ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ
ด้วยเห็นกระทู้นี้แล้วสนใจ ถึงกับต้องวิ่งไปหยิบรื้อหนังสือในห้องที่ฝุ่นจับเขรอะมาเปิดดู
ในเรื่องของเนื้อเพลงนั้น อย่างที่คุณสริญว่าไว้ ว่ามีการเปลี่ยนไปจากคำกลอนในหนังสือ
อันเนื่องจากเป็นการดัดแปลงจากกลอนไปเป็นเพลง ตรงนี้สามารถเข้าใจได้
ว่าเป็นการ
"ดัดแปลง" ดังกล่าวให้เหมาะกับเสียงและคีย์ร้องของเพลง หรืออาจด้วยเหตุผลอื่นก็แล้วแต่
(เพลง "คำมั่นสัญญา" ดัดแปลงแต่งโดยครูสุรพล แสงเอก
และต่อมาคุณปรีชา บุณยเกียรติ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก เมื่อ ปี
พ.ศ. 2493)
แต่ที่สนใจจริง ๆ คือ ตรงที่บอกว่า
ถึงม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร เป็น ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
และ
แม่เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ เป็น แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
และ
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เป็น แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมราในความจำของผม ผมจำได้ว่าเป็นคำว่า
"ถึงม้วยดิน" มาตลอด ไม่เคยเห็น
"ถึงม้วยดิ้น" ครับ
โดยผมแปลความหมายของวรรคนี้คนละอย่างกับคุณสริญ คือ
"ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน" นั้น
ผมเข้าใจเนื้อความว่า คำว่า ม้วย นี้ แทนความดับสูญ คือ ถึงแม้โลกจะสิ้นดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร หรือ ถึงดินดับฟ้าสูญมหาสมุทรมลาย ก็ไม่สิ้นสุดความรักที่มี นั่นเองครับ
แต่ว่าคำว่า
"แม้" กับ
"แม่" นั้น ไม่แน่ใจ
หนังสือพระอภัยมณีที่ผมมีอยู่นั้น มีสองรุ่น
คือสองเล่มนี้ สีน้ำเงินพิมพ์ในปี
2517 (สำนักพิมพ์บรรณาคาร) เล่มเขียวปี
2555 (สำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุคส์)

หลังสอบทานแล้ว ทั้งสองเล่มนี้เนื้อความเดียวกัน คือ
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
แม้เนื้อเย็นห้วงมหรรณพ
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
ตรง
"แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา" ตรงนี้ ยังพิมพ์เป็นคำว่า
"แม่" อยู่ครับ ยังไม่ได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าฉบับเก่าหรือใหม่
ประเด็นจึงอยู่ที่สองคำที่เหลือ คือคำว่า
ถึงม้วยดิน กับ
แม้เนื้อเย็น จึงลองหาข้อมูลสอบทานดูอีก โดยเอาปี พ.ศ. ที่บันทึกเสียงเพลงเป็นหลัก คือปี
2493 นั่นเอง ว่า ฉบับที่พิมพ์ก่อนที่เพลงนี้จะกำเนิดขึ้นนั้น เขาพิมพ์ว่าอย่างไร
จึงพบว่า พระอภัยมณีที่พิมพ์ในปี
2433 โดยโรงพิมพ์วัดเกาะ หรือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งตอนนั้นพิมพ์แยกเป็นเล่ม ๆ ต่อเนื่องกัน ในราคาเล่มละ 0.25 สตางค์ (ซึ่งแน่นอน เมื่อพิมพ์ก่อนที่จะมีเพลง "คำมั่นสัญญา" นี้เกิดขึ้น 60 ปี ฉะนั้น คำในเนื้อเพลงที่ดัดแปลงจึงไม่มีผลแน่ ๆ)



ในฉบับวัดเกาะนี้ ก็ปรากฏพิมพ์ว่า เป็น
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุท เช่นกันครับ
ส่วนคำว่า
"แม้เนื้อเย็น" นั้น พิมพ์ว่า
"แม้นเนื้อเย็น" (ซึ่ง แม้ กับ แม้น ก็มีเสียงและความหมายเดียวกัน)
เห็นได้ว่า ทั้งสองคำนี้ น่าจะเป็นเช่นนี้จริง ๆ นับแต่ครั้งก่อนจะมีเพลงเกิดขึ้น และเมื่อถอดความหมายในกลอนแล้ว คำว่า แม้เนื้อเย็น เป็นการเปิดการเปรียบเทียบ (หลังจากฟ้าดินสิ้นสูญ) ว่าหากแม้เจ้าเป็นน้ำ พี่ก็ขอเป็นปลา เจ้าเป็นบัวตัวพี่เป็นแมลง ฯลฯ ไปเรื่อย ๆ ครับ
ฉะนั้น คำว่า ถึงม้วยดิ้น กับ แม่เนื้อเย็น ที่คุณสริญพบนั้น อาจเป็นการพิมพ์ผิดพลาดก็ได้
ส่วนที่ว่าปัจจุบันที่พิมพ์เป็น "ถึงม้วยดิน" กับ "แม้เนื้อเย็น" นั้น ไม่ใช่อิทธิพลจากเนื้อเพลงแน่ครับ
เพราะก่อนเพลงเกิดมา ก็เป็นเช่นนั้นแล้ว
ส่วนคำว่า
"แม้เป็นบัว" ในหนังสือที่คุณสริญมีอยู่นั้น ที่ว่าซื้อมาจากงานหนังสือ ผมละไว้ไม่ออกความเห็นครับ เพราะยังไม่เห็นเช่นกันว่าเป็นของสำนักพิมพ์ไหน พิมพ์ในปีใด
ส่วนประเด็นในเรื่องกลอนผิด ๆ ที่ใคร ๆ ว่านั้นผมก็มีความเห็นว่า มันไม่ผิด ครับ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน
ว่ากันถึงปัจจุบันก่อน ที่บอกว่ามันไม่ผิดนั้น เพราะผมเห็นว่า มันเป็นแค่ ข้อควรระวัง มากกว่า ไม่ใช่ว่าผิดฉันทลักษณ์
เพราะฉันลักษณ์ของกลอน ผมเห็นว่ามันอยู่ที่สัมผัสนอกต่างหาก แต่ว่าส่วนอื่นนั้น เป็นเพียงส่วนเสริมหรือข้อควรระวัง ว่าถ้าไม่ให้มีมันก็ดี เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าต้องมี จะเพราะเนื้อหาหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็คือต้องมี มันไม่ได้ผิดครับ มันเป็นเพียงลักษณะนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งจะมีขึ้นไม่กี่สิบปีย้อนหลังไปนี่เอง ไม่น่าจะเกินสี่สิบปีด้วยซ้ำ บวกลบนิดหน่อย คนที่บอกว่าผิดหรือพลาด ต้องแยกแยะให้ออก ว่า ฉันทลักษณ์ กับ ข้อควรระวัง ต่างกันอย่างไร ไม่เอามารวมกัน แม้แต่ในกองประกวดกลอนแต่ละที่ บางทีสำนวนที่มีชิงสัมผัส ก็ชนะสำนวนที่บอกว่าถูกหลักเป๊ะ ๆ ก็มีให้เห็นมากมาย
ผมว่ากลอนที่ดีมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นบริบทโดยรอบ ทั้งความคมคาย เนื้อหา เสียง การเดินความ ฯลฯ
ส่วนที่เรื่องที่คุณสริญบอก ไม่ว่าใครก็ตาม ที่ยกกลอนในสมัยก่อนมาเปรียบเทียบกับหลักนิยมในสมัยนี้ แล้วบอกว่าพลาดหรือผิดฉันทลักษณ์ ผมคิดว่าเป็นการขยายขี้เท่ออย่างแรงเลย เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องข้อควรระวังนั้น (ผมใช้คำนี้) มันเพิ่งมีมา ฉะนั้น การที่จะนำกลอนสมัยก่อนหน้านั้น ไม่ว่าของใครก็ตาม ไม่จำเป็นต้องถึงท่านสุนทรภู่หรอก เอามาเปรียบโดยยึดลักษณะนิยมที่ในสมัยนี้ ถือว่าจบความคิดเลยครับ ถ้าแยกแยะไม่ออกขนาดนั้น มันก็คล้ายกับว่า เราไปบอกว่า คนสมัยก่อนอยุธยานั้น ไม่ฉลาดเลยที่ใช้ม้าหรือวัวเทียมเกวียนในการเดินทาง แทนที่จะขับรถยนต์ หรือขึ้นเครื่องบินไป แบบสมัยนี้น่ะครับผม
- หมู มยุรธุชบูรพา -