บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดเจ็ดยอด (วัดโพธารามมหาวิหาร) : เชียงใหม่ - ได้ "ชากังราว" กลับคืน -
"หมื่นนคร"ริปูผู้ใจบาป ทำฝักดาบด้วยทองคำปองมั่น ลอกทองพระพุทธงามองค์สำคัญ หุ่มดาบอันโชกเลือดเชือดฟันไทย
เป็นบาปกรรมทำให้ต้องพ่ายศึก เบื้องหลังลึกมหาราชอาจรู้ได้ ว่ารบราฆ่าฟันกันทำไม ทรงหันไปทางบุญสุนทรทาน
ทำไมตรีบรมไตรโลกนาถ เลิกพิฆาตเคียดแค้นไร้แก่นสาร ทำ"สังคายนาย"สืบเน้นเป็นตำนาน ทรงชื่นบานในธรรมคุณความดี
เช่นเดียวกับบรมไตรโลก หวังวิโมกขธรรมจำเริญศรี จัดงานใหญ่ฉลองพระและคัมภีร์ สร้างบุญญาบารมีโพธิญาณ....... |
อภิปราย ขยายความ.....
มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าว่า "ศักราช ๘๓๕ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๑๖) หมื่นนครได้ลอกเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ........... ศักราช ๘๓๖ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๑๗) เสด็จไปเอาเมืองเชลียง"
.......ในปี พ.ศ. ๒๐๑๖ นั้น หมื่นคร คือ เจ้าเมืองนครลำปางผู้ใจบาป บังอาจลอกเอาทองที่หุ้มองค์พระพุทธรูปเมืองเชลียงลงมาหลอมเป็นฝักดาบ สร้างความโกรธแค้นชิงชังแก่ชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงส่งข่าวให้ทางสุโขทัย สองแฅวทราบ แล้วนัดแนะให้กองทัพไทยใต้ยกเข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัยคืนให้จงได้ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๐๑๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเสด็จไปยึดเมืองเชลียง เชียงชื่น หรือชากังราว คือ ศรีสัชนาลัยกลับคืนได้โดยง่ายดาย
....บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า มีต่อไปอีกว่า "ศักราช ๘๓๗ มะแมศก (พ.ศ.๒๐๑๘) มหาราชมาเป็นไมตรี"
.... ความในตำนานเมืองเหนือบันทึกไว้ในปีเดียวกันนี้ว่า มหาราชเชียงใหม่สร้างพระวิหาร ณ วัดเจดีย์หลวง และสร้างพระไตรปิฎก ๒ ปี เสร็จแล้วให้ประชุมพระเถรานุเถระ มี พระธรรมทินมหาเถรเจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน กระทำสังคายนายชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ณ วัดโพธาราม ปีหนึ่งจึงเสร็จบริบูรณ์ นับเป็นอัฏฐมสังคายนายลำดับที่แปด คณะสงฆ์เฉลิมพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์อุปถัมภ์สังคายนายว่า "พระเจ้าศรีธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช" พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ และในโอกาศที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่นี้เอง พระเจ้าติโลกราชได้ส่งราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับพระบรมไตรโลกนาถ และทรงขอคณะสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเข้าร่วมการกระทำอัฏฐมสังคายนายด้วย
....ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีบันทึกในพระราชพงศาดารกรุงเก่าว่า .... "ศักราช ๘๔๔ ขาลศก (พ.ศ.๒๐๒๕) ท่านให้เล่นการมหรสพ ๑๕ วัน ฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์ "มหาชาติคำหลวง" จบบริบูรณ์"......
....จะเห็นได้ว่า หลังจากที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเอาเมืองศรีสัชนาลัยหรือชากังราว เชลียงเชียงชื่น คืนมาได้แล้ว ทั้งสองฝ่ายคู่ศึก ต่างก็มุ่งหน้าบำเพ็ญบุญบารมีธรรมตามคติของพระพุทธศาสนา ผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าติโลกราช คือ ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ในการกระทำสังคายนายครั้งที่ ๘ จนสำเร็จ ทางฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีผลงานเด่นทางพระศาสนาคือ การทรงพระผนวชในขณะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชนิพนธ์คัมภีร์มหาชาติคำหลวง ๑๓ กัณฑ์เสร็บริบูรณ์.....
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย - ตั้ง "พิษณุโลก & สวรรคโลก" -
ยุบ"สรลวงสองแฅว"แลประกาศ รวม"ชัยนาทบุรี"ศรีสถาน เป็นเมืองเดียวใหญ่โตมโหฬาร นามขนาน"พิษณุโลก"อร่ามเรือง
มหาธาตุเชลียงนั้นถูกพาลถล่ม แทบพังจมดินไปไม่ต่อเนื่อง ทรงฟื้นฟูบูรณะให้ประเทือง เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่มงคลนาม
"สวรรคโลก"ให้เห็นเป็นสวรรค์ เป็นคู่กัน"พิษณุโลก"ขวัญสยาม สองโอรสทรงผนวชร่วมอาราม เจริญตามรอยบาทราชบิดา |
อภิปราย ขยายความ...................
หลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลาพระผนวชขึ้นครองราชสมบัติตามเดิมแล้ว ทรง "สร้างบ้านแปงเมือง" ใหม่ คือทรงสร้างกำแพงเมืองสรลวงสองแฅวกับชัยนาทบุรีจนเชื่อมต่อกัน ให้เมืองทั้งสองอยู่ในกำแพงเดียวกัน ยุบราชสำนักสองแฅวกับชัยนาทเข้าเป็นราชสำนักเดียวกัน เมื่อรวมเมืองทั้งสองให้เป็นเมืองเดียวกันแล้ว ทรงขนานามเมืองเสียใหม่เป็นเมือง "พระพิษณุโลก" โดยใช้พระราชวังจันทร์ในเมืองชัยนาทเดิมเป็นศูนย์กลางของราชสำนักพิษณุโลกแต่นั้นเป็นต้นมา
....ในขณะที่ทรงสร้างกำแพงเมืองล้อมชัยนาทกับสรลวงสองแฅวให้อยู่ในเมืองเดียวกันนั้น ก็ทรงไปเอาเมืองศรีสัชนาลัย หรือ เชลียง ชากังราว เชียงชื่น ในการถือครองของพระเจ้าติโลกราชคืนมาได้สำเร็จ จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์เมืองใหม่ โดยเฉพาะวัดมหาธาตุเมืองเชลียงนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก แม้แต่ทองที่หุ้มองค์พระก็ถูกหมื่นนครลอกเอาไปหลอมทำเป็นฝักหุ้มดาบ จึงต้องบูรณะซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด แล้วขนานนามเมืองนี้เสียใหม่ว่า "สวรรคโลก" ให้เป็นนามคู่กันกับ "พิษณุโลก"
....มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์ช่วงเวลานี้ไว้ว่า
"ศักราช ๘๔๖ มะโรงศก (พ.ศ.๒๐๒๗) สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า และสมเด็จพระราชโอรส สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ทรงพระผนวชทั้ง ๒ พระองค์"
..สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าในที่นี้ เป็นพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระบรมราชาธิราช ทั้งสองพระองค์ทรงพระผนวชร่วมกัน สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงพระผนวชในขณะครองราชสมบัติ พระองค์แรก คือ สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์ราม มหาธรรมราชา(ลิไท) พระองค์ที่ ๒ คือ มหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ ฦๅไท พระองค์ที่ ๓ คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และ พระองค์ที่ ๔ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่เสด็จขึ้นไปทรงพระผนวช ณ พิษณุโลกดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าข้างต้นนั้น
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา - คู่ศึกสวรรคตตามกัน -
"พระเชษฐา"ลาเพศบรรพชิต ขึ้นสถิตตำแหน่งอันแกร่งกล้า "มหาอุปราช"อยุธยา ครองพาราพิษณุโลก"โอฆบุรี"
อยู่ต่อมา"มหาราช"สวรรคต เสมือนลดเสี้ยนศึกจากกรุงศรี แต่"ทวาย"รามัญนั้นไม่ดี ต้องเสียทีพลาดท่าข้าศึกครอง
แล้ว"สมเด็จพระบรมไตรโลก" วิปโยคยื่นให้ทวยไทยหมอง สวรรคตหมดฤทธิ์เคยเรืองรอง ฝากงานฟ่องเฟื่องฟูให้รู้กัน |
อภิปราย ขยายความ.............
สมเด็จพระบรมราชาธิราช และ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงพระผนวชพร้อมกัน ณ เมืองพระพิษณุโลก ครั้นลาพระผนวชแล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จกลับครองกรุงศรีอยุธยาตามเดิม ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงประกาศสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา เสวยราชสมบัติ ณ พระพิษณุโลก
.....มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า
"ศักราช ๘๔๙ มะแมศก (พ.ศ.๒๐๓๐) ท้าวมหาราชลูกพิราลัย"
"ศักราช ๘๕๐ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๓๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย และเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้น เกิดอุบาทว์หลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งเป็นแปดเท้า ไก่ฟักไข่ออกตัวหนึ่งเป็นสี่เท้า ไก่ฟักสามค่องออกลูกเป็นหกตัว อนึ่ง ข้าวสารงอกเป็นใบ อนึ่ง ในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จนฤพาน ณ เมืองพิณุโลก"
......ได้ความชัดเจนว่าปี พ.ศ. ๒๐๓๐ พระเจ้าติโลกราช มหาราชแห่งเชียงใหม่ คู่ศึกสำคัญของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงแก่พิราลัยสวรรคตไปก่อน รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๐๓๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็เสด็จสวรรคตตามมหาราชไป
.....ในปีที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตนั้น เกิดอุบาทว์เป็นลางร้ายขึ้น กล่าวคือ แม่โคออกลูกมาเป็นลูกโคสี่ขา ไก่ออกจากไข่หนึ่งตัวมีสี่ขา ข้าวสารงอกออกใบเช่นข้าวเปลือก ในปีนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปเอาเมืองทวายที่เสียแก่ข้าศึกไป
......สรุปได้ว่า... สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงขึ้นครองราย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๑ ดำเนินแผนการรวมแคว้นสุโขไทเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ ทรงเสวยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา ๑๕ ปี เสด็จขึ้นไปเสวยราช ณ พิษณุโลก ๒๕ ปี รวมเวลาที่ครองราชทั้งหมด ๔๐ ปี
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระบรมราชาธิราช -
"บรมไตรโลกนาถ"นิราศแล้ว เหลือเพียงแนวทางให้ไทยสร้างสรรค์ การรวมชาติญาติกากลุ่มเผ่าพันธุ์ เป็นงานอันควรก่อสานต่อไป
"พระบรมราชาธิราชเจ้า" ทรงน้อมเกล้ารับสานต่องานใหญ่ ครองอยุธยาธานีเป็นศรีไทย เขตแดนไกลกว่าเริ่มแต่เดิมมา
สร้างกำแพงเมืองพิชัยไว้ต้านศึก ทรงผนึกกำลังน้องนาม"เชษฐา" แคว้นเหนือใต้รวมกันมั่นศรัทธา เป็นอาณาจักรไทยใหญ่ยืนยง
ครั้นบรมราชาสวรรคต ผู้ทรงยศครองราชย์สมประสงค์ พระเชษฐาอุปราชผู้อาจอง เสด็จลงอยุธยาครองธานี |
อภิปราย ขยายความ.......
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๑ ไม่มีการขึ้นครองบัลลังก์เสวยราชมบัติของพระราชาพระองค์ใหม่ เพราะว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตรัสให้มีพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นามสมเด็จพระบรมราชาธิราชไว้ก่อนแล้ว
สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์นี้ วันวลิต กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า "หลังจากพระบรมไตรโลกนาถสละราชสมบัติแล้ว พระราชโอรสก็ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ทรงพระนามว่า "พระอินทราชา" เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๐ แห่งสยาม เสวยราชย์อยู่ ๓๗ ปี"
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า กล่าวถึงพระนามกษัตริย์พระองค์นี้ ต่างกรรมต่างวาระ ต่างพระนามกัน กล่าวคือ ตอนที่พระบรมไตรโลกนาถตรัสให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยานั้น ออกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชา" ตอนที่ยกทัพไปกันเมืองสุโขไทและรบกันอย่างดุเดือดถึงกับชนช้่างนั้น ออกพระนามว่า "สมเด็จพระอินทราชาเจ้า" ตอนที่ทรงพระผนวช ออกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า" ทำให้สับสนเป็นอย่างมาก
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระนามว่า "พระอินทราชา" จึงควรสรุปได้ว่า พระบรมราชา พระอินทราชา เป็นพระองค์เดียวกัน และเป็นไปได้ว่าพระอินทราชามีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงสุพรรณภูมิ เพราะพระนาม "อินท" เป็นสัญลักษณ์แห่งราชสำนักสุพรรณภูมิ ผู้ที่ใช้พระนามนี้เป็นพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเทพาหูราชหรือสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ที่คนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า "เจ้านครอินทร์" ผู้เป็นต้นราชวงศ์สุพรรภูมิ-สุโขทัย นั่นเอง
สมเด็จพระอินทราชา หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๓๑ เพียงพระองค์เดียว โดยมีสมเด็จพระเชษฐาธิราช อนุชาต่างพระมารดาเป็นมหาอุปราช ทรงตรัสให้สร้างกำแพงเมืองพิชัยขึ้นป้องกันข้าศึกที่อาจจะยกมารุกรานแคว้นเหนือของไทยอีก ทรงสร้างกำแพงเมืองพิชัยเสร็จแล้วเพียงปีเดียวก็เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๒๐๓๔ รวมเวลาที่เสวยราชสมบัติทั้งสิ้น ๒๘ ปี
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขร้ผึ้งไทย ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา - พระรามาธิบดี ที่ ๒ -
เปลี่ยนกษัตริย์ผลัดแผ่นดินไม่สิ้นสาย พระเชษฐาทรงย้ายลงกรุงศรีฯ เฉลิมพระนามรามาธิบดี แทนผู้พี่"บรมราชา"
วรรณคดีอมตะมักจะอ้าง เรื่องขุนช้างขุนแผน"พระพันวษา" คือพระองค์ทรงอิทธิฤทธา "พระรามาธิบดี"องค์นี้เอง
ทรงสร้างวัดนามที่"ศรีสรรเพชฌ์" สร้างวัดเสร็จสร้างพระไม่รีบเร่ง เป็นพระยืนองค์ใหญ่น่ายำเกรง เนื้อทองเปล่งรัศมีมีประกาย |
อภิปราย ขยายความ..........
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๑ แห่งสยามทรงเป็นอนุชาของพระอินทราชา ได้ครองราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงพระนามว่า "พระเจ้ารามาธิบดี" เสวยราชย์อยู่นาน ๓๘ ปี
.....ตรงนี้มีปัญหา ในปีที่ขึ้นครองราชย์คงมีพระชนมายุเกิน ๒๑ พรรษาแล้ว เพราะทรงพระผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๗ ปีที่ทรงพระผนวชนั้นมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์ ลุถึงปีครองราชย์ คือ พ.ศ. ๒๐๓๔ ควรจะมีพระชนมายุได้ ๒๗ พรรษาแล้ว ถ้ามีพระชนมายุ ๒๑ พรรษาในปีครองราชย์จริงตามที่วันวลิตกล่าว ก็ต้องหมายความว่า การทรงพระผนวชของพระองค์นั้น มิได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ (เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์) หากแต่ทรงบรรพชาเป็นสามเณร (บวชเณรหางนาค) เท่านั้นเอง
.....คำให้การของชาวกรุงเก่าที่ทางราชสำนักเมียนมาร์จดบันทึกไว้นั้น เรียกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์นี้ว่า "สมเด็จพระพันวษา" เรียกตามภาษาเมียนมาร์ว่า "วาตะถ่อง" เป็นผู้มีกฤษดาธิการมาก มีขุนทหารผู้เก่งกล้าในการศึกสงคราม คือ "ขุนแผน" ตามความในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องนี้ควรเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
....ในเนื้อประวัติศาสตร์ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ ได้บันทึกเหตุการณ์สมัยที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ครองราชย์ไว้ว่า
........."ศักราช ๘๕๔ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๓๕) ประดิษฐานพระมหาสถูปบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้า......" ........."ศักราช ๘๕๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๓๙) ท่านประพฤติการเบญจาพิธพระองค์ท่าน และให้เล่นการดึกดำบรรพ์...." ........."ศักราช ๘๕๙ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๔๐) ท่านให้ทำการปฐมกรรม..." ........."ศักราช ๘๖๐ มะแมศก (พ.ศ. ๒๐๔๒) แรกสร้างพระวิหารศรีสรรเพชฌ์ " ........."ศักราช ๘๖๒ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๔๓) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าศรีสรรเพชฌ์ และแรกหล่อในวันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ครั้นถึงศักราช ๘๖๕ กุนศก (พ.ศ. ๒๐๔๖) วันศกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ฉลองพระพุทธเจ้า พระศรีสรรเพชฌ์คณนาพระพุทธเจ้านั้น แต่พระบาทถึงยอดพระรัศมีนั้นสูงได้ ๘ วา พระพักตร์นั้นยาวได้ ๔ ศอก กว้างพระพักตร์นั้น ๓ ศอก และพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก และทองหล่อพระพุทธเจ้านั้น หนัก ๕ หมื่น ๓ พันชั่ง ทองคำหุ้มนั้นหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง ข้างหน้านั้นทองเนื้อ ๗ น้ำสองขา ข้างหลังนั้น ทองเนื้อ ๖ สองขา".......
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ ณ วัดพระเชตุพนฯ Cr. Photo By บ้านกลอนน้อย - พระศรีสรรเพชฌ์ -
พระยืนสูงแปดวาตั้งตระหง่าน เป็นประธานกลางเมืองเรืองแสงฉาย ทรงนาม"ศรีสรรเพชฌ์"พรรณราย มีความหมาย"รู้รอบโดยชอบธรรม"
พระองค์นี้อยู่มาครากรุงแตก ข้าศึกแยกองค์ท่านพาลเหยียบย่ำ ลอกเอาทองหุ้มองค์ไม่กลัวกรรม ผลักพระองค์ลงคว่ำคะมำดิน
ไทยกู้ชาติตั้งกรุงบำรุงศาสน์ พระจอมราชรัตนโกสินทร์ สั่งเคลื่อนย้ายลงไปในธานินทร์ ช่างหลวงสิ้นปัญญาบูรณาการ
จึงเก็บไว้ใต้ฐานเจดีย์ใหญ่ ซึ่งอยู่ในวัดโพธิรโหฐาน นามเจดีย์"ศรีสรรเพชฌดาญาณ" มีตำนานจารึกศึกษากัน..... |
อภิปราย ขยาคความ ....
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พันวษา) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปยืนในลักษณะเดียวกันกับพระอัฏฐารศของสุโขทัย โดยมิได้ก่อด้วยอิฐถือปูน หากแต่หล่อด้วยทองสำริดแล้วหุ้มด้วยทองคำ มีความสูงถึง ๘ วา ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชฌ์ ให้ชาวบ้านชาวเมืองกราบไหว้บูชา
.....ในคราวที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งสุดท้าย ข้าศึกเผาเมืองและขนของมีค่ากลับประเทศของตนนั้น ได้ลอกเอาทองคำที่หุ้มองค์พระศรีสรรเพชฌ์ไปจนหมด แล้วผลักองค์พระล้มคว่ำแตกทำลายเสียหายมาก
.....เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้เขียนเรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ว่าด้วยการสร้างและฉลองวัดพระเชตุพนฯ จับใจความได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโล ก โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิขึ้นเป็นพระอารามใหญ่ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย พิษณุโลก และอยุธยา มาประดิษฐานไว้ในวัดนี้จำนวนมาก องค์ที่ชำรุดก็ให้ช่างหลวงบูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์ดังเดิม ในบรรดาพระพุทธรูปนั้น มีพระพุทธรูปประทับยืนองค์หนึ่ง คือพระศรีสรรเพชฌ์ จากวัดพระศรีสรรเพชฌ์กรุงเก่า ที่ถูกข้าศึกลอกเอามองคำไปหมด พระองค์นี้ชำรุดมากจนบูรณะซ่อมแซมให้เหมือนเดิมไม่ได้ .......พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว .. "จึงทรงพระราชดำริจะเอาทองรวมหลอมหล่อเป็นองค์พระพะพุทธรูปขึ้นใหม่ ครั้นมีพระราชปุจฉาแก่พระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พร้อมกันถวายพระพรว่า ที่จะเอาทองเป็นพระพุทธรูปอยู่แล้ว กลับหลอมหล่อใหม่เห็นไม่สมควร จึงโปรดให้เชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์"
..... จึงเป็นอันได้ข้อยุติชัดเจนแล้วว่า พระพุทธเจ้าศรีสรรเพชฌ์องค์ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชฌ์กลางกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อกรุงแตก ข้าศึกทุบทำลายลอกเอาทองคำไปจากองค์พระจนหมดสิ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้นำลงมากรุงเทพฯ เมื่อไม่สามารถบูณะให้คงเดิมได้ จึงโปรดให้นำลงไว้ในห้องใต้พระมหาเจดีย์กลางวัดพระเชตุพนฯ แล้วพระราชทานนามพระมหาเจดีย์องค์นี้ว่า "พระเจดีย์ศรีสรรเพชฌดาญาณ" อยู่มาจนถึงกาลปัจจุบัน
เต็ม อภินันท์ สถาบันดวียิพนผธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดพระธาตุลำปางหลวง - ได้เมืองลำปาง -
ลำปางปล้นสุโขทัยกำแพงเพชร จึงเป็นเหตุกรุงศรีฯขมีขมัน ยกทัพใหญ่ถาโถมเข้าโรมรัน ตีตะบันตะบึงถึงลำปาง
ยึดนครลำปางได้ทั้งหมด เกียรติปรากฏล้านนาบันทึกอ้าง รายละเอียดมากมายไม่เลือนลาง แต่ว่าทางกรุงศรีฯมีเล็กน้อย
สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า ทรงถือเอาพระสำคัญมิใช่ย่อย คือ"พุทธสิกขิ"มีร่องรอย ว่าเคลื่อนคล้อยจากใต้ไปล้านนา |
อภิปราย ขยายความ............
มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า กล่าวถึงบทบาทของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในด้านการสงครามว่า........."ศักราช ๘๗๗ กุนศก (พ.ศ. ๒๐๕๘) วันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๘ ชั้น ๓ ฤกษ์ ๙ ฤกษ์ สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จไปเมืองน(คร)ลำ(ภางได้)เมือง" ไม่มีรายละเอียดของการศึกสงครามที่ยกไปตีนครลำปาง และได้เมืองในครั้งนี้
เบื้องหลังการยกทัพขึ้นไปตีเมืองนครลำปางและได้เมืองนี้นั้น มีบันทึกไว้ในตำนานเมืองเหนือให้รายละเอียดไว้น่าสนใจมาก ขอยกความในพงศาวดารโยนกมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้
......" ในปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๘๗๗ (พ.ศ. ๒๐๕๘) นั้น หมื่นพิงยี่คุมพลนิกายไปตีปล้นเมืองสุโขทัยมิได้ ล่าถอยมา หมื่นลากินหัวเคียนเอาพลไปหลอนชาวกำแพงเพชร ได้เชลย ๘๐ คน กับช้าง ๓ เชือกมาถวาย จึงโปรดให้หมื่นลาไปกินเมืองนคร ในเดือนอ้ายปีเดียวกันนั้น หมื่นลาเอาพลชาวนครไปตีเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นเอาเมืองมิได้ ขณะนั้หมื่นพิงยี่ขับพลเข้าตีเมืองสุโขทัย พลม้าฝ่ายลาวกับพลม้าฝ่ายชาวสุโขทัยเข้าปะทะแทงฟันกันตะลุมบอน เสียขุนม้าชาวเชียงใหม่หลายคน...
....." พลกองทัพหลวงกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยายกขึ้นมา ราชบุตรพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสององค์ ทรงพระนามเอก ๑ พระอาทิตย์ ๑ อำมาตย์ทั้ง ๔ ชื่อ ยุทธ ๑ ไชยะ ๑ ชิณรัฐ ๑ สหัสไชย ๑ ถือพลสามหมื่นเป็นทัพหน้า วันเดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ปลงทัพ ณ ม่วงคันใด ได้รบกับกองทัพชาวเชียงใหม่ ณ ที่นั้น เสียเจ้าแสนคำผู้ครองเมืองเชียงราย กับขุนมีชื่อหกหัวช้างตายในที่รบ ครั้นวันเดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ กองทัพเชียงใหม่ข้ามแม่น้ำวังไปรบทัพชาวใต้ที่ตำบลน้ำแก่งหอย เสียขุนชาวเชียงใหม่ ๒ หัวช้าง แต่หมื่นด่างเต่าคำได้ชนช้างชนะชาวใต้ ล่ามหมื่นชายอุดมจับได้ช้างข้าศึกมาถวายหลายช้าง พระเจ้าเชียงใหม่ปูนบำเหน็จเลื่อนยศให้เป็นหมื่นเพ็กซ้าย.....
....."วันอังคาร เดือนยี่เพ็ญ ยามสายจวนเที่ยง กองทัพไทยเข้าตีเมืองนครลำปางได้ทางประตูท่านาง เสียขุนช้างขาวนคร ๓ หัวช้าง เสียหมื่นธรรมหอขวาง และชาวนครตายในเวียงมากนัก สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีให้อาราธนาพระพุทธสิกขิไปจากเสวตรกูฏาราม (วัดกู่ขาว) เมื่อ ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระพุทธสิขิองค์นี้เป็นพระศิลาดำ ซึ่งนางจามเทวีนำขึ้นมาจากกรุงละโว้ แล้วให้ไปแก่เจ้าอนันตยศราชบุตร ผู้ไปครองเมืองเขลางค์นคร จึงประดิษฐานไว้ ณ วิหารวัดกู่ขาว"
.....ความเป็นมาของพระพุทธสิกขิองค์นี้น่าสนใจมาก พรุ่งนี้จะนำเรื่องพระองค์นี้มาเสนอค่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 บันไดนาควัดพระธาตุลำปางหลวง - ว่าด้วยพระพุทธสิกขิ -
พระพุทธสิกขิมิต้อยต่ำ ใช้หินดำแกะสลักเป็นองค์ห้า หินศักดฺสิทธิ์นาม"อาทรศิลา" ปวงประชาเคารพอภิวันท์
เป็นแท่นที่พุทธองค์ทรงประทับ เทพกำกับดูแลไม่แปรผัน พระราชารามนครเห็นสำคัญ ให้ช่างฟันเป็นชิ้นด้วยยินดี
แกะเป็นองค์พระเจ้าไว้เคารพ จำนวนครบห้าพระองค์สิทธิ์ทรงศรี เป็นมิ่งขวัญประเทศชาติราชธานี จามเทวีนำไปไว้ลำปาง |
อภิปราย ขยายความ.........
พระพุทธสิกขิตามตำนาน "ชินกาลมาลี" ที่พระรตนปัญญา รจนาไว้เป็นภาษาบาลี แปลความได้ว่า เดิมเป็นแท่งหินดำตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก ไม่ไกลจากเมืองอโยชชปุระ นัยว่าเป็นแท่งหินที่พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมในคราวที่เสด็จมาตรัส "ทารุกขันธูปสูตร" แก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อเสด็จกลับไปชมพูทวีปแล้ว ปวงเทพยดาได้เฝ้าดูแลรักษาหินดำแท่งนี้ไว้ มีประชาชนกราบไหว้บูชา บนบานศาลกล่าวกันสืบมาเป็นเวลานาน
อยู่มาพระราชาแห่งรามนคร (หรือรัมมนคร) ทรงเห็นว่าหินดำแท่งนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่ประชาชนกราบไหว้บูชากันมานาน จึงควรนำมาแกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูป ให้เทวดาและมนุษย์กราบไหว้บูชากันตลอดไปจนกว่าจะสิ้นอายุพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้ช่างสะกัดแท่งหินออกเป็นห้าส่วน แล้วให้แกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูปได้ ๕ พระองค์ ประทานพระนามว่า พระพุทธสิกขิ แล้วประดิษฐานไว้ในมหานครหนึ่งองค์ ในลวปุระหนึ่งองค์ ในเมืองสุธรรมหนึ่งองค์ ในรัมมนคร ๒ องค์
อยู่มามีพระราชานามว่าอนุรุทธแห่งอริมัทนบุรี ทราบเรื่องพระพุทธสิกขิ จึงมีพระราชประสงค์ได้ไว้สักองค์หนึ่ง ส่งทูตไปทูลขอจากพระเจ้ามโนหารแห่งรัมมนคร แต่พระเจ้ามโนหารไม่ยอมมอบให้ จึงยกกำลังไปชิงเอาด้วยอานุภาพของพระองค์ ทรงจับกุมตัวพระเจ้ามโนหารไปไว้ในอริมัทนบุรี พร้อมพระพุทธสิกขิทั้งสององค์นั้น ฝ่ายกษัตริย์แห่งเมืองมหานคร (กัมพูชา) ทราบเรื่องว่าพระเจ้าอนุรุทธธรรมิกราชเป็นพุทธมามกะ ปรารถนาในพระพุทะสิกขิ จึงนำพระพุทธสิกขิที่พระองค์ได้ส่วนแบ่งไว้องค์หนึ่งนี้นส่งมาถวาย ในยามนั้น พระพุทธสิกขิจึงมีอยู่ในเมืองอริมัทนบุรี ๓ องค์ เมืองละโว้ ๑ องค์ เมืองสุธรรมวดี (มอญ) ๑ องค์
ในกาลที่พระวาสุเทพฤๅษี สร้างนครหริภุญไชยเสร็จแล้วทูลขอพระนางจามเทวีจากพระเจ้ากรุงละไว้ขึ้นไปเป็นแม่อยู่หัวครองนครหริภุญไชยนั้น พระนางจามเทวีอัญเชิญพระะพุทธสิกขิจากละโว้ขึ้นไปหริภุญไชยด้วย ต่อเมื่อพระนางประสูติพระราชกุมารแฝดสองพระองค์ (ทรงครรภ์ไปจากละโว้) ขนานามว่า อนันตยศ มหันตยศแล้ว พระเจ้าอนุรุทธทราบข่าวทรงโสมนัสมาก ด้วยว่า พระนางจามเทวีนั้นเป็นศรีสะใภ้ของพระองค์ โอรสแฝดที่ประสูตรนั้น เป็นราชนัดดาของพระองค์ จึงทรงมอบของขวัญด้วยการให้ราชทูตอัญเชิญพระพุทธสิกขิของพระองค์ ขึ้นถวายพระนางจามเทวี เพื่อพระเจ้าหลานองค์หนึ่ง พระพุทธสิกขิจึงยังอยู่ในภาคกลางของไทยเพียง ๒ องค์ คือที่อริมัทนบุรี (คือนครชัยศรีปัจจุบัน) เท่านั้น
ต่อมาพระนางจามเทวีทรงสร้างเมืองเขลางค์ขึ้นเป็นเมืองใหญ่ โปรดให้พระมหันตยศครองเมืองนี้ ทรงอัญเชิญพระพุทธสิกขิองค์หนึ่งมาประดิษฐาน ณ เขลางค์นคร (ลำปาง) และประดิษฐานในวิหารวัดกู่ขาวตลอดมา จนถึงวันที่สมเด็จพระรามาธิบดียกทัพเข้ายึดนครลำปางได้ และอัญเชิญพระพุทธสิกขิกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยาในที่สุด..
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เนิน จำราย, รพีกาญจน์, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระรอดหลวง วัดมหาวัน ลำพูน Cr. Photo By คุณซาสี่สีส้ม - อนุรุทธกษัตริย์ไทย -
"อนุรุทธ"ในตำนานพระสิกขิ พระองค์มิใช่มอญดังก่อนอ้าง ทั้งมิใช่เมียนมาร์มาอำพราง เป็นไทยอย่างแน่นอนมีตำนาน
องค์เดียวกับ"กากวัณดิศราช" ประวัติศาสตร์ไทยผิดลิขิตขาน มิตรวจสอบให้รู้อายุกาล และสถานที่ตามความเป็นจริง
นักโบราณคดีไทยได้ค้นพบ หลักฐานครบปรากฏหมดทุกสิ่ง ศักราชชัดเจนเป็นอ้างอิง จึงควรทิ้งความเชื่อคลุมเครือไป..... |
อภิปราย ขยายความ..........
ความในตำนานพระพุทธสิกขิจะกล่าวถึงนามบุคคลและสถานที่ไว้โดยไม่มีคำอธิบายประกอบ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยจึงมักตีความเอาเองจนเกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ชื่อเมืองในตำนานพระะพุทธสิกขิที่พระรัตนปัญญารจนาไว้เป็นภาษาบาลี มีชื่อเมืองอริมัทปุระ พระเจ้าอนุรุทธ เป็นต้น นักวิชาประวัติศาสตร์ไทยแต่ก่อนชี้ว่า อริมัทนปุระ หรือ อริมัทนบุรี คือเมืองพุกาม พระเจ้าอนุรุทธคือ พระเจ้าอโนรธา
นักโบราณคดีไทยท่านหนึ่งค้นพบความจริงของเรื่องนี้ คือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ท่านเขียนไว้ในหนังสือ "สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน" กล่าวว่า ตำนานพระพุทธสิกขิระบุปี พ.ศ. ไว้ชัดเจนว่า เกิดเรื่องนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐ บ่งบอกให้รู้ชัดว่า เมืองอโยชากับพระพุทธสิกขีมีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ อยู่ในปลายปีพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในช่วงเวลานั้นมีกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งนามว่า อนุรุทธธรรมิกราช อยู่ที่ตักศิลามหานคร หรืออริมัทนบุรี ซึ่งก็คือนครชัยศรีในปัจจุบัน
พระองค์มิใช่พระเจ้าอโนรธามังฉ้อ กษัตริย์มอญ เมียนมาร์ ดังที่นักประวัติศาสตร์ไทยเข้าใจกัน เพราะพระเจ้าอโนรธามังฉ้อนั้น อยู่ในอายุกาลช่วงปลายพุทธศตวรรตที่ ๑๖ ห่างไกลจากยุคพระนางจามเทวี สะใภ้ของอนุรุทธธรรมิกราช นานถึง ๔๐๐ ปี
อาจารย์มานิต สรุปว่า พระเจ้าอนุรุทธในตำนานพระพุทธสิกขิ คือ พระเจ้ากากวัณดิศราช แห่งตักศิลามหานคร หรืออริมัทนบุรี มีพระโอรสองค์หนึ่งเป็นพระราชสวามีพระนางจามเทวี และเป็นอุปราชแห่งทวาราวดี (ละโว้) เสวยราช ณ รัมมนคร หรือรามนคร และหรือ อโยชา อโยชยา คืออยุธยาในปัจจุบัน พระเจ้ากากวัณดิศราช หรืออนุรุทธธรรมิกราชพระองค์นี้ คือ ผู้ที่ประกาศใช้ปีจุลศักราช ดังได้กล่าวแล้ว
พระพุทธสิกขิเนื้อศิลาดำ เป็นศิลปะทวาราวดี อาจารย์มานิต วัลลิโภดม กล่าวว่า ได้ขุดแต่งโบราณสถานในเมืองลำพูน "เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่วัดมหาวันซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองลำพูน ขุดพบพระพุทธรูปศิลาองค์หนึ่งในบริเวณวัด ทำเป็นพระรูปขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๔๐ ซม.สูง ๙๐ ซม. ทางวัดได้ปิดทองทำห้องลูกกรงเหล็กเก็บรักษาไว้ เรียกกันว่า พระรอดหลวง หรือ แม่พระรอด ลักษณะมีเค้าศิลปะทวาราวดี" ท่านอาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นพระพุทธสิกขิองค์หนึ่ง
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นชี้ผึ้งไทย ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขุนช้างขุนแผน -
วรรณคดีที่ไทยได้เรียนรู้ เห็นมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่ คือ"ขุนช้างขุนแผน"ก้องแดนไทย เรื่องเกิดสมัย"รามาธิบดี"
นิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติสยาม แสดงความเป็นไทยได้เต็มที่ ทั้งรักโศกตลกสุขทุกรสมี ชายชาตรีเจ้าชู้รู้กล่าวกัน
สมเด็จพระพันวษา"วาตะถ่อง" ทรงครอบครองกรุงศรีมีสุขสันต์ เป็นไมตรีลาวพม่าหมดรามัญ ผลงานอันโดดเด่นเห็นมากมาย |
อภิปราย ขยายความ..............
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์นี้ ชาวกรุงเก่าที่ให้การกับพระเจ้าอังวะ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ว่า "สมเด็จพระพันวษา" พม่าเรียกว่า "วาตะถ่อง" แปลว่า "สำลีพันหนึ่ง" ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า กล่าวว่าหลังจากที่ไปเอาเมืองนครลำปางได้แล้ว ทรงให้ทำตำราพิชัยสงครามขึ้น และให้จัดทำบัญชีสำเร็จทุกเมือง
วันวลิต กล่าวถึงพระราชาพระองค์นี้ในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาไว้อย่างพิสดารพันลึกกอปรด้วยอภินิหารนานาประการสุดที่จะพรรณนา
ชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะ ว่า กรุงศรีอยุธยาเกิดการรบพุ่งกับพระเจ้าเชียงใหม่ เหตุเพราะ พระเจ้าล้านช้าง (ลาว) ส่งพระราชธิดามาถวายสมเด็จพระพันวษา พระเจ้าเชียงใหม่ทราบความจึงดักชิงพระราชธิดานั้นเสียกลางทาง พระพันวษาโปรดให้ขุนแผนแสนสะท้านยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ แล้วเกิดเรื่องราวเป็นนิทานวรรณคดีพื้นบ้านเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ขึ้นมาเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ ติดปากติดใจคนไทยมาจนถึงกาลปัจจุบัน
ในคำให้การนั้นบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระพันวษาทรงกระทำสัมพันธไตรีกับประเทศพม่า โดยแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูต อุปทูต นำไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ ฝ่ายพม่าก็ชื่นชมยินดี จัดเครื่องราชบรรณาการตอบแทน และยังถวายเครื่องดนตรีละคร ทั้งครูดนตรีละครให้ตามที่สมเด็จพระพันวษาทูลขอ ไทยกับพม่าก็มีความรักใคร่นับถือ ไม่ทะเลาะวิวาทกัน บ้านเมืองทั้งสองฝ่ายเป็นสุขสืบมา
พระราชพงศาวการกรุงเก่าบันทึกวาระสุดท้ายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ไว้ว่า ......."ศักราช ๘๙๑ ฉลูศก (พ.ศ.๒๐๗๒) เ ห็นอากาศนิมิตเป็นอินทร์ธนูแต่ทิศหรดีผ่านอากาศทิศพายัพ มีพรรณขาว วันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จพระที่นั่งหอพระ ครั้นค่ำลงวัน (นั้น) สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระอาทิตย์เจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนาม "สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร"
สิริเวลาที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ แต่ปี พ.ศ. ๒๐๓๔ ถึงปีสวรรคต พ.ศ. ๒๐๗๒ ได้ ๓๘ ปี
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- บรมรมราชาหน่อพุทธางกูร -
"พระอาทิตย์"ครองราชย์ไม่ชัดแจ้ง เรื่องจากแหล่งประวัติศาสตร์ยังขาดหาย ความสับสนค้นหามาคลี่คลาย ต้องขยายความอ้างอย่างยืดยาว... |
อภิปราย ขยายความ........
ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ แล้ว สมเด็จพระอาทิตย์เจ้า ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นมหาอุปราช ขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลกนั้น เสด็จลงมาครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร" ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๕ ปีก็สวรรคต โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ
วันวลิต กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาว่า "พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๒ แห่งแผ่นดินสยาม พระองค์เป็นราชโอรสของพระรามาธิบดี สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนมายุได้ ๒๗ พรรษา พระองค์ไม่ประสงค์จะใช้คำว่า "พระ" นำหน้าพระนามของพระองค์ ทรงกล่าวว่า เทพยดาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้คำนี้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่า "หน่อพุทธางกูร" และได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรม ว่า "พระองค์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษา จนกระทั่งพระองค์ทรงตัดดัชนีข้างขวาของพระองค์"
เรื่องมีอยู่ว่า "ขณะที่พระองค์กำลังเดินไปยังห้องต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวังก็สังเกตเห็นว่า ตามผนังห้องมีรอยปูนแดงเป็นจุด ๆ พระองค์ตรัสถามสมุหราชมณเฑียรว่าใครเป็นคนเอาปูนแดงมาป้ายกำแพง สมุหราชมณเฑียรทูลว่า พวกมหาดเล็กได้สลัดปูนที่ป้ายบนใบพลูจนมากเกินไปออกไปติดกำแพง ดังนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งว่า "บุคคลแรกที่สลัดปูนออกจากใบพลูไปถูกกำแพง จะต้องตัดนิ้วชี้ออก"
สองสามวันต่อจากนั้น ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในห้อง ณ พระบรมมหาราชวัง พระองค์ต้องการเสวยพระศรี (กินหมาก) และทอดพระเนตรเห็นว่ามีปูนมากเกินไป ก็ปาดออกด้วยนิ้วชี้และป้ายไปบนกำแพง เมื่อพระองค์ตระหนักว่าได้ทำสิ่งที่พระองค์ห้ามไว้ ก็ทรงชักกริชออกมา (ตามที่ได้มีผู้กล่าวกัน) ตัดนิ้วทิ้งไป พร้อมทั้งรับส่งว่า "เจ้าทำความชั่วร้ายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรา ดังนั้น เราจึงไม่ต้องการเจ้า"
คำให้การชาวกรุงเก่า ที่ให้การไว้กับพระเจ้าองวะว่า เมื่อสมเด็จพระพันวษา (รามาธิบดีที่ ๒) สววรคตแล้ว พระบรมกุมารราชโอรสได้ครองราชสมบัติสืบแทนมีพระนามว่า "พระปรเมศวร" ทรงมีมเหสี ๒ องค์ มเหสีขวาพระนามว่า "จิตรวดี" มเหสีซ้ายนามว่า "ศรีสุดาจันทร์" มเหสีขวามีโอรส ๒ พระองค์ พระองค์ใหญ่นามว่า "พระเฑียร" พระองค์น้อยนามว่า "พระไชย" คำให้การชาวกรุงเก่าคลาดเคลื่อนมากกว่าความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต จนกลายเป็นเรื่องที่ปรากฏในรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราชไปเลย
จากความในพงศาวดารฉบับปลีกย่อยหลายฉบับ สรุปแล้วได้ความลงตัวว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) สวรรตแล้ว สมเด็จพระอทิตย์เจ้า ราชโอรสสมเด็จพระบรมราชา (พระเชษฐาสมเด็จพระรามาธิบดี) ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาอุปราชเสวยราชสมบัติ ณ พิษณุโลกนั้น ได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จบรมราชาชาหน่อพุทธางกูร" แล้วสถาปนาพระชัยราชา ราชโอรสพระองค์โตในสมเด็ขพระรามาธิบดี เป็นอุปราชเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก
สมเด็จบรมราชา มิใช่ราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีดังที่วันวลิตกล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หากแต่พระราชนัดดา โดยสมเด็จพระรามาธิบดีเป็นสมเด็จพระเจ้าอาว์ (เพราะเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระบรมราชา)
..... สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร เสวยราชสทบัติต่อเมื่อมีพระชนมายุมากแล้ว ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๕ ปี ก็เสด็จสวรรคต วันวลิตว่าพระองค์สวรรคตหลังจากที่ "ยกทัพไปประชิดพรมแดนพะโค และยึดเมือง Choulock ได้ ขณะยกทัพกลับ พระองค์ทรงได้รับเชื้อไข้ทรพิษสิ้นพระชนม์ลง รวมเวลาเสวยราชย์ได้ ๕ ปี"
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์, กอหญ้า กอยุ่ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระไชยราชา -
ครั้น"หน่อพุทธางกูร"ทรงสูญสิ้น ผลัดแผ่นดินสับสนจนคลาดข่าว "รัษฎา"เยาวว์วัยในเรื่องราว ถูกญาติกล่าวยกย่องขึ้นครองเมือง
เป็น"หุ่นเชิด"อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะผิดหลักเกณฑ์ที่มีต่อเนื่อง จึง"พระไชย"อุปราชทรงขัดเคือง ลบล้างเรื่องผิดกฎหมดบัลลังก์
ทรงขึ้นครองกรุงศรีที่ถูกหลัก ราชสำนักใต้เหนือเอื้อมนต์ขลัง "ไชยราชา"มากสนมกรมวัง ไม่ทรงตั้งมเหสีที่สมควร... |
อภิปราย ขยายความ...................
สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูรเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖ โดยไม่มีรายละเอียดว่าสวรรคตด้วยเหตุใด วันวลิตให้รายละเอียดไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาว่า พระเจ้าแผ่นดินสืบบัลลังก์ต่อจากบรมราชาหน่อพุทธางกูร เป็นพระองค์ที่ ๑๓ แห่งสยาม คือ "วรรัตทธิรายา" ซึ่งเป็นราชโอรสของบรมราชาหน่อพุทธางกูร มีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา เท่านั้นทรงได้รับเลือกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะหน่อพุทธางกูรไม่มีโอรสหรือนุชาที่มีอายุมากกว่านี้ พระองค์มีชีวิตอยู่บนราชบัลลังก์ได้เพียง ๕ เดือน ก็ถูกพระญาติปลงพระชนม์
พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ระบุพระนามเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ว่า "พระรัษฎาธิราช" พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุพระนามว่า "พระรัฏฐาธิราช" แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ ไม่ระบุพระนาม
พระญาติที่ปลงพระชนม์เยาวกษัตริย์พระองค์นี้ ตามที่วันวลิตกล่าวนั้น คือพระไชยราชาธิราช ทรงเป็นโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ องค์อุปราชที่เสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก พระองค์มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะครองบัลลังกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาตามกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดไว้ว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นแล้วให้พระอุปราชสืบราชสมบัติแทน แต่ครั้นบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคต แทนที่พระบรมวงศ์และอำมาตย์ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจะอัญเชิญพระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติตามพระราชประเพณี พวกเขากลับไม่อัญเชิญหากแต่รวมหัวคิดกันอัญเชิญพระราชกุมาร ผู้มีพระชนม์เพียง ๕ พรรษาขึ้นนั่งบัลลังก์ แล้วพวกเขาก็ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระราชกุมารจึงเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น
สมเด็จพระไชยราชามหาอุปราชจึงยกกำลังลงมาจากเมืองพระพิษณุโลกทวงสิทธิ์อันชอบธรรม ประหารราชกุมารและตัวการใหญ่ในราชสำนักเสียสิ้น (เช่นเดียวกันกับพระยาลิไทมหาอุปราชที่ยกกำลังจากศรีชนาลัยลงมาขึ้นครองกรุงสุโขทัย) แล้วขึ้นครองราชบัลลังก์ ทรงอพยพพระญาติราชบริพารในราชสำนักพระพิษณุโลกลงไปมาไว้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ครานั้นมีราชนิกูลในราชวงศ์สุโขทัยลงไปอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก บุคคลสำคัญที่ปรากฏนามคือ "พระศรีจุฬาลักษณ์" เจ้าหญิงในราชวงศ์สุโขทัยผู้เป็นพระชายา และ "ขุนพิเรนทรเทพ" เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย เป็นพระตำรวจที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ให้ดำรงตำแหน่งกรมพระตำรวจแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา
หลังครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ไม่ทรงตั้งพระมเหสีตามพระราชประเพณี หากแต่ทรงตั้งพระสนมเอก (คุณท้าว) ขึ้น ๔ พระองค์เท่านั้น
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ยึดลำพูน - เชียงใหม่ -
เกิดเหตุความวุ่นวายในเมืองเหนือ ล้านนาเมื่อเสื่อมนั้นเริ่มปั่นป่วน พระเกษเกล้าเจ้าเชียงใหม่ใจเรรวน เป็นชนวนเหตุเรื่องเมืองวุ่นวาย
ถูก"แสนดาว"ปลงพระชนม์เมืองหม่นหมอง ขาดผู้ครองแคว้นแตกแยกมากฝ่าย "จิรประภาเทวี"มิดูดาย รับมอบหมายบริหารครองบ้านเมือง
หลายเจ้าเมืองยกกำลังตั้งหน้ารบ "แสนดาว"พบปัญหามาแน่นเนื่อง ส่งทูตขอ"กรุงศรี"ที่รุ่งเรือง ช่วยปลดเปลื้องปัญหาการฆ่าฟัน
จึ่ง"พระไชยราชา"ยาตราทัพ ทรงกำกับกำลังอย่างแข็งขัน ยึดลำพูน,เชียงใหม่ในฉับพลัน เรื่องราวอันสับสนควรสนใจ |
อภิปราย ขยายความ........
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ บันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระไชยราชาธิราชไว้อย่างน่าสนใจว่า
......"ศักราช ๙๐๗ มะเส็งศก (พ.ศ.๒๐๘๘) สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้า และยกพลออกตั้งทัพชัยตำบลบางบาล ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ จึงยกทัพหลวงจากที่ทัพชัยไปเมืองกำแพงเพชร เถิง ณ วันอังคาร แรม ๙ ค่ำ เดือน ๗ ยกไปตั้งเชียงทอง แล้วยกไปตั้ง ณ เมืองเชียงใหม่ เถิง ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ทัพหลวงเสด็จกลับมายังพระนครศรีอยุธยา....."
.......ถอดความได้ว่า ทรงตั้งทัพชัยครั้งแรกที่บางบาล (อ.บางบาลปัจจุบัน) แล้วยกทัพเดินทางไปเป็นเวลา ๑๐ วัน ถึง เมืองกำแพงเพชร ตั้งทัพชัยที่นั่น จากนั้นเดินทัพไปตั้งที่เชียงทอง (ในจังหวัดตาก) แล้วยกไปเชียงใหม่ และยกทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีเดียวกัน
เหตุที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพไปเชียงใหม่ครั้งนี้ ไม่มีรายละเอียดในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา แต่มีรายละเอียดอยู่ในตำนานเมืองเหนือ (พงศาวดารโยนก) ว่า เพราะ แสงดาว หัวหน้าขบถเชียงใหม่ ส่งทูตขอความช่วยเหลือมา มีเรื่องราวในพงศาวดารโยนก (ตำนานเมืองเหนือ) ว่าดังต่อไปนี้
....ในปีจุลศักราช ๗๙๖ พระมหาเทวีอโนชา พระชนนีนาถราชมารดาของพระเมืองเกษเกล้าก็พิราลัย ....ปีจุลศักราช ๘๙๗ เกิดขบถ โดยหมื่นสร้อยสามล้าน นครลำปางกับบุตรชื่อหมื่นหลวงชั้นนอก และหมื่นยี่อ้าย เป็นต้นคิดจะทำร้ายพระเมืองเกษเกล้า พระองค์ทรงทราบจึงให้กุมเอาตัวหมื่นทั้งสามกับพวกไปฆ่าเสีย เวลาผ่านมาถึงปีจุลศักราช ๙๐๐ เจ้าท้าวซายคำราชบุตร คิดการเป็นขบถชิงราชสมบัติ สมคบกับอำมาตย์จับกุมตัวพระเมืองเกษเกล้า บังคับให้เวนราชสมบัติแก่เจ้าท้าวซายคำราชบุตร แล้วเนรเทศพระเมืองเกษเกล้าไปไว้ ณ เมืองน้อย
.......เจ้าท้าวซายคำครองเชียงใหม่ได้ ๕ ปี ถึงปีจุลศักราช ๙๐๕ มีความประพฤติผิดราชประเพณีเป็นโจรปล้นราษฎร เสนาอำมาตย์และราษฎรจึงจับกุมตัวได้แล้วปลงพระชนม์เสีย แล้วไปเชิญพระเมืองเกษเกล้า ณ เมืองน้อย กลับมาครองเชียงใหม่ตามเดิม ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๙๐๗ พระเมืองเกษเกล้าทรงเสียพระสติ หลงใหลกระทำการเดือดร้อนต่าง ๆ "แสนดาว" เป็นต้นคิดร่วมกันกับเสนามาตย์ราษฎร ลอบปลงพระชนม์เสีย แล้วส่งคนไปเชิญพระเขมรัฐเชียงตุงให้มาครองเชียงใหม่ พระเขมรัฐไม่รับเชิญ จึงหันไปเชิญเจ้าฟ้าเมืองนาย รับเชิญแต่ยังมิทันมาเชียงใหม่
.......หมื่นสามล้านอ้าย เจ้าเมืองนครลำปาง หมื่นแก้วเจ้าเมืองเชียงราย หมื่นมณีเจ้าเมืองเชียงแสน หมื่นยี่เจ้าเมืองพาน กับขุนอื่น ๆ พากันไปประชุม ณ เมืองเชียงแสน แล้วตกลงให้ไปเฝ้าพระเจ้าโพธิสารราช เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ทูลขอพระอุปโยวราชล้านช้างผู้ซึ่งมีพระมารดาเป็นธิดาพระเมืองเกษเกล้ามาเป็นมหาราชเชียงใหม่
.......ในระหว่างนั้น ทางเมืองแสนหวีทราบข่าวว่า "แสนดาว" เป็นขบถปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า จึงให้หมื่นหัวเคียนยกรี้พลลงมาตีเชียงใหม่ "แสนดาว" ยกกำลังออกสู้รบกัน ๓ วัน ๓ คืน ไม่รู้ผลแพ้-ชนะ วันที่ ๔ หมื่นหัวเคียนถอยลงไปอยู่เมืองลำพูน "แสนดาว" จึงแต่งหนังสือให้แขกเมือง ๑๑ คนที่มาพำนักอยู่ในเมืองเชียงใหม่ถือลงไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอกองทัพขึ้นตีเชียงใหม่ ........กองทัพกรุงศรีอยุธยายังไม่ทันถึงเชียงใหม่ พวกขุนทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ เมืองเชียงแสนนั้น ยกกำลังถึงเชียงใหม่แล้วจับกุม"แสนดาว"กับพวกฆ่าเสียสิ้น แล้วพร้อมกันยก พระนางมหาเทวีเจ้าจิรประภา ขึ้นเป็นนางพระยาครองเมืองเชียงใหม่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ จุลศักราช ๙๐๗ ปีมะเส็ง สัปตศก ตรงกับ พุทธศักราช ๒๐๘๘"
.......สมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งตำนานเชียงใหม่เรียกพระนามว่า "สมเด็จบรมไตรจักร" ได้ยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ตามหนังสือขอของ "แสนดาว" มีรายละเอียดในพงศาวดารเมืองเหนือมากกว่าความในพงศาวดารเมืองใต้ พรุ่งนี้จะนำรายละเอียดมาให้อ่านกันต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กรุงศรีอยุธยาพ่ายล้านนา -
ทัพกรุงศรีฯหนีกลับอย่างยับย่อย ซึ่งมิค่อยเผยเรื่องทางเมืองใต้ ตำนานเหนือเรื่องยาวบอกเล่าไว้ ว่า"พระไชยฯ"ยกกองทัพสองครา
ครั้งแรกยกทัพใหญ่ใหญ่มิได้รบ ด้วยได้พบไมตรีมากมีค่า ความฉลาดเทวี"จิรประภา" ทำให้ล่าทัพคืนอย่างชื่นชม
แต่ครั้งสองกองทัพกลับเหี้ยมโหด "ฆ่าล้างโคตร"เผาเมืองให้ขื่นขม เมืองลำพูนสูญแสนแค้นระทม เมื่อถูกข่มขืนใจจึงไม่ยอม
ล้านนาฮึดฮัดสู้จู่โจมต้าน ประจันบานทัพไทยตีตะล่อม การ"สู้อย่างจนตรอก"ไม่อดออม เป็น"เสือผอม"โผตะครุบขบเหยื่อกิน
จึงทัพ"ไชยราชา"พ่ายล่าถอย แพ้ยับย่อยสะอื้นกลับคืนถิ่น ตำนานเหนือจดไว้ให้ยลยิน ทั้งฟ้าดินรู้เห็นเป็นพยาน |
อภิปราย ขายความ.........
การยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ตามหนังสือขอความช่วยเหลือของ "แสนดาว" นั้น ความในพงศาวดารโยนก เรียกพระนามสมเด็จพระไชยราชาธิราชว่า "สมเด็จพระบรมไตรจักร" ได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้
....."ปางนั้นสมเด็จพระบรมไตรจักร เจ้ากรุงพระนครศรีอยุธยา เสด็จดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงขึ้นมาถึงเมืองนครเชียงใหม่ ตั้งค่ายหลวง ณ ตำบลหนองผ่าแตบ ตะวันออกสวนลาน จึงพระเป็นเจ้ามหาจิระประภาเทวีให้แต่งขุนผู้ฉลาดคุมเครื่องราชบรรณาการไปถวายต้อนรับโดยทางพระราชไมตรี
ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล ณ กู่อัฐิเจ้าเมืองเกษเชฐราชวัดโมฬี พระราชทานเงินไว้สร้างกู่ ๕,๐๐๐ บาท กับผ้าทรงผืนหนึ่ง แล้วพระราชทานรางวัลแก่เจ้าขุนฝูงอันไปต้อนรับเสด็จนั้นทุกคน ถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ เสด็จไปสรงน้ำยังเวียงเจ็ดลิน ประทับแรมที่นั้น
ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ เพลาใกล้รุ่ง เสด็จคลาทัพหลวงจากเมืองนครเชียงใหม่ ไปประทับค่ายหลวงตำบลน้ำกวง (ปากน้ำเมืองลำพูน) แล้วเสด็จกลับคืนไปกรุงพระนครศรีอยุธยา"
ได้ความว่า การยกทัพขึ้นไปครั้งแรก พระนางเจ้าจิรประภาเทวีส่งเครื่องราชบรรณาการขอเป็นไมตรี จึงไม่มีการรบ เลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยาอย่างชื่นมื่น หลังจากกองทัพกรุงศรีอยุธยากลับไปแล้ว ทางเชียงใหม่ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก โดยเจ้าฟ้าเมืองย่องห้วย ยกทัพมาล้อมเชียงใหม่ และเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง จนยอดพระเจดีย์หลวงกับเจดีย์อื่น ๆ หักพัง เจ้าฟ้าเมืองนายและเจ้าฟ้าเมืองย่องห้วยสมทบกันเข้าตีเชียงใหม่ ทัพล้านนากับเงี้ยว รบกัน ๓ วัน ๓ คืน หักเอาเมืองไม่ได้ ทัพเงี้ยวก็ล่าถอยไปตั้งที่ลำพูน ในปี จุลศักราช ๙๐๗ นั้น กองทัพพระยากาง พระยาสุระจากล้านช้างก็ยกมาช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระไชยราชายกทัพขึ้นไปเชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่ ๒ โดยเดินทัพในเส้นทางเดิม การยกทัพไปครั้งนี้ เมื่อไปถึงลำพูน กล่าวว่า "มีอุบาทว์ เห็นเลือดติดอยู่ ณ ประตูบ้านและเรือนและวัดทั้งปวง ในเมืองและนอกเมืองทั่วทุกตำบล" แล้วยกทัพกลับ โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ
แต่ความละเอียดไปปรากฏในตำนานเมืองเหนือ พงศาวดารโยนกว่า เจ้าเมืองสุโขทัยเอาเรือบรรทุกเครื่องศึกขึ้นมาทางน้ำถึงเมืองลำพูน เสนาอำมาตย์ในราชสำนักล้านนาปรึกษากันว่าจะสู้หรือยอมเหมือนคราวที่แล้ว ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรเป็นไมตรีกันเหมือนครั้งก่อน อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรสู้รบ เมื่อกราบทูลความเห็นพระมหาเทวีจิรประภา ทรงให้ออกเจรจาความเมือง
พระยาสุโขทัยกล่าวเป็นคำลวงว่า "มาดี มิได้คิดร้าย ให้เป็นแผ่นคำลำเดียวกัน ให้ไปมาหากันโดยดี มิต้องอยู่ค่ายต่ายเวียง และกระทำการเป็นไมตรีมิให้สงสัย"
ยามดึกคืนนั้น พระยาสุโขทัย กับพระยาละโว้ลอบเข้าพังประตูท่าลี่เมืองลำพูน จับกุมผู้คน จุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎรในเมือง เพลิงลุกลามตั้งแต่ประตูท่านางไปจนถึงประตูมหาวัน เมืองลำพูนถูกเผาวอดวายไปในชั่วคืนเดียว
รุ่งขึ้น กองทัพพระยาสุโขทัย และละโว้ ก็ยกเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ ทางฝ่ายเชียงใหม่ก็ตั้งกำลังสู้ "อย่างจนตรอก" การรบเป็นไปด้วยความดุเดือดขุนทหารทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก และปรากฏว่าทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเสียหายตายไปมากกว่าฝ่ายล้านนา กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจำต้องล่าถอย ผลปรากฏว่า ขุนทหารและไพร่พลถูกฆ่าตายประมาณหมื่นเศษ เรือนาวาถูกยึดไว้ ๓,๐๐๐ ลำ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ริมถนนราชดำเนิน - เก็บตกจากตีล้านนา -
ประวัติศาสตร์สับสนเพราะคนเขียน มุมมองเปลี่ยนแปรความตามหลักฐาน หนึ่งมุมมองตำราพงศาวดาร สองมองตามตำนานโบราณคดี
ผู้ชนะจะเขียนประวัติศาสตร์ เพื่อประกาศเกียรติคุณหนุนศักดิ์ศรี ฝ่ายผู้แพ้เล่าตำนานพาลราวี ถูกย่ำยีอย่างไรฝังใจจำ
ตำนานเหนือค้านพงศาวดารใต้ จะเชื่อใครฟังเล่นให้เห็นขำ คือเกร็ดรวมให้เห็นเป็นกอบกำ เรื่องเล็กทำใหญ่ได้ถ้าใตร่ตรอง..... |
อภิปราย ขยายความ.........
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ทำขึ้นนั้น กล่าวว่า กองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราช ยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ นั้น มีพระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้า ยกไปถึงเมืองลำพูนแล้วเห็นอุบาทว์ คือบ้านเรือนวัดวาอารามมีเลือดติดเกระกรังอยู่ตามประตูและข้างฝา ทั้งนอกเมืองในเมืองทุกหนแห่ง แล้วยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ
ในเรื่องเดียวกันนี้ ตำนานเมืองเหนือ (พงศาวดารโยนก) บอกเล่ารายละเอียดไว้ว่า พระยาสุโขทัยเอาเครื่องศึกใส่เรือบรรทุกขึ้นไปตามลำน้ำปิงจนถึงเมืองลำพูน พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวีตรัสให้เจรจาความเมือง พระยาสุโขทัยกล่าวว่า มาดี หมายเป็นทองแผ่นเดียวกัน จะไม่มีการรบกัน ทางฝ่ายเจ้าเมืองลำพูนเชื่อถือ จึงไม่มีการเตรียมตัวสู้รบ ยามดึกของคืนนั้น พระยาสุโขทัยกับพระยาละโว้ยกกำลังเข้าทางประตูท่าลี่ พังประตูเข้าไปจับขุนหมื่นเมืองลำพูน ปล้นบ้านเมือง และจุดเพลิงเผาคุ้ม และบ้านเรือนราษฎร ฆ่าฟันผู้คนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ เพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนในเมืองลำพูนจากประตูท่านางไปจนถึงประตูมหาวัน เมืองลำพูนวอดวายไปในคืนเดียว
หมื่นด่างล้าน กับ หมื่นพร้าว หนีรอดจากลำพูนได้ เข้าแจ้งเหตุต่อกรมการเมืองเชียงใหม่ เสนาอำมาตย์จึงเตรียมการสู้รบข้าศึกอย่างเต็มที่ พระยาสุโขทัยยกจากลำพูนไปตั้งที่ตำบลต้นไร่ต้นหลวงเหนือกู่คำกุมกาม แล้วแต่งให้หมื่นศรีสหเทพ กับ พันเทพมณเฑียร ถือหนังสือและของถวายเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ ขอให้พระนางเจ้าจิรประภาเอาเมืองไปขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ทางเชียงใหม่ไม่ยอม..มีรายละเอียดในตำนานเมืองเหนือ ความตรงนี้ว่าดังต่อไปนี้
....."วันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ยามสองงาย (ราวสามโมงเช้า) พระยาใต้ให้หมื่นสุโขทัยถือพลเข้าตีเมืองเชียงใหม่ด้านตะวันตก จึงหมื่นสามล้านอ้ายแต่งขุนทัั้งหลายคุมพลออกรบกลางหัวริน ชาวใต้ตายมาก เลยถอยไปทางตะวันออก
.....พระยาใต้ให้หมื่นกำแพงเพชรยกพลมารบยังทุ่งหนองหญ้าหนองมอญ เจ้าแสนพิงไชยแก้วแต่งขุนแกล้วหาญออกสู้รบ กองทัพใต้แตก ถอยข้ามฝั่งน้ำแม่พิงค์ไปฝั่งฟากตะวันออก ในวันเดียวกันนั้น ยามแตรค่ำ กองทัพใต้เข้าปล้นเมืองทางประตูแสนพุง เข้ามิได้ก็ถอยไป วันขึ้น ๘ ค่ำ และ ๙ ค่ำ ยกมารบอีก ๒ วันก็เข้ามิได้ เลยเผาวัดแสนทอง และเผาบ้านเรือนเสียมาก วัน ๙ ค่ำ ยามเที่ยงคืน กองทัพใต้เลิกถอยไป แต่งทัพไว้รอท้ายพล วัน ๑๑ ค่ำ จึงได้ยกเลิกไปทั้งหมด
.....เจ้าขุนทั้งหลายแต่งทัพออกตามไปถึงเชียงครึ่ง ได้ม้า ๓๐ ม้า กับเชลยเป็นอันมาก กองทัพไทยไปทางเมืองลี้ ม่วงป้อม ถึงตำบลห้วยหาด เจ้าเมืองน่านชื่อยี่มังคละ และหมื่นควร กับชาวนคร หมื่นน้อยเชียงเรือก ออกก้าวสกัดทัน ได้สู้รบกันเป็นสามารถ ได้ช้าง ๔ ช้าง หมื่นเมืองพิจิตรและหมื่นเมืองกำแพงเพชร ตายในที่รบ ทัพใต้เสียไพร่พลที่นั้นมาก เมืองเลย ยกพลไปทางน้ำพูนสามหมื่น ที่นั้นหมื่นต่างประตูหอ กับหมื่นแจ้หอคำ กองทัพลาวที่ซุ่มไว้นั้น ก็ออกโจมตีกลางกระบวนทัพ ได้ชนช้าง ฆ่าขุนภูริปัญญาเจ้า กับขุนจอมราชมณเฑียรบาลตาย ฆ่าฟันพลเดินเท้าตายประมาณหมื่นเศษ ได้เรือนาวา ๓,๐๐๐ ลำ"
รายละเอียดการรบอย่างดุเดือดเลือดนองแผ่นดินล้านนานี้ ไม่มีในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เพราะกองทัพไทยใต้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างยับเยินครับ
เต็ม อภินันท์ สถาตบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|