สำหรับ
"กลบทคุลาซ่อนลูก" จัดเป็นกลอักษร ซึ่งกลอักษรมักมีการซ่อนคำอยู่
กลบทนี้มีอยู่ ๒ รูปแบบให้เลือกเขียน คือรูปแบบ ศิริวิบุลกิตติ์ และ แบบประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ แล้วแต่ผู้เขียนเลือกเขียนแบบใด
กลบทคุลาซ่อนลูก (แบบยังไม่ถอดความ) (พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)
๐-----------------------๐
พี่รักษเจ้า
น้อยหฤๅเจ้าเฝ้าหน่ายหนี
ไม่ควรเปน ๆ ได้เช่นนี้
ไม่ภอที่ ๆ ทำมารยา
หย่างไรหนอ ๆ แกล้งฬ่อหลอด
ว่างูตอด ๆ เอาต่อหน้า
นกเปรียวปร๋อ ๆ ไปต่อตา
สัตรีกล้า ๆ ร่ารับชาย
เจ้านับญาติ ๆ สนิดเนื้อ
ให้หลงเชื่อ ๆ ว่าเชื้อสาย
ช่างทำลับ ๆ ไม่อับอาย
งูเขียวกลาย ๆ เปนงูเรือน
ฉิลอดล่วง ๆ เข้าล้วงตับ
ไม่คิดกลับ ๆ พูดกลบเกลื่อน
ละไลไหล ๆ ให้ลายเลือน
ดูก็เหมือน ๆ กับแม่มด
ผีเข้าสิง ๆ วิ่งเข้าออก
ผีให้หลอก ๆ เล่นสดสด
ถึงเสียกล ๆ ได้ยลพะยด
เพี่งเหนคด ๆ เหมือนเคียวมอญ
เสียแรงรู้ ๆ ไม่เทียมเท่า
เหนลิ้นเจ้า ๆ เฝ้าหลอกหลอน
ฉะช่างทำ ๆ ชะอ้อนวอน
สอื้นอ้อน ๆ แทบอ่อนแด
อันน้ำคำ ๆ ยังช้ำเจบ
ดูรอยเล็บ ๆ ยังเปนแผล
เดี๋ยวนี้นี่ ๆ ทำขี้แย
ในที่แท้ ๆ จะแก้อาย
ให้ฦาชั่ว ๆ ทั่วพิภพ
จะล้างลบ ๆ เหลือหลบหาย
ยังแค้นชาย ๆ มาหมิ่นชาย
เหนเชิงง่าย ๆ ได้ง่ายงาม
ทนงหาญ ๆ ว่าการสนิด
ครั้นคิดคิด ๆ น่าใคร่ถาม
จะฉาวความ ๆ น่าอายความ
จึงให้นามชื่อ
คุลาซ่อนลูกเอย
๑ ฯ
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)
๑ ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีโคลงอธิบายวิธีถอดไว้ดังนี้ ๏ กลคุลาซ่อนบุตร์โอ้.......อัศจรรย์
ถอนทุกวรรคผูกพัน..........เงื่อนไว้
ซ้ำความเล่ห์ความขัน........คิดยาก จริงนอ
ดูที่วรรคต้นได้................ตลอดถ้อยทีกล ฯ
(กรมหมื่นไกรสรวิชิต : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ)
** จากโคลงของท่านกรมหมื่นไกรสรวิชิตที่อธิบายวิธีถอดกลบทคุลาซ่อนลูกนี้ไว้ ตีความได้ว่า
ในกลบทนี้ มีการซ่อนคำอยู่ โดยคำที่ซ่อนไว้นั้น ให้ดูคำที่วรรคต้น เมื่อพบแล้วให้ซ้ำคำ ๆ นั้นไปตลอดสำนวนที่เขียนนั่นเอง
พิจารณาแล้วว่า ที่วรรคต้น มีคำหนึ่งคำ ที่วรรคอื่น ๆ ไม่มี (หรือถูกซ่อนไว้นั่นเอง) คือคำว่า
น้อยหฤๅ (น้อยหรือ) ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างคำที่ ๓ และ ๖ (ซึ่งเป็นคำซ้ำกันเช่นกันในลักษณะคำยมก ( ๆ ) )
จึงนำคำว่า
น้อยหฤๅ มาใส่ตรงระหว่างคำที่ ๓ และคำที่ ๖ ของทุกวรรคตลอดสำนวน จึงถอดความสำนวนด้านบนได้ว่า
กลบทคุลาซ่อนลูก (แบบถอดความแล้ว) (พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)
๐-------------------------๐
พี่รักษ
เจ้า น้อยหฤๅเจ้า เฝ้าหน่ายหนี
ไม่ควร
เปน น้อยหฤๅเปน ได้เช่นนี้
ไม่ภอ
ที่ น้อยหฤๅที่ ทำมายา
หย่างไร
หนอ น้อยหฤๅหนอ แกล้งฬ่อหลอด
ว่างู
ตอด น้อยหฤๅตอด เอาต่อหน้า
นกเปรียว
ปร๋อ น้อยหฤๅปร๋อ ไปต่อตา
สัตรี
กล้า น้อยหฤๅกล้า ร่ารับชาย
เจ้านับญาติน้อยหฤๅญาติสนิดเนื้อ
ให้หลงเชื่อน้อยหฤๅเชื่อว่าเชื้อสาย
ช่างทำลับน้อยหฤๅลับไม่อับอาย
งูเขียวกลายน้อยหฤๅกลายเปนงูเรือน
ฉิลอดล่วงน้อยหฤๅล่วงเข้าล้วงตับ
ไม่คิดกลับน้อยหฤๅกลับพูดกลบเกลื่อน
ละไลไหลน้อยหฤๅไหลให้ลายเลือน
ดูก็เหมือนน้อยหฤๅเหมือนกับแม่มด
ผีเข้าสิงน้อยหฤๅสิงวิ่งเข้าออก
ผีให้หลอกน้อยหฤๅหลอกเล่นสดสด
ถึงเสียกลน้อยหฤๅกลได้ยลพะยด
เพี่งเหนคดน้อยหฤๅคดเหมือนเคียวมอญ
เสียแรงรู้น้อยหฤๅรู้ไม่เทียมเท่า
เหนลิ้นเจ้าน้อยหฤๅเจ้าเฝ้าหลอกหลอน
ฉะช่างทำน้อยหฤๅทำชะอ้อนวอน
สอื้นอ้อนน้อยหฤๅอ้อนแทบอ่อนแด
อันน้ำคำน้อยหฤๅคำยังช้ำเจบ
ดูรอยเล็บน้อยหฤๅเล็บยังเปนแผล
เดี๋ยวนี้นี่น้อยหฤๅนี่ทำขี้แย
ในที่แท้น้อยหฤๅแท้จะแก้อาย
ให้ฦาชั่วน้อยหฤๅชั่วทั่วพิภพ
จะล้างลบน้อยหฤๅลบเหลือหลบหาย
ยังแค้นชายน้อยหฤๅชายมาหมิ่นชาย
เหนเชิงง่ายน้อยหฤๅง่ายได้ง่ายงาม
ทนงหาญน้อยหฤๅหาญว่าการสนิด
ครั้นคิดคิดน้อยหฤๅคิดน่าใคร่ถาม
จะฉาวความน้อยหฤๅความน่าอายความ
จึงให้นามชื่อ
คุลาซ่อนลูกเอย ฯ
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)
กลบทคุลาซ่อนลูก (รูปแบบประชุมจากรึกวัดพระเชตุพนฯ) พิจารณาโดยรวมเห็นว่า มีเพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ
๑.) ให้วางเขียนเป็น "กลอนเก้า" โดยกำหนดให้คำที่ ๓ และ คำที่ ๖ ซ้ำกัน (ซ้ำคำหรือซ้ำเสียง) ในวรรคกลอน
๒.) ตลอดทั้งสำนวนการเขียน กำหนดให้คำที่ ๔ และ ๕ เป็นคำเดียวกันตลอดทั้งสำนวน
** กลบทคุลาซ่อนลูกรูปแบบนี้มีปรากฏเฉพาะใน
"จารึกวัดพระเชตุพนฯ" ไม่มีใน "กลบทศิริวิบุลกิตติ์"
ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับผม
...-๐ Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา) ๐-...

•
กลับสู่หน้าห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก