
- อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑ -
อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑ (อุ-ปัด-ถิ-ตา-ฉัน) เป็นฉันท์ที่ตำราฉันทศาสตร์ได้ให้อัตถะไว้ว่า ยังสำเนียงอันดังก้องให้ปรากฏ
๑.) รูปแบบของอุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑
หนึ่งบท จะมี ๒ บาท
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ พยางค์ วรรคหลังมี ๖ พยางค์
(รวมเป็น ๑๑ พยางค์ในหนึ่งบาท)
๒.) ลักษณะบังคับ ครุ –ลหุ (ดูผังด้านบนประกอบ)
ครุ-ลหุ แต่ละบาทจะมีลักษณะเหมือนกันทุกบาท คือ
ครุ-ครุ-ลหุ- ลหุ-ครุ .................. ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
โดยแต่ละบาทจะแบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๒ - ๓ .......... ๓ - ๓ เหมือนกันทุกบาท
๓.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
- สัมผัสภายในบท -
คำสุดท้ายของวรรคแรก เชื่อมสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
ส่วนวรรคที่สี่เป็นอิสระ
- สัมผัสระหว่างบท -
หากแต่งมากกว่า ๑ บท
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
- ตัวอย่างคำประพันธ์ -
- อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑ -
-๐ ประติมากร ๐-
ทาบซ้อนและโปะปาด ขณะปั้นประดิษฐ์แปร
สายตามิละแล และสมองก็ตรองตาม
ยักย้ายกิริยา ระยะเยื้องขยับยาม-
เพ่งลักษณะความ พิเคราะห์รูปและริ้วลาย
แต้มเกลี่ยมิติเกิด ก็ประเจิดวิจิตรกลาย
ช่องชั้นเฉพาะหมาย มิประมาทประหม่ามือ
เรียวนิ้วจะประสิทธิ์ และประสานมโนสื่อ
เคลื่อนพร้อมสติคือ จะมิคลาดมิแคล้วทาง
ดินหยาบจะละเอียด และละเมียดเพราะมือสร้าง
ใจหยาบจะละวาง ขณะจิตประดิษฐ์สรรค์
ดินหม่นและมนุษย์ ประลุจุดประสานกัน
สร้างศิลปะปัน สละเปลื้อง ณ หยาบตน ๚ะ๛
(บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล)
- อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑ -
ฟังถ้อย,พระพิธาน- -อนุการฯ ก็สงกา
แต่ช่วงอวิชา ประจุท่วมและท้นถึง
เต็มทิษฐิประทุก สติอุกฉกรรจ์อึง
เปี่ยมแค้นจิตะขึ้ง ก็สะบัดสะบิ้งเบือน
รักเจ้า,อนิจจา บุตราสิร้างเลือน
ถือยศกิติเยือน พลิพลีเพราะพากพูม
ตัวตาย ฯพณฯ ต้อง สุขะฟ่องฟะเฟื้อยฟูม
ถือเป็นดุจะปูม ณ อดีตประดับตัว
หันหลังและมิเหลียว มนะเดี่ยวจะเด็ดบัว
สิ้นหมดมละมัว เพราะมิเหลือ ณ เยื่อใย
ครอบครัวมละขาด คณะญาติยะยับไป
สายโลหิต(ะ)ไหล พุกระฉอกกระฉ่อนฉาน
ลูกร่วมคณะราษฏร์ และประกาศอุดมการณ์
พ่อร่วมกะบุราณ คณะเจ้าจะจู่โจม
ชิงฐานะเสถียร บ่เกษียณจะรุมโทรม
แย่งคืนก็ประโคม เจาะอดีตสภาพเดิม
จึงจอมคณะเจ้า คณะเก่าก็เหิมเกริม
ซ่อมแซมพละเสริม พละซุ่มขบถซ้อน
(กถาจรดปกาศิต (สามแพร่งชีวิตคำฉันท์) : คมทวน คันธนู)
- อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑ -
อ้าโฉมมะทะนา บริสุทธิบังอร
ฃ้าฤๅจะติหล่อน เพราะสดับวจีหวาน?
ชื่นจิตตะสดับ มธุรสฤดีบาน
ทราบว่ายุวมาลย์ กรุณา ณ ฃ้านี้
พอเห็นวรพักตร์ วนิดาวะรางคี
บัดนั้น ฤ ก็มี ฤดิท่วมสิเนหา
เหมือนโฉมดรุณี นะแหละยื่นสุหัดถ์มา
ล้วงใจดนุคร่าห์ และกระลึงหทัยไว้
แต่นั้นก็อนงค์ นะสิยังบคืนให้
กำดวงฤดิใน วรหัดถะแน่นครัน!
(มัทนะพาธา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
** หมายเหตุ : ในชั้นต้นนั้น ฉันท์ประเภท ๔ วรรค ที่มีลักษณะอย่างกาพย์นั้น ไม่ได้มีบังคับสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรคหน้าและวรรคหลัง มีเพียงสัมผัสส่งระหว่างบาท (วรรค ๒ และวรรค ๓) และระหว่างบทเท่านั้น แต่กวีนิยมใส่เพิ่มเพื่อความไพเราะ หากอ่านในวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่าง ๆ จะพบลักษณะนี้อยู่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่าเพิ่งประมาทว่าผู้ประพันธ์นั้นผิดพลั้งแต่ประการใด เช่น
อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑
ขอให้วนิดา กรุณาดะนูก่อน,
อย่าเพ่อสละรอน ระติราญสุไมตรี
ถึงหล่อนจะมิรัก ก็จะขอกะโฉมศรี
ให้ยอมดนุมี ฤดิรักพะธูไป
(มัทนะพาธา)
อุปัฏฐิตาฉันท์ ๑๑
๏ แวดวงวรมา ฬกราชประดิษฐาน
แทบฝั่งชลธาร ทนุโดยพระคัมภีร์
๏ ปลายแคว้นบุระขัณ ฑสิมาประมาณมี
ที่พักพระมุนี ระยะย่านและร้านรวง
๏ เหมรัชฏภักษ์ วรทักษิณาปวง
เพื่อเราจะบำบวง บรเมศวร์มลายเข็ญ ๚
(อิลราชคำฉันท์)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก