บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๖ -
“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชฌโพธิญาณประมาณหมาย ถึงสุราพากรอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไป
ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...........................
พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร หนุ่มใหญ่วัย ๔๐ เศษ นั่งเรือเลยวัดเสาประโคนขึ้นไปถึงโรงเหล้าบางยี่ขัน เห็นโรงเหล้ากำลังกลั่นน้ำเมาควันลอยขึ้นออกจากปล่องเป็นโขมง ก็เขียนเป็นกลอนลงใน นิราศภูเขาทอง คลิก แสดงความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ดังความที่ยกมาลงไว้ข้างต้นนี้
คำกลอนตอนนี้เป็นคติธรรมคำปรัชญาที่ลึกซึ้งยิ่งนัก ท่านเปรียบน้ำเมาคือสุราเมรัยว่าเป็น “น้ำนรก” เพราะสมัยที่ท่านยังหนุ่มแน่นอยู่นั้น ดื่มสุราเมรัย เมามายไม่มีสติรู้ตัว ทำชั่วไปหลายประการ ต้องติดคุกจำขัง ชีวิตราชการไม่ก้าวหน้า ยศตำแหน่งไม่สูงทันเทียมเพื่อน ทั้ง ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความสามารถเหนือใคร ๆ ในรุ่นเดียวกัน ต้องตกระกำลำบากเพราะน้ำเมานี่เอง ดังนั้นท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า จะกรวดน้ำทำบุญขอสำเร็จโพธิญาณในอนาคต ต่อนี้ไป แม้ว่าสุราจะพาให้รอดไปได้ดีอย่างไรก็ไม่เชื่อถือแล้ว จะแกล้งเมินไกลเสีย
"ท่านจันทร์" ทรงกล่าวว่า สุนทรภู่เห็นทีจะเลิกดื่มสุราได้ตั้งแต่ตอนที่ถูก “ขังลืม” เมื่อพ้นโทษแล้วก็ไม่ได้กลับไปดื่มอีก โดยท่านอ้างเอากลอนตอนนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า สุนทรภู่รู้ซึ้งถึงโทษของการดื่มน้ำเมามาก่อนหน้านี้แล้ว
กลอนที่นักกลอนระดับอาจารย์เรียกกันว่า “วรรคทอง” ในนิราศภูเขาทองมีหลายบทหลายตอน วรรคที่คนเป็นนักกลอนและมิใช่นักกลอนจำจำกันได้มากที่สุดคือบทที่ว่า
“ ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน” |
 เป็นปรัชญาความรักที่ลึกซึ้งมาก นักเลงสุราบางคนเอาไปพูดอ้างว่า เมาเหล้าดีกว่าเมารัก เพราะเมาเหล้าไม่นานก็หาย แต่เมารักสิเมาจนตายก็ไม่หายเมา
เรือประทุนพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ผ่านโรงเหล้ามาแล้ว ถึงสถานที่จำคัญอีกหลายแห่งที่ท่านเห็นว่าควรบันทึกไว้ในกลอนนิราศคือ
* “ ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ ร่มนิโรธรุกขมูลให้พูนผล ขอเดชะอานุภาพพระทศพล ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกาย
ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง มีข้องข้งกุ้งปลาไว้ค้าขาย ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง......” |
 คลองบางยี่ขัน * เรือประทุนถูกแจวทวนน้ำจากโรงเหล้าบางยี่ขันผ่านบางจาก บางพลู บางพลัด บางโพธิ์ ถึงบ้านญวน บางพลัดกับบางโพธิ์ อยู่เยื้อง ๆ กันคนละฝั่งเจ้าพระยา อ่านนิราศถึงตรงนี้ ได้คำศัพท์ที่ออกเรียกที่ถือว่า ถูกต้องแน่นอน (กว่าพจนานุกรมของราชบัณฑิตสถาน) คือ “โพธิ์” ถ้ามีการันต์เหนือสระอิ ท่านให้ออกเสียงว่า “โพ” ถ้าไม่มีการันต์ให้ออกเสียงว่า “โพด” ผู้ประกาศข่าวทั้งหลายควรจำจดกันไว้ให้ดี
บ้านญวนแถวบางโพธิ์สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ เห็นจะเป็นชุมชนใหญ่กว่าบ้านญวนสามเสน วันที่พระภิกษุภู่ผ่านไปนั้น ท่านเห็นมีร้านโรงมากมาย ในน้ำหน้าร้านโรงนั้น มีกระชังขังกุ้ง ปลา ไว้ขาย นอกจากนั้น ยังมีโพงพางไว้ดักจับกุ้งปลาอีกด้วย นี่ก็เป็นความรู้หนึ่งที่ควรรู้ไว้ (ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม) นะครับ
พักเรื่องไว้ตรงบ้านญวนบางโพธิ์นี่ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, Thammada, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, กลอน123, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร : นนทบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๗ -
จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง ถึงเขมาอารามอร่ามทอง พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จบรมโกศ มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน
ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเป็นเกลียวกลอก กลับกระฉอกฉานฉัดฉวัดเฉวียน บ้างพลุ่งพลุ่งรุ้งวงเหมือนกงเกวียน ดูเวียนเวียนคว้างคว้างเป็นหว่างวน
ทั้งหัวท้ายกรายแจวกระชากจ้วง ครรไลล่วงเลยทางมากลางหน โอ้เรือพ้นวนมาในสาชล ใจยังวนหวังสวาทไม่คลาดคลา.......”
.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้พาทุกท่านตามรอย นิราศภูเขาทอง คลิก ของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ออกจากวัดเลียบมาถึงบ้านญวนบางโพธิ์ วันนี้ตามท่านมาถึงวัดเขมา ปากน้ำเมืองนนท์แล้วครับ
คำกลอนข้างบนนี้ท่านสุนทรภู่กล่าวว่าวันที่ท่านมาถึงวัดเขมาภิรตาราม เห็นร่องรอยการฉลองโบสถ์ผ่านไปได้ ๒ วันแล้ว หวนคิดถึงคราก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงผูกพัทธสีมา ขุนสุนทรโวหารกวีที่ปรึกษาคนโปรดก็โดยเสด็จด้วย ได้เข้าชมภายในพระอุโบสถที่มีพระพิมพ์แปดหมื่นสี่พันองค์ ที่แปะติดริมผนังพระอุโบสถอย่างงดงามมาก เสียดายที่งานฉลองพระอารามครั้งนี้มิได้มาร่วมงานด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สวรรคต ขุนสุนทรภู่หมดวาสนาเสียแล้ว
เรือประทุนพาหนะของท่านพลัดติดวังน้ำวนตรงปากน้ำใกล้ ๆ วัดเขมาฯ นั้น ถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากกระชากพัดจนเรือเกือบจะล่มจมลง ฝีพายประจำเรือต้องช่วยกันแจวจ้วงจ้ำค้ำถ่อเต็มแรง จึงกระชากลำเรือออกพ้นวังวนของน้ำไป แล้วเรือก็ถูกแจวทวนกระแสน้ำต่อไป
“ ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง สองฟากฝั่งก็แล้วล้วนสวนพฤกษา โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ
เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง ทั้งรักแซงแซมสวาทประหลาดเหลือ เหมือนโศกพี่ที่ช้ำระกำเจือ เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย
ถึงแขวงนนท์ชลมารคตลาดขวัญ มีพ่วงแพแพรพรรณเขาค้าขาย ทั้งของสวนล้วนแต่เรือเรียงราย พวกหญิงชายชุมกันทั้งวันคืนฯ” |
 เรือลอยลำทวนน้ำผ่านตลาดแก้วที่ท่านกล่าวว่า แลไม่เห็นตลาดตั้งอยู่ริมน้ำ สองฟากฝั่งในย่านนั้นแลเห็นแต่สวนพฤกษา ซึ่งก็เป็นสวนผลไม้ที่เต็มไปด้วยทุเรียน มังคุด ชมพู่ และไม้ผลนานาชนิด กลิ่นดอกไม้ตรลอบอวลชวนให้คำนึงถึงกลิ่น “ผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ” ยิ่งแลเห็นต้นโศกใหญ่ มีกอระกำแฝงแซงแซมด้วยต้นรัก อารมณ์กวีจากหนุ่มใหญ่วัย ๔๐ ปีเศษของท่านก็กระเจิดกระเจิงไปดังคำกลอนข้างต้น จนกระทั่งเรือเลยเข้าถึงตลาดขวัญ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเมืองนนท์ ทั้งในเรือนแพริมน้ำและในเรือพายกรายไปมา มีล้วนแต่ผักผลไม้ของสวนนนท์มาค้าขายกัน
“ มาถึงบางธรณีทวีโศก ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร
เป็นเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย
โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิดฯ” |
เลยขึ้นมาถึงบางธรณี สุนทรภู่แต่งกลอนรำพันตรงนี้เป็นปรัชญาลึกซึ้งมาก ท่านว่าแผ่นดินทั้งหนาทั้งกว้างสุดประมาณ แต่ว่าตัวท่านนั้นร่างกายเล็กนิดเดียวกลับไม่มีแผ่นดินจะให้อยู่อาศัย ทุกหนแห่งมีแต่หนามเหน็บคอยทิ่มแทง ทำให้ “คับใจอยู่ยาก” ต้องร่อนเร่ไปเหมือนนกไร้รัง บินคว้างอยู่เดียวดาย กลอนวรรคทองตรงนี้ยังติดปากคนไทยอยู่จนทุกนี้ว่า “โอ้ยากไร้กายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย....”
 ชุมชนมอญ เกาะเกร็ด : ปากเกร็ด นนทบุรี ถึงบ้านเกร็ด หรือ ปากเกร็ด ชุมชนชาวมอญ ท่านก็ว่าหญิงมอญแต่เดิมมานั้นเกล้ามวยผมสวยงามตามแบบอย่างชนชาวมอญ แต่วันที่ทานไปเห็นนั้น หญิงชาวมอญบ้านปากเกร็ดเปลี่ยนมาถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา แต่งหน้าเหมือนหญิงชาวไทยเสียแล้ว ตรงนี้ท่านกล่าวปรัชญาที่ลึกซึ้งว่า สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง คือทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในลักษณะที่เสมอกัน (สามัญ) คือ อนิจจังความไม่เที่ยงแท้ ล้วนผันแปรไป ดูหญิงชาวมอญเป็นตัวอย่างเถิด
แล้วท่านก็ว่า “นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิด” ซึ่งเป็นความจริงตามคัมภีร์อภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ที่ว่าด้วยเรื่องจิต หรือใจ ว่าทุกคนมีจิตหรือใจมากนับร้อยดวง สุนทรภู่ท่านคงจะเรียนรู้พระอภิธรรมมาบ้างจึงกล่าวว่า ทุกคนมีหลายใจ อย่าได้คิดว่าคนมีใจเดียว ใครที่พูดว่า “ฉันเป็นคนใจเดียว” นั่นโกหกชัด ๆ เลย
** ตามรอยนิราศภูเขาทองของท่านสุนทรภู่มาแค่ปากเกร็ดก่อนนะครับ เหนื่อยแล้วหละ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองุโขทัย ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดกู้ : บางพูด นนทบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๘ -
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา...”
.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้พาตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก ทวนลำน้ำแม่เจ้าพระยามาถึงบ้านมอญปากเกร็ด ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญใหญ่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ท่านกล่าวในกลอนเชิงตำหนิว่า หญิงชาวมอญไม่รักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง ที่เคยแต่งกายเกล้าผมมวย กลับเปลี่ยนมาเป็นถอนไรจุกจนหน้าเหมือนตุ๊กตา ผัดหน้าจับเขม่าเหมือนหญิงไทย (สมัยนั้น) วันนี้มาตามรอยนิราศภูเขาทองกันต่อครับ
กลอน ๑ บทข้างบนนี้ พระภิกษุภู่นั่งเรือประทุนแจวทวนน้ำจากปากเกร็ดขึ้นไปบ้านบางพูด ก็แต่งกลอนวรรคทองขึ้นอีกบทหนึ่ง กลอนบทนี้ทั้งไพเราะและใส่คติธรรมเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง เตือนคนที่ชอบพูดจากให้สำเหนียกในการพูดให้จงดี เพราะคำพูดทุกคำสามารถสร้างและทำลายตัวเองและมิตรได้ ถ้าพูดดีก็เป็นศรีเป็นศักดิ์แก่ตนเองและญาติมิตร มีคนรักชื่นชมนิยมชมชอบ ถ้าพูดชั่ว อาจทำให้ตัวตายและทำลายมิตรด้วย คนที่จะเป็นคนผิด คนชอบ (ถูก) ในสังคมมนุษย์ ก็เพราะการพูดจานั่นเอง
ท่านเขียนกลอนสอนเรื่องการพูดเพียงสั้น ๆ แต่ได้ความหมายกว้างไกล จนกลายเป็นคำสอนอมตะไปแล้ว เรือประทุนก็ถูกแจวทวนกระแสน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือโดยลำดับ
“ ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา ขอให้สมคะเนเถิดเทวา จะได้ผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย
ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้ เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา
ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา เป็นล่วงพ้นรนราคราคา ถึงนางฟ้ามาให้ไม่ใยดีฯ |
 บ้านเดื่อ เรือแล่นถึงบ้านใหม่ ก็ทำให้ใจหวนคิดหาบ้าน (ที่อยู่) ใหม่ เพราะบ้านเก่าคือวัดเลียบนั้น แม้จะเป็นบ้านแคบก็พออยู่ได้ แต่เหตุการณ์หรือสังคมภายในวัดไม่ดี ทำให้คับใจจนไม่อยากทนอยู่ต่อไป จึงขอพรเทวาที่บ้านใหม่ช่วยดลบันดาลให้ท่านได้บ้านใหม่ซึ่งดีกว่าบ้านเก่าด้วยเถิด จากบ้านใหม่เลยไปถึงบ้านเดื่อ ท่านก็ให้ความรู้ว่า ผลมะเดื่อมีแมลงหวี่เกิดขึ้นภายใน เป็นเรื่องประหลาด จึงผลมะเดื่อช่างเหมือนคนพาล ที่ ”หวานนอกขมใน” คบไม่ได้ ครั้นถึงบางหลวงเชิงราก ท่านก็รำพันว่า เหมือนตัวท่านที่สละละทิ้งยศศักดิ์มาบวชอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นการล่วงพ้นความดิ้นรนอยากในตัณหาราคะ แม้นางฟ้ามาให้เสพสมก็มิได้อาลัยใยดีแล้ว
" ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง แต่ชื่อตั้งยังอยู่เขารู้ทั่ว โอ้เรานี้สุนทรประทานตัว ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี ทุกวันนี้ซังตายทรงกายมาฯ |
 สามโคก ปทุมธานี เลยจากบางหลวงเชิงรากถึงสามโคก ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ยิ่งโศกหนักด้วยหวนรำลึกถึงนามเมืองใหม่ของสามโคกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่าเมืองสามโคกนี้มีบัวหลวงมาก จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “ประทุมธานี” เป็นหัวเมืองชั้นตรี ท่านรำพันว่า นามพระราชทานนี้ใคร ๆ ก็รู้จักและเรียกขานกันทั่วไป แม้พระองค์จะล่วงลับดับสังขารไปแล้ว นามที่ทรงตั้งก็ยังคงอยู่ไม่รู้หาย แต่ตัวท่านสิ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานนามให้ว่า ขุนสุนทรโวหาร ครั้นพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว นามขุนสุนทรโวหารก็ไม่ “รอดชั่ว” กลับสิ้นไปกับพระชนมชีพของพระองค์ ต้องกลายเป็นพระภู่เที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร่อนจรหาที่อาศัยเรื่อยไป
“ ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่งิ้วละลิ่วสูง ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา ก็นึกน่ากลัวหนามขามขามใจ
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว ใครทำชู้คู่ท่านแล้วบรรลัย ก็ต้องไปปีต้นน่าขนพอง
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง เจียนจะต้องเป็นบ้างหรืออย่างไร.......” |
 ต้นงิ้ว อ๊ะ ! อ้าว.....พระภู่ สุนทรโวหาร กำลังคิดจะเล่นชู้กะเขาบ้างแล้วหรืออย่างไร หรือว่า “กลอนพาไป” เท่านั้นเอง ตามรอยนิราศภูเขาทองมาถึงตรงนี้ เราก็รู้กันแล้วละว่า สุนทรภู่มีความรู้ในเรื่องของศาสนาวัฒนธรรมประเพณีอย่างลึกซึ้งพอสมควร รู้กระทั่งว่า ต้นงิ้วในนรกที่มีไว้สำหรับลงโทษคนทำบาปผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารนั้น มีหนามแหลมคม ยาวถึงสิบหกองคุลีเลยทีเดียว คนที่เป็นชู้คู่ครองเขาไม่ว่าชายหรือหญิง ตายไปตกนรกขุมนี้ ต้องปีนป่ายต้นงิ้วหนามแหลมคมจนเลือดโทรมกาย ใครไม่กลัวก็ลองดู
พักเหนื่อยไว้แค่บ้านงิ้วก่อนครับ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่นะ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๙ -
โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ ถึงเกาะใหญ่ราชครามพอยามเย็น
ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา
พระสุริยงลงลับพยับฝน ดูมัวมนมืดมิดทุกทิศา ถึงทางลัดตัดทางมากลางนา ทั้งแฝกคาแขมกกขึ้นรกเรี้ยว
เป็นเงาง้ำน้ำเจิ่งดูเวิ้งว้าง ทั้งกว้างขวางขวัญหายไม่วายเหลียว เห็นดุ่มดุ่มหนุ่มสาวเสียงกราวเกรียว ล้วนเรือเพรียวพร้อมหน้าพวกปลาเลย
เขาถ่อคล่องว่องไวไปเป็นยืด เรือเราฝืดเฝือมานิจจาเอ๋ย ต้องถ่อค้ำร่ำไปทั้งไม่เคย ประเดี๋ยวเสยสวบตรงเข้าพงรก
กลับถอยหลังรั้งรอเฝ้าถ่อถอน เรือขย้อนโยกโยนกระโถนหก เงียบสงัดสัตว์ป่าคณานก น้ำค้างตกพร่างพรายพระพายพัด......”
.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอย นิราศภูเขาทอง คลิก ของท่านสุนทรภู่ ตามลำน้ำแม่เจ้าพระยาจากวัดเลียบกรุงเทพมหานคร รอนแรมขึ้นมาจนถึงเมืองสามโคก แล้วหยุดพักอยู่ตรงบ้านงิ้ว ที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ท่านว่าเห็นต้นงิ้วหนามแหลมคมแล้วนึกเสียวแทนชายหญิงที่เล่นชู้กัน วันนี้มาตามรอยท่านต่อไปครับ
 เกาะใหญ่ : นนทบุรี (ฝั่งตรงข้ามราชคราม : บางไทร อยุธยา) กลอนยาวข้างบนนี้ เป็นกลอนที่ท่านสุนทรภู่แต่งต่อจากบ้านงิ้ว รำพันว่าได้คิดมาสารพัดเรื่องแล้ว เห็นว่าเรื่องอะไร ๆ ก็ตัดได้ ปลงได้ แต่เรื่องตัดรักตัดสวาทนี่ตัดเท่าไร ๆ ก็ไม่ขาดสักที แล้วความคิดท่านก็เปลี่ยนไปเมื่อเรือเลยเข้าเกาะใหญ่ราชคราม เขตกรุงศรีอยุธยาในเวลาเย็นใกล้ย่ำสนธยาแล้ว อ่านกลอนที่ท่านพรรณนาตอนนี้แล้วน่าหวาดเสียวมากเลยทีเดียว
 ลานเท : อยุธยา เกาะใหญ่ราชคราม เป็นเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้กว้างใหญ่ที่สุด คนไทยทั่วไปจะรู้จักกันในนามว่า “ลานเท” เป็นห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยภยันตราย เรือใหญ่ ๆ ที่ขึ้นล่องในลำน้ำแม่เจ้าพระยามักจะล่มจมลงในลานเทนี้มากมาย และยังมีโจรผู้ร้ายคอยดักลักขโมย ชิง ปล้นเรือที่ผ่านไปมาอีกด้วย สมัยหนึ่งเกาะราชครามท้ายลานเทนี้เป็นเกาะร้าง เคยใช้เป็นที่ดัดสันดานของเด็กเกเร กล่าวคือ เด็กชายไทยที่เกเรมาก ๆ จนแก้ไขไม่ไหวแล้ว ผู้ปกครองจะยินยอมให้ทางการรับตัวมาไว้ในเกาะแห่งนี้ เพื่อแก้ไขนิสัยใจคอให้เป็นคนดีต่อไป จนเป็นที่มาของคำว่า “ปล่อยเกาะ” เวลาเด็กดื้อรั้นไม่เชื่อฟังพ่อแม่ มักจะถูกขู่ว่า “เดี๋ยวกูจะเอาไปปล่อยเกาะ” ให้เด็กกลัว เกาะที่ว่านั่นก็คือ เกาะใหญ่ราชครามท้ายย่านลานเทนี่เอง
ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในกลอนตอนนี้ว่า เกาะใหญ่ราชครามมีภัยจากสัตว์และคนร้ายที่น่ากลัว คลื่นลมก็แรง เรือของท่านแล่นอืดมาก สู้เรือหนุ่มสาวชาวบ้านไม่ได้ เขาถ่อพายปราดเปรียวแล่นฉิวแซงไปหมดเลย เรือของท่านสะเปะสะปะ เข้ารกเข้าพง เดินหน้าถอยหลังยึกยักโยกเยกจนกระโถน (น้ำหมาก) หก วันนั้นท่านขึ้นไปไม่พ้นลานเท ดังกลอนต่อไปนี้
“ ไม่เห็นคลองต้องค้างอยู่กลางทุ่ง พอหยุดยุงฉู่ชุมมารุมกัด เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกายเหมือนทรายซัด ต้องนั่งปัดแปะไปไม่ได้นอน
แสนวิตกอกเอ๋ยมาอ้างว้าง ในทุ่งกว้างเห็นแต่แขมแซมสลอน จนดึกดาวพราวพร่างกลางอัมพร กะเรียนร่อนร้องก้องเมื่อสองยาม
ทั้งกบเขียดเกรียดกรีดจังหรีดเรื่อย พระพายเฉื่อยฉิวฉิววะหวิวหวาม วังเวงจิตคิดคะนึงรำพึงความ ถึงเมื่อยามยังอุดมโสมนัส
สำรวลกับเพื่อนรักสะพรักพร้อม อยู่แวดล้อมหลายคนปรนนิบัติ โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย.......” |
สุนทรภู่ต้องสั่งจอดเรืออยู่กลางทุ่งริมท้องน้ำลานเท เพราะเป็นเวลามืดค่ำมองไม่เห็นทางที่จะไปแล้ว จำต้องแรมคืนอยู่กลางทุ่งนั่นเอง แต่ท่านก็หลับไม่ลง เพราะยุงชุมเหลือเกิน มันพากันบินมาเป็นฝูงใหญ่ ๆ ในเรือไม่มีมุ้งกางกันยุง จึงต้องทนนั่งปัดยุง มีเณรหนูพัด บุตรชายคนโตที่เกิดแต่แม่จัน เดินทางไปด้วย ช่วยนั่งปัดยุงอยู่ตลอดคืน สำนวนกลอนตอนนี้ท่านแต่งเล่นคำได้ไพเราะเพราะพริ้งมากทีเดียว ท่านทนนั่งปัดยุงอยู่จนกระทั่งอุษาโยค (ใกล้รุ่ง)........
 “ จนเดือนเด่นเห็นกอกระจับจอก ระดะดอกบัวเผื่อนเมื่อเดือนหงาย ให้ร่องน้ำลำคลองทั้งสองฝ่าย(ขวาซ้าย?) ข้างหน้าท้ายถ่อมาในสาคร
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันเห็นพรรณผัก ดูน่ารักดอกบรรจงส่งเกสร เหล่าบัวเผื่อนแลสล้างริมทางจร ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา
สายติ่งแกมแซมสลับต้นตับเต่า เป็นเหล่าเหล่าแลรายทั้งซ้ายขวา กระจับจอกดอกบัวบานผกา ดาษดาดูขาวดั่งดาวพราย
โอ้เช่นนี้สีกาได้มาเห็น จะลงเล่นกลางทุ่งเหมือนมุ่งหมาย ที่มีเรือน้อยน้อยจะลอยพาย เที่ยวถอนสายบัวผันสันตะวา
ถึงตัวเราเล่าถ้ายังมีโยมหญิง ไหนจะนิ่งดูดายอายบุปผา คงจะได้ให้ศิษย์ที่ติดมา อุตส่าห์หาเอาไปฝากตามยากจน
นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน ถึงตำบลกรุงเก่ายิ่งเศร้าใจ.......” |
** ระยะทางจากลานเทถึงกรุงเก่าไกลกันพอสมควร สมัยที่สุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ง นิราศพระบาท คลิก นั้นท่านพรรณนาสถานที่ในเส้นทางเดียวกันนี้มากกว่าที่กล่าวใน นิราศภูเขาทอง คลิก คราวนี้ท่านเดินทางจากเกาะใหญ่ราชคราม รวดเดียวถึงกรุงเก่าเลย เกาะต่าง ๆ อีกหลายเกาะ เช่นเกาะเรียน เกาะพระ เกาะบางปะอิน ท่านไม่กล่าวถึง คงจะเห็นว่าเยิ่นเย้อเกินไปก็ได้นะครับ
 แม่น้ำน้อย เกาะใหญ่ราชคราม ขึ้นอยู่กับเขตปกครองอำเภอบางไทร และอำเภอบางไทรนี้ เดิมชื่อว่า เสนาน้อย (แยกจากอำเภอเสนาที่บ้านแพน แม่น้ำน้อย) ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น อำเภอ (แขวง) ราชคราม และสุดท้ายเปลี่ยนเป็น อำเภอบางไทร เพราะสถานที่ตั้งอำเภออยู่ที่บ้านบางไทรริมแม่น้ำน้อยก่อนเข้าสู่ลานเท
พักเหนื่อยไว้ตรงที่กลอนท่านสุนทรภู่พรรณนาถึงกรุงเก่าก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๐ -
“มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก อกมิแตกหรือเราเขาจะสรวล เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ......”
.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก ออกจากลานเททวนสายน้ำลำแม่เจ้าพระยาผ่านบางปะอิน ขึ้นมาถึงกรุงเก่าอย่างรวดเร็ว วันนี้มาอ่านแกะกลอนตามรอยท่านกันต่อไปครับ
 กรุงเก่า อยุธยา กลอนข้างต้นนี้ พระภิกษุสุนทรภู่แต่งกลอนนิราศภูเขาทองของท่านตอนที่เข้าถึงกรุงเก่าแล้วผ่านหน้าจวนเจ้าเมือง คิดถึงเจ้าเมืองคือพระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ด้วยกัน (ดูเหมือนจะเป็นที่จมื่นไวย) อดน้ำตาไหลมิได้ เพราะหวนคิดถึงว่าเพื่อนได้เป็นใหญ่เป็นโตมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าเมืองใหญ่ แต่ตนเองกลับไร้ยศตำแหน่งตกระกำลำบาก คิดจะแวะเข้าไปหา ก็เกรงว่าเจ้าเมืองมิใช่ “ไวย” คนเก่าแล้ว ถ้าเกิดเขาแปลกหน้าจำเราไม่ได้ก็จะอับอายขายหน้าเปล่า ๆ จึงตกลงใจไม่แวะหา....
“ มาจอดท่าหน้าวัดพระเมรุข้าม ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน บ้างขึ้นล่องร้องรำแสนสำราญ ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง
บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู
อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเมื่อยหู ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอน
ได้ฟังเล่นต่างต่างที่ข้างวัด จนสงัดเงียบหลับลงกับหมอน ประมาณสามยามคล้ำในอัมพร อ้ายโจรจรจู่จ้วงเข้าล้วงเรือ
นาวาเคียงเสียงกุกลุกขึ้นร้อง มันดำล่องน้ำไปช่างไวเหลือ ไม่เห็นหน้าสานุศิษย์ที่ชิดเชื้อ เหมือนเนื้อเบื้อบ้าเคอะดูเซอะซะ
แต่หนูพัดจัดแจงจุดเทียนส่อง ไม่เสียของขาวเหลืองเครื่องอัฏฐะ ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ ชัยชนะมารได้ดังใจปอง.........ฯ” |
 * พระภู่ สุนทรโวหาร ให้ศิษย์แจวเรือเลยหน้าจวนเจ้าเมืองไปจอดที่ท่าหน้าวัดพระเมรุ ซึ่งอยู่ริมคลองสระบัวด้านเหนือตัวเมืองเก่า มีเรือมาจอดเรียงรายกันอยู่เป็นอันมาก นัยว่า วันนั้นมีงานกฐินผ้าป่าที่วัดนี้ด้วย ในการฉลองบุญผ้าป่านั้นชาวบ้านก็ตั้งวงเล่นเพลงกลอนกัน มีการขับเสภา เพลงเรือ เพลงอีแซว และเพลงอื่น ๆ ตามถนัด พระภู่อดีตนักกลอนเอกจากราชสำนัก ร.๒ ต้องมาทนฟังนักเลงกลอนบ้านนอกเล่นกลอนโต้ตอบกัน จนเคลิ้มหลับไปถึงเวลาประมาณยามสาม เสียงคนร้องตะโกนไล่ขโมยจึงตื่นขึ้นด้วยความตกใจ เณรหนูพัดรีบจุดเทียนส่องดูในเรือ เห็นว่าไม่มีอะไรหายก็ใจชื้น คิดถึงบุญกุศลของตนเอง
ขโมยซึ่งมาเที่ยวลักของในเรือที่จอดนอนกันนั้น ไม่ได้พายเรือมา หากแต่ว่ายน้ำมา ดูว่าคนในเรือลำใดหลับนอนแล้วจึงขึ้นลักขโมยเข้าของตามใจชอบ ถ้าเจ้าของตื่นร้องโวยวายขึ้น ก็ลงน้ำดำหายไปในความมืด และนี่คือที่มาของคำว่า “อยุธยาแมวน้ำ” เป็นฉายาของอยุธยาเรียกขานกันมานาน เรือโยงทั้งในลำแม่น้ำเจ้าพระยา และลำแม่น้ำน้อย ถูกขโมย “อยุธยาแมวน้ำ” ลักของมาเสียนักต่อนักแล้ว
 วัดหน้าพระเมรุ (วัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร) : อยุธยา วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมัยที่สมเด็จศรีเทพาหูราช พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือขุนหลวงพ่องั่ว สละราชสมบัติกรุงสุโขทัย ลงไปครองสุพรรณภูมิ แล้วกลับขึ้นเสวยราชย์ที่กำแพงเพชร และที่สุดขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระศรีนครินทราชา หรือที่รู้จักกันทั่วไปทั้งไทยและจีนว่า “เจ้านครอินทร์” นั้น ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้น สร้างพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยผสมอู่ทองทรงเครื่ององค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป มีคนกราบไหว้บูชากันมิได้ขาด
 เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา“ ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส ที่พื้นลานฐานปัทม์ถัดบันได คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์บริวารเป็นลานวัด ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม ประทักษิณจินตนาพยายาม ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน เป็นลมทักษิณาวัตรอัศจรรย์ แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก......ฯ” |
 เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา ** คืนที่พระภู่ สุนทรโวหาร จอดเรือแรมคืนอยู่วัดหน้าพระเมรุนั้น เป็นวันโกน วันแรม ๗ ค่ำ หรือ ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือออย่างล่าที่สุดก็ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ เพราะวันรุ่งขึ้น ท่านบอกว่า เป็นวันพระอุโบสถ ท่านออกเดินทางต่อไปไหว้องค์พระเจดีย์ภูเขาทอง ที่อยู่กลางทุ่งนอกเมือง ภาพภูมิสถานของภูเขาทอง ท่านเขียนอธิบายไว้ชัดเจนดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวอธิบายซ้ำนะครับ เอาเป็นว่า สุนทรภู่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงภูเขาทองแล้ว ท่านจะได้อะไรจากภูเขาทองบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เเมืองสุโทัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๑ -
“ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ จะมิหมดลงหน้าทันตาเห็น เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น.....ฯ”
.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก มาถึงตอนที่ ท่านมานอนในเรือค้างคืนอยู่หน้าวัดพระเมรุชิการาช ที่กำลังมีงานฉลองผ้าป่า ถูกขโมย (แมวน้ำ) ล้วงเรือ แต่ไม่ได้อะไรไป รุ่งเช้าท่านก็เดินทางต่อไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง และพรรณนาสภาพขององค์พระเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง มีน้ำล้อมรอบ ดังได้อ่านกันไปแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 ภูเขาทองก่อนบูรณะ กลอนเปิดรายการข้างบนนี้ ท่านสุนทรภู่แต่งพรรณนาความต่อจากเมื่อวานว่า ฐานองค์พระเจดีย์นั้นที่ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก ยอดสุดของพระเจดีย์ก็หลุดหัก ท่านเห็นสภาพองค์พระเจดีย์ที่ทรุดโทรมจนใกล้จะพังแล้วก็สลดใจ จึงรำพึงถึงชื่อเสียงกียรติยศของบุคคล (รวมถึงตัวท่านด้วย) ว่าแม้แต่องค์พระเจดีย์ที่ใหญ่โตแข็งแรงยังเสื่อมโทรมผุพัง สาอะไรกับเกียรติยศชื่อเสียงจะมิหมดลงทันตาเห็นได้เล่า เป็นผู้ดีมีมากแล้วก็ยากจนลงได้ อะไร ๆ ก็เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงทั้งนั้น
“ ขอเดชะพระเจดีย์คีรีมาศ บรรจุธาตุที่ตั้งนรังสรรค์ ข้าอุตส่าห์มาเคารพอภิวันท์ เป็นอนันต์อานิสงส์ดำรงกาย
จะเกิดชาติใดใดในมนุษย์ ให้บริสุทธิ์สมจิตที่คิดหมาย ทั้งทุกข์โศกโรคภัยอย่าใกล้กราย แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงศ์
ทั้งโลโภโทโสและโมหะ ให้ชนะใจได้อย่าใหลหลง ขอฟุ้งเฟื่องเรืองวิชาปัญญายง ทั้งให้ทรงศีลขันธ์ในสันดาน
อีกสองสิ่งหญิงร้ายและชายชั่ว อย่าเมามัวมายรักสมัครสมาน ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ ตราบนิพพานภาคหนให้ถาวร....ฯ” |
 * พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร จุดธูปเทียนบูชาพระอัฐิธาตุในมหาเจดีย์ภูเขาทอง แล้วตั้งจิตอธิษฐานแต่สิ่งดี ๆ แก่ตนเอง แล้วขอประการท้ายสุดว่า ขออย่าได้พบหญิงร้ายและชายชั่ว เช่นเดียวกับที่อธิษฐานใน นิราศพระบาท คลิก แสดงว่าท่านมีเรื่องหญิงร้ายชายชั่วอยู่ในใจตลอดมา
“ พอกราบพระปะดอกประทุมชาติ พบพระธาตุสถิตในเกสร สมถวิลยินดีชุลีกร ประคองซ้อนเชิญองค์ลงนาวา
กับหนูพัดมัสการสำเร็จแล้ว ใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้เกศา มานอนกรุงรุ่งขึ้นจะบูชา ไม่ปะตาตันอกยิ่งตกใจ
แสนเสียดายหมายจะชมบรมธาตุ ใจจะขาดคิดขึ้นมาน้ำตาไหล โอ้บุญน้อยลอยลับครรไลไกล เสียน้ำใจเจียนจะดิ้นสิ้นชีวิน
สุดจะอยู่ดูอื่นไม่ฝืนโศก กำเริบโรคร้อนฤทัยใฝ่ฝัน พอตรู่ตรู่สุรีย์ฉายขึ้นพรายพรรณ ให้ล่องวันหนึ่งมาถึงธานี.....ฯ” |
 จะว่าเกิดปาฏิหาริย์ก็เป็นจะว่าได้ พระภิกษุภู่กราบพระแล้วก็พบดอกบัวตรงหน้า ในเกสรบัวนั้นมีพระธาตุสถิตอยู่ ท่านดีใจมาก จึงประคองพระธาตุนั้นกลับลงเรืออัญเชิญใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้หัวนอน กลับมาพักแรมคืนในกรุงเก่าคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นก็ต้องตกใจและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไม่พบเห็นพระธาตุในขวดแก้ว แสดงว่าพระธาตุเสด็จไปเสียแล้ว
ว่ากันว่าพระสารีริกธาตุจะอยู่กับคนที่ประพฤติพรหมจรรย์มีศีลบริสุทธิ์ และยังมีบุญวาสนาบารมี หากใครได้พระธาตุไปบูชาแล้ว รักษาศีลไม่บริสุทธิ์ หรือแม้ศีลบริสุทธิ์แต่น้อยบุญบารมี พระธาตุก็จะไม่อยู่ด้วยนานนัก กรณีพระภิกษุภู่ เห็นจะเป็นเพราะมีบุญบารมีน้อยไป พระธาตุจึงอยู่ด้วยไม่นาน เมื่อพระสารีริกธาตุเสด็จจากไปแล้ว ท่านสุนทรภู่โศกเศร้าเสียใจ หมดกำลังใจที่จะเที่ยวชมอะไร ๆ ในกรุงเก่า จึงให้ศิษย์แจวจ้ำเรือล่องแม่เจ้าพระยากลับถึงกรุงเทพฯ ในเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้นเอง
“ ประทับท่าหน้าอรุณอารามหลวง ค่อยสร่างทรวงทรงศีลพระชินสีห์ นิราศเรื่องเมืองเก่าของเรานี้ ไว้เป็นที่โสมนัสทัศนา
ด้วยได้ไปเคารพระพุทธรูป ทั้งสถูปบรมธาตุพระศาสนา เป็นนิสัยไว้เหมือนเตือนศรัทธา ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ
ใช่จะมีที่รักสมัครมาด แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย ซึ่งครวญคร่ำทำทีพิรี้พิไร ตามนิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา
เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพแนงผัด สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา อันพริกไทยผักชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ
จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ จึ่งร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอย...ฯ |
** นิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ก็เป็นอันจบลง เมื่อล่องเรือกลับจากกรุงเก่าอยุธยาลงมาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาเพียงวันเดียว ลีลากลอนก็เหมือนกันกับเพลงไทยเดิมนั่นหละครับ คือตอนขึ้นจะช้าอ่อยเอื่อยเจื้อยแจ้ว ชมโน่นชมนี่ชี้ชวนให้ดู เวลาจบจะลงอย่างรวดเร็ว ไม่ดูไม่แลอะไรเลย
 วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) เรือประทุนของสุนทรภู่กลับลงมาถึงกรุงเทพฯ แล้วจอดที่ท่าหน้าวัดอรุณราชวราราม แล้วได้บอกว่าท่านจะไปไหนต่อ จึงทำให้ผู้รู้หลายท่านกล่าวกันว่า ปีนั้น ท่านจำพรรษาอยู่วัดอรุณราชวราราม โดยไม่กลับไปอยู่วัดเลียบอีกเลย แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่ แล้วอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อดีกว่าครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, กลอน123, Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๒ -
“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร......”
................ เพลงยาวถวายโอวาท (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก ไปกรุงเก่าแล้วกลับมาจนจบที่วัดอรุณ (วัดแจ้ง) การไปไหว้ภูเขาทองที่กรุงเก่าอยุธยาคราวนี้ ท่านได้พบพระสารีริกธาตุในเกสรดอกบัวที่พระเจดีย์ภูเขาทอง อัญเชิญใส่ขวดแก้ว แล้ววางข้างหัวนอน กลับเข้านอนค้างแรมคืนในตัวเมืองกรุงเก่า พอรุ่งเช้าพบว่าพระธาตุเสด็จหายไปเสียแล้ว ท่านเสียใจมาก ไม่มีกะใจจะเที่ยวชมอะไร จึงสั่งล่องเรือกลับเข้ากรุงเทพฯ สายน้ำนองเดือนสิบสองไหลค่อนข้างแรง จึงทำให้เรือประทุนของท่านล่องลงกรุงเทพได้อย่างรวดเร็ว เพียงวันเดียวก็ถึงแล้ว
 ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดอรุณฯ (วัดแจ้ง) มีหลายท่านเชื่อและกล่าวกันว่า พระภู่ สุนทรโวหาร กลับจากการไปไหว้ภูเขาทองแล้ว เข้าอยู่จำพรรษาที่วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) เรื่องนี้ท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) หรือ พ. ณ ประมวญมารค ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติคำกลอนสุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง) ว่าด้วย “สังเขปประวัติสุนทรภู่” ตอนหนึ่งว่าดังต่อไปนี้
 วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) “...........จึงได้เดินทางกลับลงมาอยู่ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ นับเวลาที่สุนทรภู่ท่องเที่ยวไปอยู่ตามหัวเมืองนั้น นับพรรษาแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ถึงพ.ศ. ๒๓๗๐ ได้สามพรรษา อายุได้ ๔๒ ปี เมื่อบวชออกไปอยู่ตามหัวเมือง ได้รับบุตรคนที่ชื่อหนูพัด ซึ่งเกิดแต่แม่จันภรรยาหลวงร่วมเดินทางไปด้วย เวลานั้นบุตรอายุราวหกปี เมื่อสุนทรภู่กลับจากพิษณุโลกมาอยู่จำพรรษาที่วัดราชบูรณะได้สองพรรษา ใน พ.ศ.๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงฝากโอรสสองพระองค์ คือเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าอาภรณ์ ขอให้สุนทรภู่ถวายพระอักษร แล้วได้ทรงอุปการะสุนทรภู่เป็นลำดับมา เวลานั้นเจ้าฟ้ากลางพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา แต่สุนทรภู่ถวายอักษรได้ไม่นานนัก เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ก้เสด็จจากวังกลาง ไปประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง สุนทรภู่จึงได้ห่างกันไปจากที่วังนี้ แต่ในระยะนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่ที่วังตะวันตก ตรงข้ามประตูสุนทรทิศา เป็นวังต่อกันกับวังกลาง ได้ทรงรู้จักกันกับสุนทรภู่ เหตุที่รู้จักกันนั้น เห็นจะเนื่องด้วยเรืองบทกลอน หรือบทดอกสร้อยสักวา จึงทรงนับถืออุปการะสุนทรภู่ต่อไปอีก
ถึง พ.ศ. ๒๓๗๓ ในระหว่างพรรษา สุนทรภู่เกิดความไม่สบายใจ เนื่องด้วยความรำคาญพวกคนร้ายคนพาล จึงคิดจะไปอยู่เสียที่วัดอื่น ได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาททูลลาเจ้าฟ้ากลางกับเจ้าฟ้าปิ๋วขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์เรื่องหนึ่ง ครั้นออกพรรษาอนุโมทนากฐินแล้ว ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการภูเขาทองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ง นิราศภูเขาทอง คลิก ขึ้นไว้อีกเรื่องหนึ่ง
 วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) เมื่อเดินทางกลับลงมาแล้วจึงไปจำพรรษาที่วัดอรุณ (วัดแจ้ง) ใน พ.ศ.๒๓๗๔ ครั้นออกพรรษาในราวเดือนยี่หรือเดือนสาม ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรีอีกด้วยเรื่องที่รับอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไป การเดินทางครั้งนั้นได้ตระเตรียมข้าวของเพื่อจะตอบแทนผู้ที่เคยมีคุณแทบทั่วทุกคน (คงจะร่ำรวยขึ้นในตอนนี้) และได้แต่นิราศเมืองเพชรไว้อีกเรื่องหนึ่ง เล่าความหลังที่เคยมาอยู่อาศัยหลายครั้งหลายหน”
ประวัติเพียงสังเขปที่ท่านจันทร์ทรงกล่าวนี้ เห็นได้ว่าสุนทรภู่อยู่จำพรรษา ณ วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) นานถึง ๓ พรรษา ชีวิตของพระภู่ที่วัดเลียบนี้ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างธรรมดา เพราะอยู่ในฐานะพระอาจารย์ของเจ้าฟ้าชายถึงสองพระองค์ ซ้ำยังได้พระมเหสีในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นองค์อุปถัมภ์ เป็นไปได้ว่า ยามนั้น บรรดานักกลอนและผู้รัก สนใจในกาพย์กลอนทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าพระภู่ สุนทรโวหาร อดีตกวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ กลับมาอยู่วัดราชบูรณะ จึงพากันเข้าไปต่อกลอน เรียนกลอนกันมากมาย จนดูวุ่นวายไป และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้อิจฉาริษยา หาเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจ จนต้องคิดหนีไปอยู่วัดอื่น
 กลอนที่ยกมาวางไว้ข้างต้นคอลัมน์วันนี้ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ บทของเพลงยาวถวายโอวาท หรือ ราชนิติ ที่พระอาจารย์ภู่ สุนทรโวหาร แต่งถวายเจ้าฟ้าชายกลางซึ่งมีพระชนม์ ๑๑ พรรษา ในปีนั้น เพลงยาวนี้ท่านแต่งสอนใจได้ดีเยี่ยม อย่างเช่นว่า “อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ” เป็นต้น หลังจากกล่าวคำถวายโอวาทเป็นกลอนยาวแล้ว พระอาจารย์ภู่ก็สรุปว่า
“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร” |
แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะปรากฏว่าชื่อเสียงของสุนทรภู่ เป็นที่รู้จักเลื่องลือไปทั่วทิศ มิใช่แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แม้ลาว เขมร ก็รู้จักว่า สุนทรภู่คือนักกลอน และ นักเลงแต่งเพลงยาวที่เก่งกล้าสามารถ หาตัวจับได้ยาก
 พระปรางค์ใหญ่วัดอรุณฯ (วัดแจ้ง) ท่านจันทร์กล่าวว่า ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้งนี้ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ทรงอุปถัมภ์บำรุงให้อยู่ดีกินดี มีความสุขสบาย เมื่อทราบว่าโยมอุปฐากมีเรื่องสำคัญที่จะไปทำที่เมืองเพชรบุรี พระภู่ สุนทรโวหารจึงขอรับอาสาไปทำแทน ด้วยหวังจะกลับไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรทางเมืองเพชรด้วย การไปเมืองเพชรคราวนี้ไม่เหมือนคราวที่ไปครั้งก่อน ๆ คือไปโดยไม่ได้อะไรเป็นสาระสำคัญฝากไว้เลย แต่คราวนี้ท่านแต่งนิราศเมืองเพชรฝากไว้ในวงวรรณกรรมด้วย ความในนิราศเมืองเพชรมีอะไรอย่างไรบ้าง พรุ่งนี้เรามาแกะรอยตามท่านภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ไปเมืองเพชรบุรีด้วยกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, Thammada, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ริมท่าน้ำวัดพลับพลาชัย : เพชรบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๓ -
โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
อนาถหนาวคราวมาอาสาเสด็จ ไปเมืองเพชรบุรินทร์ถิ่นที่หวาน ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา จึงจดหมายรายทางกลางคงคา แต่นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อย.....”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้กล่าวถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ตามนิพนธ์ของท่านจันทร์ ที่กล่าวว่า พระภู่ สุนทรโวหาร กลับจากการไปนมัสการภูเขาทองแล้วเข้าอยู่ประจำในวัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) โดยมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงอุปถัมภ์บำรุง ความนี้ว่าไว้ตอนสังเขปประวัติ ดังที่ทุกท่านได้อ่านกันไปเมื่อวานนี้แล้ว
วันนี้เกิดประเด็นใหม่ โดย ท่านจันทร์กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า สุนทรภู่เดินทางออกจากวัดเลียบไปกรุงเก่านั้น ควรจะเป็นวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปค้างคืนกลางทุ่งนาที่ ลานเท ราชครามคืนหนึ่ง แล้วไปค้างคืนที่วัดหน้าพระเมรุ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ รุ่งขึ้นเป็นวันพระอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ นมัสการภูเขาทองแล้วกลับเข้ามานอนค้างคืนในเมือง รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ กลับถึงกรุงเทพฯ แล้วทรงสรุปว่า
“ เป็นอันว่าสุนทรภู่ออกจากกรุงเทพฯ เป็นเวลาสี่วันสี่คืน ระหว่างขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ การไปเช่นนี้ไม่บ่งวี่แววว่ามีเจตนาที่จะไปจำพรรษาที่หัวเมืองอย่างที่บอกในเพลงยาวถวายโอวาท (จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา ต่อถึงพระวษาอื่นจะคืนมา) จึงถือเป็นเหตุอันหนึ่งที่ว่า นิราศภูเขาทองแต่งก่อนเพลงยาวฯ
คุณฉันท์ว่าสุนทรภู่กลับจากภูเขาทองแล้วเลยไปอยู่วัดอรุณฯ ข้าพเจ้าว่ากลับมาอยู่วัดเลียบ”
เหตุผลที่ท่านจันทร์ทรงเชื่อว่า สุนทรภู่กลับจากภูเขาทองแล้วหาได้เข้าอยู่วัดแจ้ง (อรุณฯ) ตามความเชื่อของใคร ๆ ไม่ หากแต่เข้าอยู่วัดเลียบตามเดิม เพราะนิราศภูเขาทองนี้มีหลักฐานว่าแต่งก่อนเพลงยาวถวายโอวาท จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อกลับจากกรุงเก่าเข้าอยู่วัดเลียบตามเดิมแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาต่อกลอน เรียนกลอนกันมากมาย เป็นเหตุให้ขวางหูขวางตาคนพาล จึงหาเรื่องให้ท่านเดือดร้อนจนต้องออกจากวัดเลียบไป ก่อนจะออกจากวัดนี้ก็ได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาท ดังเป็นที่ทราบแล้วนั้น
 สรุปได้ว่า ในที่สุดพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ก็ออกจากวัดเลียบ (ราชบูรณะ) เข้าอยู่วัดแจ้ง (อรุณฯ) โดยมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปการะบำรุง อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล ผู้เชื่อว่า พระภู่เข้าอยู่วัดอรุณฯ หลังกลับจากกรุงเก่า แล้วอาสาพระองค์เจ้าฯ ไปเมืองเพชรบุรี ไปทำเรื่องลับที่เปิดเผยมิได้ แต่ก็แพลมออกมาให้ทราบเป็นนัย ๆ ว่า ไปเจรจาขุนเพ่ง ผู้เป็นเพื่อนของสุนทรภู่ สู่ขอลูกสาวขุนเพ่งให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เหตุที่เปิดเผยมิได้ก็เพราะ พระภู่เป็นภิกษุ หากไปสู่ขอลูกสาวขุนเพ่งให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณจริง ก็เป็นอาบัติ ผิดสิกขาบทที่ชื่อว่าสังฆาทิเสส คือ “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกันต้องสังฆาทิเสส” อาบัติขั้นนี้ “ปลงไม่ตก” ต้องอยู่ปริวาสกรรมเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ว่า สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรหลัง นิราศพระประธม คลิก โดยอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทำธุระ แต่ ท่านจันทร์เชื่อตามที่อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล กล่าวว่า สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ แต่ไม่เชื่อว่าสุนทรภู่อยู่วัดแจ้ง ออกเรือจากวัดแจ้งไปเมืองเพชร ซึ่งท่านจันทร์ว่า ออกเรือจากวัดเลียบในลำน้ำแม่เจ้าพระยาแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางหลวง
ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้นนี้ ละไว้ก่อนก็แล้วกันครับ
 ต่อนี้ จะพาทุกท่านตามพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ไปเมืองเพชรบุรี ตามรอยนิราศเมืองเพชร ซึ่งได้ยกตอนแรกของนิราศเมืองเพชร ที่เป็นคำปรารภของท่านผู้แต่งมาวางให้อ่านกันข้างบนนี้แล้ว
พระภู่ บอกว่า ยามเย็นย่ำสนธาวันนั้นอากาศเย็นสบาย ท่านลงเรือที่หน้าวัด (จะวัดแจ้งหรือวัดเลียบ ก็ตามทีเถิด) ยกมือไหว้วัดซึ่งเป็นที่สถิตของพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อธิษฐานจิตอำลาตามธรรมเนียมไทยที่ว่า “ไปลามาไหว” แล้วกล่าวว่าการเดินทางไปเพชรบุรีครั้งนี้ ก็ด้วยอาสาเสด็จไปทำธุระสำคัญให้ท่านผู้มีพระคุณ ที่ได้ช่วยชุบเลี้ยงดูประหนึ่งบิดา (ชนกปกเกศ) ของท่าน
ผู้มีพระคุณเสมือนบิดาของท่านผู้นี้ มีบางท่านกล่าวว่าได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมีหลังจากลาสิกขาแล้ว แต่ท่านจันทร์ และ อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล เชื่อตรงกันว่า ได้แก่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งก็มีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า เป็นจริงตามความเชื่อถือของท่านจันทร์ กับ อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล
 ทุกครั้งที่กล่าวถึงเพชรบุรี สุนทรภู่จะเรียกเมืองนี้ว่า ถิ่นหวาน เมืองน้ำตาล อะไรทำนองนี้ เพราะเหตุว่า ชาวเพชรบุรีมีอาชีพหนึ่งคือ ทำน้ำตาลโตนดขายกันอย่างเป็นร่ำเป็นสัน จนต้นตาล โตนด น้ำตาลโตนด เป็นสัญลักษณ์ของเพชรบุรีไปแล้ว
 คลองบางหลวง : กรุงเทพฯ Cr. Photo โดย: MGR Online ท่านบอกว่าการไปเพชรบุรีครั้งนี้ จะจดหมายเหตุรายไปตลอดทางโดยจะเริ่มตั้งแต่เรือเลี้ยวเข้าคลองน้อย คือปากคลองบางหลวงเป็นต้นไป จะไปทางไหน ถึงไหน พบเห็นอะไรบ้าง น่าติดตามไปดูมากเลย พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 Cr. Photo By นำพล - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๔ -
ได้เห็นแต่แพแขกที่แปลกเพศ ขายเครื่องเทศเครื่องไทยได้ใช้สอย ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงลอย เป็นหงส์ห้อยห่วงธงใช่หงส์ทอง
ถึงวัดพลับลับลี้เป็นที่สงัด เห็นแต่วัดสังข์กระจายไม่วายหมอง เหมือนกระจายพรายพลัดกำจัดน้อง มาถึงคลองบางลำเจียกสำเหนียมนาม
ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย ชมแต่เตยใบหนามเมื่อยามโซฯ”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า หลังจากออกจากวัดเลียบไปไหว้ภูเขาทองที่กรุงเก่าอยุธยาแล้ว บางท่านว่าได้เข้าอยู่วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) บางท่านว่ากลับเข้าอยู่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) ตามเดิม ต่อมาท่านอาสาเสด็จ เดินทางไปทำธุระที่เมืองเพชร แล้วแต่งนิราศเมืองเพชรขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯกล่าวว่า แต่งนิราศเมืองเพชร หลังจากที่ออกจากวัดเทพธิดา และลาสิกขาไปอยู่รับใช้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ในพระราชวังหน้า แล้วอาสาสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไปเมืองเพชร แต่ท่านจันทร์กับอาจารย์ฉันท์ ขำวิไล มีหลักฐานมายืนยันว่า ท่านแต่งนิราศเมืองเพชรขณะที่ยังเป็นพระภิกษุ อาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปทำธุระที่เมืองเพชร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔ เริ่มออกเดินทางตามความในนิราศ อาจาย์ฉันท์ว่า ออกจากวัดอรุณฯ ท่านจันทร์ว่าออกจากวัดราชบูรณะ อย่างไรก็ตาม เป็นอันว่า เรือประทุนลำใหญ่ของท่านสุนทรภู่ก็เลี้ยวจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปในปากคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) แล้ว วันนี้มาตามดูว่าท่านผ่านอะไรไปบ้างครับ
 วัดหงส์รัตนาราม : กรุงเทพฯ กลอนนำรายการวันนี้คือ คำกลอนนิราศเมืองเพชร ของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ต่อจากเมื่อวานนี้ที่ท่านบอกว่า “นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อย” เมื่อเรือเลี้ยวเข้าไปในคลองบางหลวง (ก็คือคลองบางกอกใหญ่) สิ่งแรกที่ท่านพบเห็นในเวลาเย็นวันนั้น คือแพแขก ขายเครื่องเทศเครื่องไทยสำหรับใช้สอย ที่ท่านรู้ว่าเป็นแพแขกกิเพราะ “แปลกเพศ” เห็นทีว่าพวกเขาคงแต่งกายผิดแผกไปจากคนไทยกระมัง จากนั้นเรือท่านก็เลยไปผ่านวัดหงส์รัตนาราม มีเสาปักไว้ ปลายเสามีรูปหงส์ห้อยอยู่ ท่านว่าไม่เห็นหงส์ทอง มองดูจนเรือถูกแจวเลยไปถึงวัดพลับ (ราชสิทธาราม) ที่เงียบสงัด เพราะวัดนี้เป็นอรัญวาสี ที่อยู่ของพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ สมภารองค์แรกชื่อศุก นิมนต์มาจากกรุงเก่าอยุธยาตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณสังวรเถร” ต่อมาท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สถิต ณ วัดมหาธาตุ เป็นที่รู้จักกันว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน” วันที่สุนทรภู่ผ่านถึงวัดนี้ พระญาณสังวรไปอยู่วัดมหาธาตุแล้ว
 วัดสังข์กระจายวรวิหาร : กรุงเทพฯ ผ่านวัดพลับแล้วถึงวัดสังข์กระจาย วัดนี้เขียนชื่อกันไปต่าง ๆ คือ วัดสังกระจาย สังฆจาย สังฆจายน์ สังข์กัจจายน์ และ สังข์กระจายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน วัดนี้เดิมเห็นจะเอานามพระอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งที่มีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย นามเดิมของท่านคือ “กัจจายนะ” รูปร่างงดงาม ภายหลังเมื่อบวชเป็นพระและสำเเร็จอรหันต์แล้ว รูปงามของท่านเป็นภัยแก่พวกราคจริต จึงอธิษฐานตนให้เป็นคนอ้วนพุงพลุ้ย เป็นพระอรหันต์ที่มีความเลิศในทางอธิบายธรรมย่อให้พิสดาร นามตามทำเนียบพระสาวกผู้ใหญ่ของท่านคือ พระมหากัจายนะ คนไทยเรียกท่านว่า “พระสังฆจายน์” พระอรหันต์องค์นี้มีเรื่องเล่าพิสดารพันลึกมาก ใครอยากรู้ละเอียดไปหาหนังสืออ่านกันเอาเองครับ
 ต้นลำเจียกริมคลอง : Cr. Photo By นำพล จากวัดสังข์กระจายที่ท่านภู่คิดว่า เหมือนกระจายพรายพลัดจากน้องที่รัก แล้วก็ถึงคลองบางลำเจียก ซึ่งอยู่ในย่านวัดสังข์กระจายนั่นเอง ท่านไม่สนใจเรื่องคลองแต่ใจประวัติไปถึงลำเจียก ต้นไม้น้ำชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเดิมว่า เตยทะเล หรือเตยน้ำ ดอกหอมมาก มีชื่อเรียกหลายชื่อ คือ ปาหนัน ลำเจียก การะเกด ก่อนบวชท่านภู่เห็นจะเคยรู้จักมักคุ้นกับหญิงชื่อลำเจียก จึงหวนรำลึกถึงคนรักเก่าเมื่อถึงคลองบางลำเจียก ต้องร้างรากันก็เพราะ “ระอาด้วยหนาหนาม” แม่ลำเจียกคนนั้นเห็นทีจะเป็นคนหวงหึง เอาแต่ใจจนสุดทนรับได้กระมัง
 คลองบางเตย : ปทุมธานี จากคลองบางลำเจียกก็ถึงคลองบางเตย (ตระกูลเดียวกันกับลำเจียก) ท่านก็รำพึงถึงความรัก ที่ท่านเคยปลูกไว้กับคนรัก ตั้งแต่แม่จันเป็นต้นมา รักของท่านมักจะกลายเป็นเตยจนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง ไร้รักที่จักเชย ต้องชมแต่ “เตยหนามเมื่อยามโซฯ”
“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข เมียขาวขาวสาวหมวยล้วนรวยโป หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไมฯ" |
 ชุมชนริมคลองบางหลวง : Cr. Photo By MGR Online จากคลองบางเตยก็เข้าคลองบางหลวง ณ วันนั้น ท่านภู่ สุนทรโวหาร เห็นบ้านช่องในคลองบางหลวงนั้นมี “เจ๊กขายหมู” อยู่มากมาย ดังนั้นตรงปากคลองนี้สมัยนั้นควรเป็นย่านชุมชนชาวจีน ท่านเห็นแล้วมีอารมณ์ขันที่ว่าเมียเจ๊กนั้น “ขาวขาวสาวหมวย” เห็นแล้วก็รู้สึกอายใจมิใช่น้อย เพราะท่านเคยมีเมียเป็นตัวเป็นตนมาแล้วอย่างน้อยก็ ๒ คน แต่ละคนไม่ “ขาวขาวสาวหมวย” เหมือนเมียเจ๊กขายหมู แล้วท่านก็กล่าวเชิงวิจารณ์ว่า ไทยเหมือนกันเวลาไปขอลูกสาวคนที่มีฐานะดีกว่า มักจะถูกปฏิเสธ แข็งขันปานเหล็ก แต่พอเจ๊กไปสู่ขอ เอาเงินเข้างัดง้าง เหล็กที่ว่าแข็ง ๆ นั้นก็ถูกเงินลนจนอ่อนละไมเลยทีเดียว
*** วันนี้ตามรอยนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่มาถึงคลองบางหลวง ก็พอแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาตามอ่านกันต่อเถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 ตลาดน้ำวัดไทร : แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๕ -
“ ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์ ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี
ก็มืดค่ำล่ำลาทิพาวาส เลยลีลาศล่วงทางกลางวิถี ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องมี มาถึงนี่ก็จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา ที่เห็นเห็นเป็นแต่ปะได้ประตา คือลอบรักลักลาคิดอาลัย
จะแลเหลียวเปลี่ยวเนตรเป็นเขตสวน มะม่วงพรวนหมากมะพร้าวสาวสาวไสว พฤกษาออกดอกลูกเขาปลูกไว้ หอมดอกไม้กลิ่นกลบอบละออง.....”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ไปเมืองเพชรบุรีโดยทางเรือ ตามความในนิราศเมืองเพชร ตั้งแต่ปากคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง ผ่านชุมชนต่าง ๆ ไปจนถึงคลองบางหลวง ซึ่งท่านเห็นบ้านเรือนร้านเจ๊กขายหมูอยู่มากมาย เห็นเมียเจ๊กขายหมูล้วนแต่อาหมวยสวยขาว แล้วคิดอิจฉา กล่าวเป็นคำคมว่า คนที่ปากแข็งใจแข็ง หนึ่งไม่เอาสองไม่เอานั้นน่ะ ถูกเจ๊กเอาเงินงัดง้างปากอ่อนใจอ่อนไปหมดเลย ผมพาทุกท่านมาหยุดอยู่ตรงปากคลองบางหลวงนี้เอง วันนี้มาเดินทางกันต่อไปครับ
 วัดนางชีวรวิหาร : กรุงเทพฯ กลอนขางบนนี้เป็นกลอนนิราศเมืองเพชรต่อจากเมื่อวานนี้ ความตอนนี้ พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เล่าว่าเรืองท่านผ่านมาถึงวัดบางนางชีเป็นเวลามืดค่ำพอดี แสดงความฉงนว่า วัดชื่อนางชี แต่ทำไมมีแต่พระภิกษุสงฆ์ แลไม่เห็นชีสักองค์เดียว หรือว่ามีชีเก็บตัวอยู่ในกุฏิ จึงคิดจะแวะเข้าไปปรึกษาชี แต่ก็เสียดายว่าไม่มีเวลา เพราะคำมืดเสียแล้ว จึงผ่านเลยไป
 วัดนางนองวรวิหาร : กรุงเทพฯ ถึงวัดบางนางนอง ก็หวนคิดว่าถ้าหากมีน้องมาถึงนี่ก็คงจะต้องนองน้ำตา ส่วนท่านมาคนเดียว ไม่เป็นห่วงน้องคนไหน แต่ว่าเศร้าทรงเพราะไร้หวังที่เป็นฝั่งฝา ที่ได้เคยพบมาบ้างก็ล้วนแต่สบตา (ประตา) ลอบรักลักพาคิดอาลัย ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวจริงจังอะไร เพียงแค่สบตาพาฝันเท่านั้นเอง ยามนั้นเรือก็พาท่านผ่านเรือกสวนที่เป็นไม้ดอกไม้ผล กลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งจรุงใจ...... ครั้นได้กลิ่นดอกไม้ในสวนก็ทำให้หวนคิดกลิ่นนวลปรางนางน้องที่เคยถนอม แล้วมาหมองหมางร้างรา.....
“ โอ้รื่นรื่นชื่นเชยที่เคยหอม เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม โอรสราชอารามงามเจริญ
มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก กุฏิตึกเก๋งกุฏิ์สุดสรรเสริญ ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน จนเรือเดินทาถึงทางบางขุนเทียน
โอ้เทียนเอ๋ยเทียนแจ้งแสงสว่าง มาหมองหมางมืดมิดตะขวิดตะเขวียน เหมือนมืดในใจจนต้องวนเวียน ไม่ส่องเทียนให้สว่างหนทางเลย ฯ” |
 ท่าเรือบางหว้า : กรุงเทพฯ เรือเลยเรื่อยมาถึงบางหว้า วัดจอมทอง ก็หวนคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระในโกศ) ผู้ทรงพระราชทานนามวัดนี้ คิดถึงพระเดชพระคุณความดีในพระองค์ จนเรือผ่านมาถึงบางขุนเทียน ก็รำพึงเชิงตัดพ้อว่า เทียนเคยแจ้งแสงสว่าง ไยกลับมาหมองหมางมืดมิด จนเหมือนมืดใจต้องวนเวียน เทียนไม่ส่องสว่างหนทางให้บ้างเลย.....
“บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิต พอป้องปิดเป็นหลังคานิจจาเอ๋ย หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย ได้อิงเขนยนอนอุ่นประทุนบังฯ
ถึงคลองขวางบางระแนะแวะข้างขวา ใครหนอมาแนะแหนกันแต่หลัง ทุกวันนี้วิตกเพียงอกพัง แนะให้มั่งก็เห็นจะเป็นการฯ
ถึงวัดไทรไทรใหญ่ใบชอุ่ม เป็นเชิงซุ้มสาขาพฤกษาศาล ขอเดชะพระไทรซึ่งชัยชาญ ช่วยอุ้มฉานไปเช่นพระอนิรุธ
ได้ร่วมเตียงเคียงนอนแนบหมอนหนุน พออุ่นอุ่นแล้วก็ดีเป็นที่สุด จะสังเวยหมูแนมแก้มมนุษย์ เทพบุตรจะได้ชื่นทุกคืนวันฯ
ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ เขาเลื่องลือบอนข้างบางยี่ขัน อันบอนต้นปนน้ำตาลย่อมหวานมัน แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟัง ฯ” |
 ตลาดน้ำวัดไทร : กรุงเทพฯ เรือประทุนพาพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เดินทางยามกลางคืนไปอย่างไม่เร่งร้อน จากบางประทุนผ่านคลองบางขวาง บางระแนะ วัดไทร ไปถึงบางบอน ทุกสถานที่ซึ่งผ่านไปนั้นท่านไม่เว้นที่จะรำพึงรำพัน เปรียบเทียบนามสถานที่กับชีวิตของท่าน อย่างเช่นว่า ถึงวัดไทรก็ขอให้พระไทรช่วยอุ้มท่านไปนอนเตียงเคียงข้างนางน้อง เหมือนกับที่อุ้มพระอนิรุธไปเคียงข้างนางอันเป็นที่รักฉันนั้น เมื่อถึงบางบอน ท่านก็ว่ามีแต่ชื่อไม่มีบอน พูดถึงบอนแล้วต้องบอนบางยี่ขันอันเลื่องชื่อ แต่ว่าบอนทุกแห่งแม้จะคัน ครั้นเอาไปปนน้ำตาล (แกงบอน) แล้ว ย่อมกินได้ไม่คัน กลับหวานมันเสียอีก ผิดกับปากคนที่เป็นคนปากบอน มันคันคอยแต่จะพูดพร่ำ ห้ามมิใคร่ฟัง
** ตามรอยสุนทรภู่ไปเมืองเพชรมาถึงบางบอนแล้ว พักตรงนี้ก่อนดีกว่า พรุ่งนี้มาเดินตามรอยท่านจากบางบอนต่อไปนะครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, Thammada, กลอน123, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๖ -
ถึงวัดกกรกร้างอยู่ข้างซ้าย เป็นรอยรายปืนพม่าที่ฝาผนัง ถูกทะลุปรุไปแต่ไม่พัง แต่โบสถ์ยังทนปืนอยู่ยืนนาน
แม้นมั่งมีมิให้ร้างจะสร้างฉลอง ให้เรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร ด้วยที่นี่เคยตั้งโขลนทวาร ได้เบิกบานประตูป่าพนาลัย
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ ดูครึ้มครึกพฤกษาลดาเครือ ล้วนรกเรื้อรำเริงเป็นเซิงซุ้ม
ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม เป็นคราบน้ำคร่ำค่าแตกตารุม ดูกะปุ่มกะปิ่มตุ่มติ่มเต็ม.....”
................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร เรือประทุนของท่านเข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) เรื่อยมาถึงบางขุนเทียน บางบอนแล้ว วันนี้มาตามรอยท่านต่อไปครับ
 วัดกก : เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ บทกลอนข้างต้นนี้เป็นกลอนในนิราศเมืองเพชรต่อจากเมื่อวานนี้ จากบางบอนมาถึงวัดกก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วันที่ท่านผ่านถึงวัดกกนั้น วัดนี้มีสภาพรกร้าง กำแพง ฝาผนังวัดถูกกระสุนปืนพม่ายิงเป็นรอยแตกทะลุพรุน แต่โรงอุโบสถไม่เป็นอะไร คงอยู่ในสภาพที่ดี ท่านกล่าวไว้ในกลอนว่า ถ้าหากมั่งมีขึ้นมาก็จะมาบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม ทั้งนี้ก็เพราะวัดนี้เป็นสถานที่สำคัญในอดีต กล่าวคือ เป็นที่ตั้ง โขลนทวาร คือซุ้มประตูป่ามงคลให้ทหารเดินผ่านซุ้มประตูป่านี้ไปรบข้าศึก (ทำนองเดียวกันกับ ตัดไม้ข่มนาม) เห็นทีจะเป็นเพราะคำรำพึงของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร นี้กระมัง ปรากฏในกาลต่อมาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นจนสวยงาม กลายเป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่ง และหลังจากมีเจ้าอาวาสวัดเก่งทางวิชาอาคมเป็นที่เคารพนับถือของคนมาก วัดนี้จึงกลายเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของประชาชนไปด้วย
 ต้นตะบูน คำกลอนในนิราศตอนนี้สุนทรภู่แต่งเล่นคำไพเราะมาก ท่านกล่าวชมต้นไม้สองฟากคลองว่า “ดูครึ้มครึกพฤกษาลดาเครือ ล้วนรกเรื้อรำเริงเป็นเซิงซุ้ม ตะบูนต้นผลย้อยห้อยระย้า ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม ดูกะปุ่มกะปิ่มตุ่มติ่มเต็ม.....” เล่นสัมผัสทั้งเสียงและพยัญชนะ ได้ความชัดเจน เห็นภาพพจน์งดงาม เช่นเจ้าลูกกระบูนที่เป็นเหมือนลูกตุ้มห้อยต่องแต่งนั่นแหละครับ
“ ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม บ้างเก็บเล็มลากก้ามครุ่มคร่ามครัน
โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา
แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า อุตส่าห์ฟูมฟักเพราะรักเมีย
ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ
สมเพชสัตว์ทัศนาพฤกษาสล้าง ล้วนโกงกางกุ่มแกมแซมแสม สงัดเหงาเปล่าเปลี่ยวเมื่อเหลียวแล เสียงแจ่แจ่จักจั่นหวั่นวิญญาฯ” |
 ดอกลำพู กลอนท่อนนี้อ่านเพลินและมันในอารมณ์มาก คำกลอนที่ส่งด้วยคำว่า “เต็ม” ถ้าหากเล่นแข่งกันหรือโต้กัน คำว่า “เต็ม, เค็ม, เล็ม” ถ้าถูกส่งให้ต่อรับสัมผัสแล้ว นักเลงกลอนถือว่า ส่งคำฆ่ากัน เพราะกลอนรับสัมผัสท้ายวรรค ๒ เห็นมีแต่คำว่า “เข็ม” เพียงคำเดียว และก็เป็นคำที่หาความหมายให้เข้ากับคำนี้ก็ยากมาก แต่ท่านสุนทรภู่ก็หาความมาเข้ากับคำว่า “เข็ม” ได้ไม่ยาก โดยท่านเห็นต้นลำพูเรียงรายอยู่ชายตลิ่ง แล้วมองเห็นได้ไงว่า มีขวากแหลมเหมือนปลายเข็มล้อมอยู่ แล้วยังว่าปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม เจ้าตัวก้ามใหญ่ก็ลากก้ามเก็บเล็มงุ่มง่าม ๆ ไป
 "ปูเปี้ยว" คือปูแสม มี ๒ ชนิดคือ เปี้ยวดำ ก้ามจะมีสีแดงอมม่วง และ ปูเปี้ยวก้ามขาว หรือ เปี้ยวแก้ว ก้ามมีสีขาว ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าเปี้ยวดำ สุนทรภู่ท่านรู้จักเข้าใจเรื่องปูดีมากทีเดียว จึงได้พรรณนาถึงเรื่องปูต่อไปในกลอนตรงนี้ว่า เอ็นดูปูที่ไม่มีศีรษะ มีแต่ขาและก้ามเดินโก้งเก้ง เป็นสัตว์ไม่มีเลือด ในตัวมีแต่มัน จนมีคำกล่าวว่า “จะเอาเลือดอะไรกับปู” ท่านยังให้ความรู้เรื่องปูอีกว่า ปูตัวเมียมันกินผัว ยามที่ตัวเมียลอกคราบ เจ้าตัวผู้จะไปหาอาหารมาให้กิน แล้วก็เฝ้าดูแลเมียจนกระดองแข็งเหมือนเดิม แต่พอตัวผู้ลอกคราบบ้าง แทนที่ตัวเมียจะไปหาอาหารมาให้ผัวกิน แล้วคอยเฝ้าดูแลเหมือนที่ผัวคอยดูแลตัวเอง นางตัวเมียกลับจับผัวที่เป็นตัวอ่อนนุ่มนิ่มกินเป็นอาหารเสียนี่ นางปูก็เลยเป็นหม้ายไร้ผัว ก่อนผัวจะลอกคราบแล้วถูกเมียกิน ก็ผสมพันธุ์กันไว้ ครั้นผัวถูกกินจนตัวเองไร้ผัวแล้ว มันก็ท้องเป็นปูไข่ไร้ผัว ออกลูกไร้พ่อมายั้วเยี้ยไปหมดเลย (ดังที่เพลงร้องว่าปูไข่ไก่หลงนั่นเอง)
คิดถึงเรื่องปูตัวเมียกินผัวจนตัวเป็นหม้าย แล้วท่านก็สมเพชสัตว์ เปลี่ยนอารมณ์ไปชมพฤกษานานาพันธุ์ เห็นต้นโกงกางแกมต้นกุ่มแซมด้วยแสม บรรยากาศเงียบสงัด มีแต่เสียงจักจั่นกรีดปีส่งเสียงดังแจ่แจ่ ทำให้ยิ่งวิเวกวังเวงใจ
*** วันนี้ตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชรมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน เมื่อถึงวัดกกแล้วท่านจะไปไหนอีกบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย วันอังคารที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ / ๐๕.๑๐ น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๗ -
“ ถึงคลองนามสามสิบสองคดคุ้ง ชะวากวุ้งเวียนซ้ายมาฝ่ายขวา ให้ลูกน้อยคอยนับในนาวา แต่หนึ่งมาถ้วนสามสิบสองคด
อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่ เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคนฯ”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร มาถึงบริเวณวัดกก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา ในสมัยที่พม่ายกทัพมาจากทางใต้ ตีดะจากธนบุรี นนทบุรี ขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา ผ่านวัดกกและใช้ปืนยิงวัดกกจนกำแพงผนังเป็นรอยรูลูกปืนทะลุปรุพรุน ตามที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เขียนกลอนรำพันไว้ให้อ่านกันไปแล้วนั้น วันนี้มาความกันต่อไปครับ
 กลอนข้างต้นนี้ เป็นบทต่อจากกลอนเมื่อวานนี้ เลยวัดกกมาถึงคลองชื่อ สามสิบสองคด ท่านว่าเป็นชะวากวุ้งเวียนซ้ายมาขวา จึงให้หนูพัดลูกชายที่มาด้วยเริ่มต้นนับตั้งแต่คุ้งคดแรกไปจนหมดคุ้งคด รวมแล้วนับได้ ๓๒ คดพอดี สามสิบสองคุ้งคดนี่เป็นระยะทางไกลมิใช่น้อยเลยนะครับ ผมไม่เคยเดินทางในคลองสายนี้จึงไม่รู้เลยว่า มีคุ้งคดมากถึงสามสิบสองคุ้งคดจริงหรือไม่ ท่านที่อยู่ในย่านจอมทอง บางบอน บางขุนเทียน คงรู้กันดี เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่
เห็นคลองคดดังนั้นท่านก็รำพึงรำพันออกมาเป็นกลอนดังที่ยกมาให้อ่านกันข้างบนนี้ ซึ่งก็ถอดความได้ว่า คลองคด และของคดอื่น ๆ แม้จะมีถึงหมื่นคดก็กำหนดตายตัวได้เป็นจำนวนที่แน่นอน แต่ว่าจิตใจมนุษย์นี้เราไม่สามารถกำหนดจำนวนความคดได้เลย
“ ถึงปากช่องคลองชื่อสุนัขหอน ทั้งเรือแพแลสลอนเสลือกสลน ต่างแข็งข้อถ่อค้ำที่น้ำวน คงคาข้นขุ่นตื้นแต่พื้นเลน
เข้ายัดเยียดเสียดแทรกบ้างแตกหัก บางถ่อผลักอึดอัดขัดเขมร บ้างทุ่มเถียงเสียงหญิงขึ้นเกนเกน ล้วนโคลนเลนเปื้อนเปรอะเลอะทั้งตัว
ที่น้อยตัวผัวเมียลงลากฉุด นางเมียหยุดผัวโกรธเมียโทษผัว ด้วยยากเย็นเข็นฝืดทั้งมืดมัว พอตึงตัวเต็มเบียดเข้าเสียดแซะ
ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ ที่เข็นเรียงเคียงคำขยำขแยะ มันเกาะแกะกันจริงจริงหญิงกับชาย ฯ” |
 คลองหมาหอน : สมุทรสาคร เรือลอยลำพ้นคุ้งสามสิบสองคดแล้ว ถึงปากช่องทางเข้าคลองหมาหอน ถึงตรงนี้สนุกมาก พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร บรรยายภาพให้เห็นเหตุการณ์ในคลองหมาหอนชัดเจน คลองหมาหอน (สุนัขหอน) อยู่ใกล้ทะเล น้ำในคลองมีขึ้นมาลงตามน้ำทะเล คืนนั้นท่านไปถึงเป็นเวลาน้ำลงพอดี ตรงปากคลองนั้นน้ำไหลวนค่อนข้างแรง และน้ำในคลองเหลือน้อย แต่เรือที่เดินทางขึ้นล่องมีจำนวนมาก จึงมีสภาพแออัดยัดเยียด เบียดเสียดกัน พายไม่สะดวก ต้องใช่ถ่อ ส่วนเรือที่ค้างอยู่บนเลน ถ่อไม่ไหว จึงต้องลงลุยเลนเข็น (ยู้) เรือไปบนพื้นเลน เจ้าของเรือเกิดการกระทบกระทั่งโต้เถียงกันลั่นคลอง ยังไม่พอ ผัวเมียที่ต้องลงลุยเลนเข็นเรือก็ยังทะเลาะกันอีกด้วย ทั้งผัวทั้งเมียเนื้อตัวเปื้อนดินเลนมอมแมมไปตาม ๆ กัน ไหนจะต้องถ่อเรือ เข็นเรือ ไหนจะต้องปัด ตบยุงเปาะแปะ ๆ เป็นสภาพที่ทุลักทุเลมากเลยเทียว ท่านภู่ สุนทรโวหารว่า เจ้าของเรือชายหญิงที่เข็นเรือลุยเลนจมเคียงกันไปนั้นมือมันบอน แต๊ะอั๋งจับขยำเนื้อตัวกันอย่างสนุกสนานบันเทิงคลายเหนื่อยกันไป
“ จนตกทางบางสะใภ้ครรไลล่อง มีบ้านช่องซ้ายขวาเขาค้าขาย ปลูกทับทิมริมทางสองข้างราย ไม่เปล่าดายดกระย้าทั้งตาปี
บ้างดิบห่ามงามงอมจนค้อมกิ่ง เป็นดอกติ่งแตกประดับสลับสี บ้างแตกร้าวพราวเม็ดเพชรโนรี เขาขายดีเก็บได้ใส่กระเชอ
มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู
นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้ อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทิบทิม พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย ฯ |
 เรือสุนทรภู่หลุดพ้นคลองหมาหอนมาได้ด้วยความยากเย็น เลยมาถึงบางสะใภ้ ท่านมิได้บอกเวลาว่ารุ่งแจ้งแสงทองดวงตาวันส่องฟ้าแล้วหรือไม่ ได้แต่เดาเอาเองว่า พ้นคลองหมาหอนมาแล้วก็เป็นเวลาเช้าวันใหม่ เพราะท่านมองเห็นบ้านช่องผู้คนสองฟากฝั่งคลองสะใภ้ได้ชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะต้นและดอกผลทับทิม ที่ทั้งลูกทั้งดอกดกมาก ดูเหมือนหมู่บ้านบางสะใภ้นี้จะเป็นหมู่บ้านที่ปลูกทับทิมขายกันเป็นอาชีพ หญิงสาวร้องขายทับทิมด้วยเสียงเหน่อ ๆ น่ารัก จนท่านคิดจะขอเป็นลูกสะใภ้สักคนหนึ่ง แต่แล้วก็ต้องชะงักเมื่อเห็นหนูพัด ซึ่งยามนั้นเป็นหนุ่มแล้ว ได้แสดงความเป็นคนเจ้าชู้ให้เห็นด้วยการร้องบอกสาว ๆ ที่ร้องขายทับทิมว่า “ขอชิมหน่อยได้มั้ย” พวกแม่ค้าสาวก็พากันเมินสะเทิ้นอาย เมื่อได้หยอกล้อแม่ค้าสาวขายทับทิม เฮฮาประสาชายแล้วก็จากบางสะใภ้ไป
ไปไหน พรุ่งมาอ่านต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณอาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 ลำน้ำแม่กลอง : สมุทรสงคราม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๘ -
“ ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย บ้างย่างปลาค้าเคียงเรียงเรียงราย ดูวุ่นวายวิ่งไขว่ทั้งใหญ่น้อย
ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย ลูกค้ารับนับกันเป็นพันร้อย ปลาเล็กน้อยขมงโกรยโกยกระบุง
นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย กำไรรวยรวมประจบจนครบถุง บ้างเหน็บท้องป่องปุ่ยตุ่ยตุ่ยตุง ต่างบำรุงรูปร่างสำอางตาฯ
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปในนิราศเมืองเพชร พ้นเขตกรุงเทพฯ เข้าเขตสมุทรสาคร หลุดพ้นคลองหมาหอนไปได้อย่างทุลักทุเลเต็มที แล้วก็ได้สบายอกสบายใจเมื่อเรือไปถึงบ้านบางสะใภ้ ที่เต็มไปด้วยสวนทับทิม มีชาวบ้านเป็นแม่ค้านำผลทับทิมมาตั้งวางขายรายทางริมฝั่งคลอง แม่ค้า (ชาวบ้าน) สาวร้องขายทับทิมด้วยสำเนียงเสียงไทย (เดิม) ทวาราวดี เหน่อ ๆ ฟังเพราะดี กิริยาท่าทางแม่ค้าสาวน่ารักจนนึกอยากจะขอเป็นลูกสะใภ้สักคน ทั้งหลวงพ่อและลูกชาย (หนูพัด) ได้สนทนาปราศรัย หยอกเอินลูสาวชาวบ้านที่เป็นแม่ค้าขายทับทิมตามประสาชาย แล้วก็แล่นเรือเลยไป วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่จากบ้านบางสะใภ้มาถึงแม่กลองแล้วครับ
 ลำน้ำแม่กลอง : สมุทรสงคราม กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากกลอนเมื่อวันวาน ท่านสุนทรภู่พรรณนาให้เห็นสภาพของแม่กลองในวันนั้นว่า สองฟากฝั่งคลองเต็มไปด้วยบ้านเรือนบนบกและเรือแพในน้ำ มีการย่างปลาตั้งวางขายรายเรียงกันไป ทั้งผู้ค้าขายและลูกค้าผู้ซื้อสิ่งของดูวุ่นวายขวักไขว่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีของสำเร็จ (ทำเสร็จแล้ว) ตั้งวางขายหลายชนิด เป็นต้นว่า เป็ด ไก่ ไข่พอก (เค็ม) ปลากระเบน ปลากระบอก ปลาทู ปู หอย ปลาเล็กปลาน้อยกองพะเนิน ต้องโกยใส่กระบุง
“นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย”
คำชมแม่ค้าปลาเค็มของสุนทรภู่ในกลอนวรรคนี้ เป็นวรรคทองแท้ คำว่า “เต็มสวย” นี่น่ะไม่รู้ว่าท่านคิดขึ้นมาใช้ได้ไง ใครจะแปลคำนี้ว่าอย่างไรไม่ทราบ สำหรับผมแล้วขอแปลคำนี้ว่า “สวยบริสุทธิ์บริบูรณ์จนหาที่ติมิได้” เลยก็แล้วกัน
นางแม่ค้า “เต็มสวย” นางนี้เธอจะใช้ความ “เต็มสวย ” เรียกลูกค้ามาซื้อปลาเค็มของเธอหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ปรากฏว่า มีลูกค้ามาซื้อปลาเต็มของเธอมากมาย เธอได้กำไรจนเงินเต็มถุงในเวลาไม่นานนัก วิธีเก็บเงินของเธอนั้น สุนทรภู่บอกว่า เธอเอาเงินถุงเหน็บท้อง (พุง) และเอว จนท้องและเอวตุงไปเลย
" พอออกช่องล่องลำแม่น้ำกว้าง บ้านบางช้างแฉกแฉขึ้นแควขวา ข้างซ้ายตรงลงทะเลพอเวลา พระสุริยามืดมัวทั่วแผ่นดิน
ดูซ้ายขวาป่าปะโลงหวายโป่งเป้ง ให้วังเวงหวั่นไหวฤทัยถวิล เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน ไปหากินแล้วก็พากันมารัง
บ้างเคียงคู่ชูคอเสียงซ้อแซ้ โอ้แลแลแล้วก็ให้อาลัยหลัง แม้นร่วมเรือนเหมือนนกที่กกรัง จะได้นั่งแนบข้างเหมือนอย่างนก
นี่กระไรไม่มีเท่ากี่ก้อย โอ้บุญน้อยนึกน่าน้ำตาตก ต้องลมว่าวหนาวหนังเหมือนคั้งคก จะได้กกกอดใครก็ไม่มี
จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง ทะเลโล่งแลมัวทั่ววิถี ไม่เห็นหนสนธนยาเป็นราตรี แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา.......” |
 บ้านเบญจรงค์ : บางช้าง อัมพวา สมุทรสงคราม พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร นั่งเรือประทุนให้คนแจวหัวแจวท้าย จากคลองหมาหอนตั้งแต่เช้า ผ่านบ้านบางสะใภ้ไปถึงแม่กลอง ออกแม่น้ำใหญ่ไปผ่านบ้านบางช้าง แล้วออกอ่าวทะเล เป็นเวลา “สุริยนย่ำสนธยา” หมดเวลาไปหนึ่งวันเต็ม ๆ ครั้นออกสู่ท้องทะเลยามตะวันลับฟ้าไปแล้ว คืนนั้นลมดีท้องฟ้าโปร่งใสไม่มืดมัว มีดาวสว่างกระจ่างตา.......
" สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา แสงคงคาเต็มพราวราวกับพลอย
เห็นปลาว่ายกายสล้างกระจ่างแจ่ม แลแอร่มเรืองรุ่งทั้งกุ้งฝอย เป็นหมู่หมู่ฟูฟ่องขึ้นล่องลอย ตัวน้อยน้อยนางมังกงขมงโกรย
ชื่นอารมณ์ชมปลาเวลาดึก หวนรำลึกแล้วเสียดายไม่วายโหย แม้นเห็นปลาวารินจะดิ้นโดย ทั้งลมโชยเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น
จะเพลินชมยมนาเวหาห้อง เช่นนี้น้องไหนเลยจะเคยเห็น ทะเลโล่งโว้งว่างน้ำค้างกระเซ็น ดูดาวเด่นดวงสว่างเหมือนอย่างโคม
จะเปรมปรีด์ดีใจมิใช่น้อย น้องจะพลอยเพลินอารมณ์ด้วยชมโฉม โอ้อายจิตคิดรักลักประโลม ทรงจะโทรมตรงช่องปากคลองโคน
ด้วยมืดค่ำสำคัญที่นั่นแน่ เรียกแสมตายห่าพฤกษาโกร๋น ลำพูรายชายเลนดูเอนโอน วายุโยนยอดระย้าริมสาคร
หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัสสร เหมือนแหวนก้อยพลอยพรายเมื่อกรายกร ยังอาวรณ์แหวนประดับเมื่อลับตาฯ...” |
 ** เริ่มออกทะเลตรงปาก "คลองโคน" เป็นคืนที่คลื่นลมสงบผิวน้ำทะเลราบเรียบ เดือนหงายจนสว่างเหมือนกลางวันจริง ๆ สว่างจนพระภิกษุภู่มองเห็นตัวปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำทะเล เห็นจนกระทั่งกุ้งฝอยเป็นหมู่ ๆ ท่านชื่นชมความงามในท้องทะเลยามค่ำนั้นแล้ว ใจก็หวนไปถึงหญิงที่รักคนหนึ่ง เสียดายที่เธอมิได้ร่วมเดินทางมาด้วย เมื่อเรือท่านถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า แสมตาย (แสมตายห่าพฤกษาโกร๋น) มีต้นลำพูอยู่มากมาย และมีหิ่งห้อยจับตามใบลำพูเต็มไปหมด หิ่งห้อยเหล่านั้นพากันส่องแสงวามวับราวจะแข่งแสงดาว ยามลมโชยพัดใบลำพูดไหวพลิ้ว ทำให้แสงหิ่งห้อยพราวพรายสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้ตามแกะรอยการเดินทางไปเมืองเพชรของท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๙ -
“ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด เห็นเมฆกลัดกลางทะเลบนเวหา เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ
นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง
ทั้งคลื่นซ้ำน้ำซัดให้ปัดปั่น โอ้แต่ชั้นคลื่นลมยังข่มเหง น่าอายเพื่อนเหมือนคำเขาทำเพลง มาเท้งเต้งเรือลอยน่าน้อยใจ
ยิ่งแจวทวนป่วนปั่นยิ่งหันเห ลมทะเลเหลือจะต้านทานไม่ไหว เสียงสวบเสยเกยตรงเข้าพงไพร ติดอยู่ใต้ต้นโกงกางแต่กลางคืน........”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามท่านสุนทรภู่จากกรุงเทพฯ เดินทางไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร จากแม่กลองผ่านบางช้างออกท้องทะเลหลวงยามพลบค่ำ ท้องฟ้าโปร่งใสดวงดาวส่องสว่างกระจายไปทั่ว คลื่นลมสงบ ท้องทะเลราบเรียบ คืนนั้นโคมสวรรค์จากฟากฟ้าส่องแสงลงมากระทบผืนน้ำทะเล ทำให้เกิดความสว่างไสวไปทั่วมณฑล จนท่านสุนทรภู่มองเห็นตัวปลาแหวกว่ายในทะเล เห็นแม้กระทั่งกุ้งฝอยที่ว่ายมากันเป็นฝูง ๆ ริมฝั่งทะเลแถวนั้นมีต้นลำพูขึ้นสลับกับโกงกาง คืนนั้นมีหิ่งห้อยจับเกาะใบลำพูเปล่งแสงเป็นประกายระยิบระยับงามจับตา ท่านจึงเพลิดเพลินชมธรรมชาติจนลืมหลับนอน...
 กลอนข้างบนนี้เป็นบทต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร บอกเล่าเหตุการณ์อันระทึกขวัญของท่านว่า ขณะที่กำลังชื่นชมธรรมชาติอันงดงามของริมฝั่งทะเล ณ คลองช่องยามค่ำคืนนั้น พลันก็เห็นก้อนเมฆใหญ่ลอยกลัดกลางทะเลทะมึนบนท้องฟ้า ทะเลที่ราบเรียบก็เกิดระลอกคลื่นครืนโครมเข้ากระทบกระแทกฝั่ง เป็นลมสลาตันกระพือโหมมา พัดเรือสำปั้นใหญ่ขนาดสี่แจวของท่านหันเห ฝีพายช่วยกันจ้ำแจวทวนกระแสลมกระแสน้ำ ช่วยกันถือหางเสือไว้อย่างไรก็ไม่อยู่ เคราะห์ดีที่เรือไม่ถูกคลื่นซัดล่มจมลงก้นทะเล แต่กระนั้นก็ถูกคลื่นซัดเข้าเกยตื้นติดอยู่ในดงไม้โกงกางตลอดคืน..
“ พอจุดเทียนเชี่ยนขันน้ำมันคว่ำ ต้องวิดน้ำนาวาไม่ฝ่าฝืน เสื่อที่นอนหมอนนวมน้ำท่วมชื้น เหลือเพียงผืนผ้าแพรของแม่น้อง
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่ ยังรักรู้จักคุณการุญสนอง ลมรินรินกลิ่นกลบอบละออง ได้ปกครองครุมเครือเมื่อเรือค้าง
เขาหลับเรื่อยเหนื่อยอ่อนนอนสนิท พี่นี้คิดใคร่ครวญจวนรุ่งสาง เสียงนกร้องซ้องแซ่คลอแครคราง ทั้งลิงค่างครอกโครกละโอกโอย
เสียงชะนีที่เหล่าเขายี่สาน วิเวกหวานหวัวหวัวผัวผัวโหวย หวิวหวิวไหวได้ยินยิ่งดิ้นโดย ชะนีโหยหาคู่ไม่รู้วาย
เหมือนวิตกอกน้องที่ตรองตรึก เหลือรำลึกอาลัยมิใคร่หาย จะเรียกบ้างอย่างชะนีนี้ก็อาย ต้องเรียกสายสวาทในใจรำจวน.......” |
 ปรากฏว่า เรือของท่านสุนทรภู่ถูกคลื่นลมซัดเข้ารกเข้าพงไปค้างอยู่ในต้นโกงกาง พอคลื่นลมสงบ ท่านจุดเทียนขึ้นดู ตะเกียงน้ำมันคว่ำไปใช้ไม่ได้ แม้เชี่ยนหมากก็กระจัดกระจาย น้ำในเรือมากมายจนต้องช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือ เสื่อหมอนผ้านวมล้วนชุ่มน้ำ เหลือเพียงผ้าแพรน้องนางผืนเดียวที่ไม่ชุ่มชื้น จึงพอได้คลี่ห่มกันหนาวตอนค่อนอุษาสางได้ ไม่รู้เหมือนกันว่าผ้าแพรผืนนี้ น้องนางคนใดให้มาแต่ไหนเมื่อไร ยามนี้ใกล้รุ่งแล้ว พระภิกษุภู่นอนไม่หลับเพราะหวนคำนึงถึงอดีตในหลาย ๆ เรื่องและหลายคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนางน้องเจ้าของผ้าแพร ขณะนั้นทุกคนในเรือล้วนหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน
 เวลาอุษาโยคใกล้รุ่งแล้ว เสียงวิหคนกริมทะเลต่างก็ร่ำร้องเสียงเซ็งแซ่ พวกลิงค่างต่างก็ส่งเสียงร้องครอก ๆ กระโดดโลดเต้นไปมาตามกิ่งไม้ เสียงชะนีป่าร้องหาผัวอยู่โหวย ๆ วิเวกหวาน ทำให้หวนคำนึงถึงน้องที่อยู่เดียว คงจะเปลี่วยกายใจ ร้องเรียกหาชู้เช่นชะนีเขายี่สานในกาลนี้.......
“ จนรุ่งแจ้งแสงสว่างนภางค์พื้น ต้องค้างตื้นติดป่าพากำสรวล จะเข็นค้ำล้ำเหลือเป็นเรือญวน พอเห็นจวนน้ำขึ้นค่อยชื่นใจ
ต้นแสมแลดูล้วนปูแสม ขึ้นไต่แต่ต้นกิ่งวิ่งไสว เขาสั่นต้นหล่นผอยผล็อยผล็อยไป ลงมุดใต้ตมเลนเห็นแต่ตา
โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุ๊บแจงเอยเผยฝาหาข้าวเปียก แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน ทั้งงวงทั้งงาออกมากิน ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูให้ดูเล่น มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย โอ้นึกอายด้วยจุ๊บแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก.......” |
รุ่งสางสว่างแจ้งแล้วแต่เรือสุนทรภู่ยังลงลอยลำในทะเลไม่ได้ เพราะติดตื้นอยู่ในป่าโกงกาง ครั้นจะช่วยกันเข็นเรือลงน้ำก็ทำไม่ได้ เพราะเรือท่านนั้น “เป็นเรือญวน” ลักษณะเรือญวนที่สุนทรภู่ใช้นี้ เป็นแบบเรือสำปั้นขนาดใหญ่น้อง ๆ เรือมอญที่บรรทุก ครก หม้อ โอ่ง อ่าง กระถาง เตา เครื่องปั้นดินเผาไปขายตามหัวเมืองต่าง ๆ นั่นเชียวครับ ใหญ่ขนาดนั้นใครจะเข็นไหว
 หอยจุ๊บแจงไต่เกาะตามต้นไม้ชายเลน ครั้นน้ำทะเลขึ้นถึงป่าโกงกาง เรือท่านสุนทรภู่ก็ลอยลำออกสู่ท้องทะเลได้แล้วเดินทางต่อไป ท่านเห็นปูแสมไต่ขึ้นไปเกาะตามต้นแสมเต็มไปหมด หากมีใครไปเขย่าต้นแสม เจ้าปูแสมก็จะทิ้งตัวลงผล็อย ๆ สู่ดินแล้วมุดเลนเห็นแต่ลูกตาโผล่ขึ้นมาเท่านั้น จากป่าแสมก็ไปถึงที่อยู่ของหอยจุ๊บแจง ท่านเห็นมันไต่ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้มากมาย ท่านก็คิดหวนไปถึงเรื่องหอยจุ๊บแจง แล้วยกเนื้อเพลงพื้นบ้านที่ร้องกันมานมนาน ถอดความได้ว่า หอยจุ๊บแจงเนี่ยเหมือนคนขี้อาย เวลาจับมาแล้วมันจะคว่ำหน้ามุดอยู่ในเปลือก ต้องกวักมือเรียกว่าลูกเขยเอ้ย เงยหน้ามาหน่อย แม่ยายจะไปทอดกฐินแล้ว มันได้ยินเสียงเรียก ดังนั้นจึงโผล่ออกมาจากเปลือก เรื่องนี้จริงหรือไม่ก็ลองทำดูนะครับ
คำว่า “ปากหอย” น่าจะมาจากเจ้าหอยจุ๊บแจงนี้เอง
วันนี้ตามรอยสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ เอาไว้ตามต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย วันศุกร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ / ๐๕.๕๓น. ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 ป่าชายเลนบางตะบูน (ปากตะพูน) : เพชรบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๐ -
พอลอยลำน้ำมากออกจากป่า ได้แอบอาศัยแสมอยู่แต่ดึก ในดงฟืนชื่นชุ่มทุกพุ่มพฤกษ์ ผู้ใดนึกฟันฟาดให้คลาดแคล้ว
แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง ไปตามร่องน้ำหลักปักเป็นแถว ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้ว ค่อยคล่องแคล้วเข้าชะวากปากตะพูน
น้ำยังน้อยค่อยค้ำพอลำเลื่อน ไม่มีเพื่อนเรือประหลาดช่างขาดสูญ ในคลองลัดทัศนายิ่งอาดูร เป็นดินพูนพานจะตื้นแต่พื้นโคลน
ป่าปะโลงโกงกางแกมแสม แต่ล้วนแต่ตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น ตลอดหลามตามตลิ่งล้วนลิงโลน อ้ายทโมนนำหน้าเที่ยวคว้าปู.........”
.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามดูสุนทรภู่เดินทางไปเพชรบุรี ซึ่งมีร่องรอยอยู่ในนิราศเมืองเพชร ออกทะเลไปถึงปากคลองช่อง เขายี่สาน เกิดมีลมสลาตัน ทั้งลมทั้งคลื่นซัดเรือท่านเข้าไปในป่าโกงกาง ค้างเติ่งอยู่ตลอดคืน รุ่งเช้ารอจนทำทะเลหนุนขึ้น เรือลอยลำแล้วจึงเดินทางต่อไป วันนี้มาแกะรอยตามดูท่านกันต่อนะครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร บอกเล่าว่า พอเรือลอยลำก็ออกจากป่าโกงกางแล้วเคลื่อนคลาจากคลองช่อง ไปตามร่องน้ำที่มีไม้ปักบอกทางเดินเรือไว้เป็นทิวแถว ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้วเรือค่อยคล่องขึ้น เข้าถึงชะวากปากตะพูนซึ่งน้ำยังน้อย จึงต้องใช้ถ่อช่วยค้ำไป วันนั้นรู้สึกแปลกประหลาด เพราะบรรยากาศเงียบสงบมาก ไม่มีเรือขึ้นล่องเป็นเพื่อนเดินทางเลย ครั้นเข้าถึงคลองลัดเหลียวดูรอบกายแล้วอาดูร เพราะมีน้ำน้อย ดินพูนขึ้นจนพานจะตื้นเป็นพื้นโคลน ที่ริมคลองนั้นเต็มไปด้วยป่าแสมโกงกางที่ใบโกร๋นยืนต้นตาย ตามริมตลิ่งนั้นยั่วเยี้ยไปด้วยลิงแสม เห็นอ้ายทโมนตัวหัวหน้าเที่ยวคว้าจับปู........
“ ครั้นล้วงขุดสุดอย่างเอาหางยอน มันหนีบนอนร้องเกลือกเสือกหัวหู เพื่อนเข้าคร่าหน้าหลังออกพรั่งพรู ลากเอาปูออกมาได้ไอ้กะโต
ทั้งหอยแครงแมงดามันหาคล่อง ฉีกกระดองกินไข่มิใช่โง่ ได้อิ่มอ้วนท้วนหมดไม่อดโซ อกเอ๋ยโอ้เอ็นดูหมู่แมงดา
ให้สามีขี่หลังเที่ยวฝั่งแฝง ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา ทิ้งแมงดาผัวเสียเอาเมียไป
ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ ก็บรรลัยแหลกลาดดาษดา
แม้นเดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา โอ้อาลัยใจอย่างนางแมงดา แต่ดูหน้าในมนุษย์เห็นสุดแล
จนออกช่องคลองบางตะพูนใหญ่ ล้วนป่าไม้ตีนเป็ดเสม็ดแสม นกกระยางยางกรอกกระรอกกระแต เสียงซ้อแซ้สองข้างทางกันดารฯ” |
 กลอนตอนนี้สุนทรภู่ท่านได้ให้ความรู้ด้านนิเวศวิทยาได้ดียิ่ง โดยบอกเล่าว่า เจ้าลิงทโมนตัวหัวหน้าที่นำฝูงเที่ยวไล่จับปูกินนั้น ปูมันวิ่งหนีลงรู เจ้าทโมนเอามือล้วงลงรูหมายจับ ก็ล้วงไม่ถึงจึงเอาหางยอนหย่อนลงไปล่อปู เจ้าปูในรูก็เอาก้ามหนีบ เจ้าทโมนดึงหางเอาปูขึ้นไม่ได้ ก็นอนดิ้นกลิ้งเกลือกอยู่ปากรูปู พวกลิงลูกน้องเห็นเช่นนั้นก็ช่วยกันจับตัวเจ้าทโมนดึง ลากเอาตัวปูที่หนีบหางลิงนั้นขึ้นมาจากรูจนได้ เจ้าปูมันโง่ที่ไม่ยอมปล่อยหางลิงจึงถูกลากขึ้นมาให้ลิงจับฉีกกระดองกินเนื้อกินไข่กันอิ่มหมีพีมัน นอกจากปูแสมแล้ว พวกหอยแครง แมงดา พวกลิงก็หาจับได้ง่าย มันมิใช่โง่ เมื่อจับปู หอยแครง แมงดา ได้ ก็ฉีกกระดองกินไข่กินเนื้อกันอย่างไม่อดอยากปากแห้ง
 แมงดาทะเล ท่านกล่าวถึงแมงดาทะเลว่า น่าเอ็นดูแมงดาตัวเมียที่มันให้แมงดาตัวผู้ขี่หลังออกเที่ยวหาอาหารกินไปทั่ว ครั้นถูกจับได้ เขาก็เอาเฉพาะตัวเมียไปเป็นอาหาร ส่วนตัวผู้ไร้ประโยชน์เขาก็ปล่อยทิ้งไว้ แต่เจ้าตัวผู้เมื่อไม่มีตัวเมียให้ขี่หลังไปไหน ๆ ก็ไปไม่ได้ เหมือนคนตาบอดคลานคลำวนเวียนอยู่กับที่ แล้วที่สุดก็อดตายไปตาม ๆ กัน
เรื่องนี้เห็นจะเป็นที่มาของคำว่า “เป็นแมงดาเกาะเมียกิน” แล้วรวมไปเรียกนักเลงคุมซ่องว่า “แมงดา” เกาะผู้หญิงหากิน ท่านสุนทรภู่ยกย่องแมงดาตัวเมียว่าประเสริฐนัก หากมีเมียที่ไม่ทิ้งผัวเหมือนแมงดา แม้เธอจะรูปชั่วตัวดำอย่างไรก็จะรักให้หนักหนาทีเดียว แต่ทว่า “แต่ดูหน้าในมนุษย์ก็สุดแล” คือว่าผู้หญิงที่รักผัวเหมือนแมงดาตัวเมียก็หาได้ไม่ง่ายนัก
 ต้นตีนเป็ดน้ำ จากฝูงลิง (ลิง ภาษาบาลีคือ มักกโฏ สุนทรภู่เรียก กะโต) และแมงดาในคลองบางตะพูนใหญ่ล่วงเลยมา ก็มีแต่ป่าต้นตีนเป็ด (สัตตบัน) ป่าเสม็ด แสม มากมาย มีฝูงนกกระยาง ยางกรอก โผผินบินร่อน ร้องกู่หากันขรม กระรอกกระแต กระโดดโลดเต้นส่งเสียงร้องแซ้ซ้ออยู่สองข้างบทางกันดาร.........
* เอาละ วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาพ้นคลองบางตะพูนใหญ่ แค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาแกะรอยตามดูท่านต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|