คิดอยู่นานว่าจะอธิบายยังไงดี...
เป็นเรื่องของเสียง "เสียงตรี" ที่วางในวรรค 3 และ 4 ของกลอนชุดนี้
........
สรวงสวรรค์ชั้นกวี...รุจีรัตน์
ผ่องประภัศร์พลอยหาว...พราวเวหา
พริ้งไพเราะ...เสนาะกรรณวัณณนา
สมสมญาแห่งสวรรค์...
ชั้นกวี
อิ่มอารมณ์ชมสถาน...วิมานมาศ
อันโอภาสแผ่ผาย...พรายรังสี
รัศมีมีเสียง...เพียงดนตรี
ประทีปทีฆรัสสะ...จังหวะโยน
รเมียรไม้ใบโบก...สุโนกเกาะ
สุดเสนาะเสียงนก...ซึ่งผกโผน
โผต้น
นั้น...ผันตน...ไปต้นโน้น
จังหวะโจน...ส่งจับ...
รับกันไป
.........

Medium tone = เสียงวรรณยุกต์สามัญ
Low tone = เสียงวรรณยุกต์เอก
Falling tone = เสียงวรรณยุกต์โท
High tone = เสียงวรรณยุกต์ตรี
Rising tone = เสียงวรรณยุกต์จัตวา
ที่มา:
http://m.pantip.com/topic/34475696 ซึ่งอ้างมาจาก
http://www.learnthaistyle.com/thai-life/2014/08/22/test-thai-tones/ อีกที
ทำไมต้องวรรค 3 กับ 4 ?ที่วรรค 3 และ 4 ของกลอน การอ่านจะประคองเสียงโดยรวมของวรรคให้อยู่ในระดับเดียวกัน
ทีนี้...ด้วยธรรมชาติของเสียงตรีเป็นเสียงที่ทะยานขึ้น หางเสียงจะสูง
เวลาอ่านทำนองเสนาะ...จึงต้องมีลูกเอื้อนที่ท้ายเสียงเพื่อให้เสียงโรยตัวกลับลงมาสู่ระดับเสียงเดิมอย่างไม่สะดุดหู (แฮ่ ๆ ผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน...เอาเป็นว่า ลองฟังและสังเกตดูนะครับ)
ซึ่งก็จะเป็นการทำให้กลอนวรรค 3 และ 4 (ที่ต้องประคองระดับเสียงให้เท่ากัน)...มีสีสัน
หลุดจากกับดักแห่งความราบเรียบของเสียง
แล้วถ้าวางที่ 1 กับ 2 ล่ะ ?ที่วรรค 1 และ 2 การอ่านจะอ่านแบบไต่ระดับเสียงขึ้นไปหาสูง
อำนาจของเสียงตรีจึงไม่เห็นผลครับ
ทั้งหมดนี้ได้มาจากการสังเกตของผม ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยครับ
ศรีเปรื่อง
15 ก.พ. 2559
ปล.
ไม่รู้ว่าผมอธิบายได้เรื่องรึเปล่า? หรือผมเข้าใจอยู่คนเดียว?
