
ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๓๐.ธรรมที่เป็นจิต และ ไม่ใช่จิต
รการวิปุลลาฉันท์ ๓๒
๑.จิตสภาพธรรมเป็นประธานรู้
เห็นและได้ยินอยู่กะสิ่งหลาย
จิตก็นามธรรมเยี่ยง"ติลักษณ์"คล้าย
เกิด"อนิจจัง"จักมิเที่ยงหนา
๒."ทุกขะ"ทนอยู่คงมิได้เลย
เกิดซิต้องดับเอย ณ โลกหล้า
อีก"อนัตตา"เล่ามิใช่ว่า
ใครจะควบคุมได้เพราะไป่ตน
๓.ธรรมสิเป็นจิตคิดอะไรบ้าง
ธรรมสกลหกอย่างประจักษ์ดล
จิต ฤ "วิญญาณ"รู้จะแจ้งผล
เช่นมิหวาน,เค็ม,ขื่นกำหนดซ่าน
๔."จักขุวิญญาณ"หนึ่งอุบัติเห็น
รูปกระทบตาเด่นเจาะสันฐาน
"โสตวิญญาณ"สองก็เสียงผ่าน
หูจะได้ยินดังกระซิบเบา
๕."ฆานวิญญาณ"สามจมูกรู้
สูดและดมกลิ่นอยู่เสมอเฝ้า
"ชิวหะวิญญาณฯ"สี่มิรู้เซา
รสกระทบลิ้นไวนะลิ้มลอง
๖."กายะวิญญาณ"ห้ากุด้วยโผฏ-
ฐัพพะสัมผัสโลดกะกายปอง
หก"มโนวิญญาณ"คะนึงผอง
ใจปะ"ธรรมารมณ์"ก็เกิดรู้
๗.ธรรมะที่ไม่ใช่สิเป็นจิต
ปัญจะห้าอย่างชิดซิมีอยู่
"เวทนาขันธ์,สัญญะ,รูป"พรู
นิพฯและสังขารขันธ์ริน้อมมา
๘.เวทนาขันธ์,หนึ่งก็รู้สึก
สุขและทุกข์พลางตรึกกระทบพา
ผัสสะสัมผัสกับทวารห้า
"ตา,จมูก,ลิ้น,กาย,หทัย"ตรง
๙."สัญญะขันธ์",สองการระลึกได้
ส่วนประกอบชีพไซร้ริรู้บ่ง
รู้อะรมณ์ใดผ่าน ฉ ทางส่ง
"ตา,จมูก,หู,ลิ้น,ฤทัย,กาย"
๑๐.สามก็"สังขารขันธ์"ริปรุงแต่ง
จิตตะคิดดีแปลง รึ ชั่วร้าย
"เจตนา"ตัวนำจิตลุดังหมาย
เป็นกุศลดีหรือริชั่วฉล
๑๑.ส่วนประกอบชีพ,สี่ก็"รูป"กาจ
เป็นสสารหรือธาตุกุร่างดล
เช่นเจาะเนื้อ,หนัง,เอ็นและฟัน,ขน
รวมสิของแข็ง,เหลวคละอื่นนับ
๑๒."นิพฯ"ก็ธรรมไม่เกิดลิปัจจัย
ปรุงละทิ้งหมดไกลกิเลสดับ
นิพฯจะพ้นจากขันธ์ซิห้าจับ
กายะ,จิตเกิดขึ้นมิได้เลย ฯ|ะ
แสงประภัสสร
ที่มา : อภิธรรมปิฎก สังคณี ๓๔/๓๖๗
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๘๐
ติลักษณ์=ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(เป็นทุกข์) อนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน)
จิต หรือวิญญาณ=การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก คือ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ
เพราะอะไรจึงเรียกวิญญาณ=เพราะรู้แจ้งจึงเรียกวิญญาณ
ธรรมารมณ์=อารมณ์ที่เกิดทางใจ,อารมณ์ที่ใจรู้จริง,สิ่งที่ใจนึกคิด
เวทนาขันธ์=ความรู้สึกต่างๆ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สัญญะขันธ์=สัญญาขันธ์ คือส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นความจำได้,หมาย,รู้ กำหนดรู้อาการ ลักษณะต่างๆอันเป็นเหตุของอารมณ์นั้นๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ปัญจะ=ปัญจ แปลว่า ห้า
ฉ=หก
สังขารขันธ์=ส่วนประกอบของชีวิต อันเป็นคุณสมบัติของจิตที่ปรุงแต่งให้คิดดี คิดชั่ว หรือคิดเป็น กลางๆ อาศัยเจตนา เป็นตัวนำที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลและอกุศล
รูป=ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นสสารหรือธาตุๆ เช่น ส่วนที่เป็น เนื้อ หนัง โลหิต น้ำเหลือง
นิพฯ=นิพพาน เป็นอสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และมิใช่ขันธ์ เพราะพ้นจากขันธ์ไปแล้ว(ขันธวิมุตติ)
(ขอขอบคุณเจ้าของภาพจาก อินเทอร์เน๊ต)