บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑ -
จะกล่าวเรื่องสงครามสยามสมัย เฉพาะใน “รัชกาลที่สาม” “เจ้าอนุ”เวียงจันทน์นั้นลามปาม ยกทัพรุกคุกคามสยามไทย....... |
อภิปราย ขยายความ.................
สืบต่อเนื่องมาจากกระทู้ - ประวัติศาสตร์ชาติไทย - คลิก ที่ดำเนินมาถึงเรื่องราวตอนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒) เข้าสู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีสงครามระหว่างประเทศเกิดขึ้นกับชนชาติเบื้องบูรพาทิศ เป็นศึกสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานควรแก่การศึกษาหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่น้อยเลย
จากวันนี้เป็นต้นไป หน้าเพจนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสงครามระหว่างไทย ลาว เขมร ญวน โดยยกความในหนังสือชื่อ “อานามสยามยุทธ” ที่สำนักพิมพ์โฆษิต จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ซึ่งสำนักพิมพ์โฆษิต ได้ชี้แจงในการจัดพิมพ์ว่า
“ อานามสยามยุทธเป็นหนังสือว่าด้วยการศึกสงครามระหว่างไทย กับลาว เขมร และญวน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ่อยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรียบเรียงจากบันทึกรายงานราชการกองทัพในระหว่างศึกสงครามนั้น ตั้งแต่มูลเหตุของการศึกสงครามจนกระทั่งสงครามยุติ รวมเวลา ๒๑ ปี
ก.ศ.ร. กุหลาบ ผู้จัดพิมพ์หนังสือนี้เป็นครั้งแรกแจ้งว่า ได้คัดลอกมาจากบันทึกรายงานของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ในการทำศึกสงครามครั้งนั้นเรียบเรียงไว้แต่เดิม ในตอนต้นของหนังสือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แลสายสกุลสิงหเสนี ไว้ด้วย (ไม่ได้นำมาจัดพิมพ์ครั้งนี้)
อานามสยามยุทธ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๖๔) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ฯลฯ”
 * ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้รวบรวมมาเรียบเรียงไว้นั้น มีสองตำแหน่งความดังต่อไปนี้
“ (๑) ผู้เรียบเรียงเรื่องประวัติท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ฉบับนี้มีความอุตสาหะพยายามพากเพียร เขียนคิดค้นหาข้อย่อความตามตำราต่าง ๆ อย่างพิสดารวิตถารโดยละเอียด ในตำรับฉบับเกร็ด ๆ ที่มีสืบมาแต่โบราณหลายฉบับเป็นตำรับสำคัญ ๆ ค้นพบในตำรับฉบับหนึ่งมีข้อความว่าดังนี้ “
ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) อัครมหาเสนาบดี ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ท่านผู้นี้สมัยกาลอุบัติสมภพบังเกิด เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๙ ปีระกา นพศก เป็นปีที่ ๑๐ ในปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) พระเจ้าแผ่นดินกรุงธนบุรี ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่ ๔ ในท่านเจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น) บิดาและท่านผู้หญิงฟักเป็นมารดา (เกิดที่บ้านริมชิงสะพานช้างโรงสี กรุงเทพฯ คือที่ตรงห้างแบดแมนแอนด์กำปะนี แต่ก่อนเรียกว่า ตำบลฝั่งคลองหลอดในเมืองธนบุรีฝั่งตะวันออก)
ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ได้ถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กพิเศษในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังเป็นมหาดเล็กรายงานตรวจราชการต่อสำเภาหลวง แล้วได้เป็นที่นายเสน่หามหาดเล็กหุ้มแพรในพระบรมมหาราชวัง ได้โดยเสด็จในงานพระราชสงครามทัพพม่าข้าศึกหลายครั้ง
ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ นายเสน่ห์ได้เป็นที่นายจ่ารงในกรมมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังนายจ่ารงได้เลื่อนเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง แล้วได้ว่าที่พระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ ภายหลังเจ้าหมื่นเสมอใจราชได้ย้ายไปเป็นที่พระยาจำนงภักดี จาววางกรมมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ แล้วเลื่อนเป็นพระยาเกษตรรักษา อธิบดีกรมนา ฝ่ายในพระราชวังบวรสถานมงคล
ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ พระยาเกษตรรักษา(สิง) ย้ายมาเป็นพระยาราชสุภาวดี จางวางกรมพระสุรัสวดีในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก แล้วได้เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา อัครมหาเสนาบดี ที่สมุหนายกอธิบดีในกรมหาดไทย ในพระบรมมหาราชวัง
ท่านผู้นี้ป่วยเป็นโรคป่วงใหญ่ ได้ถึงอสัญกรรมเมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ สิริชนมายุได้ ๗๓ ปี ท่านมีบุตรชายหญิงที่มีชื่อเสียงปรากฏ ๒๖ คน
(๒) ได้ค้นในตำรับอีกฉบับหนึ่งพบมีข้อความพิสดารว่าดังนี้ “ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) อัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ท่านผู้นี้มีสมัยกาลอุบัติสมภพบังเกิด เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๙ ปีระกานพศก เป็นปีที่ ๑๐ ในปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) กรุงธนบุรี ท่านผู้นี้เป็นบุตรคนที่ ๔ ในท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) บิดา และท่านผู้หญิงฟักมารดา (บังเกิดที่บ้านริมเชิงสะพานช้างโรงสี ริมฝั่งคลองหลอดหลังค่ายเมืองธนบุรีฟากตะวันออก คือที่ห้างแบดแมนแอนด์กำปะนี)
ครั้นในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ ท่านเจ้าพระยาบดินทร เดชา (สิง) ได้ถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กพิเศษในพระราชวังบวรฯ ภายหลังเป็นมหาดเล็ก รายงานตรวจราชการต่อสำเภาหลวง แล้วได้เป็นที่นายนรินทร์ธิเบศร์ มหาดเล็กหุ้มแพร ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ได้โดยเสด็จในงานพระราชการสงครามพม่าและลาวด้วย
ครั้นในรัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ นายนรินทรธิเบศร์ได้เป็นที่จมื่นศรีบริรักษ์ ปลัดกรมพระตำรวจนอกขวาฝ่ายพระราชวังบวรฯ ภายหลังได้เป็นที่พระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวาฝ่ายพระราชวังบวรฯ แล้วพระพรหมสุรินทร์ได้เป็นพระยาราชโยธา ในกรมมหาดไทยฝ่ายพระราวังบวรฯ ภายหลังได้เป็นพระยาเกษตรรักษา อธิบดีกรมนาฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
ครั้นในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ พระยาเกษตรรักษาย้ายมาเป็นพระยาราชสุภาวดี จางวางกรมพระสุรัสวดีในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก แล้วเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายกในกรมมหาดไทย ในพระบรมมหาราชวัง
ท่านผู้นี้ป่วยเป็นโรคป่วงใหญ่ถึงอสัญกรรม เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีระกาเอกศกจุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ สิริชนมายุ ๗๓ ปี ท่านผู้นี้มีบุตรชายหญิงที่มีชื่อเสียงปรากฏ ๒๖ คน”
* ความทั้งหมดข้างบนนี้เป็นคำชี้แจงในการพิมพ์ของสำนักพิมพ์โฆษิตส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นคำชี้แจงประวัติย่อ ๆ พอสังเขปของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิง) ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ชี้แจงไว้ในการจัดพิมพ์เรื่อง “อานามสยามยุทธ” เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ (ผมยังไม่เกิดเลย)
 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ผู้นี้ ถือได้ว่าเป็น “พระเอก” ของเรื่องอานามสยามยุทธ ท่านรบเก่งจนข้าศึกศัตรูระย่อในการต่อกร ซ้ำยังบันทึกเหตุการณ์สงครามไว้ให้อนุชนไทยได้อ่านกันอย่างละเอียดพิสดาร
“อานามสยามยุทธ” สงครามตามบันทึกของขุนศึกคู่บัลลังก์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) ผมจะนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกันที่ท่าน ก.ศ.ร. กุหลาบ นำมาเรียบเรียงไว้ วันพรุ่งนี้มาเริ่มอ่านเนื้อความตอนแรกกันได้เลยนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - อานามสยามยุทธ ๒ -
“เจ้าอนุ”เวียงจันทน์นั้นต้นเหตุ หวังประเทศลาวนั้นพลันเป็นใหญ่ ขอมีสิทธิอิสระอธิปไตย เลิกอาศัยร่มโพธิสมภาร |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำคำชี้แจง (หรือคำนำ) ของสำนักพิมพ์โฆษิต และ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “อานามสยามยุทธ” ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทย ลาว เขมร และญวน พร้อมทั้งประวัติย่อของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ผู้จดบันทึกเหตุการณ์รบในสมรภูมิไทย ลาว เขมร ญวน ไว้อย่างละเอียด ให้ได้ทราบที่มาของเรื่องกันไปแล้ว วันนี้มาอ่านเรื่องที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้เรียบเรียงคำบันทึกของท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิง) ตั้งแต่ต้นกันต่อไปครับ
“อานามสยามยุทธ (ว่าด้วยกองทัพสยามกรุงเทพฯ ได้ยกพลนิกายไปกระทำการศึกสงครามกันกับลาวพุงขาวชาวเมืองเวียงจันทน์ เป็นต้นเหตุเดิมเริ่มแรก ที่จะได้ก่อการศึกสงครามกันกับลาว, เขมร, ญวน ต่อไป เป็นศึกใหญ่ ได้กระทำมหายุทธนาการในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก)
 ดำเนินความตามเหตุที่เบื้องต้นจะก่อการศึกสงครามกันนั้น เดิมเจ้าอนุเวียงจันทน์ลงมาช่วยในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ กรุงเทพฯ ครั้นเจ้าอนุจะกลับขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ จึงได้เข้าไปกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเจ้าอนุกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพวกหม่อมละครเล็ก ๆ ผู้หญิงข้างใน ซึ่งเป็นละครชั้นเล็กในรัชกาลที่สองนั้น กับขอพระราชทานเจ้าดวงคำลาวชาวเวียงจันทน์ ซึ่งตกมาแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตากกรุงธนบุรีนั้นด้วย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานให้ตามเจ้าอนุทูลขอสักอย่างเดียว ฝ่ายเจ้าอนุไม่ได้ตามความปรารถนา จึงมีความอัปยศแก่ข้าราชการและนานาประเทศเป็นอันมาก จึงบังเกิดความโทมนัสขัดเคืองเป็นกำลัง ด้วยไม่สมประสงค์ที่ตนปรารถนาแต่สักอย่างหนึ่ง จึงได้คิดอาฆาตต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนั้นไป แต่เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ไม่รู้ที่จะทำประการใดได้ ก็ต้องนิ่งทนไปจนจะได้โอกาส จะได้ทำร้ายแก่กรุงเทพฯสักคราวหนึ่ง
ในปีระกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ เดือนสี่ปีนั้น เจ้าอนุกราบถวายบังคมลา ยกรี้พลกลับขึ้นไปบ้านเมืองเวียงจันทน์ ครั้งนั้นเจ้าอนุไม่ได้ลาเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ แลท่านเสนาบดีเลยสักแห่งเดียว เพราะมีความขุ่นเคืองกับกรุงเทพฯ เหตุดังนี้ ก็เป็นที่สำแดงแห่งกิริยาของเจ้าอนุว่า โกรธแก่ไทยได้แน่แล้ว
ฝ่ายเจ้าอนุตั้งแต่กลับจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็คิดตรึกตรองที่จะประทุษร้ายตีกรุงเทพมหานครเสมอมิได้เว้นเลย
 อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าอนุสั่งแสนท้าวพระยาลาวที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ให้มาประชุมพร้อมกันในท้องพระโรงเป็นหลายนาย แล้วจึงให้เชิญเจ้าอุปราช ๑ เจ้าราชวงศ์ ๑ เจ้าสุทธิสาร ๑ กับเจ้าบุตรหลานผู้ใหญ่ที่ชำนาญในการศึกสงครามมาพร้อมกันที่ประชุม พร้อมด้วยเพี้ยกวานแม่ทัพใหญ่ด้วย เจ้าอนุจึงปรึกษาว่าดังนี้
“ทุกวันนี้ที่กรุงเทพมหานครมีแต่เจ้านายเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ ที่ไม่ชำนาญในการทัพศึกเลย แต่ขุนนางผู้ใหญ่ก็มีน้อยตัวแล้ว ฝีมือทัพศึกก็อ่อนแอ เพราะเว้นว่างการศึกมาช้านาน เจ้านายขุนนางที่ชำนิชำนาญในการทัพศึก เคยทำกับพม่ามีชัยมานั้น ก็ล้มตายหายจากกันไปหมดไม่มีตัวแล้ว กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ก็หย่อนกำลังลงกว่าแต่ก่อนมาก อนึ่งเดี๋ยวนี้ เจ้าพระยานครราชสีมาก็ไม่อยู่ที่บ้านเมืองนครราชสีมา เพราะไปขัดตาทัพอยู่ไกลบ้านเมืองเขา ตามหัวเมืองรายทางก็ไม่มีที่กีดขวางเลย การเป็นทีเราหนักหนาแล้ว ไม่ควรเราจะเป็นเมืองขึ้นกับกรุงเทพมหานครต่อไป อนึ่งเราได้ยินข่าวทัพเรือพวกอังกฤษก็มารบกวนปากน้ำกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ เห็นเป็นทีเราหนักหนา น่าที่เราจะยกทัพใหญ่ลงไปตีกรุงเทพฯ ก็เห็นจะได้โดยง่าย เพราะเราจะเป็นทัพกระหนาบทัพอังกฤษ ทัพอังกฤษเป็นทัพหน้าอยู่ปากน้ำ ไทยก็จะพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง คงจะเสียท่วงทีแก่เราเป็นมั่นคงไม่สงสัย เจ้านายขุนนางเพี้ยท้าวผู้ใหญ่จะเห็นเป็นอย่างไรบ้างให้ว่ามา ?”
ขณะนั้น เจ้าอุปราชผู้ประกอบไปด้วยปัญญาอันสุขุม จึงว่าขึ้นที่ประชุมว่า ดังนี้
“กรุงเทพมหานครเป็นบ้านเมืองใหญ่โตนัก มีพลเมืองก็มากมาย มาทแม้นเราตีได้แล้วเราจะไปตั้งปกครองบ้านเมืองอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้นจะได้แล้วหรือ เกรงว่าไพร่พลเมืองจะคุมกันลุกขึ้นเป็นขบถต่อเรา เราก็จะระงับเมื่อภายหลังยาก เพราะพลเมืองราษฎรไม่เต็มใจรักใคร่นับถือด้วยต่างชาติกัน ไทยก็จะเป็นเสี้ยนหนามศัตรูเราเสมอไม่หยุด เหมือนเรานอนอยู่บนขวากหนามทุกวัน”
ฝ่ายเจ้าอนุได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็โกรธจึงตอบไปว่า ดังนี้
“ถ้าเราตีกรุงเทพฯ ได้แล้ว เห็นจะตั้งรักษาบ้านเมืองไม่ได้จะมีภัยแล้ว เราก็จะกวาดต้อนพาครอบครัวพลเมืองที่ฉกรรจ์ดีดีอพยพขึ้นมาไว้ในบ้านเมืองเรา แล้วเราก็จะเก็บสรรพพัสดุเงินทองสิ่งของในท้องพระคลัง และทรัพย์เศรษฐีคหบดีขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยและราษฎร บรรทุกโคต่างช้างม้าขึ้นมาไว้ในบ้านเมืองเรา บ้านเมืองเราก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าหลายพันเท่า แล้วเราก็จะแต่งกองทัพรักษาด่านทางช่องแคบ ที่เป็นท่าทางไทยจะขึ้นมารบกวนบ้านเมืองเรา เราก็จะรักษาให้แข็งแรงทุกช่องทุกทาง พวกไทยที่จะคิดติดตามขึ้นมาทำศึกกับเราก็ยากนัก เพราะทางที่จะส่งเสบียงอาหารกันนั้นเป็นทางไกลกันดาร ถึงมาทว่าไทยจะคิดขึ้นมาทำศึกแรมปีกับเรา เราก็ไม่กลัว เพราะทางไปมายากแสนลำบากนัก ไม่เหมือนเราลงไป เพราะเราเป็นชาวป่าไม่กลัวการลำบากเดินป่า พวกไทยจะขึ้นมาทำอะไรกับเราได้ เราคิดเป็นศึกรีบเร่งลงไปตีก็จะได้โดยง่าย ซึ่งอุปราชคิดกลัวไปต่าง ๆ นานานั้น ก็เพราะความขลาดกลัวไทยฝ่ายเดียว แต่เราหากลัวไม่ ให้เร่งจัดกองทัพเถิด เราจะลงไปเอง”
ฝ่ายอุปราชเห็นกิริยาวาจาเจ้าอนุองอาจ ดื้อดึงบึงบันไปฝ่ายเดียวดังนั้นแล้ว ครั้นจะขัดขืนห้ามปรามตามความดีนั้นเล่า ก็เกรงเจ้าอนุจะฆ่าเสียว่าขัดเจ้าบ้านเจ้าเมือง เจ้าอุปราชก็ต้องจำใจพูดว่าเห็นด้วยความคิดท่านทุกประการแล้ว (เจ้าอุปราชคนนี้ชื่อเจ้าติสะ เป็นน้องเจ้าอนุต่างมารดากัน) (เจ้าสุทธิสารเดิมชื่อเจ้าโป้ เป็นราชบุตรผู้ใหญ่ของเจ้าอนุเวียงจันทน์ เจ้าราชวงศ์ชื่อเจ้าเง่า เป็นราชบุตรที่สองของเจ้าอนุ เจ้าราชบุตรชื่อเจ้าโย เป็นราชบุตรของเจ้าอนุแต่ไปผ่านเมืองนครจำปาศักดิ์
ยังมีราชบุตราบุตรีอีกมาก แต่ขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นเสนาบดีมีอยู่ ๖ ตำแหน่ง เพี้ยเมืองจันทน์ ว่าราชการฝ่ายเหนือ เพี้ยเมืองแสน ว่าราชการฝ่ายใต้ กวานเวียง ว่าราชการฝ่ายกรมเมือง กวานเซ้า ว่าราชการในวังฝ่ายกรมวัง กวานโภชนา ว่าราชการกรมนา กวานคลัง ว่าราชการท้องพระคลังทุกสิ่ง
รวมเป็นเสนาบดี ๖ คน ยังมีอีกคนหนึ่งชื่อชานนท์ ว่าราชการกรมพระสัสดีเป็นบัญชีเมือง แต่เป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าอนุ เจ้าอนุให้มียศใหญ่เหมือนเสนาบดีด้วย มีหัวเมืองลาวใหญ่และน้อยต่อกับเขมรแดนญวน ๗๙ หัวเมือง มาขึ้นมาออกแก่เวียงจันทน์ทั้ง ๗๙ เมืองทั้งสิ้น กับหัวเมืองลาวที่อยู่ตามลำแม่น้ำโขงและตามป่าดงฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือนั้น รวมกันทั้งสิ้นมีอีก ๘๖ หัวเมือง ขึ้นกับเวียงจันทน์ด้วยทุกหัวเมือง)”
* อ่านความคิดของเจ้าอนุเวียงจันทน์ที่จะยกทัพใหญ่มาตีกรุงเทพฯแล้วก็น่ากลัวนะครับ
 อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “เจ้าอนุเวียงจันทน์” ปัจจุบันเรารู้จักและเรียกกันว่า “เจ้าอนุวงศ์” สมัยรัชกาลที่ ๓ ของเราเห็นทีจะเรียกกันว่า “เจ้าอนุ” หรือ “เจ้าอนุเวียงจันทน์” ตามบันทึกของท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิง) นะครับ วันนี้ยกมาให้อ่านเพียงแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกระบวนทัพของเจ้าอนุเวียงจันทน์ที่ยกมารุกรานไทยครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๓ -
สยามผลัดแผ่นดินใหม่ได้หมาดหมาด ฉวยโอกาสจัดทัพบุกอีสาน ไม่ฟังเสียงอุปราชที่ทัดทาน เสียงคัดค้านใครใครอื่นไม่ฟัง.... |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความเริ่มต้นเรื่องอานามสยามยุทธ ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงจากบันทึกของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน เริ่มต้นที่เจ้าอนุเวียงจันทน์ประชุมเสนาบดี ขุนทหาร และราชวงศ์เพื่อยกทัพลงมาตีกรุงเทพฯ พระอุปราชทรงคัดค้านเสียงเดียว ไม่สำเร็จ เจ้าอนุจึงสั่งจัดทัพโดยตนจะนำทัพเอง เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “อนึ่ง เจ้าอนุผู้เป็นมหาประธานาธิบดีเวียงจันทน์นั้น ปรึกษาหารือกันตกลงกับเจ้านายขุนนางแล้ว เจ้าอนุจึงมีรับสั่งใช้ให้เจ้าอุปราชคุมกองทัพใหญ่ยกไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาว ซึ่งขึ้นอยู่กับกรงเทพฯ ตามฝั่งแม่น้ำโขงนั้น ๑๐ เมือง คือเมืองกาฬสินธุ์ ๑ เมืองร้อยเอ็ด ๑ เมืองสุวรรณภูมิ ๑ เมืองชนบท ๑ เมืองขอนแก่น ๑ เมืองสุรินทร์ ๑ เมืองสังขะ ๑ เมืองขุขันธ์ ๑ เมืองอัตตะปือ ๑ เมืองชุมพร ๑ เจ้าอุปราชก็ยกทัพใหญ่ไปตามสั่ง ยกไปถึงเมืองกาฬสินธุ์ก่อน ได้พูดจาเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ไม่ยอมเข้าด้วย อุปราชก็สั่งให้ทหารจับตัวเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ฆ่าเสีย นำศพไปเสียบประจานไว้หน้าเมืองให้ราษฎร์ดู ฝ่ายเจ้าเมืองทั้งไพร่พลเมืองที่อยู่ใกล้เคียงรู้ความดังนั้นก็กลัวอำนาจเจ้าอุปราช จึงได้ยอมเข้าด้วยเจ้าอุปราชหลายเมือง แต่เมืองสุวรรณภูมินั้น เจ้าศรีวอฝีมือทัพศึกแข็งแรง ตั้งการรักษาบ้านเมืองไว้ไม่ยอมเข้าด้วยเจ้าอุปราชแต่เมืองเดียว ฝ่ายเจ้าอุปราชก็ให้ทหารกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองที่ยอมเข้าด้วยนั้น พาขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์บ้าง คงไว้รักษาเมืองบ้างเล็กน้อย เจ้าอุปราชเก็บสิ่งของทรัพย์สมบัติตามหัวเมืองทั้งหลายที่ตีได้นั้น มารวมไว้ในกองทัพของตนแล้ว ก็ตั้งทัพรั้งรออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
 อนึ่งเจ้าอนุมีหนังสือรับสั่งถึงเจ้าราชบุตร เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ผู้บุตร ให้ไล่ต้อนครอบครัวพลเมืองเขมราช เมืองอุบลราชธานี เมืองศรีษะเกษ เมืองเดชอุดม เมืองยโสธร ขึ้นไปไว้ในเมืองเวียงจันทน์ แล้วให้เจ้าราชบุตรรีบยกกองทัพใหญ่ลงไปพร้อมกันกับทัพเจ้าอนุ ช่วยตีเมืองนครราชสีมาให้ถึงพร้อมกันตามกำหนดนัดนั้น เจ้าราชบุตรเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้แจ้งหนังสือรับสั่งของบิดามาดังนั้นแล้ว จึงยกกองทัพไปไล่ต้อนครอบครัวพลเมืองทั้งหกนั้นได้มาก ก็ให้แม่ทัพคุมไล่ต้อนครอบครัวขึ้นไปไว้เมืองเวียงจันทน์ แล้วจึงเตรียมกองทัพไว้จะยกไปพร้อมกับบิดา
 ฝ่ายที่ในเมืองเวียงจันทน์นั้น เมื่อจะมีลางใหญ่เกิดขึ้น เมื่อ ณ วันเดือนหกปีจออัฐศกเวลากลางวัน เกิดลมพายุใหญ่พัดช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ เครื่องหลังคาหอพระแก้วมรกตหอพระบาง หักพังทำลายไปมาก ทั้งตำหนักเจ้าอนุก็หักพัง ๕ หลั ง ในวันเกิดพายุใหญ่นั้น เรือนราษฎรในเมืองนอกเมืองหักพังทำลายลงประมาณ ๕๐ หลัง ๖๐ หลังเรือนเศษ
ครั้นถึง ณ วันศุกร์เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีจอ อัฐศก กำลังเจ้าอนุเกณฑ์กองทัพมาประชุมพลอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ บังเกิดดาวพฤหัสบดีขึ้นข้างทิศทักษิณ กับเมื่อเวลาดึกประมาณสองยามเศษเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเวียงจันทน์ ถ้วยชามสิ่งของรูปพรรณกระทบกันแตกมาก
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบค่ำ เวลาเช้า เห็นแผ่นดินแยกออกไปในกำแพงท้ายเมืองเวียงจันทน์ ที่แผ่นดินแยกนั้นยาวสองศอก กว้างศอกเศษ ลึกเส้นเศษ ขุนนางเห็นดังนั้นจึงมาทูลเจ้าอนุ เจ้าอนุให้โหรมาทำนายว่าจะดีหรือร้ายประการใด ยกทัพไปตีกรุงเทพฯ จะอัปราชัยหรือมีชัย ให้โหรทายทักมาแต่ที่จริง โหรคำณวนตามตำหรับแล้วทายว่า “เหตุนี้ร้ายแรงนัก ถ้าจะยกกองทัพไปทำสงครามที่ใดใด จะแพ้ปราชัยตามกำลังวันที่เหตุบังเกิดขึ้นนี้”
เจ้าอนุได้ฟังคำโหรทำนายว่าร้ายนัก ก็โกรธขัดเคืองโหรว่าแกล้งทำนายให้ร้ายจะได้ไม่ยกไป พวกบุตรหลานโหรจะไม่ได้ไปทัพ ตรัสเท่านั้นแล้วจึงสั่งให้ทหารจับตัวโหรไปฆ่าเสีย เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ทูลทัดทานห้ามปรามเป็นหลายครั้ง แล้วทูลขอโทษโหรไว้ไม่ให้ฆ่า โหรจึงรอดตาย
ในวันเสาร์เดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบห้าค่ำนั้น เจ้าอนุจัดกองทัพพร้อมแล้ว พอเกิดเหตุลางต่าง ๆ จึงได้ย้ายรี้พล ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งประชุมพลทัพอยู่ที่ตำบลบ้านพันพร้าว ตำบลบ้านพันพร้าวอยู่ตรงหน้าเมืองเวียงจันทน์ ข้ามตั้งทัพชัยอยู่ที่พันพร้าวหน้าวังเจ้าอุปราช เจ้าอนุให้แม่ทัพนายกองฝึกหัดซ้อมทหารด้วยเพลงอาวุธต่าง ๆ ทั้งทหารช้างทหารม้า และทหารเดินเท้าหลายหมื่น ฝึกหัดอยู่ที่นั้นสามเดือนครึ่ง จนชำนิชำนาญ
 พอถึงเดือนยี่แรมสิบสามค่ำปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ ได้มหาอุดมฤกษ์ดีศรีไชยมงคล เจ้าอนุให้เจ้าราชวงศ์เป็นแม่ทัพหน้าถืออาญาสิทธิ์คุมพลทหาร ๕,๐๐๐ ยกล่วงหน้าลงมาก่อนแต่ ณ เดือนยี่ เจ้าราชวงศ์ยกลงมาถึงเมืองนครราชสีมา ณ เดือนสามแรมสามค่ำ ตั้งทัพประชุมพลอยู่นอกเมือง ด้านเหนือที่ศาลาเกวียน เป็นทางแยกสามทาง เพราะจะได้ระวังรักษาเหตุการณ์ง่าย เจ้าราชวงศ์ได้ให้แสนสุริยพหล คุมทัพ ๑,๐๐๐ ไปทำทางที่ในดงพระยาไฟให้ดี ทัพหลวงบิดาจะได้มาได้โดยง่าย
 เจ้าราชวงศ์ใช้ให้เพี้ยเมืองซ้ายไปในเมืองนครราชสีมา ขอเบิกข้าวในเมืองนครราชสีมา มาเลี้ยงไพร่พลจะลงไปกรุงเทพฯ ขณะนี้เจ้าพระยานครราชสีมาไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์บุรีนานแล้ว พระยาพรหมยกกระบัตรกรรมการผู้ใหญ่ออกมาถามเจ้าราชวงศ์ว่า
“ท่านยกช้างม้ารี้พลมามากดังนี้ จะลงไปกรุงเทพฯ ด้วยเหตุอะไร?”
ฝ่ายเจ้าราชวงศ์แกล้งกล่าวกลอุบายตอบว่า
“ข้าหลวงที่กรุงเทพฯ เชิญศุภอักษรขึ้นไปทางดงพระยากลาง เดินขึ้นไปเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบางและเมืองน่าน เกณฑ์กองทัพเมืองลาวให้ยกลงไปรักษากรุงเทพฯ เพราะได้มีข่าวทัพเรืออังกฤษจะมาตีกรุงเทพฯ เจ้าย่ำกระหม่อมก็เสด็จลงมาถึงเมืองนครราชสีมา" (เจ้าย่ำกระหม่อมคือเจ้าอนุ)
ฝ่ายพระยาพรหมยกกระบัตรและกรมการ ได้ฟังเจ้าราชวงศ์ว่าดังนั้นก็ต้องจ่ายข้าวให้เพราะว่าเขาพูดเป็นทางราชการอยู่ จึงจ่ายข้าวให้ลาวไปจับจ่ายแจกกัน
 ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เบิกข้าวได้พอเลี้ยงรี้พลในกำองทัพแล้ว จึงสั่งให้เพี้ยเมืองขวากับเชียงใต้ คุมพลทหาร ๒,๐๐๐ ยกกองทัพล่วงหน้าลงมายังเมืองสระบุรีก่อน และสั่งให้ท้าวมณี ท้าวพรหม ๒ คน คุมกองทัพ ๒,๐๐๐ อยู่รักษาที่ทำเนียบนอกเมืองนครราชสีมา เพราะที่ทำเนียบนั้นตั้งใหญ่โตไว้เพื่อจะสำหรับรับเจ้าย่ำกระหม่อมเสด็จมาประทับที่นั้น (เจ้าย่ำกระหม่อมคือเจ้าอนุ เป็นถ้อยคำสำนวนลาวเรียกเหมือนว่าพระเจ้าอยู่หัว) แล้วเจ้าราชวงศ์คุมพลทหาร ๓,๖๐๐ เดินทัพตามลงมาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลขอนขวางแต่ ณ วันเดือนสามแรมเก้าค่ำปีจออัฐศก เพี้ยเมืองขวากับเชียงใต้กับนายทัพนายกองที่ยกล่วงมาก่อนนั้น จึงพาพระยาสุราราชวงศ์เจ้าเมืองสระบุรี ซึ่งเป็นลาวพุงดำ ๑ กับหลวงปลัด ๑ กองคำ ๑ กองสิง ๑ กองเชียง ๑ สี่นายนี้เป็นลาวเวียงจันทน์เก่าตกมาช้านาน นายทัพนายกองพาพวกลาวเมืองสระบุรีห้าคนมาหาเจ้าราชวงศ์ที่ตั้งทัพอยู่ที่ขอนขวาง เจ้าราชวงศ์ว่ากับลาวสระบุรีทั้งห้านายว่า “บัดนี้ได้ข่าวว่าทัพญวนและทัพเรือฝรั่งอังกฤษจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ พวกเจ้าอย่าอยู่เลย จะได้รับความลำบากจงขึ้นไปอยู่เสียที่เมืองเวียงจันทน์ จะมีความสุขด้วยกัน” ฝ่ายพวกลาวสระบุรีทั้งห้านายได้ฟังดังนั้น ก็มีความยินดี ยกมือขึ้นไหว้กราบ ยอมสมัครจะขึ้นไปด้วยเจ้าราชวงศ์ เจ้าราชวงศ์จึงสั่งว่า “ครอบครัวของใครใครก็คุมขึ้นมาเถิด”
ฝ่ายเจ้าอนุกับเจ้าสุทธิสารผู้บุตรใหญ่ ได้ฤกษ์ดีแล้วก็ยกกองทัพออกจากตำบลที่น้ำเขิน ดำเนินกองทัพมาตามทางที่เจ้าราชวงศ์ทำไว้นั้น จนถึงชานเมืองนครราชสีมา ณ วันเดือนสาม แรมหกค่ำ เวลาบ่ายสามโมง เจ้าอนุพักแรมอยู่ในทำเนียบที่เจ้าราชวงศ์ทำไว้แต่ก่อนนั้น
 ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าอนุมีรับสั่งให้แสนท้าวพระยาลาว นายทัพนายกองทั้งหลาย เร่งรี้พลไปตัดไม้ตั้งค่ายใหญ่ อยู่ที่ตำบลทะเลหญ้าฝ่ายทิศตะวันออกนอกเมืองนครราชสีมา ตั้งค่ายเป็นเจ็ดค่าย ชักปีกกาขุดสนามเพลาะตามตำราพิชัยสงครามโดยนาคนาม เจ้าอนุใช้ให้คนเที่ยวพูดให้เกิดกิตติศัพท์แซ่ไปว่า รี้พลเวียงจันทน์ยกมาครั้งนี้ถึง ๘๐,๐๐๐ บ้าง ๙๐,๐๐๐ บ้าง ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง ต่าง ๆ กัน (แต่อันที่จริงนั้นคนมีมาแต่ ๒ หมื่น)”
 * ท่านผู้อ่านครับ เมืองในอีสานใต้ ๑๐ เมือง ถูกพระอุปราชยึดไปได้ ๙ เมือง มีเพียงสุรรณภูมิ (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองเดียวที่ไม่ยอมไปขึ้นลาว เมืองต่าง ๆ ในอีสานเหนือใต้ที่ขึ้นกับอาณาจักรล้านช้าง (ศรีสัตนาคนหุต) ถูกสยามยึดครองมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) กรีธาทัพปราบราบเรียบแล้วปกครองตลอดมา เจ้าอนุใช้ข้ออ้างว่าจะปลดแอกสยาม ทวงดินแดนลาวกลับคืน จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวลาว “ชาตินิยม” เป็นอย่างยิ่ง พันพร้าว ตำบลที่ตั้งอยู่ริมโขงฝั่งตะวันตกตรงข้ามกับวังเจ้าอุปราชนั้นคือเมืองพรานพร้าว ซึ่งชาวล้านนาถูกกวาดต้อนมาตั้งชุมนุมที่นี่ในอดีตอันยาวนานแล้ว เป็นเมืองท่าสำคัญที่จะข้ามไปเมืองเวียงจันทน์ ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเชียงใหม่ เจ้าอนุวีรบุรุษลาวท่านนี้ยกทัพจากพันพร้าวมาถึงนครราชสีมาแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๔ -
เกิดลางร้ายลั่นเตือนก่อนเคลื่อนทัพ ก็ขืนขับเคลื่อนพลเหมือนคนคลั่ง จากพันพร้าวห้าวใจไม่ระวัง ยกมายั้งอยู่ที่ “ราชสีมา”..... |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ ได้นำความในอานามสยามยุทธมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่เจ้าอนุเวียงจันทน์ไม่ฟังคำทัดทานอุปราช แม้เกิดแผ่นดินไหวเป็นลางร้าย โหรทำนายว่าจะปราชัยในการสงครามก็ไม่ทรงเชื่อ สั่งยกกองทัพข้ามโขงมาตั้งฝึกทหารอยู่ที่พันพร้าว (อ.ศรีเชียงใหม่) แล้วเคลื่อนกำลังตามแนวทางที่เจ้าราชวงศ์ได้ทำไว้ เดินทัพมาจนถึงเมืองนครราชสีมา แล้วตั้งค่าย ณ ที่ที่เจ้าราชวงศ์ตั้งไว้รอท่า วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 “ครั้งนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาไม่ได้อยู่ที่บ้านเมือง ด้วยมีท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมายกกองทัพขึ้นไประงับการที่พระยาไกรสรสงคราม เจ้าเมืองขุขันธ์บุรี วิวาทกันกับหลวงยกกระบัตรผู้น้อง เกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น เพราะเหตุนั้นคนจึงมีรักษาเมืองแต่น้อย เพราะไปกับเจ้าพระยานครราชสีมาแต่ก่อนนั้นมากแล้ว อนึ่ง พระยาปลัดและกรมการผู้คนไปกับเจ้าพระยานครราชสีมาเป็นอันมาก ที่เมืองนั้นมีแต่กรมการผู้น้อยกับผู้คนก็มีน้อยนัก
ฝ่ายเจ้าอนุสั่งให้คนไปหาตัวพระยาพรหมยกกระบัตร พระยาพรหมยกกระบัตรก็กลัว ต้องออกมาหาเจ้าอนุที่ค่ายใหญ่ เจ้าอนุว่ากับพระยาพรหมยกกระบัตรและกรมการว่าดังนี้
“เจ้าพระยานครราชสีมาประพฤติเป็นพาลทุจริตติดสันดานหยาบ ตั้งแต่เบียดเบียนไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อนมาช้านาน เมื่อเจ้าอนุไปมาทางนี้มีผู้มาร้องทุกข์มิได้ขาด บัดนี้ให้พระยาพรหมยกกระบัตรและกรมการทั้งหลาย ตระเตรียมครอบครัวของตนให้เสร็จแต่ในสี่วัน จะได้ยกขึ้นไปอยู่ด้วยกันที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วเราก็จะลงไปตีกรุงเทพฯ ให้ได้ในคราวนี้ ท่านทั้งหลายอย่าอยู่ที่นี่เลย รีบเร่งไปด้วยกันเถิด”
เมื่อเจ้าอนุพูดดังนั้น พระยาพรหมยกกระบัตรกลัวอำนาจเจ้าอนุ ไม่รู้ที่จะคิดแก้ไขเป็นประการใด ก็ต้องทำกิริยาเป็นที่ยินดีพูดว่า “อยากจะได้ตามเสด็จเหมือนที่รับสั่งนั้นแล้ว” แล้วพระยาพรหมยกกระบัตรจึงทูลลาเจ้าอนุว่า “จะไปต้อนครอบครัวในเมือง แล้วจึงจัดหาหญิงที่มีรูปงามได้หกคน คือบุตรหลวงนา ๑ และบุตรจีนบ้าง มาให้เจ้าอนุในค่ายในค่ำวันนั้น” เจ้าอนุก็มีใจยินดีด้วยผู้หญิงมาก เพราะเป็นคนแก่ชรามากอยู่แล้ว แล้วเชื่อในพระยาพรหมยกกระบัตรว่าเต็มใจไปกับตนจริง ๆ
 เจ้าอนุจึงสั่งนายทัพนายกองลาวให้เข้าไปในเมืองนครราชสีมา เก็บได้เครื่องศาสตราวุธของพลเมืองทั้งสิ้น แต่ชั้นพร้าและเสียมหรือมีดใหญ่ก็ไม่ให้มีติดตนเลย แต่ทรัพย์สินของพลเมืองนั้นไม่ได้เก็บนำไป เพราะจะล่อใจชาวเมืองให้รักใคร่ติดตามไปโดยดี
 ฝ่ายพระสุริยะภักดีเจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อป้อม) กับข้าหลวงมีชื่อหลายนายไปราชการสักเลขหัวเมือง ตั้งอยู่ที่เมืองยโสธร แต่ก่อนเจ้าอนุยังไม่ยกลงมานั้น ครั้นพระสุริยะภักดีทราบการว่า เจ้าอนุเป็นกบฏยกกองทัพลงไปตีกรุงเทพฯ และเห็นเจ้าอุปราชเวียงจันทน์ยกกองทัพมาตั้งทัพอยู่ที่ใกล้เมืองยโสธรที่พวกข้าหลวงไปตั้งสักเลขอยู่นั้น พระสุริยะภักดีจึงไปหาเจ้าอุปราชที่ค่ายใหญ่ พูดจากันด้วยอุบายต่าง ๆ เป็นความลับ จนเจ้าอุปราชรักใคร่นับถือไม่อาฆาตแก่กัน
แล้วเจ้าอุปราชเวียงจันทน์ว่ากับพระสุริยะภักดี ว่า “ท่านจะลงไปกรุงเทพฯ ก็ไปเถิด เราให้ไปแล้ว แต่เราขอพระสุริยะภักดีช่วยกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ตัวเราเจ้าอุปราชหาได้เป็นกบฏไม่ แต่ขัดอาญาเจ้าอนุไม่ได้ ก็ต้องมาตามสั่ง เพราะรักษาชีวิตของเราดอก" แล้วเจ้าอุปราชจึงทำหนังสือฉบับหนึ่ง ฝากพระสุริยะภักดีให้นำมาให้เจ้าอนุ ถ้าพบที่ไหนก็ให้ที่นั่นเถิด”
พระสุริยะภักดีก็รีบยกลงมาถึงกลางทางได้ข่าวว่า เจ้าอนุยกกองทัพไปตั้งค่ายใหญ่อยู่เมืองนครราชสีมาแล้ว เป็นต้นทางที่จะลงไปกรุงเทพฯ ถ้าไม่แวะหาเจ้าอนุ เจ้าอนุคงจะให้ลาวจับเราฆ่าเสียเป็นแน่ จำเป็นจำต้องเข้าหาพูดจาประเล้าประโลมล่อลวงหลอกหลอนด้วยอุบายต่าง ๆ พอจะพาตัวรอดมาสักคราวหนึ่งบ้าง
คิดแล้วดังนั้นก็รีบเร่งพวกข้าหลวงไทยที่มาด้วยกันหลายสิบคน เดินตัดทางมาเข้าเขตแดนเมืองนครราชสีมา บอกกับลาวผู้รักษาด่านทางว่า “จะขอเข้าไปเฝ้าพระเจ้าย่ำกระหม่อม” (คือเจ้าอนุ) พวกลาวชาวด่านก็พากันคุมตัวพวกไทยไว้ทั้งหมด พาแต่พระสุริยะภักดีเข้าไปหาเจ้าย่ำกระหม่อมในค่ายใหญ่
พระสุริยะภักดีเข้าไปถึงประตูค่ายใหญ่ก็นั่งลงกราบถวายบังคมครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงคลานเข้าไปเฝ้าที่หน้าพลับพลา หมอบกราบถวายบังคมอย่างชอบธรรมเนียมไทยกรุงเทพฯ แล้วทำกิริยาสุภาพอ่อนน้อมยอมกลัวเกรงเจ้าอนุที่สุด จนเจ้าอนุชอบใจรักใคร่ถามว่า
“พระสุริยะภักดีไปไหนมา?”
พระสุริยะภักดีตอบว่า “มาราชการสักเลขอยู่ที่เมืองยโสธร ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าย่ำกระหม่อมเสด็จมาประทับที่เมืองนครราชสีมาแล้ว ข้าพระพุทธจึงได้มาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท และเจ้าอุปราชก็ได้ใช้ให้ถือหนังสือมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย”
พระสุริยะภักดีได้นำหนังสือเจ้าอุปราชออกส่งให้เจ้าอนุต่อมือเจ้าอนุเอง เจ้าอนุดูหนังสือแล้วจึงว่า “พระสุริยะภักดีจะลงไปหาครอบครัวที่กรุงเทพฯ ก็ไปเถิด” แล้วให้หนังสือสำคัญสำหรับตัวเดินทางไปในระหว่างกองทัพลาวนั้นฉบับหนึ่ง แล้วเจ้าอนุจึงรับสั่งความกับพระสุริยะภักดีว่า
“ถ้าลงไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว ให้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ด้วย ว่าข้าไม่ได้เป็นกบฏดอก เพราะครัวเมืองนครราชสีมาและเมืองสระบุรีเขาร้องทุกข์ว่า เจ้าเมืองกรมการข่มขี่ข่มเหงเบียดเบียนเขานักหนา เขาจะสมัครขึ้นไปอยู่เมืองวียงจันทน์ด้วยข้า ข้าจึงได้ยกกองทัพลงมารับพวกครัวขึ้นไป”
พระสุริยะภักดีรับว่า “จะทูลพระเจ้าอยู่หัวตามรับสั่งนั้นทุกประการ” พระสุริยะภักดีก็ทำกิริยาอ่อนน้อมเกรงกลัวมากก็ลามา
ครั้นพระสุริยะภักดีลามานอกค่ายใหญ่จึงรีบจะขึ้นช้างไป ขณะนั้นเจ้าอนุคิดขึ้นได้ ก็ให้เจ้าโถงตามออกมาบอกพระสุริยะภักดีว่า “มีรับสั่งเจ้าย่ำกระหม่อมมาว่า ให้ขอตัวพระอนุชิตพิทักษ์ (ชื่อบัว) ซึ่งเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายกนั้นไว้คนหนึ่งเถิด เพราะเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกันกับเจ้าย่ำกระหม่อม เจ้าย่ำกระหม่อมจะขอไว้คนหนึ่งก่อน”
พระสุริยะภักดีก็ไม่อาจจะขัดคำสั่งเจ้าอนุได้ เพราะกลัวอำนาจข้าศึก จึงได้ส่งตัวพระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) ให้แก่เจ้าอนุ (พระอนุชิตพิทักษ์ก็ติดอยู่ในค่ายเจ้าอนุ จนเมื่อเจ้าอนุหนีไทยไปอยู่ญวน เจ้าอนุจึงฆ่าพระอนุชิตพิทักษ์เสียที่ท่าหน้าเมืองเวียงจันทน์)”
* อ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงเห็นกันแล้วนะว่า “ความรู้รักษาตัวรอด” ของคนไทยไม่แพ้ชนชาติใดในโลก พระยาพรหมยกกระบัตร กับพระสุริยะภักดี ในเรื่องตอนนี้เอาตัวรอดจากอำนาจเจ้าย่ำกระหม่อมอนุเวียงจันทน์ได้อย่างไม่ยากนัก เฉพาะพระยาพรหมยกกระบัตรนั้นคิดใช้แผน “นารีพิฆาต” ได้เองหรือใครเป็นคนคิดให้ อ่านต่อไปเดี๋ยวก็รู้กันละ
 เจ้าอนุคิดรอบคอบพอสมควร ที่สั่งให้คนของตนเข้าไปเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ในเมืองนครราชสีมา มีดพร้าทุกชนิดถูกยึดเก็บมาหมด ไม่เว้นแม้แต่เสียมเหล็กที่ใช้ขุดดิน (ถือว่าเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง) แต่เจ้าย่ำกระหม่อมก็พลาดเพราะความเห่อยศบ้ายอ และที่สุดคือหมกมุ่นในกามคุณ พระยาพรหมยกกระบัตรเดานิสัยใจคอยถูก ที่นำเอาหญิงสาวรูปงามมีจริตจะก้านดี ซึ่งเป็นลูกชาวโคราช และอาหมวยลูกสาวชาวจีนในโคราช เป็นเสมือน “หญ้าอ่อนปรนเปรอโคแก่” เรื่องนี้จะเป็นตำนาน “ย่าโมโคราช” ซึ่งเป็น เรื่องจริงอิงนิทานให้อ่านต่อไป
พระสุริยะภักดีจะเอาตัวรอดจากด่านทหารลาว โดยเฉพาะด่านทัพของเจ้าราชวงศ์ได้อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๕ -
พระยาพรหมยกกระบัตรขัดมิได้ แสร้งตามใจเจ้าอนุด้วยมุสา แต่งนารีหกนางสร้างมารยา “เฒ่าตัณหา”หลงมนต์ติดกลลวง.. |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในอานามสยามยุทธที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่เจ้าอนุเวียงจันทน์ยกทัพใหญ่มายึดนครราชสีมาไว้ได้โดยละม่อม พระสุริยะภักดีหัวหน้ากองสักเลข ซึ่งขึ้นมาสักเลขอยู่ที่เมืองยโสธร ใช้อุบายเอาตัวรอดเพื่อกลับเข้ากรุงเทพฯ ได้หนังสือผ่านด่านจากเจ้าอนุแล้วรีบกลับเข้ากรุงเทพฯ ทันที เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “แต่พระสุริยะภักดีกับข้าหลวงพร้อมกันรีบเร่งเดินมาถึงตำบลคั่นยาวในกลางดงพระยาไฟ พบกองทัพเจ้าราชวงศ์เดินทัพใหญ่ต้อนครอบครัวเมืองสระบุรีเดินสวนทางขึ้นมาพบกันที่คั่นยาว เป็นทางแคบจะหนีไปทางไหนก็ไม่พ้น พระสุริยะภักดีจึงเข้าไปหาเจ้าราชวงศ์ แล้วทำคำนับเป็นที่เกรงกลัว แล้วแจ้งความตามรับสั่งเจ้าอนุให้เจ้าราชวงศ์ฟังทุกประการ เจ้าราชวงศ์ได้เห็นหนังสือสำหรับตัวมีมาดังนั้นแล้ว ก็ปล่อยให้พระสุริยะภักดีกับพวกข้าหลวงไทยทั้งปวงลงมา แล้วเจ้าราชวงศ์คิดว่า “จะจับพระสุริยะภักดีฆ่าเสียดีกว่า ปล่อยให้ไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย”
ขณะนั้นเชียงใต้และท้าวเพี้ยขุนนางผู้ใหญ่ในกองทัพจึงทูลทัดทานว่า “ท่านเจ้าย่ำกระหม่อมท่านปล่อยให้เขาไปแล้ว เราจะจับกุมเขาไว้ทำให้เหลือเกินรับสั่งหาบังควรไม่ ความคิดของเจ้าย่ำกระหม่อมท่านจะคิดเป็นกลอุบายอย่างไรก็ไม่รู้ เราจะทำล่วงเกินพระราชอำนาจท่านนั้นหาควรไม่” เจ้าราชวงศ์จึงมิได้คิดที่จะติดตามจับพระสุริยะภักดี พระสุริยะภักดีก้รีบเร่งเดินลงมากรุงเทพมหานครโดยสะดวก
ฝ่ายพระยาปลัดไปด้วยเจ้าพระยานครราชสีมานั้น แจ้งความว่าเจ้าอนุยกกองทัพลงมากวาดต้อนครอบครัวพลเมืองนครราชสีมาไปมากดังนั้นแล้ว จึงปรึกษากับเจ้าพระยานครราชสีมาว่า
“จะทิ้งครอบครัวเสียหมด ไม่ไประวังรักษาครัวเห็นจะไม่ได้การ อ้ายลาวจะทำยับเยินป่นปี้เสียหมด จำต้องเพทุบายไปเข้าด้วยเจ้าอนุ เพราะหวังจะได้ระวังครัวกว่าจะได้โอกาส”
ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาก็เห็นชอบด้วยความคิดพระยาปลัด จึงได้ให้พระยาปลัดรีบยกมาบ้านเมือง ฝ่ายพระยาปลัดก็ก็เร่งรีบมาทั้งกลางคืนและวันกลางวัน จนถึงเมืองนครราชสีมา จึงเข้าหาเจ้าอนุโดยดี แล้วแจ้งความกับเจ้าอนุว่า
“ เจ้าพระยานครราชสีมาหนีไปอยู่เมืองเขมรเสียแล้ว เพราะกลัว แต่ข้าพเจ้าพระยาปลัดทิ้งครอบครัวไม่ได้จึงกลับมาบ้านเมือง เพื่อจะขอตามเสด็จเจ้าย่ำกระหม่อมไปอยู่เมืองเวียงจันทน์ด้วย ”
 ฝ่ายเจ้าอนุก็เชื่อถือถ้อยคำพระยาปลัด แล้วเจ้าอนุจึงให้พระยาปลัดและพระยายกกระบัตรทั้งสอง เป็นนายกองควบคุมครอบครัวเมืองนครราชสีมาขึ้นไปเวียงจันทน์ พวกครอบครัวเมืองนครราชสีมาออกเดินทางไปได้วันละเล็กวันละน้อย ทางวันหนึ่งก็แกล้งเดินไปถึงสามสี่วัน ค่อยเดินไปช้า ๆ
 อนี่ง เจ้าอนุคิดว่า ครัวเมืองนครราชสีมาประชุมกันเป็นหมู่มากนั้นไม่ชอบกล จึงรับสั่งให้นายทัพนายกองไปจัดแยกออกเป็นหลายกอง เพราะจะตัดกำลังไทยให้น้อยลงจะได้ไม่คิดสู้ลาวได้ ฝ่ายพระยาปลัด พระยายกกระบัตร และพระยาณรงค์สงครามกรมการ จึงคิดอ่านเป็นกลอุบาย แล้วจึงจัดหาหญิงรูปงามสาว ๆ ส่งให้นายทัพนายกองลาวที่ควบคุมนั้นทุกคน จนชั้นแต่ไพร่พลลาวจะชอบใจผู้หญิงคนใดก็ไม่ว่า ปล่อยให้พวกลาวทำเล่นตามใจลาว ไม่ได้ว่ากล่าวห้ามหวงเลย
ครั้นเห็นพวกลาวหลงผู้หญิงมากนัก และลาวกับพวกครัวไทยรักใคร่สนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นที่ไว้ใจกันไม่มีความรังเกียจกันแล้ว พอจะทำการใหญ่จลาจลกับลาวได้แน่แล้ว พระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระยาณรงค์สงคราม จึงขึ้นม้ามาหาเจ้าอนุที่ค่ายใหญ่ แจ้งความกับเจ้าอนุว่า
“อพยพครอบครัวพลเมืองไปได้ความอดอยากนัก จะขอมีดขวานสักยี่สิบสามสิบเล่ม พอจะได้หน่อไม้ในป่ากินบ้าง และขอปืนสักเก้าบอกสิบบอก พอจะได้ยิงเนื้อในป่ามากินบ้าง แต่พอเป็นเสบียงเลี้ยงครอบครัวไปตามทาง”
 เจ้าอนุไม่ทันจะรู้ในอุบายไทย จึงเห็นจริงตามความที่ปรับทุกข์ข้อนั้นทุกประการ ก็ยอมอนุญาตให้ตามที่ขอ ครั้นไทยได้มีดขวานปืนไปแล้ว จึงกลับไปหาครอบครัวที่ชุมนุม เมื่อหยุดพักครอบครัวที่ใด พระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระณรงค์สงคราม และกรมการพร้อมกันคิดปรึกษาว่า
“บัดนี้คิดอุบายไปขออาวุธที่ลาว ลาวให้มาสมความคิดแล้ว บัดนี้เราคิดการใหญ่จะฆ่าอ้ายลาวที่คุมพวกเราไปนั้น ฆ่าให้ตายลงเสียบ้างแล้วพวกเราจะได้เก็บเอาอาวุธที่อ้ายลาวตายนั้น ฆ่าฟันอ้ายลาวต่อไป เราจะได้ทำการจลาจลได้ดังนั้นแล้วจะได้กลับไปบ้านเมืองเรา”
กรมการพร้อมใจกันเห็นชอบด้วยความคิดท่านผู้ใหญ่ แต่พระณรงค์สงครามต้นคิด จึงสั่งกรมการผู้น้อยให้ไปเที่ยวกระซิบสั่งพวกครอบครัวเราว่า
“ถ้าเวลาเย็นวันนี้ครัวเราเดินไปคงจะถึงท้องทุ่งสัมฤทธิ์ จำเป็นจะต้องพักครอบครัวอยู่ที่กลางท้องทุ่งสัมฤทธิ์เป็นแน่แล้ว เราจึงนำเกวียนวงไว้ให้รอบครัวเรา เว้นไว้เป็นช่องประตูสามด้าน ต้อนครัวเราเข้าอยู่ในวงเกวียน กันให้อ้ายลาวที่คุมเรานั้นอยู่นอกวงเกวียน สั่งพวกผู้หญิงไทยให้ไปล่อพวกอ้ายลาวให้ออกนอกวงเกวียนให้หมด พวกผู้ชายฝ่ายเราจะได้ทำการถนัดไม่กีดขวาง เพราะเดี๋ยวนี้อ้ายลาวก็หลงผู้หญิงในครัวเรามากอยู่ อ้ายลาวสาละวนไปด้วยผู้หญิงยิ่งนัก ไม่เป็นการจะระวังครัวเราโดยกวดขัน เราได้โอกาสช่องดีเป็นที่อยู่แล้วให้ขอแรงพร้อมใจกันเถิด”
 สมรภูมิทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ. นครราชสีมา ครั้นเดินครัวถึงทุ่งสัมฤทธิ์แล้ว พระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระณรงค์สงคราม จึงพูดเป็นกลอุบายกับอ้ายลาวนายกองนายหมวดนายหมู่ว่า
“บัดนี้เดินครัวมาถึงท้องทุ่งสัมฤทธิ์เป็นเวลาเย็นจวนพลบค่ำอยู่แล้ว ขอหยุดพักครัวที่นี่ก่อนเถิด เพราะพวกผู้หญิงในครอบครัวเมื่อยล้าหย่อนกำลังลง เดินไม่ไหวจะตายเสียหมดสิ้น บ้างก็เจ็บไข้ลงบ้างแล้ว เป็นความลำบากแก่ครัวหนักหนา”
 ครั้งนั้นพวกผู้หญิงในครอบครัวโคราชทำอาการกิริยาแกล้งทำเป็นเจ็บไข้เมื่อยล้าลงมากพร้อมกัน ฝ่ายพวกลาวนายหมวดนายหมู่ก็เห็นว่า ถ้าจะเร่งให้เดินต่อไปไม่ให้หยุดพักที่นี้ เดินไปกว่าจะถึงเวียงจันทน์ พวกผู้หญิงไทยก็จะตายมาก พวกลาวมีความอาลัยในพวกผู้หญิงไทยยิ่งนัก จึงยอมให้ไทยพักครอบครัวในที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์
ครั้นครอบครัวได้พักผ่อนครัวพร้อมกันแล้ว ก็ทำตามความคิดพระณรงค์สงครามสั่งนั้นทุกประการ จัดเกวียนเวียนวงไว้เป็นขอบคันล้อมพวกครัว มีประตูสามด้านดังนั้นแล้ว ครั้นเวลาสองทุ่มหรือยามหนึ่ง พวกนายทัพนายกองลาวสาละวนแต่จะหาผู้หญิง ไม่สู้จะระวังครอบครัวนัก
ฝ่ายพระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระณรงค์สงคราม จึงคิดความลับแก่กัน แล้วใช้ให้พวกกรมการและพวกครัวผู้ชายไปจัดการตามความคิดพระณรงค์สงครามสั่งไว้นั้นทุกประการ
 ครั้นเวลาสี่ทุ่มวันนั้น พระณรงค์สงครามจัดให้ท่านผู้หญิงโม อายุ ๔๐ ปีเศษ ซึ่งเป็นภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา แต่ชำนิชำนาญในการขี่ม้าขี่ช้างกล้าหาญ ให้เป็นแม่ทัพแม่กองคุมพวกผู้หญิง แต่งกายแต่ล้วนห่มผ้าตะแบงมาน ผ้าโพกศีรษะมือถือไม้หลาว และไม้กระบองเป็นอาวุธ ทุกคนเป็นกองหนุน
ฝ่ายพระณรงค์สงครามเป็นนายทัพคุมพลผู้ชายแต่งกายห่มผ้าตะแบงมาน ผ้าโพกศีรษะ มือถือไม้หลาวไม้กระบองเป็นกองหน้า กรมการผู้น้อยทั้งหลายเป็นปีกซ้ายปีกขวา พระยาปลัดเป็นแม่กองคุมกองเกวียนครอบครัว ซึ่งมีเด็กและคนชรากับสิ่งของเครื่องใช้สอย พระยาพรหมยกกระบัตรเป็นแม่กองคุมพลผู้ชายซึ่งฉกรรจ์ เป็นกองกลางเหมือนทัพหลวง”
 ** อ่านมาถึงตรงนี้เราก็รู้กันแล้วว่า ผู้ที่คบคิดปลดเมืองนครราชสีมาออกจากแอกเจ้าอนุเวียงจันทน์ มี ๓ หัวคิด คือ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา พระยาพรหมยกกระบัตร และ พระณรงค์สงคราม ดูเหมือนว่า คุณพระณรงค์สงครามผู้นี้คือ เสนาธิการกองทัพเมืองนครราชสีมา เป็นผู้วางแผนและสั่งการให้ชาวเมืองนครราชสีมาลุกขึ้นก่อการที่ทุ่งสัมฤทธิ์ โดยคุณพระณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า มอบหมายให้ท่านผู้หญิงโม ภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาเป็นแม่ทัพหลัง ผลการรบที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์จะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, , มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๖ -
พระยาปลัดฯ รวมมิตรคิดวางแผน ทำหลาวแหลนเป็นอาวุธถือสุดหวง เตรียมฆ่าลาวด่าวดิ้นสิ้นทั้งปวง จะจ้ำจ้วงแทงถนัดอย่างรัดกุม |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระยาปลัดเมืองกลับจากราชการที่ขุขันธ์บุรี ทำอุบายให้เจ้าอนุตายใจ แล้วจึงคบคิดกันกับพระยายกกระบัตรและพระณรงค์สงคราม ที่จะฆ่านายทัพนายกองลาวที่ควบคุมครัวชาวเมืองนครราชสีมา แล้วยึดอาวุธยุโปกรณ์ของลาวนั้นมาใช้รบกับกองทัพเจ้าอนุต่อไป โดยพระณรงค์สงครามเป็นคนคิดวางแผน จัดกองกำลังกำจัดลาวที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์ จะสำเร็จเสร็จสมตามแผนการของพระณรงค์สงครามหรือไม่ วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
“(ซึ่งพลผู้ชายแต่งกายตะแบงมาน ผ้าโพกศีรษะให้เหมือนกับผู้หญิงนั้น ก็เพราะความคิดพระณรงค์สงครามจะไม่ให้พวกลาวรู้ว่า ผู้หญิงปนกับผู้ชาย จะให้สำคัญเข้าใจว่าผู้ชายแต่งกายตามเพศอย่างนั้น ทั้งกองหน้าและกองหนุนทั้งสิ้นด้วยกัน จะได้เป็นคนผู้ชายมีมากขึ้นด้วย)
ครั้นพระณรงค์สงครามแม่ทัพจัดพวกพลรบพร้อมกันเสร็จแล้ว พอถึงเวลา ๑๐ ทุ่ม เป็นยามเสาร์ เข้าห่วงปลอดได้เพชรฤกษ์ดี ตามดิถีกำลังยามราหูเข้าจับจันทร์ พระณรงค์สงครามขึ้นขี่ม้าขาวแซม มือถือหอกและปืน คุมพลชายเป็นกองทัพหน้า
ฝ่ายท่านผู้หญิงโมขึ้นขี่ม้าดำ มือถือหอกคุมพลหญิงที่ฉกรรจ์ ๓๐๐ คน เป็นกองหนุน พระยาปลัดขี่กระบือ ถือปืนและหลาว คุมพลและครอบครัวชายหญิงเป็นแม่กองรักษาเกวียน พระยาพรหมยกกระบัตรขี่กระบือ มือถือปืนและหลาว เป็นแม่กองคุมพลกองกลาง มีแต่ผู้ชายมาก
 ครั้นจัดคนพร้อมทุกทัพทุกกองเสร็จแล้ว จึงต้อนพลให้โห่ร้องเกรียวกราวขึ้นพร้อมกันเสียงเอิกเกริกเป็นอำนาจทัพแล้ว ก็วิ่งออกนอกวงเกวียนแล่นไล่ทะลวงฟันแทงแย่งยุดอุตลุด เข้าบุกบั่นฟันแทงอ้ายลาวเป็นอลหม่าน พวกลาวไม่ทันรู้ตัวก็ตายเกลื่อนกลาดกลางท้องทุ่งสัมฤทธิ์จะคณานับมิได้ โลหิตไหลแดงไปในท้องทุ่ง และศพตายซ้อนซับทับกันก้าวก่ายไปทั้งทุ่งสัมฤทธิ์ ควรที่จะสังเวชเป็นปฏิกูลด้วยมรณภัย
 ฝ่ายลาวนายทัพนายกองที่คุมไทยอยู่ห่างไกลเห็นดังนั้น ก็แตกฉานเล็ดลอดหนีไปรอดได้บ้าง พวกครอบครัวนครราชสีมาฆ่าพวกลาวตายคราวนั้น ซากศพลาวซ้อนทับกันเกลื่อนกลาดไปหมดทั้งทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนั้นประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ พวกครัวเก็บได้เครื่องสรรพาวุธ และช้าง ม้า โค กระบือ เสบียงอาหารของลาวไว้ได้มาก ครั้นสว่างรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระณรงค์สงคราม สั่งให้กรมการเกณฑ์ไพร่ไปตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายขึ้นที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์ค่ายหนึ่ง พอจะได้ตั้งรับต่อสู้กับพวกลาวที่จะยกออกมาติดตามตีครัวเราอีกนั้น ตั้งค่ายไว้กันภัยภายหลัง
ครั้นตั้งค่ายไม้ไผ่ลงได้แล้วค่าย ๑ และยังกำลังทำค่ายอยู่อีกสองค่าย แต่ยังไม่ทันจะตั้งขึ้นก็พอทราบข่าวว่า พวกลาวยกมาติดตามตีเราอีก แม่ทัพนายกองสั่งให้เตรียมตัวสู้กับลาวอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ได้อาศัยค่ายไม้ไผ่ที่ทำไว้แล้วค่ายหนึ่ง พอเป็นกำบังกระสุนปืนลาวได้บ้าง แต่พระณรงค์สงครามพูดว่า
“จะรอให้ลาวมาถึงค่ายจึงจะสู้กับลาวนั้นเห็นไม่ได้การ ให้สู้ด้วยอาวุธปืนเถิด ไล่คนเข้าฟันแทงให้ใกล้ทีเดียวจึงจะสู้มันได้”
 ครั้งนั้นพวกลาวที่เหลือตายหนีไปได้ ก็ไปแจ้งความตามเหตุที่เสียท่วงทีแก่ไทยให้เจ้าอนุฟังทุกประการ เจ้าอนุก็ตกใจจึงสั่งให้ตำรวจหน้า ๕๐ คนขึ้นมาสืบราชการดูพวกครัวจะกำเริบขึ้นเป็นประการใดบ้าง ฝ่ายพวกครัวที่กำลังตั้งค่ายอยู่นั้น เห็นลาวตำรวจขี่ม้ามามาก พวกครัวก็นำปืนไปลอบแอบยิงลาวตกม้าตายบ้าง พวกตำรวจลาวเห็นพวกไทยไล่ยิ่งดังนั้นก็ตกใจหนีไปทั้งสิ้นด้วยกัน
ฝ่ายหลวงพิทักษ์โยธา นายกองด่านเมืองนครราชสีมา คุมพล ๖๐ คนขึ้นม้า ถือปืนบ้างถือหลาวบ้าง ไล่ติดตามฆ่าฟันลาวตำรวจไปจนถึงในป่าใกล้เมืองนครราชสีมา ลาวตำรวจตายมากเหลือน้อย ที่เหลือตายก็หนีไปแจ้งความกับเจ้าอนุ เจ้าอนุจึงให้เจ้าสุทธิสาร ๑ เจ้ากำพร้า ๑ เจ้าปาน ๑ เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๓,๖๐๐ คน ยกไปตีครัวเมืองนครราชสีมาให้ได้
 เจ้าปานคุมทหารม้า ๔๐๐ ม้า ยกล่วงหน้าไปก่อน แล้วเจ้าสุทธิสาร เจ้ากำพร้า คุมทหารเดินเท้า ๓,๒๐๐ ยกรีบมาตามตีครัวเมืองนครราชสีมา
ฝ่ายพระยาปลัด, พระยายกกระบัตร, พระณรงค์สงคราม เห็นเจ้าสุทธิสารกับรี้พลไพร่ลาวยกมามากดังนั้น จึงคุมพลพวกของตนออกสู้รบกับลาวนอกค่าย จัดให้พวกผู้ชายเป็นปีกซ้ายปีกขวา พวกผู้หญิงเป็นกองหนุน
พระณรงค์สงคราม คุมพลผู้ชายเป็นกองหน้า พระยาปลัด คุมพลผู้ชายเป็นกองกลาง หลวงจ่าเมือง คุมพลผู้ชายเป็นกองปีกซ้าย พระมหาดไทย คุมพลผู้ชายเป็นกองปีกขวา ท่านผู้หญิงโม คุมพลผู้หญิง ๓๐๐ ที่ฉกรรจ์ ไม่สู้ฉกรรจ์ ๑๖๐ คน รวม ๔๖๐ คน เป็นกองหนุนหลัง ให้พระยายกกระบัตร คุมพลชายหญิงครอบครัวอยู่รักษาค่าย
 แต่พลที่จะออกรบต่อสู้กับลาวนั้น ถืออาวุธปืนดาบหอกที่แย่งชิงจากลาวได้บ้าง ถือพร้าถือหลาวและไม้กระบองบ้าง ที่ไม่มีอาวุธก็ตัดไม้ยาวสองศอก เป็นไม้ขว้างกา ถือไปสำหรับจะได้ขว้างปาพวกลาวบ้าง ความสามัคคีพร้อมใจกันจึงอาจหาญต่อสู้ข้าศึกได้ ยกออกนอกค่ายรบกับลาวที่กลางแปลง ได้รบกันเป็นสามารถ ตะลุมบอนยิงฟันแทงกันเป็นอลหม่าน ตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่พวกลาวตายมากประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน
ขณะรบกันอยู่นั้น พระสุภมาตรขี่ม้าเข้าไปตัดศีรษะลาวผู้ดีนายม้ามาได้คนหนึ่ง นำศีรษะนายม้ามาเสียบไว้หน้าค่ายไทย
ฝ่ายลาวนายทัพนายกองเห็นดังนั้น ก็ย่อหย่อนกำลังลงมาก ไม่ค่อยจะกล้าหาญเข้าต่อสู้กับไทยต่อไป (เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ พระมหานคร จะมีชัยชนะแก่ข้าศึกลาว จึงเผอิญให้เจ้าสุทธิสารเห็นไปว่า ผู้คนในกองทัพเมืองนครราชสีมามีมากมาย แต่ล้วนผู้ชายทั้งสิ้นด้วยกัน ถือเครื่องศาสตราวุธครบมือกัน)
 * ท่านผู้อ่านครับ วีรกรรมของชาวโคราชที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์ ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกย่อ ๆ ไว้ แต่อ่านแล้วก็เห็นภาพการรบที่โหดเหี้ยมมาก ท่านว่า “พวกลาวไม่ทันรู้ตัวก็ตายเกลื่อนกลาดตามท้องทุ่งสัมฤทธิ์จะคณานับมิได้ โลหิตไหลแดงไปในท้องทุ่ง และศพตายซ้อนซับทับกันก้าวก่ายเต็มไปทั้งท้องทุ่ง......... พวกครอบครัวนครราชสีมาฆ่าพวกลาวตายคราวนั้น ซากศพลาวซ้อนซับทับกันเกลื่อนกลาดไปในท้องทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนั้น ประมาณพันเศษ” มีหนีรอดไปได้ไม่กี่คน เพราะในยามนั้นพวกลาวกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการดื่มเหล้าเคล้านารี จึงถูกเข่นฆ่าตายเป็นเบือ มือฆ่าที่โหดเหี้ยมคือ มือของผู้หญิงในการนำของท่านผู้หญิงโม พวกนางมีความเคียดแค้นชิงชังอาฆาตทหารลาวที่ถือพวกนางเป็นนางบำเรอกาม จึงลงมือเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมให้สาแก่ใจ
วีรบุรุษ วีรสตรีชาวโคราชยังไม่ทันตั้งหลักให้มั่นได้ เจ้าอนุก็สั่งให้บรรดาบุตรของท่านยกกำลังเข้าบดขยี้ ชาวเมืองโคราชก็ตั้งหลักสู้อย่างยิบตา พระยาปลัดและพวกจะรอดพ้นเงื้อมมือเจ้าอนุหรือไม่อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมือสุโขทัย ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๗ -
รวมครอบครัวคนไทยในวงล้อม เมื่อเตรียมพร้อมกันดีตอนสี่ทุ่ม ขณะลาวเมาภายนอกชุมนุม ไทยก็รุมตีลาวกันกราวเกรียว
พระณรงค์สงครามเป็นกองหน้า ขึ้นขี่ม้าขาวแซมน่าหวาดเสียว มีปืนคาบสิลากระบอกเดียว ม้าก็เปรียววิ่งปร๋อไม่รอรี
ท่านหญิงโมขี่ม้าดำนำกองหนุน “แม่เนื้ออุ่น”กุมแน่นแค้นเต็มที่ ถือไม้แหลมแหลนหลาวเข้าทิ่มตี กู้ศักดิ์ศรีสตรีไทยให้คืนมา
พระยาพรหมขี่กระบือถือปืน,หลาว เป็นกองกลางย่างก้าวอย่างแกร่งกล้า พลฉกรรจ์ขันแข็งแกร่งโกรธา เข้าเข่นฆ่าลาวเข้มเต็มกำลัง
พระยาปลัดฯขี่กระบือถือปืน,หลาว ไม่ย่างยาวยืนจ้องเป็นกองหลัง รักษาค่ายกองเกวียนเวียนระวัง โห่ร้องดังหนุนช่วยอำนวยชัย
ทหารลาวเมามัวรู้ตัวช้า ถูกเข่นฆ่ามิมีปรานีปราศรัย อาวุธนานาชายหญิงไทยชิงไป แล้วกลับใช้เข่นฆ่าทหารลาว
ประดาหญิงชิงชังคั่งแค้นจิต ทุ่มชีวิตล้างแค้นด้วยแหลนหลาว ทิ่มแทงซ้ำยำร่างที่นอนทาว ใช้มีดยาวฟันซ้ำย้ำให้ตาย
ศพทหารลาวกองเกลื่อนท้องทุ่ง กลิ่นคาวคลุ้งเลือดแดงไม่แห้งหาย “ตายเป็นเบือ”เหลือดรอดตะเกียกตะกาย หลบเร้นหายไปมีไม่กี่คน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา พระยาพรหมยกกระบัตร พระณรงค์สงคราม ท่านผู้หญิงโม นำครัวชาวโคราชลุกฮือขึ้นเข่นฆ่านายทัพนายกอง และไพร่พลชาวลาวที่ควบคุมครัวชาวโคราช ล้มตายศพกองก่ายทับถมกันเกลื่อนท้องทุ่งสัมฤทธิ์ประมาณพันคนเศษ แล้วเก็บสรรพาวุธทหารลาวไว้ได้ทั้งหมด เจ้าอนุทราบเรื่องก็ตกใจมาก สั่งให้บุตรทั้ง ๓ นำกำลังยกมาปราบปราม ครัวชาวโคราชต่อสู้อย่างห้าวหาญ พระสุภมาตราขี่ม้าบุกเข้าไปตักหัวนายทหารม้าของเจ้าสุทธิสารได้คนหนึ่ง แล้วนำมาเสียบประจานไว้หน้าค่าย ทำให้ทหารลาวพากันย่อหย่อนกำลังลง ไม่กล้าเข้าต่อสู้ครัวชาวโคราช วันนี้มาอ่านเรื่องกันต่อไปครับ
 “เมื่อเจ้าสุทธิสารเห็นดังนั้นแล้ว จึงมีความครั่นคร้ามเป็นกำลัง แล้วสั่งให้แม่ทัพนายกองลาวล่าถอยทัพกลับไปแจ้งความกับเจ้าอนุบิดาว่า ครัวต่อสู้รบเข้มแข็งแรงหนักหนา เห็นมีรี้พลมากเหลือเกินกว่าเมื่อเรากวาดต้อนขึ้นไปนั้น เห็นทีจะเป็นกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกเพิ่มเติมมาช่วยกันเป็นมั่นคง ผู้คนจึงมีมากนัก
ฝ่ายเจ้าอนุได้แจ้งดังนั้น ก็เผอิญให้คิดหวาดหวั่นพรั่นใจ เกรงกลัวข้าศึกไทย ไม่อาจสามารถที่จะกล้าหาญยกกองทัพใหญ่ลงมาตีกรุงเทพฯ ด้วยเดชะพระบารมีเป็นมหามหัศจรรย์ประจักษ์
 ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กวาดต้อนครอบครัวเมืองสระบุรี คุมขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาแล้ว จึงแจ้งความแก่เจ้าอนุบิดาว่า กวาดต้อนได้ครัวไทย ๑๑๐ ครัวจีน ๒๒๐ ครัวลาวหมื่นเศษ
เจ้าราชวงศ์บอกว่าได้ต้อนครัวเดินออกจากเมืองสระบุรีแต่ ณ วันอังคารเดือนสามแรมเก้าค่ำ และได้ทราบข่าวลือว่า กองทัพกรุงเทพฯ จะยกขึ้นมาทุกทาง และได้ใช้ให้คนขึ้นม้า ลงไปจับลูกค้าชาวเรือถึงบ้านอรัญญิกได้ ๔ ลำ ไต่ถามได้ความว่า เจ้านายขุนนางเป็นแม่ทัพยกขึ้นมาตั้งอยู่กรุงเก่าบ้าง ยกไปทางบ้านนา นครนายกบ้าง ทางปราจีนบุรีและกบินทร์บ้าง
ได้ความดังนี้ว่ามีทัพกรุงยกขึ้นมาหลายทัพหลายทางดังนั้น เจ้าอนุจึงปรึกษากับเจ้าราชวงศ์และแสนท้าวเพี้ยกวานนายทัพนายกองว่า
“เราจะตั้งทัพรับรองทัพกรุงเทพฯ อยู่ที่เมืองนครราชสีมานั้นเห็นจะไม่ได้ เพราะเป็นทางรวมมาก ทัพกรุงจะยกมาทางสระบุรีบ้าง ทางนครนายกบ้าง และทางอื่นอีกหลายทาง เราจะอยู่ที่โคราชนี้กลัวจะเป็นศึกกระหนาบ จำเป็นต้องแยกย้ายไพร่พลไปต่อสู้ให้หลายทาง ไทยจึงจะได้พะว้าพะวังทั้งหน้าแลหลัง จะไม่ประชุมทัพเป็นทัพใหญ่ได้ ฝ่ายเราก็จะตีแตกโดยง่าย แต่ทัพหลวงเจ้าอนุนั้นได้ปรึกษาพร้อมกันว่า ให้ถอยไปตั้งรับทัพไทยอยู่ที่หนองบัวลำภู เห็นจะดีกว่าที่เมืองนครราชสีมานี้”
 เจ้าอนุจึงสั่งให้นายทัพนายกอง ให้เผายุ้งฉางและบ้านเรือนในเมืองนครราชสีมาเสียสิ้น และเผาค่ายของพวกลาวที่ตั้งอยู่นอกเมืองนั้นด้วยทุกค่าย แล้วฟันต้นไม้ใหญ่ในเมืองเสียมาก และทำลายรื้อกำแพงเมืองนครราชสีมาเสียสองด้าน ไม่ให้ไว้เป็นกำลังแก่ข้าศึกไทยต่อไปได้ ทำลายล้างเมืองนครราชสีมาแล้ว จึงยกพลกองทัพกลับไปเมื่อ ณ เดือนสี่แรมสิบเอ็ดค่ำ แต่เจ้าราชวงศ์นั้นยกทัพใหญ่ขึ้นไปทางเมืองหล่ม กวาดต้อนครัวตามรายทางเมืองบัวชุม, ไชยบาดาล, เพชรบูรณ์ไปด้วย
 (มีคำกลางขวางถามเข้ามาว่า เจ้าอนุยกทัพใหญ่ลงมาหมายจะตีกรุงเทพฯ แล้วเหตุใดทำไมเล่าจึงไม่ยกเลยลงมาตีกรุงเทพฯ ทีเดียว ด้วยมีช่องดีที่กรุงเทพฯก็ยังไม่ทันจะรู้ตัวที่จะจัดการทัพรับลาวก็จะไม่สู้พรักพร้อมดี ควรที่เจ้าอนุจะรีบลงมาตีเสียโดยเร็ว จะได้กรุงโดยง่ายนี้ เป็นเพราะเหตุอันใดจึงไม่รีบลงไป กลับไปทำการกวาดต้อนครอบครัวอยู่ที่หัวเมืองต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ให้เสียเวลาช้าการไปเล่า จนที่กรุงเทพฯ ทราบข่าวศึกลาวจึงได้จัดกองทัพขึ้นไปสู้รบทันท่วงทีกับลาวเป็นสามารถยิ่งนัก เจ้าอนุทำการศึกสงครามและจัดทัพตั้งค่ายเป็นแยบคายถูกต้องแบบแผนพิชัยสงครามดีอยู่มาก จะหาผู้เสมอยากนัก เหตุไรจึงได้ละทิ้งให้เสียการไปดังนั้นเล่า ? ขอแก้ว่า ตามเหตุสามประการ (ที่ ๑) คือกรุงเทพฯ ชะตายังไม่ถึงคราวจะเสียพระนคร เทพยดายังรักษาอยู่ กับพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีมาก อำนาจพระบารมีและอำนาจเทพยดาจึงบันดาลให้เจ้าอนุคิดผิดไปต่าง ๆ
(ที่ ๒) คือถ้าจะคิดตามขนบธรรมเนียมทำนองศึกแล้ว เจ้าอนุเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ชรา ทำการศึกสงครามเย็น ๆ ช้า ๆ โดยรอบคอบ คิดหน้าแลคิดหลังที่จะมิให้เสียเปรียบแก่ข้าศึก เจ้าอนุเห็นทีจะยกทัพรีบรุดลงไปตีกรุงโดยเร็วตามความคิดเจ้าราชวงศ์ผู้บุตรที่เป็นคนหนุ่ม ๆ นั้นเห็นไม่ชอบ เพราะจะต้องเป็นห่วงระวังหัวเมืองนครราชสีมา แลหัวเมืองขึ้นกับกรุงที่อยู่ข้างหลังซึ่งเป็นกำลังอุดหนุนแก่กรุงนั้นไม่ควร จึงได้จัดแจงไปกวาดต้อนครอบครัวตามหัวเมืองรายทาง ที่จะไปทำแก่กรุงเทพฯ เป็นที่กีดขวางนั้นเสียก่อนจะได้สิ้นการกังวลห่วงหลัง จะได้ตั้งหน้ายกลงไปตีกรุงโดยสะดวก ถึงมาตีเมืองนครราชสีมาได้แล้ว เจ้าอนุก็จัดการเตรียมการตั้งขึ้นที่เมืองนครราชสีมานั้น เป็นการศึกแรมปีมิใช่การเร็ว ทำการท่วงทีดีถูกต้องตามพิชัยสงคราม แยบคายกว่าศึกพม่าเสียอีก รื้อขนอิฐวัดวาอารามเก่ามาสะสมไว้ ดูเหมือนจะทำค่ายและป้อมให้มั่นคงแข็งแรง เป็นทางรักษาตัวที่จะสู้และจะหนีดีชอบกล และทำยุ้งฉางโตใหญ่ถ่ายเสบียงอาหารมาไว้ในเมืองและนอกเมืองมาก และลงใจโอบอ้อมอารีแก่ชาวเมืองให้รัก เพราะจำทำการปี เจ้าอนุจัดแจงการแรมปีและการจะต่อสู้กับกรุงเทพฯ นั้น เพราะสู้พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ไม่ได้
(๓) เจ้าอนุเป็นคนใจโลเล เมื่อแก่ชรานั้นมักเป็นใจขลาด คิดการสิ่งไรก็มักถอยหน้าถอยหลัง วนเวียนอยู่ไม่สู้ตลอดไป เหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าหลวงนั้น เจ้าอนุตามเสด็จพระราชดำเนินในขบวนงานพระราชสงครามด้วย ประเดี๋ยวก็กราบทูลขออาสาเข้าปล้นค่ายพม่า ประเดี๋ยวทูลว่าป่วยทำการไม่ถนัด เป็นคนใจกลับกลอกอยู่ดังนี้ แต่เดิมมาจึงทำการใหญ่ไม่สำเร็จได้โดยเร็ว ชี้แจงตามความเคยเห็นมาในกิริยาเจ้าอนุ และทำนองศึกใหญ่และพระบารมีด้วย เป็นสามประการดังนั้น)”
 * เป็นเพราะความโลเลและขลาดของเจ้าอนุ และพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเทพยดาผู้รักษากรุงเทพฯ ทำให้เจ้าอนุไม่กล้ายกกองทัพลงมาตีกรุงเทพฯ ดั่งเผาบ้านเรือน วัดวาอาราม ยุ้งฉางในเมือง และรื้อกำแพงเมืองนครราชสีมาเสียสองด้าน แล้วสั่งถอยทัพ จะไปตั้งหลักที่เมืองหนองบัวลำภู เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พักไว้ก่อน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๘ -
เจ้าราชวงศ์ยกทัพกลับตั้งหลัก ตียึดเมืองหล่มสักเป็นมรรคผล เจ้าสุทธิสารยึดภูเขียวเป็นของตน อนุพ้นโคราชรอนแรมไป
ถึงหนองบัวลำภูรู้เส้นสาย สั่งตั้งค่ายดักขวางทางน้อยใหญ่ รอสยบรบรับกองทัพไทย ด้วยมันใจว่าชนะทุกประตู |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าอนุทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯ จัดทัพมารบหลายทาง ก็ไม่คิดจะปักหลักสู้อยู่นครราชสีมา จึงสั่งรื้อทำลายเมืองนครราชสมาแล้วถอยทัพจะไปตั้งหลักสู้อยู่ ณ เมืองหนองบัวลำภู วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 “ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ยกกองทัพขึ้นไปตีกวาดต้อนครอบครัวตามหัวเมืองรายทางได้หลายเมือง แล้วยกขึ้นไปถึงเมืองหล่มสัก ตั้งค่ายใหญ่ใกล้เมืองหล่มสัก เรียกพระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มสักออกมา เกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นขบถด้วย ถ้าไม่ยอมจะฆ่าเสีย พระสุริยวงศากลัวอำนาจเจ้าราชวงศ์ก็ต้องยอมเข้าด้วย เจ้าราชวงศ์ให้พระสุริยวงศาและแสนท้าวพระยาลาว ทำสัตยานุสัตย์ให้แล้ว เจ้าราชวงศ์ให้นายทัพนายกองไปเก็บเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ในเมืองหล่มสัก จัดการถ่ายเสบียงอาหารสะสมไว้เพื่อจะไปส่งยังกองทัพบิดา และตระเตรียมผู้คนไว้พร้อม
ฝ่ายเจ้าสุทธิสาร ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปถึงเมืองภูเขียว ตั้งทัพใหญ่ใกล้เมือง แล้วใช้ให้นายทัพนายกองไปหาตัวเจ้าเมืองให้ออกมาหา เจ้าเมืองภูเขียวไม่ยอมออกมาหาเจ้าสุทธิสาร เจ้าสุทธิสารจึงสั่งให้นายทัพนายกองคุมทหารพันเศษยกเข้าปล้นเมืองภูเขียวในวันนั้นได้ จับท้าวนาคเจ้าเมืองออกมาให้
เจ้าสุทธิสารสั่งให้ทหารพาท้าวนาคไปฆ่าเสียพร้อมทั้งบุตรหลานและญาติที่เป็นชายนั้นฆ่าเสียสิ้น แล้วเก็บทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ และกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองภูเขียวส่งขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์สัก ๓ ส่วน ที่หนีเข้าป่าไปได้บ้างสัก ๒ ส่วน
ฝ่ายเจ้าอนุคิดจัดการจะตั้งค่ายรับสู้รบกับไทยหลายตำบล จะตั้งค่ายใหญ่ที่หนองบัวลำภูแห่งหนึ่ง จะให้พระยานรินทรคุม ๓,๐๐๐ อยู่เป็นนายค่ายที่นั่น
แล้วเจ้าอนุก็จะยกขึ้นไปตั้งค่ายที่ช่องเขาสารแห่งหนึ่งเป็นที่สำคัญ เพราะเป็นทางสองแยกรวมจะไปเมืองเวียงจันทน์ ให้พระยาศุโภกับชานนท์เป็นนายทัพคุมพล ๒๐,๐๐๐ ตั้งรักษาค่ายที่ตำบลนั้นให้มั่นคง แต่เจ้าอนุจะตั้งค่ายใหญ่อยู่บนเขาสาร แล้วเจ้าอนุให้พระยาเชียงสาเป็นแม่ทัพคุมพล ๕,๐๐๐ ตั้งตั้งรักษาค่ายที่ตำบลสนมแห่งหนึ่ง แล้วเจ้าอนุให้กองคำคุมคน ๔,๐๐๐ ไปตั้งค่ายอยู่ช่องวัวแตกแห่ง ๑ แต่เจ้าอุปราชนั้นยกไปอยู่เมืองยโสธร แล้วเจ้าอนุมีหนังสือสั่งให้เจ้าอุปราชยกกองทัพไปตั้งรักษาอยู่ต้นทางสุวรรณภูมิ เป็นทางที่ข้าศึกไทยจะมาทางกบินทร์ได้ทางหนึ่ง เจ้าอนุให้เพี้ยกวานใจหาญคุมทัพม้าไปตรวจทุกทัพทุกกอง ให้ท้าวศุขะคุมทัพช้างและโค ส่งเสบียงอาหารและกระสุนดินดำทุกทัพทุกกอง แต่แยกย้ายกันเป็นหลายสาย
เจ้าอนุจัดแจงการตั้งค่ายและแม่ทัพนายกอง รักษาด่านทางเป็นที่มั่นคงแล้ว ก็ยกจากเมืองนครราชสีมา ขึ้นไปตามความคิดทุกประการ
 ฝ่ายพระณรงค์สงครามทราบข่าวว่าเจ้าอนุยกกองทัพกลับไปจากเมืองนครราชสีมาแล้ว และเผาบ้านเมืองเสียหมด พระณรงค์สงครามก็รีบพาครอบครัวกลับคืนเข้าเมืองนครราชสีมา ครั้งนั้นบรรดากรมการและไพร่บ้านพลเมืองที่หลบลี้หนีลาวเข้าป่าดงไปแต่ก่อนนั้น ครั้นได้ทราบข่าวว่ากองทัพลาวเลิกยกไปหมดแล้ว กรมการผู้ใหญ่ก็มารักษาเมืองอยู่บ้างแล้ว ราษฎรพลเมืองจึงพาครอบครัวมาอยู่ในบ้านเมืองตามภูมิลำเนาเดิม แต่ยังไม่บริบูรณ์ เพราะล้มตายหายจากกันไปมากนัก
 ฝ่ายพระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร และพระณรงค์สงครามจางวางส่วยทองคำ พร้อมกันสามนาย และกรมการผู้น้อยด้วยอีกหลายนายเข้าชื่อกัน แต่งหนังสือข้อราชการศึกลาวตามที่มีเหตุใหญ่น้อย แต่ต้นจนแก้กู้เมืองคืนได้ เป็นใบบอกมอบให้หลวงบุรินทรกับขุนชนะไพรี เป็นนายกองม้าคุมทหารม้า ๓๐ ม้า ถือใบบอกรีบลงมายังกรุงเทพฯ วางบอกยังศาลาเวรมหาดไทยให้กราบทูลพระกรุณา
 ฝ่ายที่เมืองนครราชสีมานั้น พระยาปลัดพร้อมด้วยกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย จัดกองทัพสรรพด้วยสรรพาวุธ พร้อมให้กรมการเป็นแม่ทัพยกออกจากเมืองไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลล้ำพี้ ใกล้หนองบัวลำภู เพื่อจะตั้งรับกองทัพลาวเวียงจันทน์ เผื่อว่าเจ้าอนุจะเป็นบ้าสงคราม ยกกองทัพติดตามมาตีค่ายเราอีก
ฝ่ายเจ้าอนุทราบเหตุว่าครัวเมืองนครราชสีมาคุมกันเข้าลุกเป็นไส้ศึก ไล่ฆ่าฟันพวกลาวในกองทัพที่ควบคุมครัวไปนั้นตายพันเศษ ที่เหลือตายแตกหนีมาได้ ๒๗๒ คน มาแจ้งความให้เจ้าอนุทราบ เหตุดังนี้แล้ว จึงโกรธนายทัพนายกองที่คุมครัวไปนั้น กระทำการประมาทให้เสียท่วงทีแก่ข้าศึกไทย เจ้าอนุสั่งทหารให้พาพวกลาวนายไพร่ที่แตกหนีมานั้น ๒๗๒ คนไปฆ่าเสียให้หมดตามบทอัยการศึก จึงจะกล้าหาญขึ้น
 ขณะนั้นเจ้าสุทธิสารทูลขอชีวิตนายไพร่ ๒๗๒ คนไว้ให้ทำการแก้ตัวใหม่ เจ้าอนุยอมให้ชีวิตแต่พวกไพร่ที่แตกมา แต่ตัวนายทัพนายกอง ๒๗ คนไม่ยอมให้ จึงสั่งให้ทหารนำนายทัพ ๒๗ คนนั้นไปฆ่าเสียสิ้นในวันเมื่อเดินทัพให้เป็นฤกษ์ด้วย แล้วเจ้าอนุสั่งให้จัดทัพเพิ่มเติมไปอีกมากถึงสี่พัน
ให้พระยาสิทธิเดโชเป็นแม่ทัพหน้า ให้เจ้าโอเป็นแม่ทัพหลวง ให้พระยาสงครามไชยเป็นแม่ทัพหนุน
รวม ๓ ทัพมีรี้พลเกือบหมื่นเศษ แต่ทัพกองเจ้าอนุนั้น เดินทัพไปทางดอนมดแดงเป็นทางอ้อมไปใกล้ทางป่าแขวงเพชรบูรณ์
 ฝ่ายทัพพระยาสิทธิเดโช และเจ้าโอ พระยาสงครามเวียงไชย ทั้ง ๓ ทัพพร้อมกันแล้วก็รีบยกไปถึงตำบลทุ่งล้ำพี้ใกล้หนองบัวลำภู ตัดไม้ตั้งค่ายลงที่นั้นยังไม่ทันแล้ว พอกองทัพพระณรงค์สงครามซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งล้ำพี้ก่อน เห็นลาวยกมาตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว พระณรงค์สงครามก็ขับทหารเร่งรีบยกออกจากค่าย ไล่โจมตีตัดกำลังศึกลาว ลาวยังไม่ทันจะตั้งตัวมั่น ไทยกับลาวรบกันถึงอาวุธสั้นตะลุมบอน ตั้งแต่สามโมงเช้าจนเที่ยง พลทหารลาวอิดโรยหย่อนกำลังก็ล้มตายเป็นอันมาก เจ้าโอแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาวเห็นดังนั้น จึงสั่งให้ล่าทัพถอยหนีขึ้นไปตั้งค่ายมั่นรับอยู่ที่ตำบลเชิงเขาน้ำพุ ไกลจากที่ทุ่งล้ำพี้ ทาง ๒ คืน ๒ วัน”...ฯลฯ
** อ่านอานามสยามยุทธมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกเหนื่อยแทนบรรพชนไทย ลาว บ้างไหมครับ เพียงแค่การเดินทัพไปยังที่ต่าง ๆ บุกป่าฝ่าดง ก็เหนื่อยแรงพออยู่แล้ว ยังจะต้องรบพุ่งกันอีกเล่า
ตอนนี้ กองทัพเจ้าอนุล่าถอยไปแล้ว โดยเจ้าราชวงศ์แทนที่จะยกย้อนกลับไปทางเดิม แต่กลับยกเลยขึ้นไปทางเหนือ ปล้นทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนรายทางจากบัวชุม ไชยบาดาล ขึ้นไปยึดเมืองหล่มสัก รวบรวมคนและอาวุธเสบียงอาหารไว้เลี้ยงกองทัพลาว
ฝ่ายเจ้าสุทธิสารก็ยกทัพขึ้นทางเหนือเช่นกัน เข้ายึดเมืองภูเขียว (ชัยภูมิ) จับเจ้าเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมพร้อมภรรยาบุตรและญาติที่เป็นชายฆ่าเสียสิ้น
เจ้าอนุสั่งฆ่านายทัพยายกองที่เสียทีแก่ครัวชาวโคราชเสียทั้งหมด เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยวันเดินทัพถอยไปเมืองหนองบัวลำภู
 ครัวชาวเมืองโคราชก็พากันกลับเข้าเมืองที่ถูกเจ้าอนุเผา รื้อเสียแทบหมดสิ้น ต้องเข้าไปซ่อมแซมพออยู่อาศัยไปพลางก่อน
พระยาปลัดพร้อมคณะได้ร่างหนังสือข้อราชการทัพตามที่เกิดขึ้นแก่เมืองนครราชสีมานั้นทุกประการ แล้วให้ “ม้าเร็ว” นำใบบอกนั้นเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พร้อมกับจัดกองทัพโดยการนำของพระณรงค์สงคราม จางวางส่วยทองคำ นำไพร่พลไปตั้งค่ายที่ตำบลล้ำพี้ ใกล้เมืองหนองบัวลำภู เพื่อคอยสกัดกั้นกองทัพลาวที่จะยกคืนมาอีก และเจ้าอนุก็สั่งให้เจ้าโอนำกำลังไปตั้งค่ายที่ตำบลล้ำพี้เช่นกัน แต่ไปหลังจากพระณรงค์สงครามที่ไปตั้งมั่นก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อทัพเจ้าโอไปถึงยังไม่ทันจะตั้งค่ายมั่น ก็ถูกกองทัพของพระณรงค์สงครามบุกโจมตี รบกันตั้งแต่สามโมงเช้าจนเที่ยง ฝ่ายลาวอ่อนกำลังอิดโรยล้มตายลงมาก เจ้าโอเห็นทีว่าจะสู้ไม่ได้ จึงสั่งล่าถอยไปตั้งมั่นในที่เชิงเขาน้ำพุ ห่างจากทุ่งล้ำพี้ระยะทางเดิน ๒ วัน ๒ คืน
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, เฒ่าธุลี, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๙ -
ทัพเจ้าโอแตกพ่ายทิ้งค่ายหนี ไปถึงที่เชิงเขาจึงเซาอยู่ ค่ายน้ำพุเร่งตั้งรั้งรอดู ว่าจะสู้ไทยได้อย่างไรกัน
พระณรงค์สงครามคิดความศึก หลังจากปรึกษาผู้ใหญ่ไปตามขั้น จึงจัดแบ่งหน้าที่ที่สำคัญ แล้วมุ่งมั่นยกโยธีเข้าตีลาว |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าอนุสั่งให้เจ้าโอเป็นแม่ทัพใหญ่ นำกำลังสามกองพลไปตั้งค่ายที่ตำบลทุ่งล้ำพี้ ทัพเจ้าโอไปถึงที่ยังไม่ทันตั้งค่ายได้เรียบร้อย ก็ถูกกองกำลังของพระณรงค์สงครามที่ไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลล้ำพี้ก่อนแล้วนั้นยกเข้าโจมตี ยังไม่ทันที่กองทัพเจ้าโอจะตั้งค่ายเสร็จ ไทยลาวสู้รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายลาวล้มตายลงเป็นอันมาก เจ้าโอเห็นท่าไม่ดีจึงสั่งถอยทัพล่าหนีไปตั้งที่เชิงเขาน้ำพุ วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 “ฝ่ายพระณรงค์สงครามแม่ทัพฝ่ายไทย เห็นลาวเลิกล่าถอยไปดังนั้นแล้ว ก็ไม่ได้ติดตามตีทัพลาว เพราะทัพลาวล่าไปโดยไม่สู้บอบช้ำจึงไม่ตาม ขี่ม้าพาพลทหารกลับเข้าค่าย แล้วสั่งให้หลวงพลอาษานายด่านจันทึก ขี่ม้าคุมทหารม้า ๕๐ ม้า เร่งรีบไปสืบข่าวทัพลาวว่า จะตั้งพักพลรับอยู่ที่ใด ให้ทราบการโดยละเอียดมา
หลวงพลอาษาขึ้นม้านำพลทหารไปสืบข่าวทัพลาวได้ความแล้ว กลับมาแจ้งข้อราชการกับพระณรงค์สงครามว่า ได้เห็นลาวล่าไปหยุดพักพลตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลเชิงเขาน้ำพุ ๓ ค่าย ค่ายตั้งห่างกันประมาณ ๒๐ เส้น ไม่เห็นชักปีกกาถึงกันทั้ง ๓ ค่าย ค่ายใหญ่ตั้งห่างไกลลำธารน้ำประมาณ ๑๐ เส้น แต่ยังไม่ได้ขุดสนามเพลาะทุกค่าย และลาวยังกำลังปักกรุยลงมาตามชายป่าเชิงเขาเป็นวงพาด พิจารณาดูถ้าทางลาวจะตั้งเป็นค่ายปีกกาลงมาตามเชิงเขาอีกหลายค่าย เมื่อดูนั้นได้ขึ้นต้นไม้สูงดูทั่วทุกกองทัพลาว และกำลังตัดไม้ปิดหนองน้ำลำธารที่ทางเราจะไปนั้นหลายแห่ง
 พระณรงค์สงครามได้ฟังดังนั้นแล้วจึงว่า “พวกเราอย่ากลัวมัน อ้ายลาวมันปักกรุยหลอกลวงขู่เราเท่านั้น มันไม่อาจจะตั้งค่ายตามที่มันปักกรุยไว้ดอก มันตั้งสามค่ายเท่านั้นเอง พอเป็นที่พักพลของมัน เพราะมันรักษาพวกมันเท่านั้น ถ้าและว่ามันจะตั้งมาตามกรุยที่มันปักไว้นั้น ก็ยิ่งดีทีเดียว เราจะตีเอาค่ายเป็นของเรา เราจะไม่ต้องตั้งค่ายพักพลเรา เกิดมาเป็นชายชาติทหารอย่าย่อท้อต่อข้าศึก ให้ตั้งใจให้ดีจะได้มีชื่อเสียงอยู่สิ้นกาลนาน”
พระณรงค์สงครามพูดเท่านั้นแล้ว จึงปรึกษาราชการทัพศึกกับพระยาปลัด, พระยายกกระบัตร ต่อว่า
“เมื่อเวลาวานซืนนั้น พวกเรายกทัพเข้าปล้นเอาค่ายเจ้าโอและพระยาสิทธิเดโชและพระยาสงครามเวียงไชย ทั้งสามกองล่าถอยหนีเราไปครั้งหนึ่ง ผู้คนทหารลาวบอบช้ำระส่ำระสายล้มตายมาก จึงได้ล่าหนีไป พวกลาวคงจะเข็ดขยาดฝีมือไทยบ้างเป็นแน่ บัดนี้เราตระเตรียมจัดการให้เป็นภูมิฐาน ตามตำรับกระบวนพิชัยสงคราม ตามไปตีลาวอีกสักคราวหนึ่ง เห็นจะได้ชัยชนะ ถ้าและว่าจะได้ชัยชนะ ก็คงจะได้รู้กำลังข้าศึกว่าจะหนักเบาประการใด และจะได้เป็นเกียรติยศที่พวกเราเป็นทหารอยู่เมืองหน้าศึก ควรที่จะยกไปป้องกันรักษาเขตแดนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ก่อน กว่าจะมีกองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นมาเมื่อใด ก็จะได้มีโอกาสใหญ่ได้ต่อสู้กับลาว ครั้งนี้เราจะยกไป ถ้าเป็นท่วงทีก็จะได้ชัยชนะ ถ้าไม่สมหมายก็เหมือนยกทัพไปขัดตาทัพ ปะทะปะทังกันข้าศึกไว้ ไม่หมิ่นประมาทฝีมือไทยได้ ท่านจะเห็นเป็นประการใด?”
พระยา, พระ,หลวง, นายทัพนายกอง ก็เห็นชอบด้วยความคิดพระณรงค์สงครามพร้อมกัน
 พระณรงค์สงครามจัดกองทัพให้พระพลสงครามกับหลวงกำแพงสงคราม เป็นนายทัพคุมทหารยกเดินอ้อมไปในป่าระนาม เดินวกออกหลังค่ายลาว แล้วให้ยกเข้าตีค่ายเจ้าโอทีเดียว จัดให้หลวงพิพิธภักดีกับขุนศรีรณรงค์ คุมพลทหารไปตั้งสกัดทางห้วยกรด เพื่อจะรักษาต้นทางที่ลาวจะยกมาช่วยทางเมืองหนองคาย จัดให้พระมหาดไทยกับหลวงจ่าเมือง คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปตีค่ายพระยาสิทธิเดโชลาว จัดให้พระสัสดีกับหลวงเสนีพิทักษ์ทวยหาญ คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปตีค่ายพระยาสงครามเวียงไชยลาว จัดให้หลวงวังกับหลวงนา คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปตีค่ายลาวที่ลำธาร แล้วจะได้ตั้งรักษาลำธารน้ำที่อยู่ใกล้ห้วยกรดไว้ อย่าให้อ้ายลาวมาอาศัยน้ำที่ลำธารนั้นได้ จัดให้พระนางรองกับหลวงปลัดเมืองพิมาย คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปก้าวสกัดคอยตีต้นทาง อย่าให้ลาวในค่ายหนีออกมาชวยค่ายโน้นได้เป็นอันขาดทีเดียว จัดให้พระยาทุกขราษฎร์กับหลวงสุระเดชา พระศุภมาตรา คุมพลทหารเป็นนายทัพกองเสือป่าแมวเซา จัดให้หลวงคลังกับขุนเทพโยธา คุมพลทหารม้าเป็นกองร้อยคอยเหตุ สืบราชการศึก กับท่านผู้ใหญ่ฝ่ายแม่ทัพที่บังคับการนั้น ๆ แต่พระยาพรหมยกกระบัตร กับพระณรงค์สงครามเป็นทัพใหญ่ คุมพลทหารยกไปเป็นทัพกำกับและทัพหนุนทัพทั้งปวง เพื่อว่ากองไหนล่าหลอนออกมาจากข้าศึก จะได้จัดพลยกเข้าไปเพิ่มเติมช่วยอุดหนุนด้วย แต่พระยาปลัดนั้น จัดให้คุมพลทหารอยู่รักษาบ้านเมืองกับพระยาภักดีผู้ช่วย จัดให้ท่านผู้หญิงโมกับพระภักดีนุชิต คุมพลทหารหัวหมื่นขึ้นแก่เมืองนครราชสีมา เป็นกองลำเลียงส่งเสบียงอาหารแลกระสุนดินดำ สำหรับเพิ่มเติมทุกกองทัพ
ได้นัดหมายเวลาและความสัญญาสังเกตฤกษ์ ให้นายทัพนายกองทั้งหลายคอยดูดวงพลุ เป็นสัญญายกเข้าตีค่ายลาวพร้อมกันทุกทัพทุกกอง ครั้นจัดทัพเสร็จแล้ว ต่างทัพต่างก็แยกย้ายกันไปซุ่มทัพอยู่ไกลห่างจากค่ายลาวประมาณ ๕๐ เส้นบ้าง ๖๐ เส้น ๗๐ เส้นบ้าง ที่ใกล้ก็มี ที่ไกลก็มีต่าง ๆ กันตามที่จะซุ่มทัพได้
 ครั้นเวลาตีสิบเอ็ดทุ่ม พระยาพรหมยกกระบัตร พระณรงค์สงคราม สั่งให้จุดพลุขึ้นตับหนึ่งเป็นสัญญา ฝ่ายนายทัพนายกองครั้นได้เห็นดวงพลุแล้ว ก็พร้อมกันต้อนพลทหารโห่ร้องทะลวงฟัน บ้างวิ่งกรูกันนำแตะทาบทับขวากหนามบ้าง บ้างก็ถอนขวากกระจับ ขนแตะทาบเข้าไป บ้างตั้งค่ายทุบทูนำแผงแตะบังตัวบังปืนเข้าไปใกล้ค่ายลาวได้ บ้างก็ฟันค่าย เย่อค่าย ปีนค่าย เข้าไปในค่ายลาวได้บ้าง พลทหารไทยไล่ฆ่าฟัน แทง ยิงปืน แย่งระดมเป็นโกลาหล พลทหารลาวล้มตายลงเป็นอันมาก บ้างแหกค่ายหนีไปได้บ้าง
ฝ่ายเจ้าโอ และพระยาสิทธิเดโช และพระยาสงครามเวียงไชย แม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาวทั้งสามนาย ไม่ทันรู้ตัวจะแต่งพลทหารออกต้านทานสู้รบไม่ทันท่วงที ก็ทิ้งค่ายทั้งสามตำบลแตกหนีไป ครั้งนั้นทัพไทยตีลาวได้สามค่าย ได้ช้าง ม้า ธัญญาหาร เครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อยไว้มาก
 พระณรงค์สงครามสั่งให้ทหารนำช้างไปบรรทุกข้าวในค่ายหลวงส่งไปไว้ในเมืองนครราชสีมาทั้งสิ้น แต่ค่ายลาวทั้งสามตำบลนั้นให้เผาเสีย ไม่ให้เอาไว้เป็นกำลังศึกต่อไป จับได้ลาวที่ป่วยไข้แลล่าหลอนหนีไปไม่ทันนั้น จับได้ ๒๖๐ คน พาลาวเชลยขังไว้ใช้การในเมือง พระยายกกระบัตรสั่งให้กรมการ นายทัพนายกอง ตั้งระวังรักษาด่านทางทุกช่องโดยกวดขัน..”
 * ให้อ่านยาวมาถึงตรงนี้ เราได้เห็นแล้วว่า ในครัวชาวโคราชที่ลาวกวาดต้อนไปเวียงจันทน์นั้น มิใช่เป็นชาวบ้านสามัญชนที่อ่อนด้อยความรู้ความสามารถทั้งหมด หากแต่มีชนชั้นขุนนางข้าราชการระดับ พระยา คุณพระ คุณหลวง ขุน หมื่น รวมอยู่จำนวนไม่น้อย ท่านเหล่านั้นเพิ่งจะมาปรากฏนามตอนที่คุณพระณรงค์สงครามมอบหมายหน้าที่ให้ยกกำลังเข้าตีทัพเจ้าโอนี่เอง ตอนนี้เป็นทีของชาวโคราชบ้างแล้ว
กองทัพชาวโคราชรบลาวด้วยต้นทุนความโกรธแค้น (โดยเฉพาะกองทัพของท่านผู้หญิงโม) เพราะทหารลาวได้กระทำย่ำยีสตรีและและศักดิ์ศรีชาวโคราชไปมากเหลือเกิน
กองทัพเจ้าโอถูกพระณรงค์สงคราม เสนาธิการใหญ่ฝ่ายไทยวางแผนโจมตีแตกกระเจิดกระเจิงไปจากเชิงเขาน้ำพุแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เมื่อไรกองทัพใหญ่จากกรุงเทพฯ จะปรากฏโฉม อดใจรอไว้อ่านในวันพรุ่งนี้ และวันต่อ ๆ ไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 ขอบขอบคุณเจ้าของภาพนี้จาก Internet - อานามสยามยุทธ ๑๐ -
ค่ายเจ้าโอแตกยับเป็นซ้ำสอง ไทยครอบครองอาวุธช้างม้าข้าว เผาค่ายทิ้งมิไว้ให้อยู่ยาว อนุรับทราบข่าวแล้วหนาวใจ
สั่งตั้งค่ายรายรับทัพสยาม เพิ่มจากสามเป็นห้าค่ายทัพใหญ่ ทุ่งส้มป่อยคอยรับรบทัพไทย แล้วตั้งในช่องทางหลายตำบล |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กองทัพเมืองนครราชสีมายกเข้าโจมตีกองทัพเจ้าโอที่เชิงเขาน้ำพุตามแผนของพระณรงค์สงครามแตกกระจัดกระจายไปในคืนเดียว ฝ่ายไทยยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เสบียงอาหารเป็นอันมาก วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
 “ฝ่ายเจ้าอนุทราบว่ากองทัพทั้งสามค่ายนั้นแตกเสียแก่ไทยแล้ว จึงสั่งให้พระยานรินทรคุมพลทหาร ๓,๐๐๐ ยกมาตั้งค่ายใหญ่ อยู่ที่ตำบลหนองบัวลำภู แล้วให้ท้าวอินทร ท้าวสุนทร คุมพลทหาร ๒,๐๐๐ มาช่วยเพิ่มเติมรักษาค่ายที่หนองบัวลำภู สมทบกับพระยานรินทรด้วยเป็นพล ๕,๐๐๐
แต่เจ้าอนุนั้นยกรี้พล ๑๐,๐๐๐ เศษขึ้นไปตั้งพักพลอยู่ที่ตำบลทุ่งส้มป่อย พักพลพอปรกติแล้วสั่งให้ตั้งค่ายมั่นลงที่ทุ่งส้มป่อย ๕ ค่าย ชักปีกกาถึงกันทุกค่าย ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามพิชัยสงครามมั่นคงแข็งแรงแล้ว จึงสั่งให้พระยาเชียงขวาเป็นนายทัพมีพลทหารรักษาค่ายอยู่ ๕,๐๐๐
แล้วเจ้าอนุก็ยกพลทหารขึ้นไปถึงที่ตำบลเขาสารเป็นทางช่องแคบ และเป็นทางสองแยก เจ้าอนุสั่งให้หยุดทัพพักพลแล้วจึงสั่งให้ตั้งค่าย ๗ ค่าย ชักปีกกาถึงกัน ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามทำการมั่นคง และตั้งค่ายละเมาะปีกกาเป็นวงพาด โอบเขาลงไปถึงเชิงเขาสองด้านเป็นที่รับข้าศึก (ด้วยทางที่เขาสารช่องแคบนี้เป็นที่สำคัญกว่าทุกแห่ง เปรียบเหมือนประตูเวียงจันทน์ก็ว่าได้ ถ้าเสียค่ายที่ตำบลเขาสารช่องแคบแก่ไทยแล้ว ก็เหมือนเสียเวียงจันทน์เหมือนกัน)
 ครั้นเจ้าอนุจัดตั้งค่ายประตูหอรบที่เขาสารเสร็จแล้ว จึงสั่งให้เจ้าสุทธิสารบุตรผู้ใหญ่ถืออาญาสิทธิ์ เป็นแม่ทัพใหญ่ได้บังคับบัญชาทุกทัพทุกกอง คุมพลทหาร ๒๐,๐๐๐ อยู่รักษาค่ายเขาสารทั้ง ๗ ค่าย
ให้พระสุโภกับชานนท์ขุนนางผู้ใหญ่ อยู่ช่วยเจ้าสุทธิสารเป็นปีกขวาและปีกซ้าย ให้พระสินธพคุมทหารม้า ๕๐๐ เป็นกองคอยเหตุ ให้พระยาประสิทธิ์คชเดช เป็นแม่กองทัพช้าง ๔๐๐ อยู่ช่วยเจ้าสุทธิสารสู้รบกับไทย
แล้วเจ้าอนุสั่งให้เจ้าโอเป็นแม่ทัพคุมทหาร ๕,๐๐๐ ยกรุดเร่งรีบไปตั้งค่ายปิดทางทุ่งบกหวาน ริมฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้ามจะขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ก็ได้ ทางนี้เป็นทางฝ่ายตะวันออกแห่งเมืองกบินทร์แลปราจีนที่ไทยจะขึ้นมาโดยง่ายให้ปิดไว้ให้มั่นคง (เจ้าโอยกกองทัพไปคราวนี้รี้พลช้างม้ามากมาย แต่หาปรากฏในจดหมายเหตุว่าเท่าใดไม่ จึงไม่ทราบจำนวนคนตลอดว่าช้างม้าเท่าใด ดั่งเช่นที่มีมาทึกทัพทุกกอง)
 เจ้าอนุสั่งให้เจ้าพิมพิสารคุมคน ๖๐ คน ขึ้นม้าถือหนังสือไปให้เจ้าหน่อคำผู้หลาน ซึ่งยกกองทัพไปตีบ้านเล็กเมืองน้อยข้างฝ่ายเหนือนั้น ให้เจ้าหน่อคำรีบยกกลับมารักษาค่ายทุ่งส้มป่อย ช่วยกับพระเชียงขวา เจ้าหน่อคำก็รีบมารักษาค่ายทุ่งส้มป่อยตามในหนังสือบังคับ แต่ครัวที่เจ้าหน่อคำตีกวาดต้อนมาได้แต่เมืองเหนือนั้น เจ้าหน่อคำใช้ให้เชียงผากับคำเกิดคุมครอบครัวไปส่งยังเมืองเวียงจันทน์ แต่ยังหาทันถึงเมืองเวียงจันทน์ไม่ พวกครอบครัวมีความเดือดร้อนเพราะถูกข่มขี่จึงลุกขึ้นพร้อมกัน เกิดรบราฆ่าฟันกันกลางทาง พวกครัวหนีไปเมืองหลวงพระบางได้บ้าง ไปเมืองเชียงแสนบ้าง ไปเมืองเชียงรุ้งบ้าง ไปเมืองหล่มสักบ้าง ไปเมืองพวนบ้าง เชียงผา,คำเกิด นายทัพกวาดต้อนครอบครัวไปเมืองเวียงจันทน์ได้บ้าง ๒ ส่วน ที่หนีไปเมืองต่าง ๆ นั้นสัก ๖ ส่วน
(เจ้าอนุจัดแจงการป้องกันรักษาด่านทางเขตแดนเมืองเวียงจันทน์นั้น ทั้งชั้นนอกแลชั้นในเป็นการกวดขันมั่นคงโดยสามารถแข็งแรงยิ่งนัก ถ้าจะว่าตามธรรมเนียมศึกสงคราม ถึงอาชญาสิทธิ์พม่าก็สู้อาชญาสิทธิ์ลาวไม่ได้ เพราะลาวนับถือกันตามเพศเจ้านายเชื้อวงศ์ยิ่งกว่าพม่า ลาวจัดการผู้คนสิทธิ์ขาดกว่าพม่า และลาวครั้งนี้จัดการแข็งแรงเป็นอย่างเอก จะหาศึกอื่นในพงศาวดารหรือจดหมายตุเก่าแก่มาเปรียบ สู้ศึกนี้ยากนัก ทแกล้วทหารรี้พลช้างม้าก็มีบริบูรณ์ เพราะเมืองเวียงจันทน์มีเมืองขึ้นมาก ช้างม้าก็หาสะสมช้านาน ผู้คนก็มีมาก เพราะบ้านเมืองไม่ได้เสียแก่ใครเลย เสบียงอาหารมาส่งกันโดยง่าย เพราะเป็นทางใกล้กันหามาส่งกันได้เร็ว เพราะฉะนั้นจึงว่าเจ้าอนุมีพร้อมด้วยพิริยะโยธากล้าหาญบริบูรณ์ หน้าที่จะทำศึกกับเมืองใดเมืองนั้นก็จะปราชัย เพราะบริบูรณ์ด้วยกำลังทั้ง ๔ คือ ผู้คน ๑ เสบียงอาหาร ๑ พาหนะช้างม้าโคกระบือ ๑ ทรัพย์สมบัติ ๑ บริบูรณ์พร้อมกันทั้งสี่ แต่ปัญหาลาวไม่สามารถจะต่อสู้กับไทยได้ กับบารมีไม่คู่ควรใกล้เคียงจะต่อสู้กับกรุงเทพฯ ได้ จึงแพ้สิ้นทุกที เพราะสู้พระบรมกฤษฎาเดชาภินิหารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ไม่ได้)
 ฝ่ายที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนสามปีจออัฐศกนั้น พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า มีหนังสือบอกลงมากรุงเทพฯ ฉบับ ๑ วางยังศาลาเวรมหาดไทย เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายก นำหนังสือบอกกรุงเก่าขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีใจความว่า ราษฎรทั้งหลายเห็นพวกลาวเมืองเวียงจันทน์ลงมากวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองสระบุรีพาขึ้นไปเป็นอันมาก เหตุผลต้นปลายประการใด ยังสืบไม่ทราบเกล้าทราบกระหม่อม แต่ได้ใช้ให้กรมการขึ้นม้าเร็วไปสืบแล้วยังไม่กลับลงมา ถ้าได้ความประการใด จึงจะบอกลงมากราบบังคมทูลพระกรุณาต่อครั้งหลัง
 ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระราชดำริโดยพระราชวิจารณ์ด้วยพระปรีชาไวในทันใดนั้น ทรงทราบว่าเจ้าอนุเป็นขบถแน่ มีพระบรมราชโองการมานบัณฑูรสุรพสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งแก่พระอินทรเทพเจ้ากรมพระตำรวจ ให้หาเรือเร็วรีบเร่งขึ้นไปสืบราชการศึกลาวที่เมืองสระบุรีให้ได้ความมาโดยเร็ว ให้หลวงศุภมาตราผู้ถือหนังสือบอกกรุงเก่ามานั้น เป็นผู้นำพระอินทรเทพขึ้นไปเมืองสระบุรี จะได้ชี้ตำแหน่งตำบลที่ลาวสระบุรีหนีไปกับลาวเวียงจันทน์นั้นทุกแห่ง
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ) เจ้ากรมพระตำรวจบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) กับพระราชเสนาปลัดบัญชีกรมมหาดไทย คุมคน ๖๐ รีบเร่งขึ้นไปสืบราชการศึกลาวที่เมืองสระบุรี แล้วให้เดินบกขึ้นไปจากเมืองสระบุรี ตลอดถึงเมืองนครราชสีมา
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระหฤทัยเจ้ากรมพระตำรวจหลัง กับหลวงเสนีพิทักษ์ในกรมมหาดไทย คุมคน ๕๐ เดินบกขึ้นไปสืบราชการศึกลาว โดยทางเมืองปราจีนบุรีแลเมืองกบินทร์บุรีให้ได้ความมาชัดเจน
แล้วโปรดให้พระยาราชวังสันคุมแขกอาสาจาม ๔๐๐ ไปจัดแจงซ่อมแซมเรือรบเรือไล่ไว้ให้พร้อม เพื่อจะได้ป้องกันรักษาพระมหานคร......”
 * ท่านผู้อ่านครับ เขาสารช่องแคบที่หนองบัวลำภูจะกลายเป็นสรภูมิรบที่ดุเดือดระหว่างทหารไทย-ลาว เพราะเจ้าอนุตั้งค่ายมั่นรอรับทัพไทยอยู่ที่นั่น ดูการจัดกระบวนทัพของเจ้าอนุแล้วก็เห็นว่าน่าจะต้านทานทัพไทยได้แน่ แต่เมื่อถึงเวลารบกันจริงก็ต้องดูว่าฝ่ายไทยจะมีฝีมือถล่มทลายค่ายลาวได้หรือไม่เพียงใด
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิได้รับหนังสือบอกจากเมืองนครราชสีมา เพียงทรงทราบข่าวว่ามีลาวเวียงจันทน์มากวาดต้อนลาวสระบุรีไป ก็ทรงทราบโดยพระปรีชาว่า เจ้าอนุเป็นกบฏแล้ว จึงโปรดให้ทหารเร่งสืบข่าวศึกลาวทันที และเตรียมเรือไว้ป้องกันพระมหานครด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้เข้ามาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑ -
พระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบข่าวศึก เรื่องตื้นลึกโคราชไม่ขาดหล่น กับเรื่องเจ้าอุปราชกวาดต้อนคน ทั้งเบื้องต้นเบื้องปลายจากรายงาน
จึงโปรดเกล้าฯจัดทัพขึ้นขับไล่ รุกลาวจนพ้นไทยในทุกด้าน จับอนุเวียงจันทน์อันธพาล อย่าปล่อยพล่านลอยนวลรบกวนไทย |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบข่าวการกวาดต้อนผู้คนทางเมืองสระบุรี จึงตรัสสั่งให้ข้าหลวงออกสืบข่าวศึกทุกทิศทาง วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ
 “ครั้งรุ่งขึ้นอีกสองวัน มีหนังสือบอกเมืองกบินทร์บุรี ให้หลวงแพ่งกรมการถือเข้ามาโดยทางบกด้วยม้าเร็วฉบับหนึ่ง วางยังศาลาเวรมหาดไทย เจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาใจความว่า
 “พลเมืองลาวสุวรรณภูมิและเมืองสุรินทร์, เมืองสังขะ, เมืองเขมา, แตกตื่นพาครอบครัวอพยพเดินทางมาอาศัยยังเมืองกบินทร์บุรี กรมการเมืองกบินทร์บุรีไต่ถามก็ได้ความว่า เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถ คิดประทุษร้ายต่อกรุงเทพมหานครฯ เจ้าอนุยกกองทัพใหญ่ลงมาตีเมืองนครราชสีมาแตกแล้ว เจ้าอนุจึงให้เจ้าราชบุตรผู้เป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ยกกองทัพมาตีเมืองชัยบุรี ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองมุกดาหาร ๑ เมืองอุบลราชธานี ๑ เมืองยโสธร ๑ เมืองศรีษะเกษ ๑ เมืองเดชอุดม ๑ รวม ๗ เมือง เจ็ดเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ และเมืองเล็กเมืองน้อยตามลำแม่น้ำโขงนั้นหลายเมือง กองทัพเวียงจันทน์กวาดต้อนพาครอบครัวพลเมืองที่ว่ามานี้ ขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์เป็นอันมาก แต่เมืองสุวรรณภูมินั้นยังไม่เสียแก่ทัพเวียงจันทน์ เพราะว่าเจ้าศรีวอเจ้าเมืองสุวรรณภูมิกับหัวเมืองขึ้นใกล้เคียงช่วยกันรักษาเมืองไว้ได้”
ฝ่ายพระยากบินทร์ได้แต่งให้ท้าวสุริยะเทพ กับท้าวเทพวงศ์ และหลวงพลสงครามกับขุนชำนาญสิงขรเขตนายด่าน พร้อมกันคุมไพร่ไทยลาว ๕๐ คน ไปสืบราชการศึกลาว ไปกลับมาได้ความว่า
“ซึ่งได้ทรงพะมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาขึ้นไปห้ามปรามเจ้าเมืองขุขันธ์บุรีวิวาทรบกันกับพระปลัดเมืองขุขันธ์ บัดนี้พระยาขุขันธ์กลับใจไปเข้าด้วยเจ้าอนุแล้ว
พระยาขุขันธ์เกณฑ์ผู้คนไว้ได้มาก จะยกเข้าล้อมจับเจ้าพระยานครราชสีมาส่งไปให้เจ้าอนุเวียงจันทน์ แต่พระปลัดขุขันธ์เป็นคนอริกันกับพระยาขุขันธ์ พระปลัดจึงได้เก็บข้อความที่ลับของพระยาขุขันธ์จะทำร้ายแก่เจ้าพระยานครราชสีมานั้น มาบอกแก่พระเทพภักดีผู้บุตรเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมารู้ตัวก่อน จึงพาพระปลัดเมืองขุขันธ์บุรีกวาดต้อนครอบครัวเมืองขุขันธ์ที่ควรจะพาไปได้ก็พาไปมาก
 ครั้นเวลาสามยามดึกสงัด เจ้าพระยานครราชสีมากับพระปลัดได้นำไฟจุดเผาบ้านเรือนนอกเมืองขุขันธ์ แล้วก็ยกกองทัพรีบหนีออกจากเมืองขุขันธ์บุรีหนีไปทางใต้ จะไปเมืองเขมรหรือจะมาทางช่องเสม็ด ลงมาทางเมืองกบินทร์บุรีก็ยังไม่แจ้ง แต่พระยากบินทร์ได้สั่งให้กรมการจัดคน ๒๕๐ คน เกวียน ๖๐ เล่ม โคต่างร้อยหนึ่ง บรรทุกเสบียงอาหารพร้อม ให้พระพรหมภักดีจางวางกองนอก กับหลวงวิชัยสงครามเป็นนายกอง คุมไพร่แลเกวียนโคต่างออกไปตั้งอยู่ที่ช่องเสม็ดและทางเชิงผาภูมิ เป็นทางแยกมาแต่ช่องเรือแตก ให้คอยจ่ายเสบียงอาหารให้เจ้าพระยานครราชสีมา เผื่อจะเข้ามาทางนั้นยังเมืองกบินทร์ แล้วแต่งให้หลวงยกกระบัตรกับขุนโจมจัตุรงค์นายด่าน คุมช้าง ๒๐ เชือกกับไพร่ ๕๐ คน ไปต้อนรับเจ้าพระยานครราชสีมา จนถึงเขตแดนเขาลีผีฝ่ายเขมรด้วยแล้ว”
พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความตามหนังสือบอกของพระยากบินทร์ดังนั้นแล้ว ก็ทรงพระราชดำริว่า “พระยากบินทร์ลงใจแก่ราชการโดยละเอียดอย่างยิ่ง จะหาขุนนางหัวเมืองสู้ยาก” จึงพระราชทานเงินออกไปให้ใช้ในการจัดการรับส่งเจ้าพระนครราชสีมานั้น ๕๐ ชั่ง เสื้อผ้า ๒๐๐ สำรับ
 ในวันนั้นพอหนังสือบอกเมืองนครราชสีมา ซึ่งหลวงบุรินทร์ถือมาทางบก ก็ถึงกรุงเทพฯทีหลังเมืองกบินทร์บุรีแปดชั่วโมง วางยังศาลาเวรมหาดไทย เจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกนำพาหลวงบุรินทรและนำหนังสือบอกฉบับนี้ที่สำคัญขึ้นทูลเกล้าทูลกะหม่อมถวาย ได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วใจความว่า
“เจ้าอนุเวียงจันทน์ยกกองทัพใหญ่ลงมาล้อมตีเมืองนครราชสีมา กวาดต้อนครอบรัวพลเมืองทั้งสิ้น แล้วเจ้าอนุตั้งอยู่นอกเมืองทำค่ายใหญ่โต คิดจะทำป้อมพูนดินทำสะพานข้ามคลองและลำธาร ทำทางบกทางป่าเป็นที่มั่นแรมปี และปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงอาหารสะสมไว้มากมาย ทำการกวดขันแข็งแรงมาหลายวัน ครั้นภายหลังเจ้าอนุเผาบ้านเรือนยุ้งฉาง ทำลายล้างกำแพงป้อมหอรบเสียสิ้นทั้งหมด ชั้นแต่ห้วยคลองที่เจ้าอนุคิดจะทำสะพานข้ามนั้น ก็ทำลายเผาหมด เจ้าอนุก็เผาค่ายที่อยู่เสียแล้วก็ยกล่าเลิกไปตั้งมั่นที่ตำบลอื่น
 ข้าพระพุทธเจ้าพระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระณรงค์สงคราม พร้อมด้วยท่านผู้หญิงโม คิดร่วมใจกันเป็นกลอุบายหลอกล่อลาวให้หลงกลอุบาย แล้วจึงได้คิดเป็นการจลาจล ลุกขึ้นรบฆ่าลาวที่คุมครัวไปนั้นตายมาก แล้วก็คิดแก้ไขกลับตีพาครอบครัวคืนมาบ้านเมืองได้ แล้วได้แต่งกองทัพไทยไปติดตามตีทัพลาวที่ล่าไปนั้น ได้สู้รบกันเป็นสามารถ ลาวแตกหนีไปถึงสองตำบล ไพร่พลลาวตายมาก ไทยเก็บได้เครื่องศาสตราวุธช้างม้าโคต่างเกวียนกระบือ และจับได้ลาวเชลยนั้นมาก ลาวข้าศึกเสียค่ายแก่กองทัพเมืองนครราชสีมาถึงสองตำบล รี้พลตายมากก็แตกหนีเข้าป่าไปไกล แล้วลาวได้ตั้งค่ายใหญ่อีกหลายตำบลในป่า กองทัพเมืองนครราชสีมาเห็นเหลือกำลังจะตามตีต่อไปอีกไม่ได้ จึงกลับมารักษาบ้านเมืองไว้นี้ เตรียมการที่จะป้องกันบ้านเมืองต่อไป กับได้แต่งให้พระพลสงครามไปสืบดูลาวจะทำประการใด เห็นลาวตั้งค่ายใหญ่มั่นอยู่ จะลงมาตีเมืองนครราชสีมาอีก หรือจะยกลงไปตีกรุงเทพฯ ทางเมืองนครนายก เมืองกบินทร์บุรี เมืองปราจีนบุรี หาทราบเกล้าทราบกระหม่อมไม่ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทราบข่าวศึกตามหนังสือบอกทั้งสามฉบับนั้นแล้ว จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยายมราชให้ถอดนักโทษพม่าและทวายที่ฉกรรจ์ออกจากคุก จะโปรดเกล้าฯ ให้ไปทัพต่อสู้กับลาว แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราเป็นรางวัลแก่พม่าและทวาย
 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิชัยบุรินทรา กับพระยาเพชรปราณี เป็นแม่ทัพคุมพม่าและทวายรวม ๕๐๐ คน รีบเร่งยกขึ้นไปช่วยรักษาเมืองนครราชสีมาโดยเร็ว แล้วมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก ให้เกณฑ์กองทัพพลฉกรรจ์ลำเครื่อง ๕๖,๐๐๐ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรเสนา กับพระยาอภัยโนริด เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลบ่อโพงแขวงกรุงเก่า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (ชื่อน้อย) ที่สมุหกลาโหม เป็นแม่ทัพบกคุมทหาร ๑,๐๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลเพนียดจับช้างกรุงเก่า โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเดชอดิศร เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลนอกเมืองปราจีนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสีหราชเดโช เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรี โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิชัยวารี (ชื่อโต) เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลท้องทุ่งสามแสนริมวัดสะพานสูง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเดโชท้ายน้ำ เป็นแม่ทัพคุมทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ริมทุ่งวัวลำพอง (คือทุ่งหัวลำโพง) ชักปีกกาโอบไปจนถึงทุ่งบางกะปิ......”
* จากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ตั้งแม่ทัพนายกองให้ปฏิบัติหน้าที่อีกเป็นอันมาก แต่วันนี้เห็นควรยุติความไว้เพียงนี้ก่อน พักสายตาสายใจไว้แค่นี้ เพื่อไว้อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒ -
ตรัสสั่งเจ้าพระยายมราช อย่าประมาทศัตรูผู้น้อยใหญ่ จัดป้องกันบำรุงแต่งกรุงไกร เตรียมพร้อมไว้ทุกประตูสู้ศึกลาว
ตรัสให้กรมพระราชวังฯจัดตั้งทัพ ครั้นพร้อมสรรพยกไปให้อื้อฉาว ตีเวียงจันทน์ยึดให้สิ้นถิ่นลาวกาว อย่าซ้ำคราวก่อนที่ปรานีมัน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับทราบจากหนังสือรายงานราชการจากเจ้าเมืองกบินทร์บุรี และจากเมืองนครราชสีมาแล้ว ทรงตรัสสั่งให้นายทัพนายกองยกกำลังไปตั้งสกัดลาวตามลู่ทางต่าง ๆ ที่เห็นว่าจะเป็นทางเดินทัพของข้าศึก วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 “โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริ เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายรับลาวอยูที่ท้องทุ่งสนามกระบือวัดพรหมสุรินทร์ ตั้งค่ายปีกกาโอบหัวสวนขึ้นไปจนถึงวัดช่องลม และวัดดุสิต ริมคลองส้มป่อยสามเสน โปรดเกล้าฯ ให้พระยานครอินทร์รามัญกับพระยาเกียรติ์รามัญ คุมพลทหารรามัญ ๓๐๐ ยกไปตั้งค่ายระวังต้นทางด้านตะวันออกอยู่ที่ท้องทุ่งพระโขนง ชักปีกกาโอบลงไปถึงบางพลี บางโฉลง บางวัว
 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอัครนิกร แม่กองทหารปืนใหญ่ คุมพลทหารปืนใหญ่ ๕๐๐ ไปทอดทุ่นขึงโซ่ปิดที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ที่บนป้อมปีกกาตามฝั่งน้ำหน้าเมืองสมุทรปราการนั้น ก็ให้มีทหารปืนใหญ่ขึ้นประจำรักษาครบหน้าที่ทุกป้อม พร้อมด้วยกระสุนดินดำ
แล้วโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งเจ้าพระยายมราช จัดแจงตกแต่งการป้องกันรักษาพระนครทั้งปวงเป็นสามารถแข็งแรงยิ่งนัก เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่ขึ้นประจำบนป้อมทุกป้อมรอบพระนคร และประตูช่องกุฏรอบกำแพงพระนครนั้น มีไม้ซุงปักขัดขวางปิดบานประตูไว้ทุกประตูรอบพระนคร แต่ประตูใหญ่ตามกำแพงพระนครนั้น มีไม้ซุงขันช่อกว้านขึ้นแขวนไว้บนซุ้มประตู ประตูละสามต้นสี่ต้น สำหรับจะได้ตัดให้พลัดตกลงมาถูกข้าศึก เมื่อเข้ามาล้อมใกล้ทำลายประตูนั้น และประตูคลองน้ำที่ใต้สะพานข้างริมกำแพงพระนคร ก็มีไม้ซุงปักเป็นเขื่อนปิดไว้ทุก ๆ ปากคลอง ที่กลางเขื่อนนั้นเปิดเป็นช่องเล็ก ๆ ไว้แต่พอให้เรือเล็กน้อยแจวพายเข้าออกได้บ้างเมื่อข้าศึกยังไม่มาติดล้อมถึงพระนคร
 โปรดเกล้าฯ เจ้าพระยาพลเทพจัดแจงตระเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางหลวง จ่ายให้กองทัพให้พอราชการ และให้เจ้าพนักงานกรมนา ขนข้าวเปลือกในฉางหลวง หน้าวัดมหาธาตุนอกกำแพงพระนคร เข้าไปไว้ที่ฉางหลวงเชิงสะพานช้างโรงสีให้สิ้นทุกฉาง จะได้จับจ่ายใช้ราชการเมื่อศึกมาประชิดติดชานกำแพงพระนคร
แล้วโปรดเกล้าให้กรมพระสุรัสวดี เกณฑ์เลขสมกำลังในพระราชวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย มารวบรวมให้เป็นหมวดเป็นกอง ให้มีนายกองนายหมวดควบคุม ขึ้นประจำซองรักษาหน้าที่เชิงเทินบนกำแพงพระนครทุกด้านรอบพระนคร มีเครื่องสรรพาวุธประจำครบมือทุกคน เวลากลางคืนมีกองตรวจตราตระเวนตลอดรุ่งรอบพระนคร จัดแจงการป้องกันรักษาพระนครโดยาสมารถ เพราะข่าวศึกรีบรัดมาเร็ว
 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอัครมหาเสนาที่สมุหกลาโหม มีท้องตราพระคชสีห์ให้พระยาศรีสรราช กับพระยาสุรินทรามาตย์ ออกไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐ ในท้องตรานั้นโปรดให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ คุมทัพเรือเข้ามาช่วยราชการสงครามป้องกันรักษาพระนครโดยเร็ว แล้วมีตราพระคชสีห์อีกสามฉบับถึงพระยาราชบุรี พระยาเพชรบุรี พระยาสมุทรสงคราม ให้ขนข้าวเปลือกเข้ามาเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ จะได้จับจ่ายให้เป็นกำลังแก่กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ และกองทัพในกรุงที่รักษาพระนครด้วย
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราพระราชสีห์ถึงพระยาสุพรรณ และพระยาอุทัยธานี ให้เกณฑ์กองทัพออกไปรักษาด่านทางข้างแดนพม่า อย่าให้มีเหตุร้ายแรงขึ้นได้
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ดำรัสสั่งให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพหลวงถืออาญาสิทธิ์ คุมพลทหารฉกรรจ์ลำเครื่องในกรุงและหัวเมือง ๑๐,๐๐๐ เศษ โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จขึ้นไปพักที่เมืองสระบุรีก่อน เพื่อจะได้รวบรวมรี้พลหัวเมืองฝ่ายเหนือจะมาพร้อมกันที่นั้น
ครั้น ณ วันเสาร์เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำปีจออัฐศก ได้มหาพิชัยฤกษ์อันอุดม ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเครื่องศิริราชอลังการสรรพาภรณ์บวรวิภูษา ทรงพระมหามาลาสำหรับขัติยะราชรณยุทธทรงราชาวุธสรรพเสร็จเสด็จลงสู่เรือพระที่นั่ง วิจิตรพิมานกาญจบัลลังก์ พร้อมด้วยเสนานิกร นายทัพนายกองทั้งหลายฝ่ายทหารพลเรือน ตามขบวนนาวาหน้าหลัง สะพรั่งพร้อมล้อมตามเสด็จโดยขบวนชลมารคทั้งแห่นำ ตามด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทรงพระพุทธไชย พอได้พระฤกษ์พฤฒามาตยาจาริย์ ตัดไม้ข่มนามตามไสยเวทพิไชยสงคราม เจ้าพนักงานจึงประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ยิงปืนใหญ่ถวายพระฤกษ์สามลา จึงเคลื่อนพลนาวาไปตามลำดับชลมารควิถี ประทับรอนแรมไปสามเวนก็ถึงที่ประทับพลับพลา ซึ่งกองหน้าตั้งไว้รับเสด็จที่ท่าเรือพระพุทธบาทแขวงเมืองสระบุรี จึงเสด็จขึ้นประทับแรมพลับพลาราชอาสน์คอยกองทัพหัวเมืองที่ยังมาไม่พร้อมกันตามเกณฑ์
 ครั้งนั้นพระสุริยะภักดี (ป้อม) ซึ่งไปราชการสักเลขเมืองลาว กลับมาพบเจ้าอนุ เจ้าอนุยอมให้ลงมานั้น พระสุริยะภักดีลงมาถึงกรุงเก่า ก็พบเรือพระที่นั่งกรมพระราชวังบวรฯ ประทับร้อนอยู่ ณ ที่กรุงเก่า จึงได้แวะเข้าเฝ้ากราบทูลชี้แจงการที่ตนได้ไปมาตลอดทุกประการ แล้วก็รีบลงเรือล่องลงมากรุงเทพฯ เข้าเฝ้าพระกรุณาในท้องพระโรง กราบบังคมทูลมูลเหตุและประพฤติเหตุที่ตนได้ไปมานั้นทุกประการ แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
 “เมื่อลงมากรุงเก่าพบกรมพระราชวังบวรฯ ที่นั่น ได้กราบทูลพฤติเหตุทุกประการแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบการที่เจ้าอนุตั้งค่ายทางไปมาทุกอย่างทุกประการตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นมาแล้ว”
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า “พระสุริยะภักดีไปอยู่เมืองลาวช้านาน เป็นคนรู้จักการงาน ชำนิชำนาญข้างเมืองลาวมาก และรู้จักหนทางเมืองลาวด้วย ควรจะเป็นแม่ทัพนายกองไปกับกรมพระราชวัง จึงจะชอบด้วยราชการ แต่ว่าพึ่งมาถึงใหม่ ๆ ยังกำลังเหนื่อยอยู่ ให้พักหาบ่าวไพร่ผลัดเปลี่ยนผู้คนเสียใหม่ แล้วจะให้เป็นแม่ทัพนายกองยกไปเข้าในกองทัพกรมพระราชวังบวรฯ”
อยู่มาสองสามวัน จัดผู้คนผลัดเปลี่ยนแล้วก็กราบถวายบังคมลาขึ้นไปสมทบเข้าในกองทัพกรมพระราชวังบวรฯ ทันทีที่ท่าเรือพระพุทธบาท เมื่อพระสุริยะภักดีเข้าไปกราบถวายบังคมเวลานั้น ได้รับพระราชทานประคำทองคำสายหนึ่ง หมวกทรงประพาส ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ รัดประคตหนามขนุนสีแดงสายหนึ่ง กระบี่ญี่ปุ่นฝักดำด้ามคาดลวดทองเล่ม ๑ และเงินตราสามชั่งด้วย”
* อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ได้เห็นความรอบคอบรัดกุมในการสงครามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วนะครับ ทรงเริ่มจัดแจงป้องกันพระนครทั้งรอบในรอบนอกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกทัพไปรบเจ้าอนุเวียงจันทน์และยึดครองลาวให้จงได้
 อนุเสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ.สมุทรปราการ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์นี้ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๗ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรุโณทัย ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม ที่กรมหมื่นศักดิพลเสพ เคยออกศึกสงครามร่วมกันกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในการรบกับพม่าทางด้านกาญจนบุรี ครั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพ เสวยราชสมบัติ ณ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
นอกจากมีพระราชโองการตรัสให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบเจ้าอนุแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ตั้งแม่ทัพที่สำคัญอีกหลายท่านด้วยกัน เป็นใครบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 อนุเสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ.สมุทรปราการ - อานามสยามยุทธ ๑๓ -
กรมพระราชวังบวรเจ้า ทรงนำเหล่าพลไกรฝ่าไพรสัณฑ์ สู่นครราชสีมาไม่ช้าวัน แล้วจัดสรรหน้าที่ตีริปู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่งตั้งตัวแม่ทัพช่วยขับสู้ สี่ทัพหนุนขุนพลทุกคนรู้ ว่าเป็นผู้สามารถอย่างชัดเจน |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ (กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ยกทัพหลวงออกจากกรุงเทพฯ ไปพักรอพลให้พร้อมอยู่ที่เมืองสระบุรี พระสุริยะภักดีเข้าเฝ้าที่กรุงเก่า และถวายรายงานเรื่องเจ้าอนุให้ทรงทราบ แล้วรีบลงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของพระสุริยะภักดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทัพนายกองเข้าช่วยในกองทัพหลวง......... วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
“ครั้นกองทัพหัวเมืองมาพร้อมกันแล้วที่ท่าเรือพระพุทธบาท กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งขุนนางผู้ใหญ่จัดกองทัพซึ่งจะยกไปทางสถลมารคนั้น ตามที่ทรงพระราชดำริไว้
 ให้พระยาจ่าแสนยากร ๑ พระยากลาโหมราชเสนา ๑ พระยานรานุกิจมนตรี ๑ พระยาณรงควิไชย ๑ สี่นายนี้เป็นนายทัพหน้าที่หนึ่ง กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ๑ สองพระองค์เป็นแม่ทัพหน้าที่สอง กรมหมื่นเสนีเทพ ๑ เป็นยกกระบัตรทัพสำหรับอยู่ในทัพหลวง พระองค์เจ้าสังข์ถัด เป็นนายกองทัพปีกซ้าย พระองค์เจ้าสุริยะวงศ์ เป็นนายกองทัพปีกขวา กรมหมื่นรามอิศเรศร์ เป็นยกกระบัตรทัพ ให้ตรวจทัพทุกกองสืบราชการมาเสนอแม่ทัพหลวง กรมหมื่นธิเบศร์บวร เป็นจเรทัพ กรมหมื่นเทพพลภักดี เป็นกองเกียกกาย พระนเรนทรราชา บุตรเจ้าตาก (สิน) เป็นนายกองทัพหลัง พระองค์เจ้าสว่าง พระราชบุตรกรมพระราชวังบวรฯ กับพระยาเกษตรรักษา พระยาศาตราฤทธิรงค์ เป็นนายทัพกองหนุน คุมกระสุนดินดำด้วย
 กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดกองทัพพร้อมเสร็จแล้ว จึงกำหนดจะเสด็จพระราชดำเนินยกพายุหะยาตราทัพหลวง และทัพทั้งปวงขึ้นไปทางดงพระยาไฟ ก็มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่ง ให้เจ้าพระยามหาโยธารามัญคุมกองทัพรามัญ ๑,๕๐๐ คน ขึ้นไปทางดงพระยากลาง ให้ไปบรรจบกับทัพหลวงที่เมืองนครราชสีมา และเป็นแม่ทัพกระหนาบด้วย โปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (ชื่อน้อย) ที่สมุหนายก เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ คุมพลทหารหัวเมืองและกรุงเทพฯ รวม ๕,๐๐๐ ยกขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์ โปรดให้พระยาเพชรพิไชย และพระยาไกรโกษา คุมพลทหารหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๕,๐๐๐ เป็นทัพกระหนาบ ขึ้นทางเมืองพระพิษณุโลกและทางเมืองนครไทย ได้เดินทัพมาตีเจ้าราชวงศ์ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหล่มสัก แล้วให้ขึ้นไปเป็นทัพกระหนาบช่วยเจ้าพระยาอภัยภูธรตีกองทัพเจ้าราชวงศ์ให้แตก
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล ๑ พระยารามคำแหง ๑ พระยาราชวังเมือง ๑ พระยาจันทบุรี ๑ คุมกองทัพเมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองตราด พลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันออก ๕,๐๐๐ ขึ้นไปทางเมืองพระตะบองบ้าง ทางเมืองสุรินทร์เมืองสังขะบ้าง เกณฑ์เขมรป่าดงไปด้วย ๕,๐๐๐ ให้ยกไปตีทัพเจ้าราชบุตร ณ เมืองจำปาศักดิ์ แล้วให้เป็นทัพกระหนาบของทัพฝ่ายตะวันออก คือทัพพระราชราชสุภาวดี (สิง) ด้วย
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพยกไปทางตะวันออกอีกทางหนึ่ง ให้ไปทางเมืองปราจีนบุรี ให้เดินทัพทางช่องเรือแตกอีก ๔ ทัพ
โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นนายทัพที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นนายทัพที่ ๒ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากุญชร สองพระองค์นี้เป็นนายทัพที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ได้บังคับกองทัพทั้ง ๔ กอง จะได้เป็นทัพฝ่ายทางตะวันออกกองหนึ่งด้วย
 แต่พระยาราชสุภาวดีได้ยกล่วงหน้าขึ้นไปทางบ่อโพง จะยกไปทางเมืองปราจีน จะไปพร้อมกับทัพใหญ่ที่เมืองประจันตคาม จะได้จัดกองทัพไปทางบกยกไปตามพระราชดำรัส
 ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลัง และทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ทัพพระองค์เจ้ากุญชร ทัพกรมหมื่นสุรินทรักษ์ทั้ง ๓ ทัพ ยกทัพเรือไปทางคลองสำโรง ออกปากตะคองแม่น้ำแปดริ้ว จะขึ้นที่ท่าเมืองปราจีนบุรี แล้วจะได้ยกไปตั้งยั้งทัพพร้อมกันที่เมืองประจันตคาม จักได้จัดกองทัพไปทางบกยกไปตามพระราชดำรัส
 ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีใบบอกเข้ามาว่า “ได้เกณฑ์กองทัพไว้พร้อมแล้ว กำหนดจะยกทัพเรือเข้ามากรุงเทพฯ ตามท้องตราที่เกณฑ์ออกไปนั้น และได้ทราบข่าวอังกฤษเตรียมทัพเรือไว้มากที่เมืองเกาะหมาก จึงได้ใช้กรมการไปสืบข่าวทัพอังกฤษที่เกาะหมากได้ความว่า พวกอังกฤษยกทัพเรือกำปั่นรบ ๕ ลำ มาพักอยู่ที่เกาะหมาก แต่จะไปทำศึกกับประเทศใดหาแจ้งไม่ ครั้นสืบถามแขกที่เมืองไทรบุรีก็ไม่ได้ความชัดว่าอังกฤษจะไปไหน เจ้าพระยานครศรีธรรมราชไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงจัดคนที่เป็นล่ามอังกฤษให้ไปสืบข่าวทัพเรืออังกฤษที่เมืองสิงคโปร์
 อนึ่ง กะปิตันหันตรีบาระนี มีหนังสือมาถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นการนัดว่า จะมาเปลี่ยนหนังสือสัญญากับไทยที่เมืองตรังในคราวนี้ด้วย เพราะฉะนั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงมิได้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพเข้ามาตามท้องตราที่โปรดเกล้าฯ ออกไปนั้น พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้พระยาพัทลุงผู้บุตรใหญ่ กับพระเสน่หามนตรีบุตรรอง เป็นแม่ทัพคุมทหาร ๕,๐๐๐ พร้อมด้วยเรือรบเรือไล่เข้ามาก่อนทัพหนึ่ง ให้พระสุรินทรามาตย์ ข้าหลวงที่เชิญท้องตราออกไปนั้นกำกับทัพมา ถ้าราชการข้างเมืองตรังและเกาะหมากเบาบางลงบ้าง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจะยกเข้ามาต่อภายหลัง”
 ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราให้หาเจ้าพระยาพระคลัง ๑ ทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ๑ ทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑ ทั้งสามทัพให้กลับลงมารักษาปากน้ำเจ้าพระยาเมืองสมุทรปราการ แต่ทัพพระยาราชสุภาวดีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ไปสมทบทัพหลวงกรมพระราชวังบวรฯ
 ฝ่ายนายไชยภักดีกับนายแก้วภักดี นายเวรพระตำรวจหน้าทั้งสองนาย ซึ่งเชิญท้องตราที่โปรดให้ไปเรียกทัพกลับมานั้น ได้ไปทันกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ๑ กับกองทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑ ทั้งสองทัพที่ทุ่งโพธิ์ จึงได้กลับลงมาตามรับสั่งนั้นแล้ว แต่กองทัพเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นั้น ได้ยกเลยขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาเสียก่อนหน้าตำรวจที่ขึ้นไปตามนั้นแล้ว แต่นายไชยภักดีกับนายแก้วภักดีนายเวรตำรวจนั้น ได้เชิญท้องตราขึ้นไปสกัดทางดงพระยาไฟ ก็หาทันทัพเจ้าพระยาพระคลังไม่
ฝ่ายนายฤทธิ์ นายรงค์ นายเวรกรมพระตำรวจหน้า ที่เชิญท้องตราขึ้นไปอีกพวกหนึ่งได้ไปทางห้วยตะคอง ถึงเมืองจันทึก ใกล้เมืองนครราชสีมาก่อนพวกนายไชยภักดี นายฤทธิ์นายรงค์ได้เชิญท้องตราที่ให้หากองทัพกลับนั้น ให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง และพระยาราชสุภาวดี (สิง)
ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้รับทราบท้องตราดังนั้นแล้ว จึงมอบเสบียงอาหารให้พระยาราชสุภาวดี ตามสมควรที่รักใคร่ชอบพอกันนั้นแล้ว ก็ตระเตรียมการที่จะยกลงมากรุงเทพฯ ตามรับสั่งให้หา........”
* อ่านมาถึงตรงนี้ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า วิธีการจัดกระบวนทัพของไทย เป็นระเบียบรัดกุมกว่าของลาวมากทีเดียว สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดกระบวนทัพเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินทัพไปเมืองนครราชสีมา เป็นแสนยานุภาพที่น่าเกรงขามยิ่งนัก
 ตอนนี้พระยาราชสุภาวดี (สิง) “พระเอกของเรา” ปรากฏขึ้นมาในกองทัพไทยแล้ว โปรดติดตามอ่านเรื่องของท่านต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 อนุเสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ.สมุทรปราการ Cr. Photo By gratisod - อานามสยามยุทธ ๑๔ -
แม่ทัพใหญ่ดำรัสจัดทัพปลีก ซอยเป็นซีกก่อนมัดรวมฟ่อนเด่น ทุ่มตีลาวโดยไม่ให้เหลือเดน ตามหลักเกณฑ์ณรงค์การสงคราม
“เจ้าพระยานครราชสีมา” หวนคืนมาอยู่กับทัพสยาม แม่ทัพใหญ่รับเข้าไม่เอาความ ให้อยู่ตามตำแหน่งเดิมเสริมกำลัง |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า อังกฤษมาตั้งอยู่ที่เกาะหมากโดยไม่ทราบว่าจะยกทัพไปตีเมืองใด จึงเตรียมการป้องกันพระนคร ตรัสให้เรียกสามทัพกลับมาตั้งที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ
 “ลุจุลศักราช ๑๑๘๙ ปีกุนนพศก เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลแผ่นดินที่สาม เมื่อเดือนห้าข้างแรมนั้น กรมพระราชวังบวรฯ ยังประทับอยู่ที่พลับพลาท่าเรือพระพุทธบาท จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานจัดกระบวนพยุหยาตราโยธาทัพ โดยสถลมารคพร้อมด้วยพลช้างพลม้าพลเดินเท้า ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงขึ้นไปเมืองนครราชสีมาโดยทางดงพระยาไฟ
ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุเรนทรราชเสนา เป็นนายทัพคุมพลทหาร ๒๐๐ ให้ยกล่วงหน้าขึ้นไปก่อน เพื่อจะได้ตรวจหนทางในกลางดงพระยาไฟ ที่ลุ่มดอนให้ทำให้ดี ที่ทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปทางนั้น
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเสนาภูเบศร์ ๑ พระบริรักษ์ราชา ๑ พระยาพระราม ๑ พระยาเกียรติ์ ๑ สี่นายนี้คุมพลทหารไทย ๓๐๐ คน พลรามัญ ๕๐๐ คน รวมเป็น ๘๐๐ คน ยกไปเป็นกองเสือป่าแมวเซาและเป็นทัพแซงด้วย ให้ยกเดินไปทางเมืองเพชรบูรณ์ โดยรีบเร่งเดินไปให้ถึงเมืองนครราชสีมาก่อนทัพหลวง ถ้าเห็นในเมืองนครราชสีมาเรียบร้อยปกติแล้วจึงให้พระยาราม พระยาเกียรติ์ คุมกองมอญ ๕๐๐ ไปตั้งค่ายขัดด่านทางข้างเมืองพิมาย นางรอง จะได้ระวังรักษาต้นทางที่ลาวจะมาทางเมืองหนองคาย
ให้พระยาเสนาภูเบศร์เป็นผู้กำกับทัพรามัญ แต่พระยาบริรักษ์ราชาให้คุมพลทหารไทย ๓๐๐ ยกไปเป็นกองลาดตระเวนในป่าดง อย่าให้ลาวมาสืบทัพไทยได้ ให้พระชาติสุเรนทรเป็นกองม้าอยู่ในกองพระยาบริรักษ์ราชา
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิเศษศักดาวุธกับหลวงยอดอาวุธเจ้ากรมกองแก้วจินดา คุมพลทหารกองแก้วจินดา ๕๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน ไปตั้งรับเสด็จอยู่ที่เขื่อนลั่นคันนายาวในกลางดงพระยาไฟ เพราะที่นั้นเป็นช่องแคบ และทางเดินบนเนินภูเขาสูงนัก
 ครั้น ณ เดือนห้าแรมสิบค่ำ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเครื่องศิริราชปิลันธนาลังการาภรณ์บวรวิภูษา ทรงพระมหามาลาสีแดงยอดปริกทองคำประดับเพชรและปักเศวตโลมาสกุณปักษาชาติอันประเสริฐ สำหรับขัติยะรณยุทธทรงราชาวุธเสร็จ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับอยู่บนเกยคอยพระฤกษ์ ครั้นเวลาย่ำรุ่งแล้วกับแปดบาท ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาเมฆตั้งขึ้นมาแต่ทิศบูรพา แล้วกลับเกลื่อนเลื่อนลอยกระจัดกระจายหายสูญไปในทิศอุดร พระสุริยะจรัสแจ่มโอภาสขึ้นมาจากขอบฟ้าเป็นไร ๆ เห็นดวงพระอาทิตย์ขึ้นผ่องใสในนภากาศเป็นศุภนิมิตมหามงคลพิไชยฤกษ์ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้ลั่นฆ้องไชยถวายพระฤกษ์ตามศุภนิมิตพิไชยสงคราม เจ้าพนักงานจึงประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ขึ้นพร้อมกัน กองแก้วจินดาได้ยิงปืนจ่ารงค์คร่ำทองชื่อว่า ”ปราบเวียงจันทน์” บอกหนึ่งสามนัดเป็นสัญญา
 ฝ่ายกระบวนกองหน้าพลม้าทวนธนูก็เดินเป็นลำดับไปก่อนตามสถลมารค แล้วก็ถึงกระบวนอัฐเสนางคพิริยะพาหะแสนยากรบวรจัตุรงคทวยหาร แห่นำตามเสด็จในงานพระราชสงคราม
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงช้างพระที่นั่งพังโกสุม สูงหกศอกคืบสี่นิ้ว ผูกเครื่องมั่นกระโจมทองสี่หน้า หลังคาสีหักทองขวาง แต่งเป็นพระคชาธาร พระศรีภะวังเป็นหมอ หลวงคชลักษณ์เป็นควาญ พร้อมด้วยเสนางคจัตุรงคบาท ทั้งเสนีสี่เท้าช้าง และช้างพระที่นั่งรองนั้นชื่อพังเทพกิริณี ผูกเครื่องมั่นตั้งวอช่อฟ้าหลังคาทอง มีเครื่องสูงราโชปะโภคพร้อมไพโรจน์ อุโฆษด้วยสรรพดนตรีปี่กองชนะกึกก้อง ทั้งฆ้องชัยฆ้องแสแซ่เสียงสนั่นนฤนาทบันลือลั่น ด้วยสรรพแตรงอนแตรฝรั่ง เสียงเท้าพลช้างพลม้าพลเดินเท้าคราวนั้น ประดุจดังสายพระพิรุณวลาหกตกในวัสสันตฤดู ดำเนินกองทัพพลช้างดั้งกันแทรก แซงค้ำค่ายวังพังคามหาพยุหะยาตราคชสงครามพร้อมเสร็จ เสด็จพระราชดำเนินยกพยุหะแสนยากรประทับรอนแรมตามทางสถลมารคดงพระยาไฟ แปดวันก็บรรลุถึงเมืองนครราชสีมา จึงเสด็จขึ้นประทับแรมบนพลับพลาไชยในค่ายหลวง ซึ่งกองหน้าแต่งไว้รับเสด็จนอกกำแพงเมืองนครราชสีมาพร้อมเสร็จแล้ว
ครั้งนั้นพระยาเกียรติ์ พระยาราม ลงมาเฝ้าถวายบังคมทูลว่า ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งค่ายรักษาด่านทางอยู่ทางเมืองพิมายนั้น ขัดสนด้วยน้ำที่กองทัพจะได้อาศัยรับพระราชทานไม่พอกับไพร่พล จะขอพระราชทานแบ่งกองทัพไปตั้งอยู่ที่ลำห้วยน้ำเชี่ยว เพื่อจะได้อาศัยใกล้น้ำ และจะได้รักษาลำธารที่ตำบลนั้นด้วย
กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรโปรดอนุญาตให้พระยาเกียรติ์ พระยาราม แบ่งกองทัพรามัญ ๓๐๐ ยกไปตั้งชุมนุมอยู่ที่ค่ายลำห้วยน้ำเชี่ยวตามที่กราบทูลขอ แต่พระยาเสนาภูเบศร์นั้น โปรดให้คุมกองรามัญ ๒๐๐ อยู่รักษาทางเมืองพิมายอย่างเดิม
แล้วโปรดให้หลวงภักดีโยธา นายกองส่วยรง คุมพลลาวเมืองนางรอง ๒๐๐ คน เป็นกองลำเลียงน้ำมาส่งให้กองพระยาภูเบศร์ และจะได้ระวังทางเมืองนางรองอีกชั้นหนึ่งด้วยที่ข้าศึกจะมา
 เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ที่ค่ายเมืองนครราชสีมานั้น เจ้าพระยาพระคลังก็เดินทัพขึ้นไปภายหลังกองทัพหลวง เจ้าพระยาพระคลังเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลข้อราชการเสร็จสิ้นทุกประการแล้ว แต่ยังเฝ้าอยู่ในค่าย ก็พอจมื่นสมุหพิมานเชิญท้องตราพระราชสีห์อีกฉบับหนึ่งขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา ส่งให้เจ้าพระยาพระคลังในค่าย เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบในท้องตราทั้งสองฉบับ ที่โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเจ้าพระยาพระคลังกลับลงไปกรุงเทพฯ จะได้คิดราชการป้องกันรักษาป้อมค่ายเมืองสมุทรปราการ เพราะได้ทราบข่าวมาแต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่า เรือกำปั่นรบอังกฤษจะเข้ามาในกรุงเทพฯ เหตุใดยังไม่ทราบเป็นแน่ และข่าวลือกันว่า ทัพเรือเมืองญวนก็จะเข้ามาด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่ไว้พระราชหฤทัยแก่ราชการที่เมืองสมุทรปราการแก่ผู้ใด จึงโปรดฯ ให้หาเจ้าพระยาพระคลังกลับลงไปจัดการรักษาปากน้ำเจ้าพระยาตามหน้าที่กรมท่าให้เรียบร้อย ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังทราบท้องตราดังนั้นแล้ว จึงกราบถวายบังคมลากรมพระราชวังบวรฯ กลับลงมาทางดงพระยาไฟ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนหก ขึ้น ๑๒ ค่ำ
 ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา เมื่อหนีออกจากเมืองขุขันธ์นั้น ไปตั้งอยู่ในกลางป่า ครั้นรู้ว่าบ้านเมืองของตนเสียแก่เจ้าอนุแล้ว คิดจะยกทัพมาสู้รบกับลาวบ้างก็ไม่ได้ เพราะคนในกองทัพของตนรู้ว่าบ้านเมืองแตกเสียแก่ลาวแล้ว ไพร่พลในกองหนีมาตามหาครอบครัวมากนัก เหลืออยู่แต่คนที่สนิทติดตามตนอยู่ประมาณ ๒๐๐ เศษ น้อยตัวนักจะคิดมาต่อสู้ลาวก็ไม่ได้ จึงคิดหนีเลยต่อไปถึงแดนเขมร พักพลอยู่ที่ตำบลสวายจีบ พอได้อาศัยเสบียงอาหารตามพวกเขมรป่าดงบ้าง ครั้นเจ้าพระยานครราชสีมาพักอยู่ที่สวายจีบนั้น ได้ทราบข่าวว่าเจ้าอนุยกทัพไปจากเมืองนครราชสีมาแล้ว บัดนี้กองทัพกรุงเทพฯ ยกมามากมายเข้าตั้งอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ครั้นจะนิ่งอยู่ที่นี้เห็นไม่พ้นความผิด จำจะต้องไปหากองทัพกรุงเทพฯ ที่บ้านเมืองเราจึงจะชอบด้วยราชการ เจ้าพระยานครราชสีมาจึงยกพลทหาร ๒๐๐ เศษ รีบเร่งเดินบกมาทั้งกลางวันกลางคืนถึงเมืองนครราชสีมา เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า
 “ลาวมาตีเมืองโคราชกวาดต้อนพาครอบครัวไปมาก มันเผาบ้านเมืองโคราชเสียยับเยินป่นปี้ ผู้คนเหลือก็หนีเข้าป่าดงไปมากมาย บ้านเมืองระส่ำระสายดังนี้ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาอยู่รักษาบ้านเมือง เกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองที่แตกฉานซ่านเซนไปอยู่ในป่าดงนั้น ให้มาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม และจะได้จัดการตกแต่งบ้านเมืองให้บริบูรณ์ขึ้นดังเก่าเถิด อย่าตามไปในกองทัพเราเลย”
เจ้าพระยานครราชสีมาได้ทราบพระราชกระแสกรมพระราชวังบวรฯ ไม่กริ้วกราดหามีโทษไม่แล้ว ก็ไปจัดการตามพระราชกระแสรับสั่งดังนั้น......”
* อ่านมาถึงตรงนี้ เห็นว่าควรพักไว้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) (ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ ในละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๑๕ -
มีพระราชบัณฑูรดำรัสให้ “พระยาสิงห์”จงไปตามรับสั่ง ตีทัพลาวอีศานสิ้นสูญภินท์พัง อย่าให้ตั้งมั่นถิ่นแผ่นดินไทย
“พระยาราชสุภาวดี”น้อมรับ พากองทัพเดินตรงลงทางใต้ บุกทำลายค่ายลาวเสียหายไป จากนั้นใช้กลศึกที่ลึกซึ้ง |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยานครราชสีมากลับเมืองโคราช ขอเข้าร่วมในกองทัพหลวงไปรบลาวเวียงจันทน์ สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ ดำรัสสั่งให้อยู่รักษาทะนุบำรุงเมืองนครราชสีมาให้กลับคืนดีเหมือนเดิม วันนี้มาอ่านความต่อไปครับ
 “ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นแม่ทัพทางฝ่ายตะวันออก คุมพลทหาร ๘,๐๐๐ ทหารแปดพันนี้เกณฑ์ที่เมืองลาวด้วย ให้ยกไปตีเจ้าราชบุตรเมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีกราบถวายบังคมลายกกองทัพจะเดินไปทางเมืองสุวรรณภูมิ ด้วยเมืองนั้นบริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารพอจะพักกองทัพใหญ่ได้
 ครั้นเดินทัพออกจากเมืองนครราชสีมาตัดทางไปทางเมืองพิมาย พบกองทัพเจ้าโถงหลานเจ้าอนุ ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลสระแก้ว ไกลห่างจากเมืองพิมายทางสองวัน กองม้าขุนแผลงสท้านควบกลับมาแจ้งความว่า ได้เห็นค่ายลาวตั้งในป่าริมชายทุ่งสองค่าย พระยาราชสุภาวดี (สิง) ได้ทราบข่าวศึกดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้นายทัพนายกองตระเตรียมการ ยกเข้าระดมตีค่ายเจ้าโถงสามชั่วโมงก็แตก ลาวตายบ้าง หนีไปได้บ้าง ไทยจับได้บ้าง พระยาราชสุภาวดีจึงได้ยกกองทัพจากเขตแดนเมืองพิมายต่อไป ก็หยุดพักพลตั้งค่ายที่เมืองขอนแก่นสองวัน จึงมีหนังสือฉบับหนึ่ง ใช้ให้ลาวที่เมืองขอนแก่นขึ้นม้าเร็วรีบไปให้เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ที่พักพลอยู่เมืองยโสธร ในหนังสือนั้นมีใจความว่า
 “เมื่อเจ้าอุปราชลงไปกรุงเทพฯ นั้น เจ้าอุปราชได้พูดไว้แต่ก่อนว่า เจ้าอนุจะเป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ สักคราวหนึ่ง การนั้นสมจริงดุจดังถ้อยคำเจ้าอุปราชแล้ว ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งให้เรายกทัพมาปราบเจ้าอนุ ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินดุจดังเจ้าอุปราชว่า ครั้งนี้สมคะเนแล้ว ให้เจ้าอุปราชกลับไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้ได้ เราจะยกทัพหนุนเจ้าอุปราชไปด้วย จะได้ช่วยกันตีเวียงจันทน์ให้แตกโดยเร็ว ทัพหลวงจะได้เสด็จพระราชดำเนินโดยสะดวก ความดีความชอบก็จะตกอยู่แก่เจ้าอุปราชมากมายฝ่ายเดียว จะได้เป็นบำเหน็จมีชื่อเสียงไว้ชั่วฟ้าดิน เจ้าอุปราชจะว่าประการใด ขอให้มีหนังสือตอบมาให้เราทราบราชการโดยเร็วเถิด”
ครั้นเจ้าอุปราชได้รับหนังสือแล้วฉีกผนึกออกอ่านดูแจ้งความทุกประการแล้ว จึงหัวเราะกลับพับหนังสือเข้าผนึกใหม่ สั่งให้ม้าเร็วในกองทัพนั้นรีบไปส่งให้เจ้าอนุที่ค่ายตำบลเขาสาร เจ้าอุปราชไม่ได้มีหนังสือตอบมา เป็นแต่ว่ามากับผู้ถือหนังสือนั้นว่า “กลับไปเถิดเรารู้แล้ว” เท่านั้น
 ฝ่ายเจ้าอนุแจ้งความในหนังสือพระยาราชสุภาวดี ที่เจ้าอุปราชส่งขึ้นไปนั้นก็มีความหวาดหวั่น สงสัยนายทัพนายกองของตัวเองว่า “ชะรอยจะมีไส้ศึกอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่แจ้ง”
(มีคำกลางขวางถามเข้ามาว่า ซึ่งพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพฝ่ายทางตะวันออกนี้ มีหนังสือไปถึงเจ้าอุปราชเช่นนั้น จะเป็นกลอุบายให้เจ้าอนุสงสัยเจ้าอุปราชหรือ? หรือปรารถนาจะให้เจ้าอุปราชกับเจ้าอนุแตกความสามัคคีกัน หรือว่าจะได้พูดจากันไว้เป็นความลับจริง ถ้าได้พูดกันจริงดังนั้นแล้ว เหตุไรเจ้าอุปราชจึงได้ส่งหนังสือไปให้เจ้าอนุดูให้รู้เรื่องความลับๆเล่า?
แก้ความว่า เจ้าอุปราชนั้นอันที่จริงก็ได้พูดจริงที่กรุงเทพฯ ครั้นได้หนังสือเป็นความลับของตนมาฉีกผนึกอ่านต่อหน้าบุตรเขยอยู่ที่นั่นด้วย เพราะบุตรเขยเป็นบุตรเจ้าอนุ เจ้าอุปราชเห็นว่าจะปิดความลับของตนไว้ก็ไม่มิดได้ จึงแกล้งทำเป็นว่าไทยนำชื่อเสียงของตนมาพูดเปล่า ๆ ตนไม่ได้พูดเลย จึงนำหนังสือฉบับนี้ออกตีแผ่ให้เห็นทั่ว ๆ กันว่า ถ้าเป็นความลับของตนพูดจะมิปกปิดหนังสือนี้หรือ หนังสือนี้เป็นความคิดแม่ทัพไทยใช้อุบายแกล้งว่าชื่อเรา จะให้เราแตกร้าวกับเจ้าอนุ เจ้าอุปราชแกล้งพูดกลับความเสียหมด เพราะปรารถนาจะไม่ให้ลาวสงสัยว่า ตนเป็นใจเข้ากับไทยจริง ๆ กับทั้งจะรักษาตนอยู่ด้วย เพราะกำลังนี้เจ้าอุปราชยังอยู่ในระหว่างกลางศึกทั้งสองฝ่าย)
ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีต้องคอยรับหนังสือตอบของเจ้าอุปราชอยู่ช้านานไม่เห็นตอบมา จึงได้ใช้ให้คนไปสืบดูอีก ได้ข่าวว่า เจ้าอุปราชยกเลิกไปจากเมืองยโสธรแล้ว ไปตั้งอยู่ที่เมืองหนองหาร ไม่ทราบว่าจะไปข้างไหน
 ฝ่ายพระยาราชสุภาวดียกทัพไปตีค่ายเมืองเวียงคุกเวลาเดียวก็แตกหมด แล้วยกไปตีค่ายเมืองยโสธร อุปฮาดราชวงศ์เมืองยโสธรต่อสู้แข็งแรง แต่สู้รบกันอยู่สองวัน ค่ายที่ยโสธรก็แตกสิ้น ทหารไทยจับได้ครอบครัวอุปฮาดราชวงศ์ซึ่งลงใจเข้าด้วยเจ้าอนุนั้น จับครอบครัวมาได้ ๑๖๐ คน พระยาราชสุภาวดีสั่งให้นำครัวลาวเชลยขบถนั้น ไปคลอกไฟตายสิ้นทั้งหมด ๑๖๐ คน
 ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งพระยาจ่าแสนยากร ๑ พระยากลาโหม ๑ พระยานรานุกิจมนตรี ๑ พระยาณรงควิไชย ๑ เจ้าพระยามหาโยธา ๑ ทั้งห้าทัพรวมรี้พล ๘,๔๐๐ คน พร้อมด้วยช้างม้าเป็นพาหนะและกระสุนดินดำเสร็จ ให้ยกล่วงหน้าขึ้นไปทางตำบลบ้านสามหมอ ให้ช่วยกันระดมเข้าตีค่ายลาว ซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองบัวลำภูนั้นก่อน
แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าขุนเณรคุมกองทัพพม่าทวายนักโทษที่โปรดให้ไปจากคุกนั้น ๔๖๐ คน เป็นกองโจรยกขึ้นไปช่วยทัพเหล่านั้นเข้าตีค่ายที่หนองบัวลำภูด้วย
ครั้น ณ วันเสาร์เดือนหกขึ้นสิบค่ำ กรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินยกจากเมืองนครราชสีมา ขึ้นไปตั้งค่ายหลวงพักพลอยู่ที่ตำบลน้ำเขิน ที่ค่ายเก่าเจ้าอนุมาตั้งแต่ก่อนนั้น แต่แม่ทัพหน้าทั้งห้าซึ่งยกล่วงหน้าขึ้นไปก่อน ได้ยกเข้าตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภู แต่ ณ วันอังคารเดือนหกขึ้นหกค่ำ
 ฝ่ายพระยานรินทร์แม่ทัพลาวที่หนองบัวลำภูนั้น ได้ต่อรบกับทัพไทยเป็นสามารถ ลาวไทยได้สู้รบกันสามวันสามคืน แม่ทัพไทยทั้ง ๕ กองก็ระดมกันยกเข้าตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูแตกทั้งสิ้น
แต่ ณ วันจันทร์เดือนหกขึ้นสิบสองค่ำ แม่ทัพไทยก็จับพระยานรินทร์แม่ทัพลาวได้ จำตะโหงกส่งลงมาทูลเกล้าฯ ถวายยังทัพหลวง รับสั่งให้หลวงโยธาบริรักษ์คุมตัวพระยานรินทร์เข้าไปขังในค่ายหลวง ขณะนั้นกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยานคราถามพระยานรินทร์ว่า
“ตัวเป็นแม่ทัพลาวฝีมือกล้าหาญ น้ำใจองอาจสมควรเป็นแม่ทัพเอกได้ แต่ว่าเสียทัพแก่ไทยครั้งนี้ เป็นเพราะทแกล้วทหารไม่ตั้งอยู่ในความสามัคคีรสพร้อมเพรียงกัน จึงรักษาค่ายของตัวเองไว้ไม่ได้ บัดนี้ท่านก็ปราชัยแล้ว ถ้าจะมาสวามิภักดิ์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปอีก ก็จะทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อม ปลูกเลี้ยงพระยานรินทร์ต่อไป”
พระยานรินทร์ตอบว่า “ไม่ยอมอยู่เป็นมนุษย์ ขอให้ฆ่าเป็นผีเสียดีกว่าอยู่เป็นคน”
พระยานคราก็นำคำพระยานรินทร์ขึ้นกราบบังคมทูลกรมพระราชวังบวรฯ กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า
“มันไม่ยอมอยู่ ก็ให้พระคชภักดีนำช้างพลายแทงมันเสียให้ตายในวันนี้เถิด”
 ทัพหน้าเข้าตีค่ายลาวครั้งนั้น เสียพระยาเกียรติ์นายทัพรามัญตายคนหนึ่ง หลวงภักดีนุรักษ์ ๑ หลวงพิพิธสมบัติ ๑ หลวงรามัญพิทักษ์ ๑ สมิงปราบอังวะ ๑ สมิงราชเทวะ ๑ สมิงนราจรสุระ ๑ แต่ขุนหมื่นพันทนายไพร่สมกำลังจะตายเท่าไรหาแจ้งไม่ เพราะไม่ได้รายงานเมื่อเวลารบกันนั้น มาตรวจทานดูจึงไม่รู้แน่นอนได้.......”
* อ่านมาถึงตรงนี้ก็เห็นได้ว่า การศึกสงครามเริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว พระยาราชสุภาวดี(สิง) ยกเข้าตีเมืองยโสธรได้เชลยลาว ๑๖๐ คน ท่านก็แสดงความเหี้ยมโหดให้ปรากฏ ด้วยหวังให้ข้าศึกเกรงกลัวด้วยการใช้ไฟคลอก (เผา) เชลยเสียสิ้น คอยดูบทบาทของท่านพระยาแม่ทัพตะวันออกผู้นี้ต่อไป เพราะท่านจะอยู่ในสงคราม ”อานามสยามยุทธ” นี้อีกยาวไกล
กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพหลวงจากโคราชเข้าตีค่ายเจ้าอนุที่หนองบัวลำภูแล้ว พระยานรินทร์แม่ทัพผู้รักษาค่ายนี้ถูกจับได้ องค์แม่ทัพใหญ่หมายพระทัยจะชุบเลี้ยง เพราะชมชอบในฝีมือ แต่ชายชาติทหารอย่างพระยานรินทร์ขอยอมตาย พระองค์จำจำต้องประหารด้วยความเสียดาย
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อเถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|