บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๖ -
สุนทรภู่เป็นพระเคร่งเก่งคุณไสย ศีลวินัยไม่ละเมิดเกิดเสื่อมเสีย ปฏิบัติวิปัสสนาไม่อ่อนเพลีย รู้การเกลี้ยกล่อมผีปิศาจกลัว.....
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำทัศนะ “ท่านจันทร์” ที่ท่านเห็นว่าสุนทรภู่มิใช่คนขัดสนจนยาก หากแต่มีฐานะอยู่ใน “ชนชั้นกลาง” ไปไหนมาไหนมีคนแห่ห้อม ล้อมหน้าหลัง ไม่เดียวดายดังความที่ท่านแต่งไว้ในกลอนต่าง ๆ วันนี้มาดูในอีกแง่มุมหนึ่งของสุนทรภู่ในทัศนะของ “ท่านจันทร์” ครับ
กลอนข้างบนนี้ เกริ่นให้ทราบว่าสุนทรภู่ในขณะบวชเป็นพระภิกษุนั้น ท่านเป็นพระประเภทไหนในทัศนะของ “ท่านจันทร์” ซึ่งท่านได้นิพนธ์ไว้ในหัวข้อว่า “๔๒ พระภู่” ดังต่อไปนี้
“ เมื่อเราอ่านนิราศเณรกลั่น เรารู้จักแลเห็นภาพเณรหนูกลั่น แต่ในที่สุด เณรหนูกลั่นยังเป็นแต่เงาฉายของสุนทรภู่ สิ่งต่าง ๆ ในประวัติสุนทรภู่ที่เราอาจสงสัยในบทอื่น ๆ มาแต่ก่อน มากระจ่างแจ้งในนิราศนี้ เป็นต้นในนิราศวัดเจ้าฟ้า เมื่อเรือไปจอดค้างคืนที่วัดมอญเชิงรากว่า
 "ดึกกำดัดสัตว์หลับประทับนอน ที่วัดมอญเชิงรากริมปากคลอง
ต้นไทรครึ้มงึ้มเงียบเชียบสงัด พระพายพัดแผ้วผ่าวหนาวสยอง เป็นป่าช้าอาวาสปิศาจคะนอง ฉันพี่น้องมิได้คลาดบาทบิดา
ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ เย็นยะเยียบเยือกสยองพองเกศา เสียงผีผิวหวิวโหวยโดยวิญญา ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย
บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก ผีมันหลอกลากปล้ำพลิกคว่ำหงาย ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว
ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสบสาบ เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว หมายว่าสาวผมผีร้องนี่แน๊ |
 พอพระตื่นฟื้นกายค่อยคลายจิต บรรดาศิษย์ล้อมข้างไม่ห่างแห ท่านห่มดองครองเคร่งไม่เล็งแล ขึ้นบกแต่องค์เดียวดูเปลี่ยวใจ
สำรวมเรียบเลียบรอบขอบป่าช้า ภาวนาตามสงฆ์ไม่หลงใหล เห็นศพฝังบังสุกุลส่งบุญไป เห็นแสงไฟรางรางสว่างเวียน
ระงับเงียบเสียงสำเนียงสงัด ประดิพัทธ์พุทธคุณค่อยอุ่นเศียร บรรดาศิษย์คิดกล้าต่างหาเทียน จำเริญเรียนรุกขมูลพูนศรัทธา
อสุภกรรมฐานประหารเหตุ หวนสังเวชชีวังจะสังขาร์ อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา ที่ป่าช้านี่แลเหมือนกับเรือนตาย
กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง
ค่อยคิดเห็นเย็นเยียบไม่เกรียบกริบ ประสานสิบนิ้วนั่งดังประสงค์ พยายามตามจริตท่านบิตุรงค์ สำรวมทรงศีลธรรมที่จำเจน
ประจงจดบทบาทค่อยยาตรย่าง ประพฤติอย่างโยคามหาเถร ประทับทุกรุกข์รอบขอบพระเมรุ จนพระเณรในอารามตื่นจามไอ
ออกจงกรมสมณาษมาโทษ ร่มนิโครธน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส แผ่กุศลจนจบทั้งภพไตร จากพระไทรแสงทองผ่องโพยมฯ" |
เมื่อข้าพเจ้าอ่านกลอนนี้ครั้งแรก ก็ให้สงสัยประวัติสุนทรภู่ในตอนบวช เท่าที่เชื่อกันมาว่าจะคลาดเคลื่อนขนาดผิดหมดก็แทบจะว่าได้ เพราะที่ขึ้นไปทำกิจจงกรมในป่าช้าเวลากลางดึกเช่นนี้ จะเป็นพระขี้เมา หรือผู้ที่อาศัยผ้าเหลืองหากินไม่ได้ จะต้องเป็นพระที่เคร่ง เห็นทุกข์แล้วอยากหาทางที่จะพ้นทุกข์โดยปฏิบัติ แต่ในเรื่อง “พระภู่” ในเมื่อมีหลักฐานแต่เพียงในนิราศวัดเจ้าฟ้าแห่งเดียว ข้าพเจ้าก็ได้แต่หุบปากไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ปากคันอะโข ครั้นเมื่อมาพบความเดียวกันในนิราศเณรกลั่น ผิดกันเพียงเณรหนูพัดกลัวผี เณรหนูกลั่นกลัวเสือ ก็เป็นโอกาสที่จะพ่นให้หายคันได้ ความในนิราศเณรกลั่นต่อไปนี้อยู่ในตอนจอดค้างคืนที่วัดร้างบางพัง
 "ฝ่ายคุณพ่อบริกรรมแล้วจำวัด พี่เณรพัดหนูตาบต่างหลับใหล ยิ่งดึกดื่นครื้นเครงวังเวงใจ เสียงเรไรหริ่งแหร่แซ่สำเนียง
จะเคลิ้มหลับวับแว่วถึงแก้วหู เหมือนคนกู่เกริ่นเรียกกันเพรียงเสียง เสียงเผาะเผาะเหยาะย่องค่อยมองเมียง เห็นเสือเลี่ยงหลีกอ้อมเที่ยวด้อมมอง
ดูน่ากลัวตัวขาวราวกับนุ่น แบ่งส่วนบุญบ่นภาวนาสนอง ทั้งในน้ำทำเลตะเข้คะนอง ขึ้นคลานร้องฮูมฮูมน้ำฟูมฟาย
เดชะกิจบิตุรงค์ซึ่งทรงพรต เห็นปรากฏกำจัดสัตว์ทั้งหลาย มันหลีกเลยเฉยไปไม่ใกล้กราย เหมือนมีค่ายเขื่อนรอบประกอบกัน
จนล่วงสามยามเวลาบิดาตื่น ประเคนผืนกาสาน้ำชาฉัน เงียบสงัดสัตว์ป่าพนาวัน เสียงไก่ขันแจ้วแจ้วแว่ววิญญา
ท่านอวยพรสอนพระกรรมฐาน ทางนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขา ได้เรียนธรรมบำเพ็งภาวนา เมื่อนอนหน้าวัดร้างคุ้งบางพัง
แล้วบิดาพาเดินขึ้นเนินวัด เงียบสงัดงึมป่าข้างหน้าหลัง เข้านิโครธโบสถ์ใหญ่ร่มไม้รัง สำรวมนั่งนึกภาวนาใน
ด้วยเดชะพระมหาสมาธิ เป็นคติตามศรัทธาอัชฌาศัย พอแสงทองส่องฟ้านภาลัย ลาพระไทรสาขาลงมาเรือฯ" |
นอกจากการบำเพ็ญกิริยาตามประสาที่เรามักเรียกกันอย่างสนุก ๆ ทุกวันนี้ว่า ยุบหนอ พองหนอ แล้ว พระภู่ยังได้แสดงอาการเป็นพระที่แท้อีก เช่น บิณฑบาตไข่เต่าจากชาวบ้าน เพื่อฝังให้สัตว์ที่ปฏิสนธิได้เกิด ฯลฯ แลเมื่อฉันอาหารที่ชาวป่าเขามาถวายอย่างหน้าตาเฉย
ตัวอย่างที่นำมาลงเหล่านี้ ไม่ใช่คำของสุนทรภู่เอง ฉะนั้นจะควรเชื่อได้หรือไม่ว่า “พระภู่” เป็นคนละคนกับ “ชาลี ภู่” ผู้เป็นศิลปิน
 วัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ส่วนหนูกลั่นที่มาเป็นลูกเลี้ยงสุนทรภู่นั้น เป็นผู้มีตระกูล มีปู่เป็นพระยาสุนทรเสนา มีป้าซึ่งว่าเป็นผู้สร้างวัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์) ตามประวัติวัดหมูว่า เจ้าจอมน้อยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดโบราณที่ร้างไป เจ้าจอมน้อยผู้นี้เป็นบุตรีเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) มีฉายาเพื่อให้ผิดกับเจ้าจอมน้อยอีกสองคนว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง เจ้าจอมน้อยผู้นี้เห็นจะไม่ใช่ป้าตัวของเณรกลั่น เพราะได้ออกชื่อปู่ไว้ว่าเป็นพระยาสุนทรเสนา เห็นจะพอสันนิษฐานได้โดยไม่พยายามเปิดหนังสือค้นว่า พระยาสุนทรเสนาเป็นน้องหรือเกี่ยวดองกับเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ข้าพเจ้าไม่อยากไล่เรื่องญาติโกโหติกาของหนูกลั่นไปกว่านี้ เอาความสั้น ๆ ว่า สุนทรภู่คงจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดนับหน้าถือตาของพวกขุนนางแลชาววัง มิใช่เป็นพระขี้เมาอย่างที่เชื่อกันมาแต่ก่อน มิฉะนั้นเด็กมีฐานะขนาดเณรกลั่นคงจะไม่ได้มาเป็นลูกเลี้ยง ความข้อนี้มีพยานหลักฐานยืนยันที่ว่า สุนทรภู่มีลูกศิษย์เป็นเจ้าฟ้าถึงสามพระองค์ (เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว) มีเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แลต่อไป กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปการะเป็นระยะ ๆ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงว่าไว้ตั้งแต่ต้นว่า สุนทรภู่จะไปตกทุกข์ได้ยากที่ไหนกัน ที่จะพาลูกและลูกศิษย์ในครอบครัวอันใหญ่โตไปอดข้าวกันหมดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เจ้านายผู้อุปการะแก่สุนทรภู่ล้วนแต่เป็นเจ้าใหญ่นายโตทั้งสิ้น ท่านคงไม่ได้ทอดทิ้งอย่างที่เข้าใจกันมาแต่ก่อนในศตวรรษเก่าของสุนทรภู่”
* ทัศนะของ “ท่านจันทร์” ที่คัดลอกมาให้อ่านนี้ พอจะฟอกตัวของท่านสุนทรภู่ให้ขาวสะอาดขึ้นได้แล้วหรือยัง ถ้ายัง พรุ่งนี้มาตามอ่านกันต่อก็แล้วกัน
อ้อ... วัดมอญเชิงรากที่ผีหลอกศิษย์จนพระภู่ขึ้นจากเรือเข้าป่าช้าปราบผีนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมะขาม แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองปทุมธานีไปแล้วนะครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ฟองเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๗ -
พระภู่อยู่วัดเลียบเป็นวัดหลัก เร่ไปพักหลายแห่งแจ้งไม่ทั่ว สนุกในลายแทงเที่ยวพันพัว แร่ธาตุยั่วยุเล่นแปรเป็นทอง
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำทัศนะของ “ท่านจันทร์” ที่มองสุนทรภู่เห็นว่า ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มิใช่พระขี้เมาตามที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน วันนี้มาดูทัศนะของ “ท่านจันทร์” ที่มีต่อสุนทรภู่ต่อไปครับ
กลอนข้างบนนี้เกริ่นให้ทราบกันไว้ว่า พระภิกษุภู่เป็นพระมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน คือ วัดเลียบ (ราชบูรณะ) มาแต่เดิม จนย้ายสำนักจากวัดเลียบไปอยู่วัดเทพธิดารามฯ ซึ่งสร้างเสร็จในปีนั้น ออกจากวัดนี้แล้วลาสิกขาไปอยู่บ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิมจนสิ้นชีวิต
“ท่านจันทร์” ได้วิเคราะห์วิถีชีวิตสุนทรภู่ในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ไว้ดังต่อไปนี้
“ที่จะว่า โคลงนิราศสุพรรณ คลิก แต่งใน พ.ศ. ๒๓๘๔ เพราะในรำพันพิลาปว่า “ปลายปีฉลูมีธุระ” ไม่เป็นเหตุ แลที่จะว่าแต่งจากวัดเทพธิดาฯ เพราะออกเดินทางจากมหานาคก็ไม่เป็นเหตุ เพราะจะต้องแจวเรือถอยหลัง ระยะทางเดินในเรื่องนั้น ผ่านวัดสระเกศ เชิงเลน คลองโอ่งอ่าง ออกแม่น้ำที่วัดเลียบ แล้วเข้าคลองบางกอกน้อย ระยะทางนี้เหมือนกับในนิราศเณรกลั่น (แต่ง พ.ศ.๒๓๗๖ ก่อนสร้างวัดเทพธิดาฯ) ผิดกันแต่ที่นิราศเณรกลั่น เข้าคลองบางกอกใหญ่แลไม่ได้ออกชื่อวัดสระเกศ ที่ทั้งสองเรื่องไม่พูดถึงวัดเทพธิดาฯ เลย ชวนให้คิดว่า โคลงนิราศสุพรรณ คลิก แต่ง พ.ศ.๒๓๗๙ ที่พูดนี้พูดด้วยความรู้สึก มิใช่เพราะสันนิษฐานหรือเดา เท่าที่สังเกตมา จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ความรู้สึกของข้าพเจ้าในเรื่องวรรณคดีไม่ค่อยผิด ในเรื่องปีแต่งโคลงนิราศสุพรรณ ข้าพเจ้าอาจผิดสักปีหนึ่งข้างหน้าหรือข้างหลัง แต่รู้สึกว่าไม่ได้แต่งในปี พ.ศ.๒๓๘๔ จากวัดเทพธิดาฯ อย่างแน่นอน
 ถ้าจะเชื่อว่าโคลงนิราศสุพรรณ แต่ง พ.ศ. ๒๓๗๙ แล้วยึดปีนี้เป็นหลัก แยกระยะเวลาที่สุนทรภู่บวช ออกเป็นงวด ๆ งวดละ ๓ ปี ประวัติสุนทรภู่ก็จะลงรอยกว่าเก่าเป็นกอง ในตอนนี้ลองทวนความสักหน่อย เพราะเท่าที่แล้วมาดูจะได้ขัดคอท่านเกจิอาจารย์ มากกว่าพูดจาระไนที่เป็นเรื่องเป็นราว การล้มของเก่านั้นง่าย แต่การตั้งของใหม่ขึ้นมาแทนยาก
พ.ศ. ๒๓๖๗ สุนทรภู่ออกบวชแล้วไปอยู่หัวเมือง ลูกไปด้วยคนหนึ่ง อายุประมาณ ๗-๘ ขวบ พ.ศ. ๒๓๖๘-๖๙-๗๐ จำพรรษาหัวเมือง ๓ พรรษา (ที่ไหนบ้างไม่ทราบ) ในรำพันพิลาปว่า
"ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม
ไปราชพรีมีแต่พาลจัณฑาลพระ เหมือนไปปะบอระเพ็ดที่เข็ดขม ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว
ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่อยู่กะเหรี่ยง ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว นอนน้ำค้างพร่างพรมพรอยพรมพราว เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง
ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้ หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ เข้าวษามาอยู่ที่สองพี่น้อง ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม" |
นอกจากเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี แลสุพรรณบุรี สุนทรภู่ยังได้ไปถึงพิษณุโลก (คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา) แล้วจึงลงมากรุงเทพฯ อยู่ที่วัดเลียบ (มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น)
 ในระยะ ๓ ปีแรกที่บวช สุนทรภู่สนุกสนานอยู่กับการเล่นแร่แปรธาตุ แสวงหาลายแทง ยาอายุวัฒนะ ฯลฯ เป็นระยะเวลาที่ชีวิตโลดโผนผจญภัยนานาชนิด แลถึงแม้ในเรื่องจะครวญคร่ำน้ำตากระเด็น เราก็ได้แต่ถามว่า ถ้าเดือดร้อนแล้ว ไปทำไม ไปเพราะใจสมัครใช่ไหม
พ.ศ. ๒๓๗๑ แต่งนิราศภูเขาทอง พ.ศ. ๒๓๗๒ แต่งเพลงยาวถวายโอวาท เพื่อทูลลาเจ้าฟ้าน้อยลูกศิษย์ เพื่อ “จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา ต่อถึงพระวษาอื่นจะคืนมา” พ.ศ. ๒๓๗๓ ไม่ทราบว่าจำพรรษาที่ไหน พ.ศ. ๒๓๗๔ แต่งนิราศเมืองเพชร พ.ศ. ๒๓๗๕ แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า พ.ศ. ๒๓๗๖ แต่งนิราศเณรหนูกลั่น
ในระหว่าง ๖ ปี ตั้งแต่แรกบวชจนกลับมาอยู่ที่วัดเลียบ สุนทรภู่ยังไม่ได้เริ่มจับเรื่องพระอภัยมณีที่ค้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เลย ยังคงสนุกอยู่กับการแสวงหาลายแทงนั้นอยู่ ต่ออีก ๓ ปี (พ.ศ.๒๓๗-๗๘๗๙) ข้าพเจ้าก็นึกว่ายังไม่ได้เริ่ม เข้าใจว่าลงมือเมื่อกลับจากสุพรรณแล้ว ระหว่างนั้น วัดเทพธิดาฯ เริ่มสร้างใน พ.ศ. ๒๓๗๙ ผูกพัทธสีมาใน พ.ศ. ๒๓๘๒ สุนทรภู่ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาฯ จากวัดเลียบโดยตรง ในรำพันพิลาปว่า
"เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทานฯ" |
อนึ่ง พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ ก่อนสุนทรภู่ไปสุพรรณ ฉะนั้นที่ว่ากันมาแต่ก่อนว่า แต่งเรื่องพระอภัยมณีถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในกฎเกณฑ์โคมลอย ไม่มีหลักฐานยืนยันคำบอกเล่าเลย”
* สรุปว่าสุนทรภู่แต่งนิราศต่าง ๆ ตั้งแต่ภูเขาทองถึงโคลงนิราศสุพรรณนั้น ในขณะอยู่วัดเลียบทั้งนั้น พรุ่งนี้มาอ่านที่ท่านพูดถึง โคลงนิราศสุพรรณ คลิก ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๘ -
สุนทรภู่แต่งโคลงดูโฉงเฉง เหมือนนักเลงกลอนใช้คำไม่คล่อง โคลงนิราศขาดโวหารหวานทำนอง ไม่เหมือนของนรินทร์ฯกะพระยาตรัง
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” ที่ลำดับกาลเวลาสุนทรภู่ในการใช้ชีวิตและการงานของท่านมาให้อ่านกัน แล้วสรุปว่าเรื่องพระอภัยมณีต่อจากที่แต่งค้างไว้สมัย ร.๒ นั้น มาเริ่มแต่งเมื่อย้ายจากวัดเลียบมาอยู่วัดเทพธิดาฯ แล้ว วันนี้มาอ่านความคิดเห็นของ “ท่านจันทร์” ต่อไปครับ
 “ ๔๕. โคลงสุนทรภู่...... “
ความต่อไปนี้ ลักเขามาจากหนังสือสิบกวี เมื่อเจ้าของเผลอ ”ข้อความอื่น ๆ ที่นึกได้ หรือเดาออกเกี่ยวกับ โคลงนิราศสุพรรณ คลิก จะขอพูดหลังลงตัวบทแล้ว”
“นิราศที่แต่งเป็นคำโคลงเรื่องนี้ไม่เหมือนนิราศคำโคลงเรื่องอื่น ๆ ที่แต่งเลียนแบบกันมาตลอด คือเป็นบทครวญที่กล่าวเข้ากับตำบลที่ผ่าน หรือชื่อนก ชื่อไม้ ไม่มีที่จะบันทึกเหตุการณ์อะไรเลย โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เล่าการเดินทางเหมือนอย่างนิราศที่แต่งเป็นกลอน ฉะนั้นในด้าน “รสความ” จึงไม่เหมือนนิราศคำโคลงอื่น ๆ ที่ครวญก็ครวญอย่างเฉ ๆ ดังในสองบทต่อไปนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นวิธีชมโฉมที่ขันเอาการ
"บางปลาร้าปลาคล่ำน้ำ...........ลำคลอง คนเหล่าชาวประมงมอง................มุ่งข้า สุ่มช่อนช้อนฉะนางปอง.................ปิดเรือก เฝือกแฮ เหม็นเน่าคาวปลาร้า.....................เรียดคุ้งคลุ้งโขลงฯ
ริมน้ำทำท่าขึ้น........................ขอดปลา เกล็ดติดตัวตีนตา.........................ตมูกแก้ม คิดคู่สู่เสน่หา...............................หอมชื่น ระรื่นเอย โคลนเช่นเป็นแป้งแต้ม..................ติดเนื้อเหลือหอม ฯ" |
กลอนของสุนทรภู่มีสัมผัสในมาก ในกาพย์และโคลงก็ใช้สัมผัสสระอย่างในกลอน ซึ่งเป็นข้อติว่าทำให้ลีลาของโคลงช้าลง นอกจากนั้นยังติกันว่า ไม่ถือเอกโทษโทโทษ หรือใช้โทแทนเอก หรือแม้แต่จะเกินสักคำก็ไม่เอื้อ (ในตัวอย่างข้างบนมีทุกอย่างที่ว่าเป็นข้อเสีย)
แต่ที่แท้ โคลงนิราศสุพรรณ คลิก เป็นบทที่บรรจงแต่งมีระเบียบที่สุด เป็นต้น ตลอดเรื่องในบาทหนึ่งไม่มีสร้อยเลย ในบาทสามไม่มีขาด เว้นแต่แห่งเดียวในบทนาคบริพันธ์ซึ่งเป็นที่ต้องซ้ำอักษร จำใส่สร้อยไม่ได้ นอกจากนั้นความแน่นลงพอดีบท ทุกบท ถ้าอ่านให้ถูกอย่างที่ผู้แต่งตั้งใจ บทนี้ไม่แพ้นิราศนรินทร์ คลิก และนิราศลำน้ำน้อย แต่จะเทียบกันก็เทียบไม่ได้แท้
ที่จะว่านิราศสามเรื่องที่กล่าวนี้ เป็นเพลงคนละเพลงก็ไม่ตรงนัก ถ้าจะว่าเป็นเพลงเดียวกัน แต่นรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ตีระนาด พระยาตรังเป่าแซกโซโฟน สุนทรภู่สีซอไม่มีควายฟัง ก็ไม่ตรงแท้ ข้าพเจ้าชอบมากกว่าที่จะเทียบว่าเมื่อเพลงขึ้นแล้ว นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) และพระยาตรัง ออกเต้นรำ นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ลีลาศอย่างสุภาพ พระยาตรังเต้นแซมบ้าด้วยจังหวะบาทกุญชร ส่วนสุนทรภู่เมื่อเพลงขึ้นแล้วออกไปรำวงแทนเต้นรำ ใช้ลีลากลอนแทนลีลาโคลง ฉะนั้น จำต้องอ่านของท่านให้ถูก มิฉะนั้นก็จะไม่เห็นลวดลายในเชิงรำ
การที่จะอ่านโคลงให้เป็นกลอน ผู้อ่านจำเป็นต้องตั้งพิธีในใจนิดหน่อย คือลืมเสียงว่ากำลังอ่านโคลง พยายามอ่านข้ามสัมผัสนอกไปเลย ใช้แต่สัมผัสในเป็นเครื่องวรรค เกี่ยวกับที่วรรคในการอ่านกลอน ข้าพเจ้านึกว่า ท่านควรลองเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษดูคำ Caeswra คำนี้เดิมเป็นภาษาลาติน แต่นำมาใช้กันเป็นศัพท์กวีในภาษาอื่น ถ้าเซซัวร่ายังช่วยท่านวรรคโคลงสุนทรภู่ไม่ถูก ก็ควรอ่านเทิ่ง ๆ ตลอดบรรทัด โดยไม่คำนึงถึงเอกโท หากจะเรียงโคลงเสียใหม่ก็พอจะเห็นลีลาง่ายเข้าบ้าง
"บางปลาร้าปลาคล่ำน้ำลำคลอง................คนเหล่าชาวประมงมองมุ่งข้า สุ่มช่อนช้อนฉะนางปองปิดเรือกเฝือกแฮ.....เหม็นเน่าคาวปลาร้าเรียดคุ้งคลุ้งโขลง ฯ ริมน้ำท่าที่ขึ้นขอดปลา...............................เกล็ดติดตัวตีนตาตมูกแก้ม คิดคู่สู่เสน่หาหอมชื่นระรื่นเอย....................โคลนเช่นเป็นแป้งแต้มติดเนื้อเหลือหอมฯ" |
“ในการพิมพ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้ามิได้เปลี่ยนรูปโคลง หรือเอกโทโทษ เพราะไม่ใช่ของยากที่ผู้อ่านจะทำเอาเองในใจได้ รู้สึกว่าง่าย เท่ากับบวกสองกับสองให้เป็นสี่หรือห้า แล้วแต่ใจสมัคร ฉะนั้นจึงปล่อยไว้ตามเดิม”
(จบความจากสิบกวี)
 “๔๖ โคลงนิราศสุพรรณ.........“
ทีแรกข้าพเจ้าตั้งใจจะถกเรื่องนี้อย่างยืดยาว ครั้นเมื่อมาอ่านบทอย่างละเอียด เห็นว่าผิดวิสัยสุนทรภู่ถนัด ฉะนั้นของด เพราะนอกจากหลักฐานยังไม่พอ ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาที่จะคิดได้อย่างละเอียดตามแนวความนึกที่เกิดขึ้นใหม่ ท่านผู้อ่านพึงเข้าใจว่า วิธีที่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้ มิใช้เขียนจนจบสิ้นแล้วจึงพิมพ์ หากแต่ตั้งโครงไว้ในหัวว่า จะลำดับบทของสุนทรภู่อย่างไร แล้วก็เขียนคำประกอบไปตามเรื่อง ประดุจใสใบเฟินประดับดอกไม้ที่มีอยู่แล้วให้เต็มแจกัน การทำเช่นนี้เป็นวิธีที่เลว ก็รู้อยู่แก่ใจ
ข้าพเจ้าสารภาพตรง ๆ ว่า ไม่เคยอ่านกลอนของสุนทรภู่มาก่อนอย่างจริงจัง พูดอย่างง่าย ๆ ข้าพเจ้าไม่ชอบกลอนองสุนทรภู่เท่าไรนัก ข้าพเจ้าไม่ใช่ “นักเลงกลอน” บางเวลาอารมณ์ไม่ดี ไม่ชอบของใครทั้งสิ้น ฉะนั้นบางเรื่องของสุนทรภู่ เพิ่งจะมาอ่านครั้งแรกเมื่อตรวจปรู๊ฟหนังสือนี้ก็ยังมี
ถึงแม้วิธีนี้จะล่อแหลมอาจพลาดได้ง่าย ๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นทางที่ให้คุณบ้างเหมือนกัน อย่างน้อย ข้าพเจ้าก็ไม่เอือมต่อกลอนสุนทรภู่ ไม่มีหยากไย่ในหัวมากเกินควร ฉะนั้นอ่านกลอนครั้งแรกอาจเห็นแสง ในเมื่อไม่มีแสงมาแต่ก่อน แสงในเรื่องโคลงนิราศสุพรรณนี้เป็นตัวอย่าง แต่เมื่อเห็นแสงแล้ว จำเป็นต้องทบทวนในหัวเสียก่อนให้แน่นอน จึงจะควรเขียน
ในชั้นนี้เอาความง่าย ๆ ว่า โคลงนิราศสุพรรณ คลิก แต่งใน พ.ศ. ๒๓๗๙ (ถ้าก่อนหรือหลังก็เพียงปีเดียว) เอาความว่าใน พ.ศ. ๒๓๘๐ หรือ พ.ศ. ๒๓๘๑ สุนทรภู่จับเรื่องพระอภัยมณี ที่ค้างมาแต่แผ่นดินก่อน เอาความว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ไม่ใช่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณอย่างที่เชื่อกันมา เอาความว่าใน ๓ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๐ – ๒๓๘๓ สุนทรภู่อยู่วัดเลียบ แล ๓ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๕ อยู่ที่วัดเทพธิดาฯ เมื่อได้พูดเช่นนี้แล้ว เอาความอีกคำหนึ่งว่า “เพี้ยง !”
* แหม.... ท่านเปรียบลักษณะของ ๓ กวีเอก คือ นายนรินธิเบศร์ (อิน) พระยาตรัง สุนทรภู่ ให้เห็นความต่างได้แจ่มแจ้งดีแท้ ตอนนี้อ่านสนุกมากนะครับ พรุ่งนี้ท่านจะพูดเรื่องอะไร ยังไม่บอกนะ เอาไว้มาอ่านกันเองก็แล้วกัน.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 รูปปั้นสุนทรภู่ขณะบวช ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ) - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๙ -
มีเรื่องเขาเล่าว่าน่าขำก๊าก “ท่านจันทร์”ฝากเรื่องเล่าท้าวความหลัง สุนทรภู่ว่ากลอนกล่าวเสียงดัง ก้อนอิฐปั้งปาซ้ำคนรำคาญ...
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำความเปรียบเทียบของ “ท่านจันทร์” ที่ว่าด้วยสุนทรภู่แต่งโคลงเรื่องแรกคือ นิราศสุพรรณ คลิก ที่ผิดแผกไปจากกวีคนอื่น ๆ เช่น นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) และพระยาตรัง เป็นต้น วันนี้จะให้ทุกท่านได้อ่านนิพนธ์ของท่านต่อไป ซึ่งจะว่าด้วย กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ คลิก และ เรื่องเล่าสุนทรภู่ว่ากลอนจนคนรำคาญ เอาก้อนอิฐก้อนดินขว้างปาฝาบ้านเรือน ดังต่อไปนี้ครับ
 ภาพวาดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ) “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าหญิงวิลาส ทรงเป็นลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ ๓ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าจอมมารดาบาง ประสูติเมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๓๕๔ ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าต่างกรม เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๘๘
พระองค์เจ้าหญิงวิลาสทรงมีพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ทรงพระนามพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ตามพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเรื่องประวัติสุนทรภู่ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงอุปการะสุนทรภู่จนสิ้นพระชนม์ไปในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ สุนทรภู่ได้แต่งบทสรรเสริญพระเกียรติถวายเรื่องหนึ่ง ซึ่งขณะที่เขียนนี้ยังไม่พบต้นฉบับ แลได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีถวายด้วย ครั้นเมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพผู้เป็นเจ้าพี่ชะรอยจะได้รับมรดกของเจ้าน้อง ได้ประทานอุปการะแก่สุนทรภู่ต่อไป โปรดให้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อถวายเดือนละหนึ่งเล่มสมุดไทย
ข้าพเจ้าได้เขียนข้างหน้าแล้วว่า เรื่องของสุนทรภู่ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์เจ้าลักณานุคุณ ยังมีหลักฐานนอกเหนือจากคำบอกเล่ากันมาน้อยเหลือเกิน ทั้งนี้มิใช่จะเชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องเลยก็หามิได้ เป็นเพียงแต่ว่าหลักฐานทางหนังสือควรจะมีมากกว่านี้สักหน่อยจึงจะงาม ส่วนที่สุนทรภู่เกี่ยวข้องกับกรมหมื่นอัปสนสุดาเทพ นอกเหนือจากที่ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าทรงเป็น “นายของสุนทรภู่” ยังมีหลักฐานทางอื่นมาประกอบคำของสุนทรภู่เอง
 วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ) กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงสร้างวัดเทพธิดาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ผูกพัทธเสมาใน พ.ศ.๒๓๘๒ (ในเรื่องการสร้างวัดเทพธิดาฯ นี้ จดหมายเหตุบางแห่งว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างประทาน แลกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงสละเงินสมทบ พร้อมกันนั้นได้ทรงสร้างวัดราชนัดดาประทานพระองค์เจ้าโสมนัส พระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ในปีที่ผูกพัทธเสมานั้น สุนทรภู่ย้ายจากวัดราชบูรณะไปอยู่วัดเทพธิดาฯ อยู่ได้ ๓ พรรษา ก็ลาสึกในปี พ.ศ. ๒๓๘๕”
“ ๔๘. พออิฐปาฝาเป้ง”...... (เรื่องบอกเล่า)
........... ครั้งหนึ่งสุนทรภู่กำลังนั่งเขียนกลอนอยู่ เกิดมีนักเลงดีเดินผ่านบ้าน เกิดอารมณ์สนุกขึ้นมาอย่างไรก็ไม่ทราบ หยิบก้อนอิฐก้อนหนึ่งขว้างไปที่บ้านสุนทรภู่ สุนทรภู่ตกใจ อุทานออกมาว่า
“ เฮ้ย ไอ้ภู่กำลังนั่งคิดกลอนลงนอนเขลง คิดตอนพระอภัยเกี้ยวนางละเวง พออิฐปาฝาเป้งก็ตกใจ”
แล้วสุนทรภู่ก็ลุกขึ้นนั่งเขียนกลอนต่อไป
ถ้าจะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นจริง ก็ต้องเชื่อว่า เรื่องพระอภัยมณีตอนนางละเวง แต่งในระหว่างที่ไม่ได้บวชเป็นพระ ซึ่งไม่ตรงกับที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ข้างบน เรื่องเดียวกันนี้ ยังมีเล่าอยู่ในหนังสือจินตนาการของสุนทรภู่ ของคุณเสงี่ยม คุมพวาส ว่า
“ อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า ขณะที่ท่านกวีเอกดื่มน้ำอมฤตพอได้ขนาด ก็มักนอนเอกเขนก หรือไขว่ห้าง ว่ากลอนลั่นบ้าน ซึ่งใครจะฟังหรือไม่ฟังไม่สนใจ ขอให้ได้ว่ากลอนเล่นพอเพลินอารมณ์ก็พอใจแล้ว แต่ครั้งนี้เกิดเสียงดังมากไปจนคนข้างบ้านรำคาญ เอาก้อนอิฐประเคนฝาบ้านปังเข้าให้ ร้อนถึงยาย นัยว่าไม่ใช่ยายตัว แต่เคยเลี้ยงมา ได้ยินคนข้างบ้านเอาอิฐทุ่มก็โกรธสุนทรภู่ จึงเกิดโต้คารมกับท่านจอมกวีเอกขึ้น เพราะสาเหตุท่องกลอนว่า “สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง มือก่ายหน้าผากไขว่ขาร้องว่าเพลง” พอถึงตอนนี้ ก็พอดีอิฐลอยมากระทบฝาบ้านปังเข้า สุนทรภู่ก็เลยว่ากลอนต่อไปว่า “เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป” ฝ่ายยายอยู่ในครัว ได้ยินคนขว้างเพราะรำคาญเสียงสุนทรภู่ ก็ร้องตะโกนออกไปว่า “อ้ายภู่นะอ้ายภู่ มึงไม่รู้อะไรเสียมั่งเลย ชาวบ้านเขารำคาญรู้ไหม” สุนทรภู่ก็ต่อเป็นกลอนออกไปอีกว่า “ภู่หรือไม่ภู่กูรู้อยู่เต็มจิต” ยายก็ส่งเสียงออกมาด้วยความโมโหอีกว่า ”มึงจะเกรงกลัวใครมั่งไม่มีเลย” สุนทรภู่ก็ต่อเป็นกลอนไปอีกว่า “จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่” ยายอดทนต่อคำล้อเลียนของสุนทรภู่ไม่ไหว ก็ออกปากไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นว่า “ไปนะอ้ายภู่ มึงไปให้พ้น ใครจะว่าจะด่าไม่นำพาเสียเลย” แทนที่ท่านจะสงบ กลับตอบไปเป็นกลอนอีกว่า “ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป ใครว่าช่างใครไม่นำพา” รวมความว่าเรื่องนี้เป็นคำกลอนขึ้นมาได้ดังนี้
สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง............ มือก่ายหน้าฝากไขว่ขาร้องว่าเพลง เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป.......... ภู่หรือไม่ภู่กูรู้อยู่เต็มจิต จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่ ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป ใครว่าช่างใครไม่นำพา............ |
(เรื่องเดียวกัน. ๒๕๐๘:๓๓๙-๓๔๑)
ความว่า เหตุการณ์ข้างบนนี้เป็นเรื่องสมัยรัชกาลที่ ๒ ในระยะที่สุนทรภู่ยังหนุ่มแน่นและโปรดน้ำอมฤต เสียแต่ในกลอนเรียกตัวเองว่า “สุนทรภู่ครูเฒ่า” แต่ก็ยังมียาย มีชีวิตร่วมบ้านเดียวกัน อย่างไรก็ดี คุณเสงี่ยมได้แถมท้ายว่า
“เท็จจริงอยู่กับผู้เล่า แต่ได้ยินมาจากหลายปาก จึงนำมาเล่าสู่ฟัง “
พอถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ สุนทรภู่ไปไหว้พระปฐมแล้วแต่งนิราศพระประธม พอถึงปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป แล้วลาสิกขา หลังบวชอยู่ ๑๗ ปี ตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ อันเป็นปีที่รัชกาลที่ ๒ สวรรคต ต่อจากรำพันพิลาปสัก ๓ ปี สุนทรภู่แต่งอีกบทหนึ่งชื่อนิราศอิเหนา เป็นเรื่องเดียวกับรำพันพิลาป ใช้ลีลาเดียวกัน”
 พิพิธภัณฑ์สุนทภู่ ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ) * เรื่องชีวิตและงานสุนทรภู่กวีเอกแห่งโลกคู่กับเชกสเปียร์ ที่ผมได้นำเสนอมาถึง ๑๐๙ ตอนแล้ว ควรจะจบลงเสียที แต่ยังมีผลงานของท่านอีกหลายชิ้นที่ “ท่านจันทร์” ทรงกล่าวถึง เช่นกาพย์ลำนำและกาพย์เห่กล่อม เป็นเรื่องน่าฟังน่ารู้ไม่น้อย จะน่าเสียดายหากผมปล่อยปละละเลย ไม่นำมาแสดงให้ทุกท่านได้อ่านกัน
ดังนั้น ผมขอนำมาเสนอต่ออีกหน่อยก็แล้วกันนะครับ ต่ออีกสัก ๒ ตอนก็ขอจบแล้ว.
อ้อ...... เรื่องเล่าที่คุณเสงี่ยม คุมพวาส นำจากปากบอกเล่าของชาวบ้านมาถ่ายทอดต่อ ตามที่ “ท่านจันทร์” นำมาเล่าซ้ำข้างบนนี้ ผมเห็นว่า คำบอกเล่าของชาวบ้านไม่สมเหตุสมผลเลย เป็นเรื่องหลอกเด็กเล่นเสียมากกว่านะ
เต็ม อภินันท์ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ มกราคม ๒๕๖๒
|
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, กลอน123, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๑๐ -
๐ สะธุสะจะขอไหว้....................พระศรีไตรสะระณา พ่อแม่แลครูบา..........................เทวะดาในราศี ๐ ข้าเจ้าเอา ก ข........................เข้ามาต่อ ก กามี แก้ไขในเท่านี้.............................ดีมิดีอย่าตรีชา ๐ จะร่ำคำต่อไป.........................พอล่อใจกุมารา ธรณีมีราชา...............................เจ้าพาราสาวะถี ๐ ชื่อพระไชยสุริยา.....................มีสุดามะเหสี ชื่อว่าสุมาลี...............................อยู่บูรีไม่มีภัย.....ฯ
............................. กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” ที่กล่าวถึงสุนทรภู่เป็นเกร็ดชีวิตที่ชวนขำขันให้อ่านกันไปแล้ว วันนี้จะขอนำนิพนธ์ที่ว่าด้วยตอนที่ “๕๓ กาพย์ลำนำแลกาพย์เห่กล่ออม” มาให้ทุกท่านอ่านกันต่อไป
 กาพย์ยานี ลำนำ ๑๑ ข้างบนนี้เป็นกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา คลิก ที่ท่านสุนทรภู่แต่งให้เป็นแบบเรียนภาษาไทย เป็นคำกาพย์ยานี กาพย์สุรางคณางค์ กาพย์ฉบัง ตั้งแต่ต้นแม่ ก กา แม่กง ไปจนจบแม่เกย ท่านใช้ถ้อยคำมาร้อยเรียงอ่านสนุกมาก ผู้ใดสนใจก็ไปหาอ่านดูนะครับ ผมจะไม่นำมาให้อ่านในที่นี้ทั้งหมด แต่จะให้อ่านนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” ที่ทรงกล่าวถึงกาพย์ลำนำแลกาพย์เห่กล่อม ดังต่อไปนี้
“เมื่อสุนทรภู่บวชอยู่ที่วัดเทพธิดาฯ ได้แต่งกาพย์ลำนำเป็นนิทานอ่านเทียบเรื่องพระไชยสุริยา ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) นำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเรียนมูลบทบรรพกิจ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในเรื่องประวัติสุนทรภู่ รับสั่งว่า พระยาธรรมปรีชา (บุญ) ซึ่งบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาฯ พร้อมกับสุนทรภู่ เล่าถวายว่า สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ที่วัดนั้น
ในขณะที่สุนทรภู่อยู่ที่วัดเทพธิดาฯ น่าจะมีลูกศิษย์เด็ก ๆ ขนาดเรียน กอ ขอ กอ กา (มีก็แต่ศิษย์นักกลอน) คุณฉันท์ ขำวิไล จึงสันนิษฐานสุนทรภู่แต่งเมื่ออยู่เมืองเพชร ก่อนเข้ารับราชการ จริงอยู่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คงจะมิได้ทรงสนพระทัยในเรื่องสุนทรภู่เท่าไรนัก เมื่อยังทรงมีโอกาสสืบถามข้อความต่าง ๆ จากพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ได้ มิฉะนั้นคงได้ตรัสถามว่าสุนทรภู่เป็นคนชนิดไหน มีรูปร่างสูงโย่งโตใหญ่ หรือต่ำเตี้ย หน้าตาขาวดำแดงอย่างไร เพิ่งจะได้มาสนพระทัยอย่างจริงจังเมื่อทรงจับเขียนเรื่องของสุนทรภู่ หมดโอกาสที่จะสอบถามได้ทั้งจากพระยาธรรมปรีชา (บุญ) แลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เจ้าฟ้ากลางผู้เป็นลูกศิษย์) ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดาย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่น่าไม่เชื่อคำที่พระยาธรรมปรีชาทูลเรื่องสุนทรภู่ แต่งนิทานเรื่องพระไชยสุริยาเมื่ออยู่วัดเทพธิดาฯ ข้อความบางอย่าง เช่น น้ำท่วมเมื่อ “น้ำป่าเข้าธานี” ดูจะบ่งถึงน้ำท่วมใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
นิทานเรื่องนี้จะแต่งขึ้นเพื่อเตรียมสึกออกไปสอนหนังสือลูกเธอในเจ้าฟ้าน้อย หรือจะมีใครขอร้องให้แต่ง เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่ทราบ ในประมาณระยะเวลาเดียวกัน ยังมีเรื่องอ่านเทียบเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ ปฐมมาลา ซึ่งพระเทพโมฬี (ผึ้ง หรือ พึ่ง) เป็นผู้แต่ง
นอกจากกาพย์ลำนำเรื่องพระไชยสุริยา สุนทรภู่ยังได้แต่งกาพย์เห่กล่อมพระบรรทมไว้อีก ๔ เรื่อง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งว่า โอกาสที่จะแต่งดูจะมี ๓ ระยะ คือในรัชกาลที่ ๒, เมื่ออยู่ในอุปการะของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แลเมื่ออยู่กับเจ้าฟ้าน้อย ถ้าจะเดาว่าเรื่องเห่จับระบำ เห่เรื่องกากี แลเรื่องโคบุตร แต่งในรัชกาลที่ ๒ เห่เรื่องพระอภัยมณี แต่งเมื่อสึกแล้ว ก็คงไม่ผิด หรือถ้าจะว่าเรื่องหลัง แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำหรับกล่อมบรรทมหม่อมเจ้าโสมนัสธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ก็ดูจะดีขึ้นอีก พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติหม่อมเจ้าโสมนัสไม่ถึงปี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพผู้เป็นป้า ทรงรับไปเลี้ยงต่อ
อย่างไรก็ตาม เรื่องพระไชยสุริยา คลิก ใช้เป็นบทเรียนหัดอ่าน ก ข จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่วนบทเห่กล่อมบรรทม ใช้กล่อมลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดรัชกาลที่ ๔”
 * จบเรื่องกาพย์ลำนำแลกาพย์เห่กล่อม พระนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” ซึ่งท่านมิได้วิพากษ์วิจารณ์ให้แง่คิดใด ๆ แต่ว่ากาพย์พระไชยสุริยานี้มีหลายบทหลายตอนที่คนไทยชอบนำมาพูดถึงกัน เช่น ตอนที่พระไชยสุริยาถูกข้าราชบริพารเสนาอำมาตย์ทำให้เสียพระองค์ไปว่า
“อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวะนารี ที่หน้าตาดีดี ทำมะโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา....”
“พาราสาวะถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใครได้ใส่เอาพอ....” |
และตอนที่อ่านกันสนุกมากเห็นจะเป็นที่ว่าถึง แม่กด ท่านเขียนบทอัศจรรย์อย่างพิสดารพันลึกว่า....
“๐ ขึ้นกดบทอัศจรรย์ เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง นกหกตกรังรวง สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง ๐ แดนดินถิ่นมนุษย์ เสียงดังดุจะเพลิงโพลง ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน ๐ บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ บ้างตื่นไปตกใจโจน ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน ลุกโลดโผนโดนกันเอง ๐ พิณพาทย์ระนาดฆ้อง ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง ระฆังดังวังเวง โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง ๐ ขุนนางต่างลุกวิ่ง ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง พัลวันกันตึงตัง พลั้งพลาดตกหกคะเมน ๐ พระสงฆ์ลงจากกุฏิ์ วิ่งอุตลุดฉุดมือเณร หลวงชีหนีหลวงเถร ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน ๐ พวกวัดพลัดเข้าบ้าน ล้านต่อล้านซานเซโดน ต้นไม้ไกวเอนโอน ลิงค่างโจนโผนหกหัน ๐ พวกผีที่ปั้นลูก ติดจมูกลูกตาพลัน ขิกขิกระริกกัน ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ @ สององค์ทรงสังวาส โลกธาตุหวาดหวั่นไหว ตื่นนอนอ่อนอกใจ เดินไม่ได้ให้อาดูร.........” |
กาพย์พระไชยสุริยา คลิก นี้ อ่านแล้วได้ทั้งความรู้ในด้านศิลปะ (ถ้อยคำ) วัฒนธรรมประเพณี คติสอนใจ และความสนุกสนานบันเทิง แค่ “แม่กด” เพียงแม่เดียว ได้บทอัศจรรย์ที่ประทับใจไม่รู้ลืมเลยครับ
พรุ่งนี้ตอนจบแล้วจะเป็นเรื่องอะไร ไว้มาพบกันแล้วค่อยรู้นะครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๑๑ -
นักเลงทำเพลงยาวเรื่องราวรู้ สุนทรภู่อาลักษณ์นักเลงใหญ่ ผลงานกลอนมากอยู่คู่คนไทย กลอนติดปากติดใจลืมไม่ลง...
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” เรื่องสุนทรภู่แต่งกาพย์ลำนำและกล่อมเห่ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันผ่านไปอีกตอนหนึ่ง วันนี้มาอ่านเรื่องสุนทรภู่ตอนที่ว่า “นักเลงทำเพลงยาว” ซึ่ง “ท่านจันทร์” ว่าไว้ดังต่อไปนี้
 กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้าชายนวม) “ในระหว่าง ๑๔ ปี ที่สุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ อยู่นั้น ได้ทรงใช้อย่างไรบ้าง ไม่ปรากฏแน่ชัด ที่จะให้แต่งแต่กลอนนั้น ไม่มีปัญหา แต่บทสูญหายเสียสิ้น พระองค์ทรงเล่นกลอนมาแต่หนุ่ม ดังมีเรื่องเพลงยาวสามชายเหลือเป็นพยาน กวีพระองค์หนึ่งที่ทรงเล่นกลอนด้วย คือกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ผู้ซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมพระราชบิดา (ประสูติปีเดียวกัน แต่กรมหลวงวงศาฯ แก่เดือนกว่า ทรงเรียก พี่นวม) เมื่อสุนทรภู่ไปอยู่ด้วยก็ต้องเข้าร่วมเล่นกลอนด้วยเป็นแน่ ข้อนี้มีบอกในนิราศซึ่งนายตาบผู้บุตรสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๕
“ถึงพระราชวังสะท้อนจิต.... คะนึงคิดถึงบิดาน้ำตาไหล พระปิ่นเกล้าเจ้าสุธานิคาลัย เสด็จไปสู่ที่นีฤพาน
เคยชุบเลี้ยงบิดามาแต่ก่อน ให้เป็นที่พระสุนทรโวหาร ทั้งเบี้ยหวัดผ้าปีมีประทาน พระโปรดปรานชุบเลี้ยงเป็นเที่ยงธรรม์
เคยมาบอกสักวาหน้าที่นั่ง แต่คราวครั้งก่อนบิดาจะอาสัญ น้อมศิโรตม์กราบก้มบังคมคัล พระคุณนั้นล้ำลบภพไตรฯ” |
ในภาคผนวกหนังสือสามกรุง เมื่อกล่าวถึงเพลงยาวสมัยกรุงเก่าบทหนึ่ง ซึ่งเป็นฝีปากหญิงอันคมกล้า ได้กล่าวท้าวถึงสุนทรภู่ว่า
“เมื่อข้าเจ้าพูดกับเพื่อนชายคนหนึ่งถึงเรื่องกาพย์เพลงยาวของกุลสตรีครั้งกรุงเก่าผู้เลื่องเกียรติ์ แต่ไม่ลือนามคนนั้น เขาก็ว่า ถ้าพบสตรีผู้แต่งกาพย์นี้ เขาก็จะต้องรีบหนีออกให้ห่าง ไม่กล้าสู้หน้า เพราะกลัวฝีปาก แต่งสู้แกไม่ไหว
ที่เขาเล่าเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องก่อนเกิดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่เล่า ไม่เกี่ยวกับสามกรุง แต่เป็นเรื่องขบขันดี ก็นำเล่าสู่กันฟังในที่นี้
 “เรื่องนั้นว่า ในรัชกาลที่ ๓ เจ้านายต่างกรมพระองค์หนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นหญิงสาวทรงรูปลักษณ์เป็นที่ต้องพระหฤทัย จึงทรงแต่งเพลงยาวไปเกี้ยว ไม่ทรงทราบว่า เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้าฯ) ทรงติดพันกับแม่คนนั้นอยู่แล้ว ฝ่ายแม่สวยเมื่อได้รับเพลงยาวของเจ้าต่างกรม ก็ส่งถวายเจ้าฟ้าน้อยทอดพระเนตร เวลานั้นสุนทรภู่พะพิงอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย จึงทรงใช้ให้แต่งเพลงยาวตอบเจ้าต่างกรม เหมือนว่าแม่สวยแต่งเอง ครั้นแม่สวยได้รับร่างของสุนทรภู่ก็คัดส่งไปถวายเจ้าต่างกรม เจ้าต่างกรมได้รับก็เห็นจะทรงยินดี เพราะถ้าหญิงไม่เล่นด้วยก็คงไม่ตอบเพลงยาว แต่ครั้นทรงเปิดผนึกออกอ่าน ก็พบคารมกลอนเฉียบแหลมเผ็ดร้อนที่สุด เลยทรงครั่นคร้ามไม่กล้าพยายามกับแม่สวยคนนั้นต่อไป”
(เรื่องเดียวกันใน ๒๕๑๘;๓๔๐-๓๔๑)
สุนทรภู่เป็นคนที่ใช้คำให้เป็นบ่าวได้ มีความนึกอย่างไรก็เอาออกมาเป็นกลอนได้อย่างนั้น นอกจากเรื่องข้างบนนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเล่ากันมา ข้อความว่า
“ครั้งหนึ่ง จะเป็นก่อนเข้ารับราชการ หรือในรัชกาลที่ ๒ หรือขณะบวช หรือเมื่อสึกแล้วไม่ทราบ มีกระทาชายนายหนึ่งไปขอร้องให้สุนทรภู่แต่งเพลงยาวให้สักบทหนึ่งเถิด สุนทรภู่แต่งให้ตามคำขอ อยู่มาอีกสักหน่อยมีหญิงสาวคนหนึ่งมาหา ขอให้แต่งตอบเพลงยาวถึงชายคนหนึ่งให้สักบทหนึ่งเถิด
“ท่านอาจารย์กรุณาดิฉันสักหน่อยเถอะค่ะ” แม่คนนั้นเล่า “รูปเขาหล่อเหลือเกิน” “อ้อ งั้นเหรอ” สุนทรภู่ว่า “เขาว่าไงก็เอามาดูซิ”
แม่สาวส่งเพลงยาวที่ได้รับให้ สุนทรภู่อ่านไปได้หน่อยก็เห็นว่ากลอนดีนัก อ่านไปอีกหน่อยก็จำได้
“อุบ๊ะ ก็บทนี้เราแต่งให้เขาเมื่อสองสามวันมานี้นี่ จะเล่นให้เราเกี้ยวตัวเองหรือไงกัน แต่ก็ได้เหมือนกัน”
แล้วสุนทรภู่ก็ตอบเพลงยาวให้ แม่สาวดีใจรีบไปจัดการคัดเขียนส่งให้ชาย
 ฝ่ายชายเมื่อได้รับเพลงยาวของแม่สาวแล้ว ก็มาขอคำตอบจากสุนทรภู่ แล้วก็หญิง แล้วก็ชาย จนความสัมพันธ์ระหว่างคู่นั้นสนิทสนมขึ้นเป็นลำดับ ส่วนสุนทรภู่จะเกิดอยากเป็นหมอดูขึ้นมาหรืออย่างไรไม่ทราบ เห็นว่าหนุ่มสาวคู่นี้ชะตาไม่ตรงกัน ถ้าได้กันประเดี๋ยวจะเดือดร้อน ฉะนั้นเมื่อแต่งเพลงยาวไปทีก็แทรกคำหมางเข้าไปคำหนึ่ง กลับมาก็แทรกเข้าไปสองสามคำ มากขึ้น ๆ เป็นลำดับ จนในที่สุดหนุ่มสาวโกรธกัน ครั้นมีผู้ไปรายงานสุนทรภู่เป็นเชิงต่อว่า ในฐานะแต่งบทเกี้ยวให้เขาทั้งทีก็เกี้ยวไม่สำเร็จ สุนทรภู่ไม่รู้จะว่าอะไรดี ในที่สุดก็ได้แต่ว่า
“อ้อ ง้านเหรอ.....”
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
* ทั้งหมดข้างบนนี้เป็นอีกหนึ่ง “ควันหลง” ในชีวิตและงานสุนทรภู่ กวีคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัตนกวีของไทย ที่นักกลอนไทยรุ่นต่อมาพากันยกย่องให้เป็นยอดครูกลอน และในที่สุด ยูเนสโกก็ประกาศยกย่องเชิดชูให้เป็นกวีเอกของโลกคู่กันกับเชกสเปียร์
เรื่องราวของนักกวีคนสำคัญ ๆ ในราชสำนักรัชกาลที่ ๒ นอกจากสุนทรภู่แล้วยังมีอีกหลายท่าน แต่ขออนุญาตไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้ เพราะเห็นว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ควรจบลงเพียงนี้
พรุ่งนี้จะเริ่มเรื่องราวในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสโขทัย ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- สิ้นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย -
“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่ บุหลันลอยเลื่อนฟ้าไม่ราคี รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนั่งนึกตรึกไตรไปมา ที่จะแต่งคูหาสตาหมัน ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์ จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา..”
………………(อิเหนา) |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้ขอจบเรื่องราวของสุนทรภู่ กวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ วันนี้มาเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยกันต่อไปครับ
บทกลอนข้างบนนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จากละครเรื่องอิเหนา ซึ่งนำมาเป็นเนื้อร้องในทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งทำนองเพลงนี้พระราชนิพนธ์ขึ้นตามพระสุบินในราตรีหนึ่ง ที่มาของเพลงนี้มีเรื่องเล่ากันมาว่า...
สำหรับ “การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ผู้โพสขอยกตัดกลับไปกระทู้ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เพื่อความต่อเนื่องของเหตุการณ์ โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ คลิกที่นี่ เข้าอ่านต่อได้ครับ / (หมายเหตุโดยผู้โพสต์)
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|