
- กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง -
-๐ คือเพื่อน ๐-
๑. เมื่อวันที่ปิยมิตรคิดหวังวาด
แล้วพลั้งพลาดจิตวุ่นจุณผลาญเผา
ทุกข์ระทมขัดเขินเนิ่นนานเนา
เจ็บผ่านเจ้าใจแปลบแทบวางวาย
๒. จะเคียงมั่นมิตรแท้แม้ช้ำหม่น
มิพร่ำบ่นรวนเรเหห่างหาย
ประโลมล้ำดำริมิคลางคลาย
หรือย่างย้ายหันหน้าคราตรอมตรม
๓. มอบรอยยิ้มอิ่มใจไม่ฝาดเฝื่อน
มิคลาดเคลื่อนแคลงจิตคิดห้อมห่ม
เพียงฤทัยแหว่งวิ่นสิ้นกรอมกรม
จะพร้อมพรมพร่างสุขทุกคืนวัน
๔. มิลับเลือนเพื่อนแท้แม้ผิดพลั้ง
ด้วยคิดหวังหายท้อพอชื่นฝัน
จะปลอบปลุกหัวใจให้ฟื้นพลัน
ให้ยืนมั่นอีกครั้ง อย่างเคยเคย ๚ะ๛
...-๐ เมื่อตะกวดพลิกลิ้นกลับ จะอ่านได้อีกแบบว่า ๐-...
๑. เมื่อวันที่ปิยมิตรคิดวาดหวัง
แล้วพลาดพลั้งจิตวุ่นจุณเผาผลาญ
ทุกข์ระทมขัดเขินเนิ่นเนานาน
เจ็บเจ้าผ่านใจแปลบแทบวายวาง
๒. จะเคียงมั่นมิตรแท้แม้หม่นช้ำ
มิบ่นพร่ำรวนเรเหหายห่าง
ประโลมล้ำดำริมิคลายคลาง
หรือย้ายย่างหันหน้าคราตรมตรอม
๓. มอบรอยยิ้มอิ่มใจไม่เฝื่อนฝาด
มิเคลื่อนคลาดแคลงจิตคิดห่มห้อม
เพียงฤทัยแหว่งวิ่นสิ้นกรมกรอม
จะพรมพร้อมพร่างสุขทุกวันคืน
๔. มิลับเลือนเพื่อนแท้แม้พลั้งผิด
ด้วยหวังคิดหายท้อพอฝันชื่น
จะปลอบปลุกหัวใจให้พลันฟื้น
ให้มั่นยืนอีกครั้ง อย่างเคยเคย ๚ะ๛
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
ขอบคุณภาพจาก Internet
๐-------------------------๐
กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง
ข้อบัญญัติ : บัญญัติพิเศษเพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ
๑.) ให้สองคำท้ายของวรรคต้น สัมผัสสระกับ คำที่ ๒-๓ ของวรรคที่ ๒
๒.) ให้สองคำท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสสระกับ สองคำท้ายของวรรคที่ ๓ และ คำที่ ๒-๓ ของวรรคที่ ๔
๓.) สัมผัสระหว่างบทคือ ให้สัมผัสสระระหว่างสองคำท้ายของบทแรก (วรรคที่ ๔) กับสองคำท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป
หมายเหตุ : คำคู่สัมผัสสองคำนั้น ต้องสามารถอ่านกลับไปมาหน้าหลังได้
** ด้วยข้อกำหนดนี้ ทำให้กลบทนี้ สามารถอ่านพลิกสลับไปมาได้เหมือนลิ้นตะกวดที่มีสองแฉก ฉะนั้น คำสองคำคู่ที่อยู่ในข้อบังคับ เวลาอ่านสลับไปมาแล้วต้องได้ความหมายและยังคงรูปแบบเนื้อหาของกลอนไว้ได้ด้วย หากไม่สามารถอ่านพลิกแพลงได้ มิอาจถือเป็น กลบทลิ้นตะกวด ฯ
** อ้างอิง : กลบทนี้มีปรากฏที่มาทั้งในตำรากลบท "ศิริวิบุลกิตติ์" โดย หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ผู้คิดประดิษฐ์กลบทนี้ขึ้นมา
, และตำรากลบท "จารึกวัดพระเชตุพนฯ" โดยพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓
...