บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, Thammada, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒ -
ญาติทางฝ่ายบิดาพากันโอ๋ เป็นนาโถตามประสาน้าน้องพี่ สองหลานสาวม่วงคำน้ำใจดี ปรนนิบัติพัดวีทุกวี่วัน
คงมิใช่หลานแท้แต่กำเนิด หลานจึงเกิดหึงหวงอยู่หุนหัน ต้องกราบลาหลวงพ่อกลับโดยพลัน อยู่ร่วมกันอย่างไรเล่าญาติชาวชอง
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของสุนทรภู่ ว่าท่านมีบิดาเป็นชาวชองบ้านกร่ำ เมืองแกลง แขวงระยอง มารดาเป็นชนเชื้อพรามณ์เมืองเพชรบุรี บิดามารดาย้ายจากบ้านเดิมมาพบกันในพระราชวังหลัง เมื่อมารดาตั้งครรภ์ใกล้คลอด บิดาลาออกจากราชการกลับไปบวชที่วัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง สุนทรภู่เกิดในวังหลัง เล่าเรียนในสำนักวัดชีปะขาว (ศรีสุดาราม) เป็นเสมียนในพระราชวังหลัง ลักลอบได้เสียกับจันทร์ จนถูกกริ้ว จำขังทั้งคู่ ครั้นพระราชวังหลังทิวงคตจึงพ้นโทษ ออกจากการจองจำแล้วเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง...... วันนี้มาดูเรื่องราวของท่านต่อไปครับ
ท่านสุนทรภู่เขียนบอกไว้ใน นิราศเมืองแกลง คลิก ชัดเจนว่า โคตรญาติทางฝ่ายบิดาที่บ้านกร่ำเมืองแกลงนั้นเป็นชาวชอง “ชอง” เป็นชื่อของชนเผ่าอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง มีถิ่นฐานอยู่แถบชายทะเลฝั่งตะวันออกของไทย แสดงว่าพระครูอารัญธรรมรังสี หลวงพ่อของเสมียนภู่นั้นเป็นคนเชื้อชาติชอง
เป็นไปได้ว่า สมัยเมื่อพระยาตากสินหนีพม่ามาตั้งหลักที่เมืองจันท์ ชาวไทย ชาวชอง แถบชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย ได้ถูกกวาดต้อน หรือไม่ก็สมัครใจเข้าร่วมกับกองทัพพระยาตากสิน เพื่อรบพม่ากอบกู้ชาติบ้านเมืองไทย
หนุ่มชาวชองซึ่งต่อมาเป็นบิดาของสุนทรภู่นั้น ก็ได้เข้าร่วมในกองกำลังพระยาตากสินด้วย เขาได้ร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินรบไทยก๊กต่าง ๆ และพม่า จนมีความดีความชอบในราชการสงครามได้บรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนศรีสังหาร แล้วลาออกมาบวชเป็นพระภิกษุในที่สุด ปัจจุบันชาวชองแถบฝั่งทะเลตะวันออกถูกชนชาติและวัฒนธรรมประเพณีไทยกลืนกินความเป็นชนชาติชองจนจวนเจียนจะหมดสิ้นไปแล้ว
มีคำกลอนที่บ่งบอกว่าสุนทรภู่มีญาติเป็นชนเชื้อชาติชอง ซึ่งเป็นชาวบ้านกร่ำอีกแห่งหนึ่งว่า
“ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ ม่วงกับคำกลอยจิตขนิษฐา เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน” |
คำว่า หลานม่วงกับคำแล้วต่อด้วย “เป็นวงศ์วาน” ฟังแล้วก็เข้าใจว่า คนชื่อม่วง ชื่อคำ สองคนนั้นเป็นญาติมีฐานะอยู่ระดับหลาน แต่พออ่านต่อไปก็พบว่า ม่วง กับ คำ สองนางนั้นไม่น่าจะเป็นญาติของท่าน ที่เรียกว่าหลานนั้นก็เรียกกันด้วยนับถือเท่านั้น กลอนที่ปฏิเสธความเป็นญาติคือบทต่อไปนี้
“ครั้นหายเจ็บเก็บดอกไม้มาให้บ้าง กลับระคางเคืองข้องทั้งสองหลาน จะว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน ไม่ประสานสโมสรเหมือนก่อนมา
ก็จนจิตคิดเห็นเป็นคราวเคราะห์ จึงจำเพาะหึงหวงพวงบุปผา ต้องคร่ำครวญรวนอยู่ดูเอกา ก็เลยลาบิตุรงค์ทั้งวงศ์วาน
ออกจากย่านบ้านกร่ำช้ำวิโยค กำสรดโศกเศร้าหมองถึงสองหลาน เมื่อไข้หนักรักษาพยาบาล แต่นี้นานจะได้มาเห็นหน้ากัน
ครั้นจะมิหนีมาจะลาเล่า จะสร้อยเศร้าโศกาเพียงอาสัญ จึงพากเพียรเขียนคำเป็นสำคัญ ให้สองขวัญเนตรนางไว้ต่างกาย
อย่าเศร้าสร้อยคอยพี่เพียงปีหน้า จึงจะมาทำขวัญเหมือนมั่นหมาย ไม่ทิ้งขว้างห่างให้เจ้าได้อาย จงครองกายแก้วตาอย่าอาวรณ์” |
คำกลอนตอนนี้ได้ความชัดว่า “ม่วง-คำ” สองหลานสาวนั้น มิใช่หลานแท้ ๆ ของสุนทรภู่ หากแต่เป็นหญิงสาวที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้ง ครั้นสองสาวเกิดหึงหวงกันขึ้น แมลงภู่หนุ่มก็ปวดหัวแก้ปัญหาไม่ตก ต้องตัดสินใจ “บินหนี” กลับบางกอก แล้วเขียนกลอนฝากสองสาวไว้แทนกาย โดยสัญญาว่าจะกลับมาอยู่เคียงข้างเหมือนมั่นหมาย ไม่ทิ้งขว้างให้ได้อับอายผู้คน......
* ควรเป็นที่ยุติได้ว่า บิดาของท่านสุนทรภู่เป็นชาวชอง บ้านกร่ำ เมืองแกลง เข้าเป็นทหารร่วมรบอยู่ในกองทัพพระเจ้าตากสิน มีความดีความชอบจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นที่ ขุนศรีสังหาร เมื่อสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว ขุนศรีสังหารรับราชการอยู่ในกรมพระราชวังหลัง ได้ภรรยาเป็นสาวเชื้อพราหมณ์เมืองเพชรบุรีที่ตามอพยพมากับญาติซึ่งเป็นเจ้าครอกกรมพระราชวังหลัง และเป็นนางนมในพระราชวังหลัง
ต่อเมื่อภรรยามีครรภ์ใกล้คลอด เกิดขัดใจกันจนขุนศรีสังหารตัดใจลาออกจากราชการ กลับไปบวชเป็นภิกษุอยู่วัดกลางกร่ำ อยู่มาจนได้เป็นพระครูอารัญธรรมรังสี ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองแกลง ในปีที่เสมียนภู่พ้นโทษแล้วเดินทางไปหาหลวงพ่อที่เมืองแกลงนั้น ท่านบวชได้ ๒๐ พรรษาพอดี และเสมียนภู่ก็มีอายุครบ ๒๐ ปี เช่นกัน
สรุปว่า สุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลงไหม ? ยังสรุปไม่ได้นะ เพราะเหตุใด พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, ชลนา ทิชากร, Thammada, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓ -
ความแน่ชัดเชื่อได้ว่าไม่ผิด ญาติสนิทฝ่ายบิดามาเกี่ยวข้อง ชาวบ้านกร่ำเมืองแกลงแขวงระยอง ญาติพี่น้องฝ่ายพ่อมากพอควร
พ่อจึ่งเป็นชาวชองระยองแน่ หากแต่แม่มิใช่แยกไว้ส่วน ตามไปดูสายแม่มิแปรปรวน เชื้อพราหมณ์ล้วนรามราชเพชรบุรี
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า ท่านเดินทางไปหาบิดาที่บวชเป็นพระอยู่วัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง พบญาติพี่น้องทางฝ่ายบิดาที่เป็นชนชาติเชื้อชอง อยู่กับหลวงพ่อได้เพียงเดือนเศษ ก็กราบลาเดินทางกลับบางกอก การไปพบหลวงพ่อที่เป็นชนชาวชองที่บ้านกร่ำเมืองแกลงนั้น ผมได้จบลงด้วยคำถามว่า ยืนยันได้หรือยังว่าท่านสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง แขวงระยอง และตอบเองว่า ยังยืนยันมิได้ เพราะเหตุใด วันนี้มาดูเรื่องราวของรัตนกวีไทย กวีเอกของโลกท่านนี้ต่อไปครับ
ความที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่มีเชื้อสายเป็นชาวชอง เพราะบิดาเป็นคนเชื้อชาติชองแห่งเมืองแกลงอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนตัวสุนทรภู่นั้น แม้จะมีเชื้อชาติเป็นคนชอง แต่ก็ไม่ใช่คนชองเมืองแกลง เพราะท่านเกิดที่วังหลังริมคลองบางกอกน้อย เป็นคนกรุงเทพฯ โดยมีมารดาเป็นชาวเพชรบุรี ดังความที่ท่านเขียนไว้ด้วยตนเองในนิราศเมืองเพชร ซึ่งอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์อิสระแห่งเมืองเพชรค้นพบได้จากหอสมุดแห่งชาติ มีบางวรรคบางตอนผิดไปจากนิราศเมืองเพชรฉบับเดิมที่มีการตีพิมพ์เผยแผ่ไปแล้ว นิราศเรื่องนี้เชื่อกันว่าเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่านสุนทรภู่ มีคำกลอนบ่งบอกว่าท่านเป็นชาวเมืองเพชรอยู่หลายตอน จะยกมาแสดงพอสังเขปดังต่อไปนี้
“แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย แสนเสียดายดูน่านึกอาลัย
ครั้นมาถึงหน้าบ้านคุณหม่อมบุนนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย มาเมื่อครั้งคราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาแล้วหาคู่ จะขอสู่ให้เป็นเชื้อช่วยเกื้อหนุน ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวคน
ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก เป็นแต่นึกกลับหลังหลายครั้งหน ขอสมาอย่าได้มีราคีปน เป็นต่างคนต่างแคล้วก็แล้วไป
แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต แสนสนิทนับเนื้อว่าเชื้อไข จะแวะหาสารพัดยังขัดใน ต้องอายใจอำลากลัวช้ากาล” |
และยังมีอีกตอนหนึ่งความว่า
“เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก ครั้นจะทักเล่ากลัวผัวจะหึง ได้เคยเป็นเห็นฝีมือมักดื้อดึง จะตูมตึงแตกช้ำระยำเยิน
ทั้งพี่นางปรางใหญ่ได้ให้ผ้า เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ ยังเชื้อเชิญชวนชักรักอารมณ์” |
ท่านกล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ที่คุ้นเคยกันคราวเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (พระวังหลังในบทกลอนนี้) ทิวงคต หม่อมบุนนากกลับมาทำนาทำไร่อยู่ที่บ้านเดิม สุนทรภู่กราบลาหลวงพ่อพระครูอารัญธรรมรังสี จากเมืองแกลงแขวงระยอง ถึงบางกอกแล้วท่านมิได้พักอยู่กับมารดาในวังหลังอันเป็นบ้านเกิด หากแต่เลยไปหาหม่อมบุนนาก ที่ท่านจากบางกอกมาอยู่เพชรบุรีบ้านเดิมของท่าน โดยช่วยหม่อมบุนนากทำนาทำไร่ ได้พึ่งพาอาศัยหม่อมบุญนาก (ในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข) ดังความแจ้งในคำกลอนนั้นแล้ว
มีความในสำนวนกลอนนิราศเมืองเพชรที่พบใหม่ให้รายละเอียดชัดเจนว่าท่านเป็นชาวเพชรบุรี ว่าดังนี้
“มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ ต้องไปล่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา เทวสถานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย แต่สิ้นผู้ปู่ยาพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ
แต่ตัวเราเข้าใจได้ไต่ถาม จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน
จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์ สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ...” |
เป็นคำบรรยายที่ชัดเจนว่า การเดินทางไปเมืองเพชรครั้งนี้ ได้พบปะผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยกันมาเมื่อครั้งที่จากกรุงเทพฯ ไปทำนาทำไร่อาศัยใบบุญหม่อมบุนนาก เคยลักรักกับหญิงบางคนด้วย ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็ไปวอนขอท่านยายชื่อคำให้พาไปที่บ้านเก่า ซึ่งเป็นบ้านประตูไม้ไผ่ อันเป็นบ้านของ พราหมณ์รามราช โคตรญาติฝ่ายมารดาของท่าน ยังมีหลักฐานสำคัญคือศาลพระศิวะ เสาชิงช้าคงอยู่ ท่านบอกว่าบ้านพราหมณ์รามราช โคตรญาติฝ่ายมารดาของท่านนั้น เกิด “บ้านแตกสาแหรกขาด” เพราะกรุงแตก แยกย้ายพลัดพรายกัน กลุ่มมารดาของท่านแตกจากเพชรบุรีเข้าบางกอก แล้วไม่ได้กลับไปเมืองเพชรอีกเลย แม้กระนั้นก็สืบได้ว่าญาติทางฝ่ายมารดาของท่านยังหลงเหลืออยู่ที่เพชรบุรีไม่น้อยเหมือนกัน
* พักเรื่องท่านสุนทรภู่ไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, กลอน123, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, Thammada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย นครปฐม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔ -
เชื่อได้ว่ามารดรสุนทรภู่ เกิดและอยู่เมืองเพชรบุรีศรี เมื่อเติบใหญ่ย้ายตามญาติเชื้อผู้ดี เข้าอยู่ที่วังหลังฝั่งกรุงธนฯ
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของท่านสุนทรภู่รัตนกวีของไทย และกวีเอกของโลก ถึงตอนที่ว่า หลังจากที่ท่านกราบลาหลวงพ่อพระครูอารัญธรรมรังสี จากเมืองแกลง แขวงระยองแล้ว ไม่พักอยู่กับมารดาในวังหลัง หากแต่เลยไปอาศัยอยู่กับหม่อนบุนนาก ในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งออกจากวังหลังไปอยู่บ้านเดิมของท่านที่เมืองเพชรบุรี สุนทรภู่ไปอยู่บ้านหม่อมบุนนาก ช่วยทำนาทำไร่ และสอนหนังสือลูกหลานชาวบ้าน อยู่เป็นเวลานานพอสมควร วันนี้มาดูเรื่องราวของท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ
เนื้อความจากนิราศเมืองเพชรนี้ยืนยันได้ว่า สุนทรภู่มีโคตรญาติเป็นเชื้อพราหมณ์รามราชอยู่ที่เพชรบุรี ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา จะเรียกว่า เมืองแกลง แขวงระยอง เป็นเมืองพ่อ เพชรบุรี เป็นเมืองแม่ ของสุนทรภู่ก็ไม่ผิดไปได้
หรืออาจจะพูดว่า สุนทรภู่มีชาติเชื้อชองผสมชาติเชื้อพราหมณ์ เป็นลูกครึ่งชองครึ่งพราหมณ์ งั้นเถิด!
เมื่อพอจะสรุปได้ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นชาติเชื้อชาวชองมีถิ่นฐานบ้านเดิมอยู่เมืองแกลง แขวงระยอง มารดาเป็นชาติเชื้อพราหมณ์รามราชมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเมืองเพชรบุรี ทั้งสองย้ายมาอยู่กรุงธนบุรี ได้พบและรักสมัครสมานกันที่วังหลัง แล้วให้กำเนิดสุนทรภู่ที่วังหลังริมคลองบางกอกน้อย สุนทรภู่จึงถือได้ว่าเป็นชาวบางกอกโดยแท้ ตอนพ้นโทษจำเวรแล้วเดินทางไปเมืองแกลง พักอยู่กับหลวงพ่อได้ไม่นาน ก็อยู่ได้ไม่เป็นสุขสบายนัก ดังกลอนในนิราศเมืองแกลงของท่านเขียนไว้ว่า
“อยู่บ้านกร่ำทำบุญกับบิตุเรศ ถึงเดือนเศษโศกซูบจนรูปผอม ทุกคืนค่ำกำสรดสู้อดออม ประนมน้อมพุทธคุณกรุณา
ทั้งถือศีลกินเพลเหมือนเช่นบวช เย็นเย็นสวดศักราชศาสนา พยายามตามกิจท่านบิดา เป็นฐานานุประเทศธิบดี
จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม เจ้าอารามอารัญธรรมรังสี เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี กำหนดยี่สิบวสาถาวร....” |
ตามประวัติที่เรียนรู้กันมาแต่เดิมว่า เมื่อสุนทรภู่กลับจากเมืองแกลงแล้ว เจ้าครอกข้างใน (ชื่อทองอยู่) ยกนางจัน “คู่รักคู่ใคร่ คู่จำเวร” ให้เป็นภรรยา แต่เมื่อได้อ่านนิราศเมืองเพชรที่ยกมาแสดงข้างต้นนั้นแล้ว พบข้อความที่สันนิฐานได้ว่า สุนทรภู่น่าจะร่อนเร่จากเมืองแกลงไปหาญาติทางฝ่ายมารดาที่เมืองเพชรบุรีดังกลอนนิราศที่ว่า
“ครั้นมาถึงหน้าบ้านคุณหม่อมบุนนาก เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย มาเมื่อครั้งคราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนาท่านการุญ” |
เป็นความชัดเจนที่ว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทิวงคต สุนทรภู่พ้นโทษจำเวรแล้วเดินทางไปเมืองแกลง อยู่เมืองแกลงได้เดือนเศษ กลับบางกอกแล้วเห็นจะยังมิได้อยู่กับจัน “คู่จำเวร” แต่ท่านเดินทางต่อไปหาญาติฝ่ายมารดาที่เมืองเพชร ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุนนาก ท่านหม่อมผู้นี้เป็นหม่อมในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) บ้านเดิมอยู่เพชรบุรี เห็นทีว่าจะอพยพเข้าบางกอกพร้อม ๆ กับมารดาของสุนทรภู่ ครั้นกรมพระราชวังหลังทิวงคตจึงกลับบ้านเดิม สุนทรภู่กลับจากเมืองแกลงแล้วไปหาท่านอย่างผู้คุ้นเคย จนมีอะไร ๆ กับหญิงชาวเพชรบุรีตามประสา “แมลงภู่หนุ่ม” ความในนิราศเมืองเพชรกล่าวว่า ไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีศิษย์สาวไปเรียนหนังสือและกลอนในถ้ำเพียงลำพังด้วย
ต่อมาเห็นจะทนลำบากตรากตรำทำนาทำไร่ไม่ไหว บวกกับคิดถึงจัน ยอดชู้ที่วังหลังมากจนสุดทน จีงกลับมาหามารดาที่วังหลัง แล้วเจ้าครอกทองอยู่ก็ยกนางจัน “คู่จำเวน ”ให้เป็นคู่ครองอยู่กินด้วยกัน
เป็นไปได้ว่าหม่อมบุนนากคือผู้มีส่วนฝากฝังให้เจ้าครอกทองอยู่ (ชายาในพระราชวังหลัง) ยกนางจันให้อยู่กินเป็นสามีภรรยากับสุนทรภู่
สุนทรภู่อยู่กับ จัน ภรรยาคนแรกในวังหลัง มีตำแหน่งเป็น “ข้าวังหลัง” มหาดเล็กรับใช้พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ โอรสพระองค์น้อยในกรมพะราชวังหลัง ซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ (ระฆังโฆสิตาราม) คราวที่พระภิกษุพระองค์เจ้าปฐมวงศ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทในปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๐ นั้น สุนทรภู่ต้องตามเสด็จด้วย ท่านได้แต่งกลอนยาวเป็นนิราศขึ้นชื่อว่า นิราศพระบาท คลิก เป็นเรื่องที่ ๒
ในช่วงเวลานั้นเห็นที่ว่าจะเกิดการระหองระแหงกันกับจันผู้ภรรยา ด้วยสาเหตุความยากจนและหึงหวง ท่านบรรยายอารมณ์ค้างไว้ในนิราศนี้ว่า
“ได้เคืองแค้นแสนยากลำบากบอบ ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน แม้นกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นกายคน ชื่อว่าจนจงจากกำจัดไกล
สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง ทั้งสองสิ่งอย่าได้ชิดพิสมัย สัญชาติชายทรชนที่คนใด ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง
ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง อย่ารู้มีโรคาในสรรพางค์ ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร...” |
กลอน นิราศพระบาท คลิก มีอย่างไรบ้าง อยากทราบก็ลองไปหาอ่านกันดูเถิด วันนี้ขอพักเรื่องของท่านสุนทรภู่ไว้เพียงก่อน พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, Thammada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕ -
เข้ารับราชการกรมอาลักษณ์ แจ่มประจักษ์งานกวีมากมีผล เป็น“ขุนสุนทรหาร”ทะยานตน ขึ้นเป็นคนโปรดปรานของราชา
..................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตละงานของท่านสุนทรภู่ ถึงตอนที่กลับจากเมืองเพชรบุรีแล้ว เจ้าครอกทองอยู่อนุญาตให้อยู่กันเป็นสามีภรรยากับนางจัน และได้เป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ซึ่งผนวชอยู่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) พระภิกษุพระองค์เจ้าปฐมวงศ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ท่าเรือ มหาดเล็กภู่ก็ตามเสด็จด้วย โดยเดินทางไปทางเรือ ท่านได้แต่งกลอนยาวเป็นนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ นิราศพระบาท คลิก ดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น วันนี้มาดูวิถีชีวิตของท่านต่อไปครับ
* เหตุที่สุนทรภู่จะได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์นั้น พ.ณ.ประมวญมารค ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่” ว่าดังนี้
“ ต่อมาประมาณกลางรัชกาลที่ ๒ เกิดมีการทอดบัตรสนเท่ห์กัน นัยว่าสุนทรภู่ก็อยู่ในจำพวกที่ถูกสงสัย และเหตุที่ได้เข้ารับราชการก็เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงตรวจสำนวนบัตรสนเท่ห์แล้ว โปรดที่สุนทรภู่แต่ง ในจำพวกบัตรสนเท่ห์ที่ว่าทอดกันในสมัยนั้น มีโคลงจำกันได้บทหนึ่งว่า
๐ ไกรสรพระเสด็จได้.......สึกชี กรมเจษฎาบดี................เร่งไม้ พิเรนแม่นอเวจี...............ไป่คลาด อาจพลิกแผ่นดินได้.........แม่นแม้นเมืองทมิฬฯ" |
ความในโคลงว่าพระองค์เจ้าไกรสร (กรมหมื่นรักษรณเรศ) ซึ่งทรงกำกับสังฆการี ได้สึกสมเด็จอะไรก็ลิม และลงทัณฑ์โบย โดยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้ทรงเฆี่ยน สมเด็จที่ถูกสึกไปนั้น เป็นอาจารย์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ พระองค์จึงถูกไต่สวนสวนว่าเป็นผู้แต่งโคลง และที่ในโคลงมีใช้คำว่า “ไป่” ซึ่งเป็นคำที่โปรดใช้อยู่เป็นนิจ ก็เลยถูกคุมขัง แล้วประชวรสิ้นพระชนม์ปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๓๕๙”
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า ความละเอียดในการสังเกตจับความจริงในสำนวนร้อยกรอง และแม้ร้อยแก้วของนักแต่ง จนได้รู้ชัดว่า สำนวนนี้สำนวนนั้นเป็นผู้ใดเขียน ท่านจับคำที่ว่า ใครชอบใช้คำใดเป็นประจำบ้าง อย่างในเรื่องนี้ พระองค์เจ้าไกรสรซึ่งเป็นกวีสำคัญท่านหนึ่ง ชอบใช้คำว่า “ไป่” แทนคำว่า “ไม่” ใช้ในบทกวีเป็นประจำมากกว่าใคร ๆ จึงถูกจับมาสอบสวนแล้วลงโทษด้วยจำนนต่อคำว่า “ไป่” นี้เอง ปัจจุบันเราก็ใช้วิธีการนี้มาสอบสวนว่า กลอนสำนวนใดเป็นของนักกลอนท่านใด (หมายถึงนักกลอนระดับแนวหน้าที่มีผลงานมากแล้ว)
* ปี พ.ศ. ๒๓๕๒ เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ต่อมาไม่นานก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกวีที่ปรึกษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ "ขุนสุนทรโวหาร" มีความดีความชอบในการช่วยแก้ปัญหาติดขัดในการพระราชนิพนธ์บทละครหลายครั้ง จึงเป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๒)
 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ตอนนี้ไว้ว่าดังนี้
“ เมื่อสุนทรภู่ได้เป็นอาลักษณ์แล้ว มีเรื่องเล่ากันมาถึงสุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่ว่า ในสมัยนั้นกำลังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ถึตอนนางสีดาผูกคอตาย บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเล่นละครกันมา กล่าวบทนางสีดาตอนเมื่อจะผูกคอตายว่า
เอาภูษาผูกศอให้มั่น แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่ หลับเนตรจำนงปลงใจ อรไทก็โจนลงมา..... |
ตอนนี้ถึงบทหนุมานว่า บัดนั้น วายุวายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา ผูกคอโจนมาก็ตกใจ ตัวสั่นดังเพียงสิ้นชีวิต ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้ โลดโผนโจนตรงลงไป ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง ที่ผูกศกองค์พระลักษมี หย่อนลงยังพื้นปัถพี ขุนกระบี่ก็โจนลงมาฯ" ...... |
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติว่าบทเก่าตรงนี้ กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ไขได้นานนัก นางสีดาจะต้องตายเสียแล้ว บทที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ จึงคิดจะให้หนุมานเข้าไปแก้ได้โดยรวดเร็ว แต่งบทนางสีดาว่า
" จึงเอาผ้าพันกระสันรัด เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่.... |
ต่อไปนี้ก็เกิดขัดข้องว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ทรงปรึกษา ไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงลองทรงให้สุนทรภู่แต่งต่อไปว่า
" ชายหนึ่งผูกศออรไท แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมายฯ " |
ดังนี้ก็ชอบพระราชหฤทัย ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่"
* * ความข้างต้นนี้ เป็นก้าวแรกที่สุนทรภู่ได้เป็นกวีคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พรุ่งนี้มาดูบทบาทชีวิตในราชสำนักของท่านสุนทรภู่ต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก, Thammada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖ -
ทรงแต่งเรื่องรามเกียรติ์บทติดขัด ด้วยจำกัดขอบภาพศัพท์ภาษา ศึกสิบขุนสิบรถตระการตา รถลงกาใหญ่เกินประเมินการณ์
สุนทรภู่แต่งต่อความพอเหมาะ คำไพเราะสมภาพพจน์อาจหาญ พระผ่านเกล้าปราโมทย์ทรงโปรดปราน จึ่งประทานยศศักดิ์รักปรานี
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องของสุนทรภู่ ถึงตอนที่เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ เหตุที่จะได้เป็นกวีคนโปรดนั้น ก็เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยการนำบทเดิมที่มีมาแต่รัชกาลที่ ๑ มาแก้ไขดัดแปลง ตอนแรกคือบทที่ว่าด้วยนางสีดาผูกคอตาย ซึ่งบทเดิมใจความเยิ่นเย้อ จึงทรงแก้ให้กระชับเข้า แต่ก็ติดขัด ไม่มีกวีที่ปรึกษาคนใดช่วยต่อให้ถูกพระราชหฤทัยได้ ทรงให้สุนทรภู่ลองแต่งต่อดู ก็ถูกพระราชหฤทัย ความดังที่ทุกท่านได้อ่านกันแล้วนั้น วันนี้มาดูกันต่อไปครับ
* สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ต่อไปอีกว่า
“คราวนี้ ครั้งหนึ่ง ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์บทละครในรัชกาลที่ ๒ นั้น เล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นแล้ว ให้เอาบทไปซ้อมละครเสียก่อน ถ้าบทยังขัดกระบวนการเล่นละคร ก็ต้องแก้ไขบทจนกว่าละครจะเล่นได้สะดวก จึงเอาเป็นใช้ได้ บทที่สุนทรภู่แต่งถวายครั้งนั้น เข้ากับกระบวนการเล่นได้สะดวกดีด้วย จึงได้โปรดฯ
 "อีกครั้งหนึ่ง เล่ากันมาว่าเมื่อแต่งบทเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมาถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า
* รถเอยรถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณฯ |
ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับเป็นรถใหญ่โตถึงปานนั้นยังไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่ต่อ สุนทรภู่ต่อว่า
* นทีตีฟองนองระลอก คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดาลสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน บดแสงสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมาฯ |
เล่ากันว่าโปรดนัก แต่นั้นก็สนับสนุนสุนทรภู่เป้นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคน ๑ ทรงตั้งเป็นที่ ขุนสุนทรโวหาร ในกรมพระอาลักษณ์ พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนอยู่ใต้ท่าช้าง และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าฯ เป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่ง เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน”
ความกวีที่ปรึกษาคนโปรดทำให้ขุนสุนทรโวหารเห่อเหิมไม่เกรงกลัวใคร ดื่มสุราเป็นอาจิณ จนมีอยู่คราวหนึ่ง เมาสุราจนขาดสติถึงกับทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ มีผู้ถวายฎีกา ทรงทราบแล้วกริ้วถึงกับสั่งให้ลงโทษจำคุก และแม้ไม่มีขุนสุนทรโวหารเข้าร่วมเป็นกวีที่ปรึกษา ราชสำนักก็ยังคงดำเนินกิจกรรมด้านการแต่งบทละคร โขน เสภา เป็นปกติ เพราะมีกวีที่ปรึกษาเก่ง ๆ อยู่หลายท่าน เข่น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กรมหมื่นเดชาอดิศร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เป็นต้น
* สุนทรภู่ถูกจำคุกแบบ “ขังลืม” อยู่จนกระทั่ง วันหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์บทชมม้าทรงว่า “ม้าเอยม้าเทศ” แล้วติดขัด ไม่มีกวีที่ปรึกษาท่านใดแก้ไขให้ถูกพระทัยได้ จึงทรงคิดถึงสุนทรภู่ขึ้นมา โปรดฯ ให้เบิกตัวออกมาเข้าเฝ้า สุนทรภู่ต่อถวายเล่นอักษรล้วนว่า “สูงสามศอกเศษสีสังข์” เป็นที่พอพระราชหฤทัยทัย จึงโปรดให้พ้นโทษดำรงตำแหน่งเดิม
ชีวิตราชการในกรมพระอาลักษณ์ตำแหน่งกวีที่ปรึกษา ท่าน พ. ณ ประมวญมารค กล่าวว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีตลอดตับศรีสุวรรณ ส่วนตับเกาะแก้วพิสดารนั้น แต่งในรัชกาลที่ ๓ ในขณะบวชอยู่วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป
 งานกวีที่โดดเด่นของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งในสมัยเป็นกวีที่ปรึกษานั้นเรื่องหนึ่งคือ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า สุนทรภู่แต่งนิทานคำกลอนเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ตั้งใจ “ประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้” และยังว่าอีกว่า “เสภาตอนกำเนิดพลายงาม มิใช่ตอนที่กวีธรรมดาจะเลือก แต่ก่อนมาไม่มีใครแต่ง หรือแต่งก็เพียงสั้น ๆ เพื่อให้ปะติดปะต่อกัน แต่สุนทรภู่เป็นกวีที่ไม่จนเรื่อง ยิ่งเรื่องเกี่ยวกับเด็กแล้วก็หาตัวจับยาก”
* เรื่องดำเนินมาถึงตรงนี้น่าจะสนุกแล้วนะครับ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม ที่สุนทรภู่เลือกมาบรรจงแต่งประชันฝีมือกับนักกวีเอกหลายท่านในราชสำนัก เรื่องราว ถ้อยคำสำนวน ลีลา จะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะยกบางช่วงบางตอนมาให้อ่านกันนะ วันนี้ขอพักไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก, Thammada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗ -
การแต่งบทเสภาขุนช้างขุนแผน ต่างเขียนแทนลายลักษณ์เกียรติ์ศักดิ์ศรี ตอนกำเนิดพลายงามถ้อยความดี สมกวีแถวต้นคนโปรดปราน
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตและงานสุนทรภู่ถึงตอนที่ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และได้มีโอกาสแต่งกลอนต่อบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหนึ่งในกวีที่ปรึกษา และตั้งบรรดาศักดิ์เป็นที่ ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ให้ปลูกบ้านอยู่อาศัย เพราะความเป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรด ทำให้สุนทรภู่ลืมตัวไม่เกรงกลัวใคร เมาสุราอาละวาด ทำร้ายญาติผู้ใหญ่จนถูกลงโทษให้จำขัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครตัดขัด ไม่มีกวีที่ปรึกษาคนใดแก้ไขได้ ทรงนึกถึงสุนทรภู่ได้ โปรดเกล้าฯ ให้เบิกตัวจากที่คุมขังมาต่อบทละครเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงให้พ้นโทษกลับมารับราชการในตำแหน่งเดิม วันนี้มาดูชีวิตและงานของท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ
* พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงแบ่งงานให้กวีในราชสำนักแต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนิทานพื้นบ้านเมืองสุพรรณ เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นนิทานอิงประวัติศาสตร์ โดยมีเรื่องจริงเกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒ มีการทำสงครามกับล้านนานครพิงค์เชียงใหม่ ๒ ครั้ง คือ ปี พ.ศ. ๒๐๕๖ มีกองกำลังเชียงใหม่ยกลงมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย ปี พ.ศ. ๒๐๕๘ กรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปตีเชียงใหม่
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีพระนามเดิมว่า พระเชษฐาธิราช มีพระราชสมภพ ณ เมืองพระพิษณุโลก เมื่อทรงขึ้นครองราชย์สมบัติกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในนิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผนเรียกนามพระองค์ว่า สมเด็จพระพันวษา (พม่าเรียกว่า วาตะถ่อง) มีกฤษฎาธิการมากเหลือที่จะกล่าว
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้มีการขับร้องในงานต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว แต่บทเสภานั้น ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กวีชาวบ้านขับลำนำกันด้วยปฏิภาณไหวพริบของแต่ละคน (ปฏิภาณกวี) เช่นเดียวกันกับการร้องเล่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ บางสมัยก็นำเรื่องขุนช้างขุนแผนมาเล่นเป็นละครเสภา จับมาเล่นเป็นตอน ๆ เช่นตอนกำเนิดพลายแก้ว พิมพิลาไลย ขุนช้าง เป็นต้น นักขับเสภาประชันฝีปากกันอย่างสนุกสนาน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริให้นักกวีแต่งทำบทเสภาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงทรงแบ่งงานให้กวีในราชสำนักรับหน้าที่แต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนคนละตอนสองตอน โดยพระองค์เองก็ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย ขุนสุนทรโวหารรับแต่งตอน กำเนิดพลายงาม และ พลายงามอาสา
 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า “ตอนที่ ๒๔ กำเนิดพลายงาม ตอนนี้ถ้าใครเคยสังเกตกลอนสุนทรภู่ จะเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมดว่าเป็นของสุนทรภู่แต่ง จะเป็นสำนวนผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ถ้ายิ่งสังเกตกระบวนกลอนในตอนนี้ จะเห็นได้อีกชั้นหนึ่งว่า สุนทรภู่ประจงแต่งตลอดทั้งตอนโดยจะไม่ให้แพ้ของผู้อื่น ดูเหมือนจะกล่าวได้ว่า สำนวนกลอนสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องต่าง ๆ ไว้ จะเป็นเรื่องพระอภัยมณีก็ตาม เรื่องลักษณวงศ์หรือเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้ตั้งใจประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้”
ยกตัวอย่างกลอนเสภาสำนวนสุนทรภู่ตอนกำเนิดพลายงาม เมื่อขุนช้างเคียดแค้นนางวันทองที่ตั้งชื่อลูกชายว่า “พลายงาม” แสดงเครื่องหมายว่าเป็นลูกขุนแผน จึงคิดหาทางจะฆ่าพลายงามด้วยกลอุบายต่าง ๆ แต่ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ได้ พลายงามหนีไปหานางทองประศรีผู้เป็นย่าที่กาญจนบุรี เมื่อเดินทางไปใกล้ถึงบ้านนางทองประศรี ก็แวะถามเด็กเลี้ยงควายว่า บ้านนางทองประศรีอยู่ไหน ตรงนี้สุนทรภู่ใส่อารมณ์ขันลงในบทเสภาว่า
" เด็กบ้านนอกบอกเล่าให้เข้าใจ แกอยู่ไร่โน้นแน่ยังแลลับ
มะยมใหญ่ในบ้านกินหวานนัก กูไปลักบ่อยบ่อยแกคอยจับ พอฉวยได้ไอ้ขิกหยิกเสียยับ ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว
ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า แกจับเอานมยานฟัดกระบานหัว มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว แกจับตัวตีตายยายนมยานฯ" |
บทเสภาตรงนี้มองเห็นภาพนางทองประศรีชัดแจ๋วเลยว่า เป็นยายแก่นมยานที่ดุมาก เด็ก ๆ ไปลักมะยมหวานกิน แกจับตัวได้ก็ไม่เฆี่ยนตี แต่เอามือจับ “ไอ้ขิก” (องคชาตเด็ก) หยิกจนเด็กเจ็บร้องโอดโอยลั่นไปตาม ๆ กัน
อีกตอนหนึ่ง เมื่อพลายงามไปพบนางทองประศรีแล้ว แนะนำตัวบอกเล่าความเป็นมาให้ทราบโดยละเอียด นางทองประศรีรู้เรื่องแล้วก็แสดงอาการออกมาว่า
“ทองประศรีตีอกชกผางผาง ทุดอ้ายช้างชาติข้าอ้ายหน้าขน ลูกอีเฒ่าเทพทองคลองน้ำชน จะฆ่าคนเสียทั้งเป็นไม่เอ็นดู
* ทำราวเจ้าชีวิตกูคิดฟ้อง ให้มันต้องโทษกรณ์จนอ่อนหู แกบ่นว่าด่าร่ำออกพร่ำพรู พ่อมาอยู่บ้านย่าแล้วอย่ากลัว
* แม้นไอ้ขุนวุ่นมาว่าเป็นลูก มันมิถูกนมยานฟัดกบาลหัว พลางเรียกอีไหมที่ในครัว เอาแกงคั่วข้าวปลามาให้กิน” |
จะเห็นได้ว่า มิใช่แต่จะใช้ถ้อยคำร้อยสัมผัสฟัดโยนกันอย่างไพเราะเท่านั้น ท่านสุนทรภู่ยังใส่อารมณ์ลงไปให้เห็นอาการที่นางทองประศรีโกรธขุนช้างอย่างหนัก แล้วยังแทรกอารมณ์ขันเข้าไปอีกว่า ถ้าไอ้ขุนช้างมันมาอ้างว่าเจ้าพลายงามเป็นลูกมันแล้ว ย่าจะเอานมยานของย่าฟัดกบาลหัวมันให้ดู อ่านแล้วเห็นภาพพจน์ชัดแจ๋วเลย
 กลอนเสภาในเรื่องเดียวกันนี้ ตอน “พลายงามอาสา” ยกทัพไปตีเชียงใหม่ โดยมีข้อแม้ว่าขอสมเด็จพระพันวษายกโทษขุนแผนให้ออกจากคุกร่วมเดินทางไปในกองทัพด้วย ครั้นยกทัพไปถึงเมืองพิจิตร พลายงามก็ได้ศรีมาลาธิดาเจ้าเมืองพิจิตรเป็นภรรยา แล้วเดินทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ โดยผ่านพิษณุโลก- พิชัย- ศรีสัชนาลัย หรือสวรรคโลก เมื่อออกจากสวรรคโลกก็กล่าวชมนกชมไม้ในไพรกว้าง กลอนตอนนี้ในคำนำกล่าวว่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่ก็มีผู้รู้หลายท่านลงความเห็นว่า สุนทรภู่แต่ง เพราะลีลากลอนและสำนวนโวหารอันอลังการอย่างนี้จะมีใครแต่งได้ นอกจากขุนสุนทรโวหาร จะขอยกมาแสดงให้เห็นดังต่อไปนี้
“แลเห็นเขาเงาเงื้อมชะง่อนชะโงก เป็นกรวยโกรกน้ำสาดกระเซ็นซ่าน โครมครึกกึกก้องท้องพนานต์ พลุ่งพล่านมาแต่ยอดศิขริน
เป็นชะวากวุ้งเวิ้งตระเพิงพัก แง่ชะงักเงื้อมชะง่อนล้วนก้อนหิน บ้างใสสดหยดย้อยเหมือนพลอยนิล บ้างเหมือนกลิ่นพู่ย้อยห้อยเรียงราย
ตรงตระพักเพิงผาศิลาเผิน ชะงักเงิ่นเงื้อมงอกชะแง้หงาย ที่หุบห้วยเหวหินบิ่นทลาย เป็นวุ้งโว้งโพรงพรายดูลายพร้อย
บ้างเป็นยอดกอดก่ายตะเกะตะกะ ตะขรุตะขระเหี้ยนหักเป็นหินห้อย ขยุกขยิกหยดหยอดเป็นยอดย้อย บ้างแหลมลอยเลื่อนสลับระยับยิบ
บ้างงอกเง้าเป็นเงี่ยงบ้างเกลี้ยงกลม บ้างโปปมเป็นปุ่มกระปุบกระปิบ บ้างปอดแป้วเป็นพูดูลิบลิบ โล่งตลิบแลตลอดยอดศิขริน…..” |
เป็นอย่างไรครับ บทชมป่าตามจินตนาการของขุนสุนทรโวหาร ที่ยกมานี่เป็นเพียงชมภูเขาหินเท่านั้น สุนทรภู่ท่านคงจะทราบอยู่บ้างว่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสวรรคโลกนั้นมีน้ำตก ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า “ตาดเดือน ตาดดาว” ก็เลยพรรณนาภาพน้ำตกให้เห็นสวยงาม เทือกเขาที่ตั้งของน้ำตกนั้น หากพูดเป็นร้อยแก้วแล้วอย่างไรก็มองไม่เห็นภาพสวยงามเหมือนคำร้อยกรองของสุนทรภู่ ถ้อยคำเสียงสัมผัสนอกสัมผัสใน เคล้าสัมผัสอักษรเล่นคำไพเราะเพราะพริ้งระรื่นโสตหาที่ติมิได้ ท่านเขียนเล่นคำสัมผัสเสียงนอกสัมผัสในยังไม่พอ ยังเล่นคำสัมผัสอักษรด้วย การเล่นคำไพเราะและได้ความหมายชัดเจนอย่างนี้ ภาษาในวงการกลอนเขาเรียกกันว่า “วรรคทอง” เป็นการเขียนได้ยากยิ่ง ดังนั้นบทเสภาชมป่านี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นบทที่ขุนสุนทรโวหารแต่ง
** เอาละพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน พรุ่งนี้เช้าค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก, Thammada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘ -
ขัดแย้งกับคนดีกวีใหญ่ เป็นเหตุให้อนาถาน่าสงสาร หลังรอสองสวรรคตหมดการงาน ชีวิตหวานคาวสดหมดสิ้นไป
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ.................................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องสุนทรภู่ รับแต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม และ พลายงามอาสา (ไปตีเชียงใหม่) และนำบทเสภาบางตอนมาให้ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้วนั้น วันนี้มาดูเรื่องราวของสุนทรภู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยต่อไปครับ
ขุนสุนทรโวหารเป้นกวีที่ปรึกษาและเป็นคนโปรดในรัชกาลที่ ๒ แม้มีบรรดาศักดิ์เป็นเพียง “ขุน” แต่นักกวีที่ปรึกษาในราชสำนักต่างก็เกรงอกเกรงใจ ให้ความนับถือกันมากพอสมควร เหตุที่นักกวีในราชสำนักให้ความนับถือเกรงใจ น่าจะเป็นเพราะขุนสุนทรโวหารเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ ๒ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือยอมรับนับถือในเชาว์ปรีชาของสุนทรภู่ ที่ท่านเป็นทั้ง อรรถกวี สุตกวี จินตกวี ปฏิภาณกวี ที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง
ว่ากันว่า ขุนสุนทรโวหาร กับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ๒ กวีที่ปรึกษาเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนมีผลให้ขุนสุนทรโวหารตกระกำลำบากหลังจากรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้ว สาเหตุความขัดแย้งนั้นเกิดจากการแต่งบทละครเรื่องอิเหนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ มอบหน้าที่ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ตอนที่ว่าด้วยบุษบาเล่นธาร
เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรไม่รู้ เคยได้ยินได้ฟังท่านอาจารย์สถิต เสมานิล ปูชนียบุคคลของนักกลอนยุคกึ่งพุทธกาล เล่าให้ฟังที่ ศาลาลอย (ที่พระภิกษุสุนทรภู่ใช้เป็นที่รับแขกและบอกกลอนให้เหล่านางข้าหลวง หน้ากุฏิของท่าน) คณะสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม โดยท่านอาจารย์สถิตยืนยันว่า ข้อมูลของท่านกับอาจารย์ฉันท์ ขำวิไล ตรงกัน จึงควรเชื่อถือได้
เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่ง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษบาเล่นธาร (บ้างก็ว่า จินตะหราเล่นธาร) ถวายตามรับสั่ง เมื่อแต่งเสร็จในเวลาใกล้ค่ำ จึงนำบทที่นิพนธ์นั้นไปให้ขุนสุนทรโวหารตรวจดูก่อนนำถวายในที่ประชุมกวีวันรุ่งขึ้น ทุกครั้งที่นิพนธ์บทละครแล้วจะนำมาให้สุนทรภู่ตรวจดูก่อน ด้วยความนับถือเยี่ยงครูอาจารย์ แม้กวีท่านอื่น ๆ ก็มักจะทำเช่นเดียวกันนี้
พลบค่ำวันนั้น สุนทรภู่ดื่มสุราไปมากจนมึนเมา นั่งเอกเขนกเอ้เต้อยู่อย่างสบายอารมณ์ เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นำบทละครที่นิพนธ์ไปให้ดู ท่านขุนสุนทรโวหารก็อ่านออกเสียงเอื้อนทำนองเสนาะ ในบทนั้นตั้งแต่ต้นไปจนถึงคำที่ว่า
“ น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว แหวกว่ายกอบัวอยู่ไหวไหว นิลุบนพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบังใบอรชร.....” |
แล้วขุนสุนทรโวหารก็วางบทลงแล้วลุกขึ้นจากท่านั่งเอกเขนก ตบเข่าผาง และกล่าวชื่นชมว่า บทนี้ยอดเยี่ยมมาก มองเห็นภาพชัดเจนเลยว่า นางบุษบากับเหล่าข้าหลวงที่ลงไปแหวกว่ายในธารที่มีกอบัวอยู่นั้น เธอเปลือยกายเล่นน้ำ มองเห็นสรีระงดงาม ปทุมถันโผล่ปริ่มน้ำประชันกับดอกบัวทั้งตูมทั้งบาน เป็นกวีที่งดงามจนเกินคำชม หาที่ติมิได้เลย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงถือพระนิพนธ์บทนั้นกลับวังด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง
วันรุ่งขึ้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงนำบทละครที่ขุนสุนทรโวหารชมว่ายอดเยี่ยมนั้นเข้าถวายกลางที่ประชุม และทรงอ่านให้ที่ประชุมฟัง มาถึงตรงที่ว่า “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว แหวกว่ายกอบัวอยู่ไหวไหว” ขุนสุนทรโวหารกลับทักว่า “เห็นตัวอะไร” จากนั้นจึงมีการแก้บทเป็นว่า
“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายปทุมาอยู่ไหวไหว นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบังใบอรชร” |
อันที่จริง คำที่สุนทรภู่แก้ว่า “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายปทุมา.....” เป็นคำที่ให้ภาพขัดกับความที่ว่า “นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบังใบอรชร” บทนิพนธ์ในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงบรรยายให้เห็นว่า นางบุษบากับนางข้าหลวงเปลือยกายเล่นน้ำ แหวกว่ายในกอบัว น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวนางในน้ำใสนั้นชัดเจน แต่คำที่สุนทรภู่แก้นั้น กลับเป็นว่า เห็นตัวปลามาแหวกว่ายกอบัว เห็นดอกบัวตูมปริ่มน้ำรำไร ไม่เกี่ยวกับนางบุษบากับเหล่าข้าหลวงเลย
นี่ควรถือได้ว่าเป็นความผิดฉกรรจ์ของสุนทรภู่
อีกคราวหนึ่ง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์รับพระราชดำรัสสั่งให้แต่งบทละครเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่ ท้าวสามลรำพึงว่า “จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาตรปรารถนา” ขุนสุนทรโวหารทักท้วงว่า “ปรารถนา” อะไร ตรงนี้ก็ต้องแก้เป็น “ให้ลูกแก้วมีคู่เสนหา” กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงถูกหักหน้าในที่ประชุมกวีเป็นครั้งที่ ๒
** เรื่องบอกเล่าที่ว่ามานี้ คงจะไม่เป็นเรื่อง “ยกเมฆ” ปราศจากความจริงไปได้ เพราะมีเรื่องเล่าต่อกันอีกว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นสยามเป็นรัชกาลที่ ๓ ในพระราชวงศ์จักรี ขุนสุนทรโวหาร เกรงราชภัยจึงลาออกจากราชการ และบวชเป็นพระภิกษุ ระเหเร่ร่อนไป
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, Thammada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙ -
สิ้นพระร่มโพธิ์ทองของอาลักษณ์ เหมือน “ถ่อหัก”เรือคว้างกลางน้ำไหล สุนทรภู่อเนจอนาถขาดหลักชัย เข้าอาศัยร่มผ้ากาสาวพัสตร์
แต่ปีวอกออกบวชสวดคาถา แสวงหาสิ่งหวังยังข้องขัด ไม่แน่นอนร่อนเร่เที่ยวเซซัด ไม่มีวัดอุ้มชูอยู่แน่นอน
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของสุนทรภู่กวีเอกของโลก รัตนกวีของไทย ถึงเรื่องเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กวีที่ปรึกษาคนสำคัญอีกท่านหนึ่งในราชสำนัก โดยกรมหมื่นเจษฎบดินทร์ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ตอนบุษบาลงสรง (บ้างก็ว่าจินตะหราเล่นธาร) และบทละครเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่ ความขัดแย้งดังได้กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ วันนี้มาดูความเป็นไปของกวีเอกท่านนี้ต่อนะครับ
 ชีวิตราชการในกรมพระอาลักษณ์ตำแหน่งกวีที่ปรึกษา ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗ เป็นชีวิตที่เรียกได้ว่า “สุนทรภู่รุ่งเรืองเปรื่องมาก” จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร่มโพธิ์ทองของท่านเสด็จสวรรคต ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของสุนทรภู่ก็ดับวูบลง
“แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา”
ตามคำกลอนที่ท่านสุนภู่เขียนบอกเล่าไว้ใน “รำพันพิลาป” กล่าวถึงการดำเนินชีวิตของท่านของจาก ร.๒ สวรรคต การบวชของท่านมีปัญหาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้
 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)) มีผู้รู้ (และอวดรู้) หลายท่านกล่าวว่า “สุนทรภู่บวชหนีราชภัย ออกบวชเพราะกลัวราชภัย” เหตุด้วยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กวีที่ปรึกษาผู้เคยขัดแย้งกับท่านนั้นได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) กลัวว่าจะทรงแก้แค้น จึงออกบวชทันทีในปีที่รัชกาลที่ ๒ สวรรคตนั่นเอง
ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นที่ผู้กล่าวนั้นคิดกันเอาเอง ท่านสุนทรภู่เขียนไว้ในรำพันพิลาปบอกชัดเจนว่า ท่านออกบวชเพราะ “พิศวาสพระศาสนา” หาใช่เพราะหนีราชภัยไม่ โดยความเป็นจริงแล้ว รัชกาลที่ ๓ มิได้เคืองแค้นอะไรสุนทรภู่เลย จะเห็นได้ว่าเมื่อบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) นั้น พระองค์ยังให้ เจ้าฟ้าชายกลาง เจ้าฟ้าชายปิ๋ว ราชโอรสทั้งสองในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ประสูติแต่พระราชชายา เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี) ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ ไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนหนังสือกับพระภิกษุภู่ ดังที่ท่านได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาทไว้ก่อนออกจากวัดเลียบไป คำกลอนเพลงยาวถวายโอวาทนี้ มิใช่เพียงแต่ไพเราะเพราะพริ้งเท่านั้น หากแต่เป็นคำสอนที่เป็นปรัชญาลึกซึ้งมาก เช่นที่ว่า
“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักฟาดฟันให้บรรลัย
จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด เพียรจงได้ดังประสงค์ที่ตรงดี” |
ในเพลงยาวนี้วรรคที่มีการกล่าวถึงกันบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงท่านสุนทรภู่ คือ
“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร” |
การที่ทรงให้สุนทรภู่เป็นครูสอนพระราชโอรสทั้งสอง แสดงชัดเจนว่ามิได้มีความแค้นเคืองเลย
มีปัญหา คำถามที่ ยังหาคำเฉลย (วิสัชนา) ไม่ได้คือ “สุนทรภู่” ณ พัทธสีมาวัดไหน ? เป็นแต่สันนิษฐานกันว่าน่าจะไปบวชที่เมืองเพชรบุรี เพราะเวลามีปัญหาชีวิตในบางกอก ท่านมักจะออกไปหลบแก้ปัญหาอยู่ที่เมืองนี้บ่อย ๆ เมื่อหาวัดที่ท่านบวชยังไม่พบก็ละไว้ก่อน มาดูกันว่าเมื่อท่านบวชแล้วชีวิตในเพศบรรพชิตของท่านเป็นอย่างไรบ้าง
พ.ศ. ๒๓๖๗ คือปีที่ออกบวช แล้วจาริกไปอยู่วัดต่าง ๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐาน จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๐ มีหลักฐานปรากว่าท่านเข้าอยู่ในวัดเลียบ (ซึ่งท่านน่าจะบวชที่วัดนี้ด้วย) และได้แต่งนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ นิราศภูเขาทอง คลิก กลับจากไปไหว้ภูเขาทองแล้ว บางท่านว่าเข้าอยู่วัดเลียบตามเดิม บางท่านว่าไปอยู่วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) จากนั้นไปอยู่วัดโพธิ์ (พระเชตุพนฯ) ท่าเตียน ในระยะนี้ท่านได้รับอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ โอรสอีกพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๓ และได้ย้ายจากวัดโพธิ์ เข้าอยู่วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ ใกล้วังพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ องค์อุปถัมภ์ ปี พ.ศ. ๒๓๘๒ จึงเข้าอยู่วัดเทพธิดาราม ที่สร้างเสร็จและทำพิธีผูกพัทธสีมาในปีนั้น.
เวลา ๓-๔ ปี ที่บวชเป็นภิกษุไม่มีหลักฐานว่าท่านระเหเร่ร่อนไปจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดบ้างนั้น พอจะเห็นเค้ามูลได้ว่าท่านไปไหนบ้าง คือความที่ท่านเขียนบอกเล่าไว้ใน “รำพันพิลาป” ซึ่งจะได้นำมาให้อ่านกันในตอนต่อไป วันนี้พักไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งน้มาอ่านกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กลอน123, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, Thammada, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรูภู่ ๑๐ -
กลับบางกอกอย่างเก่าเข้าวัดเลียบ ไม่เหงาเงียบอยู่ดีมีศิษย์สอน สองลูกเจ้าอนุชา “ฟ้าอาภรณ์” นามกร “ชายกลาง,ปิ๋ว”สองกุมาร
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ขุนสุนทรโวหารออกบวชเป็นพระภิกษุ ระเหเร่ร่อนไปหลายแห่งโดยไม่พบว่า ท่านบวชที่ไหน ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ กรรมวาจา-อนุสาวนาจารย์ของท่าน มีหลักฐานปรากฏในภายหลังว่าท่านได้เข้าอยู่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุฯ และสุดท้ายคือวัดเทพธิดาราม เรื่องราวของท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้มาดูกันต่อครับ
* ย้อนกับไปดูข้อมูลการออกบวชของท่านสุนทรภู่กันหน่อยนะครับ ท่านสุนทรภู่เขียนบอกไว้ในรำพันพิลาปว่า
“แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา เหมือนลอยล่องท้องชเลอยู่เอกา เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล..” |
ปีวอกที่ท่านว่าออกบวชนี้ คือ ปี พ.ศ. ๑๒๓๖๗ อันเป็นปีเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เราได้ปีบวชที่แน่นอนของท่านแล้ว แต่ พัทธสีมา และอุปัชฌาย์ที่ให้การอุปสมบทของท่านนั้นเรายังไม่ทราบ อาจารย์ (มหา) ฉันท์ ขำวิไล กล่าวว่า ท่านบวช ณ พัทธสีมาวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) พระอุปัชฌาย์ คู่สวด ก็เป็นสมภารและลูกวัดเลียบนั่นเอง
แต่ท่านจันทร์ (พ. ณ ประมวญมารค) ไม่เห็นด้วย เพราะว่า ถ้าสมภารวัดเลียบเป็นพระอุปัชฌาย์ ตอนที่ท่านแต่ง นิราศภูเขาทอง คลิก คงไม่กล้ากล่าวจ้วงจาบพระอุปัชฌาย์ว่า “จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง......ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง” แล้วท่านจันทร์ก็สรุปความเป็นของท่านว่า สุนทรภู่ออกไปบวชตามวัดแถว ๆ เมืองเพชร แล้วระเหเร่ร่อนไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ตอนปลายปีจึงได้เข้าอยู่วัดเลียบ (ราชบูรณะ)
บ้างก็ว่า ขุนสุนทรโวหารถูกถอดยศปลดตำแหน่งจึงออกบวช ข้อนี้ท่านจันทร์กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคำกลอนของ “พระภู่” ในรำพันพิลาปที่ว่า “ออกขาดจากราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา” ไม่น่าจะหมายถึงถูกถอดยศปลดตำแหน่ง อันเป็นผลการแก้แค้นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ด้วยดูในบริบทของเรื่องแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้ามิได้ทรงแค้นเคืองขุนสุนทรโวหารเลย ท่านจันทร์ยกคำกลอนมายืนยันประเด็นนี้ว่า
“ ด้วยเห็นว่าฝ่าพระบาทให้ขาดเสร็จ โดยสมเด็จประทานตามความประสงค์ ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง ถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ
วันนั้นวันอังคารพยานอยู่ ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ ทูลละอองสองพระองค์จงทรงจำ อย่าเชื่อคำคนอื่นไม่ยืนยาวฯ" |
กลอนข้างบนนี้พูดถึงเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (สมเด็จ) ประทานเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว ให้มาเรียนหนังสือในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ ทูลกระหม่อมในกลอนนี้หมายถึงพระบาสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) ได้ทรงยินยอมที่จะให้เจ้าฟ้าเล็ก ๆ ซึ่งยังประทับอยู่ในวังหลวงมาเป็นศิษย์สุนทรภู่ หากท่านได้เคยถอดยศจริง ก็ไม่น่าจะพระราชทานอนุญาต ทั้งนี้แสดงว่า ที่สุนทรภู่เกรงพระราชภัยหนีบวชนั้น เป็นข้อที่วิตกไปเอง”
มีความที่บอกเล่ากันมาอีกประเด็นหนึ่ง โดยยกคำกลอนในเพลงยาวถวายโอวาทได้กล่าวถึงความตกทุกข์ได้ยากของสุนทรภู่ว่า แม้แต่ศิษย์พระองค์หนึ่งนามว่า “ฟ้าอาภรณ์” ก็ทรงแปลกหน้า ดั่งกลอนที่ว่า
“ แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม |
” ความในกลอนบทนี้สุนทรภู่กล่าวแก่เจ้าฟ้าชายกลาง เจ้าฟ้าชายปิ๋ว ที่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนำมาฝากเป็นศิษย์พระภิกษุภู่ ท่านกล่าวว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงฝากให้สอนหนังสือเจ้าฟ้าชายอาภรณ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาเจ้าฟ้าชายกลาง เจ้าฟ้าชายปิ๋ว ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว สุนทรภู่ก็หมดบุญ เจ้าฟ้าอาภรณ์จำหน้าอาจารย์คนเดิมมิได้ ประเด็นนี้ ท่านจันทร๋ พ. ณ ประมวญมารค ทรงกล่าวให้ข้อคิดไว้น่าฟังว่า
“ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ เจ้าฟ้าอาภรณ์พระชนมายุ ๘ ขวบ ในปีนั้นสุนทรภู่ออกบวช แล้วหายไป ๓ ปี จึงกลับมาอยู่วัดราชบูรณะในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ขณะที่สุนทรภู่กลับมา เจ้าฟ้าอาภรณ์พระชันษา ๑๑ ขวบ ยังมิได้ทรงโสกันต์ ฉะนั้น ที่จะจำสุนทรภู่ไม่ได้ย่อมเป็นของธรรมดา แต่ในกรณีนี้ สุนทรภู่มิได้หายหน้าไปเฉย ๆ เมื่อกลับมายังแถมโกนผมห่มผ้าเหลืองอีกด้วย ฉะนั้น ข้าพเจ้าใคร่ถามว่า เด็กในวัยนั้น คนไหนบ้างจะไม่ “แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม”
* ความชัดเจนแล้วนะครับว่า สุนทรภู่ออกบวชนั้น มิใช่เป็นเพราะถูก ร.๓ ถอดยศปลดตำแหน่งด้วยความอาฆาตแค้นที่เคยถูกขุนสุนทรโวหารหักหน้าในการแต่งบทละคร หากแต่ออกบวชเพราะ “พิศวาสพระศาสนา” หากว่าจะกลัวราชภัย หนีราชภัย ก็เป็นเพียงวิตกไปเองเท่านั้น หาได้มีภัยจากพระราชามาเบียดเบียนแต่ประการใดไม่
มาอยู่วัดเลียบได้พรรษาหนึ่งแล้วท่านเดินทางไป “อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน” การเดินทางไปอยุธยาครั้งนี้ ท่านแต่งกลอนนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ ชื่อ นิราศภูเขาทอง คลิก ถ้อยคำสำนวนลีลากลอนไพเราะมาก ท่านไปทำไม อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๑ -
เมื่อบวชแล้วพระภู่ไม่อยู่วัด เที่ยวตุหรัดตุเหร่ไปหลายถิ่นฐาน จากเมืองเพชร,ราชบุรีและที่กาญจน์ เข้าหย่อมย่านกะเหรี่ยงป่าหาแร่ทอง
ผจญภัยหลายอย่างทางลำบาก เพราะความอยากร่ำรวยด้วยสิ่งของ จึง“เล่นแร่แปรธาตุ”ทนทดลอง “สองพี่น้อง”ถิ่นนี้ที่ประจำ
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ...............
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ ถึงบทวิเคราะห์ว่า สุนทรภู่ถูกถอดยศปลดตำแหน่ง ออกบวชด้วยความหวาดกลัวราชภัย จริงหรือไม่ โดยยกนิพนธ์ของท่านจันทร์ (พ. ณ ประมวญมารค) มา แสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่ออกบวชด้วยอาจจะกลัวราชภัยจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องความวิตกหวาดกลัวของปุถุชน แต่เรื่องการถอดยศปลดตำแหน่งแก้แค้นนั้น เห็นว่าจะไม่จริง เพราะหลังจากสุนทรภู่กลับเข้ามากรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดเลียบ(ราชบูรณะ) สมเด็จฯเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงนำราชโอรส ๒ พระองค์คือ ฟ้าชายกลาง ฟ้าชายปิ๋ว ไปทูลขอพระราชานุญาตให้เป็นศิษย์พระภิกษุภู่สอนหนังสือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาต แสดงว่ามิได้มีความเคืองแค้นในสุนทรูภู่เลย
โดยความเห็นของผม (ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้) เชื่อว่าขุนสุนทรโวหารมิได้ถูกถอดยศปลดตำแหน่งใด ๆ แต่การอุปสมบทเป็นภิกษุตามพระวินัยบัญญัติแล้ว “อุปสัมปทาเปกข” (ผู้เข้าขอบวชในท่ามกลางสงฆ์) จะต้องทำตัวให้ว่างจากความเป็นฆราวาส คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ขอบวชจะต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ไม่มีโรคต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อน เป็นต้น ถ้ามีบิดามารดาก็ต้องให้บิดามารดาอนุญาตให้บวชได้แล้ว และคุณสมบัติสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ไม่เป็นราชภัฏ คือ ไม่เป็นคนของพระราชา หรือข้าราชการ พระคู่สวดจะถามทามกลางสงฆ์คำถามหนึ่งว่า “เป็นราชภัฏหรือไม่” ต้องตอบว่า “ไม่เป็น” ถ้าเป็นก็ต้องห้าม ดังนั้นข้าราชการจึงต้องมีการลาบวช ถ้าหนีออกบวชโดยที่ยังไม่ขาดจากความเป็นข้าราชการ ก็บวชเป็นภิกษุไม่ได้ เชื่อได้ว่า ขุนสุนทรโวหารมีศรัทธาบวชเป็นภิกษุ จึงลาออกจากราชการให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ มิใช่หนีออกบวชแน่นอน
บวชแล้ว ๓ พรรษาแรกท่านไปอยู่ที่ไหน คำถามนี้เห็นจะต้องให้ท่านภิกษุภู่ตอบด้วยตนเอง โดยท่านเขียนไว้ในกลอนชื่อ “รำพันพิลาป” แต่งเมื่อตอนจำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม ความตอนหนึ่งท่านว่าอย่างนี้ครับ
ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม
ไปราชพรีมีแต่พาลจัณฑาลพระ เหมือนไปปะบอระเพ็ดเหลือเข็ดขม ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว
ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่อยู่กะเหรี่ยง ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว นอนน้ำค้างพร่างพรมพรอยพรมพราว เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง
ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้ หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ เข้าวษามาอยู่ที่สองพี่น้อง ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม” |
อ่านกลอนรำพันพิลาปตอนนี้แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า บวชใหม่ ๆ ท่านยังไม่มีวัดอยู่เป็นหลักแหล่ง บอกว่า “ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว” โดยเริ่มที่ “พริบพรี” คือ เมืองเพชร จึงเป็นไปได้ตามข้อสันนิษฐานของท่านจันทร์ที่ว่า สุนทรภู่บวชที่เมืองเพชร และเป็นไปได้ว่าผู้ที่อุปการะการบวชของท่านคือ หม่อมบุญนาก ที่ท่านเคยมาพึ่งพาอาศัยในวัยหนุ่ม ดังได้กล่าวแล้ว
บวชเป็นภิกษุที่เมืองเพชร แต่ท่านมิได้จำพรรษาอยู่เมืองเพชร เพราะมีงานเร่งด่วนที่ท่านเห็นว่าสำคัญที่สุด คือแสวงหาแร่มาถลุงเป็นทอง ท่านบอกว่าเบื่อน้ำตาลหวานเย็นทำให้เป็นลม จึงจากเมืองเพชรไปหาแร่ตามภูเขาเมืองราชบุรี แต่ก็ไม่ประสบพบแร่ที่ต้องการ พบแต่พวกคนพาลข่มเหงรังแกพระ ไปขึ้นเขาเข้าถ้ำก็ตกเขาเกือบตาย จากราชบุรีไปเมืองกาญจน์ บุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงในที่อยู่พวกกะเหรี่ยง เพราะเชื่อลาวที่บอกว่ามีแร่ทองคำอยู่ในดงกะเหรี่ยง ครั้นเข้าไปอยู่ในดงกะเหรี่ยงก็ถูกปอบเข้าสิงลูกชายวัยกำดัดที่ท่านนำพาไปด้วย ยังดีที่ท่านพอมีวิชาอาคมขลังอยู่บ้าง จึงไล่ปอบออกจากตัวลูกชายได้ แล้วใช้ให้ปอบกลับไปเข้ากินเจ้าของเสีย
ท่านไปดงกะเหรี่ยงเมืองกาญจน์ไม่เสียเที่ยวเปล่า เพราะได้แร่ (อะไรไม่รู้) จำนวนหนึ่งกลับมา จอดเรืออยู่ริมแม่น้ำท่าจีนแถว ๆ หน้าวัดสองพี่น้อง แล้วจำพรรษาอยู่ที่นั่น และอยู่อย่างลำบากยากเข็ญ มีสภาพเหมือน “เถรเรือลอย” นอนในเรือประทุน (แบบเรือสำปันที่ทำเป็นเรือจ้างมีเก๋งหรือประทุน) มุ้งก็ไม่มีจะกางกันยุง ทั้งริ้นทั้งยุงที่สองพี่น้องนี่ชุมมาก
พระภู่มาจำพรรษาอยู่แถววัดสองพี่น้อง ท่านทำอะไรหรือ มีงานครับ ท่านทุ่มเทกำลังการทำงานจนสุดตัวเลย งานอะไรอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายไท เมืองสุโทัย ๕ ตุลาตาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๒ -
ในพรรษา ณ วัดสองพี่น้อง ถลุงแร่แปรเป็นทองช่างน่าขำ ถูกขโมยถอยเรือไปทั้งลำ ชาวบ้านทำจีวรใหม่ถวายแทน
เชื่อตาเถรเกือบตายถูกควายขวิด รอดชีวิตจากกาเพนเป็นบุญแสน ชาวบ้านซื้อเรือบาตรไม่ขาดแคลน พอได้แล่นเรือลอยเร่ต่อไป
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวที่เป็นชีวิตและงานของสุนทรภู่ ถึงตอนที่ท่านออกบวช อยู่เมืองเพชรบุรีระยะหนึ่งแล้วไปราชบุรี กาญจนบุรี บุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงที่อยู่ของชนชาวกะเหรี่ยง ด้วยเชื่อลาวที่บอกว่ามีแร่แปรเป็นทองอยู่มาก กลับจากกะเหรี่ยงไปลอยเรืออยู่แถววัดสองพี่น้อง เมืองสุพรรณบุรี จำพรรษาแรกที่วัดสองพี่น้องนี้เอง พรรษาแรก ณ วัดสองพี่น้อง พระภู่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกุฎีวิหารบนบก หากแต่อาศัยอยู่ในเรือประทุนลอยลำอยู่บริเวณหน้าวัด ท่านมิได้ใส่ใจในกิจของสงฆ์มากนัก วัน ๆ เอาแต่ถลุงแร่หวังให้แปรเป็นทอง ดังคำกลอนที่ท่านเขียนไว้ในรำพันพิลาปว่า
“ ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม เสียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนอยู่ร่อนรุม เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกลัดนั่งปัดยุง
โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง จนเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน" |
ยุงที่วัดสองพี่น้องชุมมาก พระภู่กับลูกชายต้องใช้แกลบสุมให้เกิดควันไฟไล่ยุง แม้กระนั้นยุงมันยังไม่กลัว บินมาเป็นกลุ่ม ๆ เสียงฉู่ ๆ หวู่ว่อน ต้องนั่งปัดยุงอยู่ข้างกองไฟ ท่านว่าได้ตำราดีจากอาจารย์ทองบ้านจุง กล่าวว่าเหล็กไหลถลุงเป็นทองได้ ก็พยายามทำตามตำราอาจารย์ทอง เหล็กไหลนั้นเห็นทีว่าท่านได้จากถ้ำในภูเขาแถว ๆ ราชบุรี นัยว่าถ้ำหลายแห่งมีเหล็กไหลอยู่ ท่านถลุงแร่เพลินไม่เป็นอันกินอันนอนจนเสบียงอาหารหมดสิ้น ไม่เหลือแม้แต่เกลือ
 มีเรื่องเล่ากันว่าระหว่างที่พระภู่อยู่ที่สองพี่น้องนี้ มีชาวบ้านทำอาหารมาถวายเป็นสังฆทาน แต่ชาวบ้านกล่าวคำถวายไม่เป็น จึงขอให้พระภู่สอนให้กล่าวคำถวาย พระภู่ก็กล่าวคำถวายไม่เป็นเช่นกัน ครั้นจะบอกชาวบ้านว่ากล่าวคำถวายสังฆทานไม่เป็นก็อายชาวบ้าน จึงใช้ไหวพริบปฏิภาณเอาตัวรอด โดยกล่าวนำให้ว่า นะโม ตัสสะ.. ๓ จบ แล้วกล่าวถวายสังฆทานตามแบบของท่านว่า
“ อิมัสสะหมิงริมฝัง อิมังปลาร้า น้ำพริกแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอกดอกมะปราง ไก่ย่างยำมะดัน เป็นยอดอาหาร สังฆัสสะเทมิ”
ว่ากันว่าคำกล่าวถวายสังฆทานนี้ ท่านว่าเป็นกลอนร่ายยาว ออกชื่ออาหารหวานคาวทุกอย่างที่เขานำมาถวาย ผลปรากฏว่าคำกล่าวถวายสังฆทานของพระภู่ดังกล่าวนี้ชาวบ้านชื่นชอบกันมาก
พระภู่ถลุงแร่อยู่ที่สองพี่น้องเป็นเวลานาน เมื่อแร่หมดแล้วท่านก็ไปหามาใหม่ ดังคำกลอนในเรื่องเดียวกันต่อไปว่า
“ คราวไปคิดปริศนาตามตาเถร เขากาเพนพบมหิงส์ริมสิงขร มันตามติดขวิดคร่อมอ้อมอุทร หากมีขอนขวางควายไม่วายชนม์” |
นัยว่ามีตาเถรมาแนะนำว่าที่เขากาเพน (กาเผ่น) ในแถว ๆ พนมทวน มีแร่แปรเป็นทอง จึงไปหาแร่ตามคำตาเถร ครั้นไปถึงเขากาเผ่นก็พบควายป่า(หนุ่ม) ไล่ขวิด ท่านวิ่งหนีจีวรปลิวสะดุดขอนไม้ล้มลง พอดีกับที่ควายไล่มาทัน มันน่าจะหลับตาขวิด เคราะห์ดีที่ร่างท่านนอนเรียงกับขอนไม้ ควายจึงขวิดไม่ถูกตัว เพราะขอนไม้ช่วยกันไว้แท้ ๆ เทียว รอดตายจากควายขวิดแล้วกลับมาอยู่สองพี่น้องที่เดิม คราวนี้ท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ยากนานาประการ ดังคำกลอนตอนต่อไปว่า
“ โอ้ยามอยู่สุพรรณกินมันเผือก เคี้ยวแต่เปลือกไม้หมากเปรี้ยวปากเหลือ จนแรงโรยโหยหิวผอมผิวเนื้อ พริกกับเกลือกกรักใหญ่ยังไม่พอ
ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลอ เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธา” |
ยามอยู่ที่สุพรรณ (สองพี่น้อง) นั้น ท่านอดอยากถึงกับต้องเอาหัวเผือกหัวมันมาเผามาต้มกินแทนข้าว จนร่างกายผอมโซเลยทีเดียว ที่ร้ายกว่านั้นคือ หมากดิบหมากแห้งก็ไม่มีจะเคี้ยว (ท่านเป็นคนติดหมาก) ต้องใช้เปลือกไม้ (พะยอม ไม้สีเสียด) มาเคี้ยวแทนหมาก อดอยากปากแห้งเท่านั้นยังไม่พอ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ขณะที่ขึ้นบกถลุงแร่เพลินอยู่นั้น ขโมยมันแอบมาถอยเรือไปทั้งลำ บาตร ผ้าไตรครอง ก็ติดเรือไปสิ้น เรียกว่า “หมดเนื้อหมดตัว” ไปเลยก็แล้วกัน
ยังดีที่ชาวบ้านสองพี่น้องที่ศรัทธาเลื่อมใสพระภู่มีอยู่ไม่น้อย จึงช่วยกันทอผ้าไตรจีวรถวายใหม่ และเรี่ยไรซื้อเรือประทุนใหม่ให้อีกลำหนึ่ง คำโบราณที่กล่าวกันมาว่า “เล่นแร่แปรธาตุ ผ้าขาดไม่รู้ตัว” เห็นจะได้แก่พระภู่นี้เอง
ไม่ทราบแน่ชัดว่าพระภู่อยู่แถว ๆ วัดสองพี่น้องนานเพียงใด ท่านจากสองพี่น้องแล้วมิได้กลับเข้ากรุงเทพฯ หากแต่ยังเร่ร่อนไปที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง ไปที่ไหนบ้าง พรุ่งนี้มาดูกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ กันยายน ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๓ -
ถือลายแทงแจ้งข่าวมีสิ่งของ อยู่ในหนองลึกซึ้งเป็นบึงใหญ่ ลงงมหาตะเข้ฟาดแทบชาดใจ ปล้ำกันในหนองน้ำเพียงลำพัง
เทวดาช่วยไว้จึงได้รอด ล่องเรือจอดเชิงเขาเข้าเพิงหวัง หลับพักผ่อนผีโป่งส่งเสียงดัง ต้องถอดสังขารสู้จึงอยู่ยัน
...................... เต็ม อภินันท์ |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงชีวิตและงานสุนทรภู่ถึงตอนที่ พระภู่ไปจอดเรือจำพรรษาอยู่ที่หน้าวัดสองพี่น้อง สุพรรณบุรี เล่นแร่แปรธาตุ ตั้งเตาถลุงแร่เหล็กไหลให้เป็นทองคำ จนเสบียงหาอาหารหมด แร่หมดแล้วจึงไปหาแร่ใหม่ที่เขากาเผ่น พนมทวน (สมัยนั้นน่าจะอยู่ในเขตปกครองของ เมืองอู่ทอง) ไปถูกควายป่าไล่ขวิดจนแทบเอาชีวิตไม่รอด กลับมาอยู่สองพี่น้องตามเดิม มัวถลุงแร่เพลินไป ไม่ลงเรือ เป็นเหตุให้ขโมยมาลักเรือพร้อมเครื่องบริขารในเรือไปจนหมดสิ้น ชาวบ้านสองพี่น้องที่มีศรัทธาเลื่อมใสและสงสาร จึงช่วยกันทอผ้าไตรจีวร จัดหาบาตร และเรือประทุนถวายให้ใช้ได้เหมือนเดิม วันนี้มาดูเรื่องของท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ
เมื่ออยู่วัดสองพี่น้องได้สักระยะหนึ่งแล้ว พระภู่ทำทองไม่สำเร็จ จึงคิดจะเดินทางต่อไปตามลายแทงที่มีอยู่ในมือตน คราวนี้ท่านไปไหนหรือ อ่านกลอนในรำพันพิลาปที่ท่านแต่งบอกไว้ก็จะทราบได้ครับ ท่านว่าไว้ดังต่อไปนี้
“ คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้าหากเทวดา ช่วยรักษาจึงได้รอดไม่วอดวาย
วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื้อยเลื่อมลาย ล้อมรอบกายเกี้ยวตัวกันผัวเมีย
หนีไม่พ้นจนใจได้สติ สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ่อเคล้าคลอเคลีย แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟื้อยยาว
ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว คิดจะตีหนีไปกลัวไม้ท้าว โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตายฯ" |
ได้ความชัดว่า พระภิกษุภู่เดินทางตามลายแทงขึ้นไปเมืองเหนือโดยเรือประทุนลำใหม่ที่ชาวบ้านสองพี่น้องจัดหาถวาย การเดินทางของท่านนั้นเห็นจะใช้เส้นทางน้ำสายแม่น้ำท่าจีน จากสองพี่น้องถึงสุพรรณบุรี แล้วทวนน้ำตามแม่น้ำสุพรรณ ผ่านศรีประจันต์ สามชุก เดิมบางนางบวช เข้าเขตชัยนาท ผ่านหันคา ตามลำน้ำคลองมะขามเฒ่า เข้าแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านชัยนาท มโนรมย์ ถึงปากน้ำโพ แยกเข้าลำน้ำน่าน เรื่อยผ่านพิจิตร จนถึงพิษณุโลก (ในกลอนเรียกว่า “พิศศรีโลก”) เดินทางกี่วันกี่คืนไม่ทราบเหมือนกัน ท่านอาจจะพักแรมจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งอีก ๑ พรรษาก็ได้
 ท่านไม่บอกว่าในลายแทงที่ได้นั้นบอกให้ไปหาอะไร คงมิใช่แร่แปรเป็นทองอย่างที่เคยหามาแล้ว การหาแร่เหล็กไหลนั้นท่านไปตามถ้ำในป่าเขา แต่คราวนี้ท่านลงหนองน้ำ ลงไปดำน้ำงมหาจนไปปะจระเข้ากลางหนอง หรือบึงใหญ่ ต้องปล้ำกับจระเข้เหมือน “ไกรทองกับชาละวัน” เลยเทียว ท่านไม่กลายเป็นเหยื่อจระเข้เพราะเทวดายังปรานี (ดังที่ว่าในกลอน) หนองน้ำที่ลงไปงมหาของตามลายแทงแล้วปล้ำกับจระเข้เข้านั้น น่าจะเป็น “บึงราชนก” ซึ่งมีตำนานบอกเล่ากันมาว่า บึงนี้เดิมเป็นเมืองชื่อว่า เมืองราชนก ต่อมาเมืองถล่มกลายเป็นบึงใหญ่ (เหมือนทะเลสาบ) ของที่ระบุไว้ในลายแทงจึงน่าจะอยู่ในบึงแห่งนี้เอง
 รอดตายจากพิษณุโลกท่านก็ล่องเรือลงใต้ ผ่านพิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท แวะเข้าลพบุรี สระบุรี ตามลายแทงเดิม เส้นทางนี้ก็อันตรายมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเดินทางถึง “เขาม้าวิ่ง” (อยู่แถว ๆ ลพบุรี-สระบุรี) พักแรมคืนที่เพิงผาด้วยความเหนื่อยอ่อน กำลังเคลิ้มหลับในยามดึกคืนนั้นก็ต้องตกใจตื่น เมื่อมีเสียงขู่ฟ่อ ๆ ลืมตาดูก็เห็นงูเหลือมใหญ่สองตัวผัวเมียมากอดเกี้ยวเกี่ยวพันกันอยู่รอบกาย จะลุกหนีก็ไม่ทัน จำต้องทำใจดีสู้เสีอ นั่งนิ่งทำสมาธิถอดจิตออกจากร่าง อุทิศร่างกายให้เป็นเหยื่องูใหญ่ไป คงจะด้วยอำนาจสมาธิจิตนั่นเอง งูเหลือมก็คลายตัว เอาลิ้นเลียกายท่านแล้วก็เลื้อยออกไปข้างหน้า กลายร่างเป็นสตรีผมขาว ยืนอยู่เบื้องหน้าตัวสูงใหญ่เท่าเสากระโดงเรือ แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก ตอนนี้ท่านได้สติดีแล้วจึงหยิบไม้เท้าจะตี เจ้าผีโป่งตัวนั้นก็ถอยหนีหายไป
ขาล่องจากสระบุรีท่านบอกเล่าว่า เรือชนตอล่มเป็นหลายหน ดังกลอนที่ว่า
“ เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม จวนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน
แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ มาอยู่วิหารวัดเลียบช่างเยียบเย็น
โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันทร์...” |
 วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) ** หลังจากบวชแล้ว ๓ ปีเศษ เป็นพระบ้านนอกแสวงหาแร่เหล็กไหลมาถลุงเป็นทอง ตกระกำลำบากจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด จากภาคกลางขึ้นไปภาคเหนือแล้วล่องลงมากรุงเทพมหานคร วัดแรกที่เข้าอยู่ในกรุงเทพฯ คือวัดเลียบ (ราชบูรณะ) ท่านไม่มีกุฏิอยู่เหมือนพระลูกวัดทั่วไป จึงต้องอาศัยอยู่ในพระวิหาร เสื่อหมอนก็ไม่มีให้ใช้ปูหนุนนอน ได้รับความลำบากมาก พรุ่งนี้มาอ่านเรื่องราวของท่านต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๔ -
“ จะสึกหาลาพระอธิษฐาน โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยผ่อนเย็น
อยู่มาพระสิงหไกรภพโลก เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก
ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์ ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดังอำมฤค แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบาย
ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย ได้ห่มสีมีหมอนเสื่ออ่อนลาย ค่อยผ่อนคลายอุตส่าห์ตรองสนองคุณ.....”
...................... รำพันพิลาป (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า เดินทางจากสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ขึ้นไปทางภาคเหนือ ถือลายแทงแสวงหาสิ่งของที่ต้องการ ถึงเมืองพิษณุโลก ลายแทงบอกว่ามีของอยู่ในหนองน้ำใหญ่ จึงลงไปงมหา พบจระเข้ในหนองใหญ่ ได้ปล้ำกับจระเข้ รอดตายมาได้ ล่องเรือกลับลงใต้ ผจญภัยผีโป่งแถว ๆ ลพบุรี สระบุรี แล้วล่องลงกรุงเทพฯ เข้าอยู่ในวิหารวัดเลียบ(ราชบูรณะ) อย่างยากไร้ วันนี้มาดูเรื่องราวชีวิตและงานของท่านต่อไปครับ
กลอนข้างต้นนี้ เป็นกลอนที่พระภิกษุภู่แต่งเมื่อยามอยู่วัดเทพธิดาราม รำพึงรำพันถึงความหลังในหัวข้อเรื่องว่า “รำพันพิลาป” ท่านบอกความชัดเจนว่า ตอนนั้นคิดจะลาสิกขา (สึก) เสียแล้ว ก็พอดีมี “พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ” เข้ามาช่วยอุปถัมภ์บำรุงไว้ไม่ต้องสึก
พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ในที่นี้ท่านหมายถึง เจ้าฟ้าชายกลาง (สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์) กับเจ้าฟ้าชายปิ๋ว สองพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ อันประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งทรงได้รับพระราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๓ ให้นำมาฝากเป็นศิษย์พระภู่ ให้สอนหนังสือเช่นเดียวกันกับที่เคยสอนเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่มาแล้ว
เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงเข้ามาอุปถัมภ์บำรุง ก็อยู่อย่างมีความสุขสบายขึ้นบ้าง แต่ท่านกลับกล่าวว่า “ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย” ก็แสดงว่ายังมีอะไร ๆ ในวัดเลียบที่ทำให้ท่านไม่สะดวกสบายนัก ท่านอาจจะถูกอิจฉาริษยา ที่เจ้าฟ้ากุณฑลฯ นำพระราชโอรสมามอบเป็นศิษย์พระภู่ พวกอิจฉาริษยาจึงพากันกลั่นแกล้งนานาประการ และในระยะเวลานั้น พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (ในกลอนข้างต้นนี้เรียกว่า “พระสิงหไกรภพ”) ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงร่วมอุปการะพระภิกษุภู่ด้วย ทำให้พวกที่อิจฉาริษยาหาเรื่องใส่จนเดือดร้อนมากขึ้น
ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกจากวัดเลียบเดินทางไปกรุงเก่า (อยุธยา) แต่งกลอนนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า นิราศภูเขาทอง คลิก โดยมีหนูพัดบุตรชายที่เกิดกับนางจันภรรยาคนแรกร่วมเดินทางไปด้วย นิราศเรื่องนี้ทั้งลีลาคารม คำคม คติธรรมของท่านเรียงร้อยไว้ดีเยี่ยม จนได้รับการยกย่องว่าในบรรดานิราศของสุนทรภู่นั้น นิราศภูเขาทองยอดเยี่ยมที่สุด จึงใคร่ขอเวลาดำเนินเรื่องชีวิตท่าน มาแวะชมคารม คมคำ คติธรรมของท่าน เป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้
“.. เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น
อาวาสราชบุรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง จึงอำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาในสาคร....” |
ปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๑ นั้น ท่านเดินทางออกจากวัดเลียบในเดือน ๑๑ ข้างแรม ท่านว่าเสร็จธุระในการจำพรรษา และอนุโมทนากฐินรับอานิสงส์ตามพระวินัยกรรมแล้ว จึงเดินทางออกจากวัด จะเป็นวันแรมกี่ค่ำเดือน ๑๑ ก็สุดรู้ได้ อย่างเร็วก็คงไม่เกิน แรม ๙ ค่ำเดือน ๑๑ โดยตีเสียว่า วันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน พระภู่รับกฐินภิญโญโมทนา วันรุ่งขึ้นเวลาเย็นก็ลงเรือ ตรงที่เป็นบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน
ก่อนจะออกเรือก็มองดูวัดที่เคยอยู่อาศัยอยู่ “สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย” แต่ในคำกลอนต่อไปดูจะขัดแย้งกันที่ว่า “เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง” ก็แสดงว่าท่านถูกรังแกจากคนพาล ครั้นเข้าฟ้องร้องเจ้าอาวาสแล้วก็ไม่ได้ผล จึงเขียนเป็นกลอนว่า “จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง” ช่างคิดเปรียบเทียบดีเหลือเกิน
ออกจากวัดเลียบแล้วจะไปทางไหน อย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านความตามรอย นิราศภูเขาทอง คลิก กันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 พระเจดีย์ภูเขาทอง วัดภูเขาทอง อยุธยา - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๕ -
“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทั้งเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งพระวสา เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป.....”
...................... นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..............................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและงานสุนทรภู่ ถึงตอนที่ท่านเข้าอยู่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ ได้รับอุปถัมภ์บำรุงจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงนำเจ้าฟ้าชายกลาง เจ้าฟ้าชายปิ๋ว มามอบตัวเป็นศิษย์ให้สอนหนังสือ จนถูกอิจฉาริษยาจากคนพาลนานาประการ แม้ท่านจะฟ้องร้องต่ออธิบดีสงฆ์ (สมภาร เจ้าอาวาสวัด) ท่านสมภารก็ช่วยอะไรไม่ได้
ครั้นออกพรรษา รับกฐินแล้ว ท่านก็เดินทางออกจากวัด มุ่งหน้าไปนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงเก่าอยุธยา ไปโดยทางเรือตามลำน้ำเจ้าพระยา และได้แต่งกลอนนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ นิราศภูเขาทอง คลิก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศยอดเยี่ยมที่สุดของสุนทรภู่ ตลอดระยะทางที่แจวเรือทวนน้ำขึ้นไปกรุงเก่านั้น ท่านได้พรรณนาถึงสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ออกจากวัดเลียบไปจนถึงภูเขาทอง ดังนั้น ผมจึงตกลงใจจะพาทุกท่านตามรอยนิราศภูเขาทองของท่านสุนทรภู่ไปจนจบ และเริ่มออกจากวัดเลียบเมื่อวานนี้ เรือพาหนะของท่านทวนน้ำขึ้นไปถึงแถว ๆ ท่าเตียนแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 กลอนข้างต้นเรื่องวันนี้ ท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อเรือประทุนของท่านแจวทวนน้ำขึ้นถึงบริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเรียกว่า “หน้าวัง” ก็เกิดความรู้สึกโศกาอาลัยดังใจขาด ด้วยหวนคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เคยเข้าเฝ้าทั้งเช้าเย็น โดยเวลาเช้าเฝ้าแหนตามตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการ เวลาเย็นเข้าเฝ้าในตำแหน่งกวีที่ปรึกษา พิจารณาสำนวนกวีในบทละครที่นักกวีแต่งเสร็จแล้วนำมาอ่านเพื่อให้ที่ประชุมกวีเห็นชอบรับรองกัน ขุนสุนทรโวหารมีความสุขสนุกสนานในการเป็นข้าราชการกรมพระอาลักษณ์และกวีที่ปรึกษาคนโปรด
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว ขุนสุนทรโวหารปานว่าหัวขาด ไร้ญาติขาดมิตร ตกระกำลำบากยากเข็ญ ต้องระเหเร่ร่อนไปอย่างไร้ที่พึ่ง ในการบวชของท่านนี้ตั้งใจในบัดนั้นว่า จะบำเพ็ญพรตภาวนาปฏิบัติธรรมตลอดพรรษา อุทิศส่วนบุญถวายเป็นพระราชกุศล ตั้งความปรารถนาว่าเกิดชาติใดภพใดขอได้เป็นเกิดเป็นข้ารองบาททุกชาติไป รำพึงรำพันอย่างนี้จนเรือแล่นเลยขึ้นจะพ้นบริเวณพระราชวัง ท่านก็เขียนกลอนรำพันต่อไปว่า
“ ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
พระทรงแต่งแปลงบทพจนาตย์ เคยรับราชโองการงานฉลอง จนกฐินสิ้นแม่น้ำและลำคลอง มิได้ข้องเคืองขัดพระหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระหลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์
ดูในวังยังเห็นพระอัฐิ ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์......” |
* กลอนตรงนี้ท่านรำพันถึงครั้งที่ยังเป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรด ซึ่งเป็นคนเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่งที่ทรงงาน ทุกครั้งที่เสด็จทางชลมารค ขุนสุนทรโวหารต้องตามเสด็จและหมอบเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิด ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีใด ๆ แล้วก็จะให้ขุนสุนทรโวหารตรวจดูทุกครั้ง มิใช่ตรวจดูแต่ตาเท่านั้น ต้องอ่านทำนองเสนาะถวายด้วย สุนทรภู่หมอบเฝ้าใกล้ชิดพระวรกายจนได้กลิ่นเครื่องหอมที่ทาไล้พระวรกายอบอวล กลอนที่ว่า “วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”
เดี๋ยวนี้เขียนกันว่า “วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์” โดยเพิ่มคำมา “เหมือน” เข้ามา ซึ่ง ท่านจันทร์ว่า ผิดไปจากของเดิมที่ไม่มีคำว่า “เหมือน”
บทที่ว่า “....ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์” ความตรงนี้หมายถึงพระภิกษุภู่ตั้งสติถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มิได้ทรงถือโทษโกรธเคืองสุนทรภู่เลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากแสดงออกด้วยการทรงมีพระราชานุญาตให้พระราชอนุชาทั้งสองพระองค์ คือเจ้าฟ้าชายกลาง ชายปิ๋ว ไปเป็นศิษย์พระภิกษุภู่นั่นเอง
เรือประทุนคู่ชีพถูกแจวแล่นเลยท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ผ่านพระราชวังหน้า และพระราชวังหลังแดนเกิดของท่านแล้ว ก็มีกลอนรำพันอีกว่า
“ ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา อายุยื่นหมื่นเท่าเสาศิลา อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ แพประจำจอดรายเขาขายของ มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ |
* บริเวณปากคลองบางกอกน้อยด้านทิศเหนือเป็นที่ปักเสาหินแสดงเขตแดนราชธานี และที่ตรงนั้นมีวัดตั้งอยู่ เป็นวัดเก่าแก่แต่ปลายกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกกันว่า วัดเสาประโคน หรือวัดเสาหิน หมายถึงวัดที่เป็นเขตแดนเมืองหลวง วันที่พระภิกษุภู่แจวเรือผ่านไปนั้นไม่มีเสาประโคนหรือเสาหินให้เห็นแล้ว เห็นแต่ว่าบริเวณนั้นมีเรือนแพ และเรือพายขายค้าสินค้านานาชนิด จะเรียกว่า เป็นตลาดน้ำก็ว่าได้
 วัดดุสิดารามวรวิหาร วัดเสาประโคนนี้ สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดดุสิตาราม ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส รวมวัดภุมรินราชปักษี กับ วัดน้อยทองอยู่ ซึ่งมีเขตติดต่อกันและไม่มีพระอยู่ ให้วัดดุสิตารามปกครองดูแล ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มีประกาศให้วัดภุมรินราชปักษี วัดน้อยทองอยู่ กับวัดดุสิตารามรวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน เป็นวัดดุสิตาราม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
** จากวัดเสาประโคนแล้วพระภู่จะต่อไปไหน พรุ่งนี้มาตามรอยท่านต่อไปครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|