เกริ่น...ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันเสียก่อนนะครับว่า "ฉันท์" นั้นเป็นศิลปะของอินเดีย
แต่ไทยเราได้เอามาปรับปรุงให้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งขึ้น
ดังนั้น คำที่ใช้ก็มักไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็น "สันกฤต" หรือ "บาลี" (คำบาลี เรียกอีกอย่างว่าคำ "มคธ") เสียส่วนใหญ่
อ๊ะ ๆ แต่ไม่ต้องถึงกับไปเรียนบาลี-สันสกฤตเพิ่มหรอกนะครับ เพราะคำที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็มีคำบาลีสันสฤตปะปนอยู่เพียบแล้ว
(อ้อ! คำเขมร ก็เอาใช้มาในงานฉันท์ได้ดีเหมือนกันนะครับ เช่น เลบง ลบอง สนุก สราญ เป็นต้น)
ทีนี้มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ...สิ่งที่ยุ่งยากอย่างหนึ่งในการแต่งฉันท์ ก็คือ
การหาเสียง "ลหุ" (ผมไม่เรียกคำ เพราะบางทีมันก็ไม่เป็นคำ

) มาวางลงในตำแหน่งตามฉันทลักษณ์
เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจจะแต่งฉันท์ ผมจึงได้สรุป แหล่งของเสียงลหุ ไว้ดังนี้
๑. คำธรรมชาติ เช่น สนุก สนาน รุจิรา สุริยน วัตถุ สาธุ วายุ เป็นต้น
๒. คำที่รูปตัวสะกดไม่ตรงกับชื่อแม่
เช่น จิต เป็นแม่กด แต่ตัวสะกดรูป "ต" ให้เสียง จิ-ตะ หรือ จิด-ตะ ได้
ดล เป็นแม่กน แต่ตัวสะกดรูป "ล" ให้เสียง ดะ-ละ หรือ ดล-ละ ได้
เลิศ เป็นแม่กด แต่ตัวสะกดรูป "ศ" ให้เสียง เลิด-สะ ได้
นอกจากนั้น ก็ยังมีพวกคำที่มีการันต์ฆ่าเสียงไ้ว้ เช่น พักตร์ ฉันท์ จันทร์ ซึ่งผมขอจัดรวมในกลุ่มนี้ด้วยนะครับ เช่น
พักตร์ เราได้ยินตัวสะกดเป็นแม่กก โดยการันต์ฆ่าเสียง "ตร" ไว้ ให้เสียง พัก-ตระ หรือ พัก-ตะ-ระ ได้
(คำที่รูปตัวสะกดไม่ตรงกับชื่อแม่นี่ มักจะเป็น บาลี-สันสกฤต แต่งเสร็จ ก็เช็คพจนานุกรมเพื่อความชัวร์ครับ)
๓. คำกร่อน
วัฒนธรรมด้านภาษาที่สำคัญของไทยเราอย่างหนึ่ง ก็คือ การกร่อนเสียง โดยลดเสียงของคำเดิมให้เหลือแค่ อะ
ที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก ก็เห็นจะเป็น คำกร่อนที่เกิดจากพวกคำซ้ำ และคำซ้อนเพื่อเสียง (คำที่สองพยางค์ซึ่งมีพยัญชนะต้นเดียวกัน ประกอบกันแล้วมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง)
(คำซ้ำ) เช่น โครมโครม = คระโครม, รอนรอน = ระรอน, ครืนครืน = คระครืน, ลิ่วลิ่ว = ละลิ่ว
(คำซ้อนเพื่อเสียง) เช่น ขวักไขว่ = ขวะไขว่, กวัดแกว่ง = กวะแกว่ง, ฉาดฉาน = ฉะฉาน, พ้องพาน = พะพาน
๔. คำแผลง (สระ)
นี่ก็อีกหนึ่งจุดเด่นของภาษาไทยครับ (ครุ-ลหุ ไม่ตรงผังใช่มั้ย เปลี่ยนสระมันซะเลย

)
อา เป็น อะ เช่น ทิวา = ทิวะ
อี เป็น อิ เช่น สรีร์ = สริร์
อู เป็น อุ เช่น ดนู = ดนุ
โอ เป็น อุ เช่น มโหฬาร = มหุฬาร
อรร เป็น อะ เช่น กรรเชียง = กระเชียง
เอา เป็น อุ เช่น เยาว = ยุวะ
๕. คำประสมที่มีสระ "อำ" ที่พยางค์หน้า
จากการสังเกตงานฉันท์เก่า ๆ พบว่า "อำ" ที่เป็นคำโดด เป็น "ครุ" เกือบ ๑๐๐%
ส่วน อำ ที่พยางค์หน้าของคำประสม บางทีก็เป็น "ครุ" บางทีก็เป็น "ลหุ" ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่วางครับ
เช่น
จำนง (วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ จาก พระนลคำฉันท์) ค ค ล ค ล ล ล ค ล ล ค ล ค ค
อันใดพระใคร่จิตะกระสัน สุขะหรรษะ
จำนง "จำ" ในบาทนี้เป็น "ครุ" ครับ
จงสบมโนรถประสง- คะ
จำนงมนูญใน
ส่วน "จำ" ในบาทนี้เป็น "ลหุ" ครับ
ศรีเปรื่อง
๒๓ ก.ย. ๒๕๕๖
อ้างอิง:
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/trang/punnipa_ch/sec03p03.html