
- เวทนาขันธ์ -
“เวทนาขันธ์”คือนามความรู้สึก เสวยลึกอารมณ์หลายไม่เปล่าเปลี่ยว เป็นสุขบ้างทุกข์บ้างอย่างกลมเกลียว แยกแยะเสี้ยวเศษส่วนกระบวนธรรม
เป็นรู้สึกทางกายทางใจสอง และแยกคลองสุขสนานหวานชื่นฉ่ำ กับคลองทุกข์ยากแค้นแสนระกำ ดั่งในคำเรียกสุขทุกข์กายใจ
“สุข”นั้นหมายว่าสบายกายใจสนุก ส่วนว่า“ทุกข์”นั้นระทมตรมหมองไหม้ “อุเบกขา”สุขทุกข์ต่างถูกวางไว้ มิเกิดดับวับไหวในอารมณ์
การเสวยอารมณ์สุขทุกข์ต่าง เกิดหกทางการกระทบประสบสม “ตาเห็นรูป”ชอบใจไม่ชอบชม หูรับลมปากเผดียงเสียงชั่วดี
“จมูกดม”กลิ่นล้อมทั้งหอมเหม็น “กายถูก”เย็นแข็งร้อนอ่อนฉวี “ใจกระทบ”สิ่งสรรพ์บรรดามี เป็นทางที่เวทนามาชุมนุม
ความสุข,ทุกข์ รุกรับสลับหน้า อุเบกขาแยกตัวไม่มั่วสุม สามอารมณ์มากมายเรียงรายรุม เป็นกองกลุ่ม“เวทนา”กินอารมณ์...
|
เวทนาคือการเสวย (กิน) อารมณ์ ความรู้สึก หนึ่งในขันธ์ ๕ ท่านแยกประเภทออกไป เป็น
ความรู้สึกทางกาย ๑, ทางใจ ๑,
เป็นอารมณ์สุขทางกายและทางใจ ๑,
อารมณ์ทุกข์ทางกาย ๑,
เป็นอารมณ์เฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์กายใจ ๑
ความสุขกาย หมายถึงร่างกายสบายเป็นปกติ
ความทุกข์กาย คือ ร่างกายเกิดความเจ็บปวด ไม่สบายนานประการ
โสมนัสใจ หมายถึง ใจแช่มชื่น ชุ่มสุข ปลื้มเปรมเอมใจ
โทมนัสใจ หมายถึงความโศกเศร้าเสียใจ ทุกข์ระทมตรมใจ
เวทนาคือการเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นต่อเมื่ออายตนะภายในภายนอกกระทบกัน คือ
ตา เห็นรูปเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ
หู ฟังเสียงเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ
จมูก ดมกลิ่นเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ
ลิ้น ลิ้มรสเกิดความรู้สึกขึ้นชอบหรือไม่ชอบ
กาย กระทบความเย็นร้อนอ่อนแข็ง เกิดความรู้สึกขึ้นชอบหรือไม่ชอบ
ใจ กระทบกับธรรมารมณ์ต่างเกิดความรู้สึกขึ้นชอบหรือไม่ชอบ
อาการที่กล่าวมาโดยย่อทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า “เวทนาขันธ์” คือกองเวทนาเป็นหนึ่งในเบญจขันธ์.
@ เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ * ขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต |