บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๑ - หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าเดินธุดงค์เร่ร่อนไปถึงสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แล้วข้าพเจ้ากับท่านก็เกิดความขัดแย้ง โต้เถียงกันจนเกือบจะถึงขั้นลงมือลงไม้กันทีเดียว เรื่องเกิดขึ้นที่ทุ่งสง โดยหลวงพี่ท่านผิดสัญญา คือตอนที่จะออกเดินธุดงค์หลวงพี่รับปากว่าจะไม่แจกเครื่องรางของขลัง เพื่อเอาเงินเอาทองจากใคร ๆ เมื่อไปถึงทุ่งสง ข้าพเจ้าจับได้ว่าท่านแจกของ ขายตะกรุด ผ้ายันต์ พระเครื่อง จึงพูดต่อว่าต่อขานท่าน หลวงพี่โกรธ พูดลำเลิกบุญคุณผมต่าง ๆ นานา ข้าพเจ้าก็เถียงท่านไม่ลดละ ท่านคว้าขวานเล็กที่ใช้สำหรับตอกเสากลดเงื้อง่าจะฟัน ข้าพเจ้าก็คว้าด้ามกลดที่มีปลายแหลมจ้องจะแทงท่าน ท่านไม่กล้าฟัน จึงเลิกรากันไปในที่สุด
แม้จะเกิดการทะเลาะวิวาทกันแล้ว เราก็ยังไม่แยกจากกัน หลวงพี่ท่านไม่กล้าทอดทิ้งข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ไม่กล้าแยกจากท่าน เพราะว่าถ้าท่านทอดทิ้งข้าพเจ้า ท่านก็คงจะกลับไปมองหน้าใคร ๆ ที่วัดบางซ้ายในไม่ได้ ถ้าข้าพเจ้าแยกตัวจากท่าน ก็ไม่รู้จะไปทางไหนได้ เราจึงจำต้อง “ลงเรือลำเดียวกัน” ต่อไป หลวงพี่บัณฑิตพาเดินทางโดยรถไฟจากทุ่งสงไปนครศรีธรรมราช ปักกลดพักแรมอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟ นายสถานีรถไฟซึ่งรู้จักชอบพอกันกับหลวงพี่บัณฑิตมาก่อน ให้คนของท่านพาไปนมัสการพระบรมธาตุและเที่ยวชมสถานที่สำคัญ ๆ ในเมืองนครศรีธรรมราชหลายแห่ง อยู่ที่นครศรีธรรมราช ๕ วัน นายสถานีรถไฟรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาซื้อตั๋วรถไฟให้ย้อนกลับไปทุ่งสงและต่อไปกันตังจังหวัดตรัง
ไปถึงท่าเรือเป็นเวลาใกล้เที่ยงวันแล้ว หลวงพี่พาข้าพเจ้าลงเรือสินค้าจากท่าเรือกันตังมุ่งสู่จังหวัดภูเก็ตทันที โดยไม่ได้พักแรมคืนที่กันตัง เป็นครั้งแรกที่ได้ลงเรือเดินทะเล รู้สึกตื่นเต้นมากทีเดียว วันนั้นมีคนโดยสารเรือทั้งชายหญิงจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ค่าโดยสารเรือดูเหมือนเขาจะเก็บคนละ ๕๐ บาท แต่พระ-เณรเขาไม่เก็บค่าโดยสาร พอเรือออกจากท่าเวลาบ่าย ๑ โมง ข้าพเจ้าขึ้นจากท้องเรือที่เป็นห้องเก็บสินค้าและผู้โดยสาร ไปบนดาดฟ้า ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ คนถือท้ายเรือ เพราะอยากรู้อยากเห็น อยากดูอะไร ๆ ในท้องทะเลที่ไม่เคยพบเห็น ได้เห็นปลาบินได้ เห็นปลาโลมา เรือโต้คลื่นน้อยใหญ่โยกไปโยนมา โคลงเคลง ๆ มีคลื่นบางลูกใหญ่เป็นภูเขาเลากา โตกว่าเรือหลายเท่า เรือก็ไต่เต้าแหวกว่ายคลื่นผ่านไปได้ เคยมีคนที่เคยท่องทะเลบอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องการ “เมาคลื่น” พี่ชาย (ต่างบิดามารดา) ของข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามคนทำผิดกฎหมายในน่านน้ำทะเลหลวงไทย เขากลายเป็น “คนขี้เมา” ดื่มน้ำเมาชนิดที่เรียกว่า “เช้าฮา เย็นเฮ ดึกสร่าง สว่างซ้ำ เมาหยำเป” เขาอ้างว่าไม่ดื่มน้ำเมาไม่ได้เพราะ “เมาคลื่น” ถ้าเมาเหล้าเสียแล้วจะไม่ “เมาคลื่น” ข้อนี้เท็จจริงอย่างไรไม่รู้ สำหรับข้าพเจ้าแล้วแม้จะลงเรือทะเลเป็นครั้งแรกแต่ก็ไม่ “เมาคลื่น” กลับชอบใจที่คลื่นมันฟัดเรือจนโอนเอนไปมา เหมือนตอนเป็นเด็กนอนในเปลที่ถูกแกว่งไกวอย่างนั้นเลย
ดวงตาวันจมน้ำทะเลหายไปจนมองไม่เห็นอะไรแล้ว ข้าพเจ้าลงจากดาดฟ้าเรือเข้าในห้องผู้โดยสาร พบเห็นภาพที่ไม่เคยเห็น ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นด้วย นั่นก็คือผู้โดยสารหลายคน “เมาคลื่น” บางคนอาเจียนจนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในท้อ งนั่งโงกโงนเงน บางคนครึ่งนั่งครึ่งนอน บางคนนอนซมแซ่ว บางคนนอน “เหยียดสี่หมึง” สลบเหมือด ผู้หญิงต่างวัยหลายคนนอนหมดสติ ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย บางคนกระโปรงเวิกพันเอว ถ้าไม่มีกางเกงในคงน่าเกลียดนักเชียว หลวงพี่บัณฑิตแม้จะเคยลงเรือทะเลมาหลายครั้งแล้วก็ยัง “เมาคลื่น” เหมือนกัน ท่านอยู่ในอาการสะลึมสะลือ ครึ่งนั่งครึ่งนอนเหมือนรู้ไม่เห็นอะไรเลย
ข้าพเจ้าเห็นภาพอาการกิริยาของผู้คนในห้องโดยสารแล้วเกิดธรรมสังเวช กลิ่นอาเจียนเหม็นคละคลุ้งจนรู้สึกสะอิดสะเอียน อากาศในเรือกลายเป็นพิษสำหรับข้าพเจ้าไปแล้ว พนักงานในเรือนำโอวัลตินร้อนมาถวายผม ๑ แก้ว ทราบในตอนนั้นเองว่า ทางเรือเดินทะเลจะต้องเลี้ยงอาหารผู้โดยสารฟรีทุกคน แต่พระ-เณรฉันข้าวปลาไม่ได้ เขาจึงจัดเครื่องดื่มถวาย ข้าพเจ้าปฏิเสธทั้ง ๆ ที่หิวมากเลย ที่หิวก็เพราะตั้งแต่เช้าไม่ได้ฉันอาหารอะไรเลย เหตุที่ไม่ได้ฉันอาหารอะไรมาทั้งวันก็เพราะเรานั่งรถไฟตั้งแต่เช้ามืด ไม่ทันได้ออกเดินรับบิณฑบาตก่อน นั่งมาในรถไฟไม่มีใครถวายอาหาร แต่เดิมนั้นถ้าไม่ได้ฉันอาหารเช้าก่อนขึ้นรถไฟ ขณะอยู่ในรถไฟหลวงพี่บัณฑิตท่านจะสั่งอาหารจากตู้เสบียงให้โดยอ้างว่ามีคนซื้อถวาย หลังจากที่ข้าพเจ้าเกิดทะเลาะวิวาทกับท่านแล้ว ท่านคงจะผูกใจเจ็บ แกล้งพาขึ้นรถไฟแต่เช้าและไม่ยอมสั่งอาหารให้ข้าพเจ้าฉัน วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่อดอาหาร ต้องดื่มน้ำแทนข้าวในยามที่หิวโหย อยากจะดื่มโอวัลตินที่พนักงานเรือนำมาถวาย แต่ทิฐิมานะมันห้ามไว้ ด้วยคิดว่า “ไหน ๆ ก็อดอาหารมาทั้งวันแล้ว อดต่ออีกคืนหนึ่งจะตายก็ให้มันรู้ไป” ออกจากห้องผู้โดยสารขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือ นั่งดูดาวเดือนที่ส่องแสงลงมาเคล้าเคลียเกลียวคลื่นระริกระรี้ บรรยากาศที่สัมผัสบนดาดฟ้าเรือทำให้ความหิวหายไปได้บ้าง
อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ฉันอาหารอะไรเลยนี่กระมัง ทำให้ข้าพเจ้าไม่เมาคลื่นเหมือนคนอื่น เวลาดึกมากแล้ว มากเท่าไรไม่รู้เพราะไม่มีนาฬิกาดูเวลา เรือสินค้าโดยสารร่อนเร่ไปในท้องทะเลหลวง แหวกว่ายกระทบกระแทกกับคลื่นน้อยใหญ่ลูกแล้วลูกเล่า กลางท้องทะเลอันเวิ้งว้างใต้แสงดาววาววามระยิบระยับนั้น ข้าพเจ้าจำทิศจำทางอะไรไม่ได้เลย เมื่อง่วงมากจนทนไม่ไหวก็ลงจากดาดฟ้าเข้าห้องโดยสาร แล้วนอนหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย
เรือเข้าเทียบท่าเกาะภูเก็ตเมื่อไรไม่รู้ ข้าพเจ้าถูกปลุกให้ตื่นขึ้นรับอรุณที่เกาะภูเก็ต ล้างหน้าล้างตาแล้วห่มจีวรกูลีกูจอสะพายบาตร แบกกลดขึ้นจากเรือด้วยอาการงก ๆ เงิ่น ๆ อาจจะเป็นเพราะนอนไม่เต็มอิ่ม หรือเมาคลื่นในขณะนอนหลับก็ไม่รู้ หลวงพี่พาขึ้นรถยนต์โดยสารเข้าตัวเมือง ตอนนั้นมึนงงจนไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรเลย เดินตามหลวงพี่บัณฑิตแล้วแต่ท่านจะนำพาไป ความหิวเริ่มรุกเร้ารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ลงจากรถยนต์เดินเข้าไปในบริเวณสนามโรงเรียนสตรีภูเก็ตเมื่อดวงตาวันเริ่มทอแสงขึ้นทางบูรพาทิศ เข้าไปในศาลาพักหน้าอาคารเรียน วางกลด วางย่าม กาน้ำ ไว้ในมุมหนึ่งของศาลา แล้วออกเดินรับบิณฑบาต “โปรดสัตว์” ไปตามถนนหลวง
การเดินหนรับบิณฑบาตที่ภูเก็ตนี่เห็นมีของแปลอยู่อย่างหนึ่งคือ “แม่ชี” ทั้งแก่และสาวอุ้มบาตรเดินรับบิณฑบาตเหมือนพระ-เณร ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นชีที่ไหนเดินอุ้มบาตรรับบิณฑบาตอย่างที่นี่มาก่อนเลย ทราบภายหลังว่าที่เกาะ (จังหวัด) ภูเก็ตนี่มีวัดเป็นที่อยู่ของชีล้วน ๆ อยู่วัดหนึ่งชื่อ “วัดคุณชี” อยู่ใกล้ ๆ เขารัง ชานเมืองภูเก็ต ในฤดูเข้าพรรษาหญิงสาวชาวเกาะภูเก็ตนิยมบวชชีอยู่จำพรรษารวมกันในวัดนี้ และชีทุกคนออกเดินหนรับบิณฑบาตเช่นเดียวกับพระ-เณร ญาติโยมก็ใส่บาตร “คุณชี” เหมือนใส่บาตรพระ-เณร เพราะเขาถือว่าชีเป็นนักบวชอีกประเภทหนึ่งที่น่าเคารพนับถือ ก็นับว่าเป็นความดีงามอีกอย่างหนึ่งของคนภูเก็ต เรื่อง ”บวชชี” นี่ คนในภาคกลางของไทยส่วนมากคิดเห็นว่า คนที่ยังเป็นสาวถ้าไปบวชชีก็เชื่อกันว่า “เธออกหัก ผิดหวังจากความรัก คู่ครอง” ความเชื่อหรือความคิดผิด ๆ นี้ทำให้ผู้หญิงสาวที่มีศรัทธาจะประพฤติปฏิบัติธรรมไม่กล้าบวชชี ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมต่อทัศนคติของชาวภูเก็ตที่คิดเห็นการบวชชีของสตรีเป็นเรื่องการบำเพ็ญบุญกุศลธรรมดา ไม่ใช่เพราะ “อกหักแล้วบวชชี” ตามความคิดที่เป็นอคติไร้ความยุติธรรมของคนในภาคกลางของไทย
สามเณรเต็ม “เดินหนโปรดสัตว์” ได้ข้าวสุก กับข้าว ขนม รวมกันถึงค่อนบาตร กลับเข้าที่พักบนศาลาพักหน้าอาคารเรียนโรงเรียนสตรีภูเก็ต แล้วนั่งคนละมุมกับหลวงพี่บัณฑิต จัดการแกะห่อกับข้าว ขนมหวาน ที่เขาใช้ใบตองห่อ (เป็นของประเภทผัด-นึ่ง ไม่มีน้ำเหมือนต้มแกง) เทใส่บาตรผสมกับข้าวสุก แล้วฉันด้วยการใช้มือเปิบใส่ปากกินด้วยความเอร็ดอร่อย การฉันข้าวในขณะเดินธุดงค์ ถ้ามีทายกทายิกานำสำรับคาวหวานมาถวาย ข้าพเจ้าก็จะรับแล้วฉันด้วยการใช้ช้อนส้อมตักอาหารฉันเช่นปกติ ถ้าไม่มีทายกทายิกานำสำรับอาหารมาถวาย เป็นการอยู่ลำพังแล้ว ก็จะเทกับข้าวและขนมลงในบาตรผสมกับข้าวสุก แล้วใช้มือปั้นเป็นก้อนกลม (เปิบ) ใส่ปากด้วยอาการสำรวม คำว่า “อาการสำรวม” นั้นหมายถึงมีสติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และรู้ตัวอยู่ว่ากำลังกินอะไร เพื่ออะไร (เพื่อยังชีวิตให้ดำรงอยู่) รู้ประมาณในการกิน รู้จักแยกแยะรสชาติของอาหารออกเป็นอย่าง ๆ
วันนั้นข้าพเจ้าฉันอาหารอย่างมูมมามขาดการสำรวม เคี้ยวอาหารยังไม่ทันละเอียดก็รีบกลืนลงคอ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความหิวที่สะสมไว้มากมายตั้งแต่เมื่อวานนั่นเอง คำแล้วคำเล่าที่เปิบข้าวเข้าปากอย่างกระหาย ข้าวหมดบาตรแล้วยกกาน้ำขึ้นดื่ม รู้สึกใจสั่น หน้ามืดตาลาย ยังไม่ทันได้ล้างมือล้างบาตรก็ล้มตัวนอนหนุนกลดหลับไปเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฝาตุ่ม, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, สายน้ำ, ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๒ - นานเท่าไหร่ไม่รู้ ตื่นขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีเสียงจ้อกแจ้กเจี๊ยวจ๊าวของเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ รีบลุกขึ้นนั่งมองดูรอบ ๆ ตัวอย่างงง ๆ เด็กนักเรียนหญิงสาว ๆ ทั้งนั้นนั่งรายรอบข้าพเจ้าอยู่ประมาณ ๒๐ คน และที่ยืนมองดูอยู่นอกศาลาก็มีไม่น้อย เหลียวมองหาหลวงพี่บัณฑิตก็ไม่พบเห็น เด็กสาวคนหนึ่งถามข้าพเจ้าด้วยสำเนียงภาษาปักษ์ใต้พอรู้ความ
“ท่านมาจากไหน?”
“มาจากอยุธยา” ข้าพเจ้าตอบเป็นสำเนียงภาษาภาคกลางโดยไม่กล้ามองหน้าสบตาคนถาม มันเก้อเขินยังไงก็ไม่รู้ ตั้งแต่เป็นหนุ่มมานี่ยังไม่เคยตกอยู่ท่ามกลางหมู่เด็กสาวอย่างนี้สักที ตอนนั้นรู้สึกคอแห้งอยากดื่มน้ำ จึงยกกาน้ำขึ้นดื่ม (ทางพวยกา) แต่ก็แทบสำลัก! เพราะแทนที่จะเป็นน้ำจืดธรรมดาที่ข้าพเจ้าใส่ไว้ กลับกลายเป็นน้ำกาแฟดำที่มีรสเข้มขมอมหวาน จึงวางกาน้ำชาลงทันที ใบหน้า สีหน้า ท่าทางของข้าพเจ้าตอนนั้นเป็นอย่างไรไม่รู้ (เพราะมองไม่เห็นหน้าตัวเอง) แต่มันคงน่าขำขันพิลึกละ ไม่อย่างนั้นเด็กสาว ๆ ที่รุมล้อมอยู่คงไม่พากันหัวเราะคิกคัก ๆ ครื้นเครงอย่างนั้นหรอกครับ
กาแฟดำร้อนในกาน้ำของข้าพเจ้านั่นเป็นฝีมือของพวกเธอ ในขณะที่นอนหลับสลบเหมือดอยู่นั้น เธอเอากาน้ำของข้าพเจ้าไปเทน้ำออก แล้วซื้อกาแฟดำใส่ไว้ให้ดื่มด้วยความปรารถนาเป็นบุญกุศล จากนั้นพวกเธอแย่งกันถามข้าพเจ้ามากเรื่องมากอย่าง เธอถามคำ ข้าพเจ้าก็ตอบคำ บางคำถามก็ไม่ตอบ เพียงพยักหน้ารับและส่ายหน้าปฏิเสธเท่านั้น ที่ไม่ตอบไม่ใช่เพราะขี้เกียจ หากแต่ว่าฟังคำถามเธอไม่รู้เรื่อง เพราะบางคนเธอพูดภาษาปักษ์ใต้ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่แล้ว ถ้าระฆังสัญญาณเรียกเข้าห้องเรียนไม่ดังขึ้น คงถูกคำถามจากปากน้อย ๆ ของพวกเธอซัก “ซ้อม” เอาย่ำแย่ไปเลยก็แล้วกัน
เด็ก ๆ ไปเข้าเรียนกันหมดแล้ว ข้าพเจ้าเอากาน้ำไปเทกาแฟดำทิ้ง (เพราะไม่ชอบดื่มกาแฟดำ) ไปขอน้ำเย็นจากร้านค้าหน้าโรงเรียนใส่กาจนเต็ม ล้างบาตรล้างมือเสร็จแล้วไม่รู้จะไปไหน ไม่รู้ทิศรู้ทางเลย ใจยังชื้นอยู่หน่อยก็ตรงที่เห็นกลด บาตร กาน้ำหลวงพี่บัณฑิตยังวางอยู่ในศาลานั้น แสดงว่าท่านคงไปธุระส่วนตัวที่ไหนสักแห่งแล้วก็จะต้องกลับมา จึงเดินดูโน่นดูนี่ภายในบริเวณโรงเรียน เป็นการฆ่าเวลาคอยหลวงพี่บัณฑิตกลับมา เป็นเวลาสายมากแล้วหลวงพี่บัณฑิตยังไม่กลับ ข้าพเจ้าเดินเล่นจนเบื่อแล้วจึงกลับเข้าศาลา นั่งพิงเสาหลับตาภาวนาขจัดความหงุดหงิดรำคาญใจอันเกิดจากการรอคอย การภาวนาของข้าพเจ้าในวันนั้นไม่เกิดผลทางสมาธิตามทฤษฎีว่าด้วยการเจริญภาวนาหรอกครับ แต่กลับได้ผลในทางทฤษฎีนิทรา คือนั่งหลับ ซึ่งดูห่าง ๆ จะเห็นว่านั่งสมาธิภาวนาท่าทางน่าเลื่อมใส
หลับไปเป็นเวลานานจนกระทั่งโรงเรียนหยุดพักเรียนกลางวัน นักเรียนสาว ๆ ทั้งหลายก็ยกโขยงกันมาล้อมข้าพเจ้าอีกอีก พวกเธอคงจะนั่งรอข้าพเจ้าออกจากสมาธิ (หลับ) กันอยู่นานแล้ว พอตื่นลืมตาก็เห็นพวกเธอนำอาหารมารอท่าถวายหลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่รับ บอกให้พวกเธอรู้ว่าถือธุดงค์ในข้อที่ว่าฉันอาหารวันละมื้อเดียว ดูท่าทางพวกเธอเพิ่มความศรัทธาเลื่อมใสในตัวข้าพเจ้ามากขึ้นอีก บางคนที่ใจกล้าหน่อยก็เข้ามานั่งใกล้ ๆ ซักถามอะไร ๆ ที่เธออยากรู้เกี่ยวกับเรื่องของพระ-เณรและการเดินธุดงค์ พวกเธอรู้แล้วว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทยภาคกลาง จึงพูดคุยกันด้วยภาษาภาคกลาง แม้จะเป็น “ทองแดง”อยู่บ้าง ข้าพเจ้าก็ฟังรู้เรื่องดี บางคนพูดภาษากลางแบบอาย ๆ (เพราะเกรงเพื่อนจะหาว่าดัดจริต) ก็ดูน่ารักดี เมื่อพูดคุยกันมากขึ้น ดูเหมือนพวกเธอจะคุ้นกับข้าพเจ้าได้อย่างรวดเร็ว เรื่องที่ไม่กล้าพูดเธอก็กล้าพูดอย่างที่ข้าพเจ้าเองก็คาดคิดไม่ถึงว่าเธอจะพูด โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวของข้าพเจ้า
“ท่านมีแฟนหรือยังก๊ะ?” เธอถามด้วยภาษากลางที่ไม่หลุดพ้นสำเนียงใต้ คือคำว่า “คะ” เธอออกเสียงเป็น “ก๊ะ” ฟังคำถามแล้วก็ได้แต่ยิ้มอาย ๆ ไม่ยอมตอบ
“ทางพระเขาห้ามมีแฟนใช่ไหมก๊ะ?” เธอถามต่อด้วยความอยากรู้
ข้าพเจ้ามองดูหน้าเธอ เห็นแววตาใสซื่อบริสุทธิ์อย่างไร้เดียงสาแล้วก็ต้องถอนหายใจลึก ๆ แล้วกวาดสายตาไปตามใบหน้านิ่ม ๆ ของคุณเธอทั้งหลาย บางดวงหน้ายิ้มนุ่มนวล บางดวงหน้ายิ้มยั่วยวน บางดวงหน้ายิ้มทะเล้น ดวงตาบางคู่ใสแจ๋วบริสุทธิ์ไร้มารยา บางคู่เบิ่งมองฉายแววอยากรู้อยากเห็น บางคู่ทอดสายอ่อนละมุนเปี่ยมด้วยไมตรี บางคู่วามวาววับเห็นแล้ววาบหวามความรู้สึก บางคู่มีแววแข็งกร้าวขมึงทึงน่าสะพรึงกลัว บางคู่กลมโต บางคู่เล็กหยี หลากหลายดวงตาที่จ้องมองข้าพเจ้า จนไม่รู้จะให้คำตอบแก่เธออย่างไร นอกจากยิ้มเขิน ๆ ให้พวกเธอเท่านั้นเอง
“ท่านไม่ตอบก็แสดงว่าเกลียดเรื่องนี้เพราะเคยผิดหวังในความรักใช่ไหมก๊ะ?” เด็กตัวอ้วนตาหยี หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ถามแทรกขึ้น ข้าพเจ้าส่ายหน้า นึกไม่ถึงว่าเด็กสาวพวกนี้ช่างแก่นกล้ามาถามซอกแซกอย่างเกินคาด พวกเธออยู่ในวัยหวานที่มักเพ้อฝันในเรื่องของความรัก คะเนดูว่าอายุพวกเธอคงอยู่ในราว ๆ ๑๖-๑๙ เป็นนักเรียน ม.ปลายทั้งหมด
“งั้นไยไม่ตอบ” อีกคนหนึ่งรุกคำถามพร้อมจ้องหน้าผมตาแป๋วอย่างไร้เดียงสา
“มันเป็นเรื่องพูดยาก” ข้าพเจ้าตอบเนือย ๆ
“ยากพรือ?” อีกคนหนึ่งถามเร็วด้วยภาษาปักษ์ใต้ เพื่อนสะกิดให้รู้ตัวว่าถามผิดสำเนียงภาษา เธอรู้ตัวก็แลบลิ้นแผล็บแล้วรีบเอามือปิดปาก
“พระพุทธองค์ตรัสว่า ความรักและของที่รักเป็นบ่อเกิดของความทุกข์โศกเสียใจพิไรรำพัน” เมื่อตอบด้วยสำนวนเทศนาโวหาร บางคนก็ทำหน้าทะเล้นตอบ บางคนก็ยิ้มเซ่อ ๆ บางคนนั่งนิ่งใช้ความคิดพิจารณา
“ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ใช่ไหมก๊ะ?” ในกลุ่มคนที่นั่งนิ่งถามด้วยคำปราชญ์
“จะว่าอย่างนั้นก็ใช่ เพราะจริง ๆ แล้วความทุกข์กับความสุขมันอยู่ในที่เดียวกัน ผลัดกันปรากฏ ผลัดกันดับ คือเมื่อสุขปรากฏขึ้น ทุกข์ก็ดับหรือลดลงไป เมื่อทุกข์ปรากฏขึ้นสุขก็ดับหรือลดลงไป” ข้าพเจ้าตอบด้วยสำนวนเทศนาอีก
“เอ๊ะ ! ไหงเป็นยังงั้นล่ะก๊ะ?” หลายเสียงถามพร้อมกัน ข้าพเจ้าปรายยิ้มก่อนตอบด้วยสำนวนเทศนาโวหาร ก็หมายถึงเทศน์นอกธรรมาสน์ให้พวกเธอฟังนั่นแหละครับ
“ความรัก คือความเมตตาปรารถนาจะให้เป็นสุข ที่คนเรามีสุขกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมีความรักเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ในใจของใครมีความรักคนนั้นก็มีความสุข ใครมีคนรักและคนรักนั้นรักตอบ คนนั้นก็มีความสุข ในบ้านใด สังคมใดที่ทุกคนต่างมีความรักให้แก่กัน ในบ้านนั้นสังคมนั้นก็มีความสุขสดชื่น ตรงกันข้าม ในใจใครไม่มีความรัก เขาย่อมเร่าร้อนกระวนกระวายเคียดแค้นชิงชัง เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ มุทะลุดุดันโหดเหี้ยมเย็นชา คนที่ไม่มีคนรักเขาย่อมว้าเหว่เดียวดาย ไร้ความอบอุ่น บ้านใด สังคมใดไม่มีความรัก ก็ย่อมมีแต่การทะเลาะวิวาทเบียดเบียนแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ฆ่าแกงกัน เดือดร้อนวุ่นวายไม่ว่างเว้น”
“แหม....ท่านเทศน์เก่งจังเลย” คนอ้วนตาหยีหน้ากลมกล่าวชม พร้อมทำหน้าแบบล้อเลียน
“หรือใครเห็นว่าที่ฉันพูดมานี่ไม่จริง ?” ข้าพเจ้าถามย้อนไปบ้าง
“งั้นคำว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่จริงซีก๊ะ?” คนตัวอ้วนตาหยี ถามรุกฆาตอีก ข้าพเจ้าดูหน้าและแววตาเธอ เห็นว่าเธอมีความอยากรู้จริง ๆ จึงตอบด้วยสำนวนเทศน์อีกที
“คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำจริง ไม่มีโกหกหลอกลวง แต่คนที่ศึกษาเล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้ามักมีความรู้ความเข้าใจไม่ตรงกัน ตีความหมายของคำสอนกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน ดังได้กล่าวแล้วไงล่ะว่า ความรักกับความทุกข์มันเกิดในที่เดียวกัน ที่นั้นคือคนที่เรารักหรือสิ่งที่เรารัก ถ้าหากว่าคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก ยังคงอยู่กับเรา เราก็มีความสุข แต่ถ้าคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก พลัดพรากสูญหายไป เราก็มีความทุกข์ ข้อนี้เป็นสัจธรรม ไม่ผิดเลย พูดอย่างนี้ออกจะฟังยากไปหน่อยนะ หากจะพูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็ควรพูดว่า ที่ใดมีรักที่นั้นไม่มีทุกข์ ที่ใดไร้รักที่นั้นมีทุกข์ อย่างนี้ดูจะฟังง่ายขึ้นใช่มัย?”
“ท่านก๊ะ หนูเข้าใจอย่างนี้ถูกไหม? สมมุตินะก๊ะ คือสมมุติว่า ถ้าหนูรักท่าน ท่านก็เป็นบ่อเกิดความรักของหนู ถ้าท่านไม่รักหนู หนีหนูไป ท่านก็กลายเป็นบ่อเกิดความทุกข์ของหนู จริงไหมก๊ะ?”
ก็คนตัวอ้วนตาหยีหน้ากลมนั่นแหละที่กล้าถามดังกล่าว จบคำถามของเธอก็มีเสียงฮาดังขึ้นจากเพื่อน ๆ พร้อมเพรียงกัน ผมก็เขินซีครับ
มีเสียงแว่วมาจากคนที่อยู่แถวหลังว่า
“เห็นมั้ยท่านหน้าแดงแล้ว?”
แต่ข้าพเจ้าก็ทำเป็นไม่ได้ยิน นั่งนิ่งจนถูกยัยอ้วนร้องทวงคำถามให้ตอบ
“จริงมั้ย ๆ?” ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงชัยชนะของเธอ
“ม่ายหรอก...” ข้าพเจ้าพูดลากเสียงพร้อมส่ายหน้าช้า ๆ ใจก็คิดหาคำตอบที่เหมาะสม นึกไม่ถึงว่า “ยัยเด็กก๋ากั่น” คนนี้จะคิดปัญหาอะไรแปลก ๆ มาถามให้เรางง ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบโต้เถียงหาเหตุผลมาหักร้างกันอยู่แล้ว มาเจอแม่เด็กพวกนี้ ก็อดสนุกไปกับการโต้เถียงกับพวกเธอไม่ได้ แม้จะถูกรุมถามก็ไม่ยอมแพ้ง่ายหรอกครับ
“ที่สมมุติขึ้นมาถามนั่นน่ะ มันเป็นวัตถุสิ่งของ ไม่ใช่สถานที่ คำว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์มันหมายถึงสถานที่อันเป็นที่อยู่หรือที่เกิดของความรักและความทุกข์ ตัวฉันเป็นวัตถุบุคคลไม่ใช่สถานที่ จึงเข้ากันได้กับคำว่า “ความรักเกิดจากสิ่งของที่รัก และความทุกข์ก็เกิดจากสิ่งของที่รัก” ได้ ในพระพุทธพจน์ว่า “ความโศกเกิดแต่ของที่รัก” ความรักกับความทุกข์นั้นถือได้ว่าอยู่ด้วยกันในสถานที่เดียวกัน"
ข้าพเจ้าตอบแบบตะแบง ๆ ไปอย่านั้นเอง ผิดถูกอย่างไรไม่รับรอง
ไม่ทันที่พวกเธอจะซักถามอะไรอีกต่อไป เสียงระฆังสัญญาณเรียกเข้าห้องเรียนก็ดังขึ้น เด็กสาวเหล่านั้นก็กราบลาพากันกลับเข้าห้องเรียน ข้าพเจ้าจึงรอดพ้นการเป็นเหยื่อปากถากถางของพวกเธอ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, ฝาตุ่ม, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, ลายเมฆ, เฒ่าธุลี, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๓ - หลวงพี่บัณฑิตท่านกลับมาเวลาประมาณบ่ายแก่ ๆ (๓ โมงเห็นจะได้) จึงได้ทราบความจริงว่าหลวงพี่บัณฑิตหายไปนานนั้น เพราะท่านไปเยี่ยมผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ผู้คุ้นเคยกับหลวงพี่มาก่อน ผบ.เรือนจำท่านนี้เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ย้ายมาอยู่ภูเก็ตได้ ๓ ปีแล้ว หลวงพี่ออกเดินธุดงค์มาภูเก็ตก็แวะเยี่ยมทุกครั้งพร้อมสั่งทำเครื่องใช้ประดับมุก เช่นทัพพี ช้อนส้อม โคมไฟฟ้า ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น เอากลับไปฝากผู้ที่เคารพนับถือ นานทีปีครั้งได้พบกันก็เลยพูดคุยกันนานหน่อย ปล่อยให้ข้าพเจ้าถูกเด็กสาว ๆ รุมซักซ้อมเสียแทบตาย.
“เป็นอาจารย์ให้หวย”
หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าเดินออกจากโรงเรียนสตรีภูเก็ตไปปักกลดที่สนามหญ้าในรั้วของบริษัทไทยวาเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริเวณกว้างขวางมาก ยังไม่ทันจะมืดค่ำก็ปรากฏว่ามีผู้คนเข้ามาหาพร้อมของถวาย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม มีกาแฟ โอวัลติน ชาร้อน ชาเย็น น้ำขวดนานา และบุหรี่ เครื่องดื่มที่เป็นขวดนั้นเขาเปิดขวดมาแล้ว ข้าพเจ้ารับแล้วก็จิบพอเป็นการฉลองศรัทธาเขาเท่านั้น ขืนดื่มหมดทุกขวดเห็นจะท้องแตกตายแน่ สังเกตดูแล้วเห็นว่าผู้คนที่มาเหล่านั้น มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พวกอายุน้อยนั่งข้างหน้า พวกอายุมากนั่งข้างหลัง พวกผู้ชายที่มีส่วนน้อยนั้น เข้านั่งชิดกลดของข้าพเจ้าเลยทีเดียว มองไปดูทางกลดหลวงพี่บัณฑิตที่ปักห่างจากผมประมาณ ๕๐ เมตร ก็เห็นมีผู้คนไปนั่งล้อมกลดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน พวกที่มานั่งล้อมกลดข้าพเจ้านั้นส่วนใหญ่เขาจะนั่งนิ่ง ๆ มีอาการสงบเสงี่ยมแสดงความเคารพยำเกรง มีพูดคุยกันบ้างก็อยู่ในลักษณะซุบซิบ หรือ กระซิบกระซาบ กันเอง
มืดค่ำแล้ว ผู้คนยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น มองไปทางกลดหลวงพี่บัณฑิตท่ามกลางแสงไฟสลัว เห็นว่าท่านกางมุ้งกลดแล้ว ไม่มีผู้คนนั่งล้อมกลดท่านเหมือนตอนเย็น แต่กลดของข้าพเจ้ากลับมีคนมารุมรายล้อมเพิ่มมากขึ้น ข้าพเจ้านั่งเฉยไม่พูดไม่คุย ใครถามอะไรถ้าฟังรู้ก็ตอบไปโดยไม่ต่อความยาว ส่วนใหญ่จะพยักหน้าและนิ่งเสีย ดึกมากแล้ว จึงบอกให้ทุกคนกลับบ้าน เพราะได้เวลาสวดมนต์ภาวนาก่อนนอนตามกิจวัตรของพระธุดงค์แล้ว มีเสียงผู้นำของกลุ่มคนบอกว่า
“ยังไม่ได้สามตัว กลับไม่ได้ ขอสามตัวเถอะ” รู้ได้ทันทีว่าเขาต้องการเลข ๓ ตัวท้ายรางวัลที่ ๑ สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า “หวยกินรวบ” หรือ “หวยเถื่อน” ที่เคยถูกขอมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ข้าพเจ้าไม่เคยให้ใครเลย
“ไม่รู้ ให้ไม่ได้ ไม่เคยให้ใคร” ข้าพเจ้าบอกปฏิเสธไปตามความจริง
ยามนั้นมีชายอายุประมาณ ๕๐ ปีเศษคนหนึ่ง ลักษณะท่าทางสุภาพเรียบร้อย คลานเข้ามากราบที่ตักผมแล้วแนะนำตัวว่า ทำงานฝ่ายการเงินของบริษัทเดินอากาศไทยที่ภูเก็ต พร้อมกล่าวคำอ้อนวอน
“โปรดโยมหน่อยเถิด โยมถูกหวยกินมามากจนย่ำแย่แล้ว”
โดนลูกเล่นนี้ก็ต้องนั่งงง นึกไม่ถึงว่า “คนบ้าหวย” จะมาไม้นี้ “โปรดไม่ได้หรอกโยม ฉันไม่รู้จริง ๆ เกิดมาไม่เคยให้หวยใคร” ตอบด้วยความจริงใจ แต่เขาไม่ยอมเชื่อ
“ท่านอาจารย์กลดโน้น บอกว่าท่านให้แม่นที่สุด พวกชุมพร นครศรีธรรมราชเขารวยกันเพราะท่านตั้งหลายคน” หญิงสาวคนหนึ่งที่นั่งข้างหน้าว่าอย่างนั้น จึงรู้ทันทีว่าถูกหลวงพี่บัณฑิตให้ร้าย กลั่นแกล้งข้าพเจ้าเข้าให้แล้ว รอบ ๆ กลดมีแต่เสียง “ขอสามตัวเถอะ ๆๆๆ” ตอบปฏิเสธอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อฟัง บางคนเป็น “คนหัวหมอ” ยกเอาตัวเลขยกชูขึ้นมาถามว่า “เลขนี้จะออกไหม?” ข้าพเจ้าก็ส่ายหน้าปฏิเสธ เขาก็ยกเลขอื่นมาถามอีก ก็ได้แต่ส่ายหน้าปฏิเสธอยู่ท่าเดียว ยามนั้นง่วงนอนจนมึนงงแล้ว ไม่รู้จะขับไล่คนบ้าหวยพวกนั้นไปได้อย่างไร ชายคนที่เข้ามากราบตักนั้นก็คะยั้นคะยอขอไม่เลิก อ้างว่า พรุ่งนี้หวยออกแล้ว ถ้าท่านอาจารย์ไม่ให้เลขชาวบ้านเขาคงจะต้องนั่งเฝ้ากลดท่านอยู่ทั้งคืนแหละ ท่านอาจารย์ไม่ให้ตัวตรง ๆ เพียงบอกใบ้ให้ก็ยังดี
เกิดความรำคาญเต็มทน และเพื่อตัดความรำคาญ จึงควักสมุดพกเล่มเล็กออกจากย่าม เขียนเลข ๓ ตัว ยังจำได้ว่ามีเลข ๑๙๐ แต่เลขใดอยู่ตำแหน่งไหนจำไม่ได้แล้ว เขียนใส่กระดาษหลาย ๆ ใบด้วยเลขตัวเดียวกัน เสร็จแล้วฉีกออกแจก บอกให้ไปคัดลอกแบ่งกันเอาเอง แล้วก็ไล่ให้ทุกคนกลับบ้าน เขาเฮโลกันรุมขอดูเลขที่เขียนให้ บางคนก็จดใส่กระดาษ บางคนก็จำไว้ในใจ เมื่อได้เลขแล้วเขาก็พากันจากไปจนหมด ข้าพเจ้าจัดแจงลงมุ้ง (กางมุ้ง) จุดธูปเทียนเตรียมสวดมนต์เจริญภาวนาก่อนนอน ยังไม่ทันที่จะปักธูปลงบนพื้นดิน ก็มีคนมาหาอีกเป็นกลุ่มใหญ่ ประมาณ ๒๐ คนเห็นจะได้ เป็นพวกคนเก่าที่ให้เลขเขาไปแล้วนั่นแหละ คราวนี้เขาถือบุหรี่เกล็ดทอง พระจันทร์ มาคนละซองเพื่อถวายข้าพเจ้า
“ขอทันใจอีกครับ ! ขอทันใจหลวงน่ะก่ะ” เป็นคำขอหลังจากถวายบุหรี่แล้ว ข้าพเจ้างงมากเลย
“ทันใจอะไรกัน ทำไมไม่ไปซื้อที่ร้านขายยาเล่า?” ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขามาขอยาทันใจแก้ไข้แก้ปวดอะไรนั่น
“ไม่ใช่พรรค์นั้นนะ ทันใจคือทันใจหลวง” คนหนึ่งตอบ
“ทันใจหลวงยังไง ?” ข้าพเจ้ายิ่งงงใหญ่
“เก๊าะเลข ๒ ตัวหมุนสองครั้งของรัฐบาลนั่นไงล่ะ” เขาขยายความให้หายงง จึงรู้ได้ว่า รางวัลเลขท้าย ๒ ตัวสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น คนภูเก็ตเขาเรียกกันว่า “ทันใจ” ข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนเลขให้อีก และไม่รู้จะเขียนเลขอะไรด้วย จึงตอบโมเมไปว่า “มันอยู่ที่ซองบุหรี่แล้ว เอาไปเถอะ” พวกเขาจึงลากลับด้วยความดีใจ คืนนั้นนอนไม่ค่อยจะหลับเพราะเป็นกังวลกับตัวเลขที่ให้พวกเขาไป มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ให้หวยเบอร์ จะเรียกว่าเป็นการ “ทำผิดครั้งแรก” ของข้าพเจ้าก็ได้
ครับ ! การให้หวยเบอร์นี้ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าผิด ข้าพเจ้าเป็นคน “แอนตี้” เรื่องการให้หวยเบอร์มาตลอดเวลา นึกไม่ถึงว่ากลับต้องกลายมาเป็นเป็นอาจารย์ให้หวยเบอร์เสียเอง เกิดมีความวิตกกังวลว่า เลขที่ให้ไปนั้น ถ้าเกิดถูกเข้าจะว่ายังไง ถ้าไม่ถูก ชาวบ้านคงฉิบหายไปไม่น้อย เพราะดูพวกบ้าหวยนั้นเขามีความเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้ามาก ๆ คิดอย่างนี้แล้วก็อดไม่ได้ที่จะภาวนาขอให้หวยออกตรงกับเลขที่ให้ไปนั้นด้วยเถิด!
วันรุ่งขึ้นหลวงพี่บัณฑิตพาผมไปเยี่ยมเยือนเพื่อนพระของท่านที่วัดขจรรังสรรค์ และวัดวิชิตสังฆาราม จากนั้นไปเดินเที่ยวบนเขารัง กลับกลดเอาตอนเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำแล้ว ที่กลดข้าพเจ้ามีคนมานั่งอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ทุกคนเห็นข้าพเจ้ากลับกลดก็พากันดีอกดีใจ ยกมือไหว้ท่วมหัว พอนั่งเรียบร้อยแล้วพวกเขาก็คลานเข้ามาถวายบุหรี่ เครื่องดื่ม ดอกไม้ ธูปเทียนมากมาย ชายกลางคนที่บอกว่าทำงานอยู่บริษัทการบินไทยนั้น กราบที่ตักผมแล้วกล่าวว่า ท่าน “เป็นพระมาโปรดแท้ ๆ พวกเราถูกหวยทั้ง ๓ ตัว ๒ ตัว กันทั่วหน้า” ข้าพเจ้ารู้สึกสับสนไปหมด ดีใจที่พวกเขาถูกหวย เสียใจที่กลายเป็นคนหลอกลวง ก็ทำไมจะไม่หลอกลวงเล่าครับ ข้าพเจ้ารู้เห็นซะเมื่อไรเล่าว่าหวยรัฐบาลจะออกเลขอะไร เขียนให้เขาส่งเดชไป บังเอิญอย่างที่ว่า “ขี้จังร่อง” นั่นแหละ นี่ดีนะที่มันออกตรง ถ้าผิดละก็คงถูกด่าเปิงไปเลยก็แล้วกัน
รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า มองไปที่กลดหลวงพี่บัณฑิตแล้วก็ใจหาย ”กลดหลวงพี่บัณฑิตหายไปแล้ว” รู้ได้ทันทีว่าหลวงพี่บัณฑิตถอนกลดเดินทางหลบหนีหรือทอดทิ้งข้าพเจ้าแน่นอน เพราะท่านต้องรู้แล้วว่าข้าพเจ้าให้หวยชาวบ้านถูกกันมาก กลายเป็นอาจารย์หวยไปเพราะท่านโกหกชาวบ้านว่าข้าพเจ้าให้หวยแม่นนั่นเอง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฝาตุ่ม, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๔ - พอรู้ว่าหลวงพี่บัณฑิตหนีไปแล้วก็คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก กลัวที่สุดคือ กลัวว่าจะกลับบ้านไม่ได้ มืดแปดด้านไปเลยทีเดียวครับ ตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นเกาะภูเก็ตนี่ข้าพเจ้าหลงทิศหลงทาง ไม่รู้ว่าทิศไหนเป็นทิศไหน รู้สึกว่าดวงตะวันมันขึ้นทางเหนือตกทางใต้ แทนที่จะขึ้นทางตะวันออกตกทางตะวันตกตามปกติของมัน ความรู้สึกตอนนั้นก็คือ กลายเป็นคน “ถูกปล่อยเกาะ” ไปเสียแล้ว เช้าวันนั้นไม่ได้ออกบิณฑบาต ดีที่มีผู้น้ำอาหารมาถวายที่กลดมากมาย ชายคนที่บอกว่าอยู่บริษัทการบินนั้น รู้ว่าผมถูกพระพี่เลี้ยงหนีไปเสียแล้วก็ปลอบใจผมว่า ไม่ต้องกลัว จะขอเป็นโยมปวารณา รับอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดี เขาบอกว่าชื่อ “แดง” ให้เรียกเขาว่า “โยมแดง” มีอะไรจะให้รับใช้ก็ขอให้บอกได้ทันที ไม่ต้องเกรงใจ ถ้าถึงเวลาจะเดินทางกลับบ้านเขาจะส่งให้ขึ้นเครื่องบินกลับถึงกรุงเทพฯ เลย ได้โยมอุปถัมภ์อย่างนี้ก็เบาใจคลายกังวลไปมากเลย แล้วเหตุการณ์มันก็บังคับให้ข้าพเจ้าต้องกลายเป็นอาจารย์ให้หวยไปอย่างช่วยไม่ได้
โยมแดงกับพวกของเขานำพาข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในป่าช้าจีนแต้จิ๋วบริเวณตอนเหนือตีนเขารัง โดยมีกระท่อมให้อยู่ในดงไม้ไผ่ ตั้งอยู่บนฮวงจุ้ย ๓ ฮวงจุ้ย หลังคาและฝากระท่อมมุงด้วยใบหญ้าคา ยกแคร่สูงด้วยฟากไม้ไผ่เป็นที่นอน ๑ แคร่ มีห้องโถงกว้างพอจุคนนั่งได้ประมาณ ๒๐ คน นอกกระท่อมก็ทำส้วมซึมและห้องอาบน้ำไว้ ๑ แห่ง มีถังยางมะตอย ๓ ถังตั้งไว้ใส่น้ำใช้ปะจำวัน เพราะในที่นั้นไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้
ป่าช้าจีนแห่งนี้มีบริเวณกว้างขวางมาก อยู่ในหุบเขาล้อม ๓ ด้าน ด้านที่ ๔ ติดถนนหลวง อยู่บริเวณใกล้ชิดกับสามแยกวิชิต กระท่อมหรือ “อาศรม” ของข้าพเจ้าอยู่ห่างถนนประมาณ ๘๐ เมตรเห็นจะได้ ภายในป่าช้าอันกว้างขวางนี้มีกระท่อมพระธุดงค์ตั้งอยู่ประมาณ ๖ หลัง ตั้งอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร บางหลังก็มีพระอาศัยอยู่บางหลังก็เป็นกระท่อมร้างว่างเปล่า ทราบจากการบอกเล่าของโยมแดงว่า ป่าช้าแห่งนี้เป็นที่ฝั่งศพของจีนแต่จิ๋ว ซึ่งเป็นชาวจีนที่ยากจน ยังมีป่าช้าคนจีนที่มีฐานะร่ำรวยอีกหลายแห่ง (เช่นป่าช้าจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ของเกาะภูเก็ต) ป่าช้าที่ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่นั้นปรากฏว่าทุกตารางเมตรของพื้นที่มีศพฝังเต็มไปหมด บางที่ก็ฝังศพทับซ้อนกัน ข้าพเจ้าจึงต้องนอนบนหลุมศพชาวจีนแต้จิ๋วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โยมแดงยังบอกเล่าต่ออีกว่า เจ้าของป่าช้าแห่งนี้เคยแสดงตนให้พระธุดงค์ที่มาพักในป่าช้านี้ได้พบเห็นมาหลายองค์แล้ว บางองค์ได้พบเห็นแล้วเกิดความความกลัวจน “จับไข้หัวโกร๋น” ทีเดียว บางองค์ก็เสียสติป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ไปเลย บางองค์พบเห็นแล้วก็ไม่เป็นอะไร กลับจดจำลักษณะเจ้าป่าช้านั้นมาบอกเล่าว่า มีรูปร่างสูงใหญ่แต่งกายแบบนักรบระดับขุนพลจีนโบราณ หน้าแดง ผมดำ เคราดำ มือซ้ายถือง้าว มือขวาถือแส้ขนม้าสีขาว ไม่พูดจาปราศรัยใด ๆ มีแต่หัวเราะเสียงดังอย่างเดียว
เวลาค่ำมืดลง โยมแดงและใคร ๆ ลากลับไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องเผชิญกับความเสียวสยองพองขนอยู่คนเดียวบนหลุมศพในกระท่อม จุดเทียนไขดอกใหญ่ให้แสงสว่างวาววาม หลังจากสวดมนต์จบแล้วก็นั่งเจริญภาวนาตามปกติ พอหลับตาภาวนาว่า “อะระหัง” ใจก็เริ่มแกว่งไกว และมันก็ไปแกว่งไกวอยู่ในเรื่อง “เจ้าป่าช้า” ตามที่โยมแดงเล่าให้ฟังนั่นแหละครับ
ภาพเจ้าป่าช้าปรากฏชัดขึ้นในองค์ภาวนาของข้าพเจ้าโดยไม่สามารถขจัดให้ออกไปได้ จึงต้องเลิกนั่งภาวนา ลุกลงจากแคร่ (เตียง) เดินจงกรมวนไปเวียนมาอยู่ในห้องโถงของกระท่อม (อาศรม) จนรู้สึกเมื่อยเท้าแล้วจึงขึ้นแคร่ดับเทียนล้มตัวลงนอน
“ให้ตายเถอะ!” ข้าพเจ้านอนหลับตาไม่ได้ พอหลับตาก็เห็นภาพเจ้าป่าช้า ร่างกายสูงใหญ่ หน้าแดง ผมดำ เคราดำยาวรุงรัง แต่งตัวเหมือนงิ้ว มือซ้ายถือง้าวมือขวาถือแส้ขนหางม้าสีขาวยกขึ้นปัดไปมา พอลืมตาภาพนั้นก็หายไป ครั้นหลับตาลงภาพนั้นก็ปรากฏขึ้นอีก ใจหนึ่งคิดว่าถูกผีหลอกเข้าแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า มันเป็นภาพลักษณ์อุปาทานที่เกิดขึ้นตามคำบอกเล่าของโยมแดง จึงนอนนิ่งลืมตามองดูหลังคาห้องในความมืดสลัว ยามดึกสงัดนั้นพลันก็มีเสียงร้องโหยหวนดังมาจากเทือกเขาทะมึนทางเบื้องหัวนอน เสียงนั้นให้ความรู้สึกว่าเหมือนเสียงเปรตร้อง
ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเปรต ไม่เคยได้ยินเสียงเปรตร้อง เคยได้ยินได้ฟังคนเล่าเรื่องเปรต บ่งบอกรูปลักษณ์และเสียงของเปรต จึงรู้จักมาจากคำบอกเล่าของคนอื่นทั้งนั้น เสียงที่ได้ยินคืนนั้นมันโหยหวนเหมือนเสียงเปรตอย่างที่มีคนบอกเล่าให้ฟัง ได้ยินแล้วขนลุกชันเนื้อตัวซู่ซ่า ตัวชา ใจหวิวสั่นไหวอย่างไรชอบกล และยิ่งมีเสียงสัตว์อะไรวิ่งแกรกกรากตามข้างฝากระท่อมด้วยแล้ว ก็เพิ่มความหวาดกลัวให้มากขึ้นอีก คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้หลับเลยสักงีบเดียว ยามนอนก็นอนลืมตา ยามนั่งก็นั่งลืมตา ตื่นอยู่ในอิริยาบถทั้งสี่ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน จนรุ่งสางสว่างแจ้ง
โยมแดงและใคร ๆ นำอาหารมาถวายแต่เช้า และบอกว่าทุกวันต่อไปนี้ไม่ต้องออกบิณฑบาต โยมจะนำอาหารมาถวายทุกเช้าเลย ข้าพเจ้าก็ต้องเก็บธุดงค์ข้อนี้ไว้ก่อน ยังคงประพฤติธุดงค์เพียงข้อที่ว่า ถือผ้า ๓ ผืนเป็นประจำ ฉันอาหารหนเดียวเป็นประจำ ถือการใช้ผ้าเก่าคร่ำคร่า (ผ้าบังสุกุล) เป็นประจำ และเพิ่มข้อที่ว่า ถือการอยู่ป่าช้าเป็นประจำเข้ามาแทนการถือบิณฑบาตเป็นประจำ
“เมื่อคืนนี้นอนหลับสบายดีไหมครับ?” โยมแดงถามยิ้ม ๆ ข้าพเจ้าตอบว่าหลับสบายดี ไม่มีเจตนาจะพูดโกหกหรอกครับ แต่คิดว่าจะบอกเขาว่าไม่ได้หลับเลยได้อย่างไร เพราะในความคิดเห็นของคนส่วนมากเขาเคารพเลื่อมใสนับถือข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ที่เก่งกล้าสามารถมากอยู่แล้ว ก็จำต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราเก่ง ไม่ให้พวกเขาผิดหวังได้ มีบางคนยังไม่สนิทใจในความเก่งกล้าสามารถของข้าพเจ้า พอได้ยินคำตอบว่าข้าพเจ้านอนบนหลุมฝังศพหลับสบายดีทั้งคืน เขาก็ทำหน้าฉงนแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เขาคงคิดว่า “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ” เพราะเห็นข้าพเจ้ายังคงอยู่เป็นปกตินั่นเอง
ข้าพเจ้ามาได้ความจริงภายหลังว่า ที่โยมแดงบอกเล่าเรื่องเจ้าป่าช้านั้นก็เป็นการข่มขู่ ทดลองความเข้มแข็งทางด้านจิตใจของพระเณรธุดงค์ องค์ใดขวัญอ่อนจิตใจไม่เข้มแข็งก็จะถูกภาพหลอนทำลายตบะสมาธิจนมีอันเป็นไปต่าง ๆ บางองค์ถึงกับเสียสติไปเลยก็มี ข้าพเจ้าสอบผ่านการทดสอบของโยมแดงได้อย่างลำเค็ญไม่น้อย ผลของการอยู่บนหลุมฝังศพในป่าช้าของข้าพเจ้า ทำให้ผู้คนเคารพเลื่อมใสและเชื่อถือกันมากขึ้น เขาเรียกข้าพเจ้าตามคำเรียกของโยมแดงว่า “พระเณร” ชื่อเสียงพระเณรแห่งป่าช้า “ซีเต๊กคา” จึงกระจายไปทั่วเกาะภูเก็ต
พระท่านว่า ลาภ สรรเสริญ เกียรติยศ อามิสสินจ้างใด ๆ ถ้าใครได้ลิ้มรสมันแล้ว มักจะติดในรสของมัน ข้อนี้เป็นความจริงแท้ ข้าพเจ้าได้รับเกียรติสรรเสริญ สักการบูชาอุปถัมภ์บำรุงจากชาวภูเก็ตเป็นอย่างดี ความรู้สึกนึกคิดของข้าพเจ้าเริ่มฟุ้งเฟ้อเห่อห่ามไปตามวิสัยของปุถุชน พยายามรักษาความเชื่อความเลื่อมใส ความเคารพนับถือของพวกเขาเอาไว้ให้มากที่สุด วิธีการรักษาศรัทธาประสาทะคารวะบูชาดังกล่าวไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดหรอกครับ เพราะอย่างนี้เห็นผลช้า คนมีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้เห็น แต่คนโง่งมงายจะไม่รู้ด้วย กับคนโง่งมงายที่อยู่มากมายในโลกนี้ จะต้องประพฤติปฏิบัติแบบ “เลี่ยงพระธรรมวินัย” เพื่อให้เป็นไปตามกิเลสของพวกเขา เขาจึงจะรู้เห็นและนิยมชมชอบนบนอบบูชา
มีช่างตัดผมชายคนหนึ่งชื่ออุดม พื้นเพเดิมเขาเป็นชาวอยุธยา บวชเป็นพระภิกษุได้เพียงพรรษาเดียวก็ออกเดินธุดงค์ร่วมกับพระพี่เลี้ยง เขาล่องลงใต้ไปจนถึงเกาะภูเก็ตแล้วก็กลายเป็นพระอาจารย์บอกใบ้ให้หวยเพราะแรงบีบแรงดันของชาวเมือง ด้วยชาวภูเก็ตส่วนใหญ่เขาไม่เชื่อว่าพระธุดงค์จะให้หวยไม่ได้ เชื่อกันว่าพระธุดงค์ทุกองค์ต้องรู้เลขหวยและให้หวยได้ องค์ใดไม่ให้หวยเขาจะไม่สนใจ และไม่เลื่อมใสเลย
ดังนั้นพระอุดมจึงต้องเป็นพระอาจารย์ให้หวยทั้ง ๆ ที่บวชได้เพียงพรรษาเดียว เขาปักกลดเป็นพระอาจารย์ให้หวยอยู่ที่ภูเก็ตได้เดือนเศษ ๆ ก็ต้องลาเพศจากภิกษุภาวะ เพราะสาวเจ้าเสน่ห์ชาวเกาะภูเก็ตปะเหลาะให้สึกออกไปเป็นสามีนางอย่างง่ายดาย แม้สึกจากพระแล้ว นายอุดมก็ยังเป็นนักบอกใบ้ให้หวยอยู่เป็นงานอดิเรก งานหลักหรืออาชีพหลักของเขาคือเป็นช่างตัดผม โดยเขาเป็นเจ้าของกิจการเอง มีช่างลูกมือประจำร้านอยู่ ๕ คน ตัวเขาเองนั้นทำหน้าที่ตัดผมบ้างไม่ตัดบ้าง การเป็น ”ม้าใช้ใบ้หวย” (ร่างทรงเจ้า) และออกตระเวนหาเลขหวยจากพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นอาชีพรองที่สร้างชื่อเสียงของเขาได้มากทีเดียว
การเป็น “ม้าใช้ใบ้หวย” ของนายอุดม คือการเป็นร่างทรงเจ้า เมื่อเจ้าเข้าทรงร่างเขาแล้วก็จะเอามีดปลายแหลมคมกรีดปลายนิ้วชี้ให้เลือดไหล แล้วเอาเลือดนั้นเขียน “ฮู้” คือยันต์ที่อ่านได้เป็นตัวเลขหลาย ๆ ตัว อย่างนี้เรียกว่า “ใบ้หวย” ปรากฏว่าชาวบ้านชาวเมืองเลื่อมใสการเข้าทรงเขียนฮู้ของนายอุดมมากพอสมควร
คนภูเก็ตส่วนมากชอบเล่นหวยเบอร์ทั้งที่เป็นหวยรัฐและหวยราษฎร์ ในวันที่รัฐบาลไม่ได้ออกสลากกินแบ่ง คนภูเก็ตก็จะออกหวยกันเอง เป็นหวย ๒ ตัว และ ๓ ตัว หวย ๒ ตัวเรียกว่า “ทันใจราษฎร์” (หวยรัฐเรียกว่า ทันใจหลวง) ๓ ตัวเรียกว่า “ชิ้งชั้ง” จะออกเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงทุกวัน มีหลายเจ้ามือ วิธีการออกก็ไม่ยาก เขาเอากระดาษแข็งทำเป็นแป้นวงกลม เขียนตัวเลข ๑-๐ แล้วหมุนแป้นนั้นโดยให้ใครก็ได้ใช้กล้องใส่ลูกดอกเป่าใส่แป้น ถูกเลขอะไรก็ถือว่าเลขนั้นเป็นหวยที่ออกวันนั้น ดูก็น่าสนุกดี เพราะมีการออกหวยเบอร์ทุกวันนี้เอง อาจารย์บอกใบ้ให้หวยจึงต้องทำหน้าที่ให้หวยทุกวัน และ การหาหวยเบอร์ก็ต้องออกหาหวยเบอร์ทุกวันเช่นกัน ดังนั้นการให้หวยจึงพอนับได้ว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของนายอุดม มีรายได้เข้าบ้านได้มากพอสมควรทีเดียว
นายอุดมปวารณาตัวเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งในจำนวน ๖ คนของ “ศิษย์ก้นกุฏิ” ข้าพเจ้า และก็ดูเหมือนนายอุดมนี่แหละที่เป็นต้นเหตุหรือตัวการที่ทำให้เณรเต็มเป็นอาจารย์ให้หวยที่สมบูรณ์แบบ โดยเขาแนะนำให้ใช้วิธีการต่าง ๆ นานาในการบอกใบ้ให้หวย บางทีเขาจะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ “บอกใบ้ให้หวย” โดยให้ ”พระเณร” นั่งเฉย ๆ เขาจะ “แหลงใต้” บอกพวกบ้าหวยที่มาหาว่า “พระเณร” (คือข้าพเจ้า) ให้อย่างนั้นใบ้อย่างนี้ จะว่า “หน้าฉากเณรเต็มเป็นอาจารย์ แต่หลังฉากกลับเป็นศิษย์นายอุดม” ก็ไม่ผิดหรอกครับ
ข้าพเจ้าเขียนตัวเลขชัด ๆ ให้หวยเบอร์แก่ชาวภูเก็ตก็เพียงครั้งแรกที่เท่านั้น หลังจากนั้นไม่เคยเขียนตัวเลขตรง ๆ ให้ใคร ๆ อีกเลย และส่วนใหญ่ก็ไม่เขียนอะไร ๆ ให้ใคร ๆ แม้กระทั่งการพูดก็พูดไม่มาก ใคร ๆ มาหาเขาพูดอะไร ๆ กันก็จะเป็นฝ่ายนั่งฟัง เหตุที่เป็นคนพูดน้อยก็เพราะ ฟังเขาพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงต้องนั่งฟังคอยจับความและจำภาษาใต้ จนต้องนั่งยิ้มเป็น “หลวงพ่อยิ้ม” ไปเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฝาตุ่ม, สายน้ำ, ลิตเติลเกิร์ล, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๕ - “หวั่นจายม่าหลาว” หรือ “หวั่นชายม่าหลาว” เพียงประโยคเดียวนี่แหละ ข้าพเจ้าฟังเขาพูดกันอยู่นานถึง ๒ เดือนจึงรู้คำแปลเป็นไทยกลางได้ว่า “ตอนเย็นมาอีก” คือคนที่เขามาหาตอนเช้าและตอนบ่าย ครั้นเขาลากลับจะพูดว่า “วันจายม่าหลาว” ฟังครั้งแรก ๆ ไม่รู้ว่าเขาพูดว่าอะไร ก็ได้แต่ยิ้มและพยักหน้ารับเท่านั้นเอง แต่จะว่าไม่รู้อะไรเลยก็ไม่ได้ สองคำหลังที่ว่า “ม่าหลาว” นั้นรู้ว่า “มาอีก” แต่ไม่รู้ว่า อะไรมาอีก สังเกตอยู่นานจึงรู้ว่า “หวั่นจาย” หรือ “หวั่นชาย” แปลว่า ยามเย็น คือ “ตะวันชาย” ลงใกล้ลับขอบฟ้าแล้วนั่นเอง
มี “นายหัว” คือเจ้าของหรือผู้จัดการเหมืองแร่คนหนึ่ง (อย่าไปรู้เลยว่าเขาชื่ออะไร เจ้าของเหมืองแร่ไหน) เป็นคนชอบหวยเบอร์อยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ทั้งเล่นทั้งเป็นเจ้ามือ” การเป็นผู้เล่นและเป็นเจ้ามือของเขาก็คือ เขารับแทงหวยเบอร์ (คือรับกิน-จ่าย) ถ้า “หางเลข” ตัวไหนมีคนซื้อกันมาก อาจารย์ให้หวยทั้งหลาย “เก็ง” กันมาก เขาก็จะไม่รับไว้ แต่จะส่งต่อไปขายให้เจ้ามือที่ใหญ่กว่าเขา และตัวเขาก็จะเพิ่มเงินซื้อไปด้วย “หางเลข” ตัวไหนมีคนซื้อน้อย ไม่ใช่เลขเด็ดของอาจารย์ และเชื่อว่าไม่ออกแน่ เขาก็จะเก็บไว้กิน “รวบ” เสียเอง โอกาสที่จะรวยมีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่แน่หรอก โอกาสที่เขาจะเจ๊งก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
“นายหัว” เป็นคนไทยเชื้อสายจีน อารมณ์เย็น สุภาพเรียบร้อย อายุประมาณ ๔๕-๕๐ ปีเห็นจะได้ เขามาหาข้าพเจ้าแบบวันเว้นวัน ใช้ความพยายามขอเลขตัวตรงจากข้าพเจ้าทุกงวด เลขเบอร์ที่ขอจะเน้นเฉพาะหางเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลเท่านั้น ก่อนหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลออก ๑ วัน “นายหัว” ขับรถเก๋งส่วนตัวมารับข้าพเจ้าแล้วพาตระเวนเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในเกาะภูเก็ต มีหาดราไวย์, หาดสุรินทร์ เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็พูดในเชิงอ้อนวอนขอหวยเลขตัวตรง ๆ ทุกครั้งข้าพเจ้าก็จะบอกว่าไม่รู้ ไม่มี เขาบอกว่าพระเณรรู้แต่ไม่ยอมบอก ไม่ยอมให้เขา และอ้างว่าเมื่อมาถึงภูเก็ตวันแรกยังเขียนตัวตรงทั้ง ๓ ตัว ๒ ตัว ให้คนภูเก็ตถูกกันมากมายมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า รู้จริง แต่ไม่ยอมบอกให้ “วันนี้พระเณรใจแข็งจังเลย” เขาว่ายังงั้น หลังหวยออกทุกครั้งข้าพเจ้าขำไม่ออก เมื่อ “นายหัว” นำเครื่องดื่มพร้อมบุหรี่ตรา ๑๑๑ จำนวน ๑ กระป๋องมาถวาย เมื่อประเคนของเสร็จแล้ว เขาจะเอามือเขกหัวตัวเอง
“แหม...มันน่าเจ็บใจ ! พระเณรให้ตรง ๆ คิดง่าย ๆ ยั้งงี้ยังคิดไม่ออก”
เขาจะเขกหัวตัวเองและพูดอย่างนี้ทุกครั้ง ได้ความว่าในระหว่างที่ให้ข้าพเจ้านั่งรถพาตระเวนไปนั้นเขาจะ “จับคำพูด” เอายันต์ที่นายอุดมเขียนไว้หน้าหิ้งบูชาพระบ้าง เอาไปคิดเป็นตัวเลขหวย พอหวยออกไม่ตรงที่เขาคิดตีความ แต่ก็ใกล้เคียง เขาก็พิจารณาดูคำพูดและเลขยันต์นั้นใหม่ เห็นว่ามันตรงกับหวยที่ออก จึงเข้าใจว่าข้าพเจ้าให้ถูก แต่เขาคิดไม่ถูก เป็นอย่างนั้นไปได้นี่เอ้า!
ศรัทธา คือความเชื่อของคนเรานี่ ปราชญ์บางท่านแปลคำ “ศรัทธา” ว่า “ได้แก่ความโง่งมงาย” คิด ๆ ดูแล้วก็เห็นด้วยว่าท่านแปลถูกต้องแล้ว คนส่วนมากที่มาหาข้าพเจ้านั้นส่วนมากเขามาด้วยศรัทธา เป็นความเชื่อที่โง่งมงาย บางคนมาคอยนั่งจับคำพูดของข้าพเจ้าไปคิดเป็นเลขหวย บางคนมานั่งดูว่าข้าพเจ้าหยิบจับอะไรบ้าง เห็นแล้วก็เอาไปคิดตีความเป็นเลขหวย บางคนเอายันต์ (ฮู้) ที่นายอุดมเขียนขึ้นไว้นั้นไปคิดเป็นเลขหวย ส่วนมากเขามักจะถูกกันมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่โชควาสนาของเขา แต่ “นายหัว” นาน ๆ จึงจะถูกสักที แต่ก็ถูกเฉพาะตัวที่เขา “ซื้อกัน” ไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
กิติศัพท์การให้หวยแม่นของข้าพเจ้าเลื่องลือไปทั่วเกาะภูเก็ต และยังข้ามฟากออกไปนอกเกาะภูเก็ตถึงอำเภอท้ายเหมือง, ตะกั่วป่า ในจังหวัดพังงาทีเดียว มีคนจากพังงาข้ามทะเลมาหาเณรเต็ม (สมัยนั้นยังไม่มีสะพานสารสินเชื่อมระหว่างพังงา-ภูเก็ต) เพื่อขอหวยกันมากมาย พวกเขาบอกเล่าว่า ได้ยินว่า “พระเณร” ให้เลขหวย จึงซื้อหวยกันตามข่าวที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ถูกกันเสมอมา ยิ่งมีคนมาขอหวยมาก ๆ ก็มีคนถูกหวยกันมาก โดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องบอกใบ้ให้เลขอะไรเลย พวกเขา “คิดเองเออเอง” ทั้งนั้น เพราะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างซื้อ (แทงหวย) มีร้อยคนถูกเพียงคนเดียวเท่านั้นก็ทำให้ “พระเณร” ดังแล้ว คนที่ไม่ถูก แค่เฉียด ๆ ก็เหมือน ยั่วยุให้เขามีความหวังถูกหวยมากขึ้น และมาหาข้าพเจ้ามากขึ้น
คนมันจะดัง ห้ามไม่ได้หรอกครับ
ข้าพเจ้ากลายเป็น “ผู้วิเศษ” แห่งป่าช้าจีนแต้จิ๋ว (ซีเต๊กคาหรือสีตะค้า) จังหวัดภูเก็ตไปโดยไม่ตั้งใจ และเป็นไปได้อย่างง่ายดายคล้ายความฝัน กระท่อมหรืออาศรมที่โยมจัดให้อยู่นั้น ตั้งแต่เวลาเช้าถึงใกล้เที่ยงคืนจะมีคนเข้าไปไม่ขาดสาย คนที่ไปหาส่วนมากจะเป็นผู้หญิง นาน ๆ จึงจะมีผู้ชายสักคนหนึ่ง และผู้หญิงส่วนมากจะเป็นแม่หม้ายแม่ร้างและนางสาว (สาวแก่) แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า เด็กนักเรียนสาว ๆ ที่พบกันวันแรกในโรงเรียนสตรีภูเก็ตนั้น ทำไมไม่มีใครไปหาข้าพเจ้าสักคนเดียว จะว่าพวกเธอไม่รู้ก็ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นพระอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว อันนี้เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยเลย มีศิษย์ที่ปฏิบัติข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นจำนวน ๒ คน เป็นหญิงสาวทั้งคู่เลย คนหนึ่งทำหน้าที่จัดอาหารถวายทุกเช้า อีกคนหนึ่งจัดการเรื่องน้ำใช้น้ำดื่ม ทั้งสองนางสาวมีลักษณะหน้าตาดี นิสัยสุภาพเรียบร้อยน่ารัก แต่เณรหนุ่มอย่างข้าพเจ้ากลับไม่เคยมีจิตคิดอกุศลด้านชู้สาวกับพวกเธอเลย สาบานให้ก็ได้ เอ้า!
ครับ ! ข้าพเจ้าถูกพวกบ้าหวย “ปลุกเสก” ให้กลายเป็นอาจารย์ให้หวยผู้วิเศษไปแล้ว นายอุดมนำเอารูปปั้นฤๅษีองค์โตหน้าตักขนาด ๙ นิ้ว มาตั้งที่หิ้งบูชาข้างหัวนอนองค์ (หรือ ตน) หนึ่ง เขาบอกว่า “พ่อท่านแก้ว” (หลวงพ่อแก้ว) สร้างขึ้นด้วยดินเจ็ดป่าช้าเมื่อ ๕-๖ ปีก่อนนี้ พ่อท่านแก้วเป็นพระอาจารย์ให้หวยชื่อดัง ให้หวยแม่น มีคนถูกหวยที่ท่านให้กันเยอะมาก นำเงินมาถวายท่านมากจนท่านเกิดความโลภขึ้น บอกให้เลขหวยเขาไปอย่างหนึ่ง ตัวที่ท่านคิดว่าจะออกแน่ท่านไม่บอก แต่เก็บเอาไว้เล่นเอง ปรากฏว่าบาปกรรมตามท่านทันในปัจจุบัน คือเลขที่ท่านให้เขาไปนั้นออกตรง ๆ ส่วนที่ท่านแอบให้ศิษย์ไปซื้อนั้นไม่ออก ท่านเล่นอย่างนี้ จนเงินที่ศิษย์นำมาถวายนั้นหมดสิ้นไป เมื่อเงินหมดจนสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว ท่านก็เสียสติจนคลุ้มคลั่งหายหน้าไปจากภูเก็ต ทิ้งรูปปั้นฤๅษีให้นายอุดมรับไว้เป็นมรดกชิ้นสุดท้าย นายอุดมจึงนำฤๅษีของพ่อท่านแก้วมาให้ข้าพเจ้าบูชา เพื่อเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์
ข้าพเจ้าเป็นสามเณร (เหล่ากอแห่งสมณะ) สิ่งที่เคารพนับถือของคือพระรตนตรัย ได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฤๅษีชีไพรและเทพยดาเจ้าใด ๆ แม้ข้าพเจ้าจะนับถืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเคารพยกย่องให้เป็นสรณะ จนขาดตรัยสรณาคมไปได้ ข้าพเจ้าเคยคิดเห็นและกล่าวหาพระภิกษุสามเณรที่นับถือเคารพยกย่องฤๅษีและเทพต่าง ๆ ว่า เขาขาดจากพระรตนตรัยไม่เป็นพระภิกษุสามเณรสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ดังนั้นรูปปั้นฤๅษีที่นายอุดมเอามาตั้งไว้ที่หิ้งบูชานั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เคารพบูชา ด้วยถือว่าเป็นแต่เพียงปูชนียวัตถุให้ผู้ที่นับถือเขาบูชากัน ฤๅษีตนนี้น่าจะมีความขลังเหมือนกัน เพราะสร้างขึ้นจากดินเจ็ดป่าช้า จะมีกระดูกคนตายผสมดินด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เป็นรูปปั้นปางสมาธิ ดวงตาทั้งสองฝังเมล็ดมะกล่ำตาควายสีแดง ดูขรึมขลังดีไม่น้อยเลย คนที่มาหาข้าพเจ้าส่วนมากเมื่อไหว้ “พระเณร” แล้วก็จะไหว้รูปปั้นฤๅษี ยามจะกลับก็ไหว้รูปปั้นฤๅษี แล้วกราบลา “พระเณร” จนดูเป็นธรรมเนียมไปเลยครับ
บางคืนข้าพเจ้านอนหลับสบาย ๆ ก็คล้ายกับมีใครเอามือมาโบกที่ใบหน้า พอตื่นลืมตาดูก็ไม่เห็นอะไร ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ฤๅษีมาแกล้งรบกวนการนอนของข้าพเจ้า แรก ๆ ก็ไม่ได้ถือสาหาความอะไร และก็ไม่ได้นึกเกรงกลัวด้วย นอนภาวนาอารมณ์กรรมฐานตามปกติจนหลับไป เป็นอย่างนี้มาหลายคืนแล้ว
อยู่มาคืนหนึ่ง ข้าพเจ้ามีอารมณ์หงุดหงิดโงกง่วงอย่างไรไม่รู้ ทำใจให้เป็นสมาธิตามปกติไม่ได้เหมือนคืนก่อน ๆ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ พอเคลิ้มไปจะหลับทีไรก็มืมือมาโบกคลำใบหน้าทุกที เมื่อถูกรบกวน “นิทรารมณ์” บ่อย ๆ เข้าก็หงุดหงิดมาก คิดว่าตาฤๅษีดินเจ็ดป่าช้านั้นมากวน จึงเกิดความโมโหรูปปั้นฤๅษีนั้น คว้ากระป๋องบุหรี่ ๑๑๑ ขว้างปาใส่หน้าฤๅษีเปรี้ยงเข้าให้ แล้วก็ไม่ดูผลว่าจะเป็นอย่างไรหรือไม่ หลังจากเอากระป๋องบุหรี่ขว้างใส่ฤๅษีแล้วข้าพเจ้าก็นอนหลับไปเลย
วันรุ่งขึ้น นายอุดมมาหาแต่เช้า เขาเอารองเท้าแตะทำด้วยหนัง เบอร์ ๔๐ มาถวาย ๑ คู่ พอจุดธูปบูชารูปั้นฤๅษีแล้วอุทานเสียงดัง
“เอ๊ะ! ใบหูและลูกตาฤๅษีข้างขวาหายไปไหนล่ะอาจารย์?”
“ฉันเอากระป๋องบุหรี่ขว้างใส่หน้าเขาเมื่อคืนนี้” ข้าพเจ้าตอบยิ้ม ๆ
“ขว้างทำไมครับ?” เขาถามด้วยอาการงง ๆ
“ก็เขากวนไม่ให้ฉันนอนหลับน่ะซี” ตอบยิ้ม ๆ อย่างเคย
“กวนยังไง แล้วอาจารย์ขว้างปาหน้าท่านน่ะไม่กลัวหรือ?”
ข้าพเจ้าบอกเล่าเหตุการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้นายอุดมฟัง แล้วสรุปว่า “ฉันเข้าใจว่าไอ้ที่เอามือมาลูบหน้าฉันนั้นน่ะต้องเป็นฤๅษีองค์นี้แน่ ๆ ฉันหงุดหงิดรำคาญและโมโหขึ้นมาก็เอากระป่องบุหรี่ขว้างหน้าซะเลย ไม่กลัวหรอก ฤๅษีไม่ใช่นักบวชในพุทธศาสนา เขาเป็นนักบวชในศาสนาพราหมณ์ ส่วนฉันเป็นนักบวชในพุทธศาสนา เราเป็นคนต่างศาสนากัน ว่ากันตามความจริงแล้ว เขาควรจะต้องกลัวฉันและเคารพนับถือฉัน เพราะฉันมีศีลมากกว่าเขา แต่นี่เขากลับมาตีตนเสมอฉัน และเห็นฉันเป็นเพื่อนเล่น อย่างนี้ต้องสั่งสอนเสียบ้าง” นายอุดมฟังคำตอบยืดยาวของข้าพเจ้าแล้วมีสีหน้าแสดงความทึ่งให้เห็น เขานั่งคิดอะไรของเขาอยู่เป็นนานโดยไม่พูดถึงเรื่องฤๅษีเลยจนกระทั่งลากลับไป
สลากกินแบ่งรัฐบาลงวดใหม่ออกมาแล้ว นายอุดมเอาของกินของใช้มาถวาย “พระเณร” มากมาย โดยเฉพาะน้ำขวดหลายยี่ห้อยกมาถึง ๑๒ ลัง บอกว่าเอาไว้เลี้ยงแขกเหรื่อที่มาหาอาจารย์ เขาคุยเสียงดังว่า “พระเณร” ทำให้เขารวย โดยงวดนั้นเขาถูกใต้ดิน ๓ ตัวถึง ๒๐๐ บาทแน่ะ
“อาจารย์เณรให้ผมตรงเผงเลย”
ข้าพเจ้าก็งง ไม่รู้ว่าให้เลขตรง ๆ เขาไปเมื่อไหร่ ครั้นจะถามต่อหน้าคนมาก ๆ ก็ไม่กล้า จึงได้แต่ยิ้มแล้วพยักหน้า โยมแดงได้ฟังนายอุดมคุยดังนั้นก็หาว่าข้าพเจ้าลำเอียง ให้ตัวตรงแต่นายอุดมคนเดียว นายอุดมก็ใจจืดใจดำ ได้ตัวตรงแล้วไม่ยอมแบ่งปันศิษย์คนอื่น นายอุดมจึงต้องอธิบายเรื่องเสียยืดยาวให้ทุกคนในอาศรมฟังว่า
“ถึงจะบอกใคร ๆ ก็คงไม่มีใครเชื่อ เพราะเลขที่ออกงวดนั้น เป็นเลขตัวเดียวกันกับที่ออกมาเมื่องวดที่แล้ว คือเป็นเลข ๒ เลข ๔ และเลข ๐ ที่เรียกกันว่า “ออกซ้ำ” เหตุที่นายอุดมซื้อเลขซ้ำงวดที่แล้วก็เพราะ เขาซื้อรองเท้าเบอร์ ๔๐ มาถวายพระเณร ด้วยอยากให้ท่านใส่รองเท้าเดินไปไหนมาไหนบ้าง พอถวายรองเท้าแล้วก็แลเห็นรูปปั้นฤๅษีที่ตั้งให้บูชาอยู่นั้น มีลูกตาขวากับใบหูขวาหายไป เพราะถูกพระเณรเอากระป๋องบุหรี่ขว้างปาใส่ จึงคิดว่าพระเณรต้องให้เลขหวยเป็นเลข ๒๔๐ แน่ ๆ เอาเลขนั้นไปทำเป็นเลข ๖ หาง ซื้อไปหางละ ๒๐๐ บาท งวดนั้นคนภูเก็ตทั้งเกาะมีผู้ถูกหวยเพียงนายอุดมคนเดียว เพราะคนอื่นไม่มีใครซื้อเลขซ้ำอย่านั้น”
การที่นายอุดมะถูกหวยงวดนั้นเพียงคนเดียวและเขาอ้างว่าเป็นเลขที่ “พระเณร” ให้ตรง ๆ เป็นความเชื่อถือที่เพิ่มความงมงายแก่นายอุดมและแพร่สู่คนบ้าหวยมากขึ้น เณรเต็มจึงกลายเป็นอาจารย์หวยที่โด่งดังดับรัศมีอาจารย์หวยทั้งหลายในเกาะภูเก็ตนั้น ทั้งวันทั้งคืนมีคนแห่กันมาเฝ้าขอเลขหวย แม้ข้าพเจ้าไม่บอกให้ เขาก็ดูกิริยา จับคำพูดของข้าพเจ้า เอาไปคิดเป็นเลขหวย โดยถือว่ากิริยาและคำพูดของข้าพเจ้านั่นคือ การ “บอกใบ้” หวยแก่พวกเขา ป่วยการที่จะอธิบายแก้ตัวใด ๆ./
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, หยาดฟ้า, ลายเมฆ, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ฝาตุ่ม, คิดถึงเสมอ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๖ - “เป็นอาจารย์ไสยศาสตร์ปลุกผี”
ความเป็นอาจารย์ให้หวยโดยการอุปโลกน์ของนายอุดมและคนใกล้ชิดในภูเก็ต ทำให้เณรเต็มมีชื่อเสียงโด่งดังข้ามเกาะภูเก็ตไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดพังงา จนมี “นายหัว” คนหนึ่งในอำเภอท้ายเหมืองมาอ้อนวอนนิมนต์ให้ไปอยู่ในเหมืองแร่ของเขา โดยพาชาวจังหวัดพังงายกขบวนกันมาหลายคันรถทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ยอมรับปากที่จะไป พวกภูเก็ตรู้ข่าวว่ามีคนพังงาจะเอา “พระเณร” ไปไว้ในพื้นที่จังหวัดพังงาก็พากันคัดค้าน ไม่ต้องการให้ไปจากป่าช้าซีเต๊กคาอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ทุกครั้งที่มีชาวพังงามาขอหวย ชาวภูเก็ตก็จะพยายามกีดกัน บางครั้งถึงกับโต้เถียงทะเลาะวิวาทกันจนเกือบจะถึงขั้น “วางมวย” กันก็มี
ในเวลานั้นมีพระอาจารย์ให้หวยดังอยู่องค์หนึ่ง ท่านมาอยู่ภูเก็ตก่อนเณรเต็มหลายเดือนแล้ว เป็นพระธุดงค์จากภาคอีสาน เข้ามาอยู่ป่าช้าจีนฮกเกี้ยนคนละทิศทางกันกับข้าพเจ้า นายอุดมให้ข้อมูลว่าท่านชื่ออาจารย์บุญศรี อายุอยู่ในราว ๆ กลางคน มีนิสัยประหลาดชอบกลจนดูว่าออกจะ “บ๊อง ๆ” อยู่สักหน่อย นายอุดมเคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดท่านมาก่อนแล้ว ท่านกับข้าพเจ้าไม่เคยพบหน้าค่าตากันเลย แต่ดูเหมือนจะมีความคุ้นเคยกันดี เพราะญาติโยมที่มาหาข้าพเจ้าและไปหาท่าน ได้นำเรื่องราวของ “พระเณร” ไปบอกเล่าให้ท่านฟัง และนำเรื่องราวของท่านมาบอกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอยู่เสมอ ๆ นายอุดมบอกว่าท่านอาจารย์บุญศรีเล่นไสยศาสตร์ เลี้ยงผีทั้งกุมารทองและรักยมด้วย
เรื่องขำขันอันเกิดจากความ “บ๊อง ๆ” ของอาจารย์บุญศรี คือการให้หวยเป็นเลขเด็ดที่คนภูเก็ตจำได้ไม่ลืม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะไปถึงภูเก็ตเล็กน้อย และเป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก
คนภูเก็ตที่มีอายุอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นคนจีนเก่า และมักจะอ่านเขียนหนังสือไทยไม่ได้ คนที่เข้าหาพระขอหวยกันนั้นส่วนมากก็เป็นอาม่วย (สาวแก่หรือสาวใหญ่) อาเจ๊ อาซ้อ อาซิ้ม อาม่า อาอึ้ม พูดไทยไม่ชัด อ่านเขียนหนังสือไทยไม่ได้ เพราะเป็น “ลูกเจ๊กหลานจีน” นั่นแหละครับ
นายอุดมเล่าว่า มีหญิงวัยกลาง ๆ คนหนึ่ง มีชื่อแต่ข้าพเจ้าจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว เพราะเป็นชื่อภาษาจีน เรียกยาก จำยาก จึงขอเรียกแกว่า “อาซิ้ม” ก็แล้วกัน อาซิ้มเป็นแม่หม้าย มีความเคารพนับถือพระอาจารย์บุญศรีมาก เชื่อมั่นว่าท่านให้หวยแม่นยำ (เหมือนนายอุดมเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้านั่นแหละ) แกชอบไปหาอาจารย์บุญศรีในยามปลอดคน และพยายามอ้อนวอนขอเลขเด็ด โดยไม่ให้ใครรู้เห็นด้วย แล้ววันหนึ่ง “อาซิ้ม” ก็ได้เลขเด็ดจากพระอาจารย์บุญศรีสมปรารถนา พระอาจารย์บุญศรีท่านแสดงความ “บ๊อง” ของท่านออกมาตอนที่ให้เลขเด็ด “อาซิ้ม” นี่แหละครับ
ไม่น่าเชื่อนะครับว่าท่านอาจารย์บุญศรีจะกล้าเขียนเลขเด็ดให้อาซิ้มตรง ๆ อย่างนั้น ท่านไม่ได้เขียนเป็นตัวเลข แต่เขียนเป็นอักษรไทยว่า “ขอเย ๘ ดที” เป็นลายมือหวัดแกมบรรจง อาซิ้มอ่านหนังสือไม่ออก จึงถือแผ่นกระดาษที่อาจารย์บุญศรีเขียนให้นั้นไปให้คนที่อ่านหนังสือออกช่วยอ่านให้ ผู้หญิงที่อ่านหนังสือออกทุกคน คลี่กระดาษออกเห็นข้อความแล้วก็ยกมือปิดปากเบือนหน้าหนีพร้อมยื่นกระดาษคืนอาซิ้ม ไม่มีใครกล้าอ่านออกเสียงให้ฟัง อาซิ้มโกรธทุกคนที่ไม่ยอมอ่านให้ฟัง เข้าใจว่าทุกคนอ่านรู้แล้วไม่ยอมบอก แกก็เลยคิดอ่านตีความเอาเองด้วยวิญญาณของคนบ้าหวย
เลขท้าย ๓ ตัวของรางวัลที่ ๑ งวดนั้นออกตรงตามที่อาซิ้มคิดตีความเอง มีเลข ๑ เลข ๖ เลข ๘ เรียงตัวอย่างไรจำไม่ได้ อาซิ้มถูกหลายหมื่นบาทเลย อักษรไทยที่พระอาจารย์บุญศรีเขียนให้ มี สระเอ ย ยักษ์ ไม้ไต่คู้ ด เด็กสะกดนั้น แกคิดออกมาว่า “สระเอ คือเลข ๖“ “ไม้ไต่คู้คือเลข ๘“ “ด เด็กคือ เลข ๑“ ดวงของคนมีโชคลาภดลบันดาลให้อาซิ้มคิดเห็นเลขเป็นอย่างนั้น หลังจากรับเงินจากเจ้ามือแล้ว แกก็ซื้อสิ่งของหลายอย่างไปถวายพระอาจารย์บุญศรีด้วยความเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง
นายอุดมเล่าว่า พระอาจารย์บุญศรียังมีพฤติกรรมบ๊อง ๆ หรือพิเรนทร์กว่านั้นอีกหลายอย่าง เช่น พูดหยอกล้อผู้หญิงด้วยถ้อยคำอันไม่บังควร ซึ่งภาษาวินัยของพระเรียกว่า “พูดพาดพิงเมถุนธรรม” คือการ “พูดเกี้ยวหญิง” นั่นเอง เมื่อมีผู้หญิงรูปร่างหน้าตาดีเข้าไปหาขอโชคลาภ ท่านก็จะหาเศษหาเลย เริ่มต้นด้วยการนั่งทำสมาธิหลับตานิ่ง ในทำนองว่านั่งทางในตรวจดูโชคชะตา ค่อย ๆ ลืมตาแล้วแสดงสีหน้าอาการสงสัย “เอ...แปลก! เกิดวันเดือนปีอะไร จำได้ไหม?” เมื่อเขาบอกให้แล้ว ท่านก็นั่งนับนิ้วบ้าง เขียนอะไรขยุกขยิกลงกระดาษบ้าง แล้วกล่าวคำทำนายทายทักเกี่ยวแก่ชันษา นิสัยใจคอ วาสนา คู่ครองของหญิงคนนั้นด้วยคำพูดแบบ “สองแง่สองง่าม” เป็นการ “หยิกแกมหยอก” หรือ “หมาหยอกไก่” ผู้หญิงนั้น ๆ รู้ทันบ้าง รู้ไม่ทันบ้าง ท่านก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากด้วยความชอบใจ สนุกสนานอยู่กับการ “สำเร็จความใคร่ด้วยปาก” (ไม่ใช่กายกรรมทางเพศนะครับ)
บางนาง (สาว) ถูกท่านหลอกจับมือถือแขนเพราะเธอจำวันเดือนปีเกิดไม่ได้ จึงให้ท่านดูลายมือ แม้บางนาง (สาว) จำวันเดือนปีเกิดได้ ก็ไม่วายถูกท่านหลอกจับมือ อ้างว่าดูตัวเลขแล้วไม่จะแจ้ง ต้องดูลายมือประกอบด้วย แรก ๆ ท่านก็เอาดินสอหรือปากกาเขี่ยขีดลายมือบนฝ่ามือเบา ๆ จ้ำจี้เนินต่าง ๆ บนฝ่ามือและลายเส้นสำคัญ ๆ บนฝ่ามือนั้น หนักเข้าก็ใช้มือจับฝ่ามือบีบดูความอ่อนแข็ง แล้วทำนายว่าถ้ามือแข็งกระด้างดวงชะตาจะเป็นอย่างไร มืออ่อนนุ่มนิ่มดวงชะตาจะเป็นอย่างไร บางทีท่านก็จับกุมมือหญิงนั้นนิ่งนานจนเจ้าของฝ่ามือกระสับกระส่ายเลยทีเดียว
บางนาง (สาว) ก็ถูกพระอาจารย์บุญศรีหลอกดูปทุมถันได้โดยง่าย วิธีการหลอกดูนมสาว ๆ ของท่านก็คือ เอาวันเดือนปีเกิดของนาง (สาว) คนนั้นมาลงเป็นตัวเลข แล้วก็ทำนายทายทักชะตาราศีของเจ้าหล่อน เจ้าชะตาฟังเพลิน ๆ ท่านก็เข้าสู่ตรงจุดที่ต้องการ โดยบอกว่ามีไฝหรือปาน ขี้แมลงวัน อยู่ที่เต้านม เท่านั้นแหละครับเจ้าหล่อนเกิดอุทัจจ์จนหน้าแดงเลยเชียว ถ้ามีจริงตามคำทำนายเธอก็จะถามว่า มีคุณมีโทษอย่างไรหรือไม่ ท่านก็จะบอกว่าขอให้เปิดเสื้อให้ดูว่าไฝหรือปาน-ขี้แมลงวันที่เต้านมนั้นมีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นชัดแล้วจึงจะบอกได้ว่ามีคุณหรือมีโทษอย่างไรบ้าง เจ้าหล่อนเกิดศรัทธาตั้งแต่ท่านทายดะจนถูกต้องแล้ว จึงไม่ข้องใจอะไร ความอยากรู้คุณหรือโทษของตำหนินั้นทำให้ลืมความอับอาย รีบเปิดนมให้ดูทันที พระอาจารย์ก็ได้ดูนมนาง (สาว) จนสมความอยากตามความพิเรนทร์ของท่าน
สำหรับนาง (สาว) ที่ไม่มีไฝ ปาน หรือขี้แมลงวันที่เต้านมก็จะเถียงว่า ไม่จริง พระอาจารย์ทำนายไม่ถูก ท่านก็ยืนยันว่ามีแน่ ๆ เถียงกันไป ๆ มา ๆ จนถึงขั้นท้าพิสูจน์ความจริง ทิฐิมานะความต้องการเอาชนะคะคานมีมากจนลืมความอาย เจ้าหล่อนถึงกับกล้าเปิดเสื้อให้พระอาจารย์ดูนมจนสมใจพระ (พิเรนทร์) เมื่อเห็นว่าไม่มีไฝ ปาน ขี้แมลงวันใด ๆ ท่านก็ทำท่างงงัน นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วถามย้ำว่า เธอเกิดวันเดือนปีนี้แน่หรือ เธอยืนยันว่าแน่นอน ท่านก็นั่งนับนิ้ว ขีด ๆ เขียน ๆ เลขลงในกระดาษใหม่ แล้วก็ทำท่าชะงักร้องเสียงดังว่า “อ้อ...! ฉันบวกเลขผิดตรงนี้เอง ขอโทษทีนะ” หญิงผู้นั้นรู้สึกตัวว่าเสียท่าเปิดเสื้อให้พระดูดมฟรี ๆ ไปเสียแล้ว ก็ต้องเลยตามเลย
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่รู้ ๆ เห็น ๆ กันทั่วไปอย่างหนึ่ง คือพระอาจารย์หรือเกจิอาจารย์ทั้งหลายทำผิดวินัยอย่างท่านอาจารย์บุญศรี กลับไม่มีใครถือสาหาความ ติฉินนินทา แต่ถ้าพระภิกษุธรรมดาทั่วไป จับต้องถูกเนื้อตัวหญิง หรือพูดเกี้ยวพาราศีหญิงแม้ไม่ถึงขั้น “พาดพิงเมถุนธรรม” จะต้องถูกติเตียนนินทา กล่าวหาว่าศีลขาดจนไม่เป็นพระเป็นเจ้าไปเลยทีเดียว
ในที่สุดพระอาจารย์บุญศรีผู้ชอบเล่นพิเรนทร์กับสตรีเพศดังกล่าวก็อยู่ในเพศบรรพชิตไม่ได้ ในขณะที่เณรเต็มกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังล้ำหน้าพระอาจารย์บุญศรีไปได้เดือนเศษ ๆ ท่านก็พ่ายแพ้แก่ “ธิดาพญามาร” ถูกนางตัณหา นางราคา นางอรดี จับสึกไปเป็นสามีหญิงหม้ายนางหนึ่งในเมืองภูเก็ตนั่นเอง นายบุญศรีทำตัวเป็นเด็กเสิร์ฟกาแฟในร้านที่ภรรยาเขาเป็นเจ้าของและคนชงกาแฟขาย ไม่มีวี่แววความเป็นพระอาจารย์หลงเหลืออยู่เลย ข้าพเจ้าถามนายอุดมว่า อาจารย์บุญศรีไม่ตั้งตัวเป็นหมอดูและบอกใบ้ให้หวยหรือ ?
“ขืนทำอย่างนั้นก็ถูกเมียฟันหัวแบะน่ะซีเล่า พระเณร” เขาตอบด้วยเสียงกลั้วหัวเราะอย่างขบขันเสียเต็มประดา/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ฝาตุ่ม, สายน้ำ, ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๗ - ในช่วงเวลานั้นข้าพเจ้าตกอยู่ในแวดวงหรือสังคมของคนงมงายในศาสตร์แห่งความหลับ (ไสยศาสตร์) การสนทนาปราศรัยกับใคร ๆ ก็มีแต่เรื่องของความขลังความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์นานา ประพฤติปฏิบัติศีลพรตด้วยมุ่งหวังความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตว่าเป็นความขลังความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น (ผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงให้ละหรือปล่อยวาง) จนข้าพเจ้าลืมไปว่าตัวเองเป็นสามเณร เหล่ากอแห่งสมณะสาวกของพระพุทธเจ้า กลับเคลิบเคลิ้มไปในลัทธิฤๅษีชีไพรที่มุ่งมั่นอยู่ในความขลังความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
นายอุดมมี “รัก-ยม” หรือ “เจ้ารักเจ้ายม” อยู่คู่หนึ่ง เขาบอกว่าพระธุดงค์ให้ไว้ เคยใช้แล้วไม่ได้ผลจึงเก็บไว้เฉย ๆ เห็นว่าไร้ประโยชน์จึงเอามาให้ข้าพเจ้าเลี้ยงเหมือนอาจารย์บุญศรี ข้าพเจ้าก็เคยเรียนรู้เรื่องรัก-ยมมาบ้างเหมือนกัน คิดว่าถ้าเลี้ยงรัก-ยม “ขึ้น” ก็จะสามารถใช้ให้เจ้ารักเจ้ายมทำอะไร ๆ ให้ได้ตามต้องการ เช่น ให้ไปบังคับหวยใต้ดินออกมาตามต้องการก็ได้
การทำรัก-ยมนี่ไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ นะครับ ตามตำราท่านว่า ให้เอารากไม้มะยมตายพราย (มะยมเปรี้ยวมะยมหวานก็ได้ที่ยืนต้นตายโดยไม่ล้ม) เลือกเอาเฉพาะรากที่เลื้อยหรือชี้ไปทางทิศตะวันออกเท่านั้น กับรากไม้รักซ้อนตายพราย เฉพาะรากที่เลื้อยหรือชี้ไปทางทิศตะวันออกเช่นกัน พบที่ไหนให้เอาหมากพลูดอกไม้ธูปเทียนไปทำพลีกรรม พูดเองเออเองแล้วกลั้นใจตัดรากที่ต้องการเอามาแกะทำเป็นรูปกุมารหรือเด็กหัวจุก ตั้งท่าชกมวยหรือท่าอะไรก็ได้ เสร็จแล้วทำการปลุกเสกด้วยบทสวดพุทธมนต์ เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยอาการ ๓๒ เริ่มตั้งแต่ “อัตถิอิมัสสะหมิง กาเย เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ.....” ไปจนจบลงที่ “มัตถะเกมัตถะรุงคันติ” แล้วสวดพระอภิธรรมบท “ปัญจักขันธา...” อีก ๗ จบ แล้วบรรจุด้วยหัวใจพระอภิธรรม คือ “จิเจรุนิ” ที่ตัวกุมารรัก-ยมแล้วปลุกด้วยคาถาว่า “ จิเจรุนิ จิตตัง เจตะสิกังรูปัง กุมาโรวา เจ้ารักเจ้ายม อาคัจฉาหิ เอหิเอหิ นะมะพะทะ” เสร็จแล้วเอากุมารทั้งสองใส่ลงในขันสำริด เทน้ำมันหอมใส่ลงไป จบลงที่การปลุกด้วยคาถาว่า “จะภะกะสะ” เป็นอันเสร็จพิธีการทำรัก-ยม
จะภะกะสะ คาถาบทนี้บางอาจารย์ท่านเรียกว่า “หัวใจกาสัก” บางอาจารย์เรียกว่า “ธาตุกรณีย์” ใช้เสกได้สารพัดอย่าง สำหรับการปลุกเสก “รัก-ยม” ด้วยคาถาบทนี้ท่านให้ว่าด้วยการหลับตาบริกรรมจนได้นิมิตดี คือเห็นเป็นภาพกุมารทั้งสองผุดลุกขึ้นยืนเล่นหยอกล้อกันแล้วก็เป็นอันใช้ได้ เมื่อใช้ได้แล้วก็เอากุมารทั้งสองพร้อมน้ำหอมในขันนั้นใส่ขวดเล็ก ๆ พกติดตัวไปไหนมาไหนเป็นเครื่องรางป้องกันภยันตรายนานา หรือใช้ปลายนิ้วชี้แตะน้ำมันในขวดทาหน้าทาตาจะเป็นเสน่ห์มหานิยม การเดินทางไปไหน ๆ ให้เรียกกุมารนั้นด้วยคาถาว่า “เอหิตาตะปิยะปุตตะ ปุเรถะมะมะปาระมิงหัททะยังเมสิญเจถะ กะโรถะ วะจะนัง มะมะ” ว่า ๓ จบหรือ ๗ จบก็ได้ แล้วบอกความประสงค์ของเรา อธิษฐานแล้วพกติดตัวไปท่านว่าดีนักแล
เจ้ารักเจ้ายมที่นายอุดมนำมาให้นั้น เจ้าของเดิมทำถูกต้องตามตำราดังที่ว่าหรือเปล่าก็ไม่รู้ รูปกุมารทั้งสองไม่ได้ตั้งท่าชกมวย แต่เป็นท่ากอดกัน น้ำมันหอมในขวดนั้นเป็นน้ำมันจันทน์สีเหลือง (คงจะเป็นหางน้ำมันจันทน์) ที่หน้าหิ้งบูชาของข้าพเจ้านอกจากจะมีกระถางธูป เชิงเทียน แจกันดอกไม้เป็นเครื่องบูชาแล้ว ก็เพิ่มอาหารสำหรับเจ้ารักเจ้ายมอีกถาดหนึ่งด้วย ก็ญาติโยมหรือศิษย์ของข้าพเจ้านั่นแหละเขาจัดมา “สังเวย ” เจ้ารักเจ้ายม
ข้าพเจ้าปลุกเสกเจ้ารักเจ้ายมยังไง ๆ ก็ไม่สามารถทำให้มันตื่นขึ้นมาทำอะไร ๆ ให้ได้ เรียกว่าเณรเต็ม “เลี้ยงรัก-ยม” ไม่ขึ้นก็แล้วกัน แต่มันก็ไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียวหรอกครับ มันตั้งอยู่ข้างหิ้งบูชาคนละข้างกับรูปปั้นฤๅษี เพิ่มความขรึมจนดูขลังให้แก่บรรยากาศภายในอาศรมไม่น้อยเลย มีหลายคนที่มาหา “พระเณร” เมื่อกราบไหว้ที่หิ้งบูชาแล้วก็มักจะเพ่งเล็งดูขี้ธูปที่กระถาง เอาไปคิดเป็นเลขหวย บางคนก็คิดถูกเลขหวยในงวดนั้น บางคนก็เฉียดฉิวแล้วโทษตัวเองว่าคิดผิดไปเอง พวกเขาเชื่อกันว่าเจ้ารักเจ้ายมให้หวยแก่เขา เป็นอย่างนั้นไป ความคิดที่จะใช้ผีไปบังคับ( จับยัด) ให้ตัวเลขหวยเถื่อนที่ออกกันเป็นประจำทุกวันที่เกาะภูเก็ต ให้มันออกตามต้องการ เป็นความคิดรุนแรงพอที่จะทำให้เณรเต็มทำอะไรบ้า ๆ เข้าจนได้แหละครับ
เจ้าหวย ๓ ตัว หรือ “ชิ้งชั้ง” กับเลข ๒ ตัว หรือ “ทันใจราษฎร์” ที่เจ้ามือหวยออกกันทุกวันนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าปลุกเสกผีขึ้นมาใช้ได้สักตัวหนึ่ง ลูกดอกที่ใคร ๆ เป่าใส่แป้นตัวเลขนั้นก็จะให้ผีคอยจับพุ่งปักตรงตัวเลขที่ต้องการได้แน่นอน ทำได้อย่างที่คิดแล้วคนที่มาขอหวยก็จะถูกหวยร่ำรวยไปตาม ๆ กัน “พระเณร” ก็จะกลายเป็นอาจารย์หวยที่วิเศษกว่าใคร ๆ คิดเพียงนั้นจริง หาได้คิดเลยไปว่าตนเองจะร่ำรวยหรือไม่
ทำอย่างไรจึงจะได้ผีมาเลี้ยงเล่าครับ? กุมารทองหรือ? ทำไม่ได้แน่ เพราะจะต้องได้ผู้หญิงที่ “ตายทั้งกรม” คือตายในขณะที่เธอมีเด็กอยู่ในท้อง หรือ มีลูกคาท้องอยู่ ถ้าตายวันเสาร์หรือวันอังคารด้วยยิ่งดี แต่จะหาที่ไหนเล่า? กรรมวิธีในการทำกุมารทองก็ยุ่งยากมากมาย เณรเต็มทำกุมารทองไม่ได้เด็ดขาด! เมื่อทำกุมารทองไม่ได้ ก็เห็นมีอยู่เพียงอย่างเดียวที่จะได้ผีมาเลี้ยงไว้ใช้งานตามใจหวัง คือ “โหงพราย”
ป่าช้าที่ข้าพเจ้าอยู่ขณะนั้นเหมาะสำหรับที่จะทำ “โหงพราย” มาก เพราะเป็นป่าช้าที่มีศพมาฝังเดือนละหลายศพ ศพคนจีนที่ยากจนส่วนมากเขาจะมอบให้สัปเหร่อนำมาฝังโดยมีญาติติดตามมาบ้างไม่มีบ้าง (ศพอนาถา) สัปเหร่อของป่าช้านี้ก็เป็นคนจีนแก่ ๆ มีไม่กี่คน และทุกคนก็รู้จักและเคารพนับถือข้าพเจ้า เพราะเขามาขอหวยประจำอยู่แล้ว บางวันสัปเหร่อเอาศพใส่รถที่มีล้อเหมือนเกวียนลากเข้าป่าช้ากันอย่างทุลักทุเล ข้าพเจ้ายังเคยช่วยเขาลากรถและขุดหลุมฝังศพด้วยหลายศพ เพราะเชื่อว่าการช่วยจัดงานศพไม่มีญาติเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาล ดังที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์เทศน์อานิสงส์ “แซงแซว” นั่นแหละครับ
ข้าพเจ้าตกลงใจที่จะทำ “โหงพราย” จากศพคนจีนยากจนที่เขามอบให้สัปเหร่อใส่รถลากมาฝังโดยไม่มีญาติติดตาม บอกสัปเหร่อว่าเมื่อเอาศพลงหลุมแล้วอย่ากลบดินปิดหลุม เพื่อจะได้ให้ “พระเณร” ทำพิธีปลุกเสก “โหงพราย” อย่างสะดวก เมื่อได้ “โหงพราย” แล้วก็จะให้มันช่วยเอาเลขหวยมาให้ สัปเหร่อก็ชอบใจ ทำตามที่ข้าพเจ้าสั่งอย่างไม่ลังเล
ศพแรกที่ใช้ทำ “โหงพราย” เป็นศพผู้หญิงอายุ ๕๐ ปีเศษ ข้าพเจ้าเริ่มทำพิธีด้วยการเอาสายสิญจน์วงรอบหลุมศพ มีเครื่องบัดพลีพร้อมสรรพ (นายอุดมจัดมาให้) จุดเทียนดอกใหญ่ตั้งไว้ทางหัวนอน ๑ ดอก ทางปลายเท้าศพ ๑ ดอก ข้าพเจ้านั่งขัดสมาธิทางปลายเท้าศพ แล้วก็เสกคาถาว่า “จิเจรุนิ จิตตัง เจตะสิกัง รูปัง นิพพานัง มะพะทะทะนะ ปะถะวีธาตุ ทีฆังวา ภะกะสะจะ ชีวังอุตเตติ” แล้วภาวนาคาถาปลุกว่า “โสสะอะนิ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆๆๆๆ......” ท่านให้ภาวนาเรื่อยไปจนกว่าผีจะลุกขึ้นมา
ตามตำราการปลุกเสกผี “โหงพราย” กล่าวไว้ว่า ซากศพถูกปลุกจนลุกขึ้นมาแล้ว มันจะลุกยืนขึ้นทำตัวสูงขนาดต้นตาลอายุ ๑๙ ปี แล้วยืดมือยาวลงมาลูบหัวหน้าตาผู้ปลุกเสกมัน ไม่ใช่เท่านั้น มันยังแลบลิ้นยาวเลียหน้าตาอาจารย์ผู้ปลุกเสกมันอีกด้วย อาจารย์จะต้องภาวนาคาถาบังคับให้มันย่อตัวลงมาคุกเข่าตรงหน้า แล้วยื่นคางให้อาจารย์เอาไฟเทียนลนคางจนน้ำมันไหลออกจากคางลงในภาชนะที่รองรับ จนน้ำมันหยุดไหลแล้วจึงเอาน้ำมันนั้นไปผสม “ขี้ผึ้งปากผี” เคี่ยวผสมให้เข้ากันจนแห้ง แล้วปั้นเป็นหุ่นโหงพรายต่อไป อาจารย์องค์ไหนจิตใจไม่มั่นคงพอแล้ว เมื่อถูกผีแลบลิ้นเลียหน้าตาจนเกิดความกลัวลุกหนี พิธีก็แตกจนกลายเป็นบ้าไปเลย
ข้าพเจ้าทำพิธีปลุกเสกศพแรกตั้งแต่ ๓ ทุ่มถึงเที่ยงคืน ผีมันไม่ยอมลุกขึ้น จึงเอาผ้าปิดปากหลุมไว้แล้วกลับไปนอน รุ่งอีกวันหนึ่งก็ทำพิธีปลุกเสกอีก มันก็ไม่ยอมลุกขึ้น คืนที่ ๓ ทำพิธีปลุกเสกอีก คราวนี้มันขึ้นครับ แต่ไม่ใช่ซากศพลุกขึ้นยืนตามตำรา หากแต่มันเน่าอืดขึ้นพองและส่งกลิ่นเหม็นจนทนไม่ไหว จึงต้องเลิกปลุกเสก เอาดินกลบหลุมเสีย จากศพแรกก็มีอีกต่อมาและต่อมาถึงประมาณ ๑๐ ศพ มีทั้งศพหญิงศพชาย เด็กผู้ใหญ่ พอเน่าเหม็นจนทนกลิ่นไม่ไหวก็กลบหลุมทิ้ง ไม่เคยปรากฏเหตุอัศจรรย์อะไรให้ข้าพเจ้าเห็นเลย ความหวังที่จะทำ “โหงพราย” ไว้ใช้จึงหมดไปและเลิกล้มความตั้งใจในที่สุด ลูกศิษย์ที่รู้เรื่องการทำ “โหงพราย” ของ “พระเณร” ตอนแรกก็พากันหวังว่าจะได้เลขเด็ดจากอาจารย์จึงจ้องที่จะขอ ครั้นรู้ว่าข้าพเจ้าเลิกทำพิธีปลุกผีทำโหงพรายเสียแล้ว ก็รู้สึกผิดหวังไปตาม ๆ กัน
การที่ข้าพเจ้าปลุกผีไม่ขึ้น ก็อาจจะเป็นด้วยจิตของข้าพเจ้าไม่เป็นสมาธิ เหตุที่จิตไม่เป็นสมาธิก็เป็นเพราะศีลคือการสำรวมกายวาจาใจไม่ดีพอ สมาธิจิตที่ตั้งมั่นไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ ตามธรรมชาติของจิตคนเรานี่มัน “ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายาก” พระอาจารย์แต่โบราณท่านว่า ใครทำจิตให้เป็นสมาธิได้เพียง “ชั่วช้างกระดิกหู” ก็ได้บุญกุศลมหาศาลแล้ว สมาธิที่จะเกิดกับจิตนั้นมี ๒ ระดับ คือ อุปจารสมาธิ ได้แก่สมาธิเป็นแต่เฉียด ๆ เป็นสมาธิที่ยังไม่แน่นอน กับ อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เป็นอันเดียว เวทย์มนต์คาถาจะขลังก็ต่อเมื่อผู้บริกรรมคาถามีจิตเป็นสมาธิมั่นคง ถ้ามีสมาธิเป็นแต่เฉียด ๆ เวทย์มนต์คาถาก็จะขลังน้อย สมาธิแน่วแน่เวทย์มนต์คาถาก็จะขลังมาก ความสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่สมาธิจิตครับ
ในขณะทำการปลุกเสกผีนั้น จิตของข้าพเจ้าไม่เป็นสมาธิ เพราะใจมันอดคิดวิตกวิจารณ์ไม่ได้ว่ า ถ้าผีมันลุกขึ้นมาเอามือลูบหัวแลบลิ้นเลียใบหน้าแล้ว เสกบังคับให้มันนั่งลงคุกเข้าไม่ได้ จะทำอย่างไร จะวิ่งหนีรึ ? หนีไม่พ้นแน่ จะต่อยจะเตะกับมันรึ? ก็สู้มันไม่ได้อีกน่ะแหละ เพราะมันเป็นผี ไม่ใช่คนเหมือนเรา ความคิดวิตกกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นจึงทำจิตให้เป็นสมาธิไม่ได้ เมื่อจิตไม่ตั้งอยู่ในองค์สมาธิ คาถาที่ภาวนาปลุกเสกผีก็เลยไม่ขลัง เรื่องของความขลังความศักดิ์สิทธิ์จากเวทย์มนต์คาถานี่ไม่ใช่จะเกิดมีขึ้นได้เฉพาะในทางพุทธศาสนาเท่านั้น ทุกศาสนาทุกลัทธิย่อมทำให้เกิดมีขึ้นได้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเรื่องของเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ขวางทางไปสู่ความพ้นทุกข์ ทำให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด คนที่มีศีลและไม่มีศีลก็สามารถทำเวทย์มนต์คาถาให้ขลังได้ เพราะความสำคัญขึ้นอยู่กับการทำใจให้เป็นสมาธิ คนขี้เหล้าขี้ยา คนชั่วช้าสามานย์ใด ๆ ถ้าทำใจเป็นสมาธิได้ ก็ทำคาถาของเขาให้ขลังได้ทั้งนั้น
ชาวพุทธที่ใฝ่ใจในประวัติของพระพุทธเจ้าคงจำได้ว่า เมื่อสิทธัตถะมหาบุรุษออกบวชใหม่ ๆ นั้น ทรงไปสมัครเป็นศิษย์อยู่ในสำนักฤๅษีสองตน คือ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ทรงเล่าเรียนเวทย์มนต์คาถาสารพัด ทำใจเป็นสมาธิจนได้ “ฌานสมาบัติ” สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เดินบนผิวน้ำได้ ดำดินได้ หายตัวได้ ร่างกายอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า เรียกว่าพระองค์เรียนวิชาไสยศาสตร์จนจบขั้นสุดยอดของโลกียวิสัยไม่มีใครเทียบได้ในสมัยนั้น แต่พระองค์ไม่ทรงพอพระทัยด้วยพิจารณาเห็นว่าตามที่เรียนรู้ได้ทั้งหมดนั้นไม่พาตนให้พ้นทุกข์ได้ จึงลาอาจารย์ทั้งสองออกไปแสวงหา “โมกษธรรม” คือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทรงบำเพ็ญความเพียรทางใจจนสำเร็จ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลต่อมา
นักปราชญ์ท่านว่าเวทย์มนต์คาถาอาคมทั้งหลายเกิดนั้นขึ้นจาก “ความกลัว" มนุษย์มีความกลัวสิงอยู่ในสันดานด้วยกันทุกคน กลัวไม่มีกินไม่มีใช้ กลัวความทุกข์ยากลำบากกายใจ กลัวถูกเกลียดชังนินทา กลัวเสื่อมจากลาภยศเกียรติศักดิ์สรรเสริญ กลัวเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวผู้มีอำนาจ กลัวพระเจ้า กลัวความไม่มี กลัวความไม่ได้เป็น กลัวสูญเสียความมีความเป็น กลัวการพลัดพราก สารพัดที่จะกลัว เมื่อเกิดความกลัวขึ้นดังกล่าวแล้วนั้น ก็หาวิธีการแก้ความกลัว สิ่งที่แก้ความกลัวดีที่สุดก็คือ คำขอ วิงวอน อ้อนวอน และคำสาปแช่ง คำอ้อนวอนและสาปแช่งนั้น ๆ จึงกลายเป็นเวทย์มนต์คาถาอาคมไปในที่สุด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, สายน้ำ, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, ฝาตุ่ม, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, เฒ่าธุลี, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๘ - คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อกันว่า คนจะมีสุขมีทุกข์ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ได้รับการสรรเสริญ ถูกนินทา มีคนรักคนชัง เจ็บไข้ได้ป่วย ก็เพราะเหตุปัจจัยภายนอก คือพระเจ้า พระเป็นเจ้า เทพไท้เทวา ภูตผีปิศาจ และผู้มีฤทธิ์อื่น ๆ ดลบันดาลให้เป็นไป มีคนส่วนน้อยที่เชื่อว่าสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนเอง พวกที่เชื่อว่าสิ่งดังกล่าวเกิดเพราะเหตุปัจจัยภายนอกจึงเกิดความเกรงกลัวและเคารพนับถือบูชาสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นผู้ดลบันดาลสิ่งนั้น ๆ ให้ตน คิดประดิษฐ์ถ้อยคำสรรเสริญ อ้อนวอนสิ่งที่คนนับถือนั้น เป็นการเอาอกเอาใจสิ่งที่ตนเคารพนับถือเพื่อให้ดลบันดาลสิ่งที่ตนปรารถนาให้ได้ อ้อนวอนร้องขอความเมตตาสงสารช่วยเหลือจากสิ่งที่ตนเชื่อว่าจะสามารถช่วยตนได้ คิดคำข่มขู่สาปแช่งสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นโทษแก่ตนและสิ่งที่ตนชิงชัง ส่วนพวกที่คิดเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการกระทำของตนเอง ก็คิดหาคำกล่าวยกย่อง ข่มขู่ บังคับเทวดา ภูตผีปิศาจ ให้ทำอะไร ๆ เพื่อตนเอง เช่น ปลุกเสกและเลี้ยงรัก-ยม โหงพราย และผีอื่น ๆ ไว้เป็นบริวารรับใช้เอง
ข้าพเจ้าเรียนเวทย์มนต์คาถาได้มาก เฉพาะ “หัวใจ ๑๐๘” นั้นท่องได้เกือบหมด คำว่า “หัวใจ” ได้แก่ศูนย์รวมหรือศูนย์กลาง ในเรื่องของเวทย์มนต์คาถาก็หมายถึงคำย่อความสำคัญของคาถา การปลุกเสกพระพิมพ์และเครื่องรางของขลังนานาให้เกิดความขลังในทางโชคลาภ ซื้อง่ายขายคล่องนั้นท่านนิยมใช้คาถาว่า “อุ อา กะ สะ” ซึ่งท่านเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” ทั้ง ๔ คำนี้ “อุ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “อุฏฐานสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรลุกขึ้นทำงาน” “อา” ย่อมาจากคำเต็มว่า “อารักขสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยความรู้จักรักษาทรัพย์ที่ หามาได้นั้น” “กะ” ย่อมาจากคำว่า “กัลยาณมิตตา = ถึงพร้อมด้วยการคบเพื่อนที่ดีงาม ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร” “สะ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “สมชีวิตา = ถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตดีงาม ไม่ใช่จ่ายฟุ่มเฟือยและไม่ตระหนี่จนเกินไป” หรือไม่ก็ใช้คาถาว่า “นะชาลีติ” ซึ่งเรียกว่า “หัวใจพระสิวลี” ก็ได้ ถ้าหากพูดคุยอวดภูมิรู้กันว่าใครท่องได้คาถาอาคมมากน้อยกว่ากันแล้ว เณรเต็มจะอยู่ในระดับแนวหน้าที่ว่าคาถาได้มาก แต่ถ้าถึงคราวใช้คาถาอาคมให้เกิดความขังความศักดิ์สิทธิ์กันแล้ว กลับไปอยู่ในระดับท้ายสุด เพราะใช้คาถาอาคมไม่ขลัง คือไม่ได้ผล สู้คนอื่นไม่ได้ บางคนเขามีคาถาใช้อยู่เพียงบทเดียว ก็ใช้ได้ผลดีมาก เพราะเขาเป็นคนประเภท “เล่นของขึ้น” แต่ข้าพเจ้า “เล่นของไม่ขึ้น” ครับ
ไสยเวทย์ หรือเวทย์มนต์ คาถาอาคม นี้ ผู้รู้ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ “คุณพระ, คุณเจ้า, คุณผี”
“คุณพระ” นั้น ท่านจำกัดลงไปว่า หมายถึงพระสูตรและปาฐะต่างๆที่เป็นพุทธพจน์และอนุพจน์ รวมไปถึงเถรภาษิต เทวดาภาษิต อิสีภาษิตต่าง ๆ ด้วย ตัวอย่างเวทย์มนต์คาถาที่เป็นคุณพระ เช่น พุทธัง สะระณังคัจฉามิ ธัมมังสะระณังคัจฉามิ สังฆังสะระณังคัจฉามิ เป็นต้น พูดง่าย ๆ ก็คือเวทย์มนต์ที่เป็น “คุณพระ” ได้แก่การยกเอาคำสั่งคำสอนในทางพรพุทธศาสนาที่เป็นภาษาบาลีโดยย่อมาเป็นองค์ภาวนา เช่น “สุ จิ ปุ ลิ” (หัวใจนักปราชญ์) “จะ ภะ กะ สะ” (หัวใจกรณียเมตตสูตรฺ หรือ ธาตุกรณีย์) บางท่านก็จะว่าบทเต็ม ๆ โดยไม่ย่อเป็นหัวใจมาเป็นองค์ภาวนา เช่น สวดบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ” เป็นต้น
“คุณเจ้า” คือคาถาที่เป็นคำสวดอ้อนวอนพระเจ้า พระเป็นเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเทวะ มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “โอม.....” ตามคติลัทธิพราหมณ์ แม้การกล่าวคำชุมนุมเทวดาที่ว่า “สัคเค กาเม จะ รูเป....” ก็เป็นเรื่องของคุณเจ้า
“คุณผี” มีลักษณะคล้ายคุณเจ้า ผิดกันตรงที่วิธีการหรือระดับของการใช้ เช่นการเสกหนังวัว หนังควาย เสกตาปูให้เข้าไปในท้องของคนอื่น ทำเสน่ห์ยาแฝด ทำให้ผัวเมียแตกกัน หรือทำให้ชายหลงหญิง หญิงหลงชาย เลี้ยงกุมารทอง รัก-ยม โหงพราย บิดไส้ บังฟัน เป็นต้น
จะเป็นคาถาประเภทคุณพระ คุณเจ้า หรือ คุณผี ก็ตาม ข้าพเจ้าท่องได้ทุกประเภท ตอนที่เรียนและท่องคาถาอาคมนั้น ไม่รู้หรอกว่าคาถาบทไหนเป็นคุณพระ คุณเจ้า และคุณผี เพราะท่องลุยดะไปเลย คิดเอาเองว่าการท่องคาถาอาคมได้มาก สามารถว่าให้ใคร ๆ ฟังได้มาก มันเป็นความโก้เก๋อย่างหนึ่ง และยังสร้างความยำเกรงให้แก่คนอื่นได้ไม่น้อยเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ท่องคาถาอาคมได้มากมักจะใช้คาถาอาคมไม่ขลัง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่คนที่ท่องคาถาอาคมได้เพียงเล็กน้อยสามารถบริกรรมให้คาถาอาคมของเขาขลัง ศักดิ์สิทธิ์ได้ดีกว่า
สาเหตุที่ทำให้คนท่องตาถาอาคมได้มาก ภาวนาหรือเสกคาถาไม่ขลัง เป็นเพราะว่ า รู้จำคาถาได้มากทำให้เกิดความลังเล ไม่มีความมั่นใจในการใช้คาถา ไม่รู้ว่าจะใช้บทไหนดี คิดว่า “บทนั้นก็ดี บทนี้ก็ดี” เสกบทหนึ่งแล้วกลัวว่าจะไม่ขลัง จึงเสกบทใหม่ซ้ำลงไปอีกสองสามบท ผลที่สุดคาถาก็เลยไม่ขลัง เพราะใจไม่มั่นคง
ข้าพเจ้าเลิกปลุกผีปลุกสางด้วยเห็นว่าขืนปลุกเสกไปก็เหนื่อยเปล่า ดวงของข้าพเจ้ากับพวกภูตผีปิศาจ คงไม่สมพงศ์กันเสียเป็นแน่แท้
ในป่าช้าเดียวกันนั่นแหละครับ หลังจากที่ข้าพเจ้าเลิกปลุกเสกผีได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ ก็มีสามเณรองค์หนึ่งเดินธุดงค์จากอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปภูเก็ต เข้าอยู่ในบริเวณป่าช้าจีนแห่งเดียวกันกับข้าพเจ้า สามเณรองค์นี้อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า พอเข้าไปอยู่ในป่าช้าก็ประกาศศักดาจะทำพิธีปลุกเสกผีทันที นายอุดมศิษย์คนสำคัญของข้าพเจ้าสนใจการปุกเสกผีของอาจารย์เณรองค์ใหม่มาก จึงขออนุญาตจาก “พระเณร” ไปเข้าร่วมพิธีปลุกเสกผีด้วย ข้าพเจ้าก็ไม่ว่าอะไร
คืนนั้นเป็นคืนข้างแรมอ่อน ๆ นายอุดมนุ่งขาวห่มขาวไปเข้าร่วมปลุกเสกผีกับอาจารย์เณรองค์ใหม่ ซึ่งนายอุดมได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพิธีกรรมด้วยเพียงคนเดียวเท่านั้น เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืนแล้ว นายอุดมแบกร่างอาจารย์เณรมาที่ “อาศรม” ของข้าพเจ้า ในขณะที่ข้าพเจ้านั่งคุยอยู่กับศิษย์ ๓-๔ คน ที่นั่งคุยกันอยู่จนดึกดื่นก็เพื่อรอฟังผลการปลุกเสกผีของอาจารย์เณรนั่นเอง นายอุดมวางร่างอันไร้สติสัมปชัญญะของสามเณรนั้นลงกลางห้องโถง บอกให้พรรคพวกช่วยกันนวดเฟ้น ทำการพยาบาลจนกระทั่งท่านฟื้นจากการสลบ แต่ก็กลายเป็นคนเหม่อลอยพูดจากันไม่รู้เรื่องเสียแล้ว มีสภาพดูเหมือนเป็นคนไม่มีจิตใจยังงั้นแหละครับ
นายอุดมเล่าให้ฟังว่า อาจารย์เณรเอาสายสิญจน์วงรอบหลุมศพ (ฮวงจุ๊ยเก่า) ๓ รอบ แล้วเข้าไปนั่งอยู่หน้าหลุมศพในวงล้อมของสายสิญจน์นั้น โดยนายอุดมเข้าไปนั่งอยู่ด้วย เอาเครื่องเซ่นสังเวย คือ กุ้งพล่าปลายำ ที่นายอุดมจัดหามาให้นั้นทำพิธีพลีกรรม เสร็จแล้วกำชับให้นายอุดมนั่งดูเฉย ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ห้ามแสดงอาการใด ๆ จากนั้นท่านก็นั่งสมาธิบริกรรมคาถาอาคมปลุกเสกผีตามตำราที่เรียนมา สักพักหนึ่งก็ปรากฏว่ามีตัวแมลงคล้ายตัวต่อใหญ่ขนาดท่อนแขน ๒ ตัว บินวนเวียนรอบสายสิญจน์ด้านนอก เสียงดังหวีดหวิวน่าหวาดเสียว มันบินวนเวียนอยู่ประมาณ ๒๕ รอบ อาจารย์เณรเริ่มมีอาการผิดสังเกต คือตัวท่านสั่นเหมือนถูกเจ้าเข้า หรือสั่นเหมือนคนปลุกตัวจน “ของขึ้น” สั่นแรงขึ้น ๆๆ และมีเสียงครางดังฮื่อ ๆๆๆ ในที่สุดก็ทะลึ่งตัวโผขึ้นในอากาศพร้อมส่งเสียงร้องโอ้ย..! ตกลงนอนนิ่งบนพื้นดินแน่นิ่งสลบไปเลย นายอุดมหายจากตกใจแล้วจับร่างกายอาจารย์เณร รู้สึกว่าท่านตัวอ่อนปวกเปียกและหมดความรู้สึกไปแล้ว มองไปรอบตัวก็ไม่รู้ว่าแมลงใหญ่ ๒ ตัวนั้นมันหายไปไหนแล้ว จึงรีบอุ้มร่างอันหมดสติของอาจารย์เณร แหกสายสิญจน์ออกมาให้ช่วยแก้ไขจนฟื้นขึ้นดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นสามเณรองค์นี้กลายเป็นคนป้ำ ๆ เป๋อ ๆ พูดจาไม่รู้เรื่องเหมือนคนปัญญาอ่อน เขาหายไปจากภูเก็ตเมื่อไรไม่มีใครรู้/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ เมษายน ๒๕๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ฝาตุ่ม, ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, ลายเมฆ, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๙ - แม้ข้าพเจ้าจะเลิกปลุกเสกผี ไม่สามารถจับผีมาเลี้ยงได้แล้ว ความขลังความดังของ “พระเณร” ก็ยังคงลือลั่นไปทั่วเกาะภูเก็ตและเลยออกไปถึงพังงา หุ่นพระเอกลิเกของเณรเต็มทำให้สาวรุ่น สาวแก่ แม่หม้าย หลายคนสนใจในด้าน “สิเนหา” ไม่น้อย เรื่องนี้ทำความรำคาญให้ข้าพเจ้ามาก ในตอนนั้น สมัยนั้น ความคิดเรื่องกามารมณ์ของข้าพเจ้ามีอย่างเจือจาง ความคิดส่วนใหญ่มุ่งอยู่กับความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เห็นตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า “หญิงเป็นมลทินแก่พรหมจรรย์” ถ้าสนใจในเรื่องผู้หญิง ปล่อยให้ความรักความใคร่มันรุกเร้าลามเข้าครอบงำจิตใจแล้ว ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ก็จะหมดไป ข้าพเจ้ายังต้องการความขลังความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าความรักความใคร่ เมื่อมีผู้หญิงมาแสดงเลศนัยความรักความใคร่ให้รู้เห็น “ตำตาตำใจ” จึงเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจมากทีเดียว
“แม่ร้าง” นางหนึ่งอายุมากกว่าข้าพเจ้าประมาณ ๖ ปี รูปร่างหน้าตาดี มีอาชีพค้าขาย ฐานะอยู่ในขั้น “มีอันจะกิน” แต่งงานได้ปีเศษก็หย่าร้าง เธออ้างว่าอดีตสามีเป็นคนไม่ดี ไม่ทำงานทำการอะไร ชอบดื่มสุราเมรัย เล่นการพนัน และเจ้าชู้ เธอจึงไล่ออกจากบ้านและหย่าร้างเด็ดขาดไปแล้ว อยู่ด้วยกันปีเศษไม่มีลูก (ไม่รู้มัวทำอะไรกันอยู่) ทุกวันเมื่อปิดร้านเลิกขายของแล้วเธอจะมาหาข้าเจ้าที่ “อาศรม” นั่งคุยกันบ้าง นั่งดูอยู่เฉย ๆ บ้าง ตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงเวลาเที่ยงคืนจึงจะลากลับไป ตอนเช้ามืดก็เอาขนมปังปาท่องโก๋กาแฟร้อน ชาร้อน และอาหารอื่น ๆ มาถวาย แล้วรีบกลับไปเปิดร้านขายของ ตอนลากลับเธอก็เข้ามาใกล้ ๆ แล้วพูดเบา ๆ ว่า “หวั่นจายมาหลาว” ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้แต่พยักหน้ารับคำเธอเท่านั้น
วันหนึ่งข้าพเจ้าถามเธอว่า “มาอยู่ดึก ๆ ดื่น ๆ ทุกวัน มาเฝ้าเอาเลขเด็ดหรือไง?” ได้ฟังคำตอบของเธอแล้วพูดไม่ออกบอกไม่ได้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร เธอบอกว่า “ไม่ได้มาเฝ้าขอเลขเด็ด แต่มาได้เห็นหน้า ได้ยินคำพูดพระเณรแล้วสบายใจ” แล้วยังพูดแสดงความคิดเห็นของเธออีกว่า “คนบวชนาน ๆ เป็นคนเรียบร้อยนุ่มนวล จิตใจประกอบด้วยความเมตตาปรานี ไม่ดุดันโหดร้าย” ยกตัวอย่างว่าเพื่อนบ้านของเธอหลายคนได้นักบวชเป็นสามีแล้วเขาอยู่กินกันอย่างมีความสุข ไม่มีการทะเลาะตบตี ไม่หย่าร้าง สามีไม่กินเหล้า ไม่เล่นการพนัน เจ้าชู้นิดหน่อยแต่ก็น่ารักดี
“ฉันอยากมีผัวเป็นนักบวชบ้าง”
ฟังสรุปคำพูดอธิบายของเธอซีครับ สั้น และ ดื้อ ได้ความชัดเจนดีเหลือเกิน ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกว่าตัวร้อนฉ่า ใจเต้นแรง ไม่กล้าพูด ไม่กล้ามองหน้าเธอ ขณะที่ยังไม่รู้จะพูดไม่รู้จะทำอะไรต่อไป ก็พอดี “จ่าวิชิต” นายตำรวจคนดังของเมืองภูเก็ตเข้ามาขัดจังหวะ ซึ่งโดยปกติแล้วจ่าวิชิตมักจะมาหาข้าเจ้าตอนกลางคืนเสมอ คืนนั้นพอเห็นจ่าวิชิตมาก็เหมือนกับพระหรือเทวดามาโปรด
“ยังไม่กลับอีกเรอะปรานี?” จ่าร้องถามเมื่อเห็นเธอนั่งอยู่กลางห้อง
“อ้อ! จ่ามาพอดี” ข้าพเจ้าทักอย่างเก้อเขิน
จ่าวิชิต จุดธูปบูชาพระแล้วกราบด้วยกิริยาอาการอันอุ้ยอ้ายตามประสาคนอ้วนท้วน
“กำลังจะกลับจ่าก็มาพอดีค่ะ งั้นลาเลยนะก๊ะ” เธอฉวยโอกาสลากลับในขณะที่จ่าวิชิตกำลังงุ่มง่ามกราบพระ
“อ้าว...ได้เลขเด็ดไปแล้วเหร่อ?” จ่าร้องถามในขณะที่เธอกำลังออกประตู “อาศรม” เธอไม่ตอบ ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยินคำถามนั้น ข้าเจ้ามองตามหลังเธอที่พาร่างอวบอั๋นจากไปในความมืดด้วยความคิดอันสับสนอยู่ในเวทนาและเมตตาปรานี
“พระเณรจะเอาแม่หม้ายคนนี้เรอะ อย่าเลย ผมจะหาสาว ๆ สวย ๆ รวย ๆ ให้ดีกว่า” จ่าวิชิตกล่าวด้วยเสียงดังกลั้วการหัวเราะเอิ๊กอ๊ากตามนิสัยของแก เหมือนจงใจจะให้คุณปรานีเธอได้ยินเสียงนั้นด้วย
“ม่ายหรอกจ่า ฉันยังไม่ได้บวชพระ ยังไม่คิดจะมีเมีย” ข้าพเจ้าตอบจ่าด้วยความรู้สึกที่ไม่จริงใจ
“ดีแล้วที่พระเณรไม่เลือกแม่หม้ายคนนี้และยังไม่คิดจะมีเมีย คนไม่มีเมียเป็นคนที่มีอิสระเสรี ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องครอบครัว เมื่อก่อนนี้ยังหนุ่มอยู่อยากมีเมียมาก เดี๋ยวนี้ไม่มีความคิดอยากมีเมียตกค้างอยู่ในใจเลย” จ่าพูดด้วยเสียงเหนื่อยหน่าย เอือมระอา
“มีเมียไม่ดีอย่างไร โยมจ่า?” ข้าพเจ้าถามยิ้ม ๆ
“มันพูดยากครับ เอาไว้พระเณรสึกไปมีเมียแล้วจะรู้เองก็แล้วกัน นี่ดีนะที่พระเณรไม่คิดจะเอาบาตรมาทิ้งที่ภูเก็ต เหมือนพระธุดงค์องค์อื่น ๆ”
แล้วจ่าวิชิตก็อภิปรายยกตัวอย่างอาจารย์หลายองค์ที่เดินธุดงค์มาภูเก็ต พักอยู่ภูเก็ตไม่นานก็สึกหาลาเพศมีเมียมีลูก บางองค์ก็ได้แม่หม้าย บางองค์ก็ได้แม่ร้าง บางองค์ก็ได้สาวแก่ บางองค์ก็ได้สาวรุ่น แล้วแต่ความพอใจของแต่ละท่าน จ่านายสิบตำรวจ หรือ “จ่า” วิชิตผู้นี้เป็นคนชาวเมืองนครศรีธรรมราช ไปประจำการอยู่ภูเก็ตเป็นเวลานาน มีชื่อเสียงโด่งดังจนคนภูเก็ตทั้งเกาะรู้จักเขาดี บางคนว่าจ่าวิชิตเป็น “คนไม่เต็มเต็ง” ครั้งหนึ่งเขาขับรถตระเวนไปตามถนน พอรู้ว่าไม่ได้เอาใบขับขี่พกติดตัวไปด้วย ก็จอดรถแล้วเรียกตำรวจมาจับตนในข้อหาขับรถไม่มีใบขับขี่ เรื่องนี้เป็นเรื่องฮือฮาในภูเก็ตพอสมควร บางครั้งถอดเครื่องแบบแขวนไว้แล้วนั่งร่วมวงเล่นไพ่ พอรู้ว่าถูกเพื่อนร่วมวงเล่นไพ่โกงก็ลุกขึ้นสวมเครื่องแบบตำรวจแล้วจับพวกเล่นไพ่เสียดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า “จ่าวิชิตไม่เต็มเต็ง” เพราะถ้าไม่เรียกอย่างนั้นก็ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไรแล้ว
จ่าวิชิตเป็นเอเย่นต์ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มีฐานะดี คนเล่นหวยเถื่อนส่วนใหญ่เกรงกลัวจ่าวิชิตมาก ดังนั้น ในขณะที่จ่าเข้าไปนั่งคุยอยู่กับข้าพเจ้าจึงมักไม่ค่อยมีใครเข้าไปหา เพราะกลัวจ่าจับในข้อหาเล่นหวยเถื่อน แต่ในความจริงแล้วจ่ายังไม่เคยจับคนที่ไปขอหวยเลยสักคนเดียว เรื่องที่จ่าไปคุยกับข้าพเจ้าส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ และมีธรรมะบ้าง บางครั้งจ่าก็ขอหวยผมดื้อ ๆ เหมือนกัน อ้างว่าจะเอาไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล บอกว่าถ้าพระเณรให้เลขอะไรก็จะกลับไปเก็บสลากเลขนั้นไว้ไม่ยอมขายให้ใคร แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยให้เลขอะไรแก่จ่าเลย อ้างว่าไม่รู้ ไม่มี ทุกครั้งที่ถูกขอ จ่าแกก็ไม่เซ้าซี้อะไร
“เจ๊เกียง” แม่หม้ายสาวร่างอ้วนจ้ำม้ำ มาหาข้าพเจ้าจนคุ้นเคย ข้าพเจ้าเรียกเธอว่า “เจ๊” และเธอก็เรียกข้าพเจ้าว่า “น้องเณร” จนติดปาก วันหนึ่งเจ๊อยู่กับข้าพเจ้าตามลำพัง เจ๊ถามว่า “น้องเณรมีดีอะไร? เจ๊เอายาใส่อาหารให้กินหลายครั้งแล้วไม่ได้ผล”
“เจ๊เอายาอะไรให้ฉันกินล่ะ?” ข้าพเจ้าถามอย่างงง ๆ
“ยาเสน่ห์ซี เป็นน้ำมันของโต๊ะดำเกาะยาว” ว่าแล้วเจ๊ก็ควักขวดน้ำมันเสน่ห์ที่พกไว้ในอกเสื้อออกมาชูให้ดู ข้าพเจ้าขอจับเอามาดู เห็นเป็นน้ำมันสีเขียวข้น เปิดจุกขวดดมกลิ่นแล้วก็ได้กลิ่นพิกล จะว่าหอมก็หอม จะว่าเหม็นก็เหม็น ปิดขวดแล้วส่งคืนเจ๊ไป เธอรับคืนไปพร้อมกับการยิ้มอย่างพอใจ
“ให้กินแล้ว น้องเณรไม่หลงรักเจ๊ ได้ดมกลิ่นคราวนี้คงจะรักจนหลงเจ๊แน่นอนเลย” เจ๊พูดแบบที่เล่นทีจริงพร้อมหัวเราะคิกคักชอบใจ
ข้าพเจ้าใจไม่ดีเมื่อรู้ตัวว่าเสียที “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” เข้าให้แล้ว ทำเป็น “ใจดีสู้เสือ” พูดแบบทีเล่นทีจริงว่า
“ไม่เป็นไรหรอก ฉันหลงรักเจ๊ก็ยังดีกว่าหลงรักคนอื่น เพราะถึงยังไงเจ๊คงไม่ปล่อยให้ฉันอดตาย”
คำพูดของข้าพเจ้าทำให้ “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” ยิ้มนัยน์ตาเยิ้มไปด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง คงจะหวังว่าข้าพเจ้าต้อง “เสร็จ” เธอแน่ ๆ เลยกระมัง เพราะเจ๊เธอเชื่อมั่นว่าน้ำมันมหาเสน่ห์ของโต๊ะดำมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ พระธุดงค์ถูกสึกไปเพราะน้ำมันนี้นักต่อนักแล้ว
แรก ๆ ก็หวั่นไหวเหมือนกัน เพราะความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังมีอยู่ในความรู้สึกไม่น้อย กลัวว่าน้ำมันเสน่ห์ของ “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” ตัวนั้นจะทำให้หลงรักเธอเข้าได้ เลียบเคียงถามนายอุดมกับโยมแดงศิษย์คนสนิทดู ทั้งสองคนยืนยันว่าน้ำมันเสน่ห์ของโต๊ะดำเกาะยาวเป็นน้ำมันที่ขลังมาก พระธุดงค์มาถูกสึกที่เกาะภูเก็ตเพราะน้ำมันเสน่ห์นี้มากแล้ว แม้อาจารย์บุญศรีที่กล่าวถึงแล้วนั้นก็ใช่ แต่แล้วความหวาดกลัวน้ำมันเสน่ห์นั้นก็หายไปเมื่อความคิดหนึ่งเกิดขึ้นมาว่า “เราก็ศิษย์มีอาจารย์ เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า จะแพ้แขกได้ง่าย ๆ เชียวหรือ? เวทย์มนต์คาถาก็เล่าเรียนมามาก ความรู้ทางด้านพระปริยัติธรรมก็จบชั้นเถรภูมิแล้ว อาจารย์ที่ขึ้นธุดงค์มา (หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว สุพรรณบุรี) ก็เป็นเกจิอาจารย์ชั้นหนึ่ง จึงไม่น่าจะมาพ่ายแพ้แขกง่าย ๆ”
เมื่อความคิดดังกล่าวเกิดขึ้น ความฮึกหาญในการต่อสู้กับอำนาจฝ่ายดำของโต๊ะดำก็เริ่มขึ้น ข้าพเจ้าคิดหาคาถาอาคมแก้ ด้วยหวังถอนมนต์เสน่ห์ที่ “เจ๊เกียง” ให้ทั้งกินทั้งสูดดมนั้น และในบรรดาคาถาอาคมที่ใช้ถอนนั้นข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า “ปัจจเวกขณะ” คือการพิจารณาจะใช้ได้ผลดีมากที่สุด
ปัจจะเวกขณะ คือการพิจารณานี้ เป็นบทที่พระภิกษุจะต้องใช้เสก ภาวนา เป็นประจำ ในการที่จะบริโภคปัจจัยสี่ อันได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ที่อาศัย และ ยารักษาโรค พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกบริโภค ใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยการใช้สติพิจารณา ให้มีความละเอียดลออ รอบคอบ คงที่คงทาง แม่นยำ มั่นคง อย่างเช่น เครื่องนุ่งห่ม ก่อนใช้ก็ให้พิจารณาว่าควรใช้อะไร อย่างไร เพื่ออะไร ของกินก็ให้พิจารณาดูว่าสิ่งนั้นคืออะไร กินอย่างไร กินเพื่ออะไร ที่อยู่ที่อาศัยก็ให้พิจารณาจะอยู่อย่างไร ที่ไหน เพื่ออะไร ยารักษาโรคก็ให้พิจารณาว่าเป็นยาอะไร แก้-รักษาโรคอะไร กินอย่างไร เป็นต้น /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, ฝาตุ่ม, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, ลายเมฆ, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๐ - บทบาลีที่ใช้พิจารณาก่อนบริโภคใช้สอยนั้นคือ “ยะถา ปัจจะยัง ปะวัตตะมานังยะทิทัง...........” ใช้พิจารณาในเรื่องอาหารนั้น พระภิกษุจะใช้ในการออกเดินทางรับบิณฑบาต บางองค์ขี้เกียจเดินภาวนาก็จะยืนเสกบาตรก่อนออกจากกุฏิ หรือก่อนออกจากเขตวัด ว่า “ยะถา ปัจจะยัง ยะทิทัง ปิณฑปาโต...” ไปจนจบบทครบ ๓ ครั้งแล้วออกเดินบิณฑบาต ส่วนมากแต่ละองค์จะใช้บาลีบทนี้ภาวนาขณะยืนรับอาหารบิณฑบาตจากญาติโยม พระเกจิอาอาจารย์ท่านมีข้อห้ามไม่ให้พระว่าคาถาบทนี้ในขณะที่ผู้ใส่บาตรนั้นเป็นสตรีมีครรภ์ ถ้าจะภาวนาก็ขอให้งดข้อความที่ว่า “สุญโญ สัพโพปะนายัง” เพราะถ้าว่าข้อความนี้แล้วสตรีผู้ใส่บาตรคนนั้นจะแท้งลูก จริงหรือเท็จอย่างไรก็ยังไม่เคยพบเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องยืนยัน
ก่อนบริโภคใช้สอย ถ้าไม่เสกภาวนาคาถาว่า “ยะถา ปัจจะยัง” ตอนบริโภคใช้สอยก็ต้องว่า “ตังคะนิกะปัจจะเวกขณะ” คือบทบาลีที่ว่า “ปะฏิสังขาโย นิโสจีวรัง....” ในขณะนุ่งสบง ห่มจีวร “ปะฏิสังขาโย นิโสปิณฑปาตัง...” ในขณะรับประทานอาหาร “ปะฏิสังขาโย นิโส เสนาสะนัง...” ในขณะนั่งนอนบนที่นั่งที่นอน “ปะฏิสังขาโย นิโสคิลานะเภสัชชะ...” ในขณะรับประทานยาแก้-รักษาโรคถ้าไม่เสก-ภาวนา หรือพิจารณาในขณะบริโภคใช้สอยอาจเกิดโทษขึ้นในปัจจุบันได้ เคยมีตัวอย่างว่า ชายคนหนึ่งหยิบผ้ามานุ่งโดยไม่พิจารณา รีบหยิบผ้าถุงของภรรยามานุ่งด้วยคิดว่าเป็นผ้าสะโหร่งของตนเอง กว่าจะรู้ว่าหยิบผิดก็ถูกเพื่อนหัวเราะเยาะเสียแล้ว หญิงคนหนึ่งหยิบผ้าถุงมานุ่งโดยไม่พิจารณา ถูกตะขาบที่อยู่ในผ้าถุงกัด “ของลับ” จนต้องรีบแก้ผ้าถุงทิ้งต่อหน้าผู้คนอย่างลืมอายก็มี
ข้าพเจ้าเคยประสบโทษของการนุ่งห่มผ้าสบงจีวรโดยไม่พิจารณามาแล้วเหมือนกัน คือตอนที่บวชเป็นสามเณรได้พรรษาที่ ๒ วันนั้นเป็นวันพระ ญาติโยมพากันนำอาหารหวานคาวมาทำบุญที่วัดเป็นอันมาก พระเณรต้องลงศาลาการเปรียญรับฉันอาหารบิณฑบาตที่ญาติโยมนำมาทำบุญกัน ข้าพเจ้าไม่ได้เตรียมตัวลงศาลา เพราะมัวนั่งคุยเพลิน พอเขาตีระฆังสัญญาณบอกให้ลงศาลาก็รีบกลับกุฏิตัวเอง คว้าจีวรที่กองอยู่หัวนอนมาห่มโดยไม่พิจารณา ครั้นลงไปนั่งที่อาสน์สงฆ์บนศาลา หลวงพ่อผู้เป็นประธานสงฆ์เริ่มให้ศีล สายตาทุกคู่ของคนบนศาลานับร้อยดวงก็พากันจ้องมองตรงขึ้นยังอาสน์สงฆ์ที่มีพระ-เณรนั่งอยู่เรียงรายตามลำดับอาวุโส ข้าพเจ้าส่งสายตากราดไปทั่วศาลาตามประสาเด็กหนุ่มที่มีนัยน์ตาซุกซน ค้นหาใบหน้าแฉล้มแช่มช้อย เพื่อทักทายสายตาไมตรีประดาสาวตาหวานทั้งหลายบนศาลา
ขณะที่สายตากำลังแสวงหาไมตรีจากสาวงามในชุดแต่งกายหลากสีที่นั่งพับเพียบเรียบร้อยพนมมือแต้อยู่ในศาลานั้น รู้สึกว่ามีตัวอะไรเล็ก ๆ ไต่อยู่ในร่มผ้าบริเวณโคนขาขวา และมันก็ไต่ไปถึงอวัยวะลับ แล้วมันก็หยุดอยู่ไม่ไปไหนอีก (เข้าใจว่ามันคือมดแดงคันหรือมดแดงไฟ) ไต่วนเวียนอยู่ตรงนั้นแหละครับ ซ้ำร้ายกว่านั้น มันกัดตรงนั้นด้วย รสชาติของการถูกมดแดงไฟกัดของลับเป็นอย่างไร ใครอยากรู้ก็ลองให้มันกัดดูเถิด! ข้าพเจ้าถูกมันกัดทีก็สะดุ้งที นั่งตัวแข็ง ไม่รู้จะทำอย่างไร จะเอามือล้วงเข้าไปบี้ขยี้มันก็ไม่กล้า เพราะสายตาคนเป็นร้อยดวงจ้องดูอยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่เขามองดูด้วยความเลื่อมใสที่เห็นพระเณรอันเป็นเนื้อนาบุญของเขานั่งเรียงกันด้วยอาการสงบเสงี่ยม บางคนมีลูกสาวก็อาจจะนึกเอาเองว่า พระองค์นั้น เณรองค์นี้น่าจะสึกไปเป็นลูกเขยตน สาวบางคนที่มี “คนรัก” บวชเป็นพระใหม่มานั่งให้กราบไหว้อยู่บนอาสน์สงฆ์ หล่อนก็มองดูด้วยความชื่นชมยินดี ข้าพเจ้าเป็นเณรหนุ่มก็ไม่พ้นสายตาที่พากันมองด้วยความรู้สึกแตกต่างกัน แล้วจะกล้าเอามือล้วง เกา บดบี้ ขยี้มดในสบงได้อย่างไร? ก็ได้แต่นั่งเกร็งตัวแข็ง ภาวนาให้การสวดมนต์ถึงพระพระบทท้าย ๆ โดยเร็ว เพราะตอนนั้นญาติโยมจะพากันถือขันข้าวลุกขึ้นไปใส่บาตรกันพลุกพล่าน
“ฮึ่ม! ถึงตอนที่โยมกราบพระลุกขึ้นไปใส่บาตรกันชุลมุนเมื่อไหร่ กูจะบี้มึงให้ตาย”
ข้าพเจ้าคิดคำรามในใจอย่างนั้น แต่ก็เป็นเรื่องแปลกครับ เจ้ามดมหาวายร้ายตัวนั้นมันขย้ำเขี้ยวกัดเนื้อหนังอ่อน ๆ ของข้าพเจ้าอย่างเมามัน พอถึงตอนที่ญาติโยมพากันกราบพระถือขันข้าวลุกขึ้นไปใส่บาตร มันก็เลิกกัดและหายไป ไม่ทันที่จะบดบี้ขยี้มันตามที่คิดอาฆาตมัน จึงเป็นอันว่าข้าพเจ้าถูกมันกัดอวัยวะเพศไปฟรี ๆ
ตั้งแต่นั้นมา จะนุ่งห่มผ้าทุกครั้งต้องสะบัดผ้า ตรวจดูเสียก่อนว่ามีมดแมลงอะไร ๆ เกาะอยู่หรือไม่ ไม่ผลีผลามนุ่งห่มให้เกิดความทุกข์ทรมานอีกต่อไป การนุ่งห่มที่ไม่ได้พิจารณาเป็นบาปทันตาเห็นจริง ๆ ครับ
ข้าพเจ้าเชื่อเกจิอาจารย์ว่า “ปัจจะเวกขณ์” คือการพิจารณาในการบริโภคปัจจัยสี่ เป็นความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ขจัดปัดเป่าและป้องกันสรรพภัยและอัปมงคลทั้งหลายได้ทุกครั้งที่ฉันอาหาร นุ่งสบงห่มจีวร นั่งนอนในที่ต่าง ๆ และรับประทานยารักษาโรค จะต้องเสกด้วยคาถาบท “ปะฏิสังขาโย” หรือไม่ก็เสกด้วยคาถา “หัวใจปัจจะเวกขณ์” คือคำย่อทั้งสี่บทมารวมกันว่า “จิปิเสคิ” ถ้าลืมเสกในขณะบริโภคอีกก็ต้องว่า “อตีตะปัจจะเวกขณะ” คือบทบาลีที่ว่า “อัชฌะมะยา”
การที่ “เจ๊เกียง” เอาน้ำมันมหาเสน่ห์ของโต๊ะดำใส่อาหารให้กินและยังหลอกให้ดมอีกด้วย แต่ไม่เป็นอะไรนั้น คงเป็นเพราะข้าพเจ้าเสกด้วยคาถา “ปัจจะเวกขณ์” ทำให้น้ำมันมหาเสน่ห์ของโต๊ะดำแห่งเกาะยาวคลายมนต์ขลังไป
“เจ๊เกียง” หมดความพยายามที่จะทำเสน่ห์เล่ห์กลเพื่อจะเอาข้าพเจ้าสึกออกไปเป็น “หุ้นส่วนชีวิตของเธอ” กลับใจมาเลื่อมใสศรัทธาด้วยความจริงใจเป็นอย่างมาก ให้การอุปถัมภ์บำรุงด้วยความบริสุทธิ์ใจ
และเจ๊คนนี้เองที่ทำให้ “แม่ร้างปรานี” หมดหวัง เลิกมานั่งเฝ้าข้าพเจ้าในที่สุด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ฝาตุ่ม, ลิตเติลเกิร์ล, สายน้ำ, ลายเมฆ, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๑ - “เก็บวัตรธุดงค์-อำลาภูเก็ต”
ก่อนอำลาภูเก็ตข้าพเจ้าใช้เวลา ๒ วันไปค้างแรมคืนที่เกาะแก้วอันเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธบาทสี่รอย” โดยลงเรือของชาวประมง (ชาวเล) ที่หาดราไวจากเกาะภูเก็ตไปอีกประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง ที่นั่นมีตำนานเล่าขานกันว่าในอดีตมีปรากฏการณ์อันประหลาดอย่างเหลือเชื่อ กล่าวคือมีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่ใกล้หาดทราย บนก้อนหินนั้นมีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ชัดเจน เมื่อถึงวันธรรมสวนะ (วันพระหรือวันฟังธรรม) จะมีปลาน้อยใหญ่หลากหลายชนิด พากันว่ายน้ำมาลอยหัวออกันยู่แน่นขนัด ดูเบียดเสียดยัดเยียดรอบ ๆ รอยพระพุทธบาทสี่รอยนั้น ทุกตัวชูหัวขึ้นเหนือน้ำแลสลอน แล้วพร้อมกันส่งเสียงร้องระงมเหมือนเสียงสวดมนต์ นัยว่าปลาเหล่านั้นพากันมาแสดงความเคารพนบไหว้รอยพระพุทธบาทนั้น
มีตำนานหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในที่ต่าง ๆ รวม ๕ แห่ง คือที่โยนกบุรีแคว้นเหนือของชมพูทวีป ๑ ที่ภูเขาสัจพันธ์อันเป็นที่อยู่ของฤๅษีสัจพันธ์ ๑ ที่ภูเขาสุมนกูฏในลังกาทวีป ๑ ที่สุวรรณบรรพตหรือภูเขาทอง ๑ และ ที่หาดทรายริมฝั่งน้ำนัมทานที ๑ คนไทยส่วนใหญ่เชื่อกันว่าพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีคือพระพุทธบาทที่ระบุไว้ในตำนานว่า “สุวรรณบรรพต” หรือภูเขาทอง และพระพุทธบาทที่เกาะแก้วนี้ มีผู้ (สอด) รู้ทั้งหลายเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพญานาคแล้วประทับรอยพระบาทไว้แทนองค์ให้บรรดานาคเคารพบูชา ที่เรียกชื่อตามตำนานว่า “นัมทานที” นั่นเอง
เหตุผลที่พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาทไว้นั้น ผู้รู้ทั้งหลายท่านกล่าวว่า เนื่องจากในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาล ชาวชมพูทวีป (อินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, บังคลาเทศ) นิยมแสดงความเคารพกราบไหว้เท้า รอยเท้า ของบุคคลและเทพที่ตนเคารพนับถือ ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดบุคคลที่ “เข้าในข่ายพระญาณ” บางคนละมิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด) แต่ยังไม่บรรลุมรรคผล เพียงตั้งอยู่ในไตรสรณาคม จึงอ้อนวอนขอพระพุทธองค์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ตนเคารพบูชาก่อนที่จะเสด็จกลับไป
พระบาทรอยที่เกาะแก้วพิสดารภูเก็ต จะเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าประทับไว้ให้พวกนาคบูชา ณ ริมฝั่งน้ำนัมทาตามตำนานหรือไม่ก็ตามทีเถิด ข้าพเจ้าได้ไปกราบไหว้บูชาตามความเชื่อถือของคนส่วนมากแล้ว ในขณะกราบไหว้ใจก็น้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานถึง ๒๕๐๑ ปี (ขณะนั้น) แล้วที่ปรากฏในปัจจุบัน คือวันที่หลวงพี่บัณฑิต หลวงพี่บุญชาติ และข้าพเจ้าไปถึงนั้น พบว่าก้อนหินที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทดังกล่าวไม่ได้อยู่ในน้ำ เพราะหาดทรายงอกออกไปเชื่อมต่อติดกับก้อนหินนั้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกาะไปแล้ว พ่อท่านคล้าย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของปักษ์ใต้ท่านไปสร้างมณฑปไว้ที่นั่นด้วย
พ่อท่านคล้ายหรือหลวงพ่อคล้าย เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ขาของท่านขาดไปข้างหนึ่ง ต้องเอากระบอกไม้ไผ่ต่อเป็นขาเทียม ท่านเป็นพระที่ชาวบ้านเชื่อถือกันว่าท่านมี “วาจาสิทธิ์” (ปากพระร่วง?) ในขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ในเกาะภูเก็ตนั้น ท่านเดินทางไปเกาะภูเก็ต ๓ ครั้ง ไปแต่ละครั้งเจ้ามือหวยเถื่อนพากันหวาดไหว เพราะนักเล่นหวยจะเอาเลขเครื่องบินลำที่ท่านนั่งไปและเลขรถยนต์คันที่รับท่านนั่งนั้น ๆ ไป ”แทงหวย” กัน และปรากฏว่ามักจะไม่ผิดหวังเสียด้วย
กลับจากเกาะแก้วพิสดารแล้วก็ไป อำลาผู้บัญชาการเรือนจำภูเก็ต ท่าน ผบ. ได้เตรียมของถวายไว้หลายอย่าง ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นมุก คือ โคมไฟฟ้ามุก ช้อนมุก ทัพพีมุก ที่เขี่ยบุหรี่มุก ซึ่งทำด้วยหอยมุกทั้งตัว เป็นฝีมือของนักโทษในเรือนจำภูเก็ตทั้งสิ้น วันนั้น ผบ. เรือนจำขอถวายภัตตาหารเพลพวกเรา ซึ่งตอนนั้นพวกเราได้ “เก็บวัตรธุดงค์” บางข้อ เฉพาะ “เอกาสนิกังคธุดงค์” ไว้แล้ว จึงฉันอาหารเพลได้ ขณะนั่งคุยกันอยู่ก่อนถึงเวลาฉันเพลนั้น หลวงพี่บุญชาติเอาสตางค์ให้นักโทษชายชั้นดีคนหนึ่งไปซื้อของ ท่านกระซิบบอกชื่อของที่ต้องการโดยไม่ให้พวกเรารู้ ชายคนนั้นหายไปพักหนึ่ง กลับมาตอนที่จะเริ่มลงมือฉันอาหารแล้ว เขาหิ้วหัวสับปะรดพะรุงพะรังมาสิบกว่าหัว
“อ้าว...ท่านอาจารย์! อยากฉันสับปะรดก็ไม่บอกผมด้วย ไอ้นุ้ยเอาไปจัดการปอกใส่จานมาเร็ว...!” ผบ. เรือนจำต่อว่าหลวงพี่บุญชาติพร้อมสั่งลูกน้องให้รีบปอกสับปะรดใส่จานมาถวาย
“เจริญพร อาตมาไม่ได้ให้เขาไปซื้อสับปะรดนะ” หลวงพี่บุญชาติค้าน
“ทั่นให้เขาไปซื้ออะไรล่ะ?” หลวงพี่บัณฑิตถามหน้าตื่น ๆ
“ยานัตถุ์ครับ ยานัตถุ์ของผมหมด จึงให้เขาไปซื้อมาให้โหลหนึ่ง”
“แล้วกัน ! ยานัด ภาษาปักษ์ใต้คือสับปะรด แต่ยานัตถุ์นั้นภาษาปักษ์ใต้เขาเรียกยาเป่าครับ”
ผบ. เรือนจำอธิบายด้วยเสียงที่กลั้วหัวเราะ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วทุกคนในที่นั้นก็หัวเราะกันใหญ่เลย
หลวงพี่บุญชาติท่านติดยานัตถุ์ยี่ห้อหมอมี ตามปกติท่านจะนัดหรือเป่าเข้าสองรูจมูกวันละ ๑ ขวด วันไหนมีแขกมาคุยกับท่านมากก็จะเป่าเพิ่มอีกเป็นวันละ ๒ ขวด เวลาไม่มียานัตถุ์ท่านจะหงุดหงิด โมโหง่าย ทุกครั้งที่ท่านนัดยาข้าพเจ้าจะต้องรีบกระเถิบหนีห่างให้พ้นรัศมีฝุ่นละอองยานัตถุ์ของท่าน เพราะไม่ชอบกลิ่นยา คิดเอาเองว่าสองรูจมูกของท่านน่าจะตีบตันเพราะมียานัตถุ์พอกติดอยู่มาก สังเกตดูเห็นท่านบรรจุยาใส่กล้องเป่ายาแล้วเป่าเข้าจมูกนั้น ยาน่าจะเข้าไปในโพรงจมูกท่านเพียงครึ่งเดียวหรืออาจจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งก็ได้ เพราะเห็นฝุ่นยากระจายฟุ้งรอบตัวท่านไม่น้อยเลย
ก่อนถึงวันเดินทางจากเกาะภูเก็ต ๑ วัน คนที่เคยถูกหวยเพราะข้าพเจ้าเป็นเหตุ พากันนำอาหารเครื่องดื่มมาถวายกันมากเป็นพิเศษ นัยว่าเป็นการเลี้ยงส่งอะไรทำนองนั้น ทุกคนเสียดายที่ “พระเณร” ต้องจากพวกเขากลับบ้าน โยมแดงเอาเงินห่อผ้าผืนเล็ก ๆ มาใส่ย่ามข้าพเจ้า นายอุดมก็เอาเงินห่อกระดาษมาใส่ย่ามให้เช่นกัน เป็นจำนวนเงินคนละ ๑ หมื่นบาท บอกว่าเป็นเงินที่พวกศิษย์ที่ถูกหวยเขารวบรวมไว้รอให้เป็นค่าเดินทางวันที่ข้าพเจ้าจะกลับบ้าน ตอนนั้นข้าพเจ้า “เก็บวัตรธุดงค์” ไว้เกือบหมดแล้ว จึงไม่เคร่งครัด ยอมรับเงินทองของมีค่าจากพวกเขาได้ และยังสวมใส่รองเท้าเดินอีกด้วย
หลวงพี่บุญชาติเป็นหัวหน้าคณะพาพวกเราเดินทางจากภูเก็ตกลับบ้านโดยทางรถยนต์ ผ่านทางจังหวัดพังงาแล้วขึ้นรถไฟในจังหวัดพัทลุงเข้ากรุงเทพฯ หลวงพี่บัณฑิตกับข้าพเจ้าพักอยู่กับหลวงพี่บุญชาติที่วัดประยุรวงศ์ฯ ๒ วัน จึงลงเรือเมล์จากท่าเตียนกลับวัดบางซ้ายใน สิ้นสุดการเดินทางประพฤติธุดงค์
เรื่องราวที่ข้าพเจ้าไปเป็นอาจารย์ให้หวยจนมีชื่อเสียงโด่งดังในเกาะภูเก็ตนั้น ถูกหลวงพี่บัณฑิตนำมาบอกเล่าขยายเรื่องเสียจนข้าพเจ้ากลายเป็นผู้วิเศษในวงการหวยเถื่อนในย่านที่อยู่ไปเลย พระเณรเถรชี อุบาสกอุบาสิกาผู้งมงายในหวยเถื่อนมักมาขอ และบางรายก็อ้อนวอนขอเลขเด็ดจนเป็นที่รำคาญแก่ข้าพเจ้าไม่สิ้นสุด
ข้าพเจ้าเริ่มเล่นหวยเถื่อนตามความบ้าของเพื่อนพ้อง เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อว่าเณรเต็ม “รู้เลขหวย” จะได้คลายความเชื่อนั้นเสีย การที่ซื้อเลขหวยเถื่อนไม่ถูกสักงวดเดียวบ่อย ๆ เข้า คนที่เชื่อว่ารู้เลขหวยก็คลายความเชื่อถือและเลิกขอเลขข้าพเจ้าไปในที่สุด
ก็ขนาดเล่นเองแล้วยังไม่ถูก ใครยังเชื่อว่ารู้เลขหวยก็บ้าแล้วครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, ลายเมฆ, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฝาตุ่ม, เฒ่าธุลี, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๒ -
การเล่นหวยเถื่อนนี่ก็แปลก ถ้าไม่เล่นก็ไม่เกิดความอยากความโลภอะไรนัก พอเล่นเข้าสัก ๓-๔ งวดติดต่อกันเท่านั้นแหละครับ มันเหมือน “ผีพนัน” เข้าสิง ความอยากความโลภเข้าครอบงำจิตใจ คิดแต่จะซื้อให้ถูกหวยจนได้ แม้ซื้อไม่ถูกก็ไม่หมดความหวัง พยามยามซื้อต่อไปด้วยความหวังว่าจะถูก บางงวดซื้อถูกก็ยังไม่พอใจ เห็นว่าได้น้อยไป ต้องซื้อต่อเพราะหวังถูกหวยมากเกินไปจนลืมนึกถึงเหตุผลใด ๆ คนบ้าหวยหรือนักนิยมหวยเถื่อนจึงแสวงหาเกจิอาจารย์ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ขอเลขหวยทั้งตัวตรงและการบอกใบ้ให้เป็นปริศนา บ้างก็คิดสูตรเลขต่าง ๆ เฟ้นหาตัวเลขเด่น ล็อคต่าง ๆ ที่เกิดจากนักคิดคำนวณหวยเถื่อนมากมาย ข้าพเจ้าเองแม้จะเคยเป็นอาจารย์หวยมาแล้วก็ยังถูก “ผีพนัน” เข้าสิงไปด้วยเหมือนกัน อยากถูกหวยเถื่อนจนถึงกับออกแสวงหาพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายองค์
หลวงพ่อนอท่าเรือ, หลวงพ่อเสืออยุธยา, หลวงพ่อนกกระเต็น และอีกหลายหลวงพ่อที่ไปกราบขอหวยและขอเรียนวิชานั่งดูหวย แต่ล้วนผิดหวังทั้งสิ้น หลวงพ่อนอท่าเรือบอกว่า
“เณรอย่าบ้าไปตามเขาเลย ไม่มีใครเห็นเลขหวยจริงหรอก บางองค์อาจจะเห็นเลข แต่เป็นเลขหลอก ๆ พอมันออกจริงก็ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง” ท่านยังให้คติไว้ดีมากว่า
“อนาคตคือความฝัน ปัจจุบันคือความคิด อดีตที่ล่วงไปแล้วเอาคืนมาไม่ได้”
ดังนั้นเลขหวยที่ยังไม่ออกมันเป็นความฝันที่ส่วนมากจะไม่จริง
หลวงพ่อเสืออยุธยาท่านปักกลดอยู่ใต้ต้นพุทราในวังโบราณ เขาเล่ากันว่ามีคนนั่งรถสามล้อไปขอหวยท่านก็บอกว่า “หวยอยู่ที่ก้นมึงแล้ว ที่กูไม่มีหรอก” คนไปขอนั้นโกรธ ก็กลับโดยไม่ลา แต่คนถีบสามล้อมีความคิดเฉลียวจึงเอาเลขทะเบียนรถสามล้อของตนไปแทงหวยถูก ได้เงินเป็นหมื่นบาท คำบอกเล่านี้เป็นข่าวดังนานจนเป็นตำนานไปแล้ว ข้าพเจ้าเข้าไปหายังไม่ทันจะเอ่ยปากขอหวย ท่านก็บอกว่า
“เณรอย่าบ้าไปกับพวกบ้าหวยทำไม เคยไปธุดงค์และเคยให้หวยมาแล้วไม่ใช่เรอะ?”
เป็นงงมาก ไม่รู้ว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าข้าพเจ้าเคยเดินธุดงค์และเคยให้หวย ชวนท่านพูดคุยท่านก็ไม่ยอมพูดคุยด้วย เลยต้องลากลับมือเปล่า
หลวงพ่อนกกระเต็น วัดดอนยานนาวา บางคนว่าท่านไม่มีตัวตน บางคนว่าได้แก่ท่านพระครูเจ้าอาวาส ข้าพเจ้าเข้าไปหาท่านพระครูเจ้าอาวาส ก็เห็นว่าท่านเป็นคนใจดี ดูยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ถือเนื้อถือตัว สิ่งที่ท่านชอบมากคือ การดูมวยทางทีวี. วันไหนมีรายการถ่ายทอดการชกมวยทางทีวี. จะมีพระเณรและเด็กวัดเต็มกุฏิ (หลังใหญ่) ของท่าน ดูและเชียร์มวยกันเฮฮามาก ตัวท่านเองก็นั่งเฝ้าหน้าจอทีวี. โดยไม่สนใจแขกเหรื่อใด ๆ ข้าพเจ้าเข้าไปขอหวยในจังหวะที่ปลอดคน ท่านก็บอกว่าไม่มีหรอก คนมันบ้ากันไปเอง ก็แย้งว่า เห็นมีโพย “นกกระเต็น” ใบ้เลขแม่น ท่านก็ว่า “ไปขอนกกระเต็นซี่” ท่านไม่รับและไม่ปฏิเสธว่าเป็น “นกกระเต็น” ก็เลยไม่รู้จริง ๆ ว่า เจ้าขอนามอันโด่งดังและสุดขลังนี้เป็นใครกันแน่?
คราวนั้นมีข่าวเล่าลือกันว่า “นกกระเต็น” วัดดอน รู้เลขหวยจริง ท่านเคยให้เลข ๖ ตัวรางวัลที่ ๑ ตรงเผงเลย แต่ส่วนมากจะไม่ยอมให้ตัวตรง ท่านมักจะบอกใบ้ เขียนเป็นยันต์ ให้คำปริศนา เช่นว่า “นกกระเต็นเต้นหยอย ๆ กินน้อย ๆ อิ่มมาก ๆ” หรือ “นกกระเต็นเต้นหยอง ๆ สองคุณสองต้องเป็นศูนย์” อะไรทำนองนี้ คำปริศนาที่ข้าพเจ้าจำได้แม่นไม่รู้ลืมคือ “ศูนย์แฝดแปดฉะอ้อนสี่ซ้อนย้อนสอง” คำปริศนานี้ข้าพเจ้าคิดได้เป็นเลย ๘๘ แต่นักเล่นหวยด้วยกันไม่มีใครเชื่อ
เหตุผลที่คิดออกมาเป็นเลข ๘๘ นั้น มีคำอธิบายได้ว่า “ศูนย์แฝด” นั้นหมายถึงเลขศูนย์สองตัวติดกันก็มีรูปเป็นเลข ๘ คำว่า “สี่ซ้อน” นั้นก็หมายถึงเลข ๘ เพราะเลขสี่สองตัวซ้อนกันนั้นเท่ากับ ๘ มิหนำซ้ำท่านยังบอกว่า “แปดฉะอ้อน” ก็หมายถึงว่า เลขแปดกับเลขแปดมันกำลังออดอ้อนกันอยู่ คำใบ้ตบท้ายยังบอกย้ำอีกว่า “สี่ซ้อนย้อนสอง” ก็เป็นที่แน่นอนว่าเลขแปดมีสองตัว แต่เพื่อนนักเล่นหวยด้วยกันเขาคิดไปอีกอย่างหนึ่งว่า มีเลข ๐-๘-๔-๒ แล้วสลับจับคู่เล่นอย่างสนุก ข้าพเจ้าซื้อตัวตรง ๆ เป็นเลขท้าย ๒ ตัวรางวัลที่ ๑ คือ “๘๘” ผลที่ออกมางวดนั้นข้าพเจ้าถูก ๒๐ บาท ได้ทุนคืนมาไม่ถึงครึ่งของเงินที่เสียไปหลายงวดแล้วนั้น
การคิดปริศนาตีความคำใบ้และเลขยันต์หวยของอาจารย์หวยต่าง ๆ รวมถึงการคิดตีความหมายของความฝันและคำนวณตัวเลขตามล็อคหวย เป็นเรื่องสนุกและเพลิดเพลินดี ตอนที่เป็น “อาจารย์หวยจำเป็น” นั้น ไม่เคยรู้รสชาติความสนุกในการคิดปริศนาคำใบ้อะไร นึกขำขันพวกที่คิดแล้วซื้อไม่ถูก พอหวยออกแล้วจึงคิดได้ ลงโทษตัวเองว่าโง่ไปแล้ว อะไรทำนองนั้น แต่พอมาเป็นคนเล่นหวยและคิดปริศนาคำใบ้หวยบ้าง ก็มีสภาพเดียวกันกับพวกที่ไปขอหวยผมนั่นแหละครับ อย่างนี้เรียกว่า “กงเกวียนกำเกวียน” ก็ไม่ผิด ในชีวิตการเล่นหวยเถื่อนของข้าพเจ้ามีถูกเพียงครั้งเดียว คือเลข “๘๘” นอกนั้นไม่เคยถูกเลย จนกระทั่งเลิกเล่นไปในที่สุด
ข้าพเจ้ามีอายุครบการคัดเลือกเข้าเป็นทหารเกณฑ์ในขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่ และจะบวชเป็นพระภิกษุในปีนั้น มีญาติพี่น้องผองเพื่อนหลายคนบอกให้ยื่นผ่อนผันการเกณฑ์ทหารตามสิทธิของพระเณรที่กำลังเล่าเรียนพระปริยัติธรรม แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมยื่นขอรับการผ่อนผัน เพราะในส่วนลึก ๆ ของใจอยากเป็นทหารเกณฑ์เหมือนอย่างพี่ชายที่เคยเป็นมาแล้ว จึงเข้ารับการเกณฑ์เป็นทหารตามกำหนด
คืนนั้นลงเรือเมล์จากวัดบางซ้ายในไปเมืองสุพรรณบุรี เรือเมล์นี้เป็นเรือขนาดใหญ่สีแดงเลือดหมูของบริษัทสุพรรณ มี ๒ ชั้น คือชั้นล่างสำหรับบรรทุกสินค้านานาชนิด แม้กระทั่งหมูเป็ดไก่ก็ใส่กระชุใส่ตาเข่งลงเรือนี้ ชั้นบนเป็นห้องผู้โดยสาร ตรงท้ายเรือยกชั้นขึ้น (ดูเหมือนเขาจะเรียกว่า “บาหลี”) สำหรับเป็นที่นั่ง-นอนของพระภิกษุสามเณร เรือเมล์ของบริษัทนี้เขามีสายการเดินเรือหลายสาย แข่งกับเรือเมล์ของบริษัทขนส่ง (บ.ข.ส.) ซึ่งใช้สีแดงสดทาเรือ และยังมีเรือเมล์สีเขียวแข่งแทรกอีกในบางสาย เฉพาะสายที่เดินทางผ่านวัดบางซ้ายในนั้น บางลำเริ่มต้นทางที่อำเภอเดิมบางนางบวช ผ่านสามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า บางซ้าย บ้านแพน (อำเภอเสนา) สีกุก (อำเภอบางบาล) บางไทร สามโคก ปทุมธานี ปากเกร็ด นนทบุรี ถึงท่าเตียน อันเป็นท่าเรือรวม ข้าพเจ้ารอเรือที่ออกจากท่าเตียนที่ผ่านวัดบางซ้ายในไปสุพรรณ กว่าจะได้ลงเรือก็เป็นเวลาหลังเที่ยงคืนแล้ว เพราะวันนั้นเรือรับส่งสินค้าและผู้คนจอดตามรายทางมาก จึงเกิดการล่าช้ากว่าปกติ พอถึงท่าเมืองสุพรรณในเวลารุ่งแจ้ง ขึ้นจากเรือเมล์เดินผ่านตลาดใหญ่กลางเมืองไปวัดสุวรรณภูมิอันเป็นสถานที่คัดเลือกทหารเกณฑ์ ขึ้นไปบนศาลาการเปรียญแล้วทายกก็นิมนต์ให้นั่งบนอาสน์สงฆ์ร่วมกับพระเณรที่มาจากวัดต่าง ๆ เพื่อรอคัดเลือกทหาร ได้เวลาฉันอาหารเช้าเขาก็นำอาหารมาถวายพระเณรเหมือนการทำบุญกันตามปกติ
วันนั้นผู้คนในบริเวณวัดสุวรรณภูมิแน่นขนัดไปด้วยชายหนุ่มวัยฉกรรจ์และญาติพี่น้องของผู้ถูกเกณฑ์มาคัดเลือกทหาร เพื่อน ๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันกับข้าพเจ้าสิบกว่าคนก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา พบปะกันก็สนทนาฮาเฮตามประสาเพื่อนชาย ได้เวลาคัดเลือกแล้วทางสัสดีก็เรียกไปตรวจร่างกายและวัดขนาดอกจัดประเภทเป็น ดีหนึ่งประเภทหนึ่ง ดีหนึ่งประเภทสอง ดีสอง..... ข้าพเจ้าผ่านการคัดเลือกเป็นดีหนึ่งประเภทหนึ่ง รอจับใบดำใบแดงต่อไป
อำเภอเมืองสุพรรณบุรีมีหลายตำบลซึ่งก็ล้วนแต่เป็นตำบลใหญ่ ๆ ทั้งนั้น อย่างบ้านข้าพเจ้าอยู่ในตำบลตลิ่งชัน หมู่ที่ ๖ เพียงหมู่บ้านเดียวก็มีชายฉกรรจ์ถูกเกณฑ์ตั้งสิบกว่าคนไปแล้ว ดังนั้นการคัดเลือกทหารจึงเป็นไปได้ด้วยความล่าช้า
ข้าพเจ้านั่งรอจับใบดำใบแดงอยู่ท้ายอาสน์สงฆ์บนศาลาการเปรียญเป็นเวลานานจนม่อยหลับไปด้วยความง่วง (เพราะเมื่อคืนนี้นอนไม่เต็มตื่น) นานแค่ไหนไม่รู้ มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเพื่อน ๆ มาเขย่าตัวปลุกให้ตื่น จึงตื่นขึ้นอย่างงัวเงีย คิดว่าเขาเรียกให้ไปจับใบดำใบแดง จึงลงจากอาสน์สงฆ์เดินงง ๆ
“เณรจะไหน?” เพื่อนคนหนึ่งจับแขนดึงไว้
“ก็ไปจับใบดำใบแดงไงล่ะ” ข้าพเจ้าตอบแบบสะลึมสะลือ
“เขาเลิกกันแล้วเณร! กลับบ้านกันเถอะ” เพื่อนเขย่าแขนเตือน
“อ้าว..! ก็ฉันยังไม่ได้จับใบดำใบแดงนี่นา?” ยังงงอยู่
“ไม่ต้องแล้ว หมู่บ้านเราเขาเอาแค่ ๓ คน และจับใบแดงได้ ๓ คนครบแล้ว นอกนั้นเป็นใบดำทั้งหมดเลย เณรก็ได้ใบดำด้วย” เพื่อนอธิบายให้หายข้องใจ
มารู้ความจริงภายหลังว่า ขณะที่นั่งหลับรอจับใบดำใบแดงอยู่นั้น เขาได้เรียกชายฉกรรจ์ดีหนึ่งประเภทหนึ่งจับใบดำใบแดงเรียงตำบลไปจนถึงตำบลตลิ่งชัน เมื่อถูกเรียกชื่อจับใบดำใบแดงนั้น ข้าพเจ้านั่งหลับไม่รู้เลย เพื่อน ๆ ตะโกนบอกว่า “เป็นพระ !” ทางสัสดีก็ชูใบสลากขึ้นประกาศว่า “ใบดำ” คนในศาลาก็พากันส่งเสียงเฮลั่น แสดงความดีใจว่า พระจับได้ใบดำ ทั้งนี้ก็เพราะคนส่วนมากไม่อยากให้พระถูกเกณฑ์เป็นทหาร จึงเอาใจช่วยตอนที่พระเข้าจับใบดำใบแดง ข้าพเจ้าผ่านการคัดเลือกทหารเกณฑ์มาด้วยการจับได้ใบดำทั้ง ๆ ที่นั่งหลับรอจับสลากนั่นเอง นี่เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่ต้องเชื่อครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๓ - เมื่อผ่านพ้นการเข้ารับคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์มาได้แล้ว ก็ต้องพ้นจากการเป็นสามเณร เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อไป มีสามเณรหลายองค์ซึ่งส่วนมากเป็นนักธรรมและเปรียญธรรมอุปสมบทโดยไม่ลาเพศจากการเป็นสามเณร คือเมื่อพระอุปัชฌาย์ประชุมสงฆ์ในสีมาเรียบร้อยแล้วสามเณรผู้จะอุปสมบท สมาทานศีลเป็นสามเณรที่มีศีลบริสุทธิ์แล้ว เข้าสู่หัตถบาตรในที่ประชุมสงฆ์ กล่าวคำขออุปสมบทเป็นพระภิกษุได้เลย โดยไม่ต้องขอการบรรพชาใหม่เหมือนคฤหัสถ์ที่ต้องขอบรรพชาอุปสมบท มีหลายคนบอกให้ข้าพเจ้าเป็นสามเณรเข้าขออุปสมบทอย่างนั้นบ้าง แต่ขอเวลาหน่อย คือขอลาเพศการเป็นสามเณร (สึก) ออกเป็นคฤหัสถ์เพื่อไปสนุกกับเพื่อน ๆ ก่อนบวชเป็นพระภิกษุสักระยะหนึ่ง
จะว่าอยากออกจากผ้าเหลืองไปลิ้มรสสด ๆ คาว ๆ ของฆราวาสบ้าง งั้นก็ได้
ขณะที่เป็นสามเณรอยู่นั้น มีหลายครั้งหลายคราวที่มีจิตกระหวัดไปในฆราวาสวิสัย เห็นหนุ่มสาว (และไม่ใช่หนุ่มสาว) เขามีคู่จู๋จี๋กันก็กระสันจะทำอย่างเขาบ้าง ความคิดนี้เป็นความคิดของปุถุชน คือคนที่หนาแน่นด้วยกิเลสโดยแท้ พระ-เณรที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์นั้นก็เพราะมีศีลเป็นเครื่องป้องกันไว้ (อยู่ในคอกของศีล) แต่จิตใจคือความรู้สึกนึกคิดนั้น ศีลไม่อาจกั้นกางขวางไว้ได้ เมื่อขาดสติสัมปชัญญะคราใด จิตใจก็จะถูกตัณหาราคะชักจูงให้จินตนาการไปในอารมณ์อันน่าปรารถนา น่าพอใจ มีรูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น จึงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่า มีพระภิกษุ “แหกคอก” ออกจากกรอบของศีลไปมีเพศสัมพันธ์กับสตรีจนกลายเป็น “ผู้แพ้” (ปาราชิก) เหมือน “ตาลยอดด้วน” ไปในที่สุด
ตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นหนุ่มเต็มตัว ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า “บรรลุนิติภาวะ” แล้ว ความอยากรู้อยากลองในเรื่องโลกียวิสัยจึงคุกรุ่นอยู่ในใจตามวิสัยของปุถุชน คิดว่าจะต้องบวชเป็นพระภิกษุและคงจะต้องอยู่ในเพศนั้นอีกนานปี ไหน ๆ ก็จะบวชเป็นพระแล้ว ขอท่องโลกฆราวาสให้มาก ๆ ไว้ก่อน จะได้ไม่เป็นพระโง่ ๆ ในเรื่องโลกียวิสัยเหมือนพระบางองค์ที่เคยเห็นมา ข้าพเจ้าคิดอย่างนั้นจริง ๆ
เพราะบวชเป็นสามเณรอยู่นานปี พอสึกออกไปเป็นฆราวาสใหม่ ๆ ก็เก้งก้างเก้ ๆ กัง ๆ เกะกะ ด้วยไม่คุ้นเคยกับพฤติกรรมของฆราวาส อันที่จริงเมื่อสึกจากเณรเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นพระภิกษุควร “เป็นนาค” พักแรมคืนอยู่ในวัด แต่กลับไม่ได้อยู่ในวัด ด้วยมีครอบครัวผู้ที่ชอบพอกันชักชวนให้ไปกินนอนอยู่ที่บ้านโน้นบ้างบ้านนี้บ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีไทยในชนบท โดยพวกเขาเห็นข้าพเจ้าเป็นเหมือน “แขกบ้าน” ที่ต้องให้การต้อนรับตามธรรมเนียมไทย และก็เป็น “แขกบ้าน” ของเขาจริง ๆ เพราะเป็นคนต่างถิ่น ไม่มีบ้าน ไม่มีญาติพี่น้องของตนอยู่ในท้องถิ่นนั้นเลย
มีอยู่บ้านหนึ่ง เป็นบ้านหญิงม่ายอายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ ข้าพเจ้าเรียกเธอว่า “พี่” คุ้นเคยกันตั้งแต่เป็นเณร เธอชักชวนให้ไปนอนพักแรมที่บ้านบ้าง เป็นบ้านที่มีชายคาชิดติดกับบ้านพ่อแม่ของเธอ “พี่” อยู่เรือนหลังนี้เพียงลำพัง เพราะสามีเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ทันมีลูกด้วยกัน ข้าพเจ้าก็ไปนอนด้วยใจเคารพนับถือซื่อบริสุทธิ์ “พี่” ให้ความเป็นกันเองบริการด้านอาหารการกิน ที่หลับที่นอนอย่างดี ยามมืดค่ำก็ปูที่นอนกางมุ้งให้ ยามเช้าลุกจากที่นอน “พี่” ก็เก็บมุ้งเก็บที่นอนเรียบร้อย จัดข้าวปลาอาหารอย่างดีให้รับประทาน
และแล้วก็มีเหตุที่ข้าพเจ้าคิดไม่ถึงเกิดขึ้น ในขณะที่นอนหลับสนิทยามดึกของคืนที่สองนั้น ต้องสะดุ้งตกใจตื่นเมื่อมีคนมานอนกอดแน่นและจูบฟัดอย่างแรง
“พี่อยากกอดน้องเณรมานานแล้ว” เสียงกระเส่าสั่น ๆ ของ “พี่” กระซิบที่หู ทำให้รู้สึก วาบวูบหวิวหวามอย่างไร บอกไม่ถูก
เมื่อไฟราคะมันลุกฮือขึ้นจนสุดที่จะดับให้มอดลงได้ ข้าพเจ้าก็ตกเป็นของ “พี่” ในยามดึกของคืนนั้นเอง เรียกว่าสมอยากเลยก็แล้วกัน
จากนั้นก็ใช้ชีวิตคลุกคลีราคีคาวอยู่ในโลกียวิสัยได้เดือนเศษ ชักจะติดรสโลกีย์ราคีคาวจนไม่อยากบวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็จำต้องเลิกละฆราวาสวิสัย ลาร้างรสโลกีย์ราคีคาวนั้น เพราะ “หลวงพ่อแปลก” ซึ่งเสมือนเป็นพ่อแท้ ๆ ของข้าพเจ้า ท่านได้กำหนดวันเวลาจัดงานอุปสมบทไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว อย่างไรเสีย เณรเต็ม ก็ต้องบวชเป็นพระเต็มต่อไปอย่างแน่นอน
นาคเต็ม ไม่ต้องเข้าวัดท่องขานนาคเตรียมตัวบวชเป็นภิกษุเหมือนอย่างนาคทั่วไป เพราะได้บวชเป็นสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบความรู้ได้เป็นนักธรรมชั้นเอก ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของแผนกพระปริยัติธรรม และเพิ่งจะลาสิกขาออกมาหมาด ๆ “กลิ่นผ้าเหลือง” ยังไม่จางหายหมดไปจากกายเลย คำขานนาคและพิธีการขออุปสมบทก็รู้ดีอยู่แล้ว
เพราะไม่ต้องเข้าไปอยู่ประจำในวัดนี่เอง “นาคเนื้อหอม” อดีตเณรเต็ม “คนดัง” แห่งวัดบางซ้ายใน จึงทำตัวเป็น “พ่อพวงมาลัยลอยไปลอยมา” ในทุ่งรางเนื้อตายและบางซ้าย-เต่าเล่า นอนค้างแรมคืนตามบ้านผู้ที่นับถือชอบพอกัน ทุกบ้านทุกคนให้ความไว้วางใจไม่รังเกียจ “พี่” ม่ายสาวซึ่งเป็นคนแรกที่ข้าพเจ้าล่วงศีล “กาเมสุมิจฉาจาร” ก็มิได้ยื้อดึงหึงหวง เธอปล่อยข้าพเจ้าเป็นอิสรเสรีในการเป็นอยู่ โดยข้าพเจ้าเองก็มิได้เหินห่าง “พี่” จนเกินไป คงวนเวียนไปนอนค้างอ้างแรมที่บ้านเสมอ
ใกล้จะถึงวันเข้าพิธีอุปสมบทแล้ว นาคเต็มไปบ้านรางเนื้อตาย และพักแรมที่บ้าน “น้าเหงี่ยม” ทางตอนใต้ของวัด (ห่างวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร) ที่นี่ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์อันเหลือเชื่อ บอกใคร ๆ ก็คงไม่เชื่อ แม้ตัวเองเมื่อคิดย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์นั้นแล้วก็ยังไม่เชื่อว่า “มันเป็นไปได้อย่างไร?”
น้าเหงี่ยมกับน้านง สองสามีภรรยาที่ข้าพเจ้านับถือมาก มีลูกสาวคนโตชื่อ “งาม” คนรองชื่อ “นุช” ปีนั้น “งาม” อายุ ๑๗-๑๘ เห็นจะได้ วันที่ข้าพเจ้าไปพักแรมที่บ้านน้านั้น เป็นการบังเอิญหรืออย่างไรก็ไมรู้ น้าเหงี่ยม น้านง ต้องเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในอำเภอบางบาล พา “นุช” ลูกสาวคนเล็กวัย ๑๔ ปีไปด้วย กำหนดว่าจะไป ๒ คืน ให้ข้าพเจ้าเฝ้าบ้านอยู่กับ “งาม ”เพียงสองคน “งาม” เป็นเด็กเรียบร้อย เธอไม่ใช่คนสวย แต่ก็งามสมชื่อ ข้าพเจ้านอนตรงมุมห้องโถง โดย “งาม” เป็นคนปูที่นอนและกางมุ้งให้ ส่วนเธอนั้นเข้านอนในห้องนอน คืนแรกนอนหลับไม่สนิทนัก ไม่ใช่เพราะผิดที่จึงนอนไม่หลับหรอกครับ แต่ใจมันคอยคิดไปในเรื่องอกุศลกรรม ใฝ่ต่ำจะทำมิดีมิร้ายต่อ “งาม” เหมือนที่ทำกับ “พี่” ม่ายสาวและบางคนซึ่งผ่านมา รุ่งเช้าตื่นนอนแล้วพบว่า งามกำลังเข้าครัวทำอาหาร ข้าพเจ้าบอกเธอว่าเช้านี้ไม่ต้องจัดอาหารให้ เพราะจะเข้าวัดและกินข้าวเช้าในวัดด้วย
ข้าพเจ้าอยู่ในวัดครึ่งวัน ใช้เวลาหมดไปด้วยการเล่นหมากรุกกับหลวงตาเปรม คู่ปรับเก่า เล่นตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาฉันเพล หลวงตาเปรมเลิกเล่นไปฉันเพล ครูฉิ่งก็เข้าหน้าแป้นแทนหลวงตาเปรม เล่นกันอยู่จนบ่ายโมง ครูฉิ่งก็เลิกเล่นไปเข้าห้องสอนนักเรียนตามเวลา ข้าพเจ้าเลิกเล่นหมากรุกแล้วกลับไปบ้านน้าเหงี่ยม น้อง “งาม” จัดสำรับกับข้าวไว้คอยท่า ข้าพเจ้าก็ “ฉลองศรัทธา” เธอตามระเบียบ ขณะรับประทานอาหารนั้น “งาม” ไม่ได้ทานด้วย แต่เธอนั่งฟังวิทยุอยู่ห่าง ๆ รายการวิทยุสมัยนั้นที่นิยมกันมากคือ ละคร-ลิเก มากกว่าเพลง มีละครวิทยุหลายคณะออกอากาศในหลายสถานี ที่คนติดกันมากเห็นจะเป็นคณะ “ผาสุกวัฒนารมย์” ลิเกดัง ๆ ก็มี เสนาะน้อย เสียงทอง, ทองใบ รุ่งเรือง, บุญส่ง จารุวิจิตร, ประยงค์ ลูกบางแก้ว เป็นต้น
ข้าพเจ้าอยู่กับ “งาม” ตั้งแต่วันยันค่ำ ไม่ค่อยได้พูดคุยอะไรกันมากนัก ก็จะคุยอะไรกันได้มากล่ะครับ ? ข้าพเจ้าถามคำเธอตอบคำจนไม่มีอะไรจะถามเธอ ส่วนใหญ่เธอจะเปิดวิทยุฟังละคร-ลิเก ข้าพเจ้าก็ต้องพลอยฟังทำใจให้สนุกตามเธอไปด้วย เด็กสาวชนบท (บ้านนอก) สมัยนั้นส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือในระดับชั้นมัธยม เรียนจบชั้นประถมแล้วก็ทำนาทำไร่ค้าขายไปตามอาชีพเดิมของตระกูล “งาม” ลูกสาวชาวนาทุ่งรางเนื้อตายก็เป็นเช่นนั้น เรียนจบ ป.๔ แล้วก็ทำนาอยู่ในสังคมแคบ ๆ เธอโตเป็นสาวเต็มตัว งามตามประสาสาวชาวนา ร่างกายอวบอั๋นผิวคล้ำเป็นนวลใยน่าสัมผัสลูบไล้ไม่น้อยเลย เวลาคุยกันเธอก็มักก้มหน้าไม่กล้าสบตา คล้ายมีความขวยเขินสะเทิ้นอายกระนั้น /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๔ - ค่ำคืนที่สอง เสียงวิทยุเทียบเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกาดังขึ้น ข้าพเจ้าไม่อาจอดใจนอนคิดฟุ้งซ่านอยู่ในมุ้งมุมห้องโถงต่อไปได้แล้ว ลุกออกจากมุ้งไปปิดเครื่องรับวิทยุริมห้องโถง แล้วเดินไปเปิดประตูห้องนอนของงามที่ไม่ได้ลงกลอน เธอกางมุ้งและเข้านอนแล้ว แต่ยังไม่หลับ มีตะเกียงน้ำมันก๊าดจุดไฟหรี่แสงตั้งไว้ทางหัวนอนดวงหนึ่ง ข้าพเจ้าค่อย ๆ เปิดมุ้งเข้าไปด้วยใจมุ่งที่จะละเมิดทางเพศเธอ แทนที่จะแสดงอาการตกอกตกใจลุกขึ้นโวยวาย งามกลับนอนเหยียดยาวตัวแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้ ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ข้าพเจ้าเอนตัวลงนอนเคียงข้างเธอ พร้อมบรรจงจูบแก้มซ้ายอย่างแผ่วเบา นั่นแหละเธอจึงมีปฏิกิริยาพลิกตัวไปทางขวา ข้าพเจ้านอนตะแคงประกบด้านหลังและโอบกอดเธอพร้อมจุมพิตตรงต้นคอ เธอแสดงอาการสยิวร่างแล้วพลิกกายกลับมาทางซ้าย ไม่มีเสียงพูดจาพึมพำและแม้กระเส่ากระซิบใด ๆ ข้าพเจ้ากอดจูบลูบคลำเรือนร่างอันอวบอั๋นของเธออย่างทะนุถนอม กลิ่นอายกายสาวบริสุทธิ์หอมกรุ่นละมุนละไม จากหอมเย็นเจือจางแล้วค่อย ๆ ฉมฉุนขึ้นตามความร้อนแรงแห่งเพลิงใคร่ ตัณหาราคะไม่มีชั้นวรรณะและเผ่าพันธุ์ เมื่อถูกอดจูบลูบเคล้นคลึงคลำมาก ๆ เข้า กายเธอก็สั่นสะท้านไหว หายใจแรง มีอารมณ์ตอบสนองตามธรรมชาติของกามโภคี
ในขณะที่จะเริ่มเสพสมรสนั้น งามโอบกอดข้าพเจ้าแน่นแล้วกระซิบด้วยเสียงสั่น ๆ ว่า
“พี่บวชพรรษาเดียวแล้วสึกมาอยู่กับงามนะ”
เสียงกระซิบสั่งนั้นแม้เพียงแผ่วเบา แต่มันเป็นคำประกาศิตที่ดังเหมือนเสียงฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงลงมากลางอกจนข้าพเจ้าสะดุ้งเฮือก!
สติสัมปชัญญะคืนกลับมาอย่างฉับพลัน พลิกร่างลงนอนหงายผลึ่งด้วยความตื่นตระหนกตกใจ คำกระซิบสั่งที่ว่า “พี่บวชพรรษาเดียวแล้วสึกมาอยู่กับงามนะ” นั้นมันฉุดกระชากตัณหาราคะให้หยุดชะงักงัน อารมณ์ใคร่หดหายไปดังปลิดทิ้ง นอนนิ่งทำใจอยู่จน “งาม”พลิกครึ่งร่างขึ้นทับอกข้าพเจ้าแล้วถามเบา ๆ
“เป็นอะไรไปเหรอพี่?”
“ไม่ ! ไม่เป็นอะไรหรอกงาม อื่มม์.....พี่ไม่รู้จะพูดอย่างไร เดี๋ยวก่อน..ขอเวลาพี่คิดหน่อยนะ”
เธอก็ช่างน่ารักเหลือเกิน นอนเอาหน้าซบอกนิ่งอยู่โดยไม่พูดอะไรเลย
ข้าพเจ้ากลายสภาพจากเด็กหนุ่มคะนองเป็นผู้ใหญ่ที่สุขุมรอบคอบขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ คำพูดของเด็กสาวในอ้อมกอดอันร้อนแรงด้วยเพลิงราคะที่ว่า “พี่บวชพรรษาเดียวแล้วสึกมาอยู่กับงามนะ” นั้น เป็นเหมือนคำสั่งคาดคั้นให้ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยข้าพเจ้าจะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเธอในฐานะภรรยาไปตลอดชีวิต ภาพการเป็นชาวนา ไถนา หว่านข้าวกล้า เกี่ยวข้าว นวดข้าว ขนข้าวใส่ยุ้งและกิจกรรมต่าง ๆ ของการเป็นชาวนาปรากฏขึ้นในมโนธรรมอย่างเด่นชัด ถ้าข้าพเจ้าประกอบกามกิจเสร็จสมอารมณ์ใคร่ในคืนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ จมชีวิตของตนเองอยู่ในปลักชาวนาแห่งทุ่งรางเนื้อตายแน่นอน
โดยความเป็นจริงแล้วข้าพเจ้าไม่ได้รักงาม ไม่เคยมีความคิดหวังว่าจะใช้ชีวิตคู่อย่างสามีภรรยากัน จิตใจของข้าพเจ้าที่มีต่อหญิงสาวทั่วไปนั้นมันเป็นเพียง “ความใคร่” ไม่ใช่ “ความรัก” ไม่มีความคิดรับผิดชอบเลี้ยงดูใคร ไม่คิดจะให้ใครเลี้ยงดูอยู่ด้วยตลอดกาล ไม่ต้องการพันธะสัญญาผูกพันใด ๆ รักที่จะเป็น “คนหลักลอย” ว่างั้นก็ได้
ข้าพเจ้ารักชีวิตที่มีอิสรเสรี ทำตัวเหมือน “วิหคเหินลม” บินไปไหน ๆ ได้ตามใจปรารถนา ค่ำไหนนอนนั่น ไม่ปรารถนาเรือนรังใหญ่โตอยู่ประจำ ตกลงใจไว้ว่าหลังจากบวชเป็นภิกษุแล้วจะจาริกไปตามใจปรารถนาในทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะไปได้ มันเป็นความรู้สึกคิดที่เกิดขึ้นในสมัยที่ออกเดินทางไปประพฤติธุดงควัตรในสถานที่ต่าง ๆ และดำรงอยู่ในใจตลอดมา
ครั้น “งาม” ออกคำสั่งให้สึกจากพระภิกษุมาอยู่กับเธอ ความคิดฝันในอิสรเสรีที่เคยบรรเจิดจ้าก็ดับวูบลง ข้าพเจ้านอนนิ่งคิดชั่งใจระหว่างการอยู่เป็นผัวเมียกับ “งาม” ไปตลอดชีวิต และการอยู่ในบรรพชิตเพศ ใช้ชีวิตอิสรเสรีเป็น “วิหคเหินลม” นั้น จะเลือกเอาข้างไหน ใจบาปหนาด้วยกิเลสมันบอกว่า “เอามันซะเลยเถอะ ไม่ต้องคิดอะไรมาก รับปากแล้วทิ้งมันไปก็ได้”
ใจบุญกิเลสเบาบางก็คิดค้านว่า “อย่าทำกรรมอันชั่วช้าลามก ไร้ศีลอย่าสิ้นธรรม”
สำนึกยามนั้นของข้าพเจ้าโน้มเอียงไปทางความคิดของใจบุญกุศลมากกว่าใจบาปหยาบช้า
คิดถึงน้าเหงี่ยม น้านง พ่อแม่ของงาม ที่รักใคร่เอ็นดูข้าพเจ้า ไว้วางใจให้อยู่เป็นเพื่อนลูกสาวท่าน ถ้าข้าพเจ้าชำเราเด็กสาวผู้บริสุทธิ์คนนี้ก็เท่ากับว่าเป็น “คนอกตัญญู” ลบหลู่คุณท่านเป็นเหมือนอย่างคำพูดที่ว่า “กินบนเรือน ขี้รดหลังคา” กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เลวทรามต่ำช้าอย่างที่สุด เมื่อบวชเป็นพระภิกษุไปแล้วจะให้เขายกมือไหว้ ถวายอาหารให้ขบฉันอย่างสนิทใจอย่างไรได้เล่า เห็นจะ “มองหน้ากันไม่ติด” เป็นแน่
คิดถึงความเป็นเด็กสาวซื่อบริสุทธิ์ของงาม เธอบริสุทธิ์กาย โดยร่างกายของเธอยังไม่เคยถูกต้องมือชายในเชิงเชยชมด้วยอารมณ์ใคร่ เธอบริสุทธิ์ใจ โดยยังไม่เคยคิดร่วมรักร่วมใคร่กับชายใดมาก่อน ข้าพเจ้าเป็นชายคนแรกที่จุดไฟราคะกิเลสให้ลุกโพลงขึ้นในใจเธอ
แล้วข้าพเจ้าจะเลวทรามต่ำช้าจนถึงกับกล้าทำลายเธอแล้วทิ้งเชียวหรือ?
ข้อความดังกล่าวนั่นแหละครับที่เกิดขึ้นในใจ ขณะที่นอนนิ่งคิดอยู่ ด้วยสำนึกอันดีงาม ข้าพเจ้าเอามือลูบหลัง ลูบหัว “งาม” เบา ๆ ด้วยความเมตตาปรานีแล้วถอนหายใจแรงๆ
“งาม....พี่ทำไม่ได้...... ” ผมพูดพึมพำเหมือนรำพึง
“ทำอะไรไม่ได้หรือพี่....?” เธอผงกหัวขึ้นมองหน้าพี่เต็มของเธอ ข้าพเจ้าลืมตาขึ้นประสานสายตาเธอที่วาววามในความสลัวของแสงไฟตะเกียง แล้วอารมณ์ใคร่ฝ่ายบาปก็โพลงขึ้นอีก สองแขนกอดรัดเธอแน่นขึ้น แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลายเมื่ออารมณ์ฝ่ายต่ำถูกข่มให้เซาลง
“พี่คิดถึงความดีของน้าเหงี่ยม น้านง ที่รักพี่ ไว้วางใจพี่ ให้พี่อยู่เป็นเพื่อนงามตามลำพัง แล้วพี่จะทรยศ ทำอะไรไม่ดีไม่งามกับลูกสาวของน้าแบบ “กินบนเรือน ขี้รดหลังคา” ได้อย่างไร พี่ทำความเลวทรามต่ำช้าอย่างนั้นไม่ได้จริง ๆ”
“พ่อ แม่ ไม่คิดอย่างนั้นหรอกพี่ เขายินดียกงามให้พี่ตั้งนานแล้ว และงามก็ยินดีอยู่เป็นเมียพี่ไปตลอดชีวิต” เธอพูดเบา ๆ พร้อมซบหน้าลงบนอกข้าพเจ้า
“แต่พี่ยังไม่มีความพร้อมอะไรเลยนะงาม”
“จะเอาความพร้อมอะไรล่ะ บ้านเรามีนาตั้งเกือบสองร้อยไร่ พ่อแม่แบ่งให้งามกับน้องคนละครึ่งก็เหลือใช้แล้ว”
“พี่คงทำนาไม่ไหวแล้วหละ เพราะเลิกทำนาไปบวชอยู่ตั้งนานแล้ว”
“ไม่ต้องทำเองก็ได้ ให้เขาเช่าแล้วเก็บค่าเช่าก็พอกินพอใช้”
“พี่เป็นคนตัวเปล่า ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร สินสอดทองหมั้นก็ไม่มีจะขอแต่งกับงาม”
“ของงามมีพร้อมอยู่แล้ว เอาเงินพ่อแม่งามเป็นสินสอดได้เลย”
ข้าพเจ้าไม่มีคำพูดบ่ายเบี่ยงอีกต่อไป จึงนอนกอดเธอนิ่งนาน ใช้ความคิดในทางที่เป็นบุญกุศลจนกามราคะไม่กำเริบ ดั่งคำพระที่ว่า “สติมา ปัญญาเกิด” มองเห็นทุกข์อันเกิดจากการครองเรือนนานาประการ ตัดสินใจแน่วแน่ไม่ “ร่วมเพศ” กับ “งาม” ให้เกิดปัญหาสารพันตามมา “งาม.......” ข้าพเจ้าเรียกชื่อเบา ๆ “ขา.....” เธอขานรับด้วยเสียงแผ่วเบาเช่นกัน
“พี่จะบวชไม่สึก” ข้าพเจ้าพูดด้วยเสียงหนักแน่นจริงจัง “งาม” พลันลุกขึ้นนั่งด้วยความตกใจ ข้าพเจ้าก็รีบลุกขึ้นนั่งเช่นกัน ขณะที่งามนั่งงงงันอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็จับมือเธอกุมไว้แล้วบีบเบา ๆ
“จริง ๆ นะงาม ชีวิตพี่ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ครองเรือน เพราะพี่เป็นคนรักอิสรเสรี ชอบทำอะไร ๆ เพื่อส่วนรวมมากกว่าจะทำเพื่อตนเอง ไม่หวังสมบัติพัสถานใด ๆ ตกลงใจแล้วว่าจะบวชไปนาน ๆ ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและพระศาสนา โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าชีวิตจะจบลงตรงจุดไหน อาจจะบวชไปจนตายคาผ้าเหลืองก็ได้ ดังนั้นเราอย่าทำอะไรให้เป็นราคีคาวแก่กันเลย พี่ขอโทษที่ได้ล่วงเกินงามไปบ้างแล้ว พี่จะบวชแบ่งบุญกุศลเป็นการไถ่บาปให้งามด้วย จากนี้ไปให้เราทั้งสองนับถือเป็นญาติสนิท เหมือนพี่น้องคลานตามกันมาเถิดนะ”
“งาม” นั่งนิ่งฟังข้าพเจ้าพูดจนจบจึงโผกอดแล้วร้องไห้กระซิก ๆ ข้าพเจ้าเอามือขวาลูบหัวที่เต็มไปด้วยเส้นผมอันหนานุ่ม มือซ้ายโอบกอดร่างเธอเขย่าเบา ๆ ด้วยความปรานี พูดปลอบโยนอยู่นานจนเธอทำใจได้แล้ว จึงกลับเข้ามุ้งนอนด้วยอาการอันสงบ
รุ่งเช้าข้าพเจ้าบอกงามว่าไม่ต้องจัดทำอาหารให้ เพราะจะไปกินข้าววัดเช่นเคย วันนั้นจึงเล่นหมากรุกอยู่วัด “ฆ่าเวลาให้ตายไป” ตั้งค่อนวัน เพราะไม่กล้าที่จะกลับไปต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำที่บ้านน้าเหงี่ยม ยามเย็นจึงกลับไปที่บ้าน ซึ่งก็เป็นเวลาที่น้าทั้งสองและลูกสาวคนเล็กกลับมาจากบางบาลแล้ว ข้าพเจ้าพยายามวางหน้าให้เป็นปกติ งามก็ทำหน้าเป็นปกติได้เช่นกัน คืนนั้นนอนคุยอยู่กับน้าทั้งสองจนครึ่งคืนจึงหลับสบาย
ข้าพเจ้าลาน้าทั้งสองเดินทางกลับไปวัดบางซ้ายใน และก็ไปค้างแรมคืนที่บ้าน “พี่” ม่ายสาวคู่ขาคนดีของข้าพเจ้า ได้ถอนทุนคืนกลืนกินกามราคะจนสมอยาก
มารู้ภายหลังว่าเมื่อข้าพเจ้าลาจากไปแล้ว น้าทั้งสองซักถามให้งามบอกเล่าความจริงที่อยู่กับข้าพเจ้านานถึงสองคืนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เธอก็บอกเล่าความจริงทั้งหมดไม่ปิดบังอำพรางเลยแม้แต่น้อย เมื่อรู้ความจริงแล้ว น้าทั้งสองเพิ่มความรัก นับถือในตัวข้าพเจ้ามากขึ้นไปอีก จนบวชเป็นพระได้สองพรรษาแล้ว “น้านง” ยังพูดกระเซ้าเย้าแหย่ข้าพเจ้าอีกว่า “ลูกพระจะสึกหาลาเพศเมื่อไรก็บอก ถึงวันนี้แล้วก็ยังไม่สายที่จะกลับใจใหม่นะ” ข้าพเจ้าบวชได้ ๑๐ พรรษาแล้ว “งาม” จึงแต่งงานมีครอบครัวไปตามวิถีชีวิตชาวนาของเธอ เพราะทนรอคอยไม่ไหวนั่นเอง
เรื่องของข้าพเจ้ากับ “งาม” ควรถือได้ว่าเป็นเกียรติประวัติอันดีงามของชีวิต และเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้า ถ้าคืนนั้นข้าพเจ้ากับงาม พ่ายแพ้แก่อำนาจฝ่ายต่ำแห่งดำฤษณาจนเกิด “ได้เสียกัน” ป่านนี้ข้าพเจ้าก็เป็นตาแก่เฝ้าที่นาอยู่ทุ่งรางเนื้อตายนั้นเอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๕ - หลวงพ่อแปลก จัดงานบวชข้าพเจ้าที่วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย) ท่านพิมพ์การ์ดเชิญแจกจ่ายไปทั่ว ในงานบวชมีหมอทำขวัญนาคสองคนมาร้องแหล่ประชันกัน ที่สำคัญคือมีลิเกคณะจันทร์แรมซึ่งเป็นพระเอกชื่อดังของคณะหอมหวลมาแสดงอีกด้วย ในพิธีอุปสมบทครั้งนี้มีนาคขอร่วมบวชด้วย ๑ คน คือ นาคแถม (คนละคนกับเณรแถมวัดบางซ้ายใน) เป็นลูกชาวนาบ้านเหนือวัดรางเนื้อตาย นิมนต์พระครูอดุลย์วรวิทย์ (หลวงพ่อไวย์) เจ้าอาวาสวัดบางซ้ายใน เจ้าคณะกิ่งอำเภอบางซ้าย มาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์สาย ถาวโร พระมหาแม้น อหิงสโก ครูสอนพระปริยัติธรรมวัดบางซ้ายใน มาเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ (พระคู่สวด)
วันงานนั้น วัดรางเนื้อตายเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาจากต่างบ้านต่างตำบล (และต่างเมือง) เพราะหลวงพ่อแปลกเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีผู้คนรู้จักและเคารพนับถือมาก ก่อนบวชท่านไม่เคยมีลูกมีเมีย ถือว่าข้าพเจ้าเป็นลูกชายคนแรกและคนเดียวของท่านจึงแจกการ์ดเชิญไปทั่วบ้านทั่วเมืองในคนที่ท่านรู้จักนับถือ นอกจากคนฝ่ายหลวงพ่อแปลกแล้ว ยังมีคนที่เป็นญาติมิตรของข้าพเจ้าทางจังหวัดสุพรรณบุรีอีกส่วนหนึ่ง เดินทางมาค้างแรมคืนที่วัดรางเนื้อตายเพื่อร่วมในพิธีอุปสมบทข้าพเจ้าอีกจำนวนมาก
งานเริ่มด้วยพิธีทำขวัญนาคตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. ข้าพเจ้าต้องแต่งตัวเป็นนาค คือโกนผม โกนหนวด ตัดเล็บมือเล็บเท้า นุ่งห่มผ้าสีขาว สมาทานเบญจศีล (ถือศีลห้า) เข้าพิธีทำขวัญนาคกลางศาลาการเปรียญ ในพิธีทำขวัญนาคนี่ เจ้านาคต้องใช้ความอดทนทรมานนั่งหลังขดหลังแข็งฟังหมอทำขวัญร้องแหล่กันเป็นเวลานาน พิธีทำขวัญเขาใช้หมอสองคนผลัดกันร้องตั้งแต่น้องเพลไปจนเย็นค่ำ ข้าพเจ้าปวดหลังปวดขามากจนต้องขอตัวลุกออกจากพิธีไปเข้าห้องน้ำ (เข้าส้วม) เป็นหลายครั้ง ดีที่นาคแถมนั่งเป็นหลักอยู่ในพิธีจนเสร็จสิ้น
นาคในวันจะบวชเป็นพระภิกษุนั้น ต้องถูกคุมตัวเหมือนเป็นนักโทษฉกรรจ์ทีเดียว จะไปไหน จะทำอะไร ต้องมีคนคอยดูแล ทุกครั้งที่นาคเต็มหนีหมอขวัญออกไปห้องน้ำก็มีคนตามแจไม่ให้คลาดสายตา ว่ากันว่า วันจะเข้าโบสถ์บวชนั้นเป็นวันสำคัญที่สุดของนาค ถ้าไม่ระวังดูแลให้ดีแล้วนาคอาจจะไม่บวชก็ได้ เพราะผู้ชายไทยมีเสน่ห์รุนแรงที่สุดคือวันสุดท้ายของการเป็นนาค เคยมีตัวอย่างว่า ในงานบวชนาครายหนึ่ง นาคได้แอบหนีตามผู้หญิงไป “เบียด” แล้วเตลิดในเวลากลางคืน รุ่งเช้าหานาคเข้าโบสถ์บวชไม่ได้ จนมีความเชื่อกันว่า พญามารมักจะส่งธิดามาผจญ ยั่วยวนด้วยตัณหาราคะจนพ่ายแพ้แก่อำนาจดำฤษณาแล้วบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ ดังนั้น นาคเต็ม นาคแถม จึงถูกคุมตัวแจตลอดงาน
ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่าพญามารส่งนางตัณหานางราคะสองธิดาสาวโสภาที่สุดในโลกของท่านมาผจญนาคเต็ม นาคแถม หรือไม่ รู้แต่ว่าหลังจากเสร็จพิธีการทำขวัญนาคแล้ว มีสาวน้อยสาวใหญ่ แม่ม่ายแม่ร้างที่เคยรู้จักกับนาคเต็ม นาคแถม มาล้อมหน้าล้อมหลังพูดคุยหยอกล้อกันมากมาย แม้คนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน เพียงเคยเห็นหน้าค่ากันเท่านั้นก็ยังเข้ามาทักทายใกล้ชิดด้วย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า “นาคเป็นคนเด่นคนดังที่สุด” ในงานนั้น ทำให้ใครๆอยากรู้จักใกล้ชิดก็ได้ ไม่ใช่เพราะพญามารส่งธิดางามของท่านมาผจญนาคอะไรหรอกครับ
คืนนั้นมีผู้คนไปดูลิเกคณะจันทร์แรมกันจนแน่นวัด จันทร์แรม เป็นชื่อของพระเอกคนหนึ่งในหลาย ๆ คนของลิเกคณะหอมหวน ซึ่งเป็นลิเกรำที่หาชมได้ยากในสมัยนั้น ส่วนลิเกคณะดังในยุคนั้นจะเป็นลิเกร้อง อย่างเช่น ทองใบ รุ่งเรือง ,เสนาะน้อย เสียงทอง (ท่าไม้สุก) ฯลฯ พวกนี้เก่งในทางร้องกลอนด้นสด ๆ ในทำนองราชนิเกริงมากกว่าการรำ จันทร์แรมเป็นคนรูปหล่อรำสวยเสียงดี ร้องกลอนด้นสด ๆ ได้ไม่แพ้ทองใบและเสนาะ จึงมีคนนิยมชมชอบกันมาก ข้าพเจ้ากับนาคแถมนั่งชมการแสดงลิเกจันทร์อยู่หน้าโรง ซึ่งเขาจัดที่นั่งพิเศษให้ กำลังนั่งดูเพลิน ๆ ก็มีคนมาสะกิดหลัง เหลียวไปดูก็เห็น “นุช” เด็กหญิงวัยรุ่นกระเตาะน้องสาวของ “งาม” เบียดคนเข้มานั่งยิ้มอยู่ใกล้ ๆ แสดงอาการว่ามีอะไรจะพูดด้วย
“มีอะไรเหรอ?” ข้าพเจ้าเอี้ยวตัวก้มลงไปถาม
“พี่งามบอกว่า พี่เต็มจะบวชไปจนตายจริงเหรอ?” เธอถามพร้อมกับทำหน้าทะเล้น
“นาคเต็มไม่สึก แต่นาคแถมสึก”
ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะตอบ นาคแถมซึ่งได้ยินคำถามด้วยนั้น ชิงตอบแทน ข้าพเจ้าก็เลยรอดตัวไป มองดูทั่วบริเวณนั้นแลไม่พบร่าง “งาม” จึงเชื่อว่าเธอคงไม่ใช้ให้น้องสาวแกล้งมาสะกิดถามเป็นการหยอกเย้าข้าพเจ้าเล่นแน่ ๆ
มีการแห่นาคเข้าโบสถ์บวชแต่เช้า (๐๙.๐๐ น.) เหมือนถือเลข ๙ เป็นฤกษ์ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยคิดถือฤกษ์ยามตามโลกนิยม พิธีบรรพชาอุปสมบทผ่านไปด้วยความเรียบร้อย โดยพระเต็มได้ฉายา (นามใหม่ทางสงฆ์ที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้) ว่า นาคเขโม พระแถมได้ฉายาว่า ฐิตเปโม ครั้นสงฆ์ในหัตถบาสฟังพระคู่สวดประกาศในท่ามกลางสงฆ์แล้ว ไม่มีใครคัดค้าน กล่าวคำว่า สาธุ ขึ้นพร้อมกัน นาคเต็ม นาคแถม จึงได้ความเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์ มีฐานะเท่าเทียมกันกับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทุกประการ พระภิกษุใหม่ทั้งสองออกจากโบสถ์ เดินขึ้นศาลาการเปรียญ ระหว่างทางก็รับดอกไม้ธูปเทียนที่ญาติโยมนำมารอคอยใส่ย่ามอยู่สองข้างทางเดิน สภาพของภิกษุเต็ม นาคเขโม ดูเหมือนไม่ใช่พระบวชใหม่ เพราะเคยเป็นสามเณรมานานและเพิ่งสึกจากเณรมาได้เพียง ๓-๔ เดือนเท่านั้น
ส่วน ภิกษุแถม ฐิตเปโม ดูเคอะ ๆ เขิน ๆ เก้ ๆ กัง ๆ ไปหน่อย สมกับเป็น “พระบวชใหม่” อย่างแท้จริง
พระบวชใหม่ทั้งสององค์ นั่งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์บนศาลการเปรียญร่วมในพิธี “ทำบุญฉลองพระบวชใหม่” ตามประเพณีที่ว่า เมื่อผ่านอุปสรรคนานาเข้าโบสถ์บวชเป็นพระภิกษุได้แล้วถือว่าได้รับชัยชนะพญามาราธิราช พระเต็มกับพระแถมได้ชื่อว่าเป็นผู้เกิดใหม่ในโลกพระภิกษุสงฆ์แห่งพุทธสาสนา โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นบิดา พระสงฆ์ในหัตถบาสกลางอุโบสถเป็นมารดา พระคู่สวดเป็นผู้ทำคลอด (บางท่านพูดว่า “โบสถ์เป็นมารดา”) จึงมีการทำบุญฉลองพระบวชใหม่ นิมนต์พระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด พระอันดับ และพระภิกษุสามเณรทั้งหมดในวัดนั้นร่วมเจริญพระพุทธมนต์ ในขณะที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลนั้น ญาติโยมนั่งล้อมวงรอบพระบวชใหม่ แล้วจุดเทียนที่ติดแว่นเทียนทำพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระใหม่ ๓ รอบ จากนั้นมีพระธรรมเทศนาอานิสงส์การบรรพชาอุปสมบทอีก ๑ กัณฑ์ แล้วพระสงฆ์อนุโทนา (ยะถา สัพพี...) เป็นเสร็จพิธี
เวลาย่ำค่ำวันนั้นมีการถวายตัวเป็น “โยมอุปัฏฐาก” (บ้างก็เรียกว่า โยมปวารณา) คือถวายตัวให้พระเรียกใช้ หรือคอยปฏิบัติบำรุงดูแลพระภิกษุรูปนั้น ๆ พระแถมก็มีโยมบิดามารดาเข้าถวายตัวเป็นโยมอุปัฏฐาก
ส่วนข้าพเจ้ามีโยมแม่ซึ่งอยู่ไกลกันคนละเมืองทีเดียว ดังนั้น น้าเหงี่ยม น้านง สองสามีภรรยาที่ไม่มีลูกชาย จึงขออนุญาตโยมแม่พระเต็มทำหน้าที่ถวายตัวเป็นโยมอุปัฏฐากข้าพเจ้าแทนโยมแม่ ข้าพเจ้าก็เปลี่ยนสรรพนามทั้งสองน้านั้นเป็น “โยมพ่อโยมแม่” วันนั้นโยมเหงี่ยม โยมนง พางาม กับ นุช ลูกสาวทั้งสองไปร่วมถวายตัวด้วย
“งาม กับ นุช ทั้งสองคนนี้ปวารณาตัวรับใช้ลูกพระด้วย ขอให้ลูกพระเรียกใช้ได้ตลอดเวลา ถือเสียว่าเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของลูกพระก็แล้วกัน” โยมทั้งสองว่างั้น
ข้าพเจ้าพักอยู่วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย) ฉลองศรัทธาญาติโยมเป็นเวลาสองเดือนเศษ ก็ต้องจากไปเพื่อการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ณ วัดบางซ้ายในที่เคยอยู่ประจำ แต่มิได้อยู่จำพรรษาวัดนี้
ในปีที่ข้าพเจ้าบวชเป็นพระภิกษุนั้น (พ.ศ. ๒๕๐๒) คณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทางฝ่ายตะวันตก ประกอบด้วย อำเภอเสนา (เป็นแกนหลัก) อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางซ้าย อำเภอลาดบัวหลวง และอำเภอบางไทร ได้รวมตัวกันจัดตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นที่ วัดหัวเวียง ซึ่งเป็นวัดของเจ้าคณะอำเภอเสนา มีท่านเจ้าคุณพระเขมเทพาจารย์ (เทพ เขมเทโว) เป็นเจ้าสำนัก อำเภอต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนั้นจัดหาพระภิกษุสามเณรที่มีความประสงค์จะเรียนต่อในแผนกบาลี ส่งเข้าร่วมเรียนในสำนักนี้ หลวงพ่อไวย์ (พระครูอดุลย์วรวิทย์) เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย จัดส่งพระ-เณรของอำเภอบางซ้ายเข้าร่วมเรียนด้วย ๕ องค์
นักเรียนบาลีในสำนักเรียนวัดหัวเวียงรุ่นแรกมีพระภิกษุเพียง ๒ องค์ คือ พระภิกษุจง จากวัดลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง พระเต็ม จากวัดบางซ้ายใน อำเภอบางซ้าย นอกนั้นเป็นสามเณรใหญ่สามเณรน้อย ซึ่งทุกองค์ต้องเรียนนักธรรมจนสอบได้อย่างน้อยเป็นนักธรรมชั้นตรีแล้ว ทั้งพระทั้งเณรรวมแล้ว ๒๕ องค์ เป็นนักธรรมเอกองค์เดียวคือพระเต็ม นอกนั้นเป็นนักธรรมโทและนักธรรมตรี มีอาจารย์ผู้สอน ๓ องค์ คือ ท่านเจ้าคุณ พระเขมเทพาจารย์ พระมหาเงิน และพระมหาเฉลิม การเรียนในระยะเริ่มต้นไม่ต้องใช้ครูสอนมากนัก เพราะเป็นการเรียนไวยากรณ์ของภาษาบาลี ในปีต่อ ๆ ไปจึงต้องใช้ครูสอนเพิ่มขึ้น มีขั้นตอนการเรียนเพิ่มขึ้นจาก นาม –อาขยาต-กิตต์-สมาส-สนธิ ไปจนขึ้นแปลธรรมบท เพื่อสอบเป็นพระ-เณรเปรียญ (มหา) ประโยค ๓ ซึ่งเป็นชั้นแรกของ “เปรียญตรี” /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|