บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ชำระความบริสุทธิ์สงฆ์ -
ปราบก๊กเจ้าพระฝางอย่างสิ้นซาก ก่อนจะจากเมืองเหนือทรงเกื้อหนุน ปรารถนาพระสงฆ์ให้ทรงคุณ สึกสมุนพระฝางเสียทั้งปวง
ชำระศีลทุกองค์สิ้นสงสัย แล้วบวชใหม่ฐานะเป็นพระหลวง ทรงชำระสะสางสงฆ์ทั้งพวง มิให้ล่วงเลยล้ำธรรมวินัย |
อภิปราย ขขายายความ......
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นไปปราบก๊กเจ้าพระฝางได้สำเร็จ เจ้าพระฝางหนีสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย จับได้แม่ทัพเจ้าพระฝาง ๔ คน ทรงให้สละผ้าเหลืองเสียแล้วจำคงส่งเข้าคุกที่กรุงธนบุรี จากนั้นทรงให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เมืองเหนือมาพร้อมกันหน้าที่นั่งและเรียกประชุมขุนนางปรึกษากันในเรื่องพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าเป็นพวกของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น จึงไม่แน่ใจได้ว่าองค์ใดเป็นพระภิกษุผู้บริสุทธิ์องค์ใดเป็นพระภิกษุที่ล่วงปาราชิกสิกขาบทแล้ว จึงตกลงให้ชำระความแก่พระภิกษุเหล่านั้นขึ้นเพื่อความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา วิธีการชำระความบริสุทธิ์นั้นท่านกำหนดให้ “ดำน้ำสู้นาฬิกา” การดำน้ำสู้นาฬิกานั้นทำอย่างไร วันนี้มาดูในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ให้รายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้ครับ
 * “อนึ่งพระสงฆ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ก็จะแปลกปลอมปะปนกันอยู่ มิรู้ว่าองค์ใดดีองค์ใดชั่ว จะได้ไหว้นพเคารพสักการบูชาให้เป็นเนื้อนาบุญได้มีผลานิสงส์แก่เราท่านทั้งปวง ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ตามจริง ถ้าได้ผิดในจตุปาราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกทำราชการ ที่ไม่รับนั้นจะให้ดำน้ำพิสูจน์สู้นาฬิกาสามกลั้น แม้นชนะแก่นาฬิกาจะให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้ แม้นแพ้แก่นาฬิกาจะให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วสักข้อมือมิให้บวชได้อีก แม้นเสมอนาฬิกาจะถวายผ้าไตรให้บวชใหม่ ถ้าแต่เดิมไม่รับ ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูจนกลับคืนคำว่าได้ทำผิด จะให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตเสีย” พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความรอบคอบหมดจดของพระองค์ได้เป็นอย่างดี
 เมื่อจะให้พระสงฆ์ดำน้ำพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น ทรงให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดานผ้าขาว แต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดา พร้อมแล้วจึงทรงพระสัตยาธิษฐานว่า “ให้พระบารมีช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง ถ้าภิกษุองค์ใดมิได้ขาดจากสิกขาบทจตุปาราชิก ขอให้พระบารมีของเราและอานุภาพเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์จงเป็นสักขีพยาน ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น อย่าให้แพ้แก่นาฬิกาได้ ถ้าและภิกษุรูปใดถึงซึ่งศีลวิบัติแล้ว เทพยดาเจ้าจงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาเห็นประจักษ์แก่ตาโลก” แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้ที่หาดทราย ให้พระสงฆ์ลงดำน้ำพิสูจน์ตัวต่อหน้าพระที่นั่ง ครั้งนั้นปรากฏว่าพระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ก็ชนะแก่นาฬิกาบ้างเสมอบ้าง แต่มีผู้ที่แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก เสนาบดีก็จัดการแก่พระสงฆ์ตามรับสั่งนั้นทุกประการ ผ้าจีวรของผู้แพ้นาฬิกาต้องจับสึกนั้น ให้เผาไฟเป็นสมุกนำไปทาพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี ทรงให้จัดทำผ้าไตรขึ้นใหม่ได้พันไตรเพื่อจะบวชพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ รับสั่งให้สังฆการีรีบลงไปอาราธนาพระราชาคณะกับพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรีขึ้นมาเมืองเหนือจำนวนห้าสิบรูป ทำพิธีบวชชาวเหนือเป็นพระภิกษุให้อยู่จำพรรษาในวัดต่าง ๆ ทุกหัวเมือง โดยให้พระราชาคณะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์นั้น ๆ อยู่สั่งสอนอบรมพระธรรมวินัย กับให้เก็บพระไตรปิฎกลงไปเป็นฉบับสร้าง ณ กรุงธนบุรีด้วย โปรดให้พระพิมลธรรมอยู่เมืองสวางคบุรี ให้พระธรรมโคดมอยู่เมืองพิชัย ให้พระธรรมเจดีย์อยู่เมืองพระพิษณุโลก ให้พระพรหมมุนีอยู่เมืองสุโขทัย ให้พระเทพกระวีอยู่เมืองสวรรคโลก ให้พระโพธิวงศ์อยู่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง
 จากนั้นทรงเสด็จไปเมืองสวางคบุรี จัดงานสมโภชพระมหาธาตุสามวัน แล้วเปลื้องพระภูษาทรงสพักจากพระองค์ห่มพระมหาธาตุ ให้ปฏิสังขรณ์พระอารามและพระมหาธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่า จากนั้นเสด็จไปเมืองศรีพนมมาศ กระทำสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์สามวัน แล้วเสด็จไปเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) กระทำสมโภชพระมหาธาตุสามวัน
 วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ เสด็จกลับเมืองพิษณุโลก กระทำสมโภชพระมหาธาตุ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์สามวัน แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งข้าหลวงเดิมซึ่งมีความชอบในการสงคราม ให้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง สำหรับหัวเมืองใหญ่นั้น โปรดให้พระยายมราช (บุญมา) เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ครองเมืองพระพิษณุโลก ประมวลไพร่พลเมืองมีอยู่หมื่นห้าพัน ให้พระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก มีไพร่พลเมืองอยู่เจ็ดพัน ให้พระยาสีหราชเดโช (ทองดี) เป็นพระยาพิชัยมีไพร่พลเมืองเก้าพัน ให้พระยาท้ายน้ำเป็นพระยาสุโขทัยมีไพร่พลอยู่ห้าพัน ให้พระยาสุรบดินทรเป็นพระยากำแพงเพชร ให้พระยาอนุรักษ์ภูธรเป็นพระยานครสวรรค์ ทั้งสองเมืองนี้มีพลเมือง ๆ ละสามพันเศษ และพร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) เป็นพระยายมราชว่าราชการที่สมุหนายก จากนั้นก็เสด็จกรีธาทัพหลวงกลับกรุงธนบุรี พร้อมกับนำนางพระยาเศวตกริณีล่องแพลงไปด้วย โปรดให้ปลูกโรงรับ ณ สวนมังคุด แล้วให้มีงามสมโภชสามวัน
* ท่านผู้อ่านคงจำได้นะครับว่า ในตอนที่ให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระสังฆราชที่ถูกกล่าวหาปาราชิกนั้น ทรงให้ “ลุยไฟ” แล้วสังฆราชแพ้ เพราะไม่ยอมลุยไฟ มาคราวนี้ทรงใช้วิธีใหม่ให้ภิกษุชาวเหนือทั้งปวงดำน้ำสู้นาฬิกา ให้กลั้นลมหายใจในน้ำตามกำหนดเวลา ถ้าทำไม่ได้ก็ถือว่าแพ้นาฬิกา เช่นตั้งเวลานาฬิกาไว้ ๕ นาที องค์ใดดำน้ำนานไม่ถึง ๕ นาที ก็ถือว่าแพ้ เป็นต้น หลังจากนั้น ทรงให้ภิกษุทึ่สู้นาฬิกาได้นั้นบวชใหม่ทั้งหมด นี้ก็เป็นวิธีการชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์อีกวิธีหนึ่ง
พรุ่งนี้มาดูเรื่องราวของพระเจ้ากรุงธนบุรีต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไมย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เปิดศึกพม่าที่เชียงใหม่ -
ยามนั้น...เชียงใหม่มีเจ้าเมืองพม่า อวดเก่งกล้ายกกองกำลังใหญ่ ลงมาล้อมตี”ศรีสัชนาลัย” เป็นเหตุให้ศึกบานเต็มล้านนา
พระเจ้าตากยกทัพสัประยุทธ์ ทรงหวังขุดรากหน่อตอพม่า ได้“มังชัย”สวามิภักดิ์เพิ่มศักดา พระเดชาปรากฏยศขจร |
อภิปราย ขยายความ..............
ท่านผู้อ่านครับ เมื่อวันวานผมบอกเล่าความถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงปราบก๊กเจ้าพระฝางลงได้อย่างราบคาบแล้ว ทรงชำระการคณะสงฆ์ไทยในภาคเหนือตอนล่าง (ภาคกลางตอนบน) ด้วยเห็นว่าพระภิกษุเหล่านั้นเป็นบริวารของพระฝางจึงไม่แน่ใจในความบริสุทธิ์ของศีล ทรงชำระสะสางจนคณะสงฆ์สะอาดบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี วันนี้มาดูเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยช่วงตอนนี้ต่อไปครับ
 * มีความในพงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีขาล ตรีศก ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๔ พระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีกรีธาทัพหลวงขึ้นตีเชียงใหม่ ถึงนครเชียงใหม่วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ (คือเดือน ๕) พระยาโกษาเป็นแม่ทัพหน้า มีรี้พล ๗ พัน เข้าตั้งประชิดทางประตูไลแกง กองทัพพม่าซึ่งรักษาเมืองได้สู้รบป้องกันเมืองเป็นสามารถอยู่ได้ ๙ วัน กองทัพไทยก็เลิกถอยกลับไป แต่ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดไว้ว่า “ครั้นถึง ณ เดือน ๓ ปี ขาล โทศกนั้น ฝ่ายปะระกามนี ซึ่งเรียกว่าโปมะยุง่วน (โปหัวขาว) เจ้าเมืองเชียงใหม่ ยกกองทัพพม่า กองทัพลาว ยกลงมาตีเมืองสวรรคโลก เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ เจ้าพระยาสวรรคโลกก็เกณฑ์ไพร่พลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงกำแพงเมือง ต่อรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ แล้วบอกลงมายังกรุง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงโปรดให้มีตราขึ้นไปเกณฑ์กองทัพเมืองพระพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย ให้ยกขึ้นไปตีกองทัพพม่าช่วยเมืองสวรรคโลก เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) พระยาพิชัย (ทองดี) และพระยาสุโขทัย ก็ยกทัพทั้งสามหัวเมืองไป ณ เมืองสวรรคโลก เข้าตีกระหนาบค่ายพม่าซึ่งตั้งล้อมเมือง พม่าต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีไปยังเมืองเชียงใหม่ จึงบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ”
 * เชียงใหม่ในช่วงเวลานั้นอยู่ในปกครองของพม่า ความในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า โปสุพลา หรือ เนเมียวเสนาบดี เมื่อรบชนะได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ยกกลับไปเชียงใหม่แล้วเลยไปอยู่หลวงพระบาง พระยาจ่าบ้านกับโปมะยุง่วน หรือโปหัวขาวเจ้าเมืองเชียงใหม่วิวาทกัน พระยาจ่าบ้านสู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่กับโปสุพลาที่หลวงพระบาง แต่ความที่โปมะยุง่วน ยกทัพไปตีสวรรคโลกกลับไม่ปรากฏในตำนานเมืองเหนือ ถ้ายึดถือความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลักแล้วก็ต้องเชื่อได้ว่า ทางเชียงใหม่ซึ่งมีเจ้าเมืองเป็นพม่านั้น ยกกำลังลงไปรุกรานกรุงธนบุรีก่อน พระเจ้าตากสินจึงยกทัพขึ้นมาตีเชียงใหม่ โดยเมื่อโปมะยุง่วน นายทัพที่สวรรคโลกหนีกลับเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าตากสินจึงเกณฑ์กองทัพจะยกขึ้นตีเชียงใหม่บ้าง ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้
 " ครั้นถึงวันดีในเดือน ๔ ข้างขึ้นได้มหาพิชัยฤกษ์ พระเจ้าตากสินทรงยกทัพหลวงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบ พระราชดำเนินตามกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากกรุงธนบุรี ประทับรอนแรมตามระยะทางไปจนถึงเมืองพิชัย จึงให้ตั้งค่าย ณ หาดทรายฝ่ายตะวันออกตรงข้ามเมือง และประทับแรมอยู่ที่นั้น เวลานั้น มังชัย เจ้าเมืองแพร่พาขุนนางกรมการและไพร่พลลงมาเฝ้ากราบถวายบังคมขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ให้เกณฑ์เข้าในกระบวนทัพด้วย
 จากนั้นทรงให้พระยาจักรี (แขก) กับพระยาราชครูปโรหิตอยู่รักษาเรือพระที่นั่ง และเรือข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ณ เมืองพิชัย พระองค์เสด็จขึ้นบกจัดแจงแต่งกองทัพ ให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงยกล่วงหน้าไปก่อน จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปโดยสถลมารค ประทับแรมไปหลายแห่งจนถึงตำบลกุ่มเหลือง จึงให้ตั้งค่ายแทบเชิงเขาม้าพลาด แล้วเสด็จเข้าประทับแรมในค่ายนั้น
 ยามนั้นเป็นคิมหันตฤดู อากาศร้อนแผ่นดินแห้งแล้งกันดารน้ำ ผู้นำทางกราบทูลว่าข้ามเขาพ้นไปแล้ว ฟากเขาข้างโน้นระยะทางไกลถึงสามร้อยเส้นไม่มีแหล่งน้ำเลย ไพร่พลจะอดน้ำ พระองค์ตรัสว่า ขอให้เป็นธุระของเรา แล้วทรงให้พระยาราชประสิทธิ์ปลูกศาลเพียงตาขึ้น ตั้งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาบนภูเขานั้น ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน เอาพระบรมโพธิสมภารบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง ขออานุภาพเทพยดาบันดาลให้ฝนตกในเวลาห้าทุ่มของคืนนั้น และเรื่องมหัศจรรย์ก็ปรากฏแก่ไพร่พลของพระองค์ เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นห่าใหญ่ในเวลาสี่ทุ่มเศษของคืนนั้น น้ำไหลบ่านองไปทั่วราวป่า พัดพาขอนไม้มาเป็นอันมาก ครั้นเพลาเช้าก็ทรงช้างพระที่นั่งยกพหุโยธาทัพข้ามเขาไป ดำเนินพลไปตามลำดับสถลมารค ประทับแรมเป็นระยะไปจนถึงเมืองลำพูน จึงให้ตั้งค่ายประทับอยู่ที่นั้น”
 * “เมืองสวรรคโลก” ที่โปมะยุง่วน พม่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกลงมาตีนั้น คือเมืองศรีสัชนาลัยเดิมที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า “สวรรคโลก” ให้เป็นคู่กันกับ “พิษณุโลก” สวรรคโลกเป็นเมืองที่มีกำแพงป้องกันเมืองแข็งแรงมาก ยากที่ข้าศึกจะตีหักเอาได้
“มังชัย” เจ้าเมืองแพร่ เป็นคนเดียวกันกับมังชัยที่ถูกเนเมียวแม่ทัพฝ่ายเหนือของพม่าเกณฑ์ลงไปร่วมรบตีกรุงศรีอยุธยา ตอนที่กรุงศรีฯ ใกล้จะแตก เขาพาสมัครพรรคพวกหนีกลับไป ปักหนังสือประกาศไม่ขอร่วมรบกับพม่าด้วยสำนึกในบุญคุณของพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นตีพม่าที่เชียงใหม่ จึงเข้าสวามิภักดิ์ แล้วได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ และร่วมรบพม่าในที่สุด
พรุ่งนี้ติดตามอ่านความต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพืธภัณฑ์หุ่นขึผึ้งไทย ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ตีเชียงใหม่ยังไม่แตก -
เชียงใหม่ยังมีดีตีไม่แตก เป็นครั้งแรกจำปล่อยล่าถอยก่อน รอครั้งสองตีใหม่ได้แน่นอน ทรงสั่งถอนกองทัพกลับกรุงธน |
อภิปราย ขยายความ...............
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องที่โปมะยุง่วน (โปหัวขาว) ชาวพม่าซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ยกกำลังจากเชียงใหม่ลงมาตีเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย แต่ตีไม่สำเร็จเพราะพระเจ้าตากสินตรัสสั่งให้เจ้าเมืองพิษณุโลก เจ้าเมืองพิชัย (ทองดี) เจ้าเมืองสุโขทัย ยกกำลังไปช่วยรบ ตีทัพโปมะยุง่วนแตกพ่ายไป จากนั้นพระเจ้าตากสินจึงทรงยกทัพหลวงจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารค เสด็จถึงเมืองพิชัยและจอดขบวนเรือยั้งไว้แล้วยกพลขึ้นบก เสด็จยาตราทัพไปถึงเมืองลำพูน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อไปครับ
 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวความต่อไปว่า โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ทราบว่า พระเจ้าตากสินยกทัพไปตั้งอยู่ที่ลำพูนดังนั้น จึงแต่งทัพพม่าและลาวออกมาตั้งค่ายรับอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ กองทัพหน้าของกรุงธนบุรีซึ่งเป็นกองทัพหัวเมืองก็ยกเข้าตีค่ายพม่าแตกพ่ายถอยเข้าไปในเมือง จึงยกติดตามล่วงเข้าไปในกำแพงดินชั้นนอกแล้วตั้งค่ายล้อมกำแพงชั้นในไว้ ทัพหลวงก็ยกตามเข้าไปตั้งค่ายใหญ่ในกำแพงดิน พระเจ้าตากสินตรัสสั่งให้ทัพหัวเมืองกองหน้าและกองหลวงยกกำลังเข้าปล้นเมือง เอาบันไดพาดปีนกำแพงเมืองในเวลากลางคืนเวลาสามยามเศษ เพื่อจะดูกำลังข้าศึก ทางฝ่ายพม่าและลาวที่ขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินนั้นก็ยิงปืนใหญ่น้อยและพุ่งแทงศัสตราวุธต่อรบต้านทานเป็นสามารถจนถึงเพลารุ่งเช้าก็หักเอาเมืองไม่ได้ จึงลาดถอยออกมา
พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “อันเมืองเชียงใหม่นี้ต้องทำนายอยู่ คำปรำปราเล่าสืบ ๆ กันมาว่า กษัตริย์พระองค์ใดยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่นี้ ครั้งเดียวมิได้ ต่อยกไปเป็นสองครั้งจึงตีได้ แม้นจะหักหาญเอาด้วยกำลังกล้า บัดนี้ก็จะได้ แต่เสียไพร่พลมาก และยกมาครั้งนี้เหมือนจะดูท่วงทีท่าทางและกำลังข้าศึก ก็ได้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว ถ้ายกมาครั้งหลังเห็นคงจะได้ถ่ายเดียว” ดำรัสดังนี้แล้วจึงตรัสให้เลิกทัพหลวงล่วงมาก่อนวันหนึ่ง ให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงเลิกเลื่อนถอยตามมาภายหลัง
 โปมะยุง่วน เห็นดังนั้นจึงสั่งให้กองกำลังของตนยกออกลัดเลาะป่า ก้าวสะกัดติดตามทำลายกองทัพหัวเมืองของกรุงธนบุรี เมื่อพบแล้วก็ยิงปืนกระหนาบหน้าหลังจนกองทัพหัวเมืองตื่นแตกระส่ำระสาย ถอยหนีลงมาถึงทัพหลวงซึ่งตั้งรับอยู่ ณ เขาช่องแคบ พระเจ้าตากสินเห็นดังนั้นจึงถอดพระแสงดาบไล่ต้อนพลโยธาทหารทั้งปวงในกองทัพหลวงให้กลับเข้ารบพม่า ไล่ตะลุมบอนฟันแทงถึงอาวุธสั้น พลพม่าล้มตายลงเป็นอันมากแล้วก็แตกพลัดพรายพ่ายหนีไป จากนั้นทรงดำเนินทัพหลวงกลับมาถึงท่าเรือ ณ เมืองพิชัย เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบให้ยาตราทัพกลับคืนกรุงธนบุรี
 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า ในปีจุลศักราช ๑๑๓๓ (พ.ศ. ๒๓๑๔) นั้น เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศลาว กล่าวคือ เจ้าวงศ์ผู้เป็นเจ้าเมืองหลวงพระบาง ยกกองทัพลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันท์) ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้อย่างหนาแน่น ฝ่ายเจ้าบุญสารผู้ครองศรีสัตนาคนหุตก็เกณฑ์พลออกรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ รบกันอยู่นานประมาณสองเดือนก็ยังไม่แพ้ชนะแก่กัน พระเจ้ากรุงเวียงจันท์ (เจ้าบุญสาร) จึงแต่งขุนนางให้ถือศุภอักษรไปยังกรุงอังวะ ขอกองทัพพม่ามาช่วยรบ พระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะจึงให้ชิกชิงโบ่คุมพลสองพันเป็นกองหน้า ให้โปสุพลาเป็นแม่ทัพคุมพลสามพัน ยกไปตีเมืองหลวงพระบาง กองทัพหลวงพระบางที่ล้อมรบกรุงเวียงจันท์อยู่ก็เลิกราไปรบกับพม่า แต่ในที่สุดพม่าก็ตีเอาเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าวงศ์ต้องขอขึ้นแก่กรุงอังวะ พม่าจึงเลิกทัพกลับกรุงอังวะ แต่พระเจ้าอังวะสั่งให้โปสุพลาถือพลสามพันอยู่ช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ด้วยเชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะต้องยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่อีก
 ในช่วงเวลาที่พม่ากำลังตีกรุงศรีอยุธยานั้น ปรากฏว่ากองทัพฮ่อยกมาจะตีกรุงอังวะ เข้ายึดเมืองแสนหวีได้แล้วตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้ พระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะให้ติงจาโบ่คุมพลห้าพันเป็นกองหน้า ให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพถือพลหมื่นหนึ่ง ยกไปตีกองทัพฮ่อ ณ เมืองแสนหวี เมื่อรบกันเป็นสามารถแล้วทัพฮ่อก็แตกพ่ายไปครั้งหนึ่ง แต่ไม่นานฮ่อก็แต่งกองทัพใหญ่ยกมาอีก คราวนี้ตีหัวเมืองขึ้นของพม่าแตกไปหลายเมือง จนบุกทะลวงเข้ามาถึงตำบลบ้านยองนี ห่างจากกรุงอังวะระยะทางเดินคืนหนึ่งเท่านั้น พระเจ้าอังวะจึงให้อะแซหวุ่นกี้ ๑ มะโยลัดหวุ่น ๑ เป็นแม่ทัพสองทัพ ถือพลทัพละหมื่นหนึ่ง ให้เมี้ยนหวุ่นถือพลห้าพันเป็นอีกทัพหนึ่ง ยกไปสามทางเข้าตีทัพฮ่อพร้อมกัน คราวนี้ได้รบกันนานถึงสามวันกองทัพฮ่อก็แตกพ่ายหนีไปเป็นครั้งที่สอง จับนายทัพฮ่อได้สี่นายคือ แอซูแย ๑ กุนตาแย ๑ เมียนกุนแย ๑ ประชูแย ๑ กับไพร่พลอีกหกพัน พระเจ้าอังวะให้เลี้ยงไว้ รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่งฮ่อยกทัพมาเป็นครั้งที่สาม มีกวยชวยแยเป็นแม่ทัพถือพลมาหลายหมื่นเป็นทัพใหญ่ที่สุด เข้ามาถึงเมืองกองดุงปมอ ห่างจากอังวะระยะทางห้าคืน พระเจ้าอังวะจึงให้อะแซหวุ่นกี้ กับติงจาโบ่ตเรียงรามถือพลหมื่นห้าพันยกไปทางหนึ่ง ให้อำมลอกหวุ่นกับงาจุหวุ่นและต่อหวุ่นถือพลหมื่นห้าพันยกไปทางหนึ่ง เข้ารบกับกองทัพฮ่อเป็นสามารถ ฮ่อมีรี้พลมากเหลือกำลังที่พม่าจะตีให้แตกได้ จึงบอกลงมากราบทูลพระเจ้าอังวะ พระเจ้ามังระจึงให้แม่ทัพเจรจาความเมืองกับแม่ทัพฮ่อ ขอเป็นพระราชไมตรีต่อกัน โดยกรุงอังวะแต่งนางและเครื่องบรรณาการให้แก่แม่ทัพฮ่อ กองทัพฮ่อก็เลิกกลับไป แต่นั้นมาฮ่อก็ไม่ยกมารุกรานพม่าอีกเลย”
* กองทัพหัวเมืองกรุงธนบุรีตีเมืองเชียงใหม่เข้าไปถึงกำแพงเมืองชั้นในแล้ว ตีไม่แตก โปมะยุง่วน กับชาวเชียงใหม่ต้านทานอย่างแข็งแรงมาก พระเจ้าตากสินตรัสว่า เมืองเชียงใหม่นี้มีอาถรรพณ์ ใครยกทัพมาตีครั้งแรกมักไม่แตก ต่อเมื่อยกมาตีครั้งที่สองจึงจะแตก ตรัสดังนี้แล้วทรงสั่งถอนทัพกลับคืน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
รายนามผู้เยี่ยมชม : ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, Black Sword
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ได้กัมพูชาคืนให้เจ้าเขมร -
ยึดครองกัมพูชามาได้หมด ทรงมอบยศตำแหน่งชุบอุปถัมภ์ พระรามาธิบดีผู้มีกรรม กลับคืนอำนาจใหญ่ได้อีกครา |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสินทรงยกทัพสยามไปปราบกัมพูชา โดยให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพบกตีตะลุยไปทางพระตะบอง พระองค์เสด็จพยุหยาตราทางชลมารคไปตีเมืองพุทไธมาศ เสด็จถึงปากน้ำพุทไธมาศแล้วเสด็จขึ้นบกสถิต ณ ตึกจีนแล้วให้มีหนังสือถึงเจ้าเมืองพุทไธมาศ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า หนังสือที่ทรงมีไปถึงพระยาราชาเศรษฐีญวน เจ้าเมืองพุทไธมาศนั้นมีใจความดังต่อไปนี้
 “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงธนบุรีศรีอยุธยา เสด็จดำเนินพยุหโยธาทัพบกทัพเรือมาบัดนี้ ด้วยมีพระราชประสงค์จะราชาภิเษกนักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ให้ครองกรุงกัมพูชา แล้วจะเอาตัวเจ้าจุ้ย เจ้าศรีสังข์ และข้าหลวงชาวกรุงเทพฯ ซึ่งไปอยู่หัวเมืองใด ๆ จงสิ้น ถ้าพระยาราชาเศรษฐีญวนมิได้สวามิภักดิ์อ่อนน้อม เห็นว่าจะต่อยุทธนาการได้ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรรพ แม้นเห็นว่าจะสู้รบมิได้ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่ ให้ออกมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมอ่อนน้อมยอมวามิภักดิ์โดยดี…..”
หนังสือดังกล่าวนั้น พระยาพิชัยไอสวรรย์เป็นผู้เขียนส่งไป พระยาราชาเศรษฐีญวนได้รับแล้วก็มีหนังสือตอบขอบใจ แล้วจะขอปรึกษาขุนนางก่อนถ้ายินยอมก็จะแจ้งให้ทราบภายหลัง แต่เวลาล่วงไปแล้วสามวันพระยาราชาเศรษฐีญวนก็มิได้แต่งผู้ใดมาเฝ้า พระเจ้าตากสินจึงดำรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมือง ให้กรมอาจารย์คัดเลือกบุคคลที่มีวิชาดีแกล้วหาญทั้งไพร่นายได้ร้อยสิบเอ็ดคน ให้เกณฑ์พลกรมอื่นสองพันสี่ร้อยคนเข้าสมทบ แล้วพระราชทานฤกษ์และอุบายให้เข้าปล้นเอาเมืองในกลางคืนเพลาสองยาม
 * ฝ่ายราชาเศรษฐีญวนนั้นก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินปราการป้องกันเมือง เพลาสองยามตามฤกษ์พระราชทาน ทหารกรุงธนบุรีก็เอาบันไดพาดกำแพงเมืองพากันปีนเข้าไปในเมืองได้แล้วจุดเพลิงขึ้นแสงสว่าง พวกญวนในเมืองก็ออกรบกับทหารไทยจีน รบกันอยู่ช้านาน นายทัพนายกองไทยที่ตั้งค่ายล้อมเมืองอยู่ก็เข้าไปช่วยไม่ได้ เพราะญวนและจีนที่รักษาหน้าที่เชิงเทินนั้นระดมยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบอยู่ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ ขณะไพร่พลกองทัพไทยที่เข้าโจมตีรอบเมืองนั้นเริ่มอิดโรยแล้ว แต่ด้วยเดชะบรมโพธิสมภารบันดาลดลจิตพลโยธาทั้งปวงให้สำคัญว่าพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพหนุนเข้าไปในเมืองแล้ว จึงมีน้ำใจองอาจกล้าหาญฮึกเหิมขึ้น ทั้งทัพบกทัพเรือจึงตีกระโจมหนุนเนื่องกันเข้าไป พวกญวนจีนที่รักษาหน้าที่ต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีไป
 พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ เพลาเช้ากองทัพไทยก็เข้าเมืองพุทไธมาสได้พร้อมกัน พระยาราชาเศรษฐีญวนทิ้งเมืองลงเรือหนีไปได้ วันจันทร์ ขึ้น๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในเมือง ประทับ ณ จวนพระยาราชาเศรษฐีญวน ให้ไพร่พลทั้งปวงเที่ยวเก็บเอาทรัพย์สิ่งของในเมืองได้มาเป็นอันมาก แล้วจึงตรัสถามพระญาณประสิทธิ พระสุธรรมาจารย์ และอาจารย์จันนายกองอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า เมื่อคุมทหารเข้าปล้นเอาเมืองนั้น เข้าได้ด้านใดก่อน ทั้ง ๓ อาจารย์กราบทูลไม่ตรงกัน จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรทางที่ทหารเข้านั้น ก็พบว่าผิดไปจากที่พระองค์ดำริไว้ จึงตรัสว่าที่ข้าศึกหนีไปได้นั้นเพราะเข้าเมืองผิดไปจากที่ทรงสั่งไว้ อย่างนี้แม้นต่อสู้ไปก็จะเสียราชการ จึงให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนผู้เข้าเมืองได้ต่อทีหลังทั้งนายและไพร่ ส่วนผู้ที่เข้าได้ก่อนก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลทั้งนายและไพร่ และให้ประกาศแก่รี้พลทั้งปวงห้ามมิให้ข่มเหงรังแกราษฎรจีนญวนชาวเมืองสืบไป ให้พวกเขาค้าขายอยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน แล้วโปรดตั้งพระยาพิพิธผู้ช่วยราชการกรมท่าเป็นพระยาราชาเศรษฐี อยู่ครองเมืองพุทไธมาศ จากนั้นเสด็จยกพยุหโยธานาวาทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี คือเมืองพุทไธเพชร ประทับรอนแรมไปในระยะทางชลมารคจนถึงเกาะพนมเพญ
 * กล่าวฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) นั้น ยกไปตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ ตามลำดับ แล้วยกล่วงลงไปตีเมืองพุทไธเพชร นักองค์พระอุทัยราชา (นักองค์ตน) ต่อรบต้านทานมิได้ก็พาพลและครอบครัวหนีลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองบาพนม เจ้าพระยาจักรีจึงเข้าตั้งอยู่ในเมืองพุทไธเพชร ครั้นทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตีเมืองพุทไธมาศได้แล้วเสด็จขึ้นมาถึงเกาะพนมเพญ จึงให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) อยู่รักษาเมืองพุทไธเพชร โดยตนเองรีบเดินทางลงมาเฝ้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า นักพระองค์อุทัยราชา (นักองค์ตน) หนีลงไปตั้งอยู่ที่เมืองบาพนมแล้ว เมื่อทรงทราบดังนั้นจึงให้เจ้าพระยาจักรีรีบยกกองทัพติดตามไปในทันที เวลาบ่ายของวันนั้นก็ทรงยกทัพหลวงตามลงไป พอเพลาค่ำวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็มีหนังสือบอกขึ้นมากราบทูลว่า “ญวนเมืองลูกหน่ายมารับนักพระองค์อุทัยราชาลงไป ณ เมืองญวนแล้ว” ทรงหยุดยั้งเรือพระที่นั่งประทับอยู่หน้าบ้านตำหนักคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนมาถึงปากคลองมักสา พบครัวเขมรตั้งอยู่ที่นั่นเป็นอันมาก จึงให้ไพร่พลเข้ากวาดต้อนทั้งคนทั้งเรือทั้งหมดนำลงไปเกาะพนมเพญด้วย นักองค์พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์) จากเมืองพุทไธเพชรลงไปเฝ้า ณ เกาะพนมเพญ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานฉลองพระองค์ประพาสอันเป็นเครื่องต้น กับทั้งปืนใหญ่น้อยและครอบครัวเขมรที่กวาดต้อนมานั้นแก่นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) และโปรดให้กลับไปครองเมืองพุทไธเพชร เป็นใหญ่ในประเทศกัมพูชาเหมือนแต่ก่อน”
 - เมืองพุทไธเพชร คือ บันทายเพชร หรือ อุดงมีชัย เป็นเมืองหลวงของกัมพูชาในยุคนั้น เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ตีได้โดยง่ายดาย นักองค์พระอุทัยราชา (นักองค์ตน) ทิ้งเมืองหนีไปพึ่งญวนอีกตามเคย - เมืองพุทไธมาศ คือ บันทายมาศ เป็นเมืองใหญ่ชายทะเล ญวนเรียกว่า “เมืองฮาเตียน” เขมรเรียกว่า “เมืองเปียม” ในยุคนั้นคนญวนมีบรรดาศักดิ์ที่ พระยาราชาเศรษฐี เป็นผู้ปกครอง - เกาะพนมเพญ คือ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาในปัจจุบัน เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยึดกัมพูชาได้และทรงแต่งตั้งให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกัมพูชา แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เลิกทัพจากเขมรกลับไทย -
ปราบเสี้ยนหนามเขมรเสร็จเด็ดขาด แล้วทรงกวาดครัวเชลยไม่รอท่า กลับสยามคืนเหย้าเจ้าพระยา เรียกนานากองทัพกลับคืนไทย |
อภิปราย ขยายความ...............
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพเรือไปตีกัมพูชา ทรงยึดเมืองพุทไธมาศ หรือ บันทายมาศ (เมืองเปียม=ฮาเตียน) ได้แล้ว ยกไปประทับ ณ เกาะพนมเพญ (พนมเปญ) ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกไปทางบก ตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ แล้วเข้ายึดเมืองพุทไธเพชร หรือ บันทายเพชร (อุดงมีชัย) ได้โดยง่าย แล้วทั้งเจ้าพระยาจักรี และ นักองค์พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์) ก็เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ เกาะพนมเพญ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯ ให้นักองค์พระรามาธิบดีกลับไปครองเมืองพุทไธเพชร เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงกัมพูชาสืบไป วันนี้มาดูเรื่องราวต่อครับ
 “ฝ่ายกองทัพพระยาโกษาธิบดีก็ตีได้เมืองกระพงโสม แล้วยกมาจะตีเมืองกำปอด แต่พระยาปังกลิมา แขกจามเจ้าเมืองกำปอดออกมาอ่อนน้อมยอมเข้าสวามิภักดิ์ จึงพาตัวเข้าเฝ้า ณ เกาะพนมเพญ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดให้พระยาปังกลิมากลับไปอยู่รั้งเมืองกำปอดดังเก่า
 เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกลงไปเมืองบาพนม เขมรในเมืองนี้มิสู้รบหากแต่ยอมเข้าสวามิภักดิ์โดยดี จึงจัดแจงให้คงอยู่ในภูมิลำเนาเดิมแล้วเลิกทัพกลับมาเฝ้า ณ เกาะพนมเพญ จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาโกษาอยู่ช่วยราชการ ณ เมืองพุทไธเพชรจนกว่าสงครามจะสงบราบคาบก่อน แล้วเสด็จยกพยุหยาตราโยธานาวาทัพหลวงกลับ
 วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย เสด็จถึงเมืองพุทไธมาศ ขึ้นสถิต ณ จวน ตรัสสั่งให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงในแขวงนั้นมาพร้อมกันแล้วถวายจีวรทุกองค์ แล้วเสด็จไปวัดญวนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรในวิหาร บรรดาพระญวนทั้งปวงก็สวดมนต์ถวาย พระองค์ทรงตรัสภาษาญวนพระราชทานพระราโชวาทแก่พระสงฆ์ญวนทั้งปวงให้อุตสาหะรักษาศีล อย่าส้องเสพด้วยสีกา แล้วเสด็จกลับสถิต ณ จวน จากนั้นเสด็จทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทอง เสด็จพยุหยาตรานาวาทัพกลับกรุงธนบุรีมหานคร
 กล่าวฝ่ายพระยาราชาเศรษฐีญวนที่ทิ้งเมืองพุทไธมาศหนีไปนั้น ได้ตั้งส้องสุมกำลัง ณ เกาะแห่งหนึ่ง เมื่อได้รี้พลญวนจีนมากพอแล้วก็ยกทัพเรือมาตีเอาเมืองพุทไธมาศคืน เจ้าเมืองคนใหม่ (พระยาพิพิธ) ไม่ทันรู้ตัวจึงต่อรบด้วยไม่นานก็ทิ้งเมืองหนีไปเมืองกำปอด พระยาปังกลิมาก็ช่วยจัดแจงไพร่พลอยู่ ๓ วัน ได้กำลังมากพอสมควรแล้วก็พากันยกเข้าตีเมืองพุทไธมาศในเวลากลางคืน โดยให้กำลังพลทุกคนคาบไม้ติ้วเพื่อไม่ให้มีปากเสียง ว่ายน้ำเข้าปีนกำแพงปล้นเอาเมืองได้ พวกญวนไม่ทันรู้ตัวก็แตกพ่ายหนี ไพร่พลของพระยาราชาเศรษฐีญวนในเมืองถูกฆ่าตายมากจนเลือดอาบนองไปทั้งเมือง ตัวพระยาราชาเศรษฐีญวนนั้นลงเรือหนีไปได้
 เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วพระยาราชาเศรษฐี (พระยาพิพิธ) จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงทราบเรื่องราวทุกประการ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิจารณาเห็นว่า เ มืองพุทไธมาศอยู่ในทำเลที่ล่อแหลมป้องกันรักษายาก ป่วยการแรงทแกล้วทหาร จึงโปรดให้มีท้องตราออกไปให้พระยาราชาเศรษฐีทิ้งเมืองพุทไธทมาศเสีย ให้เลิกทัพกลับเข้ารับราชการในกรุงดังเก่า พระยาราชาเศรษฐีจึงกวาดครอบครัวชาวเมืองลงเรือใหญ่น้อยเลิกกองทัพกลับเข้ากรุงตามพระราชประสงค์ และในเวลาเดียวกันนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินก็โปรดให้มีตราหากองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) พระยายมราช (พระยาราชวังสัน) กลับคืนยังพระนครด้วย”
* มีความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ซึ่งแปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินไปตีกรุงกัมพูชาต่างออกไปจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาในรายละเอียดอยู่ไม่น้อย จึงใคร่ขอนำความในพงศาวดารกรุงกัมพูชามาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย โดยพงศาวดารกรุงกัมพูชานั้นกล่าวไว้ว่า......
 "ในปีจุลศักราช ๑๑๓๑ (พ.ศ.๒๓๑๒) พระเจ้าตากสิน บุตรจีนไหหง ได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าพ้นไปจากเมืองไทยได้แล้ว ให้ข้าหลวงนำศุภอักษรมาทูลพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) กรุงกัมพูชาให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายเป็นทางพระราชไมตรีดุจกาลก่อน แต่พระนารายณ์ราชาธิบดี เห็นว่าพระเจ้าตากสินเป็นเพียงบุตรชาวจีนสามัญชนตั้งตนเป็นกษัตริย์ ไม่สมควรที่กรุงกัมพูชาจะยอมถวายบรรณาการเป็นเมืองประเทศราช เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา "
มีรายละเอียดที่ควรแสดงให้ทราบเป็นความรู้อีกแง่มุมหนึ่ง แต่วันนี้ไม่มีเวลาพอ จึงขอยกเรื่องนี้ไปคุยต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ราชพงศาวดารกัมพูชาว่า.... -
เขมรว่าแปลกไปจากไทยบ้าง ซึ่งความต่างมิเห็นเป็นข้อใหญ่ ศึกสงครามกัมพูชาปราชัย ปรากฏในประวัติศาสตร์อยู่ชัดเจน |
อภิปราย ขยายความ.....
เมื่อวันวานนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าตากสินยกทัพไปตีกัมพูชาได้ ตั้งให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ครองกรุงกัมพูชาแล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี เรื่องก็จบในประวัติศาสตร์ไทยได้อีกตอนหนึ่ง แต่ยังไม่จบในประวัติศาสตร์กัมพูชา วันนี้ขอนำความตามประวัติศาสตร์กัมพูชาในเรื่องเดียวกันนี้มาให้เรียนรู้กันบ้างนะครับ
 * มีความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับของนักองค์นพรัตนหริรักษ์ราชาภูบดี พระบรมราชบุตรมงกุฎสวริโยมงคล รับพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี รวบรวมและชำระเรื่องราวพระราชพงศาวดารของประเทศเขมรขึ้นเมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ มหาศักราช ๑๗๙๙ พุทธศักราช ๒๔๒๐ หอพระสมุดวชิรญาณได้รับต้นฉบับภาษาเขมรจาก ยอช เซเด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ และมอบให้พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์(ทองดี ธนรัชต์) แปลเป็นภาษาไทย และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสิน พอสรุปได้ว่า พระเจ้าตากสินให้มีศุภอักษรไปทูลเชิญพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) แห่งกรุงกัมพูชาส่งเครื่องบรรณาการเจริญทางพระราชไมตรีตามประเพณีแต่ก่อนมา แต่พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงเห็นว่าพระเจ้าตากสินเป็นสามัญชนตั้งตนเป็นเจ้า ไม่ควรที่พระองค์จะส่งบรรณาการ เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงพิโรธจึงสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) และพระยาโกษายกทัพไปตีกัมพูชา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่นำมาแสดงโดยละเอียดแล้ว แต่ความในเรื่องเดียวกันนี้ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชามีรายละเอียดแตกต่างอยู่บ้าง จึงควรนำมาแสดงต่อไป ดังนี้
 ในการรบกันครั้งแรกนั้นราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่ากองทัพไทยนำสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพด้วย ทัพไทยปะทะทัพเขมรด่านแรกที่นครเสียมราฐ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงให้ออกญากลาโหม (ปาง)เป็นแม่ทัพเขมรยกมาต่อต้าน ผลการรบปรากฏว่าฝ่ายเขมรสู้ไทยไม่ได้ ออกญากลาโหม (ปาง) แม่ทัพเขมรต้องอาวุธตายในสนามรบ เมื่อทัพไทยชนะแล้วก็ยกทัพกลับคืนกรุงธนบุรี และในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงสถาปนานักองค์ธม พระราชบุตรสมเด็จพระแก้วฟ้า (นักองค์ด้วง) ขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช
 ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวต่อไปว่า ในปีจุลศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ.๒๓๑๓) สมเด็จสมพระโสร์ทศ (พระราชพงศาวดารไทยเรียกพระยาราชาเศรษฐีญวน) ผู้เป็นใหญ่ในเมืองเปี่ยม (พุทไธมาศ / บันทายมาศ) ได้เกณฑ์ไพร่พลในเขตแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรัง ยกเป็นกองทัพไปตีเมืองทุ่งใหญ่ เมืองจันทบุรี แต่ก็พ่ายแตกหนีกองทัพไทยกลับไปเมืองเปี่ยมตามเดิมไป โดยได้ทิ้งเครื่องศัสตราวุธและเรือรบให้ตกเป็นของทัพไทยจำนวนมาก ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานะครับ
 ในปีจุลศักราช ๑๑๓๓ (พ.ศ.๒๓๑๔) ที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าพระเจ้าตากสินจัดกองทัพบกทัพเรือไปตีกัมพูชาอีกนั้น พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวขัดกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ว่า ตั้งให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) นำพานักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพด้วย แต่ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า พระเจ้าตากสินทรงนำสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพเรือของพระองค์ด้วย และได้ให้รายละเอียดไว้ว่า
 “ ..ยกมาทางทะเล ครั้นถึงเมืองเปี่ยมก็ตีเมืองเปี่ยมแตก สมเด็จพระโสร์ทศสู้รบไม่ได้ก็หนีออกจากเมืองเปี่ยมไปพักอยู่ที่เมืองตึกเขมา (น้ำดำ) จึงให้คนนำข่าวไปกราบทูลสมเด็จพระบรมบพิตร พระนารายณ์ราชาธิราช (นักองค์ตน) เมื่อได้ทรงทราบข้อความทุกประการแล้วพระองค์จึงพาพระมเหสีกับสนมนางในพร้อมด้วยข้าราชบริพารชายหญิงออกจากพระราชวังเสด็จไปพร้อมกับเรือเสนาอำมาตย์ที่แห่แหนตามเสด็จ ส่วนบรรดาอาณาประชาราษฎรก็ตกใจ พากันหนีลงเรือตามเสด็จไปด้วยเป็นอันมาก ครั้นเสด็จไปถึงเมืองตระโลงโขศ บทอันเจียน (เลี้ยววงแหวน) แล้ว ให้หยุดเรือพระที่นั่งประทับพักอยู่ ณ ที่นั้นเพื่อฟังข่าวคราว แต่ส่วนเรือครัวราษฎรบางพวกที่ไปไม่ทันเสด็จนั้นก็แวะพักอยู่ที่คลองปากกระสะซ์บ้าง ที่อันลงระสือ (วังไผ่) บ้างเป็นอันมาก แล้วก็พากันไปตัดไม้มาปักเป็นรั้วอยู่รอบเปี่ยมตาเอก”
* นี้เป็นความตอนหนึ่งในราชพงศาวดารกัมพูชา ที่แตกต่างไปจากพระราชพงศาวดารไทย ยังมีอีกหลายประเด็นที่แตกต่างจากของไทย พรุ่งจะนำมาแสดงต่อครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เสร็จศึกสงครามกัมพูชา -
กัมพูชาแยกเมืองมากเรื่องวุ่น เพราะญวนหนุนแหย่เย้าเจ้าเขมร หวังอำนาจเหนือขะแมร์แผ่กฎเกณฑ์ จึ่งกรรมเวรตกอยู่กัมพูชา
พระเจ้าตากชูช่วยด้วยฝ่ายถูก ทรงฝั่งปลูกเจ้าเขมรเป็นนักหนา สนับสนุนจุนเจือไม่ระอา ช่วยทุกคราที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาที่มีความแตกต่างไปจากพระราชพงสาวดารไทยหลายประเด็น ซึ่งยังกล่าวไม่หมด วันนี้มาดูกันต่ออีกสักวันนะครับ
 ชื่อเมืองในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่พระเจ้าตากสินตีได้เป็นอันดับแรกนั้นคือ พุทไธมาศ แต่เขมรว่าเมืองที่ทรงตีได้นั้นชื่อ เมืองเปี่ยม เจ้าเมืองในพระราชพงศาวดารของไทยนั้นชื่อ พระยาราชาเศรษฐีญวน แต่ในพงศาวดารกัมพูชาว่าชื่อ สมเด็จพระโสร์ทศ ในพระราชพงศาวดารไทยกล่าวว่า เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แม่ทัพบกยกเข้าทางปราจีนบุรีตีได้เมืองพระตะบองเรื่อยไปจนถึงพุทไธเพชรอันเป็นเมืองหลวงกัมพูชา พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) สู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่บาพนม แล้วมีญวนมารับพระองค์ไปอยู่เมืองญวน แต่พงศาวดารกัมพูชากลับกล่าวผิดกันไปว่า สมเด็จพระโสร์ทศ (พระยาราชาเศรษฐีญวน) หนีจากเมืองเปี่ยมไปแล้วก็แจ้งข่าวให้พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ทราบ พระนารายณ์ราชาจึงพาครัวหนีไป โดยมิทันได้สู้รบกับเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เลย ความในพระราชพงศาวดารไทยที่ว่า พระเจ้าตากสินกวาดต้อนชาวเขมรที่ปากคลองมักสาลงไปเกาะพนมเพญด้วยนั้น เห็นจะเป็นกลุ่มคนพวกเดียวกันกับที่กล่าวในพงศาวดารเขมร คือ ราษฎรที่ตามเสด็จไม่ทันจึงปักหลักอยู่ที่คลองปากกระสะซ์กับอันลงระสือ (วังไผ่) นั่นเอง แต่ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวให้รายละเอียดต่างไปว่าดังนี้
 “ ฝ่ายพระเจ้าตาก กับ พระรามราชา (องค์นนท์) เมื่อตีเมืองเปี่ยมได้แล้วก็ยกทัพเรือเข้ามาถึงเมืองพนมเปญแล้วยกออกไปตามทะเล (แม่น้ำ) ปราบเซียม จับเอาลูกสาวกับทาสชายหญิงแลเอาทรัพย์สิ่งของ ๆ ครอบครัวที่ซุ่มซ่อนอยู่ที่บึงปากกระสะซ์ กองทัพไทยบางกองก็ยกล่วงเลยไปตามครัวหลวงถึงเมืองเปี่ยมเบญจพรรณ ในเวลากลางคืนได้ประทะกับทัพออกญายมราชทุย ซึ่งเป็นกองรั้งหลังคอยระวังและคอยต้อนเรือครัวให้ไปพ้นกองทัพเรือไทย ออกญายมราชทุยได้เกณฑ์ให้คนกำลังแลพวกครัวตัดไม้มาทำเป็นค่ายแลปักเป็นรั้วจอดเรือใหญ่น้อย เป็นที่กำบังป้องกันกระสุนปืนของข้าศึก แลรบกับกองทัพไทยแต่พอประทังอยู่ พอพระเจ้าเวียดนามกษัตริย์เมืองญวนทรงพระเมตตาใช้ให้แม่ทัพญวนยกกองทัพญวนมาช่วยรบ มาพบกับกองทัพรั้งหลังของออกญายมราชทุยก็พากันช่วยรบตีกองทัพไทยแตกซานกลับคืนไป เมื่อกองทัพไทยจะถอยกลับไปกรุงธนบุรีนั้น ได้ให้สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) กับคนไทย ๕๐๐ คนอยู่ที่เมืองกำปอด เกลี้ยกล่อมราษฎรที่อยู่เมืองตรังแลเมืองบันทายมาศได้พร้อมมูลแล้ว สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) กับคนไทย ๕๐๐ คนแลคนกำลังก็ยกเป็นกองทัพมาที่เปี่ยมรกา ฝ่ายออกญายมราชทุยก็จัดไพร่พลออกมาต่อสู้รบรับกับกองทัพสมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์)
 * บัดนี้จะได้ย้อนกล่าวถึงกองทัพเจ้าพระยายมราชไทย (พระยาราชวังสัน) ที่ยกไพร่พลมาทางบกนั้น ครั้นมาถึงเมืองเสียมราฐ พระตะบอง แลโพธิสัตว์แล้ว ก็กวาดต้อนครอบครัวราษฎรหญิงชายหนุ่มสาว พาไปเมืองไทยในครั้งนั้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนเศษ แลที่ตายด้วยอดอาหารก็มากสิ้นคนจากเมือง เกิดกลียุคใหญ่ในปีเถาะ เดือนอ้าย เดือนยี่”
 ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวต่อไปว่า ปีจุลศักราช ๑๑๓๓ (พ.ศ.๒๓๑๔) เจ้าศรีสังข์ซึ่งในตอนที่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาใกล้แตกนั้นได้หนีจากพระนครไปอยู่เมืองเขมรได้สิ้นพระสิ้นชนม์ลง ในปีเดียวกันนั้น พระนารายณ์ราชาธิราช (นักองค์ตน) ได้ลาพระเจ้าเวียดนามจากบทอันเจียน เข้าประทับที่เมืองแพรกเมียดกันโดร์ (คลองปากหมู) โดยพระเจ้าเวียดนามได้ให้องโดยจิน เป็นเบาฮอมาอยู่ประจำรักษาพระองค์ด้วย
 ปีจุลศักราช ๑๑๓๔ (พ.ศ.๒๓๑๕) พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ได้ย้ายจากที่เดิมมาประทับที่เพรกปักปรัด (คลองบางเชือกหนัง) ทรงคำนึงถึงความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎรสมณะชีพราหมณ์ที่ประสบความเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ ต้องพลัดพรากจากกันไปและล้มตายจากกันอดอาหารการกินเป็นจำนวนมาก เพราะกองทัพไทยยกมาย่ำยี พระองค์จึงใช้พระราชวงศ์องค์หนึ่งนามว่า องค์ด้วง ซึ่งเป็นสมเด็จพระองค์แก้ว ให้ไปเจรจาเป็นทางพระราชไมตรีกับกองทัพไทยขอสงบศึกสงคราม แม่ทัพไทยก็ยินยอมรับพระราชไมตรี นำพาสมเด็จพระองค์แก้วเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิทรงเชื่อถือ จึงรับสั่งให้เอาสมเด็จพระองค์แก้วไปจำคุกเสีย รุ่งขึ้นปีจุลศักราช ๑๑๓๕ มเหสีพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ได้ประสูติพระราชบุตรอีกองค์หนึ่ง ได้พระนามว่า นักองค์เอง ปีรุ่งขึ้นจึงย้ายไปประทับอยู่ที่เกาะจีน
 ฝ่ายสมเด็จพระองค์แก้วที่ถูกพระเจ้าตากสินสั่งให้จำคุกไว้นั้น ได้ส่งข่าวถวายรายงานโดยละเอียดแก่พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) พร้อมกับขอพระราชทานมารดาบุตรภรรยาไปยังเมืองไทยด้วย พระนารายณ์ราชาจึงส่งมารดาบุตรภรรยาให้ตามที่ขอ พระเจ้าตากสินทราบพฤติการณ์ดังนั้นก็ทรงสิ้นความสงสัย ตรัสสั่งปล่อยสมเด็จพระองค์แก้วให้พ้นโทษ และทรงพระเมตตาให้ขึ้นเฝ้าแหนเป็นปรกติ แต่นั้นมา.
* ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาที่ยกมาแสดงโดยย่อนี้ ทำให้ความรู้ที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ไทยในสายตาเขมรมากทีเดียว
เสร็จศึกจากเขมรแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงมีพระราชกรณียกิจอะไร อย่างไร ต่อไปอีกบ้าง พรุ่งนี้มาดูกันต่อนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระยาพิชัยรบพม่าจนดาบหัก -
ศึกเขมรระงับไปไม่นานช้า ศึกพม่าครั้งใหม่เริ่มให้เห็น “โปสุพลา”ทำเรื่องเคืองลำเค็ญ จากเล็กเป็นเรื่องใหญ่ไทยสุดทน
ยกมาตีเมืองเหนือเพื่อยึดสยาม กลางสนามรบพิชัยในสับสน พระยาพิชัยร่ายดาบปราบพาลชน ฟาดฟันจนดาบกล้าหักคามือ |
อภิปราย ขยายความ.........
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องของเขมรตามความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาฉบับนักองค์นพรัตน ตอนที่ว่าด้วยพระเจ้าตากสินยกทัพไปตีกัมพูชา มีรายละเอียดต่างไปจากความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอยู่ไม่น้อย เช่นว่าด้วยเรื่องที่องค์ด้วงในตำแหน่งสมเด็จพระองค์แก้ว เข้าเฝ้าพระเจ้าตากสินที่กรุงธนบุรีเพื่อเจริญทางพระราชไมตรีตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) แต่พระเจ้าตากสินมิทรงเชื่อถือจึงสั่งให้จำคุกไว้ ภายหลังเมื่อพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ส่งมารดาบุตรภรรยาของสมเด็จพระองค์แก้วมายังกรุงธนบุรีจึงทรงสิ้นสงสัย โปรดให้สมเด็จพระองค์แก้วพ้นโทษและเมตตาให้ขึ้นเฝ้าแหนเป็นปรกติ วันนี้มาดูเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินกันต่อไปครับ
 ขอเล่าความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาต่อไปอีกหน่อยครับ ได้ความว่าในขณะที่พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ประทับอยู่ที่เกาะจีนนั้นทรงพิจารณาเห็นว่า การที่สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) ได้พากองทัพไทยบุกรุกเขมรนั้นก็เพราะปรารถนาใคร่ได้ครองราชสมบัติ ทรงดำริห์ว่า “แลสมเด็จพระรามราชา ฤๅก็เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระทวดพระราชวงศ์เดียวกัน ควรจะมอบเวนราชสมบัติถวายสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) ให้ได้สมตามความประสงค์ ด้วยสมเพชเวทนาอาณาประชาราษฎรยิ่งนัก เพื่อจะได้รับความสุขไม่เกิดทุกข์ภัยสืบไป” จากนั้นจึงตรัสสั่งให้ประชุมสมเด็จพระมหาสังฆราช พระมหาราชครู พร้อมด้วยปุโรหิตมุขมนตรีใหญ่น้อย ปรึกษาความที่ทรงพระราชดำริห์นั้นที่ประชุมเห็นชอบตามพระราชดำริห์นั้น
 ในปีจุลศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๘) สมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) จึงได้นิมนต์พระมหาสังฆราช พระพรหมมุนี (หลง) ให้นำข้อความเป็นทางพระราชไมตรีไปกราบทูลสมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) ที่เมืองกำปอด ขอเชิญให้เสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ ณ บันทายเพชรสืบไป สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) ก็เสด็จจากเมืองกำปอดเข้าประทับ ณ พระราชวังบันทายเพชร ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระราชโองการ สมเด็จพระรามราชาธิราชบรมบพิตร และ สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปโยราช ซึ่งตอนนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๘ ปี จึงมอบเวนราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระรามราชาธิบดี (องค์นนท์) ตามนี้
 ความตอนนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ตีเมืองพุทไธเพชร หรือบันทายเพชรได้ ก่อนกลับกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ครองพุทไธเพชร เป็นใหญ่ในกัมพูชาสืบไป ส่วนเมืองกำปอดนั้นทรงให้พระยาปังกลิมาเป็นเจ้าเมือง แต่ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากลับกล่าวต่างไปว่า พระรามราชา (องค์นนท์) หรือนักพระองค์รามาธิบดีอยู่เมืองกำปอด เมื่อพระนารายณ์ (นักองค์ตน) ยอมถวายราชสมบัติจึงเสด็จจากเมืองกำปอดไปครองบันทายเพชร เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาสืบไป และนี่ก็เป็นความต่างอีกประเด็นหนึ่งในพงศาวดารของทั้ง ๒ ประเทศ หลังจากนี้เรื่องราวของเขมรที่เกี่ยวข้องกับสยามประเทศยังมีอยู่อีกยาวไกล แต่จะขอพักเรื่องเขมรไว้ตรงนี้ก่อน เพื่อย้อนกลับไปดูเรื่องราวทางล้านนากันบ้าง
 * พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ในปีจุลศักราช ๑๑๓๔ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๑๕ นั้น โปสุพลาแม่ทัพพม่าซึ่งมาช่วยราชการอยู่ที่เชียงใหม่ได้ยกกองทัพลงมาตีเมืองลับแลแตก แล้วยกลงมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย (ทองดี) จัดแจงป้องกันเมืองเป็นสามารถ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ทราบเรื่องก็รีบยกกำลังจากเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย เจ้าเมืองทั้งสองร่วมกันตีค่ายพม่า ทั้งสองฝ่ายรบกันถึงอาวุธสั้น พลทัพไทยไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก พม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีกลับไปเชียงใหม่ จึงบอกหนังสือแจ้งข้อราชการศึกลงไปกรุงธนบุรี กราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ
 รุ่งขึ้นปีจุลศักราช ๑๑๓๕ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาให้สักท้องมือหมายหมู่เลกไพร่หลวง และเลกสังกัดพรรคกับทั้งเลกหัวเมือง ส่งสารบัญชีทะเบียนหางว่าวยื่นกรมสัสดีทั้งสิ้น เพื่อให้รู้จำนวนไพร่พลไว้จะได้ใช้ในราชการแผ่นดินและการศึกต่าง ๆ และในเดือนอ้ายข้างขึ้นปีเดียวกันนั้นเอง โปสุพลาก็ยกทัพลงมาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัย (ทองดี) ทราบข่าวศึกก็ยกกำลังออกไปต่อรบแต่กลางทางไม่ยอมให้ข้าศึกเข้าประชิดเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ก็ยกกำลังจากเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยรบเช่นเคย พระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพลทหารเข้าไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือ กองทัพพม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายกลับไปเชียงใหม่อีกครา”
 * สรุปเรื่องราวในตอนนี้ คือในขณะที่ไทยกำลังยกไปรบเขมรเพื่อชิงราชบัลลังก์คืนให้พระรามาธิบดี (องค์นนท์) นั้น โปสุพลาแม่ทัพพม่าซึ่งตั้งกองกำลังอยู่ที่เชียงใหม่ก็ฉวยโอกาสยกกำลังลงมาตีเมืองลับแล (ตอนนั้นยังไม่มีเมืองอุตรดิถต์) ได้แล้วเลยลงมาตีเมืองพิชัย (อยู่ใต้อุตรดิตถ์) พระยาพิชัย (ทองดี) สู้รบต้านทานอย่างขันแข็ง เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) รีบยกกำลังจากพิษณุโลกขึ้นไปช่วย ร่วมกันตีทัพโปสุพลาแตกพ่าย ล่าถอยกลับไป
 ไม่นานนักก็ยกกลับมาตีเมืองพิชัยอีกครา คราวนี้พระยาพิชัย (ทองดี) ถือดาบสองมือบุกตะลุยไล่ฟันพม่าข้าศึกอย่างไม่คิดชีวิต ฟาดฟันพม่าล้มตายจนเลือดสาดกระเด็นเปรอะเปื้อนร่างพระยาพิชัยจนโซมกาย จึงมีสภาพที่เรียกว่า “เลือดเข้าตา” เสียแล้ว บุกตะลุยไปข้างหน้า พม่าก็กลุ้มรุมล้อมเข้ามาระดมหอกดาบเข้าใส่ “เป็นห่าฝน” ขณะนั้นปรากฏว่าดาบในมือข้างหนึ่งของพระยาพิชัยหักคามือ แต่ก็ยังไม่ยอมหยุดไล่ฆ่าฟันพม่าอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ในยามนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำกำลังจากเมืองพิษณุโลกเข้าร่วมรบทันท่วงที โปสุพลาก็สั่งล่าทัพถอยกลับไป พระยาพิชัยจึงได้นามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” แต่นั้นมา
การรบในสงครามระหว่างไทย-พม่าสมัยกรุงธนบุรีได้เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อโปสุพลาบังอาจยกทัพลงมาตีเมืองทางเหนือของไทยดังนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ตามอ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ.
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก : อุตรดิตถ์เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เริ่มยุทธการขับไล่พม่า -
ขณะยกทัพใหญ่หมายไล่พม่า เจ้ามังระกะว่าไทยอย่าหือ จะยกทัพตีกรุงธนให้คนลือ ว่า“ข้าคือผู้ชนะ”สยามไทย
เดชะบุญวุ่นพลันรามัญกบฏ จึงต้องงดจัดจับกองทัพใหม่ มอญอพยพเข้าสยามเป็นหนามใจ ทิ่มแทงใส่“มังระ”พม่ามึน |
อภิปรายขยายความ.............
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงทัพพม่าที่ปกครองเชียงใหม่ นำโดยโปสุพลา ยกพลลงมาตีเมืองพิชัยถึง ๒ ครั้ง ครั้งหลังพระยาพิชัยเจ้าเมืองพิชัยสู้รบไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือ แล้วพม่าก็ล่าถอยกลับไป วันนี้มาดูเรื่องราวต่อจากเมื่อวันวานนะครับ
 “ถึงปีจุลศักราช ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๗) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชดำริการซึ่งจะไปตีเอาเชียงใหม่ให้ได้ ด้วยพม่ายกกองทัพมาย่ำยีบีฑาหัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่เนื่อง ๆ เห็นควรขับไล่พม่าไปให้พ้นล้านนาเสียที จึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือสิบหัวเมือง เป็นคนสองหมื่นพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ ให้ยกไปคอยรับเสด็จอยู่ ณ บ้านระแหงโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วให้เกณฑ์กองทัพกรุงฯ และหัวเมืองใกล้ทั้งปวง พลฉกรรจ์ล้ำเครื่องหมื่นห้าพัน ช้างเครื่องร้อยแปด ม้าร้อยม้า พร้อมด้วยเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสร็จ
 ถึง ณ วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมียนั้น พระเจ้าตากสินทรงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบสามวา พลพายสี่สิบคนพร้อมเรือท้าวพระยา พระหัวเมืองข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยไทยจีน ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งหลายโดยเสด็จในกระบวนทัพหลวงเป็นอันมาก เสด็จยกพยุหยาตราทัพหลวงจากกรุงธนบุรีโดยชลมารคขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยา ถึงนครสวรรค์แยกเข้าลำน้ำปิงผ่านกำแพงเพชรไปจนถึงบ้านระแหงแขวงเมืองตาก เสด็จประทับแรม ณ ตำหนักสวนมะม่วง จากนั้นจึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นแม่กองหน้า ถือพลทัพในกรุงและหัวเมืองยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองเถิน แล้วให้ทัพเมืองเหนือทั้งสิบเมืองยกไปเข้ารวมกับเจ้าพระยาจักรีกองหน้า ไปตีเมืองเชียงใหม่
 ในยามนั้นพระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะได้ทราบชัดแล้วว่าพระยาตากสินตั้งตัวเป็นใหญ่ในสยามประเทศ ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยา จึงทรงดำริจะกำราบปราบปรามให้ราบคาบ จึงจัดแต่งกองทัพใหญ่ โดยให้ แพกิจจา คุมพลพม่าห้าร้อย ถือหนังสือรับสั่งลงมาถึงปกันหวุ่น เจ้าเมืองเมาะตะมะ ให้เกณฑ์พลรามัญเมืองเมาะตะมะสามพันเข้ากองแพกิจจาเป็นนายทัพไปทำทางและตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางที่ตำบลสามสบท่าดินแดง จัดแจงขนเสบียงอาหารผ่อนไปไว้ก่อนแล้วภายหลังจึงจะให้กองทัพใหญ่ยกไปตีเอาบางกอกซึ่งตั้งขึ้นใหม่นั้นให้จงได้ ปกันหวุ่นจึงเกณฑ์พลรามัญให้พระยาแจ่ง พระยาอู่ ตละเสี้ยง ตละเกล็บ คุมเข้าสมทบแพกิจจาตามรับสั่งของพระเจ้ามังระ
 เจ้าเมืองเมาะตะมะ (ปกันหวุ่น) ให้เร่งรัดเก็บเอาเงินทองของครอบครัวสมิงรามัญและไพร่พลเมืองทั้งปวงจนได้รับความยากแค้น บ้างก็หลบหนีมาบอกกันยังกองทัพ นายทัพนายกองรามัญทราบเรื่องก็พากันโกรธแค้น หาว่าพม่าข่มเหงรังแกเบียดเบียนครอบครัวข้างหลัง จึงคบคิดกันเป็นกบฏฆ่าแพกิจจานายทัพนายกองและไพร่พลพม่าห้าร้อยเสียที่ท่าดินแดง แล้วยกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ บรรดารามัญไพร่นายในเมืองเมาะตะมะและเมืองขึ้นทั้งปวงก็พร้อมใจกันยกเข้าปล้นเมืองเมาะตะมะในเพลากลางคืน โดยพากันโห่ร้องด้วยเสียงสำเนียงคนไทย ปกันหวุ่นและกรมการพม่าทั้งปวงก็ตกใจไม่สู้รบ ทิ้งเมืองเสียแล้วลงเรือหนีไปเมืองย่างกุ้งและบอกไปยังเมืองอังวะว่ามอญเมืองเมาะตะมะเป็นกบฏสิ้นทั้งเมือง
 นายทัพนายกองฝ่ายสมิงรามัญทั้งหลายเมื่อเห็นปกันหวุ่นพาพรรคหนีไปเมืองย่างกุ้งจึงยกกองทัพติดตามไป ตีได้เมืองจิตตอง เมืองหงสา แล้วยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองย่างกุ้งไว้ พยายามเข้าตีเป็นสามารถแล้วเข้าไปได้ครึ่งเมือง พม่าตั้งค่ายป้องกันเมืองไว้ได้ครึ่งเมือง พระเจ้ามังระทราบข่าวก็สั่งให้อะแซหวุ่นกี้ถือพลหมื่นหนึ่งยกลงมารบพวกกบฎมอญ พวกสมิงรามัญต้านทานมิได้ก็ถอยกลับเมืองเมาะตะมะ อะแซหวุ่นกี้ก็ยกกองทัพตามตีไม่ลดละ เมื่อเห็นเหลือกำลังที่จะต่อต้านอะแซหวุ่นกี้ได้ พวกสมิงรามัญก็กวาดต้อนครอบครัวอพยพหนีเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสิน โดยแยกออกเป็นหลายพวก เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์บ้าง ทางด่านเมืองตากบ้าง พม่ายกติดตามมาทุกทาง ที่ตามทันก็ต้อนครอบครัวมอญกลับคืนไปได้บ้าง
 * ขณะที่ทัพหลวงตั้งอยู่ ณ บ้านระแหงนั้น ขุนอินทรคีรีนายด่านเมืองตากนำเอาครัวไทยมอญที่หนีมาจากเมืองเมาะตะมะซึ่งมีสมิงสุรายกลั่นเป็นหัวหน้านั้นเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม ณ ตำหนักสวนมะม่วง สมเด็จพระเจ้าตากสินให้ล่ามถามว่าพระเจดีย์ฐานอันชื่อว่ากลอมป้อม ณ เมืองเมาะตะมะนั้นยังปรกติอยู่หรือ สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่ายังอปยู่ปรกติดี ถามว่าพระมหาเจดีย์เกศธาตุ ณ เมืองย่างกุ้ง ที่ฉัตรยอดหักลงมานั้นยกขึ้นได้แล้วหรือ สมิงสุรายกลั่นทูลว่า พระเจ้าอังวะให้ลงมาปฏิสังขรณ์สามปีแล้วยังหายกได้ไม่ ทรงถามต่อว่า นางรามัญบุตรีคนเข็ญใจอายุได้สิบสี่สิบห้าปี รู้อรรถธรรม เกิดที่เมืองเมาะตะมะนั้นมีจริงหรือ สมิงสุรายกลั่นทูลว่ามีอยู่จริง แต่ยังหาได้ส่งขึ้นไปเมืองอังวะไม่ เมื่อทรงซักถามจนเป็นที่พอพระทัยแล้ว ในบ่ายวันนั้นจึงตรัสสั่งให้พระยายมราชแขกยกทัพไปขัดด่านอยู่ ณ ท่าดินแดงรอรับครัวมอญ และให้รบพม่าที่ติดตามมอญมานั้นด้วย”
 สรุปความเรื่องราววันนี้ คือขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกรีธาทัพใหญ่ขึ้นไปหมายขับไล่พม่าให้พ้นจากล้านนานั้น พระเจ้ามังระก็เตรียมยกทัพใหญ่เข้ายึดกรุงธนบุรี ให้กองทัพน้อยลงมาสะสมเสบียงรอที่ท่าดินแดง เคราะห์ดีที่นายกองพม่ารีดนาทาเน้นครอบครัวชาวมอญ ทหารรามัญจึงเป็นกบฏ ฆ่ากองกำลังพม่าห้าร้อยคนตายเรียบ แล้วยกกลับตีตะลุยไล่พม่าไปถึงเมืองย่างกุ้ง จนเจ้ามังระต้องให้อะแซหวุ่นกี้ขุนพลใหญ่ยกกำลงลงมาปราบ มอญแตกกระจายพากันอพยพเข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ตามอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระยากาวิละสวามิภักดิ์ -
โปสุพลาพม่าร้าย มิยอมพ่ายไทยบุกปลุกของขึ้น “กาวิละ,จ่าบ้าน”มิอั้นอึน รีบเอิ้นอึ้นบอกลาพม่าพลัน
สวามิภักดิ์จักรีศรีสยาม สำนึกความเป็นสายเลือดไทยนั่น โปสุพลารู้ถึงตะลึงงัน เริ่มมิมั่นใจจะชำนะไทย |
อภิปราย ขยายความ........
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องที่พระเจ้าตากสินละจากเขมรแล้วยกทัพขึ้นขับไล่พม่าในล้านนา เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะก็เตรียมการบุกกรุงธนบุรี แต่มอญที่เมืองเมาะตะมะเป็นกบฏ จึงทรงให้อะแซหวุ่นกี้ยกกำลังลงมาปราบปรามจนมอญแตกกระเจิงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่จะเก็บความมาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ
 “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า วันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย เพลาเช้าเกิดฝนตกใหญ่ พระเจ้าตากสินทรงถือเป็นมหาพิชัยฤกษ์ จึงให้พระยาคำแหงวิชิตคุมพลสองพันเศษอยู่รักษาเมืองตาก และคอยรับครัวมอญที่จะหนีพม่ามา แล้วพระองค์ก็ทรงช้างต้นพังเทพลีลายาตราทัพหลวงเสด็จดำเนินโดยสถลมารค รอนแรมไปตามระยะทางจนกระทั่งถึงตำบลนาเพียกเหนือเมืองนครลำปาง แล้วดำเนินทัพหลวงต่อไปอีกหลายวันก็เสด็จถึงเมืองลำพูนเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ทรงให้ตั้งค่ายหยุดประทับอยู่ที่นั้น
 โปสุพลานั้นเมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นมาตีเชียงใหม่ จึงให้พระยาจ่าบ้านและแสนท้าวพระยายาลาวทั้งปวงยกกองทัพลาวพันหนึ่งเป็นกองหน้า ให้โปมะยุง่วน (โปหัวขาว) เจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่รักษาเมือง โดยตนเองยกพลพม่าเก้าพันจะยกลงมารับทัพไทย แต่พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละขุนนางเมืองนครลำปาง ซึ่งเป็นกองหน้าของโปสุพลานั้น เข้าหาเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ขอสวามิภักดิ์สมัครใจจะกลับต่อรบพม่า เจ้าพระยาจักรีจึงบอกลงมากราบทูลให้ทรงทราบ แล้วให้พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละนำทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่
 เมื่อโปสุพลายกทัพลงมาได้คืนหนึ่งก็ทราบว่าพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละนั้นกลับคิดร้าย ไปเข้าด้วยกองทัพไทยจึงถอยทัพกลับไปเชียงใหม่ ครั้นทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกขึ้นไปถึงแม่น้ำเมืองเชียงใหม่ ทัพพม่าก็ยกออกมาขุดสนามเพลาะคอยสกัดรบตามริมน้ำ ทัพเจ้าพระยาจักรียังข้ามน้ำไปไม่ได้ จึงให้หมื่นศรีสหเทพลงมากราบทูล ทรงมีพระราชดำรัสให้เอาปืนจ่ารงต้นกลม (ปืนบรรจุปากกระบอก) ทำร้านขึ้นยิงให้พม่าแตกแล้วจึงยกข้ามน้ำไป อย่ารอรั้งอยู่ เพราะการศึกจะเนิ่นช้า เมื่อหมื่นศรีสหเทพกลับไปบอกตามรับสั่ง เจ้าพระยาจักรีได้ทำตามรับสั่งนั้น ตีพม่าแตกแล้วยกข้ามน้ำไปได้ ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ได้สามสิบสี่ค่าย แล้วให้พระยาธรรมาธิเบศบดีนำความลงมากราบทูล
 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบแล้วก็โสมนัสยิ่งนัก พระราชทานม้าพระที่นั่งกับพระแสงปืนสั้นบอกหนึ่งไปให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) พระราชทานพระแสงปืนสั้นให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) บอกหนึ่ง ให้เจ้าพระยาสวรรคโลกบอกหนึ่ง คืนนั้นเวลาประมาณห้าทุ่มเศษ มีลาวสามสิบเอ็ดคนเป็นบ่าวแสนหนังสือมาแต่บ้านพแวน บอกให้กราบทูลว่า มีกองทัพพม่าประมาณสองพันยกมาแต่เมืองเมาะตะมะ ติดตามครัวมอญเข้ามาทางบ้านนาเกาดอกเหล็กด่านเมืองตาก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตรัสให้พระเจ้าหลานรามลักษณ์เป็นแม่ทัพถือพลพันแปดร้อยเศษ ยกไปทางบ้านจอมทองตัดลงไปบ้านนาเกาะดอกเหล็กตีทัพพม่าที่ยกมานั้น
 วันรุ่งขึ้น เจ้าพระยาสวรรคโลกลงมาจากค่ายที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ นำเอากระสุนปืนทองคำสองลูกที่พม่ายิงออกมาจากในเมือง มาทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วกราบบังคมลากลับไป สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงอธิษฐานแล้วส่งกระสุนทองคำนั้นให้พราหมณ์เชิญไปประกาศแก่เทพยดาในบริเวณพระมหาธาตุเมืองลำพูน และให้ฝังไว้ในที่ใกล้พระมหาธาตุนั้น ในวันนั้นพระเสมียนตราของเจ้าพระยาสวรรคโลกบอกข้อราชการมากราบทูลว่า ได้เกลี้ยกล่อมลาวชาวเมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ ซึ่งแตกหนีออกไปอยู่ในป่าในดงให้กลับเข้ามาหารวมครอบครัวได้ถึงห้าพันเศษ พระองค์ตรัสสรรเสริญสติปัญญาพระเสมียนตราแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระยาอักษรวงศ์ ให้คุมพวกลาวซึ่งเกลี้ยกล่อมมาได้นั้นจัดเอาแต่ที่ฉกรรจ์ไปเข้ากองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ตีพม่าที่เชียงใหม่
 วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ยามบ่าย พระราชฤทธานนท์ถือหนังสือบอกมาแต่กองทัพพระยาคำแหงวิชิต ซึ่งรักษาเมืองตาก กราบทูลว่า สุวรรณเทวะ กับ ทามุมวย สองนายพาครัวรามัญเข้ามาถึงเมืองตากห้าสิบคน และให้การว่ามาแต่เมืองเริ่งครอบครัวชายหญิงประมาณพันเศษ มาถึงตำบลอุวาบ พม่าไล่ตามทันจึงได้รบพุ่งกัน ยิงจักกายวอนายทัพใหญ่พม่าตาย พวกครัวทั้งปวงแตกหนีกระจัดพลัดพรายตามมาข้างหลัง โดยเข้าทางบ้านนาเกาะเหล็ก ในขณะเดียวกันนั้นลาวชาวฟอนนาหงก็แตกเข้ามาทางด่านสตอง ครอบครัวชายหญิงร้อยยี่สิบคน ผู้รักษาด่านสตองก็น้อยตัว บ้านนาเกาะเหล็กก็หามีผู้อยู่รักษาไม่ ครั้นทรงทราบในใบบอกนั้น จึงมีรับสั่งให้หากองทัพพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์กลับมา แล้วให้มีหนังสือตอบไปถึงพระยาคำแหงวิชิตให้แบ่งทัพยกออกไปตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนาเกาะเหล็ก คอยเกลี้ยกล่อมลาวมอญที่แตกตื่นมานั้นรวมเข้าไว้ให้จงได้”
 * ตอนนี้พระเจ้าตากสินต้องทรงรบศึกสองด้านแล้วครับ คือด้านหนึ่งรบกับพม่าที่เชียงใหม่ อีกด้านหนึ่งต้องรอรบกับพม่าที่ตามมอญมาทางเมืองตาก ทางเชียงใหม่นั้นเห็นทีว่าจะทรงเผด็จศึกได้ไม่ยากนัก เพราะว่า พระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง กับพระยาจ่าบ้านขุนนางใหญ่ของเชียงใหม่แปรพักตร์จากโปสุพลา มาสวามิภักดิ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้าร่วมรบพม่าในกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แล้ว เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขับพม่าพ้นเชียงใหม่ -
เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพหน้า ตีพม่าพร้อมเพรียงรอบเชียงใหม่ ค่ายพม่านอกเวียงเป็นเสี่ยงไป หนีเข้าในเวียงพิงค์วิ่งกระเจิง
ทางฝ่ายโปสุพลาสั่งล่าถอย เป็น”น้ำน้อยแพ้ไฟ”ไร้แรงเหลิง ทิ้งเชียงใหม่คืนถิ่นหมดสิ้นเชิง ไทยบันเทิงชื่นบานบนล้านนา
|
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองกำลังเดินทัพขึ้นไปถึงเมืองลำพูน ตั้งทัพอยู่ที่นั่นเพื่อรอจังหวะยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่ วันนี้มาดูเรื่องราวตามพระราชพงศาวดารฉบับพระรราชหัตถเลขาต่อไปครับ
 " วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ให้พระยาวิจิตรนาวีลงมากราบทูลว่า กองเจ้าพระยาสวรรคโลกได้ยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองด้านสกัดฝ่ายใต้ได้สองค่าย และด้านรีฝ่ายตะวันออกตะวันตกนั้น ก็ให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงเข้าตั้งค่ายล้อม ชักปีกกาถึงกันตลอดสองด้านแล้ว ยังเหลือแต่ด้านสกัดฝ่ายเหนือด้านเดียว ถ้ายกเข้าไปตั้งค่ายก็เห็นจะต้องรบกันเป็นสามารถ แม้นได้ท่วงทีก็จะกรูกันเข้าหักเอาเมืองทีเดียว
 สมเด็จพระเจ้าตากสินรับทราบตามที่กราบบังคมทูลนั้นแล้วไม่ทรงเห็นด้วย ตรัสว่า พม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง การจะกรูกันเข้าไปนั้นเกลือกจะเสียที ทแกล้วทหารก็จะถอยกำลังกล้าย่อหย่อนลง ถ้าล้อมรอบเมืองได้แล้วจะหักเข้าที่ไหนก็ให้ตั้งหน้าทำเข้าไปเฉพาะที่นั้น และบรรดาค่ายทั้งปวงให้ขุดคูลงขวากกันข้าศึก แต่ซึ่งค่ายประชิดจะได้วางปืนเกณฑ์ห้ามนั้นให้ขุดคลองเดินบังปืนพม่า ให้ดูค่ายใดซึ่งเข้าตั้งใกล้เมืองได้ ก็ให้ขุดคลองโปรยขวากกระจับที่ค่ายนั้น แม้นข้าศึกจะยกออกมาหักค่ายก็ให้ไล่คลุกติดตามเข้าเมืองทีเดียว พระยาวิจิตรนาวีกราบถวายบังคมลากลับไปแจ้งข้อรับสั่งแก่เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีก็จัดแจงการทั้งปวงตามกระแสพระราชดำรัสสั่งไปนั้นทุกประการ
 * ทางฝ่ายโปสุพลานั้นก็สั่งให้นายทัพนายกองพม่ายกพลทหารออกมาตั้งค่ายรับภายนอกเมืองเป็นหลายค่าย และได้ยกออกปล้นค่ายเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกในเวลากลางวัน ยามนั้นเจ้าพระยาจักรีมิได้แสดงอาการสะทกสะท้านครั่นคร้ามแต่ประการใด ได้นั่งเล่นหมากรุกอยู่ในค่าย พลางก็ร้องสั่งให้พลทหารยิงปืนใหญ่น้อยออกไปจากค่าย ยิงถูกพลพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก เมื่อพม่าปล้นเอาค่ายเจ้าพระยาจักรีมิได้ ก็ล่าถอยกลับเข้าค่ายไป
 * ถึงวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ยามย่ำรุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงเครื่องราชวิภูสิตสำหรับราชรณยุทธ ทรงอาวุธสรรพเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายคเชนทรบรรยงค์ราชพาหนะ ให้ยาตราพลนิกรทัพหลวงจากค่ายริมเมืองลำพูนขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ หยุดประทับ ณ พลับพลาชัยในค่ายบอกก ไกลเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓๕๒ เส้น จากนั้นก็ดำเนินทัพหลวงไปประทับ ณ ค่ายมั่นริมน้ำใกล้เมือง
 ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แม่ทัพหน้าของกรุงธนบุรีก็นำพลทหารออกตีค่ายพม่าที่ออกมาตั้งรับนอกเมืองด้านตะวันออกแตกหนีเข้าเมืองไปทั้งสิ้น ส่วนกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งตั้งค่ายตรงประตูท่าแพก็ยกออกตีค่ายพม่าทั้งสามค่ายแตก ตำรวจผู้ไปตรวจการก็นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบดังนั้นก็ทรงพระโสมนัส ยกพระหัตถ์ตบพระเพลาทั้งสองข้างพร้อมกับดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาทั้งสองว่า “จะว่าพี่ดีหรือน้องดีไฉนในครั้งนี้”
 ครั้นถึงเวลาค่ำเวลายามเศษของคืนนั้น โปสุพลา และโปมะยุง่วน ก็พาครัวหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ทางประตูช้างเผือก ซึ่งเป็นด้านที่เจ้าพระยาสวรรคโลกตั้งค่ายล้อมยังไม่ตลอด จึงตีหักออกไปได้ แต่พลพม่าเบียดเสียดเยียดยัดเหยียบกันตายที่ประตูเมืองประมาณสองร้อยเศษ พลทัพไทยออกไล่ตามจับพม่าและชิงเอาครัวลาวได้เป็นอันมาก”
 * ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นความย่อจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ยังมีความในพงศาวดารโยนกอีกกล่าวว่า หลังจากโปสุพลาพากองกำลังพม่าหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว เจ้ากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางก็รีบเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ แล้วสืบหาเจ้าฟ้าชายแก้วบิดาของตนจนพบในคุกที่โปมะยุง่วน ขังไว้ นำบิดาออกจากคุกแล้วนำตัวเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน ณ ทัพหลวง
 กองทัพไทยได้เมืองเชียงใหม่เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ ตรงกับเดือน ๓ ของไทยกลาง ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ตั้งจักกายแดงเป็นพระยาลำพูน ตั้งน้อยต่อมต้อเป็นน้องอุปราชลำพูน ตั้งนายน้อยโพธิก้อนทองเป็นพระยาสุรวงษา ให้อยู่รักษาขอบขัณฑสีมาสืบไป แล้วเสด็จยาตราทัพกลับทางนครลำปาง ประทับนมัสการพระธาตุลำปางหลวง”
 * การรบในสงครามแต่ละครั้งสมัยนั้น ต้องใช้แรงใช้กำลัง ชั้นเชิงเข้าห้ำหั่นกันอย่างรอบคอบ วางแผนผิดพลาด กำลังย่อหย่อนก็จะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างทารุณ การเดินเท้าบุกเข้าไปหาข้าศึกมิใช่เพียงแค่หมอบคลานหาที่กำบังกายเท่านั้น จะต้องขุดดินทำเป็นร่องคู อุโมงค์ป้องกันลูกกระสุนปืนและธนูหอกซัดอีกด้วย เสียเรี่ยวแรงในการขุดร่องคูอุโมงค์มิใช่น้อย ว่ากันว่าการรบสมัยนี้ง่ายกว่าสมัยนั้น เพราะยุคนี้มีเครื่องทุ่นแรงมาก เห็นจะจริงแท้แน่นอน
ได้เชียงใหม่แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านต่อกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่ารุกรบไทยหนัก -
พม่ารุกบุกไทยทั้งใต้เหนือ ทั้งเลือดเนื้อไทยพลีไม่หนีหน้า ทนตั้งหลักปักสู้หมู่ปัจจา แม้น้อยกว่าก็พร้อมยอมสู้ตาย |
อภิปราย ขยายความ......
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงตอนที่พระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่ขับไล่พม่าพ้นไปจากเชียงใหม่ เสร็จแล้วทรงตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แล้วยกทัพจะกลับกรุงธนบุรีลงมาถึงนครลำปางแล้วประทับ ณ พระธาตุลำปางหลวง วันนี้มาดูเรื่องราวของพระองค์กันต่อไปครับ
 ความในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า ขณะที่พระเจ้าตากสินประทับ ณ พระธาตุลำปางหลวงนั้น เจ้ากาวิละได้นำพาน้องชายทั้งหก (เจ้าเจ็ดตน) เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นข้า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง ตั้งเจ้าธรรมลังกาน้องที่สามเป็นอุปราชนครลำปาง แล้วเสด็จจากพระธาตุลำปางหลวงลงไปทางเมืองเถิน
 ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เจ้าเมืองพิษณุโลกนั้น มีจิตประดิพัทธ์ในนางศรีอโนชาน้องสาวเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดกล่าวสู่ขอต่อเจ้าฟ้าชายแก้วผู้บิดา เจ้าฟ้าชายแก้วและเจ้าพี่น้องทั้งเจ็ดคนก็พร้อมใจกันนำนางศรีอโนชาไปยกให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ แล้วเจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกทัพกลับทางเมืองสวรรคโลก
 * กล่าวถึงพระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะนั้น เมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินทรงยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ จึงให้โปหลังดำคุมรี้พลแสนหนึ่งยกไปตีกรุงธนบุรีทางท่าดินแดง ให้โปหัวดำไปตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลแม่สลิด ให้อะแซหวุ่นกี้ถือพลห้าหมื่นยกมาทางแม่มะเลิงเข้าตีเมืองระแหง กำแพงเพชร สวรรคโลก แตกแล้วยกเข้าล้อมเมืองพระพิษณุโลก เจ้าพระยาจักรี (ท้องด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สองพี่น้อง ได้สู้รบป้องกันเมืองไว้ได้นานถึง ๔ เดือน
 ฝ่ายโปหัวขาว (โปมะยุง่วน) ที่แตกหนีไปจากเชียงใหม่นั้นไปได้ ๑ เดือนกับ ๔ วัน ก็ยกกำลังพลหมื่นหนึ่งกลับมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ณ วันอังคาร เดือน ๗ (คือเดือน ๕) แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ.๒๓๑๘) พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) เจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังพล ๑,๙๐๐ คน ก็สู้รบพม่ารักษาเมืองไว้พร้อมกับบอกข้อราชการลงไปยังกรุงธนบุรี ขณะนั้นเจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางมีกำลังพลพันคนก็ยกขึ้นไปช่วยพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) สู้รบพม่าเป็นสามารถ พม่าพยายามตีหักเอาเมืองเป็นหลายครั้งก็มิได้จึงตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และแล้วเหตุการณ์ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น โดยปรากฏความในพงศาวดารโยนกตอนนี้ว่า “ไพร่พลฝ่ายข้างพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละหมดเสบียงอาหาร ก็คิดกันจับพม่ามาฆ่ากินเป็นอาหาร” พม่าตั้งค่ายล้อมเชียงใหม่อยู่นานถึง ๘ เดือน กองทัพไทยจึงยกขึ้นไปถึงและเข้าตีค่ายพม่าแตกพ่ายหนีไป แล้วทัพไทยก็ยกกลับคืน
 * สภาพของเมืองเชียงใหม่หลังจากที่โปหัวขาว (โปมะยุง่วน) ถูกกองทัพไทยตีแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงไปแล้ว พงศาวดารโยนกได้บรรยายสภาพเมืองเชียงใหม่ไว้ว่า “ยามนั้นเมืองเชียงใหม่หมดสิ้นเสบียงอาหาร พลเมืองก็แตกฉานพากันไปสู่ทิศต่าง ๆ ส่วนตัวพระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) กับอุปราชาน้าหลานพาครัวไปอาศัยอยู่เมืองนครลำปาง พอหายอิดโรยแล้วก็กลับมาตั้งอยู่ท่าวังพร้าว ภายหลังจึงกลับมาตั้งเมืองเชียงใหม่ ยามนั้นเมืองเชียงใหม่รุร้างเป็นป่ารุกข์อุกเต็มไปด้วยซุ้มไม้เครือเถาวัลย์ เป็นที่อาศัยแห่งหมู่สัตว์ป่า เพราะว่ามีคนน้อยรายกันอยู่ห่าง ๆ พอว่างแต่ริมชายคาเรือนกับหนทางเที่ยวไปมาหากัน เหตุว่าไม่มีกำลังและโอกาสที่จะแผ้วถางได้
 ยามนั้นยังมีคนผู้หนึ่งได้ลูกเสือโคร่งสองตัวนำมาถวายพระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) เจ้าเมืองให้ทำคอกขังไว้ ครั้นถึงยามเที่ยงคืนแม่เสือก็มาเราะร้องกึกก้องอยู่กลางเวียงฟังเป็นสำเนียงคำคนว่า “พระยาช้างอยู่ทางเหนือ พระยาเสืออยู่ทางใต้ ใครเอาลูกตูไปไว้ให้ปล่อยมันเสีย ครั้นบ่ปล่อยลูกรักแห่งกูบุตราจะกินลำดับลงมาเป็นถ้อย จะกินให้หมดทั้งคุ้มหลวงคุ้มน้อย ทั้งหญิงชายใหญ่น้อย นิ้วแม่นิ้วนางนิ้วกลางนิ้วก้อย ฝ่ามือนวลนิ้วน้อยจะกินทั้งสร้อยสังวาล” นิมิตนี้เป็นปัญหาได้แก่เจ้าเจ็ดตนพี่น้อง คือ เจ้ากาวิละเป็นพระยาช้างอยู่เหนือ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นพระยาเสืออยู่ข้างใต้ จะได้ปราบชีพมนุษย์มากที่สุดกว่าผู้อื่นในยุคนั้น” พระยาวิเชียรปราการหรือพระยาจ่าบ้านอยู่เชียงใหม่มินานเท่าใดก็ถอยกลับไปตั้งอยู่วังพร้าวดังเก่า
(หมายเหตุ : ผู้คนเรียกเจ้าพระยาสุรสีห์ว่า "พระยาเสือ" ด้วยว่าเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นดูจะรบแบบเหี้ยมหาญจนเป็นที่ขยาดของทหารพม่าไปตามกัน จึงตั้งฉายาให้ว่า “พระยาเสือ”)
 * ตั้งแต่ปีจุลศักราช ๑๑๓๖–๑๑๓๗ (พ.ศ.๒๓๑๗–๒๓๑๘) พระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) เตรียมการที่จะยกทัพไปตีพม่าเมืองเชียงแสน ครั้นเมื่อยกทัพไปจริงแล้วถึงตำบลแม่ขัวแดง (สพานแดง) ก็ทราบข่าวว่าพม่าถือพลเก้าหมื่นยกมาถึงเมืองเชียงใหม่ จึงต้องรีบยกกลับมารบกับพม่าที่ตำบลสันตะวาน ด้วยมีกำลังพลน้อยจึงไม่อาจต้านทานพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ จึงต้องล่าถอยลงมาถึงเมืองระแหง พม่ายกกองทัพไปติดเมืองนครลำปาง เจ้าเจ็ดตนอันมีเจ้ากาวิละเป็นหัวหน้า ได้สู้รบกับพม่าเป็นสามารถ ทัพพม่ามีกำลังพลเจ็ดพันแบ่งออกเป็นเจ็ดทัพเจ็ดกอง ทัพนครลำปางมีกำลังพลเจ็ดร้อยคน ได้สู้รบกันนานถึงเจ็ดวัน เมื่อเห็นว่าเหลือกำลังแล้วก็ทิ้งนครลำปางเสีย ถอยหนีลงไปถึงเมืองสวรรคโลก กองทัพพม่าไม่ติดตามตีต่อไป แต่ถอยกลับไปพ้นเชียงใหม่ในที่สุด เมื่อพม่าล่าถอยไปหมดแล้ว พระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) ก็ให้อุปราชาก้อนแก้วผู้หลานยกไปตั้งที่ตำบลวังพร้าว รวบรวมเสบียงอาหารกับชาวลัวะชาวดอยไว้คอยท่า แล้วตนจึงตามไปภายหลัง แต่อุปราชาก้อนแก้วเองก็ขัดสน เก็บเสบียงอาหารได้มากแล้วหาแบ่งปันเจือจานแก่พระยาจ่าบ้านไม่ พระยาจ่าบ้านขัดใจจึงฆ่าอุปราชาก้อนแก้วผู้หลานเสีย”
 * อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพงศาวดารโยนกตอนนี้แล้วรู้สึกหวาดเสียวแทนพระเจ้าตากสิน เพราะปรากฏว่าพระเจ้ามังระสั่งเคลื่อนกำลังพลมหาศาลเข้าไทย กองทัพใหญ่ที่นำโดยอะแซหวุ่นกี้บุกเข้ามาทางเมืองตาก ยึดกำแพงเพชรสุโขทัยได้โดยง่าย แล้วเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกซึ่งมี “พระยาเสือ” เจ้าพระยาสุรสีห์ น้องเขย “พระยาช้าง” พระยากาวิละ เป็นเจ้าเมือง ยามนั้นกองทัพไทยทุกกองมีกำลังน้อยนัก พร้อมกันนั้นโปมะยุง่วน ที่พ่ายจากเชียงใหม่หนีไปอยู่เชียงแสนก็รวมกำลังยกมาตีเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) เจ้าเมืองมีกำลังน้อย แต่ก็สู้รบอย่างเหนียวแน่น “พระยาช้าง” กาวิละยกกำลังจากลำปางขึ้นไปช่วย แต่ก็มีกำลังน้อย จึงถูกพม่าล้อมให้ติดอยู่ในเมืองนานถึง ๘ เดือน กองทัพและชาวเมืองอดอยาก จนถึงกับออกลอบจับพม่าข้าศึกมากินเป็นอาหาร กระทั่งกองทัพจากแดนใต้ยกขึ้นไปช่วยตีพม่าแตกพ่ายไป
 พิษณุโลกยังถูกอะแซหวุ่นกี้ตั้งทัพล้อมโจมตีอยู่ ทางท่าดินแดงกาญจนบุรี ก็มีกองทัพใหญ่พม่ามาตั้งจ่ออยู่จะเข้ายึดกรุงธนบุรี
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ตามอ่านกันวันพรุ่งนี้นะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กาวิละได้ครองเชียงใหม่ -
พม่ากลับราวีไล่ตีดะ เชียงใหม่ละลำปางคนร้างหาย เจ้าเชียงใหม่ลงระแหงหลบแฝงกาย ลำปางบ่ายหน้าบึ่งพึ่งเชลียง
เกิดมากเรื่องเมืองเหนือเหลือสับสน ซึ่งเป็นผลคิดเห็นแตกเป็นเสี่ยง กรุงสยามจับวางไว้ข้างเคียง ล้านนาเพียงประเทศราชชนชาติไทย |
อภิปาย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงพม่ายกมาล้อมตีเมืองเชียงใหม่ด้วยกำลังพลที่เหนือกว่า พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) สู้ไม่ได้ก็ถอยลงมาถึงเมืองระแหง (เมืองตากปัจจุบัน) พม่ายกลงมาล้อมตีเมืองนครลำปาง เจ้าเจ็ดตนซึ่งมีพระยากาวิละเป็นหัวหน้า นำกำลังสู้รบอยู่ได้เจ็ดวัน ต้านทานไม่ไหว เพราะมีกำลังน้อยกว่านัก จึงถอยร่นลงมาถึงเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) พม่าไม่ติดตาม แต่ถอยทัพกลับไปจนออกพ้นจากเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านความต่อครับ
 * ความในพงศาวดารโยนกกล่าวต่อไปว่า “ปีจุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) อันเป็นปีที่เมืองอังวะประสบภัยฝนแล้งข้าวยากหมากแพงนั้น เจ้าเจ็ดตนก็พาเจ้าฟ้าชายแก้วผู้บิดากลับจากเมืองสวรรคโลกไปอยู่นครลำปางดังเก่า
ปี จุลศักราช ๑๑๓๙ ขณะที่พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) หนีจากวังพร้าวลงไปอยู่หนองหลวง เมืองระแหง (ตาก) ที่ตำบลหนองหลวง เวลานั้นมีลานต้นหนึ่งแตกหน่อเป็นเจ็ดหน่อล้อมกอข้างบน พระยาจ่าบ้านจึงนิมนต์พระสงฆ์เจ้ามาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วให้ตัดโค่นลานต้นนั้นเสีย
 ปี จุลศักราช ๑๑๔๐ พระยาจ่าบ้านจากหนองหลวงไปตั้งอยู่เมืองลำพูน แล้วล่องลงไปกรุงธนบุรี ถึงปีจุลศักราช ๑๑๔๑ นางบุญโฉมภรรยาพระยาจ่าบ้านล่องลงไปตามพระยาจ่าบ้านที่กรุงธนบุรี แล้วก็พากันกลับไปอยู่เมืองลำพูนดังเก่า ครั้งนั้นกรมการของพระยาจ่าบ้านชื่อพระยาไชย พระยาพาน พากันหนีขึ้นไปเมืองเหนือ ยังเหลือแต่พระยาสำราญกับพระยาอำมาตย์และไพร่พลเมืองกลุ่มหนึ่ง เมื่อพระยาจ่าบ้านกลับมาถึงเมืองลำพูนแล้วมินานเท่าไรก็ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนสบกก แต่ได้เพียงเมืองเปล่า ไม่มีคนและสิ่งของเลย”
 พงศาวดารโยนกยังกล่าวต่อไปอีกว่า “อยู่มามินาน พระยาชายเมืองเชียงแสนและเชียงรายยกกองทัพมาหลอนตีเมืองลำพูนแตก พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) รวบรวมกำลังพลได้เล็กน้อยก็ยกลงไปตั้งอยู่ตำบลวังสะแคงปากแม่น้ำลี้ ปีจุลศักราช ๑๑๔๐ (พ.ศ.๒๓๒๑) สมเด็จพระเจ้าตากสินให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นแม่ทัพยกไปปราบปรามมลาประเทศ (อีสานเหนือ) ตีได้เมืองหนองบัวหล่มภู เมืองเวียงจันทน์พันพร้าว
 ในปี ๑๑๔๑ เจ้าพระยาแม่ทัพทั้งสองแต่งกองข้าหลวง ๓๐๐ คน ให้มาตรวจการทางเมืองน่าน เมืองแพร่ ตลอดถึงเมืองนครลำปาง ข้าหลวงไทยหมู่นั้นได้ทำโจรกรรมแย่งชิงสิ่งของราษฎร ฉุดคร่าบุตรภรรยาชาวบ้านไปทำอนาจารต่าง ๆ ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อเจ้ากาวิละ เจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางจึงขัดใจยกพวกออกไปไล่แทงข้าหลวงเหล่านั้นล้มตายเป็นอันมาก อยู่มามินานเท่าใด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีตราหาตัวพระยากาวิละลงไปเฝ้า แต่พระยากาวิละเกรงกลัวความผิดจึงไม่ลงไป เมื่อได้รับตราให้หาถึงสามครั้งแล้วก็คิดจะทำความชอบแก้ตัวโดยยกทัพไปตีเมืองเทิง เมืองลอ ได้ผู้คนครอบครัวเป็นอันมากแล้ว พร้อมด้วยพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) พากันลงไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรี แจ้งข้อราชการศึกและถวายครัวเชลยนั้น
 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพิพากษาโทษพระยากาวิละในข้อหาที่ทำร้ายข้าหลวงและขัดท้องตรา พิพากษาโทษพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) ที่ฆ่าอุปราชาก้อนแก้วผู้หลาน ให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๑๐๐ ที ให้ตัดขอบใบหูพระยากาวิละเสียทั้งสองข้าง และให้จำคุกไว้ ต่อมาพระยากาวิละร้องขออาสาราชการตีเมืองเชียงแสนแก้โทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษถอดจากคุก ให้กลับคงอยู่ในฐานาศักดิ์กลับไปทำราชการตามเดิม ส่วนพระยาจ่าบ้านนั้นยังทรงแคลงพระทัยอยู่จึงยังมิให้พ้นโทษ
 พระยากาวิละเมื่อพ้นโทษแล้ว กลับถึงเมืองนครลำปางก็เกณฑ์พลกำลังที่ร่วมใจได้ ๓๐๐ คน ยกขึ้นไปเมืองเชียงแสน และตีเมืองเชียงแสนได้อย่างง่ายดาย ได้ครัวเชลยเป็นอันมากแล้วก็ยกกลับนครลำปาง ในขณะเดียวกันนั้น พระยาจ่าบ้านที่ถูกขังอยู่ในคุกก็ล้มป่วยลงถึงแก่กรรมในเรือนจำ ณ กรุงธนบุรีนั้นเอง
 ลุปีจุลศักราช ๑๑๔๓ (พ.ศ. ๒๓๒๔) ขณะที่พระยากาวิละจะลงไปเฝ้า ณ กรุงธนบุรี ก็ได้ทราบข่าวการเสียพระจริตของพระเจ้าตากสิน ขุนนางหัวเมืองจับตัวออกเสียจากราชสมบัติ อำมาตย์ราษฎร์ทั้งปวงพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (ร.๑) ขึ้นเถลิงราชสมบัติ พระยากาวิละจึงพาเจ้านายพี่น้องทั้งปวงล่องลงไปกรุงธนบุรี เข้าฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัวรับใช้ต่อไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เลื่อนยศเป็นพระยาวชิรปราการเจ้านครเชียงใหม่ พระราชทานยศอย่างพระเจ้าประเทศราช ให้เจ้าธรรมลังกาเป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ต่อไป”
 * ความทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นความคัดย่อจากความพิสดารในพงศาวดารโยนก ซึ่งให้ข้อมูลรายละเอียดน้อยกว่า ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ได้บันทึกเรื่องราวในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ต่ออีกมากมาย ที่หลังจากทรงได้ขับไล่พม่าพ้นไปจากดินแดนล้านนาแล้ว ไม่นานพม่าก็ยกกำลังมาตีไทยอีก คราวนี้โหมเข้าตีไทยทางภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางตอนบน (พิษณุโลก) และทางด่านกาญจนบุรี ราชบุรี มีการรบพุ่งกันอย่างดุเดือด น่าศึกษาเรื่องราวมากทีเดียว
พรุ่งนี้หวนกลับมาดูเรื่องราวของพระเจ้าตากสินตามพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พืพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๔ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ทรงเรือล่มที่เมืองตาก -
ทราบข่าวศึกพม่ามาอึงเอ็ด รีบเสด็จจากลำปางลงทางใต้ ถึงเมืองตากสั่งทัพโดยฉับไว รีบขับไล่พม่าด่านแม่ละเมา
ร้อนพระทัยไม่รอเรือพระที่นั่ง จึ่งรับสั่งจัดเรือเล็กแม้ลำเก่า ล่องลงมาชนตอตูม!..ไม่เบา “คว่ำข้าวเม่า”จมลำกลางน้ำปิง
ทรงว่ายน้ำขึ้นบกไม่งกเงิ่น เสด็จเดินบกรุดไม่หยุดนิ่ง ถึงสวนมะม่วงที่ประทับทราบความจริง พม่าทิ้งแดนไทยไปชั่วคราว
ทรงสั่งงานการทัพรับศึกเสร็จ จึ่งเสด็จลงใต้ในกลางหนาว ห้าวันถึงธนบุรีมิยึดยาว รอฟังข่าวศึกพม่าจะราวี |
อภิปราย ขยายความ..................
 เมื่อวันวานก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ผสมความในพงศาวดารโยนกฉบับพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว ตั้งให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปางแล้วยกทัพกลับคืน
 จากนั้น ได้นำความในตำนานเมืองเหนือมาบอกเล่าถึงพระยากาวิละและพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) ได้รับโทษจองจำที่กรุงธนบุรี ต่อมาพระยากาวิละขออาสาทำความดีความชอบไถ่โทษด้วยการยกทัพไปตีเชียงแสน ได้เชียงแสนพร้อม ๆ กับที่พระยาจ่าบ้านสิ้นชีวิตในคุกหลวงกรุงธนบุรี และพระยากาวิละเตรียมนำทรัพย์สินและเชลยเมืองเชียงแสนลงไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าตากสิน ก็พอดีได้ทราบว่าพระองค์ทรงเสียพระจริตและถูกจับออกจากราชสมบัติ ข้าราชการและราษฎรทั้งปวงอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (ร.๑) ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน จึงลงไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยากาวิละเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ความในตำนานเมืองเหนือที่ตัดย่อมาดังกล่าวข้างต้นนี้ ออกจะรวบรัดไม่ชัดเจนเท่าที่ควร จึงขอพักความในตำนานเมืองเหนือไว้ก่อน
* วันนี้จะขอย้อนกลับไปดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ให้ความละเอียดพิสดารกว่าตำนานเมืองเหนือมากนัก เพราะได้บันทึกตามเหตุการณ์ที่เกิดในเมืองใต้ (ตามคำเรียกของชาวล้านนา) ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวเรื่องราวไว้ดังต่อไปนี้
 เริ่มจากเนื้อความขณะที่พระเจ้าตากสินยังประทับอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น พระเชียงทองบอกข้อราชการขึ้นไปกราบทูลว่า ทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ลำเมา จึงเสด็จดำเนินทัพหลวงรีบลงมาถึงเมืองตาก ดำรัสให้หลวงมหาเทพเป็นแม่ทัพ กับ จมื่นไวยวรนาถ ถือพลสองพันรีบยกไปตีทัพพม่าที่ยกมานั้น ทัพหลวงมหาเทพยกไปตีทัพพม่าทางด่านแม่ลำเมาแตกในคืนวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ แล้วรีบบอกหนังสือเข้ามากราบทูลให้ทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสให้นายควรรู้อัศว์นายเวรมหาดไทยลงเรือรีบลงไปบอกพระยาคำแหงวิชิต ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่บ้านระแหงใต้เมืองตากนั้น ให้เร่งยกกองทัพออกไปก้าวสกัดตีทัพพม่าซึ่งแตกไปนั้น
 เรือพระที่นั่งซึ่งจอดอยู่ที่สวนมะม่วงบ้านระแหงนั้น ยังมิทันขึ้นไปรับเสด็จที่เมืองตาก ทรงร้อนรนพระราชหฤทัยมาก ค่ำวันนั้นประมาณสองยามพระเจ้าตากสินเสด็จลงเรือจมื่นจงกรมวังล่องลงระแหง พบเรือนายควรกลับขึ้นไป และกราบทูลว่าเห็นกองไฟอยู่ริมน้ำ ได้ยินเสียงพม่าเห่ขึ้น ทรงสงสัยจึงให้นายควรนำเรือเสด็จลงไป พบเรือตะรางใส่พม่าเมืองเชียงใหม่ พระเพชรปาณีคุมมาหยุดจอดอยู่แล้วให้พม่าเห่ขานยาม จึงเสด็จผ่านเลย
 เมื่อเสด็จล่องเลยไปมาได้ระยะหนึ่งเรือพระที่นั่งเกิดชนตอจนล่มลง ทรงว่ายน้ำขึ้น ณ หาดทราย พบนายชู นายเกดละครนั่งผิงไฟอยู่ นายชูถวายผ้าผืนหนึ่งเช็ดพระชงฆ์ เช็ดพระบาท ขณะนั้นหลวงราชโกษานำห่อผ้าที่ชุ่มน้ำมาแก้ออกดูเห็นพระภูษาส่านผืนหนึ่งแห้งปรกติเป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงน้อมนำเข้าถวาย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทโดยสถลมารคจนถึงสวนมะม่วงบ้านระแหงในที่สุด
 ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปอีกว่า วันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ พระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาพระราชทานเงินแจกแก่ราษฎรทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายและหญิงชาวระแหงทั้งสิ้นคนละสลึงเท่ากัน ยามนั้นพระยากำแหงวิชิตกราบทูลกล่าวโทษว่า พระยานนทบุรีลูกกองของตน หลบหลีกย่อท้อต่อการสงครามเกรงกลัวข้าศึก ทรงทราบดังนั้นจึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระยานนทบุรีร้อยที แล้วให้จำครบส่งลงไป ณ กรุงให้ประหารชีวิตเสีย วันพฤหัสบดีขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ เสด็จไปนมัสการพระพุทธปฏิมา ณ วัดกลาง วัดดอยเขาแก้ว จากนั้นเสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องมาโดยชลมารคเป็นเวลา ๕ วันก็ถึงกรุงธนบุรี”
 * พระราชภารกิจทางเหนือตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เสร็จสิ้นแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี รอฟังข่าวพม่าข้าศึกว่าจะยกเข้ามารุกรานทางด้านใดบ้าง เหตุการณ์สงครามกับพม่าตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปนี้ จะมีเรื่องการรบอย่างดุเดือดทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ
ยามค่ำวันพรุ่งนี้ถ้าหากยังไม่หลับพักผ่อนกัน ก็มาเปิดอ่านกันต่อนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๕ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|