Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
หน้า: 1 ... 4 5 [6]   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)  (อ่าน 70924 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
« ตอบ #75 เมื่อ: 25, กันยายน, 2566, 10:55:45 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)


<<< ก่อนหน้า                                                             .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๖ -

          ข้าพเจ้าเป็นนักสวดก่อนที่จะเป็นนักเทศน์  กล่าวคือเริ่มสวดพระอภิธรรมสังคหะดังที่ให้การไปในตอนต้นแล้ว  หลังจากเป็นนักเทศน์แล้วก็ไม่ได้รับนิมนต์สวดอภิธรรมสังคหะอีกเลย  การเป็นนักเทศน์ของข้าพเจ้านั้นถือได้ว่าการเทศน์เป็นคำร้อยกรอง  “กวีวัจนเทศนา”  งานบำเพ็ญพระกุศลถวายองค์สมเด็จพระสังฆราช  เป็นจุดสูงสุดในชีวิตการเป็นพระภิกษุของข้าพเจ้า  หลังจากนั้นไม่ค่อยได้เทศน์มากนัก  แต่กลับไปเป็นนักสวดอีกครั้งหนึ่ง

          การเป็นนักสวดครานี้มิใช่สวดพระอภิธรรมสังคหะ  แต่เป็นการสวดพุทธาภิเศกในการปลุกเสกพระพุทธรูปและวัตถุมงคลซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น  ผู้ที่ชักนำให้เข้าสู่วงการสวดพุทธาภิเศกคือ  พระมหาอุดม  พระรุ่นน้องของข้าพเจ้านั่นเอง  มหาอุดมมีพระเป็นญาติกันอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ  ท่านเป็นพระ “พิธีธรรม” นอกจากสวดในงานศพพิธีหลวงแล้วยังสวดพุทธาภิเศกทั่วไปอีกด้วย  เมื่อมีพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลตามวัดต่าง ๆ ก็จะนิมนต์พระมหาอุดมและข้าพเจ้าเข้าร่วมชุดเป็นพระสวดพุทธาภิเษกด้วย  การหัดสวดพุทธาภิเศกก็ไม่ยากอะไร  เพราะฟังมาจนคุ้นหูแล้ว

          พิธีปลุกเสกพระบูชา  พระเครื่อง  วัตถุมงคลต่าง ๆ ในสมัยนั้นมีมากจนพระสวดรับสวดกันไม่หวาดไหว  นั่นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าถูกพระมหาอุดมขอร้องให้ข้าพเจ้าร่วมเป็นคณะพระนักสวดด้วย  ทำให้ได้รูจักพระเกจิอาจารย์หลากหลายรูป  บางองค์เป็นพระดีที่น่าเคารพกราบไหว้  บางองค์กราบไหว้แล้วรู้สึกตะขิดตะขวงใจ (ไม่อยากสาวไส้ให้กากิน)  อย่างคราวหนึ่ง  ไปสวดพุทธาภิเษกที่วัดวังกรด อ.บางมูลนาก (ขี้นาก) จ.พิจิตร  วัดนี้เป็นวัดเก่ามีอายุไม่น้อยกว่าร้อยปีแล้ว  ว่ากันว่า  ชาวตำบลวังกรดมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  และเป็นเคารพนับถือกราบไหว้บูชาก็คือ  "พระพุทธชินวงษ์"  ซึ่งมีความเป็นมาตามคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า  เป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณ  ด้วยโลหะทองเหลือง  ปางมารวิชัย อายุ ๑๐๐ ปีเศษ   การที่พระพุทธชินวงษ์มาประดิษฐาน ณ วัดวังกรดนั้น   จากคำบอกเล่าว่า  สมัยนั้นได้มีการนำพระพุทธชินวงษ์และพระพุทธชินสีห์  จากบางขี้นาก (อำเภอบางมูลนาก)  ล่องเรือมาตามลำคลองบุษบง  จะนำพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ไปที่ไหนไม่รู้ได้  พอมาถึงบริเวณป่าช้าบ้านหนองเต่า  ซึ่งเป็นทางแยกสามแพร่ง ลำคลองห้วยกรวด  ลำคลองบุษบง  และลำครองวังกรด   เรือที่นำพระพุทธชินวงษ์มาไม่ยอมเคลื่อนที่ต่อไป  ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่เคลื่อนไหว  ต่างก็มีความประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินวงษ์ไปประดิษฐานที่วัดของตน    “แต่ด้วยยายง้วย  อินทร์แป้น (เป็นย่าของ ย่าวันดี  บุญต้อ) ได้จุดธูปอัญเชิญพระพุทธชินวงษ์และรับรองว่าชาวบ้านวังกรด  จะทำนุบำรุงวัดได้เป็นอย่างดี  หลังกล่าวเสร็จปรากฏว่า  เรือที่นำพระพุทธชินวงษ์มาก็เคลื่อนตัวไปตามลำคลองวังกรด  ไปจนถึงวัดวังกรด ในเดือน ๑๐”

          วัดวังกรดเดิมชื่อวัดวังกลม  มีประวัติความเป็นมาว่า   “บริเวณชุมชนวังกรดแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า  “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า”  ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น  “ชุมชนวังกลม”  ที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากเป็นชื่อของห้วยน้ำที่มีลักษณะการหมุนเป็นวงกลมอยู่ใกล้บริเวณวัดวงกลม  ต่อมาเมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟวังกลมขึ้น  ปรากฏว่าชื่อสถานีวังกลมนี้มีชื่อเหมือนกับสถานีรถไฟหนึ่งของภาคอีสาน  เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจึงเปลี่ยนชื่อสถานีนี้เป็นสถานีรถไฟวังกรด  และได้เปลี่ยนชื่อชุมชน-วัด  ตามชื่อสถานีรถไฟเป็นวังกรดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

          วันนั้นทางวัดจัดพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องและวัตถุมงคลเนื่องในโอกาสอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ  เพราะไปทำหน้าที่สวดร่วมคณะของพระมหาอุดมเท่านั้น  พระเกจิอาจารย์ผู้เป็นเจ้าพิธี (ขออนุญาตไม่เอ่ยนามท่าน) ทราบว่ามาจากจังหวัดกาญจนบุรี  มีนัยตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่าท่านเก่งในทางเสกให้น้ำมนต์เดือดได้  เรื่องการทำน้ำมนต์เดือดนี่ข้าพเจ้าไม่เชื่อถือนัก  เพราะเคยประสบสมัยเป็นสามเณรออกเดินทางประพฤติธุดงค์  เจอกับอาจารย์ใช้เล่ห์ทำน้ำมนต์เดือดดังที่ได้ให้การมาแล้วตอนต้นเรื่องนี้

          เขาจัดที่นั่งพระสวดพุทธาภิเษกใกล้กับพระเกจิผู้เป็นประธานทำพิธีนั้น  ข้าพเจ้าสวดไปสอดสายตาสังเกตกิริยาอาการของพระเกจิดังองค์นั้นไป  สักครู่หนึ่งเห็นน้ำในขันน้ำมนต์ขนาดใหญ่ที่ตั้งตรงหน้าพระอาจารย์กระเพื่อมเคลื่อนไหวเป็นคลื่นน้อย ๆ  แลลงไปทางก้นขันที่ตั้งติดกับปลายเท้าของหลวงพ่อ  เห็นท่านทำปลายเท้ากระดิก ๆ  จึงรู้ชัดว่าน้ำในขันนั้นกระเพื่อมเคลื่อนไหวก็เพราะท่านเอาปลายเท้าสะกิดขันนั้นนั่นเอง  ผู้คนที่อยู่ไกลไม่เห็นอาการกระดิกปลายเท้าของท่าน  เห็นแต่น้ำในขันกระเพื่อมก็พากันเชื่อว่า  “น้ำมนต์เดือดแล้ว”  ยกมือท่วมหัว สาธุ  กันสลอนไปเลย

          เสร็จพิธีแล้วชาว “มงคลตื่นข่าว” ทั้งหลาย  แย่งกันเช่าบูชาวัตถุมงคลที่ปลุกเสกนั้นด้วยความศรัทธาเลื่อมใสเป็นล้นพ้น  ทางวัดจัดพระเครื่องวัตถุมงคลใส่ถุงถวายพระสวดองค์ละ ๑ ถุง  ข้าพเจ้ารับใส่ย่ามมาโดยมารยาทของผู้ดี  โดยใจไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, Thammada, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, malada, คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
« ตอบ #76 เมื่อ: 27, กันยายน, 2566, 12:46:53 AM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๗ -

          ชีวิตใน “ดงขมิ้น” ของข้าพเจ้าเริ่มคลายความสุขสนุกสนานเมื่ออายุผ่านเลข ๓ แล้ว  งานที่ชอบคือการสอนนักธรรมสอนศีลธรรมนักเรียนในโรงเรียน  และการเทศน์ กลายเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย  ไม่สนุกเหมือนก่อน  พระภิกษุสามเณรนักเรียนทุกระดับชั้นไม่ท่องจำบทเรียน  พากันไปอ่านหนังสือเฉลยปัญหา  คือถาม-ตอบปัญหาที่มีพิมพ์จำหน่ายกันเกร่อไป  เวลาใกล้สอบธรรมสนามหลวงก็เก็งข้อสอบจดจำไว้ตอบในสนามสอบ  แล้วพวกเขาก็สอบได้เป็นนักธรรมชั้นตรี, โท, เอก  โดยไม่มีภูมิธรรมเป็นพื้นฐานเท่าที่ควร  นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเบื่อหน่ายในการสอนนักธรรม

          การเทศน์เดี่ยวเทศน์คู่ทั้งบุคลาธิฐานและธรรมาธิษฐานเริ่มมีคนฟังน้อยลง  และคนฟังนั้นก็ชอบฟังแต่คำเทศน์ที่ใช้มุกตลกโปกฮามากกว่าที่จะฟังเพื่อเอาความรู้ความเข้าใจในข้อธรรมที่นำมาแสดงนั้น  พระนักเทศน์ที่เป็นคู่เทศน์มักไม่ค่อยเข้าใจในข้อธรรมที่นำมาแสดง  พระคู่เทศน์ที่ถูกคอกันหลายองค์มรณภาพไปบ้าง  ลาสิกขาไปเสียบ้าง  พระมหาวิรัตน์  พระมหาบำรุง  พระมหาสมนึก (พระครูกิตติสุนทร) ลาสิกขาไปก่อนข้าพเจ้า  ส่วนพระคู่เทศน์ทางสุโขทัย-พิษณุโลกที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายองค์  เช่นพระดำรงวัดท่ามะปราง  พระสมุห์ประจวบวัดจันทร์ตะวันออก  พระมหาสุรศักดิ์  พระมหาเกษม วัดใหญ่พิษณุโลก  พระมหาธีรพงศ์ วัดไทยชุมพล  ก็ล้วนลาสิกขาไปแล้ว  ระยะหลัง ๆ นี้ต้องเทศน์กับพระนักเทศน์ใหม่ ๆ แบบที่ต้องฝึกหัดให้เขาเทศน์  จึงเกิดความเบื่อหน่ายในการเทศน์ทุกรูปแบบ  คิดว่า  “ไม่รู้จะเทศน์ไปเพื่ออะไร”

          เรื่องการกลอนก็ชักจะเซ็ง ๆ  หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แนวทางกลอนเปลี่ยนไป  เป็นกลอนที่เรียกกันว่า  “กวีเพื่อชีวิต”  รสกวีออกมาในแบบ  “พิโรธวาทัง”  เสียเป็นส่วนมาก   ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร บอกว่าเบื่อในการแต่งกลอนจึงเปลี่ยนไปแต่งร้อยแก้วแนวการเขียนเป็นนิยาย  เรื่องแรกที่พี่เขาแต่งเป็นเรื่องบู๊  ไปนั่งพล็อตเรื่องที่กุฏิข้าพเจ้า  เรื่องที่แต่งตั้งประเด็นสำคัญที่พระเครื่องอันเลื่องชื่อของพระนครศรีอยุธยา  คือพระกริ่งคลองตะเคียน  ที่ขลังทางอยู่ยงคงกระพัน  พี่เขาเขียนเค้าโครงเรื่องแล้วขอให้ช่วยต่อเติม  แล้วก็แต่งเป็นเรื่องราวในชื่อว่า  “เสาร์ ๕”  ตอนแรกส่งไปหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ บก.ชอบใจ  จึงนำลงพิมพ์และขอให้เร่งส่งต้นฉบับให้ต่อไป  พี่เขาหายไปจากวัดใหม่ฯ นานเป็นเดือน  ไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ไหน  เห็นแต่  “เสาร์ ๕” งานเขียนนิยายบู๊ของเขาตีพิมพ์แผ่หลาอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอก  เขากลับมากุฏิข้าพเจ้าอีกทีก็ตอนที่นิยาย  “เสาร์๕”  ของเขาดังในวงการนักอ่านนิยายบู๊ล้างผลาญแล้ว  ถามว่าหายไปไหนมา  พี่เขาว่าไปเช่าโรงแรมซุ่มตัวแต่งเรื่อง “เสาร์ ๕” ให้หนังสือพิมพ์บางกอก  ไม่บอกใครเพราะต้องการความสงบเงียบ  จากนั้นประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ก็กลายเป็นนักแต่งนิยายบู๊ในนาม  “ดาเรศร์”  ที่สมเด็จป๋าตั้งให้  นาน ๆ จึงจะแต่งกลอนออกมาสักสำนวนหนึ่ง

          ข้าพเจ้าคงหมดบุญวาสนาที่จะอยู่ในบรรพชิตเพศต่อไป  เพราะเกิดความเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก  เวลาเดินบิณฑบาตก็คิดว่า  “ทำไมเราต้องมาเที่ยวเดินขอเขากิน ?”  เวลาไปงานทำบุญพิธีต่าง ๆ ก็คิดว่า  “ทำไมเราต้องมารับจ้างร้องเพลงให้เขาฟัง ? ” เวลาขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็คิดว่า  “ทำไมเราต้องมากล่าวคำตลกให้เขาฟัง ?”  ทำอะไร ๆ แบบพระก็เห็นว่าไม่ดีไปหมด  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องลาสิกขาแน่นอน

          ปีนั้น (๒๕๑๘)  พอดีกับที่หลวงพ่อไวย์พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และเข้ามาพักอบรมอยู่ที่วัดสามพระยา ตรงข้ามกับวัดใหม่ฯ  ข้าพเจ้าจึงเข้าไปกราบท่านเพื่อแสดงความยินดี  และขอกราบลาออกจากบรรพชิตเพศด้วย  ท่านว่าเสียดายนะกำลังจะติดต่อให้ไปช่วยงานที่วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหารที่ท่านย้ายไปอยู่ที่นั่น  ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านว่า  กระผมหมดบุญที่จะอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์เสียแล้วครับ  ท่านก็อวยพรให้เจริญรุ่งเรืองในชีวิตของฆราวาส

          นับแต่ข้าพเจ้าบรรพชาเป็นสามเณรแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อมาจนถึงปีที่ลาสิกขา  เป็นเวลาที่อยู่แวดวงดงขมิ้นได้ ๒๐ ปี  พระเพื่อน ๆ ที่ลาสิกขาออกสู่ฆราวาสวิสัยแต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน  เช่นสึกออกไปทำงานตามที่ต้องการ  เป็นครูบาอาจารย์  เป็นทหาร  ตำรวจ  เป็นข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ  ส่วนข้าพเจ้าสึกโดยไม่มีเป้าหมายอย่างนั้น  แต่สึกเพราะเบื่อในความเป็นพระภิกษุ  โดยไม่รู้ว่าสึกแล้วจะทำมาหากินอย่างไร  จะกลับไปทำนาทำไร่ตามอาชีพเดิมก็คงไม่ไหวแล้ว  คิดอย่างเดียวว่า  “ไปตายเอาดาบหน้า”  ก็แล้วกัน

          ปิดฉากชีวิตในแวดวงดงขมิ้นของข้าพเจ้าลงเมื่อพรรษาที่ ๒๐  จากนั้นใช้ชีวิตล้มลุกคลุกคลานอยู่ในโลกียวิสัย  แหวกว่ายสายธารน้ำหมึก  เรื่อยมาจนถึงวันที่นั่งให้การอยู่ขณะนี้แล....

          อภินันท์ (เต็ม) นาคเกษม
          ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

                                 ............. – จบคำให้การแล้ว  ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านครับ - .............

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ คลิก
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๒๐๑ - ตอนสุดท้าย คลิก

 


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: 1 ... 4 5 [6]   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.178 วินาที กับ 66 คำสั่ง
กำลังโหลด...