Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
หน้า: [1] 2 3   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -  (อ่าน 64359 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« เมื่อ: 27, กรกฎาคม, 2561, 11:36:35 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -


          สืบต่อเนื่องมาจากกระทู้     ~ ว่าด้วยเทวดา - อสูร ~   คลิก
ที่ดำเนินมาถึงเรื่องราวช่วงเข้าสู่เขาพระสุเมรุและเหล่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าหิมพานต์

- เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

เขาพระสุเมรุกลางสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง
เป็นที่ซึ่งเทพยดาอยู่สลอน
มีคนธรรพ์,กุมภัณฑ์นาคมากอมร
ทิศอุดรยักษ์อยู่อย่างรู้กัน

แบ่งทวีปเวียงวังทั้งสี่ทิศ
เนรมิตบ้านเมืองเรืองลดหลั่น
มีนครใหญ่น้อยหลายร้อยพัน
เฉกประชันเมืองมนุษย์มโนรมย์

เช่นอุดรแดนทิพย์ทวีปยักษ์
ที่ประจักษ์เทพนครไร้ผู้ข่ม
“วิสาณะ,กุสินาฏา”น่าชม
“ชโนฆะ”งามสมเทพธานี

อีกหลายเมืองเรืองโรจน์วิลาสลักษณ์
ทั้งเมืองยักษ์,คนธรรพ์,กุมภัณฑ์ผี
นาคทวีปเมืองงามกามโภคี
ทั้งเทวาเทวีมีพิมาน

สิเนรุหรือสุเมรุเป็นแกนโลก
มิเอนโยกคลอนเคลื่อนเขยื้อนฐาน
มีป่าทิพย์นามว่า“หิมพานต์”
พิสดารดึงใจให้ติดตาม.....

* สุเมรุ  อ่านว่า สุ-เมน
* สิเนรุ  อ่านว่า สิ-เน-รุ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, Mr.music, รพีกาญจน์, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, เนื้อนาง นิชานาถ, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, พรานไพร, ปิ่นมุก, กรกช, มดดำ, เส้นชีวิต ดำเนินไป, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง, มนชิดา พานิช

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #1 เมื่อ: 28, กรกฎาคม, 2561, 10:09:44 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -


- ป่าหิมพานต์อุทยานสวรรค์ -

ณ เชิงเขาพระสุเมรุสิเนรุ
ในตำนานท่านระบุบอกผู้ถาม
เรื่องอุทยานสวรรค์อันงดงาม
ประจักษ์นามว่า “ป่าหิมพานต์”

เดิมอยู่ชิดติดกะมวลมนุษย์
เทพคนสุดหรรษาเขษมศานต์
เมื่อมนุษย์กิเลสหนาอนาจาร
แยกถิ่นฐานเทพมนุษย์ห่างสุดตา

หิมพานต์ป่าเย็นเป็นของเทพ
เป็นที่เสพสุขแสนแดนหรรษา
หิมวันต์คั่นมนุษย์เทวดา
บูรพาเฉียงใต้ให้ “ชีไพร”

พระปัจเจกพุทธเจ้าเนาป่านี้
กับเทพที่ชั้นกลางต่างอาศัย
ยักษ์,นาค,ครุฑ,คนธรรพ์สัตว์พันธุ์ใด
ล้วนอยู่ในป่านี้มีมากมาย

พวกนักสิทธิ์วิชาธรกินนรเทพ
ต่างร่วมเสพกามสุขสนุกหลาย
เพศครึ่งสัตว์ครึ่งคนพิกลกาย
ท่านบรรยายพิสดารงานนิพนธ์....

     - สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานี้มีอุทยานชื่อหิมวันต์ คือหิมพานต์ เป็นป่าที่ปกคลุมด้วยหิมะ คั่นอยู่ระหว่างสวรรค์กับมนุษย์ นัยว่าเดิมทีนั้นสวรรค์กับมนุษย์มีเขตแดนติดต่อกัน เทวดากับมนุษย์ไปมาหาสู่กันได้ ต่อมาพวกมนุษย์มีกิเลสหยาบหนามากขึ้น ไม่อาจสมาคมกับเหล่าเทวดาได้ ดินแดนสวรรค์กับมนุษย์จึงแยกห่างจากกันจนไกลสุดสายตา

      หิมวันต์อุทยานสวรรค์หรือป่าหิมพานต์นี้ตั้งอยู่เชิงเขาสิเนรุหรือเขาพระสุเมรุ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป เป็นที่อยู่อาศัยของเทวดาชั้นกลางหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ยักษ์ คนธรรพ์ นาค ครุฑ นักสิทธิ์วิทยาธร สัตว์ครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์นานา เช่น กินนร กินนรี เป็นต้น และยังเป็นสถานที่อยู่ของพวกฤๅษีชีไพร พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วก็จะปลีกตนจากมนุษย์มาอยู่ประจำในป่านี้จนตราบปรินิพพาน.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, รพีกาญจน์, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เนื้อนาง นิชานาถ, ชลนา ทิชากร, Mr.music, ปลายฝน คนงาม, พรานไพร, ปิ่นมุก, กรกช, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #2 เมื่อ: 29, กรกฎาคม, 2561, 10:58:23 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -


- มักกะลีผลหิมพานต์ -

อุทยานสวรรค์อันสดใส
มีพรรณไม้สะพรั่งทั้งดอกผล
เป็นไม้ทิพย์มิใช่มวลไม้คน
เมื่อใบหล่นถึงดินหายสิ้นไป

ไม่ทับถมกองเปื่อยเป็นปุ๋ยเปื้อน
รกกลาดเกลื่อนพสุธาก็หาไม่
ยามมีดอกกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ
ชื่นฉมไกลกลบป่าหิมวันต์

เมื่อดอกเก่าร่วงหล่นรีบออกใหม่
บานเร็วไววามวับประดับสวรรค์
มีไม้หนึ่งประหลาดมหัศจรรย์
ทั้งรูปพรรณหน้าตาเหมือนนารี

ไม้งามนามประจักษ์“มักกะลีผล”
ทั้งใบต้นน้ำตาลทองผุดผ่องสี
ออกดอกผลไตรมาสนัดหนึ่งปี
เป็นทรัพย์ที่คนธรรพ์ฝันใฝ่ครอง

วิทยาธรเทวาพากันแย่ง
ผลไม่แห่งป่าสวรรค์อันผุดผ่อง
คงหอมหวานซ่านทรวงกว่า“รวงทอง”
ได้ลิ้มลองเพียงนิดติดใจนาน....


     ป่าหิมพานต์เป็นเหมือนอุทยานแห่งชาติของสวรรค์ มีต้นไม้ดอกไม้ที่สวยสดงดงาม ใบไม้เวลาตกลงมาถึงพื้นก็แวบหายไป ไม่ทับถมกันเป็นปุ๋ยเหมือนต้นไม้ในเมืองมนุษย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ พอร่วงหล่นลงมา ก็ออกดอกใหม่ และมีต้นมักกะลีผล ซึ่งมีผลเป็นนารี ที่หมายปองของเหล่าเทวดาหลายพวก เช่น วิทยาธร คนธรรพ์

      ต้นนารีผล หรือ มักกะลีผล นี้ ขึ้นอยู่ท่ามกลางต้นไม้ต่าง ๆ มีประปรายทั่วไป ไม่ได้ขึ้นเป็นหมู่ ลำต้นนารีผลเป็นสีน้ำตาลทอง สวยงามเป็นเงาระยิบระยับ ใบเป็นสีทองแพรวพราวสวยงาม เมื่อใบตกถึงพื้นก็แวบหายไป ครั้นถึงฤดูกาลนารีผลจะห้อยเต็มไปหมด ถ้าไม่ใช่ฤดูกาลจะเห็นแต่ใบ เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะออกดอกออกผล โดยปีหนึ่งออกดอกครั้งเดียว ครั้งละ ๓ เดือน ตั้งแต่ตูมจนกระทั่งบาน ๑ เดือน จากบานเป็นนารีผลอีก ๑ เดือน ส่วนอีก ๑ เดือน เป็นช่วงสุกงอมหลุดจากขั้ว นำไปใช้สอยได้ ซึ่งแต่ละผลก็หลุดไม่พร้อมกัน เมื่อหล่นลงมาแล้วอยู่ได้แค่ ๗ วันสวรรค์ ซึ่งเท่ากับ ๓๕๐ ปีในเมืองมนุษย์ เหล่าคนธรรพ์ วิทยาธร จะมาคอยแย่งชิงนารีผลในช่วงที่นารีผลสุกงอม

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, เนื้อนาง นิชานาถ, รพีกาญจน์, ชลนา ทิชากร, Mr.music, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, พรานไพร, ปิ่นมุก, กรกช, ก้าง ปลาทู, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #3 เมื่อ: 30, กรกฎาคม, 2561, 10:37:42 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอบคุณเจ้าของรูปภาพนี้จาก Internet

- สัตว์ในป่าหิมพานต์ -

หิมวันต์มีสัตว์ประหลาดหลาย
เป็นต้นสายตระกูลสัตว์ชัดหลักฐาน
รูปดั้งเดิมลักษณะพิสดาร
ตามนิทานเก่ามีที่เคยฟัง

เช่นกินนร กินรี สีหราช
รูปประหลาดชวนเห็นเป็นของขลัง
“คชสีห์”ช้างอะไรพลายหรือพัง
เห็นภาพยังไม่รู้ดูยิ่งงง

หัวเป็นช้างตัวพลาดเป็นราชสีห์
บางตัวมีหัวเป็นนาคน่าพิศวง
สัตว์สองเผ่าสมพาสกันอย่างมั่นคง
ตัวยังคงราชสีห์ศีรษะแปลง

ส่วนเจ้าป่า“ไกรสรสีหราช”
ดูองอาจงามสง่ากล้ากำแหง
สีขนขาวพราวพรายปลายขนแดง
ครองตำแหน่งเจ้าป่าหิมวันต์......

     ในป่าหิมพาน์มีสัตว์อัศจรรย์หลายชนิด แต่ละชนิดสวยงามมาก นัยว่าเป็นต้นตระกูลของสัตว์ทั้งหลาย เช่น กินนร กินนรี ติณณราชสีห์ กาฬราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ คชสีห์ ลักษณะทั่วไปของป่าหิมพานต์ที่มีสัตว์อัศจรรย์ เช่น

     ๑. "คชสีห์" มีหัวเป็นช้าง ตัวเป็นราชสีห์ ราชสีห์กับช้างผสมผสานกลมกลืนกันอย่างดี เราได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ ในวรรณคดีเขาเรียกว่า สัตว์ในเทพนิยาย

     ๒. "ไกรสรนาคา" หรือนาคราชสีห์  มีหัวเป็นพญานาค แต่ตัวเป็นราชสีห์ มีหางเป็นนาค มีเกล็ดเป็นนาค สวยสง่างาม องอาจ เกิดจากพญานาคกับราชสีห์ผสมกัน

     ๓. "ไกรสรราชสีห์" เป็น "เจ้าป่าหิมพานต์" ตัวมีขนสีขาว ปลายขนมีสีแดง ๆ ถ้าดูข้างหน้าผมจะมีสีแดง ขนจะขดวน ขดใหญ่ๆ วนตามเข็มนาฬิกาเป็นเกลียวขึ้นไปบนหลัง และผมของเขาจะไม่ยุ่งเหยิงเหมือนสิงโตเมืองมนุษย์ สวยสง่างามมาก สามารถจับช้างกินได้สบายมากเลย

       นอกจากนี้ยังมีสัตว์ประหลาดอีกหลายชนิด พรุ่งนี้จะยกมาให้รู้จักกันเป็นลำดับไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณภาพถ่ายสวย ๆ ด้านล่างจากคุณ "ดา ดา" และคุณ "Megaman X"
เจ้าของรูปภาพต้นแบบใน Internet
   


กินนร(เพศผู้),  กินรี(เพศเมีย)
(กายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นหงส์)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



คชสีห์
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นช้าง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



ไกรสรนาคา
(ตัวเป็นสิงห์ หัวและหางเป็นนาค มีเกล็ดแข็งปกคลุมกาย)
Cr. Photo By คุณ ดา ดา



ไกรสรราชสีห์
(กายเป็นสิงห์สีขาว มีขนแผงคอ ริมฝีปาก ขนหาง และเล็บ เป็นสีแดงดั่งผ้ารัตนกัมพล)
Cr. Photo By คุณ Megaman X


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Mr.music, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, รพีกาญจน์, พรานไพร, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, กรกช, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #4 เมื่อ: 31, กรกฎาคม, 2561, 11:30:39 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอบคุณเจ้าของรูปภาพจากใน Internet

- ราชสีห์สี่ชนิด -

จาก“ไกรสรราชสีห์”มีอีกสาม
ประจักษ์นาม“กาฬสีห์”ที่ก๋ากั่น
“บัณฑุราชสีห์”ที่ดุดัน
“ติณสีหะ”อันเสงี่ยมงาม

 “บัณฑุราชสีห์”กายสีเหลือง
ตัวโตเขื่องเท่าวัวหนุ่มไม่งุ่มง่าม
กินเนื้อสัตว์เก้งกวางช้างทุกนาม
วัวควายตามทุกสัตว์จับกัดกิน

 “กาฬสีหะ”กายมีสีดำสนิท
เลี้ยงชีวิตด้วยพืชผักทั้งสิ้น
ตัวโตใหญ่เท่าวัวหนุ่มดุ่มเดินดิน
เที่ยวทั่วถิ่นหิมพานต์สราญรมย์

 “ติณสีหะ”กินอาหารพรรณพืชผัก
มีรูปลักษณ์สะดุดตาสง่าสม
เท้าเป็นแบบกีบม้าเดินน่าชม
ร่างกายห่มคลุมสวยด้วยสีแดง

ราชสีห์สี่เหล่านี้เจ้าป่า
เป็นหัวหน้าสีห์สิงห์หยิ่งกำแหง
“ยี่สิบเจ็ด”ชนิดนั้นเป็นพันธุ์แปลง
จะจดแจ้งจำนรรจ์วันต่อไป...

      อันว่าสัตว์ป่าหิมพานต์ตามตำนานท่านจัดเป็นประเภทต่างไว้ คือ ประเภทคือ นก ๒๘ ชนิด ม้า ๒๙ ชนิด สิงห์ ๒๗ ชนิด มนุษย์ ๒ ชนิด จระเข้ ๒ ชนิด ลิง ๒ ชนิด วัวควาย ๒ ชนิด แรด ๑ ชนิด สุนัข ๑ ชนิด ปู ๑ ชนิด นาค ๑ ชนิด

     - ประเภทสิงห์ท่านจำแนกออกเป็น ๒ ชนิด คือ ราชสีห์ ๑ สิงห์ผสม ๑
       ราชสีห์มีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดคือ บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ และ ติณสีหะ
       ส่วนสิงห์ผสมนั้นมีอยู่มากมาย โดยปกติสิงห์ผสมคือสัตว์ประสมที่มีลักษณะของ ราชสีห์กับสัตว์ประเภทอื่น

     - "บัณฑุราชสีห์" เป็น ๑ ใน ๔ ราชสีห์แห่งป่าหิมพานต์ มีผิวกายสีเหลือง และเป็นสัตว์กินเนื้อ จัดได้ว่าเป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม มี ร่างกาย เหมือนสีใบไม้เหลือง
     - "กาฬสีหะ" เป็นราชสีห์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น มีกายดำสนิท และใหญ่ราวโคหนุ่ม (คำว่า “กาฬ” แปลว่า ดำ) ถึงแม้กาฬสีหะจะกินเฉพาะพืช แต่ก็ใช่ว่าจะมีกำลังวังชาด้อยไปกว่าราชสีห์ชนิดอื่น ราชสีห์ทุกชนิดมีเสียงคำราม อันทรงพลัง ในตำนานกล่าวว่าเพียงเสียงคำรามของราชสีห์ก็สามารถทำให้ สัตว์อื่น เจ็บได้
     - "ไกรสรราชสีห์" เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังแรงกล้า เป็นนักล่าชั้นเยี่ยมและกินสัตว์ใหญ่น้่อยเป็นอาหาร
     - "ติณสีหะ" มีกายสีแดงหรือเขียว เป็นราชสีห์อีกชนิดที่กินแต่พืชเป็นอาหาร ลักษณะเด่นอีกอย่างของ ติณสีหะคือมีเท้าเป็นกีบแบบม้า

     พรุ่งนี้ตามไปดูสิงห์ผสมรูปร่างแปลก ๆ ครับ


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณภาพถ่ายสวย ๆ ด้านล่างจากคุณ "Megaman X"
เจ้าของรูปภาพต้นแบบใน Internet


บัณฑุราชสีห์
(กายสีเหลือง กินเนื้อเป็นอาหาร)



กาฬสีหะ
(กายสีดำ กินพืชเป็นอาหาร)



ไกรสรราชสีห์
(กายสีขาว มีขนแผงคอ ริมฝีปาก ขนหาง และเล็บ เป็นสีแดง กินเนื้อเป็นอาหาร)



ติณสีหะ
(กายสีแดงหรือเขียว กินพืชเป็นอาหาร มีเท้าเป็นกีบแบบม้า)



ติณสีหะ
(กายสีแดงหรือเขียว กินพืชเป็นอาหาร มีเท้าเป็นกีบแบบม้า)



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, พรานไพร, รพีกาญจน์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, Mr.music, ปิ่นมุก, กรกช, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #5 เมื่อ: 01, สิงหาคม, 2561, 11:10:54 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอบคุณเจ้าของรูปภาพจากใน Internet

- ว่าด้วยสิงห์ผสม -

ราชสีห์สี่เหล่าบอกเล่าแล้ว
กำเนิดแนว“สิงห์ผสมเงื่อนปมใหญ่
“กาสรสิงห์”สิงห์กระบือระบุไว้
สิงห์อะไรกายสีเทาเท้าเหมือนควาย

 “เหมราช”หัวเหมลักษณ์เหมือนหงส์
เป็นเผ่าพงศ์ราชสีห์อีกหนึ่งสาย
“คชสีห์”ศีรษะช้างสิงห์ร่างกาย
สัตว์อีกคล้ายนี้ชื่อคือ“ทักทอ”

มีไกรสรจำแลงดั่ง “มังกรสิงห์”
อีกหนึ่งอิงคาวีของแม่พ่อ
ลูกมีหัวเป็นโคถึงต้นคอ
หางนั้นหนอเป็นม้าน่าอัศจรรย์

สัตว์“ไกสรนาคา”ประหลาดอยู่
หางเหมือนงูหัวเป็นสิงห์ยิ่งน่าขัน
เกล็ดแข็งคลุมร่างเลื้อยจรจรัล
ไกรสรพันธุ์ปักษางามน่าชม

หัวเป็นนกอินทรีกายสีเขียว
ปีกเหมือนเหยี่ยวบินได้ดูเหมาะสม
ยังมีอีกหลายสิงห์อิงนิยม
เป็นสังคมสัตว์ป่าหิมพานต์....

      สิงห์ผสมมีรูปลักษณ์ประหลาด ๆ ดังต่อไปนี้

     - “เกสรสิงห์” หรือกาสรสิงห์ เป็นสิงห์มีส่วนผสมระหว่างราชสีห์ กับสัตว์ประเภทวัวควาย มีผิวกายสีเทา ร่างเป็นแบบสิงห์ แต่มีเท้าเป็นกีบเหมือนเท้าควาย
     - “เหมราช” ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ เป็นสัตว์ผสมมีร่างเป็นสิงห์ส่วนหัวเป็นเหม ซึ่งป็นสัตว์ในวรรณคดีไทยชนิดหนึ่ง บ้างก็ว่ามีลักษณะเหมือนหงส์(ห่าน) แต่ในบางรูป ก็วาดเหมเหมือนสัตว์ตระกูลจระเข้
     - “คชสีห์” เป็นสิงห์ผสมที่มีกายเป็นสิงห์ และมีช่วงหัวเป็นช้าง ตามตำรากล่าวมีพลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม คชสีห์นี้มีลักษณะคล้ายสัตว์หิมพานต์ อีกชนิดหนึ่งชื่อ “ทักทอ”
     - “ทักทอ”  เป็นสัตว์ประหลาดอีกชนิดแห่งโลกหิมพานต์ มีกายท่อนล่างเป็นสิงห์ ส่วนหัวเป็นช้าง ผู้อ่านมักสับสนกับคชสีห์ เพราะทั้งคู่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จุดต่างของสัตว์ทั้งสองคือ ทักทอมีเครา และผมตั้งไปข้างหน้า.
     - “ไกรสรจำแลง” มีหัวแบบมังกร และมีร่างเป็นราชสีห์ (สิงโต) จิตรกรบางท่านเรียกไกรสรจำแลงว่า “ไกรสรมังกร” ซึ่งมีความหมาย ตรงตัวว่ามังกรสิงห์
     - “ไกรสรคาวี” สัตว์ชนิดนี้มีลักษณะผสมระหว่างสิงโต และวัว. ในรูปจิตรกรรมไทย มักวาดภาพเป็นสัตว์ที่มีช่วงหัวเป็นวัว และมีร่างเป็น สิงโต. จิตรกรบางท่านวาดเป็นสิงห์ที่มีหัวเป็นวัว แต่มีหางเหมือนม้า
     - “ไกรสรนาคา” ตามชื่อของสัตว์ชนิดนี้ เป็นสิงห์ผสมที่มีส่วนประกอบของนาคด้วย หางเหมือนสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ตัวมีลักษณะคล้ายสิงห์ แต่มีเกล็ดแข็งปกคลุมทั่วกาย
     - “ไกรสรปักษา” เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงห์กับนก ตามรูปโบราณ ไกรสรปักษามีกายสีเขียวอ่อน หัวเป็นเหมือนพญาอินทรี ตัวเป็นดั่งราชสีห์แต่มีเกล็ดคลุม นอกจากนั้นยังมีปีกเหมือนนกอีกด้วย

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


เหมราช
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นเหม)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



คชสีห์
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นช้าง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



ทักทอ
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นช้าง จุดต่างกับคชสีห์คือมีเครา และผมตั้งชี้ไปด้านหน้า)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



ไกรสรจำแลง
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นมังกร)
Cr. Photo By คุณ ร่มเงาไม้



ไกรสรคาวี
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นวัว)
Cr. Photo By คุณ Fibo4me



ไกรสรนาคา
(มีกายเป็นสิงห์ หัวและหางเป็นนาค มีเกล็ดแข็งปกคลุมกาย)
Cr. Photo By คุณ baokalasin



ไกรสรปักษา
(มีกายเป็นสิงห์สีเขียวอ่อน มีหัวเหมือนพญาอินทรี มีปีกเหมือนนก มีเกล็ดแข็งปกคลุมกาย)
Cr. Photo By คุณ ร่มเงาไม้



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กรกช, พรานไพร, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, รพีกาญจน์, Mr.music, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, มดดำ, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #6 เมื่อ: 02, สิงหาคม, 2561, 11:36:54 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอบคุณเจ้าของรูปภาพจากใน Internet

- ว่าด้วยสิงห์ผสม (ตอน ๒) -

สิงห์“โลโต”ตัวนี้มีจุดเด่น
ที่ชัดเจนกรงเล็บเท้าต่างชาวบ้าน
ร่างกายของสิงห์นี้สีน้ำตาล
แปลคำขานจีนว่า“อูฐ”สุดบรรยาย

“พยัคฆไกรสร”เสือสิงห์อิงผสม
รูปน่าชมยืนอยู่ดูผึ่งผาย
หัวเป็นเสือร่างเป็นสิงห์ไม่ทิ้งลาย
รักษาสายพันธุ์สองครองคู่กัน

สิงห์“สางแปรง”กายเหลืองเท้ากรงเล็บ
ตำนานเก็บเรื่องขานนิทานสวรรค์
ว่าเสือบ้างช่างบ้าง“สาง”สัมพันธ์
จะยืนยันอย่างไรไม่ลงตัว

สิงห์“สกุณไกรสร”ศีรษะนก
สิงห์วิหคเกินแต่งกลอนแจงทั่ว
สิงห์ผสมกลมกลืนเกิดพันพัว
เพราะเกลือกกลั้วกันอยู่สมสู่เพลิน...

     “โลโต”  มีร่างกายเป็นสิงห์สีน้ำตาล ลักษณะเด่นคือมีเท้าแบบกรงเล็บ ในภาษาจีนคำว่า โลโต แปลว่าอูฐ
     “พยัคฆ์ไกรสร”  มีส่วนประสมระหว่างสิงห์กับเสือ ส่วนหัวมีลักษณะเหมือนเสือลายพาดกลอน หรือเสือเบงกอล ส่วนตัวเป็นแบบสิงโต.
     “สางแปรง”  มีกายเป็นสีเหลือง และมีเท้าเป็นแบบกรงเล็บ โบราณไทยให้ความหมายของคำว่า “สาง” แปลว่าเสือ บ้างก็แปลว่าช้าง.
     “สกุณไกรสร”  มีผิวกายเป็นสีน้ำตาล ส่วนหัวเป็นเหมือนนก ส่วนตัวเป็นสิงห์ ยังมีสัตว์อีกชนิดในป่าหิมพานต์ที่คล้ายคลึงกับ สกุณไกรสร นั่นก็คือ ไกรสรปักษา ข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ทั้ง ๒ ชนิดคือ สกุณไกรสรไม่มีปีกเหมือนไกรสรปักษา.
     “สิงฆ์”  นอกเหนือจากที่มีอธิบายไว้ว่ามีกายสีม่วงอ่อน สิงฆ์มีลักษณะเหมือนราชสีห์ทั่วไป.
     “สิงหคักคา”  หรือสีหะคักคามีกายเป็นเกล็ดสีม่วงเข้ม มีส่วนหัวและตัวเป็นสิงห์ มีเท้าเหมือนช้าง.
     “สิงหพานร”  มีขนกายสีแดง ช่วงบนมีลักษณะเป็นวานรหรือลิง ส่วนช่วงล่างและหางมีลักษณะของสิงห์ แต่ช่วงเท้ากลับมี ลักษณะเหมือนอุ้งเท้าลิง.
     “สิงโตจีน” โดยปกติ จะมีขนปกคลุมยาวต่างจากสิงห์ชนิดอื่น.
     “สิงห์มังกร”  มีหัวเป็นมังกร มีร่างเป็นสิงห์สีน้ำตาล คนทั่วไปมักจำสีหรามังกรสับสนกับไกรสรจำแลง
     “เทพนรสิงห์”  เป็นสัตว์ผสมที่มีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นสิงห์ แต่ในบางตำราก็ว่ามีช่วงล่างเป็นกวาง ตัวเมียเรียกว่า “อัปสรสีห์“ .
     “ฑิชากรจตุบท”  เป็นสิงห์ที่มีลักษณะของนก สัตว์ชนิดนี้มีกายสีเขียวอ่อน ส่วนหางมีสีเหลือง.
     “โต”  มีลักษณะคล้ายสิงห์แต่ส่วนหัวมีเขา ๒ เขา ว่ากันว่าชื่อ โตนี้ได้มาจากชื่อสัตว์ในตำนานของประเทศลาว.
     “โตเทพสิงฆนัต” เป็นสัตว์ตระกูลสิงห์ มี กายสีน้ำตาล ชื่อของสัตว์ชนิดนี้มาจากคำว่า โต และ สิงฆนัต ทั้งสองคำ มีความหมาย พ้องกันคือ แปลว่าสิงโต

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


พยัคฆ์ไกรสร
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นเสือ)
Cr. Photo By คุณ Secretboy



สกุณไกรสร
(มีกายเป็นสิงห์ ช่วงหัวเป็นนก)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



สิงฆ์
(มีลักษณะเช่นราชสีห์ทั่วไป)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



สิงหคักคา
(มีเกล็ดสีม่วงเข้มปกคลุมกาย ทั้งส่วนหัวและตัวเป็นสิงห์ แต่มีเท้าเหมือนช้าง)
Cr. Photo By คุณดา ดา



ฑิชากรจตุบท
(เป็นสิงห์ที่มีปีกและหางอย่างนก)
Cr. Photo By คุณร่มเงาไม้



นรสิงห์ (เพศผู้),  อัปสรสีห์(เพศเมีย)
(มีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนกายท่อนล่างเป็นสิงห์ (บางตำราก็ว่าเป็นกวาง))
Cr. Photo By คุณ Megaman X



สางแปรง
(ตามตำราว่ามีกายเป็นสีเหลือง และมีเท้าเป็นแบบกรงเล็บ)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet (สางแปรงรูปหล่อเนื้อสำริดที่วัดโพธิ์ ที่ซุ้มประตูกำแพงแก้ว)



สิงโตจีน
(ลักษณะจะมีขนยาวปกคลุมต่างจากสิงห์ชนิดอื่น)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet (สิงโตจีนที่วัดสุทัศนเทพวราราม)



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, Mr.music, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, กรกช, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #7 เมื่อ: 03, สิงหาคม, 2561, 11:08:36 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพจาก Internet

- คณานกในหิมพานต์ -

สัตว์ป่าหิมพานต์ดูหมู่วิหค
มีปีกเห็นเป็นนกบินผกเผิน
เช่น“อสูรปักษา”คราเผชิญ
คนจะเมินเมียงหน้าไม่กล้ามอง

ตัวเป็นนกหน้าเป็นยักษ์รักเพื่อนฝูง
บินเร็วสูงเหนือวิหคนกทั้งผอง
มนุษย์สัตว์นับถือทำให้ลำพอง
เทพนิยายยกย่องให้ท่องจำ

อีก“อสูรวายุภักษ์”นกยักษ์ใหญ่
รูปลักษณ์ใกล้เคียงกันน่าขันขำ
นกยักษ์หนึ่งกินลมบินร่อนรำ
ที่สูงต่ำท่องทางอย่างเสรี

มีหนึ่งสัตว์ปราศผสมผสานใส่
ชื่อว่า“ไก่ตังเกี๋ย”อะไรนี่
“ไก่เสฉวน,ไก่หอกเอี่ยน”ชื่อยวนยี
ภาษาที่พิกลผิดคนไทย

“นกการเวก”เสียงก้องกังวานหวาน
คราขันขานสำเนียงเสียงสดใส
พริ้งไพเราะเสนาะนานกังวานไกล
กล่อมพงไพรสัตว์ป่าเทวาภิรมย์...

     - "อสูรปักษา"  เป็นสัตว์ประเภทนก มีส่วนบนเป็นยักษ์ ตั้งแต่ลำตัวลงไปเป็นนก บ้างกล่าวว่ามีส่วนล่างเป็นไก่ตัวผู้ สามารถบินได้ด้วยความเร็วสูง เป็นที่นับถือของสัตว์ทั้งหลาย เช่น กวาง, ม้า รวมทั้งมนุษย์ด้วย
     - "อสุรวายุพักตร์"  ลักษณะใกล้เคียงกับอสูรปักษาตรงที่มีส่วนบนเป็นยักษ์ส่วนล่างเป็นนก ต่างกันตรงที่ส่วนล่างของอสูรวายุพักตร์(นกหน้าลม)เป็นนกอินทรี  ส่วนอสูรปักษา เป็นนกกินลมในเรื่องรามเกียรติ์
     - "ไก่"  เป็นสัตว์หายากในโลกของหิมพานต์ไม่ใช่สัตว์ผสม มีอยู่น้อยชนิด ชื่อว่า ไก่ตังเกี๋ย(Gai Tang Kia), ไก่เสฉวน(Gai Xe Chuan), ไก่หอกเอี่ยน(Gai Hox Ian) จากการออกเสียงทำให้รู้ว่าไก่มีที่มาจากจีน
     - "นกการเวก"  เป็นสัตว์วิเศษ มีเสียงไพเราะเหมือนเสียงจากสวรรค์ แต่มีชื่อเรียกน้อยมาก คือ การเวก, การวิก, โกราวิก คุณสมบัติของเสียงสวรรค์ คือ ต่อเนื่องไม่ขาดตอน, กระจ่างแจ้ง, หวานไพเราะ, เป็นจังหวะ, ผสมกลมกลืน, ไม่หยาบคาย, ลึกซึ้ง และสะท้อน...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


อสูรปักษา
(มีกายช่วงบนเป็นยักษ์ ช่วงล่างเป็นไก่ตัวผู้ มีเดือย)
Cr. Photo By คุณดา ดา



อสุรวายุพักตร์
(มีกายช่วงบนเป็นยักษ์ ช่วงล่างเป็นนกอินทรี)
Cr. Photo By คุณนิรันดร์



ไก่
(ลักษณะเช่นไก่ธรรมดาทั่วไปตามแต่ละพันธ์)
ขอบคุณรูปวาดไก่จีนจาก Internet



นกการเวก หรือนกการวิก
(เป็นนกที่มีเสียงไพเราะยิ่ง สัตว์ทุกชนิดเมื่อได้ยินแล้วจะต้องหยุดทุกกิจกรรมเพื่อฟังเสียง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, Mr.music, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, กรกช, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #8 เมื่อ: 04, สิงหาคม, 2561, 10:39:44 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอบคุณรูปภาพนี้จากใน Internet โดยคุณ Aksorn Pichai

- ว่าด้วย "ครุฑ" พญานก -

มีนกใหญ่ไร้เทียมทันเยี่ยมยุทธ
นามว่า“ครุฑ”ฤทธิไกรไร้คู่ข่ม
ประวัติยาวพิสดารมีนานนม
ขอพาชมเว็บไซต์ให้อ่านกัน...

      สัตว์สำคัญที่สุดในป่าหิมพานต์ คือ “ครุฑ”  เป็นพญานกมีร่างกายเป็นครึ่งคนครึ่งนก อีกทั้งยังเป็นพาหนะของพระวิษณุ(พระนารายณ์) เป็นตำนานของตำนาน ส่วนใหญ่มีหัว จะงอยปาก ปีก และกรงเล็บเป็นอินทรี ลำตัวเป็นมนุษย์ ใบหน้ามีสีขาว ปีกสีแดง และร่างที่เป็นสีทองสว่าง

      ตำนานของครุฑในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่าพญาครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร และนางวินตา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานพญาครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้ว ยังมีอีกองค์หนึ่งคือ นางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาและเป็นมารดาของนาคทั้งปวง

      ทั้งสองนางได้ขอพรในการกำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยนางกัทรุได้ขอว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคเป็นบุตรหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง นางทนรอไม่ไหวใคร่รู้ว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร จึงทุบไข่ฟองหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนชื่อ“อรุณ” อรุณเทพบุตรโกรธมารดาที่ทำให้ตนออกจากไข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาเป็นทาสนางกัทรุ และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ นางวินตาไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู รอดูจนถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองออกมาจากไข่เอง ปรากฏเป็นพญาครุฑ เมื่อพญาครุฑแรกเกิดนั้นว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกระพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใด สัตว์ในขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วทั้งสี่ทิศ

      ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรุตามสัญญา

      ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท ครุฑจึงบินขึ้นสวรรค์ไปเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา จนเกิดต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ เมื่อพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้านพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบพญาครุฑด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระวิษณุให้พรครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า

      เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง ครุฑจึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓ หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์) ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ทำให้ใบหญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว (เรื่องนี้กลายเป็นที่มาว่าทำไมงูจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้) แต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑนั้นก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ

      ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และชฎายุ ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ 150 โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดมืดมนและทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพ เป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ

      ขอขอบคุณความเรียงจากเว็บฯ   https://my.dek-d.com/0012/writer/viewlongc.php?id=446421&chapter=114    ในกูเกิล

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑


ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากใน Internet


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, มดดำ, ก้าง ปลาทู, กรกช, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #9 เมื่อ: 04, สิงหาคม, 2561, 11:19:34 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพใน Internet

- นกหงสาถึงหัสดีลิงค์ -

“หงสา”พาหนะพระพรหมเจ้า
มองดูเค้ารูปทรงคล้ายหงส์นั่น
ส่วน“หงส์จีน”ว่าหงส์แล้วงงงัน
รูปลักษณ์มันเหมือนกยูงเรียก “โฮ-โฮ”

 “คชปักษา”หัวเป็นช้างล่างเป็นหงส์
แขนลำองค์เป็นครุฑสุดยโส
สีขาวนวลทั่วร่างโฉมช้างโต
มิเดินโย้โยกร่างเหมือนช้างไทย

 “มยุระคนธรรพ์”นั้นดูสูง
รวมนกยูงคนธรรพ์รูปพรรณใหม่
อีกหนึ่งนก “มยุระเวนไตย”
นกยูงได้ครุฑมาผสมพันธุ์

 “มังกรสกุณี”มิซับซ้อน
นกมังกรแน่ชัดสัตว์สวรรค์
“นาคปักษี”ร่างคนนาคปนกัน
ส่วนล่างนั้นเป็นนกตลกดี

 “นาคปักษิณ”นาคเป็นหัวตัวเป็นหงส์
นาคสมพงศ์สองค่าเสริมราศี
ร่างกายแดงล้วนไปดำไม่มี
จุดเด่นนี้พอเหมาะเฉพาะตัว

 “นกหัสดี”นี้ว่าพญานก
ร่างวิหคแต่เห็นช้างเป็นหัว
สัตว์มงคลโตใหญ่ไม่น่ากลัว
มีกล่าวทั่วทั่วไปในตำนาน...

        "หงสา"  จะปรากฏเพียงในสถาปัตยกรรมไทย น้อยนักที่รู้เกี่ยวกับมัน แต่จากจิตรกรรมฝาผนัง รูปภาพ และงานแกะสลักทำให้รู้ว่าหงสามีลักษณะใกล้เคียงกับหงส์ในศาสนาฮินดู หงสาเป็นพาหนะของพระพรหม
        "หงส์จีน"  แตกต่างจากหงสา เพราะแทบจะไม่เหมือนกับหงส์เลย แต่กลับเหมือนกับนกยูงมากกว่า ในจีนเรียกหงส์จีนว่า "โฮ-โฮ" ตามตำนานจีนเชื่อว่าเป็นสัตว์นำโชค ความเชื่อนี้ส่งต่อไปยังญี่ปุ่น โดยเรียกหงส์นี้ว่า "โฮ" หรือ "โฮ-โอ" ในบางตำรารู้จัก "โฮ" ในนามของ "เฟิง" สัตว์ที่ตกลงมาจากสวรรค์ หงส์จีนถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ประมาณ 1,000 ปี
        "คชปักษา"  พื้นฐานเป็นสัตว์ประเภทนกแต่ร่างกายผสมกับสัตว์อื่น คือ หัวเป็นช้าง ส่วนล่างเป็นหงส์ ลำตัวกับแขนเป็นครุฑ มีเรือนร่างสีขาว
        "มยุระคนธรรพ์"  เป็นร่างผสมระหว่างคนธรรพ์กับนกยูง
        "มยุระเวนไตย"  เป็นร่างผสมระหว่างนกยูงกับครุฑ
        "มังกรสกุณี"  เป็นร่างผสม มีส่วนหัวเป็นมังกร ลำตัวเป็นนก
        "นาคปักษี"  เป็นสัตว์แปลกประหลาด ส่วนบนเป็นมนุษย์สวมมงกุฏนาค ส่วนล่างเป็นนก
        "นาคปักษิณ"  เป็นร่างผสมระหว่างนาคกับหงส์ มีชื่อคล้ายกับนาคปักษี แต่ว่าทั้งสองแตกต่างกัน เพราะนาคปักษิณมีร่างกายสีแดง ส่วนหัวเป็นนาค ลำตัวเป็นหงส์
        "นกหัสดี"  หรือ หัสดีลิงค์ มีส่วนหัวเป็นช้าง ขนาดใหญ่มากรวมทั้งกำลังที่มีมากมายมหาศาลกว่าสัตว์อื่นๆ ในตำนานการสร้างเมืองหริภุญไชย(ลำพูน) พระฤๅษีใช้ให้นกหัสดีลิงค์บินลงไปในสะดือทะเลแล้วนำเอาหอยสังข์มาวางวัดเป็นรูปผังเมืองหริภุญไชย ซึ่งเป็นผังเดียวกันกับเมืองศรีสัชนาลัย และนกหัสดีลิงค์นี้ยังมีในตำนานอื่นๆอีกหลายตำนาน ไม่เว้นแม้ในวรรณคดีพุทธศาสนา.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
* ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


หงสา (หงส์)
(เป็นสัตว์ประเภทนก ที่มีความสวยสง่างาม ท่วงท่าอ้อนช้อย คอยาว ขนเรียงซ้อนกันเป็นชั้น)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



หงส์จีน
(ลักษณะคล้ายนกยูง สวยสง่างาม ท่วงท่าลีลาอ้อนช้อย)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet



คชปักษา
(ส่วนหัวเป็นช้าง ลำตัวเป็นครุฑสีขาว ช่วงล่างเป็นหงส์ )
Cr. Photo By คุณดา ดา



มยุระคนธรรพ์
(ช่วงบนเป็นคนธรรพ์ ช่วงล่างเป็นนกยูง มีปีกที่ไหล่)
Cr. Photo By คุณดา ดา



มยุระเวนไตย
(ส่วนหัวและหางเป็นนกยูง ลำตัวและมือเป็นครุฑ)
Cr. Photo By คุณดา ดา



มังกรสกุณี
(ส่วนหัวเป็นมังกร ลำตัวเป็นนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา



นาคปักษิณ
(ส่วนหัวเป็นนาค ลำตัวเป็นหงส์)
Cr. Photo By คุณดา ดา



นกหัสดีลิงค์
(ส่วนหัวมีงวงและงาเหมือนช้าง ลำตัวเช่นนกหงส์)
Cr. Photo By คุณคลองห้า



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, มดดำ, ก้าง ปลาทู, กรกช, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #10 เมื่อ: 05, สิงหาคม, 2561, 11:38:31 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพใน Internet

- นกอินทรีถึงสดายุ -

“นกอินทรี” หิมพานต์นั้นเรือนร่าง
เขียวสว่างพร่างพราววาววามหวาน
ส่วนขนปีกนั้นมีสีน้ำตาล
หางสิงห์หาญกล้าแกร่งนกเกรงกลัว

“นกเทศ”ร่างกายมีสีแดงฉาน
ในตำนานมิแจ้งตำแหน่งหัว
บอกแต่หางเหมือนไก่ไม่บอกตัว
มีอยู่ทั่วในถิ่นจินตนา

นก“พยัคฆ์เวนไตย”ไม่บริสุทธิ์
กายเป็นครุฑหางเป็นหงส์หัวสิงหา
สัตว์ผสมสามพันธุ์สืบกันมา
มีในป่าหิมพานต์เท่านั้นเอง

“สัมพาที”พี่“สดายุ”กล้าแกร่ง
เป็นบุตรแห่งพญาครุฑนกสุดเก่ง
ขนแดงสุดสะดุดตาน่ายำเกรง
นกนักเลงเรียกพี่มิล่วงเกิน

“สดายุ”น้องสัมพาทีขนสีเขียว
ชอบท่องเที่ยวเช่นนกบินผกเผิน
มีเรื่องเล่าปูมหลังให้ฟังเพลิน
พ่ายยักษ์เยินเพราะปากพูดมากไป....

      - นกอินทรี เป็นสัตว์ขนาดใหญ่มีจริงในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนในโลกของหิมพานต์นกอินทรีมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจากความเป็นจริง คือ ร่างกายมีสีเขียวสว่าง มีปีกสีน้ำตาล และหางเหมือนหางของสิงห์
      - นกเทศ ในโลกหิมพานต์ ไม่มีส่วนใดใกล้เคียงกับนกกระจอกเทศเลย นกนี้มีร่างกายสีแดง มีหางเหมือนไก่ตัวผู้ เชื่อกันว่า เป็นนกที่สร้างขึ้นจากจินตนาการเท่านั้น
      - พยัคฆ์เวนไตย เป็นนกผสมระหว่างสิงห์ ครุฑ และหงส์ ในภาพวาดโบราณพยัคฆ์เวนไตยมีส่วนหัวเป็นสิงห์ ร่างกายเป็นครุฑ และปีกและหางเป็นหงส์ แต่ฟังชื่อแล้วรู้สึกว่าหัวน่าจะเป็นเสือมากกว่าสิงห์ ถ้าหัวเป็นสิงห์ดังภาพวดก็น่าจะมีชื่อว่า สิงหเวนไตย จึงจะถูกต้องตามลักษณะของเขา
      - นกสัมพาที และ นกสดายุ เป็นนกขนาดใหญ่ หน้าเป็นครุฑ เป็นลูกคนโตของพญาครุฑกับนางวินายกา มีขนสีแดงสด ส่วนนกสดายุเป็นน้องชาย มีขนสีเขียว นกทั้งสองนี้เป็นนกใหญ่ที่มีกำลังมาก มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งนกสดายุเห็นพระอาทิตย์ตอนเช้าตรู่สีแดงสดใส คิดว่าเป็นผลไม้จึงเข้าไปจะจิกกิน ทำให้พระอาทิตย์โกรธมาก จึงเปล่งแสงที่ร้อนแรงออกมาจะเผานกสดายุให้ไหม้เป็นจุณ นกสัมพาทีเห็นเช่นนั้นจึงบินไปกางปีกบังแสงอาทิตย์ไม่ให้เผาน้องชาย แสงอาทิตย์จึงเผาขนนกสัมพาทีจนหลุดร่วงหมด และพระอินทร์ยังได้สาปนกสัมพาทีให้อยู่แต่ในถ้ำที่เขาเหมติรัน จนกว่างกองทัพของพระรามจะเดินทางผ่านมาเพื่อไปยังกรุงลงกา เมื่อทหารของพระรามโห่ขึ้น ๓ ลา นกสัมพาจึงจะพ้นคำสาป และขนจะกลับขึ้นมาดังเดิม ฝ่ายนกสดายุบินไปตามหาพระรามและได้พบทศกัณฐ์ขณะอุ้มนางสีดาจะไปลงกา จึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์เพื่อช่วยชิงนางสีดา ทศกัณฐ์สู้ไม่ได้ นกสดายุก็ฮึกเหิมพูดอวดว่าตนไม่มีทางจะแพ้ใคร นอกจากพระอิศวร พระนารายณ์ และแหวนของพระอิศวรที่นางสีดาสวมอยู่เท่านั้น ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้นจึงถอดแหวนจากนิ้วนางสีดาขว้างไปที่นกสดายุ ทำให้ปีกหักตกลงบนพื้นดิน นกสดายุคาบแหวนรอพบพระราม พระลักษมณ์อยู่ เมื่อถวายแหวนและทูลเล่าเรื่องให้ฟังแล้วก็ขาดใจตาย ส่วนนกสัมพาทีคอยบอกทางให้ทัพพระรามอยู่ทีเขาเหมติรัน เมื่อพระรามพระลักษมณ์ออกเดินทางตามหานางสีดา ได้ส่งหนุมาน องคต และชมพูพานไปสืบข่าวนางสีดา หนุมาน องคต และชมพูพาน กับไพร่พลมาพักแรมอยู่ ณ เขาเหมติรัน นกสัมพาทีจึงออกมาขอให้พวกทหารช่วยโห่ ๓ ลา พอทหารลิงโห่สุดเสียง ขนนกสัมพาทีสีแดงสวยสดก็งอกขึ้นมาทั้งตัว แล้วก็พาองคต หนุมาน และชมพูพานบินไปดูนครลงกา ดังความในเรื่องรามเกียรติ์นั้นแล.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต

พยัคฆ์เวนไตย
(หัวเป็นเสือ ตัวเป็นครุฑ มีปีกและหางแบบหงส์)
Cr. Photo By คุณ Laser



นกสัมพาที
(พญานกขนาดใหญ่ กายสีแดงชาด)
Cr. Photo By คุณดา ดา



นกสดายุ
(พญานกขนาดใหญ่ กายสีเขียว)
Cr. Photo By คุณดา ดา



นกอินทรี
(นกนักล่าขนาดใหญ่ ปีกสีน้ำตาล จงอยปากและกรงเล็บมีกำลังมาก
สามารถล่าแพะภูเขา กวาง หรือหมาป่าเป็นเหยื่อได้)
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Internet




นกเทศ
(นกที่มีกายสีแดงสด มีหางเหมือนไก่ตัวผู้)
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Internet

     หมายเหตุโดยผู้โพสต์ : โดยความเห็นส่วนตัว สำหรับนกเทศนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะหมายถึงคำเรียกนกที่มาจากต่างดินแดน เช่นม้าเทศ หรือเครื่องเทศ อย่างเดียวกับที่หงส์จีน หรือสิงโตจีน ที่มาจากจีน นกเทศนี้อาจมาจากจีนเช่นกัน เมื่อลองค้นหาดูลักษณะนกที่มีกายสีแดงสด หางเหมือนไก่ จึงพบว่าในจีนมีนกลักษณะนี้อยู่คือไก่ฟ้าจีน Chinese pheasant หรือ "นกไก่ฟ้าสีทอง" ซึ่งในสมัยก่อนอาจเป็นของแปลกตา เช่นเดียวกับหงส์จีน สิงโตจีน จึงบรรจุไว้ในหิมพานต์เช่นเดียวกัน ในรูปประกอบนี้ จึงนำไก่ฟ้าจีน (ไก่ฟ้าสีทอง) มาเป็นภาพประกอบให้เห็นเด่นชัดนั่นเอง

หมู มยุรธุชบูรพา

ความสวยงามของไก่ฟ้าจีน หรือไก่ฟ้าสีทอง
ที่มีลักษณะเป็นนกกายสีแดงสด หางเหมือนไก่




รายนามผู้เยี่ยมชม : ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, Black Sword, รพีกาญจน์, น้ำหนาว, Mr.music, มดดำ, ก้าง ปลาทู, กรกช, ปิ่นมุก, หนูหนุงหนิง, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #11 เมื่อ: 06, สิงหาคม, 2561, 11:11:54 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพใน Internet

- นกหิมพานต์ฝูงสุดท้าย -

 “เสือปีก”หัวตัวเป็นนกขนาดเขื่อง
กายสีเหลืองแลอร่ามงามสดใส
รูปคล้ายเคียงกับพยัคฆ์เวนไตย
ท่องเที่ยวในป่าสวรรค์อันรื่นรมย์

 “สกุณเหรา”กึ่งนาคจระเข้
มีเขาเขเกอย่างกวางผสม
“สินธุปักษี”นกปนปลาน่าชม
กายแดงอมชมพูครีบหางปลา

 “สีหสุบรรณ”หัวสิงห์ตัวเป็นครุฑ
หางหงส์สุดแสนจะงามสง่า
อีกหนึ่งนกนั้น “สุบรรณเหรา”
หัวนาคาตัวครุฑมีเขางาม

“กินนร,กินนรี”นี่คนอะไร
เป็นเทพในร่างคนฉงนถาม
ร่างครึ่งคนนกหงส์ดำรงนาม
อยู่ในความกังขาหาความจริง

 “เทพปักษี”หัวขาเป็นมนุษย์
ตัวมีจุดต่างกินนรนรสิงห์
“ทัณฑิมา”ไร้แบบอย่างมาอ้างอิง
จึงขอทิ้งเรื่องไว้ไม่บรรยาย....

     - "เสือปีก"  ส่วนหัวและตัวเป็นเสือ มีปีกและหางแบบนก
     - "สกุณเหรา"  เป็นร่างผสมระหว่างเหรา(หรือนาค) และนก จิตรกรมักวาดหัวใกล้เคียงกับหัวของเหราหรือนาค พร้อมกับกับมีเขากวาง ๒ ข้าง ลำตัวเป็นนก
     - "สินธุปักษี"  เป็นสัตว์ที่แปลกประหลาด เพราะเป็นทั้งนกและปลา มีลำตัวเป็นนก มีครีบและหางอย่างปลา
     - "สีหสุบรรณ"  มีหัวเป็นสิงห์ ลำตัวเป็นครุฑ หางเป็นหงส์ ใกล้เคียงกับพยัคฆ์เวนไตย
     - "สุบรรณเหรา"  มีหัวเป็นนาค(มีเขา 2 ข้าง) ลำตัวเป็นครุฑ
     - "กินนร"  เป็นเพศผู้ มีส่วนบนเป็นมนุษย์ ส่วนล่างเป็นหงส์
     - "กินรี"  ได้ชื่อว่าน่ารักมากที่สุดในป่าหิมพานต์ เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งหงส์ ตั้งแต่หัวถึงเอวเป็นหญิงสาว หางและขาเป็นหงส์ กินรีมีแขนเหมือนมนุษย์และปีกเหมือนหงส์ ถ้าเป็นเพศผู้จะเรียกว่า กินนร กินรีเป็นเลิศทางด้านการร้องรำทำเพลง จะพบความสง่างามของกินรีได้ในภาพวาดฝาผนัง และภาพโบราณต่างๆ
     - "เทพปักษี"  เป็นร่างผสมระหว่างมนุษย์กับนก สิ่งที่ทำให้เทพปักษีแตกต่างจากเทพกินนรและกินรี คือเทพปักษีมีขาเป็นมนุษ์เช่นเดียวกับร่างท่อนบน แต่มีปีกอย่างนก
     - "ทัณฑิมา"  ทัณฑิมาเป็นชื่อนกที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีรูปกายเป็นครุฑยืนถือกระบอง หัวมีหงอน มีจงอยปากใหญ่และงองุ้ม มีเขี้ยว ๑ คู่ หูแบบหูวัว ตาแบบตาจระเข้ คือเรียวยาว. แขนเหมือนคน แต่มีแผงขนใต้ท้องแขน มือมี ๕ นิ้ว มีปีก และหางแบบหางไก่ ขาทั้ง ๒ เรียวเป็นขานก และมีแผงขนที่น่อง. นกทัณฑิมายืนถือกระบองอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เหมือนทหารยืนรักษาสถานที่อยู่. คำว่า ทัณฑิมา แปลตามรูปศัพท์ว่า ผู้ถือกระบอง

- จบตระกูลนกหิมพานต์ -

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓ สิงหาคม ๒๕๖๓
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


เสือปีก
(กายเป็นเสือ มีปีกและหางแบบนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา



สกุณเหรา
(หัวและหางเป็นเหรา หรือนาค ตัวเป็นนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา



สินธุปักษี
(ตัวเป็นนก มีครีบและหางอย่างปลา)
Cr. Photo By คุณดา ดา



สุบรรณเหรา
(ตัวเป็นครุฑ หัวคล้ายพญานาค มีเขา)
Cr. Photo By คุณดา ดา



กินนร(เพศผู้),  กินรี(เพศเมีย)
(กายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นหงส์)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



เทพปักษี หรืออัปสรปักษี
(มีกายเป็นมนุษย์ มีปีกบินได้เหมือนอย่างนก)
Cr. Photo By คุณดา ดา



ทัณฑิมา
(มีรูปกายเป็นครุฑมีเขี้ยว ยืนถือกระบอง หัวมีหงอน
หูแบบหูวัว ตาแบบตาจระเข้ แขนเหมือนคน มีปีกและหางแบบหางไก่)

Cr. Photo By คุณ plabuutong



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, ลมหนาว ในสายหมอก, มดดำ, ก้าง ปลาทู, กรกช, Mr.music, หนูหนุงหนิง, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #12 เมื่อ: 07, สิงหาคม, 2561, 11:53:00 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพใน Internet

- ว่าด้วยม้าในหิมวันต์ -

เทพแห่งลมสร้าง“ม้า”สัตว์สวรรค์
แบ่งแยกพันธุ์พาชีเป็นสี่สาย
“วลาหก”พาหนะเทพพระพาย
มีสีกายขาวผ่องเหาะว่องไว

“อัสดร”ม้าดีที่ไม่ท้อ
อดทนต่องานหนักตากตรำได้
พ่อเป็นลาแม่พาชีมิเหมือนใคร
เรี่ยวแรงไม่มีม้าใดมาทาน

“อาชาไนย”ม้าดีมีระเบียบ
วินัยเฉียบขาดถือไม่ดื้อด้าน
รู้ใจนายทุกสิ่งไม่ทิ้งงาน
จักรวาลรับอยู่กลางหมู่ดาว

“สินธพมโนมัย”สมใจนึก
เป็นม้าศึกเรี่ยวแรงกำแหงห้าว
เร็วทันใจไปทุกทางวิ่งย่างยาว
ม้าทั่วด้าวแดนใดไม่เทียมทัน

“ม้าปีก”แปลกตรงที่เขามีปีก
ตำนานกรีก,จีนเล่าไว้ลักลั่น
แม้เรื่องราวอิทธิฤทธิ์ผิดแผกกัน
ภาพรวมนั้นแน่ว่าคือม้าบิน...

      - ม้า ตามตำนานของศาสนาฮินดู กล่าวว่าเทพแห่งลมได้สร้างขึ้นมา ๔ สายพันธุ์คือ วลาหก อาชาไนย สินธพมโนมัย และอัสดร ม้าทั้ง ๔ มีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศ วันหนึ่งทั้งสี่ม้านี้บุกเข้าไปในเขตของ พระศิวะเพื่อที่จะพบกับม้าสาว ๒ ตัวที่พระอุมาเทวี (มเหสีของพระศิวะ) เลี้ยงไว้ แต่เคราะห์ร้ายถูกผู้เฝ้าสวรรค์จับได้ ม้าทั้ง ๔ จึงถูกตัดเอ็นข้อเท้าที่ทำให้มีฤทธิ์บินได้นั้นเสีย จากนั้นองค์ศิวะเจ้าจึงสาปให้มาเป็นทาสรับใช้มนุษย์ตลอดกาล
      - ม้าปีก นอกจากจะมีในตำนานสัตว์หิมพานต์แล้วยัง มีปรากฎในตำนานอื่นเช่นตำนานม้าปีกเปกาซัสของ กรีก หรือตำนานม้าบินของจีน ถึงแม้รายละเอียดต่างๆ ของม้าปีกในแต่ละตำนานจะมีความแตกต่างกันบ้าง เช่นม้าเปกาซัสมีสีขาวบริสุทธิ์ แต่โดยลักษณะร่วมคือ มีร่างกายและ ส่วนหัวเป็นม้า มีปีก ๑ คู่ ปีกคู่นี้มีความแข็งแรงมาก และสามารถทำให้ม้าปีกบินได้อย่างรวดเร็ว

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


วลาหก
(พื้นสีขาวนวล ช่วงหัวสีดำ ปากและเท้าทั้ง ๔ มีสีแดง)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



อัสดร
Cr. Photo By เว็บมติชนออนไลน์



อัสสาชาไนย
(พื้นสีเหลืองทอง หางแปรงสีเขียว)
Cr. Photo By คุณคลองห้า



สินธพ
(พื้นดำ หางแปรงสีขาว)
Cr. Photo By เว็บมติชนออนไลน์



ม้าปีก
(มีปีกบินได้อย่างนก)
ขอบคุณจ้าของรูปภาพจาก Internet



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, มดดำ, ก้าง ปลาทู, กรกช, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, หนูหนุงหนิง, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #13 เมื่อ: 08, สิงหาคม, 2561, 10:58:35 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพใน Internet

- ม้าผสมหลากรูปลักษณ์ -

 “ดุรงค์ไกรสร”แปลกตาม้าหัวสิงห์
สามารถวิ่งเหมือนม้าตระกูลสินธุ์
ตัวเป็นม้าสีแดงหางดำนิล
เป็นสัตว์กินเนื้อดิบกลีบตีนดำ

เรียกง่ายง่ายว่า “ม้าราชสีห์”
เป็นสัตว์มีสกุลใหญ่สูงไม่ต่ำ
แข็งแรงอย่างสิงห์ใหญ่กายกำยำ
วิ่งเร็วล้ำเลิศกว่าม้าใดใด

 “โตเทพอัสดร”นามกรม้า
สีกายาแดงแสดค่อนสดใส
หางและกีบแดงชาดสีบาดใจ
ส่วนหัวไม่เหมือนสิงห์เป็น“สิงโต”

 “ดุรงค์ปักษิณ”ปีกหางอย่างวิหค
สีขาวนกผสมม้าดูอ่าโอ่
ขนคอหางกีบดำยามเงยโง
ช่างยโสสง่าม้าลำพอง

 “เหมราอัสดร”กายเป็นม้า
เหมราเป็นหัวไม่เป็นสอง
ม้าหัวหงส์ทุกส่วนงามชวนมอง
มักผยองอย่างม้าพันธุ์พาชี....

     - "ดุรงค์ไกรสร"  มีลักษณะคล้ายกับ โตเทพอัสดร กล่าวคือทั้งคู่ เป็นสัตว์ผสมระหว่าง สิงห์กับม้า ตามตำนาน ดุรงค์ไกรสรมีกายเป็นม้าสีแดง มีหางสีดำ กีบสีดำเหมือนม้า ส่วนหัวเป็นสิงห์ที่มีลักษณะสง่า เป็็นสัตว์กินเนื้อ อาหารที่กิน ก็คือสัตว์นานาชนิดในป่าหิมพานต์ ไม่ว่าจะเป็นกวาง หรือวัวควาย ลักษณะเด่นของดุรงค์ไกรสรคือ สามารถวิ่งได้เร็วดุจม้าและ มีความแข็งแรงอย่างสิงห์
     - "โตเทพอัสดร"  เป็นสัตว์หิมพานต์แบบผสมระหว่างสิงโตกับม้า มีลักษณะทั่วไปเหมือนดุรงค์ไกรสร มีความแตกต่างจาก ดุรงค์ไกรสร โดยมีร่างกายเป็นม้าสีแสด หางและกีบสีแดงชาด หัวเป็นสิงโต คอ หลังและขนสร้อยคอสีเขียว เป็นสัตว์ล่าเนื้อเป็นอาหารเช่นเดียวกับ ดุรงค์ไกรสร
     - "ดุรงค์ปักษิณ"  ตามตำราดุรงค์ปักษิณคือม้าที่มีปีกและหางเหมือนนก มีกายสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนขนคอ กีบและหางมีสีดำสนิท
     - "เหมราอัสดร"  มีรูปกายเป็นม้า ส่วนหัวเป็นเหม ตัวเหมนั้น บางที่ก็วาดออกมาเป็นแบบนกหงส์ บางที่ก็วาดออกมา ปากเหมือนสัตว์ประเภทจระเข้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๕ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต


ดุรงค์ไกรสร
(หัวเป็นสิงห์ กายเป็นม้าสีแดง หางและกีบเท้าสีดำ)
Cr. Photo By คุณร่มเงาไม้



ดุรงค์ปักษิณ
(เป็นม้ามีปีกและหางเหมือนนก กายสีขาว แผงคอ กีบและหางสีดำ)
Cr. Photo By คุณคลองห้า



เหมราอัสดร
(กายเป็นม้า หัวเป็นเหม)
Cr. Photo By คุณ Megaman X



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, เส้นชีวิต ดำเนินไป, ก้าง ปลาทู, กรกช, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, หนูหนุงหนิง, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -
« ตอบ #14 เมื่อ: 09, สิงหาคม, 2561, 11:11:21 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - เขาพระสุเมรุหรือสิเนรุ -

ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพใน Internet

- ม้างายไสและม้าสินธพ -

พบชื่อแปลกภาษาว่า “งายไส”
ม้าอะไรหัวสิงห์สัตว์วิ่งหนี
มันกินคนสัตว์นานาบรรดามี
คำกล่าวอ้างบางคัมภีร์หัวกิเลน

บนหน้าผากเขางอกออกมาคู่
ทำให้ดูแล้วสะดุดเป็นจุดเด่น
ตัวเป็นม้าทั้งหมดตามกฎเกณฑ์
สีชัดเจนพื้นเดียวเป็นเขียวคราม

“สินธพกุญชร”กายม้ามีสีเขียว
ดูปราดเปรียวยามย่างกลางสนาม
หัวเป็นช้างวางท่าสง่างาม
กีบดำตามพาชีมีสกุล

“สินธพนที”นี้นามม้าน้ำแน่
กำเนิดแม่สินธูอุ้มชูหนุน
เป็นม้าดีมีค่าอนันตคุณ
คนมีบุญยิ่งใหญ่จึ่งได้ครอง

“สินธพนัทธี”นี้ตัวม้า
หางเป็นปลาพื้นมีสีขาวผ่อง
สีครีบหางแดงชาดชวนตามอง
เชี่ยวช่ำช่องทางน้ำตามแบบปลา

      - "งายไส"   เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ลูกผสมชนิดหนึ่ง ชื่อนี้ค่อนข้างแปลก ยังไม่ทราบว่ามาจากไหนและแปลว่าอะไร ในตำนานได้บรรยายว่างายไสมีลักษณะผสมระหว่างสิงห์กับม้า หัวเป็นสิงห์มีเขาบนหน้าผาก ๒ ข้าง บ้างก็เชื่อว่างายไสมีหัวเป็นกิเลน ลักษณะแบบม้า จากช่วงคอลงมามีสีเขียวครามเป็นสีพื้น กินเนื้อดิบเป็นอาหาร สัตว์ที่ล่าเป็นเหยื่อ มีตั้งแต่สัตว์เล็กจนไปถึงสัตว์ใหญ่ บางครั้งก็ล่ามนุษย์เป็นอาหาร คนส่วนใหญ่มักจำงายไส สลับกับดุรงค์ไกรสรเพราะสัตว์ทั้ง ๒ ประเภทมีร่างเป็นม้าและมีส่วนหัว เป็นสิงห์ จะต่างก็เพียงแต่หัวของดุรงค์ไกรสรไม่มีเขาเท่านั้น
      - "สินธพกุญชร"  เป็นม้าสีเขียว แต่ส่วนหัวกลับเป็นช้าง ในตำรากล่าวว่ามีกีบสีดำเหมือนม้าเช่นกัน
      - "สินธพนที"  เป็นสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือทะเลสาบ ม้าพันธุ์ดีจากบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ม้าสินธพนทีนี้มีกำลังและฤทธิ์เดชมาก สามารถวิ่งไปบนใบบัวได้ โดยที่ใบบัวไม่สั่นแม้แต่น้อย
      - "สินธพนัทธี"  มีตัวเป็นม้า หางเป็นปลา พื้นสีขาว ครีบและหางมีสีแดงชาด เป็นม้าสายพันธุ์เดียวกับสินธพนที ต่างกันที่สีและหางเท่านั้น

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๖ สิงหาคม ๒๕๖๑
*ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพต้นแบบทุกภาพในเน็ต

                                                 ต่อไป  >>>


งายไส
(หัวเป็นสิงห์ มีเขา ๒ ข้าง กายเป็นม้าสีเขียวคราม)
ขอบคุณเจ้าของภาพใน Internet



สินธพกุญชร
(กายเป็นม้าสีเขียว ส่วนหัวเป็นช้าง)
Cr. Photo By คุณดา ดา



สินธพนัทธี
(กายเป็นม้าสีขาว มีหางเหมือนปลา มีครีบที่หลังและขาทั้ง ๔ สีแดงชาด)
ขอบคุณเจ้าของภาพใน Internet



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, หนูหนุงหนิง, กอหญ้า กอยุ่ง

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: [1] 2 3   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.697 วินาที กับ 476 คำสั่ง
กำลังโหลด...