บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 อัมพวา : สมุทรสงคราม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๑ -
“ถึงคลองน้ำอัมพวาที่ค้าขาย เห็นเรือรายเรือนเรียงเคียงขนาน มีศาลาท่าน้ำน่าสำราญ พวกชาวบ้านค้าขายคอนท้ายเรือ
ริมชายสวนล้วนมะพร้าวหมูสีปลูก ทะลายลูกลากดินน่ากินเหลือ กล้วยหักมุขสุกห่ามอร่ามเครือ พริกมะเขือหลายหลากหมากมะพร้าว
ริมวารีมีแพขายแพรผ้า ทั้งขวานพร้าพร้อมเครื่องทองเหลืองขาว เจ้าของแพแลดูหางหนูยาว มีลูกสาวสิเป็นไทยถอนไรปลิว
ดูชาวสวนล้วนขี้ไคลทั้งใหญ่เด็ก ส่วนเมียเจ๊กหวีผมระบมผิว เห็นเรือเคียงเมียงชม้ายแต่ปลายคิ้ว แกล้งกรีดนิ้วนั่งอวดทำทรวดทรงฯ...”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ..........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ เดินทางมาถึงคลองบางนางสี่แล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 ตลาดน้ำอัมพวา : สมุทรสงคราม กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือลอยลำเข้าอัมพวา เห็นเรือรายเรียงเคียงขนานกับบ้านเรือนดูแน่นขนัด เป็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้านที่ตื่นตาตื่นใจเมื่อได้พบเห็น มีชาวบ้านเป็นแม่ค้า “คอนท้ายเรือ” คือเอาสินค้าใส่เรือสำปั้น เรือแปะ แล้วพายงัด ๆ ไปมาในลำน้ำ ร้องขายสินค้ากันไปรายทาง แสดงให้เห็นว่าคลองอัมพวาเป็นตลาดน้ำมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุไม่น้อยกว่าสองร้อยปีแล้ว ริมชายสวนมีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เป็นมะพร้าวต้นเตี้ย แต่ละต้นมีลูกดก ทะลายยาวลงลากดิน ริมคลองนั้นมีแพชาวจีนไว้หางเปียยาวขายผ้าแพร ลูกสาวเจ๊กเป็นไทย แต่เมียเจ๊กหางหนูหรือหางเปีย (น่าจะเป็นเชื้อสายแมนจู) นั่งหวีผม ยามเรือผ่านไปนางชม้ายแลด้วยปลายคิ้ว ดัดจริตกรีดนิ้วอวดทรง แหม.. เณรหนูกลั่นก็ช่างว่านักนะ
“ถึงคลองขวางบางกุ้งที่คุ้งน้ำ พวกเจ๊กทำศาลเจ้าปุงเถ้าก๋ง เป็นวันเล่นเห็นเขาเชิญเจ้าลง เจ๊กคนทรงสับหัวของตัวเอง
เอาขวานผ่าหน้าผากแทงปากลิ้น แล้วดื่มกินเหล้าโลดกระโดดเหยง เลือดชโลมโทรมเนื้อเสื้อกางเกง เดินโทงเทงถือง้าวเป็นเจ้านาย
นึกก็เห็นเป็นกลคนสับปลับ จะเอาทรัพย์สินบนคนทั้งหลาย สู้เสียเลือดเชือดตัวไม่กลัวตาย ใช้อุบายบอกคนด้วยกลโกงฯ” |
 เลยอัมพวามาถึงบางกุ้ง ที่นี่มีศาลเจ้าปุงเถ้ากงของคนจีนตั้งอยู่ วันนั้นมีการทรงเจ้าโดยม้าทรงชาวจีน เมื่อเจ้าเข้าก็แสดงอิทธิฤทธิ์เอาขวานสับหัวและผ่าหน้าผากตนเองจนเลือดไหลโทรมกาย เอาเหล็กแหลมแทงปากตรงกระพุ้งแก้มขวาทะลุแก้มซ้ายและลิ้น ท่านเณรเห็นแล้วก็ปลงว่าเขาลงทุนเจ็บตัวเพียงเพื่อลาภสรรเสริญเท่านั้น เป็นการแสดงกลหลอกคนด้วยกลโกง........
"ถึงบางป่ามาพ้นตำบลสวน ตลอดล้วนแหลมคุ้งเป็นทุ่งโถง พอโพล้เพล้เวลาล่วงห้าโมง เห็นเมฆโพลงพลุ่งรอบเป็นขอบคัน
บ้างเขียวแดงแฝงฝากเหมือนฉากเขียน ยิ่งพิศเพี้ยนรูปสัตว์ดูผัดผัน เหมือนลิงค่างช้างม้าสารพัน ดูดังมันจะมาทับวับวิญญา
ท่านบิดรสอนว่าตำราห้าม คือคนสามประเภทในเทศนา คนเข็ญใจไร้ทรัพย์อัพลา ลูกกำพร้าดูเมฆวิเวกใจ
จะสร้อยเศร้าเหงาง่วงในดวงจิต เสียจริตงวยงงลุ่มหลงใหล เห็นเที่ยงแท้แต่เราพิศพินิจไป จนตกใจเจียนจะเห็นว่าเป็นตัว
พอสุริยงลงลับพยับค่ำ ท้องฟ้าคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว ดูอ้างว้างกลางชลาเป็นน่ากลัว ถึงคอกงัวสี่หมื่นตื่นกันดู
ไม่เห็นตัวงัวควายเป็นชายทุ่ง เสียงแต่ยุงริ้นร้องกึกก้องหู ริมตลิ่งหิ่งห้อยย้อยลำพู สังเกตดูดังหนึ่งเม็ดเพชรรัตน์
อร่ามเรืองเหลืองงามแวมวามวับ กระจ่างจับพงแขมแจ่มจำรัส น้ำค้างพรมลมเชยรำเพยพัด ระลอกซัดส่งท้ายสบายดี
พอเดือนเด่นเห็นดวงขึ้นช่วงแสง กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าทุกราศี สักยามหนึ่งถึงหาดเมืองราชพรี กำแพงมีรอบล้อมทั้งป้อมปืน
ถามบิดาว่าพระองค์ดำรงภพ สร้างไว้รบรับพม่าไม่ฝ่าฝืน แต่เฟือนช่องร่องทางด้วยกลางคืน เข้าจอดตื้นติดหาดเมืองราชพรี
สำนักนอนผ่อนสบายที่ท้ายวัด น้อมมนัสการศีลพระชินสีห์ ขอเดชะพระมหาบารมี ในราตรีเภทภัยมิได้พาน.......” |
 ตลาดน้ำบางน้อย : บางคนที (เดิมชื่อ อำเภอสี่หมื่น) สมุทรสงคราม เรือเลยบางกุ้ง พ้นเรือกสวนเข้าเขตทุ่งนาเป็นเวลาตะวันโพล้เพล้แล้วตกดินสิ้นแสงไป ก็พอดีถึงบ้านวัวสี่หมื่น (ท่านว่างัวมีมากมายถึงสี่หมื่นตัว) เห็นแต่ชื่อก็ตื่นใจ มองไปไม่เห็นวัวควายเลย ผ่านเลยคอกวัวสี่หมื่น ไปถึงหาดเมืองราชบุรี (ราชพรี) ท่ามกลางแสงเดือนที่สว่างกระจางฟ้า คืนนั้นท่านจอดเรือพักแรมคืน ณ หาดเมืองราชบุรีนั่นเอง
วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองมุโขทัย ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 คลองบางสองร้อย ราชบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๒ -
“ครั้นรุ่งเช้าชาวเรือข้างเหนือใต้ ต่างเลื่อมใสศรัทธาทำอาหาร มาถวายหลายลำค่อยสำราญ ทั้งอ้อยตาลต้มแกงกับแตงไทย
ครั้นเสร็จฉันกรุณายถาสนอง ให้เจ้าของซึ่งศรัทธาอัชฌาสัย แล้วภิญโญโมทนาลาครรไล สำราญใจจากหาดเมืองราชพรี
ถึงชะวากปากคลองบางสองร้อย แต่น้ำน้อยทางเดินเนินวิถี เห็นเขางูอยู่ข้างซ้ายหลายคีรี พฤกษาสีเขียวชุ่มดูคลุมเครือ
ที่เงื้อมง้ำลำเนาชื่อเขาแร้ง ศิลาแดงดังชาดประหลาดเหลือ จะขึ้นบ้างทางบกก็รกเรื้อ จนเลี้ยวเรือลับแหลมล้วนแขมคาฯ....”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ มาถึงหาดเมืองราชบุรีแล้วจอดเรือพักนอนแรมคืน วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ
 เขางู : ราชบุรี รุ่งเช้าวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่ามีชาวเรือนำอาหารมาถวายให้ขบฉันกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ครั้นอนุโมทนา (ยถา สัพพี...) ให้พรตามธรรมเนียมแล้ว ก็ออกเรือลาญาติโยมเมืองราชบุรีเดินทางต่อไป ถึงบางสองร้อย ลำน้ำตรงนี้ตื้นน้ำน้อย ทางซ้ายมือแลเห็นเขางูดูสลับซับซ้อน ทางชวามือเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เลยไปถึงเขาแร้งซึ่งมีหินสีแดงดั่งชาด ประหลาดตา
 บ้านกล้วย : ราชบุรี "ถึงคุ้งย่านบ้านกล้วยสลวยสล้าง เขาปลูกสร้างไร่รายทั้งซ้ายขวา พริกมะเขือเหลืองามอร่ามตา นกสาริกาแก้วกาลิงมาชิงกิน
บ้างกอดเกาะเจาะจิกเม็ดพริกคาบ บ้างโฉบฉาบชิงกันดูผันผิน โอ้น่ารักปักษาริมวาริน บ้างโบยบินบ้างก็จับอยู่กับรัง
บ้างกู่ก้องร้องเรียกกันเพรียกเพราะ ฟังเสนาะนึกในน้ำใจหวัง คิดถึงพี่ที่เข้าไปอยู่ในวัง เมื่อคราวครั้งคุณป้าไปค้าเรือ
เคยชมป่าพาทีกับพี่น้อง เที่ยวเก็บของจุกจิกพริกมะเขือ เดี๋ยวนี้พี่มียศท่านชดเจือ น้องนี้เชื้อชาติต่ำจึงจำไกลฯ |
 วัดบางกระ : ท่าราบ ราชบุรี ถึงบางกระไม่เห็นกระปะแต่บ้าน เป็นภูมิฐานทิวป่าพฤกษาไสว โอ้ผันแปรแลเหลียวให้เปลี่ยวใจ ถึงย่านใหญ่เจ็ดเสมียนเตือนสบาย
ว่าแรกเริ่มเดิมทีมีตะเข้ ขึ้นผุดเร่เรียงกลาดไม่ขาดสาย จอมกษัตริย์จัดเสมียนเขียนเจ็ดนาย มาจดหมามิได้ถ้วนล้วนกุมภา
แต่เดี๋ยวนี้มิได้เห็นเหมือนเช่นเล่า เห็นแต่เหล่ากริวกราวกับเต่าฝา ถึงคลองขวางบางขามหวามวิญญา ล้วนไผ่ป่าหนาหนามน่าขามใจฯ |
 น้ำแม่กลองไหลผ่านตลาดเจ็ดเสมียน (เกียรติศักดิ์ สุวรรณมัจฉา ถ่ายภาพ ม.ค. ๒๕๕๔) เรือแจวแล่นเรื่อยผ่านบ้านกล้วย ก็ชมนกชมไม้เรื่อยไปจนผ่านถึงบางกระ บางบางขาม ถึงบ้านใหญ่ชื่อบ้านเจ็ดเสมียน ที่เคยมีจระเข้ชุกชุม จอมกษัตริย์จัดเสมียนมาช่วยกันจดจำนวนจระเข้ตั้งเจ็ดคนก็ยังจดกันไม่หวาดไหว
 วัดบางโตนด : ราชบุรี "ถึงอารามนามอ้างชื่อบางโตนด มีทั้งโบสถ์วิหารต้นตาลไสว ต่างวันทาคลาเคลื่อนเลื่อนครรไล ถึงหาดใหญ่กว้างขวางบางแขยง
เป็นโขดเขินเนินทรายชายสมุทร แลจนสุดสายเนตรที่เขตแขวง เป็นคุ้งอ้อมค้อมเคี้ยวน้ำเชี่ยวแรง ทั้งร้อนแสงสุริยาลงวารี
กับหนูตาบอาบน้ำปล้ำกันเล่น พี่เณรเห็นไล่โลดกระโดดหนี ช่วยคุณพ่อก่อพระทรายคล้ายเจดีย์ ไว้ตรงที่ท่าวัดมัสการ
แล้ววิ่งเต้นเล่นทรายที่ชายหาด ทะลุดทะลาดล้มลุกสนุกสนาน ลงนอนขวางกลางน้ำเล่นสำราญ ว่ากุมารมัทรีไม่มีเครือ
ครั้นแดดร่มลมรื่นค่อยชื่นแช่ม ออกจากแหลมบางแขยงขึ้นแขวงเหนือ แม่น้ำตื้นพื้นสูงลงจูงเรือ สนุกเหลือเล่นน้ำยังค่ำไป
ต่อบิดรนอนตื่นขืนให้ขึ้น ยังวิ่งครื้นโครมครามห้ามไม่ไหว ต่อสุดขัดผลัดผ้ายังอาลัย ถึงบ้านใหญ่ชื่อว่าโพธาราม.....” |
 โพธาราม : ราชบุรี จากเจ็ดเสมียนถึงวัดบางโตนด เลยถึงบางแขยงที่มีหาดกว้างใหญ่ เณรหนูกลั่นกับหนูตาบลงเล่นน้ำกันอย่างนุกสนานอยู่เป็นนาน ขณะนั้นพระภู่กำลังนอนหลับอยู่ในเรือ พอตื่นขึ้นมาเห็นลูก ๆ เล่นกอดปล้ำกันอยู่ในน้ำ ก็เรียกให้ขึ้นจากน้ำเพื่อเดินทางต่อไป จนถึงบ้านใหญ่มีชื่อว่าโพธาราม อันลือชื่อว่ามีสาวสวย.......
วันนี้มาหยุดพักอยู่ตรงโพธารามนี้แหละนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๓ -
“ตลิ่งลาดหาดทรายที่ขายของ เรือขึ้นล่องแวะจอดตลอดหลาม พวกเจ๊กจีนสินค้าใบชาชาม ส้มมะขามเปรี้ยวปั้นน้ำมันพร้าว
ที่ของเหล่าชาวป่าเอามาขาย ทั้งนุ่นฝ้ายใส่กรุกระชุขาว พวกประมงลงอวนไทยญวนลาว ทำร้านยาวย่างปลาริมวารี
มีโรงทำน้ำตาลทรายที่ท้ายบ้าน เป็นภูมิฐานรวมทางหว่างวิถี พวกเกวียนต่างกลางป่าพนาลี มาลงที่หน้าท่าโพธาราม
จนล่องทางบางเลาเห็นชาวบ้าน ทำงานการเกี่ยวแฝกบ้างแบกหาม ดูผิวดำคร่ำคร่าดังทาคราม ไม่มีงามเหมือนหนึ่งเหล่านางชาววังฯ”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปรราย ขยายความ..........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง สุนทภู่ตรวจชำระ เรือทวนกระแสน้ำจากบางแขยงเรื่อยขึ้นถึงบ้านโพธาราม ซึ่งเป็นชุมชนเมืองที่ใหญ่โต วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านพรรณนาว่า ณ โพธาราม (เมืองคนสวย) นี้ ริมตลิ่งลำน้ำแม่กลองเป็นแนวลาดมีหาดทรายที่ขายของสินค้านานา มีเรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องผ่านไปมา และจอดทอดสมอ นำสินค้าออกมาตั้งวางขายกันอย่างเสรี รายการสินค้านั้น เณรหนูกลั่นได้แจงให้ทราบอย่างชัดเจนดีแล้ว มีทั้งของพื้นเมืองและของป่านานาชนิด พวกอาชีพการประมงก็ลงอวนกัน จับปลามาขายเป็น ๆ บ้าง เอามาย่างบ้าง ทำเค็มบ้าง ปลาย่างปลาเค็มวางผึ่งแดดลมบนร้านเรียงรายเป็นแนวยาวอยู่ริมตลิ่ง ที่นี่มีโรงงานทำน้ำตาลทรายขนาดใหญ่อยู่ท้ายบ้าน เลยจากบ้านโพธาราม (เมืองคนสวย) ก็ถึงบ้านเลา เห็นชาวบ้านเกี่ยวแฝกแล้วแบกหาบหามกันมาเป็นอันมาก คนแบกหาบหามแฝกแต่ละคนมีผิวดำคล้ำทั้งหญิงทั้งชาย.....
 แม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดใหญ่นครชุมน์ : ต.นครชุมน์ อ. บ้านโป่ง ราชบุรี “ถึงนครชุมภูมิฐานเป็นบ้านป่า สายคงคาเชี่ยวเหลือเรือถอยหลัง ต้องแข็งข้อถ่อค้ำด้วยกำลัง จนกระทั่งงิ้วรายหาดทรายเตียน
ต้นงิ้วงามตามตลิ่งกิ่งแฉล้ม ดูชื่นแช่มช้อยใบเหมือนไม้เขียน บ้างผะผากรากโคนดูโกร๋นเกรียน ยิ่งพิศเพี้ยนภาพฉากหลากหลากกันฯ |
 ศาลเจ้าแม่เบิกไพร: ต. เบิกไพร อ. บ้านโป่ง ราชบุรี ถึงศาลเจ้าเบิกไพรมีไม้สูง เห็นนกยูงยืนเกลื่อนไก่เถื่อนขัน มีศาลตั้งฝั่งน้ำเป็นสำคัญ อยู่เคียงกันสามศาลตระหง่านงาม
พวกชาวเรือเหนือใต้ขึ้นไหว้เจ้า หมากมะพร้าวอ่อนด้วยกล้วยข้าวหลาม ให้คุ้มภัยในชลาวนาราม จึงทรงนามเบิกไพรกันไพรี
ท่านบิดรสอนให้ว่าเทพารักษ์ เจริญพักตรพ้นทุกข์เป็นสุขี เห็นไก่ขาวเจ้าเลี้ยงเพียงสำลี กินอยู่ที่ชายป่าดูน่าชม
เป็นดงใหญ่ไม้สูงฝูงนกเขา ขึ้นจับเคล้าคลอคู่คูขรม บ้างปรบปีกจิกกันขันคารม ชวนกันชมต่างต่างสองข้างเรือฯ” |
 เลยบ้านเลามาถึงบ้านนครชุม (ปัจจุบันคือตำบลนครชุม อำเภอบ้านโป่ง “คนงาม”) ท่านว่าตรงนี้น้ำไหลแรงเชี่ยวกราก เรือแจวธรรมดาจะถอยหลัง ต้องแจวจ้ำแรง ๆ พร้อมกับใช้ถ่อค้ำช่วยด้วย เลยนครชุมขึ้นไปเป็นหาดทรายเตียนโล่ง มีต้นงิ้วป่าขึ้นรายเรียงตามริมตลิ่ง แลดูสวยงามดี จากนั้นก็ถึงศาลเจ้าเบิกไพร มีศาลตั้งเรียงเคียงกันอยู่ ๓ ศาล พวกชาวเรือขึ้นล่องล้วนจอดเรือเพื่อไหว้เจ้า และบนบานกันด้วยความเคารพศรัทธา เห็นไก่สีขาวที่เข้าใจว่าเจ้าเลี้ยงไว้ หลายตัวโก่งคอขันกันเสียงขรม...............
 วัดปลักแรด : ต. เบิกไพร อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี "ถึงปากแรดแดดดับพยับแสง ท้องฟ้าแดงดูสลัวน่ากลัวเสือ เป็นป่าไผ่ไม่พุ่มครึมคลุมเครือ เสียงเสือเนื้อปีบคะนองสยองเย็น
เห็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ชายหาด รำแพนฟาดหางแผ่พอแลเห็น ตัวเมียพร้อมล้อมตามกามกระเด็น ได้กินเป็นฟองไข่ขึ้นในกาย
บิดาบอกว่าฝูงนกยูงนั้น ไม่สัดกันเหมือนดังนกทั้งหลาย พึ่งเห็นแน่แก่ตาตำราทาย ให้นึกอายใจไม่พอใจดูฯ |
จากศาลเจ้าเบิกไพรถึงปากแรด เป็นเวลาสายัณห์ดวงตาวันกำลังลอยลงลับฟ้า สองฟากฝั่งเป็นป่าครึ้มมีเสียงเสือเนื้อทรายร้องปีบ ๆ น่าสยอง จนนึกน่ากลัวเสือ เห็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ชายหาด เจ้าตัวผู้ยืนแพนหางป้ออยู่ท่ามกลางนกยูงตัวเมียที่รายล้อมเพื่อการผสมพันธุ์กัน สุนทรภู่บอกกับลูก ๆ ว่า นกยูงนั้นมันไม่สัด (ผสมพันธุ์) กันเหมือนนกทั่วไป มันสัดกันอย่างไร เณรหนูกลั่นไม่บอก เพราะท่านนึกอายใจจนไม่พอใจที่จะดู.....
วันนี้ให้อ่านมาหยุดพักตรงปากแรดนี่แหละนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กลอน123, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดบางพัง: ต. เบิกไพร อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๔ -
“ถึงบางพังวังวนสาชลเชี่ยว เป็นเกลียวเกลียวกลิ้งคว้างเหมือนหางหนู เห็นวัดร้างข้างซ้ายสายสินธู เข้าหยุดอยู่นอนค้างที่บางพัง
พอพลบค่ำลำเดียวดูเปลี่ยวอก เสียงแต่นกเซ็งแซ่ดังแตรสังข์ ข้างซ้ายป่าขวาชลเป็นวนวัง เสียงค่างดังอื้ออ้าบนค่าไม้
ฝ่ายคุณพ่อบริกรรมแล้วจำวัด พี่เณรพัดหนูตาบต่างหลับใหล ยิ่งดึกดื่นครื้นเครงวังเวงใจ เสียงเรไรหริ่งแร่แซ่สำเนียง
จะเคลิ้มหลับวับแว่วถึงแก้วหู เหมือนคนกู่เกริ่นเรียกกันเพรียกเสียง เสียงเผาะเผาะเหยาะย่องค่อยมองเมียง เห็นเสือเลี่ยงหลีกอ้อมเที่ยวค้อมมอง
ดูน่ากลัวตัวขาวราวกับนุ่น แบ่งส่วนบุญบ่นภาวนาสนอง ทั้งในน้ำทำเลตะเข้คะนอง ขึ้นคลานร้องฮูมฮูมน้ำฟูมฟาย
เดชะกิจบิตุรงค์ซึ่งทรงพรต เห็นปรากฏกำจัดสัตว์ทั้งหลาย มันหลีกเลยเฉยไปไม่ใกล้กราย เหมือนมีค่ายเขื่อนรอบประกอบกัน.....”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงปากแรด หรือปลักแรด เป็นเพลาสายัณห์แล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือท่านเลยปากแรดมาถึงบางพังที่มีวังน้ำวนไหลเชี่ยวอย่างน่ากลัวมาก เณรหนูกลั่นว่าสายน้ำไหลเชียวเป็นเกลียวราวกะหางหนูเลยทีเดียว และที่บางพังนี้มีวัดเก่ารกร้างตั้งอยู่ริมน้ำ พระภิกษุภู่หัวหน้าคณะนักบุญเห็นเป็นทำเลที่เหมาะแก่การจอดเรือพักแรมคืน จึงให้จอดเรือนอนกันตรงท่าน้ำหน้าวัดร้างนั้น เณรหนูกลั่นเล่าว่าดึกดื่นคืนนั้นทุกคนในเรือพากันนอนหลับไปหมด เณรหนูกลั่นกำลังเคลิ้มจะหลับใหล ก็ได้ยินเสียงวับแวบเข้าแก้วหู เป็นเสียงกู่เกริ่นเรียกหากัน ท่านลืมตาขึ้นเห็นเสือขาวราวปุ่ยนุ่น เดินเหยาะย่องมาด้อมมองที่เรือดูน่ากลัวมาก พร้อมกันนั้นก็ยังมีจระเข้ลอยขึ้นมาข้างลำเรือร้องฮูม ๆ ไม่รู้ว่ามันขู่เสือหรือขู่คนในเรือ ท่านก็ได้แต่ภาวนาอธิษฐานแบ่งส่วนบุญให้ และด้วยเดชะบุญที่สุนทรภู่ทรงพรตรักษาศีลบริสุทธิ์ บันดาลให้ทั้งเสือและจระเข้นั้น เพียงมาเมียงแล้วหลบหนีไปสิ้น.....
“จนล่วงสามยามเวลาบิดาตื่น ประเคนคืนกาสาน้ำชาฉัน เงียบสงัดสัตว์ป่าพนาวัน เสียงไก่ขันแจ้วแจ้วแว่ววิญญา
ท่านอวยพรสอนพระธรรมกรรมฐาน ทางนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขา ได้เรียนธรรมบำเพ็งภาวนา เมื่อนอนหน้าวัดร้างคุ้งบางพัง
แล้วบิดาพาเดินขึ้นเนินวัด เงียบสงัดงึมป่าข้างหน้าหลัง เข้านิโครธโบสถ์ใหญ่ร่มไม้รัง สำรวมนั่งนึกภาวนาใน
ด้วยเดชะพระมหาสมาธิ เป็นคติตามศรัทธาอัชฌาสัย พอแสงทองส่องฟ้านภาลัย ลาพระไทรสาขาลงมาเรือ...” |
ประมาณยามสามของคืนนั้น หลวงพ่อภู่ตื่นขึ้นมา เณรหนูกลั่นรินน้ำชาถวาย ท่านดื่มน้ำชาแล้วก็สอนกรรมฐานให้ลูกเณร เมื่ออธิบายวิธีการเจริญกรรมฐานแล้ว ก็พาขึ้นจากเรือเดินไปบนเนินวัดซึ่งมีต้นไทรต้นรังขนาดใหญ่อยู่ เลือกที่นั่งได้แล้วก็พากันนั่งทำสมาธิภาวนา จนกระทั่งถึงเวลารุ่งสางจึงลาพระไทรกลับลงเรือ เพื่อเดินทางต่อไป
 อุโบสถวัดรางวาลย์ ต. ลาดบัวขาว อ. บ้านโป่ง ราชบุรี “จากวัดร้างบางพังสองฝั่งน้ำ แต่ล้วนร่ำรามเริงซุ้มเซิงเสือ ถึงวังวานย่านบกก็รกเรื้อ เสียงฟานเนื้อนกร้องร้องก้องโกลา
ถึงลูแกแต่ล้วนไม้ไผ่สะพรั่ง เห็นมอญตั้งตัดไม้ทั้งซ้ายขวา ที่บ้านร้างว่างคนต้นพุทรา ดกระย้าสุกห่ามอร่ามเรือง
เห็นสมควรชวนกันขึ้นสั่นต้น คอยเก็บหล่นลูกล้วนเป็นนวลเหลือง เอาเกลือตำรำหัดเมื่อขัดเคือง พอทรงเครื่องเจ้าพุทราสง่างาม
แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้มพงตึก อนาถนึกสงสัยได้ไต่ถาม ท่านผู่เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย
แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก คนจึงเรียกพงตึกเหมือนนึกหมาย ถึงท่าป่ารังรองสองฝั่งราย กับเชิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือฯ” |
 โบราณสถานที่พงตึก : ริมน้ำแม่กลอง ท่ามะกา จ. กาญจนบุรี ออกจากวัดร้างบางพัง เดินทางผ่านวังวาน ที่สองฟากฝั่งรกเรื้อเป็นป่าที่อยู่ของฟานเนื้อนกนานาชนิด ถึงลูแกก็ครึ้มไปด้วยป่าไผ่ เห็นชาวมอญออกมาตัดไม้ไผ่กันหลายคน จนผ่านถึงที่ร้างว่างเปล่าไร้บ้านเรือน แต่มีต้นพุทราขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ กำลังออกผลสุกเหลืองเต็มต้น หนู ๆ ก็ชวนกันขึ้นบกเขย่าต้นพุทราแล้วเก็บลูกที่สุกมาคลุกเกลือกินกันอย่างเอร็ดอร่อย เลยป่าพุทราก็มาถึงบ้านพงตึก ผู้เฒ่าเล่าว่าเดิมเป็นตึกพราหมณ์มาแต่ครั้งแผ่นดินโกสินราย....
สถานที่แห่งนี้ กรมศิลปากรมีอธิบายว่า พงตึกตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เป็นตำบลขึ้นอำเภอท่ามะกา มีซากโบราณสถานเก่าแก่ เคยมีผู้พบพระพุทธรูปและศิลปวัตถุสมัยทวาราวดี สันนิฐานว่าที่นี้เคยเป็นบ้านเมืองอันเจริญรุ่งเรืองเมืองหนึ่งในยุคสมัยอาณาจักรทวาราวดี ตรงข้ามกับพงตึกคือบ้านท่าหว้าป่ารัง......
วันนี้ให้อ่านกลอนมาถึงพงตึกก็แล้วกัน พักเรื่องไว้ให้มาอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, Mr.music, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดหวายเหนียว ริมน้ำแม่กลอง ต. หวายเหนียว อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๕ -
“ถึงวังทองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน มีโรงร้านฟักแฟงแตงมะเขือ ใส่กระทายขายเขาพวกชาวเรือ ทั้งกล้วยเครือสุกห่ามอร่ามไป
ถึงละเมาะเกาะชื่อเกาะน้ำเชี่ยว มีเกาะเดียวกลางมหาชลาไหล เหมือนเราเดียวเปลี่ยวเปล่าให้เศร้าใจ เห็นแต่ไพรพฤกษาพนาวัน
ถึงถิ่นถานบ้านรายชื่อหวายเหนียว เห็นแต่เรียวหวายไสวในไพรสัณฑ์ ยิ่งน้ำตื้นขึ้นก็ยิ่งตลิ่งชัน ถึงเขตคันคุ้งน้ำชื่อถ้ำมะกา
ดูแดนดินถิ่นที่เหมือนมีถ้ำ พิลึกล้ำแลเวิ้งดังเพิงผา เงื้อมชะง่อนก้อนดินเหมือนสินลา สายคงคาเชี่ยวคว้างเป็นหว่างวน......”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ..........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนที่เณรหนูกลั่นคิดแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ วางให้ทุกท่านอ่านกันมาถึงบ้านเก่าเมืองเก่าสมัยทวาราวดี ชื่อพงตึกแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ
 อุทยานมัจฉาวังสังกะวาด วัดหวายเหนียว ริมน้ำแม่กลอง ต. หวายเหนียว อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี จากพงตึกมาถึงวังทอง ซึ่งเป็นนชุมชนค่อนข้างหน้าแน่น มีร้านค้าเรือขายสินค้าหลากหลาย เลยวังทองขึ้นไปถึงเกาะน้ำเชี่ยว ซึ่งเป็นเกาะแห่งเดียวในแม่น้ำสายนี้ เลยเกาะน้ำเชี่ยวขึ้นถึงบ้านหวายเหนียวซึ่งมีตลิ่งชันมาก จากนั้นก็ถึงถ้ำมะกา ท่านว่าเป็นคุ้งน้ำที่ดูเหมือนมีถ้ำ แลเวิ้งเหมือนเพิงผา สายน้ำไหลเชี่ยวคว้างเป็นหว่างวนอย่างน่ากลัว......
“วิเวกจิตคิดเพลินด้วยเนินหาด ไม่คั่นขาดคุ้งแขวงทุกแห่งหน เต่าขึ้นไข่ไว้ทุกหาดไม่ขาดคน เที่ยวขุดค้นไข่ได้ด้วยง่ายดาย
สาธุสะพระบิดาเมตตาเต่า บิณฑ์บาตเขาเขาเห็นพระก็ถวาย เอาใส่ไว้ในหลุมทุกขุมทราย แล้วเกลี่ยทรายสุมทับให้ลับตา
เป็นประโยชน์โปรดสัตว์ซึ่งปัฏิสนธิ์ ให้รอดพ้นความตายได้นักหนา ขอส่วนบุญคุณศิลพระชินกา ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัยฯ |
 เลยขึ้นไปมีหาดใหญ่ยาวมีผู้คนลงมาเดินหาไข่เต่ากันหลายคน เพราะที่หาดนี้มีเต่าขึ้นมาวางไข่แล้วเอาดินกลบไว้ พระภิกษุภู่เห็นเขามาเที่ยวขุดหาไข่เต่าเอาไปบริโภคและค้าขายกันเช่นนั้น ก็มีเมตตาเต่าเป็นอย่างยิ่ง จึงออกปากขอบิณฑบาตไข่เต่า เขาเห็นว่าเป็นพระมาขอก็เลยพากันถวายให้ไม่น้อย ท่านจึงให้ศิษย์ขุดดินทรายเป็นหลุม ๆ แล้วเอาไข่เต่าที่ได้มานั้นใส่หลุม เอาดินกลบเกลี่ยให้เสมอหน้าดิน ด้วยหวังให้เต่าถูกดินฟักให้เป็นตัวมีชีวิตต่อไป....
"ถึงคุ้งน้ำตำบลบ้านกอจิก เขาปลูกพริกฝ้ายออกดอกไสว โอ้เห็นแท้แต่สำลียังมีใย ควรฤาใจคนจืดไม่ยืดยาว
พอเย็นย่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย เป็นฝอยฝอยฟุ้งสาดอนาถหนาว ที่บนบกรกเรี้ยวเสียงเกรียวกราว เห็นหาดขาวโขดตั้งอยู่ฝั่งซ้าย
ข้างฟากขวาท่าเรือขึ้นพระแท่น ยิ่งสุดแสนชื่นชมด้วยสมหมาย เขาพ่วงไม้ไผ่แลดูแพราย เข้าจอดฝ่ายฝั่งขวาบ้านท่าเรือ |
 ท่าน้ำวัดท่าเรือ ต. ท่าเรือ อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี Cr. Photo By คุณอุ้มสี คลิก พอมืดค่ำคล้ำคลุ้มชอุ่มฟ้า เสียงสัตว์ปาปีบสะท้านทั้งฟานเสือ เป็นพงไผ่ไม้พุ่มดูคลุมเครือ เสียงข้างเหนืออูมอูมล้วนกุมภา
ดังกอกกอกตรอกตรอที่กอไผ่ ระวังไพรร้องเรียกเพรียกพฤกษา ยิ่งดึกดื่นรื่นรินกลิ่นผกา หอมบุปผาผอยหลับระงับไป
โอ้ฝันเห็นเป็นว่าปู่มาอยู่ด้วย ให้กินกล้วยอ้อยหวานน้ำตาลใส พอฟื้นกายหายหน้ายิ่งอาลัย พอเสียงไก่ขันขานหวานวิญญา
โอ้สิ้นบุญคุณปู่อยู่แต่ชื่อ ยังนับถือกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา ที่เป็นคนผลกรรมได้ทำมา เหมือนต่างฟ้าดินแดนด้วยแสนไกล
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันฉันอาหาร โปรยให้ทานปลาคล่ำในน้ำไหล ปลาแก้มช้ำน้ำเงินงามประไพ มาใกล้ใกล้เกลื่อนกลาดดาษเดียร
ทั้งซิวซ่าปลากระแหแลสลับ ดูกลอกกลับกลุ้มกวัดฉวัดเฉวียน โอ้น่ารักหนักนาปลาตะเพียน เกล็ดเหมือนเขียนครีบหางกระจ่างตา
ด้วยน้ำไหลไสสว่างอย่างกระจก เที่ยวหันหกเห็นสถัดตัวมัจฉา พอพวกพ้องของศิษย์พระบิดา มาวันทาขอถวายเกวียนควายมี.......” |
 วัดท่าเรือ ต. ท่าเรือ อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี Cr. Photo By คุณอุ้มสี คลิก จากหาดทรายที่ฝังไข่เต่าแล้ว เรือก็ถูกแจวลอยลำขึ้นเหนือ ชมนกชมไม้บ้านเรือนเรือกสวนเรื่อยมา จนเพลาสายัณห์ก็ถึงท่าเรือ อันเป็นท่าใหญ่ที่ผู้แสวงบุญจะมาจอดเรือที่ตรงนี้แล้วขึ้นบกเดินทางต่อไหว้พระแท่นดงรัง เรือพระภู่จอดนอนพักแรมเช่นเดียวกับนักแสวงบุญทั่วไป คืนนั้นเณรหนูกลั่นนอนหลับแล้วฝันถึงคุณปู่ จนรุ่งแจ้งได้เวลาฉันอาหารเช้า เณรหนูกลั่นว่าหลังฉันอาหาร ก็นำข้าวสุกที่เหลือโปรยลงน้ำให้ปลานานาชนิดมากินกัน ชมปลาในน้ำไหลใสเย็นอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ จนกระทั่งพวกพ้องของศิษย์พระภิกษุภู่เดินทางเข้ามากราบไหว้ ถวายควายและเกวียนที่จะเป็นพาหนะนำพาไปไหว้พระแท่นดงรัง.....
วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงท่าเรือนี้แล้วหยุดพักไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, Mr.music, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๖ -
“ชื่อนายช่องน้องนายแก้วกับเจ๊กกลิ่น เขาเจนถิ่นทางป่าพนาศรี เกวียนมารับกับท่าริมวารี พอราตรีพระบิดาครองผ้าไตร
ขึ้นนั่งเกวียนเทียนโคมแขวนข้างหน้า มีฝาบังหลังคาพออาศัย เรากับน้องสองนั่งอยู่ข้างใน พี่เณรได้นั่งหน้าหลังคาบัง
อันนายช่องน้องนายแก้วนั้นแกล้วกล้า ขับข้างหน้าเจ๊กกลิ่นปีนขึ้นหลัง เข้าเดินดงกงเกวียนวงเวียนดัง เหมือนเสียงสังข์แตรซ้องก้องกังวาน
ลางทีฟังดังแอ้อี๋แอ่ออด เหมือนซอสอดเสียงเอกวิเวกหวาน ตกที่ลุ่มตุมตังดังสะท้าน กิ่งไม้รานสวบสาบกรอบกราบโกรง
ทั้งตับไตไส้ย้อนคลอนคลอกแคลก กระทบกระแทกโคกโขดโขยดโขยง สะดุดโดนโคนรังกึงกังโกง จนตัวโงงโงกผงะศีรษะเวียน
พอโคมดับลับเงาเหมือนเข้าถ้ำ พบห้วงน้ำหลีกลัดฉวัดเฉวียน แต่หนูตาบกับพี่เณรนั้นเจนเกวียน ไม่วิงเวียนนั่งหัวร่อร้องยอควาย
ท่านบิดานอนนิ่งอิงพะนัก สอนให้ยักโยกตัวเวียนหัวหาย รู้จังหวะระวังนั่งสบาย คอยยักย้ายเยื้อโยกชะโงกตาม
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ มาวางให้อ่านกันถึงตอนที่เรือของท่านสุนทรภู่แจวทวนกระแสนำในลำแม่กลอง มาถึงท่าเรืออันเป็นท่าที่จะต้องขึ้นบกเดินทางต่อไปพระแท่นดงรัง หลังจากฉันอาหารเช้าแล้วก็มีคนของศิษย์สุนทรภู่มากราบแนะนำตัวว่า ชื่อนายช่องน้องนายแก้ว กับคนจีนชื่อกลิ่น นำเกวียนเทียมควายมาถวายเป็นพาหนะเดินทางไปไหว้พระแท่นดงรัง วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เณรหนูกลั่นได้บรรยายความโดยสรุปได้ว่า พระภิกษุภู่เลือกเวลาเดินทางจากท่าเรือไปในเวลากลางคืน พอค่ำลงท่านก็ครองผ้าไตรขึ้นนั่งบนเกวียนเทียมควาย จุดโคมแขวนไว้ข้างหน้า นายช่องเป็นคนขับเกวียน เจ๊กกลิ่นนั่งท้ายเกวียนระวังเหตุ เณรหนูกลั่นกับหนูตาบนั่งในเกวียน เณรหนูพัดนั่งข้างหลังนายช่องคนขับเกวียน การนั่งเกวียนเดินทางเป็นประสบการณ์ใหม่ของเณรหนูกลั่น แรก ๆ ก็นั่งฟังเสียงล้อเกวียนหมุนบดดินเสียงดังเพราะดี แต่นั่งไป ๆ รู้สึกเวียนหัว เพราะเกวียนโคลงโยกเยก ๆ เณรหนูพัดกับหนูตาบนั้นนั่งเกวียนกันอย่างสนุกสนาน จนหลวงพ่อภู่ต้องสอนวิธีการนั่งเกวียนโดยไม่เมาเกวียนให้ จึงค่อยนั่งได้สบายมาก และแล้วก็เกิดเหตุร้ายขึ้นเมื่อโคมส่องทางดับลง จึงต้องตกอยู่ในความมืดเหมือนเข้าถ้ำ พบห้วงน้ำใหญ่ขวางหน้า นายช่วงขับเกวียนหลบวนเวียนอยู่รอบหนองน้ำนั้นไม่รู้กี่รอบ .........
“แต่ขับเกียนเวียนวนอยู่จนดึก เสียงสัตว์ครึกครื้นเครงน่าเกรงขาม ที่รกเรื้อเสือกระหึ่มครึมคำราม เห็นแวมวามวาวสว่างเหมือนอย่างไฟ
ถามบิดาว่าโขมดมันโชติช่วง ทำล่อลวงเวียนวงให้หลงใหล กำดัดดึกนึกภาวนาใน เสียงนางไม้พูดพึมงึมงึมงำ
เที่ยวขับเกวียนวนไม่พ้นหนอง จนควายร้องฟูดฟาดพลาดถลำ เดชะบุญคุณพ่อบริกรรม เหมือนคนนำไปข้างหน้าสี่ห้าคน
พอเกวียนโดนโคนไม้เหมือนไฟวุบ กลิ้งตลุบไปตามทางที่กลางหน พอนายช่องมองจำเห็นตำบล ขึ้นถนนแนวทางไปกลางดง
เจ๊กกลิ่นว่าอารักษ์มาชักช่วย เดชะด้วยพระกุศลจึงพ้นหลง ต่างกราบพระจะเป็นศิษย์บิตุรงค์ พอเดือนส่งแสงสว่างตามทางไป...” |
บรรยากาศในป่ารอบหนองน้ำนั้นน่ากลัวมาก เสียงสารพัดสัตว์กู่ร้องคำรามฟังแล้วขนหัวลุก ควายที่ลากเกวียนเริ่มมีอาการฟืดฟาดเดินเป๋ปัดไปมา พระภิกษุภู่เห็นว่าหลงป่าหลงทางแน่นอนแล้ว จึงนั่งสมาธิภาวนาด้วยพระคาถาฤๅษีเบิกไพร ด้วยเดชะพระคาถาบริกรรม ทำให้เห็นเหมือนมีคนเดินนำทางไปข้างหน้าสี่ห้าคน เกวียนเซซัดโดนโคนไม้โครม ก็มีลูกไฟตกลงมาแล้วกลิ้งไปข้างหน้า นายช่วงขับเกวียนตามลูกไฟไปจนเห็นช่องทางจำตำบลหนทางได้ เจ๊กกลิ่นออกคำอุทาน “อั๋ยย๋า” เทวดาอารักษ์มาช่วยตามคำขอของหลวงพ่อภู่แล้ว คนทั้งนั้นต่างก็กราบกรานพระภิกษุภู่ ถวายตัวเป็นศิษย์ด้วยความเคารพศรัทธาอย่างจริงใจ
“ประมาณสามยามสัตว์สงัดเงียบ ยิ่งเย็นเยียบหย่อมหญ้าพฤกษาไสว หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร หอมดอกไม้รื่นรื่นชื่นวิญญา
ดอกอะไรไม่รู้ดูไม่เห็น หอมเหมือนเช่นน้ำหอมของหม่อมป้า โอ้เคราะห์กรรมจำขาดญาติกา เมื่อยามเข็ญเห็นหน้าแต่อาแป๊ะ
อยู่ท้ายเกวียนเทียนธูปสิ่งใดตก ช่วยหยิบยกให้คุณพ่อหัวร่อแหระ ออกทุ่งกว้างทางเตียนขับเกวียนแวะ ให้ควายและเล็มหญ้ากินวารี
แล้วเดินทางกลางนาเวลาดึก แลพิลึกกว้างขวางหว่างวิถี หนทางเกวียนเตียนตล่งเป็นผงคลี ต้นไม้มีรายรายริมชายนาฯ” |
ออกพ้นป่าดงทึบมาเป็นป่าโปร่ง แสงเดือนส่องสว่างกระจ่างหล้าพอให้เห็นทางเดิน บรรยากาศเงียบสงัด เย็นน้ำค้างพร่างพรมลมโชยเบา ๆ พากลิ่นดอกไม้มาให้สูดดมพอชื่นใจ เณรหนูกลั่นก็จินตนาไปถึงกลิ่นน้ำหอมของหม่อมป้าไปโน่น เกวียนออกพ้นป่าถึงทุ่งกว้างทางเตียน นายช่วงก็หยุดพักเหนื่อย ปลดควายออกจากแอกเกวียนปล่อยให้กินหญ้ากินน้ำ สักพักหนึ่งก็จับควายมาเทียมเกวียนเดินทางต่อไป......
วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, , Mr.music, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 Cr. Photo By ป่าน ศรนารายณ์ - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๗ -
“ถึงรั้วล้อมหย่อมย่านบ้านตะเข้ ดึกคะเนสิบทุ่มคลุ้มเวหา เรือนนายช่องห้องใหญ่ให้ไสยา พระบิดาสวดมนต์อยู่บนเกวียน
จนรุ่งแจ้งแสงสว่างกระจ่างฟ้า เห็นไร่นาเหย้าเรือนดูเหมือนเขียน ข้างเบื้องซ้ายชายป่าสุธาเตียน เต็งตะเคียนรังร่มพนมเนิน
ข้างแควขวานาไร่กอไผ่รก ฝูงวิหคหากินเที่ยวบินเหิน เขาปล่อยควายชายทุ่งเป็นฝูงเดิน ได้ดูเพลินพลอยให้ใจสบาย”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ....
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ มาถึงตอนที่สุนทรภู่เดินทางจากท่าเรือ นั่งเกวียนเทียมควายเดินทางบุกป่าฝ่าดงแล้วหลงทางอยู่เป็นเวลานาน ท่านต้องบริกรรมภาวนาคาถาเบิกไพรจนหลุดพ้นมนต์ป่ามาได้ วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน นายช่องจำทางได้แล้วก็ขับเกวียนออกมาจากป่าได้อย่างปลอดภัย จนถึงบ้านตะเข้ซึ่งเป็นหมู่บ้านของนายช่องเป็นเวลาดึกดื่นค่อนคืนแล้ว นายช่องให้เณรหนูพัด เณรหนูกลั่น และหนูตาบนอนในห้องโถงบนเรือนตน ส่วนพระภิกษุภู่นั้นขอนั่งสวดมนต์ภาวนาอยู่ในเกวียนจนรุ่งแจ้ง เณรหนูกลั่นพรรณนาสภาพภูมิสถานบ้านตะเข้ว่า ดูไร่นาเหย้าเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามมาก ทางเบื้องซ้ายเป็นชายป่าแผ่นดินเตียนโล่ง มีต้นตะเคียนต้นเต็งรังร่มรื่น ทางเบื้องขวาเป็นนาไร่มีกอไผ่รก ฝูงนกเที่ยวโผผินบินร่อนหาอาหาร ชาวบ้านปล่อยควายออกจากคอกเดินสู่ทุ่งเป็นฝูง ๆ ดูแล้วเพลินตาเจริญใจมาก..........
“ฝ่ายพวกเขาชาวป่าทำอาหาร แกงผักหวานกับปลาร้ามาถวาย ทั้งแย้บึ้งอึ่งย่างมาวางราย ทั้งหญิงชายชาวป่าศรัทธาครัน
ทั้งปลาทูปูป่าประสายาก ไม่มีหมากเปลือกไม้จีบใส่ขัน ถวายพระพระประโยชน์โปรดพวกนั้น อตส่าห์ฉันของป่าไม่อาเจียน
แต่หนูตาบกับพี่เณรเราเห็นอึ่ง กับแย้บึ้งเบือนอายไม่หายเหียน พอเสร็จพระยถาลานายเกวียน ตามทางเตียนตัดตรงเข้าดงรัง” |
 เช้าวันนั้นชาวบ้านพากันทำอาหารอย่างดีมาถวายพระเณร เป็นแกงผักหวานป่ากับปลาร้า มีแย้, บึ้ง, อึ่งเสียบไม้ย่าง และปลาทูปูป่าตามมีตามเกิด ส่วนหมากพลูนั้น มีแต่พลูบ้ายปูน หมากไม่มี เขาใช้เปลือกไม้พะยอมและเปลือกไม้ขี้อ้ายแทนหมาก พระภิกษุภู่ท่านรับอาหารขบฉันได้อย่างสบายใจเฉิบ แต่ลูก ๆ ท่านมีปัญหา เณรหนูกลั่นว่ากินไม่ลง เพราะแย้ บึ้ง อึ่งย่างเหล่านั้นแหละที่ทำให้กินไม่ลง........
ความจริงแล้ว แย้ บึ้ง อึ่ง นั้นเป็นอาหารอันเลิศรสสำหรับชาวบ้านป่า ผมเป็นเด็กบ้านป่ากินของเหล่านี้มาแต่อ้อนแต่ออก ชอบมากเลย เฉพาะบึ้งเจ้าตัวเหมือนแมงมุมยักษ์เนี่ยนะ มันอยู่ในรูลึก ถ้าไม่เอาไม้เรียวยอนลงไปล่อให้มันขึ้นมาก็ต้องใช้จอบเสียมขุดรูเอาตัวมันขึ้นมาเผาไฟกินกัน คำไทยที่ว่าอยู่ “ก้นบึ้ง” หมายถึงลึกที่สุด ก็น่ามาจากเจ้าแมงมุมยักษ์ที่มันอยู่กันรูลึกนี่เอง
พระภิกษุภู่ ฉันอาหารเสร็จก็อนุโมทนา ยะถา สัพพี แล้วบอกลานายช่องและชาวบ้านตะเข้ออกเดินทางด้วยเท้าตัดตรงเข้าดงรัง มุ่งสู่พระแท่นดงรัง....
“สำราญรมย์ลมรื่นชื่นชื่นเฉื่อย เรไรเรื่อยร้องแซ่ดังแตรสังข์ จักจั่นแจ่แม่ม่ายลองไนดัง วิเวกวังเวงใจในไพรวัน
เป็นป่าสูงฝูงสาลิกาแก้ว จับพลอดแจ้วจับใจเสียงไก่ขัน ดอกเต็งรังดังดอกจอกแลดอกจันทน์ เป็นสีสันสอดแซงเหลืองแดงดี
ต่างเก็บได้ใจหมายถวายพระ ใส่ตะบะแบกเดินเนินวิถี ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา
กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม ดูยอดน้อมมาข้างแท่นที่แผ่นผา ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี
เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นตั้ง เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี ก้อนโลหิตคิดเห็นเช่นบาลี อยู่ข้างที่แท่นพระเจ้าเข้านิพพาน......” |
 วิหารพระแท่นฯ : วัดพระแท่นดงรัง ต. พระแท่น อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี เดินชมป่าคณานกมาอย่างเพลิดเพลินเจริญใจไม่นานก็ถึงสถานที่ประดิษฐานพระแท่นบรรทมในป่าไม้รัง วันที่พระภิกษุภู่เดินทางไปถึงพระแท่นบรรทมในดงรังนี้ เห็นทีว่าจะไม่ตรงกับวันงานเทศกาลไหว้พระแท่น เพราะเณรหนูกลั่นบันทึกไว้ว่า “ถึงพระแท่นแสนสงัด” คือไม่มีคนพลุกพล่าน บรรยากาศเงียบสงบ ท่านว่า “โบสถ์ครอบพระแท่น” ซึ่งความจริงแล้วมิใช่โบสถ์ หากแต่เป็นพระวิหาร หรือพระมณฑปครอบพระแท่นบรรทม พระภิกษุภู่พาลูก ๆ เดินทำปทักษิณแสดงความเคารพครบสามรอบ แล้วเข้าไปกราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา.......
วันนี้อ่านมาถึงตรงนี้ก็ควรหยุดพักไว้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านตอนจบกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, Mr.music, น้ำหนาว, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดพระแท่นดงรัง ต. พระแท่น อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๘ -
“จุดเทียนธูปบุปผาบูชาพระ นึกมานะนิ่งคิดพิษฐาน ขอเดชะพระมหาโลกาจารย์ เป็นประธานทั้งพระแท่นแผ่นศิลา
อันชาตินี้มีกรรมมาจำเกิด ต้องร้างเริดไร้ญาติน้อยวาสนา สิ้นตระกูลสูญขาดญาติกา จะก้มหน้าบวชเรียนไม่เวียนวน
ขอเดชะพระผลาอานิสงส์ ซึ่งเราทรงศีลสร้างทางกุศล อย่ามีโศกโรคภัยสิ่งไรระคน ประจวบจนจะได้ตรัสด้วยศรัทธา
แม้นมิถึงซึ่งนิพพานการประเสริฐ จะกลับเกิดก็อย่าคลาดพระศาสนา ให้เชื้อวงศ์พงศ์พันธุ์กรรุณา อย่าทำหน้าเหมือนหนึ่งยักษ์ให้รักกัน

ให้รูปงามทรามประโลมโฉมฉอเลาะ รู้ปะเหลาะโลมหญิงทุกสิ่งสรรพ์ พอสบเนตรเจตนาอย่าช้าวัน ให้นุชนั้นน้อมจิตสนิทใน
ประการหนึ่งซึ่งที่นึกรำลึกถึง ให้ซาบซึ้งสุจริตพิสมัย มิตรจิตขอให้มิตรใจไป เหมือนมาลัยลอยฟ้าลงมามือ
จะออกปากฝากรักก็ศักดิ์ต่ำ กลัวจะซ้ำถมทับไม่นับถือ ถึงยามนอนร้อนฤทัยดังไฟฮือ ชมแต่ชื่อก็ค่อยชื่นทุกคืนวัน
เวลาหลับคลับคล้ายไม่วายเว้น ได้พบเห็นชื่นใจแต่ในฝัน ขอฝากปากฝากคำที่รำพัน ให้ทราบขวัญนัยนาด้วยอาวรณ์
แม้นได้ชมสมหวังดังสวาท ไม่คลาคลาดเคลื่อนคลายสายสมร แม้นชาตินี้ชีวาตม์จะขาดรอน ไม่อาวรณ์หวังให้ลือว่าชื่อชาย
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ เอามาวางให้อ่านกันถึงตอนที่พระภิกษุภู่นำลูก ๆ มาถึงวัดพระแท่นดงรัง กระทำความเคารพด้วยการเดินเวียนปทักษิณรอบพระวิหารที่ประดิษฐานพระแท่นบรรทมครบสามรอบ แล้วเข้าสู่พระวิหารเพื่อสักการบูชาพระแท่นบรรทม วันนี้มาอ่านกันต่อจนจบเรื่องเลยนะครับ
 พระแท่นฯ : วัดพระแท่นดงรัง กลอนข้างบนนี้ผมปล่อยระยะให้อ่านยาว ๆ เพราะเป็นคำอธิษฐานของเณรหนูกลั่น โดยหลังจากจุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชาพระแท่นศิลาที่บรรทมของพระพุทธองค์แล้ว เณรหนูกลั่นก็ตั้งจิตอธิษฐานดังข้อความในคำกลอนข้างบนนี้ ผมขออนุญาตไม่อภิปรายขยายความใด ๆ เพราะคำกลอนของท่านชัดเจนดีแล้ว
 เขาถวายพระเพลิง : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารพระแท่น “พอบิดาลาออกมานอกโบสถ์ ขึ้นเขาโขดเขตผาศิลาสลาย เป็นภูมิพื้นรื่นร่มลั่นทมราย ชื่อเขาถวายเพลิงพระเจ้าเขาเล่าความ
เป็นกรวดแก้วแวววาวพรอยพราวพร่าง เพชรน้ำค้างอย่างมณีศรีสยาม แม้นกลางคืนพื้นผาริมอาราม ดูแวมวามวาบวับแจ่มจับตา
ครั้นกลางวันนั้นก็เห็นเป็นแต่กรวด จะเก็บมาอวดกันทราบบาปหนักหนา เที่ยวชมรอบขอบอารามตามบิดา แล้วเลยลาลัดทางมากลางดง |
 มณฑปเขาถวายพระเพลิง ออกจากพระวิหารพระแท่นบรรทม พระภิกษุภู่พาเดินขึ้นเขาถวายพระเพลิง สูง ๕๕ เมตร อยู่ทางด้านตะวันตกพระแท่นบรรทม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ความจริงก็สมมุติกันขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับสำเร็จพระสีหไสยาสน์บนพระแท่นหินตั้งอยู่ระหว่างนางรังทั้งคู่ แล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน จากนั้นอีก ๗ วันก็ทำการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เณรหนูกลั่นกล่าวว่า เขาถวายพระเพลิงเป็นภูเขากรวด กลางวันก็เห็นเป็นกรวดทรายธรรมดา แต่เวลากลางคืนส่งประกายวามวาวราวกับเพชรน้ำค้าง คิดจะเก็บไปอวดกันก็ไม่กล้า เพราะเขาว่าเป็นบาปหนักหนา เที่ยวชมทั่วเขาถวายพระเพลิงแล้วก็กราบลาเดินทางลัดป่าดงกลับไปท่าเรือ.....
“ถึงท่าเรือเมื่อตะวันสายัณห์ค่ำ ได้กรวดน้ำแผ่ผลาอานิสงส์ ให้ดับโศกโลกธาตุญาติวงศ์ แล้วล่องลงมาทางหาดราชพรี
เมื่อเดินทางกลางแดนนั้นแสนอด เสบียงหมดหมายมุ่งมากรุงศรี โอ้เศร้าสร้อยน้อยหน้าทั้งตาปี ด้วยไม่มีญาติมิตรสนิทใน
ถึงคนผู้อยู่เกลื่อนก็เหมือนเปลี่ยว สุดจะเหลียวแลหาที่อาศัย คำบูราณท่านว่ามิตรใจ ก็เปล่าไปไม่เหมือนคำที่รำพัน
จำเดิมแต่แลพบประสบพักตร เรานึกรักร่ำไปเฝ้าใฝ่ฝัน คอยฟังฝ่ายสายสวาทไม่ขาดวัน ไม่ผ่อนผันพจมานประการใด
จะเด็ดรักหักจิตไม่คิดรัก ดังศรปักสักแสนศรถอนไม่ไหว จะสู้บวชรวดเดียวไม่เกี้ยวใคร ธุดงค์ไปโป่งป่าตามอาจารย์
แม้นผู้ใดได้อ่านของฉันมั่ง ทั้งผู่ฟังเรื่องไร้แรมไพรสาณฑ์ แบ่งกุศลผลผลาสมาทาน ให้กับท่านทุกทุกคนตามจนเอยฯ |
 กลับถึงท่าเรือแล้วท่านก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญที่ได้ทำให้แก่วงศาคณาญาติ จากนั้นพระภิกษุภู่ก็สั่งถอนสมอเรือแจวล่องกลับมาทาทางเดิม เณรหนูกลั่นก็เผยความในใจว่า สนใจรักใคร่ในสตรีคนหนึ่งแต่ไม่กล้าเอ่ยปากฝากคำรัก เพราะเห็นว่าเกินศักดิ์ตนเอง จึงคิดตัดใจจะบวชรวดเดียวไม่เกี้ยวใคร จะออกเดินธุดงค์ตามอาจารย์ตลอดไป
นิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นก็เป็นอันจบบริบูรณ์ จากนี้ไม่ทราบความเป็นไปของเณรหนูกลั่นเลยว่า ท่านบวชต่อจากเณรเป็นพระภิกษุอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย หรือว่าสึกหาลาเพศไปรับราชการได้ดิบได้ดีอย่างไรบ้าง และก็ไม่พบงานกลอนกวีใด ๆ ที่ระบุว่าเป็นของเณรหนูกลั่นอีกเลย.....
เรื่องราวของสุนทรภู่ยังไม่จบบริบูรณ์นะ พรุ่งนี้มาพูดถึงท่านต่อกันอีกหน่อยครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, Mr.music, น้ำหนาว, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๙ -
ยอดนักกลอน“สุนทรภู่”มิใช่ไพร่ เกิดโตในวังหลัง“รอหนึ่ง”แน่ เป็นอาลักษณ์วังหลวงแล้วผันแปร บวชเล่นแร่แปรธาตุนิราศไป
ปลายชีวิตฝากฝังชีพวังหน้า เจ้ากรมอาลักษณ์แจ้งตำแหน่งใหญ่ “พระสุนทรโวหาร”สำราญใจ อายุได้เจ็ดสิบปีวายชีวา........
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ..........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นบุตรบุญธรรมของสุนทรภู่มาให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบบริบูรณ์ไปแล้ว แต่เรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ยังไม่จบ วันนี้จึงขอกล่าวถึงเรื่องของท่านกันต่อไปอีกนะครับ
 อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พอจะสรุปได้ว่าสุนทรภู่ไม่ใช่ไพร่สามัญชนธรรมดา เพราะบิดาของท่านเป็นอดีตขุนทหารคนหนึ่ง (ขุนศรีสังหาร) รับราชการทหารในกองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มารดาเป็นพระญาติกับพระชายากรมพระราชวังหลัง และเป็นแม่นมในพระราชวังหลัง สุนทรภู่เติบโตในวังหลัง แล้วเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ในพระราชวังหลวง มีบรรดาศักดิ์ที่ขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒) ครั้นรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้วท่านออกจากราชการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีสำนักที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจนคือวัดเลียบ (ราชบูรณะ) และวัดเทพธิดาราม ขณะเป็นพระภิกษุท่านได้แต่งนิราศที่สำคัญไว้หลายเรื่อง
เมื่อออกจากวัดเทพธิดาราม และลาสิกขา ปี พ.ศ.๒๓๘๕ นั้น อายุท่านได้ ๕๗ ปีแล้ว ไปอาศัยอยู่กับพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม และเข้ารับราชการในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าโปรดให้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์พระราชวังบวรฯ พร้อมบรรดาศักดิ์ที่ พระสุนทรโวหาร ท่านรับราชการในกรมพระราชวังบวรฯ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๘ ก็ถึงแก่มรณกรรมด้วยอายุ ๗๐ ปี ณ บ้านพักพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม นั่นเอง
 หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค) อยากรู้ไหมครับว่า พระยามณเฑียรบาล ที่สุนทรภู่ไปยึดถือเป็นที่ตายของท่านนั้นเป็นใคร ถ้าอยากรูก็ต้องฟังผู้รู้ดีคือ “ท่านจันทร์” พ.ณ. ประมวญมารค บอกเล่าไว้ในหนังสือ “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)” นะครับ ท่านบอกเล่าไว้ดังต่อไปนี้
“พระยามณเฑียรบาล (บัว) เป็นข้าหลวงเดิม แก่กว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิบสองปี เคยเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ แลเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วย ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระจำเริญแล้ว พระพี่เลี้ยงบัวได้เป็นจางวาง แต่ยิ่งกว่าจางวาง เป็นนายวังนายคลังเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ทรงระแวงเลยว่าเงินอาจไม่มีเพียงพอทรงใช้ จึงมีเวลาขาดแคลนบ่อย ๆ ในรัชกาลที่ ๓ ฐานะของพระองค์ไม่เหมือนในรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๔ ถึงจะมีส่วยสาอากรขึ้นอย่างเจ้านายอื่น ๆ แลคงจะไม่ถึงข้นแค้นเพราะมีทรัพย์สมบัติ ส่วนพระราชชนนีแลส่วนพระองค์ที่มีอยู่แล้ว แลได้มาโดยตำแหน่งที่มีราชการเป็นผู้ใหญ่อยู่ในแผ่นดินก็จริง ถึงกระนั้นยังมีเวลาเงินขาดวัง จางวางบัวต้องออกเที่ยวขวนขวายเก็บภาษีอากรล่วงหน้า หรือหยิบยืมในที่ต่าง ๆ ในนามของจางวางบัวเอง เอาเงินมาทดรองใช้ในราชการของเจ้า ถ้าต้องกู้หนี้เมื่อได้เงินอื่นมาก็จัดการใช้ไปเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ต้องทรงทราบ แลไม่ใฝ่พระทัยที่จะไต่ถามเลย
ในรัชกาลที่ ๔ พระยามณเฑียรบาล (บัว) ว่าราชการกรมวังวังน่า แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานพานทองไปแต่วังหลวง เพราะทรงคุ้นเคยโปรดปรานมาแต่ก่อน พระยามณเฑียรบาลเป็นขุนนางวังน่าก็จริง แต่เป็นคนโปรดวังหลวง มีตำแหน่งเฝ้าได้เหมือนขุนนางวังหลวงอีกส่วนหนึ่ง บางคราวมีราชการเกี่ยวกับวังน่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระบรมราชโองการให้หาพระยามณเฑียรบาลไปเฝ้า หรือพระราชหัตถเลขาถึงก็มี พระยามณเฑียรบาลเคยบอกเล่าว่า บางคราววังหลวงรับสั่งให้หา ครั้นไปเฝ้าแล้ว กลับไปวังน่าจะนำความไปทูล เสด็จออกอยู่ท้องพระโรง ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระยามณเฑียรบาลเข้าไปก็เสด็จลงจากพระราชอาสน์ ซุดพระองค์ลงหมอบแป้น ตรัสบุ้ยใบ้บอกข้าราชการว่าผู้มีบุญคนโปรดเจ้าชีวิตเขามา ต้องแสดงความเคารพให้สมเกียรติ ต่อเมื่อพระยามณเฑียรบาลคลานเข้าไปถึงจะกราบทูลเรื่องราชการ จึงทรงพระสรวล เสด็จกลับพระแท่น
“ราชการกรมวังในวังน่านั้น พระยามณเฑียรบาลเป็นผู้สิทธิขาด เรียกกันว่าเจ้าคุณผู้เฒ่า เข้าออกในวังได้ ไม่ว่ากลางวันกลางคืน ไม่ต้องมีโขลนจ่าควบคุม ไปเยี่ยมเยียนตามตำหนักเจ้านายแลตามเรือนเจ้าจอมหม่อมห้ามได้ทุกแห่ง เป็น “คุณตา” ของเจ้านายลูกเธอโดยมาก
พระยามณเฑียรบาล (บัว) มีชีวิตต่อมาจนข้าพเจ้ารู้จัก อายุ ๙๐ ปีเศษแล้วยังไม่เห็นเป็นคนแก่ซุดโซม โรคภัยไม่มี จนในที่สุดเมื่อตายก็ไม่ป่วย นอนกลางคืนก็ตายไปเฉย ๆ”
(จบความจากประชุมปาฐกถา)
 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรพักตร์ พระยามณเฑียรบาล (บัว) มีภรรยาสองคน คนที่สองเป็นข้าของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์พระราชทาน มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน คนที่ ๓ เป็นหญิงชื่อละโว้ คนที่ ๔ ได้เป็นพระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล) แลคนสุดท้องชื่อส่าน รับราชการฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงวรพักตร
 พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ) ส่วนธิดาชื่อละโว้เป็นภรรยานายสุจินดา (พลอย ชูโต) มีบุตร ๓ คน ธิดา ๑ ชื่อเลี่ยม (เล็ก) รับราชการฝ่ายในในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงภัททาวดีศรีราชธิดา แลพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ)
 ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ และ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) นอกนั้นนายสุจินดา (พลอย) ยังมีธิดากับภรรยาเก่าคนหนึ่งชื่อเปลี่ยน เป็นท่านผู้หญิงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ธิดาสองคนของนายสุจินดา(พลอย) คือ “ย่าแลยาย” ตัวของข้าพเจ้า เป็น “หลานสาว” บ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว)
อนึ่ง กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เมื่อเสด็จออกจากวังหน้าแล้ว ก็ได้ไปประทับที่บ้านนั้นก่อนเสด็จไปเมืองนอก แลหลังเสด็จกลับใหม่ ๆ บ้านนั้นปัจจุบันใช้เป็นที่โรงเรียนนายเรือ”
ก็เป็นอันยุติได้ว่าพระสุนทรโวหาร (ภู่) เจ้ากรมอาลักษณ์ ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถึงแก่กรรมที่บ้านพักของพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม ด้วยวัย ๗๐ ปีบริบูรณ์ ปัจจุบันบ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว) ที่พำนักสุดท้ายในชีวิตของสุนทรภู่ เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือไปแล้ว
พรุ่งนี้มาดูผลงานอันเป็น “ควันหลง” ของสุนทรภู่กันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เเมืองสุโขทัย ๒ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, Mr.music, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๐ - (กวีเอกพระพุทธเลิศหล้าฯ)
มีผลงานการประพันธ์อันโดดเด่น เป็นหลักเกณฑ์กลอนตลาดปราชญ์ภาษา นิยายนิราศภาษิตเชิงวิทยา เป็นตำราเรียนรู้ดั่งครูกลอน.....
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันก่อนนี้ได้นำเรื่องราวของสุนทรภู่ตอนอาวสานชีวิตมาบอกเล่าโดยสรุปให้ทุกท่านได้ทราบว่า สุนทรภู่เกิดในวังหลัง แล้วเข้าไปมีชื่อเสียงโด่งดังในวังหลวง และใช้ชีวิตบั้นปลายในวังหน้า ถึงแก่กรรมที่บ้านพักพระยามณเฑียรบาล(บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม ซึ่งเป็นโรงเรียนนายเรือปัจจุบัน วันนี้มาว่ากันต่อในชีวิตและงานของท่านสุนทรภู่ ดูควันหลงคือผลงานของท่านที่ทอดทิ้งไว้ให้คนไทยได้ชื่นชมกันครับ
 ในวาระครบ ๒๐๐ ปีชาตกาลของท่านสุนทรภู่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศเกียรติคุณและยกย่องสุนทรภู่ว่า เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมและวรรณคดี จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งผลงานการประพันธ์เป็นร้อยกรองของท่านนั้น ที่พบแล้วมี ๒๔ เรื่องดังต่อไปนี้ คือ
๑. นิราศ ๙ เรื่อง ได้แก่ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง โคลงนิราศสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศเมืองเพชร รำพันพิลาป นิราศพระประธม ๒. นิทานคำกลอน ๕ เรื่อง คือ โคบุตร พระอภัยมณี กาพย์พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ ๓. สุภาษิต ๓ เรื่อง คือ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และ สุภาษิตสอนหญิง ๔. บทละคร ๑ เรื่อง คือ อภัยนุราช ๕. เสภาคำกลอน ๒ เรื่อง คือ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ๖. บทเห่กล่อมพระบรรทม ๔ เรื่อง คือ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร เห่จับระบำ และเห่เรื่องกากี
คำประพันธ์แต่ละเรื่องนั้นมีประวัติ คือที่มา หรือสาเหตุ และช่วงเวลาของการประพันธ์ที่น่ารู้ หรือควรรู้ไว้บ้าง “ท่านจันทร์” พ.ณ.ประมวญมารค บอกเล่าไว้โดยย่อดังต่อไปนี้
- “พ.ศ. ๒๓๕๐ (ต้นปี) ไปหาบิดาที่เมืองแกลง แต่งนิราศเมืองแกลง - พ.ศ. ๒๓๕๐ (ปลายปี) ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระบาท แต่งนิราศพระบาท - พ.ศ. ๒๓๕๒ เปลี่ยนแผ่นดิน (เป็น รัชกาลที่ ๒) - พ.ศ. ๒๓๕๙ ทอดบัตรสนเท่ห์ สุนทรภู่เข้ารับราชการ (?) เป็นขุนสุนทรโวหาร
ตามที่เล่ากันมา สุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องโคบุตรก่อนไปเมืองแกลง แลเรื่องลัษณวงศ์ก่อนเข้ารับราชการ ระหว่างนั้นได้แต่งเรื่องจันทโครบถึงเข้าถ้ำมุจลินท์ แลสุภาษิตสอนหญิง ส่วนเรื่องที่แต่งในรัชกาลที่ ๒ มี สิงหไกรภพ ตอนต้น พระอภัยมณีตอนต้น แลเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
- พ.ศ. ๒๓๖๗ เปลี่ยนแผ่นดิน (เป็นรัชกาลที่ ๓) สุนทรภู่ออกบวช - พ.ศ. ๒๓๗๐ มาอยู่วัดราชบูรณะ - พ.ศ. ๒๓๗๑ ไปอยุธยา แต่งนิราศภูเขาทอง - พ.ศ. ๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว มาเป็นลูกศิษย์ แต่งเพลงยาวถวายโอวาท - พ.ศ. ๒๓๗๔ ไปเพชรบุรี แต่งนิราศเมืองเพชร - พ.ศ. ๒๓๗๕ ไปอยุธยา แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า (สำนวนเณรหนูพัด) - พ.ศ. ๒๓๗๖ ไปพระแท่นดงรัง เณรหนูกลั่นแต่งนิราศเณรกลั่น - พ.ศ. ๒๓๗๙ โดยประมาณ ไปสุพรรณบุรี แต่งนิราศสุพรรณคำโคลง - พ.ศ. ๒๓๘๐ (ประมาณ) ต่อเรื่องพระอภัยมณี - พ.ศ. ๒๓๘๒ ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาฯ - พ.ศ. ๒๓๘๓ (ประมาณ) ต่อเรื่องสิงหไกรภพ - พ.ศ. ๒๓๘๔ ไปพระประธม แต่งนิราศพระประธม - พ.ศ. ๒๓๘๕ แต่งรำพันพิลาป แล้วลาสิกขาไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย
ระหว่างที่อยู่วัดเทพธิดาฯ ได้แต่งกาพย์ลำนำเรื่องพระไชยสุริยา แลอาจได้แต่งนิราศอิเหนา กับเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องพระอภัยมณี ส่วนเห่เรื่องอื่น ๆ อาจแต่งในรัชกาลที่ ๒
- พ.ศ. ๒๓๙๔ เปลี่ยนแผ่นดิน (เป็นรัชกาลที่ ๔ ) สุนทรภู่เป็นพระสุนทรโวหาร อาลักษณ์วังหน้า - พ.ศ. ๒๓๙๘ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๔ เข้าใจว่าแต่งเรื่องสวัสดิรักษา แลเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร
 ข้อความข้างบนนี้ สันนิษฐานตามหลักฐานที่มีอยู่ในมือ ในขณะที่เขียนในโอกาสต่อไป เป็นต้น เมื่อพบที่ว่าแต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ข้าพเจ้าไม่นึกว่าเรื่องสุนทรภู่จะเสร็จสิ้นลงได้ในหนังสือเพียง ๑ เล่ม แม้แต่ข้าพเจ้าเองซึ่งในปัจจุบันเบื่อเรื่องสุนทรภู่เต็มที หากกลับมาจับเรื่องใหม่ก็อาจพบข้อบกพร่องสมควรแก้ไขหรือเสริมรายละเอียดอีกได้ ยกตัวอย่าง นิราศเมืองเพชร และนิราศพระประธม ซึ่งแต่ก่อนว่าแต่งเมื่อสึกแล้ว แต่นำมาตั้งศักราชใหม่ว่าแต่ง พ.ศ. ๒๓๗๓ แล พ.ศ. ๒๓๘๔ ข้าพเจ้าก็ว่าเรื่องมันคลุมเครือเต็มที ถ้าจะพิจารณากิริยาของหนูพัดแลหนูตาบก็น่าจะแต่งในระหว่างบวชจริง (หนูพัดไปเมืองเพชรด้วย แต่ไม่ได้ไปพระประธม หนูตาบไปพระประธม แต่ไม่ได้ไปเมืองเพชร ในระหว่าง ๒ เรื่อง หนูพัดหนูตาบพร้อมด้วยหนูกลั่นไปวัดเจ้าฟ้า พระแท่นดงรัง แลสุพรรณ) แต่ในบทไม่บ่งชัดไปว่าไปในขณะเป็นพระหรือฆราวาส ทั้งนี้เป็นเรื่องที่สมควรพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง
แต่จะอย่างไรก็ตาม หากมีข้อความใดผิดพลาดขาดตกบกพร่องเกิดขึ้นในภายหน้า ท่านผู้อ่านจงเข้าใจเป็นเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าเอง”
ข้อความข้างต้นนี้ เป็นพระนิพนธ์ (ข้อเขียน) ของ “ท่านจันทร์" พ.ณ.ประมวญมารค ท่านให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากที่สุด แต่ก็ยังทรงถ่อมพระองค์สมกับที่ทรงเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ยังมีรายละเอียดในการประพันธ์เรื่องต่าง ๆ ของสุนทรภู่และศิษย์สุนทรภู่ตกค้างอยู่อีกพอสมควร พรุ่งนี้จะนำมาพูดถึงกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไ เมืองสุโขทัย ๓ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๑ - (จารึกวัดโพธิไร้งานสุนทรภู่)
สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ คนไทยดูงานกวีมีค่าหย่อน ไม่ยกย่องมองผ่านรำคาญคอน แล“สุนทรภู่”ไกลอยู่ปลายตา....
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำบทนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” พ.ณ. ประมวญมารค ที่ลำดับระยะเวลาการแต่งกลอนเรื่องต่าง ๆ ของสุนทรภู่มาแสดงให้ทุกท่านได้รับทราบในทัศนะหนึ่ง วันนี้มาดูแง่มุมต่าง ๆ ของสุนทรภู่ในมุมมองของ “ท่านจันทร์” กันต่อนะครับ
มีคำกล่าวกันถึงท่านสุนทรภู่ว่า เป็นนักกลอนปากตลาด หมายถึงเป็นแค่นักกลอนจำพวกเล่นเพลงพื้นบ้านงานวัดธรรมดา ไม่ได้เป็นนักกลอนกวีชั้นสูงเช่นกวีในรั้วในวัง
 วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ดังนั้นในคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ชุมนุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทุกแขนงวิชาการ มาถ่ายทอดความรู้จารึกบันทึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ นั้น มีนักกวีใหญ่น้อยจำนวนมากมาชุมนุมและแต่งบทกวี เป็น ร่าย โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ในรูปแบบฉันทลักษณ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด นักกลอนที่ไม่เคยปรากฏชื่อมาก่อนก็มาปรากฏชื่อในชุมนุมนี้หลายท่าน แต่ไม่ปรากฏชื่อของสุนทรภู่ในชุมนุมนี้เลย
ว่ากันว่า สุนทรภู่ถูกรังเกียจกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในชุมนุมกวีครั้งนี้ เพราะว่าสุนทรภู่ไม่เป็นที่พอพระทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เพราะสุนทรภู่เป็นนักกลอนชาวบ้านร้านตลาด หรือ นักกวีชั้นต่ำอยู่ปลายแถวสุด จึงไม่ควรให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมนี้ สุนทรภู่จึงเป็นนักกลอนกวีที่อยู่นอกทำเนียบ นอกสายตาของทางราชการ
แต่ในมุมมองของ “ท่านจันทร์” ตรงกันข้ามกับความที่กล่าวมาข้างต้น โดยท่านได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้ในวารสารศิลปากรแล้ว และยังได้มาขยายความไว้ในหนังสือ “ประวัติคำกลอนสุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)” ซึ่งจะขอยกข้อความที่ทรงขยายความทั้งหมดมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้
 จารึกเพลงยาวกลบทต่าง ๆ ที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ : วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) “๒๘ เพลงยาวกลบทกลอักษร”
“เหตุสุนทรภู่มิได้แต่งเพลงยาวถวาย สำหรับจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ ถือกันเป็นข้อใหญ่ที่นำมาอ้างว่า สุนทรภู่ถูกถอดและเป็นที่น่ารังเกียจ เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ยกมาอ้างแล้วในวารสารกรมศิลปากร แต่ในที่นี้จะขอขยายความอีกเล็กน้อย
จารึกวัดพระเชตุพนแบ่งออกอย่างกว้าง ๆ เป็น ๕ ประเภท มี ตำรายา ๑ ตำราวรรณคดี ๑ สุภาษิต ๑ ประวัติการปฏิสังขรณ์ ๑ และคำบรรยายประกอบรูปต่าง ๆ ๑ บางอย่างพระแต่ง บางอย่างฆราวาสแต่ง บางอย่างแต่งทั้งสองฝ่าย ดูเค้าจะทรงมอบหมายให้ผู้ใหญ่ผู้ใดผู้หนึ่งรับหน้าที่รวบรวมบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ประวัติการปฏิสังขรณ์ เป็นพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสส่วนมาก มีพระราชาคณะผู้ใหญ่ช่วยบ้างเล็กน้อย ในประเภทสุภาษิตซึ่งใช้ของเก่า เว้นแต่ในเมื่อของเก่าไม่ดีพอจึงแปลงหรือแต่งใหม่ ทรงมอบให้สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรตรวจแก้โลกนิติ ส่วนที่เป็นคำฉันท์ ดูเหมือนสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสจะทรงคุมเอง ตลอดจนทรงแต่งกฤษณาสอนน้องใหม่ ส่วนคำบรรยายภาพต่าง ๆ มีภาพคนต่างภาษา รูปฤๅษีดัดตน ฯลฯ แต่งทั้งสองฝ่าย รูปเรื่องรามเกียรติ์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต และฆราวาสแต่ง ส่วนตำราโคลงและคำฉันท์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่ง เพลงยาวกลบทกลอักษร ดูเค้าว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงคุมเอง ไม่มีพระแต่งเลยสักบทเดียว เหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งแต่เฉพาะฆราวาส มีเค้าอยู่ในคำพระราชปรารภประกอบเพลงยาวว่า
"อันอักษรกลอนเพลงนักเลงเหล้น จะรักใคร่ให้พอเป็นแต่พาเหียร อย่าหลงใหลในศรีปากคิดพากเพียร แท้บาปเบียนตนตามรูปนามธำม์
ก็ทรงทราบว่าสังวาสนี้บาดจิตร ย่อมเป็นพิศม์กับสัลเหลขคือเนกขัม แต่บูชาไว้ให้ครบจบลำนำ เป็นที่สำราญมะนัศผู้มัศการ"
(อ้างแล้ว. ๒๕๔๔.๕๔๖) |
 จารึกต่าง ๆ ที่วัดโพธิ์ ในขณะที่แต่งเพลงยาวกลบทกลอักษรกัน สุนทรภู่บวชเป็นพระ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะแต่งบทสังวาสถวายได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ปรากฏชื่ออยู่ในจำพวกฆราวาสที่ชุมนุมแต่งเพลงยาวกลบทกลอักษร”
สรุปได้ว่า เหตุที่ไม่มีชื่อสุนทรภู่อยู่ในกลุ่มผู้แต่งกลอนจารึกวัดพระเชตุพนฯ นั้น เพราะในช่วงเวลานั้นสุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุอยู่ จึงไม่ถูกนิมนต์ให้เข้าร่วมแต่งกลอนเชิงสังวาสตามถนัดได้ เหตุผลของ “ท่านจันทร์” ข้อนี้ฟังขึ้นนะครับ
บทกลอนเชิงสังวาส หรือ เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่นักกลอนแต่งจารึกไว้ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ ก็อยู่ในจารึกและตำราเรียนจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ไม่มีใครรู้จักชื่อคนแต่งและไม่รู้จักสำนวนกลอนเหล่านั้น ว่ารสถ้อยร้อยคำกลอนในจารึกนั้นเป็นฉันใด
 แต่กลอนสุนทรภู่ที่อยู่นอกทำเนียบจารึกมากมาย กลับเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป จำติดใจและพูดกันติดปากติดคำ
ถ้าพูดถึงบทกลอนแล้ว ใคร ๆ ก็คิดถึง พูดถึงสุนทรภู่ ใครนำคำกลอนเพราะ ๆ ของคนอื่นมากล่าว ผู้ฟังส่วนมากก็จะว่าเป็นกลอนสุนทรภู่ นาม “สุนทรภู่” จึงเป็นนามที่มีมนต์ขลังอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน
มีงานกลอนของสุนทรภู่อีกหลายชิ้นที่ “ท่านจันทร์” ทรงกล่าวถึงในแง่มุมมองของท่านอีกหลายเรื่อง จะนำมาเผยแผ่ในที่นี้อีกในวันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๒ - (ปราชญ์พูดถึงสุนทรภู่)
คำกลอนสุนทรภู่อ่านรู้รส เช่นดังบทนิราศชัดภาษา “สิ้นแผนดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ..............
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” พ.ณ.ประมวญมารค ที่ทรงวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดสุนทรภู่จึงไม่มีชื่อปรากฏในคณะนักกวีที่ชุมนุมแต่งบทกวีในจารึกวัดพระเชตุพนฯ วันนี้มาดูเรื่องของสุนทรภู่ในประเด็นอื่น ๆ กันต่อไปนะครับ
“ท่านจันทร์” ได้นำความจาก “กลอน แล นักกลอน” พระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.) ซึ่งพิมพ์แจกในวันกฐินกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ณ วัดประทุมคงคา พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยเสด็จในกรมฯ ทรงวิพากย์สุนทรภู่ไว้อย่างน่าฟัง ว่า
 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.) “๓๐ สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา”
เสียเวลามาก็มากแล้ว ตอนนี้เริ่มพูดถึง “รสกวี” กันเสียที ในหนังสือกลอน แล นักกลอน ของ น.ม.ส. มีอธิบายถึงความเพลินสามประการดังต่อไปนี้
“ความเพลิน ๓ ประการ”
“ความเพลินซึ่งกาพย์ดีย่อมทำให้เกิดแก่ผู้อ่านผู้ฟังนั้น ท่านว่าอาจแยกได้เป็น ๓ ประการ คือ
เพลินดนตรี นัยหนึ่งความไพเราะแห่งสำเนียง คำอันกระทบกันโดยสัมผัส หรือโดยความขึ้นลงแห่งเสียงสั้นเสียงยาว หรือเสียงต่ำเสียงสูง ประการหนึ่ง เพลินปัญญา นัยหนึ่งสบายใจในทางความคิดความรู้ ประการหนึ่ง เพลินในวิธีที่กล่าวความนึกออกมาด้วยถ้อยคำอันดูดดื่ม ประการหนึ่ง
ความเพลินทั้ง ๓ ประการนี้ กลอนดีจริง ๆ อาจให้ความพร้อมกันทั้งหมด แต่ถึงจะไม่พร้อมกันก็ยังเป็นเครื่องสำราญอย่างดีอยู่นั่นเอง จะยกตัวอย่างกลอนสุนทรภู่ท่อนหนึ่ง ซึ่งให้ความเพลินแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินผู้อื่นท่องให้ฟัง จำได้ทันที แลได้จำไว้เพื่อจะเพลินทุกครั้งที่นึกถึงกลอนท่อนนั้น
เมื่อสองสามวันนี้ ข้าพเจ้าได้หยิบนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่มาอ่าน เพื่อจะสอบความจำสำหรับที่จำนำมาเขียนหนังสือนี้ ครั้นอ่านแล้วความเพลินของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป ดังจะนำมาเล่าต่อไปนี้
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์... |
นิราศภูเขาทอง คลิก เป็นกลอนซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อไปไหว้พระวัดภูเขาทองกรุงเก่า เวลานั้นสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้ว ในรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่เป็นคนโปรด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กลอนเป็นอันมากดังทราบกันอยู่แล้ว สุนทรภู่เป็นนักกลอนอย่างเอก ได้เฝ้าแหนใกล้ชิดพระองค์ เป็นต้นว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดกฐินปีละหลาย ๆ วัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง ประทับในเรือพระที่นั่งกับกวีอื่นที่เป็นคนโปรดด้วยกัน เช่น “เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย” เป็นต้น
ในรัชกาลที่ ๒ นั้น กล่าวกันว่า สุนทรภู่ทำตัวไม่เป็นที่ชอบพระทัยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เห็นจะเป็นเพราะว่าหยิ่งว่าเป็นนักกลอนดี แม้เจ้านายผู้ใหญ่ก็ไม่ยำเกรง ถ้าได้ทีจะ “หักเหลี่ยม” ในทางกลอน แกก็ไม่ละเว้น เรานึกดูในเวลานี้ ก็เห็นว่าสุนทรภู่คงจะเป็นคนน่าหมั่นไส้ของผู้ที่ไม่เห็นว่ากลอนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็คงจะโปรดสุนทรภู่แต่ในทางกลอนอย่างเดียว ในทางอื่นนึกไม่เห็นว่าจะทรงพระกรุณายกย่องได้อย่างไร
 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) การเป็นเช่นนี้ ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ก็ตกอับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่รู้ตัวว่าเป็นผู้ไม่ถูกพระราชอัธยาศัย ระแวงตัวกลัวราชภัยก็หนีบวช แลเป็นธรรมดาของคนที่เคยสำราญหยำเปอยู่กับถ้วยเหล้า เมื่อออกบวชเพื่อจะหลีกเลี่ยงภัย ไม่ใช่โดยศรัทธา ก็ไม่รื่นรมย์ในสมณเพศ ยิ่งเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าผู้ทรงพระกรุณาสิ้นไป พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่ทรงพระกรุณา ความน้อยใจอันไม่มีเหตุควรเกิดก็เกิด ผู้น้อยใจโดยประการฉะนี้มักเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าประเสริฐทุกอย่าง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ใช้ไม่ได้ เหตุฉะนี้ เมื่อสุนทรภู่ได้เขียนไว้ว่า “สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์” แลมีผู้ท่องให้ข้าพเจ้าฟัง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าดีนัก เพราะได้ความเพลินอย่างน้อย ๒ ประการ คือ เพลินโดยสำเนียงไพเราะประการหนึ่ง เพลินเพราะใช้คำได้ความลึกซึ้งอย่างหนึ่ง
ข้าพเจ้านึกว่าคำว่า “แผ่นดิน” ซึ่งสุนทรภู่ใช้ในที่นั้นมีความหมายสองอย่าง หมายความว่ารัชกาลอย่างหนึ่ง หมายความว่าพื้นดินอย่างหนึ่ง เมื่อคำนี้มีความหมายสองอย่างเช่นนี้ กลอนท่อนนั้นก็อ่านได้ความลึกซึ้งว่า ในสมัยที่พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่ายังทรงปกครองบ้านเมืองบำรุงอาณาประชาราษฎร์อยู่นั้น แผ่นดินชุ่มชื่นมีรสหอมหวาน กล่าวนัยหนึ่ง พื้นดินเป็นที่เกิดแห่งพืชพรรณธัญญาหารแลบุปผชาติอันตระการ เมื่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แม่ธรณียินดีในพระมหากษัตริย์ ก็ช่วยส่งเสริมความสมบูรณ์ให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้น หรือถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมื่อราษฎรมีความร่มเย็น พื้นดินก็ได้ผลมาก ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าสิ้นไป พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่ดี รสแห่งแผ่นดินก็สิ้นไป ราษฎรไม่มีความสุข แลวาสนาของสุนทรภู่เองโดยเฉพาะก็สิ้นไป เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่บำรุงความสามารถในตัวตน ถ้าจะเปรียบต่อไปให้ถึงใจ ก็คือว่าแผ่นดินไม่มีดอกไม้หอม แมลงภู่จะอาศัยอยู่เป็นสุขอย่างไรได้
ถ้าอ่านเข้าใจตามความที่กล่าวนี้ กลอนท่อนนั้นของสุนทรภู่ก็ดีนัก ถ้าเจ้าของแต่งไว้เล่น ๆ ข้าพเจ้าคนหนึ่งจะเข้าใจเช่นที่ว่ามาแล้ว แลเมื่อกล่าวชี้ทางความเข้าใจเช่นข้างบนนี้แล้ว ผู้อ่านบางคนที่ไม่เคยอ่านนิราศภูเขาทองอาจพลอยเห็นจริงด้วยก็ได้
แต่เมื่อสองสามวันนี้เกิดกลแตก เพราะข้าพเจ้าไปจับอ่านนิราศภูเขาทองเข้า ในนิราศนั้นกล่าวไว้แจ่มแจ้งว่า ในเวลาที่สุนทรภู่หมอบแต่งกลอนรับกับจมื่นไวยในเรือพระที่นั่งเวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดกฐินนั้น ได้อยู่ใกล้พระองค์จนได้กลิ่นน้ำอบที่ทรงทา ครั้นสวรรคตเสียแล้วก็ไม่ได้กลิ่นน้ำอบนั้นอีก วาสนาของสุนทรภู่ก็สิ้นไปเหมือนกลิ่นน้ำอบนั้นเอง เมื่อหมายความเพียงเท่านี้ กลอนท่อนนั้นก็ดีน้อยลง ไม่ให้ความเพลินสุขุม เพราะความที่กล่าวนั้นเป็นความเปรียบนิดเดียว ความเพลินในวิธีที่กล่าวความนึกออกมาด้วยถ้อยคำอันดูดดื่มกินความไปได้กว้างขวางลึกซึ้งก็หมดไปทันที ความเพลินของข้าพเจ้าที่เคยมีนั้น เปรียบเหมือนเด็กเพลินลูกปี๊บที่เป่าลมเล่นอยู่ดี ๆ มันก็แตกกลายเป็นขี้ริ้วยางไป ขี้ริ้วยางนั้นก็ยังอยู่ จะใช้เชือกผูกเป่าเป็นลูกปี๊บเล็ก ๆ อีกก็ได้ แต่จะทำอย่างไร มันก็ไม่ไม่เหมือนลูกใหญ่
ข้าพเจ้านำกลอนท่อนนั้นมากล่าว ไม่ใช่เพื่อแสดงความหลงซึ่งเกิดแต่ความคิดเลื่อยเจื้อยของเราเอง หมายจะแสดงว่าความเพลินดนตรี แลเพลินวิธีกล่าวความนึกออกมานั้น ถ้ากลอนท่อนนี้ไม่เกิดวิบัติเสีย ก็จะให้ความเพลินชนิดที่ว่านั้น”
(จบความจากกลอน แล นักกลอน)”
จบพระนิพนธ์ของพระบิดาแล้ว “ท่านจันทร์” ก็ต่อด้วยความเห็นของท่านเองว่าดังต่อไปนี้
 “ท่านจันทร์” หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค) “๓๑. วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”
“ ตามฉบับบางฉบับว่า
* เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ |
แต่มีผู้จำกลอนได้ยืนยันว่าวรรคหลังเป็น “วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์” (ไม่มี เหมือน) ซึ่งเสียงเป็นสุนทรภู่มากกว่า และได้ “รสความ” ชนิดลูกปี๊บไม่แตก เพราะกลอนในที่นี้ หมายความว่าสุนทรภู่บวชเป็นพระมีวาสนาผิดกับเมื่อเป็นฆราวาส เป็นวาสนาที่ไร้กลิ่นหอม
นิราศภูเขาทองไม่มีฉบับเขียนในหอพระสมุดฯ ที่จะสอบความข้อนี้ได้ จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เติมคำว่า “เหมือน” เข้ามา และเมื่อไร
 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อหอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับรำพันพิลาปมาใหม่ ๆ ได้คัดสำเนาถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทอดพระเนตร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำรัสอย่างไร ไม่มีความจำเป็นที่จะนำมากล่าว เพราะขณะนั้นประทับอยู่ที่ปีนัง ไกลจากหนังสือค้นคว้า ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ รับสั่งดังนี้
(สาส์นสมเด็จ)
“ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงสุนทรภู่ คิดคะเนดูท่านผู้นั้น ทั้งเนื้อทั้งตัวจะมีดีอยู่ที่ฝีปากเท่านั้น ความประพฤติเห็นจะเต็มที เป็นอย่างคุ้มครองตัวเองไม่ได้ จะอยู่ได้ก็แต่อาศัยพึ่งบุญผู้มีบุญ ด้วยคนเกรงบุญของท่านผู้มีบุญ ไม่กล้าทำอะไรแก่สุนทรภู่ได้ ผู้มีบุญพอใจที่จะปกครองไว้ก็เพราะมีฝีปากดีเท่านั้น”
การที่สมเด็จฯ ก็ดี เสด็จในกรมฯ ในกลอน แล นักกลอนก็ดี ทรงตีราคาสุนทรภู่ ใจความว่า ทั้งเนื้อทั้งตัว ความดีมีแต่กลอนนั้น เมื่อมาไตร่ตรองในขั้นนี้ เห็นว่าไม่ถูกต้อง ถ้าสุนทรภู่เป็นอย่างที่รับสั่งจริง เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีหรือจะให้เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วมาเรียนหนังสือด้วย กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพหรือจะประทานอุปการะ และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเมื่อดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในรัชกาลที่ ๓ หรือจะประทานอนุมัติให้ไปอยู่ที่วังเดิมเมื่อสึกแล้ว ทั้งหมดเป็นการตีความจากคำบอกเล่ากันมากกว่า จากหลักฐานในตัวบทอย่างยิ่งจากตัวบทที่ได้มาใหม่”
ยังมีคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่านสุนทรภู่อีกหลายประเด็น วันนี้ยกพระนิพนธ์มาให้อ่านกันยาว ๆ เป็นความรู้ที่ควรรู้ทั้งนั้น พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๓ - (ฟังคำนินทาสุนทรภู่)
น่าสงสารสุนทรภู่ถูกดูหมิ่น ว่าดื่มกินแต่สุราพาหมองหม่น เป็น “อาลักษณ์ขี้เมา” เจ่ายากจน ไม่สร้างตนรวยเหมือนเพื่อนกวี......
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของปราชญ์ทางภาษากวีที่ว่าด้วย “ความเพลิดเพลินในรสกวี” ซึ่งเกี่ยวกับท่านสุนทรภู่ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันไปแง่มุมหนึ่งแล้ว วันนี้มาฟังคนนินทาสุนทรภู่กันต่อครับ
กลอนข้างบนนี้เกริ่นให้พอรู้กันว่า จะกล่าวถึงสุนทรภู่ที่ท่านถูกนินทาว่าเป็น “อาลักษณ์ขี้เมา” และเพราะความเป็น “คนขี้เมา” นี่แหละทำให้สุนทรภู่ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในวงราชการ แม้จะมีวิชาความรู้ดี แต่ก็ไม่สามารถใช้ความรู้นั้นสร้างฐานะความร่ำรวยและยศตำแหน่งให้ตนเองได้ บั้นปลายชีวิตถึงจะมีตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์วังหน้า ได้บรรดาศักดิ์เป็นคุณพระที่ “พระสุนทรโวหาร” แต่ท่านก็ไม่มีบ้านอยู่เป็นของตนเอง ต้องอาศัยบ้านพระยามณเฑียรบาล(บัว สโรบล) เป็นเรือนตาย บาปกรรมของน้ำเมาให้ผลแก่สุนทรภู่เช่นนั้น จริงหรือไม่ ผมขอให้อ่านนิพนธ์ของ “ท่านจันทร์” ซึ่งท่านได้แต่งไว้ในหนังสือ “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง) เป็นคำตอบดังต่อไปนี้.....
 “๓๒ โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา”
“ตามที่เล่ากันมาว่าสุนทรภู่ติดคุกในรัชกาลที่ ๒ เพราะสุรา ต่อจากนั้นตลอดชีวิตก็มิได้เลิกดื่มเหล้าเลย ในประวัติสุนทรภู่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า เมื่อสุนทรภู่คิดกลอน ถ้าได้ดื่มเหล้าเข้าไป กลอนคล่องถึงกับสองคนจดไม่ทัน นอกจากนั้นยังได้ยินผู้อื่นเล่าวิธีแต่งกลอนของสุนทรภู่ ดังนี้ ข้าหลวงหรือชาววังอาจไปหาสุนทรภู่ ถือเหล้าไปขวดหนึ่ง บอกสุนทรภู่ว่า
“เสด็จให้มาเอาเรื่อง”
แล้วสุนทรภู่ดื่มเหล้าพลาง บอกเรื่องพลาง แล้วข้าหลวงก็ได้เรื่องไปถวายทันที ที่เล่านี้ ทั้งก่อนบวชและในขณะบวช แต่ถ้าจะลองหาคำของสุนทรภู่เกี่ยวกับเหล้าจริง ๆ ก็นึกออกเพียงในสุภาษิตสอนหญิง คลิก
"คิดถึงตัวหาผัวนี้หายาก มันชั่วมากนะอนงค์อย่าหลงใหล คนสูบฝิ่นกินสุราพาจัญไร แม้นหญิงใดร่วมห้องจะต้องจน"
ในนิราศพระแท่นดงรัง (เสมียนมีแต่ง)
"ถึงนครไชยศรีมีโรงเหล้า เป็นของเมาตัดขาดไม่ปรารถนา"
ใน นิราศภูเขาทอง คลิก ว่า
"ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไปฯ" |
ในสี่รายข้างบนนี้ ในสุภาษิตสอนหญิง และพระอภัยมณี (ไม่ได้ยกคำในพระอภัยมณีมาแสดง) ไม่ได้พูดถึงเหล้าอย่างจริงจัง ในนิราศพระแท่นดงรังซึ่งปัจจุบันรับกันว่าสุนทรภู่มิได้แต่ง ก็เหมือนคนไม่เคยกินเหล้า ส่วนในนิราศภูเขาทอง ซึ่งเป็นบทแรก แต่งหลังจากออกบวช สุนทรภู่พูดเหมือนคนที่เคยเห็นโทษเหล้ามาแล้วและได้เลิกไปอย่างเด็ดขาด ถ้าจะเถียงว่า ถึงแม้สุนทรภู่จะได้ศีลขาดทุกวี่ทุกวันก็คงไม่นำมาเขียนในเรื่อง ประดุจว่ามีชู้หรือจะให้ผัวรู้ ก็จนใจ อย่างไรก็ดี เรื่องสุนทรภู่กินเหล้าเป็นเรื่องที่เชื่อกันมานาน กระทั่งมีผู้ตรวจดวงชะตาสุนทรภู่ไว้ ก็เขียนกำกับว่า “สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา” ฉะนั้น ที่จะเปลี่ยนความเชื่อคงต้องกินเวลานานหน่อย
สุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๒ และขี้เมาจริง ฉะนั้นที่จะเขียนไว้ในดวงว่า “อาลักษณ์ขี้เมา” ก็ถูกต้อง แต่สุนทรภู่เป็นชื่อเรียกกันทีหลัง เมื่อไม่ได้เป็นอาลักษณ์แล้ว ข้าพเจ้ายังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน มีใครเรียก “สุนทรภู่” ในรัชกาลที่ ๓ หรือแม้แต่ในรัชกาลที่ ๔ เท่าที่เคยเห็นมีในเพลงยาวเจ้าพระ แต่งในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า “ท่านสุนทร” (ท่านสุนทรแพ้ชัดไม่ทัดคำ) แล “สุนทร” (ว่าสุนทรแพ้ฉันขันพอพอ)
ในนิราศพระแท่นว่า “พระสุนทร” (พระคุณใครไม่เท่าคุณพระสุนทร)
ฉะนั้น ที่คำกำกับดวงชาตาว่า “สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา” คงจะเป็นคำเขียนทีหลังตามความเข้าใจของผู้เขียน
ถ้าจะกลับย้อนดูในอีกแง่หนึ่ง ก็จะเห็นสุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลง คลิก ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกว่า
"อยู่บุรินกินสำราญทั้งหวานเปรี้ยว ตั้งแต่เที่ยวยากไร้มาไพรศรี แต่น้ำตาลมิได้พานในนาภี ปัถวีวาโยก็หย่อนลงฯ" |
และในรำพันพิลาป ซึ่งเป็นบทสุดท้ายในชีวิตบวช แต่งหลังนิราศเมืองแกลงสามสิบห้าปีว่า
"ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์ ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก" |
(ทองหยิบฝอยทองดูจะเป็นของโปรดอยู่หน่อย) กลอนทั้งสองรายนี้ประกอบกับคำที่เล่ากันมาว่าเมื่ออยู่วัดเทพธิดาฯ ชอบฉันน้ำเชื่อม ดูสุนทรภู่จะเป็นคน “คอหวาน” อยู่สักหน่อย ผิดวิสัยนักเลงเหล้าถนัด
เรื่องนี้ขอปล่อยไว้เพียงเท่านี้พลางก่อน ประเดี๋ยวสุนทรภู่จะขาวเร็วเกินไป”
 “ท่านจันทร์” หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค) ความทั้งหมดข้างบนนี้เป็นมุมมองของ “ท่านจันทร์” ท่านดูจะไม่เชื่อว่าสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา คำที่ว่า “สุนทรภู่อาลักษณ์ขี้เมา” นั้นเป็นคำที่มีคนเขียนขึ้นภายหลัง เขียนตามความเชื่อในคำบอกเล่าที่พูดกันต่อ ๆ มาโดยไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันเลย
นาม “สุนทรภู่” เป็นนามที่เริ่มเรียกกันสมัยใด “ท่านจันทร์” ว่ายังไม่พบหลักฐาน แต่ในสมัย รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น ไม่ปรากฏนาม “สุนทรภู่” ในเอกสารใด ๆ เลย พบแต่คำว่า “ท่านสุนทร” และ “สุนทร” ในเพลงยาวสามเจ้าพระ กับ “พระสุนทร” ในนิราศพระแท่นสำนวนเณรหนูกลั่น จึงเป็นไปได้ว่า นาม “สุนทรภู่” มีใช้เรียกกันในสมัย ร. ๖ ร. ๗ นี่เอง ก่อนหน้านี้ สมัย ร. ๒ เรียกกันว่า “ขุนสุนทรโวหาร” มาสมัย ร. ๔ เรียกกันว่า “พระสุนทรโวหาร” โดยเป็นที่รู้กันว่า เจ้าของราชทินนามมีชื่อเดิมว่า “ภู่” เท่านั้นเอง
เรื่องสุนทรภู่ยังจบไม่ลง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๔ - (ท่านจันทร์ ว่า สุนทรภู่...)
“กวีแลศิลปิน”ศิลป์เลิศหรู “สุนทรภู่”มีพร้อมเพียบศักดิ์ศรี คุณสมบัตินักแสดงแต่งพจี ท่านมากมีจนใครไม่เทียมทัน...
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำคำวิพากย์ของ “ท่านจันทร์” ที่ว่า “สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา” มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน โดยท่านจบบทความแบบ “ไม่จบ” ว่า “เรื่องนี้ขอปล่อยไว้เพียงเท่านี้พลางก่อน ประเดี๋ยวสุนทรภู่จะขาวเร็วเกินไป” วันนี้มาอ่านเรื่องสุนทรภู่ในทัศนะของ “ท่านจันทร์” กันต่อไปนะครับ
กลอนข้างต้นนั้น “อมความ” ที่จะกล่าวต่อไปนี้ โดย “ท่านจันทร์” นำความจาก “กลอน แล นักกลอน” ของ น.ม.ส. ในหัวข้อ “คุณสมบัติของกวี” มาแสดงดังต่อไปนี้
“เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ก็เห็นได้ว่าความสามารถนิรมิตภาพขึ้นในความนึกนั้น มิใช่คุณสมบัติของกวีโดยเฉพาะ แต่กวีดีต้องมี ไม่มีไม่ได้ เมื่อมีความสามารถเช่นนั้นแล้ว ถ้าเป็นกวีดีก็ยังต้องมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคนอื่น ๆ น้อยจำพวกจะมี คือความสามารถทอดน้ำใจลงไปเป็นจริงเป็นจังจนลืมอื่นหมด จะพูดข้อนี้ให้เห็นง่ายต้องเอาโขนละครมาเปรียบ คือ โขนละครตัวดี ถ้าเป็นตัวอะไรก็ลืมตนเองจนกลายเป็นตัวนั่นไปจริง ๆ เหมือนตอนถวายลิง ถ้าทศกัณฐ์ก็มักจะโกรธจริงจนคนดูเห็นได้ว่าไม่ได้แกล้ง โขนตัวลือเคยมีพ่อลูกคู่หนึ่ง พ่อเป็นฤๅษี ลูกเป็นทศกัณฐ์ เมื่อเล่นตอนถวายลิง ทศกัณฐ์โกรธจริง ตีลิง ลิงหลบถูกฤๅษีเข้าจริง ๆ จนเป็นรอยไปทั้งตัว พอเข้าโรงถอดหัวโขนออกแล้ว ผีทศกัณฐ์ออก ลูกตกใจเข้าไปกราบไหว้ขอโทษพ่อ พ่อไม่โกรธ กลับชอบใจว่าลูกเป็นทศกัณฐ์ดี เล่นถูกบท
 วิลเลียม เชกสเปียร์ โขนตัวดีสวมหัวทศกัณฐ์เข้ากลายเป็นทศกัณฐ์ไป เพราะทอดน้ำใจลงไปเป็นจริงเป็นจังตามบทฉันใด กวีย่อมดี ย่อมจะทอดน้ำใจลงไปในกาพย์ที่แต่งฉันนั้น ถ้ากวีรู้สึกจริงจังในเวลาแต่ง ผู้อ่านจะเห็นความจริงจังในเวลาอ่าน ถ้าท่านเคยอ่านหนังสือว่าด้วยเชกสเปียร์ ท่านอาจเคยพบแล้วที่เขาเขียนไว้ว่า เมื่อเชกสเปียร์เขียนบรรยายถึงตัวแฮมเล็ต นายโรงเอกนั้น ตัวเชกสเปียร์กลายเป็นแฮมเล็ตไปเอง หาใช่เพียงแต่บรรยายไม่
มีนักกลอนไทยคนหนึ่ง กล่าวให้คนอื่นฟังว่า เมื่อกำลังแต่งกลอนเรื่องหนึ่งอยู่นั้น ในเวลาที่เขียนว่าด้วยนางเอก ได้เกิดเสน่หานางนั้นเหมือนรักผู้หญิงมีตัวมีตน เมื่อว่าถึงตอนที่นางเอกได้ทุกข์ก็สงสารจริง ๆ จนเกิดเศร้า ภายหลังรู้สึกตัวก็กลับเห็นขัน แต่พอใจกลอนของตนในตอนนั้น ๆ ยิ่งนัก
ที่เรียกว่าความสามารถทอดใจลงไปเป็นจริงเป็นจังนั้น หมายความดังที่ยกตัวอย่างมานี้ การทอดใจลงไปนั้นเป็นไปเอง ไม่ได้แกล้ง ถ้าจะว่าก็เหมือนผีเข้าสิง แต่ถ้าแต่งเรื่องซึ่งไม่พอใจ ไม่มีปีติที่จะแต่ง ผีไม่สิง ก็ทอดใจลงไปไม่ได้ เหตุดังนี้จึงมีคำฝรั่งกล่าวว่า กวีจะแต่งกาพย์ เหมือนผู้ทำของขายทำสินค้าซึ่งมีผู้สั่งซื้อนั้นไม่ได้ (๒๔๗๓: ๔๒-๔๔)
(จบความจาก กลอน แล นักกลอน)
 แล้ว “ท่านจันทร์” ก็วิพากย์เรื่องสุนทรภู่ต่อไปในหัวข้อว่า “๓๔ ไม่มีแผ่นพสุธาจะอาศัย”
“ตามที่ได้หยิบข้อต่าง ๆ จากนิราศภูเขาทอง และ เพลงยาวถวายโอวาท มาจาระไนเป็นข้อ ๆ ดูจะเป็นการทำให้เข้าใจกลอนของสุนทรภู่ยากขึ้น ฉะนั้น จะลองสรุปเสียที ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอซ้ำว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะถือว่าสุนทรภู่เป็นกวีด้านเดียว ควรถือว่าเป็นศิลปินมากกว่า และที่สุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่องนี้ก็เพื่อ “กล่อมอารมณ์” ผู้อ่าน ไม่ใช่เพื่อเล่าประวัติตัวเองเป็นสำคัญ
เมื่อสุนทรภู่หนีราชภัยออกบวชในปีสวรรคต และได้หลบไปอยู่เพชรบุรี เรื่องก็คงเป็นเรื่องที่โจษจันกันมาก ครั้นเมื่อหายหน้าไป ๓ ปี แ ล้วกลับมาอยู่ที่วัดราชบูรณะในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๐ เมื่อข่าวการกลับของสุนทรภู่แพร่สะพัดออกไป พวกนักเลงเพลงยาวทั้งหญิงชายก็คงจะมั่วสุมเยี่ยมเยียนท่านอาจารย์เจี๊ยวจ๊าวกันพอดู เป็นเหตุให้เกิดข้อครหาบ้าง อันจะมีมูลหรือไม่ไม่สำคัญ (จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง)
 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) นอกจากนั้นยังมีเรื่องสันนิษฐานต่าง ๆ นานา ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทำอย่างไร ฯลฯ มีผู้ถามสุนทรภู่ ใจความ ไฉนจึงกลับมากรุงเทพฯ อีก ก็ไหนว่าจะไม่เหยียบแผ่นดินของท่าน สุนทรภู่ก็แก้ว่า ที่บวชอยู่นี้อยู่ธรณีสงฆ์ต่างหาก (และได้ยินเล่าว่าที่ไปเรือก็ถือว่าไม่ใช่แผ่นดินของท่าน เป็นของแม่คงคา ในที่สุดเมื่อสึกแล้ว สุนทรภู่ก็ยอมรับสารภาพว่า แพ้ท่าน ! ได้ยินเล่ามาอย่างนี้เท็จจริงเพียงไหนไม่ทราบ) เรื่องชาตาของสุนทรภู่ก็อยู่ในตาชั่งเช่นนี้ จนกระทั่งถึงออกพรรษา เสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดราชบูรณะ ไม่แสดงอาการกริ้วโกรธประการใด (อาจจะทักพระภู่เพราะเคยรู้จักกันมาแต่ก่อนก็ได้) เป็นอันว่า ความกลัวหรือสันนิษฐานต่าง ๆ เป็นเรื่องโคมลอยทั้งเพ
 ระหว่างนั้น สุนทรภู่ได้ตั้งใจไว้เดิมว่า ออกพรรษาแล้วจะไปเที่ยวหัวเมือง เมื่อกลับมาแล้วแต่งนิราศภูเขาทอง ก็สวมรอยอารมณ์ความเชื่อของคนต่าง ๆ โดยครวญคร่ำถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแต่งไปในทำนอง “ไม่มีแผ่นพสุธาจะอาศัย” การไปกรุงเก่าของสุนทรภู่คราวนี้ ดูจะไปเที่ยวมากกว่าประโยชน์อื่น เมื่อผ่านจวนข้าหลวงในเวลาจวนค่ำ และจะต้องเลยไปจอดค้างคืนที่หน้าวัดพระเมรุ (อาจตั้งใจแวะขาล่องก็ได้) ก็ครวญเสียว่า
@ "มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงจนเกินควร จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณฯ" |
วันรุ่งขึ้น เมื่อไปนมัสการภูเขาทองได้พระบรมธาตุองค์หนึ่ง ครั้นเมื่อพระธาตุหนีก็เกิดโมโหเร่งกลับกรุงเทพฯ ทันที
บทครวญของสุนทรภู่เรื่องนี้แปลกกว่านิราศธรรมดาที่ครวญถึงหญิง ผู้คนที่ยังรำลึกถึงพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังคงมีอยู่มากในสมัยนั้น จึงเป็นที่จับใจโจษกันแซ่ สุนทรภู่จึงพูดได้เต็มปากในบทต่อไปว่า
@ "อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนครฯ" |
ครั้นเมื่อสุนทรภู่กลับมาอยู่วัดเลียบได้ ๖ เดือน เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงได้ให้เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋วไปทรงเรียนหนังสือเหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ในแผ่นดินก่อน เมื่อในวันนั้นวันอังคารพะยานอยู่ ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ (พ.ศ.๒๓๗๒) แต่เมื่อสุนทรภู่ถวายอักษรไปได้ ๓-๔ เดือน ก็คิดจะเดินทางไปหัวเมืองอีก คราวนี้จะไปนานหน่อย (เข้าใจว่าเกี่ยวกับเรื่องเล่นแร่ธาตุ หรือลายแทง) สุนทรภู่จึงแต่งเพลงยาวถวายโอวาทในระหว่างพรรษาเป็นการออกตัวหน่อย เพราะได้ถวายพระอักษรเวลาเพียงไม่กี่เดือน ที่ข้าพเจ้าอธิบายเช่นนี้ เพราะเจ้าฟ้ากลางพระชนมายุเพียง ๑๑ ขวบ เจ้าฟ้าปิ๋ว ๗ ขวบ ดูจะยังไม่ถึงวัยที่จะซึมทราบในอรรถรสแห่งกลอนอย่างเที่ยงแท้ จึงเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเพื่อ “กล่อมอารมณ์” ผู้ใหญ่ชาววังมากกว่า
สุนทรภู่ไปหัวเมืองคราวนี้ ถ้าไปค้างพรรษาก็เข้าใจว่าจะเป็นเพียงพรรษาเดียว (พ.ศ. ๒๓๗๓) แล้วกลับมากรุงเทพฯ
 ชาร์ลี แชปลิน ที่ข้าพเจ้าตีความสุนทรภู่ดังนี้ ท่านผู้อ่านพึงพิจารณาศิลปิน เช่นชาลี แชปลิน ท่านผู้นี้เป็นดาราหนังรุ่นเก่า เล่นเรื่องทีไร คนดูเต็มโรง เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี แต่บทที่เล่นเป็นบทคนขอทาน ฉะนั้นเราจะเชื่อที่ ชาลี แชปลิน แสดง หรือเชื่อข้อเท็จจริงจากรายได้ของศิลปินผู้นี้ฉันใด ชาลี แชปลิน ฉันนั้นสุนทรภู่ หากท่านยังสงสัยข้อนี้ ท่านจงพิจารณาว่า เมื่อสุนทรภู่ไปภูเขาทองนั้น มีลูกศิษย์ไปด้วยกี่คน การไปหัวเมืองแต่ละครั้งไปอย่างคนอนาถา หรือไปอย่างหรู มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มเรือ แล้วจะไปอดอยากกันทั้งหมดหรือ หรือสุนทรภู่ คือ ชาลี ภู่ ?”
* แล้วย่อหน้าสุดท้ายของ “ท่านจันทร์” ก็ได้ฮา.... ยาวเลยครับ ผมเองก็สงสัยประเด็นนี้มานานแล้ว เรื่องนี้ยังจบไม่ลง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่ออีกนะครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ มกราคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๕ - (สุนทรภู่ชนชั้นกุฎุมพี)
@ สุนทรภู่ดูเห็นว่าเป็นได้ ครอบครัวใหญ่อยู่อย่างนักสร้างสรรค์ หลายลูกเมียลูกเลี้ยงพัลวัน เป็นนักฝันอย่างเอกเช่น “เชกสเปียร์”...
.................. เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำความคิดเห็นของ “ท่านจันทร์” ที่วิพากย์สุนทรภู่ว่าเป็นศิลปิน เปรียบได้ด้วย ชาลี แชปลิน ให้ได้ฮากันไปแล้ว วันนี้มาดูเรื่องสุนทรภู่ในทัศนะของ “ท่านจันทร์” กันต่อนะครับ
“ท่านจันทร์” ทรงยกเรื่องที่สุนทรภู่มิได้อัตคัดชัดสนจนยากดังที่เราเข้าใจกัน หากแต่ท่านเป็น “กฎุมพี” คนหนึ่ง มีภรรยา มีลูก หลายคน และยังมีลูกเลี้ยงอีกหลายคน ลูกศิษย์ คนรับใช้ก็มีไม่น้อย ดังความที่จะขอยกมาจากหนังสือ “ประวัติคำกลอนสุนทรภู่ ฉบับปรับปรุง” ที่ท่านเรียบเรียงไว้ดังต่อไปนี้
 “ท่านผู้อ่านสังเกตหรือเปล่าว่า เมื่อไปเมืองเพชรฯ นั้น มีลูกและศิษย์ติดสอยห้อยเรือไปด้วยกี่มากน้อย ถ้ายังไม่ได้สังเกตก็ไม่เป็นไร สังเกตในเรื่องต่อ ๆ ไปก็ได้ ลูกคนโตที่ชื่อพัดไปด้วย ทั้งเมื่อไปไหว้พระภูเขาทองแลเพชรบุรี เข้าใจว่าเมื่อบวชใหม่ ๆ ไปหัวเมืองครั้งแรกเป็นเวลาสามปีก่อนมาอยู่วัดราชบูรณะ เมื่อต้น พ.ศ. ๒๓๗๑ ก็ดูเหมือนได้ไปด้วย ไป ”ถูกปอบมันลอบใช้”
ส่วนลูกอีกคนหนึ่งที่ชื่อตาบ คงอยู่กับแม่จนแม่ที่ชื่อนิ่มตาย จึงได้มาอยู่กับบิดา แลได้ไปวัดเจ้าฟ้าด้วย ในนิราศเรื่องนี้หนูพัดบวชเป็นสามเณร ในจำพวกหนูอื่น ๆ ที่ไปเพชรบุรี มีหนูนิลแลหนูน้อย (กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ....ให้หนูน้อยคอยนับในนาวา) ส่วนที่ไปวัดเจ้าฟ้ามีหนูกลั่น (ทั้งหนูกลั่นจันทร์มากบุนนากน้อย) หนูกลั่นผู้นี้เป็นลูกเลี้ยง ดังมีบอกไว้ใน โคลงนิราศสุพรรณ คลิก ว่า “กลั่นชุบอุปถัมภ์ล้วน ลูกเลี้ยง เที่ยงธรรมฯ” (ชุบ เป็นลูกเลี้ยงอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่คำสัมผัส)
นอกจากที่ออกชื่อมาแล้ว ยังมีนายมา นายแก้ว คนแจวเรือ น้องนายแก้วชื่อนายช่อง, เจ๊กกลิ่น, นายรอดคนแจวเรืออีกคนหนึ่ง ฯลฯ ทั้งนี้พอจะเห็นได้ว่าครอบครัวของสุนทรภู่ใหญ่โตมาก ฉะนั้น ที่ว่าสุนทรภู่ตกทุกข์ได้ยากอับจนถึงกับอด เป็นเรื่องที่ยังเชื่อไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ไปไหนมิต้องพากันไปอดทีละครึ่งโหลหรือ
@ "เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพนฯ" |
ที่นิราศวัดเจ้าฟ้าขึ้นต้นดังนี้ เป็นเรื่องให้สันนิษฐานได้หลายอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงพระผนวช ในพ.ศ.๒๓๗๕ ได้เสด็จไปประทับที่วัดพระเชตุพนฯ แลได้ชวนสุนทรภู่ไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นลูกที่ชื่อพัดกำลังบวชเป็นสามเณร สุนทรภู่จึงแกล้งแต่งเป็นสำนวนเณรหนูพัด
 ฉันท์ ขำวิไล คุณฉันท์ถือตามพระนิพนธ์เป็นส่วนใหญ่ ผิดกันแต่ พ.ศ. คุณฉันท์ว่ามิได้ไปใน พ.ศ. ๒๓๗๕ แต่ไปสองปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๓๗๗ เหตุที่ว่าเช่นนั้นเพราะหนูตาบไปด้วย แลในบทว่าหนูตาบเป็นกำพร้า (เหมือนอกน้องตาบน้อยกลอยฤทัย มาตามติดบิดากำพร้าแม่) ส่วนในเรื่องนิราศพระประธม คลิก แต่งในพ.ศ. ๒๓๘๕ บอกว่าเมืยที่ชื่อนิ่มได้ตายไปแล้วเก้าปี.......
ลูกของนิ่มคือตาบอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะพัดไม่ได้ไปไหว้พระประธมด้วย ฉะนั้นที่คุณฉันท์จะจับนิราศวัดเจ้าฟ้ามาชนกับนิราศพระประธม บวกลบคูณหารศักราชว่า นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งใน พ.ศ. ๒๓๗๗ ก็เป็นหลักฐานที่ดี ครั้นแล้วคุณฉันท์ผิด สมเด็จฯ ถูก ทั้งนี้จะเป็นเพราะสุนทรภู่หรือคุณฉันท์คนใดคนหนึ่งนับนิ้วไม่ถ้วนหรืออย่างไรก็ตาม แต่หนูตาบได้มาอยู่กับบิดาแล้วแต่ พ.ศ. ๒๓๗๖ ดังจะเห็นได้ต่อไป
ในตอนพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่เขียนไว้ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าได้กล่าวว่ายังไม่เคยพบหลักฐานหรือจดหมายเหตุว่าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงผนวชที่ไหนแลเมื่อไร ที่จะสันนิษฐานว่าได้ทรงพระผนวชเมื่อพระชันษาครบก็ควร แลที่ว่าเมื่อผนวชแล้ว (ที่วัดพระแก้ว) จะได้เสด็จไปประทับที่วัดพระเชตุพนฯ ก็ควรเช่นกัน เพราะสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประทับอยู่ที่วัดนั้น (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส) แต่ที่ว่าสุนทรภู๋ได้ตามเสด็จไปอยู่วัดโพธิ์ด้วยนั้นเหตุผลมีน้อยเต็มที นอกจากนิราศวัดเจ้าฟ้าจะว่า “กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพนฯ” ในเรื่องพระองค์เจ้าลักขณานุคุณกับสุนทรภู่ ข้าพเจ้านึกว่าจนกว่าจะพบบทสรรเสริญที่ว่าสุนทรภู่แต่งถวาย ยิ่งพูดน้อยยิ่งเป็นกำไร ฉะนั้น ในชั้นนี้ ข้าพเจ้าขอถือความตามรำพันพิลาปที่ออกชื่อเพียงสองวัดในกรุงเทพฯ ที่สุนทรภู่เคยอยู่ คือวัดราชบุรณะ กับวัดเทพธิดาฯ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่ไม่เคยไปอยู่วัดโพธิ์เลย และเมื่อสุนทรภู่ไปวัดเจ้าฟ้า วัดเทพธิดาฯ ยังไม่สร้าง ฉะนั้น ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่อยู่วัดเลียบตลอดเวลาจนย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาฯ ในพ.ศ. ๒๓๘๒ จริงอยู่ สุนทรภู่อาจได้ไปค้างที่โน่นที่นี่พรรษาสองพรรษา แต่เมื่อกลับกรุงเทพฯ ก็กลับมา “รัง” ที่วัดราชบูรณะ
 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเตียนวัดโพธิ์ แต่ทำไมในนิราศวัดเจ้าฟ้าจึงว่า “กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพนฯ” นั้น สันนิษฐานว่า ถ้าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงผนวช แต่สุนทรภู่มิได้ไปอยู่ที่วัดโพธิ์ด้วย ก็อาจให้ลูกบวชเป็นสามเณรไปเป็นมหาดเล็ก หรือมิฉะนั้น ก็สันนิษฐานว่า ท่าวัดโพธิ์เป็นท่าเรือที่สำคัญ นิราศพระแท่นดงรังก็ตั้งต้นที่นั่น (ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน) นิราศถลางของนายมีก็ตั้งต้นที่นั่น (ก็ล่องไปในท่าหน้าวัดโพธิ์) ใครจะไปลงเรือที่ท่าวัดโพธิ์ไม่จำเป็นต้องบวชอยู่ที่วัดนั้น แม้แต่ทุกวันนี้ ใครจะไปอยุธยาก็ไปลงเรือที่ท่าเตียนโดยไม่ต้องไปบวชอยู่ที่วัดโพธิ์เสียก่อน จะไปเชียงใหม่ขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง ก็มิได้หมายความว่าบวชอยู่ที่วัดสถานี หรือไปเมืองนอกขึ้นเรือบินที่ดอนเมือง ก็มิได้หมายความว่าบวชอยู่ที่วัดท่าอากาศยาน ตรงกันข้าม ใครที่บวชอยู่ที่วัดหัวลำโพง ถ้าจะไปเมืองนอกก็จะต้องไปขึ้นเรือบินที่ดอนเมือง เช่นนี้เป็นของธรรมดาในการเดินทางไปเมืองนอกเมืองนา
นอกจากวัดโพธิ์ที่เป็นท่าเรือสำคัญ ยังมีมหานาคอีกแห่งหนึ่ง ที่เป็นท่าเรือสำคัญสมัยนั้นด้วย.”
* หยุดพักไว้ตรงนี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย วันศุกร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๙ / ๐๕.๕๗ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|