
- กลบท กบเต้นสามตอน -
-๐ คนชัง ๐-
๑. เจ็บซม จมสิ้นจินต์เศร้า
เจ็บเท่าเจ้าทำจำถ้อย
เจ็บคำจำขึ้งจึงคอย
ขอปล่อยค่อยปลิด คิดปลง
๒. ร้าวจิตฤทธิ์จักรักเจ้า
ช่างเศร้าเฉาซ้ำช้ำส่ง
เจ้าแหนงแจ้งนำจำนง
คนเลยเคยหลง คงลา
๓. ใจทุกข์จุกท้นจนแทบ
ทรวงแวบแสบวิ่นสิ้นว่า
จิตช้ำจำชืดจืดชา
หลบเพียงเลี่ยงพา ลาพ้น
๔. ขื่นใจไข้จมขมจิต
รักผิดฤทธิ์พ่ายร้ายผล
หักใจให้จางห่างจน
คำฉลคนฉ้อ ขอชัง
๕. จากคบ จบคำ จำขาด
เคยวาดคาดหวิดคิดหวัง
กลับพ่ายกลายพับกลับพัง
เนตรถั่งนั่งท้อหนอเทียว
๖. เมื่อคนหม่นข้องหมองคิด
จึงปลงจงปลิดจิตเปลี่ยว
เจ็บช้ำจำชิ่งจริงเชียว
คนเลี้ยวเคี้ยวล่อ.. ขอลา ๚ะ๛
เคี้ยว = คด
:
.
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
ขอบคุณรูปภาพต้นแบบจาก Internet
ชื่อภาพ : ใบบัวแห้ง..การเดินทางข้ามฤดูกาล
ศิลปิน : อ. วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เทคนิค : วาดเส้นแรเงาดินสอ
๐-----------------------๐
กลบท กบเต้นสามตอน
- ข้อบัญญัติ :
๑.) ให้เขียนเป็น "กลอนหก" แบ่งช่วงจังหวะในวรรคคือ (๒-๒-๒)
๒.) เล่นสัมผัสอักษรชุดเดียวกันระหว่างช่วงทั้ง ๓ ช่วงในวรรค (กข-กข-กข)
๓.) ให้มีสัมผัสสระชิดระหว่างช่วงต่อช่วงทุก ๆ ช่วงในวรรค (คำที่ ๒-๓ และคำที่ ๔-๕)
* อ้างอิง : กลบทนี้มีปรากฏที่มาทั้งในตำรากลบท "ศิริวิบุลกิตติ์" และ "จารึกวัดพระเชตุพนฯ"
** ข้อควรระวัง : การสัมผัสอักษร คือ การเล่นอักษรที่ออกเสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน ฉะนั้น
คำเดี่ยวสัมผัสกับคำเดี่ยว // คำควบกล้ำสัมผัสกับคำควบกล้ำ มิอาจใช้ร่วมกันได้
และ ร. เล่นสัมผัสได้กับ ร. และ ฤ เท่านั้น // ล. เล่นสัมผัสได้กับ ล. ฬ. และ ฦ เท่านั้น
ผู้เขียนกลชนิดสัมผัสอักษรพึงรอบคอบ