Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 27   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -  (อ่าน 230330 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #135 เมื่อ: 27, มกราคม, 2562, 10:12:14 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"



<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>                   .

- คำให้การฯ เรื่องพระพี่นาง -

พงศาวดารตำนานค้านกันอยู่
เพราะต่างรู้ต่างเห็นเป็นที่ตั้ง
ประวัติศาสตร์ชาติไทยเล่าให้ฟัง
ด้วยมุ่งหวังอภิปรายหลายมุมมอง

จริงหรือเท็จอย่างไรไม่ตัดสิน
เพียงได้ยินได้ฟังเรื่องทั้งผอง
รวบรวมมาให้เห็นอยู่เป็นกอง
ฟังแล้วตรองเหตุผลด้วยตนเอง

หลังเสียกรุงยุ่งเหยิงเชิงความเห็น
ยามไทยเป็นเมืองขึ้นถูกข่มเหง
"พระยาละแวก"อยากใหญ่ไม่กลัวเกรง
ตาม"ตะเลง,พม่า"ที่มาตีไทย


          อภิปราย ขยายความ...............

          ได้ฟังคำให้การชาวกรุงเก่ามาแล้วว่า  หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง  พม่าขนทรัพย์สมบัติอะไรจากไทยไปบ้าง  ซึ่งเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารฉบับหลัก ๆ และปลีกย่อย  แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์พม่า  ฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  มีใจความสอดคล้องกันกับคำให้การของชาวกรุงเก่า  และยังมีพยานอีกปากหนึ่งยืนยันว่าเป็นไปตามคำให้การของชาวกรุงเก่า  พยานปากนี้สำคัญมาก  เพราะท่านเป็นอดีตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก่อนกรุงแตกครั้งสุดท้าย  ท่านคือ  “ขุนหลวงหาวัด”  อันเป็นสมัญญานามของพระเจ้าอุทุมพร  กษัตริย์พระองค์ที่ ๔๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา  พระองค์ถูกพระเจ้าอังวะพาตัวไปพม่าในขณะที่เป็นพระภิกษุ  และให้การแก่พระเจ้าอังวะ  มีความดังต่อไปนี้

          .... “ พระเจ้าหงสาเอาแต่คนดี  อันพระยาจักรีนั้น  พระเจ้าหงสาปูนบำเหน็จรางวัลหนักหนา  เพราะมีความชอบ  จึงตั้งทวีให้เกินแต่ก่อนมา  ครั้นเลี้ยงไว้ครบเจ็ดวันแล้ว  พระเจ้าหงสาจึงสั่งให้บั่นเกล้าเกศาเสีย  แล้วจึงสั่งให้เสียบไว้ที่กลางเมืองตามบทพิพากษาที่มีมาแล้ว  จึงเรียกเอาพระมหินทร  ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระมหาจักรพรรดิ  พระปก  พระพี่นางพระนเรศร์อันชื่อนางสุวรรณกัลยานั้นขึ้นมาหงสากับองค์ พระนเรศร์  อันเป็นพระราชโอรสของพระสุธรรมราชา  อันพระเอกาทศรถนั้นให้ไว้เป็นเพื่อนพระบิดา  แล้วจึ่งเอาช้างเผือกทั้งห้าช้างนั้นมา  กับนายช่างต่าง ๆ ที่ชำนาญในการช่างใหญ่  กับฝีพายสกรรจ์สรรเอาห้าร้อยที่มีฝีมือ  กับช้างใหญ่คัดกวาดแล้วแต่ที่ใหญ่กว่ากันอันหนึ่ง  กับรูปสิบสองนักษัตรที่ไว้ในวัดพระศรีอยู่นั้น  อันรูปเหล่านี้  เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงแล้วจึงสั่งให้ให้ช่างพราหมณ์ปั้นรูปแล้วหล่อไว้ด้วยทองสัมฤทธิ์  เป็นรูปสิบสองนักษัตร  ทั้งรูปมนุษย์เป็นรูปพราหมณ์  มีรูปช้างเอราวัณ  รูปม้าสินธพ  รูปคชสีห์  รูปราชสีห์  รูปนรสิงห์  รูปสิงโต  รูปโคอุศุภราช  รูปกระบือ  รูปกระทิง  รูปหงส์  รูปนกยูง  รูปนกกระเรียน  อันสัตว์เหล่านี้สิ่งละคู่พระเจ้าอู่ทองถวายไว้ในวัดพระศรี  พระเจ้าหงสาเห็นรูปสัตว์เหล่านี้ก็ชอบพระทัย  จึงแบ่งเอาตามที่พอพระทัย  คือรูปช้างเอราวัณ  รูปม้าสินธพ  รูปราชสีห์ รู ปคชสีห์  รูปสิงห์  รูปมนุษย์  อันนอกนี้มิได้เอาสิ่งใดมา  แล้วพระเจ้าหงสาจึ่งสร้างพระเจดีย์ไว้ที่ทุ่งภูเขาทอง  จึ่งสมมตินามเรียก  พระภูเขาทอง  แล้วจึ่งทำการฉลองเป็นการใหญ่หนักหนา  แล้วพระเจ้าหงสาจึ่งยกทัพกลับไป

          ครั้นกลับไปยังมิทันถึงเมือง  อันพระมหินทรราชานั้นไม่สุภาพ  ดังพระยาราชสีห์ไม่มีความครั่นคร้ามขามใจ  เจรจาทำนององอาจ  รามัญนั้นจับคำประหลาดได้  จึ่งทูลกับพระเจ้าหงสา  พระเจ้าหงสาจึงให้ล้างเสีย  แล้วจึ่งถ่วงน้ำเสียที่หน้าเมืองสถัง  แล้วจึงยกทัพกลับมาเมืองหงสา  อันพระพี่นางพระนเรศร์นั้น  พระองค์ก็เอาไว้ในปราสาทเป็นที่มเหสี  จึ่งมีพระโอรสองค์หนึ่งเป็นกุมาร  อันพระนเรศร์นั้นพระเจ้าหงสาประทานที่บ้านและที่ตำหนักให้อยู่ตามที่  อันองค์พระเจ้าหงสานั้นรักใคร่พระนเรศร์เหมือนหนึ่งราชโอรส  เลี้ยงไว้จนเจริญวัยใหญ่มาฯ”

          คำให้การขุนหลวงหาวัดนี้  สอดคล้องกันกับคำให้การของชาวกรุงเก่า  และประวัติศาสตร์พม่า  ฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  ผิดกันแต่ในรายละเอียดเท่านั้น  โดยเฉพาะนามของสมเด็จพระนเรศวรตามคำให้การชาวกรุงเก่า  ขุนหลวงหาวัดเรียกว่าพระนเรศร์  แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  พระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า  บุเรงไม่เอารูปหล่อไปทั้งหมดตามคำให้การชาวกรุงเก่า  เฉพาะรูปโคอุศุภราชนั้น  ปัจจุบันยังอยู่ที่ พระพุทธบาทสระบุรี

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่า  หลังจากที่พระเจ้าหงสานิพัตร (บุเรงนอง) ยกทัพกลับไปแล้ว  พระยาละแวกแห่งกัมพูชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  เพราะเห็นว่ายังไม่ทันตั้งตัว  โดยทัพพระยาละแวกเดินมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาได้อย่างง่ายดาย  เมื่อรบพุ่งกันนั้น  ชาวพระนครศรีอยุธยายิงปืนถูกพระยาจัมปาธิราชตายคาคอช้าง  พระยาละแวกจึงถอยทัพกลับคืน  การที่พระยาจัมปาธิราชมาร่วมกับพระยาละแวกรบไทยนั้น  แสดงให้เห็นว่า  พระยาละแวกมีอานุภาพคลุมไปถึงประเทศจามปา (จาม)  ซึ่งอยู่ตอนเหนือกัมพูชา

          ครั้นสิ้นศึกพระยาละแวก  ปีรุ่งขึ้น  คือ พ.ศ.๒๑๑๔  พระมหาธรรมราชาก็โปรดให้สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า (พระนเรศร์= นเรศวร)  ขึ้นเป็นพระอุปราชเสวยราชย์ ณ พิษณุโลก  ความนี้  เป็นการยืนยันว่า  พระเจ้าบุเรงนองมิได้พาพระนเรศร์  หรือพระนเรศวรไปหงสาวดีด้วย

          อย่างไรก็ตาม  ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าตรงนี้  ไม่อาจลบล้างความเชื่อที่ว่า  พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง)  ทรงนำพาพระนางสุวรรณกัลยา (สุพรรณกัลยา)  และพระนเรศวรไปหงสาวดี  ตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าได้เลย

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าองภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : ชลนา ทิชากร, Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, กลอน123, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #136 เมื่อ: 28, มกราคม, 2562, 10:36:08 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- ฟังชาวกรุงเก่าให้การ -

ประวัติ“ยุทธหัตถี”มีหลายครั้ง
ที่โด่งดังกระเดื่องแดนแสนยิ่งใหญ่
คือ“พระนเรศวร”ผู้เกรียงไกร
ประสบชัย“อุปราชา”ผู้วายชนม์

การชนช้างครั้งนี้มีเรื่องเล่า
ชาวกรุงเก่าให้การผ่านสับสน
หลายตำราพม่าไทยให้การปน
แต่ทุกคนเห็นตรงพม่าตาย

จึงขอแยกแจกความตามลำดับ
โดยเริ่มจับ“คำให้การ”พยานขยาย
“ชาวกรุงเก่า”เล่าดีเหมือนนิยาย
ความคลับคล้าย“ขุนหลวงหาวัด”เลย.....


          อภิปราย ขยายความ ............

          จับความในตอนที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก  พระเจ้าบุเรงนองขนช้างม้าและสมบัติจากกรุงศรีอยุธยาไปพร้อมกับ  พาพระนางสุวรรณกัลยา กับ พระนเรศวร  โอรสธิดาพระมหาจักรพรรดิไปเป็นตัวประกัน  ก่อนเสด็จกลับหงสาวดี  ก็ปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา  เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม

          ความในคำให้การของ “ชาวกรุงเก่า” กับ คำให้การของ “ขุนหลวงหาวัด”  เป็นไปทำนองเดียวกัน  ต่างกันเพียงเล็กน้อย  คำให้การของชาวกรุงเก่าเป็นแบบชาวบ้านอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด  ซึ่งค่อนข้างไปทางภาษาราชสำนัก (ราชการ)  จึงขอยกคำให้การของชาวกรุงเก่ามาแสดง  ดังต่อไปนี้

          .... “ เมื่อพระสุธรรมราชาสวรรคตแล้ว  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจะยกพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์สมบัติ  พระเอกาทศรถไม่ยอม  ว่าพระเชษฐาของเรายังมีชีวิตอยู่ที่เมืองหงสาวดี  พระเอกาทศรถยังคงตำแหน่งมหาอุปราชอยู่อย่างเดิม  แต่ยังบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดราชการแผ่นดินทั่วไป

          ฝ่ายข้างกรุงหงสาวดี  วันหนึ่งพระมหาอุปราชากับพระนเรศวรเล่นชนไก่กัน  ไก่ของพระมหาอุปราชาแพ้  พระมหาอุปราชาก็ขัดใจแกล้งพูดเป็นทีเยาะเย้ยว่า  “ไก่ชะเลยเก่ง ชนะไก่เราได้”  พระนเรศวรได้ฟังดังนั้นก็น้อยพระทัย  ผูกอาฆาตพระมหาอุปราชา  แกล้งตรัสตอบไปเปนนัยว่า  “ไก่ของหม่อมฉันนี้พระองค์อย่าเข้าพระทัยว่าจะชนะแต่ไก่ของพระองค์  จะชนเอาบ้านเมืองก็ยังได้” ดังนี้

          พระนเรศวรทรงแค้นพระทัยพระมหาอุปราชาไม่วายเลย  ครั้นต่อมาจึงทรงพระดำริว่า  “ซึ่งเราจะมานั่งน้อยหน้าอยู่ในบ้านเมืองเขา  ให้เขาดูหมิ่นอย่างนี้ไม่สมควร  จำจะคิดอุบายหนีไปให้จงได้  วันหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้าพระสุวรรณกัลยาแล้วทูลความที่คิดไว้นั้นทุกประการ  แล้วทูลจะให้พระพี่นางเธอหนีกลับพระนครศรีอยุธยาด้วย  พระสุวรรณกัลยาจึงตรัสตอบว่า  “บัดนี้พี่มีบุตรด้วยพระเจ้าหงสาวดีแล้ว  จะหนีไปอย่างไรได้  พ่อจงกลับไปเถิด”  ตรัสแล้วจึงอวยไชยให้พรแก่พระนเรศวรว่า  “ขอให้น้องเราไปโดยสิริสวัสดิ์  อย่าให้ศัตรูหมู่อมิตร์ย่ำยีได้  แม้ใครจะคิดร้ายก็ขอให้พ่ายแพ้แก่เจ้า  จงมีไชยชนะแก่ข้าศึกศัตรู  กู้บ้านกู้เมืองคืนได้ดังใจปรารถนาเทอญฯ”  ดังนี้

          พระนเรศวรได้ฟังดังนั้น  แกล้งตรัสตอบเปนทีล้อพระพี่นางเธอว่า  “รักผัวมากกว่าญาติ”  แล้วก็ทูลลามาสู่ตำหนัก  ชักชวนมหาดเล็กที่สนิทไว้เนื้อเชื่อใจแลมีฝีมือเข้มแขงได้ ๖๐ คน  แล้วก็ลอบหนีจากเมืองหงสาวดี

          ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบว่าพระนเรศวรหนีไปจากกรุงหงสาวดี  จึ่งเข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า  บัดนี้พระนเรศวรหนีไปแล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสายกทัพไปจับตัวให้จงได้  พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสห้ามว่า  “เจ้าอย่าไปตามเลย  พระนเรศวรนี้เป็นคนมีบุญญาธิการมาก  ทั้งฝีมือก็กล้าแขง  บิดาจะเล่าให้ฟัง  วันหนึ่งบิดาเรียกพระนเรศวรเข้ามาเฝ้า  พอพระนเรศวรย่างเข้ามาถึงอัฒจันท์  พระราชมณเฑียรที่บิดาอยู่นั้นหวั่นไหว  บิดาจึ่งเห็นว่าพระนเรศวรนี้มีบุญมาก  เจ้าอย่าไปเลย”  พระมหาอุปราชาไม่ฟัง  จึ่งให้จัดกองทัพเปนอันมากแล้วก็ยกไปตามพระนเรศวรทางพระเจดีย์ ๓ องค์  พระนเรศวรตั้งคอยสู้รบอยู่ที่พระเจดีย์ ๓ องค์  พระมหาอุปราชาก็ยกพลเข้าตีพระนเรศวร ๆ เห็นกำลังพระมหาอุปราชามาก  ก็ถอยมาตั้งรับที่ตำบลอะสันดี  พระมหาอุปราชาก็ตามตีที่ตำบลอะสันดี  พระนเรศวรเห็นจะสู้ไม่ได้ก็ถอยมาตั้งที่เมืองสุพรรณ”

          .....ในยามนั้น  สมเด็จพระเอกาทศรถทราบว่าพระนเรศวรหนีพม่ามาและถูกไล่ล่า  จึงรีบจัดเสบียงไปสนับสนุน  แต่ถูกมหาอุปราชาดักปล้นหมดสิ้น  สมเด็จพระเอกาทศรถจึงจัดกองทัพยกไปช่วยที่เมืองสุพรรณ  สองพี่น้องพบกันแล้ว  พระเอกาทศรถทราบความทั้งปวงจากพระนเรศวร  จึงขอให้พระเชษฐาพักผ่อนอยู่ในเมือง  ตนจะขอออกรบแทน  แต่พระนเรศวรไม่ยอม  ด้วยเห็นว่า  พระเอกาทศรถจะสู้มหาอุปราชาไม่ได้  จึงทรงนำทัพออกรบกับมหาอุปราชาเป็นสามารถ  ไพร่พลทั้ง ๒ ฝ่ายบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก  พระนเรศวรจึงออกไปหน้าทัพแล้วท้าทายมหาอุปราชาให้สู้กันตัวต่อตัวด้วยการทำยุทธหัตถี  เพื่อไม่ให้ไพร่พลบาดเจ็บล้มตายอีกต่อไป

          .....ทั้งหมดนี้เป็นความเบื้องต้นก่อนที่จะกระทำยุทธหัตถีกัน  จากคำให้การของชาวกรุงเก่า  ขุนหลวงหาวัดให้การไว้คล้าย ๆ กัน  แต่มีรายละเอียดมากกว่าบางตอน  เช่นว่า  พระมหาอุปราชา  มีพระนามว่า  “พระประทุมราชา”  ตอนเล่นชนไก่นั้น  เมื่อไก่พระประทุมราชาแพ้  พระประทุมราชาจับไหล่พระนเรศวรเขย่าแล้วว่า  “ไก่เชลยมีชัยแก่เราหนักนา”  เป็นเหตุให้พระนเรศวรทรงแค้นเคีองมาก  หลังจากไปทูลชวนพระพี่นางกลับกรุงศรีอยุธยาด้วยกันแล้วผิดหวัง  ก็กลับมารวบรวมพลโยธา  ได้โจรป่ากับหมอเฒ่าเหล่าพรานป่า  พวกเขาถวายช้างชื่อ  “มงคลคชา”  รวมพลทั้งปวงได้ ๖๐๐ คน  พลบค่ำก็พากันออกจากเมืองหงสาวดี   และความตอนที่หลังจากพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว  พระเจ้าบุเรงนองทรงพระพิโรธจนหน้ามืดลืมพระองค์  สั่งฆ่านายทัพนายกองที่ตามเสด็จมหาอุปราชาจนสิ้นแล้วไม่หายแค้น  ถือพระแสงเข้าไป ในพระราชฐาน  “จึ่งเห็นพระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่  ให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่  พระเจ้าหงสาจึงฟันด้วยพระแสง  ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์  ถึงแก่พิราลัยทั้งสองพระองค์

          .....ยังมีความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  และ  ประวัติศาสตร์พม่าฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  เกี่ยวกับยุทธหัตถี  มีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันอีก  พรุ่งนี้จะค่อย ๆ ทยอยนำมาแสดงครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, รพีกาญจน์, กลอน123, กอหญ้า กอยุ่ง, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #137 เมื่อ: 29, มกราคม, 2562, 10:19:20 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- โอรสหรือธิดาแน่ ? -

เรื่องเดียวกันของ“ขุนหลวงหาวัด”
ให้การขัด“ชาวกรุงเก่า”อย่างเปิดเผย
ว่า“สุวรรณกัลยา”ชีพลงเอย
ถูกคู่เชยฟาดฟันบรรลัยลาญ

ขณะนอนให้นมพระโอรส
ก็ปรากฏ“บุเรงนอง”โกรธงุ่นง่าน
พระแสงสับฉับลงองค์นงคราญ
พร้อมกุมารด่าวดิ้นสิ้นพระชนม์

“ชาวกรุงเก่า”เล่าเหมือนไม่เบือนบิด
เพียงแค่ผิดเพศลูกจำสับสน
ว่าเป็น“ราชธิดา”บิดาดล
โทสะจนลืมดูฆ่าผู้เยาว์


          อภิปราย ขยายความ...........

          ดังได้กล่าวแล้วว่า  คำให้การของชาวกรุงเก่ากับขุนหลวงหาวัดบอกเล่าเรื่องเป็นทำนองเดียวกัน  มีต่างกันแต่ในรายละเอียดไม่มากนัก  อย่างตอนที่พระนเรศวรหนีจากกรุงหงสาวดี  ชาวกรุงเก่าเล่าว่ามีกำลังพลเพียงแค่ ๖๐ คน  แต่ขุนหลวงหาวัดเล่าว่า  นอกจากมหาดเล็กจำนวนหนึ่งแล้วยังได้พวกโจรป่า  พรานป่าเฒ่าที่ถวายช้างมงคลให้อีก ๑ เชือก  รวมแล้วมีกำลังพลมากถึงหกร้อยคนเศษ  ยามที่ออกจากกรุงหงสาวดีนั้นได้กวาดต้อนทั้งมอญและลาว  รวมพลเก่าและใหม่ได้ถึงเก้าพันคน  จึงสามารถต้านทัพของพระมหาอุปราชาได้พอสมควร

          ....ตอนที่ทำยุทธหัตถีนั้น  คำให้การทั้งสองสอดคล้องกัน  มีรายละเอียดตามสำนวนของชาวกรุงเก่า  ดังต่อไปนี้

          ............ “ พระนเรศวรจึงไสช้างออกไปหน้าทัพแล้วท้าทายพระมหาอุปราชาว่า  “เราทั้ง ๒ รบกันยังไม่แพ้ไม่ชนะ  ผู้คนล้มตายเปนอันมาก  น่าสงสารไพร่พลซึ่งมาพลอยตายด้วยเราทั้ง ๒  ซึ่งเกิดสงครามคราวนี้  มีสาเหตุเพราะเราแต่ ๒ คน  เพราะฉะนั้น  เราควรจะรบกันแต่ ๒ ต่อสอง  ชนช้างกันโดยทำยุทธหัตถี  จะได้ประกาศเกียรติยศและความกล้าหาญ  ซึ่งได้เกิดมาเปนชายชาติกษัตริย์  ใครดีใครก็จะได้ไชยชนะ  ไม่พักต้องลำบากแก่ไพร่พล”  เมื่อพระนเรศวรชวนเชิญเป็นทีเยาะเย้ยดังนี้  พระมหาอุปราชาหงสาวดีก็เกิดมานะกษัตริย์  จึงตรัสว่า  ดีแล้ว  ดังนี้  ก็ให้เอาธงใหญ่มาปักตรงหน้าช้างทั้ง ๒  ทำสัญญาแก่กันว่า  ถอนธงขึ้นเมื่อไรก็ให้เข้าทำยุทธหัตถีกันเมื่อนั้น  สัญญากันแล้ว  ต่างองค์ก็เปลี่ยนเครื่องทรงใหม่  ทรงเครื่องเกราะตามอย่างวิธีที่ทำยุทธหัตถี  เวลานั้น  ช้างทรงของพระนเรศวรกำลังตกมัน  เมื่อแต่งพระองค์เสร็จพร้อมทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วต่างก็คอยฤกษ์อยู่

          ..........ในขณะนั้น  ด้วยบุญญาภินิหารของพระนเรศวรที่จะได้ไชยชนะแก่พระมหาอุปราชา  ทั้งจะได้เปนพระมหากษัตริย์ด้วย  ก้อนเมฆบนอากาศบันดาลเปนรูปเศวตฉัตรกางกั้นอยู่ตรงพระคชาธารพระนเรศวร  พระบรมธาตุโตเท่าผลมะงั่วก็ทำปาฏิหาริย์เสด็จผ่านมาทางกองทัพพระนเรศวร  พระองค์ก็ทรงยินดียกหัตถ์ขึ้นนมัสการ  พร้อมทั้งนายทัพนายกองทั้งปวง  พอได้ฤกษ์แล้วต่างพระองค์ก็ให้ถอนธงสัญญาที่ปักไว้  ทั้ง ๒ พระองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีกัน  ขณะนั้นพระมหาอุปราชาจะเอาจักรขว้างพระนเรศวร ๆ เห็นดังนั้นจึงตรัสว่า  “พระเชษฐาทำอะไรอย่างนี้ เ ห็นจะเคยใช้อุบายทำร้ายเขาอย่างนี้เสมอดอกกระมัง  ซึ่งเราพี่น้องมาทำสงครามกันคราวนี้เปนธรรมยุทธวิธี  พระเชษฐาจะลอบทำร้ายอย่างนี้ไม่สมควร”  พระมหาอุปราชาจึงตอบว่า  “เราลองใจดูดอกมิได้คิดจะเอาจักรขว้างพระน้องจริง ๆ”  ตรัสแล้วต่างองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีกันอีก  ช้างพระนเรศวรกำลังน้อยเสียท่าเบนท้ายให้ช้างพระมหาอุปราชา  พระมหาอุปราชาก็ทรงพระแสงง้าวฟันพระนเรศวร ๆ หลบทัน  ถูกแต่พระมาลาขาดไปประมาณ ๒ นิ้ว  ช้างพระนเรศวรถอยหลังไปถึงจอมปลวกแห่ง ๑ ในป่าพุทรา  ยันได้ถนัดก็เอาเท้าทั้ง ๒ ยันกับจอมปลวกขยับแทงถูกโคนงาช้างพระมหาอุปราชา  ช้างพระมหาอุปราชาเบนท้ายจะหนี  พระนเรศวรเห็นได้ทีก็เอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง  สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง  ที่อันพระนเรศวรยันนั้นก็มีนามปรากฏว่าพุทรากระแทก  ยังมีอยู่จนทุกวันนี้

          ..........ฝ่ายนายทัพนายกองหงสาวดีทั้งปวง  ครั้นเห็นพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ก็ตกใจกลัวแตกกระจัดกระจายกันไป  พระนเรศวรก็ห้ามมิให้พวกพลทำร้ายแก่พวกหงสาวดี  ให้ประกาศแก่ชาวหงสาวดีว่า  อย่าให้นายทัพนายกองทั้งปวงตกใจกลัวเลย  ซึ่งเราทำสงครามคราวนี้มิได้คิดจะให้ไพร่พลทั้งปวงได้ความลำบาก  คิดแต่จะแก้แค้นพระมหาอุปราชาซึ่งหมิ่นประมาทเราอย่างเดียวเท่านั้น  บัดนี้เราแก้แค้นได้แล้ว  ตรัสดังนี้แล้วก็โปรดให้นายทัพนายกองพลทหารทั้งปวงกลับไปเมืองหงสาวดี  พวกนายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลากลับไปยังเมืองหงสาวดี  นำความที่พระมหาอุปราชาชนช้างเสียทีแก่พระนเรศวรสิ้นพระชนม์บนคอช้างกราบทูลพระเจ้าหงสาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ  รับสั่งให้เอาตัวนายทัพนายกองที่ไปกับพระมหาอุปราชานั้นใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น  แต่เท่านั้นยังไม่คลายพระพิโรธ  จึงเสด็จไปสู่ตำ หนักพระสุวรรณกัลยา  เอาพระแสงฟันพระนางสุวรรณกัลยากับพระราชธิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์”

          .....คำให้การทั้งหมดนี้เป็นสำนวนของชาวกรุงเก่าที่ไม่ผิดไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดมากนัก  มีที่ผิดกันตรง ๆ ก็คือ  บุตรของพระเจ้าบุเรงนองอันประสูติแต่พระนางสุวรรณกัลยานั้น  ขุนหลวงหาวัดว่าเป็นพระราชกุมาร  แต่ชาวกรุงเก่าให้การว่า  เป็นพระราชธิดา  ในพงศาวดารอื่นไม่ปรากฏเรื่องนี้  จึงมิทราบว่า  เด็กนั้น  เป็นราชกุมารหรือราชธิดากันแน่ ?

          ........เรื่องราวตอนนี้  วันวลิต  เขียนบรรยายให้รายละเอียดดีมาก  พรุ่งนี้จะนำมาถ่ายทอดให้อ่าน  เป็นความรู้อีกแง่มุมหนึ่งครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กลอน123, กอหญ้า กอยุ่ง, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #138 เมื่อ: 30, มกราคม, 2562, 10:19:30 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- “วันวลิต”ว่าอย่างนี้..-

“วันวลิต”รู้มาว่าอีกอย่าง
มีความต่าง“ให้การชาวกรุงเก่า”
รายละเอียดน่ารู้อย่าดูเบา
เป็นเรื่องเล่าถือว่าสาระดี

เขาว่าเป็น“เงื่อนไข”ไทยยอมรับ
ข้อบังคับต้องทำตามหน้าที่
ส่งโอรสหนึ่งหรือสององค์ซึ่งมี
จากกรุงศรีฯให้หงสาฯไว้ประกัน....


          อภิปราย ขยายความ...........

          คราวนี้หันไปดูความจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบ้าง  พงศาวดารฉบับนี้ “วันวลิต” เขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๘๒  เขากล่าวว่า  มีเงื่อนไขจากพระเจ้าแผ่นดินพะโคหลังจากรบชนะกรุงศรีอยุธยาแล้วว่า  พระเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์จะต้องส่งพระราชโอรสองค์หนึ่งหรือสององค์  หรือในกรณีที่ไม่มีพระราชโอรสก็ต้องส่งญาติสนิทที่เป็นชาย  ไปเป็นตัวประกัน ณ เมืองพระโค  ดังนั้น  พระมหาธรรมราชาจึงต้องยอมให้พระเจ้าบุเรงนองพา “พระนเรศ” ไปเมืองหงสาวดี  ตอนก่อนที่พระนเรศวรหนีจากหงสาวดี  ไม่มีเรื่องการเล่นชนไก่  แต่มีเรื่องอีกอย่างหนึ่งว่าดังนี้

          ...... “ ภายหลังที่พระนเรศได้มาเป็นตัวประกันที่พะโค (ดังที่กล่าวมาแล้ว) ได้ประมาณ ๒ ปี  พระองค์ก็ถูกพระเจ้าแผ่นดินพะโคบริภาษขู่จะประหารชีวิต  เนื่องจากประลองยุทธ์แต่ละครั้ง  เช่น  ทรงม้า  ล่าสัตว์  ชนช้าง  และอื่น ๆ  พระองค์ทรงสามารถทำได้ดีกว่าพระเจ้าแผ่นดินพะโค  เจ้าชายผู้ทรงพระเยาว์  ทรงเจ็บช้ำในพระราชหฤทัยที่ทรงถูกเหยียดหยามและข่มขู่เช่นนั้น  จึงเสด็จหลบหนีพร้อมด้วยข้าราชบริพาร (ขุนนางสยามประมาณ ๓๐๐ คน)  ในเวลาค่ำคืนไปยังพิษณุโลก  ทรงเผาและทำลายสถานที่หลายแห่งของเมืองพะโคตลอดทางที่ผ่านมา”

          ......ในขณะที่ประทับอยู่ ณ พิษณุโลกนั้น  พระเจ้าบุเรงนองสั่งให้ขุนทหารนำกำลังพล ๕,๐๐๐ คนติดตามจับตัว  แต่ก็ถูกพระนเรศพร้อมชาวพิษณุโลกโต้ตีแตกพ่ายไป  และยังจับพม่าเป็นเชลยได้ถึง ๓,๐๐๐ คน  พระเจ้าบุเรงนองโกรธมาก  สั่งให้เจ้าสาวถีพระอนุชาคุมพล ๑๐,๐๐๐ คน  ตามจับพระนเรศให้จงได้  แต่ก็ถูกตีแตกพ่ายยับเยิน  เสียช้าง ๒๐๐ เชือก  ม้า ๓๐ ตัว  แล้วพระเจ้าแผ่นดินพะโคก็สวรรคตในเวลาเดียวกันนั้น  พระนเรศเสด็จจากพิษณุโลก  ลงกรุงศรีอยุธยา  เข้าเฝ้าพระราชบิดา (พระมหาธรรมราชา)  กราบบังคมทูลให้เลิกพันธสัญญากับพม่าโดยสิ้นเชิง

          ....... ครานั้นพระมหาอุปราชาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพะโคสืบแทนพระราชบิดา (บุเรงนอง) แล้ว  ทรงแค้นเคืองที่พระนเรศหนีไปได้  จึงส่งทูตเข้าเฝ้าพระมหาธรรมราชาทูลขอพระนเรศซึ่งเป็นตัวประกันนั้นคืน  พร้อมทวงสัญญาที่ทำกันไว้  หากไม่ทำตามก็จะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พระนเรศทรงคัดค้านไม่ให้พระราชบิดาทำตามคำของพระมหาอุปราชา  ทรงพร้อมที่จะรบ  พระเจ้าแผ่นพะโคจึงยกทัพมาด้วยกำลังพล ๗๐,๐๐๐ คน  เข้าตีกรุงศรีอยุธยาในทันที  พระนเรศยกกำลังออกต่อตีขับไล่กองทัพพะโคแตกพ่ายไป  จับแม่ทัพได้ ๓ พระองค์  ช้าง ๓๐ เชือก  ม้า ๑๐๐ ตัว  ทหารพะโคถูกฆ่าตายมากมาย

          ....ตอนที่พระนเรศวรทำยุทธหัตถีมีรายละเอียดต่างจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  ว่า  พระมหาอุปราชายกกำลังเป็นพยุหยาตรามาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา  ในกองทัพประกอบด้วยชาวโปรตุเกส  แขกมัว (ชาวอินเดียที่เป็นมุสลิม) และชาวตุรกี  ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองพะโคเวลานั้น  ฝ่ายพระนเรศยกทัพกลับมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซึ่งยังมีซากปรากฏอยู่จนทุกวันนี้)  ชื่อว่า แกรง (Crengh)  หรือหนองสาหร่ายเพื่อจะพบกับกองทัพพะโค

          ...... “ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน  พระนเรศและพระมหาอุปราชา (ซึ่งฉลองพระองค์เต็มยศฐานันดรศักดิ์และทรงช้างศึก)  ต่างก็ขับช้างเข้าหากันประหนึ่งเสียพระสติ  ทิ้งกองทหารไว้ข้างหลัง  แต่ช้างทรงของพระนเรศเล็กกว่าช้างทรงของพระมหาอุปราชามาก  เมื่อเจ้าชายทั้งสองพระองค์ขับช้างเข้ามาใกล้กัน  ช้างพระนเรศที่เล็กกว่าก็ตื่นกลัว  พยายามเบื่ยงหัวไปมาเพื่อจะหลบหนี  พระนเรศทรงตกพระทัย  ตรัสกับช้างว่า  “เจ้าผู้เป็นบิดาแห่งแว่นแคว้นนี้  ถ้าเจ้าทิ้งข้าไปเสียแต่ตอนนี้แล้ว  ก็เท่ากับว่าเจ้าทิ้งตัวของเจ้าเองและโชคชัยทั้งปวง  เพราะข้าเกรงว่าเจ้าจะไม่ได้รับเกียรติยศอันใดอีกแล้ว  และจะไม่มีเจ้าชายองค์ใดทรงขี่เจ้าอีก  คิดดูเถิดว่า  ตอนนี้เจ้ามีอำนาจเหนือเจ้าชีวิตถึงสองพระองค์  และเจ้าสามารถนำชัยชนะมาให้แก่ข้าได้  จงดูประชาชนที่น่าสงสารของเรา  พวกเราจะพ่ายแพ้ยับเยินเพียงใด  และจะแตกสานซ่านเซ็นอย่างไร  ถ้าหากเราหนีจากสนามรบ  แต่ถ้าหากเรายืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงด้วยความกล้าหาญของเจ้า  และด้วยกำลังแขนของเราทั้งสอง  ชัยชนะก็จะตกเป็นของเราอย่างแน่นอน  และเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว  เจ้าก็จะได้เกียรติยศร่วมกับข้า....”

          .......ขณะทรงมีรับสั่ง  พระนเรศก็ประพรมน้ำมนต์ซึ่งปลุกเสกโดยพราหมณ์  เพื่อใช้ในโอกาสเช่นนี้  ลงยังหัวช้าง  ทรงพระกันแสงจนกระทั่งหยาดพระสุชลหลั่งลงบนงวงช้าง  ช้างแสนรู้ได้กำลังใจจากคำดำรัส  น้ำมนต์  และหยาดพระสุชลของเจ้าชายผู้กล้าหาญ  ก็ชูงวงขึ้น  หันศีรษะวิ่งเข้าหาข้าศึกตรงไปยังพระมหาอุปราชา  การประลองยุทธ์ของช้างตัวนี้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว  และน่าอัศจรรย์  ช้างทรงตัวที่ใหญ่กว่าพยายามใช้งาเสยช้างตัวที่เล็กกว่าให้ถอยกลับไป  ในที่สุดช้างตัวที่เล็กกว่าก็ได้เปรียบ  วิ่งเลยช้างตัวใหญ่ไปเล็กน้อย  และใช้งวงฟาดอย่างแรง  ช้างตัวใหญ่ร้องแปร๋นแปร้นทำให้พระมหาอุปราชาตกพระทัย

          ....... พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงทรงฉวยโอกาสปราบพระเจ้าแผ่นดินพะโค  โดยทรงตีพระเศียรพระเจ้าแผ่นดินพะโคอย่างแรงด้วยขอช้าง (ซึ่งใช้ในการบังคับช้าง)  และทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชาจนกระทั่งหล่นลงมาสิ้นพระชนม์บนพื้นดิน  และพระองค์ทรงจับช้างได้  ทหารองครักษ์ของพระองค์ (ซึ่งตามมาทัน) ก็ได้แทงทหารโปรตุเกสซึ่งนั่งตอนหลังช้างพระที่นั่ง  ทำหน้าที่คอยโบกพัดให้พระเจ้าแผ่นดินพะโคและบังคับช้าง  

          เมื่อทหารพะโคเห็นว่า  พระเจ้าแผ่นดินพวกตนสิ้นพระชนม์ลง  ก็ถอยหนีกันอลหม่าน  กองทัพไทยได้กำลังใจดีก็ไล่ติดตามจับได้เชลยหลายคน  ทั้งที่ฆ่าตายก็มีมาก  ทัพพะโคแตกกระจายเหมือนแกลบปลิวไปตามลม  ได้ละทิ้งทหารหลายพันคนไว้ข้างหลัง  แต่เนื่องจากทหารแตกทัพไปทางที่ถูกทำลายแล้ว  จึงมีทหารจำนวนน้อยที่กลับไปถึงพะโค

          พระนเรศประสบชัยชนะครั้งนี้  เมื่อพระชนมมายุได้ ๓๒ พรรษา  พระองค์สามารถป้องกันพระราชอาณาจักรของพระราชบิดาไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นได้  นับตั้งแต่นั้นมา  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ไม่ขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในโลกอีกเลย”

          อ่านคำให้การของชาวกรุงเก่าปนกับขุนหลวงหาวัด  และมาอ่านประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาฉบับ “วันวลิต” แล้ว  ตรองกันเอาเองนะครับว่า  ควรจะเชื่อใคร  พรุ่งนี้จะนำความในพงศาวดารพม่า  ฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  มาแสดงให้ดูอีกแง่มุมหนึ่งครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัยธานี
๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคณเจ้าองาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กลอน123, กอหญ้า กอยุ่ง, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #139 เมื่อ: 31, มกราคม, 2562, 10:55:26 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- พม่าว่าอีกอย่างหนึ่ง -

“หม่อง ทินอ่อง”มองเฉี่ยวเรื่องเดียวนี้
แตกต่างที่ยุคสมัยในเรื่องนั่น
พ้นสมัย“บุเรงนอง”มานานวัน
สงครามขั้น“ยุทธหัตถี”ชัดเจน

ยุค “นันทบุเรง”ราชโอรส
พม่าหมดอำนาจองอาจเด่น
รบสยามคราใดพ่ายระเนน
ตัวอย่างเช่นชนช้างมล้างชนม์.....


          อภิปราย ขยายความ.........

          ทั้งชาวกรุงเก่า  และ  ขุนหลวงหาวัด  กับ  วันวลิต  กล่าวถึงเรื่องการสงครามยุทธหัตถีในทำนองเดียวกัน  มีข้อปลีกย่อยต่างกัน  อย่างเช่น  ชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด  ว่า  มหาอุปราชาเป็นราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง  ทำยุทธหัตถีในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  แต่วันวลิตกล่าวว่า  มหาอุปราชาขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทนพระเจ้าบุเรงนองราชบิดา  ทำยุทธหัตถีในขณะที่ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว

          .....แต่ ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนไว้ในประวัติศาสตร์พม่าของเขาต่างไปจากชาวกรุงเก่า  ขุนหลวงหาวัด  และ วันวลิต  โดยหม่อง ทินอ่อง  เขากล่าวว่า  สงครามยุทธหัตถีเกิดในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง ความในตอนที่ว่าด้วย  “ความเสื่อมของอาณาจักรบุเรงนอง”  ขอสรุปความเบื้องต้นก่อนเกิดสงครามยุทธหัตถี  เป็นการท้าวความดังต่อไปนี้

          .....พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตในปี ค.ศ.๑๕๘๑ (พ.ศ. ๒๑๒๔)  พระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา  ผู้ที่ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าบุเรงนองคือ “ นันทบุเรง” ราชโอรส  ก่อนหน้านี้พระนเรศวรซึ่งอยู่ในราชสำนักพระเจ้าบุเรงนองได้ ๙ ปี  มีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา  พระมหาธรรมราชาทูลขอตัวกลับเมืองไทย  และทรงให้ครองเมืองพิษณุโลก  ครั้นนันทบุเรงราชโอรสขึ้นครองบัลลังก์หงสาวดี  พระนเรศวรก็เสด็จจากพิษณุโลกไปร่วมในพิธีราชาภิเษก  ถวายความสวามิภักดิ์พร้อมกับเจ้าเมืองต่าง ๆ  ในเวลานั้นปรากฏว่าเจ้าเมืองอังวะวางแผนยึดเมืองพะโค  โดยที่เจ้าเมืองอื่น ๆ ไม่ยอมร่วมมือด้วย  พระเจ้านันทบุเรงยกทัพไปปราบได้สำเร็จ

          .....ในการรบกับพระเจ้าอาซึ่งเป็นเจ้าเมืองอังวะนั้น  พระเจ้านันทบุเรงมีบัญชาให้เมืองต่าง ๆ ยกกำลังไปช่วยรบ  พระนเรศวรก็ได้รับบัญชาให้ไปช่วยรบด้วย  นัยว่า  พระองค์จัดกองทัพขนาดใหญ่  มีแผนจะติดตามพระเจ้านันทบุเรงไปห่าง ๆ ด้วยหมายใจว่า  ถ้าพระเจ้านันทบุเรงพ่ายแพ้ก็จะเข้าโจมตีกองทัพมอญและพม่า  ถ้าพระเจ้านันทบุเรงชนะก็จะถอยทัพกลับอย่างสงบ  และรอโอกาสต่อไป  แผนดังกล่าวทราบถึงพระเจ้านันทบุเรง  พระองค์จึงสั่งให้กองทัพไทยไปยังพะโคด้วยหมายจะจับองค์พระนเรศวร  ขุนนางมอญบางคนลอบส่งข่าวให้พระนเรศวรทราบ  ในขณะที่พระเจ้านันทบุเรงรบชนะอังวะ  พระนเรศวรจึงรวบรวมชาวไทยที่อยู่แถบเมืองพะโคได้ประมาณหนึ่งหมื่นคน  แล้วพากลับเมืองไทย  พระเจ้านันทบุเรงจัดกองทัพส่วนหนึ่งให้เร่งติดตามทัพระนเรศวร  จนถึงแม่น้ำสะโตงเขตแดน  พระนเรศวรพากองทัพไทยข้ามแม่น้ำไปได้อย่างปลอดภัย  แล้วใช้พระแสงปืนยาวยิงข้ามแม่น้ำสะโตงไปถูกแม่ทัพพม่าเสียชีวิต  กองทัพพม่าจึงล่าถอยไป

          .....พระเจ้านันทบุเรงยกทัพตีกรุงศรีอยุธยาในยามที่พระนเรศวรได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเหนือลงไปเตรียมรับศึกอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก  พระเจ้านันทบุเรงยึดกรุงศรีอยุธยามิได้  จึงถอยทัพกลับไป  จากนั้นแล้วยังยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ๒ ครั้ง  คือ  ในปี ค.ศ. ๑๕๘๕ และ ๑๕๘๖ (พ.ศ. ๒๓๒๘, ๒๑๒๙)  แต่ก็พ่ายยับเยินกลับไปทั้ง ๒ ครั้ง  แล้วยังทรงพยายามตีกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นครั้งที่ ๔ ที่ ๕  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ  จนถึงสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่พม่าเสียหายมาก  คือสงครามยุทธหัตถี  หม่อง ทินอ่อง  เขียนว่าดังต่อไปนี้

           “ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๙๒ ( พ.ศ. ๒๑๓๕)  พระองค์ทรงเกณฑ์รี้พลจำนวนมากท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน  ยกทัพไปรุกรานไทยอีกเป็นครั้งที่ ๕  พระโอรสองค์ใหญ่ผู้เป็นรัชทายาทคุมทัพล่วงหน้าไปก่อน  และถูกกองทัพพระนเรศวรโจมตี  บัดนั้นพระราชบิดาสวรรคตไปแล้ว  และพระนเรศวรได้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า  “สมเด็จพระนเรศวร”  พระมหาอุปราชกับกษัตริย์ไทยทรงกระทำยุทธหัตถี  และพระมหาอุปราชถูกฟันขาดบนคอช้าง  พระเจ้านันทบุเรงเสียพระทัยมาก  ให้ยกกองทัพกลับ  ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรทรงพอพระทัยที่ข้าศึกยอมแพ้  แต่ก็ทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ได้ฆ่าเพื่อนเล่นตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ในราชสำนักบุเรงนอง  พระองค์ทรงสร้างเจดีย์เล็ก ๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ สถานที่ชนช้าง  และเสด็จกลับอยุธยา....”

          ..... หนังสือประวัติศาสตร์พม่าที่ ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนนี้  แม้จะเขียนในยุคปัจจุบัน  แต่เขาก็ได้รวบรวมจากเอกสารเก่า  และคำบอกเล่าที่เป็นตำนาน  เรื่องที่เขาเขียนจึงน่าเชื่อถือได้พอสมควร  เฉพาะลำดับกษัตริย์พม่าที่ว่า  นันทบุเรงเป็นโอรสที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากบุเรงนอง  ไม่น่าจะผิดพลาด  แต่เรื่องในเมืองไทยหลายเรื่องที่เขาเขียนไม่ตรงกับที่คนไทยเรียนรู้สืบทอดกันมา

          ส่วนสงครามยุทธหัตถี  คือการชนชนช้างระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา  น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้านันทบุเรง  ตามประวัติศาสตร์พม่าของ หม่อง ทินอ่อง  มากกว่า

          ดังนั้นเรื่องประวัติศาสตร์จึงควรต้องศึกษากันต่อไป  โดยตัดความคิดที่เป็น  “ชาตินิยม”  ออกไปกองไว้อีกส่วนหนึ่งก่อน

          .....พรุ่งนี้กลับเข้าดูความในพระราชพงศาวดารหลักของไทยบ้างครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กลอน123, กอหญ้า กอยุ่ง, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #140 เมื่อ: 01, กุมภาพันธ์, 2562, 10:17:59 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- พระยาละแวกตีไทย -

กลับเข้าตรงพงศาวดารหลัก
ที่ประจักษ์แจ่มแจ้งหลายแห่งหน
พระนารายณ์ให้จารเหตุการณ์สกล
ตั้งแต่ต้นไว้เห็นเป็นตำรา

เรียงลำดับตามปีเรื่องที่เกิด
เป็นการเปิดปมที่มีปัญหา
เรื่องการรบกับละแวกที่แทรกมา
อยู่ในคราพม่าที่โจมตีไทย....


          อภิปราย ขยายความ...............

          กลับเข้าไปดูความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้บันทึกเรื่องราวไว้เรียงปีตั้งแต่ต้นมา  ดังได้เสนอก่อนหน้านี้แล้ว  ในตอนที่ว่าด้วยสงครามช้างเผือกซึ่งพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตก  แล้วปราบดาภิเษกให้พระมหาธรรมราชาเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๒  ปีรุ่งขึ้น  พระยาละแวกยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแล้วพ่ายกลับไป  ปี พ.ศ. ๒๑๑๔ สมเด็จพระมหาธรรมราชาสถาปนาพระนเรศวรเป็นมหาอุปราชเสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพระพิษณุโลก  จากนั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้บันทึกเรื่องราวไว้ดังต่อไปนี้

          .....” ศักราช ๙๓๗ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๑๘)  พระยาละแวกยกทัพเรือมายังพระนครศรีอยุธยาในวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๒ เดือน ๑ นั้น  ชาวเมืองละแวกตั้งทัพเรือตำบลพะแนงเชิง  และได้รบพุ่งกัน  ครั้งนั้นเศิกละแวกต้านมิได้เลิกทัพกลับไป  และจับเอาคนปักษ์ใต้ไปครั้งนั้นมาก  ในปีนั้นน้ำ ณ กรุงศรีอยุธยาน้อย”

           .....“ ศักราช ๙๔๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๒๑)  พระยาละแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรี  มิได้เมือง  และชาวละแวกนั้นกลับไป  ครั้งนั้นพระยาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองละแวก  มาสู่พระราชสมภาร  ครั้นอยู่มาพระยาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง”

           .....“ ศักราช ๙๔๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๒๓)  รื้อกำแพงกรุงพระนครออกเถิงริมแม่น้ำ”

           ..... “ ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔)  ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ  คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมากและยกมาจากเมืองลพบุรี  และยืนข้างประตูหัวตรี  และแขกบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง  และในปีนั้นมีหนังสือมาแต่เมืองหงสาว่า  ปีมะเส็งตรีศกนี้  อธิกมาสมิได้  ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุธยานี้มีอธิกมาส  อนึ่ง  ในวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒  รู้ข่าวมาว่า  พระเจ้าหงสานฤพาน  อนึ่ง  ในเดือน ๓ นั้น  พระยาละแวกยกพลมาเมืองเพชรบุรี  ครั้นนั้นเสียเมืองเพชรบุรีแก่พระยาละแวก”

          เรื่องราวที่ระบุวัน เดือน ปี เวลา  อย่างชัดเจนเช่นนี้  เป็นที่ยอมรับกันว่า  “เป็นประวัติศาสตร์”  อันเชื่อถือได้  จากบันทึกนี้เห็นได้ว่า  พระยาละแวกพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาฉวยโอกาสในขณะที่กรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า  ผลัดแผ่นดินใหม่  อยู่ในภาวะอ่อนแอ  จึงยกทัพมาหมายปล้นเอากรุงศรีฯเป็นของกัมพูชา  ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ  พระยาจัมปาตายในที่รบ  ครั้งที่ ๒ ยกทัพเรือเข้ามาตั้งที่วัดพนัญเชิง  แต่ถูกต้านตีแตกพ่ายกลับไป  คราวนี้ได้กวาดต้อนคนไทยในภาคใต้ไปกัมพูชาเป็นจำนวนมาก  ครั้งที่ ๓ มาในปี พ.ศ. ๒๑๒๑  แต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรี  แต่ปล้นเอาเมืองมิได้อีกตามเคย  ในปีเดียวกันนั้น  พระยาจีนจันตุ  หนีมาจากกัมพูชาขอเข้าอยู่ในโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  แต่อยู่ไม่นานก็หนีกลับคืนไป

          เป็นเพราะถูกพระยาละแวกยกทัพมารุกรานซ้ำซาก  ในปี พ.ศ. ๒๑๒๓ พระเจ้าบุเรงนองจึงอนุญาตให้พระมหาธรรมราชารื้อกำแพงเมืองเก่า  ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่  ขยายอาณาเขตออกไปถึงริมแม่น้ำ  รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๑๒๔  เกิดขบถขึ้นในสยาม  โดย “ผีบุญ” ชื่อญาณประเชียร  ชาวเมืองลพบุรี  ตั้งตนเป็นผู้วิเศษขลังทางวิชาอาคม  มีผู้คนสมัครเข้าเป็นบริวารมาก  จนคิดกำเริบเป็นขบถ  ยกกำลังเข้าปล้นกรุงศรีอยุธยา  ขี่ช้างมายืนข้างประตูหัวตรี  บัญชาการให้กองกำลังของตนเข้าปล้นเมือง  แต่ก็ถูก  “แขกบรเทศ”  ในกรุงใช้ปืนยิงจนถึงแก่ความตายบนคอช้างในที่สุด

          ในปีเดียวกันนั้น  คือ พ.ศ. ๒๑๒๔  พระเจ้าบุเรงนองมีหนังสือมาถึงพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า  ในปีนี้ไม่มี  “อธิกมาส” (เดือนแปดสองหน)  แต่ทางสยามยังคงถือว่าเป็นปีอธิกมาสตามคติไทย  ครั้นถึงวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒  รู้ข่าวมาว่า  พระเจ้าบุเรงนองสวรรคต  และในเดือน ๓ พระยาละแวกยกพลมาเอาเมืองเพชรบุรีอีก  คราวนี้กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองเพชรบุรีให้แก่พระยาละแวกไปจนได้

          บันทึกตรงนี้บอกชัดเจนว่า  พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๒๔  ก่อนเกิดสงครามยุทธหัตถี  ดังนั้น  ถ้าถือเอาตามนี้  คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าที่ว่า  มหาอุปราชาเป็นโอรสพระเจ้าบุเรงนอง  และชนช้างกับพระนเรศวรสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  และความของวันวลิตในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ว่า  พระมหาอุปราชาเป็นพระเจ้าแผ่นหงสาสืบแทนพระเจ้าบุเรงนองก่อนแล้ว  จึงยกมาทำยุทธหัตถีกับพระนเรศวร  จึงเป็นอันต้องตกไปด้วยกัน

          หลังจากพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว  และไทยเสียเมืองเพชรบุรีให้เขมรไปแล้ว  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้อ่านความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), , กอหญ้า กอยุ่ง, กลอน123, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #141 เมื่อ: 02, กุมภาพันธ์, 2562, 10:23:48 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- พม่า เขมร รุมรบไทย -

ข่าวพม่าบุกไทยหลายกระแส
อีกขะแมร์ลอบมาไม่ปราศรัย
อยุธยาธานีมากมีภัย
เป็นเหตุให้นเรศวรด่วนป้องกัน

ต้อนครัวลงจากเหนือเพื่อต้านศึก
ไทยผนึกกำลังรับยามคับขัน
ต้องรบทั้งพม่าเขมรเป็นพัลวัน
ทนฟาดฟันริปู “สู้ยิบตา”....


          อภิปราย ขยายความ................

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเรื่องราวหลังจากพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตและกรุงศรีอยุธยาเสียเมืองเพชรบุรีให้แก่พระยาละแวก  สรุปความได้ว่า  ในปี พ.ศ. ๒๑๒๕  พระยาละแวกแต่งทัพเข้ามาจับคนไทยปลายด่านตะวันออกไปจำนวนไม่น้อย  ปี พ.ศ. ๒๑๒๖ เกิดอัคคีภัยในกรุงศรีอยุธยา  เพลิงไหม้ตั้งแต่จวนกลาโหมแล้วลามไปในพระราชวังถึงท้ายเมือง  ครั้นเพลิงสงบลงแล้วก็ได้ข่าวว่า  พม่าทำทางเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยา  นัยว่า  เป็นทางสำหรับเดินทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า (นเรศวร) จัดกองทัพไปช่วยพระเจ้านันทบุเรงที่ทำศึกกับพระเจ้าอาแห่งเมืองอังวะ  ในระหว่างนั้น  ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลและช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน  งาช้างสวัสดิมงคลข้างซ้ายลุ่ย (หลุด) ก่อนที่จะเดินทัพไปหงสา  โหรทำนายว่าเป็นลางร้ายห้ามยาตรา  พระนเรศวรตรัสว่าได้เตรียมการไว้พร้อมแล้วจำต้องไป  วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จออกตั้งทัพตำบลวัดยม  ท้ายเมืองกำแพงเพชร  วันนั้นเกิดแผ่นดินไหวเป็นอัศจรรย์  ยกทัพไปถึงเมืองแกรงแล้วยกกลับกรุงศรีอยุธยา

          ทางเมืองพิษณุโลกนั้น  เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น  กล่าวคือ  วันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐  “แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลกป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก
          อนึ่ง  เห็นสตรีภาพผู้หนึ่งหน้าประดุจหน้าช้าง  และทรงสัณฐานประดุจงวงช้างและหูนั้นใหญ่  นั่งอยู่ ณ วัดปราสาทหัวเมืองพิษณุโลก
          อนึ่ง  ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ ณ ท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มลงกับที่บัดเดี๋ยวนั้น
          อนึ่ง  เห็นตั๊กแตนบินมา ณ อากาศเป็นอันมากและบังแสงพระอาทิตย์  บดมาแล้วก็บินกระจายสูญไป”

          ในปีเดียวกันนี้  พระนเรศวรได้ ”เทครัว” อพยพผู้คนจากเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุธยา  เพื่อเตรียมรับศึกหงสาวดี

          พระเจ้านันทบุเรง  ให้พระสาวถีและพระยาพสิมยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในปีเดียวกันนี้เอง ณ วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ เวลาเที่ยงคืนเศษ  พระนเรศวรเสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน  แล้วเข้าโจมตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีไป  ในเวลานั้นเกิดสิ่งแปลกขึ้น  คือ  ม้าตัวหนึ่งตกลูก  มีหัวเดียว  ลำตัวเป็น ๒ ตัว  มีเท้า ๔ เท้า

          ลุปี พ.ศ. ๒๑๒๘ เจ้าสาวถียกทัพมาอีกครั้งหนึ่ง  ตั้งทัพที่ตำบลสะเกษ  และตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนยี่ถึงเดือน ๔  ครั้นถึงวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕  พระนเรศวรเสด็จพยุหบาทตราทัพชัยตำบลหล่มพลี  วันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จจากทัพชัยโดยทางชลมารค (ทางแม่น้ำเจ้าพระยา)ไปทางป่าโมก ยามนั้นเกิดเป็นลาง  กล่าวคือ  มีนกกระทุงเป็นฝูงใหญ่บินมาทั้งซ้ายขวาเป็นอันมาก  นำหน้าเรือพระที่นั่งไป       ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีปออกดาช้างม้าทั้งปวง ณ ริมน้ำ  ปรากฏว่าพระอาทิตย์ทรงกลด  รัศมีกลดนั้นส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่งมีทรงสัณฐานประดุจเงากลดมากั้นช้างพระที่นั่ง  ทรงตีทัพเจ้าสาวถี  ที่ตำบลสระเกษแตกพ่ายไป

          ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พระมหาอุปราชายกพลมาทางกำแพงเพชร  และตั้งทำนาอยู่ที่นั่น

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๙ วันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒  พระเจ้า“งาจีสยาง” (นันทบุเรง) ยกทัพมาถึงพระนครศรีอยุธยา  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒  ตั้งทัพรายล้อมพระนคร  โดยพระองค์ตั้งทัพหลวง ณ ตำบลขนอนปากคู  พระมหาอุปราชาตั้งทัพที่ขนอนบางตนาว  พระนเรศวรทรงนำกำลังออกสู้รบกันเป็นสามารถ  ครั้นพระเจ้าหงสาวดีสู้รบจนสุดความสามารถแล้วตีหักเอาเมืองมิได้  ก็ถอยทัพกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๓๐ วันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕  พระนเรศวรยกกองเรือเข้าตีทัพพระมหาอุปราชาที่ขนอนบางตนาว  ค่ายพระมหาอุปราชาแตก  หนึไปตั้ง ณ บางกระดาน
          วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๗  พระนเรศวรเสด็จพระราชดำเนินพยุหบาทตราออกไปตั้งค่าย ณ วัดเดช
          วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗  เอาปืนใหญ่ลงเรือสำเภาไปยิงค่ายพระเจ้าหงสาจนพระเจ้าหงสาต้านมิได้  จึงเลิกทัพไปตั้ง ณ ป่าโมก
          วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  ออกไปตีค่ายข้าศึกหลายค่ายแตกพ่าย  ไล่ฟันแทงข้าศึกไปจนถึงค่ายพระเจ้านันทบุเรง
          วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  เสด็จออกตั้งทัพซุ่ม ณ ทุ่งหล่มพลี  และคอยออกตีข้าศึก  ครั้งนั้นรบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอนกัน  ทรงม้าพระที่นั่งใช้พระแสงทวนแทงเหล่าทหารตายไม่น้อย  ข้าศึกพ่ายหนีไปเข้าค่าย  ทรงไล่ไปจนถึงหน้าค่าย  จากนั้นทรงออกไปตีทัพพระยานครที่ปากน้ำมุทุเลาจนแตกพ่ายไป  พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าไม่อาจเอากรุงศรีอยุธยาได้แล้วจึงล่าทัพกลับไป

          ในขณะที่ทำศึกติดพันกันอยู่กับพระเจ้าหงสาวดีนั้น  พระยาละแวกฉวยโอกาสยกทัพมาตั้ง ณ บางซาย  ในเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าหงสาวดีถอยทัพกลับไปแล้ว  สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวง ณ บางกระดาน  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ เสด็จพยุหบาทตราจากบางกระดานไปตั้งทัพชัย ณ ชายเคือง  แล้วเสด็จไปละแวก  ครั้งนั้นทรงได้ช้างม้าผู้คนกลับมากรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก....

          ....ยังไม่ถึงเรื่องราวตอนกระทำยุทธหัตถีอีก  ยุติไว้ตรงนี้ก่อน  พุร่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, กอหญ้า กอยุ่ง, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #142 เมื่อ: 03, กุมภาพันธ์, 2562, 10:19:12 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- วันยุทธหัตถีที่ถูกต้อง -

พม่าเว้นรุกไทยไว้สี่ฉนำ
เตรียมกระทำศึกแรงใหญ่แกร่งกล้า
นเรศวรกรุงศรีอยุธยา
เตรียมตั้งท่ารับศึกไม่นึกกลัว

มหาธรรมราชาสวรรคต
นเรศวรทรงยศเจ้าอยู่หัว
มหาอุปราชามาพันพัว
ตัวต่อตัวชนช้างอย่างชาติชาย

ประวัติศาสตร์ประกาศเกียรติก้องศักดิ์ศรี
ประชาชีจำอยู่มิรู้หาย
มหาอุปราชาชีวาวาย
ฉากสุดท้ายปิดลงหนึ่งสงคราม.


          อภิปราย ขยายความ ..................

          พระเจ้านันทบุเรงถอนทัพถอยไปตั้งหลักที่หงสาวดี  พระนเรศวรจึงยกกำลังไปปราบพระยาละแวก  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกไว้สั้นๆว่า   “...เสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก”   แต่ในพงศาวดารไทยฉบับปลีกทั่วไป  กล่าวโดยพิสดารว่า  สมเด็จพระนเรศวรทรงจับตัวพระยาละแวกได้  นำมากระทำปฐมกรรมบั่นคอเอาเลือดล้างพระบาท  ในคราวนั้น  กวาดต้อนครัวเขมรมามาก  มีพระศรีสุพรรณ  อนุชาพระยาละแวกพร้อมราชบุตรธิดามาไว้กรุงศรีอยุธยาด้วย  โดยพระราชพงศาวดารกรุงเก่ามิได้กล่าวถึงปฐมกรรมพระยาละแวก  และเห็นจะจริงตามเอกสารที่ปรากฏในภายหลัง  อย่างน้อย ๓ ชิ้น  คือ  เอกสารสเปนภาคที่ ๒  และ  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  กับ  พงศาวดารละแวก  ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า  สมเด็จพระนเรศวรมิได้ประหารชีวิตพระยาละแวก  ดังจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์หลังจากพระเจ้าบุเรงนองถอนทัพกลับไปแล้วว่า .....

           “ศักราช ๙๕๐ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๓๑)  ณ วันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒  แผ่นดินไหว”
           “ศักราช ๙๕๑ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๓๒)  ข้าวแพงเกวียนละสิบตำลึง  ปิดตราพระยานารายณ์ชับ ณ วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒  แผ่นดินไหว”
           “ศักราช ๙๕๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๓๓)  วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน  วันอังคารแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒  มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี  ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมตำบลจระเข้สามพัน”

          พระเจ้านันทบุเรงกลับไปตั้งหลักที่หงสาวดี  ใช้เวลาเตรียมการ  “เผด็จศึก”  กรุงศรีอยุธยาอยู่นานถึง ๔ ปี  ในช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์ทางกรุงศรีอยุธยา  คือ  แผ่นดินไหว ๒ ปีติดต่อกัน  และเกิดข้าวยากหมากแพง  ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พฤฒาราช) เสด็จสวรรคต  พระนเรศวรมหาอุปราชทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  ไม่ทันไร  พระเจ้านันทบุเรงก็แต่งกองทัพให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยเดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี  สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปต่อต้าน  รบกับกองทัพหน้าที่ตำบลจระเข้สามพัน (อำเภออู่ทอง) สุพรรณบุรี  กองทัพหน้าแตกพ่ายไป  จับตัวพระยาพสิมแม่ทัพหน้าได้  กองทัพมหาอุปราชาล่าถอยกลับไป

           “ศักราช ๙๕๔ (พ.ศ. ๒๑๓๕) วันศุกร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒  อุปราชายกมาแต่หงสา ณ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑  เพดานช้างต้นพระยาไชยานุภาพออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี  ครั้นเถิงเดือนยี่  มหาอุปราชามาเถิงแดนเมืองสุพรรณบุรี  แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ  วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท  เสด็จพยุหบาทตราโดยทางชลมารค  ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี  ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน แล ณ วันพุธ ขึ้น ๓๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท  เสด็จพยุหบาทตราโดยชลมารค  อนึ่ง  เมื่อใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น  เห็นพระสาริริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น  เถิงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท  เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ  เสด็จออกรบมหาอุปราชา  ตำบลหนองสาหร่าย  ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์  และฝ่าย(ฝ่า) ฤกษ์หน่อยหนึ่ง  อนึ่ง  เมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น  สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง  อนึ่ง  เมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น  หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน  และเอาคืนขึ้นใส่เล่า  ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น  และช้างต้นพระยาไชยานุภาพซึ่งทรงและได้ชนด้วยมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้น  พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา”

          จึงเป็นที่ยุติได้ว่า  การทำยุทธหัตถีอันเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่นี้  เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้านันทบุเรงแห่งพม่า  และ  รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา  ไม่ใช่รัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  กับ พระมหาธรรมราช  ตามคำให้การชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด

          แต่เดิมมานั้น  ทางรัฐบาลไทยสมัยประชาธิปไตยประกาศให้ถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี  เป็นวันยุทธหัตถี  และ  วันกองทัพไทย  ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้  มีนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นใหม่หลายท่าน แสดงความคิดเห็นว่า  วันที่ ๒๕ มกราคม ปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น  ไม่ตรงกับวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ ซึ่งเป็นวันทำยุทธหัตถี  ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ดังนั้น  คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงมอบหมายให้  ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร (ดร.) ราชบัณฑิต  คำนวณหาความถูกต้อง  และผลการคำนวณที่ถูกต้องคือ  วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ จุลศักราช ๙๕๔ นั้น  ตรงกับ  วันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕

          เมื่อเป็นเช่นนี้  ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘  มีประกาศว่า  จากนี้ไปให้ถือเอาวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี  เป็นวันยุทธหัตถี  ให้มีการวางพานพุ่มสักการะ  และไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ....

          ...........พรุ่งนี้จะขอสรุปเรื่องราวอันสับสนการสงครามพม่า-ไทยที่ผ่านมาอีกทีครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ ธันวาคม ๒๕๖
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #143 เมื่อ: 04, กุมภาพันธ์, 2562, 10:32:24 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- สรุปเรื่องเสียกรุงครั้งแรก -

สรุปความสับสนเรื่องชนช้าง
เป็นแบบอย่างถูกต้องของสยาม
การเสียกรุงครั้งแรกแตกใจความ
เล่ากันตามความจำเป็นตำรา

ข้อปลีกย่อยฝอยความตามที่กล่าว
เป็นเรื่องราวเดียวกันไร้ปัญหา
ผิดแต่กาลนามบุคคลคละปนมา
ขอตรวจตรารวมความตามเป็นจริง


          อภิปราย ขยายความ..................

          ขุนหลวงหาวัดกับชาวกรุงเก่าเล่าความตอนทำยุทธหัตถี  จัดว่าละเอียดแล้ว  แต่ วันวลิต กลับบรรยายได้ละเอียดพิสดารกว่า  รวมทั้ง ดร.หม่อง ทินอ่อง  ก็ให้รายละเอียดได้ดี  แต่ทุกสำนวนที่เล่าเรื่องนี้ขาดหลักการสำคัญของประวัติศาสตร์  นั่นคือ  วันเวลา  สถานที่  บุคคล  ที่ชัดเจน  ดังนั้น  เมื่อเรื่องจบตอน “เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก” แล้ว  ใคร่ขอสรุปเรื่องให้ลงตัว  เพื่อความเข้าใจดีขึ้น  ดังต่อไปนี้

          ปี พ.ศ. ๒๐๙๑  พระเจ้าตะเบงชเวตี้  หรือ  เมงตยาชเวที  ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  “หงสาปังเสวกี”  ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช  ครองกรุงศรีอยุธยาได้ ๗ เดือน  กรุงศรีอยุธยาสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและพระบรมดิลก  มเหสีและราชธิดาพระมหาจักรพรรดิในการชนช้างกับพระเจ้าหงสา  พระเจ้าตะเบงชเวตี้เอาตัวพระมหาธรรมราชา กับ พระราเมศวร พระยาปราบช้างต้นพระยานุภาพไปถึงกำแพงเพชรแล้วปล่อยพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวรคืนพระนครศรีอยุธยา  อยู่มาถึงปี พ.ศ. ๒๐๙๓  พระเจ้าตะเบงชเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์  อาณาจักรพม่าแตกเป็นเสี่ยง ๆ  “บุเรงนองจอเดงนรธา”  ใช้เวลากอบกู้อาณาจักรพม่าขึ้นใหม่ด้วยเวลา ๕ ปีเศษ

          ปี พ.ศ. ๒๑๐๖  พระเจ้าบุเรงนอง  หรือ  “พระเจ้าช้างเผือก”  ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  “พระเจ้าหงสานิพัตร”  ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พระมหาจักรพรรดิยอมถวายเครื่องบรรณาการขอเป็นพระราชไมตรี  พระเจ้าบุเรงนองขอเอาพระราเมศวรและช้างเผือก ๔ เชือก ไปหงสาวดีด้วย  มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า  กล่าวว่า  พระราเมศวรไปกับกองทัพพม่าร่วมรบยังเมืองแห่งหนึ่งแล้วสิ้นพระชนม์ในที่รบ  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า  ในคราวเดียวกันนั้น  พระเจ้าบุเรงนองทรงพาพระมหาจักรพรรดิไปหงสาวดีด้วย  โดยให้พระมหินทราธิราช  เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแทนพระราชบิดา  ต่อมาพระมหาจักรพรรดิทรงขอผนวชแล้วขออนุญาตเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาในสมณะเพศ  เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีฯ แล้วลาพระผนวชกลับขึ้นครองราชสมบัติดังเดิม  พระเจ้าบุเรงนองทรงพิโรธ  จึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครา  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๑ ในขณะที่บุเรงนองล้อมกรุงอยู่นั้น  พระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์  พระมหินทราธิราชขึ้นครองกรุงศรีฯ แทนพระราชบิดา  ทั้งสองประเทศทำศึกสงครามกันอยู่ ๑ ปีเต็ม  จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๑๑๒

          พระเจ้าบุเรงนองปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม  แล้วทรงนำพาพระมหินทร์ไปหงสาวดี  พร้อมเอาพระนเรศวรกับพระสุวรรณกัลยาไปเป็นตัวประกัน (ดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว) หลังจากชนะไทยอย่างเด็ดขาดแล้ว  พระเจ้าบุเรงนองครองราชย์สมบัติอยู่มาได้ ๑๒ ปี  ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๒๔

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๘  หลังจากนันทบุเรงราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง  แล้วตรัสให้พระเจ้าสาวถียกพลมาตามจับตัวพระนเรศวรที่หนีจากหงสาวดีมาประทับอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก  พระเจ้าสาวถีแตกพ่ายกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๙  พระเจ้านันทบุเรงซึ่่งพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  พระเจ้า “งาจีสยาง”  ทรงยกทัพใหญ่มาด้วยพระองค์เอง  เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน  พระนเรศวรซึ่งอพยพครัวจากเมืองเหนือลงมาตั้งรับศึกอยู่ ณ พระ นครศรีอยุธยานั้น  ได้ออกทำการรบ  และปล้นค่ายพม่าเป็นหลายครา  ค่ายพม่าแตกค่ายแล้วค่ายเล่า  จนพระเจ้านันทบุเรงอ่อนกำลังลง  จึงถอนทัพล่าถอยกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต  พระนเรศวรราชโอรสทรงขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทน  ในปีนั้น  พระเจ้านันทบุเรงแต่งทัพให้พระมหาอุปราชายกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจน์  สมเด็จพระนเรศวรทรงยกกองทัพไปตีสะกัดที่ตำบลจระเข้สามพัน (อู่ทอง) สุพรรณบุรี  จับตัวพระยาพสิมแม่ทัพหน้าได้  มหาอุปราชาล่าทัพถอยกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๓๕  พระมหาอุปราชาทรงจัดทัพใหญ่ยกมาทางกาญจนบุรีอีกครา  ตั้งทัพอยู่ ณ ตำบลพังตรุ  สมเด็จพระนเรศวร  ทรงยกทัพจากกรุงศรีอยุธยา  ผ่านป่าโมก  วิเศษไชยชาญ  ศรีประจันต์  ไปถึงตำบลหนองสาหร่าย

          และ ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒  ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕  ทรงทำยุทธหัตถี  ผลปรากฏว่า  พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง  ดังความที่แสดงมาแล้วนั้นแล

          สมเด็จพระนเรศวรมีพระนามเรียกต่างกันไป  ชาวกรุงเก่าเรียกว่า “พระนเรศวร”   ขุนหลวงหาวัดเรียก “พระนเรศร์”   วันวลิตเรียก “พระนริศ”   แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ในสมเด็จพระนารายณ์เรียกว่า “สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า”  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #144 เมื่อ: 05, กุมภาพันธ์, 2562, 09:56:41 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- เผามอญแล้วตีเขมร -

พระนเรศวรโกรธมอญใจร้อนเร่า
จึงสั่งเผามอดไหม้สมใจยิ่ง
แล้วยกทัพทันใดไม่ประวิง
มุ่งไปชิงกรุงละแวกตีแหลกลาญ

“นักพระสัฏฐา”พระยาละแวก
เหมือนทรงแทรกดินหนีมิอาจต้าน
หลบไปอยู่แดนลาวจนวายปราณ
มีเอกสารต่างชาติบอกชัดเจน...


          อภิปราย ขยายความ............

          หลังจากทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชาแล้ว  สมเด็จพระนเรศวรทรงเริ่มจัดการปกครองบ้านเมือง  ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าที่บันทึกไว้ดังต่อไปนี้

           “ศักราช ๙๕๕ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๓๖) วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐  เสด็จเถลิงปราสาท  ครั้งนั้น  ทรงพระโกรธแก่มอญ  ให้เอามอญเผาเสียประมาณ ๑๐๐  ณ วันศุกร์ ขึ้น๑๐ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๒ บาท  เสด็จพยุหบาทตราไปเอาเมืองละแวก  และตั้งทัพชัยตำบลบางขวด  เสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีสุพรรณในวันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำนั้น”

          ... ความในคำให้การชาวกรุงเก่า กับ ขุนหลวงหาวัด  และพงศาวดารอื่น ๆ ไม่กล่าวถึงการทรงพระโกรธมอญ  และสั่งให้เผาผลาญชีวิตเสียประมาณ ๑๐๐ คน  แต่จากผลงานการวิจัยของ ”สุภาภรณ์ โอเจริญ”  เรื่อง  “ชาวมอญในประเทศไทย” ซึ่ง “อรวรรณ ทับสกุล” ค้นคว้ามาเผยแพร่  ระบุว่า  ในปี พ.ศ. ๒๑๓๖ นั้น  สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปตีหงสาวดี  ตั้งทัพล้อมเมืองเมาะตะมะอยู่ ๓ เดือน  ได้ข่าวว่า พระเจ้าแปร  พระเจ้าอังวะ  พระเจ้าตองอู  จะยกทัพมาช่วยหงสาวดีจนมีกำลังมากขึ้น  จึงทรงล่าทัพถอยกลับคืนมา  ต่างจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่าที่ว่า  โกรธชาวมอญแล้วสั่งประหารเสียด้วยการเผาทิ้งไปประมาณ ๑๐๐ คน  อาจจะเป็นไปได้ว่า  การยกไปล้อมเมาะตะมะเมืองมอญนั้น  ทรงฆ่ามอญไป ๑๐๐ คนเศษก็ได้

          การไปตีเมืองละแวกครั้งที่ ๒ นี้  พงศาวดารฉบับต่าง ๆ พรรณนาว่าจับตัว “นักพระสัฏฐา” พระยาละแวกได้  แล้วทำปฐมกรรมด้วยการตัดหัวเอาเลือดล้างพระบาท” (คนเขียนประวัติศาสตร์คนนี้เขียนด้วยความเคียดแค้นชิงชังพระยาละแวก  จึงเขียนให้สาแก่ใจตัวเอง)  เป็นความคลาดเคลื่อนไปจากความจริง  ซึ่งมีหลักฐานเอกสารของชาวต่างชาติบันทึกเรื่องไว้อีกอย่างหนึ่ง  เช่น  เอกสารสเปนภาคที่ ๒ พิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ  “กรุงศรีอยุธยาในเอกสารสเปน”  โดย  “อาจารย์จันทร์ฉาย ภัคอธิคม”  ภาควิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  แปลให้สมาคมประวัติศาสตร์ ฯ พิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒  เอกสารชิ้นนี้  บันทึกเรื่องราวที่ทางกัมพูชาติดต่อให้สเปนช่วยรบกับกรุงศรีอยุธยา  ดังข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้

           “ใน ค.ศ.(๑๕)๙๔ (๒๑๓๗)  เมื่อนาย ดอนรุยส์ ดัสมารีญัส  ได้เป็นผู้ว่าราชการเรือสำเภาลำหนึ่งได้มาถึงฟิลิปปินส์พร้อมชาวกัมพูชาและชาวสยามหลายคน  ชาวจีนมากมายและชาวสเปน ๓ คน  คนหนึ่งเป็นชาวคาสติล  ชื่อนายบลัส รุยส์  และอีก ๒ คนเป็นชาวโปรตุเกส  ชื่อ  บันตาเลอน การ์เนโร  และ  นายอันโตนิโอ มาชาโด  ขณะที่พวกเขาอยู่ในเมืองจัตุรมุขในกัมพูชา  พร้อมด้วยสมเด็จพระราชโองการ  พระบรมราชา (สมเด็จนักพระสัตถา) ซึ่งทรงเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้น  พระเจ้ากรุงเสียน (คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  ได้ทรงโจมตีพระเจ้ากรุงกัมพูชาด้วยกำลังรี้พลและช้างมากมาย  พระองค์ทรงพิชิตแผ่นดินและทรงยึดพระราชวัง  และทรงริบพระราชทรัพย์พระเจ้ากรุงกัมพูชา  พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้เสด็จหนีภายในประเทศพร้อมด้วยพระมเหสี  พระชนนี  พระขนิษฐ  ภคินี  และพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง  และพระโอรสพระองค์หนึ่ง  ไปอยู่อาณาจักรลาว (Laos)  พระเจ้ากรุงเสียนได้เสด็จเลิกทัพกลับโดยตรัสให้นายทัพนายกองบางคนอยู่รักษากัมพูชา..........”

          ความตรงนี้สรุปได้ว่า  เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวกแตกยึดกัมพูชาได้สิ้นแล้ว  ทรงให้คุมทรัพย์สินและเชลยกลับกรุงศรีอยุธยาทางบก  ที่กลับทางบกมิได้ก็ให้ลงเรือสำเภากลับสยาม  คนในเรือสำเภานั้นมีชาวสเปน  ชาวโปรตุเกส  ชาวจีน  ชาวเขมร  รวมอยู่ด้วย  ปรากฏว่าชาวสเปนร่วมมือกับชาวจีนฆ่าคนไทยผู้ควบคุมเรือเสียแล้วยึดเรือได้  นำไปฟิลิปปินส์  ดังความปรากฏในเบื้องต้น  เป็นเอกสารยืนยันได้ว่า  พระยาละแวกมิได้ถูกสมเด็จพระนเรศวรจับตัวได้แล้วให้ประหารเสีย  ดังความในพงศาวดารไทยฉบับปลีกย่อยกล่าว  และยังมีข้อความในเอกสารฉบับเดียวกันกล่าวไว้อีกว่า....

           “ปีที่แล้ว ค.ศ.๑๕๙๖ (๒๑๓๙)  นายดอน รุยส์ เด ลัส มารีญัส  ผู้ว่าราชการแห่งหมู่เกาะเหล่านี้ (ฟิลิปปินส์)  ได้ส่งกัปตันฆวน ฆัวเรส กายินาโต  พร้อมด้วยกองทัพเรือติดอาวุธไปช่วยเหลือพระเจ้ากรุงกัมพูชา  ผู้ทรงขอร้องเพื่อปกป้องคุ้มครองพระองค์จากพระเจ้ากรุงเสียนผู้ที่ได้คุกคามพระองค์แล้ว  พระเจ้ากรุงกัมพูชา (นักพระสัตถา) ทรงเสนอที่จะให้มีการแนะนำ (เผยแพร่) ศาสนาคริสต์ในอาณาจักร  และให้มีทางไมตรีกับชาวสเปน  เมื่อความช่วยเหลือ (ของสเปน) ได้ไปถึงกัมพูชาปรากฏว่า  พระเจ้ากรุงกัมพูชาพร้อมพระโอรสธิดาได้เสด็จถอยไปสู่อาณาจักรลาว (Laos)  ด้วยทรงหวาดเกรงพระเจ้ากรุงเสียนผู้ทรงยึดครองอาณาจักรกัมพูชาแล้ว.....”

          เอกสารสเปนทั้ง ๒ ตอนที่ยกมาแสดงนี้ยันยันให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า  สมเด็จพระนเรศวรมิได้จับตัวพระยาละแวกได้ และทรงประหารในพิธีปฐมกรรมดังกล่าว  เรื่องนี้ยังจบไม่ลงครับ  พรุ่งมาว่ากันต่อไปก็แล้วกัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #145 เมื่อ: 06, กุมภาพันธ์, 2562, 10:26:57 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- เหตุให้ตีละแวกก่อนบุกพม่า -

พระยาละแวกปานโจรปล้นสยาม
เหตุแห่งความพินาศชาติเขมร
คบ“ฝรั่งตาน้ำข้าว”ชาวสเปน
ให้ช่วยเข่นฆ่าไทยในสงคราม

พระนเรศวรผู้รู้จำแนก
ตี“ละแวก”ก่อนพม่าไม่มองข้าม
เห็น“ละแวก”เป็นศัตรูจู่คุกคาม
ปล้นไทยยามพันตูคู่ศึกตน....


          อภิปราย ขยายความ........................

          สมเด็จพระนเรศวรหลังจากที่มีชัยพม่าแล้ว  แทนที่จะยกกำลังเข้าตีพม่าที่กำลังบอบช้ำ  พระองค์กลับไปทำเช่นนั้น  ทรงพิจารณาเห็นว่าศัตรูสำคัญของสยามมิใช่พม่า  หากแต่เป็นพระยาละแวกแห่งกัมพูชา  เพราะคอยลอบเข้าตีปล้นไทยในยามที่ทำศึกติดพันอยู่กับพม่า  ดังนั้น  เมื่อศึกหงสาวดีสงบลงแล้วจึงควรต้องตีกรุงละแวกศัตรูสำคัญให้สิ้นเสี้ยนหนามเสียก่อน

          สมเด็จพระนเรศวรกรีธาทัพเข้าย่ำกรุงละแวกจนยับเยิน  สมเด็จนักพระสัตถาผู้เป็นพระยาละแวกพาครัวหลบหนีไปได้ในปี พ.ศ. ๒๑๓๖  กองเรือติดอาวุธของสเปนตามคำขอของพระยาละแวกเดินทางถึงกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๑๓๙  อันเป็นปีที่พระยาละแวกซึ่งหนีไปอยู่ในแดนลาวสิ้นพระชนม์พอดี  กองเรือสเปนจึงมาล่าช้าไปถึง ๓ ปี

          เรื่องพระยาละแวกพาครัวหนีไปหลบซ่อนอยู่ในเขตแดนลาวตามเอกสารสเปนนี้  ความตรงกันกับพงศาวดารละแวกกัมพูชา  ที่กล่าวไว้ว่า

           “สมเด็จพระนเรศวรได้แต่องค์พระศรีสุพรรณมาธิราช  ส่วนพระยาละแวกนั้นได้เสด็จพร้อมพระโอรสสองพระองค์  คือ  พระไชยเชษฐาธิราช  และพระบรมราชาธิราช  ลี้ภัยไปเมืองศรีสุนทร  แล้วต่อมาได้เสด็จไปประทับที่เมืองลาวล้านช้าง”

         เอกสารสเปนกับพงศาวดารละแวกกัมพูชาให้ความตรงกันกับพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมิได้ตัวพระยาละแวก  ได้แต่ตัวสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ  ผู้เป็นพระอนุชา  และเป็นมหาอุปราชกัมพูชาพร้อมครอบครัวมากรุงศรีอยุธยา  ความที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ตัวพระยาละแวกแล้วทรงให้ตัดศีร์ษะเอาเลือดล้างพระบาทนั้น  จึงควรตกไป

           “วันวลิต”  กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งเขาได้จากคำบอกเล่าของชาวสยามในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง  กล่าวไว้ว่าอีกอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

           “หลังจากได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาและกองทัพพะโค  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงรวบรวมกองทัพประกอบด้วยทหารจำนวนมากพอสมควร  ยกไปโจมตีกัมพูชา  โดยมี ออกญาจักรี  และออกญากลาโหม เป็นทัพหน้า  และสมเด็จพระนเรศราชโอรสเป็นทัพหลัง  เมื่อยกทัพถึงพรมแดนกัมพูชา  ออกญาจักรีฉวยโอกาสเข้ายึดเมืองชายแดน  โดยคิดว่าจะทำความดีถวายพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรส  เมื่อพระนเรศเสด็จมาถึงก็ทรงพระพิโรธในการกระทำของออกญาจักรี  มีรับสั่งให้   “ถลกหนังทั้งเป็น”  ทรงตรัสว่า  “พระเจ้าแผ่นดินพระราชบิดาเรา  เป็นผู้สั่งให้เจ้ามาที่นี่  แต่ไม่ได้สั่งให้เจ้าเข้าโจมตี  และเอาชีวิตทหารของเรามาเสี่ยงอันตรายเช่นนี้  เจ้าพยายามจะทำความดีความชอบแข่งกับเรา  เพื่อว่าเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว  ทั้งเราและเจ้าจะได้มีชัยชนะเหมือนกันทั้งสองคน  ด้วยเหตุนี้เจ้าจึงต้องตาย”

          พระนเรศยกทัพต่อไป  ทรงทำลายสถานที่หลายแห่งในกัมพูชาและในที่สุดก็มีชัยต่อพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา  พระองค์พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาและพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์เป็นเชลย  แต่ทรงตั้งให้พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาปกครองแผ่นดินสืบไป  โดยที่พระราชโอรสให้สัญญาว่า  จะไม่ขบถต่อกรุงศรีอยุธยา  และจะต้องเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม”

          แม้วันวลิตจะกล่าวว่า  สมเด็จพระนเรศวรทรงจับตัวพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา (พระยาละแวก) ได้  แต่ก็ไม่กล่าวว่าทรงประหารพระยาละแวกในพิธีปฐมกรรม  และยังกล่าวผิดแผกไปว่า  สงครามทำลายกรุงละแวกนี้  เกิดขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระมหาธรรมราชายังทรงพระชนม์อยู่  สมเด็จพระนเรศวรยังมิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เป็นความต่อเนื่องจากการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา  ซึ่งผิดกาลเทศะเช่นเดียวกับคำให้การชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด

           “ละแวก”  เป็นชื่อเมืองหลวงของกัมพูชา  ที่สมเด็จกัน  หรือ  พระบรมราชาทรงตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๖๙  เมื่อทรงล่วงลับไปแล้ว  สมเด็จนักพระสัตถาทรงครองสืบแทน  ผู้ที่ยกกำลังมารุกรานกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งในขณะที่ไทยกำลังรบติดพันกันอยู่กับพม่านั้น  คือ  นักพระสัตถา  ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาละแวก  ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปตีกรุงละแวกนั้น  พระองค์ทรงติดต่อผู้ว่าราชการแห่งหมู่เกาะพิลิปปินส์  ขอให้ยกกำลังมาช่วยรบกองทัพสยาม  แล้วจะให้สิทธิ์เผยแพร่คริสต์ศาสนาแก่สเปน  แต่นายดอน ลุยส์ เด ลัส มารีญัส  เขาหวังมากกว่านั้น  คือกะว่าเมื่อช่วยรบชนะศึกสยามแล้วเขาจะยึดครองกัมพูชาเสียเลย  แต่เขาส่งกองทัพเรือมาถึงกัมพูชาช้าไป ๓ ปี  เพราะสมเด็จพระนเรศวรตีกรุงละแวกแตกยับเยินในปี พ.ศ. ๒๑๓๖  กรุงละแวกก็ถึงกาลอาวสานในบัดนั้น.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #146 เมื่อ: 07, กุมภาพันธ์, 2562, 10:46:32 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- เผด็จศึกเขมรแล้วตีพม่า -

ปราบละแวกสิ้นฤทธิ์เป็นสิทธิ์ขาด
ความเก่งกาจเกริกไกรขยายผล
จัดระเบียบบ้านเมืองรอบล่างบน
ให้รอดพ้นภาวะอันตราย

ครั้นสะสมกำลังมากช้างม้า
ทหารกล้าแกร่งมากมีหลากหลาย
จึ่งยกทัพตีพม่าอย่างท้าทาย
เป้าสุดท้ายที่ปองคือ”ตองอู”


          อภิปราย ขยายความ.........

          เมื่อทรงปราบปรามละแวกราบคาบลงแล้ว  จึงวางแผนปราบปรามพม่าต่อไป  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้บันทึกเหตุการณ์หลังจากยึดครองกัมพูชาได้สิ้นแล้ว  ดังต่อไปนี้

           “ศักราช ๙๕๖ มะเมียศก(พ.ศ. ๒๑๓๗)  ยกทัพไปเมืองสะโตง”
           “ศักราช ๙๕๗ มะแมศก (พ.ศ. ๒๓๓๘)  วันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท  เสด็จพยุหบาทตราไปเมืองหงสาครั้งก่อน  ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี  ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน มาเถิงวันจันทร์  แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเที่ยงแล้ว  เข้าปล้นเมืองหงสามิได้  ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา”
           “ศักราช ๙๕๘ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๓๙)  วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖  ลาวหนี  ขุนจ่าเมืองรบลาว  ตำบลตะเคียนด้วน และ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๓  ฝนตกหนักหนา ๓ วัน  ดุจฤดูฝน”
           “ศักราช ๙๖๑ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๔๒)  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๘ บาท  เสด็จพยุหบาทตราไปตองอู  ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี  ตั้งทัพชัยตำบลวัดตาล  และในเดือน ๑๑ นั้น  สงกรานต์  พระเสาร์แต่ (ราศีกันย์ไปราศี) ตุลย์  ครั้นเถิงวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  เสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองตองอู  และทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณ ๓๐ เส้น  และตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง  ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเป็นอันมาก  ครั้นวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖  ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยุธยา”
           “ศักราช ๙๖๔ เถาะศก (พ.ศ. ๒๑๔๖)  ทัพพระ(เจ้า)ฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้”
           “ศักราช ๙๖๖ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๔๗)  วันพฤหัสบดี (แรม ๖ ค่ำ เดือน ๒)  เสด็จพยุหบาทตราจากป่าโมกโดยทางชลมารค  และฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช  ตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อ  วันนั้นเป็นวันอุนและเป็นสงกรานต์  พระเสาร์ไปราศีธนูเป็นองศาหนึ่ง  ครั้งนั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองหลวง  ตำบลทุ่งดอนแก้ว”.......

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระโหราเป็นหัวหน้าคณะรวบรวมเหตุการณ์บ้านเมืองตั้งแต่ต้น  จดบันทึกไว้เมื่อปีจุลศักราช ๑๐๔๒  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๒๓  นั้น  ข้อความทั้งหมดเป็นที่เชื่อถือได้มากที่สุด  เสียดายที่ต้นฉบับพระราชพงศาวดารฉบับนี้  พลัดพรายไปจากราชสำนักเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกด้วยน้ำมือพม่า  สมุดข่อยเล่มหนึ่งกระจายไปตกอยู่ที่เพชรบุรี  หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์)  ไปพบชาวบ้านกำลังเผาเอกสารเก่าทิ้งด้วยไม่รู้คุณค่าของเอกสารนั้น ๆ  ขณะที่คุณหลวงพบนั้นชาวบ้านได้เผาสมุดข่อยฉบับนี้หมดไปครึ่งฉบับ (ตอนท้าย)  เหลืออยู่เพียงครึ่งเล่ม (ตอนต้น)  จึงขอส่วนที่เหลือนั้นมาอ่านได้ความว่าเป็น  “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า”  มีเรื่องราวดังที่ยกมาแสดงแล้วนั้น

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าตอนนี้บอกเล่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีพม่า  เริ่มตั้งแต่  ตีเมืองสะโตง  หงสาวดี  และเมืองตองอู  ตั้งทัพล้อมเมืองอยู่แรมเดือน  ตีหักเอามิได้  ขาดเสบียงอาหาร  ทหารเจ็บป่วยล้มตายลงมาก  จึงถอยทัพกลับคืน  เมื่อพักฟื้นกำลังดีแล้วจึงยกไปเอาเมืองตองอูอีกครา  ผลจะเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบ  เพราะพระราชพงศาวดารตอนท้ายนี้ถูกเผาไปสิ้นแล้ว  จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

          เรื่องราวต่อไปนี้ไม่มีพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลัก  แต่ก็จะใช้คำให้การขุนหลวงหาวัด  คำให้การชาวกรุงเก่า  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต  และฉบับอื่น ๆ มาแสดงให้ทราบกันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #147 เมื่อ: 08, กุมภาพันธ์, 2562, 11:05:16 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- ตีเมืองน้อยใหญ่รวมพล -

พระนเรศวรเจ้าผู้ห้าวหาญ
ทรงรอนรานเสี้ยนเศิกเลิกทุกผลู
ปราบเมืองใต้ไปหมดมลายู
ปวงริปูคร้ามลานสะท้านสะเทือน

สุดท้ายไปปราบพม่าที่กล้าสู้
ตั้งตองอูไม่ขยับยกทัพเคลื่อน
ทรงไปถึง“เมืองหาง”ผ่านย่างเยือน
กลับเป็นเหมือนฟ้ารานประหารชนม์


          อภิปราย ขยายความ............

          วันวลิต กล่าวว่าในคราวที่ยกทัพไปล้อมเมืองตองอูตีหักเอามิได้นั้น  ขณะที่ถอยทัพกลับมาพระนเรศทรงกล่าวปฏิญาณว่า  “จะไม่เข้ากรุงศรีอยุธยาจนกว่าจะได้ชัยชนะ  และเข้าเมืองตองอูได้เสียก่อน"  จากนั้นทรงปราบกัมพูชาที่เป็นขบถ  ตีเมืองจามปาได้  และตีล้านช้างได้แล้ว  ทรงยกทัพไปเมืองหาง  เพื่อเข้าตีตองอูอีกครั้ง  ทรงหมายมั่นว่าจะต้องเข้าเมืองตองอูให้จงได้

          เรื่องราวการยกทัพไปตีตองอูนั้น ชาวกรุงเก่าให้การไว้ว่า

           “เมื่อพระนเรศวรจัดการบ้านเมือง  แลบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จแล้ว  จึงเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่  เมืองเชียงแสน  เมืองนครศรีธรรมราช  เมืองไชยา  เมืองสงขลา  เมืองตานี  ครั้นตีได้เมืองเหล่านี้แล้วก็รวบรวมผู้คนช้างม้าได้เปนอันมากเสด็จยกทัพกลับพระนคร  ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายทัพนายกองเปนอันมาก  เมื่อมีกำลังผู้คนช้างม้ามากขึ้นทรงพระราชดำริห์เห็นว่าจะทำศึกใหญ่ได้  จึงจัดทัพใหญ่  มีจำนวนพลถึงแปดหมื่นสี่พัน  เปนขบวรช้างรวางมีชื่อ ๔๘ ช้าง  ช้างไม่มีชื่อรวางร้อยเศษ  ขบวรม้ารวางมีชื่อ ๑๕๖ ม้า  ม้าไทย ๑๐๐ ม้า  ม้าฮ่อ ๑๐๐ ม้า  ม้าปีกขวาชั้นใน ๑๐๐ ม้า ฯลฯ......”

          ในคำให้การนี้มีรายละเอียดการจัดขบวนศึก  เป็นกองร้อย  กองพัน  กองหมื่น  ตรัสให้พระเอกาทศรถเปนแม่ทัพหน้า  พระนเรศวรเป็นเปนทัพหลวง  ยกออกจากพระนครศรีอยุธยา  พระเอกาทศรถยกไปตีได้เมืองแญ  เมืองกรุงสิลภารา  เมืองหาง  เมืองโยนกสุเร  แลเขตแดนเมืองหาง  เก็บรวบรวมผู้คนช้างม้าได้เปนอันมาก  ทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยให้ราษฎรอยู่ตามภูมิลำเนาแล้ว  พระเอกาทศรถก็ยกไปตีเมืองหงสาวดี  ให้เข้าล้อมเมืองหงสาวดีไว้

          พระเจ้าหงสาวดีมิได้สู้รบ  เปนแต่ให้กวาดต้อนผู้คนช้างม้าเสด็จหนีไปอยู่เมืองตองอู  พระเอกาทศรถก็ยกพลตามตีพระเจ้าหงสาวดีไปถึงเมืองตองอู  ให้เข้าตีเมืองเปนหลายครั้งก็ไม่ได้  ด้วยเมืองตองอูมีผู้คนเสบียงอาหารบริบูรณ์  ชาวเมืองสู้รบเปนสมารถ  พระเอกาทศรถจึงมีใบบอกมากราบทูลพระนเรศวร  มีใจความว่า  ได้ยกไปล้อมเมืองตองอูแลให้ตีหักเปนหลายครั้งก็ยังหาได้ไม่  ด้วยเมืองตองอูมีเสบียงอาหารบริบูรณ์  แลผู้รักษาแขงแรงดังนี้  พระนเรศวรก็ยกทัพจากเมืองหางไปทางตำบลเขาเขียว  เทพารักษ์ซึ่งรักษาเขาเขียวนั้น  บันดาลให้พระองค์เสด็จสวรรคตบนคอช้างพระที่นั่งพิษณุราชา ณ ตำบลเขาเขียวนั้น...เมื่อปีจุลศักราช ๙๖๐.......”

          ชาวกรุงเก่าให้การเรื่องนี้เมื่อเวลาล่วงเลยจากเหตุการณ์มาได้ ๑๖๒ ปีแล้ว  ความจำจากที่บอกกันด้วยปากต่อปากจึงคลาดเคลื่อนจากวันเวลาไป  ที่ถูกต้องแล้ว  ปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรคือ  จุลศักราช ๙๖๗  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๔๘  ให้การคลาดไป ๗ ปี

          ..... คราวนี้ไปดูคำให้การของพระเจ้าอุทุมพร  หรือ  ขุนหลวงหาวัดในเรื่องเดียวกันนี้บ้าง  พระองค์ให้การไว้อย่างละเอียดว่า

           “ครั้นอยู่มาพระนเรศร์ให้ซ่องสุมทหารโยธาและช้างม้าคชสาร  อาสา  และทหารถืออาวุธเป็นอันมาก  แล้วพระนเรศร์จึงยกทัพไปรบเมืองน้อยใหญ่  จึงไปรบเมืองล้านช้าง  เมืองเชียงใหม่  เมืองเชียงตุง  เมืองเชียงแสน  เมืองจำปาศักดิ์  อันเมืองเหล่านี้อยู่ฝ่ายทิศเหนือ  ยังเมืองปากใต้  เมืองนคร  ไชยา  ตานี  พัทลุง  สงขลา  ออกไปจนกระทั่งเกาะเมืองเรียก (เรียว ?) แดนชวา  และได้เมืองน้อยใหญ่นอกนี้เป็นอันมาก  ครั้นมีชัยกลับมาแล้วพระองค์จึงตั้งหมู่ทหารต่าง ๆ คือหมู่ทศโยธา  จตุรงคเสนา  และหมู่องครักษ์จักรนารายณ์  และอาสาหกเหล่า  และอาสาญี่ปุ่น  อาสาจาม  และอาสาต่าง ๆ  มีกระบวนช้างพิชัยสงคราม แล้วธงชัยกระบี่ธุชครุฑธวัช  และพระเสนาธิปัตติฉัตรชัยกาวพ่าย  สำหรับกระบวนมหาพิชัยสงคราม  ครั้นพร้อมแล้วจึงเกณฑ์ช้างที่นั่งเอก  ที่นั่งรอง  และช้างระวางนอกระวางใน  ทั้งช้างซ้ายช้างขวา  ทั้งดั้ง  ทั้งกัน  มีทั้งช้างเขนช้างแพน  อันช้างเหล่านี้มีชื่อต่าง ๆ  จึงผูกเครื่องพระที่นั่งนั้นก็ต่าง ๆ  ทั้งช้างพังช้างพลายมีทั้งเขนและแพน  ทั้งปืนน้อยและปืนใหญ่  ทั้งหอกและทวนหลังช้างก็ครบตัวช้างทั้งสิ้น  อันช้างตัวหนึ่ง  มีคนขี่สามคนมีอาวุธครบตัวคน  ยังเหล่าม้าพระที่นั่งเอก  ที่นั่งรอง  โรงนอก  โรงใน  ม้าซ้าย  ม้าขวา  ทั้งม้าอาสาเกราะทอง  ทั้งม้าหอก  ม้าทวน  และม้าชัย  อันม้าเหล่านี้ผูกเครื่องต่าง ๆ กันทั้งสิ้น  แล้วจึงถึงเหล่าทหารขี่รถต่าง ๆ  มีทั้งรถดั้งรถกัน  รถเขนรถแทงแพน  อันคนเดินถืออาวุธต่าง ๆ กัน  ยังเหล่าปืนใหญ่เกณฑ์มีชื่อต่าง ๆ  อันเหล่าทหารปืนใหญ่นั้น  ล้วนเหล่าฝรั่งเศสเกณฑ์  มีชื่อและมีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น  แล้วจึงเกณฑ์ทหารใหญ่ให้เป็นยกกระบัตร  เกียกกาย  ปีกซ้าย  ปีกขวา  ทัพหน้า  ทัพหลัง  ทัพหนุน  ทัพรอง  ทัพเสือป่า  แมวเซา  แต่บรรดาอำมาตย์และทหารพลทัพเหล่านี้  มีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น  แล้วจึงขึ้นไปจักรบเมืองหงสา  จึงยกทัพไปทางเมืองพิษณุโลก  จึงหยุดพลไปในป่า  แล้วตัดไม้ข่มนามตามที่พิชัยสงคราม  ครั้นยกไปถึงเมืองเรียวจึงเข้ารบลาวเมืองเรียว  ฝ่ายลาวเมืองเรียวก็ออกสู้รบต้านทานเป็นหนักหนา แล้วตั้งค่ายคูมั่นคง  ฝ่ายลาวก็ออกสู้รบประจันกันเป็นอันมาก  ฝ่ายไทยก็เข้าโจมทัพรุกรบกันกลางแปลง  แต่ไทยกับลาวเมืองเรียวนั้นสู้รบกันอยู่หลายวัน......พระนเรศร์กับโยธาทั้งปวงจึงเข้าตีประดากันเข้าไป  แล้วพระองค์จึงจับพระแสงแล้วก็ปีนค่ายขึ้นไป  พระเอกาทศรถจึงปีนขึ้นไปกับเหล่าโยธาทหารทั้งปวง  ก็เข้าได้ในค่ายลาว  ก็ฟันแทงลาวล้มตายพ่ายพังไปทั้งสิ้น......”

          จากคำให้การดังกล่าวนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า  สมเด็จพระเอกาทศรถ  ทรงเป็นนักรบผู้กล้าหาญมากทีเดียว  พรุงนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #148 เมื่อ: 10, กุมภาพันธ์, 2562, 12:00:17 AM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- พระนเรศวรสวรรคต -

ตำนานเก่าเล่าเรื่องของ“เมืองหาง”
ณ ใจกลางเมืองนี้มีนุสนธิ์
“เขารังรุ้ง”แหล่งใหญ่รวมใจชน
พุทธ์บาทบนยอดเขาเนานานมา

นเรศวรเป็นเจ้าทรงเคารพ
ขึ้นไปนบสมโภชถวายผ้า
ก่อนยกทัพเสด็จเจ็ดทิวา
สวรรคตกลางมรรคาไทยอาดูร...

          อภิปราย ขยายความ ........

           “เมืองเรียว”  คือเมืองใดในปัจจุบันยังมิได้สืบค้นหากัน  รู้ได้แน่ว่าเป็นเมืองใหญ่เมื่อปีจุลศักราช ๙๖๗  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๔๘ นั้น  ที่เชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่เพราะสามารถรบกับกองทัพอันเข้มแข็งของสมเด็จพระนเรศวรได้หลายวัน  จนพระองค์ต้องทรงพระแสงปีนค่ายขึ้นไปยึดด้วยพระองค์เองจึงสำเร็จได้  ขุนหลวงหาวัดให้การต่อไปอีกว่า......

           “ครั้นพระนเรศร์มีชัยกับลาวได้เมืองเรียวทั้งสองเมืองแล้ว  จึงยกทัพไปตีเมืองกงศรีละลายได้ง่ายงาม  ครั้นได้เมืองศรีละลายแล้ว  พระนเรศร์จึงยกทัพไปรบเมืองห่าง  ฝ่ายลาวเมืองห่างก็ทานสู้รบมิได้  ก็แตกหนี  พระนเรศร์ก็มีชัยกับเมืองห่าง

          อันว่าเมืองห่างนี้  เป็นเมืองบุรีบุราณเขามาช้านานหนักหนา  แต่นับกษัตริย์ได้ถึงร้อยชั่วแต่คราวเมืองปาตลีบุตรนั้นมา  มีรอยพระพุทธบาท  อยู่บนยอดเขาเรียกเขารังรุ้ง  แต่ก่อนตั้งพระศาสนาพร้อมด้วยพระรัตนตรัย  พระนเรศร์จึงทำพิธีเข้าเหยียบกรุงจักให้รุ่งเรืองเดชา  อันที่พระพุทธบาทนั้นก็สด็จไปนมัสการ  พระองค์จึงเปลื้องเครื่องทรงทั้งสังวาลและภูษา  และทรงไว้ในรอยพระพุทธบาท  แล้วทำสักการบูชาธง  ธูป เทียน  ข้าวตอก  ดอกไม้  มีเครื่องทั้งปวงเป็นอันมาก  แล้วจึงทำพิธีสมโภชอยู่เจ็ดราตรี  จึงให้มหาอุปราชเป็นทัพหน้ายกไปเมืองหงสาก่อน  อันองค์พระนเรศศร์นั้นเสด็จอยู่เมืองห่าง  เพราะเหตุฉะนี้  จึงถวายพระนามเรียกพระองค์  “พระนารายณ์เมืองห่าง”  เป็นกรุงหยุดพักอยู่กลางทางของพระองค์

          ครั้นเสร็จการมงคลพิธีแล้วพระองค์ก็ยกไปเมืองหงสา  จึงทรงช้างพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์  ก็พ้นเมืองทางไกลได้เจ็ดวัน  จึงพ้นไปหน้าเขาเขียวดงตะเคียนใหญ่  จึงมีศาลนางเทพารักษ์อยู่ที่ต้นตะเคียนใหญ่  มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  เสนาจึงทูลเชิญเสด็จให้ลงจากช้างพระที่นั่ง  เมื่อจักมีเหตุมานั้น  พระนเรศร์จึงถามเสนาว่า  เทพารักษ์นี้เป็นเทพารักษ์ผู้ชายหรือผู้หญิง  เสนาจึงทูลว่า  อันเทพารักษ์เป็นนางศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  พระนเรศร์จึงตรัสว่า  อันเทพารักษ์นี้  เป็นแต่นางเทพารักษ์ดอก  ถ้าจักเป็นเมียเราก็จักได้  เราไม่ลงจากช้าง  ครั้นพระนเรศร์ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงช้างพระที่นั่งผ่านหน้าศาลเทพารักษ์นั้นไป  จึงเห็นเป็นตัวแมลงภู่บินตรงมาหน้าช้าง  แล้วก็เข้าต่อยเอาที่อุณาโลม  องค์พระนเรศร์นั้นก็สลบอยู่กับหลังช้างพระที่นั่ง  แล้วก็เสด็จสู่สวรรคตที่ตรงหน้าเขาเขียวนั้น

          เสนาทั้งปวงจึงเชิญพระศพ  แล้วก็กลับมายังพลับพลาเมืองหาง  ส่วนพระเอกาทศรถนั้นก็ยกพลไปถึงแดนเมืองหงสา  จึงตีบ้านกว้านกวาดมอญลาวหญิงชายเป็นอันมาก  แล้วจักยกเข้าตีเมืองหงสา  ก็พอเสนาอำมาตย์ให้ม้าใช้เร่งรีบไปทูลความพระนเรศร์สวรรคต  พระองค์ครั้นทราบดังนั้นก็เร่งรีบยกพลโยธาทัพกลับมายังเมืองห่าง  ครั้นถึงแล้วก็เสด็จเข้าสู่ยังสถานพระเชษฐา  จึงกอดพระบาทพระพี่ยาเข้าแล้วก็ทรงพระกันแสงโศกาดูรร่ำไรไปต่าง ๆ  พระองค์ก็กอดพระเชษฐาเข้า  แล้วก็สลบอยู่กับที่  แต่ทรงพระกันแสงแล้วสลบไปถึงสามครั้ง  ครั้นพระองค์ก็ได้สมฤดีคืนมา  แล้วพระองค์จึงมีพระบันฑูรตรัสสั่งให้หาพระโกศทองทั้งสองใบที่ใส่พระศพ  แล้วจึงเชิญขึ้นสู่บนพระราชรถแล้ว ก็แห่แหนเป็นกระบวนมหาพยุหบาทตราอย่างยิ่งใหญ่มาจนถึงกรุงอยุธยาธานี  แล้วจึงสั่งให้ทำพระเมรุทองอันสูงใหญ่ยิ่งนัก  อันการพระบรมศพครั้งนั้นเป็นใหญ่หลวงนักหนาที่เกินทางแต่ก่อนมา  ทั้งเครื่องไทยทานก็มากมายหนักหนา  แล้วให้ชุมนุมกษัตริย์ทุกประเทศอันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น  จึงเชิญพระศพแห่แหนไปแล้ว  จึงถวายพระเพลิงที่วัดสบสวรรค์

          อันพระนเรศร์นั้น  วันพฤหัสบดีได้ครองกรุงมาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๙๔๐ ปี (๒๑๔๑)  พระชนมายุได้ ๑๕ ปี  อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๐ ปี  เป็น ๓๕ ปี สวรรคต  เมื่อสวรรคตนั้นจุลศักราชได้ ๙๖๐ ปี  สัมฤทธิศก”

          จบคำให้การขุนหลวงหาวัดในตอนนี้  มีความที่ควรขยายอยู่ไม่น้อย  แต่วันนี้ยังไม่ขยายความนะครับ  เอาไว้ว่ากันต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ ธันวาคม ๓๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #149 เมื่อ: 10, กุมภาพันธ์, 2562, 10:17:14 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา
Cr. Photo By คุณฟองฟ้า ละอองเมฆ

- พระนารายณ์เมืองหาง -

พระนเรศวรเจ้าสวรรคต
ไทยทั้งหมดแดดิ้นเหมือนสิ้นสูรย์
พร้อมเดือนดาวดับไปไม่เหลือมูล
ทวีคูณมืดมัวสลัวลาง

เหลือความดีวีรกรรมประจำชาติ
มหาราชยิ่งใหญ่ไว้แบบอย่าง
รบรอบทิศพิชิตศึกหมดทุกทาง
มีเมืองหางเป็นถิ่นสิ้นพระชนม์....


          อภิปราย ขยายความ........

          การสวรรคตองสมเด็จพระนเรศวรมีปัญหา  เพราะว่าในพงศาวดารทั่วไป (ยกเว้นคำให้การขุนหลวงหาวัด,ชาวกรุงเก่า) กล่าวกันว่า  พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระศรี  หรือ  ฝีดาษ  สถานที่สวรรคตก็ระบุไว้กว้าง ๆ ว่า ที่เมืองหาง  แต่คำให้การชาวกรุงเก่าว่า  เทพารักษ์บันดาลให้สิ้นพระชนม์ที่ตำบลเขาเขียว  เมืองหาง  ขุนหลวงหาวัดกล่าวให้รายละเอียดชัดเจนว่า  ทรงตีและยึดเมืองหางได้แล้วทำพิธีเหยียบกรุง ด้วยเห็นว่าเมืองหางเป็นเมืองเก่ามีอายุยุคเดียวกับเมืองปาตลีบุตรของพระเจ้าอโศกมหาราช  ในกลางเมืองหางมีภูเขาชื่อเขารังรุ้ง  พระพุทธองค์เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนยอดเขานี้  จึงทรงเสด็จขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท  และจัดพิธีสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน  พระองค์ประทับ ณ เมืองนี้ ๗ วัน  ตรัสให้พระเอกาทศรถยกทัพไปหงสาวดีก่อน  เหตุทรงประทับ ณ เมืองหางนี้เป็นเวลานาน  จึงได้พระนามอีกว่า  “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง”

          การสวรรคตของพระนารายณ์หรือพระนเรศร์นี้  ขุนหลวงหาวัดให้รายละเอียดไว้ว่า  ทรงเดินทางจากเมืองหางไปได้เจ็ดวันถึงเขาเขียวบริเวณดงตะเคียนใหญ่ ณ ที่นั้นมีศาลเทพารักษ์สตรี (เจ้าแม่ตะเคียน) ตั้งอยู่  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เสนากราบทูลให้ลงจากหลังช้างเพื่อแสดงความเคารพ  พระองค์ตรัสว่า เทพารักษ์นี้เป็นเทพารักษ์ชายหรือหญิง  เสนาทูลว่าเป็นเทพารักษ์หญิง  ทรงตรัสว่า  เทพารักษ์นี้เป็นนาง  ถ้าจักเป็นเมียเราก็จักได้  ไม่ลงจากช้าง  ตรัสแล้วก็ทรงช้างผ่านเลยไป  ทันใดนั้น  มีตัวแมลงภู่บินตรงมา  ต่อยตรงหน้าผากพระองค์จนสลบ  สิ้นพระชนม์บนคอช้าง

          ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในที่ใดมาก่อน  เรื่องที่ออกจากพระโอษฐ์ (อดีต) พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา (ขุนหลวงหาวัด)  ไม่น่าจะเป็นความเท็จไปได้

          เมืองหางอันเป็นเมืองที่เสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น  ปัจจุบันคือ  อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่  ส่วนต้นตะเคียนใหญ่ที่ตั้งศาลเทพารักษ์  หรือเจ้าแม่ตะเคียนในป่าตะเคียนเชิงเขาเขียวนั้น  ยังไม่แน่ชัดว่าอยู่ในเขตอำเภอเวียงแหงหรือเลยเข้าไปอยู่ในเขตแดนของสหภาพเมียนมาร์  ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า  การเดินทางด้วยช้างม้าจากเมืองเวียงแหงเป็นระยะเวลา ๗ วันนั้น  จะไปถึง ณ บริเวณใด

          ทราบมาว่า  ชาวไทยใหญ่ให้ความเคารพเทิดทูนสมเด็จพระนเรศวร  และสร้างศาลไว้เป็นที่เคารพบูชาในเขตแดนอิทธิพลของไทยใหญ่  ด้วยเชื่อว่า  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปสวรรคต ณ ที่นั้น

          พระราชพงศาวดารระบุปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ตรงกันว่า  ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๙๖๗  ผิดไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า ๗ ปี  และเป็นที่ยุติแล้วว่า  วันเดือนปีทางจันทรคติดังกล่าวนั้น  ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติคือ  วันจันทร์ ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘

          คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ  มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พศจิกายน ๒๕๔๘  กำหนดให้วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี  เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นรัฐพิธี  โดยให้มีการวางพวงมาลาถวายสักการะ  ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ......

<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีาพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, กลอน123, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 27   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.506 วินาที กับ 408 คำสั่ง
กำลังโหลด...