บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- หาคนจักเสมอมิได้ -
"พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น"ประเสริฐ ทรงเป็นเลิศในทางการสร้างสรรค์ "หาเป็นท้าวเป็นพรญาแก่ไท"ครัน สถิตย์มั่นทศพิธราชธรรม
"หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไท- ทั้งหลายให้" เห็นบาปชั่วหยาบย่ำ "รู้บุญรู้ธรรม"ดีร้ายฝ่ายขาวดำ ด้วยทรงนำทำให้เห็นเป็นแนวทาง
"ด้วยรู้ด้วยหลวกด้วยแกล้วด้วยหาน- ด้วยแคะด้วยแรง"ท่านมุ่งสรรค์สร้าง "หาคนจักเสมอมิได้"ในโลก...ว้าง ณ ท่ามกลางชาติเชื้อเลือดเนื้อไทย..... |
อภิปราย ขยายความ.....คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๑๑ ถึงบรรทัดที่ ๑๖ ด้านที่ ๔ ว่า ...." พ่อฃุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพรญาแก่ไททั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไททั้งหลายให้รู้บุญรูธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไท ด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาน ด้วยแคะ ด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้......"
...แปลคำสุโขไท เป็นไทยปัจจุบันได้ว่า พ่อขุนรามคำแหงนั้น
..."หาเป็นครูอาจารย์ = หากเป็นครูเป็นอาจารย์ ...หาเป็นท้าวเป็นพรญา = หากเป็นท้าวเป็นพระยา (คือเป็นอย่างแน่นอน) สั่งสอนให้คนในเมืองไทยภายใต้การปกครองของพระองค์ให้รู้บาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช้ประโยชน์ อย่างแท้ พระองค์ทรงสั่งสอนคน ..."ด้วยรู้ = ความรู้แท้รู้จริงของพระองค์ ..."ด้วยหลวก" = ความรอบรู้เฉลียวฉลาด(รู้หลัก)ของพระองค์ ..ด้วยแคะ = ความว่องไว ปราดเปรียว ไม่เชื่องช้า ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ...ด้วยแรง = ด้วยความขยันหมั่นเพียร "จ้ำจี้จ้ำไช" ไม่ท้อถอย.... ......จนหาคนจักเสมอมิได้
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ ณพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๘ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- มีเมืองกว้างช้างหลาย -
"อาจปราบฝูงข้าเสีกมีเมืองกว้าง- ช้างหลาย"ช้างชาวบ้านใช้งานได้ "ปราบเบื้องตะวันออก"งอกเขตไกล เข้าอยู่ในปกครองของ"ขุนรามฯ"
"รอดสรลวงสองแฅวลุมบาจาย" แล้วรอดรายรวม"สคา"ก่อนพ้นข้าม "เท้าฝั่งของเถีงเวียงจันทน์"ครองเขตคาม "เวียงคำ"งามคู่เคียงเมืองเวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ.......คำเต็มของความในจารึกบรรทัดที่ ๑๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๙ ด้านที่ ๔ ว่า " อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสรลวงสองแฅว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถีงเวียงจัน เวียงฅำ เป็นที่แล้ว....."
..แปลคำไทยสุโขไท เป็นคำไทยปัจจุบันได้ว่า พ่อขุนราม คำแหงสามารถ(อาจ) ปราบข้าศึกจนขยายอาณาเขตเมืองออกไปได้กว้างไกล(เมืองกว้าง) มีช้างมากมายไว้ใช้งานและการสงคราม ปราบทางด้านทิศตะวันออกกรุงสุโขไทพ้น(รอด) สรลวงสองแฅว ลุมบาจาย สคา พ้นฝั่งแม่น้ำโขงถึงเวียงจันทน์ เวียงคำ หมดทั้งสิ้น
.."สรลวงสองแฅว " ท่านอ่านว่า "สระหลวง สองแฅว" เป็นชื่อเมืองแฝดของพิษณุโลกในปัจจุบัน ไม่แน่ในว่า "สรลวง" อ่านว่า"สระหลวง"ถูกแล้วหรือไม่ เพาะมีปราชญ์บางท่าน อ่านว่า "สรวง" อันหมายถึงสวรรค์ มิใช่หมายถึง"สระใหญ่" มีบางท่าน อ่านว่า "สอนลวง" หมายถึงทางที่เลื้อยไปของงูใหญ่ หรือนาคราช (ลวง=นาค,งูใหญ่) แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่า "สรลวง" คือเมืองพิจิตรในปัจจุบัน แต่มีหลักฐานใหม่ว่า เมืองพิจิตรสมัยกรุงสุโขไทนั้น ชื่อว่า "เมือปากยม" "ท่านจันทร์" สันนิษฐานว่า สรลวงน่าจะเป็นเมืองพิชัยในเขตอุตรดิตถ์ แต่ว่า ความในจารึกหลักที่ ๒ สมเด็จพระศรีศรัทธาฯบอกว่าพระองค์ "เกิดในนครสรลวงสองแฅว" ศ.ประเสริฐ ณ นคร จึงชี้ชัดลงไปว่า สรลวงเป็นเมืองแฝดของสองแฅว โดยอยู่คนละฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นการตีความตามคำบอกเล่าของสมเด็จพระศรีศรัทธาฯ ซึ่งน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
.."สองแฅว" ชื่อภาษาบาลีว่า "ทวิสาขา" แปลว่า สองแคว ตั้งอยู่ทางฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน(ตรงข้ามกับสรลวง) มีแม่น้ำ ๒ สายไหลผ่าน คือน้ำน่าน(น้ำโพ) และ แควน้อย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างเมืองใหม่โดยรวมเอาเมืองสองแฅวเข้ากับเมืองชัยนาทบุรี(สรลวง) เข้าเป็นเมืองเดียวกัน แล้วขนานนามใหม่ว่า "พิษณุโลก" และใช้นามนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
...ลุมบาจาย สคา เป็นเมืองที่อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก สันนิษฐานว่าคือ เมืองเลย เมืองหล่ม คือ ด่านซ้าย หล่มเก่า ในปัจจุบัน
... เวียงจัน คือ นครเวียงจันทน์ เวียงฅำ คือเมืองร้างใต้นครเวียงจันทน์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๙ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- จันทบุรี = เวียงจันทน์ -
ในราวพุทธศักราชหกร้อยเศษ ชาติ,ประเทศใดใดไม่ถือมั่น ประชาชนทุกเหล่าทุกเผ่าพันธุ์ เคล้าคละกันไม่เป็น"ลาว,เขมร,ไทย"
ชุมชนหนึ่งริมน้ำโขงตรงที่ลุ่ม ตั้งเป็นกลุ่มแล้วกลายขยายใหญ่ เป็นเมืองงามนามกรขจรไกล เรียกกันในกาลนั้น"จันทบุรี"
"จันทบุรีอ้วยล้วย"ช่วยนำสร้าง เป็นแบบอย่างพุทธธรรมนำวิถี ก่อมหาธาตุใหญ่ในปฐพี ทุกวันนี้ยังอยู่คู่เวียงจันทน์
จันทบุรีแปรนามตามสมัย คนลาว,ไทย,เขมรมวลล้วนถือมั่น สามประเทศสามกษัตริย์ปัจจุบัน ยังเกี่ยวพันไม่ขาด"ญาติกา"
เมื่อไทยตั้งหลักมั่นเป็น"ปั้นใหญ่" สุโขไท"รามคำแหง"ทรงแกร่งกล้า เมืองเวียงจันทน์เก่าจึงเข้าพึ่งพา ร่วมอาณาจักรโตสุโขไท...... |
อภิปราย ขยายความ..............เวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำโขงฟากฝั่งตะวันออก มีหลักฐานยืนยันว่ามีอายุร่วมยุคสมัย โคตรบูร คือนครพนม ในราว พุทธศักราช ๖๐๐ ปี ผู้นำกลุ่มชน (เจ้าแผ่นดิน) นามว่า "จันทบุรีอ้วยล้วย" ท่านได้พระสารีริกธาตุส่วน"หัวเหน่า" จากพระเจ้าอโศกมหาราช จึงก่อพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ ให้ชื่อพระสถูปนั้นว่า มหาธาตุหลวง เมืองนี้ชื่อว่า "จันทบุรี" ตามนามผู้นำ ต่อมาได้แปรชื่อเป็น เวียงจัน ในยุคกรุงสุโขไท และขอเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับราชอาณาจักร หรือ แคว้นสุโขไท
...เวียงคำ เป็นเมืองคู่ของ เวียงจันทน์ เดิมเชื่อกันว่า ได้แก่เมือง "ซายฟอง" ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่อยู่ตอนใต้เมืองเวียงจันทน์ ต่อมา คุณสุเนตร โพธิสาร แห่งสถาบันประวัติศาสตร์คณะกรรมการวิทยาศาตร์สังคมลาว ให้ข้อมูลใหม่ว่า ....
.."เมืองซายฟองเป็นเมืองร้าง สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ปัจจุบันอยู่ที่บ้านสีถานใต้ ทางทิศใต้ของเวียงจันทน์ อยู่ริมน้ำโขงห่างจากนครเวียงจันทน์ระยะทางประมาณ ๒๐ กม.
..."เมืองเวียงคำ เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเวียงจันทน์ ห่างจากเวียงจันทน์ประมาณ ๕๐ กม. อยู่แถบน้ำงึม ตรงข้ามเมืองธุรคม (บ้านเถิน) เป็นเมืองคู่กับเมืองเวียงแก้ว เวียงแก้วตั้งอยู่ฝั่งซ้ายน้ำงึม เวียงคำตั้งอยู่ฝั่งขวาน้ำงึม"
เป็นอันว่าเบื้องทิศตะวันออกของกรุงสุโขไท มีเมืองที่ขึ้นอยู่กับการปกครองของพ่อขุนรามคำหง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ๆ ก็มี นครสรลวงสองแฅวแห่งลุ่มน้ำน่าน เมืองลุมบาจาย สคา แห่งลุ่มน้ำป่าสัก และ เวียงจัน เวียงฅำ แห่งลุ่มน้ำโขง เวียงจัน ก็คือเวียงจันทน์ที่ตั้งมหาธาตุหลวงในปัจจุบัน ส่วน เวียงฅำ นั้นยังมีปัญหาว่า คือเมืองซายฟอง หรือคือ เมืองเวียงฅำคู่กันกับ เมืองเวียงแก้ว แห่งลุ่มน้ำงึมกันแน่ ต้องค้นคว้ากันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๐ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, น้ำหนาว, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร - เมืองเบื้องหัวนอน -
เบื้องหัวนอนรอดคนทีพระบางแพรก สุพรรณภูมิ"แรกรุ่งเรืองใหญ่ "ราชบูรีเพชรบูรี"รี่เรื่อยไป "ศรีธรรมราช"ใต้สุดทะเล
แต่ละเมืองเรื่องมากหากกล่าวขาน มีตำนานประวัติศาสตร์อยู่ปัดเป๋ ปากต่อปากลากเอาเข้าปนเป เป็นเสน่ห์ตำนานมานานนม
จะค่อยค่อยถอยหลังไปฟังเรื่อง แต่ละเมืองตามนุสนธิ์เหตุผลสม เริ่ม"คนที"ที่กำแพงแหล่งแรกชม "บ้านโคน"จมดินปริ่มอยู่ริมปิง |
...อภิปราย ขยายความจาก คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๑๙ ถึง ๒๒ ด้านที่ ๔ ว่า
..." เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบูรี เพชรบูรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว..."
..แปลคำไทยสุโขไท เป็นคำไทยปัจจุบันได้ว่า ทางทิศใต้ (เบื้องหัวนอน) อาณาเขตของสุโขทัย พ้น (รอด) คนที เมืองเล็ก ๆ ริมน้ำปิง (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองกำแพงเพชร) พ้นพระบาง (คือนครสวรรค์ในปัจจุบัน) พ้น แพรก (คือ อ.สรรคบุรี ในจ.ชัยนาท ปัจจุบัน) พ้น สุพรรณภูมิ (คือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) พ้น ราชบุรี เพชรบุรี ผ่าน ปราณบุรี ชุมพร ไชยา พ้น นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลมหาสมุทรเป็นแดน
..แต่ละเมืองที่กล่าวถึง มีรายละเอียดที่ควรกล่าวถึงกันต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดคีรีวงศ์ นครสวรรค์ - พระบาง = นครสวรรค์ -
" แม่น้ำโพ"ต้นสุด"อุตรดิตถ์" ไหลลงติด"สายน่าน"ไม่นอนนิ่ง สมทบ"สายน้ำยม"สามแม่อิง ใช้นามจริง"แม่น้ำน่าน"เนิ่นนานมา
น้ำสามสายไหลร่วมรวมเป็นหนึ่ง ล่องลงถึงเมือง"พระบาง"อย่างหรรษา ปรากฏนาม"ปากน้ำโพ"ต้น"เจ้าพระยา" เป็นมหานทีที่สำคัญ
"แม่น้ำปิง"ต้นหลากจาก"เชียงใหม่" ผ่าน"ลำพูน"เรื่อยไหลลงลดหลั่น "แม่น้ำวัง"จาก"ลำปาง"หลั่งรวมกัน เป็น"แม่ปิง"เท่่านั้นขนานนาม
ไหลผ่าน"ตาก,กำแพงเพชร"พลิ้วพลิกพริ้ว ล่องละลิ่วลง"พระบาง" อย่าง"วางก้าม" สบน้ำโพสองกระแสร่วมแควงาม หล่อเลี้ยงสยามตามลุ่มน้ำชุ่มเย็น
ปากน้ำโพปากปิงพิงกันแน่น เกิดเมืองแมนมีค่ามาให้เห็น ชื่อ"พระบาง"ร้างความทุกข์ลำเค็ญ ต่อมาเป็น"นครสวรรค์"อันอำไพ |
อภิปราย....จากความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ระบุว่าเมืองบริวารเบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย คือทางทิศใต้ เริ่มแต่เมืองคนที ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็น นครชุม พชรบุรี และกำแพงเพชรในที่สุด จากเมืองคนทีตามลำน้ำแม่ปิง มาถึงเมืองพระบาง ซึ่งต่อมาเมืองนี้ได้นามใหม่ว่า นครสวรรค์มาจนถึงปัจจุบัน
ที่เมืองนครสวรรค์ หรือพระบางนี้มีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันจนกลายเป็นต้นแม่นำสายใหญ่ชื่อว่า "เจ้าพระยา" แม่น้ำสายขวาคือ แม่น้ำปิง มีต้นน้ำจาก นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ไหลล่องมาเข้าพื้นที่จังหวัดตากแล้วมีแม่น้ำวัง ต้นน้ำจากนครลำปางไหลล่องลงมาบรรจบกับแม่น้ำปิง แม่น้ำวังถูกแม่น้ำปิงกลืนหายไปในเขตจังหวัดตาก แล้วไหลล่องผ่านกำแพงเพชรลงถึงนครสวรรค์
อีกสายหนึ่งอยู่ฝั่งซ้าย (ตะวันออก) เดิมชื่อแม่น้ำโพ ด้วยต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เมืองทุ้งยั้ง ลับแล ลำน้ำไหลผ่านตลาดค้าบางโพซึ่งเป็นย่านการค้าทางน้ำที่ใหญ่มาก เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่าง เหนือ-ใต้ นัยว่าทางเหนือนั้นแต่แพร่ น่าน ไปหลวงพระบาง สิบสองปันนา แม่น้ำโพไหลล่องผ่านเมืองพิชัย พิษณุโลก พิจิตร ลงมาถึงเขตเมืองพระบางก็ได้บรรจบกับแม่น้ำยมซึ่งมีต้นน้ำอยู่เหนือเมืองแพร่ ไหลล่องลงมาผ่านศรีสัชนาลัย สุโขทัย บางระกำ ผ่านหลายอำเภอในเขตพิจิตร จนบรรจบกันกับแม่น้ำโพใต้เมืองพิจิตร แล้วแม่น้ำยมก็ถูกแม่น้ำโพกลืนหายไหลลงไป บรรจบกับลำน้ำแม่ปิง รวมกันเป็นต้นแม่น้ำเจ้า พระยา ดูเหมือนว่าคนสมัยนั้นจะให้ความสำคัญกับแม่น้ำโพมาก จึงเรียกตรงที่แม่น้ำโพกับแม่น้ำปิงบรรจบกันนั้นว่า "ปากน้ำโพ" และเมืองพระบางยามนั้นก็เรียกว่าเมืองปากน้ำโพไปด้วย ต่อมาแม่น้ำโพเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำน่าน เพราะมีแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งไหลล่องลงมาจากเมืองน่าน บรรจบกับแม่น้ำโพในเขตเมืองอุตรดิตถ์ แล้วกลายเป็นแม่น้ำสายเดียวกันในที่สุด...
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพืธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดเจดีย์เจ็ดแถว - แพรก = สรรคบุรี -
"แพรก"เมืองลุ่มชุ่มน้ำมีความเก่า อายุเท่า"ทวาราวดี"สมัย ไม่โด่งดังฟุ้งเฟื่องเท่าเมืองใด ตั้งอยู่ในความสงบเสงี่ยมงาม
เมือง"เจ้ายี่พระยา"ประวัติย่อ ไม่ดังพอขยายเรื่องกระเดื่องสยาม แต่"ขุนสรรค์พันเรือง"กระเดื่องนาม ว่ามีความเก่งกล้าพม่ากลัว
ยังเหลือซากฝากประวัติไว้ชัดแจ้ง ปรากฏแหล่งโบราณสถานทั่ว เช่นเจดีย์ยอดระหงทรงดอกบัว บ่งบอกตัวตนของสุโขไท..... |
..อภิปราย ขยายความ......
"แพรก" ชื่อเมืองในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้เป็นเมืองในลุ่มเจ้าพระยา ใต้เมืองพระบาง หรือนครสวรรค์ลงมา มีชื่อเรียกเต็มๆสมัยต่อมาว่า "แพรกศรีราชา" เป็นเมืองเก่าอายุถึงยุคทวาราวดี และเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในยุคสุโขไท สิ่งที่ยังหลงเหลือเป็น "ซากสุโขไท" คือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑฺ์ (ยอดดอกบัวตูม) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสุโขไทสมัยพระยาลิไท และพระพิมพ์ปางลีลา เรียกว่า "พืมพ์สรรค์"
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองแพรกมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ว่า พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระนครินทรราชา (เจ้านครอินทร์) มีตำแหน่งเป็นเจ้าแห่งเมืองแพรกนามว่า "พระเจ้ายี่พระยา" ชรอยว่ามีพระราชมารดาเป็นชาวเมืองแพรก ครั้นเจ้านครอินทร์สวรรคต พระเจ้ายี่พระยา ยกกำลังเข้ายึดครองราชบัลล้งก์กรุงศรีอยุธยา จนเกิดรบกับพระเจ้าอ้ายพระยา ราชโอรสองค์โตของเจ้านครอินทร์ รบถึงขั้นชนช้างจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ พระโอรสองค์ที่ ๓ คือพระเจ้าสามพระยา ผู้ครองเมืองชัยนาทบุรี (ต่อมารวมกับเมืองสองแฅวได้นามใหม่ว่าพิษณุโลก) จึงลงมาครองกรุงศรีอยุธยา เป็นพระเจ้าสามพระยา ในกาลต่อมา
.....สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา พม่ายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านบางระจันตั้งกองกำลังรบกับพม่า ขุนพลอันลือนามของกองกำลังนี้คือ "ขุนสรรค์ ,พันเรือง" ท่านผู้นี้เป็นชาวเมืองแพรกศรีราชานี้เอง
....ปัจจุบันเมืองแพรก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาท คือ อำเภอสรรคบุรี
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, รพีกาญจน์, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ - สุพรรณภูมิ -
"สุพรรณภูมิ"เมืองเก่าเหง้าสยาม ปรากฏนาม"สุวรรณภูมิ"อันยิ่งใหญ่ คือ"อู่ทอง"เมืองทองผ่องอำไพ อายุได้ยาวนานหลายพันปี
มาถึงยุคสุโขไทย้ายที่ตั้ง มาริมฝั่งแม่น้ำลำใหญ่นี่ ผู้ครองเมืองรู้จักยศศักดิ์ดี บารมีเลิศล้ำสร้างตำนาน
คือ"ขุนหลวงพ่องั่ว"เป็นรากเหง้า กำเนิดเจ้าครองสยามนามเล่าขาน "นครอินทร์"อัจฉริยะตระการ มีลูกหลานสืบวงศ์ทรงเดชา
"สุพรรณภูมิ+สุโขทัย"เดชไพศาล ประวัติศาสตร์ตำพนานมีปัญหา ความขัดแย้งแต่งเรื่องเนื่องกันมา ต้องค้นคว้า"ตัดต่อ"กันต่อไป..... |
อภิปราย ขยายความ.......
สุพรรณภูมิ คือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำสุพรรณ-ท่าจีน เป็นเมืองที่พัฒนาการขึ้นมาจาก "สุวรรณภูมิ" มีเมืองหลวง (และเมืองท่า) ชื่อ "อู่ทอง" ซึ่งตั้งอยู่ ริมน้ำจระเข้สามพัน (สามพันธุ์ ก็ว่า) ปัจจุบันเป็นอำเภออู่ทอง อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดสุพรรณบุรี ตามตำนาน ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระโสณะ-อุตตระ พาคณะสมณะทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ สุวรรณภูมิประเทศ เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๐-๓๐๐ คณะสมณะทูตมาตั้งหลักเผยแผ่พุทธศาสนา ณ แห่งนี้ เป็นครั้งแรกของภูมิภาคนี้
ยุคกรุงสุโขไท สมัยพ่อขุนรามคำแหง สุพรรณภูมิเป็นประเทศราชของสุโขไท มาถึงรัชสมัยพรญาลิไท ขุนหลวงพ่องั่ว เจ้าเมืองสุพรรณภูมิร่วมกับท้าวอู่ทอง (แห่งละโว้) ผู้เป็น "น้องเขย" ยกกำลังจากกรุงศรีอยุธยาลอบล้ำเข้ายึดครองนครสรลวงสองแฅว เมืองเอกของสุโขไทได้ พระเจ้าอู่ทองมอบให้ขุนหลวงพ่องั่วปกครองเมืองนี้ และขุนหลวงผู้นี้ได้อภิเศกพระมหาเทวีขนิษฐาของพระญาลิไท เป็นชายา แล้วต่อรองเชิงบังคับให้พระญาลิไท ไปครองนครสรลวงสองแฅว (พิษณุโลก) โดยมอบให้พระขนิษฐามหาเทวีครองสุโขไทแทน ขุนหลวงพ่องั่วกลับไปอยู่สุพรรณภูมิตามเดิม
ต่อสมสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทองสวรรคต) พระญาลิไทเสด็จจากสรลวงสองแฅวคืนสู่สุโขไท พระขนิษฐาคืนบัลลังก์ให้ครองตามเดิม ขุนหลวงพ่องั่วยกกำลังจากสุพรรณภูมิเข้ายึดครองกรุงศรี อยุธยา ให้พระราเมศวร (ผู้หลาน) ไปครองละโว้ (ลพบุรี) เมืองหลวงเดิมของทวาราวดี
ราว ๆ ปี พ.ศ. ๑๙๑๓ สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชา (ลิไท) สวรรคต แคว้นสุโขไทเกิดความวุ่นวาย สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (พ่องั่ว) เสด็จจากรุงศรีอยุธยาขึ้นไปจัดการ ให้สมเด็จมหาเทวีพระราชวรชายาของพระองค์ครองสุโขไทอีกครั้งหนึ่ง ตั้งให้พระเทพาหูราช อันประสูติแต่พระมหาเทวีเป็นรัชทายาท สุโขไทสงบเรียบร้อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๑๙๒๗ พระมหาเทวีสิ้นพระชนม์ พระเทพาหูราชครองสุโขไทสืบต่อมา
ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๓๑ สมเด็จพระบรมราชา (พ่องั่ว) สิ้นพระชนม์ พระราเมศวรยกกำลังจากละโว้ลงมายึดกรุงศรีอยุธยาแล้วปลงพระชนม์เจ้าทองลันเสีย สมเด็จพระเทพาหูราชเป็นห่วงสุพรรณภูมิ เกรงว่าจะถูกพระราเมศวรยึดครอง จึงมอบกรุงสุโขไทให้พระญาลือไท โอรสพระญาลิไท ที่ครองศรีสัชนาลัยอยู่นั้น ลงมาครองสุโขไทแทน แ ล้วพระองค์เสด็จลงมาครองสุพรรณภูมิ ขณะลงมาครองสุพรรณภูมินี้ คนส่วนมากจะเรียกนามพระองค์ว่า "เจ้านครอินทร์" ทรงส่งทูตไปสู่ราชสำนักจีน ปรากฏในจดหมายเหตุจีนเรียกพระองค์ว่า "พระร่วง" และเรียกสุพรรณภูมิว่า "เสียมก๊ก" ทรงนำช่างจีนมาสอนคนไทยปั้นเครื่องปั้นดินเผาด้วย
......เรื่องราวของกษัตริย์อัจฉริยะพระองค์นี้ จะกล่าวถึงในตอนต่อ ๆ ไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, รพีกาญจน์, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- คูบัว > ราชบุรี -
ราชบุรีเมืองใหญ่สมัยก่อน เป็นนครอิสระร่วมสมัย "ทวาราวดี"เก่าแสนยาวไกล รวมเข้าอยู่"สุโขไท"สมัยกลาง
"เมืองคูบัว"ซากเห็นเป็นหลักฐาน ของโบราณนานเนาคนเก่าสร้าง ตัวละครราชสำนักล้วนเป็นนาง ทำท่าทางรำเต้นเล่นดนตรี
ประวัติศาสตร์จมดินเกือบสิ้นเรื่อง เหลือซากเมืองประจักษ์เป็นสักขี หากขุดค้นหากันในวันนี้ ย้อนกลับที่"สุวรรณภูมิ"ปูมโบราณ.... |
อภิปราย ขยายความ......
ราชบุรี เมืองในขอบขัณฑสีมาของพ่อขุนพระรามคำแหง เชื่อได้ว่าเป็นเมืองเก่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่ยุคสมัยสุวรรณภูมิ ต่อมาถึงยุคทวาราวดี โดยมีซากเมืองคูบัวในเขตเมืองราชบุรีปัจจุบันพร้อมโบราณวัตถุเป็นเครื่องยืนยัน
ในการขุดแต่ง "คูบัว" เมืองเก่าในราชบุรีของกรมศิลปากร พบโบราณสถาน โบราณวัตถุ จมอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก ตุ๊กตาเครื่องปั้นดินเผารูปสตรีบรรเลงดนตรีและฟ้อนรำ ดั่งในภาพประกอบนี้ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรื่องของราชสำนักเมืองนี้ได้อย่างชัดเจน
ประวัติศาสตร์ใต้ดินเมืองคูบัวนี้ยังมิได้มีการค้นคว้าหาความจริงกันอย่างจริงจัง เบาะแสที่มีอยู่ในแผ่นกระเบื้องจาร และพระพุทธรูปปางเทศนาในถ้ำเขางู ที่ถือได้ว่าเป็นตำนานสุวรรณภูมิ ก็ถูกนักวิชาการทางประวัติศาสตร์มองเมิน ไม่ยอมรับฟัง จึงขอฝากไว้ให้นักประวัติศาสตร์รุ่น ลูก หลาน เหลน ลองหยิบขึ้นมาพิจารณาดูบ้างนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีเขาวัง เพชรบุรี - เพชรบุรี < พริบพรี -
ถิ่นประเทศ"เพชรบุรี"มีเอกลักษณ์ ที่ประจักษ์คือสำเนียงเสียงคำขาน ไม่เหมือนราชบุรี,สุพรรณ,กาญจน์ "เมืองน้ำตาล"หวานมากทั้งปากใจ
เป็นเมืองเก่ายุค"ละว้า"มานานแล้ว ปานดวงแก้วก่องเก็จงามเม็ดใหญ่ แสงประกายส่องสว่างกระจ่างไกล ตั้งนามให้""พริบพรี"ที่สมนาม
มีเขาวังตั้งตระหง่านในม่านมฆ รุจิเรขแลเห็นเด่นสยาม ประวัติมากหากเล่ายืดยาวความ จึงขอข้ามความเห็นที่เป็นกลอน... |
อภิปาย ขยายความ..
..เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งประเทศราชของแคว้นสุโขไท สมัยพ่อขุนรามคำแหง และยังมีนามอีกชื่อหนึ่งว่า "พริบพรี" มีเรื่องเล่าไว้น่าเชื่อว่า เจ้าเมืองเพชรบุรีลงไปสถาปนาเมืองช้างค่อมขึ้นเป็นเมืองนครศรี ธรรมราชสืบสายตระกูล "ไศเลนทร์" ต่อไป หากศึกษาสืบค้นไปลึก ๆ แล้วอาจจะพบว่า เพชรบุรีคือเมืองหลวงของชนชาติไทยสืบทอดมาจาก เมืองอู่ทอง หรืออาจจะก่อนเมืองอู่ทองก็ได้
..มีตำนานเล่าไว้ในแผ่นกระเบื้องจารว่า เพชรบุรีเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงหลวงของสุวรรณภูมิประเทศ ในยุคพุทธกาล (ก่อนพุทธศักราช) ผู้ครองเมืองนี้เป็นพระสหายกับพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ ทรงให้ "ขอม" คือนักปราชญ์ราชบัณฑิต ไปถอดถ่าย (คัดลอก) ลายสือพราหมีจากมคธ มาแปลงเป็นลายสือไทยสุวรรณภูมิ ลายสือนั้นในกาลต่อมาจึงเรียกกันว่า ลายสือขอม (อักษรขอม) ตำนานดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการไทย
มีคำให้การของชาวกรุงเก่าว่า เพชรบุรีเป็นที่กำเนิดของพระเจ้าอู่ทอง แล้วย้ายไปสร้างเมืองใหม่ในลุ่มเจ้าพระยา สถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยาในกาลต่อมานั่นเอง
ยุคที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ในความสับสนวุ่นวายเพราะเสียกรุงให้แก่พม่าในครั้งแรก พระยาละแวก เขมรถือโอกาส ยกกองเรือมายึดเมืองเพชรบุรีไว้ในครอบครองได้เป็นระยะสั้น ๆ แล้วถูกสมเด็จพระนเรศวรไล่ตีเตลิดไป แล้วตามตีไปถึงกัมพูชา ยึดครองประเทศเขมรไว้ได้ทั้งหมด และยังมีเรื่องกบฎชิงราชบัลลังก์ในกรุงศรีอยุธยา ตัวการสำคัญหนีมาซ่องสุมผู้คนแล้วยกเข้าตีกรุงฯ บ้าง ถูกขังทรมานในถ้ำเพื่อให้ตายบ้าง มีรายละเอียดอยู่ในตำนานอิงประวัติศาสตร์แล้ว
ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพชรบุรีมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับราชสำนักหลายประการ จนปรากฏพระนครคีรีขึ้นบนเขาวัง ดังเป็นที่ทราบกัน.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๖ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช - ตามพรลึงค์ > นครศรีธรรมราช -
"นครศรีธรรมราช"ประวัติมาก โดยเริ่มจาก"ช้างค่อม"หย่อมแรกก่อน เป็น"ตามพรลึงค์,ศิริธรรมนคร" อนุสรณ์สิ่งดีดีมีมากมาย
เป็นเมืองหลวง"ศรีวิชัย"แน่ไม่ผิด ถูกปกปิดหลัฐานมานานหลาย ด้วยฝรั่งชี้ให้ชมอย่างงมงาย วางจุดตายว่าอยู่"สุมาตรา"
พบจารึกแน่ชัดแล้วบัดนี้ "นครศรีธรรมราช"จำรัสหล้า ร่วมกับแหล่งรุ่งเรืองเมืองไชยา เป็นอาณาจักรดี"ศรีวิชัย"
ตำนาน"พระแก้วมรกต"ปรากฏชัด เกียรติประวัตินครนี้ที่ยิ่งใหญ่ กับตำนาน"พุทธสิหิงค์"มิ่งเมืองไทย กำเนิดในเมืองนครฯกระฉ่อนนาม,,,, |
อภิปราย ขยายความ.....
..นครศรีธรรมราชที่เป็นประเทศราชกรุงสุโขไท ตามที่ปรากฏในจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง คือเมืองใหญ่ หรือเมืองหลวงของภาคใต้ เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจากเมืองไชยา พัฒนาขึ้นมาจากหมู่บ้านช้างค่อมเป็นเมืองใหญ่ชายฝั่งทะเลไทย จากจารึกที่พบในเมืองไชยา และ นครศรีธรรมราช ยืนยันได้แน่ชัดว่า เมืองไชยา-นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของแคว้นหรือ อาณาจักรศรีวิชัย
..มีชื่อเรียกเดิม ๆ ว่า ตามพรลิงค์ หรือ ตามพรลึงค์ ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า "ตั้มมาลิง" มีคำแปลว่า เมืองแห่งดินแดงบ้าง ไข่ (อวัยวะเพศชาย) แดงบ้าง ศิริธรรมนครบ้าง นครศรีธรรมราชบ้าง ดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยศึกสามนครคลิก ว่า พระเจ้าชีวกราชแห่งศิริธรรมนคร ได้ยกทัพเรืออันเกรียงไกรขึ้นไปยึดครองละโว้ได้โดยละม่อม แล้วแพร่ราชวงศ์กษัตริย์ไศเลนทรวงศ์ ครอบคลุมทวาราวดี ละโว้ อโยธยา หรือ กัมโพช รวมทั้งกัมพูชา หรือ กัมพุช เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของนครศรีธรรมราชในอดีตได้เป็นอย่างดี
ตำนานว่าพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทยในปัจจุบัน กำเนิดที่นครศรีธรรมราช โดยเจ้าผู้ครองศรีธรรมราช กับพระอรหันต์นาคเสนเป็นผู้สร้างที่เมืองไชยา แล้วเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่นครฯ ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของแคว้น จากนั้น เคลื่อนย้ายไปอยู่กัมพูชาเป็นเวลานาน ก่อนจะกลับมากัมโพชอโยฌยา แล้วขึ้นไปกำแพงเพชร เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ ข้ามโขงไปหลวงพระบาง ล่องลงอยู่นครเวียงจันทน์ แล้วกลับไทย ประดิษฐาน ณ กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
พระพุทธสิหิงค์ จากลังกาทวีปมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ขุนศรีอินทราทิตย์ หรือ "โรจนราช" ปฐมวงศ์พระร่วงแห่งสุโขไท เสด็จเยือนนครศรีธรรมราชเพื่อผูกสัมพันธไมตรี แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นไปไว้กรุงสุโขไท.....
พระพุทธศาสนาลัทธิหรือนิกายอภัยคีรีวิหาร ลังกาวงศ์ มาตั้งหลักเผยแผ่ลัทธิ ณ เมืองนครศรีธรรมราช พ่อขุนรามคำแหงทรงอาราธนาขึ้นไปปักหลักเผยแผ่ที่สุโขไท เป็นคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสนาหรือพระป่ากระจายไปทั่วอาณาจักร....
สรุปได้ว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยมาจนถึงยุคสุโขไทจึงอ่อนแอลง แล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขไทสมัยพ่อขุนรามคำแหง นัยว่าราชธิดาแห่งผู้ครองแคว้นนครศรีธรรมราชหลายพระองค์ได้อภิเษกเป็นมเหสีพระเจ้ากรุงสุโขไท จึงปรากฏพระนามว่า "พระศรีธรรมราชมาตา" เช่นมเหสีพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เป็นต้น เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขไท ต่อมาถึงอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงเทพมหานคร ......เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๗ กันยายน ๒๕๖๐ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ศรีวิชัยอยู่ที่นี่ -
ณ แดนดินถิ่นใต้ของไทยนี้ นับพันปีก่อนกำเนิดเกิดสยาม อาณาจักรศรีวิชัยเกริกไกรนาม เคยเชื่อตามฝรั่งว่า"ปาเล็มบัง"
"สุมาตรา"นั้นเน้นเป็นเมืองหลวง ให้น่าทวงคืนไทยในความหวัง ต่อมามีหลักฐานมั่นจริงจัง ปรากฏทั้งจารึกวัตถุพยาน
พบศูนย์กลาง"ศรีวิชัย"ใช่ที่อื่น วัตถุยืนยันหนักแน่นหลักฐาน เทวรูป,พุทธรูปเล่าตำนาน ที่เวียงสระ"พานพาน"อ่าวบ้านดอน
"ศรีวิชัย"คือ"ไชยา"น่าเชื่อถือ ควรลุรื้อประวัติศาสตร์ที่ขาดท่อน ตัดต่อใหม่ให้ถูกทุกขั้นตอน แล้วเริ่มสอนเด็กไทยให้รู้จริง |
อภิปราย ขยายความ......
.. ศรีวิชัยเป็นชื่ออาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอดีตเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว เดิมทีนั้น ไทยเชื่อตามที่ฝรั่งชี้ว่าศูนย์กลาง หรือเมืองหลวงของศรีวิชัย อยู่ที่ปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราของอินโดนิเซีย เพราะพบศิลาจารึกระบุชื่อ "ศรีวิชัย" ที่นั่น แล้วตีความกันว่า ดินแดนภาคใต้ของไทยเคยเป็นเมืองบริวารของศรีวิชัยในอินโดฯ
...มีพยานหลักฐานที่พบใหม่เชื่่อได้ว่าศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อ ๑๐๐๑ ปีก่อนนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวบ้านดอนตอนใต้ของไทยปัจจุบัน มีเมืองหลวงชื่อว่า พานพาน หรือ พันพาน คือเวียงสระในปัจจุบัน แล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้น แผ่ขยายแตกกิ่งก้านเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย จนได้ชื่อว่า "สิบสองนักษัตร" จดหมายเหตุอาหรับเรียกว่า "ซาบาก" จดหมายเหตุจีนเรียกว่า "ซันโฟชิ" ซึ่งเพี้ยนไปจาก "สัมโพธิ" ศูนย์กลางความเจริญเคลื่อนย้ายสู่พุมเรียง ไชยา ในที่สุด
....กษัตริย์หรือประมุขแห่งศรีวิชัยเรียกตนเองว่า "เจ้าแห่งขุนเขา" รู้จักกันในนามว่า "ไศเลนทร์" ผู้สืบเชื้อสาย "ไศเลนทรวงศ์" ต่อมาปกครองทั่วภูมิภาคใต้และขึ้นมาปกครองละโว้ อโยธขา รวมทั้งกัมพูชา (กัมโพช กัมพุช) ราชกุมารองค์หนึ่งแห่งไศเลนทร์ลงไปครองเมืองปาเล็มบัง ทรงสร้างวัดขึ้น แล้วทำจารึกระบุนามศรีวัย เมื่อฝรั่งพบจารึกนี้จึงเข้าใจผิดคิดว่า ปาเล็มบังเป็นเมืองหลวงของศรีวิชัย (เพราะยังไม่พบหลักฐานที่ไชยา)
ประวัติศาสตร์ชาติไทยยังอยู่ในภาวะเคลื่อนย้าย จึงไม่ควรด่วนให้ข้อยุติ เพราะยังมีหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจมอยู่ในดินอีกมากมาย ต้องชำระสะสางกันเรื่อย ๆ ไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๘ กันยายน ๒๕๖๐๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร - ศรีธรรมราชญาติสุโขไท -
ไทยเจริญจากใต้ขึ้นไปเหนือ ในความเชื่อซ่อนกลสับสนยิ่ง "ชาตินิยม"บังตามาอ้างอิง จนทอดทิ้งหลักฐานตำนานไกล
ประวัติศาสตร์จมดินหลายถิ่นที่ เช่นกระบี่,ตะกั่วป่าขุดหาได้ ทั้งลูกปัดและอื่นอื่นดาษดื่นไป ฝังอยู่ใต้ดินเก่าเล่าตำนาน
จากศูนย์ใหญ่ไชยาเจริญก่อน สู่นครฯแผ่ไปกว้างไพศาล มีสัมพันธ์"จีน,แขก"แลกพยาน เป็นหลักฐานไมตรีที่ยั่งยืน
เป็นญาติมิตรสุโขไทเมืองใต้หมด ดั่งปรากฏนามนิยมให้ชมชื่น ยศ"ธรรมราชา"จำหลักทั่วภาคพื้น ใช้กลมกลืนร่วมกันเนิ่นนานมา... |
อภิปราย ขยายความ.......
ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยหลังจากไชยาพัฒนาขึ้นเป็นนครศรีธรรมราชในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ก่อนเกิดสุโขทัยหลายร้อยปี) นามเมืองช้างค่อมเดิม เปลี่ยนเป็น "ตามพรลิงค์" แล้วเป็นสิริธรรมนคร และนครศรีธรรมราชในที่สุด
....มีความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ในจดหมายจีนเรียก สัมโพธิ หรือ ศรีโพธิ์ นามเดิมของไชยาว่า ซันโฟชิ บ้าง สัมฮุดชี บ้าง เรียก ตามพรลิงค์ว่า ตั้มมาลิง บ้าง โพลิง และ โฮลิง บ้าง
...เยรินี นักบันทึกจดหมายเหตุฝรั่งเรียกเมืองนี้ว่า เมืองเปอริมาลา ก่อนจะถึงอ่าวเปอริเมาลิกอส (อ่าวบ้านดอน) ในภูมิศาสตร์ปโตเลมี พ.ศ. ๖๐-๗
.. พงศาวดารจีนสมัยถังตอนแรกบันทึกไว้ว่า "ประเทศโฮลิงส่งทูตไปยังราชสำนักตั้งแต่ พ.ศ.๑๔๐๓-๑๔๑๖ จนกระทั่ง พ.ศ. ๑๓๖๑ ได้เว้นว่างไปหนึ่งศตวรรษ แล้วว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๑๔๐๓-๑๔๑๖ นั้น สัมฮุดซี กับ โฮลิง รวมเข้าด้วยกัน และยังได้บันทึกถึงอาณาเขตศรีวิชัยไว้ด้วยว่า "อาณาเขตโฮลิง บางสมัย ทิศตะวันตกจด โปตำ-ป-เต็ง (ทัพเที่ยง-ตรัง ?) ทิศตะวันออกจด โป-ลิ (หรือ มาลิ ชื่อย่อของมาลิยู) ทิศเหนือจด เจนละ(เขมร) ทิศใต้จด ประเทศเกาะชื่อ โย-โม-ซัง (ตะมะลิก-สิงคโปร์) ในปี พ.ศ. ๑๓๕๖ ประเทศโฮลิง ได้ส่ง เซ็ง-ชิ (หญิงนักรำ ละครรำ) ๔ คน มาเป็นบรรณาการยังราชสำนักจีน (เรื่องนี้ เยรินิ ว่า ตัวละครนี้ต้องส่งจากเมืองละคร ซึ่งมีชื่อเสียงทางนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์) มิใช่เท่านั้น ปี พ.ศ.๑๔๐๓-๑๔๑๖ ประเทศโฮลิงได้ส่งทูตมา และมีนักดนตรีหญิงหนึ่งคณะเป็นบรรณาการด้วย
....ดร.ศรีศักดิ์ วัลลโภดม สรุปผลการค้นความเรื่องความเกี่ยวพันกันระหว่าง สุโขทัย-นครศรีธรรมราชว่า......
“แคว้นสุโขทัยมีการพัฒนาการรุ่นหลังแคว้นศรีธรรมราชมากทีเดียว แต่เมื่อเกิดแคว้นสุโขทัยขึ้นมาแล้วก็มีความสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรมกับแคว้นศรีธรรมราชถึงระดับเป็นเครือญาติกันด้วย จะสังเกตเห็นว่า ตำแหน่งกษัตริย์ของแคว้นสุโขทัย ต่อมาใช้ชื่อ ธรรมราชา หรือ ศรีธรรมราชา ซึ่งนอกจากจะสะท้อนลักษณะชูพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานลังกาวงศ์ด้วยกันแล้ว ยังจะต้องใกล้ชิดสนิทสนมกลมเกลียวกันในระดับหนึ่งด้วย”
“นครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์กับสุโขทัย ลพบุรี หรือ ละโว้ และอาณาจักรใกล้เคียงทางสังคม ความสัมพันธ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นจากพงศาวดารโยนกตอนที่พระยาเม็งรายได้รับเชิญให้ตัดสินข้อพิพาทระหว่าง พระร่วงรามคำแหงกับพระยางำเมือง พระยาเม็งรายไม่กล้าทำอะไรรุนแรง และทรงรำพึงว่า พระร่วงเป็นกษัตริย์ที่มีอานุภาพ เพราะทรงเป็นญาติกับกษัตริย์ผู้ครองเมืองอยุธยา (ครั้งนั้นคงหมายถึงอโยธยา) เมืองพระนคร (พระนครหลวง) และเมืองนครศรีธรรมราช”
“นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายมหายาน และหีนยานลัทธิลังกาวงศ์ ในยุคแรกศิลปกรรมของนครศรีธรรมราชได้แพร่หลายขึ้นมายังภาคกลางและภาคเหนือ ตัวอย่างที่และเห็นได้ชัดก็คือ การแพร่หลายความคิดในการสร้างพระพุทธสิหิงค์ขึ้นเป็นพระพุทธรูปสำคัญในล้านนาและสุโขทัย”
“จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า แคว้นศรีธรรมราชนี้มีความสำคัญมาก่อนแคว้นสุโขทัยเป็นเวลาช้านาน และอาจจะมีส่วนหนุนช่วยให้เกิดแคว้นสุโขทัยเสียด้วยซ้ำไป”
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพืธภัณฑฺหุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๙ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก - เมืองบริวารเบื้องตะวันตก -
" เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด"นั่น ยืดเขตขัณฑ์ผ่านดงถึง"หงสา- วดี"แดน"สมุทร"สุดมรรคา เป็นอาณาเขตแดนสุโขไท |
อภิปราย ขยายความ........
คำเต็มตามจารึกบรรทัดที่ ๒๒ ถึง ๒๔ ด้านที่ ๔ ว่า "...เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด เมือง....หงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน"
เมืองฉอด ชื่อนี้ไม่มีคำแปลที่แน่ชัด แต่เดิมนั้นเข้าใจว่าเป็นเมือง "คอกช้างเผือก" ที่ยังเหลือซากอยู่ริมน้ำ "แม่สอด" หรือน้ำเมย บ้านแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตากในปัจจุบัน แต่นักประวัติศาสตร์โบราณคดียังไม่ยอมรับ เพราะซากเมืองเก่าคอกช้างเผือกนี้ เป็นเมืองขนาดเล็กและไม่พบวัตถุโบราณยืนยันว่าเป็นเมืองฉอด
ยังมีซากเมืองเก่าอีกแห่งหนึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่บ้านแม่ต้าน ด้านเหนือแม่สอด เคยอยู่ในเขตปกครองของอำเภอแม่สอดมาก่อน ปัจจุบันแยกเขตการปกครองเป็นอำเภอท่าสองยาง ซากเมืองนี้ตั้งอยูในป่าริมแม่น้ำเมย ปัจจุบันยังหลงเหลือซากโบราณสถานคือแนวดินเป็นคูเมือง บนยอดเขาเตี้ย ๆ มีฐานเจดีย์ ๒ ฐาน มีพระธาตุเจดีย์ที่บูรณะตกแต่งใหม่ ๑ องค์ ชาวบ้านเรียกว่า "พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก" ยอดเขาด้านใต้มีพระธาตุเจดีย์เก่าปรักหักพังอยู่ในดงไม้ที่ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น ไม่มีการขุดแต่งบูรณะซ่อมแซมใด ๆ อิฐที่เรียงก่อเป็นองค์เจดีย์เป็นแผ่นอิฐขนาดใหญ่ การเรียงอิฐเป็นแบบโบราณ เช่นเดียวกันกับ ศรีสัชนาลัย สุโขไท
จากการวิเคราะห์ซากโบราณสถาน เห็นว่ามีอายุเก่าเท่าเทียมยุคสมัย ศรีสัชนาลัย สุโขไท จึงน่าเชื่อได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้คือเมืองฉอด ของขุนสามชน ที่ยกทัพไปตีเมืองตาก มองดูแนวทางเห็นว่า เดินทัพจากเมืองฉอดที่บ้านแม่ต้าน ข้ามเทือกเขาสูงตรงไปลงเมืองตากได้พอดี
ซากเมืองเก่าที่เชื่อได้ว่าเป็นเมืองฉอดนี้ ยังจมอยู่ในดินกลางป่าบ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ไม่มีบ้านเรือนราษฎรปลูกสร้างทับซ้อน จึงมีสภาพบริสุทธิ์ เสียดายนักว่า "เป็นเมืองเก่าที่ถูกลืม"
......นี่คือ "เมืองฉอด" เมืองสำคัญเบื้องตะวันตกเมืองสุโขไท เมื่อ ๗๐๐ ปีก่อนครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๐ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 เจดีย์ชเวดากอง - เมืองหงสาวดี -
พ้นเมืองฉอดรอดเลยน้ำ"เมย"ผ่าน หลายหย่อมย่านบ้านเมืองเนืองน้อยใหญ่ ถึง"หงสาวดี"ที่กว้างไกล รู้จักในนามประเทืองว่าเมืองมอญ
มี "เมืองพัน,เมาะตะมะ"ทะเลสมุทร เป็นที่สุดเขตขัณฑ์ ณ กาลก่อน พ่อขุนรามคำแหงเอื้ออาทร แบ่งนครให้เขย "มะกะโท"
เป็น"พระเจ้าฟ้ารั่ว"ครองทั่วแคว้น บำรุงแดนดินให้ใหญ่อักโข เป็นประเทศราชชาติภิญโญ เมืองเติบโตเจริญคู่สุโขไท |
อภิปราย ขยายความ.........
ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงระบุอาณาเขตของแคว้นว่าทางทิศตะวันตกถึง"เมืองฉอด เมือง....นหงสาวดีสมุทรหาเป็นแดน" นั้น แกะรอยตามความในศิลาจารึกได้ว่า เมืองฉอดปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่ในป่าบ้านแม่ต้านริมน้ำเมย อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีซากเมืองเก่าอยู่ตรงข้ามเมืองฉอดที่บ้านแม่ต้านอยู่เมืองหนึ่ง ในเขตประเทศเมียนมาร์ ตั้งอยู่ริมน้ำเมยเช่นเดียวกับเมืองฉอด น่าจะเป็น "เมือง.....น" ที่จารึกตรงนี้กระทะเทาะหายไป และยังมีเมืองที่ไม่มีชื่อในจารึกนี้อีกหลายเมือง คือ เมืองพัน เมืองเมาะตะมะ เมืองเมียวดี ซึ่งอยู่ในปกครองของเมืองหงสาวดี
เฉพาะเมืองหงสาวดี มีประวัติหรือเรื่องราวความเป็นมาแบบเทพนิยาย กล่าวคือ เดิมทีนั้นเป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตวิญญาณที่เดินทางเข้าสู่เกาะนี้เป็นชีวิตแรกคือ "หงส์" ซึ่งเป็นนกที่มีสกุลสูงสุดในสัตว์ปีกประเภทนก ต่อมาเมื่อมีมนุษย์อุบัติขึ้นบนเกาะนี้แล้วก็ขยายจำนวนประชากร พร้อม ๆ กันกับแผ่นดินก็งอกแผ่ขยายออกจนจรดแผ่นดินใหญ่ เป็นประเทศชาติมอญไปในที่สุด
นาม หงสาวดี น่าจะแปลได้ว่า เมืองที่แวดล้อมด้วยฝูงนกหงส์ หรือ เ มืองที่มีนกหงส์เป็นรั้วล้อม และแปลตรง ๆ ว่า เมืองกำแพงหงส์ ก็ได้ เมืองนี้เกิดก่อนสุโขไท เจริญรุ่งเรือง ดังปรากฏในตำนานหริภุญไชย (ลำพูน) ว่า ในราวปี พ.ศ. ๑๔๙๐ เกิดโรคระบาดในนครหริภุญไชย (ลำพูน) ชาวเมืองพากันอพยพหนีตายไปอยู่สุธรรมวดีนครเป็นอันมาก แต่ปรากฏว่าผู้ครองนครสุธรรมวดีโหดร้ายรังแกประชาชน ชาวหริภุญไชยจึงพากันหนีจากเมืองนี้ล่องลงใต้ผ่านเมืองตองอู เมืองแปร สู่เมืองหงสาวดี เจ้าเมืองรับเลี้ยงบำรุงเป็นอย่างดี ครั้นโรคระบาดในหริภุญไชย ซาหายไปแล้วบางส่วนจึงพากันกลับบ้านเมืองของตน บางส่วนตกค้างอยู่หงสาวดี ถึงปีก็จัดทำกระทงลอยโขมด (โคมไฟ) เพื่อรำลึกถึงกัน จนเป็นประเพณี
ครั้นสุโขไทกำเนิดขึ้น หงสาวดีเสื่อมโทรมลง ตกมาถึงยุคพ่อขุนรามคำแหง เมืองนี้ขึ้นอยู่ในโพธิสมภารกรุงสุโขไท ในราว ๆ ปี พ.ศ. ๑๘๓๕ พ่อขุนรามคำแหงทรงให้การสนับสนุนชายชาวมอญชื่อ "มะกะโท" นัยว่าเป็นราชบุตรเขยของพระองค์ ให้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองชาวมอญ เฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว" ตั้งเมืองหงสาวดีเป็นเมืองหลวง หรือ เมืองกรุงของมอญ และเป็นประเทศราชของกรุงสุโขไท ในที่สุด.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 เจดีย์วัดป่าแดง
- หัวเมืองเบื้องตีนนอน -
"เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพลเมืองม่าน" "เมือง...นเมืองพลัว"ผ่าน น่านน้ำใหญ่ "พ้นฝั่งของเมืองชวา" ฟ้ากว้างไกล เข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมา
ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้น" ด้วยผูกพันไมตรีมิเลือกหน้า "ชอบด้วยธรรมทุกคน"ล้นเมตตา ปวงไพร่ฟ้า"หน้าใส"ไปทั่วกัน |
อภิปราย ขยายความ.....
คำเต็มของจารึกบรรทัดที่ ๒๔ ถึง ๒๗ ด้านที่่ ๔ อันเป็นคำจารึกท้ายสุด จบจารึกหลักที่ ๑ นี้ คือ ...." เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพลเมืองม่าน เมือง......นเมืองพลัว พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว ๐ ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้นชอบด้วยธรรมทุกคน "
...เมืองแพล คือ เมืองแพร่ในปัจจุบัน จารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุชื่อเมืองว่าแพล นักอ่านจารึกเดิมหาคำแปลไม่ได้ ก็เลยใช้ว่า แพร่ ที่แปลได้ว่า "กระจายออกไป" เมืองนี้มีประเด็นที่ต้องขออภิปรายยาวหน่อยนะครับ
เมืองนี้มีตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้ในคัมภีร์ใบลาน พ.ศ.๑๘๒๔ เล่าว่า ในราวปี พ.ศ. ๑๓๗๑ ขุนหลวงพล พระราชนัดดามหากษัตริย์น่านเจ้า ได้พาบริวารเป็นอันมากลงมาสร้างบ้านแปงเมือง โปรดให้สร้างวัดหลวงรวมทั้งพระเจ้าแสนหลวงประดิษฐานในวิหารหลวงพลนคร เมืองที่ขุนหลวงพลสร้างขึ้นนี้จึงชื่อ พลนคร ต่อมาถึงยุคขอมเรืองอำนาจเปลี่ยนชื่่อเมืองพลนครเป็นเวียงโกศัย ยุคที่พม่าเข้าครองเมืองนี้ถูกเรียกเพี้ยนไปเป็น เมืองแพล
เรื่องขุนหลวงพลตามตำนานดังกล่าวนี้ ดูเหมือนจะได้เค้ามูลมาจากพระยาสิงหนวัติราช โอรสพระเจ้าเทวกาล นครไทเทศ หรือ น่านเจ้า ที่อพยพลงมาสร้างเมืองชื่อ นาเคนทร์นคร หรือ นาคบุรี และหรือ นาคพันธุสิงหนวัตินคร อันได้แก่ โยนกนครหลวง หรือเชียงแสนในปัจจุบัน
ตามความในพงศาวดารโยนกเรียกนามเมืองนี้ว่า พลรัฐะนคร ผู้ครองนครนี้นามว่าพระยาพลราช ท่านได้ยกกำลังไปลัมภกัปปะนคร (ลำปาง) หมายใจจะขุดเอาพระสารีริกธาตุจากพระมหาธาตุเจดีย์ลำปางหลวงไปไว้เมืองพลรัฐะนคร แต่ไม่สามารถขุดเอาไปได้ ช่วงเวลาในตำนานนี้น่าจะเป็นกาลก่อน พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๔๐๐ อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่พระนางจามเทวีจะเสด็จขึ้นไปครองหริภุญไชย (ลำพูน) ตำนานดังกล่าวยืนยันตรงกันว่า เมืองนี้เดิมชื่อ พลนคร พลรัฐะนคร ผิดแต่ว่าตำนานเมืองเหนือในคัมภีร์ใบลานที่ว่า เมืองนี้เปลี่ยนนามเป็น แพล เมื่อพม่าเข้าครอง เพราะจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ นี้ จารึกในราวปี พ.ศ. ๑๘๓๕ ก่อนกำเนิดพม่า หมายความว่า ชื่อเมืองแพลมีมาก่อนที่พม่าจะเข้ามายึดครองเมืองนี้
สมัยพระญาลิไทครองกรุงสุโขไท มีจารึกวัดป่าแดง ศรีสัชนาลัย จารึกไว้ว่า "พระมหาธรรมราชาผู้ปู่เอาพลไปเมืองแพลอยู่ได้เจ็ดเดือน....จากแพลแล้วเอาคน..." ได้ความว่า พรญาลิไท เอาพลขึ้นไปเมืองแพ ล ประทับอยู่เมืองนี้นานถึง ๗ เดือน ระหว่างที่ประทับอยู่ที่นี้ ทรงโปรดให้สร้างพระมหาธาตุเจีดย์บรรจุพระสารีริกธาตุขึ้น ๑ องค์ คือ พระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน เมื่อเสด็จกลับสุโขไท ทรงนำคนจากเมืองแพลลงมาไว้ที่ป่าแดง นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย และให้สร้างวัดใหญ่ในป่าแดงขึ้น ชื่อวัดกัลยาณวนาวาส (วัดป่าแดง)
ลุล่วงเวลามาถึงยุคพระญาลือไทครองสุโขไท ชื่่อเมืองนี้เปลี่ยนไปตามความในจารึกวัดช้างค้ำจังหวัดน่าน ความว่า "....อนึ่งบ้านเมืองเราทั้งหลายและเมืองแพล่เมืองงาวเมืองน่านเมืองพลั่ว ปู่พระยาดูดังเคียว...." ชื่อเมืองแพลมีวรรยุกต์เอกใส่เข้ามาเป็น แพล่
สรุปได้ว่า เมืองแพร่ปัจจุบันเดิมชื่่อว่า พลนคร พลรัฐะนคร เมืองแพล เมืองแพล่ แล้ว ล.ลิงวิ่งหนีไป เมื่อ ร.เรือถูกพายพุ่งเข้ามาแทน จึงกลายเป็นเมืองแพร่ไปด้วยประการฉะนี้...
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๒ กันยายน ๒๕๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|