
- กาพย์ฉบัง ๑๖ -
กาพย์ฉบัง ๑๖ ในวรรณกรรมเก่าบางเรื่องอาจเขียนกำกับไว้ว่า “ฉบำ ๑๖” หรือ “๑๖” เฉย ๆ
๑.) รูปแบบของกาพย์ฉบัง ๑๖
๑.๑) จำนวนคำ
กาพย์ฉบัง ๑๖ หนึ่งบทจะมี ๓ วรรค
วรรคแรกมี ๖ คำ ---- วรรคที่สองมี ๔ คำ ---- และวรรคสุดท้ายมี ๖ คำ (รวมเป็น ๑๖ คำในหนึ่งบท)
โดยจังหวะการอ่านจะอ่านทีละ ๒ คำเหมือนกันทุกวรรค
๒.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
๒.๑) สัมผัสภายในบท
การร้อยสัมผัสภายในบทของกาพย์ฉบัง ๑๖ นั้น มีเพียงแห่งเดียว คือ
คำสุดท้ายของวรรคแรก ส่งสัมผัสร้อยไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ เท่านั้น
ส่วนวรรคที่ ๓ นั้น ให้เป็นอิสระ
๒.๒) สัมผัสระหว่างบท
สัมผัสระหว่างบทของกาพย์ฉบัง ๑๖ นั้น คือ
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคแรก ของบทถัดไป
๓.) เสียงท้ายวรรค
เช่นเดียวกับกาพย์ชนิดอื่น ๆ ทั่วไป เสียงท้ายวรรคของกาพย์ฉบัง ๑๖ นั้น ลงได้ทุกเสียงตามความเหมาะสม (เว้นเพียงแต่คำสุดท้ายของแต่ละบท ไม่นิยมลงด้วยเสียงเอกและเสียงโทเพราะความหลุบห้วนของเสียงเวลาอ่านจริง)
- ตัวอย่างคำประพันธ์ -
ด้วยคำประพันธ์ชนิดนี้แต่ละวรรคมีการบรรจุคำที่มากและน้อยสลับกันไป (6-4-6) ทำให้เกิดลำนำเสียงอันเรียบง่ายแต่โดดเด่น ทั้งการส่งสัมผัสที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ใช้เดินเรื่องพรรณนาต่าง ๆ ได้ดีหลากหลายแนว เช่น
๐ แถลงปางสร้างราชธานี กรุงธนบุรี
บุราณนครก่อนมา ฯ
๐ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นานานาวา
ก็พักก็ผ่านด่านทาง ฯ
๐ ตั้งอยู่ตำบลหนกลาง บางกอกสองบาง
ซึ่งน้อยแลใหญ่ใกล้กัน ฯ
(สามกรุง : (น.ม.ส))
บางครั้งอาจเพิ่มสัมผัสเข้าตามความชอบของตน เช่น ในวรรณกรรมคำกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่
สุนทรภู่ได้เพิ่มสัมผัสในซึ่งเป็นสัมผัสชิดเข้าแต่ละช่วงจังหวะภายในวรรค
และเพิ่มร้อยสัมผัสระหว่างวรรคเข้าไปอีกในระหว่าง วรรคสอง และวรรคสาม ตามความชอบของตน
ทำให้กาพย์มีความอ่อนช้อยเนิ่นช้าขึ้น เช่น
๐ เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง ฯ
๐ กลางไพรไก่ขันบรรเลง ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง ฯ
๐ ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง ฯ
(กาพย์พระไชยสุริยา : (สุนทรภู่))
เมื่อตัดสัมผัสแบบสุนทรภู่ออก ก็จะได้ความคมคาย แม้ใช้คร่ำครวญแสดงความโศกเศร้าก็เข้าอยู่ เช่น
๐ ปลิดโปรยโรยรายปรายลม ลอยหลงลงซม
ร่วมซึมขรึมเศร้าเนาดิน
๐ ร่วงลาฟ้าอุ่นคุ้นชิน ลานกผกผิน
ลาม่านหมอกเหมือนเลือนราง
๐ ลามวลต้นไม้ใบบาง ลาดอกไม้พลาง
ลาสิ้นกลิ่นกลั่นอันขจาย
๐ ลมเอยเคยไกวให้สบาย ร่ำรื้อทำลาย
ฉีกพุ่มพรากทรงลงพลัน
๐ เปลือยกิ่งเกะกะคละกัน ใหญ่น้อยนับอนันต์
เงียบงำกรำเงามัวมล
๐ เผยรูปซูบผอมยอมทน เหมือนพร้อมผจญ
ผิดรูปผิดร่างอย่างเคย
๐ เหลือเหลืองใบลาญผ่านเลย ใบเขียวค่อยเผย
เกาะคาค่าคบสงบใบ
๐ ไม้ร่วมอำลาอาลัย ไมํสะเทือนใจ
ยังคงชูกิ่งนิ่งนาน
(แรคำ ประโดยคำ : น้ำพุรุ้ง)
หรือใช้แสดงความคับแค้นอัดอั้นก็เหมาะ เช่น
๐ สายใยไส้ขดสยดสยอง แผ่คลุมยึดครอง
เป็นเขตทั่วแคว้นแดนสยาม
๐ สมญาคำซื่อลือนาม “เช้าชามเย็นชาม”
งานหนักผลักไสไปมา
๐ เห็นคนจนเหมือนกับหมา ตาสีตาสา
ถูกขู่ตะคอกสำเนียง
๐ แก่งแย่งแบ่งชั้น, กรรเชียง--- ขึ้นเมฆมองเมียง
หลบมุมมูมมามลามเลีย
๐ ตัวเอ้เอกเขนกนาบเมีย เปิดแฟ้มมาเฟีย
อะหา! ข้าราชการ
๐ ยิ่งใหญ่ยิ่งโตใดปาน ประหนึ่งคัคนานต์
ยืดอกอวดอ้าบารมี
(คมทวน คันธนู : นาฏกรรมบนลานกว้าง)
และตัวอย่างสุดท้ายนี้ คิดว่าทุกคนคงคุ้นหูและคุ้นเคยกันอย่างแน่นอนครับ
- บทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ -
๐ สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา
แต่องค์สมเด็จภควันต์
๐ เห็นแจ้งจตุสัจเสร็จบรร- ลุทางที่อัน
ระงับและดับทุกข์ภัย
๐ โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร ปัญญาผ่องใส
สะอาดและปราศมัวหมอง
๐ เหินห่างทางข้าศึกปอง บ มิลำพอง
ด้วยกายและวาจาใจ
๐ เป็นเนื้อนาบุญอันไพ- ศาลแด่โลกัย
และเกิดพิบูลย์พูนผล
๐ สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์
อเนกจะนับเหลือตรา
๐ ข้าฯ ขอนบหมู่พระศรา- พกทรงคุณา-
นุคุณประดุจรำพัน
๐ ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์ พระไตรรัตน์อัน
อุดมดิเรกนิรัติศัย
๐ จงช่วยขจัดโพยภัย อันตรายใดใด
จงดับและกลับเสื่อมสูญฯ
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก 