเป็นนายองค์นั้น
๐ หากว่าไม่ได้ไปเกิดในบริเวณวิมานทิพย์ของเทพองค์ใดทั้งนั้น แต่อุบัติในที่ว่างระหว่างแดนต่อแดน ไม่ทราบว่าจะเป็นบริวารของเทพผู้เป็นเจ้าของวิมานไหน ในกรณีนี้ องค์เทพผู้เป็นใหญ่กว่าฝูงเทพทั้งปวงในเมืองนั้นจะเป็นผู้พิพากษาตัดสิน วิธีพิพากษาของท่านก็คือ หากเทวดาที่เกิดใหม่นั้น เกิดใกล้วิมานของเทพองค์ใด ก็ทรงตัดสินให้เป็นบริวารของเทพองค์นั้น หากว่าอนุมานดูแล้ว สถานที่อุบัติเกิดนั้นกึงกลางพอดี ก็ต้องดูที่หน้าของเทพที่เกิดใหม่ หากว่าหันหน้าเล็งแลไปทางวิมานของเทพองค์ใด ก็ตัดสินให้เป็นบริวารของเทพองค์นั้น ถ้าว่าเทวดาผู้เกิดใหม่นั้น ไม่แลดูวิมานของเทพองค์ใดเลย เฉยอยู่เช่นนั้น ท่านก็ตัดสินเอาเป็นบริวารของพระองค์เอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดปัญหาเสีย
๐ ถ้าเคยสร้างบุญูกุศลไว้มากพอ ก็ไปอุบัติบังเกิดในวิมานของตนเอง เพราะว่ามีวิมานคอยต้อนรับอยู่แล้วพร้อมกับบริวาร ไม่ต้องเป็นบุตรธิดาหรือเทวดารับใช้ของผู้ใด เป็นอยู่อย่างอิสรเสรี เสวยสุขอยู่แดนสวรรค์นั้น เมื่อจะกล่าวถึงชีวะความเป็นอยู่ ทวยเทพทั้งหลายย่อมมีสรีระร่างกายเป็นทิพย์ มีรูปโฉมโนมพรรณสวยงามนักหนา กายาเนื้อตัวบริสุทธิ์ ละอาดปราศจากมลทินทั้งปวง จะได้มีกลิ่นเหม็นและกลิ่นร้ายในกายของเช่นมนุษย์เรานี้แม้แต่ลักนิดหนึ่งก็หามิได้ และเขาย่อมจะเนรมิตกายให้ใหญ่โต หรือเล็กเท่าใดก็ได้ตามจิตปรารถนา เพราะกายาของเขาเป็นทิพย์
๐ ฝูงเทพยดาทั้งหลายย่อมบริโภคสุธารสโภชนาหารอันเป็นทิพย์ทุกวารวัน สุธารสโภชนาหารนั้นย่อมแห้งเหือดหายไปในกายของเขาจนหมดสิ้น จะมีมูตรคูถมีกลิ่นเหม็นเช่นมนุษยชาติก็หาไม่ ตราบใดที่ยังเป็นเทพอยู่ในสรวงสวรรค์ อุปัทวันตรายอันเกิดแต่โรคภัยไข้เจ็บจะไม่มาเบียดเบียนบีฑาแม้แต่น้อยนิด มีความเป็นอยู่อย่างสุขสำราญ ทรงผ้าผ่อนเครื่องประดับอลังการอันเป็นทิพย์ มีรัศมีรุ่งเรืองส่องสว่าง ผ้าทิพย์ภูษาที่เทวดาทั้งหลายนุ่งห่มนั้น ไม่เป็นอย่างเมืองมนุษย์ โดยผ้าของเขาเป็นผ้าทิพย์ผืนเล็กนิดเดียว มีปริมาณเท่าดอกปีบเท่านั้น ครั้นเขาคลี่ออกจะนุ่งห่มก็พลันใหญู่ยาวและกว้างพอแก่ร่างกายผู้เป็นเจ้าของ
๐ รัศมีทั้งผอง คือ รัศมีแห่งอาภรณ์วิภูษิตต่าง ๆ ก็ดี รัศมีแห่งวิมานที่สถิตอยู่ก็ดี รัศมีแห่งกายตัวเทพยดาเองก็ดี ย่อมส่องสว่างรุ่งเรืองนักหนา เมื่อเทวดามากต่อมากต่างก็มีรัศมีรุ่งเรืองส่องสว่างเช่นนี้ ราตรีค่ำคืนอันมืดมัวในสวรรค์จึงไม่มีเหมือนอย่างมนุษยโลก มีแต่ทิวาวารปรากฏเป็นดุจกลางวันอยู่เป็นนิจกาล ไม่ต้องตามประทีปแสงไฟน้อยใหญ่ ด้วยอำนาจแห่งรัศมีเงินทองแก้วเก้าเนาวรัตน์อันเป็นทิพย์ซึ่งเกิดจากบุญูญูานุภาพที่เทพยดาทั้งหลายได้พากันสร้างสมอบรมมาแต่ปางบรรพ์
ชีวิตความเป็นอยู่ที่พรรณนามานี้ เป็นการกล่าวถึงทวยเทพที่สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์จาตุมหาราชิกาภูมิชั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีเหล่าเทพยดาชั้นต่ำที่นับเนื่องในสวรรค์ชันนี้ ซึ่งมีอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น เทวดาบางพวกมี วิมานอยู่บนยอดเขา บางพวกมีวิมานอยู่ที่แง่ภูเขาบรรพต บางพวกมีวิมานอยู่บนอากาศ บางพวกมีวิมานอยู่บนต้นไม้ ดังที่ได้บอกเล่ามาแล้วนั้นแล.....
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- ว่าด้วยอสูรพิภพ -
จะจับความตำนานมาขานไข พิภพใต้เขาสุเมรุเป็นถิ่นฐาน- เหล่าอสูรเทพทรงศักดิ์ใช่ยักษ์มาร ถูกมัฆวานโยนยาวจากดาวดึงส์
เหตุเพราะดื่ม“คันธบาล”รสหวานหอม ถูกเทพมอมเมามายคิดไม่ถึง เสียตำแหน่งพระอินทร์พลั้งตกดังตึง สู่กันบึ้งใต้เขาสุเมรุก่อเวรกัน
ทางฝ่ายว่า“มาฆเทพบุตร” ขึ้นสูงสุดตำแหน่งประมุขสวรรค์ เป็นพระอินทร์องค์ใหม่ในฉับพลัน ทวยเทวัญจงรัก “สักกรินทร์”
ส่วน“สัมพรเทพบุตร”สุดขมขื่น หลังที่ฟื้นจากเมาเฝ้าถวิล ถึงโทษน้ำเมาลืมตัวดื่มกิน จึงหมดสิ้นศักดิ์ทรัพย์ได้อับอาย
สั่งเหล่า“เนวาสิก”พลิกโอกาส เลิกเด็ดขาด“คันธบาล”พาลฉิบหาย เปลี่ยนนามเป็น“อสูร”ไม่วุ่นวาย มีความหมายไม่เมารสเหล้ายา
ได้ภูมิใหม่ด้วยบุญ“อสูรพิภพ” งดงามครบราว “ดาวดึงสา” ไม้“ปาตลี”มีประดับนครา ให้เทวาระลึกชาติอย่างชัดเจน
ผูกเคืองแค้น“มัฆวาน”ไม่ผันผละ พร้อมเตรียมจะทำสงครามตามฆ่าเข่น จึ่งอสูรเทวาต้องจำจองเวร ต่างฝ่ายเกณฑ์พลประสงค์ทำสงคราม..... |
ณ ใต้เขาพระสุเมรุแกนกลางของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้ มีพิภพที่สภาพคล้ายคลึงกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ชั้นที่ ๒) อยู่พิภพหนึ่ง เรียกว่า พิภพอสูร ความเป็นมาของพิภพนี้ตำนานกล่าวว่า ก่อนที่มัฆมาณพกับสหาย ๓๓ คนจะละจากโลกมนุษย์ขึ้นไปบังเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงนั้น สวรรค์ชั้นนี้มีพวกเทพบุตรอยู่ก่อน เทพพวกนี้มีสัมพรเทพบุตรเป็นประมุข นั่งอยู่ในตำแหน่งพระอินทร์ปกครองสวรรค์ชั้นที่ ๒ มีนครชื่อว่า สุทัสสนเทพนคร มีแม่ทัพสำคัญ ๆ ชื่อ ท้าวสัมพร ท้าวพลิ ท้าวอสุรินทราหู บางตำนานเรียกเทวดาพวกนี้ว่า เนวาสิก ทั้งหัวหน้าและบริวารชอบดื่มน้ำคันธบาลที่เป็นทิพย์ (น้ำเมาสวรรค์) ดื่มแล้วจะมึนเมา
อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาดื่มน้ำคันธบาลจนเมามายไม่ได้สติ มัฆเทพบุตรจึงให้บริวารจับพวกเขาทั้งหมดโยนลงจากสวรรค์ ตกลงที่ใต้เขาสิเนรุ ครั้นฟื้นตัวได้สติ จอมเทพได้สั่งสอนบริวารไม่ให้ดื่มน้ำคันธบาลอีก และให้ชื่อพวกตนว่า อสูร ซึ่งแปลว่าผู้ไม่ดื่มน้ำเมา และกุศลกรรมที่เหล่าเทพเนวาสิกได้สั่งสมมา จึงทำให้บังเกิดเทพนครกว้างใหญ่ รุ่งเรืองคล้ายดาวดึงส์พิภพทุกประการ เพียงแต่ความวิจิตรพิสดารน้อยกว่าเล็กน้อย นครนี้เกิดขึ้นที่ใต้เขาสิเนรุบรรพต มีน้ำล้อมรอบกำแพงเมือง มีต้นปาตลี (แคฝอย) ประดับประจำเทพนครอย่างงดงาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า อสูรพิภพ กว้างใหญ่ถึง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ใต้เขาสิเนรุ รอบ ๆ อสูรพิภพนี้เป็นที่อยู่ของ เปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นอบายภูมิ ความเป็นอยู่ของเหล่าอสูรนี้เสวยสุขเหมือนทวยเทพทุกอย่าง มีแต่ความสดชื่น รวยรื่นใจ ไม่ต้องลำบากยากเข็ญ ด้วยอำนาจกุศลกรรมที่เหล่าอสูรทำไว้แต่ปางก่อน......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณหุ่นขี้ผึ้งไทย ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- เทวาสูรสงคราม -
ไม้“ปาตลี”หรือแคฝอย ยืนต้นคอยเทพอสูรมาทักถาม ถึงอดีตชาติคือดีหรือทราม ได้ตอบตามเป็นจริงทุกสิ่งอัน
รำลึกชาติหนหลังได้คั่งแค้น ร่วมทัพแล่นโลดรุกบุกสวรรค์ ฝ่ายท่านท้าวสหัสนัยได้รู้ทัน พาเทวัญรบไล่ได้ทุกครา
“เทวาสูรสงคราม”ความยืดเยื้อ ทุกครั้งเมื่อรบกันมีปัญหา มองไม่เห็นนายตนพ้นสายตา พระอินท์หาเครื่องหมายใช้แทนตน
เป็นธงผ้าผืนใหญ่ให้เห็นชัด โบสะบัดเห็นแจ้งทุกแห่งหน ทวยเทวัญขวัญดีตีผจญ อสูรร่นหนีระย่อไม่ต่อกร...... |
กลางอสูรพิภพนี้มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งอุบัติขึ้น เรียกต้นไม้นี้ว่า ต้นจิตติปาตลี หรือต้นแคฝอย คราใดที่ต้นแคฝอยผลิดอก อสูรก็พลันหวนคิดถึงสรวงสวรรค์ว่าบัดนี้ต้นปาริฉัตต์ (ปาริชาติ) ก็คงผลิบานแล้วเหมือนกัน พวกเราเคยได้รื่นเริงกัน แต่บัดนี้เรากลับต้องมาอยู่ใต้เขาสิเนรุ คิดแล้วก็เกิดความแค้นพระอินทร์ จึงพร้อมเพรียงกันจัดเป็นกองทัพไปรบกับมัฆวานและพวกเทวดาเพื่อทวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คืน
เมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูร (เทวาสูรสงคราม) เกิดขึ้น ฝ่ายอสูรเทพบุตรมักจะพ่ายแพ้มากกว่า พระอินทร์ทรงมีบัญชากับพวกเทวดาว่า ต่อไปหากพวกเทวดาเพลี่ยงพล้ำถูกอสูรรบไล่มาอีก ก็ขอให้มองดูยอดธงของท้าวจาตุมหาราช หรือธงบนยอดเวชยันต์วิมานของพระองค์ พวกเทวดารับเทวบัญชาไว้ทำตามเมื่อเกิดสงครามอีก ครั้นทัพเทวดาเพลี่ยงพล้ำก็มองดูยอดธงนั้นแล้วพลันมีใจฮึกเหิมเหมือนมีพระอินทร์เสด็จมาอยู่ใกล้ ๆ เกิดพละกำลังตีโต้กองทัพอสูรกลับไปได้ทุกครั้ง
ทัพของอสูรนั้นมีจอมอสูรเป็นแม่ทัพ และยังมีแม่ทัพสำคัญอื่น ๆ อีก เช่น ท้าวสัมพร ท้าวพลิ และอสุรินทราหู เมื่อยกออกจากอสูรพิภพขึ้นมาที่ผิวมหานทีสีทันดร ก็รุกไล่รบกองทัพนาคอันเป็นทัพหน้าของฝ่ายเทวดาแตกกระเจิง ตีทัพครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ ถอยร่นไม่เป็นขบวนจนทะลุถึงหน้าสุทัศน์เทพนคร เผชิญหน้ากับทัพของท้าวมหาราชทั้งสี่ที่ตั้งท่ารอรบอยู่
บัดนั้นพระอินทร์ก็เสด็จออกจากวิมานมารบกับอสูร พวกอสูรรบมานานเริ่มเหนื่อยล้า จึงสู้พระอินทร์ไม่ได้ ถอยร่นไม่เป็นขบวน เลิกทัพกลับสู่อสูรพิภพไป
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒ กันยายน ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- คุณธรรมแห่งพระอินทร์ -
เทพอสูรปราชัยแตกพ่ายหนี พบฤๅษีสร้างอาศรมเชิงสิงขร คิดว่าเป็นฝ่ายเทวะพระอินทร สั่งรื้อถอนบรรณศาลาอาศรมพลัน
ทุบหม้อน้ำทำลายกองไฟสิ้น เป็น“บ้าบิ่น”โทโสมากโมหันธ์ เหล่าฤๅษีเหาะไล่ไปตามทัน พูดจากันไม่รู้เรื่องเปลืองเวลา
เหล่าฤๅษีก่อนกลับกล่าวสาปสอน “ท้าวสัมพร”ใจหยาบมีบาปหนา ผลแห่งกรรมความชั่วมีนานา จะตามมาราวีทุกวี่วัน
จากวันนั้นขวัญอ่อนนอนไม่หลับ กระส่ายกระสับคิดขลาดวุ่นหวาดหวั่น จึ่งนามใหม่“เวปจิตติ”มีติดพัน รู้เรียกกันเรื่อยมานานตาปี
วันหนึ่งออกรบทัพเทพจับได้ นำตัวไปมอบพระอินทร์สิ้นศักดิ์ศรี เผชิญหน้ามัฆวานในทันที กล่าวพจีด่าพร่ำคำหยาบคาย
พระอินทร์นั่งฟังได้ไม่โต้ตอบ ประพฤติชอบขันติธรรมมิส่าย มิถือสาหาความคำพาลพาย เทพถวายนามพระอินทร์“วิญญูชน” |
ท้าวสัมพรอสูรเมื่อหนีทัพพระอินทร์มาพบพวกโยคีฤาษี สิทธาทั้งหลาย ก็เข้าใจเองว่า พระอินทร์คงมีพวกนี้เป็นที่ปรึกษา จนทำให้ฝ่ายตนพ่ายแพ้อยู่เสมอ จึงสั่งพวกของตนให้รื้อบรรณศาลาอาศรม ทุบต่อยหม้อน้ำทำลายกองไฟของฤาษีทิ้งเสียสิ้น
พวกฤาษีเห็นเช่นนั้นพากันเหาะตามไปทำความเข้าใจกับท่าวอสูรว่า พวกตัวไม่เกี่ยวข้องกับการรบ แต่สัมพรอสูรยังไม่เชื่อ กล่าวปรักปรำ ไม่ให้อภัย แล้วว่ายังจะเบียดเบียนต่อไป เหล่าฤาษีจึงตักเตือน ติเตียนว่า คนบาปย่อมได้รับผลแห่งความชั่ว แล้วพากันกลับไปสร้างอาศรมอยู่ตามเดิม
ตั้งแต่นั้นมา สัมพรอสูรไม่เป็นอันกินอันนอน มีแต่ความหวาดเสียวสะดุ้ง เมื่อจะเอนหลังลงนอนในยามราตรี ก็จะเห็นนิมิตเป็นเหล่าศัตรูมาแวดล้อม จะเอาหอกหลาวทิ่มแทง จึงหวาดผวาลุกขึ้นมาทันที พวกเหล่าอสูรพากันมาเยี่ยม สัมพรอสูรไม่กล้าบอก กลายเป็นเทพอ่อนแอทั้งกายและใจ มีจิตหวาดหวั่นตกใจกลัวเป็นนิตย์ จึงได้รับขนานนามใหม่ว่า ท้าวเวปจิตติ แปลว่า จอมอสูรผู้มีจิตหวาดหวั่น
อสูรกับเทวดายังรบกันบ่อยครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะแต่ไม่เคยถึงขั้นหาญหักยึดสุทัศน์เทพนครได้
จอมอสูรสั่งไพร่พลอสูรว่าถ้าเราชนะ จงช่วยกันจับพระอินทร์มัดแล้วพามาหาเรา ส่วนพระอินทร์สั่งไพร่พลเทวดาเหมือนกันว่าถ้าเทวดาชนะ จงช่วยกันจับจอมอสูรมัดพามาหาเรา และแล้ววันหนึ่งทัพอสูรเป็นฝ่ายปราชัย จอมอสูรจึงถูกพวกเทวดาจับมัดพามาเฝ้าพระอินทร์ที่เทวสภา จอมอสูรเมื่อถูกจับมัดไม่อาจใช้กำลังได้ จึงใช้ปากเป็นอาวุธ ด่าว่าพระอินทร์ด้วยวาจาหยาบคายนานา
พระอินทร์สดับคำด่าของจอมอสูรโดยอาการสงบนิ่งมิได้โต้ตอบเลย มาตลีเทพบุตรเห็นดังนั้น จึงกราบทูลว่า จอมอสูรผู้นี้ใช้วาจาหยาบคายต่อพระพักตร์ เหตุใดพระองค์จึงทรงสงบเฉย ไฉนพระองค์ทรงอดทนได้ หรือเพราะไม่มีกำลังจะสู้ หรือเพราะความกลัว พระเจ้าข้า
พระอินทร์ตรัสตอบว่า มิใช่ว่าเราไม่มีกำลัง และไม่ใช่ว่าเรากลัว แต่เราอดทนต่อถ้อยคำหยาบคายของจอมอสูร ด้วยเราเป็นวิญญูชน จะโต้ตอบคำกับคนพาลเพื่อสิ่งใดกัน จอมอสูรเป็นคนพาล มีความโกรธ และขาดสติ เรายิ่งต้องใช้สติและขันติ สงครามที่ใช้กำลังรบกันเอาชนะกันได้ไม่ยาก แต่การเอาชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธนั่นสิยากยิ่งนัก การเอาชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธนั้นแหละจึงเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย แล้วพระอินทร์ก็ทรงปล่อยจอมอสูรกลับไป......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ กันยายน ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- แผ่นดินแรกคือกามภพ -
ความเป็นมาแห่งสวรรค์ชั้นที่สอง ตำนานของพราหมณ์กล่าวเค้ามูลต้น น้ำท่วมโลกนรกสวรรค์สุดชั้นบน สัตว์ตายกล่นเกิดใหม่ในชั้นพรหม
เกิดมหาวายุมิรู้ทิศ คะนองฤทธิ์แรงครืนคลื่นทับถม น้ำปั่นป่วนหวนแห้งด้วยแรงลม เกิดเปือกตมเมือกเลนเป็นดินดอน
ท่ามกลางห้วงหาวพืดมืดสนิท เกิดอาทิตย์พันดวงขึ้นมาก่อน ส่องสาดแสงแรงแดดเผาแผดร้อน เลนดินอ่อนเดือดสุกทุกตาราง
แกนกลางผืนแผ่นดินดูสูงเด่น พระสุเมรุขุนเขาเสลาสล้าง อยู่ในมหาสมุทรสุดเวิ้งว้าง ตำนานอ้างนั่นแม่นโลกแผ่นดิน
แล้วสูรย์ดับทีละดวงเห็นห้วงหาว มีเดือนดาวลอยไสวนับไม่สิ้น ดวงสูรย์จันทร์ผันดับเกิดสับชิน ลมรวยรินแรงสลับสับสายลม
กลิ่นดินสุกฟุ้งตลบอบอวลสวรรค์ ซึ่งเหลือชั้นเดียวเทพมิเสพสม อยู่ด้วยฌานศักดิ์สิทธิ์อกนิษฐ์พรหม เป็นสยมภูกาลโลกบรรลัย
สุคนธ์อวลง้วนดินถวิลรู้ จี่งลงสู่ดินอุ่นหอมกรุ่นใกล้ สุธารสแตะลิ้นฌานสิ้นไป กลับคืนพรหมมิได้กลายเป็นคน.... |
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นผืนแผ่นดินผืนแรกที่เกิดขึ้นในโลกหลังจากโลกนี้ถูกทำลายด้วยน้ำ เมื่อน้ำงวดลง แผ่นดินผืนแรกที่โผล่ขึ้นก่อนแผ่นดินอื่น ๆ ก็คือ "ยอดเขาสิเนรุ" ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้เอง เรื่องนี้มีความตำนานการกำเนิดโลก แผ่นดิน ของพราหมณ์ กล่าวโดยย่อว่า..
เมื่อโลกเป็นกลียุค เกิดไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญ แล้วเกิดน้ำท่วมใหญ่ ท่วมหมดทั้งสามภพสามภูมิ ตั้งแต่นรกขุมต่ำสุดสูงขึ้นไปท่วมสวรรค์เกือบหมดทุกชั้นฟ้า ยังเหลือแต่สวรรค์อกนิษฐพรหมเพียงชั้นเดียว บรรดาสัตว์นรก เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดาอินพรหมยมยักษ์ทั้งหลายตายสิ้น ที่รอดก็หนีน้ำขึ้นไปเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นอกนิษฐพรหม จากนั้นเกิดมหาวาตะ ลมแรงพัดน้ำปั่นป่วนกวนจนงวดลงเป็นเลนตมอยู่ตรงใจกลาง เกิดเป็นแผ่นดินโด่โดดเด่นขึ้นราวภูเขา จากนั้นก็เกิดดวงไฟใหญ่นับพันดวงส่องสาดแสงร้อนแรงกล้าลงมาเผาไหม้ผืนแผ่นดินที่รายลอบด้วยน่านน้ำนั้น แผ่นดินถูกเผาจนสุกไหม้ แล้วดวงอาทิตย์ก็ดับหายไปทีละดวงจนเหลือเพียงดวงเดียว เกิดมีท้องฟ้า มีเดือนมีดาวขึ้น
แผ่นดินที่ถูกดวงอาทิตย์เผาไหม้นั้น เกิดเป็นง้วนดินมีกลิ่นหอมขจรอบอวลระเหิดขึ้นนไปถึงสวรรค์ชั้นอกนิษฐพรหม พวกพรหมได้กลิ่นหอมประหลาดก็รู้สึกสงสัยใคร่รู้ จึงพากันเหาะลงมาเที่ยวดูกันเป็นจำนวนมาก มีบางพวกอยากรู้ว่าง้วนดินที่มีกลิ่นหอมหวนนี้จะมีรสอย่างไร จึงเอานิ้วแตะดินแล้วเอาไปแตะที่ลิ้น พลันที่ได้โอชารสแห่งง้วนดินแล้ว ฌานก็เสื่อม เหาะกลับสวรรค์มิได้ จึงกินง้วนดินอยู่ รัศมีแห่งเทวดาก็ค่อย ๆ หายไป จนกระทั่งร่างกายปรากฏเป็นมนุษย์มีเพศเป็นหญิงชาย เมื่อเพ่งเล็งแลเพศกันก็เกิดราคะกิเลสจนมีเพศสัมพันธ์กัน สืบเผ่าพันธุ์มนุษยชาติแต่นั้นมา....
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขร้ผึ้งไทย ๔ กันยายน ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- ยอดเขาพระสุเมรุเป็นดาวดึงส์ -
เมื่อเหล่าพรหมปรากฏเพศต่างเพ่งพิศ ต่างดวงจิตเกิดราคะอกุศล หลังสมพาสขาดสติมิรู้ตน บังเกิดผลแพร่พันธุ์สัตว์นานา
กำเนิดโลกแยกถิ่นแผ่นดินสวรรค์ ยอดเขานั้นเป็นแดนแสนหรรษา เป็นที่อยู่เทพบุตรเทพธิดา มีนครานามสุทัศน์สมบัติอินทร์
ส่วนตีนเขาเป็นสวรรค์เริ่มชั้นต้น สัตว์และคนคละกระจายอยู่หลายถิ่น เป็นกามาพจรที่นอนกิน สัตว์ทั้งสิ้นพัฒนากรรมพันธุ์
ผู้ครองอินทร์ปิ่นสวรรค์นั้นไม่แน่ ย่อมเปลี่ยนแปรเป็นไปไม่คงมั่น มาถึง“ท้าวสัมพร”เมานอนวัน เทพช่วยกันจับโยนไว้ใต้สุเมรุ
มัฆวานเทพบุตรยุดตำแหน่ง ครองอินทร์แห่งเทพสุทัศน์นครเด่น ดาวดึงส์นามอุบัติใหม่ชัดเจน แต่มีเวรกับอสูรรบวุ่นวาย..... |
ดาวดึงส์ (บาลี: ตาวตึส) หรือ ตรัยตรึงศ์, ไตรตรึงษ์ (สันสกฤต: त्रायस्त्रिंश ตฺรายสฺตฺรึศ) เป็นชื่อของสวรรค์อันสำคัญยิ่งในจักรวาลวิทยา คำว่า ตฺรายสฺตฺรึศ เป็นรูปคำคุณศัพท์ของคำว่า ตฺรายสฺตฺรึศตฺ (จำนวน ๓๓) แปลความหมายได้ว่า "ที่อยู่ของเทพ ๓๓ องค์" เป็นนามที่ได้หลังจากที่มัฆมาณพกับเพื่อน ๓๓ คนละจากโลกมนุษย์ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ แล้วจับท้าวสัมพรเทพบุตรผู้เป็นพระอินทร์องค์เก่ากับบริวารที่เมาน้ำคันธบาลจนไม่ได้สติโยนลงสู่ใต้เขาพระสุเมรุ จนเกิดอสูรพิภพขึ้น ดังกล่าวมาแล้ว
ดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ ในสวรรค์กามาพจรทั้ง ๖ ชั้น สูงจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นไป ๓๓๖,๐๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๑๖๘,๐๐๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุอันสูง ๘๐,๐๐๐ โยชน์ ซึ่งเป็นจุดสูงที่สุด อาณาบริเวณโดยรอบ ๘๐,๐๐๐ ตารางโยชน์ มีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นผู้ปกครอง
สวรรค์ชั้นนี้ คือแดนสุขาวดีแห่งปวงเทพยดาชาวฟ้าผู้อุปปัติเทพ มีเทพผู้เป็นอธิบดีมเหศักดิ์รวม ๓๓ องค์ ท้าวมัฆวานหรือท้าวสักกรินทร์ เป็นหัวหน้าผู้ปกครอง อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ช้างทรงของพระอินทร์ ชื่อ "เอราวัณ" สูง ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา มีเศียร ๓๓ เศียร เมื่อเวลาพระอินทร์จะประทับ ช้างจะเนรมิตกายสูงใหญ่ บนเศียรมีวิมาน มีปราสาท มีอุทยาน มีนางฟ้าร่ายรำ เศียรช้างมี ๓๓ เศียร แต่ละเศียรมีงา ๗ อัน งาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แต่ละงามีสระได้ ๗ สระ แต่ละสระมีกอบัวได้ ๗ กอ แต่ละกอมีดอกได้ ๗ ดอก แต่ละดอกมีกลีบได้ ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้ายืนจับระบำ ๗ นาง นางฟ้าแต่ละนางนั้นมีบริวาร ๗ นาง
รวมยอดแล้วเศียรช้างเอราวัณ ๓๓ เศียรนั้น มีงาทั้งสิ้น ๒๓๑ งา มีสระทั้งสิ้น ๑,๖๑๗ สระ กอบัวทั้งสิ้น ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัวทั้งสิ้น ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบบัวทั้งสิ้น ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ นางฟ้าร่ายรำ ๓,๘๘๒,๔๑๗ นาง นางบริวารทั้งสิ้นอีก ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือไตรตรึงษ์นี้มีลักษณะเป็นมหานครใหญ่ มีมัฆมาณพพร้อมสหาย ๓๓ องค์อุบัติขึ้นและปกครองสวรรค์ชั้นนี้ มีประตู ๑,๐๐๐ ประตู มีกำแพงแก้วล้อมเมืองทุกประตู มียอดปราสาทแก้ว งดงามวิจิตรพิสดาร เวลาเปิดปิดประตู จะมีเสียงดังไพเราะราวกับดนตรี กลางนครไตรตรึงษ์ มีไพชยนต์ปราสาท มีรูปทรงสูงเยี่ยม เอี่ยมอ่องไปด้วยรัศมีสัตตรัตน์ เพราะประดับไปด้วยแก้ว ๙ ประการ งามสุดจะพรรณนา เป็นที่ประทับอยู่แห่งสมเด็จพระอมรินทราธิราช เมื่อเทียบเวลาระหว่างมนุษย์ กับ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ๑๐๐ ปีในมนุษย์ เท่ากับ ๑ วัน ในสวรรค์ชั้นนี้
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๕ กันยายน ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~
- ดาวดึงส์มีสี่อุทยานใหญ่ -
นครใหญ่ไตรตรึงษ์งามอึงมี่ สวนใหญ่สี่อุทยานมากความหมาย “นันทวัน”บูรพาเดินสบาย พฤกษ์โปรยปรายกลีบผกามาปูทาง
สองสระโบกขรณีมีมากท่า ให้ชาวฟ้าร่อนลงสระสรงร่าง มีศิลาสองแผ่นเป็นแท่นวาง สวนนี้ช่างชวนชื่นรื่นภิรมย์
สวน“ปารุสกวัน”นั้น“ลิ้นจี่” อยู่ทางที่ทิศใต้ใกล้เหมาะสม มีสองสระแผ่นศิลาสองน่าชม นามนิยมระบุ “สุภัทรา”
“จิตรลดา”ตะวันตกรกเครือเถา รื่นร่มเงางามลักษณ์เลิศนักหนา สระสนานธารใสไร้ปูปลา พร้อมศิลาสองแผ่นแท่นรับรอง
“สกวัน”สวนใหญ่ในทิศเหนือ มากไม้เจือระคนไม่ขัดข้อง “สุธรรมา”สระใหญ่ไร้คลื่นฟอง ทุกสวนของมเหสีอินทร์สี่องค์.... |
รอบนครไตรตรึงษ์มีอุทยานที่งดงามมากอยู่ ๔ แห่ง คือ
๑. นันทวัน (สวนที่รื่นรมย์) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนคร ใกล้กับตัวเมืองมีสระใหญ่ ๒ สระ ชื่อว่า สระนันทาโบกขรณี ๑ จุลนันทาโบกขรณี ๑ มีแผ่นศิลา ๒ แผ่น ชื่อว่า นันทาปริถิปาสาณ ๑ จุลนันทาปริถิปาสาณ ๑ เป็นศิลาที่มีรัศมีเรืองรอง เมื่อจับดูจะรู้สึกว่านิ่มเหมือนขนสัตว์
๒. ผรุสกวัน หรือ ปารุสกวัน (ป่าลิ้นจี่) อยู่ทางทิศตะวันใต้ของเมือง มีสระใหญ่ ๒ สระ ชื่อว่า ภัทราโบกขรณี ๑ สุภัทราโบกขรณี ๑ มีก้อนแก้วใส ๒ ก้อน ชื่อว่าภัทราปริถิปาสาณ ๑ สุภัทราปริถิปาสาณ ๑ เป็นแก้วเกลี้ยงอ่อนนุ่ม
๓. จิตรลดาวัน (ป่ามีเถาวัลย์หลากสีสวยงาม) อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง สระในอุทยานนี้มีชื่อว่า จิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบกขรณี แผ่นศิลาแก้วในอุทยานนี้แผ่นหนึ่งมีชื่อว่า จิตรปาสาณ และ จุลจิตรปาสาณ
๔. สักกวัน หรือ มิสกวัน (ป่าไม้ระคน) อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง สระใหญ่ในอุทยานนี้มีชื่อว่า ธรรมาโบกขรณี และสุธรรมาโบกขรณี ส่วนแผ่นศิลาแก้วมีชื่อว่า ธรรมาปริถิปาสาณ และสุธรรมาปิริถิปาสาณ..... เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๖ กันยายน ๒๕๖๑ ขอบคุณเจ้าของภาพในกูเกิล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|