
- จิตรปทาฉันท์ ๘ -
จิตรปทาฉันท์ ๘ (จิด-ตระ-ปะ-ทา-ฉัน) เป็นฉันท์ที่ตำราฉันทศาสตร์ได้ให้อัตถะไว้ว่า มีโกฏฐาสอันพิจิตร หรือส่วนลักษณะอันพิจิตร
๑.) รูปแบบของจิตรปทาฉันท์ ๘
หนึ่งบท จะมี ๔ บาท
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคละ ๔ พยางค์
(รวมเป็น ๘ พยางค์ในหนึ่งบาท)
๒.) ลักษณะบังคับ ครุ –ลหุ (ดูผังด้านบนประกอบ)
ครุ-ลหุ แต่ละบาทจะมีลักษณะเหมือนกันทุกบาท คือ
ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ .............. ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ
แต่ละบาทจะแบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๑+๓ ...........๓+๑ เหมือนกันทุกบาท
โดยคำแรกของวรรคหน้า และและคำสุดท้ายของวรรคหลัง ที่เป็น ๑ คำของแต่ละบาทนั้น
ให้อ่านทอดเสียงยาวหน่อยกว่าคำอื่นภายในบาท เพื่อช่วยหูผู้ฟัง
๓.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
- สัมผัสภายในบท -
๑) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ สัมผัสเชื่อมไปยัง คำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
๒) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยัง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
๓) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๕ สัมผัสเชื่อมไปยัง คำที่ ๓ ของวรรคที่ ๖
๔) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๖ รับสัมผัสจาก คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔
๕) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๖ ส่งสัมผัสไปยัง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๗
- สัมผัสระหว่างบท -
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่ คำสุดท้ายในวรรคที่ ๔ ของบทต่อไป
- ตัวอย่างคำประพันธ์ -
- จิตรปทาฉันท์ ๘ -
แต่ / พลเมือง จิตะเงื่อง / เหงา
ด้วย / มนะเขา ประจุโศก / ศัลย์
ท้น / กระเพาะหิว และก็กิ่ว / ครัน
หา / ตะละวัน ก็มิพอ / กิน
เต็มวิปโยค จะเสาะโชคช่อง
ชีวิต(ะ)นอง อุปสรรคริน
โลหิต(ะ)โชก ทุรโยคหิน
โหดรึถวิล ปฏิรูปใด
ใครปฏิวัติ ก็สะบัดธง-
-รบก็ประสงค์ ชนอ้างใช้
พอชนะแล้ว ก็จะแคล้วไป
ทิ้งพลไทย ทุขะเดิมครอง
ดูก็ประหนึ่ง กลดึงเชือก
เขาสิจะเลือก พละเล่นลอง
เย่อและก็ชัก ผละและผลักกอง
ใครล่ะจะปอง ผิวะเสร็จผล
นี่แหละประชา -ชนอาเกียรณ์
โน่นก็จะเบียน กะขยี้บน
นั่นก็จะบด กะจะกดกล
จักรกลยน- -ตระเรี่ยราย
พอคณะราษฎร์ น่ะประกาศกฎ
ว่าจะขบถ เพราะจะคลี่คลาย
ปวงอภิสิทธิ์ พิษ(ะ)พิศหมาย
สร้างและขยาย นวรูปเทน
เสียงก็กระหึ่ม และก็ซึมซาบ
ร่วมสหภาพ สหกรณ์แกน
ร้อยก็ขยับ ระดะนับแสน
ลามภพแดน ดุจะอัคคี
อันปะทุแสง ชุติแจ้งแจ่ม
ชาติจะแอร่ม และอร่ามมี
อารยธรรม เพราะจะนำชี-
-วิตและวิถี วฒโนดม
(กถาจรดปกาศิต (สามแพร่งชีวิตคำฉันท์) : คมทวน คันธนู)
- จิตรปทาฉันท์ ๘ -
ฃ้าชัยเสน อธิเบนทร์พงศ์
จันทะประสงค์ พิธิสมรส
กับมะทะนา วธุปรากฎ
กอบวระยศ สิริเท่ากัน
ฃ้าจะถนอม ทนุพร้อมพรั่ง
สมดุจะดัง มหิษีอัน
เปนภริยา สหะชาติ์กัน
เปนอรขวัญ ณ นิเวศน์ใน!
(มัทนะพาธา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- จิตรปทาฉันท์ ๘ -
ราชะพระองค์ ขณะทรงฟัง
คำดุจะดัง นุชนาฏจน
จบนัยะเห็น บมิเป็นผล
เกรงนรชน สิจะเย้ยหยัน
ด้วยเพราะอนงค์ นะสิคงเพศ
ต่ำมิวิเศษ และบเทียมทัน
เปรียบก็กระต่าย ฤ จะหมายจันทร์
รังดลพลัน จะวินาศเป็น
แต่ขณะผัน นยน์หันพบ
พลางพระประสพ ปิยบุตรเพ็ญ
พักตรสะอาง กละอย่างเช่น
พิมพะและเห็น บมิผิดองค์
ใคร่กรุณา และจะปรานี
โดยเฉพาะมี สุมนัสปลง
ในปิยบุตร จตุภุชพงศ์
แต่พระก็ทรง หฤทัยอาย
จึงอธิราช ธ ประกาศพร้อง
ดูกรน้อง อรเฉิดฉาย
คำนุชขาน และพยานหมาย
จงอธิบาย สินะโฉมงาม
(กัฏฐวาหนะคำฉันท์ : ส. ศตะกูรมะ)
** หมายเหตุ : ในชั้นต้นตามตำราฉันทศาสตร์นั้น จิตรปทาฉันท์ ๘ ตามบัญญัติไม่ได้มีบังคับสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรค ๕ และวรรค ๖ มีเพียงสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรค ๑ และวรรค ๒ และสัมผัสส่งระหว่างบาท และระหว่างบทเท่านั้น แต่กวีนิยมใส่เพิ่มเพื่อความไพเราะ หากอ่านในวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่าง ๆ จะพบลักษณะนี้อยู่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่าเพิ่งประมาทว่าผู้ประพันธ์นั้นผิดพลั้งแต่ประการใด เช่น
- จิตรปทาฉันท์ ๘ -
อย่าริตริปอง จะคะนองเล่น
สุขก็บ่เหน คุณะนักเลง
ล้วนจะพินาศ ธนะจงเกรง
โพ้นภวะเพรง นิรสรรเสริญ
(กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
- จิตรปทาฉันท์ ๘ -
เอาเถอะนะท่าน บ่มิหาญหัก
คงจะประจักษ์ กะ ณ ดวงตา
เราจะนำสอง พระกุมารา
ตามปณิธา น สนองการ
(มหาชาติคำฉันท์ : ฉันท์ ขำวิไล)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก 