
- เปษณนาทฉันท์ ๑๖ -
เปษณนาท หมายถึงการบรรลือเสียงแห่งครกตำข้าว (เปษณ เป็นศัพท์สันสกฤต แปลว่า การตำหรือการป่น)
เปษณนาทฉันท์ ๑๖ เป็นฉันท์ไทยที่ท่านสุภร ผลชีวิน สุภร ผลชีวิน ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑
เมื่อครั้งได้ยินจังหวะเสียงครกตำข้าวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในยามค่ำ
ดัง "ตะแล้กแต้กแต้ก ตะแล้กแต้กแต้ก" ฟังดูสนุกรื่นเริงดี
จึงนำจังหวะเสียงนั้นมาสร้างเป็นรูปแบบฉันท์ให้ชื่อว่า "เปษณนาท"
๑.) รูปแบบของเปษณนาทฉันท์ ๑๖
หนึ่งบทจะมี ๒ บาท
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคละ ๘ พยางค์ (รวมเป็น ๑๖ พยางค์ในหนึ่งบาท)
๒.) ลักษณะบังคับ ครุ - ลหุ
ครุ-ลหุ แต่ละวรรคจะบังคับเหมือนกันทุกวรรค คือ
ลหุ-ครุ- ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ- ครุ-ครุ ....... ลหุ-ครุ- ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ- ครุ-ครุ
โดยแต่ละวรรค จะแบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๔+๔ เหมือนกันทุกวรรค
๓.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
- สัมผัสภายในบท -
คำสุดท้ายของวรรคแรก ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๔ ของวรรคที่สอง
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่สาม
คำสุดท้ายของวรรคที่สาม ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๔ ของวรรคที่สี่
- สัมผัสระหว่างบท -
หากแต่งมากกว่า ๑ บท
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
- ตัวอย่างคำประพันธ์ -
-๐ เปษณนาทฉันท์ ๑๖ ๐-
๐ ณ ยามสายัณห์ตะวันย้อยต่ำ เถอะเร่งเท้าตำจะค่ำแล้วหนอ
ตะแล้กแต้กแต้กจะแหลกแล้วพ่อ กระด้งเขารอจะขอรับไป
๐ บุรุษรอทีสตรีเร่งเท้า บุรุษยั่วเย้ากระเซ้าเสียงใส
กระเดื่องตำข้าวก็กราวเสียงไกล สนุกน้ำใจสมัยราตรี
๐ พระจันทร์พลันพราวสกาวฟ้าถ่อง สำเนียงนวลน้องสิร้องเรื่อยรี่
วิเวกแคนหวานประสานเสียงดี บุรุษสัตรีก็ร่วมรำวง
๐ พระจันทร์มืดมิดประชิดนุชพลาง จมูกถูกปรางระหว่างเอี้ยวองค์
นขานวลน้องก็จ้องจิกลง ประสิทธิ์พิษสงบุรุษสุดศัลย์
๐ ตะแล้กแต้กแต้ก ตะแล้กแต้กแต้ก กระเดื่องเจียนแตกกระแทกเท้าสั่น
เอ๊ะแหลกแล้วหรือละมือเลิกกัน สนุกสุขพลันสนั่นเสียงเพลง
๐ ประเทาเหน็ดเหนื่อยและเมื่อยล้าหาย สลับเสียงชายและหญิงบรรเลง
ตะโพนติงทั่ง โจ๊ะติงติงเท่ง ระริกแคนเร่งระเริงเซิ้งเพลิน
๐ ดนูนิ่งนึกตริตรึกในใจ ประพันธ์ฉันท์ใหม่เถอะได้บังเอิญ
ผิพลาดท้วงเถิดประเสริฐสรรเสริญ เสนอปราชญ์เชิญวินิจฉัยฉันท์
(สุภร ผลชีวิน)
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เสรี กาญจนโรมนต์ นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครีนทรวิโรฒ
วิทยาเขตบางแสน วิชาเอกภาษาไทย ได้นำเปษณนาทฉันท์ไปแต่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สำเนาชื่อลายสือไทย
ฉบับหอมดอกมะพร้าว ดังนี้
-๐ ระบำใบข้าว ๐ -
๐ ฤดูฝนมานภาฉ่ำชื่น เถอะเร่งรีบตื่นและคืนจับไถ
ณ ท้องถิ่นทุ่งสิมุ่งมันไป แวะชวนขวัญใจมะไวเถิดเรา
............... ฯลฯ...............
๐ ฤดูฝนแล้งก็แห้งเหลือแรก กะร่วมลงแขกบ่แปลกใจห่วง
มะมาเถิดเหวยชะเอ๋ยพุ่มพวง ระบำบวงสรวงจะล่วงเลยบาง
๐ ผิมีคนบ้าอะหาเห็นข้าว ซิทำอื้อฉาวนะเจ้าสายสาง
พยุงราคาซะค่าเท่าฟาง มิกินข้าวบ้างก็ช่างหัวมัน **
** กระแสร์ มาลยากรณ์, วรรณคดีเปรียบเทียบเบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เจริญธรรม, ๒๕๒๒), หน้า ๔๑
หรือในปี ๒๕๓๑ ในกวีนิพนธ์ “ตากรุ้งเรืองโพยม” ของท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็มีการนำเสนอลีลาของฉันท์นี้เช่นกัน
-๐ เปษณนาทฉันท์ ๑๖ ๐-
- ลีลาครกกระเดื่อง -
๐ โสนริมน้ำก็ช้ำกลีบเฉา สะแกต้นเก่าก็แตกกิ่งกอ
กระพือลมกราวจะหนาวแล้วหนอ วะหวิวขลุ่ยคลอประเลงเพลงรัก
๐ กระเดื่องไม้ขอนกระดอนตำข้าว เขย่งเก็งก้าวกระตึกตึกตัก
เพราะแรงสาวเหยียบขยับเยื้องยัก สะเทิ้นคำทักสิหักใจสาว
๐ กระด้งวงเดือนก็เกลื่อนข้าวกล้อง กระต่ายหมายปองประคองฝัดข้าว
ระรื่นรื่นลมประพรมพัดพร้าว สิหนาวสู้หนาวมิหนักสองแขน
๐ กระไอข้าวหอมก็หอมยิ่งนัก เพราะแรงสาวรักเพราะแรงสาวแหน
เมล็ดข้าวเอ๋ยมิเคยขาดแคลน มิมีใครแม้นมิเหมือนเจ้าเลย
๐ กฐินบุญทานก็ผ่านพ้นแล้ว คระครื้นคำแอ่วคระเครงเพลงเอ่ย
ถนอมค่ำเช้านะเจ้าทรามเชย จะขอเป็นเขยมิคร้านงานไถ
๐ จะปักข้าวปลูกจะผูกกลอนเกี้ยว ฤดูเก็บเกี่ยวจะเกี่ยวใกล้ใกล้
กระเดื่องไม้ขอนกระดอนเรื่อยไป กระเด็นหัวใจมิไกลเจ้าเอย
(ตากรุ้งเรืองโพยม (๒๕๓๑) น. ๓๐ : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก 