Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 27   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -  (อ่าน 230537 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 8 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #180 เมื่อ: 13, มีนาคม, 2562, 10:47:49 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระบรมราชานุเสาวรีย์พระเจ้าอลองพญา



<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>                   .

- กำเนิด “อลองพญา” -

ยามกรุงศรีอยุธยาไร้ข้าศึก
อยู่เป็นปึกเป็นแผ่นราษฎร์แน่นหนา
เจ้าแผ่นดินทรงคุณมากบุญญา
สร้างวัดวาอารามงามตระการ

ส่วนพม่านั้นแตกแยกเป็นก๊ก
หม่องหนึ่งหมกตัวอยู่ในหมู่บ้าน
รวมพลได้ใหญ่กล้ามิช้านาน
“อลองพญา”ประสานชาติมั่นคง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงประสบความสำเร็จในทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงลังกาแล้ว  ชาวกรุงเก่าให้การต่อไปอีกว่า

           “ต่อมาพระมหาธรรมราชาให้จัดเครื่องราชบรรณาการ  คือ  พานพระศรี  พระเต้า  พระสุวรรณภิงคาร  พระสุพรรณศรี  พระสุพรรณราช  กับผ้าแพรพรรณต่าง ๆ  แล้วให้จารึกพระราชสาส์นลงในพระสุพรรณบัตร  ให้พระทราเปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรี  แลคุมเครื่องราชบรรณาการไปยังเมืองอังวะ  พระเจ้าอังวะก็ให้ข้าราชการจัดขบวรรับทูตกรุงศรีอยุธยาโดยแข็งแรง  พระทราจึงเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น  กับเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้าอังวะ ๆ ทรงทราบพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรี  ก็ทรงยินดี  จึงให้ทูตกรุงศรีอยุธยาไปพักอยู่ที่สถานทูต  แลให้เลี้ยงดูเปนอันมาก  รุ่งขึ้นวันใหม่พระเจ้าอังวะจึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาส์น  แลจัดเครื่องราชบรรณาการ  คือ  อำพันทองก้อน  พานพระศรีขนาดน้อย  พานพระศรีขนาดใหญ่  พระเต้า  พระสุวรรณภิงคาร  พระสุพรรณศรี  พระสุพรรณราช  ก้อนดินสอแก้ว  น้ำมันดิน  ผ้าแพรพรรณต่าง ๆ  แล้วให้ทูตพม่าพาทูตไทยมาส่งยังกรุงศรีอยุธยา  แต่นั้นมา  เมืองอังวะกับกรุงศรีอยุธยาก็เปนไมตรีต่อกัน

          แลพระมหาธรรมราชานั้นมีพระราชศรัทธามาก  ให้สร้างพระอารามใหญ่ถึง ๗ พระอาราม  คือ  วัดคูหาสระ ๑   วัดกุฎีดาว ๑   วัดวรเศลา ๑   วัดราชบุรณ ๑   วัดวรโพธิ ๑   วัดพระปราง ๑   วัดปราไทย ๑   สร้างพระนอนใหญ่ขึ้นองค์ ๑  พระราชทานนามว่า  พระนอนจักรศรี  เสร็จแล้วบริจาคพระราชทรัพย์  บำเพ็ญพระราชกุศลเปนการฉลองเปนอันมาก  แลทรงพระกรุณาโปรดห้ามมิให้ใครฆ่าสัตว์ในบริเวณพระนครศรีอยุธยาข้างทิศเหนือ  ทิศใต้  ทิศตะวันตก  ทิศตะวันออก  ข้างละโยชน์ ๆ  ในกาลนั้นมีบ่อทองเกิดขึ้นที่บางตะพาน  มีผู้ร่อนทองเข้ามาถวาย  บางตะพานจึงเป็นส่วยทองแต่นั้นมา”

          * คำให้การไม่ได้ระบุว่าปีที่พระมหาธรรมราชาบรมโกศ  ส่งเครื่องบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะนั้นเป็นปีศักราชใด  ระบุแต่ว่าทรงได้ราชสมบัติต่อจากพระเจ้าภูมินทราชาแต่ปีจุลศักราช ๑๐๙๓  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๔  และปีจุลศักราช ๑๐๙๕   พระมหาอุปราชซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ทิวงคต  จึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นมหาอุปราชแทนในปีเดียวกัน  คือปี พ.ศ. ๒๒๗๖  และน่าจะเป็นปีเดียวกันนั้นที่พระเจ้ากรุงลังกาส่งราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรี  คณะพระอุบาฬีไปอยู่ลังกานานไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี  จึงกลับกรุงศรีอยุธยา  ตีเสียว่าคณะสงฆ์ไทยไปลังกาปี พ.ศ. ๒๒๗๖  อยู่ลังกา ๑๐ ปี  เดินทางกลับเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๖  ดังนั้นปีที่ทรงส่งราชทูตนำเครื่องบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะ  ควรจะเป็นปี พ.ศ. ๒๒๘๗  ถ้าถือเอาตามนี้ พระเจ้ากรุงอังวะยามนั้นคือ  พระเจ้าช้างลาย  เชื้อสายกษัตริย์พม่าที่หนีมาอยู่เมืองมอญ

          * ดูความในหนังสือประวัติศาสตร์พม่า  ฉบับ หม่อง ทินอ่อง  พบว่าในช่วงรัชสมัยของพระมหาธรรมราชานี้  ทางพม่านั้นเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก  กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๒๗๖  ซึ่งพระมหาธรรมราชาทรงครองกรุงศรีอยุธยาได้ ๒ ปี  พระมหาอุปราชทิวงคต  ทางพม่านั้นปรากฏว่าพระเจ้าตะนิงกันเรมินสวรรคต  พระโอรสได้ครองราชย์ต่อมีพระนามว่า  พระมหาธรรมราชาธิบดี  จากนั้นเกิดความวุ่นวายขึ้นทางภาคใต้  คือเมืองอังวะ พวกมอญเป็นขบถ โดยยึดเมืองอังวะได้ในปี พ.ศ.๒๒๘๖  แล้วให้พระภิกษุเชื้อสายกษัตริย์พม่าองค์หนึ่งลาสิกขาขึ้นครองกรุงอังวะในพระนามว่าพระเจ้าช้างลาย  ในรัชสมัยของพระเจ้าช้างลายไม่ปรากฏว่ามีราชทูตนำราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรีจากกรุงศรีอยุธยา  แต่ปรากฏว่า  ในปี พ.ศ. ๒๒๙๕  พญาทละ  ชาวมอญยึดอำนาจจากพระเจ้าช้างลายได้  นัยว่าพระเจ้าช้างลายหนีมาอยู่เชียงใหม่  จากนั้นเกิดการรบพุ่งช่วงชิงอำนาจกันระหว่างมอญกับพม่า  ทำให้ราชอาณาจักรมพ่าแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ  จนเกิดอัศวินม้าขาวขึ้นมาจัดการบ้านเมืองให้มีความสงบเรียบร้อยในที่สุด

          ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวว่า  ในขณะที่เกิดการแย่งชิงอำนาจกันวุ่นวายนั้น  หม่องอองไจยะ  ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏนั้นได้เก็บตัวเงียบ ๆ อยู่ที่ตำบลมุตโชโบ  ซึ่งเป็นตำบลขนาดใหญ่  และเขาได้เป็นผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้น  ต่อมาเขากลายเป็นผู้มีอำนาจกลุ่มที่สาม  เพราะได้รับการสนับสนุนจาก ๔๖ ตำบลโดยรอบ ๆ นั้น  เขาจัดการย้ายผู้คนในตำบลต่างมารวมในตำบลมุตโชโบทั้งหมดแล้วเผาทำลายตำบลเหล่านั้นเสีย  จัดตั้งค่ายในตำบลของเขาอย่างมั่นคงแข็งแรง  ต่อเมื่อกองทหารมอญยกไปเพื่อต้องการให้เขาสวามิภักดิ์  แต่เขาต่อสู้จนกองทหารมอญแตกพ่ายไป  เขาจึงประกาศตนเองเป็นกษัตริย์พระนามว่า  อลองพญา  หรือ  พระโพธิสัตว์  แล้วเปลี่ยนนามตำบลของเขาเป็น  ชเวโบ  หรือ  “ดินแดนแห่งขุนพลทอง”  จากนั้นทรงยกกองทัพออกปราบปรามเมืองต่าง ๆ จนสามารถรวบรวมเป็นพระราชอาณาจักรพม่าได้อีกครั้งหนึ่ง

          เมื่อพระเจ้าอลองพญารวบรวมตั้งอาณาจักรพม่าได้แล้ว  เจ้าเมืองเชียงใหม่เกรงพระเดชานุภาพจึงขอร้องให้พระเจ้าช้างลายออกจากเมืองเชียงใหม่  พระเจ้าช้างลายจากเชียงใหม่เข้ามาพึ่งกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแนะนำให้ขอกำลังจากจีนมาช่วย  แต่จีนไม่สนใจ  จึงกลับไปเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงสนับสนุนให้พระเจ้าช้างลายประกาศพระองค์เป็นเจ้าเมืองพะโค  และส่งหนังสือไปยังพวกมอญ  กล่าวหาว่าพญาทละเป็นกบฏ  บังเอิญจดหมายบางฉบับตกไปถึงมือพระเจ้าอลองพญา  พระองค์จึงส่งทูตไปหาเจ้าเมืองเชียงใหม่และพระเจ้าช้างลายให้สาบานว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์  และตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม  ส่วนพระเจ้าช้างลายนั้นทรงให้เกียรติจนเป็นที่พอใจ

          * ดูความทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วไม่พบว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาส่งบรรณาการเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะตามคำให้การของชาวกรุงเก่าเลย  และชาวกรุงเก่าได้ให้การเกี่ยวกับพระมหาธรรมราชาต่อไปอีกว่า

           “ พระมหาธรรมราชาพระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดซุดโซมปีละร้อย  พระราชทานผ้าไตรเพื่อกฐินกิจปีละร้อยไตร  แลพระราชานพระราชทรัพย์สำหรับมีมหรสพสมโภช พระพุทธรูป ๔ องค์  คือ  พระพุทธรูปสุรินทร์องค์ ๑  พระพุทธรูปที่เมืองนครศรีธรรมราชองค์ ๑  พระพุทธรูปที่เมืองพิษณุโลกองค์ ๑  พระพุทธรูปสำหรับกรุงศรีอยุธยาองค์ ๑   องค์ละ ๕๐ ทุก ๆ ปีมิได้ขาด พระราชทานทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทปีละร้อย  แลให้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้าทุก ๆ วันมิได้ขาด  เวลามีสุริยุปราคา  จันทรุปราคา  ก็พระราชทานเสื้อผ้า  เงินเฟื้อง  เงินสลึ ง เข้าปลาอาหาร  แก่พวกยากจกวณิพกคนเจ็บไข้แลทารกเปนต้น  ถึงเวลาเข้าพรรษาก็ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๘ ครั้ง  บรรดาพระราชวงศานุวงศ์แลมหาดเล็กทั้งปวงนั้น  เมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว  ก็ทรงเปนพระธุระในการจัดให้อุปสมบท  ถ้ายังมิอปุสมบทแล้วก็ยังไม่ให้รับราชการ

          ต่อมาพระมหาธรรมราชาทรงพระดำริห์ว่า  พระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตนั้น  มีวัดวาอารามที่พระมหากษัตริย์แต่ก่อนให้สร้างให้สร้างขึ้น  ชำรุดซุดโซมมาก  จึงให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งสิ้น  แลมณฑปพระพุทธบาทนั้นให้ลงรักปิดทอง  ข้างในมณฑปให้แผ่เงินปูเต็มตลอดพื้น  ฝาผนังให้ประดับกระจกงดงาม  บนเพดานแลขื่อนั้นให้ลงรักปิดทองฉลุเปนกนกช่อห้อย  แขวนโคมแก้วระย้าสีต่าง ๆ  ที่รอยพระพุทธบาทนั้นให้บุทองคำเปนลายบัวหงายประดับรอย  แล้วให้เอาทองคำมาจำลองเปนรอยพระพุทธบาทประดับพลอยทับทิมสวมครอบลงข้างบนพระพุทธบาท  ประตูสำหรับเข้าออกนั้นให้ประดับด้วยมุกด์เปนลวดลาย  กันสาดรอบมณฑปนั้นให้มุงกระเบื้องแล้วด้วยดีบุกทั้งสิ้น  ตามลวดลายมณฑปนั้นให้ลงรักปิดทองเปนพื้น  ระเบียงรอบมณฑปแลพื้นระเบียงให้ประดับปูลาดด้วยอิฐดีบุกทั้งสิ้น  แล้วให้ก่อพระเจดีย์ศิลาอ่อนสูงประมาณ ๒ ศอก  ห่างกันประมาณคืบ ๑  หรือกำมา ๑  รอบกำแพงแก้ว  แล้วให้ก่อกำแพงแก้วด้วยอิฐดีบุกรอบลานพระพุทธบาท  มีด้านกว้างแลด้านยาวพ้นออกไปจากมณฑปด้านละ ๒๐ วา  แล้งลงรักปิดทองทำเปนกอบัว  ใบบัว  ดอกบัว  บุทองแดงประดับลงรักปิดทองพาดตามกำแพงรอบ  แล้วขุดอุโมงค์ในกำแพงแก้วกว้างยาว ๑๕ วา ๑ ศอกเท่ากัน  แล้วก่อด้วยอิฐ  สร้างพระพุทธรูปประดับมุกด์ไว้องค์ ๑  แลก่อตึกภัณฑาคารสำหรับเก็บสิ่งของที่คนนำมาบูพระพุทธบาท  จัดให้มีเจ้าพนักงารรักษา  เกณฑ์ให้ราษฎรตำบลบ้านขุนโขลนเปนส่วยขี้ผึ้งน้ำมันสำหรับจุดบูชาพระพุทธบาท  แลให้สร้างบันไดที่จะขึ้นลงทางทิศใต้ทาง ๑  ทิศตะวันตกทาง ๑  ที่เชิงเขาพระพุทธบาทนั้นให้สร้างอารามขึ้นอาราม ๑  ให้พระครูมหามงคลเทพมุนี ๑  พระครูรองพระวินัย ๑  อยู่ประจำรักษาพระอาราม  แลตั้งให้เจ้าพนักงารรักษาพระอารามส่งของฉัน  ดูแลซ่อมแซมมิให้ชำรุดซุดโซมได้  เวลาเดือน ๔ พระมหาธรรมราชาเสด็จไปนมัสการกับด้วยพระราชวงศ์แลเสนาข้าราชการเปนอันมากทุก ๆ ปี  ประทับอยู่ที่พระพุทธบาท ๗ ราตรี  ให้มีมหรสพสมโภชแลทรงบริจาค เสื้อ  ผ้า  เงินบาท  เงินสลึง  เงินเฟื้อง  เข้าปลาอาหารพระราชทานแก่ยาจกวณิพกถ้วนทั้ง ๗ วัน  แล้วจึงเสด็จกลับ  ดังนี้มิได้ขาด”

          * ดูรายการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทตามคำให้การชาวกรุงเก่าแล้ว  มองเห็นภาพความอลังการของมณฑปพระพุทธบาท  งดงามดังเทพวิษณุกรรมลงมาเนรมิตทีเดียว  ก่อนนี้เรารู้กันมาว่า  พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำ  โดยเสด็จเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปถึงท่าเรือแล้วเสด็จโดยสถลมารคต่อจนถึงพระพุทธบาท  ทรงประทับแรมที่พระพุทธบาทแล้วจัดงานสมโภช  ในการสมโภชนั้นมีการเล่นพลุไฟไทย  ดังความที่พระมหานาควัดท่าทราย เขียนบรรยายไว้ในบุญโญวาทคำฉันท์  เรื่องที่พระมหาธรรมราชา  หรือพระบรมราชา  คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐพระองค์นี้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทในเดือน ๔ และประทับแรม ๗ ราตรี  เป็นประจำทุกปีมิได้ขาดนี้  เป็นเรื่องที่เราไม่ทราบมาก่อน  การจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาท ณ สุวรรณบรรพต (ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองจังหวัดสระบุรี)  ปัจจุบันมีเป็นประจำทุกกลางเดือน ๓ และ กลางเดือน ๔  นัยว่าพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการในกลางเดือน ๓  ตกมาถึงพระมหาธรรมราชานี้  พระองค์เสด็จไปนมัสการทุกกลางเดือน ๔  จึงเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #181 เมื่อ: 14, มีนาคม, 2562, 10:28:11 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระบรมราชานุเสาวรีย์พระเจ้าอลองพญา

- เรื่องพระเจ้าช้างลาย -

ครัวชาวมอญเมาะตะมะมาขอพึ่ง
บอกเล่าถึงเรื่องร้ายไม่ประสงค์
ด้วยพม่าไร่ผลาญมอญรานลง
จึงเหล่าหงส์“ปีกหัก”คลานจากรัง

บอกเรื่องราว“สมิงทอ”ให้พอรู้
เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ใช้มนต์ขลัง
ถูกพ่อตาขับไล่ให้เซซัง
มาถูกขังคุกไทยไม่ทุกข์เลย


          อภิปราย ขยายความ..........

          จบเรื่องพระพุทธบาท  ชาวกรุงเก่าได้ให้การต่อไปอีกว่า

           “ ต่อแต่พระพุทธบาทไปทางลำน้ำทิศเหนือมีภูเขาอยู่แห่ง ๑ ชื่อเขาปถวี  เขาปถวีนั้นมีเพิงผาชะโงกเงื้อมออกไปเหมือนงูแผ่แม่เบี้ย  ในเงื้อมเขานั้นมีพระฉายหันพระพักตร์ไปข้างบุรพาปรากฏอยู่  สีผ้าทรงพระฉายนั้นยังสดใสอยู่มิได้เศร้าหมอง  ที่พระฉายนั้นไม่มีมณฑปที่จะกันแดดแลฝน  เพราะว่าฝนตกไม่ถูก  น้ำฝนไหลอ้อมไปทางอื่น  พระมหากษัตริย์แต่โบราณได้สร้างมณฑปขึ้นหลายครั้งก็หาคงอยู่ไม่  มีคำเล่ากันว่าพระอินทร์แลเทวดามาทำลายเสีย  สร้างได้แต่ศาลาสำหรับคนขึ้นไปนมัสการพักอาศรัย  กับบันไดสำหรับขึ้นลงเท่านั้น  เมื่อถึงฤดูเดือน ๔ พระมหากษัตริย์แต่ก่อน ๆ ย่อมพาราชบริพารเสด็จขึ้นไปนมัสการ  มีการสมโภชแลบำเพ็ญพระราชกุศลเสมอ ๆ เปนประเพณี  พระมหาธรรมราชานี้ก็เสด็จไปนมัสการอยู่เสมอ ๆ เหมือนกัน “

          ในรัชกาลพระเจ้ามหาธรรมราชานี้มีความเกี่ยวกับมอญที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง  ชาวกรุงเก่ามิได้ให้การไว้  แต่ขุนหลวงหาวัดซึ่งเรียกพระนามพระมหาธรรมราชาว่าพระบรมราชา  ได้ให้การไว้อย่างละเอียด  เป็นเรื่องที่น่าฟังไม่น้อยจึงใคร่ขอยกคำให้การนั้นมาแสดงดังต่อไปนี้

           “ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลศักราช ๑๑๑๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๒๙๑)  จึงมีสมิงทอคนหนึ่งเป็นชาติกวย  มีบุญญาธิการยิ่งนัก  ได้ราชสมบัติในกรุงหงสาวดี  จึงคิดอ่านให้อำมาตย์มาทูลขอพระราชธิดาเมืองกรุงศรีอยุธยา  ครั้นพระบรมราชาแจ้งเหตุทรงพระโกรธ  จึงตรัสว่า  มันเป็นแต่ชาติกวย  มันมาขอลูกสาวกู  ครั้นทรงพระโกรธดังนั้นแล้วก็มิได้ว่าขานประการใด

          อยู่มาในปีเดียวกันนั้น  “เจ้าเมืองมัตตะมะทั้งผัวเมีย  กับผู้คนบ่าวไพร่ทั้งปวงเป็นอันมาก  ทั้งเจ้าเมืองทวายด้วยกัน  ทั้งบ่าวไพร่ผู้คน  หนีมาจากเมืองมัตตะมะและเมืองทวาย  เข้ามาในแดนกรุงศรีอยุธยา ข้างด่านทางพระเจดีย์สามองค์  นายด่านชื่อขุนนรา  ขุนละคร  จึ่งพาเอาตัวเจ้าเมืองมัตตะมะเจ้าเมืองทวาย  ทั้งสองนายเข้ามาแจ้งกับเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์  เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ซักไซ้ไถ่ถามจึงแจ้งความว่า

          ตัวข้าพเจ้าเป็นเจ้าเมืองมัตตะมะนี้  ชื่อแมงนราจอสู  เมียชื่อนางแมงสัน  เป็นมอญ  เรียกชื่อภาษามอญนั้นนายเม้ยมิฉาน  อันเจ้าเมืองทวายนั้นชื่อ  แมงแลกแอซอยคอง  หนีมาจากเมืองทวายและเมืองมัตตะมะ  จะมาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ตัวข้าพเจ้า  ผัวเมียกับผู้คนสมกำลังบ่าวไพร่ทั้งปวงด้วยกันทั้งสิ้น  จักขอเข้ามาอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  อันเจ้าเมืองทวายก็ให้การตามความที่มีมาทั้งสิ้น  แล้วให้การว่า  พระเจ้าอังวะตั้งให้ข้าพเจ้ามาเป็นเจ้าเมืองมัตตะมะ  เป็นผู้รักษาแดนมัตตะมะและแดนทวาย  บัดนี้มอญชื่อพระยากรมช้าง  พระเจ้าอังวะตั้งลงมาให้เป็นเจ้าเมืองหงสาวดี  คิดกบฏต่อพระเจ้าอังวะ  แล้วต่อสู้รบกันเป็นอันมาก  ข้าพเจ้าจะยกทัพไปช่วยพระเจ้าอังวะ  จึงเกณฑ์ผู้คนเมืองมัตตะมะ  ขุนนางเมืองมัตตะมะจึ่งเป็นกบฏแล้วไล่จับตัวข้าพเจ้าจักฆ่าเสีย  ข้าพเจ้าจึงหนีมาเข้าแดนเมืองทวาย  จึงพบเจ้าเมืองทวายเข้าที่เมืองกะลิอ่อง  ข้าพเจ้ากับเจ้าเมืองทวายจึ่งคิดอ่านกันแล้วก็เกณฑ์ผู้คนชาวเมืองกะลิอ่องจะขึ้นไปช่วยเจ้าอังวะ  ชาวเมืองกะลิอ่องจึงแข็งเมืองเอา  แล้วไล่ข้าพเจ้าจักฆ่าเสีย  ข้าพเจ้าจึงหนีเข้ามาพึ่งโพธิสมภาร  จักอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไปจนตราบวันตาย  แล้วแมงนราจอสูให้การว่า  ข้าพเจ้าไปเรียกสมิงทอนั้น ๆ ว่าขานท้าทายมาดั่งนี้  ฝ่ายพระยากรมช้างคิดครั่นคร้ามกลัวทางสมิงทอจะขึ้นมา  จึงให้ไปปลอบโยนแต่โดยดี  แล้วจึงเอานางกุ้งผู้เป็นลูกสาวนั้นยกให้เป็นเมีย  แล้วจึงมอบราชสมบัติให้แก่สมิงทอ  พระยากรมช้างจึงทำการราชาภิเษกให้สมิงทอครอบครองกรุงหงสาวดี  ในปีนั้นจึงตั้งนางกุ้งให้เป็นที่มเหสี  ครั้นสมิงทอได้ครองเมืองหงสาวดีก็มีบุญญาธิการยิ่งนัก  จึงได้ช้างด่างกระดำตัวหนึ่ง  จึ่งให้ชื่อรัตนาฉัททันต์  ครั้นอยู่มาสมิงทอจึงให้ราชสาส์นไปถึงพระเจ้าหงส์ดำ  อันเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่นั้นก็กลัวบุญญาอานุภาพสมิงทอ  จึงยกลูกสาวอันชื่อนางเทพลิลานั้นให้เป็นเมียสมิงทอ  สมิงทอจึงตั้งนางเทพลิลาอันเป็นลูกสาวพระเจ้าเชียงใหม่นั้นให้เป็นที่มเหสี  อันนางกุ้งลูกสาวพระยากรมช้างนั้นให้เป็นที่มเหสีขวา  อันสมิงทอนั้นรักใคร่ลุ่มหลงไปแต่ฝ่ายนางเทพลิลามิได้ทำนุบำรุงนางกุ้งที่เป็นมเหสีขวา  ฝ่ายพระยากรมช้างผู้เป็นพ่อตานั้นก็น้อยใจว่าสมิงทอนี้ไม่รักใคร่ลูกสาว  จึงคิดอ่านทำการทั้งปวง  ครั้นอยู่มาพระยากรมช้างจึงบอกข่าวช้างเผือกว่า  มีช้างเผือกผู้ตัวหนึ่งอยู่ในป่าแดนเมืองตองอู  มีรูปอันงามยิ่งนัก  สมิงทอครั้นแจ้งข่าวช้างเผือกจึ่งยกทัพไปตามช้างเผือกที่ในป่า  ครั้นสมิงทอไปตามช้างเผือก  พระยากรมช้างจึงซ่องสุมผู้คนแล้วจึ่งปิดประตูเมืองให้ขึ้นหน้าที่เชิงเทินจึ่งเกณฑ์ทัพแล้วยกไปรบพุ่งสมิงทอ  สมิงทอนั้นสู้รบต้านทานพระยากรมช้างมิได้  จึงพาเอานางเทพลิลาผู้เป็นมเหสีนั้นไปส่งเสียเชียงใหม่  แล้วจึ่งยกทัพกลับมาสู้รบกันกับพระยากรมช้าง  สมิงทอรบพุ่งต้านทานพระยากรมช้างมิได้ก็แตกหนี  จึงเข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

          ครั้นแมงนราจอสูในการให้การดังนั้น  เจ้าพระยาพระหลวงจดหมายเอาคำที่ให้การนั้นเข้าไปทูลฉลองกับพระบรมราชา  ครั้นทราบจึงตรัสว่า  อ้ายสมิงทอนี้มันเป็นชาติกวย  เมื่อครั้งมันได้นั่งเมืองหงสานั้น มันให้มาขอลูกสาวเรา  ใจมันกำเริบ  มันไม่คิดถึงตัวมันว่าใช่เชื้อกษัตริย์  มันจองหองมาขอลูกสาวเรา  จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เอาตัวใส่คุกไว้  แล้วให้จำจองตัวมันไว้  เจ้าพระยากรมท่าจึงเอาตัวสมิงทอนั้นมาใส่คุกไว้  แล้วจำจองไว้ตามรับสั่ง  อันสมิงทอนั้นเป็นคนดีมีความรู้ฝ่ายข้างวิปัสสนาธุระแผ่เมตตาดีนัก  ผลที่สมิงทอแผ่เมตตานั้น  อันผู้คุมและนายคุกก็มีเมตตาแล้วมิได้จำจอง  ก็ลดลาไว้ให้อยู่ดี ๆ  แล้วเลี้ยงดูให้กินอยู่ก็บริบูรณ์มิได้ลำบากยากใจ  ครั้นกิตติศัพท์นั้นรู้ไปถึงเจ้ากรมหมื่นจิตรสุนทรผู้เป็นราชบุตร  ว่าสมิงทอนี้เป็นคนดีมีวิชาความรู้ดียิ่งนัก  จึงมาเรียนความรู้แล้วจึงทำนุบำรุงเลี้ยงดูให้กินอยู่มิให้อนาทรร้อนใจ  แล้วจึ่งทูลเบี่ยงบ่ายแก้ไขให้สมิงทอได้ออกจากคุก  ครั้นอยู่มาพระยากรมช้างซึ่งเป็นเจ้าเมืองหงสาวดีรู้ไปว่า  สมิงทอหนีเข้าไปอยู่ในเมืองกรุงศรีอยุธยา  จึ่งให้เสนาถือหนังสือเข้ามากราบทูลกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาว่า  อย่าให้กรุงศรีอยุธยารับตัวสมิงทอไว้  มันเป็นคนไม่ตรง  อกตัญญู  ให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาส่งตัวมันมาจะฆ่ามันเสีย  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็มิได้ส่งตัวสมิงทอไป  จึงฝากสำเภาจีนส่งไปเสียเมืองจีนเมื่อครั้งจุลศักราช ๑๑๑๘ (พ.ศ. ๒๒๙๙) ปีชวด  อัฐศก  เมื่อพระบรมราชาใกล้สวรรคต  ส่วนสำเภาจีนรับเอาตัวสมิงทอไปสำเภาแล้ว  จึงปล่อยเสียกลางทาง  แล้วสมิงทอจึ่งตรงไปเข้าแดนเมืองเชียงใหม่  ไปหานางเทพลิลาอันเป็นลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นบิดา  แล้วจึงให้ทูลขอกองทัพจักไปรบเมืองหงสา  พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็มิได้เกณฑ์ทัพตามใจนางเทพลิลาทูลขอ  ครั้นสมิงทอให้นางเทพลิลาทูลขอกองทัพไม่ได้ดั่งใจ  จึงลักเอานางเทพลิลาได้แล้วก็พาหนีจากเมืองเชียงใหม่  กับผู้คนสมกำลังเป็นอันมาก  ครั้นมาถึงกลางทางจึงพบมางลอง (อลองพญา) ยกทัพออกไปรบเมืองหงสา  มางลองจึงจับเอาตัวสมิงทอได้แล้วก็ส่งขึ้นไปเมืองอังวะ  ครั้นมางลองได้เมืองหงสาแล้ว  มางลองจึงยกทัพมารบกรุงไทย  เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๑๒๒  ปีมะโรง  โทศก (พ.ศ.๒๓๐๓)”

          ทั้งขุนหลวงหาวัด  และ ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวถึงพระเจ้าช้างลาย  หรือ  สมิงทอ  พาดพิงถึงเชียงใหม่  ดังนั้นจึงต้องตามไปดูความในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์  ว่าในตำนานเชียงใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บ้างหรือไม่  ก็พบความสั้น ๆ กล่าวไว้ว่าดังนี้

           “ลุศักราช ๑๑๐๗ ปีฉลู  สัปตศก  สมิงทอได้นั่งเมืองหงสาวดีมีราชสาส์นมาขอนางอิ้งทิพ  ธิดาเจ้าเจ้าองค์คำผู้ครองเมืองนครเชียงใหม่  เจ้าองค์คำก็ส่งราชธิดาไปกรุงหงสาวดี  ครั้นถึงศักราช ๑๑๐๘  ปีขาล  อัฐศก  สมิงทอเสียเมืองหงสาวดี  จึงพานางอิ้งทิพกลับมาส่งคืนเจ้าองค์คำผู้บิดาเมืองเชียงใหม่  แล้วสมิงทอกลับไปตีกรุงหงสาวดีคืนมิได้  ก็หนีไปกรุงศรีอยุธยา”

          จึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่าเรื่องของสมิงทอเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง  แม้ในพระราชพงศาวดารสยามเล่ม ๒ ก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้  ในแต่ละแห่งจะผิดเพียนกันไปบ้าง  เช่นชื่อสมิงทอ  ทางอยุธยาและล้านนาตรงกัน  แต่ทางพม่าเรียกว่า  พระเจ้าช้างลาย  นามพระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่  ขุนหลวงหาวัดเรียกว่านางเทพลิลา  ทางล้านนาเรียกนางอิ้งทิพ  ส่วนปีศักราชนั้น ทางอยุธยาเชื่อถือได้  แต่ทางล้านนาคลาดเคลื่อนไปมาก  จากเรื่องในตำนานเชียงใหม่ทำให้ทราบได้ว่า  สมิงทอมิใช่แต่จะส่งสาส์นไปขอพระราชธิดาพระเจ้ามหาธรรมราชาเท่านั้น  เขายังส่งสาส์นไปขอธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่องค์นี้ขุนหลวงหาวัดเรียกว่า  พระเจ้าหงส์ดำ  แต่ตำนานเชียงใหม่เรียกว่า  เจ้าองค์คำ  และยังได้บอกเล่าที่มาของพระเจ้าองค์คำไว้ด้วยว่า  เนื่องมาจากในปีจุลศักราช ๑๐๘๙  ชาวเชียงใหม่คิดขบถต่อพม่าจึงรวบรวมกำลังขึ้นโดยมี  เทพสิงห์  ชาวเมืองยวมเป็นหัวหน้า  เทพสิงห์ขึ้นนั่งเมืองอยู่ได้ไม่นานก็มีหนังสือประกาศให้จับพม่ารามัญในตำบลต่าง ๆ ฆ่าเสียให้สิ้น  บรรดาพม่ารามัญทั้งหลายจึงรวมตัวกันได้ ๓๐๐ คน  คบคิดกับเจ้าองค์นกเชื้อสายเจ้าลาวล้านช้างซึ่งมาบวชเป็นภิกษุอยู่ ณ วัดบุปผาราม  เมืองเชียงใหม่  เจ้าองค์นกลาสิกขาออกมาร่วมกองกำลังเข้ายึดเมืองเชียงใหม่  เทพสิงห์สู้ไม่ได้ก็หนีไปทางเมืองน่าน  เมื่อยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้วกองกำลังนั้นก็ยกเจ้าองค์นกขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่  ถวายพระนามว่า  เจ้าองค์คำ  ในพงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าเจ้าองค์นกเป็นบุตรเจ้าอินทกุมาร  เป็นเชื้อเจ้าลื้อเมืองศรีฟ้า  ภายหลังไปร่วมคิดด้วยเจ้าองค์เอก  เจ้าอินทโฉม  เพื่อจะทำการขบถต่อเจ้ากิงกิจพระเจ้าร่มขาวเมืองหลวงพระบาง  ทำการมิสำเร็จจึงหนีไปเมืองพาน  แล้วเลยไปบวชอยู่เมืองเชียงใหม่  และสึกออกมายึดครองเชียงใหม่  ได้เป็นพระเจ้าองค์คำในที่สุด  ตำนานเชียงใหม่ไม่กล่าวถึงสมิงทอว่าเมื่อพ้นโทษจากกรุงศรีอยุธยาแล้วกลับไปขอกำลังจากเชียงใหม่ไปตีหงสาวดี  แสดงว่าทางล้านนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสมิงทอมากนัก

          ชาวกรุงเก่าไม่ได้บอกปีศักราชที่พระเจ้ามหาธรรมราชาสวรรคต  แต่ขุนหลวงหาวัดระบุวันเดือนปีสวรรคตของพระองค์ไว้ชัดเจน  นั่นคือจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขาล  สัมฤทธิศก  เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ  วันพุธ  เพลาได้ยามเศษ  ครั้งได้ราชสมบัติปีจุลศักราช ๑๐๙๓  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๔  นั้นมีพระชนมายุได้ ๕๑ พรรษา  ครองราชย์อยู่ ๒๗ ปี  ถึงปีจุลศักราช ๑๑๒๐ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๐๑   จึงเสด็จสวรรคต  สิริพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา  และเมื่อสวรรคตแล้วจึงได้รับการถวายพระนามว่า  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสืบมา.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, เนิน จำราย

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #182 เมื่อ: 15, มีนาคม, 2562, 10:17:00 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- เรื่องราวเจ้าฟ้ากุ้ง -

“เจ้าฟ้ากุ้ง”มหาอุปราช
ทรงเป็นปราชญ์งานกวีมีเปิดเผย
โคลงห่อกาพย์กาพย์ห่อโคลงคำคุ้นเคย
น่าชมเชยลิลิพระมาลัย

บท “เห่เรือ”ไพเราะไม่เคยมี
“เห่กากี”เลิศล้ำค่าคำไข
นิราศธารโศกธารทองแดงทางไกล
ประทับใจผู้อ่านยาวนานมา....


          อภิปราย ขยายความ .....................

          ย้อนกลับมายังเรื่องราวของเจ้าฟ้านราธิเบศร์ (ที่พระมหาธรรมราชาแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราช) ที่เคยติดไว้ก่อนหน้านี้  ซึ่งคนไทยในปัจจุบันเรียกนามพระองค์ว่า  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  หรือเจ้าฟ้ากุ้ง  นักกวียอดเยี่ยมในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ขุนหลวงหาวัดผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดามิได้ให้การรายละเอียดของพระองค์ไว้  แต่มีเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ในพงศาวดารและตำนานอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้  เพราะมีพยานหลักฐานที่สำคัญคือ  พระนิพนธ์อย่างน้อย ๗ เรื่อง  ได้แก่  บทเห่เรือ คลิก ๔ บท    บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน คลิก    บทเห่สังวาส และเห่ครวญ คลิก  อย่างละบท   กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก   กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง   ลิลิตนันโทปนันทสูตรคำหลวง   ลิลิตพระมาลัยคำหลวง  และ เพลงยาว คลิก  เป็นต้น

          เฉพาะกาพย์เห่เรือ คลิกนั้น  ถือเป็นต้นแบบในการเห่เรือขบวนเสด็จพระยุหยาตราทางชลมารคสืบมาจนทุกวันนี้  พระราชประวัติของพระองค์นั้น  นายธนิต อยู่โพธิ์  อธิบดีกรมศิลปากร (ในขณะเรียบเรียงเรื่อง) ได้รวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวของพระองค์ไว้ว่า

           “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ไชยเชษฐสุริยวงศ์  มีพระนามเดิมเรียกกันเป็นสามัญว่า  เจ้าฟ้ากุ้ง  เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พระมหาธรรมราชา)  และสมเด็จพระพันวัสสาใหญ่ซึ่งโปรดให้สถาปนาเป็นกรมหลวงอภัยนุชิตเป็นพระมารดา  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงมีพระภคินีร่วมพระชนนีอีก ๖ พระองค์  คือเจ้าฟ้าหญิงบรม (กรมขุนเสนีนุรักษ์) ๑   เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๑   เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๑   เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์ ๑  เจ้าฟ้าหญิงสุริยา ๑   เจ้าฟ้าหญิงนุ่ม หรืออินทสุดาวดี ๑   และทรงมีพระเจ้าน้องยาและน้องนางต่างพระชนนีอีกหลายพระองค์  เมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้เสวยราชย์แล้ว  โปรดให้สถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมมีพระนามว่า  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ไชยเชษฐสุริยวงศ์ กรมขุนเสนาพิทักษ์  เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖“

          ชาวกรุงเก่าให้การว่าปี ปีจุลศักราช ๑๐๙๕  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๖ นั้น  เป็นปีที่พระมหาอุปราชทิวงคต  ไม่ใช่ปีที่พระองค์ได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรมที่กรมขุนเสนาพิทักษ์  ตามความที่นายธนิต อยู่โพธิ์ ระบุข้างต้น  ดังนั้นตัวเลขศักราชในพงศาวดารกับคำให้การชาวกรุงเก่าจึงค้านกัน  และพระนามที่คนไทยปัจจุบันมักเรียกพระองค์ว่า  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ  นั้นก็น่าจะผิดพลาด  เพราะพระนามในบทกวีของพระองค์ตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์  คัดลอกมาแสดงนั้น  ต้องอ่านออกเสียงว่า  “เจ้าฟ้าทำมะทิเบด  ไม่ใช่  เจ้าฟ้าทำมาทิเบด  แต่ขุนหลวงหาวัดพระอนุชาต่างพระมารดาของพระมหาอุปราชเรียกพระนามเดิมตรงกันกับชาวกรุงเก่าว่า  เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์  ซึ่งแปลได้ว่า  “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน”  เป็นคนละความหมายของ  “ธรรมธิเบศ”  ซึ่งอาจแปลได้ว่า  “เป็นใหญ่ในธรรม” (หรือ ถือธรรมเป็นใหญ่)  แต่เมื่อพระนาม  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ไชยเชษฐสุริยวงศ์  ปรากฏชัดเจนอยู่ในบทกวีของพระองค์  จึงเป็นที่ยุติได้ว่าพระนามเดิมของพระองค์ คือ  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  ไม่ใช่ธรรมาธิเบศ  ตามที่ผู้อยู่ในแวดวงกวีไทยปัจจุบันเรียกกัน

          เรื่องราวของเจ้าฟ้ามหากวีผู้นี้  นายธนิต อยู่โพธิ์  ได้ค้นว้ารวบรวมมาเรียบเรียงไว้โดยพิสดารและตื่นเต้นเร้าใจ  ในที่นี้จะขอนำเฉพาะที่เป็นเนื้อหาใจความสำคัญมาแสดงให้ทราบพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้


           “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  ทรงเป็นกวีเอกองค์หนึ่งของไทย  ทรงนิพนธ์บทร้อยกรองประเภท  โคลงห่อกาพย์  และกาพย์ห่อโคลงที่ไพเราะไว้หลายเรื่อง  เฉพาะโคลงห่อกาพย์ยานีชื่อ  บทเห่เรือ ๔ บท  ของพระองค์นั้น  ถือเป็นฉบับครูที่คนไทยนิยมชมชอบมากที่สุด  ในบทแรกชื่อเห่ชมเรือกระบวรความว่า

                         “ปางเสด็จประเวศด้าว         ชลาไลย
                    ทรงรัตนพิมานชัย                      กิ่งแก้ว
                    พรั่งพร้อมพวกพลไกร                แหนแห่
                    เรือกระบวรต้นแพร้ว                  เพริศพริ้งพายทองฯ

                    พระเสด็จโดยแดนชล                ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
                    กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย             พายอ่อนหยับจับงามงอนฯ”

ส่วนกาพย์ห่อโคลงนั้นทรงนิพนธ์เป็นนิราศ  เช่นบทเริ่มต้นในนิราศธารโศกว่า

                     “สองชมสองสมพาส                 สองสุดสวาทสองเรียงสอง
                    สองกรสองตระกอง                   สองคลึงเคล้าเฝ้าชมกันฯ

                        สองชมสมพาสสร้อย              ศรีสมร
                    สองสมพาสสองเสมอนอน          ครุ่นเคล้า
                    สองกรก่ายสองกร                       รีบรอบ
                    สองนิทร์สองเสน่ห์หน้า               แนบน้องชมเชยฯ”

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงมีเจ้าฟ้าชาย  “ลูกพี่ลูกน้อง”  ที่สำคัญอยู่พระองค์หนึ่ง  คือเจ้าฟ้านเรนทร์  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  พระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พระมหาธรรมราชา)  เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าบรมโกศมาก  พระองค์ออกทรงผนวชเป็นภิกษุโดยไม่ใยดีในฆราวาสวิสัย  ในคราวที่พระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรหนัก  จึงโปรดมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย  พระเจ้าบรมโกศซึ่งดำรงตำแหน่งมหาอุปราชอยู่ในขณะนั้นไม่พอพระทัย  และตรัสว่า  ถ้าโปรดมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าเนรนทร์  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  จึงจะยอมถวาย  ดังนั้นจึงเกิดการรบพุ่งกันกับเจ้าฟ้าอภัยในกาลที่พระเจ้าท้ายสระสวรรคต   และผลจบลงด้วยพระเจ้าบรมโกศชนะ  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระองค์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์มิได้สนพระทัยในเรื่องอำนาจ  ยังคงครองบรรพชิตเพศ อยู่ที่วัดยอดเกาะ  มิได้ลาผนวช  แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  กลับทรงคิดเห็นไปว่า  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จะเป็นศัตรูราชสมบัติ  จึงคิดหาทางกำจัดเสียตลอดมา

          ในปี พ.ศ. ๒๒๗๘  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ทรงพระประชวรและประทับอยู่ในพระราชวัง  เจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ได้เสด็จเข้ามาประทับ ณ วัดโคกแสงภายในพระนครศรีอยุธยา  และเสด็จเข้าเยี่ยมพระอาการประชวรอยู่เนือง ๆ  เป็นเหตุให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  เพิ่มความรู้สึกว่ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เป็นศัตรูต่อราชสมบัติของพระองค์มากขึ้น  จึงหาทางกำจัดเสีย  คืนวันหนึ่งได้ใช้ให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด  พระธิดาของพระองค์เอง  ไปทูลลวงเจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จากวัดโคกแสงให้เข้าเยี่ยมพระอาการประชวรของพระเจ้าแผ่นดิน  โดยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงพระแสงดาบแอบพระทวารคอยทีอยู่  ครั้นเจ้าฟ้าพระฯ เสด็จผ่านพระทวารเข้ามา  ก็จ้วงฟันด้วยพระแสงดาบนั้น  แต่ฟันไม่เข้า  เพียงจีวรขาดไปเท่านั้น  คงเป็นเพราะเจ้าฟ้าพระ ฯ มีความอยู่ยงคงกระพันกระมัง  แม้จะถูกฟันด้วยพระแสงดาบ  เจ้าฟ้าพระฯ ก็มิได้สะทกสะท้าน  ทรงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระอาการประชวรพระเจ้าแผ่นดินเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทอดพระเนตรเห็นจีวรเจ้าฟ้าพระฯ ขาดไป  จึงตรัสถามว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ  เจ้าฟ้าพระฯ ถวายพระพรว่า  ไม่มีอะไรหรอก  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศหยอกล้อเล่นเท่านั้นเอง  พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแก่พระทัยของพระองค์แล้วทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าธรรมธิเบศเป็นอย่างมาก  เมื่อเจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลากลับไปแล้ว  จึงมีพระราชโองการตรัสให้ค้นหาตัวเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  เพื่อจะลงราชอาชญา  แต่ค้นหาตัวในวังไม่พบ  ได้แต่ตัวพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด  สอบถามได้ความจริงแล้วจึงให้เอาตัวทั้งสองนางไปสำเร็จโทษเสีย  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศนั้นกลัวพระราชอาชญาเป็นอย่างยิ่งจึงเสด็จหนีไปยังพระตำหนักพระชนนี  กรมหลวงอภัยนุชิตทราบเรื่องก็ตกพระทัยเป็นอย่างมาก  จึงรีบเสด็จไปเฝ้าเจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ไข  เจ้าฟ้าพระฯจึงแนะนำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงผนวชเสีย  พระเจ้าอยู่หัวคงไม่กล้าทำอะไรแก่ผู้ที่อยู่ในสมณะเพศเป็นแน่  กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไปทรงผนวช ณ วัดโคกแสง  เมื่อผนวชแล้วได้ฉายาว่า  “สิริปาโล”  ผ้ากาสาวพัสตร์จึงช่วยให้รอดพ้นจากพระราชอาชญาไปได้

          ในขณะบวชอยู่ที่วัดโคกแสงนี้  เจ้าฟ้าพระธรรมธิเบศ สิริปาโล  ได้ทรงนิพนธ์วรรณคดีทางพระพุทธศาสนาขึ้น ๒ เรื่อง  คือ  ในปี พ.ศ. ๒๒๗๙  นิพนธ์นันโทปนันทสูตรคำหลวง เรื่อง ๑   พ.ศ. ๒๒๘๐ นิพนธ์มาลัยสูตรคำหลวง อีกเรื่อง ๑   และในปลายปี ๒๒๘๐ นั้น  กรมหลวงอภัยนุชิตทรงประชวรอย่างหนัก  จึงกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวขออภัยโทษให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดพระราชทานตามที่ขอ  พร้อมกันนั้นกรมหลวงอภัยนุชิตก็สิ้นพระชนม์ลง  เจ้าฟ้าพระธรรมธิเบศเมื่อทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษให้แล้วก็ทรงลาผนวชเสด็จเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือนอย่างกาลก่อน

          อีก ๔ ปี ต่อมา  คือใน พ.ศ. ๒๒๘๔ พระราชโกษา (ปาน)  ได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงตรัสให้ประชุมเสนาบดี  เมื่อที่ประชุมปรึกษาเห็นชอบแล้วจึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก  สถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  และโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้าหญิงนุ่ม  หรืออินทสุดาวดี พระราชธิดาองค์เล็ก  ซึ่งเป็นกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรฯ  เป็นกรมขุนยิสารเสนี หรือพิศาลเสนี  พระราชทานให้เป็นอัครมเหสีของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

          หลังจากที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว  เจ้าฟ้านักกวีทรงเป็นแม่กองอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชฌ์  และทรงควบคุมงานต่อพระเศียรพระมงคลบพิตร  พร้อมกับรื้อมณฑปที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตรก่อใหม่  โดยแปลงเป็นพระวิหาร  และยังอำนวยการซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จอีกด้วย

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ก้าง ปลาทู, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #183 เมื่อ: 16, มีนาคม, 2562, 10:31:18 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- พญาครุฑกับกากีอยุธยา -

          “ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ                  ไชยเชษฐสุริยวงทรง
          นางรักนักสนมองค์                  อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ               รพิพงศ์
          ไชยเชษฐสุริยวงศ์ทรง              เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์                   อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า                    เฟ่าพร้อมบริบูรณ์”
                                                                     [กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก]
                                                                      (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ)

  

          อภิปราย ขยายความ...................

          นายธนิต อยู่โพธิ์  ผู้ค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียงประวัติเจ้าฟ้ามหากวีพระองค์นี้ระบุไว้ว่า  นอกจากทรงมีกรมขุนยิสารเสนีเป็นพระอัครมเหสีอยู่แล้ว  กรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ) ยังมีพระชายาและเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกจำนวนมาก  มีรายนามเท่าที่สอบค้นได้ดังนี้

          ๑. เจ้าฟ้าหญิงเส  มีพระธิดาทรงนาม  เจ้าฟ้าศรี
          ๒. หม่อมพัน  มีพระโอรสนามพระองค์เจ้าอาทิตย์  ได้เป็นกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศ
          ๓. หม่อมเหมหรือเหญก  สันนิษฐานว่ามีพระธิดานามว่าพระองค์เจ้าฉายหรือฉัตร  หรือ  เกิด  อันเป็นพระองค์เดียวกันกับที่ใช้ไปลวงนิมนต์เจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  แล้วถูกลงพระราชอาชญาสิ้นชีวิต
          ๔. หม่อมเจ้าหญิงสวย  มีพระธิดา ๓ องค์  คือพระองค์เจ้าหญิงมิตร  พระองค์เจ้าหญิงทับ  พระองค์เจ้าหญิงชื่น  พระองค์เจ้าหญิงมิตรนั้น เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลี้ยงเป็นหม่อมห้าม  และพระราชทานนามใหม่ว่า  เจ้าปทุม  ส่วนพระองค์หญิงชื่น  คือองค์ที่ใช้ให้ไปลวงเจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  แล้วถูกลงพระราชอาชญาสิ้นชีวิต
          ๕. หม่อมจัน  มีพระโอรสคือ  พระองค์เจ้าชายศรีสังข์
          ๖. หม่อมสรวย  หรือ  สร้อย  มีพระธิดา  คือ  พระองค์เจ้าหญิงตา  หรือ  ดารา
          ๗. หม่อมทองแดง  มีพระโอรส  คือพระองค์เจ้าชายแม้น
          ๘. หม่อมสุ่น  มีพระธิดาคือพระองค์เจ้าหญิงชี  และ  พระองค์เจ้าหญิงชาติ
          ๙. หม่อมต่วน  มีพระโอรส  คือ  พระองค์เจ้าชายมิ่ง

          นอกนี้ยังมี  “นางรักนักสนม”  อีกหลายคน  นับได้ว่าทรงเป็นนักรักที่ลือชื่อพระองค์หนึ่ง  ดังกาพย์ห่อโคลงที่พระองค์นิพนธ์ไว้ยืนยันได้ว่าดังนี้

          “ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ                  ไชยเชษฐสุริยวงทรง
          นางรักนักสนมองค์                  อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ               รพิพงศ์
          ไชยเชษฐสุริยวงศ์ทรง              เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์                   อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า                    เฟ่าพร้อมบริบูรณ์”

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๙๘  เจ้าฟ้านักรักนักกวีทรงพระประชวรด้วยคุตทะราด (บางท่านว่าเป็นโรคบุรุษบ้าง  โรคเรื้อนบ้าง)  วันหนึ่งมีพระบัณฑูรให้ตำรวจไปเอาตัวเจ้ากรม  ปลัดกรม  นายเวร  ปลัดเวร  ในกรมหมื่นจิตรสุนทร  กรมหมื่นสุนทรเทพ  และกรมหมื่นเสพภักดี  มาถามว่าเจ้ากรมเป็นแต่หมื่น  ตั้งกันในกรมขึ้นเป็นขุน  ทำสูงกว่าศักดิ์  ให้ลงพระอาญาโบยหลังคนละ ๑๕ ที  บ้าง ๒๐ ทีบ้าง  กรมหมื่นทั้งสามพระองค์นั้นเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของกรมพระราชวังบวรฯ  เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ กระทำการดังนั้นจึงพากันผูกอาฆาต  ครั้นได้โอกาส  กรมหมื่นสุนทรเทพจึงกราบบังคมทูลเป็นความลับให้พระเจ้าอยู่หัวทราบว่า  กรมพระราชวังบวรฯ ลอบเสด็จเข้าไปเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง

          เจ้าฟ้าสังวาลย์พระองค์นี้เป็นพระมเหสีอีกองค์หนึ่งในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ทรงมีพระราชโอรสราชธิดากับพระเจ้าบรมโกศ ๔ พระองค์  คือ  เจ้าฟ้ากุณฑล ๑   เจ้าฟ้าอาภรณ์ ๑   เจ้าฟ้ามงกุฎ ๑   เจ้าสังคีต ๑   ว่ากันว่าการลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์นี้  มีพระนิพนธ์บทเห่กากีเป็นพยานหลักฐานสำคัญ  ดังเช่นบทที่ว่า

               "พี่ประมาทอาจหาญนัก        เพราะจงรักเจ้าสายสมร
          เท่าฟ้าแผ่นดินดอน                    ห่อนกลัวเวรเพราะหวังใจ
               ขอฝากไมตรีจิต                     กว่าชีวิตจะตักไษย
          ว่าพลางทางคว้าไขว่                   สัพยอกเย้าหยอกนางฯ"

          ในบทพระนิพนธ์นี้ทรงสมมติตัวพระองค์เป็นพญาครุฑ  เจ้าฟ้าสังวาลเป็นกากี

          พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทราบคำกราบทูลเป็นความลับนั้นก็ทรงพระพิโรธสุดขีด  มีพระราชโองการให้ชำระคดีโดยด่วน  เจ้าฟ้าสังวาย์ทรงรับเป็นความสัตย์  จึงให้เจ้าฟ้าหญิงธิดา  และเจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์  ไปเชิญกรมพระราชวังบวรฯ ลงมาเฝ้า  เจ้าฟ้าทั้งสองกราบทูลว่า  เป็นอริกันอยู่  จึงไม่อาจไปเชิญเสด็จได้  จึงดำรัสสั่งเจ้าจอมจันทน์ให้ขึ้นไปทูลเชิญกรมพระราชวังบวรฯ  เมื่อเสด็จมาถึงแล้วจึงตรัสสั่งให้พระมหาเทพลงพระราชอาชญาจำห้าประการ  และให้มีกระทู้ซักถามตามคำฟ้อง  กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงรับเป็นสัตย์ตลอดข้อหาด้วยจำนนต่อประจักษ์พยานคือเจ้าฟ้าสังวาลย์ที่ทรงยอมรับตลอดข้อหาแล้ว

          สมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศจึงมีพระราชดำรัสให้เฆี่ยนกรมพระราชวังบวรฯ จนกว่าจะครบสองร้อยสามสิบที  แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาว่าควรจะพิพากษาโทษเป็นประการใด  เสนาบดีและลูกขุนปรึกษากันแล้วจึงกราบทูลว่า  โทษกรมพระราชวังบวรฯ เป็นมหันตโทษถึงประหารชีวิตเป็นหลายข้อ  จะขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี  จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้  แต่ให้นาบพระนลาฏ  ถอดเสียจากเจ้าเป็นไพร่  และให้เฆี่ยนอีกสี่ยก  เป็นร้อยแปดสิบทีก็ดับสูญสิ้นพระชนม์  ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์นั้น  ทรงให้เฆี่ยนหนึ่งยก  สามสิบที  ให้ถอดเป็นไพร่ไว้กว่าจะตาย  แต่พระนางทนบาดเจ็บไม่ไหวอยู่ต่อมาได้เพียงสามวันก็สิ้นพระชนม์

          นายธนิต อยู่โพธิ์  สันนิษฐานว่า  กรมพระราชวังบวรฯ กับเจ้าฟ้าสังวาลย์คงจะสิ้นพระชนม์ในเวลาใกล้เคียงกันระหว่างวันแรม ๒ ค่ำ ถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๙ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๑๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๙๘   เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  จึงโปรดให้เอาศพทั้งสองไปฝังไว้รวมกัน ณ วัดไชยวัฒนาราม

          ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า  ชาวกรุงเก่าให้การว่า  เจ้าฟ้านราธิเบศร์  หรือธรรมธิเบศ  สวรรคตในปีจุลศักราช ๑๐๙๕  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๖  แต่นายธนิต อยู่โพธิ์  อดีตอธิบดีกรมศิลปากรค้นคว้าได้มาว่า ปี พ.ศ. ๒๒๗๖ นั้น  เป็นปีที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าต่างกรมที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์  แล้วมาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๒๙๘  วันสิ้นพระชนม์ของพระองค์จึงห่างกันถึง ๒๒ ปี  ตัวเลขศักราชปีที่เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงกรมและสิ้นพระชนม์ยาวนานถึง ๒๒ ปีนี้  ไม่น่าจะเป็นไปได้  ดูในทำเนียบพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองกรุงศรีอยุธยาจากตำนานกรุงเก่าในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓  ปรากฏว่าพระเจ้าบรมโกศครองราชย์เมื่อปีจุลศักราช ๑๐๙๕  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๖  อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี  สวรรคตปีจุลศักราช ๑๑๒๐  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๐๑  จากนั้นอีก ๙ ปี  ก็สิ้นสุดอยุธยา  ถ้าถือเอาตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์  ค้นคว้ามาได้ว่า  เจ้าฟ้ากุ้งสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๘  ก็เป็นเวลาก่อนที่พระเจ้าบรมโกศสวรรคตเพียง ๓ ปีเท่านั้น  ดังนั้น  ปีสิ้นพระชนม์ของเจ้านักรักนักกวีพระองค์นี้จึงยังหาข้อยุติที่แน่นอนไม่ได้

          เป็นเรื่องแปลกที่ว่า  เรื่องราวของเจ้าฟ้านราธิเบศร์  หรือ  ธรรมธิเบศ  ตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์  ค้นคว้าได้มาจากพระราชพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั้น  ไม่น่าจะเป็นเรื่องไร้สาระ  เพราะมีหลักฐานพยานประกอบอย่างน่าเชื่อได้มากที่สุด  แต่ทำไม่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าจึงไม่ยอมนำเรื่องราวของพระองค์ไปใส่ไว้ในคำให้การแก่พระเจ้าอังวะ ?

          คงเป็นเพราะว่าเรื่องเจ้าฟ้านักรักนักกวีผู้นี้เป็นเรื่องอันอัปยศอดสูที่เกิดขึ้นในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  ไม่ควรเปิดเผยให้แก่บุคคลภายนอกประเทศได้รับรู้  ทั้งขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าผู้ตกเป็นเชลยของพระเจ้าอังวะ (อลองพญา)  จึงไม่ยอมนำเรื่องนี้ไปเปิดเผยในคำให้การ  เพื่อเป็นการรักษาเกียรติประวัติอันดีงามของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาไว้นั่นเอง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : เนิน จำราย, Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี, ชลนา ทิชากร, รพีกาญจน์, หนูหนุงหนิง, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #184 เมื่อ: 17, มีนาคม, 2562, 10:13:27 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- พระอุทุมพรราชา -

พระบรมราชาสวรรคต
พระโอรสองค์เล็กไร้ปัญหา
ขึ้นครองราชย์สิทธิแทนบิดา
“อุทุมพรราชา”ผู้อารี.....


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานได้  “แลหลังอยุธยา”  ถึงเรื่องราวของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ทรงเป็นนักปราชญ์และนักกวีเอก  หลังได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชแล้ว  ทรงประพฤติผิดพระราชประเพณีอย่างร้ายแรงที่สุด  ถูกโบยจนสิ้นพระชนม์  วันนี้มาดูเรื่องราวตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดกันต่อไป

          พระเจ้ามหาธรรมราชา  พระนามตามคำให้การชาวกรุงเก่า  พระบรมราชา  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัด  เสด็จสวรรคตแล้วได้รับการถวายพระนามว่า  พระเจ้าบรมโกศ  เหตุการณ์หลังจากที่พระองค์สวรรคต ในพระราชพงศาวดาร  พงศาวดาร  และตำนานใด ๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้  เป็นคำกล่าวที่เกิดจากความรู้ของผู้ที่มิได้อยู่ในเหตุการณ์  ดังนั้นเพื่อให้ได้รับรู้เรื่องราวจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดที่สุด  จึงขอนำคำให้การขุนหลวงหาวัด  หรือ  พระอุทุมพรราชา  มาแสดงดังต่อไปนี้

           “เมื่อจุลศักราชได้ ๑๑๒๐ ปีขาล สัมฤทธิศก วันพุธ เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ (พ.ศ.๒๓๐๑)  พระบรมราชาสวรรคตแล้ว  พระอุทุมพรราชาได้ว่าราชการกรุงทั้งปวง  จึ่งคิดอ่านกับพระเชษฐาธิราช  ที่จะแต่งการพระบรมศพสมเด็จพระบิดา  จึงมีรับสั่งให้เรียกบรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงมาเป็นอันมาก  ฝ่ายพระญาติวงศ์น้อยใหญ่ทั้งสิ้นก็เข้ามาถวายบังคมพร้อมกัน  แล้วพระโองการรับสั่งให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณี ตามอย่างแต่ก่อนมา  บรรดาพระราชตระกูลและเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่เป็นอันมากก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  ฝ่ายกุมารทั้งสามนั้นคือ  กรมจิตรสุนทร  กรมสุนทรเพท  กรมเสพย์ภักดี  กุมารทั้งสามนั้น  พระโองการให้ไปเรียกก็มิได้มาตามรับสั่ง  ขัดรับสั่งแล้วซ่องสุมผู้คนและศัสตราวุธเป็นอันมาก  มิได้ปรกติตามที่อย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  ฝ่ายพระสังฆราชนั้นมีเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงกลัวจะเกิดเหตุจะมีอันตรายแก่สัตว์ทั้งปวง  จึ่งไปเรียกกุมารทั้งสามพระองค์มา  ฝ่ายกุมารทั้งสามองค์นั้นก็เข้ามาตามพระสังฆราช  จึ่งเข้าไปกราบพระศพและกราบพระอุทุมพรราชา  แล้วก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณี ตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  แล้วก็คืนมายังบ้านหลวงอันเป็นที่อยู่แต่ก่อน  ก็มิได้ปกติ  มิได้เลิกทัพที่ซ่องสุมผู้คนและศัสตราวุธครบตัวกันซ่องสุมอยู่เป็นอันมาก  ครั้นคนที่ไปดูนั้นเห็นแล้วจึ่งเอาความมาแจ้งเหตุแก่เสนาบดีผู้ใหญ่  ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งปรึกษาโทษตามอย่างธรรมเนียมกฎพระอัยการ  ก็เห็นว่าโทษผิดเป็นอันมาก  โทษนี้ถึงตาย  ครั้นปรึกษาพร้อมกันสิ้นแล้วบรรดาเสนาบดีน้อยใหญ่ทั้งปวงจึงใส่ในกฎพระอัยการ  จึงทำเรื่องราวกราบทูลฉลองแก่สมเด็จพระอุทุมพรราชา  ครั้นพระอุทุมพรราชาทรงทราบแล้วจึงมีพระราชโองการ  ตรัสให้ทำตามบทพระอัยการตามโทษ

          ครั้นมีพระโองการตรัสออกมาแล้ว  ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่จึงจดหมายพระโองการตามมีรับสั่ง  แล้วจึงให้อำมาตย์ผู้น้อยคุมผู้คนไปเรียกสามกุมาร  ครั้นอำมาตย์ไปเรียกก็ยกผู้คนตามมา  มีศัสตราวุธเป็นอันมาก  ครั้นมาถึงประตูพระราชวังแล้ว  ฝ่ายผู้คนที่รักษาประตูพระราชวังนั้นจึงออกห้ามปรามมิให้ผู้คนทั้งปวงนั้นเข้าไป  บรรดาผู้คนทั้งปวงที่ตามสามกุมารมานั้นก็หยุดอยู่ที่นั้น  มิได้ตามไปในพระราชวัง  ฝ่ายกุมารทั้งสามองค์นั้นก็เข้าไปในพระราชวังทั้งสามองค์  ฝ่ายเสนาบดีทั้งนั้นจึงจับกุมารทั้งสามนั้น  ล้างเสียให้ถึงแก่ความพิราลัย  ตามกฎพระอัยการที่มีมา  ตามอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อน  ตามมีพระโองการรับสั่งมา”

          ชาวกรุงเก่าให้การว่า  สามกุมารนั้นเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระเจ้าอุทุมพร  กรมจิตรสุนทร  ในที่นี้ก็คือ  กรมหมื่นจิตรสุนทร  องค์ที่เข้าไปขอเรียนวิชาอาคมในคุกกับสมิงทอนั่นเอง  ชาวกรุงเก่าว่าพระนามเดิมคือ  เจ้าแขก  กรมหมื่นเพทนั้นพระนามเดิมคือ เจ้ามังคุด  กรมหมื่นเสพย์ภักดีพระนามเดิมคือ  เจ้าพัน  จากคำให้การชาวกรุงเก่านี้เองให้การว่าพระเจ้ามหาธรรมราชาทรงมีพระมเหสี ๓ พระองค์  พระโอรส-ธิดาของพระมเหสีทั้ง ๓ พระองค์นั้นไม่ปรากฏพระนามเจ้าแขก  เจ้ามังคุด  และเจ้าพัน เลย  ดังที่ให้การว่ากรมหมื่นทั้งสามกุมารนี้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของเจ้าอุทุมพรจึงเป็นไปได้ว่า  ทั้งสามองค์เป็นโอรสนางนักสนมจำนวนมาก  ซึ่งนักสนมเหล่านั้นมีพระโอรส-ธิดารวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์  ทั้งสามกุมารจึงเป็น ๓ ใน ๑๐๘  องค์นั้นนั่นเอง

          เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชาสวรรคต  ชาวกรุงเก่าให้การว่า  “พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงยังไม่ถวายพระเพลิง  เชิญพระโกษฐ์ซึ่งทรงพระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งมหาปราสาท  ซึ่งประดับประดาเปนอันดี  แล้วออกประกาศให้ชนทั่วพระราชอาณาจักรโกนผมไว้ทุกข์  แล้วเชิญพระมหาอุปราช  คือ  พระอุทุมพร  ให้ครองราชสมบัติ  พระมหาอุปราชยังไม่รับ  ด้วยทรงเห็นว่าเจ้าฟ้าเอกทัศผู้เปนพระเชษฐาธิราชยังมีอยู่  จึงเสด็จไปทรงวิงวอนเจ้าฟ้าเอกทัศจะให้ครองราชสมบัติ  เจ้าฟ้าเอกทัศไม่รับ  เมื่อเจ้าฟ้าเอกทัศไม่รับแล้ว  พระมหาอุปราชจึงรับครองราชสมบัติ”  จากนั้นจึงเกิดเรื่องของสามกุมารตามคำให้การขุนหลวงหาวัดดังที่ได้แสดงมาแล้ว

          พระอุทุมพรราชา  เป็นพระราชโอรสพระเจ้ามหาธรรมราชา หรือ พระบรมราชา  อันประสูติแต่กรมหลวงพิจิตรมนตรี  พระมเหสีที่ ๒  จากคำให้การชาวกรุงเก่าปรากฏชัดว่ากรมหลวงอภัยนุชิต  มเหสีที่ ๑  มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว  คือเจ้าฟ้านราธิเบศร์  และมีพระราชธิดา ๖ พระองค์  ส่วนกรมหลวงพิจิตรมนตรี  มีพระราชโอรส ๒ พระองค์  คือ  เจ้าฟ้าเอกทัศ  กับ  เจ้าฟ้าอุทุมพร  และมีพระราชธิดา ๖ พระองค์  อินทสุชาเทวีมเหสีที่ ๓  มีพระราชโอรสพระองค์เดียวคือ  เจ้าฟ้าอัมพร  มีพระราชธิดา ๒ พระองค์

          ขุนหลวงหาวัด  หรือพระเจ้าอุทุมพรราชาให้การว่า  หลังจากขึ้นครองราชย์และกำจัดเสี้ยนศัตรูแล้ว  จึงร่วมคิดกับเจ้าฟ้าเอกทัศพระเชษฐาในการจัดงานถวายเพลิงพระศพพระราชบิดาต่อไป  รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงานพระศพพระเจ้าบรมโกศนั้นขุนหลวงหาวัดได้บรรยายไว้อย่างละเอียดพิสดารน่ารู้มาก  จึงขอนำรายละเอียดมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้

           “………พระองค์จึงมีพระโองการให้มีตราพระราชสีห์ไปทุกประเทศราช  ให้ชุมนุมกษัตริย์ทั้งปวงทุกหัวเมืองขึ้น  บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งสิ้นให้มาปลงพระบรมศพสมเด็จพระบิดา  แล้วจึงเอาน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศ  และน้ำกุหลาบ  น้ำหอมต่าง ๆ เป็นอันมากมา  แล้วพระอุทุมพรราชา  พระเอกทัศ  ทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกันแสงร่ำไร  ด้วยคิดถึงพระคุณสมเด็จพระบิดา  ก็เศร้าโศกร่ำไรทั้งสองพระองค์  พระราชบุตรกับพระธิดาทั้งพระญาติวงศาทั้งปวง  และพระสนมกำนัลทั้งปวงเป็นอันมาก  กับข้าหลวงน้อยใหญ่และราชนิกูลน้อยใหญ่  ประเทศราชทั้งปวง  เศรษฐีคหบดี  ก็พร้อมกันร้องไห้อื้ออึงไปในปราสาท  ด้วยความรักพระบรมราชาทั้งสิ้น  ครั้นสรงน้ำหอมแล้วจึ่งทรงสุคนธรสและกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวงแล้ว  ทรงสนับเพลาเชิงงอนทองชั้นใน  แล้วทรงภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก  แล้วจึ่งทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง  แล้วจึ่งฉลองพระองค์อย่างใหญ่กรองทอง  สังเวียนหยักและชายไหวชายแครง  ตาบทิศและตาบหน้าและสังวาลประดับเพชร  จึ่งทรงทองต้นพระกรและปลายพระกรประดับเพชร  แล้วจึงทรงพระมหาชฎาเดินหนมียอดห้ายอด  แล้วจึ่งประดับเพชรอยู่เพลิงทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์และสิบนิ้วพระบาท  แล้วจึ่งเอาไม้ง่ามหุ้มทองนั้นค้ำพระหนุเรียกว่าไม้กาจับหลัก  จึงประนมกรเข้าแล้วเอาซองหมากทองปากประดับใส่ในพระหัตถ์  แล้วเอาพระภูษาเนื้ออ่อนเข้าพันเป็นอันมาก  ครั้นได้ที่แล้วจึงเอาผ้าขาวเนื้อดีสี่เหลี่ยมเข้าห่อ  เรียกว่าผ้าห่อเมี่ยงตามอย่างธรรมเนียมมา  แล้วจึ่งเชิญพระโกศลองใน  ทองหนักสิบสองชั่ง  แล้วจึงใส่ในพระโกศทองใหญ่เป็นเฟืองกลีบจงกลประดับพลอย  มียอดเก้ายอด  เชิงนั้นมีครุฑและสิงห์อัดทองหนักยี่สิบห้าชั่ง  แล้วเชิญพระโกศนั้นขึ้นบนเตียงหุ้มทอง  แล้วจึงเอาเตียงที่รองพระโกศนั้นขึ้นบนแท่นแว่นฟ้า  แล้วจึ่งกั้นราชวัตรตาข่ายปะวะหล่ำแดง  อันทำด้วยแก้ว  มีเครื่องสูงต่าง ๆ  แล้วจึงเชิญพระพุทธรูปมาตั้งที่สูง  จึงตั้งเครื่องราชบริโภคนานา  ตั้งพานพระสุพรรณบัฏ  ถมยาใส่บนพานทองประดับสองชั้น  แล้วตั้งพานพระสำอาง  พระสุพรรณศรี  และพระสุพรรณราช  และพระเต้าครอบทอง  และพระคนทีทอง  และพานทองประดับ  และเครื่องอุปโภคบริโภคนานา  ตั้งเป็นชั้นหลั่นกันตามที่ซ้ายขวา  เป็นอันดับกันมาเป็นอันมาก  แล้วจึงตั้งมยุรฉัตรซ้ายขวา  มียอดหุ้มทองและระบายทองและคันหุ้มทองประดับ  ตั้งแปดคันทั้งแปดทิศ  และมีบังสูรย์และอภิรุม  และบังแทรกจามรทานตะวันและพัดโบก  สารพัดเครื่องสูงนานา  ตั้งซ้ายขวา  เป็นชั้นหลั่นกันมาตามที่ตามทาง  แล้วจึงปูลาดพระสุจหนี่ยี่ภู่  จึ่งตั้งพระแท่นแว่นฟ้าในพระยี่ภู่เข้ามา  แล้วจึ่งปูลาดที่บรรทม  แล้วตั้งพระเขนยกำมะหยี่ปักทองอันงาม  แล้วจึงตั้งฝ่ายซ้ายขวาสำหรับสองพระองค์จะนั่งอยู่ตามที่กษัตราธิบดี  แล้วจึงกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนัลทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพ  แล้วก็ร้องไห้เป็นเวลานาทีเป็นอันมาก  แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรีกำนัลนารีน้อย ๆ งาม ๆ ดั่งกินนรกินนรีมานั่งห้อมล้อมขับรำทำเพลงอยู่เป็นอันมาก  แล้วจึ่งให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์และมโหรีพิณพาทย์อยู่ทุกเวลา  พระองค์จึงให้ตั้งที่อาสนะพระสงฆ์  แล้วให้ธรรมโฆสิตซึ่งเป็นพนักงานสังฆการีให้นิมนต์สังฆราชเป็นต้นตามตำแหน่งเป็นประธานแก่พระสงฆ์ทั้งนอกกรุงและในกรุง  และบรรดาพระสงฆ์หัวเมืองเป็นอันมาก  เพลาค่ำให้เข้ามาสดับปกรณ์แล้วสวดพระอภิธรรม  ครั้นเวลาเช้าถวายพรพระแล้วฉัน  ครั้นเพลาเพลให้มีเทศนาแล้วถวายไทยทานไตรจีวรและเตียบเครื่องสังเค็ดครบครัน  ทั้งต้นกัลปพฤกษ์อันมีของต่างๆครบครัน  วันหนึ่งเป็นพระสงฆ์ร้อยหนึ่งทุกวันมิได้ขาด  แล้วจึ่งตั้งโรงงานการเล่นมหรสพทั้งปวง  ให้มีโขนหนังละครหุ่นและมอญรำระบำเทพทองทั้งโมงครุ่มผาลาคุลาตีไม้  สารพัดมีงานการเล่นต่าง ๆ นานา  แล้วทั้งสองพระองค์จึ่งแจกเสื้อผ้าเงินทองสารพัดสิ่งของนานาครบครัน  ให้ทานแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวง  ทั้งหญิงชายเด็กน้อยใหญ่เฒ่าแก่ก็แตกกันมารับพระราชทานเป็นอันมาก  พระองค์ก็ให้ด้วยมีน้ำพระทัยศรัทธายินดี  อาณาประชาราษฎรก็ชื่นชมยินดีแล้วยอกรอัญชลีเหนือเกล้าเกศา  ถวายพระพรทั้งสองพระองค์  บ้างก็มาโศกาอาดูรร่ำไรคิดถึงพระบรมราชา  แล้วก็พากันไปดูงานเล่นทั้งปวงอันมีต่าง ๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็พากันรื่นเริงไปทั้งกรุงศรีอยุธยา

          ทั้งสองพระองค์จึ่งมีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง  แล้วตั้งพระเมรุใหญ่สูง  แล้วปิดทองประดับกระจกยกเป็นลวดลายต่าง ๆ  แล้วมีเพดานรองสามชั้นเป็นหลั่น ๆ ลงมาตามที่ จึ่งมีพระเมรุใหญ่สูงสุดยอดพระสะเดานั้น ๔๕ วา  ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดง  เขียนเป็นชั้นนาค  ชั้นครุฑ  ชั้นอสูร  และชั้นเทวดา  และชั้นอินทร์ชั้นพรหม  ตามอย่างเขาพระสุเมรุนั้น  มีบันและมุข ๑๑ ชั้น  เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก  ขุนสุเมรุทิพราชเป็นนายช่างอำนวยการ  พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ  ตั้งรูปกินนรรูปอสูรทั้ง ๔ ประตู  พระเมรุใหญ่นั้นปิดทองทึบจนเชิงเสา  กลางพระเมรุทองก่อเป็นแท่นรับเชิงตะกอน  อันเสาเชิงตะกอนนั้นก็ปิดทองประดับกระจกเป็นที่ตั้งบรมโกศ  แล้วจึ่งมีเมรุทิศ ๔ เมรุแทรก ๔ เป็น ๘ ทิศ  ปิดทองกระจกเป็นลวดลายต่าง ๆ  แล้วจึงมีรูปเทวดาและรูปวิทยาธรรูปคนธรรพ์  และครุฑกินนร ทั้งรูปคชสีห์ราชสีห์และเหมหงส์  และรูปนรสิงห์และสิงโต  ทั้งรูปมังกรเหรานาคาและรูปทักกะทอ  รูปช้างม้าและเลียงผา  สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่าง ๆ นานาครบครัน  ตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกันตามที่  แล้วจึงกั้นราชวัติสามชั้น  ราชวัตินั้นก็ปิดทองนากปิดเงิน  แล้วตีเรือกเป็นทางเดินที่สำหรับจะเชิญพระบรมศพมา  ริมทางนั้นจึ่งตั้งต้นไม้กระถางอันมีดอกต่าง ๆ  แล้วประดับประดาด้วยฉัตรแลธงงามไสว  ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าในพระราชวังฯ

          พระราชพิธีการพระศพพระมหาธรรมราชา หรือพระบรมราชา คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๓๑  ขุนหลวงหาวัดหรือพระอุทุมพรราชาได้ให้รายละเอียดไว้เป็นแบบอย่างในการจัดการพระศพและพิธีพระราชทานเพลิงพระศพดีมาก  วันนี้ให้ทราบแต่การสร้างพระเมรุฯ ก่อน  รายละเอียดในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลยังมีประเด็นน่ารู้อีกมาก  จะนำมาแสดงในตอนต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์, กลอน123, หนูหนุงหนิง, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #185 เมื่อ: 18, มีนาคม, 2562, 10:27:50 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ถวายเพลิงพระศพบรมโกศ -

กาลนั้น “สมเด็จพระพันวรรษา”
สวรรคาลัยลับโลกอับศรี
พระโอรสจัดศพทบพิธี
ประชาชีร่วมงานกันมากมาย.....


          อภิปรายขยายความ..........................

          พักการ  “แลหลังอยุธยา”  ไว้หลายวัน  วันนี้กลับมาว่ากันต่อจากที่แล้ว  ซึ่งขุนหลวงหาวัดได้บอกเล่ารายละเอียดในการจัดสร้างพระเมรุมาศและจัดการพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมโกศโดยละเอียด  ความต่อจากที่ยกมาแสดงแล้วนั้นมีดังนี้

           “ฝ่ายข้างสมเด็จพระพันวรรษาใหญ่นั้นก็ประชวรหนักลง  เสด็จสู่สวรรคาลัยไปเป็นสองพระองค์ด้วยกัน  พระเอกทัศและพระอุทุมพรราชาทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำไรถึงสมเด็จพระชนนีและพระบิดา  ทั้งพระราชบุตรและพระราชธิดาทั้งพระญาติวงศาทั้งปวง  และพระสนมกำนัลสาวสรรค์ทั้งปวง  ทั้งเสนาบดีและราชตระกูลเป็นอันมาก  ก็พากันโศกาอาดูรดังอื้ออึงครื้นเครงไปทั้งปราสาทศรี  แล้วจึ่งสรงน้ำกุหลาบน้ำบุปผาเทศน้ำหอมต่าง ๆ  ครั้นสรงแล้วจึงประดับประดาเครื่องทั้งปวงประดุจดั่งสมเด็จพระบิดา…….”

          ขุนหลวงหาวัดได้ให้รายละเอียดในการตกแต่งพระศพและพิธีการในการจัดงานพระศพดังได้แสดงมาข้างต้นนั้น  ทำให้มองเห็นภาพความอลังการของการประดับพระศพ  การบำเพ็ญพระราชกุศลหน้าพระศพ  ซึ่งในปัจจุบัน  เราลำดับขั้นตอนให้มีการสวดพระอภิธรรม (สดับปกรณ์) ก่อนแล้วจึงพิจารณาบังสกุล  แต่ในคำให้การดังกล่าวลำดับให้มีการสดับปกรณ์ก่อนแล้วจึงสวดพระอภิธรรม (สดับปกรณ์)  พิธีกรรมเกี่ยวกับพระศพที่นอกจากพิธีสงฆ์คือจัดให้มีการรายล้อมโกศพระศพแล้วร้องไห้พิไรรำพัน  มีการบริจาคทานแก่คนทั่วไป  ที่เป็นพิเศษคือจัดให้มีมหรสพแสดงในงานเช่น  โขนหนังละครหุ่นและมอญรำระบำเทพทองทั้งโมงครุ่มผาลาคุลาตีไม้  เป็นต้น  มหรสพที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ  ระบำเทพทอง  ระบำชนิดนี้เชื่อว่าคนไทยยุคนี้คงยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน  จะว่าเป็นระบำสุโขทัยในปัจจุบันก็ไม่ควรจะใช่  เพราะระบำสุโขทัยปัจจุบัน  อาจารย์มนตรี ตราโมท  ท่านคิดแต่งทำนองเพลงเทพทองซึ่งเป็นเพลงเก่าสมัยกรุงสุโขทัยที่มีเพียงชั้นเดียวให้ยืดออกเป็นสามชั้น  และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์  ได้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลงขึ้น  เป็นระบำสุโขทัย  ส่วนระบำเทพทองที่จัดแสดงในงานพระศพพระเจ้าบรมโกศ  จะใช้เพลงเทพทองชั้นเดียวที่ตกทอดมาแต่กรุงสุโขทัย  บรรเลงแล้วใส่ท่ารำเข้าไปอย่างไรหรือไม่  เป็นเรื่องน่าศึกษาค้นคว้าหาความจริง

          ได้ความชัดเจนว่า  ในขณะที่งานพระศพพระเจ้าบรมโกศกำลังดำเนินอยู่นั้น  พระมเหสีใหญ่ของพระบรมโกศก็ประชวรสิ้นพระชนม์  พระเจ้าอุทุมพรราชาจึงทรงจัดงานพระศพไปพร้อมกันกับพระศพของเจ้าบรมโกศ  เมื่อตั้งพระศพบำเพ็ญพระราชกุศลพอสมควรแก่เวลาแล้วจึงเชิญพระศพจากพระราชวังไปถวายพระเพลิง  ในการแห่พระศพไปนั้น  ขุนหลวงหาวัดได้ให้รายละเอียดไว้อย่างน่าศึกษาดังต่อไปนี้

           “….แล้วพระองค์จึงมีรับสั่งให้ปลงพระบรมศพพระบิดาและพระชนนี  อันบรรดาพระญาติทั้งปวงและพระสนมกำนัลนารีและพระยาประเทศราช  และราชนิกูล  และเสนาบดีน้อยใหญ่  และเศรษฐีคหบดีทั้งสิ้น ให้แต่งตัวด้วยเครื่องขาวทุกสิ่งอันให้ครบตัวกันทั้งสิ้น  บรรดาคนเกณฑ์แห่ทั้งปวงนั้นก็ให้แต่งเครื่องขาวใส่ลำพอกถือพัดไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  แล้วมีฆ้องกลองแตรสังข์และแตรงอนและพิณพาทย์ตีแห่ไปครื้นเครงไปทั้งพระราชวัง  หน้าพิณพาทย์นั้นเครื่องไทยทานทั้งปวงเป็นอันมาก  แล้วจึงเชิญพระมหาพิชัยราชรถทั้งสองเข้ามาแล้วจึงเทียมด้วยม้าทั้งสี่คู่  ม้านั้นผูกประกอบรูปราชสีห์กรวมตัวม้าลงให้งามแล้วจึงมีนายสารถีขับรถแต่งตัวอย่างเทวดาข้างละสี่คน  อันรถที่นำหน้านั้น  สมเด็จพระสังฆราชาอ่านพระอภิธรรม  ถัดมารถเหล่าพระญาติวงศ์ถือจงกลปรายข้าวตอกดอกไม้  ถัดนั้นรถพระญาติวงศาถือผ้ากาสามีปลอกทองประดับเป็นเปราะ ๆ  ห่างกันประมาณสามวา  แล้วถือซองหมากทองโยงไปหน้า  ถัดนั้นมาถึงรถพระบรมศพ  ถัดมารถใส่ท่อนจันทน์และกฤษณากระลำพักปิดทอง  รูปเทวดาถือกฤษณากระลำพักท่อนจันทน์นั้นชูไปบนรถด้วยกัน  จึงมีรูปสัตว์ ๑๐ อย่าง ๆ ละคู่ เป็น ๒๐ ตัว  มีรูปช้าง ๒  ม้า ๒  คชสีห์ ราชสีห์ ๒  สิงโต ๒  มังกร ๒  ทักกะทอ ๒  นรสิงห์ ๒  เหม ๒  หงส์ ๒  และรูปภาพทั้งนี้สูง ๔ ศอก  มณฑปบนหลังสำหรับใส่ธูปน้ำมันพิมเสนและเครื่องหอมต่าง ๆ  มีคนชักรถพระบรมศพแซงไปซ้ายขวาแต่งตัวอย่างเทวดา  ใส่กำไลต้นแขนและกำไลมือ  ใส่สังวาลทับทรวงใส่เทริด  แล้วเข้าชักรถพระบรมศพไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  ชักด้วยเชือกหุ้มสักหลาดแดงไปสี่แถว  รถนั้นชักไปบนเรือกสองข้างทางประดับด้วยราชวัติและฉัตรเบญจรงค์,ทอง,นาก,เงิน  ฝ่ายหน้าหลังฝ่ายซ้ายขวามีเครื่องสูง  กระบวนพยุหบาตราอย่างใหญ่  และมีผู้ถือเครื่องราชาบริโภคครบครัน  แล้วจึ่งถึงเกณฑ์แห่งเสด็จขุนหลวง  จึงมีเสนาบดีน้อยใหญ่นั้นแต่งตัวนุ่งขาวใส่เสื้อครุยขาว  ใส่ลอมพอกขาว  ถือพัดแล้วเดินแห่ไปซ้ายขวา  แล้วจึงถึงเหล่าปุโรหิตราชครูถือพัดแห่ไปซ้ายขวา  แล้วจึ่งถึงเหล่าราชนิกูลถือพัดแห่ไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  แล้วจึ่งถึงเหล่าคนตีกลองชนะและกลองโยน  แตรสังข์และแตรงอนนั้นก็เป็นอันมาก  แล้วซ้ายขวานั้นมีมหาดเล็กถือดาบทองแห่ไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  แล้วจึ่งมีตำรวจในตำรวจนอกนั้นพนมมือเดินแห่ไปซ้ายขวา  แล้วถึงหัวหมื่นมหาดเล็กนั้นพนมมือเดินแห่ไปซ้ายขวา  แล้วจึ่งมาถึงมหาดเล็กเกณฑ์ถือพระสุพรร ศรีและพระสุพรรณราช  และพระเต้าครอบทองและพานทองและเครื่องทองทั้งปวงต่าง ๆ นั้นก็เป็นอันมาก  แล้วเกณฑ์มหาดเล็กเหล่านั้นถือพระแสงปืนและพระแสงหอกและพระแสงง้าวและพระแสงกั้นหยั่น  และพระแสงประดับพลอย  และพระแสงดาบฝักทอง  และพระแสงต่าง ๆ เป็นอันมาก  เดินแห่เสด็จไปซ้ายขวา  แล้วมีมหาดเล็กและนอกใน  และมหาด  ไทยถือกระสุนเดินแห่ไปซ้ายขวา  ดูสูงต่ำดูห้ามแหนไปตามทางเสด็จทั้งซ้ายขวา
 
          ครั้นพร้อมแล้ว  พระองค์จึงแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาทั้งปวงล้วนเครื่องขาว  แล้วเสด็จขึ้นสู่พระเสลี่ยงทองประดับกระจก  มีพระกลดขาวยอดทองระบายทองคันก็หุ้มทองประดับ  มหาดเล็กสี่คนเดินกั้นไปซ้ายขวา  มีพระบุตรีแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาด้วยสร้อยสนิมพิมพาภรณ์เป็นอันงาม  นั่งบนพระเสลี่ยงสองหลัง ๆ ละสององค์  เป็นสี่  แห่แหนตามกระบวนพยุหบาตราไปฝ่ายหลังพระบรมศพสมเด็จพระบิดาและพระชนนี  แล้วจึงพระญาติวงศ์พระสนมกำนัลในทั้งปวงก็ตามเสด็จไปเป็นอันมาก  อันเหล่ามหาดเล็กและมหาเศรษฐีคหบดีทั้งปวง  และอำมาตย์น้อยใหญ่ทั้งปวง  พร้อมกันตามเสด็จไปฝ่ายหลังกระบวนพยุหบาตรา  แล้วจึ่งทำลายกำแพงวัง  หว่างประตูมงคลสุนทรและประตูพรหมสุคตต่อกัน  ครั้นถึงพระเมรุใหญ่ที่ท้องสนามหลวงแล้ว  จึงชักรถพระบรมศพทั้งสองนั้นเข้าในเมรุทิศเมรุแทรกทั้งแปดทิศ  แล้วจึงทักษิณเวียนพระเมรุใหญ่ได้สามรอบ  แล้วจึงเชิญพระโกศทั้งสองนั้นเข้าตั้งในพระเมรุใหญ่ตามอย่างธรรมเนียม  จึงไว้พระบรมศพ ๗ ราตรี  แล้วจึงนิมนต์พระสังฆราช  พระพิมล  และพระราชาคณะ  คือ  พระเทพมุนี  มหาพรหมมุนี  พระเทพเมาฬี  พระธรรมอุดม  พระอุบาฬี  พระพุทธโฆษา  พระมงคลเทพมุนี  พระธรรมกถึก  พระวินัยธร  พระวินัยธรรม  พระนาค  และพระสังฆราชาหัวเมือง  และพระสงฆ์ทั้งนอกกรุงและในกรุงเป็นอันมาก  ก็เข้ามาสดับปกรณ์ทั้งเจ็ดวัน  แล้วก็ถวายไตรจีวรและเครื่องไทยทานสังเค็ด  แลเตียบและต้นกัลปพฤกษ์อันมีสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ นานาครบครันแล้ว  มีต้นกัลปพฤกษ์แขวนเงินใส่ในลูกมะนาว  ต้นหนึ่งใส่เงินสามชั่ง  มีทั้งแปดทิศพระเมรุ  ทิ้งทานวันละแปดต้นทั้ง ๗ วัน  เป็นเงินร้อยหกสิบกับแปดชั่ง  แล้วพระองค์จึ่งให้ทานผ้าผ่อนและสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ เป็นอันมาก  แล้วจึ่งให้มีการมหรสพการเล่นต่าง ๆ  เหล่าไพร่พลเมืองทั้งกรุงก็มารับทานเงินข้าวของต่าง ๆ  ครั้นสำเร็จแล้วก็พากันไปดูงานที่ท่านให้แต่งไว้ต่าง ๆ นานา  และเครื่องแต่งพระบรมศพทั้งปวงอันงามมีรูปสัตว์นานา  อันประดับประดาพระเมรุอันสูงใหญ่  มีระทาดอกไม้เพลิงและดอกไม้ต่าง ๆ ตั้งรายรอบพระเมรุเป็นอันมาก  ครั้นเห็นที่ตกแต่งพระศพด้วยเครื่องนานนาบ้างก็มาโศกาอาดูรพูนโศก  คิดถึงสมเด็จพระบรมราชา  แล้วก็พากันครื้นเครงไปด้วยงานการเล่นทั้งปวง  อันประกอบไปด้วยเสียงดุริยางคดนตรี  มีงานมหรสพครบเจ็ดราตรี

          พระองค์จึงมีพระโองการตรัสสั่งให้ถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชบิดาและพระพันปีหลวงอันประเสริฐทั้งสองพระองค์  สมเด็จพระบรมเอกทัศและพระอนุชาธิราชและพระราชบุตรีและพระสนมสาวสวรรค์กำนัลทั้งซ้ายขวา  และพระญาติวงศ์ก็ห้อมล้อมพระบรมศพอยู่  จึงรับสั่งให้ถวายพระเพลิงด้วยไฟฟ้า  แล้วจึงเอาท่อนกฤษณากระลำพักและท่อนจันทน์อันปิดทองบรรดาเครื่องหอมทั้งปวงนั้นใส่ในใต้พระโกศทองทั้งสอง แล้วจึงจุดเพลิงไฟฟ้า  แล้วสาดด้วยน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศและน้ำกุหลาบและน้ำหอมทั้งปวงต่าง ๆ  อันมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรตลบไปทั้งพระเมรุทอง  ฝ่ายองค์บรมเอกทัศราชา  และพระอุทุมพรราชาทั้งสองพระองค์ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำไร  พระทัยคะนึงถึงพระบิตุเรศพระชนนี  ทั้งพระราชบุตรและพระราชธิดา  พระสนมสาวสวรรค์  ก็มากันแสงไห้พิลาปร่ำไรไปสิ้น  กษัตริย์ประเทศราชทั้งปวงนั้นก็ห้อมล้อมอยู่รอบพระเพลิง  แล้วจึ่งปรายข้าวตอกดอกไม้บูชาถวายบังคมอยู่สลอน  ทั้งอำมาตย์ราชเสนาบดีใหญ่น้อย  ทั้งราชนิกูล  เศรษฐีคหบดีทั้งปวง  ก็นั่งห้อมล้อมพระเมรุทองอยู่แล้วก็มาโศกาอาดูรร่ำรักพระบรมราชาอยู่อึงคะนึงไปทั้งในพระเมรุหลวง  ครั้นเพลิงสิ้นเสร็จสรรพจึงให้ดับด้วยน้ำหอมและน้ำกุหลาบ  แล้วจึงแจงพระรูปทั้งสองพระรูป  พระสังฆราชและราชาคณะทั้งปวงก็เข้ามาสดับปกรณ์พระอัฐิทั้งสองพระองค์  อันใส่ในผอบทองทั้งสองพระองค์  ครั้นแล้วจึงเชิญพระอัฐิทั้งสองพระองค์นั้นใส่ผอบทองทั้งสอง  จึ่งเชิญขึ้นสู่เสลี่ยงทองทั้งสอง  แล้วแห่ออกไปตามทางออกประตูมนาภิรมย์  แล้วจึงตีฆ้องกลองแตรลำโพงและแตรงอนและกลองชนะกลองโยนและพิณพาทย์  ตั้งกระบวนมหาพยุหบาตรา  จึงให้กั้นราชวัติฉัตรธงไปตามมรรคาอันอาณาประชาราษฎรนั้นก็โปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ต่าง ๆ  แล้วจึงแห่แหนไปจนถึงริมคงคา  แล้วจึงเชิญผอบทองอันใส่พระอัฐิทั้งสององค์ขึ้นเรือพระที่นั่งกิ่งแก้วจักรรัตน์เป็นสองลำ  เป็นหน้าหลังกันไป  จึงมีเครื่องสูงต่าง ๆ บนเรือพระอัฐินั้น  ทรงเรือพระที่นั่งเอกไชย  มหาดเล็กนั้นกั้นพระกลดขาวข้างพระองค์ซ้าย ๔ คัน  ขวา ๔ คัน  เป็น ๘ คัน  พระอุทุมพรราชานั้นทรงเรือพระที่นั่งทองขวานฟ้าเป็นหน้าหลังกันตามที่  แต่บรรดาเรือเกณฑ์แห่เรือนำ  และเรือรองแห่ไปซ้ายขวาหน้าหลังกันตามตำแหน่งตามที่  เรือพระที่นั่งครุฑพระที่นั่งหงส์เป็นซ้ายขวากัน  แล้วจึงถึงเรือนาคเหรานาคาวาสุกรี  แล้วจึงถึงเรือมังกรมหรรรณพ  มังกรจบสายสินธุ์  แล้วจึงถึงโตมหรรณพ  โตจบภพไตร  แล้วจึ่งถึงโตจบสายสินธุ์  แล้วจึ่งถึงเหินหาว  หลาวทอง  สิงหรัตนาสน์  สิงหาสน์นาวา  นรสิงห์วิสุทธิสายสินธุ์  นรสิงห์ถวิลอากาศ  แล้วจึงถึงไกรสรมุขมณฑป  ไกรสรมุขนาวา  อังมสระพิมาน  นพเศกฬ่อหา  จึ่งถึงเรือดั้งซ้ายขวานำรอง  แลเรือคชสีห์ราชสีห์  เรือม้าเลียงผา  เรือเสือและเรือเกณฑ์รูปสัตว์ต่าง ๆ  และเรือดั้งเรือกันแห่ไปซ้ายขวา  บรรดาเครื่องสูงราชอุปโภคทั้งปวง  คือสัปทนและฉัตรขาว  อภิรุมชุมสายพัดโบกจามรทานตะวัน  บังสูรย์บังแทรก  แลเครื่องสูงนานาทั้งนั้นเหล่ามหาดเล็กเกณฑ์ถือ  ขี่เรือพระที่นั่งทรงบ้าง  พระที่นั่งรองบ้าง  พายแห่ห้อมล้อมไปหน้าหลัง  บรรดาเครื่องทอง  พระสุพรรณศรี  และพระสุพรรณราช  พระเต้าน้ำครอบทองนั้น  มหาดเล็กถือลงเรือทรงข้างพระองค์  อันเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวงเป็นอันมากนั้น  มหาดเล็กเกณฑหุ้มแพรถือ  ขี่เรือพระที่นั่งรองไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  บรรดามหาดเล็กเกณฑ์ถือพระแสงประดับต่าง ๆ นั้นลงเรือที่นั่งทรง  ริมพระที่นั่งเรียกว่ารายตีนตอง  อันเกณฑ์มหาดเล็กถือพระแสงทั้งปวงเป็นอันมากนั้นขี่เรือรอง  แล้วพายแห่ไปซ้ายขวาหน้าหลังนั้นเป็นอันมาก  อันพระราชบุตรพระราชธิดานั้นลงเรือศรีสักหลาดไปหลังพระที่นั่ง  อันเหล่าพระสนมกำนัลลงขี่เรือศรีผ้าแดงตามเสด็จไปท้ายพระที่นั่ง  อันเจ้าพระยาจักรีและพระยากลาโหมนั้น  มีพานทองและเจียดกระบี่ซ้ายขวาและสัปทนปักหน้าเรือตามตำแหน่ง  แล้วขี่เรือคชสีห์และราชสีห์มีกูบก้านแย่ง  แล้วพายซ้ายขวาแห่ไป อันพระยายมราชาธิบดีศรีโลกทัณฑาธร  ขี่เรือนรสิงห์  มีพานทองและเจียดกระบี่สัปทนตามตำแหน่ง  บรรดาศักดิ์จตุสดมภ์ทั้ง ๔ นำหน้าเสด็จดูน้ำลึกและตื้น  บรรดาอำมาตย์ราชเสนาบดีทั้งปวงนั้น  ขี่เรือดั้งและเรือกันมีเครื่องอุปโภคตามตำแหน่ง  แล้วพายแห่ไปซ้ายขวาหน้าหลัง  บรรดาเหล่ามหาดเล็กขอเฝ้าทั้งปวงนั้นขี่เรือตามเสด็จหลังขบวนแห่  อันนายเพชฌฆาตนั้นขี่เรือเสือแล้วดาบแดงไปหน้าเรือ  ตามเสด็จไปหลังพยุหบาตราตามตำแหน่ง  อันเหล่าเกณฑ์ฝีพายนั้น  บ้างก็โห่ร้องพายแห่ไปฯ”

          คำให้การขุนหลวงหาวัดที่ให้การถึงพระราชพิธีงานพระบรมศพพระเจ้าบรมโกศนั้น  เมื่อถึงตอนที่เชิญพระอัฐิลงเรือแห่เป็นขบวนพยุหบาตรา  มีรายละเอียดดังที่ยกมาข้างต้นแล้วขาดหายไป  จึงไม่ทราบว่าทรงแห่พระอัฐิไปลอยในน่านน้ำ  หรือเชิญไปบรรจุไว้ ณ ที่ใด  คำให้การชาวกรุงเก่าก็ไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้  และในประชุมพงศาวดารภาค ๘๑ ก็มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน  ดูจากการจัดขบวนพยุหบาตราทางชลมารคเป็นขบวนใหญ่แล้วพอจะคาดดาได้ว่าน่าจะทรงเชิญพระอังคารและพระอัฐินั้นไปลอยในน่านน้ำ ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง  ตามประเพณีไทยที่ยังมีพิธีการลอยอังคารและอัฐิในน่านน้ำหรือในทะเลดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

          วันนี้ให้อ่านกันยาวนานหน่อย  เพราะเว้นไปหลายวัน  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อตอนใกล้สิ้นสุดอยุธยาครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, หนูหนุงหนิง, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, ชลนา ทิชากร

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #186 เมื่อ: 19, มีนาคม, 2562, 10:00:13 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- อุทุมพรผนวช เอกทัศขึ้นแทน -

อุทุมพรราชาลาออกผนวช
เป็นการบวชด้วยศรัทธาประมาณหมาย
เพื่อบรรลุโพธิญาณในบั้นปลาย
โดยถวายราชสมบัติเอกทัศครอง


          อภิปราย ขยายความ................

          ชาวกรุงเก่าให้การมีความขัดแย้งกับขุนหลวงหาวัดว่า.......  “หลังจากที่พระเจ้าบรมโกศสวรรคตแล้ว  พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการทั้งปวงยังไม่ถวายพระเพลิง  หากแต่เชิญพระโกษฐ์พระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งมหาปราสาท  แล้วออกประกาศให้ชนทั่วพระราชอาณาจักรโกนผมไว้ทุกข์  จากนั้นจึงเชิญพระมหาอุปราช  คือเจ้าฟ้าอุทุมพร  กรมขุนพรพินิต  ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระอุทุมพรราชา  ต่อมาพระอุทุมพรราชาโปรดให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งแล้วพระราชทานนามว่า  วัดอุทุมพราราม  ให้นิมนต์พระธรรมเจดีย์  มาเป็นเจ้าอาวาส  แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมมณฑปพระพุทธบาทที่ทรุดโทรม  ลงรักปิดทองใหม่  และเสด็จไปนมัสการและจัดงานฉลองพระพุทธบาทนั้น  ครั้นเสด็จกลับจากพระพุทธบาทก็ทรงสละราชสมบัติออกทรงพระผนวช  หลังจากที่ทรงครองราชย์อยู่ได้เพียง ๓ เดือน  เมื่อออกทรงพระผนวชนั้นตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี จุลศักราช ๑๑๐๒ (พ.ศ.๒๒๘๓)  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี  ขึ้นครองราชย์สืบไป  แต่ความในประชุมพงศาวดารภาค ๘๑ กล่าวว่า  หลังจากที่กลับจากพระพุทธบาทแล้ว  ทรงพระดำริว่า  “เรานี้เป็นอนุชายังหาควรแก่ราชสมบัติไม่  อันราชสมบัตินี้ให้พระเชษฐาธิราชเจ้าครองสนององค์สมเด็จพระบิดาเจ้าจึงจะควร  ทรงพระมนสิการแล้วพระองค์ก็เสด็จไปถวายสมบัติปแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช  แล้วพระองค์ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งเป็นขบวนพยุหบาตราไปทรงผนวช ณ วัดเดิม  แล้วเสด็จไปอยู่ ณ วัดประดู่”

          ชาวกรุงเก่าให้การว่า  ก่อนที่เจ้าฟ้าเอกทัศจะได้ขึ้นครองราชย์นั้น  เกิดนิมิตอัศจรรย์ขึ้น  กล่าวคือ  มีลมพายุใหญ่พัดต้นมะเดื่อซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกพระราชวังหัก  ยอดมะเดื่อที่หักล้มลงนั้นหันมาทางพระราชมนเทียร  บรรดาข้าราชการจึงนำความขึ้นกราบทูลเจ้าฟ้าเอกทัศ  พระองค์รับสั่งว่าเป็นนิมิตที่เป็นมงคลดี  ขอให้นำไม้มะเดื่อนั้นมาทำพระแท่น  ข้าราชการเหล่านั้นจึงทำพิธีบวงสรวงแล้วตัดไม้มะเดื่อนั้นมาทำพระแท่น  ครั้นเสร็จแล้วจึงจัดการราชาภิเษกเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี  ให้ทรงเครื่องสำหรับกษัตริย์แล้วเชิญขึ้นประทับเหนือพระแท่นไม้มะเดื่อ  ปุโรหิตโอมอ่านคาถาชัยมงคล  พราหมณ์เป่าสังข์ทักษิณาวัฏ  ชาวประโคมก็ประโคมดุริยางคดนตรี  พระอาลักษณ์เชิญพระสุพรรณบัฏประดับพลอย ๓ ชั้น  จารึกพระนามอ่านถวาย  มีใจความว่า

           “อาเปกขศรีสุรเดชบรมราชาธิราชรามาธิบดี  ศิริขัง  ปัจจังมหาจักรวรรดิสรทยาธิบดี  ศิริสัจติรัสหังสจักรวาฬาธิเบนทร์  สุริเยนทราธิบดี  ทะหะริมายะนะทะปธานาธิบดี  ศิริวิบูลย์  คุณอกนิฐจิตรุจีภูวนาถ  ตรังคติพรหมเทวา  เทพภูมินทราธิราช รัตนากาศสมมติวงศ์  องค์เอกาทศรฐ  วิสูตรโสตรบรมติโลกนาถ  อทิวิไชยสมุทร  ทโรมันทอนันตคุณ  วิบุลย์สุนทร ธรรมิกราชเดโชชาติ  โลกนาถวริสสาธิราชชาติพิเชษฐ  เดชทศพลญาณ  สมันตมหันตพิชิตมาร  วสุริยาธิบดีขัติยวงศ์  องค์รามาธิบดี  ตรีภูวนาถ  ปัจจโลกเชษฐวิสุทธิ์  มกุฎรัตนโลกเมาฬี  ศรีประทุมาสุริยวงศ์  องค์ปัจจุพุทธางกูร”  ดังนี้

          จากนั้นก็นำเอานามกรุงศรีอยุธยามาอ่านประกาศ  จบแล้วให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงก็ถวายตัวใหม่ทั้งสิ้น  พระเจ้าเอกทัศทรงให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์  แล้วทรงออกพระราชบัญญัติการใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงวัดต่าง ๆ ให้เที่ยงตรง  แล้วโปรดให้ยกเลิกภาษีต่าง ๆ ในเวลา ๓ ปี  ทั้งให้ปล่อยนักโทษในเรือนจำ  ครั้นพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์นั้นสร้างเสร็จแล้ว  โปรดให้มีการฉลองแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้กับพระศรีสรรเพชฌ์ ณ พระวิหารในพระราชวัง  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างวัดขึ้นอีก ๒ วัด  พระราชทานนามว่า  วัดละมุด  และ  วัดครุฑาวาส  

          ครั้นต่อมาทรงพระดำริห์เห็นว่า  พระศพพระราชบิดานั้นประดิษฐานอยู่นานแล้ว  จึงรับสั่งให้จัดการทำเมรุใหญ่ที่วัดพระปรางค์  ทิศตะวันออกเฉียงใต้พระนคร  เสร็จแล้วเชิญพระศพไปถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการแลราษฎรทั้งปวง”

          ขุนหลวงหาวัดให้การตอนหลังจากที่พระเจ้าเอกทัศราชาขึ้นครองราชย์แล้ว  มีรายละเอียดมากว่าคำให้การชาวกรุงเก่า  กล่าวโดยสรุปว่า พระเจ้าเอกทัศราชานั้นทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  ทรงเลี้ยงพระสงฆ์เช้าเพล  มีเทศนาและสวดมนต์แผ่ผลเมตตามิได้ขาด  ทรงปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรมทั้งในกรุงและนอกกรุง  ถวายไตรจีวรแด่พระสงฆ์ทั่วไป  มีพระกฐินทั้งในกรุงและนอกกรุง  ในวันเพ็ญเดือน ๑๒  ทรงให้ทำจุลกฐิน  และเครื่องข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนฉัตรธงทั้งปวงเป็นอันมาก  แห่ไปถวายพระทุกอารามมิได้ขาดทุกปี  ครั้นถึงเดือน ๔ ก็เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท  โดยตั้งเป็นขบวนพยุหบาตรแห่ไป  จัดให้มีการสมโภชพระพุทธบาทอย่างยิ่งใหญ่  พิธีการสมโภชพระพุทธบาทนั้น  ทรงให้รายละเอียดไว้อย่างน่าจดจำว่า

           “ มีการมหรสพ  มีโขนหนังทั้งระบำเทพทอง  มีละครและหุ่นสารพัดต่าง ๆ  แล้วตั้งระทาดอกไม้เพลิง  หว่างช่องระทาดอกไม้นั้นมีโขนหนังโมงครุ่มผาลา  ระบำเทพทอง  และหกคะเมนสามต่อ  ไต่ลวดรำแพน  ลวดบนปลายเสา ….”

          ทรงเลี้ยงพระสงฆ์ห้าร้อยองค์ครบเจ็ดวันแล้วถวายจีวรสังเค็ด  และแจกทานแก่ราษฎรด้วยเงินทอง  เสื้อผ้าสิ่งของเป็นอันมาก  จากนั้นเสด็จไปชมธารเกษมอันสวยงาม ณ เชิงเขาพนมโยง  ทางที่จะไปพระพุทธฉาย ณ ที่นั้นขุนหลวงหาวัดได้พรรณนาความงามของธรรมชาติไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจว่า

           “เสด็จไปตามธารน้ำ  อันเหล่าพระกำนัลนารีก็มีมโนรื่นเริงใจ  แล้วก็ชี้ให้ชมธารและศิลา  กรวดทรายอันมีสีแดงและขาว  บ้างก็เป็นสีเขียวดังมรกตอันดี  ที่ดำนั้นดังสีปีกแมลงทับ  มีสีต่าง ๆ  อันหว่างช่องศิลาในน้ำนั้นมีมัจฉาชาติ  ว่ายเวียนเลี้ยวลอดไปตามช่องศิลาเป็นคู่ ๆ  ยิ่งดูยิ่งเพลินใจ  บนเนินคีรีมีภูผาเป็นช่อช้อยลงมาต่าง ๆ  บ้างก็เป็นพู่กลีบห้อยย้อยลงมา  บ้างก็มีน้ำพุดุดั้นไหลมาตามช่องศิลา  อันพฤกษาสารที่บนคีรีมีดอกและออกช่อมีสีต่าง ๆ  งามล้วนดอกและต้นไม้นั้นก็งามต่าง ๆ นานา  อันเชิงเขาพนมโยงนั้นมีพลอยเพชรและทับทิมมรกตและพลอยนิลต่าง ๆ  ล้วนพลอยแตกสลายด้วยสดายุรบกับทศกัณฐ์   ที่ตำบลอันนั้นจึงแตกอยู่จนเท่าบัดนี้  เหล่าปักษาปักษีก็มีต่าง ๆ นานามีเสียงไพเราะเพราะสนั่น  เหล่าวานรนั้นก็โลดอยู่ไปมาบนคาคบพฤกษาลำเนาธาร  เหล่าพาฬมฤคราชนั้นก็มีต่าง ๆ  อันลำเนาป่าและท่าน้ำนั้นเป็นที่อาศัยแก่ฤๅษีสิทธิ์  วิทยาธรชาวลับแล  และภิกษุสงฆ์อันถือธุดงค์และพระปริยัติวิปัสสนาก็ได้อาศัยทำความเพียรอยู่นั้นก็มีมาก….”

          จากนั้นก็ได้กล่าวถึงราชกิจของพระเจ้าเอกทัศนาราชาไว้อย่างละเอียดซึ่งเป็นเรื่องน่ารู้ว่า  หลังจากว่าราชการงานกรุงในเวลากลางวันเสร็จและเสด็จเข้าบรรทมแล้ว  “ครั้นถึงยามสามเศษ  ตีสิบทุ่มแล้วประทมตื่น  บ้วนพระโอษฐ์สรงพระพักตร์  แล้วเสด็จเข้าที่นั่งพระธรรมรักษาข้างพระปริยัติและคันถธุระ  ครั้นเพลารุ่งเช้าเสด็จเข้านมัสการบูชาพระ  แล้วถวายธูปเทียนและข้าวตอกดอกไม้  ครั้นนมัสการพระแล้ว  เวลาโมงหนึ่งเสด็จออกท้องพระโรง  เหล่ากำนัลนารี (ขันที) ตามเสด็จไปพร้อมพรั่ง  เหล่าเสนามนตรีและราชบัณฑิตทั้งปวงก็ถวายบังคม  แล้วอ่านเรื่องกราบทูลฉลอง  แล้วพระองค์จึงตรัสตราสินว่าราชการกรุงตามผิดและชอบ  ตามกฎพระอัยการเยี่ยงอย่างแต่ก่อน  ครั้นแล้วเสด็จเข้ามาเรียกพระสุพรรณภาชน์เข้าสู่ที่เสวย  พรั่งพร้อมแวดล้อมไปด้วยพระกำนัลนารีเฝ้าที่เสวย  ครั้นสรรพเสร็จก็เสด็จทรงบริกรรม  ครั้นแล้วเข้าที่ประทมกลางวันพร้อมด้วยนางนารีนั่งอยู่งานพัดวี  บ้างอยู่งานนวด  ครั้นประทมตื่นแล้ว  ทรงเขียนอักษรเกณฑ์บุญ  ครั้นเพลาบ่ายสามโมงเศษเข้าสรงพร้อมด้วยนางสนมกำนัลอันเกณฑ์เฝ้าที่สรง  และนางเกณฑ์ถวายผ้าชุบสรง  และถวายพระภูษาผ้ารัตกัมพล  และนางถวายเครื่องพระสุคนธรสต่าง ๆ  ครั้นเข้าที่สรงแล้วเสด็จเข้าที่เสวยเพลาเย็น  พร้อมด้วยพนักงานเฝ้าที่เสวย  บ้างก็นั่งอยู่งานโบกพัดอยู่ตามที่ตามพนักงาน  ครั้นเวลายามเศษแล้ว  ทรงฟังนายเวรมหาดเล็กอ่านตรวจรายชื่อมหาดเล็กนอนเวร  แล้วนางกำนัลเกณฑ์ทำมโหรี  บ้างก็ขับรำทำเพลงเกณฑ์นางบำเรอ  แล้วก็เข้าที่ประทม  อันราชกิจนี้ตามประเพณีกษัตริย์มิได้ขาดวัน”

          ราชกิจตามคำให้การขุนหลวงหาวัดนี้มิใช่เป็นของพระเอกทัศราชาเพียงพระองค์เดียว  หากแต่เป็นของกษัตริย์ทุกพระองค์ที่กระทำกันสืบมา  แต่บางพระองค์อาจจะไม่เคร่งครัดตามราชกิจนี้  เช่นละเว้นการ นั่งพระธรรมรักษาข้างพระปริยัติธรรมและคันถธุระ  และการฟังเรื่องราวที่กราบทูลฉลอง  เป็นต้น  บางพระองค์อาจจะละเลยการปฏิบัติบำเรอของนางสนมกำนัลไปบ้าง  ตำนานและพงศาวดารไทยส่วนมากกล่าวว่า  พระเจ้าเอกทัศทรงละเลยราชกิจด้านการว่าราชการบ้านเมือง  แต่หมกมุ่นอยู่ในราชกิจด้านปฏิบัติบำเรอของนางสนมกำนัล  อาจจะไม่จริงตามตำนานและพงศาวดารนั้น ๆ  หากแต่จะเป็นจริงตามคำให้การขุนหลวงหาวัด  ซึ่งเป็นพระอนุชาธิราชในพระเจ้าเอกทัศก็ได้

          ขุนหลวงหาวัดให้การอีกว่า  อยู่มาพระยารายาผู้เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีได้ช้างเล็บรอบตัวหนึ่ง  แล้วนำเข้ามาถวายพระเจ้าเอกทัศ  ทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่พระยารายาเป็นอันมากแล้วทรงให้นามช้างนั้นว่า  บรมฉัททันต์มหันตพงษ์  มกุฎกุญชร  และยังมีเนียม (งาใหญ่แต่สั้น) อีกตัวหนึ่งมาเข้าเพนียดในกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าเอกทัศเสด็จไปจับได้แล้วให้ชื่อว่าบรมคชา  ในเวลานั้นมีนายสำเภาพ่อค้าชื่อ  อลังคปูนี  เอาสิงโตตัวหนึ่ง  นกกระจอกเทศตัวหนึ่ง  มาถวายพระเจ้าเอกทัศ  ยามนั้นกรุงศรีอยุธยาอยู่สงบร่มเย็น  พ่อค้าพาณิชมาจากต่างประเทศซื้อขายง่ายดี  ทั้งสำเภาแขกและฝรั่งอังกฤษจีนจามอะรัมมะนี  และสุรัต  พ่อค้ามาขายจอดสำเภาเรียงรายอยู่ที่หน้าท่าน้ำนั้นเป็นอันมากมายหนักหนา........

          เรื่องราวของพระเจ้าเอกทัศตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าข้างต้นนั้น  เป็นเรื่องในแง่ดีต่างไปจากตำนาน พงศาวดารทั่วไปที่กล่าวในแง่ลบเสียสิ้น  พรุ่งนี้มาดูกันต่อว่าขณะที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ในความสงบร่มเย็นนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบีนกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, รพีกาญจน์, ชลนา ทิชากร

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #187 เมื่อ: 20, มีนาคม, 2562, 10:04:54 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- พระเจ้าเอกทัศราชา -

เอกทัศราชาศรัทธาพระฉาย
เสด็จถวายบูชาเฉลิมฉลอง
ขบวนช้างพังพลายกรายเนืองนอง
หน้าหลังสองขบวนสรรพนับเกินพัน.....


          อภิปราย ขยายความ.................

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การสอดคล้องกันว่า  “ในท่ามกลางความสงบสุขของกรุงศรีอยุธยานั้น  จู่ ๆ ก็มีมอญใหม่คิดร้ายเป็นขบถ  คุมพวกยกมาทางเขานางบวช  แดนเมืองนครนายก  ตีบ้านเล็กบ้านน้อยในนครนายก  พระเจ้าเอกทัศจึงให้พระยาเพชรบุรีและพระยากาญจนบุรียกทัพไปราบปราม  พระยาทั้งสองรบกับมอญใหม่ที่ทุ่งพิหารแดง  เหล่ามอญใหม่ล้มตายไปสิ้น  เมื่อปราบมอญใหม่สิ้นแล้ว  พระเจ้าเอกทัศมีพระประสงค์ไปนมัสการปัถวี  หรือพระฉาย  ตรัสสั่งให้จัดกระบวนทัพช้างและม้าไป  ขุนหลวงหาวัดได้ให้รายละเอียดเกี่ยวชื่อช้างและม้าในขบวนนั้นไว้น่ารู้มาก  จึงขอยกความมาแสดงดังนี้

           “ อันช้างพระที่นั่งเอกแต่บรรดามีชื่อ  คือ  เจ้าพระยาไชยานุภาพ  ปราบไตรจักร  ศรีไชยศักดิ  จักรมหิมา  มงคลจักรวาฬ  วิมานจักรพรรดิ  สวัสดิพิไชย  ไตรภพนาศ  แก้วจักรรัตน  มัธยมเทศ  กุญชรราชา  บวรนาเคนทร์   เหล่าช้างพระที่นั่งสิบสองช้างนี้ผูกเครื่องทองประดับฝรั่งเศส  มีพู่ห้อยหน้าและข่ายทอง  ผ้าปกหลังกรองเชิงประดับสี่เท้าและทองรัดงา  บ้างก็คลุมข่ายทอง  บ้างผูกเครื่องกำมะหยี่  ปักทองขวางดาวทองต่าง ๆ  และพู่ห้อยข่ายทองปกหน้าผ้า  ปกหลังและเครื่องต่าง ๆ กันตามที่ทางเป็นชั้นเป็นหลั่น ๆ กันมาซ้ายขวาตามที่  แล้วจึงถึงช้างดั้งช้างกัน  ระวางนอกระวางในซ้ายขวาหน้าหลัง  และสารเพรียวน้อยใหญ่ตามมีชื่อเหล่าที่นั่งรอง  คือ  หัศดินพิไชย  ไอยราพต  โจมจักรพาฬ  พิมานไชย  คเชนทรรัตน  สวัสดิกุญชร  รจนนาเคนทร์  กเรนทรฤทธี  ศรีอาทิตย์  พิษณุจักร  สระสงสาร  บานชมพู  ณรามวิชิต  ฤทธิ์รามวิไชย  ชลเทศอุไทย  ไชยเทศอุทิศ  พลพิฤทธิประศักดิ  พลภิรักษ์ประเสริฐ  สุรราชสังหร  ศรราชสังหาร  พรหมพาหะ  พรหมพาหน  พรหมดล  พรหมเดช  พิษณุศักดิ  พิษณุสิทธิ  พิษณุฤทธิ  พิษณุราช  มโนนฤมิต  วิจิตรเจษฎา  อันที่นั่งรองเหล่านี้สามสิบสองช้าง  ผูกที่นั่งประสาทและที่นั่งกระโจม  และที่นั่งพุดตาน  บ้างก็ผูกพระที่นั่งเขน  และที่นั่งโถง  ผูกพระที่นั่งต่าง ๆ เป็นอันมากแล้ว  จึงถึงระวางช้างสารเพรียวซ้ายขวามีชื่อ  คือ  พลายพิไชยนาเคนทร์  คเชนทรมหิมา  รัตนากุญชร  บวรไอยรา  คเชนทรหัศดิน  กรินทราชา  มังคลารัตนาสน์  ราชไกรสร  สกลโกลา  มหาคชสาร  สังหารคชสีห์  มณีจักรพาฬ  สวัสดิคเชนทร์  กเรนทรราชา  บวรวายุกุล  สุนทรเดช  โจมไตรภพ  จบไตรจักร  ภูธรจำนง  บรรยงค์ไอยรา  ฦๅชาประศักดิ์  รักษ์ธานี  ฤทธีไกรสร  กำจรจักรพาฬ  กฤษณจักรี  ตรีสุรนาถ  กุญชรไชย  ไกรสรเดช  บำรุงภูบาล  สารภูธร  พรหมกฤษณ  พรหมสวรรค์  พรหมพรรณ  พรหมพักตร์  พิษณุรักษ์  พัศณรงค์  พิษณุพงศ์  พิษณุพาน  มโนรถจำนง  ทรงสุริยากษัตริย์  สรรพประสิทธิ์  ฤทธิประลัย  พลภิฤทธิชำนัน  พลภิฤทธิชำนาญ  มารประลัย  ไฟภัทกัลป  เรืองฤทธิกำจร  บวรธานี  สงคเชนทร  ชะนะจำบัง  โลรัตนาศ  ชาติคช  สุริยาภิรมย์  ชมภูฉัตร   อันช้างมีชื่อเหล่านี้ห้าสิบสี่ช้างด้วยกัน  เป็นเกณฑ์ช้างระวางเพรียว  มีวอทองบ้าง  สัปคับทองบ้าง  บ้างก็ใส่เขนและแพนหางนกยูง  มีธงหลังช้างและศัสตราวุธตามตำแหน่ง  มีหมอและควาญแต่งตัวเครื่องโพนประกวดกันต่าง ๆ ตามที่ตามตำแหน่ง  แห่แหนไปซ้ายขวาหน้าหลังเป็นอันมาก  แล้วจึงถึงทัพหลังพระที่นั่งรอง  เกณฑ์เหล่าช้างพังผูกพระที่นั่ง  เกณฑ์มีชื่อคือระวางใหญ่ซ้ายขวา  เหล่านี้คือ  เทพลิลา  เทพลิลาศ  หงส์ลิลา  หงสาลิลาศ  สุริย์รางชาง  สุรางคราเชนทร์  สมบัติไอศูรย์  สมบูรณ์ไอศวรรย์  อนงค์ศรีสวรรค์  อนันตศรีสวัสดิ์  อนิลบรรยงค์  อนงคบรรยิง  อนันตสรเศก  อเนกสุรศักดิ์  อนันตไกรกรุง  อดุงไกรเกริก  พิจิตรใจดล  พิมลจินดา  พิมลศรีสถาน  พิมานศรีสถิต  พิพิธสมบัติ  พิพัฒน์สมบูรณ์  พิสูรสมภาร  พิศาลสมพูน  อันช้างพังพระที่นั่งเอกมีชื่อยี่สิบสอง  ช้างเหล่านี้ผูกพระที่นั่งกูบทอง  ประคับบ้าง  พระที่นั่งกูบทองทึบบ้าง  ที่นั่งกูบลายรดน้ำบ้าง  หลังคากูบนั้นต่าง ๆ  แล้วแห่ไปข้างซ้ายขวา  แล้วจึงถึงที่นั่งทรง  ที่นั่งรองระวางเพรียว  เกณฑ์ช้างพังมีชื่อคือ  อนงค์คเชนทร  บวรราเชนทร์  เหมบรรยงค์  อนงครางชาง  พิพัฒน์โกสุมภ์  กรรพุมบุษบา  มณีรัตนมาลา  บุษบาสวรรค์  ทิศาบรรยงค์  อนงคนารี  วิศาลอัปสร  กินนรปักษี  ราชสุรางค์  สรรพางค์พิมล  สกลโกสุมภ์  กรรพุมรัศมี  เทพประพา  เทพาประศร  คเชนทรสำอาง  ราชางพิมล  อันที่นั่งรองช้างพังยี่สิบแปด  ช้างเหล่านี้  ผูกกูบทองบ้าง  สัปคับทองบ้าง  ต่าง ๆ กัน  พระเจ้าเอกทัศราชาทรงช้างพระที่นั่งเจ้าพระยาไชยานุภาพ  บรรดาเสนาอำมาตย์ก็ขี่ช้างดั้งช้างกันซ้ายขวาหน้าหลัง  เกณฑ์เหล่าช้างระวางนอกระวางในห้อมล้อมช้างพระที่นั่งไปตามกระบวนแห่ทั้งช้างพลายช้างพัง  รวมเป็น ๑,๐๕๐ ด้วยกัน  ช้างเป็นพันเชือกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปสู่เขาปัถวีในละแวกพระพุทธบาทนั้น  ดูเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่อาณาประชาราษฎรอย่างยิ่ง

          ในพิธีอาสุชมาศ (ราว ๆ เดือนตุลาคม)  พระเจ้าเอกทัศทรงเรือพระที่นั่งกิ่งลำหนึ่ง  พระมเหสีลำหนึ่ง  พายแข่งกัน  บรรดาเรือขุนนางทั้งหลายก็ออกพายแข่งกันตามเสด็จ  วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ แรม ๑ ค่ำเพลาค่ำ  เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งโถง  ประทับยืนบนเตียงลา  มีเรือนำเรือตาม  ประดับเทียนตามไฟตลอดทั้งลำทุกลำตามเสด็จ  พายแห่ไปรอบกรุง  แล้วเลี้ยงขนมเบื้องแผ่นใหญ่ศอกหนึ่ง  แล้วเสด็จลงเรือที่นั่งทรงผ้ากฐิน  มีฝ่ายหน้าฝ่ายในลงเรือประดับประดับโคมทุกลำ  พายแห่ไปถวายราชาคณะตามอารามหลวง  ทั้งนอกกรุงในกรุง  จากนั้นพระราชทานผ้าพระกฐินให้พระบรมวงศานุวงศ์เจ้าเมืองและผู้รักษาเมืองกับข้าราชการนำไปทอดถวายยังหัวเมืองเอกหัวเมืองโท  เป็นกฐินหลวงเบ็ดเสร็จร้อยเศษ  เป็นประจำทุกปี

          เมื่อวันออกพรรษา  พระเจ้าเอกทัศราชาเสด็จทรงประทีปบนเรือขนาน  ถวายธูปเทียนดอกไม้และกระทงกระดาษตามเทียนและเรือต่าง ๆ เป็นอันมาก  ทรงอุทิศถวายพระพุทธบาท ณ นัมทานที  แล้วลอยกระทงส่งไปเป็นอันมากเต็มไปทั้งแม่น้ำ  พร้อมกับจุดดอกไม้เพลิงที่ริมคงคาต่าง ๆ  ตามประเพณีราชพิธีจองเปรียง  คือการชักโคมลอยโคมที่ปฏิบัติสืบกันเป็นเวลาอันช้านานมาแล้ว

          ขุนหลวงหาวัดให้การถึงเหตุการณ์ก่อนที่พม่าจะยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยานั้น ว่า  “ครั้นอยู่มาจุลศักราชได้ ๑๑๒๕ ปีมะแม เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๐๖)  จึงมีกำมะลอชากุทองชาเจ้าเมืองทวายเข้ามาถวายตัวเป็นข้า  เข้ามาพึ่งอยู่ใต้ฝ่าพระบาทในขัณฑเสมากรุงใหญ่  พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแก่สัตว์จึงรับไว้ในกรุงศรีอยุธยา  อันพระบรมเอกทัศนั้นพระองค์มาได้ครองพิพัฒน์กรุงศรี  ในเมื่อเวลานาทีเมื่อกาลกลีจะถึงพระนคร  จึงเกิดวิบัตินานาเพราะกรรมเวราสังหาร  ทั้งอายุพระศาสนาและพระนครจักสิ้นสุดสถาวรจึ่งเป็นไป  ก็พอพระมาได้ครองพาราในเมื่อจะสิ้นชะตากรุงไกร  ก็มามีวิบัติให้เป็นไป  จึ่งเกิดเหตุภัยบัดนี้  แต่พระมหินทราชามาจนบัดนี้  นับได้ถึงสองร้อยปีมา  ทั้งโภชนาหารก็บริบูรณ์มีความสนุกสบายจนบัดนี้  อันการฝึกฝนรณรงค์สงครามทั้งปวงนั้นเสื่อมไป  ทั้งผู้ดีเข็ญใจและอาณาประชาราษฎรทั้งปวง  มีแต่จะเล่นเพลิดเพลินไปด้วยการเล่นเป็นสนุกสบาย  ไม่มีทุกข์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  มีแต่การละเล่นนานา  ทั้งสมณะชีพราหมณ์เป็นสุข  บ้างก็มาสรรเสริญพระคุณที่พระองค์มีพระกรุณากับสัตว์ทั้งปวง  บ้างก็ยอกรอัญชลีสรรเสริญพระคุณแล้วกราบกราน  บ้างเสพย์สุราและยาเมาต่าง ๆ  สารพัดจะสนุกทุกสิ่งอัน  ฝ่ายพระองค์ก็ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎรทั้งปวง  แผ่เมตตาไปทั่ว  สารพัดสัตว์ทั้งปวงมีแต่สนุกสบายทุกราตรี  เป็นนิจศีลมิได้ขาด”

          มองเห็นภาพตามคำให้การขุนหลวงหาวัดชัดเจนว่า  กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศประชาชีมีความมัวเมาอยู่ในลาภยศสรรเสริญ  เพลิดเพลินอยู่ในกามสุข  ไม่สนใจในการฝึกฝนยุทธวิธีการรบ ด้วยไม่คิดว่าจะมีข้าศึกศัตรูมารุกราน  นักประวัติศาสตร์ไทยมักมีความเห็นว่า  พระเจ้าเอกทัศมีความลุ่มหลงในสุรานารีจนไม่มีเวลาว่าราชการบริหารบ้านเมือง  ขุนหลวงหาวัดให้การว่านับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งแรกสมัยที่พระมหินราชาครองกรุงศรีอยุธยา  มาจนถึงปี ๑๑๒๕  นับเป็นเวลาได้ ถึง ๒๐๐ ปี  จากนั้นก็เกิดศึกสงครามกับพม่าครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัดซึ่งจะนำมาแสดงต่อในวันพรุ่งนี้...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอบคุณเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กลอน123, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, ชลนา ทิชากร

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #188 เมื่อ: 21, มีนาคม, 2562, 10:17:24 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา -

พระยามอญมาพึ่งโพธิสมภาร
แล้วมินานไทยจับพม่านั่น
พร้อมเรือแขกที่มะริดเรื่องติดพัน
ล่วงเขตขัณฑ์ล้ำถิ่นดินแดนไทย

พม่าขอคนคืนยื่นคำขาด
พร้อมประกาศสงครามลุกลามใหญ่
แล้วบุกเข้าทางมะริดพิชิตไว
ตะลุยไล่ไทยถึงสุดอยุธยา


          อภิปราย ขยายความ.............

          คำให้การขุนหลวงหาวัดที่ให้การถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์  และรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ  แม้จะมีรายละเอียดมากแต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการ  “ให้การไม่หมดสิ้นกระทงความ”  เฉพาะในเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒  หรือครั้งสุดท้าย  ที่ถือได้ว่าเป็นการ  “สิ้นสุดอยุธยา”  หรือ  “อยุธยาล่มแล้ว”  หากฟังแต่ความตามคำให้การขุนหลวงหาวัดแล้วก็จะได้ความไม่ชัดเจนพอเท่าที่ควร  จึงควรนำความในคำให้การชาวกรุงเก่า  และประชุมพงศาวดาร ภาค ๘๑ มาประกอบด้วย  เพราะจะมีความต่างจากคำให้การขุนหลวงหาวัดในหลาย ๆ ประเด็น  จะขอนำความในคำให้การชาวกรุงเก่า  โดยเริ่มจากสาเหตุหรือที่มาของการที่พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าเอกทัศครั้งที่ ๑ และ ที่ ๒  มาแสดงดังต่อไปนี้

           “ ครั้นจุลศักราช ๑๑๒๑ (พ.ศ. ๒๓๐๒)  พระยาเกียรติ์พระยารามชาติมอญกับครอบครัวประมาณ ๓๐๐ เศษ  อพยพจากเมืองเมาะตะมะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงรับไว้  แล้วโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลเขาน้ำพุห่างจากพระนครทาง ๓ วัน

          คราวนั้นมีสำเภาพวกแขกพรังคีเดิรเรือผิดทางเข้ามาจอดที่ท่าเมืองมฤท  ซึ่งเวลานั้นยังเปนอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา  แลในสำเภานั้นมีพวกพม่าโดยสานมาด้วย  พวกกรมการเมืองมฤทจับไว้แล้วมีใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ รับสั่งว่าพวกสำเภาเดิรเรือผิดสัญญา  ให้ริบเสียให้สิ้น  พวกข้าราชการจึงกราบทูลห้ามปรามว่าในเรือนั้นมีพวกพม่าโดยสานมามากอย่าให้กักขังไว้เลยจะเสียทางพระราชไมตรี  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ไม่ทรงเชื่อ  ให้ริบสิ่งของในสำเภาแลจับพวกพม่าไว้  กิตติศัพท์นั้นทราบไปถึงพระเจ้ามางลอง (อลองพญา) เมืองอังวะ  พระเจ้าอังวะจึงมีพระราชสาส์นมาขอว่า  พวกสำเภานั้นเปนพวกเมืองอังวะขอให้ปล่อยไปเถิด  ถ้าไม่ปล่อยไป  กรุงอังวะกับกรุงศรีอยุธยาจะผิดใจกัน  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้ประชุมข้าราชการทั้งปวงมาปฤกษาว่า  บัดนี้จะเกิดความใหญ่โตแล้ว  ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด  ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า  เมื่อได้เกินเลยแล้วจำเปนต้องบุกบั่นไม่ถอยหลัง  ควรตระเตรียมผู้คนช้างม้าเสบียงอาหารไว้ให้บริบูรณ์  ซ่อมแซมค่ายคูประตูหอรบไว้ให้มั่นคง  แล้วเกณฑ์ให้กองทัพออกไปตั้งรักษาด่านทุกแห่งทุกตำบลในประเทศหนทางที่พม่าจะมานั้น”

          สาเหตุที่พระเจ้าอลองพญา  หรือมางลองจะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานี้  ขุนหลวงหาวัดมิได้ให้การไว้  คำให้การชาวกรุงเก่าตรงนี้ความตรงกันกับประวัติศาสตร์พม่าฉบับ ดร. หม่อง ทินอ่อง  ที่ว่า  เจ้าเมืองทวายและชาวพม่าหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  อลองพญามีหนังสือมาทูลขอตัว  แต่พระเจ้าเอกทัศไม่ยอมคืนให้  อลองพญาจึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  ชาวกรุงเก่าให้การในการศึกครั้งนี้  สรุปได้ว่า  พระเจ้าอังวะยกทัพมีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ คน  เดินทัพเข้าทางมะริด  ตะนาวศรี  แต่พวกลาดตระเวนของกรุงศรีอยุธยากลับมีใบบอกเข้ามาว่า  พม่ายกทัพเข้ามาทางมะริด  ตะนาวศรี  ท่ากระดาน  กาญจนบุรี  และเชียงใหม่  พระเจ้าเอกทัศจึงสั่งให้เกณฑ์กองทัพไปตั้งรับพม่าตามทางที่มีใบบอกมานั้น  พร้อมกันนั้นก็ปรึกษาข้าราชการว่า  เมื่อพม่าข้าศึกยกมาเช่นนี้ควรจะเชิญพระอุทุมพรราชา  ที่ทรงพระผนวชอยู่นั้นให้ลาผนวชออกมาช่วยกันคิดการสงคราม  ข้าราชการทั้งปวงเห็นพ้องกัน  จึงเข้ากราบทูลเชิญให้ลาผนวชออกมา  พระอุทุมพรก็รับปากแล้วลาผนวชออกมาร่วมกันคิดการศึกสงคราม

          ชาวกรุงเก่าให้การอีกว่า  เวลานั้นมีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่สำคัญอยู่ ๓ คน  คือพระยาราชมนตรี (ปิ่น)  ซึ่งเป็นน้องพระมเหสี ๑   เจ้าพระยาพินทุ ๑   พระยาราชวังสัน ๑   พระเจ้าเอกทัศเกิดระแวงเจ้าพระยาพินทุ กับ พระยาราชวังสัน  จึงมีรับสั่งให้เอาคนทั้งสองไปประหารเสีย  แล้วตั้งเจ้าแมลงเม่าซึ่งเป็นพระขนิษฐาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี  เจ้าแมลงเม่ามีพระราชธิดาองค์หนึ่ง  พระนามว่า  เจ้าฟ้าศรีจันทราเทวี (ราชประเพณีในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น  ถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโอรสเวลาประสูติต้องประโคมดนตรี ๔ ครั้ง  ถ้าเป็นราชธิดา  ให้ประโคมดนตรี ๓ ครั้ง)  พระอุทุมพรราชา ลาผนวชออกมาร่วมคิดการศึกสงครามแล้วตกลงกันให้จัดทัพออกต่อต้านพม่า  ซึ่งชาวกรุงเก่าได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนทัพต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

           “…….พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้สงกรานต์ ๑   วิสูทธามาตย์ ๑   พระยามหาเสนา ๑   พระยาพิไชย ๑   พระพิพัฒน์ ๑   หมื่นปรุง ๑   หมื่นวาสุเทพ ๑   คุมพลทหารคนละพัน ๆ ในกองหนึ่ง ๆ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง   ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก   มีทวน ๒ เล่ม   มีทหารขี่ฅอ ๑   กลาง ๑   ท้าย ๑   แลมีพวกทหารตามช้างอีกช้างละร้อย ๆ  ให้เจ้าพระยาอภัยราชาถืออาญาสิทธิ์  เปนแม่ทัพใหญ่ยกไปรับทัพพม่าทางเมืองเชียงใหม่

          ให้ราชามาตย์ ๑   ราชาบาล ๑   พระทิพโยธา ๑   พระประรมพรรดิ ๑   พระเพ็ชร์พงศา ๑   หลวงจาโร ๑   หลวงหรไทย ๑   พระยาพิพัฒน์ ๑   พระพิพัฒน์โกษา ๑   ขุนพิพัฒน์ ๑   คุมพลทหารคนละพันละพัน  มีช้างคลุมเกราะเหล็ก กองละ ๑๐ ช้าง   ช้างตัว ๑ ตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก   มีพลทหารขี่ฅอ ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑   แลมีพลทหารถือทวนตามช้างอีกช้างละร้อยคน  ให้พระยาอภัยมนตรีเปนแม่ทัพใหญ่ ยกไปคอยรับทัพพม่าทางตำบลท่ากระดาน   พระเจ้าอังวะหาได้ยกมาทางเชียงใหม่แลท่ากระดานไม่  มาเสียทางเมืองมฤทเมืองตะนาวศรี

          พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบว่าพม่ายกไพร่พลมามากกว่ามาก  มาทางเมืองมฤท  เมืองตะนาวศรี  จึงให้พระราชสงกรานต์ ๑   พลสู ๑   สรทิพรรดิ ๑   พระยาราชมังสังเสนี ๑   พระยาตานอง ๑   พระศรีพัฒน์ ๑   ธรรมรง ๑   พระยาเดโช ๑   พระท้ายน้ำ ๑   พระพิไชยนรินทร ๑   พระพิไชยรณรงค์ ๑   อินทรเทพ ๑   หลวงภิรมย์อินทรา ๑   หลวงรถาสอนไพ ๑   คุมทหารคนละพัน  ในกองหนึ่งมีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง   ช้างตัวหนึ่งมีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีควานประจำฅอ ๑  กลาง ๑  ท้าย ๑   แลมีพลทหารถือทวนตามช้างอีกช้างละร้อยคน  ให้เจ้าพระยาพระคลังเปนแม่ทัพยกไปตั้งที่ตำบลกิ่งดุง (เห็นจะเป็นตำบลกุ่มดอง)

          ให้พระยาราชสมบัติ ๑   พระยาจุหล่า ๑   พระสวีสวาสา ๑   พระสวีสวธภา ๑   หลวงทองบุญ ๑   หลวงศรีวรลักษณ์ ๑   หลวงศรีรุต ๑   หลวงราชพิมล ๑   หลวงแมน ๑   พระยาจ่าแสน ๑   มหาเทพ ๑   มหามนตรี ๑   ราชรินทร์ ๑   อินทรเดช ๑   คุมพลทหารคนละพันละพัน  ในกองหนึ่ง ๆ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง  ช้างตัวหนึ่ง ๆ มีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีควานหัว ๑   กลาง ๑   ท้าย ๑   แลมีพลทหารถือทวนตามหลังช้างอีกช้างละร้อยคน  ให้พระยานครศรีธรรมราชเปนแม่ทัพยกไปตั้งที่เมืองราชบุรี”

          ในคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นกล่าวว่า  ให้พระยานครศรีธรรมราชเป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งอยู่เมืองมะริด  ตะนาวศรี  ให้พระยามหาเสนาเป็นแม่ทัพนำกำลังไปตั้งรับทัพพม่าที่นครสวรรค์  ให้พระยากลาโหมเป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งรับพม่าที่ท่ากระดาน  ให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งรับพม่าที่ราชบุรี  ให้พระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพยกไปตั้งที่ชัยนาท  แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดว่าเป็นการตั้งรับกองทัพพม่าของอลองพญา  หรือทัพมหานรทา  การตั้งทัพรบกับพม่าจึงถือว่าคำให้การชาวกรุงเก่ามีความชัดเจนกว่าคำให้การของขุนหลวงหาวัด

          พระเจ้าอลองพญายกทัพมาทางเมืองมะริด  ตะนาวศรี  เพียงทางเดียว  ชาวกรุงเก่าให้การว่ากองทัพอันมหึมาของอลองพญายกเข้าโจมตีเมืองมะริด  แม้กองทัพไทยมีกำลังน้อยกว่าแต่ก็สามารถรบกับทหารพม่าอย่างเหนียวแน่น  เป็นเวลานานถึง ๑๕ วัน  ไพร่พลข้างไทยสู้ไม่ได้ก็ถอยหนีมารวมกับกองทัพเจ้าพระยาพระคลังที่ตำบลกิ่งดุง  แล้วแยกย้ายกันถอยลงมาตั้งที่เมืองราชบุรี  พม่าก็ยกกำลังติดตามตี  นายทัพนายกองไทยที่มีฝีมือเข้มแข็งต้องอาวุธล้มตายเป็นอันมาก  ถอยร่นมาตั้งที่บ้านกงบ้านพาน  พม่าก็ตามตีแตกจนหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาในที่สุด  พระเจ้าอลองพญาจึงยกกองทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้โดยรอบ......

          กองทัพพม่าตีตลุยไล่กองทัพไทยที่แตกพ่ายตั้งแต่เมืองมะริดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วตั้งทัพรายรอบกรุง  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณหุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพลิขสิทธิ์ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : กลอน123, เนิน จำราย, Black Sword, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #189 เมื่อ: 22, มีนาคม, 2562, 10:26:47 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือการ์ตูน
"ขุนรองปลัดชู : ๔๐๐ กองอาทมาตประกาศศึก"

- อลองพญาตีอยุธยาไม่แตก -

อลองพญาพาพลพหลห้อม
เข้ารายล้อมกรุงไทยไว้แน่นหนา
เอกทัศจัดทูตออกพูดจา
ฝ่ายพม่าไม่ละระดมตี

ยิงปีนใหญ่หมายขย่มถล่มแหลก
แต่ปืนแตก“ยาลอง”เจ็บต้องหนี
ถอยทัพล่าคืนหลังยังบุรี
สิ้นชีวีในแคว้นดินแดนตน


          อภิปราย ขยายความ.............

          ชาวกรุงเก่าให้การอีกว่า  “ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงทรงปฤกษากับนายทัพนายกองทั้งปวงว่า  ทัพพม่ายกมาครั้งนี้มากมายนัก  ฝ่ายเราให้ยกทัพไปตั้งรับหลายตำบลก็เสียทีแก่พม่า  ถ้าจะตั้งเขี้ยวขับกันอยู่อย่างนี้  ก็จะได้ความเดือดร้อนแก่สมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก  ควรจะให้คนที่เฉลียวฉลาดออกไปเจรจาขอทำไมตรีกันเสีย  ท่านทั้งปวงจะเห็นเปนประการใด  บรรดาข้าราชการทั้งปวงก็เห็นชอบตามพระราชดำริห์  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้พระยาราชเสนีอำมาตย์ ๑   พระมนะภัย ๑   ขุนสุดวาสวรรค์ ๑  ออกไปเจรจาทัพ

          ครั้นข้าราชการทั้ง ๓ คน  ไปถึงค่ายพม่าจึงชี้แจงให้นายทัพนายกองพม่านำความกราบทูลพระเจ้าอังวะว่า  พระนครอังวะกับพระนครศรีอยุธยา ๒ ประเทศนี้เปนราชธานีมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองทั้ง ๒ ประเทศ  ตามประเพณีมหากษัตริย์แล้วย่อมตั้งพระทัยที่จะบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเปนสุข  แลแผ่พระราชอาณาจักรกว้างขวางโดยยุติธรรม  ถึงคราวจำเป็นที่จะทำศึกสงครามปราบปรามบ้านเมือง  หรือป้องกันข้าศึกศัตรูก็ต้องผันผ่อนทำแต่ที่จำเป็น  อย่าให้ถึงแก่ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือนร้อนมากเกินไป  ซึ่งพระเจ้าอังวะยกทัพใหญ่มาคราวนี้  ก็มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวาง  ข้างกรุงศรีอยุธยาก็จำเปนที่จะต้องป้องกันบ้านเมืองเพื่อรักษาอำนาจแลเกียรติยศ  เปรียบเหมือนหนึ่งช้างสารที่สู้กัน  บรรดาพืชพรรณไม้แลใบหญ้าที่เกิดขึ้นตามพื้นแผ่นดินก็มีแต่จะแหลกลเอียดย่อยยับไป  เหมือนราษฎรแลไพร่พลที่ย่อยยับล้มตายลงด้วยการทัพศึก  บัดนี้พม่ากับไทยก็ได้สู้รบกันมาหลายครั้ง  พลทหารก็ล้มตายลงด้วยกันเปนอันมาก  แม้หากจะได้ไชยชนะกันข้าง ๑ ก็ไม่เพียงพอกับที่เสียหาย  เพราะฉะนั้นให้ท่านทูลเจ้านายของท่านให้ยอมทำไมตรีเปนทองแผ่นเดียวกันเสีย  บ้านเมืองจะได้ปราศจากเสี้ยนหนามทั้ง ๒ ฝ่าย  ทั้งจะได้ปรากฏเกียรติยศเปนที่ยกย่องสรรเสริญทั้ง ๒ ฝ่าย  ว่าแผ่นดินทั้ง ๒ ประเทศมีพระทัยประกอบด้วยพระกรุณาไพร่ฟ้าประชาชนมิให้เดือดร้อน

          เมื่อพวกกรุงศรีอยุธยาออกไปเจรจากับนายทัพนายกองพม่าดังนี้  นายทัพนายกองพม่าก็นำความกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ก็ไม่ยอมตาม  ข้าราชการทั้ง ๓ ก็กลับมาทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ ก็ให้คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินให้มั่นไว้  พระเจ้าอังวะก็ให้เข้าตีหักเอาพระนครศรีอยุธยาเปนสามารถ  ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเข้ามาในเมืองเปนห่าฝน  แต่ระดมตีเมืองอยู่ ๒-๓ วันก็หักเอาไม่ได้  จึงให้เผาบ้านเรือนราษฎรในภายนอกพระนครเสียสิ้น  แล้วพระเจ้าอังวะก็ยกทัพกลับพระนครทางตำบลวัสลูโพะแร”

          นี่คือสาเหตุที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ  ตามคำให้การของชาวกรุงเก่า  สาเหตุสำคัญก็คือ  พระยาเกียรติพระยารามชาวมอญหนีจากเมาะตะมะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าเอกทัศ  ทำให้พระเจ้าอลองพญาไม่พอพระทัยจึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  แต่ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดลงไปว่า  เหตุที่ชาวมอญหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้นเป็นเพราะ พระเจ้าอลองพราญี (อลองพญา)  เมื่อได้เป็นใหญ่ขึ้นแล้วก็ปรารถนาจะแผ่พระราชอำนาจ  จึงยกทัพลงมาตีเมืองมอญ  ยึดเมืองปรอน  เมืองย่างกุ้ง

          พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าจะต้านทานกำลังอลองพราญีไม่ได้  ก็ปรึกษาอำมาตย์ว่า  เมื่อมาถึงขั้นนี้เราควรจะแต่งธิดาออกไปถวายมังลอง (อลองพญา)  ยอมแพ้ขอเป็นเมืองขึ้น  จึงจะพ้นภัย  พระยาอุปราชาและท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวงพากันคัดค้าน  และพากันทูลว่า  “ข้าพเจ้านายทัพนายกองทั้งปวงมีฝีมือพอทัดกันอยู่กับทหารพม่า  ซึ่งจะอ่อนน้อมยอมแพ้เขานั้น  มีความละอายอัปยศนัก  จะขอต่อสู้พม่ากว่าจะสิ้นชีวิต  ไม่ยอมเป็นข้าพม่าแล้ว”  ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีก็ไม่ฟังคำค้าน  จึงแต่งธิดากับบรรณาการและราชสาส์นอ่อนน้อม  ให้ขุนนางนำไปถวายพระเจ้ามังลอง  เมื่อได้รับพระธิดาและทราบความในราชสาส์นแล้ว  อลองพราญีก็สั่งให้งดการรบรออยู่สองสามวัน

          ฝ่ายอุปราชา  พระยาทละ  ตละปั้น  และท้าวพระยาสมิงรามัญทหารทั้งหลายก็โกรธพระเจ้าหงสาวดี  ด้วยความละอายอัปยศแก่พม่ายิ่งนัก  จึงลอบคุมพลทหารประมาณหมื่นเศษลอบยกออกจากเมืองไปในเวลากลางคืน  จู่โจมเข้าตีปล้นค่ายพม่าแตกพ่ายไปถึงเก้าค่าย  ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก  แล้วก็เข้าตั้งรักษาอยู่ในค่ายที่ตีได้นั้น ๆ

          พระเจ้าอลองพญาทราบว่ามอญลอบตีค่ายของตนได้ดังนั้นก็โกรธมาก  ตรัสว่าพระเจ้าหงสาวดีเสียสัตย์  ล่อลวง  จะต้องตีเอาเมืองให้จงได้  แล้วสั่งนายทัพนายกองจัดแจงการรบให้แข็งขันกว่าแต่ก่อน  ส่วนว่าพระเจ้าหงสาวดีนั้น  เมื่อทราบว่าทหารมอญมีชัยแก่พม่าดังนั้นก็มีความยินดีแล้วจึงว่า  “ท่านทั้งปวงไม่ฟังเรา  ชวนกันออกรบพม่าได้ชัยชำนะ  แต่ตัวเราเคราะห์ร้ายเสียบุตรีคนหนึ่ง  ก็แล้วไปเถิด  เราจะคิดทำสงครามกับพม่าด้วยท่านทั้งปวงสืบไปอีก”  จากนั้นพม่ากับมอญก็รบกันอย่างดุเดือด  ใช้เวลารบกันอยู่นานถึงเจ็ดเดือนเศษ  หงสาวดีก็ตกอยู่ในมือของอลองพญา  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดในสงครามพม่ารามัญไว้ว่า

           “พระเจ้าอลองพราญีกระทำสงครามกับรามัญตั้งแต่ตีเมืองย่างกุ้ง  เมืองเสี่ยง  จนตีเมืองหงสาวดีได้นั้น  ถึงปีเศษจึงเสร็จการศึก  ให้จับพวกมอญเชลย  ทั้งคฤหัสถ์สมณะฆ่าเสียด้วยน้ำ  ด้วยเพลิง  ด้วยศัสตราวุธต่าง ๆ  ตายมากกว่ามาก  และจับตัวพระยาหงสาวดี  และพระยาอุปราชา  พระยาทละ  และพระญาติวงศาท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวงกับทั้งครอบครัวอพยพชาวเมืองเป็นอันมาก  ให้กวาดต้อนขึ้นไปก่อน  แล้วทัพหลวงจึงเลิกตามขึ้นไปยังเมืองรัตนสิงค์ต่อภายหลัง  และตละปั้นนั้นหนีไปได้  ให้พลทหารไปตามจับไม่ได้ตัว  และสมิงแซงบูได้เป็นเจ้ารามัญอยู่ได้เจ็ดปีก็เสียเมืองแก่พม่า”

          พระราชพงศาวดารฉบับนี้มิได้กล่าวถึงสาเหตุที่อลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาด้วยอ้างว่ากรุงศรีอยุธยารับอุปการะขุนนางชาวมอญดังที่ชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัดให้การไว้  ความในพงศาวดารฯกล่าวแต่ว่า  หลังจากชนะเมืองหงสาวดีได้ครอบครองมอญทั้งหมดแล้ว  อลองพญาว่างศึกบำรุงช้างม้ารี้พลอยู่สามปี  จากนั้นก็ระดมพลยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยเดินทัพตีหัวเมืองต่าง ๆ  เช่นเดียวกันกับที่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การไว้  จะต่างกันก็โดยรายละเอียดข้อปลีกย่อย  เช่นว่ามีกรมการเมืองวิเศษชัยชาญ  ชื่อ  ขุนรองปลัดชูผู้อยู่ยงคงกระพัน  ขันอาสานำพรรคพวกเข้าร่วมรบพม่า  และผลก็คือ  ขุนรองปลัดชูถือดาบสองมือเข้าฟาดฟันทหารพม่าอย่างเหี้ยมหาญจนหมดแรง  ถูกพม่าจับได้แล้วใช้ช้างเหยียบจนตายในที่สุด  และตอนที่ว่าด้วยอลองพญาถอยทัพกลับไปนั้น  ให้รายละเอียดไว้ว่า

           “ครั้น ณ วันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๖ ปีมะโรง โทศก  กองทัพพม่าเลิกกลับไปทางเหนือตามแนวแม่น้ำใหญ่  และได้ข่าวว่าพระเจ้าอลองพราญีมังลอง (อลองพญา) มาให้จุดปืนใหญ่ยิงปราสาท  ปืนแตกต้องพระกาย  กลับไปค่ายบางกุ่ม  ประชวรหนัก  จึงเร่งเลิกทัพกลับไปโดยเร็ว  ให้แมงละแมงข่องคุมพลหมื่นหนึ่งอยู่รั้งหลัง  และทัพหลวงนั้นยกรีบไปถึงตำบลเมาะกะโลก  นอกด่านเมืองตากเป็นระหว่างแดนต่อแดน  พระเจ้าอลองพราญีมังลองก็ดับสูญทิวงคตในที่นั้น  แต่ได้เสวยราชสมบัติอยู่แปดปี”

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  เรียกพระนามอลองพญาว่า  อลองพราญี  นายทหารคนสำคัญที่  มังลอก  มังระ  เกรงกลัวนักหนานั้นพม่าเรียกว่า  มังฆ้องนรธา  แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า  แมงละแมงข่อง  ถิ่นกำเนิดของหม่องอองไจยะ  หรือ  อลองพญา  คือ  ชเวโบ  “ดินแดนแห่งขุนพลทอง” นั้น  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า  เมืองรัตนสิงค์  การศึกสงครามกับพระเจ้าอลองพญานั้น  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  กับคำให้การชาวกรุงเก่า  ตรงกันว่า  พระอุทุมพรราชาที่ทรงพระผนวชอยู่นั้นได้รับอาราธนาให้ลาสิกขาออกมาช่วยคิดการศึกสงครามด้วย  และเมื่อเสร็จศึกแล้วก็กลับไปผนวชตามเดิม  แต่ความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้รายละเอียดลึกลงไปว่า  เมื่อพม่าล่าไปหมดแล้ว  พระอุทุมพรยังมิได้กลับไปผนวชในทันที  ยังคงเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกทัศอยู่เนือง ๆ  เหตุที่จะทรงพระผนวชใหม่นั้นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า

           “ อยู่มาวันหนึ่งเพลากลางคืน  มีพระราชโองการให้พระอนุชาธิราชเข้าเฝ้าถึงที่ข้างใน  ครั้นเสด็จเข้าไป  ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าพี่ถอดพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่  ก็เข้าพระทัยว่าทรงรังเกียจจะทำร้าย  มิให้อยู่ในฆราวาส  จึงเสด็จกลับออกมา ณ ที่ข้างหน้า  ครั้นถึง ณ เดือน ๘ ข้างขึ้น  จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไป ณ วัดโพธิ์ทองคำหยาด  ทรงพระผนวชแล้วเสด็จกลับมาอยู่ ณ วัดประดู่ดังแต่ก่อน”  ((ราษฎรจึงพากันขนานพระนามพระองค์ว่า “ขุนหลวงหาวัด”))

          ศึกสงครามไทย-พม่าในสมัยพระเจ้าเอกทัศ  ยกแรกพระเจ้าอลองพญายกมาทางเมืองมะริด  ตีทัพไทยแตกย่อยยับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วตั้งค่ายรายล้อมกรุงไว้โดยรอบ  พระเจ้าเอกทัศส่งทูตเข้าเจรจาอย่าทัพ  เป็นไมตรีต่อกัน  แต่อลองพญาไม่ยอม  ระดมตีกรุงศรีอยุธยาด้วยปืนน้อยใหญ่  พระองค์ทรงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง  เล็งยิงถล่มปราสาทราชวัง  แต่ปืนกลับแตกทำให้พระองค์บาดเจ็บสาหัสจึงสั่งเลิก  ล่าทัพกลับไปแล้วสิ้นพระชนม์ที่เมาะกะโลกนอกเขตแดนไทย  พระอุทุมพรราชา  เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วก็ทรงไปผนวช ณ วัดคำหยาด (อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ในปัจจุบัน)  แล้วกลับมาประทับ ณ วัดประดู่ตามเดิม  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #190 เมื่อ: 23, มีนาคม, 2562, 10:23:14 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- มังระครองพม่าแล้วมาตีไทย -

สิ้นมังลองครองพม่าตำราบอก
มีมังลอกลูกใหญ่ได้รับผล
สืบสมบัติแทนบิดาหมดมณฑล
แล้วยกพลตีเชียงใหม่ได้ครอบครอง

สิ้นมังลอกมีมังระสืบสมบัติ
เป็นกษัตริย์ที่พม่าพายกย่อง
ยกพหลพลโยธามาเนืองนอง
สยามพร่องผู้นำทัพพ่ายยับเยิน


          อภิปราย ขยายความ.................

          หันไปดูเรื่องราวในพม่านั้นสรุปความได้ว่า  เมื่อพระเจ้าอลองพญา (มังลอง) สวรรคตแล้ว   “มังลอก” อุปราชขึ้นครองราชสมบัติ  ตั้งมังระอนุชาเป็นอุปราช  ส่วนมังฆ้องนรธาขุนพลคนสำคัญของอลองพญาไม่พอใจจึงปักหลักอยู่ที่กรุงอังวะจนถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ  แล้วถูกฆ่าตายในที่สุด  พระเจ้ามังลอกครองราชย์แล้วยกทัพมาตีเชียงใหม่ได้สำเร็จ  กลับไปครองราชย์อยู่ได้ประมาณ ๓ ปี  ก็สวรรคต  มังระจึงขึ้นครองราชย์แทน  แล้วย้ายจากชเวโบ  หรือ  รัตนสิงค์  มาอยู่ ณ กรุงอังวะ  จากนั้นจึงขยายพระราชอำนาจด้วยการตีบ้านเมืองต่าง ๆ แล้วรวบไว้ในพระราชอำนาจ  และจัดทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา  โดยยกมาทางใต้และทางเหนือพร้อมกัน  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้รายละเอียดในการยกทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาไว้ว่าดังนี้

           “ในปีวอก ฉศกนั้น (จุลศักราช ๑๑๒๖ = พ.ศ.๒๓๐๗)  ฝ่ายพุกามประเทศ  พระเจ้าอังวะมังระ  ให้เกณฑ์กองทัพพลฉกรรจ์ลำเครื่องสองหมื่นห้าพัน  สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศัสตราวุธให้พร้อมไว้  คิดจะยกมาตีพระนครศรีอยุธยาอีก  พอมีหนังสือเมืองเมาะตะมะบอกขึ้นไปว่า  ชาวเมืองทวายคิดกบฏ  ฆ่าเจ้าเมืองกรมการและไพร่พลซึ่งลงไปรักษาเมืองนั้นเสียสิ้น  พระเจ้าอังวะจึงให้จัดทัพเป็นสองทัพ  ให้มังมหานรทาเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่  เมฆราโบเป็นทัพหน้า  ติงจาแม่งข่องเป็นยกกระบัตร  เสนัดหวุ่นเป็นเกียกกาย  ปกันหวุ่นเป็นทัพหลัง  ถือพลหมื่นห้าพัน  ให้ยกมาทางใต้ทัพหนึ่ง  ไปตีเมืองทวาย  ได้แล้วให้ยกเข้าตีกรุงเทพมหานคร  อีกทัพหนึ่งนั้นให้เนเมียวมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพ  ฉับกุงโบเป็นทัพหน้า  แนกวนจอโบเป็นยกกระบัตร  เมี้ยนหวุ่นเป็นเกียกกาย  อุดมสิงหจอจัว  เจ้าเมืองปรอนเป็นทัพหลัง  ถือพลหมื่นหนึ่ง ให้ยกมาทางเหนือทัพหนึ่ง  ให้บรรจบกับมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ไปตีกรุงเทพมหานครทั้งสองทัพ

          ครั้นถึงวันได้ศุภฤกษ์  จึงนายทัพนายกองทั้งสองทัพก็ทูลลาพระเจ้ากรุงอังวะ  แล้วยกทัพแยกกันมาทั้งสองทาง  ฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ซึ่งยกมาทางใต้นั้น  จึงให้เมฆราโบ ๑   ติงจาแมงข่อง ๑   เสนัดหวุ่น ๑   คุมพลห้าพันยกล่วงมาตีทวายก่อน  แต่ตัวมังมหานรทากับปกันหวุ่นซึ่งถือพลหมื่นหนึ่งนั้นยกตามมาภายหลัง  นายทัพทั้งสามซึ่งเป็นกองหน้ายกเข้าตีเมืองทวาย  และหุยตองจาเจ้าเมืองยกพลทหารออกสู้รบ  สู้พม่ามิได้ก็แตกพ่ายทิ้งเมืองเสีย  พาสมัครพรรคพวกครอบครัวของตัวหนีลงมาเมืองตะนาวศรี  กรมการเมืองตะนาวศรีจึงบอกข้อราชการศึกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  ในเดือน ๖ ปีวอก ฉศก  ว่ากองทัพพม่ายกมาตีเมืองทวายเสียแล้ว  จะยกมาตีเมืองมฤตเมืองตะนาวศรี  โกษาธิบดีจึงกราบบังคมทูลตามหนังสือบอกข้อราชการนั้น

          ฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพยกลงมาถึงเมืองทวาย  จึงให้กองหน้ายกไปตีเมืองมฤต  เมืองตะนาวศรีแตกทั้งสองเมือง  หุยตองจาเจ้าเมืองทวายหนีลงไปทางเมืองกระ  เข้าเมืองชุมพร  ทัพพม่าตามลงไปเผาเมืองชุมพรเสีย  แล้วยกลงมาตีเมืองปทิว  เมืองกุย  เมืองปราณ  แตกทั้งสามเมือง  แล้วกลับไปเมืองทวาย

          ฝ่ายหุยตองจากับกรมหมื่นเทพพิพิธก็หนีเข้ามา ณ เมืองเพชรบุรี  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่า  เสียหัวเมืองแก่ข้าศึกเป็นหลายเมือง  จึงโปรดให้ส่งหุยตองจาไปอยู่ ณ เมืองชลบุรี  ให้ส่งกรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่ ณ เมืองจันทบูร  แล้วดำรัสให้เกณฑ์กองทัพสามพัน  โปรดให้พระพิเรนทรเทพเป็นแม่ทัพ  ยกออกไปตั้งรับข้าศึกอยู่ ณ เมืองกาญจนบุรี

          ครั้นถึงเดือน ๗ มังมหานรทาให้กองหน้าสามนาย  พลห้าพัน  ยกกองทัพเข้ามาเมืองกาญจนบุรี  เข้าตีทัพพระพิเรนทรเทพแตกพ่ายมา  ทัพพม่ายกตามเข้ามาตั้งค่ายอยู่ตำบลบ้านลูกแก  ขณะนั้นเรือลูกค้ามาจอดคั่งกันอยู่ที่นั้นเป็นอันมาก  พม่าลงไล่ฆ่าฟันตายในน้ำและบนบก  และจับเป็นได้ก็มาก  แล้วพม่าก็ยกไปตั้งค่ายอยู่ ณ ตอกระออมและดงรังหนองขาว  ให้ต่อเรือรบเรือไล่อยู่ที่นั้น  แล้วจัดทัพให้ยกแยกกันไปตีเมืองราชบุรี  เมืองเพชรบุรี  มิได้มีผู้ใดต่อรบ  ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น  พม่าเที่ยวไล่ค้นจับผู้คนครอบครัวได้บ้าง  แล้วยกกลับไปยังค่ายซึ่งตั้งอยู่นั้น  และรอทัพต่อเรือฟังข่าวกองทัพทางเหนืออยู่จนถึงปีระกา สัปตศก

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสสั่งเสนาบดีให้จัดแจงเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปากใต้ทั้งปวงและให้ทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกอยู่ตำบลบำหรุใต้เมืองราชบุรี  ให้ทัพเรือไปตั้งอยู่หัวเมืองตำบลบางกุ้ง  และให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ตะวันออก  ตะวันตก  เข้ามาช่วยการสงครามป้องกันพระนคร  ให้ทัพเมืองพิษณุโลกมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง  ให้ทัพเมืองนครราชสีมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดพระเจดีย์แดง  แล้วให้พระยารัตนาธิเบศคุมทัพเมืองนครราชสีมายกลงมาตั้งรักษาเมืองธนบุรี  ให้พระยายมราชเกณฑ์กองทัพหัวเมืองอื่นยกลงมาตั้งรักษาเมืองนนทบุรี  และทัพหัวเมืองนอกนั้นให้เกณฑ์เข้ามาบรรจบกับพลชาวพระนคร  ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ  สรรพด้วยปืนใหญ่น้อยเครื่องสรรพาวุธ  พร้อมแล้วให้กวาดครอบครัวพลชาวเมืองและเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร

          ขณะนั้นเจ้าพระยาพิษณุโลกให้พระยาพลเทพกราบทูลพระกรุณาถวายบังคมลากลับขึ้นไปปลงศพมารดา  จะขอพระราชทานให้หลวงมหาดไทย  หลวงโกษา  หลวงเทพเสนา  อยู่คุมทัพ ณ วัดภูเขาทองแทนตัว  ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับไปเมือง”

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  เนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพทางเหนือ (ชาวล้านนาเรียกชื่อว่า โป่สุพลา)  ตั้งทัพที่เชียงใหม่  ให้ฉับกุงโบ  แนกวนจอโบ  เมี้ยนหวุ่น  คุมทหารห้าพัน  ยกลงมาตั้งค่ายมั่นที่กำแพงเพชร  ให้ต่อเรือรบลำเลียงและตระเตรียมเสบียงอาหารที่นั่นประมาณ ๔ เดือน  แล้วเคลื่อนลงไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์  เมื่อถึงเดือน ๑๑ สิ้นฝนแล้ว  เนเมียวฯ จึงยกทัพจากเชียงใหม่มาทางด่านสวรรคโลก  เข้าตีเมืองสุโขทัยแตกแล้วเข้าตั้งทัพอยู่ในเมือง  พระยาสุโขทัยและพระยาสวรรคโลกพาครอบครัวพลเมืองหนีเข้าป่าแล้วจัดพลทหารยกมาตั้งรับล้อมเมืองไว้  ความทราบถึงพระเจ้าเอกทัศจึงให้มีตราขึ้นไปถึงเจ้าพระยาพิษณุโลก  ให้ยกกำลังไปตีพม่าที่เมืองสุโขทัย  เจ้าพระยาพิษณุโลกยกทัพไปรบกับเนเมียวฯ ที่เมืองสุโขทัยยังไม่ทันแพ้ชนะแก่กัน  เจ้าฟ้าจีดก็ลอบขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดครองเมืองพิษณุโลก  เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบจึงต้องเลิกทัพกลับมาชิงเมืองคืน  จับตัวเจ้าฟ้าจีดได้แล้วถ่วงน้ำเสียในที่สุด

          ทางฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกมาทางทิศใต้นั้น  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  เมฆราโบกองหน้าของมังมหานรทายกทัพเรือมีพลพันเศษลงมาตีค่ายทัพไทยที่ตำบลบำรุแตก  และยกลงมาตีค่ายตำบลบางกุ้งแตกอีก  แล้วยกล่วงเข้าถึงเมืองธนบุรี  พระยารัตนาธิเบศมิได้สู้รบก็หนีเข้ากรุงศรีอยุธยา  กองทัพเมืองนครราชสีมาก็เลิกไปทางฟากตะวันออก  กลับไปเมืองเสียสิ้น  พม่าได้เมืองธนบุรีแล้วเข้าตั้งอยู่สามวันก็เลิกทัพกลับไป ณ  ค่ายตอกระออมดังเก่า

          ในช่วงเวลานั้น  มีกำปั่นอังกฤษลำหนึ่งบรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาจำหน่ายที่กรุงศรีอยุธยา  โกษาธิบดีถามนายกำปั่นว่า  ถ้าพม่าเข้ามาตีเมืองธนบุรีอีก  จะช่วยไทยรบพม่าหรือจะหนีไปเสีย  นายกำปั่นว่าจะช่วยรบ  แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้เพื่อให้กำปั่นเบาก่อน  ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นจากเรือแล้ว  นายกำปั่นก็ถอยเรือกำปั่นล่องลงไป  ทอดสมอลอยลำอยู่ ณ ปากคลองบางกอกใหญ่  เมฆราโบยกทัพมาอีก  แล้วเข้าเมืองโดยไม่มีใครสู้รบ  เขาเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมวิไชเยนทร์  ยิงตอบโต้กับกำปั่นจนพลบค่ำ  กำปั่นก็ถอนสมอลอยลำขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี  และกองทัพพระยายมราชซึ่งตั้งอยู่เมืองนนท์นั้นก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย  มิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า  พม่าเข้าตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรีแล้ว  จึงแบ่งทัพขึ้นมาตั้งค่าย ณ วัดเขมาตลาดแก้วทั้งสองฟาก  ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่นจึงขอเรือกราบลงมาชักสลุบช่วงล่องลงไปไม่ให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมาก็ให้จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง  ยิงค่ายพม่าทั้งสองฟาก  พม่าต้องปืนล้มตายป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย  ครั้นเพลาเช้าน้ำขึ้นสลุบช่วงก็ถอยขึ้นมาหากำปั่นใหญ่  ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนท์

          ฝ่ายทัพพม่าก็เข้าค่ายเมืองนนท์  ครั้นเวลาค่ำให้ชักสลุบล่องลงไปอีก  จุดปืนรายแคมยิงค่ายเมืองนนท์  พม่าหนีออกไปซุ่มข้างหลังค่าย  อังกฤษและไทยลงสำปั้นขึ้นไปเก็บของในค่าย  พม่ากลับกรูกันเข้ามาข้างหลังค่าย  ไล่ฟันแทงไทยและอังกฤษแตกหนีออกจากค่ายลงสำปั้น  และตัดศีรษะล้าต้าของอังกฤษได้คนหนึ่งเอาขึ้นเสียบประจานไว้หน้าค่าย  นายกำปั่นจึงบอกแก่ล่ามว่าปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า  เสียเปรียบข้าศึก  จะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอก  แล้วจะขอเรือรบพลทหารสิบลำ  จะลงไปรบพม่าอีก  ล่ามกราบเรียนแก่เจ้าพระยาพระคลัง ๆ กราบบังคมทูล  จึงโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกบรรทุกเรือใหญ่ขึ้นไปกำปั่น  แต่เรือสิบลำนั้นยังหาทันจัดแจงให้ไปไม่  ครั้นเพลาบ่ายอังกฤษล่องกำปั่นและสลุบช่วงลงไปจนพ้นเมืองธนบุรี  แล้วจึงทอดสมออยู่

          ขณะนั้นไทยในกรุงเทพมหานคร  ลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้ หมากพลู ณ สวน  อังกฤษจับขึ้นไว้ในกำปั่นมากกว่าร้อยคน  แล้วก็ใช้ใบหนีไปออกท้องทะเล  ครั้นเพลาค่ำไทยหนีขึ้นมาถึงพระนครได้สองคน  จึงรู้เนื้อความว่ากำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่า  หนีไปแล้ว  ได้แต่มัดผ้าซึ่งขนขึ้นไว้สี่สิบมัด

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดี  แม่ทัพพม่าทางเหนือ  กับนายทัพนายกองของตนได้ทำการสู้รบกับไทยอยู่ ณ เมืองสุโขทัยจนถึงเดือนยี่ก็เลิกทัพ  ยกลงมาบรรจบกับทัพหน้าที่เมืองกำแพงเพชร  ฝ่ายมังมหานรทา  แม่ทัพพม่าทางใต้ก็ยกทัพใหญ่จากเมืองทวายมาบรรจบกับทัพหน้าที่ตอกระออม  แล้วแบ่งทัพให้ปกันหวุ่น  แยจออากา  จิกะเรจอโบ่  บรรจบกับเสนัดหวุ่นกองหน้า  ให้ยกทัพเรือหนุนทัพเมฆราโบ ณ เมืองนนทบุรี  ตัวมังมหานรทากับติงจาแมงข่อง  จอกกาโบ  จอกยีโบ  งาจุนหวุ่น  จิกแกทวาย  ยกทัพมาทางเมืองสุพรรณบุรี  เข้ามายังพระนคร  ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ตำบลสีกุก  ส่วนกองทัพเรือนั้นยกจากเมืองนนท์ขึ้นมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางไทร  พม่ามีใจบาปหยาบช้า  จึงพากันรื้อโบสถ์วิหารเอาอิฐน้อยใหญ่ทั้งปวงไปก่อกำแพงล้อมค่ายของตนทั้งสองตำบล  ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีก็ยกลงมาจากกำแพงเพชรบรรจบกับเนกวนจอโบกองหน้าที่นครสวรรค์  แล้วยกลงมาพระนคร  ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ  และรื้อเอาอิฐจากโบสถ์วิหารวัดต่าง ๆ ในย่านนั้นมาก่อเป็นกำแพงล้อมค่ายของตนเช่นกัน

          กล่าวถึงพระเจ้าอังวะเวลานั้น  ได้ตั้งให้แมงกิม้ารหญ่าลงมาครองเมืองทวายแล้วให้เกณฑ์กองทัพพม่ารามัญยกหนุนเพิ่มเติมมาอีก  และสุรินจอข่อง  มณีจอข่อง  มหาจอแทง  อากาปันญี  สี่นายถือพลพม่าพันเศษมาพักอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ  แล้วเดินทัพเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี  ในเดือนยี่  ปีระกา  สัปตศก  มาตั้งค่ายอยู่ที่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ  พระยาเจ่ง  ตละเสี้ยง  ตละเกล็บ  คุมทหารรามัญเมืองเมาะตะมะสองพันเศษยกมาทางกาญจนบุรี  มาถึงค่ายตอกระออมแล้วยกทัพเรือหนุนเข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ขนอนหลวง  วัดโปรดสัตว์.,,,,,,,

          ** อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาข้างต้นแล้ว  เห็นได้ชัดว่าทหารไทยไร้ฝีมือและจิตใจที่จะรบกับพม่า  จึงถูกพม่าตีแตกหมดทุกทัพทุกทาง  สถานภาพกรุงศรีอยุธยาตอนนี้ร่อแร่ใกล้ล่มสลายเต็มที  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอบคุณเจ้าของภาพลิขสิทธิ์ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : กลอน123, Black Sword, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #191 เมื่อ: 24, มีนาคม, 2562, 10:18:18 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน : สิงห์บุรี

- วีรกรรมชาวบ้านบางระจัน -

“บางระจัน”บ้านไทยใจหาญกล้า
รวมพวกทบรบพม่าน่าสรรเสริญ
พม่ามอญมาตีมีมากเกิน
ซ้ำรัฐเมินไม่มองต้องปราชัย


          อภิปราย ขยายความ....................

          ในเดือน ๓ ปีระกา สัปตศก นั้น  พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ  เมืองสิงคบุรี  เมืองสรรคบุรี  พากันลวงพม่าว่าจะให้ลูกสาวและทรัพย์สินเงินทอง  พวกชาวเมืองเหล่านั้นมีหัวหน้าชื่อ นายแท่น ๑   นายโช ๑   นายอิน ๑   นายเมือง ๑  ชาวบ้านสีบัวทองแขวงเมืองสิงค์  นายดอกชาวบ้านตรับ  นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล  คนเหล่านี้มีสมัครพรรคพวกมาก  เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางอุทัยธานี  ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดให้ส่งลูกสาว  จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าเข่นฆ่าพม่าตาย ๒๐ เศษ  แล้วก็พากันหนีเข้าหาพระอาจารย์ธรรมโชติ  วัดเขานางบวช  ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์ธรรมโชติผู้มีวิชาความรู้ดีได้มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ณ บ้านระจัน  ยามนั้นนายแท่น  กับผู้มีชื่อเหล่านั้นได้ชักชวนคนชาวบ้านได้ ๔๐๐ เศษ  มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย  พระอาจารย์ธรรมโชติลงกะตรุด  ประเจียดและมงคลแจกให้  

          มีพม่าประมาณร้อยคนเศษตามมาจับพันเรือง  ถึงบ้านระจันก็หยุดอยู่ฝั่งแม่น้ำอีกฟากหนึ่ง  นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนรักษาค่ายแล้วพาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบพม่า  พม่ายิงปืนได้นัดเดียว  นายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงขั้นตะลุมบอน  ฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษ  เหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้  แล้วไปแจ้งความแก่นายทัพนายกองซึ่งตั้งทัพอยู่ที่ค่ายวิเศษชัยชาญ  แล้วบอกไปถึงแม่ทัพ  แม่ทัพจึงแต่งให้งาจุนหวุ่น  คุมพลห้าร้อยมาตีค่ายบ้านระจัน  นายค่ายบ้านระจันก็ยกกำลังออกรบ  ตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีไป  ที่ล้มตายเจ็บป่วยก็มีเป็นอันมาก  แม่ทัพพม่าจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกครั้ง  แต่ก็ถูกต้านตีแตกพ่ายอีกครั้งหนึ่ง  แม่ทัพพม่าจึงให้ติงจาโบ่คุมพลเก้าร้อยยกไปตีค่ายบ่านระจันอีกเป็นครั้งที่สาม  แต่แล้วก็แตกพ่ายอีกครั้ง

          รบแพ้ถึงสามครั้งสามคราดังนั้นพวกพม่าก็พากันขยาดฝีมือไทย  ค่ายบ้านระจันจึงหยุดพักอยู่สองสามวัน  จากนั้นแม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินทจอข่องเป็นนายทัพใหญ่  คุมพลทหารเกณฑ์ทุกค่ายเป็นคนพันเศษ  ม้าหกสิบม้า  ยกไปตีค่ายบ้านระจันเป็นครั้งที่สี่  เมื่อสุรินทจอข่องยกไปถึงบ้านห้วยไผ่  ทางค่ายบ้านระจันก็จัดให้นายแท่นเป็นนายทัพ  นายทองเหม็นเป็นปีกขวา  พันเรืองเป็นปีกซ้าย  คุมพลกองละสองร้อย ทั้งสามกองรวมพลเป็นหกร้อย  มีปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง  ปืนและกระสุนดินของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายได้บ้าง  ทั้งสามคนนำกำลังไปถึงคลองสะตือสี่ต้น  จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกอง  คอยรับทัพพม่าที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง  กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่คนละฟากคลอง  จึงได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย  พม่าเห็นพวกไทยมีน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย  ฝ่ายชาวค่ายบ้านระจันนั้นก็ขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลองแล้วยกข้ามคลองรุกไปรบพม่าด้วยอาวุธสั้นเข้าไล่แทงฟันถึงขั้นตะลุมบอน  พม่าล้มตายเป็นอันมาก  สุรินทจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล  เร่งให้ตีกลองรบปลุกใจ  รบกันตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวันพลทหารไทยก็วิ่งเข้าฟันศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ  นายแท่นผู้เป็นนายทัพค่ายบ้านระจันนั้นแสดงความห้าวหาญให้ปรากฏ  โดยวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่าไล่แทงพม่าล้าตายลงหลายคน  แล้วนายแท่นก็ถูกกระสุนปืนที่เข่าล้มลง  พวกพลก็ช่วยกันหามออกจากที่รบ  พลทหารของทั้งสองฝ่ายเหนื่อยอ่อนอิดโรย  ต่างก็รอราถอยออกจากกันทั้งสองฝ่าย  หยุดพักอยู่คนละฟากฝั่งคลอง  พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารออกมาส่งเลี้ยงดูทหารหาญค่ายบ้านระจัน  ฝ่ายพม่าก็หุงข้าวบ้าง  ยั้งอยู่บ้าง  ได้กินข้าวบ้าง  ยังไม่ได้กินบ้าง  พวกทหารไทยกินข่าวเสร็จก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีพม่าพร้อมกัน

          ฝ่ายพม่านั้นมัวสาละวนอยู่กับการขุดหลุมฝังศพนาย  บ้างตีกลองประโคมศพ  บ้างร้องไห้แสดงความรักนายไม่มีอันจะต่อรบ  ก็แตกพ่ายหนีไปต่อหน้า  ฝ่ายไทยจึงรุกไล่ฆ่าฟันล้มตายลงเป็นอันมาก  เก็บปืนและเครื่องศัสตราวุธรวมทั้งผ้านุ่งห่มต่าง ๆ  ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจึงกลับคืนค่ายบ้านระจัน  การรบครั้งนั้นปรากฏว่าพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ  ที่เหลือรอดไปได้ประมาณสามร้อยเศษ  ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก  ฝ่ายไทยนั้นตายหกสิบเศษ  ป่วยเจ็บสองคน  ข่าวการรบพม่าอย่างเหี้ยมหาญและเข้มแข็งของชาวค่ายบ้านระจันแพร่ไปไกล  จึงปรากฏว่ามีชาวไทยจากที่ต่าง ๆ พากันอพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายนี้เป็นอันมาก  ค่ายบ้านระจันจึงเป็นค่ายใหญ่ที่พม่าเกรงกลัว

          แม่ทัพพม่าจัดแจงกะเกณฑ์ทัพปรึกษาวางแผนกันอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวัน  จึงแต่งให้แยจออากาเป็นนายทัพเกณฑ์แบ่งพลทหารทุก ๆ ค่ายรวมได้พันเศษ  พร้อมด้วยม้าและเครื่องศัสตราวุธยกไปตีค่ายบ้านระจันอีก  แต่ก็แตกพ่ายหนีเป็นครั้งที่ห้า  แม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดทัพเมืองทวายเป็นนายทัพคุมพลยกไปตีครั้งที่หก  ก็แตกพ่ายอีก  แต่งให้อากาปันญียกกำลังไปตีเป็นครั้งที่เจ็ด  โดยตั้งค่ายที่ตำบลบ้านขุนโลก  ฝ่ายค่ายบ้านระจันจึงให้ขุนสันผู้มีฝีมือดี  ยิงปืนแม่นยำ  เป็นนายพวกพลปืนคอยป้องกันทหารม้าพม่า  ให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่าที่ล้อมค่าย  ฝ่ายพม่าตั้งค่ายไม่ทันแล้วเสร็จ  กองกำลังค่ายบ้านระจันก็เข้าโจมตีข้างหลังค่าย  ยิงฟันแทงพม่าตายเกือบถึงพันคน  อากาปันญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย  ชาวบ้านระจันจึงเก็บริบอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก  พม่าที่แตกพ่ายหนีไปได้นั้นมีประมาณร้อยเศษ  แต่นั้นพม่าก็เกรงกลัวฝีมือชาวค่ายบ้านระจันเป็นอันมาก  กะเกณฑ์พลรบไม่ค่อยได้  ศึกระหว่างพม่ากับบ้านระจันจึงสงบอยู่นานประมาณกึ่งเดือน

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น  เมื่อกองทัพพม่ายกเข้าใกล้กรุง  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศดำรัสสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะตามวัดนอกเมืองเข้าอยู่วัดในพระนครทั้งสิ้น  สมเด็จพระอนุชาที่ประทับ ณ วัดประดู่นั้นก็เสด็จเข้ามาอยู่วัดราชประดิษฐาน  ขุนนางและราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนคร  เหมือนศึกมังลองครั้งก่อน  พระองค์ก็หาลาผนวชไม่  จนถึงกับว่าในเวลาออกเดินรับบิณฑบาต  ชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเป็นใจความทูลเชิญให้ลาผนวชทุก ๆ วันเป็นจำนวนมาก  ก็ทรงนิ่งเฉยเสีย  ทั้งนี้เพราะพระเจ้าเอกทัศทรงแสดงอาการไม่พอพระทัยที่จะให้พระองค์อยู่ในฆราวาส  ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

          จากนั้นพระเจ้าเอกทัศราชาดำรัสให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพออกไปรบพม่า  โปรดให้ถอดจมื่นศรีสรรักษ์ออกจากโทษกลับครองฐานาศักดิ์ทำราชการดังเก่า  แล้วโปรดให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพกับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยหลายนาย  กับให้ทัพหัวเมืองหลายเมืองเข้าสมทบได้พลหมื่นหนึ่ง  ยกออกไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ  ก่อนยกกำลังออกไปนั้นก็ให้สานกระชุกเป็นอันมากแล้วแบกไปด้วย  เพื่อว่าเมื่อจะตั้งรบที่ใดให้เอากระชุกตั้งเรียงชิดกันแล้วขุดมูลดินบรรจุลงในกระชุกทำเป็นสนามเพลาะบังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก  พระยาพระคลังถวายบังคมลานำพานายทัพนายกองและพลทหารออกรบพม่าตามพระราชดำริทันที

          กองทัพพระยาพระคลังมีรี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง  แม่ทัพหยุดที่ใดกองทัพก็หยุดที่นั้น  รั้งรอกันไปเป็นกอง ๆ ครั้นไปถึงใกล้ค่ายพม่าก็ตั้งทัพดากันอยู่  เมื่อเห็นทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกจำนวนมาก  ก็เข้าใจว่าในค่ายตะวันออกนั้นมีกำลังเหลืออยู่น้อย  จึงขับทหารเข้าตีค่ายพม่าทันที  พม่าในค่ายก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องพลทหารไทยล้มตายลงสี่ห้าคน  กองทัพไทยทั้งหมดก็พากันถอยกลับค่าย  ครั้นถึงเพลาเย็นก็เลิกทัพกลับเข้าพระนคร  อยู่มาอีกสองสามวัน  พระเจ้าเอกทัศก็สั่งให้พระยาพระคลังยกทัพไปตีพม่าค่ายเดิมอีก  คราวนี้มีชาวพระนครทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์เป็นอันมากชวนกันติดตามกองทัพไปเพราะไม่เคยเห็นการรบทัพมาก่อน  จึงอยากดูให้รู้เห็นแก่ตาตนเอง  กองทัพไทยไปตั้งยั้งอยู่  ยังไม่ทันเข้าตีค่าย  พม่าก็แต่งกลอุบายให้รี้พลหาบคอนออกหลังค่ายทำคล้ายกับว่าค่ายกำลังจะแตก  พวกกองอาจสามารถของไทยหลงกล  ก็พากันวิ่งเข้าไปใกล้ค่ายพม่า  เนเมียวแม่ทัพพม่าเห็นเช่นนั้นก็ขับพลทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย  พุ่งหอกซัดและยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยล้มตายเป็นหลายคน  กองทัพไทยมิได้ต่อรบ  พากันแตกพ่ายหนีลงมา ณ โพธิ์สามต้นทั้งสิ้น  จมื่นศรีสรรักษ์  จมื่นเสมอใจราช  ขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก  แต่กองของพระยาตากรอรบอยู่แล้วข้ามตามมาภายหลัง  ทัพม้าพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดต้องพลทัพไทยและผู้คนซึ่งตามออกไปดูการรบนั้นบาดเจ็บเป็นอันมาก  ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป  กองทัพไทยพ่ายหนีเข้าพระนคร

          เมื่อไล่ฆ่าพลไทยพ่ายหนีเข้าพระนครหมดแล้ว  ทัพพม่าก็กลับค่ายแล้วปรึกษาหารือกันเพื่อหาคนเป็นนายทัพยกไปตีค่ายบ้านระจันให้จงได้  ขณะนั้นมีรามัญคนหนึ่ง  เป็นมอญเก่าเคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยามานาน  ได้เกลี้ยกล่อมพม่ามีฝีมือเข้มแข็งขึ้น  แม่ทัพพม่าจึงตั้งให้เขาเป็นพระนายกอง  ครั้งนั้นเขาจึงเข้าขออาสาไปตีค่ายบ้านระจัน  แม่ทัพก็เกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน  ตั้งให้พระนายกองเป็นนายทัพยกไปตีค่ายบ้านระจันเป็นครั้งที่แปด  พระนายกองเป็นคนฉลาด  เมื่อไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วเขาไม่ตั้งทัพกลางแปลง  แต่ให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่าย  แล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างหน้า  ทำอย่างนี้เป็นทอด ๆไป  เป็นการเดินค่ายไปตามรายทางทีละสามค่าย  ใช้เวลาเกือบกึ่งเดือนจึงเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันได้อย่างปลอดภัย  พวกค่ายบ้านระจันยกกำลังออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งก็ไม่แตก  พระนายกองไม่ยอมออกรบนอกค่าย  คงตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่าย  วิธีการนี้ทำให้พวกค่ายบ้านระจันล้มตายเป็นอันมาก

          วันหนึ่งนายทองเหม็นดื่มสุราเมามายขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า  พระนายกองกลับเปลี่ยนวิธีการรบด้วยการขับพลออกรบนอกค่าย  นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าไปในกลางกองทัพพม่าแต่เพียงผู้เดียว  ไล่แทงพลพม่ารามัญล้มตายเป็นหลายคน  พวกพม่าเข้ารุมล้อมฟันแทงนายทองเหม็น  แต่ก็ฟันแทงไม่เข้า  และแล้ว “น้ำน้อยก็แพ้ไฟ” เมื่อนายทองเหม็นสู้รบอยู่เพียงผู้เดียวจนเหนื่อยอ่อนแล้วสิ้นกำลัง  ถูกพม่ารุมจับตัวได้แล้วทุบตีจนตายในที่รบ  เมื่อเสียนายทองเหม็นผู้เป็นหัวหน้าไป  พวกค่ายบ้านระจันก็แตกหนีกลับเข้าค่าย  พระนายกองยกกำลังติดตามจนถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจัน  เขาสั่งให้เก็บซากศพพม่าที่ล้มตายในการทัพคราวก่อนทั้งหมดนั้นเผาเสียสิ้น  แล้วตั้งค่ายใหญ่ลงในที่นั้น

          ชาวค่ายบ้านระจันยกออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  จึงเสียกำลังใจเกิดความท้อถอยในการสู้รบ  พระนายกองก็ให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วปลูกหอขึ้นสูง  เอาปืนใหญ่ขึ้นหอยิงเข้าไปในค่ายต้องคนไทยในค่ายล้มตายเป็นอันมาก  และก็ตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้สำเร็จ  นายแท่นหัวหน้าค่ายที่ถูกปืนพม่าจนเข่าหักนั้นป่วยมานานนั้นก็ถึงแก่กรรมลงในเดือน ๖ ปีจอ  อัฐศกนั้น

          ขุนสันผู้มีฝีมือเข้มแข็งถือปืนอยู่เป็นนิจ  และนายจันหนวดเขี้ยว  นำกำลังออกรบกับพม่าเป็นหลายครั้ง  วันหนึ่งพลพม่าโอบหลังเข้าได้ก็ฆ่าขุนสันกับนายจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองคน  ผู้นำค่ายบ้านระจันจึงเหลือแต่พันเรืองกับนายทองแสงใหญ่  เขาเห็นว่าเหลือกำลังจะสู้รบกับพม่าจึงบอกข่าวเข้าไปในพระนคร  ขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำ  เสนาบดีปรึกษากันแล้วลงความเห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่ยอมให้ตามที่ขอ  ด้วยเห็นว่า  ถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้วก็จะได้ปืนใหญ่และกระสุนดินดำเป็นกำลังเข้ามารบพระนคร  พระยารัตนาธิเบศเป็นฝ่ายค้านในเสนาบดี  จึงออกจากพระนครไปค่ายบ้านระจัน  เรี่ยรายทองชาวบ้านในค่ายนั้นมาหล่อปืนใหญ่ได้สองกระบอก  แต่ก็บกพร่องร้าวรานไม่สมบูรณ์  เมื่อเห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จจึงกลับเข้าพระนคร  ฝ่ายชาวบ้านค่ายบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้  ไม่มีใครช่วยอุดหนุนก็เสียกำลังใจฝีมือย่อหย่อนในการรบ  เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามสืบไป  ต่างก็พาครอบครัวหนีไปจากค่ายเสียส่วนมาก

          ตั้งแต่ต่อรบพม่ามาเมื่อเดือน ๔ ปีระกา สัปตศก ถึงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก  พม่าก็ยกกำลังเข้าตีค่ายบ้านระจันแตก  ฆ่าผู้คนเสียเป็นอันมาก  จับเป็นเชลยไปก็มาก  ไทยตายประมาณพันเศษ  พม่าตายประมาณสามพันเศษ  สำหรับพระอาจารย์ธรรมโชตินั้น  ในตอนแรก ๆ กะตรุดและผ้าประเจียดลงยันต์ทั้งสายสิญจน์มงคลมีความขลัง  ต่อเมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นก็เกิดความสำส่อน  ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง  จึงทำให้เสื่อมตบะเดชะลง  ที่อยู่คงบ้าง  ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง  เมื่อค่ายแตกแล้ว  ไม่ทราบแน่ชัดว่าพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นอย่างไร  บ้างก็ว่าตายในค่าย  บ้างก็ว่าหนีไปได้  ที่แน่ ๆ ก็คือหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

          ในเดือน ๘ ที่ค่ายบ้านระจันแตกนั้น  ภายในพระนครก็เกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น  คือสมเด็จพระสังฆราชวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประชวรถึงสิ้นพระชนม์  พระเจ้าเอกทัศทรงพระกรุณาให้แต่งศพใส่พระโกศไว้  แล้วโปรดให้เลื่อนพระเทพมุนีวัดกุฎีดาวซึ่งเข้ามาอยู่วัดสวรรคเจดีย์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  อยู่ได้ไม่นานก็ประชวรสิ้นพระชนม์ไปอีก  โปรดให้แต่งศพใส่พระโกศตั้งไว้เป็นสองพระโกศ  ยังมิได้ปลงพระศพทั้งสอง  เพราะมีข้าศึกติดพระนครอยู่

          กล่าวฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ  ซึ่งโปรดให้ไปอยู่เมืองจันทบูรนั้น  บรรดาชาวหัวเมืองฝ่ายตะวันออกพากันนับถือเข้าสวามิภักดิ์พึ่งพาพระบารมีอยู่เป็นอันมาก  พระองค์จึงพาคนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี  คนชาวเมืองปราจีนบุรี  นครนายก  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  บางละมุง  ลือกันว่าพระองค์จะยกกำลังเข้ารบพม่าช่วยกรุงเทพมหานคร  จึงพากันเข้ามาเป็นพวกด้วยหลายพันคน  และทูลอาสาเข้าร่วมรบพม่า กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี  หมื่นเก้า  หมื่นศรีนาวา ชาวปราจีนบุรี  นายทองอยู่น้อย ชาวเมืองชลบุรี  ทั้งสามคนนี้เป็นนายซ่องฝีมือเข้มแข็ง  พระองค์จึงตั้งให้เป็นนายทัพคุมพลชาวหัวเมืองต่าง ๆ สองพันเศษ  ยกมาตั้งค่าย ณ ปากน้ำโยทกา  คนทั้งหลายต่าง ๆ ได้มีหนังสือลับเข้าถึงญาติและพรรคพวกในพระนครให้ทราบเรื่องของกรมหมื่นเทพพิพิธ  คนในเมืองที่ทราบข่าวสารนั้นก็พากันหนีออกจากพระนครไปเข้าอยู่ด้วยเป็นอันมาก  บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิงซึ่งเป็นพระหน่อในเสด็จในกรม  กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็พากันหนีออกไปหาพระองค์  บุคคลสำคัญที่หนีออกไปอยู่ด้วยคือ  พระยารัตนาธิเบศ  ผู้ที่เคยไปช่วยชาวค่ายบ้านระจันหล่อปืนใหญ่นั้น  ก็พาพรรคพวกหนีออกไปเข้าด้วยช่วยคิดการซึ่งจะทำสงครามกับพม่า  ฝ่ายกองทัพพม่าได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว  แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้เมฆราโบกับแนกวนจอโบ  คุมพลสามพันยกทัพเรือออกไปตีค่ายไทยที่ปากน้ำโยทกา  ได้รบกันเป็นสามารถ  ในที่สุดพม่าก็ตีหักเอาค่ายได้  ฆ่าหมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา ตายในที่รบ  ส่วนนายทองอยู่น้อยนั้นหนีรอดไปได้  ทัพไทยก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายกันไป  กรมหมื่นเทพพิพิธกับพระยารัตนาธิเบศทราบว่าค่ายปากน้ำโยทกาเสียแก่พม่าแล้วก็ตกใจ  มิได้คิดสู้รบพม่าอีก  จึงพากันหนีไปทางช่องเรือแตก  ขึ้นไป ณ เมืองนครราชสีมา

          ศึกบางระจันเป็นวีรกรรมของบรรพบุรุษไทยที่ประทับอยู่ในความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้  ใกล้จะสิ้นสุดอยุธยาแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #192 เมื่อ: 25, มีนาคม, 2562, 10:20:23 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- กรุงศรีอยุธยาอาวสาน -

ณ วันอังคารขึ้นเก้าค่ำเดือนห้า
ปีกุนวาราวสานกาลสมัย
พอศอสองสามหนึ่งศูนย์พูนอาลัย
อยุธยากรุงไกรวอดวายลง

พม่าเผาบ้านเมืองอันเรืองโรจน์
“เนเมียว”โหดเหี้ยมเข่นแตกเป็นผง
“สี่ร้อยสิบเจ็ดปี”ที่ยืนยง
ริปูปลงสิ้นไปไร้ปรานี.....


          อภิปรายขยายความ.....................

          กล่าวฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ของพม่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลสีกุกนั้น  ป่วยหนักจนถึงแก่กรรม  นายทัพนายกองพม่าทั้งปวงทุก ๆ ค่ายมาชุมนุมพร้อมกันกระทำฌานปนกิจปลงศพ  เสร็จแล้วให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ในค่ายนั้น  จากนั้นก็ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อตั้งโบชุกแม่ทัพใหญ่ขึ้นแทน  ให้ว่ากล่าวบังคับบัญชานายทัพนายกองทั้งปวงสิทธิ์ขาดในการสงครามสืบไป  นายทัพนายกองมีความเห็นขัดแย้งกัน บางพวกจะเอาเนเมียวมหาเสนาบดีเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่  บางพวกจะเอาติงจาแมงข่องปลัดค่ายสีกุก  บางพวกจะเอาปกันหวุ่นนายค่ายบางไทร  ในการปรึกษากันนั้นฝ่ายที่ค้านไม่เอาเนเมียวเสนาบดีอ้างว่า  เนเมียวนั้นมีสติปัญญาและฝีมือเข้มแข็งก็จริง  แต่ทว่าเขามิใช่เชื้อชาติพม่าชาตรี  โดยมีบิดาเป็นพม่า  มารดาเป็นลาว  จึงไม่ควรเป็นใหญ่กว่าเราอันเป็นชาติสกุลพม่าทั้งปวง  ฝ่ายที่คัดค้านไม่ยอมรับติงจาแมงข่องก็อ้างว่า เขามิใช่เชื้อชาติพม่าแท้  โดยมีบิดาเป็นพม่า  มารดาเป็นรามัญ  ไม่ควรเป็นใหญ่กว่าเราอันเป็นชาติสกุลพม่าทั้งปวง  ฝ่ายสนับสนุนให้เอาปกันหวุ่นก็เสนอว่าเขาเป็นเชื้อชาติพม่าแท้ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา  จึงควรเป็นใหญ่กว่าเราทั้งปวงซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกัน  ในที่สุดที่ประชุมก็เห็นพ้องกันให้ยกปกันหวุ่นนายค่ายบางไทรขึ้นเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่  บังคับสิทธิ์ขาดในการสงครามทั้งสิ้น

          ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดี  เห็นการณ์เป็นดังนั้นจึงว่ากล่าวแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า  “สมเด็จพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะโปรดให้เราเป็นแม่ทัพยกมาทางเหนือ  ให้ตีเอาพระนครศรีอยุธยาให้จงได้  ถึงว่ามังมหานรทาโบชุกแม่ทัพใหญ่หาชีวิตไม่แล้วก็ดี  ตัวเรายังมีชีวิตอยู่คงจะทำสงครามเอาแผ่นดินเมืองไทยถวายพระเจ้าอังวะให้สำเร็จพระราชประสงค์จงได้  ท่านทั้งหลายผู้ใดย่อท้อต่อการสงครามไม่เป็นใจในราชการศึกด้วยเรา  เราก็จะประหารชีวิตผู้นั้นเสีย”  คำกล่าวของเนเมียวมหาเสนาบดีประกาศก้องท่ามกลางนายทัพนายกองและโบชุกแม่ทัพใหญ่คนใหม่ดังนั้น ก็ทำให้ทุกคนเกรงกลัวอำนาจเนเมียวทั้งสิ้น  หลังจากนั้นเนเมียวจะกะเกณฑ์รี้พลเอาเท่าใด  ก็ต้องให้ทุกค่ายทุกทัพ  จะเกณฑ์ให้นายทัพนายกองผู้ใดออกไปทำศึกที่ใด  ก็ต้องไปตามคำสั่งโดยไม่มีใครกล้าขัดขวาง  เนเมียวมหาเสนาบดีจึงยกพลจากวัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบมาตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น  สั่งให้รื้อเอาอิฐโบสถ์วิหารวัดมาก่อกำแพงล้อมค่าย  แล้วเกณฑ์ให้นายทัพทั้งปวงยกเข้าตั้งค่ายอยู่ ณ ภูเขาทอง  และบ้านป้อมวัดการ้อง  ให้ปลูกหอรบและก่อป้อมให้สูง เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นตั้งบนป้อมแล้วยิงเข้าในพระนคร

          สมเด็จพระเจ้าเอกทัศดำรัสสั่งให้เสนาบดีแต่งกองเรือ  โดยมีท้าวพระยาอาสาหกเหล่าและกองทหารยกข้ามไปตีค่ายพม่าที่วัดการ้อง  พม่ายิงปืนมาถูกนายเริกคนหนึ่งที่ยืนรำดาบสองมืออยู่หน้าเรือจนตกลงไปในน้ำ  เพียงแค่นั้นกองเรือก็ล่าถอยกลับเข้าพระนครจนสิ้น  หลังจากนั้นการรบอย่างเข้มข้นดุเดือดเลือดนองก็เริ่มขึ้น  ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงการรบอย่างดุเดือดก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า  โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

          "วันหนึ่ง  พระศรีสุริยพาห  เจ้าหน้าที่รักษาป้อมท้ายกบให้ประจุปืนมหากาลมฤตยูราช  สองนัดสองลูกยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง  ยิงออกไปได้นัดหนึ่งปืนก็ร้าวราน  เวลาค่ำวันนั้นมีคนไทยหนีเข้ามาในพระนครได้คนหนึ่งให้การว่า  ปืนที่ยิงออกไปนัดเดียวนั้นต้องเรือรบพม่าล่มลงถึงสองลำ  คนตายหลายคน  ครั้นรุ่งขึ้นเนเมียวมหาเสนาบดีก็เกณฑ์ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกมาตั้งค่าย ณ วัดกระชาย  วัดพลับพลาชัย วัดเต่า  วัดสุเรนทร์  วัดแดง  ให้ปลูกหอรบขึ้นทุกค่าย  เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นหอรบระดมยิงเข้าในพระนครเป็นห่าฝน

          ครั้นเดือน ๑๒  ซึ่งเป็นหน้าน้ำนอง  ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตากสินเลื่อนเป็นที่พระยากำแพงเพชร  แล้วตั้งให้เป็นนายกองทัพเรือ  ให้พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า  ให้หลวงศรเสนีเป็นกองหนุน  ยกทัพเรือไปพร้อมกันที่วัดป่าแก้ว  คอยตีทัพพม่าซึ่งจะขึ้นลงไปมาหากัน  ขณะนั้นเรือรบพม่ายกขึ้นมาจากค่ายบางไทรและค่ายขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์  ถึงกลางทุ่งตรงวัดสังฆวาส  พระยาเพชรบุรีกองหน้าจึงสั่งให้แจวเรือรบในกองของตนทั้งห้าลำเข้าตีเรือรบพม่า  กองเรือของพม่านั้นมีมากกว่าจึงรายล้อมกองเรือพระยาเพชรบุรีไว้  พลทัพไทยกับพม่าเข้ารบกันอย่างดุเดือด  ฆ่าฟันกันล้มตายทั้งสองฝ่าย  หลวงศรเสนีนั้นจอดเรือดูอยู่หาได้เข้าช่วยเหลือไม่  พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงทิ้งลงในเรือพระยาเพชรบุรี  ไพร่พลถูกเพลิงลวกก็พากันโดดหนีลงน้ำ  พม่าจึงฆ่าฟันตายเป็นอันมาก  พระยาเพชรบุรีนั้นเดิมชื่อเรือง  เป็นผู้อยู่คงฟันแทงไม่เข้า  แต่ได้สู้รบจนหมดแรงจึงถูกจับตัวได้  เมื่อพม่าฟันแทงไม่เข้า  จึงเอาไม้หลาวเสียบทางทวารหนักจนถึงแก่ความตาย  ในการรบกันครั้งนั้นฝ่ายพม่าตายสี่สิบเอ็ดคน  ฝ่ายไทยตายเจ็ดสิบคนเศษ  กองเรือของพระยากำแพงเพชร (สิน) กับหลวงศรเสนีก็ยกหนีไปตั้งที่วัดกรวย  วัดพิชัย  แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ที่นั่น  หากลับเข้าพระนครไม่

          สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงดำรัสให้ท้าวพระยาอาสาหกเหล่ายกพลสองพันเศษออกไปตั้งค่าย ณ วัดชัยวัฒนาราม  ให้หลวงอภัยพิพัฒน์จีนนายก่ายคุมพลทหารจีนสองพัน  ยกออกไปตั้งค่ายอยู่ ณ คลองสวนพลู  ขณะนั้นพระยาแพร่ชื่อมังไชยซึ่งมาในกองทัพเนเมียวมหาเสนาบดี  ได้เกลี้ยกล่อมคนไทยชาวแขวงเมืองสิงคบุรี  ผู้เคยร่วมรบในค่ายบ้านระจัน  แล้วมาอยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกให้เข้าเป็นพรรคพวกตน  ครั้นถึง ณ เดือนอ้าย  ปีจอ  อัฐศก  จึงพาพลเมืองแพร่สามร้อยคนเศษหนีพม่าไปทางพระพุทธบาท  พม่ายกกำลังติดตามไปทัน  จึงรบกันกลางทางฆ่าฟันกันล้มตายทั้งสองฝ่าย  พม่าตายมากก็เลิกรบกลับไป  พระยาแพร่จึงให้เขียนหนังสือปักไว้ในป่าแขวงพระพุทธบาทมีใจความว่า  “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก  ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว  จะกลับไปเมืองของตน”  พวกขุนโขลนข้าพระพุทธบาทเก็บหนังสือนั้นได้  จึงบอกส่งลงมายังพระนคร

          ถึงวันขึ้น ๔ ค่ำ  เดือนยี่  ปีจอ  อัฐศก ศักราช ๑๑๒๘ (พ.ศ.๒๓๐๙)  เพลาดึกเที่ยงคืน  เกิดเพลิงขึ้นในพระนคร  ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายลามไปถึงสะพานช้างคลองข้าวเปลือก  ข้ามไปติดป่ามะพร้าวและป่าโทนป่าถ่านป่าทองป่ายา  วัดราชบุรณะ  วัดพระศรีมหาธาตุ  แล้วไปหยุดที่วัดฉัททันต์  ไหม้กุฎีวิหารและบ้านเรือนวอดไปกว่าหมื่นหลัง  ในเวลากลางวันของวันนั้นพระยากำแพงเพชร  หรือ  พระยาตากสิน  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ วัดพิชัย  นอกพระนคร  พิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้  จึงชักชวนพรรคพวกทหารไทยจีนได้ประมาณพันหนึ่ง  มีนายทหารผู้ใหญ่คือ  พระเชียงเงิน  หลวงพรหมเสนา  หลวงพิชัยอาสา (ทองดี)  หลวงราชเสน่หา  ขุนอภัยภักดี  กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกหลายคน  คิดจะยกกำลังหนีไปทางตะวันออก  ชักชวนหลวงศรเสนีนายกองอีกกองหนึ่งไปด้วย  แต่หลวงศรเสนีไม่ยอมร่วมด้วยแล้วพาพรรคพวกหนีไปอีกทางหนึ่ง  ยามนั้นฝนตกลงมาห่าใหญ่ถือเป็นชัยมงคลฤกษ์  พระยาตากสินจึงพากำลังยกออกจากค่ายพิชัย  เดินทางไปทางตะวันออกถึงบ้านหันตราเป็นเพลาพลบค่ำ  ฝ่ายพม่ารู้เข้าก็ยกกำลังตามไปทันจึงรบกันเป็นสามารถ  พม่าสู้ไม่ได้ก็ล่าถอยกลับไป  พระยาตากสินจึงเดินทัพไปถึงบ้านข้าวเม่า  บ้านสามบัณฑิตเป็นเวลาเที่ยงคืน  หันหลังมองดูทางกรุงศรีอยุธยาก็แลเห็นแสงไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างเจิดจ้า  จึงได้ทราบแน่ชัดว่ากรุงศรีอยุธยาอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยนั้นเสียให้แก่พม่าแน่แล้ว!

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวสรุปว่า  เมื่อพม่าเข้าพระนครได้  และจุดเพลิงเผาผลาญบ้านเรือนวัดวาอารามพินาศไปนั้น  พระเจ้าเอกทัศราชาหนีออกจากพระนครไปได้  พม่าได้ให้คนเที่ยวค้นหาไปจนพบที่สุมทุมพุ่มไม้ใกล้บ้านจิก  นอนซมแซ่วอยู่เพราะไม่ได้เสวยอาหารเป็นเวลานานถึงสิบสองวัน  พม่าหามพระองค์ลงเรือขึ้นไป ณ ค่ายโพธิ์สามต้น  พอถึงค่ายก็สวรรคต  พระนายกองให้เชิญพระศพไปฝัง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในค่ายนั่นเอง

          สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์  หรือพระเจ้าเอกทัศราชา  อยู่ในราชสมบัติได้เก้าปีก็เสียพระนคร  สิริรวมพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดี  หรือพระเจ้าอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา  ถึงพระเจ้าเอกทัศราชานั้น  นับได้สามสิบสี่พระองค์  กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา  มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์  ที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้น ณ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๗๑๒ (พุทธศักราช ๑๘๙๓) เสียแก่พม่า ณ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ (พ.ศ. ๒๓๑๐) สิริรวมอายุได้ ๔๑๗ ปี

          เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า  สยามประเทศก็ล่มลง  แต่  “กรุงศรีอยุธยายังไม่สิ้นคนดี”  พระยากำแพงเพชร หรือ พระยาตากสิน  ที่พาพรรคพวกหนีพม่าไปทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยานั้น  จะมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้เอกราชให้ชนชาติไทย  ตั้งสยามประเทศขึ้นมาอีกครั้ง  เรื่องราวการกู้ชาติไทยในสยามประเทศจะเป็นอย่างไร  โปรดติดตามดูกันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : เนิน จำราย, Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #193 เมื่อ: 26, มีนาคม, 2562, 10:34:42 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- อยุธยาล่มแล้ว -

วันอังคารขึ้นเก้าค่ำเดือนห้า
ปีกุนหน้าร้อนแล้งร้ายอึงอื้อ
ย่างจอศอหนึ่งหนึ่งสองเก้าคือ-
วันสิ้นชื่อกรุงศรีอยุธยา

ปลายปีจอเดือนยี่ขึ้นสี่ค่ำ
ริปูย่ำเหยียบเมืองปลดเปลื้องค่า
จุดเพลิงผลาญบ้านวังทั้งวัดวา
ชาวประชาชีพราหมณ์ตื่นความตาย

สี่ร้อยสิบเจ็ดที่ยืนหยัด
แจ่มจำรัสบรรเจิดงามเฉิดฉาย
ดั่งสวรรค์ลอยลงมาทรงกาย
แล้วพลันหายเลื่อนล่มลงจมดิน

แม้กรุงไกรย่อยยับลงกับที่
แต่คนดีศรีอยุธย์มิสุดสิ้น
ลูกหลานไทยเลือดข้นบนปฐพิน
หลั่งเลือดรินกู้ชาติปราบศัตรู......

(...... พรุ่งนี้อ่านประวัติศาสตร์ชาติไทย กับการกู้ชาติของพระยาตากสินต่อครับ ......)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ชลนา ทิชากร, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #194 เมื่อ: 27, มีนาคม, 2562, 10:31:16 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

- พระเจ้าตากสินมหาราช -

พระยาตากมุ่งหน้าหนีข้าศึก
ด้วยสำนึกสุดแสนแค้นพม่า
เห็นเพลิงผลาญควันคลุ้งพุ่งขึ้นฟ้า
ยืนน้ำตาไหลซกลงตกใน

กัดฟันทนด้นไปไม่หยุดพัก
เพื่อตั้งหลักรวมผู้คนสู้ใหม่
จะพลิกฟื้นคืนกรุงรุ่งเรืองไกร
เพื่อชาติไทยคงอยู่คู่โลกา


          อภิปราย ขยายความ.........

          สวัสดีครับ  ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้จะขอพาทุกท่านกลับไปสู่อดีตของชนชาติไทยให้รู้เห็นความเป็นาของชนชาติเราอีกช่วงตอนหนึ่ง  จากในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่าตามความที่นำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว  แต่กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี  จึงพร้อมกับที่พม่ากรูเข้าในพระนครศรีอยุธยาและฆ่าฟันผู้คนในเมืองพร้อมทั้งเผาบ้านเรือนวัดวาอารามไม่เว้นแม้พระ ราชวังนั้น  กองกำลังของพระยาตากที่ตั้งค่ายอยู่ ณ วัดพิชัย  ได้พากองกำลังของตนหนีไปทางทิศตะวันออก  พม่ายกติดตามไปและสู้รบกันเป็นสามารถ  พม่าสู่ไม่ได้จึงถอยกลับคืน  ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น  ก่อนที่จะติดตามไปดูเรื่องราวการหนีของพระยาตากไปในทิศที่ทางใดนั้น  ขอนำทุกท่านกลับไปดูประวัติความเป็นมาของพระยาตาก (สิน) พอสังเขปครับ

          * พระราชประวัติพระเจ้าตากสินมหาราช  ขาดความชัดเจนตั้งแต่พระราชสมภพจนกระทั่งสวรรคต  พงศาวดารตำนาน ต่าง ๆ ที่เขียนเกี่ยวกับพระองค์ก็มิได้ให้รายละเอียดอะไรมากนัก  และก็มักจะขัดแย้งกันไปตามความรู้สึกของคนเขียน  ยิ่งในตอนปลายรัชกาลด้วยแล้ว  ผู้เขียนก็จะใส่อคติในทางไม่ดีต่อพระองค์เป็นอย่างมาก  ดังที่ ส.พลายน้อย  เขียนไว้ในหนังสือ “พระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย”  ตอนหนึ่งว่า  “ตามที่ทราบกันดีแล้วว่า  พระราชวงศ์กรุงธนบุรีไม่มีเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ได้บันทึกเรื่องราวอันจะเป็นพระราชพงศาวดารขึ้นไว้  พระราชประวัติจึงมีกล่าวถึงอย่างกระท่อนกระแท่น  ซ้ำร้ายมีหลายฉบับ  แต่ละฉบับมีเนื้อหาต่างกัน  ที่กล่าวอย่างเป็นกลางก็มี  กล่าวเป็นทำนองให้เสียหายก็มี  แล้วแต่จิตสำนึกของผู้เขียน….”   เอกสารส่วนใหญ่ที่นักประวัติศาสตร์มักนำมาอ้างอิงเรื่องราวของพระเจ้าตากสินก็มี  อภินิหารบรรพบุรุษ,  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม),  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ซึ่งความจะตรงกันบ้างขัดแย้งกันบ้าง  เท็จจริงประการใดควรขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านเป็นสำคัญ

          * ส.พลายน้อย  ได้รวบรวมเรื่องราวพระเจ้าตากสินจากตำนานพงศาวดารต่าง ๆ มาแสดงไว้ให้เป็นแนวทางการศึกษา  เรื่องราวของมหาราชพระองค์นี้  โดยผมจะขออนุญาตรวบรัดเรื่องราวมาแสดงพอได้ใจความดังต่อไปนี้



          พระเจ้าตากสินมหาราช  พระนามเดิมว่า  สิน  เป็นบุตรขุนพัฒน์หยง กับ นางนกเอี้ยง  ขุนพัฒน์หยง เดิมชื่อ  ไหยฮอง  นายอาการบ่อนเบี้ย  บ้างก็ว่า  นายไหยฮอง  มีชื่อจริงว่า  หยง แซ่แต้  หรือแซ่เจิ้ง  ตามสำเนียงจีนกลาง  บ้างก็ว่า  ไหยฮอง  ไม่ใช่ชื่อเดิมของขุนพัฒน์  หากแต่เป็นชื่อเมืองที่เขาเกิดและจากมา  นัยว่าปัจจุบันเป็นอำเภอเล็กที่สุดของเมืองแต้จิ๋ว  จดหมายเหตุโหรระบุว่า  พระเจ้าตากสิน  เกิดวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๐๙๖ เพลาประมาณ ๕ โมงเช้า พุทธศักราช ๒๒๗๗  ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ  แต่มีจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระราชวังเดิมว่า  “ดวงพระชาตาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  พระราชสมภพวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗  ตรงกับวันศุกร์  ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล  เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.  ปราบดาภิเษกวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ตรงกับวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑ ปีชวด  พระชนมายุ ๓๔ พรรษา  สวรรคตวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕  ตรงกับวันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล  พระชนายุ ๔๘ พรรษา  จารึกนี้วันพระราชสมภพไม่ตรงกับปูมโหรที่กล่าวข้างต้น  ผู้สนใจควรค้นคว้าหาความจริงต่อไป

          เมื่ออายุได้ ๙ ขวบ  เจ้าพระยาจักรีได้ขออุปการะโดยนำไปฝากอาจารย์ทองดีวัดโกษาวาส  หรือ  วัดคลัง  ได้เรียนหนังสือขอมไทยจนจบบริบูรณ์แล้ว  จึงเรียนคัมภีร์พระไตร  ปิฎกอีกตามสมควร  อายุได้ ๑๓ ปี  พระยาจักรีทำพิธีตัดจุก  จากนั้นได้นำไปถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เมื่อหมดหน้าที่การงานแล้ว  มหาดเล็กสินจะใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาจารย์จีน  อาจารย์ญวน  อาจารย์แขก  จนสามารถพูดทั้งสามภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว

          เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ณ วัดโกษาวาส  อยู่กับพระอาจารย์ทองดี  ว่ากันว่าในเวลานั้นเพื่อนของท่านคือ  นายทองด้วง  ก็ได้อุปสมบท  และจำพรรษา ณ วัดมหาทลาย  วันหนึ่งพระภิกษุทั้งสองออกเดินบิณฑบาตและพบกันตรงทางสี่แพร่ง  ได้หยุดสนทนากันฉันท์เพื่อน  ขณะนั้นมีหมอดูจีนชราเดินมาพบ  และทำนายว่า  พระภิกษุสินจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  และพระภิกษุทองด้วงก็จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง  เมื่อลาสิกขาแล้วก็กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กตามเดิม  พระเจ้าบรมโกศโปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงานในกรมมหาดไทยและกรมวังศาลหลวง  ตกมาถึงแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศราชา  ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ  มีความดีความชอบจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยุกรกบัตรเมืองตาก  ต่อมาพระยาตากถึงแก่กรรม  หลวงยุกรกบัตรสินจึงได้เป็นพระยาตากแทน  เป็นพระยาตากแล้วไม่นานนัก  พระยาวชิรปราการ  ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรก็ถึงแก่อนิจกรรม  เสนาบดีมีท้องตราพระราชสีห์หาตัว  พระยาตากลงมายังกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าเอกทัศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งยศให้พระยาตากสินเป็นพระยาวชิรปราการ  ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร  ยังไม่ทันจะได้เดินทางกลับไปรับตำ แหน่งใหม่  พม่าก็ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา  แล้วพระราชพงศาวดารก็ได้เริ่มเรื่องพระยาตากสินอย่างเป็นทางตั้งแต่ตรงนี้เป็นต้นไป  ว่าดังนี้ครับ


          “ครั้นถึง ณ เดือน ๑๒ (พ.ศ. ๒๓๐๙)  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตากเลื่อนที่เป็นพระยากำแพงเพชร  แล้วตั้งให้เป็นนายกองทัพเรือ  ให้พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า  ให้หลวงศรเสนีเป็นกองหนุน  ยกกองทัพเรือออกจากพระนครให้ไปพร้อมทัพกันอยู่ ณ วัดป่าแก้ว  คอยตีทัพเรือพม่าซึ่งจะขึ้นลงไปมาหากัน  ขณะนั้นกองทัพพม่ารามัญยกขึ้นมาแต่ค่ายบางไทรและค่ายขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์  มาถึงกลางทุ่งตรงวัดสังฆาวาส  พระยาเพชรบุรีกองหน้าจึงให้แจวเรือรบในกองของตัวห้าลำเข้าตีเรือรบพม่า  และเรือพวกทัพพม่ารามัญนั้นมาก  ก็เข้าล้อมเรือกองพระยาเพชรบุรีเข้าไว้  ได้รบกันเป็นสามารถ  และพลทัพไทยกับพม่ารามัญฟันกันตายลงทั้งสองฝ่าย  กองพระยากำแพงเพชร  หลวงศรเสนี  จอดรอดูเสีย  หาเข้าช่วยอุดหนุนกันไม่  พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงทิ้งลงในเรือพระยาเพชรบุรี  ดินลวกเอาไพร่พลป่วยโดดลงน้ำ  พม่าได้ทีก็ฆ่าฟันแทงไทยในเรือในน้ำตายเป็นอันมาก  จับตัวพระยาเพชรบุรีได้  อยู่คงฟันแทงไม่เข้า  จึงเอาไม้หลาวเสียบแทงทางทวารหนักถึงแก่ความตาย  และขณะรบกันนั้นข้างพม่าตายสี่สิบเอ็ดคน  ข้างไทยตาย ๗๐ เศษ  และกองพระยากำแพงเพชรกับหลวงศรเสนีก็ยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ วัดกรวย  วัดพิชัย  หากลับเข้ากรุงไม่  เลยตั้งค่ายอยู่ที่นั้น”



          เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  พระยาตากสินจึงตัดสินใจพากองกำลังของตนหนีไปตายเอาดาบหน้า  โดยมีพม่าติดตามราวี  ได้รบกันเป็นระยะ ๆ  จากบ้านสามบัณฑิต  ไปบ้านโพธิ์สังหาร (สาวหาญ)  บ้านพรานนก ไปถึงนครนายก  มีชาวบ้านมาขอพึ่งบารมีเข้าเป็นพวกจำนวนมาก  ขุนชำนาญไพรสณฑ์  และนายกองสวามิภักดิ์  แม่กองช้างเมืองนครนายกเอาช้างพลายห้าเชือก  ช้างพังหนึ่งเชือกมามอบให้พร้อมกับคนของตนมาอาสาช่วยรบ


          จากนั้นก็ยกกำลังมุ่งหน้าไปยังบ้านดง  ที่นี่  ขุนหมื่นพันทนายบ้านซ่องสุมผู้คนเอาไว้  ตั้งค่ายมั่นอยู่ในดงทึบ  พระยาตากสินส่งคนไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้มารวมกำลังกันสู้พม่า  เขาไม่ยอมร่วมด้วย  พระยากตากสินส่งคนไปเจรจาถึงสามครั้ง เมื่อเขายังดื้ออยู่  จึงนำกำลังส่วนหนึ่งเข้าโจมตี  แล้วยึดช้างม้าเสบียงอาหารและผู้คนได้ทั้งหมด  จากนั้นเดินทางมุ่งหน้าต่อไป

          จะไปไหนหรือ  พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 27   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.84 วินาที กับ 385 คำสั่ง
กำลังโหลด...