
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ (วะ-สัน-ตะ-ดิ-หลก-ฉัน) เป็นฉันท์ที่ตำราฉันทศาสตร์ได้ให้อัตถะไว้ว่า มีลีลาศงามวิจิตรประดุจจอมเมฆ
๑.) รูปแบบของวสันตดิลกฉันท์ ๑๔
หนึ่งบท จะมี ๒ บาท
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๘ พยางค์ วรรคหลังมี ๖ พยางค์
(รวมเป็น ๑๔ พยางค์ในหนึ่งบาท)
๒.) ลักษณะบังคับ ครุ - ลหุ (ดูผังด้านบนประกอบ)
ครุ-ลหุ แต่ละบาทจะมีลักษณะเหมือนกันทุกบาท คือ
ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ .................. ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
โดยแต่ละบาทจะแบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๒ - ๒ - ๔ .......... ๓ - ๓ เหมือนกันทุกบาท
๓.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
- สัมผัสภายในบท -
คำสุดท้ายของวรรคแรก เชื่อมสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
ส่วนวรรคที่สี่เป็นอิสระ
- สัมผัสระหว่างบท -
หากเขียนมากกว่า ๑ บท
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
- ตัวอย่างคำประพันธ์บางส่วน -
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
- ฤดูฝนในประวัติศาสตร์ -
๐ กองทัพ/พม่า/ขณะประชิด รณะติด/บุรีราม
เข้าบุก/ก็ถูก/พละสยาม ปะทะหนัก/ชะงักถอย
๐ ห้าเดือน/สิเชือน/ชนะมิได้ พละไพร่/ก็พลันพลอย
เจ็บป่วย/และม้วย/มระทยอย ประลุสู่/ฤดูฝน
๐ ลมฮือกระพือตละจะพก ฤ จะพลิกธราดล
มืดคลุ้มชะอุ่ม คคณะยล อสุนีวะแวบไฟ
๐ ลั่นเลื่อนเสมือนอสุระกาจ ดุตวาดแสดงไกร
โครมโครมพะโยนอุทกะไข พระพิรุณ ธ บันดาล
๐ โปรยปรายละอองชละถะถั่ง ดุจะหลั่งกระแสธาร
ลงท่วมเกษตร วนะละหาน ตะละเททะเลลง
๐ จอมม่านสะท้านอุระตระหนก ตริวิตกพระทรวงทรง
โอ้ ดู สิยก พยุหะยง ลุอยุทธยามา
๐ มุ่งมาดประกาศมหะชเยศ วิระเดชเสมอครา
สิบทิศพิชิตอริระอา สุระรณ ณ หนหลัง
๐ ไม่สมประสงค์เพราะอุปสรรค ปรปักษ์สยามยัง
กล้าหาญและต้านพละประนัง บมิเราจะเอาชัย
๐ หน้าฝนจะขนจะกะเสบียง ธุระเลี้ยงทุรัศไกล
ควรถอยทะยอยพละคระไล ผิว์มิกลับก็คับขัน
๐ ท้าวเธอเสนอคณะประชุม มติกลุ่มสนองพลัน
ลงเห็นก็เป็นประดุจะนัน- ทบุเรง ธ สั่งถอย
(ร.ต.ท. ขุนชัยเศรษฐสัมพันธ์)
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
- พระจันทร์เป็นสีเลือด -
๐ คืนนั้นพระจันทระตระการ คคนานต์คะนึงชม
ดวงแดงแจรงรุจิระสม สุพิลาศประหลาดแสน
๐ ขอบทองก็ผ่องพิศะประเทือง ระยะเหลืองระยับแดน
ฟ้างามอร่ามอมระแมน ขณะเมิลธ เหินหาว
๐ กลุ่มเมฆอเนกชุติประชัน ณ สวรรค์ไสวพราว
แลเลื่อมและเลื่อมระกะสกาว รุจิเกลื่อนเสมือนเขียน
๐ หลากใจไฉน รชนิแดง กละแปลงประจักษ์เจียน
จักตั้งภวังค์ประดุจะเวียน ชิวะจินต์ถวิลถึง
๐ โลกนี้มิมีรมยะสันติ์ วิยะผันวิโยคพึง
พลอยพาประดา นระคะนึง ทุขนิตย์สถิตไป
๐ ลางร้ายก็ลามกลิมิหยุด ภยะยุทธ์ระยำไย
คอยปลิดชิพิตและก็ไฉน บมิขาดขยาดขาม
๐ ลางร้ายก็ป้ายมละประจักษ์ จะมลักก็หลอนงาม
ชวนหวั่นและพรั่น อุระ ณ ยาม จะสลดระทดใจ
๐ เลือดนองจะนองภวะมิเหือด ก็เพราะเลือดละโมบไหล
หลงเลศกิเลสอคติใน มนะคนมิพ้นผอง
๐ เลือดจับประทับรุธิระจันทร์ สุขะสันต์ ฤ หวังครอง
ด้วยเลือดมิเหือดพิภพะนอง ทุรยุคจะปลุกแปลง ฯ
(จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย : ทวีปวร)
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
กล่าวถึงตระกูลทลิท(ะ)เกิด มิประเสริฐบ่มีแซม
เลือดหงส์รึหาวสกุละแซม กสิกรสิใกล้กัน
พ่อเลือดระจันระอุประจักษ์ อวพรรคและเผ่าพันธุ์
แม่เลือดพระบาง นคระอัน จตุสินธุร่วมสาย
ลูกสองและสองบุรุษะเพศ ก็เทวษมิเว้นวาย
ยากจนทุรนและก็ทุราย เพราะทุลักทุเลเหลือ
ทำงานสิแรงทะลุทะลัก งะงะงักน่ะอาบเหงื่อ
ยามกินก็กินประดุจะเกลือ จะผสมกะข้าวสาร
เอามานะมุ่งก็ชนะมวล ทุรถ้วนเพราะทนทาน
กัดฟันและส่งบุตระผ่าน ณ วิชาพิชิตชัย
พี่นั้นทหาร ยศะสนอง ขณะน้องน่ะเรียนใน
ร่มธรรมศาสตระพิสัย ปิตุเรศสิปลื้มแรง
ดูดูก็ดั่งจะสุขะดล เพราะเพาะผล นิเหลือแพง
แต่โลกก็เหลือชระแสลง ณ มนุษย์มนาเนา
ด้วยคนจะครอบสติกะคน เพราะเพาะผล และพันธุ์เผ่า
เพียงยังประโยชน์และก็จะเอา ผลนั้นนิรันดร์เนือง
(สามแพร่งชีวิตคำฉันท์ : คมทวน คันธนู)
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
๐ ฝ่ายครัวประชานคระราชฯ คณะชาติทหารชาญ
สตรีและส่ำบุรุษะมาน มนะร่วมสมานฉันท์
๐ รักชาติบ่เชือนกมลใฝ่ มนะไป่ ณ อาธรรม์
รักยศบ่แปรกมลผัน มุขะพึ่งมลาวพาล
๐ ชายหญิงประมวลพละสมา- คมะฝ่ากระทำการ
ตั้งค่ายประชุมพละทหาร ปฏิยุทธะไพรี
๐ ครั้นสุทธิสารและพละคลา จระมาจะต่อตี
ครัวไทยก็เตรียมพยุหะวี- ระระดมประจัญบาน
๐ ปีกขาวและซ้ายบุรุษะผู้ พิระรู้วิธีการ
ทั้งสองพระยาบุรุษะหาญ บริรักษะกองกลาง
๐ ท่านโม้ปชาบดิปลัด บริษัทอนงค์นาง
ทั้งแก่และสาวบ่มิละวาง ธุระเข้า ณ กองหนุน
๐ ถือสรรพะอาวุธะละคึก มนะนึกคะนึงคุณ
สมเด็จพระจอมนระอดุล อดิเทพกษัตริย์ไทย
๐ ออกสัประยุทธ์คณะริปู จระจู่ผจญภัย
หนุนเนื่องระดมพละคะไล บมิยั่นแสยงหยอน
(ฉันท์ยอเกียรตินครราชสีมา : พระยาอุปกิตศิลปสาร)
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
๐ ยามพายุพัดสริระโชย ขณะโบยและโบกหวน
ย่อมชื่นระรื่นกมลชวน มนะเบิกมิเบื่อชม
๐ แต่คราระงับบ่มิสบาย ขณะวายกระแสลม
ความเศร้าจะเร้าอุระระทม ลุเทวษทวีแทน
๐ ร้อนเย็นก็เป็นดุจะฉะนี้ บ่มิมีจะแผกแผน
วนเวียนและเปลี่ยนนัยะมิแคลน ฤ จะคลาดมนุษย์ครอง
๐ ฉันใดหทัยขณะระรื่น อุระชื่นมนัสปอง
สมบัติจะสมบุรณนอง บริบาลประสานสม
๐ ใช่วาจะคงประดุจะดัง มนะหวังระเริงชม
ย่อมมีอุบัติขณะระทม นิจะเนาและเข้าสิง
๐ ควรทราบสภาพสมญลัก- ษณะจักประจักษ์จริง
ทั่วชายและฝ่ายนิกรหญิง บ่มิแผกมิผิดผัน
(นิพนธ์ศตะกูรมะ : ส. ศตะกูรมะ)
- วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ -
๐ ซึ่งสร้าง ณ สิ่ง สิบริบูรณ์ มินุกูล ฤ อวยสรรพ์
สมบัติมิเพิ่มประจุกะมัน เพราะจริตมิคิดดี
๐ บุตรใดมิมีวิริยะภาพ มิลุปลาบ ฤ ปลื้มศรี
ไร้หาญก็ควรอริทวี พจิเผยเยาะเย้ยหยัน
๐ ของมวลสตรีละปฏิสนธิ์ บุตระตน ณ รำพัน
แม่คุณ! ธ มา วจนะฉัน- ทะจริตมิคิดทราม
๐ เกิดเป็นมนุษย์วิริยะควร ธนะด่วนเสาะหางาม
ใดยังมิได้อุระมิขาม เหมาะเสาะจนลุผลดี
๐ ทรัพย์ใดผิว์ได้เฉพาะอุสา- หะเพราะกิจ ฤ ใดมี
ต้องรักษะพ้นภัยะกลี ทุรอันตรายเป็น
๐ เพิ่มพูน ณ โภคะบริรักษ์ มติหลักสุธรรมเห็น
หว่านทรัพย์ ณ เขต บุณยเพ็ญ ปรโลกสุขารมย์
(หิโตปเทศคำฉันท์ : สอาด สมบัติศิริ)
** หมายเหตุ : ในชั้นต้นนั้น ฉันท์ประเภท ๔ วรรค ที่มีลักษณะอย่างกาพย์นั้น ไม่ได้มีบังคับสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรคหน้าและวรรคหลัง มีเพียงสัมผัสส่งระหว่างบาท (วรรค ๒ และวรรค ๓) และระหว่างบทเท่านั้น แต่กวีนิยมใส่เพิ่มเพื่อความไพเราะ หากอ่านในวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่าง ๆ จะพบลักษณะนี้อยู่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่าเพิ่งประมาทว่าผู้ประพันธ์นั้นผิดพลั้งแต่ประการใด เช่น
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๐ ช่อฟ้าก็เฟื้อยกลจะฟัด ดลฟากทิฆัมพร
บราลีพิไลยพิศะบวร นพศูลสล้างลอย
(อิลราชคำฉันท์)
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
๐ งามราชสมาคมนรา ธิปเลิศวโรดม
อ่าโอ่สโมสรวิกรม ชชวาลตระการตา
๐ ดังนาคณะกรุงอุรุคโภ ควตีสมัญญา
แม้เสือสถิตคิริคุหา นรศาระทูลเหมือน ๚
(พระนลคำฉันท์)
วสันตดิลกฉันท์ ๑๔
งามสรรพลักษณะผนัง ฉลุลายเฉลาปวง
งามหลากสลักบุษปะดวง พิศะเหลืองและเพดาน
งามดาวประดับดุจะประดิษฐ์ ระดะด้วยมณีฉาน
งามฉัตรประจำระยะตระการ และเศวตรฉัตรชัย
งามสุดประเสริฐวระวิสูตร ก็วิจิตระสองไข
งามฉากขจิตรพิละพิไล สุภะภาพะเลขา
(ชิต บุรทัต)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก