
- ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ -
ภุชงคประยาตฉันท์ (พุ-ชง-คะ-ประ-ยาด-ฉัน หรือ พุ-ชง-คะ-ประ-ยา-ตะ-ฉัน) เป็นฉันท์ที่ตำราฉันทศาสตร์ได้ให้อัตถะไว้ว่า มีลีลาประดุจดั่งลีลาศแห่งพญานาค
๑.) รูปแบบของภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
หนึ่งบท จะมี ๒ บาท
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๖ พยางค์ วรรคหลังมี ๖ พยางค์ (รวมเป็น ๑๒ พยางค์ในหนึ่งบาท)
๒.) ลักษณะบังคับ ครุ –ลหุ (ดูผังด้านบนประกอบ)
ครุ-ลหุ แต่ละวรรคจะมีลักษณะเหมือนกันทุกวรรค คือ
ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ..................ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
โดยแต่ละวรรค จะแบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๓ + ๓ เหมือนกันทุกวรรค
๓.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
- สัมผัสภายในบท -
คำสุดท้ายของวรรคแรก เชื่อมสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
ส่วนวรรคที่สี่เป็นอิสระ
- สัมผัสระหว่างบท -
หากแต่งมากกว่า ๑ บท
ให้คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
- ตัวอย่างคำประพันธ์ -
- ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ -
- สวรรค์ชุ่ย ๆ -
สวรรค์เอี่ยมเสงี่ยมหวาน นิมิตมานมิเหมือนหวัง
สวรรค์สุขสนุกจัง อนิจจา---ฮะ! น่าหวัว
มหาชนกมลห่อ ระทดท้อฤทัยกลัว
อนาคตสลดทั่ว ทมิฬพองผยองพาล
พยักแหะแสยะยิ้ม อธรรม์กริ่มกำเริบการ
ผดุงโทษและโหดหาญ ก็ใครจุนและหนุนหลัง
จะอวดหน้าก็อาเพศ สถานเศรษฐเสถียรคลัง
ธนาเพ้อละเมอรั้ง ก็ไม่อยู่ ฤ แคล้วจม
สยามร้อนสะท้อนนัก จะผ่อนพักพะนอรมย์
กะร่มรายและสายลม ก็ไร้น้ำระกำโหย
จะอาบดื่มมิปลื้มจิต ก็ใครปิดประปาโปรย
อุราแห้งและแล้งโรย ระอิดอกจะฟกภินท์
จะอ้าปากกระดากร้อง ตะโกนก้อง 'ตะกรามกิน'
ก็อายล้นจะคนยิน จะเย้ยหยามมิงามไทย
จะเรียกหาประดายุต- -ติธรรมสุดก็โศกใจ
ผวาปิดกระบิดไว้ นะปากเจ้าจะเข้าขลุม
ตะปบอุตลุดรื้อ กระเหี้ยนหือกระหายรุม
ไผทไทยสิไฟสุม จะฮือล้ำผิซ้ำโหม
ระบำโบกและโยกคลอน ขยอกย้อนขย้อนโครม
สวรรค์ไทยสมัยโทรม ก็ใครคุยล่ะชุ่ยเหลือ!
(ขอบฟ้าขลิบทอง : อุชเชนี)
- ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ -
- ขวัญแผ่นดิน -
อนิจจาธราทั่ว สลดมัวมิเคยมี
สงบสุขสง่าศรี ประดาษดลประดับแดน
เพราะภัยยุทธ์สยองครอง วิถีผองก็แผกแผน
ชิพิตเดิมอดีตแดน มิคืนกลับสมัยกาล
รพีผ่องจะส่องหล้า นิมิตว่าทิวาวาร
ประดาชนก็หม่นมาน อนาคตอนาถคิด
จะอยู่ไปไฉนเล่า ลิขิตเศร้าประกาศิต
ธนาเทพธำรงฤทธิ์ ละโมบซื้อ ฤ ยื้อเอา
วนากฎกําหนดไว้ ผิว่าใหญ่พิชิตเยาว์
ปราชัยเถอะให้เขา ฉลาดโกงจะเกรียงไกร
จะผิดชอบ ฤ ชั่วดี มิเคยมีกะผู้ใด
ระยำยอดผิยิ่งใหญ่ ก็ย่อมถูกและชอบธรรม
ประมวลมีสตรีงาม ก็ขายกามประกอบกรรม
จะดงดิบ ฤ ป่าดำ มิเคยเว้นจะเฟ้นหา
สนองจิตสนุกใจ จะซื้อได้เพราะราคา
มิเลือกชาติ ฤ ภาษา ก็ส้องเสพย์สราญสม
จะอยู่ดีมีมีเหตุ กระเดื่องเดชซิน่าชม
ก็ปลอกคอสิขำคม ผิคาดเข้าบ่กลัวใคร
มิมีทางจะทําผิด จะแผลงฤทธิ์ก็ดังใจ
และลาภยศก็หลั่งไหล จะกอบโกยตลอดกาล ฯ
........... ฯลฯ ...........
(จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย : ทวีปวร)
- ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ -
- สำเร็จอยู่ที่ทำ -
บุรุษหนึ่งประจงถือ ถนัดมือสมัครมาน
นะค้อนเหล็กกระทำการ ประกอบเพื่อประโยชน์ยง
ระหว่างตีตะปูตรึง ณ สิ่งซึ่งจะมั่นคง
ก็หวดเหนี่ยวกระหน่ำลง ถนัดด้วยพลังแรง
มิช้าพลันสนิทติด กะไม้ชิดกระชับแข็ง
ประจำติดกะรอยแทง และแนบชิดสนิทดี
นิทัศน์เทียบบุรุษเห็น นิเทศน์เด่นฉะนี้มี
ก็เพื่อเร้าบุรุษปรี- ชะทั้งหลายแสดงผล
วโรกาสไฉนซึ่ง จะคำนึงประโยชน์ตน
ก็โอกาสฉะนั้นตน ประสบแล้วก็ดีเหลือ
ประมวลการณ์ประมาณกอบ ประโยชน์ชอบพินิจเจือ
ตระหนักแล้วก็ควรเกื้อ กระทำเสร็จประสงค์สม
ผิวันหนึ่งมิเสร็จตาม พยายามเพราะเริงรมย์
ก็วันหน้าสิมีถม จะย่อท้อกระไรงาน
เสมือนหนึ่งกะภูเขา อะไรเล่าจะสูงปาน
จะปีนป่ายก็เหลือหาญ เพราะสูงสุดกะสายตา
กระนั้นหากจะพากเพียร และไต่เวียนกะภูผา
ก็ย่อมเสร็จสำเร็จพา ประสงค์ซึ่งคะนึงหวัง
ฉะนี้ด้วยพิจารณ์รอบ ประกอบด้วยเพราะกำลัง
และแขนขาก็คงยัง สมรรถมั่นประกันภัย
อนึ่งหากมิชำนาญ ณ กิจการอะไรใด
ผิว่าหมั่นขยันไป ละกิจนั้นจะทานหรือ
และขอแต่กระทำจริง และผลจริงฉะนั้นคือ
สฤษดิ์ได้เพราะโดยมือ สมรรถนั่นฉะนั้นเทียว
ประหนึ่งเช่นบุรุษซึ่ง ตะปูตรึงกระดานเหนียว
และค้อนตอกประเดี๋ยวเดียว ตะปูติดสนิทแลฯ
(ส. สตะกูรมะ)
- ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ -
- เสียกำเอากอบ -
ผิเสียกำจะนำกอบ เสนอตอบสนองตาม
ตระหนักจิตมิผิดความ ประมาทม่งประสงค์หมาย
ก็เปรียบเหมือนจะเสียน้อย และหวังคอยประโยชน์ปลาย
ทวีบวกผนวกหลาย ก็ควรเสียบ่ควรหวง
วิสัยชาติฉลาดผู้ ระลึกรู้ประโยชน์ปวง
ผิลงทุนก็หมุนตวง ประโยชน์ได้กำไรดี
มิลงทุนจะหมุนเกิด ลุผลเลิศไฉนมี
เสมือนชาวประมงพี- ระตกมัสยาผอง
ตระหนี่เหยื่อมิเกี่ยวหย่อน นทีก่อนจะหวังครอง
จะได้หรือมิเชื่อลอง กระทำไปก็ไร้ผล
ประสงค์มัสยาใหญ่ จะทำได้ก็โดยกล
วิธีเหยื่อพลีปรน มิช้าปลาถลาหลาม
ละเลิงโลดกระโดดฮุบ ตะครุบเหยื่อตะกรุมกราม
ฉะนี้มัสยางาม รึรอดพ้นรึรนผาย
เพราะลงทุนและหมุนต่อ ประโยชน์ก่อสะดวกดาย
ก็เสียกำนโยบาย สุขุมคิดพินิจเทอญ
(พิศาล เสนะเวส)
- ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ -
มนัสไทประณตไท้ นรินทร์ไทยมิท้อถอน
มิผูกรักมิภักดิ์บร มิพึ่งบารมีบุญ
ถล้นจ้วงทะลวงจ้ำ บุรุษนำอนงค์หนุน
บุรุษรุกอนงค์รุน ประจญร่วมประจัญบาน
อนงค์เพศมนัสพี- รชาติศรีทหารชาญ
มิได้ดาบก็คว้าขวาน มิได้หอกก็คว้าหลาว
มิได้มีดก็เอาไม้ ตระบองใหญ่ตระบองยาว
ตระหน่ำฟาดพิฆาตลาว เตลิดแล่น ณ แดนดง
ผิอยู่เหย้าสิอรชร ฤทัยอ่อนระทวยองค์
ผิยามยุทธ์สิยรรยง เผยอยศอนงค์สรรพ์
นิกรลาวมลายชน มเกลื่อนกล่นอนาถครัน
ประมาณศพก็สองพัน พินาศพ่ายกระจายไป
........... ฯลฯ ...........
(ฉันท์ยอเกียรติชาวนครราชสีมา : พระยาอุปกิตศิลปสาร)
- ภุชงคประยาตรฉันท์ ๑๒ -
- ข้าพเจ้านั่งอยู่ชายทะเล -
จะเหลียวซ้ายก็งามตา จะเหลือบขวาก็เพลินใจ
จะดูเบื้องพบูไป ตลอดล้วนจะชวนแล
ผิพิศสูงสิแสงโสม อร่ามโคมโพยมแข
ตะลึงหลงพะวงแด ฤดีงงเพราะความงาม
ณ ชายหาดสะอาดทราย และกรวดทรายประกายวาม
วะวาบวับระยับยาม ผสานแสงพระจันทร์เพ็ญ
ทะเลแลกระแสหลั่ง อุทกพลั่งถะถั่งเห็น
ผสมสีขจีเป็น ประหนึ่งแก้วตระการเขียว
พระพายฮือกระพือหวน ประมวลม้วนสมุทรเกลียว
ระดมพัด ณ บัดเดี๋ยว ขยายแยกและแตกฉาน
อุบัติเป็นระลอกลูก สะท้อนถูกสะเทื้อนธาร
คะนองศัพทะกังวาน สนั่นพัดกระจายฟอง
กระทั่งหาดผะผาดผัง กระทบฝั่งประนังนอง
กระฉอกเนื่องเฉนียรมอง ระเมียรซ่านกระเซ็นสาย
ประปรอยโรยประโปรยฝอย ก็เห็นหอยและกรวดทราย
ประดุจรัตน์จรัสราย สกาวก่องประกอบกาญจน์
(ชิต บุรทัต)
** หมายเหตุ : ในชั้นต้นนั้น ฉันท์ประเภท ๔ วรรค ที่มีลักษณะอย่างกาพย์นั้น ไม่ได้มีบังคับสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรคหน้าและวรรคหลัง มีเพียงสัมผัสส่งระหว่างบาท (วรรค ๒ และวรรค ๓) และระหว่างบทเท่านั้น แต่กวีนิยมใส่เพิ่มเพื่อความไพเราะ หากอ่านในวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่าง ๆ จะพบลักษณะนี้อยู่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่าเพิ่งประมาทว่าผู้ประพันธ์นั้นผิดพลั้งแต่ประการใด เช่น
ภุชงคประยาตรฉันท์ ๑๒
๐ พยัคฆ์ย่องผยองเผ่น ผะผาดโผนลำพองผาย
สกัดหน้าพระโฉมฉาย เฉลาขัติมัทรี
๐ ทิพากรนะจรลับ พระสูเมรุคีรี
นิศากรก็สางสี สิผ่องแผ้วนภาพลาง
(มหาชาติคำฉันท์ : ฉันท์ ขำวิไล)
ภุชงคประยาตรฉันท์ ๑๒
๐ อนิจจาอนาถา จะคิดไปก็ใจหาย
สุดารัตน์กษัตริย์ฉาย เกษตรเชษฐ์เฉลิมวงศ์
๐ มเหสีมหาศักดิ์ มไหสูรย์ประยูรยง
พระผัวหน่ายสลายทรง สลดเศร้าสลักทรวง
(พระนลคำฉันท์)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก