เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๗ -
ชีวิตใน “ดงขมิ้น” ของข้าพเจ้าเริ่มคลายความสุขสนุกสนานเมื่ออายุผ่านเลข ๓ แล้ว งานที่ชอบคือการสอนนักธรรมสอนศีลธรรมนักเรียนในโรงเรียน และการเทศน์ กลายเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย ไม่สนุกเหมือนก่อน พระภิกษุสามเณรนักเรียนทุกระดับชั้นไม่ท่องจำบทเรียน พากันไปอ่านหนังสือเฉลยปัญหา คือถาม-ตอบปัญหาที่มีพิมพ์จำหน่ายกันเกร่อไป เวลาใกล้สอบธรรมสนามหลวงก็เก็งข้อสอบจดจำไว้ตอบในสนามสอบ แล้วพวกเขาก็สอบได้เป็นนักธรรมชั้นตรี, โท, เอก โดยไม่มีภูมิธรรมเป็นพื้นฐานเท่าที่ควร นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเบื่อหน่ายในการสอนนักธรรม
การเทศน์เดี่ยวเทศน์คู่ทั้งบุคลาธิฐานและธรรมาธิษฐานเริ่มมีคนฟังน้อยลง และคนฟังนั้นก็ชอบฟังแต่คำเทศน์ที่ใช้มุกตลกโปกฮามากกว่าที่จะฟังเพื่อเอาความรู้ความเข้าใจในข้อธรรมที่นำมาแสดงนั้น พระนักเทศน์ที่เป็นคู่เทศน์มักไม่ค่อยเข้าใจในข้อธรรมที่นำมาแสดง พระคู่เทศน์ที่ถูกคอกันหลายองค์มรณภาพไปบ้าง ลาสิกขาไปเสียบ้าง พระมหาวิรัตน์ พระมหาบำรุง พระมหาสมนึก (พระครูกิตติสุนทร) ลาสิกขาไปก่อนข้าพเจ้า ส่วนพระคู่เทศน์ทางสุโขทัย-พิษณุโลกที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายองค์ เช่นพระดำรงวัดท่ามะปราง พระสมุห์ประจวบวัดจันทร์ตะวันออก พระมหาสุรศักดิ์ พระมหาเกษม วัดใหญ่พิษณุโลก พระมหาธีรพงศ์ วัดไทยชุมพล ก็ล้วนลาสิกขาไปแล้ว ระยะหลัง ๆ นี้ต้องเทศน์กับพระนักเทศน์ใหม่ ๆ แบบที่ต้องฝึกหัดให้เขาเทศน์ จึงเกิดความเบื่อหน่ายในการเทศน์ทุกรูปแบบ คิดว่า “ไม่รู้จะเทศน์ไปเพื่ออะไร”
เรื่องการกลอนก็ชักจะเซ็ง ๆ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แนวทางกลอนเปลี่ยนไป เป็นกลอนที่เรียกกันว่า “กวีเพื่อชีวิต” รสกวีออกมาในแบบ “พิโรธวาทัง” เสียเป็นส่วนมาก ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร บอกว่าเบื่อในการแต่งกลอนจึงเปลี่ยนไปแต่งร้อยแก้วแนวการเขียนเป็นนิยาย เรื่องแรกที่พี่เขาแต่งเป็นเรื่องบู๊ ไปนั่งพล็อตเรื่องที่กุฏิข้าพเจ้า เรื่องที่แต่งตั้งประเด็นสำคัญที่พระเครื่องอันเลื่องชื่อของพระนครศรีอยุธยา คือพระกริ่งคลองตะเคียน ที่ขลังทางอยู่ยงคงกระพัน พี่เขาเขียนเค้าโครงเรื่องแล้วขอให้ช่วยต่อเติม แล้วก็แต่งเป็นเรื่องราวในชื่อว่า “เสาร์ ๕” ตอนแรกส่งไปหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ บก.ชอบใจ จึงนำลงพิมพ์และขอให้เร่งส่งต้นฉบับให้ต่อไป พี่เขาหายไปจากวัดใหม่ฯ นานเป็นเดือน ไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ไหน เห็นแต่ “เสาร์ ๕” งานเขียนนิยายบู๊ของเขาตีพิมพ์แผ่หลาอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอก เขากลับมากุฏิข้าพเจ้าอีกทีก็ตอนที่นิยาย “เสาร์๕” ของเขาดังในวงการนักอ่านนิยายบู๊ล้างผลาญแล้ว ถามว่าหายไปไหนมา พี่เขาว่าไปเช่าโรงแรมซุ่มตัวแต่งเรื่อง “เสาร์ ๕” ให้หนังสือพิมพ์บางกอก ไม่บอกใครเพราะต้องการความสงบเงียบ จากนั้นประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ก็กลายเป็นนักแต่งนิยายบู๊ในนาม “ดาเรศร์” ที่สมเด็จป๋าตั้งให้ นาน ๆ จึงจะแต่งกลอนออกมาสักสำนวนหนึ่ง
ข้าพเจ้าคงหมดบุญวาสนาที่จะอยู่ในบรรพชิตเพศต่อไป เพราะเกิดความเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก เวลาเดินบิณฑบาตก็คิดว่า “ทำไมเราต้องมาเที่ยวเดินขอเขากิน ?” เวลาไปงานทำบุญพิธีต่าง ๆ ก็คิดว่า “ทำไมเราต้องมารับจ้างร้องเพลงให้เขาฟัง ? ” เวลาขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็คิดว่า “ทำไมเราต้องมากล่าวคำตลกให้เขาฟัง ?” ทำอะไร ๆ แบบพระก็เห็นว่าไม่ดีไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องลาสิกขาแน่นอน
ปีนั้น (๒๕๑๘) พอดีกับที่หลวงพ่อไวย์พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเข้ามาพักอบรมอยู่ที่วัดสามพระยา ตรงข้ามกับวัดใหม่ฯ ข้าพเจ้าจึงเข้าไปกราบท่านเพื่อแสดงความยินดี และขอกราบลาออกจากบรรพชิตเพศด้วย ท่านว่าเสียดายนะกำลังจะติดต่อให้ไปช่วยงานที่วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหารที่ท่านย้ายไปอยู่ที่นั่น ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านว่า กระผมหมดบุญที่จะอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์เสียแล้วครับ ท่านก็อวยพรให้เจริญรุ่งเรืองในชีวิตของฆราวาส
นับแต่ข้าพเจ้าบรรพชาเป็นสามเณรแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อมาจนถึงปีที่ลาสิกขา เป็นเวลาที่อยู่แวดวงดงขมิ้นได้ ๒๐ ปี พระเพื่อน ๆ ที่ลาสิกขาออกสู่ฆราวาสวิสัยแต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน เช่นสึกออกไปทำงานตามที่ต้องการ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นทหาร ตำรวจ เป็นข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ ส่วนข้าพเจ้าสึกโดยไม่มีเป้าหมายอย่างนั้น แต่สึกเพราะเบื่อในความเป็นพระภิกษุ โดยไม่รู้ว่าสึกแล้วจะทำมาหากินอย่างไร จะกลับไปทำนาทำไร่ตามอาชีพเดิมก็คงไม่ไหวแล้ว คิดอย่างเดียวว่า “ไปตายเอาดาบหน้า” ก็แล้วกัน
ปิดฉากชีวิตในแวดวงดงขมิ้นของข้าพเจ้าลงเมื่อพรรษาที่ ๒๐ จากนั้นใช้ชีวิตล้มลุกคลุกคลานอยู่ในโลกียวิสัย แหวกว่ายสายธารน้ำหมึก เรื่อยมาจนถึงวันที่นั่งให้การอยู่ขณะนี้แล....
อภินันท์ (เต็ม) นาคเกษม
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕
............. – จบคำให้การแล้ว ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านครับ - .............
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕