Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 27   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -  (อ่าน 230481 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #165 เมื่อ: 26, กุมภาพันธ์, 2562, 10:27:00 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -



<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>                   .

- พระเจ้าปราสาททอง หนไทย -

เรื่อง“พระเจ้าปราสาททอง”ของไทยหน
เล่าสับสนแต่ไม่ไร้แก่นสาร
มีบางอย่างอ้างเห็นเป็นพยาน
อีกถ้อยคำตำนานโบราณคดี.....


          อภิปราย ขยายความ.........

          ขอย้อนกลับไปดูเรื่องราวของพระเจ้าปราสาททอง  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าอีกที  เพราะเรื่องราวของพระองค์ตามคำให้การนี้ไม่เหมือนกับที่วันวลิตบอกเล่าดังกล่าวแล้ว  คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การตรงกันโดยสาระ  แต่ต่างกันในรายละเอียด  กล่าวคือในคำให้การนั้นว่า  พระเจ้าทรงธรรม  มีพระธิดาอันประสูติแต่พระมเหสีขวา ๔ จากพระมเหสีซ้าย ๔ องค์  โดยไม่มีพระราชโอรสเลย  แต่ทรงมีพระราชนัดดาชายเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดาองค์หนึ่งนามว่า  สุริยกุมาร  หรือ  สุริยวงศ์กุมาร  ทรงนำพระราชนัดดาองค์นี้มาเลี้ยงในพระราชฐาน  ประทานชื่อให้เรียกว่า  พระยาสุริยวงศ์  ว่าที่จักรีกลาโหมกรมท่า  ซึ่งเป็นเสมือนดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช  ทรงมอบภารธุระในกิจการบริหารบ้านเมืองให้  ส่วนพระองค์ก็มุ่งศึกษาปฏิบัติแต่ในทางธรรม  ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังพระราชศรัทธา

          ครั้นพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตแล้ว  บรรดาเสนาอำมาตย์ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระยาสุริยวงศ์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  ถวายพระนามว่า  พระรามาธิเบศร  แล้วถวายพระราชธิดาทั้ง ๘ องค์ของพระเจ้าทรงธรรมให้เป็นมเหสีขวา ๔ องค์  มีนามว่า  ปทุมาเทวี ๑   สุริยา ๑   จันทาเทวี ๑   สิริกัลยา ๑   มเหสีซ้าย ๔ องค์  มีนามว่า  ขัตติยเทวี ๑   นภาเทวี ๑   อรบุตรี ๑   กนิษฐาเทวี ๑

          พระปทุมาเทวีนั้นมีพระราชโอรส ๔ องค์  คือ  พระไชย ๑   พระติกูฐาน หรือ ไตรภูวนาถ ๑   พระอภัยทศ หรือ อภัยชาติ ๑   พระไชยทิศ หรือ ไชยาทิตย์ ๑   พระสุริยานั้นมีพระราชโอรส ๓ องค์  คือ  พระขัตติยวงศ์ หรือ ขัตติยวงศา ๑   พระติจักร หรือ ไตรจักร ๑   พระสุรินทรกุมาร ๑   ส่วนพระมเหสีอีก ๖ องค์นั้นไม่ปรากฏว่าพระราชโอรส-ธิดาเลย

          วันหนึ่งพระรามาธิเบศรทรงพระสุบินนิมิตว่า  จอมปลวกที่เคยเล่นสมัยเป็นเด็กนั้นมีปราสาททองอันงามวิจิตรอยู่ใต้จอมปลวก  รุ่งเช้าจึงเสด็จไปพิจารณาดูแล้วให้ขุดจอมปลวกนั้น  ก็เกิดอัศจรรย์มีเสียงครืนครั่น  เมื่อขุดลึกลงไปก็พบปราสาททองจตุรมุข ๙ ชั้น  มีลวดลายงดงามสีทองสุกปลั่งประกาย  สูงจากฐานถึงยอดประมาณศอกเศษ  ทรงนำปราสาททองนั้นมาไว้ที่สรรเพชฌ์ปราสาท  อัญเชิญพระธาตุลงบรรจุไว้ในปราสาททองนั้น  และเพราะได้ปราสาททองนี้เอง  ต่อมาพระองค์จึงได้รับการเรียกขานพระนามใหม่ว่า  “พระเจ้าปราสาททอง”

          พระเจ้าปราสาททองทรงโปรดพระไชยกุมารซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่  มีพระราชประสงค์ให้ครองราชสมบัติสืบแทนพระองค์  แต่เพื่อมิให้พระโอรสองค์อื่นเสียพระทัย  จึงทรงเสี่ยงบุญบารมีเพื่อได้ทาบว่าพระโอรสองค์ไหนมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ  จึงเอาพระแสง ๗ องค์วางเรียงไว้แล้วอธิษฐานว่า  ถ้าพระโอรสองค์ใดมีบุญสมควรจะครองบ้านเมืองแล้ว  ขอให้หยิบถูกพระแสงสำหรับบ้านเมือง  เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็ให้พระโอรสทั้ง ๗ หยิบพระแสงนั้นคนละเล่มโดยลำดับอายุ  ปรากฏว่าพระสุรินทรกุมารโอรสองค์เล็กสุดนั้นหยิบได้พระแสงสำหรับบ้านเมือง  เพื่อให้ได้ความแน่ชัดจนแน่ใจ  จึงทรงเสี่ยงทายต่อไปอีก  ทรงใช้ช้างเป็นเครื่องเสี่ยงทาย  ผลก็ปรากฏว่าพระสุรินทรกุมารได้ช้างต้นมงคลหัตถี  พระองค์ทรงเสียพระทัยที่การเสี่ยงทายไม่ต้องตามประราชประสงค์  สุดท้ายทรงเสี่ยงทายด้วยม้า  ผลก็ปรากกว่าม้าซึ่งสมมุติเป็นม้ามงคลนั้นก็ได้แก่พระสุรินทรกุมารอีก  เมื่อเป็นดังนั้นพระเจ้าปราสาททองก็ยิ่งทรงพระอาลัยในพระไชยกุมายิ่งนัก  เพราะเชื่อแน่แล้วว่าพระไชยกุมารไม่มีบุญพอที่จะได้ครองราชสมบัติ  จากนั้นจึงทรงประทานโอวาทแก่พระราชโอรสทั้ง ๗ นั้น  โดยทรงย้ำเนือง ๆ ว่า  “เจ้าทั้ง ๗ พี่น้อง  จงรักใคร่ยำเกรงต่อกัน  ผู้ใหญ่จงกรุณาต่อผู้น้อย  ผู้น้อยจงเคารพต่อผู้ใหญ่”  แต่ในส่วนพระสุรินทรกุมารนั้นทรงสั่งสอนมากกว่าองค์อื่น ๆ  โดยรับสั่งว่า  “เจ้าเป็นคนเล็กกว่าเขา  จงเคารพต่อพี่ชายใหญ่ๆให้มาก ๆ อย่าได้คิดขัดแข็งให้ผิดใจกับผู้ใหญ่  อย่าประพฤติล่วงอคติ ๔ประการ”

          ต่อมาพระเจ้าปราสาททองให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ให้ชื่อ  สุริยาสน์อมรินทร์ ๑   วิชัยที่ตำหนักใหม่ ๑   ไอศวรรย์ทิพอาสน์ ที่เกาะบางนางอิน(บางปะอิน) ๑   แล้วสร้างปราสาทนครหลวง  และสร้างพระอาราม ๒ แห่ง  ให้ชื่อว่าไทยวัฒนาราม ๑   ราชราหุลาราม ๑   อีกทั้งสร้างเรือที่นั่งกิ่งและมหาพิชัยราชรถ  ทรงให้จำหน่ายเครื่องอุปบริโภคและเงินทองทั้งสิ้นของพระองค์ที่มีอยู่ในขณะเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์  เพื่อนำมาสร้างพระปรางค์  และทำรูปภรรยาเก่าทั้งสองที่ตายไปนั้นประดิษฐานไว้ ณ วัดราชราหุลารามโดยจารึกชื่อไว้ที่ฐานนั้น  ทรงกฐินบกพยุหยาตราใหญ่ให้เป็นประเพณีแต่นั้นมา

          อยู่มาวันหนึ่ง  มีฟ้าผ่าลงมาที่พระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท  เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  บรรดาข้าราชการและประชาชนช่วยกันดับเพลิงนั้นก็หาดับไม่  เวลาเมื่อพระสุรินทรกุมารขึ้นไปช่วยดับ  เพลิงนั้นจึงดับ  ในเวลาที่พระสุรินทรกุมารขึ้นไปนั้น  ข้าราชการและประชาชนแลเห็นเป็นสี่กรจึงโจษจันกันอื้ออึงไป  และพากันนิยมนับถือพระสุรินทรกุมารว่าเป็นผู้มีบุญแต่นั้นมา
พระเจ้าปราสาททองเสวยราชสมบัติเมื่อปีจุลศักราช ๙๙๘ (พ.ศ. ๒๑๗๙) ปีชวด อัฐศก มีพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๕ ปี เป็น ๔๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราชได้ ๑๐๒๓ (พ.ศ. ๒๒๐๔)

          ตำนานกรุงเก่าในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓  ระบุว่า  พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๒๔  ทรงเป็นต้นราชวงศ์ปราสาททอง  พระนามว่า  สมเด็จพระสรรเพชฌ์พระองค์ที่ ๕  อีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร์  คือพระเจ้าปราสาททอง  เสวยราชย์เมื่อปีจุลศักราช ๙๙๒ (พ.ศ. ๒๑๗๓)  อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราช ๑๐๑๗ (พ.ศ. ๒๑๙๘)  ตัวเลขศักราชปีครองราชย์และสวรรคต  ไม่ตรงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  ใครผิดใครถูกก็ขอให้นักประวัติศาสตร์สอบค้นหาข้อเท็จจริงเอาเองก็แล้วกัน

          คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าที่เก็บความย่อมาแสดงนี้  ผิดไปจากบันทึกของ เยเรเมียส ฟานฟลีต มากทีเดียว  ส่วนตำนานและพงศาวดารที่เขียนกันภายหลังบอกเล่าในทำนองเดียวกันว่า  พระเจ้าปราสาททอง  เป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  มีพระนามเดิมว่า  “พระองค์ไล”  โดยมีเรื่องเล่าว่า  สมเด็จพระเอกาทศรถในขณะเป็นพระมหาอุปราช  เสด็จประพาสที่เกาะบางนางอิน หรือ บางปะอิน โดยทางน้ำ  ได้เกิดพายุใหญ่ขึ้นทำให้เรือพระที่นั่งล่ม  พระองค์ทรงว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้  อาศัยบ้านชาวบ้านอยู่บนเกาะนั้น  และเป็นเหตุให้ได้หญิงชาวบ้านเป็นบาทบาริจาริกา  จนเกิดพระโอรสขึ้นหลังจากพระองค์เสด็จกลับพระนครแล้ว  ต่อมาทรงทราบว่ามีพระโอรสจึงให้คนไปรับกุมารนั้นมามอบหมายให้พระยาศรีธรรมราชเลี้ยงดู  เมื่อเติบใหญ่ได้เข้ารับราชการและเจริญในหน้าที่ราชการโดยลำดับ  จนเป็นพระยามหาอำมาตย์  พระหมื่นศรีสรรักษ์  ออกญาศรีวรวงศ์  และออกญากลาโหม  แล้วขึ้นครองราชย์ในที่สุด

          พระองค์จะทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกทศรถจริงหรือไม่  เป็นเรื่องที่ควรศึกษาหาข้อยุติกันต่อไป......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุานขี้ผึ้งไทย
๒๑ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, พิณจันทร์, เฒ่าธุลี, ลิตเติลเกิร์ล, รพีกาญจน์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #166 เมื่อ: 27, กุมภาพันธ์, 2562, 10:20:53 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระราชวังบางปะอิน : อยุธยา

- ถกเรื่องพระเจ้าปราสาททอง -

ยากชี้ชัดประวัติศาสตร์ความคลาดเคลื่อน
กาลเก่าเกลื่อนกลืนกลบลบวิถี
ต้องวิเคราะห์วิจารณ์หลักฐานมี
เหตุผลที่ควรถือข้อเท็จจริง


          อภิปราย ขยายความ ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้ “แลหลังอยุธยา” ว่าด้วยพระเจ้าปราสาททองตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  กับตำนานกรุงเก่า  ซึ่งให้ที่มาของพระเจ้าปราสาททองไม่ตรงกัน  และได้จบความไว้ว่า  พระเจ้าปราสาททองทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถจริงหรือไม่  เป็นเรื่องที่ควรต้องศึกษาหาข้อยุติกันต่อไป  วันนี้มาต่อความเรื่องนี้ให้จบกระทงความดังต่อไปนี้.....

          คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่ากล่าวว่า  พระเจ้าปราสาททองเป็นหลานพระเจ้าทรงธรรม  อยู่ในสายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดา  ก็หมายความได้ว่าพระเจ้าปราสาททองควรจะเป็นลูกชายของน้องสาวพระเจ้าทรงธรรม  หรือไม่ก็เป็นลูกพี่สาวของพระเจ้าทรงธรรม  โดยคำว่าเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดานั้นหมายถึงพระราชมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์  ส่วนพระราชบิดาคงเป็นสามัญชน  ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์  ดังนั้น  เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงเปลี่ยนราชวงศ์หรือตั้งราชวงศ์ใหม่ว่า  “ราชวงศ์ปราสาททอง”  เหตุที่ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่ก็เพราะพระองค์มิได้สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระเจ้าทรงธรรม  หรือ ร าชวงศ์สุโขทัยของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ  นั่นเอง

          เยเรเมียส ฟานฟลีต  หรือวันวลิต  กล่าวว่า  “พระเจ้าปราสาททองเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ที่ถูกสำเร็จโทษ  เนื่องจากพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินที่ถูกสำเร็จโทษ  และพระองค์เองเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน  พระราชมารดาของพระอินทราชาและพระราชบิดาของพระองค์เป็นพี่น้องร่วมท้องกัน”  ได้ความชัดเจนขึ้นอีกว่า พ ระราชบิดาของพระเจ้าปราสาททองเป็นน้าชายของพระเจ้าทรงธรรม  พระเจ้าปราสาททองจึงมีฐานะเป็นญาติฝ่ายมารดาของพระเจ้าทรงธรรม  และควรเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าทรงธรรม  ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ (ที่เป็นโอรสพระเจ้าทรงธรรม) ที่ถูกสำเร็จโทษ

          ตำนานและพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า  พระเจ้าปราสาททองเป็นโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ  อันประสูติแต่หญิงสามัญชนที่เกาะบางนางอิน  หรือ  บางปะอิน  เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ปราสาททอง  ไม่ยอมใช้ราชวงศ์สุโขทัยของพระราชบิดา  ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก  ถ้าพระองค์เป็นโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถจริงก็ควรจะต้องสืบราชวงศ์ของพระราชบิดา  คือราชวงศ์สุโขทัย  ไม่ควรจะปฏิเสธเชื้อสายของพระองค์ด้วยการตั้งราชวงศ์ใหม่เช่นนั้น  ดังนั้นตำนานและพงศาวดารที่ว่า  พระเจ้าปราสาททองเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  จึงไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะให้เชื่อถือได้

          ความเป็นมาของพระเจ้าปราสาททอง ตามคำให้การขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพรราชา) และชาวกรุงเก่า  กับ  วันวลิต  ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ที่ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายฝ่ายพระราชมารดา  มีน้ำหนักมากพอที่จะให้เชื่อถือได้มากที่สุด  พระราชมารดาของพระเจ้าทรงธรรมน่าจะเป็นหญิงสามัญชน  และได้เป็นบาทบริจาริกาของพระเอกาทศรถแล้วประสูติพระเจ้าทรงธรรม  พระเจ้าทรงธรรมจึงเป็นพระราชโอรสของพระเอกาทศรถตามข้อเขียนของวันวลิตก็เป็นได้

          หรือไม่ก็  พระเจ้าทรงธรรมเป็นพระราชโอรสของพระนเรศวรอันประสูติแต่พระมเหสีองค์ใดองค์หนึ่ง  หรือนางนักสนม  และหรือ  หญิงสามัญชนคนใดก็ได้  เพราะขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นหลานของพระมหาธรรมราชา

          ถ้าเชื่อวันวลิตที่ว่า  พระเจ้าปราสาททองมีพระราชบิดาเป็นน้องชายของพระราชมารดาพระเจ้าทรงธรรม  ก็ต้องนับญาติว่าพระราชบิดาของพระเจ้าปราสาททองเป็นน้าชายของพระเจ้าทรงธรรม  และพระเจ้าทรงธรรมเป็นลูกผู้พี่พระเจ้าปราสาททอง  ไม่ใช่พระเจ้าปราสาททองเป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับโอรสของพระเจ้าทรงธรรมดังที่วันวลิตกล่าว

          เชื่อไม่ได้ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นพระโอรสของพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  เพราะว่าพระองค์ทรงตั้งราชวงศ์ปราสาททองขึ้นมาใหม่แทนราชวงศ์สุโขทัย  ถ้าเป็นพระราชโอรสของพระเอกาทศรถจริงพระองค์ก็ต้องสืบทอดเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยของพระราชบิดาตามวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพกษัตริย์ไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน

          จึงควรเชื่อได้ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นพระญาติฝ่ายพระราชมารดาของพระเจ้าทรงธรรมที่ไม่ใช่เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย

          ขอยุติเรื่องราวของพระเจ้าปราสาททองไว้เพียงแค่นี้ เพื่อดูเรื่องราวหลังจากที่พระเจ้าปราสาททองสวรรคตแล้วกันต่อไป......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, พิณจันทร์, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, มดดำ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #167 เมื่อ: 28, กุมภาพันธ์, 2562, 11:47:47 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระนารายณ์ราชนิเวศ : ลพบุรี

- พระนารายณ์ย้ายเมืองหลวง -

พระสุรินทรกุมารชาญฉลาด
ขึ้นครองราชย์ปากฎพระยศยิ่ง
ทรงนามว่า“พระนารายณ์”ไร้คู่ชิง
ทรงละทิ้งอยุธยาไปละโว้

ย้ายเมืองหลวงกลับแดนเดิมแคว้นเก่า
ต่างชาติเข้าพำนักเพิ่มอักโข
สร้างปราสาทวังใหม่งามใหญ่โต
บ้านเมืองโอฬารระบุ “ลพบุรี”


          อภิปราย ขยายความ..........

          เป็นสรุปได้ว่า  พระเจ้าปราสาททองเสวยราชสมบัติเมื่อปีจุลศักราช ๙๙๘ (พ.ศ. ๒๑๗๙)  ปีชวด  อัฐศก  มีพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๕ ปี  เป็น ๔๕ ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราชได้ ๑๐๒๓ (พ.ศ. ๒๒๐๔) ปี

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การในทำนองเดียวกันว่า  เมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคตแล้ว  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระสุรินทรกุมาร  หรือ  นรินทกุมาร  พระราชโอรสองค์เล็กสุด  อันประสูติแต่พระนางสุริยานั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ถวายพระนามตามนิมิตที่แลเห็นเป็นสี่กรในวันขึ้นไปดับเพลิงนั้นว่า  “สมเด็จพระนารายณ์”  ทรงอภิเษกมเหสี ๒ พระองคือ  มเหสีขวานามว่าพระกษัตรี  อันเป็นหลานพระเจ้าปราสาททองข้างฝ่ายมารดา  พระนางกษัตรีมีพระธิดา ๑ องค์นามว่า  สุดาเทวี  มเหสีซ้ายนามว่าพระพันปี  ไม่มีพระโอรส-ธิดา  นอกนั้นพระองค์มีพระสนมอีกเป็นอันมาก

           “ต่อมาพระนารายณ์โปรดกุมารองค์หนึ่งซึ่งเป็นหลาน  คือ โอรสพระไชยาทิตย์ผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์  กุมารนั้นนามว่าพระศรีศิลป์  ทรงตั้งไว้ในที่พระโอรสบุญธรรม  ครั้นเสวยราชย์อยู่ได้ ๑๐ ปี  จึงแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ ณ เมืองเก่าที่มีนามว่าละโว้  ทรงสมมตินามเรียกว่าเมืองลพบุรี  ทรงสร้างป้อมกำแพงและปราสาทชื่อดุสิตมหาปราสาท  มีพระที่นั่งฝ่ายขวาชื่อสุธาสวรรย์หรือสุทธาสวรรค์  ฝ่ายซ้ายชื่อจันทิพศาล  หรือ  จันทรพิศาล  ให้ตั้งเศวตฉัตรแลเครื่องสูงไว้ครบทุกประการ  แล้วยังให้สร้างอ่างแก้วน้ำพุในทิศเหนือ-ใต้  พระที่นั่งนั้น”

          เมื่อประทับอยู่ ณ เมืองลพบุรีนั้น  พระนารายณ์ทรงมีช้างเผือกเชือกหนึ่ง  มีรูปงาม  และกล้าหาญยิ่งนัก  ทรงพระราชทานนามว่า  พระบรมรัตนากาศไกรลาศคิรีวงศ์  หรือ  บรมรัตนากาศคิรี  ทรงปล่อยไว้ในพระราชวัง  พระองค์ทรงมีบุญญาธิการมาก  วันหนึ่งมีผู้จับช้างเถื่อนได้และยังมิได้ฝึกหัดก็นำมาถวาย  พระองค์ตรัสว่า  “เราจะขึ้นขี่ขับช้างเถื่อนนี้มิให้ไปพ้น ๔ ศอกได้”  แล้วเสด็จขึ้นทรงช้างเถื่อนนั้นท่ามกลางสายตาข้าราชการและประชาชนทั้งปวง  ปรากฏว่าช้างนั้นมิได้ทำพยศให้พ้นจากที่ตามรับสั่ง  คราวหนึ่งรับสั่งให้นำช้างเถื่อนตกมันมาทรงอีก  ช้างเถื่อนก็มิได้ทำพยศ  อยู่ในบังคับบัญชาของพระองค์อย่างสงบเสงี่ยม เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น  ต่อมามีทูตฝรั่งเข้าเฝ้า  พระนารายณ์ให้เอาพรมมาปูที่หน้าพระลาน  แล้วเสด็จขึ้นทรงช้างตกมันอยู่ให้ทูตฝรั่งดู  ทรงไสช้างให้หมุนไปมา  บังคับมิให้ล่วงเลยไปจากพรมได้  ทูตฝรั่งเห็นดังนั้นก็มองดูหน้ากันแล้วสั่นศีร์ษะ  พากันสรรเสริญว่า  สืบไปเบื้องหน้าจะไม่มีใครที่ชำนาญช้างชำนาญม้ายิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้อีกแล้ว

          อยู่มาเมื่อพระศรีศิลป์พระโอรสบุญธรรมนั้นมีพระชันษา ๑๕ ปี  คิดเป็นขบถ  ซ่อนอาวุธเข้าไปถึงข้างที่บรรทม  เงื้ออาวุธขึ้นจะฟัน  ทรงจับอาวุธไว้มิได้เป็นอันตราย  แต่พระองค์มิได้ลงโทษหนัก  ด้วยเห็นว่าพระกุมารยังเยาว์ชันษา  อีกทั้งคราที่พระไชยาทิตย์ยังทรงพระชนม์อยู่ได้ทรงฝากฝังไว้ว่าให้ทรงพระกรุณาตามสมควร  ดังนั้น  เมื่อทรงกล่าวตำหนิและสั่งสอนอบรมตามสมควรแล้วจึงปล่อยตัวไป

          ต่อมาพระศรีศิลป์คิดเป็นขบถอีก โดยถือพระแสงของพระมหินทร์ไปคอยจะทำร้ายอยู่ที่ประตูวังข้างทิศใต้  ข้าราชการพบเห็นเป็นพิรุธจึงพากันจับตัวไปถวายพระนารายณ์  สอบได้ความจริงแล้วทรงพระพิโรธมาก  จึงรับสั่งให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี  เพชฌฆาตกระทำการสำเร็จโทษ  ด้วยความเลินเล่อ  เมื่อฝังพระศรีศิลป์และให้คนเฝ้าครบ ๗ วันแล้วพากันกลับไป  พวกมหาดเล็กพระศรีศิลป์พากันไปขุดศพ  พบว่ายังไม่ตายจึงพาไปรักษาตัวที่ตลาดบัวขาว  เมื่อหายเป็นปกติแล้ว  จึงส้องสุมผู้คนได้กำลังเป็นอันมากแล้ว  ลอบเข้ากรุง  ได้พระกำแพงเป็นพรรคพวก  พระกำแพงก็แอบชักชวนบรรดาขุนนางเข้าเป็นพรรคพวกได้อีกจำนวนหนึ่ง  เช่น  พระยานันทะยอแฝง  นายโขลงช้าง  หมื่นราชและนายทรงบาศทั้งซ้ายขวา  เทพโยธาและนายพลพัน  หลวงจ่าแสนบดี  ร่วมกันคิดขบถ  เพราะเชื่อว่าพระศรีศิลป์เป็นคนมีบุญญาธิการมาก  ถูกฆ่าฝังดินถึง ๗ วันแล้วยังไม่ตาย  พวกเขายกกำลังเข้าพระราชวังทางประตูปราบไตรจักร  ในเวลาพลบค่ำ  พระนารายณ์ทรงทราบในเวลาที่จวนตัว  จึงพาพรรคพวกหนีออกทางประตูมหาโภคราชได้อย่างปลอดภัย  พระศรีศิลป์เข้าวังได้ก็ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้ ๑ วัน กับ ๑ คืน

          เมื่อพระนารายณ์หนีออกไปได้แล้วก็รวบรวมผู้คนได้เป็นอันมาก  ทรงยกกำลังเข้าจู่โจมและจับกุมตัวพระศรีศิลป์ได้  จึงให้เอาตัวไปสำเร็จโทษ  โดยให้ทุบด้วยท่อนจันทน์จนร่างแหลกละเอียด  ตายแล้วจึงใส่ในขันสาครแล้วใส่ถุงแดงฝังดินเสีย  ส่วนพรรคพวกที่ร่วมทำการขบถนั้นให้เอาตัวไปประหารเสีย ๗ ชั่วโคตร  แต่พระมหาพรหมอาจารย์ของพระนารายณ์ถวายพระพรทูลขอไว้  ก็พระราชทานอภัยโทษประหารให้ แต่ให้ส่งไปเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างหญ้าม้าที่เมืองสุพรรณ  เป็นส่วยหญ้าช้างหญ้าม้ามาแต่คราวนั้น

          เหตุการณ์ที่พระศรีศิลป์ก่อขบถนั้น  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่ามิได้ระบุให้ชัดเจนว่า เ ป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงละโว้ (ลพบุรี)  แต่น่าเชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เมืองลพบุรี  เพราะปรากฏว่า  หลังจากขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วไม่นานก็ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่ละโว้  ได้สร้างพระตำหนัก  ปราสาทราชวังใหม่  แล้วให้นามเมืองว่า  “ลพบุรี”  เป็นการฟื้นฟูเมืองหลวงเก่าของแคว้นทวาราวดี (ทวรวติ)  ซึ่งหลังจากย้ายเมืองหลวงลงมาอยู่อยุธยาแล้ว  เมืองหลวงของแคว้นนี้เสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก  สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงย้ายเมืองหลวงจากอยุธยากลับไปอยู่ที่เดิม  ทรงประทับอยู่เมืองนี้ตลอดรัชกาลของพระองค์

          เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินสยามพระนาม  “สมเด็จพระนารายณ์”  องค์นี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าศึกษา  พรุ่งนี้มาดูเรื่องราวของพระองค์กันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, พิณจันทร์, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #168 เมื่อ: 01, มีนาคม, 2562, 10:25:39 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"บุพเพสันนิวาส"

- โอรสลับพระนารายณ์ -

ประกาศไม่เลี้ยงปลูกลูกสนม
ทรงขื่นขม“ศรีศิลป์”หมิ่นศักดิ์ศรี
สนมใดทรงครรภ์“รีด”ทันที
แต่เกิดมีหนึ่งสนมจำ “ขมกลืน”

ให้คนสนิทรับสนมผงมระงับ
“โอรสลับ”ปรากฏงามสดชื่น
ประทานยศภิญโญโตวันคืน
“ลูกลับ”รื่นราบเรียบเชาว์เฉียบคม


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้  “แลหลังอยุธยา”  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  ว่าด้วยสมเด็จพระนารายณ์ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยากลับไปละโว้  เมืองหลวงเดิมของทวาราวดีศรีอยุธยา  แล้วจบตอนที่พระศรีศิลป์โอรสบุญธรรมของพระองค์เป็นขบถ  และถูกประหารชีวิตไปแล้ว  วันนี้มาดูเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์กันต่อไปครับ

          ตั้งแต่เกิดเรื่องขบถพระศรีศิลป์หรือพระศรีสิงห์ขึ้นแล้ว  สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงปริวิตกด้วยจะหาพระราชโอรสสืบสันตติวงศ์ดำรงราชสมบัติไม่ได้  จึงรับสั่งให้พระอัครมเหสีตั้งสัตยาธิษฐานขอพระราชโอรส  แต่นางนักสนมทั้งปวงนั้นมิได้รับสั่งให้อธิษฐานขอด้วย  ทั้งนี้เพราะไม่ทรงไว้วางพระทัย  กลัวว่าจะเป็นขบถเหมือนพระศรีศิลป์  ดังนั้น  เมื่อนางนักสนมคนใดมีครรภ์ก็ทรงให้รีดเสีย  เพื่อไม่ให้เกิดโอรสธิดาได้  ทั้งนี้ก็เป็นไปตามพระดำรัสยามโกรธที่ว่า  “ถ้าใครมีครรภ์ขึ้นมาแล้วก็ให้ทำลายเสีย  กูมิให้ได้สืบสุริยวงศ์ต่อไป  ต่อเมื่อเกิดในครรภ์พระมเหสี  กูจึงจะมอบโภไคยศวรรย์ทั้งปวงให้ตามใจกูปรารถนา”  เมื่อเป็นดังนี้  พระสนมนางใดมีครรภ์จึงต้องรีดทิ้งเสีย  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การมีความตรงกัน  โดยสรุปได้ว่า

          * อยู่มาพระนารายณ์ทรงสุบินนิมิตว่า  เทวดามาบอกให้ทราบว่าพระสนมเอกนามว่า  ราชชายาเทวี  หรือ  กุสาวดี  นามเดิมว่าเจ้าจอมสมบุญ  มีครรภ์และจะได้โอรสมีบุญมาก  ครั้นรุ่งเช้าพระองค์มิได้ทรงแพร่งพรายให้มเหสีและข้าราชการทั้งปวงทราบ  หากแต่ทรงนิมนต์พระมหาพรหมผู้เป็นอาจารย์มายังพระราชวัง  ทรงอยู่ตามลำพังสองต่อสองแล้วเล่าความฝันให้ฟัง  พระมหาพรหมฟังแล้วถวายพระพรว่า  พระองค์จะได้พระโอรสที่มีบุญมาก  ซึ่งเกิดแต่นางกุสาวดีพระสนมเอก  พระนารายณ์ตรัสว่าได้เคยตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางสนม  เพราะกลัวจะเป็นเหมือนพระศรีศิลป์  พระมหาพรหมจึงถวายพระพรอีกว่า  “ พระองค์จะตั้งพระทัยอย่างนั้นไม่ควร  ที่จะคิดขบถแล้ว  ถึงแม้จะเกิดแต่มเหสีก็คิด  ผู้ที่ไม่คิดขบถแล้ว  ถึงจะเกิดกับผู้ใดก็ไม่คิด  เพราะฉะนั้นพระองค์อย่าคิดเหมือนอย่างแต่ก่อนเลย  จะเป็นเวรกรรมติดตามไปภายหน้า  จงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ทั่วถึงเถิด  จะได้สืบราชตระกูลต่อไป  ถ้าพระองค์ไม่ทรงชุบเลี้ยงแล้ว  นานไปเมืองลพบุรีก็จะเป็นของผู้อื่นเสีย”  พระนารายณ์ได้ฟังดังนั้นก็ตรัสรับรองว่าชอบแล้ว  แต่ในเมื่อได้ตรัสประกาศไปแล้วจำต้องรักษาวาจาให้มั่นคง  ก็มีแต่จะต้องคิดผ่อนผันด้วยอุบายอย่างอื่นแล้ว

          เมื่อพระมหาพรหมถวายพระพรลาไปแล้ว  จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (พระเพทราชา) เข้าเฝ้าเป็นการเฉพาะแล้วตรัสว่า  “บัดนี้นางกุสาวดีสนมของเรามีครรภ์ขึ้น  เราได้ตั้งสัตย์ไว้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงดูลูกสนม  เจ้าจงเอานางนี้ไปเลี้ยงเป็นภรรยา  ถ้าลูกในครรภ์นั้นเป็นชายเจ้าจงว่าลูกของเจ้า  ต่อเป็นหญิงจึงส่งมาให้เรา”

          เจ้าพระยาสุรสีห์รับนางกุสาวดีไปเลี้ยงไว้ตามรับสั่ง  ครั้นถึงกำหนดคลอดนางก็คลอดเป็นชาย  จึงนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  พระนารายณ์จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่กุมารนั้นเป็นอันมาก

          ครั้นกุมารนั้นมีอายุได้ ๗ ขวบ  เจ้าพระยาสุรสีห์พาเข้าเฝ้าพระนารายณ์ตามรับสั่ง  ทรงทอดพระเนตรเห็นพระโอรสมีรูปโฉมงดงาม  มีลักษณะกล้าหาญ  ก็ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก  รับสั่งให้เข้าวังอย่าได้ขาด  พระราชทานนามให้ว่า  "เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์  อัครราชมนตรีศรีสงคราม"  พระราชทานเครื่องยศให้อย่างทำนองเจ้า  สูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ  ให้มีตำแหน่งใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา

          * เมื่อเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้วมีความห้าวหาญฉลาดเฉลียว  ทั้งร้ายกาจดุดัน  เชี่ยวชาญในการยุทธและเวทย์มนต์คาถาวิชาอาคม  อีกทั้งเจ้าชู้อยู่ในประเภท  “ชายชาตรี”  เที่ยวเกี้ยวลูกสาวชาวกรุงไปทั่วไม่เลือกหน้า  แม้พ่อแม่จะกีดกัน  ป้องกันอย่างไรก็ลักลอบเข้าหาจนได้  ไม่ว่าหญิงนั้นจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยอย่างไร  เมื่อได้แล้วก็จะให้แหวนและเงินทองตามค่าที่รักมากและรักน้อยโดยไม่มีเว้น  ในบรรดาลูกสาวชาวกรุงนั้นมีอยู่นางหนึ่งเป็นลูกสาวเจ้าพรยาราชวังสันนายทหารผู้เก่งกล้าทั้งฝีมือและวิชาอาคม  เป็นหญิงที่เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์รักมาก  หมายมั่นว่าจะเอามาเป็นภรรยาตนให้จงได้  จึงคอยหาโอกาสที่จะลักพาอยู่เสมอ

          เจ้าพระยาราชวังสันรู้อยู่ว่าเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์กำลังหาโอกาสลักพาลูกสาวของตน  ดังนั้น  อยู่มาวันหนึ่งทั้งสองได้พบกันในพระราชวัง  เจ้าพระยาราชวังสันจึงพูดขึ้นว่า  “สิ่งใดที่ท่านคิดเกี่ยวข้องเรา ๆ ทราบแล้ว  ถ้าท่านอาจจะคิดโดยลับ ๆ ไม่ให้เราแลใคร ๆ รู้ได้  เรายอมอนุญาตให้”  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์จึงตอบว่า  “ท่านพูดกับเราดังนี้ยังจะจริงหรือ”  เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าจริง  จึงกล่าวต่อไปอีกว่า  “ถ้ากระนั้นเราจะพยายามให้สำเร็จความปรารถนาในคืนนี้”  พูดกันดังนั้นแล้วต่างก็หลีกทางกันไป  ฝ่ายหนึ่งคิดลักลอบเข้าไปโดยไม่ให้ใครรู้เห็น  ฝ่ายหนึ่งเตรียมป้องกันไว้อย่างดี

          เจ้าพระยาราชวังสันกลับถึงบ้านก็เตรียมการป้องกันอย่างกวดขัน  โดยให้บ่าวไพร่และญาติพี่น้องมาชุมนุมที่บ้าน  และจัดให้มีมหรสพแสดงในบ้านตลอดคืน  เวลาประมาณ ๒ ยามเศษ  ในขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนานรื่นเริงในการชมมหรสพอยู่นั้น  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็ลอบเข้าไปในงานแล้วเสกคาถาอาคมลงในเม็ดทรายที่ควักออกจากถุงย่ามแล้วซัดเข้าไปในหมู่คนเหล่านั้น  ปรากฏว่าทุกคนถูกทรายมนต์สะกดจนพากันง่วงเหงาหาวนอนแล้วหลับไปหมดทั้งสิ้น  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็ลอบเข้าไปหาลูกสาวเจ้าพระยาราชวังสัน  และได้ร่วมรักใคร่เป็นสามีภรรยากันในคืนนั้น  ก่อนจากกันก็ได้ขอแหวนนางสอดใส่นิ้วไปเป็นที่ระลึก ๑ วง

          เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนพากันเข้าพระราชวังเพื่อเข้าเฝ้าตามปกติ  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์สวมแหวนที่ได้จากลูกสาวเจ้าพระยาราชวังสันไปด้วย  เมื่อพบเจ้าพระยาราชวังสันจึงถอดแหวนออกอวดแล้วถามว่า  “แหวนนี้ราคาเท่าไร”  เจ้าพระยาราชวังสันเห็นแหวนแล้วจำได้และรู้แน่ชัดแล้วว่าลูกสาวของตนตกเป็นของเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เสียแล้ว  จึงพูดว่า  “ท่านนี้ดีจริง”  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์จึงบอกเล่าความจริงและกล่าวคำขอโทษที่ได้ล่วงเกิน  เจ้าพระยาราชวังสันตระหนักแล้วว่าเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เป็นคนเชี่ยวชาญในเวทย์มนต์และมีลักษณะกล้าแข็ง  เห็นจะมีบุญต่อไปภายหน้า  จึงยกลูกสาวของตนให้เป็นภรรยาแต่โดยดี

          * วันหนึ่งเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เข้าเฝ้าตามปกติ  ได้พบเจ้าพระยาวิชเยนทรซึ่งเป็นคนชาติฝรั่งเศสที่เข้ามาสวามิภักดิ์รับราชการอยู่  และเป็นคนที่พระนารายณ์ทรงโปรดปรานมาก  พอเจ้าพระยาวิชเยนทรก้มลงกราบถวายบังคม  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็แกล้งเหยียดเท้าไปถูกศีร์ษะเจ้าพระยาวิชเยนทร  พระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงมีรับสั่งว่า  “อ้ายคนนี้มันเป็นเด็กไม่รู้เดียงสาอย่าถือโทษแก่มันเลย”  เจ้าพระยาวิชเยนทรก็ทูลให้อภัยมิได้กล่าวโทษแต่ประการใด

          เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ผู้นี้ชำนาญในการขี่ช้างขี่ม้าเช่นเดียวกันกับพะนารายณ์  ช้างม้าที่ใคร ๆ ฝึกหัดไม่ได้ก็ฝึกหัดทรมานได้ทั้งสิ้น  วันหนึ่งพระนารายณ์เสด็จประพาสป่าด้วยข้าราชการทั้งปวง  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ขี่ม้าพยศนำหน้า  พอไปถึงพระปราง (วัดมหาธาตุ) ก็เกิดลมพายุใหญ่  ม้าเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ตกใจกระโดดข้ามกำแพงแก้วสูงประมาณ ๖ ศอกไป  พระนารายณ์เห็นดังนั้นก็ตกพระทัยปริริวิตกกลัวจะเป็นอันตราย  รับสั่งให้อำมาตย์ผู้หนึ่งรีบตามไปดู  เมื่อเห็นเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์มิได้เป็นอันตรายก็นำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  พระนารายณ์จึงรับสั่งไปบอกให้มาขึ้นช้างกับพระองค์  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็ให้กราบทูลว่าจะฝึกหัดม้าตัวนี้ให้เรียบร้อย  และจะขี่ขับข้ามกำแพงแก้วกลับไปให้จงได้  แล้วก็ปรากฏว่าได้ขี่ขับม้าตัวนั้นข้ามกำแพงแก้วกลับมาจนได้ในที่สุด

          * สมเด็จพระนารายณ์มีเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์ซึ่งสำคัญ ๆ หลายเรื่อง  พรุ่งนี้มา  “แลหลังอยุธยา”  ว่าด้วยมหาราชชาติไทยพระองค์นี้กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ มกรสคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #169 เมื่อ: 02, มีนาคม, 2562, 10:16:41 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"บุพเพสันนิวาส"

- ว่าด้วยเจ้าพระยาวิชเยนทร์ –

“เจ้าพระยาวิชเยนทร์”เป็นฝรั่ง
ชีพเซซังสู่สยามยามขื่นขม
ขุนนางไทยช่วยเหลือจากเรือจม
มาอบรมแบบอย่างขุนนางไทย

เขาฉลาดหลักแหลมรู้มากเรื่อง
ความปราดเปรื่องออกผลจนเป็นใหญ่
พระนารายณ์ไว้เนื้อโปรดเชื่อใจ
อวยยศให้สูงเด่นเป็นเจ้าพระยา...


          อภิปรายขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่าน “แลหลังอยุธยา” ถึงตอนที่พระโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์อันประสูติแต่พระสนมชื่อนางกุสาวดีหรือเจ้าจอมสมบุญ  ที่ทรงมอบให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (พระเพทราชา) เลี้ยงดูในฐานะบุตร  เมื่อพระกุมารเจริญวัยแล้วทรงพระราชทานนามว่า  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ อัครราชมนตรีศรีสงคราม  พระราชทานเครื่องยศให้อย่างเจ้า  สูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ  ให้มีตำแหน่งใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา  เรื่องราวของเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ตอนเป็นหนุ่มนั้นได้บอกเล่าให้ฟังโดยละเอียดแล้ว  จะไม่ย้ำในที่นี้อีก  วันนี้มาดูเรื่องราวของฝรั่งคนหนึ่งอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์  และเคยถูกเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์แสร้งเอาเท้าเขี่ยศีร์ษะในขณะกราบถวายบังคมสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว  ฝรั่งท่านนั้นคือ  เจ้าพระยาวิชเยนทร์  ขุนหลวงหาวัดให้การไว้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

           “ อันองค์พระนารายณ์สบเสียโปรดปรานวิชเยนทร์เป็นฝรั่งเศสนั้นหนักหนา  จึงพระราชทานชื่อเรียก  พระยาวิชเยนทร์  เป็นสมุหจักรีนายก  อันพระยาวิชเยนทร์นั้นมีปัญญาฉลาดสารพัดจะรู้การช่างต่าง ๆ  ทั้งการจักรและการยนต์ก็สารพัดจะทำได้  ทำได้ทั้งนาฬิกาและกล้องส่อง  ทั้งเข็ม  สารพัดจะรู้ทำ  อันว่าพระนารายณ์นั้นจะใคร่รู้ว่าปืนใหญ่นั้นหนักเบาเท่าสักไร  พระนารายณ์จึงถามเสนาทั้งปวง  ผู้ใดก็มิอาจที่จะคิดชั่งได้  พระนารายณ์จึงตรัสถามพระยาวิชเยนทร์  พระยาวิชเยนทร์จึงรับสั่งแล้วก็ทำได้ตามมีพระประสงค์  ครั้นอยู่มาพระยาวิชเยนทร์นั้นคิดร้ายต่อพระองค์เป็นช้านาน  จนเสนาอำมาตย์ทั้งปวงรู้แยบคาย  ก็เข้าไปกราบทูลกับพระองค์  อันพระนารายณ์นั้นก็มิได้ว่าขานประการใด  พระองค์เชื่อบุญญาธิการและอานุภาพของพระองค์  พระองค์ก็มิได้วุ่นวาย

          ครั้งหนึ่งพระยาวิชเยนทร์เข้าไปเฝ้า  พระองค์จึงส่งพระแสงให้ถือแล้วก็ยึดมือพระยาวิชเยนทร์นั้นเสด็จเดินไปมาเป็นหลายกลับ  พระยาวิชเยนทร์นั้นก็มิอาจที่จะทำร้ายได้  พระองค์มิได้ทรงพระวิตกว่าพระยาวิชเยนทร์นี้คิดร้าย  ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่ง  พระยาวิชเยนทร์จึงคิดขุดอุโมงค์  คิดขุดดินที่ในตึกตัวอยู่นั้น  ขุดรุกเข้าไปจะให้ถึงในพระราชวัง  อันความทั้งปวงนี้มิได้ลับ  จึงรู้ไปถึงเสนาบดีผู้ใหญ่  เจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนี  กับพระยาเสียนขัน (ฮุเซนข่าน) ทั้งสองคน  จึงพากันเข้าไปกราบทูลความที่พระยาวิชเยนทร์คิดอ่านทำการทั้งปวง  พระนารายณ์จึงจึงมีรับสั่งให้พระยาเสียนขันไปเรียกตัวมาจะไต่ถาม  อันพระยาเสียนขันก็ไปตามมีรับสั่ง  พระยาเสียนขันนั้นเป็นทหารแขก  เป็นคนดีมีความรู้แล้วกล้าหาญยิ่งนัก  พระยาเสียนขันแต่งตัวแล้วเอากระบี่เหน็บเข้ากับบั้นเอว  แล้วจึงเข้าไปในตึกที่วิชเยนทร์อยู่นั้น  พระยาเสียนขันจึงยึดมือพระยาวิชเยนทร์เข้าแล้วก็นั่งลงบนเก้าอี้ทั้งสองคนด้วยกัน  พระยาเสียนขันจึงบอกความทั้งปวงกับวิชเยนทร์ว่า  บัดนี้มีพระราชโองการให้หา  อันพระยาวิชเยนทร์นั้นก็มิได้มาตามรับสั่ง  พระยาเสียนขันจึงถอดเอากระบี่ออกแล้วจึงตัดศีร์ษะวิชเยนทร์เสีย  อันพระยาวิชเยนทร์นั้นก็ถึงแก่ความตาย  ครั้นพระยาวิชเยนทร์ตายแล้ว  พระยาเสียนขันจึงเข้ามากราบทูลตามเรื่องราวที่มีมาทั้งสิ้น  พระนารายณ์ครั้นทรงทราบดังนั้นก็มิได้มีพจนาถประการใด  อันเจ้าพระยาราชวังสรรค์กับพระยาเสียนขันทหารแขก  สองคนนี้พระองค์ก็รักใคร่แล้วสบเสียไว้ใจยิ่งนัก”

          ความในพระราชพงศาวดารและในที่อื่น ๆ  ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของพระยาวิชเยนทร์  หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ต่างไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัด  เฉพาะความที่ปรากฏในข้อเขียนของฝรั่งนั้น  นอกจากข้อเขียนของท่านราชทูต เดอ ลาลูแบร์ แห่งฝรั่งเศสแล้ว  ก็มีเอกสารสำคัญอยู่ ๒ เล่ม  คือ  “ฟอลคอน แห่งอยุธยา”  เขียนโดย แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์  แปลโดย  กล้วยไม้ แก้วสนธิ  และ  “รุกสยาม ในนามของพระเจ้า”  เขียนโดย มอร์แกน สปอตร์แตช  แปลโดย กรรณิกา จรรย์แสง  หนังสือทั้งสองเล่มนี้  ไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์  ได้บอกเล่าเหตุการณ์คาบเกี่ยวกัน  โดยใช้ตัวละครจริงในประวัติศาสตร์มาแต่งคำพูดและเพิ่มเติมเหตุการณ์เอาตามจินตนาการของผู้แต่ง  จึงควรเรียกหนังสือสองเล่มนี้ว่า  นิยายอิงประวัติศาสตร์  และ  ประวัติศาสตร์อิงนิยาย  จะเหมาะสมที่สุด

          โดยทั่วไปแล้วเข้าใจกันว่า  เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นชาวฝรั่งเศส  แต่  กิติกร มีทรัพย์  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับท่านผู้นี้ไว้ในหนังสือนิตยสารศิลปวัฒนธรรม  ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐  ต่างไปและน่าเชื่อถือได้ว่า

           “ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นชาวกรีก  ชื่อจริงว่า  คอนสแตนติน เยรากี  เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๙๐  ที่บ้านคัดโตด  เกาะเซฟาโลเนีย  บิดามารดาเป็นผู้ดีตกยาก  มีอาชีพขายสุรา  และโดยประมาณอายุ ๑๐ ปี เยรากีหนีออกจากบ้านไปเผชิญโชคกับกัปตันเรือสินค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง  บ้างก็ว่าเยรากีไม่ได้หนีออกจากบ้าน  แต่แม่ของเขาขายตัวเขาให้กับกัปตันชาวอังกฤษผู้นั้น  ชื่อสกุลเยรากี  แปลว่าเหยี่ยวนกเขา  เขาจึงเปลี่ยนเสียใหม่ให้เข้ากับความเป็นอังกฤษว่า  “ฟอลคอน”  อันมีความหมายเดียวกัน  ฟอลคอนได้เรียนรู้การมีชีวิตเป็นกลาสีในเรือในฐานะผู้รับใช้อย่างปรุโปร่ง  และรู้มากกว่ากลาสีเรือธรรมดา  ก็คือรู้เล่ห์เหลี่ยมของการค้าขายและเทคนิคการติดต่อประสานงานการเดินเรือสินค้ากับชาติต่าง ๆ รวมทั้งชีวิตชาวเรือที่เข้มข้นรุนแรงด้วย

          เมื่อฟอลคอนเป็นหนุ่มก็ติดตามกัปตันชาวอังกฤษชื่อ  ซามูเอล ไวท์  มายังสถานีสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงใต้  เช่น  ที่บันตัมในชวา  และที่อยุธยาในสยาม  เมื่อปีกกล้าขาแข็งพอมีเงินทุนบ้างก็ลองค้าขายด้วยตนเอง  แต่ก็หมดตัวเพราะเรือสินค้าอับปางลง  ตัวเขาเองเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด  โชคดีที่เขาได้พบขุนนางสยามผู้หนึ่งที่เคยเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะเรืออับปางเช่นเดียวกัน  และนี่เป็นจุดหักเหชีวิตของฟอลคอนอย่างมาก  ขุนนางผู้นั้นได้พาเขาเข้าทำงานกับออกญาโกษาธิบดี หรือ โกษาเหล็ก  ซึ่งรับผิดชอบดูแลพระคลังสินค้าของหลวง  ไม่นานนักฟอลคอนก็แสดงผลงานชิ้นโบว์แดงให้ปรากฏ  กรณีตรวจสอบบัญชีหนี้สินค้าขายระหว่างสยามกับบริษัทการค้าแห่งเปอร์เซีย  จำเดิมระบุว่าฝ่ายสยามเป็นลูกหนี้  แต่เมื่อฟอลคอนตรวจเช็คบัญชีหนี้สินอย่างละเอียด  ก็พบว่าฝ่ายสยามเป็นเจ้าหนี้  ได้เงินค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยกลับคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ  ความสามารถตรงนี้ของเขาได้ถูกนำเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์

          ฟอลคอนเรียนรู้ภาษาไทยได้เร็ว  สามารถพูดได้ทั้งแบบชาวบ้านร้านตลาดและแบบขุนนาง  รู้จักใช้ราชาศัพท์อย่างคล่องแคล่ว  กับรู้เรื่องประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าอย่างดียิ่ง  นี่เป็นใบเบิกทางอย่างสำคัญที่จะกราบทูลถวายข้อมูลต่าง ๆ กับสมเด็จพระนารายณ์อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องผ่านล่าม…”

          กิติกร มีทรัพย์  ให้ข้อมูลต่ออีกว่า  ฟอลคอนเข้ารับราชการเมื่อมีอายุ ๓๓ ปีก็ได้ตำแหน่งออกหลวง  นามว่า  ออกหลวงสุรสาคร  จากนั้นไม่นานก็เป็น  ออกหลวงพระวิชาเยนทร์  อายุได้ ๓๙ ปี  ได้เป็น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์  มีตำแหน่งเป็นสมุหนายก  เขารับราชการเพียง ๗-๘ ปี  มีตำแหน่งเป็นถึงสมุหนายก  อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือน  จึงไม่เป็นที่พอใจของขุนนางสยามเป็นธรรมดา  พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่ชอบฟอลคอน  ไม่เว้นแม้กระทั่งบาทหลวงฝรั่งพระเยซูอิตก็ไม่สู้จะไว้วางใจเขามากนัก  นายพลเดส์ฟาร์จ  ผู้คุมป้อมบางกอกที่ฟอลคอนคอยเอาอกเอาใจเขาก็ไม่สู้จะไว้วางใจฟอลคอนเช่นกัน  ยิ่งนายร้อยโทฟอร์บัง  ซึ่งรับราชการเป็นจอมพลเรือของสยามแล้ว  จงเกลียดจงชังกับฟอลคอนมาก  ส่วนท่านราชทูตฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลาลูแบร์  นั้นหาความกลมกลืนกับฟอลคอนไม่ได้เลย  มีเพียงบาทหลวงตาชาร์ดรูปเดียวเท่านั้นที่เข้ากับฟอลคอนได้ดี

          เหตุที่เจ้าพระยาสุรสีห์หรือ  พระเพทราชาไม่พอใจเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นอย่างมากนั้น  คือเรื่องที่เขาสนับสนุนให้มอบป้อมที่บางกอกและมะริดให้อยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส  และต่อมาทราบว่าเขาวางแผนปฏิวัติทันทีที่พระนารายณ์สวรรคต  โดยเขาจะยกพระปีย์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ในปี พ.ศ. ๒๒๓๑  ที่พระนารายณ์ทรงพระประชวรนั้นทรงตั้งให้เจ้าพระยาสุรสีห์หรือพระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ความอ่อนน้อมถ่อมตนและตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นแรงดึงดูดให้บรรดาขุนนางไทยและประชาชนรวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก

          ในขณะที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์กำลังดำเนินการปฏิวัตินั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์หรือพระเพทราชา  กับเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์  หรือออกหลวงสรศักดิ์พระโอรสลับของพระนารายณ์ก็ชิงลงมือเสียก่อน  เมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็ให้เจ้าพระยาศรีสาครผู้ที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เคารพนับถือไปเชิญตัวฟอลคอนเข้าพบที่กองบัญชาการ (ตึกพระเจ้าเหา)  และเขาก็ถูกควบคุมตัวแล้ว  นำตัวไปประหารชีวิต ณ วัดซาก  นอกเมืองลพบุรีด้านตะวันออก  ตรงกับวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๒๓๑  จากนั้นมาอีก ๓๖ วัน  คือ  วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑  สมเด็จพระนรายณ์ก็เสด็จสวรรต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์  ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรีนั่นเอง

          การสิ้นชีวิตของพระยาวิชเยนทร์  หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์  ตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดต่างจากพระราชพงศาวดารและตำนานอื่น  ดังที่แสดงมานี้  ผิดถูกอย่างไรก็แล้วแต่จะเชื่อถือกันไปตามอัธยาศัย เรื่องของสมเด็จพระนารายณ์ยังไม่จบสิ้นกระแสความพรุ่งนี้มาแลหลังอยุธยากันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, พรานไพร, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, กลอน123, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #170 เมื่อ: 03, มีนาคม, 2562, 10:23:15 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ชมขบวนทัพพระนารายณ์ -

พระนารายณ์หมายทำ“สงครามกษัตริย์”
จึ่งทรงจัดทัพไทยใหญ่นักหนา
ทัพบกบนหนบถคชอาชา
ทัพนาวาแหนแห่มโหฬาร

จะไปตีเชียใหม่ขยายอำนาจ
ยื่นคำขาดขอพระพุทธสมุฏฐาน
หากมิให้จะปล้นเวียงทำเยี่ยงพาล
เป็นตำนานหน้าหนึ่งตรึงความจำ


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานได้พาทุกท่าน “แลหลังอยุธยา” ถึงเรื่องเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ชาวต่างชาติที่พระนารายณ์ทรงโปรดปราน  ขุนหลวงหาวัดให้การว่าเขาวางแผนร้ายต่อพระนารายณ์ด้วยการขุดอุโมงค์ลับจากที่อยู่ของเขาเข้าในพระราชวัง  พระยาเสียนขันทหารแขกไปเชิญให้เข้าเฝ้าตามรับสั่งแต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้า  จึงถูกพระยาเสียนขันตัดศีร์ษะเขาเสีย  แต่ความในที่ทั่วไปกล่าวว่าเขาวางแผนปฏิวัติไม่ทันลงมือก็ถูกพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ปฏิวัติเสียก่อน  แล้วกุมตัวเขาไปประหารที่วัดซากนอกเมืองลพบุรี  ก่อนที่พระนารายณ์จะสวรรคตเพียง ๓๖ วัน  วันนี้มา ”แลหลังอยุธยา” กันต่อไปครับ

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การตรงกันว่า  สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพไปตีเชียงใหม่ด้วยเพราะต้องการจะ  “เล่นสงครามกษัตริย์”  หลังจากทรงทราบกิติศัพท์ว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ (ซึ่งขุนหลวงหาวัดออกชื่อว่า  “โบรีช้างสาร”  ชาวกรุงเก่าออกชื่อว่า  “กุมมามัง”)  เป็นคนกล้าหาญเชี่ยวชาญในการรบ  และได้พระพุทธรูปวิเศษ ๓ องค์  คือ  พระพุทธรูปที่พระมหาอุปคุตเถรเจ้าใช้นวโลหะหล่อเป็นรูปเหมือนพระพุทธเจ้าตามคำบอกเล่าของเทวดาและนาคองค์หนึ่ง  พระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง  พระแก่นจันทน์แดงที่ใช้ไม้จันทน์แดงซึ่งทำเสาเชิงตะกอนถวายพระเพลิงบรมศพพระพุทธเจ้ามาแกะเป็นพระนาคปรกสองตัวองค์หนึ่ง  พระนารายณ์จึงประสงค์ทำสงครามกับเจ้าเมืองเชียงใหม่เพื่อใคร่ได้พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๓ องค์นั้นมาไว้สักการบูชาในพระนครศรีอยุธยา  ในการจัดขบวนทัพไปตีเชียงใหม่นั้น  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าได้ให้รายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจมาก  สำนวนคำให้การของขุนหลวงหาวัดอ่านเข้าใจยากกว่าสำนวนคำให้การชาวกรุงเก่า  ดังนั้นเพื่อความเข้าใจง่าย  จึงขอนำคำให้การชาวกรุงเก่ามาแสดงดังต่อไปนี้

           “……จึงให้จัดทัพบกทัพเรือ  ขบวรทัพยกนั้นดังนี้คือ  ให้ราชภัฏกับหลวงเดชคุมพลทหารเดินเท้า ๒๐,๐๐๐  ให้พระศรีศรพาดกับพระพิพัฒนคุมพลทหารโล่ห์ ๒๐,๐๐๐  ให้จันทราชากับหลวงสิทธิคุมพลทหารธนูหน้าไม้ ๒๐,๐๐๐  ให้หลวงจันทรกับหลวงฤทธิ์คุมพลทหารราบ ๒๐,๐๐๐  รวมจำนวนพล ๘๐,๐๐๐  ให้พระยาโกษาเปนแม่ทัพใหญ่

          แล้วให้จัดกองทัพช้างมีจำนวนพล ๓,๐๐๐  ให้ขุนพิพัฒน์คุมพลกอง ๑   ขุนนรินทร์กอง ๑   พระมนตรีกอง ๑   ราชามาตย์กอง ๑   ราชาบาลกอง ๑   พระพิเรนทรเทพกอง ๑   พระอินทรเทพกอง ๑   ขุนสัสดีกอง ๑   ราชมนูกอง ๑   ทิพเสนีกอง ๑   มหามนตรีกอง ๑   ราชวรินทร์กอง ๑   อินทรเดชกอง ๑   ขบวรช้างเหล่านี้แบ่งเปนช้างที่สำหรับทำยุทธหัตถี ๑๐๐ ช้าง  สวมเกราะตลอดกาย  ช้างตัวหนึ่ง ๆ มีหอกผูกผ้าแดง ๒ เล่ม  มีปืนใหญ่หันปลายออกข้างขวา ๑ บอก  ข้างซ้าย ๑ บอก  มีนายทหารแลพลทหารสวมเกราะโพกผ้าถืออาวุธประจำทั่วทุกตัวคน  ขึ้นขี่ทั้งคอแลกลาง  แลท้ายช้าง  ให้พระยาราชภัฏเปนแม่ทัพใหญ่  แล้วให้จัดช้างทรงมีนามว่าพระบรมรัตนากาศ  มีช้างบริวาร ๑๓๓๐ ช้าง

          แล้วให้จัดทัพม้ามีจำนวน ๘,๐๐๐  แยกเปน ๘ กอง  ให้ราชสงกรานต์ถือพลกอง ๑   สุธรรมากอง ๑   พระยามหาเสนากอง ๑   พระยาพิไชยกอง ๑   พระพิพัฒน์กอง ๑   หมื่นพรหมกอง ๑   หมื่นวาสุเทพกอง ๑   ม้าตัวหนึ่งมีพลทหารถือทวน ๒ เล่ม  ง้าว ๑ เล่ม  มีดคร่ำเงิน ๒ เล่ม  ให้พระยาอภัยราชาเปนแม่ทัพใหญ่

          แล้วให้จัดขบวรทัพเรือดังนี้  คือ  เรือพระที่นั่ง ๒ ลำ  ชื่อครุฑพาหะลำ ๑   สุวรรณหงส์ลำ ๑   เรือครุฑพาหะนั้นมีรูปครุฑปักเศวตฉัตร ๔ คัน  มีเครื่องสูงบริบูรณ์  ให้ราชามาตย์ ๑   ราชาบาล ๑   ทิพเสา ๑   วิสูตรโยธามาตย์ ๑   แต่งตัวถือพระแสงประดับพลอยเปนองครักษ์

          เรือสุวรรณหงส์นั้นเขียนลายน้ำเปนรูปหงส์  ปักธงแดงเปนรูปหณุมาน  ให้วิเชฐนาวากับวิทินาปัจจะเปนนายท้ายซ้ายขวา  ให้ราชเสนหากับราชาสนิทเต้นรำประจำเรือ  เรือพระที่นั่งเหล่านี้  เจ้าพนักงารจัดฝีพายเรียบร้อยมิได้ลักลั่น  ที่จะพักพายก็พร้อม ๆ กันมิได้ขัดจังหวะ  พระมหาเทพตำรวจหน้าถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรือราชทิพ  สำหรับนำหน้าเรือพระที่นั่ง  พระมหามนตรีตำรวจขวาถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรืออลงกฎนาวา  แซงขวาเรือพระที่นั่ง  ราชสุรินทรตำรวจซ้ายถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรือไชยรัตน์  แซงซ้ายเรือพระที่นั่ง  อภัยสุรินทร์ตำรวจหลังถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรือสุกาญจนพิมานสำหรับตามเรือพระที่นั่ง

          รายชื่อเรือที่ตามเสด็จนั้นดังนี้  คือ – เรือสุรสีห์พิมานฝ่ายขวา  เรือพิมานไชยราชฝ่ายซ้าย  เรือบัลลังก์รัตน์ฝ่ายขวา  เรือไชยสวัสดิ์ฝ่ายซ้าย  เรือไชยรัตนพิมานฝ่ายขวา  เรือนาคไชยฝ่ายซ้าย  เรือนาควาสุกรีฝ่ายขวา  เรือสีหนาทฝ่ายซ้าย  เรือสีหาสนนาวาฝ่ายขวา  เรือมงคลมหรณพฝ่ายซ้าย  เรือมังกรบรรพตฝ่ายขวา  เรือนรสีห์วิสุทธิ์ฝ่ายซ้าย  เรือเสือสินธุฝ่ายขวา  เรือนรสิงห์ฝ่ายซ้าย  เรือโตมหรณพฝ่ายขวา  เรือโตสรสินธุฝ่ายซ้าย  เรือสุวรรณหงส์ฝ่ายขวา  เรือกาญจนรัตน์ฝ่ายซ้าย  เรือพเชตฝ่ายขวา  เรือสารพิมานฝ่ายซ้าย  เรือเอกไชยฝ่ายขวา  เรือเหล่านี้มีศีร์ษะแลท้ายเปนรูปราชสีห์  รูปสิงห์  รูปช้าง  รูปม้า  รูปนาค  เป็นต้น  ล้วนลงรักปิดทอง  ประดับกระจกงดงาม  มีเศวตฉัตร ๙ ชั้นบ้าง  ๗ ชั้นบ้าง  พร้อมด้วยเครื่องสูงทั้งปวง

          แล้วให้จัดเรือรบสำหรับทัพหลวงดังนี้

     - ให้โยธาสุรศาสตรกับโยธาสุรสีห์องครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมทหารสวมเสื้อสักลาดเขียวขลิบทอง  พร้อมด้วยศัตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้โยธานรยุทธ์กับโยธานรยังค์องครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดเหลืองขลิบเงิน  พร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้โยธาสังหังองครักษ์ถือพระแสงประดับพลอย  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีม่วงขลิบเงิน พร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑

          แล้วให้จัดเรือรบสำหรับตามทัพหลวงดังนี้

     - ให้ศรีโยธารักษกับสิทธิโยธาหังองครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดแดงขลิบทอง  พร้อมเครื่องศัสตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้สุรสีห์กับกรีธาธุชองครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดดำขลิบเงินถือธนู ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้สุดเทศวิกายไชยกรรมกับทารสรติองครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีน้ำเงินขลิบเงิน  คุมพลทหารถือง้าว ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้สิทธิกับฤทธิถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีไข่กาขลิบเงินถือทวน ๒,๐๐๐ คนกอง ๑

          นายทัพนายกองซึ่งประจำเรือรบนำเสด็จแลตามเสด็จเหล่านี้แต่งตัวเต็มยศทั้งสิ้น  เรือลำหนึ่งลำหนึ่งปักธงสีต่าง ๆ อย่างสีเสื้อพลทหาร  ลำละ ๓ คัน ๆ มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอกทุกลำ
          ให้อัครนิสัยแต่งตัวถือพระแสงประดับพลอยประจำกองเรือรบล่วงหน้า  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีจำปา  ถือโล่ห์ ๒,๐๐๐ คน  ในเรือนั้นปักธงสีจำปา ๓ คัน  มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอก
          ให้สิทธิแลเดชแต่งตัวเปนแม่ทัพ  คุมเรือปักธงแพรเหลืองลำละ ๓ คัน ๑,๐๐๐ ลำ  มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอก  ทุก ๆ ลำบรรจุทหารถือหอกใบเข้าคร่ำเงินแลทองเปนทัพหลัง
          ให้พระยาชนังถือพระแสงสำฤทธิ์เปนแม่ทัพหน้า  คุมเรือราชสีหปักธงสีตากุ้ง ๓ คัน  มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอก  บรรจุทหารถือศัสตราวุธเปนอันมาก
          ให้เจ้าพระยาพระคลังกับเจ้าพระยากลาโหมแต่งตัวถือพระแสงโมรา  คุมเรือไชยเพ็ชร์กับเรือมีรูปลายลดน้ำปักธงแดงสีมันกุ้ง ๗ คัน

          แลบรรดาข้าราชการทุกกรมทุกกระทรวงที่ตามเสด็จนั้น  ล้วนแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์  เมื่อจัดกระบวรดังกล่าวมานี้สำเร็จแล้ว  ให้จัดเรือบรรทุกกระสุนดินดำ  เรือบรรทุกเครื่องศัสตราวุธแลเสบียงอาหาร  ที่สุดจนกระทั่งเรือสำหรับบรรทุกศพพร้อมทุกประการ  เมื่อพระนารายณ์ให้จัดทัพบกทัพเรือเสร็จแล้ว  ครั้นได้มหาพิชัยฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องไชยสามลา  เคลื่อนพยุหยาตราพร้อมทั้งทัพบกทัพเรือมีจำนวนพลถึง ๒๕๐,๐๐๐ เต็มไปในทางน้ำแลทางบก  เสด็จยกออกจากกรุงศรีอยุธยา”

          ชาวกรุงเก่าให้การว่ากองทัพพระนารายณ์อันมหิมหาโยธายกออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้วประทับแรมตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่เคลื่อนทัพผ่านรวม ๓๔ เมือง  โดยเริ่มจากเมืองวิเศษไชยชาญ  ไปสิ้นสุดที่เมืองระแวก  เป็นเวลา ๒๕ ราตรี  จึงบรรลุถึงแขวงเมืองเชียงใหม่  ชื่อเมืองต่าง ๆ ที่เคลื่อนทัพผ่านนั้นรู้สึกว่าจะสับสนอยู่มาก  พรุ่งนี้จะว่าให้ฟังนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุนขี้ผึ้งไทย
๒๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กลอน123, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #171 เมื่อ: 04, มีนาคม, 2562, 10:41:20 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- รบกันขั้นจนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย -

ทหารเอกพระนารายณ์ในกองทัพ
ใช้โจมจับข้าศึกฮึกผยอง
สามคนดีมีพิษฤทธิ์ลำพอง
รับสนองเดชาพระนารายณ์

ตีเชียงใหม่ได้พลันอย่างหาญห้าว
ข้าศึกหนาวฤทธีหลบหนีหาย
ได้ยินชื่อลือทั่วแล้วกลัวตาย
ล้วนยอมพ่ายไม่รอต้านต่อตี


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านไป  “แลหลังอยุธยา”  ให้ชมขบวนทัพสมเด็จพระนารายณ์  ที่ยกขึ้นเชียงใหม่เพื่อไปขอพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์  หมายใจว่าถ้าเจ้าเชียงใหม่ไม่ยอมให้ก็จะใช้กำลังเข้าชิงเอาให้จงได้  จึงจัดเป็นขบวรทัพบกทัพเรือมีกลังพลทั้งหมด ๒๕๐,๐๐๐ คน  ขุนหลวงหาวัดให้รายละเอียดถึงขบวนเรือไว้ทั้งชื่อเรือชื่อแม่ทัพนายกองประจำเรือเป็นเรื่องน่ารู้ยิ่งนัก  ท่านว่ากองทัพใช้เวลาเดินทางนับจากเมืองวิเศษไชยชาญผ่านหัวเมืองต่าง ๆ ไป ๓๔ เมือง  ใช้เวลาเดินทางรอนแรมไป ๒๕ ราตรีจึงถึงแขวงนครพิงค์เชียงใหม่

          ขุนหลวงหาวัดยังให้การถึงทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์อีกว่ามีหลายคน  แต่ที่โดดเด่นมากมี ๓ นาย  คือ  

          เจ้าพระยาโกษาธิบดี  ซึ่งทรงตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่นั้น  “เป็นคนดีมีความรู้  เป็นคนรู้ครบในการทหารดีนัก  ทั้งตำราพิชัยสงคราม  ทั้งยามยาตราก็มีภาษี  แต่งตัวนุ่งผ้าขึ้นม้าแล้ว  อันว่าไพรีทั้งปวงก็หนีไปด้วยเกรงนาม”  เจ้าพระยาโกษาธิบดีผู้นี้มีนามเดิมว่า  “เหล็ก”  คนจึงมักเรียกท่านว่า  “โกษาเหล็ก”

          ทหารเอกอีกท่านหนึ่งคือ  “พระยาราชวังสรรค์เสนี”  ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติว่า  “ดีข้างฟัน  มีภาษี  รู้ว่า  วันนั้นให้ผู้นั้น  ออกไปชิงชัยจะมีชัย  ก็รู้  จะเสมอ  ก็รู้”  

          ทหารเอกอีกท่านหนึ่งคือ  “พระยาสีหราชเดโช”  คนผู้นี้ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติว่า  “ดีข้างล่องหนแลอึดใจ  ได้ทั้งอยู่ยงคงกระพันชาตรี”  

          ทั้งสามนายนี้ท่านว่า  “เป็นยอดชายในสนาม  เป็นทหารเอกอยู่ในสงคราม  ลือชื่อทุกเขตขันธ์ธานี”

          ครั้นกองทัพไทยเดินทางขึ้นไปถึงชานเมืองเชียงใหม่แล้ว  ขุนหลวงหาวัดกล่าวถึงการรบกับเชียงใหม่  ให้เห็นภาพอันตื่นเต้นเร้าใจดังนี้

           “ พระองค์จึงสั่งกับจตุรงค์เสนาทั้งปวง  ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี  กับพระยาราชวังสรรค์เสนี  ทั้งพระยาสีหราชเดโชทหารใหญ่  ให้เร่งยกทัพเข้าไปตั้งประชิดแล้วให้รบเมืองเชียงใหม่  ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงแต่งทหารลาวอันเข้มแข็งให้กระทบออกมาต้านทานสู้รบ  อันทัพหน้าต่อทัพหน้าก็เข้าต่อสู้กัน  ทัพปีกซ้ายต่อปีกซ้ายก็เข้าตีกัน  อันทัพปีกขวาต่อปีกขวาก็เข้าประจันต่อสู้รบกัน  อันเหล่าทัพหน้านั้นก็เข้าไล่แทงกันด้วยทวนและหอกซัด  ฝ่ายทัพช้างต่อช้างก็เข้ารบกัน  แล้วก็ประจันยิงกันด้วยปืนหลังช้างอยู่วุ่นวาย  เหล่าพลปืนต่อปืนก็ยิงกันเป็นควันมืดไปทั้งป่า  พลหอกต่อหอกก็เข้าไล่แทงกัน  พลดาบต่อดาบกระชั้นฟันกัน  บ้างก็ล้มตาย  พลทวนต่อทวนก็รำเพลงทวนแล้วก็แทงกันด้วยทวน  พลง้าวต่อง้าวก็รำเพลงง้าวแล้วก็ง่าฟันกันทั้งสองฝ่าย  พลตะบองต่อตะบองก็ไล่ตีกัน  พลเขนต่อเขน  พลโล่ต่อโล่  ก็สู้รบกัน  พลธนูต่อธนูก็ยิงกันด้วยธนู  พลหน้าไม้ต่อหน้าไม้ก็ยิงกันด้วยหน้าไม้  พลกริชต่อพลกริชก็เข้าไล่แทงกัน  ทหารกระบี่ต่อกระบี่ก็เข้าไล่ฆ่าฟันกันตามเพลงกระบี่  บ้างยิงด้วยเกาทัณฑ์  บ้างก็ฟันด้วยดาบ  บ้างก็ถือหอกและทวนแล้วก็เข้าไล่ประจันทิ่มแทง  เจ็บป่วยทั้งสองฝ่าย  ล้มตายเป็นหนักหนา  ทั้งเสียงช้างเสียงม้าและเสียงอาวุธ  ทั้งเสียงปืนน้อยและเสียงปืนใหญ่  อันควันปืนนั้นมืดคลุ้มกลุ้มตลบบดบังไปทั้งเวหา  แต่ทัพไทยทัพลาวประฝีมือกันอยู่เป็นหนักหนา  จนผ้านุ่งไม่มีอยู่กับตัว  บ้างก็ยังอยู่แต่กางเกง  ลงรามือกันทั้งสองฝ่าย  ทั้งไทยก็ชมฝีมือลาวว่าเข้มแข็ง  ทั้งลาวก็ชมฝีมือไทยว่ากล้าหาญ  อันพระยาสีหราชเดโชคนนี้ขี่ม้าขาวยืนอยู่แล้วแย้มหัว  เห็นรบกันจนสิ้นฝีมือไม่หนีตัวจนลงมั่วอยู่ทั้งลาวไทย  จึงตีกลองศึกแล้วก็โห่ขยายพล  จึงให้ร่นถอยเข้ามาอยู่ที่หน้าทัพใหญ่  ฝ่ายข้างลาวก็ตีกลองชัย  แล้วก็ยกถอยไปพร้อมกัน  

          อันพระยาเดโชนั้นขี่ม้าขาวแล้วออกยืนอยู่ทัพลาวทั้งนั้น  จึงร้องเรียกพระยาเสนาท้าวไปแล้ว  จึงว่า  พลขันธ์ทั้งสองฝ่ายก็ตายเปลืองไปเป็นอันมาก  ถ้าท่านมีทหารคนดีก็ให้ออกมาตีตามธรรมยุทธ์  จะได้ลือชาปรากฏทั้งลาวไทย  ครั้นเสนาท้าวลาวทั้งนั้นแลเห็นก็รู้ว่า  พระยาเดโชนี้เป็นทหารใหญ่  อันพระยาแสนหาญก็มิอาจจะออกรบได้  ก็นิ่งไปมิได้ตอบคำมา  ครั้นพระยาเดโชเห็นลาวไม่ตอบคำ  ก็รู้ว่าไม่มีคนดี  พระยาเดโชจึงแสดงฤทธิ์ให้ลาวดู  จึงขี่ม้าแล้วออกรำดาบอยู่ที่กลางแปลง  แล้วอึดใจมิให้เห็นตัว”

          ภาพเหตุการณ์รบตามคำให้การขุนหลวงหาวัด  ให้เราเห็นความเป็นระเบียบเพียบพร้อมคุณธรรมในการรบของคนสมัยนั้น  กล่าวคือ  ทหารเหล่าใดก็จะรบกับทหารเหล่านั้น  เช่นทหารถือดาบก็รบกับทหารที่ถือดาบ  ทหารถือหอกก็รบกับทหารที่ถือหอก  ไม่เอาทหารถือดาบรบกันทหารถือทวน  ทหารถือธนูไม่รบกับทหารถือปืน  เพราะอาวุธแต่ละชนิดย่อมมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันและกัน  การรบขั้นตะลุมบอน จนถึงกับทหารแต่ละฝ่ายผ้าผ่อนหลุดลุ่ย  บางคนเหลือแต่กางเกง  บางคนไม่มีผ้าติดกายเลย  พระยาเดโชยืนม้าดูอยู่เห็นสภาพเช่นนั้นถึงกับหัวเราะด้วยความขบขัน  ทั้งสองฝ่ายรบกันจนเหลือแต่ตัวล่อนจ้อนแล้วต่างก็รามือ  หยุดรบกันแล้วกล่าวคำชมเชยในกันและกัน  พระยาเดโชเห็นทหารทั้งสองฝ่ายรบกันจนหมดฝีมือแล้ว  จึงให้ตีกลองสัญญาณพักรบ  ทหารไทยถอยกลับมาตั้งอยู่หน้าทัพหลวง  ฝ่ายทหารลาวก็ตีกลองสัญญาณถอยทัพกลับไปเช่นกัน

          พระยาเดโชทหารเอกผู้ที่เก่งกล้าในวิทยาคม  ขี่ม้าสีขาวของตนออกไปยืนหน้าทัพลาวแล้วประกาศท้าทายนายทหารลาวให้ออกมารบกันตัวต่อตัว  ฝ่ายลาวรู้กิติศัพท์ความเก่งกล้าของพระยาเดโชอยู่แล้ว  ครั้นเห็นพระยาเดโชออกมายืนม้าท้าทายดังนั้นก็พากันนิ่งเสีย  ไม่มีใครออกมาต่อกรด้วย  พระยาเดโชเห็นว่าลาวไม่มีคนดีที่จะมาสู้กับตนแล้ว  จึงแสดงฤทธิ์อวด  เป็นการข่มขวัญลาว  ด้วยการขับขี่ม้ารำดาบผาดโผน  แล้วอึดใจ (กลั้นลมหายใจ) ทำให้อาคมขลัง  หายตัวไปต่อหน้าต่อตาผู้คน  ชาวกรุงเก่าให้การต่อจากขุนหลวงหาวัดในตอนนี้ว่า

           “พวกลาวเห็นดังนั้นก็สะดุ้งตกใจกลัว  พากันแตกหนีไม่เปนขบวร  พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้รวบรวมผู้คนที่แตกกระจัดกระจายได้แล้ว  ก็ล่าทัพกลับเข้าพระนคร  ให้ปิดประตูลงเขื่อนแน่นหนา  ขับพลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินเป็นสามารถ  ให้คั่วทรายหลอมตะกั่วเคี่ยวชันน้ำมันยาง  สำหรับเทสาดเมื่อข้าศึกเข้าตีปล้นกำแพง  ฝ่ายนายทัพนายกองข้างกรุงศรีอยุธยาเห็นลาวแตกกระจัดกระจายไปดังนั้น  ก็ขับพลเข้าล้อมเมืองไว้ทั้ง ๔ ด้าน”

          ยกแรกของการรบ  อ่านตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าแล้วตื่นเต้นเร้าใจมากนะ  เมื่อกองทัพไทยเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้ง ๔ ทิศแล้ว  ผลการรบจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวันิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, กลอน123, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #172 เมื่อ: 05, มีนาคม, 2562, 10:36:49 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ชนะเชียงใหม่ได้สมปรารถนา -

ทหารเอกพระนารายณ์ในกองทัพ
ใช้โจมจับข้าศึกฮึกผยอง
สามคนดีมีพิษฤทธิ์ลำพอง
รับสนองเดชาพระนารายณ์

ตีเชียงใหม่ได้พลันอย่างหาญห้าว
ข้าศึกหนาวฤทธีหลบหนีหาย
ได้ยินชื่อลือทั่วแล้วกลัวตาย
ล้วนยอมพ่ายไม่รอต้านต่อตี


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาท่านไป  “แลหลังอยุธยา”  ให้เห็นว่าด้วยทหารพระนารายณ์และเชียงใหม่รบกันอย่างดุเดือด  ยังไม่แพ้ชนะแก่กัน  พระยาสีหราชเดโชแม่ทัพใหญ่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงให้หย่าทัพ  แล้วท้าให้ฝ่ายเชียงใหม่ส่งคนดีออกมารบกันตัวต่อตัว  ฝ่ายเชียงใหม่ไม่ตอบรับ  พระยาสีหราชเดโชจึงสำแดงอิทธิฤทธิ์กลั้นลมหายใจหายตัวไปต่อหน้าทหารทั้งสองกองทัพ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อตามคำให้การชาวกรุงเก่าครับ

           “เวลากลางคืนพวกลาวตีฆ้องขานยาม  เสียงฆ้องได้ยินไปถึงพระกรรณพระนารายณ์ ๆ จึงตรัสถามเจ้าพระยาโกษาธิบดีว่าเสียงฆ้องที่ไหน  เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลว่า  เสียงฆ้องขานยามในเมืองเชียงใหม่  พระนารายณ์จึงตรัสว่า  เหตุใดพวกเจ้าจึงตั้งค่ายใกล้ชิดเมืองเชียงใหม่ดังนี้  เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า  ระยะทางตั้งแต่เมืองเชียงใหม่มาถึงค่ายหลวงนี้ห่างกันถึงโยชน์ ๑   พระนารายณ์จึงรับสั่งให้ไปวัดชันสูตรดู  ก็ห่างโยชน์ ๑ จริงดังเจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูล  จึงรับสั่งว่า  ทางไกลกันถึงโยชน์ ๑  เหตุใดจึงได้ยินเสียงฆ้องขานยามดังนี้เล่า  เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า  ซึ่งได้ยินเสียงฆ้องขานยามดังนี้ เป็นนิมิตดีที่พระองค์จะตีได้เมืองเชียงใหม่และฆ้องนั้นจะมาสู่โพธิสมภารของพระองค์  ได้ทรงฟังก็ทรงยินดีเปนอันมาก  จึงรับสั่งว่าใครจะอาสาไปเอาฆ้องนั้นได้บ้าง  ในขณะนั้นพวกที่ทำผิดล่วงพระราชกำหนดกฎหมายต้องโทษจำขังอยู่ ๒๐ คน  จึงรับอาสาทำทัณฑ์บนถวาย  ว่าจะไปเอาฆ้องมาถวายให้ได้  ถ้าไม่ได้ให้ประหารชีวิตเสีย  พระนารายณ์ก็โปรดให้นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นพ้นโทษ  นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นก็เตรียมเครื่องศัสตราวุธครบมือแล้ว  พากันไปถึงกำแพงเมืองชียงใหม่  เสกเวทย์มนตร์สะกดพวกรักษาหน้าที่เชิงเทิน  แล้วลอบเข้าไปลักเอาฆ้องใหญ่นั้นได้  นำมาถวายพระนารายณ์ ๆ ก็ให้ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นักโทษทั้ง ๒๐ คนเปนอันมาก  แล้วรับสั่งให้ลงรักปิดทองฆ้องนั้นเปนอันดี

          อยู่มาสองสามวัน  พระนารายณ์ไม่เห็นกองทัพเชียงใหม่ยกออกมารบ  จึงรับสั่งปรึกษากับข้าราชการทั้งปวงว่า  บัดนี้พวกเชียงใหม่ตั้งรักษาเมืองไว้มั่น  มิได้ยกทัพออกมารบให้เห็นแพ้ชนะ  และไม่นำเครื่องบรรณาการมาถวายตามธรรมเนียม  ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด  ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า  ควรจะมีพระราชสาส์นเข้าไปถึงพะเจ้าเชียงใหม่ให้ออกมารบกันตามธรรมเนียม  มิฉะนั้นให้ออกมาอ่อนน้อมเสียโดยดี  พระนารายณ์จึงเห็นชอบด้วย  จึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาส์นมีใจความว่า

           “พระราชโองการมานพระบัณฑูร  สุรสิงหนาทราโชวาทอมรฤทธิ  มโหฬาราดิเรก  อเนกบุญญาธิบดินทร์  หริหรินทรธาดา  อดุลยคุณณาธิบดี  ตรีโลกเชษฐ  ธิเบศรวรดิลกศรีประทุมสุริย์วงศ์  องค์เอกาทศรถ  จักรพรรดิราชา  ชยันตมหาสมมติวงศ์  พระเจ้ากรุงเทพมหานคร  บวรทวาราวดีศรีอยุธยา  มหาดิลกภพ  นพรัตนราชธานี  บุรีรมยราช  ประสาสน์สุนทรธรรมแถลง  มาถึงพระเจ้าเชียงใหม่  ด้วยเรายกพยุหพลโยธามาครั้งนี้  มิได้มีจิตยินดีที่จะชิงเอาราชสมบัติบ้านเมือง  แก้วแหวนเงินทองผู้คนช้างม้าของท่านโดยโลภเจตนา  เรามีจิตศรัทธาเลื่อมใสจะใคร่เชิญพระพุทธปฏิมากร  พระพุทธสิหิงค์  กับพระพุทธปฏิมากรซึ่งแกะด้วยไม้จันทน์แดงทั้ง ๒ พระองค์  ขอให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งพระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นั้นออกไป  เมืองเชียงใหม่กับกรุงศรีอยุธยาก็จะได้เปนทองแผ่นเดียวกัน  มิฉะนั้นให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกพลโยธาหาญออกไปทำยุทธนาการตามราชประเพณี  โดยวิธียุทธสงครามช้างม้า  หรือขบวนยุทธ์อย่างไรก็ตามที”

          ครั้นให้จารึกพระราชสาส์นแล้วก็ให้ทูตนำไปถวายพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ จึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาส์นตอบมีใจความว่า  “มหาบพิตรราชภูมิบาล  สุรสุรินทรปรมินทราทิตย์ขัตติยมหาศาล  ผู้ผ่านพิภพเชียงใหม่  ถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ด้วยพระอัยกาเราได้ผ่านพิภพศรีสัตนาคนหุต  พระบิดาเราก็ได้ผ่านพิภพจันทบุรี  ตัวเรานี้ก็ได้ผ่านพิภพเชียงใหม่  พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นี้ไซร้  ได้ด้วยบุญญาบารมีของเรา ๆ ก็มีจิตเลื่อมใสทำสักการบูชาอยู่เป็นนิตย์  ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกพยุหโยธามาทำสงคราม  ให้ได้ความเดือดร้อนแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร  เพื่อใคร่ได้พระพุทธปฏิมากรนั้น  เราไม่ยอมให้แล้ว  เรายอมถวายชีวิตแก่พระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์”  เมื่อจารึกเสร็จแล้วให้ทูตนำไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

          พระนารายณ์ทรงทราบพระราชสาส์นของพระเจ้าเชียงใหม่ดังนั้น  จึงทรงจารึกพระราชสาส์นด้วยพระองค์เองมีใจความว่า  “กิจของสมณชีพราหมณ์ก็คือพยายามตั้งหน้ารักษาศีลเจริญภาวนา  กิจของพระมหากษัตริย์ก็มีการทำสงครามเป็นราชประเพณี  ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่จะมานั่งงอมืองอเท้าอยู่ฉะนี้  ดูกิริยาเหมือนสตรีมีชาติอันขลาด  ถ้าไม่ยอมให้พระปฏิมาทั้ง ๒ พระองค์แล้ว  จงรักษาพระนครไว้ให้มั่นคง  เราจะเข้าปล้นหักเอาให้ได้”  ทรงจารึกแล้วก็ให้ทูตเชียงใหม่นำไปถวายเจ้านายของตน  พระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ตอบประการใด  เปนแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นไว้

          พระยาสีหราชเดโชทูลรับอาสาว่า  จะตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้  แล้วพระยาสีหราชเดโชจึงขึ้นม้าถือทวนนำหน้าพาทหารทั้งปวงเข้าไปใกล้กำแพงเมืองเชียงใหม่  แล้วร้องด้วยเสียงอันดังว่า  กูชื่อพระยาสีหราชเดโช  เปนทหารเสือของพระนารายณ์  ใครมีฝีมือดีจงออกมารบกับกู  แล้วพระยาสีหราชเดโชก็ขับพลเข้าประชิดกำแพงเมือง  พวกพลทหารลาวก็รักษาหน้าที่เชิงเทิน  ก็พุ่งศัสตราวุธแหลนหลาว  ระดมปืนลงมาดังห่าฝน  เทสาดตะกั่วทรายน้ำมันยางอันคั่วเคี่ยวไว้ลงมาเป็นอันมาก  พลทหารไทยก็มิได้ย่อท้อถอยหลัง  พากันขุดทำลายกำแพงเมืองเป็นสามารถ  พระยาสีหราชเดโชก็ถือดาบปีนกำแพงเมืองเข้าไปได้  ไล่ฆ่าฟันพวกรักษาหน้าที่เชิงเทินแตกกระจัดกระจาย  พลทหารก็ทำลายกำแพงเข้าเมืองได้  ไล่ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก  พระโพธิสารเจ้าเมืองเชียงใหม่ถูกอาวุธพิราลัยในที่รบ  พวกทหารไทยจับได้นางทิพลีลา  มเหสีพระเจ้าเชียงใหม่กับเจ้าวงศ์โอรสพระเจ้าเชียงใหม่  และพอริสังสาอำมาตย์และขุนนางข้าราชการั้งปวงได้เป็นอันมาก  เก็บริบแก้วแหวนเงินทองได้เป็นอันมาก  แล้วนำมาถวายพระนารายณ์  ครั้นพระนารายณ์มีชัยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว  จึงให้เชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระแก่นจันทน์แดงมาประดิษฐานที่พลับพลา  ให้มีการสมโภชเป็นอันมาก  แล้วตรัสถามพระยาแสนหลวงอำมาตย์ของพระเจ้าเชียงใหม่ว่า  เราได้ทราบข่าวว่าพระพุทธสิหิงค์นี้มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้จริงหรือ  พระยาแสนหลวงกราบทูลว่า  แต่เดิมเมื่อพระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาตลีบุตรนั้นเหาะเหินเดินอากาศได้จริง  แต่มีคนทุจริตมาควักเอาแก้วมณีที่ฝังเปนพระเนตรไปเสีย  แต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ก็เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้  ต่อมาเจ้าเมืองสรรคบุรีเชิญไปจากเมืองปาตลีบุตร  ไปประดิษฐานที่เมืองสรรคบุรี  จากนั้นไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง  ต่อจากนั้นไปประดิษฐานที่เมืองจันทบุรี  แล้วมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่นี้

          เมื่อพระนารายณ์เสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่  จึงตั้งเจ้าวงศ์ซึ่งเปนโอรสพระเจ้าโพธิสาร  เปนพระเจ้าเชียงใหม่ พระมเหษีแลขุนนางข้าราชการทั้งปวงนั้น  ก็ให้คงอยู่เมืองเชียงใหม่ตามเดิม  แล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมาทั้ง ๒ พระองค์ลงประดิษฐาน ณ เรือกเอกไชย  เสด็จยกทัพกลับยังพระนครศรีอยุธยา  เมื่อเรือเอกไชยมาถึงพระฉนวนน้ำแล้ว  ทรงประกาศให้ขุนนางข้าราชการแลราษฎรทั้งปวงเล่นมหรสพสักการบูชา  หนทางที่จะเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นนั้นก็ให้โปรยทรายปักราชวัตรผูกต้นมะพร้าวต้นกล้วยต้นอ้อยเปนต้น  แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศ  กั้นพระกลดขลิบทอง ๔ คัน  เศวตรฉัตร ๔ คัน  เชิญไปประดิษฐานไว้ที่หอพระในพระราชวัง  แล้วให้ทำการสมโภชเปนอันมาก ในขณะนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ทำปาฏิหาริย์ต่าง ๆ  และฆ้องไชยที่ได้มาแต่เมืองเชียงใหม่นั้นพระนารายณ์ก็ให้นำไปไว้สำหรับตีขานยามในพระราชวัง  พวกเมืองเชียงใหม่ซึ่งลงมากับขบวรทัพหลวงนั้น  ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับคืนไปยังเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น  แต่นั้นมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็นำเครื่องบรรณาการมาถวายเป็นนิตย์มิได้ขาด”

          ตำนานเชียงใหม่กล่าวว่า ปี จ.ศ. ๙๖๐ …. “ กองทัพกรุงพระนครศรีอยุธยายกขึ้นมาได้นครเชียงใหม่”   ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๑  ตรวจสอบดูแล้วพบว่า  นครเชียงใหม่ตกอยู่ในปกครองของพม่า  โดยเจ้ามังซานรธามังคุย  จึงเป็นเรื่องแปลกที่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การตรงกันว่า  พระนารายณ์ยกทัพใหญ่ขึ้นไปตีเชียงใหม่ซึ่งมีพระเจ้าโพธิสารเป็นผู้ปกครอง  ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จึงต้องทิ้งไว้ให้นักประวัติศาสตร์ค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ มกราคม ๒๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, กลอน123, น้ำหนาว, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #173 เมื่อ: 06, มีนาคม, 2562, 10:35:17 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"บุพเพสันนิวาส"

- พระเพทราชา = ราเมศวร -

สิ้นนารายณ์วาระเปลี่ยนกษัตริย์
ความขุนหลวงหาวัดแจงจัดสรร
ยกพระ“เพทราชา”เป็นราชัน
สายสุพรรณภูมิฟื้นคืนบัลลังก์

ตั้งเป็นราชวงศ์ชู“บ้านพลูหลวง”
ไทยทั้งปวงฝากสยามในความหวัง
รุดเจริญเดินไกลไม่ภินท์พัง
ไร้“ฝรั่งมังค่า”มาวุ่นวาย


          อภิปราย ขยายความ...................

          ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑  สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์  ในพระราชนารายณ์ราชนิเวศน์  เมืองลพบุรี  หลังจากสิ้นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไป ๓๖ วัน  แต่หลังจากยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่กี่ปีมิทราบ  เพราะการไปตีเชียงใหม่ไม่ปรากฏแน่ชัด  ถ้าถือตำนานเชียงใหม่ที่ว่า  กรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปได้นครเชียงใหม่ปีจุลศักราช ๙๖๐  ก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๑  ก่อนกาลสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ ๙๐ ปี  ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  อย่างไรก็ตามขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การสอดคล้องต้องกันหลังสิ้นสมเด็จพระนารายณ์  โดยชาวกรุงเก่าให้การดังต่อไปนี้ .......

           “ เมื่อพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว  ข้าราชการทั้งปวงเห็นว่าพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบพระวงศ์  ปฤกษากันว่าควรจะยกราชสมบัติถวายใคร  พวกที่รู้ประวัติพระยาศรีสุรศักดิ์จึงพูดขึ้นว่า  พระราชโอรสของพระนารายณ์มีอยู่  คือพระยาศรีสุรศักดิ์บุตรนางกุสาวดีที่พระราชทานไปให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์  ด้วยพระนารายณ์ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางนักสนม  ครั้นนางกุสาวดีมีครรภ์ขึ้นจึงแกล้งยักย้ายถ่ายเทไปเสีย  เพราะฉะนั้น  ควรจะยกสมบัติให้แก่พระยาศรีสุรศักดิ์  เมื่อปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันดังนี้แล้ว  จึงไปเชิญพระยาศรีสุรศักดิ์ให้ขึ้นครองราชย์สมบัติ  แต่พระยาศรีสุรศักดิ์ไม่รับ  ว่าบิดาของเรายังมีอยู่ ท่านทั้งปวงจงเชิญบิดาของเราขึ้นครองราชย์สมบัติเถิด  ขุนนางข้าราชการทั้งปวงก็ไปเชิญเจ้าพระยาสุรสีห์ (พระเพทราชา) ขึ้นครองราชย์สมบัติ

          เจ้าพระยาสุรสีห์มีพระนามเปน ๒ อย่าง  อย่าง ๑ ว่าสมเด็จพระธาดาธิบดี   พระนาม ๑ ว่าพระราเมศวร   พระนาม ๑ พระราเมศวรทรงตั้งอุปละเทวีเปนมเหษีฝ่ายขวา  ทรงตั้งพระสุดาเทวีราชธิดาพระนารายณ์เปนมเหษีฝ่ายซ้าย  พระสุดาเทวีมีพระราชโอรส ๑   พระนามว่า  พระขวัญ  ในเวลาที่พระขวัญประสูติจากครรภ์พระมารดานั้น  มีเหตุนิมิตต่าง ๆ เปนต้นว่าแผ่นดินไหว  ประชาชนพากันเลื่องลือว่าผู้มีบุญมาเกิด

          และพระราเมศวรนั้นไม่ใคร่พอพระทัยในทางยศศักดิ์  แม้จะเสด็จประพาสที่ใด ๆ ก็ไม่มีขบวรแห่แหน  ให้แต่องครักษตามเสด็จเล็กน้อยเท่านั้น  พระทัยที่จะบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนสุขอย่างเดียว  จึงทรงตั้งพระยาศรีสุรศักดิ์เปนพระมหาอุปราชดูแลกิจการบ้านเมืองต่างพระองค์พระราเมศวรทั้งสิ้น  พระราเมศวรให้สร้างวัด ๔ วัด  คือ  วัดบุรบาริม วัด ๑   วัดรัตนาปราสาท วัด ๑   วัดบรมราสัตย์ วัด ๑   วัดชังคะยี วัด ๑    แล้วให้ปฏิสังขรณ์วัดสุมังคลาราม วัด ๑   เมื่อพระราเมศวรเสวยราชย์พระชนม์ได้ ๕๕ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ พรรษา  ครั้นพระชนม์ได้ ๖๙ พรรษา  ก็เสด็จสวรรคต  พระราเมศวรสมภพวันศุกร์”   สิ้นคำให้การชาวกรุงเก่าเกี่ยวกับพระเพทราชาเพียงเท่านี้

          ไปดูความในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ในตำนานกรุงเก่าบ้าง  ในตำนานนี้กล่าวว่า  กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มีพระนามว่า  “สมเด็จพระมหาบุรุษ”  อีกพระนามหนึ่งเรียกว่า  “พระธาดาธิเบศร์”  เป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง  ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและในที่ทั่ว ๆ ไปเรียกพระนามว่า  “พระเพทราชา”  และให้ความตรงกันว่าเป็น "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง"

           “บ้านพลูหลวง”  อยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี  ดังนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์จึงเป็นเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ  ท่านทูต เดอ ลาลูแบร์  บันทึกถึงท่านผู้นี้ไว้ว่า  “ตระกูลของพระเพทราชานั้นทำราชการต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน  และมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์อย่างเนือง ๆ”  นามบรรดาศักดิ์ของเจ้าพระยาสุรสีห์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  คือ  “พระเพทราชา”  หรือ  “พระพิพิธราชา”  มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมคชบาล  มีหน้าที่ควบคุมดูแลช้าง  บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์นั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นบุคคลที่สมเด็จพระนารายณ์ให้ความไว้วางพระทัยมากที่สุด  จะเห็นได้จากการที่ทรงมอบนางกุสาวดี  นักสนมที่มีครรภ์กับพระองค์ให้เจ้าพระยาสุรสีห์รับเลี้ยงดูแลแทนพระองค์  และให้รับพระราชโอรสของพระองค์เป็นลูกด้วย  จนเกิดเรื่อง  “พระโอรสลับพระนารายณ์”  ขึ้น  ดังเป็นที่ทราบกันแล้ว

          ดูจากบันทึกของท่านทูต เดอ ลาลูแบร์  ที่ว่า  ตระกูลของพระเพทราชาทำราชการสืบต่อกันมาหลายชั่วคน  และยังมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์เนือง ๆ  ทำให้จินตนาการสู่อดีตได้ว่า  พระเพทราชาสืบเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิของขุนหลวงพ่องั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๑)  เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ครองกรุงศรีอยุธยา  ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิก็ถูกลดฐานะลงไปข้าราชการในราชสำนัก  และรับราชการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  จนมาถึงเจ้าพระยาสุรสีห์  หรือ  พระเพทราชา  เจ้ากรมคชบาล (ควบคุมดูแลช้างทั้งหมด)  เจ้าหญิงในราชวงศ์สุพรรณภูมิเห็นทีว่าจะเป็นพระสนม  พระชายา  พระมเหสี  ในราชวงศ์ต่าง ๆ หลายพระองค์  จึงเป็นไปได้ว่า  เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นราชนิกูลคนหนึ่ง  หาไม่แล้วสมเด็จพระนารายณ์คงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยมอบภาระให้รับเลี้ยงดูพระราชโอรส (ลับ)  และแม้ในตอนท้ายปลายรัชกาลยังทรงตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์อีกด้วย

          มีพยานกลักฐานสนับสนุนบันทึกของท่านทูต เดอ ลาลูแบร์  คือ  พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์  เจ้ากรม (จาด)  ระบุนามพระสนมเอกพระนารายณ์พระนามว่า  “ท้าวศีจุลาลักษณ์  เป็นน้องสาวพระเพทราชา  ฉบับพระนพรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนฯ  ระบุนามพระสนมองค์เดียวกันว่า  “ท้าวศรีสุลาลักษณ์”  เป็นน้องสาวพระเพทราชา  บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส  ซึ่งมาพำนักอยู่กรุงศรีอยุธยาสมัยพระนารายณ์  กล่าวถึงพระสนมองค์นี้โดยไม่ระบุนาม  แต่บอกว่า  นางเป็นน้องสาวพระเพทราชาเช่นกัน  ในรายละเอียดของเรื่องนี้พอจะสรุปได้ว่า........

          พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์องค์หนึ่งมีนามเดิมว่า  “แจ่ม”  หรือ  “แช่ม”  เป็นบุตรีของพระนมเปรมผู้อภิบาลพระนารายณ์ครั้งทรงพระเยาว์  พระนมเปรมมีบุตรชายชื่อ  ทองคำ  มีบุตรหญิงชื่อ  “แจ่ม”  หรือ  “แช่ม”  ต่อมาพระนมเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็น  “ท้าวศรีสัจจา”  คนทั่วไปเรียกกันว่า  “เจ้าคุณวังหน้า”  ทั้ง  ทองคำ และแจ่ม  มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระนารายณ์  พระนมเปรมเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตมาด้วยกัน  ทั้งสามคนจึงมีความรักใคร่สนิทสนมกันดังพี่น้อง  ต่อมาทองคำรับราชการจนได้เป็นพระเพทราชา  เจ้ากรมช้าง  เมื่อพระนารายณ์ขึ้นครองราชสมบัติแล้วจึงตั้งให้  แจ่ม  เป็นพระสนมเอกที่  “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”  บาทหลวง เดอะ แบส บันทึกไว้ว่า  พระสนมองค์นี้หลงรักเจ้าฟ้าน้อย  อนุชาองค์เล็กของพระนารายณ์จนทั้งสองผิดประเวณี  ถึงขั้นพระสนมทรงครรภ์  บันทึกนี้ตรงกันกับ  “พงศาวดารกระซิบ”  ว่า  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าน้อยจนทรงครรภ์  ถูกจับได้  เจ้าฟ้าน้อยถูกลงโทษให้ทรมานอย่างหนักจนร่างกายพิการอยู่มินานก็สิ้นพระชนม์  ส่วนท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นให้รอจนประสูติโอรสแล้วจึงลงโทษด้วยการ  “จับโยนให้เสือกิน”  เสียในที่สุด

          โอรสเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมแจ่มนั้นได้นามว่า  “แก้ว”  ในสมัยพระนารายณ์ไม่ได้รับการยกย่องใด ๆ  มียศเป็นเพียงแค่  “หม่อมแก้ว” เท่านั้น  ต่อมาในรัชสมัยพระเพทราชา  เมื่อทรงขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว  ทรงอวยยศแก่ราชวงศานุวงศ์และข้าหลวงเดิมตามพระราชประเพณี  ปรากฏว่า  “หม่อมแก้ว”  นัดดาของพระองค์ได้รับการอวยยศ  โดยพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว)ระบุว่า...... “ตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าแก้ว  ซึ่งเป็นบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์  อันเป็นกนิษฐาของพระองค์นั้น  เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์”.........

          * เรื่องนี้ยังจบไม่ลง พรุ่งจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ”


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #174 เมื่อ: 07, มีนาคม, 2562, 10:14:17 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"พันท้ายนรสิงห์"

- พระพุทธเจ้าเสือ -

สิ้น“พระเพทราชา”มิสิ้นกษัตริย์
บัลลังรัตน์ยิ่งเลิศแลเฉิดฉาย
ถึงวาระ“โอรสลับพระนารายณ์”
เปล่งประกายเจิดจ้าจอมราชันย์

ครองราชย์แล้วแกล้วกล้ารักษาสัตย์
ปฏิบัติแบบอย่างทางกวดขัน
ทำผิดแล้วต้องไม่ไว้หน้ากัน
ให้ลงทัณฑ์ตามกฎหมดทุกคน


          อภิปราย ขยายความ........................

          พระราเมศวร  หรือพระเพทราชา  เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราช ๑๐๖๓ (พ.ศ. ๒๒๔๔) แล้วนั้น  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การว่า  “ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระมหาอุปราช (พระยาศรีสุรศักดิ์)  ขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๐๖๓ ( พ.ศ. ๒๒๔๔)  ในวันเมื่อทำการราชาภิเษกนั้น  เกิดมหัศจรรย์  มีแสงสว่างทั่วไปทั้งพระราชวัง  ข้าราชการทั้งปวงถือเอานิมิตต์นั้นเปนเหตุ  ถวายพระนามว่า  “พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี”  ภายหลังปรากฏพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า  “นรามรินทร์”  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีพระมเหสีทรงพระนามว่า  “พระพันปีหลวง”

          ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ในตำนานกรุงเก่าระบุว่า  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒๙ คือ  “สมเด็จพระสรรเพชฌ์”  พระองค์ที่ ๘ อีกพระนามหนึ่งเรียก  “พระสุริเยนทราธิบดี”  คือ  “พระพุทธเจ้าเสือ”

          พระมหาอุปราชผู้ซึ่งขึ้นครองบัลลังก์รัตน์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้  คือ  พระยาศรีสุรศักดิ์  หรือ  หลวงสรศักดิ์  โอรสลับสมเด็จพระนารายณ์  หลังจากร่วมทำรัฐประหารโค่นล้มเจ้าพระยาวิชเยนทร์ลง  และสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว  ข้าราชการทั้งปวงลงมติให้เชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์  แต่ไม่ยอมรับ  กลับให้เชิญพระเพทราชาขึ้นครอง  ตามที่กล่าวมาแล้ว

          พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีเรื่องราวพิสดารปรากฏเป็นตำนาน  และพงศาวดารฉบับพิสดารหรือ  “พงศาวดารกระซิบ”  อยู่หลายเรื่อง  เช่น  เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์”  ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น  เป็นต้น  ท่านผู้ใดใคร่ทราบรายละเอียดเรื่อง  พันท้ายนรสิงห์  ก็โปรดหาหนังสือเรื่องนี้มาอ่าน  หรือ  ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ตามอัธยาศัย  จะไม่ขอนำมาบอกเล่าในที่นี้  เพราะเห็นเป็นเรื่องที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้ว

          มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ควรจะนำมากล่าวในที่นี้  คือเรื่องที่มาของความเป็นโอรสลับพระนารายณ์  ชาวกรุงเก่าให้การพาดพิงเรื่องนี้ไว้ว่า .....  “ ครั้นต่อมาพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  ให้สร้างมณฑปมียอดสูง ๒๕ ศอก  หุ้มทองแดงลงรักปิดทอง  แล้วให้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลโพธิช้างล้ม ๒ วัด  พระราชทานนามว่า  พระอารามบรมกษัตริย์ วัด ๑   ทุติยาราม วัด ๑   ให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ องค์ ๑   ลงรักปิดทองงดงาม  พระราชทานนามว่า  สุขวัญโพธิเพ็ชร์เจดีย์  แล้วให้เอาโลหะทั้ง ๕ มาสร้างปฏิมากรณ์องค์ ๑   สูง ๑๖ ศอก  พระราชทานนามว่า  พระสยัมภูทุตกามาลี”

           “ตำบลโพธิช้างล้ม”  เป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดพิจิตร  ปัจจุบันพัฒนาขึ้นเป็นอำเภอโพธิประทับช้าง  มีเรื่องเล่าไว้ในพงศาวดารฉบับพิสดารว่า  สมัยที่สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่  อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระนาคปรกไม้จันทน์แดงกลับลงมานั้น  มีธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ทางราชสำนักเชียงใหม่ถวายมาด้วย ๑ องค์  ในระหว่างทางเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยานั้น  สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีเพศสัมพันธ์จนนางทรงครรภ์ขึ้น  พระองค์ไม่อาจรับเลี้ยงได้  เพราะทรงสาบานไว้แล้วว่าจะไม่ทรงเลี้ยงลูกที่เกิดจากนางสนม  จึงมอบให้เจ้าพระยาสุรสีห์รับไปเลี้ยงดู  เจ้าพระยาสุรสีห์เลี้ยงดูจนนางทรงครรภ์แก่ใกล้คลอดแล้ว  สมเด็จพระนารายณ์เสด็จโดยทางชลมารคขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช ณ พิษณุโลก  เจ้าพระยาสุรสีห์พานางตามเสด็จมาในขบวนนั้น  ครั้นมาถึงตำบลโพธิช้างล้ม  ขบวนพยุหยาตราพักประทับแรม ณ ที่นั้น  นางเกิดปวดครรภ์แล้วคลอดกุมารออกมา  พระนารายณ์ทรงทราบก็โสมนัส  ตรัสให้เจ้าพระยาสุรสีห์เลี้ยงดูอย่างดี  ครั้นเจริญวัยแล้วโปรดให้รับราชการในราชสำนัก  ตั้งให้เป็นพระยาศรีสุรศักดิ์  ดังความปรากฏแล้วนั้น

          พระสนมสมบุญ หรือ เจ้าจอมสมบุญ และ หรือ นางกุสาวดี  มารดาพระยาศรีสุรศักดิ์  ซึ่งไม่มีที่มาแต่เดิมนั้น  จึงควรเป็นไปได้ว่า  สมบุญ  หรือ  กุสาวดี  คือ  พระธิดาเจ้าเชียงใหม่  เมื่อทรงครรภ์กับพระนารายณ์แล้ว  พระนารายณ์จึงไม่กล้าให้รีดลูกทิ้งเหมือนพระสนมองค์อื่น ๆ  ดังนั้น  พระยาศรีสุรศักดิ์มีบิดาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  มารดาเป็นราชธิดาเจ้าเชียงใหม่  จึงมิใช่คนธรรมดา

          พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  หรือ  พระพุทธเจ้าเสือ   คงจะทรงทราบว่า  พระองค์มีราชสมภพ (เกิด) ที่ตำบลโพธิช้างล้ม  จึงเสด็จขึ้นไปทรงทะนุบำรุงสถานที่ราชสมภพของพระองค์เนือง ๆ  ทรงสร้างพระมณฑปมียอดสูงถึง ๒๕ ศอก  สร้างวัดขึ้น ๒ วัด  ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์  และทรงหล่อพระปฏิมากร สูง ๑๖ ศอก ณ ตำบลโพธิช้างล้ม  หรือ  โพธิประทับช้างในปัจจุบัน  วัดที่ทรงสร้าง ๒ วัด  คือวัดบรมกษัตริย์  กับ  วัดทุติยาราม  มิทราบว่ายังคงอยู่หรือไม่  ถ้ายังคงอยู่แล้วเปลี่ยนนามเป็นอย่างอื่น  ก็ควรนำชื่อพระราชทานกลับมาใช้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระองค์ต่อไป

          ชาวกรุงเก่าให้การไว้ว่า .... “ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  มีราชโอรสด้วยพระมเหสีใหญ่ ๓ องค์  องค์ที่ ๑ พระนามว่าเจ้าสุรินทกุมาร  องค์ที่ ๒ พระนามว่าวรราชกุมาร  องค์ที่ ๓ พระนามว่าอนุชากุมาร ๆ นี้กล้าหาญดุร้ายมาก   วัน ๑ รับสั่งให้พวกมหาดเล็กเด็ก ๆ ด้วยกันว่ายข้ามแม่น้ำ  พวกมหาดเล็กเกรงอาญาก็พากันว่ายไป  ที่มีกำลังน้อยจมน้ำตายบ้างก็มี  กิติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธ  รับสั่งให้เอาอนุชากุมารไปสำเร็จโทษเสียดังเด็กที่จมน้ำตายนั้น

          และพระเจ้าสุริเยนทราธิบดียังมีราชบุตรอันเกิดด้วยพระสนมอีก ๓ พระองค์  นามว่า เจ้ากุมารอินทร์ องค์ ๑   เจ้ากิ่ง องค์ ๑   เจ้าติ่ง องค์ ๑
          ในปีนั้น เจ้าเมืองกาญจนบุรีจับได้ช้างเผือกพัง ๑ ช้าง  ช้างเผือกพราย ๑ ช้าง  นำมาถวายจึงพระราชทานนามช้างเผือกพังว่า  “อินทไอยรา”  พระราชทานนามช้างเผือกพรายว่า  “บรมจักรบุบผาทันต์”

          เรื่องของพระพุทธเจ้าเสือจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้อ่านต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, มดดำ, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #175 เมื่อ: 08, มีนาคม, 2562, 10:17:36 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -



- ปราบอ้ายธรรมเถียร -

ทรงนิพนธ์พยากรณ์ค่อนข้างถูก
เป็นการปลูกพืชไว้แล้วได้ผล
คำ“ผู้ดีจะเดิรตรอกขี้ครอก”วน
“เดิรถนน”สมคำพยากรณ์

เกิด“ผีบุญ”บังอาจเหิมคิดคด
เป็นขบถเดินดุ่มไม่ซุ่มซ่อน
พระทรงปืนยืนนิ่งยิงม้วยมรณ์
ราษฎรโห่ร้องสาธุการ


          อภิปราย ขยายความ.....

          ชาวกรุงเก่าให้การต่อไปว่า ... “ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิ์  ชำนาญในทางเวทย์มนต์กายสิทธิ์มาก  เวลากลางคืนก็ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาสฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร  แลทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด  ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทย์มนต์ให้เปนมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์  รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี  ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทย์มนต์ดีแล้ว  ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ  ผู้ใดไม่เป็นอันตรายก็ให้พามาเลี้ยงไว้เป็นข้าราชการ  ผู้ใดโอ้อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระอาญา  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงปืนแม่นหาผู้เสมอยาก  นกกาบินร้องมาในเวลากลางคืนก็ยิงถูก  เต่าปลามัจฉาชาติในน้ำแต่พอเห็นเงาก็ยิงถูก  แลทรงชำนาญในทางโหราศาสตร์  รู้คำนวณฤกษ์ยาม  ชตาบ้านเมือง  ได้ทรงพยากรณ์กาลอนาคตเปนพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้ว่า

           “น้ำในแม่น้ำแลคลองทั้งปวงจะแดงเปนโลหิต  เมฆแลท้องฟ้าจะแดงเปนแสงไฟ  แผ่นดินจะไหวโดยมาก  ยักษ์แลผีป่าจะเข้าเมือง  เสื้อเมืองจะหลีกเลี่ยง  ฤดูหนาวจะเป็นฤดูร้อน  โรคภัยจะเบียดเบียนสัตว์แลมนุษย์ทั้งปวง  โอชาว่านยาแลผลไม้จะถอยรส  เทพยดาที่รักษาพระศาสนาจะรักษาแต่คนพาล  พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ  มิตรจะกลับเปนศัตรู  เมียจะคิดทรยศต่อผัว  คนต่ำตระกูลจะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย  ศิษย์จะสู้ครู  พวกพาลจะมีอำนาจ  พวกปราชญ์จะตกต่ำ  น้ำเต้าจะจม  กระเบื้องจะลอย  ผู้ดีจะเดิรตรอก  ขี้ครอกจะเดิรถนน  มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย  จะเกิดเข้ายากหมากแพง  ฝูงมนุษย์จะอดอยาก  ผีแลเปรตจะปนอยู่กับคน  สมณะชีพราหมณ์จะร้อนใจ  จะเกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุม  ที่ลุ่มจะกลับดอน  ที่ดอนจะกลับลุ่ม  พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง  คนที่สนุกเฮฮาจะได้ครองสมบัติ  ต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเปนเจ้านาย”  ดังนี้

          พระราชนิพนธ์พยากรณ์อนาคตบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวนี้  ปรากฏเป็นความจริงขึ้นแล้วหลายประการ  เช่น  “เทวดาที่รักษาศาสนาจะรักษาแต่คนพาล,  พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ,  เมียจะคิดทรยศต่อผัว,  พวกพาลจะมีอำนาจ  พวกปราชญ์จะตกต่ำ,  ผู้ดีจะเดินตรอกขี้ครอกจะเดินถนน,  พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง,  ต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเป็นเจ้านาย”  เป็นต้น  แสดงถึงวิสัยทัศน์ของพระเจ้าแผ่นพระองค์นี้กว้างไกลยิ่งนัก

          ชาวกรุงเก่าให้การต่อไปอีกว่า

           “อยู่มามีบัณฑิตย์คน ๑  ชื่ออ้ายธรรมเถียร  พึ่งสึกออกมาจากพระสำแดงตัวเปนผู้วิเศษ  โกหกว่าตัวเปนเจ้าพระขวัญซึ่งพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสีย  ว่ายังไม่สิ้นพระชนม์  เทวดาพาไปเลี้ยงไว้  อ้ายธรรมเถียรแซ่งแต่งตัวทำท่าทางเหมือนพระขวัญ  ล่อลวงให้คนเชื่อถือเปนอันมาก  ครั้นมีผู้นับถือมากขึ้นก็ตั้งเกลี้ยกล่อม  ได้สมัคพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ  ตระเตรียมเครื่องศัตราวุธจะยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา  เมื่อมาถึงนครราชสีมา  หลวงเทพราชาผู้ว่าราชการเมืองก็เข้าเปนสมัครพรรคพวกกับอ้ายธรรมเถียร  จึงเอาช้างทรงบรมรัตนากาศมาให้อ้ายธรรมเถียร  อ้ายธรรมเถียรก็ตั้งหลวงเทพราชาให้เปนอำมาตย์ของตน  แล้วก็ขึ้นช้างกั้นเศวตฉัตร์คุมพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ  พร้อมด้วยเครื่องศัตราวุธยกเข้ามาทางบ้านเนินกระทุ่มเกลี้ยกล่อมผู้คนตลอดมา

          กิติศัพท์ที่อ้ายธรรมเถียรยกทัพเข้ามานั้น  ทราบไปถึงกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  จึงรับสั่งห้ามมิให้ราษฎรทั้งปวงเอิกเกริกวุ่นวาย  ให้สงบอยู่  ครั้นอ้ายธรรมเถียรยกเข้ามาถึงคลองคูพระนคร  ก็ขึ้นขี่ช้างข้ามมาทางสพานคูนั้น  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็มิได้ให้ออกสู้รบ  ทรงพระแสงปืนไปประทับอยู่ที่ป้อมมหาชัยบนเชิงเทินกำแพง  พออ้ายธรรมเถียรมาถึงกลางสพานก็ทรงยิงด้วยพระแสงปืน  ถูกอ้ายธรรมเถียร ๆ ตกจากหลังช้างตายอยู่ที่สพานนั้น  แล้วพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็ให้จับพวกที่เปนหัวหน้าแลหลวงเทพราชาไปประหารชีวิตเสีย  นอกจากนั้นมิได้เอาโทษ  ให้ปล่อยไปทั้งสิ้น”

          เรื่องอ้ายธรรมเถียรเป็นขบถนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคล้ายกับเรื่องญาณประเชียร  ในสมัยพระมหาธรรมราช  ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่บันทึกไว้ว่า  “ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔)  ญาณประเชียรเรียนศาสตราคม  และคิดเป็นขบถ  คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก  และยกมาจากเมืองลพบุรีและยืนช้างอยู่ตำบลหัวรี  และบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง..”

          ในเรื่องนี้  อ้ายธรรมเถียรยกกำลังมาจากนครราชสีมา  ไม่ระบุแหล่งต้นกำเนิดของอ้ายธรรมเถียร  แต่พอรู้ได้ว่าเป็นคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  อยู่เลยเมืองนครราชสีมาไป  เมื่อมีกำลังคนพอสมควรแล้วยกมานครราชสีมา  เจ้าเมืองนครราชสีมาเคารพเชื่อถือจึงเข้าร่วมเป็นขบถด้วย  และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอำมาตย์  นำช้างทรงบรมรัตนากาศมาให้  ช้างทรงเชือกนี้ชื่อเดียวกันกับช้างทรงในสมเด็จพระนารายณ์  ส่วนญาณประเชียรนั้นยกมาจากเมืองลพบุรี  ความต่างในการตายของทั้งสองคนอยู่ตรงที่ว่า  ญาณประเชียรถูกแขกบรเทศในเมืองยิงปืนออกจากในเมืองถูกกระสุนปืนตายบนคอช้าง  อ้ายธรรมเถียรถูกสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือใช้พระแสงปืนยิงตกจากคอช้างตาย  จึงไม่แน่ใจว่า  “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน”  หรือไม่

          ความในคำให้การชาวกรุงเก่ามีต่อไปว่า......  “ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงพระปัญญาเฉลียวฉลาด  ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  ทรงบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนสุข  มิได้มีพระทัยยินดีที่จะทำศึกสงครามให้ได้ความลำบากแก่ไพร่บ้านพลเมือง  มีแต่ทรงพระอุสาหบำเพ็ญพระราชกุศล  จนพระเกียรติยศเกียรติคุณปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง

          พระเจ้ากรุงศรีสัตตนาคนหุตทราบว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญญาภิสมภารแลพระเดชานุภาพมาก  จึงจัดเครื่องราชบรรณาการแลพระราชธิดาซึ่งมีพระชนมพรรษาได้ ๑๕ ปี  ให้ราชทูตมาถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ  ก็ให้จัดเครื่องราชบรรณาการ  แลแสดงความยินดีตอบแทนตามราชประเพณี  แล้วโปรดให้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตตนาคนหุตเปนพระมเหษีฝ่ายซ้าย  ให้สร้างตำหนักให้อยู่ใหม่  บรรดาคนทั้งหลายจึงพากันเรียก  พระมเหสีฝ่ายซ้ายว่า  “เจ้าตำหนักใหม่”

          บรรดาข้าราชการซึ่งตามเสด็จพระมเหสีฝ่ายซ้ายนั้น  โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านมะม่วงหวาน”

          เรื่องพระพุทธเจ้าเสือยังจบไม่ลง พรุ่งนี้ตามอ่านต่อไปก็แล้วกันนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, กลอน123, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #176 เมื่อ: 09, มีนาคม, 2562, 10:28:25 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

อนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ : นครศรีธรรมราช

- พระเจ้าเสือกับศรีปราชญ์ -

นามสามัญขานว่า “พระเจ้าเสือ”
ทรงดุเมื่อใครทำความผิดนั่น
ทรงรอบรู้ไสยเวทย์วิเศษครัน
ทั้งประพันธ์พยากรณ์เป็นเพลงยาว

มี“ศรีปราชญ์”เป็นกวีร่วมสมัย
กวีใหญ่ไว้ชื่อดีอื้อฉาว
ไทยรู้จักมักคุ้นนามตามเรื่องราว
แต่ยากสาวสืบเนื่องเรื่องง่ายดาย


          อภิปราย ขยายความ..................

          ในรัชกาลนั้นมีชายคน ๑  ชื่อว่าศรีปราชญ์  ฉลาดทางโหราศาสตร์แลพระไตรปิฎก  ชำนาญทางแต่งกาพย์โคลงกลอนทั้งปวง  ด้วยพระเจ้าสุริเยนทราธาบดีพอพระไทยในทางโหราศาสตร์  นิติศาสตร์  พระไตรปิฎก  กาพย์  โคลง  บทกลอน  ทรงทราบว่าศรีปราชญ์เปนคนฉลาดในทางนั้น  ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้  ศรีปราชญ์แต่งกาพย์  โคลง  บทกลอนต่าง ๆ ถวาย  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรด  พระราชทานรางวัลเนือง ๆ

          อยู่มาศรีปราชญ์ลอบมีเพลงยาวเข้าไปถึงนางสนมในพระราชวัง  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจับได้ก็ทรงพระพิโรธ  แต่มิได้ให้ลงพระราชอาญาอย่างร้ายแรง   เปนแต่ให้เนียรเทศไปอยู่เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช   ด้วยทรงเห็นว่าศรีปราชญ์เปนพหุสูตฉลาดในบทกลอน  แลมิได้คิดประทุษร้ายอย่างร้ายแรงอะไร

          เมื่อศรีปราชญ์ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชก็ยังประพฤติเช่นนั้นอีก  ด้วยนิสัยใจฅอชอบทางเจ้าชู้  คราว ๑ แต่งเพลงยาวลอบไปให้ภรรยาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจับได้ก็โกรธ สั่งให้คนจับศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย  พวกที่ชอบพอกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็พากันห้าม  ว่าท่านอย่าให้ฆ่าศรีปราชญ์เสียเลยจะเกิดเหตุใหญ่  แต่เมื่อศรีปราชญ์ยังอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา  ลอบให้เพลงยาวแก่นางสนมพระเจ้าแผ่นดิน ๆ จับได้ยังไม่ให้ประหารชีวิต  ด้วยทรงพระอาลัยว่าเปนคนฉลาดในการแต่งหนังสือ  เพียงแต่ให้เนียรเทศมาชั่วคราว  ถ้าท่านฆ่าศรีปราชญ์เสีย  เห็นว่าจะมีความผิดแน่  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ไม่ฟัง  ให้เอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย  เวลาที่จะลงดาบศรีปราชญ์จึงประกาศแก่เทพยดาแล้วแช่งว่า  ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด  เมื่อสิ้นคำแช่งก็พอลงดาบ  ศรีปราชญ์ก็ตายอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น

          ฝ่ายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนั้น  ถ้าทอดพระเนตรเห็นบทกลอนของศรีปราชญ์ก็ดี  ทรงแต่งบทกลอนขัดข้องก็ดี  ก็ทรงรลึกถึงศรีปราชญ์เนือง ๆ  อยู่มาวัน ๑ คลายพระพิโรธแล้ว  จึงรับสั่งให้ข้าราชการไปตามตัวศรีปราชญ์เข้ามา  ข้าราชการผู้รับรับสั่งจึงออกไปเมืองนครศรีธรรมราช  แจ้งความแก่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่า  บัดนี้มีรับสั่งให้หาศรีปราชญ์ซึ่งเนียรเทศออกมาอยู่เมืองนี้  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงแจ้งเหตุที่ได้ให้ฆ่าศรีปราชญ์ให้ข้าราชการผู้รับรับสั่งฟังทุกประการ  ข้าราชการผู้รับรับสั่งจึงทำใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  จึงให้มีท้องตราออกไป  ให้เอาตัวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารชีวิตเสียด้วยดาบที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้น

          เมื่อพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเสวยราชย์นั้น  พระชนม์ได้ ๔๙ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติ ๗ พรรษา  ครั้นพระชนมายุได้ ๕๖ พรรษา  ก็เสด็จสวรรคต  เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๙ ปี (พ.ศ.๒๒๕๐)  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีสมภพวันจันทร์”

          -- เราได้เรียนรู้กันมาว่า  ศรีปราชญ์เป็นกวีในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ตอนที่ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นได้เขียนโคลงนิราศไว้  เรียกกันว่า  นิราศศรีปราชญ์บ้าง  กำสรวลศรีปราชญ์บ้าง  โคลงนิราศศรีปราชญ์ได้รับการกย่องว่าเป็นยอดเยี่ยม  แม้ภายหลังจะมีผู้แต่งตามอย่าง  คือโคลงนิราศนรินทร์ คลิก  และได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยม  แต่ก็ยังเป็นรองนิราศศรีปราชญ์อยู่ชั้นหนึ่ง

          เป็นเรื่องแปลกที่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะ  บอกเล่าเรื่องศรีปราชญ์ไว้ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  หรือพระพุทธเจ้าเสือ  พระโอรส (ลับ) ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  แทนที่จะกล่าวไว้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามคำกล่าวในที่ทั่วไป

          มีนักวิชาการทางวรรณคดีไทยปัจจุบันบางท่าน  ตั้งข้อสังเกตว่า  “ศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริง”  และยอมรับว่า  โคลงนิราศศรีปราชญ์  หรือ  กำสรวลศรีปราชญ์  เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ผู้แต่งน่าจะเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง  และอาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์เสียด้วยซ้ำ

          โคลงบทสุดท้ายกินใจและสะเทือนอารมณ์ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งคือบทที่ว่า

                        ธรณีนี่นี้                     เป็นพยาน
                    เราก็ศิษย์อาจารย์            หนึ่งบ้าง
                    เราผิดท่านประหาร          เราชอบ
                    เราบ่ผิดท่านมล้าง            ดาบนี้คืนสนอง


          ว่ากันว่าโคลงบทนี้ศรีปราชญ์ใช้หัวแม่เท้าเขียนบนผืนแผ่นดินตรงหลักประหารที่เพชฌฆาตกำลังจะลงดาบตัดคอ  พอเขียนจบบทเพชฌฆาตก็ลงดาบพอดี

          เรื่องศรีปราชญ์จะมีตัวตนจริงหรือไม่  ถ้ามีจริงอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  หรือ  รัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) กันแน่  ยังคงสรุปเป็นข้อยุติไม่ได้  ขอให้เป็นปมปัญหาสำหรับนักประวัติศาสตร์โบราณคดี  และนักวรรณคดีไทยศึกษาหาข้อเท็จจริงกันต่อไป

          เมื่อสิ้นสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระพุทธเจ้าเสือแล้ว  เรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นอย่างไร  ดูความตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าต่อไปในวันหรุ่งนี้...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #177 เมื่อ: 10, มีนาคม, 2562, 10:30:15 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

อนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ : อ่างทอง

- พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ -

พระเจ้าเสือถึงกาลสวรรคต
เกียรติปรากฏคู่ไทยไม่เลือนหาย
สมคำว่า“ชาติเสือต้องไว้ลาย”
และ“ชาติชายไว้ชื่อ”ชนฦๅชา

พระโอรสรับนั่งบัลลังก์รัตน์
เป็นกษัตริย์ไอศวรรย์ไร้ปัญหา
เฉลิมพระนาม“ภูมินทราชา”
คนเรียกว่า“ท้ายสระ”อีกพระนาม


          อภิปราย ขยายความ........

          ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว  พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อไป  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้  ประชุมพงสาวดารภาคที่ ๖๓  ในตำนานกรุงเก่าบันทึกไว้ว่า  “สมเด็จพระสรรเพชฌ์ พระองค์ที่ ๙  สมเด็จพระภูมินทราชา  หรือขุนหลวงทรงเบ็ด  คือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ”  เหตุที่มีพระนามตามบันทึกพงศาวดารนี้  นัยว่า  พระองค์พอพระทัยในการทรงเบ็ดตามริมหนองคลองบึงและน่านน้ำต่าง ๆ จนควรแก่พระนามว่า “พรานเบ็ด” ทีเดียว  เมื่อขึ้นครองราชย์บัลลังก์  เฉลิมพระนามว่า  ภูมินทราชา  แต่ชาวประชาทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า  “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ”  ซึ่งก็มาจากนามว่า  “ขุนหลวงทรงเบ็ด”  นั่นเอง  ชาวกรุงเก่าให้การเรื่องราวของพระองค์ไว้ดังต่อไปนี้

           “ เมื่อพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) สวรรคตแล้ว  ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระสุรินทรกุมาร  ซึ่ง  เปนพระโอรสของพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) ขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน  ถวายพระนามว่า  พระเจ้าภูมินทราชา  ภายหลังปรากฏพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า  พระเจ้าบรรยงค์รัตนนาสน์  พระเจ้าภูมินทราชามีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า  เจ้าฟ้าทองสุก ๆ มีพระราชโอรส ๔ องค์  มีพระนามว่าเจ้าฟ้านรินทร์ องค์ ๑   เจ้าฟ้าอภัยองค์ ๑   เจ้าฟ้าปรเมศองค์ ๑   เจ้าฟ้าทับองค์ ๑   มีพระราชธิดา ๒ องค์  มีพระนามว่า  เจ้าฟ้าเทพองค์ ๑   เจ้าฟ้าประทุมมาองค์ ๑   เจ้าเสฐมเหสีรองมีราชโอรสองค์ ๑  มีพระนามว่า  เจ้าฟ้าพจน  มีพระราชธิดา ๓ องค์  มีพระนามว่า  เจ้าฟ้าปุกองค์ ๑   เจ้าฟ้าหงส์องค์ ๑   เจ้าฟ้าพินองค์ ๑   รวมพระราชโอรสธิดาทั้ง ๒ มเหสี เปน ๑๐ องค์ด้วยกัน

          พระเจ้าภูมินทราชา (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ทรงตั้งวรราชกุมาร (อนุชาของพระองค์) เปนมหาอุปราช  ตั้งโอรสองค์ใหญ่ของพระมหาอุปราชเปนผู้ช่วย  และเจ้าภูมินทราชาให้สร้างวัดขึ้นวัด ๑  พระราชทานนามว่า  วัดมเหยงคณ  ให้สร้างพระนอนไว้ในวัด (ป่าโมกข์นั้น)  องค์ ๑ ยาว ๖๐ ศอก”

          วัดมเหยงคณ(มะเห-ยงคะนะ)  แปลได้ว่า  วัดที่ตั้งบนภูเขา  หรือ  วัดที่ตั้งบนเนินดิน  เป็นชื่อที่ลอกเลียนมาแต่วัดมเหยงคณ์ในเกาะลังกา  คือ  “มหิยังคณเจดีย์”  ในบริเวณเมืองเก่าอโยธยาคือฟากฝั่งตะวันออกแม่น้ำป่าสัก  มีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดมเหยงคณ์  เห็นทีว่าพระเจ้าภูมินทราชา  เมื่อทรงสร้างวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ป่าโมก  พร้อมกับสร้างพุทธไสยาสน์ไว้ในวัดแล้ว  พระราชทานนามว่า  วัดมเหยงคณ โดยนำเอานามวัดในเมืองเก่าอโยธยาไปใช้กับวัดที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้  พระพุทธไสยาสน์  ที่ชาวกรุงเก่าว่ายาว ๖๐ ศอกนั้น  ขุนหลวงหาวัดให้การว่า  “จึงสร้างพระพุทธไสยาสน์พระองค์ใหญ่ที่ป่าโมก ๑ ยาวได้เส้นห้าวา”  คือยาวกว่าคำให้การชาวกรุงเก่า

          ในรัชสมัยของพระเจ้าภูมินทราชา  มีการศึกสงครามเกิดขึ้นเล็กน้อย  คือยกไปขับไล่ญวนที่เข้ามายึดครองกัมพูชา  เปนการช่วยพระเจ้ากัมพูชาชิงราชบัลลังก์คืน  มีรายละเอียดตามคำให้การชาวกรุงเก่าว่าดังนี้

           “ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๖ ปี (พ.ศ. ๒๒๕๗)  พวกญวนใหญ่ยกทัพเข้ามา  ตีกรุงกัมพูชา  นักเทศเจ้ากรุงกัมพูชาสู้ญวนไม่ได้  ก็พาครอบครัวกับบริวารรวมทั้งสิ้น ๕๐๐ คน  แลช้างเผือกช้าง ๑  เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ถวายช้างเผือกแก่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าภูมินทราชาก็ให้รับช้างเผือกไว้  พระราชทานนามว่า  บรมรัตนากาศไกรลาสสิริวงศ์  แล้วรับสั่งให้ยกกองทัพใหญ่ไปตีกรุงกัมพูชา  พวกญวนก็พากันแตกพ่ายหนีไปสิ้น  พระเจ้าภูมินทราชาจึงรับสั่งให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาออกไปปกครองบ้านเมืองตามเดิม  พวกญวนรู้ว่าทหารไทยกลับแล้ว  แลพระเจ้ากรุงกัมพูชามาอยู่อย่างเดิม  ก็ยกทัพมาตีกรุงกัมพูชาอีก พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็หนีเข้ามากรุงศรีอยุธยาอีก  แต่เป็นอย่างนี้หลายครั้ง

          ในครั้งหลังพระเจ้าภูมินทราชาให้ทหารยกไปตีกรุงกัมพูชาคืนได้แล้วรับสั่งให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาออกไปอีก  พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็ทรงพระกรรณแสงกราบทูลว่า  ข้าพระองค์ได้อาศรัยพระบารมีปกเกล้า ฯ มาหลายครั้งแล้ว  ก็รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้  ข้าพระองค์ไม่ไปแล้ว  ขออยู่รับราชการในกรุงศรีอยุธยาไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่  ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงข้าพระองค์ไว้ในกรุงศรีอยุธยาเถิด  พระเจ้าภูมินทราชาก็โปรดให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาอยู่ในพระนครศรีอยุธยาตามประสงค์”

          เรื่องพระเจ้ากรุงกัมพูชาหนีข้าศึกญวนมาพึ่งสยามนี้  ขุนหลวงหาวัดให้การมีรายละเอียดมากกว่าชาวกรุงเก่า  ดังต่อไปนี้

           “ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๐๗๖ มะแม ฉศก (พ.ศ. ๒๒๕๗) ญวนใหญ่จึงยกทัพมาหนักหนา  อันตัวนายที่เป็นใหญ่นั้นชื่อนักพระแก้วฟ้า  มารบเมืองเขมร  กษัตริย์เมืองเขมรจึงหนีเข้ามาพึ่งพระเดชในกรุง  อันที่ชื่อนักเสด็จนั้นเป็นผู้ผ่านธานีทั้งหกนางผู้เป็นมเหสี  อันนักองค์เอกนั้นเป็นอนุชา  นักพระศรีธรรมราชานั้นเป็นที่มหาอุปราช  อันพระโอรสในมเหสีนั้นชื่อ  พระรามาธิบดีองค์ ๑  พระศรีไชยเชษองค์ ๑  พระสุวรรณกุมารองค์ ๑  นักพระองค์อิ่มองค์ ๑  นักพระองค์ทององค์ ๑  นักพระอุทัยองค์ ๑  กุมารของบุตรี ๒ องค์  คือ  สุภากษัตรีองค์ ๑  พระศรีสุดาองค์ ๑  ทั้งบุตรและธิดาเป็น ๘ องค์ด้วยกัน  ยังหลาน ๒ องค์ คือ  นักองปาน  นักองตน  อันนี้เหล่ากษัตริย์  ยังเสนาสองคือ  ฟ้าทลหะนั้นฝ่ายขวา  ฝ่ายซ้ายนั้นฝ่ายกลาโหม  บรรดาอำมาตย์ทั้งปวงน้อยใหญ่เป็นหลายคน  กับพลทหารร้อยปลาย  กับช้างเผือกพังตัว ๑  ชื่อบรมรัตนากาศไกรลาศคีรีวงศ์  อันช้างเผือกพังตัวนี้นักเสด็จก็พาเอามา  แล้วจึงถวายพระเจ้าภูมินทราชา  แล้วตัวนักเสด็จกับพี่น้องลูกหลานทั้งสิ้นก็เข้ามาพึ่งโพธิสมภารอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแล้วสงสารกับนักเสด็จยิ่งนัก”

          ขุนหลวงหาวัดให้การชัดเจนในชื่อตัวบุคคล  เฉพาะนายใหญ่ของทัพญวนนั้นระบุนามว่า  “นักพระแก้วฟ้า”  นามนี้เป็นชาวกัมพูชามิใช่ญวน  นัยว่า  นักพระแก้วฟ้ากับนักพระเสด็จเกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน แล้ว  นักพระแก้วฟ้ามีกำลังน้อยกว่า  จึงหนีไปพึ่งญวนแล้วนำกำลังทหารญวนมาตีกัมพูชา  นักพระเสด็จสู้ไม่ได้จึงหนีมาพึ่งไทย  ดูจากคำให้การนี้แล้วเห็นได้ว่า  นักเสด็จพระเจ้ากรุงกัมพูชาถอดใจไม่ยอมกลับไปครองกัมพูชา  พระเจ้าภูมินทราชาทรงเมตตารับชุบเลี้ยงไว้ในกรุงศรีอยุธยา  แลพระองค์ก็มิได้หวังจะปกครองกัมพูชา  จึงปล่อยปละละเลยให้นักพระแก้วฟ้า  เจ้าเขมร  ขึ้นครองกรุงกัมพูชาสืบแทนนักเสด็จต่อไป.

          พรุ่งนี้ติดตาม  “แลหลังอยุธยา”  ต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #178 เมื่อ: 11, มีนาคม, 2562, 10:29:19 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- พระมหาธรรมราชา -

องค์ภูมินราชาสวรรคต
พระโอรสอุบเรื่องมิล้นหลาม
อุปราชระแคระคายได้รู้ความ
การสงครามก่อเค้าแล้วเซาลง

ด้วยบุญญาบารมีอุปราช
เหล่าอำมาตย์ช่วยพยุงยกสูงส่ง
เป็น“มหาธรรมราชา”อ่าองค์
พระผู้ทรงทศพิธราชธรรม


          อภิปราย ขยายความ......................

          จากที่พระเจ้าภูมินทราชาทรงตั้งพระวรราชกุมาร  ผู้เป็นพระอนุชาให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช  แทนที่จะทรงตั้งพระราชโอรสของพระองค์เป็นมหาอุปราช  ข้อนี้แสดงให้เห็นน้ำพระทัยว่าพระองค์มิได้ผูกขาดพระราชอำนาจของพระองค์ไว้ให้พระโอรสรับสืบทอด  และทรงประสงค์ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่สืบทอดมาแต่กรุงสุโขไท  คือถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีพระอนุชาก็ให้ตั้งพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราช (ขุนยี่)  หากมิมีพระอนุชาจึงค่อยตั้งพระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช  ดังนั้นเมื่อพระองค์ประชวรแล้วเสด็จสวรรคต  จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น  ตามคำของขุนหลวงหาวัดให้การไว้ดังนี้

           “ เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ปิดความมิให้แพร่งพรายให้ใครรู้ว่า  พระราชบิดาเสด็จสวรรคต  ให้ตระเตรียมเครื่องศัสตราวุธและผู้คนตั้งมั่นอยู่ในพระราชวัง  ฝ่ายพระมหาอุปราชทรงสังเกตได้ระแคะระคายว่า  เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์เกียดกันและจะเอาราชสมบัติ  เห็นว่าจะเกิดเป็นข้าศึกกันเป็นแน่แล้ว  จึงเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากรุงกัมพูชาและคนอื่น ๆ ได้เป็นอันมาก  ตั้งมั่นอยู่ยังมิได้ทำการรบพุ่งประการใด  เพราะไม่ทรงทราบว่าพระเชษฐาธิราชสวรรคต  ครั้นจะลงมือรบพุ่งในเวลานั้นกลัวจะเป็นคิดกบฏต่อพระเชษฐาธิราช  ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเอาพระมหาอุปราช ๆ ให้สืบว่าพระเชษฐาธิราชมีพระอาการเป็นประการใด  ก็ยังไม่ได้ความ  จึงให้ตั้งสงบไว้มิได้ทำการสู้รบโต้ตอบ  เป็นแต่ให้ปูนบำเหน็จรางวัลให้ผู้คนที่ถูกเจ็บป่วยเพื่อจะรักษาน้ำใจไว้  เมื่อข้าราชการทั้งหลายทราบว่าจะเกิดสงครามในเมืองเป็นแน่  ก็พากันไปเข้ากับพระมหาอุปราชเป็นอันมาก  เพราะเห็นว่ามีพระทัยโอบอ้อมอารี  ในขณะนั้นมีผู้เขียนหนังสือลับบอกข่าวที่พระเจ้าภูมินทราชาเสด็จสวรรคต  แล้วผูกติดกับช้างต้นพระเกษยเดช  ปล่อยไปจากพระราชวัง  เพื่อจะให้พระมหาอุปราชทรงทราบความจริง  ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระมหาอุปราช  ช้างนั้นก็ข้ามน้ำตรงไปยังสำนักพระมหาอุปราช  เหมือนดังที่คนขี่ขับไป  พวกข้าราชการในพระมหาอุปราชเห็นดังนั้นก็พากันจับ  เห็นหนังสือติดกับช้างดังนั้นก็นำไปถวายพระมหาอุปราช  ในเวลานั้นม้าทรงของพระมหาอุปราชตัวหนึ่งหลุดพลัดออกจากโรง  เที่ยวเตะถีบขบกัดหญิงชายเป็นอลหม่าน  พวกชาวเมืองกลัวม้านั้นเป็นกำลัง  พากันโจษอื้ออึงไปว่า  พระมหาอุปราชให้ทหารหายตัว  ขี่ม้าเข้าปราบปรามข้าศึก  กิตติศัพท์ทราบไปถึงเจ้าฟ้าอภัย  เจ้าฟ้าปรเมศร์  และไพร่พลของเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์  ต่างก็พากันย่อท้อตกใจกลัวเป็นอันมาก

          ในขณะนั้น  มหามนตรีจางวางและพระยาธรรมเสนาบดีกรมวัง  กับนายสุจินดามหาดเล็กเชิญพระแสง ๓ คน  จึงเขียนหนังสือลับมีใจความว่า  พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่ปฐมยาม  เจ้าฟ้าอภัย  เจ้าฟ้าปรเมศร์  คิดการลับจะทำร้ายพระองค์  บรรดาข้าราชการพากันเบื่อหน่ายเอาใจออกห่าง  และย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เป็นอันมาก  ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด  ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ  ครั้นเขียนแล้วก็ส่งให้คนสนิทลอบไปถวายพระมหาอุปราช ๆ ได้ทราบความดังนั้นก็ทรงยินดี  เวลาย่ำรุ่งก็ตระเตรียมไพร่พลเป็นอันมากยกเข้ามายังพระราชวัง  เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่าพระมหาอุปราชยกเข้ามาแล้ว  ก็เอาพระแสงชื่อพระยากำแจกที่กำจัดภัยเป็นของตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก  กับพระธำมรงค์ค่าควรเมืองและแก้วแหวนเงินทองภูษาอาภรณ์ของดี ๆ มีราคา  ทั้งเสบียงอาหารเป็นอันมากให้คนขนลงบรรทุกเรือ พาข้าราชการที่สนิทชิดใช้หนีไปยังตำบลบ้านตาลานฯ

          ในขณะนั้น  ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหาอุปราช (พระวรราชกุมาร) ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ถวายพระนามว่า  พระมหาธรรมราชา  เมื่อพระมหาธรรมราชาได้เสวยราชย์แล้วทรงทราบว่าเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์เอาพระธำมรงค์กับพระแสงสำหรับพระนคร  และพาข้าราชการไปมาก  จึงให้อำมาตย์คุมพลทหารออกเที่ยวตามจับ  เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่า  พระมหาธรรมราชาให้คนออกเที่ยวตามจับจึงเก็บเอาสิ่งของแต่พอกำลังแล้วให้ล่มเรือจมน้ำเสีย  พระธำมรงค์กับพระแสงก็จมอยู่ในน้ำกับเรือนั้น  แล้วพากันหนีซุกซ่อนกระจัดกระจายไป  เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้นายบุญคงมหาดเล็กตามไปด้วยคน ๑  เที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ในป่า ครั้นหลายวันเข้าเสบียงอาหารก็หมดลง  นายบุญคงเป็นคนกตัญญูสัตย์ซื่อต่อเจ้านายของตน  ก็อุตสาหะเที่ยวแสวงหาอาหารมาถวาย  พวกอำมาตย์ของพระมหาธรรมราชาที่เที่ยวติดตามไปพบนายบุญคงในกลางป่า  สงสัยจึงจับมาเฆี่ยนถาม  นายบุญคงได้รับความเจ็บปวดเป็นสาหัสทนไม่ได้  ก็รับเป็นความสัตย์  พวกอำมาตย์จึงให้นำไปจับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้ทั้ง ๒ องค์  นำมาถวายพระมหาธรรมราชาๆจึงรับสั่งให้เอาตัวเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษเสีย  พวกพ้องของเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์  ซึ่งหนีซุกซ่อนไปในทิศต่าง ๆ ที่ตามจับได้ก็ให้ประหารชีวิตเสียสิ้น  แต่นายบุญคงนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เลี้ยงไว้  ด้วยรับสั่งว่าเป็นคนซื่อสัตย์กตัญญูต่อเจ้านายฯ

          พระเจ้าแผ่นดินสยามแห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้  ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ในตำนานกรุงเก่า  จัดลำดับไว้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓๑  เรียกพระนามว่า  สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๓  เมื่อสวรรคตแล้ว  เรียก  “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”  แต่ชาวกรุงเก่ากับขุนหลวงหาวัดให้การตรงกันว่า  เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วได้พระนามว่า  พระมหาธรรมราชา  และได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ต่อไปอีกว่า


           “พระมหาธรรมราชานี้มีพระมเหสี ๓ องค์  พระมเหสีใหญ่มีพระนามว่ากรมหลวงอภัยนุชิต   พระมเหสีที่ ๒ พระนามว่ากรมหลวงพิจิตรมนตรี   พระมเหสีที่ ๓ พระนามว่าอินทสุชาเทวี

          กรมหลวงอภัยนุชิตมีพระราชโอรสธิดา ๗ พระองค์  คือ ๑ เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์   ๒ เจ้าฟ้าหญิงบรม   ๓ เจ้าฟ้าหญิงธิดา   ๔ เจ้าฟ้าหญิงรัศมี   ๕ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์   ๖ เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี   ๗ เจ้าฟ้าหญิงสุริยา

          กรมหลวงพิจิตรมนตรี มีพระราชโอรส ๒ พระองค์  พระนามว่าเจ้าฟ้าเอกทัศพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าอุทุมพรพระองค์ ๑   มีพระราชธิดา ๖ พระองค์  พระนามว่าเจ้าฟ้าศรีประชาพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าสุริยบูรพาพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าสตรีพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าอินทวดีพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าจันทร์พระองค์ ๑   เจ้าฟ้านุ่มพระองค์ ๑

          อินทสุชาวดีมีพระราชโอรส ๑ พระองค์  พระนามว่าเจ้าฟ้าอัมพร  มีพระราชธิดา ๒ องค์ พระนามว่าเจ้าฟ้ากุณฑลองค์ ๑   เจ้าฟ้ามงกุฎองค์ ๑  พระมหาธรรมราชา  มีพระราชโอรสธิดาเกิดแต่นักสนมอีกเป็นอันมาก  รวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์

          ครั้นต่อมา  พระมหาธรรมราชาทรงตั้งเจ้าฟ้านราธิเบศร์เป็นพระมหาอุปราช  พระราชทานเจ้าฟ้านุ่มเป็นพระมเหสี  แต่เจ้าฟ้านุ่มไม่มีพระโอรสธิดา

          แต่ก่อนเมื่อยังไม่ได้เป็นพระมหาอุปราชนั้น  เจ้าฟ้านราธิเบศร์มีเจ้าหญิงมิตร  เจ้าหญิงชื่น  เจ้าชายฉัตร  เกิดแต่หม่อมมเหญก  มีเจ้าชายสีสังข์  เกิดแต่หม่อมจัน  มีเจ้าหญิงดารา  เกิดแต่หม่อมเจ้าหญิงสร้อย  มีเจ้าชายมิ่ง  เกิดแต่หม่อมต่วน  มีเจ้าหญิงชี  เจ้าหญิงชาติ  เกิดแต่หม่อมสุ่น รวม ๘ องค์

          ในปีนั้น  เจ้าฟ้านักกายฟ้าเจ้าเขมร  นำช้างเผือกพังมาถวายพระมหาธรรมราชาช้าง ๑  พระมหาธรรมราชาพระราชทานนามว่าวิไชยหัสดี  เจ้าฟ้านักพระอุทัยพระเจ้ากรุงกัมพูชาให้นำช้างเผือกพลายมาถวายช้าง ๑  พระราชทานนามว่าพระบรมราชไทยศวร  ช้างเผือกตัวนี้มีงาข้างเบื้องซ้ายยาวมากกว่าข้างเบื้องขวา  พระยานครศรีธรรมราชจับได้ช้างเผือกช้าง ๑  นำมาถวาย  พระราชทานนามว่าบรมคชลักษณสุประดิษฐ  เจ้าเมืองเพชรบุรีจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย  พระราชทานนามว่าบรมนาเคนทร  กรมการจับช้างเผือกเข้าเพนียดเมืองนครไชยศรีได้ ๔ ช้างมาถวาย  พระราชทานนามว่า  บรมคชช้าง ๑  บรมพิชัยช้าง ๑  บรมจักรช้าง ๑  จอมพลสำเนียงช้าง ๑  แล้วให้มีการมหรสพสมโภชเป็นอันมาก”

          พระมเหสี  พระราชโอรส  ราชธิดาในสมเด็จพระมหาธรรมราชา  หรือ  พระเจ้าบรมโกศ  ที่ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร) ระบุพระนามมาทั้งหมดข้างต้นนั้น  คงไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้  เพราะเป็นเรื่องของพระองค์เอง โดยขุนหลวงหาวัดเป็นพระราชโอรสประสูติแต่กรมหลวงพิจิตรมนตรี  มเหสีฝ่ายซ้าย  เป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าเอกทัศ  จากคำให้การนี้  เราจึงเห็นได้ว่า  พระเจ้าบรมโกศมีพระราชโอรสราชธิดามากที่สุดในบรรดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม  คือ  ทรงมีทั้งหมด ๑๐๘ องค์  จนไม่น่าจะทรงจำโอรสธิดาของพระองค์ได้  แม้พระเจ้าเสือราชอัยกาของพระองค์ที่ว่า  ทรงเจ้าชู้  เป็นชายชาตรี  ก็ยังมีพระมเหสีนางนักสนม  พระราชโอรสราชธิดาไม่มากเท่ากับพระองค์

          ชาวกรุงเก่าให้การเพิ่มเติมความตรงนี้ว่า  “คราวนั้น  สมิงทอรามัญซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นขบถ  คุมสมัคพรรคพวกเปนอันมากเที่ยวตีบ้านเล็กเมืองน้อยตามชายพระราชอาณาเขต  ข้าราชการซึ่งรักษาหน้าที่ก็คุมพลทหารออกไปรบ  จับสมิงทอแลพรรคพวกสมิงทอฆ่าเสีย  แต่นั้นมากรุงศรีอยุธยาก็ปราศจากเสี้ยนหนาม  มีความสุขความเจริญ  เข้าปลาอาหารก็บริบูรณ์  ด้วยพระมหาธรรมราชาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล  ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเปนเนืองนิตย์”

          ** เจ้าฟ้านราธิเบศร์  ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชพระองค์นี้  คนไทยในกาลต่อมาขานพระนามว่าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์บ้าง  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์บ้าง  ในวงวรรณกรรมรู้จักพระองค์ดีในพระนามว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง”   เรื่องราวของพระองค์น่าศึกษายิ่งนัก  จะนำมาแสดงในโอกาสต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #179 เมื่อ: 12, มีนาคม, 2562, 10:13:48 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ลังกาเจริญพระราชไมตรี -

เจ้าลังกาส่งสาส์นวันทาถวาย
โดยมุ่งหมายไมตรีอุปภัมภ์
ขอพระสงฆ์ทรงปิฎกไม่ด่างดำ
ไปช่วยชำระศาสน์ปราชญ์ลังกา


          อภิปราย ขยายความ......................

          ชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัดให้ความตรงกันต่อไปว่า  “ครั้นลุศักราช ๑๐๙๕ ปี (พ.ศ.๒๒๗๖)  พระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) ทิวงคต  พระมหาธรรมราชาจึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นมหาอุปราช  พระราชทานเจ้าท้าวต่อย  ธิดาของพระมหาอุปราชที่ทิวงคตให้เป็นพระมเหสี

          คราวนั้น  กษัตริย์ซึ่งเปนพระเจ้ากรุงลังกาให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุธยา  ข้าราชการจึงกราบทูลพระมหาธรรมราชาให้ทรงทราบ  พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เกณฑ์พลเมืองตกแต่งถนนหนทางให้เรียบร้อยสอาด  ให้พวกพ่อค้าออกตลาดตามฟากถนน  แลให้แต่งช้างบุบผาทนต์ประดับเครื่องคชาภรณ์  พร้อมด้วยพลช้างพลม้าพบรถพลเดิรเท้าทุกหมวดทุกกอง  ซึ่งแต่งตัวเต็มยศสรรพด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์  ยืนประจำตามระยะทางซ้ายขวาบ่าติด ๆ กัน  ให้ปลูกปรำเปนระยะทั้ง ๒ ฟากถนน  มีมหรสพเต้นรำประจำอยู่ตามปรำ  ทั้งมีเครื่องดนตรีพิณพาทย์ระนาดฆ้องตลอดระยะทาง  ราชบัลลังก์ที่จะเสด็จออกรับแขกเมืองนั้นก็ให้ตกแต่งให้งดงาม  ตั้งเศวตฉัตรรายรอบด้วยเครื่องอภิรมย์ตามขัตติยยศ  ให้พระราชวงศานุวงศ์  เจ้าประเทศราช  แลข้าราชการทั้งปวงแต่งตัวเต็มยศ  เข้าอยู่ตามฐานานุศักดิ์  พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เบิกทูตลังกาเข้ามาในพระนครตามระยะทางที่ตกแต่งไว้  เมื่อทูตลังกาไปถึงขบวรใด ๆ  เช่นขบวรจตุรงคเสนา  ขบวรเหล่านั้นก็ทำความเคารพตามธรรมเนียม  ไปถึงพวกดนตรี ๆ ก็ประโคมขับร้อง  ไปถึงข้าราการ  เจ้ากระทรวง  เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ  ก็ทำการปฏิสัณฐารต้อนรับแสดงความปราไสต่อกัน  จนกระทั่งถึงที่ประทับพระที่นั่งมหาปราสาทข้างหน้า  ทูตลังกาจึงถวายพระราชสาส์นแลเครื่องบรรณาการ  ในพระราชสาส์นมีใจความว่า

           “ข้าพระองค์ผู้เปนพระอนุชาผ่านพิภพสิงหฬทวีป  ขอโอนเศียรเกล้าถวายบังคมมายังพระเชษฐาธิราช  พระเจ้ามหาธรรมราชา  ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา  ด้วยข้าพระองค์ได้ทราบพระเกียรติยศเกียรติคุณของพระเชษฐาธิราชว่า  ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนัตตยาธิคุณ  แผ่เผื่อเกื้อหนุนแก่สมณะพราหมณาจารย์ถ้วนหน้า  บำรุงพระพุทธศาสนาเปนศาสนูปถัมภก  โปรดให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระไตรปิฎกเปนนิตยกาล  แลคัดลอกจดจารแบบแผนพระไตรปิฎกไว้  พระคุณเหล่านี้เปนเครื่องจูงใจข้าพระองค์ซึ่งอยู่ห่างต่างประเทศ  ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายบังคมชมพระบารมี  อนึ่ง  ข้าพระองค์ก็มีจิตยินดีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  แต่ในลังกาทวีปมีแบบแผนพระปริยัติธรรมขาดตกบกพร่องเคลื่อนคลาศ  ทั้งภิกษุสงฆ์ที่เฉลียวฉลาดอาจจะรอบรู้ในพระไตรปิฎกก็ไม่มี  โดยเหตุนี้  ข้าพระองค์ขอพระบารมีพระเชษฐาธิราชเจ้า  โปรดพระราชทานซึ่งภิกษุที่รอบรู้พระปริยัติศาสนา  เพื่อได้สั่งสอนชาวลังกาที่เลื่อมใส  เปนอายุพระพุทธศาสนาสืบไปสิ้นกาลนานเทอญฯ”

          เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงทราบพระราชสาส์นแล้ว  จึงมีพระราชปฏิสัณฐารถามถึงพระเจ้ากรุงลังกา  แลพระมเหษี  พระราชโอรส  เสนามาตย์ข้าราชการ เข้าปลาอาหาร  บ้านเมืองชนบทว่าเรียบร้อยเปนสุขสำราญอยู่หรืออย่างไร  ราชทูตก็กราบทูลว่าเจริญสุขอยู่ทุกประการ  ครั้นสมควรเวลาแล้วเสด็จขึ้น  ราชทูตก็ออกไปพักอยู่ที่สถานทูต

          พระมหาธรรมราชาจึงให้ข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามาเฝ้า  พร้อมแล้วรับสั่งว่า  บัดนี้พระเจ้ากรุงลังกามีราชสาส์นเข้ามาขอพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก  ท่านทั้งปวงจงเลือกคัดพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก  กับพระปฏิมากรเปนธรรมบรรณาการส่งไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา  ข้าราชการรับพระราชโองการแล้ว  ก็เลือกได้พระราชาคณะ ๒ รูป  คือ  พระอุบาฬี ๑   พระอริยมุนี ๑   กับพระสงฆ์อิก ๕๐ รูป  แลพระปฏิมากร  พระยืนห้ามสมุท  กับพระปฏิมากรอื่นอิก ๑๐ องค์  แลพระไตรปิฎกกับเครื่องบรรณาการอื่น ๆ อิกเปนอันมาก  ครั้นจัดเสร็จแล้วจึงกราบทูลพระมหาธรรมราชา ๆ จึงทรงตั้งให้ข้าราชการเฉลียวฉลาด ๓ คน  คือ  พระสุนทร ๑   พระสุธรรมไมตรี ๑   กุมมรไทย ๑  เปนราชทูต  อุปทูต  ตรีทูต  กำกับไปกับอำมาตย์ราชทูตเมืองลังกา

          ครั้นสำเภาแล่นออกไปในมหาสมุท  ก็บังเกิดเปนแสงแดงโตประมาณเท่าผลหมากตรงศีร์ษะเรือ  พวกกัปตันแลต้นหนเห็นแล้วก็สดุ้งตกใจ  ด้วยเคยสังเกตว่าอากาศชนิดนี้เคยเกิดลมอันร้ายแรง  จึงสั่งให้พวกในสำเภากินเข้าปลาอาหารซึ่งจะอิ่มทนได้หลาย ๆ วัน  แลให้นุ่งผ้าห่มน้ำมันเตรียมพร้อมทุกตัวคน  ขณะนั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนี  แลพระสงฆ์ทั้งปวงจึงให้เชิญพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทมาประดิษฐานที่ศีร์ษะเรือสำเภา  แล้วพากันนั่งเรียงแถวทั้งซ้ายขวาพระพุทธปฏิมากร  เจริญพระพุทธมนต์เปนปรกติอยู่  ไม่ช้าก็เกิดลมสลาตันกล้าขึ้นกล้าขึ้นทุกที  กระทั่งเป็นสีแดงไปทั่วอากาศ  พัดตรงมาที่เรือ  พวกมนุษย์ในเรือก็พากันร้องไห้รักตัวเปนอันมาก  ด้วยอำนาจพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุท  แลอำนาจพระพุทธมนต์แลศีลาทิคุณแห่งพระผู้เปนเจ้าเหล่านั้น  พอลมสลาตันพัดมาถึงเรือก็หลีกเปนช่องเลยไป  ลูกคลื่นใหญ่ ๆ มาใกล้เรือก็หายไป  พวกกัปตันแลต้นหนเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็พากันยินดี  จึงให้จดวันคืนที่เกิดลมสลาตันไว้  แลพากันสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยเปนอันมาก  แล้วพากันทำสักการบูชา

          ครั้นสำเภาไปถึงกรุงลังกาแล้ว  ราชทูตลังกาก็พากันเข้าไปกราบทูลพระเจ้ากรุงลังกาว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก  กับพระสงฆ์มาอิกหลายรูป  แล้วทูลความที่เกิดคลื่นลมร้ายแรงขึ้น  แลพระสงฆ์ได้พากันตั้งพิธีเจริญพระพุทธมนต์  แลคลื่นลมหายไป  ถวายพระเจ้ากรุงลังกาทุกประการ  พระเจ้ากรุงลังกาก็ทรงยินดีเปนอันมาก  รับสั่งให้ลาดปูพรมเจียม  แลดาดผ้าขาวตั้งแต่พระราชวัง  กระทั่งถึงท่าเรือ  ให้ประดับประดาวิจิตรงดงาม  แล้วให้แห่แหนพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก  กับพระสงฆ์ทั้งปวงเข้าไปในพระราชวัง  แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์ทั้งปวงนั่งบนอาสน์  ทรงทำปฏิสัณฐารถามถึงสุขทุกข์ไพร่บ้านพลเมืองข้างกรุงศรีอยุธยาตามพระราชประเพณี  แสดงความยินดีต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ซึ่งได้มีพระทัยเอื้อเฟื้อเปนอันมาก  แล้วให้สร้างปราสาทเชิญพระปฏิมากรแลพระไตรปิฎกประดิษฐานไว้  ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งปวงนั้น  พระเจ้ากรุงลังกาก็ให้สร้างอารามถวาย  แลทรงอุปถัมภ์ค้ำชูมิให้เดือดร้อน  ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ให้บุตรแลทาสบวชเปนภิกษุสามเณรรวม ๕๐๐ เศษ  ฝ่ายพระอุบาฬี  พระอริยมุนี  ก็ตั้งใจสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมมิได้ขาด  ครั้นนานมาเห็นว่าพระปริยัติธรรมแพร่หลาย  มีศิษย์ที่เชี่ยวชาญมากแล้ว  จึงเข้าไปถวายพระพรกับพระเจ้ากรุงลังกาว่า  จะขอถวายพระพรลากลับพระนครศรีอยุธยา  พระเจ้ากรุงลังกาก็ให้ทำการสมโภช  แล้วจัดไทยธรรมถวายเปนอันมาก  ให้พวกสำเภารับมาส่งยังกรุงศรีอยุธยา  ครั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนีมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระมหาธรรมราชา  ทูลความตั้งแต่ไปสำเภาถูกลมสลาตัน  ตลอดจนกระทั่งได้สั่งสอนให้ภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  แล้วทูลลาพระเจ้ากรุงลังกากลับ  ถวายพระมหาธรรมราชาทุกประการ  พระมหาธรรมราชาก็ทรงยินดีเปนอันมาก

          ** อันว่าลังกาทวีปหรือศรีลังกาปัจจุบันนั้น  รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งไปหลังที่ทรงอุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓  ชาวสิงหฬหรือศรีลังกาจึงได้รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทพร้อม ๆ กับชาวสุวรรณภูมิเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕  ชาวลังกานับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงตลอดมา  แม้ว่าภายในประเทศจะเกิดความวุ่นวายจากข้าศึกภายในและภายนอก  จนพระสงฆ์แตกแยกออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๒ นิกาย  คือ  นิกายมหาวิหาร  ซึ่งเป็นนิกายเดิม  กับนิกายอภัยคีรีวิหาร  ซึ่งเกิดใหม่  ต่อมานิกายอภัยคีรีวิหารจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาสู่สุวรรณภูมิ  และตั้งหลักเผยแผ่ลัทธิอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช (ตำนานไทยเรียกว่า ปาตลีบุตร)  ในราวปี พ.ศ. ๑๘๒๒  พ่อขุนรามคำแหงทรงเลื่อมใสจึงอาราธนาภิกษุนิกายนี้ขึ้นมาเผยแผ่ลัทธิพุทธศาสนาที่สุโขทัย  ในขณะเดียวกันนั้นคณะสงฆ์นิกายมหาวิหารจำนวนหนึ่งก็ไปตั้งหลักเผยแผ่ลัทธิอยู่ที่นครพัน  ในเมาะตะมะ  ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๐๔  พระยาลิไททรงอาราธนาพระสังฆราชนิกายมหาวิหารจากนครพันมาสู่สุโขทัย  เพื่อทรงพระผนวช  พระสังฆราชมาประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่ามะม่วง  แล้วกลับนครพัน  ลัทธิลังกาฝ่ายมหาวิหารจึงเผยแพร่อยู่อาณาจักรสุโขทัยแล้วแพร่สู่อาณาจักรล้านนา  นับได้ว่าพระภิกษุลังกาวงศ์เข้ามาประเทศไทยในยุคสุโขทัยรุ่งเรืองรวม ๒ ครั้ง

          อยู่มาในปี พ.ศ. ๑๙๖๗  พระเถระชาวเชียงใหม่ไม่พอใจการกระทำของพระเจ้าดิฐราชแห่งเชียงใหม่  พระเถระอันมีพระมหาธรรมคัมภีร์เป็นหัวหน้า  รวมคณะได้ ๑๘ รูป  พากันเดินทางไปลังกา  แล้วอุปสมบทแปลงใหม่ตามลัทธิลังกาวงศ์ที่ท่าน้ำยาปาปัฏฏนะ  แม่น้ำกัลยาณี  อยู่ศึกษาธรรมวินัยโดยคติลังกา  จนกระทั่งเกิดฝนแล้งข้าวแพงในลังกา  พระเถระเหล่านั้นอยู่ไม่เป็นสุข  จึงชวนกันกลับจากลังกา  โดยชวนพระเถระชาวลังกา ๒ รูป  คือ  พระมหาวิกกรมพาหุ พรรษา ๑๕  กับพระอุดมปัญญา พรรษา ๑๐ กลับมาด้วย  พร้อมกันนั้นก็มีพระภิกษุชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป  คือ  พระพรหมมุนี  กับ  พระโสมเถร  ซึ่งไปลังกา  ร่วมเดินทางกลับมาด้วย  พระสงฆ์คณะนี้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในราวปี พ.ศ.๑๙๗๒  ตำนานเมืองเหนือกล่าวว่า  เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปีนั้นได้ให้อุปสมบทกรรมกรรมแก่พระศิลวิสุทธิ์  กับพระสัทธรรมโกสิต  พระเถระชาวกรุงศรีอยุธยา  ออกพรรษาแล้วเดินทางขึ้นไปถึงศรีสัชนาลัย  ให้การอุปสมบทกรรมแก่พระพุทธสาคร  พระเถระชาวสุโขทัย  แล้วเดินทางกลับถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๙๗๓

          พระภิกษุลังกาวงศ์มาสู่กรุงศรีอยุธยาในราวปี พ.ศ.๑๙๗๒ นั้น  เป็นรัชสมัยพระเจ้าสามพระยาทรงครองกรุงศรีอยุธยา  นัยว่าพระศิลวิสุทธิ์กับพระสัทธรรมโกสิต  ที่คณะสงฆ์ลังกาอุปสมบทให้ใหม่นี้เป็นนิกายอภัยคีรีวิหาร  นิยมอยู่นอกหมู่บ้านย่านชุมชน  ซึ่งเรียกกันว่า  “พระป่า”  หรืออรัญญวาสีในปัจจุบัน  พระพนรัตน วัดป่าแก้วในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่รู้จักกันดีนั้น  เป็นผลพวงของพระภิกษุชาวอยุธยาและเชียงใหม่ร่วมกับชาวลังกานำมาประดิษฐานไว้แต่ปี พ.ศ.๑๙๗๒ นั้นเอง  พระภิกษุในลัทธิลังกาได้เจริญรุ่งเรืองในกรุงศรีอยุธยาตลอดมา  ในขณะที่ในประเทศลังกาซึ่งประสบภัยสงครามซ้ำซ้อนนั้นค่อย ๆ เสื่อมลงเป็นลำดับ  จนต้องขอภิกษุสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยพื้นฟูให้พระพุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง  พระภิกษุฝ่ายเถรวาทของลังกาทั้งสองนิกายพร้อมทั้งพระไตรปิฎก  ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองในสยามตั้งแต่กรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาช้านาน  มีโอกาสกลับสู่ลังกาอีกก็ในสมัยนี้เอง **

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่ากล่าวไม่ชัดว่าพระเจ้ากรุงลังกาส่งราชทูตมาทูลขอพระภิกษุสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาในปีใด  แต่กล่าวชัดเจนว่า ปี พ.ศ. ๒๒๗๖ (จ.ศ.๑๐๙๕) นั้นพระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) ทิวงคต  ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นพระมหาอุปราชแทน  แล้วกล่าวว่า  “คราวนั้น  กษัตริย์ซึ่งเปนเจ้ากรุงลังกาให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมาถวาย…”  อาศัยคำให้การอันไม่ชัดเจนนี้ก็พอจะระบุได้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๒๗๖ นั้น  พระเจ้ากรุงลังกามีพระราชสาส์นมาทูลขอพระภิกษุผู้ทรงความรู้ด้านปริยัติธรรมไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป

          การเดินทางไปลังกาของคณะสงฆ์ชาวกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นประสบมหาวาตภัยร้ายแรงในมหาสมุทรอินเดีย  แต่ก็รอดไปได้ด้วยพุทธานุภาพที่คณะสงฆ์นั่งแวดล้มพระพุทธปฏิมากรปางห้ามสมุทร  ทำให้ลมสลาตันไม่แผ้วพานเรือสำเภาพาหนะลำนั้น  พระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทรคือพระพุทธรูปประทับยืน  ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นในลักษณะห้าม  นักวิชาการทางพุทธศาสนาในไทยให้คำอธิบายของที่มาว่า  คราวหนึ่งชาวเมืองกบิลพัสดุ์กับเทวทหะประสบความแห้งแล้ง  ไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค  ต้องการน้ำในแม่น้ำโรหินีที่ไหลผ่านเป็นเขตแดนของเมืองทั้งสองเพื่อใช้ในการทำนาและอุปโภคบริโภค  จนเกิดการแย่งน้ำถึงขนาดใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน  พระพุทธองค์จึงทรงเสด็จไปห้ามไม่ให้พระญาติทั้งสองฝ่ายรบกัน  นี่คือที่มาของพระปางห้ามพระญาติ  หรือห้ามสมุทร

          พระสงฆ์ไทยไปลังกาครั้งนี้ได้ตั้งเป็นคณะหรือนกายสยามวงศ์  หรืออุบาลีวงศ์ในลังกา  และดำรงอยู่มาตราบเท่าวันนี้

<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 27   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.638 วินาที กับ 391 คำสั่ง
กำลังโหลด...