บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๖ -
“บางกระบือเห็นกระบือเหมือนชื่อย่าน แสนสงสารสัตว์นาฝูงกาสร ลงปลักเปลือกเกลือกเลนระเนนนอน เหมือนจะร้อนรนร่ำทุกค่ำคืน
โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนด้วยความรัก ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน แม้นเหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีด์เปรม
โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม ได้ใกล้เคียงเรียงริมจะอิ่มเอม แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดคลายฯ”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ........................................
เมื่อวันวานนี้ได้นำคำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงบางใหญ่ ท่านให้จอดเรือรับประทานอาหาร ริมตลิ่งตรงนั้นมีต้นรักใหญ่กำลังแตกใบอ่อนกิ่งยื่นล้ำมาในน้ำ เขาจึงเด็ดใบรักมาจิ้มปลาร้าทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ต้นรักที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ต้นรักที่เราเก็บดอกมาร้อยมาลัย หากแต่เป็นไม้ยืนต้นที่สูงใหญ่พอสมควร เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์มะม่วง ทางเชียงใหม่เรียกรักเทศ มะเรียะ สุรินทร์เรียก น้ำเกลี้ยง (รักน้ำเกลี้ยง) ภาคเหนือโดยรวมเรียก ฮักหลวง กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์เรียก รักซู้ สู่ รักใหญ่นี้ยางมีพิษ โบราณนิยมใช้ยางรักนี้มาเคลือบภาชนะ ยางแห้งแล้วเป็นสีดำ ก็เพิ่งรู้จากนิราศพระประธมของท่านสุนทรภู่นี่เองว่า ใบอ่อนรักใหญ่จิ้มปลาร้าอร่อยมาก ท่านแก้ห่อเสบียงอาหารออกมาพบว่ามีของฝากจากหลายคน ส่วนมากเป็นของหวาน กินกันทั้งลำเรือ เป็นอะไรของใครบ้าง ลองกลับไปอ่านทวนดูเถิด วันนี้มาอ่านตอนต่อไปอีกนะครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือแจวออกจากบางใหญ่หลังจากทานอาหารกันเรียบร้อยแล้ว ถึงบางกระบือเห็นควายเป็นฝูงลงนอนในปลักเลนเพื่อคลายร้อน หวนคิดถึงตนเองที่อกร้อนด้วยไฟรักเผาลน แม้นฝนตกลงมาสักแสนห่าก็ไม่สามารถจะดับร้อนได้ แต่หากได้ลิ้มรสพจมานอันหวานชื่นจากคนที่รักนั่นแหละจึงจะปรีด์เปรมเอมอิ่ม ความร้อนคลายไปทันที แต่นี่ตัวท่านเปรียบเหมือนนกน้อยที่คิดจะลอยขึ้นไปร่วงสรงกับหงส์ทองจึงร้อนอกร้อนใจยากคลายถอน
“ถึงคลองย่านบ้านบางสุนัขบ้า เหมือนขี้ข้านอกเจ้าเฉาฉงาย เป็นบ้าจิตคิดแค้นเพราะแสนร้าย ใครใกล้กรายเกลียดกลัวทุกตัวคน
ถึงลำคลองช่องกว้างชื่อบางโสน สะอื้นโอ้อ้างว้างมากลางหน โสนออกดอกระย้าริมสาชล บ้างร่วงหล่นแลงามเมื่อยามโซ |
 ชุมชนบางโสนพัฒนา 2 : บางใหญ่ นนทบุรี แต่ต้นกระเบาเขาไม่ใช้เช่นใจหญิง เบาจริงจริงเจียวใจเหมือนไม้โสน เห็นตะโกโอ้แสนแค้นตะโก ถึงแสนโซสุดคิดไม่ติดตาม
พอสุดสวนล้วนแต่เหล่าเถาสวาด ขึ้นพันพาดเพ่งพิศให้คิดขาม ชื่อสวาดพาดเพราะเสนาะนาม แต่ว่าหนามรกระชะกะกาง |
 ดอกสวาด สวาดต้นคนต้องแล้วร้องอุ่ย ด้วยรุกรุยรกเรื้อรังเสือสาง แต่ชั้นลูกถูกต้องเป็นของกลาง เปรียบเหมือนอย่างลูกสวาทศรียาตรา
ริมลำคลองท้องทุ่งดูวุ้งเวิ้ง ด้วยน้ำเจิ่งจอกผักขึ้นหนักหนา ดอกบัวเผื่อนเกลื่อนกลาดดาษดา สันตะวาสายติ่งต้นลินจงฯ” |
 ดอกโสน เรือแจวแล่นผ่านถึงบ้านหมาบ้า เลยถึงบ้านโสน (ลอย) ท่านก็ครวญถึงหมาบ้าที่ใคร ๆ ก็เกลียดกลัวไม่กล้ากรายใกล้ เหมือนคนที่จิตคิดแค้นแสนน่ากล้วที่ใคร ๆ ก็รังเกียจ ยามนั้นโสนกำลังออกดอกเป็นพวงระย้าเหลืองอร่ามงามตา แล้วท่านก็เปรียบต้นโสนเป็นไม้เบา ไม่มีใครนำมาใช้ แล้วก็ว่าไม้โสนราวกะใจหญิงที่แสนเบา เรือลอยลำผ่านเห็นต้นตะโก เถาสวาด ท่านก็คร่ำครวญเรื่อยไปตามทางที่สุดเรือกสวนแล้ว เป็นท้องทุ่งเวิ้งว้าง น้ำเจิ่งนองเต็มไปด้วยจอกแหน สันตะวาสายติ่ง บัวเผื่อน บัวลินจง.....
“ถึงบ้านใหม่ธงทองริมคลองลัด ที่หน้าวัดเห็นเขาปักเสาหงส์ ขอความรักหนักแน่นให้แสนตรง เหมือนคันธงแท้เที่ยงอย่าเอียงเอน
ได้ชมวัดศรัทธาสาธุสะ ไหว้ทั้งพระปฏิมามหาเถร นาวาล่องคล่องแคล่วเขาแจวเจน เฟือยระเนนน้ำพร่างกระจ่างกระจาย
ดูชาวบ้านพรานปลาทำลามก เที่ยวดักนกยิงเนื้อมาเถือขาย เป็นทุ่งนาป่าไม้รำไรราย พวกหญิงชายชาวเถื่อนอยู่เรือนโรง |
 พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดต้นเชือก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ริมคลองบางใหญ่ (คลองโยง) ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน น่าสำราญเรียงรันควันโขมง ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย
เวทนากาสรสู้ถอนถีบ เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยง....” |
 วัดต้นเชือก : บ้านใหม่(ธงทอง) อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ถึงบ้านใหม่ธงทอง ซึ่งอยู่ในคลองลัดมีวัดที่ปักเสาหงส์ไว้หน้าวัดแลดูสง่างาม วัดนี้คือวัดต้นเชือก ปัจจุบันอยู่ในปกครองของ อบต.บ้านใหม่ ลำคลองในช่วงตอนนี้ตามที่ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาในกลอนนี้วันที่สุนทรภู่ไปนั้นมีน้ำน้อย เรือเล็กพายแจวไปได้สบาย แต่เรือใหญ่ขนาดเรือมอญ ต้องใช้ควายโยงลากจูงไป ท่านว่าสงสารควายมาก เกิดชาติใดภพใดขออย่าให้เกิดเป็นควายลากเรือโยงเลย...
วันนี้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ขอพักไว้ก่อนเถิด พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๗ -
“ตามแถวทางกลางย่านนั้นบ้านว่าง เขาปลูกสร้างศาลาเปิดฝาโถง เจ๊กจีนใหม่ไทยมั่งไปตั้งโรง ขุดร่องน้ำลำกระโดงเขาโยงดิน
ดูทุ่งกว้างวากเวกหมอกเมฆมืด บรรพตพืดภูผาพนาสิณฑ์ ฝูงวิหคนกกาเที่ยวหากิน ตามที่ถิ่นเขตแคว้นทุกแดนดาว
บ้างเดินดินบินว่อนขึ้นร่อนร้อง ริมขอบหนองนกกระกรุมคุ่มคุ่มขาว ค้อนหอยย่องมองปลาแข้งขายาว อีโก้งก้าวโก้งเก้งเขย่งตัว
กระทุงทองล่องเลื่อนดูเกลื่อนกลาด ไม่คลาคลาดคลอเคลียเหมือนเมียผัว มีต่างต่างยางกรอกนกดอกบัว เที่ยวบินยั้วเยี้ยย่องทั่วท้องนา
นกกระจาบขาบคุ่มอีลุ้มร่อน ดูว้าว่อนเวียนเร่ในเวหา เห็นยางเจ่าเซาจับคอยสับปลา นกกระสาซ่องซ่องค่อยย่องเดิน.....”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ......
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านอ่านกันถึงคลองโยง ท่านว่าคลองนี้น้ำน้อย เรือเล็กยังพายแจวไปมาได้สะดวกแต่เรือใหญ่โป้งโล้ง แจว ถ่อ ไม่สะดวก ต้องใช้ควายมาช่วยลากจูงโยงไป เห็นแล้วรู้สึกสงสารควายมาก วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าสองข้างทางคลองที่ไปนั้นเป็นทุ่งกว้างว่างบ้านเรือน มีศาลาปลูกไว้ เป็นศาลาไร้ฝาปิดกั้น เปิดโถงโล่งไว้ มีเจ๊กจีนและไทยไปตั้งโรงพัก ขุดร่องน้ำลำกระโดงลากโยงดินกัน ในทุ่งกว้างนั้นมีนกพันธุ์ต่าง ๆ มากมายบินว่อนร่อนบนอากาศบ้าง เดินย่องจ้องจับปลาหาหอยกินบ้าง เท่าที่ท่านเห็นก็มีนกกระกรุม หรือ กระซุม (คือ ตะกรุมหัวล้านเหม่ง) นกค้อนหอยขายาว นกอีโก้ง นกกระทุง นกยางกรอก นกกระจาบ นกขาบ นกคุ่ม นกกระสาและหลากหลายคณานก
 วัดลานตากฟ้า ต. ลานตากฟ้า อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม “โอ้ดูนกอกใจให้ไหวหวาด ยามนิราศเริดร้างมาห่างเหิน เห็นสิ่งไรใจพี่ไม่มีเพลิน ส่วนเรือเดินด่วนไปใจจะคืน
จะออกช่องคลองโยงเห็นโรงบ้าน เขาเรียกลานตากฟ้าค่อยพาชื่น โอ้แผ่นฟ้ามาตากถึงภาคพื้น น่าจะยืนหยิบเดือนได้เหมือนใจ
เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าตกน้ำ ใครช่างดำยกฟ้าขึ้นมาได้ แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราลัย จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย |
 วัดงิ้วราย ต. งิ้วราย อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม Cr. Photo By รตจิตร โอ้ฟังบุตรสุดสวาทฉลาดเปรียบ ต้องทำเนียบนึกไปก็ใจหาย ถึงแขวงแควแลลิ่วชื่องิ้วราย สะอื้นอายออกความเหมือนหนามงิ้ว
งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มเมื่อพริ้มพักตร ดูน่ารักเรือนผมก็สมผิว แสนสุภาพกราบก้มประนมนิ้ว เหมือนโฉมงิ้วงามราวกับชาววังฯ” |
 แม่น้ำท่าจีนผ่านนครปฐม เห็นนานานกเที่ยวหากินกันในทุ่งกว้างแล้ว แทนที่จะชมกิริยาท่าทางนกอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ ท่านสุนทรภู่กลับไร้อารมณ์สนุกสนานเพลิดเพลิน หากแต่สลดหดหู่ จนเรือออกปากช่องคลองโยงมาถึงลานตากฟ้า จึงค่อยสดชื่นขึ้นบ้าง ลูกชายน้อยที่มาด้วยช่างคิด กล่าวว่า ฟ้าตกน้ำแล้วใครนะดำน้ำลงไปยกฟ้าขึ้นมาตากไว้บนลานนี้ได้ ท่านก็ชื่นชมความคิดฉลลาดเฉียวของลูกชาย จนเรือเลยถึงบ้านงิ้วราย แม่น้ำท่าจีน เห็นชื่องิ้วรายท่านก็หวนคิดไปถึงงิ้วงามในวัง......
 วัดสัมปทวน ริมน้ำท่าจีน อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม “ถึงย่านน้ำสำประทวนรำจวนจิต เหมือนใจคิดทวนทบตลบหลัง ไปลอบโลมโฉมเฉกที่เมฆบัง เปรียบเหมือนนั่งแอบอุ้มทุกทุ่มโมง
ถึงปากน้ำลำคลองที่ท้องทุ่ง เจ๊กเขาหุงเหล้ากลั่นควันโขมง มีรางร่องสองชั้นทำคันโพง ผูกเชือกโยงยืนชักคอยตักเติม
น่าชมบุญขุนพัฒน์ไม่ขัดข้อง มีเงินทองทำทวีภาษีเสริม เมียน้อยน้อยพลอยเป็นสุขไรจุกเจิม ได้พูนเพิ่มวาสนาเสียกว่าไทย
ทุกวันนี้มีทรัพย์เขานับถือ เหมือนเราหรือเขาจะรักมิผลักไส สงสารจนอ้นอั้นให้ตันใจ จนเข้าในปากน้ำสำประโทน
ริมลำคลองสองฝั่งสะพรั่งพฤกษ์ พินิจนึกเหมือนหนึ่งเขียนบ้างเกรียนโกร๋น นกอีลุ้มคุ่มขาบจิบจาบโจน กระพือโผนโผผินขึ้นบินโบย
บนไม้สูงฝูงเปล้านกเค้าคู่ กระลุมพูโพระโดกเสียงโหวกโหวย วิเวกใจได้ยินยิ่งดิ้นโดย ละห้อยโหยหาน้องในคลองลัด” |
 จากงิ้วราย เรือถูกแจวเข้าย่านน้ำสำประทวน ผ่านโรงเหล้า (ต้มกลั่นสุรา) นครชัยศรีของขุนพัฒน์ ท่านก็กล่าวชื่นชมบุญของขุนพัฒน์ที่เป็นเจ๊กจีน แต่สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวร่ำรวยกว่าคนไทย มีเมียน้อยตั้งหลายนาง มีคนนับหน้าถือตามาก หวนนึกถึงตัวท่านที่เป็นคนยากจนไร้คนเหลียวแล น่านึกน้อยใจในวาสนานัก รำพึงรำพันจนเรือเลยเข้าสู่ปากน้ำสำประโทน ที่สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ เจียวจาวด้วยฝูงนกน้อยใหญ่นานาชนิด ทำให้คิดหวนหาน้องในคลองลัด....
วันนี้อ่านมาถึงสำประโทนก็พักไว้ก่อนเถอะนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ลายเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๘ -
“พอมืดมนฝนคลุ้มชอุ่มอับ โพยมพยับเป็นพยุระบุระบัด เสียงลมลั่นบันลือกระพือพัด พิรุณซัดสาดสายลงพรายพราว
ฟ้ากระหึ่มครึมครั่นให้ปั่นป่วน เหมือนพี่ครวญคราวทนน้ำฝนหนาว แวมสว่างอย่างแก้วดูแวววาว เป็นเรื่องราวรามสูรอาดูรทรวง
เพราะนางเอกเมฆขลาหล่อนล่อแก้ว จะให้แล้วไม่ให้ด้วยใจหวง เหมือนรักแก้วแววฟ้าสุดาดวง เฝ้าหนักหน่วงนึกเหมือนจะเคลื่อนคลาฯ”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านอ่านกันถึงตอนที่ สุนทรภู่นั่งเรือแจวผ่านโรงเหล้านครชัยศรี ชื่นชมความร่ำรวยของขุนพัฒน์ชาวจีนเจ้าของโรงเหล้า แล้วน้อยใจในวาสนาของตนที่จนยาก รำพึงรำพันมาจนเรือเลยเข้าปากน้ำสำประโทนอันร่มรื่นด้วยไม้นานา นกกาโบยบินกันมากมาย วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ
กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าขณะคำนึงถึงน้องในคลองลดนั้น พลันก็เกิดฟ้ามืดคลุ้มลมพายุพัดมา ฟ้าแลบคำราม พร้อมสายฝนโปรยปรายลงมาอย่างหนักจนเหน็บหนาว ฟ้าแลบฟ้าร้องทำให้หวนคิดถึงเรื่องรามสูรนางเมฆขลาขึ้นมา
 วัดบางแก้ว ต. บางแก้ว อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม “ถึงบางแก้วแก้วอื่นสักหมื่นแสน ไม่เหมือนแม้นแก้วเนตรของเชษฐา ดูรูปนางบางแก้วไม่แผ้วตา ไม่เหมือนหน้าน้องแก้วที่แคล้วกัน
จนเกินย่านบ้านคลองที่ท้องทุ่ง เป็นเขตคุ้งขอบป่าพนาสัณฑ์ ทุกถิ่นเถื่อนเรือนโรงโขมงควัน เป็นสำคัญเขตโขดโตนดตาลฯ
ถึงโพธิ์เตี้ยโพธิ์ต่ำเหมือนคำกล่าว แต่โตราวสามอ้อมเท่าพ้อมสาน เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพระยาพาน มาสังหารพระยากงองค์บิดา |
แล้วปลูกพระมหาโพธิบนโขดใหญ่ เผอิญให้ให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา อันเท็จจริงสิ่งใดเป็นไกลตา เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง
ที่ท้ายบ้านศาลเจ้าของชาวบ้าน บวงสรวงศาลเจ้าผีบายศรีตั้ง เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง ให้คนทั้งปวงหลงลงอบาย
ซึ่งคำปดมดท้าวว่าจ้าวช่วย ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย ถือเจ้านายที่ได้พึ่งจึงจะดี
แต่บ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี เหมือนถือเพื่อนเฟือนหลงว่าทรงดี ไม่สู้พี่ได้แล้วเจ้าแก้วตาฯ” |
เรือลอยเลยมาถึงบางแก้ว ท่านก็ครวญถึงนางแก้วในวังที่จากมา เลยบางแก้วเข้าย่านบ้านที่เขาทำนำตาลโตนด ตั้งเตาเคี่ยวน้ำตาลกันควันคลุ้งโขมงไปทั้งหมู่บ้าน แล้วเลยถึงโพธิ์เตี้ย ท่านหวนนึกถึงนิทาน ตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน ที่ว่า พระยากงลูกชายพระยาพาน มาฆ่าพระยาพานชิงราชสมบัติ สำนึกบาปแล้วปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อล้างบาป แต่ปรากฏว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นไม่เจริญเติบโตขึ้น หากแต่เตี้ยลง นิทานเรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรท่านไม่รับรอง เพราะเป็นเรื่องไกลตา เขาเล่ามาอย่างไรก็เล่าให้ฟังอย่างนั้น ที่ท้ายบ้านนี้ท่านเห็นศาลเจ้าใหญ่มีคนทรงเจ้าประจำอยู่ มีการตั้งบายศรีและเข้าทรงกันเป็นประจำ ท่านก็ว่าน่าสลดใจที่คนเชื่อเจ้าเชื่อผีที่ไร้ตัวตน ผีจะช่วยอะไรได้ คนต่างหากล่ะที่จะช่วยเราได้ หากถือเจ้านายที่ดีเขาก็เป็นที่พึ่งของเราได้ แต่นี่คนบ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งเจ้าป่าเจ้าเขา ผีบ้าน ไปตามประสาคนบ้านนอก
 ตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน เป็นนิทานโบราณคดีที่มีความจริงอยู่มาก ในเรื่องนี้เล่าว่า พระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพจากเมืองมโนหัน (อยู่ในเขตปราจีนบุรีปัจจุบัน) ติดเมืองยศโสธร ได้ยกมาสร้างบ้านแปงเมืองเล็ก ๆ ให้เป็นเมืองใหญ่ขึ้น (ตรงบริเวณที่เป็นเมืองนครชัยศรีปัจจุบัน ) แล้วให้ชื่อว่าเมืองตักศิลามหานคร อีกนามหนึ่งว่า อริมัทนบุรี
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ หลานของพระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพองค์หนึ่งนามว่า กากวัณติศราช มีอำนาจปกครองหมดทุกหัวเมืองในภูมิภาค (สุวรรณภูมิ) นี้ ซึ่งรู้จักต่อมาว่า อาณาจักรทวาราวดี ตกมาถึงพระยาพานลูกของกากวัณติศราชครองเมืองนี้ มีลูกชายองค์หนึ่งชื่อว่าพระยากง เป็นอุปราชครองอยู่นครสุโขทัย ได้ยกมาชิงราชสมบัติ แล้วฆ่าพระยาพานผู้บิดาเสีย
จากนั้นอาณาจักรทวาราวดีอันยิ่งใหญ่ก็แตกกระจัดกระจายไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย เรื่องนี้ผมได้ให้รายละเอียดไว้ในตอนเริ่มเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย คลิก แล้ว ท่านที่เข้ามาอ่านเรื่องของผมภายหลัง หากอยากรู้รายละเอียดก็ลองย้อนกลับไปค้นหาดูเถิดครับ
 วัดท่ากระชับ ต. ท่ากระชับ อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม “ถึงบางกระชับเหมือนกำชับให้กลับหลัง กำชับสั่งว่าจะคอยละห้อยหา วานซืนนี้พี่ได้รับกำชับมา ไม่อยู่ช้ากว่ากำชับจะกลับไป
แต่เป็ดหงส์ลงหาดไม่คลาดคู่ สังเกตดูดังจะพาน้ำตาไหล เหมือนเสียทีมีเพื่อนไม่เหมือนใจ ดังดินไร้เส้นหญ้าอนาทรฯ” |
 ภาพวาดพระเจ้าบรมวงศ์เธฮ พระองค์เจ้าวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ) เรือเลยมาถึงบางกระชับ สุนทรภู่ท่านก็ครวญถึงคำกำชับสั่งให้กลับไปหานางแก้วของท่านอย่างเร็ววัน ความที่ครวญมาตลอดจนถึงบางกระชับนี้ นักอ่านกลอนนิราศส่วนใหญ่จึงเข้าใจกันว่า นางในนิราศเรื่องนี้คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ค่อนข้างจะเป็นที่แน่นอน แต่ผมยังไม่อยากเชื่อนะครับ รอให้อ่านไปจนจบเรื่องก่อนค่อยตกลงใจ
วันนี้อ่านมาถึงบางกระชับก็ระงับเรื่องไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดสิงห์ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๙ -
“ถึงวัดสิงห์สิงสู่อยู่ที่นี่ แต่ใจพี่นี้ไปสิงมิ่งสมร ถึงตัวจากพรากพลัดกำจัดจร ยังอาวรณ์หวังเสน่ห์ทุกเวลา
ถึงวัดท่าท่าน้ำดูฉ่ำชื่น สำราญรื่นร่มไม้ไทรสาขา คิดถึงนุชสุดสวาทที่คลาดคลา จะคอยท่าถามข่าวทุกคราวเรือฯ”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.............
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้อ่านกัน ถึงตอนที่ท่านเดินทางมาถึงบางกระชับแล้วคิดหวนถึงคำสั่งให้รีบกลับ ก็ครวญว่าจะกลับโดยพลัน วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 วัดท่าใน ต.ท่าพระยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน เรือท่านเลยบางกระชับมาถึงวัดสิงห์ ครวญว่าตัวท่านมาอยู่ที่นี่แต่ใจกลับไปอยู่ที่สมร เฝ้าอาวรณ์หวังเสน่ห์ทุกเวลา จนเรือเลยถึงวัดท่า เห็นท่าน้ำดูฉ่ำชื่น มีร่มไม้ใหญ่และร่มไทรแผ่กิ่งก้านสาขาน่าสำราญ หวนคิดว่านุชสุดสวาทที่จากมาคงจะคอยท่า ถามข่าวทุกเที่ยวเรือที่เข้าเทียบท่าน้ำ.......
“ถึงบ้านกล้วยกล้วยกล้ายเขารายปลูก น้ำเต้าลูกเท่ากระติกพริกมะเขือ กล้วยหักมุกสุกห่ามอร่ามเครือ อยู่ริมเรือเรียดทางข้างคงคา
คิดถึงเมื่อเรือน้องมาคลองนี้ จะชวนชี้ชมประเทศกับเชษฐา สะอื้นโอ้โพล้เพล้ถึงเวลา สกุณาข้ามฝั่งไปรังเรียง
บ้างเรียงร้องซ้องแซ่กรอแกรกรีด หวิวหวิวหวีดเวทนาภาษาเสียง ลูกอ่อนแอแม่ป้อนชะอ้อนเอียง บ้างคู่เคียงเคล้าคลอเสียงซอแซ
เอ็นดูนกกกบุตรแล้วสุดเศร้า เหมือนบุตรเราเคียงข้างไม่ห่างแห หวนสะอื้นฝืนใจอาลัยแล ได้เห็นแต่ตาบน้อยละห้อยใจ
ตะวันรอนอ่อนอับพยับแสง ดูดวงแดงดังจะพาน้ำตาไหล ยังรอรั้งสั่งฟ้าด้วยอาลัย ค่อยไรไรเรืองลับวับวิญญา
พระจันทรจรจำรูญข้างบูรทิศ กระต่ายติดแต้มสว่างกลางเวหา โอ้กระต่ายหมายจันทร์ถึงชั้นฟ้า เทวดายังช่วยรับประคับประคอง
มนุษย์หรือถือดีว่ามีศักดิ์ มิรับรักเริดร้างให้หมางหมอง ไม่เหมือนเดือนเหมือนกระต่ายเสียดายน้อง จึงขัดข้องขัดขวางทุกอย่างไป
น้ำค้างพรมลมเฉื่อยเรื่อยเรื่อยริ้ว หนาวดอกงิ้วงิ้วออกดอกไสว เกสรงิ้วปลิวฟ้ามายาใจ ให้ทราบใจทรวงช้ำสู้กล้ำกลืน
โอ้งิ้วป่าพาหนาวเมื่อคราวยาก สุดจะฝากแฝงหน้าไม่ฝ่าฝืน แม้นงิ้วเป็นเช่นงานเมื่อวานซืน จะชูชื่นช่วยหนาวเมื่อคราวครวญ
โอ้ดูเดือนเหมือนได้ยลวิมลพักตร ไม่ลืมรักรูปงามทรามสงวน กระจ่างแจ้งแสงจันทร์ยิ่งรัญจวน คะนึงหวนนิ่งนอนอ่อนกำลังฯ” |
 กล้วยกล้าย จากวัดสิงห์มาถึงบ้านกล้วย ท่านกล่าวถึงกล้วยชนิดหนึ่งคือ “กล้วยกล้าย” กล้วยชนิดนี้เป็นกล้วยลูกผสมพันธุ์หนึ่งในสกุล Musa วงศ์ Musaceae ผลใหญ่ โค้ง ยาวกว่ากล้วยหอม เปลือกหนาเนื้อเหนียว ไส้แข็งมีสีส้ม รสหวาน นิยมกินกันตอนที่สุกแล้ว เดี๋ยวนี้น่าจะไม่มีแล้วนะ ที่บ้านกล้วยยามนั้นมีพืชผักผลไม้มากมาย เช่นว่า น้ำเต้าลูกเท่ากระติก พริกมะเขือ ฟักแฟง สำหรับต้มแกงมีพร้อม กล้วยหักมุกสุกเหลืองอยู่ริมคลองใกล้มือ เห็นภาพธรรมชาติเช่นนั้นท่านก็หวนคิดถึงนุชสุดที่รัก หากมาด้วยจะชี้ชวนชมธรรมชาติอันงดงามตลอดรายทาง รำพึงรำพันพรางจนตะวันยอแสงแล้วลาลับฟ้า ดวงจันทร์เพ็ญลอยเด่นทางทิศบูรพาขึ้นมาแทน แสงจันทร์สว่างกระจ่างจ้า เห็นรูปกระต่ายกลางดวงจันทร์ ก็พลันหวนถึงว่า แม้กระต่ายยังทะยานขึ้นไปแต้มอย่างกลางดวงจันทร์ได้ แต่มนุษย์ไยถือดีว่ามีศักดิ์มิรับรักเราผู้ต่ำต้อย ยิ่งคิดยิ่งน้อยใจ ครานั้นลมหนาวพัดมาทำให้หนาวยิ่งนัก ท่านว่าเป็น “หนาวดอกงิ้ว” อันหนาวดอกงิ้วนี้เป็นความที่เยือกเย็น โบราณท่านว่า ทุกปีที่ถึงเวลาดอกทองกวาว (ดอกจาน) ดอกงิ้วบาน ฟ้าจะส่งความเย็นลงมาโลมหล้า ท่านเรียกหนาวนี้ว่า “หนาวดอกทอง ดอกงิ้ว” สุนทรภู่ท่านอยู่ในยุคโบราณเหมือนกันจึงรู้จักอานุภาพของความหนาวนี้ดี
 วัดธรรมศาลา ต. ธรรมศาลา อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม “ ถึงบ้านธรรมศาลาริมท่าน้ำ เป็นโรงธรรมภาคสร้างแต่ปางหลัง เดชะคำทำบุญการุณัง เป็นที่ตั้งศาสนาให้ถาวร
ขอสมหวังดังสวาทอย่าคลาดเคลื่อน ให้ได้เหมือนหมายรักในอักษร หนังสือไทยอธิษฐานสารสุนทร จงถาพรเพิ่มรักเป็นหลักโลม
โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย ให้ละห้อยหวนเห็นเหมือนเช่นโฉม พอมืดมนฝนพยับอับโพยม ทรวงจะโทรมเสียเพราะรักที่หนักทรวงฯ” |
 วัดธรรมศาลา ต. ธรรมศาลา อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม เลยบ้านกล้วยมาถึงบ้านธรรมศาลาซึ่งเป็นโรงธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต เป็นที่ตั้งหลักเผยแผ่พุทธศาสนาให้แพร่หลายและสถาพรมาจนตราบเท่าวันนี้ ท่านก็อธิษฐานขอให้สมหวังในรักที่ปรารถนา.........
วันนี้อ่านมาหยุดพักตรงวัดธรรมศาลานี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลาบสือไทย ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดห้วยตะโก ต.เพนียด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๐ -
“ถึงถิ่นฐานบ้านเพนียดเป็นเนินสูง ที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง เหตุเพราะนางช้างต่อเข้าล่อลวง พลายทั้งปวงจึงต้องถูกมาผูกโรง
โอ้อกเพื่อนเหมือนหนึ่งชายที่หมายมาด แสนสวาทหวังงามมาตามโขลง ต้องติดบ่วงห่วงรักชักชะโลง เสียดายโป่งป่าเขาคิดเศร้าใจ
เข้าจอดท่าหน้าเนินเพนียดช้าง มีโรงร้างไร้ฝาเข้าอาศัย พอประทังบังฝนใต้ต้นไทร พวกผู้ใหญ่หยุดหย่อนเขานอนเรือ
แต่ลูกเล็กเด็กอ่อนนอนชั้นล่าง น้ำค้างพร่างพรมพราวให้หนาวเหลือ โอ้รินรินกลิ่นเกสรขจรเจือ เหมือนกลิ่นเนื้อแนบชิดสนิทใน
หนาวน้ำค้างพร่างพรมจะห่มผ้า พออุ่นอารมณ์ระงับให้หลับใหล ถึงลมว่าวหนาวยิ่งจะผิงไฟ แต่หนาวใจจากเจ้าให้เศร้าซึม”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านอ่านกันถึงบ้านธรรมศาลา ซึ่งเป็นโรงธรรมสถานในอดีต วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ
 บทกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านออกจากบ้านธรรมศาลามาถึงบ้านเพนียดมีเนินสูง ที่นีเป็นเพนียดคล้องช้างในอดีต ท่านก็รำพึงถึงช้างว่า ช้างพลายป่าถูกนางพังช้างบ้านล่อให้ตามเข้าเพนียดจนถูกคล้องจับเข้าผูกไว้ในโรง ช่างเหมือนตัวท่านที่หลงตามฝูงมาติดบ่วงรักให้หนักทรวงห่วงหา และค่ำวันนั้นท่านสั่งให้จอดเรือพักแรมที่ท่าน้ำหน้าเพนียด ซึ่งมีโรงร้างว่างอยู่ใต้ร่มไทร อากาศหนาวเย็นทำให้ท่านคิดฟุ้งซ่านไปดังคำกลอนข้างบนนี้......
“สงัดเงียบเยียบเย็นทุกเส้นหญ้า แต่สัตว์ป่าปีบร้องก้องกระหึ่ม ไม่เห็นหนต้นไม้เพราะไทรครึม เสียงงึมงึมเงาไม้พระไทรคะนอง |
 แมลงเป็ดผี และ งูปี่แก้ว ทั้งเป็ดผีปี่แก้วแว่วแว่วหวีด จังหรีดกรีดกรีดเกรียวเสียวสยอง เสียงหริ่งหริ่งกิ่งไทรเรไรร้อง แม่ม่ายรองไนเพราะเสนาะใน
สงสารแต่แม่ม่ายสายสวาท นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองไน เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว
แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง ไปร่วมห้องหายม่ายทั้งหายหนาว นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวเข้าเหนียวลาว ลืมเข้าจ้าวเจ้าประคุณที่คุ้นเคย
โอ้คิดอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน ที่ร่วมเรือนร่วมเตียงเคียงเขนย สงัดเสียงเที่ยงคืนเคยชื่นเชย เมื่อไรเลยจะได้คืนมาชื่นใจ
จวนจะหลับกลับฝันว่าขวัญอ่อน แนบฉะอ้อนอุ่นจิตพิสมัย พี่เคยเห็นเช่นเคยเชยฉันใด จนชั้นไฝที่ริมปากไม่อยากเฟือน
พอฟื้นกายหายรูปให้วูบง่วง กำสรดทรวงเสียใจใครจะเหมือน ยังมิคุ้นอุ่นจิตไม่บิดเบือน มาเป็นเพื่อนทุกข์ยากเมื่อจากจร
ยังเหลือแต่แพรสีที่พี่ห่ม ขึ้นประธมจะถวายให้สายสมร แม้นโฉมงามตามมาจะพาจร เมื่อขวัญอ่อนขึ้นไปชมประธมทอง
โอ้ยามสามยามจากเคยฝากรัก ได้ฟูมฟักแฝงเฝ้าเป็นเจ้าของ มาสูญขาดวาสนาน้ำตานอง มิได้น้องแนบเชยเหมือนเคยเคียง” |
 ท่านนอนรำพึงรำพันมากมายจนหลับไปแล้ว ฝันว่าได้นอนแนบแอบเนื้ออุ่นของนางอันเป็นที่รัก จำได้แม่นยำเพราะนางมีไฝที่ริมฝีปาก นางในนิราศของท่านนางใดมีไฝที่ริมฝีปากหนอ ใครอยากรู้ต้องค้นคว้าหากันเอาก็แล้วกัน ผมเองก็จนปัญญา
"พอรุ่งรางวางเวงเสียงเครงครื้น ปักษาตื่นเสียงเรียกกันเพรียกเสียง โกกิลากาแกแซ่สำเนียง สนั่นเพียงพิณพาทย์ระนาดประโคม
กระหึ่มหึ่งผึ้งบินกินเกสร ทรวงภมรเหมือนพี่เคยได้เชยโฉม น้ำค้างชะประเปรยเชยชโลม พื้นโพยมแย้มสว่างกระจ่างตา
เสพอาหารหวานคาวแต่เช้าชื่น ยังรวยรื่นรินกลิ่นบุปผา กับพวกพ้องสองบุตรสุดศรัทธา ขึ้นเดินป่าไปตามทางเสียงวางเวง
กระเหว่าหวานขานเสียงสำเนียงเสนาะ ค้อนทองเคาะค้อนทองเสียงป๋องเป๋ง เห็นรอยเสือเนื้อตื่นอยู่ครื้นเครง ให้กริ่งเกรงโห่ฉาวเสียงกราวเกรียว
ต้นกรวยไกรไทรสะแกแคแกรกกร่าง น้ำค้างพร่างพร่างชุ่มชอุ่มเขียว หนทางอ้อมค้อมคดต้องลดเลี้ยว พากันเที่ยวชมเนื้อดูเสือดาว
พอแสงแดดแผดร้อนอ่อนอ่อนอุ่น กระต่ายตุ่นต่างต่างบ้างค่างขาว สุกรป่าช้ามดเหมือนแมวคราว เวลาเช้าชักฝูงออกทุ่งนา
เด็กเด็กโดดโลดไล่กระต่ายหลบ จับประจบหกล้มสมน้ำหน้า สนุกในไพรพนัสรัถยา ทั้งบรรดาเด็กน้อยก็พลอยเพลินฯ” |
 ครั้นรุ่งสาวสว่างแจ้งแล้วทานข้าวปลาอาหารกันเสร็จก็พร้อมด้วยบุตรสองคนคือ นายตาบ นายนิล และบรรดาศิษย์ผู้ติดตามก็พากันขึ้นจากเรือ เดินทางผ่านป่าดงชมนกชมไม้ไปตามกลอนข้างบนนี้ มุ่งหน้าไปยังองค์พระประธมเจดีย์
วันนี้ปล่อยให้อ่านกลอนยาวยาว ๆ ที่ไพเราะของกวีเอกแห่งโลก มาถึงตรงนี้ก็ขอพักไว้ก่อน เรื่องใกล้จะจบแล้ว พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่เถิดครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร : นครปฐม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๑ -
“ครั้นถึงวัดพระประธมบรมธาตุ สูงทายาทสันโดษบนโขดเขิน แลทะมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน เป็นโขดเนินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน
ประกอบก่อย่อมุมมีซุ้มมุข บุดีบุกบรรจบถึงนพศูล เป็นพืดแผ่นแน่นสนิททั้งอิฐปูน จนเพิ่มพูนพิสดารอยู่นานครัน....
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, น้ำหนาว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 องค์พระปฐมเจดีย์ (พระประธม) : นครปฐม - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๒ -
“สาธุสะพระประธมบรมธาตุ จงทรงศาสนาอยู่ไม่รู้สูญ ข้าทำบุญคุณพระช่วยอนุกูล ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ
หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ ให้สืบชื่อทั่วฟ้าสุธาสถาน สุนทราอาลักษณ์จ้าวจักรพาฬ พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
หนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา......
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.............
เมื่อวันวานนี้ผมอยู่ระหว่างการเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับสุโขทัย ไม่สะดวกในการนำนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาให้อ่านกัน วันนี้มีเวลาแล้วจึงขอนำกลอนนิราศพระประธมของท่านสุนทรภู่ ที่ได้นำมาวางให้อ่านกัน ถึงตอนสุนทรภู่พร้อมด้วยบุตรชายทั้งสองและศิษย์ผูติดตามเดินทางถึงพระประธมเจดีย์ เดินขึ้นไปข้างบนลานที่กราบไหว้บูชาพระบรมธาตุ ท่านจุดธูปเทียนของตนและของทุกคนที่ฝากมาบูชาพระบรมธาตุแล้วอธิษฐาน... วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันก่อน ท่านจุดธูปเทียนบูชาแล้วอธิษฐานขอให้พระประธมเจดีย์ทรงศาสนาไว้อย่ารู้สูญ และอานิสงส์ที่ท่านได้ทำบุญนี้ ขอคุณพระได้ช่วยเพิ่มพูนบุญหนุนส่งให้ถึงพระโพธิญาณ และขอให้บุญนี้ช่วยบันดาลให้ผลงานกลอนของท่านลือชาปรากฏไปทั่วจักรวาล ใครที่ติเตียนกลอนท่านแล้วทำตามอย่างหวังเทียบเทียมท่าน ขอให้ฟั่นเฟือนไป ต่อเมื่อโอนอ่อนออกชื่อยกย่องท่านสุนทรภู่แล้วจึงจะลือชา.......
“อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด ถึงเนื้อน้ำธรรมชาติไม่ปรารถนา ข้างนอกนวลส่วนข้างในใจสุดา เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง
ถึงรูปชั่วตัวดำระยำยาก รู้รักปากรักหน้าประสาหญิง ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง จะรักยิ่งยอดรักให้หนักครัน
จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด จะสู้กอดแก้วตาจนอาสัญ อันหญิงลิงหญิงค่างหญิงอย่างนั้น ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา
ขอเดชะพระมหาอานิสงส์ ซึ่งเราทรงศักราชพระศาสนา เสน่ห์ไหนให้คนนั้นกรุณา เหมือนในอารมณ์รักประจักษ์ใจ
หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศวาส ซึ่งสิ้นชาติชนม์ภพสบสมัย ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป ถึงห้องไตรตรึงษ์สถานพิมานแมน
ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยอื่น จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน มั่งมีมิตรพิศวาสไม่ขาดแคลน ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน
นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ เสน่ห์มอบหมายรักเป็นพักผล เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี
ให้ได้คู่สู่สมภิรมย์รัก ที่สมศักดิ์สมหน้าเป็นราศี สืบสกุลพูลสวัสดิ์ในปัฐพี ร่วมชีวีสองคนไปจนตาย
แต่นารีขี้ปดโต้หลดหลอก ให้ออกดอกทุกวี่วันเหมือนมั่นหมาย ทั้งลิ้นน้องสองลิ้นเพราะหมิ่นชาย เป็นแม่ม่ายเท้งเต้งวังเวงใจ” |
 ท่านสุนทรภู่นี่ปากร้ายไม่เบาเลยนะครับ อ่านคำอิษฐานเกี่ยวกับผู้หญิงของท่าน สมกับที่ท่านเป็น “นักกลอนตลาด” แท้ ๆ ปากแม่ค้าในตลาดก็สู้ท่านไม่ได้ ดูตอนที่ท่านแช่งหญิงขี้ปด (ตอหลดตอแหล) ซี คิดได้ไงว่า “ขอให้ออกดอกทุกวัน” ความหมายในคำด่าแบบแม่ค้าปากตลาดที่ด่ากันว่า “อีดอก.....” อะไรนั่นแหละ มิหนำยังแช่งให้มีลิ้นสองแฉก (เหมือนลิ้นเหี้ย) และเป็นม่ายเท้งเต้งวังเวงใจไปจนตายอีกด้วยแน่ะ
“ที่จงจิตพิศวาสอย่าคลาดเคลื่อน ให้ได้เหมือนหมายมิตรพิสมัย อย่าหมองหมางห่างเหเสน่ห์ใน ได้รักใคร่ครองกันจนวันตาย
เป็นคู่สร้างทางกุศลจนสำเร็จ พระสรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย ยังมิถึงซึ่งนิพพานสำราญกาย จะกลับกลายเป็นไฉนอย่าไกลกัน
แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์ แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์ ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่ ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร ได้เชยช้อนชมชเลทุกเวลา
แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์ จะได้ลงสิงสู่ในคูหา แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัญ
กว่าจะถึงซึ่งมหาศิวาโมกข์ เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์ เสวยสวัสดิ์ชัชวาลนานอนันต์ เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธันดร.....” |
คำอธิษฐานหวานแหววตอนนี้ คล้ายกับว่าท่านเอานิราศอิเหนาที่แต่งไว้ก่อนหน้านี้มาแปลงย้ำความหวานของอารมณ์รักที่ยังไม่จืดจาง คำอธิษฐานรำพันของท่านในนิราศนี้ เหลือล้ำคำอภิปรายขยายความจริง ๆ จึงขอพักไว้ตรงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๓ -
“โอ้คิดไปใจหายเสียดายนัก ที่เคยรักเคยเคียงเคยเรียงหมอน มาวายวางกลางชาติถึงขาดรอน ให้ทุกร้อนรนร่ำระกำตรอม
ยังเหลือแพรชมพูของคู่ชื่น ทุกค่ำคืนเคยชมได้ห่มหอม พี่ย้อมเหลืองเปลื้องปลดสู้อดออม เอาคลุมห้อมหุ้มห่มประธมทอง
กับแหวนนางต่างหน้าบูชาพระ สาธุสะถึงเขาผู้เจ้าของ ได้บรรจงทรงเครื่องให้เรืองรอง เหมือนรูปทองธรรมชาติสะอาดตา.......
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ.............
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่ มาวางให้อ่านกันถึงตอนท่านจุดเทียนของท่านและของทุกคนที่ฝากมาจุดถวาย แล้วก็อธิษฐานหลายอย่าง เช่นว่าถ้าใครที่ติกลอนของท่านว่าไม่ดีนานา แล้วก็ทำเทียบเอาอย่างของท่าน ขอให้ฟั่นเฟือนไป ต่อเมื่อเอ่ยออกชื่อยกย่องท่านจึงจะมีชื่อลือชา แล้วอธิษฐานขอไกลจากสตรีโลเลหลอกลวง แม้เธอจะสวยงามปานนางฟ้านางสวรรค์ก็ไม่ปรารถนาใกล้ชิดเชยชม แต่สตรีใดที่มีความซื่อสัตย์ต่อสามี แม้จะปากแหว่งแข้งคอดก็ไม่ทอดทิ้งจะรักไปจนตาย และยังแช่งสตรีที่โกหกตอแหล ขอให้นางจงออกดอกทุกวี่วัน เป็นม่ายเท้งเต้งอยู่จนตาย และอธิษฐานขออยู่เป็นคู่นางอันเป็นที่รักทุกภพทุกชาติไป วันนี้มาอ่านกันต่อจากเมื่อวันวานครับ
 บทกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านครวญคำนึงถึงนิ่ม แม่หนูตาบ ชาวบางกรวย ภรรยาอีกคนหนึ่งของท่านที่ตายจากไปเมื่อ ๙ ปีแล้ว สิ่งที่หลงเหลือของแม่นิ่มคือ ตาบ ลูกชาย ๑ ผ้าแพรชมพู ๑ แหวน ๑ ท่านได้ย้อมผ้าแพรเป็นสีเหลืองแล้วนำมาห่มองค์พระเจดีย์พระประธม ส่วนแหวนนั้น ก็ถวายบูชาพระประธม แล้วอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แม่นิ่มบนสรวงสวรรค์
“แล้วกราบลาพระประธมบรมธาตุ เลียบลีลาศแลพินิจทุกทิศา เห็นไรไรไกลสุดอยุธยา ด้วยสุธาถมสูงที่กรุงไกร
ที่อื่นเตี้ยเรี่ยราบดังปราบเรี่ยม ด้วยยื่นเยี่ยมสูงกว่าพฤกษาไสว โอ้เวียงวังยังเขม้นเห็นไรไร แต่สายใจพี่เขม้นไม่เห็นทรง
ยิ่งเสียวเสียวเหลียวย้ายทั้งซ้ายขวา ล้วนทุ่งนาเนินไม้ไพรระหง ภูเขาเคียงเรียงรอบเป็นขอบวง ในแดนดงดูสล้างด้วยยางยูง
ที่ทุ่งโถงโรงเรือนดูเหมือนเขียน เห็นช้างเจียนจะเท่าหมูด้วยอยู่สูง เขาต้อนควายหวายผูกจมูกจูง เป็นฝูงฝูงไรไรทุกไร่นา
ในอากาศดาษดูล้วนหมู่นก บ้างเวียนวกวนร่อนว่อนเวหา เห็นนกไม้ไพรวันอรัญวา สะอื้นอาลัยเหลียวด้วยเปลี่ยวใจ
บนประธมลมเฉื่อยเรื่อยเรื่อยรื่น กระพือผืนผ้าปลิวหวิวหวิวไหว เสียงฮือฮือรื้อร่ำยังค่ำไป อนาถใจจนสะอื้นกลืนน้ำตา
เห็นไรไรไม้งิ้วละลิ่วเมฆ ดังฉัตรเฉกชื่นชุ่มพุ่มพฤกษา สูงสันโดษโสดสุดจึงครุฑา เธอแอบอาศัยสถานพิมานงิ้ว
เห็นไม้งามนามไม้อาลัยมิตร รำคาญคิดเขินขวยระหวยหิว ฉิมพลีปรีอ่อนเกสรปลิว มาริ้วริ้วรื่นรื่นชื่นชื่นใจ
โอ้ยามจนอ้นอั้นกระสันสวาท คิดถึงญาติดังจะพาน้ำตาไหล แกล้งแลเลยเชยชมพนมไพร พระปรางค์ใหญ่เยี่ยมฟ้าสุธาธาร
ที่ริมรอบขอบคันข้างชั้นล่าง เอาอิฐขว้างดูทุกคนไม่พ้นฐาน แลข้างบนคนข้างล่างที่กลางลาน สุดประมาณหมายหน้านัยน์ตาลาย....... |
 จบคำอธิษฐานแล้วกราบลาพระบรมธาตุ ออกมามาเดินเลียบรอบองค์พระเจดีย์ พรรณนาถึงภูมิทัศน์รอบๆองค์พระประธมที่มีความงดงาม ความกว้างใหญ่ของฐานพระมหาเจดีย์ ความสูงของพระมหาเจดีย์ ว่ามองลงมาข้างล่างแลเห็นช้างตัวเท่าหมู ดูแล้วตาลาย....
“แล้วลาพระจะลงดูตรงโตรก สูงชะโงกเงื้อมไม้จิตใจหาย เมื่อขึ้นนั้นชั้นกระไดขึ้นง่ายดาย จะลงเห็นเป็นว่าหงายวุ่นวายใจ
ต้องผินผันหันหลังลงทั้งสิ้น ถึงแผ่นดินยินดีจะมีไหน เที่ยวชมวัดทัศนาศาลาลัย ต้นโพธิ์ไทรสูงสูงทั้งยูงยาง
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ มะตูมตาดต้นเอื้องมะเฟืองฝาง นมสวรรค์ลั่นทมต้นนมนาง มีต่างต่างตันอกตกตะลึง
นมสวรรค์ฉันดูสู้ไม่ได้ เหมือนเตือนใจให้นึกรำลึกถึง เห็นเล็บนางหมางเมินเดินรำพึง ชมกระทึงดอกดวงพวงพะยอม
พิกุลใหญ่ใต้ต้นหล่นแชล่ม ดูกลีบแซมชื่นเชยระเหยหอม ผลลูกสุกห่ามงามงามงอม แต่แตนตอมต่อผึ้งหึ่งหึ่งฮือ.......” |
 ท่านว่าลานบนขององค์พระประธมนี้ตอนขึ้นนั้นขึ้นได้ง่าย แต่ตอนที่จะลงจากลานไหว้พระบรมธาตุนั้น มองลงมาข้างล่างแล้วหวาดเสียว หันหน้าเดินลงไม่ได้ ทุกคนต้องหันหลังเดินถอยหลังลงมา เมื่อลงมาถึงพื้นดินแล้วโล่งอกโล่งใจไปตาม ๆ กัน ท่านเที่ยวชมบริเวณรอบ ๆ พระมหาเจดีย์ที่มีไม้โพธิ์ไทรรื่นร่ม นอกจากไม้ใหญ่แล้วยังมีไม้ดอกนานา เช่นนมสวรรค์ นมนาง และพิกุล เป็นต้น เฉพาะนมสวรรค์นั้น ท่านว่าสู้นมนางอันเป็นที่รักของท่านมิได้เลย
วันนี้อ่านมาพักไว้ตรงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านต่อกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กลอน123, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๔ -
“เห็นนกเปล้าเขาไฟฝูงไก่เถื่อน เที่ยวเดินเกลื่อนกลางดินบ้างบินปรื๋อ เหล่าลูกเล็กเด็กใหญ่ไล่กระพือ มันบินรื้อร่อนลงข้างดงดอน
ทั้งสระมีสี่มุมปทุมชาติ ระดะดาษดอกดวงบัวหลวงสลอน บ้างร่วงโรยโปรยปรายกระจายจร หอมเกสรเสาวคนธ์ที่หล่นลอย
มีเต่าปลาอาศัยอยู่ในน้ำ บ้างผุดดำโดดคะนองพ่นฟองฝอย ฝูงกริมกรายรายเรียงขึ้นเคียงคอย จะคาบสร้อยเสาวคนธ์ว่ายวนเวียน
เหมือนด้วยรักหนักหน่วงไม่ร่วงหล่น ให้เวียนวนหวั่นจิตตะขวิดตะเขวียน แสนสนุกรุกขชาติดาษเดียร เที่ยวเดินเวียนวนชมประธมทอง...”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ............
เมื่อวันวานนี้เอากลอนนิราศพระประธม คลิก ของสุนทรภู่มาวางให้อ่านกันถึงตอนที่ ท่านสุนทรภู่ลงจากองค์พระประธมเจดีย์มาถึงพื้นดินแล้วก็เดินเที่ยวชมนกชมไม้รอบ ๆ บริเวณองค์พระประธมนั้น วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ
 กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านเห็นในบริเวณป่ารอบ ๆ องค์พระประธมนั้นมี นกนานาชนิด เช่นนกเปล้า หรือเขาเปล้าซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นกันมากนัก นกชนิดนี้เป็นนกเขาที่มีตัวใหญ่ อยู่ในสกุล Treron มีหลายอย่าง คือ นกเปล้าหางเข็ม นกเปล้าอกสีม่วง สีน้ำตาล นกเปล้าใหญ่ นกเปล้าธรรมดา นกเปล้าแดง นกเปล้าเทา เปล้าขาเหลือง เปล้าหางเข็มหัวปีกแดง เปล้าหางพลั่วท้องขาว เปลาคอสีม่วงฯ นอกจากนกเขาเปล้า เขาไฟแล้ว ยังมีไก่เถื่อนเป็นฝูงใหญ่ แสดงให้เห็นว่าพระประธมเจดีย์สมัยนั้นตั้งอยู่ในเมืองที่รกร้างเป็นป่าใหญ่มากทีเดียว แต่ก็มีร่องรอยให้เห็นว่า ในอดีตบ้านเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก ยังมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ในสี่ทิศ สี่ด้านองค์พระประธม ในสระน้ำนั้นยังมีบัวหลวงออกดอกชูไสวสวยงาม ในสระนั้น ๆ มีปลานานาชนิด เช่นปลากริม ปลากราย ปลาสร้อย ปลาสาวคนธ์ ดำผุดดำว่ายอยู่มากมาย รวมทั้งเต่านาก็มีอีกด้วย
“โบสถ์วิหารท่านสร้างแต่ปางก่อน มีพระนอนองค์ใหญ่ยังไม่หมอง หลับพระเนตรเกศเกยเขนยทอง ดูผุดผ่องพูนเพิ่มเติมศรัทธา
โอ้เอ็นดูหนูตาบจะกราบก้ม เปลื้องผ้าห่มนอบนบจบเกศา ขึ้นห่มพระอธิษฐานให้มารดา พลอยน้ำตาตกพรากเพราะยากเย็น
แม้นยังอยู่คู่เชยไม่เคยละ มาไหว้พระก็จะพามาให้เห็น โอ้ชาตินี้มีกรรมจึงจำเป็น มาแสนเข็ญขาดมิตรสนิทใน
กราบพระเจ้าเศร้าจิตคิดสังเวช โอ้น้ำเนตรเอ๋ยกลืนก็ขืนไหล สารพัดตัดขาดประหลาดใจ ตัดอาลัยตัดสวาทไม่ขาดความ...” |
 พระนอน ในวิหารทิศตะวันตก วัดพระปฐมเจดีย์ โบสถ์วิหารเก่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดี มีพระนอน (ไสยาสน์) องค์ใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกองค์พระประธมเจดีย์ หนูตาบเปลื้องผ้าที่ห่มกายมาออกแล้ว ก้มกราบพระและเอาผ้าห่มจบเหนือหัวอธิษฐานอุทิศให้แม่นิ่มด้วยความกตัญญูรู้คุณและรักอาลัยในมารดา แล้วห่มผ้านั้นด้วยความเคารพ สุนทรภู่เห็นภาพลูกกตัญญูเช่นนั้นตื้นตันใจจนน้ำตาไหลพราก ด้วยหวนคิดถึงแม่นิ่ม และซาบซึ้งใจในความกตัญญูของลูกชาย ท่านคิดว่าหากแม่นิ่มยังมีชีวิตอยู่ก็จะพามาไหว้พระประธมด้วย แต่นี่เธออำลาจากโลกนี้ไปเสียแล้ว เพียงได้แต่หวนหาอาวรณ์ สู้ทนฝืนกลืนกลั้นน้ำตาไว้ก็ไม่อยู่ ยังคงขืนไหลพรากออกมานองหน้า แล้วท่านก็ว่า “สารพัดตัดขาดประหลาดใจ ตัดอาลัยตัดสวาทไม่ขาดความ”
“แกล้งพูดพาตาเฒ่าพวกชาวบ้าน คนโบราณรับไปได้ไต่ถาม เห็นรูปหินดินศิลาสง่างาม เป็นรูปสามกษัตริย์ขัติยวงศ์
ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้ หวังจะให้ทราบความตามประสงค์ ว่ารูปทำจำลองฉลององค์ พระยากงพระยาพานกับมารดา....” |
 รูปปั้นพระยากง แล้วท่านก็เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกด้วยการเสไปสนทนาปราศรัยไต่ถามพวกผู้เฒ่าซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ที่มาอยู่ในบริเวณนั้นว่า รูปหินดินศิลาสง่างามเหล่านี้ เป็นรูปใครกัน มีความหมายหรือความเป็นมาอย่างไรหนอ เห็นทีว่าจะมีความสำคัญมิใช่น้อยเลย เพราะดูลักษณะการแต่งกายของรูปนั้นแล้วงามสง่าน่าเคารพยำเกรงยิ่งนัก ท่านผู้เฒ่าเจ้าถิ่นเห็นคนต่างบ้านต่างเมืองสนใจรูปนั้นก็ดีใจนัก จึงบอกเล่าที่มาของรูปนั้นว่า นี่เป็นรูปปั้นหรือแกะลักจำลองจากรูปของพระยากง พระยาพาน และพระมารดาพระยากง ตามตำนาน เรื่องราวความเป็นมามีอย่างไรหรือ หากท่านสนใจเราผู้เฒ่าก็จะเล่าให้ฟัง คือ นานมาแล้ววว......
อ๊ะ ! พักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน วันนี้อย่าเพิ่งฟังตำนานเรื่องพระยากงพระยาพานเลย พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกลอนนิราศพระประธม คลิก ตอนจบเถอะนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ ธันวาคม ๒๕ณ๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๕ -
“ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราชย์ เรียงพระญาติพระยากงสืบวงศา เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน
พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ พระยากงส่งไปให้นายพราน ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย
ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง......”
.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่) |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของท่านสุนทรภู่มาวางให้อ่านกัน ถึงตอนที่สุนทรภู่เห็นหนูตาบเปลื้องผ้าห่มออกถวายพระพุทธไสยาสน์อุทิศให้แม่นิ่มผู้เป็นมารดา แล้วท่านก็หวนคิดถึงแม่นิ่มผู้วายชนม์จนน้ำตาไหลพราก แล้วกลั้นน้ำตาหาเรื่องกลบเกลื่อนด้วยการสนทนากับผู้เฒ่าเจ้าถิ่นถึงรูปปั้นในที่นั้นว่าเป็นใคร ผู้เฒ่าก็บอกเล่าความเป็นมา วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 บทกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังถึงที่มาของรูปปั้นนั้นว่า ในอดีตกาลอันยาวนานมาแล้ว ท้าวพระยาผู้ครองบ้านเมืองนี้พระองค์หนึ่งพระนามว่า พระยากง อยู่มาพระมเหสีทรงพระครรภ์และครบกำหนดประสูติ ขณะประสูตินั้นทรงให้นำพานทองมารองรับ พระกุมารประสูติลงในพานทองพระพักตร์กระทบกระแทกขอบพานเป็นแผลเล็กน้อย จึงให้นามว่าพานกุมาร โหราจารย์ทำนายทายทักว่า พระกุมารนี้ใครเลี้ยงไว้เบื้องหน้าจะเข่นฆ่าผู้ชุบเลี้ยง พระยากงจึ่งให้นายพรานนำไปถ่วงน้ำทิ้งเสีย แต่พระกุมารนั้นมีบุญมาก หาได้จมน้ำตายไม่ ยายหอมรู้ความจึงไปเก็บมาชุบเลี้ยงไว้เป็นลูกของตน โดยไม่แพร่งพรายให้ใคร ๆ ทราบเรื่อง ......
 “ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง รู้ผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร
พระยากงลงมาจับก็รับรบ ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาพาน จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ
เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์ เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน
ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์ จึงให้คนสร้างพระปรางค์ประโทน
แทนคุณตามความรักแต่หักว่า ต้องเข่นฆ่ากันเพราะกรรมเหมือนคำโหร ที่ยายตายหมายปักเป็นหลักประโคน แต่ก่อนโพ้นพ้นมาเป็นช้านาน
จึงสำเหนียกเรียกย่านบ้านยายหอม ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิอธิษฐาน ครั้นเสด็จสรรพกลับมาหาอาจารย์ เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศิลา
จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา แล้วปลดเปลื้องเครื่องกษัตริย์ขัติยา ของบิดามารดรแต่ก่อนกาล
กับธาตุใส่ในตรุบรรจุไว้ ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง...” |
ความว่า ครั้นกุมารนั้นเจริญวัยขึ้น ก็ได้ตาปะขาวซึ่งอยู่ ณ ป่าเชิงเขาสั่งสอนวิชาการ ถ่ายทอดคาถาอาคมให้ จนสามารถผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง มีกำลังวังชากล้าแข็งตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่ชนที่เคารพเลื่อมใส พระยากงทราบกิติศัพท์จึงยกทัพไปปราบปราม ได้รบกันอย่างดุเดือดจนถึงขั้นชนช้าง และพระยากงก็ถูกฆ่าตายในที่รบ พระกุมารนั้นยกพลเข้ายึดเมืองแล้วขึ้นครองบัลลังก์ เข้าหาพระมเหสี พระนางเห็นแผลเป็นที่พระพักตร์ จึงซักไซ้ไต่ถามจนทราบความว่า กุมารนั้นคือโอรสของพระนาง เมื่อทราบความจริงว่าตนได้ฆ่าพระราชบิดาของตนเสียแล้ว ก็โกรธยายหอมที่ไม่บอกเรื่องให้ทราบมาก่อน จึงไปฆ่ายายหอมตายด้วยกำลังแห่งโทสะ ครั้นภายหลังสำนึกบาปได้ จึงให้สร้างพระประโทนเจดีย์เป็นที่รำลึกถึงพระคุณของยายหอม และสร้างพระประธมเจดีย์ถวายพระยากงราชบิดาพร้อมพระราชมารดาของพระองค์ และนี่คือที่มา หรือ ตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน
 พระประโทณเจดีย์ และ พระประธมเจดีย์ : นครปฐม “ท่านผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้ หวังจะให้สูงเสริมเฉลิมฉลอง ด้วยเลื่อมใสในจิตคิดประคอง ให้เรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
ก็จนใจได้แต่ทำคำหนังสือ ช่วยเชิดชื่อท่านผู้สร้างไว้ทั้งสาม ให้ลือชาปรากฏได้งดงาม พอเป็นความชอบบ้างในทางบุญ
ถ้าขัดเคืองเบื้องหน้าขออานิสงส์ สิ่งนี้จงจานเจือช่วยเกื้อหนุน ทั้งแก้วเนตรเชษฐาให้การุญ อย่าเคืองขุนข้องขัดถึงตัดรอน
แล้วลาออกนอกโบสถ์ขึ้นโขดหิน ตรวจวารินรดทำคำอักษร ส่งส่วนบุญสุนทราสถาพร ถึงบิดรมารดาครูอาจารย์
ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน
สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน
ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์ ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน
ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา
อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช บำรุงศาสนาสงฆ์ทรงสิกขา จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง
ษิโณทกตกดินพอสิ้นแสง ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง ศิโรราบกราบลากลับมาเมือง เป็นสิ้นเรื่องที่ไปชมประธมเอยฯ |
 ท่านเล่าเรื่องในตำนานพระยากงพระยาพานตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าเจ้าถิ่นฝากไว้คนรุ่นหลังได้รับรู้กันไว้ แล้วก็ลาออกจากโบสถ์ขึ้นบนโขดหิน กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บิดรมารดา ครูอาจารย์ และบรรดาญาติมิตร ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าฟ้าน้อย กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หลั่งน้ำเสร็จสิ้นพร้อมกับอาทิตย์อัสดง “ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง” ท่านก็กราบลาองค์พระประธมเจดีย์กลับบางกอกทันที เป็นอันจบนิราศพระประธมลงด้วยประการฉะนี้.
พรุ่งนี้พบกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๖ -
"เณรหนูกลั่นวันทามหาเถร ซึ่งอวยพรตทศธรรมเป็นสามเณร พระคุณเท่าเขาพระเมรุไม่เอนเอียง
สอนให้ทราบบาปบุญที่คุณโทษ ผลประโยชน์ยืดยาวไม่ก้าวเถียง มาหมายมั่นพันผูกเป็นลูกเลี้ยง ก็รักเพียงลูกยาให้ถาวร
เป็นสัจธรรม์กรรุณาสานุศิษย์ สุจริตรักร่ำเฝ้าพร่ำสอน ได้เรียนหนังสือถือศีลพระชินวร ให้ถาพรพูลสวัสดิ์กำจัดภัย
ขอพระคุณบุญญาปรีชาฉลาด ที่เปรื่องปราชญ์เปรียบมหาชลาไหล จะคิดกลอนผ่อนปรนช่วยดลใจ ให้พริ้งไพเราะรสพจมาน.....” |
อภิปราย ขายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก ของสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบบริบูรณ์ไปแล้ว เรื่องราวในชีวิตและงานของสุนทรภู่ก็น่าจะจบลงไปด้วย แต่ผมกลับเห็นว่ายังจบไม่ลง เพราะมีเรื่องค้างคาใจอยู่เกี่ยวกับผลงานกลอนของกวีเอกของโลกท่านนี้ นั่นคือ นิราศพระแท่นดงรัง....
 พระแท่นดงรัง : วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร กาญจนบุรี กลอนข้างบนนี้เป็นบทเริ่มต้นของกลอนนิราศพระแท่นดงรังฉบับเณรหนูกลั่น ความต่างจากพระแท่นดงรังอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งเดิมเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งไว้ว่า
“นิราศรักหักใจอาลัยหวน ไปพระแท่นดงรังตั้งแต่ครวญ มิได้ชวนขวัญใจไปด้วยกัน
ด้วยอยู่ต่างห่างบ้านนานนานปะ เหมือนเลยละลืมนุชสุดกระสัน แต่น้ำจิตคิดถึงทุกคืนวัน จะจากันทั้งรักพะวักพะวน
ในปีวอกนักษัตรอัฐศก ชตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์ ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน พี่ทุกข์ทนถอนใจครรไลจร.....” |
 หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค) “ท่านจันทร์” พ.ณ. ประมวญมารค ทรงเชื่อเช่นเดียวกันกับอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ว่ากลอนนิราศพระแท่นดงรัง ที่ขึ้นต้นว่า “นิราศรักหักใจอาลัยหวน” นี้ เป็นสำนวนที่ นายมี หรือ เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตรสร) ศิษย์เอกของสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง แต่เดิมนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศนี้ เพราะยามนั้นยังมิได้ทอดพระเนตรกลอนรำพันพิลาป แต่ก็ทรงตั้งข้อสังเกตกระบวนกลอนไว้ว่า “เรื่องนิราศที่แต่งก็ว่าอย่างดาด ๆ ดูไม่มีอกมีใจ” ต่อมามีหลักฐานใหม่เชื่อได้ว่านิราศพระแท่นดงรังสำนวนดังกล่าวนั้น เสมียนมีเป็นผู้แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ และยังมีนิราศที่ว่าด้วยพระแท่นดงรังอีกสำนวนหนึ่ง แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ก่อนนิราศพระแท่นดงรังนั้น ๓ ปี นิราศเรื่องนี้ก็ควรชื่อนิราศพระแท่นดงรังเช่นกัน แต่ “ท่านจันทร์” ให้ชื่อมิให้ซ้ำกับชื่อเดิมว่า “นิราศไปพระแท่นเณรกลั่นคิด”
เณรหนูกลั่นหรือเณรกลั่นในชื่อที่ว่าเป็นผู้แต่งนิราศเรื่องนี้ เป็นบุตรบุญธรรมหรือลูกเลี้ยงของพระภิกษุภู่ สมัยที่ท่านอยู่ ณ วัดเลียบ (ราชบูรณะ) มีอายุน้อยกว่าหนูพัด และมากกว่าหนูตาบ เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดมาก สุนทรภู่รักเหมือนกับเป็นบุตรแท้ ๆ ของท่านเลยทีเดียว ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ได้บรรพชาเป็นสามเณร และเดินทางติดตามพระภิกษุภู่ซึ่งเป็นหลวงพ่อ ไปไหว้พระแท่นดงรัง กาญจนบุรี โดยออกเดินทางเมื่อวันอังคาร เดือนสี่ ปี มะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เริ่มต้นทางที่ มหานาค ผ่านเชิงเลน คลองโอ่งอ่าง ออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดเลียบ เข้าคลองบางหลวงไปโดยลำดับ
นิราศพระแท่นดงรัง ฉบับเณรหนูกลั่นคิดแต่ง พระภู่ช่วยขัดเกลานี้ ยังไม่เคยพิมพ์เผยแผ่มาก่อน “ท่านจันทร์” ทรงนำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)” ผมเห็นว่าควรจะได้นำมาเผยแผ่ให้ชาวเว็บฯ ได้อ่านกันบ้าง ให้เป็นความรู้ใหม่ในประวัติชีวิตและงานของสุนทรภู่
กลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้ มีหลายท่านไม่เชื่อว่า เณรหนูกลั่นแต่งเองทั้งหมด เพราะในเวลานั้น เณรหนูกลั่นยังอยู่ในวันรุ่นหนุ่มคะนอง ไม่น่าที่จะแต่งกลอนที่มีสำนวนลีลาเทียบเท่าผู้ใหญ่อย่างสุนทรภู่ได้ ท่านสุนทรภู่คงจะแต่งเองแล้วใช้ชื่อเณรหนูกลั่น เช่นเดียวกับที่แต่งกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าโดยใช้ชื่อเณรหนูพัดนั่นเอง
ผมค่อนข้างจะเชื่อตามความเห็นของ “ท่านจันทร์” ว่า กลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้ สามเณรกลั่นแต่งขึ้นมาเอง แล้วให้หลวงพ่อภู่ตรวจชำระแก้ไข้ถ้อยคำสำนวน ส่วนลีลากลอนปล่อยให้เป็นไปตามความคิดจินตนาการของเณรหนูกลั่น จะเป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่อย่างไร ขอให้เพื่อน ๆ ลองอ่านและช่วยวิเคราะห์กันดูเถิด ผมจะนำนิราศสำนวนนี้มาลงให้อ่านทั้งหมด เพื่อให้ศึกษาประวัติ-ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตชุมชนตามทางเดินไปพระแท่นดงรังในสมัยปี พ.ศ.๒๓๗๖ นะครับ
กลอนท่อนแรกข้างบนนี้ เณรหนูกลั่นแต่งไหว้ครูตามแบบฉบับของกลอนนิราศ คำว่ามหาเถร ฟังเผิน ๆ น่าจะหมายถึงพระอุปัชฌาย์เจ้าอาวาสวัดเลียบ แต่ครั้นอ่านต่อไปกลับเห็นว่าเป็นพระภิกษุภู่ หลวงพ่อของเณรหนูกลั่นนั่นเอง ท่านใช้คำว่า “อวยพรตทศธรรม” แทนคำว่า “บรรพชา” ก็เป็นคำที่แปลกดี คำอย่างนี้เด็กหนุ่มวัย ๑๖ ปี ไม่น่าจะคิดใช้ได้ นอกจากผู้ใหญ่ที่คงแก่เรียนเท่านั้น
และคำว่า “เป็นสัจธรรม์กรรุณาสานุศิษย์” ก็ควรเป็นศัพท์ใหม่ที่สุนทรภู่คิดขึ้น ไม่ใช่ เณรหนูกลั่นคิดขึ้นมาใช้แน่นอน คำตรงนี้ให้อ่านออกเสียงว่า “เป็นสัดจะธันกันรุณาสานุสิด” ให้มีเสียงสัมผัสในตามแบบฉบับของท่านสุนทรภู่
การเดินทางไปไหว้พระแท่นดงรังฉบับเณรหนูกลั่นคิดนี้ เดินทางตอนต้นในทางสายเดียวกับนิราศพระแท่นดงรังของนายเสมียนมี จะผ่านชื่อบ้านตำบลอะไรบ้าง เชิญติดตามอ่านกันต่อไปตั้งแต่ต้นจนจบ ณ วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปนะครับ
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : ลิตเติลเกิร์ล, Black Sword, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร : กาญจนบุรี - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๗ -
“จะกล่าวความตามที่ได้ไปพระแท่น ถึงดงแดนด้วยศรัทธานั้นกล้าหาญ ในเดือนสี่ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร มัสการพุทธรัตน์ปัฏิมา
ทั้งพรหมมินทร์อินทร์จันทร์ทุกชั้นช่อง ช่วยคุ้มครองป้องกันให้หรรษา พอยามสองล่องเลื่อนค่อยเคลื่อนคลา ออกมหานาคสนานสำราญใจ
พระจันทร์ตรงทรงกลดขึ้นหมดเมฆ ดูวิเวกเวหาพฤกษาไสว สงัดเงียบเยียบเย็นไม่เห็นใคร ล่องไปในแนวคลองเมื่อสองยามฯ
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้เริ่มปรารภเรื่องนิราศพระแท่นดงรังที่มี ๒ สำนวน คือสำนวนหนึ่งมีปัญหาอยู่ว่า สุนทรภู่แต่งเองทั้งหมดแต่ใช้นามเณรหนูกลั่น เช่นเดียวกับที่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าในนามของเณรหนูพัดหรือไม่ นิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้เณรหนูกลั่นแต่ง แล้วให้สุนทรภู่ตรวจทานแก้ไขถ้อยคำและฉันทลักษณ์ของกลอน ส่วนอีกสำนวนหนึ่งเป็นของนายมี หรือ เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) ศิษย์เอกสุนทรภู่แต่งเองทั้งหมด สำนวนเณรหนูกลั่นแต่งก่อนสำนวนของนายมีเป็นเวลา ๓ ปี วันนี้มาอ่านสำนวนเณรหนูกลั่นกันต่อไปครับ
 คลองมหานาค : วัดสระเกศ กรุงเทพ กลอนข้างบนนี้เป็นนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นต่อจากเมื่อวันวาน ท่านว่าออกเดินทางเมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปี มะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๗๖) จากคลองมหานาคเวลายามสองท้องฟ้าโปร่งใส พระจันทร์เพ็ญเด่นดวงทรงกลดงดงาม เป็นเวลาวิเวกสงัดเงียบวังเวง......
"ถึงเชิงเลนเห็นแต่เรือเกลือสล้าง เรือโอ่งอ่างแอบจอดตลอดหลาม ทุกพ่วงแพแลไม่เห็นไฟตาม ถึงอารามวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น
เห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคุณปู่ ที่เคยอยู่มาแต่หลังครั้งยังเห็น เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เมื่อปู่เป็นเจ้าคุณสุนทร์เสนา
ไม่มีพ่อก็ได้บุญของคุณปู่ ให้กินอยู่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา ได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา ทั้งคุณป้าคุ้มครองช่วยป้องกัน
ขอกุศลผลผลาให้ป้าปู่ ได้ไปสู่ทิพย์สถานพิมานสวรรค์ เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน จนล่วงลับกัปกัลป์พุทธันดร |
 วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร) : เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ออกจากมหานาคเข้าคลองโอ่งอ่าง คูพระนคร ถึงวัดเชิงเลน (บพิตรภิมุข) เห็นเรือเกลือเรือบรรทุกโอ่อ่างขายจอดเรียงรายเป็นหลายลำ ทุกเรือแพไม่มีแสงไฟแสดงว่าทุกคนนอนหลับกันหมดแล้ว เรือลอยลำเลยผ่านวัดเลียบในรู้สึกช่างเยียบเย็น เห็นบ้านคุณปู่ที่เคยอยู่มาแต่เล็กแต่น้อยยิ่งละห้อยจิต คิดถึงคุณปู่คุณป้าที่เลี้ยงดูมาก่อนที่ท่านจะสิ้นบุญ แล้วจึงได้มาเป็นลูกบุญธรรมของพระภิกษุภู่วัดเลียบ
นัยว่าเณรกลั่นผู้นี้เป็นลูกเกิดในสกุลผู้ดี บิดาเป็นบุตรพระยาสุรเสนา (ฉิม) ไม่ปรากฏว่าบิดาเป็นคุณหลวงคุณพระอะไรหรือไม่ ดูเหมือนว่าบิดามารดาสิ้นชีวิตไปแต่ที่ท่านยังเด็กน้อย ๆ คุณปู่และคุณป้าน้อย (สุหรานากง) เลี้ยงดูต่อมา เมื่อสิ้นคุณปู่สุนทรเสนา หรือ สุรเสนา แล้วคุณย่าได้ถวายให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระภิกษุภู่สำนักวัดเลียบ จึงได้เรียนหนังสือและแต่งกลอนจากสุนทรภู่ จนมีความรู้ความสามารถแต่งกลอนได้ดีเท่าเทียมหลวงพ่ออาจารย์ อ่านบทครวญถึงความอาภัพอัประภาคของท่านเณรในกลอนต่อจากนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าท่านครวญได้ไม่แพ้สุนทรภู่ที่เป็นทั้งบิดาและอาจารย์ของท่านเลย......
“โอ้สิ้นบุญคุณปู่อยู่แต่ย่า ได้พึ่งพาภิญโญสโมสร มาปลดเปลื้องเคืองขัดถึงตัดรอน โอ้ชาติก่อนกรรมสร้างไว้อย่างไร
ทั้งพ่อแม่แลลับอัประภาค คิดถึงยากอย่างจะพาน้ำตาไหล เป็นกำพร้าว้าเหว่ร่อนเร่ไป นี่หากได้พึ่งพระค่อยสบาย
ได้ถือธรรมสามเณรกินเพลเช้า ศีลพระเจ้ามิได้ช้ำสล่ำสลาย แบ่งกุศลผลบุญแทนคุณยาย ได้ดื่มสายเลือดอกช่วยปกครอง
ยังยากจนทนทุเรศสังเวชจิต เหลือจะคิดแทนคุณการุณสนอง โอ้ชาตินี้วิบัติขัดเงินทอง มีแต่ต้องย่อยยับอัประมาณ
ฝ่ายคุณย่าอาพี่ซึ่งมียศ จงปรากฏตราบกะลาปาวสาน ถึงตัดรอนค่อนว่าด่าประจาน พระคุณท่านมากกว่าแผ่นฟ้าดิน
ไม่โกรธตอบขอบคุณส่วนบุญบวช ได้ตรึกกรวดน้ำคิดเป็นนิจสิน ให้เป็นสุขทุกทิวาอย่าราคิน ฉันนี้สิ้นวาสนาขอลาไป |
 คลองบางหลวง : เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ พอนาวามาถึงช่องคลองบางหลวง ครรไลล่วงลอยลำน้ำตาไหล ดูเหย้าเรือนเดือนหงายสบายใจ ล้วนต้นไม้สวนสล้างสองข้างคลองฯ
ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงปัก หงส์สลักก่อนเก่าดูเศร้าหมอง เหมือนเราเผ่าพงศ์เพียงหงส์ทอง ตัวมาต้องเป็นการะอาอาย
โอ้เสียชาติวาสนาเอ๋ยอาภัพ สุดจะนับว่านเครือในเชื้อสาย ข้างหน้าเห็นเป็นมังกุฉลุลาย ส่วนข้างท้ายสิเหมือนดังว่ามังกร
จนล่วงทางบางยี่เรือฝั่งเหนือใต้ ล้วนไม้ไล่ซ้อนซับสลับสลอน เห็นคุ่มคุ่มคลุมเครือริมเรือจร หอมเกสรเสาวคนธ์ที่หล่นโรย....” |
 วัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) : บางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เรือถูกแจวลอยลำออกจากคลองคูพระนครสู่แม่เจ้าพระยาตรงวัดเลียบ ทวนน้ำขึ้นเหนือเล็กน้อยแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง ถึงวัดหงส์เห็นรูปหงส์บนเสาเศร้าหมอง (เพราะความเก่าแก่) ก็หวนนึกถึงตนเองว่าเกิดในวงศ์หงส์ทอง แต่ต้องตกอับกลับกลายเป็นกา (ยามบุญขึ้นกากลายเป็นหงส์ ยามบุญลงหงส์กลับกลายเป็นกา อะไรทำนองนั้น) ท่านคิดน้อยอกน้อยใจในวาสนาตัวเองจนเรือลอยเรื่อยมาถึงบางยี่เรือ แลสองฝั่งเหนือใต้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ต้นนานาสลับสลอน หอมกลิ่นเกสรดอกไม้ที่หล่นโรยโปรยปรายตามสายลมแล้วชื่นใจ.......
วันนี้หยุดพักไว้ตรงบางยี่เรือนี่ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านต่อไปก็แล้วกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 คลองด่าน (หรือคลองสนามชัย) - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๘ -
“ประเดี๋ยวเดียวเลี้ยวล่องเข้าคลองด่าน เห็นแต่บ้านเรือกสวนให้หวนโหย ระรื่นรินกลิ่นโศกมาโบกโบย บ้างร่วงโรยริมชลาที่อาราม
เห็นวัดหมูรู้ว่าคุณป้าสร้าง ครั้นจะอ้างว่าเป็นเชื้อก็เหลือขาม ขอภิญโญโมทนาสง่างาม ให้อารามเรืองรื่นอยู่ยืนยาว
โอ้ไม่ถึงครึ่งชาติสิ้นญาติ อโหสิสู้บวชจนหนวดขาว โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างพร่างพร่างพราว ดูดวงดาวเดือนคล้อยละห้อยใจ.....”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนของเณรหนูกลั่นมาให้ทุกท่านอ่านกันถึงบางยี่เรือแล้ว วันนี้มาอ่านกันต่อครับ
 วัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์) : เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน เรือแจวผ่านบางยี่เรือเหนือใต้มาถึงวัดหมู คือวัดอัปสรสวรรค์ ท่านรู้ชัดว่าเป็นวัดที่คุณป้าท่านสร้างขึ้น คุณป้าของท่านคือ เจ้าจอมน้อย ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓) เป็นบุตรีของเจ้าพระยาพลเทพ มีฉายาว่า “สุหรานากง” เพื่อให้ผิดจากเจ้าจอมน้อยอีกสองคน (ซึ่งชื่อน้อยเหมือนกัน) เจ้าพระพลเทพ บิดาของเจ้าจอมน้อยสุหรานากง เห็นทีจะเป็นพี่ชายของพระยาสุนทรเสนา คุณปู่ของเณรหนูกลั่น บิดาเณรหนูกลั่นจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับเจ้าจอมน้อยสุหรานากง ที่เณรหนูกลั่นเรียกว่าคุณป้า นางได้เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (ร. ๓) และมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดหมูซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ทรุดโทรมให้สวยงามขึ้น สำหรับเจ้าจอมน้อยนี้ ก่อนถวายตัวเป็นเจ้าจอม ท่านเป็นนางละครในราชสำนัก และเล่นเป็นตัวสุหรานากง (ในเรื่องอิเหนา) ได้ยอดเยี่ยมมาก หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระราชทานนามวัดหมู หรือ วัดจีนอู๋ ว่าวัดอัปสรสวรรค์ เพื่อเป็นเกียรติยศแก่เจ้าจอมน้อยสุหรานากง และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง กลอนนิราศมาถึงวัดหมูนี้ เณรหนูกลั่นใส่อารมณ์ขันลงไปว่า “โอ้ไม่ถึงครึ่งชาติสิ้นญาติ (อ่านว่า ยาติ) อโหสิสู้บวชจนหนวดขาว” อ่านแล้วอดขำขันไม่ได้เลยครับ
 วัดจอมทอง (วัดราชโอรส) : เขตจอมทอง กรุงเทพฯ “ประมาณสามยามเงียบเชียบสงัด มาถึงวัดจอมทองดูผ่องใส มีเกาะขวางกลางชลาพฤกษาไทร ยังจำได้พรั่งพร้อมวัดจอมทอง
คุณย่าพามาที่นี่ทั้งพี่สาว เมื่อครั้งคราวมีงานการฉลอง ทั้งคุณอามาดูงานในม่านทอง ฉันพี่น้องได้มานั่งหลังคุณอา
ทั้งเจ้าครอกออกมาตามเสด็จด้วย ได้พุ่งพวยผุดผาดพึ่งวาสนา โอ้เคราะห์กรรมจำขาดญาติกา เพราะศรัทธาถือศีลพระชินวร
ทุกวันนี้มีแต่ครูเอ็นดูเลี้ยง ได้พึ่งเพียงพุ่มโพธิ์สโมสร พระคุณใครไม่เท่าคุณพระสุนทร เหมือนบิดรโดยจริงทุกสิ่งอัน
กับตาบน้องสองทั้งพี่เณรพัด ได้ตั้งสัจสิ้นรังเกียจไม่เดียดฉันท์ ทุกเช้าเย็นเป็นกำพร้าเห็นหน้ากัน เหมือนร่วมครรภ์มารดาด้วยปรานีฯ” |
 วัดจอมทอง (วัดราชโอรส) : เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เรือเลยมาถึงวัดจอมทอง (ราชโอรสาราม) เณรหนูกลั่นก็หวนรำลึกถึงยามที่เป็นเด็ก มีงานฉลองวัดนี้ คุณย่าได้พาท่านกับพี่สาวมาร่วมงานฉลองด้วย ก็มีหน้ามีตาอยู่ในวงขุนนางผู้ใหญ่กับเขาด้วย แต่แล้วก็เหมือน “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ให้ตกต่ำลงมาอยู่ในฐานะปัจจุบัน ยังดีที่ได้ “ครู” คือสุนทรภู่รับเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม พี่เณรหนูพัด และน้องตาบก็มิได้รังเกียจ รักใคร่กลมเกลียวกันดั่งพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน (ทั้งสามก็เป็นกำพร้าเช่นเดียวกัน)
 ตลาดน้ำวัดไทร : เขตจอมทอง กรุงเทพ ฯ “ถึงวัดไทรในตำบลน้ำชลตื้น ดูครึมครื้นมืดมัวน่ากลัวผี ชื่อบางบอนเห็นบอนสลอนมี เหมือนคนที่สำกากมันปากบอน
ไปยุยงลงโทษให้โกรธขึ้ง จนได้ถึงสุขุมเหมือนสุมขอน คนที่ซื่อถือสัจต้องตัดรอน เพราะอีบอนบวมฉุมันยุแยงฯ
ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน บิดาท่านโปรดเกล้าเล่าแถลง ว่าพญาพาลีซึ่งมีแรง เข้ารบแผลงฤทธิ์ต่อด้วยทรพี
ตัดศีรษะกระบือแล้วถือขว้าง ปลิวมาทางเวหาพนาศรี มาตกลงตรงย่านที่บ้านนี้ จึงเรียกศีรษะกระบือเป็นชื่อนาม” |
 วัดศีรษะกระบือ : เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จากวัดจอมทองแล้วก็เลยมาถึงวัดไทร และบางบอน ที่บางบอนนี้เณรหนูกลั่นใช้ศัพท์ที่เราไม่เคยได้ยินว่า “สำกาก” คำนี้หมายถึง กักขฬะ สามหาว หยาบคาย อะไรทำนองนั้น แล้วท่านก็ใส่อารมณ์ขันลงไปอีกว่า “เพราะอีบอนบวมฉุมันยุแยง” มองเห็นภาพเลยว่า นางปากบอนคนตัวอ้วนตุ้ยนุ้ยนั่นแหละมันเที่ยวนินทายุแยงตะแคงรั่วทั่วไป แล้วก็ผ่านถึงวัดศีรษะกระบือ พระภู่ท่านเล่าที่มาของชื่อศีรษะกระบือให้เณรหนูกลั่นจดไว้เป็นกลอนดังความข้างต้นนี้ ท่านเขียนบอกไว้ชัดเจนดีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องอภิปรายขยายความใด ๆ
วันนี้มาหยุดพักตรงวัดศีรษะกระบือก็แล้วกันนะ พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมือสุโขทัย ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 คลองโคกขาม : สมุทรสาคร - ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๙ -
“แสมดำตำบลที่คนอยู่ สังเกตดูฟืนตองเขากองหลาม ดูรุงรังฝั่งน้ำล้วนรำราม ถึงโคกขามบ้านขอมล้วนลอมฟืน
พอฟ้าขาวดาวเดือนจะเลื่อนลับ แสงทองจับแจ่มฟ้าค่อยฝ่าฝืน เสียงลิงค่างวางเวงครึกเครงครื้น ปักษาตื่นต่างเรียกกันเพรียกไพร
สุริยงทรงรถขึ้นสดแสง กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาไสว ถึงชะวากปากชลามหาชัย เห็นป้อมใหญ่อยู่ข้างขวาสง่างาม
มีปีกป้องช่องปืนที่ยืนรบ ที่หลีกหลบแล่นลากลงขวากหนาม ดูเผ่นผาดอาจองในสงคราม ดูแล้วข้ามตรงมาในสาคร...”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ..........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ มาวางให้อ่านกันถึงวัดศีรษะกระบือ วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
 แม่น้ำท่าจีนบรรจบกับคลองมหาชัย ก่อนไหลลงอ่าวมหาชัย : สมุทรสาคร กลอนข้างบนนี้ท่านผ่านเลยแสมดำ โคกขาม ฟ้าสว่างได้อรุณที่โคกขามนี่เอง ครั้น “สุริยงทรงรถขึ้นสดแสง กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาไสว...” ท่านก็ออกสู่ชะวากปากน้ำท่าจีนที่ชื่อว่า มหาชัย เห็นป้อมวิเชียรโชฎกตั้งตระหง่านสง่างามมาก ป้อมวิเชียรโชฎกนี้ นัยว่าสร้างมาแต่คร้งกรุงศรีอยุธยา ในราว ๆ ปี พ.ศ.๒๒๖๔ แล้วมาสร้างเสริมให้แข็งแรงสวยงามกันอีกทีในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๗๑) ท่านไม่มีเวลาชื่นชมมากนัก เรือก็ถูกแจวลอยทวนสายน้ำเช้าสู่ลำน้ำท่าจีน
“ลำพูรายชายตลิ่งล้วนลิงค่าง บ้างเกาคางขู่ตะคอกบ้างหลอกหลอน บ้างโลดไล่ไขว่คว้าตามวานร ที่ลูกอ่อนอุ้มแอบแนบอุรา
โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งลูก ดูพันผูกความรักนั้นหนักหนา เราเป็นคนผลกรรมได้ทำมา ญาติกาก็มิได้อาลัยแลฯ
ถึงท่าจีนถิ่นฐานโรงร้านมาก ที่เขาตากไว้ล้วนแต่อวนแห ไม่น่าดูสู้เบือนทำเชือนแช ชมแสมไม้ปะโลงเหล่าโกงกาง |
 ต้นตะบูน ตะบูนต้นผลลูกดังผูกห้อย ระย้าย้อยหยิบสนัดไม่ขัดขวาง หนูตาบน้อยคอยรับลำดับวาง ไว้เล่นต่างตุ๊กตาประสาสบาย
เห็นตะบูนฉุนเศร้าให้เปล่าจิต แม้นมีมิตรเหมือนดั่งท่านทั้งหลาย จะเก็บไว้ไปฝากให้มากมาย จะได้เล่นเช่นกระทายสบายใจ
นี่ไม่มีพี่น้องพวกพ้องหญิง เล่นแล้วทิ้งเสียในลำแม่น้ำไหล ลูกโกงกางข้างชลาระย้าไป ทั้งปรงไข่ขึ้นสล้างริมทางจรฯ |
 วัดใหญ่บ้านบ่อ : สมุทรสาคร ถึงบ้านบ่อกอจากสองฟากฝั่ง ยอดสะพรั่งเพรียวแซมแหลมสลอน มีดอกงอกออกกับกออรชร ทั้งลูกอ่อนแซกเคียงขึ้นเรียงราย
พอเห็นเขาเจ้าของร้องบิณฑบาต เขาอนุญาตยกให้เหมือนใจหมาย พี่เณรพัดตัดได้ลูกหลายทะลาย ผ่าถวายพระนั้นเต็มขันโต
ท่านไม่ฉันครั้นเรากินชิ้นลูกจาก อร่อยมากมีรสร่ำหมดโถ ท่านบิดรนอนบ่นว่าคนโซ สะอื้นโอ้อายใจกระไรเลย
เคยกล้ำกลืนชื่นจิตชิดแช่อิ่ม มาเชยชิมลูกจากแล้วปากเอ๋ย เพราะสิ้นสุดอุดหนุนที่คุ้นเคย กระไรเลยแลเหลียวให้เปลี่ยวทรวงฯ” |
 ท่านเห็นลิงอุ้มลูกอ่อนแอบแนบอก ก็ครวญถึงความเป็นกำพร้าของตนเองอย่างน่าสงสาร จากนั้นได้พรรณนาธรรมชาติวิถีชีวิตของคนและสัตว์ ป่าไม้สองฟากฝั่งลำน้ำท่าจีน อ่านแล้วเพลิดเพลินเจริญใจยิ่งนัก จึงไม่มีคำอภิปรายขยายความมาสอดแทรกอารมณ์อันสุนทรีของท่านเณรหนูกลั่น ที่ทุกท่านกำลังอ่านกันอย่าเพลิดเพลิน
 วัดนาขวาง : สมุทรสาคร “ถึงนาขวางข้างซ้ายนายภาษี ตั้งอยู่ที่ปากคลองเก็บของหลวง เรียกภาษีที่เรือเกลือทั้งปวง บ้างทักท้วงเถียงกันสนั่นดัง
แต่จีนเถ้าเจ้าภาษีมีเมียสาว ไว้เล็บยาวเหมือนอย่างครุฑนั่งจุดหลัง เหมือนจะรู้อยู่ว่าเขาเป็นชาววัง รู้จักครั้งเข้าไปอยู่เมื่อปู่ตาย
แต่แกล้งเมินเพลินดูฝูงปูเปี้ยว บ้างแดงเขียวขาวฝาดประหลาดหลาย บ้างเลื่อมเหลืองเรืองรองกระดองลาย ก้ามตะกายกินเลนน่าเอ็นดู
แต่หากว่าน่ากลัวตัวนีดนีด ก้ามมันดีดดังเปาะเสนาะหู ล้วนปรงปรกรกเลี้ยวรอยเปี้ยวปู กับเหี้ยอยู่ที่ในโพรงรากโกงกาง
เห็นปลาตีนกินโคลนตาโปนโป่ง ครีบกระโดงพลิ้วพลิกกระดิกหาง บ้างกัดกันผันผยองทำพองคาง ทั้งลิงค่างคอยเที่ยวล้วงเปี้ยวปูฯ” |
ถึงนาขวาง ท่านว่าทางฝั่งซ้ายมือมีด่าน “จังกอบ” เก็บภาษีอากรจากประชาชนเข้าพระคลังหลวง ตั้งอยู่ตรงปากคลอง นายด่านภาษีนั้นเป็น “จีนเถ้า” คือคนไทยเชื้อสายจีนมีอายุค่อนข้าง “เถ้า=เฒ่า”(ชรา) แล้ว แต่มีเมียสาว เอาเล็บไว้ยาวราวกะเล็บครุฑ ท่านจำได้ว่า นายภาษีคนนี้เคยเข้าไปอยู่ที่บ้านคุณปู่ (พระยาสุนทรเสนา) เห็นแล้วท่านก็เมินทำเป็นไม่รู้จัก หันไปดูปูเปี้ยวฝูงปลาตีน ชมนกชมไม้ได้ตามเรื่อง
วันนี้ให้อ่านมาถึงด่านภาษีแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะ ถ้าเน็ตไม่ล่มแต่เช้าเหมือนวันก่อนนี้ ก็ได้พบกันแต่เช้าเหมือนวันนี้แน่นอนครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
 วัดกาหลง : สมุทรสาคร - ชีวิตและงานสุนทภู่ ๙๐ -
“ถึงย่านซื่อชื่อว่าย่านกาหลง เห็นกาลงเรียบฝั่งอยู่ทั้งคู่ แล้วออกข่าวอ่าวอ้อแก้ก๋อกู จะบอกผู้ใดเล่าไม่เข้าใจ
เราไม่มีพี่น้องพวกพ้องดอก กาจะบอกข่าวดีฉันที่ไหน โอ้เปลี่ยวกายอายกาก้มหน้าไป จนเข้าในแนวคลองสามสิบสองคด
กับตาบน้อยคอยนับหนึ่งสองสาม คุณพ่อถามกลับเลื่อนเปื้อนไปหมด มันโอบอ้อมค้อมเคี้ยวดูเลี้ยวลด เห็นคุ้งคดคิดไปเหมือนใจโกง
แต่ปากคำทำซื่อเหมือนถือศิล ใจมันกินเลือดเล่ห์ตะเข้ตะโขง สองฟากฝ่ายซ้ายขวาป่าปะโลง มีเรือนโรงรอนฟื้นแต่พื้นมอญ
ลำพูรายซ้ายขวาระย้าย้อย มีดอกห้อยบานแย้มแซมเกสร บ้างออกลูกสุกงอมหอมขจร เกสรร่อนร่วงลงตรงนาวา
มีนกบินกินปูได้ดูเล่น นกกระเต็นขวางแขวกเที่ยวแถกถลา นกกามกวมต๋วมลงในคงคา คาบได้ปลาปรบปีกบินหลีกไปฯ.....”
.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น) |
อภิปราย ขยายความ...........
เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูพัดที่สุนทรภู่ตรวจชำระ มีคำของสุนทรภู่สอดแทรกอยู่บางวรรคบางตอน การเดินทางตั้งแต่คลองบางหลวงถึงแม่กลอง ก็ตามแนวทางเดินที่สุนทรภู่ไปเมืองเพชร บางบ้านบางวัด บางตำบล เณรหนูกลั่นละไว้ไม่กล่าวถึง บางบ้านบางวัดที่สุนทรภู่มิได้กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร เณรหนูกลั่นก็นำมาใส่ไว้ในนิราศนี้ เมื่อวันวานทุกท่านก็อ่านมาถึงนาขวางที่ตั้งด่านเก็บภาษีแล้ว วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ
กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน ท่านเลยบ้านนาขวางมาถึงบ้านกาหลง เลยมาถึงคลองสามสิบสองคด ก็นับโค้งคดของคลองสองคนกับน้องหนูตาบ พอพระภู่ถามก็ตอบไม่ได้ เพราะมากเกินจนเลอะเลือนไป กลอนชมธรรมชาติสองฟากฝั่งคลองของเณรหนูกลั่นแต่งได้ดีไม่แพ้หลวงพ่อสุนทรภู่ของท่านเลยนะ
 คลองสุนัขหอน : สมุทรสาคร "ถึงเขตแขวงแหล่งหลักสุนัขหอน เรือสลอนคอยรอถือถ่อไสว ทั้งพ่วงแพแซ่ซ้อนเจ๊กมอญไทย บ้างมาไปปะกันเสียงครั่นครื้น
บ้างโดนดุนรุนรับดูกลับกลอก บ้างเข้าออกอึดอัดต่างขัดขืน หลีกเรือฝางวางเรือเกลือติดเรือฟืน โกรธคนอื่นอื้ออึงขึ้นมึงกู
เขมรด่าว่ามะจุยไอ้ตุยนา ลาวว่าปาสิแม่บแพ่สู เจ๊กด่าว่ามีหนังติกังฟู เสียงมอญขู่ตะคอกดอกคะมิ
ด้วยมากมายหลายอย่างมาทางนั้น เรือน้ำมันหมากพลูกุ้งปูกะปิ บ้างยัดเยียดเสียดแซกบ้างแตกลิ บ้างกราบปริประทุนปรุทะลุทลาย
จนตกลึกนึกว่าชะคุณพระช่วย ไม่เจ็บป่วยเปื้อนเหมือนเพื่อนทั้งหลาย ถึงเขตสวนล้วนเหล่ามะพร้าวราย บางแม่ยายพ่อตาตำรามีฯ |
 คลองสุนัขหอน : สมุทรสาคร ตอนที่ดินทางถึงคลองสุนัขหอน ท่านก็ให้ภาพว่า มีเรือนานาชนิดทั้งพายทั้งแจวทั้งถ่อ คนชาวเรือมีทั้งไทยมอญลาวจีนเขมร กระทบกระทั่งด่าทอกันด้วยถ้อยคำภาษาแปลก ๆ ที่อ่านแล้วก็หาคำแปลไม่ได้ ก็เป็นการแทรกอารมณ์ขันเข้าไว้ให้อ่านเล่นกันเท่านั้น แต่ก็ได้เห็นภาพชุลมุนวุ่นวายของเรือพ่อค้าวานิชที่เดินทางในลำแม่น้ำท่าจีน ตัดเข้าคลองหมาหอนทะลุไปลำแม่น้ำแม่กลองมีจำนวนมากทุกวัน คลองหมาหอนนี้ในนิราศเมืองเพชรท่านสุนทรภู่ (เขียนทีหลังนิราศเรื่องนี้) ก็พรรณนาให้เห็นภาพชุลมุนสนุกไม่น้อยเลย พ้นคลองสุนัขหอนก็ผ่านบ้านบางแม่ยาย บางพ่อตา ที่อุดมไปด้วยสวนป่ามะพร้าว.....
"แล้วถึงบางนางสะใภ้ผู้ใหญ่เล่า เป็นบ้านเก่าที่สังเกตพวกเศรษฐี แต่หญ้าปกรกเรี้ยวประเดี๋ยวนี้ ยังเห็นมีแต่ทับทิมที่ริมคลอง
กับทั้งหัวถั่วพูมันหนูมันนก เจ้าของยกตั้งรายเรียกขายของ ได้ปราศรัยไถ่ถามตามทำนอง ถึงแม่กลองดูเกลื่อนบ้านเรือนโรง |
ทำปลาทูปูเค็มไว้เต็มตุ่ม ดูควันกลุ้มกลิ่นฟุ้งเหมือนคลุ้งโขลง ที่เรือหาปลากุ้งกระบุงโพง ใส่อ่างโอ่งอลหม่านทุกบ้านเรือน
จนเรือออกนอกลำแม่น้ำกว้าง วิเวกวางเวงใจใครจะเหมือน ทั้งสองฟากหมากมะพร้าวมีเหย้าเรือน ค่อยลอยเลื่อนแลเพลินจำเริญใจ
พฤกษาสวนล้วนแต่ปลูกมีลูกดอก มะม่วงออกช่อแฉล้มแซมไสว ทั้งกล้วยอ้อยร้อยลิ้นลำไยมะไฟ ล้วนต้นไม้ต่างต่างข้างคงคาฯ
ถึงคลองบางนางสี่เห็นมีวัด ชุลีหัตถ์อภิวาทพระศาสนา เป็นที่สุดพุทธคุณกรุณา ลูกกำพร้าอย่าให้มีราคีพานฯ |
 วัดบางนางลี่ใหญ่ : อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เลยบางแม่ยายพ่อตาก็ผ่านบางนางสะใภ้ เห็นต้นทับทิมปลูกอยู่ตามริมคลอง และมีหัวมันหนูมันนกถั่วพู เจ้าของเอาออกมาวางขายรายเรียง พ้นบางนางสะใภ้ก็ถึงแม่กลอง เห็นเขาทำปลาทูปูเค็มเต็มตุ่มมากมาย ไม้ผลเช่นมะม่วง ลำไย มะไฟ มีมากมายจนลายตา ดูเพลินจนเรือลอยลำถึงบางนางสี่เห็นมีวัดสวยงาม ก็ยกมือไหว้แล้วอธิษฐานขอพร.....
วันนี้ให้อ่านนิราศเณรหนูกลั่นมาถึงวัดบางนางสี่ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|