บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดตระพังเงิน Cr. ภาพโดย คุณเอิงเอย - บารมีบุญพ่อขุนรามฯ -
"สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้" ไม้ผลมี"หมากม่วงหมากขาม"ป่า "หมากลางหมากพร้าว"อีกนานา ตะไคร้ข่าพริกมวลผักสวนครัว
อันสวนป่านาไร่ที่ใครสร้าง ต่างคนต่างเฝ้าอยู่ดูแลทั่ว ล้วนเป็นทรัพย์บนดินสินส่วนตัว มีราวรั้วสัญลักษณ์ปักเขตครอง
"กลางเมืองสุโขไทนี้มีตระพัง" เป็นที่ขังน้ำซึ่งคล้ายบึงหนอง "ตระพังโพย"กว้างใหญ่น้ำใสนอง "ตระพังทองตระพังเงินล้วนงดงาม
สีน้ำใสเย็นอุระชวนถวิล ดั่งดื่มกิน"น้ำโขง"โยงสยาม ด้วยพระบารมีบุญ"พ่อขุนรามฯ" บันดาลความร่มเย็นไทยเป็นไท |
ในเมืองสุโขทัยนอกจากจะมีป่าหมากป่าพลู ป่าพร้าวป่าลางป่าม่วงป่าขามอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวเมือง คือ ตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่หลายสระ เช่น ตระพังโพย ตระพังเงิน ตระพังทอง ท่านว่าน้ำในตระพัง "สีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง" หมายถึงน้ำในลำโขงในฤดูแล้งใสสะอาดบริสุทธิ์ ดื่มอาบได้สนิทใจ
ความในจารึกที่ว่าน้ำในตระพังเหมือนน้ำในแม่โขงยามแล้ง เป็นหลักฐานหรือพยานยืนยันว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงคุ้นเคยกับแม่น้ำโขง ตามความในตำนานกล่าวว่าพระองค์เสด็จไปสรงน้ำในแม่โขงเป็นประจำทุกปี โดยผ่านไปทางพะเยา พักที่พะเยาจนเกิดเรื่องที่ว่าทรงเป็นชู้กับมเหสีพระยางำเมือง
อีกประเด็นหนึ่ง ยืนยันว่า ต้นตระกูลพ่อขุนรามคำแหงเป็นชาวไทยเลือง ดำพงกาวแห่งนันทบุรี(เมืองน่าน) ....มีความคุ้นเคยกับน้ำแม่โขงมาแต่บรรพบุรุษของพระองค์
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป ชาวสุโขทัย บำเพ็ญศีล ทาน การกุศล Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge - ในเมืองสุโขไท -
"เมืองสุโขไทนี้ตรีบูร..." แจ้ง รอบกำแพงวงเวียงวัดยาวใหญ่ "สามพันสี่ร้อยวา"ว่ายาวไกล ณ ภายในบ้านเรือนเกลื่อนอาราม
คนในเมืองสุโขไทใกล้ชิดวัด ปฏิบัติกายใจไม่รุ่มร่าม ในพรรษารักษาศีลสิ้นทุกยาม จิตใจงามด้วยบุญสุนทรทาน
มีสัมมาคารวะมารยาท อภิวาทวันทามือประสาน รู้หน้าที่ควรทำไม่รำคาญ ประกอบการสุจริตไม่ผิดธรรม
ทุกวันพระรักษาอุโบสถ ประพฤติพรตพรหมจรรย์ในขั้นต่ำ เป็นเริ่มต้นทางบุญคุณครอบงำ ซึ่งจะนำพาถึงซึ่งนิพพาน... |
เมืองสุโขไทมีกำแพงสามชั้น(ตรีบูรณ์) ยาวไกลได้สามพันสี่ร้อยวา คนในเมืองสุโขไทมักศีล เมื่อเข้าพรรษาทุกคนรักษาศีลห้าทุกวันไม่มีเว้น เมื่อถึงวันพระ(อุโบสถ) จะรักษาอุโบสถ(ถือศีลแปด) ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา
เต็ม อภินันท์ สถาวันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, มดดำ, รพีกาญจน์, Mr.music, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ออกพรรษากรานกฐิน -
เมื่อโอกพรรษากรานกถิน"ก่อนสิ้นฝน เดือนหนึ่งคนไทยสนุกทุกหมู่บ้าน บุญกฐินถวายพระ"กาลทาน" ล้วนจัดงานฉลองสนุกทุก"วัดวา"
พ่อขุนรามคำแหงแต่งองค์กฐิน "โอยทาน"สิ้นทรัพย์ที่่มากมีค่า หมดเบี้ย"ปีแล้ญิบล้าน"ทานบูชา ด้วยศรัทธามั่นคงอย่างจงใจ
บริพารกฐินมีหลายหลาก "พนมหมาก"จัดเห็นเป็นกองใหญ่ "พนมเบี้ย"เคียงข้างวาง"ผ้าไตร" อีก"พนมดอกไม้"และ"หมอนนอน"
วันสุดท้าย"กาลทาน"ที่ท่านจัด "ไปสูดญัติ" อรัญญิกริมสิงขร ถวายพระวิปัสนาในป่าดอน เมื่อรับพระแล้วเซ็งแซ่แห่กลับเวียง |
มีความในจารึกต่อไปว่า เมื่อออกพรรษากราน(ทอด)กฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เครื่องกฐินนอกจากผ้ากฐินแล้ว มีพนมเบี้ย พนมหมาก พนมดอกไม้ หมอนนั่งหมอนนอนเป็นบริพารกฐิน วันสุดท้ายของกาลทานพ่อขุนรามฯพาไพร่ฟ้าประชาชนไปกรานกฐินที่วัดในแดนอรัญญิก ด้านตะวันตกเมืองสุโขไท แล้วกลับเข้ามาฉลองกันในเมือง
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, มดดำ, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์, ฟองเมฆ, Mr.music, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- งาน"เผาเทียนเล่นไฟ" -
"เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกัน- แต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน"เสียง "ดํบงคํกลอง"ร้องพร้อมเพรียง เดินรายเรียงเสสรวลขบวนยาว
"ด้วยเสียงพาดเสียงพีน"ได้ยินก้อง ใครใคร่ร้องเอื้อนเสียงสำเนียงฉาว จะขับขานเย้าหยอกบอกเรื่องราว ก็ร้องกล่าวฉอดฉอดตลอดทาง
สุโขไท"มีสี่ปากประตูหลวง" ชนทั้งปวงเบียดเสียดไร้ช่องว่าง แห่เข้าเมืองเนืองแน่นด้วยนายนาง ทุกคนต่างอยากเห็นการ"เล่นไฟ"
ท่าน"เผาเทียนเล่นไฟ"ในกรุงศรี เป็นพิธีบุญทานอันยิ่งใหญ่ "ลอยกระทง"บูชารตนตรัย ซึ่งชาวไทยชื่นชมนิยมกัน.... |
คำเต็มของความในจารึกบรรทัที่ ๑๗ ถึงบรรทัดที่ ๒๓ ด้านที่ ๒ ว่า...." เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลองด้วยเสียงพาดเสียงพีน เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว เมืองสุโขไทนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยนญ่อมคนเสียดกัน เขามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขไทนี้มีฎั่งจักแตก....."
แปลคำไทยสุโขไท เป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า หลังจากกรานกฐิน ณ วัดอรัญญิกแล้ว เมื่อจักกลับเข้าในเมือง เดินเรียงแถวยาวตั้งแต่อรัญญิกจรดสนามหลวง(เท้าหัวลาน) กลางเมืองสุโขไท ระดมตีกลอง(ดํบงคํ = ดมบงคม)ให้จังหวะ เสียงพาด (เครื่องสี เช่นซอ) เสียงพีน( พิณ เครื่องดีด) ประกอบการร้องรำทำเพลง(เสียงเลื้อนเสียงขับ) ใครอยากเล่นอะไร ก็เล่น ใครอยากหัวเราะ เฮฮา ก็หัวเราะ ได้อย่างเต็มที่ สนุกสนานบันเทิงกันตลอดเส้นทางอันยาวไกล
เมืองสุโขไทมีประตูใหญ่อยู่ ๔ ประตูเข้าออกทาง ๔ ทิศ ผู้คนนอกเมืองเดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ เบียดเสียดยัดเยียดกันเข้าในเมือง เพื่อมาดูท่าน เผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้น จึ่งอึงมี่ "มีดังจักแตก".......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ -
การ"เผาเทียนเล่นไฟ"ในอดีต เป็นจารีตประเพณีที่สร้างสรรค์ ประยุกต์เอาความเชื่อทุกเชื้อวัน เข้าผูกพันศาสนาวัฒนธรรม
ทำตะคันหลอมเทียนมีไส้ใส่ เพื่อจุดไฟเผากันทั้งวันค่ำ บูชาพระ,เทพเจ้าเป็นประจำ และลอยน้ำโดยใส่ในกระทง
เรียก"เผาเทียน"ที่ไทยสืบถ่ายทอด มาตลอดหลายสมัยไม่ลืมหลง แต่เปลี่ยนแบบให้งามตามจำนง เพื่อให้คงประเพณีอันดีงาม
การ"เล่นไฟ"หลายอย่างต่างประดิษฐ์ ล้วนแรงฤทธิ์ลอยฟ้าน่าเกรงขาม "พลุ,ตะไล,ไฟพะเนียง"จุดเรียงราม ดังตูมตามพร้อมระลอก"ดอกไม้ไฟ"
ล้วนตื่นตาตื่นใจไม่เคยเห็นบ่อย คนต่างคอยเที่ยวกันชมงานใหญ่ ลอยกระทงแพร่สะพัดจัดทั่วไป สุโขทัยเป็นที่หนึ่งจึงโด่งดัง... |
การพิธี "เผาเทียนเล่นไฟ" เป็นพิธีบุญบูชาในงานนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง และเป็นวันสิ้นฤดูฝน พร้อมกับสิ้นปีเก่า พ่อขุนรามคำแหงทรงผนวกการเฉลิมฉลอง งานเสร็จสิ้น "กาลทาน" คือบุญกรานกฐิน (ที่เรียกว่ากาลทาน เพราะทำในเวลาที่จำกัด ถวายผ้ากฐินแก่สงฆ์วัดละครั้งเดียว ภายในเวลาของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น ถ้าถวายผ้าไตรแก่สงฆ์นอกเวลาดังกล่าว ผ้านั้นไม่เป็นผ้ากฐิน จะกลายเป็นผ้าป่าไปทันที) เมื่อถวายผ้ากฐิน ณ พระอารามในแดนอรัญญิก (เขาสะพานหิน) แล้ว กลับมาเฉลิมฉลองบุญทานกันในเมืองสุโขทัยด้ยการ "เผาเทียนเล่นไฟ" มีคนแออัดยัดเยียดกันเข้ามาจากสี่ปากประตูหลวง จนเมืองสุโขทัยยามนั้น "มี่ดั่งจังแตก"
การเผาเทียน คือหลอมไขขี้ผึ้ง หรือไขโคให้เหลว แล้วเทใส่ในตะคัน คือถ้วยเทียน (ล้านนาเรียกผางประทีป) ใช้ด้ายดิบทำเป็นไส้เทียน แล้วจุดไส้เทียนในตะคัน ตั้งวางบูชา พระพุทธรูป พระเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือ สิ่งที่ตนเคารพนับถือ จุดตามประทีปไว้จนกว่าเทียนจะถูกไฟลามเลียเหือดแห้งไปหมด จึงเรียกว่า "เผาเทียน"
นายนิคม มูสิกะคามะ นักโบราณคดี (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) อธิบายว่า สมัยกรุงสุโขไทเป็นราชธานี ชาวสุโขไททำตะคัน (ถ้วยเทียนประทีป) นอกจากจุดไฟตั้งวางสักการะบูชาพระแล้ว ยังใส่ตะคันลงในกระทงจุดไฟปล่อยกระทงลอยในน่านน้ำที่เรียกว่า "ลอยกระทง"
และนี่คือที่มาของประเพณีการลอยกระทงของไทย
พร้อมกับการเผาเทียนบูชานั้น มีการเล่นไฟ คือ จุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟต่างๆ เป็นที่สนุกสนานรื่นเริงด้วย
พีธีการ เผาเทียน เล่นไฟ ของเมืองสุโขไท หายไปพร้อมกับการเสื่อมสลายของกรุงสุโขไท ราชธานีแห่งแรก (ตามประวัติศาสตร์) ของไทย แต่ประเพณีการลอยกระทงยังคงอยู่ในสังคมไทย หากแต่พิธีการลอยกระทงพัฒนารูปแบบเปลี่ยน แปลงไปตามยุคตามสมัย และความนิยมของแต่ละท้องถิ่น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จังหวัดสุขทัยร่วมกับกรมศิลปากร และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดการฟื้นฟู พิธีกรรมการลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ขึ้นในแบบย้อนยุค กลับไปสู่บรรยากาศโบราณเมื่อ ๗๐๐ ปี ก่อน งานนี้ได้รับความสนใจจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ พากันมาเที่ยวชมมากจน"เมืองสุโขไทนี้มีดังจักแตก" ในปีแรก ๆ และซบเซาลงบ้างในบางช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของผู้จัดงาน
....เมื่อสองปีที่่แล้ว งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นงานเทศกาล วัฒนธรรมประเพณี ดีเด่นเป็นอันดับ ๒ ของโลก ปีนี้จะเป็นอย่างไร อดใจไว้คอยเที่ยวชมในวันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองตลิ่งก็แล้วกันครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระอัฏฐารสที่วัดสะพานหิน - พระพุทธรูปกลางเมือง -
"กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร" เป็นสถานพุทธศาสน์พิลาสขลัง "มีพระพุทธรูปทอง"เลืองในวัง "พระใหญ่"ตั้งหน้าพิหารตระการตา
"มีพระอัฏฐารศ"ยืนตระหง่าน ปางประทานพรอภัยให้ทั่วหน้า "มีพระพุทธรูปอันราม"ตามวัดวา ให้บูชากราบกรานสืบสานบุญ
"มีปู่ครูนิสัยมุตก์"หลุดภาระ ถือเป็นพระผู้ใหญ่ไม่หันหุน สำรวมเรียบลักษณะจิตกรุณ คอยค้ำจุนสังคมให้ร่มเย็น
วัดในเมืองเนืองแน่นเป็นแดนพุทธ บริสุทธิ์ศาสนาคุณค่าเห็น พ่อขุนรามฯทรงนำพาบำเพ็ญ พระองค์เป็นตัวอย่างทางดีงาม |
ความในจารึกหลักที่หนึ่งนี้กล่าวอีกว่า ในกลางเมืองสุโขไท มีพระพุทธรูปทอง มีพุทธรูปใหญ่และราม (ขนาดรอง) มีพระอัฏฐารศ มีพิหาร (วัด) ใหญ่น้อย มีพระเถระมหาเถระ ปู่ครูพระนิสัยมุตก์ (บวชครบ ๕ พรรษา)
พระพุทธรูปทองนัยว่ามีหลายองค์ องค์ที่ประดิษฐานอยู่วัดไตรมิตร กทม.ปัจจุบันนี้เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปทองดังกล่าวในจารึกนี้ ส่วนพระพุทธรูปอันใหญ่มีหลายองค์เช่นกัน องค์ใหญ่ที่สุดคือองค์ที่อยูในวิหารหน้าพระมหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขทัย ซึ่ง ร. ๑ โปรดให้เคลื่อนย้ายลงมากรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่วัดสุทัศน์ฯในปัจจุบัน (พระศรีศากยมุนี) พระอัฏฐาราศ คือพระพุทธรูปอืนประทานพรในวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย และบนเขาสะพานหินกลางอรัญิก นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก
มีเถรมหาเถร คือพระผู้ใหญ่ คือผู้บวชได้ ๕-๙ พรรษา นิสัยมุตก์ เรียกว่า "ปู่ครู" พระภิกษุผู้บวชได้ ๑๐-๑๙ พรรษา เรียก เถรหรือเถระ บวชได้ ๒๐ พรรษาขึ้นไปเรียกมหาเถร หรือมหาเถระ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระอัฏฐารส วัดสะพานหิน - พระสังฆราชลังกาวงศ์ -
"....มีเถรมหาเถร"เด่นสง่า อยู่ในป่าแดนดงกลางพงหนาม ทำอรัญญิกาวาสเป็นอาราม ห่างเขตคามติดต่อพอสมควร
"พ่อขุนรามคำแหง"มาแห่งนี้ เหตุเพราะมี"พระป่า"เป็นสัดส่วน "สังฆราชปราชญ์"เลิศองค์สงฆ์ทั้งมวล ท่องทบทวนคำ"จบปิฎกไตร"
ล้วน"หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้" มาแต่"ศรีธรรมราช"ปราชญ์เมืองใต้ "ลังกาวงศ์"สงฆ์ดีที่ถูกใจ เคร่งวินัยปฏิบัติวิปัสนา
"ในกลางอรัญญิกมีพิหาร"หนึ่ง บนเขาซึ่งไม่สูงสุดแรงขา "มีพระอัฏฐารศ"เห็นยืนเด่นตา ชื่อวัดว่า"สะพานหิน"ปิ่นอรัญ |
พ่อขุนรามคำแหงอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์นิกายอภัยคีรีวิหารจากนครศรีธรรมราชมาเผยแผ่ลัทธิทีสุโขไท สงฆ์ลังกานิกายนี้เป็น"พระป่า" จึงขออยู่ในป่าเชิงเขาประทักด้านตะวันตกเมืองสุโขไท พ่อขุนรามโปรดให้สร้างวัดเป็นที่อยู่ในป่านี้ และตั้งให้พระมหาเถระหัวหน้าคณะเป็นพระสังฆราช พระสงค์คณะนี้ล้วนรู้จำพระไตรปิฎกได้หมด(จบปิฎกไตร) ฉลาด(หลวก)กว่าปู่ครู(สงฆ์หมู่เดิม) ในเมืองสุโขไท นอกจากสร้างวัดอรัญญิกการามในป่าแล้ว ยังทรงสร้างวัดบนยอดเขาสะพานหิน และสร้างพระอัฏฐารศ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ไว้บนยอดเขานี้เพื่อ"ฝึกฟื้นใจเมือง" อีกด้วย..
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 เครดิตรูปภาพโดยคุณ Damras Onsuang
- เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขไท -
"เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขไทนี้- มีพิหารมีปู่ครู"ผู้ขยัน ทำ"คันถธุระ"ทั้งคืนวัน เป็นมิ่งขวัญไพร่ฟ้าประชาชน
"มีทะเลหลวงมีป่าหมากป่าพลู" มีที่อยู่อาศัยไร่นากล่น มีวัดวาอารามหลามปะปน หมากไม้ผลนานาแลตระการ
"มีถิ่นถานบ้านใหญ่บ้านเล็ก" ผู้ใหญ่เด็กอยู่สุขสนุกสนาน ปลูก"ป่าม่วงป่าขาม"งามละลาน แลเรือนชานบ้านไทยวิไลตา........ |
ความในศิลาจารึกตอนนี้ท่านกล่าวว่า ทางทิศตะวันออกเมืองสุโขไท มีวัด มีปู่ครูพร้อมพระสงฆ์สุโขไทผู้สืบเชื้อสายมาแต่พระโสณะ พระอุตตระ สมณะทูตพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งมาเผยแผ่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ คนไทยรับนับถือสืบต่อกันมานานนับพันปีแล้ว พระสงฆ์คณะเดิมในสุโขไทนี้ผู้ที่เป็นสมภารเจ้าวัดท่านเรียกว่า "ปู่ครู" ผู้ที่บวชนานได้ ๕ พรรษาแล้วท่านเรียกว่า "นิสัยมุตก์" เป็นพระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี(พระบ้าน) มีอยู่ทั่วไปทั้งนอกและในเมืองสุโขไท
นอกจากมีวัดวาอาราม ปู่ครูอยู่มากมายแลัวยังมีทุ่งทะเลหลวง ป่าหมากป่าพลู (คนไทยสมัยนั้นนิยมกินหมากรองลงมาจากกินข้าว) ป่ามะพร้าว ป่ามะขาม มีไร่มีนา มีถิ่นถานบ้านเรือนอุดมสมบูรณ์พูนสุข
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไท -
เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้- มีกุฎีพิหารปู่ครู"กล่น มี"สรีดภงส"อ่างใหญ่ไว้เก็บชล เลี้ยงผู้คนในเมืองน้ำเนืองนอง
"มีป่าพร้าวป่าลางป่าม่วงป่าขาม" บ้านเรือนรามอยู่เย็นเป็นแถวถ่อง เทือก"เขาหลวง"ศักดิ์สิทธิ์ประสาททอง ที่อยู่ของ"พระขพุง"บำรุงเมือง
"มีน้ำโคก"โตรกธารละหานห้วย ยอดเขาสวยมีชื่อเสียงลือ "เรื่อง- เล่านิทาน"ขานกล่าวเล่าเนืองเนื่อง "พระร่วง"เรืองฤทธิไกรไร้เทียมทาน
เขา"นารายณ์,เจดีย์,พระแม่ย่า" และ"ภูกา"สี่ยอดสูงตระหง่าน อีก"สวนขวัญ"สมุนไพรใหญ่ยืนนาน พร้อมตำนานบ่งชี้ทุกที่ทาง |
เบื้องหัวนอนคือทิศทางใต้ตัวเมืองสุโขไท ที่เรียกดังนี้เพราะคนสุโขไทสมัยนั้นนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ เหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ จารึกท่านกล่าวว่า ทางเบื้องหัวนอนมีวัดใหญ่น้อยเป็นที่อยู่ของปู่ครู สงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คามวาสี มี "สรีดภงส์"อ่างและเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ มีป่าหมากพร้าวหมากลางหมากม่วงหมากขาม มีเขาหลวงที่สถิต "พระขพุงผี"ผู้เแป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสุโขไท(ปัจจุบันเรียกกันงว่าพระแม่ย่า) ยอดเขาหลวงประกอบด้วยยอดเขาพระนารายณ์ ยอดเขาพระเจดีย์ ยอดเขาพระแม่ย่า ยอดเขาภูกา มีสวนสมุุนไพรว่านยาพระร่วง มีน้ำตก ต้นธาร มีตำนานเล่าเรื่องพระร่วงบุตรนางนาคซึ่งกำเนิด ณ เขาหลวงนี้...
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 ศาลพระแม่ย่า จ. สุโขทัย - พระแม่ย่ามิ่งเมืองสุโขทัย -
"มีพระขพุงผีเทพดา" "เป็นใหญ่กว่าทุกผี"มิอวดอ้าง "ขุนผู้ใดถือเมืองนี้"มิเว้นวาง "ไหว้พลี"อย่างถูกต้อง"เมืองนี้ดี"
"ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก"จะทุกข์เศร้า "ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง"ขยี้ "เมืองนี้หาย"ถล่มลงเป็นพงพี จารึกนี้ชี้แจงแหล่งสำคัญ
เทือกเขาหลวงสลับรายหลายสิงขร สิ่่งศักดิ์สิทธิ์ซับซ้อนอยู่ลดหลั่น ที่สถิตย์ผีผู้ใหญ่เฝ้าไพรวัน จารึกนั้นสำเหนียกเรียก"พระขพุง"
เป็นเทวรูปสตรีมีสง่า เรียก"แม่ย่า"บำรุงเมืองให้เรืองรุ่ง เป็น"มิ่งเมืงสุโขทัย"ที่ไทยมุง เผดียงผดุงสร้างสถูปรูปบูชา
ณ ยอดเขา"ปู่จ่า"กลางนากว้าง มีพระปรางค์อิฐใหญ่งามสง่า เทวรูปหลากหลายแลลายตา นักเสาะหาสมบัติวัดลักไป
พระพุทธรูปเล็กใหญ่ขนไปหมด ยังปรากฏเทวรูปหนึ่งอยู่ได้ เป็น"เทวนารี"มิเหมือนใคร เฉกนางในสรวงเด่นเช่น"อุมา"
พวกโขมยโกยทรัพย์จับขนย้าย ทำให้หายจากที่เก่า"เขาปู่จ่า" ไปปรากฏอยู่ไกลถึงปลายนา "ถ้ำหน้าหญ้า,แม่ย่า"เชิงคิรี
ชาวบ้านเรียก"พระแม่ย่า"พากันกราบ ด้วยซึ้งทราบความศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เทพผี จาก"พระขพุง"เป็น"แม่ย่า"เทวสตรี ประชาชีเคารพอภิวันท์.... |
อภิปราย ขยายความ คำเต็มของความในจารึกบัรรทัดที่ ๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๐ ว่า....." มีพระขพุงผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แลั ไหว้ดูพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอั้น บ่คู้มบ่เกรง เมืองนี้หาย....."
....แปลคำสุโขไทเป็นคำไทยปัจจุบัน ได้ความว่า ณ เทือกเขาหลวงนั้น มีพระขพุงผีเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสุโขทัย ผู้ใดได้เป็นขุนครองเมืองสุโขทัย ถ้าไหว้ดีพลีถูก เมืองสุโขทัยจำเจริญรุ่งเรืองดี หากไหว้ไม่ได้พลีไม่ถูก เมืองสุโขทัยจักเสีย เสื่อมโทรมลง จนหายสิ้น
......พระขพุงผี ได้แก่เทพผู้เป็นใหญ่ในเมืองสุโขทัย (ขพง ขพุง = ส่วนเบื้องบนของภูเขา(ยอดเขา) หรือที่สูง ส่วนสูง หรือ ประเสริฐ) "ผี" ในที่นี้หมายถึงเทพยดา คนไทยสมัยโบราณนับถือผีว่าเป็นผู้มีอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชบันดาลความดีความร้ายให้เกิดแก่ผูคนได้ ต่อมาเมื่อรู้เรื่องในลัทธิพราหมณ์มากขึ้น รู้คำว่า เทวดา อินทร์ พรหม เทพเจ้า พระเป็นเจ้าว่ามีความศักดิ์เช่นเดียวกันกับผีที่ตนนับถือ จึงแปลงผีให้เป็นเทพยดาไปในที่สุด
....พระขพุงผี เทพยดาผู้เป็นใหญ่สูงสุดในหมู่เทวยเทพ ภูติผีปิศาจทั้งหลายในเมืองสุโขทัย สถิตย์อยู่ ณ เทือกเขาหลวง นอกจากควบคุมดูแลเหล่าเทพยดา ภูติผี ปิศาจแล้ว ยังดูแลความประพฤติของผู้คนในเมืองสุโขทัยด้วย ผู้ได้เป็นขุนขึ้นครอง (ถือเมือง) เมืองสุโขทัย หากมีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ (ไหวีดี พลีถูก) ก็จะดลบันดาล หรืออวยพรให้เมืองสุโขทัยนี้เจริญรุ่งเรือง หากขุนผู้นั้นประพฤติปฏิบัติมิชอบ (ไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก) ก็จะ"อั้น บ่คุ้ม บ่เกรง" และยังจะดลบันดาลหรือสาปแช่งให้เมืองนี้เสื่อมโทรมลงจนสลายไปในที่สุด.
....พระขพุงผีประมุขเทพยดาภูติผีปิศาจประจำเมืองสุโขทัย ณ เทือกเขาหลวง นี้ มีตำนานเล่าว่าพระนางเสือง มเหสีขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงปลีกวิเวกขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนยอดเขาหลวง ยอดเขาลูกที่พระนางประทับปฏิบัติธรรมนั้นเรียกว่า"เขาพระแม่ย่า"มาจนถึงวันนี้ คนสุโขทัยในยุคหลังๆจึงเชื่อกันว่า "พระขพุงผี" ตามจารึกนี้คือพระนางเสือง พระราชมารดาในพ่อขุนรามคำแหง นั่นเอง
...นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เชื่อกันว่า เทวรูปสตรี ที่แกะสลักด้วยหินชนวนเขียวองค์นี้ คือ "พระขพุงผี" ตามความในจารึกหลักที่ ๑ และยังมีความในจารึก"ปู่สบถหลาน"กล่าวถึงอีกว่า "พระขพงยรรยงเขาพระศรี" อันหมายถึง "พระขพุงผี" นั่นเอง
....ในทางสันนิษฐานที่เป็นไปได้ว่า เทวรูปสตรีที่เรียกว่าพระแม่ย่าองค์นี้ เดิมประดิษฐานอยู่ในเทวาลัย บนยอด "เขาทอก" เตี้ย ๆ ลูกหนึ่งกลางทุ่งนา เชิงเทือกเขาหลวง ภูเขาทอกนี้น่าจะชื่อเดิมว่า ยรรยงเขาพระศรี บนยอดเขานี้มีเทวาลัยนับอายุสืบได้ว่าสร้างในยุคสมัยปาปวน ต่อมาถึงยุคสุโขไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองจึงถูกแปลงจากเทวาลัยให้เป็นพระปรางค์ (ปัจจุบันเรียกว่าปรางค์อิฐปู่จ่า) ในราวปลายรัชสมัย ร.๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีคนร้ายขุดค้นหาทรัพย์สมบัติตามปรางค์ เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ชรอยว่า ปรางค์อิฐปู่จ่าที่มีเทวรูป พระพุทธรูปอยู่มากมายนั้น ถูกลักลอบขนย้ายไปเกือบหมดสิิ้น เทวสตรีหินองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายไปทิ้งไว้ ณ เพิงผาหน้าถ้ำหน้าหญ้า (ซึ่งต่อมาเรียก "ถ้ำพระแม่ย่า" ในเทือกเขาหลวง ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเรียกเทวรูปนี้ว่า "พระแม่ย่า" อันหมายถึงพระนางเสืองผู้เป็นพระราชมารดาพ่อขุนรามคำแหง (เรียกขุนรามคำแหงว่าพ่อ ก็ต้องเรียกแม่ของพ่อว่า ย่า ตามธรรมเนียมไทย))
.....ทางการได้เคลื่อนย้ายเทวรูปสตรีหรือพระแม่ย่าองค์นี้เข้ามาไว้ในเมืองสุโขทัย ด้วยเกรงว่าหากปล่อยไว้ที่ถ้ำนั้นจะเป็นอันตราย ปัจจุบันได้สร้างศาลที่สถิตพระแม่ย่าไว้ริมน้ำยม บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย
......เพราะชาวบ้านเคารพเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ย่ากันมาก จึงมีการขออนุญาตทางจังหวัดจัดสร้างเหรียญรูปพระแม่ย่า รูปหล่อลอยองพระแม่ย่าขนาดพกพา เพื่อนำติดตัวไปไหนมาไหน ถือเป็นวัตถุมงคลขลัง โดยจัดสร้างมาแล้วจนนับรุ่นไม่ถ้วน
......การบนบานพระแม่ย่าได้ผลไม่น้อย จนมีคำกล่าวว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่".......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระแท่นกลางดงตาล -
"หนึ่งสองหนึ่งสี่ ศกปีมะโรง" กลางป่าโปร่งดงตาลปานสวรรค์ อายุตาลสิบสี่ปีที่ปลูกนั้น "ให้ช่างฟันขดารหีน"น่ายินดี
เป็นแท่น"ตั้งหว่างกลางไม้ตาน"หนุ่ม ลานประชุมถือศีลพระชินสีห์ "ปู่ครูเถรมหาเถร"เปลี่ยนเวรมี ขึ้นแท่นนี้เทศนาเป็นประจำ
"วันเดือนดับเดือนโอกแปดวัน"ทบ ทวนบรรจบเจ็ดทิวา""สิบห้าค่ำ" ทั้ง"เดือนเต็มเดือนบ้าง"ร่วมฟังธรรม ถือศีลสำรวมใจกายวาจา |
ถอดคำ ขยายความในจารึกบรรทัดที่ ๑๐ ถึงบรรทัดที่๑๖ ด้านที่ ๓ ได้ว่า .......๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาไลสุโขไทนี้ ปลูกไม้ตานได้สิบสี่เข้า จีงให้ช่างฟันขดารหีนตั้งหว่างกลางไม้ตานนี้ วันเดือนดับเดือนโอกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครู เถร มหาเถร ขึ้นนั่งเหนือดารหีนสูดธรรมแก่อุบาสก ฝูงท่วยจำศีล....."
.... แปลคำสุโขไทเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า ปีมหาศักราช ๑๒๑๔ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๓๕ ปีมะโรงนั้น นับเป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงขึ้นครองกรุงสุโขไทและปลูกไม้ตาลมาได้ ๑๔ ปี เป็นดงตาลหนุ่มที่ร่มรื่น แล้วจึงโปรดให้ช่างนำหินมาตัดแต่งทำเป็นแท่นหิน (ขดารหีน) ตั้งไว้กลางดงตาล วันพระขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (เดือนโอก) และ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (เดือนดับ เดือนบ้าง) (๑๔ ค่ำ ในเดือน คี่) ทรงอาราธนาพระภิกษุฝ่ายคามวาสี (ปู่ครู) อรัญญวาสี (เถร มหาเถร) ขึ้นนั่งบนแท่นหินแสดง (สูด=สวด) ธรรม เหล่าอุบาสกอุบาสิกา สมาทานรักษาอุโสถศีล (จำศีล) ตลอดวันตลอดคืนในกลางดงตาลนี้.....
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สภาปากปูด ณ ดงตาล -
"ผิใช่วันสูดธรรม"ว่างตำแหน่ง "รามคำแหง"นั่งแท่นแสนสง่า "ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน"มา นั่งรายล้อมพร้อมหน้าประชุมกัน
ใช้ดงตาลเป็นสภาปรึกษาเรื่อง ยกการเมืองทุกอย่างมาสร้างสรรค์ หยิบปัญหานานาสารพัน มาจำนรรจ์แจงคดีให้คลี่คลาย
ใครมีเรื่องอึดอัดทุกข์ขัดข้อง เข้ามาร้องมา"ปูด"พูดขยาย ปูดเปิดอกกันให้ใจสบาย ไร้เจ้านายปิดปากปัดมากความ
"ลั่นกะดิ่ง"กริ่งก้องเพื่อร้องเรียก ให้สำเหนียกรับเรื่องทุกข์เคืองขาม "เป็นสภาการุณย์พ่อขุนราม" เพื่อไถ่ถามทุกข์กันทั้งวันคืน..... |
.....อภิปราย ขยายความ
.....คำเต็มของความในจารึกบรรทัดที่๑๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๙ ด้านที่ ๓ ว่า "ผิใช่วัดสูดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาไลสุโขไท ขึ้นนั่งเหนือขดารหีน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง"........
..... แปลคำสุโขไทเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า หากมิใช่วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ไม่มีพระสูดธรรม (แสดงธรรม) อุบาสกอุบาสิกาไม่ได้มาชุมนุมรักษาศีล พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ทรงขึ้นประทับนั่งบนขดานหินเป็ประธานการประชุม ให้บรรดาเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่ และเจ้าเมืองทั้งหลายเข้าร่วมประชุม ปรึกษาหารือในการบริหารบ้านเมือง ..เปิดโอกาสให้ทุกคนพูดระบายความขุ่นข้องหมองใจ ถกเถียงกันได้อย่างเสรี
..... แขวนกะดิ่งไว้ที่สภานี้ ให้ไพร่ฟ้าประชาชีทุกคนที่มีเรื่อง "เจ็บท้องข้องใจ" มาลั่นกะดิ่งร้องทุกข์ "ไพร่ฟ้าหน้าปก" คือประชาชนมีทุกช์เดือดร้อนใด ๆ ก็ให้มาลั่นกะดิ่งร้องทุกข์ได้ พ่อขุนรามคำแหง จะทรงรับเรื่องร้องทุกข์แล้วพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง บริเวณดงตาลอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นกระดานหินนี้ จึงเป็น "สภาปากปูด" คือสถานที่เปิดปากพูดกันอย่างเปิดอก ระบายความทุกข์ ความขัดข้องหมองใจกันได้อย่างเสรี
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๔ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ อรูจาครี ไปนบพระอัฏฐารส ณ วัดตะพานหิน ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge - ท่านว่ามีจารึกสี่หลัก -
"ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม"ทั้งสองข้าง "ท่านแต่งช้างเผือก"ผ่องสองงายื่น "รูจาครี"มีความงามกลมกลืน ไร้ช้างอื่นไหนเยี่ยมยอดเทียมทัน
ทรงขี่ช้างสูงใหญ่ "ไปนบพระ" "อรัญญิก"เป็นระยะทางมิสั้น ขึ้นยอดเขา"ตะพานหิน"ถิ่นอารัญ ทุกทุกวันอุโบสถศีลงดงาม
ทำจารึกสี่หลักปักประกาศ มหาธาตุ"เมืองเชลียง"ไว้เคียงถาม อีกหนึ่งหลักในถ้ำ"ถ้ำพระราม" หลักที่สามถ้ำพระ "รตนธาร"
"ในกลวงป่าตานมีศาลาสองหลัง" ชื่อน่าฟัง"พระมาส"เหมือนพิหาร "พุทธศาลา"เคียงใกล้ในดงตาล คู่"ขดารหีน"มีหลักศิลา
"ขดารหีน..ชื่อมนังษีลาบาตร" เป็น"ธรรมาสน์,ราชอาสน์"หมดปัญหา กลางดงตาลร่มเย็นอยู่เป็นมา คือสภาประชาชีเสรีชน........ |
อภิปราย ......คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๑๙ ถึงบรรทัดที่ ๒๗ ด้านที่ ๓ ว่า ..
......." ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดระยาง เที้ยรย่อมทองงา...(ซ้าย) ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ (เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา ๐ จารึกอันณื่งมีในเมืองเชลียงสถาบกไว้ด้วยพระศรีรัตนมหาธาตุ จารึกอันณื่งมีในถ้ำชื่อถ้ำพระราม อยู่ฝั่งน้ำสำพาย จารึกอันณื่งมีในถ้ำรตนธาร ในกลวงป่าตานนี้มีศาลาสองอัน อันณื่งชื่อศาลาพระมาส อันณื่งชื่อพุทธศาลา (ข)ดารหีนนี้ ชื่อมนังษีลาบาตร สถาบกไว้นี่จี่ง ทัั้งหลายเห็น...."
แปลความได้ว่า เมื่อถึงวันพระอุโบสถแรม ๑๕ (หรือ ๑๔ ค่ำ) อันเป็นวันสิ้นเดือน (เดือนดับ) วันพระอุโบสถกลางเดือนขึ้น ๑๕ ค่ำ (เดือนเต็ม) พ่อขุนรามคำแหง ให้แต่งช้างชื่อ รูจาครี เป็นช้างเผือกกระพัดระยาง งายาวงามประดับด้วยทอง ทรงช้างคู่พระทัยเสด็จดำเนินขึ้นไปไหว้พระอัฏฐารศบนยอดเขาสะพานหินในแดนอรัญญิก เป็นประจำ
มีศิลาจารึกอันหนึ่งในเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) ตั้งไว้กับพระศรีรัตนมหาธาตุ จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำพระรามริมฝั่งน้ำสำพาย (แม่ลำพัน) จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำรัตนธาร (จารึกทั้ง ๓ หลักดังกล่าวนี้ยังค้นหาไม่พบ)
ในกลวง (ที่ว่าง) ป่าตาลมีศาลา ๒ หลัง ชื่อศาลาพระมาส กับ พุทธศาลา ขดารหินที่ตั้งไว้กลางป่าตาลนี้ชื่อว่า "มนังษีลาบาตร" (มนังศิลาบาตร) กระดานหิน ที่ประทับนั่งว่าราชการของพ่อขุนรามคำแหง และที่นั่งแสดงธรรมของปู่ครูเถรมหาเถร มาปรากฏนามตรงนี้ว่า "มนังษีลาบาตร" คือ พระแท่นมังศิลา เมื่อนำลงมากรุงเทพฯแรกๆนั้น เรียกกันว่า พระแท่นมนังคศิลา เป้นการเรียกผิดเพียนไปจากจารึกนี้
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขค้ผึ้งไทย ๕ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กล่าวถึงลายสือไท -
"เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี หนึ่งสองศูนย์ห้าศกปี"ที่สร้างซ่อม "พ่อขุนรามคำแหง"แต่งรูปพร้อม แปลงแบบขอมเป็นสื่อ"ลายสือไท"
ทรงใคร่ครวญเก่าใหม่แบบลายสือ แล้วลุรื้อเรียงลักษณ์อักษรใหม่ บรรทัดเดียวเกลียวกลมงามสมใจ แล้วจึง"ใศ่ลายสืไท"ให้ใช้กัน |
อภิปราย ขยายคำ....... คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๘ ถึง ๑๑ ด้านที่ ๔ ว่า......"เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อฃุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใศ่ลายสืไทนี้ ลายสืไทนี้จี่งมี เพื่อฃุนผู้นั้นใศ่ไว้...."
....แปลคำสุโขไทเป็นไทยปัจจุบัน ได้ว่า เมื่อก่อนนั้นรูปลักษณ์อักษรไทยแบบนี้ไม่มี เดิมทีไทยใช้รูปลักษณ์อักษรแบบขอม(หนังสือหรือลายสือขอมไทย) เขียนวางสระ พยัญชนะไว้คนละบรรทัด ....พ่อขุนรามคำแหง ทรงเห็นว่าเป็นรูปแบบที่รกรุงรัง จึงทรงคิดประดิษฐ์รูปแบบใหม่(หาใคร่ใจในใจ=คิดหารูปแบบ) โดยได้รูปแบบเป็นว่า ให้เขียนอักษรวางสระและพยัญชนะไว้ในบรรทัดเดียวกัน แล้วจึงให้ใช้รูปแบบที่ทรงคิดใหม่นี้ ลายสือไทจึงมี เพราะพ่อขุนรามคำแหง(เพื่อฃุนผู้นั้น)แต่งให้ไว้ ....๑๒๐๕ ศกปีมะแม เป็นปีมหาศักราช ตรงกับ พุทธศักราช ๑๘๒๖ คือปีที่พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์รูปแบบอักษรไทยใช้ใหม่ จากนั้นอีก ๒ ปี จึงสร้างพระมหาธาตุเจดีย์(วัดช้างล้อม)กลางเมืองศรีสัชนาลัย และทำจารึกลายสือไทนี้ไว้ ณ พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง อีกหลักหนึ่งด้วย
คำว่า "ลายสือไทนี้" นักวิชาการรุ่นก่อน ๆ ตีความว่า หมายถึงอักษร สระพยัญชนะทั้งหมด พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ต่อมามีนักวิชาการรุ่นใหม่(บางพวก) ตีความว่า "ลายสือไทนี้" คือแบบที่พ่อขุนรามคำแหงเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ โดยวางสระพยัญชนะไวัในบรรทัดเดียวกัน เป็นแบบใหม่ต่างจากแบบเติม ทั้งนี้มีหลักฐานทางจารึกว่า มีลายสือไทเดิมที่ใช้มาก่อนรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงแล้ว โดยเป็นการดัดแปลงลายสือขอมไทมาเป็นลายสือไท แต่วางรูปแบบลายสือขอมไท คือ วางสระกับพยัญชนะไว้คนละบรรทัด อย่างที่ไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ พ่อขุนรามคำแหงทรงเห็นว่าการวางสระพยัญชนะไว้คนละบรรทัด ทำให้รุงรังไม่น่าดู จึงทรงคิดวางสระพยัญนะไว้ในบรรทัดเดียวกัน หลังจากสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงแล้ว คนไทยกลับไปใช้รูปแบบเดิม ไม่ใช้แบบพ่อขุนรามคำแหงอีกเลย ลายสือไทแบบที่พ่อขุนรามคำแหงคิดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ จึงมีใช้อยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักอื่นอีกไม่เกิน ๒ หลักเท่านั้นเอง
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภ้ณธ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๗ ก้นยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|