กลบทสุนทรโกศล จาก "กลบทศิริวิบุลกิตติ์" โดยหลวงศรีปรีชา (เซ่ง)
จักกล่าวถึงสมเด็จราชกุมาร
กระเสมสานต์สุรสิทธิ์สมฤทธิ์สมร
ครองสมบัติแสนสวัสดิสุนทร
พระยานาคเสด็จจรยังบาดาล
พระองค์กับทรงฤทธิ์พระบิตุราช
คิดถึงนาฏชนนีในไพรสาณฑ์
จะไปรับหม่อมราชสุริกาญจน์
ให้คืนสู่เขตรสถานเสวยรมย์
จึ่งกะเกณฑ์เสนาพลากร
สินธพทั้งคเชนทรให้เสร็จสม
ครั้นพร้อมสิ้นสมเด็จราชบรม
เปนทัพหน้าบังคมเสด็จจร
พระทรงฤทธิ์บิตุราชสำราญรื่น
ให้แช่มชื่นภิญโญสโมสร
เสด็จยกทัพหลวงแล้วล่วงจร
จากนครจัมบากเข้าสู่ป่า
เสียงรถเสียงคชเสียงโยธี
เสียงหมู่เสนีมี่ก้องหา
ครื้นเครงสนั่นเสนาะอรัญวา
ดั่งพื้อนแผ่นพสุธาจักทำลาย
เสียงฆ้องเสียงกลองเสียงดนตรี
เสียงตะโพนเสียงปี่มีหลากหลาย
นักสนมกรมวังทั้วขรัวยาย
ขึ้นช้างพังนั่งสบายในกูบทอง ฯ
๑-----------------------๑
กลบทสุนทรโกศล ปรากฏอยู่ในการประพันธ์ลำดับที่ ๖๗ ของตำรากลบทศิริวิบุลกิตติ์
พิจารณาโดยรวมเห็นว่า มีเพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ
๐). กำหนดให้ตลอดทั้งสำนวนการเขียน
ไม่อนุญาตให้ใช้คำที่มี (ศ. ศาลา) และ (ษ. ฤๅษี) เป็นส่วนประกอบของคำโดยเด็ดขาด
ใช้ได้แต่คำที่มี (ส.เสือ) เท่านั้น
หมายเหตุ : เนื่องจาก ในกลบทนี้เป็นการบังคับใช้อักษร คำบางคำในตัวอย่างของท่านครูเซ่ง จึงอาจมีการเขียนและสะกดแปลกไปบ้างสำหรับในปัจจุบัน แต่ว่า นี่คือวรรณคดีที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย การเขียนและสะกดของคำเหล่านี้จึงถือเป็นปกติของสมัยนั้น มิได้ผิดปกติแต่อย่างใด ดังคำอธิบายส่วนหนึ่งในหมวดความนำหน้า ๒๙-๓๐ ในหนังสือศิริวิบุลกิตติ์ ดังนี้
คุณค่าของศิริวิบุลกิตติ์ ๑. คุณค่าด้านภาษา เนื่องจากศิริวิบุลกิตติ์เป็นวรรณคดีที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภาษาที่ใช้แต่งก็เป็นลักษณะของภาษาที่นิยมใช้กันอยู่ในสมัยนั้น อาจจะมีคำที่มาจากภาษาบาลีสันสฤตหรือเขมร ก็ล้วนเป็นคำที่ผู้อ่านเข้าใจได้ เพราะเป็นคำพื้น ๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่มีคำยากให้ตีความ ส่วนตัวสะกด การันต์ อาจมีผิดแผกไปจากพจนานุกรมบ้างก็คงใช้ไปตามสมัยนิยม... ฯลฯ
อ้างอิง : หนังสือกลบทศิริวิบุลกิตติ์ หน้า ๒๙-๓๐ (หมวดความนำ)
** กลบทนี้มีที่มาปรากฏเฉพาะในตำรา "กลบทศิริวิบุลกิตติ์" แห่งเดียวเท่านั้น
-๐ กลบทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ๐- • กลบท วิมลวาที คลิก
• กลบท อธิบดีอักษร คลิก ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับผม
...-๐ Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา) ๐-...

•
กลับสู่หน้าห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก 